โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สองนักข่าว SEAPA ตามหาเรื่องเล่าจากชายแดนใต้

Posted: 23 Aug 2011 02:32 PM PDT


Froilan O. Galardo

 
“ผมเคยมาเป็นวิทยากรอบรมสื่อทางเลือกที่ปัตตานี เมื่อเดือนเมษายน 2554 ที่จัดโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ก่อนกลับไปฟิลิปปินส์ ผมเห็นสภาพพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พอสมควร”
 
เป็นคำบอกเล่าของ Froilan O. Galardo ช่างภาพจากสำนักข่าวมินดานิวส์ เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
 
ถึงกระนั้น เมื่อฟังประโยคถัดมาก็ดูเหมือน Froilan O. Galardo จะมีหางเสียงเจือความผิดหวังอยู่ไม่น้อย
 
“ชายแดนภาคใต้ของไทย มีเรื่องราวน่าสนใจ แต่ผมพยายามค้นหาข่าวสารภาษาอังกฤษเกี่ยวกับที่นี่ แทบจะไม่มีเลย”
 
Froilan O. Galardo ตัดสินใจตอบรับทุน FELLOWSHIP ของพันธมิตรนักข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA ในโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่ข่าว FELLOWSHIP 2011 ระหว่างนักข่าว 11 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศ เดินทางมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำข่าวในพื้นที่ที่จังหวัดปัตตานี โดยให้ความสนใจพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทยเป็นพิเศษ เนื่องจากมีสถานการณ์ความขัดแย้งคล้ายคลึงกับพื้นที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
 
SEAPA เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์เพื่อเสรีภาพของการสื่อสาร ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1998 มีเป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างนักข่าวอิสระและองค์กรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค
 
ภายใต้วิสัยทัศน์ของ SEAPA ที่ต้องการเผยแพร่แนวคิดความเป็นเสรีและความเป็นอิสระในการสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นสู่สาธารณะ มีกฎข้อหนึ่งที่สมาชิกต้องปฏิบัติ คือห้ามเขียนเรื่องราวในประเทศตัวเอง
 
Amalia H. A’Rofiati จากสำนักงาน Tribun Kaltim บนเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ตอบรับทุน FELLOWSHIP โดยเลือกประเทศไทย และเจาะจงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ
 
“เรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีเอกสารให้อ่านอย่างที่คิด พยายามจะหาซื้อมาอ่านทั้งที่เป็นภาษามลายูและภาษาอังกฤษก็ไม่มี ไม่มีทั้งข้อมูลเบื้องต้น และประวัติศาสตร์”
 
Amalia กล่าวระหว่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
 
Amalia บอกว่า ความสนใจส่วนตัว คือเรื่องอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเยาวชน โดยตระเวนเดินทางสัมภาษณ์เยาวชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการ และเยาวชน
 
กลุ่มบุคคลที่ Amalia สัมภาษณ์มาแล้วก็คือ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักข่าวสำนักข่าว AMANNEWS AGENCY จังหวัดปัตตานี เยาวชน และชาวบ้านในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
 
คำถามของ Amalia คือ ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างไรบ้าง ในหนึ่งวันใช้กี่ชั่วโมง เข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายหรือไม่ ต่อจากที่ใด ซึ่ง Amalia บอกว่า สิ่งที่ต้องการทราบคือ คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สื่อสารกันอย่างไร
 
“เรื่องราวของสามจังหวัดจริงๆ แล้วน่าสนใจมาก ทั้งที่เป็นสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม ถ้าไม่ฟังเรื่องราวจากคนในพื้นที่ก็ไม่ค่อยรู้ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง” Amalia กล่าว
 
Amalia มองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอนักข่าวจากสื่อกระแสหลัก หรือนักเขียนฝีมือดีนำออกไปเผยแพร่ สิ่งสำคัญคือคนในพื้นที่ต้องเขียนสารส่งออกไป รอให้ใครมาทำให้คงไม่ทันการณ์ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือภาษา อย่างเราสองคนเดินทางมาเพราะสนใจเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่รู้จะสื่อสารกับคนท้องถิ่นอย่างไร เพราะคนที่นี่พูดเฉพาะภาษาไทยและภาษาท้องถิ่น”
 
Froilan จากมินดานิวส์กล่าวว่า ที่นี่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สวยงามมากพอที่จะอธิบายคนทั้งโลกได้ เป็นชุมชนที่ร่ำรวยวัฒนธรรม การสื่อสารกับคนข้างนอก ไม่จำเป็นต้องสื่อเฉพาะเรื่องสงคราม หรือภาพด้านลบเสมอไป
 
“อุปสรรคสำคัญของนักข่าวต่างประเทศ ที่อยากเสนอเรื่องราวที่นี่คือ ไม่สามารถสื่อสารกับคนในพื้นที่ได้โดยตรง ถ้าสื่อกันได้จะได้อรรถรสในการสื่อสารมากกว่า จากความรู้สึกแล้วคนที่นี่ต้องการสื่อสารกับเรา สังเกตจากความร่วมมือในการให้ข้อมูลและรอยยิ้ม คนที่นี่ชอบให้เราถาม ต่างจากที่อื่นที่ไม่อยากคุยกับคนแปลกหน้า ถ้าสามารถสื่อสารเป็นภาษาที่เข้าใจกันได้ทั้งสองฝ่าย จะดีมากกว่านี้” froila จากมินดานิวส์ กล่าว
 
สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองคนสัมผัสมาก็คือ คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการสื่อสารเรื่องภายในออกสู่สังคมภายนอก โดยให้คนต่างประเทศเข้ามาเล่าเรื่องแทน
 
ขณะที่มินาเนา และกาลิมันตัน พื้นที่ทำงานของคนทั้งสองพบว่า มีปัญหานักข่าวต่างประเทศเขียนเรื่องราวของคนท้องถิ่น ผิดไปจากความจริงค่อนข้างมาก Amalia ถึงกับพูดออกมาว่า…
 
“น่าแปลกมากที่คนที่นี่ ไว้ใจนักข่าวต่างประเทศ ที่อินโดนีเซียเรามีปัญหากับนักข่าวต่างประเทศ มากกว่าคนในประเทศเดียวกัน ที่นั่งเทียนเขียนข่าวเสียอีก” Amalia กล่าว
 
จากการเดินทางตามหาเรื่องราวของ FROILAN และ AMALIA โดยใช้เวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ ทั้งสองได้สะท้อนปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
“สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ต่างอะไรกับมินดาเนามากนัก เราเคยเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำมาโดยตลอดคือ การทำให้คนจำนวนมากที่สุดรับรู้ความเดือดร้อนของคนที่นั่น นั่นหมายถึงเราต้องเป็นคนเล่าเอง เราระมัดระวังการเล่าเรื่องของเรา โดยคนต่างประเทศ เราต้องติดตามเนื้อหาที่เขานำเสนอว่า ตรงกับความเป็นจริงหรือเปล่า…
 
“บุคคลสำคัญที่จะขับเคลื่อนความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ก็คือ คนรุ่นใหม่ เราต้องสร้างพวกเขาขึ้นมา เพราะคนรุ่นเก่าจะมีความคิดแบบเก่า แต่คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือใหม่ รู้จักช่องทางสื่อสาร รู้จักใช้ภาษาสากลได้ดีกว่า สามารถใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์…
 
“นี่เป็นสิ่งเดียวที่เราจะช่วยที่นี่ได้คือ คำแนะนำนี้”
 
เป็นคำกล่าวก่อนจากลาของ Froilan O. Galardo
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธานินทร์ ใจสมุทร ‘ผมไม่กลับประชาธิปัตย์’

Posted: 23 Aug 2011 02:25 PM PDT

            เชื่อกันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมานี้ว่า ผู้แทนราษฎรภาคใต้รายใด หากตัดสินใจก้าวเดินออกจากอ้อมอกพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีวันหวนกลับมาเกิดทางการเมืองในสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้อีกอย่างเด็ดขาด

            ทว่า นับเป็นข้อยกเว้นสำหรับแมวเก้าชีวิตนาม “ธานินทร์ ใจสมุทร” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล ผู้ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ด้วยความช่ำชองกลเกมการเมืองในระบบตัวแทน จนกลายเป็นนักเลือกตั้งผู้มากฝีมือ ชนิดหาตัวจับยาก

            อันเห็นได้จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เคยให้ใบแดงตัดสิทธิเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง 2 สมัยเลือกตั้ง แต่ธานินทร์ ใจสมุทร ก็ยังผงาดกลับมาเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ได้ในปัจจุบัน แถมยังล้มนักการเมืองจากพรรคใหญ่ขวัญใจชาวใต้อย่างพรรคประชาธิปัตย์

            ทำไมถึงทำได้เยี่ยงนี้ โปรดดูลีลาทางการเมืองของธานินทร์ ใจสมุทร ผ่านคำให้สัมภาษณ์ ณ บัดนี้

0 0 0

ชีวิตทางการเมืองเป็นมาอย่างไร
ผมจบโรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม เริ่มต้นทำงานไปรษณีย์ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในตำแหน่งนายไปรษณีย์ กระทั่งเลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกมีผู้ใต้บังคับบัญชาถึง 90 คน ก่อนจะย้ายไปทำงานที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย

ช่วงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่หาดใหญ่ ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจภาคใต้ หลังจากนั้นลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2535/1 อยู่กับพรรค ประชาธิปัตย์นานถึง 19 ปี ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล 5 สมัย และได้รับเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลอีก 1 สมัย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2549 ได้รับใบแดงจากการนำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเผยแพร่ให้ประชาชนดู ในระหว่างการปราศรัยหาเสียง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการให้ร้ายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งฆ่าประชาชน และแก้ปัญหา 3 จังหวัดโดยใช้ความรุนแรง ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี

จากนั้น ผมได้รับเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล 11 เดือน ก็ถูกใบแดงอีกครั้ง เนื่องจากเสนอนโยบาย 1 ตำบล 1 ฮัจย์ ในระหว่างการหาเสียง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าศาสนาห้ามนำเงินส่วนอื่นไปประกอบพิธีฮัจย์ จึงเป็นการหาเสียงเกินจริง ไม่สามารถปฏิบัติได้

ตอนหาเสียง ผมไม่ได้ระมัดระวังอะไร เพราะเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง หลักการศาสนาอนุญาตทำได้ กฎหมายไทยก็อนุญาตให้ทำได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับบอกว่า ผมเสนอนโยบายผิดหลักการศาสนา เนื่องจากการทำฮัจย์ต้องไปด้วยความสามารถของตัวเอง ไม่สามารถนำทรัพย์สินของคนอื่นไปทำฮัจย์ได้ ผมนำทั้งพยานบุคคล หลักฐานทางศาสนาไปชี้แจง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่ฟัง ศาลก็ไม่ฟัง

คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกว่า ผมทำผิดระเบียบ ถ้าทำเรื่อง 1 ตำบล 1 ฮัจย์ ก็เสนอนโยบาย 1 ตำบล 1 อังกฤษได้ไม่ผิด คราวนี้ผมเจอใบแดงอีก 2 ปี ผมจึงกล้าพูดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเสือกมากเกินไป 1 ตำบล 1 ฮัจย์ ผิด เพราะเราเป็นมุสลิมใช่หรือไม่ รัจเกียจกันถึงขนาดนี้เลยหรือ พูดง่ายๆ จงใจให้ใบแดงผม

ชีวิตหลังโดนใบแดง
พอถูกเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ผมก็หันไปทำงานด้านศาสนา และเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลสตูล

จากประสบการณ์ทางการเมือง มองใบแดงที่ได้รับทั้ง 2 ใบอย่างไร
ใบแดงแรกเรายอมรับ เพราเราทำจริง เราด่าจริง แต่ด่าเรื่องการทำงาน ไม่ใช่ใส่ร้ายป้ายสี เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นจริง รัฐบาลขณะนั้นปฏิบัติกับกลุ่มผู้ประท้วงหน้าสถานีตำรวจตากใบเกินเหตุก็จริง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใบแดง ผมก็ยอมรับ

ส่วนใบที่สอง ผมไม่ยอมรับ และกล้าพูดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เรื่องของหลักการศาสนา คนนอกเข้ามายุ่งไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ ที่ตัดสินเรื่องการเมืองโดยอ้างหลักการศาสนา แต่ประเทศไทยกลับนำหลักการทางศาสนามาใช้ตัดสินทางการเมือง ผมได้รับใบแดงในเรื่องที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ ถือเป็นคำตัดสินที่ไม่ยุติธรรมต่อผม

ตอนนี้ช่วงรอมฎอน นักการเมืองเอาลูกอินทผาลัม เอาข้าวสาร เอาอาหารแห้งไปให้ไม่ได้ แต่รัฐให้ได้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ พาไปทำฮัจย์ได้ มันคืออะไร พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันหรือไม่ ผมขอฝากคำถามไปถึงจุฬารราชมนตรี หรือใครก็ได้ ถ้าการให้เงินงบประมาณของรัฐไปทำพิธีฮัจย์เป็นเรื่องผิดหลักการศาสนา แสดงว่านรกกำลังรอต้อนรับ คนในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งจุฬารราชมนตรีด้วย ถูกไหม เพราะปีนี้ก็นำคนไปทำอุมเราะห์อยู่มิใช่หรือ

ถ้าคิดว่าพุทธทำอะไรก็ได้ อิสลามทำอะไรก็ไม่ได้ คิดแบบนี้เปรตไหม ผมเบื่อระบบคณะกรรมการการเลือกตั้งมาก ถ้าเป็นเรื่องซื้อเสียง ผมไม่ว่า ทุจริตการเลือกตั้ง ผมไม่ว่า แต่นี่เอาเรื่องบนเวทีปราศรัยมาจับผิด มีที่ไหนใครจะคิดนโยบายที่ผิดหลักการศาสนามาใช้หาเสียง

ผมไม่ได้โกรธแค้น แต่อยากให้สังคมร่วมกันกำจัดมนุษย์ประเภทนี้ พวกดัดจริต พวกตอแหล พวกนี้มีมากในเมืองไทย พวกที่คิดว่าตัวเองทำถูกคิดถูกอยู่กลุ่มเดียว คนอื่นผิดหมด

ผมกลัว พระผู้เป็นเข้าอย่างเดียว อย่างอื่นผมไม่กลัว

คิดอย่างไรถึงออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคชาติไทนพัฒนาติดต่อมา เหตุผลก็คือว่าชาวสตูลอยากเปลี่ยนผู้แทน เขาไปขอให้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยน เพราะจะให้เปลี่ยนผู้สมัครของพรรคจากนายอสิ มะหะมัดยังกี มาเป็นผม พรรคประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนอยู่แล้ว

พูดตรงๆ ผมกับประชาธิปัตย์ไม่ลงรอยกันแล้ว ไม่ใช่คุย ผมเองเบื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นแล้ว แรกๆ จะไปอยู่กับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แต่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ชวนให้มาอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา พูดง่ายๆ การตัดสินใจเลือกผมของคนสตูล ไม่เกี่ยวกับพรรค อยู่พรรคไหนก็ได้ขอให้เป็นนายธานินทร์ ใจสมุทร 

ตอนที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์อยู่กลุ่มเดียวกับนายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากย้ายพรรคแล้ว ความสัมพันธ์ยังเหมือนเดิมหรือไม่
ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ใช่พอย้ายพรรคแล้วจะคบกันไม่ได้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

นักการเมืองภาคใต้ที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ พอย้ายพรรคมักจะหมดอนาคตทางการเมือง คุณธานินทร์ ใจสมุทร เป็นคนแรกที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้ ทำได้อย่างไร
เรื่องแรก คนอยากเปลี่ยนผู้แทน เรื่องที่2 คนต้องการได้ผู้แทน ที่สามารถแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ตอนนี้จัดคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้ว แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว หลังจากนี้ก็จะได้เห็นอะไรออกมา ผมเองอาสาไปแล้วว่า จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแก้ปัญหายาเสพติด ในฐานะผู้แทนคนเดียวของรัฐบาลในภาคใต้

รัฐบาลประชาธิปัตย์ มีผู้แทนเป็นคนภาคใต้เป็นทั้งรัฐมนตรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี และเคยเป็นนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบแก้ปัญหาภาคใต้ ผมนายธานินทร์ ใจสมุทรคนเดียวมาพิสูจน์กัน

ความตั้งใจในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร
ผมตั้งใจอาสามาเป็นผู้แทนครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะความอยาก แต่ต้องการแก้ปัญหาให้พี่น้องมุสลิม ถ้าเป็นไปตามที่คิด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตรงจุด ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 5 จังหวัด แทนการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจากส่วนกลาง และเพิ่มจังหวัดใหม่ขึ้นมาอีก 1 จังหวัดคือ จังหวัดนาทวี นี่คือเงื่อนไขการย้ายมาอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา

ถึงแม้จะอยู่ร่วมรัฐบาล แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายตั้งนครปัตตานี เพราะจะกลายเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน 

ในส่วนของจังหวัดสตูล มีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
เดินหน้าสนับสนุนแผนพัฒนา ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล และท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมแผนพัฒนาสตูลสู่รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย

ผมขอให้กลุ่มต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารามาคุยกัน ไม่ใช่คอยแต่จะเดินขบวนต่อต้าน อ้างปัญหาโน้นปัญหานี้ ขอให้มามาคุยกัน เรามีเหตุผลที่ต้องสร้าง ไม่ใช่มาชวนกันเดินขบวนต่อต้าน มันไม่ใช่ มาคุยกัน มาบอกเหตุผลว่า ทำไม่ไม่อยากให้สร้าง มีปัญหาอะไรให้มาคุยกัน เราเจ็บปวดกับการเดินขบวนมามากพอแล้ว

ส่วนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องสอบถามพูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านเขาอยู่มาก่อนรัฐ รัฐไม่ควรเอากฎหมายมาล้อมจับเจ้าของบ้าน อ้างว่าเพื่อรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะกฎหมายไปบอกว่า ที่ตรงนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ ที่ตรงนี้เป็นป่าชายเลน เป็นสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช จังหวัดสตูลไม่ต้องการกฎหมายแบบนี้ 

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ใช้กลยุทธ์อะไร ถึงสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์มาได้
คนสตูลส่วนใหญ่ไม่เอา นายอสิ มะหะมัดยังกี สังเกตุได้จากนายชวน หลีกภัย มาช่วยหาเสียงในเมือง 2 ครั้ง ปกติถ้านายชวน หลีกภัยมา จะมีผลต่อคะแนนเสียง แต่ครั้งนี้กลับไม่มีผลอะไร 

พอย้ายพรรคมีเสียงโจมตีจากคนในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ไม่เห็นใครโจมตีผม มีก็แต่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนเดียว ที่โจมตีผมว่า เป็นคนล้มละลาย เป็นมาเฟีย เป็นการพูดโจมตีทั่วๆ ไป ตามสไตล์ของนายกษิต ภิรมย์ 

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เชิญให้กลับไปอยู่ด้วยจะว่าอย่างไร
ไม่กลับไปแล้ว อายุมากแล้ว อายุเขนาดนี้อยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนาทำประโยชน์ให้ชาวบ้านได้มากกว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าทำงานการเมืองไม่ได้ก็หยุดเล่น ปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์เล่นไป แต่ถ้ายังทำได้ ผมจะย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่เขต 2 จังหวัดสตูลต่อ ต้องทำงานแข่งกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างด่า

คราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล 2 ปี ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่ใช้งบประมาณมากที่สุด หลังเลือกตั้งแพ้ แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีฝีมือ ออกนโยบายต่างๆ มามากมาย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมแจกอย่างเดียว ทำไม

ถึงขนาดนี้ประชาชนยังไม่เลือก ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำงานไม่เป็น 

ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคใต้ ในพรรคร่วมรัฐบาลเพียงคนเดียว รับคิดว่าในอนาคตจะมีโอกาสได้ณํฐตำแหน่งรัฐมนตรีไหม
ตอนนี้เร็วเกินไป ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้

อยู่ในแวดวงการเมืองมาหลายปี มองการเมืองไทยอย่างไร
การเมืองไทยไม่พัฒนา มีสาเหตุอยู่หลายปัจจัย แต่ผมไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากปัจจัยตัวไหน

ตั้งเป้าอนาคตทางการเมืองอย่างไร
ขอเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ให้ดีก่อน ถ้ามีโอกาสก็ขอเป็นรัฐมนตรีสมัยหน้า ถึงเวลาไม่ได้เป็นผู้แทน ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้ ผมมีจิตวิญญาณอาสาที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน เป็นผู้แทนมุสลิมคนเดียวที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล ก็อยากช่วยแก้ปัญหาให้กับคนภาคใต้ เพราะวันนี้ภาคใต้เจอปัญหาหนัก ปัญหาของชาวมุสลิมคือยาเสพติด เราอยากแก้ปัญหายาเสพติดด้วยหลักศาสนา 

ภูมิใจกับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ไหม
ไม่ได้รู้สึกภูมิใจอะไร แค่อยากจะบอกให้พรรคประชาธิปัตย์รู้ว่า ชาวสตูลต้องการเปลี่ยนผู้แทน ผมบอกกับพรรคประชาธิปัตย์ก่อนแล้ว บอกกับคุณนิพนธ์ บุญญามณี แต่นิพนธ์ บุญญามณีบอกผมว่า ในจังหวัดสตูลเขามีผู้แทนเดิมอยู่แล้ว ทั้ง 2 เขต 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎคราวนี้ มีข่าวว่านักการเมืองท้องถิ่นระดับบิ๊กในพื้นที่ อย่างนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่ต้องการให้กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล สมัยหน้า

มีกระแสแบบนี้เข้ามา หลังจากผมลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ถ้าคุณสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนผมในทางการเมือง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนเรื่องอื่นๆ คนคิดกันไปเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านรายงานผู้ตรวจการพิเศษยูเอ็นด้านเสรีภาพการแสดงออก ฉบับเต็ม

Posted: 23 Aug 2011 02:08 PM PDT

รายงานว่าด้วยการสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก ซึ่งแฟรง ลา รู (Frank La Rue) ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติด้านเสรีภาพการแสดงออก นำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งใช้เวลาเก็บข้อมูลในประเทศต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี (มี.ค. 2553 - มี.ค. 2554)

"ประชาไท" เรียบเรียงบทสรุปและข้อเสนอแนะของรายงานมานำเสนอ ดังนี้

 0 0 0
 
"ผู้รายงานพิเศษเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากสุดอย่างหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ทำให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติของผู้มีอำนาจมากขึ้น มีการเข้าถึงข้อมูลสนเทศ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเรือนในการสร้างสังคมประชาธิปไตย กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของอินเทอร์เน็ตในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียม การตรวจสอบได้ และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐทุกแห่งจึงควรกำหนดการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของบุคคลทุกคนให้เป็นภารกิจเร่งด่วน โดยให้มีการควบคุมเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตน้อยสุด"   (ส่วนหนึ่งจากรายงาน)
 
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
อินเทอร์เน็ตต่างจากสื่อกลางอื่นๆ อินเทอร์เน็ตช่วยให้บุคคลแสวงหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูลและความคิดทุกประเภทข้ามพรมแดนโดยทันทีและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังมีส่วนส่งเสริมศักยภาพของบุคคลให้บรรลุถึงสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก ซึ่งจะเป็น “ปัจจัยส่งเสริม” นำไปสู่สิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ซึ่งเท่ากับช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และทำให้เกิดการพัฒนาของมนุษย์โดยรวม ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้รายงานพิเศษจึงขอกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจตามกลไกพิเศษ (Special Procedures) อื่นๆ มีส่วนร่วมในการทำงานด้านอินเทอร์เน็ตตามอำนาจหน้าที่ของตน

ผู้รายงานพิเศษเน้นว่าควรควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตให้น้อยสุด โดยให้มีข้อยกเว้นไม่มากนักซึ่งเป็นไปตามหลักของกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งยังย้ำด้วยว่า การประกันอย่างเต็มที่ซึ่งสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงออกจะต้องกำหนดเป็นบรรทัดฐาน และการจำกัดสิทธิให้ถือเป็นกรณียกเว้นเท่านั้น และไม่ควรมีการแก้ไขหลักการดังกล่าวเลย ตามหลักการดังกล่าว ผู้รายงานพิเศษจึงมีข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ ดังนี้
 
ก. การควบคุมเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต
ผู้รายงานพิเศษตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เช่นเดียวกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอื่นๆ อินเทอร์เน็ตอาจถูกใช้อย่างมิชอบและก่ออันตรายให้ผู้อื่น และเช่นเดียวกับข้อมูลทั่วไป มาตรการที่ควบคุมจำกัดเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตควรกระทำในลักษณะเป็นข้อยกเว้น และจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สามประการ ได้แก่ (1) ต้องมีกฎหมายรองรับ และเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน (หลักความคาดหมายได้และโปร่งใส) และ (2) ต้องเป็นไปตามจุดประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้า 3 ข้อ 19 ของกติกาฯ กล่าวคือเพื่อ (i) คุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่นหรือ (ii) รักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน (หลักความชอบธรรม); และ (3) ต้องใช้เมื่อจำเป็นอย่างยิ่ง และให้นำมาตรการที่ควบคุมจำกัดน้อยสุดมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว (หลักความจำเป็นและชอบด้วยสัดส่วน) นอกจากนั้น หน่วยงานที่ใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงออก จะต้องเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง พาณิชย์ หรืออิทธิพลภายนอกอื่นใด และกระทำโดยไม่พลการหรือไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจอย่างมิชอบอย่างเพียงพอ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้มีการยื่นคำร้องเพื่อทบทวนและขอรับการเยียวยากรณีที่มีการนำมาตรการนั้นๆ ไปใช้อย่างมิชอบ
 
1. การปิดกั้นและคัดกรองเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตโดยพลการ
ผู้รายงานพิเศษกังวลอย่างยิ่งว่ารัฐได้นำกลไกปิดกั้นหรือคัดกรองที่ทันสมัยมากขึ้นมาใช้เพื่อการเซ็นเซอร์ มาตรการที่ขาดความโปร่งใสเช่นนี้ทำให้ยากจะตรวจสอบได้ว่าการปิดกั้นหรือคัดกรองเช่นนั้นมีความจำเป็นเพื่อตอบสนองเป้าหมายตามที่รัฐอ้างหรือไม่ ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้รายงานพิเศษจึงเรียกร้องให้รัฐที่ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์รายงานเว็บไซต์รายชื่อที่ถูกปิดกั้น พร้อมกับรายละเอียดที่อธิบายถึงความจำเป็นและความชอบธรรมที่จะต้องปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์แต่ละแห่ง และในหน้าของเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นจะต้องมีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่าเหตุใดจึงถูกปิด หลักเกณฑ์พิจารณาว่าควรมีการปิดกั้นเนื้อหาส่วนใด เป็นสิ่งที่พึงกระทำโดยหน่วยงานตุลาการ ผู้มีอำนาจ หรือหน่วยงานที่เป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง พาณิชย์ หรืออิทธิพลที่ไม่พึงประสงค์อื่นใด

ในแง่ของภาพอนาจารของเด็ก ผู้รายงานพิเศษสังเกตว่ากรณีดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นที่ชัดเจนที่สนับสนุนมาตรการปิดกั้น แต่จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายในประเทศกำหนดมาตรการป้องกันการใช้กฎหมายอย่างมิชอบหรือการใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างชัดเจนและหนักแน่นเพียงพอ เพื่อป้องกัน “mission creep” อย่างเช่น กำหนดให้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบโดยหน่วยงานตุลาการหรือหน่วยงานกำกับดูแลเป็นอิสระและไม่ลำเอียง อย่างไรก็ตาม ผู้รายงานพิเศษเรียกร้องให้รัฐพยายามนำตัวผู้ผลิตและเผยแพร่ภาพอนาจารของเด็กมาลงโทษ แทนที่จะกำหนดแต่มาตรการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว
 
2. การเอาผิดทางอาญาต่อการแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้รายงานพิเศษกังวลต่อไปว่ายังคงมีการเอาผิดทางอาญาต่อการแสดงความเห็นในอินเทอร์เน็ตที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายอาญาเพื่อเอาผิดต่อการแสดงความเห็นในอินเทอร์เน็ต หรือการออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อปราบปรามและเอาผิดต่อการแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ต รัฐมักอ้างว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายเช่นนี้เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล รักษาความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อต่อต้านลัทธิก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วมักมีการนำมาใช้เพื่อเซ็นเซอร์เนื้อหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบ
ผู้รายงานพิเศษย้ำถึงเสียงเรียกร้องให้รัฐทุกแห่งลดการเอาผิดทางอาญาต่อกรณีหมิ่นประมาท นอกจากนั้น ยังย้ำว่ารัฐไม่ควรใช้เหตุผลเพื่อการรักษาความมั่นคงในประเทศหรือต่อต้านลัทธิก่อการร้ายเพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมสิทธิในการแสดงออก เว้นแต่รัฐบาลจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า (ก) การแสดงออกนั้นมุ่งหมายเพื่อยุยงให้เกิดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน (ข) การกระทำเช่นนั้นมีแนวโน้มเป็นการยุยงให้เกิดความรุนแรง และ (ค) มีความเชื่อมโยงในทางตรงและอย่างชัดเจนระหว่างการแสดงความเห็นเช่นนั้นกับโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงดังกล่าว
 
3. การกำหนดความรับผิดของผู้ที่เป็นสื่อกลาง
ผู้เป็นสื่อกลางมีบทบาทสำคัญช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้สิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล สืบเนื่องจากอิทธิพลของผู้เป็นสื่อกลางถึงวิธีการเผยแพร่และข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต รัฐจึงได้พยายามควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อกลาง มีการเอาผิดในทางกฎหมายกรณีที่ไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ถือว่าผิดกฎหมายได้

ผู้รายงานพิเศษเน้นว่าไม่ควรมีการผ่องถ่ายการใช้มาตรการเซ็นเซอร์ให้กับภาคเอกชน และไม่ควรเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้เป็นสื่อกลางที่ปฏิเสธจะดำเนินการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล การขอความร่วมมือใดๆ ต่อผู้เป็นสื่อกลางเพื่อให้ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาบางอย่าง หรือเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อเป้าประสงค์ที่จำกัดอย่างเช่น เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานยุติธรรมทางอาญา ควรกระทำโดยผ่านคำสั่งจากศาลหรือหน่วยงานผู้มีอำนาจที่เป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง พาณิชย์ หรืออิทธิพลที่ไม่พึงประสงค์อื่นใด
นอกจากนั้น แม้ว่ารัฐมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ผู้รายงานพิเศษก็ย้ำว่าบรรษัทมีความรับผิดชอบต้องเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย หมายถึงว่าต้องมีการตรวจสอบการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ผู้รายงานพิเศษจึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้เป็นสื่อกลางให้จำกัดสิทธิเหล่านั้นก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากศาลเท่านั้น แสดงความโปร่งใสให้ผู้ใช้งานทราบว่ามีการใช้มาตรการควบคุมอย่างไรบ้าง และควรแจ้งให้สังคมโดยรวมทราบด้วย หากเป็นไปได้ แจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบล่วงหน้าก่อนจะนำมาตรการควบคุมจำกัดมาใช้ และลดผลกระทบให้น้อยสุดด้วยการเซ็นเซอร์เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น สุดท้าย จะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เป็นผลต่อผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งโอกาสที่จะร้องเรียนผ่านกลไกของผู้เป็นสื่อกลางเอง และการร้องเรียนต่อหน่วยงานตุลาการที่มีอำนาจ
ผู้รายงานพิเศษชมเชยการทำงานของหน่วยงานและบุคคลเพื่อเผยให้เห็นอุปสรรคต่อสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงออกในระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เขากระตุ้นให้ผู้เป็นสื่อกลางเปิดเผยข้อมูลกรณีที่มีการร้องขอให้ลบเนื้อหาและคำร้องขอเกี่ยวกับการเข้าถึงเว็บไซต์ใดๆ นอกจากนั้น ผู้รายงานพิเศษยังมีข้อเสนอแนะต่อบรรษัทให้กำหนดเงื่อนไขของบริการที่ชัดเจนและไม่คลุมเครือ โดยให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานและหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้มีการทบทวนผลกระทบของบริการและเทคโนโลยีที่มีต่อสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้อย่างสม่ำเสมอ หรือช่องว่างที่อาจนำไปสู่การใช้บริการและเทคโนโลยีในทางที่มิชอบ และโอกาสที่อาจมีการนำสิทธิดังกล่าวไปใช้อย่างมิชอบ ผู้รายงานพิเศษเชื่อว่าความโปร่งใสเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมการตรวจสอบได้มากขึ้นและการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

4. การตัดการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต โดยอ้างกฎหมายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ในขณะที่มาตรการปิดกั้นและคัดกรองทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาบางส่วนในอินเทอร์เน็ต แต่รัฐก็ยังได้นำมาตรการตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาใช้เช่นกัน ผู้รายงานพิเศษมีความเห็นว่าการตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการละเมิดกฎหมายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือด้วยเหตุผลใด เป็นการกระทำที่ไม่มีสัดส่วนเหมาะสม และมีแนวโน้มจะเป็นการละเมิดย่อหน้า 3 ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ผู้รายงานพิเศษเรียกร้องให้รัฐทุกแห่งดูแลให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา รวมทั้งในช่วงที่มีการลุกฮือทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รายงานพิเศษเรียกร้องให้รัฐยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่อนุญาตให้ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และให้หลีกเลี่ยงการนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้
 
5. การก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์
ผู้รายงานพิเศษกังวลอย่างยิ่งว่า มีความพยายามมากขึ้นที่จะใช้การก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์ต่อเป้าหมายที่เป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานสิทธิมนุษยชน เว็บบล็อกที่เสนอความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และบุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่เผยแพร่ข้อมูลซึ่งทำให้รัฐหรือผู้มีอำนาจเกิดความอับอาย
กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าการก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์เป็นผลจากการทำหน้าที่ของรัฐ ย่อมถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของรัฐที่จะต้องเคารพสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก แม้ว่าในทางเทคนิคเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะจำแนกแหล่งที่มาของการก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แต่ควรสังเกตว่ารัฐต่างๆ มีพันธกรณีต้องคุ้มครองบุคคลจากการแทรกแซงของบุคคลที่สาม ซึ่งขัดขวางไม่ให้มีการใช้สิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกได้ พันธกรณีเชิงบวกเพื่อการคุ้มครองเช่นนี้ กำหนดให้รัฐต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมและเป็นผลสอบสวนการกระทำของบุคคลที่สามดังกล่าว ให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และนำมาตรการมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกในอนาคต
 
6. ความบกพร่องในการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูล
ผู้รายงานพิเศษกังวลว่า แม้ผู้ใช้จะสามารถปกปิดชื่อของตนได้ระดับหนึ่งในระหว่างการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่รัฐและภาคเอกชนก็มีเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อสอดส่องดูแลและเก็บข้อมูลการสื่อสารและกิจกรรมของบุคคลที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้ การกระทำเช่นนั้นถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจและไม่มีความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเป็นการปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลและความเห็นอย่างเสรีทางอินเทอร์เน็ต
ผู้รายงานพิเศษย้ำถึงพันธกรณีของรัฐที่จะต้องนำกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองข้อมูลที่เป็นผลมาใช้ ให้สอดคล้องกับข้อ 17 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และความเห็นทั่วไปที่ 16 ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่คุ้มครองอย่างชัดเจนต่อสิทธิของบุคคลทุกคน เพื่อพิสูจน์ว่ามีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในไฟล์ข้อมูลแบบอัตโนมัติอย่างไร และเป็นไปเพื่อเป้าประสงค์ใด บุคคลทุกคนยังควรสามารถพิสูจน์ได้ว่าหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนหรือบุคคลอื่นใดมีอำนาจควบคุมหรืออาจควบคุมไฟล์ข้อมูลเหล่านั้นได้หรือไม่
เขายังเรียกร้องให้รัฐประกันว่าบุคคลจะสามารถแสดงความเห็นทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่เปิดเผยตัวตน และหลีกเลี่ยงการนำระบบการลงทะเบียนด้วยชื่อจริงมาใช้ เฉพาะสภาพการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นบางอย่างเท่านั้นที่รัฐจะสามารถจำกัดสิทธิความเป็นส่วนตัวได้ อย่างเช่น หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานยุติธรรมทางอาญา หรือเพื่อป้องกันอาชญากรรม ถึงอย่างนั้น ผู้รายงานพิเศษย้ำว่ามาตรการควบคุมที่นำมาใช้จะต้องสอดคล้องกับกรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจอย่างมิชอบอย่างเพียงพอ อย่างเช่น การประกันว่ามาตรการจำกัดสิทธิความเป็นส่วนตัวใดๆ ที่นำมาใช้โดยหน่วยงานของรัฐต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และต้องสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและการมีสัดส่วนที่เหมาะสม
 
ข. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
เนื่องจากอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้เพื่อให้เกิดสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและส่งเสริมการพัฒนาและความก้าวหน้าของมนุษย์ รัฐทุกแห่งจึงควรกำหนดให้การส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเป็นภารกิจเร่งด่วน รัฐแต่ละแห่งจึงควรพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ที่เป็นผลและเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง และในราคาที่เหมาะสมสำหรับคนทุกคน โดยนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านั้นควรจัดทำขึ้นจากการปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ในระดับสากล ผู้รายงานพิเศษย้ำถึงเสียงเรียกร้องให้รัฐต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ปฏิบัติตามพันธกรณีของตน อย่างเช่นพันธกรณีตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เพื่อให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาและกำหนดนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต


ในกรณีที่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้รายงานพิเศษกระตุ้นให้รัฐสนับสนุนโครงการเพื่อประกันว่าทุกภาคส่วนของประชากร รวมทั้งกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมอย่างเช่น ผู้พิการหรือชนกลุ่มน้อยด้านภาษา สามารถเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างจริงจัง

รัฐควรกำหนดให้มีเนื้อหาส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในหลักสูตรของโรงเรียน และสนับสนุนหลักสูตรที่คล้ายคลึงกันในการศึกษานอกโรงเรียนด้วย นอกจากการฝึกทักษะขั้นพื้นฐานแล้ว หลักสูตรดังกล่าวควรจำแนกประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และข้อมูลที่มีการเผยแพร่อย่างรับผิดชอบ การอบรมควรช่วยให้บุคคลเรียนรู้ที่จะปกป้องตนเองจากเนื้อหาที่เป็นภัย และอธิบายถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนในทางอินเทอร์เน็ต
 


............................................................... 
หมายเหตุ: ดาวน์โหลดรายงานฉบับภาษาไทย แปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ (พีดีเอฟ) ได้ที่ด้านล่าง
 
 

 

AttachmentSize
อ่านรายงานผู้ตรวจการพิเศษยูเอ็นด้านเสรีภาพการแสดงออก ฉบับเต็ม.pdf191.85 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: ข้อเสนอในการปรับปรุงการทำงานของ คอป.

Posted: 23 Aug 2011 10:41 AM PDT

 

นับเป็นเวลากว่าหนึ่งปีเศษที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เมื่อ 8 มิถุนายน 2553 โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 รองรับ และมีวาระในการทำงาน 2 ปี

 

เมื่อ ศ. คณิต ณ นคร ตอบรับการทาบทามเป็นประธาน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรวม 8 ท่านเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 และตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการอีกรวมทั้งสิ้น 12 ท่าน นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงจำนวน 19 ท่าน (รวมเลขานุการและผู้ช่วย) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 จากนั้นได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณีขึ้นมาอีก 5 คณะ โดยแยกเป็นการรับผิดชอบในภาพรวมของการตรวจสอบและค้นหาความจริง, กรณีเสียชีวิต 6 ศพ กรณี 10 เมษายน การปะทะทั้งอนุสรณ์สถานและไทยคม, กรณีการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวต่างประเทศและการฆาตกรรมพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล, การปะทะบริเวณบ่อนไก่ สีลม ซอยรางน้ำและการเผาอาคารสถานที่ในกรุงเทพ รวม 37 แห่ง, กรณีการเผาอาคารสถานที่ราชการในต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553

ต่อมาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความรุนแรงในวันที่ 19 สิงหาคม 2553 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความรุนแรงเฉพาะกรณีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 ขึ้นอีกคณะหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการ (ลงวันที่ 8 กันยายน 2553) และคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์เพื่อการปรองดอง (ลงวันที่ 21 กันยายน 2553)

จะเห็นได้ว่า คอป. ใช้รูปแบบการดำเนินงานในรูปคณะอนุกรรมการเป็นส่วนใหญ่ แต่คณะกรรมการ คอป. และอนุกรรมการคณะต่างๆ ได้ทำงานภายใต้ขีดจำกัดในช่วงบรรยากาศที่ผ่านมา และการขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความไม่ไว้วางใจในบทบาทและท่าทีของ คอป. ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการของ คอป.

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่เป็นขีดจำกัดดังกล่าวน่าจะหมดไป เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้เงื่อนไขนี้จึงเหมาะสมแก่กาลที่จะได้ทบทวนและปรับปรุงแนวทางการตรวจสอบ ค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองที่สามารถมีคำตอบให้แก่สังคม

ข้าพเจ้า ในฐานะของอนุกรรมการคณะที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบตรวจสอบค้นหาความจริงของการปะทะบริเวณบ่อนไก่ สีลม ซอยรางน้ำและการเผาอาคารสถานที่ในกรุงเทพ รวม 37 แห่ง ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากบุคคลหลายฝ่ายจึงใคร่ขอเสนอวิธีการและการปรับแนวทางเพื่อนำไปสู่การถกเถียงและปรับปรุงการทำงานของ คอป. เพื่อให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชนและบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำงาน ดังต่อไปนี้  

1. ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการโดยไม่รั้งรอ

      1.1 ให้รัฐบาลสำรวจและเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันมีคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่กี่มากน้อย เขาเหล่านั้นจะได้รับการดูแล เยียวยาอย่างไร ในแง่รูปคดี จะมีแนวทางพิจารณาอย่างไร เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองอื่นๆ (ไม่ว่าจะกรณี 112 หรือคดีก่อการร้ายที่เกิดขึ้นระหว่างการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน เพราะต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ) ทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่าย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และประชาชนทั่วไป

     1.2 ให้ ศอฉ. ส่งมอบข้อมูลการสั่งการกำลังพล ที่ดำเนินการจำแนกตามหมวดหมู่ของเอกสารทั้งหมดแล้วส่งมอบให้ คอป. รักษา เพื่อทำฐานข้อมูลในการดำเนินการและตรวจสอบการตัดสินใจของ ศอฉ. ในระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเมือง (ปัจจุบัน คอป. ยังไม่ได้รับเอกสารจาก ศอฉ. ดังที่ผมได้เคยแถลงไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา)          

      1.3 ด้านเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกองทัพ จะต้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งระดับบังคับบัญชาและปฏิบัติการมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่ทาง คอป. เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่ามีระดับบังคับบัญชาเข้ามาให้ข้อมูล คงมีแต่เพียงเจ้าหน้าที่ด้านธุรการของกองทัพมาให้ข้อมูล ซึ่งในความเป็นจริง ตั้งแต่ระดับอดีตนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนผู้นำเหล่าทัพและผู้คุมกำลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่จะต้องมาให้ปากคำและเหตุผลในการปฏิบัติงานกับ คอป. รัฐบาลต้องถือเป็นนโยบายหลักที่จะต้องอำนวยความสะดวกและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ให้ข้อมูลตามสมควร เพื่อหลักประกันว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงโดยปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชาดังกล่าว              

     1.4 รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอแก่การทำงานของ คอป. โดยไม่ล่าช้า

     1.5ให้จัดทำโครงการหอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดจนอนุสรณ์สถานความขัดแย้งทางการเมือง และมีกำหนดวาระการทำงานที่ชัดเจนเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจมิให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและการชุมนุมทางการเมืองในอนาคต  

2. ภาพรวมของ คอป.

     2.1 ในแง่ระบบการทำงาน ขอให้ คอป. แถลงวิธีการทำงาน ทั้งในภารกิจการแสวงหาความจริงและการปรองดอง ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร ใครรับผิดชอบอะไร เพื่อสาธารณชนจะได้ตรวจสอบและติดตาม

     2.2 ให้ คอป. ชี้แจงว่ามีการประสานงานภายในและระหว่างคณะอนุกรรมการอย่างไร อุปสรรคที่ผ่านมาอยู่ที่ไหน และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เช่น ในการรับฟังข้อมูลจากประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบ มีการเชื่อมโยงไปยังคณะอนุกรรมการเยียวยาหรือไม่ หรือมีการสื่อสารควบคุมภายในอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบที่จะมาให้ปากคำข้อเท็จจริงและรับการเยียวยา สถานะของผู้รับการเยียวยา เป็นต้น และหากระบบอนุกรรมการที่ได้ดำเนินมามีความล่าช้าและไม่สนองตอบต่อปัญหา จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ในระยะยาวอาจต้องให้มีคณะกรรมการภาคประชาชนเป็นผู้นำเสนอ ให้ข้อติติงในการทำงานและจัดทำรายงานเพื่อสรุป ชี้แจงต่อประชาชน เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

     2.3 ในกรณีผู้เสียชีวิต ยังไม่มีข้อมูลทางการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษครบทุกราย แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีการดำเนินการในสิ่งที่ที่ควรจะจัดทำเป็นฐานข้อมูล เช่น                                            

            2.3.1 ประวัติ (profile) ของผู้เสียชีวิต (อายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา ภูมิหลังเบื้องต้น) ซึ่งควรจะตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ เลขบัตรประชาชนกับฐานทะเบียนราษฎร์  และเหตุแห่งมรณกรรมทั้งในรูปของบาดแผล เหตุแห่งการตาย แผล หลักฐานทางนิติเวช กระสุน และอื่นๆ เพื่อตรวจสอบกับรายงานผลชันสูตรของตำรวจ แพทย์ตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และ/หรือหน่วยงานนิติเวชอื่น

           2.3.2 การเยียวยาแก่ทายาทหรือญาติ (การเยียวยาในรูปของค่าตอบแทน การชดเชยค่าเสียหายจากแหล่งต่างๆ สถานภาพของการเยียวยา -กรณีที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเต็มรูปแบบ)

           2.3.3 การจัดการข้อมูลที่ขัดแย้งกัน เช่น ทางรัฐบาลกับ นปช. อ้างถึงผู้เสียชีวิต 91 ศพ แต่ ทาง ศปช. ระบุว่าควรจะนับรวมผู้เสียชีวิตที่ป่วยเรื้อรังจากแก๊สน้ำตาอีกสองรายรวมเป็น 93 ศพ เป็นต้น          

     2.4 ในกรณีผู้บาดเจ็บกว่าสองพันราย ยังไม่มีการจัดทำข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยศูนย์นเรนทร หรือวชิรพยาบาลที่แสดงอาการหรือรูปแบบความบาดเจ็บทางกายภาพ                                

           2.4.1 ในเบื้องต้นยังไม่มีการทำประวัติ (profile) ของผู้บาดเจ็บ (บาดแผล เหตุแห่งการบาดเจ็บ แผล หลักฐานทางนิติเวช กระสุน บันทึกทางการแพทย์ และอื่นๆ)                   

           2.4.2 การเยียวแก่ผู้บาดเจ็บ (การเยียวยาในรูปของค่าตอบแทน การชดเชยค่าเสียหายจากแหล่งต่างๆ สถานภาพของการเยียวยา—กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพิการทุพลภาพ ควรจะมีมาตรการดูแลอย่างไร-หรือกรณีที่พบว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาเต็มรูปแบบเนื่องจากหวาดกลัวไม่กล้าเข้ามารายงานว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุม หรือสลายการชุมนุม)          

     2.5 การเผาสถานที่กว่า 37 จุดในกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีรูปแบบการทำงานเก็บข้อมูลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม          

     2.6 เปิดช่องทางการรับข้อมูล เช่น                   

           2.6.1 เปิดรับข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทางจดหมายอิเล็คทรอนิคส์                   

           2.6.2 เปิดตู้ ปณ. รับข้อมูลทางไปรษณีย์                    

           2.6.3 เปิดการรับฟังเป็นเวทีสาธารณะในบางพื้นที่

     2.7 ด้านการเขียนรายงาน บทเรียนจากรายงานฉบับร่างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนน่าจะเป็นอุทธาหรณ์แก่ คอป. ในการทำงานด้วยความระมัดระวัง คอป. ควรจัดเวทีรับฟังจากภาคประชาชน นักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหารูปแบบรายงานและข้อเท็จจริง ข้อถกเถียงที่สังคมต้องการรับรู้ ทั้งนี้การค้นหาความจริงจะต้องเป็นหลักการพื้นฐานในการทำงาน ทั้งนี้ ท่านประธานคณิตได้มีโอกาสจัดทำรายงานกรณีพฤษภาคม 2535 คณะทำงานของ คอป. จึงน่าจะถอดบทเรียนเพื่อนำมาใช้เป็นฐานการค้นหาความจริงเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ โดยอาจใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความเห็นประกอบ

     2.8 ให้มีการขยายหรือยืดระยะเวลาการแจ้งเหตุความเสียหายอันเกิดจากการชุมนุม โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บและทุพพลภาพ ให้ได้มีโอกาสแจ้งเพิ่มเติม เพราะประสบการณ์ในการทำงานเห็นได้ชัดว่าหลายกรณีเข้าไม่ถึงการเยียวยา ไม่รู้ช่องทางการเยียวยา และถูกตำหนิจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอคติ หรือทัศนะบางประการต่อผู้มาขอรับการเยียวยา

     2.9 ให้ คอป. เปิดเผยวิธีการเยียวยาหรือการประสานงาน และให้มีข้อมูลที่เปิดเผยว่าได้มีช่องทางอื่นใดที่จะเข้าถึงผู้เสียหาย บาดเจ็บ เสียชีวิต จากการชุมนุม หรือประชาชนทั่วไป (รวมทั้งในกรณีที่เป็นเจ้าของกิจการ ห้างร้าน) 2.10 กรณีที่ผู้ต้องขังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้รัฐบาลมอบหมายให้ คอป. จัดทนายและดำเนินการประกันตัว (พร้อมงบประมาณ) โดยไม่ชักช้า กรณีที่ถูกคุมขังและไม่มีการแจ้งข้อหา รัฐบาลต้องให้มีการชดเชยตามความเหมาะสม 2.11 คอป. จะต้องให้มีเวทีไต่สวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูล หรือเปิดเผยผลการตรวจสอบ อย่างน้อยทุกๆ สามเดือน หรือจัดทำเว็บไซต์เพื่อแถลงความคืบหน้า ตลอดจนเอกสารเผยแพร่จากการค้นหาความจริง  

3. มองผ่านการทำงานของอนุกรรมการ: อุปสรรคและทางออก ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่ารูปแบบการดำเนินงานของ คอป. ยังเป็นการทำงานผ่านคณะอนุกรรมการเป็นส่วนใหญ่ อุปสรรคสำคัญจึงยังอยู่ที่ภาระงานของกรรมการและอนุกรรมการ ทั้งๆ ที่ควรจะกำหนดวาระสำคัญคือการตรวจสอบและค้นหาความเพื่อการปรองดอง แต่การดำเนินงานของ คอป. ในสภาพการทำงานปัจจุบันยังดำเนินไปอย่างล่าช้า และหากไม่มองโลกในแง่ร้ายเกินไป วิธีการดำเนินงานขณะนี้ไม่น่าจะสำเร็จทันกรอบเวลาที่ตั้งไว้สองปี ดังนั้น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะต้องหารือกับ คอป. เพื่อจัดการกับปัญหาและข้อท้าทายที่กล่าวมาแล้ว

คอป. ควรเปิดการรับฟังเป็นเวทีสาธารณะในพื้นที่ หรือรุกไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ข้อมูลมากกว่าจะนั่งรอให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลในสำนักงาน ส่งตัวแทนไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ เพื่อรับฟัง เพื่อเยียวยา และเพื่อค้นหาความจริงโดยมีการนัดหมายล่วงหน้า ประสานทำความเข้าใจไปก่อนจะลงพื้นที่ มีตัวแทนคณะอนุกรรมการลงไปรับฟัง และบันทึกการเสวนาเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน            

คอป. อาจจัดให้มีนักวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม ลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกมากกว่าในปัจจุบัน เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กับคณะอนุกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสัมภาษณ์กลุ่ม สัมภาษณ์เชิงลึก หรือรับข้อมูลทางตรงในแบบอื่นๆ ในระหว่างคณะอนุกรรมการควรจะได้จัดให้มีฐานข้อมูลร่วมเพื่อจะเห็นภาพรอบด้านของการค้นหาความจริง          

กรณีการเผาสถานที่ น่าจะแบ่งออกเป็นสถานที่ราชการและเอกชน เพื่อแยกแยะรับฟังขอบเขตความเสียหายและการเยียวยา ซึ่งปัญหาที่ยังค้างอยู่ก็คือคดีความและการรับประโยชน์จากการประกันภัยซึ่งอุปสรรคสำคัญยังอยู่ที่ข้อถกเถียงเรื่องการเป็นหรือไม่เป็นผลจากการก่อการร้าย ทำให้ผู้เสียหายไม่อาจได้รับค่าชดเชยตามสินไหมที่ประกันภัยเอาไว้    

ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลและ คอป. ควรตรวจสอบเร่งรัดการส่งมอบเอกสารค้างส่งจาก ศอฉ. และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าดำเนินการไปถึงไหน ขัดข้องในขั้นตอนใดในการส่งมอบเอกสาร ไม่เช่นนั้นก็จะมีเอกสารที่หลุดออกมาโดยไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องให้ คอป.และสาธารณชนต้องตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริง อย่างไร          

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือการเยียวยารักษาชีวิตและจิตใจของประชาชน และมีการค้นหาความจริงเพื่อทลายวาทกรรมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสีในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

หมายเหตุุ: จากบทความเดิมชื่อ"ข้อเสนอในการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“พีมูฟ” หนุนค้าน “แผนพัฒนาใต้” – หยุด “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

Posted: 23 Aug 2011 10:37 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) แถลง 2 ฉบับต่อเนื่อง ชี้หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทำลายประชาธิปไตย พร้อมหนุนคนใต้ค้านแผนพัฒนาภาคใต้ จี้หยุดการทำร้ายทรัพยากร-วิถีชีวิตชุมชน

 
วันนี้ (23 ส.ค.54 ) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 29 “หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทำลายประชาธิปไตยและความแตกแยก” ระบุถึงโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นว่าเป็นกรณีความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน โดยมีชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ กับชาวบ้านสะเอียบและนักวิชาการที่พยายามปกป้องป่าสักทอง ซึ่งมีการถกเถียงกันมานานกว่า 20 ปี ขณะที่ข้อเท็จจริงจากงานวิชาการจำนวนมากระบุว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ได้ อีกทั้งยังมีมติ ครม.หลายฉบับจากหลายรัฐบาลที่ให้ยุติการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่นักการเมืองบางคนกลับไม่รับฟังข้อมูล จับจองแต่ผลประโยชน์จากไม้สักทอง และฉวยโอกาสสร้างกระแสตลอดมา
 
เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย และรักษาหลักการการมีส่วนร่วมของคนในสังคม P-Move ระบุข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.รัฐบาลในฐานะผู้กุมอำนาจบริหารต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตย และยับยั้งบุคคล คณะบุคคล ที่กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตยและสร้างความแตกแยกของคนในสังคม โดยเฉพาะคนจากพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคชาติไทยพัฒนา) 2.รัฐบาลต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แล้วใช้แนวทางหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในรูปแบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ไม่มีผลกระทบแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา P-Move ได้ออก แถลงการณ์ฉบับที่ 28 “หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ หยุดการทำร้ายทรัพยากร และวิถีชีวิตชุมชน” ประณามแผนพัฒนาภาคใต้ ว่าโดยแท้จริงแล้วเป็นแผนการทำลายวิถีชีวิตชุมชน และแย่งชิงทรัพยากรไปจากท้องถิ่นอย่างไม่เคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิม และนี่คือแผนกำจัดคนจน
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลในการนำของพรรคเพื่อไทย กำลังยัดเหยียดสิ่งที่อ้างว่าเป็นการพัฒนา ลงไปกดข่มประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหากแผนการพัฒนาภาคใต้ถูกนำไปปฏิบัติ ชะตากรรมคนภาคใต้ก็จะไม่ต่างจาก คนปากมูลที่เดือดร้อนมากว่า 20 ปี ไม่ต่างไปจากชาวบ้านที่ต้องทนสูดสารพิษจากเหมืองแร่ทองคำ ถ่านหิน แคดเมียม (cadmium) และถูกผลักให้เป็นคนชายขอบดังที่คนไทยพลัดถิ่นเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญคือการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทับหลังคา ดังเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชย อีกทั้งยังมีการใช้กฎหมายเข้าควบคุมแย่งที่ดินไปจากชาวบ้านที่อยู่มาก่อนไปให้นายทุนแล้วกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เช่นชาวบ้านโป่ง เชียงใหม่ ชาวบ้านบ่อแก้วที่คอนสาร และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
 
“แด่ ความทุกข์ยาก ที่ถูกยัดเหยียดจากการพัฒนาของรัฐ ที่ไม่ได้เคารพและเห็นหัวคนจน พวกเราขอประกาศว่า เราจะต่อสู้เคียงข้างพี่น้องภาคใต้ ตราบจนกว่าชัยชะนะจะเป็นของพวกเรา...ประชาชน” แถลงการณ์ระบุ
 
 
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 28
หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ หยุดการทำร้ายทรัพยากร และวิถีชีวิตชุมชน
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรชนบทและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้าย จากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี ซึ่งล้วนตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา การพัฒนาของรัฐที่ยื้อแย่งทรัพย์ธรรมชาติไปจากพวกเรา การพัฒนาที่ไม่เคารพผู้อยู่มาก่อน การพัฒนาที่แย่งยื้อแผ่นดินที่ฝั่ง สายรก บรรพบุรุษของพวกเราไปจากเรา
 
พวกเราได้รับรู้ว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย กำลังยัดเหยียดสิ่งที่อ้างว่า “การพัฒนา” ลงไปกดข่มพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งพวกเรามั่นใจว่า หากแผนการพัฒนาภาคใต้ดังกล่าว ถูกนำไปปฏิบัติ ชะตากรรมของพี่น้องภาคใต้ก็คงไม่ต่างจากพวกเรา เขาจะทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี เฉกเช่นพี่น้องปากมูลที่เดือดร้อนมากว่า 20 ปี ไม่ต่างไปจากพวกเราที่ต้องทนสูดสารพิษจากเหมืองแร่ทองคำ ถ่านหิน แคดเมียม และถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ ดังที่ คนไทยพลัดถิ่นเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญพวกเขาจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทับหลังคาของเรา ดังเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชย พวกเขาจะใช้กฎหมายเข้าควบคุมแย่งที่ดินไปจากเราผู้อยู่มาก่อนไปให้นายทุน แล้วกล่าวหาว่าเราเป็นผู้บุกรุก เช่นชาวบ้านโป่ง เชียงใหม่ ชาวบ้านบ่อแก้ว ที่คอนสาร และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พวกเราขอให้พี่น้องภาคใต้ อย่าได้หลงคำโอ้อวดว่าทันสมัยที่ไม่จริงของรัฐบาล
 
แด่ พี่น้องภาคใต้ ผู้หาญกล้า พวกเราล้วนเป็นห่วงท้องทะเล สีครามที่คราคลั่งไปด้วยปู ปลา พะยูน และโลมา ทั้งพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายอันเป็นอัตลักษณ์แห่งแดนใต้ ทั้งหมดนี้จะพินาศเมื่อแผนพัฒนาฉบับนี้ถูกปฏิบัติ
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ขอประณามแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว นี่คือแผนการทำลายวิถีชีวิตชุมชน และแย่งชิงทรัพยากรไปจากท้องถิ่น อย่างไม่เคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิม นี่คือแผนกำจัดคนจน
 
อย่างไรก็ตาม เราขอวิงวอนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ได้กรุณาตระหนักและให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น และกระทำแก่พวกเขาเสมือนหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติคนหนึ่ง
 
แด่ ความทุกข์ยาก ที่ถูกยัดเหยียดจากการพัฒนาของรัฐ ที่ไม่ได้เคารพและเห็นหัวคนจน พวกเราขอประกาศว่า เราจะต่อสู้เคียงข้างพี่น้องภาคใต้ ตราบจนกว่าชัยชะนะจะเป็นของพวกเรา...ประชาชน
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)
22 สิงหาคม 2554
 
 
 
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 29
หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดทำลายประชาธิปไตยและความแตกแยก
 
เขื่อนแก่งเสือเต้น ได้กลายเป็นประเด็นทางสาธารณะอีกครั้ง ระหว่างนักการเมืองที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน โดยใช้ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเป็นตัวประกันสร้างน้ำหนักความน่าเชื่อถือ กับชาวบ้านสะเอียบและนักวิชาการที่พยายามปกป้องป่าสักทอง ข้อถกเถียงนี้ดำเนินการเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่ข้อเท็จจริงว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นสมควรสร้างหรือไม่นั้น ก็มีข้อสรุปจากงานวิชาการจำนวนมากว่าไม่คุ้มทุนและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ได้ และยังมีมติ ครม.หลายฉบับจากหลายรัฐบาลที่ให้ยุติการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชัดเจนแล้ว มีเพียงนักการเมืองน้ำเน่าหน้าเก่าไม่กี่คนที่ดันทุรัง ไม่รับฟังข้อมูลใด ใด จับจองผลประโยชน์จากไม้สักทอง และฉวยโอกาสสร้างกระแสตลอดมา
 
ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) เห็นว่า
1)      นักการเมืองผู้ผลักดันให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ทำลายหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียลงแล้ว ด้วยการใช้หลักกูเหนือหลักการ
2)      นักการเมืองผู้ผลักดันให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนแล้ว
3)      ชาวบ้านสะเอียบผู้ปกป้องป่าสักทอง ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว เพราะตกเป็นเป้าหมายที่ต้องถูกกำจัด ของนักการเมืองที่ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งรวมถึงโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชน ที่ถูกชะลอและยกเลิก เพราะไม่มั่นใจต่อทิศทางในอนาคต
 
สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ สัญญาณอันตราย กล่าวคือ
1)      การปกครองในระบอบประชาธิปไตย กำลังถูกท้าทายและเริ่มสั่นคลอนโดยนักการเมืองน้ำเน่า
2)      อำนาจนักการเมือง เหนือข้อเท็จจริงและเหตุผลทางวิชาการ ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวซ้ำซาก
3)      นักการเมือง กำลังฉีกรัฐธรรมนูญ ที่คุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการเลือกถิ่นที่อยู่
 
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น จึงแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ของนักการเมืองตกยุค ที่เข้ามามีอำนาจในการบริหารและกุมชะตากรรมประเทศ ที่กำลังแสดงความอหังการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ความคิดคับแคบ กำลังลากจูงประเทศให้ถอยหลังลงคลอง ซึ่งเป็นการถ่วงความก้าวหน้าของสังคมไทย
 
เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย และรักษาหลักการการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
1) รัฐบาล ในฐานะผู้กุมอำนาจบริหารต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตย และยับยั้งบุคคล คณะบุคคล ที่กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตยและสร้างความแตกแยกของคนในสังคม โดยเฉพาะคนจากพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคชาติไทยพัฒนา)
 
2) รัฐบาลต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แล้วใช้แนวทางหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในรูปแบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ไม่มีผลกระทบแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
23 สิงหาคม 2554
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอลิซาเบตตา โปเลนกี

Posted: 23 Aug 2011 07:46 AM PDT

ฟาบิโอและเหยื่อผู้บริสุทธิ์ทุกคนไม่เพียงมีสิทธิเต็มที่ที่จะเรียกร้องการแสดงความรับผิดชอบจากกลุ่มคนที่ประกอบอาชญากรรมครั้งนี้ แต่ยิ่งเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงที่มีความพยายามจะลบทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ราวกับเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ใช้ฟองน้ำเปียก ๆ ลบทิ้งได้ ตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้รับรู้ความจริงด้วยซ้ำ

22 ส.ค. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น