โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฝ่ายค้านกัมพูชาวิจารณ์รัฐบาลสั่งเพิกถอน 'หนังสือเดินทางทูต' รังแกกันหนักขึ้นไปอีก

Posted: 02 Dec 2017 03:01 AM PST

จากที่รัฐบาลกัมพูชาทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดฝ่ายค้านและผู้วิพากษ์วิจารณ์รวมถึงการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ เมื่อไม่นานนี้ก็มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางทูตของพรรคฝ่ายค้านซึ่ง ส.ว. ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่าเป็นการคุกคามกันมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามมีนักวิเคราะห์บอกว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการหลังยุบพรรคและถอดฝ่ายค้านจากตำแหน่งอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่ามีการรังแกกันทางการเมืองจริงในกัมพูชา

 
2 ธ.ค. 2560 นักการเมืองจากพรรคแกนนำฝ่ายค้านของกัมพูชาเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (30 พ.ย.) ว่ารัฐบาลฮุนเซนสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางทูตของเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองและ ส.ส. 56 ราย ถือเป็นการพยายามคุกคามพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลังจากที่มีการสั่งยุบพรรคก่อนหน้านี้
 
สอ จันเดช (Sor Chandeth) เป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางทูตจากนักการเมือง 56 ราย กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชายังประกาศให้หนังสือเดินทางทูตของพวกเขาเป็นโมฆะและไม่มีผลตามกฎหมายด้วย
 
จันเดชกล่าวว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศที่เสถียรภาพทางการเมืองแขวนอยู่บนเส้นด้ายและทุกอย่างถูกตัดสินใจตามอำเภอใจโดยบุคคลคนเดียว ซึ่งจันเดชหมายถึงนายกรัฐมนตรีฮุนเซนที่อยู่ในอำนาจมานานเกือบ 33 ปีแล้ว จันเดชกล่าวอีกว่ารัฐบาลไม่สามารถเพิกถอนหนังสือเดินทางทูตของพวกเขาได้ และการแบนพวกเขาออกจากการเมืองก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
 
ก่อนหน้านี้ศาลสูงสุดของกัมพูชาเคยสั่งยุคพรรคฝ่ายค้าน CNRP มาก่อนและหลังจากนั้นก็บีบให้สมาชิกต้องย้ายข้างไปเข้ากับพรรครัฐบาล CPP อีกทั้งยังมีการเตือนว่าสมาชิกที่หนีไปอยู่ประเทศไทยจะถูกส่งตัวกลับมา
 
จันเดชยังพูดในเชิงไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรมในกัมพูชาโดยเขาเชื่อว่ากระบวนการศาลในกัมพูชามีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลชักใยอยู่ และกล่าวว่าฮุนเซนพยายามปราบปรามฝ่ายค้านเพื่อรับกับการเลือกตั้งระดับประเทศที่กำลังจะมีขึ้นในอีก 7 เดือนข้างหน้า
 
สร ชัย (Sorn Chey) ผู้อำนวยการบริหารของเครือข่ายเพื่อการตรวจสอบทางสังคมในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่มีฐานในกัมพูชากล่าวว่าการสั่งระงับหนังสือเดินทางในครั้งนี้เป็นแค่กระบวนการบริหารทั่วไปตามระเบียบวาระเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่พรรค CNRP ถูกขับออกจากตำแหน่งงานหลังจากที่พรรคของพวกเขาถูกยุบพรรค และแม้ว่าหนังสือเดินทางทูตจะถูกระงับเพิกถอนแต่พวกเขาก็ยังใช้หนังสือเดินทางปกติทั่วไปได้ นอกจากหนังสือเดินทางทูตแล้วเอกสารทางการอื่นๆ ท่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของพวกเขาก็จะถูกทำให้เป็นโมฆะและไม่มีผลตามกฎหมายด้วย
 
ทั้งนี้ สร ชัย ก็วิจารณ์การที่รัฐบาลกัมพูชาพยายามกำจัดฝ่ายตรงข้าม ละเมิดเสรีภาพสื่อ และกดขี่ข่มเหงองค์กรภาคประชาสังคม จะส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวต่อความสัมพันธ์ของกัมพูชากับนานาชาติ
 
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัฐบาลฮุนเซนเผชิญกับการถูกประณามจากกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนและประชาคมนานาชาติทั้งจากการรุกไล่ฝ่ายค้าน การอ้างปิดสื่ออิสระ และการปราบปรามเอ็นจีโอ
 
นอกจากกรณีการเพิกถอนหนังสือเดินทางทูตแล้ว ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่พรรค CNRP 3 รายออกจากตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (NEC) หลังจากที่พรรค CNRP ถูกสั่งยุบพรรค จากนั้นรัฐบาลกัมพูชาก็เอาคนของพรรครัฐบาลเข้าไปสวมตำแหน่งแทน นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ของสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภาชุมชนให้กลายเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล
 
เรดิโอฟรีเอเชียระบุรายละเอียดว่าหลังจากที่มีคณะทำงานพรรค CNRP 3 รายลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาก็มีการเสนอชื่อผู้เข้ารับตำแหน่งใหม่บางส่วนมาจากพรรค CPP บางส่วนมาจากพรรคเล็กๆ มีอดีตผู้พิพากษาที่ถูกมองว่า "เป็นกลาง" หนึ่งราย
 
มาศ นาย (Meas Ny) นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชากล่าวว่าการแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้งใหม่นั้นชวนให้ตั้งคำถามต่อความเป็นอิสระขององค์กรว่าจะกลายเป้นแค่ตรายางให้ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันของกัมพูชาเท่านั้น นัยบอกว่าความเป็นอิสระของคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาเป็นสิ่งที่จำเป็นในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของกัมพูชาในสายตาต่างชาติให้กลับคืนมา การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแค่ในวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งกระบวนการช่วงก่อนเลือกตั้ง ตัวการเลือกตั้งเอง และช่วงหลังเลือกตั้งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย
 
กัน สว่าง (Kan Savang) ผู้ประสานงานการสอดส่องการเลือกตั้งขององค์กรเพื่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรม (Confrel) ของกัมพูชาก็ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการแต่งตั้งสมาชิกใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาเช่นกัน โดยยกเรื่องที่มีผู้เสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งสองคนจากสองพรรคการเมืองที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งเลยแม้แต่ที่นั่งเดียวในปี 2556 นอกจากนี้เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีแต่การบีบเค้นทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนนำมาซึ่งคำสั่งยุบพรรคในที่สุด
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Cambodian Opposition Sees Revocation of Diplomatic Passports as Further Harassment, Radio Free Asia, 30-11-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 2560

Posted: 02 Dec 2017 02:40 AM PST

"รัฐมนตรีแรงงาน" มอบนโยบาย ขรก. เน้นย้ำงานเร่งด่วน บริหารการพัฒนา และระดับพื้นที่

2 ธ.ค. 2560 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและทิศทางการปฏิบัติราชการในปี 2561 ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้เน้นหนักนโยบายสำคัญและนโยบายเร่งด่วน (Agenda) คือ การเร่งรัดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารให้ถูกต้องแล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2561 ผลักดันและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ตาม IUU Fishing ป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย คุ้มครองแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แก้ปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ และขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้มอบนโยบายบริหารการพัฒนา (Administrator) คือ ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (ศปก.) เพื่อเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการอำนวยการติดตาม ควบคุมสั่งการ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งระบบ โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการออกกฎหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน จำนวน 11 ฉบับ พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพพนักงานตรวจแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ ยกระดับกระทรวงให้เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ด้วยการจัดระบบข้อมูล (Big Data) รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์และการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้ต่อการดำเนินนโยบายของกระทรวง

ส่วนนโยบายในระดับพื้นที่ (Area) ให้แรงงานจังหวัดเป็นตัวแทนของกระทรวงในภูมิภาคในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงในระดับพื้นที่ ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการรายจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้มีการจัดระบบการทำงานที่เชื่อมโยง ประสานส่งต่อ และบูรณาการทรัพยากร นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กำชับให้มีการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานชี้แจงนโยบายและมอบภารกิจที่รับผิดชอบเพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ ให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยให้บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง ให้ใช้ศูนย์ปฏิบัติการของหน่วยงานเป็นเครื่องมือการอำนวยการติดตาม เฝ้าฟัง แก้ไขสถานการณ์ และใช้กลไกคณะกรรมการระดับชาติและคณะอนุกรรมการระดับชาติในการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกันอีกด้วย

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 2 ธ.ค. 2560

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสั่งปิดบริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมิคอล จำกัด 30 วัน หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกน้ำมัน

28 พ.ย.2560 เมื่อช่วงบ่าย ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่จากเหตุเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลน้ำมันใช้แล้ว พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.เมือง จ.ชลบุรี ต้นเพลิงเกิดที่รถบรรทุกน้ำมัน 2 คัน กำลังถ่ายน้ำมันดีเซลลงถัง ขนาด 40,000 ลิตร แต่เกิดเพลิงไหม้และระเบิดอย่างรุนแรง พร้อมกับกลุ่มควัน จนต้องอพยพคนงานกว่า 1,000 คน เพื่อความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ระดมรถดับเพลิงกว่า 20 คัน เข้าฉีดน้ำควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากในมีน้ำมันเก็บอยู่จำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 50 นาที จึงควบคุมไว้ได้ โดยมีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกแรงระเบิดจากเหตุไฟไหม้ 4 คน และรถยนต์เสียหายบางส่วน ส่วนสาเหตุ เจ้าหน้าที่คาดว่าอาจมีประกายไฟ ระหว่างรถบรรทุกขนถ่ายน้ำมันลงถังเก็บ

หลังเกิดเหตุ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งการให้บริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมีคอล จำกัด หยุดประกอบกิจการ 30 วัน และให้บริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะตรวจและแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ บริษัทจะต้องชี้แจงรายละเอียดสาเหตุการเกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดทำแผนปรับปรุงระบบการขนถ่ายน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพิจารณาก่อนอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไป

ที่มา: ThaiPBS, 29/11/2560

ทนายแพทย์อนาจารสาวโรงงาน 11 คน วอนสังคมไทย ฟังความทั้งสองฝ่าย โวยสาวโรงงาน เรียกค่าเสียหายแพงหูฉี่ กว่าครึ่งล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีที่พนักงานสาวโรงงานแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 11 คน เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.สูงเนิน ให้ดำเนินคดีกับนายแพทย์ชายคนหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครราชสีมา ในข้อหากระทำอนาจาร หลังถูกนายแพทย์คนดังกล่าวใช้มือจับลูบคลำบริเวณหน้าอก ระหว่างตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี เหตุเกิดภายในโรงงานที่ผู้เสียหายทำงานอยู่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2560 นั้น ล่าสุดนายแพทย์คนดังกล่าวได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอนาจารตามที่ถูกกล่าวหา และน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งและพร้อมสู้คดีจนถึงที่สุด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 60 นายธนเดช ศรีลมุล ทนายความของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาอนาจารสาวโรงงาน กล่าวว่า เปิดเผยว่า จากคดีดังกล่าวได้ทำให้แพทย์ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหายชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากคดียังพิสูจน์ไม่ได้ว่าแพทย์มีเจตนาจับหน้าอกหรือไม่ เพราะในวันดังกล่าวเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี โดยมีรายการตรวจ 15 รายการ ซึ่งแพทย์ต้องใช้เวลาในการตรวจพนักงานโรงงานจำนวนมาก จึงใช้เวลาตรวจแต่ละคนไม่นานนัก

"ประกอบกับการตรวจสุขภาพก็ต้องมีการถูกเนื้อถูกตัวกันบ้างเป็นปกติ แม้ว่าพนักงานสาวจะบอกว่าแพทย์ถามเรื่องส่วนตัว โดยไม่ได้ถามเรื่องสุขภาพ แต่นั่นคือการใช้หลักจิตวิทยาของแพทย์ เพราะไม่ได้ตรวจผู้ป่วย เป็นเพียงการตรวจสุขภาพทั่วไปเท่านั้น จึงไม่ได้เข้าข่ายเจตนากระทำอนาจาร ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสโต้ตอบอะไร แต่เมื่อเป็นข่าวไปแล้วก็ทำให้สังคมประณามอย่างกว้างขวาง สร้างความเสื่อมเสียให้กับแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก"นายธนเดช กล่าว

นายธนเดช กล่าวอีกว่า ส่วนหลังจากนี้ก็ต้องสู้คดีตามกฎหมายต่อไป โดยเป็นคดีอาญาที่สามารถยอมความกันได้ ซึ่งเบื้องต้นทางพนักงานสาวโรงงานทั้ง 11 คน ได้เรียกร้องค่าเสียหายคนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 550,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไป

"แต่ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจาอีกครั้ง เพราะถ้าสามารถหาข้อตกลงก็ถือว่าคดีสิ้นสุด ทั้งนี้ก็ต้องขอให้สังคมฟังทั้งสองฝ่าย เนื่องจากขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุดถือว่าแพทย์ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่"นายธนเดช กล่าวในที่สุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/11/2560

สมาคมภัตตาคารไทย โอดกฎหมายห้ามคนต่างด้าวทำงานเดินบิล เสิร์ฟ หรือกุ๊ก

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงกรณีภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนและพิจารณาแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.เป็นต้นไป แต่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศให้บางมาตราของ พ.ร.ก.นี้ เลื่อนมีผลบังคับใช้ออกไป 180 วัน จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ว่า ที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของสมาคมร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีต่างๆ ที่มีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อ พ.ร.ก.ดังกล่าว เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลักๆ ได้เสนอขอให้ทบทวนแก้ไขนิยามของกรรมกร ในกฎหมายยังห้ามคนต่างด้าวทำงานเดินบิล เสิร์ฟ หรือปรุงอาหาร (กุ๊ก) ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ร้านอาหารจำนวนมากขาดแคลนแรงงานคนไทย มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ไขกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ทั้งในแง่บทลงโทษ และนิยาม เชื่อมั่นว่าจะทำให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น ร้านอาหารก็จะรู้ต้นทุนชัดเจนในการรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ขณะเดียวกันคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ซึ่งได้รับการตรวจร่างกาย และเมื่อมีรายได้เรื่องภาษีก็จะตามมา ล้วนทำให้ระบบสังคมดีขึ้น

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.ก. กำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ที่คนให้ความสนใจอย่างมาก คือ บทลงโทษรุนแรง เช่น ผู้ใดรับต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน, ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน, คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: ข่าวสด, 28/11/2560

"บิ๊กตู่" สั่งประสานข้อมูล คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นำเข้าอบรม ทดแทนแรงงานประมงต่างด้าว

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เล่าให้ที่ประชุมครม.ฟัง ถึงการประชุมการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานด้านความมั่นคง งานด้านการพัฒนา รวมทั้งงานของจังหวัดในพื้นที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า มีภาคประชาชนเสนอให้มีการคัดเลือกเกษตรกรไปรับการอบรมเพื่อไปทดแทนแรงงานต่างด้าวในภาคประมง ซึ่งนายกฯกล่าวว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดี เพราะว่าแรงงานไทยที่จะไปทดแทนแรงงานต่างด้าวในภาคประมงนั้น ในความเป็นจริงหายากมาก แต่ภาคประชาชนยืนยันว่ามีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นายกฯ จึงบอกว่าให้ประสานจังหวัดเพื่อขอตัวเลขมาดูว่าข้อมูลมีอยู่จริงหรือไม่

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/11/2560

ปี 2561 คนไทยเงินเดือนขึ้นสูงสุด 5.5% โบนัส 5.5 เดือน

วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ที่ปรึกษาด้าน HR และโบรกเกอร์ชั้นนำระดับโลก ได้เผยผลสำรวจจากรายงาน เรื่อง "2017 Salary Budget Planning Report – Asia Pacific" ในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าปี 2561 นี้ อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในไทยจะอยู่ที่ 5.5% ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย โดยอินเดียมีอัตราปรับขึ้นสูงสุดที่ 10% ส่วนต่ำสุดเป็นญี่ปุ่นเพียงแค่ 2.3% หากเปรียบเทียบการปรับเงินเดือนในไทย ก็พบว่าปีหน้าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีอัตราปรับขึ้นเงินเดือนต่ำสุด

ส่วนการจ่ายโบนัสในปี 2560 ก็พบว่ามีอัตราเฉลี่ยที่ 1.8-5.5 เดือน โดยกลุ่มบริหารสินทรัพย์มีการจ่ายโบนัสสูงสุดเฉลี่ย 5.5 เดือน ต่ำสุด 1.8 เดือนเป็นกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มประกันภัย

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจอัตราการลาออกของพนักงาน พบว่าในไทยมีสัดส่วนที่ 12% เท่ากับปีก่อน แต่ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งภูมิภาคเอเชียซึ่งอยู่ที่ 15% โดยอุตสาหกรรมที่มีการลาออกของพนักงานสูงสุด คือกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 18% ตามมาด้วยกลุ่มประกันชีวิต 16% ขณะที่กลุ่มบริหารสินทรัพย์มีอัตราการลงออกต่ำสุดคือ 10%

วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ยังได้สำรวจพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Y รวมทั้งแนวโน้มของพนักงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่มีโอกาสตกงานเพราะถูก AI มาแย่งไป

ที่มา: TNN, 27/11/2560

ปลัดแรงงาน แจงยังไม่ได้ข้อสรุป ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่

ปลัดแรงงาน เผยยังไม่ได้ข้อสรุป ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 อยู่ระหว่างกลั่นกรองจากหลายปัจจัย หลังที่ผ่านมามี 67 สาขาอาชีพ ประกาศใช้อัตราค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำ และรอประกาศใช้อีก 16 สาขาอาชีพ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้ายว่ามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกมาเป็นเท่าไร อย่างไร ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ที่จะต้องพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยได้กำหนดแนวทางการใช้สูตรคำนวณที่มีการเพิ่มเติมตัวชี้วัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ (จีดีพี) รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้ง จะมีคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นระบบไตรภาคี มีผู้แทนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ฝ่ายละ 5 คน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ที่จะให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างตามหลักการดังกล่าวอีกด้วย

"ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือในการปกป้องแรงงานแรกเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อมิให้แรงงานแรกเข้าทำงานถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หรือจ่ายค่าจ้างที่ต่ำจากที่ควรจะเป็น แต่หากแรงงานได้พัฒนายกระดับฝีมือของตนเองให้มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้ประกาศใช้แล้ว 67 สาขาอาชีพ และอยู่ระหว่างรอประกาศอีก 16 สาขาอาชีพ ซึ่งการจะเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ทุกฝ่ายควรจะให้ความสำคัญกับศักยภาพแรงงานเป็นลำดับแรก" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐ, 27/11/2560

ภาคสังคมจับมือซีพีเอฟตั้งศูนย์ Labour Voices ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ (LPN) ลงนามบันทึกข้อตกลง จัดตั้งศูนย์ LABOUR VOICES (เสียงพนักงาน) เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานซีพีเอฟทุกคน ได้แสดงความคิดเห้น ข้อเสนอแนะ และแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดียิ่งขึ้น ตอกย้ำความมุ่งมุ่นต่อการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีของซีพีเอฟ

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงกับมูลนิธิ LPN เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ในเรื่องการรับฟังเสียงจากพนักงาน ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ "LABOUR VOICES" ของบริษัทขึ้น เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทั้งไทยและเพื่อนแรงงานต่างชาติที่ทำงานกับซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานซีพีเอฟทุกคน ทุกระดับ ทุกเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยและเพื่อนแรงงานต่างชาติได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งบวกและลบ ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งมีการจัดอบรมแรงงานซีพีเอฟได้มีความรู้และตระหนักในสิทธิของแรงงาน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถจัดการปัญหาความเสี่ยงด้านแรงงานต่างๆ ได้อย่างโปร่งใสที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีของอุตสาหกรรมอาหาร

"LABOUR VOICES" จะเป็นศูนย์รับเรื่องพนักงานที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่และทนายความจากมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานซีพีเอฟ ช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการรักษาความลับ ซึ่งทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่แท้จริง อย่างรวดเร็วและเข้าไปจัดการได้อย่างทันท่วงที" นายปริโสทัตกล่าว

นอกจากนี้ ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ในการดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี ยังครอบคลุมการจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานต่างชาติของซีพีเอฟได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานของประเทศไทย รวมทั้งการปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสถานที่ทำงานเพื่อให้แรงงานทุกคนได้ทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟเด้วยความปลอดภัย สุขภาพวะที่ดีและมีความสุข ขจัดปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนในซีพีเอฟดีขึ้น

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การที่ภาคธุรกิจของไทยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานของไทย นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ต่างฝ่ายจะได้นำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายบูรณาการในการจัดการปัญหาแรงงานบังคับ แรงงานทาส และแรงงานเด็ก ผ่านการสร้างช่องทางรับฟังเสียงของแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง เพราะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ LABOUR VOICES จะมาจากมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นองค์กรกลาง ช่วยสร้างความไว้วางใจของแรงงานได้เปิดใจที่จะแสดงความเห็น รวมถึงการขอคำแนะนำอย่างสะดวกใจ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงานที่ดีต่อไป

ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสิทธิมนุษยชน การจัดหาแรงงาน และการปฏิบัติต่อแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานแรงงานไทย (THAI LABOUR STANDARD 8001-2010) และแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี (GOOD LABOUR PRACTICES) เพื่อให้พนักงานของซีพีเอฟทุกคนและทุกระดับได้บการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เป็นไปตามหลักสิทธิมนุยชน พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของประเทศในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน

ที่มา: ไทยโพสต์, 27/11/2560

เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตเครื่องดื่มภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

(27 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้า เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณอาคารฝ่ายผลิต บริษัท โออิชิ จำกัด (มหาชน) ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเพลิงไหม้อย่างรุนแรง เนื่องจากเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เป็นกล่องกระดาษ จนเป็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ต้องระดมรถดับเพลิงทั้งในพื้นที่และย่านใกล้เคียงกว่า 10 คัน เร่งดับไฟ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามไปยังอาคารข้างเคียงได้

สอบสวนเบื้องต้นทราบว่า จุดเกิดเหตุเกิดขึ้นบริเวณแผงควบคุมไฟ ภายในอาคารผลิตเครื่องประเภทไมโลกล่อง และเครื่องดื่มในเครือ ขณะเกิดเหตุ มีพนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฏิบัติงาน พากันวิ่งออกมาด้านนอกอาคารได้ทัน โดยยังไม่มีรายงานใครเป็นอันตราย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมไฟได้แล้ว แต่ยังต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยง เพื่อป้องกันไฟปะทุ เนื่องจากยังมีกลุ่มควันเล็กน้อย ส่วนมูลค่าความเสียหายและสาเหตุที่แท้จริง ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ หลังจากไฟดับสนิทอีกครั้ง

ที่มา: ThaiPBS, 27/11/2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มีชัย' ระบุ คสช.ไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองไม่ขัดกฎหมาย

Posted: 02 Dec 2017 12:40 AM PST

'มีชัย ฤชุพันธุ์' ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุ คสช.ยังไม่ปลดล็อคการเมืองไม่ขัดกฎหมาย ส่วนกรณีพรรคปรับปรุงรายชื่อสมาชิกไม่ทันเสนอแก้กฎหมายได้ 

 
2 พ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการปลดล็อคพรรคการเมืองว่าเป็นอำนาจโดยตรงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการทำงานของ กรธ.ที่จะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและหาก คสช.ยังไม่ปลดล็อคถือว่าไม่ขัดกับกฎหมาย เพราะ คสช.ใช้อำนาจคนละส่วน ส่วนกรอบเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดไว้ และจะครบกำหนดการส่งรายชื่อสมาชิกพรรคที่ปรับปรุงแล้วให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 5 ม.ค. 2561
 
"หากไม่ทันตามกรอบเวลาสามารถเสนอแก้กฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้พรรคการเมืองยังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามที่กฎหมายกำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก การทำงานธุรการของพรรค แต่ต้องไม่ใช่การจัดประชุมหรือกิจกรรมที่มีการชุมนุม" ประธาน กรธ. กล่าว
 
ส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกไขว้ นายมีชัย กล่าวว่าหาก สนช.เห็นว่ามีระบบใหม่ที่ดีกว่าและป้องกันการทุจริตได้ให้เสนอเข้ามา หากสามารถแจกแจงและเป็นระบบที่ดีก็ยินดี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์เผยคนกรุงเทพฯ เลือกเที่ยวภาคเหนือ พักแบบรีสอร์ท

Posted: 02 Dec 2017 12:25 AM PST

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์โพลล์เผยคนกรุงเทพฯ เลือกเที่ยวภาคเหนือ พักแบบรีสอร์ท เชียงใหม่ กระบี่ ชลบุรี ขอนแก่น เพชรบุรี นครนายก ยอดนิยม 

 
 
 
2 พ.ย. 2560 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนกรุงเทพมหานคร เก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในเดือนธันวาคมมีวันหยุดราชการและเป็นช่วงเวลาการส่งท้ายปีเก่า คนกรุงเทพมหานครจะนิยมออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆในช่วงเวลานี้ การท่องเที่ยวในประเทศไทยภูมิภาคใดที่เป็นจุดมุ่งหมายของของคนกรุงเทพมหานคร จังหวัดใดคือจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยว และการหาที่พักในรูปแบบที่คนกรุงเทพมหานครต้องการเข้าพัก ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 
 
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวอันดับหนึ่งคือภาคเหนือ ร้อยละ 35.6 อันดับที่สองคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 16.3 อันดับที่สามคือภาคตะวันออก ร้อยละ 12.9 อันดับที่สี่คือภาคใต้ ร้อยละ 12.2 อันดับที่ห้าคือภาคตะวันตก ร้อยละ 11.7 และอันดับที่หกคือภาคกลาง ร้อยละ 11.3
 
และคิดจะหาที่พักในการท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยอันดับแรกคือแบบรีสอร์ท ร้อยละ 39.4 อันดับที่สอง คือแบบโรงแรม ร้อยละ 32.0 และอันดับที่สามคือแบบโฮมสเตย์ ร้อยละ 28.6
 
ภาคเหนือ มีจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวอันดับแรกคือจังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 37.8 อันดับที่สองคือจังหวัดเชียงราย ร้อยละ 25.6 อันดับที่สามคือจังหวัดน่าน ร้อยละ 24.3 อันดับที่สี่คือจังหวัดพะเยา ร้อยละ 18.6 และอันดับที่ห้าคือจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยละ 16.1
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวอันดับแรกคือจังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 27.4อันดับที่สองคือจังหวัดนครพนม ร้อยละ 21.2 อันดับที่สามคือจังหวัดชัยภูมิ ร้อยละ 20.8 อันดับที่สี่คือจังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 19.9 และอันดับที่ห้าคือจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยละ 15.0
 
ภาคตะวันออก มีจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวอันดับแรกคือจังหวัดชลบุรี ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือจังหวัดระยอง ร้อยละ 28.0 อันดับที่สามคือจังหวัดจันทบุรี ร้อยละ 27.7 อันดับที่สี่คือจังหวัดตราด ร้อยละ 24.3 และอันดับที่ห้าคือจังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยละ 20.0
 
ภาคใต้ มีจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวอันดับแรกคือจังหวัดกระบี่ ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือจังหวัดชุมพร ร้อยละ 19.4 อันดับที่สามคือจังหวัดตรัง ร้อยละ 18.6 อันดับที่สี่คือจังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 17.2 และอันดับที่ห้าคือจังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 16.0
 
ภาคตะวันตก มีจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวอันดับแรกคือจังหวัดเพชรบุรี ร้อยละ 32.9 อันดับที่สองคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 30.7 อันดับที่สามคือจังหวัดราชบุรี ร้อยละ 29.9 อันดับที่สี่คือจังหวัดกาญจนบุรี ร้อยละ 27.2 และอันดับที่ห้าคือจังหวัดตาก ร้อยละ 23.1
 
ภาคกลาง มีจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวอันดับแรกคือจังหวัดนครนายก ร้อยละ 23.8 อันดับที่สองคือจังหวัดนครสวรรค์ ร้อยละ 22.8 อันดับที่สามคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร้อยละ 21.2 อันดับที่สี่คือจังหวัดชัยนาท ร้อยละ 18.2 และอันดับที่ห้าคือจังหวัดพิจิตร ร้อยละ 14.2
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาอาสา 4.0 ค่ายอาสาและคนทำงานอาสาในยุคที่ควรตั้งคำถาม

Posted: 01 Dec 2017 03:24 PM PST

วงเสวนาอาสา 4.0 จัดขึ้นเพื่อเป็นการทบทวนประเมินให้ความหมายของกิจกรรมค่ายอาสาฯ ว่ามันมีบทบาทอย่างไร รับใช้ต่อสถานการณ์ทางสังคมอย่างไรทั้งในอดีตและปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี โดยมีนักกิจกรรมชาวอาสาจากหลายหลายกลุ่มหลากสถาบัน ทั้ง อิล จากชมรมอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยบูรพา ฟลุ๊ค จากชมรมความฝันสัญจรอาสาพัฒนาเด็กเล็ก นิค ชมรมเพื่อนมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา นุ๊ก จากกลุ่มโกงกาง ปอนด์ จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง พลอย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บอย จากภาคีนักศึกษาเพื่อสังคมและชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำประเด็นูดคุยหลากหลายมาร่วมวงเสวนาชวนคุยโดย กัญจน์ โฉมยงค์ ชมรมเพื่อนมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นที่ใช้นามแฝงเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความยุ่งยากจากการติดตามคุกคามหากถูกรัฐตีความว่าเป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง)

ช่วงแรกเป็นการเปิดวงคุยชวนเปิดวงสนทนาถึงบทบาทของค่ายอาสาและคนทำค่ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยเด็กค่ายรุ่นพี่ แมน ปกรณ์ อารีกุล

"เวลาเราพูดถึงค่ายอาสา และมีต่อท้ายว่า 4.0 เราอาจจะต้องไปคุยต่อว่าแล้ว 1.0 เป็นยังไง คือชมรมที่มีนามสกุลต่อท้ายว่า อาสาพัฒนาอาจจะเป็นชมรมอาสาที่เริ่มต้นด้วยยุค 1.0 ถ้าเราบอกว่าแนวคิดการพัฒนาชนบทมันเริ่มต้นอย่างเป็นวิชาการในปี พ.ศ.2512 ในช่วงที่ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ก่อตั้ง โครงการพัฒนาชนบท ก่อนหน้านั้นน่าจะเรียกว่าอาสา 1.0 ประเทศไทยโดยการพัฒนาภายใต้ของแผนพัฒนาด้าน เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในสมัยนายก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2504

ในปี 2504 การพัฒนาของรัฐภายใต้แผนพัฒนามันเขียนมาดีมาก หลักการสวยหรู เช่น เรื่องส้วม การขับถ่าย อย่างมีสุขลักษณะ แต่ว่าประเทศไทยเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วหลายชุมชนขับถ่ายไม่เป็นที่ จึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า 'พัฒนากร' ขึ้นมา เมื่อมี พัฒนากร จึงตั้งหลักสูตรพัฒนาชุมชนอยู่ในนักสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบจากพัฒนาชุมชนเข้าไปสอบเป็นพัฒนากร แล้วไปอยู่ตามแต่ละอำเภอ เพื่อที่จะทำหน้าที่ศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และทำงานพัฒนาในแต่ละชุมชน ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีประเด็นเรื่องการออกค่ายในประเทศไทย"

แมน ปกรณ์ได้ลองชวนคุยชวนแบ่งยุคของค่ายอาสาเป็น 1.0,2.0,3.0 ไล่เรียงมาจนถึง 4.0 หรือที่เรียกได้ว่าคือยุคสมัยปัจจุบันของค่ายอาสา

อาสา 1.0 ยังไม่ใช่แนวคิดการอาสาพัฒนาในแบบที่เราชาวค่ายอาสาทำ แต่เป็นแนวคิดในแบบที่เรามองว่าชนบทมันพัฒนาช้า เราจึงต้องไปพัฒนาชนบทในเชิงสังคมสงเคราะห์ แต่หลังจากที่ อาจารย์ป๋วย ตั้งโครงการบูรณะชนบท ขึ้นมาที่ธรรมศาสตร์ในปี 2512 และพานักศึกษาลงพื้นที่ก่อนจะมีการตั้งประเด็นอาสาสมัครในเวลาต่อมา

ต่อมาเป็นอาสา 2.0 เป็นการค่อยๆทำให้เกิดการไปเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้าน หรือที่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า "ไปอยู่กับเขา เรียนรู้กับเขา อยู่กับสิ่งที่เขามี เริ่มจากสิ่งที่เขาเป็น" พร้อมกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำพานักศึกษาส่วนหนึ่งไปสู่การอยู่ในเขตพื้นที่ป่าเขา และเรียนรู้ความเป็นชนบท สมัยเป็นลูกหลานชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เขาจะนึกไม่ออกว่าภาพชนบทนั้นเป็นอย่างไร พอไปเป็นนักศึกษาออกค่ายเห็นถึงความเป็นชนบทจึงยอมรับว่าต้องพัฒนา 

ต่อมาเป็น 3.0 ก็คือ ยุคที่เป็นต้นแบบของเพลงค่ายที่เราร้องกันทุกวันนี้ หรือวิธีการทำค่าย ที่บอกว่าเราไปค่ายอาสา ไปทำค่ายสร้างมีวิธีการแบ่งโครงออกเป็น 3 โครง มี 1.โครงสร้าง เช่นการสร้างห้องสมุด สร้างฝาย สร้างโรงเรียน สร้างอาคารเรียน 2.โครงชุมชน พาไปเรียนรู้ในส่วนของชุมชน และ 3.โครงสวัสดิการ ก็ทำหน้าที่เรื่องการอยู่ การกิน ไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันชมรมอาสายังใช้ลักษณะการแบ่งโครงเช่นนี้หรือเปล่า ลักษณะของการทำกิจกรรมในยุคหลัง 2530 เป็นต้นมา กลายเป็นองค์ความรู้และชุดประสบการณ์เป็นสิ่งที่ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน

พอมาเป็นยุค 4.0 เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปทำให้วิธีการทำค่ายเปลี่ยนไป สมัยก่อนเวลาที่เราออกค่ายเราแทบ จะไม่ต้องมีกฎบ้าๆบอๆข้อหนึ่งว่า 'ห้ามเล่นมือถือในระหว่างทำกิจกรรม' เพราะการทำกิจกรรมในค่ายมันสนุกท้าทาย แต่ในยุคนี้ไม่สามารถทำได้ พูดให้เห็นว่าบางเรื่องในตอนที่เทคโนโลยีเปลี่ยนจาก 3.0 เป็น 4.0 เรื่องค่ายมันเปลี่ยน วิธีการที่คุณจะหาคนไปค่ายมันเปลี่ยน

แต่บางเรื่องที่ยังเคยเป็นปัญหาหรือประเด็นที่ชาวค่ายอย่างเราถูกวิจารณ์เมื่อห้าปีที่แล้วสิบปีที่แล้วหรือยี่สิบปีที่แล้วก็ยังอยู่ เช่น ตกลงเราไปสร้างเพื่ออะไร? ชุมชนที่เราไปได้รับการพัฒนาจริงหรือเปล่า เราหมดเงินไปเป็นจำนวนมากกว่าจะไปถึงกับการลงพื้นที่เซอร์เวย์ ในขณะที่โรงเรียนเล็กๆ สักโรงเรียนหนึ่งกำลังลำบาก แล้วสุดท้ายการที่เราพยายามจะออกค่ายไปให้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร...เราไป เราได้ไปสร้างจริงหรือ? คุณอยากไปเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเปลี่ยนที่เที่ยวเฉยๆหรือเปล่า? หรือคำถามสำคัญที่ว่า ชุมชนที่เราไปสร้าง ไปอาสาพัฒนา เขาต้องการสิ่งนั้นจริงหรือ? ทุกครั้งที่เราไปเป็นความ ต้องการจากเราหรือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ใครมีมากกว่าระหว่างเรากับเขา เราได้เพื่อนใหม่ ได้คนเข้าชมรม ได้รูป ไว้สรุปงาน แต่ว่าชุมชนได้อะไร โลกมันเปลี่ยนทุกวัน คนที่ปรับตัวอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ วิธีการทำค่ายที่ปรับตัวอยู่กับการ เปลี่ยนแปลงของโลกได้ หรือชมรมที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ถ้าเราอยู่กับความเป็นจริงได้ ปรับตัวได้เรา ก็จะมีอยู่ต่อไป โลกใบนี้สำหรับผม ยึดถือเป็นปณิธาน ผมคิดว่าอะไรที่ "สุดท้ายมันต้องเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน อะไรที่ ไม่ยอมเปลี่ยนมันจะล่มสลายไปเอง" เพราะฉะนั้นค่าย 4.0 ก็เช่นเดียวกัน เราต้องพยายามปรับเพื่อที่จะไปต่อ ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลับไปทำค่ายแบบยุค 1.0 ยุคที่เรายังบอกชาวบ้านว่าด้อยกว่า บอกว่าชนบทล้าหลัง บอกว่าการที่เราลงไปเพื่อพัฒนาเขา เราต้องแยกให้ออกว่าเราไปพัฒนาเขาจริงๆหรือมันเป็นแค่ชื่อ แต่ว่าในขณะที่เราได้อะไรมากมาย ได้ประสบการณ์จากการไปค่าย แต่ว่าแต่ว่าชุมชนได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ? เป็นคำถามที่เราถูกถามจากสังคม และเราต้องคำถามข้อนี้ให้ได้ด้วยเช่นกัน"

อาสา 4.0 ของเด็กค่ายและคนทำงานอาสา 2017

เปิดวงเสวนาโดยผู้ร่วมเสวนาทั้ง 7 คน โดยที่อิล จากชมรมอาสาเป็นคนเริ่มต้นว่า "กิจกรรมในยุคหลังๆ ของชมรมอาสา จะเป็นลักษณะการพัฒนาและฟื้นฟูสถานที่ อุปกรณ์ในโรงเรียนเป็นหลัก เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน โรงเรียนและคน เพราะโรงเรียนเป็นเสมือนสถานที่ที่คนในชุมชนสามารถที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้"

โดยบอยจากภาคีนักศึกษาเพื่อสังคมและชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน กล่าวว่า "กิจกรรมของชมรมเน้นการทำกิจกรรมในภาคอีสานมากกว่า โดยเข้าไปเรียนรู้ปัญหาของพื้นที่และศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่เข้าไป จริงๆในยุคนี้ก็เกิดคำถามว่า ค่ายอาสาเราทำไปเพื่ออะไร? ในฐานะที่เราเป็นนักกิจกรรม เราก็ตอบและบอกเล่าให้รุ่นต่อไปได้ฟังว่า เหมือนเราไปเรียนรู้ ไปสร้าง เพื่อการกลับมาพัฒนาตนเอง พัฒนามหาวิทยาลัย พัฒนาครอบครัว ส่วนมากก็ไปออกค่ายและทำกิจกรรมกับชุมชนและเด็ก"

นิค ชมรมเพื่อนมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชวนมองย้อนในช่วงก่อตั้งชมรมว่า "ตอนนั้นมันเกิดคำถามที่ว่า 'ถ้าหากไม่เข้ารับน้องจะไปทำอะไรกัน' แรกเริ่มก็ไม่ใช่ชื่อชมรมนี้แต่เป็นกลุ่มเพื่อนๆ ก็มีหลายคนเสนอไอเดียมากมาย เราชอบชวนกันไป เล่นกีฬา ว่ายน้ำ ดูหนัง และอีกมาก จนมันลากยาวไป ถึงการออกไปทำค่าย ระยะแยกมีคนทำไม่มาก และก็รวบรวมคนกันมาเรื่อยๆ ชมรมเพื่อนมนุษย์ก็หมายถึงชมรมที่รักกันเหมือนเพื่อน กิจกรรมที่ทำหลักๆ ก็เกี่ยวกับการออกไปอาสาพัฒนาสังคม เยาวชน พัฒนาการสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชนในหลากหลายพื้นที่ การทำงานก็เป็นการออกแบบร่วมกัน เป็นเพื่อนกัน มานั่งคุยแลกเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม ใครมีความฝัน มีความต้องการอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมก็ร่วมกันออกแบบ เพื่อพากันไปให้ถึงเป้าหมายร่วมที่ออกแบบกันไว้"

หนูพลอย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เล่าถึงกลุ่มว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและการรับน้องในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในยุคที่เราเข้ามาในกลุ่มนี้ก็จะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเสวนาบ้าง หรือเข้าร่วมเครือข่ายกลุ่มเพื่อนๆ ที่เคลื่อนไหว ทางการเมือง สิทธิมนุษยชน แต่ถ้าจัดในกลุ่มก็จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้โอเคกับกลุ่มเรา เพราะเป็นกลุ่มอิสระไม่ได้ขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัย แต่โดยส่วนตัวชอบทำงานที่เป็นค่ายอาสาร่วมกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ฟลุ๊ค จากชมรมความฝันสัญจรอาสาพัฒนาเด็ก เล่าถึงการทำงานหรือจุดประสงค์หลักของชมรมอาจจะคล้ายๆ กับงานอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ แต่ชมรมจะเน้นการทำกิจกรรมร่วมกับตัวของเด็กๆ เช่นในเรื่องของความเป็นอยู่ของน้องๆ การดูแล น้องๆ การสังเกตพฤติกรรม ศึกษาชีวิต แต่เราจะไม่ได้เน้นในเรื่องของสถานที่หรือสิ่งก่อสร้างของโรงเรียนเท่าไหร่ เหมือนเอานิสิตของเราไปรับรู้ไปเจอสิ่งใหม่ๆที่เขาไม่เคยรู้

นุ๊ก กลุ่มโกงกาง บอกว่ากลุ่มโกงกางเป็นกลุ่มกิจกรรมอิสระน้องใหม่ที่เพิ่งตั้งไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กิจกรรมก็ถือว่ายังน้อยอยู่ รูปแบบกิจกรรมจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาได้ออกไป เจอสิ่งใหม่ๆ นอกมหาวิทยาลัยที่ห้องเรียนไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ตัวอย่างกิจกรรมคือ ค่ายสารคดีประแสศึกษานักศึกษาขาเลาะ โดยออกแบบร่วมกับชมรมเพื่อนมนุษย์ เป็นรูปแบบค่ายสารคดีที่ให้ชาวค่ายได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อีกกิจกรรมที่จัดก็มีเสวนา รำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร เป้าของกลุ่มคือการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับทุกคนในการทำกิจกรรมทางสังคม

ปอนด์ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา เล่าถึงประวัติศาสตร์ของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ว่าเมื่อ 22 ปีที่แล้ว รักษ์เขาชะเมา เป็นร้านหนังสือเล็กๆ แล้วเห็นว่าเด็กๆ มาอ่านหนังสือที่ร้านเยอะ จึงอยากลองพาเด็กๆ ไปเที่ยว เด็กๆ จึงติดใจ การก่อตั้งกลุ่มเกิดจากป้าสอง คนคือ ป้าแฟ๊บ กับป้าอี๊ด จึงเกิดขึ้น งานของกลุ่มจะเป็นการศึกษาเรียนรู้ชุมชน เพราะว่าเขาชะเมาค่อนข้างมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์แต่ขาดจิตสำนึกในการรักษาคงไว้ เราจึงต้องพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ ผ่านภูมิปัญญา การทำของเล่น ธรรมชาติ ที่จะให้เด็กๆรู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ เด็กๆ จะได้เห็นถึงการเปรียบเทียบเกี่ยวกับยุคสมัยปัจจุบันที่นั่งเล่นโทรศัพท์กับเมื่อก่อนว่าเขาหากิน ยังไง เด็กก็จะเกิดการคิดวิเคราะห์และตกผลึกด้วยตัวเอง เราไม่ได้บอกว่าแบบเก่าดีกว่าหรือแบบใหม่ไม่ดี

โดยเส้นทางของการเข้าทำกิจกรรมของหลายๆ คน ก็มีส่วนที่ออกมาในทิศทางใกล้เคียงกัน เช่น การตั้งคำถามต่อสังคมและการเมืองในประเทศ ประเทศเราพัฒนาค่อนข้างช้าโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ทุกคนในต้องเข้าไปร่วมกันผลักดันถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ก็เลยมาทำกิจกรรมตรงนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่มากก็น้อย อีกส่วนหนึ่งอธิบายว่าความสนใจส่วนตัวของเรา เช่น สังคมศาสตร์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมก็มีส่วนที่ทำให้อยากเข้ามาทำกิจกรรม เพราะว่าเอื้อต่อการเรียนรู้ในเรื่องที่เราสนใจ

"ย้อนไปไกลหน่อย ตอนนั้นอยู่ในช่วงประถม 3 มีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปออกค่ายในหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านและเด็กในชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่รู้จักและรู้สึกอยากเข้าไปเรียน แต่ถึงจะไม่ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์แต่ก็ตั้งใจว่าเข้าปี 1 จะไปออกค่ายต่างจังหวัด แต่พอเข้ามาปี 1 เราก็เป็นนิสิตใน ยุคของรัฐบาลทหาร ตอนปิดเทอมเคยไปค่ายหนึ่งในสังกัดของมหาวิทยาลัยแต่รูปแบบค่ายไม่ค่อยสัมพันธ์กับชุมชน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ พอปี 58 ก็มีเหตุการณ์จับนักศึกษาที่หน้าหอศิลป์ ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ในพี่ในมหาวิทยาลัยโดนจับ ในชีวิตผ่านการรัฐประหารมาสองครั้งในปี 49 และปี 57 แต่ตอนปี 49 ไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้าน แต่พอมันเริ่มใกล้ตัวจึงมาสนใจประเด็นรัฐประหาร เริ่มหาข้อมูล แล้วก็มีค่ายที่คณะทำค่ายแต่รูปแบบค่ายก็ยังคงเป็นเช่นเดิม จึงเข้ามารู้จักกับกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มันก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่กลุ่มพาไปทำกิจกรรมทำให้เราไม่ สามารถออกจากกลุ่มได้จึงกลายเป็นคนที่มารับงานต่อ" หนูพลอยเล่าถึงอดีตและสถานการณ์ที่นำพาตัวให้เข้ามาทำกิจกรรม

"ส่วนตัวผมไม่ใช่เด็กกิจกรรมเลย ได้มีโอกาสเรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนที่แทบไม่มีกิจกรรมให้ทำเลย วันๆ เอาแต่เรียนอย่างเดียว ความรู้สึกอาจจะไม่ใช่เด็กกิจกรรม ความฝันอยากเป็นคุณหมอที่ช่วยคนแก่ พอได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ได้มาเป็นเชียร์ลีดเดอร์และก็มีรุ่นพี่เข้ามาชวนไปออกค่าย การที่ไปค่ายเราเห็นความเป็นอยู่ของคนในค่าย ได้เห็นรอยยิ้มจากคนในค่าย รอยยิ้มจากน้องๆ ตอนที่ไปครั้งแรก เหมือนได้ย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก ได้ ถ่ายทอดความรู้สึกที่ขาดหายไปให้กับเด็กๆ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจจุดเล็กๆให้กับน้องๆ" ฟลุ๊ค จากชมรมความฝันสัญจร อาสาพัฒนาเด็กเล็กร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แรกเริ่มที่เข้ามาทำกิจกรรม

ชวนมองค่ายอาสาในอดีต

"ภาพที่มันยังมีของค่ายอาสาในอดีต ทุกวันนี้ก็ยังมี บางที่ยี่สิบปีที่แล้วยังเก็บขยะกันอยู่ปัจจุบันก็ยังเก็บขยะกันอยู่ เราไม่รู้ว่าค่ายอาสามันเริ่มต้นมาจากอะไร แต่ว่าในช่วงที่มันบูมมากๆ เป็นช่วงที่เราเรียกมันว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน อาจจะเป็นเพราะหลายๆปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำค่ายอาสา เป็นลักษณะการรวมตัวกัน เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย ออกไปทำโครงการ เป็นกลุ่มอิสระที่ไม่ได้ทางการมาก แล้วพอมาช่วงที่กิจกรรมโดนระงับไป ขอนแก่น ธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ ช่วง 6 ตุลา-9 ตุลา ตึกกิจกรรมถูกปิดหมด บางที่ถูกปิดตายไปเป็นปีๆ ในลักษณะค่ายถ้ามองเมื่อก่อนก็จะเป็นทำงานรอบมหาวิทยาลัยหรือภาคพื้นที่ต่างๆที่คิดว่าประสบปัญหา แต่ในลักษณะของงานอาสาของสมัยก่อนอาจจะไปสร้าง อาสาสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาจจะเป็นการบริจาคหรือสร้างไปเลย เช่น ซ่อมแซมโรงเรียน ทาสี ฯลฯ แล้วอีกสายหนึ่งจะเป็นสายเสริมอาชีพ เช่น ก็จะไปส่งเสริมในด้าน ของเกษตรกรรม ไปช่วยชาวบ้าน โดยนำองค์ความรู้ของตนเองไปส่งเสริม มศว ไปส่งเสริมด้านการศึกษา ช่วยสอน แนะแนว และมหิดล ก็มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปช่วยเหลือด้านสุขภาพตามชุมชน" นิค จากชมรมเพื่อนมนุษย์เล่าถึงอดีตของค่ายอาสาและรูปแบบการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับหลักวิชาที่ชาวค่ายร่ำเรียนและนำไปพัฒนาชุมชน

"ถ้ามองภาพรวม ก็เริ่มต้นก่อนช่วง 14 ตุลาคม เป็นค่ายอาสาชนบทเพื่อไปพัฒนา หลัง 14 ตุลาคม ก็เป็นค่ายจัดตั้งน้องในมหาวิทยาลัย สอดแทรกแนวคิดทางการเมืองให้กับคนในชุมชนเพราะว่าช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยก็เริ่มเข้ามา เราก็เข้าไป ทำให้คนรู้สึกตื่นตัวกับประเด็นการเมือง หลัง 6 ตุลาคม ชมรมอาสาและชมรมต่างๆ ก็โดนปิดตาย และกลับมาในรูปแบบที่โอนชมรมทั้งหมดให้ไปอยู่ภายใต้สโมสรนักศึกษาไม่ได้มีความคล่องตัวและเป็นอิสระเท่าไหร่" หนูพลอยเล่าเสริม

"มันจะมีคำๆหนึ่งที่ชาวบ้านในอดีตพูดกันว่า นักศึกษาเป็นหนี้สังคม ดังนั้นการใช้หนี้สังคมใช้หนี้ประชาชนที่จ่ายภาษีทางการศึกษาให้คือการออกไปช่วยเหลือสังคม ออกไปทำงานกับชุมชนและชนบท ยุคก่อน 14 ตุลาคม นี่เป็นยุคที่ความสนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยมีเยอะขึ้น กระบวนการในค่ายสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย อีกทั้งการเฟื่องฟูของวรรณกรรมเพื่อชีวิต วารสารการเมือง การฟื้นคืนชีพของหนังสือที่เขียนและแปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้นักศึกษาสนใจสังคมและการเมืองกันมากขึ้น คนทำค่ายนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตด้วยเช่นกัน" นุ๊กจากกลุ่มโกงกางเสริมต่อ


ค่ายอาสาไม่สามารถพัฒนาและแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง?

"คือค่ายอาสามันพัฒนาสองอย่าง เป้าหมายแรกคือ เราจะไปทำงานตามจุดประสงค์ของค่ายเรา ไปสร้าง ไปสอน เป้าหมายที่สองคือ พัฒนาคนที่จะไป มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชื่อ The Robbers Cave Experiment ของ Muzafer Sherif เป็นนักจิตวิทยา ชื่อ ทฤษฏีของเขาคือ Realistic conflict theory การทดลองก็คือ ให้เด็กไม่รู้จักกันเลย 22 คนมาเข้าค่ายเดียวกัน แบ่งเป็นสองทีม ให้เกิดการแข่งขันกัน มีเกมส์ให้เล่น เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นคือเด็กทะเลาะกันทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน สุดท้ายแล้วเขาก็เลยเอาทฤษฎีนี้มาทดลองนั่นคือการ สร้างเป้าหมายร่วม พอสร้างเป้าหมายร่วมแล้วข้อขัดแย้งก็ลดลงมาก เป็นการพิสูจน์ว่าพอเรามีเป้าหมายร่วมมันเสริมสร้างความสามัคคีในกลุ่มของคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน รู้สึกว่าค่ายอาสานี้ก็คือเป้าหมายร่วมของการที่คนต่างพ่อต่างแม่ต่างจังหวัดต่างความคิดมาเจอกัน นี่เป็นส่วนของการพัฒนาคน ส่วนการพัฒนาตัวชิ้นงาน

สำหรับปัจจุบัน มันคือการสนอง need ตัวเองกันเอง สนอง need รุ่นพี่ ทุกครั้งที่เราคิดว่าจะไปทำค่ายอาสาที่ไหนมักจะเริ่มต้นที่ 'ตัวเราอยากไป' เราจะลืมคิดไปถึงว่า ใครต้องการอะไรก่อน เราไปคิดว่า เราอยากเที่ยวที่ไหนก่อน เป้าประสงค์มันไม่ชัด ค่ายที่เราจริงจังเลยเป็นเป้าหมายรอง ถามว่าช่วยแก้ได้จริงไหม... จริง แต่คุณต้องมองว่าจุดประสงค์ที่คุณจะไปทำมันคืออะไร? แล้วคนที่เราจะไปทำให้เขาอยากได้จริงไหม? " ปอนด์ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา สะท้อนภาพปัจจุบันของการทำงานอาสาที่อาจเป็นแค่เพียงการสนอง need ของกลุ่มคนไม่กี่คน

"จริงๆชมรมเราก็ได้ตระหนักถึงตรงนี้ เวลาลงพื้นที่ ก็จะถามตลอดว่า โรงเรียนต้องการวัตถุชิ้นนี้ไหมแล้วจะเกิดประโยชน์หรือเปล่า เราต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่เขาต้องการและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนจริงๆ มันคืออะไรกันแน่ เงินแต่ละบาทของแต่ละคนมีค่าไม่เท่ากัน บางคนอยู่ ในสภาพครอบครัวที่ดีเงินหนึ่งบาทอาจจะไม่มีค่าเลย แต่สำหรับบางครอบครัวเงินหนึ่งบาทมีค่ามาก" อิลจากชมรมอาสา พูดเสริม

"ค่ายอาสามันก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในแต่ก่อนเราเคยตั้งคำถามกับสังคมว่า จริงๆแล้วเราต้องทำอะไร ให้สังคม มันก็เลยเกิดเป็นค่ายอาสา ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายอบรมเยาวชน ค่ายครูสอนเด็ก แต่ตอนนี้มันถึงจุดที่เรา ต้องออกมาทำค่ายอาสา สังคมก็กลับมาตั้งคำถามกับพวกเราว่า จริงๆค่ายอาสาทำไปเพื่ออะไร? ส่วนตัวคิดว่าถ้าในอนาคตค่ายอาสาจะออกไปในรูปแบบของการที่ว่า คุณชอบอะไร คุณก็ทำสิ่งนั้นให้เป็นค่ายอาสาได้" บอยเสริมประเด็นต่อ


งานอาสาปัญหาและอุปสรรค

"ที่เราทำมันก็ไม่ใช่ว่าเราต้องไปมอบอะไรให้กับชุมชนที่เราลงไปศึกษา จริงๆสิ่งที่มันจะได้หรือเป้าหมายของ กลุ่มเราก็คือ การลงไปเรียนรู้ชุมชนเพื่อศึกษาปัญหา อาจจะไม่ได้ไปศึกษาที่แท้จริงแต่ทำให้คนที่เข้าค่ายหรือเพื่อน ใหม่ได้ตระหนักว่าปัญหามันเกิดขึ้นไล่ระดับไปสู่สังคมได้นะ ส่วนมากปัญหาและอุปสรรคก็เป็นเรื่องของเงิน การ เดินทาง รูปแบบค่ายที่บางทีก็อาจจะล้าหลัง แล้วก็คนรุ่นใหม่อาจจะรับไม่ได้ อีกอย่างคือคนค่ายไม่ชอบการที่มีคน บางกลุ่มมานั่งให้ความรู้เหมือนในการเรียน อาจจะด้วยเทคโนโลยีและเป็นคนรุ่นใหม่เขาก็จะปฏิเสธระบบเดิมๆ อีก ทั้งปัญหาในระดับมหาลัยที่ยังคงมองกันคนละฝั่งกันอยู่" บอย

"ปัญหาภายใน ก็จะเป็นเรื่องการทำงานร่วมกับเพื่อนๆในค่าย การไม่เข้าใจ บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจกันบ้าง ส่วนปัญหาในค่ายก็จะเป็นเรื่องของตัวเด็กๆ เพราะเด็กแต่ละโรงเรียนต่างกัน แต่เราก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้หมด เราต้องใช้เวลาในการปรับตัวและสร้างพื้นที่มิตรภาพระหว่างกัน เราแค่เป็นส่วนหนึ่งที่พอจะช่วยแนะนำน้องๆมากกว่า และสุดท้ายก็เป็นปัญหาเรื่องของงบประมาณ ที่มีการ เปลี่ยนแปลงไปเยอะ" ฟลุ๊ค สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการพิจารณางบในตอนท้าย โดยที่ อิล ให้ความเห็นว่า "มหาวิทยาลัยได้ชื่อเสียงเต็มๆ จากการทำกิจกรรมของพวกเรา แต่ไม่เคยสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่เรา เราเลยต้องเปิดรับบริจาคและของบภายนอกเพื่อทำกิจกรรมต่อไป เราอยากให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมการทำกิจกรรมในมากกว่านี้"


ทิศทางและอนาคตต่อไป บนถนนสายอาสา

"อยากจะเห็นการทำค่ายอาสาที่มีการระดมความคิดกัน แลกเปลี่ยนกัน มาช่วยกันออกแบบ ทำไปแล้ว มันเข้ากับวิถีชีวิตของคน เข้ากับพัฒนาการของเด็ก เข้ากับวัฒนธรรมชุมชน มันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อนาคตก็อยากให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือปรับเปลี่ยนกรอบเดิมๆที่มีอยู่ พัฒนาไปให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ตระหนักรู้ในเรื่องของตัวเองจะทำให้มันเป็นค่ายอาสาที่ยั่งยืนมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของชุมชน ถ้าเราเป็นศูนย์กลางที่จะบรรเทาปัญหาได้มันก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่ไปทำค่ายเองก็อยากให้ตระหนัก ถึงปัญหาตรงนี้ให้มากๆ เพราะครั้งต่อไปมันจะพัฒนากิจกรรมของเราให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายอยากให้เราทบทวนดีๆว่า ครั้งต่อไปเราจะพัฒนาอะไร ไม่ใช่แค่ครั้งที่แล้วเราทำอะไรมาบ้างแล้วก็ทำแบบเดิม..." นิค

"ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ค่ายอาสาหมดไป เพราะประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไป การมีอยู่ของค่ายอาสาที่นักศึกษาต้องเข้าไปอาสาพัฒนามันเป็นสิ่งที่สะท้อนความด้อยพัฒนาของประเทศ ถ้ามีก็คงต้องทำรูปแบบอื่น" อิลสะท้อน

"เราเป็นห่วงว่าในอนาคตค่ายอาสาจะกลายเป็นเครื่องมือ ชุบตัวของกระบวนการธุรกิจ และกลุ่มทุนต่างๆ ในการทำงานเพื่อสังคม" หนูพลอย

"ในอนาคตอาจไม่ต้องมีสร้างกันแล้วก็ได้ แต่ทำให้ค่าย เป็นหนึ่งในห้องเรียนแห่งชีวิต เรียนรู้สิ่งที่ห้องเรียนในระบบไม่เคยสอน" นุ๊ก

"ถ้ามองค่ายอาสาในอนาคตส่วนตัวก็อยากให้คนที่ทำค่ายหรือทำกิจกรรมนั้นออกแบบค่ายเอง มองว่าสิ่งที่ทำมันไร้ประโยชน์หรือมีประโยชน์แล้วก็ตอบตัวเอง เราเองก็ถูกปลูกฝังมาด้วยแนวคิดที่อยากเห็นสังคมมันดีขึ้นเหมือนทุกๆคน แต่ด้วยความถนัดหรือความชอบมัน อาจจะต่างกันและความเห็นต่างกัน เลยทำอะไรหลายๆอย่างที่มันต่างกัน ความคาดหวังในอนาคตก็อยากออกมาทำกิจกรรมเยอะ ดีกว่าการที่เราเป็นนักศึกษาแล้วนั่งทำอะไรที่มันตามกระแส" บอยกล่าวทิ้งท้าย


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น