โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รมว.แรงงาน ย้ำแนวปฏิบัติ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว รอรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนผัน

Posted: 03 Jul 2017 12:50 PM PDT

รมว.แรงงาน เน้นย้ำให้นายจ้างติดตามมาตรการบังคับใช้เกี่ยวกับบทลงโทษ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนผันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเร็วๆ นี้ พร้อมแนะนำช่องทางสอบถาม

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

3 ก.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (3 ก.ค. 60)

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามที่ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ทั้งระบบ อันเป็นการสร้างความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นกลไกในการจัดระเบียบการทำงานของคนต่างด้าว ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่มีบทลงโทษปรับ 400,000 - 800,000 บาท ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน ถือว่าเป็นโทษปรับที่สูงมาก เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อให้นายจ้างตระหนักถึงการจ้างงานด้วยความถูกต้อง ซึ่งกระทรวงแรงงานทราบว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะทำอย่างไรถึงจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย

"เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.ก. ดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้กำหนดขั้นตอนแนวปฏิบัติสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยขอให้รอรัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการเพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวในลักษณะใด มาตราใด หลังจากนั้นกระทรวงแรงงานจะเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งทันที" พล.อ.ศิริชัย

แนะนำช่องทางสอบถามการจ้างต่างด้าว

อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน มาอย่างต่อเนื่องและได้ให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อมูลอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเพิ่มช่องทางการติดต่อให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง สถานประกอบการ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติถูกต้องสอดคล้องตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เพิ่มช่องทางติดต่อสอบถาม นอกเหนือจากการให้นายจ้างติดต่อสอบถามที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 และเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th แล้วยังสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน โทรศัพท์หมายเลข 0 2232 1467 ภายในวันและเวลาราชการ
 
อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อทำประชาพิจารณ์ซึ่ง กรมการจัดหางานจะจัดเสวนาเรื่อง"พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร" ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ผู้แทนคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.)  และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน จึงขอเชิญชวน ทุกท่านเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในวันและเวลาดังกล่าวด้วย 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ชูแผนพัฒนาฯ ฉ.12 - ยุทธศาสตร์ 20 ปี ดันไทยเป็นประเทศ 'พัฒนาแล้ว'

Posted: 03 Jul 2017 09:45 AM PDT

ประยุทธ์ เปิดการประชุม 60 ของสภาพัฒน์ ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา โดยกำหนดเป้าหมาย "ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว" เช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

3 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (3 ก.ค.60) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) เรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย" ในโอกาสเปิดการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประทศ โดยมีผู้แทนทุกภาคส่วนเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 2,000 คน ประกอบด้วย  คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ และสื่อมวลชน ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมประจำปี ประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหัวข้อเรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย" ว่า เพื่อนำเสนอการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญภายใต้ 10 ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและต้องเร่งรัดดำเนินการต่อไป รวมทั้งวางกลไกการขับเคลื่อนไปสู่ระดับปฏิบัติในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในช่วงระยะ 5 ปี ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่อนาคต และสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึง เรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย" ว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง  โดยขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดตามโรดแมปที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้ โดยเฉพาะหลักคิดวิสัยทัศน์ที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่หากยังติดกับปัญหาเดิม ๆ ก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้  ขณะที่ประชากรก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำนวนจำกัด ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องมาคิดร่วมกันในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปี ของแผนฯ ฉบับที่ 12 นับเป็นก้าวแรกและก้าวย่างที่สำคัญของการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ซึ่งต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนก่อนที่จะเร่งพัฒนาและเสริมจุดแข็งในช่วงเวลาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศ การเชื่อมโยงกับ CLMV และประชาคมอาเซียน ฯลฯ โดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุเป็นเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามเกณฑ์มาตรฐานนานาประเทศ และเป็นสังคมที่คนไทยมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความปรองดองสมานฉันท์ ทุกคนมีที่ยืนสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่าง ๆ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานและบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมทั้งในระดับบุคคล ภูมิภาค และพื้นที่ น้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งคนและพื้นที่ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้ถูกต้องและตรงจุด อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งภายใน คือประชากรของประเทศในระดับต่าง ๆ และภายนอกอย่างแท้จริง โดยเน้นประชาชนในระดับฐานรากให้มีรายได้อย่างเพียงพอสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งรู้จักใช้ชีวิตและบริหารจัดการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียง พอประมาณ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ทั้งนี้ เป้าหมายที่ต้องการเห็นคือ "ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว" เหมือนกับนานาอารยะประเทศ ทั้งทางด้านกายภาพ เช่น เส้นทางคมนาคม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาด้านจิตใจ ความคิด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง และศักยภาพของคน เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงภาพอนาคตประเทศไทยในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับจะมีการจัดตั้งกรรมการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ ว่า รัฐบาลต้องการจะสร้างความเข้าใจและเน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งรัฐบาลนี้ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาประเทศและสร้างความสุขให้กับคนไทยทุกคนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายอนาคตของประเทศเป็นหลักชัยที่ประชาชนชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมองถึงภาพของอนาคตที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งการกำหนดเป้าหมายระยะยาวสำหรับการพัฒนาประเทศมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเพื่อเป็นเป้าหมายร่วมที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องร่วมมือกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง เป็นกรอบในการจัดลำดับความสำคัญประเด็นการพัฒนาในระยะสั้นและระยะกลางได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะช่วยวางแนวทางสำหรับการจัดประเด็นการบูรณาการในการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญและพัฒนาเพื่อเสริมจุดแข็งสำคัญของประเทศจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการจัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งรีบสำหรับวาระสำคัญๆ ของประเทศภายใต้เวลาที่จำกัด 

พร้อมทั้ง ขอให้ทุกคนคิดร่วมกันถึงภาพอนาคตของประเทศไทยว่า ควรมีลักษณะหรือโฉมหน้าอย่างไร  เช่น คนไทยที่ตื่นรู้ มีการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลกมีรายได้ต่อหัวตามเกณฑ์ของประเทศรายได้สูง คนไทยเป็นนวัตกร ทำเองได้ และขายเป็นโดยทำให้ครบวงจรทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป และการตลาด สังคมแห่งโอกาส เป็นธรรม มีคุณธรรม และเกื้อกูลกันความเจริญกระจายสู่ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง มีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและเกิดความโดดเด่นของเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่แข่งขันได้ เมืองอัจฉริยะ แต่ละภาคมีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์และจุดเด่น  มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ภาครัฐดิจิทัล กระทัดรัด ทันสมัย โปร่งใส ประสิทธิภาพ เป็นระบบเปิดและเชื่อมโยงถึงกัน (Open and Connected) เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้เริ่มต้นวางกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่ปี 2558 โดยนำนโยบายของรัฐบาล ประเด็นปฏิรูป รวมถึงข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาใช้เป็นกรอบในการจัดทำ จนสามารถจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติจะประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความมั่นคงในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เป็นการพัฒนาที่เป็นการผสมผสานความเจริญระหว่างตะวันตกและตะวันออกเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านนี้ จะเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่มีผลในทางปฏิบัติ โดยในปี 2560 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใต้คณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมสาระของยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะส่งมอบต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานให้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ทั้งในส่วนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และแผนพัฒนาฉบับต่อ ๆ ไป เพราะยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นการเริ่มต้น สานต่อ และรองรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันไปตลอด 20 ปี โดยเฉพาะแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ที่เป็นเหมือนก้าวแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ในระยะยาวทั้ง 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 10 ด้านของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สะท้อนการไปถึงเป้าหมายในระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นใน 6 ยุทธศาสตร์แรกของแผนฯ ที่ตอบสนอง 6 ยุทธศาสตร์หลักของยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง ได้แก่ (1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน และ (6) การบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย  รวมถึงอีก 4 ยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์  (8)  การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม  (9)  การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ และ (10)  การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการนำพาประเทศไปสู่จุดเปลี่ยนแห่งอนาคต ได้แก่ การสร้างคนพันธุ์ใหม่  ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำเนินการให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้พลังประชารัฐเป็นพลังที่สามารถนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้  รวมถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายเรื่องในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการทำงาน และวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน และเป็นภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ส่วนภาคธุรกิจเอกชน ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงธุรกิจกับการพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ อย่างเป็นพันธมิตรตามแนวทางประชารัฐ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม วัฒนธรรมการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ขณะที่ประชาชน ต้องปรับตัวให้เรียนรู้ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และเรียนรู้ในการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีจิตสาธารณะ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม ประชาชน และNGOs ร่วมมือกันในการที่จะมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยขับเคลื่อนจากแผนฯ 12 ไปสู่แผนฯ อื่น ๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยประชาชนทุกกลุ่มทั้งในส่วนของ 1.0 2.0 และ 3.0 ต้องพัฒนาตนเองเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าและก้าวไปสู่ 4.0 ด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยร่วมกับประชาชนทุกระดับ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นักวิชาการไทยมุสลิม' ประณามปมคุกคามเสรีภาพสื่อกรณีสั่งปิด Al Jazeera

Posted: 03 Jul 2017 09:33 AM PDT

เครือข่ายกลุ่มนักวิชาการไทยมุสลิม ออกแถลงการณ์ประณามการคุกคามสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อ กรณีซาอุดีอาระเบียและประเทศพันธมิตร สั่งปิดสำนักข่าว Al Jazeera จากเหตุการณ์ปิดล้อมกาตาร์ 

3 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายกลุ่มนักวิชาการไทยมุสลิม ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการคุกคามสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อด้วยการสั่งปิดสำนักข่าว Al Jazeera โดยแถลงการณ์ระบุว่า จากเหตุการณ์การปิดล้อมประเทศกาตาร์ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเลซึ่งนำโดยประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศพันธมิตรตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2560 ส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม ระเบียบการเมืองในภูมิภาค และความมั่นคงด้านอาหารนั้น วิกฤติการณ์ดังกล่าวได้ดำเนินมาถึงอีกขึ้นหนึ่งของจุดต่ำสุดในการคุกคามสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อด้วยการยื่นข้อเสนอและคำสั่งปิดสำนักข่าว Al Jazeera ซึ่งได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและโลกมุสลิมได้อย่างเป็นมืออาชีพจนได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกโดยทั่วไป การสั่งปิดสำนักข่าว Al Jazeera ไม่เพียงเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น แต่ยังจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่อีกด้วย

พวกเรา เครือข่ายกลุ่มนักวิชาการไทยมุสลิม เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคอ่าวอาหรับซึ่งผูกติดอยู่กับผลประโยชน์ของเจ้าผู้ปกครองประเทศไม่กี่คนไม่ควรสร้างผลกระทบที่เสียหายให้กับสวัสดิภาพของประชาชนคนทั่วไปจำนวนมาก การบังคับไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ให้ปิดสำนักข่าวหรือสื่อต่าง ๆ ในประเทศที่มีอธิปไตยเป็นของตนเองอย่างเช่น กาตาร์ ไม่เพียงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับผลประโยชน์ของอุมมะฮ์และหลักการเสรีภาพในอิสลามที่พวกเรายึดถือและเชื่อมั่นอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้มุสลิมที่รักในความเป็นธรรม นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรสื่อสารมวลชนทุกภาคส่วนร่วมกันประณามการกระทำดังกล่าว และยืนหยัดเป็นกระบอกเสียงในการปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลขั้นพื้นฐาน เราขอสนับสนุนให้องค์การระหว่างประเทศ อาทิเช่น องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ สหประชาชาติเข้ามามีบทบาทนำเพื่อให้มีการไกล่เกลี่ยและการเจรจาที่เป็นธรรมภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ

พวกเรามีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาและหวังว่าความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคดังกล่าวจะสามารถคลี่คลายได้ในเร็ว ๆ นี้ผ่านกลไกการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยสันติวิธี แต่เราไม่อาจนิ่งนอนใจได้เมื่อวิกฤติดังกล่าวได้เดินทางข้ามเส้นเพดานขั้นต่ำแห่งจริยธรรมอิสลามและกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงมนุษย์และเสรีภาพสื่อที่เราต่างยึดมั่นในหลักการมาโดยตลอด

สำหรับ รายนามเครือข่ายกลุ่มนักวิชาการไทยมุสลิม ประกอบด้วย  ผศ. ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรท์ 2553 ผศ. ดร. สามารถ ทองเฝือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ฮาฟิส สาและ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  สุไรนี สายนุ้ย  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผศ. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.อัมพร หมาดเด็น สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผศ. ดร.บูฆอรี ยีหมะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อริศ หัสมา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นพ. มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และ อันวาร์ กอมะ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันสังคมศาสตร์ Dokuz Eylul University

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมนำ "พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว" เข้าสนช.เพื่อให้ความเห็นชอบ

Posted: 03 Jul 2017 09:23 AM PDT

โฆษกที่ประชุมวิป สนช. เผยเตรียมนำพระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนข้อกังวลจากเอกชน ถือเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะหาทางแก้ไข เชื่อต้องออก พ.ร.ก. เพราะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง

แฟ้มภาพแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ระหว่างรอทำบัตรอนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ซึ่งเปิดเพื่อจดทะเบียนแรงงานที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารจาก พม่า ลาว กัมพูชา ที่ จ.สมุทรสาคร พื้นที่นำร่องแห่งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

กรณีที่รัฐบาล คสช. ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และเกิดผลกระทบ โดยมีรายงานการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในรอบสัปดาห์นี้นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ในรายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ โฆษกคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐบาล ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอ พ.ร.ก.การบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เข้าสู่ที่ประชุมวิป สนช. เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป

ส่วนข้อกังวลจากภาคเอกชนต่อมาตราในพระราชกําหนดดังกล่าว เห็นว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลกำลังหาแนวทางในการแก้ไข ผ่านการออกคำสั่งตามมาตรา 44 โดยวิปรัฐบาลได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และที่มาของพระราชกำหนดดังกล่าว ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกรมการจัดหางานได้ชี้แจงว่าปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตจำนวน 1 ล้าน 3 แสนคน แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว หรือมีบัตรชมพูจำนวน 1 ล้าน 3 แสนคน ส่วนแรงงานผิดกฎหมายนั้นไม่ทราบจำนวน

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า ตามหลักการต้องมีการจัดระเบียบแรงงานที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อเกิดผลกระทบรัฐบาล รัฐบาลก็จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากพระราชกําหนดมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยการออกเป็นพระราชกำหนดเนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวเว็บข่าวคนพิการ ชวนเสวนามุมใหม่ ลบภาพวงเวียนชีวิต

Posted: 03 Jul 2017 09:14 AM PDT

เปิดตัวเว็บไซต์ Thisable.me ปลุกศักยภาพมนุษย์ ชีวิตคนพิการต้องเลือกได้ เล่าประสบการณ์ถูกสังคมยัดเยียดความพิการแบบไทยๆ หากินกับคนพิการให้ถูกทาง สร้างทั้งเงินทั้งคุณค่ามนุษย์ โจทย์งานออกแบบต้องเริ่มจากอยู่ร่วมกันให้ได้ เปิดละครพัฒนาผู้พิการ ในยุคที่ความบันเทิง "เท" คนพิการไว้ข้างหลัง นักแสดงตาบอดชี้ ทางแก้มีหมด เหลือแต่เปิดใจคุยกัน ติดโทรโข่งให้ความพิการ ใช้ "โรคของเรา" สร้างความรู้ให้สังคม

เมื่อ 2 ก.ค. 2560 เว็บไซต์ข่าว thisable.me จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์ชื่อ ThisAble Talk ที่ไซรัป สเปซ ซอยทองหล่อ 55 ในงานมีการจัดวงเสวนาและเชิญวิทยากรมากหน้าหลายตามาร่วมวงพูดคุย มีผู้เข้าชมงานทั้งที่พิการและไม่พิการจำนวนมากจนเต็มพื้นที่จัดงาน

ปลุกศักยภาพเสรีชนถึงเตียงนอน กระตุกต่อมคิด ชีวิตคนพิการเลือกได้

ขวา: สันติ รุ่งนาสวน

สันติ รุ่งนาสวน ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล กล่าวถึงสาเหตุของความพิการว่า เมื่อปี 2540 ตนขับรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถเก๋งทำให้กระดูกต้นคอแตกทับเส้นประสาท เป็นอัมพาตตั้งแต่ราวนมลงไป รักษาตัวที่โรงพยาบาล 5 เดือน ในช่วงเวลาที่อยู่โรงพยาบาล มีเรื่องราวสนุกสนานมากมาย ไม่รู้สึกว่ามีความยากลำบากใดๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว จึงขอหมอกลับบ้าน

ปีแรกที่กลับบ้านยังไม่เท่าไหร่เพราะครอบครัวยังมีความหวังที่ตนจะเดินได้อีก ทั้งที่หมอบอกแล้วว่าโอกาสจะเดินได้ไม่มีแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป เงินที่แม่ใช้รักษาเริ่มหมดลง ต่างคนต่างมีหน้าที่ มีเวลาอยู่ด้วยน้อยลง ความกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตนทำได้แค่รอความช่วยเหลือ ชีวิตเป็นกิจวัตรตามแต่คนมาดูแล แต่ก็มีช่วงเวลาที่อยากอาบน้ำแต่ไม่มีคนว่างอาบให้ ไม่หิวข้าวแต่ก็ต้องกินตามเวลาที่มีคนว่าง

สันติกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามักได้ยินญาติหรือคนอื่นที่มาเยี่ยมพูดว่า "ไอ้ง่อยหลานกูเป็นไงบ้าง" "เวรกรรมว่ะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย" ซึ่งตนก็ต้องรับไป จะมีประโยคแบบนี้อยู่ทุกครั้งที่คนมาเยี่ยม ซึ่งก็รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองด้อยลงทุกครั้ง แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกว่าตัวเองมีค่าเพราะมีคนมาเยี่ยมเยียนบ่อย ไม่ว่าจะเป็นญาติ เพื่อน นักวิชาการ แพทย์ ผู้นำชุมชน

มาวันหนึ่งมีคนเข้ามาหา แต่เป็นคนพิการนั่งรถเข็นมาเหมือนกัน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จนรู้สึกว่าพอคุยกันได้เพราะมีเรื่องราวชีวิตคล้ายกัน คนพิการคนนั้นมาหาสัปดาห์ละครั้ง จนครั้งที่ 3 ได้ชวนสันติออกไปเที่ยวข้างนอก ซึ่งตนยังสองจิตสองใจ ห่วงหน้าพะวงหลัง จนกระทั่งได้ไปเที่ยวจริง

คนพิการคนนั้นถามว่าชีวิตมีเป้าหมายอะไร ซึ่งตนบอกไปว่าอยากเลี้ยงไก่ชน แต่ยังติดเงื่อนไขเรื่องกายภาพ เรื่องทุนรอน ตนกลับมาลองทดสอบร่างกาย ลองใช้แขนยกตัวเองดูก็พบว่ายังพอยกได้ ในเรื่องทุนรอนนั้น ตนตัดสินใจกู้เงินมาเลี้ยงไก่ชน ทำให้เป็นหนี้กันไปอีกจนโดนแม่ต่อว่า

อย่างไรก็ดี สันติกล่าวว่า การที่คนพิการมาหาครั้งนั้น ทำให้ตนได้คิด ได้เลือกในสิ่งที่อยากทำ แทนที่จะรับในสิ่งที่คนอื่นให้ ใส่เสื้อผ้าที่คนอื่นจัด กินอาหารที่คนอื่นเตรียมไว้อย่างเดียว ทำให้ตระหนักถึงพื้นฐานความเป็นมนุษย์ กระบวนการที่เขาเข้ามาหาทำให้เราได้กลับมาเป็นมนุษย์ มีคุณค่าอีกครั้ง ทำให้เราอยากกลับลงไปทำให้กับเพื่อนคนพิการคนอื่นบ้าง โดยลงไปทำกิจกรรมกับคนพิการที่นอนติดเตียงด้วยหลักการที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพในตัวเอง การลงไปทำงานคือลงไปในฐานะเพื่อน ให้เขาคิด ตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง อยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเขาเอง แต่จะไม่พยายามเอาการลงพื้นที่ทำกิจกรรมมาสร้างชื่อเสียงให้การทำงานของตน

ฤาสภาพแวดล้อมเองที่พิการ? นักสิทธิคนพิการแนะ ควรออกแบบสังคมด้วยรัก ความเข้าใจ

 

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ กล่าวว่า เมื่ออายุ 27 ประสบอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บไขสันหลังเป็นอัมพาต ต้องเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถวีลแชร์ เมื่อเปลี่ยนสถานภาพ ความเชื่อและความหวังดีต่างๆ ก็พรั่งพรูเข้ามา มีคนพาไปหาพระ พ่อมด หมอผี พาไปอาบน้ำมนต์ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้หาย คนรอบๆ ตัวมาเยี่ยมเยียนพร้อมตะกร้าของฝาก ซึ่งหลายอย่างหมดอายุ รวมถึงหนังสือเก่าและเสื้อผ้าเก่าซึ่งมีหลายขนาด ตนไม่สามารถใส่ได้ทั้งหมดแต่ก็ต้องรับไว้เพราะเขาหวังดี หลังจากเหตุการณ์นี้ ตนได้ออกไปเรียนภาษาอังกฤษที่พัทยา มีครั้งหนึ่งแม่พาไปซื้อของที่ร้านบิ๊กซี โดนพนักงานเร่งให้ไปจ่ายเงินตลอดเพราะมีภาพจำของคนพิการที่ขโมยของ

เมื่อเรียนจบ ตนกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ได้พบเจอโครงสร้างการออกแบบในเมืองไม่ว่าจะเป็นถนน ฟุตบาธที่เป็นอุปสรรคกับการเดินทางของคนพิการ มิหนำซ้ำยังเคยถูกพนักงานขับแท็กซี่เลือกปฏิบัติ ไม่รับขึ้นรถเพราะหาว่ารับคนนั่งรถเข็นขึ้นรถแล้วจะซวย การออกแบบหลายๆอย่างทั้งการก่อสร้าง การบริการควรจะออกแบบด้วยความรัก ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพื่อจะให้คนพิการพัฒนาตนเองแล้วกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้คนพิการได้ตอบแทนสังคมและประเทศในหลายรูปแบบเช่น ภาษี

ล้อ เล่น โลก: เสียขาไม่เสียฝัน เที่ยวได้ถ้าใจเฟี้ยว "ต้องขอบคุณความพิการเสียด้วยซ้ำ"

โสภณ ฉิมจินดา

โสภณ ฉิมจินดา ผู้ดำเนินรายการ "ล้อ เล่น โลก" กล่าวว่า ตนเป็นคนชอบเดินทางด้วยการโบกรถ มีครั้งหนึ่งที่รถตกลงจากไหล่เขาระหว่างการเดินทางไป อ.แม่ระมาด จ.ตาก ตนไม่เสียชีวิต แต่อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ไขสันหลังขาด ร่างกายส่วนล่างไม่มีความรู้สึก

โสภณกล่าวว่า ในวันที่ตื่นมาแล้วพบว่าเป็นผู้พิการ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ช่วงแรกๆมีหลายคำถามที่เกิดขึ้นว่า จะใช้ชีวิต ทำมาหากิน ช่วยเหลือตัวเองอย่างไร และไม่มีคำตอบเลยในชีวิตเพราะตอนนั้นไม่มีความรู้ รู้เพียงภาพจำว่าคนพิการเป็นคนไม่มีศักยภาพ ต้องรอการสงเคราะห์ อาจไปไกลจนถึงการไม่มีค่าความเป็นมนุษย์ ภาพในสื่อเองก็ไม่มีภาพจำที่หลากหลายไปกว่าความน่าสงสารและต้องการความช่วยเหลือ

ผู้ดำเนินรายการ ล้อ เล่น โลก ระบุว่า ตอนนั้นตนไม่มีต้นทุนที่จะท้อ ทุกข์ เศร้าด้วยซ้ำ เนื่องจากธุรกิจของครอบครัวล้มละลาย และเมื่อเวลาผ่านไปตนก็ไม่ล้มเลิกที่จะท่องเที่ยวในแบบที่ตัวเองชอบ "เมื่อเจอสภาวะลบกับลบมันทำให้เราต้องเป็นบวก ทำให้เป็นแรงผลักที่ผ่านวิกฤติตอนนั้นมาได้...ผมจะไม่เอาความพิการมาเป็นข้ออ้างในการใช้ชีวิตของผม สมัยหนุ่มผมเดินทางโบกรถยังไง ผมก็ยังเลือกใช้ชีวิตการท่องเที่ยวด้วยการโบกรถเหมือนเดิม" โสภณ กล่าว

หลังอุบัติเหตุ 1 ปี ตนและเพื่อนพิการอีก 2 คนเริ่มโบกรถเดินทางไปเขาใหญ่ การเดินทางครั้งนั้นไปถึงที่หมายและตนก็มีความสุขกับการเดินทาง "ก้าวแรกที่กล้าออกจากบ้านคือบันไดขั้นที่สำคัญที่สุดและโลกเปิดรับคุณ"

ความสนุกคือเรื่องราวระหว่างทางที่ได้พบเจอ ทำให้ได้เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งเล็กๆรอบตัวได้มากยิ่งขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น รู้จักที่จะรอในสิ่งต่างๆ นอนหนึ่งตื่นในการผูกเปลนอนในปั๊มน้ำมัน กับนอนหนื่งตื่นในโรงแรมห้าดาว มันก็หนึ่งความสุขกับหนึ่งตื่นเหมือนกัน นอกจากนั้น การเดินทางยังได้สอนบทเรียนให้กับชีวิต มีทริปที่ไปสามพันโบก จ.อุบลราชธานี 20 กว่าวัน ในช่วงนั้นเกิดคำถามกับตัวเองว่า ความสุขของชีวิตคืออะไร และได้คำตอบว่า ความสุขคือการเดินทาง จึงมีคำถามต่อว่า จะดีไหมถ้าได้อยู่กับสิ่งที่ชอบทำตลอดชีวิต และจะทำยังไง จึงตกผลึกออกมาว่าจะเขียนเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก ทำรายการโทรทัศน์ จึงเริ่มต้นทำ

ตนต้องรู้สึกขอบคุณความพิการด้วยซ้ำที่ทั้งผลักพาและสร้างโอกาสให้ชีวิต ถ้าหากวันนี้ไม่ได้เป็นคนพิการ ก็ไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสเช่นนี้กับชีวิตหรือไม่ เราไม่มีทางรู้ว่าชีวิตจะพัดพาเราไปไหน บางครั้งมันพัดพาไปหาความสุขจนเรายังอิจฉาตัวเอง บางครั้งก็เศร้าจนไม่อยากลืมตา ไม่อยากหายใจ แต่เป็นโอกาสให้คนลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ที่ดีกว่า "ถ้าคุณมีความฝัน จงกำมันไว้ให้แน่น รักษามันเอาไว้ และที่สำคัญคือทำมัน ถ้าเราหล่อเลี้ยงความฝัน สักวันความฝันก็จะหล่อเลี้ยงเรา"

หากินกับคนพิการให้ถูกทาง สร้างเงิน เพิ่มคุณค่ามนุษย์ อัดวัฒนธรรมเสพติดของฟรี

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด กล่าวว่า ตนเคยไปที่ โรงเรียนสอนคนตาบอดที่กรุงเทพฯ เห็นสื่อการสอนที่อาจารย์ทำกันเองด้วยวัสดุต่างๆ จนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ตนจะทำสื่อการสอนช่วยเหลือคนตาบอดออกจำหน่าย จึงตั้งบริษัทกล่องดินสอขึ้นมา และได้ออกแบบอุปกรณ์เครื่องเขียนไปขายตามโรงเรียน ทางโรงเรียนชอบในสิ่งประดิษฐ์ แต่เมื่อทราบว่าเป็นสินค้าจำหน่ายก็ถอยห่างไป

ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอ ระบุว่า งานวิจัยของ Gallup พบว่า ไทยมีอัตราการช่วยเหลือด้วยการให้หรือการอาสาสมัครมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ปัจจุบันถ้าจะเลี้ยงข้าวกลางวันที่โรงเรียนสอนคนตาบอดต้องรอถึง 3 เดือนเพราะคนขอเลี้ยงเยอะมาก ในโรงเรียน นักเรียนจะต้องร้องเพลงขอบคุณคนที่มาเลี้ยง การที่นักเรียนต้องอยู่ในโรงเรียนและร้องเพลงขอบคุณการให้ข้าวกลางวันเป็นเวลาหลายปี ทำให้คนพิการถูกหล่อหลอมให้เป็นคน "เสพติดของฟรี" เสพติดการเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ

ต่อมาตนจึงจัดโครงการ "วิ่งด้วยกัน" ชวนคนตาบอดวิ่งฟรี โดยมีนักวิ่งนำทาง หรือ ไกด์รันเนอร์ คอยนำทาง โดยเน้นเรื่องความเท่าเทียม อาสาสมัครทุกคนไม่ได้มาทำเพื่อทำบุญ แค่มาพาเพื่อนวิ่งด้วยกัน ส่วนคนตาบอดนั้นไม่มีการให้เบี้ยเลี้ยงเหมือนที่กิจกรรมอื่นๆ เคยทำ กลับเก็บเงินคนพิการด้วยซ้ำ โดยให้ไกด์รันเนอร์จ่าย 300 บาท ส่วนคนพิการนั้นแล้วแต่จะจ่ายโดยไม่เกิน 300 บาท การจ่ายเงินทำให้คนพิการรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เขาทำอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี กิจกรรมจึงขยายไปเรื่อยๆ คนพิการมาร่วมหลายพันคน รวมถึงคนหูหนวก คนนั่งวีลแชร์ด้วย

"อยากชักชวนให้มาหากินกับคนพิการดู ลองมาช่วยกันออกแบบสิ่งที่พวกเราใช้ทุกวันให้คนพิการ แล้วเรามาคิดกันว่าเราจะหากินกับคนพิการยังไง" ฉัตรชัยเชิญชวนผู้มาร่วมงาน

การละครพัฒนาผู้พิการ ความท้าทายในยุคที่ความบันเทิงทิ้งผู้พิการไว้ข้างหลัง นักแสดงตาบอดชี้ หนทางแก้มีหมดแล้ว ขอแค่คุยเปิดใจคุยกันให้ได้ก่อน

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ผู้สอนการแสดงละครเวที หนึ่งในผู้ริเริ่มการแสดงละครเวทีร่วมกับคนตาบอด Blind Theatre กล่าวว่า ในฐานะผู้สอนการแสดงและการละครเวที โจทย์สำคัญคือการทำอย่างไรให้คนสามารถแสดงบทบาทที่ได้รับออกมา หรือแสดงถึงธรรมชาติความเป็นมนุษย์ออกมาให้ได้ โจทย์ต่อไปคือการทำให้ผู้ชมและผู้แสดงเข้าใจสิ่งที่สื่อและความรู้สึก แต่สิ่งที่อยากถามสังคมคือ ทุกวันนี้สื่อต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คนพิการและคนปรกติใช้ร่วมกัน เป็นการสร้างขึ้นมาก่อน แล้วเหตุผลของการอยู่ร่วมกันมาทีหลัง ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาของละครจากละครวิทยุไปจนถึงโรงภาพยนตร์ล้ำสมัย แต่สำหรับคนตาบอดนั้นจบลงตั้งแต่ละครวิทยุแล้ว ส่วนคำบรรยายสำหรับคนตาบอด (Audio Description) นั้นตนคิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นเพื่ออยู่ร่วมกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนร่วมกับกลุ่มศิลปินทำการแสดงละครเวที Blind Theatre ซึ่งได้รับความนิยมมากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เพราะผู้ชมนิยมในความแปลกใหม่ แต่ก็ตัดสินใจเลิกทำเพราะในมีข้อติดขัดในแง่การดำเนินงาน การฝึกฝนยังทำได้ไม่ดีพอ

ตนตั้งคำถามว่า ศิลปะการแสดงสำหรับผู้พิการคืออะไร อะไรคือการทำให้คนแสดงเชื่อว่าตนเป็นคนที่สวมบทบาทจริงๆ มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกได้ตามบทจริงๆ ไหม แต่ในสังคมไทยที่ปลูกฝังให้เรามีลักษณะนิสัยแค่อย่างเดียว แต่ในการละครคือการพยายามหาธรรมชาตินิสัยที่สอง สาม สี่ไปจนถึงล้าน ตนจึงค้นพบเป้าหมายใหม่ในการฝึกหัดละครเพื่อพัฒนาบุคลิกและความคิด เรื่องการเล่นหนังนั้นเป็นเพียงปลายทางหนึ่ง

เมื่อช่างชุ่ย พื้นที่ท่องเที่ยวด้านงานศิลปะที่ใหม่เปิดทำการ ตนได้รับคำเชิญให้ไปทำละครอีกครั้ง โดยมีความตั้งใจที่มากไปกว่าการสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ฉุกคิด สุดท้ายจึงออกแบบ Blind theatre ครั้งใหม่ให้เป็นพื้นที่รวบรวมคนหลากหลายอาชีพ ให้มาช่วยสร้างออกแบบกิจกรรม และแรงบันดาลใจให้คนตาบอดที่มาร่วมแสดงด้วย เช่น ถ้ามีคนตาบอดที่อยากเป็นหมอ แล้วถ้ามีหมอมาดูละครจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

โสภณ ทับกลอง

ในขณะที่โสภณ ทับกลอง ผู้พิการทางสายตา กล่าวว่า สิ่งที่ตนกลัวที่สุดในฐานะคนตาบอดคือการเคลื่อนไหวเพราะกลัวอันตราย ดังนั้น การตาบอดจึงไม่ใช่การขาดอวัยวะหนึ่งไปไม่ครบ 32 เหมือนคนปรกติ แต่อาจจะยังบั่นทอนให้ตนเองพิการลงไปอีก ทว่า สิ่งทีคนพิการกลัวที่สุดกลับเป็นการออกไปเจอคนในสังคม พร้อมตั้งคำถามต่อผู้ฟังว่า เจอคนตาบอดในที่สาธารณะบ่อยแค่ไหน หรือเจอครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

โสภณทำละครเวทีที่ Blind theatre เป็นเวลา 4-5 ปี ซึ่งกระบวนการของละครต้องผ่านฝึกร่างกายหนักมากในแต่ละวัน เวลานั้นทำให้ตนรู้ว่าระบบร่างกายนั้นเคลื่อนไหวในแบบใดได้บ้าง ทำให้เริ่มมีความมั่นใจในการเคลื่อนไหว แต่ทุกวันนี้วงการแสดงยังไม่มีระบบฝึกฝนให้คนพิการได้มีความสามารถในการแสดงได้อย่างเพียงพอ

โสภณ เต้นกับผู้พิการตาบอด

จากนั้นโสภณจึงเรียกผู้พิการตาบอดออกมาถ่ายภาพและเต้นไปพร้อมๆ กัน โดยตนกล่าวว่า ความหมายของการถ่ายภาพสำหรับตนคือการจดจำช่วงเวลาและความรู้สึก นักแสดงละครเวทีเพื่อคนตาบอดฝากไว้ว่า วิธีแก้ปัญหาทุกอย่างนั้นถูกพูดถึงมาอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ขาดคือการคุยกันอย่างจริงจัง จึงขอให้คนปรกติและคนพิการ อย่ากลัวซึ่งกันและกัน อย่ากลัวที่จะบอก อย่ากลัวว่าจะเป็นภาระของใคร

นลัทพร ไกรฤกษ์: ติดโทรโข่งให้ความพิการ ใช้ "โรคของเรา" สร้างความรู้ให้สังคม

นลัทพร ไกรฤกษ์

นลัทพร ไกรฤกษ์ กองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวผู้พิการ Thisable.me กล่าวว่า ตนเป็นโรค SMA(Spinal Muscular Atrophy) เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากสัญญาณจากสมองค่อยๆ ที่ส่งไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายอ่อนลง ไม่สามารถส่งไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ทำให้กล้ามเนื้อที่ต้องใช้ในปลายทางไม่มีแรง

นลัทพรเริ่มรู้ตัวว่ามีอาการตอนอายุ 3 ขวบเมื่อเข้าโรงเรียน ตนสงสัยว่าทำไมถึงวิ่งเล่นกับเพื่อนไม่ได้เมื่อทำไมต้องรอครูมาอุ้ม ความสงสัยมาคลี่คลายตอนอายุ 12 ตอนที่แพทย์บอกว่า อาการต่างๆ ที่เคยได้รับการวินิจฉัยมาจากแพทย์คนอื่นเคยวิเคราะห์มานั้นไม่มีอาการตรงตามโรค จึงให้ไปตรวจใหม่ เมื่อไปตรวจใหม่ ในวันนั้น ตนอยู่กับพ่อแม่และแพทย์ที่ห้องวินิจฉัยในแผนกผู้ป่วยเด็ก หมอเชิญตนออกไปจากห้อง แต่ก็จับความรู้สึกในห้องตรวจได้ รวมทั้งเห็นภาพพ่อแม่ออกมาน้ำตาคลอเบ้าก็พอจะเดาได้

หลังจากนั้นไม่กล้าถามพ่อแม่ซ้ำถึงสิ่งที่ทำให้เสียน้ำตา จนกระทั่งวันหนึ่งจึงลองขอผลการตรวจเลือดมาดู โดยอ้างว่าจะต้องใช้สมัครเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย และพบว่าตนเองเป็นโรค SMA จากนั้นก็ไปค้นคว้าต่อในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม เวลาผ่านไปจนถึงช่วงที่เติบโตขึ้น กระดูกสันหลังเริ่มคดลงเพราะรับน้ำหนักไม่ไหว ต้องผ่าตัดหลัง จึงไปหาในอินเทอร์เน็ตว่ามีคนที่ผ่านอะไรเหมือนๆ กันมาหรือเปล่า จนพบพี่คนหนึ่งที่เป็นโรคเดียวกัน และผ่านการผ่าตัดหลังมา จึงเริ่มมีการพูดคุยออนไลน์ในแชท และไปพบกันจริงๆ จากนั้นจึงเริ่มมีการถ่ายรูป ทำเพจ "กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคของเรา โลกของเรา"

เมื่อเริ่มตั้งเพจไปได้ระยะหนึ่งยอดไลก์ในเพจก็คงที่ จนมาวันหนึ่งความนิยมเพจเริ่มมากขึ้นจากบริษัทขายสินค้าช่วยเหลือคนพิการและพ่อแม่ที่มีลูกเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เข้ามาเสนอขายสินค้า และสอบถามแอดมินในประเด็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงค่อยๆ ทำเนื้อหาในเพจให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกเพจ เช่น การดูแลตัวเอง การออกกำลังกาย ฯลฯ จนเป็นแรงบันดาลใจให้ทำเว็บไซต์ข่าวเพื่อคนพิการ thisable.me

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท.ชงคุมสื่อออนไลน์เข้ม ลงทะเบียนมือถือ สแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า

Posted: 03 Jul 2017 08:42 AM PDT

สปท.เห็นชอบรายงานของ กมธ. ปมปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นมาตรการป้องปรามปัญหา ชงเพิ่มการสแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า 'พลเมืองเน็ต' ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารระบบ 

3 ก.ค. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ด้วยคะแนนเสียง 144 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงและงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 147 คน

สำหรับรายงานดังกล่าว กมธ.ได้มีการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและนโยบายเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติ และการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลังสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ปัจจุบันกลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ กอปรกับขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจและสถาบันหลักของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในปี 2562 และในระยะยาวซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์อย่างมีคุณภาพ มีจริยธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีหลายสื่อ เช่น สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น โลกวันนี้ และโพสต์ทูเดย์ ยังรายงานตรงกันด้วยว่า รายงานดังกล่าว ได้เสนอแนวทางการปฏิรูป ให้มีการจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ด้วยการเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะระบบเติมเงิน ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับแผน เพื่อใช้สแกนลายนิ้วมือและใบหน้า ควบคู่ การลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า สมาชิกสปท.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตอาจมีบางมาตรการกระทบสิทธิมนุษยชน โดย กษิต ภิรมย์ สมาชิกสปท. กล่าวว่า  การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัท กูเกิ้ล หรือแอปเปิ้ล ต้องยอมรับเป็นไปได้ลำบากเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นต้องสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น ถ้าให้รัฐดำเนินการฝ่ายเดียว จะเหมือนกับขี่ช้างจับตั๊กแตน  และอยากให้ทบทวนรายงานฉบับนี้ทั้งหมด เพราะอ่านแล้ว จับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องจะแก้ไขปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างไรขณะที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปท. อภิปรายว่า การที่กมธ.เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือ ใบหน้าในการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน เหมือนการทำหนังสือเดินทางนั้น  ไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้บ้าง หากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศ จะเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะการแค่มีบัตรประชาชนสามารถบอกอะไรได้ทุกอย่างอยู่แล้ว

'พลเมืองเน็ต' ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารระบบ 

ขณะที่ ทีมข่าววอยซ์ทีวี รายงานว่า อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นกับทีมข่าววอยซ์ทีวีในสองประเด็นว่า เรื่องแรกการลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือเพิ่มเติมจากการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน นั้นเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดจริงหรือไม่เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพยายามลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนตั้งแต่การทำใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนมาขยายเป็นทั่วประเทศแต่ก็ไม่ได้เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เหตุเพราะสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวระบบแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารระบบ ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการเครื่องขายมือถือแห่งหนึ่งที่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ออกมาขายให้กับกลุ่มรับจ้างทวงหนี้ หรือเคสล่าสุดการที่แก๊งชาวจีนสามารถลงทะเบียนซิมการ์ดในการรับจ้างกดไลค์ได้แสนกว่าเครื่อง  แล้วถ้าหากลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือถ้าหากมีข้อมูลที่รั่วไหลจะยิ่งสร้างความเสียหายหรือไม่ ในการใช้ลยนิ้วมือในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์เพื่อยืนยันตัวตนถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการบังคับใช้งานจริง

ส่วนอีกประเด็นเรื่องการจัดตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวังออนไลน์ อาทิตย์ กล่าวว่าในป้จจุบันปัญหาหนึ่งที่พบคือ ทั้งหน่วยงาน DSI กระทรวงดีอี ปอท.ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ล้วนมีศูนย์มากมายและมีความทับซ้อนเป็นอย่างมาก อยากให้มีการกำหนดขอบเขตหน้าที่การรับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนแม้กระทั่งตัวเจ้าทุกข์และจำเลย ซึ่งควรจะแบ่งงานให้ชัดเจนว่าทำเรื่องอะไร เช่นการกำกับดูแลประเด็นการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ หรือ เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงจะเป็นการดีกว่า 

AttachmentSize
รายงาน ของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่อง "ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูป การใช้สื่อโซเชยีลมีเดีย (Social Media).pdf1.59 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

15 สปท. เตรียมลาออกสนามปฏิรูป-เข้าสู่สนามเลือกตั้ง เหลือสมาชิก 177 คน

Posted: 03 Jul 2017 06:02 AM PDT

สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศลาออกเพิ่มอีก 15 คน เตรียมตัวลงสนามการเมืองเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ผู้ที่ที่จะลงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก จะต้องเป็นผู้พ้นจากตำแหน่ง สปท. ภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

3 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ได้แจ้งต่อที่ประชุมกรณีสมาชิก สปท. แสดงความประสงค์ลาออก 15 คน โดย 14 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ประกอบด้วย  สุวัฒน์ จิราพันธุ์  / ธงชัย ลืออดุลย์ / สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล / พรชัย ตระกูลวรานนท์ /เกรียงยศ สุดลาภา /สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ / สันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ / ชัย  ชิดชอบ / พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร /เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ /สมพงษ์ สระกวี / พันเอกสุชาติ  จันทรโชติ /อับดุลลาฮิม มินซาร์ / กอบศักดิ์ ภูตระกูล 

ขณะที่ ธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ลาออกมีผลวันนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันมี สมาชิก สปท. เหลือจำนวน 177 คน  นอกจากนี้  มีรายงานว่า นายสุชน ชาลีเครือ สมาชิก สปท. ก็ได้แจ้งความประสงค์ลาออกเช่นกัน โดยจะมีผลวันที่ 4 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 266 วรรค 3 ประกอบมาตรา 263 วรรค 7 กำหนดให้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะต้องเป็นผู้พ้นจากตำแหน่ง สปท. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 ก.ค. นี้

โดยก่อนหน้านี้ นิกร จำนง อดีตสมาชิก สปท. ได้ลาออกด้ยเหตุผลด้วยกันเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งในวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ถึงกรณี สปท. และ สนช. ส่วนหนึ่งเตรียมลาออกเพื่อลงสมัคร ส.ส.ว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่สามารถไปห้ามได้ ซึ่งทราบว่าไม่ได้ลาออกทั้งหมด แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีอนาคตทางการเมือง คนที่เหลืออยู่ก็สามารถทำงานได้

"ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จก็แล้วกัน และยืนยันว่าไม่กระทบโรดแมป ถ้าผมยังอยู่ก็ต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามโรดแมป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.ต.มติเอกฉันท์ไม่เห็นชอบตั้ง 'ศิริชัย' เป็นประธานศาลฎีกา ชี้ไม่เหมาะสม

Posted: 03 Jul 2017 05:17 AM PDT

3 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ก.ค.60) เวลา 09.30 น. ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 13/2560 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้ง ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในวาระ 1 ต.ค. 2560 ซึ่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลทุกชั้นศาลได้กลั่นกรองเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อประกอบการพิจารณา 

ที่ประชุม ก.ต. เห็นว่า ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถในการบริหารงานศาลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลักอาวุโส ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายแต่งตั้งและการเลื่อนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2554 โดยที่ประชุม ก.ต. ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นชอบในการแต่งตั้งให้ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ตาม

อนึ่ง ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 50 วรรคแรก กำหนดว่า ในกรณีที่ ก.ต. ไม่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ตามที่เลขานุการ ก.ต. เสนอ ตามมาตรา 47 ห้ามมิให้ ก.ต. เสนอแต่งตั้งบุคคลอื่น และในกรณีเช่นว่านี้ให้เลขานุการ ก.ต. ดำเนินการตามมาตรา 47 อีกครั้งหนึ่ง แล้วเสนอให้ ก.ต. พิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ก.ต. มีมติดังกล่าว ซึ่งในการเสนอครั้งใหม่ห้ามมิให้เสนอบุคคลเดิม

นัดประชุม ก.ต. ครั้งต่อไป ครั้งที่ 14/2560 วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมศาลยุติธรรม ชั้น 5 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ยันดูแลแรงงานไทย-ต่างด้าวเท่าเทียม วอนอย่าหลงเชื่อวาทกรรมโจมตีรัฐ

Posted: 03 Jul 2017 01:28 AM PDT

ประยุทธ์แจงการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว และการใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน ยันดูแลแรงงานไทย-ต่างด้าวเท่าเทียม วอนอย่าหลงเชื่อวาทกรรมโจมตีรัฐ

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังวลของภาคเอกชนเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยจะใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน เพราะนายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน แต่มาตราที่เหลือยังคงบังคับใช้อยู่ โดยในสัปดาห์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย ขอให้ทุกฝ่ายอย่าได้กังวล แรงงานต่างด้าวยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลเคารพในพันธะกรณีที่ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.คนต่างด้าว เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทย ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาและการยอมรับของต่างประเทศ

นอกจากนี้  พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลแรงงานทุกคนที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว ภายใต้หลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงฝากให้สติแก่สังคมว่าอย่าหลงเชื่อวาทกรรมที่กล่าวอ้างว่ารัฐบาลเอาใจแรงงานต่างด้าว ไม่สนใจแรงงานไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานไทยราว 38.3 ล้านคน ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ 17 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 21.3 ล้านคน ไม่นิยมทำงานบางอย่าง ทำให้แรงงานขาดแคลน เช่น งานกรรมกร ก่อสร้าง ประมง เกษตร คนรับใช้ในบ้าน ฯลฯ จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำแทน ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย

"ไม่อยากให้มองการแก้ปัญหาเป็นเรื่องการเมือง แต่ทุกคนควรมองถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ พันธะสัญญาต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศมีร่วมกัน และเราจะต้องเดินหน้าแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รัฐบาลนี้จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสมเข้ามาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยอย่างเท่าเทียมกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชน หันมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจได้ หากแต่ละคนละเลย เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมองแต่เพียงประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สรรพากร' คาดชงร่าง ก.ม.เก็บ 'ภาษีธุรกิจออนไลน์' เข้า ครม. ภายในเดือนนี้

Posted: 03 Jul 2017 12:51 AM PDT

ชี้มูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้าน ทั้งส่วนที่อยู่ในระบบและส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ หรืออูเบอร์ ที่รัฐบาลไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมใดๆ เลย

3 ก.ค.2560 สื่อหลายสำนักรายงานรตรงกันว่า ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเรื่องร่างกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) กรมได้ดำเนินการเกือบแล้วเสร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อร่างกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ คาดว่าใช้เวลา 15 วัน ดังนั้น คาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ จะเสนอร่างกฎหมายไปยัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ ธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจ บนวัตรกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในไทยให้ถือว่า มีสถานประกอบการในไทยเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในไทย

สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ ขณะนี้มีการปรับปรุงให้มีเพดานอัตราการจัดเก็บสูงสุดที่ร้อยละ 15 ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บร้อยละ 5 ของเงินได้ที่จ่าย โดยอัตรานี้จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร ซึ่งจะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรมที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และจะมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้

"กรมฯไม่ได้ต้องการที่จะให้มีการจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การจัดเก็บดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ โดยเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้ไม่มีการเสียภาษี ดังนั้น กรมฯจึงต้องวางแนวทางการจัดเก็บ เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง" ประสงค์กล่าว

ทั้งนี้ การจัดเก็บดังกล่าวก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ โดยเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในไทย เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจเหล่านี้ไม่เสียภาษี ดังนั้นจึงต้องวางแนวทางเก็บ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ

ประสงค์ กล่าวต่อว่า การประเมินมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือการชำระเงินของส่วนราชการและเอกชนต่างๆ และ 2.ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ หรืออูเบอร์ ซึ่งในส่วนที่ไม่อยู่ในระบบนี้ รัฐบาลไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมใดๆ เลย

ด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตลาดดอทคอม และนายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจากอี-คอมเมิร์ซ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการ เพื่อให้การทำธุรกิจการค้าออนไลน์เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะมาเข้าระบบการเสียภาษีด้วยตนเอง แทนที่จะใช้มาตรการบังคับรุนแรง

 

ที่มา ไทยพีบีเอส กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และเดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานไทยผิดกฎหมายอยู่ในมาเลเซียมากสุด 1 แสนคน

Posted: 02 Jul 2017 10:17 PM PDT

สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ก.ทรวงแรงงาน ประเมินมีแรงงานไทยผิดกฎหมายอยู่ในต่างประเทศ 173,527 คน ที่มาเลเซียสูงสุด 1 แสนคน ตามมาด้วยเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยื่นร้องทุกข์ที่ไต้หวันมากที่สุดตามมาด้วยเกาหลีใต้และอิสราเอล

 
3 ก.ค. 2560 ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ระบุว่าตลอดปี 2559 มีจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศและยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 114,437 คน แบ่งเป็นเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 10,640 คน จัดส่งโดยกรมการจัดหางาน จำนวน 12,931 คน นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน จำนวน 7,276 คน นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน จำนวน 4,446 คน บริษัทจัดส่ง จำนวน 33,124 คน และ เดินทางแบบ RE-Entry จำนวน 46,020 คน
 
สำหรับประเทศที่คนไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 35,027 คน เกาหลีใต้ จำนวน 12,590 คน อิสราเอล จำนวน 8,629 คน ญี่ปุ่น จำนวน 8,610 คน และสิงคโปร์ จำนวน 5,843 คน ซึ่งการสนับสนุนให้คนไทยไปทำงานต่างประเทศสามารถสร้างรายได้ส่งกลับมาผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. เป็นเงินจำนวน 112,997 ล้านบาท โดยในเดือน มี.ค. ก.ย. และ ต.ค. มีรายได้ส่งกลับเกินเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท
 
 
 
ส่วนข้อมูลจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ในด้านส่งเสริมการขยายและรักษาตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศรอบ 7 เดือน (1 ต.ค. 2559 – 30 เม.ย. 2560) พบว่ามีจำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศ  ใน 11 ประเทศ (ซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์, บรูไน, มาเลเซีย, อิสราเอล, เกาหลีใต้ และเยอรมนี) รวมทั้งที่ไปอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย 399,374 คน ไปแบบถูกกฎหมายรวม 225,847 คน และไปแบบผิดกฎหมายรวม 173,527 คน โดยแรงงานไทยที่อยู่อย่างผิดกฎหมายอยู่ในมาเลเซียสูงสุด 100,000 คน ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 60,404 คน ญี่ปุ่น 6,507 คน และซาอุดิอาระเบีย 4,900 คน
 
ส่วนในด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศรอบ 7 เดือน (1 ต.ค. 2559 – 30 เม.ย. 2560) มีจำนวนแรงงานไทยที่มาร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์และไม่เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์รวม 10,238 คน ร้องทุกข์ที่ไต้หวันสูงสุด 5,118 คน (รวมทั้งไทเปและเกาสง) เกาหลีใต้ 1,975 คน และอิสราเอล 1,021 คน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น