โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ตร. แจ้งความ 'วัฒนา เมืองสุข' โพสต์เฟซบุ๊กยุยง ปมจำนำข้าว

Posted: 27 Jul 2017 11:32 AM PDT

สันติบาลแจ้งความเอาผิด 'วัฒนา เมืองสุข' ที่กองปราบปราม อ้างโพสต์เฟซบุ๊ก ยุยง คดีรับจำนำข้าว พร้อม วิจารณ์ คสช. เจ้าตัวเผยเตรียมแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในเช้าวันเสาร์ที่ 29 ก.ค. นี้

แฟ้มภาพ

28 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana Muangsook" ในลักษณะสาธารณะ ระบุว่า เพิ่มอีก 1 คดี มีคนแชร์ข่าวที่ตนถูกตำรวจสันติบาลแจ้งความดำเนินคดี กรณีที่ตนโพสต์ให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการต่อสู้คดีในโครงการจำนำข้าว โดยกล่าวหาว่าตนกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามเนื้อข่าวที่ตนแชร์มาให้ดู ตนจะแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในเช้าวันเสาร์ที่ 29 ก.ค. นี้

ทั้งนี้ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานว่า พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ วัฒนา ในข้อหากระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือ ใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามมาตรา 116 โดยนำเอกสารหลักฐานมามอบให้พิจารณา

จากกรณีที่ วัฒนา ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana Muangsook" ถึงกรณีที่ศาลฎีกาพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวนัดสุดท้าย ยิ่งลักษณ์ ในลักษณะยุยงให้เกิดความปั่นป่วนอีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ คณะ คสช.อีกด้วย จึงเข้าแจ้งความดังกล่าว เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 อยู่ระหว่างการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่มาแจ้งความเพื่อรับเรื่องไว้ ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw ชี้ กระทรวงดีอีออกประกาศชัด ผู้ให้บริการต้องลบข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน 24 ชม.

Posted: 27 Jul 2017 10:59 AM PDT

ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ออกประกาศให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกประเภท ต้องลบข้อมูลออกหลังได้รับหนังสือการร้องเรียน โดยแบ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ต้องลบออกภายใน 7 วัน ความผิดตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง และความผิดตามมาตรา 14 (4) ต้องลบออกภายใน 7 วัน

 

อ่านทั้งฉบับได้ที่ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา

28 ก.ค. 2560 จากเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) วิเคราะห์ว่า นอกจากประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ดังกล่าวแล้ว ยังมีประกาศเรื่องอื่นๆ อีก รวม 5 ฉบับ หลังจากเคยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้ 

iLaw ระบุว่า ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ฉบับนี้ จะมีผลกระทบต่อเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ ประกาศฉบับนี้ ถูกแก้ไขเพิ่มเติมจากร่าง ฉบับที่ใช้รับฟังความคิดเห็นอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) การกำหนดระยะเวลาในการลบและระงับให้แพร่ตามประเภทความผิดมาตรา 14 และ 2) เพิ่มช่องทางให้ผู้ให้บริการโต้แย้งให้เลิกลบข้อมูลได้ ถ้าหากเจ้าของข้อมูลเห็นว่าไม่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีรายละเอียดดังนี้ 

ขั้นตอนการแจ้งเตือน (notice and takedown) 

เจ้าของเว็บต้องจัดทำแบบฟอร์ม สำหรับการแจ้งเตือน 
 
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องจัดทำหนังสือแจ้งเตือน (take down notice) เป็นลายลักษณ์อักษรโดยจะจัดทำในรูปแบบใดๆ ก็ได้ แต่จะต้องระบุข้อมูลดังต่อไปนี้ 
 
1) ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือตัวแทน
 
2) แบบฟอร์มร้องเรียน (compliant form) เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้แบบฟอร์มดังกล่าวในการร้องเรียน ซึ่งแบบฟอร์มจะต้องระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้ 
 
- รายละเอียด ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของผู้ร้องเรียน และลายมือชื่อของผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจแทน
- รายละเอียดการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 
- ที่อยู่ในการติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น อีเมล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์หรือแฟกซ์ หรืออื่นๆ
- รายละเอียดของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่น 
- คำรับรองว่าข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง

วิธีการแจ้งให้ลบข้อมูลโดยผู้ใช้งานทั่วไป

ถ้าผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตพบเห็นว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตดำเนินการ ดังนี้ 
 
- ลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือบุคคลอื่น พร้อมกับยื่นเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำผิดตามมาตรา 14 และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
- กรอกแบบฟอร์มร้องเรียน พร้อแนบสำเนาใบแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ส่งให้ผู้ให้บริการ

วิธีการระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์

หลังจากที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับแบบฟอร์มร้องเรียน และเอกกสารที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดังนี้ 
 
- ลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายต่อไปโดยทันที
- จัดทำสำเนาข้อร้องเรียน และรายละเอียดข้อร้องเรียนส่งให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือคนที่เกี่ยวข้อง 
 
การระงับการแพร่หลายของข้อมูลให้ทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องไม่เกินระยะเวลาที่ระบุดังต่อไปนี้ 
 
1) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน ตามมาตรา 14 (1) ต้องระงับภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน  
 
2) ความผิดฐานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องดำเนินการภาย 24 ชั่วโมง 
 
3) ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามก ตามมาตรา 14 (4) ต้องดำเนินการภายใน 3 วัน 

การโต้แย้ง 

เจ้าของข้อมูลที่ถูกลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์สามารถโต้แย้งให้ยกเลิกการระงับหรือแพร่หลายข้อมูลโดยมีขั้นตอนเช่นเดียวกัน ดังนี้
 
- ลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องแจ้งรายละเอียดของข้อมูลที่ถูกระงับ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ความเสียหายที่เกิดกับตนเอง พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว และเอกสารที่แสดงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายอย่างไร
- แจ้งรายละเอียดต่างๆ ต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไม่มีแบบฟอร์ม) พร้อมยื่นเอกสารที่ลงบันทึกประจำวัน และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับการโต้แย้งแล้ว ผู้ให้อาจบริการยกเลิกหรือระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลที่ได้รับแจ้ง "ตามความเหมาะสม" ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 

ข้อเสนอแนะสำคัญในเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ถูกใช้ในการปรับแก้ 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเคยจัดรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศทั้ง 5 ฉบับ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้มาปรับแก้ไขในร่างประกาศ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอหลายข้อที่สำคัญก็ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาหรือปรับแก้ก่อนบังคับใช้ร่างประกาศ เช่น
 
1) เรื่องกระบวนการพิสูจน์ว่าข้อความใดเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีคนแจ้งมาจริงหรือไม่ และยังเป็นการผลักภาระให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องเป็นผู้พิจารณาเองเช่นเดิม
 
2) ในกรณีที่เนื้อหาที่กระทำความผิดไม่ได้อยู่ในขอบเขตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยที่จะดำเนินการลบ เช่น กรณีของเฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะต้องดำเนินการอย่างไร ถึงจะไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 15 
 
3) ความขัดกันระหว่างกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประกาศของกระทรวง เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขระบุว่าให้ผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลในระบบเอาไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ประกาศฉบับนี้กลับกำหนดระยะเวลาในการลบหรือต้องลบให้เร็วที่สุดตั้งแต่รับแจ้ง 
 
4)จากเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ได้มีการเสนอระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลบข้อมูล คือ ภายใน 20 วัน ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของประชาไท 
 
5) พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการอาจใช้ช่องทางนี้ในการแจ้งลบข้อมูลที่ไม่พึงปรารถนา โดยไม่ต้องดำเนินการขอคำสั่งศาล เพื่อปิดกั้นการเข้าถึง ด้วยขั้นตอนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกต่อไป 
 
นอกจากประกาศฉบับนี้ไม่ได้นำข้อเสนอแนะที่สำคัญที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาปรับแก้แล้ว ประเด็นที่สำคัญสำหรับประกาศฉบับนี้ คือ การกำหนดระยะเวลาในการลบหรือระงับ แบ่งแยกตามความผิดแต่ละประเภทนั้นมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดมาตรา 14 (2) และ (3) ที่ให้ดำเนินการลบหรือระงับภายใน 24 ชั่วโมง โดยที่ยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ข้อมูลเป็นความผิดหรือไม่นั้น อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในระดับบุคคลหรือ กลั่นแกล้งคู่แข่งทางการค้าบนโลกออนไลน์ได้ 
 
และถ้าหากเกิดกรณีที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับการแจ้งให้ลบ แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่เห็นหนังสือดังกล่าว หรือหนังสือแจ้งมาถึงในวันหยุด ผู้ให้บริการจะต้องรับผิดตามมาตรา 15 หรือไม่ 
 
เรื่องการนับระยะเวลาตามประกาศนั้นควรจะต้องเป็นการนับระยะเวลาตามวันทำงานจันทร์-ศุกร์หรือไม่ เพราะในต่างประเทศการนับเวลาในการลบหรือระงับข้อความนั้นนับตามวันทำการ (business day) ไม่นับรวมวันหยุด เช่น กฎหมาย DMCA ของสหรัฐอเมริกา และระยะเวลาในการลบหรือระงับนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 วัน แต่ต้องไม่เกิน 14 วันทำการ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. ร่างผ่านวาระ 3 พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่ออายุครบวาระ ไม่เซ็ตชีโร่

Posted: 27 Jul 2017 07:19 AM PDT

สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับเนื้อหาให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ และไม่มีการเซ็ตซีโร่

27 ก.ค. 2560 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยพลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งหมด 63 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไขคำส่วนของคำปรารภและอีก 12 มาตรา พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาในการสรรหาตามมาตรา 18 วรรค 6 ที่กำหนดไว้ 90 วัน รวมถึงการกำหนดไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ารับการอบรมในหลักสูตรหรือโครงการใดๆ ในมาตรา 21 และการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 8 ว่า ควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งขอแปรญัตติในมาตรา 13 พร้อมสงวนคำแปรญัตติ โดยกล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ในการดำเนินการสรรหาใหม่ ไม่ควรให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้ ได้รับการสรรหาใหม่ได้ ซึ่งตนเองมีความเห็นต่างจึงขอแปรญัตติเพื่อเพิ่มข้อความเข้าไปว่า ผู้ที่เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ไม่ว่าจะในครั้งใดก็ตาม ไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการสรรหาใหม่ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีมลทิน และเป็นผู้ที่ใสสะอาดจริงๆ

โดยธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การเข้ารับการสรรหาใหม่ ไม่ควรไปตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งอื่น แต่ควรกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งล่าสุดเท่านั้น เพราะการไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภานั้น มีหลายสาเหตุ

ด้านพลเรือเอกธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขอแปรญัตติในมาตรา 39เพื่อขอให้เพิ่มข้อความในการจัดทำรายงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ควรทำตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของระบบการประเมินผลภาคราชการแบบบูรณาการ พร้อมเผยแพร่ให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ด้วย พร้อมขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใดคนหนึ่งต้องมาแถลงรายงานประจำปีต่อรัฐสภาด้วยตนเองเท่านั้น โดยไม่ให้ส่งผู้แทนมามาแถลงรายงานประจำปีแทน

สำหรับการพิจารณาในหมวดที่ 4 เรื่องบทกำหนดโทษ มาตรา 56 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอแปรญัตติหลายคน อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร กล้านรงค์ จันทิก มองว่าประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552โดยขอแปรญัตติให้เพิ่มข้อความว่า "หรือพ้นจากตำแหน่ง" เข้ามาด้วย ขณะที่ สมชาย แสวงการ แปรญัตติให้เพิ่มข้อความที่ระบุให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9มาตรา 10และมาตรา 18 (1) (2) พร้อมให้เหตุผลว่า องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ควรใช้รูปแบบเหมือนกันทุกองค์กร แต่ควรดูความเหมาะสม และอำนาจหน้าที่ที่ได้รับตามรัฐธรรมนูญ

ด้านธนาวัฒน์ ยอมรับว่าการกำหนดคุณสมบัติผู้ตรวจการแผ่นดินในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเกณฑ์ที่สูงขึ้น แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด พร้อมให้เหตุผลว่า การกำหนดคุณสมบัติ รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ที่มีความเคร่งครัด เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกิดปัญหาร้องเรียนจากบุคคลอื่นกรณีขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติและที่มา

อย่างไรก็ตาม ประธานได้สั่งให้พักประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้หารือเกี่ยวกับการปรับแก้ถ้อยคำให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกันระหว่างเนื้อหาในมาตรา 56 มาตรา 57 และมาตรา 58 กรณีการคงอยู่และการพ้นจากตำแหน่งของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้ข้อสรุปว่า ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผนดิน พ.ศ. 2552 และตามที่มาตรา 18 ระบุไว้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขในร่างมาตรา 56 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์แจงอายัดบัญชียิ่งลักษณ์ เป็นอีกกรณี - วิษณุ ระบุ แค่ฟรีซเอาไว้

Posted: 27 Jul 2017 06:57 AM PDT

ประยุทธ์ ยันอายัดบัญชีธนาคารยิ่งลักษณ์เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลฎีกาฯนักการเมือง จะมีคำพิพากษาในคดีจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้ วิษณุ ระบุจำเป็นต้องถูกอายัดไว้ก่อน เพื่อไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง 

27 ก.ค. 2560 จากรณีวานนี้ (26 ก.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ชี้แจงกรณีที่กรมบังคับคดีได้อายัดบัญชีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้นว่า ยังไม่มีการยึดทรัพย์ ทั้งนี้ได้สั่งให้กรมบังคับคดีชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย รวมถึงให้ระมัดระวังการให้ข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการไปกลั่นแกล้ง ยิ่งลักษณ์ จนต่อมา ยิ่งลักษณ์ รีทวีตผ่าน @PouYingluck สั้นๆ ว่า "ไม่ใช่แค่อยู่ขั้นตอนการเตรียมการนะคะ แต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วค่ะ"

ล่าสุดวันนี้ (27 ก.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กรมบังคับคดี กระทรวงการคลังดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์ในบัญชีธนาคารของยิ่งลักษณ์ ว่า เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 25 ส.ค.นี้ อย่านำ 2 กรณีมาปนกัน เพราะการยึดทรัพย์โดยกรมบังคับคดี เป็นมาตรการทางปกครอง ซึ่งต้องทำตามเวลาที่กำหนด ส่วนในวันที่ 25 ส.ค.เป็นเรื่องของศาล ซึ่งเป็นคดีอาญา ขณะนี้มี 2 กรณี แต่อาจะมี 3 กรณีก็ได้หากมีมาตรการทางแพ่งให้ชดใช้ความเสียหาย ยืนยันว่ากรณียึดและอายัดทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา

เมื่อถามว่า ยิ่งลักษณ์ ได้ร้องต่อศาลปกครองให้ทุเลาการดำเนินการยึดทรัพย์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากศาลรับคำร้องของ ยิ่งลักษณ์ การยึดทรัพย์ก็จะหยุดชั่วคราว ถ้าศาลไม่ให้ทุเลาก็ต้องเดินหน้ายึดทรัพย์กันต่อไป ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้สิทธิแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อโดนคำสั่งศาลแล้ว จะไม่สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และยิ่งลักษณ์สามารถร้องศาลปกครองจนกว่าอายุความจะสิ้นสุด และระหว่างนี้กรมบังคับคดีก็จะดำเนินการยึดทรัพย์จนกว่าอายุความจะสิ้นสุดเหมือนกัน

"ขอว่าอย่าเอา 2 เรื่องมาพันกัน อย่าเอามาจนกลายเป็นประเด็นเพื่อปลุกระดม เพื่อใช้ในการบิดเบือน เอาคนมา หาว่าเราไปรังแก ยึดทรัพย์ เพราะมันคนละเรื่อง เนื่องจากมีกฎหมายตั้งหลายตัว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

วิษณุ แจงไม่ได้ยึดทรัพย์ แค่ฟรีซเอาไว้

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ามีอยู่หลายคดี คดีอาญาของนักการเมืองนั้นไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะตัดสินวันที่ 25 ส.ค.นี้ หากศาลฎีกาฯตัดสินว่ามีความผิดจะนำไปสู่การดำเนินคดีแพ่งต่อไป คำถามเรื่องการยึดทรัพย์ที่สื่อถามนายกฯเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น นายกฯคงเข้าใจว่าเป็นการยึดทรัพย์ในคดีที่อยู่ในศาลฎีกาฯ ซึ่งความจริงยังยึดไม่ได้จนกว่าศาลฎีกาฯจะตัดสินแล้วรอดูผลก่อนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

วิษณุ กล่าวว่า ส่วนการบังคับคดีปกครองที่พูดกันมาเป็นปีจากการออกคำสั่งทางปกครองออกไปแล้วนั้น หลายคนพยายามมาถามตนว่าทำถึงไหนแล้ว จะยึดอะไรอย่างไรบ้าง ซึ่งตนบอกแล้วว่าถ้าพบก็ยึดและมีอายุความ 10 ปี จึงถือเป็นคนละส่วน ถ้าพบก็ต้องยึดทรัพย์เลย มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะถือว่าบกพร่อง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ของเรื่องดังกล่าวได้ตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินบางส่วน จึงนำทรัพย์สินดังกล่าวแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ เงินฝากอยู่ในธนาคารต่างๆ ที่ตอนนี้ตรวจพบแล้วว่ามีอยู่ 10-20 ธนาคาร รวมแล้วเป็นเงินจำนวนไม่มาก จำเป็นต้องถูกอายัดไว้ก่อน ถูกฟรีซเอาไว้ เพื่อไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง กรณีผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้

วิษณุ กล่าวว่า 2.อสังหาริมทรัพย์ คือที่ดิน บ้าน คอนโดฯ เป็นต้น ได้ถูกตรวจพบว่ามีประมาณ 37 รายการ โดยหน่วยงานเจ้าของเรื่องทราบดีว่ามูลค่าจำนวนหนึ่ง แต่ขอไม่ระบุตัวเลข ซึ่งกรมบังคับคดีได้ประสานกับกรมที่ดิน เพื่อขอฟรีซทรัพย์นั้นไว้เช่นกัน เพื่อไม่ให้ทำธุรกรรม จำหน่าย จ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดเข้ารัฐเช่นกัน และยังไม่ถูกนำมาขายทอดตลาด และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้นอยู่เช่นเดิม เพียงแต่กรมบังคับคดีแจ้งให้กรมที่ดินทราบว่ามีรายการใดบ้างที่ถูกตรวจพบ

เมื่อถามว่า ยิ่งลักษณ์ ระบุเงินในบัญชีถูกอายัดและถูกถอนออกจากบัญชีไปแล้ว วิษณุ กล่าวว่า เงินที่ถูกอายัดไว้นั้นมี 16 บัญชี โดย 5 บัญชีรวมแล้วมีเงินเป็นหลักแสนบาท ซึ่งถูกกรมบังคับคดีถอนออกมาก่อน ถือเป็นอำนาจตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ถูกส่งเข้าคลังทันที ทรัพย์ยังอยู่ที่กรมบังคับคดีเนื่องจากยึดตามคำสั่งทางคดีปกครอง ที่เหลืออีก 11 บัญชียังไม่มีการแตะต้อง

เมื่อถามว่าหากศาลฎีกาฯตัดสินว่านยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิด จะได้รับเงินที่ถูกกรมบังคับคดีถอนออกไปนั้นกลับคืนหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกันระหว่างคำตัดสินของศาลฎีกาฯในวันที่ 25 ส.ค. กับคดีแพ่ง ขณะเดียวกันน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ไปยื่นขอทุเลาการบังคับคดี แต่ตอนนั้นศาลไม่รับด้วยเหตุว่าขณะนั้นยังไม่มีการยึดทรัพย์ใดๆ จึงไม่ต้องทุเลาการบังคับคดี แต่ขณะนี้ได้เริ่มมีการบังคับคดีแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีสิทธิ์ไปยื่นขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลปกครองได้ ถือเป็นผลดีต่อตัวเขาเอง จากนั้นอยู่ที่ศาลปกครองจะทุเลาการบังคับคดีหรือไม่

วิษณุ กล่าวว่า หากศาลปกครองสั่งทุเลาการบังคับคดีดังกล่าว กรมบังคับคดีต้องหยุดการดำเนินการทั้งหมด ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าศาลปกครองสั่งไม่ทุเลา ทางกรมบังคับคดีก็ดำเนินการต่อไปได้ตามกฎหมาย แต่ได้หารือกันแล้วว่าจะยังไม่ทำอะไรอีกในช่วงนี้จนกว่าศาลฎีกาฯจะมีคำตัดสินในวันที่ 25 ส.ค. อย่างน้อยการทำเช่นนี้ทำให้รู้ว่าทรัพย์สินทั้งหมดในชื่อของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอะไรบ้าง อยู่ที่ใดและมีมูลค่าเท่าใด ส่วนทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อาจอยู่ในชื่อบุคคลอื่น ทางกรมบังคับคดียังไม่เข้าไปตรวจสอบ ส่วนจะไปตรวจสอบเมื่อใดนั้นไม่ทราบ

เมื่อถามว่าอาจถูกมองว่ากรมบังคับคดีใช้เวลาสืบทรัพย์นาน แต่เพิ่งมาสืบพบในช่วงเวลาใกล้จะตัดสินคดีในวันที่ 25 ส.ค. วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกัน อยู่ที่ว่ากรมบังคับคดีจะสืบทรัพย์พบเมื่อใด เมื่อสืบพบก็ต้องดำเนินการโดยทันทีตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังไปแจ้งกรมที่ดิน ธนาคารต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าศาลฎีกาฯจะนัดวันอ่านคำพิพากษาในวันใด เมื่อออกมาเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด กกท. เห็นชอบ 'E-Sports' เป็นชนิดกีฬาที่จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้

Posted: 27 Jul 2017 04:44 AM PDT

บอร์ด กกท. เห็นชอบให้ E-Sports เป็นชนิดกีฬาจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ ขณะที่ 16 สถาบันอุดมศึกษา จับมือแข่ง E-Sports ดวลเกมออนไลน์  ทั้ง LOL, HON และ ROV ชิงเงินรางวัล รวมกว่า 1 ล้านบาท

27 ก.ค. 2560 กองประชาสัมพันธ์ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รายงานผลการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ครั้งที่ 7/2560 ว่า กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าเรื่อง อีสปอร์ต (E-Sports) และแนวทางในการรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาที่ดำเนินกิจกรรมอีสปอร์ต และเห็นชอบประกาศให้ อีสปอร์ต (E-Sports) เป็นชนิดกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558

จากนั้น ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของสมาคมกีฬา รายไตรมาส เพื่อสรุปผลการดำเนินงานและแนวทางแก้ไข ไตรมาสที่ 3 ปรากฏว่ามีสมาคมที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 13 สมาคม, สมาคมที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 59 สมาคม และสมาคมที่ไม่ส่งผลการดำเนินงาน จำนวน 5 สมาคม ทั้งนี้ เนื่องจากบางสมาคมมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และผู้ดำเนินการ สมาคมใหม่ที่เข้าร่วมการประเมินฯ ทำให้ยังไม่เข้าใจในเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการดังกล่าวในบางตัวชี้วัด และสมาคมกีฬาส่วนใหญ่จะดำเนินกิจกรรมในช่วงปลายปีงบประมาณ จึงทำให้คะแนนผลการดำเนินงานในระยะแรกไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดย กกท. ได้เชิญผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย เข้าหารือเพื่อทำความเข้าใจเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐานตามแนวทางการพัฒนากีฬาเป็นเลิศ พร้อมทั้งแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตามเกณฑ์การประเมินฯ ให้กับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และมีการให้คำปรึกษากับสมาคมกีฬา ที่มีผลการดำเนินงานอยู่กลุ่มเสี่ยงที่จะไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดในบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปีบัญชี 2560 รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2559 – มิถุนายน 2560) รวมทั้งให้ความเห็นชอบร่างตัวชี้วัดในบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปีบัญชี 2561 ของ กกท.

16 สถาบันอุดมศึกษา จับมือแข่ง E-Sports ดวลเกมออนไลน์ 

ขณะที่วานนี้ (26 ก.ค.60) ช่อง 7 รายงานว่า การแข่งขันเกมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ  E-Sports "U League Thailand 2017" จัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 2 มีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นเจ้าภาพ นำเยาวชนจาก 16 สถาบันการศึกษา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประชันทักษะ และความสามารถของนิสิตนักศึกษา ด้าน E-Sports ด้วยการแข่งเกม 3 เกม คือ ลีกออฟเลเจนด์ (LOL), ฮีโรส์ออฟนิวเอิร์ธ (HON) และ ROV (อาร์โอวี) ชิงเงินรางวัล รวมกว่า 1 ล้านบาท

เริ่มเปิดรับสมัครในเดือนสิงหาคมนี้ และแข่งรอบคัดเลือก แบบออนไลน์ เฟ้นหา 3 ทีมเข้าชิงชนะเลิศ ในวันที่ 30 กันยายน ทั้ง 3 เกม เป็นเกมวางแผน เล่นกันเป็นทีม ต้องใช้ความสามัคคี คิดกลยุทธ์และรูปแบบการเล่น พิชิตชัย

สำหรับ E-Sports ได้รับความนิยม มีการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ระดับโลก มุ่งส่งเสริมเยาวชนมีทัศนคติที่ถูกต้อง แบ่งเวลาให้เหมาะสม สำหรับการเล่นเกม ที่สำคัญเน้นให้ต่อยอดเป็นอาชีพ รองรับอุตสาหกรรมใหม่ทางออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทเรียนความสำเร็จจากการต่อต้านเหมืองแร่บรรษัทยักษ์ในเอลซัลวาดอร์

Posted: 27 Jul 2017 04:17 AM PDT

หลังกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ต่อสู้มานานหลายปี จนรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ผ่านกฎหมายห้ามทำเหมืองแร่เหล็ก ล่าสุดมีการสรุปบทเรียนว่าบรรษัทต่างชาติที่พยายามเข้าไปขุดแร่และสร้างมลภาวะในเอลซัลวาดอร์ใช้วิธีการทั้งจูงใจและลงโทษ เพื่อทำให้ชุมชนแตกแยกหรือทำให้นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย ขณะที่ฝ่ายต้านเหมืองนอกจากการรวมตัวอย่างเข้มแข็งแล้ว ยังใช้การหารือเพื่อทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

การประท้วงการทำเหมืองของบรรษัท "Canadian Pacific Rim Mining" ที่เอลซัลวาดอร์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ejatlas.org)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต่อต้านการทำเหมืองแร่ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญจากการต่อสู้ คือการทำให้ประเทศเอลซัลวาดอร์ประกาศแบนการทำเหมืองแร่เหล็กภายในประเทศของตนได้และนับเป็นประเทศแรกที่ประกาศเช่นนี้ ซึ่งสื่อขององค์กร "เดโมเครซีเซนเตอร์" ระบุว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจไม่อาจชนะได้เสมอไป ชาวเอลซัลวาดอร์สามารถเอาชนะแผนการของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่พยายามขยายโครงการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนได้

เดโมเครซีเซนเตอร์นำเสนอบทเรียนและบทวิเคราะห์การต่อสู้ในเรื่องนี้ของชาวเอลซัลวาดอร์ ที่มองว่าเป็นชัยชนะของประชาชนหลังจากที่ ส.ส. ออกกฎหมายห้ามทำเหมืองเพียงแค่ 6 เดือน หลังจากที่ศาลธนาคารโลกตัดสินเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทเหมืองแร่ของแคนาดา

เดโมเครซีเซนเตอร์ทำการศึกษาและวิเคราะห์บทเรียนในครั้งนี้จากการสัมภาษณ์องค์กรเคลื่อนไหวเคลื่อนไหวหลายกลุ่มในเอลซัลวาดอร์ รวมถึงองค์กรศึกษานโยบายในสหรัฐฯ และองค์กรจับตามองเหมืองแร่แคนาดา ทั้งในเรื่องยุทธวิธีของกลุ่มบรรษัทเหมืองและวิธีการต่อสู้ของพวกเขาในการปกป้องผืนน้ำและสิ่งแวดล้อมจากโครงการของบรรษัทแสวงหาผลกำไรได้

 

ข้อมูลเรื่องการทำเหมืองแร่ในเอลซัลวาดอร์

ในทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเอลซัลวาดอร์ไม่ได้เป็นประเทศที่ทำเหมืองแร่เป็นหลัก มีการทำเหมืองแร่อยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่จะเป็นการทำเหมืองแร่ในสเกลเล็กๆ ระดับพื้นบ้าน มีเหมืองแร่ะดับบรรษัทไม่มากนักแต่ก็ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางน้ำ

เดิมทีการสู้รบภายในของเอลซัลวาดอร์ทำให้บรรษัทเหมืองแร่ต่างชาติไม่เข้ามาทำเหมือง แต่ต่อมาหลังมีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพก็มีบรรษัทเหมืองของแคนาดาชื่อแปซิฟิกริมเข้ามาในปี 2545 พวกเขาต้องการทำเหมืองในพื้นที่ที่เรียกว่า "เอล โดราโด" แถบพื้นที่คาบานาสของแม่น้ำเล็มปา ประชาชนในพื้นที่เริ่มต่อต้านเหมืองโดยการรวมตัวกันเป็น "สภาโต๊ะกลมเพื่อการต่อต้านเหมืองแร่เหล็กในเอลซัลวาดอร์" ในปี 2548 ซึ่งเน้นการปกป้องผืนน้ำจากผลกระทบของเหมือง โดยทรัพยากรน้ำของเอลซัลวาดอร์อย่างน้อยร้อยละ 90 ปนเปื้อนมลภาวะไปแล้ว เอลซัลวาดอร์ยังเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะโลกร้อนด้วย

 

วิธีการของบรรษัทเหมืองแร่

ถึงแม้จะมีการต่อต้านจากประชาชนแต่บรรษัทเหมืองแร่เองก็มียุทธวิธีการต่อสู้ของตัวเองเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือวิธีการที่เรียกว่าการ "จูงใจ" โดยทั้งวิธีการให้รางวัลและการลงโทษผสมผสานกัน บรรษัทเหมืองแร่แปซิฟิกริมที่ถูกโอเชียนนาโกลด์ บรรษัทของแคนาดา-ออสเตรเลีย เข้าซื้อกิจการในปี 2556 ใช้วิธีการตั้งองค์กรดำเนินกิจกรรมการกุศลเพื่อพยายามชนะใจชุมชน พวกเขาทำเช่นนี้ไปพร้อมๆ กับวิธีการเก่าแก่อย่างการล็อบบี้เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากระบบการเมือง

อีกวิธีหนึ่งที่พวกเขาใช้เป็นวิธีการเชิง "บีบบังคับ" มากกว่า พวกเขาพยายามทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน และทำให้นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทำงานโดยเสี่ยงภัยมากขึ้น รวมถึงมีการฟ้องร้องรัฐบาลเอลซัลวาดอร์หลังจากที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ปฏิเสธไม่ให้ใบอนุญาตทำเหมืองแร่เอลโดราโด

บรรษัทนี้จัดตั้งกองทุนมูลนิธิที่เรียกว่า 'มูลนิธิเอลโดราโด' ขึ้น โดยทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูเหมือนเป็นผู้เอื้อประโยชน์ต่อ "การพัฒนา" รวมถึงเป็นผู้บริจาคในการสนับสนุนทีมฟุตบอล งานเทศกาล ต่างๆ เพื่อทำตัวใกล้ชิดกับชุมชน

แต่เจน มัวร์ จากองค์กรจับตามองเหมืองแร่แคนาดาก็บอกว่าบรรษัทพูดอย่างหนึ่งกับชาวบ้านแต่พูดอีกอย่างหนึ่งกับคนถือหุ้น นอกจากนี้ยังทำให้สมาชิกในชุมชนหรือครอบครัวบาดหมางกันเพราะมีคนบางส่วนได้รับผลประโยชน์จากบรรษัทส่วนบางคนก็ต่อต้านการทำเหมืองแร่อย่างหนัก

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบรรษัทเหมืองแร่จะบอกว่าพวกเขาเข้าไปสร้างงานให้กับคนในพื้นที่แต่กเป็นงานที่มีสภาพย่ำแย่มากที่สุดในนั้น ทำให้เป็นการให้ความหวังแบบผิดๆ กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้โอเชียนนาโกล์ดยังพยายามกว้านซื้อพื้นที่ในสื่อต่างๆ อย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนทางการเมืองและทางสังคมด้วย 

เรื่องนี้ทำให้สภาโต๊ะกลมประณามพฤติกรรมของบรรษัทให้สาธารณชนได้รับรู้ รวมถึงเรื่องที่บรรษัทโอเชียนนาโกล์ดไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฎหมายแต่กลับพยายามใช้วิธีการชักจูงให้ผู้คนกลับมาเห็นด้วยกับการฟื้นฟูโครงการเหมืองของพวกเขาอีกครั้ง

ในแง่ของการล็อบบี้บรรษัทเหมืองพยายามเข้าหานายกเทศมนตรีที่สนับสนุนการทำเหมืองแร่โดยไม่ผ่านกระบวนการอนุญาตจากฝ่ายบริหารทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคที่ส่วนใหญ่มักจะต่อต้านการทำเหมืองแร่เลย จากบันทึกของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังระบุอีกว่าบรรษัทเหมืองแร่นี้เคยพยายามเรียกร้องให้ทางการแก้ไขกฎหมายการทำเหมืองแร่และถึงขั้นร่างกฎหมายของตัวเองขึ้นมาและพยายามขอให้ผ่านร่างในสภาแต่ไม่สำเร็จ แต่ก็ยังทำตัวน่าอายด้วยการคงอยู่ในประเทศเอลซัลวาดอร์เพื่อรอให้สายลมทางการเมืองเปลี่ยนทิศมาเข้าทางตัวเอง

 

ด้านมืดของบรรษัทเหมือง

อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีความขัดแย้งเรื่องการทำเหมือง มีนักกิจกรมเพื่อสิ่งแวดล้อม 5 รายถูกสังหารในช่วงปี 2552 ถึง 2554 หนึ่งในนั้นเป็นหญิงท้องแก่อายุครรภ์ 8 เดือน ทำให้ทางสหประชาชาติและหลายองค์กรออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อประณามแปซิฟิกริม ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มโต๊ะกลมต่อต้านการทำเหมืองแร่เหล็กตั้งสมมุติฐานว่าการสังหารและการสูญหายของนักกิจกรรมเหล่านี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะพวกเขาทำงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 

การใช้อำนาจจากต่างประเทศชี้ขาดข้อพิพาท

บรรษัทยังใช้วิธีที่ให้ต่างชาติใช้อำนาจอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อขัดแย้ง โดยแปซิฟิกริมใช้วิธีการฟ้องร้องรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ต่อศาลศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อยุติข้อพิพาทการลงทุน (ICSID) ของธนาคารโลกในเรื่องที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่อนุญาตให้พวกเขาทำเหมือง อีกทั้งยังใช้วิธีเปลี่ยนสถานที่จดทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิคุ้มครองจากสนธิสัญญาการค้าระหว่างสหรัฐฯ โดมินิกัน และอเมริกากลาง แต่ว่า ICSID ก็ทำคดีนี้โดยใช้ฐานการพิจารณาเป็นกฎหมายการลงทุนของประเทศเอลซัลวาดอร์เอง นอกจากนี้เอลซัลวาดอร์ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุนในอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุแบบนี้อีก

ถึงที่สุดแล้ว ICSID ก็ตัดสินให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่มีความผิดและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายใดๆ จากการที่พวกเขาไม่อนุญาตให้มีการทำเหมือง นอกจากนี้ยังให้บรรษัทเหมืองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคดีให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์เป็นเงิน 8 ล้านดอลลาร์ด้วย อย่างไรก็ตามการพยายามฟ้องร้องของบรรษัทแปซิฟิกริมก็แสดงให้เห็นถึงการพยายามเรียกใช้อำนาจชี้ขาดข้อขัดแย้งจากต่างประเทศมาเป็นเครื่องมือ รวมถึงใช้ยุทธวิธีเคลื่อนย้ายไปยังจุดอื่นเพื่อให้ข้อกฎหมายในพื้นที่นั้นๆ เข้าข้างพวกเขามากกว่า

แต่คำตัดสินของ ICSID ก็กลายเป็นข่าวระดับโลกส่งผลทางบวกให้กับผู้ที่ต่อสู้กับเหมืองอย่างสภาโต๊ะกลมไปด้วย

เดโมเครซีเซนเตอร์ระบุว่าหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จคือการริเริ่มจัดขบวนคนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีโครงการที่ส่งเสริมในทางบวกและปรับตัวกับบรรยากาศทางการเมืองในสมัยนั้น

 

เดินเกมก่อนล่วงหน้าบรรษัท

กลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ใช้วิธีการจัดขบวนและมีปฏิบัติการก่อน พวกเขาให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากเหมืองแร่จากประสบการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จากที่เอลซัลวาดอร์เองก็มีประวัติศาสตร์การถูกคุกคามจากเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่มาก่อน พวกเขายังเรียนรู้จากในฮอนดูรัสที่ช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 90 เหมืองแร่ซานมาร์ตินทำให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และในบางแห่งก็สร้างมลภาวะทางน้ำ

เปโดร คาเบซาส จากสมาคมเพื่อการพัฒนาแห่งเอลซัลวาดอร์ (CRIPDES) กล่าวว่าสาเหตุที่กลุ่มบรรษัทที่เข้ามาสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ไม่ได้รับใบอนุญาตเพราะการต่อต้านอย่างแข็งขันจากหลายชุมชนในเองซัลวาดอร์ล่วงหน้าพวกเขา และในเวลาต่อมากลุ่มต่อต้านเหมืองแร่เหล่านี้ก็เล็งเห็นว่าพวกเขามีความจำเป็นต้องรวมตัวเป็นขบวนการต้านเหมืองแร่ระดับชาติขึ้น

 

หารือกับประชาชนทั่วไป

เดโมเครซีเซนเตอร์ระบุว่าการปรึกษาหารือกับประชาชนทั่วไปเป็นวิธีที่นักเคลื่อนไหวในลาตินอเมริกาใช้กันเป็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยตรงในประเด็นที่ส่งผลกระทบกับผู้คนเหล่านั้น ในเอลซัลวาดอร์เองก็มีระบบที่ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนร้อยละ 40 ในท้องถิ่นเรียกร้องให้มีการอภิปรายหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพวกเขาเจ้าหน้าที่ทางการในท้องถิ่นนั้นๆ ก็ต้องดำเนินการให้มีการอภิปราย

ในการต่อสู้เพื่อให้มีการแบนเหมืองแร่โดยถาวรนั้น การจะไปเคลื่อนไหวกับรัฐบาลระดับชาติที่มีความผันผวนทางการเมืองคงทำไม่ได้มาก จึงมีการเน้นทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่นแต่มีการเคลื่อนไหวร่วมกันระดับชาติ จนเกิดการสั่งแบนเหมืองไปในแต่ละเทศบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาเบซาสมองว่าการหารือร่วมกับชุมชนก็เป็นกระบวนการทางการเมืองในตัวมันเอง การมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่นส่งผลถึงการแบนในระดับชาติด้วย จึงถือเป็นการใช้ "เครื่องมือประชาธิปไตย" ในการช่วยเคลื่อนไหวปกป้องอธิปไตยของเอลซัลวาดอร์

 

มีพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงสำคัญ

กลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ในเอลซัลวาดอร์ยังได้ร่วมมือกับองค์กรศาสนาคริสต์ร่วมออกสโลแกนในทำนองว่า "น้ำคือชีวิต เหมืองคือความตาย" นอกจากนี้ยังมีองค์กรทางสังคมอื่นๆ เข้าร่วมการเดินขบวนในวันที่ 9 มี.ค. 2560 ซึ่งมีผู้คนนับหมื่นนับพันเข้าร่วม เป็นวันสำคัญแห่งการเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายแบนการทำเหมือง องค์กรศาสนาคริสต์ยังช่วยให้มีคนลงนามต่อต้านเหมืองเพิ่มขึ้นจนเป็น 30.000 รายชื่อด้วยคาเบซาสบอกว่าทุกกลุ่มภาคส่วนทางการเมืองและภาคส่วนทางสังคมต่างก็มีส่วนร่วมจนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สภายอมผ่านร่างได้สำเร็จ

 

ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

ฝ่ายต่อต้านเหมืองแร่มีจุดยืนที่ชัดเจนแต่แรกแล้วคือการต่อต้านเหมืองแร่โดยสิ้นเชิงจึงทำให้มีการรวมตัวขับเคลื่อนร่วมกันกับพันธมิตรในต่างประเทศและองค์กรในประเทศได้ จากจุดยืนนี้เองทำให้พวกเขาต้องส่งสารออกไปอย่างชัดเจนว่า "แหล่งน้ำสำคัญกว่าทองคำ"

กลุ่มต่อต้านเหมืองร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศทำการศึกษาวิจัยจนสามารถแก้ไขมายาคติหรือความเข้าใจผิดที่บรรษัทเหมืองสร้างเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างเรื่องการสร้างงาน การลงทุึนจากต่างชาติ หรือ "การทำเหมืองอย่างมีความรับผิดชอบ" ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้มีคนมีวัตถุประสงค์เดียวกันทั้งหมดเพราะคนในชุมชนบางส่วนก็ยังมีคนเชื่อมายาคติจากบรรษัทอยู่ บรรรษัทก็พยายามปรับภาพลักษณ์ตัวเองด้วยการส่งเสริม "เหมืองแร่ที่มีความรับผิดชอบ" หรือ "เหมืองแร่สีเขียว" อยู่เช่นกัน แต่การยืนยันจุดยืนต้านเหมืองของกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็ทำให้เกิดการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากไว้ได้

 

การสนับสนุนจากกลุ่มต่างชาติผู้มีหัวอกเดียวกัน

มีกลุ่มองค์กรต่างชาติหลายจำพวกเข้าไปในเอลซัลวาดอร์มานานแล้วนับตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองรวมถึงกลุ่มต่อต้านเหมือนแร่และกลุ่มส่งเสริมสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรน้ำด้วย พวกเขาร่วมมือกับองค์กรต้านเหมืองอื่นๆ ในอเมริกากลาง อีกสาเหตุหนึ่งที่พวกเขาได้รับการสนับสนุนคือการที่ประเทศเอลซัลวาดอร์มีทรัพยากรน้ำอยู่มาก เป็นแหล่งน้้ำสำคัญที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำอื่นๆ จึงมีคนคิดว่าควรมีการแบนการทำเหมืองในภูมิภาคเหล่านี้ รวมถึงมีการพูดถึงสนธิสัญญาการจัดการน้ำในระดับภูมิภาค

เจน มัวร์ กล่าวว่าการได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองเป็นกุญแจสำคัญ ไม่ว่าจะจากชาวฮอนดูรัสหรือชาวกัวเตมาลา หรือแม้กระทั่งจากอีกภูมิภาคหนึ่งอย่างฟิลิปปินส์ การแลกเปลี่ยนนี้ช่วยให้มีข้อมูลโต้ตอบมายาคติและการโกหกของบรรษัทได้

 

บทเรียนสำหรับทั่วโลก

วิดาลินา โมราเลส จากสมาคมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ADES) กล่าวว่าชัยชนะของชาวต้านเหมืองในเอลซัลวาดอร์ถือเป็นชัยชนะของ "คนตัวเล็กๆ ผู้ล้มยักษ์" เป็นบนเรียนสำหรับชาวโลกว่าในขณะที่ชุมชนในเอลซัลวาดอร์เผชิญกับยุทธศาสตร์การพยายามแทรกแซงของบรรษัทข้ามชาติ พวกเขาก็ใช้พลังไปกับการต่อสู้โดยแสวงหาความร่วมมือทั้งจากในระดับชาติและระดับนานาชาติ

โดยที่คาเบซาสบอกว่าถึงแม้จะควรฉลองชัยชนะแต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะบรรษัทเหมืองเหล่านี้จะไม่ยอมเลิกล้มง่ายๆ และอาจจะใช้วิธีการที่รุนแรง

ถึงแม้ในลาตินอเมริกาจะเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับคนที่ทำงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จากที่มีคนทำงานสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเสียชีวิตอย่างปริศนาโดยไม่ได้รับการไขคดี และไม่มีระบบกลไกการตรวจสอบให้กับชุมชนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบทเรียนว่าในสภาพเช่นนี้พวกเขาพอจะทำอะไรได้บ้าง ในการเพิ่มความเข้มแข็งให้การเคลื่อนไหวทั้งในลาตินอเมริกาและทั่วโลก

 

เรียบเรียงจาก

The Anti-Mining Struggle in El Salvador – Corporate Strategies and Community Resistance, The Democracy Center, 07-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา : อนาคต 57 กม.ริมเจ้าพระยา จะพัฒนาอย่างไร-ใครดูแล

Posted: 27 Jul 2017 04:16 AM PDT

ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติฯ ทีดีอาร์ไอ ถกประเด็นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาแนะทบทวนรูปแบบการบริหารแม่น้ำเจ้าพระยากำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบการบริหารจัดการโดยรวมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

27 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ แจ้งว่า ในการเสวนา "แม่น้ำเจ้าพระยา...สู่การพัฒนาเมือง" ซึ่ง ทีดีอาร์ไอ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา  ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ ให้มุมมองต่อประเด็น "ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา : จะพัฒนากันอย่างไร" ไว้อย่างน่าสนใจ และมีการเสนอว่าถึงเวลาที่เราควรทบทวนรูปแบบการบริหารแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกำหนดให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรวมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ดร.อดิศร์ กล่าวว่า โครงการสร้างถนนในแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 57 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงสุดเขตกรุงเทพฯ ที่บางกระเจ้าเป็นโครงการที่ กทม.ต้องลงทุนให้ได้โดยในขั้นแรกจะต้องเร่งสร้างถนนความยาว 14 กม. ด้วยงบประมาณ 14,000 ล้านบาท และการดำเนินการจัดจ้างต้องรีบทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน ถนนที่จะสร้างในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นทางขี่จักรยานและให้คนเดินจะกินพื้นที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งละ 10 เมตร สองฝั่งรวมกันก็จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาแคบลง 20 เมตร

สำหรับการลงทุนสร้างถนนเพื่อขี่จักรยานและทางคนเดินในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปเอาใจคนขี่จักรยานถึงขนาดที่ กทม.ต้องสร้างทางขี่จักรยานในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเงินนับหมื่นล้านบาท และจะคุ้มค่าหรือไม่หากต้องแลกกับผลเสียที่จะตามมา เช่น เป็นอุปสรรรคต่อการไหลของน้ำช่วงฤดูน้ำท่วม สร้างความอุจาดทางสายตา สร้างปัญหาตลิ่งพัง ปัญหาขยะสะสม ปัญหาความปลอดภัยยามค่ำคืน ผลกระทบต่อการเดินทางและการขนส่งทางเรือ และที่สำคัญคือ เป็นการทำลายวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอย่างการสร้างทางจักรยานของ กทม. บริเวณสนามหลวงแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในอดีตเพราะแทบไม่มีจักรยานมาขี่ในทางจักรยานของ กทม. เลย

คำถามที่สำคัญคือทำไมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงไม่มีคนดูแล และทำไมสังคมไทยถึงปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กทม. เข้ามาใช้งบประมาณเพื่อทำโครงการอะไรก็ได้โดยไม่พิจารณาถึงภาพรวมว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรบ้าง แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรของคนไทยทั้งประเทศ แม่น้ำเจ้าพระยามีจุดเริ่มจากแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่านในภาคเหนือ และรวมมาบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพและไหลลงทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนคนไทยมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงแม่น้ำสายหลักนี้มาตั้งแต่อดีตกาล แม่น้ำเจ้าพระยาทำหน้าที่สายเลือดสำคัญสำหรับภาคการเกษตร เป็นแหล่งอาหารจากการทำประมง เป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า การเดินทางทางน้ำ เป็นที่กำเนิดไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพล สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมากมายในแต่ละปี ทำหน้าที่ระบายน้ำในฤดูฝน รวมทั้งการรองรับของเสียจากชุมชนต่างๆ

ที่สำคัญที่สุดคือแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมไทยที่เห็นได้ตามสองฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของชุมชน ศาสนสถาน และสถานที่สำคัญต่างๆ คนไทยตั้งแต่อดีตมีความผูกพันกับลำน้ำสายนี้มาเป็นเวลานานจนทำให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ สองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ประเพณีการลอยกระทง วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำ การค้าขายทางน้ำ การทำบุญ และที่สำคัญคือกระบวนพระยุหยาตราชลมารคของพระมหากษัตริย์ไทย กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงผูกพันระหว่างคนไทยกับแม่น้ำเจ้าพระยา หากใครมีโอกาสล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยาจะเห็นได้ถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ที่พบได้ตามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นวัดอรุณฯป้อมพระสุเมรุ พิพิธบางลำพู ท่าราชวรดิษฐ์ ท่ามหาราช หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี วัดระฆัง วัดพระแก้ว วัดกัลยาณมิตร วังบางขุนพรม รัฐสภา กองทัพเรือ และบางกระเจ้า เป็นต้น การสร้างถนนในสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคนไทยออกจากแม่น้ำสายนี้อย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญถนนที่จะสร้างขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นความอุจาดทางสายตาและทำลายความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาและวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาสำคัญคือยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรวม หน่วยงานราชการแต่ละหน่วยงานล้วนแต่รับผิดชอบงานเฉพาะอย่างที่ตนมีหน้าที่ กรมชลประทานดูแลเฉพาะน้ำชลประทานซึ่งที่จริงก็ไม่รวมเรื่องการระบายน้ำ กรมเจ้าท่าจะรับผิดชอบเฉพาะเรื่องการเดินเรือ กรมประมงจะดูแลเรื่องสัตว์น้ำ ส่วนจังหวัดต่างๆ จะดูแลเรื่องการดูดทรายแม่น้ำ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำก็จะสร้างฝ่ายป้องกันน้ำท่วมของตนเองโดยผลักปัญหาน้ำท่วมไปให้พื้นที่อื่น ลักษณะการดำเนินงานที่แยกส่วนกันเช่นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะยาว ที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารงานแบบแยกส่วนมาแล้ว เช่น การบริหารน้ำในเขื่อนที่ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 และปัญหาน้ำแล้งในปีต่อๆ มา หรือการสร้างฝายป้องกันน้ำท่วมที่นำไปสู่ปัญหาการพังทลายของตลิ่งในพื้นที่ข้างเคียง

ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรทบทวนรูปแบบการบริหารแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกำหนดให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรวมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แม่น้ำเจ้าพระยามิได้เป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่งหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาดำเนินโครงการของตนเองที่จะทำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะยาว

ตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ มีหน่วยงานที่เรียกว่า  Canal & River Trust  รับผิดชอบดูแลแม่น้ำ ลำคลองทั่วประเทศทั้งระบบ ที่ความยาวรวม 2,000 ไมล์ โดย Canal & River Trust หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากองทุนแม่น้ำ ลำคลอง รวมเอากิจกรรมทุกอย่างมารวมไว้ภายใต้หน่วยงานเดียว มีโครงสร้างการบริหารที่มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมด้วย ลดปัญหาความขัดแย้ง สิ่งที่เขาทำรวมถึง การปกป้องคลอง แม่น้ำ ท่าเทียบเรือ จากการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม การปกป้องธรรมชาติ แหล่งน้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บริหารจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนาความยั่งยืนในระยะยาวของระบบนิเวศชุมชน มีรายรับจากการลงทุน การเดินเรือ และค่าใช้น้ำ ฯลฯ จึงมีรายได้เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการบำรุงรักษาแม่น้ำทั้งระบบ

ดร.อดิศร์ ย้ำด้วยว่า แม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ หลายสิบปีมาแล้วที่ประเทศไทยขาดหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาโดยตรง  จึงอยาก เสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อระบบแม่น้ำและคลองสาขาโดยรวมได้แล้ว  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ  อาจจะเป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย และสามารถที่จะเก็บเงิน สร้างรายได้จากทรัพยากรได้และนำเงินกลับมาบำรุงรักษาแม่น้ำ รูปแบบองค์กรลักษณะใหม่อย่างนี้จะทำให้เรามีแนวทางหรือกลไกที่จะจัดการทรัพยากรแม่น้ำที่จะตอบโจทย์คนทั้งประเทศมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ บ.ก.หนังสือ 'หลัง รอย ยิ้ม' : ฐิตินบ โกมลนิมิ

Posted: 27 Jul 2017 03:43 AM PDT

บรรณาธิการหนังสือย้ำการเขียน คือ การต่อสู้ทางการเมือง แจงการเขียนเล่าเรื่องทำหน้าที่เยียวยาผู้เล่าโดยปริยาย นักเขียนสะท้อนการเขียนเป็นสิ่งไม่ง่ายหากเรากลัว เราจะไปข้างหน้าได้อย่างไร

หน้าปกหนังสือ "หลังรอยยิ้ม เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้" (ที่มาภาพ เพจ "หลัง รอย ยิ้ม" ถ่ายโดย "Piyasak Ausap")

หนังสือ "หลังรอยยิ้ม เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้" คือ หนังสือเล่มที่สองต่อจากหนังสือ "เสียงของความหวัง" เป็นหนังสือที่รวบรวมเนื้อหาจากการเขียนและเล่าเรื่องโดยสามัญชนที่สูญเสียจากเหตุสงครามรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี และจากกลุ่มผู้ต้องคดีความมั่นคงรวมทั้งหมด 22 ชีวิต 20 เรื่อง พวกเขาเป็นคนร่างและเขียนเองทั้งหมดเพื่อ "สื่อสารตรง" กับสาธารณะถึงเรื่องราวในพื้นที่

ฐิตินบ โกมลนิมิ (คนกลาง)

ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้มีประสบการณ์การทำงานสื่อมาอย่างยาวนานและคลุกคลีกับประเด็นจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มานับทศวรรษ เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเป็นสะพานเชื่อม ผู้ถูกกระทำกับสาธารณะ อย่างมีนัยสำคัญ ประสบการณ์ เธอทำงานอย่างไร และมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร

การเขียนเพื่อการต่อสู้ คือ การเขียนการเมืองเพื่อสันติภาพ

ฐิตินบเชื่อว่า การทำหนังสือเป็นช่องทางสะท้อนความรู้สึกของคนและสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างดี แต่ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ก็คือ "มันเป็นการเขียนเพื่อการต่อสู้"

นอกจากนี้มันยังเป็น "การเขียนการเมือง" ด้วย เพราะหากความหวังอยู่ที่กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ หัวใจของมันก็คือ การแสวงหาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง ทุกคนจึงใช้แนวทางการเมืองเพื่อบอกทั้งสองฝ่ายว่า "ความรุนแรงทำให้เกิดอะไรบ้าง" เป็นการเชิญชวนให้ทุกคนมาใช้แนวทางทางการเมืองผ่านการเขียนเล่าเรื่องออกมา โดยที่ไม่ต้องจับอาวุธ

"การเขียนจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราน่าจะคุยและรับฟังกันได้ มันคือหน้าที่ของหนังสือเล่มนี้" ฐิตินบ กล่าว

ความต่างของ 2 เล่ม : เสียงของความหวัง กับ หลังรอยยิ้ม

บรรณาธิการเล่าให้ฟังว่า หนังสือ "เสียงของความหวัง" ผู้เขียนจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด 19 คน ในเล่มนี้ชี้เห็นถึงประวัติศาสตร์สามัญชนระยะใกล้ว่าภายใต้ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 มันเกิดอะไรบ้าง และมากกว่านั้น มันเป็นประวัติศาสตร์กึ่งการเยียวยาที่ทำให้เห็นพัฒนาการความเจ็บปวดของผู้คนและทำให้เราค้นพบประเด็นผู้ต้องคดีความมั่นคงและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รายวัน หรือลูกชายเขาเป็นคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย แต่สังคมไม่ได้มีการพูดถึงพวกเขาเลย นี่คือปมที่เล่มแรกทิ้งเอาไว้

ส่วนเล่มที่สองคือหลังรอยยิ้มฯ นั้นทำให้กว้างขึ้น เสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงผู้หญิงกลุ่มเดียว แต่รวมถึงเสียงจากเด็กกำพร้า เสียงของผู้ชายที่สูญเสีย และเสียงจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีกด้วย 

สำหรับนักเขียนที่ผ่านคดีความมั่นคง แม้จะหลุดคดีและข้อกล่าวหาต่างๆ แล้ว หลายคนยังไม่หลุดจาก "แบล็คลิสต์" ของฝ่ายความมั่นคงที่มักแวะเวียนไปเยี่ยมบ้าน บางครั้งหากเกิดเหตุในหมู่บ้าน พวกเขาจะกลายเป็นคนลำดับต้นๆ ที่จะถูกปิดล้อม ตรวจค้นบ้านประหนึ่งว่า "เรื่องจะไม่มีวันจบ"

"เล่มสองโจทย์มันมากขึ้น เราต้องการพูดถึงคนไปสู่ชุมชน ซึ่งคนไม่ได้รับผลกระทบฝ่ายเดียว แต่มันทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบไปด้วย เราคาดหวังว่าเรื่องเล่าจากมุมมอง "คนใน" จะช่วยเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้แง่มุมใหม่ต่อสถานการณ์ความรุนแรงไปสู่การสนทนาสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพลิกฟื้นชีวิตและชุมชนในพื้นที่ได้" ฐิตินบ กล่าว

การเขียนเล่าเรื่องทำหน้าที่เยียวยาผู้เล่าโดยปริยาย

สิ่งที่น่าสนใจและต่างออกไปจากหนังสือเล่มอื่นๆ คือ กระบวนการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ตั้งต้นที่ "การเขียน" หากแต่ตั้งต้นที่ "กระบวนการสานเสวนา" จนทำให้เหล่านักเขียนผู้เต็มไปด้วยบาดแผลไว้เนื้อเชื่อใจ กล้าที่จะเล่าเรื่องราวของพวกเขาออกมา แล้วหนังสือจึงเป็นตัวรองรับกระบวนการทั้งหมด

ฐิตินบอธิบายว่า กระบวนการทำงานจึงถูกออกแบบด้วยความละเอียดอ่อน ตั้งแต่การคัดเลือกคนเพื่อเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง โดยแบ่งผู้เล่าเรื่องเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน และกลุ่มอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดยทั้งสองกลุ่มนี้จะคละกันระหว่างชาย-หญิง เด็ก-ผู้ใหญ่ คนพุทธ-คนมุสลิม รวม 22 คน เพื่อให้มีความหลากหลายของมุมมอง

"เราแยกกันอบรมการเขียน ครั้งละ 2 วัน จากนั้นก็ให้เวลาทุกคนกลับบ้านไปอยู่กับตัวเองเพื่อทบทวนชีวิตก่อนลงมือเขียนจริง โดยมีกลุ่มพี่เลี้ยงจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ คอยช่วยประคับประคองระหว่างทาง ทั้งติดตามความคืบหน้า และเป็นเพื่อนรับฟังไปด้วย กระบวนการเขียนเรื่องเล่าจึงทำหน้าที่เยียวยาผู้เล่าเรื่องไปโดยปริยาย" ฐิตินบเล่า

ฐิตินบ โกมลนิมิ 

เครื่องมือ "ประวัติชีวิต" ทำให้นักเขียนสามารถนึกย้อนเหตุการณ์ชีวิตที่แสนขม 10 ปีให้หลัง

วิทยากรกระบวนการนำเครื่องมือ "ประวัติชีวิต" ที่แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นชีวิตของผู้เล่าเรื่องและครอบครัว ชั้นของชุมชน และชั้นของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี

โดยมีโจทย์ว่า "ลองย้อนช่วงเวลากลับไปในอดีตอย่างน้อย 10 ปี หรือมากกว่านั้น แล้วค้นหาเหตุการณ์สำคัญในชีวิต หรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต โดยให้เชื่อมโยงกันระหว่าง 3 ชั้นดังกล่าว ?"

ผู้เขียนแต่ละคนก็เริ่มตั้งสติดึงแต่ละเหตุการณ์ของแต่ละคนออกมาไล่เรียงตามช่วงเวลาอย่างเป็นลำดับ เขียนใส่กระดาษโน้ตชิ้นเล็กๆ ปะติปะต่อชิ้นส่วนของความทรงจำขึ้นมาอีกครั้ง ค่อยๆนึกถึงช่วงเวลานั้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราหรือครอบครัว หรือสัมพันธ์ชุมชนอย่างไร หรือช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญอะไรในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ช่วงนั้นเราสังเกตได้ว่า ทุกคนจะเขียนเรื่องราวของตนเองได้น้อย แต่จะให้ความสำคัญกับครอบครัวและชุมชนมากกว่า ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะคนเราไม่ค่อยถูกฝึกให้คิดย้อนกลับมาทบทวนเรื่องราวของตนเองเท่าใดนัก แต่ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงจะเล่าได้ว่าช่วงเวลาใดที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของตน

เมื่อคนไม่เคยเขียนเรียนรัดเพื่อเล่าเรื่อง

ในการอบรมการเขียนวิทยากรกระบวนการจะสอนให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "องค์ประกอบของเรื่องเล่า" นั่นคือ โครงเรื่อง หัวใจของเรื่องที่อยากบอกเล่า ความมีเหตุผลของผู้เล่าเรื่อง ฉากที่ผู้เล่าเรื่องปรากฏตัวทั้งที่เป็นสถานที่และฉากทางสังคม โดยพยายามย้ำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า "หัวใจของเรื่องที่อยากเล่าคืออะไร" เพื่อที่ว่าไม่ว่าจะมีกี่ฉากที่ตัดทอนประสบการณ์ชีวิตลงมาแล้วก็ขอให้ทุกฉากนั้นไปสนับสนุนหัวใจของเรื่องที่อยากเล่า

จากนั้นจึงขอให้แต่ละคนลองฝึกเขียนเปิดฉาก เปิดตัวละครขึ้นมาอย่างน้อยคนละหนึ่งย่อหน้าและสลับกันอ่านให้เพื่อนฟัง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเล่าสิ่งที่อยากเล่า ก่อนจะกลายเป็นต้นฉบับส่งให้กอง บก.ภายหลัง

ยกตัวอย่างโต๊ะอีหม่าม (ผู้นำมุสลิม) ท่านหนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า "อิบนูดาวูด" ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์การยืนหยัดสู้กับมายาคติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เคยเห็นท่านเป็นแนวร่วมขบวนการคิดต่างจากรัฐจนกลายเป็นผู้ต้องคดีความมั่นคง ติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

"เรื่องของโต๊ะอิหม่ามท่านโหดมากถึงไม่ได้ถูกจับเข้ากรงเหมือนคนอื่น แต่ถูกพาไปออกนอกพื้นที่ ตอนหลังก็ถูกลอบยิง ท่านทำทุกอย่างไม่หนีไปไหนจนพ้นพันธการแห่งความอธรรม ท้ายที่สุดก็ผันตัวเองเป็นนักพัฒนาชุมชน ท่านใช้ความกล้าในการเล่าเรื่องของตน หลายคนที่พบเกี่ยวกับคดีความมั่นคงในพื้นที่จะได้รับการช่วยเหลือทางคดีก็จริง แต่พวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยาในลักษณะการมีคนรับฟังในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา"

บก.เล่าว่าการเริ่มต้นแชร์เรื่องราวของโต๊ะอิหม่ามท่านนี้ทำให้ผู้ชายอีกหลายคนที่ไม่คุ้นชินกับการล้อมวงเล่าประสบการณ์ตัวเองได้ผ่อนคลายและเริ่มลำดับเรื่องราวของตัวเองได้บ้าง

"เดินไต่ความสูงชันของขุนเขายังไม่เหนื่อยหนักเท่ากับการสูญเสียคนที่เรารักเหมือนใบไม้ร่วง ทิ้งให้ตายอย่างเดียวดาย" เป็นการเปิดฉากของป้าเลี่ยม ใจบุญ เรื่องเล่าของเธอมีชื่อว่า "ยังยิ้ม"

ฐิตินบเล่าว่า เธอประทับใจกับเรื่องราวของนักเขียนมือใหม่ หลายคนใช้ประโยคเดียวเอาอยู่หมัด แม้เป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกตรงๆ ของคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อน  หรือเป็นเพียงคำพูดง่ายๆ ที่ตรงไปตรงมา หรือเป็นเรื่องของช่างเย็บผ้าฉากที่พาลูกไปเยี่ยมพ่อที่เรือนจำแล้วต้องตากฝน

"ตอนอบรมอยู่ก็แอบร้องไห้กับการเปิดฉากของแต่ละคนที่มันเก็บอยู่ในความรู้สึกลึกลงไปในจิตใจพวกเขา" ฐิตินบเล่า

เธอยกตัวอย่าง การเปิดฉากของ บูรง ปูเตะ นามปากกาผู้เขียนเรื่อง "ผมอดทน นี่คือบททดสอบ" เปิดฉากว่า "ผมอยากสะท้อนความรู้สึกที่หนักอึ้ง จะได้ไม่ต้องแบกรับอีกต่อไป" และอีกหนึ่งนามปากกา คือ อัล-กะฮฺฟี เปิดฉากว่า "ผมคงเล่าให้ทุกคนรู้ทุกเรื่องได้อย่างเต็มใจ"

ภาพโดย Parichart Phinyosri

การเขียนเป็นสิ่งไม่ง่าย ถ้าเรากลัว เราก็ไม่รู้จะไปข้างหน้าอย่างไร

รุสนานี เจะเลาะ นักเขียนซึ่งเป็นแม่ที่สูญเสียลูกชายสะท้อนความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นนักเขียน เธอเขียนได้หลายหน้าในร่างแรกๆ เหมือนได้ระบายความอัดอั้นออกมา แล้วพี่เลี้ยงก็จะคอยช่วยทอนเรื่องราวให้สั้นลงจนเหลือหัวใจของเรื่องเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ ทำให้รู้ว่าการเขียนเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ถ้าเรามัวแต่กลัว เราก็ไม่รู้จะไปข้างหน้าอย่างไร "

รุสนานี เขียนเปิดเรื่องว่า "ทันทีที่เด็กชายคนหนึ่งก้าวเข้ามาในห้องที่ฉันนั่งอยู่ก่อนใจสั่นไหวอย่างบอกไม่ถูก สายตาสะกดมองเด็กคนนั้นอย่างไม่ละสายตา เด็กคนนี้เป็นใครกัน ?"

รุสนานี มองเด็กชายคนหนึ่ง ทำให้คิดถึงลูกชายที่จากไปหลังสิ้นเสียงระเบิด เพราะเมื่อหลายปีก่อน เมื่อวันพฤหัสบดที่ 21 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. "มามี้ มามี้ อาเดะหิวข้าว" หลังเที่ยงของวันนั้นเราสองคนไปหาซื้อของกินกัน "ตูม"

เสียงที่ได้ยินไม่ดังมากนัก ช่วงแรกยังยืนแบบงงๆ สงสัยทีอะไรเกิดขึ้น เมื่อรู้สึกตัวมากขึ้น ฉันตกใจหันไปเพื่อจะเรียกหาลูกอยู่ที่ไหน ก็เห็นเพียงคนขายไอศกรีมล้มลงและคลานเข้าไปในร้าน แต่กลับเห็นลูกล้มลงนอนนิ่งอยู่กับพื้น ฉันพยายามจะเข้าไปหาลูกแต่ก้าวขาไม่ได้ พอก้มดูที่ขาตัวเองก็เห็นเลือดไหลและมีเศษเนื้อเหวอะหวะ ความเจ็บปวดแล่นเข้าหัวใจทันที ล้มทั้งยืนลงกับพื้น ฉันพยายามไขว่คว้าร่างของลูกน้อยที่จมอยู่ในกองเลือด ค่อยๆ ขยับตัวไปหาลูกให้ใกล้มากที่สุดเพื่อที่จะกอดลูก ลูกลืมตามองฉันนิดหนึ่งแล้วหลับไป ใบหน้าอมยิ้ม

การเขียนที่เต็มไปด้วยความหวั่นไหว-ความกังวล

ฐิตินบ เล่าต่อถึงกระบวนการของกองบรรณาธิการหลังจากการอบรมการเขียนเสร็จสิ้นว่า พี่เลี้ยงจะคอยติดตาม ประคับประคองและลงพื้นที่เยี่ยมเยียนนักเขียนถึงบ้านเพื่อเก็บตกเรื่องราวนำมาปะติดปะต่อให้เรื่องสมบูรณ์ที่สุด การลงพื้นที่คือการสร้างความรู้สึกเชื่อใจและดูแลกันและกัน เป็นการให้ความใส่ใจในความอ่อนไหวกับทุกประสบการณ์ชีวิต

นอกจากความยากที่ต้องพยายามปะติปะต่อเรียบเรียงเรื่องเล่าให้มีความน่าสนใจ ยังมีความกังวลหลายสิ่งสำหรับเธอ หนึ่งในนั้นคือ การหลีกเลี่ยงการเขียนบางอย่างที่อาจกระทบผู้มีอำนาจ หรือการไม่เขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความอ่อนไหวในพื้นที่ความขัดแย้งด้วย

เช่นกรณีผู้ต้องคดีความมั่นคงที่ต้องเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในชั้นศาล ผู้เขียนก็ไม่สบายใจที่จะระบายออกมาทั้งหมด เขาอึดอัดใจกลัวว่าจะกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม และอาจถูกเชื่อมโยงต่างๆ นานาจนทำให้ตัวเองต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง

"นักเขียนหลายคนต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากที่จะเล่าเรื่องของตัวเอง เพราะเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องที่อยากให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย แต่เมื่อจำเป็นต้องเปิดแผลออกมาเยียวยา ออกมาเพื่อทำงานทางความคิดกับสังคม เขายอมกัดฟันเล่าและเขียนบันทึกด้วยหยาดน้ำตา"

"แต่ละเคสจะทยอยส่งมาให้กองบรรณาธิการ ส่วนใหญ่สิบกว่าหน้า เป็นสิ่งที่เขาเขียนเองมาทั้งหมดเพื่อระบายความทุกข์ที่เก็บมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราในฐานะคนอ่าน ในฐานะบรรณาธิการ จะต้องเป็นคนรับฟัง คนจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีต้องการคนรับฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งตัวเองก็ถือว่าทำหน้าที่นั้นแทนสาธารณะ" บก.หนังสือกล่าว

"เราจะค่อยๆ ถามพวกเขาว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง โอเคไหม ดีขึ้นไหม แล้วจาก 10 หน้า ประเด็นที่อยากสื่อสารคืออะไร หัวใจของเรื่องคืออะไร ซึ่งเขาก็จะไปลดทอนของเขาเอง โดยเราจะไม่บอกเลยว่าต้องตัดส่วนไหน กระบวนการนี้พวกเขาจะจัดการเองหมด"

ตัวอย่างงานเขียนของโต๊ะอีหม่ามชื่อเรื่องว่า "กว่าวันนั้นจะมาถึง กว่าวันหนึ่งจะผ่านไป"

"เอ๊ยดดด..ปัง ปัง ปัง !" เสียงเบรกรถยนต์พร้อมเสียงล้อบดอัดกับถนนอย่างแรง วินาทีเดียวกันนั้น เสียงคำรามแห่งมัจจุราชก็ดังขึ้นอย่างกังวาน ผมพลันกระโจนลุกขึ้นจากจุดตะแคงรถมอเตอร์ไซต์วิ่งหลบเข้าไปในบ้านใกล้จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วพร้อมความรู้สึกร้อนวาบที่แผ่นหลัง

"ตูโลงๆๆ โต๊ะอีแมกือนอบือเด (ช่วยด้วยๆ โต๊ะอีหม่ามถูกยิง)" เสียงร้องซ้ำๆ ของกะนิและกะแว สองหญิงบ้านข้างเคียงที่ท้ายหมู่บ้านตะโกนร้องขอความช่วยเหลืออย่างโกลาหล

เมื่อวิ่งออกมาหน้าบ้านเห็นบุรุษงามยืนจังก้าอยู่ท้ายรถกะบะพร้อมอาวุธปืนยาวในมือ กำลังสับลูกเลื่อนขึ้นกระสุนเข้ารังเพลิง หวังซ้ำเป้าหมายอีกระลอก แต่ช้าไปแล้วเมื่อผมวิ่งเข้าไปหลบในบ้านอย่างรวดเร็วด้วยสัญชาติญาณเอาตัวรอดและการนำพาแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ

และอีกหนึ่งชิ้นงานของนักเขียน 2 พี่น้องตระกูล โตะมะ ที่สูญเสียพ่อไปต่อหน้าตาโดยใช้ชื่อเรื่องว่า "โกรธคนที่ยิงพ่อไหม ?"

ณ ถนนเลียบทางรถไฟหัวสะพานดำ เปลี่ยวไม่มีแสงไฟส่องสว่าง แต่เป็นเส้นทางเดียวที่ครอบครัวเราต้องใช้เพื่อเข้าออกหมู่บ้านบาโด ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ภาพอดีตติดตาติดใจเสมอ พ่อนอนจมกองเลือด กระสุนเก้านัดยิงตั้งแต่สมองจนถึงลำตัว ฉันค่อยๆ ประคองศรีพ่อที่หมดลมหายใจแล้ววางบนตัก สี่ชั่วโมงเต็มที่ต้องอยู่ในสภาพนั้น ไร้ซึ่งผู้คน เพื่อรอรถกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือ

2 ปี กับการเดินทางร่วมกันระหว่างนักเขียนกับทีมกองบรรณาธิการ

ฐิตินบ เล่าปิดท้ายว่า "ใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ปีสำหรับกระบวนการทำหนังสือเล่มนี้ ต้นฉบับเรื่องเล่าถูกร่างส่งอ่านไปมาระหว่างเจ้าของเรื่องกับกองบรรณาธิการ ในที่สุดจำนวนเรื่องเล่าทั้งหมด 20 ชิ้น จากนักเขียน 22 คนก็เสร็จสิ้น สะท้อนถึงการเดินทางร่วมกัน โดยพบว่าความสูญเสียของแต่ละคนนั้นต่างกันแต่สามารถเชื่อมต่อความรู้สึกกันได้ พวกเขาต่างต่อสู้กับการตึกตรองชีวิตด้านใน และถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อสะท้อนพื้นที่การต่อรองกับความหวั่นไหวและความกังวลของตนเองออกมา" ฐิตินบ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหมืองทองทุ่งคำ ยื่นอุทธรณ์คดีฟ้อง “รายการนักข่าวพลเมือง TPBS” หมิ่นประมาท+พ.ร.บ.คอมฯ

Posted: 27 Jul 2017 03:12 AM PDT

TPBS ได้รับหมายศาล หลังบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นอุทธรณ์คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และไม่อาจรับฟังได้

27 ก.ค. 2560 นักข่าวพลเมืองTPBS รายงานว่า  หลังจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2559 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและบุคลากรรวม 5 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และมาตรา 16 พร้อมเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 หมายเลขคดีแดงที่ อ.3680/2559

จากกรณีการออกอากาศรายการข่าวพลเมือง ตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 โดยรายงานเกี่ยวกับการออกค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 ที่วัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จัดโดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลส่งหมายลงวันที่ 20 ก.ค. 2560 ถึงจำเลยทั้ง 5 คน โดยระบุว่าโจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และไม่อาจรับฟังได้ จึงขออุทธรณ์คำพิพากษา ในประเด็น 1.สารปนเปื้อนในลำน้ำฮวยเกิดจากผลกระทบการทำเหมืองแร่ของโจทก์ 2.การกระทำของจำเลยทั้ง 5 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท จากกรณีคำให้สัมภาษณ์ของเยาวชนนักข่าวพลเมือง

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก่อนหน้านี้สรุปความได้ว่า จำเลยทั้ง 5 ในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารตามข้อมูลของหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งได้สืบสวนสอบสวนหาข่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นมาเอง

แม้การเสนอข่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าโจทก์เกี่ยวข้องทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายโดยที่โจทก์ยังไม่เคยถูกเรียกไปแจ้งกล่าวข้อหาหรือดำเนินคดี แต่เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการลงพื้นที่โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมไม่เกินขอบเขตวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำได้

จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) พิพากษายกฟ้อง

จำเลยในคดีทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.), สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ส.ส.ท., ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว, โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนสั่งให้อินเดียถอนทัพจากเขตพิพาทพรมแดนภูฎาน หลังอินเดียส่งทัพช่วย

Posted: 27 Jul 2017 01:29 AM PDT

จีนและอินเดียสุ่มเสี่ยงจะเกิดการสู้รบครั้งใหม่จากเรื่องข้อพิพาทด้านเขตแดน เมื่อทางการจีนประกาศไม่ยอมถอยทัพที่วางไว้ในพื้นที่ที่ราบสูงดอกลัม ซึ่งทางภูฎานอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิของตนและอินเดียส่งกองทัพเข้าไปช่วยปกป้องพื้นที่ดังกล่าวไว้หลังจากที่จีนพยายามสร้างถนนเข้าไปในพื้นที่เขตแดน โดยที่จีนขู่ให้อินเดียถอนทัพออกถึงจะยอมให้มีการหารือในเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 สื่ออัลจาซีรารายงานเกี่ยวกับความขัดแย้งทางเขตแดนระหว่างจีนกับอินเดีย เมื่อทางการจีนประกาศเรียกร้องให้อินเดียถอยทัพของตัวเองออกจากพื้นที่สูงของเทือกเขาหิมาลัยโดยบอกให้อินเดียอย่าล้ำเส้นท้าเสี่ยงกับจีน

จีนกับอินเดียมีข้อพิพาทด้านเขตแดนในพื้นที่ที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) ซึ่งประเทศภูฎานที่มีความสนิทสนมกับจีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนเขตนี้ โดยที่ทางการอินเดียไม่ได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนแต่เข้าไปช่วยสนับสนุนภูฏานในการมีสิทธิเหนือพื้นที่นี้ ขณะที่จีนพยายามจะสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าวไปจนถึงชายแดนอินเดียทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

รัฐบาลภูฎานเปิดเผยว่าจีนพยายามสร้างถนนตัดมาจนกระทั่งถึงค่ายทหารกองทัพภูฎานใกล้กับสันเขาจัมเปรีก็หยุดถึงตรงนั้น โดยที่จีนมองว่าสันเขาจัมเปรีเป็นเส้นเขตแดนแต่ทั้งภูฎานและอินเดียมองว่าพื้นที่นั้นเป็นอาณาเขตประเทศภูฎานทำให้อินเดียส่งกองกำลังของตนเองจากรัฐสิกขิมเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพยายามยับยั้งไม่ให้จีนสร้างถนนต่อ อัลจาซีราระบุว่ามีทหารราว 300 นายของทั้งฝ่ายจีนและอินเดียประจำการอยู่ห่างกันออกไปราว 150 เมตร

วันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ก.ค.) พ.อ. อู๋เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงว่าอินเดียจะต้องไม่ประเมินจนต่ำเกินไปในความพยายาม "ปกป้องผืนแผ่นดินและเขตแดนอธิปไตยของจีน"

สุษมา สวราช รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดียกล่าวถึงกรณีที่จีนสร้างถนนเข้ามาที่เขตพรมแดนดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพความสัมพันธ์แบบเดิมระหว่างสามฝ่ายจนทำให้อินเดียกังวลในประเด็นความมั่นคง

ทางการอินเดียความความกังวลต่อเรื่องที่จีนทำการก่อสร้างในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพราะจะทำให้จีนสามารถเข้าถึงผืนแผ่นดินที่เรียกว่า "คอไก่" พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดแคบๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับรัฐทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ห่างไกล

ทางการอินเดียเรียกร้องให้จีนถอนทัพออกจากพื้นที่ดังกล่าวและให้มีการเจรจาต่อรองกันในเรื่องความขัดแย้งนี้ ขณะที่จีนก็กล่าวโต้ตอบว่าอินเดียควรถอนกองกำลังคุ้มกันเขตแดนเองตัวเองก่อนเช่นกัน โดยที่ พ.อ. อู๋เฉียนกล่าวอีกว่าทางการจีนดำเนินมาตรการฉุกเฉินในพื้นที่ขัดแย้งและจะเพิ่มการซ้อมรบและการวางกำลังในพื้นที่มากขึ้น

มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการหารือเรื่องความขัดแย้งเขตแดนในการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS สัปดาห์นี้ ซึ่ง อจิต โดวาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของอินเดียจะไปร่วมประชุมที่กรุงปักกิ่งพร้อมกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ของ BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้

จีนและอินเดียเคยทำสงครามสู้รบในเรื่องเขตแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยมาก่อนในปี 2505 รวมถึงในช่วงนั้นจีนไม่พอใจที่อินเดียให้ที่พักพิงแก่ดาไลลามะผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของทิเบต การสู้รบดังกล่าวจีนเป็นฝ่ายชนะทำให้ได้กรรมสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่เขตแดนอัคไซ ชิน และรัฐอรุณาจัลประเทศ ในครั้งนั้นการสร้างถนนของจีนก็เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งเช่นกัน

 

เรียบเรียงจาก

China demands India pulls back troops in border dispute, Aljazeera, 24-07-2017

http://www.aljazeera.com/news/2017/07/china-demands-india-pulls-troops-border-dispute-170724065132611.html

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Doklam

https://en.wikipedia.org/wiki/Sino-Indian_War

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปเมียผู้การด่าทหารเกณฑ์ น.อ.โต้โดนกลั่นแกล้ง กองทัพเรือสั่งสอบ

Posted: 27 Jul 2017 01:19 AM PDT

ปมคลิปแฉ 'เมีย น.อ.' เกณฑ์กว่า 20 ชีวิตทหารเกณฑ์ ใช้แรงงาน ร้านอาหาร พร้อมต่อว่า ด้าน น.อ.โต้โดนกลั่นแกล้ง  ขณะที่โฆษกกองทัพเรือเผยจะให้การท่าเรือสัตหีบตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นไปตามระเบียบทางราชการหรือไม่ 

27 ก.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (26 ก.ค.60) เพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Social Hunter' ได้โพสต์คลิปความยาว 5 นาที ซึ่งตลอดทั้งคลิปจะมีเสียงผู้หญิงคนหนึ่งด่าว่า ตำหนิ กลุ่มชายราว 5 - 6 คน แบบไม่หยุด ซึ่งทุกคนก้มหน้ารับฟัง

ทั้งนี้ แอดมินเพจดังกล่าวระบุข้อความว่า แอดมินช่วยตีแผ่เรื่องนี้ด้วยนะ เมียนาวาเอก แห่งกองทัพเรือ กดขี่ข่มเหงพลทหาร น่าสงสารชีวิตพลทหารตั้งใจมารับใช้ชาติ กลับถูกเกณฑ์มาเป็นทาสให้เมียนายโขกสับ กว่า 20 ชีวิต พร้อมระบุอีกว่า มีการนำพลทหารไปใช้งาน ตัดค่าไฟด้วยคนละ 300 บาท ทั้งๆ ที่เอาไปใช้งาน ก่อนหน้ามีพลทหารออกมาได้ 3 คน สั่งให้ลูกน้องส่งไปอยู่ใต้ เงินเดือนก็เป็นเบี้ยเลี้ยงทหาร มันไม่ได้สุขสบายอย่างที่คนพูดกันว่ามาอยู่บ้านนาย ฟังเอาเอง  

ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบยังร้านอาหารดังกล่าว ทราบว่าชื่อร้านต้นทางรัก ซึ่งมี 'เจ๊นก' ภรรยาของ  น.อ.นิวัธ ฮะเจริญ รองผู้อำนวยการท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นเจ้าของร้าน

ขณะที่ นาวาเอกพิเศษ นิวัธ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่อยากรับรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร และคาดว่าคงจะเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งกัน เพราะตนทราบดีและจากการกล่าวถึงชื่อร้านของตน ยอมรับว่าเป็นเจ้าของร้านจริง แต่ไม่ขอตอบว่าคลิปดังกล่าวจริงหรือไม่จริง และจะไม่ขอฟ้องร้องใดๆ ปล่อยให้เป็นไปตามกระแสโลกโซเชี่ยล และไม่ขอรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการกลั่นแกล้งกันมากกว่า จึงขอให้ผ่านไป 

ต่อมา 14.00 น. วันนี้ (27 ก.ค.60) ข่าวสอออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีที่การเผยแพร่คลิปภรรยาของ น.อ.นิวัธ ฮะเจริญ รองผู้อำนวยการท่าเรือสัตหีบ นำกำลังพลไปใช้งานที่ร้านอาหารจนกลายเป็นคลิปในโลกออนไลน์ ว่า จะให้การท่าเรือสัตหีบตั้งคณะกรรมการสอบสวน ถ้าเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องให้ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ

โฆษกกองทัพเรือ ระบุด้วยว่า เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ามีการนำกำลังพลไปใช้เป็นไปตามระเบียบทางราชการหรือไม่ รวมถึงกำลังพลที่ถูกนำไปใช้งานจะร้องทุกกล่าวโทษหรือไม่ หากทำโดยพลการผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งลงโทษเนื่องจากผิดวินัย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฏีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ภรรยาเด่น คำแหล้ คดีรุกที่ป่าสงวน

Posted: 27 Jul 2017 12:46 AM PDT

ศาลฎีกาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องที่ดินที่หายตัวไป ยันมีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ

27 ก.ค. 2560 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า ศาลจังหวัดภูเขียวมีหมายถึงนายเด่น คำแหล้ จำเลยที่ 1 และนางสุภาพ คำแหล้ จำเลยที่ 4 นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ โดยมีกำหนดส่งตัวไปยังเรือนจำในเวลา 17.00 น

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านรวม 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม สำหรับคดีของเด่น กับพวกรวม 5 คน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556  โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วนอีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขัง

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2556 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน( คปอ.)และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และร่วมเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท

สุภาพ คำแหล้ ระบุว่า เหตุที่ศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับสามี  เพราะศาลแจ้งว่ายังรับฟังไม่ได้ว่า ถึงแก่ความตายหรือหายสาบสูญ และได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลมาเป็นวันที่ 15 มิ.ย.2560 เธอยืนยันข้อเท็จจริงว่า สามีไม่เคยคิดหลบหนีคดี และเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาก็เคยถูกคุมขังในเรือนจำภูเขียวมาด้วยกันเป็นเวลา 16 วัน อีกทั้งสามีก็เป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินอยู่แล้ว กล้าเผชิญหน้าตลอด ไม่เคยคิดหลบหนีคดีไปไหน ถ้าจะหนีก็คงหนีไปกันหมดทั้งชุมชนโคกยาว และถ้าจะติดคุกก็ต้องติดด้วยกัน เพราะอยู่กินทั้งมาตั้งแต่ปี 2525 ไม่เคยทิ้งกัน และไม่เคยหนีหายไปไหนปล่อยให้ภรรยาอยู่ลำบากคนเดียวแบบนี้ แต่สามีหายไปในป่า 1 ปีกว่าแล้ว คิดว่าตายไปแล้วแน่นอน

สำหรับเด่น คำแหล้ เป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และเป็นแกนนำนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกิน ได้หายตัวไปในวันที่ 16 เม.ย.2559 ภายหลังจากเข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และหายไปนับจากวันดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เผยเกือบ 3 เดือน ปิดเพจ 'เฟซบุ๊ก-ยูทูบ' มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย 2,907 URL

Posted: 27 Jul 2017 12:32 AM PDT

สำนักงาน กสทช. เผยสามารถปิดเพจที่ผิดกฎหมายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 55.35% เฟซบุ๊กจากเดิมปิดไป 899 URL ปิดเพิ่มเป็น 1,076 URL ยูทูบจากเดิมปิดไปเพียง 180 URL ปิดเพิ่มเป็น 401 URL

27 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า  ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จากการรายงานของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็ตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี) ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ต ตามคำสั่งศาลระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-16 ก.ค. 2560 ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้เชิญไอเอสพีและไอไอจีมาประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 เพื่อขอความร่วมมือไอเอสพี ช่วยประสานในการส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ และให้รายงานความคืบหน้าภายในวันที่ 7 ส.ค. 2560 พบว่า จนถึงวันที่ 26 ก.ค. 2560 นั้น จากคำสั่งศาลที่ให้ปิดเพจที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 2,907 URL เป็นของเฟซบุ๊ก 2,082 URL ยูทูบ 672 URL และเพจอื่นๆ 153 URL โดยเฟซบุ๊กจากเดิมที่มีการปิดไป 899 URL มีการปิดเพิ่มเป็น 1,076 URL ยูทูบจากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 180 URL มีการปิดเพิ่มเป็น 401 URL และเพจอื่นๆ จากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 36 URL ได้มีการปิดเพิ่มเป็น 132 URL

จากผลการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าแนวทางของสำนักงาน กสทช. ที่ให้ไอเอสพีช่วยประสานขอความร่วมมือในการส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบอีกทางหนึ่ง แล้วรายงานสำนักงาน กสทช. เพื่อติดตามผลนอกเหนือจากแนวทางที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ส่งคำสั่งศาลไปเฟซบุ๊กและยูทูบโดยตรง เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งทางเฟซบุ๊กและยูทูบต่างก็ให้ความร่วมมือในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมในประเทศไทย อย่างไรก็ตามคงต้องดูว่าเมื่อถึงวันที่ 7 ส.ค. 2560 ผลการดำเนินจะเป็นอย่างไร ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะรายงานให้ทราบต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอลอว์ ชี้ สปท. มีงบกว่าพันล้าน แต่ได้ข้อเสนอซ้ำ นามธรรม พาประเทศถอยหลัง

Posted: 27 Jul 2017 12:12 AM PDT

1 ปี 10 เดือน สปท.มีงบฯ อย่างต่ำ 1,072.8 พันล้าน มีข้อเสนอ/วิธีการปฏิรูปอย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่กลับมีรูปธรรมที่ทำได้ทันทีเพียง 329 ข้อ และยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมไปถึงไม่มีงานวิจัยรองรับ บางข้อเสนอยังลอกเลียนแบบมาจาก สปช. 
 
ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน 
 
27 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยว่าไอลอว์ได้ทำรายงานสรุปผลงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนที่สภาดังกล่าวจะหมดวาระลงในวันที่ 31 ก.ค.นี้ โดยตลอดระยะเวลาการทำงาน 1 ปี 10 เดือน สปท.มีการทำงานรายงานการปฏิรูปออกมา 190 เล่ม ซึ่งไอลอว์ได้ทำการศึกษารายงาน 131 เล่ม ซึ่งเป็นข้อมูลเท่าที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของสปท.
 
โดยรายงานของไอลอว์ ทำการศึกษารายงานสปท. ตั้งแต่ 13 ต.ค. 2558 จนถึง 7 ก.ค. 2560 ซึ่งพบว่า สปท.มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปอย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่กลับมีรูปธรรมที่สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีเพียง 329 ข้อ และในข้อเสนอดังกล่าว บางอย่างยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมไปถึงไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการดำเนินการตามข้อเสนอจะได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้หรือไม่ อย่างเช่น การเสนอให้เพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาศาสนา คุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง และอื่นๆ และจะต้องสอบโอเน็ต (O-net) ในรายวิชาดังกล่าว เพื่อจะทำให้เด็กเป็นคนดี เป็นต้น
 
ทั้งนี้ บางข้อเสนอยังเป็นข้อเสนอที่ลอกเลียนแบบมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เช่น รายงานเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง ที่เรียกได้ว่านำรายงานของสปช.มาแล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หรือข้อเสนอที่มีกฎหมายหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การเสนอให้นำระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) เพื่อเปิดช่องให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวได้ก่อนหน้าที่ สปท.จะมีข้อเสนอดังกล่าวออกมาเสียอีก
 
นอกจากนี้ สปท. ยังมีข้อเสนอที่ล้าหลังจนทำให้สังคมต้องออกมาคัดค้าน เช่น การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรออกมาคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้ค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้ง เช่น สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยองค์กรที่รัฐจัดตั้งนั้น มีอำนาจในการพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าวได้
 
ตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน สปท.มีงบประมาณอย่างต่ำในการปฏิรูป 1,072,845,000 บาท โดยเป็นเงินที่ใช้สำหรับค่าตอบแทน ประธาน รองประธาน และสมาชิก สปท. พ่วงกับค่าผู้ช่วยของสมาชิก สปท. แต่ละคน รวมกับ ค่าใช้จ่ายที่เป็นการสนับสนุนการทำงาน เช่น ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าจัดสัมมนา เป็นต้น สำหรับโฉมหน้าของคนที่เข้ามาทำงานในสปท.มีทั้งคนหน้าเก่าที่เคยเป็นอดีตสปช. และคนหน้าใหม่คละกันไป แต่ถ้ามองที่สัดส่วนของอาชีพแล้วสภาแห่งนี้จะประกอบด้วยข้าราชการและอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ จำนวนมากถึง 3 ใน 4 ของทั้งสภา นอกจากนั้นเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง และสื่อมวลชน
 
"สังคมไทยควรตั้งคำถามถึง การปฏิรูปในยุคคสช. ว่าสามปีที่ผ่านประสบความสำเร็จและมีรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะระยะเวลาเกือบสองปีของ สปท. ซึ่งมีงบการทำงานอย่างต่ำพันล้าน เรียกว่าถ้าเทียบตามจำนวนข้อเสนอจะตกข้อเสนอละเกือบหนึ่งล้านบาท แต่ว่าได้เพียงแค่รายงานหลายๆ เล่มมากองรวมกัน ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่กลับเป็นนามธรรม บางข้อเสนอก็ซ้ำ บางข้อเสนอไม่มีงานวิจัยรองรับ แถมบางข้อเสนอนำประเทศถอยหลังลงไปอีก" ณัชปกร กล่าว
 
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ >> https://ilaw.or.th/node/4577

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School: เชียงใหม่น่าเที่ยวอันดับ 2 ของโลก ฆ่าตัวตายอันดับ 2 ของประเทศ

Posted: 26 Jul 2017 11:27 PM PDT

เชียงใหม่เมืองน่าเที่ยว-เศรษฐกิจดี-วิถีชีวิตแบบชุมชน แต่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงตลอดหลายปี พบชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าหญิง คาดผิดหวังในตนเองและเศรษฐกิจเป็นตัวเร่ง นักวิชาการชี้มีความคาดหวังด้านวัฒนธรรมสูง-จิตแพทย์แนะช่วยกันสังเกตกลุ่มเสี่ยง ที่มาภาพประกอบ: Manop (CC BY 2.0)

จากการจัดอันดับเมืองน่าเที่ยวแห่งปี 2559 หรือรางวัล The World's Best Cities 2016 ของนิตยสาร Travel+Leisure  เป็นที่น่ายินดีของประเทศไทยที่ จ.เชียงใหม่ ได้คะแนนเป็นอันดับสอง (91.25 คะแนน) รองจากเมือง Charleston, South Carolina (91.66 คะแนน) ห่างกันเพียง 0.41 คะแนน เท่านั้น นอกจากจะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวติดอันดับโลกแล้ว ในการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของเว็บไซต์ Digital Nomad จ.เชียงใหม่ ยังเป็นเมืองน่าอยู่อันดับสองของโลก รองจากกรุงเทพมหานคร (ข้อมูลล่าสุด 13 มิถุนายน 2560) อีกด้วย

แม้จะเป็นจังหวัดที่น่าอยู่และน่าเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว แต่สถิติการฆ่าตัวตายกลับพุ่งสูงอยู่ในอันดับ 1-5 ของประเทศไทยต่อเนื่องกว่า 10 ปี สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ฝ่ายงานสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการรายงานตามพื้นที่ปี 2559 อัตราการฆ่าตัวตายของ จ.เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่สอง (13.33) รองจากจังหวัดพะเยา (22.00) โดยหน่วยคิดเป็นครั้งต่อ 100,000 ประชากร

สถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตาย

จากข้อมูลการฆ่าตัวตายใน จ.เชียงใหม่ ปี 2559 พบว่าเพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง กลุ่มประชากรที่มีการฆ่าตัวตายสูง คือ รับจ้าง ว่างงาน และเกษตรกร กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายสูงสุดคือ กลุ่มคนวัยทำงาน 26-60 ปี สาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายคือ เจ็บป่วยโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง สุรายาเสพติด ขัดแย้งคนใกล้ชิด วิธีที่ใช้ฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ผูกคอ กินสารกำจัดวัชพืช ยิงตัวตาย  อำเภอ  ที่มีจำนวนคนฆ่าตัวตายสูงคือ อำเภอฝาง อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด

สภาพสังคม-เศรษฐกิจเชียงใหม่

ข้อมูลจากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดสำนักงาน จ.เชียงใหม (ข้อมูล ณ ม.ค. 2560) ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จ.เชียงใหม่ ปี 2558 มีมูลค่า 194,893 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GPP per capita) ในปี 2558 เท่ากับ 112,874 บาท (ข้อมูล ณ ส.ค.2559) แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 10.12 ภาคเกษตรร้อยละ 22.14 และภาคบริการร้อยละ 67.83 นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2557 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของ จ.เชียงใหม่ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 128,503 บาทต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือต่อจาก จ.ลำพูน ที่ 185,499 บาทต่อปี และ จ.กำแพงเพชร ที่ 144,268 บาทต่อปี ค่าเฉลี่ยของภาคเหนืออยู่ที่ 100,088 บาทต่อปี ส่วนค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 195,995 บาทต่อปี

ข้อมูลจากสำนักงานแรงงาน จ.เชียงใหม่ รายงานว่าประชากรและกำลังแรงงาน จ.เชียงใหม่ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,458,844 คน ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 1,034,891 คน ผู้มีงานทำจำนวน 1,021,225 คน และผู้ว่างงาน จำนวน 11,907 คน ด้านการมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 206,247 คน หรือร้อยละ 25.15 และทำงานในนอกภาคเกษตรกรรม ผู้มีงานทำมีจำนวน 760,977 คน หรือร้อยละ 74.52 ของผู้มีงานทำจังหวัดเชียงใหม่  โดยประเภทการทำงานด้านเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการประมง มีจำนวนมากที่สุด ร้อยละ 25.24 หรือจำนวน 257,795 คน รองลงมาคือกิจกรรมการขายส่ง การขายปลีก ร้อยละ 24.55 จำนวน 186,823 คน และผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 250,199 คนหรือร้อยละ 24.50 ของจำนวนประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 

นักวิชาการสะท้อนมุมมองเชิงสังคม

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า  สิ่งที่สามารถมองได้จากสถิติ การฆ่าตัวตายในพื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูนที่สูงติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ก็คือการสูญเสียอัตลักษณ์ของผู้คนภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

จากสถิติจะพบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากกว่าผู้หญิงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชายในภาคเหนือ กล่าวคือ ผู้ชายในภาคเหนือถูกคาดหวังทางวัฒนธรรมให้เป็นผู้นำชื่อเสียงเกียรติยศเข้าสู่บ้าน ในขณะที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจ   แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการ ขยายตัวของอุตสาหกรรมกลับต้องการแรงงานผู้หญิงมากกว่าแรงงานผู้ชาย และทำให้ผู้หญิงมีโอกาสออกสู่พื้นที่ภายนอกมากขึ้น จนกล่าวได้ว่าผู้หญิงประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย 

อาจารย์อรรถจักร์ ระบุว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรองรับแรงงานผู้หญิงได้ ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นและสามารถที่จะสร้างทางเดินชีวิตได้ก้าวหน้ามากกว่าผู้ชายโดยรวม  การสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้ก่อให้เกิดการสูญเสียความหมายของตัวตน ยิ่งถ้าหาก ว่าผู้ชายไม่สามารถพิสูจน์ความหมายของตัวตนในพื้นที่สาธารณะได้ ก็ยิ่งมีความตึงเครียดมากขึ้น  และการสูญเสียความหมายของตัวตนทำให้ผู้ชายรู้สึกถึงความไม่สามารถ ความไร้ศักยภาพในการที่จะอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตัดสินใจที่จะจบชีวิต

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายในเขตภูมิวัฒนธรรมอื่น เช่น เขตวัฒนธรรมใต้หรืออีสาน ความคาดหวังต่อผู้ชายมีแตกต่างกันไป กล่าวคือ ตัวตนของผู้ชายในภาคใต้หรือภาคอีสานจะสัมพันธ์อยู่กับการสร้างเครือข่าย แต่ในขณะที่วัฒนธรรมตัวตนผู้ชายในภาคเหนือกลับมีลักษณะเน้นความสำเร็จของปัจเจกชน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชายในภาคเหนือที่ไม่สามารถประสบผลสำเร็จในชีวิตส่วนตัว และสูญเสียความหมาย ตัวตน จึงเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองมากกว่าที่จะเลือกไปเผชิญชีวิตร่วมกับเพื่อน

นอกจากนี้ อาจารย์อรรถจักร์ยังกล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตายของผู้หญิง ซึ่งโดยมากแล้วไม่ประสบความสำเร็จว่ามักจะเป็นการตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับผู้ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือสามี อันสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถาบันครอบครัว และเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ความเปราะบางของครอบครัว ในแต่ละภูมิภาคนั้นแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป

ขณะที่ อ.ณพล หงสกุลวสุ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองถึงประเด็นการฆ่าตัวตายว่า เกิดจากความคาดหวังหรือเป้าหมายของแต่ละคนต่างกัน วิธีการจักการกับปัญหาและความสามารถในการรับมือกับแรงกดดันต่างกัน จากสถิติการฆ่าตัวตาย  จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ ความหนาแน่นของประชากรสูง จึงมีโอกาสที่จะมีจำนวนคนฆ่าตัวตายมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ เมื่อเทียบเป็นจำนวนคน เศรษฐกิจเชียงใหม่เติบโตตามฤดูกาลท่องเที่ยว เน้นงานภาคการบริการและการท่องเที่ยวเป็นหลัก  มีงานหลากหลาย   ทำให้แรงงานเข้ามาหางานในตัวเมืองเพิ่มมากขึ้น  แรงงานมีความชำนาญเฉพาะด้าน เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือปรับตัวลดลงในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว อัตราการจ้างงานลดลง   แรงงานบางส่วนเมื่อกลับสู่ภูมิลำเนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม ก็ไม่สามารถทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพเชิงภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเลี้ยงชีพได้ เพราะไม่มีความรู้และขาดประสบการณ์ แต่ด้วยค่าครองชีพของจังหวัดเชียงใหม่ไม่สูงมาก ทำให้แม้ว่าจะมีรายได้น้อยก็ยังสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ เศรษฐกิจของเชียงใหม่จึงไม่ได้บีบคั้นคนให้ดิ้นรนมากนัก ดังนั้นเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งหนึ่งให้ปัจจัยหลักในการตัดสินใจฆ่าตัวตายทำงานเร็วขึ้น

'เกาหลีใต้' ตัวอย่างประเทศ 'เศรษฐกิจเฟื่อง' แต่ 'อัตราฆ่าตัวตายพุ่ง'

เว็บไซต์  Worldatlas เผยแพร่อัตราการฆ่าตัวตายของโลกปี 2558 และยกตัวอย่างการฆ่าตัวตายในประเทศเกาหลีใต้ไว้เป็นกรณีศึกษา 'เกาหลีใต้ : เศรษฐกิจเฟื่องฟูพร้อมอัตราค่าตัวตายพุ่ง'

ปี 2015 มีรายงานจากเกาหลีใต้ว่ามีอัตราการฆ่าตัวตาย 21.4 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยเกาหลีใต้มองว่าการฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่เป็นปัญหาที่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายเป็นวงกว้างอีกด้วย  โดยมีอัตราสูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศ OECD (องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา)

การฆ่าตัวตายถือเป็นเรื่องพบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับอัตราความยากจนสูงที่พบในกลุ่มประชากรสูงอายุเช่นกัน  (ประชากรสูงอายุครึ่งหนึ่งของเกาหลีใต้อยู่ใต้เส้นความยากจน)

ว่ากันว่าผู้สูงอายุหลายรายอาจฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตนเป็นภาระของครอบครัว  ในเกาหลีใต้ ประชากรเขตชนบทมีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าเขตเมือง  มีรายงานว่าเขตคังวอนในตอนบนของประเทศมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด  อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้ชายสูงเป็นสองเท่าของผู้หญิง  แม้ว่าอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในผู้หญิงจะสูงกว่าก็ตาม  บุคคลมีชื่อเสียงชาวเกาหลีใต้หลายราย รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโรมูฮยุน และนักแสดงสาวชื่อดัง ลีอุนจู ก็จบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายเช่นกัน

 

มิติทางสังคมและจิตวิทยา

จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายราว 1.53 ล้านคน นอกจากนี้ยังประเมินว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึงปีละ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 3,000 รายต่อวัน ขณะที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในประเทศเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึง 4,000 รายต่อปี และพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จอีก 50,000 รายต่อปี โดยทั้งสองกลุ่มมักจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง ซึ่งเกิดจากรรมพันธุ์หรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง

รายงานวิจัยด้านสาธารณสุขของ ชรัช พรอำนวยลาภ  ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายและประสิทธิผลของการให้บริการสุขภาพจิตแก่ผู้พยายามฆ่าตัวตาย   พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จ มักมีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคจิตเวชและเบาหวาน คนในครอบครัวเคยพยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงมีผู้ป่วยจิตเวชในครอบครัว โดยรายงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอว่าการลดอัตราการฆ่าตัวตายนั้นควรเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และลดความขัดแย้งในครอบครับให้ได้มากที่สุด

งานวิจัยประสบการณ์ทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาในการทำงานกับผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย ของ วฤณ ปฐมวิชัยวัฒน์  พบว่า การพยายามทำตามความคาดหวังของคนรอบข้าง เป็นปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย  เพราะรู้สึกเหมือนตนเองต้องแบกรับความผิดชอบต่างๆมากมาย  รู้สึกว่าตนเองเป็นที่คาดหวังของคนรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิด  จนทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า กดดัน และไม่สามารถจัดการกับภาระต่างๆหรืออดทนต่อการเป็นที่คาดหวังของบุคคลอื่นๆได้อีกต่อไป  นำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ บั่นทอนความภาคภูมิใจในตนเอง  และอาจเรียกว่าเป็น ความรู้สึกผิด เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดหวังในตนเอง  มีมุมมองการรับรู้ต่อตนเองว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่นอย่างมาก  หรือเป็นที่คาดหวังจากคนรอบข้าง  ซึ่งในความเป็นจริงความรู้สึกดังกล่าวอาจเป็นเพียงความคิดของผู้คิดฆ่าตัวตายเพียงฝ่ายเดียว   เมื่อรู้สึกว่าตนเองละเลยต่อความรับผิดชอบหรือตนเองกระทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดหวัง  กลายเป็นความรู้สึกผิดย้อนกลับมาที่ตนเอง ตำหนิ และเห็นว่าตนเองกลายเป็นบุคคลที่ไร้คุณค่าสำหรับผู้อื่น

ด้าน อ.ดร.เสรี  ใหม่จันทร์  ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการสังเกตกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันพยายามฆ่าตัวตายว่า สามารถสังเกตได้จากผู้มีพฤติกรรมการหมกมุ่นกับเรื่องความตายในงานศิลปะ  พูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 3 เดือน จัดการเรื่องราวชีวิตเพื่อหมดภาระและความผูกพัน  เพิ่งสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต เลี่ยงการพบปะผู้คน  ประสบอุบัติเหตุบ่อยหรือบ่นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ  ดื่มเหล้าจัดหรือติดยา  อารมณ์และนิสัยเปลี่ยน เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า บ่นถึงความกังวลใจ

วิธีการจัดการกับสภาวะจิตใจและสิ่งแวดล้อมที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย  ได้แก่ คิดเชิงบวก เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมนานเกินไป หากิจกรรมยามว่าง  หากพบเหตุการณ์คนรอบข้างพยายามฆ่าตัวตาย ให้พูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างตรงไปตรงมา ตั้งคำถามเพื่อให้เปิดเผยอารมณ์ ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิ มีคนอยู่เป็นเพื่อน พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา

สอดคล้องกับงานวิจัยของโครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน พบว่า กลุ่มผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายควรได้รับความช่วยเหลือเรื่องการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในครอบครัว และได้รับความรู้เรื่องการจัดการปัญหาที่เหมาะสม และเปิดช่องทางการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ให้สถานีอนามัยและโรงพยาบาล  นอกจากนี้สถานที่ทำงานก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางสังคม ซึ่งเป็นสภาพทางจิตวิทยาสังคมในการทำงาน (Psychosocial Working Condition) เหล่านี้ จะเห็นได้ว่าปัญหาการพยายามฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมในวงกว้างอีกด้วย

 

*ณัฐริยา โสสีทา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น