โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ความเปราะบางของผู้คน

Posted: 17 Dec 2017 08:00 AM PST



เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนกัน

หากพิจารณาปัญหาทางสังคมที่กำลังทวีสูงมากขึ้นในปัจจุบันนี้ จะพบว่าเราต่างมีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาของสังคมได้ทุกคน ตั้งแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงในระดับของปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง

การปะทะกันทางอารมณ์เกิดขึ้นในทุกมิติของชีวิต สถิติการหย่าร้างที่สูงมากขึ้นจนน่าเป็นห่วงนั้น เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างทนอารมณ์ของอีกฝ่ายไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตผลประการใด

ปัญหาการหย่าร้างนี้ไม่ได้มีผลกับคู่สามีภรรยาที่เลิกรากันไปเท่านั้น หากแต่ตามติดมาด้วยความยากลำบากในการเลี้ยงลูกตามลำพังของแม่ (แม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทยมีมากกว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยวมาก ซึ่งมาจากวัฒนธรรมความเป็นแม่ของสังคมไทย ) และส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงสร้างประชากรในอนาคต ก็มีสัดส่วนของเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวแตกแยกมากกว่าจากครอบครัวปรกติ

กล่าวได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เราจึงอยู่ในสังคมที่ทุกคนพร้อมจะระเบิดอารมณ์ของตนกระหน่ำไปสู่คนข้างเคียงและคนอื่นๆ ได้ง่ายดายมากขึ้น

ความตึงเครียดในสายสัมพันธ์ทางสังคม เป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะปัญหาทางสังคมเช่นนี้

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ทำให้การดำเนินชีวิตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนตัวเป็นหลัก นำมาซึ่งความสำนึกในศักยภาพของปัจเจกชน เมื่อประกอบเข้ากับความมืดบอดทางจินตนาการ ของกลุ่มชนชั้นนำไทยที่ควบคุมความเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ ทำให้สังคมไทยไม่สามารถสร้าง "พื้นที่ของสังคม" ที่คนทุกคนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมาได้

ระบบการศึกษาซึ่งใช้เวลาของเยาวชนไปมากกว่า 15 ปีก็ทำเพียงแค่ตอบสนองความมืดบอดทางจินตนาการนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมา

เมื่อคนในสังคมไทยไม่สามารถรู้สึกได้ถึง "พื้นที่ของสังคม" ที่มีกฏเกณฑ์กลางอันไม่ควรล่วงละเมิด จึงทำให้การใช้ "ตัวตน" จึงเกิดอย่างเสรี ซึ่งจะก่อปัญหาขึ้นมาทันทีที่มีการปะทะของตัวตน

ตัวอย่างง่ายสุด ได้แก่ เสียงแตรในสังคมไทยที่แตกต่างไปจากสังคมอื่น กล่าวคือ เสียงแตรบนท้องถนนในสังคมไทยมีความหมายเป็นเสียงก่นด่าประนามว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นผิด แทนที่จะเป็นเสียงบ่งบอกให้รู้ว่าให้ระมัดระวังกันหน่อยอย่างเช่นในสังคมอื่นๆ

เสียงแตรทำให้คนไทยรู้สึกเช่นนี้ ก็เพราะว่าเราไม่ได้คิด/รู้สึกว่าการสัญจร/คมนาคมบนท้องถนนนั้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ของสังคม แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกว่าเรา/การบังคับรถของเราคือ "ตัวตน" ของเรา เสียงแตรจึงส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกรุนแรงถึงการกระทำจากคนอื่นที่พุ่งตรงมายังตัวตนของเราทันที

การไร้ซึ่ง "พื้นที่ทางสังคม" จึงทำให้เรากลายเป็น "คนหมกมุ่นแต่ตนเอง" (Narcissus ผมไม่รู้ว่าจะแปลคำนี้อย่างไรให้เหมาะสมในที่นี้ ที่ใช้ๆ กันโดยทั่วไป ก็คือ หลงรักตัวเอง ) ไปโดยปริยาย

สภาวะที่คนในสังคมล้วนแล้วแต่ "หมกมุ่นแต่ตนเอง" เห็นได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์ที่เกินลิมิตในชีวิตทุกระดับ เช่น การโอ้อวดถึงผลของการออกกำลังกายอย่างเวอร์ๆ การแสดงสถานะด้วยการบริโภค (นาฬิกาเรือนละหลายล้าน ฮา) การแสดงตัวอย่างไม่ตรงกับความจริงในสื่อออนไลน์ส่วนตัว ฯลฯ

ปราชญ์ทางจิตวิทยา( Sigmund Freud) เคยเขียนถึงการปะทะกันของความปรารถนาส่วนตัวของมนุษย์กับระเบียบในพื้นที่ทางสังคม (ในหนังสือเรื่อง Civilization and Its Discontents)

ท่านได้อธิบายไว้ทำนองว่าการปะทะนี้เกิดขึ้น เพราะความต้องการที่จะกระทำอะไรตามใจตนเอง ยังคงวางอยู่บนการรับรู้ว่ามีกฏเกณฑ์ของความศิวิไลซ์ (พื้นที่ทางสังคม) ที่สังคมสร้างขึ้น

แต่หากนำกรอบคิดนี้มามองสังคมไทย ก็จะพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนที่ "หมกมุ่นแต่ตนเอง" ในสังคมไทยจะไม่รับรู้ถึงกฏเกณฑ์หรือพื้นที่ทางสังคมใดๆ ( Bad Boundary ) เพราะมันไม่มีอยู่อย่างในความรู้สึกของพวกเขา

ในเงื่อนไขที่สังคมไร้พื้นที่ทางสังคม และการขยายตัวอย่างมากของผู้คนที่ "หมกมุ่นแต่ตนเอง" ยิ่งทำให้ผู้คนเปราะบางมากขึ้น เพราะไม่มีอะไรคอยทำให้ผ่อนคลายความรู้สึกที่อยากตอบสนองต่ออารมณ์ส่วนตัว และไม่มีอะไรที่จะทำให้รู้สึกได้ว่าถึงจังหวะหรือถึงพื้นที่ที่ควรจะหยุดสิ่งที่ตนปรารถนาได้แล้ว

ผู้คนในสังคมไทยจึง "เปราะบาง" มากขึ้นมาก จึงไม่ต้องแปลกใจที่สถิติคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าทวีมากขึ้น (ในกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เติบโตมาพร้อมกับสภาวะที่สังคมไร้พื้นที่ทางสังคมทำให้พวกเขา " หมกมุ่นแต่ตัวเอง" และเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นมาก ) และเกิดคดีที่มาจากการระเบิดของอารมณ์ดิบส่วนตัวมากขึ้น (ผมไม่รู้ว่าใครคิดคำว่า "หัวร้อน" ใช้กับคนที่ก่อเหตุจากอารมณ์นะครับ ผมว่าตรงกับความรู้สึกดีครับ)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้คนในสังคมจะเปราะบางมากขึ้นเพราะไม่มี "พื้นที่ทางสังคม" ดำรงอยู่ แต่คนจำนวนมากในสังคมไทยก็ยังโหยหาพื้นที่ตรงกลางๆ ที่คนจะเข้ามามีส่วนสร้างสรรค์อยู่

การเกิดการ "ตื่น-พี่ตูน" แสดงให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากกว่ามาก อยากจะเห็น/อยากจะอยู่ ในสังคมที่มีคนทำอะไรที่มีความหมายให้แก่สังคม เพียงแต่ว่าพวกเขายังหาช่องทางไม่ได้ พี่ตูนจึงเข้ามาตอบสนองอย่างตรงกับความต้องการทางใจของพวกเขา

หากจะพูดให้ถึงที่สุด สังคมที่มีแต่ผู้คนที่เปราะบางเกิดขึ้นเพราะสังคมไทยทอดทิ้งความรู้ทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ ทำให้สังคมความรู้ของไทยไม่สามารถตอบหรือเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้เลย

ถึงวันนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันคิดกันให้มากขึ้นครับว่าเราจะสร้าง "พื้นที่ทางสังคม" ให้อยู่ในชีวิตประจำวันเราอย่างไร ไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงต้องรอคอยเพื่อจะชื่นชมคนอย่างพี่ตูนต่อไปเท่านั้น  

 

ที่มา: www.bangkokbiznews.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวผ่านอดีตนำไปสู่อนาคตระบบหลักประกันสุขภาพ (1)

Posted: 17 Dec 2017 07:47 AM PST

 

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี เริ่มจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมารองรับในเดือน พ.ย.2545 จากวันนั้นถึงวันนี้ ประเทศไทยได้พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้


ระยะที่ 1 (ปี 2545-2550) : ก้าวไปสู่โครงสร้างและเครือข่ายในการทำงาน

ในระยะแรกที่จัดตั้ง สปสช. ถือว่าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย สธ.ยินยอมให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำหน้าที่เป็นสำนักงานสาขาจังหวัดของ สปสช. จวบจนกระทั่ง สปสช.จัดตั้งสำนักงานสาขาเขตครบทั้ง 12 เขต บทบาทของสำนักงานสาขาจังหวัดก็เริ่มเปลี่ยนไปจนกระทั่งปิดตัวไปในที่สุดเมื่อปีงบประมาณ 2558

ขณะที่ภาพของการสร้างเครือข่ายการทำงานก็เริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุน ประกอบด้วย สปสช., สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง เพื่อประสานความร่วมมือต่างๆ ให้เป็นไปในทางเดียวมากยิ่งขึ้น ส่วนการทำงานกับภาคีและภาคประชาชนก็มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนในปี 2547 (ปัจจุบันมี 146 ศูนย์ใน 77 จังหวัด) การสร้างแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ โดยมีการร่วมจ่ายและบริหารโดยคณะกรรมการฯ เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ในส่วนของสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในยุคแรก สปสช.ใช้ชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) เป็นฐาน โดยเพิ่มยารักษาโรคเอดส์ในปี 2549 รวมทั้งยังมีโครงการพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบอื่นๆ ได้วางรากฐานในระยะยาว เช่น ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งต่อมากลายเป็นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), การดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายด้วยการล้างช่องท้องเองที่บ้าน, การเสริมสร้างความเข้มแข็งของบริการปฐมภูมิต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูและดูแลสุขภาพคนพิการ

นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังริเริ่มนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ใน 2549 ซึ่งในตอนเริ่มต้นมี อปท.เข้าร่วม 888 แห่ง (เพิ่มเป็น 7,755 แห่งหรือ 99.73% ในปี 2559) ส่วนงบคุณภาพบริการเริ่มมีการตั้งงบประมาณใน 2550 มีการสร้างหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพเชิงระบบ 5 หลักเกณฑ์ ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์ เกี่ยวกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย

ขณะที่การจัดสรร/การจ่ายเงินให้สถานพยาบาลก็มีพัฒนาการเรื่อยมา โดยแบ่งเป็นรายการใหญ่ 9 รายการในปี 2546 แล้วเพิ่มเป็น 14 รายการในปี 2550 รวมทั้งเริ่มมีการบริหารจัดการผู้ป่วยรายโรค (disease management system) ใช้ในกรณีของโรคเอดส์, วัณโรค, โรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, การผ่าตัดต้อกระจก, โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย ฯลฯ อย่างไรก็ดี การปรับแยกบทบาทผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการ (purchaser-provider split) ทำให้ สธ.ต้องปรับตัวพอสมควรแม้กฎหมายจะให้ระยะเวลาตามบทเฉพาะกาลไว้ถึง 3 ปีก็ตาม


ระยะที่ 2 (ปี 2551-2555): ก้าวสู่ภาพบูรณาการกองทุน

ในช่วงนี้ สปสช.เริ่มขยายเครือข่ายทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น ILO, WB, WHO, JIICA, EU, ASSA ทำให้การสร้างหลักประกันสุขภาพประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในระยะนี้ได้เพิ่มการดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในปี 2551 การปลูกถ่ายตับในเด็กในปี 2554 การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในปี 2554 การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ H1N1 ในปี 2552 การเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและใช้สิทธิโดยใช้บัตรประชาชนแทนบัตรหลักประกันถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในปี 2552 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสนอนโรงพยาบาลโดยมีเตียงสำรองที่โรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ โดยโรงพยาบาลเหล่านี้ได้รับการจ่ายเงินในอัตราพิเศษ

นอกจากนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับกองทุนประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง บูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพให้เป็นรูปธรรมโดยจัดทำมาตรฐานการรักษา HIV/AIDS และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่เปลี่ยนระบบประกันสุขภาพ และในปี 2555 ก็ได้เริ่มโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น" โดยประชาชนทุกคนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้โดยไม่ถูกถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายล่วงหน้า รวมทั้งริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ด้วยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการฟื้นฟูคนพิการ ผู้สูงอายุอีกด้วย

สำหรับการบริหารงบประมาณในระยะนี้ สปสช.ได้รับจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจาก 2,100 บาทในปี 2551 เป็น 2,895.6 บาทในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 38% มีการบริหารจัดการผู้ป่วยรายโรคมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการผู้ป่วยรายโรค เช่น เอดส์, วัณโรค, เบาหวานและความดัน, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, การผ่าตัดแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็ก, โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย, การผ่าตัดตาต้อกระจกเพื่อป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ, ลมชัก, ปลูกถ่ายไขกระดูก, หลอดเลือดสมองตีบ, ปลูกถ่ายกระจกตา, นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ

ไฮไลต์ที่สำคัญอีกประการ คือ การจัดหายาเอดส์แบบรวม ทำให้ได้ยาราคาถูกลงและนำไปสู่การต่อรองและจัดซื้อบริการและยาราคาแพงที่ส่วนกลาง เช่น ราคาบริการ HD จาก 2,000 บาท/ครั้ง เหลือ 1,500 บาท/ครั้ง, น้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องจากถุงละ 160 บาทเหลือ 105 บาท, ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงจากเข็มละ 750 บาทเป็น 250 บาท ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 7,222,234.128 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 5,122 ล้านบาทต่อปี


ระยะที่ 3 (ปี 2556-ปัจจุบัน): ก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0

ปี 2559 มีการตั้งกลไกเสริมความร่วมมือระหว่าง สปสช. และ สธ. ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศ หรือเรียกว่าคณะกรรมการฯ 7×7 คณะทำงานกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต หรือเรียกว่า คณะทำงานฯ 5×5 และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปรับปรุงแนวทางการบริหารกองทุน เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จการทำงานร่วมกัน ใน 5 ประเด็นคือ กลไกการทำงาน การเงินการคลัง การจัดบริการร่วมกันการจัดการข้อมูลร่วมกัน และการทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ

ขณะที่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลในช่วงนี้ สปสช.ได้เพิ่มเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) โดยเริ่มดำเนินการก่อนในเป้าหมาย 100,000 คน ใน 1,000 ตำบล ส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจาก 2,755.60 บาทในปี 2556 เป็น 3,109.87 บาท ในปี 2560 (เพิ่มขึ้น 12.86%) เพิ่มสัดส่วนงบประมาณการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จาก 175.00 บาทต่อประชากรในปีงบประมาณ 2546 เป็น 398.60 บาทต่อประชากรในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเพิ่มถึง 2.28 เท่าในระยะเวลา 14 ปี

นอกจากบริหารกองทุนในความรับผิดชอบของตัวเองแล้ว สปสช.ยังเข้ามาช่วยบริหารสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ผ่านการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.2556

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งระบบการเบิกจ่ายกลางของประเทศ (National Clearing House) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทั้ง 3 กองทุน โดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบด้านบริการสาธารณสุข ตลอดจนมีการลงนามใน MOU "การพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่าย และระบบบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการ" ระหว่าง กรมบัญชีกลาง, ประกันสังคมและ สปสช.

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานในช่วงนี้ได้เกิดความผันผวนทางเมือง ทำให้มีการย้ายปลัด สธ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ สปสช. ไปประจำสำนักงานปลัด สธ. ทำให้องค์กรขาดผู้นำไป โชคดีที่ผู้นำระดับรองขึ้นมารับภาระดังกล่าวได้เป็นการชั่วคราว



ตอนต่อไป:  ประเด็นเชิงนโยบายที่ สปสช.ควรดำเนินการต่อไปในอนาคต


ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพงษ์ รามางกูร: ลักษณะเด่นของคนไทย

Posted: 17 Dec 2017 07:27 AM PST


 

สังคมไทยเป็นสังคมที่แปลก ไม่เหมือนสังคมประเทศอี่น ๆ ทั้งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน คือเอเชียตะวันออก และภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียใต้ เอเชียกลาง ยุโรปและอเมริกา เป็นต้น

สังคมไทยถูกนักสังคมวิทยาฝรั่งให้คำอธิบายโดยใช้ทฤษฎีมาร์คว่า เป็นสังคมที่ส่วนบนเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมจากอินเดีย เพราะอิทธิพลของพุทธศาสนา

และศาสนาพราหมณ์ในราชสำนัก วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น เป็นโครงสร้างส่วนบนที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศาสนาพราหมณ์ผ่านมาจากเขมร ซึ่งเป็นผู้ปกครองพื้นที่ที่เป็นสยามประเทศมาก่อนก่อนที่คนไทยจะประกาศเป็นอิสระ เมื่อมีการสถาปนาราชอาณาจักรสยาม ราชสำนักจึงรับเอาวัฒนธรรมเขมร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์มาผสมกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างเต็มที่ พระราชพิธีในราชสำนักซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครอง จึงเป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น เพิ่งจะเอาการสวดมนต์แบบพุทธเถรวาทเข้าไปผสมในราชพิธีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารัชกาลที่ 4 นี้เอง

สำหรับประชาชนชั้นกลางและชั้นล่างซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นความสัมพันธ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีน มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่สังคม ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านหรือเมืองที่เหมือนวัฒนธรรมทางฝรั่งในยุโรปหรืออเมริกา

คนไทยจึงมีคุณลักษณะหรือวัฒนธรรมที่เอาครอบครัวหรือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ชอบถูกบังคับขับไล่ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคำนึงถึงผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม เข้าทำนอง "ทำตามใจ คือไทยแท้"

พ่อแม่คนไทยมักจะสอนลูกหลานไม่ยอมให้ "เสียเปรียบ" ใคร แม้ตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบ หากรู้สึกว่าลูกหลานยอมให้เพื่อนฝูงเอาเปรียบ กลับบ้านก็จะถูกลงโทษเฆี่ยนตี ในขณะเดียวกันจะชมเชยลูกหลานถ้าหากสามารถ "เอาเปรียบ" เพื่อนฝูงหรือผู้อื่นได้

การถูกอบรมสั่งสอนอย่างนี้ จะทำอย่างลับ ๆ ไม่เปิดเผย แต่ในส่วนเปิดเผยจะสั่งสอนลูกหลานดัง ๆ ว่าไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งเป็นลักษณะของศรีธนญชัยแบบ "หน้าไหว้หลังหลอก"

การที่คนไทยมองตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสำคัญกว่าสังคมโดยส่วนรวม ทรัพย์สินของตนสำคัญกว่าทรัพย์สินของส่วนรวม มักจะได้ยินเสมอว่า "ช่างมัน มันเป็นของหลวง ไม่ใช่ของเรา" ต่างกับสังคมฝรั่งที่เห็นของสาธารณะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องดูแลรักษา ไม่ทำให้เสียหาย ประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วผู้คนจะรักษาดูแลทรัพย์สินของส่วนรวมเท่า ๆ กับทรัพย์สินของส่วนตัว เพราะเขารู้สึกว่าทรัพย์สินของส่วนรวมก็มาจากเงินภาษีอากรที่เขาเป็นคนจ่าย

เมืองไทยอยู่ในเขตร้อน อยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดแคลนอาหาร ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องนุ่งห่มมากมาย แม้แต่ที่พักอาศัยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตึกรามบ้านช่องที่มิดชิด หรือต้องมีเตาผิงที่ต้องมีเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความอบอุ่น ผู้คนจะอยู่เป็นครอบครัวในที่ห่างไกลกันไม่ได้ ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่คนไทยชอบทำงานคนเดียว ไม่ชอบทำงานเป็นทีม งานต่าง ๆ

ที่ต้องทำกันเป็นทีมจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในเขตหนาว กีฬาที่คนไทยเก่งและสามารถชนะการแข่งขันระหว่างประเทศต้องเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียวหรือไม่เกิน 2-3 คน เช่น หมากรุก แบดมินตัน ตะกร้อ ว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่คนไทยไม่ประสบความสำเร็จคือกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ เป็นต้น

หลายครั้งข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนสื่อหลักเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เป็นข่าวปล่อยที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าไม่จริง แต่ไม่มีใครสนใจจะแสดงตัวคัดค้าน หรือมีการค้นหาความจริง ทั้ง ๆ ที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่

ก็ทราบดีว่าไม่เป็นความจริง แต่ต่อหน้าก็จะแสดงว่าตนเชื่อข่าวเช่นว่า แต่ลับหลังก็ป้องปากบอกว่าไม่จริง อย่าไปเชื่อบางครั้งคนไทยยอมรับค่านิยมที่ผิด ๆ เช่น ยอมรับและเกรงกลัวผู้มีอำนาจมากกว่าความถูกต้อง เช่น ในด้านหนึ่งก็สนับสนุนต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่เมื่อมีข่าวว่าผู้หลักผู้ใหญ่มีทรัพย์สินที่มีราคาแพง มีการเสนอข่าว ตั้งประเด็นถกเถียงในข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้ให้น้ำหนักที่จะกดดัน สอบสวนให้ความจริงปรากฏ พอเวลาผ่านไปกระแสเบาลง เรื่องก็ค่อย ๆ หายไป การแสดงตนว่าต่อต้านคอร์รัปชั่นจึงเป็นแฟชั่น แสดงเพื่อให้ได้ชื่อว่าตนเป็นคนดี บริสุทธิ์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงตนก็ไม่ได้เป็นคนสะอาดสะอ้านอย่างที่แสดงลักษณะของคนไทยที่เด่นชัดคือการเอาตัวรอดเมื่อทำผิด โดยการพูดเท็จแบบขอไปทีหรือแบบข้าง ๆ คู ๆ โดยผู้บังคับบัญชาก็รู้ แต่ก็ไม่ว่าอะไร เพราะตนก็เคยทำเช่นนั้นมาก่อน การเอาตัวรอดกลายเป็นสิ่งถูกต้อง เข้าทำนอง "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"

คนไทยพูดเท็จ พูดปดจนเป็นนิสัย จนมีคำพังเพยที่ว่า "ไทยพูดปด เจ๊กกลัวอด ฝรั่งกลัวตาย" เพราะคำทักทายเมื่อพบกันคือ "ไปไหนมา" "เปล่า ไปเที่ยวฮ่องกง" หรือยังไม่ทันถามก็ตอบว่า "เปล่า" ไว้ก่อน ส่วนคนจีนทักทายกัน "กินข้าวหรือยัง" "กินแล้ว" ส่วนฝรั่งทักทายกันว่า "เป็นอย่างไร" "สบายดี" คำทักทายกันบางครั้งก็สะท้อนอุปนิสัยของคนแต่ละชาติ แต่ข้อสำคัญบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ ทางการเมืองและราชการ บางครั้งเมื่อจะต้องตอบคำถามก็มักจะต้องพูดปดไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องพูดเท็จเลย

การไม่ตรงต่อเวลาเป็นลักษณะที่เด่นชัดอีกประการหนึ่ง โดยเป็นที่ยอมรับกันทั้งผู้นัดและผู้ถูกนัด ดังนั้นถ้าจะนัดคนไทยต้องนัดล่วงหน้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงหรือ 15 นาที การมาตรงเวลาเป็นของที่แปลก ซึ่งเหมือนกับพวกละตินอเมริกัน

ในห้องเรียน นักเรียนมักจะไม่ออกความเห็น หรือไม่ยกมือถามครูถ้าไม่เข้าใจ เพราะคนตั้งใจเรียนจะยกมือถามครูหรือแสดงความคิดความเห็นในชั้นเรียน เมื่อออกนอกชั้นเรียน เพื่อนฝูงจะเล่นงานว่าทำให้เสียเวลาเล่น หรือล้อเลียนว่า "เอาหน้า" กับครู จนกลายเป็นนิสัย ที่เรียนไม่เข้าใจแต่ไม่ยกมือถามครู ไม่ใช่เกรงกลัวครูแต่เกรงใจเพื่อนในชั้นเรียน

คนไทยเป็นชาติเดียวที่ล้อชื่อพ่อ ชื่อแม่ ชอบเรียกเพื่อนโดยใช้ชื่อพ่อจนบางครั้งเรียกเพื่อนด้วยชื่อพ่อโดยใช้คำว่า "ไอ้" จนลืมชื่อจริงไปเลยก็มี

คนที่ถูกเรียกโดยชื่อพ่อ ทีแรกก็จะโกรธ ซึ่งไม่มีเหตุผลว่าโกรธทำไม ต่อมาก็ชิน ผิดกับฝรั่งซึ่งมักจะเอาชื่อตัวไปตั้งเป็นชื่อลูกชาย แต่ใส่คำว่า "ลูก" หรือ "Junior" ต่อท้าย ไม่พยายามปิดบังชื่อพ่อเหมือนเด็กไทย ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะคนไทยเคารพบิดามารดาและบรรพบุรุษมากกว่าชาติอื่น จึงไม่ต้องการให้เพื่อนฝูงเอาชื่อพ่อชื่อแม่มาล้อเลียนก็ได้

คนไทยจำนวนมากเป็นคนมักได้ ตามคำพังเพย "ด้านได้อายอด" จึงเห็นคนไทยแย่งกันรับของแจก ไม่ว่าจะเป็นวัน "เทกระจาด" หรือ "การรับประทานอาหารบุฟเฟต์" หรือในการเลี้ยงอาหารก่อนเข้าประชุมผู้ถือหุ้นที่ตักอาหารเต็มจานโดยไม่คำนึงถึงผู้ที่จะมาทีหลัง บางครั้งก็เอาปิ่นโตหรือเอาถุงมาใส่อาหารกลับบ้านโดยไม่อายใคร จนอาหารที่จัดมาล้นเหลือแต่ไม่พอสำหรับผู้ที่มาทีหลัง

ความไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น จะเห็นได้ชัดโดยการแย่งกันขอหรือแย่งกันไปก่อน แย่งกันขึ้นรถลงรถแทนที่จะเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ถ้าไม่ถูกบังคับโดยการกั้นเป็นแถวทางเดิน ซึ่งคนในประเทศที่เจริญแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

ความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและสิ่งที่ตนกระทำ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า "accountability" สังเกตได้จากการไม่มีคำแปลตรง ๆ สำหรับคำคำนี้ ถ้ากระทำแล้วจะเกิดความเสียหายก็ไม่สนใจ ถ้าไม่มีใครรู้ใครเห็น ความสามารถปิดบังซ่อนเร้นความผิดมีความสำคัญกว่าความพยายามทำให้ถูกต้อง ทำให้ไม่ผิดพลาด หรือถ้าผิดพลาดก็ยอมรับความผิดพลาดแล้วแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกต่อไปในภายภาคหน้า

การไม่รับผิดชอบและโยนความผิดให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตัวเองไม่กล้าทำแต่แอบสั่งให้ลูกน้องทำแทน จะมีให้เห็นอยู่เสมอ โดยไม่ละอายใจ ลูกน้องจึงไม่มีความเคารพนับถืออย่างจริงใจ แต่ก็ยอมทำให้นายหรือผู้บังคับบัญชา เพียงเพื่อหวังความก้าวหน้าแทนที่จะยึดถือความถูกต้อง และปฏิเสธที่จะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

คนไทยจะชอบทิ้งขยะมูลฝอยในที่ที่มีป้ายเขียนไว้ว่า "ห้ามทิ้งขยะ" และจะปัสสาวะในที่ที่เขียนไว้ว่า "ห้ามปัสสาวะ" หรือ "ที่หมาเยี่ยว" ทิ้งขยะในที่ไม่ควรทิ้ง แม้ทางเทศบาลจะจัดวางถังขยะแยกประเภท แต่ก็ไม่สนใจจะให้ความร่วมมือ แม่น้ำลำคลองก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะ ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันเมื่อฝนตกหนัก ปัญหา "น้ำรอระบาย" จึงมีให้เห็นอยู่ตลอดมาและเป็นเช่นนี้ในเมืองใหญ่ทุกภูมิภาคของประเทศ

ระบบอุปถัมภ์เป็นลักษณะเด่นมากของคนไทย เป็นสิ่งที่คาดหวังจากทั้งผู้ให้และผู้รับ การเคารพตัวเองและศักดิ์ศรีในการเลื่อนยศ เลื่อนขั้น หรือการแข่งขันด้วยความสามารถในการเข้าโรงเรียน ในการเข้ารับราชการ ทุกคนจะต้อง "วิ่ง" และหาเส้นสายเพื่อ "ฝาก" ทั้ง ๆ ที่บางครั้งหรือส่วนมากฝากไม่ได้แต่ต้อง "วิ่ง" ต้องฝากไว้ก่อนเพื่อความอุ่นใจ

ผู้บังคับบัญชาชอบให้ลูกน้อง "วิ่ง" แม้จะเลือกสรรด้วยระบบ "คุณธรรม" แต่ถ้าไม่มา "วิ่ง" กับตนก็รู้สึกว่าลูกน้องไม่ให้ความสำคัญกับตน เราจึงมักจะเห็น "นาย" เปิดบ้านแต่เช้าเพื่อให้ลูกน้องมานั่งเฝ้า 2-3 ชั่วโมง เพื่อรับประทานอาหารเช้าและดื่มกาแฟด้วย เพื่อให้นายเห็นหน้า ถ้าไม่เห็นหน้ามัวแต่ทำงานนายมักจะลืม เมื่อถึงคราวจะพิจารณาความดีความชอบ การมีของกำนัลจึงเป็นธรรมเนียม แม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีห้ามข้าราชการรับของกำนัลหรือของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทก็ตาม แต่ถ้าไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่เป็นไร แม้นายจะสั่งห้ามอย่างเปิดเผยแต่ก็เป็นไปตามธรรมเนียมศรีธนญชัยที่ต้องไม่เชื่อคำสั่งเช่นว่า

สังคมไทยจึงเป็นสังคม "ศรีธนญชัย"

 

ที่มา: คอลัมน์คนเดินตรอก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต้หวันเตือนแรงงานต่างชาติ ดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต

Posted: 17 Dec 2017 07:13 AM PST

กระทรวงแรงงานไต้หวันออกประกาศเตือน แรงงานต่างชาติไปทำงานในยามว่างกับนายจ้างรายอื่นหรือดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน เนรเทศกลับประเทศ ไม่สามารถกลับมาทำงานที่ไต้หวันได้อีก

 
17 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์ Radio Taiwan International รายงานว่ากระทรวงแรงงานไต้หวันออกประกาศเตือนผู้ประกอบการว่า จะต้องประชาสัมพันธ์และอบรมแรงงานต่างชาติที่ตนว่าจ้าง ให้เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของไต้หวัน โดยเฉพาะเรื่องใช้เวลาว่างหรือวันหยุดไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือโรงงาน รวมถึงดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน ถูกส่งกลับประเทศภายในเวลากำหนดและส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้างเอง
 
กระทรวงแรงงานแถลงว่าระยะนี้ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติบางราย ซึ่งอาจไม่ทราบระเบียบกฎหมายของไต้หวัน ใช้เวลาว่างไปทำงานหาลำไพ่พิเศษโดยที่นายจ้างไม่ทราบเรื่อง หรือบางรายดื่มสุราแล้วขับขี่ยวดยานพาหนะถูกจับ กระทรวงแรงงานย้ำว่า แรงงานต่างชาติหากไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต เมื่อถูกตรวจพบ จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน และสั่งให้เดินทางกลับประเทศทันที โดยไม่สามารถกลับมาทำงานในไต้หวันได้อีกตลอดชีพ ส่วนนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกลงโทษปรับเงินตั้งแต่ 150,000 – 750,000 เหรียญไต้หวัน
 
กระทรวงแรงงายย้ำเตือนว่า นอกจากทำงานอย่างผิดกฎหมายแล้ว ปัญหาเมาแล้วขับในกลุ่มแรงงานต่างชาติก็อยู่ในสภาพการณ์ที่รุนแรงเช่นกัน ในแต่ละเดือนมีแรงงานต่างชาติดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ประสบอุบัติเหตุหลายคดี โดยแรงงานต่างชาติบางส่วน นิยมใช้ช่วงเลิกงานหรือวันหยุด ชวนเพื่อนฝูงดื่มสุราสังสรรค์ จากนั้นปั่นจักรยานหรือขี่จักรยานไฟฟ้าหรือรถมอเตอร์ไซค์กลับโรงงาน หากถูกตรวจพบ จะถูกลงโทษในข้อหาก่ออันตรายต่อสาธารณะ เมื่อถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะถูกสั่งฟ้องศาลหรือศาลพิพากษา นอกจากปรับเงินในอัตราสูงแล้ว ยังมีโทษทางอาญา ต้องถูกจำคุก ซึ่งถือเป็นการเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงานมาตราที่ 73 วรรค 3 ที่ระบุว่า ชาวต่างชาติหากฝ่าฝืนกฎหมายของไต้หวันในลักษณะรุนแรง จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน และห้ามเดินทางเข้าไต้หวันทำงานอีกตลอดชีพ
 
หากแรงงานต่างชาติทำผิดกฎหมายถูกเนรเทศกลับประเทศ จะส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตของนายจ้างอย่างแน่นอน เพื่อที่จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน จึงขอให้นายจ้างต้องอบรมและให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่แรงงานต่างชาติ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมผิดกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายห้ามชุมนุมในรัฐทหาร

Posted: 17 Dec 2017 07:08 AM PST

 

หากยังมีใครเชื่อว่ากฎหมายห้ามชุมนุม หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้ชุมนุมอยู่อีก เขาผู้นั้นก็คงจะหูหนวกและตาบอดสนิท เทียบไม่ได้กับชาวบ้านธรรมดาๆ ที่มองเห็นโลกตามความเป็นจริงเสียยิ่งกว่า ดังเสียงสะท้อนแผ่วเบาของชาวบ้านคนหนึ่งในพื้นที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยพูดเอาไว้ได้น่าสนใจว่า "ก่อน คสช. ทำการรัฐประหาร พวกนายทุนหรือบริษัทฟ้องคดีเรา แต่พอหลัง คสช.รัฐประหาร รัฐกลับเป็นผู้ฟ้องคดีเรา"

นั่นคือเสียงสะท้อนจากรูปธรรมในพื้นที่ที่ผู้หญิง 7 คน ถูกรัฐกลั่นแกล้งโดยกฎหมายห้ามชุมนุมพ่วงกฎหมายอาญา โดยมีการกระทำเป็นขบวนการเริ่มจากสมาชิก อบต.เขาหลวงในเขตหมู่บ้านโซนบนของตำบลแจ้งข้อหา ตำรวจทำสำนวน และอัยการจังหวัดเลยส่งฟ้องศาลในวันสตรีสากลปี 2560 พอดิบพอดี ในข้อหา หนึ่ง-เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม สอง-เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่ชอบตามกฎหมาย และสาม-กระทำการบังคับและข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 16 คนในเขตหมู่บ้านโซนบนของตำบลในระหว่างการประชุมสภาโดยบังคับและข่มขืนใจไม่ให้มีมติอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  

และน่าจะมีคดีใหม่ตามกฎหมายห้ามชุมนุมเกิดขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ เป็นคดีคล้ายกันแต่ต่างกรรมต่างวาระอันเนื่องมาการประชุมสภา อบต. เขาหลวงหลายครั้งหลายหนในช่วงสามปีที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาวาระการอนุญาตขอใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง และก็เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนแทบทุกครั้งเหตุเพราะสมาชิก อบต. เขาหลวงในเขตหมู่บ้านโซนบนของตำบลดื้อรั้นและดันทุรังผลักดันวาระการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำเข้าสภา ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าการผลักดันเรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและผลกระทบรุนแรงกับชาวบ้านในเขตหมู่บ้านโซนล่างของตำบลที่ตั้งอยู่ใกล้เขตเหมืองแร่

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดไม่ได้หมายความว่าพวกนายทุนฟ้องคดีชาวบ้านน้อยลง แต่หมายถึงว่าชาวบ้านเจอคดีมากขึ้นจากการที่พวกนายทุนมีผู้ส่งเสริมและสนับสนุนคือรัฐที่ออกมาจากที่ซ่อนชัดเจนขึ้น 

เหตุที่รัฐฟ้องคดีชาวบ้านมากขึ้นก็เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ประกาศใช้กฎหมายห้ามชุมนุม ซึ่งแทนที่จะเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง อำนวยความสะดวก ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน  แต่กลับกลายเป็นกฎหมายที่มีไว้ใช้ปกป้องนายทุนไปเสีย

กฎหมายฉบับนี้ได้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการ นโยบายและกฎหมายร่วมกับรัฐ ด้วยการห้ามทำกิจกรรมแทบทุกรูปแบบที่เป็นการรวมตัวกันของประชาชน  เช่น ยื่นหนังสือ ประชุม พิธีกรรม งานบุญ เดินขบวน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ถูกตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุมตามกฎหมายดังกล่าว โดยบังคับให้ต้องแจ้งการชุมนุม (ถ้าชุมนุมโดยไม่แจ้งก็มีความผิด) ซึ่งตามหลักการแล้วเพียงแค่แจ้งให้ทราบ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นการแจ้งเพื่อขออนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่อนุญาต หรือถ้าอนุญาตก็จะมีเงื่อนไขต่างๆ เต็มไปหมดจนทำให้การชุมนุมไม่มีพลังกดดันและต่อรองกับรัฐได้   

จึงส่งผลให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ต้องโดนกฎหมายฉบับนี้เล่นงาน นอกเหนือจากคดีของชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองทองคำจังหวัดเลยที่หยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นไปแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่โดนคดีจากกฎหมายฉบับนี้ อาทิเช่น (1) ชาวบ้าน 27 คน จากพื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดพิจิตรถูกฟ้องโดยอัยการในข้อหาร่วมกันชุมนุมปิดกั้นทางสาธารณะ ใส่หมวกหรือคลุมใบหน้าเพื่อปิดบังอำพรางตน และเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่ควบคุมดูแลผู้ชุมนุมและไม่แจ้งการชุมนุมด้วย และข้อหาบุกรุกและข่มขืนใจตามกฎหมายอาญา จากกรณีที่ไปขวางรถขนแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ลักลอบใช้ถนนสาธารณประโยชน์ขนแร่ (2) ชาวบ้านและนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน 9 คน ถูกฟ้องโดยรัฐข้อหาชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตและบุกรุกสถานที่ที่ใช้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจังหวัดสตูลในยามวิกาล (3) ประชาชน 7 คนที่ชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นถูกฟ้องโดยอัยการฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการในสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น

ยังไม่นับรวมการถูกข่มขุ่คุกคามที่ไม่เป็นคดีอีกจำนวนมากจนทำให้ประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมาทำการชุมนุมได้ แต่เพียงแค่คดีความที่ยกตัวอย่างให้เห็นก็พอจะบ่งบอกได้ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้ชุมนุม เพราะถ้ามุ่งคุ้มครองผู้ชุมนุมจริง คงไม่มีผู้ชุมนุมรายใดต้องเจอการฟ้องคดีจากรัฐเยี่ยงนี้ ในทางตรงกันข้าม นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้บังคับยังไม่มีฝ่ายเจ้าพนักงานถูกฟ้องคดีแม้สักรายเดียวโทษฐานละเลยในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้ชุมนุม กลับกลายเป็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อฟ้องคดีกลั่นแกล้งประชาชนไปเสีย

ด้วยกฎหมายฉบับนี้ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. เดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วโดยไร้การตรวจสอบและตั้งคำถามจากประชาชน

โดยเนื้อหาสาระแล้ว กฎหมายฉบับนี้มีลักษณะปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนหลายประการ ดังนี้

ประการแรก มาตรา 7 เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลทั้งหลายแหล่ ทั้งนี้ ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายต้องคำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมว่าจะอนุญาตให้ชุมนุมรอบสถานที่เหล่านั้นได้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจกว้างขวางที่อิงอยู่กับด้านของผู้ใช้อำนาจรัฐหรือผู้ปกครองที่มองสถานการณ์และความอ่อนไหวต่างๆ ในด้านของรัฐด้านเดียวเป็นหลัก โดยไม่มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่เป็นมาตรฐานใดกำหนดไว้ ยกเว้นก็แต่เอกสาร 'คู่มือการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558' ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นเพียงแค่คู่มือแนะนำแก่เจ้าพนักงานเพื่อการบริหารจัดการชุมนุมและแนวทางการสอบสวนดำเนินคดีท่ี่เกิดจากการชุมนุมเท่านั้น

ประการที่สอง มาตรา 8 จงใจที่จะทำให้การชุมนุมเกิดขึ้นไม่ได้ (หรือเกิดขึ้นได้แต่เป็นการชุมนุมแบบติดๆ ขัดๆ จนไร้พลังการต่อรอง) ในสถานที่ทำการ 'หน่วยงานของรัฐ' ทุกแห่งทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงระดับท้องถิ่น อันได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐบาล องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอืื่นของรัฐ โดยยกเรื่องการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฎิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐมาเป็นข้ออ้างหรือข้อห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุม

ประการที่สาม มาตรา 10 และมาตรา 11 บังคับให้ขออนุญาตทำการชุมนุม ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งการชุมนุมก่อนเร่ิมการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงตามที่เข้าใจกันทั่วไป กล่าวคือ ในด้านผู้ชุมนุมถูกบังคับให้ต้องแจ้งการชุมนุมพร้อมเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดที่ไม่อาจปิดบังอำพรางแผนการชุมนุมที่สร้างแรงกดดันและพลังต่อรองกับรัฐได้เลย เช่น ต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา สถานที่ชุมนุม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม การขอใช้เครื่องขยายเสียงที่ต้องระบุกำลังขยายและระดับเสียงที่จะใช้สำหรับการชุมนุมให้ชัดเจน การขอชุมนุมแบบอยู่ประจำที่หรือจะเคลื่อนไหว/เคลื่อนย้ายไปบริเวณอื่น ฯลฯ แก่ผู้รับแจ้งการชุมนุม ในส่วนของด้านผู้รับแจ้งการชุมนุมกลับเปิดโอกาสให้สามารถมีคำสั่งห้ามชุมนุมได้หากเห็นว่าการชุมนุมที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา 7 และมาตรา 8 ที่เข้าไปชุมนุมในพื้นที่ของรััฐสภา ทำเนียบรัฐบาลหรือศาล หรือฝ่าฝืนรัศมีห้าสิบเมตรของพื้นที่เหล่านั้นที่ถูกประกาศห้าม หรือกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ และสถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 

ทั้งๆ ที่ควรปล่อยให้เป็นดุลพินิจหรือการตัดสินใจของผู้แจ้งการชุมนุมเป็นด้านหลัก แต่กลับใช้หลักการ 'หวงห้ามไว้ก่อน' จนแทบไม่เหลือพื้นที่สาธารณะใดๆ ให้แก่ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่อรองและกดดันรัฐหรือเอกชนให้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองหรือต่อนโยบายสาธารณะใดๆ ได้อีกต่อไปเลย

บทบัญญัติสองมาตรานี้ยิ่งสะท้อนความลำเอียง ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมของรัฐโดยเลือกคุ้มครองผู้รับแจ้งการชุมนุมและเจ้าพนักงานเป็นด้านหลักด้วยการให้่งดการชุมนุมไว้่ก่อนระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ซ้ำร้ายยิ่งไปอีกตรงที่หากผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งห้ามชุมนุม ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้รับแจ้งการชุมนุมขึ้นไปหนึ่งชั้น ซึ่งเป็นตำรวจ ไม่ใช่ศาล โดยให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด

ประการที่สี่ มาตรา 14 ถูกบังคับให้แจ้งการชุมนุมเพื่อขออนุญาตตามมาตรา 10 ถ้าไม่ปฎิบัติถือว่ามีความผิด รวมถึงการที่ผู้แจ้งการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับแจ้งหรือที่ผู้รับแจ้งมีคำสั่งห้ามการชุมนุมตามมาตรา 11 หรือที่จัดขึ้นโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่แจ้งการชุมนุมภายหลังพร้อมคำขอผ่อนผันแล้วได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะให้จัดการชุมนุมได้ตามมาตรา 12 ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

ประการที่ห้า ความสำคัญของการชุมนุมสาธารณะก็คือต้องใช้เสียงในการควบคุม ปลุกเร้า แจ้งรายละเอียดและสั่งการมวลชน และใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันและต่อรองกับรัฐ แต่มาตรา 15 (7) กลับห้ามใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด เมื่อดูลงไปในรายละเอียดของประกาศตามกฎหมายฉบับนี้[[1]] ในการชุมนุมกรณีต่างๆ จะใช้เครื่องขยายเสียงได้ที่ค่าระดับเสียงสูงสุดไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นระดับเสียงใกล้เคียงกับเสียงขุดเจาะถนนหรือถ้าดังกว่านี้อีกเล็กน้อยก็คือเสียงฟ้าผ่า แต่ก็ใช่ว่าจะใช้เสียงที่ระดับ 115 เดซิเบลเอตลอดเวลาของการชุมนุมได้ ในการชุมนุมตลอดวันหรือ 24 ชั่วโมงจะต้องใช้ระดับเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นระดับเสียงของเครื่องซักผ้า ไม่เพียงเท่านี้ประกาศฯดังกล่าวยังกำหนดระดับเสียงอันเป็นการรบกวนผู้อื่นไว้ที่ 10 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นเสียงของการหายใจปกติ 

ประการที่หก กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานใช้กำลังสลายการชุมนุมได้สองกรณี กรณีแรก-สลายการชุมนุมได้ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้ยุติการชุมนุม ในมาตรา 21 เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานสลายการชุมนุมได้ในระหว่างรอคำสั่งศาลในกรณีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 14 หรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้งตามมาตรา 18 และกรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 มาตรา 15 มาตรา 16 หรือเดินขบวนเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าตามมาตรา 17  เมื่อประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่ปฎิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานเริ่มต้นกระบวนการโดยร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมได้โดยให้เจ้าพนักงานหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง แต่ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังได้ ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนได้เพียงเท่าที่จำเป็น

ซึ่งเครื่องมือควบคุมฝูงชน 48 รายการ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่อันตรายก็มีอยู่หลายรายการที่สามารถนำมาใช้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามดุลพินิจของเจ้าพนักงานฯ ไม่ว่าจะเป็นกระบองยาง แก๊สน้ำตา อาวุธปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา เครื่องช็อตไฟฟ้า เป็นต้น 

กรณีที่สอง-สลายการชุมนุมได้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม หลังจากที่ผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมภายในระยะเวลากำหนดตามคำสั่งศาลตามมาตรา 22 และเมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมตามมาตรา 23 หากยังมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า ให้สามารถจับกุม ค้น ยึด รื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อการชุมนุมและสลายการชุมนุมได้ตามมาตรา 24

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ประกอบกับบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับที่ค่อนข้างรุนแรงต่อบุคคลและกลุ่ม/องค์กรประชาชนที่ประสงค์จะทำการชุมนุมเพื่อเรียกร้องคัดค้านความไม่เป็นธรรมกรณีต่างๆ ทำให้รัฐใช้กฎหมายฉบับนี้ควบคุมความสงบเรียบร้อยของสังคมจนทำให้แทบไม่เกิดการเคลื่อนไหวที่มีพลังต่อรองและกดดันรัฐและเอกชนได้อีกแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน แต่กลับพบว่าในรัฐทหารแบบ คสช. ยังไม่พอใจต่อกฎหมายฉบับนี้มากนัก เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดให้ตำรวจทำหน้าที่หลักเป็นทั้งผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์ยังขาดมุมมองเกี่ยวกับ 'ภัยคุกคามด้านความมั่นคง' แบบทหารที่ชอบใช้การทำงานเชิงรุกด้วยการเข้าไปสอดส่องและคุกคามชีวิตประจำวันของประชาชนอยู่อีกมาก จึงพบเห็นแทบทุกกรณีในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาแทรกแซงอยู่เป็นประจำ พร้อมกับการบังคับข่มขู่ผู้ชุมนุมที่เกินเลยไปจากบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้โดยยกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปพ่วงเข้ามาเพื่อกระทำการข่มขู่คุกคามต่อประชาชนให้หนักข้อยิ่งขึ้น โดยที่กฎหมายห้ามชุมนุมเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ขออนุญาตการชุมนุม แต่คำสั่งดังกล่าวเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยการก้าวล่วงเข้าไปในเคหสถานของผู​้ชุมนุมเพื่อตรวจค้นหรือทำการข่มขู่คุกคามให้หวาดกลัวจนต้องเปลี่ยนใจหรือหลบหนีไม่ยอมออกมาชุมนุมตามวันเวลาที่ตั้งใจได้ 

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาสื่อสารเพื่อให้เข้าใจผิดว่าการบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมโดยตำรวจดีกว่าทหารแต่อย่างใด เพราะโดยเนื้อหาที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ว่าจะบังคับใช้โดยใครก็เลวร้ายด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมุ่งให้ความคุ้มครองผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์เป็นหลัก เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมในยุครัฐทหารแบบ คสช. มีความเลวร้ายมากไปกว่าตัวบทกฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เพราะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงฉบับอื่นๆ เข้ามาพัวพันเกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่จะให้หรือไม่ให้ชุมนุมกรณีต่างๆ ของประชาชน

มีความเกี่ยวเนื่องอีกประเด็นหนึ่งก็คือถึงแม้โดยหลักการผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์์จะต้องใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณที่สมควรแก่เหตุในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แก่ผู้ชุมนุม ไม่ลุแก่อำนาจมากเกินไป แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือ การทำหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกันของ 'บทบัญญัติในกฎหมาย' กับ 'อำนาจรัฐ' โดยเฉพาะในยุคสมัยของรัฐทหารแบบ คสช. ที่ผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์ตามกฎหมายฉบับนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจที่ต้องทำงานรับใช้ทหารอาจมีดุลพินิจและวิจารณญาณท่ี่เกินเลยหรือไม่ผูกพันบทบัญญัติได้ ซึ่งเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัวและองค์กรของผู้ใช้อำนาจรัฐที่ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อข่มขู่คุกคามประชาชนไม่ให้ออกมาชุมนุมเพื่อสร้างพลังต่อรองและกดดันรัฐได้

ข้อถกเถียงในเรื่องที่ว่ากฎหมายฉบับนี้คุ้มครองผู้ชุมนุมจริงหรือไม่ ไม่สามารถถกเถียงกันบนโต๊ะประชุม หรือไม่สามารถผุดหลักการหรือข้อคิดเห็นออกมาจากการจัดเวทีหรือเอกสารได้อีกต่อไป มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือต้องเอาชีวิตและร่างกายเข้าเสี่ยงด้วยการออกมาชุมนุมบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อผลักดันหลักการไปให้สุดหนทางเท่าที่ยังพอมีอยู่ เพื่อดูว่าการคุ้มครองผู้ชุมนุมจะเป็นจริงได้หรือไม่ท่ามกลางสภาวะความตีบตันของสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมสุดบรรยายในยุคสมัยนี้

 

เชิงอรรถ                                         

[[1]] ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 23 กันยายน 2558  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลายปีกับการมีงานทำที่ถดถอยและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร? (1)

Posted: 17 Dec 2017 06:35 AM PST

 

นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขึ้นบริหารประเทศตั้งแต่กลางปี 2557 จนถึง ปลายปี 2560  โดยมุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศให้เกิด ความมั่นคง ความมั่งคั่งและ ความยั่งยืน  ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลุดพ้นจากหุบเหวแห่งความตกต่ำและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาอันสั้น ความพยายามที่จะเร่งอุปสงค์ของตลาดแรงงานให้ซึบซับแรงงานใหม่แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้การมีงานทำสูงดังเช่นก่อนหน้าในปี 2556 และปี 2557 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาล คสช.


แผนภาพที่ 1 แสดงถึงแนวโน้มของผู้มีงานทำในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 (แนวโน้มถดถอย)

จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าการจ้างงานถึงแม้จะผันผวนไปตามฤดูกาล การจ้างงานจะสูงสุดในช่วงกลางปี(มิถุนายน-สิงหาคม)ของทุกปีและจะไปต่ำที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี ในช่วงปี 2557 (กลางปี)ซึ่งรัฐบาล คสช. บริหารงาน แต่การจ้างงานก็ยังต่ำกว่าปี 2556 เกือบทุกเดือนโดยเฉพาะในเดือน เมษายน การจ้างงานปี 2557 ต่ำกว่าปี 2556 ประมาณ 7 แสนคน และในเดือนที่มีการจ้างงานสูงสุด คือ เดือน มิถุนายน การจ้างงานต่ำกว่าปี 2556 ถึงประมาณ 5 แสนคนในช่วงนี้น่าจะเป็นสภาพตามปกติที่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดการลงทุนใหม่จึงยังไม่มีโครงการใหม่และตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้นมากพอที่จะดูดซับอุปทานแรงงานเก่าและใหม่ได้หมดทำให้การมีงานทำลดลง

สถานการณ์การจ้างงานอีก 2 ปี ถัดมาคือ ในปี 2559 ก็ยังไม่ดีขึ้นเกือบทั้งปี การจ้างงานยังต่ำกว่าปี 2556 เกือบทุกเดือนโดยเฉพาะช่วงหลังของปี การจ้างงานในปี 2559 และ 2560 (ประมาณการโดยผู้เขียน 2 เดือนสุดท้าย)ลดลงเป็นอย่างมาก ต่อเนื่องกันหลายเดือน ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวของประชากรวัยแรงงานให้เพียงพอซึ่งต้องทำด้วยความยากลำบากถึงแม้รัฐบาลจะใช้ความพยายามลดความทุกข์ยากโดยการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ


แผนภาพที่ 2 แสดงถึงแนวโน้มของการว่างงานปี พ.ศ. 2556-2560 (แนวโน้มสูงขึ้น)

อย่างไรก็ตามเมื่อมองอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือ เมื่อการจ้างงานลดลงก็จะส่งผลให้กำลังแรงงานที่ไม่ได้รับการจ้างงาน (คนว่างงาน)จะมีจำนวนสูงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน ดังปรากฎในภาพที่ 2 ในปี 2556 การว่างงานโดยรวมต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยมีการว่างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 3.6 แสนคน ใน ปี 2557 การว่างงานสูงที่สุดในเดือนมิถุนายนสูงถึง4.5 แสนคน และเมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนการว่างงานทั้งปีก็พบว่า เปรียบเทียบปีต่อปีแล้ว ปี 2557 มีการว่างงานสูงกว่าปี 2556 ถึง 8 ใน 12 เดือน สถานการณ์การว่างงานยังตกต่ำต่อเนื่องไปอีกเมื่อการมีงานทำยังไม่ค่อยฟื้นตัว อันเกิดจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การส่งออกตกต่ำฟื้นตัวยังไม่มากพอ ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆตกต่ำอย่างกว้างขวาง เป็นต้น ส่งผลให้จำนวนการว่างงานยังสูงกว่าช่วงเวลาเดือนเดียวกันถึง 10 เดือน ทั้งในปี 2559 และ 2560 (ประมาณการ) จึงพอที่จะอนุมานได้ว่า รัฐบาลกำลังเผชิญทั้งปัญหาการจ้างงานถดถอยและการว่างงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นถ้าจะให้คาดประมาณไปในปี 2561 ว่าจะเป็นปีที่สดใสของตลาดแรงงงานหรือไม่ ขอตอบได้เลยว่าเป็นไปได้ยากถ้ายังจะพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนก่อนปี 2556 แต่ที่จริงแล้วรัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอก ประยุทธ์ได้ทำอะไรไปมากในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวซึ่งยังไม่มีรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยทำมาก่อน ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง และระบบ โลจิสติกส์เสียใหม่เป็นต้นเพียงแต่ยังไม่เห็นผลในทันทีในขณะนี้เท่านั้น

จากที่กล่าวมาในภาพรวมทำให้เห็นชัดเจนในช่วงเวลาที่ผ่าน ถึงแม้รัฐบาลจะใช้ความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะการส่งออกที่มีการแข่งขันอย่างสูง แต่ประเทศกลับยังจมปรักอยู่กับการพึ่งพาตนเองไม่ได้มากนัก เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกซึ่งขับเคลื่อนโดยบรัษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศการพึ่งพาการส่งออกยังมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่เมื่อการส่งออกไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วตามที่คาดหวังไว้ รัฐบาลก็ต้องหันมาอาศัยตัวกระตุ้นภายในประเทศซึ่งมีสัดส่วนต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ต่ำกว่าการส่งออกมากเช่นการใช้จ่ายในการบริโภคของเอกชนแต่ก็มีปัญหาในเรื่องของรายได้ของประชาชนมากกว่า 24% ของคนทำงานซึ่งมีรายได้จากการเกษตรที่มีราคาต่ำที่สุดในรอบหลายปี เช่นราคาข้าว ราคายาง ราคากุ้ง ราคาปาล์ม ฯลฯ ล้วนแต่ก็ยังไม่สามารถจะฟื้นตัวได้โดยง่าย เกษตรกรแต่ละครัวเรือนบางภาคที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหล่านี้รายได้ลดลงมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมากกว่าสองแสนบาท จึงไม่มีจิตใจจะมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อช่วยชาติ เพราะตัวเองกับครอบครัวยังลำบากอยู่มาก (ผู้อยู่ในทะเบียนยากจนของรัฐส่วนมากเป็นแรงงานนอกระบบและเกษตรกรมากกว่า 10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของคนหาเงิน)

เมื่อหันมาหาเรื่องของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ก็เผชิญปัญหาหลายประการที่ไม่เอื้อให้ต่างชาติใหม่ๆ นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง ขาดแคลนแรงงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ อุตสาหกรรมเดิมส่วนใหญ่เป็น SMEs มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของสถานประกอบการ ที่มีข้อจำกัดในเรื่อง ทุน เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นของตัวเองและมีขีดความสามารถในการตลาดและการส่งออกจำกัด จริงอยู่ที่รัฐบาลใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและภาคการค้าและบริการให้หันเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 โดยเร่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์กับภาคการผลิตและภาคบริการซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมๆได้อีกต่อไป

ในอดีตถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนและร่วมทุนกับต่างประเทศมายาวนานมากกว่า 30 ปี แต่กลับไม่ได้ดูดซับเอานวัตกรรมจากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้บ้าง ในที่สุดขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่เราพยายามทำและเรียกร้องขอความร่วมมือกับประเทศอื่นให้เขามาลงทุนในประเทศไทย การเชื้อเชิญให้นักลงทุนใหม่เข้ามาอีกครั้ง  ก็จะถูกตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิประโยชน์ หรือขู่ว่าจะไปลงทุนในประเทศอื่นๆที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีและมีแรงงานจำนวนมหาศาลรออยู่ เช่น เวียดนาม และอินโดนิเซีย หรือ แม้แต่ฟิลิปปินส์ก็ตาม เราจึงเห็น FDI ใหม่ๆ เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่ายจึงขยายตัวอย่างเชื่องช้า 3 ปีกว่า ของรัฐบาล เม็ดเงินจาก FDI ยังเข้ามาน้อยมากแต่ก็ยังมีหวังเมื่อประเทศไทยเราพยายามจะเร่งพัฒนาการค้าชายแดนด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษและที่สำคัญที่สุดคือ Eastern Economics Corridor (EEC) โดยคาดหวังว่าจะเป็น New Trend สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางด้านการค้าและบริการ เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ถ้าเรายังทำแบบเดิมๆไม่พัฒนาบริษัทของคนไทยให้มีนวัตกรรมเป็นของตนเองบ้าง เราก็ยังจะทำความผิดพลาดแบบเดิมๆโดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับบริษัทต่างชาติโดยไม่มีเงื่อนไขด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในที่สุดไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนเดิมๆ คือ ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งและยั่งยืนได้

ทางออกสุดท้ายสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ ต้องใช้เครื่องมือด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่ก็น่าเสียดายว่า งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับ เงินเดือน และค่าตอบแทน การใช้คืนเงินกู้รวมทั้งเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ในส่วนของสวัสดิการต่างๆก็เพิ่มขึ้นทุกปีๆทำให้งบลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศโดยรัฐมีขอบเขตจำกัดมากๆ ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะกู้มาเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนแต่ก็ทำได้จำกัดเนื่องจากต้องรักษาไว้ซึ่งวินัยด้านการคลัง นโยบายทางการคลังที่ถูกนำมาใช้ก็ถูกจำกัดโดยงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด การอาศัยค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดูอ่อนล้ามาก

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทางด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัวแปร คือ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนจากภาคเอกชน การลงทุนโดยภาครัฐและการตกต่ำของการส่งออกจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ (แข่งขันสู้เขาไม่ได้) การขยายตัวเศรษฐกิจ(GDP)โดยรวมในปี 2561 ก็อาจจะยังไม่สามารถเติบโตในระดับที่สูงคงจะป้วนเปี้ยนอยู่ในระดับ 4% แต่น่าจะดีกว่าปี 2560 ซึ่งทุกท่านก็ได้ทราบจากผลการศึกษาของหลายหน่วยงานรวมทั้ง TDRI ซึ่งให้ตัวเลขการคาดประมาณการเติบโตจะอยู่ระหว่าง 3.5-4.5 %

การที่เศรษฐกิจอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วอย่างที่รัฐบาลที่มาจากร่มเงาของ คสช.คาดหวังไว้ แต่การที่เศรษฐกิจที่คาดหวังเอาใว้ว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานคนไทยในภาพรวมให้ฟื้นตัวได้เช่นกันแต่ก็ขึ้นกับฝีมือของประชารัฐจะช่วยกันปรับปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ของแรงงานและคนทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ในการพัฒนาประเทศโดยไม่ทิ้งใครใว้เบื้องหลังได้อย่างไร การที่จะทำเช่นนี้ได้รัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนักที่จะต้องหันมาให้ความสนใจกับการผลิตและพัฒนากำลังของประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งผู้เขียนจะได้เขียนในตอนต่อไป



เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ เป็นผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #188 สายโลหิตและมหากาพย์รีเมค

Posted: 17 Dec 2017 03:24 AM PST

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดถึงมหากาพย์รีเมคของละครพีเรียด "สายโลหิต" ที่เริ่มเปิดกล้องมาตั้งแต่ปี 2559 และคาดว่าจะได้ฉายในปี 2561 นับว่านิยายของ "โสภาค สุวรรณ" ถูกนำมาผลิตละครแล้วเป็นรอบที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2529 และเฉพาะสายโลหิตปี 2538 เวอร์ชั่น "ศรราม-สุวนันท์" ช่อง 7 นำมาออกอากาศและรีรันแล้ว 4 ครั้ง

การที่ละครแนวพีเรียดอย่าง "สายโลหิต" สามารถนำกลับมารีเมคและรีรันได้เรื่อยๆ นัยว่าเรื่องเล่าและชุดแนวคิดของละครยังคง "ต่อติด" กับผู้ชมที่ยังคงยึดมั่นคุณค่าและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์แบบขนบหลัก อย่างไรก็ตามในการรีเมค "สายโลหิต 2561" ผู้กำกับคือ "สยาม สังวริบุตร" และผู้เขียนบทโทรทัศน์คือ "ศัลยา" ได้ออกมาเปิดเผยในช่วงที่มีการเปิดกล้องถ่ายทำว่ามี "สายโลหิต 2561" มีการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้ง หนึ่ง ฉากของละคร ที่จะพิถีพิถันมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มมุมมองแบบภาพมุมสูง เพื่อให้เห็นภาพรวมของกรุงศรีอยุธยา สอง บทละคร ที่คำนึงถึงหลักฐานและการตีความทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ รวมทั้งประเด็นเชิงละเอียดอ่อนต่อประเทศพม่า โดยเลิกทำฉากกรุงแตก ฉากเผากรุงศรีอยุธยา และใช้วิธีเล่าแบบอื่นแทน และสาม การนำเสนอภาพความอ่อนแอของอยุธยาตอนปลาย เพื่อสะท้อนมาถึงสถานการณ์ทางการเมือง-สังคมยุคปัจจุบัน

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai 
หรือลงทะเบียนรับชมที่ 
https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. ฝึกอบรม 'ผู้ประกาศข่าว-นักจัดรายการเยาวชน' ชายแดนใต้

Posted: 17 Dec 2017 12:53 AM PST

รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดโครงการฝึกอบรมผู้ประกาศข่าวและนักจัดรายการเยาวชน รุ่นที่ 1 หวังสนับสนุนงานด้านการประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 
 
17 ธ.ค. 2560 ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อเวลา 09.30 น. ที่ ห้องเพชรพลอย โรงแรมยะลามายเฮาส์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พันเอก ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม ผู้ประกาศข่าวและนักจัดรายการเยาวชน รุ่นที่ 1 ประจำปี 2561 มีเยาวชนจากจังหวัดยะลา เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 30 คน
 
สำหรับการฝึกอบรมผู้ประกาศข่าวและนักจัดรายการเยาวชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดขึ้นตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ และสันติสุขในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2561 กำหนดจัดจำนวน 4 รุ่นๆ ละ 2 วัน โดยให้หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด แต่ละจังหวัดในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คัดเลือกเยาวชน อายุ 15 - 18 ปี เข้ารับการอบรมรุ่นละ 30 คน ซึ่งรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ 1 เป็นเยาวชนจากหลายอำเภอในจังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจยะลา ดำเนินการฝึกอบรมในห้วงตั้งแต่ 17-18 ธันวาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะของเยาวชนในเรื่องการเป็นผู้ประกาศข่าวและนักจัดรายการ เพื่อขยายเครือข่ายนักข่าวพลเมือง สนับสนุนงานด้านการประชาสัมพันธ์ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  การฝึกอบรมจะมีทั้งภาคทฤษฎี ซึ่งมุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายในการแก้ปัญหา หลักการประชาสัมพันธ์เบื้องต้น เทคนิคการเขียนข่าว การรายงานข่าว เทคนิคการจัดรายการโทรทัศน์ เทคนิคการจัดรายการวิทยุ ทักษะการใช้ภาษา และพัฒนาบุคลิกภาพ รวมทั้ง ทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา และสถานีวิทยุโทรทัศน์ NBT จังหวัดยะลา โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้แก่เยาวชน ที่เข้ารับการฝึกอบรม
 
ทั้งนี้การอบรมดังกล่าวจะทำให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรู้ ความเข้าใจหลักการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง สามารถขยายผลด้านการประชาสัมพันธ์ กับชุมชนในพื้นที่ ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ทันเวลา และเป็นความจริง ในรูปแบบนักข่าวพลเมืองที่ดี มีความเข้าใจในนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และเข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อมุ่งสู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าระบุ ก.สาธารณสุข นำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน

Posted: 17 Dec 2017 12:21 AM PST

ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 'กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)' ชี้ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขไทยออกมาระบุถึงอันตรายและสารพิษจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่าข้อมูลค่อนข้างคลาดเคลื่อนและสวนทางกับผลวิจัยของต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษโลหะหนักจนถึงยาดองศพ เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน พยายามปิดโอกาสของผู้สูบบุหรี่ที่จะได้เข้าถึงทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า

 
 
 
17 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)" และเฟสบุ๊ค-"บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" กล่าวถึงกรณีที่ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขไทยหลายราย ออกมาระบุถึงอันตรายและสารพิษจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า บ่อยครั้งในช่วงนี้ว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ออกมาจากกระทรวงสาธารณสุขหลายเรื่องค่อนข้างคลาดเคลื่อนและสวนทางกับผลวิจัยของต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลจากทาง กรมควบคุมโรค ที่ย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โลหะหนัก จนถึงยาดองศพ และแนะเยาวชนและผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไม่ควรลองใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อ้างผลการตีความวิจัยแบบผิดๆ ตรงข้ามกับงานวิจัยในต่างประเทศ พยายามปิดโอกาสของผู้สูบบุหรี่ที่จะได้เข้าถึงทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า
 
"ข้อมูลที่บอกว่าในควันบุหรี่มีสารที่เกิดจากการเผาไหม้ เช่นสารโลหะหนักพวกโครเมี่ยม นิกเกิล และฟอร์มาลดีไฮด์ มากกว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้านั้น รายงานของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ปี 2558 ออกมาชี้แจงประเด็นฟอร์มาลดีไฮด์แล้วว่าเป็นการทดลองที่นำเอานิโคตินเหลวไปผ่านความร้อนสูง ซึ่งไม่เคยมีรายงานใดระบุว่าการใช้งานจริงของบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดความร้อนสูงขนาดนั้น เห็นได้ชัดว่าภาครัฐมีความตั้งใจในการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับประชาชน เราถึงได้พยายามเรียกร้องให้มีการพูดคุยผลการศึกษาของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นกลาง" นายมาริษ ระบุ
 
นายมาริษ กล่าวต่อว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อังกฤษ สหภาพยุโรปกว่า 27 ประเทศ นิวซีแลนด์ หรือสหรัฐอเมริกา บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมายและหลายประเทศสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ หากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายจริงอย่างที่กรมควบคุมโรคไทยกล่าวอ้าง เหตุใดบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสินค้าถูกกฎหมาย ทำไมรัฐบาลประเทศเหล่านั้นถึงยินยอมให้คนในประเทศเขาใช้ได้ ถึงเวลาแล้วที่เราน่าจะเอาข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมาพูดคุยกันอย่างจริงจังซักที ไม่ใช่ออกสื่อโต้กันไปกันมาแบบนี้ รัฐบาลจะได้มีแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานของผลวิจัยวิทยาศาสตร์มาช่วยกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และช่วยกันป้องกันเด็กและเยาวชนของเราได้จริง
 
นายอาสา ศาลิคุปต์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าฯ ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงผลการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า กับคณะอนุกรรมาธิการพาณิชย์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนประกาศกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเราได้ให้ข้อมูลพร้อมผลการวิจัยกับคณะอนุกรรมาธิการฯ ไปแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ลอนดอน และสถาบันมะเร็งอังกฤษ ต่างยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่ออกมาน้อยกว่าบุหรี่มวนมาก และผลการวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าไม่ได้เป็นตัวดึงดูดเด็กเยาวชนหรือผู้ไม่สูบบุหรี่ ทุกวันนี้แม้จะยังไม่มีข้อมูลผลกระทบระยะยาว แต่รัฐบาลหลายประเทศก็อนุญาตให้ใช้ โดยมีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน แถมยังช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศได้อีกด้วย ซึ่งท่าทีของที่ประชุมมีความเป็นกลางและรับฟังข้อมูลความเห็นของผู้บริโภคเป็นอย่างดี และจะทำสรุปเพื่อพิจารณาต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลโพลล์ระบุประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 55% นายกพูดจาสุภาพ ใจเย็น ไม่ดุ 38 %

Posted: 16 Dec 2017 10:05 PM PST

สวนดุสิตโพลล์สำรวจความเห็นประชาชน 10 เรื่องที่อยากบอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พบ 55.50% อยากให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพแพง 38.30% อยากให้นายกพูดจาสุภาพ ใจเย็น ไม่ดุ

 
17 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า หลังจาก คสช. ได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลาเกือบ 4 ปี ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการดำเนินงานตามโรดแมป เน้นการปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานต่าง ๆ ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและยังไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและเป็นฐานข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลที่จะบริหารประเทศได้ตรงตามความต้องการของประชาชน "สวนดุสิตโพลล์" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,209 คน ระหว่างวันที่ 12-16 ธันวาคม 2560 สรุปผลได้ ดังนี้
 
10 เรื่องที่ประชาชนอยากบอก "รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" ณ วันนี้
 
อันดับ 1 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพแพง 55.50%
อันดับ 2 พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 47.06%
อันดับ 3 ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร 44.58%
อันดับ 4 สร้างความสามัคคีปรองดอง ทำให้บ้านเมืองสงบ 40.69%
อันดับ 5 อยากให้นายกฯ พูดจาสุภาพ ใจเย็น ไม่ดุ 38.30%
อันดับ 6 รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น 36.23%
อันดับ 7 ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง 31.84%
อันดับ 8 มีกำหนดการเลือกตั้ง ปลดล็อคพรรคการเมือง 27.63%
อันดับ 9 ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เน้นทำเพื่อประชาชน 25.39%
อันดับ 10 ขอให้เดินหน้าแก้ปัญหาสำคัญต่อไป 20.02%
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการค้านข้อเสนอ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค

Posted: 16 Dec 2017 08:36 PM PST

นักวิชาการไม่เห็นด้วยข้อเสนอให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่เชื่อแก้ปัญหาขัดแย้งได้ ทำสถาบันการเมืองอ่อนแอ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม เหมือนย้อนสมัยรัฐบาลเผด็จการ

 
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้กล่าวถึงข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาที่ให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อสร้างความปรองดองว่าการที่ส.ส.ไม่ได้สังกัดพรรคไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งในสังคมมีหลายมิติ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสภาผู้แทนราษฎร หรือพรรคใหญ่เพียงไม่กี่พรรค ถือเป็นมุมมองที่แคบเกินไป
 
นายยุทธพร กล่าวว่าข้อดีของกรณีดังกล่าวมีเพียงความอิสระของ ส.ส.ในการตัดสินใจหรือโหวตในสภา แต่หากมองข้อเสียของการที่ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ความเป็นสถาบันทางการเมืองหายไป ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของพรรคและขาดการมีส่วนร่วม
 
"ข้อเสนอของการให้ส.ส.ไม่สังกัดพรรค จะพบว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี เหมือนถอยกลับไปในยุครัฐบาลเผด็จการ เมื่อ40-50 ปีที่แล้ว ที่ส.ส.ไม่สังกัดพรรคและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่เชื่อว่าข้อเสนอนี้จะสามารถแก้ความขัดแย้งได้ กลับกันอาจเพิ่มความขัดแย้ง ผมคิดว่าการมีส.ส.ที่สังกัดพรรคเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะเพิ่มความเข้มแข็งให้พรรคและสถาบันทางการเมือง ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ทั้งนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าข้อเสนอนี้อาจมีนัยทางการเมือง เพราะเกิดขึ้นหลังที่มีเสียงเรียกร้องให้ปลดล็อคพรรคการเมือง และพรรคขนาดกลางมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งชวนให้คิดได้เหมือนกัน" นายยุทธพร 
 
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง เปิดเผยการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปด้านการเมืองและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าขณะนี้คณะกรรมการได้จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองร่างแรกใกล้แล้วเสร็จ และเตรียมส่งไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายในปลายเดือนธันวาคมนี้ ยืนยันว่าทำให้ดีและรอบคอบที่สุด แต่ขออย่าคิดว่าร่างแผนการปฏิรูปดังกล่าวจะเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่จะบันดาลอะไรก็ได้ แต่เปรียบเสมือนยาจีนที่จะช่วยรักษาสมดุลของสิ่งต่าง ๆ
 
"ร่างแผนปฏิรูปด้านการเมืองกำหนดประเด็นการปฏิบัติไว้ 5 เรื่องสำคัญ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 1.เรื่องการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย 2. การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทำให้ประชาสังคมและท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเข้าของประชาธิปไตยมากขึ้น 3. เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยให้มีความรับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่และสอดส่องดูแลพรรคการเมืองและนักการเมืองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4.การสร้างธรรมาธิปไตยให้ประชาชนตระหนักว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องการมีผู้นำ มีเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยเท่านั้น แต่คนเหล่านั้นจะต้องมีธรรมาภิบาล และใช้ประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และ 5.การสร้างกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย" นายเอนก กล่าว  
 
นายเอนก กล่าวว่าจากการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาพูดคุยและสอบถามความคิดเห็น บรรยากาศเป็นไปด้วยดี นักการเมืองมีความพร้อมจะทำงานร่วมกันและพร้อมลดอุปสรรค เงื่อนไขต่าง ๆ โดยนักการเมืองรู้สึกว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าพรรคการเมืองพร้อมจะเลือกตั้ง พร้อมเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน พร้อมรับฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะพยายามให้เกิดความปรองดอง
 
ส่วนข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ที่เห็นว่า ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อสร้างความปรองดอง นายเอนก กล่าวว่าหากอนาคตยังไม่สามารถปรองดองกันได้ และหากมีความจำเป็นก็อาจต้องดำเนินการเช่นนั้น แต่ทั้งนี้ยังมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณากว่าจะถึงประเด็นดังกล่าว แต่ส่วนตัวมองว่า หากจะไม่ให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง จะเกิดความยุ่งยากมากขึ้น ที่ผ่านมาการเมืองไทยให้สงสงสังกัดพรรคมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามการที่นายสมศักดิ์เสนอเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นการพูดเล่น
 
"เขาคิดอะไรอยู่ หรือมีใครเสนออะไรให้ทำ หรือมีภารกิจอะไรมาหรือไม่ ต้องไปถามคุณสมศักดิ์ดู คนระดับคุณสมศักดิ์ไม่พูดอะไรเลอะเทอะหรือพูดอะไรเล่น ๆ" นายเอนก กล่าว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปผลงานบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช. รอบ 2 ปี ยกระดับมาตรฐานบริการสาธารณสุขสิทธิบัตรทอง

Posted: 16 Dec 2017 08:16 PM PST

'หมอชาตรี' ประธานบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช.สรุปผลงานรอบครึ่งวาระแรก ช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขสิทธิบัตรทอง พร้อมพัฒนางานคุ้มครองสิทธิ เผยรอบ 2 ปี มีเรื่องพิจารณาร่วม 50 เรื่อง เตรียมรุกงานต่อเนื่อง มุ่งสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยั่งยืน

 
 
นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
 
17 ธ.ค. 2560 นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้การรับบริการสุขภาพภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ชุดปัจจุบันเป็นสมัยวาระที่ 4 (วาระดำรงตำแหน่งปี 2559-2562) ซึ่งภายหลังจากดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 ได้จัดประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปี (ปีงบประมาณ 2559 -2560) รวมถึงการวางแนวทางดำเนินงานในระยะเวลาต่อไป เพื่อทบทวนการดำเนินงานที่นำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาและดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพจำนวน 50 เรื่อง ผลการดำเนินงานสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ อาทิ การป้องกันไฟฟ้าจากเครื่องปั๊มลมไฟฟ้าของยูนิตทำฟันดูดผู้รับบริการ, การป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด, การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากยาคลอโรควิน (Chloroquine) ในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) และการป้องกันภาวะติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจก การพิจารณาข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและขยายบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ ข้อเสนอการคัดกรองมะเร็งลำไส้ไหญ่ (CA Colon), ข้อเสนอต่อแนวทางการดำเนินงาน "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทย (Thai Diagnosis Related Groups V.6 :TDRG) และข้อเสนอต่อการบริหารจัดการงบจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ เป็นต้น
 
นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิ มีการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตาม ม.41 เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ซึ่งมีคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่พิสูจน์ถูกผิด สามารถลดข้อขัดแย้งในระบบสุขภาพระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้มาก โดยใน 2 ปีที่ผ่านมามีการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้วจำนวน 1,546 ราย จากจำนวนคำร้อง 1,892 ราย เป็นเงินที่จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น 373 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการสอบสวนหน่วยบริการ ตามมาตรา 57  และมาตรา 59 ในประเด็นมาตรฐานบริการหรือสิทธิในการเข้ารับบริการสาธารณสุข จำนวนรวมกว่า 50 เรื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของหน่วยบริการและคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการ
 
สำหรับการดำเนินงานกำกับคุณภาพมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิในระดับพื้นที่ มีคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเชิงรุกที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ประชาชน ผู้ให้บริการ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทำให้การพัฒนาคุณภาพเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ทั้งนี้ยังได้มีการขยายและพัฒนาศักยภาพหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) เพื่อให้เป็นหน่วยประสานงานและรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 114 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและได้รับการคุ้มครองสิทธิมากยิ่งขึ้น
 
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า การทำงานในช่วง 2 ปีจากนี้ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ยังคงมุ่งมั่นทำงานสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบยั่งยืน เน้นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมทั้งสร้างความเข้าใจการดำเนินงานและสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียู ออกกฎให้บริษัทต้องเปิดเผยเจ้าของจริง แก้ปัญหาธุรกรรมลับที่เคยถูกเปิดโปงใน 'ปานามา เปเปอร์ส'

Posted: 16 Dec 2017 07:45 PM PST

จากกรณีการเปิดโปงการทำธุรกรรมลับขัามทวีปครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "ปานามา เปเปอร์ส" (Panama Papers) เมื่อปีที่แล้ว สหภาพยุโรปก็ประกาศว่าจะมีการออกกฎใหม่ให้บริษัทต้องเปิดเผยชื่อเจ้าของบริษัทตัวจริง ถึงแม้ว่ากลุ่มรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจะชื่นชมแต่ก็ผิดหวังที่ไม่มีการอุดช่องโหว่การอาศัยธุรกรรมระบบทรัสต์ด้วย

 
 
ในเว็บไซต์ของสหภาพยุโรประบุว่าเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2560 รัฐสภาและที่ประชุมยุโรปมีมติทางการเมืองต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเพื่อปรับปรุงกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินและต่อต้านการส่งเสริมทางการเงินต่อกลุ่มก่อการร้าย
 
โดยมีการปรับปรุงแก้ไขแนวทางต่อต้านการกฟอกเงินฉบับที่ 4 เพื่อเน้นให้มีการเปิดเผยเจ้าของตัวจริงผู้ได้ประโยชน์จากบริษัทหรือกองทรัสต์ในแบบที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเจ้าของผู้ได้รับผลประโยชน์ของทรัสต์ต่อเจ้าหน้าที่ด้านภาษีและเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายรวมถึงภาคส่วนที่บังคับกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินเข้าถึงได้ ประเทศสมาชิกอียูต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้จดทะเบียน รวมถึงขยายผลการป้องกันความเสี่ยงด้านการต่อต้านการให้เงินทุนก่อการร้ายและการต่อต้านการฟอกเงินไปจนถึงการเงินในโลกเสมือน (Virtual Currency)
 
ประเทศสมาชิกอียูมีเวลา 18 เดือนในการนำแนวทางเหล่านี้ไปแปลงให้เป็นกฎหมายในประเทศตัวเองรวมถึงสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้ออกจากสมาชิกภาพอียูอย่างเป็นทางการด้วย
 
ลอร์ บริลเลาด์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายต่อต้านการฟอกเงินขององค์กรความโปร่งใสสากลสาขาอียูกล่าวว่านี่เป็นพัฒนาการครั้งใหญ่และเป็นการย้ำให้เห็นว่าความโปร่งใสของการเป็นเจ้าของบรรษัทถือเป็นมาตรฐานโลกที่จะนำไปใช้ตัดสินแล้ว บริลเลาด์บอกอีกว่าเรื่องนี้เป็นก้าวสำคัญในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดการกระทำอาชญากรรมทางการเงินอย่างลับๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนทุจริตหรือการเลี่ยงภาษี
 
ทางด้านโกลบอลวิตเนสส์ องค์กรต่อต้านการขูดรีดทรัพยากรธรมชาติและการทุจริต ชื่นชมการออกกฎใหม่ของอียูแต่ก็วิจารณ์ว่ายังคงเปิดช่องโหว่ให้กับสัญญาการจัดการทรัพย์สินแบบทรัสต์ที่ไม่ใช่นิติบุคคลและมีตัวกลางเป็นทรัสต์ ซึ่งเมอร์เรย์ เวิร์ธที นักรณรงค์ระดับสูงของโกลบอลวิตเนสส์ กล่าวว่ามักจะมีกรณีการอาศัยทรัสต์ในการเลี่ยงภาษีได้ดียิ่งกว่าการอาศัยบริษัทในอียู
 
นอกจากนี้แนวทางของอียูยังมีการเปลี่ยนแปลงกฎการใช้งานของบัตรเครดิตแบบจ่ายก่อนใช้ (pre-paid) ที่สามารถเติมเงินเอาไปใช้ออนไลน์โดยสามารถใช้แบบไม่เปิดเผยชื่อตัวเองได้ หลังจากที่เกิดกรณีการก่อการร้ายในปารีสแล้วเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสพบว่าผู้ก่อเหตุใช้บัตร pre-paid ในการเตรียมการ ทำให้มีการแก้กฎให้ประเทศสมาชิกจำกัดการใช้งานบัตร pre-paid ในแบบไม่ระบุนามได้ที่วงเงินไม่เกิน 150 ยูโร (ราว 5,700 บาท) สำหรับร้านค้า และไม่เกิน 50 ยูโร (ราว 1,900 บาท) สำหรับออนไลน์
 
เดอะการ์เดียนระบุว่าการแก้ไขแนวทางล่าสุดของอียูส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการจัดการปัญหาการทำธุรกรมอำพรางข้ามชาติที่ถูกเปิดโปงในปานามา เปเปอร์ส เมื่อปี 2559 และมตินี้จะทำให้สหราชอาณาจักรต่อต้านการวางมาตรฐานความโปร่งใสกับเครือข่ายธุรกิจภายใต้ราชอาณาจักรและอาณาเขตโพ้นทะเลซึ่งมีการใช้เป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีจำนวนมาก
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Strengthened EU rules to prevent money laundering and terrorism financing, EU, 15-12-2017
 
EU to force firms to reveal true owners in wake of Panama Papers, The Guardian, 15-12-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น