โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เจ๋ง ดอกจิกกลับคำให้การสู้คดีหมิ่นสถาบัน/ผู้หญิงยิง ฮ.ยังรอศาลเมตตาให้ประกัน

Posted: 29 Aug 2011 10:35 AM PDT

ทนายแจ้ง เจ๋งป่วยลำใส้อักเสบ ศาลเลื่อนตรวจหลักฐาน 5 ก.ย.54 ส่วน นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือ จ๋า และพวกอีก 2คนยังรอลุ้นอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว

29 สิงหาคม 2554 ศาลอาญารัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.2740/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยศวริศ หรือประมวล ชูกล่อม หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนาม เจ๋ง ดอกจิก แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำหมิ่นเบื้องสูงบนเวที นปช.เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2553

คดีนี้จำเลยได้ให้การรับสารภาพเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 โดยศาลมีคำสั่งให้ยื่นคำให้การรับสารภาพภายใน 15 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาจำเลยได้ยื่นคำให้การต่อศาลยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอแต่งตั้งทนายความพร้อมพยานหลักฐานต่อสู้คดี

อย่างไรก็ดีในวันนี้ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน เนื่องจากจำเลยป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบมีอาการถ่ายเป็นเลือด ไม่สามารถเดินทางมาที่ศาลได้ พร้อมแนบใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตตามคำร้อง โดยให้นัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ขณะเดียวกันศาลอุทธรณ์ ภาค1 ยังไม่มีคำสั่งให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์, นายสุรชัย นิลโสภา และนายชาตรี ศรีจินดา ผู้ต้องหาคดีร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิด กฎหมาย และร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบ ครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอมหลังจากที่ศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำสั่งยกฟ้องที่สั่งให้มีการขังบุคคลทั้งสามเอาไว้ก่อนเพื่อรอว่าทางอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ และในวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความได้นำ นส.จารุพรรณ กุลดิลก และ นส.ภูวนิดา คุนผลิน และคณะ สส.พรรคเพื่อไทยเข้ายื่นความจำนงค์ขอใช้ตำแหน่งในการประกันตัวจำเลยทั้งสามในระหว่างรอการอุทธรณ์จากอัยการ
 

ข้อมูลบางส่วนจาก:นสพ.โพสต์ทูเดย์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องนายกฯสอบอุทยานแก่งกระจานทำเกินกว่าเหตุ กรณีกล่าวหาชาวกะเหรี่ยงรุกเขตป่าต้นน้ำ

Posted: 29 Aug 2011 09:15 AM PDT

เครือข่ายกะเหรี่ยงร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีกล่าวหาชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ว่าบุกรุกพื้นที่เขตป่าต้นน้ำ

29 สิงหาคม 2554 เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาคี 40 องค์กร อ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือร้องเรียน ประณามการปฏิบัติงานของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กรณีกล่าวหาชาวกะเหรี่ยงบุกรุกพื้นที่เขตป่าต้นน้ำ และยังเป็นแหล่งผลิตเสบียงสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อย แหล่งพักพิงยาเสพติด

โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ผลักดันและขับไล่หลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2539 ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ายึดอุปกรณ์การเกษตร เผาทำลายยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก รวม 3 ลำในพื้นที่ หลังจากนั้นทำให้ชาวกะเหรี่ยงกว่า 200 คนไม่กล้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าไม่ปลอดภัย แกนนำระบุว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล จึงเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหา โดยยุติการข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ รวมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจและชดใช้ค่าเสียหายกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากกรณีร้องเรียนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรแม่จอกแม่เลายังได้ร้องเรียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่แสะ แม่เลา และอุทยานห้วยน้ำดังจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปักหลักล้อมรั้วพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลป่าแป๋และตำบลกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง โดยเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เร่งแก้ไขปัญหา ก่อนนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต

0 0 0

แถลงการณ์
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) และภาคีที่เกี่ยวข้อง
กรณีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ละเมิดสิทธิมนุษยชนไล่ล่าเผาบ้านทำลายทรัพย์สินและพื้นที่ทำกินชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม

ตามที่สื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าว กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง  โดยการรื้อถอน เผาบ้าน ยุ้งข้าวและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีการจับกุมและละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ตั้งข้อกล่าวหา เป็นคนต่างด้าว ทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นแหล่งผลิตเสบียงสนับสนุนชนกลุ่มน้อย เคเอ็นยู ที่อยู่ตามแนวชายแดน  และเป็นแหล่งพักพิงยาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการ ขับไล่กะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานภายใต้โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม 

ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย – พม่า  ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องพอสรุปลำดับเหตุการณ์ ได้ดังนี้

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงออกจากบ้านบางกลอยบน และบ้านพุระกำ (ใจแผ่นดิน) จำนวน ๕๗ ครอบครัว ๓๙๑ คน มาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง หมู่ที่ ๑ และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี  ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผลักดันและขับไล่ชาวกะเหรี่ยงที่บริเวณใจแผ่นดิน-พุระกำและบางกลอยบนอีก ๑๒ จุด  ดำเนินการเผาบ้าน ยุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยง  และปี ๒๕๕๔ ได้ปฏิบัติการดังนี้ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ ๕-๙ พฤษภาคม  เผาและทำลายบ้าน ยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง จำนวน ๙๘ หลัง ยึดทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยง อาทิ เคียว ขวานเงิน สร้อยลูกปัด กำไลข้อมือ บริเวณพุระกำ   (ใจแผ่นดิน) และบางกลอยบน ครั้งที่  ๒ วันที่ ๒๓-๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔  เผาและทำลายบ้าน ยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง ๒๑ หลัง ใน ๑๔ จุด ยึดทรัพย์สิน อาทิ มีด แห เคียว เกลือ เตหน่า (เครื่องดนตรีชาวกะเหรี่ยง)  และครั้งที่ ๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔  ปฏิบัติการตามแผนโครงการฯ ทั้งหมดนำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นผู้สั่งให้เผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไร้ที่อยู่และที่ทำกิน ขาดความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งต้องอยู่อย่างหวาดผวา กระทั่งนำมาสู่เหตุการณ์เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตก จำนวน ๑ ลำ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และอีก ๒ ลำ ตกในเวลาต่อมา

ปัจจุบันชาวบ้านจำนวน ๔๐ ครอบครัว ราว ๒๐๐ คน ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่เดิมจึงมาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านโป่งลึก และบางกลอยล่าง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี  ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยงได้อาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี 

พวกเราในนามเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการ ขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานครั้งนี้เป็นการปฏิบัติการที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย และหลักสิทธิมนุษยชน สากลพวกเราไม่ยอมรับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ จึงเรียกร้องให้ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ตามแนวทางดังนี้

๑. ให้ยุติการดำเนินการ ข่มขู่ คุกคาม จับกุมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ 

๒. ตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว 

๓. ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ที่ครอบคลุมในเรื่องสถานะบุคคล ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินวิถีการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน 

๔. ให้รัฐบาลเร่งปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ เช่น จัดตั้งคณะกรรมการหรือกลไกการทำงานแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ เป็นต้น  
 

แถลง ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔    หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 
โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการ ดังนี้

1. กลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูงอำเภอจอมทอง 
2. เครือข่ายกองบุญข้าว
3. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
4. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแม่จอกแม่เลา
5. เครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
6. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
7. เครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข
8. เครือข่ายนักวิชาการอิสระ
9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ
10. เครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
11. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.)
12. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ขาน
13. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่วาง
14. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ลาว 
15. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
16. โครงการพัฒนาสิทธิในสังคม (SLP)
17. โครงการบ้านรวมใจ
18. คณะคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์  (KBC)
19. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
20. ชมรมเยาวชนปกาเกอะญอ
21. สโมสรคาเรนยูในเตท
22. มูลนิธิเพื่อประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองแห่งเอเชีย (AIPP)
23. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ (WISE)
24. มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนที่สูง (IKAP)
25. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (IPF )
26. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
27. มูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดนจังหวัดตาก
28. มูลนิธิรักษ์ไทย (สำนักงานภาคเหนือ)
29. มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)
30. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
31. มูลนิธิรักษ์อาข่า
32. มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
33. มูลนิธิพุทธเกษตร เชียงใหม่
34. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
35. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง
36. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
37. ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่
38. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
39. สภาแอะมือเจ๊ะคี
40. สภาชนเผ่าพื้นเมืองอำเภอกัลยาณิวัฒนา
41. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
42. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
43. สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย
44. สมาคมม้ง
45. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เจเนอเรชั่น เวฟ” ลอบติดป้ายเรียกร้องรบ.พม่าปล่อยนักโทษการเมือง

Posted: 29 Aug 2011 08:53 AM PDT

กลุ่มเยาวชนพม่า “เจเนอเรชั่น เวฟ” ลักลอบติดป้ายในย่างกุ้งและพื้นที่อื่นทั่วพม่า โดยเป็นป้ายที่พิมพ์รูปนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำและมีข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองซึ่งมีกว่า 2 พันคนในปัจจุบัน 

กลุ่มเจเนอเรชั่น เวฟลักลอบติดป้ายเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าเมื่อคืนวันที่ 12 ส.ค. โดยเจ้าหน้าที่พม่าได้รีบเข้ามาปลดป้ายดังกล่าวออกทันทีในคืนนั้น (ภาพ 1 ถึง 6) ขณะที่บางป้ายที่หลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่ ยังคงอยู่ที่ป้ายรถเมล์จนถึงตอนเช้า (ภาพที่ 7 ล่างสุด) (ที่มาของภาพ: กลุ่ม Generation Wave)

 

ประชาไท – เยาวชนพม่าในนามกลุ่ม “เจเนอเรชั่น เวฟ” (Generation Wave) ได้จัดการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีอยู่กว่า 2 พันคนในพม่า เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา

โบโบ” ตัวแทนกลุ่มเจเนอเรชั่น เวฟ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในช่วงครบรอบเหตุการณ์ 8 สิงหาคม 1988 หรือ “8888” ทางกลุ่มไม่ได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึก แต่ในคืนวันที่ 12 ส.ค. สมาชิกของกลุ่มได้จัดการรณรงค์ใต้ดิน โดยทำการติดป้ายไวนิลที่เขียนข้อความว่า “บะหม่าปยี ลุดม็อกเย” หรือ “ปลดปล่อยพม่า” (Free Burma)

โดยในป้ายรณรงค์ยังพิมพ์ข้อความที่ระบุว่า “ประชาชนทั่วโลกยืนอยู่ข้างประชาชนพม่า เพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ จงปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน” พร้อมพิมพ์ภาพนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกรัฐบาลจองจำ โดยกลุ่มรณรงค์ดังกล่าวได้นำป้ายรณรงค์ไปติดทับป้ายโฆษณาตรงที่หยุดรอรถประจำทางในกรุงย่างกุ้ง และพื้นที่อื่นๆ ในพม่ารวม 33 จุด

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่ารีบเก็บป้ายรณรงค์ดังกล่าวภายในคืนนั้นทันที แต่มีบางป้ายที่หลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐบาล และถูกติดอยู่จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 13 ส.ค.

สำหรับกลุ่ม “เจเนอเรชั่น เวฟ” เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่อยู่ในพม่า ทำการรณรงค์และผลิตสื่อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ก่อตั้งเมื่อ 9 ต.ค. ปี 2550 หลังเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) ทั้งนี้กลุ่มเจเนอเรชั่น เวฟ มักทำการรณรงค์ด้วยการติดป้าย แจกแผ่นพับ พ่นสเปรย์หรือกราฟิตี้เพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพลงฮิฟฮอฟเพื่อล้อเลียนรัฐบาลทหารด้วย

ทั้งนี้สมาชิกกลุ่ม “เจเนอเรชั่น เวฟ” ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าจับกุมอยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากรัฐบาลถือว่ากิจกรรมของกลุ่มและกลุ่มเป็นการรวมตัวสมาคมที่ผิดกฎหมาย โดยขณะนี้ยังคงมีผู้ถูกจับกุม 15 ราย ส่วนใหญ่มักถูกจับกุมในข้อหารวมตัวเป็นสมาคมที่ผิดกฎหมาย ตามประกาศของสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) ฉบับที่ 6/88 ซึ่งเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2531 หรือ ค.ศ. 1988

ขณะที่ “เซยา ถ่อว์” (Zayar Thaw) ศิลปินฮิฟฮอฟและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มได้ถูกจับกุมเช่นกัน เมื่อ 12 มีนาคม ปี 2551 ในข้อหารวมตัวเป็นสมาคมที่ผิดกฎหมาย และครอบครองเงินตราต่างประเทศ โดยในขณะที่เขาจับกุม เขามีเงินสกุลบาท ดอลลาร์สิงคโปร์ และริงกิตของมาเลเซีย รวมกันเป็นเงินประมาณ 600 บาท โดยล่าสุดเขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่อนุญาตให้เขาทำการแสดงดนตรีในระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตเมื่อต้นเดือนนี้

แม้ประธานาธิบดีพม่าเต็ง เส่ง ได้เชิญให้นางออง ซาน ซูจี เข้าพบเป็นครั้งแรกที่กรุงเนปิดอว์เมื่อ 19 ส.ค. และช่วงกลางเดือนนี้รัฐบาลได้อนุญาตให้นางออง ซาน ซูจี พบกับผู้สนับสนุนทางการเมืองของเธอที่เมืองพะโค แต่ประเทศพม่ายังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน และจากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) หรือ AAPPB เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักโทษทางการเมืองในพม่ากว่า 1,995 คน

ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่ารายงานเมื่อ 28 ส.ค. ว่า สมาชิกรัฐสภาพม่าได้เรียกร้องไปยังประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ให้มีการนิรโทษกรรมทั่วไปแก่นักโทษที่ถูกจับตัวโดยไม่กระทำความผิดทั้งหมดในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 27 ส.ค. 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สมหมาย ปาริจฉัตต์’ ลาออกจาก กก.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

Posted: 29 Aug 2011 08:43 AM PDT

เปิดหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ของ “สมหมาย ปาริจฉัตต์” เผยเหตุถอนตัวจากการเป็นผู้แทนองค์กร และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกลุ่มผู้แทนองค์กร จากกรณีอีเมล์ฉาว

 
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.54 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงความประสงค์ขอถอนตัวออกจากการเป็นผู้แทนองค์กร และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกลุ่มผู้แทนองค์กร โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
 
29 สิงหาคม 2554
เรียน กรรมการผู้จัดการ
 
สืบเนื่องจากปัญหาการสอบสวนกรณีอีเมล์ฉาวที่ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์หนังสือพิมพ์และองค์กรมติชนโดยรวม กระผมในฐานะผู้แทนองค์กรในกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความถูกต้องและเรียบร้อยได้
 
ต่อกรณีที่คำแถลงของอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า ผู้แทนองค์กรมติชนไม่ได้ค้านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงและวิธีการตรวจสอบสื่อโดยการเปรียบเทียบปริมาณการนำเสนอเนื้อหานั้น เพราะเชื่อว่ากระบวนการสอบข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ผ่านมา ก่อนการตัดสินและแถลงผลใดๆ ออกไป ควรให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติการสอบสวนที่ดี
 
และไม่คิดว่าจะมีการนำผลการสอบดังกล่าวแถลงต่อสาธารณะและคณะกรรมการเลือกตั้ง ก่อนจนขั้นตอนการอุทธรณ์ตามข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสโดยทำหนังสืออย่างเป็นทางการเชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ถูกตรวจสอบทั้งหมดมาให้ข้อเท็จจริงและเหตุผลในการนำเสนอเนื้อหาที่ถูกตรวจสอบ รวมถึงการตีพิมพ์โฆษณา
 
หากเห็นว่า การชี้แจงขององค์ผู้ถูกตรวจสอบเป็นขั้นตอนของการอุทธรณ์ ก็ยิ่งสมควรที่จะให้กระบวนการในขั้นตอนนี้ คือการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์และการตัดสินของกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์เสร็จสิ้นก่อน ถึงจะแถลงต่อสาธารณะและองค์กรที่ถูกตรวจสอบ ดังเช่นกรณีร้องเรียนอื่นๆ ที่ปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานของสภาการหนังสือพิมพ์เรื่อยมา
 
ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ครั้งแรกที่มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ได้มีการพูดถึงข้อควรระวังว่าสภาการฯ จะถูกดึงเข้าไปเป็นเหยื่อความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว
 
เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น กระผมจึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้แทนองค์กร และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกลุ่มผู้แทนองค์กร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 ด้วยความเคารพและนับถือ
 สมหมาย ปาริจฉัตต์

 
 
 
 
 
ที่มาเรื่อง-ภาพ: ข่าวสดออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวพุทธไทย “คนแปลกหน้า” สำหรับตถาคต!

Posted: 29 Aug 2011 07:36 AM PDT

หากเราต้องการให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด” ในสังคมไทย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ถกเถียง ถอดรื้อวิธีคิดของชาวพุทธแบบไทยๆ ที่ถูกปลูกฝังมาภายใต้วัฒนธรรมทางความคิดของพุทธศาสนาแบบไทยๆ

ถามว่าทำไมคนไทยมักมีแนวโน้มที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลที่มีภาพลักษณ์ ถูกยกย่องว่าเป็น “คนดี” เช่น เมื่อมีข้อกล่าวหาว่า “คนดี” หนีทหาร ตั้งรัฐบาลโดยการหนุนของอำนาจนอกระบบ สั่งฆ่าประชาชน ฯลฯ แทนที่สื่อ นักวิชาการ หรือกระแสสังคมจะสนใจตรวจสอบให้ชัดแจ้งว่า ข้อกล่าวหานั้นๆ จริงหรือไม่ หลายๆ ครั้งกระแสตีกลับไปที่ฝ่ายกล่าวหาทำนองว่าจ้องจับผิด หาเรื่อง ใส่ร้าย เป็นเกมการเมือง ฯลฯ แล้วสังคมนี้ก็ปล่อยให้ข้อกล่าวหานั้นๆ คลุมเครืออยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ลืมๆ กันไปในที่สุด

คำตอบกว้างๆ คือ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และชาวพุทธถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า “คนดี” คือผู้ปฏิบัติธรรม และ “ธรรม” หมายถึงอะไรบางอย่างที่เป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” หรือธรรมนั้นมี “ธรรมานุภาพ” มหาศาล เช่น ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม และดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิต ในการงาน การครอบครัว การเมือง การธรรม การโลก การจักรวาล สารพัดการ

เมื่อธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีมหิทธานุภาพสุดพรรณนา คนดี หรือผู้ปฏิบัติธรรมจึงกลายเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ไปด้วย ศักดิ์สิทธิ์น้อย-มากเป็นไปตามลำดับความต่ำ-สูงของธรรมที่ปฏิบัติ หรือธรรมที่บรรลุ

ฉะนั้น บุคคลที่สังคมนี้ยกย่องว่า “มีคุณธรรมสูงส่ง” จึงต้องเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนือการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง ดังที่เคยมีศิษย์วัดใหญ่แห่งหนึ่งเล่าผ่านรายการทีวีว่า ในสำนักแห่งนี้เราถูกสอนให้มีศรัทธาอย่างแน่วแน่ต่อท่านเจ้าอาวาส กระทั่งในยามที่ท่านเจ้าอาวาสอยู่ในห้องสองต่อสองกับสีกาที่ท่านเลือกแล้วว่า มีพื้นฐานทางจิตและปัญญาเหมาะแก่ “การถ่ายทอดธรรมขั้นพิเศษ” เหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ไม่กล้าแม้แต่จะคิดสงสัยใดๆ ใน “ความบริสุทธิ์” ของท่านเจ้าอาวาส เพราะการสงสัยต่อบุคคลศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นถือเป็น “บาปทางใจ” ที่พึงระวังไม่ให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

ในทำนองเดี่ยวกัน กษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ ก็เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิเหนือการตั้งข้อสงสัย เพราะการเกิดมาเป็นกษัตริย์เป็นผลของการบำเพ็ญบุญบารมีมามาก กษัตริย์จึงมีบุญญาธิการ มีอำนาจ มีความยิ่งใหญ่บนฐานของ “บุญบารมี” หรือคุณความดีอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งที่เคยทำมาแล้วในอดีตชาติ และที่สั่งสมพระราชกุศลต่างๆ ในชาตินี้

คติความเชื่อที่ว่า “พระ” และ “เจ้า” ผู้ทรงธรรมคือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ถูกขยายมาถึงคนทั่วๆ ไปด้วยโดยปริยาย เช่นว่า เมื่อเราเข้าวัดปฏิบัติธรรม เรามักจะรู้สึกว่าเราได้ “บุญ” ซึ่งหมายถึงได้อะไรบางอย่างที่มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองเรา ดลบันดาลให้เกิดสิริมงคล โชคลาภ ความสุขความเจริญแก่ตัวเรา หรือโดยรวมๆ แล้วการปฏิบัติธรรมจะทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นคนดีกว่าคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ปฏิบัติธรรมเหมือนเรา ซึ่งหมายความว่าธรรมะหรือบุญที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ทำให้เราเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เหนือคนอื่นๆ ขึ้นมาแล้ว (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของเราที่มักดูแคลนคนที่ไม่รู้ธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมเหมือนเรา)

พึงตั้งของสังเกตไว้ว่า สิ่งที่เรียกว่าความดี หรือธรรม หรือบุญนั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคมเลย ฉะนั้น ชาวพุทธจึงไม่ใคร่ที่จะยกย่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ว่าเป็นการทำความดี หรือเป็นการปฏิบัติธรรม นอกจากจะไม่ถือว่าเป็นการทำความดีหรือเป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมองว่าหากการต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวกระทบต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของ “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” (เช่น การรณรงค์ยกเลิก ม.112) ยิ่งเป็นเรื่อง “ผิดบาป” ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ฉะนั้น ธรรมที่ควรปกป้องจึงหมายถึงธรรมในทางศาสนาเท่านั้น ดังเช่นบรรดาชาวพุทธผู้เคร่งครัดพยายามรณรงค์ตลอดมาว่า การต่อต้านหวยบนดิน บ่อนถูกกฎหมาย กฎหมายอนุญาตการทำแท้ง หรือการปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (แม้แต่ปกป้องจากการเรียกร้องให้แก้ไขกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น) หรือการรณรงค์ให้งดเหล้าเข้าพรรษา ห้ามขายเหล้าวันพระ เป็นต้น เป็นการทำความดี เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ได้บุญกุศลมหาศาล ขณะที่ไม่มองการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมว่าเป็นการ “ทำความดี” หรือการปฏิบัติธรรมที่ควรสนับสนุนยกย่อง

ผมคิดว่า สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่พระตถาคตศาสดาของชาวพุทธพยายามต่อสู้คือ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนนิยามของคำว่า “ธรรมะ” ในความหมายว่าเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่ผูกโยงอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติเช่นพระพรหมผู้สร้างโลก ให้ธรรมะมีความหมายเป็น “ของธรรมดา” ที่ผกโยงอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติและของกฎธรรมชาติ การเข้าใจธรรมะคือการเข้าใจธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ของสิ่ง/ตัวเรา/เรื่องราว/เหตุการณ์/สังคม ฯลฯ ซึ่งไม่เกี่ยวใดๆ กับการเป็นผู้วิเศษเหนือมนุษย์

เมื่อตถาคตสอนอริยสัจสี่ สาระคือการสอนให้เราทำความเข้าใจความจริง และให้แก้ปัญหาต่างๆ บนพื้นฐานของการเข้าใจความจริงในเรื่องนั้นๆ สิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” ก็คือสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีคุณค่าของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ และหากเป็นความจริงว่าในยุคสมัยของเรา สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมคือสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีในฐานะที่เป็นมนุษย์ ตถาคตคงแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดชาวพุทธไทยจึงไม่รักที่จะต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีเหล่านี้ขึ้นในสังคม

และคงแปลกใจว่า ทำไมชาวพุทธไทยปัจจุบันจึงใช้ข้ออ้างเรื่อง “ศีลธรรมส่วนตัว” (individual morality) มาเป็นเหตุผลให้ออก “กฎของสังคม” คือเป็นกฎหมายที่บังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติโดยไม่พิจารณาเหตุผล และความจำเป็นด้านอื่นๆ เช่น เรื่องดื่มเหล้าวันพระ ไม่วันพระ เรื่องการพนัน สิทธิในการทำแท้ง ฯลฯ แต่กลับไม่เห็นความสำคัญของการต่อสู้ที่อ้างอิง “ศีลธรรมเชิงสังคม” (social morality) เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เพื่อออกกฎของสังคมให้ทุกคนปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

นี่มันหมายความว่า ชาวพุทธไทยที่มักอ้างคำสอนตถาคต กลายเป็นเป็น “คนแปลกหน้า” สำหรับตถาคตไปแล้ว!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ให้โลกรู้พวกกูยังสู้อยู่

Posted: 29 Aug 2011 07:33 AM PDT

   ร่วมรบ

เป็นสหาย..เป็นอื่นได้อย่างไรในเส้นทาง

เคยถูกผิดเคยอ้างว้างร่วมกันสู้

ในเหน็บหนาวร้าวรานเราต่างรู้

มีสหายเคียงอยู่ให้อุ่นใจ

คือสหายกอดความตายในแนวหน้า

แม้มิรู้ชะตาฝ่าภัยร้าย

หวังเพียงเพื่อปลดแอกโค่นจัญไร

สังคมใหม่เปลี่ยนได้โดยประชา

     สับสน

ถนนเส้นนี้เราต่างรู้ต้องสู้หนัก

อยากไถ่ถามทายทักเธอท้อไหม

กับชีวิตเรื่องราวความเป็นไป

หรือโลกยินแต่ร่ำไห้ในค่ำคืน

หรือเป็นเพียงแค่นักรบซากศพฝัน

อุดมการณ์หมายมั่นพลันสลาย

เมื่อโลกเปลี่ยนหรือคนมันกลับกลาย

เราเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่เพื่อใครกัน

     หมุดหมายมุ่ง

ฝนหยุดตกนานแล้วพี่น้องเอ๋ย

เมล็ดพันธุ์งอกเงยจงไถ่หว่าน

เรื่องร้ายเรื่องรบจากเมื่อวันวาน

ขอให้ลืมพ้นผ่านกลบฝังดิน

เช็ดน้ำตากุมมือประสานมั่น

ตำราหนึ่งสามัคคีกันเดินหน้าสู้

อันผุกร่อนโลกเก่าเรารับรู้

อีกไม่นานรอดูมันพังทลาย

 

                                           อุทิศแด่คนทำงานผู้ร้าวรานในยุคสมัย
                                           บางมุมรัษฏา…ภูเก็ต
                                           ปราโมทย์   แสนสวาสดิ์

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องระงับขึ้นทะเบียนเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด

Posted: 29 Aug 2011 07:28 AM PDT

29    สิงหาคม    2554 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ลงนามท้ายจะหมายโดยนายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ทำจดหมายถึงนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด

โดยจดหมายระบุว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร กำลังจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงอย่างน้อย 3 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และเมโทมิล (ส่วนอีพีเอ็นยังไม่พบรายงานการขอขึ้นทะเบียน) ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ โดยขณะนี้ได้ผ่านพิจารณาแล้ว 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การทดลองเบื้องต้น ขั้นตอนที่ 2 การทดลองใช้ชั่วคราว และเหลือเพียงการพิจารณาขั้นสุดท้ายคือ ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลขั้นสุดท้าย เพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยคาดว่าจะมีการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนในเร็วๆ นี้นั้น
 
เครือข่ายเกษตรทางเลือก และเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าสารเคมีทั้ง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น นั้นจัดเป็นสารพิษร้ายแรงที่ทำให้เกิดพิษ มีผลต่อระบบประสาท การหายใจ ระบบสืบพันธุ์ และเป็นสารก่อมะเร็ง โดยหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียได้ห้ามใช้แล้ว อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ของไทยไปยังต่างประเทศ (ตามเอกสารแนบ) จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการสั่งการให้ยุติการนำเข้าและการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 4 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที และให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารข้อมูลการยื่นขอทะเบียน ข้อมูลและผลการทดลองที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ การเกิดพิษทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลตกค้างและอื่นๆ และให้เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา รวมทั้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่อสาธารณชน เพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นไปอย่างโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ที่ระบุให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ข้อคิดเห็น พร้อมแสดงข้อมูลและหลักฐานประกอบเพื่อสร้างความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน”
 
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายของบริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวด โดยคณะกรรมการที่มีตัวแทนของเครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายวิชาการเฝ้าระวังสารเคมีการเกษตร และองค์กรผู้บริโภคมีส่วนร่วม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วาทกรรม “ประเทศไทยไม่พร้อมสำหรับ…” กับดักทางความคิดที่อันตราย

Posted: 29 Aug 2011 07:02 AM PDT

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อสิงคโปร์ ไม่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย ประชาชนในประเทศวิตกกันเป็นอย่างมาก ประเทศเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีแม้กระทั่งน้ำจืดจะอยู่ได้อย่างไร? หลังจากนั้นประชาชนเขาจึงเริ่มนับหนึ่งด้วยความ “ไม่พร้อม” ไปด้วยกัน

ย้อนกลับมาประเทศไทยเคยมีคนบางส่วนบอกว่าไม่ควรเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชน “ไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง” อำนาจเลยถูกรวมอยู่ในศูนย์กลางและเมื่ออำนาจถูกกระจายไปสู่มือประชาชน กลุ่มคนที่เคยถือครองอำนาจก็บอกว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง ยังไม่ได้รับการศึกษาเรื่องประชาธิปไตย น่าสงสัยว่าก่อนหน้านั้นที่ปกครองด้วยสมบูรณญาสิทธิราชย์นั้น ได้มีการปูพื้นฐานความรู้ให้กับไพร่ (ที่กลายมาเป็นราษฎร) ให้พร้อมกับการปกครองแบบใหม่รึเปล่า หรือเพียงอาศัยคำว่าไม่พร้อมเพื่อจะปกครองกันในระบอบเก่า

หันไปดูรอบๆกรุงเทพฯในเวลานี้หลายๆจุดเพิ่งเริ่มสร้างรถไฟฟ้าระบบรางทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติแนะนำให้ไทยควรลงทุนกับโครงสร้างขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะตั้งแต่สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่อุตสาหกรรมแซงหน้าภาคการเกษตรในการส่งออกแล้ว แต่ตอนนั้นก็ไม่กล้าลงทุนและรักษาวินัยการคลังด้วยเหตุผล “ไม่พร้อมที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่”

นั่งฟังส.ส.พรรคภูมิใจไทยคนหนึ่งอภิปรายว่าไม่ควรแจก แท็บเล็ต พีซี ให้กับเด็กกลัวเด็กจะเอาไปเล่นการพนัน เด็ก”ไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเอง” ขอถามว่าก่อนที่จะมีแท็บเล็ต ในสมัยเด็กๆใครบ้างไม่เคยเล่นไพ่ เล่นปั่นแปะ เล่นทอยเส้น หรือ จับสลาก แทนที่จะคิดว่าเราจะให้ความรู้ควบคู่กับการแจกแท็บเล็ตได้อย่างไร?

เปลี่ยนช่องไปก็เจอนักวิชาการพูดว่า เรา “ไม่พร้อมที่จะยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน” ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับการที่จะงดการเก็บ เพราะเวลาเราเก็บแล้วไปอุ้มตอนน้ำมันแพง แล้วเราใช้น้ำมันถูกกว่าความเป็นจริงเราก้มยังคงก้มหน้าตะบี้ตะบันใช้ แทนที่จะเอาเงินที่อุดหนุนไปส่งเสริมการวิจัยพลังงานทดแทนหรือมีความชัดเจนด้านนโยบายพลังงานว่าจะส่งเสิรมอะไรกันแน่เปลี่ยนไปเปลี่ยน เอทานอล ไบโอดีเซล ฯลฯ

กลุ่มนายจ้างรวมตัวกันบอกว่า “ไม่พร้อมที่จะขึ้นค่าแรง 300 บาท” เพราะว่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตและจะทำให้นักลงทุนไทยตาย ซึ่งถ้าหากมองย้อนกลับไปไทยเริ่มแข่งขันในตลาดโลกด้วยการส่งออกปี 2518 ตามคำแนะนำของ โรเบิร์ต แมคนามาร่า จากธนาคารโลกโดยให้มุ่งเน้นการส่งออก พร้อมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เราแข่งด้วยการกดค่าแรงกับเขา จนตอนนี้เขาไปสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มทางสินค้าจนตอนนี้เราไปแข่งกับ เวียดนาม ถามว่าเราจะพร้อมแข่งเรื่องประสิทธิภาพการผลิตเมื่อไหร่? แล้วจะกดค่าแรงไปถึงไหน?

รัฐวิสาหกิจเช่น การรถไฟ และ ขสมก.ก็บอกว่าหน้าที่ของพวกเขาคือต้องแบกรับความขาดทุนเพื่อที่ประชาชนจะได้สบาย เพราะ”ประชาชนไม่พร้อมที่จะเสียเงินแพง” ดังนั้นต้องให้สหภาพดูแลผลประโยชน์ แต่สิ่งที่ไม่เคยบอก เช่น ที่ดินรถไฟทำกำไรไปมากมายเงินไปไหน? ทำไมระบบขนส่งมวลชนในประเทศอื่นเขาถึงบริหารได้กำไรได้ แล้วทำไมเราถึงบริหารขาดทุน? หรือ จริงๆเงินที่ไปชดเชยการขาดทุนก็มาจากภาษีประชาชนที่รัฐจ่ายเคยบอกกันไหม?

กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่าประเทศไทยนั้นยัง “ไม่พร้อมที่จะรับวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง” ดังนั้นจึงควรอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงาม เราลืมไปหรือเปล่าว่าเรื่องลามกทะลึ่งหยาบโลน มีอยู่ในศิลปะเพลงพื้นบ้านของไทยมาช้านาน เราหลับตาข้างหนึ่งรึเปล่าที่ไม่รับรู้ว่า เรื่องกระเทย เรื่องตำรวจคอร์รัปชั่น เรื่องท้องก่อนวัยอันควร เรื่องโสเภณี เรื่องพระทำผิดศีล มีอยู่จริงในสังคมไทย? เราเลยพร้อมใจรับไม่ได้ที่มันถูกสะท้อนออกมาในศิลปะ กรอบศีลธรรมอันดีงามแท้จริงเราก้าวพ้นศิลปะแบบวัดๆวังๆ ซึ่งเป็นของประชาชนกลุ่มน้อยนิดในสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านหรือยัง? เราจึงได้แต่ดูหนังวนเวียนเรื่อง วีรกรรมบูรพกษัตริย์ และ คนๆโขนๆ

เรายังคงเป็นเมืองกึ่งพุทธกึ่งผีกึ่งพราหมณ์ และเราก็ยังหลงเชื่อว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ เราตามอ่านทวิตเตอร์ของพระเซเลบฯ ไปปฏิบัติธรรมกับแม่ชีเซเลบฯ(ที่เปิดตัวเครื่องสำอางค์ในสำนักปฏิบัติธรรม) เพราะใครๆเขาก็ทำกันและทำแล้วรู้สึกดี แต่เราลืมไปว่าการนั่งสมาธิหรือการตามอ่านทวิตเตอร์พระแล้วคิดว่าเป็นการทำดี ซึ่งเรายังแยกกันไม่ออกว่าการทำดี กับการเจริญสมาธิเป็นคนละส่วนกัน โดย “ไม่พร้อมที่จะตั้งคำถามถึงความถูกต้องของหลักคำสอน”ที่ถูกบอกต่อๆนั้น มันก็ขัดกับหลักกาลามสูตร เป็นเมืองพุทธที่ยังกราบหมาสามขา วัวสองหัว โอ้!ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ประเทศไทย อาจยัง”ไม่พร้อมสำหรับเทคโนโลยี 3G” เมื่อโครงข่ายแพร่หลายข้อมูลถูกส่งผ่านได้อย่างรวดเร็ว รัฐไม่สามารถสกัดกั้นเนื้อหาที่ต้องการปิดกั้นได้หมด หรือแม้กระทั่งเรื่องการสัมปทาน ประเทศ “ยังไม่พร้อมกับการแข่งขันเสรีที่โปร่งใส” เลยยังต้องนิยมกับการสัมปทานผูกขาดแบบเสือนอนกิน ของ TOT และ CAT ต่อไป เพราะทั้งสองเจ้าอยากจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ หรือ เป็นห่วงขุมทรัพย์มหาศาลกันรึ?

ประชาชนบางส่วนก็ดูเหมือนจะ “ไม่พร้อมจะรับผิดชอบทางการเมือง” เหมือนว่าพอเลือกตั้งเสร็จหน้าที่ของเราก็จบแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ก็แล้วแต่บุญทำกรรมแต่ง ไม่พร้อมจะติดตามนโยบาย ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมทางการเมือง เอ้า!!ก็ไทยนี่มันรักสงบนี่นา อยู่เฉยๆสบายกว่ากันเยอะ พอนักการเมืองทำอะไรไม่ดีไม่ถูกใจ เราก็ได้แต่บ่นกันว่า “นักการเมืองเลว”

ความไม่พร้อมทำให้เราต้องวิ่งหา “ผู้ใหญ่ใจดี” และยกอำนาจในการตัดสินใจให้กับเขาเชื่อฟังโดยว่าง่าย ห้ามเถียง ห้ามสงสัยในความหวังดีของท่าน เราจะเติบโตกันอย่างไร หากไม่พร้อมที่จะเสี่ยงอะไรเลย ไม่พร้อมแม้จะตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆตัว แล้วมีคนคิดแทนให้หมดทุกเรื่องได้หรือ?

แทนที่เราจะเป็นเหมือนเด็กหัดขี่จักรยาน ที่แรกเริ่มก็ต้องมีการล้มลุกคลุกคลาน หัดแล้วหัดอีก ผู้ใหญ่ก็แทนที่จะให้กำลังใจและประคับประคอง แต่กับซ้ำเติมแล้วก็พร่ำบ่นว่า “เห็นไหมผมอาบน้ำร้อนมาก่อนคุณ”

“ไม่มีใครเกิดมาดีพร้อม” คำนี้เห็นจะจริงแต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรากล้าที่จะออกตัวหรือไม่? บางครั้งก็แอบตั้งคำถามว่า “เราจะเข้าเส้นชัยได้อย่างไร โดยที่ไม่ได้ออกตัว?” มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอไว้อาลัยแก่ประเทศที่ไม่เคยพร้อมอะไร แต่ทรนงตัวว่าเราจะเป็นผู้นำ คนไทยตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก(ถ้าเราพร้อม!!) หรือสิ่งเดียวที่เราไม่พร้อมก็คือ “เราไม่พร้อมที่จะรับความจริง” กันแน่!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าสังหารโหดชาวบ้านพักแรมทำไร่นอกหมู่บ้าน

Posted: 29 Aug 2011 04:34 AM PDT

ทหารพม่าสังหารโหด 3 ชาวบ้านพักค้างแรมทำไร่นอกหมู่บ้าน ในเขตเมืองเกซี รัฐฉานภาคกลาง เผยทหารพม่าชุดก่อเหตุอยู่สังกัดกองพันโหดก่อเหตุละเมิดสิทธิ์ชาวบ้านเป็นประจำ

ฐานชั่วคราวของทหารพม่าในพื้นที่เก็งเหลิน เมืองเกซี

สภาพชาวบ้านที่ถูกสังหารเสียชีวิตทั้ง 3 ศพ หลังหายตัวไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

ที่มาของภาพ: คนเครือไท/สำนักข่าว SHAN

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านบ้านน้ำหม่อ ตำบลเก็งเหลิน เมืองเกซี รัฐฉานภาคกลาง ได้พบศพเพื่อนบ้าน 3 คน หลังพากันออกติดตามหาซึ่งได้หายตัวไปตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยสภาพศพที่พบเหลือแต่โครงกระดูก บริเวณข้อมือและขามีร่องรอยเชือกผูกติดอยู่ ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้งสามถูกทหารพม่าสังหาร เนื่องจากจุดพบศพอยู่ห่างจากฐานชั่วคราวของทหารพม่าซึ่งเพิ่งถอนกำลังออกไปเพียง 50 เมตร 

ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ถูกสังหารเสียชีวิตทั้ง 3 คน ประกอบด้วย 1. นายจายหลง อายุ 48 ปี บุตรนายจอง นางหลี 2. นายส่างทุน อายุ 49 ปี บุตรนายปิ่งหย่า นางจอง 3. นายหลงจอน อายุ 54 ปี ทั้งสามเป็นราษฎรตำบลเก็งเหลิน และตำบลบ้านวาบ เขตเมืองเกซี โดยได้หายตัวไปขณะไปนอนพักค้างแรมทำไร่นอกหมู่บ้าน ตั้งแต่กลางก.ค. ที่ผ่านมา

ชาวบ้านเล่าว่า หลังทราบเพื่อนบ้านทั้ง 3 คนหายตัวไป ชาวบ้านก็ไม่กล้าออกติดตามค้นหา เพราะเกรงจะถูกทหารพม่าทำร้าย กระทั่งทราบว่าทหารพม่าซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหาราบที่ 513 ที่ไปตั้งฐานชั่วคราวอยู่บริเวณนั้นได้ถอนกำลังออกไป ชาวบ้านจึงพากันออกติดตามค้นหาและพบศพทั้งสามคนถูกมัดมือมัดเท้าและโยนทิ้งลงหน้าผาอยู่ไม่ไกลจากจุดที่ตั้งฐานของทหารพม่ามากนัก

ชาวบ้านเผยอีกว่า ในเขตพื้นที่เมืองเกซี มีทหารพม่า 3 กองพัน มีพฤติกรรมโหดร้ายกว่ากองพันอื่นๆ คือ ทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 513 , 286 และ 64 โดยมักก่อเหตุกรรโชกทรัพย์ ข่มขืน กดขี่ข่มเหงและสังหารชาวบ้าน รวมถึงบังคับย้ายหมู่บ้านเป็นประจำ ส่วนสาเหตุการสังหารชาวบ้านทั้ง 3 ราย เชื่อว่าอาจเกิดจากการสงสัยเป็นผู้ให้การสนับสนุนทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA/SSPP

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นับตั้งแต่เกิดการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA/SSPP ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือและภาคกลางซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้ขณะนี้มีชาวบ้านถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิ์ทั้งการบังคับเป็นลูกหาบ รีดทรัพย์ ข่มขืน จับทารุณสอบสวนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีหมู่บ้านถูกบังคับโยกย้ายหลายหมู่บ้าน ขณะที่มีชาวบ้านพากันอพยพหนีภัยสู้รบออกนอกพื้นที่แล้วกว่า 3 หมื่นคน - (ชมภาพได้ที่ www.khonkhurtai.org)

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: “เสื้อแดง” รุกช่วยน้ำท่วมพิษณุโลก ชี้ “ประชาชนไม่ทอดทิ้งประชาชน”

Posted: 29 Aug 2011 03:46 AM PDT

คนเสื้อแดงตั้งเต็นท์ขอรับบริจาค ก่อนเคลื่อนขบวนนำอาหาร-น้ำดื่ม-ยา ลงพื้นที่ช่วยเหลื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม 5 หมู่บ้าน ต.บางระกำ จ.พิษณุโลก ย้ำประชาชนรักประชาชน ประชาชนไม่ทอดทิ้งประชาชน

 
จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จนเป็นข่าวไปประเทศ คนเสื้อแดงพิษณุโลกจึงได้รวมพลังกัน ร่วมแรงร่วมใจ ประสานงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และที่ร้ายไปกว่านั้นคือท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
 
 
เมื่อวันเสาร์ ที่ 27 ส.ค.54 คนเสื้อแดงออกจากเต็นท์ขอรับบริจาคที่ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อนำสิ่งของที่ทีมงาน นปช.พิษณุโลก 2554 นำโดยพันเอกสมชาย ลอยพูน ได้เปิดขอรับบริจาคไปก่อนหน้านี้ ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม เพื่อไปมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งล่าสุด
 
ทีมงานเสื้อแดง พร้อมด้วยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาพิษณุโลกที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการนำรถบรรทุกขนาดใหญ่มาขนสิ่งของต่างๆ เดินทางไปพื้นที่หมู่ที่ 6, 9, 11, 12, 16 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ทั้งนี้ผู้ประสบอุทกภัย ต้องได้รับความยากลำบากในการเดินทาง บางส่วนต้องพายเรือออกมายังจุดนัดพบเพื่อรับสิ่งของ เพราะถนนมีน้ำท่วมขัง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รวมผู้ที่มารับสิ่งของในครั้งนี้ประมาณ 520 คน และนอกเหนือจากการนำสิ่งของไปให้แล้ว ทีมงานเสื้อแดงยังมีการพูดคุย ปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยยึดถือหลักการที่ว่า ประชาชนรักประชาชน ประชาชนไม่ทอดทิ้งประชาชน
 
ทั้งนี้ ทีมงานเสื้อแดงยังได้ระบุขอบคุณ ซ้อโอ่ง และพี่น้องเสื้อแดงที่พัทยา ที่รวมพลังร่วมใจขับรถจากพัทยามาพิษณุโลกเพื่อนำสิ่งของมาร่วมบริจาคด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต 2 ผู้ต้องหาคดีสังหาร “หมอชาญชัย”

Posted: 29 Aug 2011 02:29 AM PDT

ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต 2 จำเลยคดีสังหารหมอชาญชัย แต่เห็นว่าคำให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 3 ศาลยกฟ้อง เหตุคำซักทอดยังไม่มีน้ำหนัก และยังมีเหตุสงสัย จึงประโยชน์ให้จำเลย แต่ยังคุมขังระหว่างอุทธรณ์

ที่ศาลจังหวัดแพร่ เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (29 ส.ค.) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแพร่ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีฆ่านายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ที่พนักงานอัยการจังหวัดแพร่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธานี วงศ์แพทย์กับพวก ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น และนายจงรักษ์ ศุภศิริ ฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยมีนางเสาวลักษณ์ ศิลปอวยชัย ภรรยานายแพทย์ชาญชัยได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยในฐานะผู้เสียหาย

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วรับฟังได้ปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 คือนายธานี วงศ์แพทย์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนยิง กับจำเลยที่ 4 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขับขี่จักรยานยนต์ให้คนยิงขณะลงมือก่อเหตุ นั้น ศาลตัดสินว่าได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พิพากษาประหารชีวิต แต่คำให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าชี้เป้า จำเลยที่ 3 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขี่จักรยานยนต์รับส่ง และจำเลยที่ 5 นายจงรักษ์ ศุภศิริ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนจ้างวาน ศาลเห็นว่าคำซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกันไม่มีน้ำหนักพอ มีเหตุสงสัยตามควร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ยังคงให้คุมขังจำเลยทั้งหมดระหว่างอุทธรณ์

 

000

ลำดับเหตุการณ์

22 ตุลาคม 2550 นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายก อบจ.แพร่ ถูกลอบยิงเสียชีวิต

28 ตุลาคม 2550 ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 3 คน ตั้งแต่คนยิง คนชี้เป้า และคนขี่จักรยานยนต์รับส่ง

29 ตุลาคม 2550 ตำรวจจับกุมนายจงรักษ์ ศุภศิริ ญาติลูกพี่ลูกน้องของนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู โดยจับนายจงรักษ์ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาจ้างวานฆ่านายแพทย์ชาญชัยตามที่กลุ่มมือปืนให้การซัดทอด

31 ตุลาคม 2550 ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นคนขับขี่จักรยานยนต์ให้มือปืนขณะลงมือก่อเหตุได้

29 สิงหาคม 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตคนยิง และคนขับขี่จักรยานยนต์ให้คนยิงขณะลงมือก่อเหตุ ส่วนคนอื่นๆ ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากยังมีเหตุสงสัยตามควร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ร้องกรรมการสิทธิ์ฯ สอบอุทยานเผาบ้าน

Posted: 29 Aug 2011 01:46 AM PDT

ความคืบหน้ากรณีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อพยพชาวกะเหรี่ยงออกจากป่าแก่งกระจานใกล้ชายแดนไทย-พม่า เมื่อเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดนายน่อแอะ มี่มิ ชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทย ซึ่งถูกจับกุมและเผาทำลายบ้านพัก ส่งหนังสือร้องเรียนถึง น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในกรณีดังกล่าว

ในหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 22 ส.ค.2554 ระบุว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จำนวนมากใช้อาวุธปืนขู่บังคับ จับกุม และเผาทำลายบ้านพักของนายน่อแอะ โดยมีชาวกะเหรี่ยงกว่า 30 ครอบครัวถูกเผาทำลายบ้านเรือนและยุ้งข้าว และส่วนใหญ่หลบหนีไปเพราะความกลัว มีเพียง 5 ครอบครัวที่ยินยอมลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก บางกลอย ในหนังสือยังระบุข้อร้องเรียนต่อการกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วยว่า ได้ทำการเผารื้อถอนบ้านพักอาศัยของชาวกะเหรี่ยง ทำลายยุ้งข้าวเปลือก ยึดเงินสดจำนวน 20,000 บาทของนายน่อแอะและบิดา ยึดเครื่องมือเลี้ยงชีพ และบังคับให้ละทิ้งถิ่นฐานโดยปราศจากเครื่องมือยังชีพและเครื่องนุ่งห่ม โดยร้องเรียนให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวนข้อเท็จจริง และนำผลการสอบสวนไปดำเนินคดี และดำเนินการทางวินัย

นายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน กล่าวว่า ตนยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอพยพจากป่าล้วนเกิดในประเทศไทยทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่กลับพยายามผลักดันให้ข้ามไปยังฝั่งพม่า ส่วนผู้ที่ถูกอพยพมายังบ้านโป่งลึก บางกลอย มีจำนวน 39 คนซึ่งตนได้ทำทะเบียนประวัติไว้หมดแล้ว ซึ่งขณะนี้พักพิงอยู่กับญาติพี่น้อง และไม่มีที่ทำกิน

ส่วนกรณีการจับกุมนายน่อแอะ มี่มิ ในข้อหานำอาวุธปืนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้นายน่อแอะได้รับการประกันตัวแล้ว

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ร้องกรรมการสิทธิ์ฯ สอบอุทยานเผาบ้าน

กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ร้องกรรมการสิทธิ์ฯ สอบอุทยานเผาบ้าน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ทุนนิยาม" สัมภาษณ์ "จะเด็ด เชาว์วิไล" เศรษฐศาสต์การเมืองของค่าแรงขั้นต่ำ

Posted: 29 Aug 2011 01:26 AM PDT

กลุ่มทุนนิยาม 101 (หรือ กลุ่มทุนนิยมสังคมกำกับ Embedded Capitalism) สัมภาษณ์จะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานสตรี แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นบทความ Localtalkขอนำเสนอดังนี้...

การพูดเรื่องค่าแรงขึ้นต่ำในปัจจุบัน มีการโต้แย้งกันในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่มักจะจำกัดอยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจ เช่น ฝ่ายนายจ้างพูดเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์พูดเรื่องความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ส่วนคนงานเองพูดเรื่องค่าครองชีพในแต่ละวันแบ่งออกเป็นค่ารถ ค่าอาหาร ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ผมคิดว่าหากต้องการทำความเข้าใจเรื่องค่าแรงขั้นต่ำควรมองว่าเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

หากมองย้อนไปก่อนหน้าปี 2516  คนงานส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นคนงานยากจนที่อพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพและปริมณฑล คนงานจะประสบปัญหาในการดำรงชีวิตมาก เช่น โรงงานไทยเกรียงซึ่งเป็นโรงงานสิ่งทอในย่านพระประแดงซึ่งตั้งมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 คนงานได้ค่าแรง 5 บาท 8 บาท 10 บาท ในรอบ 10 กว่าปีค่าจ้างขยับขึ้นน้อยมากซึ่งพูดได้ว่านายจ้างเอาเปรียบคนงานมายาวนาน แม้แต่งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์อย่างของ ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็ได้ข้อสรุปว่า ค่าแรงของคนงานในขณะนั้นต่ำเกินไป ค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ในระดับที่ต้องเลี้ยงตนเองและครอบครัว 3 คน พ่อ แม่ ลูก แต่หลักการนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน

ในทางการเมือง รัฐบาลในช่วงนั้นอยู่ภายใต้ระบอบทหาร การขับเคลื่อนของคนงานให้ได้มาซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปได้ยากมาก คนงานเองไม่มีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ไม่สามารถต่อรองอะไรได้ การตั้งสหภาพก็ยากมาก กฎหมายที่เกี่ยวกับการตั้งสหภาพก็ยังไม่มี กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็ยังไม่มี ค่าแรงจึงขึ้นกับนายจ้างว่าจะให้เท่าไหร่ คนงานเองก็เข้าใจว่า ตัวเองอพยพมาจากต่างจังหวัดพอมีงานทำ ก็เป็นบุญคุณ นายจ้างจะให้เท่าไรก็ยอม

ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คนงานตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยได้เข้าไปทำงานกับคนงาน มีส่วนกระตุ้นให้คนงานมองเห็นว่าค่าจ้างไม่ใช่เรื่องบุญคุณแต่เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วก็รวมกลุ่มรวมกลุ่มต่อรองเรื่องสวัสดิการต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น ในช่วงที่รัฐบาลเป็นประชาธิปไตย มีการเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนไหวของคนงานมากกว่าในช่วงของระบอบทหาร เช่น ในช่วงปี 2518 มีการเดินขบวนใหญ่เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ โดยเริ่มต้นจากคนงานเดินขบวนจากพระประแดงไปอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ชักชวนให้ไปรวมตัวกันที่ท้องสนามหลวงเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แม้ว่าในตอนนั้นคนงานส่วนใหญ่ยังไม่มีสหภาพแรงงาน แต่ก็ได้รวมกลุ่มกันหลากหลาย โดยตั้งเป็นศูนย์ประสานงานกรรมการแห่งชาติซึ่งมีนักศึกษาเป็นแนวร่วม คนงานส่วนใหญ่มาจากโรงงานทอผ้าจากขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีรายได้ต่ำ ที่สำคัญการปรับขึ้นค่าแรงมีน้อยมาก

หลังการรัฐประหารปี 2519 เรื่องการปรับค่าแรงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ขึ้นบ้าง ไม่ขึ้นบ้าง จนมากระทั่งยุครัฐบาลชาติชายในปี 2531 เป็นช่วงที่มีรัฐบาลที่มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจาก 6 ตุลาคม 2519 ประกอบกับเศรษฐกิจเติบโตมากสูงที่สุดในเอเซีย คนงานรวมตัวกันเป็นกลุ่มประสานงานสหภาพแรงงานแห่ประเทศไทย ซึ่งได้นำตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจมาพูดถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น จนการเรียกร้องของคนงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งคือมีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 2 ครั้งในช่วงรัฐบาลชาติชายจากเดิม 73 บาท พูดได้ว่ารัฐบาลชาติชายพยายามฟังเสียงประชาชนมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้นที่เราเรียกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ

แม้ว่าภายใต้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย คนงานก็ต้องรวมกลุ่มให้เข้มแข็งและออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมเห็นว่าค่าจ้างที่ได้รับมันต่ำมาก ในช่วงนั้น คนงานนับพันคนเดินขบวนไปที่ซอยราชครู บ้านของนายกฯ ชาติชาย เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาค่าจ้างที่ไม่เพียงพอ การเรียกร้องครั้งนั้น รัฐบาลตอบรับให้มีการปรับขึ้นการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำ

ในบรรยากาศที่เปิดกว้างมากขึ้นหลังยุคพลเอกเปรมที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ คนงานได้มุ่งมั่นต่อสู้เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทางสังคมมากขึ้น เช่น กฎหมายประกันสังคม ซึ่งในปัจจุบัน ลูกจ้างในบริษัทต่างๆ ก็ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนี้ ซึ่งคงต้องเข้าใจว่ามาจากการต่อสู้ของคนงานที่มีค่าจ้างต่ำ จนในปัจจุบันการคุ้มครองของกฎหมายประกันสังคมครอบคลุมกระจายไปสู่ลูกจ้างบริษัทต่างๆ ที่มีรายได้สูงด้วย ระบบประกันสังคมมาจากการต่อสู้ถึงขั้นอดอาหารประท้วง ไม่ใช่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ

หลังจากนั้นในปี 2533 ช่วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารรัฐประหารของ คณะทหาร ร.ส.ช. ก็ทำให้การแสดงความคิดเห็นและจำกัดการวมกลุ่มของคนงาน และการเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมของขบวนการแรงงานก็สะดุดลง มีการจำกัดสิทธิต่างๆ มีการจับกุมนักแรงงาน เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำสัมพันธ์กับเรื่องเสรีภาพทางการเมืองมาก

จนในปัจจุบัน ประด็นค่าแรงขั้นต่ำถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ผมคิดว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นบันไดขั้นแรกที่เป็นหลักประกันขั้นต่ำที่สุดให้กับผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่เพียงพอกับชีวิต ที่สำคัญไม่ใช่แค่เรื่องตัวเงิน แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกคนควรมีค่าจ้างขยับขึ้นมา มีศักดิ์ศรีขึ้นมาบ้าง ในอนาคตค่าจ้างทุกคนในสังคมควรทัดเทียมกันกว่านี้  ในปัจจุบัน คนงานทำงาน 8 ชั่วโมง ทำล่วงเวลาอีก รายได้ยังเทียบกันไม่ได้กับคนอีกส่วนหนึ่งเช่น ฝ่ายบริหารเป็นต้น ค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทเทียบเป็นเงินเดือนก็ไม่เกิน 8,000 บาทในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งในสังคมรับเงินเดือนกัน 5 หมื่นบาท 6 หมื่นบาท เป็นเรื่องที่เราได้ยินกับปกติ คนงานจำนวนมากทำงานมาก 20 ปีก็ยังได้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่

ค่าแรง 300 บาทจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ อย่าง เช่น จุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศที่คำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น การกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งขอย้ำว่าเป็นการประกันขั้นต่ำที่สุด ซึ่งต้องเป็นฐานของการปรับค่าจ้างและสวัสดิการให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป

ส่วนสหภาพแรงงานก็ควรนำประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้ในการรวมกลุ่มจัดตั้งคนงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยสหภาพอาจพูดคุยกับนายจ้างของตนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และสหภาพอาจใช้ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำในการจัดการศึกษาให้กับคนงานทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก เพื่อให้เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฐานที่ต่ำที่สุดที่จะพัฒนามาเป็นของการเจรจาต่อรองร่วมและการทำข้อตกลงสภาพการจ้างของสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนคนงานกับนายจ้างในสถานประกอบการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงแม้ในรัฐบาลประชาธิปไตย เช่น ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ก็ยังติดขัด ปัญหาสำคัญอยู่ที่กลไกไตรภาคีในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ มันไม่ทำงาน เหตุผลสำคัญคือนายจ้างกับข้าราชการประจำพยายามกดค่าแรงขั้นต่ำไม่ให้ก้าวกระโดด แม้ว่าผลผลิตและผลกำไรที่คนงานสร้างให้กับบริษัทจะเพิ่มในระดับที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ การพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของคนงาน คนงานจึงต้องออกมาเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี แนวทางแก้ปัญหา ผมคิดว่า ในอนาคตอาจจะต้องมีการออกกฎหมายเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของกับคนงานพื้นฐานในทุกบริษัทซึ่งให้มีระดับการการปรับขึ้นในขั้นต่ำทุกปีคล้ายกับโครงสร้างเงินเดือนของราชการ ไม่ใช่มีแต่โครงสร้างเงินเดือนของฝ่ายบริหารและพนักงานออฟฟิสเท่านั้น ส่วนในสถานประกอบการที่มีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานสหภาพแรงงานก็ควรพิจารณาว่าโครงสร้างการปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าวสะท้อนกับผลกำไรของบริษัทหรือไม่ หากไม่สะท้อนถึงการแบ่งปันผลกำไรที่สมเหตุสมผล สหภาพแรงงานและนายจ้างก็จะต้องมีการเจรจาต่อรองในเรื่องนี้และสวัสดิการอื่นๆ กันต่อไป    

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ครั้งแล้วครั้งเล่า"

Posted: 29 Aug 2011 01:18 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ครั้งแล้วครั้งเล่า"

TCIJ: ชาวเก้าบาตรร่วมฟื้น “ป่าดอนตาปู่” ยืนยันปักหลักจัดการทรัพยากร

Posted: 29 Aug 2011 12:37 AM PDT

ชาวบ้านเก้าบาตรร่วมปลูกป่ากินได้ ฟื้นป่าหัวไร่ปลายนา “ป่าดอนตาปู่” ชี้หลังรัฐให้นายทุนเช่าปลูกยูคาฯ นานกว่า 30 ปี ทำระบบนิเวศน์เสียหาย ชูสิทธิ์ชุมชนจัดการทรัพยากรยั่งยืน พร้อมจี้รัฐ “คืนผืนดินให้เจ้าของเดิม”

 
 
 
ชาวบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กว่า 50 คน ร่วมใจกันปลูกต้นไม้ท่ามกลางสายฝน บริเวณสองข้างทาง ถนนเข้าหมู่บ้านเก้าบาตร และบริเวณดอนตาปู่ ศาลพระลักษณ์พระราม ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ประจำหมู่บ้านเก้าบาตรที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เพื่อยืนยันแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนของชุมชน ในรูปแบบของการรื้อฟื้นพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าดอนตาปู่ ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่ ในการสร้างป่าเพื่อเป็นร่มเงา คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดิน เพื่อใช้สอยในครอบครัว รวมทั้ง เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของคนในชุมชนด้วย 
 
ต้นไม้ที่นำมาปลูกมีหลากหลาย เช่น ต้นยางนา ต้นพยุง ต้นแต้ มีไม้กินได้อย่างมะม่วง น้อยหน่า ขนุน แค ขี้เหล็ก สะเดา กระท้อน มะพร้าว มะขาม ซึ่งพันธุ์ไม้ต่างๆ เหล่านี้ ชาวบ้านเก็บเมล็ดมาเพาะกันเอง ไม่ได้ซื้อ โดยตั้งใจจะปลูกป่าเป็นป่าหัวไร่ปลายนา เพิ่มพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านสามารถเก็บกินหมากผลได้ “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” รวมทั้ง ยังเป็นการฟื้นฟูสภาพดินให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม หลังจากที่รัฐให้นายทุนมาเช่าพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสนานกว่า 30 ปี จนสภาพดินเสื่อมโทรม มีสารเคมีตกค้างในดิน และสูญเสียระบบนิเวศน์
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านเก้าบาตรยังยืนยันว่าจะปักหลักอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พวกเขาทำกินและอยู่มาก่อน พร้อมทั้ง เรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนที่ดินนี้ให้กับชาวบ้านดังเดิม
 
นายใจ เจริญรัมย์ ชาวบ้านเก้าบาตร กล่าวว่า กลุ่มบ้านเก้าบาตรปลูกต้นไม้กันทุกปี ตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่นี่ วันนี้เป็นการปลูกเสริมอีก เพราะที่นี่คือที่ดินเดิมของตนเอง ซึ่งตนและครอบครัวได้เข้ามาทำกินบริเวณนี้ตั้งแต่อายุได้ 21 ปี ปัจจุบันตนอายุ 60 ปีแล้ว เมื่อก่อนมีที่ดินทำกินประมาณ 200 ไร่ ช่วงที่มาทำกินทหาร หรือว่าหน่วยงานรัฐไม่เคยห้าม อีกทั้งยังส่งเสริม สนับสนุนให้ทำกินไปเลยด้วยซ้ำ นายใจกล่าว 
 
ด้านนายลุน สร้อยสด ชาวบ้านเก้าบาตร กล่าวว่า เขาและชาวบ้านเก้าบาตรจะไม่ยอมออกจากที่ดินของตนเอง และยังคงยืนยันในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งหากรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านจริง ก็น่าจะดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว 
 
นายลุน กล่าวย้ำว่า การปลูกต้นไม้วันนี้ ยังเป็นการยืนยันด้วยว่าชาวบ้านสามารถปลูกป่าได้ ดูแลรักษาป่าได้ และคนก็อยู่ได้ โดยรัฐไม่ต้องสูญเสียงบประมาณใดๆ รวมทั้ง ยังเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนของชุมชนด้วย 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น