โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผู้โหวตกับเพจประชาไท ส่วนใหญ่หนุน 'กองทัพปฏิรูป' ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

Posted: 12 Jul 2017 11:30 AM PDT

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ประชาไท' เปิดโหวตปม 'ปฏิรูปกองทัพ' และ 'การซื้อเครืองบินขับไล่' พบส่วนใหญ่ตอบ เห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพแต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และไม่เห็นด้วยกับการใช้เงิน 8.8 พันล้าน ซื้อเครืองบินขับไล่

12 ก.ค. 2560 จากเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์แฟนเพจเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ จนภายหลัง ทั้งโฆษกกองทัพบก หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาโต้ว่า กองทัพปฏิรูปตัวเองมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ค.60) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ประชาไท Prachatai.com' ได้ชวนแฟนเพจและผู้สนใจร่วมตอบคำถามที่ว่า "ท่านคิดว่า ควรมีการ "ปฏิรูปกองทัพ" เหมือนองค์กรอื่นๆ ด้วยหรือไม่?" ปรากฎว่ามีผู้ตอบควรปฏิรูป แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน มากที่สุดประมาณ 3.1 พันโหวต รองลงมาเห็นว่า ควรปฏิรูปตอนนี้เลย ประมาณ 300 โหวต ขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพ เพราะกองทัพปฏิรูปตัวเองมาโดยตลอดอยู่แล้วมี 45 โหวต พร้อมทั้งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบโหวตประมาณ 400 ความคิดเห็น

ขณะที่วานนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ T-50TH ในระยะที่ 2  จำนวน 8 เครื่อง เพื่อให้ครบ 12 เครื่อง วงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาทเศษ งบประมาณผูกพัน 3 ปี ให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งมีการอนุมัติก่อนหน้านี้แล้ว กองทัพอากาศจัดเตรียมงบประมาณไว้แล้วนั้น

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ประชาไท Prachatai.com' ได้ชวนแฟนเพจและผู้สนใจร่วมตอบคำถามที่ว่า "ท่านเห็นด้วย กับการให้ ครม. จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ อีก 8 ลำ มูลค่า 8.8 พันล้านบาท ในขณะนี้หรือไม่?" ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบไม่เห็นด้วยประมาณ 3.1 พันโหวต โดยมีผู้เห็นด้วย 180 โหวต พร้อมกันนี้มีการร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบการโหวตกว่า 1,500 ความคิดเห็นด้วยกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์นำถก 'กก.เตรียมการปฏิรูป' กำหนดอนาคตเพื่อพ้น 'กับดักรายได้ปานกลาง'

Posted: 12 Jul 2017 11:01 AM PDT

ประยุทธ์ นั่งประธานนำถก คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กำหนดอนาคต เพื่อให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งวิธีบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายให้สากล โดยคำนึงถึงอัตตลักษณ์ความเป็นไทย เสนอ 7 วาระสำคัญ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

12 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (12 ก.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศมีหลักการสำคัญที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปต้องทำให้เกิดขึ้นตามห้วงเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลงานผลสัมฤทธิ์ปรากฏตามห้วงเวลาที่จะต้องเกิดขึ้นทุกปี และทุก ๆ 5 ปี และต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีก 5 แผน ในระยะ 20 ปี คือแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ถึง 15 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหาข้อสรุปออกมาให้ได้ ว่าทำอย่างไรจะสอดคล้องกันทั้งหมด โดยเมื่อมีการปฏิรูปก็จะต้องมีแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และกำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า ในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวาระของสหประชาชาติ ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการในทั้ง 11 เป้าประสงค์ ซึ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินการให้ประสานสอดคล้องกันให้ได้ทั้งหมด

โดย ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมมีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการกำหนดอนาคต เพื่อให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งวิธีบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายให้สากล โดยคำนึงถึงอัตตลักษณ์ความเป็นไทย  จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจกับกฎหมายให้มากขึ้น อย่ามองว่ารัฐบาลออกกฏหมายมาเพื่อควบคุม ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะกฏหมายถูกใช้เพื่อสร้างกระบวรการยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม

"ผมย้ำว่า หากออกกฏหมาย เรื่องใด และส่งผลกระทบ ทำให้เกิดปัญหาจะต้องมีมาตรการมารองรับ ไม่ให้เป็นเหมือนอดีตที่ผ่านมา และอย่ามองว่ากฏหมายเป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการจัดระเบียบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น เข้าหมวดหมู่ให้เหลือ 11 วาระ และนำกิจกรรมมาปรับใช้ให้เกิดแผนปฏิรูป ที่ต้องสอดคล้อง กับ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับวางเป็นแนวทางให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะสำเร็จได้ 

"วันนี้รัฐบาลมองเป้าหมายประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทุกวัย จะทำอย่างไรให้คนได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศ ทั้งคนในวันนี้และคนในวันหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้คาดหวัง วันนี้ทุกคนต้องร่วมมือกัน รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องร่วมมือกันในวันนี้ หากขัดแย้งกันในวันนี้ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง เรื่องอะไรต่าง ๆ  แล้วก็ขัดแย้งกันเหมือนเดิม แล้วใครจะรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรี คสช. รับผิดชอบ อย่างไรผมก็ต้องรับอยู่แล้ว แต่ผมก็จะไม่ให้ไปสู่ตรงนั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเสนอทั้งหมด 7 วาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด ที่ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของภาครัฐในวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์  จะสามารถตอบโจทย์ว่าประชาชนได้อะไรนั้นได้อย่างไร 3. ทำอย่างไรที่จะเป็นการปฏิรูปให้รัฐบาลมีความคล่องตัว กระชับมากขึ้น มีการผ่องถ่ายภารกิจที่ไม่จำเป็นออกไปให้ภาคส่วนอื่น 4. การจัดการกำลังคนภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวันนี้มีข้าราชการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่จะมีข้าราชการจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต โดยในอนาคตจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ที่จะทำให้กำลังพลบางส่วนหายไป  และบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นในเรื่องของการรองรับ ในเรื่องของการ Re-skill ในเรื่องของการ Training ราชการ ตลอดจนการคัดกรองคนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกจากระบบโดยที่ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งข้าราชการที่มีประสิทธิภาพนั้นจะทำอย่างไร 5. การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6. การปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล 7. การยกระดับการให้บริการภาคประชาชน ซึ่งใน 7 เรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอที่สำคัญคือจะใช้กลไกประชารัฐดำเนินการใน 7 เรื่องนี้ เพราะเนื่องจากระบบราชการเป็นเรื่องที่การปฏิรูปคงยังไม่สามารถทำขึ้นมาได้โดยตัวเอง จึงจะให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจที่จะทาบทามให้มาร่วมดำเนินการในด้านต่าง ๆ ซึ่งการปฏิรูปใน 7 มิตินี้จะเป็นมิติใหม่ของการปฏิรูปไปสู่ระบบราชการ 4.0 โดยจะเป็นกลไกประชารัฐ ที่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมืออาชีพเข้ามามีส่วนในการปฏิรูป

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมามุ่ยสู่มังคุด เมื่อ 'ประยุทธ์' แนะชาวสวนยางปลูกพืชทดแทน - ชาวสวนมังคุดร้องราคาตกต่ำ

Posted: 12 Jul 2017 09:00 AM PDT

ปัญหาราคายางตกต่ำ 'ประยุทธ์' แนะปลูก 'ทุเรียน-มังคุด' แทน ขณะที่ ชาวสวนมังคุด ร้องราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก ด้านชาวไร่สับปะรดโวยราชการหนุนปลูกใหม่แต่ไร้ตลาดรองรับ พร้อมบทเรียนจาก 'หมามุ่ย' ปลูกทดแทน แต่ก็เผชิญปัญหา

แฟ้มภาพ (ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

12 ก.ค. 2560 จากกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยวานนี้ (11 ก.ค.60) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของไทยคือ ยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้ 

"ทำไมไม่ตัดยางแล้วปลูกผลไม้อื่นบ้างในบางพื้นที่ มันก็จะมีรายได้ตรงนี้ขึ้นมา ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ราคายางก็อยู่แค่นี้ มันไม่มีขึ้นหรอก วันโน้นกับวันนี้คนละเวลากัน โลกมันไม่ใช่แบบเดิมแล้ว โลกมันเปลี่ยนแล้ว อย่าไปคิดแบบเต่าล้านปีกันเลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ชาวสวนมังคุด ร้องราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก

ทั้งนี้ การปลูกพืชทดแทนนั้น นอกจากต้องใช้เวลาในการปลูกเพื่อรอรับผลผลิตแล้ว ชื่อหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้ปลูกทำแทนคือ 'มังคุด' โดยในวันเดียวกัน ช่อง 8 และมติชนออนไลน์ รายงานว่า 11 ก.ค.60 ธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาฯ ได้เข้าพบ วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอให้แก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ หลังราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเป็นราคาไม่คุ้มต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด ที่ศาลา 100 ปี ตราดรำลึก หน้าศาลากลางจังหวัดตราด เกษตรกรชาวสวนมังคุด ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ดังกล่าวเช่นกัน

โดยเนื้อหาของหนังสือ ระบุถึงกรณีที่จังหวัดได้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ โดยจะมีการเปิดจุดรวบรวมมังคุดของเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด แต่ในวันที่ 8 – 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เกษตรกรนำมังคุดไปจำหน่าย ได้เพียงประมาณกิโลกรัมละ 6 – 15 บาท

ทางสภาเกษตรกร จึงเป็นตัวแทนเกษตรกรในการเข้ายื่นหนังสือ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี อาทิ ขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อแก้ปัญหาผลไม้จังหวัดจันทบุรี ระยะเร่งด่วนและระยะยาวแบบมีส่วนร่วม ขอให้จังหวัดประกันราคามังคุดคุณภาพขั้นต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ส่วนมังคุดตกไซด์ กิโลกรัมละ 20 บาท และให้เร่งรัดการจัดสร้างห้องเย็นขนาด 5 พันตัน และ โรงงานแปรรูปผลไม้ต่อเนื่อง รองรับผลผลิตล้นตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าทางการเกษตร

โดยขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาราคามังคุดตกต่ำเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

เบื้องต้นทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ยืนยันว่าทางจังหวัดกำลังดำเนินการในการหาแนวทางการแก้ไขให้กับเกษตรกร แต่ทางเกษตรกรต้องช่วยกันผลิตมังคุดให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับมังคุดที่มีอยู่ทั่วไป อีกทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไปด้วย

ส่วนที่จังหวัดตราด เกษตรกรชาวสวนมังคุด จังหวัดตราด กว่า 30 คน รวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ไขราคามังคุดตกต่ำ ที่ล่าสุดเหลือกิโลกรัมละ 6 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาที่จำหน่ายได้ ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป โดยมี นายประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รับฟังปัญหา ร่วมกับเกษตรจังหวัดตราด พาณิชย์จังหวัดตราด และสหกรณ์จังหวัดตราด

ตัวแทน เกษตรกรชาวสวนมังคุด อำเภอเขาสมิง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดเหตุที่ทำให้ราคามังคุดตกต่ำ ในขณะนี้ เกิดจากปัญหาล้ง (นักธุรกิจ) ที่ฉวยโอกาส ในช่วงวันหยุดเข้าพรรษา โดยอ้าง ว่าไม่มีแรงงานคัดแยกมังคุดที่มีผลผลิตจำนวนมาก ตลาดปลายทางตัน กระจายผลผลิตไม่ได้ เพื่อกดราคามังคุดลง ซึ่งครั้งล่าสุด ที่ชาวสวนนำมังคุดไปจำหน่ายเหลือกิโลกรัมละ 6 – 10 บาท ถือว่า เป็นราคาที่ต่ำมาก ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป และ ค่าจ้างคนเก็บมังคุด ที่ต้องจ้างคนเก็บกิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนมังคุดระบุ ว่า ราคาที่ชาวสวนอยู่ได้ และ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คือ ราคากิโลกรัมละ 20 – 30 บาท

บทเรียนจาก 'หมามุ่ย' ปลูกทดแทน แต่ขายไม่ได้

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป พล.อ.ปะยุทธ์ เคยแนะนำการปลูกพืชทดแทนเช่นกัน เมื่อครั้งที่มีปัญหาราคาข้าว 8 ก.ค.58 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้แนะนำชาวนา ว่า "ขณะเดียวกันวันนี้เราขายหมามุ่ยได้ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆ ราคาได้กลายเป็นก.ก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท แต่เราก็ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธีเพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็งต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมารายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด"

ต่อมา 14 ม.ค.59  ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มีนายสุนทร ลำงาม อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 ม. 9 ต.คำโพน อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ และเพื่อนเกษตรกรอีก 3 คน ได้เข้าพบผู้สื่อข่าวไทยรัฐเพื่อร้องทุกข์ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ยที่พวกตนได้ปลูกทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้หมามุ่ยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดรองรับ กล่าวคือปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวอนให้นายกฯ หรือรัฐบาลหาตลาดให้ ตามที่เคยแนะนำเกษตรกรไว้

โวยราชการหนุนปลูกสับปะรดพันธุ์ใหม่แต่ไร้ตลาดรองรับ

วันนี้ (12 ก.ค.60) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า สมจิต งุ่ยไก่ แกนนำกลุ่มเกษตรกร ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์เอ็มดี ทู สำหรับรับประทานผลสด หลังจากหน่วยงานราชการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อทดแทนผลผลิตสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีราคาตกต่ำ และผลผลิตล้นตลาด และที่ผ่านมามีการสนับสนุนหน่อพันธุ์ ที่จัดซื้อหน่อละ 30 บาท เพื่อปลูกในแปลงสาธิตตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนั้น ในอนาคตมีโครงการจะใช้งบประมาณในปี 2561 จัดซื้อหน่ออีก 13 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด

แต่ปรากฏว่าเมื่อผลผลิตสับปะรด เอ็มดี ทู ออกสู่ท้องตลาดเกษตรกรไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เนื่องจากไม่มีการจัดหาตลาดรับซื้อไว้ล่วงหน้า ประกอบกับรสชาติไม่ได้เป็นไปตามสรรพคุณที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ทำให้ไม่ได้ความสนใจจากผู้บริโภค ล่าสุดชาวไร่สับปะรดจะรวมตัวเพื่อนำผลผลิตไปแจกฟรีที่บริเวณริมถนนเพชรเกษม เพื่อประจานความล้มเหลว และแจ้งยุติการปลูกสับปะรดพันธุ์ดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาสื่อสาธารณะ: อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ประชาธิปไตยทั้งในจอและหลังจอ

Posted: 12 Jul 2017 08:01 AM PDT

'อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล' ระบุ ประชาธิปไตยสื่อสาธารณะต้องมีทั้งในจอและหลังจอ เมื่อถูกกำกับควรกล้าพูดแทนสื่ออื่น ชี้ พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ไม่อยู่ใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่เป็นมาตราฐานเดียวกัน เสนอ archive และสตูดิโอที่สาธารณะเข้าถึงได้

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล: รูปจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum "วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ภาพในสังคมโลกว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง โดยเขากล่าวว่า โลกไปถึงขนาดที่ว่าสถานีโทรทัศน์สาธารณะในคาบสมุทรอาหรับถูกประเทศเพื่อนบ้านกดดันว่าจะปิดน่านฟ้าและประเทศ ไม่ให้ขนสินค้าต่างๆ เข้าออกถ้าไม่ยอมปิดสถานีข่าวอัลจาซีรา น่าสนใจว่าสถานีข่าวสถานีหนึ่งทำให้ทั้งคาบสมุทรนั้นปั่นปวนได้แค่ไหน ซึ่งสุดท้ายไปกดดันรัฐบาลการ์ตาให้ปิดสถานี ไม่เช่นนั้นจะแซงชั่น

อาทิตย์ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ดูอัลจาซีราส่วนหนึ่งในปัจจุบันเขาไม่ได้ดูจากทีวีดาวเทียม เขาดูออนไลน์ ปัจจุบันสื่อเหล่านี้ใช้อินเตอร์เน็ตเสนอข่าวข้ามพรมแดน คนดูทีวีน้อยลงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยสภาพชีวิตประจำวันที่อาจจะอยู่นอกบ้านมากขึ้น แม้จะใช้สื่อโซเชียลแต่ยังเห็นข่าวทีวีจากในอินเตอร์เน็ต เห็นคลิปจากช่องสามบ้าง workpoint บ้าง อมรินทร์บ้าง แต่ไม่ค่อยเห็นของไทยพีบีเอส

เขาเห็นว่า ไทยพีบีเอสทำอยู่แต่ไม่ค่อยถูกแชร์ เมื่อพูดถึงกระบวนการทำเรตติ้ง มีคนตั้งคำถามว่าเรตติ้งน่าเชื่อถือได้ไหม มีคนทำอยู่ไม่กี่บริษัท กระบวนการถูกตั้งคำถามต่างๆ นานา แต่การที่คนจะแชร์หรือไม่แชร์เป็นประชาชนผู้ใช้เป็นคนตัดสิน การที่คลิปข่าวของสถานีปรากฏหรือไม่ปรากฎในโลกออนไลน์มันบอกได้เหมือนกันว่าความนิยมของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องอยู่ตรงไหน

"ผมคาดหวังอย่างหนึ่งกับสื่อสาธารณะ หากเราบอกว่าเป็นสื่อที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ใน พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เช่น มาตรา 7(4) ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน เป็นประเด็นที่มากกว่าในหน้าจอแต่เป็นเรื่องกระบวนการ" อาทิตย์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ประเด็นประชาธิปไตยที่สื่อสาธารณะควรนำเสนอไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวสาร แต่ควรเป็นการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย เช่น ภายในองค์กรของไทพีบีเอสมีลักษณะแบบนี้อยู่อย่างไรบ้าง เพราะพอไปดูในมาตรา 10 "กิจการขององค์การไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน…"

"คำถามก็คือว่า เวลานักข่าวไทยพีบีเอสไปทำข่าวแรงงาน ตัวเขาเป็นแรงงานแบบไหน เป็นแรงงานแบบเดียวกับคนใช้แรงงานที่ปรากฏอยู่ในข่าวหรือไม่ หรือเป็นแรงงานอีกประเภทที่เป็นแรงงานอภิสิทธิ์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายคนละอย่าง ถ้าเริ่มต้นแล้วคนที่อยู่ในข่าวกับคนทำข่าวได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายไม่เท่ากันแล้ว คุณจะคาดหวังความเท่าเทียมกันแค่ไหนจากสิ่งที่คุณนำเสนอ" อาทิตย์กล่าว

เขาตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้องค์กรทำเป็นตัวอย่างได้ว่าเราเป็นคนเท่ากัน และสิ่งนี้เป็นคุณค่าที่ทีวีสาธารณะต้องการนำเสนอ และในแง่องค์กร สหภาพของคนทำงานอยู่ตรงไหนในโครงสร้างขององค์กรบริหาร แม้ในกฎหมายไม่ได้ห้ามเสียทีเดียวในการตั้งสหภาพ แต่เนื่องจากพอมาตรา 10 เขียนแบบนี้ และในโครงสร้างคณะกรรมบริหารไม่ได้บอกว่าตั้งสหภาพขึ้นมาแล้วจะมีเสียงอย่างไรในการบริหารองค์กร คนทำงานจะไปอยู่ตรงไหนในการบริหารงานอันนี้ ถ้ามีความไม่ชอบมาพากลในองค์กรสหภาพจะมีเสียงตรงไหน

"ถ้าตัวองค์กรยังไม่สามารถเป็นตัวอย่างแก่สังคมได้ก็ลำบากเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราควรจะคาดหวังได้กับสื่อสาธารณะมากกว่าตัวเนื้อหาที่ปรากฎบนจอ ให้คนรู้สึกว่าคนทำงานสื่อนี้ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน ให้คนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของกับสื่อนี้ได้จริง ๆ" อาทิตย์กล่าว

เมื่อกล่าวถึงประเด็นการเดินหน้าต่อหลังจากนี้ อาทิตย์กล่าวว่า ถ้าไทยพีบีเอสอยากเป็นสื่อที่มีความโปร่งใส เอาความจริงมาตีแผ่ แล้วไทยพีเอสโปร่งใสกับสาธารณะเพียงใดกัน ทำอย่างไรให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวอย่างและสะท้อนไปที่หน้าจอด้วย เช่นอยากจะชูประเด็นเรื่องแรงงาน ภายในองค์กรเรื่องแรงงานเป็นอย่างไร หรือเรื่องเพศสภาพ ภายในองค์กรความเท่าเทียมเรื่องเพศสภาพการจ้างงานต่างๆ เป็นอย่างไร นอกจากประชาธิปไตยภายในองค์กร ประชาธิปไตยในสังคม ยังมีประชาธิปไตยของการกำกับเนื้อหา การถูกกำกับดูแลจากภายนอก ขึ้นอยู่กับความกล้าของไทยพีบีเอสในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในฐานะที่ไทยพีบีเอสได้รับการคุ้มครองอาจจะมากกว่าสื่ออื่นในการออกมาพูดเรื่องเหล่านี้

"ความกล้านี้ไม่ได้มีความหมายแก่ไทยพีบีเอสเพียงอย่างเดียว แต่มีความหมายกับสื่ออื่นด้วย ประเด็นคือถึงแม้ตอนนี้สังคมจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายถ้าเราจำเป็นต้องพูด แม้การพูดของเราจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ มันก็ต้องพูด เพื่อให้ระยะยาวเราเกิดสิ่งนั้น" เขากล่าว

นอกจากนี้เขายังเสนอเรื่องพื้นที่ของไทยพีบีเอสนั้นเป็นสาธารณะจริงหรือไม่ ทำไมการจะเข้ามาต้องมียามตรวจบัตร รวมไปถึงเขาเสนอให้มี archive ที่สาธารณะเข้าถึงได้ มีสตูดิโอที่ช่องต่างๆ ที่เป็นสื่อสาธารณะสามารถเข้ามาใช้ได้ เปิด 24 ชั่วโมง ให้เข้ามาใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างของเอกชน คือ Youtube มีสตูดิโอใหญ่สำหรับ Youtuber เข้ามาใช้ได้ มีอุปกรณ์แบบมืออาชีพ เช่าเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้ได้รายการที่มีคุณภาพ หรือโมเดล Co-working space การแชร์ทรัพยากรนอกเหนือจากเนื้อหา เป็นแพลตฟอร์มให้คนอื่นมาผลิตรายการ ให้คุ้มกับทรัพยากรที่มีอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แองเกลา แมร์เคิล เรียกร้องจีนปล่อยนักโทษการเมือง 'หลิวเสี่ยวโป' รักษาตัวต่างประเทศ

Posted: 12 Jul 2017 07:37 AM PDT

หลิวเสี่ยวโป นักโทษการเมืองผู้ต่อต้านรัฐบาลจีน ซึ่งได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ที่ผ่านมามีการเสนอให้เขาไปรักษาตัวที่ต่างประเทศแต่ทางการจีนก็ไม่อนุญาต เรื่องนี้ทำให้ประชาคมโลกประณามรวมถึงผู้นำเยอรมนีที่เรียกร้องให้ผู้นำจีนมีมนุษยธรรม ทางทนายของหลิวเสี่ยวโปประเมินว่ารัฐบาลจีนน่าจะกลัวหลิวเสี่ยวโปได้พูดคุยกับเพื่อนหรือญาติพี่น้องหรือได้กล่าวอะไรกับประชาคมโลก

(ซ้าย) แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (ขวา) หลิวเสี่ยวโป นักโทษการเมืองชาวจีน (ที่มาของภาพประกอบ: WEF/Wikipedia)

แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีร่วมประณามทางการจีนกรณีที่ไม่ยอมอนุญาตให้ หลิวเสี่ยวโป นักโทษการเมืองผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเดินทางไปรับการรักษาในต่างประเทศหลังจากที่เขาได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งขั้นรุนแรง โดยบอกให้ผู้นำจีน "มีมนุษย์ธรรม" บ้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้นานาชาติได้ประณามจีนในเรื่องนี้แล้ว

หลิวเสี่ยวโปเป็นนักโทษการเมืองในข้อหาเกี่ยวข้องกับคำประกาศต่อต้านรัฐบาลจีนรวมถึงเคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาได้รับการตรวจบว่าเป็นมะเร็งระยะหลังตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ทางการจีนก็เพิ่งประกาศว่าจะมีการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลทางการแพทย์เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ปีนี้

อย่างไรก็ตามแพทย์จากสหรัฐฯ และเยอรมนีบอกว่าเขาควรจะถูกส่งตัวไปรับการรักษาในต่างประเทศและพร้อมจะนำตัวหลิวเสี่ยวโปกับครอบครัวออกจากจีนทันทีที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากประเทศ แต่ทางการจีนก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวหลิวเสี่ยวโป โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลในจีนบอกว่าหลิวเสี่ยวโปต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินเป็นวันที่ 2 แล้วโดยยังมีคำถามว่าร่างกายเขาพร้อมจะเดินทางหรือไม่ ส่วนแพทย์จากประเทศตะวันตกยืนยันว่าร่างกายหลิวเสี่ยวโปสามารถเดินทางได้

สเตฟเฟน ไซเบิร์ต โฆษกของแมร์เคิลกล่าวแทนแมร์เคิลว่าเธอมองสถานการณ์ของหลิวเสี่ยวโปเป็นเรื่อง "น่าหดหู่" ทำให้แมร์เคิลแสดงความกังวลต่อชะตากรรมของพวกเขาและเรียกร้องให้มีมนุษยธรรมต่อหลิวเสี่ยวโปและครอบครัว

จาเร็ด เกนเซอร์ ทนายความของหลิวเสี่ยวโปที่มาจากสหรัฐฯ เปิดเผยว่าทางการจีนพยายามปิดกั้นไม่ให้หลิวเสี่ยวโปออกจากการคุมขังเพราะกลัวว่าหลิวเสี่ยวโปจะติดต่อกับเพื่อนหรือครอบครัวรวมถึงสื่อสารกับประชาคมโลกได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นช่องทางสุดท้ายที่หลิวเสี่ยวโปจะใช้ประกาศไม่ยอมรับเผด็จการจีน เกนเซอร์บอกอีกว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนไม่เห็นจะต้องมากลัวว่าคนที่กำลังป่วยหนักเจียนตายคนนี้จะพูดอะไร

นอกจากเรื่องการไม่ยอมปล่อยตัวหลิวเสี่ยวโปแล้ว เยอรมนียังประณามจีนในเรื่องที่พวกเขาลอบใช้คลิปวิดีโอที่หมอของเยอรมนีเข้าเยี่ยมหลิวเสี่ยวโปนำมาโฆษณาชวนเชื่อว่าหลิวเสี่ยวโปป่วยหนักเกินกว่าจะส่งไปรักษานอกประเทศได้

ทางการจีนโต้ตอบในเรื่องนี้ว่าพวกเขาไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับ "กิจการภายใน" ของประเทศ สื่อแทบลอยด์ของรัฐบาลจีนยังกล่าวหาว่าประชาคมโลกใช้หลิวเสี่ยวโปเป็น "ตัวประกัน" เพื่อกล่าวโจมตีรัฐบาลจีน "ทำตัวไร้มนุษยธรรม" อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนเองก็มีการเซนเซอร์ตัวเองในเรื่องนี้ด้วยการลบชื่อของหลิวเสี่ยวโปออกจากสำเนาถ้อยแถลงที่พวกเขาเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Liu Xiaobo: Merkel urges China to show humanity to ailing activist, The Guardian, 11-07-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตเลขาฯ สปสช. ห่วงแยกเงินเดือนงบเหมาจ่ายบัตรทอง ทำ รพ.อีสานวิกฤตแน่

Posted: 12 Jul 2017 05:53 AM PDT

'หมอวินัย' ห่วงแยกเงินเดือนงบเหมาจ่ายบัตรทอง ทำ รพ.อีสานวิกฤตแน่ เหตุงบไหลสู่ รพ.ดูแลประชากรน้อย บุคลากร รพ.มาก ขยายความเหลื่อมล้ำ ส่งผลประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษา เผย สปสช.เคยจำลองจัดสรรงบแยกเงินเดือน ตัวเลขงบ รพ.อีสาน ถึงขั้นรับไม่ได้

12 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงข้อเสนอแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า การรวมเงินเดือนในงบเหมาจ่ายภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติน่าจะมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการเสนอของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากรัฐบาลในแต่ละปี สปสช.ได้มีการคำนวณโดยรวมเงินเดือนและค่าแรงของบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าในหน่วยบริการเนื่องจากเป็นหนึ่งในต้นทุนของการบริการ และในการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาพรวมภายหลังจากที่ผ่านการอนุมัติ ส่วนหนึ่งของงบประมาณจะถูกหักตาม พ.ร.บ.เงินเดือน และสำนักงบประมาณจะหักไว้เพื่อส่งไปยังหน่วยงานสำหรับการจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับข้าราชการในหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในทุกปี  

นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่ส่งไปยังโรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่ สปสช.ได้มีการคำนวณหักเงินเดือนด้วยนั้น เงินเดือนดังกล่าวเป็นค่าของตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณเพื่อให้เกิดการกระจายงบประมาณไปยังโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทั่วประเทศ เพื่อดูแลรักษาพยาบาลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินอยู่นี้ หากตัดตัวแปรหักเงินเดือนออกจากการคำนวณกระจายงบเหมาจ่ายรายหัวจะสร้างผลกระทบให้กับหน่วยบริการอย่างมาก รวมทั้งประชาชนในฐานะผู้รับบริการ เนื่องจากจะทำให้โรงพยาบาลที่อยู่ในเขตเมืองที่มีจำนวนประชากรน้อยจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลดูแลประชากรมาก งบประมาณที่ได้รับจะลดน้อยลง

ทั้งนี้จากสถานการณ์เป็นจริงในระบบบริการรักษาพยาบาลปัจจุบัน เมื่อดูพื้นที่ภาคกลางจะพบว่ามีจำนวนหน่วยบริการตั้งอยู่มาก แต่ประชากรกลับมีจำนวนน้อย ขณะที่พื้นที่ภาคอีสานมีจำนวนประชากรมาก แต่จำนวนหน่วยบริการน้อยไม่เพียงพอต่อการบริการ อย่างเช่น จังหวัดสิงห์บุรีมีประชากรประมาณ 2 แสนคน แต่กลับมีโรงพยาบาลรองรับอยู่จำนวนมาก โดยมีโรงพยาบาลขนาด 300 เตียงถึง 2 แห่ง และยังมีโรงพยาบาลชุมชน นั่นหมายถึงจำนวนบุคลากรการแพทย์ด้วย

ขณะที่ภาคอีสานบางอำเภอในบางจังหวัดมีประชากรเทียบเท่ากับประชากรจังหวัดสิงห์บุรีแล้ว อย่างที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ หากไม่นำตัวแปรเงินดือนมาหักจะทำให้โรงพยาบาลในภาคอีสานจะได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับโรงพยาบาลในจังหวัดสิงห์บุรี นั่นหมายถึงงบประมาณที่โรงพยาบาลในภาคอีสานได้รับนั้นลดลงจากขณะนี้ ขณะที่โรงพยาบาลในจังหวัดสิงห์บุรีนอกจากยังคงได้รับการจัดสรรเงินเดือนมากกว่าจาก พ.ร.บ.เงินเดือน ที่ถูกส่งไปก่อนหน้านี้ เพราะจำนวนบุคลากรที่มากกว่าแล้ว ยังได้รับงบเหมาจ่ายเพิ่มขึ้นจากการแก้กฎหมายแยกตัวแปรเงินเดือนนี้    

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่รวมตัวแปรหักเงินเดือนก็เพื่อทำให้โรงพยาบาลที่มีประชากรมาก แต่จำนวนบุคลากรน้อย จะได้มีงบประมาณเพื่อนำไปจ้างบุคลากรและเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพียงพอต่อการให้บริการตามจำนวนประชากร ขณะเดียวกันยังเป็นการจำกัดจำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรมาก แต่จำนวนประชากรน้อย เพื่อไม่ให้มีการขยายโรงพยาบาลและจ้างบุคลากรให้ล้นเพิ่มไปอีก ตัวแปรหักเงินเดือนนี้เป็นการสร้างความสมดุลในการจัดบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะไหลเข้ามารักษาโรงพยาบาลในเมือง ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องขยายบริการเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อผู้มารับบริการ ยิ่งทำให้การบริการกระจุกตัว

"การแยกเงินเดือนที่กำลังถกเถียงในการแก้ไขกฎหมายบัตรทองอยู่นี้ ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณงบเหมาจ่ายรายหัวเท่านั้น ไม่ใช่เงินเดือนจริงๆ ที่ข้าราชการ รพ.สังกัด สธ.ได้รับขณะนี้ เนื่องจากเงินเดือนส่วนนั้นได้มีการจัดสรรไปตั้งแต่แรกและส่งไปยังสำนักงบประมาณเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนที่ได้รับอยู่ขณะนี้แล้ว" อดีตเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า หาก สธ.ยังคงเดินหน้ายกเลิกการใช้ค่าตัวแปรหักเงินเดือนนี้ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพให้กับโรงพยาบาลในสังกัดและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลในภาคอีสานจะประสบปัญหาอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้เคยทำการจำลองตัวเลขการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวโดยไม่ใช้ค่าตัวแปรหักเงินเดือนนี้ ปรากฎว่างบประมาณที่โรงพยาบาลภาคอีสานได้รับเป็นตัวเลขที่น้อยมากจนรับไม่ได้ เพราะงบประมาณจากโรงพยาบาลภาคอีสานจะไหลมาที่ภาคกลางหมด ซึ่งต้องเข้าใจว่า งบเหมาจ่ายรายหัวหากเปรียบก็เหมือนเค้กก้อนเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะตัดแบ่งกันอย่างไรเท่านั้น และการยกเลิกค่าตัวแปรหักเงินเดือนก็ไม่ได้ทำให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่มีอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น เพียงแต่จะเป็นการย้ายงบประมาณจากโรงพยาบาลหนึ่งไปโรงพยาบาลหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่าในที่สุดจะทำให้โรงพยาบาลภาคอีสานเกิดวิกฤตงบประมาณขึ้นและ สธ.เองก็ทราบดีอยู่แล้ว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกกลาโหมเผย 17-20 นี้นัดชี้แจง “ร่างสัญญาประชาคม” กับประชาชน 4 ภูมิภาค

Posted: 12 Jul 2017 03:18 AM PDT

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เผยความคืบหน้าการจัดทำร่างสัญญาประชาคม ตามแนวทางของคณะกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดอง ระบุเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจกับ ปชช. 17-20 ก.ค. นี้ พร้อมเชิญทุกกลุ่มที่เคยมาให้ข้อเสนอร่วมฟัง

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ที่มาภาพจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก โฆษกกระทรวงกลาโหม

12 ก.ค. 2560 แฟนเพจเฟซบุ๊กโฆษกกระทรวงกลาโหม รายงานว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการจัดทำร่างสัญญาประชาคมว่า ขณะนี้ ได้ปรับความเหมาะสมของเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างประสานความพร้อม เพื่อเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ระหว่าง 17 - 20 ก.ค.60 ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลกและนครศรีธรรมราช ตามลำดับ

พล.ต.คงชีพ  กล่าวด้วยว่า การจัดทำ "ร่างสัญญาประชาคม" ฉบับนี้ ได้ดึงความเห็นร่วมที่สอดคล้องและตรงกันของประชาชนในประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดอง จากเวทีการรับฟังทั่วประเทศที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาด้านการปฏิรูปและการปรองดองของคณะกรรมการต่างๆ ที่เคยมีมา เช่น คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งรายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า และคู่มือสันติวิธี สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยพิจารณาถึงทิศทางร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และความสอดคล้องตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

โดยร่างสัญญาประชาคม ได้กล่าวถึง สภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตามสภาพแวดล้อมสังคมโลก ความไม่พร้อมต่อการปรับตัวและการบริหารจัดการที่ไม่สมดุลและเป็นธรรมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเกิดปัญหาต่างๆ ของสังคมตามมาเป็นวงกว้าง …"ร่างสัญญาประชาคม" ที่จัดทำขึ้น มีสาระสำคัญ ถึงความตระหนักร่วมกันต่อปัญหาที่ผ่านมา ความเข้าใจร่วมกันเพื่อการปรับตัวและความจำเป็นที่ทุกคน ต้องร่วมมือร่วมใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง ด้วยคำมั่นต่อกัน ที่เน้นในสำนึกหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ในการสนับสนุน ส่งเสริม เรียนรู้และร่วมมือกันปฏิบัติ โดยยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม หลักศีลธรรมอันดีงามของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยอมรับความแตกต่างทางความคิด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ยึดเอา หลักความถูกต้อง ชอบธรรม ความเสมอภาค ไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม โดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" เป็นภูมิคุ้มกันของสังคมร่วมกัน

พล.ต.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อมูลความเห็นร่วมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่ได้รับจากประชาชนนั้น ถือว่ามีคุณค่ายิ่งต่อการบริหารงานของรัฐบาล และการจัดการร่วมกันเพื่อการปฏิรูปประเทศในทุกมิติต่อไป และเชื่อมั่นว่า การชี้แจง สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวางใน "ร่างสัญญาประชาคม" ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเชื่อมั่นและไว้ใจกันของสังคม ที่จะพัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมและความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง สู่จุดหมายร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุข ด้วยบรรยากาศของการปรองดองสามัคคีกัน

ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า ก่อนที่คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ 3 จะพิจารณาจัดทำร่างสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์ต่อไปและเพื่อให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างความสามัคคีปรองดอง จึงได้จัดให้มีเวทีสาธารณะขึ้นในภูมิภาคต่างๆ และคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อความสามัคคีปรองดอง (คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ 3) จะทำการชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจในรายละเอียดของร่างสัญญาประชาคม ดังนี้

พื้นที่ภาคกลาง ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 (บก.ทภ.1) กทม.

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันอังคารที่ 18 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ สโมสรร่วมเริงไชย กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 (บก.ทภ.2) ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

พื้นที่ภาคเหนือ ในวันพุธที่ 19 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ อาคารกีฬาอเนกประสงค์ ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ กองบัญชาการช่วยรบ ที่ 3 (บชร.3) จังหวัดพิษณุโลก

พื้นที่ภาคใต้ ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ สโมสรรื่นฤดี ค่ายวชิราวุธ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 (บก.ทภ.4) จังหวัดนครศรีธรรมราช

พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวว่า ในการดำเนินการ กอ.รมน.ได้บูรณาการร่วมกันกับทุกๆจังหวัด โดย กอ.รมน.จังหวัดจะเรียนเชิญพี่น้องประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ที่ได้เคยให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะฯ ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นฯ จากทุกจังหวัด รวมเป็นพื้นที่ภูมิภาคละประมาณ 300-500 คน เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงฯ กอ.รมน.จึงขอเรียนเชิญผู้แทนของกลุ่มต่างๆ ที่เคยมาร่วมแสดงความคิดเห็นได้มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังร่างสัญญาประชาคมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาร่างสัญญาประชาคมให้มีความสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนงานรังสิต' ค้านแนวคิด ขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก 55 เป็น 60 ปี

Posted: 12 Jul 2017 02:35 AM PDT

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ยื่นหนังสือค้านการขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก 55 เป็น 60 ปี เสนอให้ฝ่ายรัฐจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเท่ากันทุกฝ่ายในทุกๆ กองทุน พร้อมปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ 

12 ก.ค. 2560 จากกรณีมีการเสนอแนวคิดการขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ของสำนักงานประกันสังคมนั้น ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ค.60) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลา ประมาณ 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านแนวคิดดังกล่าวต่อสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี โดยมี พันธ์เทพ เปาริก หัวหน้าสำนักงานประกันสังคม จ.ปทุมธานี และ ประดิษฐ์ สุรชัย  หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี ออกมารับหนังสือดังกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ยังเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเท่ากันทุกฝ่ายในทุกๆ กองทุน ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้ สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปการบริหารจัดการ และการขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในกองทุนต่างๆ รวมทั้ง ผู้ประกันตนที่รับเงินชราภาพ ต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลใต้สิทธิ พ.ร.บ.ประกันสังคม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวตุรกีหลายแสนประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยม เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง

Posted: 12 Jul 2017 02:06 AM PDT

สื่อคอมมอนดรีมส์รายงานว่า ในตุรกีมีการประท้วงใหญ่นำโดยผู้นำพรรคฝ่ายค้านตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ก.ค.) โดยมีผู้เข้าร่วมหลายแสนคน พวกเขาประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ที่พวกเขามองว่ากำลังพยายามรวบอำนาจไว้ในมือตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประธานธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ที่มาภาพจาก rt_erdogan

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ประชาชนนับแสนคนเดินขบวนเป็นระยะทาง 250 ไมล์เข้าสู่กรุงอังการาเมืองหลวงของตุรกีหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนัดเดินขบวนในนาม "การเดินขบวนเพื่อความยุติธรรม" เป็นเวลา 25 วัน ผู้ที่จัดการชุมนุมในครั้งนี้เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคซีเอชพีที่ชื่อ เคมาล คิริกดาโรกลู เริ่มเดินขบวนกับนักการเมืองคนอื่นๆ เพื่อประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมของเออร์โดกัน

คอมมอนดรีมส์ระบุว่าเออร์โดกันจากพรรคเอเคพีเริ่มมีลักษณะการนำแบบเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการพยายามปิดปากสื่อและการสั่งถอดถอนผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพื่อพยายามควบคุมอำนาจตุลาการ นอกจากนี้หลังจากการพยายามก่อรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาทำให้เออร์โดกันเริ่มกวาดล้างคนที่ต่อต้านเขาหนักขึ้นทั้งนักข่าว ข้าราชการ และคนทำงานสายอื่นๆ หลายหมื่นคนต่างก็ถูกจับกุมหรือถูกขับออกจากงาน การกวาดล้างในครั้งนี้ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหภาพยุโรปและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

สิ่งที่ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเออร์โดกันจะพยายามยึดกุมอำนาจในประเทศมากขึ้นไปอีกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยุบระบบรัฐสภาทิ้งและให้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมรัฐบาลได้แม้จะมีผู้เห็นด้วยอ้างว่ามันจะนำประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้นแต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่ามันจะกลายเป็นการทำให้ตุรกีดิ่งลงสู่การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพิ่งชนะการโหวตลงประชามติแบบฉิวเฉียดเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 51 เทียบกับผู้โหวตคัดค้านร้อยละ 48

นอกจากในอังการาแล้วยังมีผู้ชุมนุมที่อิสตันบูลช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย พวกเขาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม และคืนระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ

คิริกดาโรกลูเรียกการเดินขบวนประท้วงในครั้งนี้ว่าเป็น "การปฏิวัติต่อต้านความอยุติธรรม" การเดินขบวนในครั้งนี้ยังเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นเพื่อ "การกำเนิดใหม่" ของประเทศพวกเขา เป็นการทวงถามความยุติธรรมกลับคืนมาและเรียกร้องสัญญาประชาคมแบบใหม่

เรียบเรียงจาก

Hundreds of Thousands Gather in Turkey to 'Revolt Against Injustice', Common Dreams, 01-07-2017

https://www.commondreams.org/news/2017/07/10/hundreds-thousands-gather-turkey-revolt-against-injustice

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Posted: 12 Jul 2017 12:27 AM PDT

"ทำไมไม่ตัดยางแล้วปลูกผลไม้อื่นบ้างในบางพื้นที่ มันก็จะมีรายได้ตรงนี้ขึ้นมา ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ราคายางก็อยู่แค่นี้ มันไม่มีขึ้นหรอก วันโน้นกับวันนี้คนละเวลากัน โลกมันไม่ใช่แบบเดิมแล้ว โลกมันเปลี่ยนแล้ว อย่าไปคิดแบบเต่าล้านปีกันเลย" 
 
กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ, 11 ก.ค. 2560

คนทำงาน มิถุนายน 2560

Posted: 12 Jul 2017 12:19 AM PDT

กวีประชาไท: รักษ์กะลาไทย..........

Posted: 11 Jul 2017 06:10 PM PDT

..........กะลาไทยในฝัน..........จงร่วมกันรักษา
ความสุขใดไม่นำพา..........รักษ์กะลาตลอดกาล..........

กะลาไทยใบนี้เป็นที่รัก
แจ้งประจักษ์กลางใจไทยทั้งผอง
เรารักษากะลาไทยในครรลอง
ความปรองดองดำเนินมาแต่ช้านาน

กะลาไทยใบนี้มีความหลัง
เป็นที่หวังเผ่าไทแผ่ไพศาล
ความเป็นธรรมเที่ยงแท้แต่โบราณ
เป็นเรื่องราวเล่าขานหลายชั่วคน

กะลาไทยใบนี้ที่ห่วงหวง
จากวันเดือนปีล่วงเป็นดอกผล
ธารน้ำใจรินหลั่งทั้งรวยจน
ประชนเป็นเจ้าของครอบครองมา

กะลาไทยใบนี้เป็นที่สุด
โลกมนุษย์แดนสวรรค์เหนือชั้นฟ้า
ต่างชื่นชมโสมนัสในกะลา
ประวัติศาสตร์ศึกษาเป็นสายใย

กะลาไทยใบนี้มีมนต์ขลัง
รวมพลังเริงรื่นชื่นสุกใส
ปวงไพร่ฟ้าเชื่อฟังอย่างตั้งใจ
ความเป็นไทยใต้กะลามานานเนา

กะลาไทยใบนี้มีความหมาย
เราเกิดแก่เจ็บตายแต่ก่อนเก่า
เป็นกะลาที่อาศัยใต้ร่มเงา
มีสุขทุกข์ซึมเศร้าคละเคล้ากัน

กะลาไทยใบนี้เป็นที่พึ่ง
กำเนิดความซาบซึ้งสารขัณฑ์
เป็นที่หลอมรวมใจให้ผูกพัน
เรายึดมั่นในกะลาสถาพร

...............,...,

เป็นกะลาใบเก่าแก่
ความสุขแท้พ่อแม่สอน
ใต้กะลาไม่อาวรณ์
ความวุ่นวายไม่แวะเวียน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น