ประชาไท | Prachatai3.info |
- ถ้าถมทะเลปากบาราทำท่าเรือ ‘บ่อเจ็ดลูก’ สูญทันทีปีละ186ล้าน
- คนเขาคูหาฟ้องเหมืองหิน ให้ขึ้นป้ายขอโทษทั่วเมือง
- ทหารซีเรียย้ายข้างหาประชาชน อิทธิพลจากการปฏิวัติลิเบีย
- รายงาน: ชาวไทยสัญชาติอเมริกาที่ถูกดีเอสไอกักขัง ฟ้องเว็บโฮสต์ที่ส่งข้อมูลของเขาให้รัฐบาลไทย
- สื่ออังกฤษตีแผ่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ใช้องค์กรการกุศลบังหน้า หวังแทรกแซงทางการเมือง
- ประชาไทบันเทิง:หลิ่มหลีชวนชม “รักจัดหนัก”
- รักจัดหนัก : ไม่พีค แต่ฟิน
- ภัควดี วีระภาสพงษ์
- สัมภาษณ์ ภัควดี วีระภาสพงษ์: คุยกับนักแปลว่าด้วยคำว่าประชานิยม
ถ้าถมทะเลปากบาราทำท่าเรือ ‘บ่อเจ็ดลูก’ สูญทันทีปีละ186ล้าน Posted: 30 Aug 2011 08:53 AM PDT เชื่อหรือไม่ว่า ท้องทะเลกว้างไม่กี่ตารางกิโลเมตรริมชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะสร้างรายได้จากการจับสัตว์น้ำให้ชาวบ้านได้ถึงปีละ 186 ล้านบาท แล้วรายได้จำนวนนั้น จะหายไปหรือไม่ หากชายฝั่งแถบนี้ถูกเปลี่ยนสภาพไป เพราะผืนทรายชายฝั่งปนโคลนยาวประมาณ 3 กิโลเมตรแถบนี้ คือพื้นที่เป้าหมายในการดูดทรายถมทะเล เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เช่นเดียวกับแหล่งทรายบ้านหัวหิน ตำบลละงู จังหวัดสตูล ทะเลบ่อเจ็ดลูกแห่งนี้ เมื่อระดับน้ำลงต่ำสุดหาดทรายจะกว้างกว่า 200 เมตร มีรูหอย รูปู ร่องรอยของสัตว์น้ำหนาแน่น ทางด้านเหนือและใต้ของชายหาดมีภูเขาตั้งอยู่ ส่วนพื้นที่บนฝั่งเป็นที่ราบทุ่งหญ้า สลับกับสวนสนและสวนมะพร้าว หากสภาพชายหาดถูกเปลี่ยนสภาพไป ร่องรอยของความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้น ก็จะอันตรธานหายไป ก่อนจะถึงวันนั้น ลองมาไล่เรียงดูว่า สัตว์น้ำแต่ละชนิดที่ชาวบ้านจับได้ที่นี่ จะสร้างรายได้ให้อย่างไรบ้าง ผ่านปากคำของหนุ่มใหญ่ชาวประมงพื้นบ้านนาม “จำปา มังกะลู” แห่งบ้านบ่อเจ็ดลูก .........................................
จุดที่จะดูดทรายอยู่ทางด้านทิศเหนือของชายฝั่งทะเลบ้านบ่อเจ็ดลูก ชายฝั่งทะเลแห่งนี้ เป็นที่หากินของชาวประมงจาก 9 หมู่บ้าน กว่า 1,200 ครัวเรือน เป็นพื้นที่หากินที่ใช้สลับกันไปมากับอ่าวปากบารา ที่อยู่ห่างออกไปแค่ขับเรืออ้อมเกาะเขาใหญ่ ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในช่วงฤดูมรสุม ชาวประมงจะไปจับสัตว์น้ำในอ่าวปากบารา เพราะเกาะช่วยบังคลื่นลมแรงให้ พอนอกฤดูมรสุม ชาวบ้านจะมาจับสัตว์น้ำที่ชายฝั่งบ่อเจ็ดลูก การจับสัตว์น้ำที่นี่ จึงทำได้เพียงปีละ 6 เดือนเท่านั้น ที่ชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ชาวบ้านที่มีเรือประมง จะมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยมากที่สุดประมาณ 5,000–6,000 บาทต่อวันต่อลำ ต่ำสุดประมาณ 400–500 บาทต่อวันต่อลำ โดยยังไม่หักค่าน้ำมัน ส่วนชาวประมงชายฝั่งที่ไม่มีเรือ จะมีรายได้แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ประเภทของเครื่องมือประมงที่ใช้ และฤดูกาลของสัตว์น้ำแต่ละชนิด การจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดบริเวณชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก สามารถแยกแยะรายได้ ตามประเภทของเครื่องมือประมง จำนวนชาวประมง และฤดูกาลของสัตว์น้ำได้ ดังนี้
หอยตะเภา เป็นสัตว์น้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดของชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก เนื่องจากในชายฝั่งทะเลอันดามันมีหอยตะเภาอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือที่บ้านบ่อเจ็ดลูกกับชายหาดปากเมง จังหวัดตรัง ชาวบ้านจับหอยโดยใช้วิธีการแบบพื้นบ้าน มีชาวประมง 400 คน ที่จับหอยตะเภาขาย จับได้เพียง 6 เดือนต่อปี เฉลี่ยคนละ 5–10 กิโลกรัมต่อวัน รวมประมาณ 2,000 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 200 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 400,000 บาทต่อวัน ระยะเวลาการจับ 180 วันต่อปี หรือ 6 เดือน ขายได้รวมประมาณ 72,000,000 บาท ไซปู ใช้ในการจับปู หากินได้ตลอดทั้งปี มีเรือประมงไซปูจำนวน 200 ลำ รายได้เฉลี่ยวันละ 200 บาทต่อลำ รวมรายได้ทั้งหมดต่อวันประมาณ 80,000 บาท รวมทั้งปี ประมาณ 29,200,000 บาท อวนกุ้ง จับได้เพียง 4 เดือนต่อปี มีเรืออวนกุ้งจำนวน 300 ลำ มาจาก 3 ตำบลในอำเภอละงู จับกุ้งได้เฉลี่ยวันละ 500 บาทต่อลำ รวมรายได้ทั้งหมดต่อวันประมาณ 150,000 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 4 เดือน ประมาณ 18,000,000 บาท อวนปลาทราย มีเรือประมงจับปลาชนิดนี้ 200 ลำ จับได้ตลอดทั้งปี มีรายได้วันละประมาณ 500 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 100,000 บาท รวมทั้งปีประมาณ 36,500,000 บาท อวนปู มีเรือประมงใช้อวนปู 50 ลำ จับได้ตลอดทั้งปี รายได้เฉลี่ยวันละ 400 บาทต่อลำ รวมวันละ 20,000 บาท รวมทั้งปีประมาณ 7,200,000 บาท โป๊ะน้ำตื้น โป๊ะน้ำตื้นเป็นเครื่องมือดักจับปลาประจำที่ชนิดหนึ่ง มีทั้งหมด 200 ลูก จับได้ 5 เดือนต่อปี รายได้เฉลี่ยวันละ 800 บาทต่อลูก รวมทั้ง 200 ลูก ตกวันละ 160,000 บาท รวม 5 เดือนได้ประมาณ 24,000,000 บาท
รวมรายได้ทั้งหมดที่ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ในแถบชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูกสูงถึงประมาณ 186 ล้านบาทต่อปีทีเดียว นอกจากนี้ชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกยังมีรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วย โดยมีกลุ่มเรือประมงที่นำนักท่องเที่ยวมาชมวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น ดูการจับปู โดยร่วมมือกับรีสอร์ทในหมู่บ้าน ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีกรวมประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี ถ้ามีการขุดทรายในบริเวณชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ไปถมที่ทำท่าเรือน้ำลึกปากบารา ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวประมงแน่นอน ชาวประมงที่นี่จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คนเขาคูหาฟ้องเหมืองหิน ให้ขึ้นป้ายขอโทษทั่วเมือง Posted: 30 Aug 2011 08:44 AM PDT เมื่อเวลา 09.30 –12.30 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่ศาลจังหวัดสงขลา ศาลได้นัดคู่พิพาทในคดีหมายเลขดำที่ 664/2554 ระหว่างบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกชัย อิสระทะ และพวกรวม 9 คน ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ นายครื้น บุญรัตน์ นายสุทธิวงศ์ รักเงิน นายบรรจง ทองเอื่อย นายประเวศ จันทะสระ นายสุวรรณ อ่อนรักษ์ นายนิพนธ์ ปราบฤทธิ์ และนางสาวอรปรียา บุญรัตน์ ฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหา ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ เรียกค่าเสียหาย 64,740,485 บาท ศาลพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยนานประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทนายของบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด จึงขอเวลา 20 วัน เพื่อเตรียมคำให้การ ศาลจึงมีกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก เป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่ศาลจังหวัดสงขลา นายเอกชัย อิสระทะ และชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาประมาณ 15 คน ได้เข้าให้ปากคำต่อศาลในคดีนี้ พร้อมกับยื่นฟ้องแย้งว่า จากการทำหนังสือชะลอการต่ออายุประทานบัตร เป็นสิทธิหน้าที่ของพลเมืองในการดูแลทรัพยากรของชาติ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านในเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาเสียเวลา จึงขอให้ศาลสั่งให้บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในชั้นศาลให้กับชาวบ้านทั้ง 9 คน คนละ 9,999 บาท รวมเป็นเงิน 89,991 บาท พร้อมกันนี้ ยังขอให้ศาลสั่งให้บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ขอโทษชาวบ้านมีความว่า “บริษัทพีรพลมายนิ่งจำกัด ขอโทษพี่น้องชาวเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 64 ล้านบาท กล่าวร้ายให้ชาวเขาคูหาได้รับความเสียหาย ทั้งที่ชาวเขาคูหาใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน” ผ่านสถานีวิทยุ 10 สถานี ประกอบด้วย สถานีวิทยุ อสมท., สถานีวิทยุชุมชน, สถานีไทย, สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ฯลฯ เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน พร้อมกับให้ตีพิมพ์โฆษณาขอโทษในหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ข่าวสด, มติชนรายวัน, ไทยโพสต์, คม ชัด ลึก, ASTV ผู้จัดการ, กรุงเทพธุรกิจ ฯลฯ เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน เฉพาะหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส และสมิหลาไทม์ ให้ตีพิมพ์โฆษณาขอโทษ 15 ฉบับติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังขอให้ขึ้นป้ายคัทเอาท์ขอโทษ ขนาด 6 คูณ 12 เมตร ในสถานที่ต่างๆ รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินหาดใหญ่, ห้าแยกน้ำกระจาย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา, แยกลพบุรีราเมศร์ตัดกับถนนเพชรเกษม, สี่แยกคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, แยกท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, หน้าที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, หน้าองค์การบริหารส่วนตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, สามแยกโคกทราย ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง และปากทางเข้าบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ทั้ง 2 ด้าน พร้อมกับให้ขึ้นผ่านป้ายคัทเอาท์ขอโทษ ขนาด 1.2 คูณ 2.4 เมตร ทั้ง 14 หมู่บ้าน ในตำบลคูหาใต้ หมู่บ้านละ 4 ป้าย รวม 56 ป้าย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทหารซีเรียย้ายข้างหาประชาชน อิทธิพลจากการปฏิวัติลิเบีย Posted: 30 Aug 2011 07:05 AM PDT 29 ส.ค. 2554 - สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังรถหุ้มเกราะของซีเรียล้ นักกิจกรรมและประชาชนในพื้นที่ มีรายงานว่าทหารซีเรียหนีทั มีประชาชนในพื้นที่เล่าว่ ประชาชนในพื้นที่รายหนึ่งเล่าว่ นอกจากรัสตันแล้ว ทหารยังได้นำกองกำลังเจ้าหน้าที่และรถถังเข้าไปยังหมู่บ้านที่ กลุ่มสิทธิมนุษยชน SOHR รายงานอีกว่ามีผู้ชุมนุม 15,000 รายออกมาประท้วงข้ามคืนในเมื ทหารหนีทัพ กลุ่มทหารย้ายข้างได้ "ทหารเกณฑ์อายุน้อยที่หนีทัพมั ตุรกีเตือนซีเรีย หยุดยิงและหันมาฟังประชาชน ขณะเดียวกัน ประเทศตุรกีซึ่งมีสายสัมพันธ์ "พวกเราได้เห็นชะตากรรมของคนที่ "ความต้องการประชาธิปไตยและเสรี
.................................................... ที่มา Syria force surrounds town after defections: residents, Reuters, 29-08-2011
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: ชาวไทยสัญชาติอเมริกาที่ถูกดีเอสไอกักขัง ฟ้องเว็บโฮสต์ที่ส่งข้อมูลของเขาให้รัฐบาลไทย Posted: 30 Aug 2011 02:38 AM PDT Ars Technica เว็บไซต์ข่าวไอทีรายงานคดีพลเมืองสหรัฐเชื้อสายไทยฟ้องบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จากกรณีบริษัทดังกล่าวส่งข้อมูลส่วนตัวของเขาให้กับรัฐบาลไทย จนทำให้เขาถูกกักขัง เอกสารคำฟ้องระบุการละเมิดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ .... แต่ตามข้อมูลในคดีความล่าสุด ในขณะที่ชัยกำลังเดินทางกลับแคลิฟอร์เนีย ผ่านทางสนามบินที่กรุงเทพ เขาถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงห้าคนกักตัวเอาไว้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานให้กับกรมสอบสอนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พวกเจ้าหน้าที่แจ้งกับชัยว่า พวกเขามีหมายจับตัวเขา จากการกระทำผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ — การกล่าวในที่สาธารณะที่จงใจละเมิด "เกียรติภูมิ" ขององค์พระประมุข กฎหมายดังกล่าวของประเทศไทย [ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112] ซึ่งถูกใช้กับ YouTube ในปี 2550 ดูเผิน ๆ แล้ว (ค่อนข้าง) มีขอบเขตจำกัด "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" มันกำหนดความผิดและลงโทษผู้ที่กระทำความผิดจากการให้วาจาหมิ่นประมาทตามที่กำหนดด้วยโทษจำคุกที่ยาวนาน แต่นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ในขณะนี้กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้กับใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เจ้าหน้าที่ดีเอสไอนำชัยไปยังกองสอบสวน ชัยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เขากินข้าว กินน้ำ และยังไม่ให้เขานอนจนกระทั่งตีสามครึ่ง โดยระหว่างนั้นก็ได้พูดถึงข้อกล่าวหาและข่มขู่เขาตลอดเวลา "ผมรู้ว่าญาติคุณอาศัยอยู่ที่ไหนในกรุงเทพและแคลิฟอร์เนีย" ชัยกล่าวว่าตำรวจนายหนึ่งพูดกับเขาอย่างนั้น "ถ้าคุณอยากให้พวกเขามีชีวิตอย่างสงบสุข คุณต้องให้ความร่วมมือ" รัฐประหารที่ไร้เลือด แอนโทนี ชัย เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ในช่วงเวลาที่โกลาหลที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ในตอนที่เขาเดินทางมาถึง นายกรัฐมนตรีประชานิยม ทักษิณ ชินวัตร กำลังประสบความยากลำบากมากมาย และกำลังต่อสู้เพื่อชีวิตทางการเมือง (และชีวิตจริง ๆ) ของเขา ฝ่านตรงข้ามกับพรรคไทยรักไทยของเขา ต่างบอยคอตไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งใหม่ที่เขาประกาศให้มีขึ้น โดยกล่าวหาว่าทักษิณนั้นทุจริต ในเดือนกันยายน ท่ามกลางการก่อการร้ายและความพยายามในการลอบสังหาร กองทัพก็ได้นำทักษิณออกจากอำนาจการเมือง และแบนพรรคไทยรักไทยจากการเมือง จากข้อมูลในคำฟ้อง ในช่วงแรกที่เขาถูกกักขังชัยได้ร้องขอทนาย เขาได้ทนายในที่สุด แต่ทนายคนดังกล่าวแทบไม่พูดอะไรเลยในระหว่างที่เขาถูกสอบสวน นอกจากแนะนำให้เขาตอบคำถาที่ตำรวจถาม เขาต้องอดทนจนกระทั่งผ่านพ้นการถามคำถามที่ยาวนานสองช่วงมาได้ ซึ่งตลอดเวลานั้นเขาไม่ได้รับอาหาร น้ำ หรืออนุญาตให้นอน คำฟ้องระบุว่า ในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เอาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของเขาไป และ "ใช้กำลังบังคับ" ให้ชัยบอกรหัสผ่านความปลอดภัยต่าง ๆ ของเขา ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าว จากนั้น "เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังบังคับเขาให้บอกที่อยู่อีเมลและรหัสผ่านของเขาทั้งหมด" ในช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้แสดงเอกสารฉบับหนึ่งให้ชัยดู เอกสารดังกล่าวเปิดเผยที่อยู่อีเมลที่เขาและคนที่เขารู้จักใช้ในการโพสต์ความเห็นที่เว็บไซต์ manusaya.com และในตอนสุดท้าย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ใช้กำลังบังคับเขาให้เขียนแถลงการณ์ซึ่งมีข้อความว่า เขารับสารภาพว่าเขาได้ทำผิดกฎหมายหมิ่นพระเดชานุภาพของไทย เขาสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีก และเขายกย่องพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย 17:00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 ชัยถูกปล่อยตัว แต่ถูกเตือนว่าเขาอาจถูกจับได้อีกหากเดินทางกลับมาประเทศไทย เขาติดต่อครอบครัวของเขาเพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง และเดินทางกลับไปยังลองบีช แคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งเขาเปิดร้านขายและรับซ่อมคอมพิวเตอร์ ถึงเวลายอมจำนน แต่ประสบการณ์เจ็บปวดของชัยไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เอกสารคำฟ้องกล่าวว่า ชายที่ดูแลการสอบสวนของเขาในตอนนั้น พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน ได้เริ่มติดต่อชัยในขณะที่ชัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยญาณพลขอให้ชัยส่งสำเนาของ "เอกสารสนับสนุนประชาธิปไตยหรือต่อต้านสถาบันกษัตริย์ใด ๆ ก็ตามที่เขามีในครอบครอง" คำฟ้องระบุว่า ญาณพลไม่เพียงติดต่อเขาทางอีเมลเท่านั้น ในเดือนกรกฎาคม 2006 ญาณพลยังได้มาหาชัยที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ญาณพลเข้ารับการอบรมที่จัดโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตันดีซี สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นถูกอธิบายไว้ดังนี้:
ชัยได้ถามว่าเขาจะได้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเขาคืนหรือไม่ และได้รับคำตอบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะอยู่กับเจ้าหน้าที่ไปจนตลอดการสอบสวน หลังจากนั้น ญาณพลได้เขียนไปหาโจทก์บอกให้เขากลับประเทศไทยเพื่อสอบถามเพิ่มเติม "ถึงเวลาสำหรับคุณแล้ว ที่จะยอมมอบตัวอย่างเป็นทางการต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนของคดีนี้" ข้อความหนึ่งอธิบาย "คุณต้องมามอบตัวที่สำนักงานของเราในวันที่ 24 สิงหาคม 2006 เวลา 10:00 น..." ที่นี่ไม่ต้อนรับคำวิจารณ์ แอนโทนี ชัย ได้พูดอะไรที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ของไทยจริง ๆ หรือไม่ ? ไม่เลย โดยใช้ที่อยู่อีเมลนิรนาม เขาได้โพสต์ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse majesté) ของไทยลงในเว็บไซต์ www.manusaya.com ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยได้ประณามต่อสาธารณะว่าเว็บไซต์ดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้คน "เสื่อมศรัทธาและความรักต่อสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเจ้าฟ้าหญิงทุกพระองค์"เว็บไซต์ดังกล่าวถูกปิดในที่สุดโดยเน็ตเฟิร์ม บริษัทให้เช่าพื้นที่เว็บสัญชาติแคนาดา ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย แต่เน็ตเฟิร์มไม่ได้เพียงปิดเว็บไซต์ ชัยและทนายของเขากล่าว คำฟ้องระบุว่า "เวลาใดเวลาหนึ่งก่อนเดือนพฤษภาคม 2549 ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยอีกเช่นกัน Netfirms.com ได้มอบหมายเลขไอพีของนายชัย และที่อยู่อีเมลอีกสองอันซึ่งเชื่อมโยงกับหมายเลขไอพีดังกล่าว" "โดยนายชัยไม่ได้รับรู้หรือให้การยินยอม" นอกจากนี้เน็ตเฟิร์มยังถูกกล่าวหาว่า ส่งมอบข้อมูลดังกล่าวนี้โดยไม่ได้ร้องขอคำสั่งศาล หมายศาล หรือใบอนุญาตใด ๆ จากเจ้าหน้าที่ของไทย และไม่ได้ติดต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเพื่อขอคำแนะนำ ในตอนนี้ ชัย ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรสากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (World Organization for Human Rights) ได้ฟ้องเน็ตเฟิร์มให้จ่ายค่าชดใช้และค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000 เหรียญสหรัฐ คดีของเขายื่นฟ้องต่อศาลแขวงแคลิฟอร์เนียกลาง โดยกล่าวหาว่าเน็ตเฟิร์มได้ละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของแคนาดา (Personal Information Protection and Electronic Documents Act - PIPEDA), มาตราที่ว่าด้วยความเป็นส่วนตัว ในประมวลกฎหมายธุรกิจและวิชาชีพของแคลิฟอร์เนีย (Business and Professions Code), และคำประกาศสิทธิซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนีย เว็บไซต์ข่าวอาร์สเทคนิกาได้ติดต่อเน็ตเฟิร์มเรื่องคดีนี้แล้ว โดยตัวแทนของบริษัทกล่าวว่ายังบริษัทยังไม่มีความเห็นในขณะนี้ แปลจาก Thai censorship critic strikes back at snitch Web host โดย Matthew Lasar, Ars Technica, 29 ส.ค. 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สื่ออังกฤษตีแผ่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ใช้องค์กรการกุศลบังหน้า หวังแทรกแซงทางการเมือง Posted: 29 Aug 2011 10:52 PM PDT เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียนของอังกฤษเปิดเผยว่า องค์กรการกุศลในราชูปถัมป์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการล็อบบี้รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองที่อ่อนไหวในหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการ์เดียนชี้ว่า การกระทำดังกล่าว จะทำให้ข้อถกเถียงเรื่องบทบาททางการเมืองของราชวงศ์ กลายประเด็นอีกครั้งหนึ่ง หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ได้เปิดเผยจดหมายโต้ตอบระหว่างมูลนิธิในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เช่น มูลนิธิธุรกิจในชุมชน (Business in the Community), มูลนิธิในราชูปถัมป์เพื่อสิ่งปลูกสร้าง (the Prince’s Foundation for the Built Environment) กับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความพยายามขององค์กรในราชูปถัมป์ต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ เช่น เรื่องการออกแบบผังเมือง การลดภาษีมูลค่าเพิ่มในการบูรณะสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ เป็นต้น จดหมายดังกล่าว ซึ่งนสพ. เดอะ การ์เดียน ได้มาจากการร้องขอผ่านพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เปิดเผยว่า Ros Kerslake ประธานกรรมการบริหารกองทุนบูรณะในราชูปถัมป์ (Prince’s Regeneration Trust) ได้เข้าพบ Grant Shapps รัฐมนตรีกระทรวงการเคหะ เพื่อกดดันกรมคลังให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มในการฟื้นฟูบูรณะสิ่งก่อสร้าง นสพ.การ์เดียน ยังเปิดเผยว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีดังกล่าวในการดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ของพระองค์ด้วย การกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดข้อกังวลว่า การใช้อำนาจทางการเมืองของฟ้าชายชาร์ลส์อาจก่อให้เกิดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์อดัม ทอมกินส์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวว่า เนื่องจากมูลนิธิดังกล่าวก่อตั้งโดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งอาจแฝงวาระทางการเมืองไว้ ทำให้อาจมองได้ว่า การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการแทรกแซงทางการเมือง และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันซึ่งควรอยู่เหนือการเมือง นอกจากนี้ มูลนิธิของเจ้าชายชาร์ลส์ ยังถูกมองว่า ใช้อภิสิทธิ์ในการเข้าถึงการพิจารณางบประมาณได้ง่ายและรวดเร็วมากกว่าองค์กรการกุศลอื่นๆ ทั่วไป พอล ริชาร์ด รัฐมนตรีกระทรวงชุมชนและสุขภาพมองว่า ในความรู้สึกของตน มูลนิธิดังกล่าวได้รับสถานะพิเศษ และได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะภายใต้รัฐบาลใดๆ “เมื่อมีจดหมายจากฟ้าชายชาร์ลส์เข้ามา [ในรัฐสภา] จะมีความรู้สึกของการวิ่งเต้นเป็นพิเศษ และช่องทางในการเข้าถึงสำหรับตำแหน่งและมูลนิธิของพระองค์ ก็ดูเหมือนจะง่ายมาก อย่างที่องค์กรอื่นๆ เทียบไม่ได้” ริชาร์ดกล่าว ทั้งนี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นประธานมูลนิธิการกุศลทั้งหมด 20 แห่ง ในจำนวนทั้งหมด พระองค์เป็นผู้ก่อตั้ง 18 แห่ง และถูกมองอย่างกว้างขวางว่า เป็นความพยายามของพระองค์ ในการขยายอิทธิพลทางด้านนโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อมในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม โฆษกของสำนักพระราชวังของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กล่าวว่า มูลนิธิดังกล่าวเป็นองค์กรอิสระที่มีคณะกรรมการเป็นผู้ดูแลกำกับ และมีการสื่อสารกับรัฐบาลอยู่แล้วเป็นเรื่องปรกติ ก่อนหน้านี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องความพยายามใช้อิทธิพลส่วนตนต่อนโยบายสาธารณะ โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า พระองค์โปรดให้รัฐมนตรีจากหลายกระทรวงเข้าพบเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพัฒนานานาชาติ แต่การพูดคุยดังกล่าว ถือว่าเป็นความลับ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นในพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร จึงไม่อาจเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นของพ.ร.บ. ดังกล่าวไม่สามารถใช้กับองค์กรการกุศล ศาสตราจารย์อดัม ทอมกินส์ ตั้งคำถามว่า การตั้งองค์กรเครือข่ายเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เช่น มูลนิธิในราชูปถัมป์ดังกล่าว สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญระบุไว้หรือไม่ “แผนการดำเนินการดังกล่าวนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า การทำงานรณรงค์เพื่อสาเหตุที่ดี [ขององค์กรการกุศล] แต่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยเช่นนี้ จะทำลายการดำรงตนที่เหมาะสมของสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะการอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางหรือไม่” ศาสตราจารย์ม.กลาสโกว์ กล่าว อนึ่ง ในปี 2552 มูลนิธิในราชูปถัมป์เพื่อสิ่งปลูกสร้าง (the Prince’s Foundation for the Built Environment) ได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการการกุศล (Charity Commission) หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า มูลนิธิดังกล่าว ใช้อิทธิพลส่วนพระองค์แทรกแซงการออกแบบสิ่งปลูกสร้างแห่งหนึ่งในลอนดอน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ คณะกรรมการฯ ได้ชี้แจงว่า ไม่มีการกระทำใดๆ ของมูลนิธิที่อยู่นอกเหนือจุดมุ่งหมายทางการกุศล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประชาไทบันเทิง:หลิ่มหลีชวนชม “รักจัดหนัก” Posted: 29 Aug 2011 10:33 PM PDT เรียน ผู้อึดอัดที่จะสอนลูกหลานของตนเองหรือของคนอื่นในเรื่องเพศ ที่มีเกียรติทุกท่าน หลิ่มหลีเข้าใจความอึดอัดใจของการสอนสั่งคนวัยเยาว์ของเราในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์จริงๆ วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่นำประเพณีมากลบเกลื่อนเรื่องประเวณีที่โด่งดังของเราอย่างชัดเจน และน่ากระอักกระอ่วน ความย้อนแย้งนี้ ทำให้ ผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเรา รู้สึกอึดอัดใจที่จะสอนลูกหลานของเราให้ได้รับรู้ถึงผลของการไม่ได้เตรียมการมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่ยังไม่ถึงครา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว การมีเพศสัมพันธ์นั้นควรจะอยู่ในวัยไหน เรากันเองก็ไม่เคยได้รับรู้เลย คนสมัยก่อน ก็แต่งงานกันแต่อายุน้อย 13-17 คนสมัยนี้ก็เอากันแต่วัยนี้เหมือนกัน ...แต่กลับกลายเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรไปได้นี่ ในขณะเดียวกันการป้องกันในการมีีเพศสัมพันธ์นั้น เราก็ได้แต่พูดกันน้อยๆ ว่า “เออ ใช้ถุงยาง” เราพูดกันมากกว่านี้ก็กลายเป็นเรื่องกระดากปาก ต่อให้ยุคสมัยนี้จะเป็นสมัยที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาให้แทรกซึมให้เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติมากขึ้น แต่...ความที่เราเรายังโดนหนีบเหนียมความอายในการเปิดเผยเรื่องพวกนี้ มันก็ทำให้ การตักเตือน หรือการแนะนำ เป็นเรื่องยากเย็นอยู่ดี ฉะนั้น เพื่อการให้การแนะนำเป็นไปได้ง่าย ให้ได้รู้ถึงเหตุและผลของการกระทำในรูปแบบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับใครก็ได้ในสังคมโลกใบนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นของประเทศนี้เสมอไป หลิ่มหลีอยากขอเรียนเชิญ ท่านผู้มีเกียรติได้ไปดูหนังฟอร์มเล็กๆ แต่มากไปด้วยคุณภาพที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเข้าใจในวัยรุ่นไทยที่อยู่ท่ามกลางกระแสของสังคมไทยที่ยังไม่มีจุดลงตัวสำหรับพวกเขาที่ชัดเจน “รักจัดหนัก” ทำไมหลิ่มหลีถึงเชิญท่าน หนังเรื่องนี้ ไม่ใช่หนังที่สอนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นการสอนให้เด็กได้รู้ผลแห่งการกระทำในเรื่องเพศ ว่า...แต่ทำไมต้องเป็นเรื่องราวของเด็กมัธยม หลิ่มหลีอยากเล่าอะไรอะไรหลายๆอย่างที่หลิ่มหลีมีโอกาสได้ประสบกับตัวเอง สิบปีก่อน หลิ่มหลีได้มีโอกาสกลับไปกราบครูสอนพิเศษสมัยมัธยมที่เคยมาสอนที่บ้าน หลิ่มหลีและครูคุยกันด้วยความสนิทสนม หลิ่มหลีชวนคุยเรื่องทั่วไป ก็มีการถามถึงเรื่อง การสอบเอ็นสะท้านของเด็กรุ่นใหม่ ครูมีความหนักใจอย่างไรบ้างไหม กับเด็กเอ็นสะทร้านส์ในยุคปัจจุบัน คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “หลิ่มหลีเอ๋ย ทุกวันนี้ ครูมัธยมแทบไม่ได้ประชุมคุยกันเรื่องการสอบของเด็กเลย เราคุยกันแต่ปัญหาวัยรุ่น ที่หนักใจครูที่สุด คือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กมัธยมต้นไปนอนกับผู้ชายเร็วเกินวัย ทุกวันนี้มันกลายเป็นแบบนี้ไปแล้ว” นี่คือตัวอย่างหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีก่อน หลิ่มหลีได้มีโอกาสได้คุยกับเด็กหนุ่มที่หลิ่มหลีอุปการะบ้างเวลาได้พบกัน เขาโตเป็นหนุ่มแล้ว เรียน ม. 2 ได้ หลิ่มหลีถามตรงๆว่า “ไปนอนกับใครมาบ้างหรือยัง” หลิ่มหลีเป็นคนตรงไปตรงมาค่ะ เรารู้ว่าวัยนี้ ยังไงก็หนีไม่พ้น สิ่งที่ตอบกลับมาคือ “ยังครับ” หลิ่มหลีถอนหายใจยาว โล่งอก ประเด็นที่หลิ่มหลีตั้งเป้าจะไปให้ถึงคือ อยากให้เขาได้ใช้ถุงยาง แต่เขาก็บอกต่อว่า “ผมไม่หล่อ สาวๆเลยไม่มาขอนอนด้วย ไปขอนอนกับเพื่อนผมคนที่หล่อๆกันหมด” หล่ิมหลีเข้าใจ และ นิ่งที่จะฟังเด็กในสังกัดไปเรื่อยๆถึงพฤติกรรมของสาวๆรอบตัวเขาในเรื่องเพศ และในที่สุด หลิ่มหลีก็ได้โอกาสสอนเขาให้ใช้ถุงยาง และให้เงินไปซื้อเก็บไว้เมื่อจำเป็น สอนเขาถึงปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องโรคภัยหรืออนาคตที่วุ่นวาย เด็กสมัยนี้ เราจะให้เขาได้มีความคิดใสๆ ไม่รับรู้ ไม่เรียนรู้เรื่องทางเพศคงจะไม่ได้แล้ว มันห้ามไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ ก็ได้แต่ต้องแก้ไขกันไป แต่จะทำอย่างไร ในประเทศที่มีจารีตประเพณีที่ไม่ค่อยให้ผู้ใหญ่ได้มีโอกาสสั่งสอนลูกหลานหรือลูกศิษย์ของตัวเองในเรื่องเพศ ทั้งเหตุทั้งผลลัพธ์ เมื่อยามหลิ่มหลีกลายมาเป็นอาจารย์บ้าง อยากแสนอยากจะพูด จะบอกให้เขาได้รู้ ได้เข้าใจ แต่ก็ยากเย็น หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังที่ช่วยเรา “รักจัดหนัก” เป็นหนังที่สอนอย่างมีคุณภาพในแง่มุมที่เราผู้เป็นอาจารย์ ครูของใครๆ หรือเป็นผู้ปกครองของลูกหลานเราเอง โล่งอกที่จะไม่ต้องพูดอะไรมากมายในเรื่องเพศ หรือเรื่องการเผชิญปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราได้ดูก่อน เราจะรู้เลยว่า เราควรจะแนะนำให้เขาดู โดยที่เราจะไม่จำเป็นต้องอธิบาเหตุและผลของการกระทำในสิ่งที่อาจจะเป็นอุบัติเหตุของชีวิตที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน เชื่อได้เลยว่า คุณจะอยากให้เด็กในปกครองของคุณได้ดูเรื่องนี้แน่ๆค่ะ เพราะ...รัก(นี้)จัดหนัก ช่วยผู้ปกครองในการสอนลูกสาว หรือลูกชาย ว่าการพลั้งพลาดและพลั้งเผลอ มันป้องกันกันได้ สังคมที่เราล้อมคอกไว้ไม่ไหวแล้ว เราก็ต้องใช้หนังเรื่องนี้ “รักจัดหนัก” มาสอนเด็กของเราไปก่อน ก่อนที่เขาจะได้ก้าวไปสู่สังคมที่ยังเวียนว่ายกับความตอแหลที่ไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่อย่างพอเพียงในเรื่องเพศ หนังเรื่องนี้ แบ่งเป็นหนังสั้น สามตอน ... แต่ละตอนจะมีแนวทางที่บอกให้รู้ถึงทางที่เลือกแล้ว และทางที่กำลังจะไป และทางที่ถึง ณ จุดจุดหนึ่ง หนังเรื่องนี้จะบอกถึงความคิดของเด็กซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตจริง มีจริง เกิดแล้วจริง “รักจัดหนัก”จะทำให้คุณได้ก้าวไปสู่โลกของพวกเขาอย่างแท้จริง เห็นได้จริง คำพูดเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำพูดที่วัยรุ่นคุยกันในโลกที่ซึ่งเราไม่ได้รับทราบกันมานานมากแล้ว ลักษณะการสร้างหนังเหมือนกับพวกเขาทำกันเอง คุยกันเอง แล้วมีเราเป็นผู้รับชมโลกของเขา (อย่าตกใจนะคะ นี่คือธรรมชาติของเขาจริงๆเลยค่ะ) เฉกเช่นหนังคุณภาพเรื่องอื่นที่เราจะให้ความใส่ใจในเนื้อเรื่อง ทั้งสามเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงที่จะทำให้สังคมของเรา เดินทางสู่ความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น หนังสามเรื่องสั้นนี้จะทำให้ผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ได้กลายมาเป็นผู้ใหญ่ และทำให้เด็กวัยรุ่นได้เรียนรู้ว่าการเติบโตไปในอนาคตนั้นมันอยู่ที่การตัดสินใจของพวกเขาเองทั้งนั้น หนังเรื่องนี้ จะสอนให้สังคมไทยของเราได้ก้าวข้ามความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า Mutual Social กันซะที รักจัดหนักค่ะ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 29 Aug 2011 10:23 PM PDT ด้วยความแรงของการโฆษณา ฉันเชื่อว่าความคาดหวังของฉันต่อหนังวัยรุ่นเรื่อง “รักจัดหนัก” ก็คงคล้ายๆ กับอีกหลายๆ คน คือหวังจะได้เห็นอะไรแรงๆ อะไรที่แหกแหวก อะไรที่อื้อฉาวเร้าใจ แบบที่ไม่เคยจะมีหนังไทยเรื่องไหนกล้าทำมาให้เห็น (ส่วนมันจะได้แก่อะไรคงแล้วแต่ว่าจินตนาการของใครไปถึงไหน) และหลังจากดูจบ ฉันคิดว่าความรู้สึกของฉันก็คงไม่ต่างจากอีกหลายๆ คนนั่นแหละ คือ “ผิดคาด” และ “ไม่สมหวัง” แต่แม้จะไม่ได้เจอสิ่งที่แอบหวังแบบตื่นเต้นว่าอยากจะเจอ ฉันก็พบด้วยความตื่นเต้นด้วยในเวลาเดียวกันว่า ฉันกลับได้เจอสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ว่าจะเจอ หรือพูดได้ว่า ถึงจะ “ผิดคาด” แต่ไม่ “ผิดหวัง” หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของใคร เจออะไร ฉันคงไม่มาเล่าให้เปลืองที่ในที่นี้เพราะเป็นข้อมูลที่หลายคนคงได้ผ่านตาแล้ว และหลายคนก็อาจจะได้ดูหนังแล้วด้วยซ้ำไป (ฉันเองแอบได้ดูล่วงหน้าไปก่อนตั้งแต่ในงานกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศงานหนึ่งซึ่งเขาฉายหนังเรื่องนี้ประกอบ) แต่สิ่งที่ทำให้ฉันเกิดอาการ “ติดใจ” จนต้องมานั่งเขียนบรรยายก็คือ ถึงแม้ประเด็นของหนังจะเล่นกับเรื่องที่หนังวัยรุ่นไทยๆ ทั่วไปแทบไม่เคยพูดถึงตรงๆ อย่างเรื่องการมีเซ็กซ์, ท้อง, ทำแท้ง, ฯลฯ แต่แทนที่จะเล่าออกมาด้วยน้ำเสียงหดหู่ ไร้ความหวัง หรือประดังประเดฉากรุนแรงสะใจ หนังกลับเล่าเรื่องเครียดๆ พวกนี้แบบผ่อนคลายสบายๆ ขนาดที่ว่าในหลายช่วงดูเรื่อยๆ ชนิด “ไม่พีค” เลยด้วยซ้ำ (เอ๊ะ หรือฉันควรใช้คำว่า “ไม่ถึง” คริคริ) ถ้าคิดตามความคุ้นเคยของเราจากการดูหนังปกติทั่วไป การที่หนังทั้ง 3 เรื่องใน “รักจัดหนัก” เป็นหนังสั้นที่เล่าประเด็นหลายอย่าง แถมแต่ละเรื่องก็ไม่ได้เล่าถึงขั้นพีคอย่างที่ว่า อาจทำให้รู้สึกว่าหนังไม่เต็มอิ่มสักเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือ ฉันพบว่าขณะที่ฉันมักจะฟินสุดๆ ในโรงกับหนังหลายๆ เรื่องที่เล่าครบตามสูตรเป๊ะนั้น เมื่อเดินออกจากโรงฉันกลับแทบไม่ได้นึกถึงหรือรู้สึกอะไรกับหนังนั้นอีกนอกจากจำได้ว่ามันสนุกดี แต่กับเรื่องนี้ ฉันกลับยังมีความรู้สึกหลงเหลืออยู่มากมายและมีอะไรต่ออะไรให้นึกถึงต่อเนื่องเต็มไปหมด คิดดูแล้ว ฉันพบว่า การที่หนังมันเล่าเรื่องไปแบบไม่โฉ่งฉ่างโครมครามนี่แหละ ที่ทำให้มันยิ่งดู “จริง” ไม่ได้หมายถึงจริงแบบพาเราไปเห็นฉากเด็กเอากันชัดๆ อะไรแบบนั้น แต่จริงในแง่ที่มันพาเราไปนั่งจับเข่าวัยรุ่นแต่ละคนและคอยสังเกตหรือรับฟังความรู้สึกของเขา (แม้บางทีพวกเขาก็ไม่ได้พูดออกมา) โดยเฉพาะคนที่กำลังเจอปัญหา (แถมเป็นปัญหาที่พวกเขาบอกใครไม่ค่อยได้ ปรึกษาพ่อแม่ก็ไม่ได้ บอกสังคมก็ไม่ได้) และเป็นการรับฟังที่ไม่ได้มาพร้อมคำตัดสินพิพากษาเลย หนังไม่ได้ชี้นำให้เราเข้าใจบทสรุปประเภทง่ายๆ ด่วนทันใจว่า อ๋อนี่ไง ก็เพราะนังคนนี้ใจแตกสำส่อน ก็เพราะนายคนนั้นมันโง่มันหื่น สมน้ำหน้า ฯลฯ ไม่มีการบอกว่าทางเลือกของแต่ละคนผิดหรือถูก แต่หนังแค่นำให้เราเข้าไปร่วมรับรู้ว่าวัยรุ่นทุกคนก็มีความสนุกและความทุกข์ในชีวิตตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าสังคมภายนอกจะประณามสิ่งที่พวกเขาทำหรือกำลังเจออย่างไร สิ่งที่เราควรทำคือคอยอยู่ใกล้ๆ เขาโดยไม่ต้องเอาชุดความคิดใดๆ ทั้งนั้นไปตัดสินเขาหรือคิดแทนเขาต่างหาก ด้วยความที่งานอาชีพของฉันเกี่ยวข้องกับเด็ก (ซึ่งก็ไม่ได้มีวัยหรือวุฒิภาวะห่างจากฉันเท่าไหร่นัก) ฉันคิดว่า หนังเรื่องนี้เหมาะกับการชวนให้เด็กหรือพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาดูแล้วคุยกัน การที่หนังเล่าแบบไม่ยอมเป็นดราม่าสุดๆ ไม่มีตอนจบที่คลี่คลายความรู้สึกของคนดูอย่างกระจ่างหมดเกลี้ยงสุดๆ อย่างหนังทั่วๆ ไป (ฉันขอไม่เล่าว่าแต่ละเรื่องจบยังไง บอกได้แค่ว่าความไม่พีคของหนังที่กล่าวไปนั้นหมายถึงการที่มันไม่มีฉากจบที่รุปให้เราสบายใจไร้ข้อติดค้างหมดเลยว่าใครเป็นยังไงต่อไป “ยัยคนนี้นายคนนั้นมันรอดแล้วนะ ไม่ต้องห่วงมันอีกหรอก” หรือ “ชีวิตมันป่วงไปแบบนี้ๆ แล้วล่ะ รู้แล้ว โอเคนะ” จบ.) มันเลยทำให้เราเดินออกจากโรงแบบไม่ “จบ” คือรู้สึกเหมือนยังอยากถามไถ่ต่ออีกว่า “เพื่อน” แต่ละคนในหนังของเราเป็นยังไง อยากรู้เรื่องก่อนหน้านั้นว่าอะไรทำให้พวกเขามาเจอวิกฤติพวกนี้ อยากรู้ว่าแล้วถ้าเป็นเราล่ะจะทำยังไง สังคมจะคิดยังไง อยากรู้ว่าผู้หญิงควรทำยังไงถ้าท้องแบบไม่พร้อม ผู้ชายควรทำยังไง อยากรู้ว่าความจริงคืออะไร และทางออกในโลกแห่งความเป็นจริงมันมีไหม อะไรบ้างนะ ความอยากรู้ที่เกิดขึ้นพวกนี้ล่ะที่ฉันคิดว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้ “ทำงาน” มากแค่ไหน สำหรับฉันแล้ว หนังเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีพลังมากๆ ในการใช้เปิดการถกเถียงเกี่ยวกับเซ็กซ์ของวัยรุ่นและเรื่องการท้องแบบไม่พร้อมให้สังคมเราหันมาเริ่มต้นคุยถึงมันแบบเปิดใจจริงๆ จังๆ โดยไม่ประณามและเลิกมองว่ามันเป็นสิ่งสกปรกต้องหุบปากกันเอาไว้แล้วปัญหาจะหายไปเองอย่างมหัศจรรย์ ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปด้วยการเป็นสื่อที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นได้พูด พ่อแม่ได้ฟัง ครูอาจารย์ได้ฟัง ฟังแล้วแลกเปลี่ยนกัน มาคุยเรื่องเพศกันอย่างไม่ต้องเอาศีลธรรมมาวัด คุยเพื่อให้เข้าใจความจริง และถ้าความจริงตรงไหนเป็นปัญหา ก็มาคิดกันว่าเราจะต้องช่วยกันอย่างไร ต้องใช้วิธีไหนที่ไม่ใช่การไปดุด่าโยนบาปให้เด็กหรือโทษสังคมโทษวัตถุนิยมโทษโลกาภิวัตน์อะไรไปโน่นแบบเรื่อยเจื้อยอย่างที่เราทำกันมาตลอด (แล้วก็ไม่ได้เกิดการแก้ไขอะไรเลย) หนังเรื่องนี้ไม่พีคในโรง แต่ฉันอยากบอกว่าฉันเดินออกจากโรงด้วยความฟิน และหวังมากด้วยว่า หลังจากนี้ หนังจะได้ทำงานของมันต่อไปในการทำให้สังคมเปิดใจยอมรับความจริงของวัยรุ่น ให้เกียรติวัยรุ่น และเห็นวัยรุ่นเป็นคนเท่าๆ กับเหล่าบรรดาผู้ใหญ่ ถ้าได้แบบนั้นฉันก็ว่าหนังเรื่อง “รักจัดหนัก” ได้ไปถึงจุดพีคเสียยิ่งกว่าพีค สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 29 Aug 2011 06:07 PM PDT |
สัมภาษณ์ ภัควดี วีระภาสพงษ์: คุยกับนักแปลว่าด้วยคำว่าประชานิยม Posted: 29 Aug 2011 06:01 PM PDT ประชาไทคุยกับภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนนักแปลที่ติดตามแปลเรื่องราวการเมืองในละตินอเมริกาอย่างต่อเนื่อง และไม่ปฏิเสธเลยว่าเธอหนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการอย่างเต็มที่ และเธอคนนี้ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ประชานิยมไปในทางสร้างปีศาจ หากแต่กลับเชียร์ให้เดินหน้าไปสู่ประชานิยมที่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง เธอตั้งข้อสังเกตว่าประชานิยมแบบทักษิณเป็นการเดินไปไม่สุดทาง และด้วยวิธีการที่ไม่อาจจะไปสู่การจัดสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืนได้ ท่ามกลางบรรยากาศวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เดินตามรอยที่ชายมาติดๆ ภควดีมองว่านโยบายของยิ่งลักษณ์ไม่มีอะไรหวือหวาน่ากลัวเหมือนพี่ชายของเธอ แต่ที่น่ากลัวก็คือ กลัวว่ายิ่งลักษณ์จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนานพอที่จะทำตามนโยบายต่างหาก 000
คำว่าประชานิยม ถูกใช้มากในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณแต่คุณไม่เคยวิจารณ์เรื่องนโยบายประชานิยม สืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน คุณไม่คิดว่าแนวทางแบบนี้เป็นปัญหาเลยหรือ ขอเท้าความคำว่าประชานิยมก่อน เพราะคำว่าประชานิยมในเมืองไทย ใช้กันแบบ... (ยิ้ม) คำว่าประชานิยมเดิมที เอามาจากภาษาอังกฤษคำว่า populism เป็นคำที่ไม่ค่อยชัดเจนในตัวมันเอง เดิมทีคำว่า populism นั้นหมายความว่า แนวทางทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการของประชาชน หมายความว่า มันเป็นเรื่องที่เชื่อว่าประชาชนรู้ดีกว่า ประชาชนรู้ คิดถูก และรู้ดีกว่าพวกผู้นำ ฉะนั้นในความหมายดั้งเดิมนั้นมันกว้างมาก ฉะนั้น ประชาธิปไตย จะพูดว่ามันเป็นประชานิยมก็ได้ เช่น ขบวนการสิทธิพลเมืองของสหรัฐ ก็เคยถูกเรียกว่าประชานิยม สหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีพรรคการเมืองที่เรียกว่า Populist Party ก่อนที่จะมีเดโมแครต รีพับลิกัน เขาก็มีปอปปูลิสต์ ปาร์ตี้ ที่เน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาและกรรมกร การปฏิรูปของขบวนการเกษตรกรก็ถกเรียกว่าเป็น populism ขบวนการนาซีกับฟาสซิสต์ก็เคยถูกเรียกว่าเป็น populism มันเป็นซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ มันเป็นได้ทั้งสองอย่าง ฉะนั้น ประชานิยมมีลักษณะร่วมกันสองอย่าง คือผู้นำยืนยันว่าตัวเองสะท้อนความต้องการประชาชน หรือผู้นำอ้างว่าตนเองสะท้อนความต้องการประชาชน อันที่สองคือ ผู้นำและประชาชนมัลักษณะที่ผูกสัมพันธ์กันโดยตรงโดยไม่ผ่านสถาบันทางการเมือง หรือพรรคการเมือง เช่น ฮิวโก้ ชาเวซ ในอาร์เจนตินา เป็นตัวอย่างหลัก บางทีเรายังจำไม่ได้เลยว่าชาเวซมาจากพรรคการเมืองอะไร แต่สิ่งทีชาเวซทำก็คือว่า ออกทีวีเรียกร้องกับประชาชนโดยตรง แล้วก็ตัวผู้นำจะเป็นลักษณะผู้นำที่มีบารมี มีลักษณะเด็ดขาด ได้รับความนิยมจากประชาชนเยอะๆ อันนี้เวลาต่างประทเศเขาพูดถึงทักษิณว่าเป็นผู้นำแบบประชานิยม เขาหมายถึงว่า พี่เขาใจว่าเขาหมายความแบบนี้ ในแง่ที่ผู้นำผูกอยู่กับประชาชน? คือในแนวคิดนี้ คืออ้างว่าเขาสะท้อนความต้องการของประชาชน มีลักษณะเป็นผู้นำประชาชนไปในตัว พร้อมๆ กับการเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนระบบประชานิยมที่เราใช้กันในปัจจุบัน ในบางทีคือการแจก คือในความหมายนี้ ในละตินอเมริกาจะมีอีกคำหนึ่งคือ Client Politic คือระบบอุปถัมป์ เป็นลักษณะต่างตอบแทน อันนั้นเป็นระบบอุปถัมป์อีกแบบหนึ่ง จริงๆ ก็จะมีอีกคำนึงที่เป็นประชานิยมทางเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เคยเห็นการนิยามความหมายนี้ที่ชัดเจน เท่าที่เคยอ่านมา ไม่เคยเห็นคำนิยามเรื่องประชานิยมทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทีนี้ โดยความเข้าใจของเมืองไทยเรื่องประชานิยม เราคิดว่ามันคือการแจก พูดง่ายๆ ก็คือว่า ระบบต่างตอบแทน ที่จริงเราเรียกมันว่าระบบอุปถัมป์น่าจะมีความชัดเจนกว่า แต่เราไปเรียกมันว่าประชานิยม ซึ่งในเมืองไทยให้ความหมายว่าเป็นการแจก มันก็เลยไปมองว่าประชาชนนี่โลภมาก หรือขายเสียง เลือกโดยการมีความต้องการทางวัตถุตอบแทน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า มันตรงกับความหมายของประชานิยมจริงๆ หรือเปล่า พี่มองว่ามันไม่ตรงนัก ในแง่หนึ่งมันเป็นคำหนึ่งที่ถูกใช้มากในช่วงขับไล่ทักษิณ กลายเป็นคำที่มีการให้คุณค่าดีเลวพร้อมกันมาด้วย คือช่วงที่ผ่านมาที่ทักษิณเคยใช้นโยบายประชานิยมเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจนี้ ดิฉันไม่เคยออกมาวิจารณ์ เพราะคิดว่าสิ่งที่เขาทำในเรื่องของการให้ คือคิดว่า ถ้าประชาชนขาดบางอย่าง แล้วเอามาให้ แล้วมันผิดตรงไหน เช่นว่า ถ้าประชาชนไม่มีการศึกษา แล้วคุณจัดการศึกษาพื้นฐานฟรีลงไปให้ แล้วมันผิดตรงไหน หรือในเรื่องการดูแลสุขภาพ คุณให้ลงไป แล้วมันผิดตรงไหน คือการให้แบบนี้ มันต่างกันตรงไหนกับการที่นักการเมืองสัญญาว่าจะให้รถไฟฟ้ากับคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างกัน ดิฉันไม่ค่อยได้วิจารณ์ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ กับประชาชนคนทั่วไป และมันก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริง เช่น กองทุนหมู่บ้าน มันก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง อันนี้เรายังไม่พูดถึงว่า ในเชิงปฏิบัติ และมีประสิทธิภาพในการคืนเงินของชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน แต่ในเรื่องของไอเดียนี่มันดี มีประโยชน์ อย่างโอทอป สามสิบบาทรักษาทุกโรค มันก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อพูดไปแล้ว มันก็มีสิ่งที่มีประโยชน์ในเรื่องของการให้ ระบบประชานิยมที่ทักษิณให้ มันยังมีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าแนวทางที่ประชานิยมยิ่งกว่าอีกของรัฐบาลประชาธิปัตย์ เช่นเรื่องของเช็คช่วยชาติ ที่ให้เงินกันตรงๆ สองพัน โดยที่ไม่ต้องแจกคืนด้วย แบบนี้เป็นประชานิยมยิ่งกว่า มันเป็นการซื้อเสียงโดยตรง หรืออย่างรถเมล์ฟรี ที่โอเคเราอาจจะมองว่ามันเป็นการช่วยเหลือคนรากหญ้า แต่เราก็ต้องมาว่ามันมีการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาหรือเปล่า เป็นต้น แต่อย่างของรัฐบาลทักษิณ มันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมันเป็นการให้โดยตรง คือให้ในสิ่งที่เขาต้องการ และมีประโยชนในการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่วนข้อเสียในเรื่องวินัยทางการคลัง อะไรพวกนี้ มันก็เป็นเรื่องที่วิจารณ์ก็ได้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะรัฐบาลประชานิยม เท่านั้นที่ไม่มีวินัยทางการคลัง ไม่ว่าจะรัฐบาลอะไร อาจไม่มีวินัยทางการคลังก็ได้ทั้งนั้น จากที่บอกว่า แก่นกลางของประชานิยม คือ มันต้านนโยบายบนจากล่าง คือสะท้อนความต้องการของประชาชนจากล่างขึ้นบน พอมาถึงเรื่องบนสู่ล่าง มันทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับทักษิณถกเถียงได้ว่า หนึ่ง ไม่เชื่อเรื่องวินัยทางการคลัง สองคือ ไม่เชื่อว่า มันเป็นการมาจากรากหญ้า เป็นการฉวยประโยชน์จากประชาชนที่ไม่รู้ว่าต้องการอะไร แล้วก็ใช้การสนับสนุนลงไป คือเป็นการหวังผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า คือนักการเมือง มันมีใครที่ไม่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองบ้าง มันก็คงไม่มี แต่ในแง่นี้ ถ้าเราบอกว่า การทำนโยบายเพื่อหวังผลการเมืองเป็นสิ่งที่เลว ดิฉันคิดว่ามันแป็นอะไรที่ตลกมาก คือมันเหมือนกับเปิดร้านขายของแต่ห้ามหวังผลกำไร มันเป็นไปได้ยังไง คือเคยได้ยินคนวิจารณ์อย่างนี้บ่อย อ้าวก็ใช่สิ คือเขาเป็นนักการเมือง เขาก็ต้องหวังผลทางการเมือง ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ คุณก็ต้องหวังผลทางธุรกิจ คือคุณก็ต้องหวังผลกำไรน่ะ คือมันการวิจารณ์ที่ไม่เข้าท่า คือทุกคนต้องหวังผลทางการเมือง ประชาธิปัตย์เขาก็หวังผลทางการเมืองเหมือนกันเมื่อเขาเสนอนโยบายอะไรให้กับคนกรุงเทพฯ อันนี้เป็นข้อหนึ่ง ส่วนอันต่อมา ที่วิจารณ์ว่าประชาชนต้องการจริงๆ หรือเปล่ากับสิ่งที่ให้ลงไป ดิฉันคิดว่าถ้าเรามองนโยบายทักษิณ จริงๆ ต้องยอมรับว่าเขาสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ดี คือเขาทำวิจัยได้ดี คือเขาคิดมาก่อน เช่น การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ อันที่หนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของคนรากหญ้า เรื่องเงินกู้นอกระบบที่เขาพยายามเข้าไปแก้โดยการเข้าไปตั้งกองทุนหมู่บ้าน พูดจริงๆ แล้ว ก่อนที่จะมีระบบทักษิโนมิกส์ที่เราเรียกกันนี่ จริงๆแล้วมีการวิจัยมาก่อน ก่อนที่เขาจะทำ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีพอสมควรทีเดียว เพียงแต่เรื่องไอเดียนี่มันดี แต่เรื่องประสิทธิภาพนี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่วิจารณ์ได้ กลับมาเรื่องวินัยการคลัง ตอนนี้เริ่มมีกระแสการทบทวนประชานิยมอีกครั้งหนึ่ง โดยสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีก คือการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากหลายแสนล้าน ในขณะเดียวกัน ก็ยกตัวอย่างกรณีของอาร์เจนติน่าที่ยกตัวอย่างของความสำเร็จของนโยบายประชานิยม โดยมีวินัยการคลังที่สำเร็จไปพร้อมๆกัน มองว่าทิศทางว่าของประเทศในละตินอเมริกาเป็นตัวอย่างอะไรกับไทยได้บ้าง คือถ้าเราดูอาร์เจนตินา อาร์เจนตินาเริ่มระบบอุปถัมภ์มาตั้งแต่สมัยเปรอง ดิฉันชอบใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์มากกว่าประชานิยม ในสมัยเปรองก็ถูกปฏิวัติและถูกปกครองด้วยระบบทหารมานาน อันที่จริงแล้วในความคิดเห็นดิฉัน ระบอบที่ทำให้วินัยการคลังแย่ที่สุดคือระบอบทหาร ระบอบกองทัพ เพราะทุกครั้งที่กองทัพมีอำนาจ ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม สิ่งที่เพิ่มขึ้นสุงคืองบประมาณทหาร คือการซื้ออาวุธหรือะไรก็ตาม มันไม่เคยกระตุ้นเศรษฐกิจ คืออย่างสหรัฐฯ ที่ผลิตอาวุธนี่มันอาจจะช่วยกระตุ้นในบางภาคได้พอสมควร แต่ในขณะเดียวกัน แม้แต่ในขณะนี้ ก็มีปัญหาเรืองวินัยทางการคลัง เพราะมันไปลงที่สงครามอิรัก อัฟกานิสถานอะไรหมด ฉะนั้น ตอนนี้ที่สหรัฐมีปัญหาทางการคลังมันก็มาจากอันนี้ คือวินัยทางการคลังที่ไม่ดี ใช่ไหม เพราะเงินไปลงทีระบบทหารหมด อาร์เจนติน่าก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่อาร์เจนตินาจะล่มสลายทางเศรษฐกิจ มันก็เป็นระบบทหารอยู่นาน นานจนกระทั่งการคอร์รัปชั่นอะไรก็มีมาก จนเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือน ก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการที่เราเกิดต้มยำกุ้ง เป็นเพราะการเปิดเสรีทางการเงินมากกว่า ฉะนั้น เมื่อบอกว่า ประชานิยมมันมาควบคู่กันกับความไม่มีวินัยทางการคลัง มันไม่ได้หมายความว่า มันต้องเป็นประชานิยมถึงจะเป็นอย่างนี้เท่านั้น ดิฉันคิดว่าก็มีระบบอื่นๆ ที่เป็นแล้วเป็นได้มากกว่าด้วย คือจะบอกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ ประชานิยมไม่ได้เป็นจำเลย เพราะมันมีปัจจัยอื่นด้วย? อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพูดว่าไม่มีวินัยทางการเงินนี่ มันมักจะเป็นข้อวิจารณ์จากฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายทุนนิยม ดิฉันไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ อาจจะอธิบายไม่ได้ชัดเจนนัก แต่เท่าที่เคยอ่านมา เมื่อพูดว่าไม่มีวินัยทางการเงิน มันจะมีการอธิบายว่า การที่รัฐบาลต้องมีเงินคงคลังสำรองสูงมากๆ นี่จริงๆ แล้วมันเป็นข้อดีสำหรับนายทุน เพราะมันทำให้ค่าเงินนิ่ง และดีต่อนายทุน แต่ถามว่าดีต่อประเทศไหม บางทีไม่ใช่ เพราะว่าเวลาคุณจะมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงๆ เนี่ย มันต้องตัดเงินสวัสดิการส่วนใหญ่ออกไปเพื่อทำให้รัฐบาลมีเงินสำรอง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นผลดีต่อประชาชน มันเป็นผลดีต่อนายทุนมากกว่า อย่างกรณีเวเนซูเอลา มีครั้งหนึ่ง ชาเวซนี่ ทำให้คนวิจารณ์กันเยอะ คือชาเวซต้องการทำให้ธนาคารกลางของเขาตอบสนองนโยบายของรัฐบาลมากกว่าที่จะให้เป็นอิสระจากรัฐบาล แต่ฝ่ายทุนนิยมก็จะมองว่า ชาเวซกำลังแทรกแซงธนาคารกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี ในขณะเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งที่มองว่าการที่ธนาคารกลางไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ดี เป็นเครื่องมือของนายทุนมากกว่า ฉะนั้นเรื่องนี้ก็มองได้หลายมุมมอง แล้วแต่ว่ามองจากสำนักไหน ซึ่งฝ่ายซ้ายบางส่วนจึงมองว่า การที่ธนาคารกลางเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ตอบสนองเฉพาะแต่นายทุนอย่างเดียวด้วยซ้ำไป คือมันเป็นวิธีมอง แต่ดิฉันก็มองว่าถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์มองแล้วก็อาจจะมองได้ดีกว่านี้ แต่เท่าที่เคยอ่านมา มันก็ไม่ตรงกับความรับรู้ที่เราเคยได้รับการปลูกฝังมา มีกรณีประชานิยม ระบบอุปถัมป์ หรือสิ่งที่มาแปลมาจาก populism นี่ มันกรณีไหนที่คุณสนใจเป็นพิเศษ ก็อย่างเช่น เวเนซูเอลา ที่เอารายได้จากน้ำมันมาทำโครงการทางสังคม แล้วโครงการทางสังคมของเขา ก็จะเป็นลักษณะคล้ายกับ คือ ไม่ถึงกับคล้ายทักษิณ คือ อย่างเวเนซูเอลานี่เขามีช่องว่างระหว่างรายได้ของประชาชนสูง คือ คนรวยก็รวยไปเลย คนจนก็จนไปเลย ปัญหาของประชาชนก็เลยมีสูง อย่างเช่นเรื่อง การศึกษา ของเวเนซูเอลาก็ใช้โครงการต่างๆ ที่เข้าไปเสริมให้ประชาชน ก็มีเช่น ส่งเสริมให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ ให้การศึกษาฟรี แก่ประชาชนที่มีอายุมากแล้ว หรืออย่างเช่นประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เข้าเรียน ให้อ่านออกเขียนได้ หรือโครงการทางด้านสาธารณสุข เอาแพทย์คิวบาเข้ามา แล้วก็กระจายไปตามหมู่บ้านไปตามชุมชนต่างๆ แล้วก็มีโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนให้ขายสินค้าราคาถูก และโครงการทางด้านสหกรณ์ คือสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวเป็นสหกรณ์ แล้วเขาก็ให้สินเชื่อรายย่อยให้ผู้หญิงทำธุรกิจเอสเอ็มอี และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังหมู่บ้านที่เข้าไม่ถึง คือเรียกว่า สิ่งใดที่ประชาชนขาดแคลน เขาก็เอาสิ่งนี้เข้าไป และมันก็เป็นการนำเสนอจากประชาชนเข้ามา เช่น สินเชื่อรายย่อยให้ผู้หญิงนี่ จริงๆ ผู้หญิงที่เป็นประชาชน เข้าไปเสนอให้ชาเวซ แล้วชาเวซก็ทำโครงการนี้ออกมา ก็เป็นตัวอย่างที่มีคนพูดถึงค่อนข้างเยอะในต่างประเทศ กรณีทักษิณ เวลาเราพูดว่าผู้นำที่เป็นประชานิยม เขามักจะเป็นผู้นำในลักษณะที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย ในขณะที่เมื่อเราพูดถึงทักษิณ ก็จะมีคนเปรียบเทียบกับชาเวซ เขาก็จะบอกว่าไม่ใช่ เพราะทักษิณเป็นนายทุนชัดเจน ในขณะที่คนที่เชียร์พรรคเพื่อไทย ที่ชื่นชอบประชานยม มักจะถูกมองว่า ‘โง่’ หรือไม่ทันทักษิณ คือคุณได้แค่เศษของมัน ในขณะที่นายทุนได้เป็นเป็นกอบเป็นกำ ดิฉันมองว่ามันมีปัญหาตรงที่ว่า คำว่าประชานิยมมันคลุมเครือ อย่างที่บอกไปแต่ตอนต้นว่า ประชานิยม เป็นซ้ายก็ได้เป็นขวาก็ได้ บางทีขบวนการชาตินิยมก็เรียกประชานิยม อย่างขบวนการฟาสซิสต์นาซีก็เรียกว่าประชานิยม ในขณะเดียวกัน นโยบายที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ก็เรียกว่าประชานิยม มันก็เลยเป็นคำที่คลุมเครือ และเมือเอาจับทุกคนมารวมกัน แล้วก็เลยบอกว่าชาเวซเปรียบเทียบไม่ได้ มันก็เลยเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวเพราะมันเริ่มมาจากการที่ใช้คำคลุมเครือก่อน จึงคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องปรียบเทียบในแง่นี้ เพราะว่ามันเหมือนกับว่าถ้าเราจะเอาชาเวซไปเปรียบเทียบกับบุช อย่างนี้มันก็คนละประด็นกัน อันนี้ก็อันหนึ่ง ส่วนอีกหนึงที่ว่า ประชาชนที่เลือกทักษิณมานี่โง่ หรือไม่ทันนักการเมืองหรือไม่ ดิฉันคิดว่าถ้าเรามองจากใจเป็นกลาง ถ้ามองนโยบายทักษิณ จากสองด้าน นโยบายเศรษฐกิจของเขานี่ ที่ตอบสนองคนรากหญ้านี่เขาทำได้ดี คือถ้ามันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนจริงๆ ดิฉันเชื่อว่าประชาชนก็คงไม่ได้นิยมทักษิณขนาดนี้ อีกประการหนึ่ง จริงอยู่ที่ประชาชนนิยมทักษิณ แต่ดิฉันรู้สึกว่า คนที่วิจารณ์คนเสื้อแดงว่า คิดแต่เรื่องทักษิณอย่างเดียว ตอนที่ทักษิณถูกทำรัฐประหาร ถ้าคนนิยมทักษิณจริงๆ ทำไมเขาไม่ลุกขึ้นมาประท้วงตั้งแต่ตอนนั้น คือไม่ประท้วงรุนแรงตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ สิ่งที่เขาทำ คือการรอเลือกตั้ง แล้วเขาก็เลือกสมัคร (สุนทรเวช) แล้วก็สมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ได้เป็นนายกต่อ การประท้วงที่รุนแรง เกิดขึ้นหลังจากนั้นใช่ไหม หลังจากที่ตุลาการสร้างความไม่มีมาตรฐานทางกฎหมายขึ้นมา ฉะนั้น จริงอยู่ที่ความนิยมในตัวทักษิณอาจจะมาก แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนเสียงของเขา และจริงๆ สิ่งที่เขาต้องการคือนโยบาย ที่เขาเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าเกิดเขาทำเพื่อตัวทักษิณจริงๆ เขาน่าจะประท้วงตั้งแต่รัฐประหารแรกๆ ดิฉันคิดว่าอย่างนั้น คือถ้าเรามองกระบวนการมานี่ ความรุนแรงของการประท้วงมันมาเกิดตอนตุลาการยุบพรรคมากกว่า มันเหมือนกับการปะทุ คือตรงนี้แย้งได้นะ คือคิดว่าการปะทุอารมรณ์มันเกิดขึ้นตอนนั้น มันเป็นการสะท้อนว่าระบบประชาธิปไตยมันไม่ทำงานแล้ว เรื่องที่ว่า คนที่เป็นฐานเสียงทักษิณ ตามทักษิณไม่ทันหรือเปล่า ทักษิณก็มีอีกด้านหนึ่ง คือ การทำเศรษฐกิจได้ดี และอีกด้านคือเขาอาจจะมีการคอร์รัปชั่นที่สูงมาก แต่ว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของทักษิณมันถูกขยายความเกินจริงไปมาก จนกระทั่งเราต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งที่เราจะถอยกลับแล้วมาดูว่า มีอะไรว่าเป็นการคอร์รัปชั่นจริงๆ กับอะไรที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นการเอื้อผลประโยชน์กัน คือพี่คิดว่าคนไทยนี่มีลักษณะอย่างหนึ่งหมือนกัน คือว่า มันมีการขยายความเกินจริงในบางเรื่อง เช่นการขายหุ้น AIS ให้เทมาเสก คือกฎหมายของตลาดหุ้นนี่มันเอื้อผลประโยชน์กับการขายหุ้นกับบุคคลธรรมดา เพื่อกระตุ้นตลาดโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี นักธุรกิจจำนวนมากก็ใช้วิธีแบบทักษิณ ส่วนตระกูลเบญจรงคกุญที่ขายดีแทคก็ใช้วิธีเดียวกัน และพี่คิดว่ามีแบบนี้เยอะแยะ แต่ปัญหาคือว่า ถ้ามีมันมีช่องว่างตรงนี้แบบนี้ ทำไมคนไทยไม่คิดแก้ข้อกฎหมายเพื่อปิดช่องว่าง โดยใช้กรณีทักษิณเป็นตัวอย่าง ทำไมต้องไปโจมตีเรื่องจริยธรรมของทักษิณ ทั้งๆที่เขาก็ใช้วิธีเดียวกันกับนักธุรกิจทั่วๆไป แล้วก็กลายเป็นไปเน้นมูลค่าจำนวน 76,000 ล้านว่าเป็นมูลค่าฉ้อฉลหรือคอร์รัปชั่น ซึ่งจริงๆ พี่คิดว่ามันเป้นเรื่องช่องโหว่ทางกกฎหมายมากกืว่า เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่า คนรากหญ้าเขาตามไม่ทัน เพียงแต่ว่า เขามองว่านักการเมืองทุกคนมันก็คอรรัปชั่นกันทุกคน เพียงแต่ใครทำนโยบายได้เข้าถึงเขามากกว่า เราจะพูดได้ไหมว่า คนที่วิจารณ์ เป็นเพราะเขาไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมหรือเปล่า ก็เป็นไปได้ อย่างหนึ่งก็คือว่า เขาอาจจะได้ประโยชน์จากมันแต่เขาไม่รู้หรือเปล่า คืออย่างนโยบายทักษิโนมิกส์ที่ช่วยกระตุ้นนโยบายเศรษฐกิจตอนนั้น มันอาจจะดีเพราะหลายปัจจัยด้วยซ้ำ อาจจะไม่ใช่เพราะทักษิณ แต่อาจจะเป็นเพราะต่างประเทศดี ปัจจัยภายในประเทศกำลังฟื้นตัวจากต้มยำกุ้งหรืออะไรก็ตาม คือเขาอาจจะได้ประโยชน์ แต่เมืองไทยตอนนี้มันก็มีปัญหาของการใช้สื่ออย่างที่เราได้รู้กัน สื่อนี่ ทำงานกันอย่างที่เรียกว่า ทำอย่างไม่มีประสิทธิภาพและขยายความเกินจริง จนไม่รุ้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ คือบางครั้ง งานบางอย่างก็เขียนไปด้วยการใช้ความเกลียดนำ หรือความชอบนำ คือไม่อยากใช้คำว่าเป็นกลางเพราะพี่ไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลาง แต่อาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของมาตรฐาน พี่คิดว่ามันไม่มีมาตรฐาน เพราะในไทยไม่มีนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักคิดที่เป็นทางเลือกที่จะมาให้ข้อมูลด้วยหรือเปล่า ก็ใช่ คือสำนักเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทยก็มาจากสายเสรีนิยมใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ก็พูดเรื่องความมีวินัยทางการเงินและการคลังเป็นอย่างแรก กลัวเรื่องเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แล้วเมื่อมีแนวคิดเช่นนี้เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากจบมาจากสำนักเดียวกัน เมื่อมีการวิจารณ์ก็เป็นไปในทิศทางเดียว ประชาชนก็ได้รับข้อมูลแบบเดียวกันหมด ไม่ได้รับข้อมูลด้านอื่นมาขัดง้างหรือโต้แย้ง ต่อเรื่องข้อวิจารณ์ของนักวิชาการบางส่วนที่พูดวว่าประชานิยมไปไม่ถึงรัฐสวัสดิการ คิดว่าอย่างไร ข้อบกพร่องของทักษิณมากที่สุดก็คือตรงนี้ เพราะเขาไม่ได้พยายามจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คือ เช่นว่า เขาไม่พยายามปรับเรืองโครงสร้างภาษี เพราะรัฐสวัสดิการก็ต้องปรับฐานภาษีใหม่ เรื่องอัตราก้าวหน้า เรื่องภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ตรงนีเป็นข้ออ่อนของทักษิณมากที่สุดมากกว่า ซึ่งตรงนี้ คิดว่านักเศรษฐศาสตร์ในสมัยทักษิณก็ไม่ค่อยวิจารณ์มากเท่าไหร่ คือไปวิจารณ์ด้านวินัยทางการคลังมากกว่า คือไปมองว่าอีกสิบปียี่สิบปีจะเป็นอย่างไร ซึ่งแนวทางการมองแบนี้ เรื่องวินัยทางการคลังมันก็เป็นการมองแบบที่พี่บอกว่าเป็นแบบเสรีนิยมใหม่ แล้วก็เป็นแบบที่เรียกว่าสำนัก Monetarism ของมิลตัน ฟรีดแมน ซึ่ง เป็นสำนักที่ไปให้คำแนะนำด้านเศรษฐกิจในละตินอเมริกา คือให้คำแนะนำในการสร้างระบบตลาดเสรีในละตินอเมริกา ซึ่งทำให้ ชิลี เม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล พวกนี้ล่มสลายทางเศรษฐกิจหมด เพราะสำนักที่เรียกว่า “ชิคาโก้ บอย” ส่งคนเข้าไปให้คำแนะนำ พวกนี้ต่างหากที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจพัง ตั้งแต่สมัยปิโนเชต์มา พวกนี้ต่างหากที่ทำให้เศรษฐกิจ ในละตินอเมริกาพังทลายย่อยยับกันหมด ซึ่งเขาก็จะเน้นในเรื่องนี้ คือไม่ยอมให้เกิดเงินเฟ้อ ไม่ยอมให้เกิดปัญหาทางวินัยการเงินการคลัง และในขณะเดียวกันก็ทำให้เปิดเสรีทางการเงิน ความจริงแล้ว อย่างต้มยำกุ้งนี่ก็เกิดมาจากการเปิดเสรีทางการเงินโดยไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้ามากกว่า ทั้งๆที่เราจะชอบได้ยินคำว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี แต่เราก็จะได้ยินปัญหาทางการเงิน เช่นเรื่อง Financial crisis อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ Economic Crisis ตอนที่เขาวิเคราะห์เรื่องต้มยำกุ้งกัน ก็เป็นเรื่องอย่างนี้ เมื่อมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปีศาจประชานิยมแบบที่เคยสร้างให้กับทักษิณอาจจะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คุณเห็นว่ามันมีอะไรที่น่ากลัว หรือจับตาเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไหม มองว่านโยบายยิ่งลักษณ์ไม่มีอะไรน่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าคือเขาจะอยู่ได้นานแค่ไหน ปัญหาของเขาคือว่านโยบายของเขาอาจจะยังไม่ได้ใช้ แต่เขาอาจจะต้องไปเสียก่อน ซึ่งจริงๆ อย่างนโยบายแจกแท็บเล็ตนี่มันดีกว่านโยบายแจกเช็คช่วยชาติให้ชนชั้นกลางมาก แต่เช็คช่วยชาติกลับได้รับการวิจารณ์ที่น้อยมากๆ ทั้งๆที่พวกนี้ได้เงินแล้วก็ไม่เอาออกมาใช้ ก็เอาเข้าธนาคารหมด ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรเลย คือเราไม่มีมาตรฐาน ไม่ว่านักวิชาการหรือสื่อ มันก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมา เหมือนอย่างค่าแรงสามร้อย เขาก็ยังไม่ได้นำเสนอในเชิงปฏิบัติเลยใช่ไหมว่าจะทำอย่างไร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น