โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชำนาญ จันทร์เรือง: วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯ

Posted: 09 Aug 2011 12:35 PM PDT

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีวิชาการเล็กๆขึ้นมา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่มีผลตอบรับกลับมาเป็นวงกว้างเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนชาวเชียงใหม่เองหรือประชาชาวจังหวัดอื่นซึ่งล้วนแล้วแต่เห็นด้วยในความคิดเช่นว่านี้ แต่จากภาคราชการมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พวกที่เห็นด้วยก็บอกว่าถึงเวลาแล้ว โลกเราต้องก้าวไปข้างหน้าเหมือนนานาอารยประเทศเขา ส่วนพวกที่ไม่เห็นด้วยก็อ้างว่าจะนำมาซึ่งการแตกความสามัคคี

การจัดเวทีในวันนั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่การนำเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯที่ยกร่างโดยผมในฐานะประธานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งมีหลักการใหญ่ คือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้วให้เหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้มีการวิจารณ์ร่างโดยนายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีต คปร.และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ไชยยันต์ รัชชกุล จากมหาวิทยาลัยพายัพ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เข้าร่วมเวทีอีกหลายคน

การจัดเวทีครั้งนี้จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับโครงการบูรณาการเชียงใหม่จัดการตนเอง ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการเปิดเวทีในครั้งนั้นสรุปได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ได้รับรองสิทธิ์การยกฐานะของพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดูแลปกครองตนเองให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่และรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 281-284

 “ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองว่าการยกระดับจังหวัดให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ทำได้ มิใช่การแบ่งแยกการปกครองแต่อย่างใด

การจัดรูปแบบการปกครองของเชียงใหม่มหานครฯตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดเชียงใหม่หมดไป ซึ่งก็หมายความว่าจะไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปจากส่วนกลางอีกต่อไป แต่อาจจะแปรสภาพเป็นผู้ตรวจการฯอย่างเช่นประเทศฝรั่งเศส เพราะอย่างไรเสียส่วนกลางก็ต้องมีผู้คอยประสาน (หากจะมี) อำนาจหน้าที่เดิมที่เคยเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดและอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯก็จะเป็นของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ก็ได้ (ถ้าหวงชื่อนี้นัก) แต่ในชั้นยกร่างนี้ยังคงชื่อเดิมนี้ไว้อยู่

ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการจัดรูปแบบเป็นสองระดับซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครซึ่งมีระดับเดียวคือระดับจังหวัดเท่านั้น แต่ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯ จัดรูปแบบเป็นสองระดับ คือ ระดับบนเป็นระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน วาระ 4 ปี เป็นหัวหน้า ส่วนระดับล่างมีเทศบาลโดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้าเหมือนกัน ไม่ต้องแยกเป็น เทศบาลหรือ อบต.ให้ยุ่งยากเหมือนในปัจจุบันที่ในตำบลเดียวกันเช่น ต.ช้างเผือก มีตั้ง 2 นายก คือนายกเทศมนตรีและนายก อบต.การมีทั้งจังหวัดและเทศบาลนี้ไม่ได้หมายความว่าจังหวัดจะเป็นผู้บังคับบัญชาของเทศบาลนะครับ ต่างฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระในรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นเป็นของตัวเอง เพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทำให้ชัดเจนว่าใครทำอะไร

ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ก็หมดไป กลายเป็นจังหวัดที่เป็นส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ยังคงอยู่ดัง เช่น กทม.แต่ไม่ได้เป็นราชการส่วนภูมิภาคแล้ว บทบาทก็จะเนั้นไปในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

ประเด็นสำคัญที่สอบถามกันมากก็คือ แล้วข้าราชการส่วนภูมิภาคจะไปไหน คำตอบก็คือ ก็ยังคงอยู่แต่เปลี่ยนสังกัดจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม มาสังกัดท้องถิ่นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง (ซึ่งดึเสียอีกจะได้ไม่ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายออกนอกพื้นที่) ซึ่งก็รวมข้าราชหารส่วนกลาง ซึ่งในปัจจุบันทำตัวเป็นผู้ที่ผู้ว่าฯแตะต้องไม่ได้ก็ต้องมาฝากการดูแลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งก็หมายความไมได้ห้ามส่วนกลางที่จะมาตั้งสำนักงานในจังหวัด แต่หน่วยงานนั้นควรจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางวิชาการ การวิจัย ฯลฯ แต่ต้องฝากการกำกับดูแลกับผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ดี)

การปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดเชียงใหม่ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินนโยบาย เพื่อดูแล ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม การสร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ สวัสดิการของบุคคล และชุมชน มีทิศทาง นโยบายที่กำหนดได้เองระดับจังหวัด มีหน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หลัก โดยการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้บุคลากร การบริหารจัดการและงบประมาณ ย้ายจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น มีการบริหารเหมือนการย่อขนาดกระทรวงต่างๆ ให้มาอยู่ในจังหวัด ครอบคลุมในเรื่องเหล่านี้

ความปลอดภัย หน่วยงานตำรวจเป็นหน่วยงานระดับจังหวัด มีหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน อำนาจการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน การเรียน การสอบ การฝึกฝน ทักษะ เป็นภาระหน้าที่ของจังหวัด และมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน นอกจากนั้ก็มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ/การศึกษา มีหน่วยงานระดับจังหวัดรับผิดชอบการดำเนินงานด้านการศึกษา ครอบคลุม 4 เรื่อง คือ การจัดการบุคลาการขึ้นตรงต่อเชียงใหม่ การบริหารจัดการ งานวิชาการ และงบประมาณ

การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล / การคมนาคม การพัฒนาระบบขนส่ง และการคมนาคม ระดับชุมชน จังหวัด มีวิศวกรรมจราจร /การท่องเที่ยว /สวัสดิการ การพัฒนาระบบสวัสดิการ ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ตั้งแต่เกิดจนตาย และสร้างความมั่นคงในชีวิต/การจัดผังเมือง จังหวัดมีอำนาจในการกำหนดขอบเขต การใช้ประโยชน์ แบ่งโซนผังเมือง การสร้างสิ่งก่อสร้าง ควบคุมอาคาร/การพาณิชย์ของเชียงใหม่มหานคร ฯลฯ

โดยจะไม่ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ การทหาร การต่างประเทศ เงินตรา และศาล ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจของส่วนกลาง

ในส่วนของการที่มาของรายได้นั้นมาจากการจัดเก็บภาษีอากรจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น สรรพากร สรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ มิใช่ภาษึท้องถิ่นจิ๊บจ๊อยเช่นในปัจจุบัน เมื่อเก็บได้แล้วก็นำส่งส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วเก็บไว้บริหารจัดการในพื้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้ง ”ลูกขุนพลเมือง (Civil Juries)” ขึ้นมาทำหน้าที่ถ่วงดุล ส่วนวิธีการที่ได้มาและอำนาจหน้าที่จะมีมากน้อยแค่ไหนเพียงใดเป็นที่จะต้องถกแถลงกันต่อไป

รายละเอียดคงต้องถกกันอีกมาก แต่อย่างน้อยก็เป็นก้าวย่างที่เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ เพราะจุดมุ่งหมายของการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือการเสนอร่างโดยภาคประชาชนในปี 2555 ที่จะถึงนี้

โลกพัฒนาไปมากแล้ว ผู้ที่ติดยึดกับอดีตโดยไม่ลืมหูลืมตา จะถูกกระแสของพัฒนาการกวาดตกเวทีที่ตนเองยึดว่าเป็นของตัวไปอย่างช่วยไม่ได้

 

-------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โปรดเกล้าฯ 'ครม.ยิ่งลักษณ์'

Posted: 09 Aug 2011 11:06 AM PDT

9 ส.ค. 54 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 แล้ว นั้น
 
บัดนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบไปแล้ว
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
 
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรองนายกรัฐมนตรี 
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นรองนายกรัฐมนตรี 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง 
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พล.ต.ท. ชัจน์ กุลดิลก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายภูมิ สาระผล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยการกระทรวงมหาดไทย
นายฐานิสร์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นางสุกุมล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
นางบุญรื่น ศรีธเรศ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายวิทยา บุรณศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 
ประกาศ ณ วันที่ 9 ส.ค. พุทธศักราช 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลอังกฤษยันไม่ฉีดน้ำสลายจลาจล ไม่พึ่งกำลังจากกองทัพ

Posted: 09 Aug 2011 10:59 AM PDT

นายกอังกฤษหารือแนวทางรับมือจลาจล เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในลอนดอนเป็น 13,000 นาย โฆษกกระทรวงมหาดไทย (Home Office) ยืนยันว่าจะไม่ใช้การฉีดน้ำสลายการก่อจลาจลและจะไม่มีการนำกองทัพเข้ามาร่วมสลายกลุ่มผู้ก่อจลาจล

ตำรวจนครบาลลอนดอน (London’s Metropolitan Police) เร่งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่อารักขาความปลอดภัยตามท้องถนนเป็น 13,000 นาย หลังเหตุการณ์ความไม่สงบลุกลามไปรอบกรุงลอนดอนและกระจายไปเมืองใหญ่หลายแห่ง

วันอังคารที่ 9 สิงหาคมนับเป็นวันที่ 4 ที่ผู้ก่อความไม่สงบเข้าปล้นและเผาทำลายห้างสรรพสินค้าใหญ่หลายแห่ง ร้านรวง อาคารที่พักอาศัยและทรัพย์สินทั้งของส่วนราชการและประชาชน คือรถโดยสารประจำทาง รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรถยนต์ส่วนบุคคลในบริเวณเกิดเหตุ ผู้ที่ถูกจับกุมในเหตุก่อจลาจลทั้งในลอนดอนและเมืองอื่นขณะนี้มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 ราย

ทางรัฐยังถกเถียงกันว่าควรใช้มาตรการอะไรเพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ สำนักข่าว Express รายงานว่าโฆษกกระทรวงมหาดไทย (Home Office) ยืนยันว่าจะไม่ใช้การฉีดน้ำสลายการก่อจลาจลและจะไม่มีการนำกองทัพเข้ามาร่วมสลายกลุ่มผู้ก่อจลาจลด้วย โดยทางโฆษกกล่าวว่าการฉีดน้ำไม่ใช่มาตรการยุติจลาจลที่กระทรวงมหาดไทยจะใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมบนแผ่นดินสหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีของอังกฤษนายเดวิด คาเมรอน (David) จากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) จัดการประชุมหารือวิกฤตการณ์ (crisis talks) กับนายกเทศมนตรีลอนดอนนายบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนางเทเรซา เมย์ (Theresa May) และตำรวจนครบาลลอนดอนถึงมาตรการจัดการเหตุจลาจลที่เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษเรียกผู้ก่อเหตุไม่สงบว่าอาชญากร เนื่องมาจากการเข้าปล้นห้างสรรพสินค้าและร้านค้าของประชาชน พร้อมยืนยันว่าการจลาจลจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2012

สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ภาคภาษาอังกฤษ รายงานว่ารองนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายนิค เคลก (Nick Clegg) จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat Party) ให้สัมภาษณ์หลังจากไปเยือนท็อตแนม (Tottenham) ซึ่งเป็นจุดแรกที่เกิดเหตุจลาจลขึ้น  โดยเขากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการฉกฉวยโอกาสเพื่อขโมยข้าวของและการใช้ความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุจำเป็นแต่ประการใด และเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

เคลกยังแสดงจุดยืนว่ารัฐบาลอยู่เคียงข้างประชาชนที่อาศัยในชุมชนที่เกิดจลาจลและประนามการปล้นและการใช้ความรุนแรงในเหตุก่อความไม่สงบ

ขณะเดียวกัน ผู้นำฝ่ายค้านนายเอ็ด มิลิแบน (Ed Miliband) จากพรรคแรงงาน (Labour Party) ก็ได้ทวิตข้อความลงทวิตเตอร์ของเขาเองว่า ภาพที่เขาได้เห็นในลอนดอนและเบอร์มิ่งแฮมทำให้เขาตกใจมาก และเรียกร้องให้มีการเพิ่มกำลังตำรวจเพื่อยุติการจลาจลเพื่อที่ชุมชนเหล่านี้จะได้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แกนนำเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักการเมืองฝ่ายค้านบางส่วนมีความเห็นร่วมกันว่าสาเหตุการใช้ความรุนแรงในครั้งนี้เกิดจากมาตรการตัดงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมผลักให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและคนว่างงานเข้าร่วมปล้นร้านค้าและทำลายทรัพย์สิน

ข้อเสนอนี้ถูกโต้แย้งโดยนักการเมืองอนุรักษ์นิยมว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้คนกลายเป็นโจรได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการฉวยโอกาสขโมยสิ่งของมีค่า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้าในขณะที่เกิดเหตุไม่สงบขึ้นทั่วกรุงลอนดอน

นายเดวิด คาเมรอนยังยืนยันว่าจะไม่มีการชะลอการตัดงบประมาณของภาครัฐ โดยการตัดงบนี้กระทำขึ้นภายหลังจากพรรคอนุรักษ์นิยมเข้ามาเป็นรัฐบาลแทนพรรคแรงงานของนายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) มีจุดประสงค์เพื่อลดงบประมาณขาดดุลที่รัฐบาลใช้จ่ายในการสร้างสวัสดิการและสาธารณูปโภค

โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมอ้างว่างบประมาณขาดดุล(รายรับของภาครัฐไม่เพียงพอกับรายจ่าย)ทำให้รัฐบาลมีภาระในการหางบมาสนับสนุนการดำเนินนโยบาย ซึ่งมักมาในรูปการขึ้นภาษี

ทั้งนี้ สาเหตุของการจลาจลยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นประเด็นเรื่องการเหยียดผิวระหว่างคนผิวขาวและผิวสี ข้อขัดแย้งระหว่างตำรวจและกลุ่มวัยรุ่นหรือเป็นการกระทำของโจรฉวยโอกาส แต่เหตุจลาจลเกิดขึ้นภายหลังนายมาร์ค ดักเกน ชายผิวดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาอังกฤษเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในลอนดอนเป็น 13,000 นาย โฆษกกระทรวงมหาดไทย (Home Office) ยืนยันว่าจะไม่ใช้การฉีดน้ำสลายการก่อจลาจลและจะไม่มีการนำกองทัพเข้ามาร่วมสลายกลุ่มผู้ก่อจลาจลด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลี้ยวซ้าย: จลาจลที่อังกฤษมีผลจากนโยบายทางการเมืองในยุควิกฤต

Posted: 09 Aug 2011 10:30 AM PDT

การจลาจลเมื่อเดือนสิงหาคมในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ เป็นผลของนโยบายรัฐบาลแนวร่วมพรรคอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม ที่ใช้กลไกตลาดเสรีสุดขั้วเพื่อตัดงบประมาณรัฐ โดยอ้างว่า “ต้อง” ลดหนี้สาธารณะเพื่อรักษา “วินัยทางการคลัง”

คำพูดเรื่องวินัยทางการคลังนี้ เรามักได้ยินออกมาจากปากนักการเมืองเสรีนิยมอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรณ์ จาติกวณิช โดยเฉพาะเวลารัฐบาลไทยรักไทยใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาสถานภาพคนจน แต่เมื่อมีการเพิ่มงบประมาณทหารสองเท่าหลังรัฐประหาร 19 กันยา ไม่มีใครพูดอะไร

ในกรณีอังกฤษ หนี้สาธารณะไม่ได้สูงเป็นประวัติศาสตร์ตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สองสูงกว่านี้สองเท่า แต่เขายังสร้างรัฐสวัสดิการได้ และที่สำคัญหนี้สาธารณะที่ขยายตัวตอนนี้มาจากการเอาเงินประชาชนไปอุ้มธนาคารที่เต็มไปด้วยหนี้เสียจากการปั่นหุ้น แต่ไม่มีรัฐมนตรีหรือนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคนไหนที่เสนอว่าต้องไปเก็บคืนจากนายธนาคารและคนรวยที่เคยได้ดิบได้ดีจากการเล่นหุ้น

รัฐบาลแนวร่วมพรรคอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยมอังกฤษ ตัดการบริการสาธารณะ ตัดตำแหน่งงาน ตัดรัฐสวัสดิการ ทำลายชีวิตและอนาคตของเยาวช​น มีการตัดทุนเพื่อการศึกษาของวัยรุ่นและตัดศูนย์วัยรุ่นอีกด้วย หลายคนคาดว่าคงจะเกิดเหตุจลาจลในไม่ช้า แต่นักการเมืองตอนนี้ทำเป็น “ตกใจ”

สิ่งที่จุดไฟให้ระเบิดขึ้นครั้งนี้ คือท่าทีก้าวร้าวของตำรวจที่รังแกเยาวชนและคนผิวดำอย่างต่อเนื่อง จนตำรวจยิงปืนฆ่าชายคนหนึ่งตายโดยอ้างว่าเป็นโจร ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานอะไร จะเห็นว่าคนจน โดยเฉพาะเยาวชนถูกกดดันจากนโยบายรัฐบาล และจากตำรวจ

ตอนนี้ระดับว่างงานของเยาวชนสูงมาก บัณทิตที่จบมหาวิทยาลัยตกงานถึง 14% เป็นบัณทิตชายสูงถึง 18% สำหรับเยาวชนทั่วไป ระดับการว่างงานสูงเกิน 20% ถ้าพูดถึงคนจนในเมือง ระดับการว่างงานสูงกว่านี้อีกมาก โดยเฉพาะในหมู่คนผิวดำ ย่านทอตแนม ซึ่งเป็นย่านเกิดเหตุครั้งแรก มีระดับการว่างงานของเยาวชนสูงที่สุดในลอนดอน การที่เยาวชนจำนวนมากที่กำลังเรียนระดับ ม.6 ต้องพึ่งเงินทุนเพื่อการศึกษาที่รัฐบาลกำลังตัด เป็นเหตุให้นักเรียนออกมาประท้วงร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเมื่อปลายปีที่แล้ว และมีการบุกเข้าไปในที่ทำการพรรคอนุรักษ์นิยมด้วย

สภาพเศรษฐกิจที่มีผลจากวิกฤตโลก ทำให้คนหนุ่มสาวตกงานและขาดอนาคต เป็นสาเหตุสำคัญของการลุกฮือล้มเผด็จการในอียิปต์กับตูนิเซีย และเป็นสิ่งที่ทำให้เยาวชนสเปนออกมาสร้างค่ายประท้วงตามเมืองต่างๆ แม้แต่ในชิลี ซึ่งเป็นประเทศลาตินอเมริกัน ก็มีการประท้วงของนักศึกษาในประเด็นคล้ายๆ กัน

นอกจากการจลาจลแล้ว ที่อังกฤษมีการ “ร่วมกันกระจายทรัพย์สู่คนจน” โดยการบุกร้านค้า เพื่อยึดเอาของใช้ประจำวันและสินค้าราคาแพงที่คนจนไม่มีวันซื้อได้

การจลาจลครั้งนี้ทำให้หลายคนมองย้อนหลังสู่การจลาจลในปี 1981 สมัยรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมขวาสุดขั้วของนางแทชเชอร์ เพราะสถานการณ์คล้ายกันมาก คือมีการตัดงบประมาณในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจ ทำลายตำแหน่งงาน ทำลายอนาคตคนธรรมดา และตำรวจมีท่าทีก้าวร้าวเหยี่ยดสีผิวจนฆ่าผู้หญิงผิวดำตายสองคน หลังการจลาจลครั้งนั้น นักมาร์คซิสต์อังกฤษชื่อ คริส ฮาร์แมน เขียนไว้ว่า

“สำหรับหลายคนที่มีส่วนร่วมในการจลาจล มันเป็นประสบการณ์ยิ่งใหญ่ของชีวิต เพราะการร่วมจลาจลทำให้รู้สึกว่าได้โอกาสที่จะลุกขึ้นสู้ร่วมกับคนอื่น และมีผลต่อสังคม แทนที่จะมีชีวิตแบบโดดเดี่ยวที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และแทนที่จะเป็นเหยื่ออย่างเดียว ดังนั้นหลังการจลาจล คนที่เข้าร่วมไม่เคยรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ทั้งๆ ที่การจลาจลเป็นการต่อสู้ราคาแพงสำหรับเขา เพราะฝ่ายประชาชนบาดเจ็บมากกว่าตำรวจ และถูกจับจำนวนมาก

"แต่การจลาจลมีจุดอ่อนมหาศาลถ้าเทียบกับการนัดหยุดงาน เพราะเวลากรรมาชีพนัดหยุดงาน เขาจะมีประสบการณ์ร่วมที่เพิ่มความรู้สึกในความสมานฉันท์ และที่สำคัญสามารถท้าทายโครงสร้างระบบทุนนิยมได้โดยการปิดท่อส่ง “มูลค่า” และทำให้ระบบเศรษฐกิจอัมพาต มันมีผลระยะยาวมากกว่าการก่อจลาจล และมันนำไปสู่การจัดตั้งและเรียนรู้ทางการเมืองได้ดีกว่า” (http://www.marxists.org/archive/harman/1981/xx/riots.html)

เมื่อต้นปีนี้มีการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ของนักสหภาพแรงงานอังกฤษเพื่อต้านนโยบายรัฐบาล และเมื่อปลายเดือนมิถุนายนมีการนัดหยุดงานร่วมกันของสหภาพแรงงานในภาครัฐ ในช่วงนี้นักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานรากหญ้ากำลังรณรงค์กดดันสภาแรงงานอังกฤษให้จัดการนัดหยุดงานทั่วไปอย่างที่เราเห็นในกรีซ

หลายคนในอังกฤษที่เกลียดชังนโยบายของรัฐบาลเศรษฐีอังกฤษ กำลังคิดในใจว่า “สมน้ำหน้ารัฐบาล” และในไทยเราไม่ควรลืมว่า พวกเศรษฐีชั้นสูงของอังกฤษในพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นเพื่อนหรือจบจากสถานที่ศึกษาเดียวกับคนอย่างอภิสิทธิ์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มองอย่างคนชายแดน สถานการณ์ใต้ในมือรัฐบาลเพื่อไทย

Posted: 09 Aug 2011 10:19 AM PDT

จนถึงวันนี้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างเฝ้าจับตามองว่า รัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะมีนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 7 ปี ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้จะมอบหมายให้ใครเข้ามาดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษหรือไม่

หรือจะปล่อยให้การดูแลตกไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้กลไกความรับผิดชอบของกระทรวง กรม กองปกติ

 อันที่จริงการเฝ้าจับตามองในประเด็นนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปรากฏผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ออกมา โดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว

จะเห็นได้ว่า ในแทบทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง กระแสสอบถามถึงท่าทีรัฐบาลใหม่ต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดังกระหึ่ม

เห็นได้ชัดจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ออกมาจัดเสวนาในประเด็น “สังคมชายแดนใต้หลังการเลือกตั้ง” ในแทบจะทันทีทันใด

เนื้อหาการเสวนา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ณ อาคารเรียนรวม 19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บ่งบอกถึงความสนใจอยากรู้อยากทราบท่าทีของรัฐบาลใหม่ ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ชนิดชัดเจนยิ่ง

“นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล” สมาชิกวุฒิสภาสรรหาภาครัฐ นักธุรกิจใหญ่เจ้าโรงแรมซีเอส ปัตตานี มองว่า ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีผลงานเห็นชัดที่สุดแค่เพียงฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ให้กลับมาเป็นหน่วยงานแก้ปัญหาพื้นที่ แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอนโยบายจัดตั้งมหานครปัตตานี ก็กลับไม่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่ที่นั่งเดียว

มองจากมุมของ “นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล” ถึงแม้การกระจายอำนาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงลงได้ก็จริง แต่ในเมื่อปัจจุบันมีการกระจายอำนาจผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ายึดครององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ เป็นมลายูมุสลิมถึงร้อยละ 95–98 อยู่แล้ว

ทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในรูปแบบต่างๆ ทั้งทบวงการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของพรรคมาตุภูมิ และมหานครปัตตานีของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับการขานรับจากคนในพื้นที่ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียวในพื้นที่ปลายด้ามขวาน

“สรุปได้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ประสบผลสำเร็จทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

เป็นบทสรุปของ “นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล”

ทว่า ดูเหมือน “นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน” บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จะมองต่างออกไป

“นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน” กล่าวว่าฐานเสียงมุสลิมเดิมในพื้นที่ที่เคยถูกยึดกุมด้วยกลุ่มวาดะห์ ที่บัดนี้กระจัดกระจายออกไปอยู่กับพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผลให้คะแนนเสียงแตกกระจายไปให้กับทุกพรรค น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งหวังใช้ฐานเสียงของกลุ่มวาดะห์เดิมประสบกับความพ่ายแพ้

เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ ด้วยการปกครองรูปแบบพิเศษที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ ก็ปรากฏว่ามีรูปแบบแตกต่างไปจากที่ภาคประชาสังคมเสนอ มีรูปแบบไม่เหมือนกัน

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากการนำเสนอของนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ก็คือ กรณีพรรคประชาธรรมเน้นการใช้ภาษามลายูในการหาเสียงเลือกตั้ง จากเมื่อก่อนไม่มีคนกลุ่มใด พรรคการเมืองไหนกล้าใช้มาก่อน

“แสดงให้เห็นว่า ความเป็นมลายูตอนนี้มีพื้นที่มากขึ้น” เป็นบทสรุปของนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน

อันหมายรวมไปถึงกระแสการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็มีพื้นที่เคลื่อนไหวมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ข้อเสนอแนะต่อคนชายแดนภาคใต้จาก “นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน” ก็คือ ภาคประชาสังคมและนักศึกษาในพื้นที่ ต้องจับตาดูนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำลงสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ประเด็นที่จะต้องจับตาดูคือ รัฐบาลชุดนี้จะมีนโยบายลดความรุนแรงในพื้นที่อย่างไร พรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกับการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

“เราต้องถามเรื่องเหล่านี้ต่อรัฐบาล เพราะเรากำลังเดิมพันชีวิตของคนที่เสียชีวิตรายวันวันละ 2 คน เราต้องมีจุดยืนและยืนยันจุดยืนของเราต่อรัฐบาล หลังจากนี้ คนชายแดนภาคใต้จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่าง ต้องให้เกียรติคนกลุ่มน้อยในสังคมคนกลุ่มใหญ่ เพราะเราจะเอาชีวิตของคนชายแดนภาคใต้เป็นเดิมพันไม่ได้แล้ว เราต้องมีอำนาจในการต่อรอง จึงต้องสร้างพื้นที่รองรับ เพื่อทำให้ข้อต่อรองของเรามีน้ำหนัก”

เป็นข้อเสนอแนะในเชิงรูปธรรมจาก “นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน”

ขณะที่ “ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี มองผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนไทยพุทธร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกร้อยละ 80 เป็นมลายูมุสลิม จากการศึกษาของคณะรัฐศาสตร์พบว่า ฐานเสียงสำคัญที่ให้เทคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์คือ ร้อยละ 90 ของคนไทยพุทธในพื้นที่

“จากการสอบถามคนมุสลิม 100 คนพบว่า ไม่เทคะแนนไปกระจุกให้กับพรรคใดเพียงพรรคเดียว แต่จะตัดสินใจลงคะแนน โดยขึ้นอยู่กับกลุ่มหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากกว่า กรณีการพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทย เป็นเพราะชาวมลายูมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้งตัดคะแนนกันเอง ในขณะที่คนไทยพุทธเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะส่งผู้สมัครเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม”

เป็นการวิเคราะห์จากนักรัฐศาสตร์ในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง “ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี” 

แตกต่างเป็นอย่างมากกับมุมมองของ “นายกฤษณะ โชติสุทธิ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ วิชาเอกการปกครอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มองว่า เหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์กรือเซะ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งปัจจุบันแปลงร่างกลายรูปเป็นพรรคเพื่อไทย ส่งผลอย่างมากที่ทำให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทย

“โครงสร้างของรัฐไทยไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่ตอบสนองต่อชาติพันธุ์หรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากสังคมใหญ่ หากรัฐไทยใจกว้างกว่านี้ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้คงไม่เกิดขึ้น”

เป็นความเห็นของ “นายกฤษณะ โชติสุทธิ์”

ขณะที่ “นายดันย้าล อับดุลเลาะ” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยอิสลามศึกษา วิชาเอกตะวันออกกลาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สรุปง่ายๆ สั้นๆ แต่ได้ใจความ

“ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งทุกอย่างก็จะยังเหมือนเดิม”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ราชการชายแดนใต้เปิดมิติใหม่ ใช้ ‘ภาษายาวี’ บริการประชาชน

Posted: 09 Aug 2011 10:10 AM PDT

นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม


 
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี มีการประชุมการขับเคลื่อนวาระยิ้มตานีโครงการอำเภอ 2 ภาษา เพื่อรอยยิ้มชาวตานี โดยตนเป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคราชการ และภาคประชาชนประมาณ 15 คน
 
นายทรงพล ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวต่อประชุมว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ทางจังหวัดปัตตานี จะเริ่มดำเนินโครงการอำเภอ 2 ภาษา มีอำเภอเมืองและอำเภอหนองจิก เป็นอำเภอนำร่อง โดยให้สถานที่ราชการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) ควบคู่กับภาษาไทยในการสื่อสารกับประชาชนที่มาใช้บริการ เพื่อลดช่องว่างในการติดต่อสื่อสาร ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี เป็นการพัฒนาระบบการให้บริการที่เป็นรูปธรรม เน้นการสร้างรอยยิ้มให้กับคนปัตตานี เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการฉันท์มิตร
 
นายทรงพลยังกล่าวอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่ในการสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่นคือ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นทั้งนักประชาสัมพันธ์และล่าม สามารถพูดทั้งภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นได้ ถ้าพบผู้สูงอายุที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นักประชาสัมพันธ์จะเข้าไปให้บริการ ด้วยการแนะนำให้ความรู้ทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานที่ผู้ใช้บริการต้องการได้
 
นายวันเฉลิม แวดอเลาะ นักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน อำเภอเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า ตนเริ่มทำงานเป็นนักประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2553 โดยการว่าจ้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือน 7,940 บาท นักประชาสัมพันธ์ที่ทางศอ.บต.ว่าจ้างมี 154 คน ทั้งหมดจะถูกส่งไปปฏิบัติงานที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา โดยจัดส่งให้ไปทำงานอำเภอละ 4–5 คน แยกไปประจำที่ว่าการอำเภอ 1 คน สำนักงานพัฒนาที่ดิน 1 คน โรงพยาบาล 1 คน สถานีตำรวจ 1 คน และศาล 1 คน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลยา ช่วยคนไทยใช้ยาประหยัดและปลอดภัย

Posted: 09 Aug 2011 10:04 AM PDT

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์  และเป็นผลิตภัณฑ์หลักในโซ่อุปทานสุขภาพ ที่มีการไหลจากผู้ผลิตยา ผ่านผู้จัดจำหน่าย ผ่านโรงพยาบาล โดยการสั่งจ่ายยาของแพทย์ จนถึงผู้ป่วยได้รับเข้าสู่ร่างกายหรือใช้ยากับร่างกาย  ปัญหาหลักที่เกี่ยวกับการใช้ยา รวมถึงมูลค่าการใช้ยาของประเทศไทยที่สูงปีละเกือบ 1.9 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2552)  และความผิดพลาดในการใช้ยา  ทำให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี ดร.จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ เป็นหัวหน้าโครงการ เห็นความสำคัญและทำการศึกษาโซ่อุปทานในโรงพยาบาล และพบว่ามีการซ้ำซ้อนของกระบวนการและความพยายามเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่กันคนละระบบ  จึงได้คิดแก้ปัญหาโดยพัฒนารหัสยามาตรฐานขึ้นเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานเข้าถึงฐานข้อมูลเดียวกัน สื่อสารภาษาเดียวกัน 

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาฐานข้อมูลยาระดับชาติที่มีระบบสืบค้นผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมโยงข้อมูลบางส่วนจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันที่เชื่อถือได้ เช่น www.yaandyou.net  เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลยาที่สมบูรณ์และทันสมัย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันทุกรายการที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก ได้รับข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการใช้ยา 

ผลจากการพัฒนารหัสยามาตรฐานและฐานข้อมูลยา ได้นำมาสู่โครงการ "การประยุกต์ใช้รหัสยามาตรฐาน" โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในปีงบประมาณ 2555 เพื่อนำผลจากสองโครงการนี้ไปใช้จริง และหาแนวทางเชื่อมโยงรหัสยามาตรฐานและฐานข้อมูลยาในกระบวนการทำงานของโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลยา อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข โดยศึกษากระบวนการธุรกิจภายในโรงพยาบาล และค้นหาสิ่งที่ควรปรับปรุง  ผลจากโครงการนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอโครงการที่เป็นแผนงานระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมเพื่องานโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล ที่ยื่นขอรับทุนวิจัยร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่อไป 

ในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 นี้ จะมีการเสวนาเรื่อง "ปรับประบวนทัศน์โซ่อุปทาน สุขภาพโดยรหัสยามาตรฐาน  เพื่อชี้แจงวิธีการและขั้นตอนการบันมึกข้อมูลยาลงในฐานข้อมูล ให้กับผู้ผลิตยาและผู้จัดจำหน่ายยา ที่จัดจำหน่ายให้แก่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงนามประสานความร่วมมือกันเพื่อวิจัยและพัฒนารหัสมาตรฐานยาและเวชภัณฑ์ในห่วงโซ่อุปทานสาธารณสุข  เชื่อว่างานวิจัยทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทั้งหน่วยงานรัฐและประชาชนมีแหล่งสืบค้นข้อมูลยาที่ทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือไม่ถูกต้อง  เกิดการตรวจสอบย้อนกลับได้ของยา ลดขั้นตอนและระยะเวลาของคนไข้และบุคลากรทำให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาลนานเป็นเวลาหลายชั่วโมงอีก เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดคลังยา ระบบการเบิกจ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศในโรงพยาบาล การเพิ่มประสิทธิภาพของงานโดยใช้ระบบ Automation 

 

กำหนดการ

“ปรับกระบวนทัศน์โซ่อุปทานสุขภาพโดยรหัสยามาตรฐาน”
วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09.00-11.30 น.
ณ ห้อง 6450 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

*********************************************

08.30-09.00 น. ลงทะเบียน

09.00-09.10 น กล่าวรายงาน โดย รศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ 
                                หัวหน้าคลัสเตอร์การวิจัยด้านระบบโลจิสติกส์เพื่อการยกระดับการให้บริการสุขภาพ และอนามัยของ
                                ประเทศไทย  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

09.10-09.15 น. กล่าวต้อนรับ โดย อ.วรวิทย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
                                คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

09.15-09.20 น. กล่าวเปิดการประชุม โดย ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ 
                                รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

09.20-10.15 น. เสวนาหัวข้อ “การตรวจสอบย้อนกลับในโซ่อุปทานเพื่อประโยชน์สุขต่อประชาชนชาวไทย”
                                Traceability across Pharmaceutical Supply Chain: The Ultimate Aim for Thai Public
                                Safety  โดย
                                ผอ.พิชญา วัชโรทัย ผู้อำนวยการ สถาบันรหัสสากลแห่งประเทศไทย
                                ภก.มนตรี  สุวณิชย์ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
                                ภญ.อุไร เอี่ยวสีหยก ผู้จัดการฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
                                คุณศิรินทร  สะยอวรรณ์ Business Process Reengineering Manager
                                DKSH (Thailand) Company Limited
                                สานเสวนา โดย นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารเวชสารสนเทศไทย

10.15-10.30         Coffee Break

10.30-11.30         การบรรยายเรื่อง “การบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลยาของประเทศไทย” 
                                โดย ดร.จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
                                คุณโสภณ เมืองชู คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

11.30                 ปิดการบรรยาย

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ว่าฯ ตาก เผยเตรียมแจ้งจับคนขวางรื้อ “ตลาดดอยมูเซอ” หลังหายตัวไม่ยอมเคลียร์คำถามผู้ค้า

Posted: 09 Aug 2011 09:37 AM PDT

 
วันนี้ (9 ส.ค.54) เนชั่นทันข่าวรายงานว่า นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงกรณีกลุ่มชาวไทยภูเขา ได้แจ้งความกับตำรวจ สภ.พะวอ ให้ดำเนินคดีกับอาสาสมัครของฝ่ายปกครอง รวมทั้งขัดขวางโครงการก่อสร้างและปรับปรุงตลาดดอยมูเซอ ถนนสายตาก-แม่สอด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตากว่า จะแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนของผู้ขัดขวางนั้นจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหากมีการขัดขวางก็จะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด
 
“กลุ่มที่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ และไม่ได้เป็นเจ้าของร้านค้าแผงลอยในตลาดมูเซอแต่อย่างใด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เคยเป็นเจ้าของร้ายค้าในตลาด ต่อมาได้เซ้งหรือขายต่อไปแล้ว” นายสามารถ กล่าว
 
นายพงศนคร ตระกูลคีรี อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา เปิดเผยว่า คนที่คัดค้านเคยมีบ้าน มีแผงลอยอยู่ที่ตลาดมูเซออยู่แล้ว แต่ขายห้อง ขายสิทธิ์ ไปอยู่ตลาดใหม่ แต่พอทางจังหวัดจะปรับปรุงรื้อถอน ก็นำมวลชนออกมาขัดขวาง ต่อต้าน เพื่อหวังดึงงบประมาณไปทำที่ของกลุ่มแกนนำ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตลาดมูเซอใหม่ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มผู้คัดค้านเอง
 
ต่อเนื่องจากที่ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) รายงงานว่าวานนี้ (8 ส.ค.54) ชาวบ้านชนเผ่ามูเซอและเจ้าของร้านแผงลอยในบริเวณตลาดมูเซอ จาก ต.แม่ท้อ อ.เมืองตาก และ ต.ด่านแม่ละเมา กว่า 300 คน ได้รวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตากตั้งแต่ช่วงเช้า เรียกร้องพบนายสามารถ เพื่อขอความชัดเจนกรณีลงนามอนุมัติโครงการปรับปรุงตลาดใหม่โดยไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ค้า ไม่เปิดการมีส่วนร่วมในการกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (อส.) อ.แม่สอด และ อส.จ.ตาก รวมทั้งผู้สั่งการให้นำคนงานเข้ารื้อถอนตลาดมูเซอ ตามโครงการดังกล่าวก่อนหน้านี้
 
ชุมนุม1 เมื่อตอนเช้าที่ศาลากลางจังหวัด
 
ชุมนุม2 สถานการณ์ช่วงเย็น ณ ตลาดดอยมูเซอ
 
รูปโดย: ปลา ผู้ประสานงานเวทีสาธารณะ ThaiPBS
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านชุมนุมอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดจนถึงช่วงเย็น แต่นายสามารถก็ไม่ยอมลงมาพบ กลุ่มชาวบ้านจึงสลายการชุมนุมโดยแจ้งว่าอีก 2 วัน คือวันที่ 10 ส.ค.จะกลับมาติดตามทวงถามความคืบหน้า
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.ได้มี อส.พร้อมผู้รับเหมาเข้าไปรื้อถอนร้านค้าในตลาดดอยมูเซออีกครั้ง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความกับตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก แต่ตำรวจอ้างว่าไม่มีหมายจึงมีการรวมตัวกันเพื่อกดดัน จนท้ายที่สุดตำรวจได้นำตัว อส.และผู้รับเหมามาสอบสวนในข้อกล่าวหากล่าวหาทำลายทรัพย์สิน และให้ชาวบ้านชี้ตัว อส​.ที่มารื้อถอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีปลัดอำเภอเป็นตัวแทนจาก​ทางจังหวัด มาพูดคุยกับชาวบ้านด้วย
 
ทั้งนี้ ตลาดดอยมูเซอเป็นร้านค้าตามโครงการของศูนย์สงเคราะห์และพัฒนาชาวเขา ที่ให้ชาวไทยภูเขา นำผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายกับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี 2521 แต่ภายหลังพื้นที่ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ขณะเดียวกันมีร้านค้าเพิ่มมากขึ้น และทางจังหวัดเห็นว่าไม่เป็นระเบียบ และอาจมีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย จึงมีโครงการปรับปรุงตลาดเป็นอาคารโล่งชั้นเดียว มีแผงค้า 256 แผง และเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ถูกคัดค้านจากจากชาวบ้านและผู้ค้ามาโดยตลอด กระทั่งเจ้าหน้าที่เข้ามารื้อแผงค้าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม และต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้
 
 
ลำดับเหตุการณ์ปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ (เก่า)
 
 28 มีนาคม 2554
 
พฤศจิกายน 2531
หลังจากมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ซึ่งได้ครอบคลุมพื้นที่ตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้ดูแลตลาดฯ จากนั้นเริ่มมีชาวไทยพื้นราบขึ้นมาจับจองพื้นที่ค้าขาย เริ่มมีการปลูกสร้างอาคารถาวรขึ้น และในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531 กรมป่าไม้ซึ่งได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านว่าได้รับความเดือดร้อนจาก การประกาศพื้นที่อุทยาน ได้ทำการตรวจสอบการใช้พื้นที่ดังกล่าว และพบว่ามีสิ่งปลูกสร้างที่ได้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นนอกเขตที่ทางอุทยานฯ อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี 2504 จึงได้ขอให้ทำการรื้อถอนอาคารดังกล่าวออก แต่ก็มิได้มีการดำเนินการใดๆ จากผู้บุกรุก รวมทั้งมิได้มีการติดตามจากทางราชการ
 
เมษายน 2548 
จังหวัดตากได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและจัดระเบียบตลาดมูเซอร์ ใหม่และเก่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 เพื่อให้ตลาดทั้งสองแห่งมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเกิดความปลอดภัยแก่ ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในตลาด ทั้งนี้ให้กรรมการมีหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนผู้ค้า บริหารจัดการตลาด พิจารณาระบบรับจ่ายเงิน และอื่นๆ ตามความเหมาะสม
 
มีนาคม 2552
อำเภอแม่สอด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและจัดการตลาดมูเซอร์เก่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เพื่อให้การบริหารจัดการตลาดมูเซอร์ (เก่า) เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการรักษาความสะอาด มีที่ทิ้งขยะ และมีระบบจราจรที่ดี
 
เมษายน 2552
มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดมูเซอร์ (เก่า) ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา นายไพบูลย์ สุรนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา ได้สรุปวิธีการแก้ปัญหาและขอความเห็นชอบ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ดังนี้ (1) เสนอให้ปรับปรุงอาคารตลาดให้ถูกสุขลักษณะ ตามแบบแปลนของโยธาธิการจังหวัดในพื้นที่เดิม (2) ให้มีการเปิดถนนทั้งหมด ไม่ให้มีการวางขายของบริเวณลานจอดรถ (3) ผลักกันให้คนขายเก่าเข้าไปขายในแผงเดิม (ในตัวอาคาร) และให้ทำประชาคมเพื่อเปิดหลังคาอาคารให้โล่ง และทำพื้นใหม่
 
กันยายน 2553
ทางจังหวัดได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ตาก แจ้งผลการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณฯ รวมทั้งจัดเตรียมรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่าย แบบรูปรายการ สถานที่ดำเนินการ ฯลฯ ทั้งนี้โครงการปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการอนุมัติ
 
ตุลาคม 2553
วันที่ 18 ตุลาคม ทางอำเภอแม่สอด ได้ทำหนังสือแจ้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา เพื่อให้เตรียมพื้นที่ปรับปรุงก่อสร้างตลาดฯ ซึ่งจะต้องมีการย้ายผู้ค้าและสินค้าออกจากตลาดในช่วงที่ทำการก่อสร้าง
 
วันที่ 20 ตุลาคม ทางองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา ได้ทำหนังสือเชิญคณะกรรมการบริหารตลาด เพื่อเตรียมการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงตลาดฯ โดยผู้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมคือ คณะกรรมการที่ทางอำเภอแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552
 
วันที่ 26 ตุลาคม มีการประชุมตามคำเชิญประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีการท้วงติงว่าการดำเนินการปรับปรุงหรือก่อสร้าง อาคารขนาดใหญ่ทั้งในเขตทางหลวงและเขตอุทยานแห่งชาติโดยวิธีการทำหนังสือขอ ใช้พื้นที่เพื่อดำเนินงานดังกล่าวจากกรมทางหลวงและกรมป่าไม้อาจไม่ได้รับอนุ ญาติเนื่องจากไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทางหลวง และ พ.ร.บ.ป่าไม้ โดยเฉพาะในส่วนของอุทยานฯ จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีการดำเนินการก็ไม่น่าจะผ่าน แต่หากจะเป็นการประสานงานกันภายในจังหวัดก็จะถือเป็นการดำเนินการโดยอนุโลม นอกจากนั้นในที่ประชุมยังมีข้อถกเถียงเรื่องความเพียงพอของผู้ค้าในปัจจุบัน รวมทั้งการจัดผู้ค้าเข้าไปอยู่ในอาคาร
 
ธันวาคม 2553
วันที่ 8 ธันวาคม มีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดมูเซอร์ (เก่า) ครั้งที่ 2/2553 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา ในการประชุมได้มีการชี้แจงแบบแปลนการก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการจังหวัด การพิจารณารายชื่อผู้ค้า การขนย้ายผู้ค้าและผู้ค้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามการประชุมดังกล่าวคณะกรรมการหลายท่านมิได้เข้าร่วมประชุม ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่ทราบเรื่อง ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่าน ได้แก่ นายจะป๋า เลิศสินพนากุล นายวัชระ โชคธรรมชาติ นายศุภโชค ไตรทิย์คีรี ฯลฯ ไม่สามารถให้คำตอบกับที่ประชุมได้ ทั้งนี้ได้ขอกลับไปหารือกับชาวบ้านผู้ค้าในตลาดเสียก่อน
 
วันที่ 15 ธันวาคม มีการหารือว่าจะย้ายผู้ค้าจากตลาดเก่ามาทำการค้าขายที่ตลาดใหม่เป็นการชั่ว คราว แต่ก็ได้รับการชี้แจงว่าพื้นที่ตลาดใหม่นี้ไม่เหมาะสมต่อการย้ายมาจำหน่าย สินค้า การหารือไม่มีข้อสรุปเนื่องจากทางนายก อบต. ไม่สามารถตอบคำถามแก่ผู้เข้าร่วมหารือได้
 
วันที่ 20 ธันวาคม ผู้ค้าซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ประกอบด้วยชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยปลาหลด หมู่บ้านมูเซอบ้านใหม่ หมู่บ้านห้วยปลาหลด หมู่บ้านมูเซอเหลือ และหมู่บ้านลีซอแม่ท้อ ได้พูดคุยเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงตลาดฯ ของทางจังหวัด มีความไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ดังกล่าว ด้วยการดำเนินการดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าแม่ค้านอกพื้นที่มากกว่าชาว บ้านในพื้นที่ ไม่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ในระยะยาวได้จริง อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จึงได้ทำหนังสือคัดค้านพร้อมเหตุผล แล้วรวมตัวกันไปยื่นให้กับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และนายอำเภอแม่สอด
 
มกราคม 2554
วันที่ 17 มกราคม 2554 ทางจังหวัดตาก ได้เชิญผู้ประกอบการค้าในตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ (เก่า) มาประชุม ทั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด เดินทางมาประชุมชี้แจง ณ ลานจอดรถศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 16 จ.ตาก แกนนำชาวบ้านได้ทำการชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านรวมทั้งข้อเสนอที่เป็นไปได้ใน การดำเนินงาน และในระหว่างที่มีการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงาน ทั้ง รูปแบบแผงจำหน่ายสินค้า รายชื่อผู้ค้าที่จะได้รับการคัดสรรให้เข้าไปจำหน่ายสินค้าในอาคารหลังใหม่ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับผู้เข้าประชุม จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องปิดประชุม
 
วันที่ 18 มกราคม 2554 ทวน จันทรุพันธุ์ นักเขียนอิสระ ได้เขียนบทความเรื่อง “การปรับปรุงตลาดชาวเขา : บทสะท้อนความถนัดของระบบราชการไทยในการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค” เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งมีผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและปัญญาชน เข้ามาอ่านบทความแล้วเกือบทั้งหมดแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดำเนิน งานของทางจังหวัด และในระยะเวลาใกล้เคียงกันได้มีการนำบทความรวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ดังกล่าวนำมาเผยแพร่ในเว็บบอร์ดของจังหวัดตากด้วย
 
มีนาคม 2554
วันที่ 9 มีนาคม มีการจัดประชุมเรื่อง การปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขา ดอยมูเซอ ครั้งที่ 1/2554 ณ ห้องประชุมศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 16 จ.ตาก ซึ่งมีข้อสรุปให้กำหนดวันรื้อถอนอาคารเดิมในวันที่ 22 มีนาคม 2554 โดยใช้กำลังจากลูกจ้าง อบต.ด่านแม่ละเมา และ ชรบ.อ.แม่สอด จำนวน 150 คน เป็นผู้ทำการรื้อถอนและขนย้าย
 
วันที่ 14 มีนาคม ทางจังหวัดตาก ได้ออกประกาศจังหวัดตาก เรื่องการปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ (เก่า) จังหวัดตาก โดยกำหนดวันรื้อถอนอาคารเก่าในวันที่ 22 มีนาคม 2554 และจะดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างตลาดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้จัดทำสัญญาจ้างก่อสร้าง
 
วันที่ 15 มีนาคม ทางจังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งเพื่อซักซ้อมความเข้าใจแก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงตลาดฯ
 
วันที่ 18 มีนาคม แกนนำชาวบ้านได้หารือเกี่ยวกับการจะดำเนินงานตามโครงการฯ ของทางจังหวัด ได้ทำหนังสือถึง นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ สส.จ.ตาก ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายอำเภอแม่สอด และนายก อบต.ด่านแม่ละเมา ด้วยไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานนั้น เนื่องจากมีความเห็นว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาของตลาดได้อย่างแท้จริงและ ยั่งยืน โดยเฉพาะไม่สะท้อนการแก้ปัญหาการทำมาหากินที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายในตลาด ของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้จะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้นกับทางราชการในการดำเนินการดังกล่าว
 
วันที่ 18 มีนาคม แกนนำชาวบ้านได้เดินทางไปร้องต่อศาลปกครอง จ.พิษณุโลก ขอให้ยกเลิกการดำเนินโครงการปรับปรุงตลาดชาวเขาดอยมูเซอ จ.ตาก ของผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
 
วันที่ 21 มีนาคม ชาวบ้านรวมตัวกันเฝ้าระวังการเข้ามารื้อถอนอาคาร ขณะเดียวกันแกนนำคนหนึ่งคือ นายจักรพงษ์ มงคลคีรี ถูกโทรศัพท์ลึกลับเข้ามาขมขู่หมายทำร้าย ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงหมุนเวียนมาเฝ้าระวังที่บ้านนายจักรพงษ์ เพื่อระวังความปลอดภัยให้
 
วันที่ 22 มีนาคม ทางจังหวัดตาก ได้จัดส่งกองกำลังติดอาวุธ และเจ้าหน้าที่รื้อถอนเข้ามายังตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ เพื่อดำเนินการรื้อถอน แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ด้วยชาวบ้านรวมตัวกันขัดขวาง กระทั่ง นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ลงมาเจรจาพูดคุยกับชาวบ้าน และได้นัดหารืออีกครั้งในวันรุ่งขึ้น
 
วันที่ 23 มีนาคม แกนนำและชาวบ้านกว่า 500 คน เดินทางไปศาลากลางจังหวัดตาก แกนนำได้เข้าร่วมประชุมกับทางจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการค้าที่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของทางจังหวัด ที่ประชุมมีมติให้มีการจัดประชุมในพื้นที่เพื่อหาข้อสรุปการดำเนินโครงการฯ อีกครั้ง ทั้งรายละเอียดการดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุง รายชื่อผู้ค้าที่จะได้รับการจัดสรร ฯลฯ โดยกำหนดตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ค้าทั้งที่คัดค้านและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของทางจังหวัด ซึ่งในส่วนของผู้คัดค้านจะส่งรายชื่อให้ภายหลัง
 
ในวันเดียวกันนี้ (23 มีนาคม) ชาวบ้านที่ร่วมเดินทางได้ชุมนุมกันที่บริเวณตลาดชาวเขาดอยมูเซอ (ใหม่) และได้ส่งตัวแทนกลุ่มบ้านละ 2 คน เข้าร่วมประชุม เพื่อจัดทำข้อเสนอสำหรับการประชุมในวันรุ่งขึ้น ซึ่งข้อสรุปการประชุมได้จัดทำเป็นบันทึกรายงานการประชุมด้วย
 
วันที่ 25 มีนาคม มีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง ประกอบด้วยผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ค้าที่เห็นด้วย และตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ ที่ประชุมมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินงานต่อไป ทางจังหวัดได้รับข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่จะให้ทางจังหวัดจัดหาพื้นที่สำหรับการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ค้าทั้งหมด ที่มีรายชื่ออยู่ โดยหลังจากประชุมสิ้นสุดลง ทางตัวแทนคณะกรรมการฯ จะนำตัวแทนหน่วยงานจากทางจังหวัดไปชี้จุดสถานที่ที่จะทำการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า ทั้งนี้ทางจังหวัดได้ขอให้คณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านไปสำรวจผู้ค้าทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าใด และรายชื่อใดบ้าง แล้วในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2554 จะมีการพูดคุยเพื่อพิจารณา/ตรวจสอบจำนวนและรายชื่อร่วมกันอีกครั้ง
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: เมียแต่ง : วิชาการเป็นเมีย (ที่ดี) 101

Posted: 09 Aug 2011 09:28 AM PDT

เมียแต่ง : วิชาการเป็นเมีย (ที่ดี) 101

 

“ฮัลโหล...เย็นนี้ว่างหรือเปล่าเธอ ไปดริงก์กันม๊ะ โฟร์ซีซั่นนะ” เพื่อนสาวโทรมาชวนไปนั่งดริงก์นั่งเมาท์ตามประสา

“เอ่อ...เป็นวันพุธ พฤหัส หรือศุกร์ ได้มั๊ยเธอ” ดิฉันพยายามบ่ายเบี่ยง

“แล้วเย็นนี้ไม่ว่างเหรอ” เพื่อนสาวยังตื๊อไม่หยุด

“ไม่ว่างอ่ะ...ชั้นต้องดูเมียแต่ง!”

 

เมียแต่ง

เมียแต่ง

 

แม้จะไม่โด่งดังจนคนต้องโพสต์ข้อความคำพูดเด็ดๆ ขึ้นเฟซบุ๊กทุกค่ำคืนเหมือนเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ แต่ตอนนี้ก็คงไม่มีละครเรื่องไหนแรงเท่ากับเรื่อง ‘เมียแต่ง’ อีกแล้ว แหม...เรื่องผัวๆ เมียๆ เนี่ย ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหน น้ำเน่า น้ำดี (ดีจนต้องมีพระออกมาเทศน์ให้ฟังว่าดีแค่ไหน) ขอให้มีพล็อตแย่งผัวแย่งเมียกันไว้ก่อน (หากมีฉากด่ากัน เชือดเฉือนกัน ตบกัน หรือพระเอกข่มขืนนางเอกจะมันส์ขึ้นอีกเป็นหลายเท่า) ยังไงก็ดัง

อย่างน้อยดิฉันก็ยอมปฏิเสธไวน์รสเลิศ ข่าวกอสซิปจากวงการไฮโซ เพื่อนั่งดูละครน้ำเน่าที่บ้าน

ในขณะที่ละครออกอากาศพอดีมีโอกาสได้เจอเบนซ์-พรชิตา ปลิงฉัตร เอ้ย! ปรุงฉัตร ในละคร จึงได้รู้ว่าไอ้ลิปสติกสีแดงอย่างกับกินไก่สดมาน่ะ เป็นใบสั่งของการสร้าง ‘คาแร็กเตอร์’ ตัวอิจฉาในละคร (มันจะสวยและดูดีกว่านี้ถ้าเธอทำผมดำ ไว้ทรงแบบมาดมัวแซล จับลอนเปียก หรือบ๊อบสั้น อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ตึ่งโป๊ะเป็นสก๊อย หรือหางเครื่องวงลูกทุ่งแบบนี้) วันนั้นเรายังคุยกันอยู่เลยว่าใช้ลิปสติกสีชมพูอมส้มที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองดีกว่าไหม สวย เก๋ และอินเทรนด์ กว่าตั้งเยอะ แต่สุดท้ายปรุงฉัตรก็ต้องเป็น ‘ตัวอิจฉา’ ที่ต้องมีคาแร็กเตอร์เดิมๆ ที่ต้องแต่งหน้าจัดๆ (แม้ตอนตื่นนอน เข้าโรงพยาบาล หรือลงเล่นน้ำทะเล) ทำผมไฮไลต์ แต่งตัวเปรี้ยวจี๊ด แต่ดูไม่ไฮโซ เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘นางเอก’ อย่างอรุณประไพ ก็จะเห็นได้ชัดว่าใครสวมบทบาทไหน ปิดเสียงยังรู้เลยว่าใครนางเอก ใครตัวอิจฉา ตรงนี้เองที่ทำให้ละครเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ โด่งดัง ถึงแม้จะยังคง ‘ขนบ’ เดิมๆ ของละครไทยไว้เช่นเคย แต่ก็มีพัฒนาการในการวางคาแร็กเตอร์ของตัวละคร ที่ไม่ได้จับเข้ากรงขัง การเป็นนางเอก ตัวอิจฉา อย่างเดิมๆ เรยาจึงสวยเช้ง ไม่ต้องสวยน่ากลัว สวยแต่งหน้าจัดๆ แต่งตัวเซ็กซี่ โป๊ๆ อย่างที่ตัวอิจฉา หรือตัวร้ายต้องเป็นมาตลอดในละครไทย

แม้พล็อตเรื่องจะไม่ต่างกัน คือแย่งผัวแย่งเมียกันเหมือนเดิม

แต่อย่างน้อย ละครเรื่องนี้ ก็ยังพัฒนาขึ้นอีกแง่หนึ่ง พระเอกยังทำงาน (อาจเป็นเพราะมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับการแย่งชิงกันทางธุรกิจ) ตัวร้ายก็ทำงาน (บ้าง) แต่ที่เด็ดสุด คือนางเอกก็ ‘ทำงาน’ แถมไม่ใช่งานเก่าๆ แบบนางเอกสมัยก่อนด้วยนะคะ (เดาเอาว่า) เป็นถึง Food Stylist เสียด้วย เก๋เสียไม่มี ซึ่งตรงนี้นี่เอง เป็นอีกในรหัสหลักสูตรการสอน ‘การเป็นเมียที่ดี’ ที่ละครเรื่องนี้ พยายามติวเข้มให้คนดูอยู่ทุกตอน คาดว่าตอนเกิดอรุณประไพน่าจะคาบคัมภีร์สอนหญิง หลักสูตรเมียแต่งที่ดีมาด้วยแน่ๆ เลย

มาดูกันค่ะว่าหลักสูตรการเป็นเมีย (แต่ง) ที่ดี นั้นมีอะไรบ้าง

 

1. เมียที่ดีต้องอดทน

ละครเรื่องนี้ สื่อสารประเด็นนี้ได้ชัดเจนมากกก...และเป็นประเด็นที่อยู่ในเรื่องเล่า How To การเป็นเมียที่ดีที่พูดคุย

กันอยู่ในสังคมทั่วๆ ไป ทั้งในรายการเล่าข่าวแบบผู้ยิ้งงงง...ผู้หญิง หรือนิตยสารผู้หญิงทั่วไป รวมถึงบรรดา ‘ผู้หญิงตัวอย่าง’ ทั้งหลายที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านทั้งรายการโทรทัศน์ นิตยสาร หรือสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในการครองเรือน นั่นก็คือ ‘ความอดทน’ ความอดทนที่ว่านี้คือคือความอดทนต่อพฤติกรรมของสามี ไม่ว่าจะไปมีกิ๊ก มีเมียน้อย เมียใหม่ ทั้งจับได้ หรือยังจับไม่ได้ การเป็นเมียหลวงที่ดีนั้นต้องอดทน ไม่ใช่ชวนสามีทะเลาะบ้านแตก ด่าทอ ตบตี ตามสืบตามจับ ตามไปราวีไม่หยุดไม่หย่อน

เมียแต่งที่ดีต้องสงบเงียบ เอาความดีเข้าข่ม ไม่ตีโพยตีพาย ไม่ชวนทะเลาะตบตี ตัวอย่างที่เห็นในเรื่องคือการสร้างคู่ตรงข้ามให้เห็น คืออรุณประไพ (ชมพู่ อารยา) เมียแต่งที่อดทนกับการที่ผัวมีคู่นอนอีกคน คือปรุงฉัตร ไม่ตามราวี (แต่ปรุงฉัตรตามมาราวี เพราะถือว่าเธอมาก่อน) ไม่พูดมาก ไม่ตอบโต้ ไม่ชวนทะเลาะ ไม่ตีโพยตีพาย อยู่เงียบๆ และพิสูจน์ตัวเองในฐานะเมียแต่งว่าดีพอ ดีกว่าบรรดาคู่นอนนั้นแน่ๆ (‘ดี’ มีความหมายกินความถึงอะไรบ้าง เดี๋ยวมาว่ากันต่อ) ซึ่งการปฏิบัติตัวของอรุณประไพนั้นแตกต่างจากรุ่นพี่ที่ทำงานของเธอ ซึ่งแสดงโดยคุณปุ้ย-พิมลวรรณ พิธีกรรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ที่เป็นเมียหลวงที่น่าเบื่อตามแบบฉบับภาพเสนอในสังคม คือตามไปราวีสามีตลอด ออกรบกับบรรดาเด็กๆ ของสามีทุกเมื่อเท่าที่ทำได้ ไม่เคยไว้หน้าให้เกียรติสามี รวมถึงอีกหนึ่งตัวละครคือ ‘เบญ’ ที่ขึ้นชื่อว่าแย่งผู้ชาย คนรัก (เก่า) ของอรุณประไพกัน เธอก็เป็น ‘เมียแต่ง’ อีกคนที่ประพฤติตัวไม่ดี คอยชวนผัวทะเลาะ หึงหวงไม่มีที่สิ้นสุด น่าเบื่อน่ารำคาญที่สุด มีเมียอย่างนี้ผัวที่ไหนจะรัก

มีประโยคหนึ่งที่อรุณประไพพูดกับเพื่อนรุ่นพี่ของเธอที่เล่นเกมโปลิสจับขโมยกับสามีไม่หยุดไม่หย่อนว่า เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับ ‘ศักดิ์ศรี’ แต่มันคือการ ‘ให้อภัย’ การเป็นสามี-ภรรยา (นางเอกจะไม่ใช้คำว่า ‘ผัวเมีย’ เด็กขาด มันหยาบคาย!) จะมีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการให้อภัยกันและกัน แน่นอน...คำว่า ‘ให้อภัย’ ของเธอรวมถึงการที่สามีไปมีผู้หญิงอื่น เพราะเมียที่ดีต้องแยกให้ออกว่าผู้หญิงประเภทไหนคือเมีย ประเภทไหนคือคู่นอน (อันนี้ในละครเขาพูดอยู่ในไดอะล็อกเลยนะ) ซึ่งในละครก็นำเสนอว่า ก็เมียแต่งทำตัวแบบนี้นี่แหละ (แบบคุณปุ้ย พิมลวรณ และตัวละครที่ชื่อเบญ) สามีถึงทนไม่ได้ ไปหาเศษหาเลยนอกบ้าน) มันสมเหตุสมผลจะตาย เพราะฉะนั้นการจะเป็นเมียที่ดี ต้องอดทน!

 

2. เมียที่ดีต้องมีอารมณ์ทางเพศกับสามีและไม่ขัดขืน

คุณคงไคย (ผู้ชายอะไร ชื่อประหลาด เคยได้ยินแต่ ‘คงควย’ เอ้ย! คงคย อย่างวงร็อกคงคย เพลงลูกทุ่งกลิ่นเขมรที่

เคยดังเป็นเทรนด์อยู่สักพักในวงการลูกทุ่ง) ตั้งฉายาให้เมียแต่งตัวเองว่า ‘ยัยผีดิบ’ ซึ่งมีความหมายสื่อตรงไปว่า ‘ไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก’ ซึ่งมีนัยส่อไปอีกถึง ‘ความรู้สึกทางเพศ’ นี่ดิฉันไมได้พูดเอง คิดเองนะคะ แต่จากการที่นั่งดูทุกตอนไม่เคยขาด เวลาเข้าพระเข้านางทีไร (อย่างเช่นพระเอกดึงนางเอกเข้ามากอด จะหอม จะจูบ) แล้วนางเอกไม่ขัดขืน แต่ทำตัวทำหน้าเฉยๆ พระเอกก็จะแหย่ว่า ‘คุณรู้สึกอยากจะมีอะไรกับผมแล้วใช่ไหม” แต่พอนางเอกก็ยังเฉยอยู่ แลวผละหนีไปได้ พระเอกก็จะบ่นลับหลังว่า ‘ยัยผีดิบเอ้ย’ เป็นนัยว่า ผู้หญิงอะไรวะ มาอยู่ในอ้อมกอดผู้ชายหล่อล่ำ หน้าตาดีขนาดนี้ ยังไม่รู้สึกอะไร ไม่มีอารมณ์ทางเพศเลย

และพระเอกเรื่องนี้ก็แตกต่างจากพระเอกละครอีกหลายเรื่องที่ชอบใช้กำลังบังคับข่มขืน ซึ่งคาดว่าตรงนี้เอง เป็น ‘กุญแจ’ ที่จะบอกไปยังผู้หญิงว่า ‘จงมีอารมณ์ทางเพศกับสามี’ เพราะในฉากเข้าพระเข้านางหลายฉากที่หวุดหวิดจะปล้ำกันแล้ว พระเอกก็ไม่ได้ข่มขืนนางเอกอย่างในเรื่องอื่นๆ แต่รอให้นางเอก ‘มีอารมณ์’ ร่วมด้วย (อย่างในไดอะล้อกที่กล่าวไป) จนมาถึงวันที่ ‘ได้กัน’ เป็นครั้งแรก ดิฉันก็นั่งลุ้นมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เพราะมีช่วงพรีวิวสั้นๆ ให้ดูว่าสัปดาห์หน้าได้กันแน่ ในหัวก็จินตนาการไปว่า มันต้องเป็นไปตามพล็อตเดิมๆ แน่ๆ อย่างทะเลาะกันขั้นรุนแรง แล้วพระเอกก็ถือโอกาใช้กำลังรวบรัดตัดความปล้ำนางเอกเสียเลย (ซึ่งเรื่องอื่น พระเอกก็จะได้รู้ว่านางเอกยัง ‘จิ้น’ อยู่ และนางเอกก็จะร้องไห้ เกลียดพระเอกมากๆ ด้วย) แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ‘สมยอม’ กันเสียอย่างนั้น เซ็ง! เลยค่ะ

ซึ่งพอกลับมานั่งคิดดีๆ ก็จะเห็นว่านี่เป็นอีกหนึ่งคำสอนในวิชาการเป็นเมียแต่งที่ดี นอกจากจะต้องมีอารมณ์ทางเพศ กับสามี ไม่ใช่ทำตัวเป็นผีดิบไร้อารมณ์แล้ว ยังจะต้องไม่ดีดดิ้นขัดขืนด้วย (ทำได้แต่พองาม) เมียแต่งคนอื่นๆ จงดูไว้ว่า สาเหตุที่ผัวไปเมียอะไรกับผู้หญิงคนอื่นนั้น เป็นเพราะภรรยาไม่มีอารมณ์ทางเพศกับสามีหรือเปล่า ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางเพศของสามีหรือเปล่า และพอสามีมีความต้องการทางเพศ ภรรยาขัดขืน ไม่ยอมหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีนะจ้ะ ถือเป็นเมียแต่งที่ใช้ไม่ได้ อย่าทำตัวเป็นผีดิบ เพราะแม้แต่แวมไพร์อย่างเอ็ดเวิร์ด คัลเลน ใน Twilight ยังอยากมีเมียเป็นมนุษย์อย่างสาวเบลล่า สวอน เลย

 

3. เมียที่ดีต้องมีเสน่ห์ปลายจวัก งานบ้านอย่าให้ขาดตกบกพร่อง

อันนี้ขอสารภาพว่า ‘งง’ มากค่ะ ไม่นึกว่าคำสอนแต่โบร่ำโบราณจะยังตกทอดและมีมนตร์ขลังศักดิ์สิทธิ์มายังผู้หญิง

สมัยใหม่ที่ทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาไปจ่ายตลาด และมีร้านอาหารอร่อยๆ นอกบ้านเพียบ (และมีเงินไปแฮงเอาต์นอกบ้านได้ด้วย) แต่ก็ลืมไปว่านางเอกมีคนใช้ ไม่ต้องไปจ่ายตลาดเอง อาจไม่ต้องล้างผัก เด็ดผักเอง ให้คนใช้ทำทุกอย่างเตรียมไว้ ที่เหลือก็แค่ไปปรุงให้ออกมาเป็นอาหาร แต่ถึงอย่างไรมันก็ต้องใช้ ‘ปลายจวัก’ อยู่ดี ละครเรื่องนี้วางคาแร็กเตอร์ให้นางเอกเชี่ยวชาญในด้านอาหารและโภชนาการ แม้จะไม่ได้สื่อโดยตรงว่ารสมือของเธอทำให้ผัวยอมสงบ ผัวรักผัวหลง แต่ในฉากหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของภรรยาที่ดีคือต้องมีรสมือเป็นอาวุธ ทั้งตอนที่คงไคยไม่สบาย กินอาหารที่อรุณประไพทำมาจนหมด หรือตอนที่ไปหามิสเตอร์ทานากะเพื่อติดต่อทางธุรกิจ อรุณประไพก็โชว์ฝีมือทำน้ำพริกปลาทู จนมิสเตอร์ทานากะต้องชมและพูดกับคงไคยว่าภรรยาที่เพียบพร้อมขนาดนี้ ถือเป็นภรรยาที่ดี หาไม่ได้ง่ายๆ

นอกจากจะมีรสมือไว้เป็นอาวุธแล้ว เมียแต่งที่ดียังต้องทำงานบ้านไม่ให้ขาดตกบกพร่องด้วย ในหลายๆ ฉากแสดงให้เห็นว่าอรุณประไพนั้นเอาใจใส่ในการดูแลสามีเป็นอย่างดี คอยเก็บเสื้อผ้าในห้องนอน ทั้งผ้าเช็ดตัว ชุดนอน เสื้อผ้า ไม่เพียงแค่นั้นเธอยังทำหน้าที่เป็นลูกสะใภ้ที่ดี ทำอาหารเองให้คนในครอบครัวรับประทานทุกเช้า ดูแลแม่สามียามที่ท่านป่วย เรียกได้ว่าทั้งผัว แม่ผัว ญาติผัว คนในบ้านทุกคน เมียแต่งที่ดีต้องดูแลให้ไม่ขาดตกบกพร่อง

 

4. เมียที่ดีต้อง ‘ทำงาน’ และช่วยเหลือสามีในเรื่องงานได้ด้วย

ข้อนี้เป็นอะไรที่เพิ่มเข้ามาใหม่หลังการปรับปรุงหลักสูตร ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จะปล่อยให้ผัวไปทำงานนอก

บ้านเลี้ยงครอบครัวคนเดียวไม่ได้ เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ เป็นเมียแต่งสมัยใหม่จะต้องทำงานช่วยเหลือจุนเจือสามีและครอบครัว อย่างอรุณประไพเอง นอกจากเธอจะมีงานทำเป็นของตัวเองแล้ว เธอยังเป็นผู้ที่ช่วยให้กิจการสามีอยู่รอดปลอดภัยอีกด้วย เธอแก้ปัญหาให้ได้หลายครั้ง ทั้งการไปออกงาน แล้วสวยจนแขกต่างชาติประทับใจ ทั้งช่วยจัดแจงเรื่องงานเลี้ยง อาหาร จนคู่ค้าที่เป็นต่างชาติประทับใจ ทั้งเรื่องการพาไปเจราจาคู่ค้างธุรกิจกับมิสเตอร์ทานากะ ที่บังเอิ้น...บังเอิญเป็นสามีของเพื่อนรุ่นพี่ของเธอ จนมาถึงการเข้ามาช่วยงานในตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยด้านวัฒนธรรม’ ของบริษัทอีกด้วย (สังเกตว่าเมียที่ดีนั้น ต้องเป็นแค่ ‘ตัวช่วย’ อย่ามาเก่ง หรือเด่นเกินสามี เป็นอันขาด และก็อย่าเก่งมากจนถึงขั้นนั่งบริหาร ดูการตลาด ติดต่อกับต่างประเทศ มาทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ อย่างเรื่อง ‘วัฒนธรรม’ ก็พอ) แม้จะต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน ดูแลเรื่องในบ้าน ดูแลแม่สามีที่ป่วย และต้องทำงานประจำของตัวเองอีกต่างหาก ด้วยความเป็นเมียที่ดีแล้ว ต้องแบ่งเวลามาช่วยกิจการของผัวด้วย

 

5. เมียที่ดีต้องไม่แรดไปกับผู้ชายอื่น

อันนี้เป็นคุณสมบัติหลักก็ว่าได้ จะเห็นได้ว่าในละคร แม้คงไคยจะขึ้นเตียงกับปรุงฉัตรอย่างโจ๋งครึ่ม ไม่ต้องวิ่งตามไป

สืบ ไปจับ ไปราวีอรุณประไพก็เห็นจะๆ อีกทั้งอรุณประไพก็มีผู้ชายมาชอบถึง 2 คน คนหนึ่งเป็นอดีตคนรักที่ไปทำผู้หญิง (ซึ่งก็คือน้องของเธอ) ท้อง เธอจึงต้องปลีกตัวออกมาให้แฟนหนุ่มของเธอตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องรับผิดชอบโดยการแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้น แต่เขาก็ยังตามเทียวไล้เทียวขื่อเธออยู่ (ถ้าเป็นสุวรรณี สุคนธา หรือ ร.จันทะพิมพะ คงได้พล็อตเรื่องเป็นอีกเรื่องประมาณว่าอรุณประไพคงหนีไปกับแฟนเก่าแน่ๆ) อีกคนคือเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน ที่ออกตัวว่ารักและห่วงใยและรอวันที่เธอจะเปลี่ยนใจมาเห็นใจเขาบ้าง แต่แม้ผัวจะไปนอนกับผู้หญิงอื่นตำตาอย่างไร แม้ผัวจะไม่นอนกับเราอย่างไร เราจะมีอารมณ์ทางเพศอย่างไร และมีผู้ชายที่พร้อมเสนอตัว เสนอใจมาให้เรามากมายอย่างไร เมียแต่งที่ดีก็ต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรม (แม้ผัวจะอยู่อีกคนละกรอบ) ไม่ประพฤติตัวเป็นนางกากี หญิงมากผัว แต่งงานกับใคร แม้ผัวไม่รัก ผัวไม่นอนด้วยก็ใช่ว่าจะไปนอนกับคนอื่นได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะหาว่า ‘มีชู้’ แต่ผัวไปนอนกับผู้หญิงอื่นได้ เพราผู้หญิงอื่นนั้นถือเป็นแค่ ‘คู่นอน’ ไม่ได้สลักสำคัญเท่ากับเมียแต่ง

ละครเรื่องนี้น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของกระทรวงวัฒนธรรมและเจ้เบียบ-ระเบียบรัตน์เป็นแน่ ส่วนใครที่หาว่าทำไมดิฉันไม่มองในแง่มุมของผู้ชายบ้าง ว่าละครเรื่องนี้ก็เป็นการ ‘สอน’ ผู้ชายในฐานะที่เป็น ‘สามี’ เหมือนกันว่าให้กลับมาเป็น ‘สามีที่ดี’ รักเดียวใจเดียว ให้เข้าใจว่าผู้หญิงแบบไหนที่เหมาะจะเป็นเมียแต่งที่มายืนอยู่เคียงข้างในทุกขณะของชีวิต ผู้หญิงแบบไหนที่เป็นได้เพียงคู่นอน และผู้หญิงแบบไหนที่ควรจะยกย่อง ใช่ค่ะ...ในเรื่องราวของละครก็ ‘สอน’ ผู้ชายในประเด็นดังกล่าว แต่ในการสอนนั้น ใช้บทเรียนของผู้หญิงคนหนึ่งเป็นตัวพิสูจน์ ที่ต้องประพฤติตัวตามหลักสูตรเมียแต่งที่ดีให้ครบทุกข้อ เพื่อที่จะให้สามีหันหลับมามอง มารัก มามีเซ็กซ์ด้วย มาอยู่เดียว รักเดียวใจเดียว (ชั่วคราวหรือถาวร ?)

หากเราจะพูดอย่างแกนๆ โดยไม่มองเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นผัวเป็นเมีย เป็นเฟมินิสต์สุดแข็งกร้าว ก็จะเห็นได้ว่ามันช่างเป็นละครที่กดขี่ผู้หญิงภายใต้วาทกรรม ‘เมียที่ดี’ เสียยิ่งกระไร ผัว (คงไคย) ไปนอนกับคนอื่น ไม่นอนกับเรา เราก็ไปนอนกับคนอื่นได้ไหม ฉัน (อรุณประไพ) ก็มีอารมณ์ทางเพศเหมือนกันนี่ ทำไมฉันจะต้องอดทนในพฤติกรรมที่ ‘ทำร้ายจิตใจ’ กันภายใต้คำว่า ‘ให้อภัย’ ด้วยล่ะ แล้วถ้าฉันไม่อยาก ‘ให้อภัย’ แล้วเลือกศักดิ์ศรี จะดูเป็นผู้หญิง หรือเมียที่ไม่ดี ไม่อดทนไหม (อดทนแล้วมันจะได้ ‘ดี’ ตอบแทนในอนาคตจริงไหม) ทำไมฉันจะต้องเหนื่อยทำทั้งงานบ้าน งานตัวเอง งานผัว ทำทุกอย่างทุกหน้าที่ นอกบ้านในบ้านเพื่อที่จะเป็นเมียที่ดี เพรียบพร้อม ด้วยล่ะ เลือกสักอย่างได้ไหม จะ ‘ดี’ น้อยลงไหม หรือต้องโหมทุกอย่างให้สมบูรณ์ให้เพอร์เฟ็กต์ เนี้ยบไม่มีที่ติ (หลอกใช้กันหรือเปล่าวะเนี่ย)

 

ทำไมและทำไม...

แต่ในความเป็นจริงเราตอบไม่ได้หรอก ต้องให้ผัวและเมียเขาถามและตอบกันเอาเอง สถาบันครอบครัว มันคงไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด ไม่ใช่นั้นคนอยากจะแต่งงานกันไปทำไม (ถึงแม้จะแต่งแล้วหย่าก็ตามเหอะ) เพียงแต่ว่าในกระบวนการการถาม (ตัวเอง) และหาคำตอบนั้น อย่าแบกคำว่าเมียแต่งที่ดีไว้เพื่อรอคำตอบที่เลื่อนลอย เพื่อเจ็บปวดจากการโดนผัวซ้อม เพื่อทำงานหนักโดนที่ผัวไม่ได้เหลียวแล จงชั่งใจให้หนักเอาเองว่า ภายใต้ความเจ็บปวดที่ได้รับ ไม่ว่าทางจิตใจหรือร่างกายนั้นคุ้มกับการขึ้นชื่อว่าได้เป็นเมียแต่งที่ดีหรือเปล่า และจงกล้าที่จะตัดสินใจที่จะอยากจะเลิกเป็นเมียแต่งที่ดี หากมันเกินจะทน อย่าไปยึดติดกับวาทกรรมการเป็นเมียที่ดีโดยไม่ดูผัวว่ามันดีหรือเปล่า...ก็แค่นั้นเอง อย่าทำตัวเป็นอรุณประไพ หากผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่เท่ากับที่เธอได้รับ ผัวสุดหล่อ หุ่นล่ำเซี๊ยะ มีธุรกิจของตัวเอง เป็นถึงประธานกรรมการบริษัทร่ำรวย แถมเม่ผัวก็มีมรดกมากมายที่รอวันตายแล้วคงยกให้ (เห็นไหม...ดิฉันไม่ได้ว่าอรุณประไพสักแอะ เพราะถ้าฉันเป็นอรุณประไพก็คาดว่าคงคาบหลักสูตรเดียวกัน)

ถ้าได้อย่างที่อรุณประไพได้...ก็จงท่องหลักสูตรการเป็นเมียแต่งที่ดีต่อไป แต่ถ้าได้ไม่เท่า ก็บวกลบคูณหารในใจแล้วค่อยตัดสินใจอีกที

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เปิดปม ก่อนพิพากษาคดี “ผู้หญิง ยิง ฮ. (10 เมษา)”

Posted: 09 Aug 2011 07:16 AM PDT

วันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.54) เวลา 9.00 น. จะมีการพิพากษาคดีที่ใหญ่ที่เพิ่งเป็นข่าวฮือฮาหลังจาก ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ออกมาให้ข่าว นั่นคือ คดีครอบครองปืน วัตถุระเบิด โดยมีผู้หญิง ชื่อ นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือจ๋า วัย 50 ปีอาชีพค้าขาย พร้อมกับพวกอีก 2 คนเป็นจำเลยคือ สุรชัย นิลโสภา อายุ 33 ปี อาชีพขับแท็กซี่ และ ชาตรี ศรีจินดา อายุ 28 ปี อาชีพทำสวน

ในการสืบพยานโจทก์ พยานปากหนึ่งระบุว่า เห็นนำปืนไปใช้ยิงเฮลิคอปเตอร์ของทหาร เมื่อวันที่ 10 เม.ย. จำเลยทั้ง 3 ก็อยู่ในเรือนจำมาปีกว่า โดยไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะยื่นประกันตัวถึง 3 ครั้ง จนเมื่อเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง คนจึงเรียกกันติดปากว่า “คดีผู้หญิงยิง ฮ.”

ในคำฟ้องระบุว่า เจ้าหน้าที่จับกุมตัวทั้งสามได้ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.53 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา จำเลยว่า

“ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม

รายการอาวุธแนบท้ายคำฟ้องที่ระบุว่าจับได้มี ปืนเล็กกล AK47 จำนวน 5 กระบอก, ปืนเล็กกล M16 จำนวน 1 กระบอก ระเบิดสารพัดชนิดเกือบ 20 ลูก กระสุนปืนแบบต่างๆ เกือบพันลูก ไม่นับตะไล ปืนคาร์ไบน์ ระเบิดเพลิง

ในสืบพยาน มีพยานโจทก์ปากหนึ่งระบุว่า ในวันที่ 10 เม.ย.53 ประมาณเกือบ 17.00 น. เห็นกลุ่มคน 4 คน นั่งรถฮอนด้า ซีอาร์วี มาจอดบริเวณซอยแถวแยกมหานาค ซึ่งอยู่ในระยะที่มองเห็นได้ชัดเจน เห็นชาย 2 คนถืออาวุธปืน คนหนึ่งในนั้นถืออาวุธปืนไม่ทราบชนิด ยิงเฮลิคอปเตอร์ของทหารที่บินผ่าน ประมาณ 3 วินาที ก่อนจะขึ้นรถขับออกไปจากบริเวณเกิดเหตุ ซึ่งใกล้กันนั้นมีผู้ชุมนุมกำลังชุมนุมกันอยู่ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ได้โทรแจ้งยังกรุงเทพมหานคร หมายเลข 1555 และ 191 จากนั้นเมื่อเห็นข่าวทหารบาดเจ็บจากการโดนยิงเฮลิคอปเตอร์จึงไปเยี่ยมเพื่อบอกว่ายินยอมเป็นพยานให้ในคดีนี้ เพราะรู้สึกเศร้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  

เวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีปฏิบัติการทิ้งแก๊สน้ำตา ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมบริเวณสี่แยกคอกวัว และหน้าโรงเรียนสตรีวิทย์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นทหาร 5 คน และพลเรือน 21 คน ในจำนวนนั้นเป็นนักข่าวชาวญี่ปุ่น 1 คน

 

‘จ๋า’ รักหมาเหมือนลูก เลี้ยงไว้ 7 ตัว หลายครั้งมักเอาไปชุมนุมด้วย

สำหรับ ‘จ๋า’  เป็นหญิงห้าวแห่งสนามหลวง เธอออกมาประท้วงรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 โดยรวมกลุ่มกับ ‘กุล่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ’ เพราะเธอชื่นชอบนโยบายของพรรคไทยรักไทย และเกลียดชังการรัฐประหาร อาชีพเดิมเคยเป็นแม่ค้าขายผัก มีนิสัยตรงไปตรงมา โผงผาง ใจดี แต่ค่อนข้างปากร้าย เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มบอกกล่าว จากนั้นแม้กลุ่มจะสลายหายไปแล้ว แต่จ๋ายังคงวนเวียนอยู่กับการชุมนุมโดยตลอด อาศัยรายได้จากการขายสมุนไพร และทำแชมพูสำหรับสุนัข เนื่องจากเธอเป็นคนรักสุนักเหมือนลูกแท้ๆ เธออยู่กับลูกๆ 7 ตัวเพียงลำพัง สามีของเธอที่เป็นนายตำรวจเสียชีวิตไปในปี 2535

จ๋าเล่าขณะติดคุกอยู่ทัณฑสถานหญิงกลางว่า รู้จักกับสุรชัย จำเลยที่ 1 จากการชุมนุมเมื่อปี 2552 เพราะเป็นแท็กซี่เสื้อแดง จากนั้นจึงว่าจ้างมารับส่งในการชุมนุมมาโดยตลอด จนเป็นเพื่อนสนิทกัน ขณะที่รู้จักกับจำเลยที่ 3 หรือชาตรีในการชุมนุมปี 52 เช่นกัน ขณะเขากำลังขายเสื้อผ้าหมาและเธอเดินซือเสื้อผ้าหมา ทั้งหมดมาเจอกันอีกที่การชุมนุมปีถัดมา

ในวันที่โดนจับ คืนนั้นกว่าจะกลับมาถึงบ้านของจ๋าก็ตีสี่ครึ่ง สุรชัยและชาตรีจึงงีบหลับที่บ้านจ๋าก่อนกลับบ้านในตอนเช้า

จากนั้นเวลาประมาณ 9.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 30 คน อาวุธครบมือได้บุกเข้ามาในบ้าน และจับกุมทั้งสามคน นำตัวขึ้นรถแยกคนละคัน ทั้งสามให้การตรงกันว่า เมื่อคุมตัวสักพักก็ขับรถวนไปวนมาพักใหญ่ก่อนกลับมาที่บ้านพักที่จับกุม

สุชัย บอกว่า ขณะอยู่บนรถก่อนจะถึงที่บ้านพักของจ๋า เจ้าหน้าที่ก็ถามเขาว่า อาวุธอยู่ที่ไหน เขาตอบว่าไม่รู้ เจ้าหน้าที่เอามือทุบหน้าอกของเขา และถามเขาอีกครั้งว่า อาวุธอยู่ที่ไหน เขาก็ตอบว่าไม่รู้ เจ้าหน้าที่ถามพร้อมกับทุบที่หน้าอกของเขาสลับไปมาประมาณ 20 ครั้ง

เมื่อรถวิ่งมาถึงบ้านที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ก็พาเขาไปที่ห้องนอน ตอนที่จะเดินไปในห้องนอน ก็ปรากฎว่ามีอาวุธกองอยู่ในบ้านจำนวนเยอะมาก มีปืนอาก้า ระเบิด กระสุนเป็นถุง ๆ

เจ้าหน้าที่ถามเขาอีกครั้งว่า อาวุธ อยู่ไหน เขาก็ตอบอีกครั้งว่า เขาไม่รู้ หลังจากนั้น เขาก็โดนเจ้าหน้าที่เตะเข้าที่ลำตัว จนเขาล้มทั้งยืน และเขาถูกกุญแจมือไขว่หลัง พอเขาล้มลงก็กระทืบเขาทั้งหน้าและหลังหลายครั้ง

หลังจากนั้นก็พาเขาออกมาจากห้อง แล้วก็ใส่กุญแจมือให้เขาใหม่ โดยเอากุญแจมือใส่ที่ด้านหน้า และจากนั้นก็ให้เขาถือกระป๋องแก๊สน้ำตา แล้วถ่ายรูปเขา ก่อนจะให้ชี้ไปที่กองอาวุธและถ่ายรูปเขาไว้อีกครั้ง

เขาเล่าว่าตลอดเวลานั้น เขาไม่มีโอกาสคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่มีโอกาสถามว่าทำไมมาจับเขาและตรวจค้นเขา เขาไม่ทราบด้วยว่าเจ้าหน้าที่ มีหมายจับและหมายค้นหรือไม่ แต่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่แสดงหมายใดๆ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกว่า เขาสามารถติดต่อเพื่อน ญาติ หรือทนายได้ แต่ถึงให้ติดต่อ เขาไม่อยากติดต่อเพราะกลัวว่าญาติพี่น้องจะเดือดร้อน

ยิ่งไปกว่านั้น สุรชัยยังระบุว่าเขาทั้งสามถูกนำตัวไปยัง กองพันทหารราบที่ 11 ในช่วงเย็น โดยถูกแยกขังคนละแห่งเพื่อทำการสอบสวน ห้องที่เขาถูกนำไปสอบสวนเหมือนเป็นโกดังเก็บถังน้ำมัน มีถังน้ำมัน 200 ลิตร ตั้งเรียงรายอยู่ ประมาณ 20 ถัง กลิ่นน้ำมันคลุ้งไปหมด มีเจ้าหน้าที่สอบสวนนั่งในห้องเขาประมาณ 3-4 คน มีคนถาม 1 คน และมีคนจดบันทึก 2 คน เจ้าหน้าที่ในราบ 11 ถามเขาว่า อาวุธอยู่ที่ไหน และข่มขู่ว่าหากเขาไม่ยอมรับจะจับเขาไปใส่ถังน้ำมัน 200 ลิตร เอาผ้าปิดปาก แล้วเอาน้ำมันราดเมื่อเขาโดนขู่เขาจึงตอบคำถามทั้งหมดเรื่องไหนไม่รู้ก็พยายามตอบๆ ไป เพื่อจะไม่ถูกทำร้าย แต่บางเรื่องเขาก็ตอบตามจริง เช่นการปลอมทะเบียนรถ เนื่องจากตอนที่ชุมนุมนั้นมีข่าวว่า มีคนจดทะเบียนรถยนต์คนเสื้อแดงแล้วจะไปตามทำร้ายจึงทำให้เขาต้องปลอมทะเบียนรถยนต์เพื่อความปลอดภัย จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงให้มีการเซ็นเอกสารต่างๆ ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้อ่าน แล้วค่อยนำตัวไปให้ดีเอสไอในตอนกลางคืน

ขณะที่ผู้ใช้นามแฝงในโลกอินเตอร์เน็ตว่า “ป้านินจา” อดีตสมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ตั้งข้อสังเกตว่า จากการสอบถามกับจ๋าในเรือนจำ พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารเอาปืนขู่ชาวบ้านที่ออกมาดูเหตุการณ์ให้กลับเข้าบ้านจนหมด จึงไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่นบ้าง มีการเอาตัวจำเลยทั้งหมดออกจากบ้านไป แล้วจากนั้นจึงนำกลับมาพร้อมกับบอกว่าพบอาวุธปืนและกระสุนปืนจำนวนมากใส่ไว้ในถุงกอล์ฟซ่อนอยู่ในท่อระบายน้ำที่นอกตัวบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงท่อระบายน้ำดังกล่าวกว้างเพียง 14 เซ็นติเมตร ไม่มีทางจะนำถุงกอล์ฟยัดลงไปได้

“เท่าที่มีการสืบพยาน ลายนิ้วมือแฝงบนอาวุธก็ไม่มีเลย พยานคนเดียวที่บอกว่าเห็นก็เบิกความว่าพี่จ๋าผมยาวประบ่า ทั้งที่จริงๆ แกตัดผมสั้นตลอด”

“คดีนี้ไม่มีใครช่วยเลย วอล์กอินไปที่ไหนเขาก็กระโดดหนีหมด เพราะกลัวจะถูกโยงมาเกี่ยวพัน คดีมันหนัก โทษหนัก แต่ที่สุดก็มีทนายพรรคมาช่วย แล้วก็ได้ทนายอาวุโสอีกคนที่เขาอาสามาช่วยในช่วงหลังเพราะสงสาร ญาติๆ เขาก็รวมเงินให้ทนายไปไม่กี่พันบาท” ป้านินจากล่าว

"ถ้าพี่จ๋าไม่โดนจับเสียก่อน แล้วอยู่รอดจนเขาสลายการชุมนุม ต้องโดนยิงตายแน่ๆ เพราะแกต้องวิ่งไปอยู่ด่านหน้าอย่างแน่นอน" ป้านินจากล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลประชานผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.- พ.ค.53 หรือ ศปช. ซึ่งติดตามการพิจารณาคดีมาโดยตลอด ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งข้อหานั้นตั้งเรื่องการครอบครองอาวุธสงคราม แต่ดูเหมือนในการสืบพยานโจทก์จะเน้นไปสู่เรื่องการยิงเฮลิคอปเตอร์ เพื่อทำให้เห็นแรงจูงใจในการครอบครองอาวุธเสียมากกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็น่าแปลกที่ไม่มีการตั้งข้อหาพยายามฆ่า และไม่มีการเบิกตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บมาให้การแต่อย่างใด

สำหรับจ๋าที่ใช้ชีวิตอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง 1 ปี กับ 3 เดือนกว่า เธอบอกก่อนจะมีการตัดสินคดีในไม่กี่วัน หลังจากเรื่องของเธอถูกเผยแพร่ในโลกอินเตอร์เน็ตว่า เธออยากเชิญชวนให้ทุกคนมาฟังคำพิพากษาคดีของเธอ และพร้อมจะเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันเพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมในประเทศไทย ขณะเดียวกันเธอประณามฝ่ายที่จับกุมเธออย่างดุดันว่าดีแต่รังแกคนไม่มีทางสู้ พร้อมระบุไม่หวังกับนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายใดนอกจากพลังของประชาชนด้วยกันเอง

 

*ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ศปช.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่วนกระแสกับบุญชิต ฟักมี: “ประเทศที่ริบถ้อยคำผู้คน”

Posted: 09 Aug 2011 06:33 AM PDT

 กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว, นานก่อนที่ตำราประวัติศาสตร์เล่มใดจะบันทึกทัน ยังมีประเทศน้อยๆ ประเทศหนึ่ง หลบซ่อนอยู่ในเทือกผาแห่งทวีปอันยังมิได้ขนานนาม ประเทศเล็กๆ ของบรรดาพลเมืองที่เลี้ยงชีพด้วยการปลูกผักปลูกหญ้า หาปลางมหอย ฝากชีวิตไว้กับเหล่าผู้ทรงคุณปัญญา ที่เรียกว่า “ปราชญ์” อันเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่ก็เป็นคนกลุ่มผู้ทรงด้วยภูมิปัญญามหาศาล หยั่งรู้หมดทั้งวิทยา ปรัชญา และศีลธรรมตลอดจนรัฐวิชาว่าด้วยการปกครอง พลเมืองผู้ด้อยปัญญาไม่เคยตั้งคำถาม ต่อเหล่าปราชญ์เพราะเจียมตนว่าโง่เง่าไม่เข้าถึงพุทธิปัญญาดังบรรดาปราชญ์นั้น เลยให้อำนาจบรรดาปราชญ์ทั้งหลาย สรรหาตัวแทนกันมาเป็นปราชญบดีปกครองประเทศนั้น เวียนกันไปตามแต่ปราชญานุปราชญ์จะเห็นสมควร ส่วนปราชญ์ชั้นรองๆ ก็ทำหน้าที่เป็นข้ารัฐการ

เมื่อประเทศใหญ่ขึ้น ปัญหาก็เริ่มมากขึ้น ปัญหาเริ่มมาจากชาวเมืองที่อยู่ไม่สุข ชอบตั้งคำถามว่า ทำไมคนจะเป็นข้ารัฐการได้ต้องเป็นลูกหลานของปราชญ์เท่านั้น ทำไมที่ดินสวยๆ มีภูมิทัศน์งามๆ ถึงถูกปราชญ์จับจองได้ แม้จะมีพลเมืองจับจองทำไร่ไถนาอยู่แล้วก็ตาม ทำไมชาวปราชญ์ทำผิด ถึงลงโทษน้อยกว่าหรือไม่ต้องรับผิด ต่างจากพลเมืองกระทำความผิดอย่างเดียวกัน หรือไยปราชญบดีจึงมีฐานะร่ำรวยมั่งคั่งไปด้วยสฤงคาร ท่ามกลางพลเมืองยากจนเก็บผักกินหญ้า
การวิพากษ์วิจารณ์ สอดแทรกซุบซิบ อยุ่ในทุกวงสนทนาในประเทศ มีการเขียนการพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ตั้งคำถามหลายอย่าง ที่ปราชญ์ไม่อาจจะตอบ เพราะไม่คิดว่าจะมีคนถาม จนกระทั่ง ปราชญบดีทนไม่ได้ ต้องประชุมปราชญ์สภา เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และความไม่เป็นธรรมดังกล่าว

ด้วยการตรากฎหมาย ห้ามมิให้ผู้คนพูดถึง “ความไม่เท่าเทียม” เนื่องจาก มันจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและการอยู่ร่วมกัน

กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ลบถ้อยคำดังต่อไปนี้ - “เท่าเทียม” “เสมอภาค” “เลือกปฏิบัติ” “ไม่เป็นธรรม” และคำที่มีความหมายใกล้เคียงนั้นออกไป ผู้ที่บังอาจพูด เขียน หรือแสดงข้อความดังกล่าว ต้องโทษหนักบ้าง เบาบ้าง ตามน้ำหนักคำและจำนวนคำ

เท่านี้ประเทศก็ปลอดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมชั่วกาลนาน

พลเมืองในรัฐจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง ในแทบทุกวงสนทนา ชาวบ้านชาวเมืองต่างก่นด่าบรรดาปราชญ์และปราชญบดีเป็นทรราช โดยทุกคนถือบัญชีถ้อยคำต้องห้ามไว้ในมือ ท่องอ่านอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เป็นการพลาดพลั้งกระทำผิดกฎหมาย

ปราชญบดีจึงออกกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยออกมาอีกฉบับ ว่าด้วยการห้ามส่อเสียดใส่ร้ายปราชญบดีและชาวปราชญ์ มันผู้ใดกระทำ มีโทษจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งกำหนดให้คำว่า “ทรราช” และคำในกลุ่ม “กดขึ่” “ข่มเหง” “เผด็จการ” ฯลฯ นั้น เป็นโมฆะวจีต้องห้ามมิให้ผู้ใดพูด

ประเทศนั้นก็ไม่มีทรราช และปราศไร้ซึ่งการกดขี่บีฑาตลอดกาล เพราะไม่มีถ้อยคำเหล่านั้นเหลือหลงอยู่ในพจนานุกรมอีกแล้ว ...

ชาวเมืองทั้งหลายไม่มีใครกล่าวร้ายปราชญบดีอีก มีแต่พูดถึง “อ้ายคนพวกนั้น...”
ในที่สุด คำว่า “อ้ายคนพวกนั้น...” ก็อยู่ในบัญชีถ้อยคำต้องห้าม ไม่มีใครกล่าวคำนั้นอีก ทว่าหลังจากนั้น ประชาชนทุกคนก่นด่าต้นมะม่วง เพียงใครคนหนึ่งพูดคำว่า“ต้นมะม่วง” คนที่เหลือจะกล่าวว่า “ใช่” !!! แล้วเสียงกู่ร้องคำว่าต้นมะม่วง ก็ทอดยาวต่อกันไป

ปราชญบดีออกคำสั่งถอนคำว่าต้นมะม่วงออกจากพจนานุกรมภาษาของประเทศอีกครั้ง ตามด้วย “ต้นส้ม” “ต้นเชอร์รี่” “ต้นกัลปพฤกษ์” “ต้นชมพูพันทิพย์” ฯลฯ จนกระทั่งชื่อต้นไม้ทั้งหลายหมดไปจากบัญชี - ในช่วงนั้นหากคนประเทศดังกล่าวต้องการพูดถึงต้นไม้ - สมมติว่าเป็นต้นทุเรียน ก็ต้องบอกว่า “งอกพื้นผลหนามเนื้อสีเหลืองกลิ่นแรง” หรือ “งอกพื้นเรียวเม็ดลีบกระเทาะเปลือกแล้วหุงกินได้” ฯลฯ
คุกแทบไม่พอขังผู้เผอเรอ

ต่อจากต้นไม้ ก็ตามด้วยชื่อสัตว์ทั้งหลาย ชื่อสินแร่ ชื่อภูเขา ชื่อแผ่นน้ำ จนในที่สุด แทบไม่เหลือถ้อยคำกล่าวขานใดในภาษานั้นอีก คนเรียกสัตว์ทั้งหลาย ว่า ตัวเห่า ตัวขน ตัวเขา ตัวเกล็ดอยู่น้ำ เพราะชื่อสัตว์ทั้งหลายนั้นถูกริบเสียสิ้นแล้ว
ถ้อยคำต้องห้าม ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่คำในกลุ่ม “เจ็บ” “ทรมาน” “ป่วย” “หิว” หรือแม้แต่ “โกง” “ทุจริต” ก็ถูกเพิ่มลงในบัญชีวจีต้องห้าม เพื่อแก้ปัญหา

เมื่อชาวบ้านร้องทุกข์ว่าด้วยภาวะอดอยากนาล่ม ขาดมดขาดหมอ หรือกรณีที่ข้ารัฐการถูกถามว่า ทำไมต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อทำเรื่องง่ายๆอันควรเป็นหน้าที่ของพวกเขาอยู่แล้ว – ทันทีที่ประกาศชุดบัญชีคำใหม่ ประเทศนั้นก็หมดปัญหาความอดอยาก ปัญหาสาธารณสุข หรือปัญหาการคอรัปชั่นลงภายในชั่ววินาทีที่ปราชญบดีอนุมัติคำต้องห้ามกลุ่มใหม่ กล่าวกันว่าในตอนหลัง หนังสือประมวลศัพท์ต้องห้ามหนากว่าพจนานุกรม ที่บางลงทุกวัน เกินกว่าสิบเท่า ผู้คนในดินแดนนั้นมีถ้อยคำอันจำกัด หากผู้ใดถูกมีดบาด อาจจะร้องได้เพียงว่า “โอ หนังนิ้วแยกแดงออก !”

มีคนหัวใส ที่ไม่ใช่ปราชญ์ พยายามลดรูปคำเพื่อให้ยังมีความสามารถในการพูดสื่อสารได้ เช่น “ปร๊ะตร๊ะละลาด” ต่อมาคำใหม่ๆ เหล่านั้นก็ถูกเก็บหายเข้าบัญชี ทีละคำ ทีละคำ

บางคนก็ใช้วิธีเอาลำดับคำในประมวลศัพท์ต้องห้ามมาพูดแทน เช่น ลำดับที่ ๑๑๒ “ทรราชย์” ชาวบ้าน ก็กล่าวตัวเลขชุดดังกล่าวต่อกัน เมื่อมีคนถามว่า ทำไมเราจึงพูดอะไรไม่ได้เหมือนเดิม ? – ก็เพราะ ๑๑๒ ไง ! ดังคาด, ตัวเลขจำนวนนับทั้งหลายก็สิ้นสูญไปจากประเทศนั้น

จนกระทั่งประชาชนทั้งหลาย ออกมานั่งร้องไห้กันตามที่ประชุมชน ประนมมือท่วมหัว แซ่ซ้องว่า“โอ้ปราชญบดีแสนประเสริฐ ! ปราชญ์ทั้งหลายล้วนเลิศทรงพระคุณ !”

ในครั้งแรกนั้นปราชญบดีและชาวปราชญ์เข้าใจว่า ชาวบ้านสรรเสริญ ถึงกับน้ำตาไหลเพราะซาบซึ้ง แต่เมื่อผู้คนกล่าวซ้องคำดังกล่าวพลางร้องไห้บ้าง ตีอกชกหัวบ้าง ในที่สุด ปราชญบดีก็กำหนดว่า ห้ามมิให้ใช้ถ้อยคำ “ดี” “งาม” “ประเสริฐ” “มีพระคุณ” “บุญญาธิการ” ฯลฯ เพราะคำดังกล่าว ถูกใช้เพื่อเจตนาส่อเสียด – ทั้งห้ามออกนามคำว่า “ปราชญบดี” และ “ปราชญ์” โดยไม่จำเป็น – หากจะแสดงความเคารพบรรดาปราชญ์และปราชญบดีจากใจจริง หมอบราบลงกับพื้นแล้วพนมมือขึ้นเหนือศีรษะก็พอ

จนในที่สุด เมื่อปราชญบดีพบว่า ผู้คนพูดจากันด้วยการเปล่งตัวอักษรเป็นความหมายที่เข้าใจกันเอง แต่แน่ใจว่าเป็นคำกล่าวร้ายต่อปราชญบดีและปราชญ์ทั้งหลายแน่ เช่น “ปหค ปบดรยม ยม”

ระบบอักษรของประเทศนั้นก็ถูกยกเลิกลง

และเป็นการสิ้นสุดการบันทึกทุกอย่างของประเทศนั้น เนื่องจากไม่มีตัวอักษรหลงเหลืออยู่แล้ว

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ห้าร้อยปีต่อมา เมื่อนักมนุษยวิทยากลุ่มแรกจากดินแดนภายนอก ค้นพบประเทศเล็กๆนี้ก็พบว่า
ผู้คนในดินแดนนี้ไร้ซึ่งภาษา ใช้วิธีส่งเสียงในลำคอเป็นจังหวะ เพื่อสื่อสารกัน
เหมือนสัตว์...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘หมอนิรันดร์’ แนะสังคมไทยควรสรุปบทเรียนการใช้กฎหมายหมิ่นฯ

Posted: 09 Aug 2011 06:23 AM PDT

นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนะสังคมไทยสรุปบทเรียนร่วมกันถึงการใช้กฎหมายหมิ่นฯ และพรบ. คอมพิวเตอร์ ชี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อสังคม หวังรัฐบาลหน้าดูแลเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ความปรองดองที่แท้จริง

9 ส.ค. 54 –นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อประเด็นการจับกุมผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ รายล่าสุด นายนรเวศร์ ยศปิยะเสถียร บัณฑิตจบใหม่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 23 ปี เนื่องมาจากการส่งฟ้องของนายนิพนธ์ ลิ้มแหลมทอง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนายแพทย์นิรันดร์ให้ความเห็นว่า ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิดังกล่าว ทางคณะกรรมการสิทธิฯ กำลังเข้าไปตรวจสอบและศึกษายุทธศาสตร์ในการจัดการเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อดูว่ามีปัญหาในจุดใด และหาทางป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าว รวมถึงพรบ. คอมพิวเตอร์มาใช้ในทางละเมิดสิทธิ

“ก็มีเรื่องที่เราเข้าไปตรวจสอบจากกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) และคุณสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) แล้วเราก็ตรวจสอบโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ตอนนี้เรากำลังดำเนินการเรื่องศึกษายุทธศาสตร์ในการจัดการเรื่องคดีหมิ่น ไม่ว่าจะเป็นจากมาตรา 112 หรือ กฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เรามองว่าปัญหาเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรา 112 อยู่เนืองๆ หรือว่าในเรื่องของสื่อ ที่ปิดกั้นการแสดงออก ในประเด็นนี้ก็คงจะต้องมีการนำเสนอ และศึกษาวิจัยในเรื่องของสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 และพรบ. คอมพิวเตอร์มาละเมิด และเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน” นพ. นิรันดร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีรายล่าสุดที่ถูกจับกุม พบว่าเป็นคดีหมิ่นฯ ที่อายุน้อยที่สุดที่เคยปรากฎ สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้อย่างมากขึ้นและครอบคลุมมากขึ้นหรือไม่ นพ. นิรันดร์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กฎหมายนี้ถูกใช้มากขึ้น ตอนนี้เราก็กำลังนำข้อมูลจากส่วนต่างๆ มาดูด้วยว่าอะไรที่มันมากขึ้น มันมากขึ้นเพราะอะไร มันเกี่ยวข้องกับของการกระทำอะไร และหน่วยงานใดที่ไปจับ เพราะมันมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ก็คงต้องเอาข้อมูลนั้นมาดูกันในรายละเอียด

ต่อคำถามที่ว่า คิดว่ารัฐบาลใหม่จะมีท่าทีอย่างไรต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่น จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือแย่ลงหรือไม่ ประธานคณะอนุฯ สิทธิทางพลเมืองและการเมืองตอบว่า รัฐบาลใหม่น่าจะเป็นความหวังในการนำมาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น เนื่องจากได้ผ่านการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมา และคงมีการสรุปบทเรียน เพื่อทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่การปรองดองได้

“ผมคิดว่าเราก็ต้องหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้... ต้องยอมรับว่ามีส่วนได้รับกรรมดีในเรื่องการต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เข้ามาร่วมต่อสู้ในพรรคเพื่อไทยเอง ก็เคยต้องคดีหมิ่นฯ มามากพอสมควร พรรคเพื่อไทยเองก็ได้ภาพในเรื่องการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ในเรื่องของประชาธิปไตย ก็น่าจะพยายามทำเรื่องของกรณีนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายล้างกันโดยการเอากฎหมายต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือและเกิดการกล่าวหา มันจะยิ่งทำให้เกิดสังคมมีความขัดแย้ง เกิดความแตกแยก และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่ก็น่าจะมีการสรุปบทเรียนที่ดีพอสมควร ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อมีอำนาจแล้ว ก็น่าจะมีแนวทางการทำงานเพื่อให้สังคมไทยเกิดความปรองดองอย่างที่คุณยิ่งลักษณ์ได้พูดไว้”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในส่วนของประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หรือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 มากน้อยเพียงใด นพ. นิรันดร์เห็นว่า เป็นเรื่องที่เห็นตรงกันว่าขณะนี้สังคมต้องการการปรองดอง หลายภาคส่วนต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีสรุปบทเรียน และแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างโดยดูจากข้อมูลของปัญหาในการใช้กฎหมาย

“ผมคิดว่าหลายฝ่ายในสังคมไทยมีความคิดที่ตรงกันว่า ขณะนี้เราต้องมาหาแนวทางในการที่จะนำไปสู่การปรองดอง และในเรื่องสถาบันทหาร หรือในเรื่องคดีหมิ่นๆ ต่างนี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่ามันเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน และทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น ผมเองก็ได้พูดคุยกับคณะกรรมการหลายท่านในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือในคอป.เอง เราก็คงต้องแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาดู

แม้แต่นักวิชาการ หรือส่วนข้าราชการต่างๆ ในเรื่องด้านความมั่นคง ผมคิดว่าหลายๆ คนก็คงสามารถสรุปบทเรียนในหลายปีที่ผ่านมาได้ว่า กฏหมายนี้มันไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคมไทยถ้าเรายังอยู่ในวังวนของการกล่าวหา แต่ข้อมูลนี้จะชัดขึ้นเมื่อเรามีการศึกษาวิจัย และทำให้เห็นประเด็นเรื่องการกล่าวหา หรือการใช้กฎหมายในส่วนต่างๆ เพราะมาตรา 112 มันมีหลายส่วน เช่น ในเรื่องของผู้กล่าวหาที่จะการฟ้องร้อง หรือในเรื่องของการตีความเรื่องการกล่าวร้ายต่างๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันในรูปธรรม เราถึงจะสามารถทำให้สังคมมีความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นมันก็จะมีการมองกันด้วยเรื่องที่จับต้องไม่ได้ และเกิดการกล่าวหากัน”

ต่อประเด็นที่ว่า ผู้แจ้งความในกรณีหมิ่นฯ ล่าสุดนี้ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการของมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีการตั้งคำถามและความหลายหลาย แต่กลับเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น นพ. นิรันดร์เห็นว่า ต้องยอมรับว่าสังคมไทยในขณะนี้มันยังมองอะไรที่ไม่ตรงกันในหลายๆอย่าง อันนั้นก็เป็นความลำบากในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มันเกิดจากการมองสิ่งต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน และสังคมไม่สามารถตีแผ่ พูดคุยความจริงที่เกิดขึ้น ในเรื่องบางสิ่งบางอย่าง ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องสรุปบทเรียนตรงนี้ อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ว่าในเรื่องความนึกคิดหรือความหลงผิดของคนในสังคมในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็มีส่วนด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา นายนรเวศย์ ยศปิยะเสถียร บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 23 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ในข้อหาผิดพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ล่าสุด หลังจากนรเวศย์ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลาสามวัน วานนี้ (8 ส.ค) ศาลมีคำสั่งให้เขาได้รับการประกันตัวชั่วคราวโดยกำหนดวงเงินประกันจำนวน 5 แสนบาท โดยครอบครัววางโฉนดหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 860,000 บาท
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCTJ: คปท.เสนอ “ยิ่งลักษณ์” ปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน

Posted: 09 Aug 2011 04:03 AM PDT

 
ข้อเสนอสืบเนื่องจาก การเคลื่อนขบวนของเครือข่ายประชาชนจากภาคเหนือ อีสาน ใต้ และ กทม.ราว 1,000 คน เพื่อยื่นนโยบายภาคประชาชนให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้บรรจุลงในนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ส.ค.54
 
 
 
ข้อเสนอต่อรัฐบาลนางสาวยิ่ง​ลักษณ์ ชินวัตร
กระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินทั้งระบบ 
โดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
 
ความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรที่ดิน มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะที่ดินมีจำกัด ประชากรเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การบริหารจัดการที่ดินของรัฐเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมไม่สา​มารถเกิดขึ้นได้จริง โดยหากประมวลสถานการณ์ปัญหา​การจัดการที่ดินในสังคมไทยจะพบ 5 ประเด็นหลัก ที่กำลังส่อเค้าความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากไม่เร่งแก้ไขปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม 

ประการแรก ที่ดินกระจุกตัว แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอดหากแต่ไม่ประสบผล โดยจะพบว่า พื้นที่ประเทศไทย 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ 100 ล้านไร่ ส่วนอีก 130 ล้านไร่เป็นพื้นที่การเกษตร​ พื้นที่ทั้งหมดเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคน หากได้รับการจัดสรรแบ่งปัน และกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม แต่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 90 %ถือครองที่ดินไม่ถึง 1 ไร่ขณะที่ประชาชนจำนวนเพียง​ 10 % ถือครองที่ดิน มากกว่า 100 ไร่
 
นอกจากนี้ยังพบว่า มีที่ดินจำนวนมากที่ถูกปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากข้อมูลการวิจัยของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทยปี 2544 พบว่า 70 % ของที่ดินที่มีการถือครองใน​ประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50 % ประเมินความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้าน บาทต่อปี
 
ในขณะที่ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจนของกระทรวงมหาดไทยระ​บุว่า มีประชาชนมาลงทะเบียนว่าตนเองมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน​และที่อยู่อาศัยนับรวมได้ 4.2 ล้านปัญหา แบ่งเป็นคนไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคน มีที่ดินทำกินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกินแม้ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง 1.6 ล้านคน ขอเช่าที่ดินรัฐและครอบครอง​ที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคน รวมแล้วมีเกษตรกรและคนไร้ที่ดินในสังคมไทยทีมีปัญหาที่​ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว จะพบว่าจากการสำรวจและการวิจัยเรื่องที่ดินจากทุกสถาบันโชว์ทุกครั้งว่า ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่เกษตรกรทั่วประ​เทศเห็นว่าสำคัญ และวิกฤตสำหรับเกษตรกรไทย แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ มีเพียงมาตรการสำรวจและศึกษาวิจัยต่อไป โดยไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม 
 
ประการที่สอง การถือครองที่ดินของเอกชน ไม่เพียงปัญหาความล้มเหลวใน​การกระจายการถือครองที่ดิน หากยังรวมถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการการถือครองที่ดินของเอกชน โดยจะพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ บุคคลและนิติบุคคลจำนวน 50 รายแรก ถือครองที่ดินเป็นจำนวนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด จากจำนวนประชากรอย่างเป็นทางการมากกว่า 5.7 ล้านคน หรือหากพิจารณาจากจำนวนถือครองที่ดินของชนชั้นนำในสังคมไทยที่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะจะพบว่ามีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏอย่างชัดเจนในหมู่นักการเมืองที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงข้าราชการระดับสูงที่​ไม่ปรากฏข้อมูลต่อสาธารณะแต่ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่ามีแนวโน้มในลักษณะเช่นเดียวกัน
 
ข้อมูลดังกล่าวตรงกันข้ามกับการถือครองที่ดินของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ต้องใช้ที่ดินเป็นฐานทรัพยากรสำคัญในการผลิตอาหารและสร้างรายได้เพื่อดำรงชีพ ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าในปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ดินเป็นของตนเองไม่น้อยกว่า 811,892 ครอบครัว และในส่วนที่ต้องเช่าที่ดิน​ทำกิน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครอบครัว รวมทั้งข้อมูลการสูญเสียที่​ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างการถือครองที่ดินที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน​และการสร้างความมั่นคงในการ​ถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกร
 
ประการที่สาม ข้อขัดแย้งในที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ จะพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน​โดยมิชอบ ผิดกฎหมาย ในหลายกรณีทั้งในที่ดินเกษตรกร ที่ดินที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่ เช่น ที่ป่าชุมชน ที่สาธารณประโยชน์ และที่ ส.ป.ก. ที่ดินที่ถูกออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเหล่านี้ ต่อมาได้ถูกนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กลายเป็นหนี้เน่า NPL ถูกธนาคารฟ้องร้องยึดและขาย​ทอดตลาด กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อประชาชนมีมาตรการแก้ไข​ปัญหาที่ดินที่เป็นรูปธรรม โดยการเข้าทำกินปฏิรูปการถือครองโดยประชาชน รัฐและเจ้าของที่ดินเอกชนเห​ล่านั้นได้ใช้อำนาจทางกฎหมายกับคนจนไร้ที่ดิน ด้วยการฟ้องร้อง จับกุม ดำเนินคดีความ
 
ประการที่สี่ ข้อขัดแย้งในที่ดินรัฐโดยเฉพาะในพื้นที่ป่า ความขัดแย้งในพื้นทีป่าไม้ระหว่างรัฐกับเกษตรกรเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน ที่รัฐได้ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าสงวน และที่สาธารณะทับ​ซ้อนบนพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่สาธารณประโยชน์และที่ป่า​ชุมชนของชาวบ้าน ก่อให้เกิดกรณีพิพาทความขัด​แย้งเรื่องสิทธิ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้าน ซึ่งกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์​ในที่ดินและการแก้ไขปัญหายังถูกรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐ โดยขาดการตรวจสอบจากองค์กรอิสระและองค์กรประชาชน
 
ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้อำนาจทางกฎหมายทีแข็งกร้าวมากขึ้นนอกจากฟ้องร้องคนจนในคดีอาญาแล้ว ยังฟ้องร้องเพิ่มในคดีแพ่งเรียกร้องให้คนจน จ่ายค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คนละ 1-5 ล้านบาท แม้ว่าคนจนเหล่านั้นจะทำกิน​ตามวิถีเกษตรกรเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้​ รัฐได้อนุญาตให้บริษัทเอกชน​สัมปทานเช่าพื้นที่ป่าสงวนระยะยาวเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจ ยูคาลิปตัส ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เมื่อเอกชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเกินกว่าสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าหมดลง คนจนไร้ที่ดินเรียกร้องให้รัฐหยุดสัญญาเช่าแต่ไม่เป็นผล เมื่อประชาชนมีมาตรการแก้ไข​ปัญหาด้วยตนเอง โดยการเข้าทำกินปฏิรูปที่ดินการถือครองโดยประชาชน รัฐได้ใช้อำนาจทางกฎหมาย โดยการจับกุมดำเนินคดี ด้วยข้อหารุนแรง
 
ประการที่ห้า ที่ดินคนจนเมือง ในขณะที่ชุมชนสลัมกว่า 3,700 ชุมชน ทั่วประเทศ อยู่ในภาวะสั่นคลอน ไม่ได้ถูกรับรองและไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย อยู่ในสภาพที่จะถูกไล่รื้อจากหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทธุรกิจเอกชน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักประ​กันในความมั่นคงต่อการแก้ไข​ปัญหาดังกล่าว ชุมชนหลายแห่งต้องเผชิญกับสภาพการถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีจากเจ้าของที่ดินเอกชน หรือแม้แต่จากหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการขับไล่ชุมชนออกจากที่ดินดังกล่าว
 
ในขณะที่ชุมชนอีกหลายแห่ง ที่อยู่อาศัยคนยากจนต้องประ​สบปัญหาการเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา หรือต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา ในราคาที่แพงกว่าประชาชนทั่วไป เนื่องจากถูกกีดกัน ไม่ได้รับสิทธิในการมีทะเบียนบ้านถาวรจากหน่วยงานภาครัฐ 
 
รากฐานของปัญหา
 
ความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรที่ดินดังกล่าวล้วนเกิด​ขึ้นจากรากฐานเดียวกัน ดังนี้คือ
 
1.การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินใน​สังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการ การปฏิรูปโครงสร้างการถือครองที่ดินและการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน เพื่อนำสู่การกระจายอำนาจแล​ะการกระจายการถือครองที่ดิน​ที่เป็นธรรม ที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งเน้นการ​ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้กับภาคเอกชนและเกษตรกร และการประกาศเขตพื้นที่ป่าเพิ่ม ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถแก้ไข​ปัญหาที่ดินและการบุกรุกป่า​ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาท​ที่ดินตามมาอีกจำนวนมาก
 
2.สังคมไทยไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไรมาถือครองไว้ก็ได้ จะซื้อครึ่งหรือค่อนประเทศก็ไม่มีใครจำกัดสิทธิได้ ในขณะที่คนจนจะสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกินจำนวนกี่​ล้านครอบครัวก็ได้ รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจในทางบ​ริหารและอำนาจในทางกฎหมาย จัดการเพื่อให้เกิดความเป็น​ธรรมในการถือครองที่ดินอย่างที่ควรจะเป็น
 
3.สังคมไทยไม่มีกฎหมายภาษีที่​ดินอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่สำคัญ ที่จะทำให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ในระดับที่ไม่สามารถเก็บที่​ดินไว้เพื่อการเก็งกำไรและต้องขายออกมา ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถช้อนซื้อที่ดินเหล่านั้นเพื่อนำมา​ปฏิรูปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน
 
4.กฎหมายที่ดิน ป่าไม้ และการประกาศเขตพื้นที่ป่าของรัฐ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานการ​เคารพในสิทธิของชุมชนท้องถิ่น การดำรงอยู่ของชุมชนเกษตรกร วัฒนธรรมของชุมชนอันหลากหลา​ย สืบเนื่อง และเป็นรากฐานของวิถีเกษตรกรรมในสังคมไทยมายาวนาน เมื่อกฎหมายและการบังคับใช้​กฎหมายไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้น​ฐานแห่งความยุติธรรม และยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้​ไข กรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่อง​ที่ดินจึงเกิดขึ้นจำนวนมาก
 
5.การปฏิรูปที่ดินของรัฐที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎ​หมายปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 ที่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจ มาตรการทางกฎหมายและมาตรการ​ต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชน​มากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดิน แต่กลับเบี่ยงเบนประเด็นไปที่การจัดสรรที่ป่าสงวนแห่งชาติให้กับภาคเอกชน
 
6.สังคมไทยไม่มีช่องทาง กลไก สถาบัน ที่เปิดโอกาสให้คนไร้ที่ดิน​และไร้ที่อยู่อาศัย เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรที่ดินร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดความ​โปร่งใสและเกิดความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและข้อขัดแย้งในพื้นที่​ป่า รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น ขาดการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจตามที่ควรจะ​เป็น
 
หลักการสำคัญของการกระจายการถือครองที่ดิน
ที่ดินคือสวัสดิการสังคม ที่รัฐต้องจัดให้เกษตรกรทุก​คน บนพื้นฐานความเป็นธรรมที่ว่า ที่ดินไม่ใช่สินค้า หากคือทรัพยากรเพื่อการผลิต​อาหารที่สำคัญของสังคม สังคมจึงต้องมีการกระจายการ​ถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยมี​ที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับคนกลุ่มใหญ่ของประเท​ศ

รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิ​ทธิของเกษตรกรรายย่อยและคนยากจน การคุ้มครองสิทธิและอิสรภาพ​ในการดำรงชีวิต การตั้งถิ่นฐาน การอยู่อาศัย การทำมาหากิน การได้รับสิทธิในการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อยและคนจน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม มิใช่การยึดตามตัวบทกฎหมายที่ขัดแย้งกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม จารีตประเพณีและวัฒนธรรมของ​ชุมชนท้องถิ่น 

ที่ดินรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่ดินเอกชนที่กักตุนไว้เพื่อเก็งกำไร มีเจ้าของแต่ไม่มีการใช้ประ​โยชน์ คือตัวบ่งชี้ความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ควรถูกมาใช้ในการผลิต กระจายและจัดสรรให้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรไร้ที่ดิน และคนจนไร้ที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมต่อการใช้ที่ดิน 

รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 85 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ส่วนที่ 8 ด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม ที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกร​รมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธี​อื่น

 
แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม 
การแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรที่ดินจำเป็นต้องดำเนิน​การอย่างเร่งด่วน โดยพรรคการเมืองทุกพรรคควรกำหนดปัญหาที่ดินเป็นวาระเร่งด่วน เพราะหากไม่เร่งปฏิรูปโครงสร้างการถือครองที่ดิน ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินและความขัดแย้งของคนในสังคมจะรุนแรงมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อความมั่น​คงโดยรวมของสังคม ความมั่นคงด้านอาหารและที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่ของประเทศในอนาคต 
 
แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างการถือครองที่ดินและการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดิน มีดังนี้คือ

1.การออกกฎหมายโฉนดชุมชน การออกกฎหมายการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หมายความถึงการปรับโครงสร้างการจัดการที่ดินในสังคมไทย​โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร​ที่ดินร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อความโปร่งใส กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ และเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท​ในที่ดินรัฐที่ยังไม่มีแนวทางการแก้ไข
 
กฎหมายโฉนดชุมชนควรมีหลักการที่สำคัญคือการเคารพในการดำรงอยู่ของชุมชนเกษตรกร และวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรจากรัฐสู่ประชาชน คุ้มครองพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม และคุ้มครองสิทธิเกษตรกรราย​ย่อยให้สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การประกันรายได้และราคาผลผลิตที่เป็นธรรม กองทุนชดเชยจากภัยธรรมชาติและกองทุนการช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียม
 
2.การจัดสรรงบประมาณสำหรับกอง​ทุนธนาคารที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดินคือกองทุนหลักประกันการเข้าถึงที่ดินของคนจนและคนไร้ที่ดินทั่ว​ประเทศ ส่วนกองทุนที่ดินชุมชนคือกองทุนหลักประกันการคุ้มครองพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมตลอดไป กองทุนที่ดินเหล่านี้จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพไม่​ได้ หากไม่มีการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐเข้ามาดำเนินการ
 
พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ควรจัดสรรงบประมาณให้กับกอง​ทุนธนาคารที่ดิน เพื่อให้กองทุนนี้ เป็นกลไกในการจัดซื้อที่ดิน​จากภาคเอกชน ที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์ หรือทำหน้าที่เจรจาขอใช้ที่​ดินจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ใช้​ประโยชน์ เพื่อนำที่ดินมาจัดสรรและกระจายให้กับคนไร้ที่ดินได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไปโดยการจัดซื้อที่ดินจากภาคธุรกิจเอกชน ที่ดิน NPL ควรเจรจาขอซื้อในราคาที่ต่ำ​กว่าราคาประเมิน เพื่อประโยชน์ในทางสาธารณะของสังคม
 
เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกร​ยากจนที่ไร้ทีทำกินถึง 1.5 ล้านคน หากจะจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ เจ็ดแสนล้านบาท และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่ดินเป็นไปได้จริง พรรคการเมืองควรจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนธนาคารที่ดินปีละ 100,000 ล้านบาท
 
3.การจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อสร้างกลไกและเงื่อนไขให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นจริง ควรมีการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่ก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน ตามมูลค่าของที่ดิน และตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
 
การจัดเก็บภาษีที่ดิน ควรจัดเก็บในที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าเป็น​เวลานานในอัตราภาษีที่สูงกว่าที่ดินที่มีการนำที่ดินไป​ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และควรมีการยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่มีที่ดินถือครองในมูลค่าน้อยหรือเกษตรกรที่ยากจน เพื่อไม่ให้ภาระภาษีตกแก่กลุ่มคนที่มีฐานะยากจนและต้อง​อาศัยที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตเพื่อดำรงชีพ
 
4.การจำกัดการถือครองที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดินคือการสร้างบรรทัดฐานความเป็น​ธรรมในการถือครองที่ดินให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยข้อเท็จจริงของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ว่า เกษตรกรไทยจำนวนมากกำลังประ​สบกับภาวะของการสูญเสียที่ดินทำกิน โดยที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไข ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อนำที่ดินมากักตุนและเก็งกำไร โดยที่ไม่มีปัจจัยควบคุม การกำหนดแนวทางการจำกัดการถือครองที่ดินในสังคมไทย จะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางโครงสร้างการบริหารจัดการที่ดิน ทิศทางการพัฒนาและการเติบโต​ของภาคเกษตรกรรมที่คำนึงถึง​การดำรงอยู่ของเกษตรกรรายย่อยในภาคเกษตรกรรมไทย
 
5.การแก้ไขปัญหาคดีความคนจน เนื่องจากคดีคนจนด้านที่ดิน​ ทรัพยากร และการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เกิดจากปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากร​ที่ดินของรัฐที่ไม่เท่าเทียม ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง​ลุกลามเป็นคดีความขึ้นทั่วประเทศ นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาจลุกลามขยายตัวถึงขั้นวิกฤติต่อสังคมและเศรษฐกิจได้
 
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาคดีความสอดคล้องกับการปฏิรูปโครง​สร้างการจัดการที่ดิน เจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนจนและเกษตรกรรายย่อย พรรคการเมืองควรกำหนดนโยบาย​และแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานภาครัฐดังนี้
 
คดีพิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นคดีอาญาอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยกา​ร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติคดีมีคำสั่งไม่ฟ้อง
 
คดีพิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นคดีแพ่งอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลหรือศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการถอนฟ้อง งดการบังคับคดี หรือถอนการบังคับคดีแล้วแต่​กรณี
 
คดีพิพาทที่ยังไม่มีการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมแล​ะกรณีการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงดการดำเนินคดีหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไว้ จนกว่ากระบวนการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ
 
คดีพิพาทที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาล ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเหลือ ชาวบ้านที่ต้องต่อสู้คดี ทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับศาล การประกันตัว ทนายความ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมาศาลของชาวบ้าน รวมทั้งให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการช่วย​เหลือผู้ถูกคดีของกระทรวงยุ​ติธรรมได้โดยง่าย
 
6.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โครงสร้างกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อโครง​สร้างการจัดการที่ดินและข้อ​พิพาทระหว่างประชาชนกับภาครัฐและนายทุน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง​ในการจัดการทรัพยากรที่ดินที่ยั่งยืนและเป็นธรรม พรรคการเมืองควรมีนโยบายปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมดังนี้ 

ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดิน​ป่าไม้ให้มีเอกภาพ และวางหลักการของกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม จัดทำหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เกิดความเป็นธรรมทางนิเวศควบคู่กับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

 
ให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการ​จัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ตั้งแต่ชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นประโยชน์แก่อัยการ​และศาลในการพิจารณาคดีที่ดินป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน 

จัดตั้งหน่วยงานพิเศษในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับดินป่าไม้ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญใน​เรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
 
มีศาลพิเศษด้านที่ดินป่าไม้​และมีศูนย์พิเศษเพื่อช่วยเห​ลือประชาชนด้านที่ดินป่าไม้​ทั้งในด้านการป้องกันและแก้​ปัญหา ตั้งแต่การจัดหาทนาย การสนับสนุนทรัพยากรในการจัดหาพยานหลักฐาน การให้คำปรึกษาด้านเทคนิค การเข้าเป็นพยานหรือพยานผู้​เชี่ยวชาญในศาล รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนสู้​คดี
 
จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินป่าไม้เพื่อให้การพิจารณาคดีมีมาตรฐาน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว สะดวก และประหยัด ใช้วิธีการพิจารณาคดีที่หลากหลาย การเดินเผชิญสืบ การนำระบบไต่สวน ที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน มาประกอบการตัดสินคดี การพิจารณาจากหลักฐานบุคคลหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์​ท้องถิ่น การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลา​ง ตลอดจนให้มีการกลั่นกรองคดี​ในระดับชุมชนก่อนเข้าสู่กระ​บวนการยุติธรรมทางศาล
 
พัฒนาระบบการฟ้องคดีสาธารณะ​โดยให้ประชาชนสามารถฟ้องคดี​ได้ และรัฐฟ้องคดีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนหรือชุมชนตื่นตัวต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวมมากขึ้น 

ข้อเสนอรูปธรรมแนวทางการนำที่ดินรัฐมากระจายการถือครอง​สู่ประชาชน


1.ให้นำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ​ ที่หมดสัญญาเช่าหรือหมดระยะ​การอนุญาตให้นายทุนทำประโยชน์มาปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกร​ที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมทั้งรับรองสิทธิในหลักการของโฉนดชุมชนหรือระบบการถือครองปัจจัยการผลิต/ที่ดินร่วมกันขององค์กรชุมชน (ยกตัวอย่างกรณีจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีที่ดินดังกล่าว 38 แปลงจำนวนกว่า 68,500 ไร่ที่หมดสัญญาแล้ว)

2.เร่งนำที่ดินในเขตปฏิรูปที่​ดินเพื่อเกษตรกรรม (ที่ดิน สปก.) ซึ่งนายทุนบุกรุกครอบครองทำ​การเกษตรรายใหญ่มายาวนานกว่า 25 ปี มาสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน​ให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดิน (กระจายการถือครองและรับรอง​ให้เป็นสิทธิร่วมของชุมชน)

3.ให้นำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ​ที่อยู่ในการครอบครองขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)​ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ 900,000 ไร่ ทั่วประเทศเข้าสู่กระบวนการ​ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรยากจน

4.กรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ​ที่นายทุนการเกษตรรายใหญ่ครอบครองมากกว่า 200 ไร่ ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายของการครอบครองที่ดิน

 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
8 สิงหาคม 2554

 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ: พลังน้ำ พลังชุมชน พลังงาน

Posted: 09 Aug 2011 03:55 AM PDT

เมื่อพูดถึงความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันในปัจจุบัน แน่นอนว่าแค่ “ปัจจัยสี่” คงจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมี “ปัจจัยห้า” ที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่ละคนนิยาม “ปัจจัยห้า” แตกต่างกันไป บางคนอาจหมายถึงรถยนต์ บางคนอาจหมายถึงโทรศัพท์มือถือ แต่อีกนิยามหนึ่งที่น่าจะครอบคลุมกว้างขวางกว่า “ปัจจัยที่ห้า” ที่จะก่อให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอื่นๆ ทั้งหมดคือ “พลังงานไฟฟ้า”

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทำได้ยาก การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยไม่อาจทำได้อีกต่อไป หลังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามแห่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะในประเทศญี่ปุ่นระเบิด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยิ่งไม่ใช่ทางออกสำหรับประเทศไทย

แล้วอะไรจะเป็นคำตอบที่ลงตัว ระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ กับความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บ้านคลองเรือ หมู่ที่ 9 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนต้นน้ำที่เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน เป็นเสมือนแผ่นดินแห่งความหวัง ที่คนต่างถิ่นจากทั่วทุกสารทิศอพยพเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ในรูปของการเป็นลูกจ้างสัมปทานตัดไม้ ลูกจ้างเหมืองแร่ ปลูกกาแฟและทำสวนผลไม้

เมื่อต่างคนต่างตักตวงเอาจากธรรมชาติ เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสิบปีผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก็แปรสภาพเป็นผืนดินที่แห้งแล้ง สายน้ำเหือดหาย อันเป็นผลพวงจากการตัดไม้ทำลายป่า การแย่งชิงน้ำและการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ชาวคลองเรือรู้แล้วว่า วิถีทำกินแบบเก่าที่ต่างคนต่างกอบโกยเอาจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ได้ย้อนกลับมาทำลายพวกเขาเอง

ในความโชคร้ายของชาวบ้านชุมชนคลองเรือ ก็ยังมีความโชคดี เมื่อนายพงศา ชูแนม เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ได้ริเริ่มโครงการคนอยู่ ป่ายัง (วนศาสตร์ชุมชนบนพื้นที่สูง) ในปี 2536 ภายใต้แนวคิด “ดูแลคนไม่ให้ทำลายป่า” แทนแนวคิดอนุรักษ์แบบอนุรักษ์นิยมของข้าราชการกรมป่าไม้ ที่มักเชื่อว่า “ต้องดูแลป่าไม่ให้คนทำลาย”

การทำงานของโครงการคนอยู่ ป่ายัง ใช้การเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พูดคุยผ่านเวทีชาวบ้าน เดินทางไปดูงานชุมชนอื่นๆ ทั้งหมดนี้ช่วยชี้แจงแสดงเหตุผลให้ชาวบ้านตระหนักได้ว่า เมื่อมีป่าจึงมีน้ำ เมื่อมีน้ำจึงมีชีวิต นำไปสู่การกำหนดกฎกติกาในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน

โครงการคนอยู่ ป่ายัง จึงเป็นบ่อเกิดชุมชนเข้มแข็งของบ้านคลองเรือ เป็นจุดเปลี่ยนทางความรู้สึกจากผู้ทำลายป่ากลายเป็นผู้รักษาป่า ขยายผลเป็นโครงการต่อยอด ที่ยิ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนาคารต้นไม้ สวนเกษตร 4 ชั้น หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

ถึงวันนี้ชาวคลองเรือมีวิถีชีวิตที่ลงตัว และมีความสุขกับความเป็นชุมชนต้นแบบ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลแห่งความภาคภูมิใจอันหนึ่งคือ การได้รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2541

แน่นอน ในฐานะชุมชนที่รักษาป่าต้นน้ำได้อย่างยอดเยี่ยม ชาวคลองเรือควรได้รับรางวัลตอบแทนบางอย่างที่จะช่วยให้พวกเขาได้ดำรงชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม เพราะการมีชีวิตพอเพียงมิได้หมายความว่าต้องปราศจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ทุกวันนี้ชาวบ้านคลองเรือมีความมั่นคงด้านพลังงานน้อยมาก เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลระบบเครือข่ายไฟฟ้ายังเชื่อมโยงเข้าไปไม่ถึง ไฟฟ้าที่ใช้ในชุมชนได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน การไม่มีไฟฟ้าใช้ ถือเป็นเรื่องอยุติธรรมต่อชาวคลองเรือเป็นอย่างยิ่ง

ความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านคลองเรือ สอดคล้องต้องกันกับความสนใจใคร่รู้ของนักวิจัย นักวิชาการจากโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ฯ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กำลังร่วมกันหาทางออกเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในกรณีนี้พลังงานทางเลือก น่าจะเป็นคำตอบที่ใช่ เป็นพลังงานที่ไม่หวนกลับมาสร้างปัญหาในภายหลัง ด้วยถือกำเนิดมาจากความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง และเป็นพลังงานที่สร้างขึ้นจากรากฐานทรัพยากรของชุมชน

ชุมชนเข้มแข็งผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอันหลากหลาย ผนึกกำลังกับนักวิจัยและนักวิชาการ โดยแกนนำชุมชนคลองเรือได้เข้าร่วมโครงการนำร่องการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551) มีโอกาสพบปะพูดคุยกับชุมชนต้นน้ำอื่นๆ ในภาคใต้ และร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพของพลังน้ำและพลังชุมชนว่า ป่าต้นน้ำบ้านคลองเรือ มีปริมาณน้ำมากเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ส่วนพลังชุมชนก็เข้มแข็งพอที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ให้ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับทั้งตัวชุมชนและสังคมโดยรวมได้อย่างเต็มที่

อันเป็นที่มาของแหล่งเรียนรู้โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงระยะที่ 2 ของโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างปี 2552–2554 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2554

เมื่อวันนั้นมาถึงชาวบ้านคลองเรือที่ขาดโอกาสมานาน จะได้เติมเต็มบางส่วนที่ขาดหายไปในชีวิต ชุมชนที่เคยขาดแคลนไฟฟ้าจะได้มีไฟฟ้าใช้ บางคนฝันที่จะทำกิจการเครื่องแกงสำเร็จรูป โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่รอบๆ บ้าน บางคนฝันจะเป็นที่ปรึกษาสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนให้กับชุมชนอื่นๆ

ทุกความฝันมิใช่เป็นไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ไปสู่คนอื่น ๆ โดยมีการรักษาป่าต้นน้ำเป็นต้นทางและปลายทางแห่งฝัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงร้องจากชายแดนใต้ ‘กระจายอำนาจ’ ทางออกจากความรุนแรง

Posted: 09 Aug 2011 03:51 AM PDT

พลันที่ “พรรคเพื่อไทย” กุมคะแนนเสียงข้างมากในสภา กระแสเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดังกระหึ่ม

พลันที่ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จากพรรคเพื่อไทย ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยิ่งอยากเห็นภาพ “นครปัตตานี” ในจินตนาการของพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเท่านั้น

เนื่องเพราะในช่วงเทศกาลหาเสียง พรรคเพื่อไทยที่มี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นธงนำ ได้ออกมาป่าวประกาศชัดเจนว่า จะกระจายอำนาจให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดูแลตัวเอง ในนามของ “นครปัตตานี”

อันเป็นคำประกาศที่ยังไม่มีรูปลักษณ์การกระจายอำนาจที่ชัดเจนออกมาให้ได้จับจ้องมองเห็น
ในท่ามกลางการรอ ที่คงต้องใช้เวลาอีกระหนึ่ง จนกว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะปรากฏ และนโยบายรัฐบาลจะออกมาให้ได้ยล

ช่วงว่างระหว่างการรอ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จะทยอยนำความคิดความเห็นความต้องการของคนในท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ มานำเสนออย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

ต่อไปนี้ เป็นอีกเวทีที่คนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ

อันเป็นความคิดเห็นที่ตั้งวงคุยกันมา ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในหัวข้อ “บทบาทของนักศึกษาต่อการกระจายอำนาจ” มี “นางสาวอลิสา หะสาเมาะ” อาจารย์ภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา

“นายมันโซร์ สาและ” รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เปิดวงคุยด้วยท่วงทำนองที่สร้างความเร้าใจให้กับผู้เข้าร่วมเสวนาได้เป็นอย่างดี

“ในรอบ 120 ปี ผมพบว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที” เป็นวาทะเปิดฉากของอดีตนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นาม “นายมันโซร์ สาและ”

“นายมันโซร์ สาและ” ขยายภาพให้เห็นว่า ไม่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่มีปัญหา ทว่ ในขอบเขตทั่วประเทศไทย ต่างก็เผชิญกับความรุนแรงไม่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดจากปมความขัดแย้งทางการเมือง ครั้งล่าสุด ที่เกิดม็อบคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง

หมายรวมไปถึงการชุมนุมประท้วง อันสืบเนื่องมาจากปัญหาปากท้องของคนยากคนจน

“คนเชียงใหม่ปิดล้อมศาลากลางกว่า 70 ครั้งต่อปี เมื่อปัญหาแก้ไม่ตก ก็ต้องรวมกลุ่มยกพลเข้ามาเคลื่อนไหวที่กรุงเทพมหานคร มีม็อบเสื้อแดงที่คนชั้นล่างผนวกกับชนชั้นกลางออกมาแสดงความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม แสดงให้เห็นถึงบทบาทการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลาง ปกครองแบบเมืองขึ้น อำนาจทุกประเภทอยู่ที่ส่วนกลาง หรือเมืองหลวง ความเจริญจึงแทบจะมาไม่ถึงต่างจังหวัด”

เป็นรูปธรรมที่ “นายมันโซร์ สาและ” หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

คำถามที่ตามมาจากปากของ “นายมันโซร์ สาและ” ต่อการบริหารจัดการที่บิดเบี้ยวมานานกว่า 120 ปีก็คือ เมื่ออำนาจข้งนอกเข้าครอบ คนท้องถิ่นมีสิทธิจะแสดงศักยภาพ ภายใต้วิสัยทัศน์ของตัวเองได้หรือไม่ ในสภาพที่คนไทยถูกปลูกฝังมากับฐานคิดชาตินิยม

“เมื่อคนมุสลิมไม่ต้องการความอยุติธรรมในสังคม การปกครองท้องถิ่นในรูปของปัตตานีมหานคร ที่กระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นปกครองตนเอง จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น” เป็นทัศนะในเชิงเรียกร้องของ “นายมันโซร์ สาและ”

สอดรับกับความเห็นของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น “นายอุดม ปัตนวงศ์” ซึ่งมีอีกฐานะเป็นกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดยะลาที่มองว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้ได้ด้วยการกระจายอำนาจ จัดรูปแบบการปกครองให้สอดคล้องกับความเป็นมลายู และความเป็นอิสลาม

“ความแตกต่างไม่ได้เป็นปัญหาของคนมลายู แต่ความแตกต่างที่นำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม เกิดจากคนต่างพื้นที่ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ (Identity) ที่มีมาตั้งแต่อดีตของคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นความเห็นของ “นายอุดม ปัตตนวงศ์”

อันเป็นความเห็นที่ถูกสำทับซ้ำอีกครั้งจาก “นายสมชาย กุลคีรีรัตนา” ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล ที่มองว่า ปัญหาทั้งหมดในวันนี้ เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ไม่เคารพศักดิ์ศรีของคนท้องถิ่น ทำให้ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิตดั้งเดิม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์หายไป ส่งผลให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ดูแลตัวเองไม่ได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับคนในท้องถิ่น เกิดการคอร์รัปชั่น นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอย่างรุนแรง

ขณะที่ “นายทินกร หมาดบู” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกอิสลามศึกษา (นานาชาติ) กล่าวถึงการกระจายอำนาจว่า ถึงเวลาที่จะให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เพราะรัฐรวมศูนย์ ผูกขาดการบริหารอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม คนที่รวยก็รวยต่อไป คนที่จนก็จนเหมือนเดิม ตนอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน อยากเห็นถนน ไฟฟ้า กระจายเต็มพื้นที่ แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง ถ้าอำนาจการตัดสินใจยังรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง

ถึงกระนั้น “นายทินกร หมาดบู” ก็ไม่วายย้ำว่า ถ้ามีการกระจายอำนาจลงมา ก็ไม่ควรยกอำนาจไปให้กับคนในตระกูลชั้นสูงเพียงไม่กี่ตระกูล แต่ควรจัดโครงสร้างการปกครองให้คนที่เข้ามาบริหารจัดการบ้านเมือง มีที่มาจากคนหลากหลายกลุ่ม

“สิ่งที่ผมต้องการความมั่นใจจากปัตตานีมหานครคือ การไม่เลือกปฏิบัติ”

เป็นข้อกังวลที่หล่นออกมาจากปากของ “นายทินกร หมาดบู”

นายอุดม ปัตนะวงศ์

อุดม ปัตนวงศ์

สมชาย กุลคีรีรัตนา

สมชาย กุลคีรีรัตนา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น