โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับ ‘กฤษกร ศิลารักษ์’ ชีวิต วิธีคิดและความในใจของผู้ถูกเรียก ‘ปรับทัศนคติ’ 18 ครั้ง

Posted: 05 Dec 2017 09:51 AM PST

เรื่องราวของที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลเมื่อถูกสามเหล่าทัพเรียกตัวเข้าค่ายรวม 18 ครั้ง เผยประสบการณ์ทหารกดดันจนแม่และเพื่อนร่วมงานขว้างโทรศัพท์ทิ้ง เปิดแนวคิด วิธีต่อรองทหาร ติดงานก็ไม่ไป ชี้เลื่อนนัดศาลได้ทำไมจะเลื่อนนัดทหารไม่ได้ ระบุจุดอ่อน คสช. คือมุ่งสู่ประชาธิปไตย ประชาสังคมต้องอธิบายให้ได้ว่าเรานำเทรนด์

การถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหาร 'ปรับทัศนคติ'กลายเป็นหนึ่งในกิมมิคที่มาคู่กับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่แรกเริ่มของการยึดอำนาจ แต่ไม่บ่อยครั้งที่ชีวิตของคนที่ถูกเรียกตัวเข้าค่ายหลายครั้งหลายหนจะถูกพูดถึง

ป้าย-กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล เป็นอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทในเวทีภาคประชาชนมายาวนาน และได้ตกเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดีและการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐยาวนานพอกัน ตราบจนขณะนี้เขาโดนคำสั่งเรียกตัวเข้าค่ายทหารไปแล้วถึง 18 ครั้ง พร้อมทั้งโดนฟ้องหมิ่นประมาทสองคดีจากเอกชนและผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีจากการเคลื่อนไหวของเขา

ประชาไทคุยกับกฤษกรในฐานะผู้ถูกเรียกตัวบ่อยครั้งถึงชีวิต จิตใจ แนวคิดการต่อรอง การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร มุมมองต่อการขับเคลื่อนมวลชน ความกลัวและความกดดันในการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารที่เรียกตัวบุคคลเข้าค่ายทหารเป็นว่าเล่นจนวันนี้ยอดทะลุไปถึงหลักพันคนแล้วในวันที่ประตูเขื่อนปากมูลปิดสนิทก่อนที่มันควรจะเป็น เฉกเช่นเดียวกับบานประตูสู่ประชาธิปไตยที่ประเดี๋ยวเปิดประเดี๋ยวปิดตามใจหัวหน้ารัฐบาล

สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ค้านปิดเขื่อนปากมูล 8 บาน ร้อง ปลดผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ

ทำไมถึงถูกเรียกตัวได้ถึง 18 ครั้ง

เนื่องจากผมทำงานเคลื่อนไหวกับชาวบ้านโดยเฉพาะชาวบ้านที่ปากมูล และการเคลื่อนไหวไม่ได้เริ่มต้นหลังรัฐประหาร แต่มันก็มีการเคลื่อนไหวรุนแรงมาตลอดตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยคุณอภิสิทธิ์เรายึดรถไฟ สมัยคุณยิ่งลักษณ์เราก็ยึดรถไฟ ไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเรื่องปรกติ

หลังรัฐประหาร ไทยพีบีเอสเขาจัดเวทีเรื่อง เสียงที่คุณต้องฟังก่อนปฏิรูป แล้วทหารก็ไปแสดงอำนาจอิทธิพลล่วงเกินผู้ดำเนินรายการคือคุณณาตยา (ณาตยา แวววีรคุปต์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารรายงานต่อผู้บริหารไทยพีบีเอสเนื่องจากไม่พอใจการดำเนินรายการดังกล่าวของเธอ อ่านต่อ) ซึ่งเราก็มองว่าการกระทำแบบนั้นมันคุกคามเสรีภาพเกินไป ไม่ใช่การละเมิด แต่เป็นการคุกคามเสรีภาพของคน เราก็ออกแถลงการณ์ ซึ่งทำให้ทหารไม่พอใจและเชิญเราไปปรับทัศนคติ แล้วก็ทราบทีหลังว่าครั้งนั้นค่อนข้างหนัก เพราะทางทหารขอให้ปิดเฟสบุ๊ค ซึ่งเราก็ปิดบัญชีส่วนตัวแต่บัญชีของเครือข่ายเรายืนยันว่าจะไม่ยอมปิด

สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล จัดงานชุมนุมทุกปี เช่นกรณีเดือน เม.ย. เราจัดงานหยุดเขื่อนโลกทุกปี รัฐบาลทหารก็ห้ามทุกปี เราก็ฟัง แต่หยุดไม่ได้ การจัดทุกปีก็ถูกทหารเรียกมาคุยและขอให้ไม่จัด เราก็ทำตามไม่ได้เพราะมันเป็นประเพณีที่ทำกันมา 20 กว่าปีแล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ที่จะมีทุกปีคือการจัดกิจกรรมยาวตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. เป็นช่วงการเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนก็จะมีการชุมนุมลากยาวไป มันห้ามไม่ได้เพราะคุณไม่ให้เปิดประตูเขื่อน แต่ทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือมีแผนจะชุมนุมก็จะมีทหารไปห้ามปรามทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่ไปเราก็เรียนว่าเราต้องทำเพราะมันเป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้าน

รวมๆ ก็มีการเรียกไปพูดคุยทั้งหมด 18 ครั้ง เป็นทั้งการเรียกเข้าไปคุยทั้งแบบส่วนตัวและเรียกทั้งแกนนำชาวบ้าน แต่ก็ไปแค่ 11 ครั้ง ก็ยอมรับว่าเราต้องทำมาหากิน มีภารกิจมากมาย การที่ท่านเรียกไปพบวันนั้นวันนี้เราก็ทำตามไม่ได้ทั้งหมด ก็ช่วยไม่ได้ถ้าเราติดภารกิจก็ค่อยไป ภารกิจหลักของเราคือการทำงานกับชาวบ้าน สำนักงานของทหารท่านก็อยู่ที่เดิมตลอดเราก็ไปวันไหนก็ได้ ถ้าอยากคุยก็ค่อยไป แต่จะให้ไปปุ๊บปั๊บเลยไม่ได้ ต้องทำงานของเราก่อน

อีก 7 ครั้งทำไมไม่ได้ไป

การเรียกตัวให้ไปพบก็มีอยู่ 3 รูปแบบ หนึ่ง ส่งกำลังสามฝ่าย ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองลงไปตามล่าตัว ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาไม่เจอเรา สอง การส่งหนังสือเชิญ การออกหนังสือเชิญก็จะให้ทหารเอาไปให้ สาม การแจ้งผ่านระบบ คือแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เราเข้าไปพบ

ที่เราไปได้แค่ 11 ครั้ง เพราะว่าบางทีเราแจ้งว่าเราจะชุมนุม คุณก็บอกว่าให้เราไปพบเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะชุมนุมอีก 3 วัน แต่คุณมาบอกว่าให้ไปพบวันพรุ่งนี้ เราก็ไปไม่ได้เพราะติดงานอยู่ เดี๋ยวเสร็จงานแล้วจะไปพบ แล้วพอเราจะไปพบท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรแล้ว ไม่ต้องมา แต่ทุกครั้งเราก็ไม่ได้ไปตามนัดสักครั้งเพราะเราต้องยืนยันว่าเราต้องทำงานตัวเองก่อน แม้แต่ศาลเองถ้าเราไม่สะดวกเรายังขอเลื่อนได้เลย ท่านก็เป็นทหาร เราไม่สะดวกเราก็เลื่อนได้ มันเป็นหลักการทั่วไป ท่านว่างแต่ผมไม่ว่างมันก็ช่วยไม่ได้ ถ้างานเสร็จ สะดวกก็ไป เราก็ทำแบบนี้ ท่านก็ไม่ได้ใหญ่กว่าศาลมั้ง งานทุกอย่างมีการวางแผนมาแล้ว แล้วทหารจะมาบอกว่าไปวันนั้นวันนี้มันก็ไม่ได้หรอก

จากทั้งหมด 18 ครั้ง ส่วนใหญ่ถูกเรียกด้วยเหตุผลอะไร

ร้อยละ 75 มาจากโพสต์เฟสบุ๊ค จากทั้งทหารบก เรือ อากาศ อันที่สองมาจากการขับเคลื่อน มันเป็นแอคชั่นต่อจากเฟสบุ๊ค อันที่สามมาจากเรื่องของระบบการเปลี่ยนตัวบุคคล ผู้ว่าฯ เปลี่ยน ผบ. เปลี่ยน เขาก็เรียกเราไปพบ มันไม่มีเหตุผลเลย

ตลอดเวลา 3 ปี ครอบครัว คนใกล้ตัวมีท่าทีอย่างไรบ้าง

ลูกเมียโอเค แต่แม่หวั่นไหว ลูกเข้มแข็ง ไม่มีปัญหา ภรรยาก็โอเค ตั้งแต่เคลื่อนไหวครั้งแรกผมก็พาครอบครัวไปด้วย ลูกผมเคยขึ้นเวทีไปเป็นโฆษกต่อหน้าคนเป็นพันมาแล้ว ตอนนั้นเขาอยู่มัธยมต้น

พูดง่ายๆ ครั้งแรกถ้าแม่ไม่ขอร้องให้ไปพบทหารผมจะไม่ไป แต่พวกนี้ไปเฝ้า แล้วไปกดดันให้แม่บอกให้ผมไปพบ ทีนี้เราต้องไปตามคำที่แม่บอก มันแย่ ไม่งั้นเราไม่ไปหรอก แต่มันไปกดดันให้แม่โทรหาเรา วิธีที่เขาทำคือเถื่อนมาก คือไปที่บ้าน แล้วแม่ก็บอกว่า ไม่รู้เบอร์ จำเบอร์ไม่ได้ว่าลูกเบอร์อะไร มันไม่เชื่อ ทีนี้หญิงชราอายุ 60 จะไปจำอะไรได้ มันก็ไปไล่ให้แม่กดโทรศัพท์ แม่ก็กดบ้างไม่กดบ้าง แกกดไม่เป็น สุดท้ายแม่ขว้างโทรศัพท์ใส่กำแพงบ้าน โทรศัพท์ก็เจ๊งไป หาเบอร์กันไม่เจอ

การทำแบบนั้นมันถ่อยมาก มันคุกคามมาก คือคุณถามแล้วติดต่อไม่ได้มันก็ควรจบแค่นั้น ไม่ใช่แค่นั้น มีครั้งหนึ่งที่ทหารไปหาผมที่สำนักงาน แล้ววันนั้นมียามเข้าเวร เราก็ไม่รู้ยังไงวันนั้นออกไปกินข้าวพักหนึ่งพอดี ทีนี้คนที่เฝ้าอยู่ก็บอกว่าทหารมาหา เราก็เลยให้บอกว่าเราไม่อยู่ ไปลงพื้นที่ ก็ไปลงพื้นที่จริงๆ นะ ถ้าทหารขอเบอร์ผมก็ขออนุญาตไม่ให้เบอร์ แต่ทหารก็ไปขู่แก แกก็บอกตรงๆ ว่าให้เบอร์ผมไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกผมไล่ออกเพราะผมเป็นผู้จัดการ สุดท้ายแกก็ขว้างโทรศัพท์ใส่กำแพง ดีว่าโทรศัพท์ไม่แพง เครื่องละห้าหกร้อย

พอไปค่ายแล้ว เขาให้คุณทำอะไรบ้าง

ไปทำเอ็มโอยูว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เช่น ไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ไปอภิปรายทางการเมือง ไม่เข้าร่วมเวทีวิชาการทางการเมือง ไม่จัด ไม่นำพา สอง ไม่มีการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ขัดต่อคำสั่ง คสช. มีอยู่ประมาณ 4-5 ข้อ อีกข้อหนึ่งก็ห้ามออกนอกราชอาณาจักรหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้า คสช. ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทำตาม

นอกจากนั้นก็มีการเรียกไปคุยกันทั่วไปว่าสิ่งที่ทำตอนนี้ คสช.เป็นห่วงว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ผิดคำสั่ง ยุ่งยากใจเพราะจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ไม่ให้ชุมนุมเกิน 5 คน แต่มันก็ช่วยไม่ได้ ตอนปี 2558 ที่ไปชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.อุบลฯ เราก็ไปกันพันกว่าคน คุณบอกว่าผิดกฎหมาย เราก็บอกว่าชาวบ้านเรียกร้องมาก่อน ส่วนคำสั่ง คสช. นั้นเพิ่งมามีทีหลัง

มันมีสองครั้ง ครั้งแรกในปี 2558 เดือน มิ.ย. เราก็บอกว่าคุณต้องเปิดเขื่อน ชาวบ้านก็ชุมนุมกัน ก็มีการตั้งด่านราว 20-30 ด่าน เริ่มตั้งแต่ที่ อ.พิบูลมังสาหาร ชาวบ้านก็จัดขบวนมาอย่างดี มีธงมีอะไรมา พอมีด่านชาวบ้านก็ไม่จอด พอไม่จอดตำรวจก็เปิดด่านเพราะด่านไม่ใช่ด่านปิด ชาวบ้านก็ขับตามกันไป ไม่ได้จอด เขาก็หาว่าเราฝ่าฝืนคำสั่ง ก็ช่วยไม่ได้เพราะคำสั่งมาทีหลังการกระทำ

ได้เรียนรู้อะไรจากการถูกเรียกตัวหลายครั้งขนาดนี้

ผมเข้าสู่วงการก่อนมีการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อปี 2549 มันมีจุดสำคัญตรงที่ช่วงนั้น คมช. คุมอำนาจสั้นๆ แล้วตั้งท่านสุรยุทธ์ (จุลานนท์) เป็นนายกฯ การบริหารงานระหว่างรัฐบาลกับ คมช. ค่อนข้างจะแยกกันอยู่ ที่ผ่านมาไม่เห็นการใช้กลไกมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับมวลชน ทั้งยังไม่มีการประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติที่มีผลยาวนานอย่างกรณีคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีผลอย่างมาก

ครั้งก่อน (รัฐประหาร 2549) ไม่เคยมีการเรียกคนนั้นคนนี้เข้าไปปรับทัศนคติโดยเฉพาะชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง พอมาเรียกแล้วเรียกบ่อยจนน่าเกลียด ทำให้เป็นการคุกคามค่อนข้างรุนแรง แม้การเรียกไปคุยจะไม่มีการเรียกหรือจำกัดพื้นที่แต่ก็มีผลทางจิตวิทยาว่า การที่ทหารเรียกไปพบทำให้มวลชนค่อนข้างประหวั่นพรั่นพรึงพอสมควร การที่ทหารไปคุยกับผู้นำการชุมนุมหรือผู้นำองค์กรถึงบ้านเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและเป็นอุปสรรคกับการทำงานภาคประชาชนมาก

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการที่เขาเรียกเรา 18 ครั้งและบังคับให้เราไปพบเขาได้ 11 ครั้ง ก็สะท้อนว่าเขาไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเคลื่อนไหวต้องเดินหน้าต่อเพียงแต่มีข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ในมุมกลับ ผมคิดว่าถ้ามีการคุกคามมากขึ้นในขณะที่ระยะเวลาลากยาวมาขนาดนี้ ในขณะที่ปัญหาชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไข มันจะเป็นแรงสวิงกลับ ผมคิดว่าฝ่ายทหารต้องคิดว่าการที่คุณเรียกใครต่อใครไปหลายครั้งไม่ได้ทำให้เขากลัว แต่คุณต่างหากที่ต้องคิดหนักว่าการใช้วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมเขาได้ อาจต้องคิดให้มากขึ้นว่าอำนาจที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะควบคุมสิทธิที่จะดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ของชาวบ้านได้

เห็นความเปลี่ยนแปลงของเจ้าหน้าที่ทหารไหมนับตั้งแต่วันแรกที่โดนเรียกตัว

ในช่วงสามปีนี้มี ผบ.มทบ. สองคน ท่านแรกค่อนข้างที่จะใช้อำนาจเยอะ มีคำสั่งไปแล้วก็ต้องควานให้เจอ มันมีครั้งหนึ่งที่เขาออกหมายไปเรียกแกนนำชาวบ้านแล้วเรียกมาผิดตัว ชื่อนายทวี ทองเทพเหมือนกัน แต่เป็นคนละคนกัน ชาวบ้านไม่รู้เรื่องก็พลอยโดนไปด้วย วิธีการก็คือเขาให้ปลัดอำเภอเอารถไปรับจากบ้านมาที่ มทบ.22 ตอนช่วงปี 2557-2558 เข้มข้นมาก

พอมาปี 2559-2560 ก็ดีขึ้นหน่อย มีหนังสือแจ้งล่วงหน้า หลังแจ้งเสร็จก็ค่อยส่งทหารลงไป และไปไม่เอิกเกริก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วย 2-3 คัน ไม่ใช่สนธิกำลังกัน นุ่มนวลขึ้นเยอะ การมาคุยที่ มทบ.22 ค่อนข้างให้เกียรติเพราะชุดหลังมีการมาให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนทั่วไป ไม่คุกคามเหมือนแรกๆ องค์ประกอบการคุยก็ครบส่วน คือมีส่วนทหารที่ประกอบด้วยฝ่ายบัญชาการ ฝ่ายคุมกำลัง ฝ่ายเสนาธิการ ฝ่ายทหารพระธรรมนูญ แล้วก็มีฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจ ก็ต่างกันอยู่ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจเพราะคนนั่งหัวโต๊ะเปลี่ยนไปเลยทำให้รูปแบบเปลี่ยนไป บรรยากาศดีขึ้น จะเกี่ยวกับรัฐบาลหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คนหัวโต๊ะเปลี่ยน 11 ครั้งที่ไปมาคือ มทบ.22 ที่เดียว ค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ อยู่ที่อุบลฯ

รัฐประหารมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของคุณมากน้อยขนาดไหน

มันเปลี่ยนไปเยอะอยู่ ใหญ่ๆ ก็ยุ่งยากมากขึ้น เราต้องอธิบายมากขึ้น ในขณะที่การอธิบายกับทหารไม่ได้เพิ่มพูนสติปัญญาและไม่ได้ทำให้เกิดวิธีการแก้ปัญหา แต่มันเป็นภาวะที่ไม่มีทางออก ไม่มีครั้งใดที่ไปหาทหารแล้วคุณบอกว่าคุณสามารถแก้ไขปัญหาชาวบ้านได้ แต่คุณบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการแก้ไขปัญหา ให้อยู่ในความสงบ การอยู่ในความสงบ ไม่ต้องทำอะไร แต่คุณก็ไม่ทำอะไรเหมือนกันมันไม่ใช่ทางออก มันเป็นการสร้างภาระความยุ่งยากมากขึ้น

สอง ไม่มีการกระทำของรัฐบาลชุดไหนที่เข้าไปยุ่งกับชีวิตส่วนตัว รัฐบาลชุดนี้แย่มาก ไปทำให้ครอบครัวโดยเฉพาะแม่ตกใจ เป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ คุณมีปัญหา ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวก็อยู่ที่ตัวคนทำ ครั้งแรกที่ทหารไปที่ 7 พื้นที่ที่คิดว่าเราจะอยู่ รวมทั้งบ้านด้วย แล้วการไปบ้านคือไปกันสามฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง แล้วพอไปก็ไม่รู้ที่อยู่บ้าน ก็ให้กำนันพาไป กำนันก็ไปหาผู้ใหญ่บ้านเพราะกำนันเองก็ไม่รู้จักบ้านแต่บังเอิญกำนันไม่เจอผู้ใหญ่บ้าน กำนันเลยไปประกาศเสียงตามสายเพื่อจะเรียกผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้าวอยู่ให้มาพบ คนทั้งหมู่บ้านออกมาดูว่ายกกำลังกันมาทำอะไร กองกำลังสามฝ่ายยกกันมาประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งมันแย่มาก

นอกจากนั้นยังไปคุกคามชาวบ้านและเพื่อนร่วมงาน ไปคุยกับชาวบ้าน คุยกับแกนนำ ครอบครัว ญาติพี่น้องแกนนำ ไปบอกว่าการทำแบบนี้ผิดกฎหมาย ผิดคำสั่ง คสช. แบบนั้นแบบนี้ ทำให้เกิดภาระยุ่งยาก เกิดความกังวลใจของญาติพี่น้องของผู้นำ มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น

หนักที่สุดโดนอะไร

กับตัวขบวนมีสองครั้งที่มาขอพบฝ่ายการเมืองที่ทำเนียบ มากันไม่เยอะ ประมาณ 20 กว่าคน พอมาแล้วเขาจะให้ชาวบ้านไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมของทำเนียบ เราก็ไม่ยื่นเพราะไม่ได้มาร้องเรียนแต่มาตามเรื่อง พอไม่ยื่นเราก็นั่งรอตรงประตูทำเนียบ ทีนี้ทหารมากันใหญ่เลย ชาวบ้านก็นั่ง แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรชาวบ้าน

ครั้งที่สาม ที่อุบลฯ ชาวบ้านบอกว่าจะไปกัน 30 คน แต่เขามองว่าชาวบ้านอาจจะมาเยอะ เลยตั้งกองกำลังกัน 500-600 คน แต่ชาวบ้านไปแค่ 30 คน เอากำลังมากันเยอะจนนักข่าวหัวเราะ ก็เราบอกแล้วแต่เขาไม่เชื่อ เขาคิดว่าเราจะมาเยอะ จะทำลับ ลวง พราง สุดท้ายก็ขำแตก

ครั้งล่าสุดคือปีนี้ น่าจะช่วง ก.ค. มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากปนัดดา (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นออมสิน (ออมสิน ชีวะพฤกษ์) เราก็บอกว่าเราไม่เอาออมสิน เราก็ไปทำเนียบ เขาก็จะให้เราไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรม เราก็บอกว่าเราไม่ยื่น เราจะขอพบรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ทีนี้ไม่ได้ไป ตรงหน้าเชิงสะพานชมัยมรุเชฐจะมีตู้ไปรษณีย์ เราก็บอกว่าไม่ไป แต่ให้ขึ้นไปบนตึก คุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อจะแจ้ง เราก็บอกว่าแจ้งเยอะแล้ว ไม่แจ้ง เราเลยทิ้งจดหมายไว้ใต้ตู้ไปรษณีย์ เขาก็หาว่าเราไม่ให้เกียรติ ก็เขาให้เราไปคุยกับเจ้าหน้าที่ซี 3 ที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ เราจะคุยทำไม กลับมาก็โดนเรียกตัว

มีวิธีต่อรองกับทางการอย่างไรบ้างเวลาถูกเรียกตัว

เรื่องเรียกตัวนี่ถูกเรียกจากทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ทหารบกนี่เป็น มทบ.22 ทหารอากาศคือกองบิน 21 ซึ่งเป็นกองทัพอากาศในอุบลฯ ส่วนทหารเรือดูแลพรมแดนแม่น้ำโขง ทีนี้ทหารบกก็อย่างที่เล่า ทหารอากาศมีครั้งหนึ่งที่ รมต. ปนัดดา ไปอุบลฯ ในเรื่องปากมูล เราก็แถลงว่าเราอยากเจอปนัดดา ในฐานะที่มาอุบลฯ จะไม่เจอชาวบ้านปากมูลไม่ได้ ทีนี้ฝ่ายราชการก็ไม่ยอมให้เจอ เราก็ถามว่าถ้าจะเจอปนัดดาจะเจอที่ไหนได้บ้าง เพราะว่าสนามบินอุบลฯ เข้าออกได้ทางเดียว ถ้าเราจะเจอเราจะดักที่สนามบิน แล้วคุณจะทำอย่างไร จากเคสนี้ทำให้ทหารอากาศเรียกตัวไป

ส่วนทหารเรือ เมื่อปี 2559 มันมีการบังคับใช้กฎหมายประมงเรื่องการห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ ที่ผ่านมาตรงนั้นไม่เคยมีการห้ามแบบนี้ เราเลยรู้สึกรับไม่ได้ เลยอยากจะไปจับภาพที่ทหารเรือไปไล่จับชาวบ้าน ก็โพสต์เฟสบุ๊คไลฟ์ไป ทำให้ ผบ. ทหารเรือที่คุมโซนแถวนั้นมาเรียกตัว แต่การพบทหารเรือนี่นำไปสู่คำถามที่ผ่านมาว่าได้ข้อสรุปอะไรบ้าง อันนี้ไม่รู้นะ คือเรารู้ว่าทหารเรือจะไปจับชาวบ้าน เราก็โพสต์ขู่เลยว่าเราจะไปดักจับทหารเรือ เตรียมเฟสบุ๊คไลฟ์อย่างดีเลย แต่มันไม่มีใครมา ทีนี้ ที่โขงเจียมมีร้านกาแฟอยู่ร้านเดียว ทั้งเมืองมีร้านเดียวซึ่งเป็นร้านที่เราชอบไปนั่งกินกาแฟ แล้วนิสัยเราคือ เข้าไปก็ถ่ายรูป กินกาแฟ เช็คอิน พอผ่านไป 5 นาทีทหารก็มาประกบแล้วก็แจ้งว่าผู้การฯ ขอเชิญไปพบพรุ่งนี้ น้องที่ไปด้วยกันก็ตกใจ เราก็ติดต่อทนาย ติดต่อทีมงานต่างๆ เราก็ไม่ว่างด้วย ก็ตอบกลับไปว่าขอพิจารณาก่อนว่าจะไปหรือไม่ไป พอวันหลังเราก็โพสต์บอกตั้งแต่เช้าก่อนเวลานัดว่าเราติดงาน ขอเลื่อนไปอีกสามวัน เปลี่ยนเวลาจากเช้าเป็นบ่ายเพื่อรอทีมทนายมา

พอตอนบ่ายถึงเวลานัดตามที่แจ้งในเฟสบุ๊คเราก็ขับรถเข้าไปที่ทำการทหารเรือ ทหารก็บอกว่า ผู้การให้มาตอนหนึ่งทุ่ม เราก็กลับออกมาแล้วแจ้งไปว่าหนึ่งทุ่มมันนอกเวลางาน ไม่สะดวก เพราะเราทำงานหนักเราอยากพักผ่อน ถ้าประสงค์จะพบอีกให้แจ้งผ่านเฟสบุ๊คมาอีกทีหนึ่ง ก็ไม่มีการแจ้ง สุดท้ายก็ไม่ได้เจอกัน เราไปถึงหน้าค่ายแล้วนะ ตอนนั้นเราไปกับศูนย์นักกฎหมายสิทธิฯ แต่ไม่ได้เจอ ก็เลยพากันไปกินส้มตำแล้วก็กลับ

มันไม่ใช่เทคนิคอะไรหรอก แต่คำสั่งที่เขาสั่งมามันไม่ได้ถามไถ่ว่าเราสะดวกไม่สะดวก บอกให้เราไปตามเวลา และให้เชิญชาวบ้าน มีครั้งหนึ่งที่เขาเชิญชาวบ้านไป 14 คน เราก็ถามว่าจะเชิญชาวบ้านไปทำไม เราไปเองดีกว่า ถ้าผมไปแล้วไม่ได้อะไร ก็ให้เชิญชาวบ้านไปเพราะชาวบ้านไม่ใช่ผู้ต้องหา เราก็ไม่ให้ชาวบ้านไป แต่เราก็ให้เกียรติ ถ้าบอกว่าไม่ไปกันหลายคนก็ต้องทำตามนั้น

แต่การที่เราไม่ไปก็ดีอย่างหนึ่ง เพราะหนังสือส่วนมากไม่ให้เตรียมตัว ไม่เคยมีที่ส่งมาวันนี้แล้วให้ไปอีกสามวัน แบบนี้ใช้ไม่ได้ เรามีงานอยู่แล้วว่าต้องทำอะไร มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสั่งแบบนี้ แม้แต่ศาลยังมีเวลาตั้ง 15 วัน 7 วัน แล้วยังเลื่อนได้ เราไม่ได้ขัดคำสั่ง แต่เราไม่สะดวก ไม่ได้ขัดคำสั่ง แต่จะไปวันหลัง

ถ้าการเรียกตัวมีผลทางจิตวิทยาแล้วทำไมยังเลือกที่จะยังอยู่ทำงานในพื้นที่ต่อ

คือการเคลื่อนไหวชาวบ้านมันไม่ได้เพิ่งเกิด ชาวบ้านผ่านบรรยากาศการรัฐประหาร ผ่านบรรยากาศการคุกคาม ถ้าเทียบกับปัจจุบันยังเบากว่าแรกๆ ในยุคของการสร้างเขื่อนช่วงก่อนรัฐบาล คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 ยุคแรกแยกไม่ออกเลยว่าใครเป็นใคร ทั้งนายทุน เอกชน มือปืน ใครต่อใครก็มา ตอนนั้นโหดกว่านี้เยอะ ทำให้ชาวบ้านเติบโต ผ่านสถานการณ์ที่พีคสุดมาแล้ว บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้บั่นทอนอะไรเขาหรอก และที่สำคัญคือ เขาสู้มาถึงวันนี้ 27 ปี แล้วเขาก็ยังมีระบบการรวมกลุ่ม มีผู้เดือดร้อนจริง เพียงแค่เงื่อนไข บรรยากาศทางการเมืองจะมาจำกัดบ้างในบางด้าน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป้าหมายหลักคือการเรียกร้องความเป็นธรรม ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิดมันก็ต้องมีการเรียกร้องต่อไป ไม่มีทางหยุดเขาได้หรอก

ผมมองว่า สิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเริ่มรู้คือ คุณไม่มีทางหยุดชาวบ้านได้ คุณจัดการผมเสร็จมันก็มีคนอื่นมาเรื่อยๆ ไม่มีทางล้มขบวนการได้ มันเป็นขบวนการที่เป็นธรรมชาติเพราะมีชาวบ้านเดือดร้อน ฝ่ายผู้มีอำนาจเลยคิดว่าถ้าไปทำอะไรที่มันเลยเส้นมันน่าจะมีผลลบมากกว่าผลบวก นอกจากนั้นสิ่งที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนทำมามันได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด ผมว่าตรงนี้เป็นต้นทุนที่สำคัญที่ทำให้ฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบันคิดหนักพอสมควรว่าจะวางท่วงทำนองในการทำปฏิบัติการลงมาอย่างไร

นอกจากการใช้อำนาจกับกองกำลังของทหารแล้วยังมีการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรม ทั้งการยัดข้อหา พ.ร.บ.ประชามติ การสร้างขบวนการเพื่อทำเรื่องคดีหมิ่นประมาท มันเป็นแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น ไม่ได้ไปยับยั้งขบวนการทั้งหมดได้หรอก

ที่เรารอดถึงวันนี้เป็นเพราะเครือข่าย คอนเนคชั่นหรือชื่อเสียงที่มีหรือเปล่า

เครือข่ายสำคัญมาก พวกเราทั้งฐานะขบวนชาวบ้านและส่วนตัวไปช่วยสนับสนุนขบวนชาวบ้านทั่วประเทศทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ คนเหล่านี้เขาไม่ทิ้งเราหรอก ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขารู้ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเรา คนเหล่านี้ไม่ทิ้งเราหรอก เขาเลยค่อนข้างระมัดระวังพอสมควร

เป็นเพราะพื้นที่เป็นทำเลทองที่ทหาร นายทุน ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือเปล่าที่ทำให้รอดถึงทุกวันนี้

อันนี้พูดยาก แต่เข้าใจได้ว่าพื้นที่ปากมูลมันเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจะเป็นรูปแบบขบวนการที่ต่อเนื่องและยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แล้วก็มีมวลชน มีชาวบ้าน มากกว่านั้นที่นั่นไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว ที่นั่นมีเครือข่าย แนวร่วมจากหลายสาขา หลายอาชีพ หลายกลุ่ม อันนี้น่าจะเป็นเกราะที่ทำให้เราปลอดภัยถึงวันนี้ได้

มีคำแนะนำให้ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสภาวะการเมืองอย่างนี้บ้างไหม

พูดตรงๆ นะ คือมันไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก สิ่งที่คุยกับคนที่มาเรียกตัวทุกครั้ง จะเรียกว่าเป็นบุคลิกก็ได้ ถ้าคนที่คุยกับผมตำแหน่งต่ำกว่าระดับนายพันผมก็จะบอกเขาว่า ท่านครับ อันนี้เป็นเรื่องระหว่างองค์กรกับองค์กร ท่านเป็นทหาร เราเป็นภาคประชาสังคม ท่านน่าจะให้เกียรติเราบ้าง พวกยศนายร้อยมาเราไม่คุย เราก็ว่าท่านไม่ธรรมดาเรารู้อยู่ แต่ท่านตัดสินใจอะไรไม่ได้หรอก ท่านเป็นลูกน้องเขา ต้องให้คนที่ใหญ่กว่านี้มา ที่ผ่านมาทำแบบนี้ก็ไม่เห็นน่ากลัวอะไรเลยนะ เราต้องมั่นใจว่าเรามีอำนาจของภาคประชาชนที่บริสุทธิ์ ซึ่งต้องบอกให้เขารู้และให้เขาปฏิบัติตามด้วย ที่เขาทำมาก็ที่บอกไป แต่ไม่ได้บอกแบบก้าวร้าว บอกให้เขาเข้าใจว่าระดับนายร้อย นายสิบ ระดับปฏิบัติเขาตัดสินใจไม่ได้ เรื่องระดับองค์กรต้องให้ผู้บริหารตัดสินใจ ให้เขาเข้าใจระบบเรา ทุกครั้งที่ผมไป ผบ. ต้องนั่งหัวโต๊ะเอง แต่เราอย่าก้าวร้าว ต้องใช้ท่วงทำนองที่เป็นมิตรและเป็นเหตุเป็นผล

อย่าปฏิเสธการคุยกับชั้นผู้น้อย จงคุยกับเขาให้เขาเข้าใจว่าเราและเขาควรทำหน้าที่อะไร และให้เขาทำในสิ่งที่ควรจะเป็นในเชิงองค์กร มันไม่น่ากลัว สอง ตราบใดที่เรามีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องอธิบายว่าเราเชื่อในประชาธิปไตย มันมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของ คสช. คือ คสช. ยอมรับหลักการประชาธิปไตยที่ดีและกำลังไปสู่มัน เราก็ต้องบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือประชาธิปไตยซึ่ง คสช. ยังไปไม่ถึงเรา ต้องอธิบายให้เขารู้ และยกรูปธรรมให้เขาเห็นว่าเราอยู่ในประชาธิปไตยแล้ว คุณยังไปไม่ถึงเรา คุยกับเขาแล้วอธิบายให้เขาเข้าใจ การที่เราปฏิเสธ หลบลี้ มันไม่ถูก ก็คุยกับเขาซะในทางหลักการว่าผู้บริหารท่านจะเอาขนาดไหน เอาประชาธิปไตยหรือเปล่า คุณบอกเราว่ายังไม่ถึงเวลา เอ้า ก็เราไปล่วงหน้าคุณ คุณตามหลังเรามา เราไม่ได้ผิด คุณต่างหากที่ตามเรามาไม่ทัน

จะทำอะไรก็แล้วแต่ ครอบครัวต้องเข้าใจในสิ่งที่คุณทำ อธิบายกับทหาร โครงสร้างอำนาจรัฐให้มาก และต้องอธิบายกับครอบครัวให้เข้าใจมากกว่า พอเขาเข้าใจแล้วเขาไม่มีคำถามหรอก แต่คุณชัดเจนหรือยังว่าคุณอธิบายคนอื่นได้ ปัญหาคือเราสามารถอธิบายได้หรือเปล่า

มันต้องทันคนเหล่านี้ ทหารไม่ได้ศึกษาสังคม การเมืองอะไรมากมาย อย่าไปด่าระดับปฏิบัติ เพราะว่าพวกนี้ไม่รู้หรอก ระบบสายบังคับบัญชาเขาเป็นอย่างนั้น ก็ต้องอธิบายกับเขาว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าเขาไม่เข้าใจก็อย่าแปลกใจ เพราะเขาไม่ได้ถูกทำให้เข้าใจอย่างนั้น แต่ถ้าเขาฟังแล้วเข้าใจก็ถือเป็นกำไรของเรา อย่ารำคาญกับการอธิบาย ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญ ผมว่าพรรคพวกเราไม่ค่อยอธิบายมากกว่ามั้ง ใช้วิธีการปฏิเสธแล้วก็มองว่าคนพวกนี้ไม่มีวันเข้าใจ คนไม่รู้ไม่ผิด ชาวบ้านไม่รู้ว่ามีโครงการลงมา ไม่ผิด ตรรกะเดียวกัน ทหารไม่รู้จักประชาธิปไตยแล้วเขาผิดเหรอ ชาวบ้านและทหารต่างทำในสิ่งที่เขาเข้าใจ ณ ขณะนั้น เราทำงานกับชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่รู้ เราก็ต้องฝึกฝนชาวบ้าน สร้างความสนใจให้ชาวบ้านรู้ ใช้สิทธิ์ ทหารไม่รู้เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งให้รู้แบบนี้ เขาก็ใช้สิทธิ์ตามคำสั่งที่เขารู้มา มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดของเขา มันเป็นเพียงการปะทะกันแค่นั้นเอง เขามาละเมิดเรา แต่ถ้าเรามองมากกว่านั้นมันก็คือเขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ ถ้าเราไม่ทำให้เขารู้และเข้าใจเขาก็จะไม่เข้าใจต่อไป

แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เขาเข้าใจ มันก็เหมือนทำงานกับชาวบ้านแหละ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่าชาวบ้านจะเข้าใจ สองปีสามปีก็ไม่มากไม่น้อยหรอกถ้าจะให้ทหารเข้าใจประชาธิปไตย ชาวบ้านสร้างขบวนการมาแต่ละกลุ่มก็ใช้เวลาสามปีถือว่าเร็วไปด้วยซ้ำ

เจอเรียกตัว 18 ครั้ง กลัวถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าทิ้งบ้างไหม

กลัว ไม่ได้ประมาท มีพรรคพวกที่รู้จักกันถูกอุ้มหายเยอะ และมีสัญญาณบางอย่างว่าเราก็อันตราย ก็ระวังตัวอยู่ ทุกย่างก้าวระมัดระวังตลอด การโพสต์เฟสบุ๊ค การเคลื่อนไหวต่างๆ ถูกคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว การจะไปแต่ละที่ในช่วง 3 ปีมานี้มันถูกออกแบบไว้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีการเปลี่ยนทุกอย่างตลอดเวลา เรื่องความปลอดภัยตอนนี้ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า การอุ้มหายเกิดขึ้นได้ การขึ้นศาลเกิดขึ้นได้

แต่สิ่งที่ต้องสรุปตอนนี้คือ ถ้าหยุดเคลื่อนไหวเมื่อไหร่จะเป็นอันตราย เพราะเขาจะไล่เราเข้าสู่มุมมืด ถ้าเข้าสู่มุมมืดเมื่อไหร่นี่อันตรายมาก อันนี้แล้วแต่คนจะคิด บางคนก็บอกว่า มากไปก็ถอยบ้าง ผมคิดตรงข้ามว่า ถ้าเราถอยเมื่อไหร่จะเป็นอันตราย เราต้องมั่นใจในสภาพที่คุณอยู่ ถ้าคุณมั่นใจก็ต้องเดินไปบนเส้นทางนั้น ในมุมผม คนที่โดนรุกหนักคือคนที่ถึงจังหวะหนึ่งแล้วถอย แม้แต่ไอ้ไผ่ (ดาวดิน) มันถอยนาทีสุดท้าย มันเลยรับสารภาพไง พอมันสารภาพแล้วการต่อรองทางการเมืองมันไม่มีจริง ผมอาจจะคิดผิดในสถานการณ์นี้ ไผ่อาจจะคิดถูกก็ได้ แต่ที่เห็น ณ เวลานี้คือ ไผ่พัวพันเยอะมาก ชีวิตทั้งชีวิตนี้ไม่รู้จะได้อิสรภาพเมื่อไหร่ ทั้งคดี 112 คดียกป้าย พอถอยหนึ่งคดีแล้วมันพันไปเรื่อย มันไม่มีสัจจะในหมู่โจรไง กรณีไผ่เป็นกรณีที่นักเคลื่อนไหวต้องคิดกันว่าการที่ไผ่ยอมรับสารภาพ ฝ่ายอำนาจมันไม่ได้ยอม ผมก็ยืนในจุดที่ผมไม่ยอมตลอด ไผ่มันอาจจะคิดผิด เราอาจจะคิดถูกก็ได้ ซึ่ง ณ เวลานี้อาจเป็นอย่างนั้น แต่พรุ่งนี้อาจไม่ใช่ก็ได้ เหนื่อยแทนมันฉิบหาย

สิ่งที่คนทำงานพวกนี้ต้องตระหนักคือ จุดที่คุณปลอดภัยที่สุดคือท่ามกลางประชาชน ตราบใดที่เขายังรักและศรัทธาคุณอยู่ ประชาชนจะปกป้อง

แล้วเวลาไปหาทหารที่ค่ายทำไมไม่เอาคนไปเยอะๆ

การที่เราไม่ไปเยอะมันทำให้เขาศรัทธาเรามากขึ้น ว่าเราไม่ได้สร้างภาระให้เขา เราแบกรับภาระเอง การเอาชาวบ้านไปด้วยมันมีผลลัพธ์หลังจากนั้น ซึ่งคนไม่มอง การเอาชาวบ้านไปด้วยมันได้ในภาพ แต่หลังจากกลับมา และถ้าไปหลายครั้งมันเป็นภาระชาวบ้านแล้วพวกเขาจะหวั่นไหว สมมติว่าถ้าเขาขยายผลจากนายป้าย ไปหานายสี นายสา พอถึงจุดนั้น นายเอ นายบี จะหายไป แต่พอมีแต่นายป้ายไป คนอื่นมันยังอยู่ แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถจะรักษาคนทั้งหมดได้ถ้าเขาไม่มั่นใจว่าเราปกป้องคุ้มครองเขาได้ แต่ถ้าเขารุ้สึกว่าเขาอยู่กับเราแล้วปลอดภัย เขาก็จะอยู่ต่อไป การสร้างภาระมันก็ได้ช่วงหนึ่ง แต่เวลาผ่านไปเขาจะรู้สึกว่าเป็นภาระและผละจากเราไป เราต้องการรักษาจิตวิทยามวลชน เราเลยยอมเจ็บปวดแทนเขาให้เขาทิ้งเราไม่ได้ มันเป็นอารมณ์แบบนั้นมากกว่า ไม่ต้องสร้างภาระให้ชาวบ้าน นักเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธี เสียอะไรก็เสียได้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะเสียอิสรภาพของผู้ตามเพื่อแลกมาซึ่งอิสรภาพของตัวเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: เกี่ยวก้อยกิมมิค

Posted: 05 Dec 2017 06:38 AM PST

<--break- />


 

"ใครไม่รู้จักน้องเกี่ยวก้อยถือว่าตกเทรนด์" โฆษกกลาโหมกล่าวถึงมาสคอตปรองดอง อย่างคงจะภาคภูมิใจ

ใช่เลย ในโลกโซเชียล ใครไม่ล้อน้องเกี่ยวก้อยถือว่าตกเทรนด์ตุ๊กตาหน้าดำยืมมาจากกองทัพบก ลงทุนซ่อม ซัก ตัดชุดใหม่ 8,000 บาท ด้านหนึ่งก็ต้องชมว่ารู้จักประหยัด แต่อีกด้านก็เหมือนรู้แก่ใจ ไม่รู้จะลงทุนไปทำไม เมื่อเป็นแค่กิมมิคที่ใครก็รู้ว่าไม่เป็นจริง

กระนั้น เท่าที่มีตัวเลขยืนยัน 3 ปี รัฐบาลใช้งบปรองดองไป 1,331 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ผ่าน กอ.รมน.

3 ปีผ่านไป ปรองดองอาจสำเร็จก็ได้ แต่เป็นในมุมกลับ ดังที่มีข้อเสนอ 2 พรรคใหญ่จับมือต้านนายกฯ คนนอก คนที่คุณก็รู้ว่าใคร แม้ไม่สำเร็จเพราะยังด่ากันไม่เลิก แต่ 2 พรรคก็รุมถล่มรัฐบาล คสช.โดยอัตโนมัติ ไม่เหมือนพรรคชาติพัฒนาที่ชม ครม.ใหม่งามตั้งแต่หัวจดบั้นท้าย

มีอย่างที่ไหน ตำรวจพบวัตถุระเบิดที่ฉะเชิงเทรา ใครเอาใส่กล่องไปทิ้งไม่รู้ อ้างว่าเชื่อมโยง "โกตี๋" ซึ่งมีข่าวตายไปแล้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เอามาเป็นเหตุว่าปลดล็อกการเมืองยาก อาจต้องปลดล็อกใกล้เลือกตั้ง

พูดอย่างนี้ ไม่ใช่แค่แกนนำ นปช. พรรคเพื่อไทย วิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาโวยลั่น อย่าเอามาอ้างตีขลุม ยิ่งยืดเวลา เครดิต คสช.ยิ่งลดลง

ไม่แปลกอะไรที่ ปชป.กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมารัฐบาล เพราะ 4 คำถาม 6 คำถาม แสดงความต้องการอยู่ยาวไปจนหลังเลือกตั้ง โดยจะสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งวันนี้โผล่หัวมาแล้ว 1 รายคือพรรคของไพบูลย์ นิติตะวัน แม้ดูจะยังไม่ใช่ของจริง

ครม.สัญจรใต้ ว้ากชาวประมง ปะทะม็อบเทพา ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยน ต่อท่าทีของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน NGO ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป่านกหวีดปิดสนามบินโค่นระบอบทักษิณออกบัตรเชิญรัฐประหาร แต่ 3 ปีผ่านไป รัฐราชการเป็นใหญ่ ใช้อำนาจจัดการความขัดแย้งด้วยนโยบายแข็งกร้าว ก็ทำให้มาถึงจุดปะทุ ซึ่งต่อให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ไม่กลับไปเหมือนเดิม

แหม ขนาดพิภพ ธงไชย เรียกร้องให้ลุงตู่ลาออก จะเหมือนเดิมได้ไง ถึงแม้ไม่ค่อยมีใครแยแสพิภพ ธงไชย แล้วก็ตาม

แน่ละ ภาคประชาชนก็มี 2 ขั้ว นักศึกษาประชาชนประชาธิปไตยใหม่ ไผ่ ดาวดิน คัดค้าน คสช.มานานแต่ถูกตีตราว่าแดง พลัง 2 ข้างคงรวมกันยาก แต่ก็มีลักษณะเดียวกับ 2 พรรคคือต่างคนต่างกระหนาบ

กระนั้นในภาพรวม สถานการณ์รัฐบาลยังไม่ถึงขั้นย่ำแย่ เพราะกองทัพ รัฐราชการ อำนาจต่างๆ ยังจำเป็นต้องผนึกกำลังหนุนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ แบบเดียวกับคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี ภาคธุรกิจ กลัวความไม่มั่นคง มองไม่เห็นอนาคต ก็ยังอยากอยู่อย่างนี้ไปก่อน ขณะที่พลังทางสังคมอ่อนแอ ผู้คนสนใจการเมืองหรือเรื่องส่วนรวมน้อยกว่าเรื่องอื้อฉาวข่าวดารา

รัฐบาลจึงจะอยู่ไปอย่างนี้แหละ เดี๋ยวก็รอรับพี่ตูน เดี๋ยวก็เข้าเทศกาลท่องเที่ยวจับจ่าย ปัจจัยสำคัญยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ว่า ครม.ใหม่จะแก้ปัญหาระดับฐานรากได้ไหม ในขณะที่คนรุมวิพากษ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หวาดไหวกระทั่งเอาตัว "มาร์ค พิทบุล" ไปปรับทัศนคติ

อยู่ได้ ยื้อได้ ยังพอไหว แต่จะลงอย่างไร นั่นคือปัญหาใหญ่ ในภาวะที่ 2 พรรค 2 ข้างต่างรุมกระหนาบ การสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งยิ่งเป็นไปได้ยาก จนไม่อยากปลดล็อกนั่นไง

ถ้าลงไม่ได้ ไม่สามารถเป็นไปตามโรดแมปมรสุมใหญ่ก็จะโหมเข้าใส่

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/204510

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1968: ปีเปลี่ยนโลก

Posted: 05 Dec 2017 03:44 AM PST


 

หากนึกถึงช่วงจังหวะของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในโลก คนจำนวนมาก อาจจะไม่นึกถึง ปี ค.ศ 1968 หลายคนคงจะลืมความหมายและความสำคัญของปีนี้ไปแล้ว

เพราะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้เราได้พบได้เห็นอะไรที่แปรเปลี่ยนไปมากมายจนอดีตหลายส่วนได้หลุดจากไปจากความทรงจำ

แม้ว่าโลกปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากปี 1968 อย่างมาก ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในโลกวันนี้ ได้ยืนอยู่บนฐานที่สำคัญอันมาจากเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเมื่อ 49-50 ปีก่อน แม้ในกลุ่มชนชั้นนำไทยปัจจุบัน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีอายุระหว่าง 60-70 ปี ) ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลและผลกระทบจากเวลาของอดีตนี้ทั้งสิ้น

คำถามที่ต้องอธิบาย คือ เกิดอะไรขึ้นในปี 1968

ภายหลังจากสงครามโลกยุติลง แม้โลกจะตกอยู่ในสภาวะความหวาดกลัวต่อ "สงครามเย็น" ที่ได้เริ่มต้นก่อตัวขึ้นมา แต่ในอีกด้านหนึ่ง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกเสรีก็ได้สร้าง "ความหวัง"ชุดใหม่ให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะในสหรัฐ และยุโรป ซึ่งเป็นความหวัง ที่จะมีโอกาสเลื่อนสถานะเปลี่ยนแปลงชนชั้นของตนเอง

การไหลเข้าสู่เมืองเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง คนยากจนที่เข้าไปเสี่ยงตายด้วยการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คืนสู่สังคมด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า ตนและลูกหลานจะได้โอกาสของชีวิตที่ดีขึ้น

สภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างคนกลุ่มใหม่ ที่ได้เหมือนว่าจะได้โอกาสของชีวิตกว้างขวางมากขึ้น กับความเป็นจริงของสถาบันอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้ถูกทำลายไปพร้อมกับสงคราม เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดความต้องการการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น

แต่รัฐในยุโรปกลับไม่สามารถเพิ่มมหาวิทยาลัยได้ทันความต้องการของผู้คน มิหนำซ้ำ มหาวิทยาลัยเดิมก็ยังคงปกครอง และสอนนักศึกษาด้วยกรอบความคิดแบบเก่าๆ ยังคง กีดกันประชาชนคนชั้นล่าง ไม่ให้เข้ามามีชีวิตนักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น

ความหวังที่เกิดขึ้นจากความเชื่อในความเสมอภาค กลับถูกหักหลังจากความพยายามรักษาสถานะเดิมของกลุ่มชนชั้นสูง ที่สืบเนื่องความเป็นชนชั้นมาตั้งแต่ก่อนสงคราม จึงทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นนั้น มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อสถาบันสถาปนา( Establishment ) ทั้งหลาย

พวกเขาแสวงหา และพบทางเลือกในการต่อสู้กับสถาบันสถาปนา อันได้แก่ ความคิดฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็นเหมาอิสต์ เลนินนิสต์ หรือ ทรอสกี้ยิสต์ งานเขียนของนักคิดฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งได้ถูกหยิบมาศึกษา เช่น งานเขียนของโรซ่า ลักเซมเบอร์ก

พร้อมไปกับการสมาทานความคิดฝ่ายซ้าย การขับเคี่ยวกับระหว่าง โลกเสรี ( สหรัฐ) และ โลกคอมมิวนิสต์ ( รัสเซีย/จีน) ก็ส่งผลต่อกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นนั้นอย่างมาก

ในด้านหนึ่ง พวกเขาต่อต้านสงครามเวียตนามที่สหรัฐเป็นผู้นำ (ขบวนการคนหนุ่มสาว/นักศึกษาในเยอรมนีเปรียบเทียบ US=SS ) อีกด้านหนึ่ง การรุกรานประเทศเชคโกสโลวาเกียของรัสเซีย ก็ทำให้คนหนุ่มสาวไม่สามารถรับความคิดฝ่ายซ้ายแบบสตาลินผู้นำรัสเซียในขณะนั้นได้ หมายความว่าพวกเขาได้หลุดออกจากกรอบคิดมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถสร้างความคิดชุดใหม่ได้

การต่อต้านกระแสอนุรักษ์นิยมและการต่อต้านทุกอย่างที่เป็นของสถาบันสถาปนา (Establishment) เกิดการปะทุขึ้นทั่วทั้งยุโรป และสหรัฐ 

กลุ่มคนหนุ่มสาวและนักศึกษาในฝรั่งเศสได้รับความร่วมมือในการประท้วงจากกลุ่มแรงงานอย่างกว้างขวาง ในเยอรมนีก็เช่นเดียวกัน ที่มีความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษากับผู้ใช้แรงงาน

ส่วนในสหรัฐ การเคลื่อนไหวของคนผิวดำในนามของการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (Civil rights movement) ก็เกิดขึ้นร่วมไปกับการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียตนาม

การเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การระดมคนเดินขบวน/การยึดเมือง ( เช่น ปารีส) อาจจะกินเวลาไม่นานมากนัก รวมไปถึงว่าผลลัพท์ทางการเมืองในหลายประเทศก็เรียกได้ว่าล้มเหลว เช่น การเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสหลังการประท้วงก็ยังคงเป็นชนชั้นนำเดิม แต่ผลจากการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมอย่างไพศาลที่ส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การต่อสู้กับสถาบันสถาปนา Establishment ในปี 1968 ได้ทำให้อำนาจที่ครั้งหนึ่งจำกัดตัวอยู่กับชนชั้นนำเท่านั้น ก็ได้กระจัดกระจายมากขึ้น กลุ่มคนผู้ไม่เคยมีเสียง ไม่เคยมีพื้นที่ในสังคมสามารถแสดงตัวขึ้นอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

กลุ่มผู้หญิงสามารถรวมตัวกันและสร้างพลังความเป็นหญิงได้อย่างเข้มแข็งและกว้างขวาง กลุ่มเพศที่สามได้ก้าวข้ามพรมแดนของมายาคติทางเพศ กลุ่มชนชั้นล่างได้ใช้สิทธิความเป็นพลเมืองต่อรองกับรัฐอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ที่สำคัญ การต่อสู้กับสถาบันสถาปนาของคนหนุ่มสาวในวันนั้นได้ทำให้เกิดกระบวนการสร้าง"ความรู้ชุดใหม่" ที่มุ่งเน้นการ " คืนการตัดสินใจ" ให้แก่ผู้คนและสังคม อันได้แก่ การตั้งคำถามและข้อสงสัยกับ "ความรู้และความจริง" ที่สถาบันสถาปนา Establishment สร้างขึ้น (และทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นความรู้ความจริงอย่างสมบูรณ์) ว่าเป็นเพียง " ความรู้/ความจริง" ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับอำนาจของสถาบันสถาปนาทั้งสิ้น

อำนาจที่ผูกขาดการอธิบาย "ความรู้/ความจริง" ได้เสื่อมสลายลงไป

ในวันนี้ แม้ว่าการหวนคืนสู่อำนาจของฝ่ายสถาบันสถาปนาจะปรากฏขึ้นในหลายพื้นที่ แต่เชื่อว่าไม่สามารถที่จะจรรโลงไปได้นานสักเท่าใด เพราะสังคมโลกได้ก้าวมาไกลเกินกว่าที่จะหวนกลับครับ


 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643262

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ของเก่าเก็บ? ตรวจบัญชีทรัพย์สินย้อนหลังไม่พบ 'ประวิตร' ยื่นรายการ นาฬิกาหรู ให้ ป.ป.ช.

Posted: 05 Dec 2017 03:38 AM PST

ตรวจสอบรายงานการยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ย้อนหลัง ถึง ปี 51 ไม่พบ พล.อ.ประวิตร ยื่น นาฬิกาข้อมือราคาแพง เข้าในรายการ แม้เจ้าตัวระบุเป็น ของเก่าเก็บที่มีมานานแล้ว ก็ตาม

5 ธ.ค.2560 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แหวนเพชร และนาฬิกาข้อมือราคาแพง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สวมใส่ถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (4 ธ.ค.2560) ว่าไม่มีในรายการทรัพย์สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. นั้น

เมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ต.ค.57 อ่านรายละเอียด https://www.nacc.go.th/download_acc/asset_report/s_201410310853170.pdf

PPTV รายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า นาฬิกาและแหวนเป็นของเก่าเก็บที่มีมานานแล้ว ที่ผ่านมาสวมแหวนวงนี้มาโดยตลอด มีน้ำหนักเพียง 1 กะรัต แต่เมื่อวานนี้เป็นเรื่องบังเอิญที่แหวนกระทบกับแสงแดดจนเกิดแสงสะท้อนต่อหน้าสื่อมวลชนพอดี

ส่วนเฟซบุ๊กแฟนเพจ CSI LA โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า ที่อเมริกาคนที่มีปัญญาซื้อนาฬิกายี่ห้อ Richard Mille ใส่ ต้องเป็นพวกดารา Hollywood หรือนักร้องดังๆ เท่านั้น เพราะนาฬิกาข้อมือเรือนนี้ ราคาเเพงเรือนละอย่างน้อย 10 ล้านบาท เเต่ที่เมืองไทย ถ้ามีอาชีพเป็นนายพลคุณก็สามารถซื้อได้ คำถามคือว่า คุณต้องมีรายได้ต่อปีเท่าไหร่ ถึงกล้าซื้อนาฬิกาเรือนละ 10 ล้านบาท

ขณะที่บีบีซีไทย รายงานว่า "ดร.บอย" คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารนาฬิกา QP บอกกับบีบีซีไทยว่า นาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร น่าจะเป็นรุ่น RM 010 ซึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ใช่รุ่นที่ราคาถึง 10 ล้านบาท แบบที่นักแสดงและผู้มีชื่อเสียงระดับโลกใส่ อย่างที่หลายฝ่ายพูดถึง

ผู้สื่อข่าวประชาไท ตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สิน / หนี้สิน ของ พล.อ.ประวิตร ย้อนหลัง กับ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ (รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา) และรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 51 ก็ไม่พบการแสดงรายการทรัพย์สินที่เป็นนาฬิกาดังกล่าวแต่อย่างใด 

เมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม เมื่อ 22 ธ.ค. 2551 โดยในส่วนที่ระบุเป็นทรัพย์สินอื่นๆ ที่ราคาตั้งแต่ 2 แสนขึ้นไปนั้น คือ เช็คธนาคาร มูลค่า 1 ล้านบาทดูรายละเอียด https://www.nacc.go.th/download_acc/asset_report/minD7.pdf

 

เมื่อพ้นจากตำแหน่ง  รมว.กลาโหม ครบ 1 ปี ใันวันที่ 9 ส.ค. 2555 ดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nacc.go.th/download_acc/asset_report/se_201210040818550.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาสื่อฯ เผยการทำงานในภาวะไร้สิทธิฯ เป็นหนทางหายนะของอาชีพสื่อ

Posted: 05 Dec 2017 03:17 AM PST

อดีตผู้สื่อข่าวประชาไทเผย การอยู่ภายใต้ความกลัวจนเคยชินอาจเป็นหนทางหายนะของสื่อมวลชน ขณะที่ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แค่อ่านรายงานการดำเนินคดีมาตรา 116 ก็ถูก กสทช. ตักเตือน ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ ระบุย้ำในงานเขียนทุกครั้งว่า เผด็จการทหารไม่มีความชอบธรรม


เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560 มีเดีย อินไซด์ เอาท์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ "การทำข่าวการเมือง – สิทธิมนุษยชน ในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน" โดยมีผู้ร่วมสนทนาเป็นสื่อมวลชนทั้งหมด 3 คน คือ มุทิตา เชื้อชั่ง อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ผู้ได้รับรางวัล เอเอฟพี เคท เวบบ์ ประจำปี 2558 (Agence France-Presse Kate Webb) สำหรับการทำงานในสถานการณ์ที่ยากลำบากในภูมิภาคเอเชีย, นิติธร สุรบัณฑิตย์ ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ซึ่งได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2558 (Human Rights Media Awards) จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่คำนึงถึงการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2560 จากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ's 2017 International Press Freedom Award) เพื่อเป็นเกียรติกับการยืนหยัดทำงานในวิชาชีพสื่อและต่อสู้กับอำนาจรัฐที่คุกคามเสรีภาพสื่อ

 

มุทิตา เชื้อชั่ง: ภาวะไร้สิทธิเสรีภาพอาจเป็นหนทางหายนะของสื่อมวลชน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากความเคยชินคือความสิ้นหวัง และหากเราสิ้นหวังเราก็จะไม่มีแรงที่จะทำอะไร ไม่มีแรงที่จะคิดอะไร มันกดเรานานจนเราชิน ทั้งหมดนี้คือหนทางหายนะสำหรับอาชีพนี้

 

มุทิตา เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ปัจจุบันเธอไม่ได้ทำงานประจำเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวประชาไทแล้ว แต่ก็ยังคงทำรายงานข่าว หรือสกู๊ปข่าวอยู่บ้าง ซึ่งครั้งนี้จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่สำนักข่าวประชาไททั้งหมด 12 ปี ตั้งแต่ประชาไทเริ่มก่อตั้ง

เธอเล่าว่า หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เริ่มทำงานกับประชาไท โดยช่วงแรกติดตามข่าวการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม จนกระทั่งการเมืองเริ่มมีความขัดแย้งหนักขึ้น ด้วยความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองเป็นทุนเดิม จึงทำให้รู้สึกว่ามีปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและยาวนาน จึงทำเธอย้ายสนามข่าวเข้าสู่ประเด็นการเมือง และประเด็นนักโทษทางการเมือง

"พอการเมืองมันเริ่มมีความขัดแย้ง มันก็ดึงเราไปโดยอัตโนมัติ และพอดีที่สถาบันฯ ถูกดึงลงมาอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง และก็มีคดีหมิ่นฯ เกิดขึ้นเยอะ ตอนนั้นเราก็ทำข่าวใหม่ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรมาก แต่ก็ลงไปทำ ด้วยความสนใจส่วนตัว"

มุทิตา เล่าต่อว่า จากการเริ่มทำข่าวเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงแรกเธอตกใจว่าเพราะอะไรคำพิพากษาในคดีลักษณะนี้จึงมีโทษที่สูงมาก ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับการที่สื่อหลักไม่ค่อยได้ติดตามรายงานข่าวลักษณะนี้ จึงทำให้เริ่มตามประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง

เธอแลกเปลี่ยนต่อไปถึงประสบการณ์ของการทำงาน 12 ปี โดยเปรียบเทียบช่วงเวลาระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลทหาร แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนจะมีปัจจัยบางอย่างที่รบกวนการทำงานอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถนำมาเทียบได้กับการทำงานภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

"ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนมันก็ปัญหาเยอะแยะ มีเรื่องการละเมิดสิทธิ กรณีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ว่าคนทำงานจะมีแรงขับที่ต่างกันมากกับช่วงนี้ คือเราจะรู้สึกว่าเขาทำอย่างนี้ได้ไง และมันก็จะมีความรู้สึกว่าต้องการจะตรวจสอบ และเราก็ทำมันโดยที่ไม่มีความกังวล ความกลัว หรือถ้ามีก็มีน้อยมากในยุครัฐบาลพลเรือน คือถ้าจะฟ้องก็ฟ้อง จะทำอะไรก็ทำไป เรารู้สึกว่ามันยังอยู่ในกลไกปกติ แต่พอหลังรัฐประหารมันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ"

เธออธิบายความรู้สึกสั้นๆ กับการทำงานภายใต้รัฐบาลทหารว่าแตกต่างจากการทำงานภายใต้รัฐบาลพลเรือนตรงที่ "มันไม่สามารถทำนาย คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น" และเมื่อมองไปยังเพื่อนร่วมอาชีพก็พบว่าแต่ละคนไม่สามารถที่จะทำงานภายใต้สถานการณ์ของการรัฐประหารได้อย่างเต็มที่ อาจจะด้วยความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และเป็นองค์กรธุรกิจจึงยากที่จะเสี่ยง แม้ว่าจะรู้สึกถึงความไม่ปกติก็ตาม ขณะที่องค์กรเล็กๆ ก็รู้สึกถึงความโดดเดี่ยว อีกทั้งไม่ได้มีศักยภาพที่เพียงพอ และเป็นการทำงานภายใต้ความไม่มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบใดๆ หรือไม่

"แต่มันเป็นความโชคที่มีการสนับสนุนจากทีม คือถ้าสมมติเป็นคนกล้าหาญ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทีม ทีมไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย มันก็โดดเดี่ยวพอสมควร แต่ในบรรยากาศที่มันมีคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้พอๆ กัน มันก็สำคัญมาก ทำให้เราทำงานไปได้เรื่อยๆ"

เธอเล่าต่อว่า ตัวชี้วัดของตัวเองต่อการทำอาชีพสื่อมวลชนว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าจุดไหนที่เริ่มมีความเสี่ยงคือ การทำงานแล้วรู้สึกกังวลว่าจะโดนอะไรไหม จนไต่ระดับไปถึงขั้นมีความกลัว เช่น กังวลถึงสวัสดิภาพตัวเอง สวัสดิภาพขององค์กร สวัสดิภาพแหล่งข่าว ภาวะแบบนี้จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึึ่งถือเป็นเรื่องที่แย่ซึ่งสื่อมวลชนทุกคนอาจจะต้องเจอไม่มากก็น้อย

"อาจจะมีเหตุผลหลายแบบที่ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เรามีคาถาปลอบใจตัวเองเสมอคือ อันนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากความกลัวของเราเอง แต่เป็นกังวลเรื่องสวัสดิภาพของแหล่งข่าว บางอย่างที่เรารู้ จังหวะเวลามันเผยแพร่ตอนนี้ไม่ได้ แต่มันอาจจะได้ในอนาคต เรามีหลายอย่างที่เก็บไว้ซึ่งไม่สามารถรายงานได้ตอนนี้ การไม่ได้ตีเหล็กตอนร้อนมันก็มีข้อเสีย แต่สิ่งสำคัญคือเราไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงของคนอื่น เราก็ค่อยมาเขียนรายงานสรุปอีกทีหนึ่งเมื่อเวลามันผ่านมานานแล้ว"

เธอระบุด้วยว่า สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับการทำอาชีพสื่อมวลชนคือ ความรู้สึกเคยชิน เช่นกลัวกันจนชิน มีอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็กลัว แล้วก็เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง และไม่พยายามทดลองขยับเพดาน ไม่พยายามไต่เส้น ไม่พยายามท้าทาย เพราะว่ามีความกังวล และมีข้ออ้างมากมายที่ใช้อธิบายตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น

"สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากความเคยชินคือความสิ้นหวัง และหากเราสิ้นหวังเราก็จะไม่มีแรงที่จะทำอะไร ไม่มีแรงที่จะคิดอะไร มันกดเรานานจนเราชิน ทั้งหมดนี้คือหนทางหายนะสำหรับอาชีพนี้"



นิติธร สุรบัณฑิตย์: แค่อ่านรายงานการดำเนินคดีตามมาตรา 116 ออกอากาศก็ถูก กสทช. เตือน
 

แหล่งข่าวโทรมาบอกว่า พี่ออกไปแป๊บเดียวทางเจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามาที่บ้านเลย คือมันเป็นสภาวะที่เราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี

 

นิติธรเริ่มต้นทำข่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ซึ่งเป็นจุดก่อตัวของความขัดแย้งซึ่่งท้ายที่สุดนำมาสู่การรัฐประหาร โดยช่วงนั้นเขาทำข่าวอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ติดตามประเด็นของภาคประชาสังคม จากนั้นไม่นานก็ย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวที่วอยซ์ทีวีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เท่ากับว่าตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติมาตลอด

"มันเริ่มจากช่วงที่มีความขัดแย้ง และก็เข้าสู่ระบอบเผด็จการ คืออยู่ในสภาวะแบบนี้มาตลอด บางทีก็คุยกับเพื่อนว่า ถ้าสมมติเราทำข่าวการเมืองตอนที่เป็นระบบรัฐสภา เป็นระบบที่มีการหาเสียงปกติ ความรู้สึกมันจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ แล้วนี่ก็ 3 ปีกว่า ก็ยังอยู่ในระบบเดิม"

การทำงานในช่วงเวลาที่ไม่ปกติสำหรับเขาทำให้พบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ก็เกิดขึ้นได้ เขาพูดถึงช่วงปี 2558 ซึ่งมีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นจำนวนมาก ตอนนั้นเขาจัดรายการโทรทัศน์ และได้รายงานเหตุการณ์จับกุมดำเนินคดีตามมาตราดังกล่าว พร้อมกับอ้างข้อมูลการดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ในุครัฐบาล คสช. มาประกอบรายงาน แต่กลับถูก กสทช. ตักเตือนในเรื่องเนื้อหาการนำเสนอ

"เรารู้ว่าศักยภาพที่เราพอจะทำได้คือการรายงานข้อเท็จจริง คือตอนนั้นทีวีไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเชิญคนมาวิจารณ์เรื่องการเมืองได้ เพราะวอยซ์ทีวีมี MOU ไว้กับ กสทช. คือตอนนี้มันเกิดเรื่องคุณรินดา ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟสบุ๊ค กล่าวหาท่านนายกฯ เรื่องการโอนเงิน และเธอถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และตอนนั้นมีรายงานของ iLaw ที่มีการรวบรวมลักษณะ และตัวเลขของการแจ้งข้อกล่าวหา 116 ในช่วงเวลานั้น ซึ่งสูงมากและมีความสัมพันธ์กับการดำเนินคดีในศาลทหาร ผมเพียงแค่หยิบรายงานตัวนั้นมาอ่านออกอากาศ อ่านเฉยๆ ไม่มีคอมเมนต์ ไม่มีการโยงประเด็น ไม่มีการต่อยอดอะไรเลย แค่อ่านตามที่ iLaw รายงาน แต่จัดรายการผ่านไปได้ 2-3 วัน ทางผู้บริหารบอกว่าเรื่องนี้คณะอนุฯ เนื้อหา ของ กสทช. กำลังจะพิจารณา และอาจจะมีความผิดทำให้ช่องถูกปรับ หรืออาจจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเนื้อหา หรือตัวรายการ"

เขาพูดถึงความรู้สึกต่อเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เขาเพียงแค่รายงานเนื้อหาขององค์กรอื่น โดยไม่ได้ชี้นำแต่อย่างใด ทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ และรู้สึกว่าตนเองอาจจะกำลังสร้างปัญหาให้กับองค์กร แม้สิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้มีอะไรที่ผิดเลยก็ตาม

"ตอนนั้นจำได้เลยว่าผมกลัว กลัวที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่มันเป็นความกลัวที่เราก็รู้อยู่ว่า เราไม่ผิด แต่เราก็พอเดาได้ว่า ผลการตัดสินมันจะไม่ออกในเชิงที่เราไม่ผิดแน่นอน มันเป็นความกลัวที่น่ากลัวมากกว่าความกลัวปกติ คืออันนี้เรารู้ว่าเราไม่ผิด แต่สุดท้ายเราต้องผิดจริงๆ ทางรายการก็ถูกตักเตือน แต่โชคดีที่ไม่ถูกปรับ เพราะไม่งั้นผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน"

ขณะที่อยู่ในช่วงเวลาของการรอผลการตัดสินจาก กสทช. เขาได้เดินเข้าไปพบผู้บริหารเพื่อขอแสดงความรับผิดชอบโดยการของดจัดรายการ 1 สัปดาห์ เพื่อความสบายใจของตัวเขาเอง ทว่าเขาก็เข้าใจไม่ได้ว่าตัวเองกำลังแสดงความรับผิดต่ออะไร เมื่อมาคิดตอนหลังเขาก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเขาเลือกที่จะทำอย่างนั้นทำไม แต่สิ่งที่เขาได้รู้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขานั้นเป็นสิ่งที่สอนให้รู้ว่า เขากำลังทำงานในสภาวะที่ยากลำบาก เพราะเพียงแค่นำเสนอรายงานเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ก็ยังถูกควบคุม

ต่อมาเขาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานข่าวการเมืองที่ผ่านมาราว 3 ปีว่า เวลาที่ไปตามข่าวที่รัฐสภา สิ่งที่พบเห็นบ่อยที่สุดคือกระบวนการกลไกของรัฐสภา เช่นการออกกฎหมายของ สนช. การทำงานของ สปช. และ สปท. ซึ่งจะมีภาพข่าวออกมาแบบหนึ่ง ในขณะที่ข่าวการเมืองอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การมีคนออกมาประท้วง มีคนถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งก็จะมีภาพที่ออกมาอีกภาพหนึ่ง ทว่าทั้งสองภาพนี้กลับเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่า เหมือนเรากำลังอยู่กันคนละโลก 

"โลกของอีกคนหนึ่งกำลังปฏิรูป กำลังออกกฎหมาย แต่โลกของอีกคนหนึ่งกำลังวุ่นวายว่า ตัวเองจะถูกจับไหม จะถูกตั้งข้อกล่าวหากี่ข้อกล่าวหา มันเป็นภาวะที่เวลาไปทำงานแล้วมันรู้สึกถึงความแตกต่าง คนสองประเภทนี้ไม่สามารถที่จะจูนเข้าหากันได้เลย เหมือนมันไปคนละทางกันเลย"

ต่อมา นิติธรได้รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการประเภทสารคดีเชิงข่าวในช่วงปลายปี 2559 และช่วงก่อนหน้านั้นเขาได้ทำงานรายงานพิเศษที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอยู่เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษคือ กฎอัยการศึก

"ตอนนั้นผมทำเรื่องการซ้อมทรมาน ก็ได้ไปคุยกับครอบครัวหนึ่งที่คนในครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ ซึ่งเป็นกรณีที่ชัดเจนเพราะทาง ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดแล้ว เพียงแต่ว่าคดียังไม่ขึ้นสู่ศาล ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นมา 8 ปีแล้ว เราก็ไปสัมภาษณ์ปกติ แต่เวลาเราออกมาแล้ว แหล่งข่าวโทรมาบอกว่า พี่ออกไปแป๊บเดียวทางเจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามาที่บ้านเลย คือมันเป็นสภาวะที่เราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี"

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับการติดต่อจาก 'ผู้ใหญ่' คนหนึ่งซึ่งรับผิดชอบเรื่องการบริหารงานส่วนราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอพบเขาที่โรงแรมขณะลงพื้นที่ไปทำงาน โดยมาพูดคุยถึงเนื้อหางานที่จะทำว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ 'ผู้ใหญ่' คนดังกล่าวดูมีความเกรงใจอยู่บ้างเพราะอาจจะเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้ขอให้ยกเลิกการทำงานในประเด็นที่เขาได้ตั้งไว้ แต่เสนอให้ไปทำเรื่องอื่นๆ แทน พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างเต็มที่
 


ประวิตร โรจนพฤกษ์: เราจะไม่ยอมให้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ

 

สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึงเสมอในการปฏิบัติหน้าที่สื่อก็คือ เราจะไม่ยอมให้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ 

 

ประวิตรกล่าวในช่วงเริ่มต้นว่า ไม่ได้คิดว่าเผด็จการทหาร หรือ คสช. จะอยู่ยาว หรืออยู่นานแค่ไหน เพียงแค่ว่าจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ได้คิดว่า ราคาที่ต้องจ่ายจะมากน้อยแค่ไหน และไม่ได้คิดว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ หรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี่้

"สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึงเสมอในการปฏิบัติหน้าที่สื่อก็คือ เราจะไม่ยอมให้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ ในแง่นี้คนก็อาจจะถามว่าหน้าที่สื่อก็แค่รายงานข่าวไป ใครยึดอำนาจก็รายงานข่าวไปว่าใครเป็นกลุ่มที่ยึดอำนาจแค่นั้นก็น่าจะจบหรือไม่ พูดแฟร์ๆ ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นสื่อโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ก็ยังทำหน้าที่วิจารณ์รัฐบาลได้อยู่บ้าง มันก็ไม่ได้เป็นแบบเกาหลีเหนือ แต่ว่าถ้าสื่อส่วนใหญ่มองว่าเผด็จการทหารที่มาจากการยึดอำนาจไม่ต่างจากรัฐบาลปกติที่มีความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่าสื่อก็จะมีส่วนในการร่วมสังฆกรรมทำให้ระบอบเผด็จการทหารอยู่ต่อไป และจะกลายบัตรเชิญให้เกิดการรัฐประหารในอนาคตเกิดขึ้นได้อีก"

เขากล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันสื่อมวลชนจะทำงานตรวจสอบรัฐบาล แต่ก็ทำเหมือนรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งบางสื่อยังมีลักษณะของการเชียร์รัฐบาลทั้งในทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างวิปริต ซึ่่งภาวะดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากทัศนะที่ว่า ระบอบเผด็จการทหารดีกว่าระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นการมองในระยะสั้นเท่านั้น เพราะมันเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยลงไปด้วย

เขาระบุว่า สิ่งที่เขาทำทุกครั้งที่เขียนงาน หรือแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียคือ การย้ำเตือน ตอกย้ำถึงสภาวะไร้ความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทหาร และรัฐบาลเผด็จการทหารในปัจจุบัน

"นี่คือสิ่งที่ผมไม่เปลี่ยน 3 ปีครึ่ง แม้ว่าเขาอาจจะเอาผมไปปรับทัศนคติ 2 รอบ ตอนนี้ก็เจอข้อหา 116 กับ พ.ร.บ.คอมฯ พ่วง ถูกห้ามไปต่างประเทศครั้งหนึ่ง เพราะผมคิดว่ามันเป็นพันธะหน้าที่ที่เราจะต้องทำทิ้งไว้ ส่วนอีก 30 ปีข้างหน้าผมก็คงไม่มีหรือบทบาท ก็คนเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังอยู่"

เขากล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือเสรีภาพในการแสดงออกในหลายๆ สังคมที่มีอารยะเขาอยู่ในจุดนั้นกันนานแล้ว แต่ประเทศเราต้องต่อสู้ในสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ ยังมีคนไทยต้องติดคุกเพียงเพราะพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันฯ หรือเรื่องทหารก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดที่สังคมไทยยังติดอยู่ในวงจรที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง

"ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนที่ผมรับรางวัลอยู่ที่นิวยอร์ก ก็มีนักข่าวช่องหนึ่งโทรมาหาผมตอนตีสาม เขาก็อยากสัมภาษณ์เรื่องที่เราได้รางวัล ผมก็เข้าใจแหละว่ามันตีสาม แต่ที่เมืองไทยก็คงบ่ายสามโมง ผมก็รับปากยินดีให้สัมภาษณ์สด เขาก็ขอไปบอก บ.ก. ก่อน แล้วก็โทรมาบอกใหม่ว่า บ.ก. เขาบอกว่ามันคงไม่เป็นความคิดที่ดีหรอกนะที่จะให้ผมพูดสดออกทีวี ก็เลยแจ้งมาอีกว่าขอยกเลิก และตามความเข้าใจผมคนที่โทรมาก็ซีเนียร์พอสมควร นี่ก็คือสภาพความเป็นจริงของการเซ็นเซอร์ตัวเองในสังคมไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องมาตรา 112 หรือเรื่องทหาร แต่มันมีเรื่องความเกรงใจ มีการที่หลายช่องต้องไปเซ็น MOU กับ กสทช. หรืออาจจะถูกกดดันด้วยรูปแบบอื่นๆ ก็ตามแต่ แต่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ปกติ ซึ่งผมไม่ยอม"

เขาเห็นว่า สังคมไทยที่มองเห็นสภาวะที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องปกติ จะเป็นสังคมที่สิ้นหวัง และเห็นว่าไม่มีสังคมไหนที่ได้อะไรมาฟรีๆ โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพ และประชาธิปไตย ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ 15 นาทีรู้ผล กกต. ใหม่ ได้แล้ว 5+1 รายชื่อ

Posted: 05 Dec 2017 03:10 AM PST

ได้รายชื่อ 5+1 กกต.ชุดใหม่ หลังใช้เวลาสัมภาษณ์คนละ 15 นาที ขณะที่อีก 1 รายชื่อประธานศาลฎีกานัดประชุมสรรหาพรุ่งนี้ ด้านประธาน สนช. ในฐานะกรรมการสรรหาเผยสาเหตุที่หลายรายชื่อไม่ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ เป็นเพราะคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

5 ธ.ค. 2560 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ได้ประชุมกรรมการสรรหาเพื่อให้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ผ่านการคัดเลือกจำนวน 15 คน มาสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยแต่ละคนใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะกรรมการสรรหาฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มการประชุม ถึงกรณีคนที่มีความรู้ความสามารถหลายคนไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม อาทิ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีต ผบช.น. , พีรศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราชว่า เรื่องคุณสมบัติก็เป็นไป ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ส่วนคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์น่าจะขาดคุณสมบัติ ที่กำหนดว่า "จะต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน หรืออธิบดี ไม่น้อยกว่า 5 ปี" ซึ่งก็ต้องดูว่าตำแหน่งของผู้สมัครตรงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เรื่องนี้ที่ประชุม สนช.เคยมีการพิจารณาไว้แล้ว ส่วนอีกประเด็นคือการได้รับแจ้งจากนายทะเบียนหลักทรัพย์เกี่ยวกับการถือหุ้นในสื่อ ที่ถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามโดยศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยไว้และนำเป็นบรรทัดฐานตลอดมา ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะท่านเหล่านั้นอาจไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจสื่ออย่างจริงจัง แต่การที่มีหุ้นหรือเป็นกรรมการก็ถือเป็นคุณสมบัติต้องห้าม

พรเพชร กล่าวอีกว่า เรื่องคุณสมบัติต้องดูตามกฎหมาย ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นไปได้ อย่างไรก็ตามทราบมาว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนเรื่องการไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้ามาแล้ว ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าเป็นใคร โดยเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ จะรายงานต่อที่ประชุมกรรมการสรรหาในวันนี้ คาดว่าหลังจากรับฟังความคิดเห็นของผู้สมัครเสร็จสิ้นแล้วที่ประชุมอาจจะพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย หากว่าเรื่องที่ผู้สมัครร้องเรียนเป็นไปตามที่ร้องเรียน ก็จะต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่หากเป็นเรื่องคุณสมบัติก็ต้องยึดตามกฎหมาย

ทั้งนี้หลังจากได้สัมภาษณ์ผู้เข้ารับการสรรหาครบทั้งหมดแล้ว สุดท้ายได้บุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาเป็นกกต.ชุดใหม่ครบทั้ง 5 คนแล้ว ประกอบด้วย

ศาสตราจารย์เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ,ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.,รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ,นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ทนายความ และประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

ส่วนอีก 2 คนซึ่งจะมาจากการสรรหาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขณะนี้ได้แล้ว 1 คนคือ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ส่วนอีก 1 คน ประธานศาลฎีกาได้นัดประชุมใหญ่พิจารณาคัดเลือกในวันพรุ่งนี้ ซึ่งครั้งนี้มีผู้สมัคร 2 คนคือ ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และ ประพาฬ อนมาน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์

ทั้งนี้หลังจากได้รายชื่อครบทั้ง 7 คนแล้ว คณะกรรมการสรรหาจะต้องส่งรายชื่อให้ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบ หาก สนช.ไม่เห็นชอบบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

เรียบเรียงจาก : คมชัดลึกออนไลน์ , ครอบครัวข่าว 3

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทสส. ยันได้ผลสอบปม 'น้องเมย' ตาย และปรับการธำรงวินัยให้เข้ากับปัจจุบัน เร็วๆ นี้

Posted: 05 Dec 2017 02:32 AM PST

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเผยการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ มีความคืบหน้าอย่างมาก ยันได้ผลเร็วๆ นี้ ขณะที่การปรับการธำรงวินัยให้เข้ากับปัจจุบันก็เช่นกัน ส่วน ตร.รอผลชันสูตรศพรอบ 2 ก่อนสรุปสำนวน

น้องเมย หรือ ภคพงศ์ ตัญกาจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

5 ธ.ค.2560 ความคืบหน้ากรณี น้องเมย หรือ ภคพงศ์ ตัญกาจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ในสังคมจำนวนมากนั้น 

ล่าสุดวันนี้ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เปิดเผยว่า การสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยได้สอบถามข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง และนักเรียนเตรียมทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ได้เกือบครบถ้วนแล้ว แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่ได้รายงานผลขึ้นมา เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

ส่วนการเชิญผู้ปกครองของ นตท.ภคพงศ์ มาพูดคุย เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมนั้น  พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า กองบัญชาการกองทัพไทยได้ติดต่อผู้ปกครองมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน สำหรับการปรับปรุงระเบียบการฝึกต่างๆ  ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นพิจารณาในรายละเอียด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป   

ส่วนการปรับปรุงการธำรงวินัยในการฝึกช่วงนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้วนั้น พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า คณะกรรมการได้ประชุมร่วมกับเหล่าทัพเรียบร้อยแล้ว ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีคณะกรรมการขึ้นมาดูรายละเอียดต่างๆ ว่าอะไรต้องปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วก็จะรายงานตนเอง และจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้

ขณะที่ พ.ต.อ.นิพนธ์ พานิชเจริญ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรนครนายก เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ของ ภคพงศ์ ว่า ขณะนี้ในส่วนของพยานได้สอบปากคำครบทั้งหมดแล้ว โดยเหลือเพียงรอผลการผ่าชันสูตรรอบที่ 2 จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มาประกอบสำนวนคดีเท่านั้น โดยขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใด เนื่องจากต้องรอผลการตรวจพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ อย่างละเอียดก่อน พร้อมยืนยันไม่หนักใจในการทำคดีเนื่องจากตำรวจยึดตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ปรากฏ 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติร่างปฏิญญาฯ สิ่งแวดล้อม เตรียมประกาศ- ปชช.จ่อชุมนุมค้านร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พรุ่งนี้

Posted: 05 Dec 2017 02:08 AM PST

ครม. อนุมัติ ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของ UNEA 3 เตรียมประกาศ ย้ำไทยตื่นตัวแก้ปัญหามลพิษ ตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ 20 ปี และยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี ขณะที่ภาค ปชช. เตรียมชุมนุมค้านร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พรุ่งนี้

5 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (4 ธ.ค.60) โดยมีประเด็นหนึ่ง คือ ครม. มีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 3 (The third session of the United Nations Environment Assembly: UNEA 3)ระหว่างวันที่ 4 – 6 ธ.ค. 2560 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา (โดยมีเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย) 2. เห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของ UNEA 3  3. เห็นชอบกรอบคำมั่นโดยสมัครใจที่ประเทศไทยจะประกาศ 4. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองในร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว และ 5. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีใหม่จนสิ้นสุดการประชุม

สำหรับสาระสำคัญของเรื่องนั้น 1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วม UNEA 3 ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา หัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนกรบควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารที่แสดงถึงการตระหนักว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบทั้งทางอากาศ ดิน และน้ำ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความอยู่รอดของมนุษย์ และยังเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการแก้ไขปัญหามลพิษเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ทั้งการต่อสู้ความยากจน การปรับปรุงให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น การสร้างงานที่เหมาะสม การปรับปรุงให้สิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำให้ดีขึ้น และการลดภาวะโลกร้อน ในการนี้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมร่วมกันให้คำมั่นว่าจะดำเนินงานเพื่อป้องกัน บรรเทาและจัดการแก้ไขปัญหามลพิษ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลเชิงประจักษ์มาเป็นพื้นฐานและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมในการตัดสินใจดำเนินงานตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยประเทศไทยจะประกาศคำมั่นโดยสมัครใจเพื่อให้นานาชาติทราบว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวในการแก้ปัญหามลพิษ โดยมีกรอบคำมั่นโดยสมัครใจที่ยึดตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ 20 ปี และยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี โดยจะนำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งนี้ การประชุมฯ ได้กำหนดให้มีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีในช่วงการประชุมระดับสูง 

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า พรุ่งนี้ (6 ธ.ค.60) เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 ภาค นัดชุมนุมทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งเสียงแสดงจุดยืนคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติการผลักดันและพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ) ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ถนนพิษณุโลก

โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งรัดเสนอร่างร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ โดยอ้างว่าต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายในส่วนเกี่ยวกับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเนื้อหาและกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 ภาคประชาชนโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯฉบับใหม่นี้ เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมได้แล้ว ยังเป็นร่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มเติมเนื้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 และการกำหนดกรอบเวลาเร่งรัดการพิจารณารายงาน EIA / EHIA เพื่อเอื้อให้สามารถดำเนินการโครงการได้รวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเพิ่มระบบการกลั่นกรองโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการถูกทำลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคประชาชนจะพยายามนำเสนอแนวทางการแก้ไขปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริงต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็มิได้ตอบสนองรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนเพื่อทบทวนแก้ไข และยังคงเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มกบฏฮูติสังหารอดีตประธานาธิบดี 'ซาเลห์' หลังประกาศย้ายข้างอยากเจรจาซาอุฯ

Posted: 05 Dec 2017 01:19 AM PST

กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านกล่าวอ้างว่าพวกเขาสังหารอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา สาเหตุเพราะต้องการลงโทษที่ซาเลห์ย้ายข้างหันไปสนับสนุนให้เกิดสันติภาพกับซาอุดิอาระเบีย

มีการแพร่ภาพศพของอดีตประธานาธิบดีซาเลห์ผ่านช่องโทรทัศน์ของกลุ่มกบฏฮูตีหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธอ้างว่าพวกเขาสังหารซาเลห์ขณะที่พยายามหลบหนีออกจากกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน ซาเลห์ปกครองเยเมนมานานเป็นเวลา 30 ปี และถูกบังคับให้ลาออกในช่วงที่เกิดการปฏิวัติอาหรับสปริงเมื่อปี 2554

ฮูตีเปิดเผยว่าพวกเขาสังหารซาเลห์ในขณะที่เขากำลังเดินทางออกจากซานาไปยังบ้านเกิดของเขา ซาเลห์พร้อมกับผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ ในพรรคการเมืองของเขา กลุ่มติดอาวุธฮูตีติดตามพวกเขาไปด้วยรถหุ้มเกราะ 20 คัน จากนั้นจึงสังหารซาเลห์พร้อมกับทุกคนที่ไปกับเขา โดยมีการแพร่ภาพศพของซาเลห์เลือดไหลนองแพร่กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย

สงครามกลางเมืองในเยเมนเป็นการสู้รบกันโดยมีสองประเทศที่พยายามแผ่ขยายอิทธิพลคือซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน โดยที่ก่อนหน้านี้บ้านของซาเลห์เคยถูกทำลายในการสู้รบระหว่างกองกำลังฮูตีและกองกำลังที่ภักดีต่อซาเลห์ กองกำลังแนวร่วมนำโดยซาอุฯ ก็เคยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ฐานที่มั่นของฮูตีใกล้กับสนามบินของเมืองและใกล้กับกระทรวงกิจการภายใน โดยเป็นปฏิบัติการที่ซาอุฯ พยายามยับยั้งไม่ให้ฮูตียึดครองเมืองหลวงได้โดยสมบูรณ์แต่ก็ไม่เป็นผล เดอะการ์เดียนระบุว่าการเสียชีวิตของซาเลห์อาจจะยิ่งทำให้ซาอุฯ ยิ่งตอบโต้หนักกว่าเดิมเพราะอยากต่อต้านอิทธิพลของอิหร่านออกจากเยเมน

จากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มกองกำลังผู้ภักดีต่อซาเลห์กับกลุ่มฮูติทำสนธิสัญญาความร่วมมมือกันในแบบที่ไม่ค่อยเต็มใจยาวนานเป็นเวลา 3 ปี แต่ในช่วงที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายก็กลับมาสู้รบกันอีกเนื่องจากความเป็นพันธมิตรระหว่างสองฝ่ายนี้ขาดสะบั้นลง กาชาดสากลระบุว่าการสู้รบรอบล่าสุดส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 125 ราย เมื่อช่วง 5 วันที่ผ่านมา ทางกาชาดยังเปิดเผยอีกว่าพวกเขาต้องดิ้นรนอย่างมากในการทำให้สถานพยาบาลทำการต่อไปได้ในกรุงซานา โดยพวกเขาต้องการเข้าถึงคลังเก็บสินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ตอนนี้การลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในเยเมนเป็นไปได้อย่างยากลำบากมาก

ซาเลห์ประกาศผ่านทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าเขาต้องการย้ายข้างในสงครามกลางเมืองและพยายามหาวิธีให้เกิดการเจรจาหารือกับกลุ่มแนวร่วมซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากเดิมที่เขาร่วมมือกับฮูตีต่อสู้กับกลุ่มแนวร่วมนี้มาตั้งแต่ปี 2558 แต่ซาเลห์ได้ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่าเขาจะไม่เชื่อฟังคำสั่งจากกลุ่มกบฏนี้อีก

เดอะการ์เดียนระบุว่ามีการคาดการณ์ถึงการย้ายข้างของซาเลห์ในครั้งนี้ว่าเป็นเพราะทูตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เชื้อชวนให้ซาเลห์ย้ายข้างได้สำเร็จ อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างซาเลห์กับฮูตีแย่ลงเรื่อยๆ เพราะฮูตีพยายามสังหารลูกของซาเลห์

ปีเตอร์ ซาลิสบูรี ผู้เชี่ยวชาญด้านเยเมนจากองค์กรนักวิเคราะห์ชัทแธมเฮาส์กล่าวว่าพอไม่มีซาเลห์แล้วซาอุฯ จะยากลำบากมากขึ้นในการสร้างข้อตกลง ซาอุฯ อาจจะวางมือแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะบอกให้ซาอุฯ ทำอะไรบ้างด้วย มีความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงอาจจะหนักขึ้น

เดอะการ์เดียนระบุอีกว่าในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทางการซาอุฯ มีความพยายามกำจัดกลุ่มกบฏฮูตีหนักขึ้นหลังจากที่มีการยิงขีปนาวุธที่ทำในอิหร่านจากฐานที่มั่นของฮูตีโดยเล็งเป้าหมายใส่สนามบินนานาชาติในกรุงริยาดเมืองหลวงของซาอุฯ ทำให้ซาอุฯ โต้ตอบด้วยการสกัดกั้นเส้นทางเสบียงสินค้าไม่ให้เข้าไปยังท่าเรือในเมืองที่มีฮูติยึดครองอยู่จนเกิดภาวะขาดแคลน

สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเยเมนตอนนี้กำลังย่ำแย่ ผู้ประสานทางของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องเรียกร้องให้มีการหยุดการสู้รบช่วงกลางวันเพื่อให้พลเรือนที่ติดอยู่ในอาคารท่ามกลางการสู้รบบนท้องถนนสามารถออกไปหาอาหารและน้ำดื่มได้

 

เรียบเรียงจาก

Yemen Houthi rebels kill former president Ali Abdullah Saleh, The Guardian, 04-12-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/04/former-yemen-president-saleh-killed-in-fresh-fighting

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยยอดพลเรือนเสียชีวิตจากปฏิบัติต้านไอซิส มากกว่าที่กองทัพสหรัฐฯ ระบุ 7 เท่า

Posted: 05 Dec 2017 12:53 AM PST

องค์กรตรวจสอบและองค์กรสิทธิฯ ระบุตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการทิ้งระเบิดในอิรักและซีเรียช่วงราว 3 ปีที่ผ่านมา เกือบหกพันราย มากกว่าที่ทางการสหรัฐฯ ประเมินเอาไว้ 7 เท่า เรียกร้อง 'ปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มไอซิส' โปร่งใส-รับผิดชอบมากกว่านี้

5 ธ.ค. 2560 คอมมอนดรีมส์ สื่อนอกกระแสจากสหรัฐอเมริกา นำเสนอข้อมูลจากองค์กรตรวจสอบความโปร่งใสกองทัพสหรัฐฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า กลุ่มตรวจสอบอย่างแอร์วอร์ส (Airwars)ประเมินตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายไอซิส ว่ามีมากกว่าที่ทางการสหรัฐฯ ระบุไว้ 7 เท่า

องค์กรแอร์วอร์ส เป็นองค์กรที่นักข่าวรวมกลุ่มกันเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสงคราม พวกเขาสำรวจตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในอิรักและซีเรียในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. 2557 ถึง ต.ค. 2560 พบว่ามีพลเรือนเสียชีวิต 5,961 ราย

ข้อมูลของแอร์วอร์สต่างจากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ประเมินว่ามีตัวเลขพลเรือนเสียชีวิต 801 ราย เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 484 รายจากการประเมินเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ทางรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่าพวกเขากำลังพยายามตีตัวเลขจากรายงานจำนวนมากที่ระบุถึงการสูญเสียโดยไม่ได้ตั้งใจ รัฐบาลสหรัฐฯ บันทึกว่าเป็นไปได้ที่จะมีตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการทางอากาศรวมแล้วประมาณ 1,800 ราย ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าจากการประเมินของแอร์วอร์ส

อีกองค์กรหนึ่งที่ประเมินตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการของสหรัฐฯ คือแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล มีการประเมินเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่ามีกลุ่มผู้เสียชีวิตที่ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธอยู่มากกว่า 5,800 ราย ซึ่งเป็นผลจากปฏิบัติการของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านไอซิสในประเทศอิรักและซีเรีย รวมถึงรายงานว่าสหรัฐฯ ล้มเหลวในการ "ใช้ความระมัดระวังเพื่อคุ้มครองพลเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ"

แอมเนสตีฯ รายงานว่ากลุ่มแนวร่วมปฏิบัติการต่อต้านไอซิสโปรยใบปลิวในเขตเมืองที่ถูกควบคุมโดยไอซิสระบุเตือนให้อยู่ห่างจากกลุ่มไอซิสและให้ตากเสื้อผ้าเด็กไว้บนดาดฟ้าอาคารเพื่อระบุว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพลเรือน แต่ทว่าวิธีการเตือนเช่นนี้ไม่ได้คำนึงถึงสภาพชีวิตของผู้คนตามความเป็นจริงในการถูกปกครองภายใต้กลุ่มไอซิส เช่นในกรณีทางฝั่งตะวันตกของโมซูลที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถออกห่างจากพวกไอซิสได้ อีกทั้งพวกไอซิสยังจะสังหารทุกคนที่มีใบปลิวอยู่ในมือ และบ้านที่มีการตากเสื้อผ้าเด็กบนดาดฟ้าก็ยังคงถูกโจมตีทางอากาศอยู่ดี

ก่อนหน้านี้นิวยอร์กไทม์ยังระบุในรายงานเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่าปฏิบัติการต่อต้านไอซิสของสหรัฐฯ เป็น "สงครามที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน" พวกเขาระบุว่ามีจำนวนพลเรือนผู้เสียชีวิตมากกว่าตัวเลขที่รัฐบาลรายงานไว้ถึง 31 เท่า

ถึงแม้ว่าปฏิบัติการที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังจะทำให้กลุ่มไอซิสสูญเสียการควบคุมเมืองใหญ่ๆ สองเมืองคืออัลรัคคาและโมซูล แต่การทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ก็ทำให้เกิดการนองเลือดต่อพลเรือนเพิ่มมากขึ้น เช่น ในเขตหนึ่งของโมซูลมีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 150 ราย แอร์วอร์สยังประเมินว่ามีเด็กถูกสังหารในปฏิบัติการยึดอัลรัคคา 119 ราย

ในเรื่องนี้ทำให้แอมเนสตีฯ ระบุผ่านโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้มีการรายงานจำนวนพลเรือนผู้เสียชีวิตอย่างโปร่งใสมากกว่านี้และให้ปฏิบัติการของแนวร่วมต่อต้านไอซิสมีความรับผิดชอบมากกว่านี้


เรียบเรียงจาก

As Military Obscures Bloodshed, Number of Civilians Killed by US Bombs Soaring, Say Watchdogs, Common Dreams, 01-12-2017
https://www.commondreams.org/news/2017/12/01/military-obscures-bloodshed-number-civilians-killed-us-bombs-soaring-say-watchdogs

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

50 องค์กรในสหรัฐฯ แถลงกรณีความรุนแรงในฮอนดูรัส-ร้องสอบทุจริตเลือกตั้ง

Posted: 05 Dec 2017 12:32 AM PST

องค์กรภาคประชาสังคมสหรัฐฯ จำนวนมากออกแถลงการณ์กรณีความขัดแย้งเรื่องผลการเลือกตั้งในฮอนดูรัส ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ชี้เป็นผลพวงต่อเนื่องจากที่สหรัฐฯ เคยสนับสนุนรัฐประหารในปี 2552 เรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดสนับสนุนฝ่ายความมั่นคงของฮอนดูรัส และให้มีการสืบสวนอย่างอิสระต่อข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งและความรุนแรงจากรัฐ

ในไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวฮอนดูรัสจำนวนมากออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลที่พวกเขามองว่าเป็นการพยายาม "ขโมย" การเลือกตั้งจากพวกเขาไปโดยการยืดเยื้อไม่ยอมประกาศผลการเลือกตั้ง หลังจากที่มีการให้ประชาชนไปลงคะแนนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา

การนับคะแนนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ทำให้มีประชาชนออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจและถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงกังวลว่าจะมีการโกงผลโหวตโดยฝ่ายพรรคเนชันแนลซึ่งนำโดยฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ พรรคฝ่ายขวาที่มีอำนาจหลังการรัฐประหารที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังเมื่อปี 2552 โดยในช่วงหลังเลือกตั้งไม่นาน ผลการนับคะแนนเอียงข้างไปในทางฝ่ายซ้าย (Libre-PINU) นำโดย ซัลวาดอร์ นาสรัลลา

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 องค์กรสิทธิมนุษยชน 50 องค์กรในสหรัฐฯ ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฮอนดูรัสมีความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง

เอลิซ โรเบิร์ตส จากองค์กรผู้ประสานงานประจักษ์พยานแห่งสันติสหรัฐฯ (National Coordinator of Witness for Peace) ระบุว่าหลังจากที่พวกเขาสังเกตการณ์และบันทึกเหตุการณ์การเลือกตั้งในฮอนดูรัสช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาก็มีความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งและการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ รวมถึงการทุจริต ไร้ความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง โดยชี้ว่า สหรัฐฯ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องจากการให้งบแก่หน่วยงานความมั่นคงและให้อาวุธกับทางการฮอนดูรัสในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน มีผู้ร่วมงานของพวกเขาในฮอนดูรัสมองว่านี่เป็น "ช่วงระยะสุดท้ายของการรัฐประหาร" ที่สหรัฐฯ เคยหนุนหลัง

โรเบิร์ตส เรียกร้องให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ หันมาสนับสนุนการสืบสวนอย่างอิสระในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งและความรุนแรงจากรัฐ และเรียกร้องสหรัฐฯ เลิกสนับสนุนกองกำลังความมั่นคงของฮอนดูรัส

เหตุความรุนแรงในฮอนดูรัสส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7 ราย และมากกว่า 20 รายได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในกรณีที่เสียชีวิตเป็นหญิงวัยรุ่นอายุ 19 ปี ที่ถูกสังหารจากเหตุการณ์ที่กองทัพเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ มีการประกาศเคอร์ฟิวตั้วแต่วันที่ 30 พ.ย. เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีรายงานว่ามีการกวาดต้อนจับกุมผู้คนด้วย กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนโต๊ะกลมแห่งฮอนดูรัสระบุว่าการกระทำของรัฐบาลถือเป็น "การก่อการร้ายโดยรัฐต่อประชาชน"

ชุงหวาหง ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรคนรากหญ้านานาชาติ (Grassroots International) กล่าวว่า การรัฐประหารในฮอนดูรัสเมื่อปี 2552 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้นทำให้ 8 ปีของฮอนดูรัสเต็มไปด้วยความรุนแรง ความยากจนแบบดิ่งลงเรื่อยๆ และเกิดการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างโหดเหี้ยม ในฐานะที่พวกเขาเป็นกลุ่มองค์กรที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ พวกเขาจะปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐฯ และฮอนดูรัสก่อโศกนาฏกรรมซ้ำๆ อย่างการทำลายประชาธิปไตยต่อไปไม่ได้

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในสหรัฐฯ ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้นอกจากองค์กรคนรากหญ้านานาชาติและองค์กรผู้ประสานงานประจักษ์พยานแห่งสันติสหรัฐฯ แล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรสตรีเพื่อสันติภาพโค้ดพิงค์ (Code Pink) องค์กรสำนักงานมิตรภาพแห่งอเมริกา (The Friendship Office of the Americas) ที่ทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสหรัฐฯ กับนิคารากัว และฮอนดูรัส ฯลฯ

ขณะที่สื่อทั่วโลกรายงานข่าวสถานการณ์ฮอนดูรัสในแบบที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อคณะตุลาการศาลว่าด้วยการเลือกตั้งระหว่างประเทศ (TSE) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยพรรคผู้นำรัฐบาลให้มาดูแลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม TSE ระบุว่าสาเหตุที่การนับคะแนนในตอนแรกพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายดูจะเป็นคนนำ แต่พอถึงช่วงกลางสัปดาห์พรรคเนชันแนลเหมือนจะตีตื้นขึ้นมาได้นั้นเป็นเพราะว่าในช่วงกลางสัปดาห์มีการนับคะแนนจากกลุ่มพื้นที่ที่สนับสนุนพรรคเนชันแนล พวกเขาเชื่อว่าถ้านับคะแนนจากพื้นที่ที่สนับสนุนนาสรัลลาแห่งพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้าย ด้วยแล้วก็อาจจะทำให้พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายเป็นฝ่ายนำต่อไปได้

ทาง TSE ระบุอีกว่าสาเหตุที่การนับผลคะแนนล่าช้าเป็นเพราะการลงคะแนนในพื้นที่ชนบทมีความล่าช้าและคอมพิวเตอร์ขัดข้อง ทำให้เกิดการหยุดนับคะแนนชั่วคราว 10-12 ชั่วโมง มาริโอ โลโบ หัวหน้าผู้พิพากษาประจำ TSE กล่าวว่าพวกเขาจะต้องทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านในเรื่องความโปร่งใส ไม่เช่นนั้นกระบวนการจะล่าช้าไปอีกและทำให้เกิดข้อกังขาต่อความชอบธรรมของกระบวนการ

ในแถลงการณ์ของกลุ่มภาคประชาสังคมสหรัฐฯ ยังระบุถึงสิทธิของชนพื้นเมืองและเกษตรกรผู้ต่อสู้ปกป้องผืนดินของตัวเองแบบที่เรียกว่าคัมเปซินา โดยที่ซินดี ไวสเนอร์ จากกลุ่มสมาพันธ์เพื่อความเป็นธรรมระดับโลกของชาวรากหญ้า (Grassroots Global Justice Alliance) บอกว่าแม้จะถูกข่มขู่แต่ก็ยังออกมาเลือกตั้งเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยากปกป้องผืนดินของตัวเอง ปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้เคารพต่อสิทธิของคนกลุ่มนี้ที่มักจะถูกปราบปรามจากกองทัพรัฐบาลฮอนดูรัสด้วย


เรียบเรียงจาก

Honduras troops shoot dead teenage girl amid election crisis protests, The Guardian, 02-12-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/02/honduras-troops-shoot-dead-teenage-girl-curfew-election-crisis-protests

US Outrage Grows at Risk of Honduran Election Theft, 50 Groups Join Call, 02-12-2017
https://www.commondreams.org/news/2017/12/02/us-outrage-grows-risk-honduran-election-theft-50-groups-join-call

Honduras election: Tensions high as vote count delayed, Aljazeera, 01-12-2017
http://www.aljazeera.com/news/2017/11/honduras-election-tensions-high-final-count-delayed-171130130845936.html


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Honduran_general_election,_2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอเลี้ยบ' ชี้ 3 ปัจจัยทำ รพ.ขาดทุน อย่าพูดง่ายๆ ต้องดูให้ชัดว่ามีสาเหตุจากอะไร

Posted: 04 Dec 2017 11:59 PM PST

หมอเลี้ยบชี้กระแสดราม่า 'ตูน บอดี้สแลม' วิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาลอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้เกิดการพูดคุยกันมากในช่วงนี้ ย้ำโรงพยาบาลขาดทุนเกิดจากหลายสาเหตุ แค่พูดว่าโรงพยาบาลขาดทุนมันง่ายแต่ไม่มีใครลงรายละเอียดอย่างจริงจังว่าสาเหตุจริงๆ คืออะไร

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

5 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่ากลุ่มอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "งบ'สาธารณสุข กับเรื่องที่คุณควรรู้" ร่วมหาคำตอบว่าทำไมพี่ตูนต้องวิ่งไปแตะขอบฟ้าเพื่อหาตังค์จนเอ็นเข่าแทบเสื่อม โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมเสวนา เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตูนออกมาวิ่ง 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2559 เพื่อหาเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และครั้งที่ 2 ปี 2560 วิ่งเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่ง ซึ่งน่าสังเกตว่าตอนวิ่งปี 2559 ไม่มีกระแสดราม่า แต่การวิ่งในครั้งนี้กลับมีกระแส ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นการวิ่งในขณะที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสงสัยว่าอาจมีการล้มหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำมา 15 ปี ถึงทำให้เกิดการพูดคุยกันมากในช่วงนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องระบบ แต่เป็นความขัดแย้งของความคิด 2 แนวทางในระบบสาธารณสุขไทยที่มีมา 40-50 ปี

"หลายยุคของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา แกว่งไปแกว่งมา ยุคไหนปลัดกระทรวงสนใจเรื่องงานสาธารณสุข ต้องการส่งเสริมการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ พยายามสร้างโรงพยาบาลทุกอำเภอ อันนี้ก็จะเป็นยุคเฟื่องฟูของสาธารณสุขมูลฐาน แต่บางยุคปลัดกระทรวงสนใจความเป็นเลิศทางวิชาการ ยุคนั้นก็จะไม่สนใจการป้องกันโรค ไม่สนใจสาธารณสุขมูลฐาน แต่ตัดสินใจว่าทำอย่างไรถึงจะพัฒนาโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเมือง เพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มเทคโนโลยีที่ทันสมัย นี่คือความคิด 2 แบบที่เกิดในกระทรวงสาธารณสุขนานแล้ว แม้แต่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มาจากรากฐานความคิด 2 แบบนี้แหละ แล้วก็อาจมีบางส่วนที่คิดว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าทางการแพทย์" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การพูดว่าโรงพยาบาลขาดทุนเป็นเรื่องง่ายที่จะพูด แต่ไม่มีใครลงรายละเอียดอย่างจริงจังว่าขาดทุนจริงหรือไม่ ขาดทุนเพราะอะไร เพราะประเด็นการขาดทุนเกิดขึ้นได้ทั้ง 3 อย่างคือ 1.ทรัพยากรมากเกินไปแล้วไม่ยอมกระจายออก 2.เป็นพื้นที่พิเศษที่ต้องดูแล และ 3.ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร

นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างในประเด็นการกระจายทรัพยากรว่าเป็นปัญหาการจัดสรรเงินงบประมาณในอดีตที่จัดสรรตามที่โรงพยาบาลเสนอขอ แต่ไม่ได้เสนอโดยดูว่าจะต้องดูแลประชาชนเท่าไหร่ ทำให้การพัฒนาไม่เสมอภาค ผิดรูปผิดร่างมานาน เช่น ปี 2544 ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ต้องดูแลประชากร 2 แสนคน มีเตียง 60 เตียง มีแพทย์ 5-6 คน ได้งบประมาณไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่ก็มีบางจังหวัดที่มีประชากร 2 แสนคนเท่า อ.กันทรลักษ์ แต่มีทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอรวมกัน 4-5 แห่ง มีเตียงรวมกันเกือบ 500 เตียง มีแพทย์รวมกันกว่า 100 คน ได้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท

"เกิดอะไรขึ้น คน 2 แสนคนเท่ากัน แต่จำนวนเตียงที่รองรับไม่เท่ากัน หมอมีไม่เท่ากัน งบประมาณไม่เท่ากันก็เพราะเป็นปัญหาจากการเสนอของบประมาณในอดีต พอมีการเปลี่ยนวิธีจัดงบประมาณมาให้ตามจำนวนคน จังหวัดที่เคยได้มากกว่านี้ มีหมอนับร้อยคน ก็จะได้น้อยลง มันก็ต้องมีการกระจายทรัพยากรออกไป ซึ่งตอนเขียนกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เราต้องการเกลี่ยทรัพยากร ที่ไหนหมอเยอะเกินไปก็ควรย้ายไปอยู่ในที่ที่ขาดแคลน แต่ผ่านมา 15 ปี มันไม่เป็นอย่างนั้น ปัญหาขาดทุน มันก็อาจเกิดจากทรัพยากรมากระจุกตัว ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเยอะ รายได้ที่มาจากเงินรายหัวอาจไม่พอค่าใช้จ่าย" นพ.สุรพงษ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า สำหรับสาเหตุต่อมา อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ตั้งโรงพยาบาล เช่น อยู่ห่างไกลมาก ประชากรน้อย แต่เป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาล ทำให้เกิดการขาดทุน ซึ่งกรณีแบบนี้ก็จะเป็นลักษณะพิเศษซึ่งมีไม่กี่แห่ง และสาเหตุสุดท้ายคือประสิทธิภาพการบริหารของโรงพยาบาลเอง เพราะ สปสช. จ่ายเงินผู้ป่วยในด้วยระบบ DRG ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งระบบ โรงพยาบาลไหนทำดีก็มีกำไร โรงพยาบาลไหนไม่มีประสิทธิภาพก็ขาดทุน

"ฉะนั้นต้องมานั่งไล่ดูทุกแห่งว่าที่ขาดทุน ขาดทุนเพราะอะไร คือพูดว่าขาดทุนๆ มันพูดง่าย แต่ต้องไปดูเพราะขาดทุนเพราะอะไร" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[สปอยล์] เต๋อ-นวพล คุยกับคนดูว่าด้วยเบื้องหลังการทำหนัง Die Tomorrow

Posted: 04 Dec 2017 08:29 PM PST

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเวที Q&A ถาม-ตอบเรื่องการกำกับและเขียนบทหนังกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ Die Tomorrow เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 ที่ SFW เซ็นทรัลเวิลด์ หลังจบภาพยนตร์ ในรอบ 17.00 น. ดำเนินรายการโดย นคร โพธิ์ไพโรจน์ กองบรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป

 

 

ตัวละคร

เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์: ผู้กำกับหนังชาวไทยวัย 33 ปี เมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยสร้างกระแส 'ฟรีแลนซ์' ให้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางจากหนังเรื่อง 'ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ' ผู้อยู่เบื้องหลังการเขียนบทหนังไทยหลายเรื่อง เช่น รถไฟฟ้า มาหานะเธอ, Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ผู้กำกับหนังสั้นที่แพร่หลายในโลกโซเชียลเมื่อหลายปีก่อนอย่าง มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี และผู้กำกับหนังอิสระ หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'หนังอินดี้' อย่างหนังเรื่อง 36 ซึ่งคว้ารางวัล New Currents Award จาก Busan Film Festival 2012 รวมถึง Mary is happy, Mary is happy และสารคดี The Master

ภายใน / โรงฉายภาพยนตร์โรงที่ 8 / กลางคืน

เป็นเวลาทุ่มกว่า หลัง End Credit ของหนัง Die Tomorrow จบลง เป็นรอบที่ผู้ชมมากที่สุดรอบหนึ่ง กวาดตามองก็พบว่าที่นั่งถูกจับจองเกือบทุกที่ จากหลังสุดจนเกือบหน้าสุด ไฟค่อยๆ สว่างขึ้น เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังเดินเข้ามาหน้าจอภาพยนตร์ พร้อมด้วย นคร โพธิ์ไพโรจน์ พิธีกรของงาน Q&A ในวันนี้ ทั้งคู่นั่งลงบนเก้าอี้ที่ถูกจัดเตรียม ข้างๆ กับแบ็คดรอปของหนังเรื่องนี้

หลายคำถามถูกยิงใส่เต๋อ เพื่อให้หายข้องใจถึงไอเดียแรกเริ่มของหนัง กระบวนการที่ถูกพัฒนาให้เป็น Essay Film ความตายในความคิดของเต๋อ วิธีการเขียนบทหนัง วิธีการทำงานกับนักแสดงให้ได้ไดอะล็อกโคตรธรรมชาติ และการแสดงโคตรสมจริงในความคิดของหลายคน แต่เบื้องหลังคือการบล็อคกิ้งอันแสนวุ่นวาย

ฉีกสคริปต์ทิ้งไปก่อน เพราะการตอบคำถามนี้กลั่นมาจากประสบการณ์ในวัย 33 ปี และตลอดระยะเวลาที่เขียนบทและถ่ายทำของหนังเรื่อง Die Tomorrow หนังที่ว่าด้วยความตาย ที่เต๋อบอกว่า มันเริ่มจากไอเดียก่อนวันสุดท้ายที่มันอาจจะเป็นวันธรรมดาที่มันไม่มีสัญญาณอะไรเลยก็เป็นได้




***เนื้อหาต่อจากนี้เปิดเผยบางส่วนของภาพยนตร์


ไอเดียเริ่มแรกของหนัง และที่มาของความเป็น Essay Film

ไอเดียแรกคือ อยากทำตอนสี่สาว ลองเทคไปเลย 70 นาทีทั้งเรื่อง แล้วอยู่ในห้องไปเลยทั้งเรื่อง มันไม่ใช่ไอเดียใหม่แต่เพราะยังไม่เคยทำ และอยากลองทำดู เราอินเรื่อง dying young ด้วย คือตายตั้งแต่หนุ่มสาว เลยจะพัฒนาเรื่องการตายตั้งแต่หนุ่มสาวเป็นหนังทั้งเรื่องไปเลย แล้วก็พูดถึงความฝันความหวังต่างๆ ผ่านตัวละครสี่ตัว ในห้องๆ เดียว

แต่พอทำแล้วเราก็รู้สึกคิดถึงคนที่อายุเยอะกว่านั้น หรือแง่มุมอื่นๆ เช่น พี่น้อง คู่สามีภรรยา ชั่งน้ำหนักกันนานมาก ว่าเราจะทำตอนเดียวยาว หรือจะเอา 6-7 ตอน สุดท้ายเราก็เอา 6-7 ตอน ซึ่งเราว่าความยากของการทำรวมหนังสั้นแบบนี้ เช่น Love Actually (2003) หรือเรื่องอื่นๆ คือทุกเรื่องจะต้องเป็นแบบ จริงๆ แล้ววีโอเล็ตเป็นน้องสาวซันนี่ ซันนี่รู้จักกับทราย ทูเคยเดินสวนน้าค่อมที่ตลาด ซึ่งเราก็เบื่อ คนดูเบื่อ ไม่อยากเป็นแบบนี้เลย หรือทุกเรื่องเกิดขึ้นที่สถานที่เดียวกัน เราก็เบื่อ

เราคิดว่าจะต้องหาวิธีเชื่อม 6-7 ตอนนี้เข้ามาในแบบใหม่ เริ่มหาวิธีการเรื่อยๆ ซึ่งมาเจอกับการดูสารคดี มีสารคดีประเภท Essay Film เช่น I Am Not Your Negro (2016) ที่ Documentary Club เคยเอามาฉาย เป็นการบรรยายพร้อมเปิดภาพฟุตเทจ เวลาเราดู แต่ละพาร์ทที่เล่ามันไม่ได้ต่อกัน แต่อยู่ภายใต้หัวข้อเดียวกัน และเรารู้สึกมันเป็นหนังเรื่องเดียวกัน เราเลยรู้สึกว่าการเอาเทคนิคภาพยนตร์หรือโครงสร้างของหนังมาประกอบเรื่องนี้เข้าด้วยกันมันน่าสนใจกว่า

ซึ่งก็เป็นที่มาของนาฬิกาที่นับ 70 นาทีแล้วบอกว่ามีคนตายไปกี่คน มันคือเชื่อมโยงทุกตอนเข้าด้วยกัน แล้วมันก็เชื่อมโยงโลกในความเป็นจริงด้วย ว่าในขณะเราดูหนังเรื่องนี้ 70 นาที มันมีสิ่งที่เกิดขึ้นนอกโรงด้วย มีคนตายอยู่นะ แล้วก็การมีคลิปสั้นๆ ต่างๆ ฟุตเทจเก่าๆ ของยานอวกาศ ประกอบด้วย ตอนทำก็รู้เลยว่าคนไม่คุ้นแน่ๆ เราทำหนังสตูดิโอ ที่ผ่านมาเราพอรู้ว่าคนดูชินกับอะไร ไม่ชินกับอะไร แต่เรื่องนี้เลือกที่จะไปแบบนี้เลย เพราะอยากลองว่าทำแบบนี้ออกมาในคอนเซปต์ Essay Film หรือทำหนังแบบอัลบั้มเพลงที่มีเพลง 6-7 เพลง คนดูจะไปกับมันได้ไหม

และกับโปรเจกต์นี้เราอาจจะทำมาเป็นเรื่องที่ 5 แล้วก็ได้ มันเลยถึงจังหวะที่ ลองดูก็ได้ ไม่เวิร์คไม่เป็นไร แต่ระหว่างที่ทำเรารู้สึกตัวเองสนุก หาทุนได้แบบไม่ต้องกังวล ไม่ได้เยอะแต่ก็ไม่ได้กังวล ซึ่งก็มีคนไม่เอาหนังเรื่องนี้เลยเยอะ แต่ก็รู้สึกมีคนเอาหนังเรื่องนี้เยอะกว่านิดนึง (หัวเราะ) ซึ่งเราถือว่าประทับใจมากแล้ว


ความตายสำหรับเต๋อ

อันหนึ่งจะมีคอมเมนต์ว่า มันไม่ลึกเลยค่ะ ไม่มีคอนเซปต์ ไม่มีพล็อต แต่จริงๆ ดราฟต์หนึ่งที่เราเขียนออกมามัน โอ้โห ซูเปอร์พล็อตเลย มันมีเหตุการณ์อะไรเยอะกว่านี้ เช่น ต้นหลิว (มรกต หลิว) จะคล้ายๆ เป็นแม่หมอประจำกลุ่ม ทำนายได้ว่าความฝันของแต่ละคนเป็นยังไง ซึ่งที่ทำนายก็จะมีแต่เรื่องดีๆ ทั้งที่มันกำลังจะมีใครตายไป แล้วเราก็รู้สึกมันเยอะไป มันไม่ตรงกับความรู้สึกแรกที่เราอยากทำหนังเรื่องนี้

คือตอนแรกที่อยากทำมันพูดถึงการที่วันนี้มี พรุ่งนี้ไม่มี มันพูดถึงเวลามากกว่า ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น มันพูดถึงว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันเลยเป็นคอนเซปต์ว่าก่อนวันสุดท้ายมันจะเป็นวันธรรมดาที่มันไม่มีสัญญาณอะไร อันนั้นคือธีมที่เราสนใจมาก เพราะงั้นเรารู้สึกว่ามันจะเป็นธีมนี้ต่อเมื่อคุณทำให้มันธรรมดามาก ธรรมดามากๆๆ ที่สุด จะต้องไม่มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นที่จะทำให้มันเป็นลาง ซึ่งแบบนี้ยากมาก

เวลาเราดูหนังทั่วไปมันจะต้องมีคอนฟลิกให้คนดู เพราะคนจะต้องคิดว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่อันนี้มันควรจะเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องทำไม่ให้มันธรรมดาเกินไป เช่น ก่อนเต้ยตาย เต้ยไปซื้อติ่มซำก่อนจะถูกรถชน ซึ่งชีวิตจริงอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ แต่มันจะธรรมดาไปสำหรับหนัง เราก็อาจจะเติมเป็น เต้ยไปซื้อติ่มซำ แต่เต้ยเป็นคนนอยด์ว่าอาหารนี้สะอาดรึเปล่า มีผงชูรสไหม ก็จะเริ่มมีธีมขึ้นมานิดนึงว่า ต่อให้รักสุขภาพก็ไม่รอดนะ แต่มันก็ไม่ใช่คอนฟลิกอยู่ดี

ดังนั้น เราต้องคิดสถานการณ์ธรรมดา แต่ในสถานการณ์ธรรมดานั้นมันจะต้องพูดถึงชีวิตของคนๆ นั้นได้ด้วย ซึ่งเราจะนึกถึงเพจอย่าง Human of New York ซึ่งมาแบบสั้นๆ เปิดมาเราไม่รู้จักพี่คนนี้มาก่อน กระบวนการอ่านเราอาจจะไม่ได้ต้องการความเศร้า แต่บางครั้งมันเป็นการอ่านแล้วเราคิดถึงตัวเอง คิดถึงเรื่องอื่นๆ บนโลก เช่น ชีวิตในเมืองนั้นมันลำบากเนอะ มันคือแค่นี้ แต่นี่คือเราได้แล้ว เราก็คิดว่าหนังเรื่องนี้ก็คงทำให้คนรู้สึกแบบนี้ได้

เราเลยตีว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นแพลตฟอร์มเฉยๆ เป็นหนังที่คนมาดูแล้วจะเอาอะไรกลับไปก็เอาไป จะคิดอะไรก็คิดไป จะชอบตอนไหนเป็นพิเศษก็ได้ ซึ่งผลที่ออกมามันเป็นแบบนั้นจริงๆ เขาก็อาจจะชอบในตอนที่เขารู้สึกเชื่อมโยงกับเขา ตอนนี้เหมือนเพื่อนเขา เหมือนพ่อเขา เหมือนปู่เขา ซึ่งเราคิดว่าหนังได้ทำหน้าที่ของมันแล้วจริงๆ
เราจะทำแค่นี้แหละ ต้องอย่าหวั่นไหวว่ามันจะพีคน้อยเกินไปรึเปล่า


ลำดับเรื่อง

ตอนต้นกับตอนจบคงวางไว้ก่อนแล้ว เพราะมันคือความตายของหนุ่มสาวกับตอนสุดท้ายมันคือความไม่มีอะไรเลย และเราก็รู้ว่าการใส่ระดับอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ทำได้ยากมาก 6 ตอนธรรมดาหมดเลยและไม่ต่อกัน ตัวละครไม่รู้จักกัน เวลาดูหนังแบบนี้พอจบตอนหนึ่ง ขึ้นตอนต่อมาหัวคนดูต้องเริ่มใหม่หมด นี่คือใครวะ เพราะฉะนั้นกราฟจะเป็นแบบขึ้นแล้วตก ขึ้นแล้วตกไปเรื่อยๆ ก็เลยพยายามเรียงตามคอนเทนต์ที่จะนำเสนอ

เช่น ตอนที่หนึ่งเราพูดว่าความตายมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ตอนต่อมาก็เลยคิดว่าหรือจริงๆ มันอาจจะมีสัญญาณบางอย่างบอกเราก่อนก็ได้นะ แต่เราอาจจะไม่เคยรู้ ตอนต่อมาก็เหมือนรู้แน่ๆ ว่าจะตาย แล้วต่อมาก็พลิกว่าหรือเราไม่ต้องกลัวความตาย ความตายมันมีประโยชน์รึเปล่า หรือตอนต่อไปก็เป็นว่าหรือความตายมันไม่ใช่อะไรเลย มันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญของคนบางคน คือมีไอเดียแล้วพยายามลำดับไอเดียให้มันไต่ระดับขึ้นเท่าที่พอจะทำได้ ถ้าเป็นหนังมันง่ายคือการพาตัวละครไปสู่สถานการณ์ที่แย่ลงเรื่อยๆ แต่พอเรื่องนี้อย่างน้อยให้คอนเทนต์จากหนึ่งไปสอง สองไปสามมันเปลี่ยน

จริงๆ ตอนทำเสร็จแล้วก็กังวลว่านี่มันครอบคลุมรึยัง เป็นสากลพอไหม ทุกมุมรึเปล่า แต่ตัวเองดูแล้วรู้สึกไม่มีอะไรจะพูดแล้ว ไม่ได้ขาดตอนไหนไป ซึ่งตอนอ่านคนคอมเมนต์เราก็รู้สึกว่าจริงๆ มันก็ไม่ได้ขาดอะไรเท่าไหร่ เพียงแต่สตอรี่อาจจะต่างกันไป

สุดท้ายแล้วเราทำหนังเรื่องนี้โดยคิดว่าความตายมัน nothing ประมาณหนึ่ง พูดแล้วเหมือนปลงแต่สุดท้ายแล้วมันก็จะกลับมาที่จุดนี้แหละ สำหรับเราสุดท้ายมันกลับมาที่ ความตายมันคือวันนี้มี พรุ่งนี้ไม่มี ไม่มีใครหนีพ้น มันคือแค่นั้นเลย อารมณ์มันคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา และบังเอิญเราเก่งเรื่องสร้างอารมณ์ เพราะเราเป็นมนุษย์

ไม่ได้บอกว่าถึงคิวตัวเองแล้วจะไม่เสียใจ เราก็คงเสียใจ แต่คนที่ก้าวข้ามมันได้คือคนที่เข้าใจอันนี้ มันมีอยู่แล้วมันก็ดับไป เพียงแต่เรา relate มันกับวัฏจักร เราเลยคิดตอนเต้ยมาให้มันจบที่สิงโต เพราะเรารู้สึกว่ามันมีแล้วก็ไม่มี คนที่อยู่ข้างล่างก็จะขึ้นมาข้างบน คนที่อยู่ข้างบนก็จะจากไป แล้วมันก็จะวน มันคือทัศนะที่เรามีต่อความตาย เราเลยไม่รู้จะทำยังไงกับคนที่บอกว่าอยากได้อะไรลึกๆ เพราะเราดันรู้สึกแบบนี้ แล้วหนังมันก็ออกมาเป็นแบบนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าแนวลึกๆ มันก็มีหนังเรื่องอื่นที่เขาทำมาก่อนแล้ว แล้วแต่คนสนใจ แต่ในอายุ 33 ปี 2017 นี่คือสิ่งที่เรารู้สึก


ไดอะล็อกที่มีความเป็นธรรมชาติเขียนอยู่ในบททั้งหมดรึเปล่า

โดยรวมๆ เราจะให้นักแสดงอิมโพรไวซ์น้อยลงเรื่อยๆ หมายความว่าอย่าพูดออกนอกทะเล อย่าพูดไปเรื่องอื่น การลองเทคมันออกนอกทะเลไม่ได้เพราะคนจดจ่อกับตัวละครไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่านักแสดงจะพูดอะไรก็พูดไป กล้องก็ตามถ่ายไปดิ ยิ่งเป็นลองเทคยิ่งต้องทำให้เรื่องมันเดินหน้าไปเรื่อยๆ ด้วยไดอะล็อก คุยเรื่อยๆ ไม่ได้เพราะเรื่องไม่เดิน

ไดอะล็อกจะต้องถูกจัดวางมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องไปข้างหน้า มันอาจจะเหมือนธรรมดา แต่มีความหมายของมันอยู่ มันไม่ใช่การอิมโพรไวซ์บทสนทนาแต่อาจเป็นการอิมโพรไวซ์ในประโยค เช่น ในบทเขียนว่า เธอๆ สบายดีไหม นักแสดงไม่จำเป็นต้องพูดแบบนี้ ซันนี่อาจจะบอกว่าเป็นผมผมพูดว่า เฮ้ย เป็นไงมั่ง

ตอนสี่สาว ครึ่งหนึ่งคือสคริปต์ แต่พาร์ทที่เขาพูดเรื่องความฝันว่าอยากทำอะไรเราให้เขาพูดในสิ่งที่เขาคิด เพราะครึ่งหนึ่งเราก็อยากให้มีเรื่องจริงของนักแสดงเข้าไปด้วย
นักแสดง

ตอนเราเลือกนักแสดงเราไม่ได้แคส ส่วนใหญ่จะเลือกดูจากงานเก่าๆ และเลือกคนที่เราอยากทำงานกับเขา เรามีจังหวะของการพูดตัวละครที่เราอยากให้มันเป็น กับนักแสดงที่ทำงานกันมาแล้วจะไม่ค่อยยาก แต่นักแสดงใหม่จะยาก เช่น พลอย ชื่อจริง ยากสุด เพราะตัวจริงร่าเริงมาก แต่ต้องเล่นเป็นคนป่วยติดสายยางออกซิเจน ก็ต้องเวิร์กชอป เราเชื่อในพลังของการเวิร์กชอป บางคนพูดปกติธรรมชาติมากแต่พอเข้ากล้องแอคชั่นปุ๊บ ไม่ธรรมชาติทันที ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่อาจจะเหมาะกับหนังอีกโหมดหนึ่ง หรือคนที่เล่นธรรมชาติไปเล่นคอมเมดี้ก็ทำไม่ได้

บางคนก็ยึดตามสคริปต์มาก เราก็ต้องบอกว่าวิธีการคือจำแค่แกนกลางของมันนะ คำพูดจริงๆ จะใช้คำไหนก็ได้ พูดออกมาให้มันรู้สึกเท่าเดิม นักแสดงก็ถามว่าจะรู้ได้ไงว่าพูดด้วยคำพูดเราจะเท่าเดิมกับในสคริปต์ เราก็จะบอกว่าพูดไปก่อน เดี๋ยวไม่ตรงแล้วเราบอกเอง ก็ต้องค่อยๆ จูนกันพอสมควร

อย่างพลอยสุดท้ายก็จูนได้ แล้วเขาเล่นได้บียอนด์มากๆ ในหนังตอนร้องไห้ไม่อยู่ในสคริปต์ แต่พอเราขอให้ลองก็เล่นได้ 3 ครั้งติด ตอนจบมันคือตอนนวด เราก็เกิดไอเดียให้ซันนี่ลองเดินออกไป เหลือพลอยคนเดียว เราปล่อยให้เขานั่งไป แล้วเรารู้สึกว่าทำไมเหมือนมันเปลี่ยนวันแล้ว มันทะลุมาอีกวัน มันคือหลังจากวันที่รู้ว่าเครื่องบินหายไป มันเหลือเขาอยู่ในห้องคนเดียว เลยคิดออกเลยว่าถ้าเป็นวันถัดมามันคงนั่งคนเดียวแล้วร้องไห้ สำหรับเรามันคือลองเทคที่เปลี่ยนเวลาโดยไม่คัท มันกลายเป็นว่าหนังที่เราดูทั้งหมดมันคือภาพในความทรงจำหลังจากวันที่เกิดเหตุ

ตอนน้าค่อม เป็นตอนวัดใจมากๆ เพราะสคริปต์มีแค่หน้าครึ่ง ไม่รู้จะเอาใครมาเล่น ก็นั่งคิดว่าถ้าจะเอาให้อยู่ต้องเป็นนักแสดงที่คนพอจำได้ มีพลังของเขาอยู่ แต่ไม่อยากเอาคนที่เล่นเป็นพ่ออยู่แล้ว อยากได้คนที่ในชีวิตจริงเขาก็ดูอาวุโส ตอนแรกก็คิดว่า หรือจะเอาแบบเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ไหม (หัวเราะ) จากเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มาสู่ ค่อม ชวนชื่น เพราะรู้สึกว่าเขาก็อาวุโสนะ เขาก็ดูรุ่นใหญ่นะ สิ่งที่กลัวที่สุดคือเปิดมาแล้วฮาทั้งโรง แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่า ไม่รู้ได้รึเปล่าแต่ต้องทำให้ได้แหละ ก็โทรไปชวน จริงๆ น้าไม่ได้ถามเลยเขาแค่ดูว่าคิวเขาว่างรึเปล่า (หัวเราะ)

ซึ่งเรารู้สึกว่าคนที่เป็นตลกเขาเล่นได้หลายแบบมากๆ เพราะตลกเขาอิมโพรไวซ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราว่ามันมี element นั้นอยู่ที่พอจะใช้ได้ ซึ่งน้าค่อมไม่ได้เจอตอนเวิร์กชอปด้วย มาเจอกันที่กองเลย มีเวลาก่อนถ่ายจริงชั่วโมงครึ่ง น้อยมาก บรีฟแกตอนนั่งกินข้าว แค่พูดตอนของแกว่ามันคืออะไร อธิบายให้ฟัง ค่อยๆ ให้ลองเล่นกับน้องนักแสดงอีกคน ให้ซ้อมกันดู ปรากฏว่ามันง่ายกว่าที่คิด ตอนแรกก็อาจจะเยอะไปแต่ค่อยๆ ปรับถึงจุดนึงมันก็ได้เลย เขาเก็ทเร็วมาก แล้วเราก็ถ่ายลองทั้งแบบเล่นเยอะ เล่นน้อย มีเทคที่ให้เล่นเป็นน้าค่อม แต่ถ้าใช้เทคนั้นที่ทำมา 70 นาทีก็จะหายไป ทุกอย่างที่ธรรมดามาจะกลายเป็นไม่ธรรมดาทันที (หัวเราะ) แต่ที่เขางงคือเขาถามว่าแล้วซีนต่อไปมีอะไรต่อ เราบอกไม่มี หมดแล้ว เขาก็บ่นทำนองว่า "สัส เรียกกูมานอนอย่างเดียวเลยดิ (หัวเราะ)" เขาคงงงว่านอนแล้วก็แสดงแล้วก็ได้เงินจบเป็นนักแสดงมาหลายปีอาจจะไม่เคยเจอแบบนี้

เรื่องนี้สำหรับเราโชคดีมากที่ทุกตอนมันมีแมจิกคนละอัน อาจไม่ใช่แค่เรื่องแอคติ้ง อาจเป็นเรื่องสภาพอากาศ แสงสีใดๆ ความพอดีบางอย่าง หรืออย่างของเต้ยมันแมจิกด้วยการแสดงของเขา

ตอนนี้ถ้าเต้ยไม่สามารถร้องไห้แบบนี้ได้จะใช้ไม่ได้เลย ถ้าน้ำตาไม่ไหลจะปาดอะไร พี่ช่างแต่งหน้าเข้าคิวไม่ได้เลย และตัวละครมีความซับซ้อน ความรู้สึกหลายอย่าง ดีใจเสียใจ เสียใจที่ตัวเองดีใจ มันไม่ใช่เขาตายแล้วเศร้าจบ เพราะฉะนั้นแอคติ้งของหน้ามันจะไม่ใช่อะไรเลย มัน in between กับทุกอย่าง ต้องให้เขาค่อยๆ ทำความเข้าใจ ทำไปทำมาก็พบว่าวีธีการที่ใช้ได้คือพอกล้องค่อยๆ เข้าไป เราก็พูดถึงสิ่งที่อยู่ในหัวตัวละคร ทำไมเป็นคนแบบนี้ เขาร้องไห้หลายเทค แต่ได้แบบนี้เทคเดียว มองข้างล่างแล้วกรอกตาขึ้นมาแล้วน้ำตามันร่วงพอดี ถูกต้องมากๆ ไม่คิดอีกเลยว่าจะได้อีกแล้ว โชคดีหลังจากตอนนี้เขาก็เล่นได้หมดแล้วผ่านเลย จริงๆ ใครสังเกตพอเขาเช็ดน้ำตาไปแล้ว ตรงตาเขามีอีกหยดหนึ่งแล้วมันค้าง มันโคตรดีเลย ไม่น่าทำได้ในครั้งที่สอง

ตอนที่ถ่ายเยอะที่สุดคือตอนสี่สาว เพราะทุกคนพูดพร้อมกัน และตอนถ่ายไมค์ทุกคนดังเท่ากัน มันจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย เคยลองให้พูดทีละคนแล้วไม่เวิร์ก พอคนนี้พูดแล้วทุกคนหยุด มันไม่ธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้ที่เพื่อนสี่คนอยู่ด้วยกันแล้วไม่แย่งกันพูด บรีฟคือพูดไปเรื่อยๆ ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นต้องมีทัศนะและคอมเมนต์ ต่อให้ไม่ใช่สิ่งสำคัญในสคริปต์แต่มันคือบรรยากาศของเสียงที่ควรจะมี


บล็อคกิ้งคือส่วนที่ยากที่สุดของหนัง

เบื้องต้นคือการพูดให้ธรรมชาติ ที่ยากสุดคือบล็อคกิ้งมากกว่า หมายถึงว่าใครอยู่ตรงไหนทำอะไร เดินเข้าเดินออกตอนไหน เพราะลองเทคเวลาถ่ายควรเห็นหน้านักแสดง

ตอนยากที่สุดน่าจะเป็นตอนสี่สาว ซูเปอร์อภิมหาแห่งการบล็อคกิ้ง มันไม่ใช่ใครจะเข้าจะออกก็ได้ เพราะตากล้องจะงงว่าจะถ่ายอะไร เช่นตอน ออกแบบ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ไปเข้าห้องน้ำ นี่คือบล็อคกิ้ง เราไม่อยากให้นักแสดงอยู่บนโซฟาทั้งเรื่อง มันจะน่าเบื่อมาก อย่างน้อยมันเหมือนเปลี่ยนซีนในเทคเดียว จะเริ่มเห็นสองคนบ้าง หนึ่งคนบ้าง สามคนบ้าง พอออกแบบลุกไปฉี่ จูนจะขึ้นมานั่งแทนออกแบบ แล้วต้นหลิวจะเดินไปหยิบมาส์ก ออกแบบจะกลับมานั่งที่โซฟา แล้วต้นหลิวค่อยกลับมา แล้วทุกคนค่อยเปลี่ยนหัวข้อคุย แต่ทุกคนต้องทำเหมือนไม่รู้คิว ต้องทำให้ธรรมชาติที่สุด

หรือตอนวีกับพายก็ยาก เพราะระเบียงข้างหน้ามันแคบ ในทางกล้อง ถ้าเราไม่ให้สองคนทำอะไร พิงระเบียงมองออกไปข้างนอกแล้วคุยกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราจะไม่เห็นหน้าพายเลย เราเลยต้องคิดว่าทำยังไงให้ถ่ายเห็นหน้าพายได้บ้าง เราเลยคิดว่าพอคุยถึงประโยคนี้ให้พายลองยืนโหนระเบียงเหมือนเมื่อยๆ ซึ่งแค่นั้นก็ช่วยให้คนดูเห็นหน้านักแสดงแล้วนะ แล้วเราก็เซ็ตให้วีดูดบุหรี่ พอวีดูดบุหรี่ พายก็จะบอกว่าเหม็นบุหรี่แล้วเดินไปอีกข้างหนึ่ง ซึ่งพอวีจะคุยเขาก็ต้องพลิกตัวมาอีกข้างมาหากล้อง ก็จะเห็นหน้าวี

เราต้องหาวิธีให้นักแสดงหันมาหากล้องโดยธรรมชาติโดยพฤติกรรมของนักแสดง เพราะระเบียงนั้นเราไม่สามารถให้กล้องกระโดดจากตึกไปรับหน้าเขาได้ และกล้องเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดีๆ จะเดินไปข้างๆ แล้วถ่ายหน้าโดยอัตโนมัติ เพราะมันจะกลายเป็นอยู่ดีๆ มีตากล้องอยู่ตรงนั้น กล้องต้องเหมือนกับว่า จะไปไหนทีนึงต้องมีใครเคลื่อนไหวบางอย่างแล้วกล้องแพนตาม เราจึงต้องคิดจากแอคติ้งของนักแสดงว่าให้เขาทำอะไร

นี่คือความเหนื่อยมาก เราต้องคิดตลอดเวลาว่านักแสดงทำอะไรแล้วจะอำนวยให้กล้องไปทางนั้นรึเปล่า อย่างตอนซันนี่พลอย เราเซ็ตว่ากล้องจะเคลื่อนเป็นซ้ายขวา เหมือนปิงปอง ใครจะตายก่อนกันแน่ เพราะฉะนั้นเราก็เซ็ตว่าพอซันนี่พูดถึงประโยคนี้แล้วให้ยืดขาไปให้พลอย กล้องก็จะเคลื่อนตามขาซันนี่ไปเข้าสู่พลอย มีซันนี่ไปหยิบโลชั่น มีพลอยขยับมานั่งที่เก้าอี้ ซึ่งมันจะยากกับนักแสดงที่เขาต้องจำว่า พอพูดเรื่องพาสปอร์ตปุ๊บให้กลับมานั่งที่เก้าอี้ เป็นต้น

เวลาซ้อมของหนังเรื่องนี้ไม่สามารถซ้อมในห้องแคสติ้งได้เลย ต้องมาซ้อมที่จริงหนึ่งวันก่อนถ่าย เพราะเขาต้องรู้ว่าเขาจะนั่งตรงไหน เขาต้องทำอะไร ในห้องนั้นมีของอะไรบ้าง จะต้องเดินจากจุดไหนไปจุดไหน ก่อนออกต้องหยิบอะไรออกไป และต้องทำให้ดูเป็นธรรมชาติ
 

การสัมภาษณ์น้องมรรค

สัมภาษณ์จริง ถ่ายจริง ไม่มีบท บางคนบอกเขาจำหนังสือมาตอบ แต่ถ้าคุณนั่งตรงนั้นกับเขา คุณจะรู้เลยว่าเขาเป็นเด็ก เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้หยิบมาใช้ทั้งหมดในหนัง ในบทที่เขียนคือสัมภาษณ์เด็กเรื่องความตาย แค่นั้นจบ


หนังที่พัฒนาไปพร้อมกับการถ่าย และการเขียนสคริปต์ต่อจากสถานที่ถ่ายทำ

หนังเรื่องนี้มันพัฒนาไปพร้อมกับการถ่ายของแต่ละวัน ซึ่งเราสนุกกับมันมาก อย่างฉากแม่บ้านมาทำความสะอาดโรงแรมไม่ได้เขียนในสคริปต์ ตอนไปถึงสถานที่ก็คิดว่าอยากได้คัทที่เป็นห้องโล่งๆ เรารู้สึกว่ามันอาจจะได้ใช้ เหมือนเราเห็นคัทติ้งในหัวแล้วว่าพอเด็กพวกนี้มันโวยวายๆ ปาร์ตี้กัน คัทมาเป็นห้องโล่งๆ มีแม่บ้านมาทำความสะอาด เราว่ามันมีความหมายบางอย่าง

อย่างดอกไม้ ตอนที่ถ่ายฉากสี่สาวมันโล่งๆ เราลองเอาดอกไม้มาวางดูแล้วมันสวย เราก็รู้สึกว่าหนังเราน่าจะใส่ดอกไม้เข้าไปทุกตอน ก็เลยใส่ดอกไม้เข้ามาแต่ไม่ได้เจาะจงถ่าย ใครเห็นก็เห็น ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ไอเดียมันค่อยๆ พัฒนาไปกับสถานที่จริง ในการทำงานส่วนใหญ่ของเราก็เป็นแบบนี้ เวลาไปดูสถานที่ถ่ายทำจะบอกพี่ๆ ว่าอย่าเร่ง เพราะบางทีเราจะเขียนสคริปต์ต่อจากสถานที่ที่เราไปเจอ เพราะบางทีของจริงมันจริงกว่า มันมีของเล่นเยอะกว่า มีหน้าต่างแบบนั้น มีทีวีแบบนี้ เราใช้เล่นอะไรกับมันได้บ้าง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น