โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เมื่อมหาวิทยาลัยมุ่งขายใบปริญญา อาจารย์ต้องกลายเป็นเซลส์แมน เราคาดหวังอะไรกับคุณภาพการศึกษาไทย?

Posted: 01 Dec 2017 02:13 PM PST

 

เมื่อใบปริญญากลายเป็นใบผ่านทางในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อค่าแรงที่สูงขึ้น แทนที่มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นตลาดวิชาที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างถ้วนหน้า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนหลายแห่งกลายเป็นห้างสรรพสินค้าเปิดหลักสูตรพิเศษและตั้งค่าเล่าเรียนที่สูงลิ่วเพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ความรู้ไม่ใช่แก่นสำคัญในการเรียนระดับอุดมศึกษาแต่หากเป็นวุฒิที่ได้จากใบปริญญาที่่กลายเป็นใบเบิกทางเท่านั้น เรามาถึงจุดที่คำถามอย่าง "เรียนต่อที่ไหนดี เอาแบบเรียนง่าย จบง่าย" "เรียนคณะไหนจบง่ายที่สุด?" " เรียนที่นี่จบง่ายจริงมั้ย?" มีอยู่เต็มกระทู้พันทิป และยิ่งกว่านั้นเรามาถึงจุดที่สโลแกนในการโฆษณามหาวิทยาลัยอย่าง "จ่ายครบจบแน่" มีให้เห็นทั่วไป หรือวัฒนธรรมการที่บีบให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยกลายเป็นนายหน้าหาลูกค้ามาเรียนและได้ค่าคอมมิชชั่นก็เกิดขึ้นแล้วในบางมหาวิทยาลัยเช่นกัน 

บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายปกป้องสิทธิของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งต่อข้อมูลสู่สังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องการปกป้องสิทธิ์ของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และต้องการชี้ให้เห็นถึงวงจรปัญหาของระบบการศึกษาระดับสูงของประเทศไทยที่ส่งผลต่อทั้งคุณภาพการศึกษาและสิทธิในการได้รับความรู้ของนักศึกษา โดยได้รวบรวมข้อมูลจากอาจารย์ที่ได้ให้ข้อมูลกับเครือข่าย ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อ และข้อมูลจากกระแสสังคมออนไลน์ โดยชี้ให้เห็นถึงกับดักที่อาจารย์มหาวิทยาลัยถูกทำให้ไร้อำนาจต่อรอง ถูกละเมิดสิทธิ์ และกลายเป็นแรงงานใช้แล้วทิ้งที่ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ หากอาจารย์ไม่เล่นตามเกมส์ของผู้บริหารก็หมดอนาคตในองค์กร แต่หากอาจารย์เลือกที่จะเล่นตามเกมส์ก็ยิ่งเป็นการทำให้คุณภาพการศึกษาไทยไร้มาตรฐานขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาภายในของการจัดการการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย

 

1. มหาวิทยาลัยกับการมุ่งเน้นหากำไร

การหากำไรของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยปรากฏชัดขึ้นกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่ปี 2540 พร้อมกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐบาล กล่าวคือ ความชอบธรรมในการหากำไรกับการศึกษาเริ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยเอกชนกลายเป็นกลจักรสำคัญในการยืนยันให้เห็นว่าเมื่อรัฐบาลจัดสวัสดิการที่ไม่เพียงพอสำหรับประชาชน การเข้าถึงสวัสดิการด้านการศึกษาในระดับสูงจำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อการเข้าถึงการศึกษาที่ดี และมหาวิทยาลัยรัฐบาลหลายแห่งก็ได้ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการหากำไรกับการศึกษาเช่นกัน เมื่อการศึกษาถูกทำให้เป็นแค่ "พิธีกรรมเพื่อใบปริญญา" ยิ่งตอกย้ำว่าความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถที่จะได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยตลอด 4-6 ปี ในชีวิตการเรียนในระดับปริญญาตรีหรือหลังจากนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการจ่ายเงินครบแล้วได้ใบปริญญา ตัวกลางระหว่าง ทุน ตลาด ผู้บริหาร กับนักศึกษา เห็นจะไม่พ้นอาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยเอกชนที่เผชิญเงื่อนไขความเสี่ยงอย่างยิ่ง และหากไม่ใช่อาจารย์ที่อยู่ในวงธุรกิจครอบครัวหรือสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ก็ต้องแบกรับความเปราะบางสูงมาก ซึ่งความเปราะบางในที่นี้ก็ปรากฏให้เห็นในมหาวิทยาลัยรัฐหลังออกนอกระบบเช่นกัน และเมื่ออาจารย์ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ต้องทำตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้น "ขายของ" บทบาทของอาจารย์จึงมีมากกว่าแค่การทำงานด้านวิชาการและอยู่ภายใต้สัญญาที่ยากจะต่อรอง
 

2. อาจารย์ทำงานภายใต้สัญญาระยะสั้น

 คำกล่าวที่ว่า "อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาชีพที่มั่นคง" คงจะไม่จริงอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่มหาวิทยาลัยรัฐฯออกนอกระบบรูปแบบสัญญาจ้างก็เปลี่ยนไปด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นเซลส์แมนที่ทำงานภายใต้สัญญาระยะสั้นเริ่มต้นที่ 1-3 ปี พร้อมเงื่อนไขที่ที่ไม่ใช่แค่สอนตามชั่วโมงที่ได้รับมอบหมาย แต่ต้องผลิตผลงานวิชาการในระยะเวลาอันสั้นเพื่อรักษาสถานะความเป็นอาจารย์ งานวิชาการหรือผลงานสร้างสรรค์ที่ต้องการความละเอียดอ่อนถูกทำให้เป็นงานฝีมือที่เน้นความเร็วและปริมาณราวกับเครื่องจักรผลิตปลากระป๋อง อาจารย์จำนวนมากต้องแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยความ "กลัว" ว่าจะไม่ได้ทำงานต่อไป

ในมุมของผู้ว่าจ้างอาจมองว่าสัญญาลักษณะนี้ทำให้อาจารย์ขยันและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ลืมมองไปว่าหากมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ทำให้นักศึกษาได้หาความรู้อย่างเต็มที่แต่อาจารย์กลับต้องทำงานเป็นเครื่องจักรภายใต้เงื่อนไขและแรงกดดันจำนวนมากเพื่อรักษาสถานะความเป็นอาจารย์ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่คุณภาพของการสอนและการศึกษาย่อมลดลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาคืออาจารย์ขาดแรงจูงใจ ขาดเวลา ในการพัฒนางานวิจัยและทักษะทางวิชาการ แต่กลายเป็นหุ่นยนต์ที่พูดตามสไลด์ หรือ ไม่เข้าสอน เพราะต้องเอาเวลาไปทำอย่างอื่นตามเงื่อนไขสัญญา ทั้งเร่งผลิตผลงานวิชาการ งานบริการ หรือในบางมหาวิทยาลัยที่เน้นหากำไร อาจารย์กลายเป็นเซลส์แมนที่มุ่งหาลูกค้ามากกว่างานสอน หนึ่งในความเห็นออนไลน์ของนักศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเอกชนแห่่งหนึ่งกล่าวว่า[1] "อ.บางคนไม่ค่อยสอน บางคนยุ่งกับการไปแนะนำเด็กมาเรียน เพราะได้ค่าหัวคนละห้าพัน ทำได้ยอด ได้พิเศษอีก"

การหาสมดุลของระยะเวลาสัญญาจ้าง เงื่อนไขการทำงาน และการประเมินผลงานอาจารย์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองถึง คุณภาพ มากกว่า ปริมาณ และมุ่งการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์ มากกว่า การแสวงหากำไร ซึ่งผลของการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกดดันนี้ทำให้อาจารย์ไร้กำลังต่อรองต่อระบบการบริหารอื่นๆที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย
 

3. การยอมจำนนต่อระบบที่ไม่เป็นธรรม

เมื่ออาจารย์ไร้อำนาจต่อรองด้วยการทำงานภายใต้ระยะสัญญาที่จำกัด อาจารย์จำนวนมากต้องยอมจำนนกับระบบที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีช่องทางในการต่อรอง ไม่ใช่แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยภายใต้สัญญาจ้างเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาจารย์พิเศษจำนวนไม่น้อยที่รับค่าสอนตามชั่วโมงสอนแต่กลับต้องแบกรับภาระงานอื่นๆนอกเหนือจากงานสอนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จ้างที่มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อที่จะทำให้ได้รับชั่วโมงสอนต่อไป อาจารย์พิเศษเผชิญกับสภาวะความเสี่ยงที่ไม่มีสัญญาจ้างที่ชัดเจน ไม่มีเกณฑ์หรือวันเวลาการจ่ายเงินค่าสอนที่แน่นอน หรือทำงานในลักษณะ "สัญญาใจ" ที่อ้างความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง ศิษย์เก่า หรืออ้างจิตวิญญาณของการเป็นครูที่ต้องมองข้ามเรื่องเงิน ให้มา "ช่วยกัน" ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้มักจบลงด้วยการที่อาจารย์พิเศษจำนวนไม่น้อยต้องสอนฟรี หรือ ได้รับค่าสอนล่าช้า และไม่อาจร้องเรียนได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่ต้น

กรณีของระบบที่ไม่เป็นธรรมยังเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยบางแห่งได้ให้คำสัญญากับนักศึกษา (หรือลูกค้า) ว่าเรียนจบแน่นอนหากจ่ายเงินครบตามที่แจ้ง ผลที่ตามมาคืออาจารย์ผู้สอนต้องแบกรับแรงกดดันอย่างหนักจากที่นักศึกษาไม่เข้าเรียน ไม่ส่งงาน หรือไม่สามารถสอบได้ตามเกณฑ์ แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ให้คำสัญญากับนักศึกษาไว้แล้ว หากพิจารณาในเชิงหลักการและจรรยาบรรณในการเป็นอาจารย์แล้ว แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้นว่าอาจารย์ไร้อำนาจต่อรองเกินกว่าจะต่อสู้กับระบบภายในของมหาวิทยาลัยได้ กลายเป็นว่าอาจารย์ที่ไม่ยอมจำนนกับระบบนี้ถูกตราหน้าว่า "ไร้เมตตาธรรม" ที่ไม่ให้นักศึกษาผ่านการสอบตามที่มหาวิทยาลัยขอร้อง  

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีอาจารย์จำนวนมากที่ต้องยอมจำนนกับความไม่เป็นธรรมดังกล่าวทั้งๆที่เป็นอาจารย์ที่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่ดีในการพัฒนาการศึกษา แต่ติดกับกับดักของระบบอำนาจที่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเล่นตามน้ำ ปล่อยเลยตามเลย หรือยอมลาออกเพื่อเอาตัวออกจากระบบที่โดนเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมเพราะไม่เห็นหนทางในการเอาชนะอำนาจในองค์กรนั้นๆ


4. การใส่ความเท็จเพื่อไล่ออกและไม่จ่ายค่าชดเชย

มีอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่ถูกขอให้ลาออกเพื่อที่มหาวิทยาลัยจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หรือมีการขู่อ้างว่าหากทางมหาวิทยาลัยไล่ออกจะทำให้ประวัติการทำงานเสื่อมเสีย แต่เมื่ออาจารย์ยืนยันในสิทธิ์ว่าตนไม่ได้ทำผิดวินัยและมหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิ์ไล่ออก ทางมหาวิทยาลัยมักสร้างข้อกล่าวหาขึ้นมาหรือขู่ว่าจะปล่อยข่าวให้เสื่อมชื่อเสียงเพื่อให้หมดอนาคตในวงการวิชาการหรือตัดโอกาสในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่มีอาจารย์ไม่น้อยที่ต้องยอมจำนนด้วยเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยังมีอาจารย์บางกลุ่มได้ลุกขึ้นตีแผ่ความไม่เป็นธรรมนี้สู่สังคม

ตัวอย่างล่าสุดเห็นได้จากกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น[2] ได้เข้าร้องเรียนกับการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และให้ข้อมูลกับสื่อว่าก่อนที่จะถูกไล่ออกนั้นถูกเรียกตัวเข้าไปพบรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและถูกกล่าวหาด้วยข้อหาเท็จซึ่งอ้างว่าทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งเมื่อทางกลุ่มอาจารย์ขอดูเอกสารและรายละเอียดเรื่องที่ถูกร้องเรียน ทางมหาวิทยาลัยกลับไม่มีคำตอบใดๆนอกจากขอให้เขียนใบลาออก ซึ่งเมื่ออาจารย์กลุ่มดังกล่าวไม่ยินยอม มหาวิทยาลัยได้ออกจดหมายเลิกจ้างทันทีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นเช่นกันแล้วในปี พ.ศ. 2559 [3] ที่กรณีของกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวน 15 ท่าน ร้องต่อสื่อว่าถูกเลิกจ้างกะทันหันโดยได้รับเพียงหนังสือขอบคุณและอ้างว่าเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆจนทำให้อาจารย์กลุ่มนี้ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตน

กรณีความไม่เป็นธรรมดังกล่าวยังเห็นได้จากกรณีของอาจารย์ที่ได้ให้ข้อมูลว่าตนถูกเลิกจ้างในลักษณะคล้ายกับกรณีข้างต้น โดยได้รับแรงกดดันให้แก้ไขผลการศึกษาของนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านเพื่อให้นักศึกษาจบการศึกษาตามที่ทางนายหน้าของมหาวิทยาลัยได้สัญญากับนักศึกษาว่าจะเรียนจบแน่นอนหากจ่ายเงินครบ แต่เนื่องจากนักศึกษาไม่ได้ทำการสอบวัดผลตามเกณฑ์ทำให้หัวหน้าสาขาวิชาต้องยืนยันผลการศึกษาเดิม แต่กลายเป็นว่าทางผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยได้ทำการแก้ไขผลการศึกษาย้อนหลังเพื่อให้นักศึกษาสอบผ่าน แม้มีกลุ่มอาจารย์ที่เข้าร้องเรียนความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏนี้กับผู้บริหารแต่กลับไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ ทำให้นำไปสู่การร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อแจ้งว่าพบความผิดปกติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา ผลสุดท้ายคืออาจารย์ผู้ที่ร้องเรียนกลับถูกมหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนและจบลงด้วยการตั้งข้อหาที่ไม่มีมูลโดยอ้างว่าทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และยุติการจ้างทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ

กรณีทุจริตดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีการปลดอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อปี พ.ศ. 2556[4] ในข้อหาการแก้ไขผลการศึกษาให้กับคนในครอบครัวของตัวเองและจัดตั้งหลักสูตรพิเศษเพื่อเพิ่มคุณวุฒิให้กลุ่มนักการเมืองโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา หากแต่ที่เปลี่ยนไปคือทุกวันนี้ผู้ที่มีอำนาจในสถาบันการศึกษาไม่ได้ทำการทุจริตเพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัวและเครือข่ายเท่านั้น แต่รวมไปถึง "ลูกค้า" หรือกลุ่มนักศึกษาที่ยอมรับเงื่อนไขของบางมหาวิทยาลัยที่มุ่งเพียงแค่ขายใบปริญญาโดยที่ทางมหาวิทยาลัยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณทางวิชาชีพใดๆเลย 

แม้จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ระบุชัดเจนเรื่องการจ่ายค่าชดเชยแรงงานกรณีเลิกจ้าง แต่บางมหาวิทยาลัยมักใช้อำนาจภายในการบ่ายเบี่ยงที่จะไม่จ่ายเงินดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหาเท็จ หรือการจ่ายเงินน้อยกว่าที่ควรจะให้โดยอ้างว่าการจ้างอาจารย์เป็นการจ้าง ผลิตของ แบบมีกำหนดเวลา ไม่ใช่การจ้าง แรงงาน แม้จะมีช่องกฎหมายให้ฟ้องร้องได้แต่บางมหาวิทยาลัยเลือกที่จะยื้อเวลากับอาจารย์โดยการให้อาจารย์เสียเวลาในการฟ้องหรือดึงข้อกฎหมายมาสู้ซึ่งไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆที่นายจ้างมักเอาเปรียบลูกจ้างจนถึงที่สุด มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ต้องยอมจำนนกับการเอาเปรียบนี้ภายใต้การผูกการแสวงหากำไรเข้ากับ คุณธรรม ศีลธรรม และการอุทิศตนของอาจารย์ ความไม่โปร่งใสในธุรกิจการศึกษาที่มีการแสวงหากำไรอย่างมหาศาลทำให้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจสีเทาที่ผู้ปฏิบัติงานมีอำนาจต่อรองต่ำ ขาดการรวมตัวของสหภาพ และกฎหมายแรงงานที่ไม่ครอบคลุมในสภาพการจ้างนี้

 

5. คุณภาพการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร

ถ้าระบบอุดมศึกษาไทยยังติดอยู่กับกับดักนี้ ที่อาจารย์และนักศึกษาตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยที่มองการศึกษาเป็นการค้า มองบุคคลากรทางการศึกษาเป็นแรงงานที่ไร้อำนาจต่อรอง ผลเสียตกอยู่กับคุณภาพการศึกษาโดยตรง ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างถูกลิดรอนสิทธิ์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ทางธุรกิจตกอยู่กับแค่คนมีอำนาจเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นอกจากจะเป็นการทำให้อาชีพอาจารย์เสื่อมความน่าเชื่อถือและคุณภาพแล้วยังเป็นการผลิตนักศึกษาที่เสื่อมคุณภาพเช่นกัน และยังทำให้อาจารย์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถขาดแรงจูงใจในการเป็นอาจารย์เนื่องจากต้องทำงานภายใต้สัญญาที่บีบรัด ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ และต้องเป็นกลไกของนโยบายมุ่งเน้นการค้าเหล่านี้ หากวงจรนี้ยังดำเนินต่อไปและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผลเสียระยะยาวยังตกอยู่กับองค์กรและธุรกิจที่ต้องเผชิญกับบุคคลากรที่มีวุฒิการศึกษาแต่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการทำให้การศึกษากลายเป็นการค้าจึงเป็นยาร้ายในสังคมที่ต้องได้รับการเยียวยาโดยด่วน


6. ทางออกคืออะไร ?

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีอาจารย์จำนวนมากที่เผชิญความไม่เป็นธรรมแต่ต้องยอมรับด้วยข้อจำกัดทางเงื่อนไขเศรษฐกิจและความมั่นคงในวิชาชีพ ทางออกคือภาคสังคมต้องช่วยกันขับเคลื่อนและตีแผ่ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้เห็นว่าการที่นายจ้างเอาเปรียบแรงงานนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ผิดทั้งข้อกฎหมายและจรรณยาบรรณที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการปกป้องสิทธิของบุคคลากรทางศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ตัวกลางสำคัญที่ต้องทำหน้าที่อย่างหนักคือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ตามนโยบายขององค์กรที่กล่าวว่า "ร่วมทีมทำงาน สร้างสรรค์องค์กร สอดคล้องเป้าหมาย โปร่งใสเป็นธรรม นำประโยชน์ส่วนรวม" [5] ดังนั้น สกอ. ในฐานะองค์กรต้องแสดงบทบาทในการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพของการศึกษาอย่างเข้มข้น การประกันคุณภาพการศึกษาต้องไม่มุ่งเน้นแค่การประเมินปริมาณผลงานวิชาการ แต่ยังรวมถึงคุณภาพการศึกษาที่ต้องมองถึงความโปร่งใสของหลักสูตร คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา ความมั่นคงในวิชาชีพ และปกป้องการละเมิดสิทธิบุคลากรทางการศึกษา หาก สกอ. ละเลยประเด็นสำคัญเหล่านี้ สกอ.เองที่จะกลายเป็นอีกแรงขับสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยลดลงเรื่อยๆ

 

 

เชิงอรรถ

[1] อ้างจาก https://pantip.com/topic/31841628

[2] อ้างจาก https://www.posttoday.com/local/northeast/523829

[3] อ้างจาก http://www.khonkaenlink.info/home/news/2667.html

[4] อ้างจาก https://www.posttoday.com/social/edu/261577

[5] อ้างจาก http://www.mua.go.th/vision.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยเตือนปชช.อย่าตื่นตระหนก 'หนอนตัวแบนนิวกินี' มากเกินไป

Posted: 01 Dec 2017 11:32 AM PST

สกว.-จุฬาฯ-สกอ. แถลงโครงการวิจัย 'หนอนตัวแบนนิวกินี' นักวิจัยเตือนปชช.อย่าตื่นตระหนกมากเกินไปชี้การประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่น ๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน 

1 ธ.ค.2560 งานสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สกว. ร่วมกันแถลงข่าว "หนอนตัวแบนนิวกินี: แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด" เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการวิจัยให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน "หนอนตัวแบนนิวกินี" แก่สังคมวิชาการและประชาชนทั่วไป

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การสร้างความรู้ที่ชัดเจน ตลอดจนการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในหลายมิติ เพื่อช่วยให้การควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการสากล ซึ่งจากการปรึกษาหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลายภาคส่วน ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินี ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่ สกว. ได้ให้การสนับสนุน โดย สกว.ยินดีที่จะสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ควบคุม และกำจัดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ซึ่งควรมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถตั้งโจทย์วิจัยที่ชัดเจน มีการทำวิจัยอย่างจริงจัง และสามารถนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับทราบเพิ่มเติมเพื่อการป้องกัน ควบคุม และเฝ้าระวัง

"สกว.คาดหวังว่าด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จะทำให้สามารถผลิตองค์ความรู้และผลงานที่วิจัยที่เกี่ยวข้องกับหนอนตัวแบนนิวกินีและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่น ๆ และสามารถนำผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ ด้านสาธารณะ ด้านนโยบาย หรือด้านอื่น ๆ โดยส่วนหนึ่งจะได้นำมาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบในโอกาสต่อไป" ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปเรื่องของหนอนตัวแบนนิวกินี และผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของหอยทาก ว่าหนอนตัวแบนนิวกินี (New Guinea Flatworm) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari De Beauchamp, 1963 เป็นสัตว์ในกลุ่มเดียวกันกับหนอนตัวแบนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนบก เช่น พลานาเรียบกและหนอนหัวค้อน มีการดำรงชีวิตแบบอิสระและเป็นผู้ล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร มีลักษณะลำตัวแบนและเรียวยาว ปลายด้านหัวแหลมกว่าด้านท้ายลำตัว บริเวณหัวส่วนต้นพบตา 1 คู่ ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร ด้านหลังมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีเส้นกลางลำตัวสีครีมหรือเหลืองอ่อนพาดยาวตลอดลำตัว ด้านท้องมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน มีปากและคอหอยอยู่กลางลำตัวด้านท้อง

 ศ.ดร.สมศักดิ์ ระบุว่า หนอนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดบริเวณเกาะปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย และแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะแปซิฟิกข้างเคียง เนื่องจากพบว่าหนอนตัวแบนชนิดนี้สามารถล่าหอยทากบกเป็นอาหาร ทำให้มีการนำเข้าหนอนดังกล่าวเพื่อช่วยกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา Achatina fulica ในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ล่าสุดหนอนชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานของโลก (World's Worst Invasive Alien Species) เนื่องจากมีรายงานว่าหนอนดังกล่าวล่าหอยทากบกพื้นถิ่นเป็นอาหารด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนและความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่นั้นลดลง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าหนอนชนิดนี้สามารถล่าไส้เดือนดิน หนอนริบบิ้น หนอนตัวแบนชนิดอื่น ๆ เหาไม้ รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหารได้ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาว

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวต่อว่า หนอนตัวแบนนิวกินีขยายพันธุ์โดยการวางถุงไข่ ภายในมีตัวอ่อน 3-9 ตัว โดยใช้เวลา 6-9 วันในการฟักจากถุงไข่ และเมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์หนอนนิวกินีจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้อีกครั้ง จากรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยได้ถึง 2 ปีในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้หนอนตัวแบนนิวกินียังมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อน ๆ เมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันหนอนตัวแบนนิวกินีได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เชื่อว่าแพร่ระบาดไปกับดินเพาะปลูกและต้นไม้ประดับต่าง ๆ โดยมีรายงานพบในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรัฐฟลอริดาเมื่อปี ค.ศ. 2012 ในทวีปยุโรปพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 2013 และพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี ค.ศ. 2010

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุว่าจากสถานการณ์ของหนอนตัวแบนนิวกินีที่เริ่มมีการรายงานในประเทศไทย รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานชนิดอื่น ๆ ที่รู้จักและรับทราบกันเป็นเวลายาวนาน เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ต้นไมยราพยักษ์ ผักตบชวา ต้นบัวตอง เป็นต้น ทำให้การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานด้านสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (introduced/alien species) ทุกชนิดไม่ได้ถือว่าเป็นชนิดที่รุกรานทั้งหมด การกำหนดว่าชนิดใดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive species) จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น มีการระบาดหรือแพร่กระจายรวดเร็วหรือไม่ มีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วหรือไม่ และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะต้องมาจากการศึกษาวิจัยโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง และการประเมินพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางการวางแผนการป้องกันในอนาคตได้

"การประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนตัวแบนนิวกินีจะต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่น ๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน และการตื่นตระหนกมากเกินไปของสังคมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกำจัดหนอนชนิดอื่นที่เป็นชนิดท้องถิ่น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศแทน เช่น หนอนหัวค้อนและหนอนริบบิ้น ที่มีสีและลักษณะลำตัวที่แตกต่างกันกับหนอนตัวแบนนิวกินี แต่มีบทบาทเป็นผู้ล่าและช่วยควบคุมปริมาณของสัตว์หน้าดินให้มีปริมาณที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ เช่น นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมฟันแทะ ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและความตื่นตระหนกที่มากเกินไปอาจทำให้หนอนตัวแบนชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทยถูกคุกคามเกินกว่าเหตุ และส่งผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาวได้" เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าว

สกว. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. เห็นความสำคัญในการร่วมมือเพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และจัดทำประเด็นวิจัยตามแนวทางสากลในระบบนิเวศของประเทศไทยและภูมิภาค เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมและเพื่อการควบคุมการระบาด เช่น การพิสูจน์เอกลักษณ์ของชนิดพันธุ์ด้วยวิธีการทางสัณฐานวิทยาและอณูชีววิทยา (ความสัมพันธ์ของดีเอ็นเอ) การวิเคราะห์สัตว์ที่เป็นเหยื่อของหนอน เพื่อเผยจุดแข็งจุดอ่อนของหนอนตัวแบนชนิดนี้ในด้านชีววิทยาแขนงต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมและนิเวศวิทยา เพื่อสนับสนุนแนวทางการวิเคราะห์แผนควบคุมซึ่งจะนำไปสู่การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์แพร่กระจายในปัจจุบัน-อนาคต รวมถึงทราบทิศทางการแพร่กระจายตั้งแต่อดีต การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นและมนุษย์ การเปรียบเทียบพื้นที่การแพร่กระจายในพื้นที่ถิ่นอาศัยของมนุษย์และพื้นที่อนุรักษ์จากข้อมูลวิจัยพื้นฐานที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

"แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากต้องการกำจัดให้ใช้เกลือโรย หรือใช้น้ำร้อนเทราด ห้ามกำจัดโดยการสับหรือทุบเพราะลำตัวสามารถงอกใหม่ได้ สำหรับภาคเกษตรกรรมนั้นปัจจุบันถือว่าไม่ได้เป็นศัตรูทางการเกษตร แต่ต้องเฝ้าระวังและสำรวจบริเวณแปลงเกษตรกรรมเพื่อประเมินผลกระทบ อีกทั้งควรมีการตรวจเช็คและห่อบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยก่อนการขนส่ง" เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวสรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานขายอสุจิคัดเกรดตามวุฒิ-ส่วนสูงไม่มีจริง-ต้นทางมาจากเพจปั๊มอ้างชื่อทนายดัง

Posted: 01 Dec 2017 09:46 AM PST

ประกาศรับซื้ออสุจิให้ราคาตามส่วนสูง วุฒิการศึกษาของเจ้าของอสุจิไม่มีจริง ตรวจพบชื่อ-เบอร์โทรตรงกับทนายความชื่อดังที่เคยตกเป็นข่าวถูกแอบอ้างชื่อปั๊มเพจธุรกิจนับร้อยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2557 นอกจากนี้ยังผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ห้ามเสนอซื้อขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน และยังกำหนดเงื่อนไขการผสมเทียมโดยใช้อสุจิว่าต้องเป็น "อสุจิของผู้บริจาค" เท่านั้น

2 ธ.ค. 2560 กรณีที่เมื่อคืนวานนี้ (1 ธ.ค.) เวลา 19.54 น. ในเพจ "งาน part time หางานพาร์ทไทม์ในกรุงเทพ งานพิเศษทั่วประเทศ" ลงประกาศ "งานขายอสุจิ ราคาจ่ายตามปริมาณ (นับเป็นซีซี)" โดยตั้งราคารับซื้อจำแนกตามส่วนสูง สีผิว และวุฒิการศึกษาของเจ้าของอสุจิ

โดยตั้งราคาที่รับซื้ออสุจิเพศชาย สูง 150 ซม. ซีซีละ 700 บาท สูง 165 ซม. ซีซีละ 900 บาท สูง 180 ซม. ซีซีละ 1,200 บาท และมีการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม หากมีผิวขาว ให้เพิ่มซีซีละ 300 บาท อสุจิเพศชาย จบปริญญาตรี เพิ่มซีซีละ 200 บาท จบปริญญาโท ซีซีละ 400 บาท และจบปริญญาเอกเพิ่ม ซีซีละ 1,000 บาท

ข้อความที่อ้างเป็นประกาศรับซื้ออสุจิ (ที่มา: Facebook/PartTimethaibangkok)

ในประกาศยังระบุคุณสมบัติว่าต้องเป็นอสุจิแท้ไม่ผสมน้ำ ปลอดภัยจากโรคทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด นำอสุจิของตัวเองผสมกับอสุจิของคนอื่นก็ได้ นอกจากนี้ยังอวดอ้างว่า อสุจิของผู้ที่สูงต่ำกว่า 165 ซม. จะนำไปทำเครื่องสำอาง ส่วนอสุจิของผู้ที่สูงมากกว่า 165 ซม. จะเอาไปเข้าธนาคารอสุจิ โดยในประกาศอ้างว่าเป็นธนาคารอสุจิเอกชนรายแรกของประเทศไทย

ในประกาศระบุว่าให้โทรศัพท์มาในเบอร์ที่ประกาศ "เพื่อนัดคิว ในการทำธุรกิจ เกรดนี้ ส่งคลีนิค (ต้องสด)" พร้อมยังชวนผู้สนใจที่อยู่ต่างจังหวัดว่า "นั่งรถเข้ามา หากคุณเกรด165+ ผมว่าคุ้ม ใช้เวลาในการทำธุรกิจไม่นาน หากส่งไปรษณีย์มา เกรดไหนก็ลงเกรดรวมหมด (เพราะไม่สด)" ฯลฯ

โดยจนถึงเวลา 00.30 น. ของวันที่ 2 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวพบว่าประกาศดังกล่าวยังคงอยู่ในเพจ โดยมีผู้แชร์ไปแล้วมากกว่า 4,400 ครั้ง

 

พบพิรุจข้อความมาจากเพจปั๊มอ้างชื่อทนายดัง-เนื้อหาเหมือนปี 57

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าไม่น่าจะเป็นประกาศสมัครงานจริง โดยเมื่อตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ และชื่อผู้ลงประกาศ พบว่าเป็นการอ้างชื่อทนายความชื่อดัง ผู้ใช้ชื่อว่า "ทนายธาตรี" (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 เคยตกเป็นข่าวถูกแอบอ้างชื่อเปิดเพจประกอบธุรกิจต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตนับร้อยเพจ รวมทั้งเพจอวดอ้างรับจัดหาสุนัขสำหรับร่วมเพศ จนสื่อมวลชนอย่างเดลินิวส์นำไปรายงานข่าวทั้งในเว็บไซต์และในฉบับพิมพ์ โดยตีพิมพ์เป็นข่าวหน้าหนึ่ง และไม่สามารถแก้ไขได้ทันเมื่อมาทราบภายหลังว่าเป็นการอำ

โดยเมื่อคัดลอกข้อความที่ลงประกาศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีนี้ ก็จะพบว่ามีข้อความเชิญชวน ราคา เงื่อนไข ฯลฯ เหมือนกับข้อความที่เคยลงประกาศในเพจแอบอ้างเมื่อเดือนธันวาคมปี 2557

 

ซื้อขายอสุจิผิดกฎหมาย เงื่อนไขการผสมเทียมต้องเป็นอสุจิบริจาค

นอกจากนี้ หากมีงานรับซื้ออสุจิจริง ก็ไม่น่าจะถูกกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 41 ระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นําเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน"

ในมาตรา 20 กำหนดเงื่อนไขของการผสมเทียมโดยใช้อสุจิว่าเป็น "อสุจิของผู้บริจาค" และการผสมเทียม "ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียม"

และในมาตรา 19 ยังปิดทางไม่ให้ผู้หญิงโสดผสมเทียมด้วย เพราะระบุเงื่อนไขว่า "การผสมเทียมต้องกระทําต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียมที่แพทยสภาประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ"

นอกจากนี้ในมาตรา 29 ยังระบุว่าเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ " เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร" และเจ้าของอสุจิ รวมทั้งไข่ ไม่ใช่บิดามารดา โดยในมาตราเดียวกันนี้ระบุว่า "...ชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ ซึ่งนํามาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อนและเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก" (อ่านกฎหมาย)

 

การแพทย์ไทยปกปิดข้อมูลต้นทาง-ปลายทางการบริจาคอสุจิ

อนึ่งในรายงานข่าว "ฝันสลาย! สาวโสดอยากมีลูก หมดสิทธิ์ขอบริจาคสเปิร์ม มัดมือชก บีบมีผัว" เผยแพร่ในไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุเรื่องคลังอสุจิหรือธนาคารสเปิร์มในประเทศไทยว่า เหลือแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีธนาคารสเปิร์ม หรือในโรงเรียนแพทย์ โดยนอกจากจะเก็บเชื้ออสุจิของผู้บริจาคแล้ว ยังสามารถเก็บเชื้ออสุจิแช่แข็งไว้เพื่ออนาคตจะไปฉีดให้กับภรรยาหรืออนาคตภรรยาได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่กี่่ร้อยบาท

ส่วนเรื่องการบริจาคอสุจิ นพ.สมบูรณ์ระบุว่า ถือว่ามีคนบริจาคน้อย เพราะคนที่ยินดีบริจาคจริงๆ ลดน้อยลง ถึงขนาดที่ว่า ขอร้องกันแล้วขอร้องกันอีก โดยโรงเรียนแพทย์จะขอรับบริจาคได้กว้างขวางกว่า บางคนอยากบริจาคเพื่อการกุศล บางคนบริจาคเพื่อต้องการช่วยเหลือ หรือบางครั้งต้องขอร้องนักศึกษาแพทย์ให้มาช่วยคนไข้ สาเหตุที่ไม่ค่อยมีผู้บริจาค เพราะต้องถูกสอบประวัติ เจาะเลือดตรวจว่าไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้อสุจิบริจาค ผู้บริจาคจะไม่รู้ว่าโรงพยาบาลจะไปมอบให้กับใคร ขณะที่คนรับบริจาคก็ไม่ทราบเช่นกันว่า อสุจินี้เป็นของใคร เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเปิดเผยเหมือนในบางประเทศ อย่างเยอรมนีมีกฎหมายบังคับว่าเด็กที่เกิดจากอสุจิบริจาค เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว แพทย์จะต้องบอกเด็กว่าเกิดจากอสุจิของใคร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

กรณีทนายดังถูกเล่นงาน-เพราะว่าความคดีรถชนร้านสเต๊กจนเจ้าของเสียชีวิต

สำหรับกรณีของทนายธาตรี ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 เขาตกเป็นข่าวถูกแอบอ้างชื่อเปิดเพจประกอบธุรกิจต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตนับร้อยเพจ โดยแอบอ้างว่าประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ รวมทั้งเพจอวดอ้างรับจัดหาสุนัขสำหรับร่วมเพศ จนสื่อมวลชนอย่างเดลินิวส์นำไปรายงานข่าวทั้งในเว็บไซต์และในฉบับพิมพ์ โดยตีพิมพ์เป็นข่าวหน้าหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อเพจที่เผยแพร่ข้อความแอบอ้างดังกล่าวเฉลยว่าเป็นการอำในเวลา 00.34 น. ของวันถัดไป ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ทัน เนื่องจากหนังสือพิมพ์ออกจากแท่นพิมพ์และกระจายไปตามสายส่งเสียแล้ว รวมไปถึงรายการโทรทัศน์ประเภทเล่าข่าวของช่อง 9 อสมท. ก็นำไปอ่านออกอากาศ โดยไม่ทันตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ลงข่าวธุรกิจจัดหาสุนัขร่วมเพศ ซึ่งเป็นข้อความจากเพจปลอม โดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทันก่อนวางจำหน่าย

โดยที่มาของการแอบอ้างเปิดเพจดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ทนายคนดังกล่าว เคยว่าความให้กับ น.ส.น้ำผึ้ง ใจเสงี่ยม ที่ขับรถกระบะพุ่งชนร้านสเต็กลุงใหญ่ ปากซอยเอกชัย 119 ถนนเอกชน แขวงและเขตบางบอน กรุงเทพฯ เป็นเหตุทำให้นายภาณุทัต ศักดิ์สืบพรรณ อายุ 42 ปี เจ้าของร้านสเต็กเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และลูกสาว "น้องการ์ตูน" อายุ 5 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง ประสาทตาฝ่อจนมีอาการตาบอด ร่างกายขยับไม่ได้ ยกเว้นแขนขาขยับได้บ้างเล็กน้อย เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2557

คดีดังกล่าวเกิดเป็นประเด็นขึ้น เมื่อมีการเผยแพร่คลิประหว่างที่มีการไกล่เกลี่ยค่าเสียหาย โดยครอบครัวผู้สูญเสียเรียกร้องค่ารักษา และความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ทนาย ได้พูดหยอกล้อกับลูกความว่า "น้ำผึ้ง…เธอไม่มีปัญญาหาเงินได้ เธอคงต้องไปโดดตึกตาย" แล้วบอกกับครอบครัวผู้สูญเสียว่า ให้ไปเจรจาค่าเสียหายในชั้นศาล

ทำให้เพจ The Dark Knights II (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) ประกาศให้ลูกเพจไปสร้างเฟสบุ๊คปลอมเพื่อโจมตีทนายผู้นี้ โดยมีการสร้างเพจทำธุรกิจสารพัดแอบอ้างว่าทนายคนดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งเพจรับจัดหาสุนัขสำหรับร่วมเพศที่ต่อมามีการเฉลยว่าเป็นเพจอำดังกล่าว

อนึ่งทนายซึ่งถูกแอบอ้างชื่อเปิดเพจรายนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า เสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไม่เลือกรับเป็นทนายคดีดังกล่าว ตัวเขาเป็นทนายความมาราวๆ 30 ปี แต่ต้องเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าว รู้สึกเสียใจอย่างมาก จนอยากจะผูกคอตาย หากตนพูดอะไรออกไป ทำให้ใครไม่พอใจ ตนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอความเมตตาชาวเน็ต นักเลงคีย์บอร์ด ให้หยุดการกระทำแอบอ้างชื่อตนในโลกออนไลน์ ตนอยากจะกราบ 3 ครั้ง โดยไทยรัฐออนไลน์ระบุด้วยว่าในระหว่างสัมภาษณ์ เบอร์โทรศัพท์ของทนายผู้นี้มีสายดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนใจอย่างมาก

สำหรับคดีดังกล่าวต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลฎีกา โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 ตัดสินจำคุกจำเลย 1 ปี ไม่รอลงอาญา ให้จ่ายเงินชดใช้ 6 ล้านบาท โดยยึดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อนึ่ง น.ส.ศรัญญา ชำนิ ผู้เป็นแม่ของน้องการ์ตูนเคยเปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์เมื่อ 31 สิงหาคมปี 2559 ว่า หลังเกิดอุบัติเหตุต้องรักษาตัวน้องการ์ตูนนาน 6 เดือน ค่ารักษาเบื้องต้นคู่กรณีจ่ายค่ารักษาประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท หลังจากนั้นน้องการ์ตูนได้ออกจากโรงพยาบาลมารักษาตัวที่บ้าน และเป็นหนี้โรงพยาบาล 1.96 ล้านบาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวั่นค้าระหว่างประเทศกระทบการกำหนดนโยบายสุขภาพ ปชช. แนะทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน

Posted: 01 Dec 2017 08:31 AM PST

เวทีประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี 60 ประเมินนโยบายและสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศมีประเด็นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากและซับซ้อนขึ้น กระทบต่อการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เสนอทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันด้วยความไว้วางใจและเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเพื่อการเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

1 ธ.ค.2560 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Committee on International Trade and Health Studies: NCITHS) ร่วมกับ แผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (International Trade and Health Programme: ITH) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัด การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ "Looking into the Future, Assessing the Current Situation" ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย.2560 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เอกชน ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 120 คน

ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายการพัฒนาประเทศได้ถูกกำหนดให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) การลดภาวะโลกร้อน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนมีผลต่อท่าทีของประเทศไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และระบบสุขภาพของประชาชน

"การประชุมจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในการเตรียมการทั้งด้านวิชาการและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพของประชาชน"

Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นทางด้านสุขภาพที่สำคัญในปัจจุบัน คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) การเข้าสู่สังคมผู้อายุ ความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงยา นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งด้านการวิจัย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การค้าระบบออนไลน์ นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศที่เกื้อหนุนระบบสุขภาพของประชาชน

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ในช่วงการประชุมทั้ง 2 วัน ได้มีการอภิปรายถึงสถานการณ์ และนโยบายสำคัญในปัจจุบันทั้งในระดับโลกและภายในประเทศซึ่งมีผลต่อการกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศ การใช้กลไกความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการค้าระหว่างประเทศและนโยบายสุขภาพไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการรักษา ตรวจวินิจฉัย และคัดกรองเพื่อรองรับความต้องการการใช้บริการการรักษาพยาบาลที่สูงมากขึ้น รวมทั้งการหารือถึงการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพมากขึ้น

สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวเสริมว่า ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสะท้อนภาพรวมและวิสัยทัศน์นโยบายการค้าและสุขภาพ สรุปเนื้อหาได้ 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย  1.การส่งออกของประเทศยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจที่เติบโตย่อมส่งผลต่อระบบสุขภาพของประชาชน 3.การมีนโยบายสาธารณะที่ดีช่วยให้การกระจายรายได้ของประชากรได้ทั่วถึงลดความเหลื่อมล้ำ 4.การเจรจาการค้าต้องดำเนินการอย่างรอบคอบทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และ 5.การสร้างประสิทธิภาพนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพประชาชน และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเคร่งครัด 

"ประเทศที่มีเศรษฐกิจดี หมายถึงประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย ซึ่งการเปิดเสรีทางการค้าอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้การส่งออกเติบโตอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าด้วย ดังนั้น หากจำเป็นต้องเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี ก็ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ผลดีที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน แต่ทราบถึงความสูญเสียว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนและระยะยาว ซึ่งผลบวกอาจไม่สามารถชดเชยผลเสียได้เพียงพอ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมตัวเรื่องความรู้ทั้งในประเทศและเปิดกว้างระดับสากล สร้างเครือข่าย และเข้าใจถึงความแตกต่างในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานด้วย" ประธานอนุกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 ปี ปะทะรามคำแหง คนเจ็บ-ญาติผู้ตาย เผยคดีไม่คืบหน้า

Posted: 01 Dec 2017 04:24 AM PST

ครบรอบ 4 ปี เหตุปะทะ ม.รามคำแหง - ราชมังคลา ช่วง กปปส.ชุมนุม 'พ่อ นศ.รามฯ' เผยคดีไม่คืบ ยังหวังรู้ใครเป็นคนยิงลูก - แท็กซี่แดงถูกรุมกระทืบคดีก็ยังเงียบ 'ธิดา' ชี้มูลเหตุหวังขยายความขัดแย้ง 

 
ภาพเหตุการณ์ชุลมุนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ช่วงเย็น วันที่ 30 พ.ย.56
 
ช่วงการก่อตัวของ กปปส. มีจุดที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวหลายจุด โดยจุดหนึ่งคือเหตุการณ์ความรุนแรงอันนำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสนามกีฬาราชมังคลาในช่วงวันที่ 30 พ.ย. 56 ถึงวันที่ 1 ธ.ค. 56 นั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย นักศึกษา ม.ราม 1 คน ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. 3 คน ขณะที่ไม่ทราบฝ่าย 1 คน และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนไม่น้อย ในความรุนแรงนั้นด้านหนึ่งถูกนำไปใช้ปลุกปั่นแชร์กันต่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กทวีความเกลียดชังเคียดแค้นโดยการกล่าวว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม อย่างรวดเร็วในขณะนั้น ขณะที่กระบวนการที่อาจเคลื่อนไปอย่างล่าช้าและเหมือนไม่มีความคืบหน้าแม้เวลาผ่านมา 4 ปีแล้ว คือกระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมจากเหตุการณ์นี้
 
ในวาระครบรอบ 4 ปี ประชาไท ได้สัมภาษณ์ญาติของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ เพื่อสอบถามความคืบหนาของคดี การชดเชยและความรู้สึกหลังเหตุการณ์ผ่านมา 4 ปี 

พ่อ นศ.รามฯ เผยคดีไม่คืบ ยังหวังรู้ใครเป็นคนยิงลูก

นราเมศ ธีระรังสิกุล บิดาของ ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นักศึกษารามที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น กล่าวว่า กรณีของเราไม่มีความก้าวหน้าเลย สอบทางทาง สน.หัวหมาก ครั้งหรือสองครั้ง เราไปพบ ผบ.ตร. และเชิญผู้กำกับ สน.หัวหมาก มาพบ เมื่อสอบถามกันไปมาก็ได้เพียงเท่านี้ในความคืบหน้าของการติดตาม
 
บิดาของ ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากรู้ว่าใครเป็นคนลงมือยิง หรือมีความคืบหน้าอย่างไร เคยมีทนายมาตามเรื่องกับตนประมาณ 6 เดือน เพื่อช่วยจี้ แต่ปรากฎว่าไม่ได้เรื่องอะไร อาจเพราะไปแล้วสาวไม่ถึงหรือทางตำรวจไม่มีหลักฐานจริง หรือไม่ดำเนินการนั้น ตนไม่ทราบได้เลย
 
นราเมศ กล่าวต่อว่ารัฐไม่มีมาตรการอะไรเยียวยาให้เลย มีให้เงินมาบางส่วน ประมาณ 2-3 แสน เขาบอกว่าได้สิทธิตามนั้นเอง และอยากให้ลูกเราเป็นคดีตัวอย่างว่าการทำแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในบ้านเราอีกแล้ว ที่มีการชุมนุมและเกิดการฆ่ากัน
 
ไทยรัฐออนไลน์ เคยรายงานไว้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.58 ว่า มารดาของ ทวีศักดิ์ เข้ายื่นหนังสือและหลักฐานต่อ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขณะนั้น) เพื่อทวงถามความคืบหน้าของคดี ซึ่งขณะนั้น พล.ต.ท.ประวุฒิ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ความคืบหน้าในคดี ทวีศักดิ์ ที่เสียชีวิตจากการถูกลอบยิงด้วยปืน ขนาด 11 มม. ในคืนวันที่ 30 พ.ย.56 บริเวณประตูทางออกด้านหลังมหาวิทยาลัย ใกล้กับจุดที่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดอาวุธปืนที่คาดว่าคนร้ายอาจจะใช้ก่อเหตุยิง ทวีศักดิ์เสียชีวิต แต่ผลการชันสูตรปรากฏว่า หัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตไม่ตรงกับอาวุธปืน จึงทำให้การจับกุมผู้ก่อเหตุเป็นไปได้ยาก และช่วงเวลานั้นเป็นเวลากลางคืน ดำเนินการจับกุมยากยิ่งขึ้น ยอมรับว่าบางคดีก็ต้องใช้เวลาสอบสวน เพราะเป็นเหตุการณ์ชุมนุม เเต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะรีบดำเนินคดีนำผู้ทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

แท็กซี่แดงถูกรุมกระทืบ 4 ปีคดียังเงียบ

สมยศ วงษ์จันลา คนขับรถแท็กซี่ ซึ่งถูกรุมทำร้ายและทุบรถพร้อมทั้งโดนลากจากรถแล้วบังคับให้ถอดเสื้อออก จนได้รับบาดเจ็บสาหัส กล่าวถึงความคืบหน้าคดีตนเองนั้น ว่า เงียบไปเลย ตั้งแต่ได้เงินเยียวยาหมื่นห้าก็เลยไม่ได้ตามอะไรเลย ไปขอค่าเยียวยาศูนย์ราชการอยู่สามสี่เดือนได้สามพัน พอได้เสร็จแล้วก็ไม่ได้อะไรเลยหลังจากนั้นมา
ไม่ได้ตามเรื่องคดีต่อเลย เพราะตนจำหน้าเขาไม่ได้จริงๆ ถ้าตนจำได้ก็คงจะจับหมด แต่บังเอิญว่าจำไม่ได้ 
 
"พอยกมือไหว้แล้วมันก็ต่อยตา ถอดเสื้อผ้าแล้วกระทืบ ถ้าผมไม่ขอชีวิตก็คงจะตายตั้งแต่วันนั้น ฟันผมหลุดหมด มือก็โดนฟัน ถ้าเพื่อนไม่โดดขวางไว้ผมคงตายไปแล้ว" สมยศ เล่าถึงเหตุการณ์ พร้อมย้ำด้วยว่า แจ้ง สน.หัวหมาก ไว้แต่ก็เงียบไปเลย ปกติตรงนั้นมีกล้องวงจรปิด แต่เขาก็ไม่ได้ติดต่ออะไรกลับมา ได้รับเงินเยียวยามาก็จบ 
 
สมยศ กล่าวถึงอาการตอนนี้ว่า ตาตนก็อ่านหนังสือไม่ได้ ก้านสมองก็เลอะเลือน น้ำอัดลมนี่กินไม่ได้เลย สมองไม่เหมือนเดิม ตาด้านขวาจะมองเห็น แต่ถ้าปิดด้านขวาอ่านด้านซ้ายไม่เห็นเลย ส่วนรถแท็กซี่นั้น ขายไปแล้ว เพราะไม่ขับแล้ว ขับไปก็มีแต่เรื่องแต่ราว ตอนนี้ทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ พอเลี้ยงครอบครัวได้
 
"ฝากถึงคนที่ทำร้ายผม มันไม่ใช่คน คนเราคุยกันได้ คุยกันดีๆได้ ไม่ใช่เห็นผมแล้วทำร้ายกันเหมือนสัตว์ เหมือนลูกแกะที่โดนขยุ้ม ที่รอดมาได้เพราะเพื่อน แต่ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ไหน ผมกำลังจะมองเขา มันก็ต่อยตาผม" สมยศ กล่าวทิ้งท้ายในวาระ 4 ปี ที่เขาถูกทำร้าย

ธิดา ชี้มูลเหตุหวังขยายความขัดแย้ง 

ขณะที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดีเลย ส่วนผู้เสียชีวิตนั้น นอกจาก 5 คนแล้ว ยังมี สนอง อินทรา ที่เสียชีวิตเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกระหว่างเดินทางกลับบ้านด้วย พร้อมระบุด้วยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากที่ถูกดักทำร้าย 
 
ธิดา มองว่า มันเป็นความต้องการขยายความขัดแย้ง ทั้งที่ นปช. ชุมนุมเป็นพื้นที่ปิดและอยู่ห่างไกลกัน กับ กปปส. แต่ปรากฏว่าคนของทาง กปปส. นำคนมา ขณะที่เราอาจประมาทไปนิดนึง คิดว่าอยู่ไกลกันคงไม่มาหาเรื่อง ไม่มายุ่งกับเรา แต่ปรากฏว่ามีการปลุกระดมคนให้เข้ามา และจากที่สังเกตการตายหรือบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดที่หน้ามหาวิทยาลัยและตามซอย เขาไม่กล้าบุกเข้ามา แต่การทำร้ายคนข้างนอก ซึ่งตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้  นี่ชัดเจนว่ามันเป็นการพยายามกระทำต่อประชาชนที่มาชุมนุมโดยสงบ ต้องการหาเรื่องและสร้างขยายปัญหา และที่สุดเรายกเลิกการชุมนุม

คุก 3 ปี 4 เดือน 'อดิสรณ์' คดีลักทรัพย์รถบัสหน้าราม ของกลุ่มนปช.

สำหรับคดี สุรเดช คำแปงใจ อายุ 17 ปี (อายุขณะนั้น) ถูกพบเป็นศพในรถบัสโดยสารที่ นปช. โดนสารมาชุมนุมและถูกเผาบริเวณหน้า ม.ราม นั้น เมื่อวันที่ 16 ก.พ.58 มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลชั้นต้นพิพากษา คดีที่ อดิสรณ์ สีจันทร์ผ่อง หรือดำ อายุ 30 ปี ตกจำเลยคดีก่อความวุนวาย วางเพลิงเผารถบัสโดยสาร พร้อมทั้งลักทรัพย์ บริเวณหน้า ม.รามคำแหง โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 และ 336 เนื่องจากปรากฎภาพจำเลยขณะยกทรัพย์จริง ศาลจึงพิพากษาจำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับผู้เสียหายตามกฎหมาย ขณะที่ ข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปและใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้าย และกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายแก่บ้านเมือง และข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักฐานยังไม่ชัดเจน เนื่องจากภาพที่ปรากฎไม่บ่งชี้ว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ จึงพิพากษายกฟ้อง

ความคืบหน้าเมื่อครั้ง ตร. แถลง ก.พ.57

ส่วนรายละเอียดที่ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยแถลงความคืบหน้าไว้ เมื่อ 27 ก.พ.57 โดยกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า มีการออกหมายจับแล้ว10ราย จับกุมแล้ว 4 ราย รายละเอียดดังต่อไปนี้
 
1. คดีฆ่าผู้อื่นฯ (ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี) นักศึกษาพีดีกรี มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเป็นนักศึกษาเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจชั้นปีที่ 1 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .45 บริเวณหน้าอกด้านซ้าย จำนวน 1 นัด เหตุเกิดที่บริเวณทางเท้าริมรั้วด้านหลังของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ใกล้กับประตู 008 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 56 เวลาประมาณ 21.00 น. ความคืบหน้ารอผลรายงานสืบสวนบุคคลตามภาพในคลิปภาพวีดีโอ-ผลการตรวจที่เกิดเหตุได้ครบแล้ว การสอบสวนทำการสอบสวนพยานไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 11 ปาก ได้รับผลตรวจชันสูตรศพ ได้รับผลการตรวจที่เกิดเหตุ ได้รับผลการตรวจ วิถีกระสุน
คนร้ายอยู่ระหว่างการสืบสวนติดตาม ให้ฝ่ายสืบสวนส่งรายงานเป็นระยะ ยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด
 
2. คดีฆ่าผู้อื่นฯ (พลทหารธนะสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 21 ปี) สังกัดศูนย์การทหารราบปราณบุรี ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่บริเวณศีรษะทะลุหมวกกันน็อค เหตุเกิดที่บริเวณกลางซอยแยก 14 ของซอยรามคำแหง 24 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.56 เวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.56 เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการจับกุมตัว1.นภดล แก้วมีจีน อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 183 หมู่ 6 ต.ท่ายาง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ตามหมายจับ ที่ 2485/56 ลง 22 ธ.ค.56 และ 2. ธีรภัทร ทองฤทธิ์ อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 246 หมู่ 5 ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรังตามหมายจับ ที่ 2484/56 ลง 22 ธ.ค.56 พร้อมด้วยอาวุธปืน รีวอลเวอร์ ขนาด .38 เครื่องกระสุนปืน จำนวน 6 นัด โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ
 
3. คดีฆ่าผู้อื่นฯ (วิโรจน์ เข็มนาค อายุ 43 ปี) ภูมิลำเนาอยู่ อ.บางบัวทอง จว.นนทบุรี ถูกกระสุนปืนยังไม่ทราบขนาดยิงเข้าที่หน้าอกด้านซ้ายทะลุหลัง ในขณะยืนอยู่บริเวณใกล้ทางลงประตู ดับเบิลยู(w) ก่อนถึงทางลาดประมาณ 2-3 เมตร ของสนามกีฬาราชมังฯ ตรงข้ามกับอาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ซึ่งติดกับรั้วสนามกีฬาฯ ด้านทิศเหนือ) เหตุเกิดบริเวณหน้าอาคารสนามกีฬาฯด้าน ทิศเหนือ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.56 เวลาประมาณ 06.10 น. ความคืบหน้าสอบสวนพยานแล้ว จำนวน 11 ปากคงเหลือรายงานการตรวจวิถีกระสุนที่เกิดเหตุรายงานการตรวจที่เกิดเหตุรายงานการตรวจหัวกระสุนปืนจากอาคารเก่า
 
4. คดีฆ่าผู้อื่นฯ (วิศณุ เภาพู่ อายุ 26 ปี) ภูมิลำเนาอยู่เขตลาดกระบัง กทม. ถูกกระสุนปืนขนาด 9 มม. ที่บริเวณหน้าอกเหนือราวนมซ้ายกระสุนฝังใน เหตุเกิดบริเวณทางเท้า ริมถนนรามคำแหง บริเวณตรงข้ามปากซอยรามคำแหง 53 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.56 เวลาประมาณ 06.30 น.โดยผู้ตายเดินมากับเพื่อนชื่อ วรวิทย์ ตรีตระกูล เพื่อจะไปสังเกตการต่อสู้ก่อนกลับบ้านที่ลาดกระบัง สืบเนื่องจากขณะนั้นมีกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษาเผชิญหน้าอยู่กับการ์ดเสื้อแดง ในทิศทางที่อยู่ด้านหน้าของผู้ตาย ความคืบหน้าสอบสวนพยานแล้ว จำนวน 8 ปาก ได้รับผลการตรวจชันสูตรศพแล้ว คงเหลือ สอบพยานเพื่อนผู้ตายเพิ่มเติม ถึงลักษณะการเดินรอผลการตรวจที่เกิดเหตุใหม่ผลตรวจเปรียบเทียบกระสุนปืนจาก สน.บางชื่อ
 
5. คดีวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ( สุรเดช หรือเจ คำแปงใจ อายุ 17 ปี) เหตุเกิดที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าสนามกีฬาฯ ประตู 1 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.56 เวลาประมาณ 15.30 น. โดยผู้ตายได้ออกจากบ้านย่านเอกมัย มากับเพื่อนชื่อ ฉัตรมงคล ปินนาค ใช้รถจักรยานยนต์ของฉัตรมงคล เป็นยานพาหนะ ผลการสอบสวน มีผู้กระทำความผิด จำนวน 15 คน ดังนี้ ออกหมายจับแล้ว 8 ราย จับกุมแล้ว 2 ราย 1. อดิสรน์  สีจันทร์ผ่อง อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 (จับกุมตัวได้) 2. ชยันต์ หรือ จิมมี่ ศรีโมรา อายุ 15 ปี ผู้ต้องหาที่ 2 (เป็นเยาวชน จับกุมตัวได้)
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ ออกเกม RPG เอื้อเด็กเรียนรู้เพศศึกษา

Posted: 01 Dec 2017 02:38 AM PST

"ในชีวิตนี้คุณเคยเลือกอะไรผิดไหม"
"พวกเราก็เคยกันทั้งนั้น..."

นี่คือประโยคเปิดเทรลเลอร์ของเกมที่ชื่อ "เพลย์ฟอร์เวิร์ด เอล์มซิตีสตอรี" (PlayForward: Elm City Stories) เกมเกี่ยวกับเพศศึกษาสำหรับวัยรุ่นจากผลงานการออกแบบของลินน์ ฟิเอลลิน และเพื่อนร่วมงานของเธอ มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้กับวัยรุ่นชนกลุ่มน้อยที่มีความเสี่ยงเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ

ฟิเอลลินเป็นผู้ช่วยศาตราจารย์แพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล เธอเล่าว่าในตอนที่เธอเริ่มพูดถึงความคิดที่จะออกแบบวิดีโอเกมสำหรับวัยรุ่นให้พวกเขาได้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะเรื่องเพศ เธอก็นึกถึงว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะช่วยเสริมระบบการศึกษาเรื่องนี้ได้บ้าง แต่การค้นคว้าก็ทำให้พวกเธอเห็นว่าเพศศึกษาในสหรัฐฯ อยู่ในสภาพที่แย่ขนาดไหน

ฟิเอลลินบอกว่าเพศศึกษาในสหรัฐฯ สะเปะสะปะไร้ทิศทาง ไม่มีมาตรฐานเลย และเด็กบางคนก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ นั่นทำให้ทีมงานของฟิเอลลินศึกษาทดลองเป็นเวลานานปีและพบว่าวิดีโอเกมสามารถช่วยให้เยาวชนได้รับความรู้เรื่องเพศ เรื่องทัศนคติต่อเพศ และเรื่องพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่างๆ ด้วย

PlayForward: Elm City Stories Trailer from play2PREVENT on Vimeo.

 

เกม "เพลย์ฟอร์เวิร์ด เอล์มซิตีสตอรี" มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 11-14 ปี มีการใช้กราฟิกรูปแบบหนังสือการ์ตูน ลักษณะการเล่นมีการหยิบยืมมาจากบอร์ดเกมและภาพยนตร์อย่าง "Groundhog Day" และ "It's a Wonderful Life" ฟิเอลลินบอกว่าเนื้อหาของเกมนี้ต้องการให้เด็กคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากทางเลือกของพวกเขา

ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ เพื่อให้พวกเขาสร้างต้นแบบสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในกลุ่มวัยรุ่น แต่นักวิจัยเหล่านี้ก็ไปไกลกว่าด้วยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ในเกมที่ทำให้ตัวละครของผู้เล่นไปอยู่ในความเสี่ยงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่ จะใช้ยาที่เจอในบ้านคนอื่นไหม หลังจากนั้นตัวเกมจะตัดภาพไปที่ตอนพวกเขาอายุ 30 ปี ทางเลือกของพวกเขาส่งผลต่อชีวิตอย่างไร

ฟิเอลลินอธิบายว่าลักษณะของเกมจะมีทั้งเนื้อเรื่องไปพร้อมๆ กับการสร้างทักษะ รวมถึงมีการพูดเรื่องเพศอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมากับเด็ก บางคนอาจจะต่อต้านว่าคุณจะพูดเรื่องออรัลเซ็กส์กับเด็กอายุ 11 ปีไม่ได้ แต่ฟิเอลลินมองว่าเรื่องเหล่านี้พอถึงเวลาเด็กๆ ก็จะรู้จักมันอยู่ดี การพูดเรื่องนี้จะทำให้เด็กรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่า เช่น บางเรื่องที่เด็กอาจจะเคยทดลองเลือกทางเลือกนั้นๆ ในเกมแล้วพบว่ามันไม่ส่งผลดี ก็จะย้ำเตือนพวกเขาเวลาอยู่ในชีวิตจริงว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำเรื่องแบบนั้นในโลกจริง

จากตัวอย่างของเกมที่เผยแพร่ในเว็บ Vimeo แสดงให้เห็นลักษณะการเล่นที่ผู้เล่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ที่บ้าน หรือการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เป็นตัวละครในเกม รวมถึงระบบจัดกลุ่มความสัมพันธ์กับตัวละครในเกม รวมถึงการเผชิญหน้าเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่างๆ

ทีมงานของฟิเอลลินทำการทดสอบเกมนี้กับกลุ่มตัวอย่าง 333 รายที่เป็นเด็กอายุ 11-14 ปี ร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่างนี้เป็นชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติสีผิว โดยทดสอบให้เด็กเหล่านี้ลองเล่นเกมเพลย์ฟอร์เวิร์ดหรือเกมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ด้วยระยะเวลาในการเล่นมากที่สุด 75 นาที สองครั้งต่อสัปดาห์ จากนั้นจึงประเมินผลเด็กๆ เหล่านั้นในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องทัศนคติทางเพศ ความรู้เรื่องเพศในเชิงสุขศึกษา และเจตจำนงทางเพศวิถี ผลออกมาปรากฏว่าการเล่นเกมของพวกเขาไม่ได้ส่งผลให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นหรือน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่เล่นเกมอื่นๆ ทั้งนี้กลุ่มที่เล่นเกมนี้ยังมีความรู้และทัศนคติทางเพศดีขึ้นด้วย

มีเด็กบางส่วนที่ทดลองเล่นเกมเข้ามาขอว่าพวกเขาจะดาวน์โหลดเกมจากแอพสโตร์ไปเล่นต่ออีกได้หรือไม่หลังจากพ้นช่วงทดสอบ 6 สัปดาห์แล้ว เรื่องนี้ทำให้ทีมของฟิเอลลินรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างดี โดยที่ฟิเอลลินเปิดเผยว่าในตอนนี้ทีมของเธอกำลังพยายามสร้างและเผยแพร่เกมนี้ออกไปเรื่อยๆ รวมถึงจัดทำในรูปแบบของเกมบนเว็บเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงเกมนี้จากที่ใดก็ได้ ฟิเอลลินบอกอีกว่าเธอหวังว่าเกมนี้จะเป็นตัวเสริมที่ดีสำหรับโรงเรียนหรือโครงการเยาวชนที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพศศึกษา


เรียบเรียงจาก

The Role-Playing Video Game Where Teens Navigate Sex, Vice, 28-11-2017
https://broadly.vice.com/en_us/article/ne38vg/the-role-playing-video-game-where-teens-navigate-sex

PlayForward: Elm City Stories Trailer, play2PREVENT, Vimeo
https://vimeo.com/97287974

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไพบูลย์' จ่อยื่นจดทะเบียนพรรค ชูธงหนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ

Posted: 01 Dec 2017 01:58 AM PST

'ไพบูลย์' เผยยื่นจองชื่อ 'พรรคประชาชนปฏิรูป' กับ กกต. แต่ไม่รับ อ้างติดล็อค คสช. รอไปยื่นใหม่ ชูธงหนุน 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ ปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา และเพิ่มอำนาจให้ประชาชน

1 ธ.ค.2560 จากเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีกระแสจับตาและวิพากษ์วิจารณ์การตั้งพรรคทหารหรือพรรคการเมืองเพื่อรองรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเข้าสู่การเมืองนระบบเลือกตั้งนั้น 

ล่าสุดวันนี้ (1 ธ.ค.60) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป พร้อมด้วย มโน เลาหวณิช พล.อ.ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ เทพสิทฐิ์ ประวาหะนาวิน ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล ธรรมนูญ อัตโชติ ธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ธนพัฒน์ สุขเกษม กันติพจน์ สิริภักดิสกุล ในฐานะตัวแทนคณะ 117 คน แถลงว่า เตรียมยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ข้อ 16 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

ไพบูลย์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป คณะเตรียมการจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปทั้ง 117 คน จะรวบรวมประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมทุนประเดิมคนละ 1,000 บาทตามที่กฎหมายกำหนด คาดว่าจะครบจำนวน แล้วเปิดประชุมใหญ่ได้ภายในเดือน ก.พ. 2561 เพื่อรับรองข้อบังคับ เลือกกรรมการบริหารพรรค และหลังวันประชุมใหญ่ จะยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อไป

ไพบูลย์ กล่าวว่า จากนั้นจะขยายสมาชิกพรรคที่ยินดีจ่ายค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท ในทุกจังหวัด จังหวัดละไม่น้อยกว่า 100 คน เพื่อให้สมาชิกเลือกตัวพรรคประจำจังหวัด และสรรหาผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ คาดว่าจะส่งผู้สมัครส.ส.ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขต สำหรับอุดมการณ์และนโยบายเบื้องต้นมี 3 ข้อคือ 1. ปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา 2. ปฏิรูปการเมือง สนับสนุนคนซื่อสัตย์สุจริตมีความสามารถเป็นนายกฯ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. และ 3. ปฏิรูปเพิ่มอำนาจให้ประชาชน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า ไพบูลย์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าตนให้เจ้าหน้าที่ยื่นหนังสือเพื่อขอจองชื่อพรรคการเมือง ว่าพรรคปฏิรูปประชาชน ชื่อย่อ ปชช. ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องปฏิเสธที่จะรับจองชื่อเพราะติดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมและตั้งพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังนั้นตนจึงเห็นใจ กกต. และเตรียมจะยื่นหนังสือเพื่อจองชื่อพรรคอีกครั้งหลัง คสช. ปลดล็อคคำสั่งดังกล่าว สำหรับความพร้อมของพรรค ขณะนี้มีผู้ร่วมอุดมการณ์และต้องการร่วมจัดตั้งพรรคแล้ว 117 คน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ และทันทีที่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ จะเรียกประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่

"พรรคประชาชนปฏิรูปยืนยันว่าจะเป็นพรรคการเมืองระบบใหม่ และจะไม่ทำเหมือนที่พรรคการเมืองในระบบ 70 พรรคที่ทำให้การเมืองไทยล้มเหลว สำหรับอุดมการณ์และนโยบายของพรรคนั้น เบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาให้อยู่ในพระธรรมวินัย ผ่านการออกกฎหมาย, สนับสนุนบุคคลที่ซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามารถ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้เป็นนายกฯ อย่างไรก็ดีประเด็นนี้คือการสนับสนุนตัวบุคคล ไม่ใช่คณะของคสช. และ ปฏิรูปเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ" ไพบูลย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อ 9 ส.ค.59 ไพบูลย์ ที่เพิ่งประกาศตั้ง "พรรคประชาชนปฏิรูป" ให้สัมภาษณ์กับ "สำนักข่าวเนชั่น" โดยยอมรับตรงๆ ขณะนั้น ว่า จุดประสงค์หนึ่งในการตั้งพรรคการเมือง เพราะต้องการให้เป็นเครื่องมือของประชาชนในการสนับสนุนให้คนดีมีความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความเหมาะสมที่สุด 

ขณะที่เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พรรคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพรรคทหาร คือ พรรคพลังชาติไทยกำลังเคลื่อนไหวจัดตั้งสาขาพรรคในต่างจังหวัด โดยพรรคนี้ ได้สร้างองค์กร "จิตอาสา พลังชาติไทย" ขึ้นมา และทุกกิจกรรมในห้วงเวลานี้ จึงเป็นเรื่องขององค์กรจิตอาสาฯ  "พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์" ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย นั้นมีคำถามมากมายในหมู่หัวคะแนนบ้านนอก แต่ก็ไม่มีข้อมูลมากนัก นอกจากข่าวสารหลังรัฐประหาร ทาง คสช.ได้มอบหมายให้ กอ.รมน. ไปดำเนินการตามกระบวนการปรองดองสมานฉันท์และให้จัดตั้ง "คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ" โดยมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 3 ปี กม.เท่าเทียมระหว่างเพศ เดินหน้าหรืออยู่กับที่?

Posted: 30 Nov 2017 10:49 PM PST

พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ใช้มาเกือบ 3 ปี เมื่อกฎหมายออกจากสภาที่กองทัพจับตั้งกันเข้ามา เนื้อหาแบบมาตรา 17(2) ที่มีข้อยกเว้นให้สามารถเลือกปฏิบัติระหว่างเพศด้วยเหตุผลทางศาสนาและความมั่นคงของชาติ ก็ไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมาย

ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบหรือซีดอว์ (Committee on the Elimination of Discrimination against Women) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ซึ่งคณะตัวแทนจากไทยเข้าร่วมด้วย ทางคณะกรรมการฯ แสดงความห่วงใยต่อมาตรานี้และเสนอให้แก้ไขเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ

มาตรา 17 (2) เป็นปัญหาในเชิงหลักการข้อใหญ่ที่ทำให้กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นเพียงจินตนาการครึ่งๆ กลางๆ

'ประชาไท' พูดคุยกับคณะกรรมการทั้งสองชุดตามกฎหมาย รวมถึงผู้ทดลองใช้กฎหมายและพบว่ากระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายนี้ไม่ค่อยสอดรับกับชีวิตจริงของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ
 

ติดระบบราชการงานเคลื่อนช้า-เร่งผลักดันผ่านคณะอนุกรรมการ

กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) มีหน้าที่ในด้านการกำหนดนโยบาย มาตรการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กล่าวคือทำงานในภาพใหญ่ สุชาดา ทวีสิทธิ์ ในฐานะกรรมการ สทพ. ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กล่าวกับประชาไทว่า อุปสรรคประการหนึ่งของการขับเคลื่อนความเท่าเทียมระหว่างเพศคือระบบราชการที่ส่งผลให้การนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางการทำงานในแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม การจะนัดหมายให้ตรงกันไม่ใช่เรื่องง่าย กับอีกประการหนึ่งคือความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศของคณะกรรมการแต่ละคนยังแตกต่างระดับกันมาก จึงต้องมีการอภิปรายทำความเข้าใจและปรับจูนในหลายประเด็นให้ตรงกันเสียก่อน เป็นเหตุให้การทำงานและการออกมติต่างๆ อาจล่าช้าอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติ อนุกรรมการด้านการส่งเสริมการศึกษาและวิจัย อนุกรรมการด้านกฎหมาย และอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งช่วยให้การทำงานของ สทพ. เริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ในระดับหนึ่งแล้ว

"ดิฉันร่วมเป็นอนุกรรมการอยู่ใน 3 ชุด คืออนุกรรมการส่งเสริมการวิจัยฯ อนุกรรมการด้านนโยบายฯ และอนุกรรมการด้านกฎหมาย ก็ได้มีการประชุมกันอยู่เรื่อยๆ เกือบทุกเดือน เราพยายามผลักดันให้มีการทำแนวปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ อันที่จริงเราอยากทำมากกว่านั้น แต่หลายคนบอกว่าเราเพิ่งเริ่มต้นก็เอาแค่นี้ก่อน และควรออกแค่แนวปฏิบัติ เพราะ สทพ. ไม่ควรใช้อำนาจไปบังคับหน่วยงาน เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้คือกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าเน้นการลงโทษ เราต้องทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าใจ ซึ่งเราก็พยายามผลักดันแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคตามกฎหมาย ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติกับเพศหลากหลายในสถานศึกษา ในที่ทำงาน เช่น การให้บุคลากรของหน่วยงาน รวมทั้งนักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ รวมทั้งมีการจัดห้องน้ำอย่างน้อย 1 ห้อง สำหรับให้คนทุกเพศสภาพเข้าใช้ได้  หรือการไม่ใช้ภาษาที่เป็นการตีตรา ตอกย้ำ กลุ่มคนเหล่านั้น เป็นต้น

"แนวปฏิบัติอีกประการหนึ่งที่คณะกรรมการ สทพ. จะประกาศไว้คือการสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของหน่วยงาน ต้องมีองค์ประกอบทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเพศหลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมตามความจำเป็น"


อยู่ในช่วงวางระบบ-มาตรา 17(2) ต้องแก้ไข

อุษา เลิศศรีสันทัด กรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาเป็นช่วงของการสร้างระบบเพื่อรองรับ เธอยอมรับเช่นกันว่าระบบและกลไกราชการทำให้การทำงานของ วลพ. เกิดความล่าช้า

"ในช่วงปีแรกแทบจะไม่สามารถทำอะไร เพราะต้องมีการทำระบบ ตั้งแต่การรับเรื่อง เพราะตอนนั้นระเบียบก็ยังไม่เรียบร้อย พอเรื่องเข้ามาก็ยังไม่สามารถพิจารณาได้ แม้จะมีการตั้ง วลพ. แล้ว เพราะต้องวางระบบว่าเรื่องที่เข้ามาจะต้องมีขั้นตอนอย่างไร มีการรับเรื่อง มีการกำหนดด้วยว่าหลังรับเรื่องแล้วต้องมีกำหนดระยะเวลา กว่าจะดำเนินการได้จริงก็ปลายปี 2559 ที่มีการประชุมอย่างเป็นทางการที่จะรับเรื่องมาสู่การดำเนินการวินิจฉัย เรื่องที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดและเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษามากที่สุด เช่น เรื่องการแต่งกายรับปริญญา อีกกลุ่มคือการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเหมือนกัน"

อุษากล่าวอีกว่า บางกรณีที่วินิจฉัยล่าช้า เพราะมีระยะเวลาที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายที่ถูกฟ้องและต้องมีการให้ข้อมูลกลับมา รับฟังจากคนที่ร้องเรียน วลพ. เองให้ความสำคัญในการรับฟังความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้าครูเป็นบุคคลข้ามเพศจะมีอิทธิพลหรือผลกระทบต่อเด็กหรือไม่ หรือเราต้องให้ฝ่ายที่ถูกร้องที่ไม่เคยตระหนักเลยว่ามีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งรับรู้ถึงวิธีคิดที่ต่างออกไป เป็นต้น และเนื่องจากเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายัง วลพ. มักเป็นเรื่องซ้ำๆ กัน ทาง วลพ. จึงมีการรวบรวมส่ง สทพ. ให้มีการพิจารณาปรับเป็นแนวมาตรฐานหรือนโยบาย เพื่อแก้ไขการเลือกปฏิบัติในระดับโครงสร้าง
อุษายังแสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 17(2) ว่า

"ข้อยกเว้นในมาตรา 17(2) เรามีการคุยกันว่า ถ้ามีการส่งเรื่องเข้ามา ผู้ที่กระทำอ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ เราต้องตีความว่าความมั่นคงที่ว่าฟังขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่แค่ว่าอ้างแล้วจะทำให้เรื่องตกไป ส่วนเรื่องศาสนาก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นหลักการทางศาสนาจริงๆ ไม่ใช่ความเชื่อ ซึ่งตรงนี้มีหลายประเด็นที่เราทำงานและเกี่ยวข้องกับหลักการศาสนา อย่างเช่นเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยอ้างหลักศาสนา ซึ่งเวลาเราคุยกับผู้รู้ทางศาสนาก็พบว่ามีหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศอยู่ในทุกศาสนา เราจึงต้องทำการวิจัยให้เห็นว่าการเลือกปฏิบัติโดยอ้างหลักศาสนาเป็นความเชื่อที่ต้องแก้ไข"

อุษากล่าวอีกว่า เธอเห็นด้วยที่ว่า มาตรา 17(2) จะต้องถูกแก้ไข


ติดเงื่อนไข กฎหมายทำงานไม่เต็มที่

ในมุมมองของผู้ทดลองใช้กฎหมายอย่างณฐกมล ศิวะศิลป์ ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มที กรุ๊ป กลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เธอถ่ายทอดประสบการณ์ว่า

"กรณีแรกที่เราทดลองใช้คือระเบียบการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งบอกว่านักเรียนต้องเป็นชายจริงหญิงแท้เท่านั้น จะไม่รับผู้มีความเบี่ยงเบนทางเพศ เราก็ส่งเรื่องไปประมาณเดือนตุลาคมปี 2559 แต่เนื่องจากมาตรา 14 ของกฎหมายให้คนร้องเรียนเข้าไปได้ในลักษณะการร้องทุกข์ คือต้องมีผู้เสียหายเท่านั้น ไม่สามารถร้องเรียนในลักษณะของการกล่าวโทษ หมายถึงมีผู้พบเห็นการกระทำผิดตามกฎหมายแล้วไปแจ้ง แบบนี้ทำไม่ได้"

เมื่อกฎหมายระบุไว้ดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกเลือกปฏิบัติไม่กล้าร้องทุกข์ ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นพนักงานหรือนักเรียนในที่ทำงานหรือในโรงเรียน คุณถูกเลือกปฏิบัติ คุณจะกล้าแสดงตัวเพื่อร้องทุกข์หรือไม่ ถ้ามันต้องเดิมพันด้วยอาชีพการงานหรือการศึกษา

"ในตัวกฎหมายบอกว่า องค์กรอิสระที่ทำงานด้านนี้สามารถร้องเรียนได้ แต่ต้องมีผู้เสียหายมาเซ็นชื่อ พอเรื่องเข้าสู่กระบวนการแล้ว ผู้เสียหายกับผู้ถูกร้องเรียนก็ต้องมาเจอกัน แล้วก็จะเจอปัญหาตรงนี้ นี่ทำให้ใช้งานไม่ได้ พอเรายื่นเข้าไป วลพ. ติดต่อกลับมาว่า ผู้เสียหายที่แท้จริงในกรณีนี้จะต้องเป็นเด็กนักเรียนที่ถูกปฏิเสธจากโรงเรียนเท่านั้น จึงจะสามารถร้องเรียนได้ ต้องไปหาเด็กที่ถูกปฏิเสธมา"

ความยุ่งยากซับซ้อนของกระบวนการร้องเรียนยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กฎหมายใช้งานได้ไม่เต็มที่ ณฐกมล เล่าว่า กระเทยหรือทอมบางคนเข้าไม่ถึงการศึกษา เพราะไม่ต้องการแต่งกายตามเพศกำเนิด บางคนมีภาวะต่อต้านเพศกำเนิดของตัวเอง เมื่อเข้าถึงการศึกษาไม่ได้จึงไม่สามารถทำงานที่มีรายได้สูงได้ ก็ต้องเลือกทำงานโรงงาน พอเจอประกาศหน้าโรงงานว่าไม่รับกะเทยหรือทอม ก็มีการแจ้งมาทางกลุ่ม แต่การทำเรื่องร้องเรียนความยุ่งยากซับซ้อนสำหรับผู้เสียหาย และตัวผู้เสียหายก็ไม่มีเวลามากพอที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง ทำให้ผู้ถูกเลือกปฏิบัติยังรู้สึกว่ากฎหมายไม่สามารถช่วยอะไรได้

"ถึงกฎหมายนี้จะมีบทกำหนดโทษ" ณฐกมล กล่าว "แต่ความต้องการที่แท้จริง เราไม่ได้ต้องการให้คนที่มีความเข้าใจผิดต่อความหลากหลายทางเพศต้องถูกจำคุก แต่เราต้องการให้ภาครัฐเป็นคนกลางเรียกเขามาทำความเข้าใจกัน พูดคุยกัน ถ้าไม่ทำตรงนี้ ความเข้าใจที่ยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น"

.........

3 ปีอาจเป็นเวลาที่สั้นไปสำหรับกลไกใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อคัดง้างกับความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เมื่อระบบเริ่มเสถียร เราคงได้เห็นการขับเคลื่อนในระดับที่ใหญ่และกว้างขึ้น เพราะยังมีความไม่เท่าเทียมอีกหลายประเด็น เช่น กฎหมายคู่ชีวิต คำนำหน้าชื่อ การเลือกปฏิบัติในระดับโครงสร้าง เป็นต้น ที่รอการแก้ไข

รวมถึงมาตรา 17 (2) ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวไดอารี่บันทึกความหวังและความฝันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

Posted: 30 Nov 2017 10:30 PM PST

เปิดตัวไดอารี่บันทึกความหวังและความฝันของหญิงนักปกป้องสิทธิ พร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ


ภาพ: จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW

29 พ.ย. 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรโพรเทกชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดงานเปิดตัวไดอารี่บันทึกความหวังและความฝันของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล และในปี 2561 จะครบรอบ 20 ปี ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ภายในงาน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานและความหวังของนักปกป้องสิทธิผู้หญิงที่เข้าร่วมเปิดตัวไดอารี่ เช่น สมหมาย จันทร์ตาวงศ์ ตัวแทนผู้หญิงให้บริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, อังคณา นีละไพจิตร ผู้เรียกร้องให้เกิดกฎหมายการอุ้มหายและซ้อมทรมานจากกรณีที่ สมชาย นีละไพจิตร สามีถูกอุ้มหายไปเมื่อหลายสิบปีก่อน, ศรีไพร นนทรี ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต, นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้ต่อสู้เพื่อที่ดินอยู่อาศัย, อัศนีย์ รอดผล สหพันธ์เกษตรภาคใต้, อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน, นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการทางเลือก, ชลิตา บัณฑุวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ และภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดย Luke Duggleby ช่างภาพระดับโลก


ปรียนันท์ ล้อเสริมพัฒนา
ภาพ: จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW


ปรียนันท์ ล้อเสริมพัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนไดอารี่ Side by side WHRDs 2018 Diary กล่าวพร้อมน้ำตาว่า ดิฉันเป็นผู้หญิง เป็นแม่ เป็นผู้เสียหางทางการแพทย์ เมื่อความรักลูกของดิฉันกลายเป็นความผิดสูญสิ้นทุกอย่างแม้กระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเริ่มต่อสู้ ดิฉันคือคนที่ถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากความอยุติธรรมในสังคมนี้จนเคยคิดฆ่าตัวตาย เมื่อดิฉันรอดชีวิตและคิดว่าหนีไปไหนไม่ได้ ดิฉันต้องอยู่ในสังคมนี้ และต้องมีส่วนเปลี่ยนแปลงในสังคมนี้ ดิฉันต้องตกเป็นจำเลยอีกครั้งเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีอาญาจากสภาวิชาชีพ ต้องวิ่งหาเงินประกันตัวและต้องสู้คดีต่อ หลังลูกชายของเธอต้องกลายเป็นคนพิการจากการรักษาของแพทย์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

เธอกล่าวต่อว่า เธอต้องการให้หมอกับคนไข้ต้องไม่ฟ้องร้องกันอีก และต้องไม่มีครอบครัวไหนต้องตายทั้งเป็นเหมือนครอบครัวเธอ ทุกคนมีโอกาสได้เป็นคนไข้ และมีโอกาสได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากทางการแพทย์ทั้งสิ้น ฉะนั้น ชีวิตที่เหลือของเธอก็จะพยายามผลักดันให้เกิดระบบเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ฟ้องหมอ ที่ผ่านมาได้จัดทำแคมเปญผ่าน change.org คนในสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ร่วมลงชื่อมากมาย ทั้งนี้ได้รวบรวมรายชื่อและส่งมอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณะสุขเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและพยายามที่จะผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้ แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่

นอกจากวงเสวนา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ์ 3 ข้อ ได้แก่
1.ต้องยุติวัฒนธรรมการทำผิดและลอยนวลพ้นผิด การเลือกปฏิบัติและการใช้หลักนิติธรรมเป็นข้ออ้างในการจัดการกับประชาชน และปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าหาความยุติธรรม รวมถึงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างโปร่งใสในกรณีที่มีการใช้คดีเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

2.รัฐและสาธารณชนต้องยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องมีหลักประกันว่าจะมีการปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

3.รัฐต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงต่อการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรา 44, คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติห้ามชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งกฎหมายอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดกับสิ่งที่รัฐบอกว่าปรารถนาให้มีส่วนร่วมจากประชาชน


ภาพ: จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่ออิสระได้ประกันแล้ว หลังถูกจับคดีเดียวกับชาวบ้าน จ.เลย ที่ยกฟ้องไปปีก่อน

Posted: 30 Nov 2017 09:07 PM PST

จามร ศรเพชรนรินทร์ ได้รับการประกันตัวแล้วในชั้นตำรวจแล้ว หลังถูกจับคดีร่วมกันบุกรุกปักธงเขียว-โรยปูนขาว "ปิดเหมืองฟื้นฟู" บนภูซำป่าบอน จ.เลย ที่ยกฟ้องไปแล้ว เหตุโจทก์ไม่สามารถอ้างได้ว่ามีสิทธิครอบครองพื้นที่

 


1 ธ.ค.2560 เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ผู้สือข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ จามร ศรเพชรนรินทร์ นักข่าวพลเมือง ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป" ตามหมายจับศาลจังหวัดเลย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตอน 9.00 น. โดยใช้ตำแหน่งข้าราชการในการประกันตัวชั้นพนักงานสอบสวน ไม่ต้องฝากขัง สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ขั้นตอนต่อไปพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนให้อัยการ เพื่อมีคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง นัดหน้าวันที่ 8 ม.ค.2561 ที่สภ.วังสะพุง
 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า คดีนี้เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีปักธงเขียว-โรยปูนขาว "ปิดเหมืองฟื้นฟู" บนภูซำป่าบอน ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2559 เนื่องจากโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ชัดเจนว่าบริษัทมีสิทธิในการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ เพราะฝ่ายจำเลยได้ยื่นพยานหลักฐานว่าใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้และ สปก.ได้หมดอายุลงแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 คือ 5 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ จึงไม่สามารถอ้างได้ว่ามีสิทธิครอบครองพื้นที่
 
ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความ ระบุว่า ทนายจะทำหนังสือขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการ โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาเดิม ทั้งนี้แม้คำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ผูกพันว่าจะไม่ฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษามีน้ำหนักที่อัยการจะใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องได้

โดยในวันนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางมาให้กำลังใจรับขวัญ ที่ สภ.วังสะพุง ด้วย

ทั้งนี้ จามร ถูกควบคุมตัวที่ ตม.พุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกนำตัวไปฝากขังที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี 1 คืน เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังสะพุง เจ้าของคดีเดินทางไปรับตัวเพื่อมาดำเนินการทางคดีที่วังสะพุง จ.เลย
 

 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศุภมิตร ปิติพัฒน์: ระลึกถึงคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ

Posted: 30 Nov 2017 06:26 PM PST

ไม่ได้ใกล้คุณสุรินทร์ถึงกับจะรู้ว่าท่านพอใจบทบาทไหนของท่านมากที่สุดในการทำงานให้แก่สาธารณะ แต่ผมเสียดายแทนวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของไทยที่เสียนักวิชาการที่มากด้วยความรู้ความสามารถคนหนึ่งให้แก่วงการเมือง ซึ่งจะเป็นเพราะข้อจำกัดตรงไหนก็ตามที ไม่ได้เปิดช่องให้ท่านแสดงบทบาทที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์อะไรได้มากนัก

บทบาทด้านการต่างประเทศของท่านกลับมีความโดดเด่นมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นผู้ริเริ่มผลักดันการเปลี่ยนแปลงปทัสถานเดิมของอาเซียนอย่างจริงจัง ทั้งเมื่อตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียน

คุณสุรินทร์มองเห็นความสำคัญของอาเซียนที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกเพิ่มน้ำหนักของอำนาจต่อรองและอำนาจกำหนดผลในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น แต่พร้อมกันนั้นคุณสุรินทร์ก็เห็นว่าการจะทำให้เสียงและบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกมีพลังขึ้นมาได้ จะอาศัยแต่เฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เป็นการขยายตัวเติบโตและบูรณาการเขตเศรษฐกิจเท่านั้นไม่เพียงพอ

ความเข้มแข็งของอาเซียนที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกยังต้องอาศัยความเข้มแข็งของระบอบการเมืองภายในที่จะเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาสภาวะทางการเมืองของประเทศสมาชิกในทางที่เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน ปกป้องเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชน

เพื่อผลักดันประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางดังกล่าว คุณสุรินทร์สนับสนุนการเปลี่ยนปทัสถานของอาเซียนจากเดิมที่ยึดเคร่งครัดมาแต่แรกก่อตั้งในหลักการเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกด้วยกัน มาเป็นปทัสถานที่คุณสุรินทร์เรียกว่า flexible engagement

ข้อเสนอเรื่อง flexible engagement ของท่านเน้นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันแสดงความคิดเห็นและความห่วงใยต่อสถานการณ์ภายในของประเทศสมาชิกได้อย่างเปิดกว้างและด้วยการเปิดใจรับฟังความเห็นต่อกิจการภายในของกันและกันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่จะส่งผลกระทบระหว่างกันข้ามพรมแดนมาได้

ในความหมายแบบนี้ flexible engagement จึงเป็นปทัสถานสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใช้บริหารจัดการผลกระทบอันเกิดจากภาวะการขึ้นต่อกันและกัน (interdependence) ในเรื่องต่างๆ ที่จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และหลีกเลี่ยงนัยที่จะทำให้เข้าใจว่าเป็นปทัสถานที่จะมุ่งเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่นซึ่งจะไม่มีประเทศไหนยอมเป็นแน่

ท่านเข้าใจอาเซียนในข้อนี้ดี การจะผลักดันปทัสถานใหม่จึงต้องใช้ภาษาการทูตให้ออกมาแนบเนียน และในเรื่องความแนบเนียนทางการทูต การเจรจา การพูดที่น่าฟังและน่ารับฟัง คุณสุรินทร์ไม่เป็นที่สองรองใคร

แต่เรื่องในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะหาการผลักดันเรื่องไหนของใครที่จะให้ผลสำเร็จคงอยู่ยั่งยืนนั้นยังต้องอาศัยองค์ประกอบและเงื่อนไขแวดล้อมอื่นๆ นอกเหนือจากความพยายามและการริเริ่มของบุคคลนั้น เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอยู่อีกมาก ถึงแม้ไม่อาจสรุปได้ว่าคุณสุรินทร์เปลี่ยนปทัสถานของอาเซียนได้สำเร็จแค่ไหน หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่แน่ใจว่าจะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน แต่ในประวัติศาสตร์ของประชาคมอาเซียนย่อมจะต้องกล่าวถึงคุณูปการอันเกิดจากการริเริ่มและความพยายามอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของคุณสุรินทร์ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ปทัสถานใหม่ๆ เป็นกรอบการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐและระหว่างประชาชนในประชาคมอาเซียนเสมอไป

ถ้าแม้นว่าท่านจะไม่เลือกชีวิตการทำงานสาธารณะอย่างที่เลือกไปแล้ว แต่ตัดสินใจเลือกทำงานเป็นอาจารย์นักวิชาการต่อมา ผมเชื่อว่าผลงานวิชาการที่อาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณจะผลิตออกมา ไม่ว่าจะในทางปรัชญาการเมือง หรือในประเด็นปัญหาสังคมการเมืองและรัฐศาสตร์ เช่นที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลงานวิชาการเหล่านั้นน่าจะสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ไม่เพียงในด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย แต่ยังจะเป็นมรดกทางความคิดที่ดำรงอยู่ยืนนานในทางที่เอื้อและหนุนนำให้สภาวะสังคมการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สนับสนุนเสรีภาพ มนุษยภาพ และการมีขันติธรรม อันเป็นคุณค่ารากฐานสำหรับการธำรงประชาธิปไตย และเป็นคุณค่าที่ท่านยึดถือเชื่อมั่นเป็นหลักการตลอดมา

เมื่อใดที่ผมเห็นคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ผมจะนึกถึงศาสตราจารย์ Judith Shklar อาจารย์ผู้สอนปรัชญาการเมืองให้แก่ท่านที่มหาวิทยาลัย Harvard ผู้ล่วงลับไปแล้วคู่กันเสมอ และเมื่อใดที่นึกถึงขึ้นมา ผมก็จะนึกถึง Liberalism of Fear ที่ท่านเสนอไว้พร้อมกันไปด้วย

เป้าหมายปลายทางของ Liberalism of Fear คือการหาทางให้มนุษย์ได้อยู่ในสังคมที่ปลอดจากความหวาดกลัวต่อความโหดร้ายทารุณที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายและต่อจิตใจ ความกลัวในข้อนี้เป็นสากล ดังนั้น การหาทางสร้างสังคมที่มนุษย์เราทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัวความทารุณโหดร้ายจึงเป็นเป้าหมายที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

ผมจึงขอลงท้ายบทระลึกถึงคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณด้วยข้อเสนอของศาสตราจารย์ Shklar เกี่ยวกับ Liberalism of Fear ที่คุณสุรินทร์เห็นด้วยเป็นแน่ ดังการทำงานตลอดชีวิตของท่านได้หาทางผลักดันสภาวะที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้โดยปลอดจากความหวาดกลัวที่จะตกเป็นเหยื่อของการทารุณโหดร้าย ศาสตราจารย์ Shklar เสนอว่า

...[L]iberalism of fear adopts a strong defense of equal rights and their legal protection. It cannot base itself upon the notion of rights as fundamental and given, but it does see them, as just those licenses and empowerments that citizens must have in order to preserve their freedom and to protect themselves against abuse. The institutions of a pluralist order with multiple centers of power and institutionalized rights is merely a description of a liberal political society. It is also of necessity a democratic one, because without enough equality of power to protect and assert one's rights, freedom is but a hope. Without the institutions of representative democracy and an accessible, fair, and independent judiciary open to appeals, and in the absence of a multiplicity of politically active groups, liberalism is in jeopardy. It is the entire purpose of the liberalism of fear to prevent that outcome. It is therefore fair to say that liberalism is monogamously, faithfully, and permanently married to democracy-but it is a marriage of convenience.

คุณสุรินทร์อาจไม่ได้ทิ้งผลงานความสำเร็จยิ่งใหญ่ แต่ปัญหาที่ท่านมุ่งหวังตั้งใจจะแก้และหาทางเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้มันดีขึ้นตลอดชีวิตการทำงานของท่านคือภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เมื่อท่านจากไปแล้ว ก็เป็นเราที่จะต้องร่วมกันรับภารกิจนั้นมาสานต่อ.


เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค ศุภมิตร ปิติพัฒน์

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เป็นหัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น