ประชาไท | Prachatai3.info |
- ตร.เตรียมเรียก 6 นักแสดงรับทราบข้อหา หลังโพสภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อออนไลน์
- โพลเผยชาวอเมริกันส่วนใหญ่อยากแก้ปัญหาเกาหลีเหนือด้วยการทูตมากกว่าใช้กำลัง
- นักวิชาการเสียดายรัฐส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแต่ยังไม่ตรงจุด-เกิดช่องว่างเชิงดิจิทัล
- ศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง ไม่ส่งเรื่องต่อศาล รธน. นัดพิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้
- LGBT กว่า 8 หมื่นแห่ร่วมขบวน Gay Pride ใหญ่สุดในเกาหลีใต้
- ‘ยิ่งชีพ iLaw’ ชี้ ‘ขู่ โม้ โชว์ โกหก’ คือวิธีควบคุมโลกออนไลน์ยุค คสช.
- เลขาฯ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เผยถูกทหารขู่ถึง ร.ร. หลังติงประยุทธ์
- อัยการ จ.ชัยภูมิ ยื่นฟ้อง 15 ชาวหนองบัวระเหว บุกรุกป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.
- TCIJ School: ส่องกระบวนการยุติธรรมผู้ป่วยจิตเภท ‘ไทย-สหรัฐฯ-อิสราเอล-เนเธอร์แลนด์’
- ประชาธิปไตยในการทำงาน: สภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจ
- สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญหา ‘พุทธแบบศาสนา’ และ ‘พุทธแบบปรัชญา’
- เพื่อนต่างคณะขอแลกเปลี่ยน: ข้อสังเกตจากดีเบต “การเฉื่อยชาทางการเมือง” ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ตร.เตรียมเรียก 6 นักแสดงรับทราบข้อหา หลังโพสภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อออนไลน์ Posted: 21 Jul 2017 07:57 AM PDT พล.ต.อ.วิระชัย เตือนดารา ให้ลบภาพ มิเช่นนั้นจะถือมีความผิด - เตรียมเรียก 6 นักแสดงเข้ารับทราบข้อหา หลังพบมีการโพสภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในสื่อออนไลน์ 21 ก.ค. 2560 เว็บไซต์ สวพ.FM91 รายงานว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษาสัญญาบัติ 10 เดินทางมายัง สถานีตำรวจภูธรนนทบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี กับ ดาวิเด โดริโก้ หรือ ดีเจเดย์ ศิริน หอวัง หรือ คริส หอวัง ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ หรือ อ๊อฟ รัชชานนท์ สุประกอบ หรือ กาย นายฌอห์น จินดาโชติ หรือ ฌอห์น และ หรรษา จึงวิวัฒนวงศ์ หรือ นิวเคลีย ดารานักแสดงโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอบแฝงอยู่ในภาพลักษณะเป็นการโฆษณาลงใน Instagram และสื่อทางโซเชียล ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรนนทบุรี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
โพลเผยชาวอเมริกันส่วนใหญ่อยากแก้ปัญหาเกาหลีเหนือด้วยการทูตมากกว่าใช้กำลัง Posted: 21 Jul 2017 07:17 AM PDT กรณีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นถึงกลางปีนี้ ล่าสุดจากการสำรวจของเอ็นบีซีพบว่ากลุ่มตัวอย่างกังวลภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือมากกว่าไอซิส แต่ร้อยละ 59 ยังคงต้องการให้สหรัฐฯ แก้ปัญหาเกาหลีเหนือด้วยวิธีทางการทูตมากกว่าการทหาร ทหารเกาหลีเหนือถ่ายรูปผ่านกระจกเข้ามา ในช่วงที่พลเอกมาร์ติน อี. เดมพ์เซย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลีใต้ เยือนเขตปลอดทหารเมื่อ 11 พฤศจิกายนปี 2555 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Myles Cullen/Wikipedia/Public Domain)
21 ก.ค. 2560 ผลสำรวจโพลล์จากบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นบีซีระบุว่าประชาชนชาวอเมริกันร้อยละ 76 กังวลว่าสหรัฐฯ จะเข้าไปมีส่วนพัวพันกับสงครามใหญ่ๆ อีกในช่วงสี่ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 เมื่อเทียบจากการสำรวจเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เอ็นบีซีเปิดเผยว่าชาวอเมริกันมีความกังวลในเรื่องเกี่ยวกับเกาหลีเหนือมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันร้อยละ 59 บอกว่าพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการข่มขู่ของเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนมากก็ต้องการให้สหรัฐฯ ใช้สันติวิธีในการจัดการปัญหาของเกาหลีเหนือ ผู้ทำแบบสำรวจร้อยละ 59 ระบุว่าพวกเขาอยากให้สหรัฐฯ ใช้วิธีการด้านการทูตมากกว่าด้านการทหารกับเกาหลีเหนือ โดยผู้ที่ตอบเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่ฝักใฝ่พรรคใดและเป็นผู้เอียงข้างพรรคเดโมแครต ผู้ที่เอียงข้างพรรครีพับลิกันจะสนับสนุนการใช้กำลังทหารมากกว่าอยู่ที่ร้อยละ 56 ในรายงานของคอมมอนดรีมส์ระบุว่าความกังวลในเรื่องนี้น่าจะมาจากรายงานเกี่ยวกับความสามารถในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ มีผู้กังวลเกี่ยวกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ (ร้อยละ 41) มากกว่าภัยจากการก่อการร้ายของไอซิส (ร้อยละ 28) หรือจากรัสเซีย (ร้อยละ 18) เอ็นบีซีระบุว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีก็มีเหตุการณ์ที่เกาหลีเหนือทดสอบอาวุธจรวดมิสไซล์หลายครั้งและพยายามยั่วยุสหรัฐฯ ด้วยการทดสอบจรวดข้ามทวีปที่สามารถยิงถึงรัฐอลาสกาได้ ที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์จะพยายามโต้ตอบด้วยการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐฯ ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย. ว่าเขาอยากแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยวิธีทางการทูตแต่คงทำได้ยากมาก อย่างไรก็ตามคอมมอนดรีมส์ระบุว่าในช่วงไม่นานมานี้ทรัมป์เริ่มใช้วิธีขู่เกาหลีเหนือน้อยลงแล้วพยายามหันมากดดันให้จีนคว่ำบาตรเกาหลีเหนือแทน แต่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นิคกิ เฮลีย์ ก็บอกว่าเกาหลีเหนือปิดทางเลือกความเป็นไปได้ที่ใช้วิธีทางการทูตอย่างรวดเร็ว กระนั้นเจมส์ แมตติส รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ก็มองว่าถ้าหากสหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีเกาหลีเหนือก็จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อคลังสรรพาวุธน้อยมากแต่ถ้าหากเกาหลีเหนือโต้ตอบก็อาจจะทำให้เกิดสงครามที่เลวร้ายที่สุดในช่วงชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่โพลล์ของสื่อวอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์ ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าร้อยละ 63 มีความมั่นใจน้อยมากหรือไม่มั่นใจเลยว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะสามารถจัดการความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือได้ ขณะที่ร้อยละ 36 ระบุว่าพวกเขาเชื่อมั่นว่าทรัมป์จะแก้ไขสถานการณ์ได้ ในโพลล์ของวอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์ยังเปิดเผยไปในทางเดียวกันว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ร้อยละ 83 กังวลจะเกิดสงคราม เรียบเรียงจาก As 75 Percent of Americans Fear 'Major War' Under Trump, Most Favor Diplomacy, Common Dreams, 18-07-2017 NBC News Poll: American Fears of War Grow, NBC News, 18-07-2017 Distrust in Trump deepens North Korea concerns (POLL), ABC News, 18-07-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นักวิชาการเสียดายรัฐส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแต่ยังไม่ตรงจุด-เกิดช่องว่างเชิงดิจิทัล Posted: 21 Jul 2017 06:17 AM PDT พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่าแม้รัฐจะส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ตรงจุด อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายครอบคลุม 98% แต่รัฐยังเพิ่มโครงข่ายมีสาย แนะควรส่งเสริมนโยบายกระตุ้นให้เกิดการใช้งานแพ็กเกจเน็ตถูก-เน็ตฟรี ช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ลดช่องว่างเชิงดิจิทัล 21 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ "พินิจอินเทอร์เน็ตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0(?)" ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับสภาวการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตของอินเทอร์เน็ตไทย โดยเฉพาะประเด็นทางนโยบาย โดยพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงนโยบายรัฐในการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นอยู่ โดยเขาเสนอสถิติต่างๆ ประกอบการอธิบาย พัชรสุทธิ์เริ่มจากการแสดงถึงอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย ในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 60 หรือถ้าเทียบจำนวนประชากรจาก 68 ล้านคน เข้าถึงกว่า 40 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราการเข้าถึงเฟซบุ๊กของคนไทยเท่ากับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับประเทศอื่นไทยเป็นประเทศที่เล่นเฟซบุ๊กสูงมาก แต่ประเด็นสำคัญคืออัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเชิงพื้นที่ โดยในกรุงเทพฯ ทุกคนมีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อย เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการเข้าถึง ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้เกิดช่องว่างเชิงดิจิทัล (Digital Divide) หรือโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ชายขอบจริงๆ ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่มาก แม้รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แต่ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้ก็ไม่ได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้โดยตรง จึงต้องไม่ลืมคนกลุ่มนี้ ไม่ควรตื่นเต้นกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องสนใจความเท่าเทียมในการเข้าถึง คำถามคือ แม้รัฐบาลพยายามมีนโยบายออกมา แต่นโยบายนี้แก้ปัญหาถูกจุดหรือเปล่า จากข้อมูลสถิติอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงมาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่มาจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ไร้สาย ตัวเลขจากข้อมูลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปี 2558 ร้อยละ 86.3 ของคนไทยใช้สมาร์ทโฟนแต่ไม่ใช่ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากอินเทอร์เน็ตไร้สาย การเข้าถึงปี 2015 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเพราะในปี 2555 มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในการประมูลคลื่นความถี่นั้นมีเงื่อนไขหนึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตนี้ต้องสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมประชากรถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในสี่ปี ซึ่งจริงๆ เขาสร้างเกินเงื่อนไขไปอีก เพราะการแข่งขันดี ถ้าการแข่งขันดีก็ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับตลาด พัชรสุทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การเข้าถึงมาก แต่นโยบายอาจเน้นไม่ถูกจุด การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐกับการลงทุนของเอกชนเอง เอกชนมีการลงทุนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ความครอบคลุม 98 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แทบจะครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว แต่ยังมีพื้นที่ที่เป็นช่องโหว่ แต่กลับกันนโยบายจากภาครัฐ อันได้แก่ นโยบายเน็ตประชารัฐที่ใช้เงินหลายหมื่นล้านลากสายไฟเบอร์ไปยังหมู่บ้านเป้าหมายเกือบ 25,000 หมู่บ้าน และตั้ง access point ไว้ฟรีหนึ่งจุด รวมถึงโครงการ USO (โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ) 15,000 หมู่บ้าน นั้นอาจไม่ตอบโจทย์ พัชรสุทธิ์อธิบายว่า ตัวโครงข่าย (Network) มี Core Network ลากสายไฟเบอร์ต่อไปยังหมู่บ้านเป็น Feeder Network พอลากสายแล้วต้องกระจายให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึง ตรงนี้คือ Last miles ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ แต่นโยบาย USO หรือนโยบายเน็ตประชารัฐไปเน้นแค่ Feeder Network ทั้งหมดนี้ทำให้นโยบายรัฐดูย้อนแย้ง เพราะโครงข่ายมือถือครอบคลุมอย่างน้อย 98 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ยังออกนโยบายที่มีสายไฟเบอร์และไม่มี Last miles ในการกระจายสู่คนทั้งหมู่บ้าน ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ปัญหาของการไม่เข้าถึงคืออะไร อาจมาจากความต้องการไม่มากพอ หรือศักยภาพในเชิงธุรกิจของพื้นที่นั้นๆ น้อย หรือไม่มีเงินจ่าย การสนับสนุนที่ถูกต้องอาจต้องกระตุ้นตรงจุดที่อุปสงค์ไม่พอ อาจมีนโยบายอื่นที่ส่งเสริมอุปสงค์ หรือสร้างเบสิกแพ็กเกจให้ราคาลดลง หรือวิธีที่ต่างประเทศใช้ เช่น การประมูลให้มีผู้บริการแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตที่ราคาถูกหรือให้ฟรีไปเลยจนกว่าพื้นที่นั้นจะพัฒนาขึ้นมาแล้วมีศักยภาพในเชิงธุรกิจจนไม่ต้องได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป แต่พอไม่มีนโยบายเหล่านั้น เราจึงเห็นแต่การไปเน้นที่อุปทานซึ่งมีมากอยู่แล้ว การเข้าถึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thailand 4.0 แน่นอน แต่การเข้าถึงทำให้เกิดช่องว่างเชิงดิจิทัล ทำให้ความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ต้องไม่ลืมคนที่ยังเข้าไม่ถึง รัฐบาลต้องกลับมาถามตัวเองว่านโยบายที่ทำจำเป็นไหม หรือแก้ปัญหาถูกที่หรือไม่ พัชรสุทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า คลื่นความถี่เรามีมากแต่เราจัดสรรคลื่นความถี่ไปเพียงแค่ 380 MHz แก่กิจการโทรคมนาคม ในปี 2553 ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศชี้ว่า ประเทศอย่างไทยต้องการ 760 MHz ซึ่งเรายังมีคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจอีกมากที่อาจไม่มีการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรต้องเอามาจัดสรร และคลื่นที่มีค่าสูงที่สุดคือคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เป็นความหวังของ 4G ทั่วประเทศ ไม่ต้องลากสายไฟเบอร์ แต่เอาคลื่นความถี่ไปทำ Last miles ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่รัฐแทบไม่ต้องทำอะไร ประมูล แล้วให้เกิดการแข่งขันโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง แต่ต้องมีกฎเกณฑ์ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก ดังนั้นจะแทรกแซงตลาดต้องรู้ว่าปัจจัยใดทำให้เกิดปัญหา พื้นที่ใดไม่มีโครงข่ายครอบคลุม การมีกระทรวงดีอีมาดูแลภาพรวมก็ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่ดูแลเสร็จแล้วต่างคนต่างทำ ตอนนี้มีการซ้ำซ้อนของหน้าที่กันอยู่ และการใช้เงินอย่างคุ้มค่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นโยบายตั้งต้นออกมาดี 'เข้าถึง พร้อมใช้ จ่ายได้' อันนี้ตอบทุกอย่างแล้ว แต่ประเด็นคือเราจะทำให้เป็นจริงอย่างไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง ไม่ส่งเรื่องต่อศาล รธน. นัดพิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้ Posted: 21 Jul 2017 03:25 AM PDT ไต่สวนพยานคดีโครงการจำนำข้าวของ 'ยิ่งลักษณ์' เสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค.นี้ ขณะที่นัดคู่ความแถลงปิดคดีด้วยวาจา 1 ส.ค. พร้อมยื่นแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 15 ส.ค. ศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง ไม่ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาภาพ Banrasdr Photo 21 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้าย ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ระงับยับยั้งโครงการ ที่มีการทุจริตจนรัฐเสียหายกว่า 500,000 ล้านบาท ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากมารอให้กำลังใจ โดยมีกำลังตำรวจสี่กองร้อยมาคอยดูแลรักษาความเรียบร้อย สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ศาลอนุญาตให้ ยิ่งลักษณ์ จำเลย แถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 ส.ค. 2560 เวลา 09.30 น. และอนุญาตให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 15 สิงหาคม หากไม่ยื่นภายในกำหนด ถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงปิดคดี และศาลได้นัดฟังคำพิพากษา วันที่ 25 ส.ค.เวลา 09.00 น. ขณะที่ศาลให้โอกาสอัยการโจทก์ นำพยานบุคคลไต่สวนแล้วถึง 15 ปาก ใช้เวลา 10 นัด และฝ่ายจำเลยไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลา 16 นัด ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายเต็มที่ในการนำพยานบุคคลไต่สวนแล้วตามหลัก เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามหลักกฎหมายแล้ว ดังนั้น ที่จำเลยยื่นขอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบทกฎหมายเรื่องดุลพินิจศาลในการไต่สวนพยาน จึงไม่มีเหตุตามรัฐธรรมนูญฯ ก็ให้ยกคำร้องนั้น รายงานข่าวระบุด้วยว่า เหตุที่ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว ตรงกับสำนวนคดีฟ้อง บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย คดีทุจริตระบายข้าว เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน มีจำนวน 5 คน ที่ร่วมพิจารณาทั้ง 2 สำนวน หลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกจากศาลด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ภายหลังการสืบพยานฝ่ายจำเลยคดีโครงการรับจำนำข้าวกว่า 6 ชั่วโมง โดยยังคงมีมวลชนคอยให้กำลังใจ ส่งเสียงเชียร์ "ยิ่งลักษณ์ สู้ สู้" "รักยิ่งลักษณ์" พร้อมปรบมือ ให้ดอกไม้ และยังคงร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา บริเวณหน้าศาลฯ จากนั้น ยิ่งลักษณ์ กล่าวสั้นๆ ด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า วันนี้คงไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่ขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่มาให้กำลังใจที่ศาลทุกนัด และขอให้ติดตามการแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 ส.ค. นี้แทน ก่อนทักทายมวลชนและเดินทางกลับในทันที ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
LGBT กว่า 8 หมื่นแห่ร่วมขบวน Gay Pride ใหญ่สุดในเกาหลีใต้ Posted: 21 Jul 2017 03:17 AM PDT แม้ทุกปีจะถูกขัดขวางจากกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในเกาหลีใต้ บาทหลวงชี้ LGBT เป็นความผิดบาปต่อศาสนาคริสต์และไม่ควรเปิดเผยตัวในที่สาธารณะ นักวิเคราะห์เผย กลุ่มศาสนาลุกขึ้นมาต้านขบวนเกย์เพื่อรักษาอิทธิพลการเมืองหลังมีข่าวลือเรื่องคอร์รัปชัน สิทธิรักร่วมเพศในแดนโสมขาวยังไม่เป็นที่ยอมรับแม้ไม่ผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2560 ประชาชนหลายหมื่นคนได้เข้าร่วมร่วมเดินขบวนพาเหรดในกรุงโซล เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิเกย์ในเกาหลีใต้ ถึงแม้ในวันดังกล่าวจะมีฝนตก แต่ก็มีการประมาณว่ามีประชาชนเข้าร่วมถึงประมาณ 85,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีประมาณ 50,000 คน และนับเป็น Gay Pride ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ทว่าก็ยังมีชาวคริสเตียนอนุรักษ์นิยมหลายคนที่ออกมาเรียกร้องให้พวกเขาสำนึกในความผิดบาปที่ไปสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้เคร่งศาสนาในเกาหลีใต้เป็นตัวตั้งตัวตีในการขัดขวางขบวนพาเหรดนี้ทุกปี โดยใช้วิธีการจัดการชุมนุมต่อต้านการรักเพศเดียวกันขึ้นพร้อมๆ กัน การปรากฏตัวของพวกเขามีเจตนาเพื่อต่อต้านชนกลุ่มน้อยในเรื่องเพศ ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลครอบงำประชาชน ทำให้ LGBT หลายคนต้องอยู่กับความกลัวว่าจะสักวันจะถูกแบ่งแยกและต้องอยู่กับความโดดเดี่ยว ถึงแม้ว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ แต่สิทธิของเกย์ เลสเบี้ยน และหญิงข้ามเพศ กลับไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะในเชิงการเมือง แม้แต่ประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่าอยู่ฝ่ายซ้ายอย่าง มุน แจอิน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นนักกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ยังเคยกล่าวว่าตนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในระหว่างการโต้วาทีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิเกย์ในเกาหลีใต้กล่าวว่า มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความอดทนของคนต่อ LGBT ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่อายุน้อย และจำนวนคนเข้าร่วมขบวนพาเหรดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการจัดครั้งแรกเมื่อปี 2543 ซึ่งในขณะนั้นมีผู้เข้าร่วมเพียง 50 คนเท่านั้น ทว่า การเติบโตขึ้นของปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้กลุ่มนักบวชโปรเตสแตนท์ในเกาหลีใต้ไม่พอใจ พวกเขามีผู้ติดตามและนับถืออยู่หลายล้านคน อีกทั้งยังมีพลังในการล็อบบี้ทางการเมือง พวกเขามองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นความผิดปรกติทางด้านจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา ในทุกๆ ปี พวกเขายื่นคำร้องต่อผู้มีอำนาจเพื่อไม่ให้อนุญาต LGBT ใช้สถานที่ต่างๆ ในการจัดกิจกรรมประเภทนี้ รวมทั้งยังจัดให้มีการสวดมนต์เสียงดังผ่านลำโพงขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการดึงความสนใจจากขบวนพาเหรดของ LGBT ด้วย พวกเขากล่าวหากลุ่มคนรักเพศเดียวกันเป็นผู้ชอบกระทำชำเราเด็กและสมสู่กับสัตว์ อีกทั้งยังเปลี่ยนกรุงโซลให้เป็น "โซดอม และ กอมเมอร์ราห์" (นครแห่งบาปตามคัมภีร์ไบเบิล) บาทหลวงฮงโฮซู เลขานุการของคณะกรรมการตอบโต้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันเพื่อคริสตจักรเกาหลีใต้ (General of the Homosexuality Countermeasure Council for Korean Churches) กล่าวว่า "เราไม่ต้องการให้พวกเขาแสดงความเป็นคนรักเพศเดียวกันในที่สาธารณะ เพราะจะทำให้จิตใจของเด็กที่พบเห็นเสื่อมทรามตามไปด้วย" เขายังมีความเชื่อว่าเกย์เป็นผู้แพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ และยังพยายามเผยแพร่ "วัฒนธรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่เสื่อมโทรมที่ขัดต่อหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล" เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีผู้คนเข้าร่วมการชุมนุมจากทั้งสองฝ่ายประมาณ 10,000 คน และได้มีการสร้างรั้วโลหะล้อมรอบขบวนพาเหรดไว้เพื่อป้องกันการปะทะกัน อย่างไรก็ตาม บาทหลวงฮงได้แสดงจุดยืนว่าตนไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว และยืนยันว่าการออกมารณรงค์ของตนจะไม่มีการใช้ Hate Speech ทว่าผู้เข้าร่วมในขบวนพาเหรดฝั่ง LGBT กลับไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างนี้ "เขาเอาแต่พูดว่า จงซ่อนตัวอยู่ในเงามืด เพราะสิ่งที่คุณเป็นมันอันตรายและน่าอาย" คือคำโต้แย้งของคังมยองจิน ผู้จัดตั้ง Korea Queer Culture Festival ขึ้น เขายังเสริมว่า ขบวนพาเหรดที่ผ่านๆ มาได้รับความเสียหายจากการทำร้ายทางกายและทางวาจา บางคนขว้างขวดพลาสติกเข้ามา บางคนขว้างอาหาร สาดน้ำ หรือแม้แต่กรวยจราจร ใส่ผู้ที่เข้าร่วมขบวนพาเหรด ในขณะที่หลายคนก็ก่นด่าสาปแช่ง หรือแม้กระทั่งมีการนอนขวางบนถนนเพื่อขัดขวางการเดินขบวน มีการเดินขบวนพาเหรดในลักษณะนี้อยู่หลายประเทศทั่วเอเชีย และมีหลายที่ที่มีการต่อต้าน แต่ของเกาหลีใต้กลับโดดเด่นที่สุดในเรื่องความรุนแรง เพราะเป็นความรุนแรงจากผู้นำทางศาสนาเอง คิมจินโฮ หัวหน้านักวิจัยของ Christian Institute for the 3rd Era แหล่งวิจัยเกี่ยวกับศาสนาในกรุงโซล ให้ความเห็นว่า การที่ผู้นำศาสนาสามารถออกมารณรงค์อะไรแบบนี้ได้แสดงว่าพวกเขามีอำนาจล็อบบี้ทางการเมือง "แต่ในปัจจุบันชื่อเสียงของพวกเขาเริ่มสั่นคลอนจากประเด็นคอร์รัปชั่น การรณรงค์ต่อต้านเกย์จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถดำรงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง" ถึงแม้จะมีการต่อต้านจากผู้นำศาสนา แต่การเข้าร่วมขบวนพาเหรดกลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปีนี้องค์กรเกี่ยวกับสิทธิในเกาหลีอย่าง The National Human Rights Commission of Korea และองค์กรศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดคือ The Jogye Order of Korean Buddhism ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก "นิกายของเรามีส่วนใกล้ชิดกับเรื่องชนกลุ่มน้อยทางเพศมานาน และพวกเราอยากจะมีส่วนร่วมในการแสดงความสามัคคีของพวกเราออกมา" กล่าวโดย คิมฮันนา เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ Jogye Order "เราสนับสนุนสิ่งต่างๆ ในโลกโดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ ทั้งสิ้น" แปลและเรียบเรียงจาก Pink News, Thousands of people turned out for the biggest South Korea Pride yet this weekend, 16 Jul. 2017 South China Morning Post, 'Don't do it in front of others': gay pride on show in South Korea, despite religious backlash, 13 Jul. 2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
‘ยิ่งชีพ iLaw’ ชี้ ‘ขู่ โม้ โชว์ โกหก’ คือวิธีควบคุมโลกออนไลน์ยุค คสช. Posted: 21 Jul 2017 03:05 AM PDT 'ผู้จัดการ iLaw' ระบุ 'โพสต์เฟซบุ๊ก' กลายเป็นความผิดทางการเมืองจำนวนมากในยุคหลัง สรุปนโยบายคุมอินเทอร์เน็ต 4.0 ยุคคสช. คือ 'ขู่ โม้ โชว์ โกหก' ทำประชาชนสับสนต่อ ก.ม. ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ติง 'กสทช.-สปท.' พยายามทิ้งทวนวางแผนคุม 'OTT – โซเชียลมีเดีย' ที่ทำไม่ได้จริง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 21 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 8 ขึ้น ในหัวข้อ "พินิจอินเทอร์เน็ตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0(?)" ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับสภาวการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตของอินเทอร์เน็ตไทย โดยเฉพาะประเด็นทางนโยบาย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนึ่งในวิทยากรวงเสวนานี้ให้ภาพเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่รัฐพยายามกำกับ โดยยิ่งชีพ กล่าวว่า ในยุคหลัง การจับผู้กระทำความผิดทางการเมืองทั้ง มาตรา 112 และ 116 พ่วงด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 90 เพราะเป็นทางออนไลน์ คดี 112 ที่จำคุกสูงที่สุดตั้งแต่ 50-70 ปี ก็เป็นการโพสต์เฟซบุ๊ก ยิ่งชีพให้ภาพรวมของสามปีที่ผ่านมารัฐบาลควบคุมอะไรบ้างในโลกออนไลน์ โดยเขาเรียงไทม์ไลน์ดังนี้ - 28 พฤษภาคม 2557 เฟซบุ๊กดับไป 1 ชั่วโมง โดยมีบางคนออกมาชี้แจงว่ามีคำสั่งให้ทำ มีบางคนออกมาปฏิเสธ คล้ายเป็นการแสดงแสนยานุภาพว่าถ้าจะทำก็ทำได้ (อ่านข่าวได้ที่นี่) - 6 มกราคม 2558 รัฐบาลออกชุดร่างกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10 ฉบับ ที่มีพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์รวมอยู่ด้วย รวมถึงมีมาตรา 35 ให้อำนาจรัฐในการสอดส่องอีเมล์ โทรศัพท์ โทรสารได้ไม่จำกัด สุดท้ายผ่านไปทั้งสิ้น 8 ฉบับ โดยมี 3 ฉบับที่รวมกันเป็นฉบับเดียวซึ่งเกี่ยวกับการตั้งกระทรวงใหม่คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ส่วนพ.ร.บ.คอมฯ นั้นผ่านตอนปี 59 ที่ผ่านมา - กันยายน 2558 มีข่าวว่ารัฐพยายามจะทำ single gateway แต่ความจริงทำไม่ได้เพราะความสามารถทางเทคนิคเราไม่ถึง และต้องออกกฎหมายเวนคืน gateway จากผู้ให้บริการภาคเอกชนซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นนโยบายที่พูดให้ตื่นเต้นแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ - ธันวาคม 2558 มีการจับคนกดไลก์ (คดีฐนกร) และ พฤษภาคม 2559 จับคนจากข้อความในแชทบ็อก (อ่านข่าวได้ที่นี่) แถลงข่าวใหญ่โต สร้างกระแสความตื่นเต้น - 16 ธันวาคม 2559 ก็ผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน 300,000 กว่าคนในเว็บไซต์ change.org โดยเนื้อหาหลักของพ.ร.บ.คอมฯ ที่ผ่านไป หลักๆ แล้วเปลี่ยนไม่มาก ว่าด้วยเรื่องของสิทธิอะไรพูดได้พูดไม่ได้นั้นแทบจะเหมือนเดิม เปลี่ยนรายละเอียดเปลี่ยนโครงสร้างเล็กน้อย มีความผิดเพิ่มขึ้นมา มีเรื่องสแปม (อ่านข้อวิจารณ์ได้ที่ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ "ตั้งคณะกรรมการปิดเว็บแม้ไม่ผิดกฎหมาย") - 8 มีนาคม 2560 มีพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อ ที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมา สื่อทุกสื่อต้องจดทะเบียนรวมทั้งสื่อออนไลน์และเฟซบุ๊กเพจ ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ อยู่ภายใต้การกำกับทางด้านประมวลจริยธรรม มีการถกเถียงกันทำให้นโยบายการจะกำกับสื่อออนไลน์ยังกำกวมอยู่ และแก้หลายครั้งแต่สุดท้ายก็ยังไม่ผ่าน อยู่ในขั้นตอนที่สปท. อนุมัติ แต่สปท. ไม่ได้มีอำนาจในการออกกฎหมาย เพราะต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก - 12 เมษายน 2560 ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ห้ามติดต่อกับบุคคลสามคนคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ Andrew MacGregor Marshall เกิดการตั้งคำถามว่าการเป็นเพื่อนกับบุคคลเหล่านี้ในเฟซบุ๊กผิดกฎหมายหรือเปล่า จนกระทั่งคนออกประกาศเป็นคนออกมาบอกเองว่าไม่มีผลทางกฎหมายใด (เปิดข้อสังเกต 'ศูนย์ทนายฯ -ไอลอว์' ต่อประกาศงดติดตามโพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์') - พฤษภาคม 2560 มีตำรวจภาค1 ออกมาบอกว่าต่อไปนี้จะจับคนดูโพสต์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีกฎหมายใดบอกว่าการดูนั้นผิด (เอาผิด "จอมส่อง" เพจหมิ่นสถาบันฯ ไม่ง่าย) - 8 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนจดทะเบียน OTT (Over the Top - บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) (อ่านข่าวได้ที่นี่) เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ แต่จนถึงวันนี้ประกาศหลักเกณฑ์ก็ยังไม่ออก เมื่อดูพ.ร.บ. ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกสทช. ก็ไม่มีเนื้อหามาตราใดให้อำนาจจัดสรรเนื้อหาในโลกออนไลน์ ทั้งหมดนี้ ยิ่งชีพ ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. ชุดนี้ได้รับเงินเดือน 400,000 บาทและกำลังจะหมดวาระในเดือนตุลาคมที่จะถึง และคนที่มีบทบาทอำนาจในการแต่งตั้งใครกลับเข้ามาก็คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะฉะนั้นการออกมาพูดอะไรช่วงหนึ่งให้ตัวเขาเป็นที่รู้จักก็สำคัญว่าจะได้กลับเข้ามารับตำแหน่งไปอีก 6 ปีหรือไม่ รวมทั้ง สปท. ซึ่งไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย และกำลังจะหมดวาระในสิ้นเดือนนี้ ก็มีการเสนอแผนคุมโซเชียลมีเดีย สแกนนิ้ว สแกนใบหน้า ต้องมีเลขบัตรประชาชน เพื่อให้เป็นข่าว (อ่านรายละเอียดที่ รายงานกรรมาธิการ สปท. ด้านสื่อสารมวลชน) แล้วก็มีโอกาสที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาอีกได้ตามกฎหมายใหม่ ผู้จัดการ iLaw กล่าวสรุปว่า ประเด็นสำคัญคือคนทั่วไปไม่มีเวลาติดตามหรืออ่านกฎหมาย สุดท้ายยังมีคนเข้าใจว่าเมื่อ พ.ร.บ.คอมฯ ผ่าน คือ single gateway ผ่านแล้ว หรือเข้าใจว่าพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ผ่านไปแล้ว มีคนมากมายที่ไม่รู้ว่าสปท. คืออะไร กสทช. คืออะไร "นโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ต 4.0 ในยุคคสช. ในมุมของผมก็คือ ใช้วิธี หนึ่งขู่ สองโม้ สามโชว์ สี่โกหก และพอทำแบบนี้สิ่งที่ประชาชนผู้รับสารได้รับคือความสับสน ไม่เข้าใจ และกลัว เมื่อกลัวแล้วจึงถอยออกมา ทุกคนรักษาระยะห่างกับเรื่องการแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมืองและสังคม ถือเป็นวิธีที่ได้ผล ไม่แน่ใจว่าตั้งใจแค่ไหน ตัวกฎหมายและการทำจริงไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ใช้วิธีการขู่ ทำให้คนสับสนและกลัวไปเอง ถือเป็นนโยบายจิตวิทยาทางทหารที่ได้ผลและเก่งมาก" ยิ่งชีพ กล่าว อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม: #พรบคอม แก้ไขใหม่แล้ว คดี "ปิดปาก" มีแต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เว็บเสี่ยง "ปลิว" มากขึ้น, คดียัดข้อหาเกิดง่าย หากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่าน ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช่ฉบับเดียวที่ต้องจับตา ถ้าทุกฉบับผ่านก็หมายความได้ว่า Single Gateway ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เลขาฯ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เผยถูกทหารขู่ถึง ร.ร. หลังติงประยุทธ์ Posted: 21 Jul 2017 02:24 AM PDT สัณหณัฐ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์เล่าเหตุการณ์ทหารนอกเครื่องแบบแอบมาคุยถึงโรงเรียน พร้อมขู่ว่า "ถ้าน้องยังไม่หยุดวิจารณ์นายพี่ พี่จะส่งชื่อน้องให้โดนอะไรพี่ก็ไม่รู้นะ" หลังออกแถลงการณ์ กรณีการแทรกแซงของนายกฯ ต่อระบบการศึกษา
21 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัณหณัฐ ศรัทธาพร เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Sanhanutta Sartthaporn' ในลักษณะสาธารณะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบมาพบเขาที่โรงเรียน สอบถามถึง 'แถลงการณ์กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ฉบับที่ 02/60' กรณีการแทรกแซงของนายกฯ ต่อระบบการศึกษา สัณหณัฐ เล่าด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ให้เขาดูข้อความที่ข่มขู่เขา พร้อมขู่อีกว่า "ถ้าน้องยังไม่หยุดวิจารณ์นายพี่ พี่จะส่งชื่อน้องให้โดนอะไรพี่ก็ไม่รู้นะ" สำหรับแถลงการณ์กลุ่มการศึกษาเพื่ แถลงการณ์ดังกล่าว กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็น พร้อมทั้งเรียกร้องต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
อัยการ จ.ชัยภูมิ ยื่นฟ้อง 15 ชาวหนองบัวระเหว บุกรุกป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. Posted: 21 Jul 2017 12:38 AM PDT อัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องศาลจังหวัดชัยภูมิ ดำเนินคดีชาวบ้านจำนวน 15 ราย หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ศาลนัดพร้อมอีกครั้ง ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ 21 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (20 ก.ค. 2560) เวลาประมาณ 09.30 น. ชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยเย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เดินทางมายังสำนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเข้าพบพนักงานอัยการ ตามกำหนดนัดหมาย รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านจะได้มีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดชัยภูมิ และได้ขออนุญาตให้เลื่อนระยะเวลาในการยื่นส่งฟ้องศาลออกไปถึง 3 ครั้ง กระทั่งวันนี้ (20 ก.ค. 2560) อัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องศาลจังหวัดชัยภูมิแล้ว เวลาประมาณ 11.30 น. ผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีและชาวบ้านสมาชิก คปอ. ที่มาร่วมให้กำลังใจจำนวนกว่า 70 คน ได้เดินเท้าจากสำนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิไปยังศาลจังหวัดชัยภูมิ เพื่อยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยได้รับเงินประกันจากกองทุนยุติธรรม ที่ชาวบ้านได้มีการประสานขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมมาก่อนหน้า ทั้งนี้ศาลจังหวัดชัยภูมินัดพร้อมอีกครั้ง ในวันที่ 23 ส.ค. นี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2559 ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยเย้ อ.หนองบัวระเหว จำนวน 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองแจ้งความดำเนินคดีในฐานข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุกป่าตามนโยบายทวงคนผืนป่าของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมรวมจำนวน 15 ราย และทั้งหมดได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเวรสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา โดยในชั้นสอบสวน ชาวบ้านให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. รวมทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่บังคับ ข่มขู่ ให้เซ็นต์เอกสารในการคืนพื้นที่ นอกจากนี้ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินทำกินต่อเนื่องมานับแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
TCIJ School: ส่องกระบวนการยุติธรรมผู้ป่วยจิตเภท ‘ไทย-สหรัฐฯ-อิสราเอล-เนเธอร์แลนด์’ Posted: 20 Jul 2017 10:34 PM PDT ส่องกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ป่วยจิตเภท 'ไทย-สหรัฐ-อิสราเอล-เนเธอร์แลนด์' พบ 'เนเธอร์แลนด์' ส่งตัวผู้ป่วยคดีไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทาง ต่างกับโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป มีโปรแกรมการบำบัดที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงการก่อความรุนแรงของผู้ป่วยในอนาคต ที่มาภาพ: Joe Skinner Photography (CC BY-NC-ND 2.0) กระบวนการยุติธรรมกับผู้ป่วยจิตเภทของไทยก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการจิตเภทเป็น 'โรค' ไม่ใช่ 'นิสัย' เมื่อเป็นโรค สิ่งที่ตามมาคือ สิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษา และสิทธิทางกฎหมายที่ต้องต่างจากบุคคลธรรมดา แต่เมื่อระบบกฎหมายของไทยยังไม่มีการบัญญัติคำว่า 'จิตเภท' โดยตรง มีเพียงคำว่า 'จิตฟั่นเฟือน' 'จิตบกพร่อง' หรือ 'วิกลจริต' เท่านั้น จึงยังทำให้เป็นปัญหาในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งแพทย์หลายท่านเห็นว่าคำว่า 'จิตเภท' เป็นเพียงอาการของโรค นักกฎหมายต่างหากที่จะต้องตีความว่าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นหนึ่งในประเภทผู้ไร้ความสามารถทางกฎหมาย ที่จะต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายต่อไป สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายอยู่หลายประการ เพื่อควบคุมดูแลและให้การคุ้มครองผู้ กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ ตั้งแต่การคุ้มครองสิทธิในการต่อสู้คดี การคุ้มครองด้านการรับผิดทางอาญา การคุ้มครองด้านการรับโทษหลังคำพิพากษา และมาตรการป้องกันสังคมจากการก่อเหตุร้ายโดยผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ การดำเนินคดีกับผู้ป่วยจิตเภทนั้น เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนพบว่ามีการก่ออาชญากรรม แล้วเกิดข้อสงสัยว่าผู้ต้องหามีความวิกลจริตหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นยากที่จะพิสูจน์ แต่หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหามีความวิกลจริตและไม่สามารถให้การได้แล้ว ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ระบุว่าให้งดการสอบสวนจนกว่าผู้นั้นจะหายวิกลจริต โดยตำรวจจะส่งผู้ต้องหาไปวินิจฉัยทางจิตเวช เพื่อให้แพทย์ประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี เพื่อพิจารณาว่าขณะก่อคดีนั้นมีสภาพจิตเป็นอย่างไร รู้ผิดชอบในการกระทำหรือไม่ จากนั้นแพทย์จึงส่งผลตรวจกลับให้พนักงานสอบสวน เมื่อผู้ป่วยอาการทุเลาหรือสงบ จึงจะจำหน่ายโดยแจ้งให้หน่วยงานที่นำส่งมารับผู้ป่วยกลับไปดำเนินการต่อตามกระบวนการยุติธรรม โดยตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่าไม่ส่งฟ้องและให้ญาติรับกลับไปดูแล กรณีนี้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว หรือตำรวจอาจส่งฟ้องเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยฝากขังผู้ป่วยที่ศาลและควบคุมตัวในเรือนจำก็ได้ ซึ่งกรณีจะต้องดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป ในกรณีที่คดียังไม่สิ้นสุด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการในการพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในข่ายไม่ต้องรับโทษ และมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่หากปรากฏจากหลักเกณฑ์ทางแพทย์ว่าบุคคลดังกล่าวยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง พนักงานอัยการก็อาจฟ้องต่อศาล โดยศาลมีดุลยพินิจในการพิพากษาว่ามีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือพิพากษาให้รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งฟ้องผู้กระทำความผิดที่มีจิตไม่ปกติจนถึงชั้นศาลแล้ว โดยพบว่าขณะกระทำผิดผู้ต้องหาอาจรู้ผิดชอบอยู่บ้างตามมาตรา 65 วรรคสอง แต่หากศาลพบว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในชั้นพิจารณาคดี ก็ต้องงดการดำเนินคดีจนกว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้อยู่ดี ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหรือให้ประหารชีวิตจำเลย แต่หากบุคคลนั้นเกิดวิกลจริต ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มีมาตรการคุ้มครองผู้กระทำผิดที่วิกลจริตไว้ด้วย คือ ให้ควบคุมตัวนักโทษในสถานที่อันควรไว้จนกว่าจะมีอาการปกติแล้วค่อยรับโทษจำคุกตามมาตรา 246 ส่วนในกรณีต้องโทษประหารชีวิตให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อน จนกว่าผู้นั้นจะหาย หรือให้รับเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนตามมาตรา 248 อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายทั้งกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีบัญญัติไว้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติอยู่แล้วก็ตาม ในทางปฏิบัติก็ยังมีขัดข้องทั้งทางด้านการบังคับใช้และข้อขัดข้องในเรื่องของบท บัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ ซึ่งควรได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยทางจิตที่กระทำผิดอาญา และเพื่อคุ้มครองสังคม ให้ปลอดภัยจากการก่อเหตุร้ายโดยบุคคลดังกล่าว ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การที่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมมีความรู้ความเข้าใจไม่ตรงกัน และไม่มีมาตรฐานกลางในการกำหนดเกณฑ์วินิจฉัยเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต เช่น ในบางคดี แพทย์ที่ตรวจอาการผู้ป่วย วินิจฉัยว่าเขาเป็นจิตเภท แต่แพทย์กลับระบุกับศาลว่าเขาสามารถต่อสู้คดีได้ กลายเป็นว่าผู้ป่วยก็ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป ทำให้ตัวผู้กระทำผิดซึ่งควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษตามกฎหมาย ก็อาจไม่ได้รับการคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือผู้กระทำผิดบางคนที่ไม่สมควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเพราะสภาพจิตยังไม่เข้าลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลับได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเพราะเกณฑ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในการบังคับใช้กฎหมายว่า ใช้เป็นข้ออ้างในการสู้คดีและอาจทำให้ผู้กระทำผิดรอดพ้นจากการลงโทษ ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ มีผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม จึงมีคำถามที่ว่า เราควรพัฒนาตัวบทกฎหมายให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้อย่างครบวงจรหรือไม่ เช่น หากจำเลยได้รับโทษเป็นเวลา 5 ปี แต่ต้องรักษาตัวถึง 10 ปีถึงจะหาย ก็ควรแก้กฎหมายให้ยกโทษจำเลยเสียเลยแทนที่จะให้มารับโทษทีหลัง รวมถึงมาตรการเชิงป้องกันให้มีการดำเนินการกับผู้วิกลจริตที่อาจก่อเหตุร้ายได้ด้วย เพื่อคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยโดยมีกระบวนการตรวจสอบอย่างรัดกุมด้วย เพื่อมิให้มีการนำตัวบุคคลไปควบคุมในโรงพยาบาลโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้วย กระบวนการยุติธรรมต่อผู้ป่วยจิตเภท 'สหรัฐ-อิสราเอล-เนเธอร์แลนด์'เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรมกับผู้ป่วยจิตเภท (Schizophrenia) เราจะเห็นได้ว่ายังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการนำผู้ป่วยจิตเภทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่เสมอ คนส่วนใหญ่กังวลว่าหากรัฐไม่ดำเนินคดีและปล่อยผู้ป่วยจิตเภทออกสู่สังคมหลังการก่ออาชญากรรม จะมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ป่วยจิตเภทอาจก่ออาชญากรรมซ้ำอีก และทำให้สังคมที่พวกเขาอยู่นั้นไม่ปลอดภัย โดยทั่วไป เมื่อบุคคลไร้ความสามารถต้องขึ้นศาล ศาลจะต้องเลื่อนการพิจารณา ยิ่งถ้าพบว่าจำเลยป่วยขณะกระทำความผิดและยังคงป่วยอยู่ ผู้ป่วยจะถูกส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากขณะถูกจับกุมผู้ป่วยไม่ได้ป่วยแล้ว ศาลต้องพิจารณาประเด็นนี้ในการให้รับโทษเพื่อความปลอดภัยของสังคม แนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน ไม่มีการยกเว้นโทษให้กับผู้ป่วยทางจิต ซึ่งรวมถึง ผู้ป่วยจิตเภท อีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับโทษ แต่หลายประเทศใช้การลงโทษจำคุกและรักษาผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กัน บางประเทศจำคุกผู้ป่วยก่อนแล้วจึงนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในขณะเดียวกันก็มีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญต่อการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่ให้อำนาจศาลในการตัดสินว่าผู้ป่วยจิตเวชจะต้องได้รับการรักษาเป็นจำนวนกี่ปี (treatment years) โดยพิจารณาจากอาชญากรรมที่ผู้ป่วยจิตเวชได้ก่อขึ้น จะเห็นว่ายังไม่มีข้อสรุปตายตัวว่ามาตรการไหนจะเหมาะสมที่สุดในการดำเนินคดีกับผู้ป่วยที่กระทำผิด แต่นักกฎหมายทั่วโลกตระหนักดีว่าข้อพิจารณาสำคัญในการดำเนินคดีประเภทนี้คือการคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา (right of the patient) และหน้าที่ของศาลที่ต้องประกันความปลอดภัยของสังคม หลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association หรือ APA) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ป่วยทางจิตไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะมีอาการหลงผิด อาการประสาทหลอน พูดจาสับสนมาก มักเปลี่ยนเรื่องจนฟังไม่เข้าใจ พฤติกรรมเรื่อยเปื่อย วุ่นวาย หรือมีท่าทางแปลก ๆ และมีอาการด้านลบ เช่น อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด หรือเฉื่อยชา ประกอบกัน อย่างน้อยสองอาการขึ้นไปนานหนึ่งเดือน หรือหากมีอาการหลงผิดที่แปลกประหลาด หรือหูแว่วเพียงอาการเดียว ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์โรคจิตเภท กระบวนการของสหรัฐอเมริกาน่าสนใจที่ว่า กฎหมายของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ ความสามารถในการขึ้นศาล (competence to stand trial) กับการรับผิดทางอาญา (criminal responsibility) มีความแตกต่างกัน ก่อนที่จะมีการรับผิดทางอาญา จำเลยจะต้องถูกตรวจก่อนว่ามีความสามารถในการขึ้นศาลต่อสู้คดีหรือไม่ ความสามารถนี้วัดจากความตระหนักรู้ ณ เวลาที่จำเลยมีสิทธิจะปรึกษาทนายและเข้าใจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับว่ามีขณะก่ออาชญากรรมนั้น จำเลยมีความสำนึกหรือไม่ ดังนั้น ถ้าพบว่าผู้ต้องหามีสภาพจิตปกติ ณ ขณะให้การและเป็นผู้มีความสามารถในทางกฎหมาย เขายังคงอ้างได้ว่า เขามีสภาพจิตไม่ปกติขณะกระทำความผิด และอัยการไม่อาจใช้ข้อพิสูจน์ที่จำเลยเป็นผู้มีความสามารถมาเป็นหลักฐานในการฟ้องเขาได้ เราจึงพบว่ามีอาชญกรจำนวนมากลอยนวลเพราะอ้างเหตุนี้ ในปี 1975 ในรัฐมิชิแกนเริ่มมีแนวคิดว่า มีความผิดแต่วิกลจริต (guilty but mentally ill) และหลายรัฐได้ใช้หลักนี้ตามกับผู้ต้องหาที่ป่วยวิกลจริต ซึ่งหมายความว่า แม้ผู้ต้องหาจะเป็นผู้ป่วยวิกลจริต ก็ยังถือว่าผู้นั้นควรจะเข้าใจในการกระทำของตนอยู่ แม้ว่าจะไม่เข้าใจผลของการกระทำก็ตาม ดังนี้ผู้นั้นจึงควรได้รับโทษทางอาญา อย่างไรก็ตามหลักการนี้ไม่ได้ทำให้ศาลยกเว้นความรับผิดของอาชญากรที่อ้างเหตุวิกลจริตมีจำนวนน้อยลง หลายปีมานี้ สังคมจึงได้กดดันไม่ให้ผู้ก่ออาชญากรรมใช้เหตุวิกลจริตเป็นข้ออ้างอีกต่อไป ทำให้บางรัฐอย่าง มอนทานา ยูทาร์ ไอดาโฮ คันซัส และเนวาดา ได้ยกเลิกการอ้างเหตุวิกลจริตเพื่อไม่ต้องรับโทษ (insanity defence) ไปแล้วในบางส่วน แต่ยังสามารถใช้เหตุความผิดปกติทางจิตเป็นหลักฐานในการสู้คดีได้และยังสามารถใช้หลักเจตนาขณะกระทำความผิดมาพิสูจน์ได้อยู่ ขณะที่ประเทศ อิสราเอล นั้นกลับให้ความสำคัญกับการบำบัดรักษามากกว่าการให้ผู้ป่วยรับโทษ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดอาญาไม่ร้ายแรง เช่น ขโมยจักรยาน ศาลจะสั่งให้เข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยา แต่หากรักษาเป็นเวลาหลายปีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้พิพากษาศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่าระยะเวลาที่รักษาผู้ป่วยทางจิตนั้นไม่ควรจะนานกว่าระยะเวลาของโทษจำคุกในความผิดนั้น และในกรณีที่ผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาต่อไปอีก ให้ส่งผู้ป่วยคนนั้นไปรับการรักษาอย่างผู้ป่วยทางจิตทั่วไปที่ไม่ต้องโทษ ส่วนหลายประเทศในยุโรปใช้วิธีบูรณาการการบำบัดรักษาผู้ป่วยและการลงโทษไปพร้อมๆกัน เช่น การปล่อยตัวแต่มีเงื่อนไขบังคับ (mandatory conditional discharge) หรือการบังคับบำบัดตามคำสั่งศาล (compulsory ambulatory care) วิธีการเหล่านี้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือตัวผู้ป่วยและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ดังจะเห็นได้ในประเทศเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ ที่การปล่อยตัวผู้ป่วยทางจิตเป็นประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาเสมอ ซึ่งระบบศาลใน เนเธอร์แลนด์ แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้พิจารณาว่าผู้ป่วยจะขึ้นศาลได้หรือไม่ เพราะจำเลยสามารถถูกเรียกตัวมาขึ้นศาลในทุกกรณี แต่ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาของเนเธอร์แลนด์ระบุให้กระบวนการพิจารณาทางศาลมีอำนาจที่จะเลื่อนการพิจารณาคดี หากผู้ถูกกล่าวหามีความผิดปกติทางจิตอย่างร้ายแรงจนเขาไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาได้ และให้ทนายความของจำเลยมีหน้าที่รักษาสิทธิของจำเลยแทน นอกจากนี้กฎหมายของ เนเธอร์แลนด์ ได้แยกการลงโทษการกระทำความผิดและการลงโทษตัวจำเลยออกจากกัน จึงทำให้ผู้กระทำความผิดที่มีอาการทางจิตไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
ผู้ป่วยจิตเภทก่อคดีและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากแค่ไหน?ในรายงานชิ้นนี้พยายามยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นถึงตัวอย่างกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดแล้วก็อาจต้องกลับมาหาคำตอบคำถามว่าแท้จริงแล้วผู้ป่วยจิตเภทนั้นก็อาชญากรรมมากน้อยเพียงใด? จากข้อมูลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติครั้งล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อปี 2557 มีการประมาณว่ามีผู้ป่วยทางจิตทั้งหมดประมาณ 5 แสนคน และได้เข้าถึงการรักษาแล้วร้อยละ 57 ที่น่าสนใจมากกว่านั้นจากรายงานการบำบัดรักษา การจำหน่ายผู้ป่วยและการติดตามผลการบำบัดรักษาตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ในปี 2557 พบว่ามีผู้ป่วยทางจิตก่อคดีเพียง 172 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 1 และมีการก่อความผิดอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆ่า หรือ พยายามฆ่า เป็นจำนวนเพียง 1 ใน 5 ส่วนที่เหลือเป็นการกระทำความผิดอื่น ๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย บุกรุก ยาเสพติด และวางเพลิง เป็นต้น และในปี 2559 มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด เสี่ยงเกิดอันตรายกับตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น ตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ได้รับการช่วยเหลือรวม 1,638 คน กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปที่อยู่ในบ้านและชุมชนจำนวน 1,172 คน ที่เหลืออีก 466 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีที่นำส่งตามกระบวนการยุติธรรม โดยผู้ป่วยเหล่านี้จะได้เข้ารับการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานเดียวกันป้องกันไม่ให้เกิดการก่อคดีซ้ำ ทั้งนี้ตามทัศนะของ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะเนื่องในวันสุขภาพจิตโลกไว้เมื่อปี 2557 ว่าสังคมยังมีอคติกับผู้ป่วยจิตเวช และเมื่อผู้ป่วยก่อเหตุรุนแรงมักปรากฏเป็นข่าวใหญ่โต ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าป่วยจริงหรือไม่ หรือใช้เป็นเพียงข้ออ้างทางกฎหมายให้ไม่ต้องรับโทษ ทั้งที่จากสถิติแล้วผู้ป่วยทางจิตมีเพียงจำนวนน้อยที่ก่อเหตุรุนแรงในสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการกระทำความผิดจากบุคคลที่มีสภาพจิตปกติ ซึ่งโรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ หากผู้ป่วยกินยาหรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ ข้อควรระวังพิเศษคือ การขาดยา ลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง การดูแลรักษาคนไข้ทางจิตที่ดี จึงต้องประสานกันทั้ง 3 ส่วน คือ โรงพยาบาล ครอบครัว และชุมชน โดยต้องให้การยอมรับและให้โอกาสกับผู้ป่วย การมีโอกาสเข้าถึงบริการ และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตดี จากการนำเสนอข้อมูลข้างต้น จะพบว่าประเทศต่าง ๆ ก็มีการรักษาเยียวยาผู้ป่วยที่กระทำผิดทางอาญาแตกต่างกัน ตั้งแต่กระบวนการไต่สวนไปจนถึงการรับโทษ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกระทำความผิดในสังคมได้อีก แต่ท้ายสุดเราก็อาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่าสังคมมองข้ามประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้ป่วยทางจิตหรือไม่? พวกเขาควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเสมือนว่าเขาเป็นผู้ป่วยทางร่างกายทั่วไป ส่วน การกักขัง หรือ ให้โทษจำคุกนั้นควรจะสงวนไว้สำหรับการกระทำผิดอาญาที่ร้ายแรงจริง ๆ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ป่วยที่ไม่มีความผิดโดยอ้างมาตรการเชิงป้องกันไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป แม้สังคมไม่ควรยอมให้ช่องว่างทางกฎหมายเหล่านี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีกับผู้ป่วยทางจิต แต่การปฏิรูปกฎหมายทั้งทางปฏิบัติและวิธีพิจารณาให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษามีความจำเป็นอย่างยิ่งกว่าการดำเนินคดี นอกจากนี้จิตแพทย์เองต้องใส่ใจกับการประเมินว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีความสามารถทางกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่ผู้ป่วยจะต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญา รวมไปถึงศาลที่ต้องมีความระมัดระวังในการพิจารณาว่าจำเลยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในขณะขึ้นศาลหรือไม่ หากจิตแพทย์มีความเข้าใจและตระหนักเรื่องความสามารถของบุคคลในการขึ้นศาลและพิจารณาสภาพจิตใจของผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างถี่ถ้วนก่อนส่งเรื่องให้ศาล ก็จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับความยุติธรรม และถูกต้อง ในการดำเนินคดีอาญา และลดปัญหาการปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ลอยนวลได้อีกด้วย
*มนัชญา ญาณกิตติกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ประชาธิปไตยในการทำงาน: สภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจ Posted: 20 Jul 2017 10:30 PM PDT
0000 การจัดการความสัมพันธ์ให้ลงตัวระหว่างแรงงานและผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหรือในอุตสาหกรรมก็ดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลต่อความสำเร็จของสถานประกอบการและคุณภาพชีวิตของแรงงานร่วมกันไป จนมีผลต่อการส่งเสริมการพัฒนาประเทศในที่สุด ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้ามีประสบการณ์มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องประชาธิปไตยในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและแรงงานในบริษัท ที่นำไปสู่การเกื้อกูลต่อความสำเร็จของธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศในระดับสูง เรื่องเช่นนี้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การปฏิวัติสังคมนิยมและประชาธิปไตยในการทำงานจากสหภาพยุโรปได้อย่างไร? ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 100 ปี ของการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ระดับความฝันอันสูงสุดของฝ่ายแรงงานในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมและนายทุนนั้น นักปฏิวัติสังคมนิยม เช่น Rosa Luxemburg นักปฏิวัติหญิงชาวโปแลนด์ผู้เข้าไปเคลื่อนไหวทำปฏิวัติในเยอรมนี Antonio Gramsci นักปฏิวัติชาวอิตาลี และชาวอนาธิปัตย์นิยมผู้ไม่นิยมระบบพรรคการเมืองและรัฐ (Anarchist) ต้องการให้สภาของคนงาน (Workers' Council) เป็นองค์คณะที่สะท้อนประชาธิปไตยในโรงงานหรือในการทำงานของชนชั้นแรงงานที่แท้จริง คือ ยึดกุมอำนาจการตัดสินใจในการผลิตและการจัดการโรงงานอย่างเบ็ดเสร็จ (Workers' Control) และมีบทบาทมากกว่าสหภาพแรงงานที่ถูกมองว่าเน้นแต่เจรจาต่อรองกับนายจ้างเท่านั้น ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ปฏิทินเก่ารัสเซีย) /มีนาคม (ปฏิทินสากล) จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2460 ทั้งก่อนปฏิวัติและหลังปฏิวัติสำเร็จ ในขณะที่ Vladimir Lenin ผู้นำการปฏิวัติ (สามารถยุติการทำงานของรัฐบาลเฉพาะกาลของนายกรัฐมนตรี Alexander Kerensky ที่เข้ามาเตรียมการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและจัดทำรัฐธรรมนูญ หลังการปฏิวัติรัสเซียครั้งแรก (บางท่านเรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่าการปฏิวัติกระฎุมพี) เดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม 1917 ที่ประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งกรรมกรที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลกษัตริย์รัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และช่วยกันทำให้พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่สอง สละราชบัลลังก์ และนำไปสู่การสิ้นสุดของระบบกษัตริย์ในที่สุด) ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อกลไกแบบนี้ในการตัดสินใจระบบการผลิตในระดับโรงงานต่างๆในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ มากเท่ากับการให้การควบคุมของคนงานมีเพื่อป้องกันนายทุนปิดโรงงานก่อนปฏิวัติ และเพื่อควบคุมการผลิตโดยทั่วไปหลังการปฏิวัติประสบชัยชนะ Lenin สนใจเป็นพิเศษต่อการทำให้รัสเซียเป็นรัฐของกรรมกร (Workers' state) โดยมอบการนำการปฏิวัติไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเป็นหลักเพื่อสร้างการปฏิวัติสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ไว้ที่พรรคๆเดียว เพราะไม่เชื่อในพลังกรรมกรในรูปสภาของคนงานและศักยภาพของสหภาพแรงงานมากนักที่จะปฏิวัติสังคมทั้งประเทศได้สำเร็จในระยะยาว (สอดคล้องกับความเห็นของ Karl Marx) แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า (และ Lenin เองก็หันไปส่งเสริมให้) แนวร่วมกรรมกรที่จัดตั้งในรูปสภาหรือคณะกรรมการของคนงานตามโรงงานต่างๆ (และการสมทบของทหาร!) ได้ก่อจลาจล ช่วยสนับสนุนพรรคปฏิวัติ และทยอยเก็บสะสมชัยชนะในหลายๆโอกาส จนมีส่วนทำให้การปฏิวัติแห่งชาติครั้งที่สองประสบความสำเร็จในเดือนตุลาคม 1917 ในที่สุดก็ตาม แต่หลังชัยชนะ Lenin และแกนนำพรรคปฏิวัติ (ประกอบกับการหวั่นเกรงต่อปฏิกิริยาการสร้างสรรค์สังคมนิยมของชาวอนาธิปัตย์นิยมผู้ไม่นิยมรัฐเข้มแข็งและใกล้ชิดกับสภาของคนงานประจำโรงงานที่เป็นคนละแนวกับพรรคปฏิวัติ) จึงทำการจัดตั้งองค์การระดับชาติของสภาของคนงานรัสเซียทั้งมวล โดยเป็นการร่วมมือกันขององค์การรวมของเหล่าสภาและสหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งชาติ องค์การสำคัญอื่นๆที่เป็นฐานการปฏิวัติ และผู้แทนสภา (คณะกรรมการ) ของคนงานประจำโรงงาน เพื่อดูแลการผลิตของโรงงานในขอบเขตกว้างๆระดับชาติ แต่ก็มีผลให้เกิดความงงงวยแก่พลพรรคสภาของคนงาน ระหว่างบทบาทของการควบคุมการผลิตในโรงงานกับการรับใช้การปฏิวัติว่าสมควรดำเนินการเช่นไรจึงจะถูกต้องที่สุด อันยังต้องอยู่ภายใต้โครงสร้าง "ระบบรัฐการ" (มิใช่ระบบราชการ) แบบรวมศูนย์อย่างใหม่ ร่วมกับและยอมรับการกำกับจากสหภาพแรงงานทั้งในระดับฐานและระดับชาติ ดังที่กล่าวแล้ว สภาของคนงานประจำโรงงานที่เคยคึกคักในช่วงเข้าได้เข้าเข็มของการปฏิวัติและหลังจากนั้นไม่นาน ในที่สุดก็ถูกตัดตอนบทบาทให้จำกัดอยู่ภายใต้โครงสร้างลำดับชั้นจากล่างสู่สูงสุดแห่งชาติ โดยไม่ได้พัฒนาไปสู่การจัดการตนเองของธุรกิจสังคมนิยมที่คาดหวังได้ในที่สุด เพราะต้องคอยฟังคำสั่งจากเบื้องบนให้ส่งเสริมการปฏิวัติถาวรเป็นหลัก แต่กระนั้น ในส่วนของสหภาพแรงงาน Lenin และ คณะปฏิวัติ ร่วมกับผู้นำสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ ก็ยังจัดการให้สหภาพแรงงานโดยทั่วไปยกเลิกบทบาทการเจรจาต่อรองกับนายจ้างและดูแลผลประโยชน์ของแรงงานแบบเดิมในสังคมอุตสาหกรรมก่อนปฏิวัติ โดยหลอมรวมองค์การตามลำดับขั้นเข้าไปเป็นสภาสหภาพแรงงานอยู่ในกลไกของพรรคเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะเดียวกันก็ให้เป็นหูเป็นตาตามโรงงานให้กับพรรคและรัฐบาลในการควบคุมสภาของคนงานตามโรงงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนอย่างใหม่ (ระบบสังคมนิยมแทนระบบทุนนิยม) และการรักษาการปฏิวัติสังคมของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (พรรคบอลเชวิคเดิม) ระยะยาว พร้อมกับยังคงให้ความสำคัญไปที่การรวมศูนย์สภาประชาชน (Councils of People) ประจำชุมชน และเมืองต่างๆที่กระจายทั่วประเทศ มากกว่าที่จะให้สภาของคนงานและสหภาพแรงงานอิสระร่วมกันเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความมีชีวิตชีวาในการผลิตของโรงงานให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ และในการส่งเสริมการปฏิวัติให้มั่นคงสถาพรสืบไป Joseph Stalin ผู้นำการปฏิวัติต่อจาก Lenin ก็ไม่ได้ทิ้งแนวทางดังกล่าวนี้ ทั้งยังรวมศูนย์หนักขึ้นเสียอีก ส่วนการปฏิวัติเพื่อสร้างสาธารณะรัฐประชาชนจีนตามลัทธิเหมาที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องการใช้บทบาทของชาวนาในชนบทมิใช่กรรมกรในเมืองเป็นหลัก เพราะจีนยังไม่เป็นสังคมทุนนิยมมากพอและอุตสาหกรรมล้าหลังกว่ารัสเซีย ความคิดเรื่องสภาคนงานจึงไม่เข้มขลังเท่าในกรณีรัสเซีย ในวงล้อของประวัติศาสตร์แห่งความก้าวหน้าแต่สลับซับซ้อนมิใช่น้อยในการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกที่ผ่านมา การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวทางหลักแห่งการล้มล้างระบบทุนนิยมแล้วสถาปนาระบบคอมมิวนิสต์ในประเทศส่วนใหญ่ในโลกกลับทำไม่สำเร็จ หรือหากสำเร็จก็ไม่นานพอหรืออาจกลายพันธุ์อยู่ต่อไปแบบไม่ตรงทฤษฎีเดิม ทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ของประเทศต่างๆที่ความเจริญทางอุตสาหกรรมก็ไม่เอื้ออำนวยเท่ากับในรัสเซียและในยุโรป ก็ต้องตีความชนชั้นของความขัดแย้งในสังคมให้ถูก แต่กระนั้น ก็มีอยู่ประเทศเดียวที่เคยสร้างสรรค์สังคมนิยมของประเทศไปถึงขั้นการควบคุมสถานประกอบการโดยคนงานเองตามแนว Workers' Control ในระยะเวลาประมาณร่วม 20 ปี (ค.ศ. 1950s – 1970s) ก่อนที่ประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ก็คือยูโกสลาเวีย รัฐบาลประเทศนี้เคยจัดให้มีระบบการบริหารกิจการด้วยตนเองของคนงาน (Self-management) ในสถานประกอบการ (= สหกรณ์ของคนงาน) อันริเริ่มขึ้นในสมัยที่ Josip Broz (Tito) เป็นประธานาธิบดี โดยเขาประสงค์จะให้สังคมนิยมแบบยูโกสลาเวีย ต่างไปจากสหภาพโซเวียตที่ Stalin ขยายอำนาจและส่งตัวแบบการปฏิวัติถาวรและการประกอบการเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบรัสเซียออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออก แต่ก็ไปไม่รอด ในขณะที่ชาวอดีตรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเดิมในทุกวันนี้ ก็ยังคงถวิลหาระบบการบริหารกิจการด้วยตนเองของคนงานอันรุ่งเรืองในอดีต ต่างกับทุนนิยมจอมเขมือบโดยรัฐคอมมิวนิสต์กำกับแบบจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน ที่มิได้พัฒนาแบบแผนของการประกอบการในสังคมนิยมการตลาดด้วยระบบการบริหารกิจการโดยตนเองของคนงานแบบต่อยอดหรือเสริมสร้างนวัตกรรมเพิ่มเติมจากระบบที่เคยเกิดในยูโกสลาเวียแต่อย่างใด (ดูประกอบหมายเหตุท้ายบทความที่ 1) นับจากกลางทศวรรษ 1970s สังคมนิยมแนวปฏิวัติทางชนชั้น ที่กำหนดโดยทฤษฎีมาร์กซิสต์ให้กรรมกรต้องล้มล้างนายทุนและระบบทุนนิยม แล้วสถาปนาระบบคอมมิวนิสม์แทน อันมีศูนย์กลางในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ก็ค่อยๆอ่อนแรงลงๆ และล่มสลายในปลายทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา สาเหตุสำคัญก็มาจากการที่ผลิตภาพแรงงานในระยะยาวตกต่ำ เทียบกับฝ่ายประเทศทุนนิยมที่ผลิตภาพแรงงานสูงกว่าไม่ได้ และปัญหาระบบรัฐการรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์ที่สร้างปัญหาเชิงระเบียบกฎเกณฑ์และขั้นตอนมากมายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารบ้านเมืองและการดำเนินธุรกิจสังคมนิยม ในขณะเดียวกัน กลไกของแรงงานแบบสภาคนงานหรือสภาของคนงาน (Workers' Council) ที่มุ่งเน้นไปในทางการควบคุมโรงงานโดยคนงานโดยตรงของฝ่ายปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อแทนที่ระบบทุนนิยม (แต่คนละแนวกับ Lenin และรัสเซีย) ก็ (ยัง!?) ไปได้ไม่ไกลในระดับสากลไปด้วย (และเช่นกัน) แต่สำหรับฝ่ายปฏิรูปสังคมนิยมที่ยอมรับการอยู่ร่วมกันของนายทุนกับแรงงานกลับเห็นว่ากลไกการรวมตัวของแรงงานประจำสถานประกอบการหรือโรงงานก็ตามนั้น ยังมีคุณค่า จึงส่งเสริมให้มีกลไกเช่นนี้ขึ้นในบริษัท แต่ดัดแปลงใหม่ให้เป็นสภาที่ปรึกษาของธุรกิจหรือสภาที่ปรึกษาในการทำงาน (Works Council) ในลักษณะการเป็นผู้แทนของฝ่ายแรงงาน (Employee Representation) ที่จะแสดงความเห็นและความต้องการต่อผู้ประกอบการ และเป็นกลไกแห่งความสามัคคีระหว่างนายทุนกับกรรมกรเพื่อทำให้สองฝ่ายก้าวไกลไปด้วยกันทั้งคู่ ในทศวรรษที่ 1970s กลไกความร่วมมือระหว่างทุนและแรงงานดังกล่าวนี้ ได้รับการขยายตัวมากขึ้นๆ ในหลายประเทศทั้งในสหภาพยุโรป ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา และทวีปอาฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป กลไกดังกล่าวขยายตัวมากขึ้นๆอย่างเด่นชัด เมื่อมีการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปนับจาก ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา ประกอบกับก่อนหน้านั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ในปี 1971 ก็ได้ออกอนุสัญญาฉบับที่ 135 ว่าด้วย Workers' Representative ขึ้นเป็นมาตรฐานแรงงานสากลที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างทุนและแรงงานด้วย สาระสำคัญก็คือ ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการของฝ่ายแรงงานขึ้นในบริษัทโดยมาจากการเลือกตั้งของคนงานหรือการแต่งตั้งของสหภาพแรงงานก็ได้ และต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับบทบาทและการเจรจาต่อรองร่วมของสหภาพแรงงานกับผู้ประกอบการ และให้ผู้ว่าจ้างออกค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของคณะผู้แทนแรงงานดังกล่าวด้วย อนุสัญญาฉบับนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประชาธิปไตยของแรงงานในสถานประกอบการในระดับสากล สภาที่ปรึกษาในการทำงานประจำธุรกิจ (แบบยุโรป) ในปัจจุบัน ประกอบขึ้นด้วยผู้แทนของคนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการหนึ่งๆ เพียงฝ่ายเดียวหรือเป็นหลัก โดยวิภาษมาจากแนวคิดการสนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมโดยสภาของคนงาน (Workers' Council) ด้วยการควบคุมของคนงาน (Workers' Control) ดังที่กล่าวแล้วนั้น ในประเทศเยอรมนีซึ่งนิยมระบบสภาแบบนี้มากกว่าประเทศใดๆ และเป็นต้นตำรับให้ประเทศอื่นในยุโรปนำไปประยุกต์นั้น มีคำเรียกสภาแบบนี้หลักๆ อยู่สองคำ คือ Betriebsrat ซึ่งแปลว่าสภาที่ปรึกษาของ/ประจำธุรกิจหรือสภาที่ปรึกษาของ/ประจำสถานประกอบการ และ Arbeiterrat ซึ่งแปลว่าสภาที่ปรึกษาคนงานหรือสภาที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ระบบเช่นนี้นอกจากในเยอรมนีแล้ว ยังนิยมใช้ในประเทศออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ อีกด้วย ส่วนในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งกับเยอรมนีในระบบแรงงานสัมพันธ์เช่นนี้ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบันนั้น ใช้คำว่า comités d'entreprise ซึ่งแปลว่าคณะกรรมการของ/ประจำสถานประกอบการ และนิยมตั้งขึ้นในรูปคณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่ายของผู้แทนแรงงานและเจ้าของกิจการ [เช่นเดียวกับบริษัทของญี่ปุ่นที่มีคณะกรรมการร่วมปรึกษาหารือ (Joint Consultation Committee) และเกาหลีใต้ที่มีคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างแรงงานและฝ่ายจัดการ (Labour-Management Committee)] สำหรับในบทความนี้จะเรียกว่าสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจตามเนื้อหาแห่งภารกิจของสภาฯมากกว่าใช้คำอื่น แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในเชิงการแปลแบบเอาความหมาย Works Council อาจแปลว่าสภาแรงงานหรือสภาของแรงงานก็ได้ เพราะในคณะกรรมการนี้โดยส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะมีผู้แทนของแรงงานผูกขาดอยู่ (แทบ) ทั้งหมด แต่สำหรับในประเทศไทย หากเรียก Works Council ว่าสภาแรงงานแล้ว ก็จะสับสนได้กับคำว่า "สภาแรงงาน" (ในภาษากฎหมายไทยจะมีคำว่าสภาองค์การลูกจ้างนำหน้า) ที่เป็นคำเรียกองค์การระดับชาติของสหภาพแรงงานตั้งแต่ 15 แห่ง มารวมตัวกัน ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ (ปัจจุบันมีประมาณ 15 สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงาน) การที่ในระยะหลังๆ สหภาพยุโรปได้เป็นแหล่งสำคัญของระบบการให้แรงงานร่วมบริหารกิจการธุรกิจ และนิยมใช้คำว่า "Works Council" (แปลมาจากต้นตำรับ "Betriebsrat" ของเยอรมนีกันเลยทีเดียว) มากกว่าต้นตำรับ "Workers' Council" นั้น นอกจากกระแสปฏิวัติของฝ่ายสังคมนิยมสากลได้อ่อนแรงลงไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมาจากการที่ในสภาแบบนี้ของบรรดาบริษัทลงทุนข้ามชาติต่างๆ ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ สามารถมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่ไม่เป็นแบบแผนเดียวกันไปเสียทั้งหมด แต่ยังคงสารัตถะสำคัญในบทบาทของสภาเช่นนี้ในสถานประกอบการเป็นสำคัญ โดยอาจเป็นสภาเดี่ยว สภาคู่ และสภาผสมหลายฝ่าย ก็ได้ สภาเดี่ยวคือมีคนงานหรือผู้ใช้แรงงานฝ่ายเดียว สภาคู่คือมีทั้งผู้แทนคนงานและผู้แทนนายจ้างเพียงสองฝ่าย สภาผสมคืออาจมีทั้งผู้แทนคนงาน ผู้แทนนายจ้าง และผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เราจึงไม่สามารถเรียกว่าสภาคนงานได้อย่างสนิทใจในทุกแห่งหน การเรียกว่า Works Council (เรียกชื่อดูใหญ่โตว่า "สภา" แต่ประจำบริษัทใครบริษัทมัน ไม่ว่าจะในระดับภายในประเทศหนึ่งๆ หรือเหนือขึ้นไปในระดับยุโรปโดยรวมก็ตาม) ซึ่งแปลว่าสภาการทำงานจึงเป็นการเรียกแบบเหมาภาพรวมของบทบาทคณะกรรมการแบบนี้ไปเสียเลย โดยก็ยึดเอาสถานประกอบการเป็นที่ตั้ง แต่หากกล่าวแบบคำนึงถึงองค์ประกอบหลักและอำนาจหลักของสภานี้ (ตัดเป้าหมายการปฏิวัติสังคมนิยมแบบต้นตำรับออกไป) เราก็สามารถเรียกมันแบบกว้างๆว่าสภาคนงาน/สภาคนทำงานหรือคณะกรรมการคนงาน/คณะกรรมการของคนทำงาน/คณะกรรมการแรงงานก็ได้ แต่เน้นการทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกับและให้คำปรึกษาแก่นายทุนหรือผู้เป็นเจ้าของกิจการ กระนั้นก็ตาม ขอรบกวนราชบัณฑิตยสภาช่วยทำพจนานุกรมหรือศัพท์บัญญัติว่าด้วยศัพท์แรงงานออกมาบ้าง นอกเหนือสาขาอื่นๆ ที่ทำไปมากแล้ว และช่วยรวมคำนี้ไว้ด้วยว่าควรบัญญัติและให้ความหมายว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ภายใต้กฎหมายชี้นำแห่งสหภาพยุโรป (European Directive) ออกโดยรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป คือ European Parliament (ที่เลือกตั้งกันมา นอกเหนือผู้แทนราษฎรแต่ละประเทศนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่เน้นการไปสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยให้อิสระทางวิธีการพอสมควรที่ประเทศสมาชิกจะสามารถจัดการในทางปฏิบัติเอาเอง) ว่าด้วยเรื่อง European Works Council (EWC) นี้ บทบาทหลักของสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจแห่งยุโรปที่ริเริ่มกันตั้งแต่ ค.ศ. 1994 และพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นๆ ในที่สุดใน ค.ศ. 2009 ก็คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร (Information) และการปรึกษาหารือ (Consultation) กับตัวแทนผู้ประกอบการหรือฝ่ายจัดการในทุกประเทศสมาชิกที่บริษัทไปเปิดดำเนินธุรกิจ แต่โดยหลักการก็เป็นการจัดการความสัมพันธ์กันของแรงงานและทุนสองฝ่ายในประเด็นระดับยูโรปที่อาจกระทบต่อการจ้างงานหรือเงื่อนไขการทำงาน แต่ยังมิได้ไปสูงกว่านั้น คือ ถึงขั้นมีผู้แทนสองฝ่ายนั่งบริหารกิจการร่วมกันในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ของบริษัท (Codetermination) แต่กระนั้นสภาฯเช่นนี้ก็มิใช่จะตั้งขึ้นกันง่ายๆ คือ หากฝ่ายจัดการไม่ริเริ่มขึ้น ก็ต้องเป็นเรื่องที่คนงานอย่างน้อย 100 คน ในบริษัทเดียวกันข้ามประเทศอย่างน้อยสองประเทศต้องร้องขอต่อทางสำนักงานใหญ่ของบริษัทให้จัดตั้งขึ้น และจะเป็นไปได้ก็เมื่อบริษัทข้ามชาตินั้น ต้องมีการจ้างพนักงานในทุกประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) รวมกันอย่างน้อย 1,000 คน และอย่างน้อยสองประเทศต้องมีพนักงานประเทศละไม่น้อยกว่า 150 คน และในการจัดตั้งก็ต้องมีคณะกรรมการพิเศษชั่วคราว (Special Negotiation Body) ที่พนักงานเสนอชื่อโดยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานและสภาสหภาพแรงงานแห่งยุโรป เพื่อเจรจากับตัวแทนฝ่ายจัดการจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทให้จัดตั้งหรือยอมรับการมีสภาที่ปรึกษาฯแห่งยุโรปร่วมของทุกบริษัทที่อยู่เหนือสภาที่ปรึกษาฯในระดับประเทศ ตามหลักเกณฑ์ที่เป็นกำหนดใน European Directive (2009/38/EC) 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการปรึกษาหารือระหว่างสภาที่ปรึกษาในการทำงานของสถานประกอบการแห่งยุโรปกับผู้แทนจากสำนักงานใหญ่ (บริษัทแม่) ต้องกระทำขึ้นในกรอบเวลาอันเหมาะสม และในแง่ข้อมูลก็จะต้องถูกต้อง ทันสมัย และมีอย่างเพียงพอด้วย 2. สภาที่ปรึกษาในการทำงานของสถานประกอบการแห่งยุโรป ตั้งขึ้นระหว่างประเทศในเขตแดนชุมชนทางเศรษฐกิจ/การค้าของสหภาพยุโรป แต่อยู่ในมากกว่าสองประเทศและบริษัทเป็นเจ้าของเดียวกัน (เช่น บริษัทบีเอ็มดับบลิวของชาวเยอรมัน หรือ บริษัทฟอร์ดของชาวอเมริกัน ในทุกประเทศสมาชิกในเขตแดนชุมชนทางเศรษฐกิจ/การค้าของสหภาพยุโรป) 3. สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯ ในบริษัทข้ามชาติต่างๆ ในปัจจุบัน (2560) มีถึง 1,083 สภา (องค์คณะ) 4. สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯที่มีฐานมาจากหรือเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานจะมีประสิทธิภาพมากกว่าสภาฯที่ไม่มีสหภาพแรงงานเกี่ยวข้อง เพราะสหภาพแรงงานจะสนับสนุนด้านข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ และการฝึกอบรม และการเข้าถึงและมีเครือข่ายระหว่างประเทศ 5. สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯดังกล่าวในบริษัทลงทุนข้ามชาติบางบริษัท กำลังขยายตัวออกไปนอกสหภาพยุโรป และกลายเป็นสภาการทำงานของสถานประกอบการแห่งโลกก็มีในบางบริษัทด้านยานยนต์ 6. บริษัทนั้นๆ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับกิจกรรมของสภาที่ปรึกษาในการทำงานฯ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมระหว่างประเทศของผู้แทนสภาที่ปรึกษาในการทำงานฯกับผู้แทนสำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ 7. อุตสาหกรรมหรือกิจการที่มีจำนวนสภาดังกล่าวมาก-น้อยกว่ากัน เรียงตามลำดับ คือ 1) โลหะ 2) บริการ 3) เคมี 4) อาหาร เกษตร และท่องเที่ยว 5)ก่อสร้างและงานไม้ 6) ขนส่ง 7) สิ่งทอ 8) บริการสาธารณะ 9) อื่นๆ 8. สัญชาติของกิจการในสหภาพยุโรปที่มีสภาที่ปรึกษาในการทำงานฯระดับยุโรป 15 ลำดับแรก คือ 1) เยอรมนี 2) สหรัฐอเมริกา 3) ฝรั่งเศส 4) อังกฤษ 5) สวีเดน 6) เนเธอร์แลนด์ 7) สวิสเซอร์แลนด์ 8) เบลเยียม 9) ฟินแลนด์ 10) อิตาลี 11) ญี่ปุ่น 12) ออสเตรีย 13) เดนมาร์ก 14) นอรเวย์ และ 15) สเปน 9. ประเด็นที่สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯได้พยายามทุ่มเทการทำหน้าที่ เรียงลำดับดังนี้ 1) สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (32%) 2) การคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (28%) 3) การฝึกอบรมในการทำงาน (24%) 4) การปฏิบัติด้านทรัพยากรมนุษย์ (14%) 5) โอกาสในความเท่าเทียมกันในการทำงาน (12%) 6) นโยบายในการวิจัยและพัฒนา (6%) 7) ชั่วโมงการทำงาน (4%) 8) ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ (3%) หันมาดูในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างแรงงานและทุน ในรูปสภาที่ปรึกษาของสถานประกอบการจากฝ่ายคนทำงานแบบที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็คือคณะกรรมการลูกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ใช้กันในบริษัทเอกชน และคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (ซึ่งตั้งในรูปคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายกับฝ่ายบริหาร) ที่ใช้กันในรัฐวิสาหกิจนั่นเอง และเป็นคนละคณะกับสหภาพแรงงาน (worker union) แต่อาจมีผู้แทนสหภาพแรงงานไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวนี้ด้วย ตามสิทธิของสหภาพแรงงานที่กฎหมายรับรอง แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการลูกจ้างก็ไม่แสดงบทบาทเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งในภาคเอกชนจำนวนมากถูกควบคุมโดยสหภาพแรงงานอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อมุ่งคุ้มครองผู้นำสหภาพแรงงานไม่ให้ถูกเลิกจ้างโดยง่าย โดยสหภาพแรงงานมิได้มุ่งใช้คณะกรรมการลูกจ้างเป็นกลไกเสริมเพื่อการปรึกษาหารือกับนายจ้าง นอกเหนือการเจรจาต่อรองร่วมร่วมอันเป็นที่นิยมของสหภาพแรงงาน เพราะการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องให้ศาลแรงงานอนุญาต และกฎหมายไทยเองก็ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ในเชิงปรึกษาหารือของคณะกรรมการกับนายจ้างอย่างมีพลัง ดังที่ควรจะเป็น คณะกรรมการลูกจ้าง หรือ Works Council ในบริษัทเอกชนในประเทศไทยจึงไม่เป็นประโยชน์ร่วมของผู้ประกอบการและแรงงานอย่างแท้จริง แต่กรณีคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ที่ใช้กันในรัฐวิสาหกิจก็พอจะมีบทบาททำอะไรได้มากกว่าในภาคเอกชน เพราะกฎหมายให้บทบาทและอำนาจแก่คณะกรรมการที่ชัดเจนกว่า และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเองก็ยอมรับและมีผู้แทนของตนในกลไกเช่นนี้อีกทางหนึ่งด้วย สิ่งที่พอจะคาดเดาได้ถึงผลกระทบของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างแรงงานและทุนดังกล่าวนี้ในยุโรปและประเทศไทย ก็คือสถานประกอบการนั้นๆจะมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น และคุณภาพชีวิตคนทำงานก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ในยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เขาเห็นกันแล้วเช่นนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ตกผลึกกันอย่างแจ่มชัดในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ เมื่อประเทศพัฒนามากขึ้นๆ และหากอำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชน มีมากขึ้นเช่นกัน สภาที่ปรึกษาในการประกอบการธุรกิจ ก็น่าจะปรับองค์ประกอบให้มีผู้แทนจากขบวนการสหกรณ์ผู้บริโภคสินค้าหรือบริการและขบวนการชุมชนที่สถานประกอบการนั้นๆตั้งอยู่หรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องด้วย ได้เข้าร่วมกับฝ่ายแรงงานเป็นกรรมการสภาหรือคณะกรรมการเช่นนี้ประจำสถานประกอบการธุรกิจด้วย – นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของการเปิดกว้างในความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชน ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งจะเป็นหัวเชื้อของความก้าวหน้าประการสำคัญที่จะเสริมสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาและโลกการทำงานในอนาคต! สำหรับประชาคมอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งนั้น พยายามรวมตัวให้เป็นปึกแผ่นในเชิงความมั่นคงมากว่า 40 ปี แล้ว และกำลังเข้าสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีบริษัทลงทุนข้ามชาติทั้งของชาวยุโรป อเมริกา และประเทศในทวีเอเชีย (เช่น ญี่ปุ่น ใต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์) และจากทวีปอื่นๆ จำนวนมากมายมาทำมาหากินกับแรงงานในขณะนี้ และจะมีมากขึ้นๆในอนาคต ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย แม้บางประเทศจำนวนข้างน้อยจะเป็นเผด็จการแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (บรูไน) และคอมมิวนิสต์ (เวียดนาม และลาว) และโดยภาพรวมของประเทศเหล่านี้จะให้คุณค่ากับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในระดับหนึ่งตามที่ประกาศใช้ร่วมกันแล้วก็ตาม แต่รัฐสมาชิกก็ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่อง "สิทธิในข้อมูลและการปรึกษาหารือข้ามชาติของคนทำงาน" และความร่วมมือระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการธุรกิจในระดับประชาคมอาเซียนเอาเสียเลย ที่จะให้ตัวแทนคนทำงานในบริษัทข้ามชาติเดียวกันในต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและประชุมปรึกษาหารือด้วยกันเอง และร่วมกับเจ้าของกิจการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของสถานประกอบการและอุตสาหกรรม การเสริมสร้างพลังแห่งการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญอันหนึ่งของโลก และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตการทำงานของประชาชนในประชาคมอาเซียนกันเองให้สูงขึ้นอยู่เสมอ เราสมควรเรียนรู้ตัวอย่างกลไกเช่นนี้ของรัสเซีย (รวมทั้งยูโกสลาเวีย) และสหภาพยุโรปไว้บ้าง แล้วหาทางผลักดันจากล่างขึ้นบน โดยค่อยๆสร้างแบบแผนของเราขึ้นจากการเอื้อเฟื้อของประสบการณ์ระหว่างประเทศและในระดับสากลขึ้นมาเองด้วย เพราะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปในระดับโลก และระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวยุโรปที่สูงขึ้นๆ ก็ได้มาจากการเสริมส่งของสภาที่ปรึกษาในการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจ (หรือจะเรียกว่าสภาที่ปรึกษาของธุรกิจจากฝ่ายคนทำงานก็ได้) ของสหภาพยุโรปเป็นสำคัญด้วย ใครล่ะจะผลักดันเรื่องนี้ในประชาคมอาเซียน? ข้าพเจ้าเห็นว่าก็คงต้องเป็นความพยายามร่วมมือกันของชาวขบวนการแรงงาน ขบวนการประชาธิปไตย นักวิชาการ หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่ก้าวหน้า นักพัฒนาเอกชน พลังคนทำงานรุ่นใหม่ และนักทรัพยากรมนุษย์ที่รักประชาธิปไตยของประเทศและในการทำงานทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นในประชาคมอาเซียน รวมทั้งนอกประชาคมอาเซียน เพราะภายใต้ความน่าอดสูใจยิ่งนักกับการเล่นแร่แปรธาตุต่อประชาธิปไตยของเหล่าผู้มีอำนาจรัฐและเครือข่ายในปัจจุบัน เมื่อข้าพเจ้ามองไปที่รัฐบาลไทยแล้ว ก็ไม่เห็นวี่แววที่จะฝากความหวังในเรื่องแบบนี้ไว้ได้เลย เพราะนับแต่วันรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และนับจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 อันเป็นวันแรกของการเปิดดำเนินการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวเป็นต้นมา รัฐบาลไทยของ คสช. โดยภาพรวมก็กลับก้มต่ำ ไม่มีราศี และกำลังสูญเสียความเป็นผู้นำในการเสริมสร้างความรุ่งเรืองให้กับประชาคมอาเซียน - สู้รัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้เอาเสียเลย!?
หมายเหตุท้ายบทความ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญหา ‘พุทธแบบศาสนา’ และ ‘พุทธแบบปรัชญา’ Posted: 20 Jul 2017 09:53 PM PDT ภาพจาก http://www.thammasapa.com/product/565846/151162_1325840734
ท่านพุทธทาสยกตัวอย่างว่า ความรู้อันลึกซึ้งเรื่อง "สุญญตา" ย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้วเช่นพระอรหันต์ เพราะได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยจิตใจของตนเอง ไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสเสนอว่าชาวพุทธควรให้ความสนใจพุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็น "ศาสนา" (religion) มากกว่าเหลี่ยมที่เป็นปรัชญา หมายถึง พุทธศาสนาส่วนที่เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อเกิดปัญญารู้ทุกข์และดับทุกข์ได้จริง ซึ่งท่านมองว่าพุทธศาสนาในแง่นี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าจะเป็นปรัชญา เนื่องจากเป็นสิ่งที่พิสูจน์ทดลองให้เห็นผลได้ด้วยการปฏิบัติ แต่ "วิทยาศาสตร์" ในนิยามของท่านพุทธทาสนั้น ท่านว่าหมายถึง "วิทยาศาสตร์ทางจิต" คำสอนพุทธศาสนาเช่นอริยสัจคือคำสอนที่สะท้อนความเป็นวิทยาศาสตร์ในแง่นี้ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้ในเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ทางจิต แปลว่าท่านพุทธทาสตัดคำสอนพุทธศาสนาส่วนที่อยู่นอกเหนือการพิสูจน์ทดลอง (เช่นคำสอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ฯลฯ) ออกไปจากนิยามนี้ โดยทั่วไปแล้ว เราต่างรับรู้กันว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่องกัน เพราะศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อหรือ "ศรัทธา" ในสิ่งเหนือธรรมชาติ (เช่น God) หรือไม่ก็เป็นศรัทธาในคุณค่าบางอย่าง เช่นเชื่อในคุณค่าของ "ความหลุดพ้น" ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์พึงบรรลุถึงเป็นต้น วิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวกับศรัทธาในความหมายดังกล่าว แต่เป็นเรื่องของการแสวงหาความจริงอย่างมีระเบียบแบบแผนเฉพาะ และความจริงหลายๆ เรื่องที่วิทยาศาสตร์ค้นพบก็มักทำให้เกิดคำถามต่อความเชื่อของศาสนาต่างๆ ฉะนั้น นิยามของท่านพุทธทาสที่ว่า "พุทธศาสนามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์" จึงมีความหมายจำเพาะว่าเป็น "วิทยาศาสตร์ทางจิต" ที่พิสูจน์ทดลองให้เห็นผลได้จริง ซึ่งหมายถึง วิธีปฏิบัติแบบพุทธที่ทำให้รู้ทุกข์และความดับทุกข์ทางจิตใจได้จริง แต่ผู้ที่มองจากกรอบคิดทางวิทยาศาสตร์อาจจะตั้งคำถามว่า มีข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันหรือไม่ว่า วิธีการปฏิบัติแบบพุทธทำให้พ้นทุกข์ทางจิตได้จริง หรือถึงที่สุดแล้วนี่เป็นเพียง "ความเชื่อแบบศาสนา" อย่างหนึ่ง ที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์อย่างเป็นสาธารณะได้ด้วยกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์ ผมขอทิ้งปัญหานี้ไว้ ข้ามไปสู่ประเด็นพุทธศาสนาในมุมที่เป็นปรัชญา ดูเหมือนท่านพุทธทาส (และอันที่จริงธรรมาจารย์พุทธแทบทุกนิกาย) ไม่ชอบที่จะมองพุทธศาสนาเป็นปรัชญา เพราะเห็นว่า "ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดคำนึงคำนวณตามหลักเหตุผล" ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติ บางทีท่านพุทธทาสก็อ้างกาลามสูตรเพื่อปฏิเสธการถือว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ท่านพุทธทาสแสดงท่าทีปฏิเสธพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นปรัชญา แต่ในการเสนอคำสอนพุทธศาสนา ท่านมักจะตั้งคำถามเชิงปรัชญา คือคำถามเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่เขาถามกันในทางปรัชญา อย่างเช่น ธรรมคืออะไร มนุษย์เกิดมาทำไม ฯลฯ ซึ่งคำถามพื้นฐานเหล่านี้ไม่อาจได้คำตอบเป็นที่ยุติในทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่มักจะได้คำตอบเชิงปรัชญาที่เป็นคำตอบปลายเปิดให้เกิดคำถามและการถกเถียงต่อๆ ไปได้เสมอ ปัญหาของการปฏิเสธว่าพุทธศาสนาไม่ควรเป็นปรัชญา แต่ควรเป็น "ศาสนา" ทว่ากลับใช้คำถามเชิงปรัชญาเพื่อนำไปสู่ "คำตอบแบบศาสนา" ที่บอกว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติให้เห็นผลจริง คือปัญหา "ความย้อนแย้ง" ระหว่างความมีเหตุผลกับความเชื่อ ซึ่งเรามักพบได้ในงานของท่านพุทธทาส เช่นคำบรรยายและคำถาม-ตอบในหนังสือ "ธรรมะกับการเมือง" ที่เสนอแนวคิด "ธรรมิกสังคมนิยม" และ "เผด็จการโดยธรรม" ในหนังสือดังกล่าว มีทั้งคำถามเชิงอภิปรัชญาทางศีลธรรม และปรัชญาการเมือง แต่เนื่องจากท่านพุทธทาสไม่ได้คิดว่าท่านกำลัง "ทำปรัชญา" (อย่างที่โสเครตีสเป็นต้นเขาทำกัน) การใช้ข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) จึงไม่ละเอียดและรัดกุมเพียงพอ เช่นการโต้แย้งเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมก็ไม่ได้เกิดจากการอ่านแนวคิดดังกล่าวมาอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นแต่เพียงจับประเด็นจากที่อ่านมาคร่าวๆ เพื่อเสนอหลักการพุทธศาสนาที่ท่านเชื่อว่าเป็นสัจธรรมถูกต้องที่สุดเท่านั้น (วิธีการดังกล่าวทราบจากคำให้สัมภาษณ์ของพุทธทาสเองในหนังสือ "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา") ฉะนั้น การเริ่มด้วยคำถามเชิงปรัชญาก็เพื่อที่จะเสนอ "คำตอบแบบศาสนา" คำตอบที่ได้ก็คือ "ทศพิธราชธรรมเป็นระบบเผด็จการโดยธรรมที่ดีที่สุด" โดยอ้างเหตุผลว่า พระพุทธเจ้าและพระเจ้าอโศกเป็นตัวอย่างของผู้เผด็จการโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ และอ้าง "ระบบพ่อปกครองลูก" ของไทยแต่โบราณมาสนับสนุนคำตอบดังกล่าว คำตอบที่ได้จึงเป็นคำตอบแบบศาสนา หรือคำตอบในรูปของ "ความเชื่อ" มากกว่าที่จะแสดงให้เห็นความสมเหตุสมผล (justification) แบบปรัชญา และยิ่งไม่ใช่คำตอบที่อิงข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับใดๆ เลยว่าเคยมีระบบทศพิธราชธรรมที่ประสบผลสำเร็จจริงดังที่วาดภาพไว้ในแนวคิดธรรมิกสังคมนิยมอย่างไร ซึ่งย่อมขัดกับที่เสนอว่าพุทธศาสนามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อีกด้วย เพราะการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองแบบศาสนา ทำให้ท่านพุทธทาส (รวมนักคิดพุทธคนอื่นๆ) ไม่ได้วิพากษ์ว่า ข้อเสนอให้ใช้ความเชื่อทางทางศาสนามาเป็นหลักปกครองบ้านเมือง (รวมทั้งการวางระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา) เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับระบบสังคมและการเมืองในโลกสมัยใหม่ (ที่เขาแยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง) หรือไม่ นอกจากปัญหาการใช้คำถามเชิงปรัชญาเพื่อเสนอคำตอบแบบศาสนาของผู้ที่มีท่าทีปฏิเสธปรัชญาดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาการเสนองานพุทธปรัชญาที่อาจไม่เป็น "ปรัชญา" แต่เป็น "ศาสนา" เช่นในหนังสือ "ปรัชญาการเมืองเปรียบเทียบ" ของ ศ.ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์ ได้เสนอ "พุทธปรัชญาการเมือง" ที่เริ่มด้วยการวิพากษ์ว่า
ผมจะข้ามประเด็น "คำทางศาสนา" ในภาษาบาลีว่ามันมีคอนเซ็ปต์เฉพาะต่างจากคอนเซ็ปต์ของ "คำทางปรัชญา" อย่าง Materialism อย่างไร และข้ามการใช้คำบาลีนอกวงเล็บกับคำศัพท์ทางปรัชญาในวงเล็บว่ามันชวนให้สับสนอย่างไร ไปสู่ข้อโต้แย้งของผู้เขียนที่ว่า ปรัชญาสังคมการเมืองฝ่ายวัตถุนิยม "มีลักษณะยกคุณค่าของวัตถุเหนือคุณค่าของมนุษย์" แล้วก็เสนอต่อไปว่าพุทธปรัชญาการเมืองให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์เหนือคุณค่าของวัตถุ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับไอเดีย Materialism นัก โดยเฉพาะปรัชญาการเมืองอย่าง dialectic materialism ก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับคุณค่าของวัตถุเหนือคุณค่าของมนุษย์ เพียงแต่เขาเสนอการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมการเมืองว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่นระบบการผลิตและอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นและความคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของสังคมมนุษย์ แนวคิดปรัชญาที่มองกันว่าเป็นวัตถุนิยมทางจริยศาสตร์ อย่างเช่นสุขนิยม และประโยชน์นิยมที่ให้ความสำคัญกับ "ความสุขทางวัตถุ" หรือปัจจัยการดำรงชีวิตอย่างโลกย์ๆ มากกว่า "ความสงบทางจิตใจ" ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาให้ความสำคัญกับวัตถุเหนือคุณค่าของมนุษย์ เพราะหลักการพื้นฐานในการแสดงหาและกระจายความสุขทางวัตถุย่อมยึดโยงอยู่กับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ น่าสังเกตว่าเวลาที่ใครก็ตามยก Idealism แบบศาสนาว่าให้ความสำคัญกับจิตใจและคุณค่าของมนุษย์มากกว่าวัตถุ เพื่อปฏิเสธวัตถุนิยม บริโภคนิยมนั้น เขาลืมไปว่าตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ Idealism แบบศาสนานี่แหละที่เป็นรากฐานของวัตถุนิยมและบริโภคนิยมมาโดยตลอด เช่นเป็นที่มาของการสร้างปราสาทราชวัง โบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม ศาสนสถานที่ใหญ่โตหรูหราอลังการ แต่นี่เป็นวัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่จำกัดการเสพความหรูหราอลังการไว้เฉพาะชนชั้นนำกลุ่มน้อย คือพวกกษัตริย์ ขุนนาง พระเท่านั้น ซึ่งเป็นเช่นนี้แทบทุกสังคมไม่ว่าตะวันตก ตะวันออกในยุคที่รัฐกับศาสนาไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นยุคที่รัฐให้ความอุปถัมภ์ศาสนา และส่งเสริมศีลธรรมแบบศาสนามากที่สุด ส่วนวัตถุนิยม บริโภคนิยมในโลกสมัยใหม่ที่พวกนักศีลธรรม นักศาสนายุคปัจจุบันโจมตีกันจนเป็นแฟชันนั้น มันคือวัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่กระจายโอกาสในการครอบครองหรือบริโภควัตถุมาสู่คนธรรมดาสามัญมากขึ้นแล้ว ไม่ใช่วัตถุนิยม บริโภคนิยมผูกขาดไว้เฉพาะชนชั้นบนอย่างยุคที่ Idealism แบบศาสนารุ่งเรือง ท่านผู้เขียนพุทธปรัชญาการเมืองเสนอว่า ระบบสังคมการเมืองที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์เหนือคุณค่าของวัตถุคือ "ระบบธรรมาธิปไตย" ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ปกครองมีคุณธรรมและทำการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" (แจกแจงคุณธรรมเป็นข้อๆ) ข้าราชการทุกหมู่เหล่ามีคุณธรรมจริยธรรม และรัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนา ส่งเสริมการศึกษาศีลธรรมศาสนาในระบบการศึกษาทุกระดับเพื่อให้พลเมืองของรัฐเป็นคนดีมีคุณธรรม ซึ่งนี่เป็นจินตนาการเกี่ยวกับรัฐในยุคที่ Idealism แบบศาสนารุ่งเรืองนั่นเอง สุดท้ายเมื่ออ่านจบ ราวกับว่าผู้เขียนกำลังเสนอว่า "ระบบธรรมาธิปไตย" คือระบบที่สามารถแก้จุดอ่อนของปรัชญาการเมืองแบบตะวันตกทั้งหมดที่ตนวิจารณ์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ทว่ากลับไม่วิพากษ์ให้เห็นจุดอ่อนหรือด้านที่อาจเป็นปัญหาของระบบธรรมาธิปไตยดังที่ "งานปรัชญา" โดยทั่วไปเขาทำกัน ทั้งๆ ที่ถ้าหากถือว่าระบบธรรมาธิปไตยเป็น "ระบบพ่อปกครองลูก" แบบหนึ่ง ก็มีข้อโต้แย้งปรากฏอยู่แล้ว เช่นข้อเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่ว่า "เวลาเราไปลงคะแนนเลือกผู้แทน เราไม่ได้คิดว่ากำลังลงคะแนนเลือกใครมาเป็นพ่อ" หรืออย่างที่จอห์น สจ๊วต มิลล์มองว่า "รัฐที่มองประชาชนเป็นเหมือนลูก คือรัฐที่มองประชาชนเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต" เป็นต้น และปรัชญาการเมืองฝ่ายเสรีนิยมต่างยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการเลือกนับถือศาสนาหรืออุดมคติอื่นๆ เพื่อการมีชีวิตที่ดีส่วนตัว รัฐไม่พึงยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาใดๆ ผ่านระบบการศึกษาทุกระดับ ในประเด็นพื้นฐานเช่นนี้ระบบธรรมาธิปไตยที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐและให้สอนศีลธรรมทางศาสนาในระบบการศึกษาทุกระดับจะตอบอย่างไร ผู้เขียนก็ไม่ได้แสดงให้เห็น แต่ท่านผู้เขียนกลับสรุปในสาระสำคัญว่า "สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นสัจธรรมและมีเหตุผลสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว เป็นเรื่องที่เราต้องนำมาปฏิบัติให้ได้ ถ้าต้องการบรรลุผลดีตามที่คำสอนนั้นเสนอไว้" ซึ่งเป็นข้อสรุปแบบการชี้นำทางศาสนามากกว่าจะเป็นปรัชญา นี่คือปัญหาในวงการพุทธศาสนาไทย เป็นปัญหาว่าเรากำลังเสนอคำสอนพุทธในฐานะเป็น "ศาสนา" หรือเป็น "ปรัชญา" กันแน่ ซึ่งสุดท้ายก็มักนำไปสู่คำตอบที่ว่าคำสอนพุทธเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องและดีที่สุด แต่ทิ้งความสับสนและงงๆ ไว้สำหรับผู้ที่พินิจหาความสมเหตุสมผลในวิธีการนำเสนอ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เพื่อนต่างคณะขอแลกเปลี่ยน: ข้อสังเกตจากดีเบต “การเฉื่อยชาทางการเมือง” ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ Posted: 20 Jul 2017 09:16 PM PDT
1. สำหรับบทความของธรณ์เทพ มณีเจริญ หนูเข้าใจว่าเขาต้องการให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาทำอะไรสักอย่าง แต่หนูไม่รู้ว่าเขาคิดว่าการทำอะไรสักอย่าง หมายความว่าประท้วงหรือไม่ หนูคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่านั้น เช่น กรณีการชูป้าย เรื่อง พรบ คอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมา หรือการประท้วงเพื่อถูกจับ หนูคิดว่าเราสามารถทำอะไรที่มี impact ได้มากกว่านั้น และ หนูคิดว่าคุณธรณ์เทพยังให้ความสำคัญกับเรื่อง "การคิด" น้อยไป ให้ความสำคัญกับ "การกระทำ" มากไป ทั้งสองอย่างต่างก็สำคัญทั้งนั้น เพื่ออ้างนักปรัชญาเท่ๆ Zizek เคยกล่าวไว้ว่า "We Need Thinking" 2. ยังไงก็ตาม สิ่งที่คุณธรณ์เทพเขียนก็มีประเด็น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็มีหนูก็มีเพื่อนจากคณะรัฐศาสตร์อยู่หลายคน เพื่อนบางคนได้คอมเพลนมาว่า เขาไม่ได้ต้องการเรียนรัฐศาสตร์เลย แต่คะแนนไม่ถึงคณะอักษรศาสตร์ บางคนมาเรียนที่นี่ก็คิดว่าจะได้เรียนภาษาที่สาม แต่การเรียนภาษาที่สามก็ไม่ได้ถูกเน้นเท่าวิชาการเมือง เพื่อนๆหลายคนบ้างก็ซิ่วไปคณะอื่น ดังนั้นสิ่งที่คุณธรณ์เทพพูดอยู่ก็มีมูลความจริงในการที่นิสิตไม่สนใจการเมือง แต่การเมืองก็มีในระดับชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ในเรื่องปัญหาอื่นๆ พวกเขาก็อาจจะสนใจก็ได้ เช่น เรื่องราคาของสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือการใช้หนังสัตว์ในการทำกระเป๋า Hermes ประเด็นในเกมส์ Civilization การสนใจสิ่งนี้ก็เป็นการเมืองไม่ใช่หรือ แต่หนูคิดว่าคุณธรณ์เทพคงไม่ได้หมายถึง "การเมือง" ในแบบที่ว่าอย่างแน่นอน แล้วการเมืองที่คุณธรณ์เทพต้องการให้นิสิตสนใจ เป็นการเมืองแบบไหน มีลักษณะอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงต้องสนใจด้วย แล้วไม่สนใจจะได้ไหม คุณธรณ์เทพต้องชี้แจงตรงนี้ให้ละเอียดขึ้น 3. คุณธรณ์เทพมีความหวังกับคณะรัฐศาสตร์ของตัวเองมากไปไหม ซึ่งกำลังมองโลกอย่างผิดๆไป คุณธรณ์เทพอาจจะเป็นเหมือนคนหัวโบราณที่จะไปสร้างความหวังหรือมีจุดมุ่งหมายให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การที่บอกว่า คนที่เรียนรัฐศาสตร์ต้องสนใจการเมือง เรียนเพื่อเอาไปปฏิบัติได้ หนูไม่ได้ต้องการทำลายความหวังคุณธรณ์เทพหรอกนะคะ แต่คุณธรณ์เทพ ซึ่งก็น่าสนใจมาร์กซิสม์ เคยได้ยินที่อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวาเขียนไว้ไหมคะ "รัฐศาสตร์ ศาสตร์ชนสูงและคนมีสตางค์เรียน การเรียนรัฐศาสตร์ถ้าพูดในภาษาไทยง่ายๆคือ"เรียนไปแล้วทำมาหาแดกอะไรไม่ได้" ก็รัฐศาสตร์เป็นสถานที่ของลูกคนรวยที่มาเรียนอะไรให้ดูเปี่ยมล้นบารมีศัพท์แสงต่างๆมากขึ้นหรือเปล่าคะ รุ่นพี่ที่คณะรัฐศาสตร์ที่หนูรู้จักหลายคนจบไปก็อาศัยอยู่กับพ่อแม่ต่อ หรือขอเงินพ่อแม่ไปทำธุรกิจส่วนตัวคะ แล้วคุณธรณ์เทพไม่ทราบเหรอคะ ว่าตอนนี้คนที่ปกครองบ้านเมือง เขาไม่เรียนรัฐศาสตร์แล้ว เขาเรียนทหาร พวกรัฐศาสตร์เป็นแค่ฟันเฟืองของเขาคะ แทนที่คุณธรณ์เทพจะไปสนใจกู้ศักดิ์ศรีให้นิสิตคณะมีความตื่นตัวขึ้นมา หนูกลับมองว่า คุณธรณ์เทพควรจะเขียนบทความว่า "ทำไมนิสิตสายวิทยาศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ ต้องสนใจการเมือง" เพราะพวกเขาเอาวิชาไปทำมาหากินได้เกิดดอกเกิดผล หนูไม่ได้ดูถูกคณะรัฐศาสตร์หรอกนะคะ แต่ไปใส่ใจคณะที่จะมีบทบาทสำคัญกับประเทศ ให้พวกเขาได้ตระหนักในเรื่องการเมืองมากขึ้นจะไม่ดีกว่ามาพร่ำบ่นเกี่ยวกับคณะเหรอคะ 4. ต่อจากบทความของคุณธรณ์เทพก็มีบทความของ "สิงห์ดำท่านหนึ่ง" หนูอ่านแล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง การเรียนรัฐศาสตร์คือการมี "แว่น" หลายคน หรือ "เลนส์" หลายเลนส์ ดังนั้นให้ไปหาคนที่จะเป็นผู้นำประเทศที่มาจากสายแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ (แต่ไม่ใช่หนูแน่ๆ) โดยเป็นที่ปรึกษาของเขา เขาจะตัดสินใจจากเลนส์ของเขาที่แน่ชัด โดยขอความเห็นจากนิสิตรัฐศาสตร์ที่มีหลายเลนส์ เป็นข้อมูลชั้นดีให้ตัดสินใจ 5. ตอนจบของบทความสิงห์ดำท่านหนึ่ง หนูกลับรู้สึกใจไม่ดี ที่เขียนว่า "ลองคิดถึงวันที่ท่านต้องถูกคุมขังคุกคาม จากระบอบอำนาจนิยมไทย ท่านอยากได้ยินเสียงใดระหว่าง "ปล่อยเพื่อนกู" หรือ "สมน้ำหน้ามึง" หนูคิดว่านี่เป็นการเขียนบทความในลักษณะเย้ยหยันมากกว่า หนูไม่ได้อยากจะหาเรื่องด้วยนะคะ แต่หนูมีความเห็นว่า ที่สังคมไทยของเราไม่พัฒนาขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเราอคติกับการแสดงความเห็นของตัวบุคคลหรือเปล่าคะ เวลาประชุมบริษัทเรามักจะบอกว่า ในประเทศไทย ลูกน้องจะนิ่งเงียบ แต่ต่างประเทศไม่ใช่ แล้วเราอยากจะให้ทำอย่างนั้น แล้วมันต่างอะไรกับการที่คุณธรณ์เทพเขาเขียนบทความขึ้นมา เขาก็เหมือนคนคนหนึ่งที่เห็นต่างออกไป เหมือนพนักงานคนหนึ่งพูดในสิ่งที่ปรารถนาดีขึ้นมา ซึ่งอาจจะไม่เข้าหูคนนัก (หนูคิดว่าเขาหวังดีคะ) ถ้าเขาถูกไล่ออกเพียงเพราะเขาคิดต่าง เราจะบอกว่า "สมน้ำหน้าคุน" เหรอคะ แล้วยิ่งบอกว่าถูกคุมขังด้วยระบอบอำนาจนิยม นี่มันไม่ถูกอยู่แล้วไม่ใช่เหรอคะ มีใครสมควรที่จะโดนบ้าง อ.สมศักดิ์ เจียม ก็ด่าเพื่อนตัวเองไว้เยอะ แล้วถ้าอยู่ดีๆ วันนึงที่ปารีส อาจารย์ถูกจับกลับเข้ามา "สมน้ำหน้าคุน" คือสิ่งที่เพื่อนๆควรทำกับอาจารย์หรือเปล่าคะ ข้อความที่สิงห์ดำท่านหนึ่งเขียนไม่เป็นการแสดงออกถึงการยอมกับอำนาจนิยมอย่างที่สุดหรือเปล่าคะ และแสดงถึงความเป็นพวกพ้องที่ไม่สนใจความยุติธรรมเลย 6. บทความสุดท้ายเขียนโดย ชยางกูร ธรรมอัน หนูคิดว่าบทความนี้เขียนรัดกุมดี แม้ว่าศัพท์แสงจะเยอะไปหน่อย หนูไม่ได้เห็นด้วยกับคุณชยางกูรหรอกนะคะ คุณชยางกูรก็ไม่ต่างอะไรกับคุณธรณ์เทพที่ยังเป็นพวกนักอุดมคติซึ่งหมดยุคสมัยแล้ว 7. คุณชยางกูร เขียนบทความนี้ อาจจะต้องลดศัพท์แสงลงไปก็ได้ เพราะคนไทย ถ้าเป็นอาจารย์เขียน หรือเป็นงานเขียนที่แปลจากภาษาต่างประเทศ ก็เป็นที่เข้าใจว่าอนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าคุณชยางกูรเป็นนิสิต และเขียนถึงเพื่อนนิสิตด้วยกัน คุณชยางกูรต้องระวังอาการหมั่นไส้ที่เห็นเพื่อนนิสิตเขียนอะไรเว้อวัง ตัวหนูก็ไม่ชอบการเขียนแบบศัพท์แสงสูง แต่หนูก็ไม่เห็นด้วยเลย แล้วหนูก็เสียใจและโกรธแทนคนเขียน จากการที่หนูเห็นเพื่อนของหนูในคณะรัฐศาสตร์ บางคนจากทวิตเตอร์ แขวะบทความนี้เชิงว่าภาษาพิจิตรพิสดารเกินกว่ามนุษย์มนาจะเข้าใจ หนูก็งงว่า หนังสือที่หนูไปเรียนที่คณะของเขาตอนปี 1 มันก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากที่หนูอ่านบทความนี้ไม่ใช่เหรอ หนูคิดว่าบทความนี้อ่านง่ายกว่าหนังสือประกอบวิชาเรียนเจนเอด SOCIETY & CULTURE ซึ่งเป็นวิชาที่ Popular ของเด็กวิทยาศาสตร์ เสียอีก แล้วถ้าแขวะๆกันหนูคิดว่า มันจะไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าพยายามอ่านให้เข้าใจ และถ้าไม่เห็นด้วยก็เขียนบทความแย้งกลับตามวิชาที่ได้เรียนมา หนูเข้าใจว่าเวลาดีเบตกันในวงการต่างๆเจริญรุ่งเรืองเพราะการเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจัง 8. แต่ท้ายที่สุด หนูรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นการถกเถียงแบบนี้โดยนิสิตเอง สายวิทยาศาสตร์มีการเรียนที่แตกต่างออกไป ลักษณะการโต้แย้งของเราไม่เหมือนกัน แต่นี่เป็นประเด็นที่จริงๆก็ไม่ใช่เฉพาะที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเลย แต่หนูคิดว่าทั่วทุกแห่งในประเทศ หนูคิดว่าถ้ามองในมุมปรัชญา นี่ก็คือสิ่งที่อริสโตเติล และสายวิทยาศาสตร์เองก็กำลังทำมิใช่เหรอนั่นคือ การพูดคุยเถียงกันว่า "อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับสังคม" หนูคิดว่าพวกคุณทั้งสามคนกำลังได้ทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ และหวังว่าจะมีคนอื่นๆมาแลกเปลี่ยนกับพวกคุณต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น