โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รถขนเงาะระเบิดข้างที่ทำการพรรคภูมิใจไทย

Posted: 22 Jun 2010 01:45 PM PDT

เกิดเหตุระเบิดข้างที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ถ.พหลโยธิน 43 ฝั่งขาออก ตำรวจสอบชายเข็นรถขนเงาะเผยติดรถคนรู้จักมาจากแหลมฉบัง แล้วนำรถเข็นลงรถมารอที่หน้าพรรคภูมิใจไทย ก่อนเกิดเหตุบึ้มสนั่นจนเจ้าตัวเจ็บสาหัส

<!--break-->

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เช้าวานนี้ (22 มิ.ย.) เกิดเหตุระเบิด ด้านข้างที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ถนนพหลโยธิน 43 ฝั่งขาออก เสียงดังสนั่น  โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน คือนายเอนก สิงห์ขุนทด  อายุ 27 ปี ซึ่งถูกไฟคลอกและส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพล

สภาพที่เกิดเหตุบริเวณร้านอาหารตามสั่งติดกับประตูทางเข้า –ออก ของผู้บริหารระดับสูงของพรรคภูมิใจไทย   ส่วนสภาพร้านค้าโดนแรงระเบิดกระจัดกระจาย สังกะสีระเนระนาด ขณะที่รถซาเล้งของนายเอนก  โดนแรงอัดระเบิดพังยับเยินและกระเด็นไปทั่วบริเวณดังกล่าวพร้อมกับเศษเงาะ

พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (ผบก.น.2) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจสภาพที่เกิดเหตุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นระเบิดที่คนร้ายใช้น่าจะเป็นระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งหลังจากหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วพบว่า คนร้ายได้ใช้ถังแก๊สเปล่าบรรจุน้ำมันเบนซิน และมีระเบิดทีเอ็นทีสำเร็จรูป น้ำหนักประมาณ 4-5 ปอนด์ วางประกบอยู่ด้านข้างถังแก๊ส มีรัศมีการทำลายล้าง ประมาณ 20 เมตร ซึ่งคาดว่าคนร้ายน่าจะจุดชนวนด้วยระบบรีโมท ซึ่งจะรวบรวมวัตถุพยานทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ สอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

พล.ต.ต.สาโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากการสอบปากคำนายเอนก เบื้องต้นให้ว่าเดินทางมาที่เกิดเหตุกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพื่อจะนำรถเข็นมาจอดไว้ที่ด้านหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าในรถเข็นมีระเบิดอยู่ แต่เกิดฝนตก เลยเข็นรถไปไว้ที่เพิงขายอาหารตามสั่งจนเกิดระเบิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้อายัดตัวนายเอนกไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว นอกจากนี้ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตลอดเส้นทางที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุแล้วว่าสามารถจับ ภาพรถกระบะที่คนร้ายใช้บรรทุกรถเข็นเดินทางมาก่อเหตุได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบพบว่า ถังแก๊สไม่ได้ถูกดัดแปลง เพราะจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุนั้น พบหัววาวล์ถังแก๊สที่ยังอยู่ในสภาพเดิม และมีแก๊สหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานจะเก็บชิ้นส่วนวัตถุระเบิดทั้งหมดที่พบไป ตรวจสอบเขม่าดินปืนที่พบในจุดเกิดเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำนายเอนกระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นเจ้าตัวให้การว่า ก่อนเกิดเหตุมีคนรู้จักชวนตนให้เดินทางมา กทม.เป็นเพื่อนด้วย โดยเอารถเข็นขายเงาะ เครื่องชั่งกิโล ขึ้นรถกระบะคันหนึ่งมาจาก อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อมาถึงถนนพหลโยธิน ใกล้กับปากซอยพหลโยธิน 43 คนขับรถกระบะให้ตนลงจากรถพร้อมกับนำรถเข็นลงไปด้วย โดยสั่งให้ตนดูแลรถเข็นไว้ที่หน้าพรรคภูมิใจไทย หลังจากนั้นจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นเกิดฝนตกลงมา ตนจึงเข็นรถเข็นเข้าไปในจอดหลบฝนที่เพิงขายอาหารบริเวณจุดเกิดเหตุภายในซอย ดังกล่าว จนกระทั่งคนขับรถกระบะก็โทรศัพท์มาหาตนแล้วถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง รถยังอยู่เรียบร้อยดีหรือเปล่า” พอวางสายไปก็เกิดระเบิดขึ้นจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์จิตรา คชเดช: “เราไม่ได้ต้องการคนดี”

Posted: 22 Jun 2010 01:00 PM PDT

<!--break-->

พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของท่านตอนหนึ่งว่า “ธรรมะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง อยู่ในประสบการณ์ของทุกผู้คน ธรรมะไม่ได้อยู่แต่ในพระไตรปิฎก หรืออยู่ในตำรา ธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ที่ว่าเรามองเป็นหรือไม่ เราควรมองมาที่ประสบการณ์ของตัวเราเองด้วยว่าประสบการณ์นั้นเป็นบทเรียนสอนธรรมะได้หรือไม่"

ทุกวันนี้หากใครสนใจที่จะศึกษาธรรมะ ก็คงมุ่งหน้าเข้าศูนย์ปฏิบัติธรรม วัด หรือพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คงไม่มีใครเลือกที่จะเสียเวลาเดินเข้าไปนั่งคุยกับชาวบ้านในม็อบ ที่มาชุมนุมประท้วงตากแดดตากฝน ตะโกนโหวกเหวกอยู่ตามท้องถนน ลึกๆ เราต่างก็แอบฝันว่าอะไรที่เกี่ยวกับธรรมะมันน่าจะดูคูล คนมีธรรมะจะต้องสุภาพมีมารยาท หน้าผ่องหน้าเด้ง พูดจาดี มีออร่าทางธรรมสุกสว่างออกมา

แวบหนึ่ง ผมมองไปที่แววตาอันมุ่งมั่นของผู้หญิงคนที่ผมกำลังคุยด้วย เธอดูดุดัน โผงผาง ไม่ยอมใคร แต่ยามที่เธอเล่าถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในสังคม การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนที่ยากลำบาก ผมสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความอ่อนโยนอย่างประหลาด บ่อยครั้งมันทำให้ผมขนลุก เธอไม่ใช่คนที่ใครๆ จะเดินเข้าหา เพื่อคุยเรื่องการปฏิบัติธรรม คำสอนทางศาสนา หรือความสุขสูงสุดในชีวิต เธอไม่สามารถประดิดประดอยถ้อยคำสวยหรูให้คนฟังปลาบปลื้มชื่นชอบ ชีวิตของเธอไม่ได้มีเพื่อสื่อสารความสุข ตรงกันข้ามเธอเป็นโทรโข่งของความทุกข์ให้กับผู้คนที่ถูกกดขี่

หนิง-จิตรา คชเดช เป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เป็นผู้นำการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานของสหภาพที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่มิถุนายน ๕๒ เมื่อการเรียกร้องไม่เป็นผล พวกเธอจึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการผลิตชุดชั้นในออกขายภายใต้แบรนด์ "ไทร อาร์ม" (TRY ARM) กับสโลแกนเก๋ๆ ที่ว่า "ไม่ใช่แต่แฟชั่น แต่มันคือการต่อสู้" พร้อมโลโก้กำปั้นชู (ดูรายละเอียดได้ที่ www.tryarm.org)

บทสัมภาษณ์ "เราไม่ได้ต้องการคนดี" อาจไม่ได้ออกแนวธรรมะธัมโมเหมือนชิ้นก่อนๆ มันก็แค่เรื่องเล่าของคนเล็กๆ คนหนึ่งที่ใช้ทุกข์เป็นทาง คนจริงที่ขอลองเผชิญความจริงด้วยตนเอง อย่างที่ไม่ต้องมีมายาคติของความดีมาบดบังให้พร่ามัว

 

000

วิจักขณ์: พี่รู้สึกยังไงกับมาตรการเยียวยาของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีต่อผู้ชุมนุมที่กลับบ้านไป

จิตรา: เรากำลังรู้สึกว่า “เยียวยา” หมายถึง ...แบบ ต้องรักษาจิตใจอะไรงี้ป่ะ นี่ความคิดของเรานะ การที่ใช้คำพูดว่าเยียวยา แสดงว่าคนนั้นกำลังมีปัญหาเรื่องภาวะจิต ใช่ป่ะ..

วิจักขณ์: ซึ่งในแง่นั้น พี่โอเคดี

จิตรา: (หัวเราะ) ก็โอเคนะ ไม่ได้ป่วย (หัวเราะ)

คือ การที่จะแก้ปัญหาเนี่ย มันไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุว่ามาเยียวยาจิตใจ รู้สึกยังไงที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น มีอะไรอยากจะพูดมั๊ย ไม่รู้สิ ที่เห็นทำๆ กัน ก็เห็นให้คนมาเล่า ปรับทุกข์ อะไรงี้...แล้วไงต่อล่ะ เออ หลังจากปรับทุกข์เสร็จแล้วไงต่อ แล้วปัญหาที่มันคงอยู่ ถูกแก้มั๊ย ...ก็เปล่า

วิจักขณ์: คือ ปัญหาของคนที่มาชุมนุมมันโยงกับเรื่องที่จับต้องได้โดยตรง

จิตรา: อือ ใช่ ยกตัวอย่างคนที่ถูกไฟไหม้บ้านนะ การที่จะเยียวยาเค้าก็คือการให้ที่อยู่อาศัย มันไม่ได้หมายความว่า คุณเอาข้าวไปให้ แล้วไปนั่งฟังเค้า รับรู้ความเศร้า ความสูญเสีย แต่เค้าก็ยังไม่มีบ้านอยู่ ถ้าแค่นั้นก็ไม่ใช่ทางที่จะแก้ปัญหาได้ ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าวันๆ เค้าต้องมานั่งพูดกับคนที่มารับฟัง พูดแต่เรื่องความเศร้า ความสูญเสีย ซ้ำๆ มันจะเป็นยังไง แล้วบ้านก็ไม่มีอยู่ ความจริงว่าไฟไหม้ยังไงก็ไม่มีใครตรวจสอบ มันเหมือนเอาเรื่องเยียวยาจิตใจมา เบี่ยงเบนไม่พูดถึงปัญหาหรือเปล่า

ริน (เพื่อนร่วมสนทนา): ก่อนที่รินจะเจอพี่ที่เต็นท์ที่ราชประสงค์วันนั้นน่ะ รินจะเจอแต่พี่พูดในเวทีต่างๆ ไฮปาร์ค หรือแสดงความคิดเห็นหนักๆ บอกตรงๆ เลย รินเนี่ยกลั้ว กลัว จริงๆ พี่ก็ไม่ได้ดุอย่างที่เห็นตามการชุมนุมใช่มั๊ยพี่

จิตรา: จริงๆ ก็ไม่ได้ดุนะ มันก็แค่ถ้าไม่ใช่ เราก็จะเถียง 

วิจักขณ์: ก็คือตรงไปตรงมา ไม่ประนีประนอม

จิตรา: อือ ใช่ ไม่ประนีประนอม ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยมีใครเล่นด้วยหรอก เค้าบอกว่าเราขี้โกง ชอบแกล้งเพื่อน แค่จริงๆ ไม่ใช่เลย ไม่เคยแกล้งใครเลย มีแต่เค้าแกล้งเราก่อน แต่ตอนเค้าแกล้งเรา ไม่มีคนเห็น เวลาเราเอาคืนมีคนเห็น เค้าก็เลยหาว่าเราชอบแกล้งเพื่อน

วิจักขณ์: ตอนนี้ก็ยังเป็นใช่มั๊ย (หัวเราะ)

จิตรา: (หัวเราะ) ใช่ ตอนเราถูกกระทำไม่ค่อยมีคนเห็น แต่พอเราไม่ยอม ก็หาว่าก้าวร้าว

วิจักขณ์: บางทีผมก็จินตนาการไม่ออกนะพี่ อย่างผมเนี่ย ไม่พอใจอะไรในสังคมก็ไม่เคยถึงกับต้องออกไปเรียกร้องบนท้องถนน ก็ไปหาพรรคพวกให้ช่วยบ้าง ใช้เส้นบ้าง ถ้ามีเงิน เงินก็ช่วยแก้ปัญหาได้ การศึกษาหรืองานที่ทำมันก็ทำให้เราพอมีสถานะทางสังคมอยู่บ้าง แต่การเป็นคนเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรซักอย่าง แล้ววันนึงกลายเป็นผู้นำการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ทำให้คนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจมองว่าพี่ก้าวร้าว รุนแรง ก่อความเดือดร้อน ไม่เคารพกฎหมาย บทบาทตรงนี้มันส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตพี่บ้าง

จิตรา: อย่างวันหนึ่งพี่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ พี่ไปมอบตัวแล้ว แต่มันยังไม่ยกเลิกประวัติ พอไปถึงสนามบิน เราก็ต้องไปยื่นพาสปอร์ต ในระหว่างที่กำลังผ่าน ต.ม. เอ..ทำไมแถวอื่นผ่านไปหมดแล้ว แถวชั้นยังไม่ไปไหน คือไม่มีการบอกว่าเรามีปัญหาอะไรนะ จนตำรวจมาครบทีม ก็เรียกเราเข้าไป บอกว่าขอเชิญตัว คุณมีปัญหา โห.. เหมือนอาชญากรข้ามโลกยังไงไม่รู้ คนมองกันเต็ม แทนที่จะพูดกับเราดีๆ มาคนเดียวก็ได้ นี่มาเป็นทีม เชิญตัวเราไป เราก็บอกว่าเดี๋ยวบอกเพื่อนก่อน “ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่มีสิทธิเลย ถ้าเคลียร์ไม่จบเนี่ย เดี๋ยวเอาตำรวจพาไปเข้าห้องขังเลย” ใช้เวลาเคลียร์อยู่เกือบครึ่งชั่วโมงได้ ตอนแรกนี่อารมณ์ดีนะ จะได้ไปเมืองนอก ผ่านช่องต.ม.ช้าๆ ล่ำลาเพื่อนๆ ที่ไหนได้ (หัวเราะ) โดนซะ

หลังจากเคลียร์จบ ตำรวจบอกว่า  “แม่ง.. ค้ายา ฆ่าคนตาย ไม่ส่งรายชื่อให้กูจับ คดีแค่นี้ส่งรายชื่อให้กูจับ” (หัวเราะ) นี่ไงก็แค่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม เราก็กลายเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย บัญชีดำ ออกนอกประเทศไม่ได้

วิจักขณ์: ที่พี่โดนแบบนี้ ก็คือแค่ออกมาเรียกร้อง ออกมาชุมนุมประท้วง ตามปกติ

จิตรา: ใช่ ก็แค่นั้นแหละ ไม่ใช่ว่าไปแอบทำอะไรที่ไหน

วิจักขณ์: มันเป็นสมมติฐานที่ว่า คนดีๆ เขาไม่ออกมาชุมนุมประท้วงกันตามท้องถนนหรือเปล่าพี่

จิตรา: ก็คงจะใช่

วิจักขณ์: แล้วเวลาเจอแบบนี้มากๆ พี่เคยคิดจะเลิกทำ หรือเปลี่ยนกลยุทธ์บ้างมั๊ย

จิตรา: ต้องเข้าใจนะ ว่าการประท้วงมันคือการนำเสนอ มันคือการบอกว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา การประท้วงแบบแปลกๆ ก็คือการเรียกสื่อมา การประท้วงคือการบอกข่าว คือการตะโกนบอกว่าเกิดอะไรขึ้น การเดินบนท้องถนนก็ต้องคำนวณด้วยว่าเดินบนเส้นไหนคนจะเห็นเยอะ คนเห็นว่าฉันโดนอะไร การทำอะไรแปลกๆ ก็คือเรียกนักข่าวมาดูว่าฉันโดนอะไรมา ต้องการให้คนรับรู้ ร่วมรับรู้ความทุกข์ของเรา ถ้าเกิดว่ามีพื้นที่สื่อเพียงพอ คนทั่วไปตื่นตัว สนใจ และอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มันก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเดินบนถนน เค้าก็ไปที่สื่อเพื่อไปบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเค้า เป้าหมายของการประท้วงก็คือการบอกข่าว การส่งสารว่าชั้นโดนกระทำอะไรมา

วิจักขณ์: แล้วพี่คิดยังไง อย่างในกรณีการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ถ้าคนทั่วไปที่เห็นการชุมนุมจะบอกว่า การสื่อสารของคนเสื้อแดงยังทำได้ไม่ดี สร้างความเดือดร้อน ความน่าหมั่นไส้เยอะกว่าสร้างความเข้าใจ คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้เลยว่าเหตุผลจริงๆ ที่มาชุมนุมกันเพื่ออะไรกันแน่

จิตรา: ไม่ต้องคนเสื้อแดงหรอก คนมาชุมนุมประท้วงก็ประสบปัญหานี้ประจำนะ อย่างกลุ่มผู้ใช้แรงงานเองพอเดินประท้วง ปิดถนน ก็จะโดนด่าประมาณว่า ปัญหาของคนกลุ่มเดียว ทำให้คนเดือดร้อนเยอะแยะ มีหลายอย่างที่เราโดนมา ทุกครั้งก็ต้องมาคิดว่าจะปรับการชุมนุมประท้วงยังไงให้คนเข้าใจเรามากขึ้นด้วย คือการชุมนุมประท้วงนอกจากการสื่อแล้ว ก็คือการหาแนวร่วมเพิ่มด้วย ถูกมั๊ย

อย่างพวกเราที่คิดทำกางเกงใน TRY ARM ขึ้นมา ก็คิดเรื่องนี้แหละ ลองทำกางเกงในซิ พอคนมาซื้อ เราก็เล่าเรื่องราวของเราให้เขาฟัง กางเกงในมาเป็นยังงี้ๆ ๆ [วิจักขณ์: ติดตัวเค้าด้วยนะ (หัวเราะ)] เออ..(หัวเราะ) มันก็เลยทำให้ได้รับการตอบรับจากสังคม บางทีบางคนอยากจะรู้ บางคนอยากจะร่วม แต่ด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่เขาอาจจะร่วมไม่ได้ เขาก็ซื้อกางเกงในไปใส่ ในกรณีเสื้อแดง มาชุมนุมไม่ได้ ก็ใส่เสื้อแดงอยู่บ้านได้ อันนี้ต้องเข้าใจนะ การซื้อของซักชิ้น หรือแม้แต่การเลือกใส่เสื้อผ้า เลือกซื้ออาหาร มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับจิตสำนึกทางสังคม

การประท้วงถ้าไม่อยากให้มันนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นๆ จำเป็นต้องเปิดพื้นที่สื่อให้เค้าด้วย เพราะการประท้วงเป็นการเรียกร้องให้คนได้รับรู้เรื่องของเค้ามากขึ้น

วิจักขณ์: คนทั่วไปก็ต้องช่วยกันเปิดใจรับรู้ด้วย ไม่ใช่อะไรๆ ก็เซ็ง อะไรๆ ก็เบื่อ

จิตรา: ใช่

วิจักขณ์: แต่ดูเหมือนท่าทีของรัฐบาลไม่ว่าชุดไหนๆ ก็มักจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ นอกจากจะไม่ให้พื้นที่สื่อ ไม่ลงมาร่วมรับรู้ ก็มักจะเป็นไปในทางกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า ความจริงใจที่จะแก้ปัญหาก็ไม่ค่อยจะมี หนักเข้าก็มีการข่มขู่ หมายหัว และยิ่งบีบพื้นที่ของการชุมนุมเรียกร้องให้แคบลงเรื่อยๆ

จิตรา: เพราะรัฐไม่วิเคราะห์ หรือแกล้งโง่ หรืออะไรก็แล้วแต่ เป้าหมายของการประท้วงคืออะไร เค้าต้องการให้สังคมรับรู้ปัญหาของเค้ามากขึ้น ต้องการหาแนวร่วมมากขึ้น จะทำยังไงที่รัฐไม่ไปยับยั้งสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าปิดกั้นยับยั้ง แรงบีบก็จะเจอแรงต้าน มันก็จะยิ่งหนักขึ้น หนักขึ้น

เพราะฉะนั้น เวลาเราไปดูการชุมนุมประท้วง เค้าวางแผนกัน ก็ต้องมีประเด็นเหล่านี้ คือ ทำยังไงให้สื่อมาทำข่าวมากที่สุด จะเดินตรงไหนให้คนเห็นเยอะที่สุด ไปตรงไหนที่คนจะสนใจเยอะที่สุด จะทำยังไงที่จะทำให้คนเป็นแนวร่วมให้ได้มากที่สุด ทุกครั้งที่เราวางแผนทำกิจกรรม ก็มีแค่นี้แหละที่ต้องการ เพราะเราก็เชื่อว่าสื่อก็จะนำสารของเราไปยังอีกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ก็ต้องการให้สังคมไปช่วยกันบีบให้อีกฝ่ายยอมปรับ ยอมรับข้อเสนอที่เราเรียกร้อง ให้ทำในสิ่งที่เราอยากได้

วิจักขณ์: ความต้องการหลักของการชุมนุมประท้วง ก็คือ ให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวความเดือดร้อนของเขา ไม่ใช่เรื่องของความรุนแรง อันนี้พี่ยืนยันได้

จิตรา: ถ้าเค้าชอบความรุนแรง เค้าก็คงไม่ไปเดินประท้วงตั้งแต่แรก เค้าก็คงตัดสินใจเอาปืนไปจ่อหัว ให้มันทำตามที่เราต้องการไปแล้ว

วิจักขณ์: คนก็อาจจะถามว่า แล้วทำไมถึงต้องไปก่อความเดือดร้อนให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่  

จิตรา: แล้วถ้าชุมนุมกันเงียบๆ ในสวนสาธารณะ แล้วใครที่ไหนจะได้ยิน เมื่อสังคมมีท่าทีเพิกเฉยต่อปัญหา มันก็จำเป็นที่จะต้องกระตุกให้สังคมตื่นบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง

วิจักขณ์:  อยากถามความคิดเห็นพี่ ในฐานะที่พี่ไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง อย่างคนที่เค้าสงสัยที่มาที่ไปของการชุมนุมครั้งนี้ ฟังพี่ก็อาจจะยังสงสัย จริงอยู่มันก็อาจมีคนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมด้วยความเข้าใจแบบนี้ แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าจะมีซักกี่คน ในเสื้อแดงจริงๆ ก็มีหลายกลุ่มมากที่มาเป็นแนวร่วม แต่คนที่มองจากข้างนอกเข้าไป ไม่รู้ล่ะ เค้าก็ต้องมองไปที่แกนนำก่อนเป็นอย่างแรก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมือง หัวคะแนน ดูการพูดการจา ดูข้อมูลต่างๆ ที่ยกมาปราศรัย แล้วมันไม่ค่อยน่าไว้วางใจเท่าไหร่ ก็อาจมีคำถามว่า คนที่มาชุมนุมโดนแกนนำปั่นหัวหรือเปล่า ถูกจ้างมาหรือเปล่า ถูกหลอกหรือเปล่า เป็นเครื่องมือให้ทักษิณหรือเปล่า สำหรับกลุ่มของพี่ พี่คิดยังไงถึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมกับเสื้อแดง แน่ใจได้ยังไงว่าการร่วมชุมนุมครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของพี่ได้จริงๆ

จิตรา: อย่างที่บอกไปว่าการชุมนุมทุกครั้งมันก็มีอยู่สองเป้าหมาย เป้าหมายแรกก็คือ ต้องการที่จะสื่อข่าวสาร และสองคือต้องการแนวร่วมเพิ่ม แต่ที่เราไปร่วมกับเสื้อแดง เราไปเป็นแนวร่วมเพิ่มให้กับเค้านะ เราไม่ได้ไปช่วงชิงการนำอะไรนะ (หัวเราะ) เราไปเป็นแนวร่วมเพิ่มให้กับเค้า เพราะว่าเราเห็นประเด็นร่วม ประเด็นร่วมก็คือ เออ ถ้ามีการยุบสภา มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คดีของเราหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับเรา อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้

วิจักขณ์:  ความหมายของการเป็นแนวร่วม สำหรับชนชั้นกลางอย่างผมเป็นอะไรที่เข้าใจยากมาก เพราะในฐานะที่เรามีทางเลือก มันต้องดีพร้อมสิเราถึงจะเลือก คือเป็นผู้เลือก ไม่ใช่เป็นแนวร่วม อันนี้พี่บอกว่าไปเป็นแนวร่วมเพิ่มให้เขา การไปเป็นแนวร่วมของพี่ไม่ได้หมายความว่า พี่เห็นด้วยกับแกนนำทุกอย่าง หรือเห็นด้วยกับทุกกลุ่มที่มาเป็นแนวร่วมทุกอย่าง

จิตรา: ใช่ เราเข้าไปเป็นแนวร่วมในประเด็นที่เราเห็นด้วย ก็คือในเรื่องของการยุบสภา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่จับต้องได้ ถ้ายุบสภา พอจะเลือกตั้งใหม่ เราก็มีโอกาสที่จะนำเสนอประเด็น อย่างนำเสนอว่าพรรคการเมืองที่เราจะเลือก ต้องมีนโยบายเกี่ยวกับสิทธิของคนงานให้ชัดเจนนะ เพราะว่าเราเคยนำเสนอประเด็นเหล่านี้ไปให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลแล้ว เค้าก็ไม่จัดการอะไรให้เรา

แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราก็ไม่ได้คาดหวังนะ ว่าถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง ยุบสภาแล้ว ประเด็นของเราจะได้รับการดึงขึ้นไปแก้ปัญหาในทันที แต่ประเด็นหลักที่คิดว่าทำให้เราเข้าร่วมการชุมนุมก็คือ เราคิดถึงในแง่ของประชาธิปไตยด้วย อย่างน้อยสิทธิการชุมนุมขั้นพื้นฐานควรจะมี และรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังมาแบบไม่ชอบธรรม

วิจักขณ์: ก็คือพี่ก็มองไปในระยะยาวด้วยว่า การมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ มันจะมีผลถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระยะยาว คือ สิทธิและพื้นที่ในการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน และกติกาที่เป็นธรรมของประชาธิปไตย

จิตรา: ใช่ แล้วที่สำคัญนะ คิดว่าการต่อสู้ทางการเมือง มันไม่ค่อยมีพื้นที่ ไม่มีโอกาสบ่อยมากนัก บางทีการเข้าไปร่วมเนี่ย มันจะทำให้เรามองเห็นได้มากกว่าที่เราเคยเห็นมาก็ได้ การที่คนมารวมกลุ่มกันเยอะๆ เราได้มีโอกาสไปทำความรู้จัก ไปฟัง ไปพูดคุย ไปร่วมรับรู้ปัญหาของคนอื่น บางทีมันก็ทำให้เรามีมุมมองอะไรกว้างขึ้นได้

วิจักขณ์: แล้วดีกรีของการเป็นแนวร่วมของพี่ มันถึงขนาดว่ายอมตายได้มั๊ย

จิตรา: ตัวพี่อ่ะนะ?

วิจักขณ์: ก็จากที่พูดถึงที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นแนวร่วม ดีกรีมันแรงถึงขนาดยอมตายได้เลยมั๊ย

จิตรา: (คิดนาน....) ไม่ได้

ริน (เพื่อนร่วมสนทนา): แต่...

จิตรา: ...แต่มันมีปัจจัย คือว่า ในระยะแรกไม่มีใครประท้วงเพื่อยอมตายหรอก ไม่มี แต่หลังสิบเมษาน่ะ มีคนมีอารมณ์แบบนั้น หลังจากที่ถูกใช้ความรุนแรงน่ะ

วิจักขณ์: ตอนนั้นมันก็เหมือนถูกกระทำ ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนไป

จิตรา: ใช่ ตอนแรกมันไม่มีเรื่องแบบนี้เลยนะ แต่พอเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อมีคนตาย แล้วท่าทีของรัฐที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร ขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบซักนิดก็ไม่มี แถมผู้ชุมนุมถูกใส่ป้ายผู้ก่อการร้ายอีก อารมณ์คนมันเปลี่ยนทันทีนะ คนก็บอกเลยว่าคราวนี้ยอมตาย พอมันเห็นความตายเกิดขึ้นแล้ว อารมณ์มันก็เปลี่ยนไปอีกอารมณ์นึง แต่มันไม่ใช่อารมณ์พี่หรอก ถ้าพี่ตายพี่ก็คงตายไปตั้งแต่วันที่สิบแล้ว

วิจักขณ์: ม็อบก็ประกอบไปด้วยคนเยอะแยะ หลายกลุ่ม หลายแบบ สิ่งที่ยึดโยงและเป็นแรงขับเคลื่อนก็คืออารมณ์ของม็อบหรือพลังมวลชน ทางศาสนาเรียกพลังของสังฆะ

จิตรา: ถ้าคนที่ยืนมองอยู่ข้างนอกก็ไม่เข้าใจหรอก คือการที่เราทำงานกับคนเยอะๆ มันมีความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้ พี่ไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าอะไร แต่ว่าเราสามารถที่จะดึงอารมณ์คนออกมาร่วมกันให้ได้มากที่สุด มันก็เป็นพลังอย่างหนึ่ง อาจจะเรียกพลังซ่อนเร้น ไม่รู้อะไรล่ะ แต่เมื่อคนมันมีประเด็นร่วมกัน มันก็นำไปสู่การที่จะทำอะไรร่วมกันก็ได้ บางทีเวลาเราอยู่คนเดียว เฮ้ย ถ้าจะให้เราวิ่งไปตรงนั้นก็ไม่เอาหรอกว่ะ แต่เฮ้ยมีคนไป บางทีแว้บนึงมันก็อาจจะคิดนะ ถ้าเราไม่ไป กลัวเพื่อนจะว่าเราขี้ขลาดรึเปล่าวะ ถ้าเราไม่ไปแล้วเพื่อนเราจะไหวมั๊ย อะไรแบบนี้ จะว่ามันร่วมใจกันอยู่ตรงนั้นก็ได้ มันก็เลยไม่แปลกที่จะมีคนที่วิ่งเข้าไปหาวิถีกระสุน พวกนั้นไม่ใช่ว่าบ้าบิ่นหรืออยากเป็นฮีโร่ แต่ความรู้สึกร่วมกันมันทำให้เป็นไปได้ที่จะทำแบบนั้น

แล้วพอคนที่มาชุมนุมได้เข้าใจอะไรมากขึ้น มีการพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ว่าการต่อสู้เนี่ยไม่มีซักครั้งที่ไม่มีการสูญเสีย บวกกับสถานภาพทางสังคมของเรา มันก็แทบไม่มีคนมองเห็นอยู่แล้ว อยู่ไป แม่งก็รันทดด้วยนะ มีทั้งหนี้สินมีทั้งอะไรเยอะแยะ ดูแล้วมันไม่มีทางนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรในทางที่ดีขึ้นได้  มันก็ทำให้คนคิดนะว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ คุณภาพชีวิตเราน่าจะดีขึ้น ...มันก็สู้ ก็เสี่ยง

วิจักขณ์: ดูเหมือนเป็นมิติของคนที่มีตัวตนเล็กด้วยมั๊ยพี่ อันนี้พูดถึงตัวตนทางสังคม ตัวเล็กแต่ใจใหญ่ พอตัวตนเค้าเล็ก ก็ดูจะให้ได้เยอะกว่า คิดถึงชีวิตของตัวเองน้อยกว่า คิดถึงคนข้างหลังมากกว่า มันมีภาวะที่ตัวเองไม่มีอะไรจะเสีย

จิตรา: จริงนะ เราเห็นแต่ละคนที่ไปอยู่ด่านหน้า คนที่ไปอยู่ด่านหน้านี่มีโอกาสตายสูงมาก แต่มันก็ไปอยู่กัน  

วิจักขณ์:  พอเหตุการณ์มันจบลงแบบนี้ มองย้อนกลับไป พี่เห็นอะไรบ้าง

จิตรา: เราคิดว่าถ้าเราเป็นคนที่จัดการอะไรได้ เราอยากเห็นคนที่ลุกออกมา ก็ไม่รู้จะบอกอะไรใครได้ แต่เอาเป็นว่าก็น่าจะลุกออกมา บอกคนที่เริ่มแก้ปัญหาด้วยการยิงว่าต้องหยุดยิง พวกเราก็พยายามทำนะ ก็ตั้งเวทีหยุดฆ่าประชาชน แต่มันก็ถูกมองเป็นแนวร่วมแดงไป คือ ยังไงมันก็ต้องหยุดฆ่าก่อน ไม่ใช่มาสันติ สันติ เราเองก็ยังไม่กล้าพอที่จะพาคนฝ่าวิถีกระสุนเข้าไปเพื่อบอกให้หยุดยิง เพราะเรารู้สึกว่า เราไม่ได้สู้อยู่กับคนที่มีคุณธรรม ถ้าคนมีคุณธรรมก็คงไม่เลือกการแก้ปัญหาด้วยการฆ่า

วิจักขณ์: ที่น่ากลัวที่สุด ผมคิดว่าคือความรู้สึกที่เราไม่ได้สู้อยู่กับคน คือเราสู้กับโครงสร้างความรุนแรงอะไรบางอย่าง มันเป็นระบบหรืออะไรบางอย่างที่ไม่ใช่คน อย่างอำนาจรัฐ การแก้ปัญหาด้วยอาวุธ มันเหมือนเป็นระดับวัฒนธรรมไปแล้ว คือถึงคนจะมีคุณธรรมยังไง แต่พอไปอยู่ในตำแหน่งนั้น ในโครงสร้างอำนาจแบบนั้น มันก็ยากที่จะทัดทาน

จิตรา: เออ พี่ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้สู้กับมนุษย์ เออใช่ มันเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่มีจิตใจ ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้

เราคิดกันหลายอย่างนะ เฮ้ย จะทำไงกันดีวะ ตอนนั้นอยู่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะเข้าไปราชประสงค์  มี ส.ว.คนนึงมาบอก “เนี่ยเธอก็ต้องไปบอกพวกแกนนำสิ ให้ยุติการชุมนุม คนจะได้ไม่ตาย”

วิจักขณ์: แล้วพี่รู้สึกยังไง

จิตรา: ก็เฮ้ย อะไรวะ การจะตายมันไม่ได้อยู่กับคนที่ชุมนุม แต่การตายมันอยู่ที่คนที่เข้าไปฆ่า เราไม่ได้ทำให้ใครตายนี่ คุณต้องไปบอกให้คนที่เข้าไปฆ่าหยุด มันมีวิธีอื่นอีกมั๊ยที่ไม่ใช่การฆ่า การฆ่ายังไงมันก็ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นบอกให้คนยุติการชุมนุม แล้วจะไม่เข้าไปฆ่า มันคนละเรื่อง คุณไม่ได้เข้าใจอะไรเลย มันตลกนะ ถ้าคุณเชื่อในสันติวิธีจริง คุณต้องไปบอกคนที่จะมาฆ่า ไปหยุดยั้งเขา ไปขวางเขา ประณามเขา ประท้วงเขา ไม่ใช่มาโทษคนชุมนุมว่าไปยืนล่อเป้าทำไม เพราะถึงยังไงรัฐก็ไม่มีสิทธิฆ่า แต่ก็มีคนบอกนะ อย่างจตุพรพาคนไปตาย อืม..แล้วพาคนไปตาย กับพาคนไปยิง อันไหนมันแย่กว่ากันล่ะ

คือเวทีที่อนุสาวรีย์ก็มีการประสานงานกันตลอดนะ ว่าจะมีการยอมมอบตัว พวกพี่ก็บอกยอมนะ ยอมถูกจับ จะทำเวทีไปจนกว่าจะมาจับ แต่เราก็ไม่รู้ว่าทหารจะเข้ามาด้วยหรือเปล่า เราก็กลัวทหารจะเข้า ก็พยายามติดต่อไปที่นักสันติวิธีให้มานั่งเป็นสันติวิธีให้เราหน่อย ยืนยันว่าเวทีเราสันติวิธีจริง ทีนี้เค้าก็บอกมาว่า ให้เราทำเวทีแบบนั่งสมาธิ จุดเทียน อะไรงี้ คือ อารมณ์นั้นจะให้คนนั่งสมาธิ (หัวเราะ) บอกว่าทำไม่ได้หรอกเวทีแบบนั้น เวทีสันติวิธีมันไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิหรือจุดเทียน เราไม่ได้ไปทำอะไรใครที่ไหน แต่เราก็สามารถให้ความรู้ทางการเมืองได้ ถูกมั๊ย สันติวิธีไม่ได้หมายความว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนี่ แต่ไม่รู้นะว่าพูดแบบนี้แล้วพวกสันติวิธีเค้าคิดยังไง

วิจักขณ์: สันติวิธีเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่าสันติวิธีจะต้องมาหยุดคนให้เลิกต่อสู้

จิตรา: แต่อาจารย์คนนั้นก็บอกว่า เค้าไม่อยู่ในสถานะที่จะทำตรงนั้นได้ เออ..เอาล่ะสิ จริงๆ ถ้าคุณเชื่อมั่นในสันติวิธีนะ คุณก็ถือธงไปเลย คุณมีร้อยคน คุณก็เดินเข้าไปในแนวกระสุน ดูซิมันจะยิงมั๊ย ถ้าสันติวิธีถูกยิงตาย ก็จะได้ไม่ต้องมาพูดเรื่องนี้กันอีก

วิจักขณ์: ในมุมมองของนักต่อสู้นะ ถ้าในอนาคต พี่มีช่องทางในการสื่อสารปัญหาของพี่มากขึ้น อาจจะเป็นสื่อที่เอาเรื่องของสหภาพไปออกมากขึ้น ทำให้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานเป็นที่สนใจมากขึ้น มีช่องทางที่ได้ผลอย่างเฟซบุ๊คก็ดี หรือกางเกงใน TRY ARM ก็ดี พอถึงจุดนั้น พี่จะหยุดออกมาร่วมต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองอย่างที่มาเป็นแนวร่วมกับเสื้อแดงในครั้งนี้มั๊ย

จิตรา: ไม่

วิจักขณ์: ทำไมล่ะ มันยังมีอะไรมากกว่านั้นอีก

จิตรา: คือ การต่อสู้แบบเป็นปัจเจก มันไม่ได้นำไปสู่การรวมพลังใหญ่ๆ นะ

วิจักขณ์: พี่ยังรู้สึกว่า อย่าง TRY ARM นี่ ก็ยังถือเป็นการต่อสู้แบบปัจเจกอยู่

จิตรา: ใช่ เพราะว่า TRY ARM ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างสังคมได้ เพราะว่าสิ่งที่เราเรียกร้องมันไม่ใช่แค่เรื่อง TRY ARM อย่างเดียวนะ เราต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ มันจึงยังคงต้องเข้าร่วมเรียกร้อง ดูประเด็น เข้าเป็นแนวร่วม เพราะบางทีในเรื่องของการต่อสู้ของพรรคการเมือง ถ้าเราสามารถขยับตัวเองได้ โดยเสนอไอเดีย หรือว่าเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศดีขึ้นได้ เราก็น่าจะหาช่องทาง มันหยุดไม่ได้หรอก ทุกวันนี้ ถ้าจะหยุดเหรอ มันก็ไม่รู้จะสู้ไปทำไมเนอะ แค่ตัวเองสุขสบายแล้วก็เลิกเหรอ มันไม่ใช่หรอก มันยังมีคนอีกมากนะ

วิจักขณ์: จริงๆ ถ้าระบบพรรคการเมือง ระบบตัวแทนประชาชน มันเวิร์คจริงๆ มันก็อาจจะไม่ต้องมีการต่อสู้อะไรแบบนี้ก็ได้รึเปล่าพี่

จิตรา: มันคงเวิร์คไม่ได้ ถ้าคนหยุดที่จะเรียกร้องมัน เพราะฉะนั้นระบบตัวแทนก็คือ ระบบที่คนข้างล่างไม่หยุดที่จะเข้าใจเรื่องการเมือง แล้วก็คอยผลักดันอยู่เรื่อยๆ ว่าเราต้องการอะไร เพราะไม่อย่างนั้นพอพวกนักการเมืองมันหลุดจากฐานของชาวบ้านเพราะมันคิดว่ามันเป็นคนดีแล้ว อย่างนั้นก็จบ

ไอ้ความเชื่อเรื่องการเป็นคนดีมีคุณธรรมเนี่ย มันไม่สามารถที่จะแก้ไขโครงสร้างอะไรได้จริง นอกเสียจากจะมีระบบการตรวจสอบ  ต่อให้คุณเป็นคนเลวนะ แต่อยู่ในระบบการตรวจสอบที่ดี คุณก็ต้องเดินในกรอบของการตรวจสอบ แต่ถ้าคุณเป็นคนดีมีคุณธรรม เมื่อไหร่ที่คุณไร้การตรวจสอบ คุณก็จะเชื่อความเป็นคนดีของคุณโดยจะทำอะไรก็ได้ เพราะเชื่อว่าชั้นเป็นคนดีแล้ว ก็ทำอะไรไม่ยั้งคิด เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้วบอกว่าเป็นคนดี เชื่อได้ยาก

วิจักขณ์: ไม่ต่างกับพระเลย พระก็เหมือนกัน

จิตรา: (หัวเราะ) ใช่ (หัวเราะ) ทุกพระแหละ

อย่างพี่เอง ก็เป็นคนธรรมดา อยากได้โน่น อยากได้นี่ โดยที่เราทำงานเป็นระบบองค์กร คนที่ทำงานในองค์กรจะรู้นะ อย่างเรื่องระบบการเงินเนี่ย ต่อให้คุณเป็นนักบัญชีที่ขี้โกงขนาดไหน แต่ถ้าคุณอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ คุณก็โกงไม่ได้หรอก เพราะคุณอยู่ในระบบที่ดี ใช่มั๊ย

วิจักขณ์: เผลอๆ อาจจะทำให้คนที่ขี้โกงนั้น เป็นคนดีขึ้นด้วย

จิตรา: ใช่ ระบบมันทำให้คุณเป็นแบบนั้นเอง ถึงคุณเป็นคนไม่ดีขนาดไหน คุณก็ต้องทำออกมาให้มันดี คุณก็คอรัปชั่นไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่คนเชื่อว่าคุณเป็นนักบัญชีที่ดี เป็นคนดี มีชาติตระกูล แล้วคุณไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ก็ต้องมีบ้างแหละที่ อาจจะไม่ถึงกับคอรัปชั่นนะ แต่เรื่องระบบการเงินทั้งหมดเมื่อไม่มีการตรวจสอบ ความตรงไปตรงมาก็เกิดขึ้นไม่ได้ คุณอาจจะละเลยไปเองโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งพอเกิดขึ้นแล้วจะไปดูที่ว่าคุณเป็นคนดีหรือคนไม่ดี มันไม่ใช่เรื่อง เพราะสุดท้ายระบบการเงินก็เสียหายอยู่ดี เพราะมันไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดี ไม่ใช่เรื่องว่าใครดีใครไม่ดี

เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าคุณเป็นคนดี แล้วไม่มีการตรวจสอบ แล้วจะบอกว่าคุณจะเป็นคนดีตลอดไปนั้น มันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าการที่คุณอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ผ่านการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเนี่ย มันก็ดีได้ ไม่รู้ว่าเค้าเรียกอะไรกัน เอาเป็นว่าตรงนี้มันเป็นที่โครงสร้างของระบบที่ต้องมีการตรวจสอบที่ดี

วิจักขณ์: เหมือนว่าเป็นความดีที่ไม่ได้มุ่งไปแค่ในระดับตัวบุคคล แต่อยู่ในวัฒนธรรม อยู่ในบรรยากาศ อยู่ในระบบที่ตั้งอยู่บนความจริง ไม่ใช่ห้อยป้ายว่าดีแล้วลอยนวลได้

จิตรา: ใช่ เหมือนถ้าเกิดคุณเอาผ้าเหลืองมาห่มแล้วคุณเป็นคนดี แล้วคุณไม่มีระบบตรวจสอบภายใต้ผ้าเหลืองนั้น ก็ไม่ได้หรอก หรือการที่คุณได้ตำแหน่งอะไรมาซักอย่าง ถึงคุณจะเป็นคนดี คุณก็ต้องถูกตรวจสอบนะ

วิจักขณ์: คือพี่มองระบอบประชาธิปไตยว่า คือ ระบอบที่เรื่องของการตรวจสอบที่ดี สำคัญกว่าเรื่องการเลือกคนดี

จิตรา: ใช่ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้

วิจักขณ์: มีนายกฯเลวก็ได้ แต่ว่าต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี

จิตรา: ใช่ การตรวจสอบที่ดีจะทำให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่อำนาจถูกมอบไปให้นักการเมืองแบบให้แล้วให้เลย ถ้าระบบดีนะ ถึงวันนั้นนายกฯเป็นใครก็ได้

แต่ว่าทุกวันนี้ เวลาเราจะไปตรวจสอบอะไรซักอย่าง มันก็ตรวจสอบยากขึ้น เพราะว่าเค้าถูกความเป็นคนดีการันตีไว้แล้ว ประมาณว่า อ๊ะ ก็นี่เค้าดีขนาดนี้ คนนับหน้าถือตาเค้าขนาดนี้แล้ว จะไปตรวจสอบ จะไปวิพากษ์วิจารณ์ให้เค้าหม่นหมองได้ยังไง (หัวเราะ) ใช่มั๊ย ...จริงๆ แหละ ทุกอย่างมันต้องตรวจสอบได้ เป็นโครงสร้างที่มาจากล่างสู่บน เมื่อไหร่ที่ยังเป็นระบบที่จากบนลงล่าง คนข้างล่างตรวจสอบคนข้างบนไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะเรียกว่าประชาธิปไตยได้ ถ้ายังเป็นแบบนี้จะเรียกว่าระบบอะไรก็ไม่รู้

 

หมายเหตุ: วิจักขณ์ พานิช: สัมภาษณ์ 10 มิถุนายน 2553 ป.ล. ขอขอบคุณวัชรินทร์ สังขาระ เพื่อนร่วมสนทนา www.tilopahouse.com

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค่าเช่าโรงแรมในกรุงเทพมหานครตกต่ำหนัก

Posted: 22 Jun 2010 11:11 AM PDT

<!--break-->

จากการสำรวจค่าเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผ่านเว็บไซต์จองโรงแรม agoda.com ปรากฏว่า ค่าเช่าตกต่ำลงเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้เชื่อว่าอัตราว่างก็ยังตกต่ำลงมากเช่นกัน สถานการณ์เช่นนี้น่าเป็นห่วง เพราะประเทศไทยมีโรงแรมชั้นหนึ่งเป็นจำนวนมาก

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ค่าเช่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติระดับ 5 ดาวในเขตกรุงเทพมหานคร ต่ำกว่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้าน ถึง 20%  โรงแรมที่กล่าวถึงได้แก่ แชงกรีล่า เพนนินซูลา แมริออตต์ ไฮแอท เรเนซอง อินเตอร์คอนติเนนตัล แพนแปซิฟิก มิลเลนเนียมและแอสคอตทั้งนี้ยกเว้นแมนดารินโอเรียลเต็ลที่ค่าเช่า สูงกว่าที่อื่นเนื่องจากมีชื่อเสียงด้วยตนเองมานาน

สำหรับนครที่เปรียบเทียบได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา และจาการ์ตา ในจำนวนนครทั้งหมดนั้น มีเพียงกรุงมะนิลาเท่านั้นที่ค่าเช่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติทั้งหลายอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไทย จะสังเกตได้ว่ากรุงจาการ์ตา มีอัตราค่าเช่าโรงแรมที่สูงกว่าไทย ณ เวลานี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้อาจมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า

จากการสัมภาษณ์ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ในกรุงจาการ์ตาในช่วงวันที่ 17-22 มิถุนายน 2553 ต่างก็เชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รวมถึงโรงแรม ซึ่งชลอตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้ การเมืองในอินโดนีเซีย “นิ่ง” แล้ว รัฐบาลมีเสียงข้างมากถึงราวสองใน สาม  ทำให้ประชาชนและสังคมธุรกิจทั้งในอินโดนีเซียและจากต่างประเทศมี ความเชื่อมั่นมากขึ้น

สำหรับในรายละเอียด ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ค่าเช่าโรงแรมที่มีตราสินค้านานาชาติ ระดับ 5 ดาวในเขตกรุงเทพมหานคร ต่ำกว่าในสิงคโปร์และฮ่องกงประมาณ 30% ต่ำกว่ากรุงจาการ์ตา 23% ต่ำกว่ากรุงกัวลาลัมเปอร์ 21% ทั้งนี้เพราะมีโรงแรมชั้นหนึ่งมาก มายเช่นไทย และต่ำกว่ากรุงมะนิลา 14%

ค่าเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพมหานครเหล่านี้เป็นเงินประมาณ 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามในกรณีโรงแรมชั้นหนึ่งระดับ 5 ดาวของไทยเอง ค่าเช่ายังต่ำกว่านี้อีก เช่น โรงแรมเลอบัว เอ็มโพเรียมสวีท และดุสิตธานี เป็นต้น  ยิ่งหากเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว และ 4 ดาว อัตราการลดของค่าเช่าอาจจะมีอัตราที่สูงกว่านี้อีก  ดังนั้นจึงสะท้อนถึงภาวะที่น่าเป็นห่วงของวิสาหกิจโรงแรมในประเทศ ไทยในขณะนี้

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยังเป็นคณะทำงานจัดการประชุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียน  แต่ ณ ขณะนี้ แม้หลายประเทศได้จองเข้าร่วมประชุมแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่กำลังรอดูท่าทีอยู่  ผู้เข้าประชุมเหล่านี้คงยังกลัวภาพที่เกิดขึ้น คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศในอดีต เช่น รัฐประหารในกรุงมะนิลาในปี 2531 หรือการนองเลือดในกรุงจาการ์ตาในปี 2541 ชาวต่างประเทศในขณะนี้จึงจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ ชิด และหลายคนยังมีความรู้สึกว่าความรุนแรงยังจะเกิดขึ้นอีก

หากประมาณว่าอัตราค่าเช่าโรงแรมลดลง 25% และอัตราการเข้าพักลดจาก 60% เหลือ 40% ก็จะทำให้รายได้ต่อปีลดลงไปถึง 50% และหากค่าเช่าในหนึ่งปีแรกลดลงเช่น นี้ ณ อัตราผลตอบแทนที่ 10% ก็จะผลให้ราคาโรงแรม ณ มูลค่าปัจจุบัน 5% แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นราคาทรัพย์สินของโรงแรม ณ มูลค่าปัจจุบันจะลดลง 9%
 

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาค สนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพชุดงานศพ "พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล"

Posted: 22 Jun 2010 10:33 AM PDT

<!--break-->

ประมวลภาพประชาชนร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และแนวร่วมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 53 ที่วัดโสมนัสวิหาร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ.วงศ์ไพฑูรย์ ยอมจ่ายชดเชยพนักงาน 80 ล้านบาท

Posted: 22 Jun 2010 07:42 AM PDT

<!--break-->

22 มิ.ย.53 - พนักงานบริษัท วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตรองเท้ากีฬายี่ห้อ เคสวิส รีบ็อกซ์ ส่งออกต่างประเทศ โรงงานตั้งอยู่ย่านบางบอน จำนวนกว่า 500 คน เดินทางมาร้องเรียนที่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ให้ช่วยเหลือหลังนายจ้างปิดกิจการโดยไม่จ่ายค่าจ้าง

นายสมชาย กาญจนวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ กล่าวภายหลังการเจรจาร่วม 3 ฝ่ายว่า วันนี้มีทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง กระทรวงแรงงาน และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ คือ ทางนายจ้างยินยอมจ่ายค่าจ้างในส่วนที่ค้างชำระเป็นเวลา 20 วันสำหรับลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างรายเดือนอีกเฉลี่ยคนละ 5,000 บาท จากจำนวนคนงานทั้งหมด 839 คน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 นี้

นอกจากนี้ ในส่วนของค่าชดเชยตามกฎหมาย ทางบริษัทยินยอมจ่ายให้ก่อนในเบื้องต้น 25 ล้านบาท จากทั้งหมด 70 ล้านบาท ภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 นี้ ส่วนเงินที่เหลือจะมีการตั้งคณะกรรมการ 2 ฝ่ายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อพิจารณาตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อนำไปขายทอดตลาดเป็นค่าชดเชยต่อไป

นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้คนงานที่มีประมาณ 800 คน ส่วนใหญ่ทำงานมากว่า 10 ปีขึ้นไปแล้ว เดือดร้อนอย่างหนักตั้งแต่นายจ้างปิดกิจการวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายเงินชดเชย และค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รวมเป็นเงินกว่า 80 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ คนงานเคยมาร้องเรียนที่กระทรวงฯ หลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. เมื่อมาร้องเรียนที่กระทรวงฯ ครั้งหนึ่งก็จะได้รับค่าจ้างครั้งหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้ามาช่วยเหลือดูแลในเรื่องเงินชดเชยที่ต้องได้รับตามกฎหมายด้วย 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ให้กระทรวงเกษตรฯ สำรวจชาวบ้านเลื่อนทำนาปีตามคำขอจากกรมชลประทาน

Posted: 22 Jun 2010 05:27 AM PDT

รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเผยฝนตกน้อย กระทรวงเกษตรฯ กำลังสำรวจความจำเป็นของเกษตรกรในการเลื่อนทำนาปี ตามคำขอมาจากกรมชลประทาน-กระทรวงเกษตรฯ เล็งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถทำนาได้ ทั้งเรื่องอาชีพเสริมและการบริโภคในครัวเรือน พร้อมแจงปีนี้เหลือพื้นที่ทำนาปรัง 2-3 ล้านไร่เนื่องจากฝนตกน้อยมาก

<!--break-->

“ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังมีการไปสำรวจดูว่ามีพี่น้องประชาชนซึ่งมีความจำเป็นในการเลื่อนทำนาปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานนั้นก็คงต้องมีการเลื่อนแน่นอน ตามคำขอจากทางกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรฯ”

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 09.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 73 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยดังนี้

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ เช้าวันนี้ผมอยู่ที่หอศิลป์ของกรุงเทพมหานคร เพราะว่าที่นี่จะเป็นจุดหนึ่ง ซึ่งทางรัฐบาลได้ดำเนินการที่จะมีสำนักงานในเรื่องของการที่จะให้มีการประมวลรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในการเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนของการปรองดอง ซึ่งในเรื่องการปฏิรูปก็ดี การปรองดองก็ดี ในช่วงที่ 2 ก็จะมีพิธีกรรับเชิญมาพูดคุยกันในเรื่องนี้ และช่วงสุดท้ายจะมีภาพบรรยากาศของการที่มีการประชุมขับเคลื่อนในเรื่องของการปฏิรูปเพื่อประเทศไทย แต่ว่าในช่วงแรกนี้ขอใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ในการรายงานการทำงานในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนหลายต่อหลายปัญหา ซึ่งอยู่ในความสนใจ

เรื่องแรกคือเรื่องของภัยแล้ง สถานการณ์น้ำซึ่งรัฐบาลได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด มีการมอบหมายท่านรองนายกรัฐมนตรีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ให้มีการรายงานในเรื่องของสถานการณ์เป็นรายวัน ก็ขอเรียนครับว่าสถานการณ์ในขณะนี้เริ่มดีขึ้นบ้าง ในส่วนของเรื่องของฝนฟ้า ในเรื่องของปริมาณน้ำซึ่งไหลเข้าไหล ออก จากเขื่อนหลัก

และขอยืนยันว่าในการบริหารจัดการน้ำนั้น ในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น รวมทั้งคุณภาพของน้ำประปานั้นไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือการเลื่อนการทำนาปี ซึ่งจะเลื่อนไปจนถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคมคือกลางเดือนหน้า และขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังมีการไปสำรวจดูว่ามีพี่น้องประชาชนซึ่งมีความจำเป็นในการเลื่อนทำนาปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานนั้นก็คงต้องมีการเลื่อนแน่นอน ตามคำขอจากทางกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรฯ

ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในพื้นที่อื่น ๆ นอกเขตพื้นที่ชลประทานนั้นก็ขึ้นอยู่กับน้ำฝน ซึ่งมีการตกกระจายไปในปัจจุบัน ก็จะได้มีการสำรวจเรื่องนี้ และจะมีการดูความเป็นไปได้ในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในช่วงจากนี้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมซึ่งอาจจะไม่สามารถทำนาได้ ว่าจะมีวิธีการในการช่วยเหลือในเรื่องของอาชีพเสริม หรือในเรื่องของการที่จะช่วยปัจจัยการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนอย่างไร

และที่สำคัญคือว่าแม้ว่าในช่วงของนาปีผ่านพ้นไป เราก็เชื่อครับว่าฝนฟ้าที่ตกลงมาก็คงทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเมื่อเทียบกับฝนที่ขาดหายไปในช่วง 5 เดือนแรกทำให้ในต้นปีหน้า น้ำที่จะใช้ในการทำนาปรังจะมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นการสำรวจความคิดเห็นความต้องการก็จะต้องเกิดขึ้น เพื่อจะได้เตรียมการสำหรับการที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งจะไม่สามารถทำนาปรังได้ ก็จะมีพื้นที่ทำนาปรังอย่างที่เคยคุยไว้ในรายการนี้เพียง 2-3 ล้านไร่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเร่งสำรวจในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มอบอำนาจให้ผมและท่านรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณตกลงกันในการที่จะดูว่าจะมีความสามารถในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เป็นเกษตรกรและขาดรายได้ในช่วงที่ขาดน้ำหรือไม่สามารถทำนาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ขอเรียนครับว่ามีการติดตามอย่างใกล้ชิด และกำลังจะเตรียมการหามาตรการที่จะรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น และที่จะตามมา จนถึงในช่วงต้นปีหน้าด้วย

ส่วนในสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกร และพี่น้องประชาชนที่ถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมา แต่ก็มีความคืบหน้ามีความก้าวหน้าไป เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ผมก็ได้มีการประชุมกับทางสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ก็มีการหยิบยกพื้นที่มา 6-7 พื้นที่ ก็มีการคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง ปัญหายังไม่หมดไป แต่ว่าหลายเรื่องก็มีทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ได้มีการผ่อนปรนเพื่อที่จะสามารถเอื้ออำนวยต่อการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ แนวคิดเรื่องโฉนดที่ดินก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีหลายพื้นที่ซึ่งขณะนี้ก็จะเข้าสู่ความพร้อมในการที่จะจัดทำโฉนดชุมชน ซึ่งระเบียบได้ออกมาแล้ว ก็จะมีการจัดประชุมสมัชชาอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์หน้า และคาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะเริ่มแจกโฉนดชุมชนได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องของที่ทำกิน

ส่วนเรื่องของที่อยู่อาศัย ปัญหาที่ค้างคากันมานานในเรื่องของความถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของบ้านมั่นคง ซึ่งอาจจะมีลักษณะของที่หรือการเว้นระยะห่าง การก่อสร้างต่าง ๆ ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายควบคุมอาคาร เรื่องนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมไปเมื่อวันศุกร์เพื่อที่จะคลี่คลายออกระเบียบต่าง ๆ เพื่อที่จะให้พี่น้องซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของที่อยู่อาศัยแล้วกลับมาเจอปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย ไม่สามารถที่จะขอออกเลขบ้านได้บ้าง ไม่สามารถขอน้ำขอไฟได้บ้าง ตรงนี้ก็จะได้มีการปรับแก้กฎกระทรวงต่าง ๆ เพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ตรงนี้ไปให้เรียบร้อยนะครับ

นอกจากนั้นครับวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้ไปเริ่มต้นการเปิดโครงการสำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใช้เวลาในช่วง 2 ปีข้างหน้าในการที่จะชำระสะสางในเรื่องของสภาพพื้นที่ป่าและการเข้าไปทำกินของพี่น้องประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะจัดการแก้ไขปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จไปในแง่ของการหาข้อเท็จจริงครับ เพราะว่าที่ผ่านมาเราจะมีภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายทางดาวเทียม ทั้งก่อนและหลังประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวน แต่ปรากฏว่ามีความไม่ตรงกัน มีความคลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รัฐบาลได้อนุมัติโครงการใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เข้าไปทำในเรื่องนี้ ใช้เวลา 2 ปีในการที่จะมาขีดเส้นกันให้ชัดเจนไปเลยว่าที่สุดแล้วเขตป่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร พี่น้องประชาชนที่ทำกินอยู่นั้นเข้าไปก่อนหรือเข้าไปหลัง ซึ่งถ้าเข้าไปก่อนการประกาศเขตป่านั้นก็จะชัดเจนครับว่าจะมีสิทธิ์ในการที่จะได้เอกสารสิทธิ์ ส่วนที่เข้าไปหลังจากโครงการนี้ เราก็จะทราบข้อเท็จจริงว่าเข้าไปหลังนั้นเข้าไปประมาณปีไหน อย่างไร และจากนั้นจะมีการนำเสนอไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ต่อไปด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องของปัญหาที่ทำกิน ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง ก็มีความก้าวหน้าไปพอสมควรจากการเดินหน้าแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องถัดมาที่ผมได้เข้าไปติดตามคือปัญหาเรื่องของหนี้สินครับ เมื่อช่วงต้นปีนั้นรัฐบาลได้ทำโครงการในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ มีการให้ประชาชนนั้นมาขึ้นทะเบียน เดิมทีเดียวนั้นเราก็คิดว่าจะมีคนที่จะเข้ามาสู่โครงการนี้แก้ไขปัญหาได้สักประมาณ 3-4-5 แสนคน หรืออาจจะมากกว่านั้นเล็กน้อย เอาเข้าจริงปรากฏว่ามีคนเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นล้านเกิน 1 ล้านคน และขณะนี้มีการดำเนินการโดยทางกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปนำเอาเจ้าหนี้ ลูกหนี้นอกระบบมาเจรจากัน ซึ่งก็สามารถที่จะเจรจากันในหลักการได้เรียบร้อยไปเป็นส่วนใหญ่ และก็เข้าสู่ขั้นตอนในการที่จะขออนุมัติสินเชื่อจากทางธนาคารของรัฐ ในส่วนของการดำเนินการในขณะนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้นจะมีความก้าวหน้ามากที่สุด

และขณะนี้จะมีพี่น้องซึ่งเป็นหนี้สินนอกระบบได้รับการอนุมัติในเรื่องของสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไปแล้วประมาณ 150,000 ราย ขณะที่กำลังมีการเจรจาหรืออยู่ระหว่างขั้นตอนการขอสินเชื่อจากธนาคารอีกประมาณ 350,000 ราย เพราะฉะนั้นถ้าเราเร่งรัดทำตรงนี้ก็คาดว่าอย่างน้อย ๆ 3-4 แสนรายจะมีข้อยุติ ผมได้ให้ทางกระทรวงการคลังได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ว่าสำหรับรายที่เหลือว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง จึงทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาพี่น้องที่เป็นหนี้สินนอกระบบได้

ส่วนหนี้สินของเกษตรกรในภาพรวมก็เช่นเดียวกันนะครับ เราได้มีการทำข้อตกลงกับทางผู้บริหารในส่วนของกองทุนฟื้นฟู ท่านรองนายกฯ สนั่น ท่านที่ปรึกษาดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ได้เข้ามาดูแลในส่วนนี้ ขณะนี้ก็คิดว่ากำลังจะได้ข้อยุติในเชิงของมาตรการและนโยบายที่จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรที่เป็นหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ มีการโอนไปยังธนาคารต่าง ๆ หรือจะโอนจากธนาคารเข้ามาสู่กองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาให้มีลักษณะที่เบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ และวันอังคารนี้ก็จะให้มีการรายงานในเรื่องนี้มาเพื่อกำหนดทิศทางให้ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องต่อไป

นอกจากนั้นครับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีการประชุมคณะกรรมการหลายชุด และหนึ่งในนั้นก็คือกรรมการที่ดูแลในเรื่องของสุขภาพของพี่น้องประชาชน ก็บังเอิญมาเกี่ยวพันกับปัญหาในเรื่องของมาบตาพุด ซึ่งขณะนี้ในแง่ของธุรกิจนั้นก็มีการกำหนดแนวทางของการแก้ไขปัญหานั้น ค่อนข้างจะชัดเจนนะครับ สัปดาห์หน้าก็จะมีการยุติลงของการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งทำงานเสร็จสิ้นและพร้อมที่จะเสนอในเรื่องของรายชื่อของธุรกิจซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมให้ได้ข้อยุติต่อไป ส่วนกรณีขององค์กรอิสระที่ทำขึ้นในลักษณะของชั่วคราวโดยระเบียบของฝ่ายบริหารคือรัฐบาลเอง ก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว และตัวกฎหมายที่จะนำเสนอต่อสภาฯ นั้นคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันครับสำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่การเร่งรัดในเรื่องของการบริหารแผนจัดการสิ่งแวดล้อมหรือแผนควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะการมีโครงการต่างๆ มาลดมลพิษต่าง ๆ นั้น ผมได้เร่งรัดเพื่อให้นำเสนอและได้รับการอนุมัติในการเดินหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และที่สำคัญคือเมื่อช่วงต้นเมื่อนั้นก็เกิดปัญหาก๊าซรั่วขึ้นมา ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีการมอบคณะทำงานไปสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาก๊าซรั่ว ตั้งแต่ปัญหาที่ว่าระบบระวังป้องกันไปจนถึงการเตือนภัย ไปจนถึงการดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การนำส่งโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมากในทางปฏิบัติจากประสบการณ์ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เรื่องนี้ผมจะได้นำเอาข้อเสนอเพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบในเรื่องของการบริหารแผนเวลาเกิดสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วนฉุกเฉินมาในลักษณะนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขต่อไป แม้ว่าระยะหลังจะมีการดูแลเยียวยาได้ เป็นที่พอใจระดับหนึ่ง

แต่ว่าปัญหาในเรื่องของการป้องกัน ในเรื่องของการเตือนภัย และในเรื่องของการบริหารสถานการณ์จริง ยังเป็นเรื่องที่จะต้องมีการปรับปรุง ซึ่งจะได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงแก้ไขแผนต่าง ๆ ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ก็คือการดำเนินการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบางส่วน พักกันสักครู่ครับ เดี๋ยวมาพูดคุยกันในเรื่องของแผนปรองดองในเรื่องของการปฏิรูปเพื่อประเทศไทย และช่วงท้ายรายการมาดูบรรยากาศของการประชุมของภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ด้วยครับ

 

ที่มา: นายกรัฐมนตรีเชิญชวนทุกภาคส่วนช่วยกันเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประเทศไทย, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 20 มิ.ย. 53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เสธ.แดง" เผาวันนี้ แต่เว็บไซต์ยังถูกไอซีทีบล็อก

Posted: 22 Jun 2010 04:41 AM PDT

คนแห่ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ "เสธ.แดง" ที่วัดโสมนัสราชวรวิหารช่วงเย็นวันนี้ ขณะที่ "เสธ.แดงด็อทคอม" ซึ่ง "เสธ.แดง" เมื่อครั้งมีชีวิตมักจะมาโพสต์ข้อความ ขณะนี้ยังถูก "ไอซีที" บล็อก

<!--break-->

แฟ้มภาพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เมื่อครั้งยังมีชีวิต ขณะแจกลายเซ็นให้กับคนเสื้อแดงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้ (22 มี.ค. 53) ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัำพบก ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร มีประชาชนเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก โดยทางกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จัดตั้งกองอำนวยการร่วมเพื่อป้องกันความวุ่นวายและเหตุความรุนแรงที่อาจจะ เกิดขึ้น เนื่องจากคาดว่างานพิธีดังกล่าวจะมีผู้เดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก โดยเวลาประมาณ 14.00 น. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวน 4 กองร้อย ได้ลงพื้นที่ควบคุมความเรียบร้อยโดยรอบสถานที่จัดงานพิธี

ด้านการจราจร ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้รถยนต์สัญจรผ่านโดยรอบวัดโสมนัสได้ตามปกติ แต่ว่าจะไม่อนุญาตให้จอดในเวลานาน ต้องไปจอดในจุดที่เตรียมไว้ที่จุดจอดรถชั่วคราว ได้แก่ ถ.กรุงเกษม ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกสะพานขาว จนถึงแยกประชาเกษม ถ.ราชดำเนินนอก ให้จอดในช่องคู่ขนานทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่สะพานมัฆวานจนถึงแยกผ่านฟ้า ถ.นครสวรรค์ ให้จอดในช่องซ้านตั้งแต่แยกจักรพรรดิพงษ์จนถึงแยกนางเลิ้ง ถ.พระราม5 จอดได้ตั้งแต่แยกสะพานอรทัยไปจนถึงแยกพาณิชยการ ถ.ลูกหลวง จอดได้ตั้งแต่แยกประชาเกษมจนถึงแยกสะพานมัฆวาน

โดยรถบัสขนาดใหญ่จัด ให้จอดที่ ถ.กำแพงเพชร 5 ตั้งแต่แยกอุภัยจนถึงแยกเสาวนีย์ ทั้งนี้ ยังได้มีการเตรียมที่จอดรถ ไว้ที่สนามม้านางเลิ้ง อีก 1 จุด เพื่อเตรียมสำรองไว้หากจุดที่อนุญาตให้จอดนั้นไม่เพียงพอ

พล.ต.ท. สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น.กล่าวถึงมาตรการดูแลความเรียบร้อยงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ขัตติยะ ว่า มั่นใจว่า คงไม่ผู้ร่วมงานคนใดก็ก่อเหตุใดๆขึ้น ส่วนการข่าวขณะนี้ยังเป็นด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุผิดปกติแต่อย่างใด ขณะนี้เจ้าหน้าประเมินตัวเลขผู้มาร่วมงานคาดว่าไม่เกิน 3,000 คน ประชาชนที่มาคาดว่ามาด้วยใจและแสดงถึงความรัก สำหรับคดีเสธแดงนั้นตอนนี้ดีเอสไอเป็นผู้รับผิดชอบคดีอยู่ก็คงต้องสอบถาม ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเอง

ขณะที่เว็บไซต์ เสธ.แดงด็อทคอม (http://www.sae-dang.com) ซึ่งมีเว็บบอร์ดหรือกระดานสนทนาด้วย และเป็นพื้นที่โต้ตอบทางอินเทอร์เน็ต พล.ต.ขัตติยะ ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อครั้งยังมีชีวิต ขณะนี้ยังถูกกระทรวงไอซีทีบล็อก โดยหน้าเว็บจะรีไดเร็กไปที่ http://w3.mict.go.th/ แต่อย่างไรก็ตามที่หน้าเว็บซึ่งยังคงเข้าได้ผ่านเว็บพร็อกซี่ ขณะนี้เป็นการแจงรายละเอียดกำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ขัตติยะ และจดหมายเปิดผนึกชี้แจงสถานการณ์ของพรรคขัตติยะธรรม โดยนายอธิปรัฐ กาญจนสุวรรณ เลขาธิการพรรคขัตติยะธรรม ส่วนกระดานสนทนายังไม่เปิดใช้งาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: นักประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

Posted: 21 Jun 2010 06:29 PM PDT

<!--break-->

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: ChuPitchTV #72

 

ตอน: นักประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์
"ChuPitch TV" คืนจอหลังหายหน้าหายตาไป 2 เดือน
โดยตอนล่าสุด "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" สัมภาษณ์ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" หลังได้รับอิสรภาพจาก ศอฉ.

ความยาว 48 นาที

ถ้อยแถลง กรพ. ในโอกาสครบรอบวันเกิด 65 ปี "ออง ซาน ซูจี"

Posted: 21 Jun 2010 09:00 AM PDT

"คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า" เผยแพร่ถ้อยแถลงเนื่องในวันเกิดปีที่ 65 ของนางออง ซาน ซูจี ชี้การแสดงความเห็นทางการเมืองของผู้หญิงพม่ายังถูกปิดกั้น มีการลิดรอนสิทธิของคนในประเทศ และขอรำลึกถึงผู้หญิงที่ต้องสูญเสียชีวิตจากการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา

<!--break-->

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่า ออกถ้อยแถลงในโอกาสครบรอบวันเกิด 65 ปีของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในพม่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งปัจจุบันถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณ โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

 

000

คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)
Thai Action Committe for Democracy in Burma (TACDB)

ถ้อยแถลงเนื่องในโอกาส
ครบรอบวันเกิดครบรอบ 65 ปี ของนางออง ซาน ซูจี
17 มิถุนายน 2553

วันที่ 19 มิถุนายน 2553 นี้จะเป็นวันที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าหรือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จะมีอายุครบรอบ 65 ปี ในขณะที่เธอยังถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านพักบริเวณทะเลสาปอินยา กรุงร่างกุ้ง เป็นเวลากว่า 14 ปีจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2532

กิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่เธอเข้ามามีส่วนร่วมตลอดชีวิตที่ผ่านมามี่ส่วนสำคัญที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะการถูกจองจำ เธอถูกตัดสินจำคุกครั้งแรกเป็นเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2532 ถึงปี 2538 ในช่วงเวลาที่เธอก่อตั้งพรรค NLD และเดินทางไปปราศรัยในประเทศพม่าเพื่อกระตุ้นให้มหาชนลุกขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองหลังจากเกิดการเดินขบวนประท้วงโดยประชาชนครั้งใหญ่ในเหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม 1988 (หรือที่ประชาคมโลกเรียกว่า เหตุการณ์ 8-8-88) ภายหลังเผด็จการทหารได้แก้ไขกฎหมายให้ขยายเวลาการควบคุมตัวเธอโดยไม่ต้องมีการไต่สวนในระหว่างเวลานั้น

ครั้งที่สองเมื่อเธอเดินทางไปพบตัวแทนพรรคและสมาชิกพรรค NLD และเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกเมืองร่างกุ้งท้าทายอำนาจรัฐ เธอถูกจำกัดบริเวณเป็นเวลา 19 เดือนระหว่างปี 2543-2545

เหตุการณ์สุดท้ายที่ทำให้เธอถูกจองจำจนถึงบัดนี้ คือตอนปี 2546 ที่ขบวนรถและผู้สนับสนุนของเธอถูกรุมทำร้ายโดยกลุ่มมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลทหาร การจับกุมคุมขังครั้งนี้ รัฐบาลเผด็จการอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเธอเองที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐจึงต้องถูกกักกันตัวในคุกอินเส่งก่อนถูกส่งไปกักบริเวณภายในบ้านพักของเธอเอง ที่แย่ไปกว่านั้นคือสองสัปดาห์ก่อนครบกำหนดการปล่อยตัวในเดือน พฤษภาคม 2552 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าอ้างเหตุการณ์ที่มีชาวอเมริกันลักลอบว่ายน้ำข้ามทะเลสาปมายังที่พักของเธอ โดยศาลพิจารณาลงโทษให้มีการกักกันนางอองซาน ซูจี ต่ออีกเป็นเวลา 18 เดือน

ตลอดเวลาที่เธอถูกคุมขังแม้ซูจีจะไม่สามารถออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ได้ แต่พวกเรามักได้ยินถ้อยแถลงของเธอผ่านทางสื่อต่างๆ ที่มักกระตุ้นให้คนภายนอกประเทศสนใจและพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า

“ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีสตรี จำนวนมาก ที่ถูกจำขัง เนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ สตรีบางท่านมีลูกเล็ก ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อ ผู้ซึ่งมัวแต่ห่วงกังวล กับภรรยาของตัวเอง และไม่คุ้นเคย กับการทำงานบ้านเอาเสียเลย เด็กส่วนมากยกเว้นผู้ที่ยังไม่โตพอจะรู้ความ มักจะเป็นทุกข์ กับความกดดันในระดับต่างๆ กัน”

คำพูดนี้น่าจะสะท้อนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองพม่าในปัจจุบันได้ดีที่สุด โดยถอดมาจากตอนที่ซูจีให้สัมภาษณ์ Michele Manceaux นิตยสาร Marie Claire-Singapore Edition เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2539

ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงภาพของการต่อสู้ทางการเมืองของนางอองซาน ซูจี เพื่อประชาธิปไตยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ยังแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองของผู้หญิงพม่า ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของพวกเธอยังคงถูกปิดกั้นในประเทศพม่าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เผด็จการทหารยึดอำนาจ จวบจนปัจจุบัน

ในขณะที่รัฐบาลทหารมีความตั้งใจที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้แผนแม่แบบที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย หรือ Roadmap to Democracy โดยร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ทำประชามติรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 (10 ตุลาคม 2553) แต่ในอีกด้านหนึ่ง เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาธิปไตยกลับถูกลิดรอนไป ปัจจุบันองค์กรช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในพม่า หรือ AAPPB ระบุว่าในประเทศพม่ามีนักโทษทางการเมือง จำนวน 2157 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิงกว่า 177 คน [1] หนึ่งในนั้น คือ อองซาน ซู จี ซึ่งพวกเธอต่างถูกจับกุมเพราะความเห็นต่างทางการเมือง

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญพม่ายังเต็มไปด้วยช่องโหว่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันของหญิง-ชาย ตัดสิทธิผู้หญิงจากการเข้ารับตำแหน่งสำคัญๆ โดยจัดสรรเพียงบางตำแหน่งไว้สำหรับผู้หญิงที่มีประสบการณ์ด้านทหารเท่านั้น และสำหรับบางตำแหน่งก็มีการระบุคุณสมบัติว่า “เหมาะกับผู้ชายเท่านั้น” [2] รัฐธรรมนูญยังมีประสิทธิภาพในการขัดขวางไม่ให้นางออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดี

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่า มีความเป็นห่วงในสถานการณ์ทางการเมืองพม่าที่นอกจากจะไม่ก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนโดยแท้จริงแล้ว ยังมีการลิดรอนสิทธิของคนในประเทศพม่าอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิทธิของผู้หญิงซึ่งขัดแย้งชัดเจนกับ หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่รัฐบาลทหารพม่าลงนามให้สัตยาบันและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม วันครบรอบวันเกิดของนางออง ซาน  ซูจี ในปีนี้ เราขอรำลึกถึงผู้หญิงที่ต้องสูญเสียชีวิตจากการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมาและขอยืนเคียงข้างผู้หญิงชาวพม่าทุกคนที่ยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อสิทธิเสรีภาพของตน

คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

 

หมายเหตุโดย กรพ.

[1] http://www.aappb.org/female.html
[2] อ้างอิงจากรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ฉบับปี พ.ศ. 2551 หมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่องการป้องกันประเทศ ในมาตรา 352 ที่กล่าวว่า สหภาพมีสิทธิ์ในการแต่งตั้งหรือมอบหมายหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนคนใดในพม่าที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ เพศ หรือ ศาสนา อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในมาตรานี้ที่จะป้องกันการแต่งตั้งผู้ชายในตำแหน่งที่ “เหมาะสมกับผู้ชายเท่านั้น”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์ มสพ. ค้านศูนย์ปราบปรามแรงงานข้ามชาติหวั่นละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

Posted: 21 Jun 2010 08:46 AM PDT

<!--break-->

วันที่ 21 มิ.ย. 2553 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษย์ชนและการพัฒนา (มสพ.) เตือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าการตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลับลอบทำงาน อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคน

นอกจากนี้ มสพ. ได้เรียกร้องไปยังผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อสอบถามความชัดเจนจากรัฐบาลไทย ถึงความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 


ประเทศไทยคุกคามแรงงานข้ามชาติโดยการกวาดล้างและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 

 

       เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่กวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า โดยได้มีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปราม 5 ชุด แบ่งพื้นที่การรับผิดชอบเป็นภูมิภาคและมีการสนธิกำลังของตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คำสั่งดังกล่าวมีเป้าหมายในการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติกว่า 300,000 คน ที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในช่วงของการต่อใบอนุญาตทำงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้จดทะเบียนมากกว่า 1 ล้านคนซึ่งไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ อาจตกเป็นเป้าหมายในการกวาดล้างครั้งนี้ด้วย 

      มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ขอเตือนรัฐบาลให้ระวังว่านโยบายกวาดล้างแรงงานขามชาติครั้งนี้ อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติกว่าหนึ่งล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่า ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติได้นำไปสู่การเพิ่มจำนวนการจับกุม คุมขัง และการบังคับขู่เข็ญ รีดไถแรงงานข้ามชาติโดยเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ทั้งยังนำไปสู่ความรุนแรงและการเสียชีวิต มสพ. จึงเห็นนโยบายการกวาดล้างนี้เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจอีกทั้งยังไม่สามารถเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศได้

      มสพ. ได้เรียกร้องไปยังผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อสอบถามความชัดเจนจากรัฐบาลไทย ถึงความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในการหาเสียงสนับสนุนการเลือกตั้ง ตัวแทนของรัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติด้วย มสพ. จึงเห็นว่านโยบายนี้เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับการเริ่มต้นของประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติ 

ที่มา

      ในปี  2552 แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 80 ในประเทศไทย (หรือประมาณ 1.1 ล้านคน) เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมือง รวมทั้งปัญหาสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร อนึ่งในปี 2546 ประเทศไทยและพม่าได้ตกลงที่จะดำเนินกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เดินทางออกจากประเทศพม่าอย่าง“ผิดกฎหมาย” และเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่าง “ผิดกฎหมาย” แต่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว โดยให้แรงงานเหล่านี้จะต้องเดินทางกลับประเทศพม่าเพื่อพิสูจน์สัญชาติ เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว และสามารถเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยได้อย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้กำหนดเส้นตายสำหรับแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไว้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากนั้นได้มีคำสั่งว่าจะไม่มีการเปิดรับการจดทะเบียนรอบใหม่อีกต่อไป และแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะต้องออกจากประเทศไทยหรือถูกจับกุมและส่งกลับ 

    * จนบัดนี้มีแรงงานข้ามชาติเพียง 90,000 คนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว
    * ยังคงมีแรงงานข้ามชาติกว่า 800,000 คน ที่ได้ยื่นแบบแสดงความจำนงขอพิสูจน์สัญชาติไว้แล้วและมีเวลาถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ที่จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้น
    * มีแรงงานข้ามชาติกว่า 300,000 คนที่ไม่ไปต่อใบอนุญาตทำงานและยื่นแบบแสดงความจำนงขอพิสูจน์สัญชาติตามกำหนดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ทำให้ตอนนี้กลายเป็นแรงงานที่มีสถานะที่ผิดกฎหมาย
    * ประมาณการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ เนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน
    * เศรษฐกิจของประเทศไทยยังต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือประมาณ 2-3 ล้านคนเหล่านี้

      ถึงแม้ว่า นโยบายการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลไทยจะเป็นสิ่งที่ควรยกย่องในความพยายามที่จะจัดการให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าอยู่ในระเบียบ แต่กลับไม่ได้มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง และเป็นการคุกคามแรงงานข้ามชาติโดยจะมีการส่งกลับครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มมีปรากฏให้เห็นได้ชัดขึ้น อีกทั้ง การพิสูจน์สัญชาตินี้อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่เคยขึ้นทะเบียนไว้แล้วเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการพิสูจน์สัญชาติ และนายหน้าที่ไม่ได้รับการควบคุมยังคงเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินจริง โดยที่ภาครัฐยังมิได้สร้างความตระหนักในเรื่องนี้สู่สาธารณะอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าทำผิดกฎหมาย เนื่องจากเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศพม่า แต่กลับต้องถูกกดดันจากการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติโดยต้องยื่นข้อมูลส่วนตัวให้กับรัฐบาลทหารพม่า สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นความหวั่นเกรงของชุมชนแรงงานข้ามชาติว่าพวกเขาและครอบครัวอาจจะต้องเผชิญกับการคุกคามโดยรัฐบาลทหารพม่า

      ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อนโยบายการพิสูจน์สัญชาติของประเทศไทยและกระตุ้นให้มีการชะลอการส่งกลับแรงงานข้ามชาติครั้งใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่าหลังจากเส้นตายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 

      แรงงานข้ามชาติซึ่งต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายและได้รับอัตราค่าจ้างต่ำเหล่านี้ มีส่วนในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศไทยถึงร้อยละ 6-7 อีกทั้งยังคิดเป็นแรงงานร้อยละ 5-10 ของกำลังแรงงานในตลาดแรงงานของประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงขาดยุทธศาสตร์การจัดการเกี่ยวกับการย้ายถิ่นนี้ในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ ความมั่นคงของชาติและนโยบายด้านเศรษฐกิจกลับได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกเหนือการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ แม้การกวาดล้างแรงงานข้ามชาตินี้จะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ ในแง่นโยบายด้านความมั่นคง แต่ในแง่เศรษฐศาสตร์ การกวาดล้างเช่นนี้จะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของไทย

      รัฐบาลไทยได้แถลงว่านโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติครั้งนี้เป็นความตั้งใจที่จะนำแรงงานข้ามชาติที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติหรือคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ออกไปจากประเทศไทยและอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสองประเภทเท่านั้นที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ คือ 1) แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายแต่ได้ผ่านหรือต้องการพิสูจน์สัญชาติซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และ 2) แรงงานข้ามชาติที่จะนำเข้ามาใหม่จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

      อย่างไรก็ดี เป็นที่กังวลว่า การกวาดล้างครั้งนี้จะ เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากยังคงมีแรงงานข้ามชาติกว่า 1-1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้นั้น กำลังตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวว่าจะถูกผลักดันกลับ อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบการนำเข้าแรงงานชุดใหม่จากประเทศพม่าที่จะมาทดแทนแรงงานกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ การนำเข้าและส่งออกแรงงานในอนาคตของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่มีการเอาประโยชน์จากแรงงานโดยนายหน้าที่ไม่ได้มีการควบคุมและการจัดการแรงงานโดยรัฐบาลพม่าซึ่งยังเป็นรัฐบาลที่มีปัญหาการบังคับใช้แรงงานอยู่นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งระบบ การตรวจสอบและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างได้ผลซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแต่อย่างใด

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

มสพ. ใคร่ขอเสนอข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ต่อรัฐบาลไทย:

   1. รัฐบาลไทยควรยกเลิกนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
   2. รัฐบาลไทยควรเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่เพื่อให้แรงงานข้ามชาติประมาณ 1-1.4 ล้านคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและทำงานอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ได้มีโอกาสจดทะเบียนและเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ
   3. กระทรวงแรงงานควรทบทวนอย่างจริงจังถึงวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการส่งเสริมการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทยอย่างถูกต้องในอนาคต เพื่อให้เป็นกระบวนการที่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้รับการเคารพและป้องกันการขูดรีดอย่างรุนแรงต่อแรงงานทั้งในทางเศรษฐกิจและในด้านอื่นๆ
   4. กระทรวงแรงงานควรควบคุมกิจการเกี่ยวกับการบริการพิสูจน์สัญชาติของบรรดาบริษัทนายหน้าที่มีอยู่ เนื่องจากกฎระเบียบที่ใช้อยู่ตอนนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพและยังเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่สูง
   5. รัฐบาลไทยควรจัดให้มีการหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างถาวรสำหรับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้
   6. รัฐบาลไทยควรเริ่มการหารือถึงวิธีการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติที่ยั่งยืน โดยตั้งอยู่ในแนวทางที่สร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนกับการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และการหารือนี้จะต้องนำมาสู่แผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว ด้านการจัดการการประชากรย้ายถิ่นสำหรับประเทศไทย
 

      มสพ. เชื่อว่าการกระทำข้างต้นจะทำให้รัฐบาลไทยสามารถจัดการกับความท้าทายด้านการย้ายถิ่นอย่างผิดปกตินี้ได้ ทั้งในแง่การเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ในทางตรงกันข้าม นโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่กำลังจะดำเนินอยู่ในขณะนี้กลับจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างมาก รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย สิ่งที่สำคัญกว่านั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การกวาดล้างเช่นนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องตกเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์อย่างกว้างขวางและรุนแรง เนื่องจากต้องถูกบังคับให้กลับไปเป็นแรงงานใต้ดิน ซึ่งเอื้อต่อการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะ เป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศในระยะยาว


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่ม 'คนรักเขาใหญ่' ใน Facebook ออกแถลงการณ์ฉบับ 3

Posted: 21 Jun 2010 08:16 AM PDT

<!--break-->

 

 
กลุ่ม 'คนรักเขาใหญ่' บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook ซึ่งก่อตั้งโดยนายสมิทธิ  ธนานิธิโชติ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 หลังจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกเลิกการขยายถนนธนะรัชต์ในช่วงกิโลเมตรที่ 10-16 ขณะที่ถนนช่วงกิโลเมตรที่ 2-10 นั้น แม้นายกฯ จะสั่งชะลอโครงการขยายถนนช่วงนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนและความคืบหน้ากับการฟื้นฟูและปรับภูมิทัศน์

ทางกลุ่ม 'คนรักเขาใหญ่' จึงเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอาทิเช่น ให้ยกเลิกการขยายถนนในช่วงกิโลเมตรที่ 2-10 แต่หันมาสร้างทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ ปรับภูมิทัศน์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ , จัดให้มีการสำรวจและจัดทำแผนควบคุมสิ่งแวดล้อมโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่้อเป็นแนวกันชน พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บทเพื่อการจัดการพื้นที่โดยรอบทั้งสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และ อื่นๆ โดยต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างเต็มรูปแบบและเปิดเผยต่อสาธารณะชน, ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ผืนป่ามรดกโลกขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการผืนป่ามรดกโลกให้เป็นระบบ เป็นต้น

โดยแถลงการณ์ฉบับเต็มมีดังนี้....

 


แถลงการณ์กลุ่มคนรักเขาใหญ่บน facebook ฉบับที่ 3

เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

นับเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ จากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งชะลอโครงการขยายถนนธนะรัชต์ บริเวณกิโลเมตรที่ 2-10 และเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีได้มีมติยืนตาม รวมทั้งให้ยกเลิกการขยายถนนในช่วงกิโลเมตรที่ 10-16 โดยสิ้นเชิง และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการตัดไม้และหาผู้รับผิดชอบ อีกทั้งยังให้กรรมการจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำแผนงานเพื่อสำรวจและกำหนดพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมเพิ่ม

จนถึงวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนและความคืบหน้ากับการฟื้นฟูและปรับภูมิทัศน์ ส่วนการขยายช่วงแรกที่ยังค้างคาอยู่จากกิโลเมตรที่ 2- 10 บนถนนธนะรัชต์นั้น แม้เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์จะรณรงค์ปลูกต้นไม้หลายพันต้นไปหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล (จนมีผู้สนับสนุนที่พยายามขนกล้าไม้มาร่วมประสบอุบัติเหตุ)ซํ้ำาร้ายยังต้องดูแลกันเอง โดยเฉพาะการจ่ายค่ารดน้ำต้นไม้ (ครั้งละ 600บาท) ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ก็มิได้ให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนใดๆ

ขณะที่การพูดคุยและเจรจากันของกรมทางหลวงและกรมป่าไม้ยังไม่ได้ข้อยุติ ในการฟื้นฟูและปรับภูมิทัศน์ โดยจะต้องกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปัญหาที่ค้างคาจึงยืดเยื้อออกไปโดยไม่มีความจำเป็นทั้งสร้างความแตกแยกในพื้นที่และอาจนำมาสู่ความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สิน จากการชะลอการขยายถนนทำให้ไม่มีการปรับระดับ และจากปัญหาที่เป็นอยู่แต่เดิม นั่้นคือไม่มีป้ายเตือนไฟฟ้าและข้อความใดๆ โดยเฉพาะช่วงทางโค้งและทางแยก

กลุ่มคนรักเขาใหญ่บน facebook ซึ่งได้ติดตามข้อมูลและคัดค้านการขยายถนนธนะรัชต์มาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง

1) ให้คณะรัฐมนตรีฯ มีมติยกเลิกการขยายถนนช่วง ก.ม. ที่ 2-10 โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงคมนาคมดำเนินการฟื้นฟูและปลูกต้นไม้เพื่อการปรับภูมิทัศน์ รวมทั้งมีช่องทางจักรยานทั้งสองข้างทางเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ลดมลภาวะ และเป็นการออกกำลังกายของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ อาจจัดให้มีทางเท้าเพื่อให้เดิน วิ่ง พักผ่อนใต้ร่มไม้ที่จะมีการปลูกคืน ซึ่งยังเป็นการคำนึงถึงคนเดินเท้าแทนที่จะคิดถึงแต่ถนนเพื่อรถยนต์เพียงอย่างเดียว

2) จัดให้มีการสำรวจและจัดทำแผนควบคุมสิ่งแวดล้อมโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่้อเป็นแนวกันชน พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บทเพื่อการจัดการพื้นที่โดยรอบทั้งสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และ อื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงใดๆในพื้นที่ที่กำหนดต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างเต็มรูปแบบและเปิดเผยต่อสาธารณะชน ซึ่งหมายรวมถึงเขตอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ด้วย หากพื้นที่ใดที่มีลักษณะพิเศษและมีความอ่อนไหวทางธรรมชาติมาก จะต้องเข้มงวดในกระบวนการต่างๆ มากขึ้นไปเป็นระดับสูงสุด และต้องผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

3) ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจ มิใช่ยืดเวลาเพื่อให้กระแสการคัดค้านลดลงและมิใช่เพื่อให้เกิดการประนีประนอม ซึ่งจะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้อย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมต้องการ เพราะการจัดการขยายถนนสี่เลนทั่วประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2538 จำเป็นจะต้องมีการยกเว้นในพื้นที่คาบเกี่ยวและเชื่อมโยงกับเขตอุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งเขตอนุรักษ์ทางโบราณสถานและโบราณคดีอื่นๆ อีกด้วย

4) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ผืนป่ามรดกโลกขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการผืนป่ามรดกโลกให้เป็นระบบ โดยทุกประเทศที่มีมรดกโลกจะต้องดำเนินการให้ไปเป็นตามนี้ แต่ทั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นมรดกโลกมานานแต่กลับไม่มีการบริหารจัดการที่ดีและยังไม่มีหน่วยงานใดจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

5) ขอเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไร้วิสัยทัศน์และจิตสำนึกในการจัดการบริหารตามนโยบาย

ท้ายสุดกลุ่มคนรักเขาใหญ่บน facebook ซึ่งได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านโครงการขยายถนนธนะรัชต์ทางขึ้นเขาใหญ่ให้เป็นสี่เลนมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2553 และขณะนี้มีผู้ลงชื่อคัดค้านจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นสามพันคน (ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2553) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความจำเป็น และความต้องการอันแท้จริงของประชาชนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

กลุ่มคนรักเขาใหญ่บน facebook

20 มิถุนายน 2553


 
ที่มา : facebook คนรักเขาใหญ่ ก่อตั้งกลุ่ม โดยนายสมิทธิ  ธนานิธิโชติ

 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับการใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน

Posted: 21 Jun 2010 07:45 AM PDT

<!--break-->

 

ชื่อบทความเดิม :
ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

 

บทนำ

      หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและรัฐบาลยังคงมีทีท่าที่จะยืดอายุต่อไปโดยไม่มีกำหนดนั้น มีประเด็นข้อกฎหมายที่สมควรพิจารณาในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil, and Political Rights (ต่อไปจะเรียกชื่อย่อว่า ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีด้วย การพิจารณาในแง่มุมของกฎหมายระหว่างประเทศก็เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

   1. กรอบพิจารณาทางกฎหมาย: รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ

   ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนที่เป็นแนวนโยบายด้านการต่างประเทศ มาตรา 82 วรรคแรก บัญญัติว่า “ รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ ….ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี….” มาตรานี้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากถึงกับเน้นว่า 'รัฐ' (ซึ่งหมายถึงองค์กรของรัฐ) ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ ส่วนสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับสิทิมมนุษยชนและเกี่ยวข้องกับการตราและใช้อำนาจตามกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยตรงได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil, and Political Rights ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และสนธิสัญญานี้เริ่มมีผลผูกผันประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา

   โดยมาตรา 2 (1) แห่ง ICCPR ระบุว่า “รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับเคารพและจะประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายในเขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้” และใน (2) ยังกำหนดต่อไปว่า “….. รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น ตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของตนและบทบัญญัติแห่งกติกานี้เพื่อให้มีมาตรการทางนิติบัญญัติหรือมาตรการอื่นที่อาจจำเป็นเพื่อให้สิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้เป็นผล”

      เมื่อพิจารณามาตรา 82 วรรคแรก แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันประกอบกับมาตรา 2 ของ ICCPR ซี่งประเทศไทยเป็นภาคีด้วยนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยมีพันธกรณีทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติ ICCPR ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศไทยจะต้องดำเนินการทางนิติบัญญติและมาตรการอื่นเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทั้งหลายที่รับรองไว้ใน ICCPR ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริง พูดง่ายๆก็คือ เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ICCPR แล้วก็จะต้องดำเนินการให้มีกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ปัจเจกชนมีสภาพบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่เป็นแค่สมาชิก ICCPR แล้วก็จบกันโดยไม่มีมาตรการทางนิติบัญญัติและมาตรการอื่นๆมารองรับและนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลต่อไป

   2. การเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี (Derogation) คืออะไร

   เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะ (Public emergency) เมื่อรัฐต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คุกคามความอยู่รอดของชีวิตของชาติ (The Life of Nation) (ทั้งคำว่า Public emergency และคำว่า The Life of Nation เป็นถ้อยคำที่ ICCPR มาตรา 4 ใช้) รัฐสามารถหลีกเลี่ยงหรือยกเว้นที่จะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหลายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชนพลเมืองได้ เช่น ในมาตรา 21 ของ ICCPR รับรองสิทธิในการชุมนุม แต่เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและรัฐภาคี ICCPR ได้ใช้สิทธิที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีข้อ 21 โดยการออกกฎหมายห้ามการชุมนุม กรณีอย่างนี้ถือว่าทำได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 4 ของ ICCPR เรียกว่า derogation กล่าวโดยสรุป ผลทางกฎหมายของการใช้สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่รับรองไว้ใน ICCPR ที่เรียกว่า derogation นี้เป็นผลให้รัฐสามารถไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศนี้ได้ เช่น รัฐสามารถห้ามการชุมนุมได้ หรือห้ามบุคคลมิให้เดินทางไปมาอย่างสะดวกได้

   อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของมหาชนกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ICCPR ได้ห้ามมิให้รัฐใช้สิทธิที่จะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีใน ICCPR หากว่าสิทธิเช่นว่านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้รัฐจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม แต่รัฐก็ไม่อาจละเมิดสิทธิบางอย่างที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ สิทธิที่ว่านี้แก่ สิทธิในชีวิต (Right to Life) โดยข้อ 6 ของ ICCPR บัญญัติว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย บุคคลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ” นอกจากสิทธิในชีวิตแล้ว สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษได้แก่ การห้ามการทรมานหรือการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม การห้ามเอาคนลงเป็นทาส การห้ามจำคุกเพระลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เรื่องการไมใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และ การคุ้มครองเรื่องความเชื่อทางศาสนา สิทธิที่ว่ามานี้ แม้รัฐจะได้ประกาศสถานการฉุกเฉินก็ตาม รัฐก็ไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่คุ้มครองสิทธิที่ว่านี้ได้  ซึ่งหมายความว่า แม้ในช่วงเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สิทธิของบุคคลเช่นว่านี้ยังได้รับการคุ้มครองอยู่ภายใต้ ICCPR ทุกประการ คำถามมีว่า ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการสลายผู้ชุมจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน สิทธิในชีวิตของผู้ชุมนุมยังคงมีอยู่และรัฐจะละเมิดมิได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องมีคำอธิบายอย่างมีเหตุผลประกอบด้วยหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน

   ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษเคยใช้สิทธิตามมาตรา 4 (3) เหมือนกันในปีค.ศ. 1976 โดยรัฐบาลอังกฤษได้แจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อคราวรัฐบาลอังกฤษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเกิดการก่อการร้ายของกลุ่มไอร์แลนด์เหนือ การแจ้งของรัฐบาลอังกฤษไปยังเลขาธิการสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อที่รัฐบาลอังกฤษจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศตาม ICCPR ได้ โดยรัฐบาลอังกฤษได้ขอยกเลิกการใช้สิทธิหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม ICCPR ที่เรียกว่า derogation เมื่อ ค.ศ. 1984

      3. วิธีการใช้สิทธิเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี

      เพื่อป้องกันมิให้รัฐภาคีใช้สิทธิ  derogation อย่างอำเภอใจและไม่สุจริตใจ ตาม ICCPR มาตรา 4 (3) ได้กำหนดขั้นตอนวิธีการในการใช้สิทธินี้ว่า รัฐภาคีจะต้องแจ้งไปยังภาคีอื่นให้ทราบโดยทันที (Immediately inform) ถึงบทบัญญัติต่างๆและเหตุผลแห่งการหลีกเลี่ยงให้ทราบด้วยโดยเลขาธิการสหประชาชาติจะเป็นสื่อกลาง จากมาตรา 4 (3) มีประเด็นที่สมควรพิจารณามีดังนี้

      ประเด็นที่หนึ่ง ทำไมที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถึงไม่พูดประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตาม ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและประเด็นเรื่องสิทธิที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีตามมาตรา 4 ที่เรียกว่า Right of Derogation ต่อสาธารณชน

      ระเด็นที่สอง คำถามมีว่า รัฐบาลได้มีการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อ 4 หรือไม่ในประเด็นที่ว่า รัฐบาลต้องแจ้งไปยังรัฐภาคีอื่น ๆของ ICCPR ทราบโดยทันทีเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าจะมีการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีบางข้อของ ICCPR ในกรณีที่ไม่มีการประกาศให้รัฐภาคีอื่นทราบโดยผ่านทางเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว มีคำถามตามมาว่า การละเมิดสิทธิต่างๆ ที่ระบุไว้ ICCPR (เช่น การห้ามการชุมนุม การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การจับกุมหรือควบคุมตัวโดยมิชอบ ฯลฯ) ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผลจะเป็นอย่างไร โดยใน “Siracusa Principles” (ซึ่งเป็นเอกสารระหว่างประเทศที่ประกอบการตีความ ICCPR ที่จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของสหประชาชาติ) ข้อที่ 45 ระบุว่า การแจ้งไปยังรัฐภาคีอื่นนั้นต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับ บทมาตราที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม สำเนาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ เหตุผลที่รัฐบาลจะไม่ปฏิบัติพันธกรณีใน ICCPR เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือข้อที่ 48 ที่กำหนดว่า รัฐภาคีที่ใช้สิทธิตามมาตรา 4 ที่จะหลีกเลี่ยงพันธกรณีตาม ICCPR นั้นจะต้องยุติการใช้สิทธิดังกล่าวให้เร็วที่สุดเพื่อที่ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิทธิในการหลีกเลี่ยงพันธกรณีตาม ICCPR จะต้องยุติลงทันทีที่ภยันตรายนั้นหมดไปแล้ว

      นอกจากนี้ในข้อที่ 50 กำหนดว่า ในกรณีที่การใช้สิทธิหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีตาม ICCPR ยุติลง (หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงนั่นเอง ) สิทธิเสรีภาพใดๆที่รับรองไว้ใน ICCPR จะต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนเดิมและจะต้องจัดหามาตรการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ซึ่งได้รับความไม่ยุติธรรม (injustice) แก่ช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย

      ประเด็นที่สาม ตามเอกสารที่เรียกว่า United Nations, Economic and Social Council, Siracusa Principles on the Limitation and Derogation Provisions in the International Covenant on Civil and Political Rights, U.N. Doc. E/CN.4/1985/4, Annex (1985) หรือที่เรียกสั้นๆว่า “Siracusa Principles” อันเป็นเอกสารที่กำหนดกรอบการใช้ข้อยกเว้นตามมาตรา 4 ของ ICCPR ซึ่งหมายความว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มิได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ในทางตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่รัฐยังต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญที่บัญญัติไว้ใน Siracusa Principles ซึ่งมีร่วม 70 ข้ออย่างเคร่งครัดด้วย เช่น กฎหมายที่จำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนนั้นต้องไม่มีลักษณะอำเภอใจหรือไม่มีเหตุผล (ข้อ 16) จะต้องมีมาตรการเยียวยาความเสียหายจากการออกกฎหมายหรือใช้กฎหมายที่มาจำกัดสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยมิชอบ (ข้อ 18) ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ (National security) จะต้องไม่ถูกใช้เป็นข้ออ้าง (pretext) เพื่อออกข้อจำกัดอย่างคลุมเครือ(vague) หรืออย่างอำเภอใจ (arbitrary) (ข้อ 31) และที่น่าสนใจที่สุดคือข้อที่ 40 ที่บัญญัติว่า “ความขัดแย้งภายในหรือความมาสงบที่ไม่ก่อให้เกิดภยันตรายอย่างมากและใกล้จะถึงต่อชาติไม่อาจเป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการหลีกเลี่ยงได้” (Internal conflict and unrest that do not constitute a grave and imminent threat to the life of the nation cannot justify derogations under Article 4.)

      คำถามมีต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกคุกคามด้วยภยันตรายอย่างร้ายแรงและใกล้จะถึงต่อความอยู่รอดของประเทศหรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลกำลังตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและสังคมไทยกำลังถกเถียงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อยู่ รัฐบาลจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ตอบคำถามนี้เองแต่ควรปล่อยให้ฝ่ายอื่น เช่น รัฐสภา รวมทั้งภาคประชาสังคมต่างๆ เป็นผู้พิจารณาว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง (Imminent) หรือไม่ หากพิจารณาแล้ว ไม่ปรากฏภยันตรายแต่อย่างใด รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที ในประเด็นนี้ Daniel O Donnell ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเห็นว่า เงื่อนไขข้อนี้มีไว้เพื่อมิรัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เพื่อรักษาอำนาจของตนเอง

บทส่งท้าย

      ในขณะที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพกำลังโศกเศร้าและเสียดายกับวัตถุสิ่งของที่ถูกทำลายไป แต่ชีวิตคนร่วมร้อยศพ บาดเจ็บนับพันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงกลับเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล่าวถึง เพียงเพราะว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนละสีกับตน ความเงียบของคนเสื้อเหลืองก็ดี สว. สรรหาก็ดี นักวิชาการ (ส่วนใหญ่) ก็ดี สื่อมวลชนก็ดี ที่มีต่อการคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะเขาเหล่านี้ล้วนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดง แต่ความเงียบของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ที่มีต่อการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการไม่ยอมเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้และไม่อาจยอมรับได้ด้วย เพราะว่าสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ขึ้นอยู่กับสี คนเสื้อเหลืองมีสิทธิอย่างไร คนเสื้อแดงก็มีสิทธิอย่างนั้น หากความเงียบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (รวมถึงบรรดาเอ็นจีโอด้วย) ยังคงมีต่อไป เห็นทีต้องทบทวนว่าสมควรมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ต่อไปหรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สาละวินโพสท์: ทั่วโลกจัดงานวันเกิดให้ซูจี

Posted: 21 Jun 2010 07:07 AM PDT

ชาวพม่าและผู้สนับสนุนอองซาน ซูจีในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยร่วมจัดงานฉลองวัดเกิดให้กับออง ซาน ซูจี ด้าน ปธน. โอบาม่าเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวออง ซาน ซูจีกับนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ และยกย่องนางซูจีที่อุทิศตนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าอย่างต่อเนื่อง

<!--break-->

 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ชาวพม่าและทั่วโลกได้ร่วมฉลองวันเกิดครบรอบ 65 ปี ให้กับนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งยังเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพเมื่อปี 2534 ด้านสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีในกรุงย่างกุ้งได้จัดงานวันเกิดให้กับซูจี โดยมีประชาชนมาร่วมงานกว่า 5 ร้อยคน

ขณะที่ในภาคมัณฑะเลย์ รัฐอาระกัน และในพื้นที่อื่นๆ ของพม่าก็ได้มีการจัดงานวันเกิดให้กับนางซูจีด้วยเช่นกัน  ด้านนายหน่ายวิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดีได้ออกมาเปิดเผยว่า  ในปีนี้มีประชาชนเข้าร่วมงานมากกว่าปีที่แล้ว  ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งจัดฉากของรัฐบาลจะยังดำเนินต่อไป แต่ประชาชนก็ยังคงนิยมในตัวนางซูจีอย่างท่วมท้น

อย่างไรก็ตาม นายหน่ายวินกล่าวว่า “สำหรับนางซูจี โดยเฉพาะในวันคล้ายวันเกิดในปีนี้ดูเหมือนจะยิ่งเงียบเหงามากกว่าเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากในวันเกิดเมื่อปีที่แล้ว นางซูจี ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกกุมขังที่เรือนจำอินเส่ง ในข้อหาละเมิดกฎกักบริเวณ หลังปล่อยให้ชายอเมริกันว่ายน้ำเข้าในบ้านพัก ยังสามารถทำอาหารเลี้ยงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ในเรือนจำอินเส่งได้ แต่ในปีนี้ซูจีอาจต้องฉลองวันเกิดเพียงลำพังภายในบ้านพักกรุงย่างกุ้ง” อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีได้ส่งเค้กวันเกิดไปให้นางซูจีแล้วในวันเกิดของเธอที่ผ่านมา

ขณะที่ชาวพม่าและผู้สนับสนุนนางอองซาน  ซูจีในหลายประเทศอย่างในไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รวมถึงในประเทศอื่นๆได้ร่วมจัดงานฉลองวันเกิดให้กับนางซูจีด้วยเช่นกัน ด้านนายบารัค โอบามาประธานาธิบดีสหรัฐฯได้กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเร่งปล่อยตัวนางอองซาน ซูจีและนักโทษการเมืองในประเทศอย่างเร่งด่วน  เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 65 ปีของนางซูจี พร้อมกันนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวอวยพรและยกย่องนางซูจีที่อุทิศตนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หลายองค์กรเอ็นจีโอในจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกันจัดงาน วันเกิดให้กับนางออง ซาน ซูจี ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน โดยงานในปีนี้ใช้ชื่อว่า "Using Our Liberty to Promote Burma's" (ใช้อิสรภาพของเราในการสนับสนุนพม่า)

ภายในงานนอกจากมีการแสดงภาพถ่ายเกี่ยวกับนางซูจีแล้ว ยังมีการเสวนาเรื่องทิศทางของการเมืองพม่าและการเลือกตั้ง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกประเทศและบทบาทของผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหารเป็นต้น นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงวัฒนธรรมจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์จากชาวกะเหรี่ยง ไทยใหญ่และคะฉิ่น รวมถึงการแสดงดนตรีจากกลุ่มนักศึกษาชาวพม่าเป็นต้น โดยมีประชาชนที่ให้การสนับสนุนนางซูจีเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับในวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ห้องสมุดเพื่อนพม่า (The Best Friend Library) ได้จัดงานชื่อ “Arrest Yourself” ภายในงานมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับประวัติและการต่อสู้ของนางอองซาน ซูจี รวมถึงสารคดีเกี่ยวกับองค์กรฟรีเบอร์มาร์เรนเจอร์ (Free Burma Rangers) กลุ่มบรรเทาทุกข์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) รวมถึงสารคดีเกี่ยวกับเด็กกำพร้าในพื้นที่ประสบภัยนาร์กิส

นอกจากนี้ Debbie Stothard จากองค์กร Altsean-Burma ได้เข้าร่วมบรรยายหัวข้อเรื่องการเลือกตั้งพม่า รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) โดย Debbie กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2551และการเลือกตั้งที่รัฐบาลเตรียมจัดขึ้นไม่ได้แก้ปัญหาในพม่า แต่จะยิ่งทำให้วิกฤติปัญหาในพม่าลุกลามมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม และรัฐธรรมนูญที่ทหารเป็นผู้ร่างขึ้นนี้ ยิ่งจะรับรองให้รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจชอบธรรมตามกฎหมายมากขึ้นเท่านั้น

ในงานยังมีการถกกันถึงหัวข้อ “เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการเดินทางไปเที่ยวในพม่า” นอกจากนี้ยังมีการเชิญเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแมพ มาพูดเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติจากพม่า ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นพม่าเป็นอย่างดี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: ทำความเข้าใจขบวนการประชาชน

Posted: 20 Jun 2010 04:34 PM PDT

<!--break-->

ทำความเข้าใจขบวนการภาคประชาชนไทยยุคเหลือง-แดง ผ่านวงเสวนาวิชาการ นักสังคมวิทยาเล่านิทานการผูกขาดนิยามประชาสังคมที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ขณะที่นักรัฐศาสตร์เสนอทฤษฎีใหม่ สามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขาเป็นอุปสรรคประชาธิปไตยไทย และนาซีไมได้มีแต่ฮิตเลอร์แต่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่ไร้เดียงสาทางการเมือง ใช้วิธีลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายก่อนใช้ความรุนแรงจัดการ

งานเสวนาหัวข้อ “ทำความเข้าใจขบวนการประชาชน” วันที่ 20 มิ.ย. 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาชุด “โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย. 2553 โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาฯ มหิดล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิศักยภาพชุมชน ผู้ที่สนใจบทความวิชาการที่นำมาเสนอในการเสวนา สามารถติดตามได้จาก www.peaceandjusticenetwork.org

วิทยากรประกอบด้วยยุกติ มุกดาวิจิตร สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์, เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พวงทอง ภวัครพันธุ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  

 

000

“โครงสร้างการเมืองท้องถิ่นมันเปลี่ยนไปแล้ว และมีเงินบริหารตัวเอง มีองค์กรชุมชนท้องถิ่น นี่ต่างหากที่น่าจะเป็นกระบวนการประชาชนแบบใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่การเมืองแบบเลือกตั้งหรือแบบตัวแทน นี่เป็นสิ่งที่เราแสวงหาหรือเรียกร้องกันมาไม่ใช่เหรอ”

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

ผมขอเล่าเรื่องขบวนการประชาชน ผ่านนิทานสามเรื่อง คือ เรื่องแรก สองนคราประชาธิปไตย สอง การเมืองภาคประชาชน มีตัวละครและฉากที่พิลึกพิลั่นมาก และสาม ชุมชนทุนนิยมเข้มแข็ง จริงๆผมอยากแถมท้ายเรื่อง ขบวนการประชาชนที่ยังไม่มีใครอยากจะเล่า

ทำไมผมจึงเล่านิทาน เพราะมีความคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ถูกทำให้แคบให้เลือกเพียงนิทานเรื่องเดียวเป็นนิทานเรื่องภาคประชาชนทั้งที่มีหลายเรื่อง ผมจะนิยามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ผมไม่เชี่ยวชาญใดๆ ทั้งสิ้น

นิยามที่นักมานุษยวิทยากันเองนั้น นิยามว่าขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมเป็นการเรียกร้องรัฐเรื่อสิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจ การปกครองตัวเอง และความยุติธรรม ตอนหลังขยายเป็นเรื่องอัตลักษณ์ เพศสภาพ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา

ศ.แคทลีน บาววี จาก ม. วิสคอนซิน ศึกษาเรื่องลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายขวาก็ถือว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้เหมือนกัน เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ซึ่งจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาได้

นิทานเรื่องแรก สองนคราประชาธิปไตย เล่ากันมาสิบกว่าปีแล้วในสยามประเทศ เป็นนิทานที่อธิบายสังคมประชาธิปไตยที่นำมาสู้การยึดอำนาจปี 2534 สอดรับกับเรื่องการเมืองภาคประชาชน สำคัญคือนิทานเรื่องนี้เล่าว่า เมื่อถึงประมาณทศวรรษ 2516 ขึ้นมา เกิดพลังใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นพลังอำนาจนอกระบบราชการ และเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ และเห็นได้ชัดเจนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา 14 ตุลาฯ เป็นพลังบริสุทธิ์ อะไรก็ว่าไป

สองนคราประชาธิปไตย เกิดมาในยุคที่พลังนอกระบบราชการเติบโตขึ้นมา เกิดทวิลักษณะของประชาธิปไตยไทย หนึ่งคือวัฒนธรรมประชาธิปไตยในเมือง คือมองประชาธิปไตยด้วยมาตรฐานตะวันตก ไม่นึกถึงบุญคุณและอามิสสินจ้าง เป็นประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ ส่วนคนในชนบทเห็นประชาธิปไตยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ไม่มองว่าการลงคะแนนให้ผู้ที่ให้เงินให้ทองแก่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองระหว่างการหาเสียงเป็นสิ่งที่เสียหาย สมมติฐานของเรื่องนี้ คะแนนเสียงที่ท่วมท้นมาจากชนบท นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คะแนนเสียงของชาวชนบทไม่ได้สะท้อนนโยบายของรัฐบาล หรือนโยบายที่เสนอไม่มีผลต่อฐานเสียง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคนเล่าเรื่องนี้จึงเสนอระบบสัดส่วน นำมาสู่การแก้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ใช้แบบนี้

นิทานเรื่องนี้ยังอยู่ในระบบรัฐสภา และได้สร้างอคติต่อชาวบ้านอย่างหนึ่งที่มีความเชื่อว่ามี 2 ระบบประชาธิปไตย มีระบบหนึ่งเรียกว่าระบบแบบตัวแทน มีแต่คนเมือง ฉลาดรู้ ที่ใช้อย่างแท้จริง แต่คนชนบทไม่รู้เรื่อง ถูกซื้อ นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยอีกแบบมา คนกรุงเทพฯ มีอุดมการณ์สวยหรู แต่วิพากษ์วิจารณ์คนชนบทว่าไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย

นิทานเรื่องที่สอง บอกว่าไม่ใช่ว่าคนในชนบทใช้ไม่ได้หรอก นิทานภาคประชาชนจะบอกว่า คนชนบทเขาก็รู้เหมือนกัน คือเขามีภูมิปัญญา แต่การเมืองของเขาไม่ควรเดินแบบการเมืองในเมือง ควรเริ่มแบบใหม่ ควรเป็นแบบประชาธิปไตยทางตรงหรือแบบมีส่วนร่วม มีศัพท์แบบนี้ไม่ทราบว่าคิดกันได้อย่างไร แต่ว่าตรงเข้าจริงๆ หลายคนก็ยังสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไรว่าคนตั้งเยอะแยะมาสังสรรค์กันทั้งหมด ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี

มักจะเริ่มการเมืองไทยก่อนสนธิสัญญาบาวริ่ง ไม่มีทุนนิยม ไม่มีการแทรกแซงทุน ชุมชนอยู่กันอย่างสงบสุขในอดีตอันไกลโพ้น ทั้งที่มีงานวิจัยออกมามากมายว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความจริงเลย เพราะการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นอย่างน้อย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันถ่ายโอนไปมา ความสัมพันธ์แทบจะไม่มี เพราะรัฐไปกวาดต้อนคนมาทำนาตลอดเวลา ขณะที่คนเป็นชาวนาก็หนีจะขึ้นไปอยู่บนภูเขา

ในการประชุมนักวิชาการ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้อาวุโสหลายคน คนที่หนึ่งเล่าว่า “ผมได้เข้าไปคุยกับนายกที่ราบ 11ท่านนายกก็ยินดีมาก ผมรำคาญนักการเมือง มาเถียงกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ คิดถึงแต่จะเอาอำนาจกัน คนมาประท้วงเดือดร้อนมีปัญหา แต่นักการเมืองไม่พูดเรื่องปัญหาของพวกเขาเลย พวกเขามีปัญหามาก นักการเมืองเอาประโยชน์จากพวกเขาอย่างเดียว ละเลยปัญหาของชาวบ้าน ความขัดแย้งที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องอำมาตย์ แต่เป็นเรื่องนายทุน เช่น ทำน้ำเสีย แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือหน่วยงานราชการ เข้ากับนายทุนพวกนี้ ผมก็วิจารณ์ราชการ ราชการเขาก็ไม่ชอบ ผมมีปัญหากับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ชาวบ้านต่างไปจากเดิมมาก ประเทศไทยไม่มีปัญหาประชาธิปไตย ประเทศไทยมีประชาธิปไตยมานานแล้ว การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมของประชาธิปไตย การเลือกตั้งคือปัญหา การเลือกตั้งไม่ได้เลือกผู้แทน แต่เลือกผู้อุปถัมภ์ แต่ต่างประเทศจะบีบตลอด ถ้าเราไม่ยอมเลือกตั้งไม่ได้ ต่างประเทศจะบีบตลอดให้เรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

อีกคนพูด “เป็นทรราชตลอด Centralize ตลอด ไม่เห็นทุกข์ของชาวบ้าน รัฐ Top-down ตลอด การแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็คือต้องมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม วิธีแก้ปัญหาคือต้องสร้างภาคประชาสังคมขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับภาคการเมือง เมื่อเข้มแข็งก็จะมีการต่อรอง เป็นความเห็นของคนในกลุ่ม ต้องเป็นเรื่อง Institution เป็นสถาบันให้เกิดเน็ตเวิร์ก ลงไปข้างล่าง เวลานี้ Local group พังหมด มันเกิดเป็นแฟชั่น เวลาเลือกตั้งเป็น Individual หมดเลย”

อีกท่านหนึ่งเป็นผู้อาวุโสที่รองลงมาหน่อย “ถูกแล้วครับ การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม ไม่มีไม่ได้ อย่างเช่นในการเลือกตั้งสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่นก็จะตั้งเกณฑ์ผู้นำที่ดีขึ้นมาเองเจ็ดแปดข้อ เช่นต้องมีคุณธรรม ต้องเป็นคนดี และเขาไปเชื้อเชิญ เชื้อเชิญนะครับไม่ใช่ทาบทาม เชิญคนที่มีคุณสมบัติมาแล้วก็ผ่านพิธีการเลือกตั้ง ไม่งั้น อบต. ไม่ยอม เขากลัวฮั้วกัน แต่จริงๆ แล้วตั้งมาแล้วบางที่มีสองคน แต่สภาอาวุโสหาเสียงคู่แล้วทำงานด้วยกัน”

เราก็จะเห็นวิธีคิดของคนเหล่านี้น่าสนใจหลายประการ มีข้อถกเถียงที่เป็นงานวิจัยมาถกเถียงกับแนวคิดของสามสี่ท่านนี้ ที่น่าสนใจคือผู้อาวุโสเหล่านี้มองปัญหาการเมืองไทยว่าเกิดจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน และอำนาจของทุนกับราชการเท่านั้น แม้จะมีงานจำนวนมากปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว แต่ท่านเหล่านี้คงไม่เห็นด้วย แต่งานจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย มันไม่จริงหรอกครับการเมืองอยู่กับนักการเมืองกับข้าราชการเท่านั้น

ประการที่สอง การเมืองไทยในทัศนะของพวกท่านแก้ได้ด้วยประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ว่ามีงานวิจัยที่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปมากมายแล้ว เพราะสำหรับชาวบ้านนั้น การเลือกตั้งมีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องและก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาตัดตอนนักการเมืองแล้วมีส่วนร่วมโดยตรง

ประการที่สาม ผู้อาวุโสเหล่านี้ไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับเพราะต่างชาติบีบ อันนี้น่าสนใจนะครับว่า สำหรับท่านเหล่านี้ การเลือกตั้งไม่ได้อยู่ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย แต่หลังๆ มีงานวิจัยพบว่าการเลือกตั้งในสังคมไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว คือการเลือกตั้งในหมู่บ้าน

ประการที่สี่ ผู้อาวุโสเหล่านี้เห็นว่าทางรอดคือการตั้งองค์กรชุมชน เพื่อฟื้นความเป็นชุมชนกลับมาแทนที่ความเป็นปัจเจก คำถามของงานวิจัยมากมายคือ ชุมชนในหมู่บ้านไม่เป็นชุมชนหรือ แล้วมันไม่ได้ไปด้วยกันได้กับการเลือกตั้งหรือ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการเลือกตั้งในแต่ละครั้งนั้นเป็นผลจากการต่อรองกันของคนในท้องถิ่นด้วยมิติต่างๆ ที่มีรายละเอียดมากมาย   

ประการที่ห้า ผู้นำชุมชน ควรมาจากการสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้ง ระบบตัวแทนชุมชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือสภาที่ผู้อาวุโสเหล่านี้อยากให้มี มันไม่ใช่การเมืองแบบตัวแทนหรือ การแต่งตั้งนั้นไม่ใช่การเมืองแบบตัวแทนหรือ

นิทานทั้งสองเรื่องยังไม่ได้คำนึงถึง ภาวะความเป็นผู้กระทำการทางสังคมในโครงร้างของระบบอุปถัมภ์ ประเด็นของผมคือว่าระบบอุปถัมภ์มันมีอยู่แล้วไม่ว่าที่ไหนก็ตาม คุณไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย หรือสูง-ต่ำได้ แต่ประเด็นคือระบบการเมืองแบบไหนที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในระบบเครือข่ายเหล่านั้นแสดงตัวตนออกมา ไม่ใช่การทำให้ระบบอุปถัมภ์เป็นตัวแทนของคนดี มันเป็นไปไม่ได้

นี่เป็นปัญหาตรงข้ามของปัจเจกชนนิยม กับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจินตภาพสองอย่างนี้ทำให้ระบบการเมืองไทยพัฒนามา แบบที่ ว่าหากไม่พัฒนาโมเดลการเลือกตั้ง ก็ไปพัฒนาการเมืองอีกแบบหนึ่งคือการเมืองภาคประชาชน

นิทานเรื่องที่ 3 ชุมชนทุนนิยมเข้มแข็ง ภาพของชุมชนที่ผมไปเจอมา พื้นที่หนึ่งเป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจมาก ในจังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่แดงทั้งจังหวัด เขาภูมิใจที่พื้นที่ของเขาถูกประกาศฉุกเฉินร้ายแรงก่อนอุบลราชธานีอีก

หมู่บ้านหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชนที่มีภาวะผู้นำสูงมาก ลูกบ้านเชื่อฟังและพัฒนาชุมชนเป็นกลุ่มเป็นก้อน และสามารถปลดหนี้ทุกคนได้ ผู้ใหญ่คนนี้แกก็จะพูดถึงคุณธรรมความดีสำคัญอย่างไร แต่พอถามว่าหมู่บ้านจะพัฒนาไปอย่างไร ผู้ใหญ่มีรถ 18 ล้อสองคัน เป็นนายทุนในหมู่บ้านและช่วยให้คนในหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบการการเกษตร เล่าให้ฟังเป็นฉากๆ ถึงวิธีการพัฒนาหมู่บ้าน เอากองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้านบ้าน ค่อยๆ จัดการทำให้หนี้สินหมดไป แล้วลงทุน เปิดโรงมัน โรงสี ทำธุรกิจให้เกษตรในหมู่บ้านมาสีข้าว บดอัดมันที่นี่ และเวลาที่พูดเรื่องราคาข้าว ราคามัน เป็นนักธุรกิจ ไม่ต่างกับคนที่เล่นหุ้น ประเด็นของผมคือว่านี่ไม่ใช่เหรอชุมชนที่เข้มแข็งน่ะ แต่เขาเป็นนายทุนอ่ะ แล้วทำไมล่ะ แล้วเอาหมู่บ้านละหนึ่งล้านมาพัฒนา หมู่บ้านนี้ก็ดีนี่ ถ้าไปเล่าในมิติของเอ็นจีโอ ชาวบ้านรู้ศักยภาพพัฒนาตัวเองได้ แต่มันผิดหลักไง เพราะภาคประชาชน คุณต้องอยู่แต่ในชุมชน และไม่อยากรวย แต่สิ่งนี้เกิดแล้ว คำถามที่คนเหล่านี้ถาม คือ ทำไมถึงไม่ชอบทักษิณ ผมไม่รู้ ผมตอบไม่ได้ คนเหล่านี้เวลาเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน คงไม่ได้เป็นผู้อาวุโสที่ดีงาม เพราะแกเป็นนายทุน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเมือท้องถิ่นมันเปลี่ยนไปแล้ว และมีเงินบริหารตัวเอง มีองค์กรชุมชนท้องถิ่น นี่ต่างหากที่น่าจะเป็นกระบวนการประชาชนแบบใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่การเมืองแบบเลือกตั้งหรือแบบตัวแทน นี่เป็นสิ่งที่เราแสวงหาหรือเรียกร้องกันมาไม่ใช่เหรอ แต่เอาเข้าจริงแล้วการเรียกร้องที่ผ่านมามันจำกัดอยู่ที่พื้นที่ เพราะคิดว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามันปลดปล่อยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพหรือคนในเมืองทั้งๆ ที่ดอกผลของมันเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จบ ป.สี่ เขาก็ให้เป็นสมาชิก อบต. แล้ว และก็มีงบมากบ้างน้อยบ้าง มีอำนาจในการบริหารงบประมาณของตัวเองเป็นอิสระ ชาวบ้านบอกว่าสมัยนี้เขาไม่ค่อยไปหาผู้ใหญ่บ้านแล้ว แต่เขาไปหา อบต. จะไปอำเภอก็เฉพาะเวลาบัตรประชาชนหาย

สำหรับกรณีที่ผู้อาวุโสกังวล ผมไม่ทราบว่าท่านไปเอาตัวอย่างที่ไหนมา นิทานสองเรื่องแรกมันฟังดูดี ตอบสนองกันอย่างดี และพยายามอธิบายครอบงำสังคมอยู่ขณะนี้ และถึงที่สุดดอกผลของการกระจายอำนาจมันเกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถที่จะยอมรับดอกผลของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้

ประจักษ์:  อำนาจในการผูกขาดการนิยามว่าอะไรคือขบวนการประชาชน อะไรคือการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้อาวุโสที่ผมเรียกว่าสภาผู้เฒ่า พยายามผูกขาดการนิยามว่าถ้าเคลื่อนไหวแบบนี้ ถึงจะเป็นขบวนการภาคประชาชน คือน่ารักๆ เชื่อพ่อสิลูก แต่ถ้าเป็นอีกแบบหนึ่งก็คือ ลูกหลงผิดไปแล้ว ดีแล้วที่ลูกตื่นตัว แต่ว่าเดินมาทางนี้หน่อย คนเหล่านี้เคยสร้างวาทกรรมสังคมเข้มแข็งให้ประชาชนตื่นตัวต่อสู้กับรัฐ แต่พ.ศ. นี้ประชาชนเขาตื่นตัวขึ้นมาจริงๆ แล้วเขาเคลื่อนไหวจริงๆ พอมีขบวนการเหล่านี้ นักปราชญ์เหล่านี้ตกใจ ออกมาบอกว่าไม่ใช่ๆ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ประเด็นคืออำนาจในการผู้ขาดการนิยาม ไม่เท่ากันโดยเฉพาะทีวีช่องหนึ่งมีความพยายามอย่างยิ่งในการนิยามว่าอะไรคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนที่ถูกต้อง เชิญคนมาสามสิบสี่สิบคนมาพูดและกำกับทิศทางว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ดีต้องทำแบบนี้

ผมเองสอนวิชาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองภาคประชาชา ผมก็กลัวมาก เดี๋ยวนี้เดินไปตามถนน ใครมาพูดกับผมว่าเราต้องสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาท ต้องให้ภาคีเข้ามามีส่วนร่วม ผมไม่แน่ใจว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งเดียวกันหรือเปล่า อาจารย์ยุกติพยายามเสนอหลายๆ แบบ ชาวบ้านเขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่นักวิชาการพยายามไปสตัฟฟ์เขาไว้ให้อยู่กับที่

 

000

“หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเป็นพลังมหาศาลที่เปลี่ยนแปลง การต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีอะไร นอกจากผลักสังคมไปข้างหน้า เปลี่ยนรัฐเป็นรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พลเมืองเป็นพลเมืองมากขึ้น กฎหมายเป็นกฎหมายมากขึ้น แต่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป เพราะมีเหลี่ยมสองเหลี่ยมเป็นตัวขัดขวาง เพราฉะนั้นการต่อสู้จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสมดุลอันใหม่จะเกิดขึ้นก็ต้องพังทลายลงไป”

 

เวียงรัฐ เนติโพธิ์

ดิฉันรู้สึกว่าทฤษฎีของตะวันตกมันใช้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะเรื่อง New Social Movement ซึ่งดิฉันมองไม่ออกว่ามันใหม่ตรงไหน ดิฉันจึงขอดูภาพใหญ่ เป็นสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งนิ่งมาสักพักหนึ่งแล้ว

งานวิจัยที่เพิ่งทำไปโดยอภิชาต สถิตนิรมัย ประภาส ปิ่นตบแต่ง และนักวิจัยท่านอื่นๆ เพื่อเข้าใจว่าใครคือคนเสื้อแดง ทำไมพวกเขาจึงมีพลังแม้จะเพลี่ยงพล้ำในสองฤดูร้อนที่ผ่านมา และจากการทำวิจัยลงพื้นที่ มีลักษณะสำคัญบางประการของขบวนการคนเสื้อแดงคือ

หนึ่ง มีลักษณะข้ามชนชั้น ไม่ใช่มีเฉพาะทัพหน้าที่มาที่ราชประสงค์และราชดำเนินเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนที่สนับสนุนอยู่ที่บาน ให้เงินสนับสนุน บางคนเคียดแค้น แม้เราจะเห็นคนที่ออกมาเป็นคนยากคนจนหรือกลางระดับล่าง ชนบท คนบ้านนอก และมีไม่น้อยที่เป็นกลางระดับสูง คนชั้นสูงระดับสูง คหบดีท้องถิ่น เจ้าของรถสิบแปดล้อ และกลุ่มเมียนายพลที่เป็น นปช. ตำรวจที่เป็นยศนายพันนายพล ที่สนับสนุนคนเสื้อแดง คุณนายสุขุมวิท เอาเงินใส่กระเป๋ามาให้ เอาข้าวกล่องมาให้ การมองการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะอาจจะทำความเข้าใจไม่ชัดเจน

สอง มีลักษณะ Radical แม้ข้อเรียกร้องเป็นเรื่องยุบสภา เป็นข้อเรียกร้องเล็กมากๆ แต่ถ้าคุณคุยทุกคนมีเป้าหมายชัดเจน คือ หนึ่งเรียกร้องสังคมที่เป็นธรรมในเชิงอำนาจทางการเมืองหรือเชิงกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีมาก่อน เป็นข้อเรียกร้องที่ Radical ที่เป็น Irony มาก การเรียกร้องสถาบันรัฐสภาให้เข้มแข็ง มันเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นการยืนหยัดเอาประชาธิปไตยไว้ก่อน ทำให้ขบวนการเสื้อแดงเรียกร้องสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่อง Radical

ประการต่อมาคือการต่อต้านอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่เป็นสามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขาและไม่ใช่ขบวนการขอทาน ไม่ต้องมาเห็นใจ ไม่ได้มาขอที่ดินทำกิน เราเรียกร้องอำนาจทางการเมืองแลการเลือกตั้งเท่านั้น ฉะรั้นการทำความเข้าใจการเรียกร้องอำนาจทางการเมือง ไม่ใช่ลักษณะของภูมิภาคเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ คนที่เข้าร่วมเสื้อแดงเป็นเหนือ อิสานก็จริง แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองของเขา

คำถามก็คือว่าก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก่อนที่จะมีเสื้อแดง สังคมไทยมีความสงบสุขจริงหรอไม่ แต่ดิฉันยืนยันว่ามันสงบจริง แต่สุขหรือไม ไม่ทราบ สงบจริง เพราะมีสามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขา มีสามหลักในอำนาจทางการเมืองคือ กษัตริยานุภาพ อำมาตยานุภาพ และอิทธิพลานุภาพ ขอบอกว่าสามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขานี้อยู่กันอย่างสมดุลที่สุด

เหลี่ยมที่หนึ่ง กษัตริยานุภาพ ประสบความสำเร็จที่สุด คนไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ เป็นศูนย์รวมของจิตใจและผูกพันเข้ากับสถาบันพุทธศาสนา ความดีงาม สงบสุข บรรพบุรุษ ไม่มีการถูกท้าทายมาก่อนเลย เคยถูกท้าทายเล็กๆ น้อยจาก พคท. และจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหลี่ยมที่สองคือชนชั้นนำ ระบอบราชการ อำมาตยานุภาพ แต่เสื้อแดงให้ความหมายกว้างกว่านั้น ดิฉันก็เพิ่งตาสว่างว่าเอ็นจีโอก็ด้วย อำมาตย์นี้กว้างมากคือคนทุกคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจ นักวิชาการที่เข้าไปปรองดองสมานฉันท์

เหลี่ยมที่สาม ประชาชนคือคนมหาศาลของประเทศแต่กลายเป็นชนชั้นล่างทางการเมือง นั่นคือไม่มีส่วนร่วมเท่าไหร่ นอกจากโหวตหนึ่งเสียงเท่านั้น และพรรคการเมืองไม่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์กระทั่งมีการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและนำเสนอนโยบายแข่งขันกัน

สามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขา ทำได้อย่างไร ก็คือตัวกำกับอำมาตยานุภาพไม่มีอุดมการณ์อื่นเลย “ขับขี่ปลอดภัยเทิดไท้องค์ราชัน”  “รักในหลวงห่วงลูกหลานปราบลูกน้ำยุงลาย” ชนชั้นนำไม่มีความแตกต่างเลย รสนิยมเดียวกัน มองตาก็เหมือนรู้ใจ ต้องพูดถึงความจงรักภักดี ศาสนา อิทธิพลานุภาพเป็นเครือข่ายผู้อาวุโส เป็นเครือข่ายที่ผูกพันอยู่กับประชาชนทุกๆ ที่เลย ดิฉันไปพื้นที่เชียงใหม่ ก็มี.....อ้าว คณะสังคมวิทยาก็มี คณะรัฐศาสตร์ก็มี ขัดแย้งกันที่ราชประสงค์ก็โทรหานายพลคนหนึ่งทำให้หยุดยิงกันได้ตั้งหลายวัน ประชาชนทุกคนอยู่ในเครือข่ายนี้หมดเลย เป็นเครือข่ายของความไม่เป็นทางการ และเครือข่ายเหล่านี้จัดสรรผลประโยชน์ลงตัว เข้าไปสนับสนุนอำมาตยานุภาพ และที่เคยถามว่าเลือกแล้วได้อะไร คำตอบคือ ก็ได้คนของเราเข้าไปนั่งในสภา แต่เขาไม่ได้ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต การจัดสรรลงตัวนี่ทำให้คนจำนวนมหาศาลเป็นไพร่ ไม่ได้เป็น Citizen

แต่สิบปีที่ผ่านมา จะบอกว่าเป็นทักษิณก็ได้ แต่ดิฉันจะอธิบายว่าเป็นการกระจายอำนาจ จึงเกิดการเคลื่อน เอาละสิ หมอประเวศก็เริ่มร้อนๆ หนาวๆ เหลี่ยมที่หนึ่งไม่เขยื้อนจึงไม่เสถียร ส่งผลให้อำมาตยานุภาพไม่สามารถอ้างอิงได้แบบเดียว แตกเป็นอ้างอิงกับกษัตริยานุภาพ และกับประชาชน เป็นความแตกแยกของชนชั้นสูงที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าไพร่ เป็นการอ้างความชอบธรรมสองประการที่แตกต่าง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เคยเกิดขึ้นแว๊บๆ ดิฉันผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏตรงหลักสี่กำลังถูกทุบ

เหลี่ยมที่สามมีพลวัตรประชาธิปไตย การเลือกตั้งมันผลักให้ไพร่กลายเป็นพลเมือง ที่เราท่องว่ารัฐไทยสมัยใหม่เกิดสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ความเป็น Citizen เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง ฉะนั้นเหลี่ยมที่สามจึงกลายเป็นพลังที่ขยับเขยื้อนไปได้ หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงจึงมีพลังมหาศาลที่จะหมุนสามเหลี่ยมนี้ไปได้

กระบวนการทางสังคมเป็นเรื่องไม่ใหม่ เป็นประเด็นของศตวรรษที่ 19 ในยุโรปหรืออเมริกา แต่จะเปลี่ยนไปสู่การอภิวัฒน์ หรือ ปฏิรูป

พูดง่ายๆ คือในทางรัฐศาสตร์แล้ว การเลือกตั้งมันได้ทำลายตัวกลาง อุดมการณ์ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และเอาสังคมกับรัฐเข้ามาเชื่อมโยงกันโดยตรง หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเป็นพลังมหาศาลที่เปลี่ยนแปลง การต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีอะไร นอกจากผลักสังคมไปข้างหน้า เปลี่ยนรัฐเป็นรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พลเมืองเป็นพลเมืองมากขึ้น กฎหมายเป็นกฎหมายมากขึ้น แต่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป เพราะมีเหลี่ยมสองเหลี่ยมเป็นตัวขัดขวาง เพราฉะนั้นการต่อสู้จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสมดุลอันใหม่จะเกิดขึ้นก็ต้องพังทลายลงไป

คนไทยจำนวนมากต้องการประนีประนอม จะหาทางอย่างไรให้เส้นเหล่านี้กลับมาได้ ศาลอ้างอิงตัวเองกับประชาชนมากขึ้นได้ไหม กองทัพทำอะไรอย่างอื่นที่มากกว่าการยิงประชาชนได้ไหม ปรับสมดุล หรือไม่ก็ทำลายมันให้หมดเลย แล้วเหลือแต่สีแดงเท่านั้น ทำลายให้เหลือแต่พลเมืองเท่านั้น แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งดิฉันไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่

ประจักษ์:  ท้ายสุดเสื้อแดงต้องต่อสู้กับอิทธิพลานุภาพด้วยไหม เพราะตอนนี้ผูกโยงกันอยู่

 

000

“เพราะการแสวงหาความดีและเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี ทำให้คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องระบบ และไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านเสื้อแดงจึงชอบทักษิณ ชอบนักชอบหนากับวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ขณะที่พวกเขาเห็นว่ามีแต่คนดีและคนเลว ดิฉันคิดว่านี่เป็นกำแพงที่แข็งแกร่งในการปิดกั้นการทำความเข้าใจคนเสื้อแดง เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มาจากดาวสองดวง ไม่เข้าใจ สื่อสารกันไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุม พวกเขาจึงสามารถพูดเรื่องการปรองดองได้อย่างสนิทใจโดยไม่สนใจว่ารัฐกำลังทำอะไรกับคนเสื้อแดง”

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์

ก่อนหน้านี้อาจารย์พฤกษ์ เถาถวิลตั้งคำถามว่าทำไมสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอถึงได้เงียบเฉยต่อความตายของคนเสื้อแดงขนาดนี้ ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงดีอกดีใจนักหนา ก่อนหน้านี้ไม่เพียงเงียบเฉยแต่ยังออกมาเชียร์ให้ปราบปราม โดยใช้วาทกรรมโง่ จนเจ็บ มาใช้เป็นฐานในการอธิบายว่าคนเสื้อแดงไม่เสียอะไรมากนักที่ถูกปราบ แต่วันนี้อยากจะอธิบายมวลชน ที่เลี้ยวขวาเหล่านี้ ในแง่ความคิดทางสังคม อุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของคนเหล่านี้ เรามีความจำเป็นต้องเข้าใจขบวนการมวลชนเลี้ยวขวาเหล่านี้ ว่าทำไมจึงมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น ใช้อำนาจของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง ปิดกั้นสื่อ คุกคาม ฟ้องจนล้มละลาย ในกรณีของสังคมไทย สิ่งที่เราเห็น การที่รัฐสามารถทำได้แบบนี้เพราะว่ามีคนจำนวนมากในสังคมที่อนุญาตให้รัฐใช้ไฟเขียว วัฒนธรรมทางการเมืองไทยมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาชน สื่อมวลชนจำนวนมากออกมาสนับสนุนการรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ไม่เดือดร้อนกับการที่มีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และปราบปรามจับกุมคนจำนวนมาก ปิดกั้นสื่อมวลชนอีกต่างหาก สื่อที่มวลชนเลี้ยวขวาไม่ต้องการให้อยู่ปิดกั้นไปเลย

ดิฉันอยากให้กลับไปพิจารณามวลชนเยอรมันในยุคนาซีเยอรมัน บางทีอาจจะทำให้เราเห็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเราหันไปดูสังคมอื่นที่มีลักษณะสุดโต่ง ไม่ต่างกัน และอย่างน้อยในยุคนาซีเยอรมัน โลกยอมรับแล้วว่าเป็นความเลวร้าย มีความอำมหิตเจือปนอย่างไร

เรามักเข้าใจว่า มีแต่ชาวยิวที่เป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ประมาณ 5.9 ล้านคนถูกฆ่าตายเป็นคนยิว นอกจากนั้นยังมี เชลยศึกชาวรัสเซียประมาณ 2-3 ล้านคน ยังมีชาวโปล ประมาณ 1.8-2 ล้านคน ชาวยิปซี ถูกสังหารทิ้งประมาณเกือบสองแสน  รวมถึงคนพิการ รักร่วมเพศ เกย์ เลสเบี้ยน ผู้นับถือพระยะโฮวา

พวกฮิตเลอร์มองคนที่พิการทางสมองว่าเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่า โดยมียิวเป็นพวกต่ำสุด คนเหล่านี้เป็นภาระทางสังคมฉุดรั้งให้เยอรมันไม่สามารถก้าวไปได้อย่างรวดเร็วก็ต้องถูกจำกัดออกไป คำอธิบายคือฮิตเลอร์เป็นผู้นำที่มีบารมีสูง ดึงดูดมวลชนด้วยการไฮด์ปาร์ก

นักทฤษฎีคนหนึ่งอธิบายว่า ต้องเข้าใจลักษณะของมวลชนขณะนั้นได้ด้วยว่า ทำไมคนเหล่านั้นรับรู้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จำนวนมากนิ่งเฉย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และจำนวนมากสนับสนุน เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เกิดขึ้นในเมือง ต่อหน้าต่อตา เช่น การคนอพยพไปอยู่ในเกตโต หรือค่ายกักกัน เพื่อรอการสังหารต่อไป ก่อนหน้าที่จะถูกอพยพถูกสั่งให้ติดสัญลักษณ์ ห้ามแต่งงานกับคนเยอรมัน มีการคัดเลือกว่าบ้านไหนเป็นยิวบ้านไหนไม่ใช่ยิว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่คนเยอรมันรับรู้ตลอด ที่สำคัญ ผู้ที่สนับสนุนให้ระบบนาซีเยอรมันอยู่ได้ 12 ปี ไม่ใช่มีแค่คนเยอรมันชาวบ้านตาสีตาสา แต่ยังมีวิศวกร ศิลปิน ศาสตราจารย์ จิตแพทย์ คนเหล่านี้ทำให้นาซีบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เช่น จิตแพทย์เป็นคนชี้ว่าคนนี้มีความผิดปกติทางสมองหรือไม่ วิศวกรช่วยกันคิดเทคโนโลยีต่างๆวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เอาคนยิวมาทำการทดลองอย่างเสรี ทำอะไรก็ได้กับมนุษย์ แน่นอนว่ามีคนเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น คัดค้านและถูกลงโทษ ถูกปราบปราม แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของคนเยอรมัน

ความสำเร็จของระบอบนาซีไม่ได้เป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่ว่า ฮิตเลอร์ประกาศแบบหนึ่งแล้วทำแบบหนึ่ง แต่ฮิตเลอร์พูดอย่างชัดเจนว่าจะต้องทำอะไร เช่น โปสเตอร์ที่บอกว่าต้องทำอย่างไรกับคนที่ไม่มีคุณค่า สำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาพูดชัดเจนเรื่อง 70:30 คนของเขาก็ไม่พูดอะไร และคนเหล่านี้ก็พูดชัดเจนว่าไม่เอามาตรฐานทางประชาธิปไตยที่สังคมยอมรับมาตลอดว่าใช้ไม่ได้ ถ้าจะนำสังคมไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ สิทธิทางการเมืองมีแต่จะขัดขวางการเดินหน้าไปสู่สิ่งที่เราอยากจะไป มีรัฐประหารมาขัดเวลาไว้ก่อน ฮิตเลอร์ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่สุดก็มาทำลายการเลือกตั้ง ก็ลองคิดดูว่ารัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าหรือถอยหลัง

การกระทำเหล่านี้ ไม่ทำให้มวลชนตกใจ แต่ยอมรับได้ โอบกอดเอาไว้ บอกว่า โอเคยอมรับว่ามันเลวร้าย แต่ก็จำเป็น ก็จัดการไปตามที่จำเป็น ถ้าเรามองมวลชนฝ่ายขวาเหล่านี้ ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน เพราะคนเหล่านี้มักจะได้ประโยชน์จากรัฐบาล รัฐบาลต้องคำนึงถึงคนเหล่านี้เป็นหลักอยู่แล้ว คนกรุงเทพฯไม่ต้องไปเรียกร้องลำบากลำบน รัฐบาลก็ต้องหาวิธีเอารถไฟฟ้าไปลงหน้าบ้านคุณให้ได้

มวลชนเลี้ยวขวาเหล่านี้มักมองไม่เห็นความแตกต่างทางชนชั้น ไม่เชื่อว่ามีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นอยู่ โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสองมาตรฐาน เพราะคนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว สำหรับคนเหล่านี้ รัฐเป็นกลาง รัฐทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นในแง่นี้มวลชนเลี้ยวขวาเหล่านี้อธิบายทุกอย่างว่าเป็นความสำเร็จส่วนบุคคล ฉันประสบความสำเร็จได้เพราะฉันเป็นคนดี ขยันหมั่นเพียร ฉลาด ฉันดีของฉันเอง คนจนที่จนดักดานอยู่อย่างนั้นเพราะตัวมันเองไม่รักดี ไม่ขยัน ขี้เกียจ โง่ ซึ่งในหมู่คนเลี้ยวขวาเหล่านี้จริงๆ ก็มีคนจน และก็รับเอาคำอธิบายเหล่านี้มาด้วย เช่น ฉันไม่เก่ง ไม่ฉลาด

โดยปกติมวลชนเลี้ยวขวา มักจะเฉยชา ไม่สนใจการเมือง บ่อยครั้งไม่ไปเลือกตั้ง งานวิจัยของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรมัย บอกว่าคนเมืองต่างหากที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ไม่สนใจ ไม่แคร์ จึงไม่แยแสต่อการเรียกร้องต่อผู้ที่ด้อยอภิสิทธิ์ทางสังคม ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับชนชั้น และอธิบายว่าที่ไม่ทำเพราะเป็นกลาง เอาเข้าจริงแล้วคนพวกนี้ไปไหนก็ไม่มีใครเอา เพราะโง่เกินไป มองทุกอย่างเป็นเรื่องดี-เลว

ข้อความที่คนเหล่านี้ส่งออกมามักเต็มไปด้วยความเกลียดชัง มองว่านักการเมืองน่ารังเกียจ เลวร้าย มวลชนสมัยฮิตเลอร์ก็ไร้เดียงสาทางการเมือง สมองเหมือนเด็กแรกเกิด ง่ายที่ผู้นำจะดึงคนเหล่านี้เข้ามาเป็นพวก รื้อถอนความคิดแล้วยัดความคิดลงไป เช่น สามัคคี ปรองดอง สันติ ไม่รุนแรง รักกันไว้เถิด โดยไม่ตั้งคำถามว่ามันคืออะไร ปัญหาคือเมื่อคนเหล่านี้ที่ไม่เคยสนใจการเมือง อยู่ๆ ก็มาตื่นตัวทางการเมือง พวกนี้แม้จะมีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นแต่ไม่รู้สึกเป็นมิตรกับสังคมการเมืองเลย ช่างเสียเวลาเหลือเกินในการต้องมาให้ความสนใจทางการเมือง รู้สึกว่าเสียสละเวลามากที่ต้องมาเคลื่อนไหวต่อต้านคนเสื้อแดง

แต่ความสนใจกระตือรือร้นจะเกิดเมื่อสังคมวิกฤต แต่ความที่คนเหล่านี้มองไม่เห็นว่าปัญหาทั้งหลายแหล่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างเป็นความดีเลวส่วนบุคคล ไม่เห็นโครงสร้าง พวกนี้ต้องการวิธีรวดเร็ว ต้องการอัศวินม้าขาว รัฐประหาร ที่จะมากำจัดนักการเมืองที่เขาไม่ชอบไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาไม่ปฏิเสธความรุนแรง และมองว่าระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ไม่มีความชอบธรรม แปลกปลอม และสิ่งที่เชื่อมโยงคนเหล่านี้ไว้อย่างมากก็คือชาตินิยม ดังนั้นทุกวันนี้เราก็จะเห็นบทบาทของมวลชนที่เลี้ยวขวาเหล่านี้คึกคักมากขึ้น เห็นการออกมากวาดถนน ชะล้างสิ่งสกปรกออกไปจากถนนอันเป็นที่รักของเขา

วิกฤต ทำให้ผู้นำที่แข็งแกร่งเข้ามาเป็นอัศวินม้าขาว การรัฐประหารที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่ทำให้เห็น ไปสู่เป้าหม่ายอย่างรวดเร็ว อะไรก็ได้ โดยเป้าหมายคือสังคมที่ดีงาม แม้จะกำจัดคนไปบ้าง หมอคนหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า เขาคือศัลยแพทย์หน้าที่คือตัดเนื้อร้าย คนเสื้อแดงคือเนื้อร้าย หมอในยุคนาซีก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ปัญหาคือพวกนี้มองสังคมว่าเหมือนองคาพยพ ซึ่งหากเอามาอธิบายสังคมมันมีปัญหามาก ทุกอย่างต้องทำงานสอดคล้องกัน เบื้องต้นถ้ามีปัญหาก็ใช้ยาเบา แต่ถ้าไม่หาย วิธีดีที่สุดคือ ตัดทิ้ง แต่ปัญหาคือสังคมไม่ใช่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องเคารพความแตกต่างหลากหลาย ที่จะต้องทำให้กลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีระบบป้องกันความขัดแย้งให้จัดการได้โดยสันติ ไม่ใช่การตัดทิ้ง เพราะคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าจะขจัดคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ท่าน ว.วชิรมธี ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย เราคนไทยก็คิดว่าเสียงข้างมากนั่นแหละเป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน แต่ในประเทศต้นแบบของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษก็ตาม ฝรั่งเศสก็ตาม หรือแม้แต่อเมริกาก็ตาม ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ของสังคมซึ่งพัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน เราก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยคือระบอบที่เสียงประชาชนคือประชาชนที่รัฐบาลต้องรับฟัง และนั่นเป็นเสียงสวรรค์ด้วย แต่มีข้อยกเว้นว่าต้องเป็นเสียงของคนมีการศึกษา อาตมาเพิ่งกลับมาจากอเมริกา ตอนที่ไปก็ได้ไปดูงานเรื่องการทำประชาพิจารณ์ คนที่จะมาออกเสียงทำประชามติ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาแสดงประชามติ” คนสัมภาษณ์ก็ถามว่า อ้าว ไม่ใช่หนึ่งคนหนึ่งเสียงหรือคะ ท่าทางจะงงเหมือนกันว่า ดิฉันเรียนมาตลอดชีวิตเนี่ย ผิดหมดเลยเหรอ

ดิฉันเข้าใจว่าท่าน ว.วชิรเมธีคงจะนั่งไทม์แมชชีนกลับไปที่อเมริกาที่ ศตวรรษที่ 19 สมัยซึ่งยังมีทาสระบบทาสที่ไม่ใช้ทุกคนจะมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงได้

คุณหมอประเวศพูดเรื่องสมานุภาพ บอกว่าสังคมต้องใช้นสมองส่วนหน้าแก้ปัญหา เพราะสมองส่วนหน้าเกี่ยวกับสติปัญญา ความมีน้ำใจ แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักใช้สมองส่วนหลังคืออารมณ์ ดิฉันฟังแล้วเอ๊ นี่มันทฤษฎีใหม่หรือเปล่าคะ แต่ปัญหาคือนี่คือคำพูดของบรรดานักปราชญ์ของไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของวาทกรรมโง่ จนเจ็บมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือคนชนบทโง่ เป็นที่มาของอามิสสินจ้าง

สำหรับนักปราชญ์เหล่านี้ นักการเมืองเลวคือปัญหาที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย สิ่งที่เรียกร้องคือคนดี และนักปราชญ์เหล่านี้มักเชื่อสนิทใจว่าตัวเองเป็นคนดี ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราถึงพูดเรื่องคนดีได้มากขนาดนี้ บรรดามวลชนก็จะชอบเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีด้วย แต่บรรดานักปราชญ์แห่งสยามมักไม่ตระหนักว่าวาทกรรมคนดีคนชั่วนั่นแหละคือปัญหาสำคัญของการเมืองในปัจจุบัน เพราะการแสวงหาความดีและเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี ทำให้คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องระบบ และไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านเสื้อแดงจึงชอบทักษิณ ชอบนักชอบหนากับวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ขณะที่พวกเขาเห็นว่ามีแต่คนดีและคนเลว ดิฉันคิดว่านี่เป็นกำแพงที่แข็งแกร่งในการปิดกั้นการทำความเข้าใจคนเสื้อแดง เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มาจากดาวสองดวง ไม่เข้าใจ สื่อสารกันไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุม พวกเขาจึงสามารถพูดเรื่องการปรองดองได้อย่างสนิทใจโดยไม่สนใจว่ารัฐกำลังทำอะไรกับคนเสื้อแดง

ประจักษ์: ขบวนการประชาชน ไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตยเท่านั้น อาจจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาก็ได้ อาจจะสนับสนุนรัฐบาล หรือเชียร์ให้รัฐบาลใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดก็ได้ เราอาจจะกำลังเผชิญกับสังคมเผด็จการอยู่ คือรัฐไม่อาจจะใช้อำนาจเผด็จการแบบนี้ได้หรอก ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่เป็นกองเชียร์ที่คอยสนับสนุนให้รัฐใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการปิดกั้นข่มขู่คุกคามคนที่เห็นต่างกับรัฐและตัวเอง เราอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวเหมือนกัน เพราะเราอยู่ในสังคมที่คนจำนวนหนึ่งเชียร์ให้รัฐปราบปรามข่มขู่คุกคามคนที่เห็นต่างกับตัว

นอกจากนี้คือกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะฆ่าก่อนที่จะสร้างความรุนแรงทุกสังคมต้องทำสิ่งหนึ่งคือ การทำให้คนที่เห็นต่างกับเราด้อยค่าความเป็นมนุษย์กว่า ผมคิดว่าน่าตกใจที่กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคม มีความพยายามจาก ศอฉ. หรือมวลชนเฟซบุ๊ก ว่าคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นมนุษย์เท่าเรา บางเรื่องฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะใช้สมองส่วนหลัง ตอนที่พ.อ.สรรเสริญ พูดว่า คนเสื้อแดงปล้นเอาแต่ของกิน หนังสือไม่เอาไป คนเสื้อแดงไม่เอาไป ผมฟังแล้วสมองส่วนหลังพุ่งปรี๊ด แต่เพื่อนผมบอกว่า พ.อ. สรรเสริญไม่รู้อะไร ที่คนเสื้อแดงไม่เอาหนังสือไปเพราะหนังสือในเซเว่นมีแต่หนังสือดารากับหนังสือธรรมะ แต่ถ้ามาศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์อาจจะถูกขโมยหมดเลยก็ได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: นิติรัฐกับความยุติธรรมแบบไทย

Posted: 20 Jun 2010 01:30 PM PDT

นักวิชาการกฎหมายและประวัติศาสตร์ประสานเสียง รัฐไทยละเมิดนิติรัฐ ใช้ความรุนแรงทำลายประชาชนปกป้องอำนาจ ระบุประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้รัฐละเมิดความเป็นมนุษย์ ระบบ ตุลาการไทยเป็นอิสระจากประชาชน ตรวจสอบไม่ได้

<!--break-->

งานเสวนาหัวข้อ “นิติรัฐกับความยุติธรรมแบบไทย” วันที่ 20 มิ.ย. 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาชุด “โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย. 2553 โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาฯ มหิดล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิศักยภาพชุมชน ผู้ที่สนใจบทความวิชาการที่นำมาเสนอในการเสวนา สามารถติดตามได้จาก www.peaceandjusticenetwork.org

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ, จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง, พนัส ทัศนียานนท์ อดีต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และอดีต สว. และ สสร. สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย กริช ภูญียามา จากคณะนิติศาสตร์ มธ.

 

000

“รัฐต้องมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นหิริโอตตัปปะ ในการใช้อำนาจ รัฐต้องสำนึกเสมอว่าความรุนแรงในการใช้อำนาจรัฐทั้งหมดมาจากประชาชน ถ้าเรามองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้อำนาจรัฐต้องมีฐานจากประชาชนเพื่อประชาชน แต่ถ้ารัฐใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องตัวเองและทำลายประชาชน นี่คือการทำลายหลักนิติรัฐ”

 

จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เมืองไทยเราพูดเรื่องนิติรัฐกันเยอะแยะมาก คล้ายกับเป็นวาทกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง ก่อน 19 ก.ย. 49 ก็มีคนมองว่าหมดสภาพนิติรัฐไปแล้ว ก็ควรทำรัฐประหาร พูดถึงนิติทรราชในยุครัฐบาลทักษิณ เช่นเดียวกัน หลัง 19 ก.ย. ไปแล้ว นิติรัฐก็หมดไป เสื้อแดงก็พยายามพูดถึงรัฐไทยใหม่ เพื่อสร้างนิติรัฐขึ้นมา ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันก็พยายามพูดถึงประเด็นการรักษานิติรัฐเอาไว้ จนหลายคนรู้สึกว่า คลั่งนิติรัฐหรือเปล่า เป็นการพูดที่ค่อนข้างคับแคบ เน้นการปฏิบัติตามกฎหมายและเชื่อฟังกฎหมายอย่างไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนั้นมีบางคนทีพูดถึงนิติรัฐ ซึ่งเป็นนิติรัฐแบบอำมาตยาธิปไตยคือนิติรัฐแบบราชาชาตินิยม ผู้นำพันธมิตรท่านหนึ่ง ก็พูดถึงเสื้อแดงว่าไม่ยอมไปติดคุก ขณะที่ท่านบอกว่าพร้อมจะติดคุกเพราะทำตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธย การรักษานิติรัฐก็เป็นการติดคุกเพื่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระปรมาภิไธยศักดิ์สิทธิ์ เป็นอุดมการณ์ราชาชาตินิยมซึ่งอยู่เบื้องหลังแนวคิดการเคลื่อนไหวของพันธมติร หลายฝ่ายพูดถึงนิติรัฐในฐานะที่เป็นวาทกรรมศักดิ์ สิทธิ์ สูงส่ง

แต่ประเด็นนิติรัฐและนิติธรรม หลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ แต่ผมมองว่าเชื่อมโยงกัน มันเป็นอุดมการณ์ทางกฎหมายของโลกประชาธิปไตย และมีคนที่ทั้งเชื่อถือและไม่เชื่อถืออยู่ ที่ไม่เชื่อถือก็มีอยู่เยอะไล่มาตั้งแต่ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย สำหรับฝ่ายขวา พวกที่ต่อต้านเรื่องนิติรัฐ ถือว่าตัวบุคคลหรือกษัตริย์เป็นผู้ทรงคุณธรรมที่สุด นิติรัฐเป็นเรื่องการนำมาแอบอ้าง ฝ่ายซ้ายมีทั้งซ้ายกลางและซ้ายจัด ซึ่งถ้าเรามองนักกฎหมายที่รัยกว่าสัจนิยมทางกฎหมาย พวกนี้ไม่เชื่อเรื่องความยุติธรรม มองว่าคนที่ปกครองจริงๆ ไม่ใช่กฎหมายแต่คือตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้พิพากษา อัยการ การใช้การตีความจะมีความไม่แน่นอน ผันแปรไปตามอคติ ที่สุดแล้วเป็นการปกครองด้วยตัวบุคคลมากกว่าตัวกฎหมาย แต่ถ้าซ้ายแบบมาร์กซิสม์มากๆ ก็มองว่านิติรัฐคล้ายๆ เป็นวาทกรรมอำพร่างเพื่อที่ผู้ปกครองจะใช้อำนาจ แต่เบื้องหลังคือเรื่องการเมือง การใช้อำนาจ ชนชั้น มีการเลือกปฏิบัติ การกดขี่โดยกฎหมาย เการกดขี่ในนามของรัฐเกิดขึ้นได้ ในรัฐทุนนิยม หรือเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเราเองก็อยู่กับการปกครองด้วยกฎเกณฑ์มากกว่าตัวบุคคล แม้ว่าจะสร้างสังคมนิติรัฐที่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นอุดมคติที่สลัดไม่ออก

แล้วในที่สุดแล้วนิติรัฐคืออะไรกันแน่ มันหมายถึงรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายภายใต้ความเป็นใหญ่สูงสุดของกฎหมายที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยด้วย

องค์ประกอบของสิ่งที่เป็นหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม หรือนิติรัฐที่เป็นประชาธิปไตยมี 4 ประการ

1 หลักคุณค่าพื้นฐานของสังคมแห่งนิติรัฐ

2 สถาบัน การยึดมั่นในสถาบันที่สำคัญ โดยเฉพาะศาล

3 กระบวนการใช้อำนาจ

4 ประชาชน

ประการแรก หลักคุณค่าพื้นฐาน ต้องยึดมั่นในคุณค่าพื้นฐานเรื่องความเท่าเทียมเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคุณค่าพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตย สิทธิในการมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน สังคมที่มีนิติรัฐแท้จริงต้องยึดมั่นในหลักคุณค่าพื้นฐานนี่ นิติรัฐจึงไม่ใช่การใช้กฎหมายอย่างเอาเป็นเอาตายบ้าเลือดโดยไม่ตระหนักถึงคุณค่าพื้นฐานนี้

ประการที่ 2 สถาบัน ศาล ตุลาการ ต้องเป็นอิสระเป็นกลาง สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างแท่จริง ไม่ใช้ตุลาการภิวัฒน์

ประการที่ 3 กระบวนการ ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นธรรม สังคมที่มีกฎหมายแต่กระบวนการไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม จับ คุมขัง โดยไม่ชอบมีการใช้ความรุนแรง โยกโย้ ดึงเรื่อง ถ่วงเวลา ปีกว่าแล้วก็ยังสอบสวนไม่เสร็จ ฟ้องร้องไม่ได้ อ้างว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าไม่ยุติธรรม

ประการที่ 4 ประชาชน ในตำราทั่วๆ ไปมักไม่พูดถึงประชาชน แต่ผมคิดว่าองค์ประกอบเรื่องประชาชนเป็นส่วนประกอบสำคัญของนิติรัฐ ต้องมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีสำนึกในคุณค่าเกี่ยวกับสิทธิ ความเป็นมนุษย์ เคารพต่อกฎหมายต่างๆ ในสังคมที่มีนิติรัฐ ต้องมีภาคประชาชน หรือประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้อย่างกว้างขวาง เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำ เพราะสังคมที่มีภาคประชาชนที่อ่อนแอย่อมเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับรัฐ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มีกรณีสงครามปราบปรามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อน จริงๆ แล้วมีอะไรที่เหนือกว่าทักษิณด้วย และที่ประเด็นคือ ประชาชนที่เกี่ยวข้องไฟเขียวให้ สำรวจทุกครั้งคนก็เห็นด้วย ฉะนั้นปัญหาที่ประชาชนไม่มีสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวผลักดันให้รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ กรณี 10 เม.ย. และ 19 พ.ค. ก็เช่นเกี่ยวกันที่ประชาชนไฟเขียวให้รัฐบาลปราบปรามประชาชน

รัฐต้องมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นหิริโอตตัปปะ ในการใช้อำนาจ รัฐต้องสำนึกเสมอว่าความรุนแรงในการใช้อำนาจรัฐทั้งหมดมาจากประชาชน ถ้าเรามองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้อำนาจรัฐต้องมีฐานจากประชาชนเพื่อประชาชน แต่ถ้ารัฐใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องตัวเองและทำลายประชาชน นี่คือการทำลายหลักนิติรัฐ

สำหรับเมืองไทย ปัญหาการดำรงอยู่ของนิติรัฐหรืออนิติรัฐ เกี่ยวพันกับปัญหาเชิงซ้อนสองประการ หนึ่งคือการครอบงำของโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทั่วไปของอุปสรรคในการสร้างนิติรัฐ เรื่องการครอบงำของทุน

สองคือ การครอบงำของสิ่งที่เรียกกันว่าอำมาตยาธิปไตย ราชาชาตินิยม เน้นเรื่องระบบอุปถัมภ์ ที่ต่ำที่สูง การไม่เคร่งครัดเรื่องการเลือกตั้ง การรัฐประหาร

เราถูกซ้อนทับด้วยระบบทุนนิยมตัวหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันเราถูกซ้อนด้วยอำมาตยาธิปไตย

ปัญหานี้ปัจจุบันสะท้อนออกมาชัดเจนในยุคที่อภิสิทธิ์เป็นใหญ่มักมีการพูดถึงเรื่องการอ้างนิติรัฐมาเป็นเหตุผลในการใช้อำนาจต่างๆ แต่นิติรัฐแบบอภิสิทธิ์เป็นการเน้นเรื่องการใช้อำนาจอย่างเอาเป็นเอาตาย กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย การพูดแบบนี้ยุคสมัยของฮิตเลอร์นาซีก็พูดแบบเดียวกันโดยใช้กับยิว ขณะที่อภิสิทธิ์ใช้กับเสื้อแดง นี่เป็นปัญหาในการปฏิบัติที่เกิดขึ้น จึงมีลักษณะเป็นนิติรัฐแบบสองมาตรฐาน คือใช้กับคนกลุ่มหนึ่งแต่กับอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะยักคิ้วหลิ่วตา

การที่อภิสิทธิ์พูดถึงนิติรัฐบ่อยๆ ผมคิดว่าไม่ใช่ มันเป็นอภิสิทธิรัฐมากกว่า คือเป็นรัฐแบบอภิสิทธิ์ มันสะท้อนความล้มเหลวแห่งหลักการทั้งหมด 4 ข้อที่ผมกล่าวมา

ประการที่ 1 อภิสิทธิ์รัฐไม่เคยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เคยสนใจ สอง เรื่องศาล การใช้อำนาจตุลาการในเชิงการแทรกแซงการเมือบงต่างๆ ไม่ยึดหลักการ ตัดความอย่างไม่เป็นอิสระ เป็นการใช้อำนาจตุลาการตอบสนองราชาชาตินิยม

สังคมที่มีระบบตุลาการแบบราชาชาตินิยมยากที่จะสถาปนา หรืออ้างความเป็นนิติรัฐ และความไม่เป็นอิสระของตุลาการ ไม่ใช่ประเด็นที่เพิ่งเกิดในยุคทักษิณ แต่ความจริงแล้วเราอาจจะสาวย้อนกลับไปที่ยุคของกำเนิดอำมาตยาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งมีการรองรับคณะปฏิวัติมาตลอด ฎีกาเหล่านี้ถือมาตลอดและเป็นคำพิพากษาฎีกาซึ่งเดิมมันสะท้อนแนวคิดแบบ ปฏิฐานนิยม แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ เบื้องหลังมันสะท้อนแนวคิดทางการเมือง มีสิ่งทีเป็นแนวคิดของอำมาตยาธิปไตยเบื้องหลัง ทำให้ตุลาการกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองและทำให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยเติบโตเรื่อยมาตั้งแต่ 2490

ปีที่แล้วเราก็มีคดีตากใบ ที่ศาลสงขลา ที่ไปไต่สวนการตายพบว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ หลายคดี ศาลตัดสินในลักษณะที่ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นธรรม แฝงอยู่

ประการที่ 3 มีปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน ทั้งเรื่องการจับ การค้น

ประการที่ 4 ประชาชนแตกแยกร้าวลึก ความเกลียดชังพัฒนาสูงขึ้น สังคมที่จะมีความคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลึกๆ แล้วต้องมีความรู้สึกเมตตา มีความเข้าใจใจเขาใจเรา แต่ในภาวะเหลืองแดง ภาคประชาชนที่จะมีสำนึกสิทธิมนุษยชนไม่เกิด ทำให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเสื้อแดง อีกส่วนหนึ่งเป็นเสื้อเหลือง และเสื้อเหลืองกลายเป็นรัฐไปในตัว เพราะถูกครอบงำโดยรัฐ และกลายมาส่งเสริมการปราบปรามประชาชนด้วยกัน ฉะนั้นสังคมที่มีความอ่อนแอ มีความแตกแยกทางความคิด ยากที่จะเป็นนิติรัฐได้อย่างแท้จริง

ในรัฐที่เป็นอภิสิทธิ์ แฝงไว้ด้วยอำนาจของทหาร แฝงอยู่ในรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลายๆ มาตรา และแม้แต่การใช้อำนาจทหารออกมาจัดการกับม็อบ ในสมัยรัฐบาลสมชายนั้น ไม่มีทหารออกมา แต่ครั้งนี้ทหารออกมาจัดการ

ประเด็นที่ผมอยากจะเสริมคือเรื่องการต่อต้านรัฐ ในนิติรัฐ และการก่อการร้าย และสาม ความรับผิดของทหารที่เกิดขึ้น

ประการแรก การต่อต้านรัฐในนิติรัฐ สังคมไทยอาจจะมองว่าไม่ปกติ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิทางศีลธรรม และเรื่องของการต่อต้านรัฐ มีการต่อต้านได้สามรูปแบบ สังคมไทยควรเรียนรู้ให้มากขึ้น ประการแรก ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ การเดินขบวน สอง คือการดื้อแพ่ง หรือที่เรียกว่าอารยะขัดขืน ต่อต้านโดยสันติวิธี อหิงสา และสามคือขบถกับรัฐ หรือการใช้อำนาจในการปฏิวัติรัฐบาลทรราช และสิทธิในการต่อต้านการรัฐประหารต่างๆ เป็นสิทธิที่เกิดเมื่อรัฐนั้นได้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง เราอาจจะสงสัยว่าสิทธิมีอยู่จริงหรือ แต่จริงๆ แล้วมี แม้จะทะแม่งๆ ว่ากฎหมายอนุญาตให้ต่อต้านตัวเองหรือ สิทธิในการถืออาวุธนั้นรวมไปถึงการต่อต้านรัฐบาลที่ฉ้อฉล ฉะนั้นถ้าเราดูประเด็นสิทธิในการถือครองอาวุธปืนของสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเราดูรากเหง้า เป็นสิทธิในการส่งเสริมการต่อต้านรัฐ เช่นเดียวกันในการประกาศสิทธิของฝรั่งเศส ก็ให้สิทธิต่อต้านการกดขี่

เราถอดแบบหลักของเยอรมันว่าไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 เรื่องการต่อต้านรัฐประหาร เป็นสิทธิที่สนับสนุนเรื่องการต่อสู้ของประชาชนเต็มที่ ในกรณีของไทย มาตรา 65 ผมไม่รู้ว่าเราดัดจริตเกินไปหรือเปล่าที่ว่าต้องต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งโอเคก็ดี ในหลักทางศีลธรรม และสังคมไทยก็มักจะพูดว่ารักสันติ แต่เอาเข้าจริงแล้ว สันติวิธีของไทยสองมาตรฐาน เพราะจริงๆ แล้วชนชั้นนำเราไม่สันติวิธีมาตลอด การปราบดาภิเษก การโค่นล้ม รุนแรงนองเลือดมาตลอด แต่พอชนชั้นล่างจะเคลื่อนไหวต้องสันติวิธี คือชนชั้นนำข้างบนรุนแรงได้ แต่ประชาชนต้องสันติวิธี ต่อต้านรถถังต้องสันติวิธี ผมคิดว่านี่คือความวิปริตอย่างหนึ่ง

ผมคิดว่าการใช้กำลังในการต่อต้านเผด็จการเป็นสิทธิทางศีลธรรมมากกว่าสิทธิทางกฎหมาย การใช้สิทธินี้ผู้ใช้สิทธิต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมอย่างมาก ต้องคำนึงถึงน้ำหนักของผลลัพธ์และความตายของคนที่เข้าไปร่วมต่อสู้

ประเด็นที่สอง การก่อการร้าย โดยเฉพาะเรื่องคนชุดดำ ที่คุณสุเทพพูดตั้งแต่ 12 เม.ย. เป็นต้นมา พฤติกรรมของคนชุดดำ ที่ตีความว่าเป็นการตอสู้เจ้าพนักงาน เราสามารถตีความได้ว่าเป็นการป้องกันตัวเองหรือป้องกันประชาชน แต่ไม่ใช่การก่อการร้าย เพราะเป็นการปะทะกันของสองกองกำลัง ก่อการร้ายเป็นการสร้างภาพปีศาจให้คนเสื้อแดง ที่ผมบอกว่ามันไม่ก่อการร้าย เพราะผมอยากให้มองเชิงคอนเซปท์ ที่มุ่งก่อความรุนแรงเพื่อความสยดสยอง นี่เป็นการปะทะกันระหว่างกองกำลัง ไม่ได้ทำต่อผู้บริสุทธิ์

ผมคิดว่ากรณีภาคใต้รัฐไทยกลัว และต้องการสมานฉันท์ แต่กรณีเสื้อแดง รัฐบาลเกลียด เพราะคิดอะไรไปไกล รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องล้มเจ้า กรณีการก่อการร้ายว่าตามข้อกฎหมายมันไม่เข้า ถ้าเราดูมาตรา 135 วรรค 1 กำหนดไว้ในวรรคสอง ขู่เข็ญรัฐบาล และมุ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน ถ้าเอาสองประเด็นนี้ในจุดมุ่งหมาย มันไม่ได้เป็นการขู่เข็ญบังคับ ไม่ได้เป็นการสร้างความหวาดกลัว

ประเด็นสุดท้าย การเลือกปฏิบัติ ความรับผิดชอบของทหาร มาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เป็นบทยกเว้นความรับผิด เป็นไปตามเงื่อนไขสองประการ คือ ต้องเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ สอง ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่เกินความจำเป็น ถ้าขาดไปข้อใดข้อหนึ่ง ผู้ใช้อำนาจมีความผิดทันที สิ่งที่เห็นชัดๆ คือเป็นการเลือกปฏิบัติ นายทหารคนไหนที่พูดเรื่องการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หรือไม่ก็ลาออกไป ไม่เคยส่งทหารออกมาเลย ไม่ขยับเลย คนๆ เดียวกันปฏิบัติสองอย่าง เลือกปฏิบัติใช่ไหม มีความผิดไหม

 

000

“การกำหนดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ถ้าหากกฎหมายยังเป็นอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ และได้อำนาจมาอย่างใดก็ไม่สงสัยทั้งสิ้น ฉะนั้นโดยหลักนิติศาสตร์ไทยก็ล้มล้างหลักนิติรัฐอยู่ในตัวอยู่แล้ว แม้จะนำหลักมาไว้ในรัฐธรรมนูญมันก็ว่างเปล่า”

 

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตวุฒิสมาชิก

รัฐไทยขณะนี่ไม่ใช่นิติรัฐที่แท้จริงตามหลักการของอาจารย์จรัญ แล้วเกิดคำถาว่า เมื่อไม่ใช่นิติรัฐอย่างแท้จริงแล้วไปกระชับวงล้อมแล้วมีคนตายแปดสิบกว่าคน เจ็บกว่าพันคน แล้วจะหาใครมารับผิดชอบ เมื่อเราบอกว่าขณะนี้รัฐไทยไม่ใช่นิติรัฐ การปฏิบัติของรัฐบาลก็ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามนิติรัฐ เมื่อฟังดูจากที่ท่านอาจารย์จรัญพูดมันเป็นสองมาตรฐาน คำตอบเบื้องต้นก็บอกว่ามันไม่ใช่นิติรัฐ ขณะเดียวกันมันเป็นนิติรัฐแบบไทยๆ บอกว่าทำตามกฎหมาย คือพรบ. ฉุกเฉิน ผมคิดว่าสิ่งทีเป็นปมเงื่อน ที่ทำให้คนไทยต้องปวดหัวกันมาตลอด เพราะว่า หลักนิติศาสตร์ไทยติดกับตัวเอง คือวางกับไว้สำหรับสุดท้ายก็คือดักตัวเองสำหรับนักนิติศาสตร์ทั้งหลาย

เมื่อถามว่าเรื่องนั้นสุดท้ายจะจบอย่างไร แล้วใครจะรับผิดชอบด้วยวิธีการอย่างไร โดยอาศัยหลักกฎหมายและหลักนิติศาสตร์ ผมเชื่อว่าขณะนี้รัฐบาลเองก็บอกว่าทำตามกฎหมายทุกอย่าง “Law is Law” และตัวกฎหมายที่สำคัญเขาบอกว่าเขาประกาศหรืออาศัยอำนาจตามพรก. ประเด็นสำคัญคือ พรก. มันขัดกับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม

ผมคิดว่าขณะนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรา ทันสมัยกว่า 2540 เพราะมีมาตรา 3 อยู่ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ฉะนั้นหากอาศัยบรรทัดฐานอย่างที่อาจารย์จรัญว่ารัฐนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม เพราะหลักการข้อ 1 รัฐบาลไม่ยอมรับทราบ ไม่ยอมรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ และจริงๆ แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ สิทธิที่สำคัญที่สุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือสิทธิในชีวิต แต่ปรากฏว่าประกาศ พรก. ฉุกเฉิน สถานการณ์ที่ว่ามันเป็นสถานการณ์การยกเว้น หรืออย่างที่คุณอภิสิทธิ์เองอภิปรายไว้ในสภาเมื่อ 2548 คุณอภิสิทธิ์บอกว่าถ้าผ่านกฎหมายฉบับนี้ไป ก็เท่ากับเป็นการระงับใช้รัฐธรรมนูญนั่นเอง เท่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จะถูกลิดรอนหรือขจัดหมดสิ้นไปด้วยซ้ำ นี่เป็นสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์แสดงความห่วงใยไว้ และ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ อภิปรายไว้อย่างรุนแรงว่า พรก. จะเป็นการทำลายประบอบประชาธิปไตยไทย เทียบเคียงได้กับกรณีที่ฮิตเลอร์ออกกฎหมายรับรองไว้ เท่ากับเป็นการอ้างหลักความถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นี่คือสิ่งที่มีการพูดจากันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทัศนะของตัวท่านนายกอภิสิทธิ์เอง

ปมเงื่อนที่ทำให้นักนิติศาสตร์ไทยติดกับตัวเอง ผมคิดว่ามองย้อนกลับไปเลยไปไกลกว่าอาจารย์จรัญ ผมคิดว่าอำนาจตุลาการไทยที่ทำให้รัฐไทยไม่เป็นนิติรัฐ ผมมองว่าอำนาจตุลาการไม่เคยเป็นของประชาชนเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2575 จนถึงปัจจุบัน อำนาจตุลาการไม่เคยเป็นของประชาชนคนไทย แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยก็ตาม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลวงหรือเขียนรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ ตอนที่ผมไปร่าง รธน. 2540 ว่าอำนาจตุลการจะมีจุดยึดโยงอะไรกับประชาชนบ้างหรือเปล่า อย่างของอังกฤษขามีระบบลูกขุน แต่ของไทย อำนาจตุลาการเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากประชาชน เพราะว่าเป็นองค์กรของราชาชาติธิปไตย การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัว เดี๋ยวนี้เรามีศาลงอกออกมาจากเดิมที่มีแค่ศาลยุติธรรม มีศาลปกครอง มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าสนใจมากที่สุดที่มาโยงเข้ากับนิติรัฐ

ศาลทั้งหลายส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกกันเอง ถ้าเป็นผู้พิพากษาต้องเรียนกฎหมายให้จบ สอบเนติฯ แล้วก็ไปเป็นผู้พิพากษา ระบบนี้เป็นการประกันว่าไม่ให้ใครเข้าไปแทรกแซง ระบบบริหารงานของตุลาการไทย ก็มีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ คนอื่นเข้าไปยุ่งไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้จาก รธน. 2540 ต้องมีตัวแทนจากวุฒิสภาเข้าไป 2 คน ฉะนั้นอาจจะพอพูดได้ว่ามีจุดยึดโยงกับอำนาจประชาชนอยู่บ้างเหมือนกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางวุฒิสภา

ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของศาล ศาลไทยเรานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักนิติศาสตร์เป็นหลักซึ่งวางรากอย่างมั่นคงมาจนปัจจุบัน เป็นหลักคิดทางกฎหมาย สำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือ Positivism คือกฎหมายคือรัฏฐาธิปัตย์ ผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ใครก็แล้วแต่หากสามารถเข้ามาปกครองบ้านเมืองได้ ไม่ว่าจะโยวิธีใด แม้แต่การทำรัฐประหารยึดครองอำนาจ ถ้าทำได้สำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การกำหนดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ถ้าหากกฎหมายยังเป็นอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ และได้อำนาจมาอย่างใดก็ไม่สงสัยทั้งสิ้น ฉะนั้นโดยหลักนิติศาสตร์ไทยก็ล้มล้างหลักนิติรัฐอยู่ในตัวอยู่แล้ว แม้จะนำหลักมาไว้ในรัฐธรรมนูญมันก็ว่างเปล่า

และเมื่อคนบาดเจ็บล้มตายอยู่ขณะนี้ จะหาตัวคนเป็นฆาตกรมาลงโทษได้หรือเปล่า จะนำเข้ามาสู่ความยุติธรรมจะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเรายึดหลักนิติศาสตร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกือบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะ เราต้องมีอำนาจตุลาการหรือศาลที่เที่ยงธรรมและมีความเป็นอิสระ แต่กระบวนการยุติรรมแบบไทยๆ ก็เป็นอิสระอย่างที่กล่าวไป คือเป็นอิสระจากประชาชนโดยสิ้นเชิง และเมื่อท่านเป็นตุลาการภิวัฒน์ เป็นอำมาตย์ และจริงๆ แล้วท่านเป็นมหาอำมาตย์เลยทั้งสิ้น ฉะนั้นการที่ท่านจะมาบอกว่าฝ่ายบริหารทำตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้เลยอย่างสิ้นเชิง

สมมติว่ามีการนำคดีขึ้นไปสู่ศาลได้ ซึ่งเท่าที่ผมดู พรก. ฉุกเฉิน มันยังมีมาตรา 17 สมควรแก่เหตุและทำตามกรณีจำเป็น และเขาคุ้มครองว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐในการปฏิบัติตามพรก. ฉุกเฉิน อาจจะไม่สามารถไปฟ้องปกครอง แต่ในทางแพ่งและทางอาญายังเปิดช่อง ฉะนั้นหากมีการนำคดีไปฟ้องต่อศาล ทางแพ่งไปฟ้องมาแล้ว และปรากฏว่าเจ๊งมาเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเสื้อแดงก็พยายามไปฟ้องหลายอย่าง ท้ายสุดรู้สึกจะเป็นการขอความคุ้มครองไม่ให้รัฐบาลสลายการชุมนุม ศาลก็บอกว่าทำได้ ก็เหลือต้องไปที่ศาลอาญา และต้องดูพยานหลักฐานว่าใครก่อให้เกิดการสลายการขอพื้นที่คืน การกระชับวงล้อม คุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ ไก่อูอะไรทั้งหลาย แต่ว่า ศาลส่วนอาญาจะรับฟ้องหรือเปล่า เพราะศาลแพ่งบอกว่าเป็นดุลพินิจในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เท่ากับศาลบอกว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล

ท่านฟังแล้วอาจจะบอกว่าหมดท่า หมดประตูแล้ว สิ้นหวังแน่นอนแล้ว ผมว่ามันก็ริบหรี่เต็มทีแล้วละครับ เพราะถ้าศาลยังรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ ผมคิดว่าศาลไทยคงจะสิ้นหวังเป็นแน่

สิ่งที่ผมจะบอกว่าสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันดู ถ้าหากมีช่องทางบ้าง อย่างน้อยคนที่เป็นฆาตกรก็ไม่สมควรจะลอยนวล ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรนิติรัฐ หรือนิติธรรม ก็ตาม ผมเองเป็นนักกฎหมายสำรักธรรมศาสตร์เราก็ถูกอบรมสั่งสอนมาว่า อะไรทีเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารแล้ว ศาลก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่พอจะตรวจสอบอะไรที่เกี่ยวกับเสื้อแดงสามารถเข้าไปใช้ดุลพินิจได้ทุกเรื่อง กฎหมายมันคลุมเครือก็พยายามตีความกฎหมายในลักษณะเติมความ เช่น กรณีเขาพระวิหาร ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นการเติมความ เป็นผลจากการที่เขียนกฎหมายอย่างคลุมเครือ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้าง

ถ้าศาลเป็นพวกรัฐบาล ท่านก็ไม่ควรพิจารณา ต้องคัดค้านผู้พิพากษาเหล่านี้ทั้งหมดโดยอ้างหลักนิติธรรม กฎหมายไม่ได้บอกว่าอะไรที่ให้เป็นอำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารแล้วศาลจะเข้ามาไมได้เลย

พฤติการณ์หลายแหล่ ที่ยิงคนเป็นว่าเล่น โดยไม่ปรากฏว่าคนที่ถูกยิงตายเหล่านั้นมีอาวุธในการต่อสู้ชัดเจน ข้อเท็จจริงมันฟังได้แน่นอนว่าเกินกว่าเหตุ แต่จะมีช่องทางอย่างไรในการนำเรื่องขึ้นไปสู้การพิจารณา ต้องเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เท่าที่ทราบองค์กรนิรโทษกรรมสากลมีข้อชี้แนะที่ผมเห็นว่าสำคัญอย่างยิ่ง คือเขาชี้แนะว่ามาตรา 17 ตามที่กำหนดไว้ตาม พรก. ฉุกเฉินน่าจะขัดกับหลักนิติรัฐ เพราะเป็นการกำหนดนิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้า การที่จะมีคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาก็น่าจะยกประเด็นเหล่านี้ ว่า พรก. ขัดกับ รธน.

เพิ่มเติมประเด็น มาตรา 17 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต้องเพิ่มเจตนาสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินความจำเป็น การเตรียมการของฝ่ายรัฐบาลนั้น ผมเชื่อว่าเรื่องก่อการร้ายเขาเตรียมการตั้งแต่ต้นอยู่แล้วก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ไม่ใช่ฉุกเฉินธรรมดา ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย เขาถือว่ามีการก่อการร้ายเกิดขึ้นแล้ว แต่ข้อต่อสู้นี้จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ และหลังจากมีคลิปคนชุดดำ รัฐบาลเริ่มเรื่องการก่อการร้าย แม้รัฐบาลจะไม่พูดเรื่องคนเสื้อแดง แต่มาถึง 19 พ.ค.สุเทพพูดชัดเจนเลยว่าเป็นขบวนการเดียวกัน แต่ผู้ชุมนุมถูกหลอก ฉะนั้นโดยฐานะทางคดีหรือทางกฎหมาย ทางรัฐบาลเขาเตรียมการไว้อย่างดีเรียบร้อยแล้วครับ ฉะนั้นการใช้อำนาจของเขาตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้นไม่เกินจำเป็น ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องพยายามช่วยกันเอาใจใส่ให้มากๆ คือการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเมื่อเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมการมาแล้ว โดยเฉพาะวันที่ 10 เม.ย. คุณอภิสิทธิ์มั่นใจมากว่าคนชุดดำเริ่มก่อน นั่นคือข้อต่อสู้ของเขาตั้งแต่แรก

ก่อนการสลายการชุมนุมวันที่ 19 ประกาศว่าต้องรักษานิติรัฐไว้ให้ได้ และประกาศวันหยุดราชการ และได้พยานบางคน โดยเฉพาะนายเมธีที่โยงไปสู่กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งก็คือกองกำลังของฝ่ายเสื้อแดงนั้นเอง และโดยเฉพาะศาลไทย เราก็รู้อยู่แล้ว ถ้าไปศาลอาญา เราก็ต้องช่วยกันภาวนาว่าจะมีตุลาการภิวัฒน์ในทางย้อนกลับ ซึ่งขณะนี้มีปรากฏการณ์มาบ้างแล้ว

แต่ที่น่าสนใจมากก็คือการที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล เรียกร้องให้มีการสอบสวนกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ปรากฏชัดแล้วหากได้ความชัดเจนอย่างไรแล้วต้องมีการลงโทษ และไม่ใช่เพียงการลงโทษทางวินัยหรือทางแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น แต่ต้องเป็นการลงโทษทางอาญาให้สมกับโทษานุโทษ ที่กระทำให้คนตายไปเป็นจำนวนมาก

การที่ไทยเข้าไปนั่งในสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติตั้งแต่ 13 พ.ค. นั้น ก็มีความผูกพันตามพันธกรณี ฉะนั้นเวทีที่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง น่าจะเป็นเวทีที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเขามีองค์ประกอบเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ดูเหมือนว่าไทยนั้นไม่เข้าองค์ประกอบ

ยิ่งไปกว่านั้น มีดำริที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือนิรโทษกรรมเสื้อแดงที่ไปชุมนุม แต่โดยประเพณีคือนิรโทษกรรมหมดทุกฝ่าย ฉะนั้นโดยจุดประสงค์คือการนิรโทษกรรมให้ตัวเองและทหาร ซึ่งหากรัฐบาลไทยทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นการทำผิดพันธกรณีในฐานะภาคีองค์การระหว่างประเทศ

 

000

“ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าความอ่อนแอของสังคมเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่ถ้าเราพูดถึงความอ่อนแอของสังคม ชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักคนที่อยู่ร่วมกับสังคม ไม่เห็นหัว เราเห็นมหกรรมช็อปปิ้งครั้งแล้วครั้งแล้ว ถ้าผมชอบช็อปปิ้งผมมึน เป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือนักธุรกิจ ควรเยียวยาหรือเปล่า ควร คนจำนวนมากไมได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่คำถามคือว่า แล้วคนที่ตายล่ะ ผมคิดว่าถ้าสังคมไหนเห็นการช็อปปิ้งมีค่ามากกว่าชีวิต สังคมนั้นน่ากลัวนะครับ มันยากที่จะทำให้เราดำรงอยู่ได้อย่างสันติในอนาคต”

 

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิทยากรทั้งสามท่านเป็นวิทยากรที่ผมเคารพนับถือ อาจารย์พนัส แปลงานกฎหมายธรรมชาติ อาจารย์จรัญ เป็นคนที่สนใจเรื่องปรัชญากฎหมาย อาจารย์ไชยยันต์ ซึ่งสนใจด้านปรัชญากฎหมาย และสอนพิเศษให้กับ ม.เชียงใหม่ ทั้งสามคนจะมีประเด็นที่แตกต่างจากไอ้พวกนักกฎหมายที่พูดกันอยู่ มันน่ารังเกียจยังไงไม่รู้ ปกติผมเป็นคนสุภาพนะครับ ผมขอบ่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็เพิ่งเขียนกันไป ขอโทษเถอะ คุณเพิ่งดวงตาเห็นธรรมอะไรกันเหรอ แล้วไปนั่งกันแบบภาคภูมิใจว่าบัดนี้เราได้ช่วยเหลือประเทศชาติให้ล่มจมลงไปอีกแล้ว ถือเป็นอาชีพที่รายได้ดี ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ ร่างแล้วสังคมจะวิบัติขนาดไหน ไม่ต้องรับผิดชอบเลย เทียบกับนักการเมืองมาแล้วไป แต่เนติบริการนั้นไซร้อยู่ยั้งยืนยง

ผมขอพูดใน 3 ประเด็น

1 เรามองเห็นอะไรเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหรือแวดวงกระบวนการยุติธรรมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

2 ภาวะแบบนี้เกิดได้อย่างไร

3 แล้วสังคมไทยจะไปข้างหน้ากันอย่างไร

ประการที่ 1เรามองเห็นอะไรกันบ้าง เราเห็นลักษณะเด่นๆ สามเรื่องคือ เรื่องแรก การใช้อำนาจรัฐที่พูดถึงการอ้างกฎหมาย คือเมื่อไหร่ที่ใช้อำนาจรัฐก็บอกว่าผมใช้อำนาจตามกฎหมาย ในแง่หนึ่งการใช้อำนาจที่เป็นไปตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือตัวเนื้อหาของกฎหมายไม่เคยถูกพูดถึงว่ากฎหมายที่เอามาใช้โอเคหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ละเมิดต่อพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

กฎหมายรักษาความมั่นคงฯ คุณอภิสิทธิ์ เคยให้ความเห็นคัดค้านอย่างแข็งขัน ว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาในแง่กระบวนการ และตบท้ายว่า เพราะไม่รู้ในอนาคตใครจะมาใช้และอาจจะมาใช้อย่างน่ากลัว เห็นด้วยครับ มึงน่ะแหละ

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ถูกกล่าวหาว่าละเมิดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คนพิการโดน พรก. ฉุกเฉิน ตัวกฎหมายเปิดให้ใช้อำนาจมากขนาดนั้นหรือเปล่า แต่การอ้างอำนาจตามกฎหมายอย่างเดียวเป็นปัญหาแน่ๆ ฮิตเลอร์ก็ไม่ได้ฆ่าใครโดยไม่มีกฎหมาย

เรื่องที่สอง เลือกปฏิบัติ หรือสองมาตรฐาน จับคู่เลย ราชประสงค์กับยึดสนามบิน สมยศ กับหมอตุลย์ จอแดงจอเหลือง ยาบ้ากับตากใบ-กรือเซะ รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีสงครามยาบ้า แต่กรณีตากใบ-กรือเซะควรทำด้วย หรือจีทีสองร้อยก็เช่นกัน เราเห็นการใช้กฎหมายเอียงข้างอย่างชัดเจน

เรื่องที่สาม กระบวนการยุติธรรม ซึ่งซ้ำเติมสองมาตรฐานให้แรงขึ้นไม่ว่าจะในแง่ของแนวโน้ม คุณภาพคำตัดสิน บุคลากรที่เกี่ยวกับคำตัดสิน ก่อนหน้านี้ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเอียงข้างเข้าหาอำนาจรัฐ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่รัฐนั้นต้องเป็นรัฐที่ตอบสนองจุดยืนหรือผลประโยชน์ของตน ฉะนั้น รัฐบาลคุณสมัคร การตีความจึงพิสดารไปแบบหนึ่ง อภิสิทธิ์เป็นอีกแบบ นี่เป็นปัญหาสำคัญนะครับถ้าตัวกระบวนการยุติธรรมเราสามารถทำนายผลคำตัดสินล่วงหน้า จริงๆ ผมอยากจะคาดเดาด้วยซ้ำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดว่าเราเห็นสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล

เราอยู่ภายใต้ภาวการณ์แบบ “มาร์คเคลเวลเลียน” คือ “การดำรงอยู่ของรัฐบาลสำคัญที่สุด อั๊วไม่ยุบสภา อั๊วผสมกับใครก็ได้” แมคคิอาเวลลี กล่าวว่า เราทำชั่วได้แต่ต้องทำให้เหมือนเราเป็นคนดี แต่มาร์คเคลเวลเลียนบอกว่าเราไม่ได้ฆ่าคน เราขอกระชับพื้นที่ ผมกำลังเขียน คู่มือผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประเด็นที่ 2 ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ประการแรก ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าความอ่อนแอของสังคมเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่ถ้าเราพูดถึงความอ่อนแอของสังคม ชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักคนที่อยู่ร่วมกับสังคม ไม่เห็นหัว เราเห็นมหกรรมช็อปปิ้งครั้งแล้วครั้งแล้ว ถ้าผมชอบช็อปปิ้งผมมึน เป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือนักธุรกิจ ควรเยียวยาหรือเปล่า ควร คนจำนวนมากไมได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่คำถามคือว่า แล้วคนที่ตายล่ะ ผมคิดว่าถ้าสังคมไหนเห็นการช็อปปิ้งมีค่ามากกว่าชีวิต สังคมนั้นน่ากลัวนะครับ มันยากที่จะทำให้เราดำรงอยู่ได้อย่างสันติในอนาคต แบบนี้ หลังพ.ค. 2535 มีคนตายจำนวนมาก มีการใช้กระบวนการทางศาลเพื่อเรียกร้องการเยียวยาสิทธิให้ผู้ตาย ซึ่งเสียงชนชั้นกลางดัง ศาลสูงบอกว่าไม่ เมือมีนิรโทษกรรมแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิด แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เพิ่งจบลง อย่าไปคาดหวังเกี่ยวกับคำตอบเลย แค่ทำให้เป็นคำถามขึ้นก็ยากแล้ว คนทุกคนต้องตาย แต่ความหนักเบาของคนตายไม่เท่ากัน บางคนตายเสียงดัง บางคนตายเหมือนขนนก บางคนตายไม่มีความหมาย ตราบใดที่ไม่เรียนรู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม...

ประการที่สอง มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น ในห้วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา เรามีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐเขียนขึ้นอย่างกว้างขวาง เช่น ปปง. พรก. ฉุกเฉิน พรบ.คอมพิวเตอร์ และโดยที่เราคิดว่าจะใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับอะไรๆ ที่ไม่ดี แต่กลายเป็นว่ากฎหมายพวกนี้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ฉะนั้นการใช้อำนาจของรัฐบาลทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะคนพวกนี้เฮงซวย แต่มันมีโครงสร้างทางอำนาจมารองรับการใช้อำนาจของรัฐบาลอย่างไม่สิ้นสุด เราต้องตะหนักกฎหมายแบบนี้มากขึ้น

ประการที่สาม กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ความสามารถของสังคมไทยในการกำกับกระบวนการยุติธรรมน้อยมาก กต. มีคนจากนอกแวดวงกฎหมายน้อยมาก โดยตัวระบบเปิดโอกาสให้สังคมกำกับการทำงานได้เท่าที่ควร ทำให้ตำรวจและศาลจะเอียงได้

และอำนาจในการกำกับในทางสาธารณะก็อ่อนมาก ความสามารถในการวิจารณ์ศาลของสังคมไทยต่ำมาก เช่น ศาลนัดคู่ความนัดเก้าโมง ศาลขึ้นบัลลังก์สิบโมง ทำให้เราเห็นอะไรแปลกๆ ในศาล เราทำโครงการคอร์ทวอช เพราะศาลต้องเปิดเผย ใส แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ มีคนนอกไปฟังศาลเรียกเจ้าหน้าที่มาถาม นี่ใคร

เราจะทำให้เกิดการปรับตัวได้อย่างไร ทำให้สังคมกำกับและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้อย่างไร เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ศาลและคำพิพากษานั้นสำคัญ กรณีศาลอเมริกาขยายการตีความเรืองการถือครองอาวุธของประชาชน หนังสือพิมพ์วิพากษ์ว่าจะคำพิพากษาของศาลจะทำให้สังคมนองเลือด ถ้าเป็นที่เมืองไทย หนังสือพิมพ์ต้องโดนจำคุกข้อหาหมิ่นศาลก่อนหกเดือน

สิ่งที่เราเห็นวันนี้คือเราเห็นคนในองค์กรยุติธรรมออกมาพูดอะไรก็ไม่รู้เพราะการกำกับน้อยมาก เราต้องปรับเปลี่ยน

ประเด็นสุดท้าย สังคมไทยจะไปข้างหน้ากันอย่างไร ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ยุ่งยาก แล้วเราจะทำอะไรกันบ้างให้สังคมไทยนี้มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นบ้าง ผมคิดว่า เร่าจะต้องคืนชีวิตให้คนที่ตาย คือ เราต้องทำให้คนที่ตายถูกทำให้มีความหมายมากขึ้น เขาคือใครมาจากไหน ตายด้วยเหตุอะไร เรากำลังปล่อยให้คนตายไร้ความหมาย ถ้าเราทำให้คนตายมีชีวิตกลับมา ทำให้เป็นที่รับรู้ มันจะทำให้เราสามารถเริ่มทำให้เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ และสิ่งที่ต้องผลักดันคือ เสรีภาพในการแสดงความเห็น ผมคิดว่าเราต้องยืนยัน ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องคิดคือทำอย่างไรให้มีการประกาศยกเลิกกฎหมาย ฉุกเฉิน ความมั่นคง ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลับคืนมาก่อน ก่อนที่จะทำให้เราสามารถสร้างความรู้และขอเท็จจริงได้

กฎหมายจะยกเลิกได้คงต้องใช้เวลา แต่การยืนยันของสื่อมวลชนของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยคือเราต้องท้าทาย คือกฎหมายจะเลิกหรือไม่เลิกเรื่องของมึง เราต้องพูดเรื่องเสรีภาพ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่พูดอย่างตรงไปตรงมาเราต้องระวังไว้บ้างและจะต้องสร้างหลักนิติธรรมทางสังคมขึ้นมา ไม่ว่ารัฐจะประกาศใช้กฎหมายห่าเหวอะไรก็ตาม มันดูเป็นไปได้น้อย แม้แต่กับตุลาการ มันก็มีการตีความที่พิสดาร แต่ก็ต้องระวังว่าอย่าไปมีชื่อต่อท้ายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือสมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

000

“สิ่งที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ และราชดำเนิน มันทำร้ายประชาชน มันขัดกับ The Rule of Law ทำในนามพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด แต่ไม่ใช้ในนามของนิติธรรมและนิติรัฐ ถ้าศาลตัดสินแบบนี้เราก็ควรจะเอาศาลมาขึ้นศาล และคำถามต่อไปคือว่า ใช่เราจะต้องเชื่อฟังกฎหมาย แต่เราจะหากฎหมายนั้นได้อย่างไร เพราะบางสิ่งนั้นไม่ใช่กฎหมาย มันเป็นแค่ พรก. ฉุกเฉิน”

 

ไชยันต์ รัชชกูล มหาวิทยาลัยพายัพ

ผมเริ่มง่ายๆ ว่าหากมีคนตายแปดสิบกว่าศพ แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันต้องมี Something seriously wrong กับสังคมไทย และไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ และสุเทพ ไม่ได้ด้วยซ้ำ แสดงว่ามีคนให้ท้ายเขา สมรู้ร่วมคิด เห็นด้วยและผลักดัน เชียร์ให้เขาปราบ ส.ส. ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอันจะกิน คหบดี นักธุรกิจสีลม มัน seriously wrong กับคนเหล่านี้ด้วย

คำว่า กฎหมายที่เป็น Law มันมีความหมายต่างกับ l ตัวเล็กนะครับ สองคนนี้ต้องมีปัญญาที่จะแยกตัวเล็กกับตัวใหญ่ The Rule of Law กฎหมายเล็กๆ ต่างๆ ต้องขึ้นกับกฎหมายตัวใหญ่

ความจริงแล้วเราต้องเอาศาลขึ้นศาลด้วยในบางกรณี เปรียบเทียบง่ายๆ เราพูดที่ธรรมศาสตร์ เราพูดถึงนิติธรรม ถ้าพูดถึงนิติธรรม นิติรัฐต้องอยู่ใต้นิติธรรม เหมือนคณะนิติศาสตร์ ต้องอยู่ใต้ธรรมศาสตร์ นี่คือ The Rule of Law

แต่ The Rule of Law ศาลจะตีความอย่างหนึ่งว่านิติรัฐเป็นอย่างนี้ ไล่ๆ ไป อาจารย์จรัญบอกว่า Law is Law ถามว่า Law ที่มีอยู่มี Law ที่เลวไหม แล้วมีไหมที่ควรทำจะแต่ยังไม่มีกฎหมาย แล้วกฎหมายที่ไม่ดีมีไหม เราต้องแก้ได้ ปรับได้ ยกเลิกได้ We cannot be always law

ในแง่ภายในกรอบของกฎหมาย ในฐานะที่เป็นระบบกฎหมายในความหมายแคบ ความหมายเฉพาะที่กำหนดเรื่องกระบวนการ เรื่องหลักการตีความ ฯลฯ แต่มี The Rule of Law ในความหมายกว้าง ข้อสำคัญประการหนึ่งคือการที่จะป้องกันไม่ให้อสูรมาทำร้ายประชาชน คือจะทำร้ายชีวิตประชาชนไมได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ และราชดำเนิน มันทำร้ายประชาชน มันขัดกับ The Rule of Law ทำในนามพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด แต่ไม่ใช้ในนามของนิติธรรมและนิติรัฐ ถ้าศาลตัดสินแบบนี้เราก็ควรจะเอาศาลมาขึ้นศาล และคำถามต่อไปคือว่า ใช่เราจะต้องเชื่อฟังกฎหมาย แต่เราจะหากฎหมายนั้นได้อย่างไร เพราะบางสิ่งนั้นไม่ใช่กฎหมาย มันเป็นแค่ พรก. ฉุกเฉิน

ผู้พิพากษาก็ควรได้รับการพิพากษา อำนาจนั้นต้องแยกกัน ถ้าแยกกันแล้วจะเอาอะไรผิดอะไรถูก ไอ้การที่เราเรียกว่า The Separation of Powers เขาก็จะบอกว่าเพื่อให้สมดุล ผมก็ไม่เข้าใจ เพิ่งเร็วๆ นี้เอง ผมเพิ่งเข้าใจคือ ปัจจุบันในสังคมไทย เราจะเห็นมากเลยว่าทำไมอำนาจไปทางเดียวกันหมด สื่อก็ไปทางเดียวกัน พวก ส.ส. รัฐบาลก็ไปทางเดียวกัน พวกคหบดีทั้งหลาย รวมทั้งผู้มีอันจะกินก็ไปทางเดียวกัน คนจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็คิดไปเช่นนั้น ไปทางเดียวกัน จะพูดเลยก็ได้ว่า อำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ อำนาจทางสังคม อำนาจในการสื่อสาร ตอนนี้มันเป็น Unification ของหลายๆ อำนาจแม้แต่ประชาสังคม ซึ่งกำลังตื่นเต้น ดี๊ด๊ากันใหญ่ สิ่งที่ผมอยากจะแบ่งปันคือ ทำไมเราต้องแบ่งแยกอำนาจเหล่านี้ แล้วมีอำนาจอะไรที่เหนือกว่าอำนาจเหล่านี้หรือไม่ มีอำนาจอะไรที่เหนือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อำนาจอะไรที่ควรจะเป็นคืออำนาจอะไร รัฐธรรมนูญเขาก็เขียนนี่ครับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อำนาจที่เหนือกว่าสามอำนาจนี้ ควรจะได้ใช้อำนาจเพื่อควบคุมอำนาจทั้งสามนี้ ตอนนี้เหลือแค่อำนาจนิติบัญญัติถึงได้มีการเรียกร้องเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมอำนาจบริหารได้ มีสภาที่ใหญ่กว่านั้นอีก แต่ที่คุมไม่ได้เลยก็คืออำนาจปวงชนไม่ได้คุมอำนาจตุลาการ อำนาจศาลจะต้องเป็นประชาธิปไตย หรือเราจะต้อง Democratizing the Juridicial มีหลายประเทศที่จะต้องโยงตั้งแต่ศาลแขวงระดับเล็กๆ ที่ประชาชนต้องควบคุม และนี่ทำให้นิติรัฐเป็นนิติรัฐ และเป็นนิติธรรม

ประเด็นสุดท้าย แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ น้ำหนักของความตายมันไม่เท่ากัน 88 คนตายไม่สำคัญเท่าน้องโบว์นะครับ มันลดหลั่นกันไปแต่ละชั้น

กลับมาประเด็นที่ว่าเราต้องมีลำดับการพิจารณาเป็นชั้นๆ ไม่ใช่กฎหมายต้องเป็นกฎหมายนะครับ เป็นมาตรการที่ไม่ได้ไปไหนเลย มีอะไรที่เหนือกว่ากฎหมาย ศีลธรรม ความถูกต้องต้องเหนือกฎหมาย เพรากฎหมายไม่ถูกต้องก็ได้ เราไม่ต้องถึงพระเจ้าหรอกครับ แต่มีหลักการนักประชาธิปไตย ว่าหลักการของกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อ อิสระและเสรีภาพของปวงชน Liberty อิสรเสรีภาพ ต้องมาสูงสุด กฎหมายอันใดที่ขัดกับสิ่งนี้ ต้องถือว่า Unconstitutional คือการล้มมูลฐานของกฎหมายทั้งปวง

สอง คือสิทธิทั้งหลาย สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ สาม การที่จะดำเนินชีวิตอย่างผาสุก ถ้าหลักการของกฎหมายไม่เป็นไปเพื่อสามข้อนี้ ก็ถือว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับกฎหมาย

ประเด็นเรื่องการมีอาวุธ ในสหรัฐมีใบอนุญาตให้มีอาวุธ แต่บางประเทศอื่นห้ามเด็ดขาด ห้ามแสดงการมีอาวุธที่ตัว แต่หากโยงเรื่องปัญหาการก่อการร้ายกับการมีอาวุธ กรณี Civil Right Movement กลุ่มที่เรียกร้องติดอาวุธเพราะว่ามีกลุ่มในสหรัฐที่รังเกียจคนดำ ฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวเขาติดอาวุธเพื่อป้องกันตัว และปรากฏว่าการติดอาวุธของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการลด เป็นการปรามให้อีกฝ่ายหนึ่งยับยั้งชั่งใจในการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ทำไมสหรัฐคิดอย่างนี้ว่าติดอาวุธได้ เราย้อนกลับไปว่ามีคนอเมริกันเป็นจำนวนมากที่เป็นโปรแตสแตนท์ มีการฆ่าหมู่ครั้งประวัติศาสตร์เนื่องจากฝ่ายโปรแตสแตนท์ถูกคาทอลิกฆ่าถึงสองหมื่นคน และได้สรุปบทเรียนว่าเพราะไม่ได้ติดอาวุธ ขณะที่บางประเทศติดอาวุธไมได้เด็ดขาด เรากลับมาพิจารณาที่หลักการประชาธิปไตย ก็คือการให้ต่อสู้กัน คุณจะจัดตั้งได้ไหม เป็นองค์กรขึ้นมา คุณจะมีกำลังทรัพย์ของตัวเองได้ไหม คุณจะมีความคิดที่ตรงข้ามกับรูปแบบของรัฐนั้นที่มีอยู่ได้ไหม คุณจะมีการโฆษณาทางความคิดได้ไหม ได้ ยกเว้นอันเดียว ห้ามมีอาวุธ เพราฉะนั้นพรรคการเมืองมีอาวุธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวหรือไม่

แต่เมื่อห้ามอาวุธ แต่ต่อสู้ได้ กติกาคือฝ่ายรัฐก็ต้องไม่ใช่อาวุธกับประชาชน แต่เมื่อมีการปราบปรามก็มีการใช้อาวุธที่ไม่ถึงชีวิต อย่างกรณีอังกฤษ เขาใช้ตำรวจขี่ม้า แล้วมีกระบอง มีเหตุการณ์หนึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างคนประท้วงกับคนที่อยู่บนหลังม้ามีคนเสียชีวิตเพราะม้าตื่น ถือว่าการขี่ม้าเป็นอาวุธชนิดหนึ่งได้ เพราะมันอันตราย ทำให้ตอนหลังมาการปราบปรามประท้วงเขาใช้ม้าน้อยมาก

แต่ก็มีบางกรณีในไอร์แลนด์เหนือ สาธารณชนในอังกฤษบางส่วนยังเห็นด้วยว่าตำรวจต้องติดอาวุธเพราะฝ่ายไออาร์เอ ก็มีอาวุธ และไม่ปฏิเสธ ฉะนั้นการให้ฝ่ายรัฐบาลมีอาวุธก็ไม่ถึงกับชอบธรรม แต่เข้าใจได้

ทีนี้กรณีของไทย อาวุธที่เขาใช้ มีภาษาอังกฤษติดเลย “Live Firing Zone” แล้วเขาก็ไม่อายเลย ติดอยู่ตรงประตูน้ำ ติดเป็นภาษาอังกฤษด้วย และใช้กองทัพที่เต็มที่นะครับ ใช้รถถัง จัดการกับป้อมไม้ไผ่ที่ราชประสงค์ ผมชอบมาก อยากเห็นอีก บางคนบอกจบหน้านาจะมาใหม่ขอให้จริงเถอะ

การที่ใช้รถถังออกมา ละเมิดข้อตกลงพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตย การอ้างชุดดำ นอกจากวันที่ 10 เม.ย. แล้ว วันที่ 19 พ.ค. มีทหารคนไหนตายบ้าง มาตรฐานคงเส้นคงวา ไม่ลักลั่นคือ กูทำอะไรก็ได้ แต่มึงต้องทำอย่างที่กูบอก

การพูดถึงนิติรัฐ ไม่ใช่แค่สิ่งที่รัฐจะทำกับประชาชน แต่รัฐและสังคมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน กฎนี้ต้องควบคุมรัฐด้วย ไม่เช่นนั้นจะบิดเบือนไปเลย

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะเปิดอกก็คือ ตอนนี้อย่างที่เราทราบ เราทุกท่านทราบดีถึงความแตกแยกในสังคมไทย ส่วนหนึ่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์และราชดำเนินปีที่แล้ว คนเสื้อแดงชุมนุมได้เป็นความสำเร็จของคนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า นี่ไม่ได้เป็นวิกฤตอะไรเลย การอยู่เฉยๆ ให้เขาเหยียบสิครับถึงจะเรียกว่าวิกฤต แต่ตอนนี้หน่วยทางสังคมไทยที่แตกแยกออกเป็นสองข้างเป็นอย่างนี้หมด ตอนนี้เป็นเวลาที่เรามาเช็ดน้ำตาเช็ดเลือดกัน ทำยังไงที่เราจะมีวิธีที่จะต่อสู้กันโดยไม่ให้เลือดตกยางออก ขอให้หลายๆ ฝ่ายมาร่วมคิดกัน ไม่ใช่มาดีกันเกี่ยวก้อยเหมือนเด็กประถม แต่อยากจะมาคุยกันว่าเราจะมาสู้กันอย่างไร โดยไม่ให้ถึงขั้นที่จะต้องฆ่ากัน อาจจะมีบาดเจ็บ ด่าทอ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และถ้ามีการต่อสู้กันอีก ซึ่งก็หวังไว้เช่นนั้น ขอว่าอย่าใช้รถถัง อาวุธหนัก อาวุธสงครามเมาปราบปราม แต่อย่าให้มนุษย์ของเราและอย่าให้คนของเราเป็นผักเป็นปลากันต่อไป หลักคือต้องรักษาชีวิต และวาระซ่อนเร้นคือถ้าสู้กันอย่างนั้นเราสู้เขาไม่ได้

 

อภิปราย

ประชาชนผู้ร่วมเสวนา: ผมอยากให้จัดงานนี้ให้กับชนชั้นล่าง เพราะเขาคือคนที่ขับเคลื่อน แต่เขาขาดความรู้ทั้งแง่กฎหมาย ถ้าสามารถไปติดพลังให้พวกเขา เขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าให้เขาเป็นขนนกไปตลอดชีวิตเลยครับ

ประชาชนผู้ร่วมเสวนา: ประชาชน ตั้งแต่เลือกตั้งมา ไม่เคยมีที่ระบบอำมาตยามีอำนาจมากขนาดนี้ เหตุการณ์พฤษภามหาโหดเหมือนหกตุลาเลยครับ ที่สำคัญคือหลังจากปฏิบัติ 19 กันยา ก่อนปฏิวัติ อำมาตยาได้ฟื้นอำนาจขึ้นมาอย่างน่ากลัวมาก ทั้งทางกายภาพ คือรัฐธรรมนูญ และคนที่ไปวางไว้ในกระบวนการยุติธรรม และที่สำคัญคือการฟื้นอำนาจในทางความคิดจิตวิญาณที่สามารถดึงกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยได้มาก และกลุ่มนี้เป็นพลังสำคัญที่คอยสร้างความชอบธรรมให้ หนังสือพิมพ์บางฉบับถึงขนาดตั้งคอลัมน์ใหม่ คือตุลาการภิวัฒน์ เผยแพร่ความคิดให้สังคมหลงใหลได้ปลื้มไปกับตุลาการภิวัฒน์

การทีอภิสิทธิ์ได้รับการโหวตในสภาเป็นการรัฐประหารซ้ำ โดยแนบเนียนมาก และเราเห็นว่าศาลสนองคำสั่งของ ศอฉ. เป็นเอกภาพ รัฐไทย ผสมผสานกับมาร์กอสกับพม่า มันมีคณะตัดสินใจสูงสุดในทางการเมือง คนที่มาจากทหารก็ยังจัดแถวทหาร มีการบัญชาการอย่างเป็นเอกภาพ และอาวุธชิ้นใหม่ มีสื่อยึดความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์การที่เขาฆ่าคนเป็นร้อยคน มันเฉยๆ เลย เขาสามารถสร้างกระแสสังคม สามารถกำหนดกระแสสังคม ใช้ความยุติธรรมเยียวยามาล้างการฆ่าคนได้ แต่งเพลงอะไรต่างๆ นี่เป็นสังคมที่น่ากลัวมากๆ ไม่มียุคไหนที่จะมืดเท่ายุคนี้ อีกแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น