โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สนช. มีมติประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กฯ ใช้เป็นกฎหมาย

Posted: 25 Dec 2017 12:02 PM PST

สนช.มีมติประกาศให้ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 171 เสียง 

25 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า วันนี้ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 171 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับเหตุผลที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ. การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. .... เนื่องจากปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดยังขาดกลไกในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในเชิงบูรณาการ สมควรกำหนดแนวทางในการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูดังกล่าว เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและฝึกอบรมในด้านต่างๆ จึงมีความจำเป็นต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบางประการ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ตลอดจนกำหนดสิทธิ หน้าที่และประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนควรได้รับในระหว่างการควบคุมดูแลของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน การจำแนกประเภทเด็กและเยาวชน การกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานของเจ้าพนักงานพินิจและสถานที่ควบคุม การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและกำหนดให้มีระบบสงเคราะห์ช่วยเหลือและติดตามภายหลังปล่อยจากสถานที่ควบคุม รวมทั้งจัดให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชนและกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำบางอย่าง เพื่อให้การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ใจถึง ย่อมถึงใจ

Posted: 25 Dec 2017 06:47 AM PST


 

ใจถึงใจ มีใจ ใจจึงถึง     ใจซาบซึ้ง จริงใจ ใช่เพ้อฝัน

สุดขอบฟ้า ห่างกาย ไม่สำคัญ     ใจยังมั่น รักหวัง อย่างฝังใจ

กว่าสามปี พลัดที่นา คาที่อยู่     โอ้ตัวกู วัยเกษียณ ช่างเป็นได้

พลัดที่นา จะปลูกข้าว กินอย่างไร     คาที่อยู่ ย้ายไป นกไร้รัง

นกมีขน คนมีเพื่อน จึงคลายทุกข์     จึงมีสุข เมื่อประจักษ์ รักและหวัง

มิตรสหาย ยื่นมือ คือพลัง     แม้นใครแช่ง ใครชัง ก็ช่างใคร

เพื่อนไม่ต้อง มีมาก ให้ยากดอก     เพื่อนหลอกหลอก มากมี กี่สมัย

ไม่กี่คน เพื่อนจริง ใจถึงใจ     ก็อบอุ่น ณ หทัย ยามไกลกัน

นี่คือ ชีวิตจริง ยิ่งกว่าจริง     ไม่ใช่ลิง ถือลูกท้อ ล่อหลอกนั่น

แม้ลำบาก ยากไร้ ไม่สำคัญ     เถอะต้องมี สักวัน เป็นของเรา
 

 

*ซึ้งในน้ำใจเพื่อนมิตรสหายและมิตรรุ่นน้อง เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม นอกราชอาณาจักรกะลาแลนด์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความก้าวหน้าท่ามกลางความล้าหลัง

Posted: 25 Dec 2017 06:16 AM PST

 

ใน ม.14 ของ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475" หรือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายนศกนั้น ระบุว่า "ราษฎรไม่ว่าเพศใด เมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียง…เลือกผู้แทน…"

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพยายามทำให้สั้น กระชับที่สุดอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์เติมวลีว่า "ไม่ว่าเพศใด" เพื่อจะยืนยันว่ารวมทั้งผู้หญิงด้วย หากร่างในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องมีวลีนี้เลย เพราะเราทุกคนต่างเคยชินกับสิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ของผู้หญิงอยู่แล้ว

ใน พ.ศ.2475 หรือ ค.ศ.1932 ไม่มีประเทศใดสักประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือทั้งเอเชียเลยก็ว่าได้ ที่ให้สิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แก่ผู้หญิง (ยกเว้นตุรกี) คำว่าสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเลือกตั้งไม่ได้หมายความเพียงมีสิทธิเดินเข้าคูหาไปหย่อนบัตรเท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ด้วย ดังนั้น หากมองสิทธิสมบูรณ์ระดับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวหน้ากว่าประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ ซึ่งให้แต่สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง แต่ไม่ให้สิทธิรับเลือกตั้ง

และว่าที่จริงส่วนใหญ่ของยุโรป เพิ่งให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือนับตั้งแต่ ค.ศ.1919 เป็นต้นมา ก่อนไทยไม่เกินสิบกว่าปี แม้กระนั้นไทยก็ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงก่อนฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, โรมาเนีย, ยูโกสลาเวีย, สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ รวมทั้งก่อนส่วนใหญ่ของประเทศละตินอเมริกา

ความก้าวหน้าอีกอย่างในเรื่องสิทธิเลือกตั้งของสยามหรือไทย คือในรัฐธรรมนูญฉบับแรกไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน, การศึกษา, หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ-สังคมอื่นใดเลย คุณสมบัติเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ชนชั้นนำในประเทศต่างๆ มักใช้เพื่อถ่วงดุลแรงกดดันของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะยอมเปิดกว้างให้ผู้ชายทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ได้

อย่างไรก็ตาม ตกถึง 1932 ในประเทศตะวันตกเกือบทุกประเทศ คุณสมบัติด้านทรัพย์สินมักไม่ถูกนับเป็นเงื่อนไขของสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลแก่ผู้ชายไปหมดแล้ว จึงจะนับไทยเป็นความ "ก้าวหน้า" ได้ไม่สู้สนิทนัก แม้กระนั้นคุณสมบัติด้านทรัพย์สินและสถานภาพก็ยังถูกใช้ในการจำกัดสิทธิเลือกตั้งในประเทศอาณานิคมเอเชียและญี่ปุ่น

ตราบจนญี่ปุ่นแพ้สงคราม ผู้หญิงญี่ปุ่นไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลย ซ้ำผู้ชายเพียงประมาณไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (บางแห่งว่าเพียง 25%) เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญที่อเมริการ่างขึ้นต่างหากที่ให้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลแก่ชาย-หญิงญี่ปุ่น

แต่กรณีญี่ปุ่นเตือนให้เราสำนึกได้ว่า เหตุใดคณะราษฎรของไทยจึงให้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลแก่พลเมืองทันที โดยเฉพาะไม่ตั้งเงื่อนไขด้านทรัพย์สินหรือสถานภาพด้านอื่นใด ทั้งนี้เพราะการปฏิวัติของสยามเกิดจากคนที่อยู่นอกแกนกลางของชนชั้นนำ ในขณะที่ในญี่ปุ่น (เช่นเดียวกับในประเทศในยุโรปตะวันตกอีกหลายประเทศ) เกิดขึ้นจากชนชั้นนำที่อยู่ในแกนกลางของอำนาจเลย

ดังนั้น หากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามถูกกดดันให้ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่พลเมืองเอง ก็เป็นไปได้ว่าสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลจะยังไม่มี ต้องมีคุณสมบัติด้านทรัพย์สินและสถานภาพจำกัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอาไว้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

การให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงอย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลยนั้นเป็นความ "ก้าวหน้า" แน่ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับภูมิภาคใดในโลกก็ตาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นน่าจะเป็นท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เพียงคนเดียว สถานการณ์ก่อนการยึดอำนาจทำให้จะร่างเก็บไว้เป็นเวลานานไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นหลักฐานเอาผิดได้ฉกรรจ์หากถูกจับได้เสียก่อน เที่ยวนำไปปรึกษาใครก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ความลับถูกแพร่งพราย (แม้แต่กับท่านผู้หญิงพูนสุข ท่านก็ไม่แพร่งพรายสิ่งใดเลย)

ในฐานะนักเรียนยุโรป ท่านปรีดีย่อมได้รู้เห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรีในหลายประเทศ แต่การตัดสินใจว่าไทยควรเดินตามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะแม้แต่ในฝรั่งเศสซึ่งท่านไปพำนักและเล่าเรียน ก็ไม่ได้ให้สิทธินี้แก่ผู้หญิง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงในสมัยนั้น เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องใช้สติปัญญาคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบเอาเองว่า สิทธิเสมอภาคระหว่างเพศมีความสำคัญเพียงไร

ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ที่มักพูดกันว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ก็เพียงแค่ไปลอกเลียนระบบการปกครองของยุโรปมาสวมให้แก่ไทยเท่านั้น ไม่เป็นความจริงหรอกครับ เป็นการพูดตื้นๆ ของนักเรียนอเมริกันสมัยหลัง คิดเพียงแต่จะลอกหรือไม่ลอกครูอเมริกันเท่านั้น ถึงแม้ว่าแม่แบบการปกครองอาจมาจากตะวันตกจริง แต่ไม่ได้มีแม่แบบให้ลอกเพียงอย่างเดียว ยุโรปสมัยนั้นมีอะไรต้องเลือกมากทีเดียว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา มีความล้มเหลวและความสำเร็จในระบบของยุโรปหลายด้าน ซึ่งสงครามใหญ่ได้เผยให้ใครๆ ก็เห็นได้ง่าย ไม่เฉพาะแต่ด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่รวมด้านอื่นๆ เช่นเศรษฐกิจ, สังคม, หรือแม้แต่ศาสนาและศีลธรรม เกิดคำถามกับเรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้มาก

กว่าจะมาตกผลึกทางความคิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ก็ต้องผ่านการคิดและการศึกษามาอย่างกว้างขวางมาก ลองอ่านรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของระบบ "ปฏิวัติ" ที่ไม่เหมือนกับประเทศใด เอื้อต่อลักษณะเฉพาะของสังคมไทย, เอื้อต่อลักษณะเฉพาะของคณะปฏิวัติเอง ซึ่งไม่สามารถยึดอำนาจได้เด็ดขาด, แตกต่างจากรัฐธรรมนูญของระบอบปฏิวัติที่ชนชั้นนำเองเป็นผู้ยึดอำนาจการปกครอง, หรือการปฏิวัติที่นักปฏิวัติได้ชัยชนะเด็ดขาด ฯลฯ

การให้สิทธิเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แก่ผู้หญิงจึงเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเปรียบกับประเทศใดในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งเป็นความคิดที่ก้าวหน้าของปัญญาชนไทยเองมากกว่าการเดินตามตะวันตกอย่างมืดบอด ที่น่าประหลาดก็คือความคิดที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งอันนี้กลับ "ติด" ในสังคมไทย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่ตามมาทุกฉบับ อาจถอยหลังในเรื่องต่างๆ หลายด้าน แต่ด้านสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลยจนถึงทุกวันนี้

อย่างน้อยในทางทฤษฎี สังคมไทยยอมรับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน (ทั้งระหว่างชนชั้นและระหว่างเพศ) โดยไม่มีใครตั้งคำถามกับหลักการข้อนี้เลย อย่างน้อยก็ไม่ตั้งคำถามอย่างออกหน้า จนกระทั่งมาถึงนักคิดของ กปปส. ที่ประกาศว่าคนไม่เท่ากัน จนกลายเป็นฐานคิดหลักอันหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับของคณะรัฐประหารปัจจุบัน

แม้ความคิดที่ก้าวหน้าของท่านปรีดีในเรื่องนี้ดำรงอยู่สืบมาได้ แต่ก็อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ความก้าวหน้าด้านอื่นๆ ไม่ยืนยงเหมือนสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสากลของผู้หญิง

เหตุที่เป็นเช่นนี้คงมีหลายอย่าง แต่ผมอยากพูดถึงเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานมาแต่ต้น ซึ่งไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงมากนัก นั่นก็คือสยามในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ล้าหลังทางการเมืองอย่างยิ่ง ไม่ต้องไปเปรียบกับประเทศตะวันตกหรอกครับ แม้แต่เปรียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งล้วนตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการหมด ก็ยังต้องถือว่าล้าหลังทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ของอาณานิคมเหล่านั้น ล้วนมี "สภา" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสมาชิกถูกสมมติให้เป็น "ตัวแทน" ของกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายกลุ่มในสังคม

ก่อนจะพูดถึงสถาบัน "ตัวแทน" เหล่านี้ในบางอาณานิคม ผมขอสรุปพัฒนาการของสถาบันเช่นนี้ในอาณานิคมอย่างสั้นๆ ไว้ก่อน

ตกมาถึงศตวรรษที่ 20 คนตะวันตกเคยชินเสียแล้วกับการปกครองด้วยกฏหมาย ทำให้การตัดสินใจของบุคคลไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงเพียงไร ย่อมถูกจำกัดไว้ในกรอบของกฏหมายเสมอ ด้วยเหตุดังนั้นจึงคุ้นเคยกับกระบวนการตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือในหมู่ผู้มีอำนาจด้วยกัน

นับตั้งแต่ได้ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอาณานิคม เจ้าอาณานิคมตะวันตกมักตั้งสภาที่ปรึกษาให้แก่ผู้ว่าราชการใหญ่ สมาชิกคือข้าราชการหรือพนักงานของบริษัทการค้าที่มายึดดินแดน ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาจากสำนักงานใหญ่ในยุโรปให้ดำรงตำแหน่ง (เพื่อให้อำนาจของเขาเป็นอิสระจากผู้ว่าราชการใหญ่) ความเปลี่ยนแปลงของสถาบันเช่นนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็คือ คนกลุ่มอื่นเรียกร้องขอเข้ามามีส่วนร่วมใน "สภา" เช่นนี้ด้วย ทีแรกก็อาจเป็นพ่อค้าฝรั่งหรือผู้ประกอบการฝรั่งในอาณานิคม ต่อมาก็พ่อค้าจีนหรืออินเดีย และในที่สุดก็ชาวพื้นเมือง

เป็นสมาชิกจากการแต่งตั้งล้วนๆ ก็มีสมาชิกจากการเลือกตั้งผสมเข้ามา จนในที่สุดอาจกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาในบางอาณานิคม จากหน้าที่เพียงให้คำปรึกษา ก็กลายมาเป็นการอนุมัติ และพอถึงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีอำนาจเฉพาะของตนเอง เช่น ออกกฎหมาย หรือในบางอาณานิคมถึงกับมีชาวพื้นเมืองเข้าไปร่วมในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะในกระทรวงที่เจ้าอาณานิคมไม่ได้สงวนเอาไว้

ผมไม่ได้หมายความว่า สภาเหล่านั้นทำงานอย่างได้ผลดีในการปกครองตนเองนะครับ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ล้มเหลว ทั้งจากเจตนาของเจ้าอาณานิคมเอง หรือเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เจ้าอาณานิคมไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น

(ยังมีต่อ)

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2560

ที่มา: www.matichonweekly.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 องค์กรสิทธิฯ ร้องยุติการดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก กรณีหมวดเจี๊ยบ

Posted: 25 Dec 2017 05:48 AM PST

'ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิ-สมาคมสิทธิเสรีภาพ' ร้องจนท.ยุติดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือ คสช. โดยสุจริตรวมถึงกรณี ร.ท.หญิง สุณิสา หวังรักษากระบวนการยุติธรรมไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างสุจริตคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

ร.ท.หญิง สุณิสา (คนกลาง) ขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 3 กระทง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)

25 ธ.ค. 2560 จากกรณี่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความว่า ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง (เลิศภควัต)  โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และรัฐบาล เป็นการกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา  รวม 2 คดี 9  ข้อความ และยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกเป็นคดีที่ 3 นั้น

วานนี้ (25 ธ.ค.60) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือ คสช. โดยสุจริตรวมถึงกรณี ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง เพื่อรักษากระบวนการยุติธรรมไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างสุจริตเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้ง 2 องค์กรสิทธิยังออกความเห็น 3 ประเด็น ประกอบด้วย

ข้อ 1. ตลอดระยะเวลา 3 ปี 7 เดือน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ได้ใช้กลไกกฎหมายในการควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำมาบังคับใช้อย่างกว้างขวางเพื่อปิดกั้นและคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แม้คดีจะไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตราดังกล่าวก็ตาม อาทิเช่น คดีขันแดง คดีโพสต์แผนผังราชภักดิ์ คดีโพสต์กล่าวหาพลเอกประยุทธ์โอนเงินไปต่างประเทศ หรือคดีของประวิตร โรจนพฤกษ์ ล้วนเป็นการดำเนินคดีเพื่อให้ประชาชนหยุดวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือรัฐบาล เช่นเดียวกับกรณี ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง ซึ่งถูกฝ่ายกฎหมายของ คสช. ดำเนินคดีเพื่อให้ยุติการวิจารณ์รัฐบาล
 
ข้อ 2. ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของพันธกรณีระหว่างประเทศหลายฉบับ มีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม โดยรัฐไทยต้องรับรอง เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพนั้นได้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)   ซึ่งรับรองว่า บุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง รทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังเคยมีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ว่า รัฐไทยควรงดเว้นการใช้พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญาเพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นพ้องกับรัฐ

 

ข้อ 3. เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของบุคคลใดก็ตามซึ่งใช้ภาษีในการบริหารประเทศ การที่บุคคลอย่างในกรณีล่าสุดคือ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคณะรัฐประหารดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้อันสำคัญว่าการประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติในปี 2561-2562 ของรัฐไทยไม่เกิดผลได้จริง และการรักษากฎหมายตามที่ คสช. กล่าวอ้าง แท้แล้วคือการใช้กฎหมายเป็นอำนาจในการบั่นทอนหลักนิติรัฐของประเทศไทย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.เห็นชอบร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ให้ กก.ชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระ 9 ปี

Posted: 25 Dec 2017 04:21 AM PST

สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปี  พร้อมเห็นชอบตั้งกรรมาธิการฯ ตรวจสอบประวัติ 7 ว่าที่ กกต. ชุดใหม่ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เผยหารือครบทุกมาตราแล้ว

25 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วาระ 3 ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้ลงมติเห็นชอบในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นมตรา 178 ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญที่กรรมาธิการฯ ปรับแก้ว่า ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ 9 ปี จากเดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้อยู่ต่อได้เฉพาะ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ลงมติด้วยคะแนน 157 เสียง แต่มีจำนวน 26 คนลงมติไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงจำนวน 29 คน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ สนช.บางส่วน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มองว่าการปรับแก้ด้วยการยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช.บางเรื่องมาบังคับใช้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กำหนดให้ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีอยู่ 8 ประเภท ไม่จำกัดเฉพาะ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" อาทิ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด และนอกจากจะต้องยื่นของตนเองแล้ว ยังจะต้องยื่นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย โดยที่คู่สมรสดังกล่าวจะรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนคำนิยามหรือขอบเขตความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาจะเป็นอย่างไรให้ ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนด
 
สำหรับประเด็นซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง เช่น มาตรา 37/1 ที่เพิ่มอำนาจพิเศษให้ ป.ป.ช.ล้วงข้อมูลส่วนตัวเชิงลึกของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ ทั้งการดักฟังโทรศัพท์ เจาะอีเมล์และตรวจสอบแชทไลน์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยอมตัดมาตราดังกล่าวออกไป หลังจากสมาชิก สนช.อภิปรายคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมือง
 
จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้ลงมติด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ 3 โดยมีผู้งดออกเสียง 7 คน และไม่ลงคะแนน 1 เสียง  อย่างไรก็ตาม ภายหลัง สนช.ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะส่งให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ กรธ. และกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะมีคำโต้แย้งกลับมาหรือไม่ภายใน 10 วัน ก่อนส่งให้ สนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง

เห็นชอบตั้งกรรมาธิการฯ ตรวจสอบประวัติ 7 ว่าที่ กกต.

นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช. ยัง เห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการสามัญ จำนวน 17 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน จากสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน ได้แก่ 1. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 2. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 3. อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 4. ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ และ 5. ประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และจากสัดส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน ได้แก่ 1. ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 2. ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
 
ประชุม สนช.ได้ลงมติเห็นชอบ งดใช้ข้อบังคับการประชุมฯ ที่กำหนดเวลาการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการว่าจะต้องตรวจสอบประวัติให้เสร็จ จากเดิม 45 วัน เป็นภายใน 60 วัน ด้วยคะแนนเสียง 170 เสียง  ก่อนเสนอให้ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. จะต้องไปลาออกจากตำแหน่งเดิม ก่อนที่ประธาน สนช.จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หรือหาก สนช.มีมติไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใด จะส่งเรื่องกลับมาให้กรรมการสรรหาทำการสรรหาทดแทน

กมธ. ระบุหารือร่าง กม. เลือกตั้ง ส.ส. ครบทุกมาตราแล้ว

วันเดียวกัน ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ....  ของ สนช. แถลงความคืบหน้าว่า กมธ.มีการหารือแล้วครบทั้ง 178 มาตรากมธ.มีการแก้ไข จำนวน 17 มาตรา อาทิ ให้ กกต. สามารถมีมติ 2 ใน 3 จากจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือการห้ามผู้สมัครจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเพื่อการเลือกตั้ง การห้ามสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต นอกจากนี้ ได้เชิญ สนช. 4 คน ที่เสนอแปรญัตติรวม 8 มาตรา เข้าให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ขณะที่ กมธ. ตั้งข้อสังเกตไว้ท้ายรายงานจำนวน 3 มาตรา

ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กมธ. ยังมีมติให้รอการพิจารณาใน 4 มาตรา คือ มาตรา 35, 68, 72 และ 129 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุผลอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิพื้นฐาน ประการ ได้แก่ สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. และสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะเดียวกัน กมธ.จะพิจารณาเรื่องการจำกัดสิทธิ ระยะเวลาการตัดสิทธิเพิ่มเติม รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาและวิธีการหาเสียงด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ และการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พบว่ายังมีข้อแตกต่างกัน ทั้งนี้ กมธ.จะนำประเด็นทั้งหมดมาหารือเพิ่มเติมเพื่อปรับแก้ไขร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งนำความเห็นของประชาชนที่ส่งเข้ามาที่เว็บไซต์ของ สนช. ซึ่งจะครบกำหนดปิดรับฟังในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ มาประมวลประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. หารือครบทุกมาตราแล้ว กำหนดจำกัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้งพร้อมหาแนวทางการหาเสียงด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ให้มีความชัดเจน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลังคสช. ขยายเวลาพรรคการเมือง ปชป.ชี้นี่คือการเซตซีโร่ เอื้อประโยชน์พรรคใหม่

Posted: 25 Dec 2017 01:01 AM PST

ประชาธิปัตย์ชี้คำสั่ง คสช.ทำพรรคใหญ่เสียประโยชน์ เริ่มกิจกรรมการเมืองได้ช้าเดือน เสียเปรียบพรรคใหม่ 3 เดือน ชาติไทยพัฒนาเผย ต้องการเห็นการปลดล็อคที่แท้จริง ด้าน กกต.สมชัย ชี้ทางรอด ให้พรรคหาสมาชิกเพียง 1 หมื่นคนก่อน

25 ธ.ค. 2560 สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมตามกรอบเวลาในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ไม่ถือว่าเป็นการปลดล็อกทางการเมืองอย่างที่เข้าใจ เพราะการปลดล็อกหมายถึงการให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ในทันที แต่คำสั่งนี้เป็นเพียงการขยายเวลาเท่านั้น

ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้ประกาศใช้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2560 ซึ่งได้กำหนดห้วงเวลาไว้ ดังนั้นแต่ละพรรคการเมืองจึงต้องดำเนินตามเจตนารณ์ของรัฐบาลให้เป็นไปตามโรดแมปของ คสช. แต่ปรากฎว่าไม่สามารถที่จะทำได้ จนท้ายที่สุดเวลาทอดมาจนครบกำหนด ซึ่งถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามนั้นก็จะถูกตัดสิทธิในการส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง

"ผมต้องการเห็นการปลดล็อคอย่างแท้จริง อยากให้ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยและเสมอเหมือน ไม่ใช่มาค่อยๆ คลายล็อคให้พรรคการเมือง ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ในเวลานั้นเวลานี้ เพราะเหมือนเป็นการลักลั่น แล้วเอาเหตุผลมาบอกว่าทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ" สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน วิรัตน์ กัลบยา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววา การออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับผลกระทบ เพราะต้องให้สมาชิกพรรคมาสมัครใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นการเซตซีโร่พรรค ทั้งนี้การออกคำสั่งดังกล่าวนี้ ผูที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจะเป็นพรรคที่เพิ่งจดทะเบียนใหม่ ซึ่งในวันที่ 1 มี.ค. 2561 ก็สามารถขออนุญาติ คสช. จัดประชุมอะไรได้ทันที ในเมื่อมาขอ คสช. ก็ต้องอนุญาตอยู่แล้ว เพราะรู้กันอยู่ว่าพรรคพวกนี้ตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร ส่วนพรรคใหญ่คิดว่าจะดำเนินกิจกรรมได้ในเดือน มิ.ย. 2561 ซึ่งจะได้เปรียบเสียเปรียบประมาณ 3 เดือน

ด้าน อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คำสั่งนี้เป็นเหมือนการเซตซีโร่พรรคการเมือง และ คสช. กำลังสร้างความยุ่งยากให้ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองใหม่

ขณะที่อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การที่ คสช. ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้หลังวันที่ 1 เม.ย. 2561 นั้น เข้าใจว่า คสช. ได้พิจารณาถึงเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของ คสช. เรื่อวขยายเวลาพรรคการเมืองนั้น ซึ่งมีความกังวลว่าจะไม่สามารถจัดการงานด้านธุรการให้เกิดความเรียบร้อยได้ทันเวลา โดยสมชัยได้ชี้ว่า จากประวัติศาตร์การเมืองในอดีต ปัจจัยเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้เป็นการประกันชัยชนะในการเลือกตั้ง ฉะนั้นหากพิจารณาจากกฎหมายแล้ว จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองที่เพียงพอสำหรับการมีคุณสมบัติส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งได้ จำนวนที่พอเหมาะพอดีน่าจะอยู่ที่ 10,000 คน เพราะบทเฉพาะกาลของ พ.รป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้ พรรคที่จะส่ง ส.ส. ในเขตใด ต้องที่ตัวแทนในระดับจังหวัด และมีการทำไพรมารีโหวตในจังหวัดนั้นๆ โดยต้องทีสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 100 คน ดังนั้นจำนวนที่ปลอดภัยและป้องกันการถูกร้องเรียนภายหลังในเรื่องคุณสมบัติผู้ร่วมประชุมคือ 130 คน ทั้งหมด 77 จังหวัด รมแล้วเป็น 10,010 คนประมาณ 10,000 คนเท่านั้น

 

เรียบเรียงจาก : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

39 ปี ซีไรต์

Posted: 24 Dec 2017 11:28 PM PST

รางวัลซีไรต์รอบนี้จัดเป็นครั้งที่ 39 มอบรางวัลสลับกันไประหว่าง นิยาย-กวี-รวมเรื่องสั้น ครั้งนี้เป็นการวนครบรอบรอบที่ 13 จึงทำให้หนังสือทั้งสามแบบได้รางวัลไปจำนวนเท่ากัน

ปีนี้เป็นปีของรวมเรื่องสั้น จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทได้รางวัลจาก "สิงโตนอกคอก"  เป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุด นับตามปีเกิดคือ 25 ปี วันนี้ (24 ธค. 2560) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ประทับตราซีไรต์มีวางตลาดแล้วโดยแพรวสำนักพิมพ์

นับตามอายุ ถัดจากจิดานันท์คือชาติ กอบจิตติ ได้รางวัลจากนิยายคำพิพากษาตอนอายุ 28 ปี และปราบดา หยุ่น จากรวมเรื่องสั้นความน่าจะเป็นตอนอายุ 29 ปี (นับตามปีเกิด ไม่ได้นับตามวันประกาศรางวัลลบด้วยวันเกิด)

อายุนักเขียนที่ได้รางวัลเรียงตามปีที่ได้รับ


ช่วงอายุที่ได้รางวัลมากที่สุดคือ 30-45 ปี จำนวน 31 ครั้ง (29 คน)

อายุน้อยกว่า 30 ปี ได้รางวัล 3 ครั้ง และอายุมากกว่า 45 ปี ได้รางวัล 5 ครั้ง

มีคนได้รางวัลสองครั้งอยู่สองคนคือ

1. ชาติ กอบจิตติ จากนิยาย"คำพิพากษา" เมื่ออายุ 28 และนิยาย "เวลา" เมื่ออายุ 40

2. วินทร์ เลียววารินทร์ จากนิยาย "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" เมื่ออายุ 41 และรวมเรื่องสั้น "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" เมื่ออายุ 43

อายุสูงสุดของนักเขียนที่ได้รางวัลคืออังคาร กัลยาณพงศ์ ได้รางวัลจากปณิธานกวีเมื่ออายุ 60 ปี รองลงมาคือแดนอรัญ แสงทอง ได้รางวัลตอนอายุ 57 ปี จากรวมเรื่องสั้นอสรพิษ อาวุโสเป็นอันดับสามคือกฤษณา อโศกสิน ได้รางวัลจากนิยายปูนปิดทองตอนอายุ 54

หากนับอายุแยกตามกลุ่มรางวัลเป็น นิยาย-กวี-รวมเรื่องสั้น

  • อายุเฉลี่ยของนักเขียนนิยายเมื่อได้รับรางวัลคือ 42 ปี
  • อายุเฉลี่ยของนักเขียนสำหรับบทกวีเมื่อได้รางวัลคือ 39 ปี
  • อายุเฉลี่ยของนักเขียนเรื่องสั้นเมื่อได้รางวัลคือ 36 ปี

แยกตามเพศ เพศชายได้รางวัล 32 ครั้ง (30 คน) และเพศหญิงได้รางวัล 7 คน


จำนวนนักเขียนชาย 32 ครั้ง (30 คน) หญิง 7 คน


นักเขียนหญิงทั้ง 7 คน ได้รางวัลซีไรต์ครั้งที่ 7, 11, 12, 25, 28, 37 และ 39

นักเขียนหญิงคนแรกที่ได้รางวัลคือกฤษณา อโศกสิน ได้รับรางวัลครั้งที่ 7 และเป็นนักเขียนหญิงที่อายุมากที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ นักเขียนหญิงที่อาวุโสถัดลงมาคือ วีรพร นิติประภา ได้รางวัลซีไรต์ครั้งที่ 37 จากนิยาย "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" เมื่ออายุ 53 ปี

นับนักเขียนหญิงฝั่งอายุน้อย ถัดจากจิดานันท์ที่ได้รางวัลเมื่ออายุ 25 ปี จะเป็นจิรนันท์ พิตรปรีชา (กวี-ใบไม้ที่หายไป) และเดือนวาด พิมวนา (นิยาย-ช่างสำราญ) ได้รางวัลเมื่ออายุ 34 ปีเท่ากัน

อายุเฉลี่ยเมื่อได้รับรางวัลแยกเป็นนักเขียนชาย/หญิง ไม่ต่างกันมากนัก ของนักเขียนชายคือ 39 ปี และของนักเขียนหญิงคือ 40 ปี


แยกนักเขียน ชาย-หญิง เรียงตามครั้งที่ได้รับรางวัล


หากแยกตามภูมิลำเนาจะได้ดังนี้


จำแนกนักเขียนตามถิ่นเกิด  6 ภาค (นับงามพรรณเป็น กทม.)

การนับครั้งนี้นับตามถิ่นเกิด การแยกนักเขียนตามภูมิลำเนาจึงอาจสับสนบ้าง ภูมิลำเนาที่แท้จริงอาจไม่ตรงกับถิ่นเกิด เช่นวินทร์ เลียววารินทร์จะนับเป็นคนใต้หรือคนกรุงเทพ ฯ หรือชาติ กอบจิตติ ที่บ้านเกิดอยู่ภาคกลางแต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่แถวโคราช จะยังนับภูมิลำเนาเป็นภาคกลางอยู่หรือไม่ ข้อมูลนี้จึงใช้อ้างอิงไม่ได้ดีนัก

นักเขียนจากภาคกลางและ กทม. ได้รางวัลซีไรต์รวม 17 ครั้ง

แต่หากแยกภาคกลางกับ กทม. ออกเป็นสองกลุ่ม นักเขียนที่มีภูมิลำเนาในภาคใต้จะได้รับรางวัลมากกว่าภาคอื่นคือได้ไปทั้งหมด 13 ครั้ง (กรณีนี้นับงามพรรณที่เกิดต่างประเทศเป็น กทม.) นักเขียนจากภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และตะวันตก ยังได้รับรางวัลไม่มากเท่าภาคใต้ ภาคกลาง และ กทม.

จนถึงเดือน ธค. 2560 นักเขียนซ๊ไรต์ที่เสียชีวิตแล้วมีดังนี้

  • คำพูน บุญทวี (ซีไรต์ครั้งที่ 1) 74 ปี
  • วาณิช จรุงกิจอนันต์ (ซีไรต์ครั้งที่ 6) 61 ปี
  • อังคาร กัลยาณพงค์ (ซีไรต์ครั้งที่ 8) 86 ปี
  • กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (ซีไรต์ครั้งที่ 18) 40 ปี

ในภาพรวม ซีไรต์เป็นสนามที่ให้รางวัลนักเขียนรุ่นใหม่มากกว่ารุ่นอาวุโส รางวัลยังเป็นของนักเขียนชายมากกว่านักเขียนหญิงในอัตราส่วนที่แตกต่างกันมาก งานเขียนกระจุกอยู่กับนักเขียนภูมิลำเนาภาคกลางและภาคใต้มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

ส่วนรสนิยมและแนวคิดของนักเขียนแต่ละคน ผู้อ่านคงต้องตัดสินใจเองจากงานเขียนและการแสดงออกของนักเขียนแต่ละท่าน

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟสบุ๊ค EK GUEVARA

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยยอดร้องเรียนสินค้าบริการพุ่ง 41% ของปัญหาผู้บริโภครอบปี 60

Posted: 24 Dec 2017 10:54 PM PST

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเผยยอดผู้ร้องเรียน ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป นำโด่ง 41.54% ของปัญหาทั้งหมดโดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า   
 
 
25 ธ.ค.60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในรอบปี พ.ศ.2560  มกราคม – พฤศจิกายน มียอดร้องเรียนจำนวน 1,153 รายผ่านช่องทางโทรศัพท์  เว็บไซต์  ร้องเรียนผ่านจดหมาย เข้ามาด้วยตนเอง อีเมล์ และการร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ก ตามลำดับ 
 
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้บริโภคที่มีการร้องเรียนมากที่สุด อันดับแรก คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป ที่มียอดผู้ร้องเรียน เพิ่มขึ้นถึง 41.54% โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า เช่น การโฆษณาขายกระทะยี่ห้อโคเรียคิงส์ ที่ข้อความโฆษณาระบุการลดราคาจาก 18,000 บาท และ 15,000 บาท ลดราคาเหลือ 3,900 บาท และ 3,300 บาท ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง มีคุณสมบัติทนความร้อน  และไม่ต้องใช้น้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อและซื้อสินค้าดังกล่าว แต่เมื่อผู้บริโภคนำมาใช้งานกลับไม่เป็นตามโฆษณา และมาทราบภายหลังว่าราคากระทะดังกล่าวเป็นราคาปลอม เป็นต้น  และบริการสถานเสริมความงามที่ซื้อคอร์สบริการแล้ว ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะข้อสัญญาระบุไม่คืนเงินทุกกรณี อีกทั้งบริการสถานออกกำลังกาย ที่ปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น    
 
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุต่อว่า อันดับสองคือด้านการเงินการธนาคาร 34.69% ได้แก่ ปัญหาหนี้บัตรเครดิตร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาเช่าซื้อรถ อันดับสาม ด้านบริการสาธารณะ คือ การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วเกิดอุบัติเหตุ  เป็นต้น 
 
"เมื่อนำปัญหาที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมาวิเคราะห์ทำให้เราทราบว่า สาเหตุของปัญหาที่สำคัญในการร้องเรียนเกิดจาก พฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน จนทำให้หลงเชื่อโฆษณาซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ที่สำคัญอีกอย่างคือหน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการใช้ช่องทางการการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่หลากหลาย เช่น เว็บไซต์  เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เป็นต้น จึงทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้ามีเป็นจำนวนมากขึ้นด้วย  อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคต่างๆ มีมาตรการที่ล้ำหน้าในการแก้ปัญหาผู้บริโภคเชิงนโยบายไม่ใช่แก้ปัญหาเพียงรายกรณี แม้จะมีผู้เสียหายต่อผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกัน รวมถึงขอให้มีการออกระเบียบ หรือเป็นกฎหมายบังคับ การอนุมัติโฆษณาขายสินค้าที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคเช่นโฆษณาเครื่องสำอาง  โฆษณาอาหาร  ไม่ใช่เปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการด้วยการแค่เพียงขอความร่วมมือ  ซึ่งโดยมากหากไม่บังคับก็จะไม่ปฏิบัติตาม  และขอให้ทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาขายของทางโทรทัศน์  สื่อออนไลน์ เหมือนการออกไปตรวจจับการผลิตเครื่องสำอางต่างๆด้วยเช่นกัน  ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียนมาก่อนจึงจะดำเนินการ"  หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิพากษ์ความคิด 'ดำรง พุฒตาล'

Posted: 24 Dec 2017 10:25 PM PST

 

 

ผมไม่เคยพบคุณดำรง พุฒตาล ไม่เคยขัดแย้งหรือมีอคติกับท่านเลย ที่ผ่านมาผมชื่นชมท่านในหลายเรื่อง แต่ล่าสุดที่ท่านกลั่นความคิดจากประสบการณ์ 73 ปีเรื่องงาน การพักผ่อนและกรุงเทพมหานครนั้น ท่านควรได้รับการวิพากษ์เพราะเป็นความคิดที่สอนให้คนเสพสุขหรือไม่


เห็นคุณค่างาน อย่าสงสารตัวเอง

ในคลิปสั้นๆ ที่มีการเผยแพร่กันต่อใน Line มีข้อความตอนหนึ่งว่า "(คุณดำรง) พูดว่างานคือชีวิต ชีวิตนี่คืองาน แต่มาถึงจุดนึงแล้ว เฮ้ยมึงโง่มึงพูดอย่างนี้ไปได้อย่างไร ทำไมชีวิตมนุษย์เกิดมา มึงจะต้องทำงานตลอดจนตาย มันไม่แฟร์กับร่างกายเลย" ในข้อนี้ ผมขอแย้งว่า

1. ที่จริงมีคนมากมายที่ทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เช่น พระพุทธเจ้า หลายคนยังจำภาพโต๊ะทำงานที่รกๆ ของไอน์สไตน์ก่อนวันเสียชีวิต ปุถุชนคนแก่ก็มีมากมายที่เมื่อวานยังทำงานอยู่ แต่วันนี้ตายเสียแล้ว

2. การทำงานเป็นการสร้างสรรค์ ชีวิตที่มีค่าก็คือชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การทำงานจึงเป็นที่มีเกียรติและน่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

3. ที่อ้างว่าไม่แฟร์กับร่างกายนั้น ที่จริงแล้ว ร่างกายและสมองจะยิ่งดีถ้ายิ่งได้ทำงานต่างหาก ยิ่งถ้าเป็นงานที่รัก ก็ยิ่งสนุกกับงาน เพียงแต่เราไม่ควรทำงานหนักจนเกินไป


สิทธิในการ Enjoy Life

ท่านยังกล่าวว่า "ชีวิตต่อไปนี้ก็คือ Enjoy Life ผมมีบ้านอยู่ที่อังกฤษ หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ อยุธยา เชียงราย ซื้อมา พอหาเงินได้ก็ซื้อๆๆ ต่อไปนี้ก็จะไปอยู่แถวนั้นแล้วล่ะครับ" คำพูดนี้มีข้อสังเกตว่า

1. ที่ท่านทำได้ก็เพราะมีอิสรภาพทางการเงินจากการทำงานมายาวนาน สะสมเงินมามากแล้ว

2. แต่บางคนเกษียณไม่ได้ ถูกความจำเป็นของชีวิต 'บังคับ' ให้ต้องทำงานจน (ใกล้) วันสุดท้าย ต้องเห็นใจ ต้องให้เกียรติพวกเขา แรงงานสร้างสรรค์โลก ส่วนท่านนับว่าโชคดีกว่าคนอื่นเท่านั้น


กทม. หรือ ตจว.

ตอนสุดท้าย ท่านกล่าวว่า "รกนะกรุงเทพ. . .รถมันก็ติด คนก็นิสัยไม่ดี ไปอยู่ต่างจังหวัดดีกว่าครับ. . .อายุตอนนี้ 73-74 แล้วมันจะอยู่อีกซักกี่ปี" ข้อนี้ผมขอเห็นต่างดังนี้:

1. นานาจิตตัง ในยามหนุ่มถ้าคุณดำรง ไม่เข้า กทม. ก็คงไม่มีวันนี้ แต่จะให้คนหนุ่มสาวแห่กันไปต่างจังหวัด คงไม่ได้ คงเท่ากับส่งเขาไปตายมากกว่า

2. แม้ กทม.มีปัญหารถติด ใน ตจว.มักทุรกันดาร "บ้านป่าเมืองเถื่อน" แมลงรบกวน งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ไปเที่ยวได้แต่ไปอยู่ทุกวันคงไม่ไหว ท่านเองก็ยังเปลี่ยนที่พักไปเรื่อยๆ แต่ท่านมีเงินซื้อความสะดวกสบายได้โดยง่าย

3. ที่ว่าใน กทม.คนนิสัยไม่ดี เป็นวาทกรรมที่เข้าใจผิด จากสถิติการรับแจ้งคดีอาญา (โจรกรรม ปล้น-ชิง ข่มขืนและฆ่า ลักพาเรียกค่าไถ่ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์) พ.ศ.2558 พบว่ามีการรับแจ้งความ 30,893 คดี แต่เป็นใน กทม. 7,067 คดีเท่านั้น ใน กทม.มีคนอยู่และสัญจรนับสิบล้านต่อวัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นับสิบล้านก็มา กทม. ดังนั้นสัดส่วนอาชญากรรมในกรุงอาจน้อยใน ตจว. เสียอีก เพราะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่า

คุณดำรงพูดเรื่องนี้ขณะยังทำนิตยสาร "คู่สร้างคู่สม" แต่ตอนนี้ท่านเลิกทำไปแล้ว อันที่จริงสื่อก็เป็นแค่ Market Place มานานแล้ว ไม่มีสื่อใดจะอยู่ได้ด้วยระบบสมาชิกอยู่แล้ว ระบบ Internet เพียงแค่มาเปลี่ยนรูปแบบ Market Place เท่านั้น แต่ท่านไม่อาจปรับตัวได้ จึงเลิกไป ในโลกนี้ก็ยังมีวารสารดังๆ อยู่รอดและเติบโตได้ คุณดำรงอาจประสบความสำเร็จจนมีทรัพย์สินมากมาย สบายไปแล้ว แต่จะดีเยี่ยมถ้าท่านทำให้ "คู่สร้างคู่สม" เป็นสถาบันที่อยู่ได้แม้ไม่มีตัวท่าน กลายเป็นอนุสรณ์สถานที่มีชีวิตและเป็นเกียรติประวัติชาติ

เราควรสอนให้เยาวชนตอบแทนชาติด้วยการทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ฉ้อโกงหรือปล้นประชาชนเพราะเงินที่ใช้เรียนหนังสือส่วนมากมาจากภาษีของประชาชนคนเล็กคนน้อย ไม่ใช่ควักจากระเป๋าของพ่อแม่ เราควรรณรงค์ให้คนมีความสุขและเบิกบานกับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมและอนาคตของเยาวชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เราไม่จำเป็นต้องหาเงินเพื่อให้ตนเองใช้ แต่เพื่อให้คนรุ่นหลังของเราได้ใช้ต่างหาก

เสพสุขเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องสอน ไม่ต้องส่งเสริม การทำงานด้วยความเบิกบานต่างหากที่พึงสอนให้มาก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจพบแรงงานสิ่งทอในพม่ามีรายได้เฉลี่ยแค่ 2,867 บาท/เดือน

Posted: 24 Dec 2017 10:06 PM PST

แม้หลายฝ่ายหวั่นแรงงานพม่าจะกลับไปทำงานยังบ้านเกิดหลังมีความเปลี่ยนแปลงในประเทศ แต่รายงานวิจัยขององค์กรพัฒนาเอกชนพบแรงงานภาคสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้าในย่างกุ้ง มีรายได้เฉลี่ยรวมที่ 120,000 จ๊าต (หรือประมาณแค่ 2,866.76 บาท/เดือน) เท่านั้น

ที่มาภาพประกอบ: Confederation Trade Unions of Myanmar (CTUM) (แฟ้มภาพ)

25 ธ.ค. 2560 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในประเทศพม่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ประกอบกับความเข้มงวดเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานจากพม่าจะกลับไปทำงานยังบ้านเกิดแทน และอาจจะส่งผลให้แรงงานในไทยขาดแคลน แต่กระนั้นเมื่อมองไปที่คุณภาพงานและค่าตอบแทนจากการทำงานในประเทศพม่าพบว่าก็ยังคงมีปัญหาอยู่

จากงานวิจัย THE YOUNG WOMEN FROM RURAL VILLAGES POWERING AN URBAN INDUSTRY: A BASELINE SURVEY OF YANGON'S GARMENT SECTOR WORKFORCE ที่เป็นการร่วมมือกันของ 3 องค์กรพัฒนาเอกชนอันได้แก่ Enlightened Myanmar Research Foundation (EMReF) , Andaman Research & Advisory และ มูลนิธิ C&A ที่ทำการสำรวจระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2560 ด้วยการสัมภาษณ์แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้า 778 คน (ร้อยละ 94 เป็นแรงงานหญิง) ที่เขตอุตสาหกรรมในเมือง Hlaing Tharyar และเมือง Shwepyithar เขตนอกเมืองย่างกุ้ง

งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตเสื้อผ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นจาก 110,000 คน เป็น 250,000 คนในช่วงปี 2555-2559 ซึ่งเป็นช่วงที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 912 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากการสำรวจพบว่าหญิงสาวจากชนบทเป็นแหล่งแรงงานหลักสำหรับโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธ์พม่าที่ประมาณร้อยละ 75 ตามมาด้วยชาติพันธ์ยะไข่ที่ร้อยละ 19 พวกเธออพยพมาจากต่างเมืองและส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงอายุ 18-23 ปี มีรายได้เฉลี่ยรวม (เงินเดือนรวมค่าทำงานล่วงเวลา) ที่ 120,000 จ๊าต หรือประมาณแค่ 2866.76 บาท/เดือน เท่านั้น

ด้านสภาพการทำงานพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 99 ต้องทำงาน 6วัน/สัปดาห์ และร้อยละ 90 ทำงานระหว่าง 8-10 ชั่วโมง/ต่อวัน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่พึ่งทำงานได้ไม่เกิน 3 ปี และร้อยละ 60 ทำงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นครั้งแรก

ด้านสิทธิแรงงานการสำรวจพบว่าร้อยละ 54 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน แต่ร้อยละ 56 ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน และร้อยละ 33 ตระหนักถึงกลไกการร้องทุกข์ในที่ทำงาน ทั้งนี้มีผู้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียงร้อยละ 15 และผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 52 ระบุว่าพวกเธอจะไม่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน ส่วนอีกร้อยละ 42 ระบุว่าต้องการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน

ในงานวิจัยยังระบุว่าแรงงานจำนวนมากยังคงเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะมีเพียงร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาแรงงานพม่าชุมนุมประท้วงที่ย่างกุ้งและมัณฑะเล เรียกร้องให้ทางการปรับเพิ่มค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 5,600 จ๊าต (ประมาณ 134.62 บาท) จากเดิม 3,600 จ๊าต (ประมาณ 86.54 บาท)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ

Posted: 24 Dec 2017 06:44 PM PST

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้

อ่านรายละเอียดที่ บุคคลแห่งปี 2017: 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน


มีข้อมูลปล่อยออกมาไม่น้อยระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ต่อระบบสาธารณสุขของไทย ที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือการทำให้โรงพยาบาลรัฐขาดทุน หรือการทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตามที่ควรจะเป็น จนถึงการกล่าวหาว่า สปสช. นำเงินที่ควรจ่ายให้แก่โรงพยาบาลไปให้กับเอ็นจีโอต่างๆ

ฟังข้อมูลอีกด้านจาก นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อีกหนึ่งใน 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ที่จะตอบทุกข้อสงสัยที่สังคมมีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และชี้เป้าให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่

ใบ้ให้ว่าส่วนหนึ่ง (หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่) ของปัญหาคือผู้จัดสรรงบประมาณ แล้วใครคือผู้จัดสรรงบประมาณ ไปคิดกันเอาเอง

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้โรงพยาบาลขาดทุน?

ประการแรก การมีระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบซึ่งสั่นคลอนระบบเดิม การปฏิบัติแบบเดิมๆ ของระบบบริการสุขภาพทุกแห่ง เช่น หน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข แต่เดิมคือรัฐจ่ายเงินเดือนทั้งหมดของข้าราชการทุกคนในโรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลสามารถที่จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยได้ทุกคน เงินที่เรียกเก็บนำเข้าไปเก็บเป็นเงินบำรุง และเงินบำรุงก็เก็บไว้ที่โรงพยาบาลโดยที่มีระเบียบเฉพาะว่าไม่ต้องส่งเข้ากระทรวงการคลัง ไม่ต้องเป็นรายได้ของแผ่นดิน ถือเป็นรายได้ของโรงพยาบาลนั้นๆ ฉะนั้น เราก็จะเห็นว่าทุกโรงพยาบาลจะมีเงินบำรุงไว้ใช้จ่ายของตัวเอง แต่ละแห่งอาจมีเงินที่เรียกว่ากำไร เพราะคุณไม่ต้องจ่ายค่าแรง ต้นทุนที่เป็นก้อนใหญ่ที่สุดของระบบหลักประกันสุขภาพก็คือค่าแรง รัฐจ่ายเงินเดือนทุกบาททุกสตางค์ให้ ค่ายา โรงพยาบาลก็เรียกเก็บจากคนมาโรงพยาบาลทุกคน ค่าทุกอย่างที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ มันเข้าไปอยู่ในเงินบำรุง อันนี้คือความเดิมก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งเป็นแบบนี้ ทุกโรงพยาบาลมีเงินบำรุงเก็บอยู่เป็นหลักร้อยล้าน บางแห่งอาจเป็นพันล้านก็ได้

เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น เป็นสิทธิการรักษา เป็นรัฐสวัสดิการแบบหนึ่ง รัฐจัดสรรงบประมาณลงมา รัฐยังคงจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรทั้งหมด จัดสรรเป็นค่ายา ค่ารักษา ก็มีวิธีคิดเงินแบบหนึ่งขึ้นมา พอระบบเป็นแบบนี้ โดยกติกาของระบบก็คือโรงพยาบาลทุกแห่งไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่มันไปพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินทำให้รายได้ที่โรงพยาบาลเคยเก็บได้ หายไป

ประการที่ 2 การมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ การคิดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณลงมาให้กับบัตรทองต้องบอกว่าโดยหลักแล้วน้อยมาก เมื่อเทียบกับการที่รัฐจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ เป็นเหตุให้รายได้ของโรงพยาบาลที่เคยได้ หายไปเยอะ เพราะพอมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็ต้องมานั่งคิดคำนวณอย่างรอบคอบว่าเราจะใช้สัดส่วนงบประมาณแผ่นดินสำหรับค่าสุขภาพเท่าไหร่ กี่บาท กี่เปอร์เซ็นต์ และจะใช้ในเรื่องอะไรบ้าง นี่เป็นเหตุหลักที่ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่อาจไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพราะมันกระทบกระเทือนรายได้หลักของเขาและเงินบำรุงที่เคยอยู่ในแต่ละโรงพยาบาล มันคือสิทธิขาดของคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลนั้นๆ ถ้าโรงพยาบาลไหนที่มีการบริหารแบบเป็นประชาธิปไตยหน่อยก็จะมีคณะกรรมการโรงพยาบาลบริหาร ถ้าโรงพยาบาลไหนผู้อำนวยการเป็นใหญ่หน่อยก็ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการจะจัดการและจัดสรร ผมคิดว่าไม่ควรไปโทษว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพทำให้โรงพยาบาลขาดทุน เพราะจริงๆ แล้วโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งไม่ควรคิดเรื่องกำไร ขาดทุน

ประการที่ 3 มันไม่เคยมีใครไปกำกับ ตรวจสอบรายได้ของโรงพยาบาล พอมีระบบหลักประกันสุขภาพขึ้น ก็กระทบกับรายรับ รายจ่ายของโรงพยาบาล เมื่อก่อนคุณจะบริหารยังไงก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกำไรขาดทุน เพราะมีแต่ได้กับได้ แต่พอมีระบบหลักประกันสุขภาพโรงพยาบาลก็จะต้องพัฒนาตัวเอง เพิ่มขีดความสามารถในการบริหาร บริหารคน บริหารยา บริหารลูกจ้างชั่วคราว บริหารค่าน้ำ ค่าไฟ อุปกรณ์ต่างๆ ให้เพียงพอต่อการจัดสรรงบประมาณ

ประการที่ 4 สาเหตุสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือการจัดสรรงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวมาให้กับหลักประกันสุขภาพฯ น้อยเกินไป ไม่เพียงพอ เป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการกับระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นต้นตอที่ทำให้บอกว่าขาดทุน บริหารแย่

วิธีคิดตอนเริ่มต้นระบบอาจจะกลัวๆ กล้าๆ ว่าจะคิดงบประมาณเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายควรมีอะไรบ้าง ค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ควรขอจากรัฐบาลเท่าไหร่ คนที่ขึ้นมาบริหารระบบแรกๆ ก็ต้องเรียกว่าเรียนผิดเรียนถูก ทีมหมอสงวน (นิตยารัมภ์พงศ์) หรือทีมที่หมอสงวนดึงไปบริหารก็ต้องเรียนผิดเรียนถูก เรียนว่าจะคิดงบแบบไหน ก็อาจทำให้การคิดค่าใช้จ่ายไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เงินรายหัวต่ำ ปัจจุบัน พอมีประสบการณ์ 14-15 ปี ผู้บริหารระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องคิดต้นทุนที่เพียงพอและทำให้เกิดสภาพคล่องในโรงพยาบาลที่สะท้อนค่าใช้จ่ายจริงๆ ที่ต้องใช้ให้ได้ อย่าไปติดขัดระเบียบนู่นนี่นั่่นที่ทำให้คิดต้นทุนไม่ได้ ตรงนี้เป็นเหตุที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบการบริหารหลักประกันสุขภาพฯ แต่ไม่ใช่เพราะการมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน

ตัวอย่างเช่น ต้นทุนของโรงพยาบาลใหญ่มีเรื่องค่าแรงและค่ายา การคิดค่าใช้จ่ายรายหัวของแต่ละโรงพยาบาลก็ต้องเอาตรงนี้มาคิด งบปี 2560 ค่าเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,000 กว่าบาท ค่าแรงก็ปาเข้าไปเกือบ 900 บาทแล้ว 900 บาทที่คิดมาก็อาจเป็นค่าแรงที่คิดไว้ต่ำเกินจริง หมายความว่า ค่าแรงจะมีสัก 3 หมวดหลักๆ คือเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนประจำตำแหน่งหรือค่าเวร ทุกปีต้องคิดเรื่องอัตราเงินเฟ้อ คิดเรื่องการเพิ่มของอัตราเงินเดือน เท่าที่ผ่านมาตอนคิดต้นทุนอาจคิดเงินเฟ้อและเงินเพิ่มแค่ส่วนของข้าราชการ แต่ของลูกจ้างไม่ได้คิดให้ เงินค่าหัว 900 บาทที่หักเป็นเงินเดือนจึงต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่โรงพยาบาลอาจมีรายจ่ายมากกว่า

ที่คิดต่ำกว่าเป็นเพราะติดกติกาที่ว่าลูกจ้างชั่วคราวในระบบราชการคือลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีขั้นขึ้น จ้างแล้วก็ต้องเลิกจ้าง แต่ในชีวิตจริงของการทำงาน ลูกจ้างชั่วคราวถือเป็นกำลังหลักที่โรพยาบาลต้องใช้และต้องจ้างต่อเนื่อง โรงพยาบาลก็ต้องหาเงินมาเพิ่ม ผมคิดว่าบทเรียนทั้งของกระทรวงสาธารณสุขและคนที่บริหารระบบหลักประกันสุขภาพฯ ต้องมานั่งคุยกันแบบคนทำงานด้วยกันเพื่อต่อรองกับรัฐบาล วิธีคิดงบประมาณแบบนี้้ พอไปแกะแล้วทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมาพอคิดอัตราเพิ่มในแต่ละปีไม่เคยเอาเรื่องนี้ไปคิด พอไม่เคยเอาเรื่องนี้ไปคิด ต้นทุนของโรงพยาบาลก็ไม่สะท้อนรายจ่าย ทำให้โรงพยาบาลอาจได้รายได้น้อยกว่าที่ควรได้ การมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ไม่ใช่ต้นตอที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน แต่การคิดงบประมาณที่เอามาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพมีปัญหา บวกกับการติดระเบียบราชการ สองข้อนี้รวมกันทำให้ค่าหัวที่โรงพยาบาลควรจะได้มากกว่านี้ มันไม่ได้

อีกส่วนว่าด้วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพฯ พอได้เงินจัดสรรจากรัฐบาลน้อย ก็ต้องคิดวิธีจ่ายค่ารักษาให้โรงพยาบาลโดยเอาค่ารักษาทั้งหมดมากองรวมไว้ก่อน แล้วเวลาจ่ายก็ดูว่ามีคนมาป่วยในช่วงเวลานั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วค่อยมาหารจ่ายเป็นค่ารักษาให้โรงพยาบาล ฉะนั้น โรงพยาบาลก็ไม่ได้ค่าจ้างในการรักษาเต็มตามจำนวนที่ควรได้ เช่น ถ้าตกลงว่ารักษาโรคหนึ่่งได้ 8,000 บาท เป็นการคิดตัวเลขตอนตั้งต้นปีงบประมาณ ต้องเอางบค่าผ่าตัด ค่ารักษามากองรวมกันที่เรียกว่า global budget พอมีการเบิกก็ต้องเอาคนที่มีทั้งหมดมาหารงบประมาณก้อนนี้ แทนที่จะได้ 8,000 บาทก็อาจจะได้แค่ 7,500 ที่เป็นแบบนี้เพราะระบบหลักประกันสุขภาพฯ คิดว่าถ้าจ่ายเต็มตามราคาที่ต้องจ่ายแล้วปลายปีจะไม่มีเงินจ่าย เพราะรัฐบาลบังคับไว้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นระบบแบบปลายปิด ได้เงินเท่านี้บาท ใช้ไม่พอก็เรื่องของคุณ ผู้บริหารก็ต้องคิดว่าจะถัวเฉลี่ยกันอย่างไรให้มีเงินจ่ายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปี คือเขาคิดว่ามีเงินจ่ายทั้งปีแน่ๆ แต่อาจจ่ายน้อยกว่าที่กำหนดเพราะคิดว่าเป็นราชการด้วยกัน เรื่องนี้เลยสะสมทำให้ผู้บริหารหน่วยบริการทั้งหลายรู้สึกว่าเขาถูกระบบเอาเปรียบ

แต่ผมอยากจะชวนคิดอีกมุมหนึ่งว่า เรื่องราวที่เกิดทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลไม่สนใจดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ให้เท่าเทียมกับที่ดูแลข้าราชการ ทหาร หรือส่วนอื่นๆ ทำให้การจัดสรรงบประมาณที่จะเอามาจ่ายตั้งต้นใช้วิธีต่างกัน จ่ายข้าราชการเป็นปลายเปิด จ่ายเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลจะเรียก ตั้งต้นไว้ 20,000 ล้านบาท แต่ปลายปีข้าราชการป่วยกลายเป็น 40,000 ล้านบาท ขณะที่วิธีคิดของระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นปลายปิด คนที่บริหารก็ถูกกดดันด้วยวิธีนี้เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม

ผมอยากชวนหัวหน้าหน่วยบริการทั้งหลาย หมอทั้งหลายให้เห็นภาพร่วมกันว่า ถ้าเราจะรบกัน เราต้องรบกับรัฐบาลไม่ใช่มารบกันเอง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐสวัสดิการ ที่ถือว่าเป็นสมบัติของประเทศนี้ที่ไว้ดูแลประชาชน มันเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องช่วยกันทำให้ระบบเดินหน้าไปได้และมาดูอุปสรรคด้วยกัน อุปสรรคใหญ่ที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ว่าคน สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไม่ดี คนในกระทรวงไม่ดี คนสองฝั่งนี้ก็พยายามคิดว่าจะพัฒนายังไง แต่พอเจอวิธีคิดและข้อจำกัดก็ทะเลาะกันโดยไม่มองว่าต้นตอที่เป็นสาเหตุเกิดจากความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลเป็นคนสร้างขึ้น

ประเทศเรามีทรัพยากรเพียงพอ แต่ต้องการการจัดสรรที่เป็นธรรม ถ้าเราเอาเงินที่รัฐจ่ายค่าสุขภาพ รวมทั้งหมดทุกกองทุน 2 แสนกว่าล้านมาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและอุดช่องว่าง เช่น เรื่องการคิดเงินเดือน คิดใหม่ให้รอบคอบ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายจริงๆ ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องควักเนื้อเอาเงินบำรุงที่่โรงพยาบาลมีอยู่ออกมา


ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะแพทย์ไม่สามารถรักษาตามหลักการแพทย์ได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องรักษาตามจำนวนเงินที่ได้รับจาก สปสช.?

ผมว่าคำพูดนี้ไม่จริง เวลาเราคุยกับหมอแต่ละคน เขาไม่เคยคิดว่าจะรักษาคนไข้ตามจำนวนเงินที่มี เขาต้องรักษา เขาก็ต้องรักษา แล้วค่อยไปดูว่าระบบจะจ่ายคืนยังไง ไม่มีหมอคนไหนรักษาคนไข้จากจำนวนเงิน ถ้ามีหมอคนไหนทำแบบนี้ต้องพูดมาเลย ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้้น ไม่มี แต่อาจเป็นไปได้ว่ารักษาไปแล้ว เขาคิดแล้วตามค่ารักษาของโรงพยาบาลทั้งหมดควรจะเป็น 40,000 บาท แต่พอเบิกอาจเบิกได้สัก 30,000 บาท แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นหลังจากผ่านการรักษาไปหมดแล้ว หมอจะไม่มีทางคิดว่าอันนี้รักษาเท่านั้นบาท เท่านี้บาท ผมว่าหมอทั้งหมดไม่ได้คิดแบบนั้น ไม่ควรจะมาพูดแบบนี้ เป็นดูถูกวิชาชีพแพทย์ 


ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นข้อจำกัดให้แพทย์ไม่สามารถให้การรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยได้?

ทั้งจริงและไม่จริง ประการแรก ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ไม่ได้เป็นผู้วางมาตรฐานการรักษา นี่เป็นเรื่องของราชวิทยาลัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางแนวทาง วางเกณฑ์มาตรฐานในการรักษา ระบบไปทำงานร่วมกับแนวทางแบบนี้ แล้วมาดูว่าถ้าโรคแบบนี้ การรักษาแบบนี้ ต้องใช้ยาแบบนี้ ควรต้องจ่ายค่ารักษาเท่าไร จะคิดภายหลังหลังเห็นเกณฑ์ที่ถูกคิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ฉะนั้น แพทย์ก็รักษาไปตามเกณฑ์ที่สมาคมหรือวิชาชีพที่เขาเรียนมาเป็นผู้วางเกณฑ์ ตรงนี้เป็นกติกาและวางไว้ทุกระบบ

ถัดมา แพทย์ทั้งหมดยังมีสิทธิเต็มที่ตามที่เห็นควรว่าจะต้องรักษาอย่างไร ถ้าคนไข้เป็นแบบนี้จะจ่ายยาอะไรให้ ถ้าเคยไปหาหมอ บางครั้งหมอก็จะพูดว่ายานี้อยู่นอกบัญชีนะ แต่หมอคิดว่าจำเป็นต้องจ่าย รับได้มั้้ย หมอจะพูดกับเราแบบนี้ ด้วยวิธีคิดนี้้หมอจะจะคิดแล้วก็สั่งจ่าย กลไกราชการหมอก็สั่งจ่ายตามกลไกรัฐบาล ถ้าต้องใช้ยานอกบัญชี หมอก็สั่งจ่าย แต่พอเป็นระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็ขึ้้นอยู่กับคนสั่งจ่าย ถ้าหมอเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี หมอก็สั่งจ่าย เพียงแต่ค่ายาถูกเหมาจ่ายไปในค่าใช้จ่ายรายหัวแล้ว ถ้าหมอคิดว่าใช้ยานอกบัญชี โรงพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบค่ายานี้ เมื่อเป็นแบบนี้ พอมีหมอบางคนจ่ายยานอกบัญชีก็อาจถูกผู้อำนวยการโรงพยาบาลตั้งคำถาม เหตุนี้เองโรงพยาบาลจึงรู้สึกว่าถูกจำกัดด้วยวิธีจ่ายเงิน

แต่พอย้อนกลับไปดูระบบที่่ทำให้เราได้ยามาในระบบบัญชียาหลักฯ ยาทุกตัวที่เข้ามาอยู่ในระบบบัญชียาหลักฯ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากกรรมการเรียกว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสาขา และยังมีการพิจารณาทบทวนยาที่อยู่ในบัญชีทุกปีว่ายาตัวไหนต้องหยุด ยาตัวไหนใช้บ่อย นอกจากนั้น ยังพิจารณาว่ายาตัวที่ใช้รักษาโรคแบบนี้มีกี่ตัว เอามาเทียบกัน ยาตัวที่ถูกเสนอชื่อเข้าไปเป็นตัวที่ดีที่สุดหรือไม่ สามารถรักษาได้ใกล้เคียงกันหรือไม่ในเชิงประสิทธิผล ถ้าเท่ากันก็ไปดูที่่ผลข้างเคียง บางตัวอาจมากกว่า บางตัวอาจน้อยกว่า ก็ต้องใช้ยาที่มีผลข้างเคียงน้อย ประสิทธิภาพสูง และดูราคาว่าตัวนี้จำเป็นต้องใช้ ลดราคาได้เท่าไหร่ ตัวที่ไม่ถูกเลือกอาจเป็นเพราะราคาแพงกว่า แต่ประสิทธิผลเท่ากัน

ค่ายาถูกรวมเข้าไปอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่่ให้โรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลต้องคิดว่าแล้วว่าจะเลือกยาตัวไหน บนหลักการว่ายาในบัญชียาหลักนั้นถูกพิจารณามาตามหลักเหตุผลและประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับยาที่อยู่นอกบัญชีที่แพงกว่า เราต้องเข้าใจหลักคิดนี้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการแพทย์พาณิชย์หรือการค้ายา

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรให้มีการร่วมจ่าย คนมีมากร่วมจ่ายมาก คนมีน้อยร่วมจ่ายน้อย เพื่อความยุติธรรม
หนึ่ง การรักษาพยาบาลเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องให้แก่ประชาชนทุกคน ทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลรักษาจากรัฐเมื่อเจ็บป่วย
สอง รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาบริการให้และต้องจัดบริการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยืนยันมาตลอดว่า ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินเข้ามาสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ หลักการของเราคือเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย ไม่เอาการร่วมจ่าย ณ จุดบริการเป็นครั้งๆ ไป ประชนทุกคนต้องร่วมจ่ายผ่านภาษีและรัฐนำเอาภาษีมาใช้สนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพฯ ต้องเป็นการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรม

ถ้าบอกว่าการบริหารงบประมาณแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพที่่สุดคือ 100 บาทของงบประมาณแผ่นดินต้องใช้เป็นค่าสุขภาพประมาณ 17-20 บาท ไม่ให้เกิน 20 บาท ถ้าผู้ที่มาเป็นรัฐบาลเห็นและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณให้เป็นธรรม คุณเก็บภาษีมาได้เท่าไหร่ 20 บาทต้องมาร์กไว้เลยว่าเป็นเรื่องสุขภาพ จ่ายเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีและเป็นธรรมเท่าเทียม เงินที่ได้มาเยอะๆ ตอนนี้คือภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่รัฐเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด ก็จัดสรรมา เพราะฉะนั้นประชาชนทุกคนมีสิทธิมีส่วนร่วมอยู่แล้วในระบบหลักประกันสุขภาพผ่านภาษี

ถ้าบอกว่า 2 แสนล้านที่มีอยู่ ไม่พอ เพราะรัฐจัดสรรไม่เป็นธรรม ก็ต้องมาคิดใหม่ว่าจะมีการเพิ่มภาษีหรือไม่ เพื่อนำมาจัดสรรในเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะ อันนี้เข้าหลักการเราก็คือร่วมจ่ายก่อนป่วย แล้วระบบสวัสดิการสุขภาพของประเทศมีกี่กอง จะต้องจัดสรรยังไงให้ไปสู่ความเป็นธรรมที่สุด ให้เหลือระบบเดียวมั้ย เอาภาษี 20 บาทมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่บริหารร่วมกัน เอามาเกลี่ยให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญและจำเป็นที่ดีที่สุดบนงบประมานที่รัฐจะจัดสรรได้ เราเชื่อแบบนั้น

คราวนี้ที่เราไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่ายในการรับบริการแต่ละครั้งคือ หนึ่ง รัฐไม่มีกลไกใดๆ ที่จะกำกับ ควบคุมราคา และก็บอกว่าการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลป์อย่างหนึ่ง ผ่าตัดไส้ติ่งอย่างเดียว โรงพยาบาลรัฐบอกว่าต้นทุนทั้งหมด 7,000 โรงพยาบาลรัฐที่ใหญ่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งบอกว่าขอ 10,000 โรงพยาบาลรัฐที่เป็นของมหาวิทยาลัยบอกขอ 30,000 โรงพยาบาลเอกชนขนาดล่างๆ หน่อยคิด 50,000 โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางคิด 130,000 ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนแบบ Hi-end คิด 200,000-300,000 บาท ทั้งที่ผ่าตัดไส้ติ่งแบบเดียวกัน เรียนมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐไม่มีกลไกกำกับ การร่วมจ่ายในแต่ละครั้งจะเกิดความไม่เป็นธรรม และความสามารถในการร่วมจ่ายของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

เรายังมีลูกจ้างที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ  ที่มีรายได้ไม่แน่นอน เขาเข้าโรงพยาบาลที่คิดค่ารักษา 10,000 และร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ระบบร่วมจ่ายเองก็ยังไม่มีความชัดเจนต้องร่วมจ่ายสูงสุดเท่าไหร่ สมมติว่ากำหนดว่าร่วมจ่ายสูงสุดไม่เกิน 300 บาท ซึ่งมันไม่มีวิธีคิดนี้ มีแต่วิธีคิดว่าร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ ในญี่ปุ่นมีว่าคุณต้องร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่เกินเท่านี้บาท ฉะนั้น คนทุกคนรู้ว่าระดับเราไหวมั้ย จ่ายได้มั้ย พอคุณไม่มีกลไกพวกนี้ แล้วมาเรียกร้องร่วมจ่าย มันสุ่มเสี่ยงมากกับประชาชนที่จะทำให้ล้มละลายเมื่อเจ็บป่วย ผมคิดว่าหนทางที่ควรจะเป็นต่อเรื่องนี้คือกลับไปคิดอยู่บนหลักการว่า ร่วมจ่ายก่อนป่วย พัฒนาระบบภาษี จัดสรรงบประมาณแผ่นดินด้านนี้ให้เป็นธรรม


ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ประชาชนไม่ดูแลตัวเอง ป่วยเล็กน้อยก็มาโรงพยาบาล ทำให้แพทย์ที่ขาดแคลนอยู่แล้วต้องทำงานหนักขึ้น?

ข้อเท็จจริงจากสถิติที่เก็บคือมีใช้บริการ 3.6-3.7 ครั้งต่อคนต่อปี ถ้าเทียบกับไต้หวันอยู่ที่ 13 ครั้งต่อคนต่อปี การไปใช้บริการในระบบประกันสุขภาพฯ ของคนไทยยังถือว่าต่ำ ไม่ได้ฟุ่มเฟือย ตัวเลขนี้มาจากการเคลม ยอดที่โรงพยาบาลเบิกงบเข้ามา เอาจำนวนประชากรมาหารแล้วได้เท่านี้จริงๆ ถ้าเป็นไปตามที่พูดว่าเจ็บนิดเจ็บหน่อยก็ไปใช้สิทธิ ป่านนี้เราคงล้มละลายไปแล้ว

สอง การไปรักษาเร็วบางทีมันดี ถ้าคุณปล่อยให้เจ็บมาก รักษาช้า หมอมือไม่ถึง มันก็เสี่ยงมากที่จะมีโอกาสเป็นหนักขึ้นถึงเสียชีวิตได้

สาม ที่บอกว่าหมอทำงานหนักมากขึ้น เราคงต้องพัฒนาระบบและการเข้าถึงบริการอีกนิดหนึ่ง ระบบบริการสุขภาพฯ ใช้หลักการว่า ใกล้บ้านใกล้ใจ คือการที่คุณเดินทางไปรักษาต้องเริ่มจากโรงพยาบาลใกล้บ้านที่คุณมีสิทธิอยู่ก่อน คุณจะข้ามไปโรงพยาบาลใหญ่ที่คุณไม่มีสิทธิไม่ได้ แบบนั้นคุณต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด อันนี้คือความพยายามวางระบบ เพื่อทำให้คนไข้ไม่ไปกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง

ทีนี้ ถ้าโรงพยาบาลแต่ละแห่งรู้อยู่แล้วว่าจำนวนประชากรที่ขึ้นสิทธิอยู่ในโรงพยาบาลของตนมีเท่าไหร่ ถ้าดูตามครั้งที่เห็นจากสถิติ มันก็อยู่ในวิสัยที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะรับมือได้ มันก็ไปเจอโจทย์ว่า คนไทยมีความเชื่อว่าโรงพยาบาลใหญ่ดีกว่าโรงพยาบาลเล็ก หมอเก่งกว่า เวลาป่วยก็อยากไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ มันต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมและความคิดนี้ ก็เลยมีมาตรการทางการเงิน มีแนวคิดใกล้บ้านใกล้ใจ มาเปลี่ยนวัฒนธรรมตรงนี้ก่อน

ยกตัวอย่าง ในต่างจังหวัด เมื่อป่วยนิดหน่อย คุณเดินไปที่ รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) เขารักษาได้ก็จบ ถ้าเขารักษาไม่ได้ก็ส่งต่อคุณไปที่โรงพยาบาลอำเภอ โรคระดับต้นๆ ไปจนถึงยากหน่อยๆ โดยส่วนมากโรงพยาบาลในระดับชุมชนในประเทศไทยสามารถรักษาได้ ก็เป็นไปตามสิทธิการรักษา ถ้าเกิดเจ็บเยอะ โรงพยาบาลชุมชนรักษาไม่ได้ เกินขีดที่เขามี เขาก็มีหน้าที่ส่งต่อไปโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้น จะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่เรียกว่าโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นอีกหน่อยเป็นโรงพยาบาลระดับศูนย์ ระบบมันถูกวางไว้แบบนี้ แล้วมันก็วางระบบการเงินไว้ว่า ถ้าเป็นโรคที่รักษายาก ต้องรักษาในโรงพยาบาลระดับสูงๆ ขึ้นไปก็มีงบตรงกลางเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ส่งต่อขึ้นไป ถ้าเราพยายามอยู่กับระบบนี้ ไม่ใช้ความเคยชินว่าต้องไปหาหมอโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น เราเดินแบบนี้กันอีกสักพักใหญ่ๆ มันก็อาจจะลดความแออัดได้

ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคนก็ต้องเดินตามระบบนี้ ประกันสังคมอีกประมาณ 10 ล้านคนก็เช่นกันที่อยู่กับระบบแบบนี้ ต้องไปตามโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิก่อน ถ้าใครไม่ไปตรงนี้ แล้วคิดว่ามีกำลังทรัพย์ที่จะไปโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องไปแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่คนแต่ละคนตัดสินใจ แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณ 6 ล้านคนคือข้าราชการ ที่ไปที่ไหนก็ได้ ถ้าคน 6 ล้านคนตระเวนไปที่นู่นที่นี่ การแออัดก็อาจเกิดขึ้นในโรงพยาบาลบางแห่งที่เป็นที่นิยม

โจทย์ถัดมาที่เราเจอคือเรื่องการกระจายตัวของหมอ พยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิมของระบบสุขภาพ ไม่ได้เกิดจากระบบประกันสุขภาพฯ หมอก็อยากอยู่ในที่ดีๆ มีลูกก็อยากให้ลูกเรียนที่ดีๆ ฉะนั้น เขาเลยไม่อยากไปอยู่ต่างอำเภอ การกระจายตัวของหมอก็เลยมีปัญหามาตลอด มันก็ต้องไปคิดว่าเราจะทำยังไงให้หมออยู่ชนบทมากขึ้น ทำยังไงให้การกระจายตัวของหมอสัมพันธ์กับจำนวนประชากร ซึ่่งระบบหลักประกันฯ ก็พยายามช่วยคิดโดยจ่ายค่าเหมาจ่ายรายหัวไปตามจำนวนประชากร เพื่อให้มีเม็ดเงินมากพอที่จะจ้างหมอ ให้หมอมีแรงจูงใจเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรเยอะ มันเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหมดทุกฝ่ายต้องมาสุมหัวช่วยกันคิด

ฉะนั้น การที่มีคนกระจุกอยู่ในบางโรงพยาบาลไม่ใช่ปัญหาของการมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ แต่เป็นปัญหาร่วมของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องช่วยกันแก้ ระบบหลักประกันสุขภาพฯ พยายามช่วยแก้โดยการวางกลไกทางการเงิน ข้าราชการก็อาจต้องช่วยแก้ ประกันสังคมก็อาจต้องช่วยแก้ ประกันชีวิตเอกชนก็อาจต้องมีส่วนร่วม คนที่ซื้อประกันส่วนหนึ่งก็มุ่งไปที่โรงพยาบาลที่ประกันจ่ายได้ แต่ด้วยประสบการณ์ที่่ผมเจอ คนที่เป็นโรคร้ายแรงเรื้อรัง เมื่อพวกเขาเข้าโรงพยาบาลที่มีประกัน สุดท้ายก็ต้องวิ่งกลับมาใช้ระบบประกันสุขภาพฯ เพราะคุณถูกสูบจนหมดตัว


ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านำเงินไปให้เอ็นจีโอ ทำให้ไม่มีเงินพอจ่ายโรงพยาบาล ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดทุน?

มันมีข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า ถ้าเป็นเงิน สปสช. เงินทุกบาทมีเจ้าของ ถ้าเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวต้องส่งไปให้โรงพยาบาล แล้วต้องถูกใช้อะไรบ้างจะถูกมาร์กไว้หมด เงินที่ฟรีจากระบบแล้วเอาไปจ่ายให้เอ็นจีโอ มันเป็นไปไม่ได้ โดยระบบกติกามันทำไม่ได้ แต่อาจจะมีส่วนหนึ่ง เช่น งานที่ว่าด้วยการส่งเสริมป้องกันโรคที่อนุญาตให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลมาเข้าร่วมทำกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งด้านนี้มันกระจายลงไปในท้องถิ่น กลุ่มคนในท้องถิ่นสามารถทำโครงการขอทุน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาดูแลสุขภาพตัวเอง มันก็ไม่ใช่เอ็นจีโอ อาจจะมีเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งซึ่งลงไปท้องถิ่น ไปทำงานส่งเสริมป้องกันและขอโครงการตรงนั้น โครงการหนึ่งๆ ก็ได้สองหมื่นสามหมื่น แล้วเอ็นจีโอไม่ได้มีเยอะ เทียบสัดส่วนกับเงินที่ไหลไปตามโรงพยาบาลแล้ว มันไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย หรือที่บอกว่าเอาเงินตรงกลางที่เป็นเงินส่งเสริมป้องกันโรคระดับประเทศไปให้เอ็นจีโอ จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา พบว่ามีแค่ 1-2 แห่งที่ให้กับแรงงานไปทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ไปตรวจแปปสเมียร์ (การตรวจมะเร็งปากมดลูก) ในโรงงาน ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น

เงินที่พูดว่าให้เอ็นจีโอ พอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็แสนกว่าบาทที่ สปสช. ไปขอเงินจากองค์การเภสัชมาสนับสนุนให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ทำรณรงค์เผยแพร่ให้คนไปตรวจเลือดให้เร็วขึ้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วขึ้น เงินมันไปสู่กระบวนตรงนั้น ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเงิน สปสช. แล้วบอกว่ามันหายไปเพราะเอาไปสนับสนุนเอ็นจีโอ โดยข้อเท็จจริงก็ไม่จริง เพราะเงินทุกบาทมันถูกไล่ไปทีละบรรทัดเลยว่าเอาไปใช้จ่ายอะไร

ส่วนเงินบริหารที่ถูกโจมตีมากว่า สปสช. มีเงินบริหารจัดการเยอะ ก็เทียบเป็นสัดส่วนขององค์กรมหาชนประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และเวลาถูกใช้ มันก็ถูกใช้กับการสนับสนุนเพื่อสร้างระบบให้ดีขึ้น เงินจำนวนนั้นไม่ได้นำมาสนับสนุนเอ็นจีโอ เงินส่วนใหญ่สนับสนุนไปที่กระทรวงสาธารณสุข ถ้าไปลองค้นข้อเท็จจริงก็จะพบ ผมว่าเรื่องนี้ต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน


อะไรคือภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า?

ความเป็นรัฐราชการถือเป็นเป็นภัยคุกคามที่สุด รัฐราชการคือรัฐที่ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ การตัดสินใจเป็นของราชการอย่างเดียว อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น