โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประมวลภาพ แอมเนสตี้ฯ จัดอาลัย 'หลิว เสี่ยวโป' เชิดชูเสรีภาพ หน้าสถานทูตจีน

Posted: 20 Jul 2017 09:54 AM PDT

20 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ก.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ที่บริเวณหน้าอาคารทรู ทาวเวอร์ ตรงข้ามสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีประชาชนประมาณ 50 คน รวมตัวกันจัดกิจกรรมอาลัย "หลิว เสี่ยวโป" เชิดชูเสรีภาพ นำโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนื่องในโอกาสครบ 1 สัปดาห์การจากไปของ 'หลิว เสี่ยวโป' นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีนผู้ต่อสู้กับรัฐบาลจีนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับ หลิว เสี่ยวโป เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดังทั่วโลก เคยเข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตยในการชุมนุมครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเคยถูกจับจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพขณะอยู่ในคุกเมื่อปี 2553

และเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา หลิว เสี่ยวโป เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับในวัย 61 ปี ขณะยังอยู่ในคุก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้และนานาชาติพยายามเรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวเขาเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมแล้วแต่ทางการจีนไม่ยอม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลลงดาบ 62 คนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา คุกสูงสุด 78 ปี จ่ายชดเชยราว 4 ล้าน 5 แสนบาท

Posted: 20 Jul 2017 07:22 AM PDT

ยกฟ้อง 40 คน คดีประวัติศาสตร์อ่านพิพากษายาว 13 ชม.คำพิพากษาเปิดเผยระบบค้ามนุษย์เป็นขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ  ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย กระทำชำเรา เรียกค่าไถ่สารพัด เรียกคนเป็น "ตัว" "เชือก" "ลัง" ไต่สวนยังคุ ข่มขู่กันทั้งใน นอกศาล พล.ท.มนัส อดีต ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง  คุก 27 ปี "โกโต้ง" อดีตนายก อบจ.สตูล คุก 75 ปี

 

ชาวโรฮิงญา (ที่มา:แฟ้มภาพ)

เมื่อ 19 ก.ค. 2560 องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ที่ศาลอาญา ถ. รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา หรือโรฮิงญา คดีหมายเลขดำที่ คม. 19,27, 28, 29, 32, 35, 36, 40, 41, 47, 63/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ คม. 33, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43/2560 รวม 11 สำนวน โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องยื่นฟ้องจำเลยที่จำนวน 103 คนที่ประกอบด้วยตำรวจกับพลเรือน รวมถึง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกและผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง (จำเลยที่ 54) และ ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารสว่นจังหวัด (อบจ.) จ.สตูล (จำเลยที่29)

นอกจากนั้นยังมีโจทก์ร่วมฟ้องอีก 4 คน ได้แก่ มาฮาหมัด ซิงค์ มูฮัมหมัด อับบอลอารี ซองซูอารอม และ มะหะมะรอฟิด โดยทั้ง 11 สำนวนถูกฟ้องในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองคก์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดต่อ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง และความผิดต่อ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ลหุโทษ ค่าสินไหมทดแทน โดยอัยการทยอยฟ้องมาตั้งแต่ปี 2558

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ทางการไทยเข้าทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ แล้วขุดค้นพบหลุมฝังศพใกล้กับชายแดนมาเลเซียที่เชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงยาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยมาจากพม่าเพื่อหาทางไปมาเลเซีย และผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่มาจากบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกลุ่มผู้ลี้ภัย

กลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์ที่เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เฝ้าสังเกตุการณ์ตลอดการไต่สวนคดีความและพบว่ามีการข่มขู่ทั้งโจทก์ พยาน รวมถึงล่ามที่ถูกประทุษร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ ถูกขู่ฆ่า แม้แต่ในชั้นศาลก็มีล่ามโดนข่มขู่จากจำเลย ซึ่งศาลก็ไม่ได้สั่งให้นำตัวจำเลยคนดังกล่าวออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด การข่มขู่ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่กับหัวหน้าชุดสอบสวนคดี พล.ต.ต.ฟวีณ พงศ์สิรินทร์ ที่ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย หลังจากการพิจารณาคดีเริ่มขึ้นไม่นาน โดยเขาอ้างว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงขู่ฆ่า พล.ต.ต.ปวีณ ควรจะได้เป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่และจำเลยหลายคน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จากเอกสารคำพิพากษาพบว่า จากจำเลย 103 คน มี 7 คนที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นในขณะนั้น (จำเลยที่ 1, 2, 6, 14, 23, 24, 27) มีเจ้าพนักงานฝ่ายการปกครอง 2 คน (จำเลยที่ 5, 35) ข้าราชการตำรวจ 4 คน (จำเลยที่ 7, 9, 31, 33) ข้าราชการทหาร สังกัดกองทัพบก 2 (จำเลยที่ 55,90) คนและข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ 1 คน (จำเลยที่ 69) โดยจำเลยร่วมกระทำความผิดร่วมกันหลายกรรมต่างกันตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2554 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2558 ทั้งนี้มีจำเลยเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย คือ สุรีชัย อาหะหมัด จำเลยที่ 26 จึงเหลือจำเลยที่รอการพิพากษา 102 คน

เอกสารคำพิพากษาเปิดปูมระบบค้ามนุษย์ต้นน้ำยันปลายน้ำ แฉทารุณกรรม ทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์

จากเอกสารคำพิพากษา ระบุว่า โจทก์ทั้ง 11 สำนวนฟ้องในประเด็นที่มีขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นจำเลยคดีนี้และที่ยังจับกุมไม่ได้หลายคนได้ชักชวน หลอกลวงขู่บังคับชาวบังกลาเทศและชาวโรฮิงญามายังประเทศไทยและส่งไปประเทศมาเลเซีย โดยหลอกลวงว่าจะสามารถส่งไปทำงานที่มาเลเซีย โดยมีทั้งการขนส่งคนที่สมัครใจ และใช้กำลัง หรือใช้อาวุธปืนข่มขู่บังคับคนที่ไม่สมัครใจให้ไป บางคนเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ขบวนการอาชญากรรมรวบรวมคนได้จำนวนหนึ่งแล้วพาไปลงเรือและจอดรออยู่ในทะเลจนรวมคนได้ 200-500 คน จึงเดินทางเข้ามาในทะเลเขตน่านน้ำไทย ระหว่างนั้นจะมีคนถืออาวุธทั้งปืนและอาวุธอื่นๆ คุมไว้ไม่ให้เหยื่อหลบหนี เหยื่อได้รับอาหารและน้ำในปริมาณจำกัด ถ้าขอเพิ่มหรือส่งเสียงดังก่อกวนจะถูกทำร้าย หลังจากนั้นเหยื่อจะถูกนำขึ้นเรือเล็กไปอาศัยบนเกาะ หรือขึ้นฝั่งไปหลบซ่อนตามแนวป่าเป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อรอรถมารับ พื้นที่รับขึ้นฝั่งอยู่ในจ.ระนอง พังงา และสตูล จากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ผ่านเส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยมีจุดหมายอยู่ที่แคมป์ชั่วคราวต่างๆ บนเทือกเขาแก้วในเขต ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเอา จ.สงขลา ส่วนที่ขึ้นฝั่งมาจาก จ.สตูลจะเดินทางมาโดยรถยนต์แล้วจึงเดินเท้าเข้ามาที่แคมป์

ผู้เสียหายที่มีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อญาติจะถูกบังคับให้ติดต่อญาติเพื่อเรียกค่าไถ่ มีการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขณะคุยโทรศัพท์เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเสียงร้องเป็นการบังคับให้ฐาติยอมจ่ายเงินค่าไถ่ ซึ่งตกอยู่ประมาณ 30,300 บาท ถึง 500,000 บาท ผู้เสียหายถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ไปที่ใด มีการโยกย้ายที่พักหลายครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบของเจ้าหน้าที่ ใช้คำเรียกผู้เสียหายว่า "ตัว" "เชือก" "ลัง" ส่วนแคมป์ที่พักเรียกว่า "คอก" มีการจัดทำบัญชีว่า "ขายได้" ออกไปจากการควบคุมจำนวนเท่าใด ราคาขายของผู้เสียหายในสกุลเงินไทยอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท โดยระหว่างการคุมขังมีผู้เสียหายอดอาหาร บางคนเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยศพจะถูกนำไปฝังใกล้กับบริเวณแคมป์

อ่านคำพิพากษา จำเลย จนท. รัฐ เอื้อค้ามนุษย์ ร่วมจำเลยอื่นทำกันเป็นระบบ เปิดเส้นทางเงิน-ข้อมูลพูดคุยโทรศัพท์

สำนักข่าวมติชน รายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษานานกว่า 13 ชม. พบว่า ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ จำเลยที่ 29 ที่คนแวดล้อมของจำเลยเรียกกันว่า "บิ๊กบอส" ทำหน้าที่รับชาวโรฮิงญาจากทะเลมาขึ้นฝั่งที่สตูล ก่อนนำไปพักไว้แคมป์คนงานแล้วจึงส่งต่อไปที่มาเลเซีย การเบิกความของพยานสอดคล้องกันว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีจำเลยที่ 29 เกี่ยวข้องทุกครั้ง ความผิดของจำเลยที่ 29 จึงเป็นความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมช้ามชาติ ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กไม่เกิน 15 ปี, ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี, ร่วมกันค้ามนุษย์อายุเกินกว่า 18 ปี, ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษเป็นส 2 เท่า, สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์, ร่วมกันนำพาชาวต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรและให้ที่พักพิงชาวต่างด้าว

ในขณะที่จำเลยที่ 7 หรือ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 7 ต้องประจำอยู่ด่านตรวจในพื้นที่ที่กลุ่มจำเลยต้องสัญจรผ่าน และรับเงินค่าผ่านทางในการขนส่งชาวโรฮิงญา

จำเลยที่ 14 หรือ สจ.บู ฮะอูรา สารภาพในชั้นสอบสวนว่าตนทำหน้าที่รับชาวโรฮิงญาจากที่บ้านวังประจัน จ.สตูล แล้วส่งไปมาเลเซีย โดยระบุการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน เล่าเหตุที่มีการกระทำผิดอย่างละเอียด ส่วนจำเลยที่ 14 มีพิรุธเพราะมีเงินในบัญชีจำนวน 4.2 ล้านบาทซึ่งเดิมอ้างว่าได้รับโอนจากภรรยาจากการขายอาหารทะเลกับจำเลยที่ 67 แต่จำเลยที่ 67 เป็นเกษตรกรจึงไม่มีเหตุผลที่จะซื้ออาหารทะเลมูลค่ามากตามที่จำเลย 14 อ้าง จำเลยที่ 14 จึงมีความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษเป็น 2 เล่า, สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์

จำเลยที่ 17 หรือสุวรรณ แสงทอง หรือโกหนุ่ย และปิยวัฒน์ พงษ์ไทย หรือโกหย่ง จำเลยที่ 22 โจทก์มีหลักฐานข้อมูลการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยทั้งสอง วันที่ 1-25 ม.ค. 2558 มีการติดต่อกันถึง 48 ครั้งในเวลาเพียง 25 วัน ถือว่ามีความถี่มากกว่าเหตุธรรมดาทั่วไป จากการนำสืบพยานโจทก์พบว่า จำเลยทั้งสองได้ติดต่อกันเรื่องจัดหาเรือประมงเพื่อขนส่งชาวโรฮิงญา จึงมีความผิดร่วมกันฐานร่วมกันค้ามนุษย์กับบุคคลที่มีอายุ 15-18 ปี, มีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ให้ที่พักพิงกับชาวต่างด้าว

จำเลยที่ 31 พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยานโจทก์ให้การสอดคล้องกันว่า จำเลยทำหน้าที่คุ้มครองดูแลขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา มีหลักฐานการรับโอนเงินระหว่างร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์จำเลยที่ 33 และวิรัช เบ็ญโส๊ะ จำเลยที่ 27 เจ้าของเรือ จำเลยที่ 33 จะดูแลกลุ่มทีส่งแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มในพื้นที่ จ.ระนองและชุมพร

จำเลยที่ 54 พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง ศาลเห็นว่าในช่วงที่ทางการได้มีนโยบายผลักดันกลุ่มชาวโรฮิงญาที่มาจากเมียนมาร์และบังกลาเทศออกจากประเทศไทย พล.ท.มนัสที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.กอรมน. ตำรวจสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้ 200 กว่าคน ซึ่งต้องส่งลงเรือสู่น่านน้ำสากลเพราะทั้งเมียนมาร์และบังกลาเทศปฏิเสธสถานะความเป็นพลเมือง แต่โจทก์ก็มีชาวโรฮิงญาที่แจ้งว่า แม้จะถูกส่งลอยลำไปแล้วแต่ก็ถูกนำกลับมาที่แคมป์เทือกเขาแก้วโดยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ขณะที่การค้นบ้านพักของ อรปภา จันทร์พ่วง จำเลยที่ 65 และศิริพร อุดมฤกษ์ จำเลยที่ 82 พบหลักฐานเกี่ยวกับสลิปการโอนเงินที่เชื่อมโยงกับบัญชีของมนัส พยานหลักฐานโจทก์ระบุว่ามีการรับโอนเงิน 65 ครั้ง มูลค่ารวม 14,850,000 บาท เป็นการโอนช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2555 จำนวน 61 ครั้ง เป็นเงิน 13,800,000 บาท และในช่วงเดือน ส.ค. 2556 อีก 2 ครั้งเป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ แม้ มนัสจะบอกว่าเงินดังกล่าวได้มากจากการพนันวัวชน ซื้อขายวัวและเป็นเงินสนับสนุนจากเอกชนในการผลักดันแรงงานโรฮิงญา แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารที่ชัดเจน ทั้งการผลักดันแรงงานก็มีงบประมาณรัฐสนับสนุนอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าเงินที่ได้รับโอนมาจากผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลผู้กระทำผิด จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสบคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฯ และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยที่ 54 เป็นเจ้าพนักงาน จึงต้องระวางโทษ 2 เท่า

ลงดาบจำเลย 62 ราย ยกฟ้อง 40 จำคุกสูงสุด 78 ปี จ่ายเงินชดเชยเหยื่อกว่า 4 ล้าน 5 แสนบาท

เวลา 20.45 น. ศาลจึงอ่านบทลงโทษให้จำคุก มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 เป็นเวลา 27 ปี อนัตตา โชติบุญทอง จำเลยที่ 18 เป็นเวลา 77 ปี พิชัย คงเอียง จำเลยที่ 28 เป็นเวลา 57 ปี 9 เดือน หมิด หมอชื่น จำเลยที่ 43 เป็นเวลา 51 ปี 4 เดือน ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ จำเลยที่ 29 เป็นเวลา 75 ปี โคเทวย์ หรือโกทรี จำเลยที่ 16 อูเซ็น จำเลยที่ 38 จำคุกคนละ 75 ปี อับดุลลาชีด มันตะสุม จำเลยที่ 40 เป็นเวลา 50 ปี ฮาซอล จำเลยที่ 57 และอับดุลนาเซท นอช็อต จำเลยที่ 58 จำคุกคนละ 76 ปี

สุวรรณ แสงทอง จำเลยที่ 17 สาแล๊ะ จางวาง จำเลยที่ 96 จำคุกคนละ 22 ปี สมรรถชัย ฮะหมัด จำเลยที่ 20 จำคุกคนละ 14 ปี 8 เดือน สาโรจน์ แก้วมณีโชติ จำเลยที่ 8 ทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ จำเลยที่ 30 ทนงศักดิ์ เหมมันต์ จำเลยที่ 45 สะอารี เขร็ม จำเลยที่ 48 ถาวร มณี จำเลยที่ 49 ดีน เหมมันต์ จำเลยที่ 50 ชาคริต หลงสาม๊ะ จำเลยที่ 51 และจันทร์ตรี แซ่เตีย จำเลยที่ 81 จำคุกคนละ 23 ปี

มูปะกาส แขกพงศ์ จำเลยที่ 21 ประสิทธิ์ แก้วประดับ จำเลยที่ 55 จำคุก 11 ปี 6 เดือน สราวุธ พรหมกะหมัด จำเลยที่ 44 จำคุก 15 ปี 4 เดือน, เจ๊ะมุสา สีสัย จำเลยที่ 13 สถิต แหมถิ่น จำเลยที่ 19 จำคุก 17 ปี 3 เดือน ชาญ อู่ทอง จำเลยที่ 31 นราทอน สัมพันธ์ จำเลยที่ 33 อาบู หรือ สจ.บู ฮะอุรา จำเลยที่ 14 จำคุก 27 ปี บรรณจง ปองผล จำเลยที่ 1 อ่าสัน อินทธนู จำเลยที่ 2 ร่อเอ สนยาแหละ จำเลยที่ 3 จำคุกคนละ 78 ปี

ทั้งนี้ ศาลได้ยกฟ้องจำเลย 40 ราย โดยให้ขังจำเลยไว้ก่อนระหว่างอุทธรณ์ 28 รายจาก 40 ราย และให้จำเลย 62 ราย ที่ศาลพิพากษาลงโทษ ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายต่อเสรีภาพกับทุกข์ต่อจิตใจและร่างกาย และการขาดรายได้กับผู้เสียหายที่เป็นเด็กชาย 7 ราย กับผู้เสียหายที่อายุกว่า 15-18 ปี จำนวน 58 คน รายละ 50,000-159,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,400,250 ซึ่งขณะนั้นล่วงเลยเวลาทำการแล้ว จำเลยที่จะยื่นประกันระหว่างต่อสู้อุทธรณ์ยังไม่สามารถยื่นคำร้องได้ โดยจำเลยถูกคุมตัวไปขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางก่อน และสามารถยื่นประกันตัวได้เมื่อเริ่มเวลาราชการ ส่วนจำเลย 12 ราย ที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ขังระหว่างอุทธรณ์จะได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำต่อไป

มติชน ยังรายงานว่า คดีนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ของการอ่านคำพิพากษาคดีอาญาต่อเนื่องนาน 13 ชั่วโมง โดยองค์คณะฯ 9 คนผลัดเปลี่ยนอ่านคำพิพากษาโดยมีการพักเบรก 2 ครั้งๆ ละ 30 นาทีเท่านั้น เป็นคดีแรกที่ได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ ทหาร จนมีคำตัดสินลงโทษ คดีนี้ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานกว่า 200 ปาก ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559-ก.พ. 2560 ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตัดสินของศาลชั้นต้น กฎหมายยังเปิดโอกาสให้จำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดีได้อีก

การพิจารณาคดีครั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดี แต่ได้จัดพื้นที่ให้นั่งฟังผลที่ห้องอื่นแทน โดยมีการถ่ายทอดภาพและเสียงการอ่านคำพิพากษาคดีผ่านกล้องวงจรปิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้โหวตกับประชาไทส่วนมากมอง เศรษฐกิจ 'มีปัญหาจริง' ไม่ใช่แค่ 'การวิจารณ์เรื่องเก่าๆ'

Posted: 20 Jul 2017 06:59 AM PDT

ผู้ร่วมโหวตกับเพจประชาไท ส่วนมากมองสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน 'มีปัญหาจริง' ไม่ใช่แค่ 'การวิจารณ์เรื่องเก่าๆ' ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเหลือ 1 ปี ขออย่าออกมาเรียกร้องให้ใช้ประชานิยม 

20 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสชช. กล่าวตัดพ้อแก้ปัญหามาตลอด 3 ปี แต่กลับต้องมาเจอการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเก่าๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำและกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ พร้อมระบุด้วยวาแก้ปัญหาต้องทำทั้งรายใหญ่และรายย่อยเพื่อจะเจริญเติบโตไปด้วยกันนั้น

เฟซบุ๊กแฟนเพจประชาไท ได้ตั้งโหวตกับประเด็นดังกล่าวที่ว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน "เป็นปัญหาจริง" หรือแค่ "การวิจารณ์เรื่องเก่าๆ" ? ซึ่งมีผู้ร่วมโหวตกว่า 3 พันโหวต โดยส่วนมากกว่า 2,700 โหวตระบุว่า เป็นปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจริง มีเพียง 57 โหวตเท่านั้นที่ระบุว่า เป็นการวิจารณ์เรื่องเก่าๆ ในการโหวตครั้งนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นประกอบการโหวตกว่า 300 ความเห็น

ล่าสุดวันนี้ (20 ก.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ ถึงการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ว่า ขอให้สื่อมวลชนสร้างความเข้าใจว่า แนวทางที่จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้า  ไม่ใช่การเรียกร้องด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาที่พบ คือต้นทุนการเกษตรสูง แต่ขายได้ในราคาต่ำ รัฐบาลจะพยายามดูแลในช่วง 1 ปีนี้ ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างทางเกษตร ที่ดำเนิกการไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบทั้งหมด  

"ส่วนตัวไม่โทษเกษตรกร แต่อยากให้เกษตกรร่วมมือกับรัฐบาล ในการแก้ปัญหาระยะยาวนี้ให้ได้  ถ้าไม่แก้วันนี้ ราคาก็จะตกต่ำ เพราะไม่สามารถบังคับกลไกลราคาตลาดได้ ถึงแม้จะผลิตได้มาก ก็ไม่มีใครอยากจะซื้อของแพง ดังนั้น จะต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น  ทุกคนต้องแก้ปัญหาไปพร้อมกัน และแก้ทั้งระบบ ดังนั้น ในเวลาที่เหลือ 1 ปี จะพยายามดูแล และขออย่าออกมาเรียกร้องให้ใช้ประชานิยม เพราะไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น  การทำให้คนรักเป็นเรื่องง่าย ซึ่งก็มีคนรักผมอยู่แล้ว และขณะนี้รัฐบาลก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จึงขออย่าออกมาเรียกร้องเพียงเท่านั้น"  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดท้ายไทยศึกษาครั้งที่ 13: เคร็ก เรย์โนลด์ส "This is my new วัตถุมงคล"

Posted: 20 Jul 2017 06:51 AM PDT

ในช่วงปิดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 "เคร็ก เรย์โนลด์ส" เสนอว่าการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้มีความเป็นการเมืองมากที่สุดเท่าที่เขาเคยเข้าร่วม มีผู้คนมากมายในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ที่พยายาม "พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ" พร้อมโชว์ "วัตถุมงคล" อันใหม่คือ "หมุดคณะราษฎร" ที่แต่เดิมมีแค่ชิ้นเดียว แต่หลังจากหมุดหาย ตอนนี้หมุดมีเป็นร้อยในรูปแบบวัตถุมงคล

ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (ICTS13) "Globalized Thailand?" Connectivity, Conflict, and Conundrums of Thai Studies" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่นั้น

ในวันสุดท้ายซึ่งมีพิธีปิดการประชุม มีการเชิญ เคร็ก เรย์โนลด์ส นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เป็นตัวแทนนักวิชาการที่ร่วมการประชุม กล่าวอภิปรายเพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้จากการประชุม โดยในช่วงแรกเขากล่าวขอบคุณ ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานฝ่ายวิชาการของการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 และคณะทำงานทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

คลิปการอภิปรายปิดท้ายโดยเคร็ก เรย์โนลด์ส เพื่อสะท้อนการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

 

โดยตอนหนึ่ง เคร็กกล่าวว่าการประชุมไทยศึกษาปี 2017 มีข้อเรียกร้องให้บอยคอตการประชุม ธงชัย วินิจจะกูล เป็นหนึ่งในผู้ที่เสนอให้บอยคอต ซึ่งก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่าทำไมจึงต้องบอยคอตการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ โดยเขากล่าวต่อว่าแต่ก็การเสนอว่ายังมีอีกหลายเหตุผลที่ไม่ควรบอยคอตการประชุมนี้และคนที่มาอยู่ในที่แห่งนี้ก็คงเห็นด้วยกับเหตุผลนั้น

หัวข้อในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ มีการนำเสนอประเด็นด้านความขัดแย้ง มีผู้นำเสนอเรื่องของชาวบ้านที่ยังคงยืนหยัดประท้วงการก่อสร้างเขื่อน การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านและรัฐบาล เรื่องเหล่านี้มีการอภิปรายในการประชุมไทยศึกษา

"แต่ประเด็นหลักที่อยากสะท้อนก็คือนี่เป็นการจัดสัมมนาไทยศึกษาที่มีความเป็นการเมืองมากที่สุดเท่าที่เคยร่วมประชุม" โดยเขาให้เหตุผลว่า เหตุผลประการแรก องค์ปาฐกในช่วงปาฐกถาต่างๆ พูดถึงประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง อย่างปาฐกถาของดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์รัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ที่พูดถึงการรัฐประหารที่มีแง่มุมน่าสนใจ

ในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ยังมีหัวข้อนำเสนอจำนวนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องที่ดิน การเวนคืนที่ดินโดยรัฐ กรณีอื้อฉาวของนายทุน แม้แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยพูดกันบ่อยอย่างเช่น ครอบครัวที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการจัดการมรดก และแน่นอนบางหัวข้อนำเสนอเป็นหัวข้อที่ไม่อาจละเลยได้ต่อไปอีกแล้ว เพราะเงื่อนไขทางการเมืองและปัจจัยที่เปลี่ยนไป

เหตุผลประการต่อมาก็คือ เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ยังไม่กระจ่างชัด โดยองค์ปาฐกทั้งแคเธอรีน บาววี ซึ่งนำเสนอเรื่องครูบาศรีวิชัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ตอนหนึ่งก็กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ และดันแคน แมคคาร์โก ก็พูดถึง "หมุดคณะราษฎร" ที่ถูกติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการณ์ปกครอง ค.ศ. 1932ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า "...คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหมุดคณะราษฎรก็สูญหายไป ซึ่งเขากล่าวว่า "หมุดคณะราษฎร" นี้มีลักษณะคล้ายกับ "วัตถุมงคล" เป็นวัตถุพิเศษเป็นสัญลักษณ์แทนถึงสิ่งหนึ่ง ความทรงจำถึงเหตุการณ์ดังกล่าวก็ถูกเฉลิมฉลองหลากหลายรูปแบบ และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีหมุดคณะราษฎรหายไป โดยเป็นความพยายามที่จะปฏิเสธความทรงจำนี้

"มีอยู่อีกห้องเสวนาหนึ่งที่ผมเข้าร่วม เป็นห้องเกี่ยวกับกองทัพ ซึ่งมีผู้นำเสนอว่าเหตุการณ์ ค.ศ. 1932 สะท้อนถึงจุดผกผันทางประวัติศาสตร์ (watershed event) ข้อเสนอนี้พูดในวงเสวนาเกี่ยวกับกองทัพ ซึ่งมีคนเข้าฟังไม่มากซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร แต่ห้องเสวนานี้น่าสนใจเพราะมีการพูดถึงเหตุการณ์ ค.ศ. 1932 ในช่วงถาม-ตอบ มีผู้เข้าร่วมเสวนาคนหนึ่งเสนอสิ่งที่น่าสนใจซึ่งผมชอบข้อเสนอนี้มาก ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพในเวลานี้เป็นอิสระจากนายกรัฐมนตรี และสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการอย่างที่พวกเราเห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลัง ค.ศ. 1932 แต่ในขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็ไม่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นับว่าเหตุการณ์นี้ยังมีความคลุมเครือ และเราพยายามที่จะทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1932 มีหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังคงดำเนินต่อไปและเรายังคงพยายามทำความเข้าใจ รวมทั้งเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไปด้วย

เหตุผลประการที่สามก็คือ ในหัวข้อที่เป็นการภาพยนตร์โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และก้อง ฤทธิ์ดี ซึ่งมีการเสวนาหลังฉายภาพยนตร์ ผมควรจะกล่าวว่าเป็นบทสนทนาที่นุ่มนวลมาก ทั้งสองท่านพูดอย่างแผ่วเบา ช้าๆ ทั้งนี้ก่อนเริ่มการเสวนาพวกเขาก็สอบถามกันว่าจะใช้ภาษาอะไร และคำตอบก็คือใช้ภาษาอังกฤษ นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการประชุมไทยศึกษา ทั้งนี้ภาษาอังกฤษได้ให้พื้นที่กับประเด็นที่สามารถนำมาสนทนาในภาษาอังกฤษ แต่ไม่สามารถพูดได้ในภาษาไทย แต่ก็มีหัวข้อเสวนาหนึ่งที่เขาเข้าฟังเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาแบบอิสลามในชายแดนใต้ซึ่งเสวนาด้วยภาษาไทย แต่ก็ต้องขอบคุณผู้จัดการประชุมที่บริการระบบแปลภาษาด้วย

เคร็กกลับมากล่าวถึงหัวข้อที่มีการฉายภาพยนตร์ โดยมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นเรื่องของการยืนเคารพธงชาติ แต่ไม่มีเสียงเพลงชาติในภาพยนตร์แต่กลับเป็นเสียงอื่น มีภาพยนตร์ที่ทลายกำแพงระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์และทหาร ซึ่งในช่วงเสวนาระหว่างอภิชาติพงศ์และก้องก็มีการพูดคุยกันบอกว่า ผู้กำกับถ่ายทำเรื่องนี้เพื่อเยียวยาตัวของผู้กำกับเอง และก็มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เป็นแนวต้นทุนต่ำ ใช้งบประมาณ 6,000 บาทเท่านั้น เป็นภาพยนตร์ที่ผู้กำกับถ่ายทำเพื่อทำความเข้าใจตัวเขาเอง แน่นอนจุดมุ่งหมายในการผลิตภาพยนตร์ก็มีเป้าหมายทางการเมือง เป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

ในบทสนทนาระหว่างก้อง ฤทธิ์ดี และอภิชาติพงศ์ ซึ่งอภิชาติพงศ์กล่าวว่าเขาชอบการไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่โคลัมเบีย เพราะที่นั่นมีศิลปะทางการเมืองอยู่มาก สำหรับเมืองไทยบางครั้งศิลปะทางการเมืองก็อยู่ในภาวะยากลำบาก และบางทีศิลปะทางการเมืองในโคลัมเบียก็มีมากไป ส่วนเมืองไทยก็มีน้อยเกินไป

ส่วนก้อง ฤทธิ์ดี ยังพูดถึงศิลปะที่อิหร่าน สิ่งที่เขากล่าวนับว่ามีความสำคัญต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เขากล่าวว่า เมื่อนึกถึงอิหร่านจะนึกถึงที่ซึ่งมีสถานการณ์ดำเนินมาอย่างยาวนาน เป็นที่ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปินพยายามเข้ามาทำความเข้าใจ และพวกเขาก็รู้ว่าอะไรคือเกมนี้ สิ่งที่ผมเรียนรู้จากทั้งก้อง ฤทธิ์ดี และอภิชาติพงศ์ก็คือ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ คนไทยพยายามที่จะดีลกับสถานการณ์เช่นนี้

และสาเหตุประการสุดท้ายที่ว่าทำไมสัมมนาไทยศึกษาครั้งนี้จึงมีความเป็นการเมืองมากที่สุด ก็เพราะเงื่อนไขในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่พูดกันในปี 2014 ในปี 2011 หรือในปี 2008 ถ้านำมาพูดกันในเวลานี้ ก็มีความแตกต่างไปพอสมควร

เคร็กอ้างถึงคำกล่าวของอภิชาติพงศ์ที่ว่า "เราติดอยู่ในกับดักของการแบ่งออกเป็นสองขั้ว (polarization) เราติดหล่ม เราไม่รู้จะไปที่ไหน จะคืบไปข้างหน้าได้อย่างไร มองอนาคตเป็นแง่ลบ เราอยู่ในวังวนของฝันและฝันร้าย เราขาดความสามารถที่จะแสดงออกถึงประสบการณ์ส่วนตัว เราจะเป็นต้องเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ แต่ความกลัวปรากฏตัวอยู่ทุกที่"

สุดท้ายเคร็กพูดถึงการพบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์เมื่อปีก่อน ซึ่งเขามอบหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า "พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ" ซึ่งเคร็กกล่าวว่าผู้คนมากมายพยายามทำเช่นนี้ในการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 นั่นคือ "พูดความจริงกับผู้มีอำนาจ"

เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "เพื่อนๆ ของผมต่างรู้ว่าผมชอบ "วัตถุมงคล" และมักจะมอบให้กับผมเสมอ ซึ่งล่าสุดที่ผมได้สิ่งนี้มา 3 ชิ้นแล้ว สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เคยถูกกดเอาไว้ แต่ต่อมาก็พลิกกลับไปอยู่ในที่สักแห่งหนึ่ง เดิมมี "หมุด" นี้แค่อันเดียว และตอนนี้มันมี "หมุด" เป็นร้อย" (นำสร้อยที่เป็นเหรียญที่ระลึกรูปหมุดคณะราษฎรมาสวม)

"และนี่คือวัตถุมงคลอันใหม่ของผม"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมดาวกระจายไล่ 'รบ.สมัคร 51' เหตุฟ้องซ้ำคดีชุมนุมทำเนียบฯ

Posted: 20 Jul 2017 03:13 AM PDT

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง 'จำลอง, สนธิ, พิภพ, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และสุริยะใส' คดีชุมนุมดาวกระจายตามสถานที่ราชการ ขับไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51 เหตุฟ้องซ้ำกับคดีชุมนุมทำเนียบรัฐบาล ส่วน 'ไชยวัฒน์-อมร-เทิดภูมิ' ผิดฐานมั่วสุมเกิน 10 คน รอกำหนดโทษ 2 ปี
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ  พิภพ ธงไชย (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)

20 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (20 ก.ค.60) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (20 ก.ค.) ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 78 ปี, สนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 66 ปี, พิภพ ธงไชย อายุ 68 ปี, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 63 ปี, สมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 68 ปี, สุริยะใส กตะศิลา อายุ 41 ปี, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 64 ปี, อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 57 ปี และเทิดภูมิ ใจดี อายุ 72 ปี เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดให้เลิกแล้วแต่ไม่เลิก จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดย ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.จำลอง, สนธิ, พิภพ, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และสุริยะใส เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้ว เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้จำคุกทั้ง 6 คน เป็นเวลา 2 ปี จึงให้ยกฟ้อง ส่วนไชยวัฒน์ อมร และเทิดภูมิ ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ก่อนโดยมีกำหนด 2 ปี

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า คดีดังกล่าว อัยการโจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 9 คนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. โดยร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อ 5 คัน เป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องขยายเสียงและลำโพง ต่อมาเวลากลางคืนจำเลยทั้งหมดได้นำกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อรถเวทีปราศรัยเคลื่อนผ่านไปบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ได้มีเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแถวสกัดกั้นเอาไว้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นไปได้ และได้ปิดการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร.เป็นที่ชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2551 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ มีโรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนามกั้นถนนราชดำเนินนอก ห้ามบุคคลเข้าออกบริเวณที่ชุมนุม มีการตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า "นักรบศรีวิชัย" นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือเช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยทั้ง 9 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช โดยจัดการปราศรัยปลุกระดมมวลชนที่มาฟังและร่วมชุมนุมไปตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังได้ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนกระทำการปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ "ดาวกระจาย" ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่นกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โรงเรียน สถานศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุม ต้องหยุดการเรียนการสอนหลายครั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัยจากการชุมนุมในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

โดยวันนี้จำเลยทั้งหมดมาฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพรียง มีเพียง สนธิ ที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวมาจากเรือนจำกลางคลองเปรม

ศาลพิเคราะห์แล้วมีประเด็นวินิจฉัยว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดของจำเลยที่ 1-6 ซึ่งโจทก์ฟ้องในคดีดำ อ.4925/2555 และคดีดำ อ.276/2556 ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากจำเลยที่ 1-6 มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อันเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองกับมีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลจนทำให้ทรัพย์สินบางส่วนได้รับความเสียหาย

การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและทำให้เสียทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 116 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดทั้ง 2 คดี จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในคดีก่อนโดยไม่ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 มาในคดีเดียวกันจนศาลมีคำพิพากษาในคดีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีต้องถือว่ามูลความผิดในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 1-6 ย่อมระงับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 จำเลยที่ 7 ร่วมอยู่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา และได้ปราศรัยให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมฟัง ส่วนจำเลยที่ 8 ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ขึ้นปราศรัยและเป็นพิธีกรบนเวทีหลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 9 ร่วมชุมนุมและปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2551 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากทำให้การจราจรเช่น ถนนพระราม 5 ถ.พิษณุโลก ถ.ราชดำเนินถูกปิดกั้นการจราจรไปโดยปริยาย กรณีต้องถือว่าการชุมนุมและกิจกรรมประกอบการชุมนุม ซึ่งจัดทำขึ้นบนถนนและทางสาธารณะกีดขวางการจราจรเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นอกจากนี้โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯต้องระงับการเรียนการสอนหลายครั้ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ การกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง

ส่วนความผิดในส่วนของการเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดโดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ทำหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด

สำหรับความผิดตาม มาตรา 116 ฐานผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือหนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯฟัง แต่กรณียังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยที่ 7-9 หรือการชุมนุมของกลุ่มพันมิตรฯ มิได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บรรยากาศโดยรวมต้องถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ส่วนความไม่สงบที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมเกิดจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นอกจากนี้ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯยังทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่ารับรัฐของนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทราบถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ รวมทั้งทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการบ้านเมือง มีวาระซ่อนเร้นและเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์หลายเรื่อง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

อนึ่ง ข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยระหว่างการชุมนุมปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำทำผิด และศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่ายระบอบทักษิณมีกลุ่มที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง การกระทำของพวกจำเลยถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประโยชน์ชาติในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กรณีไม่อาจยกเว้นการกระทำซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องได้

จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เจตนาและเหตุผลในการกระทำประกอบอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา และสุขภาพของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้วกรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อรรถจักร์’ วิเคราะห์นัยคดีจำนำข้าว อำนาจประชาชนถูกตัด-รัฐพันลึกขยายตัว

Posted: 20 Jul 2017 02:52 AM PDT

'อรรถจักร์' ระบุกรณีจำนำข้าวเป็นความผิดทางการเมืองต้องรับผิดชอบทางการเมือง ใช้กฎหมายเล่นงานเท่ากับลดทอนอำนาจประชาชนในการเลือกนโยบายผ่านการเลือกตั้ง ชี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ารัฐพันลึกกำลังขยายตัวเพื่อกำหนดระเบียบใหม่

คดีที่อัยการพิเศษยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดจนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (21 กรกฎาคม 2560) กำลังเป็นที่ถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่าผลจะออกมาอย่างไร

แน่นอนว่าในทางการเมือง คดีนี้ย่อมเร่งอุณหภูมิให้สูงขึ้นและอาจถูกใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว ทว่า ในเชิงของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้เลือกรัฐบาลจากนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอ กรณีคดีจำนำข้าวถือว่าส่งผลกระทบกว้างไกลยิ่งกว่า อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

"ความผิดนี้เป็นความผิดทางการเมือง จึงควรได้รับผิดทางการเมือง เช่น ถูกประชาชนลงโทษไม่ได้รับเลือกตั้ง หรืออื่นๆ ที่ทำให้หยุดนโยบาย โดยการต่อสู้ด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฟ้องศาลปกครอง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำให้ความผิดทางการเมืองกลายเป็นความผิดทางแพ่ง ทางการปฏิบัติราชการ และอื่นๆ ต้องแยกกัน การคอร์รัปชั่นเอาผิดได้ แต่ตัวนโยบายต้องรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าการรับผิดทางกฎหมายแบบนี้"

อรรถจักร์เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียกว่าผิดตั้งแต่คิดนโยบายแล้ว แต่เขากลับเห็นว่าการดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวหรือผิดหลักการที่ควรเป็น เขาวิเคราะห์ว่า การพยายามเอาผิดทางกฎหมายกับนโยบายของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับสังคมไทย เพราะสิ่งนี้สอดคล้องกับการสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้กระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งหมายถึงกระบวนการตัดสินใจในการกระจายทรัพยากรว่าจะให้ใคร ที่ไหน อย่างไร ถูกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มระบบราชการ กลุ่มทหาร และกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ซึ่งกลุ่มพวกนี้อาจเรียกว่า Deep State หรือรัฐพันลึก

"นี่คือการรวมกลุ่มกันที่จะสร้างระเบียบชุดหนึ่งขึ้นมาที่จะจรรโลงให้การตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แม้ว่ากลุ่มนี้จะบอกว่าทำตามความต้องการประชาชน แต่คุณไม่ได้ผูกกับประชาชนเลย กรณีคดีจำนำข้าวจึงสะท้อนให้สังคมไทยต้องตระหนักและกังวลว่า คนที่อยู่ในรัฐพันลึกกำลังเล่นเกมกับสังคมไทย กำลังถือว่ากลุ่มตนเองเท่านั้นคือผู้ที่กำหนดอนาคตของประเทศไทย รวมทั้งแผนนโยบาย 20 ปีที่เขาวางไว้ มันแปลว่าเราไม่สามารถขยับออกไปอย่างทันสถานการณ์ได้"

อรรถจักร์ ชี้ให้เห็นว่า คดียิ่งลักษณ์มีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตสังคมไทย

"ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคดียิ่งลักษณ์จะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องมองข้ามไปให้ไกลกว่านั้นก็คือว่า คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก"

อรรถจักร์ยังกล่าวถึงกลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยสนับสนุนคณะรัฐประหารว่า จงตระหนักว่าในอนาคตอีกไม่นานนี้ กลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กจะถูกเบียดขับออกจากเวทีเศรษฐกิจ เพราะรัฐพันลึกที่เป็นกลุ่มทุนจะขยายออกไปมากขึ้นๆ จนกระทั่ง 'เขี่ย' นักธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ออกจากเวทีทางเศรษฐกิจ ซึ่งนี่คือรัฐพันลึกที่กำลังขยายตัวมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้ รัฐพันลึกไม่ใช่แค่ข้าราชการอีกต่อไป แต่ยังรวมกลุ่มทุนใหญ่ๆ อีกมากมาย โมเดลประชารัฐและกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังประชารัฐก็คือการสมานสามัคคีกันของทุนกลุ่มหนึ่งหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งร่วมกับรัฐ-ระบบราชการที่นำโดยทหาร สิ่งที่น่ากังวลคือระบบราชการไทยที่เทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ ท้ายสุดแล้วก็จะกลายเป็นผู้รับใช้กลุ่มทุนในรัฐพันลึก ไม่ใช่ผู้ที่คอยกำกับอีกต่อไป

"คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก"

"ในสมัยก่อนเทคโนแครตเรามีเสียง แต่วันนี้อ่อนแอลง กรณีกฎหมายต่างด้าวชี้ให้เห็นชัดว่า ระบบราชการไทยตามไม่ทัน ออกกฎหมายมา รัฐบาลหยิบไปใช้ หน้าแตก คุณไม่สามารถยืนอยู่ในโมเดลรัฐพันลึกที่เป็นความสามัคคีกันของทุนในสมัยแรกที่ทุนเพิ่งเริ่มต้น

"ปี 2500 เป็นต้นมารัฐระบบราชการ เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และคัดเลือกกลุ่มทุนบางกลุ่มให้ได้ประโยชน์ก่อน ดังนั้น กลุ่มทุนในสมัยนั้นก็จะยอมกับระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ในวันนี้กลุ่มทุนขยายตัวใหญ่กว่ารัฐระบบราชการ มีประสิทธิภาพมากกว่า คุญจะใช้ระบบราชการมาคานเขา มันเป็นไปไม่ได้ ระบบราชการต่างหากที่จะกลายเป็นเครื่องมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในรัฐพันลึกคือกลุ่มทุนจะยึด ระบบราชการที่คิดว่าจะต่อรองได้ นำได้ เหมือนที่คณะรัฐประหารคิด จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป"

หากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นในกรณีจำนำข้าว ถูกเอาผิดในทางกฎหมาย (ต้องแยกระหว่างการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งอย่างหลังต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย) ย่อมหมายความว่าการเลือกนโยบายของประชาชนจะไม่มีความหมายอีกต่อไป อรรถจักร์ กล่าวว่า

"รัฐบาลที่ตั้งใหม่จะสยบยอมอยู่ภายใต้รัฐพันลึก คือเมื่อก่อนรัฐเองมีอิสระโดยสัมพัทธ์กับทุนในระดับหนึ่ง เพราะทุนยังอ่อนแอ แต่ปัจจุบันรัฐถูกทุนเข้าไปยึดหมดแล้ว เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่จะใช้ระบบราชการมาคานกับทุน เพราะมันแตกต่างกันเกือบ 40 ปี ทุนขยายมากกว่า และทุนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรขวางกั้นได้เลย"

อาจตั้งคำถามได้ว่า แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทัดทานกลุ่มทุนได้อย่างนั้นหรือ อรรถจักร์ แสดงทัศนะว่า

"ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดจะต้องพะวงกับเสียงประชาชน เขาต้องลดทอนการขยายตัวของกลุ่มทุนที่ลงไปกระทบส่วนต่างๆ ลดการผูกขาดบางเรื่องลงไป เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น เขาจะไม่ทำให้กลุ่มทุนที่ใหญ่โตขยายต่อไปได้สะดวกมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดประชาชนก็ยังพอจะมีที่หายใจได้มากกว่าในบรรยากาศต่อไปจากนี้"

ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าคดียิ่งลักษณ์จะเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองจนก่อความวุ่นวาย แต่นัยที่ลึกและกว้างกว่านั้น มันกำลังบ่งบอกถึงอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของประชาชนที่ลดน้อยถอยลงทุกขณะ และการรุกคืบเข้ามาถือครองอำนาจของรัฐพันลึก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(คลิป) 'สุภิญญา' ย้ำยุคดิจิทัลต้องมีพื้นที่แลกเปลี่ยน 'ประชาธิปไตย' เติบโตเมื่อรับฟังกัน

Posted: 20 Jul 2017 02:17 AM PDT

วงสัมมนาชู การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สร้างการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนสังคมไทย นักวิจัยระบุ ยุคสมัยแห่งการเท่าทันสื่อ อำนาจการเปลี่ยนแปลงอยู่ในมือประชาชน เสริมพลังให้เสียงที่ถูกละเลย 

20 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ในงานสัมมนา "การรู้ทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL: อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Conference on Media, Information and Digital Literacy for Social Justice: Empowering Citizens to Create Change) จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center)

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ Internet World Stats ปี 2560 พบว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เนตทั่วโลก ประมาน 3 พันล้านคน โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ขณะที่ประเทศไทย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ได้เปิดเผยผลสํารวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2559 Thailand Internet User Profile 2016 ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า ในภาพรวมทั้งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 6.4 ชั่วโมงต่อวัน โดยเพศที่สามและ Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ที่ 48.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

"ทั้งนี้ กิจกรรมยอดนิยม5อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมทําผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ การพูดคุยผ่าน Social Network ร้อยละ 86.8 รองลงมาเป็นการดูวิดีโอผ่าน YouTube ร้อยละ 66.6 การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 55.7 การค้นหาข้อมูลร้อยละ 54.7 ในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก ได้แก่ YouTube มีผู้ใช้งานมากถึงร้อยละ 97.3 รองลงมาคือ Facebook และ Line มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 94.8 และ 94.6 ตามลําดับ" เข็มพร กล่าว

ผู้จัดการ สสย. ระบุว่า ผลสํารวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนยุคปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศจํานวนมาก ผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันปัญหาภาพรวมจาก Social Media อาทิ ใช้สื่อไปในทางที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชัง ซึ่งผู้ใช้สื่อเองอาจยังขาดความเข้าใจและทักษะในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่คนยุคใหม่ในยุคดิจิทัลควรมีทักษะที่จําเป็นสําหรับการเข้าถึงข้อมูลความรู้ อันจะนําไปสู่การสร้างแรงขับเคลื่อนและเป็นเครื่องมือและทักษะสําคัญของพลเมืองในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยให้เกิดขึ้นทุกระดับในสังคมโดยยึดความยุติธรรมทางสังคมเป็นหลักการสำคัญ

Pam Steager นักวิจัยและนักเขียนอาวุโสของ Media Education Lab

ขณะที่ Pam Steager นักวิจัยและนักเขียนอาวุโสของ Media Education Lab ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะการสื่อสารและสื่อ (the Harrington School of Communication and Media) มหาวิทยาลัยแห่งโรดไอส์แลนด์ กล่าวว่า ไม่มีเวลาใดที่จะสำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว ในการที่ประชาชนจะพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ เมื่อประชาชนมีสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล โดยพวกเขาจะรู้จักรับและใช้สื่อ รวมทั้งยังได้รับการเสริมพลังที่จะส่งเสียงแทนบรรดาเสียงที่หายไปและมุมมองที่ถูกละเลยในชุมชนของเรา

"การที่ประชาชนเห็นปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหา แสดงว่าพวกเขาใช้เสียงอันทรงพลังและสิทธิตามกฎหมายของตนเพื่อเปลี่ยนโลกรอบตัวเขาให้ดีขึ้น ในยุคที่ความเป็นดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ ประเมิน และสร้างสรรค์สารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการรู้เท่าทันในยุคศตวรรษที่ 21 ดังนั้น การประชุม 'MIDL อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง' จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะเจาะที่เราจะได้สำรวจทักษะ สมรรถนะ และแนวปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีเหล่านี้" Pam ระบุ 

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความคิดเห็นถึง MIDL: อำนาจของพลเมืองดิจิทัลสร้างสังคมประชาธิปไตย ว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยการทำให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน วิเคราะห์ได้ด้วยข้อมูลและเหตุผล แสดงออกด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยการมีโอกาสที่จะตั้งคำถาม ถกเถียง และแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ปราศจากความกลัวที่ไม่สมเหตุผล แต่มีมิตรไมตรีซึ่งกันและกันมากขึ้น คนรุ่นเก่าที่เพิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Immigrant) และคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับยุคดิจิทัล (Digital Native) จำเป็นต้องมีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ ประชาธิปไตยจะเติบโตได้เมื่อเรายอมรับฟังกันและกันด้วยเหตุผล

อดีต กรรมการ กสทช. ระบุด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล ควรจะเสริมในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพลเมืองอย่างมีอารยะ มากกว่าที่จะลดทอนคุณค่าของการสื่อสารนั้น สังคมจะเข้มแข็งได้เมื่อพลเมืองมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่จะคิด ตั้งคำถาม ตรวจสอบความจริง และยอมรับความแตกต่างกันได้ เทคโนโลยีก็ควรจะเป็นเครื่องมือสู่ความเข้มแข็งของพลเมือง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะควบคุมสั่งการ หรือทุนที่จะครอบงำ ตักตวงประโยชน์อย่างเดียว

"เราควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยทำให้พลเมืองมีพลังทางความคิดที่จะตั้งหลักรับมือถ่วงดุลกับอำนาจของความไม่รู้ทั้งหลายเพื่อสร้างสังคมที่ตื่นรู้ ด้วยการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ตั้งแต่ในบ้าน โรงเรียน สังคม จนสู่โลกที่กว้างใหญ่ไร้พรมแดน การปิดประตู หน้าต่างบ้านเพื่อหลีกหนีมลภาวะ ไม่ใช่ทางออก แต่การทำให้คนในบ้านเข้มแข็งได้ต่างหาก คือคำตอบ แต่เป็นภารกิจที่ท้าทายทุกฝ่ายมาก และเป็นงานที่ต้องทำกันตลอดชีวิตของเรา" สุภิญญา ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลตุรกีไม่ให้ประกันตัว 6 นักสิทธิฯ รวมทั้ง ผอ.แอมเนสตีตุรกี

Posted: 20 Jul 2017 01:52 AM PDT

นักสิทธิมนุษยชน 6 คนซึ่งถูกจับระหว่างจัดประชุมเรื่องความปลอดภัยดิจิทัล ถูกศาลตุรกีสั่งจำคุกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พวกเขาถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งมักเป็นข้อหาที่รัฐบาลตุรกีใช้เล่นงานผู้ต่อต้านรัฐบาล นับจากที่รัฐบาลพยายามกวาดล้างผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน ภายหลังเกิดเหตุรัฐประหารล้มเหลวเมื่อปีก่อน

ที่มาของภาพประกอบ: hurriyetdailynews

ผู้ที่ถูกสั่งคุมขังทั้ง 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้อำนวยการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลตุรกี เป็นส่วนหนึ่งของนักกิจกรรมผู้ที่ถูกจับกุม 10 คน ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีการเข้าไปใช้อำนาจบังคับควบคุมตัวพวกเขาขณะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความปลอดภัยดิจิทัล เหล่าผู้ที่ถูกจับอีก 4 คนได้รับการประกันตัวโดยที่พวกเขามาจากองค์กรสิทธิพลเมืองอย่าง Citizen's Assembly องค์กรด้านสตรีอย่าง Women's Coalition และองค์กรด้านความเท่าเทียมอย่าง Equal Rights Watch Association กับองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Rights Initiative อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ต้องรอการไต่สวนจากศาลโดยห้ามออกนอกประเทศตุรกี

กระบวนการศาลในตุรกีอาจจะดำเนินเสร็จสิ้นในเวลาหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง แต่พรรคฝ่ายค้านของตุรกีก็แสดงความกังขาว่านักกิจกรรมเหล่านี้จะได้รับการไต่สวนดำเนินคดีที่เป็นธรรมหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้มีผู้พิพากษาและอัยการ 1 ใน 3 ของตุรกีถูกปลดออกในช่วงที่มีการกวาดล้างหลังการรัฐประหาร มุสตาฟา คาราดัก หัวหน้าสหภาพผู้พิพากษากล่าวว่ารัฐบาลตุรกีไล่ผู้พิพากษาและอัยการเดิมออก แล้วเอาคนที่จงรักภักดีต่อพวกเขาเข้าดำรงตำแหน่งแทน

แอมเนสตีระบุในแถลงการณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ข้อกล่าวหาเรื่องนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมืองเหล่านี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ 'พิศดาร' อีกทั้งซาลิล เชตตี เลขาธิการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินคดีที่ขาดความชอบธรรมและมีแรงจูงใจทางการเมือง

นอกจากนี้ นักกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกตั้งข้อหาว่ารับเงินจาก 'สถานทูต' ในการส่งเสริมโครงการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ สื่อรอยเตอร์รายงานว่า พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟทุลเลาะห์ กุยเลน ครูสอนศาสนาอิสลามที่รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพยายามทำรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในตุรกี

ดิ แอตแลนติค ระบุว่าถึงแม้ชาติตะวันตกรวมถึงประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษโดยทันที แต่ก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะดำเนินมาตรการใดๆ ต่อรัฐบาลตุรกีอย่างจริงจังหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลประเทศเหล่านี้มองตุรกีว่าเป็นพันธมิตรสำคัญในความขัดแย้งในซีเรียและในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิส ทำให้จอห์น ดาลฮุยเซน ผู้อำนวยการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลประจำยุโรปและเอเชียกลางกล่าวว่า มันอันตรายที่จะปล่อยให้ตุรกีเดินไปสู่เส้นทางอำนาจนิยม และการจับกุมนักสิทธิพลเมืองก็ถือเป็นการล้ำเส้นไปแล้ว ผู้นำทั่วโลกควรทำอะไรอย่างจริงจังกับเรื่องนี้

ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแสดงออกเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่ถูกคุมขัง โดยเฉพาะชายสัญชาติเยอรมนีอย่างปีเตอร์ ชตัดเนอร์ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีทำทุกวิถีทางให้มีการปล่อยตัวเขา จากที่ก่อนหน้านี้แมร์เคิลเคยประณามการที่ตุรกีจับกุมนักข่าวเยอรมันคนหนึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่าเป็นการพยายามข่มขู่คุกคามและถือเป็นเรื่องที่ "น่าผิดหวังและน่าขมขื่น"

 

เรียบเรียงจาก

Turkish Court Jails Human-Rights Activists, The Atlantic, 18-07-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ. ชี้บ้านเมืองยังไม่ปกติ ขอกลุ่มนักวิชาการหยุดตอบโต้ คสช.

Posted: 19 Jul 2017 10:29 PM PDT

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ชี้ยังให้นักกิจกรรม นักวิชาการ ทำกิจกรรมไม่ได้ เพราะบ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์พิเศษ จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงพระราชพิธีสำคัญ ขอให้หยุดออกมาตอบโต้ คสช. พร้อมระบุ 'ร่างสัญญาประชาคม' ได้รับการตอบรับดีจากประชาชน

ที่มาภาพจาก: สำนักข่าวไทย

20 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักวิชาการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืนพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ว่า คสช. ต้องการให้ภาพรวมของประเทศเกิดความสงบเรียบร้อย การให้เสรีภาพบางจุดสามารถทำได้ แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองต้องขอไว้ก่อน เพราะบ้านเมืองขณะนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ คสช. ต้องการดูแลสถานการณ์ให้เรียบร้อยจนผ่านพ้นช่วงพระราชพิธีสำคัญ และอยากขอร้องกลุ่มพรรคการเมืองให้หยุดออกมาแถลงข่าวตอบโต้ คสช. ด้วย

ส่วนการเชิญ 3 นักวิชาการที่เคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ไปพูดคุย ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าเชิญไปพูดคุย แต่เป็นการขอร้อง ไม่ได้บังคับ ถ้าไม่ทำผิดกรอบของกฎหมายก็ไม่มีปัญหา แต่หากมีเรื่องใดที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน

"ทั้งหมดยืนตามกฎหมาย ไม่ได้ไปจับกุมใคร ถ้าพื้นที่ไหนมีปัญหา ผู้บังคับหน่วยในพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาในกรอบของเขาได้ โดยการพูดคุย ขอร้องทำความเข้าใจกัน เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย บางทีปัญหาเล็กจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ จึงพยายามทำให้เหมาะสม" ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว

พล.อ.เฉลิมชัย ยังได้กล่าวถึงการเปิดเวทีสารณะเพื่อเผยแพร่ร่างสัญญาประชาคม ด้วยว่า ได้รับการตอบรับในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังมีข้อติติงการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งร่างสัญญาประชาคมสามารถทำเป็นรูปธรรมได้โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ร่างสัญญาประชาคมที่มาจากความคิดเห็นที่สร้างสรรค์จากประชาชนและนักการเมือง และส่วนที่แยกออกเป็น 278 ประเด็น ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จะสามารถสะท้อนสู่ความเป็นบ้านเมืองที่เดินหน้าด้วยความรัก ความสามัคคีปรองดองต่อไป

"สำหรับบทบาทของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อความสามัคคีปรองดองเป็นเพียงเรื่องหนึ่งเท่านั้น หากจะให้เกิดความสามัคคีปรองดองจริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องและต้องร่วมมือกัน ทุกคนต้องมีจิตสำนึกที่จะต้องช่วยกันลดความขัดแย้ง จนถึงวันนี้ผมรู้สึกพอใจที่ประชาชนและนักการเมืองให้ความคิดเห็นมา ส่วนจะมีใครปฏิเสธผมยังไม่เห็น แต่จะรับได้มากหรือน้อยถือว่าเป็นมุมมองแต่ละคน แต่ภาพที่ผ่านมา 3-4 เดือน ความขัดแย้งทุกอย่างเบาลงไปมาก และคงมีกิจกรรมหลายอย่างที่ออกมาเพื่อส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ โดยทุกสิ่งขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะปฏิบัติตามร่างสัญญาประชาคม ที่พยายามเขียนเพื่อสร้างจิตสำนึกของคนไทยทุกคน ให้ร่วมมือสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวอีกว่า ร่างสัญญาประชาคมไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลบังคับใช้ เป็นเพียงการกระตุ้นจิตสำนึกคนให้เห็นร่วมกัน นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ซึ่งหากทำเป็นกฎหมายแล้วบังคับใช้ เชื่อว่าประชาชนจะไม่รับไปปฏิบัติ แต่หากทำให้กลางๆ เชื่อว่าประชาชนจะยอมรับได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เลือกตั้ง-ลากตั้ง

Posted: 19 Jul 2017 10:11 PM PDT

เลือกตั้งบ่ทันตั้ง
สิ ลากตั้งมารอตรึม
แบโผก็พำพึม
สะพรึ่บพร้อมสิลายพราง

เลิศสุด ณ ยุทธศาสตร์
และปลื้มชาติจะรางชาง
เห็นที่และเห็นทาง
ขจัดทุกข์อนาทร

เลือกตั้งบ่ทันตั้ง
ก็ลากตั้งรอตัดตอน
ตัดสิทธิราษฎร
สิมิบเม้มในกำมือ

หลอกโลกมิอายโลก
และอวดโลกจะอออือ
ก๊กก๊วนสิกิ้งกือ
และลิ่วล้อก็เต่าแลน

ลากตั้งสิรีบตั้ง
สถาปน์ทัพเป็นตัวแทน
แดกด้าวและกินแดน
สิแดกด่วนและอ้วนดี

สองทศวรรษวาด
สิเพื่อชาติประชาชี
เพื่อผองกระฎุมพี
รึพรรคพวกสิ..เพียวเพียว ??

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พงศ์เทพ ย้ำ 'ศาลฎีกาฯ นักการเมือง' จำเป็นส่งคำร้อง ยิ่งลักษณ์ ตีความ เพื่อความยุติธรรม

Posted: 19 Jul 2017 10:09 PM PDT

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ย้ำ 'ศาลฎีกาฯนักการเมือง' จำเป็นส่งคำร้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม 

แฟ้มภาพ ประชาไท

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า เข้าใจว่าเป็นการพูดถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งมีมาตรา 5 วรรค 1 กำหนดวิธีการพิจารณาของศาลใช้กรอบอย่างไร ซึ่งตามกรอบกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ใช้อยู่ในขณะนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 บอกว่าวิธีพิจารณาคดีตามมาตรา 5 วรรค 1 ให้ศาลยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลักในการพิจารณา แต่ไปเปิดกว้างว่า และอาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร คือให้ดุลพินิจศาลกว้างมากว่าจะไต่สวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอย่างไร ให้เป็นไปตามที่ศาลเห็นสมควร

"แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 วางหลักเรื่องนี้ต่างจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 235 วรรค 6 ระบุการพิจารณาของศาลให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา แต่ในส่วนไต่สวนเพิ่มเติม เปลี่ยนมาใช้คำว่าและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและหลักฐานพยานเพิ่มเติมได้ จะเห็นได้ว่ากรอบอำนาจในการที่ศาลจะไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมีกรอบเข้ามา ไม่ได้เป็นว่าตามที่ศาลเห็นสมควรแล้ว ซึ่งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมต้องทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายโจทย์ฝ่ายเดียว กรอบตรงนี้แตกต่างกัน" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว 

พงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้คดีโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2558 อัยการเพิ่มเติมพยานบุคคล พยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รายงานคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดโดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ของกระทรวงการคลัง หรือสำนวนคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ของ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนคดีในชั้น ป.ป.ช. เลย จำเลยก็โต้แย้งคัดค้าน แต่ศาลใช้มาตรา 5 วรรค 1 ของกฎหมายวิธิพิจารณาคดีอาญา ซึ่งใช้กันมาเป็นสิบปีแล้ว บอกว่า ตามมาตรา 5 วรรค 1 ให้อำนาจศาล ซึ่งศาลรับเอกสารเหล่านี้ และรับจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าวเข้ามาเป็นพยาน 

พงศ์เทพ กล่าวว่า ในการตัดสินคดี ถ้าพยานหลักฐานเหล่านั้นเข้ามาในคดีได้ ศาลก็ใช้หลักฐานเหล่านั้นในการพิจารณาคดีได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจำเลยยื่นคัดค้านมาตรา 5 วรรค 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อจำเลยมีการยื่นลักษณะนี้ ตามมาตรา 212 วรรค 1 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลฎีกาส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนี้ศาลฎีกาพิจารณาคดีต่อไปได้ แต่ต้องรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยมาตรา 5 วรรค 1 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าวินิจฉัยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็นัดวินิจฉัยพยานหลักฐานต่างๆ ที่อัยการขอเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าบอกขัดรัฐธรรมนูญศาลต้องกลับไปดูว่า การที่ศาลรับพยานหลักฐานเหล่านี้เข้ามาทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องตัดพยานหลักฐานเหล่านี้ออก นำมาพิจารณาคดีไม่ได้

"เมื่อตามรัฐธรรมนูญระบุไม่ได้ให้ศาลใช้ดุลพินิจ และมีการโต้แย้งมาพร้อมด้วยเหตุผล และกรณีนี้ไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไว้ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนให้ต้องทำอย่างไร ในการต้องส่งเรื่องขอความเห็นไป และเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการประวิงเวลา ซึ่งการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้คดีช้าอะไร เพราะการพิจารณาคดีก็ดำเนินการต่อไปได้ ถ้าศาลส่งไปเร็วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยได้เร็ว" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์และ Voice TV

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกา พิพากษากลับ จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีจตุพรปราศรัยว่าอภิสิทธิ์เป็นฆาตกร

Posted: 19 Jul 2017 09:55 PM PDT

ศาลฎีกา พิพากษากลับให้จำคุก ประธาน นปช. 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 วัน ในคดีหมิ่นประมาทอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งฆ่าประชาชน เมื่อปี 2552

20 ก.ค. 2560 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332

โดนนายอภิสิทธิ์ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ระบุว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 นายจตุพร จำเลยได้ปราศรัยด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนจำนวนกว่าหมื่นคน ใส่ความทำนองว่ารัฐบาลนายอภิสิทธ์เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม รวมทั้งกล่าวหาว่า โจทก์เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จากประชาชนที่ได้ยินได้ฟังการปราศรัยของจำเลย เหตุเกิดที่วัดไผ่เขียว แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. ซึ่งนายจตุพร จำเลยให้การปฏิเสธ

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าทางนำสืบรับได้ว่าเป็นกรณีที่ได้มีการปราศรัย แถลงข่าว วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการตอบโต้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมานายอภิสิทธิ์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุที่นำมาสู่การกล่าวหมิ่นประมาท ที่ไม่ใช่เพียงการโต้ตอบทางการเมือง และมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2557 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากรูปคดีมีเหตุผลที่ทำให้นายจตุพร จำเลย เชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุในเรื่องที่ได้กล่าวถึงจริง ซึ่งการกล่าวของจำเลยเป็นการปกป้องตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมานายอภิสิทธิ์ โจทก์ก็ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฎีกาคดีอีกและศาลก็ได้นัดอ่านคำพิพากษาฎีกาในวันนี้ ปรากฎว่า ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุกนายจตุพร พรหมพันธุ์ 1 ปี ไม่รอลงอาญา และให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 วัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายวิญญัติ' จี้ 'ดีเอสไอ' ส่งความเห็นคดีร่วมกันเป็นกบฏของ 'กปปส.' ชี้ 3 ปีไม่คืบ

Posted: 19 Jul 2017 09:48 PM PDT

สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เร่งรัด 'ดีเอสไอ' ส่งความเห็นคดีร่วมกันเป็นกบฏของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และกปปส. ชี้ล่าช้าเป็นเวลากว่า 3 ปี แล้ว

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า เวลาประมาณ 10:00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามและเร่งรัดให้การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่ 261/2556 ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับพวก รวม 58 คน เป็นผู้ต้องหาฐานความผิด ร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นรวม 9 ข้อหา กรณีที่มีการชุมนุมทางการเมืองปิดสถานที่ราชการ ในช่วงปี 2556 ถึงปี 2557 โดยมี ทัชชกร อรรณพเพ็ชร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง

วิญญัติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากตนในฐานะที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีพิเศษที่ 261/2556 ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2556-2557 โดยได้ยื่นหนังสือทวงถามการสั่งคดีนี้กับอัยการสูงสุด (อสส.) 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้มีหนังสือแจ้งเตือนถึงอธิบดีดีเอสไอในฐานะผู้บังคับบัญชาให้เร่งส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม โดยมีใจความสำคัญว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ต้องหาทั้ง 30 คน มีพฤติการณ์ประวิงคดีโดยการขอเลื่อนการส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2558 ถึงวันที่ 16 พ.ค. 2560 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการรวบรวมความเห็นของพยานดังที่ทนายผู้ต้องหาทั้ง 30 คนกล่าวอ้าง

วิญญัติ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงขอให้ดีเอสไอแจ้งผู้ต้องหาจำนวนดังกล่าว และกำชับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ว่าหากผู้ต้องหาทั้ง 30 คน ประสงค์จะส่งความเห็นของพยานเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณา ก็ขอให้ส่งความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะถือว่าผู้ต้องหาจำนวนดังกล่าว ไม่ประสงค์จะส่งความเห็น หากมีอะไรขัดข้องก็ขอให้แจ้งให้ทราบด้วย ซึ่งพนักงานอัยการได้กำชับพนักงานสอวบสวนคดีพิเศษให้สอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน

คดีนี้ดีเอสไอได้รับตัวผู้ต้องหาซึ่งมีนายสุเทพ กับพวก รวม 58 คน ไว้เป็นผู้ต้องหา และมีการสั่งฟ้องคดีไปที่อัยการแล้ว กระทั่งพนักงานอัยการได้มีการฟ้องคดี 4 ผู้ต้องหาต่อศาล

"อย่างไรก็ตาม เกิดข้อเท็จจริงว่ามีผู้ต้องหาบางรายที่ยังไม่ถูกฟ้องไปนั่งฟังการพิจารณาและอาจจะเข้าไปยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและกระบวนการพิจารณาที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นมีความล่าช้าเป็นเวลากว่า 3 ปี การขอความเป็นธรรมเป็นเวลาที่ยืดยาว ไม่ได้มีการเร่งรัดอย่างคดีอื่นๆที่ดีเอสไอได้ทำ พนักงานอัยการจึงมีหนังสือตอบกลับมาทางผมว่าให้เตือนอธิบดีดีเอสไอดังกล่าว" นายวิญญัติ กล่าว

นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่าขอตั้งข้อสังเกตว่าในเวลา 1 ปีกว่า ๆ ที่อัยการยังสอบเพิ่มเติม ซึ่งการสั่งสอบเพิ่มเติมนั้น ซึ่งเป็นการสอบเพิ่มเติมหลังจากที่ได้รับการขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหา ซึ่งที่จริงแล้วอัยการได้มีการสั่งฟ้องไปหมดแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีกระบวนการนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้อง ไม่ทราบว่าติดขัดเรื่องอะไร เรื่องนี้อาจทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จึงขอให้ดีเอสไอเร่งส่งความเห็นในเวลาดังกล่าว โดยตนจะติดตามต่อเนื่องซึ่ง 30 วันที่ว่าก็คงไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้ หากพนักงานสอบสวนดีเอสไอปล่อยปละละเลยหรือนิ่งเฉยก็อาจจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน ทัชชกร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ ในฐานะผู้รับเรื่อง กล่าวว่า หลังจากรับเรื่องแล้ว ก็จะประมวลข้อเท็จจริง ก่อนเสนอให้อธิบดีดีเอสไอได้สั่งการต่อไป 

ที่มา : มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอประทีป' เตือนแก้ ก.ม.บัตรทอง แยกเงินเดือน ทำให้ รพ.ชุมชน-คลินิกเอกชนใน กทม. ลำบาก

Posted: 19 Jul 2017 08:45 PM PDT

อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. เตือนกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าแก้ พ.ร.บ. บัตรทอง แยกเงินเดือนจะทำให้คนอีสานและคนยากจนในกรุงเทพฯ ที่ใช้บัตรทองเดือดร้อน

20 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด และอดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจากคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติและออกเป็นกฎหมายใหม่บังคับใช้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2560 แม้จะมีกระแสความวิตกของประชาชนที่ต้องพึ่งระบบบัตรทอง และเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แพทย์ชนบท อดีตผู้บริหารและนักวิชาการสาธารณสุขว่า เป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ที่หมกเม็ดมีการเพิ่มเติมสัดส่วนตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขให้มีเสียงมากขึ้นในโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีอำนาจในการเพิ่มหรือลดสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการร่วมจ่ายของประชาชนในอนาคต การไม่เพิ่มความชัดเจนในการจัดซื้อยาและวัคซีนรวม รวมทั้งมีประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายบริการสาธารณสุขที่หน่วยบริการทั่วประเทศจะได้รับ ซึ่งจะกระทบต่อ รพ.ขนาดเล็กในภาคอีสานและคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ อาจถึงกับต้องถอนตัวออกจากระบบบัตรทองของ สปสช. ประชาชน คนยากคนจนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ยากขึ้น ทำให้ระบบ 30 บาทในอนาคตอยู่ในอันตรายได้ เป็นประเด็นเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มช่องว่างในสังคม และจะเป็นประเด็นหาเสียงของกลุ่มหรือพรรคการเมืองในเวทีเลือกตั้งข้างหน้าได้  

อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.บัตรทองในครั้งนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะนอกจากไม่ได้แก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการทั้ง 2 คณะที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา และ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นประธานแล้ว กลับมีการเพิ่มอีกหลายประเด็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งนอกเหนือจากคำสั่งที่หัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาเมื่อกลางปี 2559 ทำให้การบริหารกองทุนบัตรทองของ สปสช.และหน่วยบริการในระบบของกระทรวงสาธารณสุขสามารถเดินหน้าได้เป็นอย่างดี ประเด็นที่เพิ่มเติมอาทิเช่น การแยกเงินเดือนของบุคคลากรของหน่วยบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวโดยไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม หรือไม่ได้ใช้ข้อมูลผลการศึกษาที่มีอยู่แล้วมาประกอบการตัดสินใจแก้ พ.ร.บ.

ดังนั้นถ้า รมว.สาธารณสุขยังดึงดันให้มีการแยกเงินเดือนจะส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการในภาคอีสาน งบประมาณเหมาจ่ายจะลดลงทันทีกว่า 3,000 ล้านบาท และหน่วยบริการขนาดเล็กของรัฐ เช่น รพ.ชุมชน รพ.สต.นับหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นของเอกชนในระบบของ สปสช. กว่า 200 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยลงกว่า 1,400 ล้านบาท อาจทำให้หน่วยบริการเหล่านี้ต้องลดขีดความสามารถในการให้บริการหรือปิดตัวเองถอนออกจากระบบบัตรทองได้ เงินบัตรทองจะเทไปที่ภาคกลางและ รพ.ขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพมากอยู่แล้ว เพราะมีหมอ พยาบาลมาก และมีแหล่งรายได้อื่น เช่น รายได้จากข้าราชการ ประกันสังคม หรือประกันเอกชน ระบบบริการสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพของรัฐจะขัดแย้ง ปั่นป่วน และอ่อนแอลง ส่งผลเป็นการส่งต่อคนไข้ที่ยากจนให้ไปพึ่ง รพ.เอกชนมากขึ้น

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า การแก้ พ.ร.บ.เพื่อแยกเงินเดือนช่วยแก้ไขปัญหาของ รพ.ขนาดใหญ่ในภาคกลางบางแห่งได้ แต่จะกระทบและเพิ่มปัญหาให้กับ รพ.ชุมชน และ รพ.สต.ทั่วประเทศนับหมื่นแห่ง โดยเฉพาะในภาคอีสานจะถูกกระทบหนัก รวมทั้งคลินิกเอกชนกว่าสองร้อยแห่งใน กทม. อาจต้องปิดตัวแยกออกจากระบบบัตรทอง เป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงกับรัฐบาลและประชาชนสูง เพราะขาดความรอบรู้ ไม่ใช้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ ไม่เปิดให้มีการถกเถียงอย่างเพียงพอเพื่อหาข้อสรุปยุติจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าทำนองยิ่งแก้ พ.ร.บ.จะยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความกังวลว่าคนจนจะลำบากมากขึ้นในอนาคต เพิ่มความขัดแย้งภายในสังคมมากขึ้น ทำให้ระบบบริการสาธารณสุขของรัฐและการบริหารกองทุนของ สปสช. อ่อนแอลง ส่งผลต่อคนไข้ที่ยากจนและคนชั้นกลางต้องไปพึ่งบริการสาธารณสุขของ รพ.เอกชนที่มีราคาแพงมากขึ้น

"ถ้าท่านรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.บัตรทองจริง และมุ่งประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มมากขึ้นตามที่กล่าวอ้าง ก็ควรแก้เฉพาะประเด็นในคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ใช้อำนาจตาม ม.44 และเพิ่มทำให้ชัดเจนขึ้นในประเด็นเรื่องการจัดซื้อยาและวัคซีนที่จำเป็นต้องจัดซื้อรวม ก็น่าจะเพียงพอแล้ว" นพ.ประทีป กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น