โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดภาพถ่ายทางอากาศ อ่างเก็บน้ำแตกจริง น้ำไหลลงท่วม สกลฯ จนไม่เหลือ

Posted: 31 Jul 2017 01:11 PM PDT

ปภ.เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวเตรียมรับสถานการณ์น้ำ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 5 อำเภอใน จ.นครพนม 'เดลินิวส์-ฐปณีย์' เปิดภาพถ่ายทางอากาศ อ่างเก็บน้ำแตกจริงยาว 20 เมตร น้ำไหลลงท่วม สกลฯ จนไม่เหลือน้ำ ศรีสุวรรณติง รบ.มีงบกลาง 1.9 แสนล้านงบฉุกเฉินผู้ว่าจังหวัดละ 70 ล้าน

31 ก.ค. 2560 ประมวลสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภคอีสาน วันนี้ (31 ก.ค.60) สำนักข่าวไทยรายงานว่า ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งโทรสารในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ด่วนที่สุด วันที่ 31 ก.ค.60 ถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 และ 13 โดยมีเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ร่วมกับกรมชลประทาน วิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวจำนวนมาก ทำให้เขื่อนลำปาว มีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำขึ้นอีก โดยได้เริ่มระบาย ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 60 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี 

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที  พร้อมให้รายงานผลการเตรียมความพร้อมมายังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ภายใน 24 ชั่วโมง ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ Centraleoc.office@gmail.com และหากมีสถานการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด

ปภ.ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 5 อำเภอใน จ.นครพนม

กอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดี ปภ. สรุปสถานการณ์น้ำ ว่า ล่าสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม 5 อำเภอ 5 ตำบล 5 หมู่บ้านของจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย อำเภอนาแก ,นาหว้า ,วังยาง ,เรณูนคร และศรีสงคราม โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

กอบชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปภ.ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้เตรียมรองรับสถานการณ์น้ำที่สูงขึ้น พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ นาแก และธาตุพนม เนื่องจากเป็นจุดที่ต้องรองรับการระบายน้ำที่ท่วมขังจากจังหวัดสกลนคร ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง

เดลินิวส์ เปิดภาพถ่ายทางอากาศชี้อ่างเก็บน้ำแตกจริงยาว 20 เมตร

ก่อนหน้านั้นมีการแชร์ภาพของผู้ที่อ้างว่าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นแตก เป็นต้นเหตุทำให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมสูง จ.สกลนคร แต่ทางกรมชลประทานออกมายืนยันแล้วว่า อ่างเก็บน้ำไม่ได้แตก แต่เพราะมีฝนตกลงมามากทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ไหลทะลักออกมาดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)

ภาพจาก เดลินิวส์

เดลินิวส์ รายงาน ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ ทำให้พบว่าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นได้แตกจริง แตกเป็นทางยาว 20 เมตร หลังถูกน้ำกัดเซาะคันดินลึก 6 เมตร จากความลึกของคันดินเดิม 8 เมตร ทำให้มวลน้ำปริมาณ 175 ล้าน ลบ.ม. ไหลเข้าสู่อำเภอเมืองสกลนครทันทีในช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ค. ส่งผลให้ตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิตแล้ว 4 รายอยู่ที่ อ.พรรณนานิคม 2 ราย อ.สว่างแดนดิน 1 ราย และอ.เมืองสกลนคร 1 ราย นอกจากนี้ยังสูญหายอีก 1 ราย เป็นชาว ต.ขมิ้น อ.เมืองสกลนคร

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โพสต์ภาพถ่ายทางอากาศผ่านทางฟซบุ๊กที่แสดงให้เห็นสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ที่คันดินแตก น้ำในอ่างทั้งหมดไหลลงท่วมอ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อ 28 ก.ค.จนไม่เหลือน้ำอยู่เลย

ศรีสุวรรณ ติง รบ.มีงบกลาง 1.9 แสนล้านงบฉุกเฉินผู้ว่าจังหวัดละ 70 ล้าน

ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้เปิดเผยกรณีสำนักนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสานว่า เหตุใดรัฐบาลต้องมัวมาเสียเวลาและบุคลากรของรัฐในการรอรับเงินบริจาคของประชาชน เพราะรัฐบาลได้มีงบประมาณแผ่นดินปี 2560 ซึ่งเป็นงบกลางอยู่แล้วมากกว่า 1.9 แสนล้านบาท นายกรัฐมนตรีสามารถอนุมัติเงินสั่งจ่ายให้นำไปช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที ขณะเดียวกันเงินทดรองราชการที่กระทรวงการคลังได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย สามารถเบิกจ่ายนำไปใช้ได้ทันทีได้อยู่แล้วจังหวัดละ 70 ล้านบาทโดยกรมบัญชีกลางได้ยกเว้นระเบียบการจัดซื้อ-จัดจ้าง ให้อำนาจผู้ว่าฯเบิกเงินไปซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่น้ำท่วมสูงอย่างรุนแรงในพื้นที่ เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือประชาชน

การที่รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการเชิญชวนประชาชนให้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมจึงสงสัยว่า จะเก็บเงินงบกลาง 1.9 แสนล้านบาทไปไว้ใช้อะไร หรือจะรอนำไปจ่ายในการซื้ออาวุธ-ยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้กองทัพเพื่อความมั่นคงกระนั้นหรือ นอกจากนั้น การทำหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่ายังคงมีอยู่ในสารบบหน่วยงานราชการไทยอีกหรือไม่ เพราะกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้นที่จังหวัดสกลนครแตก ศูนย์ฯดังกล่าวได้ทำหน้าที่เตือนภัยชาวบ้านในพื้นที่ใต้เขื่อนและในพื้นที่อำเภอเมืองสกลนครให้เตรียมตัวฉุกเฉินเพื่ออพยพหรือป้องกันทรัพย์สินมีค่าของตนหรือไม่ อย่างไรก่อนที่เขื่อนจะแตก หรือรอฟังรายงานจากกรมชลประทานว่าเป็นแค่น้ำกัดเซาะเขื่อนไม่ใช่เขื่อนแตกจึงไม่ส่งสัญญาณใด ๆ ต่อชาวบ้าน ซึ่งถ้าทำงานเพียงเช่นนั้นก็สมควรยุบเลิกศูนย์ฯดังกล่าวไปเสีย เพื่อนำงบประมาณของศูนย์ฯดังกล่าวไปช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมยังจะมีประโยชน์เสียกว่า
 

 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนา ลั่นเข้ามอบตัวกับ ปอท. เช้าวันนี้ หลังถูกหลังฟ้อง ม.116 เหตุโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

Posted: 31 Jul 2017 12:46 PM PDT

วัฒนา ลั่นเข้ามอบตัวกับ ปอท. เช้าวันนี้ หลังถูกหลังฟ้อง ม.116 เหตุโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์-วิจารณ์คสช. ขณะที่วานนี้ ศาลทหารสอบคำให้การนัดแรกในคดีความผิดฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวตามประกาศ คสช.กรณีโพสต์ข้อความไม่รับร่าง รธน.

1 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Watana Muangsook' ในลักษณะสาธารณะ ในหัวข้อ "วันนี้มอบตัว" โดยระบุว่า ตนทราบว่าวันนี้ บก.ปอท. จะไปขอให้ศาลอาญาออกหมายจับตน ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยกล่าวหาว่าตนโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในลักษณะยุยงให้เกิดความปั่นป่วนอีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ซึ่งความจริงแล้วข้อความที่ผมโพสต์คือการให้กำลังใจนายกยิ่งลักษณ์ อันเป็นกิจกรรมตามประเพณีและไม่มีความตอนใดที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

วัฒนา โพสต์อีกว่า ก่อนหน้านี้ผมได้แสดงความบริสุทธิ์ใจผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนเป็นบุคคลสาธารณะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีเจตนาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่มีเหตุที่จะไปก่ออันตรายประการอื่น ความผิดที่ผมถูกกล่าวหามีสาเหตุมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้พนักงานสอบสวน ปอท. ยังมีที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อตนได้ตลอดเวลา จึงไม่มีเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องไปก้าวล่วงขอให้ศาลออกหมายจับ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจำกัดเสรีภาพตนซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

"เพื่อเป็นการยืนยันเจตนาว่าผมไม่เคยคิดหลบหนี เช้าวันนี้เมื่อเสร็จการรับฟังแถลงการณ์ด้วยวาจาที่ศาลฎีกาฯ ซึ่งตั้งอยู่อาคาร A ของศูนย์ราชการฯ แล้ว ผมจะเดินไปชั้น 4 ของอาคาร B อันเป็นที่ตั้งของ บก.ปอท. เพื่อมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและพร้อมที่จะให้สอบปากคำทันที จากนั้นผมจะขอให้ปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ เว้นแต่พนักงานสอบสวนจะมีเจตนาอื่นแอบแฝง อาศัยอำนาจศาลมาควบคุมตัวเพื่อไม่ให้ผมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นเช่นนั้นก็คงต้องพึ่งประชาชนให้ช่วยเป็นสักขีพยาน" วัฒนา โพสต์

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า วานนี้ (31 ก.ค.60) วัฒนา พร้อมทนายความ เดินทางไปที่ศาลทหาร เพื่อสอบคำให้การนัดแรกในคดีความผิดฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 39/2560 จากกรณีโพสต์ข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าไปภายในศาลทหาร ว่า ศาลนัดมาสอบคำให้การ ซึ่งจะปฏิเสธคำสั่งฟ้อง เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่เคลื่อนไหวทางการเมือง หาก คสช.มองว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกคนก็ต้องถูกจับกันหมด

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า ล่าสุดจะแจ้งความจับตนที่โพสต์ให้เชิญชวนกำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่าผิดมาตรา 116 ซึ่งอยากฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า หากอยากจะเป็นใหญ่แล้วใช้คนบางประเภทมาทำแบบนี้ ขอให้ระวัง เพราะตัวเองก็จะเอาตัวไม่รอด และจะเป็นภาระด้วย ซึ่งหลังเลือกตั้ง ตนไม่ปล่อยไว้แน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้' หลังฎีกาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีรุกที่ป่าสงวน

Posted: 31 Jul 2017 11:19 AM PDT

สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดสภาพบ้านหลัง 'สุภาพ คำแหล้' ถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีรุกที่ป่าสงวน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุกลายเป็นบ้านร้าง อ้างว้าง แม้แต่บักเติ่ง หมาคู่ใจพ่อเด่น มันยังมีอาการเศร้าหงอย

ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ขณะเข้าสำรวจบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้'

1 ส.ค. 2560 ภายหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 ก.ค.60) ศาลฎีกาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องที่ดินที่หายตัวไป ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ (อ่านรายละเอียด : http://www.prachatai.org/journal/2017/07/72564)

สภาพบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้'
 
โดย 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานสภาพบ้านของ สุภาพและเด่น ภายใต้ชื่อบทความ "เงียบเหงาอ้างว้าง ยามแม่บ้านติดคุก" เพื่อบรรยาสภาพบ้านของทั้ง 2 คน หลังเหตุการณ์ทั้งคำพิพากษาและการหายตัวไปของเด่น กว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว 
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
 
บ้านนี้ที่มีคนหาย กลับยิ่งกลายเป็นบ้านแสนอ้างว้าง และเงียบเหงาซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแม่บ้านถูกคุมตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ตามศาลมีคำสั่งให้จำคุก 6 เดือน

"แม่ภาพคงยังรอคอย"นายเด่น คำแหล้" ผู้เป็นสามี ที่หายตัวไปนับแต่วันที่ 16 เม.ย. 2559 เพื่อที่จะนำตัวพ่อเด่นกลับคืนสู่ผืนดินที่เรียกว่าบ้าน บ้านหลังน้อยบนผืนดินเพียงน้อยนิดที่เป็นที่ทำกิน เป็นที่พักอาศัย ไม่ว่าจะนำกลับมาในสภาพใดก็ตาม"

กว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว จากผู้หญิงอยู่หลังบ้านคอยทำครัว และเคยซ้อนรถมอเตอร์ไซต์พ่อเด่นเพื่อออกไปขายของที่ตลาดทุ่งลุยลาย แต่เมื่อต้องสูญเสียสามีผู้เป็นแกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ที่หายตัวไปอย่างปริศนา

เมื่อขาดเสาหลักไปแล้ว แม่ภาพต้องนอนอยู่ในบ้านหลังน้อยนี้คนเดียวเพราะไม่มีลูก อีกทั้งต้องเข้าไปหาเก็บหน่อไม้ เก็บเห็ดในป่า และเก็บผักสวนครัวที่ปลูกด้วยตัวเองนำไปขายที่ตลาดทุ่งลุยลายเพียงลำพังแล้วนั้น นอกจากนี้ก็ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้หญิงแถวหน้า เพื่อถามหาความยุติธรรม

แม้ว่าแม่สุภาพต้องขึ้นศาลมาหลายหน ในขณะที่ต้องตามหาสามี แม่ภาพต้องต่อสู้กับโรคภัยที่รุมเร้า และผ่าตัดเนื้องอกในปากมดลูก ต้องทานยาอยู่ตลอดทุกวันเวลา

บักเติ่ง หมาคู่ใจพ่อเด่น 

ที่สุดแล้วบ้านหลังน้อยที่ถูกปกคลุมไปด้วยผืนป่าใหญ่ ในชุมชนโคกยาวที่ไม่มีไฟฟ้า กลับกลายเป็นบ้านร้าง อ้างว้าง โดยเฉพาะในความมืดที่เข้ามาเยือนทุกค่ำคืน  ความรู้สึกแลดูเงียบเหงาลงอย่างรวดเร็ว แม้แต่บักเติ่ง หมาคู่ใจพ่อเด่น มันยังมีอาการเศร้าหงอยอย่างเห็นได้ชัด

และด้วยความที่บักเติ่งมันเป็นหมา มันจะรู้บ้างไหมว่า หลังจากนายหญิงของมันเดินทางไปยังศาลแล้วจะไม่ได้กลับมายังบ้าน และไม่ได้เป็นผู้ทำกับข้าวให้หมาที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้านายมันกินอีกเป็นเวลาหลายเดือน 

เพราะนายหญิงของบักเติ่ง คือ สุภาพ คำแหล้ จำเลยที่ 4 ถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญาฐานความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนภูซำผักหนาม

สภาพบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้'

แม้แม่ภาพต้องถูกจองจำ ในขณะที่ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างผลการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานชิ้นส่วนกะโหลก โดยทราบเบื้องต้นว่า 90  กว่าเปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นของนายเด่น คำแหล้ เนื่องจากผลการตรวจสอบมีสายพันธุกรรมตรงกับน้องสาว ที่มีการนำไปตรวจเปรียบเทียบ

ในวันที่ทุกคนต่างเฝ้าติดตามรอคอยยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% เพื่อชี้ว่าเป็นของนายเด่นอย่างแน่ชัด ถึงที่สุดของความเป็นธรรมในความเป็นธรรมในสังคมไทยนั้น มีที่ยืนให้กับชาวบ้านตัวเล็กๆคนจนๆที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่ดินทำกินของพวกเขาบ้างหรือไม่ เพราะที่สุดแล้วหลังจากแม่สุภาพ เดินทางไปศาลตามนัดหมายในวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้กลับเข้าไปยังบ้านน้อยหลังนี้อีกเลย

สภาพบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้'

บ้านนี้ที่มีคนหาย กลับยิ่งกลายเป็นบ้านแสนอ้างว้าง และเงียบเหงาซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแม่ภาพต้องถูกคุมตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ตามศาลมีคำสั่งให้จำคุก 6 เดือน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจพม่าจับหน.บรรณาธิการ Myanmar Now-เกรงออกนอกประเทศหนีคดีหมิ่นพระวีระธู

Posted: 31 Jul 2017 10:16 AM PDT

ส่วยวิน หัวหน้ากองบรรณาธิการ "เมียนมานาว" ถูกจับที่สนามบินย่างกุ้ง ก่อนถูกส่งไปขังและได้ประกันตัวที่มัณฑะเลย์ หลังจากที่เขาถูกกลุ่มพุทธขวาจัดฟ้องด้วยมาตรา 66(d) กฎหมายโทรคมนาคมโดยถูกกล่าวหาว่าหมิ่น "วีระธู" พระสงฆ์ผู้นำชาวพุทธพม่าหัวรุนแรง ทั้งนี้มาตรา 66(d) กลายเป็นข้อหาครอบจักรวาลใช้ดำเนินคดีสารพัดเรื่องออนไลน์ในพม่า โดยก่อนหน้านี้เคยมีผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดก่อนถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนเนื่องจากแชร์โพสต์เฟสบุ๊กหมิ่นอองซานซูจี

(ซ้าย) ส่วยวิน หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวเมียนมานาว ซึ่งกำลังมีคดีฟ้องร้องตามกฎหมายโทรคมนาคม มาตรา 66(d) โดยผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าเขาหมิ่นพระวีระธู ล่าสุดเขาถูกจับที่สนามบินย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์นี้ หลังตำรวจได้รับแจ้งจากผู้ฟ้องคดีว่าเขากำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนที่ในวันจันทร์เขาจะได้รับการประกันตัว (ขวา) พระวีระธู ผู้นำกลุ่มพุทธพม่าขวาจัด "มะบ๊ะธะ" (ที่มา: Myanmar Now/เฟซบุ๊ค Wira Thu

 

ส่วยวิน หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวเมียนมานาว (Myanmar Now) ถูกจับที่ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งเมื่อเวลา 19.00 น. วันอาทิตย์นี้ (30 ก.ค.) ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในวันจันทร์ (31 ก.ค.) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจท่าอากาศยานย่างกุ้งให้ข้อมูลกับสำนักข่าว "อิระวดี" ระบุว่าบุคคลที่อยู่ระหว่างมีคดีความ หากจะเดินทางออกนอกประเทศจะถูกควบคุมตัว

ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคม จ่อเมียวชเว ผู้สนับสนุนกลุ่มมะบ๊ะธะได้ฟ้องส่วยวินด้วยมาตรา 66(d) ตามกฎหมายโทรคมนาคม ( Telecommunications Law) โดยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจมหาอ่องมเย ภาคมัณฑะเลย์ โดยกล่าวหาว่าส่วยวิน ผู้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการเมียนมานาวหมิ่นประมาทวีระธูพระนักเทศน์ขวาจัด

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์นี้ (31 ก.ค.) ศาลแขวงที่เขตมหาอ่องมเย ภาคมัณฑะเลย์ ปล่อยตัวส่วยวินแล้ว โดยเขาต้องลงนามในคำแถลงฉบับหนึ่ง โดยเป็นการลงนามต่อหน้าผู้พิพากษา ระบุว่าเขาจะต้องมาศาลทุกนัดที่มีการไต่ส่วนเขาตามคดีมาตรา 66(d) กฎหมายโทรคมนาคม ทั้งนี้เขาต้องประกันตัวด้วยเงิน 5 ล้านจ๊าต หรือราว 1.2 แสนบาท

ส่วยวินให้สัมภาษณ์อิรวะดีว่า เขาประหลาดใจมากที่ตำรวจมาจับกุมเขา เพราะเขาไม่เคยถูกจำกัดการเดินทางมาก่อนนับตั้งแต่ถูกฟ้องร้อง และเขาไม่มีเจตนาหลบหนี โดยก่อนหน้านี้เขาต้องเดินทางไปที่ชายแดนบ่อยครั้งอยู่แล้วเพราะต้องไปทำข่าว และประสานงานกับตำรวจในช่วงที่มีคดีความมาโดยตลอด "ถ้าผมต้องการจะหนี ผมหนีไปต่างประเทศตั้งแต่เริ่มถูกฟ้องแล้ว" ส่วยวินกล่าว โดยเขายืนยันว่าจะต่อสู้ในคดีที่ถูกฟ้องร้องดังกล่าว

หัวหน้ากองบรรณาธิการเมียนมานาวกล่าวถึงเพื่อนสื่อมวลชนในพม่าคนอื่นๆ ด้วยว่า นักข่าวที่ถูกควบคุมตัวถูกปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากร "เคยมีเพื่อนนักข่าวถูกจับกุมที่รัฐฉาน พวกเขาถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายที่ล้าหลังและไม่มีความยุติธรรม" ทั้งนี้เขาหมายถึงผู้สื่อข่าว 3 ราย ในจำนวนนี้รวมถึง "ละวิ เว็ง" ผู้สื่อข่าวอิระวดี ซึ่งทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากกฎหมายว่าด้วยองค์กรนอกกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม โดยพวกเขาถูกจับกุมและดำเนินคดีหลังจากที่พวกเขาไปทำข่าวการเผาทำลายยาเสพติดในเขตยึดครองของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งยังคงปะทะกับกองทัพพม่า

"ในฐานะที่ผมเป็นนักข่าว ผมขอบอกกับรัฐบาลว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ยุติธรรม" ส่วยวินกล่าวหลังได้รับการประกันตัว

อนึ่งจากรายงานบันทึกการจับกุมของตำรวจ ซึ่งได้ข้อมูลจากจ่อเมียวชเวผู้ฟ้องร้องส่วยวินระบุว่า ส่วยวินกำลังจะเดินทางออกจากประเทศในวันอาทิตย์ (30 ก.ค.) อย่างไรก็ตามไม่แน่ชัดว่าจ่อเมียวชเวได้ข้อมูลมาอย่างไร

รายงานของตำรวจระบุด้วยว่า จ่อเมียวชเวยังทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคมนาคมและการสื่อสารเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ระบุว่าเขาต้องการดำเนินคดีนี้ต่อ และรัฐมนตรีได้ตอบเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่าคดีนี้ควรดำเนินการต่อ โดยจ่อเมียวชเวบอกกับตำรวจว่าเขาเชื่อว่าส่วยวินกำลังจะหนีออกนอกประเทศและเรียกร้องให้จับกุมเขา

ทั้งนี้ตำรวจที่มัณฑะเลย์ได้แจ้งกับตำรวจที่อำเภอมิงกลาดง ที่ตั้งของสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ซึ่งให้ข้อมูลว่าส่วยวิน หัวหน้าบรรณาธิการสำนักข่าวเมียนมานาว มาถึงสนามบินในเวลา 19.15 น. โดยเขาถูกร้อยตำรวจเอก มยะทุนจ่อ จากสถานีตำรวจมิงกลาดงควบคุมตัวที่เทอร์มินัล 2 เมื่อเวลา 19.20 น. โดยต่อมามีการส่งตัวส่วยวินไปควบคุมตัวที่เรือนจำมัณฑะเลย์

เพื่อนร่วมงานของส่วยวินที่สำนักข่าวเมียนมานาว ระบุว่าส่วยวินมีกำหนดเยือนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยเพื่อนร่วมงานยืนยันด้วยว่าเขาถูกจับและเบื้องต้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจมิงกลาดง เพื่อนร่วมงานของส่วยวินระบุด้วยว่า ส่วยวินมีข้อตกลงด้วยวาจากับตำรวจที่มัณฑะเลย์ว่าเขาจะไปรายงานตัวในวันที่ 3 ส.ค. อย่างไรก็ตามก็มีเหตุจับกุมเขาเสียก่อน

สำหรับกลุ่ม "มะบ๊ะธะ" หรือ "สมาคมผู้รักชาติแห่งพม่า" ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 ในระหว่างการประชุมของพระสงฆ์กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยกลุ่มนี้ซึ่งมีพระ "วีระธู" เป็นหนึ่งในแกนนำเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อปกป้อง "เชื้อชาติและศาสนา" ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากพรรครัฐบาล USDP ลงนามในกฎหมาย 1 ใน 4 ฉบับซึ่งเป็นที่ถกเถียง หนึ่งในนั้นคือกฎหมาย "เพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา" ซึ่งผลักดันโดยกลุ่มดังกล่าว และต่อมาประธานาธิบดีพม่าก็ลงนามในกฎหมายอีก 3 ฉบับที่เหลือ โดยมีเสียงต่อต้านเล็กน้อยในรัฐสภา ซึ่งในเวลานั้นพรรครัฐบาลคือพรรค USDP กุมเสียงข้างมาก

สำหรับกฎหมายโทรคมนาคม บังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 2013 สมัยรัฐบาลเต็งเส่ง โดยมาตรา 66(d) ระบุว่า "ผู้ใดก็ตาม ขู่กรรโชก บีบบังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวโดยมิชอบ ทำให้เสียชื่อเสียง เป็นเหตุให้ใครก็ตามตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือข่มขู่ โดยใช้เครือข่ายโทรคมนาคม" จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยมาตรา 66(d) ดังกล่าว ถูกนำมาใช้ฟ้องร้องหมิ่นประมาทออนไลน์แบบครอบจักรวาลในพม่า โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ศาลในพม่าตัดสินจำคุก ซานดี้ มิ้น อ่อง ผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลพม่าชุดก่อนเป็นเวลา 6 เดือน โดยเธอถูกกล่าวหาว่าแชร์เนื้อหาหมิ่นอองซานซูจีบนเฟซบุ๊ก โดยผู้ฟ้องคือชาวเมืองพะโครายหนึ่ง

ข้อมูลในเดือนเมษายน ทีมวิจัยด้านกฎหมายโทรคมนาคมเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการปกครองภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ก็มีคดีความที่อ้างใช้มาตรา 66(d) ในกฎหมายโทรคมนาคมพม่าแล้ว 60 คดี มีการตัดสินแล้ว 11 คดี โดยที่มี 6 คดีที่จำเลยถูกสั่งคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวหรือบางส่วนก็ยังรอการไต่สวนคดีอยู่ ทีมวิจัยยังระบุอีกว่าในสมัยของอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่งมีคดีจากกฎหมายนี้ 7 คดี และมีการตัดสิน 5 คดี

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 66(d) ของกฎหมายนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกเพราะเกรงว่าจะถูกเอามาใช้ในทางการเมืองหรือด้วยข้ออ้างอื่นๆ ขณะที่อาร์ติเคิล 19 ระบุว่า กฎหมายโทรคมนาคมของพม่าแม้จะมีข้อดีบางส่วนอย่างการส่งเสริมความหลากหลายของสื่อผ่านการแข่งขันกับภายนอก แต่กฎหมายนี้ก็ล้มเหลวในการคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีนิยามบางส่วนในกฎหมายที่ไม่ชัดเจน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Jailed Myanmar Now Editor Released on Bail, Zarni Mann, The Irrawaddy, 31 July 2017

Breaking: Myanmar Now Editor Arrested, The Irrawaddy, 30 July 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอลอว์ ชี้ปฏิรูปของคสช. แค่ข้ออ้างสืบทอดอำนาจ - แฉ! ข้อเสนอ สปท. หลายชิ้นก๊อปคนอื่น

Posted: 31 Jul 2017 10:15 AM PDT

ไอลอว์ มองการปฏิรูปของคสช. แค่ข้ออ้างสืบทอดอำนาจ แฉรายงาน สปท. หลายชิ้น "ลอกข้อสอบ" โจ่งแจ้ง บางรายงาน "ก๊อปปี้ เพสต์" จากรายงานเก่าของ สปช. อย่างชัดเจน ข้อเสนอหลายอย่างซ้ำกับกฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว หรือซ้ำกับที่หน่วยงานราชการทำอยู่ก่อนแล้วด้วย

ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน 

31 ก.ค.2560 รายงานข่าวจากโครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ แจ้งว่า วันนี้ (31 ก.ค.60) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการประชุมเพื่อส่งมอบผลงานให้กับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีจะพบปะสมาชิก สปท. เพื่อกล่าวขอบคุณและกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยมีแม้น้ำทั้งห้าสาย อันได้แก่ คสช. ครม. สนช. สปท. และ กรธ. เข้าร่วมรับฟัง

ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า ขั้นตอนดังกล่าวคงไม่ต่างอะไรกับพิธีกรรม เพราะการเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศประมาณ 1 ปี 10 เดือน ของสปท. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าไม่ได้มีผลงานปฏิรูปอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับรายงานของไอลอว์ที่พบว่า ข้อเสนอการปฏิรูปนั้นเป็นนามธรรมกว่า 75%

นอกจากนี้ หลายข้อเสนอยังซ้ำ ไม่ได้สร้างสรรค์หรือลึกซึ้งกว่าข้อเสนอที่มีอยู่แล้วในสังคม เช่น รายงานเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง และรายงานเรื่องการจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วย ยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่เรียกได้ว่านำรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มาแล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

"สปท. มีชื่อว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิิรูปประเทศ แต่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะข้อเสนอขาดรูปธรรมที่ชัดเจน อีกส่วนเพราะ สปท. ไม่มีอำนาจอะไรจริงๆ ทุกข้อเสนอต้องรอรัฐบาลเห็นชอบ ทำให้ สปท. ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทำได้แต่เพียงการมอบภารกิจให้หน่วยงานรัฐไปปรับปรุงแก้ไขการทำงาน แต่ไม่มีแนวคิดปฏิรูปใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้" ณัชปกร กล่าว

ทั้งนี้ ในมุมของ สมาชิกสปท.หลายท่าน เห็นว่าการเข้ามาทำหน้าที่ครั้งนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ เพราะจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประทศ และจะมีประโยชน์ต่อประเทศจากนี้เป็นต้นไป อย่าง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ก็เคยกล่าวว่า สปท.ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ คุ้มค่าต่อการรัฐประหาร และถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริง

แต่ทว่า ถ้าประเมินจากผลงานการปฏิรูปตั้งแต่ สปช. จนมาถึง สปท. จะเห็นว่า เรายังไม่ได้ก้าวไปไหนไกล ข้อเสนอแต่ละเรื่องสนใจแค่การแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ก็พอจะทำกันได้เองอยู่แล้ว ไม่ได้เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว มิหนำซ้ำ บางข้อเสนอยังพาให้ประเทศถอยหลังไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมายควบคุมสื่อ การเสนอมาตรการควบคุมการแสดงออกของประชาชน ภาพรวมมีแต่การเพิ่มอำนาจรัฐ โดยมองข้ามความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม

"สามปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปประเทศ เรายังไม่ค่อยเห็นข้อเสนอใหม่ สร้างสรรค์ ลึกซึ้ง หรือแม้แต่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ สปท. ตั้งงบประมาณให้ตัวเองไว้เป็นพันล้าน จนคล้ายว่า การพูดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นเพียงข้ออ้างที่จะขออยู่ต่อในอำนาจของคสช. ต่อไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด"

"และแม้ว่า สปท.จะต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ แต่คสช. ก็ยังขอพื้นที่ทำแผนปฏิรูปต่อภายใต้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลคสช. แต่งตั้งกรรมการปฏิรูปอีก 140 คน เข้ามาหน้าที่ต่อภายใน 15 วัน ซึ่งก็น่าจับตาดูว่าจะได้คนหน้าซ้ำมาทำงานอีกหรือไม่ และแผนที่คนชุดใหม่จะมาเขียนจะเป็นรูปธรรมหรือสร้างสรรค์ขนาดไหน เพราะในสามปีที่ผ่านมาล้มเหลวไม่เป็นท่า" ณัชปกร กล่าว

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'iLaw'

แฉข้อเสนอ สปท. หลายชิ้น 'ลอกข้อสอบ' คนอื่น

นอกจากนี้ ไอลอว์ยังโพสต์ภาพพร้อมข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'iLaw' โดยระบุว่า ในโอกาสที่ สปท. เลี้ยงอำลากันเองไปแล้ว และจะส่งมอบข้อเสนอปฏิรูปทั้งหมด 1,342 ข้อ จากรายงาน 131 ฉบับ ให้คนอื่นเอาไปทำต่อ เมื่อสแกนรายงานหลายฉบับ เปรียบเทียบกับรายงานหัวข้อเดียวกันที่สภาเก่าอย่าง #สภาปฏิรูปแห่งชาติ เคยทำไว้ ก็ต้องตกใจทีเดียว

ไอลอว์ ระบุว่า ในรายงานของสปท. เรื่อง การจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... เมื่ออ่านหัวข้อ "สภาพปัญหา" ในหน้า 1-2 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจาก รายงานของ สปช. วาระปฏิรูปพิเศษ 4 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ในหัวข้อ "เหตุผลที่ต้องปฏิรูป" หน้า 1-2 แบบยกเนื้อหาทั้งหมดมาจากรายงานของ สปช. แต่ผู้เขียนรายงานได้ แก้ไขแต่งเติม สลับตำแหน่ง หรือเปลี่ยนถ้อยคำเพียงเล็กน้อย โดยอาศัยโครงสร้าง การย่อหน้า การกำหนดเลขข้อตามรายงานของเก่าทั้งหมด
 
ส่วนที่ลอกแบบไม่เนียนก็มีบ้าง คือ หัวข้อ "ประสบการณ์ของนานาประเทศ" ในหน้า 3-7 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจากรายงานเดิมของ สปช. ในหัวข้อเดียวกัน ตั้งแต่หน้า 5-10 แบบชัดเจน แต่ในส่วนนี้คัดลอกมาแบบไม่แก้ไขตัดทอนอะไรเลย
 
ไอลอว์ ชี้อถึงสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น ว่า คือ หัวข้อ "สรุปผลการพิจารณาศึกษาและการกำหนดกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ" ตั้งแต่หน้า 11-21 ก็พบว่า เป็นการคัดลอกมาจากรายงานของสปช. ในหัวข้อ "ข้อเสนอแนะและแนวทางการปฏิรูป" ตั้งแต่หน้า 16-25 แบบตัวต่อตัวชนิดไม่ได้แก้ไขเลย เนื่องจากในรายงานฉบับเดิมมีการทำภาพแผนผัง 4 ภาพ ในรายงานฉบับใหม่ ก็ทำภาพแผนผัง 4 ภาพเช่นเดียวกัน เพียงแค่ลงสีใหม่หรือปรับถ้อยคำใหม่บางส่วนเท่านั้น แต่โดยโครงสร้างของแผนผังเหมือนกันทั้ง 4 ภาพ 
 
ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างบ้าง คือ รายงานของ สปท. ได้เอาเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ มาจัดวางใหม่เป็นรูปแบบตาราง แต่เนื้อหาในตารางไม่ได้ต่างไป มีการแก้หัวข้อหนึ่งแห่งจาก "ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ชาติกับยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ" เป็น "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ" ส่วนเนื้อหาภายใต้หัวข้อนั้นยกจากของเก่ามาเป็นโครงหลัก 

อ่านข้อคนพบเรื่องการ "ลอกข้อสอบ" เต็มๆ ที่https://ilaw.or.th/node/4579
ดูรายงานของ สปท. ที่ http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/usergroup_disaster/2-1.pdf
ดูรายงานของ สปช. ที่ http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/parcy/007.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกเลิกระบบช่วยเหลือค่าไฟฟ้า-แอลพีจีโอนเข้าสู่บัตรคนจนเริ่ม 1 ต.ค.นี้

Posted: 31 Jul 2017 09:24 AM PDT

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยกเลิกระบบช่วยเหลือค่าไฟฟ้า-แอลพีจี โอนเข้าสู่บัตรคนจนเริ่ม 1 ต.ค.นี้ หาบเร่แผงลอยถูกทบทวนอาจไม่เข้าข่ายช่วยเหลือ
 

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์บริการข้อมูลมติ กพช. / กบง. 

31 ก.ค. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์บริการข้อมูลมติ กพช. / กบง. รายงานว่าวันนี้ (31 ก.ค.60) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ พร้อมรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ด้านพลังงาน ดังนี้ 1) แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ 2) รายงานผลการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว 3) การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียม (LPG) ให้มีการแข่งขันเต็มรูปแบบ 4) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านพลังงาน  5) อัตราค่าไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 6) ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) และร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย 7) สถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 และ 8) รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

สำนักข่าวไทย รายงานรายละเอียดผลการประชุมด้วยว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช. วันนี้ เห็นชอบให้ปรับแนวทางการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านไฟฟ้าและแอลพีจี ผ่านระบบสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ซึ่งจะเริ่มใช้เดือน ต.ค.นี้ โดยใช้เงินงบประมาณ กระทรวงการคลัง มาตรการค่าไฟฟ้าฟรีภายใน วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน ก๊าซแอลพีจี 45 บาท/คน/3 เดือน ทำให้ขยายฐานการช่วยเหลือจากเดิม 7 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน โดยเป็นการยกเลิกการช่วยเหลือแบบเดิมที่ยึดผู้ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน และเกณฑ์ตัดสินผู้รับการอุดหนุนแอลพีจีที่อิงการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน

ส่วนหาบเร่แผงลอยที่ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือประมาณ 120,000 ราย วงเงินช่วยเหลือ 27 ล้านบาท/เดือนที่ราคา18.13 บาท/ กก.นั้น ในส่วนนี้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังจะหารือกันต่อไปว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ และกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่อย่างไร เช่น อาจจะกำหนดราคาอาหารไม่ให้สูงเกินไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง แต่หากปฏิบัติไม่ได้จะต้องยกเลิกก็แล้วแต่จะพิจารณา โดยที่ผ่านมา ปตท. เป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือเงินอุดหนุนแอลพีจีทั้งผู้มีรายได้น้อยและหาบเร่แผงลอยประมาณ 28 ล้านบาท/เดือน

ส่วนการลอยตัวแอลพีจีสมบูรณ์แบบที่จะมีการประกาศหลังประการประชุม กบง .พรุ่งนี้ (1 ส.ค.) วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน คาดว่าราคาขายปลีกจะไม่เปลี่ยนแปลงจากราคา 20.29บาท/หน่วย แม้ราคาตลาดโลกเดือนสิงหาคมจะขยับขึ้น 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 440 ดอลลาร์/ตัน โดยคาด กบง.จะใช้เงินกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจีเข้าอุดหนุน

ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กพช.ยังเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีเต็มรูปแบบตามที่ กบง.มีมติวางแนวทางไว้ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซแอลพีจีมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดยให้ สนพ. และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ติดตามและรายงานเฉพาะราคาอ้างอิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีในประเทศ พร้อมมีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคาอ้างอิงการนำเข้าก๊าซแอลพีจี และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบให้ ปตท.สามารถดำเนินธุรกิจคลังก๊าซภายใต้โครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาชำแหละนิยาม ลักษณะ ทางแก้ “สแลป” เครื่องมือกฎหมายทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน

Posted: 31 Jul 2017 09:07 AM PDT

เปิดนิยาม SLAPP ฟ้องร้องเพื่อสร้างต้นทุน กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ในไทยวนเวียนภาคการผลิตพื้นฐาน แต่  ม.112 ม. 116 ก็นับ เปิดกรณีตัวอย่างชุมชน จ.สกลนคร จ.เลย เจอกีดกัน ข่มขู่ทั้งวาจา ลูกปืน เอกชนกระหน่ำฟ้องชาวบ้าน ซ้ำแต้มต่อน้อยกว่านายทุน แก้ไขได้ต้องปฏิรูปยุติธรรม จริยธรรมนักกฎหมาย ตั้งศาลสิ่งแวดล้อม "อังคณา" เผย ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้น และจะมากขึ้น

จากซ้ายไปขวา: อังคณา นีละไพจิตร สมัย มังทะ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ วิเชียร อันประเสริฐ วิรดา แซ่ลิ่ม

เมื่อ 27 มิ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดเสวนา "SLAPP Law กลไกทางกฎหมายที่นักสิทธิฯ อาจต้องเผชิญ" ภายใต้โครงการลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน ที่โรงแรมหนองหาร เอลลิแกนท์ จ.สกลนคร

งานเสวนามี อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส ทนายความกรณีเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย วิเชียร อันประเสริฐ นักวิจัย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสมัย มังทะ ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องเป็นวิทยากร และวิรดา แซ่ลิ่ม อดีตผู้ดำเนินรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

เปิดนิยาม SLAPP (สแลป) ตบปากด้วยความกลัว สร้างต้นทุน กีดกันการมีส่วนร่วม แต่ ม.44 ไม่เข้านิยาม

สำนักข่าวไทยพับลิก้า รายงานว่า SLAPP ย่อมาจาก Strategic Litigation Against Public Participation แปลว่า "การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน" พ้องเสียงกับคำว่า slap (สแลป) แปลว่า "ตบ" เป็นการเปรียบเทียบกับการตบปากให้คนหยุดมีส่วนร่วมในภาคสาธารณะ

วิเชียรให้รายละเอียดของสแลปจากงานของต่างประเทศ มีอยู่ 5 ประการ ดังนี้

  1. น่าจะเป็นคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายที่เป็นเงิน หรือคำสั่งบางประการ เช่น ห้ามชุมนุม ห้ามวิพากษ์วิจารณ์

  2. เขาน่าจะฟ้องกับบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มหรือบุคคล เพราะถ้าฟ้องกับรัฐนั้นถือว่ารัฐมีตัวช่วยทางกฎหมายเยอะจึงไม่นับ

  3. กลุ่มและบุคคลเหล่านั้นกำลังสื่อสารกับรัฐ ตัวแทนรัฐ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ลงมาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา

  4. สแลปที่พูดถึง นั้นเป็นประเด็นที่เป็นสาธารณะ หรือเป็นประเด็นที่ตระหนักได้ถึงผลประโยชน์สาธารณะ

  5. จริงๆแล้วคดีไม่มีสาระอะไรเลย แต่มีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน เสียเวลา ในการจัดการเรื่องคดี ไม่ให้มีเวลามาเคลื่อนไหวต่อต้านประเด็นต่างๆ

แสงชัยกล่าวว่า ภาษากฎหมายก็มีชื่อเฉพาะ ว่า การใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เพราะการฟ้องคดีเป็นสิทธิของผู้คน ใครที่ถูกละเมิดสิทธิก็มีกระบวนการยุติธรรมในการปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องทางแพ่งหรืออาญา แต่ที่มาคุยในประเด็นวันนี้ การใช้สิทธิ์นี้เป็นไปโดยไม่สุจริต เพราะมันมีอาการกลับกัน คือคนที่น่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ กลับกลายเป็นจำเลย ส่วนคนที่ควรจะได้รับภาระต้องพิสูจน์ว่าโครงการที่มีจะมีผลดีผลเสียอย่างไรกับชุมชน กลับเป็นโจทก์ฟ้องร้องชาวบ้านที่มีลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ผ่านยุคความวุ่นวายทางการเมืองมา 10 ปี ก็มีลักษณะดำเนินคดีแบบนี้เช่นกัน เช่นการฟ้องร้องนักศึกษาที่เคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แล้วพยายามเชื่อมโยงไปหากลุ่มการเมืองที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง โดยการฟ้องเหล่านี้ไม่ได้หวังให้พิสูจน์ความผิด เพียงแค่ฟ้องให้เขาวุ่นวายกับการขึ้นศาล หาเงินไปประกันตัว บางคนประกันตัวไม่ได้เช่น ไผ่ ดาวดิน การฟ้องเหล่านี้ทำให้คนกลัว ไม่กล้ารักษาสิทธิ์ของตัวเองในการมีส่วนร่วมต่างๆ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุนี้

วิเชียรพูดถึงความลำบากของชาวบ้านที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการต่อสู้คดีว่า อย่างน้อยคดีหนึ่งก็ต้องไปหาตำรวจ พูดคุยเรื่องข้อกล่าวหา ไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษา 6-13 ครั้งต่อคดี มิพักจะต้องเตรียมคดีกับทนายความ ชาวบ้านแทบไม่ต้องทำมาหากินเลยในแต่ละเดือน ซึ่งทางชุมชนเวลามีคนถูกฟ้อง ก็พากันแห่ไปกันเป็นร้อยคนเพราะตกลงกันในกลุ่มว่าคดีที่คนหนึ่งคนโดนฟ้อง เท่ากับเป็นคดีของชุมชน แต่โชคดีที่ชาวบ้านมีรายได้ดีในช่วงที่ราคายางขึ้น และมีรายได้จากการขายลอตเตอรี่ แต่ว่าการขึ้นศาลหนึ่งครั้งก็มีค่าใช้จ่ายต่อวันสูง ทั้งค่าต้อนรับและดูแลทนายความ ค่ากินอยู่ มีครั้งที่ชาวบ้านโดนฟ้องร้องที่ภูเก็ต ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปขึ้นศาลที่ภูเก็ต ดังนั้นต้นทุนเท่านี้จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องแบกรับเมื่อจะต่อสู้ เคลื่อนไหว แสดงให้เห็นว่าสแลปมีความน่ากลัวจริงๆ

กลยุทธการฟ้องร้องเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมในทางสาธารณะคือการใช้ความกลัวที่มีต่อคดี กลัวการติดคุก กลัวเสียเงิน ทำให้ปัจเจกไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านประเด็นที่ตนเคลื่อนไหวอยู่ พอฟ้องแล้ว ปัจเจกก็มีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนเองไม่ผิด ในกรณี จ.เลย คดีที่ไม่มีการไกล่เกลี่ยนั้นได้รับยกฟ้องทุกกรณี ยกเว้นการสร้างกำแพงใจครั้งที่ 3 ที่กีดขวางทางจราจร ซึ่งศาลพิพากษาได้ดี โดยบอกว่า กำหนดให้รอการกำหนดโทษ ด้วยเหตุผล 2 ประการ หนึ่ง เรื่องที่เจ้าบ้านทำ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องของเขาที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สอง การปิดถนนนั้นกระทำกับเหมืองอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้กระทบกับสาธารณะ ถือว่าทำด้วยความบริสุทธิ์

มีคำถามจากวงเสวนาว่า กฎหมายมาตรา 44 ถือเป็นสแลปหรือไม่ เพราะมีการใช้ ม.44 ยกเลิกการทำประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งนำไปสู่การกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน วิเชียรตอบคำถามว่า มาตรา 44 เป็นการกำหนดมาแต่ยังไม่มีการฟ้อง ดังนั้นยากที่จะพูดเป็นสแลป เพราะโดยนิยามคือการฟ้องร้องเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วม ในขณะที่แสงชัยกล่าวว่า มาตรา 44 ไม่ใช่ สแลปแต่เป็นกฎหมายที่มีอำนาจทั้งในสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จนสามารถถอนฟ้อง เปลี่ยนการตัดสินใจบังคับใช้นโยบายได้ ต้องมองในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญกับมาตรา 44 ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องรอดูกันต่อไป

สแลปไทยตัวละครชัดเจน ยังวนเวียนในภาคการผลิตพื้นฐาน แต่  ม.112 และ 116 ก็นับ

วิเชียรกล่าวถึงภาพรวมคดีที่มีลักษณะเป็นการฟ้องร้องแบบสแลปในไทยว่า ส่วนใหญ่จะมองเห็นภาพตัวละครว่าใครฟ้องใคร คือ มีหน่วยงานรัฐฟ้องนักวิชาการ เพื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ เช่นกรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฟ้องหมิ่นประมาท เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ ณัฎฐา โกมลวาทิน คดีหมิ่นประมาทในประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์คลื่นความถี่ สาม เอกชนฟ้องร้องชาวบ้าน เช่นกรณีชาวบ้าน จ.เลย ส่วนการฟ้องร้องในมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ 116 ที่เรียกกันเล่นๆ ว่ากฎหมายว่าด้วยการ "ยุยงปลุกปั่น" อันเป็นคดีที่ถูกตีความว่ากระทบกับความมั่นคงของรัฐ ก็เป็นเรื่องการฟ้องสแลป เพราะเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วย

แสงชัยกล่าวว่า ตัวคดีสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานทรัพยากรเป็นปัจจัยการผลิต กับวิถีชุมชนที่มีแนวทางใช้ทรัพยากรธรรมชาติอีกแบบ เราจะเห็นได้จากกรณีปิโตรเลียม เหมืองแร่ โรงงานทำยางมะตอย เหมืองถ่านหิน อุตสาหกรรมพื้นฐานยุคเริ่มต้นทั้งสิ้น การผลิตของไทยยังอยู่กับการขยายกำลังการผลิตเช่นนี้อยู่ จึงไม่แปลกที่จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับชุมชน แนวทางพัฒนาก็น่าจะรู้อยู่ว่า ส่วนใหญ่แล้ววิถีชุมชนไม่มีพลังพอที่จะโต้แย้ง คัดค้านทิศทางการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นไปได้ถ้าแนวทางของวิถีชุมชนได้รับการยอมรับบรรดาผู้อาจมีส่วนได้ประโยชน์จากทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบวิถีชุมชน เช่น ผู้การทำให้ผู้บริโภคในเมืองได้รับความรู้ว่าการผลิตไฟฟ้าไม่ควรไปเบียดเบียนใครสักคนหนึ่ง หรือทำให้ตระหนักว่าการผลิตจะต้องไม่ทำให้ชุมชนต่างๆ อยู่กันไม่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ชนชั้นกลางในเมืองทั้งหลายเลือกกิจการที่มีมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนก็อาจมีทางออก

แต่ถ้าพูดในทางคดีความ ศาลไม่สามารถพิพากษาให้ยกเลิกการฟ้องร้องของบริษัทกับชาวบ้านได้ เพราะสิทธิการฟ้องร้องก็ต้องได้รับการคุ้มครอง  ตรงนี้ก็เป็นข้อขัดแย้งในกระบวนการยุติธรรม ฝั่งชาวบ้านอำนาจต่อรองน้อยกว่านายทุนอยู่แล้ว เพราะทางรัฐประนีประนอมกับนายทุนมากกว่า การออกใบอนุญาตไม่มีการไปขออนุมัติจากประชาชนเพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ความไม่เป็นธรรมแบบนี้ทำให้การต่อสู้ไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายหนึ่งเพียบพร้อม ฝ่ายราชการให้การสนับสนุน ทั้งยังมีเงินทุนจ้างนักวิชาการ ทนายความและนักนักกฎหมาย นอกจากนั้นระบบพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมเรามีปัญหา ข้อแรก ศาลมักมีท่าทีเป็นลบต่อกลุ่มชาวบ้าน ไปกันเป็นร้อยคน เจ้าหน้าที่ศาลก็ดุแล้ว บ้างก็ไล่ไม่ให้เข้า บ้างก็ถามชาวบ้านว่า ถ้าไม่ผิดแล้วเขาจะฟ้องทำไม

กรณีตัวอย่างชุมชน ชาวบ้านโดนฟ้องกระหน่ำ เจอกีดกัน ข่มขู่ทั้งวาจา ทำร้ายร่างกาย ลูกปืน

สมัย กล่าวว่า  ตนมาจากจุดที่โรงงานน้ำตาลจะมาตั้งซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนใน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ชาวบ้านจึงมีข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อมาก็มีการกว้านซื้อที่ดินใกล้หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรู้สึกถึงการถูกจำกัดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเช่น ลำห้วยเตยและร่องน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้งานที่อยู่ในพื้นที่ของโรงน้ำตาล ทางสัญจร จึงฟ้องร้องไปยัง อบต. ไปตรวจสอบ และพบว่าทางน้ำถูกเปลี่ยนแปลง ร่องน้ำถูกถม จึงได้ยื่นหนังสือความกังวลของชาวบ้านให้ อบต. หลังจากยื่นหนังสือไป 2-3 เดือนก็ถูกฟ้อง ชาวบ้าน 20 คนโดนฟ้องหมิ่นประมาท ด้วยความที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับหมายศาลก็กลัว ได้ไปศาลอยู่ 3 ครั้ง และศาลก็บอกว่าให้ไกล่เกลี่ยกันก่อนระหว่างชาวบ้านกับบริษัท บริษัทตั้งเงื่อนไขว่าจะตั้งกรรมการพิสูจน์ข้อกล่าวหา แต่ในคณะกรรมการไม่มีชาวบ้านจากกลุ่มรักษ์น้ำอูนอยู่ในนั้น และจะขุดคลองที่ถมไปให้ใหม่ แต่ชาวบ้านก็ไม่รับ ศาลก็ตัดสินวันที่ 3-4 ต.ค. จะนัดไปไต่สวน เวลาผ่านไป จากกลุ่มต่อต้านที่มีจำนวนกว่า 50 คน แต่ก็ถูกข่มขู่ มีรถมาจอดหน้าบ้านตอนกลางคืน มีลูกปืนตกลงมาในที่ประชุม  ผู้นำในกลุ่มก็ถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบ ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 คนที่อยู่ฝ่ายต่อต้านโรงน้ำตาลก็ถูกตั้งค่าหัว ทั้งยังถูกทนายข่มขู่ในชั้นศาลว่า ถ้าไม่รับเงื่อนไขที่ตั้งให้ก็จะฟ้องอีก ทำให้สมาชิกกลุ่มตื่นกลัว กลุ่มที่มี 50 กว่าคนก็เหลือเพียง 20 กว่าคน นอกจากนั้น เวลาไปให้ความรู้เรื่องผลกระทบของการมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชาวบ้านหมู่บ้านอื่นก็ถูกกีดกันไม่ให้ใช้พื้นที่สาธารณะในการกระจายข่าวสารเรื่องผลกระทบของการตั้งโรงงานน้ำตาล ถ้าจัดเวทีได้ก็มีตำรวจ ทหารไปคุมพื้นที่

วิเชียรกล่าวว่า ตนเองเก็บรวบรวมข้อมูลที่ จ.เลย ที่บริษัทฟ้องร้องชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวนผู้การถูกฟ้องร้องทั้งหมด 21 คดี แยกเป็นการฟ้องจากบริษัททุ่งคำ ผู้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ 17 คดี จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 3 คดี และจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 คดี โดย 20 คดีตั้งแต่ปลาย 2556 ถึงปัจจุบัน แต่ละคดีถูกฟ้องด้วยกฎหมายรวมทั้งหมด 7 ฉบับ ฟ้องชาวบ้านทั้งหมด 38 คน มีค่าเสียหาย 320 ล้านบาทกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

ลักษณะการฟ้องร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกิจกรรมของชาวบ้าน เช่น มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผลกระทบของเหมืองในอาณาบริเวณเหมืองก็โดนฟ้องเรื่องบุกรุก พอปกป้องชุมชนด้วยการสร้างกำแพงกันทาง ไม่ให้บริษัทขนสารเคมีและแร่ได้ก็ถูกฟ้องร้อง การสร้างกติกาไม่ให้รถบรรทุกเกิน 15 ตันและรถขนสารเคมีผ่านชุมชน เป็นสัญลักษณ์ว่าต้องสร้างระเบียบกติกาชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้านเพราะภาครัฐแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทั้ง 3 กำแพงถูกทำลายทั้ง 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นชายฉกรรจ์ปิดหน้า ครั้งที่สองเป็น อบต. ครั้งที่สามเป็นทหารนอกราชการและในราชการคุมกำลังคน 120 คน มารื้อทำลายกำแพง จับกุมและทำร้ายชาวบ้าน โดยทางชาวบ้านได้แจ้งไปทางผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย ทั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวยังถูกตั้งค่าหัวและถูกสังเกตการณ์โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ พอทหารตั้งคณะกรรมการปรองดองระหว่างชาวบ้านกับเหมืองที่ทางเหมืองขอขนแร่ที่เหลือออกจากเหมือง แล้วชาวบ้านตั้งข้อสงสัย อยากให้เหมืองพิสูจน์ว่าเป็นแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ถูกฟ้องทางบริษัทเหมืองฟ้องหมิ่นประมาท และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลผิดพลาด ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทเริ่มร้องขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่า และ สปก. เพื่อดำเนินกิจการต่อไป

เปิดแนวทางแก้ไขสแลป ต้องปฏิรูปยุติธรรมทั้งกระบวน ชุมชนต้องใช้วิกฤติเป็นโอกาสรวมตัวพิสูจน์ความบริสุทธิ์

วิเชียรกล่าวว่า ตอนนี้เรามีการต่อสู้ค่อนข้างเยอะ  ดังนั้นนักเคลื่อนไหวหรือนักปกป้องสิทธิฯ ควรศึกษากฎหมาย หรืออย่าไปทำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วทุกการเคลื่อนไหวก็เกี่ยวกับการฟ้องร้อง สอง ต้องปฏิรูประบบยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการและศาล ถ้าพิจารณาแล้วว่าการฟ้องร้องเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ยกฟ้องให้หมด สาม การแก้ไขตัวนี้ ก็คือแก้ไขกฎหมายบางส่วน ต้องแก้ไขการฟ้องหมิ่นประมาทให้เป็นกฎหมายแพ่ง หรือแก้บางส่วนให้การฟ้องร้องในเชิงสแลปไม่เกิดขึ้น หรือต้องมีกฎหมายสแลป โดยหลักการก็คือที่พูดไปเมื่อสักครู่ อีกอันหนึ่งคือต้องมีศาลสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีการไต่สวน ไม่ใช่มีการมากล่าวหากัน อีกอันหนึ่งคือ นักกฎหมาย ทนายความ ถ้าหากมีคดีสแลปแล้ว โดยจริยธรรมแล้วต้องไม่ไปช่วยบริษัทฟ้องร้องชาวบ้าน อีกอันหนึ่งคือ ชาวบ้านหรือคนถูกฟ้องร้องต้องรวมตัวกัน

แสงชัยกล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมจะลดได้ ถ้ากระบวนการพิจารณาคดีพยายามทำตัวเป็นผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐด้วย ถอยออกมาระหว่างกลางของคู่ขัดแย้ง แล้วถ้าศาลไม่ทำเอง เราก็พบว่า ด้วยพลังของชาวบ้าน เราสามารถทำเรื่องนี้ได้ อย่าไปคิดว่าต้องรอกฎหมาย เพราะต้องรออีกนาน ต้องผ่านความขัดแย้งอย่างที่เป็นอีกไม่รู้กี่ครั้ง ชุมชนเปลี่ยนคดีที่ถูกฟ้องที่มุ่งทำลายความสามัคคี สร้างความกลัว กลับทำให้ชุมชนรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ทั้งการฟ้องก็เป็นการสะท้อนว่า ชุมชนที่ถูกฟ้องกำลังเดินทางมาถูกทางในการเคลื่อนไหว เพราะถ้าไม่กระทบกับทางคู่กรณีจริงก็คงไม่ฟ้อง กลุ่มชาวบ้านที่คิดเช่นนี้ก็จะไม่หวั่นไหวกับการฟ้องคดี และเริ่มคิดว่าจะนำการฟ้องคดีมาใช้ประโยชน์อะไร

จากการที่กลุ่มชาวบ้านใช้การถูกฟ้องเป็นโอกาสในการสร้างการรับรู้กับชุมชนว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้แต่กับท่าทีของทนายความ ผู้พิพากษาเอง ที่มีหลายกรณีที่เริ่มเข้าใจชาวบ้าน ทนายความบางคนอายจนต้องขอเปลี่ยนตัวผู้ว่าความ ถ้าศาลรู้ถึงความสุจริตของชุมชน ก็เท่ากับชาวบ้านบริสุทธิ์ไปครึ่งตัวแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็งเสียก่อน อย่าเพิ่งพูดถึงการเปลี่ยนกฎหมาย แต่ต้องสร้างความเข้าใจให้ชุมชนก่อน เรายังเก็บชัยชนะระหว่างทางยังไม่พอ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่า ไทยควรมีคดีที่เกี่ยวพันและที่จะเป็นที่อ้างอิงว่ากรณีเช่นนี้เป็นหรือไม่เป็นการใช้สิทธิ์ไม่สุจริต น่าจะต้องมีการตั้งต้นจากข้อขัดแย้งกับบุคคล ชุมชนกับโครงการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้ามีช่องทางให้ผู้ถูกฟ้องร้องมีช่องทางเฉพาะในการตรวจสอบ แต่ว่าก็จะมีปัญหาในด้านที่ศาลจะพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่การจัดการฟ้องสแลปนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงเพื่อกันไม่ให้จำเลยไปเคลื่อนไหวต่อ

แสงชัยให้ความเห็นในช่วงท้ายว่า ตนยังเห็นเงื่อนไขการพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในไทย บนเงื่อนไขที่ศาลจะพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เพราะว่าผลกระทบของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นผลสืบต่อไปในอนาคตรุ่นลูกหลาน และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปกว่าพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้อาณาบริเวณการดำเนินการ

ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้น คาด จนท. รัฐจะคุกคามมากขึ้น อัดฟ้องสแลปเสียหาย ศก. สังคม วัฒนธรรม

อังคณากล่าวว่า การฟ้องร้องเพื่อการกลั่นแกล้งต้องยุติ การฟ้องร้องแต่ละเรื่องเป็นการกลั่นแกล้งไหม แล้วสิ่งที่ชาวบ้านทำเป็นการก่อกวน สร้างความเดือดร้อนหรือทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่การฟ้องๆ ไปก่อน เพราะคนธรรมดาเวลาขึ้นศาลนั้นส่งผลกระทบมาก บางครอบครัวถึงกับต้องแยกทางกัน ควรส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้ว่าสิทธิตัวเองมีอะไร ให้รู้ว่าการพัฒนาที่เข้ามาจะส่งผลกระทบหรือไม่ แล้วรัฐจะทำอย่างไร รัฐบาลไทยก็ได้รับข้อกังวลในเรื่องการปกป้องนักสิทธิฯ จากต่างประเทศมากมาย ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการแก้ไขใดๆ ออกมาเพราะยังไม่มีข้อสรุปว่าใครบ้างที่เป็นนักสิทธิฯ ตนคิดว่า ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องสถานการณ์สิทธิทางการเมือง พบว่าหลังรัฐประหาร ประชาชนจะยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่มากขึ้น จากการตรวจสอบของ กสม. พบว่า ชาวบ้านถูกจับกุมง่ายขึ้นจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐ ดังนั้น รัฐควรเข้าใจว่านักสิทธิฯ เป็นผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิฯ การยอมรับดังกล่าวจะทำให้นักสิทธิฯ ทำงานต่อไปได้ และต้องให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลเท่าที่พึงจะทำได้ เช่น ข้อมูลการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะของชาวบ้านเมื่อมีโรงงานมาตั้ง เมื่อนักสิทธิฯ ถูกทำร้าย ถูกฆ่า ถูกอุ้ม รัฐก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าฟังการพิจารณาคดีทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรม และต้องให้ความคุ้มครองพยาน แม้จะมีกองทุนยุติธรรมที่ให้ใช้ได้ในเรื่องการประกันตัว แต่การคุ้มครองพยานก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และจะต้องให้มั่นใจว่านักสิทธิฯ จะต้องไม่ถูกฟ้องกลั่นแกล้ง ทุกวันนี้เรามีนักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงที่อาจต้องเลี้ยงลูก ตั้งครรภ์ ดูแลครอบครัว ในระยะยาว การฟ้องร้องจึงส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก นอกจากนั้นเวลาขึ้นศาล อำนาจต่อรองของนักปกป้องสิทธิฯ จะน้อยกว่า จะถูกกล่าวหาไว้ก่อนว่าเป็นผู้กระทำผิด

ตอนนี้เป็นที่ถกเถียงในไทยมากว่าใครคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นิยามของสหประชาชาติได้มีปฏิญญานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ให้นิยามว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะสมาคมกับคนอื่นในการปฏิบัติคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนั้น นักสิทธิมนุษยชนจึงสามารถตีความได้ทั้งในรูปแบบปัจเจกและกลุ่ม โดยต้องทำบันทึกและรายงานเผยแพร่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำงานกับรัฐ ร่วมมือกับชุมชน ประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิซึ่งตนอยากให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้แต่ชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะมีความเข้าใจที่แตกต่าง คนที่ทำงานงานเรื่องสิทธิมนุษยชน คือคนที่มีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน สอง สิทธิมนุษยชนกว้างกว่ากฎหมาย หลายๆ เรื่องที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ เช่น การคุ้มครองจากการทรมาน โดยที่กฎหมายยังไม่ได้ระบุว่าเป็นอาชญากรรม สิทธิมนุษยชนเป็นพลวัตที่เปลี่ยนและขยายได้ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้มีการพูดถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยแล้ว จากที่แต่ก่อนไม่มี ไม่เหมือนกฎหมายที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น แก้ไขไม่ได้

นักสิทธิมี 2-3 กลุ่ม หนึ่ง ผู้พัฒนามาจากการเป็นเหยื่อ สอง กลุ่มทีมีความเชื่อมั่นเรื่องสิทธิมนุษยชน และทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน คนที่จะมาเป็นนักปกป้องสิทธิ จะต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็มีนักสิทธิมนุษยชน ในเมืองไทยถูกคุกคาม จากการฆ่า การอุ้มหาย ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแทน มี 17 กรณี เป็นบังคับสูญหายไป 2 กรณี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ไม่รู้ เรื่อง 'โกตี๋' โดนอุ้มหาย และไม่ขอวิจารณ์หวั่นกระทบลาว

Posted: 31 Jul 2017 06:55 AM PDT

จอมระบุเพื่อนโกตี๋เผยกลุ่มชายชุดดำพูดภาษาไทยประมาณ 10 คน อุ้ม 'โกตี๋' ตั้งแต่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ชะตากรรม ผบ.ทบ.ก็ไม่รู้ เรื่อง หวั่นกระทบ ลาว ขณะที่ แหล่งข่าวทางการลาวของไทยรัฐ ไม่ได้รับรายงาน

31 ก.ค. 2560 จากกรณีข่าวการหายตัวไปของ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่คาดว่าลี้ภัยอยู่ใน สปป.ลาว นั้น ล่าสุด วันนี้ (21 ก.ค.60) เมื่อเวลา 8.30 น. จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Jom Petchpradab' ในลักษณะสาธารณะ ระบุว่า  ตนได้รับคำยืนยันจากคนที่ใกล้ชิดกับ โกตี๋ หรือ สหายหมาน้อยว่า โกตี๋ ได้ถูก กลุ่มชายชุดดำ ประมาณ 10 คน หลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรหม พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไป เมื่อเวลา 9.45 ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

จอม รายงานลักษณะการบุกเข้าจับกุมว่า ขณะที่ โกตี๋ กำลังจะลงจากรถ เพื่อจะเข้าบ้านพร้อมเพื่อนอีก 2 คน โดยกลุ่มชายชุดดำดังกล่าว ได้แอบซุ่มตัวอยู่ข้างบ้านก่อนที่ โกตี๋จะมาถึง และเมื่อโกตี๋ กำลังจะก้าวลงจากรถ พร้อมเพื่อนอีก 2 คน กลุ่มชายชุดดำดังกล่าวก็ได้กระจายกำลังกัน เข้าจับกุมทั้ง 3 คน โดยเอาผ้าคลุมหน้าทุกคน พร้อมเอาผ้ายัดปาก และมัดมือไพล่หลัง จากนั้นก็แยก โกตี่ พาไปขึ้นรถที่เตรียมไว้ ส่วนเพื่อนโกตี๋อีก 2 คน ถูกลากมาขังไว้รวมกันไว้ภายในบ้าน จากนั้น กลุ่มชายชุดดำก็ออกจากบ้านไป หลังจากเพื่อนโกตี๋ทั้ง 2 คน ดิ้นหลุดจากการถูกมัด ก็ได้เรียกให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงช่วย โดยแจ้งให้ตำรวจในพื้นที่ทราบแล้ว

จอม รายงานเพิ่มเติมถึงคำบอกเล่าของเพื่อนโกตี๋ที่ถูกจับ ว่า ชายชุดดำที่เข้ามาจับกุมพวกตนนั้น พูดภาษาไทย และใช้ที่ช๊อตไฟฟ้า ช๊อคเข้าที่ต้นคอตน จากนั้นก็ซ้อมแต่ละคน พร้อมขู่ไม่ให้พูด ไม่ให้ร้อง ขณะเดียวกันเขาบอกว่า ยังได้ยินเสียง โกตี๋ พูดว่า "โอ้ย หายใจไม่ออก" จากนั้น เสียงโกตี๋ ก็เงียบไป ซึ่งตอนนี้เพื่อนทั้งสองคนได้แจ้งความกับตำรวจในพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่มีใครทราบว่า ถึงตอนนี้โกตี๋ อยู่ที่ไหน และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แต่จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิดโกตี๋เชื่อว่า ตอนนี้ โกตี๋ น่าจะยังมีชีวิตอยู่และน่าจะถูกนำตัวข้ามไปฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว

ผบ.ทบ.ก็ไม่รู้ เรื่อง หวั่นกระทบ ลาว

ขณะที่วาสนา นาน่วม สื่อมวลชนอีกคน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Wassana Nanuam' ในลักษณะสาธารณะว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิศาสตร์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาฯสมช. ก็ยืนยัน เหมือนกันว่า ไม่ทราบเรื่อง มีแต่ข่าวจากสื่อ เรา ไม่มีการยืนยัน  ตนไม่รู้ว่า เป็นจริงหรือเท็จ หรือที่มาที่ไป แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่ ของ ทบ. เพราะในการประสานกับลาว เป็นเรื่องของ กระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อหวังผลหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า เราไม่มีข้อมูล ถ้าเราแสดงความเห็นอะไรไป จะเป็นผลกระทบเสีย มากกว่าดี กว่าดี และอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เมื่อถามว่า จะต้องตรวจสอบหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า หน่วยข่าว ก็คงตรวจสอบ เพราะอะไรที่เป็นเริ่อง ระหว่างประเทศ อีกทั้ง นี่ไม่ได้อยู่ในเขตประเทศไทย ที่ผมรับผิดชอบ หากพูดไปอาจเกิดความเสียหาย อีกทั้ง แต่ละประเทศ ก็มีบูรณภาพแห่งดินแดน เรา ไม่ควรก้าวล่วง

แหล่งข่าวทางการลาวของไทยรัฐ ไม่ได้รับรายงาน

ไทยรัฐออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงานได้ออกมาปฏิเสธไม่ทราบข่าวดังกล่าว ขณะที่ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังแหล่งข่าวทางการ สปป.ลาว หน่วยงานหนึ่ง ได้ความว่า ตนก็ยังไม่ทราบข่าวดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่ได้ติดตามข่าวในประเทศไทย ที่มีข่าวว่าโกตี๋ถูกอุ้มหายไป เบื้องต้นตนได้พยายามเช็กข่าวนี้อยู่ แต่ก

เมื่อถามว่า รายงานอย่างเป็นทางการล่าสุดในส่วนของประเทศลาวนั้น พบว่าโกตี๋ อาศัยอยู่ในประเทศลาวหรือไม่ แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบว่าอยู่ที่ลาวหรือไม่ เพียงแต่ได้ยินข่าวจากประเทศไทยว่าโกตี๋ถูกอุ้มฆ่าในวันที่ 29 หรือ 30 ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของประเทศลาวนั้น ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้เข้ามา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปยังลาวนั้น ยังมี อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา จนขณะนี้ยังม่ทราบชะตากรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โดนอีกคดี ตร.นัด 'ทนายจูน' รับทราบข้อหา 'แจ้งความเท็จ' กรณีค้นรถคดี 14 ประชาธิปไตยใหม่

Posted: 31 Jul 2017 06:00 AM PDT

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา จากพนง.สอบสวน เพื่อไปรับทราบข้อหา แจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นได้รับโทษ 2 ส.ค.นี้ ที่สน.ชนะสงคราม

31 ก.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ จูน ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา จากพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลเพื่อไปรับทราบข้อหา แจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นได้รับโทษ ตามมาตรา 172 และมาตรา 174 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต่อมาทนายความได้ประสานงานว่า ศิริกาญจน์  จะเข้ารับทราบข้อหาในวันที่ 2 ส.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ที่สน.ชนะสงคราม

สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า นับเป็นคดีที่ 3 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การค้นรถของ ศิริกาญจน์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 58 ภายหลังจากที่ ศิริกาญจน์  และเพื่อนทนายความเข้าไปทำหน้าที่คัดค้านการฝากขังการควบคุมตัว 14 นักกิจกรรมขบวนประชาธิปไตยใหม่ภายในศาลทหารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ในขณะนั้นเข้าขอตรวจค้นรถซึ่งจอดอยู่หน้าศาลทหาร โดยไม่มีหมายค้นและไม่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร ทนายความจึงปฏิเสธการขอค้นรถของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถไว้และห้ามเคลื่อนย้าย พร้อมทั้งได้ไปขอออกหมายค้นและทำการค้นรถในวันที่ 27 มิ.ย. 58 ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน ศิริกาญจน์ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามว่า  เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการขอค้นโดยไม่มีหมายและเหตุอันควร และยึดรถห้ามเคลื่อนย้ายไว้หนึ่งคืน จนเป็นเหตุที่มาของคดีแจ้งความเท็จครั้งนี้

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความฯ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวันที่ 9  ก.พ. 59 พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้แจ้งข้อหาว่า ศิริกาญจน์  กระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญาเป็นคดีแรก แต่ในวันดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จเนื่องจากเมื่อทนายความได้สอบถามพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนว่าข้อความใดเป็นเท็จ แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถชี้แจงได้ในวันนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาเพียงคดีเดียว ปัจจุบันคดีซ่อนเร้นพยานหลักฐานและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอยู่ระหว่างการพิจารณาทำความเห็นของพนักงานอัยการ และ ศิริกาญจน์ มีนัดรับฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ ในวันที่ 2 ส.ค.60 เวลา 9.00 น. ณ สำนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต เช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ พนักงานอัยการได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งในคดีนี้มาแล้ว 5 ครั้ง

นอกจากนี้ วันที่ 22 ต.ค. 59 ศิริกาญจน์  ยังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ สน.สำราญราษฏร์  โดยบันทึกแจ้งข้อหาระบุเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความไว้ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.58 อ้างทนายความมีพฤติการณ์ "กระทำผิด" โดยนำสิ่งของของนักกิจกรรมไปเก็บในรถยนต์ อันถือเป็นการกระทำร่วมกับนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งไปชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 นับเป็นคดีที่สองซึ่ง ศิริกาญจน์  ถูกตั้งข้อหา ปัจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน    

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กม.รับรองเพศ ไม่มีสภาพบังคับ มุ่งคุ้มครองกลุ่ม Transgender ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน

Posted: 31 Jul 2017 01:47 AM PDT

'วิโรจน์' ชี้ การเป็น LGBT เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ได้มาโดยกำเนิด ย้ำการจะออกกฎหมายคุ้มครองต้องคำนึงถึง Human Right เป็นสำคัญ ด้านนักกฎหมาย เผย พ.ร.บ. รับรองเพศเน้นคุ้มครองกลุ่ม Transgender เป็นหลัก ชี้กฎหมายเป็นทางเลือกที่ไม่มีสภาพบังคับ แต่ให้สิทธิในการคุ้มครองหากต้องการความช่วยเหลือ

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ LGBT ยุค Baby Bloomer

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ 'สิทธิเพศทางเลือกกับจุดยืนในประเทศไทย' ขึ้น ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบหาก พ.ร.บ.รับรองเพศประกาศใช้ และปัญหาที่ต้องแก้ไขหากไม่มี พ.ร.บ. รองรับ

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ในฐานะหนึ่งใน LGBT รุ่น Baby Bloomer กล่าวว่า

"เท่าที่เราดูจากวิวัฒนาการวัฒนธรรมของมนุษย์ LGBT เกิดขึ้นมาพร้อมมนุษย์ ในยุคของอาจารย์คือเป็นรุ่น Baby Bloomer ในช่วงนั้นมีคำเดียวเท่านั้นที่ใช้เรียกคือคำว่า 'กะเทย' คำว่า 'เกย์' ก็ยังไม่มา ตอนเด็กๆ ฉันต้องทำตัวเป็นผู้ชาย ลำบากมาก เพราะกะเทยเป็นเพศที่เป็นเสนียดต่อสังคมและวงศ์ตระกูล พอโตขึ้นมาเข้าธรรมศาสตร์ก็เริ่มมีคำว่า 'เกย์คิง' กับ 'เกย์ควีน' พอสักพักหนึ่งคำว่าคิงกับควีนหายไป คือยุคที่อาจารย์โตแล้ว อายุราวๆ 50 ปี อาจารย์ก็ได้เป็นนายกกะเทยคนแรกของประเทศไทย เรียกว่า 'สมาคมฟ้าสีรุ้ง' พอเข้ามาทำก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ เริ่มมีคำว่า 'Queer' เกิดขึ้นมา หลังจากนั้นก็เกิด Queer Conference ทั่วโลกเยอะมาก

"ในขณะที่สังคมเราเกิดคำว่า Queer ประชากรของคนกลุ่มนี้ก็เยอะขึ้น การเปิดตัวก็เยอะขึ้น ในขณะนั้นที่อาจารย์ยังเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ไม่มีการแต่งหญิงเข้าเรียนหนังสือ พอหลังจากนั้นช่วง 2520 กว่าๆ เริ่มมีแต่งหญิงถึงขนาดที่คณบดีคณะศิลปศาสตร์เรียกมาถามก่อนรับปริญญาว่า 'หนูจะไปกล้อนผมเป็นชายแล้วขึ้นไปรับ หรือว่าหนูจะแต่งหญิงขึ้นไปรับ' ตอนนั้นสามารถแจ้งกับคณบดีได้แล้ว ถ้าจะเป็นหญิงคณบดีจะอ่านชื่อว่า 'นางสาว' แต่มันก็มีเคสหนึ่งที่มีกะเทยสวยมาก ไว้ผมม้า ทานฮอร์โมน เรียนแพทย์ศิริราช แต่งหญิงไปเรียน ตรงกับยุคที่คณบดีของธรรมศาสตร์ยอมให้ใช้คำว่านางสาว ส่วนทางแพทย์เรียกไปคุย บอกว่าคุณฉลาดมาก คะแนนสูงมาก แต่คุณจะแต่งหญิงมาเรียนแพทย์นั้นไม่สมควร 'มีทางเลือกให้ ถ้าคุณจะเรียนแพทย์คุณต้องไปกล้อนผมและหยุดฮอร์โมน แต่ถ้าคุณยังจะแต่งหญิงอยู่ คุณต้องลดตัวลงไปเรียนเภสัช' สุดท้ายคือเธอลดเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นหญิง

"จนช่วงปี 2540 กว่าๆ ก็เริ่มมีคำว่า 'LGBT' เข้ามา L คือเลสเบี้ยน G คือเกย์ B คือไบเซ็กชวล และ T คือทรานส์เจนเดอร์ พอจะขึ้น 2550 ทฤษฎีใหม่ก็มาอีกแล้ว เช่น วันนี้เป็นกะเทย พรุ่งนี้จะเป็นทอม ตอนนั้นที่อาจารย์ยังนั่งเป็นนายกอยู่ก็มีกะเทยที่แต่งหญิงอยู่กินกับทอม มีเพศสัมพันธ์ มีลูก ออกสื่อ นี่คือวิวัฒนาการตั้งแต่ยุค Baby Bloomer และมันไปไกลมากแล้ว

"ในเรื่องการร่างกฎหมาย คิดว่าปัญหามันเยอะมาก จะยากกว่าในการร่างกฎหมายอื่นๆ และกินแรงเยอะมาก ถามว่าในเรื่อง LGBT เป็นเรื่องกฎหมายล้วนๆ ไหม มันไม่ใช่ มันมีเรื่องสังคมเข้าไปด้วย ต้องมีการบูรณาการ ในขณะที่อาจารย์ยังนั่งเป็นนายกสมาคมฯ อยู่ มีการประชุม Queer เกิดขึ้น ทุกคนก็จะพูดว่าน้อยใจ เพราะประเด็นต่างๆ ของโลกถูกเสนอเข้าไปในสหประชาชาติแล้ว เป็น International Issue จนถึงกระทั่งคนที่ติดยาก็ยังมีสิทธิได้รับยาบรรเทาอาการลงแดง นี่คือ Human Right หรือแม้แต่ Sex Workers ก็เป็น World Issue แล้ว แต่ของ Queer ยังไม่เป็น World Issue ในยุคของโคฟี่ อันนัน พวกเรานี่น่าน้อยใจมาก เป็นกะเทยยังสู้กะหรี่ไม่ได้เลย

"คนทั่วโลกยังไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ คิดว่ากลุ่มนี้เป็นพวกแปลกปลอม พวกผ่าเหล่า เป็นภัยสังคม โดยที่ไม่ได้นึกเลยว่าจริงๆ เขาก็เกิดมาเป็นของเขาเอง แม้แต่คนไทยเรา เรายังนึกเลยว่าคนพวกนี้มันเสือกเลือกของมันเอง และขอบอกเลยว่าฉันไม่ได้เลือก ผู้ชายถามว่าเกิดมามันเลือกไหม ก็ไม่ได้เลือก เกิดมาก็เป็นผู้ชาย ผู้หญิงเกิดมาก็เป็นผู้หญิง ฉะนั้น การเป็นกะเทยก็ Born to Be จริงๆ เพราะฉะนั้นนักกฎหมายกรุณาอย่าใช้คำว่า 'เลือก' เพราะการเลือกมันต้องมี Process ในการ Production แต่นี่มันเป็น Process ของธรรมชาติ มันจึงไม่ใช่การเลือก

"มีปัญหาอีกอันหนึ่งคือบางทีพวกเรากันเองต้องยอมรับว่าเราเป็น Minority เพราะพวก Majority ยังเป็น Straight บางครั้งเวลาเราลุกขึ้นมาพูดตรงนี้เราจะมีอารมณ์เยอะมาก แล้วเราจะไป Abuse พวกเขา บางทีการ Abuse นี้ก็ไปถึงสถาบันครอบครัว ต้องระวังให้ดี เราต้องทำตัวให้ซอฟต์ลง คนที่ทำงานตรงนี้ก็จะต้องมีความรู้เรื่อง Human Right อย่างมาก เราต้องสมานฉันท์กัน ต้องยกย่องชาย หญิง และตัวเราเอง เราต้องเกาะกระแส Human Right แล้วเพิ่ม Issue ของเราลงไปด้วย อย่าแยกของเราออกมาเดี่ยวๆ"

ขณะที่ มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเด็กและเยาวชน กล่าวว่า

มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ หนึ่งในทีมวิจัย พ.ร.บ.รับรองเพศ

"กฎหมายจริงๆ มันตั้งอยู่ใน 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องของสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สองคือเรื่องของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นกติกาที่ออกมาจะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ประชากรไม่ได้มีแค่ 'เรา' หรือ 'เขา' ในเรื่องเพศจริงๆ แล้วมนุษย์เป็นคนกำหนดขึ้นว่ามาโดยกำเนิด จำแนกคนโดยใช้อวัยวะเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่ใช่มีแค่กายภาพ แต่มันมีอารมณ์ ความรู้สึก มีความนึกคิดและความต้องการ

"แล้วประชากรที่เราเรียกกันในงานวิจัยว่ากลุ่ม 'เพศทางเลือก' เราใช้ชื่อนี้เพราะเราตระหนักดีว่าเรามีชื่อเรียกเยอะมาก นักกฎหมายจึงใช้คำนี้เพราะว่าอยากสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาเหล่านั้นก็มีสิทธิในการเลือก เมื่อเขามีสิทธิในการเลือก เราจึงคิดว่าคำนี้จึงเหมาะกับพวกเขา แล้วจริงๆ ก็สอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้รับการศึกษามาจาก 6 ทวีป เราเลือกศึกษาเชิงลึก 4 ทวีป 16 ประเทศ เราพบว่าจริงๆ แล้วทิศทางของประเทศส่วนใหญ่ของโลกมีแนวโน้มในทางเดียวกันคือยอมรับข้อเท็จจริงทางธรรมชาติข้อนี้แล้ว เพียงแต่ว่ากฎหมายจะทำออกมาในระดับไหน ด้วยวิธีการใด มันเป็นความแตกต่างของแต่ละสังคม

"ในงานวิจัยร่างกฎหมายรับรองเพศทางเลือกนี้ เราจะแยกคนเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ Transsexual หรือกลุ่ม Trans คือมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างชัดเจน กลุ่มที่สองคือแค่แสดงออกให้ปรากฏชัด เช่น แต่งหญิงแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ส่วนกลุ่มที่สามคือเก็บไว้อย่างมิดชิด เห็นเป็นผู้ชายเท่ หล่อ แต่ก็ชอบผู้ชายด้วยกัน กลุ่มนี้จะตรวจสอบยากและลื่นไหลง่ายมาก เรามาดูการวิจัยก็เห็นว่าแต่ละประเทศเขาทำแตกต่างกัน ต่างประเทศเปิดมาก เช่น อาร์เจนตินา ถ้าคุณตัดสินใจอยากจะมีเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดก็เดินไปที่นายทะเบียนแล้วแจ้งได้เลยว่าขอเป็นเพศอะไร กฎหมายก็จะรับรองให้ ดูเป็นสวรรค์ของกลุ่มเพศทางเลือก

"แต่เราไม่ได้อยู่ในโดดเดี่ยวในสังคม ฉะนั้น ถ้าปล่อยไปหมดอาจกระทบคนอื่นที่อยู่ในสังคม ด้วยนิสัยของคนชาติเราอาจไม่ได้เหมือนชาติอื่น เราใช้กฎหมายที่เปิดขนาดนั้นในก้าวแรกของสังคมก็จะเกิดปัญหามากกว่า เราเลยลองหันไปดูประเทศที่ค่อยๆ มีพัฒนาการ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ค่อนข้างมุ่งคุ้มครองประชากรกลุ่มแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเขาไปทำร่างกายให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่เลือกแล้ว เราจึงควรให้สิทธิเขา ในขณะที่อีกสองกลุ่มที่เหลือจะมีการลื่นไหล เห็นในข่าวเยอะแยะว่าเปลี่ยนจากหญิงไปเป็นชาย แสดงออกชัดเจนแล้ว แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจมาเป็นหญิงสวยเหมือนเดิม ถ้าเอากฎหมายไปรับรองคงจะปวดหัวเหมือนกัน ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคุ้มครอง เพราะมันเป็นรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงได้

"ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายเราก็พูดอยู่ตลอดเวลาว่ากฎหมายไม่ใช่ยาวิเศษที่พอมีปัญหาอะไรในสังคมขึ้นมาก็เขียนกฎหมายแล้วทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย จริงๆ มันเป็นเรื่องของสังคมมากกว่า เช่นตัวอย่างที่อาจารย์วิโรจน์พูดเกี่ยวกับเคสของนักศึกษาแพทย์ คือน่าแปลกที่คณะแพทย์จะต่อต้านรุนแรง ทั้งๆ ที่เป็นตัวต้นงานวิจัยของพวกเรา เป็นคนที่บอกว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ แต่อาจมีเพศสภาพที่แตกต่างจากสิ่งที่เขาต้องการเป็น และก็มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่รับรองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รู้ตัวเองว่าเป็นเพศใดตั้งแต่ 2-3 ขวบด้วยซ้ำ ในขณะที่คณะทางสังคมศาสตร์ ถามว่ามีอาชีพอื่นอีกไหมที่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ จริงๆ มันมีอีกหลายอาชีพที่ถูกมายาคตินี้ครอบงำ จริงๆ อาชีพในสายนิติศาสตร์ก็มีหลายขั้นตอนที่ถูกมอง ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ หรือศาล ผู้พิพากษา บังเอิญว่ายังไม่เคยมีคดีเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าให้เดาคือ ถ้าเรายังมีความเข้าใจที่ฉาบฉวยสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นกับวิชาชีพนี้แน่นอน

"เช่นเดียวกับมายาคติของสังคมที่ออกมาผ่านสื่อต่างๆ ที่บอกว่าคนที่เป็นอย่างนี้จะชอบใช้ความรุนแรง โวยวาย กรี๊ด หรือต้องสวย เก่ง เลิศ ฉลาด พวกนี้จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่สังคมคิดไปเอง จริงๆ แล้วคนที่ใช้ความรุนแรงก็เป็นคนที่มีเพศตามกำเนิด ผู้หญิงใช้ความรุนแรงกับผู้ชาย กับลูก ผู้ชายไล่ยิงผู้หญิง นี่ก็เป็นเพศแท้ๆ ฉะนั้น มันเป็นเพียงมายาคติที่เราสร้างขึ้นมา ในแง่ของกฎหมายจึงไม่เอาสิ่งพวกนี้มาพัวพัน คนทำกฎหมายจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เราจะคุ้มครองสิทธิของกลุ่มนี้ก็เพื่อการอยู่ร่วมกัน

"สำหรับคนที่แปลงเพศแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากในการคุ้มครอง เพราะเขาต้องผ่านตั้งแต่กระบวนการทางจิตวิทยา การทานฮอร์โมนเป็นปี ต้องอดทนต่อผลกระทบทางการแพทย์ต่างๆ จนปลายทางบางคนก็อาจจะไม่แปลง เพราะก็ไม่มีงานวิจัยรับรองว่าในบั้นปลายชีวิตจะเป็นโรคอะไรหรือเปล่า ฉะนั้น ในกฎหมายที่เราบอกว่าพยายามแก้ปัญหาเราจึงเริ่มต้นจากกลุ่มนี้ก่อน แต่เราก็มีข้อยกเว้นด้านสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนา เพื่อจะเปิดช่องให้กับกลุ่มที่อาจมีเงื่อนไขพิเศ

"กฎหมายที่เราตั้งใจจะทำที่มาเน้นการคุ้มครองเป็นหลัก เป็นกฎหมายทางเลือก ไม่ได้มีสภาพบังคับ เพราะถ้าเป็นกฎหมายสภาพบังคับก็ต้องเป็นกฎหมายอาญา อาจจะทำให้ยิ่งเกิดความขัดแย้งกันอีก ว่าเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ฉันจึงเดือดร้อน เราจึงทำมาเพื่อเป็นทางเลือกให้เขา ก็แปลว่าถ้าบางคนที่เป็นคนกลุ่มนี้สบายดี ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีบางคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ กฎหมายนี้ก็จะไปเป็นทางเลือกให้เขา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา พ.ร.ก. แรงงาน (2): ถกเงื่อนไขการใช้งาน พ.ร.ก. จะท่าดีหรือทีเหลว เปิดตัวอย่างปัญหาภาคประมง

Posted: 30 Jul 2017 11:36 PM PDT

หลังอาบน้ำร้อนมาก่อน นักวิชาการถาม งบ เจ้าหน้าที่ การมีส่วนร่วมเพียงพอหรือไม่ หวั่น ก.ม. ลูกไม่ยังออกพาลทำงานมีปัญหา เปิด 3 ข้อกังวล เกรงปริมาณ คุณภาพเจ้าหน้าที่ไม่พอคุมกฎหมาย นาวาเอกแนะเก็บภาษีแรงงานต่างด้าว ประธานสมาคมประมงฯ อัด ก.ม. เข้มงวดซี้ซั้วตามใจอียูทำประมงไทยอยู่ยาก หรือจะให้ประมงเรือนหมื่นไปหน้าทำเนียบฯ ย้ำ แรงงานต่างด้าวทำเงินมหาศาลรัฐควรดูแลอย่างดี

21 ก.ค. 2560 สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ "นโยบายแรงงานต่างด้าว ตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 " ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน พิชิต นิลทองคำ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน นาวาเอกดรณ์ ทิพนันท์ จากกองทัพเรือ มาในฐานะผู้แทนจากหน่วยงานราชการอื่น  มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศใน มาในฐานะตัวแทนนายจ้าง ศ.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา และสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ตัวแทนภาคประชาสังคม ในงานมีป้ายตัวแทนลูกจ้างแต่ไม่มีใครมา มีผู้ให้ความสนใจเต็มห้องประชุม

นักวิชาการถาม งบ เจ้าหน้าที่ การมีส่วนร่วมเพียงพอหรือไม่ หวั่น ก.ม. ลูกยังไม่คลอดจะทำงานกันไม่ได้จริง

สุภางค์ จันทวานิช (ที่มา:chula.ac.th)

สุภางค์กล่าวว่า ในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการ ตามหลักวิชาการ การที่มีนโยบายหรือมาตรการใหม่แล้วอยากทำให้มีประสิทธิภาพ ต้องดูปัจจัย 4 ด้าน ด้านแรกคือภาวะผู้นำทางการเมือง ตอนนี้มีเต็มที่ เพราะที่ พ.ร.ก. ออกมาได้ก็เพราะเป็นรัฐบาลนี้ ในภาวะผู้นำทางการเมืองนี้ เมื่อใช้ยาแรงเสร็จแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 178 มีสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการก่อนการตรากฎหมายเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) ที่ต้องทำ ดิฉันไม่รู้ว่าในกระบวนการทำ พ.ร.ก. จะทำกระบวนการดังกล่าวได้ถึงขั้นไหน ได้ทราบว่ามีการเชิญคนบางกลุ่ม เอ็นจีโอบางกลุ่มไปประชุมว่า จะเอา(พ.ร.ก. บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว) แล้วนะ แล้วผลตอบรับที่ได้จากคนเหล่านั้นได้เอาไปทำอะไรไหม เคยคุยกับนักวิชาการที่ไปแล้วก็ได้ยินว่า ถ้าจะทำขนาดนี้ต้องเปิดให้จดทะเบียน แต่ก็ไม่เปิด พ.ร.ก. นี้จึงเป็นยาแรงที่สุดท้ายก็ค่อยๆ ผ่อนลง ทั้งหมดนี้ถ้าภาครัฐตัดสินใจเอาเองทั้งหมดก็ต้องถามว่าผ่านกระบวนการที่ว่าเพียงหรือเปล่า ในเมื่อกฎหมายนี้เป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ คนจำนวนไม่ได้น้อยได้รับผลกระทบ

อีกข้อกังวลคือเรื่องบุคลากรและงบประมาณ คำถามคือพอหรือไม่ ในฟิลิปปินส์มีบริษัทจัดหางานอยู่กว่า 2,000 บริษัท แต่มีคนที่ทำหน้าที่ตรวจบริษัทแค่ 10 คน ทำให้ไม่เพียงพอ บริษัทก็ทำผิดไปหมด จะลงโทษก็ไม่ได้เพราะยังไปตรวจไม่ได้ แล้วยังแรงงานอีกเป็นล้านคนที่ต้องตามไปตรวจที่สถานประกอบการอีก ของเราที่แล้วมาก็ตรวจได้แค่โรงงาน แต่จากนี้ต้องเปลี่ยนไปตรวจบ้านที่จ้างแม่บ้านไปทำงานด้วย เพราะไม่เคยไปตรวจ ถึงเป็นภาคส่วนที่คนหละหลวม ดิฉันเคยตามไปตรวจโรงงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สมุทรสาคร พนักงานไปยืนเหมือนขอทานอยู่ที่หน้าโรงงาน มีกล้องวงจรปิดส่อง แล้วก็พูดคุยกับเขา(โรงงาน) ผ่านกล้องจนชัดเจนแล้วเขาจึงค่อยเปิดประตูเหล็กเข้าไปได้ คิดดูว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตาม พ.ร.ก. ที่ยิ่งใหญ่ พอไปปฏิบัติจริงแล้วอำนาจหายไปไหน จะทำอย่างไรถึงจะมีดาบอาญาสิทธิ์ที่ใช้ได้จริงๆ

ในเรื่องงบประมาณ งานนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล กรมประมงตอนทำเรื่อง ศปมผ. (ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย) ได้ตำแหน่งนิติกรณ์เพิ่มไป 200 ตำแหน่ง กรมการจัดหางานก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะให้เงินเพิ่มเท่าไหร่ เพิ่มตำแหน่งอีกเท่าไหร่เพื่อทำสิ่งนี้ ถ้าไม่เพิ่มก็ทำให้ไม่ได้ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการปัญหาแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอเมริกา เขาดูการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้เต็มที่ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องต่อรอง

ในเรื่องกฎหมายลูกที่จะออกตามมาอีก 36 ฉบับ เมื่อฟังแล้วก็ยังกลุ้มใจ เพราะกฎหมายลูกใหม่ก็ต้องออก และต้องรื้อกฎหมายเก่าด้วย เช่น อาชีพที่สงวนให้คนไทยทำที่ได้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำได้ มีอีกหลายอย่างมากที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้บอกว่าจะต้องมีตามมาแล้วทำให้คนมีคำถาม เช่น การวางหลักประกันก็ไม่ได้ระบุว่าการวางหลักประกันของนายจ้างที่อยากจ้างลูกจ้างมาทำงานเองต้องวางหลักประกันเท่าไหร่ กระบวนการต้องเป็นอย่างไร ลงท้ายแล้วก็จะทำไม่ได้ฉลุยอย่างที่อยากให้เกิดขึ้นเพราะรายละเอียดยังไม่มี ต้องรอไปก่อน แล้วลำพังกลุ่มที่ไม่มีอะไรเลยที่ให้เข้ามาดำเนินการในอาทิตย์หน้า(การกรอกใบร้องข้อและกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ) ในที่สุดก็จะมีเอกสารจำนวนมากมายที่จะต้องเข้ามาทำการพิสูจน์ภายใต้กรอบเวลา 5 เดือน ก็เป็นงานที่รออยู่เยอะ แล้วยังมีงานที่ต้องทำ แต่ติดค้างตรงระเบียบยังไม่ออกก็ต้องปล่อยเอาไว้ก่อน ทำให้ปัญหาการจ้างแรงงานผิดกฎหมายจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แล้วบัตรที่ออกมาในอนาคตจะเป็นบัตรที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นไม่รับรองเพราะว่าหมดอายุความ มันก็จะไม่แก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากตัวแรงงาน

ประการสุดท้าย ท่าทีของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งมีท่าทีที่ทั้งอยากเชียร์และอยากเบรค ที่อยากเชียร์คือท่าทีของรัฐบาลที่เอาจริงแล้วทำให้เกิดแรงกระเพื่อมกันมาก แต่ส่วนที่คิดว่าจะเอาจริงแค่ไหน ทั้งเรื่อง พ.ร.ก. ฉบับนี้ เรื่องภาคการประมง เรื่องอียู ต้องเอาจริงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศไทย ไม่ใช่ตอบสนองข้อเรียกร้องจากต่างประเทศ ตั้งแต่อียูให้ใบเหลืองมา เขาไม่ได้ยุติการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศไทย มีบางบริษัทที่เลิกซื้อ แต่โดยรวมไม่ยกเลิก ยอดซื้อสัตว์น้ำก็ไม่ได้ลดลงมากมาย แปลว่า สิ่งที่อียูเรียกร้องมาไม่ได้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในแง่การส่งออก แต่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นการประมงพื้นบ้านและคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เหมือนเราอยากทำในสิ่งที่เขาอยากบอกให้เราทำจนเลือดมันไหลข้างใน อียูไม่มีอำนาจบอกให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราเป็นแค่ภาคีของอนุสัญญาชื่อว่า UNCLO ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เราทำตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ก็เพียงพอแล้ว แม้แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็ไม่มีข้อมูลทั้งหลาย เช่นเดียวกับในเรื่องการรายงานการค้ามนุษย์ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้ไทยต้องทำรายงานเสนอไป เขาจะจัดอันดับอะไรก็สุดแท้แต่เขา

เปิด 3 ข้อกังวลเรื่องบริษัทนายหน้า การออกวีซ่าลูกจ้างแบบใหม่ เกรงปริมาณ คุณภาพเจ้าหน้าที่ไม่พอคุมกฎหมายใหม่

สุภางค์กล่าวว่า ปัญหาในภาพรวมอย่างหนึ่งคือ ถ้านโยบายของรัฐต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ต้องถามว่าสื่อไทยพร้อมหรือไม่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้การดำเนินการโดยรวมไปในทางที่พึงประสงค์หรือเปล่า เช่น "พ.ร.ก. ฉาว เมียนมาร์เมินหน้า ไม่ส่งคนมาเมืองไทยแล้ว" ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในช่วงแรก

ในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการในประเด็น พ.ร.ก. ฉบับใหม่ และข้อกังวลต่างๆ โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐ ว่าจะไปไกลแค่ไหน อย่างไรและจะรักษาดุลยภาพอย่างไรให้เหมาะสม ในส่วน พ.ร.ก. ใหม่ คิดว่ามีบางส่วนที่ยังไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ ประการที่หนึ่ง การนำลูกจ้างต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่เป็นตัวแสดงสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จของมาตรการรัฐ แต่คนไปพูดถึงแต่เรื่องค่าปรับ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในไทยทำที่ไม่ได้เป็นเพราะนายหน้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ดิฉันเดาเองว่า พ.ร.ก. นี้ ตั้งใจจะทำให้นายหน้าดำเนินการไม่ได้ง่ายเหมือนในอดีตด้วยบทบัญญัติการลงโทษก็ดี หรือต้องมีอะไรขึ้นก็ดี ที่รัดกุมขึ้นมาก จนไม่แน่ใจว่าขณะนี้มีบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังว่าอยู่กี่บริษัท แล้วการดูแลบริษัทเหล่านี้ให้เขาทำในทิศทางที่เราต้องการจะทำอย่างไร เราทราบดีว่ามีบริษัทนายหน้าที่ส่งออกแรงงานไทยมากว่า 200 บริษัท แต่ก็ถูกแทรกแซงมาตลอดไม่ว่าจากนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงานก็ดีและต่างๆ นานามากมาย เป็นจุดสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจต่อไป

ประการที่สอง ส่วนที่บอกว่านายจ้างสามารถพาลูกจ้างมาทำงานได้เอง โดยขออนุญาตจากอธิบดีกรมจัดหางานแล้ววางเงินประกันก็ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรม แต่นวัตกรรมดังกล่าวจะนับว่าเป็นอะไร เป็น MOU หรือว่าอะไร ถ้าสมมติว่าอยากจ้างล่ามมาแปลภาษา แล้วติดต่อไปที่ประเทศต้นทางโดยตรง สถานทูตจะออกวีซ่าแบบไหนให้ที่ไม่ใช่วีซ่าท่องเที่ยว ทำไมเราไม่เปิดส่วนนี้ให้เป็นมากกว่า MOU

ประการที่สามคือบทบาทพนักงานและเจ้าหน้าที่ ในหมวดที่ 7 พนักงาน เจ้าหน้าที่คือคนที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง รวมแล้วเรามีคนที่จะตรวจแรงงานได้จำนวนเท่าไหร่เพื่อตรวจสอบว่าลูกจ้างและนายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขการทำงาน ที่ต้องถามเพราะเป็นเรื่องของการติดตามและบังคับใช้ด้วยเหตุว่า พ.ร.ก. เป็นยาแรง พอเป็นยาแรง การตรวจก็ต้องทำอย่างเข้มแข็ง นั่นหมายถึงจำนวนคนที่จะไปทำตรงนี้ นึกถึงตัวอย่างที่ตอนเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ลงไปตรวจเรือประมงแล้วหล่นลงน้ำ ทหารเรือก็ต้องกระโดดลงไป เพราะว่าพนักงานจากหลายกระทรวงก็ไม่ได้ถูกสร้างขีดจำกัดให้มาทำงานเหล่านี้เหมือนกันทุกคน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization-ILO) ก็มาพยายามมาเพิ่มความสามารถ แต่ว่าจะทำได้มากแค่ไหน อย่างไร

ประธานสมาคมประมงฯ อัดเนื้อหา ก.ม. เข้มงวดซี้ซั้วตามใจอียูทำประมงอยู่ยาก หรือจะให้ประมงเรือนหมื่นไปหน้าทำเนียบฯ

(ซ้าย) มงคล สุขเจริญคณา

มงคลกล่าวว่า รัฐควรจะทำเรื่องแรงงานที่ยากให้เป็นเรื่องง่าย การส่งแรงงานต่างด้าวกลับบ้านแล้วส่งกลับมาใหม่ ค่าใช้จ่ายและภาระทั้งหลายก็ต้องตกอยู่ที่ลูกจ้าง กลับบ้านไปก็เสียค่าเดินทางกัน 2-3 พัน กลับมาโดนค่าหัวอีก 2 หมื่นก็ตายแล้ว ท่านนายกฯ ก็เลยออกมาตรา 44 ออกมา แต่ติดที่นิดเดียวคือ 15 วันให้จัดการลงทะเบียนนั้นน้อยไป จะเป็นปัญหาตรงที่เวลาที่สั้นทำให้คนที่จะรับรู้เรื่องนี้อาจจะไม่ทำ กฎหมายที่แรงก็ดี สามารถคุมภาคประมงได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เอาจริงการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในประมงมาจากต่างประเทศ แต่แก้ไปแก้มา รัฐไทยซัดในประเทศเละราพณาสูร แรงงานหนึ่งคนมีไม่รู้กี่กฎหมายกี่ระเบียบที่ผูกโยงอยู่ แล้วจะมีคนอยากทำประมงอีกไหม แล้วพวกผมจะอยู่ได้ไง อย่างการแจ้งเข้าแจ้งออกผิดเวลานิดหน่อยแค่ชั่วโมงเดียวถึงกับยึดเรือเลย เขียนกฎหมายกันซี้ซั้วแบบนี้เพราะอียูบอกมาก็เขียนตามนั้น ที่นี่ประเทศไทย การแก้ปัญหาจากภาครัฐนั้นคุยกับภาคประมงน้อย แต่ออกกฎหมายมาแล้วกระทบเยอะ พวกผมจะอยู่ได้ยังไง เผลอเมื่อไหร่ผิดกฎหมายทันที ในส่วนผลกระทบเรื่องของแรงงาน จริงๆ แล้วเราควรมามองหลายๆ ส่วน ภาคประมงเองขาดแคลนแรงงานประมาณ 74,000 คน ตอนนี้เรือประมงถูกกฎหมายจอดท่ามาแล้ว 7 เดือน จำนวน 3,500 ลำ เป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจเดือนละ 2 หมื่นล้าน มันเลยทำให้เศรษฐกิจชะงัก อีกทั้งหน่วยงานที่ใช้ พ.ร.ก. ประมงมาตรา 83 คือกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังลังเลอยู่ แต่ถ้าไม่เปิดก็จะมีปัญหา ก็ไม่รู้ว่าจะให้ชาวประมงเป็นหมื่นจะไปหน้าทำเนียบไหม ท่านอยากให้ไปไหม เราแค่ไปยื่นหนังสือพอให้รู้ว่าเกิดปัญหา แล้วขอให้รัฐแก้ตามหน้าที่ที่จะต้องทำ

เรื่องใบเหลือง ก็ต้องดูว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลแบบไหน ขณะนี้เราเป็นรัฐบาลเลือกตั้งไหม ทำไมเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ทำแค่นั้นก็ได้ใบเหลือง แต่ของเราทำขนาดที่ว่าสั่งเจ้าหน้าที่ลงถึงรายละเอียด คิดว่าประเทศเราควรเป็นแบบนี้ไหม  ผมว่าจะลุยอียู อีกรอบว่าคุณละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยมากเกินไป  ถามว่า ไทยร้องขอ แต่คุณไม่ควรมานั่งบงการขนาดนี้มั้ย อเมริกายังไม่บีบเราขนาดนี้เลย แล้วอียูเขาค้าขายอะไรกับเรามากมาย เราเสียเอกราชเกินไปแล้ว การมีบทลงโทษทางกฎหมายสูงก็เป็นเรื่องดี เพราะทำให้คนไม่กล้าทำผิด แต่ถ้ามีคนกล้าทำ แปลว่าต้องมีคนรับเงิน หน่วยงานรัฐบางหน่วยก็ดีใจที่มีบทลงโทษแรง ซึ่งมันมีทุกหน่วย หน่วยงานที่อยากทำให้ตามกฎหมายมันก็ดี แต่หน่วยงานที่มาทำเรื่องไม่ดีก็เยอะ กฎหมายแรงก็เป็นดาบสองคม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แต่ก็มีเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ เวลาเอาไปปฏิบัติงานจริง สุดท้ายไทยควรต้องเอาแรงงานเข้าสู่ระบบเสียที ถ้าไม่ใช้กฎหมายดังกล่าวก็คงจะพากันจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายกันอีก การมีกฎหมายแรงก็คงไม่กล้าจ่ายกัน

ภาคประมงยังมีคุมไม่ได้บ้าง ย้ำ แรงงานต่างด้าวทำเงินให้ไทยมหาศาล รัฐควรดูแลอย่างดี

มงคลกล่าวว่า แท้จริงในกฎหมายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวมีผลกระทบมากในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคการประมง เพราะว่าภาคประมง มี พ.ร.ก. ประมง มาตราที่ 153 บังคับใช้อยู่แล้ว แต่ก็มีที่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่ง คือเรือประมงที่ไม่ได้ถูกบังคับตาม พ.ร.ก. ประมง มาตรา 153 คือเรือประมงที่น้ำหนักน้อยกว่า 30 ตันกรอส และเรือประมงพื้นบ้านที่ไม่มีการแจ้งเข้า-ออกกับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) อันนี้เขาไม่ต้องทำ Seabook ก็ไม่มีกฎหมายมาตรา 153 บังคับ ในส่วนประมงพื้นบ้านมีประมาณ 2-3 หมื่นลำ ถ้าตีว่าแต่ละลำใช้แรงงานลำละ 2 คน จะมีแรงงานผิดกฎหมายบนเรือพื้นบ้านไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคน ถ้าไม่มีการผ่อนผันหรือมาตรา 140 ประมงพื้นบ้านก็คงอาการหนัก แต่พอมีกฎหมายฉบับที่ 33 ออกมาก็ทำให้ผ่อนคลายขึ้น ในส่วนประมงพาณิชย์ นโยบายผ่อนคลายของกระทรวงแรงงานที่ให้นายจ้างลูกจ้างมาเจอกันแล้วมาแจ้งหน่วยงานรัฐ ตรงนี้ประมงพื้นบ้านก็ทำได้เพราะไม่มีสัญญาจ้าง แต่ประมงพาณิชย์ไม่สามารถใช้แรงงานผิดกฎหมายได้ เพราะต้องมีสัญญาจ้าง กฎหมายนี้ไม่คุมให้ประมงพาณิชย์ ที่มี พ.ร.ก. ประมงคุมอยู่อีกอันในเรื่องของการควบคุม ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ผมเรียนว่า การที่เราจะมองลูกจ้าง โดยเฉพาะรัฐ ถ้ารัฐมองว่า ลูกจ้างที่มาเป็นประโยชน์ กรณีที่คุณดรณ์บอกว่าลูกจ้างส่งเงินกลับบ้าน แต่คุณดรณ์ไม่รู้ว่า ลูกจ้างที่เข้ามาในไทยสร้างมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ อย่าไปมองว่าเขาส่งเงินออกไป จริงๆ มันไม่ได้ไหลไปไหน ทางเมียนมาร์ซื้อสิ้นค้าไทยล้วนๆ ผมไปมาหลายครั้ง สินค้าที่เข้ามาตีตลาดก็มีสินค้าจีนที่เขาไม่เชื่อถือเท่า ถ้ารัฐมองว่าแรงงานเป็นประโยชน์หรือปัญหาก็แก้กันไปคนละแบบ แต่ตอนนี้รัฐมองว่าเป็นประโยชน์ เพราะดูจากกฎหมายที่ออกมา ถ้ามองคนต่างด้าวเป็นปัญหาก็ต้องส่งแรงงานต่างด้าวกลับบ้านให้หมด แต่ถ้าทำแบบนั้นก็ลองดูว่าเศรษฐกิจไทยจะทรุดขนาดไหน เพราะขนาดแรงงานที่ต้องใช้คนไทยล้วนๆ ยังต้องขอยกเว้นให้ใช้แรงงานต่างด้าวเพราะไม่มีแรงงาน แต่อุตสาหกรรมของไทย ในประเทศไทยกลับไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานต่างด้าว เราต้องมองว่าเศรษฐกิจในประเทศมันพึ่งแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะภาคการเกษตร ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวก็เจ๊งทันที นั่นคือสิ่งที่เขามองไม่เห็น  ถามว่า แล้วทำไมคุณไม่เข้าประเทศอย่างถูกต้อง คำตอบคือเพราะภูมิประเทศตามขอบชายแดน ในกรณีประเทศเมียนมาร์เองมีกี่ร้อยชนเผ่า รวมทั้งปัญหาการสู้รบระหว่างชนเผ่าต่างๆ กับรัฐบาล ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ชนเผ่าที่สู้กับรัฐทั้งหลายที่เข้ามาทำงานในไทยจะพิสูจน์สัญชาติอย่างไร ลาว เมียนมาร์และกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและมีแรงงานที่ดี โดยเฉพาะเมียนมาร์ เขาเป็นคนที่มีค่า มีประโยชน์กับประเทศไทย รัฐก็ควรต้องดูแลเขา

นาวาเอก ชี้ ยกค่าปรับให้คนกลัว เปิดแนวทาง เงื่อนไขกำกับแรงงานประมง แนะเก็บภาษีแรงงานต่างด้าว

(กลาง) ดรณ์ ทิพนันท์

ดรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ความพยายามของรัฐบาล คสช. และภาครัฐทั้งหมดคือความพยายามทำให้แรงงานผิดกฎหมายถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมาคือการจับแรงงานผิดกฎหมายให้เข้าระเบียบ ขณะนี้ประเด็นที่มาของแรงงานให้พักไว้ก่อน ยังไม่เจาะลึกลงไป เอาแค่มีนิติสัมพันธ์กับนายจ้าง จากนั้นค่อยพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง ซึ่งก็มีนโยบายและเอกสิทธิ์ของประเทศต้นทางว่าจะทำอย่างไร แต่ไทยที่มีโอกาสทำงานในระดับไร้ทักษะ (No skill) จำนวนมาก ก็ต้องการแรงงานเข้ามาอยู่ในระบบของประเทศ ในแง่ความมั่นคง ถ้าเราไม่รู้ว่าใครเป็นใครในสังคมก็จะมีอันตราย ทำให้เราต้องการอัตลักษณ์ได้รับการยอมรับจากมาตุภูมิของเขาซึ่งเป็นจุดบกพร่องที่เป็นอยู่ เพราะคนเข้ามาสู่เขตเศรษฐกิจไทยแล้วมาแจ้งข้อมูลใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเขาตาย ประสบอุบัติเหตุ การชดเชยจะจ่ายให้ใครถ้าข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไม่มีตัวตนจริง

ต่อมาคือ พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่ออกมากระทบแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะโทษแรงขึ้นจากเดิมปรับไม่เกินหมื่น พอเข้ากระบวนการมาแล้วก็ปรับไม่เกินพัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า economy of crime(เศรษฐศาสตร์อาชญากรรม - ผู้สื่อข่าว) คือยังสามารถสร้างประโยชน์จากเศรษฐกิจได้จากการทำผิดกฎหมาย แต่พอค่าปรับมันยกขึ้นทำให้ต้นทุนการทำผิดกฎหมายสูงขึ้น ขณะเดียวกัน นายจ้างต้องมองว่าเป็นเรื่องเชิงสังคม ที่คนทำถูกก็อยู่ไป คนทำไม่ถูกก็ได้รับผลกระทบ นายจ้างที่เคยใช้งานแรงงานผิดประเภท หรือลูกจ้างที่ทำงานผิดนายจ้าง ไม่ตรงตามเงื่อนไขก็มีโทษปรับแต่เดิม ปรับหลักพัน ก็เกิด economy of crime ที่ต่างคนทำผิดกฎหมายแต่ยังคงได้ผลกำไรทางเศรษฐกิจ ทางเจ้าหน้าที่ก็สะดวกใจ ยอมให้มีการทำผิดกฎหมายเพราะเกิดกรณีดังกล่าวผุดเป็นดอกเห็ด จึงเกิด economy of crime ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานรัฐ

ในส่วนของแรงงานภาคประมง เป็นแรงงานที่รัฐบาลต้นทางไม่เคยส่งมา เราทำบันทึกความเข้าใจกับต่างประเทศมา 3 ปี มีประมาณ 30 คนจากแรงงานที่เข้ามาเป็นหลักแสน แรงงานไม่เข้ามาในเส้นทางนี้ แต่ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ต้องแก้ไขปัญหากันต่อไป แต่ทำอย่างไรไม่ให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน หรือเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือไม่ทำให้การใช้แรงงานในภาคการประมองถูกตราหน้าว่าค้ามนุษย์กันทั้งระบบ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว แรงงานภาคประมงทุกคนต้องมีเอกสารที่เราเรียกว่า sea book ในกรณีแรงงานต่างด้าว แต่ของคนไทยเป็น seaman book กรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 83 ให้คนต่างด้าวที่มาเป็นลูกเรือประมง โดยผ่านเงื่อนไขการตรวจเอกสารส่วนบุคคลแสดงตน และต้องมีสัญญาจ้าง และใบอนุญาตทำงาน และผ่านกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน จากนั้นจึงเก็บอัตลักษณ์ส่วนบุคคลต่างๆ เข้าระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจสอบจากฐานข้อมูลดิจิทัล

สิ่งที่ไปไกลกว่านั้นคือ ภายใต้กองทัพเรือมีโครงข่ายร่วมมือระว่างหน่วยงานราว 6 หน่วย ชื่อศูนย์อำนวยการประสานการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติทางทะเล แล้วก็สร้างระบบอีกระบบต่อยอดจากฐานข้อมูลแรงงานประมงเชื่อมต่อไปถึงการดำเนินคดี ซึ่งจะถูกส่งไปให้กับเจ้าพนักงานสอบสวนเมื่อมีเหตุการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย

การประมงต้องการแรงงานประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคน ขณะนี้มีคนไทยมายื่นขอ seaman book อีก 5 หมื่นคน แล้วก็มีแรงงานต่างด้าวที่มาขออีกประมาณ 5 หมื่นคน รวมกันก็ประมาณหนึ่งแสน แต่ก็ยังมีแรงงานที่ยังขาดอยู่อย่างน้อย 5-7 หมื่นคน ทำให้มีเรือกว่า 3 พันลำ ออกเรือไม่ได้เพราะไม่มีแรงงาน สาเหตุเพราะ หนึ่ง ลูกเรือหนึ่งคนจะต้องมีชื่อโยงยึดกับเรือตายตัว 1 ลำ อยู่ในบัญชีคนประจำเรือตามกฎหมายการเดินเรือน่านน้ำไทย มาตรา 285 สอง อยู่ในบัญชีลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน และสาม อยู่ในบัญชีลูกจ้างตามกฎหมายประมง ฉะนั้น แรงงานหนึ่งคนบนเรือจะโยงอยู่กับกฎหมาย 3 ฉบับ ทำให้ถ่ายคนไปมาไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน

ภาพของแรงงานผู้ได้รับผลกระทบไหลออกทำให้เกิดความวิตกกังวล สำหรับแรงงานประมง ก็มีการแก้ปัญหาให้มีการเปิดช่องเฉพาะของแรงงานประมง คนต่างด้าวสามารถเข้ามาที่ศูนย์รับแรงงาน แจ้งความจำนงว่าจะทำงานเป็นลูกเรือประมง นายจ้างก็อาจมาพบกัน ถ้าตกลงกันได้ตรงนั้น จากนี้ไปค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนต่างๆ นายจ้างจะเป็นคนดูแลให้ แต่ถ้าตรวจสุขภาพไม่ผ่านก็กลับไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมประมงเป็นผู้ยกร่าง กับร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยในการใช้ผ่อนผันบางประการ พอแรงงานประมงเข้ามา ก็จะได้รับตรวจสุขภาพ ได้รับ sea book ซึ่งในระเบียบ สำนักนายกฯ ก็จะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง และ พ.ร.ก. ประมง อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา  1 ปี แล้วจากนั้นก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในระยะยาว

ตนมีข้อสังเกตบางประการ หนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ยอมให้แรงงานเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องรู้ภาษาไทยก็ได้ แถมบางคนก็อ่านภาษาตัวเองไม่ออก เมื่อเราลงไปพูดคุยในเรื่องสัญญา หรือการนั่งอ่านงานวิจัยก็พบว่า แรงงานจะบอกว่าพิมพ์ลายนิ้วมือหรือเซ็นสัญญาไปเฉยๆ โดยไม่เข้าใจอะไรในสัญญา ในกลุ่มนั้นมีทั้งกลุ่มที่ไม่เข้าใจความหมายของสัญญาทั้งๆ ที่มีภาษาของประเทศต้นทางกำกับอยู่ สอง ไทยอาจเป็นประเทศเดียวที่แรงงานไร้ฝีมือหลบหนีมาพร้อมครอบครัว มาเกิดที่เมืองไทยแล้วมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เพราะความคลุมเครือด้านทะเบียน สาม ไทยยังเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การสิ้นสุดสัญญาการเป็นนายจ้างลูกจ้างเมื่อแรงงานสตรีตั้งครรภ์ ในต่างประเทศต้องส่งกลับ เพื่อประโยชน์ของลูกในท้องที่เมื่อเกิดมาจะมีสถานะทางกฎหมาย สี่ การใช้แรงงานจากต่างด้าวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับนโยายของประเทศต้นทาง อาจจะต้องมีช่องทางพิเศษที่จะทำ เช่น แรงงานพม่าจะมาเป็นคนทำงานในบ้าน ก็อาจจะต้องใช้สิทธิ์ของเราเองมาเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานตามความต้องการแรงงานของไทย ขณะนี้ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะยอมให้คนต่างด้าวเปลี่ยนวีซ่าผ่านทางมาเป็นวีซ่าทำงานได้ ขณะนี้ก็มีการหารือแล้วว่า ถ้าเป็นในส่วนงานที่จำเป็นก็อาจจะเปิดให้ยืดหยุ่นได้ แต่ในส่วนที่จำเป็นตอนนี้ก็ต้องมาดูว่าจะทำได้หรือไม่

เรื่องของภาษีบำรุงสังคม ในเมื่อไทยให้ค่าแรงประมาณ 300-500 บาท ในบางภาคส่วนอาจจะมีการเอาเปรียบแรงงานแตกต่างไปจากนี้ แต่ตามสภาพถือว่าสูงกว่าประเทศรอบข้างเป็นเท่าตัวยกเว้นเมื่อเทียบกับมาเลเซีย การที่คนรอบข้างจะเข้ามาอุปโภคสิทธิ์นี้ในไทย คำถามคือต้องเก็บภาษีอุปโภคหรือไม่ เพราะนายจ้างก็ได้แรงงานที่ทนกว่าตามที่นายจ้างบอกเล่า ในขณะที่ลูกจ้างก็ได้รายได้ที่ดีกว่าประเทศต้นทาง รัฐบาลอาจคำนึงถึงการเก็บภาษีเพื่อมาบำรุง จัดการเขาให้อยู่ในระบบหรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ข้อสุดท้าย เราเสียเงินไปต่างประเทศเท่าไหร่กับการใช้แรงงานต่างด้าว ขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนเพราะระบบธนาคารของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเงินไหลออกมีจำนวนมาก แล้วจะใช้ตัวมันเองมาดูแลระบบอย่างไรกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความหลากหลายทางเพศบนสภาวะทับซ้อน

Posted: 30 Jul 2017 07:54 PM PDT

 


คุณเคยอยากทราบบ้างไหมคะ ว่าจริงๆ แล้ว คนไทยยอมรับ "ความหลากหลายทางเพศ" มากแค่ไหน

"ผู้มีความหลากหลายทางเพศ" หรือที่บางคนจะเรียกว่า "กลุ่ม LGBT (หรือบางคนก็มี I บางคนก็มี Q หรืออย่างอื่นพ่วงด้วย ฯลฯ)" ดูเผินๆ ก็เหมือนสังคมไทยจะรับกันได้นะ แต่เช่นกัน ลึกๆ เรารู้อยู่แล้วว่า รับได้แค่เปลือก ผิวเผิน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

จริงอยู่เราเพิ่งมีพรบ.ความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในด้านปฏิบัติ เพราะในพ.ร.บ.ดังกล่าว มีหมายเหตุและตัวอักษรเล็กในหลายจุดที่สกัดจุดจนไม่สามารถไปถึงดวงดาวได้ และเขียนขึ้นโดยไม่มีการร่วมมือจากนักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศเลย พี่จิมมี่ กฤตธีพัฒน์ ถึงขั้นเรียก พรบ. นี้ว่า "พรบ. ลักหลับ")

แล้วก็ยังมีบทเรียนในหนังสือเรียนสุขศึกษา ที่พูดถึงเรื่องนี้ แต่พูดถึงในแง่ของ "ผู้มีความเบี่ยงเบนทางเพศ" และเป็น "ผู้มีความผิดปกติทางจิตใจ" เสียมากกว่าที่จะดูเป็น "ความหลากหลาก(ทางเพศ) ของปัจเจกบุคคล" ประเภทหนึ่ง (จนถึงขั้น พระชาย วรธัมโม เจ้าของ quote อมตะ "ไม่ต้องแก้ทอม ไม่ต้องซ่อมดี้ มันดีอยู่แล้ว" เคยวิจารณ์แบบเรียนสุขศึกษาที่สอนอยู่ในปัจจุบันเสียเปิดเปิงจนกระทั่งครูสอนสุขศึกษาและนักเรียนกะเทยที่ไปร่วมงานเสวนายังอ้าปากค้าง)  ขณะที่กัมพูชา กำลังบรรจุเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน(ดูถูกเขมร เป็นไงล่ะ)

หรือแม้กระทั่งบางบาร์ ที่บังคับงให้กะเทยไปสมัครสมาชิกถึงจะสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ด้วยเหตุผลว่า "เพราะเคยมีกะเทยก่อเรื่อง(ไม่ดี)ไว้ในที่แห่งนี้"

แล้วสำนักหนังสือพิมพ์บางที่ ก็ยังพาดหัวข่าวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า "ผิดเพศ" อยู่เลย

ที่เกริ่นมายาวๆ นี่ยังอยู่แค่ในบริบทของโลก cisgender heterosexual หรือ "บุคคลไม่ข้ามเพศ รักเพศตรงข้าม" หรือที่เข้าใจง่ายๆ ว่ากลุ่มหญิงชายรักต่างเพศทั่วๆ ไป นั่นแหละ ยังมิได้พูดถึงการยอมรับในบริบทของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเลย

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่คนไทยรู้จักอย่าง LGBT (ที่ใครหลายๆ คนชอบแซวว่า Lucky-GoldStar Television หรือ LGTV ซึ่งถ้าแยกเป็นตัวอักษร ก็เป็นดังนี้

L = Lesbian หญิงรักหญิง ซึ่งนานาชาติเขาจัด ทอม-ดี้ หรือ Butch & femme รวมอยู่ในหมวดนี้
G = Gay ชายรักชาย (จริงๆ เดิมแล้ว Gay แปลว่า แปลกตา ซึ่ง Gay คือรากศัพท์ของคำว่า เก๋ นี่แหละ ว่ากันว่า องค์รัชกาลที่ 5 เป็นผู้พูดคำนี้เป็นพระองค์แรก แล้วผู้ติดตามท่านก็เอาไปพูดเพี้ยนเป็นคำว่า เก๋ จนปัจจุบัน) ซึ่งจริงๆ แล้วหมายถึง คนรักเพศเดียวกัน ซึ่งผู้หญิงสามารถบอกว่า I'm gay ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่พูดกันโดยบริบทแบบเข้าใจกันโดยทั่วไปก็มักหมายถึง ชายรักชาย
B = Bisexual คนที่ชอบทั้งหญิงทั้งชาย
T = Transgender หมายถึงคนข้ามเพศ (ซึ่งคนไทยรู้แค่ กะเทย และคิดว่า ทอม กับ ชายข้ามเพศ คือสิ่งเดียวกัน)

โอเค ในกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามีความรักความสัมพันธ์กันดังคำนิยามความหมายข้างต้น แต่จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันทีหากกะเทย หรือ หญิงข้ามเพศ ไม่ได้ชอบผู้ชาย หากแต่ชอบผู้หญิง หรือเป็นไบเซ็กซ์ชวลแทน

มันจะกลายเป็นเครื่องรวน และตั้งคำถามยกใหญ่กันทันที

"บ้าหรือเปล่า"
"วิปริตซ้ำซ้อน"
"ทำไมไม่กลับไปเป็นผู้ชายซะ"
"ก็แค่ชายแต่งหญิงเรียกร้องความสนใจ"
"สับสนในตัวเองมั้ย"
"เมายาคุม กินยาผิดมาหรือไง"
"ขยะแขยง อย่ามาใกล้ฉันนะ"
ฯลฯ

แล้วมันแปลกมาก ที่คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ข้างต้น (จากประสบการณ์ของตัวเอง) ไม่ได้มาจากสังคมคนรักเพศตรงข้ามแบบทั่วไป หากมาจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเองนี่แหละ

ถึงขั้นหญิงข้ามเพศ ต้องมาจับมือกับเกย์แบบเฉพาะกิจ เพื่อมาถล่มที่เพจกะเทยที่แสดงตัวว่ารักเพศหญิง (เพจเราเอง)

ถึงขึ้น เพจสาวประเภทสองชื่อดังเพจหนึ่ง เอารูป scoop ที่เราไปออกรายการ WeekNight Update ช่อง Workpoint ไปเขียนว่า "มาดูความแปลกประหลาดกันเร็ว #ข่าวไม่ดีสังคมชอบเสพ" กันเลยทีเดียว

ซึ่ง post นั้นของเพจดังกล่าว มีกะเทยและเกย์มาวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่า "นี้มันตัวอาไร้" พรรค์นั้น

ดูเป็นเรื่องตลก (ไม่ออก) ไปเลย เมื่อเพจ "ผู้มีความหลากหลายทางเพศ" ที่มีคนติดตามมากที่สุดเพจหนึ่งในประเทศไทย กลับเป็นผู้ชี้นำให้รังเกียจเหยียดความหลากหลายเสียเอง ทั้งที่ควรจะเป็นผู้ที่มองเห็นความหลากหลายในผู้คน และสนับสนุน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นกรายๆ ว่า คนไทยไม่ได้มีความเข้าใจว่า "ตัวตนทางเพศมิได้ผูกมัดกับรสนิยมขั้วตรงข้ามเสมอไป" เลยแม้แต่น้อย ซึ่งนั้นเป็นเคสหนึ่ง

อีกเคสหนึ่งคือเรามีเพื่อนอยู่คนนึง เป็นเลสเบี้ยนแต่เข้าฟิตเนสส์ฝึกเพื่อเอากล้าม แล้วโดนคนถามว่า "เป็นหญิงชอบหญิงแล้วเล่นกล้าม ทำไมไม่เป็นทอม" คือกลายเป็นว่าทุกคนพยายามจะจัดห้เธออยู่นหมวด butch ให้ได้ ขณะตัวเธอจัดให้ตัวเองอยู่ในแถบ androgynous (ภาพลักษณ์กึ่งชายกึ่งหญิง) แต่การ butch มันเป็น masculinity tone ซึ่งไม่ได้เหมือน androgynous ซึ่งมาทั้งสองโทนพร้อมกัน แต่ก็ยอมรับว่า androgynous เป็นอะไรที่ใหม่พอสมควรกับสังคมไทย การให้เข้าใจอาจจะยากสักหน่อย  ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง ให้ลองคิดถึง "ซิน" จากวง Singular ดูค่ะ น่าจะพออธิบายได้ไม่มากก็น้อย

แล้วถ้าความหลากหลายมันมากกว่านี้ หลายชั้น หลายเลเยอร์ล่ะ จะเป็นอย่างไร

ก็จะกลายเป็นว่าถูกมองแปลกหนักเข้าไปอีก เพราะ "ทำไมไม่เลือกเอาซักอย่าง" แบบเราละะ

กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ยึดติดเพศใด อย่าง เควียร์ (Queer) และ/หรือนอน-ไบนารี (Non-Binary) ถึงกลายเป็น "แกะดำของสังคมความหลากหลายทางเพศไทย"

เป็นสิ่งที่มีจริง แต่กลับไม่ใคร่มีใครพูดถึง กลายเป็น taboo (สิ่งต้องห้าม) ในเรื่องเพศไป ไม่ว่าจะถูกจัดไปใส่กรอบที่เขาไม่ต้องการ ก็ยังถูกบังคับให้ "ก็ยึดตามคำนำหน้าตามบัตรไปสิ ทำไม่ได้เหรอ"

ถูกตราหน้าว่าสับสนในเพศตัวเอง เพราะไม่ยอมเลือกซักอัน ทั้งที่พวกเขาได้เลือกแล้ว ว่าการอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองเพศ หรือการไม่เหมือนเพศอะไรเลยคือที่ที่พวกเขารู้สึกใช่ คือเพศของตัวเขามากที่สุด

หรือเบาๆ กับ ทรานส์แมน หรือ ชายข้ามเพศ ที่หลายคนยังจัดให้ไปอยู่ในกรอบของ "ทอม"

หรือแย่ไปกว่านั้น คนที่ไม่รับฮอร์โมน หรือไม่ตัดนม ก็ถูกชายข้ามเพศมองเป็นแค่ทอมไปอีก

หรือแย่กว่านั้นอีก ทอมบางคนที่ตัดนมตัวเอง ก็ดันถูกไปใส่กรอบชายข้ามเพศเอาดื้อๆ

ความจริงคือความหลากหลายทางเพศ มีทั้งทอมที่ตัดหน้าอก และขณะเดียวกันก็มีชายข้ามเพศที่ไม่ตัดหน้าอกด้วย

หรือการเป็น butch แล้วคบหากับหญิงข้ามเพศแทนที่จะเป็น femme ก็จะกลายเป็นตัวน่ารังเกียจ

แล้วบุคคลแรกๆ ที่จะลงไปเหยียด และอ้าง "สถาบันเพศ" ก็มักจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลักเสมอ

ทั้ง "สถาบันทอม" "สถาบันกะเทย" นี่มักจะถูกยกมาอ้างบ่อยมากๆ ด้วยความที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวจากแนวคิดเพศของไทย

ซึ่ง ยังไม่รวมเรื่อง หน้าตาไม่ดีเด่ขี้เหร่ก็โดนตัดสินด้วยหางตาไป ถ้าหน้าตาหล่อสวยเมื่อไหร่พูดอะไรก็ได้เราก็ชื่นชม

ซึ่งทำให้เคสของหญิงข้ามเพศมีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะ หัวโปก กะเทย หญิงข้ามเพศ ที่เกิดจากการไว้ผมสั้น รับฮอร์โมน ทำนม หรือแปลงเพศ ที่ยังต้องมาแยกชนชั้นให้วุ่นวาย กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย

พูดแล้วพลอยให้คิดถึงชายข้ามเพศบางท่านที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าถ้าจะให้มีกฎหมายเปลี่ยนคำหน้าเพศ (นาย/นาง/นางสาว) ก็ขอให้เป็นคนที่แปลงเพศแล้วเท่านั้น

ซึ่งทัศนะหรือความเห็นดังกล่าวเป็นการละเลยลืมคนที่ไม่สามารถแปลงเพศได้ ไม่ว่าด้วยเหตุเงินหรือสุขภาพหรือความพร้อมด้านอื่นๆ หรือความพอใจที่จะเก็บอวัยวะเพศดังกล่าวไว้ (ส่วนคนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนผ่าน ก็คงไม่ต้องถามหาสิทธิกันเลยในกรณีนี้)

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านอาจจะเห็นว่า สังคมไทย มักจะขอร้องให้ "คุณมีอักษรของ LGBT ได้แค่ตัวเดียว" แม้กระทั่ง LGBT ด้วยกันเองก็ยังไม่ได้เข้าใจถึง "ความหลากหลาย" ได้เพียงพอ ทั้งๆ ที่ มนุษย์คือสิ่งที่มีค่าผันแปรที่สูงเป็นอันดับสองในโลก รองจากค่าไพ (Pi = π)

แล้วคุณคิดว่า มนุษย์ร้อยพ่อพันแม่ เกิดมาในสภาพที่แตกต่างกัน เรียนรู้ต่างกัน องค์ประกอบในร่างกายไม่เหมือนกัน จะมีความเหมือนกันได้อย่างไร มนุษย์กับค่าไพจึงเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด และไม่มีวันที่จะซ้ำชุดกันเลย แต่กลับกลายเป็นว่ามนุษย์กลับเป็นสิ่งที่แข็งค่าที่สุดในโลกเมื่อพูดถึงเรืองเพศหลากหลาย

เราเองในฐานะคนแรกๆ ที่กล้าออกมาพูดในสื่อว่าคนข้ามเพศไม่ได้ชอบเพศที่ตรงข้ามรูปลักษณ์ตนเองเสมอไป ก็ต้องมายอมรับผลแบบนี้แหละ

แต่ถ้ามันจะทำให้คนอื่นเริ่มยอมรับตัวเอง ไม่เกลียดตัวเองที่ต้องเป็นความซับซ้อนเชิงเพศแบบนี้เพียงคนเดียว ก็คือผลตอบแทนที่แท้จริงของการเดินออกมาพูดเรื่องความเป็นกะเทยรักหญิงต่อสาธารณชน

ยังไม่รวมผู้ที่อยู่ในประเภท อยากได้รับสิทธิเหมือนคนทั่วไป แต่จะให้ไปมีส่วนในการออกแบบกฎหมายที่จะเอื้อเฟื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลับไม่ยอม แถมบอกว่าจะทำให้คนอื่นเกลียดกลัวมากขึ้นไปอีกเพราะการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนหัวรุนแรง (เอากับเขาสิ)

ก็คงจะต้องหลับฝันกันอีกยาวๆ หากในหมู่ผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเองยังมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ว่ามันไม่ใช่ความหลากหลายของปัจเจกบุคคลเลยที่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเสื่อมเสีย แต่เป็นการกีดกันจากคนกันเองต่างหาก ที่คิดว่าความผิดแปลกในเพศคนอื่นเป็นสิ่งที่ต้องถูกกำจัดเพื่อรักษาศีลธรรมของชาติ ศาสนา บ้านเมือง สังคม หรือเพศนั้นๆ ไว้

อ่านมาจนใกล้จบแล้ว คุณเคยลองย้อนกลับไปคิดบ้างไหมคะว่า ได้เคยกีดกันตัวตนเรื่องเพศของคนอื่น เพียงเพราะเขาไม่ได้บรรทัดฐานเราหรือเปล่า

บางทีการปล่อยวางความตายตัวทางเพศที่เราเคยรู้จัก ให้เปลี่ยนมาเป็นมองว่าความหลากหลายทางเพศคือสีสัน การยอมรับกันคือการเปิดโอกาสให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี ก็จะสามารถช่วยให้เขามีแรงบันดาลใจทำอะไรดีๆ ให้กับตัวเอง สังคม ประเทศชาติ หรือโลกได้อีกมากมาย

และหากทำได้ โลกของเรา ความหลากหลายทางเพศของไทย น่าจะดำเนินได้ไกล เป็นที่พักพิงของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นหรือเดินออกจากตู้เสื้อผ้าในอนาคต ได้อย่างยั่งยืน...สาธุ...



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai