โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วงเสวนาในร้านโรตีจี้ทั้ง 'รัฐไทย-BRN' ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน

Posted: 31 Aug 2013 02:20 PM PDT

วิทยุ Media Selatan จัดวงเสวนาชาวบ้านในร้านโรตียะลา ย้ำการพูดคุยสันติภาพประชาชนต้องมีส่วนร่วม เสนอแนะทั้งรัฐไทยและ BRN ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน รับฟังความต้องการของคนในพื้นที่

 
 
 
 
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ที่ร้านโรตีนายอุสมาน ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) จัดเสวนาหัวข้อ "ความคาดหวังของคนยะลาต่อการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการ BRN" มีผู้เข้าร่วม 20 คน โดยมีการถ่ายทอดเสียงผ่านทาง Media Selatan ด้วย
 
อาจารย์ยูซุฟ ดอเลาะห์ นักจัดรายการวิทยุในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยและ BRN ที่ใช้แนวทางการพูดคุยสันติภาพในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ แต่การพูดคุยสันติภาพจะต้องอยู่บนพื้นฐานเจตนาที่ดีจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
"อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด"อาจารย์ยูซุฟ กล่าว
 
นายมุกตา อาลี ข้าราชการครูจังหวัดยะลา กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ควรที่จะมีธงมาแล้วว่าต้องการอะไรจากการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจของทั้ง 2 ฝ่าย ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
 
"เมื่อช่วงต้นเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา ประชาชนหวังว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ได้ เนื่องจากมีเหตุความรุนแรงน้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงเบื้องต้นในการลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฏอนและหลังรอมฏอนอีก 10 วัน แต่ความหวังประชาชนก็ล่มสลาย เมื่อมีเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายเดือนรอมฏอน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรอความหวังจากสันติภาพต่อไป"นายมุกตา กล่าว
 
นายมุกตา กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลรับข้อเสนอของ BRN ด้วย อาจจะ 2 หรือ 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ ไม่จำเป็นต้องรับทั้งหมด เพราะหากรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความหวังต่อการพูดคุยสันติภาพ
 
"โดยพื้นฐานของการเจรจา ต้องใช้เวลานานอยู่แล้ว คิดว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้นอีก เพราะในฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้เข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้สามารถใช้เวลาได้สั้นที่สุด" นายมุกตา กล่าว
 
นายมุกตา กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่มีการพูดคุยสันติภาพในแต่ละครั้ง รัฐต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่ก่อน และนำข้อสรุปที่ได้ซึ่งเป็นข้อเสนอของประชาชนส่วนใหญ่ไปเสนอในเวทีพูดคุยสันติภาพ
 
นายอาฮามะ บากอซัง ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า ไม่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลไทยเท่านั้นที่ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทางฝ่าย BRN ก็ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน เพื่อให้รู้ว่าประชาชนมีความต้องการอย่างไรต่อการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
 
หมายเหตุ : 5 ข้อเสนอของ BRN
 
1. นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator)
2.การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาว (bangsa) ปาตานี ที่นำโดย BRN กับนักล่าอานานิคมสยาม
3.ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร OIC และองค์กร NGO
4.นักล่าอานานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข
5.นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กร BRN เป็นขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำรวจความคิดเห็นประชาชนซีเรียต่อแผนการโจมตีของสหรัฐฯ

Posted: 31 Aug 2013 11:14 AM PDT

ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าวางแผนโจมตีซีเรียเหตุจากการใช้อาวุธเคมี เว็บไซต์ข่าว Globalpost รวบรวมความคิดเห็นส่วนหนึ่งของประชาชนชาวซีเรียและกลุ่มกบฏต่อแผนการโจมตีในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Globalpost นำเสนอความคิดเห็นของชาวซีเรียต่อการพยายามแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธของสหรัฐฯ โดยอ้างว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีสังหารผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยทางการสหรัฐฯ ได้รับเสียงสนับสนุนจากฝรั่งเศส และเยอรมนี ขณะที่ทางการอังกฤษจำต้องยอมรับมติในที่ประชุมสภาทำให้มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ

"ประชาชนชาวซีเรียได้แสดงความเห็นออกมามาก แต่ไม่มีใครฟัง" ผู้หญิงชาวดามาสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ที่ทำงานในวงการศิลปะเคยกล่าวไว้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา "ชาวซีเรียรู้สึกว่า ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากความเจ็บปวดของพวกเขา"

และเมื่อสำนักข่าว Globalpost ถามถึงเรื่องแผนการจู่โจมของสหรัฐฯ กับชาวซีเรีย ก็มีความคิดเห็นออกมาดังนี้

อับดุล อะซีซ คนทำงานธนาคารกล่าวว่า คนในดามาสกัสมีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องการโจมตีของสหรัฐฯ แต่โดยส่วนตัวเขาไม่สนับสนุนการแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธเพราะเขาคิดว่ารัฐบาลอเมริกันเป็นศัตรูของประเทศ ขณะเดียวกันอะซีซก็บอกว่ากลุ่มที่สนับสนุนการแทรกแซงไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย

รามา ทาราบิชี ผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมนอกกรุงดามาสกัสกล่าวว่าในตอนแรกเธอไม่คิดว่าประเทศตะวันตกจะวางแผนโจมตีจริง ส่วนตัวเธอเองรู้สึกกังวลและคับข้องใจ "สำหรับฉันแล้วเหมือนกับว่ากรณีของอิรักกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง" ทาราบิชีกล่าว

ขณะที่ผู้สื่อข่าว ซารี อัคมีนาส กล่าวว่าเขาจะไม่หนีออกจากประเทศเมื่อมีการโจมตี และต้องการอยู่เพื่อช่วยสร้างซีเรียขึ้นมาใหม่ ส่วนทาลาล อตราเช จากตอนใต้ของซีเรียบอกว่าการโจมตีกองทัพซีเรียจะยิ่งทำให้กลุ่มที่ทำสงครามศาสนาเข้มแข็งขึ้น "ผมเชื่อว่าเรากำลังเฝ้าดูความย่อยยับของสังคมและประเทศ... ที่เกิดจากความขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมือง ยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจ" อตราเชกล่าว

ทางด้านอับดุลลาห์ โอมาร์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ถูกกลุ่มกบฏยึดครองใกล้กับตุรกีเปิดเผยว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในที่เขาอาศัยอยู่สนับสนุนการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ เนื่องจากพวกเขาคิดว่ามันจะทำให้ฝ่ายกบฏได้เปรียบฝ่ายรัฐบาล แต่ในความคิดของเขาเองเขาคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น "ประชาชนชาวซีเรียจะทนทุกข์ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ฝ่ายรัฐบาลหรือกลุ่มหัวรุนแรง" โอมาร์กล่าว

บาเซล อัลมาซรี เป็นคนหนึ่งที่เคยสนับสนุนการปฏิวัติกล่าวว่า ตอนนี้ทุกอย่างดูไม่ชัดเจน ในตอนนี้เหมือนเป็นสงครามระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงกับกลุ่มเผด็จการ อัลมาซรีกล่าวอย่างลังเลว่า การแทรกแซงจากต่างชาติอาจจะเป็นคำตอบที่เหลือเพียงอย่างเดียว


ฝ่ายกบฏมองว่า การโจมตีของสหรัฐฯ ไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

มูฮัมหมัด รัสลัน นักรบกลุ่มกบฏปลดปล่อยชาติซีเรีย (FSA) กล่าวว่า การโจมตีด้วยจรวดมิสไซล์อาจจะยังไม่มากพอและมาช้าเกินไป แต่กลุ่มเพื่อนนักรบกบฏและตัวเขาเองสนับสนุนการโจมตีครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม รัสลันบอกว่าจริงๆ แล้วพวกเขาต้องการให้มีคนช่วยเสริมกำลังอาวุธให้มากกว่า

ขณะที่ร้อยเอก ฟาดี เจ้าหน้าที่ของ FSA ที่ร่วมกับกลุ่มกองกำลังแนวหน้าปฏิบัติการ (Jabhat al-Umma al-Islamiya) ซึ่งอยู่ในเมืองและโดยรอบเมืองอเล็ปโป กล่าวว่าเขารู้สึกสองจิตสองใจ เพราะคิดว่าในแง่หนึ่งการโจมตีครั้งนี้ก็อาจจะไม่รุนแรงพอที่จะจัดการกับรัฐบาลซีเรีย

โดยที่โอมาร์ อัล-ฮอมซี นักรบ FSA ที่อยู่ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษในเมืองติดกับชายแดนเลบานอนกล่าวในทางเดียวกันว่า พวกเขาไม่คิดว่าการโจมตีของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้


เผยมีผู้ถ่ายทำการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเหลือรอดเพียงคนเดียว

สถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 31 ส.ค. คณะผู้ตรวจสอบการใช้อาวุธของสหประชาชาติได้ออกจากพื้นที่เกิดเหตุ รวมถึงมีการนำหลักฐานและปากคำของพยานกลับไปด้วย

ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา กล่าวว่าจะมีการพิจารณาโจมตีซีเรียขณะที่นักวิจารณ์หลายคนเรียกร้องให้เขารอผลการสืบสวนของยูเอ็นเสียก่อน แต่โอบามารวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคอร์รี่ ก็ยืนยันว่าพวกเขาเชื่อมั่นในเรื่องที่ทางการซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธ โดยเคอร์รี่บอกว่ามีหลักฐานที่บ่งบอกว่ามีกลุ่มคนของรัฐบาลซีเรียอยู่ในพื้นที่เพื่อเตรียมการ 3 วันก่อนเกิดเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมี

เคอร์รี่กล่าวอีกว่า มีกลุ่มที่สนับสนุนการโจมตีของพวกเขาอย่างสันนิบาตอาหรับ, ตุรกี, ออสเตรเลีย และฝรั่งเศสผู้เป็น "พันธมิตรเก่าแก่ของเรา"

ขณะที่ทางการซีเรียออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า เคอร์รี่ พยายามสร้างความชอบธรรมในการโจมตี และบอกว่าข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อาวุธเคมีนั้นไม่มีมูลความจริง

ทางด้าน ราซาน ไซตูเนห์ จากศูนย์บันทึกการละเมิดสิทธิในซีเรีย (VDC) เปิดเผยในการสัมภาษณ์ต่อวารสาร Foreign Policy ว่า ทีมงานของ VDC และทีมสื่อของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เข้าไปบันทึกภาพของการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซามัลกาเสียชีวิตทั้งหมด จากการสูดดมแก๊สพิษ โดยมีเธอเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต

 

 


เรียบเรียงจาก

Here's what Syrians have to say about intervention, Globalpost, 30-08-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/syria/130830/heres-what-syrians-have-say

'A crime against humanity': US makes the case for military action against Syria, The Independent, 30-08-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/a-crime-against-humanity-us-makes-the-case-for-military-action-against-syria-8792337.html

U.N. inspectors leave Syria as Obama weighs military action, CNN, 31-08-2013
http://edition.cnn.com/2013/08/31/world/meast/syria-civil-war/index.html?hpt=hp_t1

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศยื่น รมว.มหาดไทย ขอผู้ว่าฯ ตรังทำหน้าที่ต่อ ชมตั้งใจแก้ปัญหาจริง

Posted: 31 Aug 2013 09:50 AM PDT

2 เครือข่ายชาวบ้านตรัง ให้กำลังใจ 'ธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล' หลังถูกสั่งย้ายเข้ากรุ ประกาศจะยื่นหนังสือ รมว.มหาดไทย ขอคืนตำแหน่งให้ผู้ว่าฯ อยู่ต่อไป พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกฯ-รมต.เกษตรฯ ให้แก้ปัญหายางพาราโดยสันติ
 
เวลาประมาณ 11.30 น.วันที่ 30 ส.ค.56 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ชาวบ้านจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดและเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม รวมกว่า 100 คน นำผลไม้ และดอกไม้เข้าให้กำลังใจนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังซึ่งจะถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งถือป้ายผ้า โดยมีข้อความว่า "ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ พบง่าย เข้าใจคนตรัง ตั้งใจแก้ปัญหา" และ "ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ พัฒนาตรังเป็นเมืองแห่งความสุข ที่ 3 ของประเทศ ที่ 1 ของภาคใต้"
 
จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดและเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปี ที่นายธีระยุทธทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้พิสูจน์ให้เครือข่ายชาวบ้านเห็นว่าเป็นคนมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะเป็นพ่อเมืองที่พบง่าย ตั้งใจแก้ปัญหา เป็นนักปกครองที่ทำงานโดยยึดหลักการมีส่วนร่วม บูรณาการนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับจังหวัดตรัง
 
 
"ท่านธีระยุทธวางเป้าหมายพัฒนาจังหวัดตรังไปสู่เมืองแห่งความสุข ไม่ใช่แค่ความเจริญทางวัตถุ และท่านก็สามารถทำได้อย่างน่าพอใจ ตัวชี้วัดหนึ่งของความสำเร็จคือ จังหวัดตรังได้รับการจัดอันดับจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้เป็นจังหวัดแห่งความสุขอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 1 ของภาคใต้ " จดหมายเปิดผนึกระบุ
 
นางณัฐธยาน์ แท่นมาก ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากที่ได้รู้จักนายธีระยุทธ เชื่อว่าได้ทำหน้าที่พ่อเมืองตรังด้วยความรัก แม้ไม่ได้เป็นคนตรัง แต่ก็เข้าใจ และเข้าถึงคนตรัง ไม่สมควรที่จะเอานายธีระยุทธไปเก็บในไว้กรุ จึงขอโอกาสให้นายธีระยุทธได้แสดงฝีมือในช่วงอายุราชการที่เหลือ โดยหลังจากนี้จะยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อไป
 
"ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธผู้ว่าฯ ท่านใหม่ เพราะเชื่อว่ามีพ่อเมืองอีกหลายท่านที่มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่ขอเวลาอีก 1 ปี ให้ท่านธีระยุทธได้สานต่องานที่ตั้งใจไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ หวังว่าพี่น้องชาวตรัง ส่วนราชการต่างๆ รวมถึงรัฐบาล และพี่น้องชาวไทย จะเข้าใจ และตอบสนองเจตนารมณ์ของเรา" นางณัฐธยาน์ กล่าว
 
 
หลังจากนั้น เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อกรณีการแก้ปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช ผ่านนายพัลลภ เงินทอง เกษตรจังหวัดตรัง พร้อมทั้งได้ถือป้ายผ้า ระบุข้อความว่า "ของแพง ยางถูก ลูกอด รถถูกยึด" และ "เรื่องยางเป็นเรื่องปากท้อง รัฐบาลต้องจริงใจแก้ปัญหา อย่าบิดเบือน"
 
นางสุวรรณี สุขเกษม ตัวแทนเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม กล่าวว่า รู้สึกกังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เหตุที่ราคายางปั่นป่วนและตกต่ำนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาภาคใต้ แต่เป็นปัญหาของชาติ เพราะประเทศไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ พ.ศ.2534 ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่ทำรายได้มากที่สุดของไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศไทย มันจึงเป็นปัญหาของชาติ เป็นปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ
 
นางสุวรรณี กล่าวต่อมาถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ 2.รัฐบาลต้องยึดหลักสันติวิธีโดยยึดการเจรจา มีท่วงทำนองรับฟัง เข้าหาทุกกลุ่ม และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยหาข้อสรุปที่ชาวเกษตรกรรับได้ อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

3.หามาตรการในการดูแล และมีนโยบายเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนส่งพืชผลเกษตรอื่นๆ เช่น ลองกอง มังคุด เงาะ สะตอ รวมทั้งข้าว เพื่อการปริโภคแก่คนในชาติด้วย และ 4.หามาตรการระยะกลาง และระยะยาวในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำสู่ความสงบสุขแก่บ้านเมืองอย่างจริงจังต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากยื่นหนังสือ เครือข่ายฯ ได้มีการพูดคุยที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง จนถึงเวลาประมาณ 14.00 น. หลังจากนั้นได้นำใบปลิว เรื่องขอให้ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ เป็นผู้ว่าตรังต่อไป และกรณีการแก้ปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยาง จำนวน 1,500 ชุด ไปแจกในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดตรัง ได้แก่ อ.เมือง อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา และ อ.กันตัง
 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐโลก ศาสนา และสิทธิมนุษยชน

Posted: 31 Aug 2013 08:57 AM PDT

หลายกระแส หลายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นไปและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก จากกระแสความเป็นไปหรือทิศทาง ของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า new world order (NWD) ซึ่งมีความหมายอย่างน้อยก็ 2  ความหมาย  ความหมายแรก คือ หมายถึงกระแสความเป็นไปของโลกโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายนำหรือ เป็นฝ่ายกำหนด กับความหมายที่สอง ซึ่งก็อยู่ในบริบทเดียวกัน คือ world government หรือรัฐบาลโลก ที่รัฐบาลอเมริกันทำหน้าที่เป็นรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบ(order)โลก ตามแนวทาง ความเชื่อ และปรัชญาอเมริกัน

ว่ากันตามจริงแล้วมีสิ่งที่ควรทราบอย่างน้อย 2 ประการเกี่ยวกับ new world order ที่หมายถึง สหรัฐอเมริกา ประการแรกคือ new world order  มีหลายด้าน เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น  ที่สำคัญคือ new world order อิงอยู่กับอำนาจทางการทหารเป็นสำคัญ, ประการที่สอง คือ order ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายในเชิงการเข้าไปปฏิบัติการควบคุมหรือบังคับโดยตรง เสมอไป แต่เป็นการกำกับทางอ้อม โดยใช้อุดมการณ์ เป็นเครื่องมือ เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม ทุนนิยมเสรี สิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย  ซึ่งว่าไปแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ก็ดูสมเหตุสมผล ในเชิงมนุษย์นิยม หรือการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะสิทธิ เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เนื้อหาสาระของอุดมการณ์ เหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกัน พลโลกผู้สนใจระเบียบเหล่านี้ ไม่พึงเพิก เฉยใส่ใจต่อรัฐธรรมนูญอเมริกัน เพื่อความเข้าใจอุดมการณ์ร่วมกันอย่างตรงกัน

ในระเบียบอเมริกันชุุดนี้ ปัจเจกชน ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างมาก ในนามของการมีสิทธิ เสรีภาพ ที่ไม่รุกล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ที่สำคัญผลพวงของระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงพื้นฐาน ของความเป็นปัจเจกภายนอกเท่านั้น หากแต่ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนลึกถึงกระบวนการด้านจิตวิญญาณ ที่เป็นกระบวนการภายในของมนุษย์ ภายใต้ "ความเชื่อความศรัทธา"

เช่น ผลพวงจากการประกาศตนเองเป็นรัฐมนุษยวิสัย (secular state)  โดยไม่ยอมให้ความเชื่อและ ความศรัทธาด้านศาสนาขึ้นมาสัมพันธ์กับอุดมการณ์ของรัฐในเชิงของคำประกาศอุดมการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก จนต่อมารัฐมนุษย์วิสัยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตอเมริกัน ที่เน้นศูนย์กลางไปที่ความเป็นมนุษย์ หรือ "สิทธิมนุษยชน"  นั่นเอง จากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหน้า ไหนก็ตามในโลก มีพื้นฐานความต้องการเหมือนกัน เช่น ความรักตัวกลัวตาย ความต้องการเสรีภาพ เป็นต้น  แหละนั่นหมายถึงความเป็นสากลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม การที่จะไปกำหนดว่าชาตินั้นเผ่าพันธุ์นี้มีหลักสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกันระเบียบ อเมริกันถือว่าไม่มี แต่หากจะมีก็ไม่ใช่เป็นวิธีการคิดหรือการเชื่อที่ถูกต้อง เพราะมนุษย์มีความปรารถนา พื้นฐานเหมือนกัน การปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติด้านศาสนาหากขัดแย้งต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แล้วถือว่าขัดต่อระเบียบด้านสิทธิมนุษยชน

แม้จะมีผู้มองว่าการจัดระเบียบของรัฐบาลอเมริกันส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอเมริกัน เองในหลายด้าน เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า กระบวนการจัดระเบียบของสหรัฐอเมริกานี้มีผลให้โลกเกิดกระบวนทัศน์ใหม่หลายประการ กระบวน ทัศน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในหลายกระบวนทัศน์นั้น และที่น่าแปลกก็คือ อุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกันไปตรงกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่มีเป้าประสงค์ คือ "การปลดปล่อย" เพียงแต่ต่าง ฝ่ายต่างให้นิยามของการปลดปล่อยแตกต่างกันไป อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เน้นการปลดปล่อยคนจากทุน นายทุน หรือเจ้าของกิจการ ส่วนอุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกัน เน้นการปลดปล่อยเชิงความเป็นอิสระของ ปัจเจก ซึ่งหมายถึงว่า การที่เราสามารถอยู่กับทุนได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจอย่างอิสระของเราเอง (แน่นอนว่าเราถูกทุนบังคับไม่มากก็น้อยให้เดินตาม) รวมถึงการที่เราจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็ตามที่ไม่ ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จนเกิดกระบวนทัศน์ ที่สำคัญอย่างหนึ่งและสหรัฐอเมริกาได้นำมาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบโลก คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อเมริกันเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากที่สุด 

หากกล่าวให้เลยไปจากผลประโยชน์นิยมเชิงวัตถุของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว อุดมการณ์มนุษย์นิยม ของประเทศนี้ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการจัดระเบียบ, new world order เป็นระเบียบสากลที่กำหนด จากพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ (สิทธิมนุษยชน) ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ที่แม้แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับสิทธิที่เป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ และความปรารถนา ดังกล่าวยังรวมถึงความปรารถนาสากลในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาต่อลัทธิศาสนาของปัจเจก  เพราะแน่นอนว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเชื่อปรากฎอยู่ภายในของเขาไม่ความเชื่อใดก็ความเชื่อหนึ่ง แม้ในบรรดาของคนที่อ้างตนว่า ไร้ศาสนาแต่ความไร้ศาสนาก็จัดเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง

นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี  1947 ถึง 1991 รัฐอเมริกันคอยจัดระเบียบอยู่ ตลอดเวลา จนกระทั่งอุดมการณ์ คอมมิวนิสต์ต้องยอมถอยร่นไปให้แก่การจัดระเบียบที่ว่า หมดยุค สงครามเย็น เป้าหมายของการจัดระเบียบกลับไปอยู่ที่ "รัฐศาสนา" (religious states) หรือถึงแม้จะไม่ ประกาศตนเป็นรัฐศาสนาก็ตาม แต่ประเทศที่มีลักษณะของความเป็นรัฐศาสนาซ่อนอยู่ภายในนั้น รัฐอเมริกันมองว่าไม่เข้ากับระเบียบของตน

นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สาเหตุของการจัดระเบียบขึ้นกับสภาพการณ์ของ รัฐหรือประเทศนั้นๆด้วย เหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลของประเทศนั้นขัดแย้งกับแรงปรารถนาพื้นฐานของ มนุษย์ ซึ่งนั่นก็คือ สิทธิมนุษยชนนั่นเอง โดยเหตุผลดังกล่าว การบุกอิรัค ยึดอาฟฆานิสถาน การถล่มลิเบีย และล่าสุด คือ การเตรียมการ(รอตัดสินใจ)กำหนดเป้าหมายโจมตีซีเรียจึงเกิดขึ้น

ถัดมาจากช่วงสงครามเย็น โลกมุสลิม ถูกรัฐอเมริกันมองในเชิงของการขยายการใช้ระเบียบ และกลายเป็นหน้าด่านของการปะทะเพื่อการขยายระเบียบในปัจจุบัน    

ขณะเดียวกันผลการจัดระเบียบยังสัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ อุดมการณ์ความเป็น ปัจเจกในเรื่องความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนา, ความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนาที่ดำเนินการ โดยรัฐย่อมได้รับผลกระทบจากการจัดหรือขยายระเบียบของสหรัฐอเมริกาด้วย ดังมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน รัฐพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา และสหภาพพม่า ซึ่งระเบียบที่ใช้ก็คือ ระเบียบว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเชิง ความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ (เพราะมนุษย์มีสิทธิ์เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ตนเห็นดีเห็นงาม โดยคน อื่นไม่เดือดร้อนจากความเชื่อและความศรัทธานั้น)และระเบียบว่าด้วยประชาธิปไตย

แนวโน้มของจัดระเบียบส่วนหนึ่งที่รัฐอเมริกันกำลังขยายผล คือ การจัดระเบียบด้าน ความเชื่อ ความศรัทธา ลัทธิศาสนา รวมอยู่ในนั้นด้วยในเชิงการจำกัดอำนาจรัฐหรือแยกอำนาจรัฐออกจาก การจัดการหรือการควบคุมความเชื่อ ความศรัทธาในลัทธิศาสนา  ต้องการให้เกิดการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์นิยมให้เพิ่มพูนมากขึ้น นั่นคือ ความเป็นมนุษยชนสากล หาไม่เช่นนั้นแล้วรัฐที่ยังดำเนินการควบคุมความเชื่อของประชาชนดังกล่าว ย่อมขัดกับ new world order 

ระเบียบ new world order เป็นระเบียบเสรี ไม่ได้บอกให้คน ไม่สามารถมีความเชื่อ ความศรัทธา ในลัทธิศาสนาใดๆได้ แต่ระเบียบดังกล่าวอ้างเหตุผลว่า การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาที่นิยามและยึดกุมโดยรัฐ กระทำการอย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นการละเมิดต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ สามารถนำไปสู่ ความรุนแรง และอาชญะต่างๆได้ หากรัฐไม่ปลดปล่อยพันธนาการความเชื่อ ความศรัทธา เหล่านี้ ให้เป็นเรื่องของปัจเจก

ผมไม่ได้บอกว่าระเบียบนี้ผิดหรือถูกนะครับ แต่เห็นทีเราจะต้องหันมาใส่ใจพิจารณาใคร่ครวญถึงระเบียบนี้กันบ้างแล้ว.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสนากับรัฐ : การตีความอุดมการณ์ศาสนา (พุทธ) เพื่อรับใช้อุดมการณ์รัฐของชนชั้นปกครองไทย

Posted: 31 Aug 2013 08:45 AM PDT

ขอออกตัวก่อนว่าบทความนี้เป็นเพียงความรู้ ความรู้สึกและความเข้าใจส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานชี้วัด ความผิดถูกได้แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการใช้สิทธิ์ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยของตนเองในสังคมที่เชื่อกันว่ามีเสรีภาพในการแสดงออกผ่านตัวอักษร
 
อุดมการณ์สูงสุดของศาสนาคือได้การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิตตามคติของแต่ละศาสนา เช่น เป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือบรรลุนิพพาน ตัดวงจรวัฏฏะสงสาร โดยระดับขั้นของการบรรลุขึ้นอยู่กับการละสังโยชน์แต่ละข้อในระดับต่างๆ ศาสนาคริสต์ คือการได้ไปอยู่กับพระเจ้าภายหลังจากละโลกนี้ไปแล้ว ฯลฯ
 
การจะบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนานั้นจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ต้องปฏิบัติตามหลักการของแต่ละศาสนา ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามนั้นบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของละศาสนาที่ตนศรัทธาได้
 
กระบวนการในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนา  มีความแตกต่างกัน ข้อแตกต่างระหว่างศาสนานั้นอาจมีหลายประการ แต่ที่ผู้เขียนนึกได้ในตอนนี้ก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างเป้าหมายสูงสุด และกระบวนการที่ใช้ในการเข้าถึง 
ประเด็นที่ผู้เขียนนำมาขบคิดก็คือ กระบวนการหรือวิธีการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนานั้น ต่างมีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ ที่แตกต่างกัน ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติที่แตกต่างกันของแต่ละศาสนานั้นจะไม่ของกล่าวถึงเพราะเป็นหลักและวิธีการจำเพาะของแต่ละศาสนาที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา
 
แต่ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจก็คือ ข้อห้าม ข้อพึงปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาบางข้อบางประเด็นที่ตีความโดยชนชั้นปกครองและถ่ายเทความเชื่อเหล่านั้นให้กับผู้ถูกปกครอง(ประชาชน ชาวบ้าน) ขัดกับหลักการของรัฐสมัยใหม่ ที่ ให้ความสำคัญต่อ ศักยภาพและความสามารถของมนุษย์ อีกทั้งเรื่อง สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของคนในสังคม หรือไม่ ?
 
อุดมการณ์สูงสุดของรัฐในทัศนะของผู้เขียน คือสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism)  ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ดีกินดีของประชาชนภายในรัฐ ภายใต้ระบอบการปกครองที่ดี เป็นธรรม และคำนึงถึง เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในรัฐ   ส่วนรูปแบบการปกครองนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นมติของคนในรัฐเสมอไปว่า จะเลือกรูปแบบการปกครองใด เพราะมติหรือความเห็นของคนในรัฐที่ผ่านการปลูกฝังจากชนชั้นปกครองให้ยอมจำนน โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือนั้น เป็นมติที่ใช้ไม่ได้  ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเสรีไทยกลุ่มหนึ่งที่อภิวัฒน์รูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นว่ารูปการปกครองที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไม่เป็นธรรมและขัดกับหลักสากล โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่ผ่านการปลูกฝังจากชนชั้นปกครองให้ยอมจำนน ดังที่กล่าวมาแล้ว อาจจะไม่เห็นด้วยในขณะนั้น
 
ซึ่งการจะบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐดังที่กล่าวแล้วมานั้น ก็มีวิธีการหรือกระบวนการของตนเอง ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ  อีกทั้งความเชื่อทางศาสนาที่ถูกตีความโดยชนชั้นนั้น  ขัดกับกระบวนการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐ  เพราะการตีความความเชื่อทางศาสนา (พุทธ) เป็นไปในลักษณะให้ประชาชนจำนนต่ออำนาจ และทำให้ประชาชนรู้สึกขาดอำนาจและความสามารถในการเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์  หากแต่ขึ้นอยู่กับชะตากรรมของบ้านเมือง  ดังปรากฏ หนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยแต่โบราณเป็นอย่าสูงหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่ามนุษย์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่างๆ นานนับชาติไม่ถ้วนจนกว่ามนุษย์จะนิพพาน เวลาอยู่บนโลกนี้จึงไม่แน่นอน มีลักษณะอนิจจังตั้งอยู่ไม่ได้นาน เป็นเวลาแห่งความทุกข์หรือมีความไม่เที่ยงแท้ ชีวิตมนุษย์จึงมีแต่ความทุกข์ ที่สำคัญระยะ เวลาไม่เกินร้อยปีทีมนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่ มนุษย์ไม่สามารถกำหนดสภาพและวิถีชีวิตของตนได้ เนื่องจากชีวิตในชาตินี้ถูกกำหนดไว้ในอดีตด้วยกรรมในชาติก่อน ๆและสังคมมนุษย์โดยรวมจะค่อยๆเสื่อมลงจนถึงกลียุคที่มนุษย์จะต้องล้มตายลงอย่าง   ทุกขทรมาน มนุษย์ที่ทำกรรมดีจะได้ไปเกิดในช่วงเวลาที่ดีและมีอายุยืนนาน ถ้าทำกรรมชั่วก็จะได้ไปเกิดในช่วงเวลาที่เลวร้าย เช่น กลียุค เป็นต้น 
 
ต้องทำความเข้าใจกับผู้อ่านนิดนึงว่า คำว่า อุดมการณ์ศาสนากับอุดมการณ์รัฐ ที่ว่านี้ หมายเอาเฉพาะศาสนาพุทธต่อประเทศไทยเท่านั้น
 
และนิยามคำว่า ขัด ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การขัดในแง่ของการตีความหลักการทางศาสนาของรัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองของชนชั้นปกครอง
 
อุดมการณ์ของศาสนาพุทธในประเทศไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนองต่ออุดมการณ์รัฐ  ซึ่งเป็นการตีความคำสอนทางศาสนาที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหาเรื่อยรังต่อการปลูกต้นกล้าแห่งความเข้าใจต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย 
 
การใช้ศาสนาเพื่อใช้เป็นเครื่องรองรับความชอบธรรมต่อชนชั้นปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะอุดมการณ์ทางศาสนาไม่ได้มีเป้าหมายทางการปกครองแต่มีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงสาระที่แท้จริงของการมีชีวิต และศาสนาเองโดยเฉพาะศาสนาพุทธก็เกิดขึ้นก่อนที่ความคิดเรื่องรัฐชาติจะเกิด สำหรับเรื่องอุดมการณ์รัฐนั้นไม่ต้องพูดถึง  
 
รัฐหรือการเมืองควรเดินตามอุดมการณ์และแนวทางของตนเองโดยใช้หลักทางศาสนามาประกอบในส่วนของการสร้างคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานให้กับประชาชนเพื่อความสงบสุขของคนในรัฐ ส่วน คุณธรรมขั้นสูงนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและความสมัครใจของปัจเจกคนในรัฐเอง สำหรับ คุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานนั้นประชาชนในรัฐจะต้องมีโดยมีสภาพบังคับในรูปของกฎหมาย  เพราะหากประชาชนใน รัฐขาดเสียซึ่งคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานเสียแล้วรัฐก็ถึงกาลวิบัติ  ศาสนาจึงควรอยู่ในสถานะที่เป็นเสาหลักทางความมั่นคง ที่พึ่งทางจิตใจ ทั้งยังเป็นเป้าหลอมพฤติกรรมและเป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรมสร้างความเป็นอัตตลักษณ์ให้กับคนในรัฐ  เมื่อใดก็ที่ประชาชนในรัฐเห็นว่าสถานะดังกล่าวของศาสนาไม่มีความจำเป็นต่อตนแล้ว ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็นต่อรัฐอีกต่อไป ในทัศนะของผู้เขียนเองมองว่า หากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐมองว่าสถานะของศาสนาไม่จำเป็นต่อรัฐ  เมื่อนั้นรัฐเองก็ประสบความล้มเหลวต่อการดำรงอยู่ของรัฐ 
 
และสถานะที่รัฐควรปฏิบัติต่อศาสนาก็คือ  ส่งเสริมสนับสนุน อุปถัมภ์ดูแล ให้สถาบันทางศาสนาทำหน้าที่ของตนเองเพื่อเอื้อต่อการนำพาสังคมให้เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของอุดมการณ์รัฐต่อไปและรัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิประชาชนในการเลือกนับถือศาสนาเป็นอันขาด เพราะการละเมิดสิทธิประชาชนในการเลือกนับถือศาสนานั้นขัดกับอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐในระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
 
จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐจะเข้ามาก้าวก่ายศาสนาในแง่ของการตีความและการบริหารจัดการหรือกำหนดรูปแบบโครงสร้างการบริหารให้กับคณะสงฆ์ไทย ( ในประเทศไทยโครงสร้างทางการบริหารของคณะสงฆ์เองก็ขัดกับอุดมการณ์พื้นฐานของศาสนาพุทธ )
 
ที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะการใช้ตรรกะทางโลกีย์บางเรื่องก็ขัดกับตรรกะทางโลกุตระอย่างรุนแรง และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาศาสนาพุทธเป็นอันต้องอันตรธานจากประเทศที่เคยมีพระพุทธศาสนาไป เพราะการใช้อำนาจรัฐควบคุมศาสนาในทุกๆด้าน หากรัฐและประชาชนเห็นว่าศาสนา (พุทธ) ยังมีบทบาทสำคัญที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์รัฐอยู่ ก็สมควรทบทวนและแก้ไขบทบาทของรัฐไทยที่มีต่อศาสนาได้กระมัง
 
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด (ขอย้ำอีกหนว่า)   รัฐต้องทบทวนบทบาทของตนเองที่มีต่อศาสนาว่า ได้ก้าวล่วงศาสนาจากฐานคิดที่หลงผิดคิดว่าตนเอง(รัฐ)มีอำนาจและใช้อำนาจโดยขาดสำนึกและความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างอุดมการณ์ของศาสนาและอุดมการณ์ของรัฐเอง เพราะถ้าสถาบันหลักของสังคมยังไม่เข้าใจขอบเขตและบทบาทอำนาจของตนเองแล้ว จะนำพาสังคมไทย (โดยชื่อ)ไปสู่อุดมการณ์สูงสุดของทั้งศาสนาและรัฐได้อย่างไร ?
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดผลวิจัย คนไม่เชื่อเฮทสปีชในเน็ต สร้างความรุนแรงทางกายภาพ

Posted: 31 Aug 2013 06:05 AM PDT

เปิดงานศึกษาการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานการเมือง-ศาสนา-เชื้อชาติ พบผู้ตกเป็นเป้าความเกลียดชัง ไม่เชื่อเฮทสปีชมีพลังพอจนเกิดความรุนแรงทางกายภาพ นักวิชาการสื่อเชื่อสื่อออนไลน์แค่พื้นที่ระบายความรู้สึก ไม่ต่างผนังห้องน้ำ นักกิจกรรมเตือนการอ้างรวันดา อาจตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ถึงอิทธิพลสื่อ ส่งผลสื่อถูกคุมหนัก

(30 ส.ค.56) ในงานรายงานผลการศึกษาในโครงการ "ค่านิยมดิจิทัลของเยาวชนกับความเกลียดชังในยูทูบ: ประสบการณ์จากสังคมไทย" ที่ห้อง 1001 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัทนา นันตา นิสิตปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอรายงานเบื้องต้นของงานวิจัยเรื่อง สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง โดยชี้ว่าที่ผ่านการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hatespeech ที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ เช่น เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่มีการปลุกระดมว่าอีกฝ่ายไม่ใช่คน เป็นแมลงสาบ กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา ในไทย ที่พระรูปหนึ่งบอกว่าฆ่าคนได้ไม่บาป หรือกรณีคลิปภาพยนตร์ Innocence of Muslims ที่นำไปสู่การประท้วงและเสียชีวิตของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในลิเบีย

โดยงานนี้จะวิเคราะห์เนื้อหาการสื่อสารความเกลียดชังที่นำเสนอในพื้นที่เว็บไซต์ยูทูบ จำนวน 75 คลิปวิดีโอ โดยเป็นคลิปที่ถูกอัปโหลดระหว่างวันที่ 1 ม.ค.53-31 ธ.ค.55 และสัมภาษณ์ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเป้าหมายการสื่อสารความเกลียดชัง 15 คนและผู้เชี่ยวชาญ 10 คน

ผลการวิเคราะห์เนื้อหาเบื้องต้นพบว่า ในปี 54 มีคลิปที่เข้าข่ายหรือมีแนวโน้มจะเป็นการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของการเมืองมากที่สุด เพราะในช่วงการเมืองรุนแรง มีการทำคลิปตอบโต้กันไปมา ส่วนคลิปที่อยู่บนฐานความเกลียดชังศาสนา-ลัทธิความเชื่อ มีมากในปี 55 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไฟใต้ที่รุนแรงมากขึ้น และมีคลิปที่สร้างความเกลียดชังบนฐานด้านเชื้อชาติมากในปี 54 จากกรณีนักศึกษา มธ. ทำคลิปส่งในวิชาเรียน แล้วมีเนื้อหากระทบคนลาว โดยมีการให้สัมภาษณ์ดูหมิ่น ทำให้เกิดคลิปตอบโต้กัน จนอธิการบดี มธ. ต้องขอโทษสถานทูต

โดยวิธีการสื่อสารความเกลียดชังในคลิปวิดีโอที่พบมากที่สุด คือ การนำเสนอเรื่องราวว่ากล่มเป้าหมายคุกคามอย่างไร ดูถูกเหยียดหยามหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ ประณามหรือประจาน และทำให้กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตลก ตามลำดับ

มัทนา ระบุว่า เมื่อสัมภาษณ์ผู้เข้าข่ายเป็นกลุ่มเป้าหมาย ถึงวิธีการรับมือ ตอบโต้หรือจัดการกับการสื่อสารความเกลียดชัง ในเชิงเทคโนโลยี ได้คำตอบว่า จะใช้วิธีแชร์คลิปที่ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่าเป็นการสื่อสารความเกลียดชังเข้ากลุ่มของตัวเองในเฟซบุ๊ก เข้าไปแสดงความเห็นตอบโต้ กดรายงาน (รีพอร์ต) ความไม่เหมาะสมของวิดีโอ ไปจนถึงร้องขอให้รัฐบล็อคเนื้อหาดังกล่าว ขณะที่ในเชิงสังคม จะให้ข้อมูลและรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มของตนเอง ปล่อยให้กลไกทางสังคมทำงาน ไปจนถึงใช้กฎหมายทางกลไก เช่น ฟ้องหมิ่นประมาท
 

ไม่เชื่อความเกลียดชังในเน็ต ส่งผลรุนแรงทางกายภาพ
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้ให้สัมภาษณ์ แม้จะไม่ชอบ อึดอัด โกรธการสื่อสารดังกล่าว แต่ก็มองว่าไม่มีพลังพอจะให้ผู้รับชมเนื้อหาดังกล่าวลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตี เนื่องจากความน่าเชื่อถือของสื่ออินเทอร์เน็ต ที่มีลักษณะทีเล่นทีจริง และบริบทของสังคมไทย ที่หลายประเด็นไม่ถูกใส่ใจมากพอจะลุกขึ้นมากระทำการใดๆ เช่น กรณีภาคใต้ ที่คนมักเพิกเฉย อย่างไรก็ตาม การเพิกเฉยเท่ากับสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเช่นกัน หรืออาจมีผลกระทบด้านอื่น เช่น ถูกแบ่งแยก โดยหนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นมุสลิม มักถูกคนถามว่า พกระเบิดมาไหม ก่อการร้ายไหม หรืออาจไม่ได้รับความร่วมมือจากคนอื่นๆ

มัทนา ระบุว่า ผลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การสื่อสารความเกลียดชังในสื่อออนไลน์ เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่พิเศษ โดยมีความเป็นนิรนาม ไม่เห็นตัวผู้พูด จึงไม่ต้องเกรงใจ  และการแพร่กระจายทำได้กว้างขวางและรวดเร็ว

บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของการเมืองในสังคมไทย ได้แก่ ความเป็นไทยซึ่งถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อ ความเปลี่ยนแปลงของคนชนบทที่ต้องการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียม และแนวคิดประชาธิปไตย ที่ทุกคนต้องมีเสียงเท่ากัน

ขณะที่บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานเรื่องศาสนา/ลัทธิความเชื่อ ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในอดีตที่ผลิตโดยนักวิชาการตะวันตก ซึ่งสร้างภาพว่ามุสลิมเป็นศัตรูของโลกตะวันตก กระแสความหวาดกลัวศาสนาอิสลามในโลกตะวันตก สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และความเป็นไทยกระแสหลัก

บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของเขื้อชาติ ได้แก่ การผลิตซ้ำของสื่อ โดยแช่แข็งภาพคนเชื้อชาติลาว รวมถึงไทยอีสานให้เป็นตัวตลก และการให้ความหมายกับภาษา วัฒธรรม วิถีชีวิตของชาวลาวและไทยอีสานแบบด้อยคุณค่า

อย่างไรก็ตาม มัทนาชี้ด้วยว่าข้อจำกัดของงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบด้วย การที่บางคลิปถูกปิดกั้นจากกระทรวงไอซีที บ้างถูกปิดช่องการแสดงความเห็น และข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ผ่านเหตุการณ์การเมืองมานานแล้ว ทำให้ความรู้สึกของที่กลุ่มเป้าหมายที่สัมภาษณ์แตกต่างจากตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ


Hatespeech ในเน็ตอาจแค่ที่ระบายช่องทางใหม่
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นต่องานวิจัยว่า งานเกี่ยวกับ hatespeech มักเทไปทางเดียว ว่าไม่ดี แต่เขามองว่า การแสดงความเกลียดชังดังกล่าวอาจเป็นการระบายของคนรุ่นใหม่ในช่องทางที่ต่างจากเมื่อก่อนที่เขียนระบายในห้องน้ำ

เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ Hatespeech จะเป็นเรื่องในใจปกติ แต่ที่่ผ่านมาไม่มีช่องทางนำเสนอ ในสื่อหลักไม่มีพื้นที่ เข้าถึงยาก พอมาทุกวันนี้ทุกคนมีมือถือ อยู่ในช่องทางการสื่อสาร ด้านหนึ่ง การแสดงออกเช่นนี้จึงเป็นการเปิดช่องระบายด้านมืดของคนยุคออนไลน์หรือเปล่า ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิดแต่ตั้งคำถามว่ามันมีผลอะไรตามมา เสนอให้มีการสัมภาษณ์กับคนที่ทำด้วยว่า เขามีความคิดอย่างไร เขาอาจจะแค่อยากด่า ไม่ได้จะทำอะไรจริงๆ ก็ได้  

อย่างไรก็ตาม มานะ แสดงความเห็นว่า การใช้ Hatespeech ผ่านออนไลน์นั้นยังพอรับได้กว่าการใช้ผ่านสื่อหลัก เพราะสื่อหลักเปิดโอกาสให้ตอบโต้น้อยกว่า ขณะที่สื่อออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้โต้ทางอื่นได้ ไม่ว่าท้ายเรื่อง หรือทำคลิปมาสู้


เตือนระวังผลิตซ้ำความกลัวสื่อ ส่งผลสื่อถูกกำกับเข้มข้น
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงการยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ในรวันดาว่า ต้องระวังในการอ้างอิง เพราะการพูดซ้ำอาจยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ไม่รู้ว่าจริงไหม และส่งผลต่อการสร้างความชอบธรรมในการกำกับดูแลสื่อ ให้ผู้ดูแลสื่อกำกับดูแลเข้มข้นขึ้นได้

โดยอาทิตย์ระบุว่า มีการศึกษาที่ชี้ว่า สื่อวิทยุมีอิทธิพลน้อยมากในกรณีรวันดา โดยมีผลเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำการไม่กี่คน ไม่ใช่ผลในทางยั่วยุ แต่เป็นการทำให้ความคิดของคนเหล่านี้ตกผลึกมากขึ้น ว่าทำไมจึงมีความชอบธรรมในการทำสิ่งต่างๆ ทำให้มีข้ออ้าง แปลว่าต่อให้ไม่มีวิทยุ ก็ยังทำอยู่  (ดูเพิ่มเติมที่ http://blogazine.in.th/blogs/uchane-cheangsan/post/3791)

 

ในงานเดียวกัน เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ภาค 1 และผู้กำกับซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ภาค 2 ปาฐกถานำในหัวข้อ เด็กและเยาวชนกับวัฒนธรรมการใช้สื่อออนไลน์ โดยกล่าวว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ชนิดที่แทบจะแยกไม่ออก เราจะกลายเป็นตัวประหลาดถ้าไม่อัพสเตตัสเฟซบุ๊ก เมื่อก่อนบนโต๊ะอาหาร อาจจะคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเพื่อนสบายดี ก็กลายเป็นถามถึงเรื่องราวที่อัพแทน เช่น รูปนี้ไปไหนมา นอกจากนี้ เรายังนัดประชุมกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อสารกันได้หลายคนพร้อมกัน

โซเชียลเน็ตเวิร์ก-สายตาที่ไม่ตัดสิน
ตอนหนึ่ง เกรียงไกร เล่าถึงประเด็นการรับข้อมูลของวัยรุ่นว่า ในการรีเสิร์ชข้อมูลก่อนทำซีรีส์พบว่า วัยรุ่นสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลง พึ่งพิงผู้ใหญ่น้อยลง และรู้เอาจากกูเกิล เช่นในฮอร์โมน ดาวกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ จึงเข้าไปค้นในกูเกิลก่อน เพราะกลัวสายตาของพ่อแม่ กลัวความผิดหวังของพ่อแม่ แต่กูเกิลให้แต่ข้อมูล ไม่มีสายตาที่ตัดสิน ทำให้เด็กสบายใจที่จะเข้าหา และเชื่อว่าคือทุกอย่าง จนเด็กเชื่อโซเชียลมากขึ้น และเชื่อเพื่อน ถึงขั้นที่ไปเถียงหมอว่าเน็ตบอกอีกอย่างหนึ่ง

ชวนตั้งคำถามกับสื่อที่เสพ
เกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ด้านหนึ่ง โซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้วัยรุ่นรู้จักโลกมากขึ้นในแนวกว้าง เพียงแค่คลิกค้นหา แต่ไม่รู้ลึก เช่น เรื่องน้ำมันรั่ว วัยรุ่นอาจจะรู้ แต่ไม่รู้ว่าวิธีจัดการอย่างไร หรือมีการจัดการอย่างไรไปแล้วบ้าง ทุกคนเสพข่าวเหมือนอ่านแต่พาดหัว และเท่าที่เราสนใจเท่านั้น ต่างจากเมื่อก่อน ที่อ่านหนังสือพิมพ์ต้องอ่านพาดหัว และตามไปอ่านเนื้อใน รวมถึงแม้ข่าวที่เราไม่ได้สนใจ เราก็จะบังเอิญเห็นได้อัตโนมัติ เมื่อวิธีเสพสื่อเปลี่ยนไป ทำให้คนทำสื่อก็พยายามจะทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ความนิยมสูงสุด ไม่ว่า ยอดกดไลค์ คน subscribe โดยไม่แคร์ว่าจะได้สาระแค่ไหน ทั้งนี้ เสนอว่า ทั้งคนทำสื่อและคนรับสื่อต้องคิดให้มากขึ้น และตั้งคำถามกับสิ่งที่ดู-เสพให้มากขึ้น

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาวิชาการเกษตรกรรมแถลงปิดงาน ยืนหยัดปกป้องสิทธิ 'เกษตรกร-ชุมชน-ผู้บริโภค'

Posted: 31 Aug 2013 02:04 AM PDT

31 ส.ค. 56 - ในงานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืนวันสุดท้ายได้มีการออกแถลงการณ์ "คำประกาศสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 5 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
พวกเราจากหลายภาคส่วนของสังคม ทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน นิสิต นักศึกษา นักพัฒนาเอกชน ได้มารวมตัวกันในเวทีสมัชชาวิชาการ เกษตรกรรมยั่งยืน ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม พวกเราได้ตระหนักร่วมกันถึงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย สู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม  บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้สร้างผลกระทบต่อแบบแผนการผลิต สภาพแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ณ เวทีแห่งนี้พวกเราได้ทุ่มเทสรรพกำลัง ระดมความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์  บทเรียนตามวิถีทางที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต การจัดการตลาด และการสร้างนวัตกรรมสังคมใหม่ๆ ทั้งเมืองและชนบท  เพื่อหลอมรวมให้เป็นพลังสร้างสรรค์สู่สังคมที่ยั่งยืนและมีอนาคตร่วมกัน  เราขอประกาศว่า 
 
1. เราจะประสานความร่วมมือในการค้นคว้าทดลอง แสวงหาความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ยั่งยืนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยพร้อมไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้นำไปสู่การปฏิบัติและรับใช้วิถีชีวิตของประชาชนในสังคมอย่างจริงจัง
 
2. เราจะผนึกกำลังกันสร้างสรรค์รูปธรรมความสำเร็จทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด ด้วยวิถีทางที่ยั่งยืน  เพื่อสร้างพลัง ผลักดันการเรียนรู้และการเข้าร่วมของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง
 
3. เราจะประสานความร่วมมือเพื่อนำความรู้ประสบการณ์จากเวทีวิชาการครั้งนี้ และความรู้ที่คิดคำนึงถึงความยั่งยืน ความเป็นธรรม ความเสมอภาค จากทุกภาคส่วนของสังคม ในการนำมาเกื้อหนุนการสร้างสังคมที่พึงประสงค์ร่วมกัน
 
4. เราจะร่วมกันปกป้องสิทธิเกษตรกร ชุมชน  และสิทธิผู้บริโภค เพื่อสร้างความสมดุลของสังคมให้เป็นธรรม และผลักดันนโยบายที่ตอบสนองต่อการสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนทั้งเมืองและชนบทร่วมกัน
 
ประกาศ ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม 
 
31 สิงหาคม 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านแม่ตาววอนนายกสั่ง 6 หน่วยงาน หยุดอุทธรณ์คดีแคดเมียม

Posted: 31 Aug 2013 01:03 AM PDT

ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว ชายแดนแม่สอด เหยื่อแคดเมียม วอนนายกสั่งห้าม 6 หน่วยงานอุทธรณ์คดีแคดเมียม ชี้ได้รับความเดือดร้อนทางด้านจิตใจ สุขภาพ และทรัพย์สิน

 
31 ส.ค. 56 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าหลังชาวบ้าน ต.แม่กุ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร กรณีปัญหาแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด ซึ่งศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก ได้มีคำพิพากษาเมื่อ 14 ส.ค.56 ให้ประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น
       
ล่าสุดชาวบ้านตำบลแม่กุ ตำบลพระธาตุผาแดง และตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 893 คน ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียม ได้ให้ตัวแทนทำหนังสือยื่นหนังสือต่อนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด
       
ทั้งนี้ เพื่อให้ทางอำเภอส่งไปหนังสือยังนายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และส่งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ 6 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , คณะกรรมการควบคุมมลพิษ , คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่อุทธรณ์คดี
       
นายไพรัตน์ ยาเถิน ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสารแคดเมียม ตำบลแม่กุ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการอุทธรณ์คดี เพราะอยากให้เห็นแก่ความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ เพราะขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทางด้านจิตใจ สุขภาพ และทรัพย์สิน จึงต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะได้สั่งการในเรื่องนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานธนาคารโลกเผยสัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปของไทยสูงขึ้น

Posted: 30 Aug 2013 11:06 PM PDT

 
31 ส.ค. 56 - เว็บไซต์ธนาคารโลกเปิดเผยว่าจากรายงาน Reducing elderly poverty in Thailand : the role of Thailand's pension and social assistance programs ระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรวัยทำงานกำลังลดลง สัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปสูงขึ้น ทั้งนี้พบประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจคือ
 
- จำนวนประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดและจะลดลงในปี 2573
 
- สัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีก 50 ปีข้างหน้า คือจากร้อยละ 15 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2603
 
- สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี)จะลดลงจากประมาณร้อยละ 54 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2593
 
- สัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้สูงอายุสูงกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนคนจนของประชากรทั้งหมด โดยในปี 2553 ร้อยละ 10.9 ของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นคนยากจน ขณะที่สัดส่วนคนจนของประชากรทั้งหมดมีเพียงร้อยละ 7.7 เท่านั้น
 
รัฐบาลมีโครงการบำนาญหลายโครงการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทำได้อีกมากเพื่อเพิ่มประสิทธิผล
 
- ปัจจุบันนี้มีโครงการบำนาญอยู่ 8 โครงการ ครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆ กัน
 
- สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ที่ไม่ได้ยากจน มีเพียงพระราชบัญญัติผู้สูงอายุเท่านั้นที่ปรากฏว่า ส่งผลกระทบในการป้องกันความยากจนในหมู่สูงอายุได้อย่างดี
 
- หลายโครงการวางกรอบทางกฎหมายไว้ไม่เพียงพอ
 
- ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทุนบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินโดยรวม
 
- การที่ไม่มีนโยบายบำนาญแห่งชาติที่ชัดเจน จึงเกิดความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่ดูแลโครงการบำนาญต่างๆ ซึ่งมีความช่วยเหลือทางสังคมและโครงการชุมชนอื่นๆ ได้สนับสนุนอยู่แล้ว
 
มีทางเลือกด้านนโยบายอยู่หลายทางที่จะรวมและปรับเปลี่ยนระบบบำนาญที่มีอยู่ทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ
 
- รัฐบาลอาจต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
1.ปรับเปลี่ยนและลดจำนวนโครงการบำนาญลง
2.ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบำนาญ
3.กำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนไว้ในนโยบายบำนาญโดยรวม
 
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุภายใต้ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุคุ้มครองราษฎรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากโครงการบำนาญที่อยู่ในระบบอื่นๆ
 
-รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากด้วยการปรับโครงสร้างของโครงการนี้ เพื่อให้เลือกคุ้มครองเฉพาะคนยากจนหรือคนที่มีความจำเป็นที่สุด เพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากคนกลุ่มนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แอมเนสตี้จี้ลาวนำตัว 'สมบัด สมพอน' กลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย

Posted: 30 Aug 2013 10:18 AM PDT

 
 
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 56 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวนำตัวสมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมซึ่งตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย
 
โดยในแถลงการณ์ระบุว่าเนื่องในวันรำลึกเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายสากลในวันที่ 30 สิงหาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้รัฐบาลลาวให้การประกันว่าจะนำตัวนายสมบัด สมพอนกลับมาอย่างปลอดภัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งข่าวไปยังนักสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ๆ ให้ดำเนินการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการค้นหาตัวผู้นำภาคประชาสังคมซึ่งตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย และให้นำตัวกลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย
 
การหายตัวไปของนายสมบัดเป็นประเด็นที่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่อง "จับผิดจากกล้องลาว" ("Caught on Camera") เขาถูกจับตัวไปในช่วงค่ำวันที่ 15 ธันวาคม 2555 โดยในระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในป้อมยามตำรวจที่กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวด้วย หลังจากนั้นมาไม่มีใครทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเขาอีก การหายตัวไปของเขาได้รับการบันทึกไว้จากกล้องวงจรปิด และครอบครัวของเขาสามารถทำสำเนาภาพวีดิโอที่บันทึกมาได้ กรณีที่ทางการลาวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมบัด ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อพิจารณาว่าที่ผ่านมาตำรวจมิได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ และบ่งเป็นนัยว่าอาจมีความพยายามปกปิดข้อมูล ประเทศอื่น ๆ ได้เสนอความช่วยเหลือจากภายนอก รวมทั้งการวิเคราะห์ภาพวีดิโอจากกล้องวงจรปิดที่เป็นต้นฉบับ แต่ได้รับการปฏิเสธ 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยมีข้อเสนอแนะหลายประการเพื่อประกันให้มีการนำตัวนายสมบัดกลับมาอย่างปลอดภัย แต่ในช่วงกว่าสองเดือนที่ผ่านหลังจากมีการเผยแพร่รายงานในกรณีนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นผล
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการลาวค้นหาตัวนายสมบัด และนำเขากลับสู่ครอบครัว และเน้นย้ำถึงข้อเสนอแนะให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงกรณีการหายตัวไปของนายสมบัด คณะกรรมการชุดใหม่ควรแสวงหาความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากภายนอก และให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับครอบครัวของนายสมบัดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน
 
การหายตัวไปของนายสมบัดเป็นประเด็นความสนใจของนานาชาติ เนื่องจากสะท้อนถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายของเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่เกี่ยวข้องในประเทศลาว และทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสำเร็จของประเทศอื่น ๆ ที่พยายามกระตุ้นให้ทางการลาวเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเทศลาวรับเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาหลายร้อยล้านเหรียญในแต่ละปี ในขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) จะมีกระบวนการทบทวนตามวาระ (Universal Period Review) ในปี 2557 เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศลาว และในเวลาเดียวกันรัฐบาลลาวกำลังล็อบบี้เพื่อให้ได้ที่นั่งในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ในวาระปี 2559-2561
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องประเทศอื่น ๆ อีกครั้ง รวมทั้งออสเตรเลีย รัฐภาคีของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ให้ใช้อิทธิพลและเรียกร้องอย่างเป็นทางการเพื่อให้นำตัวนายสมบัดกลับมาอย่างปลอดภัย โดยควรเรียกร้องให้รัฐบาลลาวตอบคำถามที่เหลืออยู่เกี่ยวกับการหายตัวไปของนายสมบัด ให้อธิบายว่าเหตุใดการสืบสวนสอบสวนจึงมีข้อบกพร่อง และให้จัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อสอบสวนกรณีนี้ กรณีที่รัฐบาลลาวไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ และไม่สามารถประกันให้มีการสอบสวนอย่างเพียงพอ ประเทศอื่น ๆ ควรหาแนวทางเพื่อสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัดด้วยตนเอง และสอบสวนถึงบุคคลที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการหายตัวไป และให้นำตัวบุคคลนั้นเข้ารับการไต่สวนในระบบศาลในประเทศของตน
 
นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) ให้สอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัด และประสานงานให้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญการ กรณีที่ทางการลาวดำเนินการสอบสวนใด ๆ การที่หน่วยงานด้านสิทธิระดับภูมิภาคไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อกรณีการหายตัวไปของผู้นำภาคประชาสังคมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นสมาชิกของอาเซียนกรณีนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน และลาวเองเตรียมที่จะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปี 2558
 
จนกว่านายสมบัดจะกลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัย เราจะไม่มีวันลืมกรณีของเขา และจะยังคงเรียกร้องต่อไปให้นำตัวเขากลับคืนมา ในขณะที่ชื่อเสียงของรัฐบาลลาวก็จะได้รับผลกระทบต่อไปและอย่างต่อเนื่อง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

HANG TUAH วีรบุรุษของโลกมลายู

Posted: 30 Aug 2013 09:58 AM PDT

 
วันนี้ทางปาตานี ฟอรั่ม ขออนุญาตนำเสนอเรื่องราวเบาๆ ที่เป็นตำนานคำบอกเล่าสำคัญของชาวมลายูอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องราวของฮังตูวาห์
 
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของเมืองมะละกาเลยทีเดียว มีการกล่าวถึงว่า เมื่อมหาอำนาจต่าง ๆ ที่เข้ามาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องใช้เส้นทางการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา และเมืองมะละกานี้เองยังเป็นคลังรวบรวมสินค้ามากมายที่จัดส่งออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเข้ามาจากชาติตะวันตก เป็นชาติตะวันตกที่เก็บสินค้ายังเมืองนี้ที่ได้จากในภูมิภาค ไปทำการค้าขายต่อยังประเทศของตัวเอง ในช่วงเวลานั้นมีเรือบรรทุกสินค้ามากมายได้เข้ามายังเมืองมะละกา เพื่อต้องการบรรดาเครื่องเทศต่าง ๆ ที่มีในภูมิภาคนี้ เช่น หมู่เกาะมูโลกะ เกาะบอร์เนียว เป็นต้น
 
เมืองมะละกาไม่ใช่ว่ามีผลกำไรที่ได้จากการค้ามากมายแต่อย่างเดียว เมืองมะละกายังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีแสนยานุภาพของกองทัพ พวกเขามีกองทัพที่แข็งแกร่งและเกรียงไกร
 
มะละกาในยุคเริ่มต้น มีปฐมสุลต่านนามว่า มันซูร ซาห์ และมีนักรบสำคัญของอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่อสู้ และยังมีความจงรักภักดี บุรุษที่ได้กล่าวถึง เขาผู้นั้นก็คือฮังตูวาห์ ยอดนักรบของกองทัพมะละกานั่นเอง
 
ฮังตูวาห์เป็นผู้ที่ได้รับการนับถือจากคนทั่วไป เขาได้รับการยกย่องจากชาวมะละกาว่าเป็นผู้ที่สามารถในการรบ เขาเป็นผู้ที่มีพละกำลังมหาศาล
 
กล่าวถึงประวัติของฮังตูวาห์ เขาเป็นบุตรชายของดังมะห์มูดกับดังเมอรดูวาตี ครอบครัวเขาได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่หมู่บ้านดูยุง  (Kampung Duyung) ฮังตูวาห์มีเพื่อน ๆ ที่สนิทกันมาตั้งแต่ช่วงที่เขายังเด็กอยู่ 4 คน สหายทั้ง 4 คนของเขามีนามว่า ฮังเยอบัร, ฮังกัซตูรี, ฮังลีกิร และฮังลิกู
 
วันเวลาผ่านไปจนพวกเขาทั้ง 5 คนได้เติบโตเป็นวัยหนุ่ม พวกเขาได้เดินทางไปฝึกวิชาการต่อสู้ที่ป่าลึกลับ จนสำเร็จวิชาและได้เดินทางกลับมา จุดที่พลิกผันในชีวิตของฮังตูวาห์ เมื่อขุนนางทางหนึ่งได้เชื้อเชิญฮังตูวาห์และเพื่อนๆเข้าไปรับราชการต่อในวัง
 
ฮังตูวาห์ได้รับความไว้วางใจจากสุลตานมากถึงขั้นยกตำแหน่งแม่ทัพทหารเรือ ความสามารถในการรบของฮังตูวาห์ ได้แพร่กระจายใปยังสถานที่ต่างๆ และไกลไปถึงเมืองจีน แผ่นดินใหญ่และจักรพรรดิจีนได้ เชื้อเชิญ ฮังตูวาห์ไปรับราชการที่นั้น แต่ด้วยความซื่อสัตย์ของฮังตูวาห์ เขาต้องการที่จะอยู่รับใช้ สุลตานเมืองมะละกาเท่านั้น ฮังตูวาห์ได้เดินทางไปเมืองมัชปาหิต เมืองนี้เป็นเมืองที่โด่งดังในด้านการรบเหมือนกัน มีนักรบที่รบที่มากด้วยความสามารถเช่นกัน แน่นอนในเมื่อผู้ที่มีความสามารถในการรบมาเจอกัน การประลองฝีมือว่าใครมีความสามารถเหนือกว่า และแล้วการต่อสู้ก็เกิดขึ้นอย่างดุเดือด จนฮังตูวาห์ได้รับชัยชนะ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ ฮังตูวาห์โด่งดังในเมืองมัชปาหิต
 
ไม่เพียงแต่เรื่องกองทัพเพียงอย่างเดียว ในตำนานของฮังตูวาห์  เป็นเรื่องของโศกนาฏกรรมของความรักของฮังตูวาห์กับเมอลูรหญิงชาวป่า   เรื่องราวของความซื่อสัตย์  จงรักภักดีต่อองค์ฮังตูวาห์ที่มีให้กับสุลต่านเมืองมะละกา
 
เหตุการณ์สำคัญในตำนานครั้งหนึ่งเมื่อฮังตูวาห์ได้รับคำบัญชาจากสุลต่านให้เดินทางไปยังเมืองปาหัง  เพื่อไปเชิญบุตรีของเจ้าเมืองปาหังมาเป็นราชินีของสุลต่าน  แต่ในขณะเดียวกันนั้นเมอลูรได้ขออนุญาตเพื่อที่จะเดินทางมาหาฮังตูวาห์เมื่อนางมาถึง  นางกลับไม่เจอฮังตูวาห์  เมอลูรเสียใจอย่างมากได้แต่ร้องเพลงโหยหาฮังตูวาห์  จนเสียงร้องเพลงของนางได้ยินไปถึงหูของขุนนางที่คิดร้ายกับฮังตูวาห์  พวกขุนนางได้จับนางไว้และถามนางว่ามาหาใคร  นางได้ตอบกลับไปว่ามาหาฮังตูวาห์  จึงทำให้เข้าทางของบรรดาขุนนางที่จะกลั่นแกล้งฮังตูวาห์  จึงจับนางไปมองให้กับสุลต่านเพื่อให้เป็นสนมของสุลต่าน
 
ทางด้านฮังตูวาห์เมื่อเดินทางมาถึงปาหัง  ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าเมือง  ในระหว่างนั้นก็มีการพูดคุยกันระหว่างไซนานกับต่วนดีเย๊าะ  ผู้หญิงที่ฮังตูวาห์จะนำไปมอบให้กับสุลต่าน แต่นางไม่ยอมตกลง  แต่พอนางได้เห็นใบหน้าอันงดงามของฮังตูวาห์  ทำให้นางปรารถนาที่จะทำความรู้จักกับฮังตูวาห์  นางจึงได้นัดพบกับฮังตูวาห์ในตอนกลางคืนของคืนนั้น
 
ทั้งสองได้พบและพูดคุยกันจนเกิดความสนิทสนม  ฮังตูวาห์ได้ร้องเพลงให้ตานดีเย๊าะฟัง  จนทำให้นางหลงรักฮังตูวาห์  ทั้งสองได้นัดพบกันบ่อยครั้งทำให้ฮังตูวาห์รู้สึกลำบากใจ  เขาได้นึกถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับเมอลูรคนรักของเขาที่ได้พลัดพรากมาเป็นเวลานาน
 
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น  เจ้าเมืองปาหังได้ออกคำสั่งให้  ต่านดีเย๊าะเดินทางไปตรังกานู  แต่นางไม่ยอมไป  นางจึงไปขอร้องกับฮังตูวาห์ให้พานางหนีไปจากเมืองปาหัง  ฮังตูวาห์รับปาก  และได้พานางหนีไปในวันรุ่งขึ้นในขณะที่กำลังเดินทางไปยังเมืองมะละกานั้น  ฮังตูวาห์ได้เล่าความจริงทั้งหมดกับนางว่า  แท้จริงแล้วฮังตูวาห์มีคนรักอยู่แล้ว  เขาต้องการที่จะนำตวนดีเย๊าะไปเป็นสนมของเจ้าเมืองมะละกา  และชีวิตของเขานี้ไม่สามารถทรยศกับเจ้าเมืองได้  ลืมฮังตูวาห์เถิด  คำพูดของฮังตูวาห์ได้ทำร้ายจิตใจของนางอย่างมาก  นางจึงกินยาวิเศษเพื่อที่จะลืมฮังตูวาห์
 
ทันทีที่เดินทางมาถึงเมืองมะละกา  ฮังตูวาห์ได้ทราบข่าวจากเพื่อนคนหนึ่งว่าเมอลูรได้เป็นสนมของสุลต่านไปแล้ว  โดยขุนนางกลุ่มหนึ่งได้จับนางไปให้กับสุลต่าน  เรื่องนี้สร้างความโกรธแค้นให้กับฮังตูวาห์มาก  ฮังตูวาห์ต้องการเข้าไปพบกับเมอลูรแต่เพื่อนของเขาได้ห้ามปรามไว้จนเกิดมีเรื่องทะเลาะกันด้วยเกรงว่าอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับสุลต่านได้
 
เมื่อทราบข่าวว่าฮังตุวาห์ได้กลับมา  บรรดาขุนนางใจโฉดได้วางแผนให้ฮังตูวาห์กับเมอลูรมาเจอกัน  โดยที่ให้คนใช้คนหนึ่งไปตามตัวฮังตูวาห์  ฮังตูวาห์ได้มาพบกับเมอลูร  เขาบอกกับนางว่าเขารักนางมากแต่ไม่สามารถหนีไปได้  ทั้งสองเจอกันได้ไม่ได้ก็ต้องจากกัน  แต่หารู้ไม่ว่าการพูดคุยของตัวเองนั้นสุลต่านได้มองอยู่ตลอดเวลา  พวกขุนนางได้ยุยงให้สุลต่านประหารชีวิตฮังตูวาห์  ในข้อหาที่ลักลอบพบกับสนมของพระองค์  สุลต่านก็เห็นดีด้วย  จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตฮังตูวาห์  แต่หารู้ไม่ว่าฮังตูวาห์รอดพ้นจากการประหารชีวิตเนื่องจากได้รับการช่วยเหลือ
 
หลังจากที่การประหารชีวิตฮังตูวาห์  สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับให้กับสุลต่านที่ใช้อารมณ์แค่เพียงชั่ววูบตัดสิน  แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีอย่างมากต่อขุนนางใจโฉด  พวกเขาได้จัดงานเลี้ยงฉลองขึ้นแต่หารู้ไม่ว่า  "เมอลูร"  หญิงสาวที่อาสามาเต้นรำโชว์ในงานนี้มีแผนที่จะสังหารเขา  และแล้วในขณะที่นางกำลังเต้นรำอยู่นั้น  นางได้ใช้มีดแทงเข้าไปที่ขุนนาง  และนางก็ถูกสังหารจนเสียชีวิตเช่นกัน
 
การกระทำของนางได้แสดงถึงความกล้าหาญ  นางต้องการล้างมลทินให้กับฮังตูวาห์  และนางยังแสดงให้เห็นถึงความรักของนาง 
 
ตำนานเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของ อาณาจักรมะลากา ซึ่งมีนักรบที่มีความสามารถและกล้าหาญนอกจากนั้นยังมีเรื่องราวของพิธีกรรมและศิลปะการต่อสู้ รวมทั้งความสำคัญของระบอบสุลต่านที่มีบทบาทสูงในการปกครอง รวมทั้งเรื่องของเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรในอดีต การเดินทางของฮังตูวาห์ก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมะละกากับนานาประเทศ เช่น จีน อินเดีย สยาม และอิยิปต์
 
ทั้งหมดก็เป็นตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษที่มีความสามารถ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดีต่อสุลต่าน ซึ่งเนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะแทรกความเป็นมะละกาที่รุ่งเรือง และวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานที่มีการเล่าสู่กันฟังกระทั่งมาถึงปัจจุบัน
 
 
 
ที่มา: http://www.pataniforum.com
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปิดฉากบทบาทกลุ่มพันธมิตร

Posted: 30 Aug 2013 09:31 AM PDT

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา แกนนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และ นายสมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของกลุ่มพันธมิตร

ในแถลงการณ์ของฝ่ายพันธมิตร อธิบายว่า การยุติบทบาทสืบเนื่องมาจากการที่ฝ่ายพันธมิตรถูกกลั่นแกล้ง โดยยัดเยียดข้อหาอันเป็นเท็จ  ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าศาลจะให้ประกันตัว แต่ก็มีเงื่อนไขไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ดังนั้น ถ้าฝ่ายพันธมิตรจะเคลื่อนไหวฝ่าฝืนคำสั่งศาล ผลตอบแทนต้องคุ้มค่า ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง แต่ในขณะนี้ ต่อให้เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลได้สำเร็จ ก็อาจจบลงด้วยการยุบสภา แล้วพรรคเพื่อไทยกลับมาอีก หรือมีการสลับขั้วทางการเมือง หรือรัฐประหาร แต่ไม่มีการปฏิรูปประเทศไทย การเสียสละของแกนนำฝ่ายพันธมิตรย่อมไม่คุ้มค่า ฝ่ายพันธมิตรเห็นว่า การชุมนุมที่คุ้มค่าจะต้อง"นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง และปฏิรูปประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น" ดังนั้น แกนนำฝ่ายพันธมิตรจึงมีมติเอกฉันท์ที่จะยุติบทบาทเพื่อให้แกนนำ นักปราศรัย ศิลปิน พิธีกร ประชาชน ได้ตัดสินใจด้วยตนเองที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับกลุ่มใดก็ได้อย่างอิสระเลรี และเปิดโอกาสให้เกิดขบวนการใหม่ในสังคมไทย และแถลงการณ์ได้ย้ำว่า การยุติบทบาทครั้งนี้"ถือเป็นยุทธวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หรือผู้ที่มีโอกาสจะมีอำนาจในอนาคต รวมถึง ทหารภายใต้จอมทัพไทยและศาลที่กระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ตลอดจนผู้ที่มีบทบาทในบ้านเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้ตัดสินใจที่จะทำหน้าที่ของตนเองและเลือกเดินทางของตัวเอง"

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ในการเคลื่อนไหว"กู้ชาติ" คือการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กสิงคโปร์ อันเป็นชนวนเหตุให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้น กลุ่มพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ที่นำมาสู่การล้มรัฐบาลไทยรักไทย และนำไปสู่การยุบพรรค ต่อมา เมื่อ ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟื้นตัวมาในนามพรรคพลังประชาชน และสามารถจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2552 กลุ่มพันธมิตรก็ใช้เรื่องเขาพระวิหารมาเป็นข้ออ้างปลุกชาตินิยม และชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ปีเดียวกัน และการชุมนุมยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ซึ่งเป็นเวลาถึง 193 วัน และในระหว่างการชุมนุมฝ่ายพันธมิตรก็ได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ สัญลักษณ์ในการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรคือการใช้เสื้อเหลือง และผ้าพันคอสีฟ้า เพื่ออ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวด้วยความจงรักภักดี เพื่อจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเคลื่อนไหวครั้งนั้นประสบความสำเร็จในการสร้างเงื่อนไขให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชนและเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

ต่อมา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2554 กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหวครั้งสุดท้าย คือการชุมนุม 158 วัน เพื่อคัดค้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การชุมนุมยืดเยื้อมาถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ซึ่งลงท้ายด้วยการรณรงค์โหวตโน และยุติการชุมนุมลงก่อนเลือกตั้ง 1 วัน ในครั้งนี้การเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรไม่บรรลุผลแต่อย่างใด และผลการเลือกตั้งนำมาสู่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาถึงปัจจุบัน และภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้  ฝ่ายพันธมิตรยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวจริงจังเลย การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นโดยมากเป็นผลงานของกลุ่ม 13 สยามไท ที่นำโดย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน และ นายชัยวัฒน์ สินสุวงศ์ หรือกลุ่มอื่นที่ค่อนข้างแตกแยกกับฝ่ายพันธมิตรด้วยซ้ำ จึงกล่าวได้ว่า ฝ่ายพันธมิตรได้ยุติบทบาทมาแล้วนานกว่า 2 ปี การประกาศยุติบทบาทจึงเป็นเพียงการยืนยันสิ่งที่เป็นไปแล้วของฝ่ายพันธมิตรนั่นเอง และจึงคาดหมายได้ว่า การยุติบทบาทของแกนนำฝ่ายพันธมิตรจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะความจริง

ประเด็นสำคัญคือ แกนนำฝ่ายพันธมิตรประเมินแล้วว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะเดิมคงจะไม่บรรลุ มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าหากฝ่ายพันธมิตรเรียกชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนี้ ก็น่าไม่มีผู้มาร่วมมากนัก จำนวนผู้ชุมนุมคงอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่ชุมนุมกันอยู่ที่สวนลุมพินีขณะนี้ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองอันใดเลย ด้วยการคาดการณ์มวลชนสนับสนุนเพียงจำนวนนี้ การล้มเลิกหรือยุติบทบาทจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อรักษาภาพแห่งความสำเร็จในอดีตเอาไว้

ดังนั้น ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้ก็คือ สาเหตุอะไรที่ทำให้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง กลุ่มสลิ่ม หน้ากากขาว และกลุ่มอื่นที่มีลักษณะเดียวกันไม่ประสบความสำเร็จ และมีคนเข้าร่วมน้อยลงทุกที

คำตอบสำคัญของเรื่องนี้ คือการล่มสลายของอุดมการณ์ฝ่ายขวาของฝ่ายพันธมิตรและพวกเหลืองสลิ่ม ที่ประการแรกสุด ใช้วิธีการผูกขาดการอ้างความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกล้มเจ้า ไม่จงรักภักดี ประการต่อมา คือ ข้ออ้างเรื่องชาตินิยม ปกป้องเขาพระวิหารและสร้างความเกลียดชังเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มนักวิชาการจำนวนมากก็ต่อต้านคัดค้าน ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สนับสนุน  ข้ออ้างลักษณะนี้เสื่อมความนิยมลงทุกที ไม่สามารถสร้างนำมาสร้างกระแสการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพได้

แต่ประเด็นที่เหลวไหลมากกว่านั้น ก็คือ การต่อต้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง เพราะในแนวคิดของกลุ่มฝ่ายขวาเหล่านี้เห็นว่า การเลือกตั้งจะนำมาสู่ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ ระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ระบอบที่ดี เพราะประชาชนขาดความรู้ จึงเลือกพรรคการเมืองที่ทุจริตมาบริหารประเทศ และใช้เสียงข้างมากมาทำการเผด็จการรัฐสภา กลุ่มฝ่ายขวาเหล่านี้จึงปฏิเสธระบอบรัฐสภา ฝ่ายพันธมิตรไปไกลกว่านั้น โดยการปฏิเสธพรรคประชาธิปัตย์ด้วย การเมืองแบบเลือกตั้งจึงไม่อาจให้ความหวังอันใดได้ แต่ปัญหาก็คือฝ่ายพันธมิตรก็ไม่ประสบความสำเร็จในการนำเสนอระบอบการเมืองใหม่ที่จะมีหลักประกันว่าจะมี"คนดี"มาบริหารบ้านเมือง ข้อเสนอให้ทหารก่อการรัฐประหาร แล้วตั้งรัฐบาลพระราชทาน หรือรัฐบาลที่กำกับโดยศาล คงไม่อาจจะสร้างการยอมรับได้

อาจจะสรุปได้ว่า จุดจบของฝ่ายพันธมิตรคือการตกต่ำของอุดมการณ์ชาตินิยม และข้ออ้างเรื่องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังสะท้อนความเสื่อมถอยของอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย เงื่อนไขเหล่านี้ จะนำไปสู่เสถียรภาพที่มากยิ่งขึ้นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเคลื่อนไหวของฝ่ายสลิ่มที่เหลืออยู่ เป็นเพียงพวกแมลงหวี่แมลงวันที่ไม่อาจสร้างผลสะเทือนอะไรได้เลย

 



หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรก โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 427 31 สิงหาคม 2556

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสภาลงมติ 332 ต่อ 108 ที่ ส.ว. มาตรา 4 นัดประชุมต่อ 4 ก.ย.นี้

Posted: 30 Aug 2013 07:38 AM PDT

30 ส.ค. 56 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. มาตรา 4 ว่าด้วยการยกเลิกคณะกรรมการสรรหา ส.ว.สรรหา ซึ่งในช่วงค่ำ ส.ส.ฝ่ายค้านได้สลับกันขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเวลา 20.25 น. นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ขอมติที่ประชุม ในมาตรา 4 ซึ่งปรากฎว่าที่ประชุมมีมติ เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอด้วยคะแนน 332 ต่อ 108 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง ไม่ลงคะแนน 1  เสียง
 
จากนั้นนายนิคม ได้กล่าวว่าการประชุมวันนี้ ใช้เวลามาพอสมควรขอนัดประชุมใหม่ในวันที่ 4 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. และสั่งพักการประชุมในเวลา 20.30 น. โดยจะเริ่มพิจารณามาตรา 5 ว่า ด้วยบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้ง ส.ว.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิพาดา ยังเจริญ: เปิดตัวหนังสือ 'ประวัติศาสตร์เกาหลีฯ'

Posted: 30 Aug 2013 05:58 AM PDT

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้อง 401/18 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนา "มุ่งตะวันออก: ความสำคัญของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกในยุคศตวรรษที่ 21" เพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือ "ประวัติศาสตร์เกาหลี: ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 การแข่งขันและแทรกแซงจากต่างชาติ อาณานิคม และชาตินิยม" ผลงานของ รศ.พิพาดา ยังเจริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ

โดยตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมจึงเลือกประวัติศาสตร์เกาหลีช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นหลักในการนำเสนอ โดยอาจารย์พิพาดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสอนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกซึ่งรวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยแต่เดิมเวลาสอนเรื่องเกาหลี จะมีตำราที่เกี่ยวข้องน้อยมาก ตำราที่มีอยู่ยังไม่สามารถให้ภาพรวมของประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงคิดว่าต้องเขียนประวัติศาสตร์เกาหลีสักเล่ม โดยที่เลือกช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์เกาหลี เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คือช่วงปลายราชวงศ์โชซ็อน เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเกาหลี และเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในปลายราชวงศ์โชซ็อน โดยสังคมเกาหลีค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และเน้นลัทธิขงจื้อ แต่ในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งการเมืองในราชสำนัก มีการเปลี่ยนแปลงในชนชั้นของพวกยางบัน ซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในสังคมเกาหลี เช่น กลุ่มชีฮัก ซอฮัก ทงฮัก ซึ่งมีแนวคิดแตกต่างกัน ทั้งที่นิยมตะวันตก หรือเน้นความเป็นเกาหลี นอกจากนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีการค้าขายมากขึ้น ซึ่งทำให้เปลี่ยนสถานะของคนในสังคม

ที่สำคัญมีการเข้ามาของชาวต่างชาติในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อน ทั้งอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นในช่วงปลายราชวงศ์โชซ็อนเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีเปิดประเทศต่อไป เมื่อมีแรงกดดันมาจากต่างชาติ นำมาสู่การปฏิรูปประเทศ ซึ่งการปฏิรูปนี้ได้นำเอาคนต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในเกาหลี เพราะเกาหลีในเวลาที่มีการปฏิรูปยังมีความแตกต่างกันทางความคิดของชนชั้นยังบันต่างๆ มีทั้งการปฏิรูปตามแนวจีน ตามแนวญี่ปุ่น และต่อมารัสเซียก็เข้ามามีอิทธิพล ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดมีความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ

นอกจากนั้น การเข้ามาแทรกแซงของต่างชาติก็เป็นไปอย่างรุนแรง ทั้งจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และต่อจากนั้นความอ่อนแอในราชสำนักและการแทรกแซงจากต่างชาติจึงนำมาสู่การล่มสลายของระบบกษัตริย์ เกาหลีกลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น และในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคม ก็เกิดกลุ่มที่มีแนวคิดชาตินิยมขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราช และเมื่อต่อสู้จนได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีก็แตกออกเป็น เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อีก ดังนั้นในช่วงเวลารอบ 100 ปี มีอะไรเกิดขึ้นมากมายในเกาหลี เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ซึ่งถ้าศึกษาตรงนี้ก็จะมีความเข้าใจว่าทำไมจึงมีปัญหามากในเกาหลี ทำไมจึงมีความแตกแยกมาก แล้วทำไมเวลาได้เอกราชมาแล้วจึงกลายเป็นเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เพราะปัจจัยเรื่องมหาอำนาจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยที่อยู่ภายในเกาหลีก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือกศึกษาประวัติศาสตร์เกาหลีในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นตำราสำหรับอ่านประกอบ ทำให้คนอ่านมองเห็นเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน คงไม่ใช่การเจาะลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือลงในรายละเอียด แต่เป็นการปูพื้นฐานให้อ่านแล้วเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อที่จะเชื่อมโยงหรือศึกษาอย่างลึกซึ้งต่อไป

ส่วนแนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์เกาหลีและเอเชียตะวันออกในประเทศไทยนั้น อาจารย์พิพาดากล่าวว่า เห็นด้วยกับที่วิทยากรในวงเสวนาก่อนหน้านี้ที่ว่าคนสนใจเรื่อง K-Pop มาก มีความสนใจเรื่องภาพยนตร์ ดนตรี มีการศึกษาว่าทำไม K-Pop ได้รับความนิยม แต่ยังไม่มีผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วมีเรื่องน่าสนใจมากในประวัติศาสตร์เกาหลีที่เรายังไม่รู้ มีเรื่องที่รอการศึกษาอย่างลึกซึ้งอีกมาก ปัญหาอยู่ที่การรู้ภาษาเพื่อที่จะได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยที่ตอนนี้ก็มีการตื่นตัวศึกษาภาษาเกาหลี หากมีการเพิ่มความสนใจไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นเรื่องน่าศึกษาเยอะ และในวงวิชาการไทยก็ยังไม่มีผู้ศึกษา เป็นคุณูปการทีเดียว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ย้ำจุดยืนประกาศชุมนุม 3 ก.ย.นี้ มติ สกย. งดเก็บเงินสงเคราะห์

Posted: 30 Aug 2013 05:54 AM PDT

เครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ประกาศร่วมชุมนุมเคลื่อนไหว 3 ก.ย.นี้ พร้อมเรียกร้องประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย พิจารณาตัวเองหลังฝ่าฝืนมติรับข้อเสนอรัฐบาล ด้าน สกย.ไฟเขียวงดเก็บเงินสงเคราะห์ 4 ด. อุ้มชาวสวนยาง กมธ.แก้ราคายาง-ส.ว.ใต้-แนะ 5 ทางออกให้รัฐบาลพิจารณา ชี้คิดผิดส่ง "สุภรณ์" เจรจาเกษตรกร เชื่อมีสัญญาณตอบรับที่ดี คาด 2-3 วันนี้คงเจรจากันได้ 

<--break->

 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (30 ส.ค. 56) ที่ห้องประชุมสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.กระบี่ นายธีระพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ รองประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายบุญโชติ ร่มเย็น เลขาฯ เครือข่าย และตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในที่ประชุมได้แจ้งถึงผลการหารือแก้ไขปัญหากับทางรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางตัวแทนทางภาคใต้ไม่ยอมรับหลักการ เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น การจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตละ 1,260 บาท สำหรับเกษตรกรที่มีสวนยางไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น และการรับข้อเสนอของประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทยนั้น เป็นการรับปากส่วนตัว ไม่ใช่มติของเครือข่าย
       
นายบุญโชติ ร่มเย็น เลขาฯ เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 3 กันยายนนี้ ทางเครือข่ายและเกษตรกรชาวสวนยางจะเดินทางไปชุมนุมใหญ่ที่สหกรณ์การยาง หรือที่โคออฟ จ.สุราษฎร์ธานี ตามแนวทางเดิม เนื่องจากรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาราคายาง ส่วนกรณีที่ทางประธานเครือข่ายรับข้อเสนอของรัฐบาลนั้น เป็นการทำผิดมติที่ประชุม คณะกรรมการเครือข่ายฯ ซึ่งตนเห็นว่าประธานควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก 
       
ซึ่งข้อเรียกร้องเดิมของเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย คือ การให้ประกันราคายางรมควันชั้น 3 ราคา 101 บาทต่อ กก. ยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 92 บาทต่อ กก. น้ำยางสด ราคา 81 บาทต่อ กก. และยางก้นถ้วยราคา 83 บาทต่อ กก. ส่วนแนวทางแก้ไขระยะยาว รัฐบาลต้องมีการประกันราคาโดยการแทรกแซงเช่นเดียวกับผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด คาดว่าจะมีเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ประมาณ 2 หมื่นคนเข้าร่วมชุมนุม
 
มติ สกย.ไฟเขียวงดเก็บเงินสงเคราะห์ 4 ด.อุ้มชาวสวนยาง
 
30 ส.ค. 56 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)ว่า  ที่ประชุมได้พิจารณาวาระเร่งด่วนตามข้อเสนอของผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง เรื่อง การพิจารณาทบทวนการเก็บเงินสงเคราะห์ หรือเงินเซส โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันให้ยกเลิกการเก็บเงินสงเคราะห์เป็นเวลา 4 เดือน โดยคาดว่าจะมีผล 2 ก.ย.นี้ กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดปลายเดือน ธ.ค.2556 ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการเร่งด่วนในการส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกยางพารา ให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณผลผลิตยางพาราในประเทศลงได้ และสามารถรับซื้อยางจากเกษตรกรได้ในราคาที่สูงขึ้น
 
"ที่ประชุมได้มีการหารือทบทวนการเก็บเงินเซส โดยนำข้อมูลสถานะการเงินของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาพิจารณา พบว่า สามารถบริหารจัดการโดยไม่กระทบการกับการดำเนินงานปกติของ  สกย.และการสนับสนุนการปลูกยางของเกษตรกรเป็นระยะเวลา 5-6 เดือน" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ กล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุหลักที่กำหนดระยะเวลางดจัดเก็บเงินเซสเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกยางในการซื้อยางกับเกษตรกรด้วยการลดต้นทุน จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเซสในอัตรา 2 บาท/กิโลกรัม เมื่องดจัดเก็บเงินเซส ต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะลดลง โอกาสที่ผู้ประกอบการส่งออกจะเพิ่มปริมาณการซื้อยางจากเกษตรกรก็มีมากขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันกับคู่ค้าในตลาดส่งออก
 
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้องค์การสวนยาง (อสย.)ประสานผู้ส่งออก เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางดังกล่าวในวันนี้ (30 ส.ค.2556) ที่ ก.เกษตรฯ พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาบันวิจัยยางตรวจสต๊อกของผู้ส่งออกทุกรายที่มีอยู่ขณะนี้ว่ามีเท่าไหร่และอยู่ทีไหนบ้าง เพื่อให้การงดเก็บเงินเซสที่กำหนดขึ้นส่งประโยชน์ถึงเกษตรกรได้อย่างแท้จริง
 
ส่วนเรื่องการนำยางในสต๊อกที่มีอยู่ 2 แสนตันมาใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศนั้น ขณะนี้ก็มีความชัดเจนแล้ว โดยรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายให้นำยางพาราไปใช้ในด้านการคมนาคมและซ่อมแซมถนน โดยคาดว่าจะเห็นข้อมูลงานวิจัยการนำยางพาราไปทำถนน ของกรมทางหลวงในสัปดาห์หน้าว่าจะมีปัญหาทางด้านการจราจรหรือไม่ หากผลการวิจัยพบว่าไม่มีปัญหาใดๆ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
 
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจที่ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่ มีพื้นที่ยางเปิดกรีดไม่เกิน 10 ไร่ และเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องเท่านั้น ในอัตราการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท วงเงินรวม 5,268 ล้านบาทว่า จะเสนอ ครม.พิจารณา 3 ก.ย.นี้ โดยก.เกษตรฯมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งต่อเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วให้ยื่นแสดงความจำนงร่วมโครงการ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ทันทีหลัง ครม.เห็นชอบ
 
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงนามถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการระดับตำบล ในการตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางของเกษตรกร โดยให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ธ.ก.ส. และเกษตรตำบล เป็นกรรมการ และปลัดตำบลเป็นประธาน เพื่อร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางเป็นรายแปลง และออกใบรับรองเพื่อเกษตรอำเภอส่งไปยัง ธ.ก.ส.และจ่ายเงินสดเข้าบัญชีเกษตรกรต่อไป
 
ส่วนข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ให้ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น จะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) พิจารณโดยเร่งด่วน และเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามขั้นตอนอีกครั้งต่อไป.
 
 
กมธ.แก้ราคายาง-ส.ว.ใต้-แนะ 5 ทางออกให้รัฐบาลพิจารณา
 
ไทยรัฐออนไลน์ยังรายงานอีกว่าที่รัฐสภา นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และแนวทางการส่งเสริมการพัฒนายางพาราทั้งระบบ วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางพารา ว่า ขอเสนอแนวทางแก้ไขเฉพาะหน้า เห็นควรรัฐบาล ดำเนินการดังนี้ 1.รัฐบาลต้องให้ข้อมูลให้ชัดเจน เกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนการผลิต และการดำเนินการตามโตรงการแทรกราคาผลผลิต ทางการเกษตร เช่น โครงการรับนำจำข้าว โครงการพยุงราคายาง โดยการใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร 
 
ส่วนข้อ 2.รัฐบาลควรงดเก็บเงินสงเคราะห์ชั่วคราว เพื่อยกระดับราคายางให้สูงขึ้น 3.กำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยการนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในการทำถนนของหน่วยงาน ตามโครงการของภาครัฐ 4.ควรให้สถาบันเกษตรกรกู้เงินมาซื้อยางเพื่อแปรรูป และเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่ายเมื่อราคายางสูงขึ้น และ 5.รัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีรัฐสภา และควรนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ไปดำเนินการเป็นรูปธรรม
 
ทางด้าน พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนที่เกษตรกรนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 3 ก.ย.นี้ ทาง ส.ว.ก็รู้สึกห่วงใย และเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลาย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งเจรจา โดยหาบุคคลที่มีความรู้และรับผิดชอบในเรื่องยางพาราจริงๆ มีความเป็นกลาง อย่างรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวง ไม่ใช่สุดโต่งอย่าง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ เพราะแค่ลงไปเกษตรกรก็รับไม่ได้ อย่าใช้กำลังในการสลายการชุมนุม
 
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจ เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน ส่วนที่จะมีการออกหมายจับแกนนำบางส่วนนั้น เท่าที่สอบถามไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าไม่มีการออกหมายจับแกนนำ เท่าที่ดูสัญญาณก็มีแนวโน้มไปในทางที่ดี คาดว่า 2–3 วันนี้ ก็จะสามารถเจรจากันได้
 
 
ประธานเครือข่ายชาวสวนยางอุบลฯ เผยพอใจรัฐช่วยปัญหาราคายาง สรุป 3 ก.ย.ไม่ไปชุมนุม 
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 56 ประธานเครือข่ายชาวสวนยางอุบลฯ เผยพอใจรัฐช่วยปัญหาราคายาง สรุป 3 ก.ย.ไม่ไปชุมนุม ชี้หากสมาชิกบางคนไปก็เป็นสิทธิส่วนตัว และไม่มีการแตกแยกในกลุ่มสวนยาง
 
นายอดุลย์ โคตรพันธ์ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมอีกรอบกับตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรสวนยางจำนวน 35 กลุ่ม ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ (30 ส.ค.) เพื่อชี้แจงไม่ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ที่ จ.นครราชสีมา เนื่องจากที่กลุ่มชาวสวนยางภาคอีสานได้เข้าเจรจากับนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและสหกรณ์แล้วจะมีการชดเชยปัจจัยการผลิตเป็นค่าปุ๋ยให้กับชาวสวนยางรายละ 25 ไร่ พร้อมสนับสนุนก่อสร้างโรงงานอบยางพาราในพื้นที่ มอบเงินหมุนเวียนใช้เป็นกองทุน และเงินกู้ดอกเบี้ยถูกกับสมาชิกชาวสวนยาง จึงเห็นว่าการมีเงินกองทุนหมุนเวียนและการสร้างโรงงานรมควันยางพารา จะเกิดประโยชน์กับชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาคุณภาพยางพาราให้ดีขึ้นนำไปสู่การส่งออกได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น วันที่ 3 ก.ย.นี้จะไม่ไปร่วมชุมนุม
 
อย่างไรก็ตาม นายอดุลย์ กล่าวว่า ชาวสวนยางพาราในรายที่จะไปชุมนุมเรียกร้องนั้นถือเป็นสิทธิส่วนบุคลทำได้ แต่ไม่เกี่ยวกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และไม่ถือว่าเป็นความแตกแยกในกลุ่มชาวสวนยาง เพราะความเห็นอาจไม่ตรงกันได้ และแต่ละพื้นที่มีปัจจัยด้านการผลิตไม่เหมือนกัน ซึ่งขณะนี้ชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานีและอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานทราบว่าจะไม่ไปชุมนุมเช่นกัน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตบิ๊กบอสช่อง 3 ออกโรงค้านร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อ กสทช.

Posted: 30 Aug 2013 04:51 AM PDT


 

(30 ส.ค.56) ประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แสดงความเห็นในงานรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า อยากให้ข้อสังเกตสักนิดว่า หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ จริงๆ แล้วครอบคลุมน้อยกว่ากฎหมายต่างๆ ที่ควบคุมสถานีโทรทัศน์อยู่แล้ว เราไม่ได้พูดถึงเฉพาะรัฐธรรมนูญหรือมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เท่านั้น ทีวีถูกควบคุมด้วยกฎหมายเกือบทุกฉบับ ถ้าเป็นเรื่องสิทธิของเด็กก็มีรายละเอียดแน่นอนว่าต้องทำอะไรบ้าง เรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด เหล้า บุหรี่ เรามีกฎหมายที่ควบคุมเราชัดเจนกว่าร่างนี้ตั้งเยอะ ฉะนั้น หลักเกณฑ์ตรงนี้จึงไม่ช่วยอะไร

ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้จะพูดกว้างๆ ไม่ชัดเจน ต้องตีความ แล้ว มันไม่ได้ส่งเสริมอะไรเลย เรื่องสำคัญที่เดิมเป็นเรื่องต้องห้าม กฎหมายต่างๆ ก็ควบคุมอยู่แล้ว ทุกวันนี้ ผมมองว่าทีวีเรียบร้อยที่สุดแล้ว เรื่องผิดกฎหมายไม่มีแน่นอน ถ้าเราผิดก็โดนดำเนินคดีไปแล้ว

"สิ่งที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องของรสนิยมกับเรื่องของวิจารณญาณเท่านั้นเอง เป็นเรื่องคนชอบ ไม่ชอบ เช่น คนบอก สรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าว) เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ผมว่าต้องแยกประเด็นนะ ถ้าผู้บริโภคเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎเกณฑ์ ผิดกฎหมาย ฯลฯ อะไรก็ตาม ก็ดำเนินการฟ้องร้องเลยครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องความชอบไม่ชอบ เช่น ไม่ชอบวิธีการเล่าข่าว ก็ต้องพิจารณาอีกลักษณะหนึ่ง"  ประวิทย์กล่าว

อดีตกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ พยายามอย่าดูเขา ผมไม่ได้ท้าทายนะครับ รายการทุกรายการ จะเป็นละคร เป็นข่าว หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทำเพื่อให้คนมาชื่นชม ถ้าคุณไม่ชื่นชม อย่าไปดู แล้วเขาก็ล้มเหลวเอง แต่ที่เป็นประเด็น คือ กสทช.พยายามจะเขียน "หลักเกณฑ์ในการทำรายการ" "วิธีปฏิบัติในการทำรายการ" ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะสื่อก็มีหลักเกณฑ์ทำงานของเขาอยู่ มีหลักจรรยาบรรณจริยธรรมของเขาอยู่ ถ้าเขาทำไม่ถูกต้องก็ให้ไปดำเนินการกันเอง กสทช.กรุณาอย่าเข้าไปเลย อันนี้ผมขอ

ประวิทย์ระบุว่า สิ่งที่อยากจะฝากไว้สำหรับการออกกฎเกณฑ์ คือ อย่าเขียนด้วยความหวังดี และอย่าพูดเพื่อสร้างรูปแบบ ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ที่มีคนเคยเสนอให้ กบว.สมัยนั้นออกหลักเกณฑ์ว่า ทุกวัน ช่วง 8.00 น. กับ 18.00 น. ต้องเคารพธงชาติทางทีวี ถามว่า ออกไปแล้วได้อะไร? คุณคาดหวังอะไร? ทำให้เกิดความสามัคคีมากขึ้นหรือว่าเป็นพิธีกรรม? กรุณาลองไปคิดดูว่าเราอยู่บ้านเรายืนตรงไหม ท่านหวังอะไรจากทีวีตรงนี้

"เวลาจะสร้างหลักเกณฑ์ อย่ามองเฉพาะคนอื่น มองที่ตัวเราด้วย ว่าตัวเราเป็นแบบอย่างหรือเปล่า เราพูดเรื่องผลกระทบของทีวีที่มีต่อเด็ก ว่าทีวีเป็นแบบอย่างของเด็ก ผมอยากถามกลับไปว่า ทำไมต้องเป็น "สื่อ" พ่อแม่ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่ดีที่อยู่ที่บ้านหรือครับ โรงเรียน เพื่อนฝูง เหล่านี้ไม่ใช่แบบอย่างที่คนอื่นจะทำตามหรือ ทำไมต้องทีวีอย่างเดียว" ประวิทย์กล่าวและว่า ตอนนี้อย่าพูดถึงเฉพาะทีวี เพราะสื่อไม่ได้มีเฉพาะโทรทัศน์อย่างเดียวแล้ว มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทีวีช่อง 3, 5, 7, 9 เป็นเด็กเรียบร้อย เป็นเด็กดีในบ้าน แต่ถูกตำหนิมากที่สุด เพราะคนที่ทำผิด กสทช.ไม่ไปดำเนินการ สื่อที่สร้างความแตกแยก ทำลายสถาบัน ทำลายความสามัคคีในชาติ ไม่ใช่ฟรีทีวี แต่ กสทช.กลับออกระเบียบมารวมๆ

 

ที่มา: เพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 ชาวนาฟันธง จะรอดได้ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เอง

Posted: 30 Aug 2013 02:56 AM PDT

ชาวนาเห็นความสำคัญต่อการจัดการระบบน้ำ และค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูก  พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุดคือ "ข้าวเล็บนก" ข้าวพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้

 
วันนี้ (30สิงหาคม 2556) "งานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน" เป็นเวทีวันที่ 2 ของงาน ที่จัดขึ้น ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) จังหวัดนครปฐม รูปแบบเวทีเสวนาวันนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 ห้องย่อย 5 ประเด็น ห้องย่อยที่ 1 เปิดประเด็นให้วิทยาการได้ช่วยกันถกในหัวข้อ "นวัตกรรมการทำนาสู่วิถีนาข้าวที่ยั่งยืน" ซึ่งจะแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันถึงวิถีการทำนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้นิเวศน์ที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
 
ดาวเรือง  พืชผล ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า "นวัตกรรมที่ว่านี้ ต้องเริ่มจากการสร้างและจัดการที่ดินของตนเองให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากที่สุด การสร้างและการจัดการที่ดินที่ว่านี้ แบ่งเป็น 3 อย่างคือ 1.การจัดการดูแลตัวเองให้มีกิจกรรมทางการผลิตบนแปลงอย่างสม่ำเสมอ 2.การจัดการพืชผลทางการเกษตรในแปลงนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพอากาศ 3.การจัดการให้แปลงนามีความหลากหลายของชนิดพืช ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะพืชเศรษฐกิจไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น  การปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ  เราก็สามารถปลูกอ้อยและทำให้เป็นอ้อยอินทรีย์ได้ นอกจากนี้แล้วเรายังต้องมีเวลาให้กับแปลงเกษตรของตนเองอย่างเต็มที่"
 
ประเด็นทิ้งท้ายที่ดาวเรืองเน้นย้ำก็คือ "การรักษาและการค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในแต่ละพื้นที่ ในประเด็นนี้เครือข่ายเกษตรกรรมฯ ภาคอีสานได้มีการทดลองปลูกข้าวเบา(ข้าวที่ให้ผลผลิตเร็ว) 20 สายพันธุ์ เพื่อค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีที่สุดในพื้นที่นาโคก จนพบว่า หนึ่งใน 2 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและเจริญเติมโตได้ดีที่สุดก็คือข้าวสายพันธุ์ที่เรียกเป็นภาษาพื้นถิ่นอีสานว่า 'ข้าวดอหาฮี' "
 
สุมณฑา เหล่าชัย ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า "ประสบการณ์การทำเกษตรแผนใหม่ซึ่งประสบความล้มเหลว จนต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต แต่เริ่มจากการรวมกลุ่มแล้วเริ่มค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งสำคัญที่กลุ่มทำก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ และประเด็นผู้บริโภค สิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยก็คือเรื่องกลุ่มหรือเครือข่าย ต้องทำไปพร้อมๆ กันจึงจะเกิดพลัง"
 
สุมณฑา ยังทิ้งท้ายถึงวีการจัดการจัดการแปลงของตนเองก็คือ "ประเด็นแรก เกษตรกรต้องมีพันธุ์พืชหรือมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง ประเด็นที่สอง ต้องคิดค้นวิธีการใหม่ๆในการจัดการแปลงนา  ประเด็นสุดท้าย เกษตรกรต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง"
 
สำรวย ผัดผล ตัวแทนเกษตรกรจากศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน กล่าวว่า "นอกจากที่ทุกท่านว่ามาแล้ว ตัวเกษตรกรต้องประเมินตัวเองและครอบครัวให้ได้ว่า ใครคือเกษตรกรตัวจริง ใครมีส่วนในการทำให้ระบบเกษตรของครอบครัวมีความยั่งยืน เฉพาะตัวของพ่อแม่ เฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงานหรือไม่ที่เป็นเกษตรกร  หรือที่จริงแล้วหมายรวมถึงเด็กหรือลูกๆในครอบครัวด้วย ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนมีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมครอบครัวให้มีความยั่งยืน "
 
พูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำเกษตรของตนเองว่า "ประสบการณ์การทำนาทีล้มเหลวในช่วงที่ผ่านมานั้น นำมาสู่การปรับเปลี่ยน ปรับปรุงการจัดการแปลงนาครั้งสำคัญ โดยการทดลอง เช่น การทดลองทำนาดำ นาหว่าน และนาหยอด เพื่อเปรียบเทียบว่า การปลูกข้าวแบบไหนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แห้งแล้งอย่าง พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากที่สุด จนที่สุดก็พบว่า ระบบข้าวหยอดให้ผลผลิตดีที่สุด"
 
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้หันมาให้ความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้ที่เริ่มรวมกลุ่มชาวนาคลองโยง(จ.นครปฐม)เพื่อทดลองทำนาอินทรีย์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันมากนักกับชาวนาภาคอื่นๆ ในช่วงเริ่มรวมกลุ่ม 
 
 อย่างไรก็ตาม ดร.ประภาส ให้ความเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า "ความสามารถที่สำคัญของชาวนาซึ่งควรจะมีคือ ความสามารถด้านช่าง ที่จะสามารถดัดแปลงอุปกรณ์การเกษตรเพื่อใช้ทุ่นแรงและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย"
 
ธิดา คงอาสา ตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จ.พัทลุง กล่าวถึงประเด็นเกษตรกรและชาวนาภาคใต้ว่า "ปัจจุบันจะเห็นว่าคนภาคใต้ทำนาน้อยลง ทั้งจำนวนผู้ทำนาและขนาดแปลงนา แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีชาวนาภาคใต้บางกลุ่มที่ยังทำนาอยู่ แต่ไม่ได้ทำนาเพื่อขายข้าว แต่เป็นการทำนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของครอบครัว"
 
ธิดา ยังกล่าวอีกว่า "พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่นาลอย คือเป็นพื้นที่ที่ระดับแปลงนาอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับน้ำ ดังนั้น พื้นที่ภาคใต้จึงเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำอย่างมาก เพราะเมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงทะเลทั้งหมด ดังนั้น ชาวนาจึงเห็นความสำคัญต่อการจัดการระบบน้ำ และค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูก  จากการทดลองปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้สรุปได้ว่า พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่มากที่สุดคือ "ข้าวเล็บนก" ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้"  
 
สุภชัย ปิติวุฒิ ตัวแทนกลุ่มชาวนาวันหยุด  ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องปรับเปลี่ยนแปลงเกษตรว่า "กลุ่มเป้าหมายของการทำงานก็คือคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สนใจทำนา เราตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญและอยากจะกลับมาทำนา"
 
สุภชัย กล่าวในตอนท้ายว่า "สิ่งที่เราทำอยู่มาจากการเฝ้าดูและสังเกตสภาวะแวดล้อมของแปลงนาแต่ละพื้นที่ ว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร แล้วทำนาให้ล้อกับสภาวะนั้นๆ เช่น ในแปลงนาที่มีผักตบชวา เลี้ยงปลาสลิด เนื่องจากปลาสลิดจะเป็นตัวทำลายรากของผักตบชวา" 
 
ปฏิพัทธ์ จำมี ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน จ.สุรินทร์ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นที่ดินและสารเคมีว่า "การปลูก การมี  การอยู่  และการกิน  ซึ่งต้องอยู่ให้ได้ ต้องมีรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ตามที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตนเอง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ค้านร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อ จี้ กสทช. ถอนร่าง-ทบทวนใหม่

Posted: 30 Aug 2013 02:51 AM PDT

(30 ส.ค.56) ผู้แทนจาก 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกันยื่นหนังสือถึง พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ เรื่องแสดงความคิดเห็นเพื่อไม่รับ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ในงานรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศดังกล่าว  ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

โดยมีรายละเอียดหนังสือดังนี้

วันที่ ๓๐  สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง    การแสดงความคิดเห็นเพื่อไม่รับ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ....

เรียน     พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี
ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์

ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร

อ้างถึง   ๑. แถลงการณ์เรื่อง ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้ กสทช. ทบทวนและแก้ไข (ร่าง)ประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.๓๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖

๒. แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่อง คัดค้าน (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ของ กสทช. ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖

สิ่งที่ส่งมาด้วย แบบแสดงความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับ

ดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....

ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ อนุมัติให้นำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม - ๒๒ กันยายน ๒๕๕๖ เป็นระยะเวลา ๓๐ วัน  และในวันศุกร์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ทางสำนักเลขาธิการ กสทช. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ขึ้น ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ๑ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร  นั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่ (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ขอเรียนว่า จากการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาใน (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว พบว่าร่างประกาศดังกล่าวมีประเด็นปัญหาที่เป็นสาระสำคัญหลายประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และการขัดต่อหลักการด้านการประกอบวิชาชีพของสื่อมวลชน ส่งผลการให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขรายข้อจากร่างประกาศฉบับนี้ไม่สามารถกระทำได้จนกว่าจะได้มีการกำหนดนิตินโยบาย และนิติวิธีที่สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบในประเด็นด้านกลไกการกำกับดูแลร่วมและกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สมควรที่ผู้รับผิดชอบจากเพิกถอนร่างประกาศฉบับนี้จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและนำกลับไปพิจารณาบททวนความชอบด้วยกฎหมาย ความสอดคล้องกับการประยุกต์ใช้ในทางวิชาชีพตามประเด็นต่างๆที่ปรากฏตามแบบแสดงความคิดเห็นสาธารณะที่ส่งมาพร้อมกันนี้เสียก่อน เพราะเมื่อมีการพิจารณาทบทวนแล้วอาจส่งผลทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้อีกต่อไป หรืออาจจัดทำเป็นร่างฉบับใหม่ที่มีความสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องจัดให้เกิดการมีส่วนร่วมกันอย่างกว้างขวางทั้งนักวิชาการ นักวิชาชีพ ผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศ และผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลนี้อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบและเพื่อพิจารณา ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กร ขอถือเอา แบบแสดงความคิดเห็นสาธารณะสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้ เป็นการแสดงเจตนา ไม่รับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ทั้งฉบับ และจะใช้เวทีการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ชี้แจงหลักการและเหตุผลดังกล่าวต่อสาธารณะและต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติต่อไป องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง ๔ องค์กรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้การทำงานของ กสทช. ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อย่างแท้จริง

 

ขอแสดงความนับถือ

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

ขอแสดงความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ....ดังนี้

ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ และกำหนดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ นั้น

เพื่อให้ (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าวได้รับการพิจารณาทบทวนจาก กสทช.ในสาระสำคัญทุกแง่มุมอย่างครบถ้วนรอบด้าน การแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักและวิธีคิดในทางนิติวิธีก่อนแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของ (ร่าง)ประกาศฉบับนี้ตามที่กสทช.กำหนด เพื่อให้ กสทช. นำไปพิจารณาทบทวนและยก(ร่าง)ประกาศดังกล่าวให้ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายต่อไปดังนี้คือ

 

๑. ประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย

๑.๑ กสทช.มีฐานอำนาจในการออกกฎเกณฑ์เช่นที่ปรากฏในร่างประกาศฉบับนี้หรือไม่ นั้น

พบว่า ด้วยเหตุที่ร่างประกาศฉบับนี้ มีลักษณะเป็น "กฎ" ซึ่งแม้ กสทช.จะมีอำนาจในการออก "กฎ" ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ แต่การออกกฎใดๆที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป กสทช.จะต้องอาศัยฐานอำนาจในการออก"กฎ"จากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและจะออก"กฎ"ให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บทที่เป็นฐานอำนาจในการออก"กฎ"ไม่ได้

เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของวัตถุประสงค์ในการออกประกาศฉบับนี้สรุปได้ว่า กสทช.อ้างฐานอำนาจในการออกร่างประกาศฉบับนี้โดยอาศัยบทบัญญัติตาม พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๗ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลเนื้อหารายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และมีเป้าหมายห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระใน ๔ ประการดังนี้

๑) ที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๒) ที่มีผลกระทบต่อความมั่งคงของรัฐ

๓) ที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

๔) ที่มีการกระทำซึ่งมีลักษณะลามกอนาจาร มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

โดยเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของมาตรา ๓๗ (พรบ.การประกอบกิจการฯ) ดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้อำนาจ กสทช.ในการออกประกาศใดๆเพิ่มเติม ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในมาตราอื่น เช่น ม.๓๓ ม.๓๔ ที่จะมีข้อความระบุว่า "ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด" ซึ่งหมายความว่า ม.๓๗ ของพรบ.ฉบับดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการมอบอำนาจให้ กสทช.ในการออก "กฎ" หรือประกาศใดเพิ่มเติม กสทช.จึงปราศจากฐานอำนาจในการออกประกาศฉบับดังกล่าวนี้

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาต่อไปว่าการออกประกาศฉบับดังกล่าวมีความขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บทที่เป็นฐานอำนาจในการออก "กฎ" หรือประกาศ หรือไม่ นั้น พบว่า ประกาศฉบับนี้มีความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายมาตรา สรุปได้ดังนี้คือ

มาตรา ๒๙ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรอง จะกระทำมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ...... เท่าที่จำเป็นและจะกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพมิได้

มาตรา ๓๖ เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๔๕ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย(ในระดับพระราชบัญญัติ) และเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน การสั่งปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพ จะกระทำมิได้ การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย(ระดับพระราชบัญญัติ)ซึ่งได้ตราขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิเป็นการเฉพาะ

การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชน จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ก็ต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย(ระดับพระราชบัญญัติ)เพื่อจำกัดสิทธิเป็นการเฉพาะเท่านั้น

มาตรา ๔๖  พนักงานหรือลูกจ้างเอกชน ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ ภายใต้จริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ การกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ (กสทช.) หรือเจ้าของกิจการ(ผู้รับใบอนุญาต) อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ

ดังนั้น การที่ร่างประกาศฉบับนี้มีเนื้อหาข้อความดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้นจึงย่อมส่งผลให้ กสทช. ไม่มีความชอบด้วยกฎหมายในการร่างประกาศฉบับนี้ เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีผลเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง ตามมาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๕ และส่งผลเป็นการทำลายระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา ๔๖ ซึ่งจะกระทำไม่ได้เว้นแต่จะมีการตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินความจำเป็นจนกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ในมาตรา ๒๙

๑.๒ ประเด็น มาตรา ๓๗ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ กสทช.ใช้เป็นข้ออ้างในการออกร่างประกาศ มีผลบังคับใช้ที่เป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นเรื่องฐานอำนาจในการออกประกาศที่อาศัยเป็นเหตุผลในการออกร่างประกาศฉบับนี้จะมีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญทุกมาตราดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังพบต่อไปอีกว่า มาตรา ๓๗ พรบ.การประกอบกิจการฯ เมื่อมีการบังคับใช้จะส่งผลให้เกิดการ "สั่งปิดสื่อ" ตามข้อความที่บัญญัติในวรรคสามว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้"

ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สมควรจะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาว่า มาตรา ๓๗ พรบ.ประกอบกิจการฯ มีการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายมาตราต่อไป

๑.๓ เนื้อหาในร่างประกาศชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

จากการศึกษาเนื้อหาของร่างประกาศต่อประเด็นที่ กสทช.ต้องการจะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะพบว่า

๑)    ประเด็นความเหมาะสมของคำนิยาม พบว่า

"ผู้รับใบอนุญาต" ซึ่งมีความหมายถึง ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการ

โทรทัศน์ ผู้มีสิทธิประกอบกิจการตามบทเฉพาะกาล และผู้รับใบอนุญาตทดลองการประกอบกิจการ นั้น จะส่งผลทำให้ร่างประกาศฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๖ เนื่องจากอาจส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพจำต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงาน หรือเจ้าของกิจการได้ในที่สุด อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพที่รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์จะให้การรับรอง

๒)   ประเด็นหมวดที่ ๑ เนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ พบว่า มีบทบัญญัติที่เป็น

การขยายความมากกว่าเนื้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗ พรบ.การประกอบกิจการฯ อันเป็นที่มาของฐานอำนาจในการออกร่างประกาศนี้ และในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนความผิดทุกข้อตามร่างประกาศนี้ ก็ยังคงมีกฎหมายอื่นที่มีฐานะในระดับพระราชบัญญัติ (ประมวลกฎหมายอาญา แพ่ง) ที่สามารถปรับใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลได้อยู่ทุกข้อแล้วเช่นกัน ตัวอย่าง เช่น

"ข้อ ๗. รายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่งคงของรัฐ ให้หมายความรวมถึง

๗.๑ รายการที่แสดงออกไม่ว่าด้วยภาพ วาจา ถ้อยคำ............หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี .......หรือสถาบันพระมหากษัตริย์"

เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ โดยพบว่ามีการขยายความรับผิดของผู้กระทำความผิดให้มากขึ้นกว่ากฎหมายอาญาอีกด้วย

๗.๓ รายการที่กระทบกระเทือนหรือดูหมิ่นประเทศหรือต่อประมุขของประเทศอื่น.....

เมื่อมีการบังคับใช้อาจสงผลในการวินิจฉัยที่แตกต่างกันระหว่างคำวินิจฉัยของ กสทช.

และคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมจากความผิดฐานเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่นๆที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๓

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น สรุปได้ว่า เมื่อผู้รับใบอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนความผิดตามร่างประกาศฉบับนี้เกือบทุกข้อมีบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดให้เป็นความผิดซึ่ง กสทช.สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลได้โดยไม่จำเป็นต้องออกร่างประกาศฉบับนี้ ซึ่งรายละเอียดของบทบัญญัติกฎหมายอื่นที่มีผลบังคับใช้กับการฝ่าฝืนร่างประกาศทุกข้อได้จัดทำเป็นตารางเปรียบเทียบเพื่อเสนแนะไว้โดยละเอียดตามตารางที่แนบแล้ว

๓)    ประเด็นหมวดที่ ๒ มาตรการในการออกอากาศรายการ พบว่า ข้อความที่ปรากฏใน

หมวดที่ ๒ จัดทำขึ้นในลักษณะเดียวกันกับ "จริยธรรม (Code of Ethic) " หรือ "แนวปฏิบัติ (Code Of Conduct)" อันอาจส่งผลให้เกิดแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้งจากผู้รับใบอนุญาตและจากเจ้าของกิจการ หรือแม้แต่คณะกรรมการที่ กสทช.จะแต่งตั้งขึ้นในอนาคต โดยเนื้อหาทั้งหมดที่ปรากฏในหมวดนี้ เป็นเนื้อหาที่เป็นแนวทางการปฏิบัติหรือจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นสภาพบังคับทางกฎหมายได้ อันจะเป็นการทำลายกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา ๔๖ ที่ว่าผู้ประกอบวิชาชีพ ... "มีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ" ทั้งนี้ กสทช.พึงตระหนักถึงความหมายของถ้อยคำที่แตกต่างกันประกอบใน ๒ ประการ ได้แก่

๓.๑ "การกำกับดูแล" กับ "การควบคุม" เมื่อร่างประกาศฉบับนี้ใช้คำว่า "การกำกับดูแล" ย่อมหมายถึง การใช้อำนาจได้แต่เฉพาะเพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ได้แก่ การกำหนดนโยบาย แนวทาง และเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ให้แก่ กสทช. ในขณะที่ การควบคุม หมายถึง การใช้อำนาจบังคับบัญชา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะภายในหน่วยงาน ซึ่งหมายถึงองค์กรวิชาชีพ โดยผู้อยู่ภายใต้อำนาจนี้จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือคำบังคับบัญชาหรือองค์กรวิชาชีพกันเองโดยเคร่งครัด แต่เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำของเนื้อหาในหมวดที่ ๒ นี้แล้วจะพบว่า ร่างประกาศฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการมอบอำนาจให้ กสทช. ควบคุมการประกอบวิชาชีพของสื่อโดยตรงซึ่งไม่สามารถทำได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ

๓.๒  "จริยธรรม" กับ "กฎหมาย" มีเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การกำหนดเป็นจริยธรรม ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษที่ส่งผลทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพขาดความน่าเชื่อถือ ขาดการเคารพยกย่อง และเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ ในขณะที่การฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการชี้ถูกชี้ผิด และมีการกำหนดโทษในทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครอง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน "จริยธรรม" เป็นข้อกำหนดมาตรฐานที่ดี ที่พึงประสงค์ในการทำงานของแต่ละอาชีพ แต่ในบางสถานการณ์ผู้ประกอบวิชาชีพอาจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนด้วยเหตุแห่งสภาพแวดล้อมที่ประสบอยู่ ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานข้อกำหนดของจริยธรรม ไม่อาจสรุปได้ว่า เป็นการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับกฎหมาย เพราะเป็นสภาพบังคับในทางสังคม โดยผู้ที่ปฏิบัติไม่ครบถ้วนจะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือจากสังคม หรือประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันสภาพบังคับทางจริยธรรมยังเปิดโอกาสให้ผู้ฝ่าฝืนทำการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อันเป็นมาตรการที่สนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทด้วยความสมัครใจของคู่กรณี และส่งเสริมให้คู่กรณียังสามารถอยู่ร่วมและพึ่งพาในสังคมเดียวกันได้ต่อไป

๔)    ประเด็นหมวดที่ ๓ การกำกับดูแล พบว่า จากการนิยามความหมายในข้อ ๓ ของคำว่า

"ผู้รับใบอนุญาต" ข้อความที่ระบุในทุกข้อของร่างประกาศฉบับนี้ ส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจในการตรวจสอบและการระงับการออกอากาศรายการ หรือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อได้ อันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ เข้ามาแทรกแซงสั่งการ หรือบังคับบัญชา ผู้ประกอบวิชาชีพได้โดยตรง

จากการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพของไทยในอดีตก่อนจัดตั้ง กสทช. พบว่า หน่วยงานกำกับในอดีต (กรมประชาสัมพันธ์) เคยสร้างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่สามารถนำมาใช้เป็นกลไกในปัจจุบันและอนาคตเพื่อกำกับดูแลลักษณะนี้ได้ด้วยการกำหนดคุณสมบัติให้ "ผู้อำนวยการสถานี" มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๒๙ พรบ.การประกอบกิจการฯ เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ตามที่ "คณะกรรมการประกาศกำหนด" และจะทำให้เกิดความสอดคล้องกับมาตรา ๓๐ ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบในการกระทำของผู้อำนวยการสถานีในระดับถัดขึ้นไป ไม่ใช่ในระดับโดยตรงเช่นที่ปรากฏอยู่ในร่างประกาศฉบับนี้ และในกรณีที่ไม่มีการปรับแก้ไขจะทำให้การตีความในหมวดนี้ เกิดการขัดหรือแย้งกับ มาตรา ๓๐ ของ พรบ.การประกอบกิจการฯและจะทำให้มาตราดังกล่าวไม่เกิดการบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้เลย

นอกจากนี้บทบัญญัติในข้อ ๒๖ ยังมีความขัดแย้งกับ มาตรา ๓๗ พรบ.การประกอบกิจการฯกล่าวคือ บทบัญญัติของมาตรา ๓๗ กำหนดให้อำนาจกรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจตรวจสอบหรือระงับการออกอากาศรายการเฉพาะที่เป็นรายการที่มีเนื้อหาสาระล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีผลกระทบต่อความมั่งคงของรัฐ ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีการกระทำซึ่งมีลักษณะลามกอนาจาร มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่สามารถตีความให้หมายความครอบคลุมไปถึงรายการที่มีเนื้อหาสาระอื่น เช่น รายการซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง (แม้ในทางปฏิบัติรายการที่มีเนื้อหาลักษณะนี้สมควรต้องได้รับการกำกับดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษก็ตาม) เพราะ กสทช.สามารถใช้บทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลควบคู่กันไปได้ ซึ่งในกรณีนี้อาจทำให้ข้อความในบทบัญญัติข้อนี้มีผลเป็นการขยายขอบอำนาจการกำกับดูแลที่ขัดหรือแย้งต่อ พรบ.ที่ให้อำนาจไว้อีกด้วย

 

๒. ประเด็นด้านหลักการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

นอกจากประเด็นความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประเด็นที่สมควรจะต้องพิจารณาควบคู่กันไป

เพื่อให้ร่างประกาศฉบับนี้มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการสนับสนุนนโยบาย "การปฏิรูปสื่อ" ประการหนึ่ง คือ การสร้างและสนับสนุนให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน การจัดทำร่างประกาศในลักษณะดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายหรือนโยบายการปฏิรูปสื่อเป็น "ธงนำ"จะส่งผลเป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อการควบคุมสื่อโดยองค์กรกำกับเสียเอง อันเป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยการออกร่างประกาศฉบับนี้ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างร่างประกาศที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำที่มีเนื้อหามุ่งหมายที่จะกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพที่จะมีขึ้นในอนาคต ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ เรื่อง "กลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ" อันเป็นที่มาของ พรบ.การประกอบกิจการฯ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ ที่กำหนดให้ "กสทช.ต้องส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานจริยธรรมและควบคุมกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรมที่ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองการได้รับข้อมูลข่าวสารของประชาชน การคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบกิจการ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพขององค์กร ไปพร้อมกันดัวย โดยในการควบคุมให้แต่ละองค์กรจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกันเองขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก" พร้อมกันไปด้วย

การพิจารณาผ่านร่างประกาศฉบับนี้จะส่งผลให้กลไกการควบคุมกันเองและร่างประกาศอยู่ในระหว่างการจัดทำอีกหลายฉบับมีความขัดแย้งกันเอง จนอาจส่งผลให้การใช้อำนาจของ กสทช.โดยภาพรวมในด้านการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพล้มเหลว และเป็นร่างประกาศที่อาจไม่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจที่จะปฏิบัติตามโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้รับใบอนุญาต เนื่องจากไม่สามารถแปลงจากข้อบังคับตามกฎหมายแล้วนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง อันจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวและเป็นการท้าทายอำนาจในการกำกับดูแลของ กสทช.ตามกฎหมายได้ในที่สุด

 

๓. ประเด็นข้อเสนอความคิดเห็นต่อ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับ

ดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....

จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สรุปได้ว่า ร่างประกาศฉบับดังกล่าวมีข้อโต้แย้งทั้งในประเด็นปัญหาด้านความชอบด้วยกฎหมายและประเด็นปัญหาด้านหลักการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อันมีพื้นฐานมาจากหลักการหรือการตั้ง "ฐานคิด" ทั้งในทางนิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และหลักการอื่นที่เกี่ยวข้องที่บกพร่องผิดพลาด อีกทั้งไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญของการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ

๓.๑ ไม่พอสมควรแก่เหตุ ซึ่งหมายถึง ไม่สามารถส่งผลให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการออกประกาศ โดยยังมีมาตรการหรือวิธีการอื่นที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้มากกว่า (มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องใช้เป็นเครื่องมือได้) และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกประกาศ หรือมาตรการที่เลือกมาใช้ในประกาศฉบับนี้เกินสมควรแก่เหตุ(ควบคุมและลิดรอนเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนในการได้รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร)

๓.๒ ไม่มีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะทำให้ผู้ตกอยู่หรืออาจจะตกอยู่ภายใต้บังคับของร่างประกาศนี้จะเข้าใจหรือคาดหมายได้ว่าเมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว จะต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ไปในลักษณะใด (อาจมีปัญหาด้านการตีความ ขยายความ และการบังคับใช้กับผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพจำนวนมาก)

๓.๓ ไม่มีหลักประกันการเลือกปฏิบัติโดยอำเภอใจของผู้มีอำนาจบังคับให้เป็นไปตามประกาศ

๓.๔ ไม่มีหลักประกันความสุจริตและหลักการห้ามใช้สิทธิโดยมิชอบ

๓.๕ ไม่สามารถคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจของผู้ที่ตกอยู่ในบังคับของประกาศฉบับนี้ (ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคารพต่อหลักเกณฑ์หรือการปฏิบัติตามประกาศที่ออกโดยองค์กรกำกับในอนาคต)

๓.๖ ไม่สามารถตอบสนองต่อหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะได้จริง (ประโยชน์ที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนรอบด้าน)

การให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขรายข้อจากร่างประกาศฉบับนี้ไม่สามารถกระทำได้จนกว่าจะได้มีการกำหนดนิตินโยบาย และนิติวิธีที่สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบในประเด็นด้านกลไกการกำกับดูแลร่วมและกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สมควรที่ผู้รับผิดชอบจากเพิกถอนร่างประกาศฉบับนี้จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและนำกลับไปพิจารณาบททวนความชอบด้วยกฎหมาย ความสอดคล้องกับการประยุกต์ใช้ในทางวิชาชีพตามประเด็นต่างๆที่ได้เสนอมาแล้วข้างต้นให้ครบถ้วนรอบด้านเสียก่อน เพราะเมื่อมีการพิจารณาทบทวนแล้วอาจส่งผลทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้อีกต่อไป หรืออาจจัดทำเป็นร่างฉบับใหม่ที่มีความสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องจัดให้เกิดการมีส่วนร่วมกันอย่างกว้างขวางทั้งนักวิชาการ นักวิชาชีพ ผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศ และผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลนี้อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมต่อไป

ดาวน์โหลดตารางเปรียบเทียบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ....

 

ที่มา: สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รถไฟความเร็วสูง สำคัญไฉน?

Posted: 30 Aug 2013 02:41 AM PDT

 
ในโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมุ่งปฏิรูประบบขนส่งคมนาคมทุกด้านของประเทศไทยนั้น โครงการที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่งคือ รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ และกรุงเทพฯ-ระยอง รวมกันมีมูลค่าสูงถึงราว 8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด
           
โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้าน สื่อมวลชนกระแสหลัก และกลุ่มมวลชนเสื้อเหลือง อ้างว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ไม่มีความจำเป็น ก่อภาระหนี้มหาศาล และจะเกิดการทุจริตคอรัปชั่นมโหฬาร แม้แต่นักวิชาการเสื้อเหลืองก็ออกมาคัดค้านว่า "ไม่คุ้มค่า โครงการจะประสบภาวะขาดทุน" เป็นต้น
           
พวกที่คัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงมีสองจำพวก พวกแรกคือพวกแค้นทักษิณและพรรคเพื่อไทย มุ่งหาประเด็นอะไรก็ได้ที่โจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่สนใจว่า เรื่องนั้นจะมีสาระความจริงแค่ไหน ให้ได้โจมตีด่าทอด้วยเหตุผลที่ไร้สาระเอาไว้ก่อน เผื่อจะต่อยอดปั่นกระแสเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชน ตุลาการ และทหาร โค่นล้มรัฐบาลได้เป็นพอ
           
ส่วนอีกพวกหนึ่ง เป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวไปตามกระแสข่าวในสื่อมวลชนกระแสหลักและการปั่นกระแสของกลุ่มแรก แล้วก็ตื่นตกใจไปตามข้อมูลเท็จและอารมณ์ของข่าว คนกลุ่มหลังนี้ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะต้องทำงานอย่างหนัก สื่อสารข้อมูลความจริงที่ถูกต้องไปให้ถึง เพื่อไม่ให้ไปผสมโรงกับพวกแรก
           
เราจะเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยได้ชัดเจน ก็ต้องพิจารณาจากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และแนวโน้มการพัฒนาโครงข่ายขนส่งคมนาคมของภูมิภาคจีน-อาเซียนโดยรวม
           
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเป็นจริงโดยสมบูรณ์ในปี 2558 นั้นจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่หนึ่งในสี่กลุ่มของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า มีสถานะใกล้เคียงกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นอีกสามกลุ่มคือ สหภาพยุโรป เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก) และจีน (นับเป็นหนึ่งกลุ่มเนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก)
           
แต่การรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนหนึ่งเดียวได้จริงนั้นต้องอาศัยโครงข่ายขนส่งคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วถึงทั้งภูมิภาค ประเทศจีนมองเห็นศักยภาพของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและตระหนักดีว่า หากสามารถเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจของจีนเข้ากับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แล้ว ภูมิภาคจีน-อาเซียนจะรวมกันกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สหภาพยุโรปและเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และยุทธศาสตร์ของจีนที่จะทำให้กลุ่มพลังจีน-อาเซียนปรากฏเป็นจริงคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-อาเซียน
           
ปัจจุบัน ประเทศจีนได้ลงทุนก่อสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศหลายเส้นทาง มีเป้าหมายครอบคลุมเมืองสำคัญทั้งหมดของประเทศ เมื่อแล้วเสร็จในปี 2558 จะมีระยะทางรวมกันถึง 40,000 กม. ยาวที่สุดในโลก
           
หัวใจที่จะเชื่อมประเทศจีนเข้ากับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยจีนมีแผนการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงต่อจากเมืองคุนหมิง ลงสู่ใต้สองเส้นทาง เส้นทางแรกจากคุนหมิงเข้าสู่ประเทศพม่า ผ่านเมืองมันดะเลย์ เมืองหลวงเนย์ปิทอว์ และร่างกุ้ง อีกเส้นทางหนึ่งจากเมืองคุนหมิงเข้าสู่ประเทศลาว เมืองหลวงน้ำทา และกรุงเวียงจันทน์ โดยทั้งโครงการจีน-พม่า และจีน-ลาว รัฐบาลจีนให้เงินกู้แก่รัฐบาลทั้งสองประเทศเพื่อการก่อสร้างโดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน โครงการจีน-พม่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2556 นี้ ขณะที่โครงการจีน-ลาวก็ได้เจรจาขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว
           
ด้วยเหตุนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ของจีนพอดี โดยรัฐบาลจีนได้แสดงความต้องการที่จะเชื่อมระบบรถไฟความเร็วสูงของตนเข้ากับโครงข่ายของประเทศไทยในสองเส้นทาง เส้นทางแรกเป็นการขยายเส้นทางต่อจากเมืองเปกู ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางกาญจนบุรี เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของไทยที่นครปฐม ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง ขยายเส้นทางรถไฟจากกรุงเวียงจันทน์ ข้ามมาฝั่งประเทศไทย เชื่อมกับระบบรถไฟความเร็วสูงของไทยที่จังหวัดหนองคาย ผ่านกรุงเทพฯ ไปยังนครปฐม ลงใต้ไปถึงปาดังเบซาร์ กัวลาลัมเปอร์ ไปสุดทางที่สิงคโปร์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว รถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาเดินทางจากเมืองคุนหมิง ผ่านประเทศไทยไปถึงสิงคโปร์ในเวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น
           
ที่สำคัญคือ เวียดนามก็กำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน คือเส้นทางจากกรุงฮานอยไปถึงนครโฮจิมินห์ซิตี้ ระยะทาง 1,630 กม. เริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี 2555 มีแผนให้เปิดบริการเป็นบางส่วนในปี 2563 และครบถ้วนทั้งระบบในปี 2573 สามารถลดระยะเวลาเดินทางจากเดิม 32 ชั่วโมง เหลือเพียง 7 ชั่วโมง ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลเวียดนามก็กำลังพิจารณาที่จะเชื่อมระบบรถไฟความเร็วสูงของตนเข้ากับโครงข่ายของลาวที่กรุงเวียงจันทน์อีกทอดหนึ่งด้วย
           
จากโครงข่ายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของภูมิภาคจีนใต้-อาเซียนทั้งหมด โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยผนวกกับความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนจะมีผลเป็นการเชื่อมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของภูมิภาคจีน-อาเซียนเข้าเป็นหนึ่งเดียว
           
แน่นอนว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากรถไฟความเร็วสูงนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นการค้าการลงทุนภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการนำเอาการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคจีน-อาเซียนมายังประเทศไทยอีกด้วย ทั้งการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักน้อยแต่มีมูลค่าสูง เช่น ผักผลไม้และไม้ดอกเมืองหนาวจากภาคเหนือสู่ภาคกลางและภาคใต้ (ที่ถูก "พวกในกะลา" เยาะเย้ยว่า "เอารถไฟความเร็วสูงไปขนผัก") ไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ การขนส่งผักผลไม้เมืองร้อนจากภาคใต้-ภาคกลางไปสู่ประเทศจีน (ซึ่งการขนส่งปัจจุบัน ใช้ทางรถยนต์ มีอัตราการเน่าเสียสูงมากถึงร้อยละ 40) การขนส่งสินค้ามูลค่าสูงอื่น ๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนจำนวนหลายแสนคนต่อปีทั่วทั้งภูมิภาค
           
หากคำนวณผลตอบแทนจากโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย โดยคิดเฉพาะ "ค่าตั๋วเดินทาง" ของคนไทยที่ใช้บริการเฉพาะในประเทศไทย รถไฟความเร็วสูงของไทยจะขาดทุนอย่างแน่นอน แต่คนที่วิจารณ์ลืมไปว่า นี่เป็นโครงข่ายนานาชาติทั่วภูมิภาคจีน-อาเซียน ซึ่งนอกจาก "ค่าตั๋วเดินทาง" ของคนไทย-จีน-อาเซียนแล้ว ยังมีผลบวกข้างเคียงเป็นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ไหลผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ในแต่ละปีเป็นมูลค่าอีกมหาศาล
           
รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้เอ่ยถึงรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2547-48 แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่เริ่มต้นในปี 2548 และยืดเยื้อถึงปัจจุบัน ฉะนั้น ประเทศไทยได้เสียเวลาไปถึง 8 ปี บัดนี้ จึงถึงเวลาแล้ว และก็เป็นจังหวะที่ทั้งประเทศจีน พม่า ลาว และเวียดนาม ก็มีความพร้อมมากขึ้นที่จะเริ่มโครงการนี้ประสานกัน เพื่อให้กลุ่มเศรษฐกิจจีน-อาเซียนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งที่ 3 ถัดจากสหภาพยุโรปและเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
 
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข" 30 สิงหาคม 2556
            
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เวยน์ เฮย์' นักข่าวอัลจาซีราประจำกรุงเทพฯ ถูกทหารอียิปต์ในกรุงไคโรคุมตัว

Posted: 30 Aug 2013 01:53 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 56 เว็บไซต์อัลจาซีรา รายงานว่า เวยน์ เฮย์ (Wayne Hay) นักข่าวอัลจาซีร่า ซึ่งประจำอยู่กรุงเทพฯ และรายงานเกี่ยวกับประเทศไทยและพม่าเป็นหลัก ได้ถูกทางการอียิปต์ควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา พร้อมกับช่างภาพ อดิล แบรดโลว์ และโปรดิวเซอร์ รัส ฟินน์ อีกสองคน หลังจากที่เดินทางไปกรุงไคโรเพื่อรายงานข่าวเหตุการณ์ในอียิปต์
 
เวยน์ เฮย์ นักข่าวอัลจาซีร่าประจำกรุงเทพฯ (ที่มาภาพ: เว็บไซต์อัลจาซีรา)
 
โดยก่อนหน้านี้ นักข่าวและช่างภาพอัลจาซีราชาวอียิปต์อีกสองคน ได้ถูกจับกุมและคุมขังเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนมอร์ซีในวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา 
 
การจับกุมดังกล่าวเป็นสิ่งที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเรียกว่า เป็นความปฏิปักษ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อผู้สื่อข่าวในอียิปต์   
 
รายงานระบุว่า ยังมีการรณรงค์ต่อต้านสำนักข่าวอัลจีซีราโดยเฉพาะ โดยในเดือนที่แล้วสำนักงานของอัลจาซีราในอียิปต์ถูกรื้อค้น และถูกทหารยึดอุปกรณ์ต่างๆ ไป
 
อัลจาซีราได้เรียกร้องให้ทางการอียิปต์ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงอุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นๆ ด้วย 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิโรจน์ ณ ระนอง

Posted: 30 Aug 2013 01:47 AM PDT

"ฉะนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามทำ และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองสู้กับตลาดไม่ได้ทั้งเรื่องข้าวและเรื่องยาง แต่เรื่องข้าว ผมว่ารัฐบาลก็พยายามหาทางลง ส่วนหนึ่งก็พยายามเจรจากับชาวนาอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจชาวนาด้วยว่า เมื่อมีโครงการของชาวนามันดึงให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นจริง ดังนั้น เวลาลง การปรับตัวก็ยากพอสมควร และเชื่อว่าเมื่อมีเรื่องข้าวที่กำลังหาทางลงแล้วมามีเรื่องยางขึ้นมาอีกทำให้รัฐบาลลังเลมากขึ้นในการที่จะเข้าไปทำแบบเดียวกับข้าว"

29 ส.ค.56, นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ต่อสถานการณ์ราคายางและโครงการจำนำข้าว

ห้องแล็บออสเตรียสร้าง 'สมองขนาดเล็ก' จากสเต็มเซลล์ ใช้ทดลองโรค

Posted: 30 Aug 2013 12:54 AM PDT

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชีวเทคโนโลยีระดับโมเลกุล กรุงเวียนนา สร้างสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า 'สิ่งคล้ายอวัยวะสมอง' (cerebral organoids) จากสเต็มเซลล์ที่แปลงจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ ช่วยให้สามารถวิเคราะห์สาเหตุของโรคต่างๆ ที่มาจากสมอง หรือเกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการสมองตั้งแต่ในครรภ์ได้

28 ส.ค. 2013 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชีวเทคโนโลยีระดับโมเลกุลในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สามารถสร้าง 'สมองขนาดเล็ก' จากเซลล์ผิวหลังของมนุษย์ได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีขนาดน้อยกว่า 4 มิลลิเมตรซึ่งนักวิจัยบอกว่ามีขนาดเท่ากับสมองของตัวอ่อนในครรภ์ที่มีอายุประมาณ 9 สัปดาห์ และเป็นครั้งแรกของพวกเขาที่สามารถสร้างสมองที่มีลักษณะโครงสร้างสามมิติซับซ้อนคล้ายสมองของตัวอ่อนจริง

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามปลูกเนื้อเยื่อสมองในห้องทดลองและพยายามเน้นขยายเซลล์ประสาทในรูปแบบสองมิติบนจานทดลองแบนที่มีสารอาหารอยู่ แต่ในการทดลองล่าสุดพวกเขาได้ใช้สารอาหารเป็นเจลหยดบนวัสดุโครงร่างรองรับเซลล์ (scaffold) แบบสามมิติ จนทำให้เซลล์สมองเติบโตเป็นอวัยวะขนาดเล็ก

นักวิทยาศาสตร์เรียกสมองที่สร้างขึ้นนี้ว่า 'สิ่งคล้ายอวัยวะสมอง' (cerebral organoids) และเน้นย้ำว่าโครงสร้างตัวนี้ยังห่างไกลกับสมองจริงของคนที่มีความสามารถรับรู้การมีอยู่ของตัวเอง พวกเขาบอกว่าการพัฒนาไปไกลถึงขั้นนั้นเป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณ

"พวกเราไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างสมองที่มีโครงสร้างซับซ้อนกว่านี้ การสร้างให้ใหญ่จึงไม่เป็นประเด็นสำหรับพวกเรา สมองแค่นี้ก็มีความซับซ้อนอยู่มากพอสมควร ในกรณีนี้ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ" เจอเกน นอบลิช จากสถาบันชีวเทคโนโลยีฯ กล่าว

สมองเล็กถูกสร้างจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์และถูกแปลงให้เป็นสเต็มเซลล์ด้วยเทคนิควิธีการดัดแปลงวิศวพันธุกรรม จนกลายเป็นเซลล์ต้นตอที่เรียกว่า 'induced pluripotent stem (iPS)' แล้วนำมาเสริมด้วยสารเคมีกระตุ้นและสารอาหารเพื่อให้พัฒนาเป็นเซลล์สมองที่มีโครงสร้างพื้นฐานของสมองตัวอ่อนเช่นส่วนของ ซีรีบรัล คอร์เทกซ์ (Cerebral cortex)

นอบลิชกล่าวว่า ส่วนคล้ายอวัยวะสมองนี้ทำให้สามารถทราบสาเหตุของอาการ 'ศีรษะเล็ก (microcephaly)' ซึ่งเป็นอาการของสมองที่ไม่สามารถเติบโตได้ในขนาดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาช่วยวิจัยเรื่องโรคออทิซึม และโรคจิตเภท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานผิดพลาดของสมองอย่างหาสาเหตุไม่ได้ตั้งแต่ในช่วงพัฒนาการแรกเริ่ม

นอบลิชบอกว่า ก่อนหน้านี้มีการสร้างอวัยวะเทียมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ดวงตา ต่อมใต้สมองหรือต่อมพิทูอิทารี และ ตับ แต่การสร้างส่วนคล้ายสมองเช่นนี้ก็สามารถนำมาศึกษาเรื่องพัฒนาการของสมอง วิเคราะห์การทำงานของยีนในมนุษย์ หรือแม้กระทั่งวิจัยเรื่องโรคได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ทดลองยาแทนการใช้สัตว์ทดลองได้ด้วย

เซลล์ผิวหนังที่ถูกนำมาใช้สามารถถูกแปลงเป็นเนื้อเยื่อตัวอ่อนที่เรียกว่า 'นิวโรเอ็กโทเดิร์ม' ซึ่งสามารถสร้างส่วนประกอบของสมองและระบบประสาทได้ โดยนักวิจัยพบว่าส่วนคล้ายอวัยวะของผู้ป่วยอาการศีรษะเล็กจะไม่สามารถเติบโตได้เร็วเท่าส่วนคล้ายอวัยวะของคนอื่นๆ ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการนำยีนที่ผิดพลาดซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติออกไป

เรื่องนี้มีทั้งนักวิจัยทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์กล่าวสนับสนุน โดยกล่าวไปในทางเดียวกันว่าการสร้างส่วนคล้ายสมองที่มีความซับซ้อนนี้นำมาใช้วิจัยเรื่องโรค และความผิดปกติทางพัฒนาการของระบบประสาทได้

 

เรียบเรียงจาก

Scientists 'grow' a brain in a laboratory for the first time, The Independent, 28-08-2013
http://www.independent.co.uk/news/science/scientists-grow-a-brain-in-a-laboratory-for-the-first-time-8788148.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาสั่งจำคุก 3 ปี ม.112 กรณีเผาโลงศพติดรูป พล.อ.เปรม

Posted: 30 Aug 2013 12:45 AM PDT

ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนกรณี "ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์" เผาโลงประท้วง พล.อ.เปรม และอภิสิทธิ์ ที่โคราชเมื่อปี 52 ว่ามีความผิด ม.112 เนื่องจากข้อความที่เขียนหมายถึงพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ พล.อ.เปรม ด้านเจ้าตัวยืนยันจงรักภักดีไม่เสื่อมคลาย พร้อมฝากคนเสื้อแดงสานต่อนิรโทษกรรมผู้ถูกจองจำและนำทักษิณกลับประเทศไทยให้ได้

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ว่า ศาลจังหวัดนครราชสีมา อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ หรือเจ๊แดง อายุ 64 ปี แกนนำกลุ่มคนของแผ่นดินลูกหลานย่าโม และเป็นเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงออกอากาศในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา และอำเภอใกล้เคียง จำเลยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี 10 วัน

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เม.ย. เมื่อ น.ส.ปภัสชนัญญ์ ได้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มีการประท้วงด้วยการเผาโลงศพจำลองติดรูปนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมเขียนข้อความประท้วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรัฐบาล

โดยการประท้วงดังกล่าวยังเป็นการล้อเลียนกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียก พล.อ.เปรมว่า "พระองค์ท่าน" โดยได้พูดออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ ASTV เมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย. ว่า "เสื้อเหลืองออกมาปกป้อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นประธานองคมนตรี" (คลิปการพูดออกอากาศของนายสนธิ)

สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องจำเลยคือ ผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.นครราชสีมา และ พ.อ.วีระภัทรพล บุญย์เชี่ยว นายทหารเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา ซึ่งเห็นว่าข้างโลงศพที่ใช้เผาประท้วงมีการเขียนข้อความเข้าข่ายความผิดมาตรา 112

สำหรับคดีนี้ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 53 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการที่จำเลยนำโลงศพจำลอง มีข้อความบนสุดว่า "พระองค์ท่าน ..." บรรทัดต่อมามีข้อความว่า "พลเอกเปรม ..." และ บรรทัดต่อมาคำว่า "มรณะ 8 เมษายน 2552" จำเลยอยู่ร่วมในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นผู้เทน้ำมันและจุดไฟเผาโลงศพจำลอง ซึ่งมีข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในนั้น คำว่า "พระองค์ท่าน" นั้น หมายความถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกับพวกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 3 ปี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และต่อมาศาลอุทกรณ์ และศาลฎีกา ก็มีคำพิพากษายืนดังกล่าว

โดยหลังคำพิพากษา น.ส.ปภัสชนัญญ์ ให้สัมภาษณ์ ข่าวสดก่อนเข้าถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำว่า แม้กระบวนการยุติธรรมจะถึงที่สุด แต่ก็ยังยืนยันถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มิเคยเสื่อมคลาย ขอฝากถึงมวลชนคนเสื้อแดงต้องร่วมพลังสานต่อแนวทางประชาธิปไตยด้วยการต่อต้านเผด็จการ และนำ พาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศไทย ส่วนแกนนำเสื้อแดงส่วนกลางต้องช่วยเหลือมวลชนที่ถูกจองจำ พร้อมเร่งผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai