โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จนท.ไม่แฮปปี้ คุมเข้มเสื้อแดงจัดปาร์ตี้ปีใหม่ เฟซบุ๊กไลฟ์เพลงลูกทุ่งถูกกดดันปิดไฟ

Posted: 24 Dec 2017 09:51 AM PST

ครั้งแรกถูก จนท.กดดันจนต้องยกเลิก เสื้อแดงจัด  'ปาร์ตี้ แฮปปี้ ฟรีสไตล์' ที่อัมพวา ครั้งที่ 2 จนท.ยังคุมเข้ม จนต้องย้ายร้าน เฟซบุ๊กไลฟ์บรรยากาศนักร้องลูกทุ่ง 'เพชร โพธาราม' แต่กลับถูกกดดันปิดไฟ
ป้ายร้านอาหารชาวเล ภาพจากเฟซบุ๊ก สุวรรณา ตาลเหล็ก
 
24 ธ.ค.2560 หลังจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา กิจกรรมที่ชื่อว่า 'ปาร์ตี้ แฮปปี้ ฟรีสไตล์' ซึ่งเป็นกิจกรรมสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2561 ของกลุ่มคนเสื้อแดงภาคกลางและภาคตะวันตก ที่จะจัดขึ้นที่ร้านอาหารชาวเลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้ถูกยกเลิก โดยผู้จัดกิจกรรมระบุว่าเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐกดดันร้านอาหาร ส่งผลให้ผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรม เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อทางร้านอาหาร ไปนั้น
 
ล่าสุดช่วงเย็นของวันนี้ (24 ธ.ค.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มดังกล่าวได้พยายามจัดกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้งที่ร้านเดิม โดยในครั้งนี้ไม่ใช้วิธีขายบัตร แต่เป็นการรับประทานอาหารแบบผู้รวมกิจกรรมสั่งเองและจ่ายเอง อย่างไรก็ตามยังคงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมอย่างใกล้ชิด จนต้องย้ายร้าน ซึ่่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบยังคงตามไปควบคุมอีกเช่นกันจนกระทั่งเลิกงานเมื่อเวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา
 
ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม สุวรรณา ตาลเหล็ก หนึ่งในผู้ประสานงานจัดกิจกรรมดังกล่าว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไม่ได้กดดันทางกลุ่มผู้จัดโดยตรง แต่ใช้วิธีการกดดันกับทางร้านอาหาร สาเหตุที่ต้องย้ายจากร้านแรก เนื่อกจากร้านแจ้งว่าถูกเจ้าหน้าที่กดดัน โดยตั้งเงื่อนไขกับร้านหากออกอาหารให้กับผู้ร่วมงาน ผู้จัดจึงตัดสินใจเปลี่ยนร้านใหม่ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะเกรงว่าร้านจะได้รับผลกระทบตามมา
 
สุวรรณา กล่าวถึงการควบคุมของเจ้าหน้าที่ในร้านที่ 2 ว่า ขณะที่นักร้องลูกทุ่งที่กลุ่มชวนมาร่วมงานคือ เพชร โพธาราม จะร้องเพลง ทางผู้ร่วมงานจึงได้เตรียมเฟซบุ๊กไลฟ์เพื่อถ่ายทอดสดบรรยากาศ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับร้านให้ปิดไฟเพื่อไม่ให้มีการเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่ที่ เพชร โพธาราม ผู้ที่จะร้องเพลงนั้นเป็นเพลงรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้วไม่ควรจะมีปัญหา จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดพวกตน 
 
"ท้ายที่สุดเราก็ยอมเพราะเราก็เห็นใจทางร้าน เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น เมื่อไม่ให้ร้องไม่ไลฟ์สด เราก็ยอม" สุวรรณา กล่าว  พร้อมระบุว่า เมื่อปิดไฟเราก็ต้องเลิกกิจกรรมเนื่องจากหลายคนสะสมความไม่พอใจตั้งแต่ต้องย้ายจากร้านอาหารแรกมาแล้ว เกรงว่าจะห้ามกันไม่ไหว จากการที่เจ้าหน้าที่ละเมิดดังกล่าวอีก
 
สุวรรณา เปิดเผยด้วยว่า หลังจากที่กลุ่มตนออกจากร้านอาหาร เจ้าหน้าที่ยังขับรถติดตามมาด้วย
 
สำหรับกลุ่มที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ สุวรรณา กล่าวว่ามาจากจังหวัดทางภาคตะวันตกและภาคกลาง เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและสมุทรสงคราม เป็นต้น และการจัดกิจกรรมพบปะหรือกินเลี้ยงตามเทศกาลแบบนี้ ยังคงยืนยันจัดต่อไป
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ช่อดอกไม้มอบให้คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Posted: 24 Dec 2017 08:28 AM PST

ครุยที่ไผ่สวมใส่ในวันนี้     สวมอยู่ที่ตุลาการหน้าศาลทหาร

ขอบพระคุณบรรดาคณาจารย์     ที่มอบฐานชีวิตให้ศิษย์ตน

เป็นฐานที่พ่อแม่แลชาติญาติพี่น้อง     ประคับประคองป้องปกผองผกผล

มอบวิชานิติศาสตร์ ฉาดฉานชน.     ปกป้องคนพ้นพาลสันดานร้าย


อนาคตของคนหนุ่มที่ทุ่มเท     ไม่มีทางหันเหเร่ร้างหาย

เขาเกิดมาก้าวขาหาอันตราย     คงไม่หมายโด่งดังพังกำแพง

เดินข้ามธรณีประตูสู่วิหาร     ทรมานทรกรรมห้ามกำแหง

เพื่อเรียนรู้นรกบนดินกินข้าวแดง     รสน้ำแกงชืด ๆ จืดจ่อมจม


คดีสุดมันส์เย้ยหยันอำนาจรัฐ     ไผ่ดาวดินโดนดัดสันดานบ่ม

เพาะพันธุ์นักสู้รุ่นใหม่ให้คายคม     ความระทมทุกทุกข์คุกคือครู

ปริญญาทิวาราตรีที่ในคุก     ไผ่ได้บุกบั่นบากฉากหดหู่

ชีวิตจริงไม่อิงนิยายได้ความรู้     แสงส่องสู่เสรีที่โบยบิน


เป็นกำลังใจให้ครูบาอาจารย์     ที่ศิษย์ท่านบันดาลใจให้ทั้งสิ้น

โชติช่วงแสงที่ทอต่อธรณิน     แด่ดาวดินถิ่นนี้ที่แก่นนคร.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #189 โยนีที่หายไป

Posted: 24 Dec 2017 08:21 AM PST

ร่องรอยความเชื่อและศาสนาดั้งเดิมในสังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผูกพันเรื่องเพศชายหญิงกับความอุดมสมบูรณ์และสังคมเกษตรกรรม ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะลดทอนเหลือเพียงรูปอวัยวะเพศชายนาม "ปลัดขิก" และความเชื่อเรื่องโชคลาภด้านการค้า

"…โอม ไอ้ขลิกไอ้ขลัก เงี่ยงหักเงี่ยงหงิก ปกเอยปกหาง หางเอยหางอะไร..." ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของคาถาบูชาปลัดขิกอาจารย์ซ่วน แห่ง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินเวลาพ่อค้าแม่ขายสวดเพื่อขอขอความสำเร็จทางธุรกิจจากปลัดขิก แต่ก่อนที่ปลัดขิกจะมีฟังก์ชันนี้ รายการหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ จะพาสำรวจพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยสมัยโบราณก่อนได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งความเชื่อแต่เดิมผูกโยงเรื่องเพศเข้ากับความอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้แต่ดั้งเดิม มีความเชื่อว่าอวัยวะเพศหญิงและชายคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยพบตุ๊กตาสำริดรูปคนเปลือยอวดอวัยวะเพศชาย อายุราว 2,500 ปีพบที่บ้านโคกไม้เดน อ.พยุหะคีรี หรือการพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปกบหรือคนทำท่ากบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสื่อถึงฝนฟ้าบริบูรณ์ นอกจากนี้คำว่า "กบ" ในภาษาโบราณยังใช้เรียกอวัยวะเพศหญิงอีกด้วย

ความเชื่อทำนองนี้ยังเคยปรากฏอยู่ในพิธีหลวงด้วย อย่างเช่นใน "พระราชพิธีสิบสองเดือน" จะมี "พระราชพิธีพรุณศาสตร์" ซึ่งทำในเดือน 9 พิธีนี้จะมีการขุดสระจำลอง ในสระจะมีรูปสัตว์ต่างๆ รวมทั้งปั้นรูปเมฆ หรือรูปบุรุษและสตรีเปลือยกายทาด้วยปูนขาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า "อยู่ข้างจะเร่อร่าเป็นของคนเถนๆ" โดยไม่มีการทำพิธีเช่นนี้มานานแล้ว ขณะที่ในปัจจุบันยังคงพบร่องรอยเช่นนี้ในพิธีกรรม "ปั้นพ่อเมฆแม่เมฆ" ที่ปัจจุบันชาวบ้านในหลายท้องที่คงยังมีการปั้นดินเป็นรูปสมสู่ของชายหญิง เพื่อขอให้เกิดฝนตก

โดยในเวลาต่อมาความเชื่อเรื่องเพศกับความอุดมสมบูรณ์ถูกลดทอนจากเดิมที่ต้องมีทั้งอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย ก็เหลือแต่อวัยวะเพศชาย ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็สะท้อนถึงยุคสังคมชายเป็นใหญ่ ปัจจุบันจึงเหลือแต่ปลัดขิกที่ยังคงทำหน้าที่อ้อนวอนขอความอุดมสมบูรณ์โดยเปลี่ยนโหมดจากท้องไร่ท้องนามาสู่ฟังก์ชันด้านการค้าการขาย ส่วนโยนีหรืออวัยวะเพศหญิงที่เคยบูชาคู่กันกลับเลือนหายไป

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมถูกทำให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน

Posted: 24 Dec 2017 08:19 AM PST

 

ปมด้อยของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ก็คือไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก นอกจากการเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องประกาศให้แจ้งชัดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วได้เมื่อไหร่่แล้ว ยังมีวิธีกลบปมด้อยอยู่อีกเรื่องหนึ่งนั่นก็คือต้องทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตให้ได้ในสภาวะที่บ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการ 

ทั้งสองเรื่องเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไขว้ไปมาจากความไม่ชัดเจนของประชาคมโลกเองว่าจะจัดลำดับความสำคัญให้เรื่องไหนมาก่อนเรื่องไหนมาทีหลัง มันจึงทำให้ คสช. ตอบสนองในเรื่องที่ง่ายกว่าก่อน นั่นก็คือการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ส่วนเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ คสช. ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ (ซึ่งระยะเวลาสามปีกว่านับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เลยช่วงระยะเวลาอันใกล้มามากแล้ว) 

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากรัฐประหารผ่านมาได้สองสัปดาห์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้า คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 55/2557 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพราะเล็งเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตให้ได้ 

นอกจากหน่วยงาน/องค์กรและกลไกทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ คสช. ควบคุมไว้ทั้งหมดในฐานะที่เป็นรัฐบาลแล้ว อุปสรรคสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในการกลั่นกรองและพิจารณาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ประเภทต่าง ๆ ท่ี่ไม่เอื้อต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินภาครัฐและเอกชนเพื่อการลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมและบริการมากนัก ก่อนหน้าที่หัวหน้า คสช. จะลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการบีโอไอหนึ่งสัปดาห์ แนวคิดเรื่อง EIA Fast Track ก็ผุดขึ้นมาเพื่อต้องการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA สร้างช่องทางลัดพิเศษขึ้นมาเพื่อทำให้ระยะเวลาการพิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อย่างมากที่สุดต้องไม่เกิน 105 วัน) สำหรับโครงการนำร่องในการก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐบาลของ คสช. อันได้แก่โครงการรถไฟทางคู่ 5 สาย รถไฟฟ้าหลายเส้นทาง และมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด เป็นต้น  

กลางปี 2558 แนวคิดเรื่อง EIA Bypass ก็เกิดขึ้นตามมาจากข้อเสนอของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานได้เสนอให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบและเงื่อนไขไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำและพิจารณา EIA บางขั้นตอนให้มีระยะเวลาสั้นลงเพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษมีผลเชิงรูปธรรมเร็วขึ้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือจัดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค (คชก.) ระดับจังหวัด[[1]]ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาต EIA ได้เอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณา EIA แบบเดิมที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการพิจารณาผ่านความเห็นชอบอีกต่อไป  

ปลายปี 2558 ความพยายามที่จะทำ EIA Fast Track และ EIA Bypass ยิ่งชัดเจนขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ สามารถจัดทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS) และการจัดทำ EIA โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ FS หรือ EIA ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ที่แต่เดิมหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เรียงลำดับดังนี้ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ ฯลฯ ตามลำดับก่อนหลัง แต่มติ ครม. ดังกล่าวสามารถให้หน่วยงานต่าง ๆ ศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปพร้อม ๆ กันหรือคู่ขนานกันไปได้เลย ไม่ต้องรอลำดับก่อนหลังอีกต่อไป ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่สามารถย่นระยะเวลาให้กับโครงการที่เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จากระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 10 เดือน เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น

เบื้องต้น คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track  จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 334,207 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแคและช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางประอิน – นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี มูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท

การปูทางเพื่อการนี้มีมาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 เพื่อขยายอำนาจ ม.44 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ที่กำหนดให้ที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ 3 จังหวัด คือ บริเวณตำบลป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา และอำเภอเมือง จ.หนองคาย ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายผังเมือง เปลี่ยนเป็นยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด ๑๐ จังหวัด ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด[[2]] หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี[[3]

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 เพื่อขยายอำนาจ ม.44 ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในโรงงานบางประเภทเพิ่มขึ้นอีก เช่น โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่าง ๆ เป็นต้น 

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 เพื่อยกเว้นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อนและชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน 

คำสั่งว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corrodor : EEC ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560  เรื่อง การพัฒนา EEC คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา EEC และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 47/2560 เร่ื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC โดยรวมทั้งสามคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นมาเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC และคณะกรรมการบริหารการพัฒนา EEC ให้มีอำนาจและหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเป็นหลักด้วยการ (1) กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน (2) ให้ผู้ลงทุนเช่าที่ดินระยะยาว (3) ยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและยกเลิกผังเมืองรวมสามจังหวัดที่ไม่สอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง (4) ให้มี คชก. พิจารณา EIA/EHIA ของโครงการหรือกิจการในพื้นที่ EEC เป็นการเฉพาะ โดยว่าจ้างจากผู้ชำนาญการต่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทยก็ได้ และให้มีค่าตอบแทนพิเศษแก่ คชก. เฉพาะพื้นที่ EEC ด้วย และ (5) ต้องเร่งรัดให้การพิจารณา EIA/EHIA สำหรับโครงการหรือกิจการในพื้นที่่ EEC แล้วเสร็จให้ได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับรายงาน

รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ให้ยุบคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ที่เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA  ก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่อยึดอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EHIA กลับมาอยู่ในมือของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA/EHIA (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เช่นเดิม หลังจากที่ถูก กอสส. แย่งชิง แทรกแซงและลดทอนอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EHIA ไปนานกว่าเจ็ดปีนับแต่เดือนมิถุนายน 2553

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือลำดับการก่อตัวเพื่อสร้างเหตุผลและความชอบธรรมในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงส่วนเดียว แทนที่จะแก้ไขทั้งฉบับเพื่อทำให้มิติการพัฒนาตระหนักถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนเกิดความสมดุลย์และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แม้โดยรวมจะไม่ดีมากนักแต่ก็มีพัฒนาการในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนดีขึ้นมาเป็นลำดับ 

ดังนั้น หากจะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ควรแก้ไขปรับปรุงให้การมีส่วนร่วมของประชาชนทันสมัยขึ้นด้วยการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือสิทธิชุมชน หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติที่ประชาคมโลกรวมทั้งประเทศไทยตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาใส่ลงไปในกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ รวมถึงการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เข้ามาเพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่และความต้องการใช้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์สำหรับนโยบาย โครงการหรือกิจการที่การจัดทำ EIA/EHIA ไม่สามารถตอบสนองการประเมินผลกระทบได้รอบด้านและครบถ้วน และปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำและพิจารณา EIA/EHIA ด้วยการให้มีองค์กรอิสระที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของเจ้าของโครงการและหน่วยงานผูกขาดอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA ของรัฐ คือ สผ. คชก. และ กกวล. ฝ่ายเดียวอีกต่อไป 

แต่ปัจจุบัน 'ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....' หรือร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดย ครม. ชุดที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีถูกส่งต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาอยู่ในขณะนี้กลับทำตรงกันข้าม โดยมุ่งแก้ไขเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อต้องการทำให้ระยะเวลาในการจัดทำและพิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA มีขั้นตอนและกระบวนการที่ลัดสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นเสมือนการสร้างช่องทางด่วนหรือช่องทางลัดเพื่อมุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่การลงทุนมากเกินไปจนละเลยคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 มาขยายความให้ครอบคลุมโครงการหรือกิจการมากขึ้นกว่าเดิมใส่ลงไปในมาตรา 50 วรรคสี่ ที่แต่เดิมยกเว้นเฉพาะโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ให้สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน โดยเพิ่มโครงการหรือกิจการด้านความมั่นคงทางพลังงานเข้ามาอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือโครงการหรือกิจการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะถ่านหินที่รัฐกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่เพิ่งถูกสลายการชุมนุมและฟ้องคดีโดยรัฐเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นต้น รวมถึงโครงการหรือกิจการจากสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งทะเลและบนบก ก็จะถูกยกเว้นด้วยการสามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อนได้เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการหรือกิจการเหล่านี้ตามมาตรา 50 วรรคสี่ ยังถูกบังคับให้ คชก. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA อย่างเร่งรีบภายใน 120 วัน หาก คชก. ไม่มีความเห็นภายในกำหนดเวลาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้ กกวล. ทำหน้าที่แทนโดยพิจารณาเสนอความเห็นต่อ ครม. ได้โดยไม่ต้องรอความเห็นจาก คชก. อีกต่อไปได้เลย

ประเด็นต่อมา มาตรา 48 ของร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ที่เหมือนกับมาตรา 46 วรรคสามของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันตรงที่สามารถให้โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใด หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดมี EIA ไว้แล้ว (ไม่รวม EHIA เข้ามาในกรณีนี้)  และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกัน  หรือในพ้ืนที่ลักษณะเดียวกันได้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทํา EIA ซ้ำอีก หมายถึง สามารถนำสำเนา EIA โครงการหนึ่งมาใช้กับอีกโครงการหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่ต่างพื้นที่ได้เลย 

แต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือมาตรา 49 ในกรณีโครงการหรือกิจการใดได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำ EIA มีการดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้จัดทำ EIA ขึ้นมาเสนอต่อ สผ. หรือ 'หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น' ตามท่ี่ กกวล. มอบหมายให้ปฎิบัติหน้าที่แทนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการเหมืองแร่ชนิดหนึ่งใช้สำเนา EIA จากโครงการเหมืองแร่ชนิดเดียวกันที่มีขนาดและพื้นที่คล้ายคลึงกันต้องการเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองและเพิ่มเติมชนิดแร่ที่จะผลิต ก็จัดทำ EIA ขึ้นมาโดยเสนอต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่แทนการเสนอต่อ สผ. และ คชก. ได้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ EIA ที่จัดทำขึ้นมาผ่านความเห็นชอบได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. แต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่เพิ่มเข้ามาค่อนข้างอันตราย เนื่องจากว่าอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA ของ สผ. คชก. และ กกวล. ซึ่งปรากฎอยู่ในร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้และคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ EEC อาจจะนำมาซึ่งโครงการหรือกิจการที่ทำสำเนา EIA เต็มไปหมดในพื้นที่ EEC มิหนำซ้ำ การดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงโครงการหรือกิจการไปจากเดิมก็อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ได้

ไม่เว้นแม้แต่โครงการหรือกิจการโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่าง ๆ ที่อยู่อาศัยตึกสูงที่ผุดขึ้นเต็มกรุงเทพฯและหัวเมืองต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันทั้งในด้านขนาดและพื้นที่ ก็คงจะมีการทำสำเนา EIA เต็มไปหมด และก็เช่นเดียวกัน การดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงโครงการหรือกิจการไปจากเดิมก็อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ได้

อีกประเด็นหนึ่ง มาตรา 51 เปิดโอกาสให้โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำ EIA/EHIA สามารถเสนอต่อ สผ. หรือ 'หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น' ตามที่ กกวล. มอบหมายให้ปฎิบัติหน้าท่ี่แทนก็ได้ หมายความว่า EIA/EHIA สำหรับโครงการหรือกิจการประเภทใดที่ยากและใช้เวลานานในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ก็ให้หน่วยงานที่มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนั้นทำหน้าที่เป็น สผ. และ คชก. แทน ยกตัวอย่างเช่น โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าประเภทหนึ่งก็ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เป็นผู้พิจารณาใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA เพิ่มเติมอีกหน้าที่หนึ่ง เป็นต้น

หน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็คือมีหน้าที่เป็นตาข่ายคอยดักและกลั่นกรองการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสมดุลย์ในการใช้และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการมองมิติความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายชั่วอายุคน และคำนึงถึงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์สุขของประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายเกินไปจากมลพิษในภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบที่อยู่อาศัย แต่สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. กระทำคือตัดตาข่ายของกฎหมายสิ่งแวดล้อมทิ้ง ซึ่งจะทำให้การกลั่นกรองเพื่อรับประกันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาวะอนามัยอ่อนแอลงจากการเปลี่ยนกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง

 

เชิงอรรถ

[[1]] แนวคิดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระดับจังหวัด ถูกผลักดันจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ข้อ 4.2 ที่สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณากำหนดแนวทางให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการลงทุน หรือพื้นที่ที่ต้องเร่งพัฒนาหรือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้โครงการและกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาลสามารถเริ่มดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

[[2]] 5 จังหวัดแรก ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ 1/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 19 มกราคม 2558

[[3]] อีก 5 จังหวัดหลัง ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน 2558 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ในโลกนี้ยังมี “ คนดี” อยู่

Posted: 24 Dec 2017 08:09 AM PST

 

ผมทอดทิ้งการเขียนถึงงานวรรณกรรมมานานมากแล้ว เพราะอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

เท่าที่จำได้ งานชิ้นสุดท้ายที่เขียนถึงวรรณกรรมโดยตรง ก็น่าจะเป็นการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ต่อหนังสือรวมเล่มบทกวีของ "แรคำ ประโดยคำ" เรื่อง "ในเวลา" ที่ได้รางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งก็เป็นเวลาเกือบยี่สิบปีมาแล้ว

แต่การที่นักเขียนอายุน้อยเป็นคนรุ่นใหม่ (น่าจะอายุน้อยที่สุด) ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ได้กระตุ้นให้ผมกลับมาอ่าน คิด และเขียนถึงวรรณกรรมอีกครั้งหนึ่ง เพราะผมอยากจะรู้ว่าคนรุ่นนี้คิดอะไร มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร และการตัดสินให้รางวัลของคณะกรรมการนั้น มีความสอดคล้องทางความคิด และอารมณ์ความรู้สึกแบบไหนในสังคมไทย

หากจะสรุปกรอบความคิดของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ในการเขียนเรื่องสั้นรวมเล่มชื่อว่า "สิงโตนอกคอก" ให้สั้นและกระชับที่สุด ก็คือ ความเชื่อที่ว่าในโลกนี้ยังมี "คนดี" อยู่ และ " คนดี " นี่แหละทำให้เราทุกคนยังมีความหวัง ว่าในโลกที่เลวร้ายนี้ไม่ได้เลวร้ายจนกระทั่งเราอยู่ไม่ได้

เจ้าเมือง "มอเดร็ด"ที่ตัดสินใจเผาหนังสือเพื่อให้ผู้คนในเมืองได้รอดพ้นจากความหนาวเย็นในปีที่โหดร้าย ก็ยอมรับการกล่าวโทษจากชาวเมืองว่าเขาเป็นคนทำลายความรู้

จิดานันท์ ได้สะท้อนความรู้สึกรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าเมืองผ่านห้วงคำนึงของลูกชายว่า "จะบาปหนักแค่ไหนพ่อก็จะรับเอาไว้ทั้งหมดเอง"

การตั้งคำถามกับการควบคุมมนุษย์ด้วยไพ่ ที่จะกลายเป็นสีดำทันทีที่ถูกหาว่า "ทำผิด" ก็ทำให้เรารู้สึกว่าแม้แต่ในโลกที่ถูกควบคุมก็ยังคงมีคนที่สงสัย และอยากจะตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (เรื่อง "ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี")

ความรัก ถูกนำเสนอให้เป็นรากของความเป็นมนุษย์ที่มีค่า แม้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล้ำยุคก็ยังรับรากฐานที่ดียิ่งนี้ไว้ (เรื่อง "โอนถ่ายความเป็นมนุษย์")

"ผม" ตัดสินใจที่จะเดินทางไปกับรถไฟที่ไม่รู้ต้นทาง-ปลายทาง เพื่อจะแสวงหาทางดับทุกข์ตาม "สิทธา" ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว (เรื่อง "รถไฟเที่ยงคืน )

การให้คำอธิบายกับความประพฤติของผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กับหญิงหลายคน ด้วยบันทึกจากพ่อว่าชะตากรรม/ชะตาชีวิตที่ถูกกำหนดมาแล้ว คนไม่ได้เลวเพราะสังคม (เรื่อง "อดิมกับลลิธ") การเสียสละของพี่สาวของ "ผม" ในการต่อสู้กับการปกครองของหุ่นยนต์ ด้วยการฆ่ารัฐมนตรีตัวแทนของหุ่นยนต์ ซึ่งนำมาสู่ความหวังที่จะมีคนดีต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ (เรื่อง "ซินเดอเรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์")

บันทึกของเซทที่เล่าให้ฟังถึงความเป็นจริงของ " วัล" ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพเจ้าว่า ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น (เรื่อง "กุหลาบย้อมสี")

"ผม" ในเรื่อง "สมาชิกในหลุมหลบภัย" ตั้งคำถามกับการควบคุมให้ทุกคนอยู่ในบ้านหลบภัยของพ่อ และท้ายที่สุดก็ได้นำให้ครอบครัวออกมาจากที่จำกัดนั้น

ในเรื่องสุดท้ายที่เป็นเสมือนการขมวดปมทางความคิดของจิดานนท์เอาไว้ เป็นการต่อสู้ของกลุ่มที่มีสีของนัยน์ตาดำขาวต่างกันนั้นไม่ได้เลวร้ายทุกมิติ เพราะในความเป็นมนุษย์ก็ทำให้ "แซคคารี" คนตาดำแสดงความเป็นมนุษย์และไม่ฆ่าเพื่อนคนตาขาวโดยเชื่อมโยงกลับไปสู่ครู และนิทานที่เน้นให้สิงโตไม่ฆ่าแกะ และนำแกะกลับไปสู่ฝูง เพื่อชี้ให้รู้สึกว่าแม้สิงโต และเพื่อนตาดำ ก็ไม่ได้ร้ายกาจจนหลงลืมด้านดีของการอยู่ร่วมกันเยี่ยงมนุษย์ (เรื่อง "สิงโตนอกคอก")

กรอบคิดหลักที่เสนอให้ผู้อ่านหวังไว้ว่า "ในโลกนี้ ยังมีคนดีอยู่"

"คนดี" คือใคร

"คนดี" ก็คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้คน "คนดี" คือ คนที่พยายามนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากการกำกับ/จำกัดพรมแดนแห่งความเป็นมนุษย์ และ "คนดี" ย่อมไม่ยอมสยบต่อการครอบงำทั้งหมด แต่พยายามหาช่องเล็กช่องน้อยเพื่อช่วยเหลือคนอื่น

" คนดี" เหล่านี้ คือ ผู้ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าแม้โลกจะโหดร้ายแต่ก็ไม่ควรสิ้นหวัง เพราะน่าจะมีคนดีแบบนี้อยู่ตรงไหนสักที่หนึ่ง

ผมจึงไม่แปลกใจเลยแม้แต่น้อยว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงได้รับการคัดเลือก เพราะวิธีคิดเช่นนี้เป็นความคิดหลักของสังคมไทย

เราถูกทำให้เชื่ออย่างสนิทใจว่าที่สังคมไทยดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเรายังมี "คนดี" อยู่ เราสร้างคำอธิบายไว้ทำนองว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี" การสืบทอดความคิดชุดนี้มีพลังอย่างมากในการกำกับความคิดของคนในสังคมไทยแม้กระทั่งจิดานันท์ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังก็ยังคงถูก "ฝัง" (embedded) ไว้ด้วยชุดความหวังนี้

กรอบความคิดนี้ไม่ผิดหรอกครับ แต่ไม่เพียงพอสำหรับความฝันและความหวังที่จะเห็นสังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างสมานฉันท์ (จริงๆ ไม่ชอบคำนี้เลย แต่ขอใช้เพื่อสื่อสารกับคนในชุดความคิดเดิม) และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

เราต้องการชุดความคิดและความรู้สึกที่ว่าเรากำลังอยู่ในโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจอย่างไร และเราจะร่วมกันต่อสู้/ต่อรองอย่างไร

การทอดทิ้งภาระให้ "คนดี" จึงเป็นเพียงเครื่องมือในการกล่อมเกลาให้เราสยบต่อโครงสร้างอำนาจที่ชนชั้นนำต้องการรักษาสถานะเดิมที่ตนเองได้เปรียบต่อไป มากกว่าการทำให้คนลงมือทำตามความใฝ่ฝัน

จิดานันท์เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ การเลือกเสนอเรื่องราวเหนือจริงและนอกบริบทสังคมไทยทำให้กรอบความคิดหลักของสังคมไทยดูดีและมีพลังมากขึ้น (ลองคิดดูนะครับว่าหากจิดานันท์ใช้ฉากและชื่อตัวละครทั้งหมดเป็นไทย เราก็จะอ่านไปในอีกทางหนึ่ง และเผลอๆ อาจจะไม่ได้รางวัลซีไรต์) การใช้ภาษาก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับควบคุมเป็นนายของภาษา

แต่ในฐานะนักอ่านก็อยากจะแนะว่าต้องก้าวให้พ้นกรอบจำกัดของวิธีคิดแบบไทยเพื่อที่จะทำให้เข้าใจ "มนุษย์" และ "สังคม" มากขึ้น

ท้ายที่สุดก็หวังใจไว้ว่าการได้รับรางวัลตั้งแต่เป็น "นักขียนเด็ก" นี้จะไม่ทำให้รางวัลกลายเป็น " จุมพิตเพชณฆาต" นะครับ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643440

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตการคอร์รัปชั่นของ ขสมก.หลังหมดมาตรการรถเมล์ฟรี

Posted: 24 Dec 2017 07:54 AM PST

ไม่เห็นรถเมล์ธรรมดาสาย 26 วิ่งมาถึงอนุสาวรีย์ชัยมานานเกือบ 6-7 ปีแล้ว

ช่วงที่มีรถเมล์ฟรี จะเห็นรถแบบนี้วิ่งในเส้นทางปกติ แค่ช่วงกะสว่าง คือเที่ยงคืนถึงตีสี่เท่านั้น ช่วงกลางวันจะวิ่งแค่เส้นทางสั้นๆ อย่างแค่ เอกมัย-ลาดกระบังหรือเคหะร่มเกล้า

แต่หลังจากหมดมาตราการรถเมล์ฟรี รถเมล์ธรรมดาสายนี้กลับมาวิ่งถี่ขึ้น ซึ่งตอนมีรถเมล์ฟรีเห็นแต่รถเมล์ปรับอากาศ (ปอ.)

ในช่วงโครงการรถเมล์ฟรี มีข้อครหาว่า ขสมก.ก็แอบกันรถเมล์จอดไว้ ไม่จัดการเดินรถให้เต็มที่ เช่นวิ่งเที่ยวเดียวแล้วจอดยาว หรือวิ่งแค่เส้นทางสั้นๆ วนไปวนมา ไม่ครบรอบที่ควรเป็นจริง

ตอนแรกผมคิดว่า น่าจะไม่จริง เพราะเข้าใจว่ารถขาดแคลน

แต่พอหาข้อมูลเรื่องจำนวนรถสาย 26 พบว่ามีถึง 50 คัน แต่ผู้โดยสารกลับต้องรอรถเมล์สายนี้นาน ในช่วงที่มีรถเมล์ฟรี ให้มีแค่รถปรับอากาศ 20 คันวิ่งในเส้นทางหลัก ส่วนรถเมล์ฟรีก็วิ่งแบบกั๊กๆ แอบจอดไว้หลังอู่ กินเงินที่รัฐบาลจ่ายคันละ 8,000 บาทต่อวันไป

ข้อสังเกตอีกอย่างที่เห็นได้ ในช่วงรถเมล์ฟรี รถเมล์ธรรมดาที่ส่วนใหญ่เป็นรถเมล์จะจอดในอู่แน่นตลอดเวลา

พอหมดมาตรการรถเมล์ฟรี รัฐบาลไม่จ่ายให้แล้ว ที่เคยจ่ายให้รถเมล์ธรรมดาที่เป็นรถเมล์ฟรี ไอ้ที่แอบจอดไว้หลังอู่ วิ่งรถวันละแค่ไม่กี่รอบ คราวนี้ก็ต้องปล่อยออกมาวิ่ง เพื่อหารายได้จากผู้โดยสารอย่างจริงจัง เพราะไม่มีรายได้แบบ passive income เข้ามาที่องค์กรเหมือนสมัยก่อน

คราวนี้ก็เดินรถเต็มตามจำนวนรอบ รถจอดในอู่ก็น้อยเพราะต้องออกเดินรถจริงจัง ผิดกับสมัยรถเมล์ฟรีแอบจอดกันเป็นว่าเล่น

คนขึ้นรถเมล์สาย 26 ก็ตั้งข้อสังเกตกันครับ ว่าทำไมสถานการณ์การเดินรถตอนมีรถเมล์ฟรีกับตอนไม่รถเมล์ฟรี มันต่างกันอย่างนี้

ผมไม่แน่ใจว่า เขตการเดินรถหรืออู่รถอื่นของ ขสมก.จะทำแบบนี้หรือไม่

นี่ล่ะครับ พอหมดมาตรการรถเมล์ฟรี หางมันก็โผล่ ว่า ขสมก.คอร์รัปชั่นเงินภาษีประชาชน รัฐบาลให้งบประมาณมา แทนที่จะเดินรถให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว และช่วยแบ่งเบารายจ่ายของประชาชน แต่ ขสมก.กับหากินกันอย่างนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาสมาคมนักข่าวชี้คำสั่งปลดล็อคหวังเซ็ตซีโร่ ส.ส.เก่า การเลือกตั้งยังอึมครึม

Posted: 24 Dec 2017 04:13 AM PST

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอน "รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้งครั้งแรกสู่ประชาธิปไตย" ชี้คำสั่ง คสช.53/60 ขัดหลักนิติธรรม หวังเซ็ทซีโร่ ส.ส.เก่า ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้ายังอึมครึม

 
24 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะ ครั้งที่ 2/1 หัวข้อ บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ตอน "รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้งครั้งแรกสู่ประชาธิปไตย" โดยมี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทยและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ร่วมแสดงความคิดเห็น
 
นายจุรินทร์ กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 53/ 2560 เรื่องการดำเนินการตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ทุกครั้งที่ลงพื้นที่มักจะได้รับคำถามจากประชาชนว่าจะเลือกตั้งหรือไม่และจะมีเมื่อใด ซึ่งตอบได้แต่เพียงว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน แต่เมื่อใดไม่ทราบ ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมปยังอึมครึม เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายกกต.และกำลังจะเสร็จอีก 2 ฉบับ คือ กฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รวมถึงมีโรดแมปชัดเจน แต่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่มีอะไรแน่นอน เช่น กฎหมายพรรคการเมืองที่ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2560 คสช.ยังใช้มาตรา 44 แก้ไขได้ ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีอธิบายคำสั่งคสช.ที่ 53/60 โดยระบุว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน เว้นแต่จะมีตัวแปรอย่างอื่น
 
"หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงก็จะอยู่ภายใต้บริบทประชาธิปไตยครึ่งใบ อยู่ภายใต้การกำกับของคสช. ที่มีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นการแข่งขันทางการเมืองที่มีอยู่เดิมกับพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่ ในส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าจะไม่ตั้งพรรคการเมือง ซึ่งตนเชื่อว่าพูดจากใจเพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องตั้งพรรคเองก็มีคนตั้งพรรคสนับสนุนให้ ซึ่งหลังจากนี้จะอีก 1 ปีหรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดนี้จะต้องไม่โกง เร่งปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรม สร้างผลงานให้ชัดเจน และเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน" นายจุรินทร์ กล่าว 
 
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกตคำสั่งคสช.ดังกล่าว ว่า เปรียบเหมือนการรีเซ็ตพรรคการเมืองในทางอ้อมหรือไม่ เพราะภาพรวมประเทศไทยขณะนี้ ยังขาดความเชื่อมั่นในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย เช่น การออก พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาแล้วก่อนหน้านั้น แต่คสช.กลับออกคำสั่งที่ 53/2560 ออกมาอีก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมั่นใจในคำสั่งนี้ว่าจะมีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมรวมถึงกรณีสหภาพยุโรป(อียู) มีหนังสือมายังทางการไทยเรื่องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่แสดงออกทางการเมือง ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งปลดล็อคให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้
 
"3 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยรั้งท้ายในเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ การเลือกตั้งครั้งหน้า ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแมป ผมมองว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แปลกที่สุด เพราะมีมาตรา 44 คอยกำกับอยู่ ทางออกที่ดีที่สุดคือรัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ด้วยการใช้กฎหมายปกติที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมป เพราะการเลือกตั้งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของระบอบการเมือง รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารประเทศด้วยความเป็นกลาง มีจริยธรรม และควรทำให้ประเทศเป็นที่ยอมรับ" อดีตส.ส เพื่อไทย กล่าว 
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 เกิดขึ้นได้ยาก เพราะทุกอย่างต้องนิ่งและต้องเสร็จก่อนอย่างน้อย 3 เดือน เมื่ออ่านคำสั่งที่ 53/60 อย่างละเอียดเห็นว่าที่น่าสนใจคือ ข้อ 8 ที่ระบุว่าเมื่อกฎหมายเลือกตั้งสส. สว.แล้วเสร็จ และประกาศใช้อย่างทางการ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แจ้งคสช. ยกเลิกคำสั่งต่าง ๆ ที่ขัดขวางการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งตอนนั้นฝ่ายพรรคการเมืองจะเป็นฝ่ายบอกเองว่าเลือกตั้งไม่ทัน ขอเลื่อนการเลือกตั้งเอง
 
"ขอแนะนำพรรคการเมืองว่าต้องบอกว่าทัน แต่เมื่อมีการประชุมใหญ่พรรคการเมือง พรรคเล็กที่มีจำนวนมากกว่าจะลงมติว่าไม่ทัน ขอเลื่อน ซึ่งหากเป็นแบบนี้รัฐบาล คสช.ไม่เสียหาย ส่วนที่บางพรรคการเมืองมองว่าคำสั่ง 53/60 เป็นการรีเซ็ตพรรคการเมืองแล้วออกมาโวยวายก็ไม่ได้เดือดร้อนจริง ๆ ซึ่งอาจเข้าทางพรรคใหญ่ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม มีการเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าพรรคที่มีสมาชิกมากจะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นขอแนะนำว่าพรรคไม่ต้องมีสมาชิกมาก เพราะจะบริหารจัดการได้ง่ายกว่า" นายสมชัย กล่าว
 
ขณะที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า คำสั่งคสช.ที่ 53/60 คือการเซ็ตซีโร่ส.ส.เก่าหรือล้างไพ่ ให้ส.ส. สามารถเลือกพรรคใหม่หรือย้ายพรรคได้ โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคเดิม สามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ทันที ซึ่งผลในทางกฎหมายคำสั่งดังกล่าวทำให้ไม่ต้องยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคใด และหากเจตนาของคสช.คือต้องการล้างไพ่ ในส่วนของ ส.ส.ก็สามารถอยู่ได้ หากไม่ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา และการเลือกตั้งครั้งนี้คสช.อาจเตรียมการเข้าสู่สนามการเลือกตั้งไว้แล้ว 
 
"ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้งสส. สว.แล้วเสร็จและประกาศใช้ทางการ ในช่วงนี้จะย้ายพรรคให้เห็น ผมมองว่าคำสั่งคสช.ที่ 53 /60 ไม่ได้เป็นการปลดล็อคทางการเมือง เพราะหากจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังต้องขออนุญาตคสช. ในส่วนคำสั่งล่าสุด อนุญาตให้สามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันสมาชิกภาพพรรคการเมืองหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ป.พรรคการเมืองเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ ยังไม่อนุญาต" นายปริญญา กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิฯ แนะแรงงานไทยในอิสราเอลหากไม่ได้ขึ้นค่าแรงสามารถร้องเรียนได้

Posted: 24 Dec 2017 02:05 AM PST

องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล ระบุหลังอิสราเอลปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หากแรงงานไทยในภาคการเกษตรไม่ได้รับค่าจ้างอัตราใหม่ ขอให้ร้องเรียน "สายด่วนแรงงานไทยในโครงการ TIC-ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตกรุงเทลอาวีฟ-องค์กรคาฟลาโอเวด"


ที่มาภาพ: Kavlaoved Agriculture - องค์กร คาฟลาโอเวด (แฟ้มภาพ)

องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 เป็นต้นไป สถาบันประกันแห่งชาติอิสราเอล (The National Insurance Institute of Israel) ได้ปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอิสราเอลดังนี้

- ค่าแรงรายเดือนขั้นต่ำ 5,300 เชคเกล ต่อเดือน

- ค่าแรงรายวันขั้นต่ำ (สำหรับการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์) 244.62 เชคเกล ต่อวัน

- ค่าแรงรายวันขั้นต่ำ (สำหรับการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์) 212 เชคเกล ต่อวัน

- ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับชั่วโมงทำงานปกติ 28.49 เชคเกล ต่อชั่วโมง

หากแรงงานภาคการเกษตรไม่ได้รับค่าจ้างในอัตราข้างต้น ขอให้ร้องเรียนผ่านทางช่องทางต่อไปนี้ สายด่วนแรงงานไทยในโครงการ TIC 1700 707 889 หรือ hotline@cimi.org.il , ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตกรุงเทลอาวีฟ 09 954 8431-2 labour.israel@gmail.com และองค์กรคาฟลาโอเวด 052 534 9873 หรือเพจ Facebook: Kavlaoved Agriculture - องค์กร คาฟลาโอเวด

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาองค์กรคาฟลาโอเวดเคยแจ้งว่าหน่วยงานภาครัฐของอิสราเอลได้ออกกฎระเบียบให้นายจ้างต้องเปิดบัญชีธนาคารให้แรงงานและชื่อเจ้าของบัญชีต้องเป็นชื่อของแรงงานเท่านั้น นายรวมทั้งนายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนแรงงานผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น ห้ามนายจ้าง, ผู้จัดการคนงาน, หัวหน้าคนงาน หรือบริษัทจัดหางาน เป็นตัวแทนทำธุรกรรมการเงินใด ๆ กับธนาคารแทนแรงงาน โดยระเบียบใหม่นี้จะเป็นการง่ายต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในการตรวจสอบนายจ้างเรื่องปัญหาการจ่ายเงินเดือนของแรงงาน เช่น การจ่ายค่าแรงไม่ถูกต้องตามค่าแรงขั้นต่ำ, จ่ายเงินเดือนไม่ครบ, การจ่ายเงินเดือนช้า การส่งเงินกลับประเทศไทยที่ไม่โปร่งใส, การจ่ายเงินสิทธิต่าง ๆ หรือนายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินเดือนแรงงานเลย

ทั้งนี้คนงานที่ไม่ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารถ้าไม่มีเหตุผลในการคัดค้านเพียงพอแรงงานอาจถูกไล่ออกจากงาน หรือมีโทษแรงถึงเนรเทศออกนอกประเทศ โดยแรงงานไทยในอิสราเอลสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่องค์กร หรือ ร้องเรียนได้ ถ้านายจ้างไม่ช่วยเหลือคนงานในการจัดแจงเปิดบัญชี หรือ ถ้านายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน ผ่านบัญชีธนาคาร หรือนายจ้างไม่ให้เวลาคนงานไปธนาคาร ล่ามภาษาไทย: วันจันทร์, พุธและ วันพฤหัส โทรศัพท์ 052 534-9873

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.คัดค้านเขื่อนฯ ชี้ 14 เหตุผลที่ไม่ควรสร้าง 'เขื่อนแก่งเสือเต้น-ยมบน-ยมล่าง'

Posted: 24 Dec 2017 01:43 AM PST

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ยื่นหนังสือนายก ชี้เหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ระบุเขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือ สัญลักษณ์ ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน

 
 
 
24 ธ.ค. 2560 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง "ขอให้ยุติและยกเลิกโครงการ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ พร้อมเสนอทางออก 14 ประการ และเหตุผลการคัดค้าน 14 ข้อ" โดยระบุว่าจากการที่คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ยุติและยกเลิกโครงการ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ ได้มีหนังสือยืนยันว่ากรมชลประทานได้ยุติโครงการดังกล่าวแล้วนั้น แต่ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีนักการเมืองปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มคนคณะหนึ่ง ไม่ระบุสังกัดประมาณ 10 กว่าคน ได้เข้ามาสำรวจจุดหัวงานบริเวณที่จะสร้างโครงการเขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแม่น้ำยม ต่อมาในวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ได้มีกลุ่มบุคคลใช้รถกรมป่าไม้ ได้มาสำรวจพร้อมมีแผนที่และถ่ายรูปชี้แนวหัวงานเขื่อนยมล่าง โดยชาวบ้านได้ทราบแต่เพียงว่าสันเขื่อนจะยาวกว่า 2 กิโลเมตร 
 
ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาความเหมาสมในการจัดการน้ำขนาดเล็ก ซึ่งพัฒนามาจากแผนการจัดการน้ำ สะเอียบโมเดล โดยมีแม่ทัพภาค 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ให้การสนับสนุน มีการประชุมพัฒนาแผนมา ทั้งในชุมชน จนถึงระดับลุ่มน้ำยม จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานราชการและเอกชนทุกหน่วยงานแล้ว จึงขอให้ท่านได้ผลักดันและดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งตามแนวทางสะเอียบโมเดลที่ทุกฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันมา อันจะก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอให้ท่านได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ยุติการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ไม่ต้องมาสำรวจ ไม่ต้องมาศึกษาสร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านอีกต่อไป ตามที่ศูนย์ดำรงธรรมได้แจ้งว่ายุติโครงการแล้ว
 
การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ การสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงแต่เว้นชุมชนสะเอียบไว้เท่านั้น การทำลายป่า 30,000 – 40,000 กว่าไร่นั้น จึงเป็นการทำลายชาติ ทำร้ายชุมชน ผลาญงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ ทั้งที่มีทางเลือก มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมอย่างน้อย 14 แนวทาง อาทิ การทำแก้มลิงโดยกรมทรัพยากรน้ำ 398 จุดก็สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จุน้ำได้ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และมากกว่าเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างถึง 2-3 เท่า อีกทั้งใช้งบประมาณเพียง 4,000 ล้านบาท น้อยกว่างบสร้างเขื่อน 3-4 เท่า โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ศึกษาไว้แล้ว สามารถทำได้เลย
 
การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น 3-6 เท่า ใช้งบประมาณน้อยกว่า และกรมชลประทานศึกษาไว้แล้วถึง 26 แหล่ง ก็สามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องทำ EIA. และ EHIA. เพราะมีผลกระทบน้อย เพียงแต่ทำประชาคมชุมชนก็สามารถดำเนินการได้
 
ดังนั้น คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอให้ท่านได้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง และผลักดันแผนการจัดการน้ำ สะเอียบโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน จึงขอให้ท่านประกาศยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ที่สร้างปัญหาก่อให้เกิดความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน โดยมีมติ ครม. รองรับอย่างเป็นทางการ
 
เหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง
 
1.ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย
 
2.ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้
 
3.ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง 
 
4.การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย
 
5.ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง
 
6.ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน
 
7.ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม
 
8.ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น
 
9.ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุโครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิชุมชน อย่างร้ายแรง ซึ่งต้องยกเลิกโครงการโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ อีกมากในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
10.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้นข้อกล่าวอ้างที่ว่าหากไม่สร้างเขื่อนก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเป็นความเท็จ เพราะเขื่อนไม่ได้ออกแบบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด อีกทั้งเขื่อนทั้งหมดของประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากยกเลิกการผลิตไฟจากเขื่อนทั้งหมดก็ยังมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ
 
11.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่า 30,000-40,000 ไร่ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิดหลายล้านต้น ซึ่งไม่มีทางที่จะปลูกป่าทดแทนได้ดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ที่ผ่านมามีเพียงการปลูกต้นไม้สร้างภาพแล้วปล่อยให้ตาย ไม่มีสภาพเป็นป่าดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
 
12.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่ามหาศาลอันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน เป็นการทำลายแหล่งผลิตออกซิเจน ซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งชาติและคนทั้งโลก
 
13.เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายแก่งเสือเต้น ท่วมทั้งแก่ง ท่วมทั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ท่วมทั้งป่าสักทอง ทำให้หมดอัตลักษณ์ของความเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทั้งแก่งเสือเต้นและป่าสักทอง จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยมที่เป็นสมบัติของตนไทยทั้งชาติและคนทั่วโลก
 
14.เขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือ สัญลักษณ์ ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน
 
แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยไม่ต้องสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง
 
1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย
 
2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น 
 
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า 
 
4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ
 
5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้
 
8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
 
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
 
13.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจอีกเจ็ดชั่วโคตร
 
14.ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก รองรับสิทธิชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการ ปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์เห็นด้วย 'ค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาท' ทั่วประเทศ

Posted: 24 Dec 2017 12:56 AM PST

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ เป็นผลดีกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการบริโภค จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง 8 จังหวัดเมื่อต้นปีควรได้เพิ่มลดความเหลื่อมล้ำ เสนอศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำควรมี 2 ระบบ 'แรงงานต่างด้าว-แรงงานไทย' หรือไม่? เพื่อกำหนดยุทธศาสตรแรงงานทักษะต่ำสอดคล้องภาวะตลาดแรงงาน 

 
 
24 ธ.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแนวทางการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำว่าเห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาท เป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการบริโภคให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ลดปัญหาคนยากจนในเมืองใหญ่
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าเสนอให้ใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตราเดียวทั่วประเทศ แล้วจึงปรับเพิ่มจากฐานดังกล่าวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ร่วมกับการใช้ยุทธศาสตร์ของประเทศกำหนดตามความเหมาะสม เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยพิจารณาปัจจัยการเคลื่อนย้ายถิ่นของประชากร การลดความแออัดในกรุงเทพฯและหัวเมืองเศรษฐกิจ ส่วนระบบค่าจ้างทั่วไปให้พิจารณาตามความสามารถและผลิตภาพ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีระบบการกำหนดค่าจ้างตามฝีมือแรงงานแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดี การที่คณะกรรมการค่าจ้างนำเอาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 10 รายการเป็นมาตรฐานที่ดีและทำให้สามารถปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำได้อย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลระหว่าง "ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ" และ "ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและของสถานประกอบการ" มากขึ้น อย่างไรก็ตามจังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้างเลย 8 จังหวัดตามข้อเสนอไตรภาคีเมื่อต้นปีควรได้รับการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจากการใช้ระบบอัตราเดียวทั่วประเทศ หากไม่ปรับเพิ่มจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำมาก เสนอให้ศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำ (คนละส่วนกับระบบค่าจ้างทั่วไป) ควรมีสองระบบหรือไม่ ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างด้าวและค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานไทย เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของแรงงานทักษะต่ำได้อย่างสอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศ
 
ดร. อนุสรณ์ ชี้ว่าอุปสรรคต่อการลงทุนของไทยเวลานี้ส่วนหนึ่ง คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ควรไปศึกษาว่าการเปิดเสรีแรงงานในบางสาขาเพิ่มเติมในบางช่วงเวลาควรทำหรือไม่ 
ผลิตภาพแรงงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของไทย ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นมากสุดในกิจการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงิน ยานยนต์ พลังงาน ค้าปลีก บริการทางการแพทย์ ขณะที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง กิจการการศึกษาบางส่วน รวมทั้ง รัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการบางส่วน รัฐควรมียุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษาและสถานประกอบการเพื่อสร้างนวัตกรรมและยกระดับผลิตภาพของแรงงานและทุน ปัญหาที่พบอีกประการหนึ่งขณะนี้ คือ คุณภาพแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาดจ้างงานซึ่งสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย 
 
ความพยายามของกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานในการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะหากไม่ดำเนินการจะเกิดปัญหาต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการโดยเฉพาะสวัสดิการหลังเกษียณเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดดตามโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ International Labour Organization (ILO) หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทยได้เคยศึกษาว่าหากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการแก้ไขสถานะของกองทุนภายในปี 2597 เงินกองทุนประกันสังคม จะไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่สมาชิก แต่หากแก้ไขในประเด็นใหญ่ดังกล่าว จะทำให้สถานะเงินกองทุนสามารถยืนอยู่ได้จนถึงปี 2697 
 
ตนจึงขอสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน ตนสนับสนุนให้มีการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เปิดช่องให้มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนการยืดเวลาการรับผลประโยชน์ทางด้านบำนาญ (การยืดอายุการเกษียณ) ควรจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่าที่ตนมีข้อมูลแนวทางของการแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนประกันสังคม ใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.แก้ไขอายุการเกษียณของสมาชิก จากปัจจุบันที่กองทุนประกันสังคมกำหนดอายุเกษียณที่จะทำให้สมาชิกได้รับเงินบำนาญรายเดือนไว้ที่อายุ 55 ปีจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 ปี โดยเป็นการทยอยปรับขึ้น กล่าวคือ จะปรับอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปีในทุก ๆ 5 ปี จนกระทั่งครบ 60 ปี 2.การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน และ 3.การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในประเด็นเรื่องการลงทุนของกองทุน ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 40% 
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าโดยกระบวนการปรับแก้ไขควรมีการทำประชาพิจารณ์และให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เจ้าของกิจการนายจ้าง นักวิชาการ องค์กรแรงงาน ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินในกองทุนรวมกันราว 1.4 ล้านล้านบาทแต่เงินกองทุนจะลดลงอย่างรวดเร็วมาหลายปีแล้วและมีแนวโน้มลดลงในอัตราเร่งภายใต้โครงสร้างประชากรปัจจุบันและอนาคต กลุ่มคนในยุคเด็กเกิดมาก Baby Boom ทะยอยเกษียณอายุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้สมาชิกกองทุนประกันสังคมรวมกันราว 12 ล้านคน โดย 90% ของเงินทุน เป็นเงินกองทุนเพื่อชราภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยด้วยว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยจำนวนมากจะร่วมจ่ายเพิ่มเติมในกองทุนประกันสังคมอย่างไร เนื่องจากแรงงานต่างด้าวได้เข้ามาใช้บริการพื้นฐานของรัฐไทยมากและเป็นภาระทางการคลังของรัฐไทยสูงมากและสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ควรเตรียมรับมือกับ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบเทคโนโลยีการผลิต ระบบหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยต้องมีระบบการศึกษาและฝึกทักษะสำหรับแรงงานในระบบการผลิตแบบใหม่ภายใต้เศรษฐกิจแบบดิจิทัลและต้องเตรียมรับมือกับการว่างงานของผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษว่าจะเอาคนเหล่านี้ไปทำอะไร โดยจำเป็นต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมและแบ่งปันกันมากขึ้นซึ่งต้องอาศัยกลไกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.แนะใช้สิทธิบัตรทองหยุดยาวปีใหม่ เจ็บป่วยไม่วิกฤตเข้า รพ.รัฐไว้ก่อน

Posted: 23 Dec 2017 11:32 PM PST

สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง เดินทางช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ หากประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง เข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่ แต่ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้า รพ.เอกชน ทั้งที่มี รพ.รัฐอยู่ใกล้ ส่วนกรณีไม่ถึงขั้นวิกฤตแต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ แนะนำให้เข้า รพ.รัฐที่อยู่ใกล้สุดไว้ก่อน

 
24 ธ.ค. 2560 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่นี้ ซึ่งจะมีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองนั้น หากในระหว่างที่เดินทางไปต่างจังหวัดและมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
 
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ หรือ Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด แต่ไม่ใช่ว่ามุ่งเจาะจงไปเข้าสถานพยาบาลเอกชน ขณะที่มีสถานพยาบาลรัฐอยู่ใกล้ หากเป็นแบบนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิ ดังนั้นจึงขอแนะนำว่าเบื้องต้นให้เข้ารักษาที่สถานพยาบาลรัฐไว้ก่อน
 
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่น แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ. เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ยังไม่ถึงขั้นฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ซึ่งกรณีนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง หากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ ซึ่งสถานพยาบาลอื่นนั้น หมายถึงสถานพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนประจำไว้ และสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเช่นเดียวกันคือแนะนำให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราการเบิกจ่ายตามระเบียบที่กำหนดไว้
 
"ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากการเตรียมหลักฐานสำคัญคือบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ยังควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญของการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วได้ เพื่อเป็นความไม่ประมาท ในส่วนของประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
 
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดข้อเสนอแก้ไขวิกฤตฟองสบู่สื่อของผู้ก่อตั้งกลุ่มตรวจสอบ กสทช.

Posted: 23 Dec 2017 11:20 PM PST

เปิดข้อเสนอแก้ไขวิกฤตฟองสบู่สื่อ ของ 'สุวิทย์ มิ่งมล' ผู้ก่อตั้งกลุ่มตรวจสอบ กสทช. ยืนยันการเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของสถาบันสื่อสารมวลชนไม่ใช่ปกป้องกลุ่มทุน

 
 
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ครอบครัวข่าว รายงานว่านายสุวิทย์ มิ่งมล ผู้ก่อตั้งกลุ่มตรวจสอบ กสทช. เปิดเผยถึงที่มาในการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้มีการแก้ปัญหาฟองสบู่สื่อ ควบคู่กับแนวทางการปฏิรูปสื่อ เนื่องจากกลุ่มตรวจสอบ กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เริ่มติดตามการทำงานของ กสทช. หลังการประมูลทีวีดิจตัล พบว่าเกิดปัญหามากมายกับอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน จากการมีจำนวนช่องทีวีดิจตัลที่มากเกินไป จนหลายช่องประสบภาวะขาดุทน ผู้ประกอบการต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มทุน หรือหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ และลดจำนวนพนักงานที่มีการเลิกจ้างไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 พันคน
 
กลุ่มตรวจสอบ กสทช.จึงเริ่มรวบรวมรายชื่อสื่อมวลชนเพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฏหมาย กสทช. ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายกระทบระบบเศรษฐกิจ ซึ่งยืนยันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มาจากความเห็นของเพื่อนวิชาชีพสื่อมวลชน ที่จะต้องการรักษาคุณภาพของวิชาชีพสื่อสารมวชนที่มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของสังคม ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อปกป้องกลุ่มทุน
 
นายสุวิทย์ ตั้งเป้าจะยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่สองของปี 2561 โดยรวบรวมรายชื่อสื่อมวลชนและผู้สนใจ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
 
ทั้งนี้ในส่วนหนึ่งของข้อเสนอแก้ไขวิกฤตฟองสบู่สื่อระบุว่า "ระบุว่า ปัจจุบันเกิดปัญหามากมายกับอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน หลังการประทูลทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านเนื้อหาและสังคม เมื่อสื่อมวลชนต้องอยู่ภายในเรตติ้งและโฆษณา อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน ประสบภาวะขาดทุน และมีการเลิกจ้างพนักงานมากที่สุด อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะที่ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีขึ้น"
 
"อย่างไรก็ตาม แนวทางการฏิรูปดังกล่าว อาจไม่เกิดขึ้นตรงตามเป้าหมาย ที่ต้องการให้สื่อมีจริยธรรม และตรวจสอบกันเองได้ เนื่องจากสื่ออยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเรตติ้งและโฆษณา เป็นผลโดยตรงมาจากภาวะฟองสบู่สื่อ ที่เกิดขึ้นหลังการประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งมีการเพิ่มช่องมากเกินจริงกว่าอุตสาหกรรม และการดำเนินการของ กสทช.บางอย่างไม่เป็นไปตามสัญญา" 
 
"โดยที่ผ่านมา การแก้ปัญหา ของผู้ประกอบการใช้วิธีเพิ่มทุน หรือหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ และการลดจำนวนพนักงาน เพื่อลดต้นทุน ทำให้มีจำนวนผู้ถูกเลิกจ้างมากกว่า 2,000 คนแล้ว ทั้งนี้กระบวนการแก้ปัญหาที่ผ่านมาของ กสทช. ยืนยันแต่เพียงทำตามกฎหมาย จึงเห็นว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมาย กสทช.และกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นทางออกให้กับปัญหาวิกฤตฟองสบู่สื่อ ควบคู่ไปกับนโยบายสื่อที่รัฐบาลกำลังมีนโยบายในปัจจุบัน"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น