ประชาไท | Prachatai3.info |
- รายงาน: การคุกคามของรัฐภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตั้งแต่ช่วงเริ่มการชุมนุมจนถึงหลังสลายการชุมนุม
- [ปฎิทินกิจกรรม] 19-20 มิ.ย. 53 อภิปรายทางวิชาการ "โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์"
- การปะทะระหว่างแดงกับเหลืองที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
- กวีประชาไท : อื่อจา 519 (หม้ายประชาธิปไตย)
- ธงชัย วินิจจะกูล : 'ระบอบอภิสิทธิ์' คืออะไร? มาร์ค = มาร์คอส?
- พนง.สัญญาจ้าง มศว. ประท้วง ถูกยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
- เสื้อแดง รถถัง ปืน ประชาธิปไตย: จงแต่งประโยคจากคำที่กำหนดให้
- กกต.พม่าอนุมัติพรรคการเมืองว้าร่วมเลือกตั้ง-รัฐบาลตัดชุดไทใหญ่เตรียมใช้หาเสียง
- จาตุรนต์ ตอบสื่อประเด็นปรองดองและนิรโทษกรรม
- กรุงเทพโพลล์ : ประชาชนให้คะแนนฟื้นฟูเยียวยาของรัฐบาล 4.28 เต็ม 10
- ประเวศชี้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาปฏิรูปประเทศไทยได้....!!!
รายงาน: การคุกคามของรัฐภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตั้งแต่ช่วงเริ่มการชุมนุมจนถึงหลังสลายการชุมนุม Posted: 17 Jun 2010 11:09 AM PDT <!--break--> หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอรายงาน "ปฏิบัติการต่อผู้ถูกจับกุม และมาตรการคุกคามอื่นๆ ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน” ในการอภิปรายทางวิชาการ "โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์" ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19-20 มิ.ย.นี้
ในทางวิชาการมีการนิยามคำว่าความรุนแรงโดยรัฐ (State violence) ว่าหมายถึง การที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายหรือเกินกว่าเหตุต่อพลเมืองของตนเองโดยมีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ คุกคาม กำจัด และควบคุมทางการเมือง [1] บางครั้งมีการใช้คำอื่นมาแทนที่ อาทิ การก่อความสยดสยองโดยรัฐ (state terror) การก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) หรือการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐ (state repression) แต่ละรัฐมีเหตุผลความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ กันในสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป อาทิ การจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองตามอำเภอใจ การทรมาน การลักพาตัว การจงใจทำให้บุคคลหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย การลอบสังหาร การสังหารหมู่ เป็นต้น แม้แต่รัฐประชาธิปไตยหรือรัฐที่มาฐานอำนาจมาจากการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ดังที่พบว่ามีรัฐประชาธิปไตยมากมายในโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพื่อปราบปรามพลเมืองของตนเองหรือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางประการ ด้วยกรอบความเข้าใจดังกล่าวเราจะพบว่า มาตรการหลายมาตรการที่รัฐไทยใช้ในการจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการตั้งแต่ช่วงมีนาคม 2553 จนถึงการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ต่อเนื่องมาถึงสถานการณ์หลังการสลายการชุมนุม เข้าข่ายเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐซึ่งสมควรถูกตั้งคำถามและตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากสาธารณะ เพื่อที่จะแสวงหาความรับผิดชอบทางการเมือง พร้อมกับสร้างบรรทัดฐานในการตรวจสอบอำนาจรัฐ และป้องกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต เฉพาะในส่วนนี้จะกล่าวถึงความรุนแรงประเภทที่เป็นการคุกคามซึ่งเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การข่มขู่และคุกคาม (intimidation) เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง แม้จะเป็นความรุนแรงขั่นต่ำกว่าการใช้กำลังทำร้ายร่างกายโดยตรง (direct violence) หรือการใช้ความรุนแรงเพื่อมุ่งสังหารเอาชีวิต แต่ก็นับเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งเพราะมุ่งสร้างความหวาดกลัวและจำกัดสิทธิเสรีภาพและเจตจำนงอันอิสระของพลเมืองในการคิด แสดงความเห็น และการประกอบกิจกรรมทางการเมือง หากรัฐใดๆ ก็ตามเริ่มใช้การข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวางต่อพลมืองของตนเอง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของรัฐนั้นเอง และยังแสดงว่าความชอบธรรมในการบริหารประเทศที่มีฐานอยู่ที่ความยินยอมพร้อมใจ (consent) ได้เสื่อมถอยลง จนต้องหันมาใช้การข่มขู่บังคับ (coercion) แทน การใช้การข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวางของรัฐยังกระทบกระเทือนต่อหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐต้องใช้อำนาจอย่างจำกัดโดยต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองเหนือสิ่งอื่นใด การข่มขู่คุกคามนอกจากจะทำให้รัฐขาดความชอบธรรมแล้ว ยังเป็นการกีดกันและผลักไสพลเมืองให้ออกห่างจากระบอบการเมือง และสร้างความแตกแยกทางการเมืองในสังคมให้ลงลึกมากยิ่งขึ้นด้วย นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา พบแบบแผนการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพพลเมืองโดยรัฐหลายรูปแบบดังต่อไปนี้ การเรียกตัวไปสอบสวน, การคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ, กรณีการซ้อมในเรือนจำ, การคุกคามครอบครัวของแกนนำผู้ชุมนุม, และการจับกุมและคุมขังอย่างเหวี่ยงแห การเรียกตัวไปสอบสวนและ “เชิญไปทำความเข้าใจ”[2] หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ลงนามคำสั่งเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือให้การสนับสนุนกลุ่มนปช. ให้มารายงานตัวที่กรมทหารราบ 11 รักษาพระองค์ ตามข้อกำหนดพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และถ้าไม่มารายงานตัวจะมีการออกหมายจับตามมา โดยมีการทยอยออกหมายเรียกกลุ่มบุคคลเข้ามารายงานตัวเป็นหลายชุดด้วยกัน บุคคลที่ถูกเรียกตัวให้ไปรายงานมีหลากหลายประกอบด้วยนักธุรกิจ นักการเมือง (เกือบทั้งหมดเป็นนักการเมืองพรรคเพื่อไทย หรือเคยลงสมัครในพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน) ข้าราชการ นักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ เจ้าของวิทยุชุมชน เริ่มจากหมายเรียกชุดแรกจำนวน 52 รายชื่อ ถูกเรียกให้มารายงานตัวในวันที่ 16 เม.ย. และ 17 เม.ย. ต่อมาในวันที่ 21 เม.ย. ศอฉ. แถลงข่าวว่าได้ออกหมายเรียกเพิ่มชุดที่สองอีกจำนวน 54 รายชื่อ ต่อมาในวันที่ 22 เม.ย. ศอฉ.รายงานว่ามีการออกหมายเรียกชุดที่สามเพิ่มเติมอีก 9 ราย รวมหมายเรียกทั้งสิ้น 3 ชุดเป็นจำนวน 115 ราย ทั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อต่อสื่อและสาธารณะว่าบุคคลในหมายเรียกทั้งหมดประกอบด้วยใครบ้าง สังคมได้รับรู้เมื่อบุคคลดังกล่าวเข้ารายงานตัวต่อศอฉ. และถูกสัมภาษณ์แล้วเท่านั้น การเรียกบุคคล “ต้องสงสัย” ให้มารายงานตัวกับศอฉ. ในกรุงเทพฯ ยังคงดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่รัฐไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สื่อและสาธารณชนได้รับทราบ ถึงขั้นตอนและเนื้อหาของกระบวนการเรียกตัวไปสอบสวน แต่จากรายงานทางสื่อมวลชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่งที่ได้สัมภาษณ์ผู้ที่ถูกเรียกไปรายงานตัว ทำให้เราพอทราบคร่าวๆ ถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ เริ่มจากการที่ศอฉ.ส่งให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารเชิญตัวไปให้ถึงที่พักอาศัยของกลุ่มคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยเอกสารเชิญตัวอ้างอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (2) ขอออกคำสั่งมายังผู้ที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวกับศอฉ. ที่กรมทหารราบที่ 11 ในวันและเวลาที่กำหนด เมื่อได้รับเอกสาร บางคนไปรายงานตัวตามวันนัดหมายในทันที บางคนไปรายงานตัวในอีก 2-3 วันถัดมา ขณะที่บางคนตัดสินใจไม่รายงานตัว ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะได้เอกสารเชิญตัวรอบที่สอง ก่อนที่จะได้รับคำขู่ขั้นสุดท้ายคือการออกหมายจับ สำหรับรายละเอียดในส่วนขั้นตอนการเข้าไปรายงานตัว ขออ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าว ประชาไท ที่ได้เจาะลึกเรื่องนี้โดยละเอียด[3] การให้ข้อมูลแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าเหตุใดผู้นั้นจึงถูกเรียกมาให้ข้อมูล เพียงแต่บอกว่าการให้ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทางการ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่บางกรณีมีการนั่งรอยาวนานก็อาจกินเวลาในค่ายทหารถึง 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม นักศึกษาคนหนึ่งระบุว่า มีการหมายเหตุในท้ายเอกสารที่เจ้าหน้าที่ถือว่าเขามีความเกี่ยวพันกับกลุ่มแดงสยาม ซึ่งนั่นทำให้เขางุนงงเป็นอย่างมาก และการซักถามก็มุ่งไปยังความเกี่ยวพันกับสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเขาไม่ได้รู้จักมักคุ้น ผู้ถูกเรียกรายหนึ่งระบุว่า ในห้องแรกจะเป็นการตั้งโต๊ะของพนักงานสอบสวนเพื่อสอบถามประวัติทั่วไป เช่น ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ สถานศึกษา ภูมิลำเนา รวมไปถึงความเกี่ยวพันกับคนเสื้อแดง เช่น มาชุมนุมกี่ครั้ง เคยให้การสนับสนุนเงินไหม มีบัตรสมาชิกหรือไม่ ทราบไหมว่ามีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทราบไหมว่าไปชุมนุมผิดกฎหมาย วันที่ 10 เม.ย.อยู่ที่ไหน คิดว่าไอ้โม่งเสื้อดำเป็นใคร คิดอย่างไรเรื่อง 2 มาตรฐาน คิดอย่างไรเรื่องสถาบันกษัตริย์ ส่วนห้องที่สอง ผู้ถูกเรียกจะถูกแยกสอบเดี่ยว ผู้ถูกเรียกคนหนึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่พูดคุยด้วยมาจากกรมกิจการพลเรือน กองทัพบก การพูดคุยเริ่มเข้มข้นมากขึ้น โดยจะมีการโต้แย้งความคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ของกลุ่มเสื้อแดงเพื่อให้เกิดการถกเถียง เช่น ยุบสภาไม่ใช่ทางแก้ปัญหา คนจำนวนมากไม่ต้องการให้ยุบสภา คิดว่าขบวนการล้มเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ส่วนห้องที่สามเป็นเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ที่เหมือนเข้ามาสอบถามความเห็นว่ารู้สึกอย่างไรกับทหาร ในขณะที่ผู้ถูกสอบอีกคนหนึ่งระบุว่า เมื่อเขาและเพื่อนเข้าไปก็พบว่ามีผู้รออยู่ก่อนแล้วราว 10 กว่าคน ทั้งหมดจะเจอกับบทเกริ่นนำว่านี่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ต้องหวาดกลัว และการให้ข้อมูลจะช่วยแก้ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมือง จากนั้นมีเจ้าหน้าที่คาดว่ามาจากดีเอสไอที่พูดจาแข็งกร้าวชี้แจงว่าการชุมนุมนั้นผิดกฎหมายทั้งยังเต็มไปด้วยความรุนแรง เจ้าหน้าที่พยายามแยกผู้บริสุทธิ์กับคนผิดกฎหมายออกจากกันแล้วอย่ากลับเข้าไปอีก จากนั้นเจอกับเจ้าหน้าซึ่งบอกว่าตนเป็นอดีตรองโฆษกของคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือ คปค. ซึ่งมาชวนคุยเรื่องการเมืองทำนองว่า ทำไมจึงต่อต้านรัฐประหารทั้งที่มันมีความจำเป็น การยุบสภาจะแก้ปัญหาอย่างไร รัฐธรรมนูญ 50 นั้นดีกว่ารัฐธรรมนูญ 40 คิดอย่างไรกับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการบันทึกประวัติและแนวคิดเบื้องต้นก่อนจะปริ๊นท์ออกมาให้ลงนาม เพื่อเข้าไปสู่ห้องต่อไปคือหน่วยจิตวิทยาที่พยายามสั่งสอนและโน้มน้าวให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนด่านสุดท้ายเจอกับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำความคุ้นเคย ให้ความเป็นกันเองและชวนคุยเรื่องต่างๆ เช่น เคยขึ้นปราศรัยไหม แล้วเคยหลุดคำพูดประเภทล้มล้างสถาบันหรือไม่ คิดว่าแกนนำคนไหนที่ปราศรัยล้มล้างสถาบันรุนแรงที่สุด โดยอ้างว่าเขาต้องการเก็บข้อมูลเพื่อไปทำงานวิจัยที่จะหาวิธีแก้ปัญหาความแตกแยกประเทศ และจะพยายามรวบรวมไอเดียต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยรวมแล้วผู้ถูกเรียกมักระบุว่าเจ้าหน้าที่มีท่าทีที่ดี อาจมีแข็งกร้าวหรือออกแนวขู่ให้กลัวบ้างก็เพียงเล็กน้อยโดยยกเรื่องผิดกฎหมายมาเป็นประเด็นหลัก หากเป็นเยาวชนก็มุ่งเน้นเรื่องพ่อแม่เสียใจ เสียอนาคต “กระบวนการของเขาเหมือนเป็นการปรามกลายๆ กับคนที่ร่วมชุมนุม อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว โดยท่าทีก็ไม่ได้รุนแรงอะไร แต่การมี process นี้ โดยตัวมันเองเป็นการคุกคามแล้ว แต่ผมก็ว่าถ้าหวังจะให้คนหวาดหวั่นเขาคงไม่หรอก มีแต่ศอฉ.ที่จะเสียคะแนนเอง เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล คนถูกเรียกมีสิทธิจะรับรู้ว่าจะมีกระบวนการอย่างไรบ้าง แต่นี่ไม่มีการแถลงอะไร ไม่รู้สิทธิของตัวเอง ทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย นี่เป็นวัฒนธรรมความไม่โปร่งใสที่อยู่ในระบบราชการไทย ไม่เฉพาะแต่ ศอฉ.” ผู้ถูกเรียกคนหนึ่งกล่าว “มันไม่ชอบธรรม เราออกไปเรียกร้องตามสิทธิของเรา รัฐกลับใช้อำนาจตามพรก.อย่างเต็มที่มาละเมิดเรา เรียกเราไปรายงานตัว เอาหมายมาถึงบ้าน มันเหมือนคุกคามเราแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ตอนนั้นพอดีผมไม่อยู่ ยายอยู่บ้านแกเลยเทศน์ตำรวจที่เอาหมายมาเป็นชั่วโมงเลยว่าทำแบบนี้ไม่ได้ (หัวเราะ)” นักศึกษาคนหนึ่งกล่าว อย่างไรก็ตาม จากรายงานบางชิ้นและข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในพื้นที่พบว่า นอกเหนือจากการติดตามจับกุมบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุและการวางเพลิงสถานที่ราชการในหลายจังหวัดแล้ว มีแนวโน้มการติดตามแกนนำเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวตามปรกติอยู่ในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่มีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ดังปรากฏว่าในวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 พลโทวีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่าทางกองทัพภาคที่ 2 ได้ออกคำสั่งเรียกแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวน 20 คนในพื้นที่ภาคอีสาน 7 จังหวัด ให้มารายงานตัวที่สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 แกนนำที่ถูกเรียกตัวได้เริ่มทยอยเดินทางมารายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่แล้ว โดยเวลา 13.45 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงนครราชสีมา 6 คน ใน 8 คน ที่ถูกแม่ทัพภาคที่ 2 เรียกเข้ามารายงานตัว ได้ทยอยเดินทางเข้ารายงานตัวต่อพล.ต.ศักดิ์ศิลป์ กลั่นเสนาะ รองแม่ทัพภาคที่ 2 และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ประกอบด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เขต 3 พรรคเพื่อไทย, นายฉลอง แสงราษฎร์เมฆินทร์ ,นางสาวปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ เจ้าของสถานีวิทยุชุมชนพลังแผ่นดินเอฟเอ็ม 104.50 เมกเฮิร์ท ,นายสมโภชน์ ปราสาทไทย แกนนำกลุ่มเสื้อแดงโคราช 2009, นายอนุวัฒน์ ทินราช แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงอ.บัวใหญ่ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เขต 5 และนายศักรินทร์ กองแก้ว แกนนำเสื้อแดงอ.บัวลาย จ.นครราชสีมา อีก 2 คน ที่ยังไม่เดินทางมารายงานตัวคือ นายวรรณกิจ ทองสุขและนายจักราวุธ ไตรวัลลภ นายฉลอง แสงราษฎร์เมฆินทร์ แกนนำเสื้อแดงโคราชที่เข้ารายงานตัว กล่าวว่า ทางกองทัพภาคที่ 2 ได้เชิญมาร้องขอให้หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.การบริหารงานราชการฉุกเฉิน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความรู้สึกของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังมีอารมณ์โกรธแค้นจนอาจนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมาอีกได้ ส่วนนางสาวปภัสชนัญญ์เปิดเผยหลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ว่าขณะนี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโคราชถูกอำนาจไม่ชอบธรรมคุกคาม ถูกเรียกให้ไปลงรายชื่อ รับทราบคำสั่งห้ามเคลื่อนไหว หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเด็ดขาด ในส่วนของตนเจ้าหน้าที่ให้จัดรายการวิทยุได้ตามปกติ แต่ห้ามเปิดเพลงและพูดถึงการชุมนุมและการเคลื่อนไหวของนปช.อย่างเด็ดขาด โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าฟังพร้อมอัดเสียงไว้เป็นหลักฐาน หากยังละเมิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และยึดเครื่องส่งทันที[5] ส่วนแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสานอีก 6 จังหวัด ที่ถูกเรียกมารายงานตัว ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น 4 คน คือ นายพงศกร อรรณนพพร อดีตรมช. ศึกษาธิการ, นางดวงแข อรรณนพพร,นายยงยุทธ คงปฏิมากร ,นายนภดล สีดาทัน โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเรียกบุคคลจำนวนหนึ่งให้ไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่สโมสรนายทหารค่ายศรีพัชรินทร มทบ.23 ศอฉ. ขอนแก่นได้เรียกกลุ่มบุคคลประกอบด้วยนายจักริน พัฒนดำรงจิตร นางดวงแข อรรถนพพร นายเรืองเดช สุพรรณฝ่าย สส.ขอนแก่นพรรคเพื่อไทย จังหวัดขอนแก่น นางมุกดา พงษ์สมบัติ อดีตส.ส.ขอนแก่น และ ด.ต.อิทธิชัย ศรีวงศ์ชัย หรือดีเจอิทธิชัย คนโก้ พร้อมด้วย นายสัญญา สิมมา นางซาบีนา ซาห์ นายนภดล สีดาทัน แกนนำคนเสื้อแดงขอนแก่น และดีเจคนเสื้อแดงของสถานีวิทยุเสื้อแดงขอนแก่น เข้ารายงานตัวที่ค่ายทหารฯ เพื่อมารับทราบคำสั่งของศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่จ.ขอนแก่น ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จ.ขอนแก่น โดยไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าทำข่าวอย่างเด็ดขาด รายงานข่าวเปิดเผยว่าทางศอฉ. ขอนแก่นเรียกบุคคลเหล่านี้มาเพื่อกำชับให้ไม่ให้นำมวลชนไปร่วมสมทบการชุมนุมที่กรุงเทพฯ และให้นักจัดรายการวิทยุหยุดการจัดรายการปลุกเร้ามวลชน หากฝ่าฝืนจะมีการสั่งปิดสถานีและห้ามจัดรายการทันที นอกจากนี้ยังสั่งว่าบุคคลใดที่ทำตัวเป็นแกนนำมีพฤติกรรมช่วยเหลือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนปช. จะถูกตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และจับกุมเอาผิดทางกฎหมาย[6] จังหวัดอุดรธานี 2 คน พ.ต.ท.สุรทิน พิมาณเมฆินทร์ ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และนายณัฐยศ ผาจวง จังหวัดอุบลราชธานี 3 คน นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย,นายสุพล ฟองงาม ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยและนายประยุทธ มูลสาร จังหวัดร้อยเอ็ด 1 คน นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร จังหวัดชัยภูมิ 1 คน คือนายจารุเดช คนสมบูรณ์ จังหวัดมหาสารคาม 1 คน คือนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย โดยทั้งหมดยังไม่ได้เดินทางเข้ารายงานตัว นอกจากนั้น ยังมีการส่งสัญญาณคุกคามที่น่าเป็นห่วงจากนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกล่าว ณ ที่ประชุมกระทรวงมหาดไทยว่า เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ที่สงบลงเพียงชั่วคราว หลังจากผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ กลับพื้นที่ยังคงมีความรู้สึกที่ตรงข้ามกับรัฐบาล พร้อมทั้งจะสะสมความรู้สึกดังกล่าว หากมีการยั่วยุหรือสนับสนุน ก็อาจจะกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ราชการ และสั่งผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดว่า “ขอให้ติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำในพื้นที่ และใช้กลไกราชการ พบปะพูดคุยแกนนำ เพื่อขอร้อง เอาผลคดีในกทม.ไปบอกว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เอาคนเหล่านี้มาเป็นมิตร แต่ถ้าได้รับการปฏิเสธให้จัดคนประกบและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หากกระทำผิดให้จับกุมและลงโทษทันที” นายบุญจงกล่าว[7] มีรายงานจากบุคคลที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่าว่าหลังจากมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ผู้สนับสนุนนปช.ที่ขอนแก่นถูกทหารนอกเครื่องแบบมาพบที่บ้าน โดยแจ้งว่าให้ระวังตัว และสั่งไม่ให้ออกไปรวมตัวหรือก่อความวุ่นวายที่ใด และในวันที่ 19 พ.ค. ช่วงเข้ามืด วิทยุเสื้อแดงสองสถานีใหญ่ถูกตัดสัญญาน ชาวบ้านจึงไปรวมตัวกันที่สถานีวิทยุ และทราบว่าทหารในเครื่องแบบมายกอุปกรณ์ไปทั้งสองสถานี ทั้งหมดจึงไปรวมตัวกันหน้สถานี NBT ซึ่งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยขอนแก่นราวๆ 600-700 คนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าไม่สามารถรับรู้ข่าวสารได้เลย พอในช่วงสาย มีการเดินทางไปที่บ้าน ส.ส. ประจักษ์ แก้วกล้าหาญ เพื่อไปประท้วง โดยมีคนไปรวมตัวกันจำนวนมาก หลังจากรวมตัวกันได้ไม่นาน มีคนยิงปืนออกมาจากในบ้าน มีคนเสียชีวิต 1 คน และ สาหัสอีก 6 คน แล้วก็บาดเจ็บอีกเกือบสิบคน ชาวบ้านบอกว่าทางทนายได้มาขอคนไปเป็นพยานเพื่อจะได้ ดำเนินคดี แต่หลังจากวันนั้น พยานหลายคนโดนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาขู่ถึงบ้านเพื่อไม่ให้ไปเป็นพยาน นอกจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ยังเป็นกังวลเรื่องคนหาย ซึ่งมีการแจ้งมาจากชาวบ้านบางคน และเมื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปติดป้ายเพื่อทำเรื่องคนได้รับความเดือดร้อนจากการสลายการชุมนุม อธิการบดีก็ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่มาดึงออกไป[8] กรณีของจังหวัดราชบุรี มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐรวบรวมรายชื่อของกลุ่มบุคคลที่ไปชุมนุมกับ นปช. ผ่านหัวคะแนนของพรรคคู่แข่งหรือจากการติดตามเคลื่อนไหวในท้องที่นั้นๆ และเมื่อมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว แกนนำในพื้นที่ก็ถูกจับตาการเคลื่อนไหว บางคนถูกข่มขู่เช่น มีการบุกค้นบ้าน ในกรณีเจ้าตัวไม่อยู่ ก็มีการซักถามจากคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน และเอาสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนปช.มาเป็นหลักฐานและสั่งฟ้อง ที่จังหวัดมุกดาหาร มีการเรียกไปรายงานตัวแล้ว 9 คนกับทางกอ.รมน. ที่ศาลากลางจังหวัด ประกอบด้วยแกนนำและชาวบ้านธรรมดาในพื้นที่ มีการสอบสวนและเตือนไม่ให้บุคคลเหล่านี้ไปเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปถึงบ้านเพื่อสอบสวน[9] มีรายงานจากพื้นที่ในลักษณะเดียวกันนี้ในอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน เหนือ และภาคกลางว่าทางภาครัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปคุมตัวแกนนำระดับตำบลและหมู่บ้านไปสอบสวน โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า กล่าวสรุปโดยย่อได้ว่าการเรียกให้ไป “รายงานตัว” กับทางราชการในต่างจังหวัดมีความเข้มข้นและขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นหลังสลายการชุมนุม โดยเฉพาะในภาคอีสาน ภาคเหนือ ซึ่งมีฐานสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนปช.มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ปรากฏว่าแกนนำนปช.ที่มาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อกลับไปแล้วได้ถูกเรียกมารายงานตัว หรือบางคนไม่เคยมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่เคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดตัวเองก็ถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อสอบสวนเช่นกัน (บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกตัวไปรายงานคือ ดีเจวิทยุท้องถิ่น ซึ่งดูเพิ่มเติมได้ในประเด็นสื่อมวลชน) ซึ่งเนื้อหาในการพูดคุยเป็นการเตือนและปรามไม่ให้เคลื่อนไหวกับนปช.อีก มาตรการดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างสูง เพราะไม่ทราบว่าเมื่อใดพวกเขาจะถูกเรียกไปรายงานตัวบ้าง และเมื่อรายงานตัวเสร็จแล้วพวกเขาจะมีความปลอดภัยในการอยู่ในพื้นที่หรือไม่ จนเกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนแทรกซึมไปทั่ว[10] บวกกับสถานการณ์ล่าสุดที่มีข่าวความรุนแรงซึ่งดึงดูดความสนใจอย่างมากจากสื่อและสาธารณชนอย่างน้อย 3 กรณีในจังหวัดนครพนม นครราชสีมาและศรีสะเกษ เริ่มจากกรณีคนร้ายยิงนายศุภฤกษ์ ทากิระ แกนนำนปช. จ.นครพนม บาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2553 กรณีคนร้ายสังหารนายศักดิ์นรินทร์ กองแก้ว หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า “อ้วน บัวใหญ่” แกนนำนปช. โคราชเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2553 และสุดท้ายกรณีคนร้ายสังหารนายสวาท ดวงมณี การ์ด นปช. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษและมาถูกสังหารเสียชีวิตที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2553 [11] แม้ว่าตำรวจที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนทั้งสามกรณีนี้ได้ตั้งประเด็นการใช้ความรุนแรงต่อแนวร่วมนปช. ทั้งสามรายไว้หลายประเด็นทั้งเรื่องชู้สาว ขัดผลประโยชน์ และระบุว่าสาเหตุการตายอาจจะไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง แต่จังหวะเวลาและบทบาทของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสามรายในการชุมนุมกับนปช. ก็ทำให้สาธารณชนมิอาจตัดประเด็นเรื่องการเมืองออกไปได้ ดังที่รายงานข่าวบางชิ้นตั้วประเด็นคำถามว่าหรือนี่เป็นสัญญาณบอกเหตุถึงการ “ไล่ล่า” หรือ “เด็ดปีก” แกนนำนปช. ในต่างจังหวัด[12] หากรัฐบาลไม่สามารถเร่งคลี่คลายคดีเหล่านี้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส จะยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้น พร้อมกับบรรยากาศของความหวาดกลัวที่จะแผ่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในต่างจังหวัด ปฏิบัติการเรียกไป “รายงานตัว” และ “เชิญมาทำความเข้าใจ” ของรัฐบาลและศอฉ. แม้ไม่อาจนับว่าเป็นความรุนแรงทางกายภาพ แต่ก็จัดว่าเป็นปฏิบัติการคุกคามทางจิตวิทยา ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการของรัฐไทยที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น โดยอยู่บนฐานความเชื่อว่าประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาจถูกหลอกหรือชักจูงให้หลงผิดโดยผู้ที่ไม่หวังดี รัฐจึงหวังว่าจะใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยานี้ในการกล่อมเกลาและโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นกลับใจได้ นอกจากนั้นยังหวังว่าจะสามารถสร้างความหวาดกลัวจนทำให้กลุ่มบุคคลที่ถูกสอบสวนไม่กล้าที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือสนับสนุนขบวนการทางการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาลอีก ประเด็นที่ต้องชี้คือ ปฏิบัติการทางจิตวิทยาของรัฐในรูปแบบนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมการเมืองไทยอีกต่อไป เนื่องจากการเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การเมืองมวลชนที่ประชาชนไม่ว่าสถานะอาชีพใดล้วนมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูง และรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นทุกคนเลือกตัดสินใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยวิจารณญาณของตัวเอง เลือกที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาลด้วยทัศนะทางการเมืองที่ตนเองสังกัดซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ปฏิบัติการคุกคามทางจิตวิทยาแบบนี้จึงทั้งไม่มีประสิทธิภาพและยังขัดกับหลักการประชาธิปไตยด้วย ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ต้องมีการตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของรัฐในลักษณะที่บิดเบือนซึ่งมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในอนาคตตราบเท่าที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังบังคับใช้อยู่ เฉพาะในกณีการออกคำสั่งเรียกตัวมารายงาน การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเปิดโอกาสให้รัฐใช้อำนาจนอกขอบเขตของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามปรกติ ปิดกั้นโอกาสที่พลเมืองที่ถูกสอบสวนจะตั้งคำถามกับการใช้อำนาจดังกล่าว และไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาฟ้องร้องหรือเรียกร้องความเสียหายทั้งทางแพ่งและอาญาจากรัฐด้วย การปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ถูกสอบสวนนำทนายไปร่วมรับฟังระหว่างการสอบสวนถือเป็นตัวอย่างที่ชัดแจ้งประการหนึ่งถึงการละเมิดสิทธิที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงมี และขัดกับคำกล่าวอ้างของรัฐบาลที่อ้างว่าจะปฏิบัติการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมาย[13] การคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ประการแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวดร.สุธาชัยไปคุมขังโดยไม่ได้มีข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน และปราศจากหลักฐานอันชัดแจ้ง จนกระทั่งสามสี่วันผ่านไป ดีเอสไอจึงแจ้งข้อหาให้ดร.สุธาชัยทราบว่าเป็นแกนนำนปช.รุ่นที่ 2 และเตรียมการชุมนุม ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทางดร.สุธาชัยได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในข้อหาดังกล่าว แต่ศาลได้พิจารณาว่าทางศอฉ.มีอำนาจ จึงไม่รับฟังข้อทักท้วง และอนุญาตให้ทางเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวต่อไป จนกระทั่งวันปล่อยตัว ศอฉ.จึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหานายสุธาชัยว่าฝ่านฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยชุมนุมเกิน 5 คน ประการที่สอง ในช่วงที่กักขังตัวไว้ ไม่มีกำหนดวันคุมขังที่แน่นอน และปราศจากคำอธิบายที่มีเหตุมีผลว่าเหตุใดจึงต้องกักขังหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ต่อไป ประการที่สาม ไม่ให้ติดต่อสื่อสาร ไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์หรือติดตามข่าวสารทางวิทยุหรือโทรทัศน์ (ในส่วนตำราวิชาการเพื่อเตรียมการสอน ก็ไม่อนุญาตให้อ่าน จนกระทั่งดร.สุธาชัยอดอาหารประท้วง จึงยินยอมผ่อนผันในเวลาต่อมา) ทั้งยังไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าเยี่ยมยกเว้นภรรยาและทนายความเท่านั้น แต่ในวันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่อนุญาตให้ภรรยาและทนายเข้าเยี่ยม ประการที่สี่ เจ้าหน้าที่รัฐขาดซึ่งมนุษยธรรม โดยไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวให้ดร.สุธาชัยมีโอกาสไปร่วมพิธีศพของพ่อตาตามขนบธรรมเนียมประเพณี การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ถือได้ว่าผิดกฏหมายและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เพราะแม้แต่ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ระบุว่าห้ามควบคุมตัวหรือประพฤติกับผู้ต้องสงสัยเสมือนนักโทษ ทั้งนี้นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยซึ่งถูกจับกุมตัวไปพร้อมดร.สุธาชัย และกักขังไว้ในที่เดียวกันเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน รวมระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวทั้งสิ้นร่วมสามสัปดาห์ โดยที่ไม่มีการตั้งข้อหาที่ชัดเจนในขณะที่ถูกจับกุมตัวไปเช่นเดียวกัยนายสุธาชัย[15] การซ้อมในเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่รายงานมาจากทนายความที่เข้าไปช่วยเหลือคดีให้กับผู้ที่ถูกจับกุมตัวไปว่า มีการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมในเรือนจำอีกสองกรณีในเรือนจำคลองเปรมว่า มีการซ้อมผู้ต้องหาในบางแดน (แดน 5, แดน 8) โดยเจ้าพนักงานและผู้ต้องขังรายอื่น[17] ปัจจุบันการติดตามข้อมูลในกรณีนี้เป็นได้ด้วยความยากลำบากเนื่องจากการปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงผู้ถูกกักขัง รวมทั้งความหวาดกลัวในการให้ข้อมูลในเรื่องนี้ด้วย การคุกคามครอบครัวของแกนนำผู้ชุมนุม[18] ทั้งนี้เมื่อครอบครัวของนายวีระสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ให้คำตอบว่าเป็นการเข้าใจผิด เพราะคิดว่าบุตรชายของนายวีระคือนายวีระเนื่องจากขับรถคันเดียวกัน โดยก่อนหน้านั้นสองวันเจ้าหน้าที่ได้บุกค้นบ้านของนายวีระด้วย โดยมีเพียงแต่บุตรชายนายวีระอยู่ในขณะเกิดเหตุตรวจค้น ต่อกรณีนี้ ไม่มีการปฏิเสธอย่างเป็นทางการหรือให้คำตอบที่แน่ชัดจากรัฐบาล ซึ่งทำให้ยิ่งมีคำถามมากขึ้นต่อปฏิบัติการของรัฐว่ามีนโยบายหรือคำสั่งให้ใช้มาตรการข่มขู่บุคคลในครอบครัวแกนนำอย่างตั้งใจหรือไม่ การจับกุมและคุมขังอย่างเหวี่ยงแห เริ่มจากวันที่ 15 พ.ค. ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด 27 คนที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยผิดกฎหมายให้จำคุก 6 เดือนสารภาพลดเหลือ 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้ง 27 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 ศาลแขวงปทุมวันจึงได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งหมดโดยลงโทษบทหนักที่สุดตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18 ให้จำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 27 คนรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ[19] มีการตั้งคำถามถึงกระบวนการไต่สวนที่รวบรัดและสิทธิในการเข้าถึงทนายของผู้ต้องหา วันที่ 24 พฤษภาคม พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้สรุปบัญชีที่ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ และควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งสิ้น 75 หมาย โดยจับกุมตามหมายจับแล้ว 22 หมาย ส่วนที่เหลืออีก 53 หมาย อยู่ระหว่างติดตามสืบสวนจับกุม ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น. เปิดเผยว่า สรุปตัวเลขคนที่ถูกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนี้มีทั้งหมด 85 รายทั่วประเทศ อยู่ในกทม. 84 ราย ต่างจังหวัดแค่ 1 ราย โดยใน 84 รายจับแล้ว 31 ราย โดยยังมีคุมอยู่และปล่อยไปแล้วก็มี ส่วนที่จับไม่ได้ 53 รายนั้น นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย ส่วนหมายจับอาญาทั้งประเทศมี 819 ราย อยู่ใน กทม. 32 ราย และต่างจังหวัด 787 ราย นอกจากนั้นทางเว็บไซต์กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปยอดผู้ต้องหาคดีอาญาที่ถูกควบคุม ขัง หรือกักขัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา มียอดรวมทั้งสิ้น 417 คน แบ่งเป็นกรุงเพทฯ จำนวน 221 คน ปทุมธานี 14 คน สมุทรปราการ 8 คน พระนครศรีอยุธยา 18 คน อุบลราชธานี 29 คน ขอนแก่น 6 คน มุกดาหาร 19 คน อุดรธานี 80 คน เชียงใหม่ 5 คน เชียงราย 10 คน น่าน 5 คน และนครปฐม 2 คน[20] นอกจากกรณีข้างต้นซึ่งปรากฏเป็นข่าวทางสื่อและแถลงโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human Right Watch) ได้ตั้งประเด็นที่สำคัญว่า “ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงแต่ตัวเลขผู้ที่ถูกจับกุมตามหมายจับและมีการตั้งข้อกล่าวหาแล้ว ว่ามีจำนวนกว่า 400 คน แต่สำหรับผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินและไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ยังไม่เคยมีการแถลงจากหน่วยงานใดเลยว่า มีจำนวนเท่าใด ถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน และมีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง”[21] นอกจากองค์กรด้านสิทธิแล้วอาสาสมัครที่ทำงานในการติดตามคนหาย และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งก็ตั้งคำถามเช่นกันว่าอาจจะมีการควบคุมตัวบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว โดยเฉพาะในช่วงหลังการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ นอกจากประเด็นเรื่องจำนวนที่ไม่ทราบแน่ชัดแล้ว บริบทของการถูกจับกุมก็เป็นประเด็นที่ทำให้มีการตั้งคำถามได้มากเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฏหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.)[22] ระบุว่ามีบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมหลายกรณีโดนเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวไปโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าถูกควบคุมตัวไปด้วยข้อหาอะไร ทั้งยังพบว่าหลายคนที่ถูกจับกุมตัวไปไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่เพียงแค่ไปสังเกตการณ์ในบริเวณดังกล่าวเท่านั้น กรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งที่แจ้งเข้ามากับทางศูนย์รับเรื่องฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ สำหรับผลกระทบด้านการงาน ปกตินาย ก. ทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท ได้เงินเดือนไม่ถึงหมื่นบาท เมื่อถูกจับกุม นายจ้างพอเข้าใจ ไม่ไล่ออก แต่ได้หักเงินนาย ก. วันละ 350 บาทในกรณีที่หาคนแทนได้ แต่กรณีที่หาคนแทนไม่ได้จะหักวันละ 700 บาท และตัดเบี้ยเลี้ยงทั้งหมด รวมทั้งหมดนาย ก. โดนหักเงินค่าจ้างไป 3,000 กว่าบาท อย่างไรก็ตาม นาย ก. ยังต้องมารายงานตัวที่ศาลโดยตลอด โดยในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ นาย ก. จะต้องไปรายงานตัวที่ศาลแขวงปทุมวันอีกครั้ง นาย ก. แจ้งว่ามีผู้ที่ต้องรายงานตัวพร้อมกับเขา 15 คน (บางคนยังถูกคุมขังอยู่จนถึงวันให้สัมภาษณ์ เพราะญาติเพิ่งเดินเรื่องได้ และเห็นว่ามีอีก 2-3 คนที่ติดต่อใครไม่ได้จึงต้องอยู่ในเรือนจำฯ แต่ไม่ทราบชื่อจริง จึงเช็คไม่ได้) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลด้วยว่ามีลุงคนหนึ่งที่เพียงขับรถบรรทุกกล่องข้าวเพื่อจะเอาข้าวไปให้เพื่อนก็โดนด้วย[23] ต่อกรณีการจับกุมคุมขังตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ทางโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สำคัญอย่างยิ่ง[25] โดยเรียกร้องรัฐบาลให้ หนึ่ง ขอให้รัฐบาลเปิดเผยสถานที่ซึ่งบุคคลถูกควบคุมตัวในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ในขณะนี้ สอง ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะต้องได้รับแจ้งให้ทราบถึงเหตุผลของการควบคุมตัว และได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ในทุกกรณี สาม การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 12 ประกอบ มาตรา 11 (1) นั้น เป็นการควบคุมตัวเพื่อป้องกันเหตุร้าย หรือ Preventive Detention เท่านั้น และจะปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวดังเช่นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้นหากจะต้องมีการสอบปากคำ ผู้ถูกควบคุมตัวจะต้องมีสิทธิได้พบปรึกษาทนายความ และมีสิทธิให้ทนายความเข้ารับฟังการสอบปากคำด้วย และมีสิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง และ ประการสุดท้าย การควบคุมตัวและการขยายระยะเวลาควบคุมตัวนั้นจะต้องมีเหตุผลที่สมควร และเท่าที่จำเป็น โดยที่รัฐบาลต้องดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถใช้สิทธิ คัดค้านการควบคุมตัวได้ และหากมีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้อำนาจควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกต่อไป ตอนท้ายของแถลงการณ์ องค์กรนักสิทธิมนุษยชนข้างต้นยังได้เสนอว่า “ในสภาวการณ์เช่นนี้ การใช้อำนาจของรัฐโดยผ่านกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ และมีการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ย่อมจะส่งผลดีต่อการปฏิบัติภารกิจของรัฐในการนำสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว และส่งผลด้านดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลในสายตาของสังคมระหว่างประเทศ” นอกจากนั้น นางอีลิน เพียร์ซัน รักษาการผู้อำนวยการฮิวแมนท์ ไรท์ วอทช์ (Human Right Watch) ก็แสดงความวิตกกังวลต่อกรณีรัฐบาลไทยใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีอำนาจอย่างกว้างขวาง โดยกล่าวว่าผู้ถูกจับกุมกำลังเสี่ยงที่จะเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ อันตรธานหายตัว ถูกทรมาน และการละเมิดสิทธิในร่างกายอื่นๆ ได้ เมื่อพวกเขาถูกกักขังเป็นเวลานานโดยไม่สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้[26] เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขและนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน[27] โดยให้เหตุผลว่าผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช. โดยที่มิได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต้องถูกนิยามว่าเป็นนักโทษการเมือง ทั้งนี้ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะคิดและแสดงออกถึงความคิด ความเชื่อ และความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ผูกพันประเทศไทย ดังนั้นการที่รัฐจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมจำนวนมากอันเนื่องมาจากการแสดงความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง โดยที่มิได้ใช้ความรุนแรงแต่ประการใด จึงเป็นการกระทำที่มิชอบ แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมตัวนักโทษการเมือง “ยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น เนื่องจากไม่ปรากฎเหตุผลที่เพียงพอว่าบุคคลดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และการควบคุมตัวไว้นั้นจะมีส่วนช่วยในการระงับหรือป้องการเหตุร้ายได้อย่างไร อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งไม่เป็นเหตุฉุกเฉินร้ายแรง ให้จำเป็นต้องใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมตัวบุคคล แม้จะยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินไว้ ก็มิได้หมายความว่ารัฐสามารถใช้อำนาจพิเศษได้ในทุกกรณี หากยังสามารถใช้วิธีการปกติที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าได้”[28] ข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดนี้คงทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามกับปฏิบัติการจับกุมคุมขังอย่างเหวี่ยงแหของรัฐ และเห็นถึงปัญหาความผิดพลาดต่างๆ ในปฏิบัติการดังกล่าว และหากรัฐบาลไม่พิจารณาข้อเสนอและเหตุผลของกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนหลากหลายกลุ่มที่แสดงความห่วงใย แต่เลือกที่จะจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนปช. ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อไป บรรยากาศของความปรองดองคงยากที่จะเกิดขึ้น การซ้อมรบที่มุกดาหาร: การคุกคามรูปแบบใหม่? เมื่อวันที่ 11 มิ.ย..53 มีรายงานข่าวแจ้งว่ามีกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม รวมถึงพาหนะในราชการทหารได้แก่รถยีเอ็มซีและรถหุ้มเกราะแบบล้อยาง เคลื่อนย้ายกำลังลงประจำการในพื้นที่ 5 ตำบลในจังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ ต.ร่มเกล้า, ต.กกแดง, ต.โชคชัย ใน อ.นิคมคำสร้อย และ ต.ป่าไร่, ต.บ้านบาก ใน อ.ดอนตาล โดยได้มีกองกำลังทหารเข้าไปประจำการกว่า 200 คนในแต่ละตำบล โดยนายทหารหัวหน้าชุดปฏิบัติการได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศต่อประชาชนผ่านหอกระจายข่าวในชุมชนว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามาฝึกซ้อมรบในหมู่บ้านก่อนที่จะลงไปปฏิบัติภารกิจในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าชุดกองกำลังดังกล่าวได้แจ้งเพิ่มเติมกับหัวหน้าหน่วยงานราชการในระดับท้องที่ว่า กองกำลังทหารที่เข้าประจำในพื้นที่ได้เคลื่อนย้ายมาจากค่ายพระยอดเมืองขวาง จ.นครพนม และยังได้แจ้งเพิ่มเติมด้วยว่านอกเหนือจากการซ้อมรบแล้วยังเป็นการลงมาเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ กองกำลังดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ตั้งแต่คืนวันที่ 11 มิ.ย. โดยส่วนหนึ่งได้พักอาศัยในบ้านของผู้ใหญ่บ้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วพักอยู่ในโรงเรียนหรือวัดในแต่ละตำบล รายงานข่าวโดยสำนักข่าวประชาไทแจ้งด้วยว่า นอกจากการซ้อมรบโดยใช้อาวุธจริงเป็นอาวุธประจำกายแล้ว ยังมีการฝึกการจัดชุดคุ้มครองติดอาวุธเพื่อคุ้มครองพระสงฆ์ในขณะบิณฑบาตตามท้องถนน การตั้งด่านตรวจสกัดบริเวณทางเข้าชุมชน รวมถึงการซ้อมค้นบ้านของชาวบ้านด้วย โดยในการฝึกซ้อมค้นบ้านนั้นทางทหารได้นำภาพของแกนนำ นปช.ในพื้นที่มุกดาหารเป็นเป้าหมายในการฝึกซ้อม และให้ชาวบ้านลองชี้เป้าว่าบ้านของแกนนำเหล่านั้นอยู่ที่ใด ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมา อ.นิคมคำสร้อย กองกำลังดังกล่าวได้ทำการฝึกที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารมารอบหนึ่งแล้ว “เมื่อถามถึงความรู้สึกของชาวบ้านพบว่า บางส่วนรู้สึกสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น แต่บางส่วนรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจและไม่พอใจภารกิจทางทหารที่พวกเขารู้สึกว่าคุกคามประชาชนครั้งนี้”[30] มีข้อสังเกตว่าพื้นที่ทุกดาหารเป็นหนึ่งในจังหวัดในภาคอีสานที่มีการเผาศาลากลาง (นอกเหนือจากอุดรธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น) และมีจำนวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมอยู่ในอันดับต้นๆ และในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ชาวมุกดาหารมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 104,907 คน หรือประมาณ 75.24% ของผู้ใช้สิทธิในจังหวัดทั้งหมด ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่มจังหวัดในภาคอีสานที่มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ[31] และในช่วงที่มีการชุมนุมของนปช. ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ก็มีการเคลื่อนไหวคู่ขนานของนปช.ในจังหวัดมุกดาหารอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากจังหวัดมุกดาหารจะตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการจิตวิทยาใดๆ ของรัฐ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีการ “ซ้อมรบ” ในลักษณะเดียวกันนี้ในจังหวัดอื่นนอกเหนือมุกดาหารหรือไม่ คำถามที่สำคัญคือ การ “ซ้อมรบ” ดังกล่าวเพิ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในช่วงนี้ หรือว่ามีการซ้อมรบเช่นนี้อยู่นานแล้วในพื้นที่อื่นๆ หากคำตอบคือกรณีแรก ก็ชวนคิดได้ว่า “การซ้อมรบ” ดังกล่าวมีเป้าหมายทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารมากกว่าที่จะเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บทสรุป: ยุติการคุกคามเพื่อยุติรอยร้าวและความรุนแรง ความรุนแรงของรัฐไม่จำกัดอยู่แค่การปราบผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง หากรวมถึงการสร้างความสะพรึงกลัวโดยรัฐ (state terror) ซึ่งจงใจใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมพลเมือง โดยไม่จำกัดอยู่แค่การกำจัดฝ่ายค้านหรือแอคติวิสต์ทางการเมือง แต่จงใจใช้ความรุนแรงเพื่อข่มขู่ ทำให้หวาดผวา และสร้างความสะพรึงกลัวต่อพลเมืองทั่วไปด้วยวิธีการสารพัด (เช่น การจับกุมคุมขัง การตรวจค้นบ้านหรือที่ทำงาน การข่มขุ่คนรอบข้าง การเรียกตัวไปสอบสวน การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย การลอบสังหาร) และถ้ารัฐประชาธิปไตยใดใช้มาตรการความรุนแรงอย่างต่อพลเมืองของตนเองในลักษณะที่เกินขอบเขต ไม่เคารพต่อกฎหมายและไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ย่อมทำลายความชอบธรรมของตนเองและมิอาจเรียกตนเองได้ว่ารัฐประชาธิปไตยอีกต่อไป จากประสบการณ์ของประวัติศาสตร์ในหลายประเทศทั่วโลกพบว่าการที่รัฐคุกคามพลเมืองอย่างต่อเนื่องและเหวี่ยงแหมีแต่จะทำให้สถานการณ์ความไม่สงบเพิ่มสูงขึ้น สังคมมีความแตกแยก พลเมืองขาดความไว้วางใจและเสื่อมศรัทธาต่ออำนาจรัฐมากยิ่งขึ้นจนอาจถึงขั้นการปฏิเสธอำนาจรัฐ และท้ายที่สุดทำให้ระบอบการเมืองไร้เสถียรภาพและรัฐบาลอยู่ในสภาพที่มีอำนาจแต่มิอาจปกครอง ________________________________________ [3] http://www.prachatai2.info/journal/2010/05/29279 [6] มติชนออนไลน์ 15 พ.ค. 2553 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1273932893&grpid=03 [8] รายงานจากชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่น, 2 มิถุนายน 2553. [12] http://www.komchadluek.net/detail/20100614/62740/อ้วนบัวใหญ่หรือนับหนึ่งเด็ดปีกคนเสื้อแดง.html; [20] มติชนออนไลน์ 9 มิ.ย. 2553 http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1276095824&grpid=00&catid และดูรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัว และชื่อพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีเพิ่มเติมใน www.saranitet.police.go.th [26] มติชนออนไลน์, 21 พ.ค. 2553 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274420926&grpid=10 [29]ดูรายงานข่าวที่น่าสนใจนี้ใน “ทหารยกทัพเฝ้าหมู่บ้านในมุกดาหาร อ้างซ้อมรบก่อนลงชายแดนใต้,” ประชาไท, 13 มิ.ย. 2553 http://www.prachatai3.info/journal/2010/06/29969 [32] ดูประสบการณ์ของประเทศอื่นใน Corradi et al. (eds.), Fear at the Edge: State Terror and Resistance in Latin America (California: University of California Press, 1992) และ Carolyn Nordstrom and Joann Martin (eds.), The Paths to Domination, Resistance, and Terror (California: University of California Press, 1992) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
[ปฎิทินกิจกรรม] 19-20 มิ.ย. 53 อภิปรายทางวิชาการ "โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์" Posted: 17 Jun 2010 10:56 AM PDT วันที่ 19 มิถุนายน 2553 ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ <!--break--> เสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2553 9.30-11.00 บทวิเคราะห์ปฏิบัติการความรุนแรงโดยรัฐ (ประเด็นละ 10 นาที) 11.00 – 11.30 สรุปบทวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ต่อความรุนแรงโดยรัฐ 11.30-12.00 ผู้เข้าร่วมการอภิปรายซักถาม 12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศัย 13.00 – 16.00 เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
อาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2553 12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารตามอัธยาศัย 13.00 – 16.00 ทำความเข้าใจขบวนการประชาชน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
การปะทะระหว่างแดงกับเหลืองที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ Posted: 17 Jun 2010 10:29 AM PDT <!--break--> เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1986 มีเสวนาแลกเปลี่ยนที่ยังจำได้ไม่รู้ลืมที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ในอาคารสูงล้อมด้วยกระจกของโรงแรมดุสิตธานี มิกาเอล วิกเกอรี (Michaël Vickery) ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชาโบราณซึ่งใช้ภาษาเขมรได้นำเสนอหนังสือของเขาที่ชื่อว่า กัมพูชา 1975-1982 ต่อผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ เป็นครั้งแรกที่มีผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ที่สามารถเข้าถึงราชอาณาจักรกัมพูชา แสดงปาฐกต่อหน้าสื่อนานาชาติ ซึ่งไม่พอใจรัฐบาลในพนมเปญ ผู้สื่อข่าวเหล่านี้อยากเยือนกัมพูชาหลังการสิ้นสุดเขมรแดง ณ ตอนนั้น มิกาเอล แอดเลอร์ (Michaël Adler) ชาวอเมริกันที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส จากสำนักผู้สื่อข่าวฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ พอล เวเดล (Paul Wedel) หัวหน้าสำนักงาน United Press International- UPI ยังมี ฌาคส์ เบกาแอรต์ (Jacques Bekaert) นักข่าวเผ็ดดุ จากหนังสือพิมพ์ Le Monde ผู้สื่อข่าวจาก บางกอกโพสต์ และแน่นอน มีผู้สนับสนุนของสีหนุ และ รณฤทธิ์ และกลุ่มสมาชิกพรรค ฟุนซินเปค (FUNCINPEC) [1] ห้องโถงแน่นขนัด มีการสนทนาโต้ตอบอย่างไม่หยุดหย่อน และน่าติดตามยิ่ง มีผู้พูดท่านหนึ่งจากครอบครัวค่อนข้างรุ่มรวยด้วยการศึกษาและวัฒนธรรม มีความคิดคมคาย แต่กลับสนับสนุนกัมพูชาที่ถูกลงทัณฑ์อย่างอยุติธรรมจากประชาคมนานาชาติ เย็นอีกวันหนึ่ง น่าจดจำยิ่งเช่นกัน กระทั่งน่าจะบันทึกเป็นโศลกด้วยซ้ำ เป็นประวัติการณ์สำคัญของ FCCT คือเมื่อวันพุธที่ 2 มิถุนายน หัวข้อที่ถกกันคือวิธีการที่สื่อต่างชาติทำงานในพื้นที่การชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีโดมินิค โฟลเดอร์ (Dominic Faulder) นำการเสวนา ผู้ร่วมเสวนามี 4 คน คือ นายสมเถา สุจริตกุล นักประพันธ์เพลง นายสุเมธ ชุมสาย สถาปนิก พนา จันทรวิโรจน์ ผู้อำนวยการข่าวประจำของ The Nation และไกรศักดิ์ ชุณหะวัน สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (จากนครราชสีมา) (มือกีตาร์แนวบลูส์ที่น่าฉงน) ช่วงแรก มีการฉายรายงานข่าวโทรทัศน์เกี่ยวกับ “เหตุการณ์” โดยสำนักข่าว France 24 [2], BBC, CNN, Al Jazeera “ตูม! ตูม! ตูม!” “ปัง! ปัง! ปัง!” “หนึ่ง สอง สาม! ไป ไป ไป!” ด้วยความยาว 12 นาที หนังสั้นแนวสงคราม อัดแน่นด้วยภาพแอคชั่นที่ทำให้มึนหัว (ด้วยกล้องถ่ายวิดีโอที่หมุนไปมาทุกทิศทาง) ช่วงเดียวที่หายใจโล่งปอดคือเมื่อทหารพักหายใจในซอย โอ้! น่าเสียใจ เนลสัน แรนด์ (Nelson Rand) ไปคนหนึ่งแล้ว เราเข้าใจความซับซ้อนของการเมืองไทยดีขึ้นหรือยังหนอ จากภาพที่เห็น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราทำข่าวที่กลายเป็นการมุ่งยกระดับให้เท่าเทียมกับภาพยนตร์อย่าง Saving Private Ryan หรือเหนือชั้นกว่าเสียอีก หรืออาจเป็นการทำภาพยนตร์รอบใหม่เรื่อง Brothers in arms พากย์ภาษาไทย ซึ่งฉุยไปด้วยการปฏิวัติมากกว่าภาพยนตร์เหล่านั้นหลายเท่า การรายงานข่าวของ CNN ที่เป็นผลงานของแดน ริเวอร์ (Dan Rivers) ผู้มีชื่อ นำให้ขบคิดวิเคราะห์มากที่สุด เขาฝ่าวิกฤตแบบเหงื่อตกเพราะเสื้อกันกระสุนและหมวกกันน็อกคุณภาพสูงอย่าง Kevlar ตามด้วยงานของ CNN อันนำมาซึ่งเสียงถากถางเยาะเย้ยทั้งจากคนไทย และคนเอเชียมากมาย อีกทั้งอารมณ์โมโหของคนในห้องนั้นอีกหลายคน อย่าง สุเมธ ชุมสาย วัยเกือบ 70 ปี ผู้มีสกุล อดีตนักศึกษาจาก เลอ กอร์บูซิเยร์(Le Corbusier) ที่ปารีสในสมัยทศวรรษที่ 60 เขาระเบิดออกมาว่า “ขยะ !” น้ำเสียงของเขาเต็มเปี่ยม ตลอดเย็นนั้น มีแต่บรรยากาศเขย่าอารมณ์ท่วมไปด้วยความก้าวร้าวที่อัดเต็มห้อง การพูดโต้ตอบที่เป็นเรื่องเป็นราวเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว สองฝั่งฝ่ายเผชิญหน้ากันและกัน ต่างฝ่ายก็ชัดเจนที่ความเห็นตนเอง ฝั่งหนึ่ง นักข่าวตะวันตกหลายคนผู้รักษาหน้าที่ตน แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้คนรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ข้างเสื้อแดง นักข่าวแปลงสภาพตนเองเป็น “ไพร่” หรืออย่างน้อยก็กลายเป็นเสียงให้กับไพร่ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทยจากชนชั้นผู้มีการศึกษาที่รู้สึกเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากที่กรุงเทพฯถูกทำลาย เสียภาพพจน์ในสายตาชาวต่างชาติ “อำมาตย์” เหล่านี้ไม่ยอมแพ้และปกป้องตัวเองด้วยกรงเล็บและด้วยปาก ราวพวก Coblentz และขุนนางมีสกุลชาวฝรั่งเศสที่มาลี้ภัยในเมืองเขา “เราทุกคนมีการศึกษาจากอังกฤษอย่างคุณอภิสิทธิ์ เชื่อในเกมส์ที่ยุติธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของระบบการศึกษาของรัฐบาลอังกฤษ” สุเมธกล่าว เขายังเท้าความด้วยว่าเขาคือผู้ที่ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป (ผู้ช่วยเหลือให้การศึกษาเด็กในสลัมคลองเตย) จากนั้นก็เสริมว่า “เราเผชิญหน้ากับพวกไร้วัฒนธรรม” ซึ่งเขาหมายถึงพวกคนเสื้อแดง เมื่อพูดประโยคนี้ ทั้งคนไทยและต่างชาติบางคนปรบมือให้เขาอย่างท่วมท้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน เสียงแหบ ๆ แบบคุยตอนนอนละเมอ ก็เกือบจะน้ำตาปริ่ม ๆ เมื่อพูดถึงประเทศของตนที่ถูกทำให้ “แตกสลาย” โดยคนเสื้อแดง “คนในยุโรปเขาคิดว่า ความขัดแย้งนี้เป็นการปฏิวัติทางสังคม โดยสงบ และโรแมนติก… ผมจะไม่ลงเลือกตั้งในนามคนอีสาน เพราะคนเสื้อแดงจะเอาชีวิตผม และหมอหญิง พังค์ถูกกฎหมาย (คุณพรทิพย์) จะมาตรวจสืบศพของผม และคุณทุกคน คุณจะถ่ายรูปศพผม” เขาบีบคอตัวเอง เสียงร้องสนั่นไปยังท้ายห้อง และมีเสียงหัวเราะ นักข่าวชาวตะวันตกสิบกว่าคนที่อยู่หลังไมค์ก็ดูจะระแวดระวัง “มีใครมาจากสื่อไทยบ้าง ?” คน ๆ หนึ่งถาม มีทูตทางสถานทูตสวีเดนที่กล่าวขึ้นมาอย่างฟังดูมีเหตุผลทีเดียว โดยกล่าวถึงความยากเย็นของประเทศของตนในการนำกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนมาปฏิบัติในช่วงปี ค.ศ. 1766 “เราค่อย ๆ เข้าใจทีละน้อยว่า บทบาทของสื่อไม่ใช่เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์ของรัฐบาล” – “แน่นอน ในสวีเดนคุณมีเสรีภาพทางเพศนี่” สุเมธ ชุมสาย โต้ ต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งชิงกันพูด เราแทบจะรอเห็นแก้วลอยหรือการต่อสู้ตัวต่อตัวตามธรรมเนียมที่ดีที่สุดของสภาไต้หวัน ท่ามกลางความปั่นป่วน บางคนก็แสดงออกถึงความมีเหตุมีผล คนแรกโดมินิค โฟลเดอร์ (Dominic Faulder) ซึ่งแสดงบทบาทที่ยากเย็นในการเป็นคนกลางนำเสวนา แต่ดูเหมือนเขาจะสามารถรักษาระเบียบและความเหมาะสมของถกเถียง เมื่อคนไทยบางคนพูดถึง “ นักข่าวชาวตะวันตกไม่มีความรับผิดชอบ” เขาตอบอย่างฟันธงว่า “ผมคิดว่านักข่าวทุกคนที่ทำผิดในการรายงานข่าวก็ต้องชดใช้ ถูกตัดสินจากผู้ทำหน้าที่ด้านสื่อ” พนา จันทร์วิโรจน์ รักษาท่าทีสงบได้ และให้ข้อมูลที่ฟังน่าสนใจโดยอธิบายว่า “กลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่างก็มีคนรายงานข่าวของตน กลุ่มผู้มีผลประโยชน์แทรกอยู่ในรัฐบาล และในสื่อที่แพร่หลาย พวกเขาได้ข้อมูลมาและทำตนเป็นเหมือนนักสืบ” กล่าวถึงปัจจัยทางวัฒนธรรม ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง คือ ทำไมท่ามกลางกลุ่มคนไทยผู้มีการศึกษา จึงทึกทักเอาว่า แม้ว่า “ฝรั่ง” ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยหลายปีแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่แท้จริงของไทย วงการต่าง ๆ ในสังคม และพฤติกรรมแบบไทย สมเถายิงคำตอบ “ผมเองก็เคยเป็นเหยื่อของการเชื่อลอย ๆ ของคน เมื่อผมกลับมาจากอเมริกา คนหาว่าผมมีวิธีมองอย่างคนตะวันตก คนไทยมีประสบการณ์ร้าย ๆ มาในอดีต แต่สิ่งนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนไป” ประสบการณ์ร้าย ๆ....เขาพูดถึงอะไร คอนสแตน ฟอลคอน (Constance Phaulkon) หรือ หมาป่าฝรั่งเศสกับแกะสยามอย่างนั้นหรือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่ชาวฝรั่งเศสกับอังกฤษต้องการให้เมืองไทยชดใช้ที่สมคบกับญี่ปุ่นอย่างนั้นหรือ น่าเสียดายที่สมเถาไม่พูดต่อ ถ้าเย็นวันนั้นเป็นวันที่น่าจดจำ ด้วยเพราะการถกเถียงที่เข้มข้น บรรยากาศคุกรุ่นกำลังแรง แต่ก็น่าจะยอมรับว่าเป็นการเสวนาที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาไม่ได้เกิดจากนักข่าวชาวตะวันตกที่ไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตนต่อการนำเสนอข่าวความเป็นไปในเมืองไทย “ทำอย่างกับว่าพวกเขาสามารถทำหน้าที่ได้ในทุกประเทศขนาดกลาง ๆ แบบนี้อย่างนั้นแหละ” นี้เป็นทัศนะจากจูเลียน สปินด์เลอร์ (Julian Spindler) ปัญหามาจากประเทศไทยต่างหากที่พลิกผันเพราะถูกกระแทกราวถูกแผ่นดินไหว และอาจต้องใช้เวลาในการทำให้สภาวะมั่นคงกลับมาอีกครั้ง ปัญหาเกิดจากคนไทยที่ปิดหูปิดตาตัวเองมานานเกินไป เกิดจากกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงนี้ หัวกะทิเหล่านี้ที่ไม่จัดให้เกิดการศึกษาและตามทันยุคสมัยให้กับคนต่างจังหวัด ไม่ให้คนต่างจังหวัดได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา พนา จันทร์วิโรจน์ กล่าวว่า “คนไทยที่มีการศึกษาส่วนใหญ่ไม่โง่เขลา ในแง่ว่าเขามองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียม (ในสังคมไทย) อย่างชัดเจน” แต่หากพวกเขาเห็นแล้ว ทำไมรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า และพวกหัวกะทิในสังคม ชนชั้นกลาง ไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้คนในประเทศมีระดับเดียวกันทุกคน แทนที่จะหน่วงตัวเองไว้กับความสบายในห้องรวมศิลปินและนักเขียนของชาวกรุงเทพฯ แค่นั้น และทำไมสื่อส่วนหนึ่งของไทย (ยกเว้นสื่อและนักข่าวบางคนอย่างหนังสือพิมพ์มติชน ประวิทย์ โรจนพฤกษ์จาก The Nation ผู้วิเคราะห์ข่าวอย่าง “ช้างน้อย” และ ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์) โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์จึงไม่ทำหน้าที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของระบบประชาธิปไตย ลึก ๆ แล้วเป็นปัญหาด้านวัฒนธรรมที่โยงกับความจริง (หรือสิ่งที่เป็นจริง) ในประเทศไทย ความจริงไม่สามารถนำมาพูดได้ทุกอย่างไป ดีที่จะพูดหากความจริงนั้นเป็นบวก ย้อนความจำ : เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา นักข่าวสองคนถูกฆ่าด้วยกระสุนทั้งที่เขากำลังทำหน้าที่ในขณะที่เกิดวิกฤตการเมืองในประเทศไทย คือฮิโรชิ มุราโมโตะ (จาก JRI และ จากสำนักข่าว REUTER) และฟาบิโอ โปเลนจิ( Fabio Polenghi-ช่างภาพอิสระ) นักข่าวอีกอย่างน้อยเป็นสิบคนที่ได้รับบาดเจ็บ ในบรรดาสิบกว่าคนนั้น มี Nelson Rand (France 24), Chandler Vandergrift (สื่อมวลชนอิสระ), ชัยวัฒน์ พุ่มพวง (ช่างภาพจากเดอะเนชั่น), ไมเคิล มาอาส (Michel Maas -ผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ชาวเนเธอร์แลนด์), แอนดรูว์ บันคอมบ์ (Andrew Buncombe - ผู้สื่อข่าวจาก The Independent) และช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์มติชน หมายเหตุผู้แปล * ผู้เขียนเป็นผู้สื่อข่าวให้กับ France 24 [1] พรรคฟุนซินเปค เป็นพรรคการเมืองขนาดกลางที่ตั้งขึ้นโดนฝ่ายนิยมสมเด็จนโรดมสีหนุ เมื่อ พ.ศ. 2536 มีแนวทางนิยมในสถาบันกษัตริย์ [2] FRANCE 24 คือสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสที่เสนอข่าวนานาชาติแห่งแรกที่ออกอากาศ 24 ชั่วโมง และ ตลอดสัปดาห์ จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2006 โดยนำเสนอมุมมองและความรู้สึกของคนฝรั่งเศสต่อความเป็นไปในโลก เป็นสถานีที่มีความเฉพาะตัว คือ เขียนและเสนอข่าวด้วยความเคารพในความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับความแตกต่างของระบอบการเมืองและวิถีวัฒนธรรม ทั้งยังถอดรหัสหรือเข้าถึงเบื้องลึกของข่าวเพื่อให้ส่วนที่ซ่อนอยู่หรือถูกปิดกั้นได้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน สุดท้าย ให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้านวัฒนธรรมและศิลปะการใช้ชีวิต FRANCE 24 นำเสนอข้อเขียนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสนับแต่ปี 2006 และมีภาษาอาหรับตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2007 เตรียมจะนำเสนอเป็นภาษาเสปนต่อไป เป็นสถานีหาดูได้ทั่วโลก ผ่านดาวเทียม เคเบิ้ล และ อินเตอร์เน็ท FRANCE 24 เข้าสู่สายตาผู้นำทางความคิดในยุโรปนับแต่เริ่มเปิดตัว รวมถึงตะวันออกกลาง อัฟริกา และเมืองใหญ่ ๆ อย่างนิวยอร์ค วอชิงตัน ดีซี คณะทำงาน FRANCE 24 มีอิสรภาพในการเขียนข่าว และเหตุนี้จึงสามารถฉายภาพหรือทำรายงานข่าวที่ไม่มีการตัดต่อใด ๆ ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ตั้งอยู่ที่ Issy-les-Moulineaux ใกล้กับปารีส มีสถานี TF1, France 2, France 3 เป็นผู้ร่วมกิจการ ได้รับข่าวส่งทอดบางชิ้นจาก Agence Presse-France, Arte, TV5MONDE, Euronews, France Internationale และ La Chaîne Parlementaire มีงบประมาณทุน 80 ล้านยูโร ต่อปี เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2008 Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศต้องการยุบให้เหลือภาษาฝรั่งเศสเพียงภาษาเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจาก France 24 แล้วก็ไม่ค่อยมีโอกาสมากนักที่จะได้เห็นการรายงานข่าวภาษายุโรปที่มีผู้ประกาศข่าวที่เป็นคนผิวสี"
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กวีประชาไท : อื่อจา 519 (หม้ายประชาธิปไตย) Posted: 17 Jun 2010 08:05 AM PDT <!--break--> อื่อ อื่อ จา จา อื่อ อื่อ จา จา อื่อ อื่อ จา จา อื่อ อื่อ จา จา อื่อ อื่อ จา จา อื่อ อื่อ จา จา อื่อ อื่อ จา จา (มันบ่เหมือนเดิม...อื่อจา) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ธงชัย วินิจจะกูล : 'ระบอบอภิสิทธิ์' คืออะไร? มาร์ค = มาร์คอส? Posted: 17 Jun 2010 07:51 AM PDT <!--break--> สัญญาณหลายอย่างเผยตัวออกมาชัดเจนขึ้นทุกทีว่า “ระบอบอภิสิทธิ์” คืออะไร? รัฐบาลนี้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ฝ่ายตนร่างขึ้นมาเอง ในทางปฏิบัติ คือการงดใช้รัฐธรรมนูญตามใจชอบ และทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายสูงสุดยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ ควบคุมข่าวสารเด็ดขาด กวาดล้างจับกุมคุมขังผู้คนโดยไม่ต้องสนใจกระบวนการยุติธรรมหรือสิทธิของผู้คน ข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่ต่างกับ (หรือยิ่งกว่า) เผด็จการทหาร โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและชนบทที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการมากถึงขนาดที่พูดข้างเดียว ฟังพวกเดียว ไม่แยแสว่าสิ่งที่ตนพูดจะสมเหตุสมผลหรือไม่ โกหกก็ไม่ต้องแคร์ ถูๆ ไถๆ ข้างๆ คูๆ ก็ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะน่าเชื่อหรือไม่ อาศัยอำนาจ (ปืนและสื่อ) ยัดเยียดประเด็นและคำอธิบายของตนให้แก่สังคม ทำมากๆ เข้าจนความเท็จกลายเป็นความจริง เรื่องไม่มีมูลกลายเป็นประเด็น หลังประหัตประหารผู้คนเสร็จ ในขณะที่ทำการกวาดล้างจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก ก็ปรึกษาพวกเดียวกันว่าจะ “ปรองดอง” คือทำยังไงไม่ให้มวลชนลุกฮือต่อต้านอีก ความอยุติธรรมแบบ “สองมาตรฐาน” ยิ่งหนักกว่าเดิม แถมทำกันอย่างโจ๋งครึ่มโดยไม่ต้องปฏิเสธหรือแก้ตัวอีกต่อไปแล้ว ทั้งผีทักษิณและผู้ก่อการร้ายเป็นการหาเหตุเพื่อการปราบปราม แต่จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานเพื่อหาเหตุให้คงรักษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและชนบทที่เป็นฐานของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อความสงบหลังปราบปรามการชุมนุมเสื้อแดงเท่านั้น แต่เพื่อทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อรักษาอำนาจของระบอบอภิสิทธิ์ด้วย ระบอบอภิสิทธิ์คืออะไร? คือระบอบค้ำจุนอภิชนภายใต้รูปโฉมประชาธิปไตย อาศัยการเลือกตั้งและนิติรัฐเป็นความชอบธรรม อาศัยปืนและตุลาการเป็นอำนาจที่แท้จริง อาศัยประชาสังคมของอภิสิทธิชนเป็นฐานมวลชนโดยมีสื่อหลักๆ และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนคนสำคัญๆ เป็นผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองในประชาสังคมนั้น ครั้นถูกต่อต้าน ระบอบอภิสิทธิ์ก็เผยตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นประชาธิปไตยแบบหนา ด้านได้อายอด เอาทั้งเล่ห์กล มนต์คาถา (โฆษณาชวนเชื่อ) สื่อเส้นหนาของอภิสิทธิชนประเภทต่างๆ (ปัญญาชน รัฐบาล และเหนือรัฐบาล) กฎหมายอัปลักษณ์ทั้งหลาย (กม.หมิ่นฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น) และนักสิทธิมนุษยชนกำมะลอ มาช่วยกันยัดเยียดให้ประชาชนต้องทนรับ พวกเขาพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2550 แต่ไม่สำเร็จ คราวนี้จึงต้องโหดกว่าเดิม เด็ดขาดกว่าเดิม เหวี่ยงแหกว่าเดิม ภายใต้ข้ออ้างเดิมๆ ว่าเพื่อต่อสู้กับการซื้อเสียงและผีทักษิณ เนื้อแท้ของระบอบอภิสิทธิ์คืออำนาจนิยมโดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอื่นๆ ที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลของอภิชนเหนือกว่ารัฐธรรมนูญใดๆ จะให้ได้ นี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่พวกเขาพยายามสร้างขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ทว่ายังไม่สำเร็จสักที หากการเลือกตั้งคราวหน้ายังไม่สามารถรับประกันชัยชนะของระบอบอภิสิทธิ์ได้ เขาก็จะอ้างความไม่สงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งเป็นเหตุเพื่อบิดเบือนผลการเลือกตั้ง หรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะชนะแน่ๆ เสียก่อน นี่ไม่ใช่เส้นทางแบบพม่าดังที่มักกล่าวกัน แต่ตัวอย่างของอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จของพลเรือนคือ "ระบอบมาร์คอส" ของฟิลิปปินส์ มาร์คอสไต่เต้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง แต่รักษาอำนาจด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอำนาจกองทัพ โดยอ้างว่าต้องรักษาความสงบต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เขาอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. เหนือรัฐธรรมนูญ เข้ากวาดล้างจับกุมทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างเด็ดขาดโหดร้าย แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจในระยะแรกทำให้ระบอบมาร์คอสได้รับความสนับสนุนจากสาธารณชนโดยเฉพาะคนเมืองผู้มีอันจะกินอย่างมาก ครั้นใกล้หมดเทอมของตน เขาก็แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ระบอบของเขามีอำนาจต่อไปได้ด้วยการอ้างผู้ก่อการร้ายเช่นเคย มาร์ค กับ มาร์คอส คือชื่อเดียวกัน ในคนละภาษาเท่านั้นเอง ประเด็นสำคัญมิได้อยู่ที่ระบอบอภิสิทธิ์ใกล้เคียงหรือต่างกับระบอบมาร์คอสมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ลัทธิบูชาบุคคลของระบอบมาร์คอสบูชาตัวมาร์คอสเอง แต่นายมาร์คเป็นเพียงผู้รับใช้คนหนึ่งเท่านั้น ประเด็นน่าคิดก็คือ ถ้าอภิสิทธ์ชนของไทยหน้ามืดตามัวถึงขนาดเลือกทางเดินเดียวกับระบอบมาร์คอส เพื่อต่ออายุอำนาจของตนไว้ในระยะใกล้ น่าคิดว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ (หรือฟิลิปปินส์ๆ) จะเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายของอภิชนาธิปไตยไทยจริงๆ ปัญญาชนนักวิชาการ บรรณาธิการผู้ทรงอิทธิพล ผู้ประกาศข่าวอันมีชื่อเสียงทั้งหลาย จงช่วยกันเร่งฟืน เพิ่มความร้อนแรงของรถขบวนสุดท้ายนี้เข้าไปเถิด แล้วอย่ามาร้องหาความยุติธรรมในวันที่รถไฟตกรางก็แล้วกัน เพราะรถไฟสายอภิชนกำลังวิ่งสวนทางกับรถไฟสาย “ความเปลี่ยนแปลง” และไม่มีทางหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากสถานีมาแล้ว เพราะพวกท่านทำให้สังคมมืดบอดกันไปหมด อันจะทำให้รถไฟอภิชนตกรางอย่างรุนแรง พวกท่านขาดสติยั้งคิดถึงอนาคตเสียจนท่านเองเป็นผู้ทำร้ายสิ่งที่พวกท่านบูชา เพราะ "ระบอบอภิสิทธิ์" จะกัดกร่อนทำลายอภิชนเองในที่สุด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พนง.สัญญาจ้าง มศว. ประท้วง ถูกยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม Posted: 17 Jun 2010 07:50 AM PDT <!--break--> 17 มิ.ย. 53 - เกิดความไม่พอใจของพนักงานสัญญาจ้างของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิต (มศว) กว่า 500 คน โดยมีการนัดรวมตัวกันในวันที่ 18 มิถุนายน 2553 เวลา 12.30 น. ที่อาคารการวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มศว ประสานมิตร (ข้างสนามฟุตบอล) เพื่อขอความเป็นธรรมกับฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยฯ เนื่องจากพนักงานเหล่านี้ได้ทำสัญญาจ้างในการเข้าทำงานเป็นพนักงาน โดยมีเงื่อนไขการบรรจุเป็นข้าราชการหลังจากนั้น 5 ปี แต่พบว่า บางคนมีอายุงานเกือบ 10 ปี ก็ไม่ได้รับการบรรจุ สุดท้ายมหาวิทยาลัย แทนที่จะบรรจุพนักงานตามกฎหมาย กลับหาทางออก ด้วยการยกเลิกระเบียบมหาวิทยาลัย ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2544 และออกข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วย พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2552 ฉบับ ใหม่ และประกาศใช้ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2552 มีผลให้พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนต้องทำสัญญาจ้าง มีระยะเวลาจ้างครั้งละไม่เกิน 5 ปีงบประมาณ ทั้งนี้พนักงานกลุ่มดังกล่าวที่ถูกละเมิดสัญญาจ้าง ไม่สามารถใช้กฎหมายแรงงาน ไม่มีทางออกมากนัก จึงจำเป็นต้องออกมาร้องขอความเป็นธรรม สำหรับความกังวลและผลกระทบที่ได้รับนั้น มีดังนี้ 1.อายุสัญญาจ้างที่จำกัดทำให้พนักงานขาดโอกาสในการขอสินเชื่อและทำนิติกรรมกับสถาบันการเงินหลาย แห่งที่อนุมัติการกู้เงินตามอายุสัญญาจ้าง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ มศว หรือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ พบว่าพนักงานหลายคนถูกปฏิเสธการขอกู้ซื้อบ้าน 2.การเป็นพนักงานตามอายุสัญญาของบุคลากรสายวิชาการ อาจนำไปสู่ การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการของ คณาจารย์ที่มีต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นอาจถูกจำกัดด้วยความกังวลว่าจะไม่ได้รับการต่อสัญญา 3.มหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาคนดีคนเก่งไว้ในองค์กร โดยสะท้อนจากข้อมูลอัตราการลาออกที่สูงของพนักงานในปีที่ผ่านมา 4.พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการคุ้มครองความมั่นคงในการทำงาน ดังที่เคยคาดไว้เมื่อเข้าทำงานครั้งแรก ซึ่งหากทราบว่าจะมีการแก้ไขสัญญาจ้างอาจมีผลต่อการพิจารณาเข้าทำงานตั้งแต่ต้น ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสื้อแดง รถถัง ปืน ประชาธิปไตย: จงแต่งประโยคจากคำที่กำหนดให้ Posted: 17 Jun 2010 07:18 AM PDT <!--break--> ความเรียงสะเปะสะปะนี้ เขียนขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553
เสื้อแดง: อภิสิทธิ์: รถถัง: เฮลิคอปเตอร์: แก๊สน้ำตา: ปืน: สงคราม: ศพ: ความเหลื่อมล้ำ: ถนนราชดำเนิน: ความตาย: ประชาธิปไตย:
---------------------------
-------------------------- วันเสาร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ สถานที่ สวนเงินมีมา ถนนเจริญนคร ระหว่างซอย ๒๐ และ ๒๒ กรุงเทพฯ ๐๘๓๐ - ๐๙๐๐ น. ๐๙๐๐ - ๐๙๑๕ น. ๐๙๑๕ - ๑๐๐๐ น. ๑๐๐๐ - ๑๐๒๐ น. ๑๐๒๐ - ๑๐๓๐ น. ๑๐๓๐ - ๑๒๓๐ น. ๑๒๓๐ - ๑๓๐๐ น. ๑๓๐๐ - ๑๔๓๐ น. ๑๔๔๕ - ๑๖๑๕ น. ๑๖๑๕ - ๑๖๓๐ น. ๑๖๓๐ - ๑๖๔๕ น. ๑๖๔๕ - ๑๗๐๐ น. ศิลปะการแสดงสดและขับบทกวี ๑๗๐๐ - ๑๙๐๐ น. การแสดงดนตรี โดยศิลปินไร้สังกัด ๑๙๐๐ น. ภาพยนตร์กลางแปลง ผู้รับผิดชอบโครงการ * หมายเหตุ วิทยากรทั้งหมดอยู่ในระหว่างประสานงาน "We could forgive but we could not forget" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กกต.พม่าอนุมัติพรรคการเมืองว้าร่วมเลือกตั้ง-รัฐบาลตัดชุดไทใหญ่เตรียมใช้หาเสียง Posted: 17 Jun 2010 07:09 AM PDT คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าอนุมัติสองพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ร่วมเลือกตั้ง ขณะที่พรรคองค์กรการเมืองทัพว้าซึ่งขอจดทะเบียนด้วยยังไร้วี่แวว ด้านรัฐบาลพม่า ระดมช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในรัฐฉาน ช่วยตัดชุดไทใหญ่รูปแบบสมัยเจ้าฟ้านับร้อยชุด เตรียมให้สมาชิกใส่หาเสียงเลือกตั้ง <!--break--> กกต.พม่าอนุมัติพรรคการเมืองชาติพันธุ์ว้า ร่วมเลือกตั้ง (SHAN 16 มิ.ย. 53) คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าอนุมัติสองพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ร่วมเลือกตั้ง ขณะที่พรรคองค์กรการเมืองทัพว้าซึ่งขอจดทะเบียนด้วยยังไร้วี่แวว มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการเลือกตั้งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่า ได้อนุมัติการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า 2 พรรค ที่ยื่นขออนุญาตจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อร่วมการเลือกตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งพรรคที่ได้รับการอนุมัติ ประกอบด้วย พรรคเอกภาพแห่งชาติว้า Wa National Unity Party-WNUP และ พรรคประชาธิปไตยว้า Wa Democratic Party-WDP ทั้งนี้ พรรค WDP ก่อตั้งโดยอดีตสมาชิกพรรคสังคมนิยมพม่า Burma Socialist Program Party (BSPP) ซึ่งเดิมทีเป็นพรรคเอกภาพแห่งชาติ National Unity Party (NUP) ต่อมาเปลี่ยนเป็นสมาคมสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDA) มีขุนทุนลู อายุ 60 ปี เป็นประธาน ส่วนพรรค WNUP ถ่ายโอนจากพรรคพัฒนาชาติว้า Wa National Development Party – WNDP ปัจจุบันมีนายฟิลิป สาม เป็นประธาน เจ้าหน้าที่ระดับสูงกองทัพสหรัฐว้า UWSA คนหนึ่งแสดงความเห็นว่า มีเพียงพรรคเอกภาพแห่งชาติว้า (Wa National Unity Party -WNUP) ที่พอจะเป็นตัวแทนให้กับประชาชนว้า ส่วนพรรคประชาธิปไตยว้า (WDP) คงจะเป็นพรรคสร้างคุณประโยชน์ให้กับรัฐบาลทหารพม่ามากกว่า มีรายงานด้วยว่า พรรคสหรัฐว้า United Wa State Party – UWSP อันเป็นพรรคการเมืองของกองทัพสหรัฐว้า UWSA ซึ่งได้ขอจดทะเบียนเพื่อร่วมแข่งขันการเลือกตั้งด้วย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พรรคการเมืองของว้าที่ได้รับการอนุมัติ จะลงหาเสียงในพื้นที่ใดของรัฐฉานบ้าง ขณะที่พื้นที่ปกครองของว้าในภาคตะวันออกของรัฐฉาน มีทั้งหมด 6 อำแภอ ได้แก่ ปางซาง, เมืองใหม่, โหป่าง, ปางหวาย, นาพาน, และหมากหมาง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายอำเภอในรัฐฉานที่มีประชากรว้าอาศัยอยู่ เช่น เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ เมืองสาด เมืองโต๋น ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ และเมืองเชียงตุง ตรงข้ามจังหวัดเชียงราย
รัฐบาลพม่าระดมช่างตัดชุดไทใหญ่เตรียมใส่หาเสียง (SHAN 15 มิ.ย. 53) - รัฐบาลทหารพม่าระดมช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในรัฐฉาน ช่วยตัดชุดไทใหญ่รูปแบบสมัยเจ้าฟ้านับร้อยชุด เตรียมให้สมาชิกใส่หาเสียงเลือกตั้ง มีรายงาน จากแหล่งข่าวรัฐฉานภาคเหนือว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าระดมเกณฑ์ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในรัฐฉานภาคเหนือ หลายเมือง เช่น เมืองล่าเสี้ยว เมืองหมู่แจ้ เมืองจ๊อกแม เมืองกุ๋นโหลง และเมืองเหล่ากาย (เขตโกก้าง) ไปยังกรุงเนปิดอว์ เพื่อช่วยตัดเย็บชุดไทใหญ่นับร้อยชุด เตรียมให้สมาชิกสวมใส่หาเสียงเลือกตั้ง ผู้ใกล้ชิดช่างตัดเย็บผ้าคนหนึ่งเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ทหารพม่าได้เรียกช่างตัดเย็บเสื้อผ้าจากเมืองหมู่แจ้ และเมืองน้ำคำ จำนวน 18 คน ไปรวมกันที่เมืองล่าเสี้ยว จากนั้นได้คัดเอาช่างที่มีความชำนาญมากที่สุดจำนวน 3 คน ส่งไปยังกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของรัฐบาลทหารพม่า อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุจะให้ค่าจ้างในการจัดเย็บเท่าไหร่ ซึ่งกล่าวเพียงว่า หลังเสร็จงานจะมีการมอบเกียรติบัตรผ่านการอบรมตัดเย็บเสื้อผ้าให้ แหล่งข่าวเผยอีกว่า เจ้าหน้าที่พม่ากำหนดให้ช่างตัดเย็บผ้า 3 คน ช่วยกันตัดเย็บชุดไทใหญ่ให้อย่างน้อย 100 ชุด ซึ่งชุดที่ตัดเย็บจะใช้ผ้าแพรและเน้นการตัดเย็บตามรูปแบบชุดที่นิยมสวมใส่สมัยเจ้าฟ้าปกครองเมือง ซึ่งทราบว่า เจ้าหน้าที่สมาคมสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDA ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล จะนำไปสวมใส่ระหว่างการหาเสียงในรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และภาคสะกายในพม่า ขณะที่มีข่าวลือว่า ชุดไทใหญ่ที่รัฐบาลพม่ากำลังสั่งตัดเย็บนั้น พล.อ.เต็งเส่ง อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะที่ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลทหารพม่า และหันไปจัดตั้งพรรคการเมืองในชื่อ พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDP ซึ่งเป็นพรรคที่ถ่ายโอนจากสมาคม USDA จะนำไปสวมใส่หาเสียงในรัฐฉาน สำหรับพรรคการเมืองที่เตรียมลงหาเสียงในรัฐฉานในขณะนี้มีทั้งหมด 11 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) พรรคก้าวหน้ารัฐฉานภาคเหนือ (NSSPP) พรรคชาติปะหล่อง (PNP) พรรคเอกภาพแห่งชาติว้า (WNUP) พรรคประชาธิปไตยว้า (WDP) พรรคประชาธิปไตยและเอกภาพโกก้าง (KDUP) องค์กรแห่งชาติปะโอ (PNO) พรรคพัฒนาชาติอินน์ (INDP) พรรคพัฒนาชาติลาหู่ (LNDP) พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDP) และพรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จาตุรนต์ ตอบสื่อประเด็นปรองดองและนิรโทษกรรม Posted: 17 Jun 2010 06:50 AM PDT จาตุรนต์ ฉายแสง เข้าพบตำรวจ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืนประกาศ ศอรส. บอกผู้สื่อข่าวเข้าไปพูดเรื่องสันติวิธีกับผู้ชุมนุมทุกครั้ง และคอยห้ามไม่ให้ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม บอกควรตั้งข้อหาอภิสิทธิ์ข้อหาสั่งฆ่าประชาชนมากกว่า เปรยประเด็นนิรโทษกรรมนายกฯ อาจต้องการโยนหินถามทางเพื่อนิรโทษตัวเอง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2553 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียกผู้ต้องหา กระทำผิดฐาน “ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 3 เมษายน 2553 โดยไม่ออกจากพื้นที่ที่กำหนด” โดยนายจาตุรนต์ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เป็นการมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียกของศอรส. ในข้อหาเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติความมั่นคง ที่ประกาศพื้นที่ห้ามเข้า "เข้าไปแล้วไม่ออก เขาเขียนมาว่าอย่างนั้น เขาคงหมายถึงที่ราชประสงค์" จาตุรนต์กล่าว จาตุรนต์กล่าวอีกว่า หมายเลขส่งมาครั้งแรกลงวันที่ 9 เมษายน 2553 ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ผ่านฟ้าวันที่ 10 เมษายน 2553 บังเอิญว่าสะกดชื่อของเขาผิดๆ ถูกๆ ก็เลยสอบถามกลับไปกลับมา กระทั่งต่อมามีหมายเรียกครั้งที่ 2 ก็ยังมีผิดอีก พอสอบถามก็ได้ความว่าเป็นหมายเรียกถึงผมแน่แล้ว ก็เลื่อนการรายงานตัวไปบ้างเพราะติดธุระ และรอเวลามาจนถึงวันนี้จึงนัดมารับทราบข้อกล่าวหา รายละเอียดการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวมีดังนี้ ผู้สื่อข่าว : เตรียมประเด็นที่จะชี้แจงกับทางพนักงานสอบสวนอย่างไร จาตุรนต์ : คือ เรื่องที่จะชี้แจงนี้ไม่ได้หนักใจเลย แต่ว่าวันนี้คงไม่ได้ชี้แจงอะไรมาก มารับทราบข้อกล่าวหา แล้วก็จะดูว่าทางพนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวชั่วคราวไปไหม เพราะทางผมไม่ได้เตรียมเงินมาประกันตัว คือว่าถ้าไม่ปล่อยตัวชั่วคราวก็ต้องเอาผมไปขังล่ะ เพราะว่าผมถือว่าไม่ได้มีความผิดอะไรเลย ผมไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกตั้งข้อหาด้วยซ้ำ แล้วก็สามารถสู้คดีได้แน่นอน การที่ผมเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมในกรณีที่เขาตั้งข้อหานี้ ก็คือตั้งข้อหาวันที่ 9 เมษายน 2553 หมายความว่าก็เข้าไปในวันที่ 8 เมษายน 2553 เช่นเดียวกับประชาชนอีกจำนวนมาก ที่สัญจรไปมา เข้าไปร่วมชุมนุมก็ดี มีอีกมากมาย ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าประชาชนเหล่าควรถูกตั้งข้อหาเพราะเขาไม่ได้กระทำผิดอะไร และที่ผมเข้าไปในที่ชุมนุมนอกจากในครั้งนั้นก็ยังมีครั้งอื่นอีกด้วย ซึ่งทางตำรวจไม่ได้กล่าวถึง ที่ผมเข้าไปในที่ชุมนุมแล้วไปพูดต่อที่ชุมนุมทั้งหมดทุกครั้งมีประเด็นสำคัญก็คือ ต้องการจะไปเตือน ไปห้ามนายกรัฐมนตรีไม่ให้ใช้มาตรการทางทหารปราบประชาชน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เพื่อจะได้ไม่เกิดความสูญเสีย นอกจากนั้นก็ได้ไปเสนอแนวทางในการเรียกร้องประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนที่มาชุมนุม ที่สำคัญก็คือเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีโดยตลอด ทุกครั้งที่ผมพูดจะมีประเด็นเนื้อหาทั้ง 2 นี้อยู่เสนอ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ควรถูกตั้งข้อหาเลย ที่รอมานี้ เพื่อจะดูว่าทางตำรวจหรือทาง DSI จะตั้งข้อหานายกรัฐมนตรีหรือยัง เพราะว่าความจริงแล้วระหว่างผมกับนายกฯอภิสิทธิ์ นายกฯอภิสิทธิ์จะต้องถูกตั้งข้อหามากกว่า คือ ตั้งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน สั่งใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนป่านนี้พนักงานสอบสวนยังไม่ตั้งข้อหานายกอภิสิทธิ์ กลับมาตั้งข้อหาผมซึ่งเป็นคนที่ได้เรียกร้องตลอดมา “เตือนรัฐบาลและนายกฯอภิสิทธิ์ตลอดมาว่าอย่าใช้กำลังทางทหาร อย่าใช้มาตรการทางทหารปราบประชาชน” มันแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่อง 2 มาตรฐานชัดเจนนะครับ คนที่ควรถูกต้องข้อหาก็คือนายกฯอภิสิทธิ์ กลับไม่มีการตั้งข้อหา มาตั้งข้อกล่าวหากับผมซึ่งเป็นคนคอยห้ามนายกฯอภิสิทธิ์ไม่ให้ฆ่าประชาชน เมื่อผมรอจนกระทั่งเห็นชัดแล้วว่านายกอภิสิทธิ์ไม่ถูกตั้งข้อหาสักที ผมก็มาเพื่อให้เรื่องได้ดำเนินการต่อไป ในส่วนของตัวผมพร้อมจะสู้คดีไม่ได้รู้สึกหนักหนักใจอะไรเลย แต่ที่หนักใจขณะนี้ก็คือ เรื่องการปรองดองที่รัฐบาลกำลังเสนออยู่ คือรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์กำลังกล่าวหาว่าคนโน้นก็ขัดขวางการปรองดอง คนนี้ก็ขัดขวางการปรองดอง ผมอยากจะให้ความเห็นว่า ไม่มีใครในประเทศนี้ที่จะขัดขวางมาตรการการปรองดองของรัฐบาลได้ ไม่มีใครจะขัดขวางการปรองดองได้เนื่องจากการปรองดองไม่เคยมีอยู่จริง สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ที่นายกฯอภิสิทธิ์ทำอยู่ก็ไม่ใช่การปรองดองเลย เพราะว่าเป็นการกระทำ เป็นการเสนอมาตรการ หรือการดำเนินการโดยคู่กรณีโดยตรงและเป็นการกระทำแบบเลือกทำฝ่ายเดียว เลือกปฏิบัติฝ่ายเดียว โดยมุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่องและยังคงทำอยู่ นายกรัฐมนตรีคนนี้เป็นคู่กรณีกับประชาชนเสื้อแดง ประชาชนเขามาเรียกร้องให้คุณอภิสิทธิ์ยุบสภาเพื่อที่จะได้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยที่นายกฯอภิสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ว่าแทนที่จะยุบสภา นายกฯอภิสิทธิ์ได้ใช้มาตรการทางทหารเข้าไปปราบประชาชนทำให้ประชาชนล้มตายไปจำนวนมาก เสร็จแล้วก็มาบอกว่าต่อไปนี้จะปรองดอง แล้วก็ยังบอกด้วยว่าจะไม่ปรองดองกับผู้ก่อการร้าย จะปรองดองกับคนอื่นๆ ถามว่าใครเป็นผู้กำหนดว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย ก็คือคุณอภิสิทธิ์กับคุณสุเทพเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ไม่ใช่ศาล แต่ว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นคนกำหนดเองว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายบ้าง การปรองดอง หมายถึง การที่คนสองฝ่ายขัดแย้งกัน ทะเลาะกันแล้วหันหน้ามาประนีประนอม มาหาทางตกลงที่จะอยู่รวมกัน เวลานี้คุณอภิสิทธิ์ก็กันฝ่ายที่ตัวเองปราบปราม ที่ตัวเองไล่ทำลายล้างออกไปจากการปรองดองไปแล้ว จึงไม่ทราบว่าจะไปปรองดองกับใคร คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้ง ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคณะกรรมการฯฝ่ายที่ต้องการรักษาระบบก็ดี เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ นปช.หรือฝ่ายเสื้อแดงอย่างชัดเจนก็มีมาก ที่สำคัญที่น่าเสียดายก็คือ อย่างท่านคณิต ณ นคร ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน มีหลักการทางกฎหมายดี แต่เวลานี้ก็จะประสบความลำบากในการหากรรมการมาร่วม เพราะว่าคนตั้งเป็นปัญหา คนตั้งคือนายกอภิสิทธิ์เป็นปัญหา นอกจากนั้นคณะกรรมการที่คุณคณิตเป็นประธาน คุณคณิตบอกว่าคงจะไม่ไปสืบสาวราวเรื่องว่าใครผิดใครถูก แต่จะไปเน้นเพื่อที่จะให้เกิดความปรองดอง หาต้นเหตุ ซึ่งจะทำให้นานาชาติผิดหวังเป็นจำนวนมาก องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ทำเรื่องนิรโทษกรรมสากลอะไรต่างๆ จะผิดหวังมาก เพราะว่าจะไม่มีทางได้ข้อเท็จจริงว่าใครผิดใครถูก เราอาจจะต้องรอกันไปอีกเป็นสิบๆปี เหมือนอย่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เพิ่งขอโทษประชาชนชาวไอร์แลนที่ถูกปราบปรามในวันนี้หลังจากเหตุการณ์มาไปเป็นสิบๆปี
ผู้สื่อข่าว : คิดเห็นอย่างไรในการจัดตั้งคณะกรรมการและนักวิชาการฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ จาตุรนต์ : อันนี้ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยได้เลย ถ้าดูจากตัวประธานซึ่งเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองชัดเจนมาโดยตลอด แล้วก็ได้เลือกคนมาส่วนใหญ่แล้วก็เป็นฝ่ายที่ต้องการรักษารัฐธรรมนูญในฉบับปัจจุบัน หรือไม่ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่หลายคนในนั้นได้มีพฤติกรรมมีประวัติที่จะช่วยรักษารัฐธรรมนูญนี้หรือจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นปัญหาหนักยิ่งขึ้น ก็หน้าเห็นใจกรรมการบ้างคนที่มีความเป็นนักประชาธิปไตยและต้องการแก้ปัญหาประเทศ อาจจะรับเป็นกรรมการไปโดยไม่รู้ว่ากรรมการส่วนใหญ่นั้นเป็นฝ่ายที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการซื้อเวลาของนายกฯ เป็นการเอาเปรียบทางการเมืองโดยครอบคลุมสื่อของรัฐไว้หมดแล้วก็จะเป็นคนกำหนดเองได้หมดว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย ใครผิดใครถูก จะทำอย่างไรกับบ้านเมือง ไม่มีความหวังอะไรเลยที่จะทำให้เกิดการประนีประนอมหรือปรองดอง ที่ผมพูดนี้ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง เพียงแต่ผมเห็นว่าสิ่งที่นายกทำอยู่ไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นการทำลายล้างและเป็นการใช้วาทะกรรมสวยๆ หรูๆ เพื่อจะหาเสียงฝ่ายเดียว ในเวลานี้ฝ่ายตรงข้ามเขาก็หาเสียงไม่ได้เพราะไม่มีสื่อ แล้วใครสนับสนุนนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ถูกระงับธุรกรรม ถูกปิดบัญชีสารพัดไปหมด อย่างนี้มันเป็นการเอาเปรียบทางการเมืองชัดเจนจะเลือกตั้งเมื่อไรไม่รู้ แต่ว่าพรก.ก็ยังอยู่ การใช้อำนาจคุกคามก็ยังอยู่ แบบนี้มันจะไปประนีประนอมปรองดองกับใคร
ผู้สื่อข่าว : ท่านจาตุรนต์คิดว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะนำสู่การปรองดองได้อย่างไร จาตุรนต์ : นิรโทษกรรมที่เสนออยู่ในวันนี้ เป็นความสับสนมาก การนิรโทษกรรมในอดีตไม่เคยมีการตั้งธงแบบนี้ การนิรโทษกรรมในอดีตมักทำโดยรัฐบาลหลังการปราบปรามประชาชน ไม่ได้ทำโดยรัฐบาลที่ปรามปราบประชาชนเอง การนิรโทษมักจะครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ตัวนายกฯหรือผู้ใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชนไปจนถึงประชาชนทั่วไป แต่ในครั้งนี้รัฐบาลตั้งประเด็นขึ้นว่า จะนิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ถูกข้อหาก่อการร้ายซึ่งไม่รู้คืออะไร ประชาชนเหล่านั้นความจริงไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษ เพียงแต่ไม่ไปเอาเรื่องเขาก็หมดเรื่องแล้ว สงสัยว่านายกฯและพวกจะโยนหินถามทางเผื่อว่าจะนิรโทษกรรมให้แก่ตัวเอง และผมไม่เห็นด้วยเลยว่าจะไปนิรโทษในลักษณะที่จะทำกันอยู่นี้ สิ่งที่จะทำในเรื่องนิรโทษนี้ ผมสงสัยมากกว่าว่า จะคืบไปถึงการนิรโทษให้กับพันธมิตรฯและนิรโทษให้แก่ผู้ปราบปรามประชาชนเอง เพราะขณะนี้คนที่จะประสบปัญหามากที่สุดในอนาคตไม่ใช่ใครที่ไหน คือนายกฯอภิสิทธิ์ เพราะว่านายกฯอภิสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีในอนาคต ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ และในคดีนี้ที่ต่างประเทศไม่มีอายุความ ประเทศไทยอาจจะมีแต่อันนั้นก็เป็นเรื่องอีกยาวนาน ก็ดูวันนี้ต่างประเทศเขายังออกมาขอโทษประชาชนในเรื่องที่ผ่านมาตั้ง 20 - 30 ปีแล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กรุงเทพโพลล์ : ประชาชนให้คะแนนฟื้นฟูเยียวยาของรัฐบาล 4.28 เต็ม 10 Posted: 17 Jun 2010 04:17 AM PDT โพลล์เผยรัฐบาลสอบตกด้านการทำหน้าที่เยียวยาคะแนน 4.28 เต็ม 10 ร้อยละ 39.8 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนปช. อีกร้อยละ 37.0 ไม่เห็นด้วย กว่าครึ่งคือร้อยละ 55.9 ต้องการให้ยกเลิกพรก. ฉุกเฉิน ในเรื่องแผนปรองดองของรัฐบาลร้อยละ 28.0 ระบุ ให้เปิดรับความเห็นจากทุกฝ่าย ร้อยละ 24.9 บอกให้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม <!--break--> 17 มิ.ย. 2553 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจาก 27 จังหวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ พบว่าประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการฟื้นฟูประเทศหลังผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาแล้ว 1 เดือนได้คะแนนเฉลี่ยรวม 4.28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยพึงพอใจด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุด แต่พึงพอใจด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมน้อยที่สุด เมื่อถามความเห็นต่อแผนปรองดองแห่งชาติที่นายกฯ อภิสิทธิ์ แถลงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 35.3 เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 24.1 ไม่เห็นด้วย และภายหลังการประกาศแผนปรองดองแล้วมีเพียงร้อยละ 18.4 ที่ระบุว่ามีคะแนนนิยมต่อรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 38.6 ระบุว่ามีคะแนนนิยมเท่าเดิม และร้อยละ 22.9 มีคะแนนนิยมลดลง สำหรับประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. นั้น ร้อยละ 39.8 ระบุว่า เห็นด้วย (โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 26.9 เห็นว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้าย ส่วนอีกร้อยละ 12.9 เห็นว่าควรนิรโทษกรรมให้ทั้งหมด) ขณะที่ร้อยละ 37.0 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 23.2 ไม่แน่ใจ ความคิดเห็นต่อการยกเลิก พรก. ฉุกเฉินในพื้นที่ 24 จังหวัดที่ประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ ร้อยละ 55.9 เห็นว่าพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วเห็นว่าควรยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ในขณะที่ร้อยละ 24.9 เห็นว่ายังไม่ควรยกเลิก ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลทำมากที่สุดในขณะนี้เพื่อเป็นการเริ่มต้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ พบว่า อันดับแรกคือให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รองลงมาคือให้ช่วยเหลือคนจน สร้างงานสร้างรายได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคม ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน หาคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับมาทำหน้าที่สอบสวนหาความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา และเร่งจับผู้ก่อการร้ายมาดำเนินคดี รวมถึงหาตัวคนผิดมาลงโทษ ตามลำดับ
รายละเอียดของผลการสำรวจทั้งหมด 1. ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันหลังผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมา 1 เดือน - เห็นว่าความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.5 - เห็นว่าความขัดแย้งเท่าเดิม ร้อยละ 37.3 - เห็นว่าความขัดแย้งลดลง ร้อยละ 49.2
ด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความรุนแรง 4.82 คะแนน 3. ความคิดเห็นต่อแผนปรองดองของรัฐบาลที่นายกฯ อภิสิทธิ์ แถลงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า - เห็นด้วย ร้อยละ 35.3 - เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข ร้อยละ 16.0 - ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 24.1 - ไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.6 - คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.4 - คะแนนนิยมเท่าเดิม ร้อยละ 38.6 - คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 22.9 - ไม่แน่ใจ/ ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 20.1 5. ความคิดเห็นต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. - เห็นด้วย ร้อยละ 39.8 - ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 37.0 - ไม่แน่ใจ ร้อยละ 23.2 6. ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าควรยกเลิก พรก. ฉุกเฉินในพื้นที่ 24 จังหวัดที่ประกาศใช้อยู่หรือไม่ - ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 24.9 - ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.2 7. สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลทำมากที่สุดในขณะนี้เพื่อเป็นการเริ่มต้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ i. เปิดใจรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ร้อยละ 28.0 8. ความคิดเห็นต่อประเด็นที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ - เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีก ร้อยละ 45.9 - เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ร้อยละ 10.7 - ไม่แน่ใจ ร้อยละ 43.4
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประเวศชี้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาปฏิรูปประเทศไทยได้....!!! Posted: 17 Jun 2010 01:29 AM PDT ราษฎรอาวุโสระบุวิกฤติครั้งนี้เข้าใจยากที่สุด ถ้าจะปฏิรูปสังคมต้องไม่ใช้สมองส่วนหลังแก้ไข ย้ำประชานิยมสร้างปัญหา ถ้าประชาสังคมเขยื้อนภูเขาได้ ชุมชนจะเข้มแข็งโดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภายนอกแต่ต้องใช้สังคมานุภาพเป็นเลเซอร์ทางสังคมชี้ทาง ย้ำเคลื่อน รธน.40สำเร็จมาแล้ว <!--break--> เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี มูลนิธิพัฒนาไท โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐ เข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งนี้ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย” ว่า ปัญหา ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือวิกฤตการณ์ลูกที่ 4 ของกรุง รัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด แก้ไขยากที่สุด เพราะเป็นวิกฤติแห่งความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง ซึ่งอำนาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจึงต้องใช้สังคมนำและการ เมืองตาม เพราะหากใช้การเมืองนำ ก็จะถูกคัดค้านจากฝ่ายค้าน แต่ถ้าสังคมนำและการเมืองตามจะง่ายขึ้น นพ.ประเวศ กล่าวว่า หากเราดูเรื่องการเคลื่อนของ อำนาจนั้น เริ่มจากอำนาจรัฐ ตามด้วยอำนาจเงิน ซึ่งอำนาจจะไม่ลงตัว แต่สิ่งที่อยากเห็นคืออำนาจทางสังคม หรือสังคมานุภาพ เป็นตัวเชื่อมอำนาจรัฐ และอำนาจเงิน ซึ่งจะไม่ทำร้ายกัน แต่เป็นตัวเชื่อมกันให้เกิดความลงตัว และควรใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งจะมีพลังในการทำเรื่องที่ยากๆ และเคยทำสำเร็จมาแล้วในการเคลื่อนไหว ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เป็นเรื่องที่ยากที่สุดก็สามารถ ทำได้สำเร็จ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ประกอบด้วย 3 พลัง คือ พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังของอำนาจรัฐ ที่เชื่อมโยงกัน เพราะในกรณีของประธานาธิบดีอาคีโน ของฟิลิปปินส์ ที่มีทั้งพลังจากอำนาจรัฐและพลังทางสังคม เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจาก ประชาชน แต่ไม่สามารถทำเรื่องการแก้ไขความยากจนและความอยุติธรรม ทางสังคมได้สำเร็จ เพราะยังขาดพลังทางปัญญา เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคลินตัน ของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการทำเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีพลังอำนาจรัฐและพลังทางปัญญา แต่ยังขาดพลังทางสังคม ดังนั้นการทำมุมใดมุมหนึ่งก็ไม่สำเร็จ ซึ่งคุณทักษิณ ถือว่ามีอำนาจมากที่สุดทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ก็ไม่สำเร็จ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศไทย ต้องใช้พลังทางสังคม โดยสังคมต้องเป็นฝ่ายนำ ซึ่งตอนนี้มีนิมิตหมายที่ดีที่คน ในสังคมเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น หากมีการรวมตัวในทุกพื้นที่ ในทุกเรื่อง สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเชิงดิ่ง เป็นเชิงราบ เรียกว่า “ประชาสังคม” ดังนั้นการเคลื่อนไหวของประชาสังคมต้องหนุนให้เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับใคร และต้องมีความหลากหลาย แต่สิ่งที่น่าทำคือ ควรมีการรับรู้ว่ากลุ่มไหนคิดอะไร ควรรับฟังมาทั้งหมด แล้วนำมาสังเคราะห์เป็นเรื่องหลักๆว่าสิ่งที่ประชาสังคมเสนอมี เรื่องอะไรบ้าง แล้วนำกลับไปที่สังคมจนเกิดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม กัน ซึ่งจะเป็นแสงเลเซอร์ทางสังคม ที่ไม่มีอะไรมายุติได้ เช่น การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปภาษี ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ทางสังคมทั้งหมด ไม่ว่าฝ่ายรัฐจะเป็นใคร ก็จะต้องทำตามเจตนารมณ์ทางสังคม อย่างไรก็ตามเรายังขาดความสามารถในการ สังเคราะห์ประเด็นเชิงนโยบายให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ แม้ว่าจะมีหน่วยงานอย่างสภาพัฒน์ สภาพัฒนาการเมือง หรือสภาองค์กรชุมชน แต่ก็ไม่มีพลัง เพราะยังขาดการสังเคราะห์ที่ชัดเจน รวมถึงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังขาดการสังเคราะห์ประเด็นเชิงนโยบาย ซึ่งเรื่องนโยบายสาธารณะเป็นเรื่อง ที่กระทบแทบทุกอณูทางสังคม ดังนั้นจึงต้องโทษมหาวิทยาลัย ที่ไม่สามารถสังเคราะห์นโยบายสาธารณะ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปฏิรูป เพื่อมหาวิทยาลัยเข้าไปหนุนท้องถิ่นทั้งหมด เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่นอกสังคมไม่รู้ร้อนรู้หนาวทางสังคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องสัมผัสชุมชนท้องถิ่น ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ต้องมีการออกแบบกลไกเพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มในสังคม เพื่อสังเคราะห์เป็นนโยบายและนำกลับสู่สังคม เพื่อให้สังคมมีปัญญา นั่นคือประชาธิปไตยทางตรง เพราะปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ทำให้อยากเข้ามามีส่วนในประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ซึ่งมาจากการใช้พลังทางสังคมและปัญญา และหากเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยโดยอ้อมคือ พลังเชิงนโยบาย ซึ่งนั่นถือเป็นการใช้สามเหลี่ยมเขยื้อน ภูเขา งานของเราจึงไม่รังเกียจการเมือง อย่าไปรอจนกว่าจะมีนักการเมืองที่ ดี เพราะถ้าทำเรื่องพลังทางสังคมและปัญญามาเชื่อมกับนักการเมือง เชื่อว่านักการเมืองก็จะทำในเรื่องที่ดีได้ ดังนั้นอำนาจรัฐที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นั้นควรให้การสนับสนุน ปล่อยให้เป็นอิสระ และไม่ควรครอบงำอำนาจทางสังคม ปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวอย่างอิสระหลากหลายจนได้นโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ แล้วภูเขาก็จะเขยื้อน เรื่องที่ยากก็จะทำได้ “คนในสังคมปัจจุบันมักคุ้นเคยกับการ ใช้สมองส่วนหลัง คือ ใช้การต่อสู้และการเอาชนะ ตนอยากให้กลับมาใช้สมองส่วนหน้า คือ สติปัญญาให้มากขึ้น เพราะไม่มีปัญหาอะไรที่ไม่สามารถแก้ได้ ตนไม่อยากเห็นคนไทยมองทางลบว่าแก้ ไม่ได้ แต่ทุกอย่างสามารถแก้ได้ด้วยคนไทยด้วยกันเอง”ศ.นพ.ประเวศ กล่าว ศ.นพ.ประเวศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ภาระกิจสำคัญคือ การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทาง สังคม สร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาความยากจนเป็นหลัก ไม่ใช่การสร้างความปรองดอง เพราะหากปฏิรูปประเทศไทยได้ ความสามัคคี ปรองดองก็จะตามมาเอง ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม การเคารพศักดิ์ศรี เป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคสังคมควรเร่งสร้างกลไกใน การปฏิรูป โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน แต่กลไกต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่มีภาครัฐ หรือการเมืองมาครอบงำ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า สำหรับการสร้างกลไก สามารถทำได้ โดยจัดตั้งเป็นมติครม. หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีคณะทำงานแก้ปัญหา ซึ่งควรจะจัดทำแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนนับจากนี้ และต้องมีมาตรการแก้ปัญหาที่เข้มข้นและแรงพอที่จะ สร้างความเป็นธรรมกับสังคมได้ เช่น มาตรการทางภาษี การ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น การสร้างสังคมสวัสดิการ ระบบยุติธรรม และระบบการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกลไกเหล่านี้จะมีความยั่งยืน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม “ผมไม่อยากให้สังคมรอให้ภาครัฐจัดโครงการประชานิยมมาช่วยเหลือ เพราะสุดท้ายแล้วการประชานิยมเป็นการทำลายระบบความเข้มแข็งของ สังคม เพราะประชาชนจะมัวรอรับแจก รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยที่ตัวเองไม่ช่วยเหลือตัวเองเลย ในทางกลับกันหากส่งเสริมให้ชุมชน มีกระบวนการรวมตัวของชุมชนอย่างเข้มแข็ง จะเกิดพลังขับเคลื่อนงานทุกอย่างได้ด้วยชุมชนเอง สุดท้ายแล้ว ชุมชนก็จะเข้มแข็ง แก้ปัญหาได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากใคร” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น