โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ส.ป.ก.แจงปมทำถนนในชุมชน สุราษฎร์ฯ ด้าน สกต.โต้ เผยเตรียมฟ้องศาลปกครอง

Posted: 31 Dec 2017 09:28 AM PST

ส.ป.ก.แจงปมทหารเข้าทำถนนในชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ด้านสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้โต้ พร้อมเผยเตรียมฟ้องศาลปกครอง ค้านคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 
หนังสือชี้แจงจาก ส.ป.ก.
 
25 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการข่าวประชาไทได้รับจดหมายจาก สุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่งหนังสือ ลงวันที่ 15 ธ.ค.2560 เรื่อง ชี้แจงกรณีข่าว "ส.ป.ก.ทำถนนในชุมชนไม่สนข้อเสนอประชาชน ผลอาสินถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ" ซึ่งเป็นข่าวที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา (ดู https://prachatai.com/journal/2017/08/72686
 
หนังสือชี้แจงจาก ส.ป.ก. อ้างอิงถึงข่าวดังกล่าวว่านำเสนอประเด็นที่ระบุปัญหาผลกระทบจากการดำเนินงานของ ส.ป.ก. สุราษฎร์ธานี ในแปลงที่ดิน ต.ไทรทอง อ.ชับบุรี จ.สุราษฎร์ธานี โดย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุทหารเข้ามาในชุมชนก้าวใหม่ เพื่อทำถนนใหม่ตามแนวทางคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ผลอาสินของประชาชนในชุมชนถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ หากรัฐยังทำตามผังถนนที่วางไว้ นั้น 
 
ส.ป.ก. ขอชี้แจงว่า ที่ดินที่ สกต. โดยชุมชนก้าวใหม่ได้กล่าวอ้าง คือ ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดิน แปลง บริษัท รวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ไทรบุรีทองฯ ซึ่งอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดินโครงการป่าใสท้อนและป่าคลองโซง มีผลให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การถือครองที่ดินของบริษัทรวมชัยฯ เข้าทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นการครอบครองก่อนที่ ส.ป.ก. รับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ จึงเป็นการเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งบริษัทดักล่าวยังเพิกเฉยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน ได้มีการฟ้องคดีต่อบริษัทดังกล่าว ข้อหาบุกรุก ฟ้องคดีแพ่งขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้บริษัทพร้อมบริวารออกจากที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,749-1-24 ไร่ และหลังจากมีการฟ้องคดีได้มีกลุ่มมวลชนต่างๆ รวมทั้ง สกต. พยายามบุกรุกเข้าถือครองที่ดินดังล่าวและมีการชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งคณะรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 มีมติเห็นชอบให้ผอนผันให้ราษฎรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยอาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติสุขไปพลางก่อนจนกว่ากระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ ส.ป.ก.จึงไม่สามารถแจ้งความคดีข้อหาบุกรุกที่ดนของรัฐต่อราษฎรผู้ที่ได้รับการผ่อนผันได้
 
หนังสือชี้แจงระบุต่อว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาตามชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ ส.ป.ก. ชนะคดีการผ่อนผันจึงสิ้นสุดลง การที่ สกต.กับพวกเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการเข้าทำโดยมิชอบดวยกฎหมายและไม่มีสิทธิเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ใดๆ ตั้งแต่ต้นแล้ว ถือเป็นการบุกรุกโดยใช้กำลังมวลชนกดดันภาครัฐหวังเรียกร้องให้จัดที่ดินให้แก่ตนเองกับพวกพ้อง ต่อมาได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 36/2559 ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดที่ดินตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแปลงบริษัทรวมชัยบุรีฯ เป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลปีงบประมาณ 2559 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดที่ดินให้แก่ชุมชนโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นกลุ่มหรืชุมชนในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม 
 
ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปี่ดินเพื่อเกษตรกร (คปก.) ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกงทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อเป้นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแปลที่ดินที่ยึดคืนตามคำสั่ง คสช. ที่ 36/2559 เพื่อรองรับการดำเนินการในงานสำรวจออกแบบรังวัด ปรับพื้นที่แะการพัฒนาโตรงสร้างพื้นฐาน เช่น งานก่อสร้างถนนสายหลัก สายซอย ฯลฯ ในการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแปลงที่ดินยึดคืนตามคำสั่ง คสช. ที่ 36/2559 แปลงที่ดินในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี รายแปลงบริษัทรวมชัยบุรีฯ โดยให้กองทัพบกเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินแทน ส.ป.ก. 
 
หนังสือชี้แจงจาก ส.ป.ก. ระบุว่า การออกแบบผังแปลงที่ดินและถนนได้มีารออกแบบร่วมกันระหว่าง ส.ป.ก.และสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งสมาชิกกลุ่ม สกต. ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นของสมาชิกส่วนใหญ่ที่อาศัยในแปลงที่ดินและระหว่างการวางผังแปลงที่ดินกลุ่ม สกต. ก็มิได้มีการคัดค้านแต่อย่างใด ปัจจุบันสมาชิก สกต.ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดที่ดินที่ภาครัฐกำหนด ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครีธรรมราชจำนวนหลายรายและศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา จำนวน 1 รายแล้ว   
 

สกต. โต้ เผยเตรียมฟ้องศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าว สอบถาม ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เพิ่มเติม โดย ธีรเนตร กล่าวถึงกรณีที่ ส.ป.ก. ระบุถึงการใช้กฎหมายในการจัดสรรที่ดิน รวมทั้งรัฐบาล คสช. จะใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 36/2559 ที่จะนำที่ดินแปลงนี้จัดสรรให้ประชาชนนั้นว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่นายทุนได้ทำสวนปาล์มน้ำมันมาอย่างยาวนาน และมีกลุ่มชาวบ้านที่ ส.ป.ก.อ้างว่าบุกรุกนั้น เข้าไปยึดพื้นที่จากนายทุน เพื่อจัดสรรเป็นที่ดินทำกินกันในรูปแบบของฉโนดชุมชนหรือกรรมสิทธิรวม ต่อมาเมื่อปี 2556 โดยคำสั่งของ ส.ป.ก. ส่วนกลาง ให้รังวัดพื้นที่ให้กับชาวบ้าน หากชาวบ้านอยู่กันไม่ถึง 5 ไร่ ส.ป.ก.ก็รังวัดให้ตามพื้นที่จริง จึงทราบกันว่าส่วนไหนเป็นของตนเอง แต่เมื่อนโยบาย คสช. โดย  คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจะจัดตรงนี้ใหม่ โดยแต่แรกตั้งธงมาว่าจะเซตซีโร่ให้คนออกให้หมด กวาดพื้นที่และจัดผังใหม่หมด โดยแนวผังใหม่คล้ายๆ ว่าจะทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่ติดถนนก็จะให้คนมาอยู่ และจะจัดแปลที่ดินคนละ 5+1 โดยให้ที่ดินทำกิน 5 ไร่ ที่บ้าน 1 ไร่ ขณะที่แต่เดิมที่ชาวบ้านอยู่กันแล้วคนละ ไร่ครึ่ง 2 ไร่ครึ่ง ที่ ส.ป.ก.ไปรังวัดให้นั้น มันจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน
 
ธีรเนตร อธิบายผลกระทบเพิ่มเติมว่า สมาชิก สกต. มีอยู่ 200 ครอบครัว ขณะที่ในพื้นที่ดังกล่าวมีกว่า 1,000 ครอบครัว เราถือพื้นที่เฉลี่ยนคนละ 2 ไร่ครึ่ง แต่ คสช. จะนำมาจัดคนละ 5 ไร่ แม้จะได้มากกว่า แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ซึ่งใน 2 ไร่ครึ่งนั้นต้องให้เพิ่มคนหนึ่งถึงจะได้ 5 ไร่ แต่คนหนึ่งก็ต้องออกมา จึงทำให้คนที่เหลือได้ 1 สิทธิ ดังนั้นชาวบ้านจึงมาตกลงกัน และขอใช้ผังถนนเดิม แค่ปรับปรุงถนนที่มีอยู่เดิมให้ใช้งานได้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ตัดถนนใหม่และต้องทำลายสวนที่ชาวบ้านปลุกไว้ นอกจาก สกต. มีกลุ่มอื่น ก็ให้ ส.ป.ก.ช่วยดูแลคนกลุ่มนี้นำที่ดินที่เหลืออยู่ด้านบนเป็นหมื่นไร่ของ ส.ป.ก. นำมาจัดสรรให้คนที่เหลือ แทนที่จะให้นายทุนใช้
ภาพเมื่อ ส.ค.60
 
ตัวแทน สกต. กล่าวต่อว่า ชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นดังเดิม เป็นชาวบ้านที่เข้าไปต่อสู้เรียกร้องสิทธิมา แต่การต่อสู้ยืดเยื้อมาเป็น 10 ปีนั้น ก็มีการล้า รวมทั้งทรัพย์สินที่สะสมมาก็เริ่มหมดทุน ขณะนี้กลายเป็นชาวบ้านส่วนน้อยในพื้นที่ ส่วนชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่และไม่ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นประจำนั้น เมื่อมีการประชุมครั้งหนึ่งก็จะมาเป็นครั้งเป็นคราว แต่เนื่องจากพื้นที่นั้นมีจำนวน 1,700 ไร่ จึงมีหลายกลุ่ม ชาวบ้านก็แบ่งกันคนละ 1 ไร่บ้าง ไร่ครึ่งบ้าง โดยแวดล้อมของ 1,700 ไร่ มันก็มีแวดล้อมของสวนปาล์มน้ำมันทั้งหมดตรงนั้น 13,000 กว่าไร่ ที่นายทุนใช้ ตอนนี้ก็ยังใช้ผิดกฎหมายอยู่ ซึ่งมีบริษัทย่อยหลายบริษัท  
 
ส่วนที่ ส.ป.ก. ระบุว่า มีสมาชิก สกต.ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดที่ดินที่ภาครัฐกำหนด ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้วนั้น  ตัวแทน สกต. กล่าว่า เป็นแนวร่วมของเรา แต่ไม่ใช่สมาชิกเรา ของเราก็จะฟ้องศาล ปกครอง เพื่อปฎิเสธ คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 โดยกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างคำฟ้องอยู่ 
 
ธีรเนตร กล่าว กล่าวว่า สกต. ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจัดที่ดินทำกิน ของ คสช. เพราะนโยบาย คสช. ให้ที่ดินทำกินกับชาวบ้านเพียง 5 ไร่ แต่ในความเป็นจริงของเกษตรกรในชนบทที่ประกอบอาชีพทำสวนปาล์มสวนยาง ฯลฯ 5 ไร่นั้น ต่อปีก็ได้ไม่มาก แต่สำหรับการทำเษตรแบบปราณีตมันต้องใช้ต้นทุนมากและมีแหล่งน้ำ การพัฒนาสาธารณูปโภคอะไรมากมาย ซึ่งเราไม่มีต้นทุนตรงนั้น
 
ตัวแทน สกต. กล่าวว่า เอาเข้าจริงเราเข้าไปก็ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่าเมื่อเราเข้าไปแล้วก็เดินเรื่องทางนโยบายตั้งแต่ปี 52 ตอนนั้นมีนโยบาย รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่อนผันในที่ดินจนกว่าจะแก้ปัญหา จนลากมาถึงปัจจุบันรัฐบาล คสช. 
 
เรื่องข้ออ้างที่ระบุว่า ศาลฎีกา ให้ ส.ป.ก.ชนะคดีนั้น ธีรเนตร กล่าวว่า เป็นคำพิพากษากับบริษัท และต่อมาบริษัทพยายามยื้อ และต่อมามีนโยบายตั้งแต่ปี 56  ที่ไม่ให้ต่อสัญญา
 
ธีรเนตร  กล่าวว่า คำสั่งศาลนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือชาวบ้าน เพราะเป็นคดีระหว่างบริษัทกับ ส.ป.ก. และเราไม่ใช่บริวารหรือพวกของกลุ่มบริษัทดังกล่าว และเจตนาที่กลุ่มตนเข้าไปก็คนละเจตนาที่บริษัททำ เราเข้าไปเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินตามนโยบายของ ส.ป.ก. แต่ด้วยความที่เราไม่มีที่อยู่เราจึงเข้าไปก่อนที่ สปก. จะประกาศ แต่ความเป็นจริงแล้ว สปก.ก็ยังไม่ประกาศ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประกาศ 

คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทย

Posted: 31 Dec 2017 07:17 AM PST

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานพรแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2561 ขอให้ชาวไทยทุกคนตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะรักษาคุณสมบัตินี้ให้เหนียวแน่น และทำความคิด จิตใจ ให้แจ่มใส ด้วยปัญญาที่กระจ่าง ปฏิบัติสรรพกิจน้อยใหญ่ในภาระ หน้าที่ ตามแนวพระบรมราโชบาย ในหลวงรัชกาลที่ 9 

 
31 ธ.ค.2560 เวลา 20.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2561 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ความว่า
 
"บัดนี้ถึงวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2560 ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ส่งความปรารถนาดี และอำนวยพรแก่ทุกๆ ท่าน ให้มีความสุข ความเจริญ ให้มีกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาที่แจ่มใส เข้มแข็ง ตลอดจนประสบแต่ความสุข ความเจริญ อันเป็นมงคลยิ่ง ๆ ขึ้นไป
 
ในรอบปีที่แล้ว บ้านเมืองของเราได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ดังที่ท่านทั้งหลายก็คงจะตระหนักทราบดีอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้น เราคนไทยก็สามารถฝ่าฟันไปด้วยกันได้อย่างดี ด้วยความขันติ ใจเย็น ค่อยคิด ค่อยทำไป อย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่น ด้วยสติและเหตุผลอันพอเหมาะพอควร เพื่อประโยชน์และความสุขของประเทศชาติและประชาชน
 
ขอพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง จงปกป้อง คุ้มครอง รักษา และให้ขวัญกำลังใจต่อทุกท่านถ้วนหน้า ในการที่จะเป็นพลังที่เข้มแข็งต่อประเทศและชาติบ้านเมืองของเราสืบต่อไป"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #190 ปมหญิงร้ายในภาพยนตร์และการ์ตูน Superhero

Posted: 31 Dec 2017 03:40 AM PST

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พูดคุยกับภาวิน มาลัยวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงปมภายในตัวละครร้ายที่เป็นผู้หญิงในภาพยนตร์และการ์ตูนแนว Superhero โดยเฉพาะ Hela จากภาพยนตร์ Thor: Ragnarok (2017) ที่สวนกระแสเข้ามามีพื้นที่ในภาพยนตร์และการ์ตูนคอมิกส์ที่เป็นพื้นที่ครอบงำของผู้ชาย นอกจากนี้พล็อตเรื่องของ Hela ยังไปได้ไกลโดยเป็นตัวร้ายที่ร้ายได้สุดๆ ไม่ต้องเป็นตัวละครแบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายแบบ Jane Foster หรือ Cat Woman

นอกจากนี้ Hela เองก็ไม่ต้องพึ่งปมความขัดแย้งช่วงชิงในครอบครัว หรือสืบทอดความสามารถพิเศษมาจากตระกูลแบบ Wonder Woman ฯลฯ อะไรเป็นแรงจูงใจผลักดันตัวละครแบบ Hela ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai 
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ระบุถ้ายังมีความขัดแย้งสูงเลือกตั้งได้หรือเปล่าไม่รู้

Posted: 31 Dec 2017 02:20 AM PST

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุถ้ายังมีความขัดแย้งสูงเลือกตั้งได้หรือเปล่าไม่รู้ ไม่ได้เลื่อนแค่ปรามพวกจ่อป่วน แจงคำสั่ง ม.44 แค่ให้มีสมาชิกพรรค 500 คนใน 30 วัน ชี้พูดกับทุกพรรคให้ไปหาคนใหม่ที่สังคมยอมรับ ยืนยันยังไม่มีใครมาทาบทามนายกคนนอก อาจไม่ใช่ตนก็ได้ 

 
 
 
31 ธ.ค. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่าปีใหม่ปีนี้ได้บอกกับทุกคนว่าไม่ต้องมาอวยพร และมอบของขวัญให้ตน ขอให้ทุกคนกลับไปดูแลและอวยพรลูกน้องและคนที่รักดีกว่า อีกทั้งตนมีพรให้กับเขาเสมอ ส่งการ์ดส่งความปรารถนาดีไปให้ ซึ่งเขาก็ส่งการ์ดอวยพรกลับมาก็พอใจแล้วถือว่าเป็นการระลึกถึงกัน และขอร้องว่าอย่าไปคิดว่าตนไม่ให้ความสำคัญกับเทศกาลสำคัญเช่นนี้ สำหรับตนเทศกาลปีใหม่ถือเป็นประเพณีที่สำคัญ เราก็ส่งใจถึงกันตลอดเวลา มีการส่งการ์ดถึงกัน ตนไม่ต้องการเป็นภาระในช่วงปีนี้เพราะต้องการใช้เวลาเพื่อคิดเรื่องต่างๆ มากมาย
 
"หลายคนก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมผมไม่รับการอวยพร ผมก็บอกว่าขอเถอะสำหรับปีนี้ ขอให้ท่านไปดูแลคนอื่นๆ ดูแลครอบครัว และผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีที่สุด ของขวัญผมไม่ได้ต้องการ พอแล้ว ของขวัญก็มีดอกไม้ ผลไม้ ขอให้เอาไปให้ผู้ใหญ่ที่ตัวเองนับถือ ไม่เช่นนั้นป่านนี้ก็ต้องมายืนรออวยพรเป็นแถวผมก็กลายเป็นภาระของพวกท่าน" นายกรัฐมนตรีกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามปีใหม่ปีนี้มีสิ่งใดที่ไม่อยากได้บ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่อยากได้ความไม่สงบสุข ผมไม่อยากได้ความขัดแย้ง ในวันข้างหน้าเมื่อผมไม่เป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง อย่าไปคิดว่าผมจะเป็นอย่างอื่น ผมหมดหน้าที่ก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ผมก็อยากได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ผมอยากได้นักการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เดินหน้าวางแผนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้กว้างๆ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติรายละเอียดไม่ได้มีการบังคับอะไรกับใคร มีแต่หัวข้อว่าทำอะไรก็เพียงขอให้อยู่ในกรอบและขอให้ทำให้คนไทยทุกคนมีความสุข พ้นจากความยากจนในทุกๆด้าน ทั้งจนความรู้ จนที่ดิน ในปีหน้ามีเรื่องต้องทำอีกมาก เพราะถ้าเรายังทำแบบเดิมเราก็จะเป็นแบบเดิมคือการเอาเงินลงไปให้ลงไป เป็นมาตรการบรรเทาเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ยั่งยืน ถ้าจะให้ยั่งยืนต้องทำแบบที่ผมทำ ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางในแต่ละกลุ่ม เพราะความต้องการของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน และต้องไม่เป็นการผูกขาดประชาชนต้องได้รับประโยชน์ที่ดีขึ้น ก็เป็นการคาดหวังของผม"
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่ตนคาดหวัง คือ 1. การลดความยากจน ลดความเดือดร้อน 2. การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ไม่มีความขัดแย้งอีกต่อไป 
 
"ทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ ผมประกาศไว้เลยสถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง การเลือกตั้งได้หรือเปล่า ผมไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้มันเกิดขึ้น ผมไม่ได้เป็นคนทำ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งก็ขอให้มีความสงบสุขเรียบร้อย ถ้าไม่สงบเลือกแล้วถ้าเลือกตั้งไปแล้วยังมีการตีกันอยู่ ผมก็รับผิดชอบไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพียงแต่พูดปรามไว้สำหรับคนที่จะสร้างความวุ่นวาย ประชาชนเองก็ต้องดู ถ้าใครทำตัวแบบนี้ก็อย่าไปยุ่งหรือสนับสนุน ไม่เช่นนั้นก็จะผิดกันไปหมด ขอร้องอย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน มีเส้นทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยก็ไป" นายกรัฐมนตรีกล่าว
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ทุกฝ่ายชื่นชมประเทศไทยว่ามีเสถียรภาพดี มีความสงบเรียบร้อยไม่มีความขัดแย้ง เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง ขอร้องว่าอย่าเอาการเมืองมาเป็นทุกอย่างของประเทศไทย เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ไม่มีเลิก เพราะทุกคนก็คาดหวังว่าจะเข้าสู่การเมือง ส่วนจะตีกันต่อไปอย่างไรตนก็ไม่สามารถตอบได้ วันข้างหน้าอีกพรรคหนึ่งได้อีกพรรคจะยอมรับได้หรือไม่ตนก็ไม่รู้ ตอบไม่ได้ เพราะปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
 
"จำได้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาเคยเกิดเรื่องมาแล้วจาก 2 พรรคใหญ่ แล้วอนาคตข้างหน้าจะแก้ปัญหาอย่างไร ยังไม่มีใครบอกผมเลย แต่ทุกวันนี้กลับมาตีผม ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจ วันนี้ท่านต้องแสดงออกว่าท่านจะไม่ทำหรือสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมาอีก ขอร้องว่าอย่าพูดอย่างเดียวขอให้ทำด้วยแล้วประชาชนก็ต้องไปดู ไม่ใช่ว่ากลายมารุมตีผม ผมยังไม่รู้ว่ามาตีผมเรื่องอะไร ผมก็พูดกับทุกคน" นายกรัฐมนตรีกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจเป็นเพราะคำสั่งในมาตรา 44 เกี่ยวกับเรื่องระยะเวลา 30 วันในการรับรองการเป็นสมาชิกพรรค พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ยืนยันว่าผมไม่ได้สลายความเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง คนที่เป็นสมาชิกพรรคอยู่ก็สามารถมาลงใหม่ก็ได้ หากบอกว่ามีข้อแม้เรื่องระยะเวลา ก็ขอชี้แจงว่าระยะเวลาที่กำหนดให้เวลา 30 วันที่อย่างน้อยต้องมีสมาชิกพรรค 500 คน ทุกคนก็มาลงสมัครได้ แล้วที่เหลือจะไปกลัวอะไร ทุกคนก็สามารถมาลงสมัครเป็นสมาชิกได้ตลอด 4 ปี ไม่ใช่หรือ ถ้าคิดว่าสมาชิกเหล่านั้นยังอยู่กับคุณจริงๆ ก็ต้องมั่นใจว่าเขาจะอยู่กับคุณ แล้วที่ออกมาประกาศว่าทุกคนเกิดมาอยากตายไปกับประชาธิปไตยกับพรรคนี้พรรคนั้น แล้วจะไปกลัวอะไร"
 
เมื่อถามต่อว่า อาจเป็นเพราะกลัวว่าในช่วงที่มีช่องว่างนี้สมาชิกพรรคเดิมจะย้ายไปอยู่พรรคใหม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเพราะตัวเองที่อุดมการณ์สู้เขาไม่ได้หรือเปล่า ที่บอกว่าตัวเองดีกว่ามีคนมาอยู่มากกว่า สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ถ้าดีจริงสมาชิกพรรคเหล่านั้นก็ต้องอยู่ แล้ววันนี้สิ่งสำคัญตนไม่ได้ต้องการไปรีเซ็ตอะไร แต่ต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าคำว่าสมาชิกพรรคเป็นอย่างไร แม้ว่ากฎหมายฉบับใหญ่จะมีผลบังคับใช้แล้วและตนก็ไม่ได้ไปละเมิดหรือล้มกฎหมาย และไม่ต้องการไปแก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะเขาต้องการหวังผลระยะยาว เราต้องหาวิธีการปฏิบัติเพื่อเดินไปสู่ตรงจุดที่ไม่มีปัญหาให้ได้ ระหว่างนี้เมื่อกฎหมายยังมีปัญหาก็ต้องมาดูว่าระยะนี้ทำแบบนี้ได้หรือไม่ แกะออกมาให้ได้ว่าคนที่จะเป็นสมาชิกพรรคก็ให้ยืนยัน มีการลงชื่อและมีหลักฐานให้เห็น เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องไม่มีหลักฐานชัดเจนเพราะอยู่ที่พรรคทั้งหมด เพราะเราไม่ได้ให้เขาเก็บเงินจากสมาชิกพรรค รัฐบาลเป็นคนเก็บให้โดยการหักภาษี เมื่อคนถูกหักภาษียังไม่กาเลยว่าสนับสนุนพรรคไหน ดังนั้นต้องมีการเคลียร์เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพียงแค่นี้มันมีปัญหาอะไร
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกคำสั่งครั้งนี้มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังรวบรวม กอบโกยนักการเมืองเพื่อตั้งพรรคการเมือง หรือพรรคทหาร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "พรรคทหาร พรรคอะไร เรื่องนี้สื่อต้องให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย สมมติจะใครก็ตามไปรวบรวมคนแล้วตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วลงเลือกตั้ง ถ้าประชาชนไม่เห็นดีเห็นงามเขาจะเลือกเข้ามาหรือ ถ้าคนห่วยๆ เข้าจะเลือกมั้ย ผมถึงบอกว่าดูนักการเมืองใหม่บ้าง คนเก่าถ้ามันดีอยู่พรรคไหนก็เลือกเข้าไป แต่ถ้าคนใหม่ดีกว่าก็เลือกคนใหม่ก็จบ ทำไมต้องมานั่งคอยระวังผม คนนั้นคนนี้ ไม่ดูว่าคนเหล่านั้นทำประโยชน์อะไรหรือไม่ดีกว่า อาจจะมีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่หรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนเดิม ผมพูดกับทุกพรรคการเมืองว่าไปหาคนใหม่ที่สังคมยอมรับมา สังคมก็ยอมรับได้ ถ้าเป็นคนดี แต่ถ้าอยู่แบบเดิมๆ ก็ตีกันเหมือนเดิม"
 
เมื่อถามว่า สรุปแล้วจะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมจะตั้งทำไม ผมตั้งได้หรือ"
 
เมื่อถามต่อว่า แล้ววันนี้มีคนตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็เห็นมีหลายคนประกาศสนับสนุนผมก็ตั้งไปซิ แต่ผมจะรับหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย เรื่องนี้เขาต้องถามผม วันนี้เขายังไม่ได้ตั้ง และยังไม่เข้าสู่วันเลือกตั้งก็ยังไม่มีใครมาถามผม ก็ได้แต่พูดกันไป แล้วผมจะรับหรือเปล่าผมก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ สถานการณ์เป็นตัวกำหนดทุกอย่างนะอย่าลืม ผมไม่ได้หมายความว่าคนอื่นเขาทำไม่ได้แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ประชาชนจะร่วมมือกับใคร คนที่เขาร่วมมืออยู่แล้วผมจะเข้าไปได้อย่างไร และวันนี้ผมไม่ได้ลงเลือกตั้งเองนี่ มากลัวผมอยู่นั่นว่าผมจะเข้าไปเป็นนายกฯ คนนอก แล้วไอ้คนในต้องหาให้เจอก่อน คนนอกอาจจะไม่ใช่ผมก็ได้มันมีตั้งหลายคนเขาอาจจะหาคนอื่นเข้ามาก็ได้ ทำไมต้องมากลัวผม วันนี้ผมมาได้ทำงานเพื่อการเมืองในวันข้างหน้า ผมทำงานเพื่อประชาชนให้มีความรัก ความสามัคคี ลงพื้นที่ก็ไปพูดคุยเพื่อต้องการให้เขาคลายเครียด คลายความกังวล และมั่นใจ อีกทั้งผมก็คลายเครียดตัวเองลงด้วย ได้หัวเราะ ได้พูดคุยและได้ทำอะไรตลกๆ ออกมา ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ผมก็ไม่ตลกเท่าไหร่ พอตลกไปก็เป็นเรื่องจริงไปหมด ความจริงผมเป็นคนอารมณ์ดี ตลก ผมพูดตลกเก่งนะ"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าปีใหม่นี้ไปเที่ยวที่ไหนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้ไปไหน อาจตีกอล์ฟใกล้ๆ แถวนี้ แต่ไม่ไปต่างจังหวัดแล้ว ปีใหม่หรือวันสำคัญ เราต้องตั้งสติให้ดี ยึดมั่น ภาวนาให้บ้านเมืองสงบสุข ตนทำเช่นนี้มาทุกปี ไม่เคยไปไหนมาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่เป็นแม่ทัพ เพราะสถานการณ์ก็เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ก็ไม่ได้ไปไหน ไปห้างฯ ก็ไปเพียงเปิดงานและจากนั้นก็ไม่เคยไปไหนอีกเลย ครอบครัวก็ไม่เคยไปไหนด้วยกัน เพียงแต่อยู่บ้านด้วยกัน กลายเป็นว่าเวลาส่วนตัวหายไป เพราะถ้าไปไหนก็อาจเป็นปัญหาพอเจอกับใครก็มีปัญหา หรือไปไหน รปภ.ก็ต้องไปดูแล ตนไม่อยากรบกวนอยากให้เขาได้กลับบ้าน อย่างมากก็แค่ไปเล่นกีฬา กินข้าวกับครอบครัวเงียบๆ เล็กๆ หรือไปกับเพื่อนๆ บ้างแต่ไม่ไปในที่สาธารณะ ชีวิตตนมีแค่นี้ ที่เหลือก็คิดเรื่องงานโดยเฉพาะในปีหน้ามีงานให้คิดและทำอีกมากโดยเฉพาะเรื่องของความยากจน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: เทียบงบรักษาสุขภาพประเทศไทย 3 ระบบ | บัตรทอง-สิทธิข้าราชการ-ประกันสังคม

Posted: 31 Dec 2017 01:44 AM PST

สุขภาพปี 2561 ของคนไทยจะเป็นอย่างไร ชวนเทียบงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย 3 ระบบได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม โดยสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการยังคงได้งบอุดหนุนรายหัวสูงสุดอยู่ที่ 12,676.06 บาทต่อคน หลักประกันสุขภาพได้งบประมาณสูงสุดคือ 1.26 แสนล้านบาท ดูแลประชาชน 48.8 ล้านคน เมื่อเฉลี่ยรายหัวแล้วอยู่ที่ 2,592.89 บาท

โดยเมื่อพิจารณาแยก 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว และกองทุนประกันสังคม มีรายละเอียดดังนี้

คลิกที่นี่เพื่อชมภาพขนาดใหญ่

1. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ในปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบประมาณ 126,533.13 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.36 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ครอบคลุมประชาชน 48.8 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 2,592.89 บาทต่อคน

สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน 100% ควบคู่กับระบบร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทมาตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 แต่มีช่วงที่ยกเลิกระบบร่วมจ่ายและให้รักษาฟรีช่วงสั้นๆ คือปี 2549-2555 ก่อนกลับมาใช้ระบบร่วมจ่าย 30 บาทจนถึงปัจจุบัน

สิทธิบัตรทองสำหรับประชาชนจะได้ตั้งแต่แรกเกิด และสิ้นสุดสิทธิเมื่อได้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นทดแทนไม่ว่าจะเป็นบัตรประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ ผู้ถือบัตรทองเข้ารับการบริการสาธารณสุขได้ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่เป็นคู่สัญญา โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต (อ่านคู่มือ)

2. งบรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว

ในปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบประมาณ 63,000 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในงบกลางตามมาตรา 49 "ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ และครอบครัว" มีผู้มีสิทธิประมาณ 4.97 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 12,676.06 บาทต่อคน

โดยผู้มีสิทธิใช้สวัสดิการนี้ได้แก่ ข้าราชการและครอบครัว ได้แก่ บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ และไม่นับบุตรบุญธรรม รวมทั้งคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุน 100% แต่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเกินสิทธิกำหนด สำหรับโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วม โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังดูแล

สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2521 มีการปรับปรุงแก้ไขอีกหลายฉบับ โดยปัจจุบันใช้พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และใช้ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555

สำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะสิ้นสุดเมื่อไม่ได้รับราชการ ส่วนสมาชิกครอบครัวหากมีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วจะไม่สามารถใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้ (อ่านคู่มือ)

3. กองทุนประกันสังคม

โดยในรายงานผลสถานะกองทุนประกันสังคม ประจำเดือนกันยายนปี 2560 มีงบประมาณจากรายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 48,544 ล้านบาท โดยมีผู้ประกันตน 14.47 ล้านคน เฉลี่ยงบประมาณอยู่ที่ 3,354.80 บาทต่อคน

ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมเริ่มดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล มาตั้งแต่ปี 2534 โดยในเดือนกันยายนปี 2560 เงินกองทุนสะสมกองทุนประกันสังคมตามงบการเงินมีจำนวน 1,809,225 ล้านบาท

โดยประกันสังคมถือเป็นสวัสดิการทางสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคี รัฐบาลอุดหนุน 33.33% ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบโดยผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน และจะสิ้นสุดสิทธิประกันสังคมเมื่อขาดส่งเงินสมทบมากกว่า 3 เดือน โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกโรงพยาบาลได้ 1 แห่ง และสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี

นอกจากสิทธิในการรักษาพยาบาลแล้ว กองทุนประกันสังคมยังมีสิทธิประโยชน์กรณีผู้ประกันตนทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร บำเหน็จและบำนาญชราภาพ และกรณีว่างงาน โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิเป็นไปตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบที่ระเบียบกำหนดไว้ (อ่านรายละเอียด)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลูกค้าธนาคารโวย ระบบ 'พร้อมเพย์' ล่มส่งท้ายปี

Posted: 31 Dec 2017 01:43 AM PST

เกิดปัญหาขัดข้องกับระบบการโอนเงิน 'พร้อมเพย์' ของธนาคารหลายแห่ง โดยไม่สามารถรับและโอนเงินข้ามธนาคารได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตามธนาคารแต่ละแห่งได้ชี้แจงให้กับลูกค้าผ่านเฟซบุ๊กแล้ว

 
 
 
31 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าได้เกิดปัญหาขัดข้องกับระบบการโอนเงิน 'พร้อมเพย์'  ของธนาคารหลายแห่ง โดยไม่สามารถรับและโอนเงินข้ามธนาคารได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารแต่ละแห่งได้ชี้แจงให้กับลูกค้าผ่านเฟซบุ๊กของแต่ละธนาคาร โดยระบุว่า ระบบพร้อมเพย์ร่วมของธนาคารขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถโอนเงินพร้อมเพย์ระหว่างธนาคารได้ชั่วคราว และกำลังอยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งระหว่างนี้ท่านสามารถโอนตามช่องทางอื่นยกเว้นพร้อมเพย์ได้ตามปกติ
 
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการระบบพร้อมเพย์ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจธนาคารอย่างมาก เนื่องจากลูกค้าบางรายเจอปัญหาตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งได้มีการโทรไปร้องเรียนศูนย์บริการ ใช้เวลารอสายนาน ขณะเดียวกัน ประชาชนยังเกิดปัญหาในการชำระหนี้ผ่านระบบพร้อมเพย์ เนื่องจากเป็นวันกำหนดชำระเงินในวันสุดท้าย ซึ่งอาจถูกปรับจากการจ่ายล่าช้าด้วย
 
ทั้งนี้ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่าสำหรับบริการพร้อมเพย์ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเนชั่นแนล อี เพย์เมนท์ (National E-Payment) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด พัฒนาระบบกลางที่เชื่อมระหว่างธนาคาร และผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ของประเทศไทย ซึ่งบริษัทดังกล่าว ก่อนหน้านี้เป็นผู้พัฒนาระบบโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคารผ่านระบบ ORFT (Online Retail Funds Transfer) ผ่านเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ โดยเสียค่าธรรมเนียม 25-35 บาทต่อครั้ง ก่อนจะพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ให้สามารถโอนเงินหากันได้ฟรีเมื่อมียอดเงินโอนต่ำกว่า 5,000 บาท ส่วนเกินคิดค่าธรรมเนียมถูกลง 2-10 บาทต่อครั้ง
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อเวลา 14:59 น. ว่านางจันทวรรณ สุจริตกุล โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท. ได้รับรายงานเรื่องปัญหาข้อติดขัดการโอนเงินในระบบพร้อมเพย์ที่ไม่สามารถโอนเงินต่างธนาคารได้ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 7.00 น และได้ประสานกับทางบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการกลางของระบบธนาคารที่ให้บริการ เบื้องต้นทราบสาเหตุของข้อติดขัดแล้วและกำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันที่ 3 รณรงค์ขับรถมีน้ำใจฯ เสียชีวิตรวม 167 ราย

Posted: 31 Dec 2017 12:50 AM PST

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน แถลงข่าวสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน เกิดอุบัติเหตุ 1,702 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 167 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,793 คน สาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด และทัศนวิสัยไม่ดี

 
31 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าพลตำรวจตรี เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 30 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 649 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 73 ราย ผู้บาดเจ็บ 688 คน สาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับ ร้อยละ 47.92 รองลงมาขับรถเร็วเกิดกว่ากำหนด ร้อยละ 21.88 โดยยาพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.77 รองลงมาเป็นรถปิคอัพ ร้อยละ 8.07 ทำให้ยอดรวม 3 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,702 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 167 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,793 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงที่สุด คือ เชียงใหม่ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ศรีสะเกษ และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด คือ บุรีรัมย์
 
พลตำรวจตรี เอกรักษ์ กล่าวด้วยว่า ตำรวจได้ตั้งจุดตรวจหลัก 2,010 จุดทั่วประเทศ เรียกตรวจยานพาหนะแล้ว 762,143 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 132,995 ราย ความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 38,271 ราย ไม่มีใบขับขี่ 36,662 ราย ทั้งนี้ ยังแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่ตำรวจจะขอตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ว่าให้ปฏิบัติตาม เพราะหากไม่เป่าเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์แล้วตำรวจจะส่งฟ้องดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมาผลการพิพากษาร้ายแรงกว่าผู้ที่ยอมเป่าเครื่องตรวจวัดปริมาณแอกฮอล์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อภิสิทธิ์' แนะ คสช.ทบทวนตัวเอง

Posted: 31 Dec 2017 12:02 AM PST

'อภิสิทธิ์' ชี้ปี 2561 เป็นปีสุดท้ายของ คสช. แนะทบทวนตัวเอง ทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน หากไม่ทำชาติเสียโอกาส ชี้หากเลือกตั้งไม่เป็นตามโรดแมปต้องรับผิดชอบ

 
 
 
31 ม.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเมืองปี 2561 ว่าถือเป็นปีสุดท้ายของโรดแมปคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการทำงานและได้ประกาศจะมีการเลือกตั้งปลายปี ดังนั้นตนอยากให้ คสช.ทบทวนตัวเองโดยมองย้อนกลับไปวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่บอกคนไทยจะสร้างระบบของบ้านเมืองที่ปฏิรูปและมีความยั่งยืนคืนความสุขให้กับประชาชน โดยขอเวลาอีกไม่นาน เมื่อถึงปีสุดท้ายแล้วขอให้ทำตามสิ่งที่เคยบอกกับประชาชนว่าการปฏิรูปคืบหน้าไปถึงไหน บ้านเมืองจะเดินไปอย่างไร
 
"ปี 2561จะเป็นปีสุดท้ายที่ คสช.พูดได้ว่าปฏิบัติภารกิจลุล่วงให้คนไทยทั้งประเทศ แต่ถ้าไม่รีบทบทวนปีสุดท้ายของ คสช.จะจบลงด้วยการที่ประเทศสูญเสียโอกาสไปเป็นเวลา 4 ปี จึงอยู่ที่ คสช.จะเลือกว่าจะให้ประวัติศาสตร์จารึกผลงาน คสช.อย่างไร ถ้าทำไม่สำเร็จ คสช.ก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนตัวแล้วไม่มีความกังวลใด ๆ  แต่อยากให้ประเทศเดินหน้าด้วยการปฏิรูปและบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาล อย่าหยิบขึ้นมาเป็นเพียงแค่วาทะกรรม เพราะคนไทยอยากเห็นการกลับคืนสู่ภาวะปกติที่ไม่ย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม ๆ และการเลือกตั้งในปี 2561 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ คสช.ประกาศไว้เอง หากไม่เป็นไปตามนั้น คสช.ก็ต้องรับผิดชอบ ผมพูดด้วยความหวังดี อย่าให้สิ่งที่ประชาชนอดทนและให้โอกาสสูญเปล่า เพราะจะย้อนกลับมาเป็นปฏิกริยาที่ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น ความนิยมมีขึ้นมีลง เปลี่ยนแปลงได้เร็ว ความได้เปรียบเสียเปรียบการช่วงชิงอำนาจ ต่อรองสืบทอดหรือไม่อย่างไร ทุกยุคทุกสมัยมีคนคิด แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ไม่ตอบโจทย์ประเทศ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงผลงานปฏิรูปของ คสช.ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมาว่าจนถึงวันนี้คนไทยยังไม่ทราบว่าหลักการปฏิรูปของ คสช.คืออะไร ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องมีความชัดเจนก่อน เพราะถ้าจะปฏิรูปต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างการมีส่วนร่วม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีส่วนไหนเดินหน้าในลักษณะดังกล่าว ดังนั้นการปฏิรูปไม่สามารถสำเร็จได้ในรัฐบาลนี้ เพราะการปฏิรูปจะสำเร็จได้ ประชาชนต้องรู้สึกว่าเป็นเจ้าของการปฏิรูปนี้ และปกป้อง จึงเป็นเรื่องป่วยการที่จะนำมาตรการหรือกฎหมายใดมาบังคับให้ต้องทำตาม เพราะรัฐบาลใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนหวงแหน ดังนั้นปีสุดท้ายนี้ คสช.ต้องทำให้ชัดเจนเรื่องหลักการปฏิรูปและดึงประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อบีบบังคับพรรคการเมืองว่าต้องปฏิรูปต่อเนื่อง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-31 ธ.ค. 2560

Posted: 30 Dec 2017 11:46 PM PST

กสร. เตือนลูกจ้างวางแผนเดินทางช่วงหยุดยาวปีใหม่ กันปัญหาเลิกจ้าง

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่สถานประกอบกิจการหลายแห่งได้ประกาศวันหยุดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวัน เพื่อให้ลูกจ้างเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว และร่วมกิจกรรมตามประเพณีนิยม กสร. ขอฝากเตือนไปยังลูกจ้างทุกท่านที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงปีใหม่นี้ ขอให้วางแผนการเดินทางไปกลับเพื่อความสะดวก ปลอดภัยและกลับมาทำงานทันตามวันเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น เพราะอาจทำให้ลูกจ้างถูกลงโทษทางวินัยและอาจเป็นสาเหตุให้นายจ้างบอกเลิกจ้างได้

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ได้กำหนดกรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม

โดยไม่มีเหตุอันสมควรนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นจึงขอให้ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างเคร่งครัด

ที่มา: Nation TV, 30/12/2560

ไฟไหม้โรงงานนิคมฯลำพูน พบโรงผลิต-เก็บสารเคมีวอด จนท.-พนักงานเจ็บรวม 5 คน

(30 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานบริษัทช้าฟเนอร์อีเอ็มซี จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ฝั่งตะวันออก เมื่อเวลา 09.10 น.เศษที่ผ่านมา ซึ่งเพลิงลุกไหม้จากอาคารเก็บวัสดุและสารเคมี มีการระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง

หลังเกิดเหตุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระดมรถดับเพลิงจากหลายท้องที่ในลำพูน รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ และรถเคมีโฟมจากศูนย์ ปภ.เขต 10 ลำปาง รวมกว่า 20 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 100 นายเข้าควบคุมเพลิง ซึ่งภายในบริษัทฯ มีทั้งห้องสำนักงาน โรงผลิต-ประกอบชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์-โรงเก็บวัตถุสารเคมีอีกจำนวนมาก ที่ถูกเพลิงลุกไหม้ และระเบิดเสียงดังเป็นระยะๆ จนเจ้าหน้าที่ต้องถอยออกมาฉีดสกัดเพลิงด้านนอก

ต่อมานายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ , ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาอำนวยความสะดวกในการควบคุมเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ด้วย โดยมีการประสานรถดับเพลิงขนาดใหญ่และรถที่สามารถฉีดสารเคมีควบคุมเพลิงมาสมทบเป็นระยะ

เบื้องต้นพบว่า ขณะเกิดเหตุเป็นวันหยุดประจำปี ไม่มีพนักงานมาทำงาน มีเพียงยามรักษาการและพนักงานที่เกี่ยวข้องบางคนเท่านั้น แต่มีเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิงด้านในถูกแรงระเบิดของสารเคมี บาดเจ็บเพิ่ม 5 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 4 คน หนึ่งในนั้นคือ นายกัมปนาท ศักดิ์ศรี อายุ 34 ปี จนท.ดับเพลิงเทศบาลมะเขือแจ้ บาดเจ็บด้านหลัง เนื่องจากแรงระเบิด อีกรายเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานของบริษัทที่มาดูเหตุการณ์ เป็นผู้หญิงไม่ทราบชื่อ ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อมือและนิ้วฉีกขาดถึงเส้นเอ็น ถูกนำตัวไปรักษาอาการบาดเจ็บแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบชื่อ

กระทั่งเวลาประมาณ 11.09 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงอยู่ในวงจำกัดแล้ว หลังจากที่เปลวเพลิงลุกลามไหม้อาคารโรงงานนานราว 2 ชั่วโมง เบื้องต้นมีอาคารของโรงงานถูกเพลิงไหม้เสียหาย 1 หลัง แต่ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ส่วนสาเหตุยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า บริษัทช้าฟเนอร์อีเอ็มซีฯ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในเครือของบริษัทแม่จากสวิสเซอร์แลนด์ มีประกันอัคคีภัยอยู่ด้วย ขณะที่ผู้บริหารบริษัทฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จะประชุมหารือกันในช่วงบ่ายวันนี้(30 ธ.ค.) เพื่อสรุปข้อมูลความเสียหาย เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า จะเปิดเดินเครื่องการผลิต หลังหยุดปีใหม่ได้หรือไม่ต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/12/2560

กสร.เร่งประสานหาข้อยุตินายจ้างลูกจ้าง บ.มิตซูบิชิ เหตุไม่ใช่เลิกจ้าง หากประนีประนอมกลับทำงานได้ตามเดิม

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทยปิดงาน จนลูกจ้างออกมาเรียกร้อง ว่า กรณีไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งกรณีทางลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวมีข้อเรียกร้องขอให้มีการจ่ายโบนัส และปรับค่าจ้างประจำปี แต่ทางบริษัทเห็นว่าควรเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรมากกว่า ซึ่งความเห็นยังขัดแย้งกันมีการคุยกันหลายรอบแต่ตกลงไม่ได้ เลยมีการให้พนักงานไปไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าหากประนีประนอมกัน 5 ครั้งยังไม่ได้ข้อยุติก็ให้สิทธิลูกจ้างสามารถสไตรท์ได้ และให้สิทธินายจ้างปิดการผลิตชั่วคราวจนกว่าจะมีข้อยุติร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของการเลิกจ้าง ทั้งคู่ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิต ไม่มีค่าจ้างเกิดขึ้น ถ้าคุยกันได้ข้อยุติทุกอย่างก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

"ถ้าเป็นเรื่องที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายอันนี้ กสร.สามารถสั่งให้ บริษัทจ่ายให้ลูกจ้างได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เรื่องโบนัส เรื่องการปรับค่าจ้างประจำปีนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด กสร.ไปสั่งใครไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องตกลงกัน ถ้าตกลงกันยังไม่ได้กฎหมายให้ให้สิทธิทั้ง 2 ฝ่ายอยู่แล้ว ลูกจ้างสไตรท์ได้ นายจ้างปิดการผลิตไม่จ่ายเงิน แต่สิ่งที่ กสร. จะเข้าไปช่วยเหลือคือการประสานให้มีการเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด และให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายแก่ทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นการทำผิดกฎหมายต่ออีกฝ่าย" นายอนันต์ชัย กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/12/2560

'มิตซูบิชิ' ประกาศปิดงานหยุดจ่ายค่าจ้าง-สวัสดิการ

นายนิคาสึ อิชิคาว่า ประธานบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในประกาศเรื่อง "ขอใช้สิทธิปิดงานงดจ้าง" ส่งถึงประธานสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิฯ และสมาชิกสหภาพ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดชลบุรี โดยระบุว่า

ตามที่สหภาพแรงงาน มิต​ซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ประจำปี 2560 ตามหนังสือเลขที่ สมอท.058/2560 ลงวันที่ 7 กันยายน 2560 ต่อบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็ดทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ทำการเจรจาร่วมกัน 7 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติตกลงกันได้ ต่อมาสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ ประเทศไทย ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงาน ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดหมายผู้แทนการเจรจาทั้งสองฝ่าย ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน โดยมีการไกล่เกลี่ยตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2560 รวม 10 ครั้ง แต่ผลการเจราจาทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 บริษัทฯ จึงขอใช้สิทธิปิดงานเฉพาะข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการอื่นใดให้กับมวลชนสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะตกลงกันได้ สำหรับลูกจ้างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องให้เข้าทำงานและได้รับค่าจ้างตามปกติ

ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ​ ได้ปรับโครงสร้างการปรับเงินเดือนใหม่ จากเดิมเคยให้ฐานเงินเดือนเฉลี่ยเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อคน ทำให้เมื่อลูกจ้างบวกลบค่าจ้างพบว่า ไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนขึ้น แต่เงินเดือนลดลง รวมถึงโบนัสที่เคยได้กลับไม่ได้ ทำให้ลูกจ้างราว 1,800 คน ได้เรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอเจรจาให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งได้เริ่มเจราจาตั้งแต่ ก.ย. เป็นต้นมา จนครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 27 ธ.ค. พบว่า ยังไม่มีข้อยุติ ทำให้ช่วงเช้าของวันนี้นายจ้างขอปิดงานงดจ้างลูกจ้าง โดยทั้งหมดเป็นฝ่ายผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ประกอบเครื่องปรับอากาศของยี่ห้อมิตซูบิชิเพื่อส่งออก มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. เป็นต้นไป ส่วนวันที่ 28 ธ.ค. ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานแต่ยังได้รับค่าจ้าง ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้ลูกจ้างไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ที่มา: แนวหน้า, 28/12/2560

ดีเดย์ มี.ค.2561 กยศ.เริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ข้าราชการ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กยศ.ได้เห็นชอบแนวทางการหักเงินเดือนแก่ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนตามกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าภายในเดือน มี.ค. 2561 จะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและรับเงินเดือนระบบของกรมบัญชีกลาง ซึ่งอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นกลุ่มแรกก่อน นำร่องหักเงินเดือนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบก่อน 1,000 คน โดยหักเงินเดือนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

ส่วนลูกหนี้ที่มีการผ่อนชำระปกติจะยังไม่มีการหักเงินเดือน แต่ให้ผ่อนชำระตามขั้นตอนปกติเหมือนเดิม หลังจากนั้นจะมีการขยายไปสู่การหักเงินเดือนข้าราชการส่วนอื่นๆ และลูกจ้างบริษัทเอกชนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2561 เนื่องจากเป็นลูกหนี้กลุ่มใหญ่หลายล้านบัญชีจึงต้องมีการพัฒนาระบบ และให้ความรู้กับนายจ้างเอกชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ปัจจุบันมีข้าราชการเป็นลูกหนี้กับ กยศ.ประมาณ 1.5 แสนราย ซึ่งในปี 2560 กยศ.มีการฟ้องร้องลูกหนี้ทั้งระบบไป 1.3 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท

ที่มา: TNN24, 28/12/2560

ก.แรงงานจัดของขวัญ 9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน ส่งความสุขปี 2561 "9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ" สำหรับเป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไป โดย 9 รายการ ดังนี้

ชื่นชอบ ช่างแรงงาน โดยให้บริการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริการจุดพักรถ พร้อมให้บริการเครื่องดื่ม ผ้าเย็น นวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า จำนวน 77 แห่ง บนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2561

ชื่นชม ช่างประชารัฐ โดยจัดบริการช่างซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน จำนวนกว่า 1,000 คน เพื่อให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ เดินสายไฟฟ้า ซ่อมประปา ล้างเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีราคาถูก คุณภาพไว้ใจได้ มีความเต็มใจให้บริการ ด้วยมาตรฐานกระทรวงแรงงาน

ชื่นมื่น มีงานทำ โดยการจัดคู่คนให้ตรงงาน จัดหางานให้ตรงใจ จำนวนประมาณ 70,000 อัตรา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีตำแหน่งงานรองรับการทำงานของผู้สูงอายุ จำนวน 2,500 อัตรา

ชื่นบาน บ้านประชารัฐ โดยให้ผู้ประกันตนกู้ยืมเงินซื้อบ้านในโครงการบ้านประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 3 ปี รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยมีวงเงินที่จัดสรรให้ธนาคารฯ ดำเนินการ จำนวน 5,000 ล้านบาท

ชื่นใจ ค่าเลี้ยงดูบุตร โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร อายุไม่เกิน 6 ปี จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน ได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ดังกล่าว จำนวน 1,200,000 คน

ชื่นจิต สิทธิผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนแบบสมัครใจ ตามมาตรา 40 จำนวน 2,400,000 คน สำหรับที่จ่ายเงินสมทบในอัตรา 70 บาท และ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับการเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อนอนพักรักษาตัวจากวันละ 200 บาท เป็น 300 บาท

กรณีเสียชีวิตรับเพิ่มเงินสงเคราะห์อีก 3,000 บาท และเพิ่มทางเลือกใหม่จ่ายเงินสมทบเพียง 300 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 200 บาท ถึง 300 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี หากทุพพลภาพรับเงินเดือนละ 500 บาท ถึง 1,000 บาทตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตรับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท รับเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่เกินคราวละ 2 คน รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60 ปี

ชื่นสุข เรียกรับสิทธิ เพิ่มช่องทางเรียกรับสิทธิแรงงาน โดยให้บริการลูกจ้างยื่นคำร้องออนไลน์ ทางเว็บไซต์ www.labour.go.th เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และฮอตไลน์กระทรวงแรงงาน 1506

ชื่นชีวา ไร้โรคหน้าจอ โดยมอบ Application เพื่อรู้เท่าทันออฟฟิศซินโดรม โดยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจถึงสาเหตุและการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม ส่งเสริมให้คนในองค์กรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม

ชื่นตา อาสาแรงงาน เพื่อให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่สื่อกลางในการให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชน และสร้างความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งตำแหน่งงานว่างเพื่อการมีงานทำ จากเดิมที่มีอยู่กว่า 7,200 คน ทุกจังหวัด โดยเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ 50 เขต อีก 253 คน

ที่มา: ว๊อยซ์ทีวี, 27/12/2560

ยอมรับเงินอาจารย์มหาวิทยาลัยกับครูเหลื่อมล้ำ ชี้ขอขึ้น 8% ควรใช้กลไกปกติ

จากกรณีที่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) รวมตัวกันแต่งชุดดำออกมาเคลื่อนไหวให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา 8% เพื่อเยียวยาและลดความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนระหว่างครูและอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแลอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ยอมรับว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนครูกับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีความเหลื่อมล้ำ แต่หน่วยงานที่พิจารณาเรื่องนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานประมาณ ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ นายกฯ น่าจะมีการพูดคุยเรื่องดังกล่าว รวมถึงหารือร่วมกับก.พ.และสำนักงบประมาณด้วย

ส่วนที่ทาง ทปสท. เสนอให้ใช้อำนาจหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ดำเนินการเรื่องดังกล่าวนั้น ส่วนตัวคิดว่า เรื่องนี้น่าจะดำเนินการโดยใช้กลไกปกติ ส่วนม.44 ควรใช้ในเรื่องสำคัญที่ หากไม่เร่งดำเนินการภายในรัฐบาลนี้ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ใช่ว่า ทุกเรื่องจะต้องใช้ม.44 ทั้งหมด

"ผมว่าเรื่องนี้น่าจะแก้ไขโดยใช้กลไกปกติ อำนาจม.44 ควรเก็บไว้ใช้ในเรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ หากไม่ทำในรัฐบาลนี้ ก็อาจไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลอื่น อีกทั้งถ้าทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ต้องไปใช้ม.44 ทั้งหมด ผมเองก็เห็นใจนายกฯ โดยการแก้ไขเรื่องนี้ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษามีขวัญกำลังใจในการทำงาน พัฒนาการจัดการศึกษา ซึ่งปัจจัยเรื่องค่าตอบแทนก็ไม่ควรมีความเหลื่อมล้ำเกินไป"ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ส่วนความคืบหน้ากรณี พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กรณีจัดสรรงบเพื่อเลื่อนเงินเดือนให้พนักงานในสถาบันอุดศึกษา ประจำปีงบ 2560 ในอัตรา 4% ส่วนข้าราชการ 6% โดยขอให้กำหนดวงเงินการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาให้เท่ากับข้าราชการนั้น รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ แต่คาดว่าหลังปีใหม่น่าจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจ และพยายามจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อยากให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/12/2560

ผู้บริหาร-สหภาพฯทีโอทีแสดงจุดยืนเร่ง กสทช.อนุมัติแผนใช้คลื่น 2300 MHz-เตรียมร้องนายกฯ

รายงานข่าวจากบมจ.ทีโอที ระบุว่า เช้าวันนี้ พนักงานทีโอที นำโดยนายมนต์ชัย หนูสูง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที พร้อมทั้งสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงาน บมจ.ทีโอที รวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ ทีโอที และพนักงานทีโอทีทั่วประเทศรวมตัวกัน ณ ที่ตั้งในแต่ละจังหวัด เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้คลื่น 2300 MHz อย่างยุติธรรม โดยขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รีบดำเนินการตามข้อตกลงที่

บมจ.ทีโอที และ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตกลงร่วมมือกันพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 MHz แต่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กสทช. เลื่อนการพิจารณาร่างสัญญาการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจดังกล่าว

สหภาพ ทีโอที ระบุว่า กสทช.เป็นผู้กำกับดูแล Regulator มีเจตนากลั่นแกล้งและทำให้องค์กรรัฐเสียหาย ของให้ธำรงความเป็นธรรม ซึ่งจะนำมาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ทุกฝ่ายมิใช่เอกชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำหน้าที่คานอำนาจกับภาคเอกชนโดยหน่วยงานรัฐ

ในวันพรุ่งนี้ พนักงานจะไปติดตามทวงถามครั้งที่ 3 ที่สำนักงาน กสทช.ซอยสายลม อีกครั้ง ก่อนนำเสนอข้อเรียกร้องไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 26/12/2560

9 มทร.ถกปัญหาเงินพนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนครเปิดเผยว่าในวันที่ 4 มกราคม 2561 ทาง มทร.ทั้ง 9 แห่ง ได้นัดประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะประเด็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี2542ที่กำหนดให้จ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ สาย ก.และ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน สาย ข. และ สาย ค. โดยเงินเดือนที่รัฐจัดสรรให้แต่ละมหาวิทยาลัย จะเป็นรูปแบบของเงินหมวดอุดหนุนทั่วไป เพื่อให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัยนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างๆก็ปฏิบัติตามมติ ครม.แต่วิธีการปฏิบัติอาจจะแตกต่างกันไป ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่เข้าใจจึงได้เกิดการเรียกร้องขึ้น ดังนั้น มทร.9 แห่ง จะมาเสนอปัญหาที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเจอ และแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมทั้งเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงบประมาณ มาชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมติ ครม.และแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและให้ มทร.ทั้ง 9แห่งมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา: เดลินิวส์, 25/12/2560

ย้ำ!! ลูกจ้างควรได้หยุดยาว 4 วันช่วงปีใหม่

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 กำหนดให้วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561เป็นวันหยุดต่อเนื่องกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ กระทรวงแรงงาน โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดปีใหม่ จึงขอความร่วมมือให้นายจ้างพิจารณาจัดให้ลูกจ้างได้หยุดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2561เพื่อให้ลูกจ้างได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ณ ภูมิลำเนาของตนเอง และร่วมกิจกรรมตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา อีกทั้งขอให้ลูกจ้างที่เดินทางกลับภูมิลำเนาใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ งดดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะเดินทาง และขอให้เดินทางไปกลับด้วยความปลอดภัย

ทั้งนี้สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ได้ประกาศให้วันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นวันสิ้นปี และวันที่ 1 มกราคม 2516 เป็นวันขึ้นปีใหม่และวันหยุดตามประเพณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งหากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้วันที่ 2 มกราคม 2561 เป็นวันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณี

"สำหรับสถานประกอบกิจการประเภทงานขนส่งทางบก นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่พาหนะทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากจะให้ทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และในวันทำงานถัดไป ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเริ่มต้นทำงานก่อนครบระยะเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว" โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/12/2560

ยอดผู้ประกันตนใช้สิทธิประกันสังคม ม.ค.- พ.ย. 2560 กว่า 69 ล้านครั้ง

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยยอดผู้ประกันตนขอรับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี เดือน มกราคม - พฤศจิกายน 2560 จำนวนแล้วกว่า 69 ล้านครั้ง ยอดร้องเรียนปัญหา 6,212 เรื่อง เลขาธิการ สปส. แจง เคลียร์ปัญหาให้นายจ้าง – คลายทุกข์ให้ผู้ประกันตนแล้ว 5,729 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.22 เผยส่วนใหญ่ร้องเรียนสถานประกอบการ วอนนายจ้าง ให้ความร่วมมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อสิทธิประโยชน์ อันพึ่งมีพึ่งได้ของผู้ประกันตน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทุกมาตรากว่า 14 ล้านคน มียอดผู้มาขอรับประโยชน์ทดแทน 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน รวมแล้ว 69 ล้านครั้ง มียอดร้องเรียนจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องในระบบประกันสังคมยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาระหว่างเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2560 จำนวน 6,212 เรื่องสำนักงานประกันสังคมดำเนินการแก้ไขปัญหาในระบบให้กับผู้ร้องได้แล้วเสร็จภายใน 25 วันทำการ เป็นจำนวน 5,729 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.22 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา แก้ปัญหาข้อร้องเรียนแล้ว 604 เรื่อง แยกเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสูงที่สุด ได้แก่ 1.ร้องเรียนสถานประกอบการ จำนวน 270 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.70 2.ร้องเรียนการขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 118 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.54 3.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ส่วนกลาง/เขต/พื้นที่/จังหวัด จำนวน 52 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 8.61 4.ร้องเรียนสถานพยาบาล จำนวน 46 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.62 5.ปัญหาอื่น ๆ เช่น มิจฉาชีพแอบอ้างใช้สิทธิ แทนผู้ประกันตน การใช้สิทธิซ้ำซ้อน จำนวน 43 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.12 6.ร้องเรียนระบบของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 38 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 6.29 7.ร้องเรียนระบบของศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.46 8.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 2 เรื่อง 9.การขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จำนวน 2 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.33

เลขาธิการ สปส. กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นที่มีการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสถานประกอบการ กรณีไม่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง/ลูกจ้าง การหักเงินแต่ไม่นำส่งเงินสมทบ/ส่งไม่ครบ การแจ้งรายละเอียดลูกจ้างเข้า-ออกไม่ถูกต้อง และเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ในการใช้สิทธิกับสำนักงานประกันสังคม จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ให้ความร่วมมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากนายจ้างจะไม่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ยังทำให้ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณีได้ หากลูกจ้าง/ผู้ประกันตน มีข้อร้องเรียนหรือมีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับสถานประกอบการ ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมีปัญหา จากการรับบริการในระบบประกันสังคมสามารถแจ้ง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก โดย ยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

ที่มา: บ้านเมือง 25/12/2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น