โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"ประยุทธ์" ชี้ "นิติราษฎร์" เป็นพวกสมองปลายเปิด

Posted: 28 Dec 2011 10:00 AM PST

ผบ.ทบ. ระบุกรณีที่นิติราษฎร์เดินหน้าล่ารายชื่อแก้ ม.112 ชี้คิดได้คิดไป ทำได้ทำ ชี้คนพวกนี้มีมานานแล้ว มีมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นพวกสมองปลายเปิด แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่เขาจะว่าอย่างไร เปรยไม่อยากให้นำกฎหมายมาใช้พร่ำเพรื่อ และสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องการอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

วานนี้ (28 ธ.ค.) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์เดิน หน้าล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 โดย ผบ.ทบ. กล่าวว่า ไม่เป็นไร หากคิดได้ก็คิดกันไป ก็ลองดู ถ้าทำได้ก็ทำ ซึ่งคนที่มีความคิดเช่นนี้มีมานานแล้ว และมีหลายส่วนพัฒนามาตามลำดับ มีมาตั้งแต่เด็กๆ คนพวกนี้เขาคิดกว้าง คิดเปิด สมองเขาปลายเปิด แต่ไม่เป็นไรก็คิดไป แต่อยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาจะว่าอย่างไร ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เขาโอเคก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ต่างชาติชื่นชมที่ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนประเทศไทยเราเองจะคิดอย่างไรก็คิดเอา เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ว่า เราจะห้ามไม่ให้มีคนคิด แต่หน้าที่ของเรา เราเป็นทหารรักษาพระองค์ และมีการถวายสัตย์ปฏิญาณทุกปี ทหารมีจิตสำนึกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทหารอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด

"ก่อนที่เราจะมาเป็นประเทศไทย ก็เป็นทหารกันทั้งประเทศ โดยพระมหากษัตริย์รวบรวมทุกคนขึ้นมาแล้วต่อสู้ ป้องกันผืนแผ่นดินนี้มา จนถึงทุกวันนี้เราสืบทอดกันมา เราต้องรักษาประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ เพราะเป็นความสง่างามของชาติ เป็นวัฒนธรรม ประเพณี ท่านจะดำเนินการก็ว่ากันไป อย่าทำให้วุ่นวาย เราเคารพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "

เมื่อถามว่า อยากฝากถึงนักการเมืองเรื่องสถาบันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนต้องมีจิตสำนึก ซึ่งใครก็ออกมาพูดสม่ำเสมอว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็คือ ไม่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าใครเกี่ยวข้องต้องไปว่ากัน กฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้นำกฎหมายมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องการอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

ดังนั้นเราต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็แล้วแต่ หรือข้าราชการทางการเมือง ก็อย่าเอาท่านลงมา หรือเอามาเพื่อประโยชน์ของตนเองไม่ได้ ทุกคนต้องให้ท่านอยู่เหนือการเมือง ท่านทำองค์ของท่านอยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว ท่านครองราชย์มา 60 กว่าปีแล้วท่านทราบว่า ท่านควรทำอย่างไร แต่พวกเราไม่ค่อยรู้กัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ความเป็นอนิจจังของสังคม' อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

Posted: 28 Dec 2011 09:42 AM PST

อ่านที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ใน “โฉมหน้าศักดินาไทย” ตอนหนึ่งว่า

การศึกษาของศักดินาเป็นการศึกษาที่สอนให้คน “ยอมรับ” (accept) กล่าวคือ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศิษย์คิดเสียก่อน เมื่อเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ หากสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้เพื่อปิดทางความคิดริเริ่มทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความหายนะแห่งชนชั้นศักดินา 

...แต่เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง และประกอบกับชนชั้นกลางมีท่าทีประนีประนอม ศักดินาจึงสามารถแทรกแซงเข้าไปในสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางได้อย่างลอยชาย ศักดินาซากเดนยังคงกำเอาหลักสูตรและการหันเหจุดหมายปลายทางแห่งการศึกษาไว้ได้ในกำมือ วิชาประวัติศาสตร์ก็ยังคงตกอยู่ในกำมือและในอิทธิพลของชนชั้นศักดินาต่อไป (หน้า 65-66)

จนบัดนี้การศึกษาไทยยังคงเป็นการสอนให้ “ยอมรับ” อยู่เหมือนเดิม “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ก็ยังมีท่าทีประนีประนอมกับศักดินาอยู่เหมือนเดิม หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเมื่อมองจากปรากฏการณ์ของ “ลัทธิ เจ้านิยมล้นเกิน” (Hyper Royalism) ที่มีพวก Hyper Royalists ออกมาตั้งคำถามกับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนท่องตามกันมาว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า” หรือ “เห็นว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม ไม่เสมอภาค ก็ออกจากประเทศไทยไปเลย ไปอยู่ต่างประเทศได้เลย”

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ที่พูดถึง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ข้างล่างนี้ บรรดา Hyper Royalists ควรนำมาเป็น “ข้อคิด” ทบทวนพฤติกรรมของตนเองเท่าที่เป็นมาในปีนี้บ้าง คือ 

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกทั้งระบบ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่า หรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

แต่สิ่งลวงตาเช่นนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” ...แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง และระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้น ก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกัน โดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆ ต่อไป ดังที่ปรากฏตามรูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสกลโลก (หน้า 32-33)

การเบียดเบียนกันและข่มเหงกันย่อมไม่คงอยู่กับที่ คือจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด โดยการต่อสู้ของสมาชิกส่วนมากแห่งสังคม ซึ่งอาจเป็นวิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ “วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” สังคมก็จะได้กำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปในทางปริมาณทีละน้อยๆ ถ้าสมาชิกในสังคมมีทางประนีประนอมกันได้ ในที่สุดสมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะ เพราะประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก (หน้า 85)

สำหรับพวก Hyper Royalists ในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักอ้างธรรมะอ้างพุทธศาสนาเพื่ออวยเจ้า และรับรองการปกป้อง “ระบบเก่า” ของพวกตนว่าถูกต้องชอบธรรม ในแง่ว่าพวกตนกตัญญูรู้คุณสถาบันและประณามฝ่ายที่คิดต่างว่าอกตัญญูเป็นต้น ผมอยากชวนให้ทบทวนอย่างน้อย 2 ประการ ต่อไปนี้

1. พุทธศาสนาสอน “หลักกาลามสูตร” ซึ่งเป็นหลักเสรีภาพทางความคิดที่เรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นจากทุกแหล่งที่มา ตั้งแต่เรื่องเล่า ตำรา การคาดเดา ระบบตรรกะนิรนัย/อุปนัย กระทั่งครูที่เราเคารพ ซึ่งหมายความว่า ตามหลักการของพุทธศาสนานั้น นอกจาก “ไม่มีการบังคับความเชื่อ” แล้ว ยังเรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อทุกแหล่งความรู้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นหลักการที่ให้ “เสรีภาพทางความคิด” อย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาแบบครอบงำทางความคิดตามที่จิตรเขียนไว้ ซึ่งยังดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน ย่อมเป็นระบบการศึกษาที่ขัดแย้งกับหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง และยิ่งสังคมนี้มีกฎหมายที่ปิดกั้น free speech เช่น ม.112 ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐซึ่งเป็น “บุคคลสาธารณะ” ที่มีอำนาจเหนือกองทัพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการพระราชดำริต่างๆ เป็นต้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ในสิ่งที่พวกเขาควรมีสิทธิสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ

ฉะนั้น Hyper Royalists ที่มักอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดต่อหลักการสำคัญของพุทธศาสนา คือหลักเสรีภาพทางความคิดและการแสวงหาความจริงได้อย่างไร เพราะการที่หลักกาลามสูตรเรียกร้องให้เราสงสัยทุกแหล่งความรู้ก็เพื่อให้เราตรวจสอบทุกแหล่งความรู้เพื่อให้สามารถค้นพบ “ความจริงที่เชื่อถือได้” มากที่สุดนั่นเอง 

หลักกาลามสูตรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแสวงหา “ความจริง” ในบรรยากาศของการมีเสรีภาพ แต่ ม.112 คือกฎหมายที่ห้ามพูดความจริงด้านที่ตรงข้ามกับการสรรเสริญ หากชาวพุทธ Hyper Royalists ที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนามีความเชื่อ หรือศรัทธาในสิ่งที่พวกตนกล่าวอ้างจริง การออกมาปฏิเสธ กล่าวหา ใส่ร้าย ประณามฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ว่าล้มเจ้าและอื่นๆ ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักธรรมะ หรือหลักการของพุทธศาสนาที่พวกตนชอบกล่าวอ้างนั่นเอง เพราะข้อเรียกร้องของฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 (เป็นต้น) คือข้อเรียกร้องให้สังคมนี้มีเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสวงหาความจริงนั่นเอง

2. ที่สำคัญคือ พุทธศาสนาสอนหลักอนิจจังว่า “สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่” และ “ความเป็นอนิจจังทางสังคม” ย่อมเป็นไปตามที่ปรีดีเขียนไว้ การขัดขวางความเปลี่ยนแปลงย่อมไม่อาจสำเร็จได้ รัฐประหาร 19 กันยา และการสลายการชุมนุมปี 2553 คือตัวอย่างของความรุนแรงและความล้มเหลวของการต่อต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่คล้อยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งให้คุณค่าสูงต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

เมื่อคนจำนวนมากตาสว่างแล้ว เราจะปิดตาให้เขาลืมสิ่งที่เขาได้มองเห็นแล้วได้อย่างไร เมื่อเขาเห็นชัดแจ้งแล้วว่าอะไรคือปัญหา จะปิดปากไม่ให้เขาพูดถึง “ความจริงของปัญหา” เพื่อหาทางแก้ให้ถูกจุดได้อย่างไร 

มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยคือ วิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ “วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามที่ปรีดีเสนอไว้เท่านั้น จึงจะเป็นทางออกที่ไม่รุนแรงนองเลือด และเป็นประโยชน์ทั้งแก่สถาบันเก่าแก่ และประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ผมขอฝากข้อเขียนของปรีดี (ในหนังสือเล่มเดียวกัน) เป็นการสรุปท้าย ดังนี้

…มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่า “สภาวะเก่าเป็นของถาวร” และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า...ฉะนั้น จึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลอง...แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังก็ต้องประจักษ์ขึ้น (หน้า 34)

บังเอิญว่าข้อเขียนของจิตรและปรีดี ตามที่ยกมา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 เช่นเดียวกัน จนบัดนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ยังคงเหมาะกับยุคปัจจุบันที่ควรนำมาเป็น “อนุสติ” ส่งท้ายปีเก่า 2554 เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในปีใหม่ 2555 ได้เป็นอย่างดี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาชนเกาหลีเหนือร่วมพิธีศพคิม จอง อิล

Posted: 28 Dec 2011 09:36 AM PST

วันนี้ (28 ธ.ค.) สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) เผยแพร่ภาพพิธีศพนายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยพิธีเริ่มต้นที่อนุสรณ์สถานคัมซูซาน ซึ่งเป็นที่ตั้งศพนายคิม จอง อิล ในกรุงเปียงยางเมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (28 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีการเคลื่อนศพที่ตั้งอยู่ในโลงแก้วภายในอนุสรณ์สถานขึ้นขบวนรถและแห่ไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงเปียงยาง เข้าสู่จตุรัสคิม อิล ซุง และกลับมาที่อนุสรณ์สถานตามเดิม

ที่มาของวิดีโอ: KCNA

ที่มาของภาพ: kcna.kp

สำนักข่าว KCNA ระบุว่าขบวนรถเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ เมื่อเข้าสู่จตุรัสคิม อิล ซุง และประชาชนได้ร้องไห้คร่ำครวญและกล่าวว่า "ท่านนายพล, โปรดอย่าจากไป" และ "ได้โปรด อย่าทิ้งพวกเราให้โดดเดี่ยว"  นอกจากนี้ในภาพข่าวของ KCNA ยังปรากฏภาพนายคิม จอง อุน บุตรชายนายคิม จอง อิล ว่าที่ผู้นำเกาหลีเหนือ เดินนำหน้าขบวนศพด้วย

ทั้งนี้ การไว้อาลัยจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้โดยประชาชนทั่วทั้งประเทศจะร่วมสงบนิ่งไว้อาลัยนาน 3 นาทีในเวลาเที่ยงวันพรุ่งนี้ (29 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยศพของคิม จอง-อิล จะได้รับการอาบน้ำยาและเก็บรักษาไว้เคียงข้างกับศพศพของบิดาที่อนุสรณ์สถานคิมซูซานแห่งนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: ก้าวข้ามความกลัว

Posted: 28 Dec 2011 09:34 AM PST

 

 

 

ก้าวให้พ้นความกลัวคอยกักขัง

ก้าวให้พ้นความชังคอยกุมเหง

ก้าวให้พ้นอำนาจเฝ้ายำเยง

เธอจักไม่วังเวงเคว้งวิญญาณ์

 

ออกคำสั่งหัวใจให้องอาจ

พายุฟาดพินาศฝันยังฟันฝ่า

อุปสรรคหนักแสนเท่าแผ่นฟ้า

ดั่งทายท้าดวงหทัยเอนไหวโอน

 

ก้าวให้พ้นความเกลียดความเคียดแค้น

ก้าวให้พ้นอ้อมแขนถอดหัวโขน

ก้าวให้พ้นมารยาทแสร้งอ่อนโยน

มากระโจน! เปิดใจใกล้ความจริง

 

เขาเป็นเพียงมรดกจากอดีต

ที่จารีตหลอมปรุงจนรุ่งริ่ง

ผิดกาละเทศะต้องละทิ้ง

หาใช่หิ้งบูชามหาชน

 

ก้าวให้พ้นค่านิยมสังคมหยาม

ก้าวให้พ้นคำนิยามอย่าสับสน

ก้าวให้พ้นภักดีก้าวให้พ้น

อย่าจำนนยอมเป็นทาสประกาศไท

 

มนุษย์มีศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์

ตาชั่งฉุดยุติธรรมโลกร่ำไห้

รังแกคนจนแต้มแถมจนใจ

หลงกราบไหว้สิ่งสมมติดุจเทวดา

 

ก้าวให้พ้นมนต์มารหนึ่งหนึ่งสอง

ก้าวให้พ้นครรลองต้องหาญกล้า

ก้าวให้พ้นเพื่อไทยเพื่อประชา

ก้าวให้พ้นปีหน้า... รากหญ้านอง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คอมเม้นต์สั้นๆ ถึงคุณปราบดา หยุ่น กับบทความ "แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน"

Posted: 28 Dec 2011 09:32 AM PST

ก่อนอื่นใด ผมต้องขอกล่าวชื่นชมภาษาที่หมดจด งดงาม และชัดเจนในการสื่อความของคุณปราบดาในบทความชิ้นดังกล่าวนี้ (แม้ผมจะต้องขอสารภาพว่า ผมไม่ใช่แฟนหนังสือตัวยงของคุณปราบดานักก็ตาม) และผมก็ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับ พื้นฐานจุดยืนทางความคิด ของคุณปราบดา

กระนั้น ผมมีประเด็นที่เห็นว่าสมควรแก่การแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง (หากคุณจะมีโอกาสได้ผ่านมาเห็นโน้ตชิ้นนี้) แม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในตัวบทความ แต่ผมคิดว่าในระดับหนึ่งมันสะท้อนถึง "ปัญหาในการมองปัญหา" ของบทความที่ว่า ผมมีประเด็นแลกเปลี่ยนดังนี้

1. ความเป็นไปได้ในการแยก "สังคมเผด็จการ" กับ "สังคมลิทธิ"
ในตัวบทความของคุณปราบดา แน่นอนว่ามีการพยายามจะแสดงให้เห็นถึง "ความต่าง" ในแง่ characteristic ของ "สังคมทั้ง 2 ประเภท" ที่ว่ามานี้ ซึ่งหากเราสรุปแบบง่ายที่สุด (ขออภัยหากเป็นการ over-simplified) คือ สังคมแบบเผด็จการจะเน้นที่การปกครองด้วยความกลัว ด้วยพลานุภาพของรัฐ ในขณะที่สังคมแบบลัทธิจะปกครองผ่านพลังอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจของภาษา และการครอบงำกระบวนการคิด และคุณปราบดายังได้เน้นเพิ่มต่อไปอีกว่า สังคมเผด็จการนั้นมีฟังก์ชั่นในการทำงานหลกผูกติดอยู่กับตัว "ผู้นำ" ในขณะที่สังคมแบบลัทธิฟังก์ชั่นการทำงานมกจะผูกติดอยู่กับตัว "สังคม"

คำถามของผมมันก็แบบง่ายๆ ซื่อๆ ประสาคนบื้อๆ คนหนึ่งนี่แหละครับว่า "สุดท้ายแล้วมันสามารถแบ่งแยกได้อย่างที่ว่าจริงหรือ"? 

เราสามารถแยก "ความกลัว (fear)" ออกจาก "ความรัก (love)"/"ความร่วมมือ (trust)" ได้จริงๆ ล่ะหรือ?

ผมคิดว่ามันทำไม่ได้หรอกครับ เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้แต่ในบทความของคุณปราบดาเอง คุณก็ยังไม่สามารถ "หาพบ" ได้เลย แม้แต่เกาหลีเหนือ ที่นำมายกเป็นตัวอย่างในบทความเองนั้น ก็ถูกนำเสนอในฐานะสังคมที่ผสม (blend) ระหว่างสองประเภทนี้เข้าด้วยกัน (และด้วยความเคารพ...นี่เค้าเรียก "ความเป็นไปได้แบบที่ 3" ครับ ฉะนั้นด้วยตัวบทความเองที่บอกว่ามีสังคมเพียงสองประเภทที่ดูจะเป็นไปได้ ก็ออกจะผิดอยู่)

ในสังคมเกาหลีเหนือนั้น เราไม่อาจจะปฏิเสธได้โดยง่ายหรอกว่า "ความรัก"/"ความร่วมมือ" ที่มีต่อตัว "ท่านผู้นำ" นั้น ไม่ได้มีเบื้องหลังของการคงอยู่ของพวกมัน มาจาก "ความกลัว"

และหากจะพูดในแง่นี้แล้ว ในสังคมแทบจะทุกระบบในโลกก็ "รักกัน" บนพื้นฐานของ "ความกลัว" ต่อบางสิ่งทั้งสิ้น (เพราะเรา "กลัว" ว่าจะต้องตายเพราะคิดต่างจาก "ผู้มีอำนาจ/อำนาจนำในสังคม" ไม่ใช่หรอกหรือ จึงร่วมมือกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพื่อตอบสนองความกลัวของเรา ให้ต่อไปสามารถ "เห็นต่างได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน")

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่เป็นปัญหาในการมองปัญหาอย่างแรกของคุณปราบดา คือผมเองเห็นด้วยว่า "ระบอบเผด็จการ" (จะทางกายภาพ หรือทางความคิด จิตใจอะไรก็ตามแต่) นั้นเป็นปัญหา แต่ปัญหาของคุณนั้นคือการมองส่วนที่ไม่ได้เป็นปัญหาของตัวปัญหานั้นๆ หรือเปล่า?

ที่ผมกล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่าผมจะต้องการพูดว่าเผด็จการไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง (มันเป็นปัญหาแน่นอน) ซึ่งผมเห็นตรงกับคุณปราบดาในแง่นี้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คุณปราบดาพยายามจะ "แยก" มัน (เป็นประเภท) ฉะนั้นคุณปราบดาก็จะต้องหาลักษณะพิเศษจำเพาะ (differentia specifica) ของระบอบเผด็จการออกมาเพื่อ "แยกมัน" ออกจาก "สิ่งอื่นๆ" ซึ่งผมเห็นว่าฟังก์ชั่นของการใช้ความกลัว ไม่ใช่ลักษณะจำเพาะใดๆ เลย

ดูอีกตัวอย่างเพิ่มก็ได้ครับ อย่างฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ในสหภาพยุโรปนั้น ก็แน่นอนว่าเป็นประเทศใหญ ที่สำคัญของสหภาพยุโรป ตัวสหภาพเองก็ "กลัวการไม่ให้ความร่วมมือของสองประเทศนี้" และสองประเทศนี้เองก็ทราบถึง "ความกลัว" ที่รัฐสมาชิกอื่นมีต่อพวกตน" ทั้งสองรัฐนี้ก็บริหารความกลัวเช่นเดียวกัน แต่ก็คงจะตลกอยู่หากจะบอกว่าสองประเทศนี้เป็นเผด็จการเพราะบริหารความกล้ว

และ (อีกครั้งหนึ่ง) คุณสามารถ "แยก" สังคมออกเป็น 2 ประเภท ได้อย่างที่ว่า "ตั้งแต่ตอนไหน?"

ตั้งแต่ตอนไหนที่เผด็จการไม่ใช่ลัทธิ, ตั้งแต่ตอนไหนที่ความกลัว กับความรัก/ความร่วมมือ ถูกตัดขาดออกจากกัน?

2. ว่าด้วยการถอดสมองส่วนที่มีตรรกะ
ตอนแรกที่ผมอ่านเจอข้อความส่วนนี้ของคุณปราบดา ผมก็เกือบจะเห็นด้วย แต่พอมาลองคิดอีกที ผมเห็นว่าไม่น่าจะใช่ ไม่น่าจะเป็นการวาง (address) ตำแหน่งแห่งที่ของปัญหาอย่างตรงประเด็นนัก เอาจริงๆ จะว่าส่วนนี้คุณปราบดาพูดมาไม่ถูกเลยก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก แต่ผมคิดว่า "การถอดสมองส่วนที่มีตรรกะ" ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่ง (และทางเลือกสุดท้าย) ของเหล่าผู้นิยมเจ้าเสียมากกว่า 

สิ่งที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นโดยเป็นวงกว้างมากกว่านั้น ดูจะเป็น "การถอดถอนความเป็นไปได้ในการคิด ด้วยกรอบตรรกะอันเป็นไปได้แบบอื่นๆ ออกไป" เสียมากกว่า คือไม่ใช่การถอดทิ้งยกเครื่องอะไรอย่างที่คุณปราบดาว่ามา แต่เหลือเพียงทางเลือกในการคิด การมองแบบเดียวไว้ให้ต่างหาก

ผมมองว่าแบบนี้อาจจะน่ากลัวเสียยิ่งกว่าการถอดสมองส่วนการคิดอย่างเป็นตรรกะทิ้งทั้งกะบิเสียอีก เพราะหากเค้าถอดทิ้ง เค้าก็คงจะทำเพียงอย่างที่คุณปราบดาว่ามาคือ การยัดใส่ความเชื่อว่า "กฏระเบียบและคำสอนของลิทธิย่อมถูกต้องหมดจด" แล้วก็จบไป แต่การเหลือสมองส่วนตรรกะไว้ แต่ทำลายความเป็นไปได้แบบอื่นๆ ทั้งหมดอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ มันอนุญาติให้เกิดการพัฒนาที่น่ากลัวได้ เกิดเป็น Hyper-Nationalist คือเป็นพวกบ้าคลั่งชาตินิยมยิ่งกว่าตัวหลวงวิจิตรที่คนเหล่านี้สมาทานตัวเป็นสานุศิษย์เองเสียอีก หรือการเป็น Hyper-Royalist ที่ดูจะคลั่งเจ้าเสียยิ่งกว่าตัวราชสำนักคลั่งไคล้ในตัวเสียอีก ผมมองว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และนั่นน่ากลัวกว่าการถอดสมองทิ้งไปทั้งรากทั้งโคนนัก

ทางเลือกการถอดสมองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตรรกะชุดดังกล่าวที่ได้รับการอนุญาตให้เป็นตรรกะชุดทางการ (Official Logic) เจอหนทางตันในการโต้แย้ง...การถอดสมองตัวเองทิ้ง เสมือนการสละเครื่องบินชนเรือรบก็จะเกิดขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคุณพงพัฒษ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งก็จะถูกโปรแกรมให้พูดตอบได้เพียง "ไม่รักพ่อ มึงก็ไปหาบ้านอื่นอยู่" (เป็นโปรแกรมการตอบโต้ที่โง่เง่าเสียยิ่งกว่าคุณสิริในไอโฟน 4 เอส)

3. สมาชิกในสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ คือคนที่เชื่อว่าสังคมของตนเป็นสังคมประชาธิปไตย และยังคงมีพื้นที่ของเสรีภาพอยู่...หรือครับ?
ผมคิดว่าข้อความแนวนี้ ที่พยายามโน้มนาว (Encourage) ให้คนออกมาสู้ของคุณปราบดานั้น แม้จะมีจุดประสงค์ทางความคิดที่ดีมาก และน่านับถือ แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ผิดชนิดกลับหัวกลับหางกันเลยทีเดียว

"คนที่ออกมาสู้มันคือคนที่เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตย อย่างที่เคยถูกหลอกให้เชื่อเลยนี่หว่า" ตรงกันข้าม คนที่ยังนิ่งเฉย เปรมปรีไปวันๆ นั้นต่างหากที่ยังหลงงมกับคติตามตรรกะชุดทางการว่า "เราเสรี, มีประชาธิปไตย"

คนที่ลุกขึ้นมาคือคนที่ "เชื่อว่าเราควรจะมีประชาธิปไตย (ที่เรายังไม่มี)" ในขณะที่คนซึ่งกำลังนั่ง "จับเจ่าอยู่ในห้องของตน" (หากพูดด้วยภาษาแบบคุณ) นั้นต่างหากครับคือ คนที่ไม่เคยจะลองชะโงกคิด ตะแคงถามอะไร แล้วเชื่ออย่างแน่นิ่งว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย

คนที่ออกมาจากห้อง ผมมองว่าคือคนที่มองเห็นปัญหาว่า ประชาธิปไตย กับการฆ่าคนที่เห็นต่างไป 91 ศพ "มันเป็นไปไม่ได้...ไปด้วยกันไม่ได้" ฉะนั้นคนเหล่านั้นไม่ได้มองว่าเรามีเสรีอยู่ จึงออกมาสู้ แต่เห็นว่าเราไม่มีเสรี จึงต้องสู้เพื่อให้ได้เสรีนั้นมาครองต่างหากครับ

4. (สุดท้าย) ประเทศไทยไม่ได้เป็นเผด็จการสุดโต่ง...
ประเด็นนี้เป็นประเด็นเล็กๆ ยิบย่อย (อาจจะเรียกว่าหยุมหยิมก็ได้) แต่ผมคิดว่ามันสื่อถึงการปัญหาในการมองปัญหาของคุณปราบดาด้วยเช่นกัน จากที่คุณปราบดายกตัวอย่างเรื่องเกาหลีเหนือ แล้วก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นรูปแบบสุดโต่งของเกาหลีเหนือ แล้วมานำเสนอว่าเราก็เป็นในลักษณะเดียวกัน แต่ในระดับ (degree) ที่แตกต่างกัน เรา "ยังคงห่างไกลจากความสุดโต่ง" แบบนั้น เรายังมีอิสระในการดำรงชีวิต จับจ่ายใช้สอย เที่ยวเล่น ฯลฯ 

แน่นอนครับว่าผมเห็นด้วยว่าประเทศไทยอยู่คนละระดับกับเกาหลีเหนือ (แม้จะยืนบนเส้นทางเดียวกันในหลายส่วน) แต่การ address ปัญหาว่าเรามีเสรีภาพมากกว่า เพราะเราจับจ่ายใช้สอยได้ง่าย เที่ยวสนุกได้ทั่ว ฯลฯ นั้น ดูจะทำให้ผมกระอักกระอ่วนความรู้สึกอยู่บ้าง แน่นอน ว่า "สิทธิในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ" นั้นย่อมนับว่าเป็น สิทธิเสรีภาพได้ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะพบประเทศอย่างจีน, ซาอุดิอาระเบีย, ฯลฯ ที่ความเจริญทางวัตถุเจริญงอกงาม (ในหลายๆ แง่ มากกว่าประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ) การเดินทางท่องเที่ยว, การจับจ่ายใช้สอย, ฯลฯ

แต่ผมเองยังไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาลดทอนความ "สุดโต่ง (radical)" ความความไร้ซึ่งมนุษยธรรม และประชาธิปไตยในรัฐเหล่านี้ได้กระมัง โดยเฉพาะกับซาอุดิอาระเบีย ที่ขึ้นแท่น 1/10 ประเทศที่ไร็ซึ่งมนุษยธรรมที่สุดในโลกแน่ๆ มีการประหารคนกลางที่สาธารณะเกิดขึ้น กษัตริย์ปกครองอย่างเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ฯลฯ สิ่งเดียวที่ทำให้มันไม่ถูกประณามโดยชาวโลกหนักหนาเท่ากับอิหร่าน ก็คงเพียงเพราะการร่วมสังวาสทางการเมือง (political intercourse) กับสหรัฐอเมริกาอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่ายกระมัง

คำถามคือ ความเจริญ และเข้าถึงทางวัตถุดังที่คุณปราบดาว่ามา มันใช้เป็นตัวชี้วัดอะไรกับความ "ไม่สุดโต่ง" ได้จริงๆ ล่ะหรือ? หากได้ ซาอุดิอาระเบียนี่ "ไม่สุดโต่ง" ด้วยหรือเปล่า?

และที่ผมว่าน่าตลกไปกว่านั้นสำหรับประเทศไทยคือ การสามารถเลือกแสดง "ความสุดโต่ง" ใส่คนบางกลุ่มได้ โดยละที่จะแสดงออกต่อคน "อีกกลุ่ม" ทั้งๆ ที่กระทำการเรื่องเดียวกันต่างหากที่เป็นความสุดโต่งของความสุดโต่งในรูปแบบหนึ่ง คือ เลือกและควบคุมความสุดโต่งได้อย่างไม่ต่างจากมือเท้าของตน

 

 

สามารถอ่านบทความของคุณปราบดา หยุ่น ได้ที่: http://www.prachatai3.info/journal/2011/12/38507

---------------------------------------------

 

ปล. ผมเองเขียนโน๊ตนี้ขึ้น เพียงแค่หวังว่าจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่าง (จากคนกลุ่มใหญ่) ด้วยกัน ซึ่งผมเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์มากกว่า การที่พวกเดียวกันเขียนอะไรออกมาแล้วก็อวยตามกันไปหมด ทั้งนี้ผมยังคงขอชื่นชมในจุดยืนทางความคิด และความตั้งใจของคุณปราบดา ที่ได้เขียนบทความชิ้นที่ว่านั้นขึ้นมาอย่างยิ่งครับ



สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอียิปต์ตัดสินให้การจับผู้ประท้วง 'ตรวจพรหมจรรย์' มีความผิด

Posted: 28 Dec 2011 09:14 AM PST

ศาลอียิปต์พิพากษาให้การจับผู้ประท้วง "ตรวจพรหมจรรย์" ผิดกฏหมายและสั่งห้าม แต่หลายคนยังกังวลเรื่องการเอาผิดกับผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ นักสิทธิฯ เผยการกระทำ "ตรวจพรหมจรรย์" ชวนให้จับตาเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อสตรีในอียิปต์

สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลอียิปต์ได้ตัดสินว่าการบังคับให้มีการ "ตรวจพรหมจรรย์" ในเหล่าผู้ประท้วงเพศหญิงที่ถูกจับกุมตัวนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฏหมาย และสั่งให้หยุดการกระทำเช่นนี้

มีนักกิจกรรมหลายร้อยคนเข้าฟังคำตัดสินของศาลในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ อลี เฟกรี กล่าวตัดสินว่า ทหารไม่สามารถทำการ "ตรวจพรหมจรรย์" ผู้หญิงที่ถูกกุมขังอยู่ในคุกของทางการทหารได้ หลังจากที่ได้พิจารณาคดีของ ซามีรา อิบราฮิม หนึ่งในเจ็ดสตรีผู้ถูกกระทำหลังจากถูกจับในการประท้วงที่จัตุรัสทาห์เรียเมื่อวันที่ 9 มี.ค.

เฟกรี ประธานศาลปกครองของอียิปต์พิพากษาว่า สิ่งที่กระทำต่ออิบราฮิมและสตรีผู้ถูกจับอีก 6 รายนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย และหากเกิดกรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ในอนาคตก็จะถือว่าเป็นเรื่องผิดกฏหมายเช่นเดียวกัน

การที่ศาลออกคำสั่งห้ามและพิพากษาให้การ "ตรวจพรหมจรรย์" เป็นเรื่องผิดกฏหมาย ถือเป็นการเปิดทางให้กับการเรียกร้องค่าชดเชยในกรณีนี้

หลังจากการพิพากษาคดี อิบราฮิม สตรีวัน 25 ปี ก็โพสท์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า "ขอบคุณประชาชนทุกคน ขอบคุณจัตุรัสทาห์เรียที่ทำให้ฉันกล้าสู้ ขอบคุณการปฏิวัติที่สอนให้ฉันมุ่งมั่นต่อสู้"

อิบราฮิมมีอาชีพเป็นผู้จัดการด้านการตลาด เธอบอกว่าเคยถูกข่มขู่เอาชีวิตเมื่อเธอฟ้องร้องในคดีนี้ เธอบอกว่าความยุติธรรมบังเกิดแล้วในวันนี้ การ "ตรวจพรหมจรรย์" เป็นอาชญากรรมและขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย และเธอจะไม่ยอมสูญเสียสิทธิในความเป็นสตรีหรือความเป็นมนุษย์ไป

อิบราฮิมบอกว่า การที่เธอถูกกระทำโดยการ "ตรวจพรหมจรรย์" นั้นเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์ของผู้ประท้วง

"ทหารทรมานฉัน ใส่ความว่าฉันเป็นหญิงขายบริการ และเหยียดหยามศักดิ์ศรีฉันด้วยการบังคับให้ฉันตรวจพรหมจรรย์ โดยการให้หมอผู้ชายเป็นคนตรวจ ฉันต้องเปลือยหมดทั้งตัวในขณะที่ทหารยังคงจ้องมองฉันอยู่"

หลังจากการดำเนินคดีในศาลจบลงแล้ว ตัวเธอและคนอื่นๆ รวมถึง โบไทนา คาเมล ผู้ลงสมัครเลือกตั้งปธน.และอดีตผู้ประกาศข่าวต่างก็เดินขบวนไปที่จัตุรัสทาห์เรีย ต่อมามีคนถ่ายภาพอิบราฮิมเอาไว้ได้ที่สะพาน คาเซอ เอล นิล ในขณะที่เธอชูนิ้วแสดงชัยชนะ

อมีรา โนไวรา นักวิชาการและคอลัมนิสต์ชาวอียิปต์ กล่าวว่า "ไม่มีใครเคยได้ยินเรื่องการตรวจพรหมจรรย์มาก่อน เป็นเรื่องดีที่ศาลสั่งห้ามการกระทำดังกล่าว ต้องมีคนถูกดำเนินคดีในกรณีนี้แต่ก็ยากในกระบวนการเอาผิด ใครกันที่เป็นผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบสูงสุดในเรื่องนี้"

"ก่อนหน้านี้ทางทหารปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้กระทำการตรวจพรหมจรรย์ จากนั้นพวกเขาก็บอกว่ามันเป็นกระบวนการโดยทั่วไปและมีข้อแก้ตัวมากมายเพื่อหาข้ออ้างในการกระทำ" อมีรากล่าว

ทหารโบ้ยให้แพทย์ที่ทำการตรวจเป็น 'แพะรับบาป' ?

นายพล อาเดล มอร์ซี ประธานศาลทหาร กล่าวในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลบอกว่า การตัดสินของศาลไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากไม่มีกฏหมายเกี่ยวกับเรือนจำของทหารในข้อใดที่ระบุห้ามการตรวจพรหมจรรย์ โดยอิบราฮิมจะต้องกลับมาขึ้นศาลอีกในเดือน ก.พ. ปีหน้าเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในข้อหาหมิ่นเจ้าพนักงานและเข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

มีการประกาศว่า แพทย์ทหารที่กระทำการตรวจพรหมจรรย์จะต้องมารายงานตัวต่อศาลทหารภายในวันที่ 3 ม.ค. ปีหน้า เขาถูกตั้งข้อหากระทำอนาจารในที่สาธารณะและขัดคำสั่งกองทัพ แต่ไม่มีข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

ฮอสซัม บาห์กัด ประธานองค์กรเพื่อสิทธิส่วนบุคคลของอียิปต์ (EIPR) ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การเรียกแพทย์มาสอบสวนถือเป็นการกระทำที่แสดงความไม่จริงใจของทหาร เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นการทารุณกรรมและการล่วงละเมิดทางเพศ

"แพทย์ทหารถูกจับเป็นแพะรับบาปเท่านั้น เนื่องจากทหารเหล่านี้แค่ปฏิบัติตามคำสั่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจในเรือนจำต้องรับผิดชอบ" ฮอสซัมกล่าว

นักกิจกรรมเผยการตรวจพรหมจรรย์ชี้ให้เห็นความรุนแรงทางเพศในชีวิตประจำวัน
อิบราฮิม เคยเล่าถึงเหตุการณ์นี้ในคำให้การต่อองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า มีทหาร 2 นายเข้ามาในคุกที่มีผู้หญิงถูกขังรวมอยู่ แล้วถามว่ามีใครที่แต่งงานแล้วบ้าง จากนั้นก็บอกพวกเขาว่าจะมีการตรวจพรหมจรรย์เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเธอไม่ได้โกหก

"พวกเขานำตัวเราออกไปทีละคน ... พวกเขาพาฉันไปที่เตียงตรงทางเดินหน้าห้องขัง มีทหารอยู่แถวนั้นเป็นจำนวนมากและพวกเขาก็มองเห็นฉันได้"

"ฉันขอร้องให้ทหารออกไปจากตรงนั้นได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่นำตัวฉันไปก็เยอะเย้ยฉัน"

"มีพัสดีผู้หญิงในชุดนอกเครื่องแบบยืนอยู่ที่หัวฉัน จากนั้นก็มีชายในชุดทหารมาสำรวจฉันโดยใช้มือเป็นเวลาหลายนาที มันเจ็บ เขาก็ใช้เวลาค่อยๆ ทำไป"

คดีนี้ถูกนำขึ้นศาลครั้งแรกใน ศาลสาขาที่ 1 ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีด้านสิทธิเสรีภาพ ผู้ฟ้องร้องคดีนี้คือกลุ่มสิทธิมนุษยชนสามกลุ่มได้แก่ กลุ่ม EIPR, สำนักกฏหมายฮิสชาม มูบารัค และ  'นาดีม' ศูนย์พักพิงฟื้นฟูเหยื่อถูกกระทำทารุณ 

อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลมาจากแค่ฝ่ายศาลปกครอง และจากข้อกำหนดประมวลกฏหมายอาญาของกองทัพแล้ว ก็มีโอกาสที่ฝ่ายศาลทหารเท่านั้นจะมีอำนาจพิจารณาในการตามหาตัวคนกระทำความผิด

ด้านกลุ่มนักกิจกรรมได้ทำการบันทึกข้อมูลการกระทำทารุณทางเพศต่อผู้ประท้วงสตรีที่เพิ่มสูงขึ้น และบอกว่าการกระทำเช่นนี้เป็นยุทธวิธีในการขัดขวาง, ข่มขู่ และเหยียดหยาม ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ นัดยา คาไลฟ์ จากกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ได้กล่าวไว้ว่า "ภาพของทหารที่เปลื้องผ้า ลูบคลำ และทุบตีผู้ชุมนุม ทำให้ทั่งโลกหวาดผวา และเป็นการชวนให้จับตามองความรุนแรงทางเพศที่ผู้หญิงชาวอียิปต์ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์อียิปต์ตอนนี้ ผู้หญิงควรมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองและเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไร การที่เจ้าหน้าที่ล่วงเกินผู้หญิงและรัฐบาลเองก็ล้มเหลวในการระบุถึงปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดนี้ ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับผู้หญิงในอียิปต์เลย"

ทางด้านมูลนิธินิววูแมน (New Woman Foundation) ในอียิปต์กล่าวว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 9 รายที่ถูกจับกุมตัวในการประท้วงเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีบางคนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐล่วงเกินพวกเธอทางกายและทางวาจา

เหตุเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2011
ในการประท้วงเมื่อวันที่ 9 มี.ค. มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมตัวทั้งหมด 200 ราย มี 20 รายเป็นสตรี ซึ่งซามีรา อิบราฮิมเป็นหนึ่งใน 7 คนที่ถูกกระทำการตรวจพรหมจรรย์ โดยในวันถัดมาผู้ต้องขังสตรีถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือคนที่แต่งงานแล้ว กับคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน มีสตรี 7 คนที่บอกว่า ตนยังไม่ได้แต่งงานและถูกจับไปตรวจพรหมจรรย์

กรณีของอิบราฮิมและสตรีเหล่านี้เป็นแค่หนึ่งในการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ มีผู้ชุมนุมในวันที่ 9 มี.ค. จำนวนมากถูกทุบตีและทรมานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ข้างลานชุมนุม มีผู้ประท้วงบางรายที่ถูกแส้เคี้ยนและถูกช็อตด้วยไฟฟ้า

 

ที่มา
'Virginity tests' on Egypt protesters are illegal, says judge, The Guardian, 27-12-2011
http://www.guardian.co.uk/world/2011/dec/27/virginity-tests-egypt-protesters-illegal

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ยิ่งห้าม เหมือนยิ่งยุ"

Posted: 28 Dec 2011 09:09 AM PST

วลี “ยิ่งห้าม เหมือนยิ่งยุ” นี้ ในบางบริบทผมเห็นด้วยและในบางบริบทผมไม่เห็นด้วย ที่ผมเห็นด้วยก็อย่างเช่น “ยิ่งห้ามให้คิด ยิ่งห้ามให้สงสัย ยิ่งเป็นการยุให้คิด สงสัยและตั้งคำถามด้วยเหตุผล” แต่ในบางบริบทที่ผมไม่เห็นด้วย เช่น “เมื่อเราห้ามลูกหลานของเราไม่ให้ออกไปแข่งมอเตอร์ไซด์ (แว๊นๆ) กลางค่ำกลางคืนเพราะกลัวอันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานอีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายของรัฐ (แม้จะผิดข้อบังคับเล็กน้อย แต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น) ที่ผมไม่เห็นด้วยก็เพราะยืนอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลมากกว่าเหตุผลทางอารมณ์ของลูกหลานที่อยาก (อยาก) จะเท่ห์ หรืออะไรก็ตามแต่

ทีนี้ในบริบทสังคมไทยตอนนี้ เราต้องยอมรับว่าเรายืนอยู่บนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเราจะตกลงร่วมกันอย่างไรในการใช้ชีวิตร่วมกัน (บนความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้) แม้บางส่วนจะมีเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล เราก็ยิ่งจะควรทำให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลนั้นสมเหตุสมผลขึ้นมา อย่างน้อยก็ด้วยวลีนี้ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นเครื่องมือทางความคิดที่ดีพอควรในการสร้างความสงสัยและตั้งคำถามให้กับผู้คนมากขึ้น

“ยิ่งห้ามให้เราคิด (ต่าง) ยิ่งห้ามให้เราสงสัย เราต้องยิ่งคิดและสงสัยว่าเหตุผลกลใดกันถึงต้องห้าม ห้ามเสรีภาพในการคิดอ่าน คิดต่าง จนตั้งข้อสงสัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และมันจะยิ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง”

ฉะนั้น ประโยชน์ของเครื่องมือนี้อย่างน้อยก็มีด้วยกัน 2 ประการ ประการแรก (ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) คือ ถ้ายิ่งห้ามให้คิด ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องสงสัย ว่าทำไม อะไร เอาเหตุผลใดมาใช้ห้าม สมควรจะเชื่อไหมว่าจริงหรือไม่ประการใด แล้วตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบที่มีเหตุผลด้วยตัวเอง เมื่อผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจ มิใช่เชื่อโดยเปิดหูเปิดตา แต่ปิดกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผลไว้ ประการที่สอง ถ้าไม่ห้ามเพื่อเป็นการที่จะไม่ยุให้คิดหรือสงสัย ยิ่งเป็นการดี เมื่อกรอบกว้างขึ้น เราจะยิ่งคิด สงสัย ตั้งคำถามและตอบคำถามได้ด้วยเหตุผลที่ดีกว่าเดิม และผู้คนจะเห็นและเข้าใจในเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่เป็นจริงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ตลอดจนจะใช้อารมณ์ความรู้สึกน้อยลงในการตัดสินคุณค่าบางอย่าง

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะยังไง ถ้าเรายืนอยู่บนเหตุผล (ตรรกะที่ถูกต้อง) ไม่ว่าจะถูกเครื่องมือใดมาบีบบังคับตลอดจนผลักไสให้ต่างออกไป เราก็สามารถหยิบเครื่องมือที่ทำกับเรามาใช้เป็นเครื่องมือที่ค้ำจุนตัวเราเอง หนำซ้ำยังทำให้เหตุผลของเราแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฉบริษัทยาต้านสิทธิรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว เหตุรัฐมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

Posted: 28 Dec 2011 09:06 AM PST

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนโต้พรีม่าสร้างวาทะกรรมผิดๆ จงใจให้ร้ายกล่าวหาต้องการเงิน สปส.ไปรวมกับบัตรทอง ย้ำชัดเงินกองทุน สปส.เป็นเงินสมทบ 3 ฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ จะเอาไปรวมกับบัตรทองไม่ได้ แจงข้อเรียกร้องคือ ให้นำเงินสมทบรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 1% ไปรวมกับบำนาญชราภาพ และให้รัฐรับผิดชอบแทน ด้านนักวิชาการชี้ข้อเสนอให้สปส.ซื้อบริการสุขภาพจากบริษัทเอกชนเป็นแนวคิดอันตราย จะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการยากขึ้น เหมือนบทเรียนจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถที่เบิกยาก จนต้องเปลี่ยนไปเบิกสิทธิอื่นแทน แต่ละปีมีเงินเข้าบริษัทเอกชนกว่า 4 พันล้าน ระบุพรีม่ากลัวเสียผลประโยชน์จากอำนาจต่อรองที่เพิ่มขึ้นของประชาชน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า จุดมุ่งหมายการเรียกร้องของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเพื่อให้มีการยกเลิกการร่วมจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพในระบบประกันสังคมนั้น ไม่ใช่การรวมกองทุนอย่างที่นายกเแฑ์ (พรีม่า) กล่าวอ้าง และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะเอาเงินของ สปส.มารวมกับ สปสช. การที่นายกสมาคมพรีม่าพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ เป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง และขยายความเข้าใจผิดไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ในฐานะผู้ประกันตนคนหนึ่งตระหนักดีว่านี่เป็นเงินสมทบของลูกจ้างทุกคนที่ไม่ควรไปรวมอยู่ในกองทุนไหนทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เรียกร้อง เกิดมาจากข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบสำหรับการรักษาพยาบาลให้กับตัวเองอยู่ ทั้งที่กลุ่มอื่นรัฐบาลรับผิดชอบให้หมด แล้วการที่เรียกร้องให้มียกเลิกการจ่ายสมทบสิทธิสุขภาพ 1%  ในแต่ละเดือนนั้น ก็ระบุชัดเจนว่า เอา 1% ตรงนี้ไปเพิ่มสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพจะมีประโยชน์กับผู้ประกันตนเมื่อยามเกษียณมากกว่า นั่นคือเรายังจ่ายเท่าเดิม นายจ้างและรัฐก็สมทบเท่าเดิม แต่ส่วนที่กัน 1% เพื่อไปใช้สำหรับรักษาพยาบาลนั้นเอาไปเพิ่มบำนาญชราภาพ ส่วนสิทธิสุขภาพของเราให้รัฐบาลดูแล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้สมกับการที่ประชาชนทุกคนเสียภาษีให้รัฐทุกวัน ในนามของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ vat 7%

“ดังนั้นขอให้สบายใจได้ว่า ไม่ใช่การยึดหรือฮุบรวมกองทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน เรากำลังพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมของสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญอยู่  และตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่เรียกร้องสำนักงานประกันสังคมก็ได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่าบัตรทองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบนั้นด้อยกว่าบัตรทองที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายสมทบแต่รัฐบาลรับผิดชอบทั้งหมด และการที่บอกว่าการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียวกันจะทำให้ไม่มีการแข่งขันกันนั้น สะท้อนทัศนคติที่อันตรายของพรีม่า เพราะสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลต้องมีมาตรฐานเดียว เป็นเรื่องของชีวิตมีหลายมาตรฐานไม่ได้ เป็นสิทธิมนุษยชน ทำไมคนเราต้องถูกแบ่งว่าถ้าเป็นข้าราชการรักษาแบบนี้ ประกันสังคมระดับนี้ หรือบัตรทองระดับนี้ ส่วนการแข่งขันกันต้องอยู่ที่ระดับรพ.ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพกับประชาชน” เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าว

ด้าน ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การที่พรีม่าเสนอให้ สปส.ซื้อบริการประกันสุขภาพจากเอกชนนั้น ด้านหนึ่งเป็นการยอมรับว่า การบริหารงานของ สปส.เรื่องการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนนั้นเป็นปัญหาที่ภาคเอกชนตระหนักได้ดี ซึ่งสะท้อนถึงการไม่มีความสามารถและศักยภาพของ สปส.ที่ต้องดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 10 ล้านคน แต่ทั้งสำนักงานมีหมอ 2 คนรับผิดชอบเรื่องนี้เท่านั้น ขณะที่ข้อเสนอของพรีม่าเป็นข้อเสนอที่อันตราย ฟังแล้วเหมือนจะดูดีและเป็นประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาคนไทยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีกองทุนผู้ประสบภัยจากรถที่ให้บริษัทประกันเอกชนรับผิดชอบ ซึ่งมีปัญหามาก รพ.เบิกเงินยาก ผู้ประสบภัยไม่ได้ใช้สิทธินี้ จนต้องไปเบิกเงินจากสิทธิรักษาพยาบาลอื่นแทน ซึ่งสร้างภาระให้กองทุนอื่น ทำให้ในแต่ละปีงบกองทุนผู้ประสบภัยจากรถเหลือเป็นเงินให้บริษัทเอกชนไม่ต่ำกว่าปีละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของประชาชนทั้งสิ้น เช่นกันในกรณีของประกันสังคมหากให้บริษัทเอกชนรับผิดชอบแทนจะมีปัญหามากกว่าเดิมแน่นอน ผู้ประกันตนจะเข้าถึงสิทธิยากขึ้น เพราะบริษัทเอกชนมีเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุด และเงินสมทบของผู้ประกันตนก็จะไปตกอยู่ที่บริษัทเอกชน ต่างจากหน่วยงานรัฐหากมีเงินเหลือก็คืนกลับไปสู่สวัสดิการสังคมด้านอื่นๆต่อไป ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเป็นเงินผู้ประกันตน ทำไมต้องเอาไปสร้างกำไรให้บริษัทเอกชน

“การที่พรีม่ามีข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไม พรีม่ากลัวเรื่องอำนาจการต่อรองของรัฐที่จะมีมากขึ้นกับบริษัทยา เพราะการทำให้สิทธิรักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นมาตรฐานเดียวกันจะทำให้พรีม่าเสียประโยชน์จากการที่ต้องมีการใช้ยามาตรฐานเดียวกัน สิ่งที่พรีม่ากังวลไม่ใช่เรื่องประกันสังคมหรือบัตรทอง แต่กังวลเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายยานอกบัญชีของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพราะตรงนี้เป็นจุดที่ทำเงินมหาศาลให้พรีม่าในแต่ละปี ที่ผ่านมาพรีม่าขายยาให้แต่ละกองทุนในราคาต่างกันทั้งที่เป็นยาแบบเดียวกันมาตลอด” ดร.นพ.พงศธร กล่าว  

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เยาวชนไทใหญ่เรียกร้อง 2 กองทัพ SSA สร้างเอกภาพรัฐฉาน

Posted: 28 Dec 2011 08:59 AM PST

เยาวชนไทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศจากหลากหลายองค์กร รวมตัวเรียกร้องกองทัพรัฐฉาน SSA เหนือ – ใต้ รวมกลุ่มสร้างเอกภาพ ปกป้องมรดกและทรัพยากรประเทศ พร้อมขอพิจารณาการลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าอย่างรอบคอบ

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนไทใหญ่หลายสาขาอาชีพจากหลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวม 98 คน จาก 35 เมืองของรัฐฉานได้รวมตัวกันเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของรัฐฉาน ส่งถึงสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State –RCSS) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (ใต้) และ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progressive Party- SSPP) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (เหนือ)

ใจความจดหมายเรียกร้องให้กองทัพรัฐฉาน SSA เหนือและใต้ สร้างความเป็นเอกภาพและสร้างความเชื่อมั่นแก่ชนในชาติ พร้อมเรียกร้องทั้งสองกลุ่มร่วมกันสร้างความสามัคคีชนชาติในรัฐฉาน ทั้งชนชาติไทใหญ่และชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งระบุ หลังสงบศึกกับรัฐบาลพม่า ให้เรียกร้องสิทธิและดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามตลอดช่วงการต่อสู้กอบกู้รัฐฉาน ให้มีสิทธิ์จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทใหญ่ อนุรักษ์และปกป้องมรดกของชาติรวมถึงทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และให้แก้ไขปัญหายาเสพติดในรัฐฉานอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ จดหมายฉบับดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้กองทัพรัฐฉาน SSA เรียกร้องรัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษ ทั้งนักโทษการเมืองและนักโทษคนธรรมดาที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และให้คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติกรณีรัฐบาลพม่ายื่นข้อเสนอจะไม่แยกตัวออกจากสหภาพ โดยขอให้พิจารณาให้เกิดผลที่ดีกว่าสัญญาปางโหลง เมื่อปี ค.ศ.1947 ก่อนจึงจะร่วมลงนาม

ทั้งนี้ การส่งจดหมายแสดงความเห็นของกลุ่มเยาวชนไทใหญ่ดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เยาวชนไทใหญ่หลายสาขาอาชีพ จากหลายกลุ่มองค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวม 98 คน ได้พบหารือแลกเปลี่ยนกิจกรรมการงานและความคิดเห็นทางการเมือง ที่สถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ "การสัมมนาแลกเปลี่ยนเยาวชนไทใหญ่" (Shan Youth Exchange) จัดโดยกลุ่มพลังสื่อเยาวชนไทใหญ่ (Shan Youth Power Media) โดยเยาวชนที่เข้าร่วมมีภูมิลำเนาในรัฐฉานจาก 35 เมือง ส่วนใหญ่ทำงานกับหลายกลุ่มองค์กรเช่น กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรม, การศึกษา, สื่อ, สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน, กลุ่มสิทธิแรงงาน เป็นต้น

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟ้องวิทยาตั้งบอร์ด สปสช.ผิดกฎหมาย แพทย์ชนบทจับตาไม่ให้ล้มบัตรทอง

Posted: 28 Dec 2011 08:57 AM PST

 

กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนเกษตรกรและแรงงาน ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. ชุดใหม่ เพราะการสรรหาและคัดเลือกที่ผ่านมาองค์ประกอบของที่ประชุมไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด แพทย์ชนบทและผู้ป่วยเตรียมฟ้องเอาผิดถ้ากรรมการชุดใหม่มีมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำลายระบบบัตรทอง

น.ส.บุญยืน  ศิริธรรม และนางสุนทรี เซ่งกี่ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนเกษตรและแรงงาน  เปิดเผยว่าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบบัตรทอง  และในฐานะที่เป็นผู้เสียหายจากที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อการมีมติอื่นๆ ที่จะตามมาของคณะกรรมการ สปสช. ชุดใหม่ ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย  จึงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองแล้วเมื่อวันที่ 27 ธค. ที่ผ่านมาเพื่อขอให้เพิกถอนการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านมาเพราะ รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจงใจไม่ปฏิบัติตาม  พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา13 ที่ให้มีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วยความอิสระ ไม่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจและให้กรรมการจากทุกองค์ประกอบ เป็นผู้สรรหาและคัดเลือกแต่การประชุมที่ผ่านมา กรรมการจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั้ง 5 คนไม่ได้มีส่วนร่วมเพราะติดภาวะน้ำท่วม  ทำให้การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 คนที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหมือนครั้งปี 2546 ที่รัฐนมตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นสั่งให้คัดเลือกใหม่

กรรมการผู้แทนเกษตรกรและแรงงานเปิดเผยต่อว่า ได้เคยมีหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปยัง รมว.สธ.และนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับแล้ว แต่เรื่องยังเงียบอยู่และมีความพยายามจะจัดประชุมคณะกรรมการ สปสช.ชุดใหม่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อออกมติให้มีการเก็บเงินผู้ป่วยและอื่นที่จะทำให้ระบบบัตรทองอ่อนแอลงเอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชนเหมือนระบบประกันสังคม จึงต้องพึ่งอำนาจศาลปกครองให้เพิกถอนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว และคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการประชุมออกมติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ  ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่าแพทย์ชนบททั่วประเทศร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่เคยสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ผ่านมาในอดีต กำลังจับตาดูการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลที่เข้ามาแทรกแซงเอานายทุนพรรคและพวกที่เคยคัดค้านระบบหลักประกันสุขภาพเข้ามาเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการ สปสช. ชุดใหม่ ว่าจะมีมติอะไรที่เป็นการทำลายระบบบัตรทองหรือเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนหรือไม่ ถ้ามีมติเก็บเงินประชาชนหรือทำให้ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง  โรคหัวใจ โรคไต   โรคต้อกระจก โรคฮีโมฟีเลีย ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้  เครือข่ายต่างๆ จะฟ้องเอาผิดกรรมการอย่างแน่นอน  เพราะถือว่ากรรมการชุดนี้ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่ออดีตผู้นำประเทศต้องคำพิพากษาให้จำคุก

Posted: 28 Dec 2011 08:51 AM PST

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาศาลฝรั่งเศสได้มีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ว่าอดีตประธานาธิบดีฌากส์ ชีรัก วัย 79 ปี มีความผิดข้อหายักยอกเงินหลวง ละเมิดความไว้วางใจของประชาชนและมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการใช้ภาษีประชาชนจ่ายเงินให้สมาชิกพรรคการเมืองและหัวคะแนนของตน โดยการทำสัญญาจ้างงานปลอมขึ้นมา 19 ตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง ในสมัยที่ชีรักดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปารีส ระหว่างปี 2533-2538 ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งทำให้นครปารีสเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านยูโร หรือประมาณ 54 ล้านบาท โดยศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ หลังจากใช้เวลาในการค้นหาความจริงมาอย่างยาวนาน

จากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้ชีรักกลายเป็นอดีตผู้นำสูงสุดรายแรกของฝรั่งเศสที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญานับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ขณะที่จำเลยร่วมในคดีนี้อีก 9 คน ศาลตัดสินไปก่อนหน้านี้แล้วให้ 2 คนพ้นผิด ส่วนอีก 7 คนที่เหลือถูกตัดสินว่ามีส่วนช่วยให้ชีรักใช้ระบบตำแหน่งงานปลอมในเทศบาลนครปารีส เพื่อนำเงินจากเทศบาลนครปารีสไปจ่ายแก่คนใกล้ชิดที่มาช่วยงานการเมือง และหนึ่งในจำนวนนี้ คือ นายอแลง จุปเป อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาถูกตัดสินลงโทษจำคุก 14 เดือนโดยให้รอลงอาญาเมื่อปี 2547 และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 1 ปี ก่อนกลับเข้าสู่การเมืองจนก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปัจจุบัน

เหตุที่คดีของอดีตประธานาธิบดีชีรักเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาเพราะชีรักได้ใช้เอกสิทธิ์ของการเป็นประธานาธิบดีของตนคุ้มกันมาโดยตลอดทำให้อายุความได้สะดุดหยุดอยู่ เมื่อเขาลงจากตำแหน่งจึงสามารถดำเนินคดีต่อไป

ชีรักเริ่มเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยแรกเมื่อปี 2538 และได้เป็นประธานาธิบดีสมัย 2 อีกในปี 2545 ด้วยคะแนนนิยมอย่างถล่มทลายถึง 82% ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และที่โด่งดังที่สุดก็คือ การงัดข้อกับ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาคัดค้านการบุกอิรักในปี 2546 และหลังจากพ้นวาระประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2550 แล้วเขายังได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกตลอดชีพของสภารัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศสอีกด้วย

ที่ผมยกกรณีของอดีตประธานาธิบดีชีรักขึ้นมานี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและความเป็นอิสระของศาลฝรั่งเศส และแสดงให้เห็นว่าแม้ผู้นำของเขาจะได้รับความนิยมสักปานใดก็ตาม ก็ไม่อาจรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้ แม้ว่าในระหว่างดำรงตำแหน่งจะไม่สามารถดำเนินคดีได้ก็ตาม แต่เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วคดีก็ว่ากันต่อไป เพราะความนิยมทางการเมืองกับการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

แต่ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือท่าทีของอัยการที่ขอให้ศาลยกฟ้องคดีพัวพันคอร์รัปชั่นของชีรัก โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าตำแหน่งงานผีเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา แต่ศาลยืนยันที่จะนำคดีเข้าสู่การพิจารณา เพราะภายใต้กฎหมายฝรั่งเศส ผู้พิพากษาสามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการไต่สวนได้ แม้อัยการจะคัดค้านก็ตาม

จากกรณีของประธานาธิบดีชีรักในข้อกล่าวหาว่าทุจริตนั้นไม่ได้แตกต่างจากคดีของคุณทักษิณเท่าใดนัก แต่ที่แตกต่างก็คือฝรั่งเศสใช้กระบวนการของศาลปกติธรรมดา ไม่ได้มีการปฏิวัติรัฐประหารโค่นล้มเพื่อเอาออกจากตำแหน่งแล้วตั้งคณะกรรมการที่ส่วนใหญ่เป็นอริกับผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวนเพื่อหาความผิด มิหนำซ้ำยังมีการออกกฎหมายของคณะรัฐประหารย้อนหลังไปยุบพรรคการเมืองเสียอีกด้วย

ภายหลังที่ศาลยุติธรรมฝรั่งเศสมีคำพิพากษา ชีรักออกแถลงการณ์ว่าเขาจะไม่อุทธรณ์ต่อในคดีนี้ เพราะสุขภาพและพละกำลังที่ถดถอยลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้เขาไม่เหลือเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายที่อาจกินเวลายาวนาน แต่เขาก็ยังยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนเอง(ตามฟอร์ม) และหวังว่าความรู้สึกของประชาชนฝรั่งเศสที่มีต่อเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

แต่กรณีของคุณทักษิณกลับตรงกันข้ามเพราะมีการดำเนินการทั้งสับขาหลอก ทั้งสับขาจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งการนิรโทษกรรม ตลอดจนการจุดประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งผมเห็นด้วยบางส่วนและไม่เห็นด้วยบางส่วน

ที่เห็นด้วยก็คือการถูกรัฐประหารเตะออกจากตำแหน่งแล้วตั้งคณะกรรมการที่เป็นอริกันมาสอบสวนแล้วยังมีการใช้กฎหมายย้อนหลังไปยุบพรรคการเมืองนั้นยอมรับไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง และไม่มีประเทศไหนที่เจริญแล้วสามารถยอมรับได้เช่นกัน และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อลบล้างผลพวงของรัฐประหารให้หมดสิ้นไป ไม่ให้กลายเป็นตราบาปฝังใจอยู่ดังเช่นในปัจจุบันนี้

ที่ไม่เห็นด้วยก็คือการพยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้คุณทักษิ ณและยอมแม้กระทั่งจะนิรโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี 91 ศพ เพียงเพื่อคุณทักษิณเพียงคนเดียว

ความหมายของผมก็คือ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยกเลิกกระบวนการที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 เสียทั้งสิ้น แล้วดำเนินคดีไม่ว่าจะกี่คดีก็ตามกับคุณทักษิณในช่องทางปกติเช่นเดียวกับคดีของอดีตประธานาธิบดีชีรักของฝรั่งเศส หากคุณทักษิณมีความผิดจริงก็ย่อมสมควรที่จะได้รับโทษไม่ว่าจะได้รับความนิยมทางการเมืองสักปานใดก็ตาม

ที่สำคัญที่สุดนอกจากการนำเอาตัวคุณทักษิณมาพิจารณาคดีในกระบวนการปกติแล้ว ย่อมต้องดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี 91 ศพ เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุจนทำให้มีคนเสียชีวิตอย่างมากมายเช่นนี้

เมื่อทำได้ดั่งนี้แล้ว คงไม่ต้องให้ใครมากล่าวอ้างถึงความเป็นนิติรัฐหรือนิติธรรมให้เปลืองน้ำลาย เพราะสิ่งที่ผมเสนอนี้คือการเป็นนิติรัฐและนิติธรรมอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวแล้วอย่างที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้

 

----------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดเบื้องหน้าเจาะเบื้องหลัง 2555 ปีปฏิรูปชายแดนใต้

Posted: 28 Dec 2011 08:46 AM PST

ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นไป กระบวนการปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป และภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ เป็นเจ้าภาพหลัก ถึงเวลาออกเดินสายระดมจัดเวทีระดมความคิดเห็น 200 เวที กระจายครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

เริ่มต้นเปิดฉากงานแรกคือ เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ตามด้วยการเดินสายเปิดเวทีย่อยตลอดปี 2555

 

ย้อนรอยขบวนการปฏิรูป
การปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูป ที่เริ่มต้นมาจากการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553

คราวนั้น ที่ประชุมได้มีข้อเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ และโครงสร้างต่างๆ ในประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เสริมสร้างสมรรถนะและพลังปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข มีศักดิ์ศรี และความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ สันติสุข และความเจริญมั่นคงในชาติบ้านเมือง

เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอข้างต้น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะคือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอ

สำหรับคณะกรรมการปฎิรูป มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย นายกฤษณพงศ์ กีรติกร คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายบัญชา อ่อนดำ นางปราณี ทินกร นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ พระไพศาล วิสาโล นางรัชนี ธงไชย นายวิชัย โชควิวัฒน์ นางวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ นายศรีศักดิ วัลลิโภดม นายสมชัย ฤชุพันธุ์ นางสมปอง เวียงจันทร์ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา นายเสกสรร ประเสริฐกุล ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์

ส่วนคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นายต่อพงษ์ เสลานนท์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ รองศาสตราจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นางปรีดา คงแป้น นายปรีดา เตียสุวรรณ นางเปรมฤดี ชามภูนท นายพลเดช ปิ่นประทีป นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นายมานิจ สุขสมจิตร นายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข นายวิชัย โชควิวัฒน์ นายสน รูปสูง นายสมพร ใช้บางยาง นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ

ต่อมา มีการแต่งตั้งนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา เป็นกรรมการสมัชชาปฏิรูป เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง

จากนั้น จึงได้จัดตั้งสำนักงานปฏิรูป เพื่อเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีนางวณี ปิ่นประทีป เป็นผู้อำนวยการสำนักงาน

 

จากเป้าหมายสู่กระบวนการ
คณะกรรมการปฏิรูปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้กำหนดเป้าหมายร่วมของการปฏิรูปคือ การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ทำหน้าที่เก็บข้อมูลข้อคิดเห็นและสังเคราะห์ปัญหา นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการปฏิรูป นำไปยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการ ที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น โดยภาครัฐบาล ภาคข้าราชการ และเอกชน สามารถนำไปใช้ได้

พร้อมกับให้คำนิยาม “ปฏิรูป” หมายความว่า การใดๆ ที่กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคุณค่าของสังคม ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการสังคม และระบบอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมในสังคม

สำหรับคำนิยาม “สมัชชาปฏิรูป” หมายความว่ากระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวาง บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ หรือนำไปพิจารณา กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

 

สมัชชาปฏิรูป 3 ระดับ
สมัชชาปฏิรูป แยกออกเป็นสามระดับคือ สมัชชาปฏิรูป สมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น

หลักการสำคัญของสมัชชาปฏิรูป 1) เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 2) เป็นกระบวนการสานพลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังอำนาจรัฐ ให้เชื่อมโยงกันอย่างสอดคล้องและสมดุล 3) เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมในสังคม 4) มีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทเชิงประเด็น ภูมินิเวศ วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ และใช้วิธีการจัดการที่หลากหลาย ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง 5) มีการจัดกระบวนการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง เพื่อการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน

สำหรับสมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ หมายความว่าสมัชชาปฏิรูปที่ใช้อาณาบริเวณในเชิงภูมิศาสตร์ ภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม หรือชุมชนในรูปแบบต่างๆ เป็นขอบเขตในการดำเนินงาน

 

สมัชชาเฉพาะประเด็น
ส่วนสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น หมายถึงสมัชชาปฏิรูปที่ใช้ประเด็นในการทำงานปฏิรูปเป็นขอบเขตในการดำเนินงาน

ในการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น ต้องมีคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานจากหลายภาคส่วน โดยจัดตั้งขึ้นเอง หรือจัดตั้งโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ต้องใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ทางวิชาการเป็นฐานในการดำเนินการ ต้องกำหนดประเด็นพิจารณาให้ชัดเจน ต้องเปิดกว้างให้มีผู้เข้าร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีจำนวนและสัดส่วนที่เหมาะสมกับพื้นที่หรือประเด็น ต้องมีการสื่อสารสาธารณะผ่านช่องทางที่หลากหลายและกว้างขวาง ต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ฉันทมติในข้อเสนอที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมนำไปปฏิบัติได้ ต้องมีการติดตามและผลักดันข้อเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

กลไกสนับสนุน
พร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้งกลไกสนับสนุนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปขึ้นมา 2 คณะ

หนึ่ง คณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป มีนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดรูปแบบและแนวทางในการจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น โดยให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทเชิงประเด็น ภูมินิเวศ วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ใช้วิธีการจัดการที่หลากหลาย และใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างวขวาง

สอง คณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูปภายใต้กรรมการสมัชชาปฏิรูป มีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปที่มีการร่างและเสนอโดยภาคส่วนต่างๆ เพื้อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งจัดประชุมและจัดกระบวนการจัดการความรู้ร่วมกับเครือข่ายวิชาการต่างๆ ตามความจำเป็น เพื่อทำให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ให้เกิดความจำกัดเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจน

สำหรับแนวทางการสนับสนุน 1) การสนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ทางวิชาการ 2) การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ 3) การสนับสนุนการสื่อสารสาธารณะ 4) การสนับสนุนงบประมาณ 5) การสนับสนุนการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 6) การสนับสนุนทางด้านการประสานงาน เชื่อมโยงกับภาคีหรือเครือข่ายอื่น 7) การสนับสนุนด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสม

 

ข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูป
ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูป เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ที่ประชุมต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม 5 ด้าน ได้แก่ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี

นั่นคือที่มาของข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูป ที่มีแนวทางกว้างๆ คือ การปฏิรูประบบคิดด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจในประเทศไทย มีเป้าหมาย 4 ประการคือ 1. จัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ 2. ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3. บริหารเศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อเนื่อง เกิดเสถียรภาพ 4. การกระจายการปันผลเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ใน 4 ด้านนี้มีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีภาวการณ์ที่มีจุดอ่อน นั่นคือ การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ เบื้องต้นต้องดำเนินการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ แรงงานมีงานทำ ที่ดินมีการใช้เต็มที่ นักธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้

นำมาสู่ข้อเสนอใหญ่ๆ 2 เรื่องคือ ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ที่มีจุดเน้นอยู่ตรงที่การกระจายอำนาจ ภายใต้กรอบคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับประชาชน”

คณะกรรมการปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้ประกาศลาออก และยุติบทบาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554

ถึงกระนั้นในส่วนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน ก็ยังคงทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปประเทศไทย ผ่านกระบวนการต่างๆ ต่อไป
 

สู่สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้
ต่อมา ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้มีคำสั่งที่ 12/2555 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2554 มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา เป็นรองประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ เป็นรองประธาน

คณะกรรมการประกอบด้วย พลตำรวจตรีจำรูญ เด่นอุดม นางโซรยา จามจุรี นางปรีดา คงแป้น นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน นายรอซีดี เลิศวิริยะพงษ์กุล นางสาวลม้าย มานะการ นายแวรอมลี แวบูละ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ กรรมการและเลขานุการ นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นางสาวจิตติมา อุ้มอารีย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายเฉพาะ และกรอบประเด็นหลัก ในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และออกแบบกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา และภูมินิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่ ประสานเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

พร้อมกับจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการจัดการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืน เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามความจำเป็น และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปมอบหมาย

ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์สนับสนุนการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย นางจิราพร บุนนาค นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา นายพลเดช ปิ่นประทีป นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นายสมเกียรติ จันทรสีมา นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ นายคณุสสัน ศุภวัตรวรคุณ นางวณี ปิ่นประทีป คณะทำงานและเลขานุการ นายเมธัส อนุวัตรอุดม คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่จัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และข้มูลข่าวสารเป็นประจำ เพื่อระดมความคิดในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการปฏิรูปการจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหา และการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ให้คำปรึกษาในการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแนดภาคใต้ และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปมอบหมาย

คณะกรรมการฯ ได้กำหนดจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ตามด้วยการจัดเวทีย่อยอีก 200 เวที ตลอดปี 2555

 

 

                                                                                  ..............................

 

เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน”

4–5 มกราคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ร่วมขับเคลื่อนโดยข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้

สนับสนุนโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.)

 

4 มกราคม 2555

09.00–10.00 น.                  ลงทะเบียน

10.00–10.15 น.                  โหมโรง

10.15–10.30 น.                  รำลึก 8 ปีไฟใต้

10.30–10.40 น.                  กล่าวรายงานโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

10.40–11.10 น.                  เปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” โดยศ.นพ.ประเวศ วะสี

11.10 –11.40 น.                 สะท้อนความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ

                                              คุณแยน๊ะ สะแลแม คุณสม โกไศยกานนท์ และคุณสุกรี อาดำ

                                              ดำเนินรายการโดยอัสรา รัฐการัณย์

11.40–11.55 น.                  การแสดงอนาซีด

11.55–12.15 น.                  นำเสนอผลการช่วยเหลือและเยียวยาของภาคประชาสังคม
                                             โดยคุณลม้าย มานะการ และคุณอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ

12.15–13.30 น.                  รับประทานอาหารกลางวันและละหมาด

13.30–13.45 น.                  การแสดงอนาซีด

13.45–14.15 น.                  ประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
                                              และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการใช้กฎหมายพิเศษ และพระราชกำหนดการบริหารราชการ
                                              ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 จากสภาประชาสังคมชายแดนใต้

14.15–16.00 น.                  มุมมองข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย

                                                ผู้ร่วมอภิปราย:

                                                พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

                                                อนุกูล อาแวปูเตะ ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี

                                                ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
แลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมประชุม
                                                ดำเนินการอภิปรายและสรุปโดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป

 

5 มกราคม 2555

09.00–09.30 น.                  ปาฐกถาพิเศษ “สิทธิ เสรีภาพของประชาชนในทัศนะอิสลาม”

โดยดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา

09.30–09.45 น.                  การแสดงอนาซีค กอมปัง

09.45–09.55 น.                  ฉายวีดีทัศน์ “ทำไมต้องกระจายอำนาจ”

09.55–10.25 น.                  นำเสนอรูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจจังหวัดชายแดนใต้

                                                โดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี

10.25–11.55 น.                  การอภิปราย“ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนใต้: มุมมองที่หลากหลาย”

                                                        ผู้ร่วมอภิปราย:

นายพงศ์โพยม วาศภูติ                      อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

นายสวิง ตันอุด                                 ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม

ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ           นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม                     ภาคประชาสังคมชายแดนใต้

                                                        ดำเนินการอภิปรายโดยอาจารย์ฮาฟิส สาและ

11.55–12.15 น.                             แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม

12.15–12.30 น.                              ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

12.30น.                                           กล่าวปิดงานโดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูป
                                                         เฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทกวีจากปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์.....ลาปีเก่า

Posted: 28 Dec 2011 08:44 AM PST

 

ขอบอกลาปีเก่าที่เศร้าจิต
ก่อนที่คิดจะก้าวข้ามสู่ยามใหม่
ใครทำให้เสรีภาพหดหายไป
ใครกันใครเป็นศัตรูของปวงชน

ที่ผ่านมาเราลืมว่าใครกำหนด
ระเบียบบทกฏเกณฑ์ถิ่นไทยนี้
ใครกันที่ครองอำนาจท่วมทวี
ใครกันที่เป็นเจ้าของป้องแผ่นดิน

ประชาชนไม่ใช่หรือคือคำตอบ
ที่มีสิทธิโดยชอบเหนือสรรพสิ่ง
หากเราเชื่อในระบอบเสรีจริง
ต้องท้วงติงต่อสู้เพื่อหมู่ไทย

แต่ความจริงสิ่งที่เห็นเป็นแค่ภาพ
แค่ลมปากรื่นหูดูสวยใส
แค่คำพูดว่ารักประชาธิปไตย
แต่เนื้อในกลับฝักใฝ่เผด็จการ

“ไท” นั้นไซร้มีความหมาย “อิสระ”
แต่เป็นแค่อักขระดังที่เห็น
กักขังคนที่คิดต่างอย่างที่เป็น
เฝ้าขู่เข็นด้วยความกลัวที่มัวเมา

เอาความรักภักดีมีต่อเจ้า
เปลี่ยนมาเป็นความก้าวร้าวอย่างคลุ้มคลั่ง
เป็นอาวุธที่เปี่ยมด้วยพลัง
ลงโทษทัณฑ์ผู้อ่อนแอไร้ปราณี

ใช้เครื่องมือทางกฏหมายอย่างพลาดผิด
เป็นกลไกที่ใช้ปิดความคิดกั้น
อ้างว่าทำเพื่อปกป้ององค์ราชันย์
แท้จริงนั้นต่างทำเพื่อประโยชน์ตน

แล้วขับไล่เพื่อนร่วมชาติด้วยมาดร้าย
พร้อมใส่ไคล้ว่าไร้รักภักดีเจ้า
ประกาศตัวป็นเจ้าของไทยลำเนา
ลืมไปหรือแผ่นดินเราสิทธิเท่ากัน

อ้างความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ
“ความเป็นไทย” ทิ่วิเศษอัศจรรย์สรร
เป็นวิธีที่ปิดกั้นคำวิจารณ์
ปิดสันดานความฉ้อฉลล้นสังคม

มองกลับไปในปีผ่านชวนให้คิด
อนาคตอาจยิ่งมืดมิดผิดทางหลง
เสรีภาพต้องสูญเสียเช่นอากง
ชีวิตคงไม่ต่างนักเช่นผักปลา

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

Posted: 28 Dec 2011 04:25 AM PST

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 เมื่อเวลา 17.00 น. ห้อง 207 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน จัดเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ รักชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และ ศรันย์ ฉุยฉาย สมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (ซีซีพี) โดยมีนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมวงเสวนากว่า 150 คน

ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ อธิบายภาพรวมของอำนาจสถาบันพระมหากษัตริยในสังคมไทย โดยชี้ว่า สถานะของสถาบันฯ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้ง และฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความคิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย

เพื่อที่จะสร้างและรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ ปิยบุตรชี้ว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึง การไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และการสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ด้านรักชาติ วงศ์อธิชาติ นศ. ปีที่ 3 จากคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาที่ถูกจำกัดลงจากอดีต โดยชี้ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อความเท่าเทียมและเสรีภาพในการหาความรู้ อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่รับเอาอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมาใช้ ผ่านพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงมหาวิทยาลัย การให้นักศึกษาเข้ารับฟังการทรงแสดงดนตรี ในขณะเดียวกันก็ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องบูชากราบไหว้ ซึ่งรักชาติมองว่า แทนที่สถาบันการศึกษาจะทำให้คนตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ กลับเป็นเบ้าหลอมให้คนต้องอยู่ในกรอบที่คิดและเชื่อเหมือนๆ กัน

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังกล่าวถึงระเบียบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่สะท้อนถึงระบบอำนาจนิยม เช่น ระบบโซตัส หรือการบังคับให้แต่งกายถูกระเบียบตามแบบอย่างชุดนิสิต “ในพระปรมาภิไธย” โดยสภาพดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว สังคมไทยล้วนอยู่ในพระปรมาภิไธย ซึ่งประชาชนไม่สามารถคิดและเห็นต่างได้ มิหนำซ้ำ นอกจากจะ “ห้าม” พูดและคิดแล้ว ยัง “ถูกบังคับให้พูด” เนื่องจากมีกลไกทางสังคมและทางกฎหมายดำรงอยู่ที่พร้อมจะคว่ำบาตรต่อผู้ที่เห็นต่างทันที ซึ่งพิริยะดิศ มานิตย์ อาจารย์จากภาควิชาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้เข้าฟังการเสวนาดังกล่าวชี้ว่า การถูกบังคับให้พูดในสิ่งที่ไม่อยากพูด ก็เปรียบเสมือนกับการข่มขืนดีๆ นี่เอง

“สังคมที่คนถูกบังคับให้คิดให้เชื่อเหมือนๆกัน ก็เปรียบเสมือนสังคมนกเพนกวินที่ไม่ได้ใช้ความคิด อย่างนั้นมันไม่ใช่มนุษย์แล้ว เพราะมนุษย์ต้องสามารถคิดและเห็นต่างได้” พิริยะดิศกล่าว

รักชาติ กล่าวถึงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยว่า เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่เพียงแต่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยรวม ซึ่งกรณีการตัดสินจำคุก 20 ปีของนายอำพล หรือ “อากง” ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากฎหมายดังกล่าวมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การรณรงค์เพื่อตระหนักรู้ความไม่เป็นธรรมของกฎหมายนี้ ไม่ควรมาจากความน่าสงสารหรือน่าเห็นอกเห็นใจต่อคดีอากงเท่านั้น เนื่องจากยังมีนักโทษการเมืองหลายคนยังถูกจำคุกด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข “สุรชัย แซ่ด่าน” และ”ดา ตอร์ปิโด” ซึ่งควรได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ ทางผู้จัดงานเปิดเผยว่า การจัดงานเสวนาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีอุปสรรค เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัยในการขอใช้ห้องทำกิจกรรมที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อภายหลังได้ทำเรื่องย้ายห้องจัดงานเสวนามาที่คณะรัฐศาสตร์ จึงสามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้

ดิน บัวแดง หนึ่งในกลุ่มผู้จัดงานให้ความเห็นว่า เป็นที่ชัดเจนว่าในรั้วมหาวิทยาลัยไม่มีเสรีภาพให้พูดคุยและถกเถียงในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อนาคตของสังคมไทย ทั้งๆ ที่นักวิชาการและนิสิตนักศึกษา ควรจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในคณะที่เกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หากแต่เขารู้สึกว่า ในมหาวิทยาลัย กลับเป็นที่ที่เต็มไปด้วย “ความกลัว” และนอกจากจะไม่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการแล้ว กลับห้ามมิให้นิสิตนักศึกษาใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

ดิน บัวแดง นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และหนึ่งในผู้จัดงานเปิดเผยว่า สาเหตุที่จัดงานเสวนาดังกล่าวขึ้นมา เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์

หากเราไม่มีเสรีภาพในการตำหนิ ก็จะไม่มีการประจบประแจงเกิดขึ้น

เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก 10 ปี เสื้อแดงปล้นปืนทหาร 2 กระบอก ระหว่างรุมขวางรถทหารปี 53

Posted: 28 Dec 2011 03:22 AM PST

 

28 ธ.ค.54  ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา ห้องพิจารณาคดี 811 มีการอ่านคำพิพากษา คดีดำที่ อ.2440/2553 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย  ฟ้องนายคำหล้า ชมชื่น ว่ากระทำความผิดในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นอาวุธปืนของทหาร โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปีที่แล้วซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้าพื้นที่บริเวณใกล้ซอยหมอเหล็ง โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 วรรแรก ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 15 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน และนำชี้สถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 จำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน ซองกระสุนปืน และกระสุนปืน ที่ยังไม่ได้คือเป็นเงิน 19,261 บาท แก่ผู้เสียหาย โดยผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาคือ นางอัญชลี อริยะนันทกะ และ นายธเนศ ไชยหมาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัญชลี ผู้พิพากษา ได้ให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดียืนรายงานตัวทีละคนก่อนอ่านคำพิพากษา และระหว่างการอ่านคำพิพากษาราว 20 หน้า ทนายจำเลยได้ไปยืนฟังการอ่านคำพิพากษาจนชิดบัลลังก์ เนื่องจากศาลอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่จำเลยและผู้เข้าฟังการพิจารณาไม่สามารถได้ยินได้ โดยระบุว่าคำพิพากษาค่อนข้างยาวและไม่สามารถตะเบ็งเสียงอ่านทั้งหมดได้  

ทั้งนี้ คำหล้าถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค.53 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาจนปัจจุบัน โดยในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 3 คน  ร่วมกันปล้นทรัพย์ อาวุธปืนเล็กกล (M16) ขนาด .223 (5.56 มม.) 2 กระบอก ราคากระบอกละ 16,031 บาท ซองกระสุน 6 ซอง  ราคา 2,280 บาท  และกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. 100 นัด ราคา 950 บาท ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ จ.ส.อ.สอน  แก่นทน, จ.ส.อ.ทวี ภูดินดาน  และ ส.ต.วิรัตน์ ศรีหาสาร ไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน, ซองกระสุน และกระสุนปืน 19,261 บาท  แก่ผู้เสียหายด้วย

นายวิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความที่เข้าฟังการพิจารณาคดีได้สรุปประเด็นให้ผู้สื่อข่าวฟังภายหลังการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อสงสัยในพยานโจทก์ไม่ว่าจะเป็นการที่จำเลยอ้างว่าถูกข่มขู่ให้รับสารภาพในชั้นสอบสวนนั้น จำเลยไม่ได้สืบให้เห็นว่ามีการข่มขู่อย่างไร และการที่ทหารเข้าไปในเรือนจำชี้ตัวจำเลยผิดก็ไม่ได้เป็นเหตุรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด อีกทั้งจำเลยรับสารภาพแต่ต้นแล้วอ้างว่าลงลายมือชื่อไปโดยไม่รู้ว่าเป็นคำรับสารภาพ ไม่อาจรับฟังได้เนื่องจากเป็นเรื่องประโยชน์ของจำเลยเองที่ควรจะอ่าน ส่วนการอ้างว่าที่ไปชี้จุดโดยไม่รู้ว่าเป็นที่ใดนั้นก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และการเบิกความว่าในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่ในที่ทำงานคือสำนักระบายน้ำกรุงเทพฯ จำเลยมีพยานเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งเบิกความว่าการตรวจสอบว่าใครมาทำงานมีเพียงการโทรศัพท์สอบถามเท่านั้นทำให้ไม่มีน้ำหนัก ประกอบกับภาพข่าวในวันเกิดเหตุที่ได้จากสถานีโทศน์ TPBS และสำนักข่าว TNEWS ก็น่าเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยร่วมอยู่ ส่วนอาวุธปืนเล็กนั้นพบซุกซ่อนอยู่ในวัดปทุมวนาราม 1 กระบอก ส่วนอีกกระบอกหนึ่งจำเลยอ้างในชั้นสอบสวนว่านำไปทิ้งในคลองบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว

สมศรี สงวนสิทธิ์ ภรรยาของคำหล้าให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาทั้งน้ำตาว่า รู้สึกตกใจกับผลที่เกิดขึ้นอย่างมากและเป็นสิ่งเกินความคาดหมาย สำหรับประวัติครอบครัวนั้นเธอและคำหล้าทำงานอยู่ที่เดียวกัน โดยคำหล้าสนใจเรื่องการเมืองและร่วมชุมนุมมาตั้งแต่มีกลุ่มเสื้อแดงใหม่ๆ เมื่อปีที่ผ่านมาเขามักจะไปฟังปราศรัยหลังเลิกงานอยู่เสมอ หลังจากคำหล้าถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 2 ปี ครอบครับลำบากมากเนื่องจากเธอมีเงินเดือนเพียง 8,000 บาทสำหรับดูแลลูกชายวัย 7 ขวบ เงินที่ขายมอเตอร์ไซด์ของครอบครัวเพื่อใช้เป็นรายจ่ายในการไปเยี่ยมคำหล้าก็หมดแล้ว

ด้านนักกิจกรรมจากกลุ่มเพื่อนนักโทษการเมืองที่ใช้นามแฝงว่า “นกแดง” กล่าวว่า ได้พาลูกชายของคำหล้าไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาค เนื่องจากเห็นว่าครอบครัวนี้มีฐานะยากจนมาก และต้องอยู่อย่างยากลำบากภายใจห้องเช่าเล็กๆ ย่าน สน.ดินแดง ผู้สนใจช่วยเหลือสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ชื่อบัญชี ด.ช.อภิชาติ ชมชื่น เลขที่ 688-0-08345-5

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น