โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักวิชาการจัดงาน 100 เอกสาร ขุดราก‘ประวัติศาสตร์ปาตานี’

Posted: 16 Aug 2011 11:27 AM PDT

นายพุทธพล มงคลวรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ลังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า เวลา 10.00–14.30 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2554 ภาควิชาประวัติศาสตร์ แผนกวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับหน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย จะจัดโครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้: ร้อยเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี หรือ 100 Important Documents about Patani History Project ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)รูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

นายพุทธพล เปิดเผยต่อไปว่า โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นจากนักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานี มีความอึดอัดและคับข้องใจเกี่ยวกับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของปัตตานี โดยแยกออกเป็น 3 โครงการย่อย ประกอบด้วย โครงการนำเสนอบทความทางวิชาการจากนักวิชาการ เน้นบทความที่เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม ตามด้วยโครงการไทม์ไลน์เชิงประชาสัมพันธ์ เป็นการนำเสนอผ่านโปสเตอร์เชื่อมโยงให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ปัตตานี ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
“โครงการสุดท้ายคือ โครงการร้อยเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี เนื่องจากที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นรองประวัติศาสตร์ไทยมาตลอด โครงการฯ นี้ จะส่งผลให้เกิดการรับรู้ และกระตุ้นให้มีการพูดคุยถึงประวัติศาสตร์ปัตตานีมากขึ้น ไม่ได้ต้องการปลุกระดมทางการเมือง หรือต้องการกล่อมเกลาทางอุดมการณ์โดยรัฐ และจุดที่เริ่มต้นที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้จากเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญในการนำมาอธิบาย เพื่อทำให้คนยุคปัจจุบันเห็นภาพรัฐปาตานีในอดีต” นายพุทธพล กล่าว
 
นายพุทธพล เปิดเผยด้วยว่า เอกสารส่วนหนึ่งเป็นเอกสารสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในยุคดังกล่าว เช่น เอกสารข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย 7 ข้อ ของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่ทราบกันเฉพาะในหมู่ของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ภาคใต้ ประวัติศาสตร์มุสลิม หรือประวัติศาสตร์ปัตตานีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเอกสารภาษาไทยเกี่ยวกับปัตตานี ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารสมัยต่างๆ เอกสารบันทึกของชาวต่างชาติ ทั้งคนจีน ฮอลันดา อังกฤษ ที่แวะเวียนผ่านปัตตานี ตำราทางศาสนาเกี่ยวกับการฟัตวาถึงฟาตอนียะห์ หนังสือพิมพ์ภาษารูมี ในประเทศมาเลเซีย และเอกสารท้องถิ่นภาษายาวี เป็นต้น
 
นายพุทธพล เปิดเผยอีกว่า ในการจัดโครงการฯ ครั้งนี้ จะมีการนำเสนอข้อมูลจากนักวิชาการ และร่างประวัติศาสตร์ปัตตานีที่มีอยู่แล้ว 60 ร่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็น หรือนำเสนอร่างเอกสารเพิ่มเติม หลังจากรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน ประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไป จะมีการนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเอกสารเพิ่มเติมอีก 40 ร่าง เพื่อรวบรวมเอกสารให้ได้ 100 ร่าง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า มีเอกสารเกี่ยวกับปัตตานี ที่ยังไม่เคยพบเห็นอีกมาก พร้อมกับเปิดโอกาสให้ทุกเสียงได้สะท้อนผ่านเวที
 
“ก่อนหน้านี้ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นายอิสมาแอ เบญจสมิทธิ์ หรือนายครองชัย หัตถา แต่ข้อมูลที่ได้รับยังไม่เพียงพอ จึงต้องจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลและร่างเอกสารได้มากขึ้น” นายพุทธพล กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ป้าบัวเขียว ชุมภู : เราไม่เอาเขื่อน จะสู้จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

Posted: 16 Aug 2011 11:23 AM PDT

“ใจไม่ดี และจะไม่ยอม ถ้าให้ตาย ก็จะสู้จนตาย เพราะว่าการที่พ่อแม่เราสะสมผืนป่าอาหารมาไว้ให้กับลูกหลานมาถึงขนาดนี้ จนมีผืนป่าสืบมาถึงรุ่นเรา แล้วเราไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น เราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปนั่นแหละ” 


 

หลังจากมีข่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน โดยได้มีการศึกษาและระบุว่า จุดก่อสร้างอยู่บริเวณเหนือหมู่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้คนทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวและผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติชนเผ่า ทั้งคนพื้นเมือง คนปกาเกอะญอและคนไทยใหญ่ ต่างมาล้อมวงคุยถกกันอย่างเคร่งเครียด

โดยในช่วงเช้า ชาวบ้านโป่งอาง นั่งคุยกันในวิหารเก่าในวัดโป่งอาง ครั้นพอตกบ่าย ทุกคนพากันย้ายมาประชุมหารือกันต่อที่ในโบสถ์คริสต์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับฝายชลประทาน แม่น้ำปิงที่ไหลผ่านไปกลางหมู่บ้าน

และนี่คือคำให้สัมภาษณ์ของ ‘ป้าบัวเขียว ชุมภู’ แกนนำแม่บ้านโป่งอาง สั้นๆ แต่ว่ามีพลัง เพราะนี่คือคำบอกเล่าที่ออกมาจากใจของชาวบ้านคนหนึ่ง ของหมู่บ้านที่รัฐจะมาสร้างเขื่อน!!

หลังจากทราบข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนในหมู่บ้านโป่งอาง มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง?
มีความรู้สึกใจไม่ค่อยดีเลย  เพราะเราเข้ามาอยู่อาศัยกันตั้งแต่เจ่นพ่ออุ๊ยแม่หม่อน (รุ่นผู้เฒ่าผู้แก่) แต่จู่ๆ คนข้างนอกก็เข้ามาแล้วบอกว่าจะมาเอาหมู่บ้านไปสร้างเป็นเขื่อน ทั้งๆที่บ้านเราเองไม่มีความเดือดร้อนอะไรกันแล้ว ฝายเราก็มี มีการสร้างไว้ และจะมีการทำนาในฤดูไหนก็ได้ เราไม่เดือดร้อนอะไรซักอย่าง

สร้างเขื่อน น้ำก็ท่วมป่าด้วย ?
ใช่ ที่ผ่านมา เราอาศัยป่า เก็บผัก เก็บหน่อไม้ ก็เป็นรายได้ของชาวบ้าน ในปีหนึ่งๆ ก็มีรายได้คนละหลายๆ หมื่น ไม่ต้องเข้าเวียง เพื่อไปแย่งอาชีพของคนอื่นในเมือง เราอยู่แบบพอมีพอกิน ไปเที่ยวป่าได้ไก่ป่ามา 1 ตัว ก็มีการแบ่งปันกันกินทั้งบ้าน และหมู่บ้านเรานั้นเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดเล็ก นั่นทำให้ทุกคนมีความรักความผูกพันกันตลอด มีเรื่องอะไรก็จะมีการปรึกษาหารือกัน เพียงแค่ 10 กว่านาทีก็จะมีการรู้กันทั้งหมู่บ้าน

พอรู้ข่าวว่าเขาจะสร้างเขื่อน ชาวบ้านตื่นตัวกันอย่างไรบ้าง ?
หลังจากที่รู้ข่าว ก็มีการพูดกันปากต่อปาก ทุกคนก็เปรียบเหมือนหอกระจายข่าวให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ว่าจะมีคนข้างนอกเข้ามาสร้างเขื่อนในบ้านเรา พอพี่น้องชาวบ้านที่ทราบข่าวก็เกิดความตกใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามบอกให้กับคนอื่นว่าไม่ต้องตกใจ แต่เราเองก็ต้องมีการใช้สติ ซึ่งตัวของป้าเขียวเองก็ไม่ใช่คนบ้านโป่งอางโดยกำเนิด เป็นคนอำเภอฝาง แต่มามีครอบครัวที่นี่ ก็มีความรักและผูกพันบ้านโป่งอางมาก

มาถึงจุดนี้มีแนวความคิดที่จะช่วยกันอย่างไรต่อไป?
ตอนนี้ ชาวบ้านทุกฝ่ายก็จะมีการประสานงานกันอย่างนี้ตลอด และประชุมกันอย่างต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรกันดี ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ได้เข้ามา และมีการบอกกล่าวกับทางร้านค้าว่า ถ้ามีรถที่แปลกๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถของกรมชลประทานเข้ามาก็ขอให้ร้องเรียกและประสานกันหน่อย หลังจากที่โทรประสานกันก็มารวมกลุ่มกัน ซึ่งยังดีที่หมู่บ้านนี้มีความรักความผูกพันกันและพร้อมใจกัน

ป้าเขียว รู้ได้ยังไงว่าการสร้างเขื่อนนั้นไม่ดีตรงไหน อย่างไร?
การสร้างเขื่อนนั้นไม่ดี  เพราะว่าที่ผ่านมา ทางหมู่บ้านของเราเองก็มีสื่อจากการดูผ่านข่าว ผ่านโทรทัศน์ เรื่องของสถานการณ์น้ำท่วม หลังสร้างเขื่อน และมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งถ้าต้องอพยพไปอยู่ร่วมกับคนที่บ้านอื่น เขาไม่รู้จัก ก็กลับมาเกลียดชังเราได้  ก็ไม่เหมือนกับการที่เราอยู่บ้านของเราดั้งเดิม อยู่กับพ่อแม่พี่น้องเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาแตกแยกกัน แต่ถ้าเกิดเราต้องถูกอพยพไปอยู่ที่อื่น ก็อาจจะเกิดปัญหา เป็นเรื่องของความแตกแยกกันได้

ป้ารู้สึกอย่างไร หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามถึงเรื่องการอพยพไปอยู่ที่อื่น ?
ใจไม่ดี และจะไม่ยอม ถ้าให้ตาย ก็จะสู้จนตาย เพราะว่าการที่พ่อแม่เราสะสมผืนป่าผืนน้ำ อาหารมาไว้ให้กับลูกหลานมาถึงขนาดนี้ จนมีผืนป่าสืบมาถึงรุ่นเรา แล้วเราไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น เราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปนั่นแหละ 

เห็นว่าตอนนี้ มีทั้งเยาวชน คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ต่างร่วมมือกันคัดค้านกันเต็มที่ ?
ใช่ เด็กๆ เยาวชนพอทราบข่าวก็มีการบอกต่อกัน ป้าเขียวก็จะเข้ามาร่วมกับกลุ่มเด็ก แต่คำพูดของป้าเขียวเองบางครั้งก็จะสุภาพบ้าง ไม่สุภาพบ้าง เพราะว่าตัวเราเองเป็นคนบ้านนอกก็จะมีการพูดกันเป็นแบบนี้แหละ  แบบพื้นบ้าน และบ้านนี้มีทั้งคนเมือง  คนไต และคนปกาเกอะญอ แต่ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี  แม้จะมีความแตกต่างกันเรื่องการนับถือศาสนาพุทธและคริสต์  แต่ศาสนาทุกศาสนาก็สอนให้คนทุกคนเป็นคนดี แม้กระทั่งจิตใจของเรา ก็ช่วยกันอย่างเต็มที่และช่วยกันอย่างเต็มร้อย อย่างที่บอกนั่นแหละ ว่าเราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปข้างหนึ่งละ.

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เขื่อนแก่งเสือเต้น... จะดับเส้นชีวิตลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง

Posted: 16 Aug 2011 11:14 AM PDT

ชื่อเขื่อนแก่งเสือเต้นทำให้รัฐบาลนี้เต้นไปตามกระแสของพวกที่ต้องการให้สร้าง คุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีพูดว่า "อย่าให้ชื่อเป็นเสือมันน่ากลัว เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้มันลื่นหู เพื่อจูงใจให้คนที่คัดค้านการสร้างยอมโอนอ่อนตามไปด้วย" รัฐมนตรีอื่นหลายคน ยังเต้นแร้งเต้นกาที่จะลุ้นให้มีการสร้างให้จงได้

คุณสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคประฃากรไทย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะต้องสร้าง โดยมีคุณยิ่งพันธ์ มานะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ขานรับเป็นลูกคู่ คุณยิ่งพันธ์ มานะสิการ ไปตรวจราชการกับคุณบรรหาร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดพิจิตร พูดจาโน้มน้าวให้ราษฏรที่มาประชุมเห็นคุณค่าของการสร้างเขื่อน แล้วก็ขอให้ราษฏรลงมติว่า สมควรจะสร้างหรือไม่ ราษฏรก็ยกมือลงมติให้สร้างอย่างพรึบพรับพร้อมเพรียงเป็นเอกฉันท์ แล้วคุณยิ่งพันธ์ ก็สรุปเอาว่านี้คือ "ประชามติ"
ผมรู้สึกเป็นห่วงในการที่ทางราชการขอประชามติจากประชาชน ทั้งนี้เพราะทางราชการจะพูดแต่ผลประโยชน์และส่วนดีด้านเดียว จะไม่พูดถึงผลกระทบหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น คนฟังก็คล้อยตาม นอกจากนี้ ทางราชการสามารถปลุกระดมคนให้มาฟังให้มารับคำชี้แจงอยู่แล้ว จะปลุกระดมคนเป็นจำนวนนับแสนนับล้านก็ยังได้ จะเห็นได้จากจำนวนคนที่มาจากปลุกระดมที่จังหวัดแพร่ พอมีการปลุกระดมครั้งใดมีคนมาเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสน และทางราชการก็ให้พรรคพวกของตัวพูดจาหว่านล้อมตามที่ตนต้องการ และก็ขอประชามติ อย่างนี้ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน ก็ได้คะแนนเต็ม

ผมเป็นห่วงการเสนอข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ว่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริง มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ จะเห็นได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาเต้นอย่างเต็มตัวให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลกระทรวงนี้ ก็ผลักดันอย่างเต็มที่ อย่างนี้ลูกน้องหรือจะกล้าขัดใจเจ้านาย

 
ผมขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับลุ่มน้ำแม่ยมตอนล่าง เพื่อให้เห็นว่าการมีเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายเส้นทางชีวิตของพวกเขาเพียงใด ลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างตั้งแต่ตำบลทับผึ้ง อำเภอศรีสำโรงลงมา ตลอดถึงอำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ไปจนถึงปากน้ำโพ สองฝั่งลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างดังกล่าวนี้ น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำไม่เดือดร้อน กลับเป็นผลดีแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก

ผมพูดอย่างนี้ คนที่ไม่ชอบน้ำท่วมคงเข้าใจว่าผมเป็นคนสติไม่เต็มเต็ง ผมพูดตามข้อมูลที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบัน การที่น้ำท่วมสองฝั่งตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยมนั้น มันพาเอาปุ๋ยธรรมชาติ มาให้ท้องนาของกสิกรทุกแปลง เป็นปุ๋ยที่ไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินตรา ข้าวในนามเจริญงอกงามดี ครั้นเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเขาก็จะไถกลบฟางข้าวเพื่อทำไร่ยาสูบ ปลูกผัก และพืชพันธุ์อื่น ๆ ต่อไป ปรากฏว่า ยาสูบและพืชผักเจริญงอกงามได้ผลดี

 
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้อาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่ง คือ การจับปลาน้ำจืด เช่น ปลาค้าว ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย วงเวียนชีวิตของปลาน้ำจืดเหล่านี้ คือ ในฤดูน้ำลดมันจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่ตามวังน้ำลึก ที่เป็นแก่งเสือเต้น พอถึงฤดูฝนน้ำไหลหลากลงไปตามที่ลุ่ม มันจะไปตามน้ำเข้าไปในคลองจนถึงถึงตามทุ่งตามท่า ตามป่า ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างดังกล่าวแล้ว มันจะไปวางไข่แล้วก็แพร่พันธุ์เจริญเติบโต และว่ายออกมาเมื่อถึงฤดูน้ำลด พวกชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำยมตอนล่างก็จับปลาเอามาขาย ปลาสร้อย เป็นปลาที่ใช้ทำน้ำปลารสดีที่สุด ปลารากกล้วยก็ใช้ทำน้ำปลาได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากนิยมใช้ปรุงอาหารสด ๆ ปลาค้าว ปลากราย และปลาเนื้ออ่อน ในลำน้ำขุ่นซึ่งไม่มีเขื่อน จะมีรสชาติอร่อยมากกว่าพวกที่เกิดในลำน้ำใส

วงเวียนชีวิตของปลาดังกล่าวถ้าถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนมันจะสูญพันธุ์หรือลดจำนวนลง ทั้งนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง ตั้งแต่อำเภอบางมูลนาก อำเภอชุมแสง ตลอดไปจนถึงปากน้ำโพ แต่ก่อนซึ่งยังไม่มีการสร้างเขื่อนสิริกิต์นั้น คนในสองฝั่งตอนล่างขอลุ่มแม่น้ำน่านได้รับปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อการกสิกรรมเช่นเดียวกับคนสองฝั่งลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง ครั้นมีเขื่อนสิริกิต์แล้ว น้ำไม่ท่วมบริเวณนี้อย่างเช่นเคย ปุ๋ยธรรมชาติที่เขาได้รับนั้นหมดไป

 
อาชีพเสริม คือ การจับปลาของคนในท้องที่ตำบลทับกฤช ตำบลคลองปลากด ที่เคยรุ่งเรืองเป็นอาชีพหลัก ก็พลอยหมดสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีน้ำขุ่นตามธรรมชาติ พาปลามาแพร่พันธุ์
คนสองฝั่งแม่น้ำยมตอนล่าง ไม่กลัวน้ำท่วม ไม่เกลียดน้ำท่วม เพราะได้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว เขาไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมเพราะเขาปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูง ส่วนตามชุมชนซึ่งเป็นย่านการค้านั้น เขาจะทำถนนคันกั้นน้ำ น้ำจะไม่ท่วมบริเวณนี้ หากปีใดน้ำมากก็อาจจะท่วมบ้าง แต่ไม่แช่อยู่นานเหมือนทางภาคกลาง เพราะน้ำมันขึ้นเร็วลงเร็ว เพียง 2 - 3 วันก็แห้งคนเหล่านี้ไม่เดือดร้อน

คนที่ต้องการสร้างเขื่อนเคยทราบข้อมูล เหล่านี้หรือไม่ ถ้ายังไม่ทราบก็ควรไปศึกษาและรายงานให้มันตรงกับความจริงด้วย เพื่อจะได้เป็นข้อประกอบในการพิจารณาถึงผลดี และผลกระทบของการสร้างเขื่อน

แต่ถ้าท่านจะอ้างว่า ผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงส่วนน้อยก็ตามใจ

บ้านเมืองเรามักจะทำอะไรตามแบบอย่างของฝรั่ง การสร้างเขื่อนก็เอาแบบฝรั่ง แต่เวลานี้ฝรั่งเขาไม่สร้างเขื่อนอีกแล้ว และจะทุบทิ้งเขื่อนบางแห่งอีกด้วย คือ เขื่อนเอลวา และเขื่อนไกลน์แคนยอน ที่สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะเขาได้รับบทเรียนว่าเขื่อนทำลายสิ่งแวดล้อม และวัฏจักรของปลาแซมมอน เขายอมทุบเขื่อนทิ้งเพื่อรักษาพันธุ์ปลา ส่วนของเรากำลังจะทำลายพันธุ์ปลาน้ำจืดด้วยการสร้างเขื่อน ถ้าเห็นว่าผลประโยชน์ของคนตามลุ่มแม่น้ำตอนล่างเป็นเรื่องเล็กก็เชิญสร้างเขื่อนเถอะ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Pmove เสนอ 19 นโยบาย ร้องยิ่งลักษณ์สร้างกลไก 'ครม.สังคม'

Posted: 16 Aug 2011 11:06 AM PDT

เกริ่นนำ
สภาพความขัดแย้งในสังคมไทย ที่ปะทุอยู่ในปัจจุบัน ล้วนมีที่มาจากปัญหาความไม่เท่าเทียม อันเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม และเกิดเป็นบาดแผลร้าวลึกหยั่งรากลงสู่กลุ่มคนต่าง ๆ จำนวนมาก เกิดขบวนการแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย แต่ทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากสภาพช่องว่างของความมั่นคงต่อการดำเนินชีวิต และเป็นที่มาความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ และด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นเวทีกลางของขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และผู้ได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณีคือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) , และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อุบลราชธานี จำนวน ๕๔๐ กรณีปัญหา ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความไม่เป็นจากนโยบายการพัฒนา และโครงการพัฒนาของรัฐ

ปัญหาความยากจนซึ่งกำลังแพร่ขยายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนของภาคเกษตรหรือชนบท สาเหตุสำคัญของปัญหามาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงนโยบายด้านการเกษตรและการพัฒนาของรัฐ ปัญหาการทำให้ยากจนโดยฉับพลันจากการให้สัมปทานที่ดินเพื่อกิจการอื่นของรัฐ ที่ไปทำลายอาชีพเดิมลง และการชดเชยที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งปัญหาจากการสร้างเขื่อนหรือระบบชลประทานที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านต่อประชาชน

ปัจจุบันเกษตรกรกำลังเผชิญอันตรายอย่างยิ่ง อันเกิดจากนโยบายการเกษตรเพื่อขายและส่งออกของรัฐที่เน้นการค้าเสรี การแข่งขันกันอย่างเสรี โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม ระหว่างทุนและปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่ยากจน กับเกษตรกรที่ฐานะดีร่ำรวย บริษัทพืชผลการเกษตรขนาดใหญ่ หรือบรรษัทพืชผลการเกษตรข้ามชาติ โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรรายย่อยในการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ที่เหนือกว่าหลายเท่าตัว แต่กลับเปิดโอกาสให้บรรษัทเหล่านั้นมามาผลิตสินค้าที่เป็นฐานอาหารโดยใช้เทคโนโลยีสมัย เบียดขับ และทำลายเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้กลายเป็นคนยากจนที่ทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความจนเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างสังคม ซึ่งเกี่ยวโยงกระทบเป็นลูกโซ่ จากจำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หนี้สินรุงรัง ไร้ที่ทำกิน ต้องดิ้นรนอพยพเข้าเมืองเป็นผู้ใช้แรงงาน อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนแออัดที่รัฐไม่สนใจดูแล ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณอยู่ทุกขณะในเมืองใหญ่หรือเมืองสำคัญ อันนำไปสู่ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากคนเมือง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการบีบคั้นทางเศรษฐกิจและจิตใจ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมในลักษณะต่างๆ รวมไปถึงการบุกรุกหรือเป็นเครื่องมือของนายทุนในการบุกรุกป่า ก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม ฯลฯ ปัญหาทั้งหมดดังกล่าวล้วนสืบเนื่องจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง ไม่มีนโยบายในการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร และการมีวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบองค์รวมที่เน้นความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของคนจน

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่พยายามศึกษาและเข้าใจฐานะของคนจน เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งจากการเรียกร้องของคนจน การประท้วงของเกษตรกร หรือการบีบบังคับให้คนจนเสียสละเพื่อสังคม รัฐบาลประชาธิปไตยมักใช้การแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจความรุนแรง การข่มขู่คุกคาม การจับกุมคุมขัง หรือใช้กฎหมายอย่างไร้ความเมตตา อันเป็นการสร้างปัญหาใหม่แก่ประชาชน

ปัญหาคนจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ไขปัญหาจึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นองค์รวม และจะต้องยกระดับปัญหาไปสู่การวางแผนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ

สรุป พวกเราตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีวิตและการพัฒนา แต่นโยบายและมาตรการเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมา ซึ่งกระทำในโครงสร้างการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ที่เปิดโอกาสให้กับอำนาจของกลุ่มทุนใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากร และมีความไม่เป็นธรรม ส่งผลอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตคนไทยและสิ่งแวดล้อม จนเกิดปัญหาตามมามากมาย ผู้คนจำนวนมากถูกกีดกันออกไปจากการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น ทำให้ชีวิตตกต่ำลงในทุกด้านและยากที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้นได้ ดังนั้นจึงสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดแก่ผู้คนอย่างมาก เพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ จึงยิ่งยากจนลง และไร้โอกาสในด้านอื่นๆ

ความยากจนจึงไม่ใช่เป็นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือเกิดจากอุปนิสัยความขี้เกียจของผู้คน ความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างพัฒนา ที่มีพื้นฐานมาจากการไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อการใช้และการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรเสียใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรม คือเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ ได้อย่างทั่วหน้า อันจะเป็นประตูนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องสะสางปัญหาที่เกิดการจากความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น คดีบุกรุก คดีการชุมนุมเรียกร้อง และคดีโลกร้อน นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างแท้จริง

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) คือเวทีกลางของผู้ประสบชะตากรรมอันเนื่องมาจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ละเลยภาคเกษตรกรรม แนวทางดังกล่าวได้ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ชุมชนไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ ทรัพยากรตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ที่ดินอันเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกรถูกแย่งชิง นโยบายการประกาศใช้พื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน การสร้างเขื่อนต่างๆ ได้ทำลายทรัพยากรและชุมชน คนหนุ่มสาวถูกสภาพเศรษฐกิจบีบรัดให้ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมือง เกิดแหล่งชุมชนแออัด และเกิดคนเร่ร่อนไร้บ้านที่นอกจากจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาสังคมซ้อนทับลงไปด้วย ซึ่งก็ถูกละเลยจากรัฐเช่นเดิม

ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) อันเป็นประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ จึงได้จัดทำข้อเสนอนี้ขึ้น เพื่อเป็นให้พรรคเพื่อไทยนำไปเป็นนโยบายของรัฐบาล สำหรับใช้แก้ไขปัญหาของภาคประชาชน ต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔

  

ข้อเสนอสำหรับจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาล

ในช่วงของการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้ง พวกเราซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายองค์ประชาชนทั้งคนจนจากชนบท คนจนเมือง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน จากทั่วประเทศ ได้จัดเวทีสัญญาประชาคมพบพรรคการเมืองขึ้น เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ในงานดังกล่าวได้มีพรรคการเมืองหลายพรรค ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีด้วย ซึ่งรวมทั้งพรรคเพื่อไทย โดยหัวหน้าพรรคได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนไปรับข้อเสนอของประชาชน รวมทั้งได้ลงนามเป็นสัญญาประชาคม ท่ามกลางสักขีพยานคือประชาชนกว่า ๒,๐๐๐ คน และสื่อมวลชนหลายสำนัก

ต่อมาหลังการเลือกตั้งขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และองค์กรสมาชิกทั่วประเทศได้ส่งไปรษณียบัตรถึงท่าน พร้อมทั้งยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานสาขาพรรคเพื่อไทยประจำจังหวัด เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการผลักดันการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอเพื่อนำไปบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนี้

๑. รัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ตามเจตนารมณ์ของสังคม เพื่อนำไปสู่การกระจายอำนาจที่แท้จริง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจบริหารจัดการไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม และกลไกร่วมในการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างชุมชน ประชาสังคม กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ กระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม

๒. รัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และปฏิรูปความยุติธรรม เพื่อลดสภาพที่คนทั่วไปเรียกว่า"สองมาตรฐาน" ลดปรากฏการณ์ที่สะท้อนความผิดปรกติของกระบวนการยุติธรรม

๓. รัฐต้องยกเลิก ทบทวนการดำเนินการทางกฎหมาย และคดีการเมือง คดีการชุมนุม รวมทั้งคดีโลกร้อน ที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้อพิพาทความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เอกชน (กลุ่มทุน) อันเกิดจากนโยบายที่คนจนได้รับการเลือกปฏิบัติจากกลไกรัฐ ราชการที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งรัฐจะต้องดูแลค่าจ่ายใช้ทั้งหมดอันเกิดจากคดีที่รัฐฟ้องร้องประชาชน

๔. รัฐต้องเร่งรัดผลักดันนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า จัดเก็บภาษีทรัพย์สินมรดก สร้างหลักประกันในการคุ้มครองเกษตรกรและส่งเสริมที่ดินเพื่อการทำการเกษตรกรรม และเร่งออกนโยบายจำกัดสิทธิในการถือครองที่ดิน เร่งปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรยากจนมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

๕. จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัด รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินมาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและที่มีที่ดินไม่พอทำกิน

๖. ออกพระราชบัญญัติโฉนดชุมชน แทนระเรียบสำนักนายรัฐมนตรี รองรับพื้นที่ขอจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและการถือครองที่ดินให้เกษตรกร รวมทั้งเป็นการแก้ไข้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยรัฐที่ดูแลพื้นที่กับผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตร ให้เกิดผลประโยชน์อย่างสูงสุด

๗. สานต่อนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง โดยอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งงบอุดหนุนเรื่องที่ดิน การสร้างบ้าน และงบพัฒนาสาธารณูปโภค

๘. โครงการที่อยู่อาศัยคนจน ให้การไฟฟ้า และการประปา มีหน้าที่จัดหาสาธารณูปโภคให้ โดยไม่คิดงบประมาณลงทุนเพิ่ม และในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการให้คิดค่าบริการน้ำ ไฟ ในอัตราปกติ

๙. อุดหนุนงบประมาณรายปี เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน   เช่น ถูกไฟไหม้ ไล่รื้อ ภัยพิบัติ สภาพชุมชนเสื่อมโทรม   เพื่อใช้สำหรับปลูกบ้านพักชั่วคราว น้ำ/ไฟ การโยกย้าย การปรับปรุง เป็นต้น

๑๐. โครงการพัฒนาที่กระทบเรื่องที่อยู่อาศัย ต้องคำนวณงบประมาณการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเป็นต้นทุนของโครงการด้วย และต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกำหนด แนวทางการแก้ปัญหา

๑๑. ให้มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ หรือที่กรมศาสนา เป็นต้น โดยให้เช่าในอัตราต่ำ   ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการร่วมกันโดยชุมชน หรือดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชน ทั้งนี้แล้วแต่สภาพความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และความต้องการของแต่ละชุมชน

๑๒. ให้มีนโยบาย และกลไกในการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านอย่างชัดเจน ในเรื่องที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ

๑๓. รัฐต้องประเมินความคุ้มค่าของเขื่อนทั่วประเทศ โดยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หากไม่คุ้มค่า เกิดความเสียหาย ให้ยกเลิกการดำเนินโครงการนั้นๆ ทันที กำหนดแผนงานและมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างพัฒนาของรัฐ เขื่อนทุกประเภท โดยยึดหลักการว่าผู้รับผลกระทบต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม และต้องตั้งกองทุนประกันความเสียหาย เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาของรัฐสร้างเขื่อนทุกด้าน โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ให้ใช้การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เป็นพื้นที่นำร่อง โดยนำแนวทางการดำเนินการ ตามข้อสรุปของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ประกอบกับบันทึกการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เป็นกรอบในการปฏิบัติ

๑๔. ให้ทบทวน ยกเลิก ยุติ การดำเนินการเหมืองแร่ทุกประเภท ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะเหมืองแร่ที่กำลังมีความขัดแย้งกับชุมชนต้องยุติทันทีและให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และหยุดการขยายสัมปทานเพื่อให้เกิดการศึกษาผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ทั้งจัดทำยุทธศาสตร์แร่ทั้งระบบ

๑๕. ให้ยกเลิกการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศอย่างถาวร   ให้ทบทวนแผนพีดีพี ๒๐๑๐ และรัฐบาลต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในการพิจารณาจัดทำแผนฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยให้ประชาชนเข้าร่วมเวทีตั้งแต่เริ่มแรกและให้มีการจัดเวทีในทุกภูมิภาค สนับสนุน ให้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานหลัก รวมทั้งการปรับปรุงระบบสายส่งในการรองรับพลังงานหมุนเวียน โดยมีการบริหารจัดการที่หลากหลาย และเคารพสิทธิของชุมชนอย่างเป็นธรรม และการใช้พลังงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

๑๖. ให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ๑๖๙ ประเทศ “ว่าด้วยปวงชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศราช” โดยการออกกฎหมายและมาตรการมารับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างชัดเจน และรัฐบาลไทยประกาศรับรองให้วันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” และผลักดันมติครม.เขตพื้นที่สังคมและวัฒนธรรมพิเศษชาวเล/ชาวเขา ให้เป็นรูปธรรม

๑๗. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสถานะกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ(ฉบับที่ ๔) ๒๕๕๑ ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากล พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คืนสัญชาติคนไทย (ฉบับที่๕) พ.ศ. .....ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว

๑๘. ให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การชุมนุม โดยทันที

๑๙. ปรับปรุง แก้ไข และยกเลิก  ระเบียบ กฎหมาย นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคในการรองรับสิทธิ์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ รวมทั้งกฎหมายป่าไม้ทั้ง ๔ ฉบับ

 

ข้อเสนอสำหรับสร้างเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ ก็ควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการสานต่อข้อตกลงหรือแนวทางที่เคยมีไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามเจตจำนง และลุล่วงไปได้ด้วยดี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีข้อเสนอเพื่อสร้างกลไกการแก้ไขปัญหา ต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรี ดังนี้

๑. สร้างกลไกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในรูปแบบของ ครม.สังคม เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา โดยมี ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

๒. คณะกรรมการฯ อนุกรรมการฯ หรือคณะทำงาน ซึ่งเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาซึ่งมีอยู่แล้ว ให้ใช้กลไกนั้นดำเนินการต่อ

๓. กรณีกลุ่มปัญหาใดที่ยังไม่มีกลไกการแก้ไขปัญหา ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งกลไกขึ้นโดยเร็ว

 

 

**************************

 

 

 

AttachmentSize
ข้อเสนอกรณีปัญหาปัญหาเร่งด่วน.doc67.5 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

อนาคตของอียิปต์ โค่นผู้นำแล้วไงต่อ?

Posted: 16 Aug 2011 10:51 AM PDT

ในคืนอันแสนอบอ้าวก่อนวันรอมฎอน กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ก็ออกเดินขบวนรณรงค์ทางการเมืองใน ชิบิน เอลคอม เมืองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ชาวกรุงไคโรส่วนใหญ่แทบจะไม่สามารถขับผ่านเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโมนูเฟียนี้ได้เลย เว้นแต่พวกเขาจะมีครอบครัวอยู่ที่นี่ พื้นที่หนองบึงในแถบนี้มีแต่คนที่ทำอาชีพการเกษตร มีคูคลองและแม่น้ำสายต่างๆ ไหลผ่านจนอาจเรียกว่าเป็น "ตะกร้าขนมปัง" ของอียิปต์เลยก็ว่าได้

เกษตรกร หรือที่เรียกว่า 'เฟลาฮีน' ตามภาษาชาวมุสลิมที่ทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่นี้เป็นผู้ที่นับถือศาสนา ชาตินิยม และมีแนวคิดทางสังคมในเชิงอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำที่ปกครองอียิปต์ก็มีรากเหง้ามาจากที่นี่ ประธานาธิบดี 2 คนก่อนหน้านี้คือ ฮอสนี มูบารัค และ อันวาร์ ซาดัท ต่างก็ถือกำเนิดในโมนูเฟีย แต่พอได้ดิบได้ดีอยู่ในตำแหน่งแล้วก็ลืมทิ้งบ้านเกิดตัวเองไปเสีย อย่างไรก็ตามในหมู่นักเล่นการเมืองของอียิปต์ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมทำตัวต่างจากผู้นำรายอื่น ความสามารถเชิงผู้นำของพวกเขามาจากมวลชนที่เป็นชนชั้นกรรมชาชีพที่มีการศึกษา และเสริมภาพลักษณ์ว่ามีความใกล้ชิดกับกลุ่มเฟลาฮีน

การเดินขบวนใน ชิบิน เอลคอม เป็นการรณรงค์เปิดตัว 'พรรคเสรีภาพและความยุติธรรม' ปีกใหม่ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม กลุ่มมุสลิมกลุ่มนี้ก็พยายามทำให้คนอื่นเข้าใจว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งตอนนี้ได้กลับมายืดพื้นที่จัตุรัสทาห์เรียเป็นที่ชุมนุมอีกครั้ง พวกเขากล่าวหาว่า กลุ่มภราดรภาพเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่อต้านการปฏิวัติของพวกเขาด้วยซ้า กลุ่มนักกิจกรรมพากันมาสร้างวิมานสวรรค์แบบตั้งเต็นท์ที่จัตุรัสกลางกรุงไคโร พยายามป่าวร้องถึงแนวคิดเรื่องประชารัฐ และประกาศว่า หลังจากมูบารัคลงจากตำแหน่งไปแล้วครึ่งปี แต่ประเทศก็ยังคงอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร นักกิจกรรมเหล่านี้ชุมนุมกันไปหนึ่งเดือนแล้ว มีคนมาน้อยลงเรื่อยๆ สารของพวกเขาถูกกลืนกินไปโดยคำประกาศของคณะมนตรีกองทัพและคำวิพากษ์วิจารณ์จากชาวมุสลิม

ภาพการประท้วงคงดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ในเขตสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเลือกจะรณรงค์ท่ามกลางถนนฝุนโคลนห่างไกลตัวเมือง ผู้คนนับพันคนส่วนใหญ่เป็นคนจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เป็นพ่อค้า หรือเกษตรกร ต่างก็มากับครอบครัว มีอาสาสมัครคอยบริจาคเลือดที่รถพยาบาล บนเวทีปราศรัยหัวหน้าพรรคกล่าวยกย่องครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แล้วถึงเข้าเรื่อง ประธานกลุ่มสตรีพูดถึงบทบาทของสตรีในพรรค เกษตรกรพูดถึงความร่วมมือในภาคการเกษตร สุดท้ายคือหัวหน้าพรรคโมฮาเม็ด มอร์ซี ขึ้นกล่าวบนเวทีอย่างเผ็ดร้อน "ประชาชนได้มอบการปฏิวัติของพวกเขาให้ทหารเก็บรักษาไว้" เขากล่าวด้วยเสียงอันดัง "สิ่งที่ชอบธรรมในประเทศนี้มาจากประชาชน" ในช่วงท้ายเขาได้สั่งให้ผู้เขาชมปราศรัยแสดงวินัยและความใจกว้างกับเพื่อนบ้าน...ด้วยการเก็บขยะ

หกเดือนหลังจากที่มูบารัคยอมแพ้ต่อชาวอียิปต์นับล้านคนไปแล้ว แต่นายพลหน้าเก่าๆ ก็ยังคงปกครองประเทศอยู่ การใช้อำนาจจับกุมและความเป็นไปได้ที่จะมีการทรมานผู้ต้องขังเป็นเรื่องสามัญ เพียงแต่เกิดน้อยกรณีกว่าก่อนหน้านี้ สื่อของรัฐยังคงทำให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารดูเป็นพวกชั่วร้าย และกองทัพที่ไม่ฟังความเห็นของมวลชนก็จะจัดการเรื่องกระบวนการเลือกตั้งและรัฐบาลพลเรือนในแบบของพวกเขาเอง เหล่านักปฏิวัติและนักปฏิรูปทั้งหลายต่างก็หวาดกลัวว่ากองทัพซึ่งตอนนี้เข้มแข็งขึ้นกว่าช่วยสมัยที่มูบารัคยังอยู่จะทำตัวฉวยโอกาส พวกเขายังกลัวว่ากลุ่มมุสลิมจะกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นและควบคุมการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้อียิปต์กลายเป็นไม่ใช่รัฐฆราวาสหรือรัฐเสรีนิยม

สรุปปัญหาคือ นักปฏิวัติผู้มีแนวคิดอุดมคตินิยมฝันถึงประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่สะท้อนการเห็นคุณค่าของประชาชนและเปิดรับชาวมุสลิม ชาวคริสต์ และคนที่ต้องการรัฐฆราวาสในเวลาเดียวกัน แต่พวกเขากลับถูกช่วงชิงไปโดยฝ่ายขวาผู้นับถือศาสนาที่ต้องการการปกครองโดยเสียงข้างมาก และเห็นได้ชัดจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชาชนนับล้านคนมาชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรียเรียกร้องให้ประเทศเป็นรัฐอิสลาม ขณะเดียวกันเหล่านายพลก็ได้ใจเมื่อเห็นว่า มีการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มผู้นับถืออิสลามกับกลุ่มฆราวาสซึ่งเป้นกระโยชน์กับพวกเขา

ภาพการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรียในช่วงที่เหตุการณ์สงบลงแล้วนั้น ทำให้เห็นว่า การปฏิวัติมีความเป็นชายขอบมากขึ้นและไม่ถือเป็นภัยอีกต่อไป แก่นแกนของการปฏิวัติจริงๆ แสดงให้เห็นถึงพลังในการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ อดกลั้นต่อความหลากหลาย มากกว่าการแสดงความเห็นของผู้ที่อยู่ในกระแสหลัก

กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อสู้กับตำรวจปราบจลาจลนั้นมีอยู่สามจำพวกหลักๆ ที่คาบเกี่ยวกับ พวกแรกคือกลุ่มนักกิจกรรม นักจัดตั้งทางการเมืองและทางศาสนาที่หันมาเชื่อใจกันจากการประท้วงเล็กๆ น้อยๆ และการถูกตามจับกุมตัวเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พวกที่สองคือกลุ่มคนที่มีความรู้ทางการเมืองซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กล้าท้าทายอำนาจรัฐบาล แต่ก็ถูกชักพาเข้ามาในการชุมนุมเนื่องจากมีวาระเดียวกัน คนกลุ่มนี้มีทั้งนักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม เอ็นจีโอสายเสรีนิยม และนักกิจกรรมทางศาสนาที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม พวกสุดท้ายคือผู้คนชาวอียิปต์กว่าแสนคนที่ไม่ได้มีวาระทางการเมือง เพียงแค่โกรธแค้นและไม่อาจทนรับได้กับรัฐตำรวจในแบบของมูบารัค

ผู้ชุมนุมที่เคยทะลักท่วมจัตุรัสทาห์เรียจนกระทั่งประธานาธิบดีมูบารัคออกจากตำแหน่งไปในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ไม่เคยกลับมามีจำนวนเท่าเดิมอีกเลย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา กลุ่มทหารก็พยายามยับยั้งการปฏิรูปใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น มีเพียงแค่เห็นชอบกับการกำหนดวันเลือกตั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและเลื่อนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปจนกว่ารัฐบาลพลเรือนจะถูกเลือกตั้งเข้ามา ที่สำคัญกว่านั้นคือ มูบารัคยังคงอยู่ดีจนต้องมีมวลชนออกมาเรียกร้องที่ทาห์เรียอีกครั้งทหารถึงจะยอมจับกุมตัวเขาในที่สุด หลังจากนั้นเขาก็ยังคงอยู่อย่างสะดวกสบายในโรงพยาบาลจนกระทั่งประชาชนต้องออกมาย้ำให้เจ้าหน้าที่จัดการดำเนินคดีกับเขา ซึ่งหลายคนมองว่าเขาต้องถูกฟอกจนใสสะอาดแน่ๆ

ท่าทีของทหารอียิปต์ที่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ และการประท้วงที่กลับมาหลายรอบทำให้ขบวนการปฏิวัติอ่อนล้าและมิตรภาพในที่ชุมนุมเริ่มจืดจาง นักกิจกรรมบางกลุ่ม เช่นกลุ่มที่ติดดินอย่าง "กลุ่ม 6 เมษายน" (กลุ่มที่วางแผนนัดหยุดงานผ่านเฟสบุ๊ค โดยให้สวมเสื้อชุดดำอยู่กับบ้านในวันที่ 6 เม.ย.) ที่มีรากเหง้ามาจากกลุ่มแรงงานหยุดงานประท้วง กลุ่มนี้พยายามเน้นที่ข้อเรียกร้องหลักๆ ของผู้ประท้วงและอยู่ให้ห่างจากการเมือง กลุ่มอื่นๆ เช่นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองสายกลางแอบพูดจิกกัดว่า น่าจะเอาเวลาที่นั่งจับเจ่าอยู่ในเต็นท์ผู้ชุมนุมที่ทาห์เรียมาใช้รณรงค์หาเสียงดีกว่า

"พวกเรากลัวว่าจะสูญเสียมวลชนไป" โมอัซ อับ เอลคารีม เภสัชกรอายุ 29 กล่าว เขาเป็นนักจัดกิจกรรมบนท้องถนนให้กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขามีเป้าหมายร่วมกันกับสหายอย่างเช่น แซลลี่ มัวร์ นักสังคมนิยมชาวคริสเตียน, เพื่อนนักกิจกรรมสายแรงงาน และผู้เคยมีประวัติทางการเมือง เอลคารีมฝ่าฝืนคำสั่งของภราดรภาพมุสลิมเพื่อช่วยเหลือการประท้วง ในช่วงฤดูใบไม้ผลิเขาไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นตั้งกลุ่มใหม่อย่าง "กระแสมวลชนชาวอียิปต์" (Egyptian Current) ที่มีกลุ่มเยาวชนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมาร่วมด้วย เนื่องจากพวกเขาต้องการให้อียิปต์เป็นประชารัฐมากกว่ารัฐศาสนา พวกเขาให้คำมั่นว่า สมาชิกจะเป็นผู้ที่กำหนดโครงสร้างในกระบวนการประชาธิปไตยรากหญ้า มีหลายพันคนสมัครเข้าร่วม และพบว่าพวกเขาได้เข้าร่วมพรรคที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีเป้าหมาย หรือผู้นำ เนื่องจากกลุ่มสมาชิกยังไม่ได้เลือกตั้งผู้นำกัน การย้อนคืนลานประท้วงทาห์เรียเมื่อเดือนที่แล้ว กลุ่มกระแสมวลชนชาวอียิปต์ก็ตั้งท่าจะล่ม จากความพยายามอย่างไม่เป็นผลที่จะเทศนาสั่งสอนผู้คน "พวกเราควรจะอยู่ที่นี่" เอลคารีมกล่าว "พวกเราไม่สามารถไปที่อื่นได้ สุดท้ายแล้วพวกเราก็คือการปฏิวัติ"

จัตุรัสทาห์เรียในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น ก่อนที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ละจากไปในช่วงรอมฎอน และกลุ่มที่ยังทนอยู่จะถูกไล่ไปโดยทหาร มีบรรยากาศแบบไม่ต่อเนื่องกับจิตที่พยายามเอาชนะคะคาน ผู้นำทางการเมืองอย่างเอลคารีมไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนรุ่นเยาว์ที่ตั้งโรงเรียนสอนเด็กตามถนนแบบไม่ได้ตระเตรียม พวกนี้ตบตีกับพวกคนขายชาและคนเร่ขายของที่ถูกหาว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงและทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลกับตำรวจ มีกลุ่มผู้รักษาความสงบที่จัดตั้งกันเองเดินตระเวณไปทั่วจัตุรัสคอยเตือนเรื่องผู้แฝงตัวเข้ามา และบางครั้งก็ยึดทรัพย์และทุบตีผู้ต้องสงสัย ผู้ชุมนุมที่รู้ทันเริ่มสงสัยว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นนักยั่วยุที่รัฐบาลส่งมา หรือไม่ก็อาจเป็นแค่พวกตัวป่วนที่วันๆ ไม่มีอะไรทำก็ได้ และเมื่อกลุ่ม "กระแสมวลชนชาวอียิปต์" กับผู้นำกิจกรรมรายอื่นๆ จัดการกับข้อขัดแย้งตรงนี้ได้แล้ว ศัตรูของพวกเขาก็กำลังจัดระเบียบความเห็นของประชาชนและวางแผนจะหากินกับรัฐบาลชุดถัดไป

แล้ว "การปฏิวัติอียิปต์" ในตอนนี้เป็นอย่างไรแล้ว อียิปต์ในทุกวันนี้กลายเป็นเกมที่ใครจะเล่นก็ได้ ทุกคนต่างอ้างถึงเหตุการณ์วันที่ 25 มกราคม (วันที่ 25 ม.ค. 2011 ชาวอียิปต์ออกมาประท้วงกันในหลายพื้นที่จนเรียกว่าเป็น "วันแห่งการปฏิวัติ" หรือบ้างก็เรียกว่า "วันแห่งความโกรธ") ไม่ว่าจะมีวาระใดๆ ก็ตาม แต่อย่างหนึ่งที่เชื่อขนมกินได้คือ ตอนนี้กองทัพกุมอำนาจไว้อยู่ เมื่อนายพลมัมดูห์ ชาฮีน ประกาศว่าจะดูแลการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส เขาก็ปฏิเสธไม่ตอบคำถามเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากนักข่าว ที่ถามว่าทางกองทัพมีใครเป็นที่ปรึกษาบ้างในการจัดเลือกตั้งและมีมาตรการที่รับรองว่าผลการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมและไม่มีการโกงหรือการซื้อเสียงซึ่งมีมานานแล้วในประเทศนี้ และพรรคการเมืองก็บ่นว่า กฏการเลือกตั้งในคราวนี้ชวนให้สับสน แต่ท่านนายพลก็ยิ้มเยาะ ตอบเพียงว่า "พวกเราเป็นผู้ตัดสินใจว่าอะไรทีดีที่สุดในประเทศของเรา แล้วจึงปฏิบัติตามนั้น"

การเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นลางร้ายสำหรับการปฏิรูปในระยะยาว และปัญหาก็ทับซ้อนเป็นสองทบ อย่างแรกคือความรู้สึกว่ากองทัพเป็นผู้ที่คอยตระเตรียมการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากมูบารัค ซึ่งตัวกองทัพเองเป็นฝ่ายที่คับแคบในเรื่องผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกับความมั่นคงของประเทศ เป็นผู้มีสิทธิพิเศษในการใช้อำนาจและมีความเชื่อว่ากองทัพเป็นผู้ปกครองประเทศที่ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียใดๆ อย่างที่สองคือ ฝ่ายคณะมนตรีของกองทัพดูจะเชื่อว่าการประท้วงขั้นเกิดมาจากชนกลุ่มน้อยที่ไม่พอใจและส่วนใหญ่แล้วเป็นฝีมือของสายลับต่างประเทศ โดยพวกเขาใช้จุดนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เห็นผลกระทบที่ตามมาคือความหวาดกลัวบุคคลภายนอกในหมู่มวลชนระดับกว้างและในสายตาของผู้ชุมนุมที่มองกลุ่มสนับสนุนจากนานาชาติอย่างหวาดระแวง ทางกองทัพยังได้ประกาศห้ามผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างชาติ และบอกให้ธนาคารรายงานเรื่องเงินทุนที่นักกิจกรรมและเอ็นจีโอได้รับจากนานาชาติ และล่าสุดก็กล่าวหาว่ากลุ่มเยาวชน 6 เมษาฯ เป็นเพียงเบี้ยหมากของพวกต่างชาติด้วย

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. มีการชุมนุมประท้วงโดยมีเป้าหมายประท้วงกองทัพเป็นครั้งแรก มีการเดินขบวนไปยังกระทรวงกลาโหม มีกลุ่มต่อต้านการประท้วงจโจมพวกเขาทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 ราย และดูเหมือนว่ามีสารวัตรทหารถูกจัดตั้งมาเป็นนักเลงนอกชุดเครื่องแบบ คอยไล่ตามผู้ชุมนุม

การปะทะในครั้งดังกล่าวทำให้การชุมนุมอย่างยาวนาน ณ จัตุรัสทาห์เรียค่อยๆ ฝ่อลง มีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งที่ยังคงยืนยันปักหลักอยู่จนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุ แต่เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถอนตัวออกไป มวลชนก็ดูบางตาลงจนแทยไม่พอยึดพื้นที่จัตุรัส จนกระทั่งเมื่อกลุ่มอิสลามจัดตั้งขบวนผู้ชุมนุมล้านคนของพวกเขาได้เอง เหล่าผู้ชุมนุมที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ ก็พากันกลับบ้าน

แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการปฏิวัติครั้งนี้ล้มเหลว การดำเนินคดีกับมูบารัคก็ถือเป็นจุดหนึ่ง ประชาชนชาวอียิปต์ยังคงมีความปรารถณาร่วมกันอยู่ เช่นที่ นาซ อับบาสผู้ค้าชิ้นส่วนรถรายหนึ่งกล่าวไว้คือ การได้เห็นมูบารัคถูกแขวนคอที่จัตุรัสทาห์เรีย แต่ทางกองทัพดูเหมือนจะตัดสินใจละเว้นอดีตผู้นำไว้ ดังนั้นการที่มูบารัคไปปรากฏตัวในศาล บนเตียงในโรงพยาบาล หรือในกรงขังเช่นผู้ต้องหารายอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมของอียิปต์ที่ถูกหมิ่นหยามความเป็นมนุษย์ ภาพเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกพึงพอใจ แต่นักปฏิวัติจำนวนมากก็ยังกังวลว่ากองทัพเพียงแค่จัดฉากละครการดำเนินคดีแล้วจะปล่อยให้เขารอดไปง่ายๆ และเห็นได้ชัดว่าทางกองทัพจริงๆ แล้วอยากหลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์แบบนี้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

อับบาส เป็นตัวแทนของผู้ที่ท้าทายความเห็นของคนทั่วไป เขาไม่ใช่คนที่มีการศึกษา เป็นคนที่ทำงานหนักเพื่อให้ได้ค่าจ้างเล็กน้อย เขาสนับสนุนการปฏิวัติและไม่เชื่อใจทหาร ไม่เชื่อที่พวกเขาบอกว่าอัตราอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจกำลังถดถอย "ประชาชนเป็นเหมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษ" เขาบอก "ตอนนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว ก็เหมือนกันเราปลูกต้นไม้ พวกเราฝังเมล็ดเอาไว้แล้วก็ต้องรอเวลา"

นี่เป็นสิ่งเดียวกับที่เอลคารีมและนักฝันคนอื่นๆ อยากได้ยิน เนื่องจากพวกเขาเริ่มตั้งพรรคการเมืองที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการออกดอกออกผล และวางแผนการปกครองด้วยระบอบที่ประชาชนจะมีอธิปไตยเหนือรัฐและทหาร แต่อับบาสก็ไม่ได้เป็นพวกเสรีนิยมอะไรขนาดนั้น เขายังคิดว่าอิสราเอลและสหรัฐฯ กำลังวางแผนยึดอียิปต์เป็นเมืองขึ้น และบอกว่าโมฮาเม็ด เอลบาราดีย์ หนึ่งในผู้สมัครประธานาธิบดีเป็นสายลับพวกยิว ในทางหนึ่งเขาก็อยู่ฝ่ายปฏิวัติและต้องการให้มีการลงโทษมูบารัคและลูกสมุนโดยเร็ว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเขาก็ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและชาตินิยม ดังเช่นกามาล อับเดล นาสเซอ เจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำการรัฐประหารในปี 1952 ที่ปูทางให้อียิปต์เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ภายใต้การนำของทหาร

ก่อนหน้าที่จะมีการเดินขบวนของกลุ่มอิสลามไม่กี่วันพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยก็มีการเดินขบวนเปิดตัวที่เมือง คาฟ เอลชีค เมืองกสิกรรมลุ่มน้ำไนล์อีกเมืองหนึ่ง บัสเซม คาเมล เป็นสถาปนิกอายุ 40 ที่เพิ่งเข้าเล่นการเมืองเขามีใบหน้ากลมดูเหมือนเด็กและมีรอยยิ้มที่ทำให้คนหายโกรธ เขาดูกระตือรือร้นมากในการนำขบวน การเดินขบวนของพรรคนี้มีคนเข้าร่วมอย่างมากสุด 150 คน ผู้สนับสนุนท้องถิ่นรายหนึ่งที่เป็นศิลปินและวิศวกรชื่อคาเล็ด เอล บาร์กี กล่าวถึงสิ่งที่ตนกลัวว่าการปฏิวัติของพวกเสรีนิยมในตอนนี้อยู่ไกลเกินเอื้อม "พวกเขายังคงไม่รู้จักวิธีการทำงานกับมวลชนบนท้องถนน ในเขตสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำนี้ผู้คนกำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ พวกเขาไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง"

เป็นธรรมดาที่จะมีการเปรียบเทียบจำนวนผู้มาเข้าร่วมชุมนุมของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยกับพรรคภราดรภาพมุสลิม พรรคของชาวมุสลิมนั้นเริ่มฝึกปรือการสื่อสารและยุทธวิธีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1928 แล้ว นักเสรีนิยมกำลังขอโอกาสแก้ตัวขณะที่กำลังต่อสู้เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่า พวกเขามีเจตนาดี แต่เป็นการเล่นเกมยาว และเมื่อเมล็ดพันธุ์ฝังราก ในตอนนั้นอียิปต์ก็ได้รัฐบาลใหม่ไปแล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศการควบคุมอย่างหนักของทหารและความได้เปรียบของพรรคอิสลาม ผู้นำใหม่จะเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในยุคหลังมูบารัคและเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

บนเวทีปราศรัย คาเมล พยายามกระตุ้นเร้ามวลชนจำนวนไม่มากนัดของเขา "พวกเรามีรัฐบาลที่ย่ำแย่ แต่พวกเราก็มีคนรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ ทุกครั้งที่ผมเห็นพวกเขา ผมก็กลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้ง" หลังจากนั้นในสำนักงานสาขาของพรรคเขาก็พูดถึงการรับสมัครลูกพรรคและบัญชีรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้ง

"นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" เขาพูดออกมาในตอนเที่ยงคืนขณะกำลังขึ้นรถกลับไปยังไคโร "ตอนนี้ผมก็กลับไปที่จัตุรัสทาห์เรียแล้ว"
 


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปลอดประสพ สุรัสวดี

Posted: 16 Aug 2011 10:36 AM PDT

ชีวิตคนมีค่ามากกว่า 10 ล้านบาทแน่นอน คนที่ตายไปเขาฆ่าตัวตายหรือเปล่า หรือไปฆ่าเขาตาย และเลิกตอบได้แล้วในยุคนี้ว่าคนที่ตายเอาหัวไปชนกระสุน ฉะนั้นคนที่ตายมีแต่ถูกทำให้ตาย จึงต้องชดใช้ ที่สำคัญคนที่ตายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้เกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในประเทศ

รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ประชาชนไม่ใช่สลิ่มทั้งหมด (นะท่าน รมต.)

Posted: 16 Aug 2011 10:32 AM PDT

บทความถึง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต. ไอซีทีคนใหม่ หลัง ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ให้เข้มงวดมากขึ้น

“น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต. ไอซีทีคนใหม่ ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ให้เข้มงวดมากขึ้น, ส่งสัญญาณไฟเขียว 3G” 

จากข่าวพาดหัวตามเว็บไซด์ข่าวต่างๆ ได้นำความสงสัยไปสู่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง และนำไปสู่การตั้งกระทู้ถามสดที่หน้าเพจของท่านรมต.ไอซีที ก่อนที่การทำงานของฝ่ายค้านจะเริ่มต้นขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร
“ถึงท่านรมต.ไอซีทีที่เคารพ การที่ท่านออกมาพูดหน้าสื่อแสดงความเห็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลและ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้พูดคุยถกกันเรื่องของการแก้ไขกฏหมายหมิ่น ม.112 เสียก่อน นั้นหมายความว่าคุณกำลังแสดงตนให้เสื้อแดงในสายวิพากษ์ศักดินาเชิงปฏิรูปได้เห็นว่า คุณกำลังจะจับมือส่งสัญาณเข้าร่วมขบวนการล่าแม่มดออนไลน์เหมือนเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ให้สามารถกระทำการล่าล้างเสื้อแดงในสายนี้ได้อย่างเสรี”

Anudith Nakornthap (คุณอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต.ไอซีที - เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
“สิ่งที่ผมให้สัมภาษณ์ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการแก้กฎหมาย แต่เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นคำตอบก็ต้องมีความชัดเจนว่า เราจะบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ซึ่งผมก็ตอบไปตามสิ่งที่ผมคิดว่าถูกต้อง แต่ตอนนี้ท่านกลับก้าวข้ามไปสู่อีกเรื่องที่ผมไม่ได้แสดงความเห็นแต่อย่างใด ท่านลองทบทวนดูก็ได้ครับว่า ถ้ามีคนถามว่ามีคนทำผิดกฎหมายและท่านเป็นผู้ใช้กฎหมาย ตรงนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเนื้อหากฎหมายเป็นอย่างไรนะครับ ท่านจะตอบคำถามให้ตรงกับที่เขาถามอย่างไร ด้วยความเคารพครับ”

Karnt Thassanaphak 
“เรื่องเดียวกันครับ, เพราะคุณอนุดิษฐ์ ยืนยัน "การบังคับใช้กฎหมาย" ที่ยังเป็นปัญหาอย่างที่บอก ผมจึงจำเป็นต้องถามว่า เพื่อไทยมีนโยบายจะพิจารณาแก้หรือไม่”

Anudith Nakornthap (คุณ อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต.ไอซีที - เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
“@Karnt Thassanaphak เรายึดกติกาปัจจุบันที่ใช้อยู่อย่างเท่าเทียมครับ ผมเองก็ทราบว่ามีเว็บการเมืองจำนวนมากที่โดนบล็อคอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นถ้าเราเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้บริสุทธิ์และผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งด้วยครับ”

Karnt Thassanaphak
“@‎Anudith Nakornthap ขอบคุณมากครับ ยังไงก็ต้องรบกวนฝากด้วยนะครับ เพราะ กม.ที่ไม่เป็นธรรมนี้ ต่อให้ใช้อย่างเท่าเทียมก็ไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมาได้ -- คงเป็นได้แค่ "สิทธิในการถูกลงโทษอย่างเสมอหน้า" เท่านั้นเอง”

Andy Toey Nanthapob
“เรียนท่านรัฐมนตรีครับ การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมเป็นเรื่องที่ต้องทำครับ พวกเราสู้กับความเป็นสองมาตรฐานเป็น point หลักในหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและโหมกระแสใส่ร้ายเอาข้างเดียวโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไม่เคารพกฎหมายครับ แต่อยู่ที่การพิจารณาว่าความเป็นธรรมที่แท้จริงในตัวกฎหมายคืออะไร เสรีภาพและความเท่าเทียมใช่หรือไม่ ?”

0 0 0

ข้างบนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากการถาม-ตอบกระทู้สดในหน้าเพจของ รมต.ไอซีทีคนใหม่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของมวลชนไปอีกระดับหนึ่ง ไม่มีอีกแล้วประชาชนที่คอยเออออตามไปกับนโยบายหรือแนวคิดของฝ่ายบริหาร ไม่มีอีกแล้วประชาชนที่ก้มหน้าก้มตารับสิ่งที่พวกท่านมอบให้โดยไม่ปริปาก ไม่มีอีกแล้วประชาชนที่มองท่านทั้งหลายเป็นเจ้าคนนายคน

ในเวลานี้มีเพียงแต่มวลชนที่ตระหนักถึงอำนาจในมือของพวกเขา ตระหนักได้ว่าพวกเขาต่างหากคือเจ้านายที่แท้จริง พวกเขาคือคนที่ท่านต้องใส่ใจรับฟัง และพวกเขาพร้อมที่จะลุกขึ้นมาตรวจสอบการทำงานใดๆของท่านตลอดเวลา

เมื่อแนวทางการบริหารงานของท่านเป็นสิ่งที่มวลชนติดใจสงสัย พวกเขาจะไม่รีรอที่จะตั้งคำถาม ไม่รีรอที่จะท้วงติง ไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการขัดขวางการทำงานของท่าน แต่พวกเขาเพียงต้องการทราบถึงแนวทางที่ชัดเจนว่าคนหรือกลุ่มคนที่เขาได้มอบอำนาจให้ไปนั้น จะจัดการอย่างไรกับอำนาจที่ได้รับมอบหมาย

หน้าที่ของพวกท่านคือการบริหารงาน และจัดสรรผลประโยชน์ของ “ทุกกลุ่ม” ในสังคมให้ลงตัว ท่านจะต้องมีเหตุผลและหลักการที่หนักแน่นพอจะชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบว่าเหตุใดท่านจึงกระทำ หรือไม่กระทำในเรื่องต่างๆที่ประชาชนเรียกร้อง ให้ประชาชนได้หายสงสัย

พวกเขาต้องการให้คนที่พวกเขาส่งมอบอำนาจให้ นำอำนาจที่มีอยู่ในมือไปใช้ในทางที่พวกเขาต้องการ และพวกท่านต้องทำให้ได้ จะเรียกว่าความคาดหวังก็คงจะได้ หาไม่แล้วคงไม่มีคำว่า “สมัยหน้า” สำหรับพวกท่านแน่ๆ นี่แหละคือกระบวนการทำงานของ ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนในยุคปัจจุบัน

หมดสมัยเสียแล้วกับคำว่า “ผมยังไม่ได้รับรายงาน” เมื่อประชาชนถาม ท่านต้องหาคำตอบออกมาให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน เตรียมทีมงานของท่านให้ดี เตรียมตัวเตรียมใจของท่านให้ดี มิเช่นนั้น ท่านจะถูกประชาชนที่เลือกท่านมาเองกับมือ ไล่ต้อนจนมุมแน่ๆ

ช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมาอดีตรมต. ชุดก่อนโชคดี(?) เหลือแสนที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นประชากรชาวสลิ่ม ที่คอยอวย คอยสนับสนุน คอยโดดออกมาปกป้องไม่ว่าจะกระทำเรื่องใด ไม่ว่าถูก ไม่ว่าผิด ชาวสลิ่มจะสนุบสนุนท่านอย่างสุดจิตสุดใจ

แล้วดูสิว่าผลงานที่พวกเขาทิ้งไว้นั้นมีอะไรบ้าง?

ในทางกลับกัน พวกท่าน รมต.ทั้งหลายอาจจะคิดว่า เหตุใดท่านไม่โชคดีเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอให้ท่านระลึกไว้ว่า แม้คำตำหนิติเตียน ในการทำงานของพวกท่านที่ออกมาจากประชาชนมันจะไม่หวานชื่น รื่นหู แต่มันจะทำให้พวกท่านสามารถบรรลุถึงสิ่งที่ตั้งใจไว้เมื่อสมัยก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งได้ดีกว่า

แม้ในวันนี้และต่อๆไป เส้นทางเดินของ รมต. ทั้งหลายจะไม่ได้โปรยปรายด้วยคำชม คำสรรเสริญเช่นเดียวกับเมื่อสมัยที่ผ่านมา แต่ผลงานที่พวกท่านทั้งหลายทำออกมานั่นแหละจะเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีทีเดียวว่าพวกท่านสอบผ่านหรือสอบตกในการนั่งตำแหน่งทั้งหลาย มิใช่เสียงสรรเสริญเมื่อครั้งพวกท่านยังนั่งอยู่บนเก้าอี้

“ข้อเตือนใจ รมต ทั้งหลายคือ ให้นึกถึงวันที่ต้องเก็บของกลับบ้าน ว่าอยากให้ประชาชนจดจำผลงานอะไร บ้าง”  นพดล ปัทมะ อดีต รมต.ต่างประเทศ ได้โพสไว้ในเฟสบุ๊ค

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถึงเวลาทบทวนระบบค่าจ้าง - วารสารคนทำงาน เดือนกรกฎาคม 2554

Posted: 16 Aug 2011 07:11 AM PDT


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

ศาลให้22ผู้ต้องขังอุดรได้ประกันเรียกหลักทรัพย์หัวละล้าน

Posted: 16 Aug 2011 12:18 AM PDT

 

16 สิงหาคม 2554 เวลา14.00น. นายชัชวาลย์ ลือคำหาญ ทนายความที่ได้รับมอบหมายเข้าทำการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 22 ผู้ต้องขังในคดีเผาศาลากลาง จ.อุดรธานี จากเหตุการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมาได้แจ้งต่อประชาไทว่า ศาลจังหวัดอุดรได้พิจารณาเหตุผลในการขอประกันตัวแล้ว ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังทั้ง22รายโดยได้กำหนดหลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกันตัวรายละ 1ล้านบาท

นายชัชวาลย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ได้แสดงตนในการประกันผู้ต้องหาแล้วทั้งสิ้น11คน  โดยทางผู้ต้องขังยังขาดหลักทรัพย์อีก 11 ล้านบาท จึงจะสามารถประกันผู้ต้องขังทั้งหมดออกมาได้

อนึ่งผู้ต้องขังจากกรณีดังกล่าวในเรือนจำอุดรมีจำนวนทั้งสิ้น 22 คน แยกเป็น ชาย18คน และหญิง 4 คน ทั้งหมดถูกจับกุมหลังเหตุการณ์เผาศาลากลาง และเทศบาล จ.อุดร โดยทั้งหมดพึ่งรับสิทธิประกันตัวหลังถูกกักขังเป็นเวลากว่าปี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น