โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทางการดัทช์กล่าว “ขอโทษ” อินโดฯ เหตุสังหารหมู่เมื่อ 64 ปีก่อน

Posted: 11 Dec 2011 09:53 AM PST

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่ออินโดนีเซีย เหตุทหารดัทช์สังหารหมู่ประชาชนชาวอินโดฯ ในระหว่างการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศในปี 1947

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ธ.ค. 54) ทางการเนเธอร์แลนด์ได้กล่าวขอโทษต่อรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ จากเหตุการณ์การสังหารหมู่ในอินโดนีเซียที่กระทำโดยทหารดัทช์เมื่อปี 1947 (พ.ศ. 2490) ในระหว่างการลุกขึ้นเรียกร้องเอกราขของชาวอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 คน

เอกอัครราชทูตดัตช์ประจำอินโดนีเซีย ทเจียร์ต เดอ ซวาน (Tjeerd de Zwaan) กล่าวคำขอโทษดังกล่าวในพิธีกรรมที่จัดขึ้นในหมู่บ้านบาลองซาริ (Balongsari) หรือที่ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ ราวาเกด (Rawagade) ซึ่งมีประชาชนอย่างน้อย 150 คนเสียชีวิตจากการสังหารหมู่ดังกล่าว

เขากล่าวว่า การสังหารหมู่ดังกล่าวเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า และได้กล่าวคำขอโทษในภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซีย

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศาลในเนเธอร์แลนด์สั่งให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จ่ายค่าชดเชยต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์นี้ โดยญาติของผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้ผลักดันคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล บีบีซียังรายงานว่า การตัดสินคดีครั้งนั้น จะนำไปสู่การฟ้องร้องและพิจารณาคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปกครองรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปกครองอินโดนีเซียในฐานะอาณานิคมอย่างโหดร้ายกว่า 3 ทศวรรษด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ทางการเนเธอร์แลนด์จะต้องจ่ายเงินราว 20,000 ยูโร (ราว 8 แสนบาท) แก่ครอบญาติของผู้เสียชีวิต แต่ทนายของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า ตัวเลขที่แน่นอนยังอยู่ในระหว่างการเจรจา

เดอ ซวาน กล่าวในระหว่างพิธีกรรมดังกล่าวว่า เขาหวังว่าคำขอโทษที่เป็นทางการจะช่วยให้ครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากการสังหารได้ผ่อนเบาความทุกข์ทรมานที่ดำรงอยู่ในห้วงชีวิตของพวกเขา

“ในนามของรัฐบาลดัทช์ ข้าพเจ้าขอโทษในโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นที่ราวาเกด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1947” เอกอัครราชทูตดัทช์กล่าว และเมื่อเขากล่าวคำขอโทษดังกล่าวซ้ำอีกเป็นภาษาอินโดนีเซีย ญาติผู้เสียชีวิตถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
ทั้งนี้ ทางการเนเธอร์แลนด์เองเคยกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่เคยได้ขอโทษอย่างเป็นทางการจนกระทั่งเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

อนึ่ง เนเธอร์แลนด์เคยปกครองหมู่เกาะอินดีส หรือที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนกระทั่งถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองและขับไล่เนเธอร์แลนด์ออกไป หลังจากนั้น ทางกองทัพของเนเธอร์แลนด์ได้พยายามเข้ามายึดครองหมู่เกาะอินดีส หรืออินโดนีเซียอีกครั้ง หากแต่ได้เผชิญกับการลุกฮือต่อต้านของประชาชนพื้นเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพ จนกระทั่งในปี 1949 (พ.ศ. 2492) เนเธอร์แลนด์จึงได้รับรองเอกราชของประเทศอินโดนีเซียอย่างสมบูรณ์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับ 'อัตตาผู้ปล่อยวาง

Posted: 11 Dec 2011 09:12 AM PST

เมื่อสอง-สามวันที่แล้วผมไปเจอคำว่า “มรรคง่าย” อันเป็นธรรมประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของ ว.วชิรเมธี ในหนังชุดสือธรรมะจาก “พระดีร่วมสมัย” อ่านดูคร่าวๆ ก็พอจะเข้าใจว่าผู้ประดิษฐ์คำนี้ต้องการสื่ออะไร ทำให้ผมนึกถึงพระเซ็นรูปหนึ่งคือ ติช นัท ฮันห์ ท่านอธิบายให้เห็นความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งที่เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาว่า เวลาเรามองดูกระดาษแผ่นหนึ่งเราจะเห็นเยื่อไม้ที่เขานำมาทำกระดาษ เห็นต้นไม้ ใบไม้ ดิน น้ำ ปุ๋ย เห็นแสงอาทิตย์ เมฆ ฝนที่หล่อเลี้ยงต้นไม้ เห็นโรงงานทำกระดาษ เห็นคนงานที่เหน็ดเหนื่อย และทุกสรรพสิ่งอันรวมเป็นเหตุปัจจัยก่อเกิดกระดาษแผ่นนี้ หรือเวลาที่เรารับประทานส้มเราจะเห็นสรรพสิ่งที่ก่อให้เกิดผลส้ม เห็นผลส้มในเรา เห็นเราในผลส้ม อะไรประมาณนี้

ผมกำลังจะบอกว่าติช นัท ฮันห์ ไม่ได้กำลังอธิบายศัพท์ธรรมะ ไม่ได้เสนอ “คำประดิษฐ์” แต่ชวนผู้คนให้มองลึกลงไปที่ความเป็นจริงของโลก ชวนเราไตร่ตรองถึงความเป็นไปของสรรพสิ่ง แน่นอนว่าเบื้องหลังชีวิตของติช นัท ฮันห์ ท่านเคยผ่านการต่อสู้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวในช่วงสงครามเวียดนาม และหนีตายออกไปต่างประเทศอย่างทุลักทุเล เคยมีประสบการณ์และซึมซับบาดแผล ความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมชาติ

เช่นเดียวกันเวลาเราอ่านงานของพระทิเบต เช่นทะไลลามะ ตรุงปะ รินโปเช เป็นต้น เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความโศกเศร้า ความพลิกแพลงซับซ้อนของอัตตาตัวตนของเราและความเป็นไปของโลกและชีวิต เราเห็นภาษาที่พูดถึงชีวิตและโลกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ดัดจริต มากกว่าที่จะเห็นคำประดิษฐ์เท่ห์ๆ หรือศัพท์แสงธรรมะหรูๆ ซึงเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไรกันแน่ เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตและโลกแห่งความเป็นจริง

การสอนพุทธศาสนาในบ้านเรานั้นเน้นการถ่ายทอด “ตัวบท” หรือชุดคำสอนสำเร็จรูปมากกว่าที่จะชวนให้เรามองชีวิตและโลกตามความเป็นจริงผ่าน concept ของหลักคิดหรือโลกทัศน์ ชีวทัศน์ทางพุทธศาสนา และการสอนแนวนี้ก็สอนจากสมมุติฐานที่ว่า ธรรมะเป็นของที่เข้าใจยาก (เพราะถ่ายทอดมาจากภาษาคัมภีร์ที่ต้องอาศัยผู้รู้เฉพาะทาง) ชาวบ้านไม่มีความรู้ธรรมะ คนรุ่นใหม่ห่างไกลวัด ห่างไกลศาสนา จึงต้องหาทางสอนให้คนเข้าใจง่ายๆ เช่น ประดิษฐ์คำอย่าง “มรรคง่าย” เป็นต้น หรือทำให้กิจกรรมการสอนธรรมะให้เป็น “กิจกรรมบันเทิง” ตลกขบขันอย่างที่นิยมทำกัน

แต่เมื่อนำธรรมะประดิษฐ์แนวอินเทรนด์ หรือธรรมะบันเทิงที่กำลังนิยมกันนี้ไปเปรียบเทียบกับรายการแสดงธรรมทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ หรือตามวัดทั่วๆ ไปที่แสนน่าเบื่อ ธรรมะอินเทรนด์ หรือธรรมะบันเทิงก็ดูจะเร้าใจกว่า โดนใจ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” มากกว่า จึงไม่แปลกที่ ว.วชิรเมธี จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระนักคิด” แห่งยุคสมัย เนาววัตน์ พงษ์ไพบูลย์ถึงขนาดยกย่องให้เป็น “ปราชญ์สายฟ้า” (คงแปลตามฉายา “วชิรเมธี”)

กระนั้นก็ตาม การสอนธรรมะที่เน้นการถ่ายทอดตัวบท หรือคำสอนสำเร็จรูปให้คนจำและนำไปปฏิบัติ ในแง่หนึ่งมันเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมนกแก้วนกขุนทอง” หรือวัฒนธรรมพึ่งพานักสอนธรรมที่ทำตัวเป็นผู้คิดแทน มากกว่าที่จะท้าทายให้คนคิด และที่คิดกันก็เน้นไปที่การคิดเรื่องตัวบทหรือตัวหลักคำสอนสำเร็จรูปเป็นข้อๆ เป็นชุดๆ เพื่อผลิตธรรมะ how to สู่ผู้บริโภค มากกว่าที่จะทำความเข้าใจโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบพุทธ แล้วใช้โลกทัศน์และชีวทัศน์นั้นมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เป็นจริงอย่างสร้างสรรค์ หรือมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นในเชิงเนื้อหาสาระจริงๆ

จะว่าไปแล้วการสอนพุทธศาสนาในบ้านเราก็ไม่ต่างอะไรกับการสอนประวัติศาสตร์แบบทางการนั่นแหละ เวลามีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กสมัยนี้คิดไม่เป็น มันก็ต้องย้อนถามว่าระบบการศึกษาของบ้านเรามีอะไรท้าทายให้เด็กคิดบ้าง การเรียนรู้สังคมการเมืองภายใต้ “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” ท้าทายให้ผู้เรียนตั้งคำถามอย่างรอบด้านไหมว่า ทำไมประวัติศาสตร์จึงมีแต่เรื่องราวของ “วีรกษัตริย์” ไพร่และทาสมีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมืองอย่างไรบ้าง มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ชวนอภิปรายถกเถียงอย่างรอบด้านไหมว่าทำไมจึงเกิดปฏิวัติ 2475 ทำไมจึงเกิดรัฐประหาร 2490 ให้ถกเถียงเกี่ยวกับ “ความจริงของปัญหา” 14 ตุลา 6 ตุลา อย่างถึงรากหรือไม่ แล้วประวัติศาสตร์พฤษภา 53 จะให้ลูกหลานจดจำว่าอย่างไร เป็นต้น

เมื่อพลเมืองเติบโตมาภายใต้ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการปลูกฝังทางศาสนาที่ไม่ท้าทายให้คนคิดเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีคนที่มีการศึกษาดี มีสถานะทางสังคมดี เป็นถึงสื่อมวลชนมืออาชีพในยุคสมัยของเราตั้งคำถามทำนองว่า “พระองค์ท่านไปทำอะไรให้พวกมึง?” ซึ่งคำถามทำนองนี้ น่าจะเป็นคำถามก่อนยุคปฏิวัติฝรั่งเศสหรืออังกฤษมากกว่า

สิ่งที่เราต้องการได้จากประวัติศาสตร์คือความจริง (แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ควรใกล้เคียงมากที่สุด) บทเรียนและแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ขึ้น ธรรมะก็เป็นเรื่องของความจริงของโลกและชีวิตที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้เข้าใจ มีความคิดเห็นถูกต้อง และดำเนินชีวิตอย่างมีค่า แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเพียงแต่เรียนรู้แค่ตัวบทหรือคำสอนสำเร็จรูป แล้วจะทำให้คนมีคุณธรรมจริยธรรม วิธีนี้อย่างมากก็ไปถึงแค่ธรรมประดิษฐ์คำ การท่องจำซาบซึ้งแบบนกแก้วนกขุนทอง

เวลาเผชิญวิกฤตของบ้านเมืองจริงๆ ธรรมะแบบนี้อย่างมากก็ช่วยได้แค่ให้ “ทำใจ” ไม่ได้ช่วยให้คน “เข้าใจ” ปัญหาที่เป็นจริง บางครั้งยังไปซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปอีก เช่นธรรมประดิษฐ์อย่าง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” เป็นต้น

พุทธศาสนาในบ้านเราเองก็มีการสร้างมายาคติอยู่หลายเรื่อง เช่น เราปฏิเสธเรื่อง “อัตตา” หรือ “ตัวกู-ของกู” แต่ดูเหมือนคนที่แสดงออกว่าเข้าใจเรื่องนี้ดี หรือเข้าถึง “ความเป็นอนัตตา” มักจะมีความโน้มอียงที่จะปลีกตัวจากความขัดแย้งของสังคม ปล่อยวางปัญหาสังคม หรือไม่ก็เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ก็เข้ามาในบทบาทของผู้ “ลอยตัว” เหนือปัญหา และผลิต “ธรรมะลอยนวล” (สำนวนของวิจักขณ์ พานิช) ประเภทอธิบายว่า ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายเป็นเรื่องของการยึดตัวกู พวกของกู เป็นเรื่องอคติ และความเกลียดชัง เป็นต้น

ต่างจากคนธรรมดาบางคนที่เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องการละอัตตา หรือตัวกู-ของกู แต่การกระทำของเขาแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม การปลดปล่อยอัตตา หรือการละลายตัวตนให้กลายเป็นเนื้อเดียวกับอุดมการณ์เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมของสังคม เช่น กรณี “คำ ผกา เปลือยกาย เปิดใจ ไม่เกลียดชัง” มีแต่คนที่เชื่อมั่นในความถูกต้อง ละลายตัวเองเพื่อให้เกิดความถูกต้องทางสังคม และไม่ให้ความสำคัญกับการมีตัวตนที่ต้องแบกรับคำเหยียดหยามประณามจากผู้คนที่ไม่เข้าใจเท่านั้น ถึงจะกล้าแสดงออกเช่นนี้ได้

แน่นอน อาจมองอีกด้านได้ว่า นั่นเป็นการแสดงตัวตนหรืออีโก้ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ เชื่อมั่นในตนเองสูงจนไม่แคร์สายตาใคร แต่ถ้าตัวตนหรืออีโก้เช่นนี้สะท้อนมโนสำนึกที่รักความยุติธรรม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคม ก็ยังนับว่ามีคุณค่ากว่าความไม่มีตัวตนที่ลอยตัวเหนือโลก เหนือปัญหาอยู่ดี 

แต่ไม่ว่าจะมองอย่างไรมันก็ไม่อาจมองได้ดังสื่อเครือผู้จัดการมอง เช่ นข้อความบนปกผู้จัดการข้างล่าง


เอามาให้ดู “คั่นรายการ” เพื่อให้เห็นว่าสื่อดังกล่าวป่วยหนักถึงขั้น “โค่ม่า” แล้ว เพราะความล้มเหลวของการปั่นเรื่อง “ล้มเจ้า” กว่า 5 ปี ที่ผ่านมา ข้อความบนปกแสดงให้เห็นว่าพวกเขาหลอกคนอื่นๆ และตนเองมานานจนตกอยู่ในสภาพ “หลอนตัวเอง” อย่างน่าตระหนก! 

เข้าเรื่องต่อ มันจึงทำให้ต้องย้อนกลับไปถามว่า คุณค่าของ “ความไม่มีตัวตน” แบบพุทธอยู่ตรงไหน โอเคว่า “จินตภาพ” ของคนที่ปล่อยวางตัวตนในบริบทสังคมเกษตรกรรมแบบโบราณเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว อาจเป็นจินตภาพที่น่าชื่นชม แต่ในสังคมการเมืองปัจจุบันที่วิถีชีวิตของปัจเจกแต่ละคนมีความสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกับระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อุดมการณ์รัฐ วัฒนธรรมทางความคิดความเชื่ออย่างแยกไม่ออกเช่นนี้ จินตภาพของบุคคลผู้ปล่อยวางตัวตนที่ถูกโปรโมทว่า สูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป อาจเป็นจินตภาพที่ถูกตั้งคำถามได้ว่า ควรเป็นจินตภาพที่เป็นแบบอย่างเชิงอุดมคติในการพัฒนาคนในโลกปัจจุบันหรือไม่?

พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ หากบุคคลผู้ซึ่งปล่อยวางตัวตนเป็นบุคคลที่ชาวพุทธยกย่องว่ามีจิตใจสูงส่ง มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนามากกว่าคนทั่วไป ทว่าบุคคลเช่นนี้มีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติที่จะลอยตัวเหนือปัญหา ไม่เอาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความมีเสรีภาพและมีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของคนมีกิเลส เป็นเรื่องของความยึดมั่นในตัวตน ถามว่า Character ของบุคคลผู้ปล่อยวางตัวตนเช่นนี้มีคุณค่าอะไรแก่สังคม ทำไมสังคมจึงควรยกย่องว่าคนเช่นนี้ดีเลิศกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพียงแค่ดูจากผลงานที่คนผู้มี Character เช่นนี้ “ผลิตคำสอน” ให้คนในสังคมพยายามพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่การมี Character แห่งความเป็นผู้ปล่อยวางตัวตนที่ลอยนวลเหนือปัญหาสังคมเหมือน “ตัวเขา” เท่านั้น

หรือหากจะพูดในทางกลับกัน การปล่อยวางตัวตนในความหมายดังกล่าวก็เป็นเพียงการสร้างตัวตนใหม่ที่เป็นมายาคติ คือ “ตัวตนของผู้ปล่อยวาง” ที่เชื่อว่าตนเองปล่อยวางทางโลก แต่กลับ “ยึดมั่นในความปล่อยวาง” นั้น

ยิ่งตัวตนของผู้ปล่อยวางพยายามสั่งสอนให้ชาวบ้านธรรมดาปล่อยวางตัวตนในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมมากเท่าใด และผู้ปล่อยวางตัวตนนั้นไม่กล้าแตะปัญหาที่แท้จริงของโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงมากเท่าใด จึงยิ่งทำให้เรามองเห็น “อัตตาใหญ่” ตัวตนใหญ่ของ “ผู้ปล่อยวางตัวตน” ลอยเด่นอยู่เหนือโลก หรืออยู่บนความมั่นคงของสถานะและชื่อเสียงเกียรติยศทางสังคมอย่างโดดเด่นเป็นสง่ามากเท่านั้น! 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกฟ้อง ‘สุกรี อาดำ’ กับเสียงจากปากเหยื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 11 Dec 2011 08:54 AM PST

เหยื่อซ้อมทรมาน – (จากขวาไปซ้าย) 
นายสุกรี อาดำ นายสักรี สาและ และนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เล่าประสบการณ์ของตัวเองระหว่างถูกควบคุมตัวเมื่อไม่นานมานี้ โดยบางคนถูกซ้อมทรมานจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

 

ในชายแดนใต้ ความสนใจของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวคงไม่พ้นในเรื่องคดีความมั่นคงกับการเคลื่อนไหวคัดค้านการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

การตัดสินคดีความมั่นคงล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ที่ศาลจังหวัดปัตตานี เมื่อศาลพิพากษาให้นายสุกรี อาดำ กับนายอาหามัดซากี กียะ พ้นผิดโดยการยกฟ้อง ในคดีฆ่าตัดคอนายจวน ทองประคำ ชาวบ้านไทยพุทธ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธ์ จังหวัดปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 ส่วนนายมูหามะ แวกะจิ จำเลยที่ 2 ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากมีพยานหลักฐานยืนยัน

นายสุกรี อาดำ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยตรง เขาถูกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว เช่นเดียวกับเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมอีกหลาย แต่บางคนไม่โชคดีเหมือนเขา เพราะเหลือเพียงร่างไร้ชีวิตที่ได้กลับบ้าน

วันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคนเข้าร่วมเป็นพัน

ในวงเสวนาหัวข้อ “เสียงสะท้อนจากเหยื่อ พรก.ฉุกเฉิน” สุกรี อาดัม พร้อมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างนายนิเซ๊ะ นิฮะ และนายสักรี สาและ ร่วมถ่านทอดประสบการณ์ มีเนื้อหาจากปากคำต่อคำดังนี้

0 0 0

สุกรี อาดำ

ต้องขอขอบคุณอัลลอฮ (พระเจ้าที่ชาวมุสลิมนับถือศรัทธา) ที่ให้ผมมีความอิสระ แม้ความอิสระของผมยังไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ผมถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 เป็นปีที่มีคนถูกควบคุมตัวจำนวนมาก ปีนั้นเป็นปีที่ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี

หลังจากนั้นผมไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศมาเลเซีย แล้วเอาประกาศนียบัตรไปสมัครสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเอกสอนชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

วันที่ถูกจับเป็นวันที่ผมกลับมาจากการทำค่ายภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ผมขับรถจากยะลาไปปัตตานี จากนั้นผมเดินทางกลับตามเส้นทางในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ช่วงเวลาหลังละหมาดฆักริบ (ละหมาดช่วงค่ำ) พอถึงใกล้บ้านที่ตำบลนาประดู่ เจอจุดตรวจ เจ้าหน้าที่ขอดูใบขับขี่

พอดีว่าใบพ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์หมดอายุ เจ้าหน้าที่จึงให้นำรถเข้าไปจอดในโรงพักนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ แล้วเจ้าหน้าที่ก็เอารูปถ่ายตัวผมเองให้ผมดู พร้อมแจ้งหมายควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็บอกผมว่า คุณถูกจับแล้วนะ เพราะมีคนซัดทอดคุณในคดีฆ่าตัดคอ

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวผมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ช่วงนั้นเวลาประมาณ 20.00 น.แล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปผมก่อน แล้วนำตัวผมเข้ายังห้องที่มีขนาดประมาณ 2 คูณ 2 เมตร ห้องนี้เป็นห้องที่สร้างขึ้นเพื่อที่จะซ้อมโดยเฉพาะ

จากนั้นมีชาย 2 คน มาบีบคอผม ทำให้ผมหายใจไม่ออก จนผมสลบไปที่เท้าของเจ้าหน้าที่ พอผมรู้สึกตัวเจ้าหน้าที่นำกระดาษหนึ่งแผ่น ให้ผมเซ็นชื่อ ด้วยความกลัวผมก็เซ็นชื่อลงไป ผมเห็นมีข้อความ 2 บรรทัด ผมขออ่านก่อน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผมอ่าน

จากนั้นเจ้าหน้าที่พาไปยังอีกห้องหนึ่งที่กว้าง 4 คูณ 4 เมตร ในห้องนี้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน มาล้อมผม เหมือนกับนักมวยจะมาซ้อมเตะกระสอบทราบ โดยมีเจ้าหน้าที่ 2 คนใน 10 คนนั้น ทำหน้าที่ปลอบใจให้ผมยอมรับสารภาพ

ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ถามมา ผมตอบไปก็โดนตี โดนเตะ ต่อยทั้งตัว คืนนั้นเจ้าหน้าที่ซ้อมผมประมาณ 2-3 ชั่วโมง ตอนนี้ก็ยังมีรอยแผลที่โดนซ้อมในคืนนั้นอยู่

นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ที่เอาเก้าอี้มาพาดที่หลังผม คืนนั้นตัวผมบอบช้ำมาก มีเลือดไหลออกมา เจ้าหน้าที่ให้ผมถอดเสื้อผ้าทั้งหมด ให้ผมเปลือยกายแล้วกางเกาของผมมาครอบหัว

เรื่องที่เล่ามาเป็นความจริง ผมขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮ

แล้วเจ้าหน้าที่ก็ดีดไข่ผม ถึงช่วงเที่ยงคืนตรง เจ้าหน้าที่ให้ผมหมอบลงบนพื้นแล้วขึ้นนั่งทับบนหลัง หยิกก้นผมไปด้วย เจ้าหน้าที่รู้ว่าผมเป็นครูและผมเคยเป็นนักศึกษา แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่เว้น

วันต่อมาเจ้าหน้าที่นำตัวผมเข้าไปในเต็นท์กลางแจ้ง ในเต็นท์อากาศร้อนมาก ผมเหงื่อออกทั้งตัว และเลือดยังไหลออกจากบริเวณแผ่นหลังผมมากขึ้น เพราะเสื้อที่ผมใส่เปียกเหงื่อ

จากนั้นเจ้าหน้าที่เผาเปลือกมะพร้าวทิ้งไว้ในเต็นท์ที่ผมอยู่ ทำให้มีควันจำนวนมาก แล้วเอาน้ำให้ผมดื่มและพูดกับผมว่า ตอนนี้สภาพมึงเหมือนหมา แล้วเอาน้ำสาดมาที่ตัวผมด้วย

จากนั้นได้นำตัวผมไปอีกห้องหนึ่งเพื่อที่จะถ่ายรูป ในระหว่างที่เดินอยู่ เจ้าหน้าที่ให้ผมกระโดดตบ พร้อมกับเตะที่หลังผมท่ามกลางคนจำนวนมาก

ถ่ายรูปเสร็จเจ้าหน้าที่ก็นำตัวผมไปอีกห้องหนึ่ง จากนั้นเอาถุงพลาสติกสีดำมาคลอบหัวผม พอผมเริ่มหายใจไม่ออก เอาถุงพลาสติกออก

เจ้าหน้าที่บอกผมว่า มีคนคนซัดถอดมาว่า ผมให้ความร่วมมือ มีหน้าที่ดูต้นทาง ผมถูกซ้อมอยู่ประมาณ 3 วัน เพื่อให้ผมยอมรับสารภาพ

หลังจาก 3 วัน ผมถูกย้ายไปอยู่อีกห้องหนึ่ง เป็นห้องมืด มีประตูเหล็กใหญ่ ในห้องเปิดไฟตลอดเวลา ผมไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นเวลาใด ในห้องมียุงมาก

เจ้าหน้าที่จะซักถามกลางคืน ตั้งแต่เวลา 21.00 – 00.00 น.ทุกๆคืนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อผมได้ยินเสียงเปิดประตู ผมก็รู้กลัวมาก ไม่รู้ว่าจะตอบคำถามเจ้าหน้าที่ว่าอย่างไรอีก

เจ้าหน้าที่ทำทุกวิธีเพื่อให้ผมยอมรับ เมื่อไม่สามารถทำด้วยวิธีรุนแรงก็จะใช้วิธีการปลอบใจ บอกผมว่า หากผมยอมรับเจ้าหน้าที่ก็จะปล่อยผมไป ผมไม่รู้เรื่อง แล้วผมจะยอมรับได้อย่างไร

จากนั้นเจ้าหน้าที่เอาบุคคลที่มีค่าตัว 5 แสนบาท มาอยู่กับผม ให้คนค่าตัว 5 แสนบาท จริงหรือเปล่าไม่รู้ มาหลอกให้ผมยอมรับสารภาพ

ผมอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่ได้ขอหมายขอขยายเวลาควบคุมตัว 3 ครั้ง พอครั้งที่ 4 พ่อแม่ผมและศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อคัดค้านการควบคุมตัวผมและเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบโดยกฎหมาย โดยใช้หลักฐานรูปถ่ายของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เข้าไปเยี่ยมผมขณะถูกควบคุมตัวในสัปดาห์ที่สอง ซึ่งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ถ่ายรูปแผ่นหลังและหัวผม ซึ่งมีรอยแผลจากการถูกซ้อมประกอบคำร้อง

ศูนย์ทนายความมุสลิม แจ้งต่อศาลว่า ผมถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในวันที่ไปศาลมีเจ้าหน้าที่ทหารไปด้วย เจ้าหน้าที่บอกว่าจะไม่ขอหมายต่ออายุควบคุมต่อไปอีกแล้ว โดยไม่ได้มีการไต่สวนว่า ผมถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว ส่วนตำรวจก็แจ้งข้อหาร่วมกันฆ่าคนตาย หลังจากนั้นผมก็ถูกดำเนินคดี

ในช่วงสืบพยาน เจ้าหน้าที่ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันแม้แต่น้อย มีเพียงแค่คนซัดถอด คนที่ซัดถอดผมเป็นคนที่ถูกจับก่อนหน้าผม และถูกซ้อมทรมานเหมือนกัน ตาของเขามีรอย ด้านหลังเขาโดนเผาด้วยไฟแช็ค

ในวันที่เกิดเหตุการณ์ ผมมีหลักฐานว่าผมสอนอยู่ที่โรงเรียน เพราะมีลายเซ็นการสอนทุกคาบและทุกชั้นที่ผมเข้าสอน ผมได้ออกจากคุกระหว่างการฝากขังด้วยการประกันตัวออกมา ผมโดน 2 คดี คือ คดีฆ่าตัดคอและคดีอั้งยี่ ซ่องโจร

ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี้แหละที่แม้ไม่มีพยานหลักฐานก็สามารถนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ผมประกันทั้ง 2 คดี ด้วยเงินประมาณ 1,600,000 บาท

 

สักรี สาและ
ถูกคุมตัวพร้อมอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของทหาร

ถ้าไม่เจอเองจะไม่รู้ ผมจะเล่าตั้งแต่ต้น เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมในวันพุธที่ 19 มีนาคม 2551 ความเจ็บปวดนี้ยังอยู่ในหัว ไม่ลืม ลองคิดดูว่า ถ้ามีคนมาทำร้ายพี่เรา น้องเรา พ่อเราต่อหน้า จะรู้สึกอย่างไร เรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกโต๊ะอิหม่าม 2 คน รวมทั้งผม เพื่อนและเพื่อนบ้านอีก 2 คน รวม 6 คนที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันในตอนเช้ามืด

วันนั้นผมนอนที่บ้านอิหม่ามยะผา ได้ยืนเสียงอาซานที่มัสยิดอื่น แต่ที่หมู่บ้าน บ้านของอิหม่ามอยู่ใกล้มัสยิด ตื่นมาจะละหมาด เห็นเต็มไปหมดแล้ว ล้อมบ้านอยู่ ไม่ต่ำ 300 คน ทั้งทหาร ตำรวจ พอออกจากบ้าน ก็ถูปืนมาจ่อแล้วสั่งให้หมอบบนถนน

ถึงตอนเช้าประมาณ 7 โมง เจ้าหน้าที่บอกว่า เชิญตัวไปโรงพักรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส อยู่ที่นั่นประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงประมาณ 10 โมงเช้า เจ้าหน้าที่ก็พาไปที่ตัวเมืองนราธิวาส เพื่อแถลงข่าว โดยที่เราไม่รู้เรื่องเลยว่า มันไม่ยุติธรรมเลย

เจ้าหน้าที่เตรียมสถานที่หนึ่ง มีท่อพีวีซี ในนั้นมีตะปูเรือใบ เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า นี่ไม่ใช่ของผม เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เป็นไร แล้วให้ถ่ายรูปกับท่อนั้น แล้วข่าวก็ออกว่า เป็นคนร้ายลอบวางระเบิด ออกโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ โดยพวกเรายังไม่รู้ว่าตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว

อยู่ที่นั่นประมาณครึ่งชั่วโมง ถ่ายรูปเสร็จ ได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่า จับคนร้ายได้พร้อมหลักฐานพร้อม จากนั้นก็กลับ ได้ยินเสียงอาซานละหมาดตอนเที่ยง เจ้าหน้าที่ก็พาไปที่หน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) 39 เข้าไปในฉก. แล้วขังอยู่ในรถขนผู้ต้องขังของตำรวจ เป็นกรงเหล็กอยู่ในนั้น 7 คน เพราะในรถมีอยู่แล้วคนหนึ่ง ชื่อซุลกุรนัย เขาโดนหนักมาแล้วทั้งคืน ถูกทุบ ถูกตี หัวแตก เลือดออก ที่แขนถูกกรีดกับมีดเห็นเนื้อแดงๆ ที่หัวเลือดออก ซักพัก ผู้คุมใน ฉก.ขึ้นมา ที่เห็นกับตาตัวเอง คือ เขาตีซุลกุรนัย เอาหัวโขกกับกรงเหล็ก

คืนแรกยังไม่มีอะไร ได้นอนหลับ นอนบนม้านั่งคนละตัว รุ่งขึ้นไม่มีอะไร มีญาติมาเยี่ยมแต่ดูได้ไกลๆ ไม่ให้คุย หลังจากละหมาดตอนค่ำเสร็จ เขาเรียกอิหม่ามไป ประมาณทุ่มครึ่งได้ยินเสียงตุ๊บตั๊บๆ หลายครั้ง ได้ยินเหมือนทุบสังกะสี มีทั้งนั้น แล้วก็ได้ยินเสียง “อัลเลาะห์ๆ โอ๊ะๆ” ถึง 4 ทุ่มครึ่ง นั่นรอบแรก แล้วเจ้าหน้าที่มาส่งขึ้นรถ ดูแล้วอาการหนัก แต่ในรถมืด ไม่มีไฟ ร้อนก็ร้อน

จากนั้นประมาณ 5 นาที ก็เอาตัวไปอีก ทหารที่เอาไปพูดว่า “มึงฆ่าเพื่อนกู” เตะไปด้วย เอาไปประมาณหนึ่งชั่วโมง ได้ยินเสียงทุบตีตลอด แล้วส่งกลับมาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง ถึงกับคลานขึ้นรถ ห่างจากนั้นอีก 5 นาทีสั่งให้ไปอีก ตอนนั้นไม่ไหวแล้ว ถึงกับคลาน เสื้อผ้าไม่มีแล้ว เปลือย คนสั่งให้ไปดูเหมือนจะเมา พูดเหมือนเดิม “มึงฆ่าเพื่อนกู” แล้วก็เตะไปด้วย

ผมเห็นก็ขอว่า พอแล้ว อิหม่ามไม่ไหวแล้ว แต่เขาหันมาเตะผมหลายครั้ง แต่ก็สั่งให้ไปอยู่ดี อิหม่ามจะลุกก็ต้องช่วยกันยกแล้ว ไม่ทันได้ลงจากรถไป ก็ถูกถีบตกรถ จากนั้นก็ดึงขาลากไป ได้ยินเสียงทุบตลอด ถึงประมาณตีสองกว่าๆ ก็ส่งตัวกลับมา แต่ยังมีอีกคนหนึ่งที่ถูกเอาตัวไปด้วย ยังไม่ส่งกลับมา ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า ถูกกระทำต่างๆนานา เช่น ถูกมัดขาแล้วห้อยหัวแล้วก็เตะ จากนั้นถูกเอาถุงครอบ ทำให้หายใจไม่ออก พอทำท่าจะสลบก็เอาออก ให้นั่งบนเก้าอี้แล้วถีบ

ส่วนอิหม่ามยะผา ตอนเช้า ช่วงที่ตะวันกำลังจะขึ้น อิหม่ามขอให้ช่วยนวดหน่อย บอกว่าเจ็บไปหมดแล้ว พอประมาณ 6 โมงครึ่ง มาดูอีกทีเห็นตาเหลือกและไม่รู้สึกตัว จึงให้ลูกคนหนึ่งให้มารองตัก ช่วงนั้นเห็นพระสงฆ์เดินผ่านมา จึงเรียกพระขอให้ช่วยเปิดประตูพาไปโรงพยาบาล แต่ก็ไม่สนใจและไม่มีใครสนใจด้วยในตอนนั้น แล้วก็เรียกผู้คุมให้มาดูด้วย เขาก็มาเปิดประตูมาจับดูแล้วก็ปิดประตู ไม่สนใจ จากนั้นอิหม่ามก็เสียชีวิต

เรื่องนี้ถ้าไม่เจอกับตัวเองไม่รู้ว่า ความเจ็บปวดเป็นอย่างไร ถ้าไม่เจ็บก็ไม่รู้ ตอนที่อิหม่ามถูกทุบตี ลูก 2 คนได้แต่สะอื้น เพราะทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ขอดูอาจากพระเจ้าทั้งคืน

อยากจะบอกว่า นี่คือผลจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่ชัดเจนอะไรเลย ก็โดนแล้ว ทรมานจนถึงตาย

 

นิเซ๊ะ นิฮะ 
อดีตนักกิจกรรมในช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535

ท่ามกลางความมืดมน จิตใจของเราคิดถึงการปกครองบนกฎหมายที่กดขี่ประชาชน แต่ด้วยความรับผิดชอบของเราทำให้เราได้มาเจอหน้ากันวันนี้ ผมได้ฟังจากวิทยากร 4 ท่านพูดนี้แล้ว ปัญหาของผมน้อยกว่ามาก

วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเล่าเรื่องให้ผู้ฟังเกิดความสงสารต่อผม แต่เป็นเวลาที่จะให้พวกเราช่วยกันคิดว่า เราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือ ตราบใดที่เรามีความรับผิดชอบต่ออัลลอฮ ตราบนั้นเราเป็นดังเสมือนคอลีฟะห์ (ผู้แทนหรือผู้สืบทอด) ที่จะให้มีการปกครองที่ยุติธรรมบนโลกใบนี้ แต่วันนี้เรายอมที่จะให้ความไม่ยุติธรรมมากดขี่เรา

วันนี้เราไม่สามารถป้องกันตัวเราเองได้ ที่สำคัญสำหรับวันนี้ เราต้องสร้างกระแสเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ ที่ผมกล้าที่เขียนข้อความคัดค้านพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากที่ควบคุมตัวบนกระดาษแผ่นนั้น เพราะไม่สามารถที่จะทนได้ยินเสียงคนในห้องข้างๆ ละหมาดซุฮรี(หลังเที่ยง) อ่านซูเราะห์(บท)อัลฟาติหะห์ดังมาก อีกห้องหนึ่งก็กำลังร้องให้ขณะขอดูอา(ขอพร)จากอัลลออฮ

ผมจึงคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือบุคคลนั้น ผมสงสารที่เขาต้องอ่านเสียงที่ดัง ผมยอมที่จะให้ผู้อื่นบอกว่า เราเป็นคนบ้า เพื่อที่จะไม่ยอมให้ความอยุติธรรมปรากฏบนพื้นแผ่นดินนี้ของเรา

ปกติเราดูอาต่ออัลลอฮในเวลาละหมาดอยู่แล้ว คือ การอ่านอายะห์(โองการ) หนึ่งในซูเราะห์อัลฟาติหะห์ ที่มีความหมายว่า  “ขอให้พระองค์ทรงแนะนำเส้นทางที่เที่ยงตรง”   

อะไรคือเส้นทางที่เที่ยงตรง ก็คือสิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธา ศาสดาและสยาย ได้ทำเป็นตัวอย่าง คือการยอมที่จะรักษาอามานะห์(ความรับผิดชอบ)ต่ออัลลอฮ เสมือนคอลีฟะห์ที่ปกครองด้วยความยุติธรรมบนหน้าแผ่นดิน

อะไรคือสิ่งที่บุคคลเหล่าได้กระทำ  สิ่งแรก คือ ความเสียสละ สิ่งนี้คนมุสลิมมลายูต้องวิพากษ์ตัวเองว่า เรามีความเสียสละหรือเปล่า โดยปกติเราให้คนอื่นเสียสละให้เรา เราขอความช่วยเหลือต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นต้น

เรายื่นมือช่วยเหลือคนอื่นมีหรือเปล่า วันนี้มีคนอื่นยื่นมือมาช่วยเหลือพี่น้องของเรา วันนี้เป็นเวลาที่เราต้องยื่นมือช่วยเหลือพี่น้องของเรา ไม่ใช่ยื่นมือให้คนอื่นมาช่วยเหลือเรา

ผมขอสนับสนุนพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม (ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้) วันนี้เราเสียสละเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนของเรา นี่เป็นปัญหาใหญ่ เราไม่มีความเสียสละเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนของเรา

ในหมู่บ้านเดียวกัน ชาวบ้านถูกควบคุมตัว แต่บ้านข้างๆ ไม่กล้าไปเยี่ยม ผมเคยเพื่อนกับคนติดยาเสพติด บนพื้นฐานความเป็นเพื่อน พวกเขาไม่เคยลืมความเป็นเพื่อน ผมเคยอยู่กับพวกคอมมิวนิสต์ บนพื้นฐานที่เป็นสหาย พวกเขาก็จะไม่ลืมความเป็นสหาย แต่เราเป็นคนมุสลิมที่นำคำว่า ความเป็นพี่น้องติดตัวมา เรามีความเอาใจใส่ต่อพี่น้องของเรามากน้อยแค่ไหน

สิ่งนี้สำคัญมาก วันนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาบอกโชคชะตาของเราให้คนอื่นฟังพร้อมกับร้องให้ แต่เป็นเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิของเรา สิ่งนี้ต้องการความเสียสละ เสียสละตัวของเรา เวลาและทรัพย์ของเรา แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่พอ หากเราจะรวมมือกับอัลลอฮ ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวันนี้  แต่สิ่งสำคัญมากที่สุดคือต้องมีบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ

ผมจะไม่ยอมให้ความไม่เป็นจริงเกิดขึ้นบนพื้นดินนี้และกับตัวผมเอง เพราะหากเจ้าหน้าที่ขอขยายเวลาควบคุมผมต่อไป ผมยอมที่อดอาหารจนตาย ณ วันนี้พวกเราเองขาดความกล้าหาญ แต่เรายอมรับตัวเองว่าเป็นคนที่มีความศรัทธาและยำเกรงต่ออัลลอฮ และเรายอมให้ความเลวมาปกครองบนพื้นแผ่นดินของเรา เรายอมให้เพื่อนๆของเราร้องไห้อยู่ในห้องข้างๆ

หลังจากนี้ผมมีเป้าหมายในใจผม ผมจะชักชวน 4 คนที่อยู่บนเวทีแห่งนี้ เป็นบุคคลแถวหน้าในการต่อสู้กับความอยุติธรรม อายมากที่ให้คนอื่นต้องมาสงสารเรา อายมากที่ให้คนอื่นวาดภาพเราเหมือนแพะ คนมุสลิมมลายูต้องเป็นเสือ

วันนี้ความของผมน้อยนิดเท่านั้น เจ้าหน้าที่ดูข้อมูลผมแปลก แปลกตรงที่ว่าผมขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้เข้าไปเรียน ไปขับเคลื่อนประชาชนในภาคอีสานไม่รู้กี่ที่

ผมบอกเจ้าหน้าที่ตรงๆว่า คนอิสลามไม่ใช่ปกป้องความอยุติธรรมแก่คนอิสลามอย่างเดียว คนที่ไม่ใช่คนอิสลาม คนอิสลามก็ต้องปกป้องเหมือกัน เพราะมุสลิมเป็นคอลีฟะห์ ต้องดูแลประชาติไม่เลือกว่าชนชาติอะไร และศาสนาอะไร ผมบอกอย่างนี้แก่เจ้าหน้าที่ เพราะที่มาทีไปของผมมันแปลกมาก

เจ้าหน้าที่ไปที่บ้านผมตอนตีห้าวันที่ 16 กันยายน 2554 ที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ที่3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ผมตื่นไปเข้าห้องน้ำ หลังจากทำภารกิจเสร็จแล้วมองไปข้างนอก เห็นทหารมาปิดล้อมบ้านหมดแล้ว

จากนั้นผมก็เปิดประตูห้องน้ำ แล้วให้สลามแก่เจ้าหน้าที่แล้วก็ถามว่า มีอะไรกับผมหรือเปล่า แต่เจ้าหน้าที่ไม่ตอบ ผมก็ถามต่อว่าคุณมีธุระกับผมหรือเปล่า จากนั้นมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเรียกให้ผมไปหา ผมก็ขอละหมาดก่อน เจ้าหน้าที่อนุญาต

เมื่อผมละหมาดเสร็จก็เปลี่ยนเสื้อผ้า เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าตรวจค้นในบ้านของผม แต่ผมบอกว่าเดี๋ยวก่อน หากคนขึ้นมาหลายๆคน ผมไม่สามารถจะควบคุมได้ เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวแทนขึ้นไปตรวจค้น ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ว่า จับผมเรื่องอะไร ผมขอดูหมายได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็เอาหนังสือให้ดูบอกว่า ใช้อำนาจกฎอัยการศึก แต่เกี่ยวกับคดีอะไรนั้น เจ้าหน้าที่ไม่บอก

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำผมไปที่ ฉก.(หน่วยเฉพาะกิจ) แต่ทหารที่ฉก.ปฎิเสธว่า ไม่รู้เรื่องใดๆ ทหารในหน่วยฉก.ที่หมู่บ้านผมเป็นโคราช ผมบอกกับฉก.ว่า ผมเคยไปอยู่โคราชเป็นปีๆ ผมมีพ่อเลี้ยงที่โคราช มีตำแหน่งสูงกว่าคุณเสียอีก คนโคราชที่ผมไปช่วยเหลือนั้น อาจเป็นคุณยายของคุณก็ได้ ทหารที่ฉก.ก็บอกว่า ผมไม่รู้เรื่องไม่รับรู้เรื่องที่จับตัวผมมา เพราะเป็นหน่วยของแม่ทัพ

หลังจากเขียนประวัติที่ฉก. แล้วเจ้าหน้าที่ก็พาไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เข้าไปที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ซักถามผม เรื่องคดีฆ่าคน บอกว่าผมเป็นคนยิงคนในเขตเมืองปัตตานี ผมบอกว่า ถ้าอย่างนั้นคุณเอาพยานหลักฐานมาว่าอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่บอกว่า มีคนซัดทอด ถ้าอย่างนั้นคุณเอาคนซัดทอดมาเจอผม

เจ้าหน้าที่ก็บอกอีกว่า ผมเป็นคนวางแผนวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมตกใจมาก แต่สุดท้าย เจ้าหน้าที่บอกว่า น่าจะเป็นผู้ปฎิบัติการในจังหวัดปัตตานี น่าจะเป็นผู้ประสานงานปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้นผมบอกว่า ถ้าคุณซักถามโดยไม่มีข้อมูลอย่างนี้ ผมจะไม่คำตอบใดๆทั้งสิ้น หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่บอกว่า ทางค่ายอิงคยุทธบริหารบอกว่าคุณไม่มีอะไร เราจะส่งคุณกลับบ้าน

ขณะที่จะส่งผมกลับบ้าน ก็มีทหารชุดคุ้มครองจากปากาฮารังและทหารจากอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มาควบคุมตัวผมไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ เจ้าหน้าที่ก็ซักถามผมเหมือนเดิม ผมบอกเจ้าหน้าที่ว่า หากยังซักถามเหมือนเดิม ก็ให้ไปเอาคำตอบที่ผมให้กับทหาร ปรากฏว่าทหารไม่ให้ข้อมูลกับตำรวจ

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำภาพต่างๆ มาให้ผมดู แล้วก็ถามผมว่า คุณเคยติดต่อกับคนที่อยู่ในรูปภาพหรือเปล่า ผมบอกคำเดียวว่า หากผมจะถูกทรมานบนแผ่นดินนี้ หรือในคุกแห่งนี้ ที่มีกฎหมายที่ฟิตนะห์(ใส่ร้ายป้ายสี) ผมยอม แต่คุณไม่สามารถที่จะขังจิตวิญญาณผมได้ ผมยืนยันอย่างนั้น คุณจะเอาตัวผมไปขังได้ แต่คุณไม่สามารถขังจิตวิญญาณของผมได้

ที่ศูนย์พิทักษ์สันติก็มีเจ้าหน้าที่ที่ดีๆ เราต้องยกย่องเขาเหมือนกัน เจ้าหน้าที่บอกว่า หนูไม่รู้จะซักพี่อะไรดี ผมสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งจะยืนขอขยายเวลาควบคุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่ที่ซักถาม บอกว่าไม่รู้ว่าจะซักถามอย่างไรดี มันเป็นเรื่องแปลก

เราต้องคิดเสมอว่า ผู้ที่จะปกป้องความจริงต้องมีความเสียสละอย่างสูง ต้องมูญาหาดะห์ (ปฏิบัติในสิ่งเรียนรู้)

วันที่ดีอย่างวันนี้ วันแรกที่เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อประชาชนของเรา เพื่อปกป้องความชั่วร้ายต่างๆ บนแผ่นดินนี้ การร่วมเป็นหนึ่งเดียวของเรานั้น ไม่ใช่จะไปกดขี่คนอื่น แต่เพื่อปกป้องสิทธิต่างๆของเรา แต่ต้องร่วมมือกัน

 หากวันนี้เรากลับบ้านไปโดยที่เราไม่ได้ทำอะไร แสดงว่า เรายอมที่จะให้สิ่งที่ชั่วร้ายปรากฏบนแผ่นดินของเรา แสดงว่าเรายอมให้มีกฎหมายที่กดขี่พี่น้องของเรา หลังจากนี้ผมจะเป็นอย่างไรผมขึ้นอยู่กับอัลลอฮ

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
ผมเคยโดยหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าพี่น้องเคยได้ยินเรื่อง 7 มือระเบิดฆ่าจ่าเพียง ผมคือหนึ่งในนั้น ผมจะเล่าก่อนที่ผมจะออกมาเสียสละตัวเองอย่างนี้ว่า ตอนผมเรียนมัธยม เคยดูเรื่องเหตุการณ์ที่บ้านกูจิงลือปะ ชาวบ้านโดนหมาย พอผมเรียนปี 1 ผมทำกิจกรรมด้วย ผมขึ้นไปกรุงเทพบ่อยมาก เคยออกข่าวกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงหนึ่ง

วันหนึ่งผมอยู่ที่ร้านอาหารที่สงขลา มีเจ้าหน้าที่มาเชิญผมไปซักถาม เจ้าหน้าที่บอกว่าคุณมีหมายจับอยู่ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ผมจำได้ว่า ผมไม่เคยไปอำเภอบังนังสตา เพื่อความแน่ใจ ผมก็ถามพ่อผมว่า ตอนผมเป็นเด็กๆผมเคยไปหรือเปล่าที่อำเภอบันนังสตา พ่อผมบอกว่า พ่อเองก็ไม่เคยไป

เจ้าหน้าที่พาผมไปที่ยะลา แล้วเอารูปภาพต่างๆ ให้ผมดู ถามว่ารู้จักคนในรูปหรือเปล่า ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ว่า ตกลงผมโดนข้อหาอะไร เจ้าหน้าที่ตอบว่าฆ่าจ่าเพียร ผมก็ถามต่อว่า จ่าเพียรตายวันไหน เจ้าหน้าที่ตอบว่า 10 มีนาคม 2553 ผมนึกได้ว่า วันที่ 10 - 12 มีนาคม 2553 ผมอบรมเรื่องโรงเรียนสันติภาพของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดภาคใต้ ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวัดสงขลา แต่เจ้าหน้าที่ออกข่าวไปแล้วว่ามีชื่อผมเกี่ยวข้องกับคดีฆ่าจ่าเพียร

ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เคยไปที่อำเภอบันนังสตา และผมเป็นนักศึกษาที่เรียนด้านรัฐศาสตร์ พอโดนอย่างนี้ ผมรู้สึกว่าอยากจะต่อต้านรัฐด้วยทันที การที่รัฐยังบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจส่งผลให้รัฐสร้างผู้บริสุทธิ์ให้กลายเป็นผู้ต่อต้านรัฐอย่างถาวร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

Posted: 11 Dec 2011 08:36 AM PST

เว็บไซต์ BungarayaNews รายงานว่า เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่บังคับใช้ต่อเนื่องมานานกว่า 7 ปี โดยเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมจำหน่ายโปสการ์ดสันติภาพ หรือ Post Peace To UN ให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเขียนข้อความคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ส่งถึงองค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนโลก

ข้อความในโปสการ์ดระบุว่า "ร่วมกันสร้างสันติภาพชายแดนใต้ โดยการร่วมคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ด้วยการส่งจดหมายสันติภาพ (โปสการ์ดคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน) อีกทั้งสามารถเขียนข้อความลงในโปสการ์ดนี้ ถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR) หัวหน้าหน่วยงานนาย โฮมายูน อลิซาเด ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ มีการจัดกิจกรรมการเล่นฟุตบอล หรือ “เตะ พรก.” คาราวานรถโบราณ “ขับไล่ พรก.ฉุกเฉิน” ขับเคลื่อนสู่สันติภาพ และเวทีเสวนา “เวทีสาธารณะ : วาระประชาชนยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน” ซึ่งประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

ส่วนกิจกรรมเขียนโปสการ์ดส่งถึงองค์การสหประชาชาติ เครือข่ายฯ ได้เดินทางไปในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยเริ่มต้นที่ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี หน้ามัสยิดกลางปัตตานี และห้างบิ๊กซี ปัตตานี รายงานข่าวกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนขบวนหรือไปรษณีย์เคลื่อนที่ไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, ที่ถนนคนเดิน ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมัสยิดกลาง จ.ยะลา อีกด้วย

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

สำหรับโปสการ์ดจำหน่ายในราคา 20 บาท ซึ่งรายได้ เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะนำไปสมทบทุนการทำกิจกรรมคัดค้าน พรก.ฉุกเฉินต่อไป

นอกจากนี้ เครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เปิดเฟซบุ๊ค ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายดังกล่าว โดยส่งถ่ายภาพมายังเฟซบุ๊ค ชื่อ “SAY NO : EMERGENCY DECREE | เครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” และใช้การชูหัวแม่มือและกำมือในลักษณะคว่ำมือชี้หัวแม่มือลงพื้น เป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงการปฏิเสธ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีประชาชนสนใจส่งภาพเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แนวร่วมนิสิต-นักศึกษา รวมพลังเดินสายค้าน ‘ม.นอกระบบ’

Posted: 11 Dec 2011 07:32 AM PST

กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เดินสายรณรงค์ใน “ม.ขอนแก่น” แสดงจุดยืนไม่ให้ “มหาวิทยาลัย” กลายเป็น “บริษัท มหาวิทยาลัย จำกัด” เผยอยากมีชีวิตที่สวยงามในมหาวิทยาลัยที่รับใช้ประชาชน

 
 
วันนี้ (11 ธ.ค.54) กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายนักศึกษาจาก 11 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 80 คน รวมพลังแสดงจุดยืนคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยเคลื่อนขบวนไปที่ตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อส่งสารถึงอธิการบดีฯ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันการศึกษาของรัฐ ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ)
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าตึกอธิการบดีฯ กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ ได้นำป้ายผ้ามาปูเพื่อเปิดให้นักศึกษาเขียนข้อความส่งถึงอธิการบดีฯ และให้กำลังใจกลุ่มเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาเครื่องไหวในเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อีกทั้งมีการพับจรวดกระดาษเพื่อเป็นการทวงถามถึงการเดินทางมายื่นหนังสือต่ออธิการบดีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าเสียงของเหล่านักศึกษาจะดังไปถึงอธิการบดีฯ หรือไม่ อย่างไรก็ตามในวันนี้เป็นวันหยุดของมหาวิทยาลัย จึงไม่มีการออกมารับข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ
 
 
จากนั้น กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ ได้นำป้ายผ้าที่เขียนเสร็จเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์อาหารและบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ข้อมูลกับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้ในรับทราบถึงจุดยืนของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนต่อไปยังบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำการติดป้ายผ้า “หยุด บริษัท ม.ขอนแก่น จำกัด” ที่ป้ายมหาวิทยาลัย พร้อมติดสติ๊กเกอร์สีชมพูไว้ที่ป้ายมหาวิทยาลัยด้วย
 
 
นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว หนึ่งในกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ กล่าวว่า การติดสติ๊กเกอร์สีชมพูนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเรามีความคาดหวังในการเรียนรู้และมีชีวิตที่สวยงามในมหาวิทยาลัยที่รับใช้ประชาชน เราอยากมองโลกที่สดใส แม้ในตอนนี้จะยังทำอะไรไม่ได้มากมาย แต่สิ่งที่ทำได้คือการออกมาร่วมกันทำกิจกรรมตรงนี้เพื่อแสดงพลัง
 
 
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการออกมาร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า ส่วนตัวเขาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาตั้งแต่ปี 2551 และถึงปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นจริงตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เช่นในเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นมาก ขณะที่สภาพแวดล้อมทางการศึกษากลับไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนมากขึ้นกว่าเดิมดังที่เคยมีการกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นยังพบว่าการกำหนดนโยบายและอัตราค่าจ้างของมหาวิทยาลัยก็ไปขึ้นกับสภามหาวิทยาลัยที่มีองค์ประกอบเป็นคนคณะอาจารย์และบุคคลภายนอก โดยมีอธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
 
จากกรณีตัวอย่างที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพานำมาบอกเล่าให้กับเพื่อนในเครือข่ายถึงการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัยบูรพา ยังระบุถึงการตั้งบริษัทของมหาวิทยาลัยเพื่อนำเงินมาใช้บริหารจัดการ ทำให้เกิดเป็นคำถามต่ออุดมการณ์ที่แท้จริงของสถาบันการศึกษา  
 
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวในวันนี้เป็นกิจกรรมต่อจาก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้เข้ายื่นหนังสือระบุข้อเรียกร้องต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (คลิกอ่าน) ซึ่งเมื่อครบกำหนด 7 วัน ตามที่ระบุไว้ภายในหนังสือข้อเรียกร้อง ทางเครือข่ายคงต้องออกมาทำกิจกรรมกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในส่วนของเพื่อนกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาฯ ได้มีการพูดคุยกันว่า หลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยต่อไปคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะมีการกระจายข่าวสารผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ในเฟซบุ๊ก  
 
ทั้งนี้ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เขียนชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกรณีไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษาในท้ายข่าวดังกล่าวของเว็บไซต์ประชาไท
 
“ผมได้ชี้แจงประเด็นคำถามที่นักศึกษาถามทุกคำถามจนนักศึกษาที่มาไม่มีประเด็นจะสอบถามเพิ่มเติมแล้วจึงได้เดินทางกลับ การที่ผมไม่เซ็นรับเอกสารเพราะไม่ใช่หน้าที่ของผม แม้หนังสือจากรัฐบาลที่ส่งมาก็มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แล้ว และผมก็ได้ชี้แจงแล้วว่าคนที่จะรับจดหมายคือกองกลาง สำนักงานอธิการบดี” คำชี้แจงระบุ
 
อนึ่ง กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประกอบด้วยเครือข่ายจาก 11 มหาวิทยาลัย ดังนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยมหิดล 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สตรีจากเยเมน-ไลบีเรีย ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

Posted: 11 Dec 2011 02:45 AM PST

เอลเลน จอห์นสัน เซอลีฟ ประธานาธิบดีไลบิเรีย เลย์มาห์ จโบวี นักกิจกรรมจากไลบีเรีย และ ทาวากุล คาร์มาน นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวจากเยเมน ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2011  ในฐานะผู้ที่ต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี

10 ธ.ค. 2011 - สตรีสามท่านจากประเทศไลบิเรียและเยเมน ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2011 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในฐานะผู้ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรม เผด็จการและความรุนแรงต่อเพศ

สตรี ทั้งสามรายได้แก่ เอลเลน จอห์นสัน เซอลีฟ ประธานาธิบดีไลบิเรีย เลย์มาห์ จโบวี นักกิจกรรมจากไลบีเรีย และ ทาวากุล คาร์มาน นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวจากเยเมน ทั้งหมดเข้ารับประกาศนียบัตรและเหรียญตราที่ศาลากลางกรุงออสโลเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ทอบเจิร์น แจ็กแลนด์ ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่า สตรีทั้งสามท่านนี้เป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยทั้งไปและสิทธิสตรี โดยเฉพาะในแง่ของสันติภาพและความเท่าเทียมกัน

แจ็กแลนด์บอกอีกว่า รางวัลนี้เป็นเสมือนคำเตือนต่อเหล่าเผด็จการในประเทศต่างๆ อย่างเยเมนและซีเรีย ว่าเวลาของพวกเขาเหลืออยู่ไม่มากแล้ว

"ผู้นำในเยเมนและซีเรีบที่สังหารประชาชนเพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ ควรจะจำใช่ใจเสมอว่า มนุษย์เราต่อสู้ใฝ่หาสิทธิและเสรีภาพอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง" แจ็กแลนด์กล่าวก่อนมอบรางวัลให้กับสตรีทั้งสาม "ในระยะยาวแล้ว ไม่มีเผด็จการคนใดสามารถหลบพ้นสายลมแห่งประวัติศาสตร์นี้ได้ มันคือสายลมที่นำพาผู้คนให้ปีนขึ้นไปบนกำแพงเบอร์ลินและพังมันลงมา ซึ่งสายลมในตอนนี้กำลังโหมพัดอยู่ในโลกอาหรับ"

"ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลา ซาเลห์ ของเยเมน และ ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย จะไม่สามารถต้านทานความต้องการเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนจากประชาชนได้" แจ็กแลนด์กล่าว

โดย เลย์มาห์ จโบวี หนึ่งในสตรีผู้เข้ารับรางวัลเป็นผู้ที่เคยจัดตั้งกลุ่มสตรีมุสลิมและคริสเตียนในการต่อสู้กับผู้นำทหารของไลบิเรีย และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเหล่าสตรีจากต่างเชื้อชาติและศาสนาจนทำให้สงครามที่ยาวนานในไลบิเรียจบลง และทำให้ผู้หญิงมีส่วนในการเลือกตั้ง

ขณะที่ทาวากุล คาร์มาน เป็นนักข่าวและนักกิจกรรมจากเยเมน เป็นประธานองค์กรนักข่าวสตรีไร้โซตรวน (Women Journalists Without Chains - WJWC) ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าจัดตั้งขึ้นในปี 2005 เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ยังเคยมีประวัติเป็นผู้นำการประท้วงรัฐบาลและจัดตั้งกลุ่มนักศึกษาประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี อาลี อับดุลลา ซาเลห์ อีกด้วย


ที่มา

Three women receive Nobel Peace Prize, 10-12-2011, Aljazeera
http://www.aljazeera.com/news/europe/2011/12/20111210124833713349.html

Profile: Tawakul Karman
Profile: Leymah Gbowee 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตั้งกองทุนล่าหมื่นรายชื่อเสนอพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร

Posted: 11 Dec 2011 02:39 AM PST

เปิดเวทีขับเคลื่อนกระจายอำนาจ ตั้งกองทุนล่าหมื่นรายชื่อ เสนอร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร ทยอยเดินสายให้ความรู้เรื่องการเมืองการปกครองชายแดนใต้

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม 2554 ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และสถาบันพระปกเกล้าจัดเวทีสาธารณะเรื่องปัตตานีมหานคร: ประชาชนจะได้อะไร โดยมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมประมาณ 800 คน

ในเวทีมีการบรรยายหัวข้อ สิทธิทางการเมืองและการปกครองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 โดยนายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงการขับเคลื่อนปัตตานีมหานครกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ โดยพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และหัวข้อ เปิดร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร โดยนายอุดม ปัตนวงศ์ นายอับดุลการีม อิสมาแอล และนายนายสมชาย กุลคีรีรัตนา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาษามลายูท้องถิ่น

นอกจากนี้ในเวทียังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ปัตตานีมหานคร โดยเปิดรับบริจาคจากผู้เข้าร่วม

มันโซร์ สาและ

 

นายมันโซร์ เปิดเผยว่า ร้อยละ 90 ของผู้เข้าร่วมในวันนี้ เป็นผู้ฟังวิทยุชุมชน คลื่นอสมท.ยะลา เอฟเอ็ม 102.50 MHz ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ในรายการหน้าต่างสังคม ที่สามารถกระจายไปได้ไกลถึงประเทศมาเลเซีย และเป็นรายการที่ตนจัดรายการมาเป็นระยะเวลาราว 10 ปี แสดงให้เห็นว่าประชาชนตอบรับเรื่องการเมืองมากขึ้น

นายมันโซร์ เปิดเผยอีกว่า หลังสิ้นสุดเวทีสาธารณะครั้งนี้ จะเริ่มล่ารายชื่อให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปัตตานีมหานคร พ.ศ...... เข้าสู่สภา โดยจะล่ารายชื่อผ่านการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีได้เห็นข้อดีและข้อเสียของการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบปัตตานีมหานคร

นายมันโซร์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้จะมีการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงการเมืองยุติธรรม คือการเมืองที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ต่อต้านระบบเครือญาติ โดยการสร้างจิตสำนึก ผ่านเวทีสาธารณะหรือผ่านรายการวิทยุชุมชน รวมถึงจะเน้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดจิตสำนึกรักการอ่านทั้งภาษาไทย และภาษามลายู ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนประมาณ 30-40 หน้า

นายมันโซร์ กล่าวว่า การที่มีผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้มีเกินกว่าจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนในพื้นที่ มีการแสดงความเห็นต่อรูปแบบการเมืองการปกครองรูปแบบปัตตานีมหานครกันอย่างกว้างขวาง ส่วน กลุ่มสตรีในจังหวัดนราธิวาสแจ้งโทรศัพท์ว่า ไม่สามารถเดินทางมาร่วมในเวทีสาธารณะครั้งนี้ได้ จึงต้องการให้มีการจัดเวทีในอีกหลายพื้นที่ด้วย เช่น ในโรงเรียนหรือชุมชน

นายมันโซร์ กล่าวอีกว่า แม้กลุ่มเป้าหมายในการจัดเวทีครั้งนี้ คือ ประชาชนทั่วไปและนักศึกษาจากหลายสถาบัน แต่มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีมาเข้าร่วมด้วย โดยการชักชวนของครู แสดงให้เห็นถึงการให้ความรู้เรื่องปัตตานีมหานครสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น

นายมันโซร์ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนเงินที่ได้รับจากการบริจาควันนี้ ได้ยอดรวมทั้งสิ้น 8,078 บาท ซึ่งจะนำเงินเหล่านี้ไปเป็นกองทุนเพื่อการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ปัตตานีมหานคร แม้ว่าเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวและพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยประชาชนที่ไม่ต้องรองบประมาณจากหน่วยงานรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฮิลลารี่ปราศรัย การปิดกั้นอินเตอร์เน็ตกระทบด้านการค้า

Posted: 11 Dec 2011 02:28 AM PST

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ฮิลลารี่ คลินตัน และเหล่าผู้นำนานาชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมเรื่องเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตที่ได้รับการสนับสนุนจากกูเกิ้ลและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ มีการเรียกร้องให้บริษัทเอกชนและรัฐบาลประเทศต่างๆ ต่อต้านการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการและแม้กระทั่งในประเทศประชาธิปไตยบางแห่ง
 
ฮิลลารี่เตือนว่าการจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้น ไม่เพียงแค่เป็นการคุกคามเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางด้านการค้าที่ต้องอาศัยการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารด้วย
 
"เมื่อความคิดเห็นถูกปิดกั้น ข้อมูลข่าวสารถูกลบ การสนทนาถูกบีบ ประชาชนก็จำกัดการตัดสินใจของตัวเอง อินเตอร์เน็ตก็จะเสื่อมถอยลงสำหรับพวกเราทั้งหมด" ฮิลลารี่กล่าว
 
โดยฮิลลารี่ได้กล่าวยกตัวอย่างประเทศเผด็จการบางประเทศที่บางครั้งก็อาศัยความร่วมมือจากบรรษัทต่างชาติในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเช่นใน ซีเรีย, อิหร่าน, จีน และรัสเซีย แต่ในตอนนี้แม้กระทั่งประเทศประชาธิปไตยบางประเทศก็เริ่มปิดกั้นข่าวสารมากขึ้น เป็นการย้ำถึงความซับซ้อนในการควบคุมส่วนสำคัญของชีวิตในโลกสมัยใหม่
 
"เหลือเวลาอีก 2 วัน ก็จะถึงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่พวกเราจะเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนโลก ซึ่งเป็นวันที่มีการรับรอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) และ 63 ปีหลังจากนั้น ทั้งโลกก็มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกที่ โดยไม่จำกัดว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน หรือพวกพวกเขาเป็นใคร และในวันนี้เมื่อผู้คนเริ่มหันมาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อกระทำสิ่งต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตพวกเขา พวกเราก็ต้องทำให้แน่ใจด้วยว่าจะมีการเคารพสิทธิมนุษยชนในโลกออนไลน์เช่นเดียวกับในโลกออฟไลน์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือ สิทธิในการแสดงความเห็นของบุคคล การแสดงออกซึ่งความเชื่อของบุคคล สิทธิในการเรียกชุมนุมกับคนอื่นๆ เพื่อเรียกร้องทางการเมืองหรือเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งเหล่านี้คือสิทธิที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามควรได้รับ ไม่ว่าพวกเขาจะใช้สิทธินั้นในจัตุรัสกลางเมืองหรือในห้องแช็ทของอินเตอร์เน็ต จากที่พวกเราได้ปฏิบัติการร่วมกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วในการธำรงไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้ในโลกวัตถุจับต้องได้ สำหรับในศตวรรษนี้พวกเรายังควรต้องร่วมมือกันในการธำรงไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลายในโลกไซเบอร์ด้วย" ส่วนหนึ่งจากคำปราศรัยของฮิลลารี่
 
"อินเตอร์เน็ตจะไม่ซบเซาลงหรือแก่งแย่งแข่งขันกันสูง การใช้อินเตอร์เน็ตของดิฉันไม่ได้ลดการใช้อินเตอร์เน็ตของพวกคุณ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งมีผู้คนเข้ามาในโลกออนไลน์และแลกเปลี่ยนความคิดกันมากขึ้นเท่าใด ระบบเครือข่ายนี้ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้รายอื่นๆ มากยิ่งขึ้น ในทางนี้เองผู้ใช้ทั้งหมด ทำให้เกิดทางเลือกจากปัจเจกบุคคลเป็นหลายพันล้านตัวเลือก เลือกว่าพวกเราจะค้นหาหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลใดๆ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใด ทำให้การถกเถียงสาธารณะมีชีวิตชีวา ดับความกระหายให้แก่ผู้ใคร่รู้ และเชื่อมต่อผู้คนในแง่ที่ระยะทางและรายจ่ายไม่สามารถกระทำได้ในยุคที่ผ่านมา" ฮิลลารี่กล่าว
 
อูริ โรเซนธาล รมต.ต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ กล่าวหลังจากการประชุมว่า มีประเทศเริ่มพยายามออกกฏและควบคุมอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ การบล็อกเว็บไซต์ การกรองข้อมูลอินเตอร์เน็ต การควบคุมเนื้อหาและบล็อกเอกร์นั้นถือเป็นเรื่องอาจยอมรับได้
 
โดยเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. คณะกรรมาธิการด้านโทรคมนาคมของเกาหลีใต้บอกว่าพวกเขาจะเริ่มตรวจสอบการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและโปรแกรมทางมือถือเมื่อกรองเนื้อหาที่ล่วงละเมิดหรือผิดศีลธรรม ทางการเกาหลีใต้บอกว่าจะมีการใช้ทีม 8 คนคอยสอดส่องเว็บดซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเป็นมาตรการต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ
 
ต่อมาในวันที่ 5 ธ.ค. รมต. โทรคมนาคมของอินเดียก็กล่าวคล้ายกันคือการที่พวกเขาจะพัฒนาวิธีการกรองข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตและนำเนื้อหาที่ล่วงละเมิดหรือทำให้เกิดความไม่สงบออก หลังจากที่ กูเกิ้ล, เฟสบุ๊ค, ยาฮู และไมโครซอฟท์ปฏิเสธที่จะทำตาม โดยประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหากับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น มีหนังสือและภาพยนตร์บางชิ้นถูกแบนหากผลงานชั้นนั้นมีการวิจารณ์นักการเมืองหรือนักธุรกิจรายสำคัญ หรือหากรัฐบาลรู้สึกว่าผลงานชั้นนั้นอาจละเมิดต่อศาสนา
 
"อินเดียสามารถคุยโวได้เวลาตนเองดำเนินตามแนวทางประชาธิปไตยเมื่อพวกเขาเทียบตัวเองกับจีน แต่ก็มีประเด็นเล็กและประเด็นใหญ่ๆ ที่ทำลายชื่อเสียงของพกวเขาในเรื่องนี้ได้" ศรี ศรีนิวสันต์ ศาตราจารย์ด้านสื่อดิจิตอลจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว "สิ่งที่แบ่งแยกคุณออกจากเผด็จการคือความเต็มใจในการอดทนต่อผู้ต่อต้าน การอนุญาตให้ประชาชนแสดงความเห็นและยอมรับฟัง"
 
เรียบเรียงจาก
 
Clinton Urges Countries Not to Stifle Online Voices, New York Times, 08-12-2011
http://www.nytimes.com/2011/12/09/world/at-hague-hillary-rodham-clinton-urges-countries-not-to-restrict-internet.html
 
Secretary of State Hillary Rodham Clinton at the Freedom Online Conference, Embassy of The United State (Thailand), 08-12-2011
http://bangkok.usembassy.gov/120811_secstate_internetfreedom.html
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วยการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของ ICCPR

Posted: 11 Dec 2011 02:18 AM PST

บทนำ
 
เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากในระยะประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตากใบ นโยบายการปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ รวมทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่างประเทศกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้นั้น มีคำถามที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันที่กระแสประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสำคัญอย่างยิ่ง  หากกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนไทยได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีช่องทางเลือกอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ผู้เสียหายจะสามารถพึ่งพาได้ ข้อเขียนสั้นๆนี้ จะกล่าวถึงการเสนอข้อร้องเรียนไปยังองค์กรสากลอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (the UN Human Rights Committee) ว่าเป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะเป็นที่พึ่งได้ในยามที่กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาและในยามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควรรวมถึงการดำรงอยู่ของกฎหมายที่รุนแรงเกินเหตุ (Draconian law) อย่างมาตรา 112
 
1.พิธีสารเลือกรับ คืออะไร
 
พิธีสารเลือกรับ ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Optional Protocol”  นั้นเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของสนธิสัญญา เป็นตราสารระหว่างประเทศที่เพิ่มเติมมาจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งก็เป็นสนธิสัญญาเหมือนกันและประเทศไทยก็เป็นภาคีด้วย แต่ในกรณีที่รัฐภาคีมิได้ปฏิบัติตาม ICCPR ก็มิได้มีผลที่จะให้ปัจเจกชนผู้เสียหายจากการที่สิทธิต่างๆที่ ICCPR รับรองซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เช่น สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair trial)   สิทธิที่จะห้ามมิให้ได้รับการเลือกปฏิบัติ สิทธิเสรีภาพในอันที่จะแสดงความคิดเห็น สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ICCPR จะรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานไว้ดีสักเพียงใดก็ตาม แต่หากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ประชาชนก็ไม่สามารถมีช่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ เนื่องจากประชาชนจะพึ่งพากระบวนการร้องเรียนที่เรียกว่า Individual complains ได้ก็ต่อเมื่อ รัฐเจ้าของสัญชาติของเอกชนผู้นั้นเป็นภาคีของพิธีสารเลือกรับ ฉบับแรก [1] ของ ICCPR เสียก่อน เนื่องจากปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับนี้เป็นผลให้ประชาชนคนไทยไม่อาจเสนอข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้
 
2.กลไกการทำงานของพิธีสารเลือกรับ
 
การที่เอกชน อย่างนาย ก. นาย ข. จะริเริ่มกระบวนการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้นั้นจะต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญที่สุดเสียก่อน เงื่อนไขที่ว่านี้ก็คือ เอกชนซึ่งเป็นผู้ร้องนั้นจะต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมภายในของประเทศของตนอย่างเสร็จสิ้นกระบวนความเสียก่อน [2] หลักกฎหมายระหว่างประเทศนี้เรียกว่า “Exhausted local remedies rule”  หมายความว่า เอกชนผู้นั้นจะต้องดำเนินการมาตรการทางกฎหมายเพื่อที่จะได้รับความเป็นธรรมหรือเยียวยาความเสียหายอย่างสุดเต็มความสามารถ หรือพึ่งพาช่องทางกระบวนการยุติธรรมทุกช่องทางที่มีอยู่แล้ว เช่น ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเยียวยาความเสียหายในสิทธิที่ตนเองถูกละเมิดได้หรือยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ดี หากเป็นเช่นนี้แล้ว เอกชนผู้นั้นจึงจะเริ่มกระบวนการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้ มีข้อสังเกตว่า ข้อร้องเรียนของเอกชนจำนวนไม่น้อยถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยกคำร้องเนื่องมาจากเหตุผลนี้ กล่าวคือ เอกชนผู้ร้องเรียนยังพึ่งพากระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายภายในของประเทศผู้ร้องเรียนยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนความ
 
เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติรับเรื่องไว้แล้วภายในเวลา 6 เดือน ข้อร้องเรียนจะมีลักษณะเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกชนกับรัฐ โดย ผู้แทนของรัฐจะส่งคำอธิบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเพื่อชี้แจ้งเกี่ยวกับข้อร้องเรียน [3] สำหรับผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะมีทนายแก้ต่างให้และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็จะเรียกให้ผู้แทนของรัฐมาชี้แจง โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจะฟังความทั้งสองฝ่าย เปิดโอกาสให้สองฝ่ายได้ชี้แจงจากนั้นจึงจะมีการสรุปความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในรูปของรายงาน
 
3.ผลบังคับของพิธีสารเลือกรับ
 
เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติรับเรื่องร้องเรียนแล้วและมีคำตัดสินให้เอกชนชนะข้อพิพาท คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็จะทำรายงานซึ่งในรายงานก็จะมีคำเสนอแนะให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรืออาจมีคำแนะนำให้รัฐภาคีแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับ ICCPR ก็ได้
 
4.ใครจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ
 
เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับิมเติมารเพิ่มเติมเติมมณ์ฎีกา หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้นฐานระหว่างประเของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็คือประชาชนคนไทย เราๆท่านๆ เพราะว่าการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับนี้จะเป็นการเปิดช่องทางอีกทางหนึ่งให้แก่ประชาชนคนไทยที่สิทธิเสรีภาพในเรื่องที่รับรองไว้ใน ICCPR ถูกละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม หรือกรณีที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับการตีความกฎหมายและการให้เหตุผลทางกฎหมายในคำพิพากษาของศาลที่ไม่สอดคล้องกับ ICCPR ผู้นั้นก็สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ ฉะนั้น การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเพิ่มเติมนี้จึงเท่ากับเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานระหว่างประเทศและเป็นการตรวจสอบการตีความและการให้เหตุผลทางกฎหมายของศาลไทย อีกด้วย
 
บทสรุป
 
การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของ ICCPR จะเป็นการเพิ่มทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนคนไทยที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่จะให้องค์กรสากลที่มีความน่าเชื่อถืออย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติพิจารณา การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของประเทศไทยช้าเท่าใด [4] ประชาชนก็จะมีสิทธิใช้ประโยชน์จากพิธีสารเลือกรับที่ว่านี้ช้าตามไปด้วย หากต้องการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ต้องรีบเร่งศึกษาพิธีสารเลือกรับนี้ ควบคู่ไปกับการศึกษาการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมหรือการทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 12 (3) หวังว่าสองอนุสัญญานี้พอจะเป็นความหวังสำหรับผู้ที่รักความยุติธรรม
 
 
[1]  First Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights
[2]  ดูมาตรา 2 ของพิธีสารเลือกรับ
[3]  ดูมาตรา 4 (2)
[4]  ปัจจุบันมีรัฐที่เป็นภาคีพิธีสารเลือกรับนี้จำนวน 114 ประเทศ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เหตุที่คนไทย...อ่อนอังกฤษ

Posted: 11 Dec 2011 02:07 AM PST

 
 
ผู้เขียนเคยนึกสงสัยว่าตนเองอุตส่าห์เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.5 จนจบปริญญาโทมาตั้ง 2 ใบ  แต่ทำไมภาษาอังกฤษจึงไม่ยอมแข็งกับเขาเสียที  เคยสรุปเอาเองว่าเป็นเพราะเราใช้มันน้อยไปกระมัง  ซึ่งก็คงจะจริง  เพราะในชีวิตประจำวัน    คนไทย(ส่วนใหญ่)มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษกันน้อยมาก  หรือแม้ยามที่โอกาสมาถึง  ก็มักพยายามหลีกเลี่ยงมัน     ดังหนังโฆษณาของสถาบันสอนภาษาที่ฉายภาพเด็กหนุ่มวิ่งหนีฝรั่งด้วยกลัวว่าจะต้องพูดภาษาอังกฤษกับเขา
 
เคยสงสัย(ต่อ)...ว่าทำไมคนไทยจึงกลัวที่จะต้องพูดกับฝรั่ง จำได้ว่ามีข่าวข้าราชการไทยไปร่วมประชุมระดับนานาชาติแล้วนั่งปิดปากเงียบ  แม้องค์ประชุมจะไม่ใช่ฝรั่ง  แต่เขาก็พูดอังกฤษกัน      ได้แต่หวังว่าที่ประชุมคงมีระบบล่าม  และไม่ทำให้ไทยเราเสียประโยชน์มากจนเกินไป
 
ข้อสงสัยมาได้รับการไขปริศนาเอาเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่านนายกรัฐมนตรีว่าสำเนียงภาษาอังกฤษของท่านใช้ไม่ได้อะไรประมาณนี้ โดยปราชญ์ที่นัยว่าพูดภาษาอังกฤษเก่งมากท่านหนึ่ง  การวิพากษ์นั้นจะเกิดเพราะความหวังดี หรือหวังดิสเครดิต ตามมุมมองของทั้งผู้ที่ “ชอบ” และ “ชัง”นั้น  ผู้เขียนไม่ขอนำมาเป็นประเด็น  เรื่องสำคัญคือ  ตัวผู้เขียนเองได้ค้นพบด้วยความตื่นเต้นถึง “ทัศนคติ” อันเป็นต้นเหตุให้คนไทยอ่อนภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาอื่นใดก็ตามเถิด  จากเหตุการณ์ครั้งนี้
 
ทัศนคติดังกล่าวก็คือ  การชอบ “จับผิด”คู่สนทนาว่าสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีแค่ไหน  มากกว่าที่จะฟังว่า เขาพูดว่าอย่างไร  ดังที่มีการตั้งข้อสังเกตุเอากับท่านนายกฯในครั้งนี้ นั่นแหละครับ
 
เมื่อตั้งต้นจะจับผิดกันเสียแล้ว  การสนทนาก็ย่อมกร่อยเป็นธรรมดา  และนำไปสู่การพูดคุยกันอย่างจำกัด  ที่พูดน้อยอยู่แล้วจึงน้อยหนักลงไปอีก  เข้าทำนองทำน้อยจะได้ผิดน้อย อะไรเทือกนั้น
 
เป็นพฤติกรรมที่คนไทย  discourage กันเอง  ทำให้ในภาพรวมพวกเราไม่ค่อยมีความกล้า ( courage) ที่จะพูด  ทักษะด้านนี้จึงหดหายลงเรื่อยๆ  ทั้งที่แต่ละคนก็เรียนภาษาอังกฤษในชั้นเรียนอย่างเป็นทางการ (formal education) คนละ 10-12 ปีกันแทบทั้งนั้น (นับจาก ป.5 จนจบปริญญาตรี)
 
ตัดภาพไปที่พม่ากับบังกลาเทศที่ผู้เขียนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอยู่เป็นประจำนั้น  โดยเฉลี่ย  ความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษของพวกเขาเหนือบ้านเรา  หลักฐานก็คือ  เราอาจพูดคุยกับพนักงานขับรถขององค์กร ไปจนถึง บุคลากรระดับปฏิบัติการและบริหารได้ด้วยภาษาอังกฤษอย่างค่อนข้างลื่นไหล  สนทนากัน “รู้เรื่อง” แม้จะภายใต้สำเนียงที่แปร่งหูสุดๆ
 
“แขก”นั้นพูดลิ้นรัว  ฟังไม่ง่าย  แต่ถ้าจับทางได้  ก็ O.K. ซิกาแร็ต
 
ส่วน “พม่า” ก็มี accent แบบพม่า  คือเสียงตัวสะกดไม่หนักหน่วง  เหมือนที่ตลกคาเฟ่ชอบนำเอาไปล้อชาวเขา (นั่นปะไร)
 
ถ้าไปนั่งอยู่ฝั่งพวกเขา  เขาคงคิดเหมือนกัน  ว่าคนไทยก็มี accent แบบ...ไทยไทย  !
 
แต่การติดต่อสื่อสารก็เป็นไปด้วยดี  รู้เรื่องทุกคราวไป  ไม่มีปัญหา
 
ใครเคยไปช้อปปิ้งที่สิงคโปร์  ย่อมทราบดีว่าคนสิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันโดยมีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน  จนมีผู้เรียกภาษาอังกฤษแบบนี้ว่า “Singlish”  ซึ่งก็คงมาจากคำว่า “Singapore” สนธิกับคำว่า “English” อะไรประมาณนี้
 
คนสิงคโปร์เองก็ไม่ได้รู้สึกเสียหายอะไร  กลับภูมิใจด้วยซ้ำในเอกลักษณ์ดังกล่าว  และก็เพราะการใช้ภาษาอังกฤษกันโดยแพร่หลาย ไม่รู้สึกเขินอายจนเป็นอุปสรรค  คนสิงคโปร์ทั่วประเทศก็พัฒนาภาษาอังกฤษของตนให้ดีขึ้นตามลำดับ (ด้วยว่าได้ฝึกทักษะกันทุกวัน)  จนปัจจุบัน  โครงสร้างประโยคดีขึ้นมาก  และสำเนียงก็เพี้ยนน้อยลง  ถ้าใครไม่เชื่อให้ลองฟังผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ช่อง Channel News Asia ของสิงคโปร์ดูเอาเองเองเถิด
 
ผู้เขียนใคร่เรียกร้องให้คนไทยหันมาใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น  กระทรวงศึกษาธิการอาจต้องคิดหาอุบายที่จะสร้างโอกาสให้พวกเราใช้ภาษาอังกฤษกันมากๆอย่างไรได้บ้าง  อีกเพียง 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558)   อาเซียนก็จะรวมเป็นชุมชนเศรษฐกิจเดียวกัน  (ASEAN Economic Community-AEC) แล้ว  อย่าว่าแต่ต้องรีบพัฒนาขีดความสามารถในหลายๆด้านอย่างรวดเร็ว (ซึ่งก็มีการพูดถึงกันน้อยมาก  ค่าที่มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่)         ขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าด้านอื่น
 
กล่าวสำหรับในแง่ “ทัศนคติ”   พวกเราควรเปลี่ยนการมองคนพูดภาษาอังกฤษเสียใหม่  จาก “พูดเก่งแค่ไหน”  มาเป็น “สาระที่พูดคืออะไร” โดยเน้นที่การสื่อสารกันเป็นหลัก
 
และต้องมีเมตตาต่อกันให้มากๆ...ในการพูดภาษาที่พวกเราไม่ถนัดนี้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

12 กองกำลังชาติพันธุ์พม่ารวมตัวตั้งกองทัพสหภาพ

Posted: 11 Dec 2011 01:58 AM PST

กองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า หารือในการประชุมสภาสหพันธรัฐชาติสหภาพพม่า หรือ UNFC เตรียมตั้งกองทัพสหภาพเพื่อเจรจากับรัฐบาลพม่า

เมื่อวันที่ 27-30 พ.ย. 54 ที่ผ่านมา สภาสหพันธรัฐชาติสหภาพพม่า (UNFC – United Nationalities Federal Council) อันเป็นสภาร่วมของ 12 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าได้จัดประชุมที่สถานที่แห่งหนึ่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 24 คน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมนอกจากจะมีการหารือกันถึงแผนงานอนาคตแล้วยังได้ข้อสรุปจะร่วมกันจัดตั้งกองทัพสหภาพ (Union Army) เพื่อต่อรองกับรัฐบาล โดยภายในเดือนธันวาคม 2554 นี้ สภาจะมีการนัดประชุมหารือรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นทางสภามีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้พล.ต.บีทู ผู้นำพรรคก้าวหน้าคะเรนนี (KNPP) ดำรงตำแหน่งเป็นผบ.สูงสุด

มีรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมสภา UNFC ครั้งนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ คือ แต่งตั้งนายเดวิด ตากะบอ จากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เป็นรองประธานคนที่ 2 นายขุนโอ๊กก่า จากองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ PNLO เป็นรองเลขาธิการคนที่ 2

สำหรับสภาสหพันธรัฐชาติสหภาพ หรือ (UNFC) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2554 คณะกรรมการบริหารกลางมีพล.อ.มูตู เซโพ ผบ.กองกำลังกะเหรี่ยง KNLA จากสหภาพกะเหรี่ยง KNU เป็นประธาน, พล.ท.เกาหรี่ จ่าวแซง จากองค์กรคะฉิ่นอิสระ KIO เป็นรองประธานที่ 1, พล.ต.เอเปร์ล ทวิต จากพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี KNPP เป็นรองประธานที่ 2 ส่วนเลขาธิการที่ 1 ได้แก่ นายหงสา จากพรรครัฐมอญใหม่ MNSP

สภา UNFC มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในการเจรจาหรือดำเนินการทางการเมืองกับรัฐบาลพม่าและประชาคมโลก ปัจจุบันสภา UNFC มีกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมเป็นสมาชิก 12 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ..

1. องค์การเอกราชคะฉิ่น Kachin Independence Organization (KIO) 2. องค์การแห่งชาติคะฉิ่น Kachin National Organization (KNO) 3. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง Karen National Union (KNU) 4. พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี Karenni National Progressive Party (KNPP) 5. สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ Lahu Democratic Union (LDU)

6. พรรคเอกภาพแห่งชาติอาระกัน National Unity Party of Arakan (UNPA) 7. แนวร่วมแห่งชาติชิน Chin National Front (CNF) 8. พรรครัฐมอญใหม่ New Mon State Party (NMSP) 9. แนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง Palaung State Liberation Front (PSLF) 10. องค์การปลดปล่อยชาติปะโอ PaO National Liberation Organization (PNLO)

11. พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน Shan State Progress Party (SSPP) 12. องค์การแห่งชาติว้า Wa National Organization (WNO)

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคประชาชนเตรียมบุกทำเนียบ จี้รัฐฯ คลอด “ผังเมืองรวมจังหวัด”

Posted: 11 Dec 2011 12:47 AM PST

เผยมติเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินเกิด นัดรวมพลครั้งใหญ่ 13 ธ.ค.นี้ จี้รัฐบาล-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัด ชี้ช่วยแก้น้ำท่วม-ป้องอุตสาหกรรมรุกที่เกษตร

 
 
วันนี้ (11 ธ.ค.54) นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานผังเมืองหลักภาคกลางและภาคตะวันออก ภายใต้ชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมนโยบายสาธารณะด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ระหว่างวันที่ 10 - 11 ธ.ค.2554 ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปตรงกันว่า ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของภาคประชาชนในปัจจุบัน คือการพัฒนาพื้นที่อย่างไร้ทิศทาง อันเนื่องมาจากยังไม่มีการบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัด
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ให้ข้อมูลว่า ผังเมืองรวมจังหวัด หรือผังเมืองในระดับจังหวัดนี้ มีการจัดทำตั้งแต่ปี 2547 และร่างส่วนใหญ่แล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อปี 2549 แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้เกิดเป็นช่องว่างในทางปฏิบัติ
 
“ระหว่างที่มีช่องว่างทางกฎหมายนี้ ภาคอุตสาหกรรมก็ถือโอกาสขยายเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช ก่อผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้นตามลำดับ” นายสุทธิ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
 
นายสุทธิ กล่าวด้วยว่า การรุกคืบของภาคอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่เกษตรเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมหาศาลในหลากหลายมิติ และกำลังลุกลามขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยไร้การควบคุมดูแล และในกรณีมหาอุทกภัยของประเทศครั้งล่าสุดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการพัฒนาโดยไร้ทิศทางทำให้มีการใช้พื้นที่ผิดประเภท ทั้งนี้ การออกแบบผังเมืองที่เหมาะสมและบังคับใช้อย่างจริงจังจะสามารถปลดล็อควิกฤตเหล่านี้ได้
 
เพื่อเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นายสุทธิเปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 13 ธ.ค.นี้ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินเกิดได้นัดรวมตัวครั้งใหญ่เพื่อยื่นหนังสือแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นจะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการผังเมือง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
“มติของเครือข่ายฯ คือเรียกร้องให้รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ยุติความพยายามดำเนินการร่างผังประเทศที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นอยู่ 2.ดำเนินการเร่งรัดประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หากไม่มีความคืบหน้าในระยะเวลาดังกล่าว เครือข่ายฯ พร้อมที่จะดำเนินมาตรการเคลื่อนไหวในวงกว้างทุกพื้นที่ต่อไป” นายสุทธิประกาศ
 
ด้านนายชาญ รูปสม ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองปกป้องถิ่นเกิด ภาคกลาง-ตะวันออก กล่าวว่า ผังเมืองรวมจังหวัดที่เหมาะสม คือผังเมืองรวมจังหวัดที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมคิดร่วมตัดสินใจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด แต่การจัดทำผังเมืองที่ผ่านมาในอดีตทำอย่างขอไปที่ ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จึงถูกปล่อยให้ไปอยู่ในมือของรัฐและทุนที่มาจากภายนอกเป็นคนกำหนด
 
“คำว่าโชติช่วงชัชวาลของมาบตาพุด เป็นสิ่งที่คนมาบตาพุดต้องการจริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นการใช้การโฆษณาไปสร้างความยอมรับจากคนในพื้นที่” นายชาญตั้งคำถามยกตัวอย่างถึงแนวทางการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมของมาตาพุด
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[วิดีโอ] Fearlessness walk: ก้าวเดินแรกออกจากความกลัว

Posted: 10 Dec 2011 08:43 PM PST

วานนี้ (10 ธ.ค.54) เวลา 16.00 น. บริเวณลานอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการจัดกิจกรรม “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกว่า 100 คน ร่วมกันเดินเท้าจากอนุเสาวรีย์ชัย - แยกราชประสงค์

กิจกรรม ดังกล่าวนำโดยนักวิชาการจากหลายสถาบัน กลุ่ม Article 112 กลุ่ม “เราคืออากง” กลุ่มกวีราษฎร กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊คตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

>> คลิกอ่านเนื้อหา ฉบับเต็มที่นี่ <<

>> คลิกดูประมวลภาพ กิจกรรม อภยยาตรา หรือ Fearlessness walk <<

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น