โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ดิอิโคโนมิสต์อัดซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับที่คิดปิด "อัลจาซีรา"

Posted: 05 Jul 2017 12:35 PM PDT

ซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ร่วมกันคว่ำบาตรกาตาร์ พยายามเรียกร้องให้สื่อมวลชนอย่าง "อัลจาซีรา" ต้องปิดตัว ทำให้ "ดิอิโคโนมิสต์" ต้องคว้า "ปากกา" มาฉะเหล่าผู้นำอาหรับในเรื่องนี้ โดยชี้ว่าถึงแม้อัลจาซีราจะเต็มไปด้วยความคิดเห็นแต่มันก็เป็นความคิดเห็นรอบด้าน และที่อาหรับเกิดปัญหาต่างๆ ทุกวันนี้เป็นเพราะมีเสรีภาพสื่อน้อยเกินไป

5 ก.ค. 2560 จากกรณีที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางแถบอ่าวอาหรับรวมทั้งซาอุดิอาระเบียและอียิปต์ ร่วมกันคว่ำบาตรกาตาร์ และวิธีหนึ่งก็คือพยายามเล่นงานสื่อมวลชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศกาตาร์นั่นคือ "อัลจาซีรา" เรื่องนี้ทำให้ "ดิอิโคโนมิสต์" นำเสนอถึงเรื่องนี้ว่าเป็นหนึ่งในความย้อนแย้งของประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่จำกัดสิทธิสตรีมากแต่กลับได้รับเลือกให้เป็นกรรมการด้านสิทธิสตรีของสหประชาชาติ

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่รัฐบาลเซ็นเซอร์สิ่งต่างๆ มากมายตั้งแต่การต่อต้านทางการเมืองไปจนถึงภาพโปสการ์ดสตรีเปลือยอก มีบล็อกเกอร์เรียกร้องประชาธิปไตยชื่อราอีฟ บาดาวี ถูกสั่งลงโทษจำคุก 10 ปี และถูกสั่งโบย 1,000 ครั้ง ในตอนนี้ซาอุดิอาระเบีย เริ่มพยายามทำตัวสั่งปิดสื่อแบบข้ามประเทศข้ามพรมแดน อย่างอัลจาซีราซึ่งมีสำนักงานที่กาตาร์ กรณีนี้ก็เปรียบเหมือนจีนสั่งให้อังกฤษปิดตัวบีบีซี

พวกกลุ่มประเทศแถบอ่าวอาหรับหาเรื่องสั่งแบนกาตาร์เพราะในสายตาของพวกเขากาตาร์เป็นมิตรกับอิหร่าน แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศโอมานกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่ถูกกล่าวหาอย่างเดียวกันบ้าง นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียยังกล่าวหาว่ากาตาร์ให้ที่พักพิงกับกลุ่มก่อการร้านอย่างอัลกออิดะฮ์ และไม่พอใจที่พวกเขามีสื่ออย่างอัลจาซีร

ซาอุดิอาระเบียมี 13 ข้อเรียกร้องต่อกาตาร์ต้องทำตาม เพื่อให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตร หนึ่งในนั้นคือให้มีการปิดสื่ออัลจาซีราเสีย หาไม่แล้วพวกเขาขู่มาดำเนินมาตรการกับกาตาร์เพิ่มอีก

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าสาเหตุที่ซาอุดิอาระเบีย ต้องการให้อัลจาซีราจอดำเพราะอัลจาซีราไม่เหมือนกับสื่อตะวันออกกลางอื่นๆ ตรงที่พวกเขานำเสนอเรื่องราวโดยไม่ผ่านการกรองจากรัฐบาล ในปี 2554 พวกเขาก็ให้พื้นที่กับผู้ประท้วงฝ่ายศาสนาอย่างมุสลิมบราเธอร์ฮูดที่ได้เป็นรัฐบาลในอียิปต์เพียงไม่นาน นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่ท้าทายรัฐบาลอื่นๆ ในพื้นที่ตะวันออกกลาง ทำให้พวกเผด็จการในตะวันออกกลางไม่พอใจ

รัฐบาลตะวันตกบางส่วนก็ไม่ชอบใจอัลจาซีราเช่นกันเพราะอัลจาซีราเคยเผยแพร่เทปข้อความของโอซามา บิน ลาเดน ซึ่งเป็นการรายงานข่าวทั่วไปแต่ผู้นำตะวันตกบางส่วนกลับมองว่าพวกเขาสนับสนุนการก่อการร้าย สำนักงานอัลจาซีราในอิรักก็เคยถูกปิดในช่วงปี 2547 ตอนที่อิรักอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกา และในปี 2559 รัฐบาลอิรักก็สั่งปิดสำนักงานอัลจาซีราอีกครั้งโดยอ้างว่าพวกเขาเติมเชื้อไฟให้เกิดความรุนแรงระหว่างนิกายอีกครั้งเพราะรายงานข่าวในเรื่องนี้อย่างไม่ไว้หน้าใคร

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการสั่งแบนเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ผิด เพราะอัลจาซีราก็เป็นสื่อๆ หนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นสื่อที่พยายามรายงานจากหลายมุมมอง ทั้งมุมของรัฐบาลและมุมของฝ่ายต่อต้าน มุมของภายในประเทศและจากสายตาต่างประเทศ พวกเขาเป็นสื่อที่มีคำขวัญว่า "ความคิดเห็นหนึ่งและความคิดเห็นอื่นๆ"

แน่นอนว่าอัลจาซีราเองไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักๆ แบบเดียวกับที่พวกเขาวิจารณ์คนอื่น แต่อัลจาซีราฉบับภาษาอังกฤษที่ได้รับความช่วยในช่วงยุคแรกเริ่มจากคนทำงานของบีบีซีกับอัลจาซีราภาษาอาหรับก็ต่างกัน ตรงที่ภาษาอาหรับมีท่าทีสนับสนุนอิสลามในทางการเมืองมากกว่า ทนต่อพวกหัวรุนแรงมากกว่า และแทบจะเป็นปากกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลกาตาร์แต่อัลจาซีราภาคภาษาอังกฤษนั้นไม่เหมือนกัน ติดอยู่ตรงที่ว่ากลุ่มประเทศอ่าวอย่างซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลับต้องการให้อัลจาซีราปิดตัวทั้งสองสถานี

ดิอิโคโนมิสต์เรียกร้องให้เหล่ารัฐบาลอาหรับเลิกพยายามปิดปากสื่อในประเทศเพื่อนบ้านของพวกเขาและควรเลิกทำตัวเป็นผู้ข่มเหงรังแกสื่อ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในอาหรับก็ไม่ได้เป็นเพราะว่ามีข้อมูลหรือมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากเกินไป ตรงกันข้ามคือปัญหาที่เกิดในอาหรับทุกวันนี้มีเสรีภาพเหล่านี้น้อยเกินไป

เรียบเรียงจาก

Saudi Arabia's attempt to silence Al Jazeera is outrageous, The Economist, 06-29-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เวียงเหนือ

Posted: 05 Jul 2017 11:25 AM PDT

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน กระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล ในพื้นที่ต.เวียงเหนือ จ.เชียงราย ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

5 ก.ค. 2560  รายงานข่าวจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า วันนี้ (5 ก.ค.60) เมื่อเวลาเวลา 10.00 น. ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 146/2554 และ คดีหมายเลขแดงที่ 278/2556 ระหว่าง นายบุญซ่น วงค์คำลือ กับพวกรวม 100 คน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ คนฮักท้องถิ่นคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล ในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย 

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2556 โดยพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เลขที่ (สรข.5) 02-119/2553 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2553 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ออกให้บริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) โดยให้มีผลนับแต่วันออกใบอนุญาตดังกล่าว และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด 

โดยต่อมาศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาโดยพิจารณาเห็นว่า ดังนี 1.  ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยคนเป็นประชาชนที่ที่มีภูมิลำเนา และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษ ผู้ฟ้องคดืทั้งหนึ่งร้อยคนจึงมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย  และสิทธิดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม รวมทั้งสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นประกอบก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง มาตรา 66  และมาตรา 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าในคดีนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบ้านเรือน โรงเรียน วัด และสถานที่อื่นของชุมชน อีกทั้งท้องที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประกอบกับเป็นกิจการที่มีผลเสี่ยงต่อการก่อมลพิษาทางอากาศ และอาจส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ  หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน และความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องที่นั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยคนจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

2. การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ (สรข.5) 02-119/2553 ลงวันที่ 4 มี.ค. 2553 ที่ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดืที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการจัดรูปแบบรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการจัดให้มีคำชี้แจงและเหตุผลต่างๆกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ และ 3. การตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม และไม่เหมาะสมกับสภาพของที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะการทำเกษตรกรรม

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ขอ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคาม 'อัญชนา นักปกป้องสิทธิฯ'

Posted: 05 Jul 2017 11:13 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคาม อัญชนา หีมมีหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ นักปกป้องสิทธิฯ หลังบันทึกข้อร้องเรียนลงในเฟซบุ๊ก พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย 

อัญชนา หีมมีหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ

5 ก.ค.2560  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ ขอให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 อัญชนา หีมมีหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ซึ่งทำงานด้านการช่วยเหลือหญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ได้เยี่ยมและสอบถามหญิงคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งเป็นคุณแม่ท้อง 9 เดือนและสามีของเธอได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพราะต้องสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ หญิงคนดังกล่าวได้ร้องเรียนว่าในระหว่างที่สามีเธอถูกควบคุมตัว เธอพยายามขอเข้าเยี่ยมสามี แต่ต้องประสบกับความยากลำบากเพราะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเพียงครั้งละหนึ่งนาทีเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ระเบียบที่ทางค่ายอิงคยุทธบริหารได้กำหนดไว้ที่ให้ญาติเยี่ยมได้ครั้งละ 30 นาที เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้เหตุผลแก่เธอว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อัญชนาได้บันทึกข้อร้องเรียนดังกล่าวและได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้หน่วยราชการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติ และเพื่อลดความคับข้องใจของประชาชนในสถานการณ์ความไม่สงบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2560 เวลาประมาณ 14:00 น. มีชายจำนวน 6 คน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าลำลองมีสัญลักษณ์ป้ายชื่อทหารและใส่เสื้อยืดของกองทัพ ได้ไปยังร้านค้าของครอบครัว อัญชนา โดยหัวหน้ากลุ่มได้แจ้งให้ทราบว่าพวกตนเป็นเจ้าหน้าที่ทหารภาคประชาสังคมของ กอ.รมน.สงขลา หน่วยเฉพาะกิจ จ"สงขลา และ ภาคประชาสังคมของ กอ.รมน.ภาค 4  และได้แจ้งเหตุผลที่มา "เยี่ยม" อัญชนา ว่า "นาย" ได้กล่าวในที่ประชุมว่า อัญชณา โพสต์ข้อความบน เฟซบุ๊ค ทำให้ทหารได้รับความเสียหาย จึงได้ให้ทหารมาพบและแจ้ง อัญชนา เพื่อเตือนเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความโดยข้อความที่เจ้าหน้าที่ได้กล่าวถึงนั่นก็คือ 1. การโพสต์ข้อความเรื่องผู้หญิงท้องที่สามีถูกควบคุมตัวไปค่ายอิงคยุทธและไม่สามารถติดต่อได้และได้เยี่ยมแค่วันละหนึ่งนาที 2. การโพสต์ข้อความว่า กอ.รมน. ยังไม่ได้ถอนฟ้องในคดีสามนักสิทธิทั้งที่ กอ.รมน.ได้มีการให้คำมั่นสัญญาไว้แล้ว และ 3. การโพสต์เรื่อง ดาโห๊ะ มะถาวรที่อ้างว่าตนถูกทหารอุ้มตัวไป

เจ้าหน้าที่อ้างว่าการโพสต์เรื่องดังกล่าวนั้นทำให้ กอ.รมน.เสียหาย และแจ้งว่าทางราชการกำลังมีการจัดตั้งกลไกการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ยุติการดำเนินการการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก และให้แจ้งเรื่องที่จะโพสต์ไปยังหน่วยราชการก่อน  เจ้าหน้าที่ทหารที่ไปพบได้พูดคุยอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเดินทางกลับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การที่บุคคลเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเพื่อตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ นโยบายของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิพลเมืองเมืองขั้นพื้นฐานในการตรวจสอบหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ในการแสดงความคิดเห็น  และการเผยแพร่โฆษณา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2539 และมีผลใช้บังคับกับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 การที่เจ้าหน้าที่หลายนายไปพบนักปกป้องสิทธิคนดังกล่าวและตักเตือนในลักษณะเช่นนี้ อาจทำให้ถูกมองไปได้ว่ามีเจตนาข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเฉพาะกองทัพภาค 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดังนี้ 1.  ให้เจ้าหน้าที่ยุติการกระทำใดๆที่อาจถูกมองได้ว่าเป็นการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบทันที รวมทั้งยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้การคุ้มครองการดำเนินงานอย่างชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย 2. ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวกับความไม่สงบหรือผู้ต้องหาในทุกกรณี ขอให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่สอดคล้องกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน โปร่งใส่ตรวจสอบได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาได้รับสิทธิเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะสิทธิในการพบทนายความ สิทธิในการได้เยี่ยมจากญาติ เพื่อประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่เสียงต่อการถูกทรมานหรือการปฏิบัติที่มิชอบด้วยประการต่างๆ

3. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้มีการตราฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างเร่งด่วน เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายแห่งสหประชาชาติ เป็นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหาการใช้อำนาจที่ผิดของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งจัดตั้งกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด เพื่อประกันว่าผู้เสียหายสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 4. ให้รัฐบาลดำเนินมาตรการตามที่คณะกรรมการการต่อต้านการทรมานได้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการตรวจสอบและการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง ในย่อหน้าที่ 24 ว่า "…ประเทศไทยรายงานว่า หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังได้ รวมทั้งองค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อมีการร้องขอและได้รับอนุญาตก่อน..."

และ 5. ให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามที่ได้สัญญาไว้กับนานาชาติเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559  ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศตามกลไก UPR (Universal Periodical Review) เพื่อภาคยานุวัติพิธีสารเลือกรับต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน OPCAT (Optional Protocol, Convention against Torture) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และเร่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อป้องกันการทรมานที่อาจเกิดขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานค้านแนวคิดขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปี

Posted: 05 Jul 2017 10:57 AM PDT

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ยื่นค้านแนวคิดการขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี  ขณะที่ปลัดแรงงาน ยันการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคลองกับสภาพเศรษฐกิจ และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

ภาพจาก เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

5 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ระบุว่า วันนี้ (5 ก.ค.60) เวลา 13.30 น. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า มนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) นำสมาชิก คปค. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย 17 องค์กร เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ของผู้ประกันตน และยื่นหนังสือเสนอแนะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยทางเครือข่ายได้เสนอให้สถานพยาบาลที่ให้บริการทันตกรรมจะต้องตรวจสุขภาพช่องปากและฟันให้แก่ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการ เพิ่มการส่งเสริมให้ผู้ประกันตนวางแผนครอบครัวและฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ โดยไม่เสียค่าบริการทางการแพทย์ และเพิ่มการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ประกันตนชาย รวมถึงข้อเสนอกรณีขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมด กระทรวงแรงงานรับไว้พิจารณาดำเนินการให้มีความเหมาะสมต่อไป        

โดยรายละเอียดนั้น เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานไว้ด้วยว่า คปค. และภาคีเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมการประกันสังคม  เนื่องไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดการขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ของสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่การจ้างงานตามโรงงานจะเกษียณอายุที่ 55 ปี ดังนั้น การขยายระยะเวลาออกไป อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน

ม.ล.ปุณฑริก เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมมีการวิเคราะห์รูปแบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต จึงได้มีแนวคิดขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี และยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ประกันตนอย่างแน่นอน สำหรับแนวคิดขยายอายุรับเงินกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ระเบียบ ปรับปรุงอัตราเงินสมทบแล้ว และคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการประกันสังคม ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ จากนั้นสำนักงานประกันสังคมจะทำประชาพิจารณ์ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้าน มนัส กล่าวว่า หาก สปส. ยืนยันจะเดินหน้าขยายอายุของผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ผู้ประกันตนจะรวมตัวกันล่ารายชื่อไม่ต่ำกว่า 1 ล้านรายชื่อ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากหากพิจารณาจากตัวเลขผู้ประกันตนปี 2558 ที่ได้รับเงินก้อนนี้หลังอายุ 55 ปี จะมีประมาณหลักแสนคน ขณะที่ข้อมูลปี 2557 ใช้งบประมาณในการจ่ายเงินบำนาญประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่านโยบายดังกล่าวเพื่อผู้ประกันตน หรือเพื่อให้กองทุนยังอยู่ได้

ผู้ประกันตนอายุ 55 ปี ต่างรอคอยที่จะได้รับเงินบำนาญก้อนนี้มาตลอด การขยายอายุการรับเงิน ย่อมส่งผล แม้กระทรวงแรงงานจะบอกว่าเวลาอีก 5 ปี จะจัดหางานรองรับให้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำให้การคิดคำนวณค่าเฉลี่ยของเงินบำนาญต่ำลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า อาจเป็นไปได้ยากในการขยายอายุรับบำนาญ แต่ก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ก่อน

ทั้งนี้ จากการหารือกับปลัดแรงงาน ท่านบอกว่า อาจมีแนวทางอื่นๆ อาทิ ไปขยายฐานเงินเดือนการหักเงินสมทบ จาก 15,000 บาท น้อยไป อาจเป็น 20,000 บาท ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นไปได้มากกว่า ทำให้เงินออมมากขึ้นได้ ส่วนกรณีคนรับบำนาญชราภาพรายเดือน น่าจะให้สมัคร ม.39 ได้ เพราะเมื่อรับเงินบำนาญจะถูกตัดสิทธิรักษาพยาบาล จึงอยากให้เปิดให้พวกเขาทำได้ ซึ่งจากการหารือถือว่าน่าพอใจเรื่องนี้ นอกจากนี้ สปส. ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เดิมได้รับเพียงการตรวจมะเร็งปากมดลูก แต่ครั้งนี้จะขอเพิ่มในเรื่องการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจการตั้งครรภ์ และการตรวจสุขภาพช่องปาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ ‘ผู้หญิง’ ยังถูกเลือกปฏิบัติ เวทีซีดอว์ถามไทยมี ‘การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม’ หรือ?

Posted: 05 Jul 2017 10:22 AM PDT

เวทีเสวนารายงานอนุสัญญาซีดอว์ พบผู้หญิงยังถูกเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงในประเด็นต่างๆ พนักงานบริการทางเพศถูกนายจ้างและเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ ขณะที่รัฐ-เอกชนใช้กฎหมายคุกคามนักปกป้องสิทธิ ทั้งยังไม่มีกลไกคุ้มครอง จรัญ ภักดีธนากุลแจง มีการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 มีการพิจารณารายงานอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ ซีดอว์ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงได้จัดงานเสวนาและถ่ายทอดสดการพิจารณาครั้งนี้ ณ ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานินท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีตัวแทนผู้หญิงจากหลากหลายประเด็นมาร่วมแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่ตนกำลังเผชิญ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากรายงานของเวิร์ล อีโคโนมิก ฟอรั่ม เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างเพศในระดับโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 จาก 144 ประเทศ ตัวรายงานฉบับนี้ประเมินจากปัจจัยด้านต่างๆ และสัดส่วนของหญิง-ชายว่ามีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมืองและสังคมอย่างไรบ้าง ปัจจัยสำคัญที่นำมาประเมินในรายงานฉบับนี้คือ การมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจ อัตราการสำเร็จการศึกษา สุขภาพและการรอดชีวิต และการเสริมสร้างอำนาจทางการเมือง

ในประเด็นสุขภาพและการรอดชีวิต ประเทศไทยมีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ช่องว่างด้านนี้ระหว่างหญิงและชายมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการเสริมสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งปรากฏว่าสัดส่วนหญิง-ชายที่มีส่วนในรัฐสภาหรือมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองของไทยอยู่ต่ำมากคือในลำดับ 131 จาก 144 ประเทศ

แอลบีไอทีและเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ ความเป็นหญิงที่หายไป

ด้าน ทฤษฎี สว่างยิ่ง จากเครือข่ายสุขภาพและโอกาส กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อแอลบีทีไอ (เลสเบี้ยน, ไบเซ็กช่วล, ทรานส์เจนเดอร์ และอินเตอร์เซ็ก) และพนักงานบริการทางเพศ โดยผลจากแนวคิดเรื่องเพศว่ามีเพียงหญิงและชายทำให้มองไม่เห็นปัญหาในหลายบริบท

"ที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนอย่างมากด้านสุขภาพ การรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ทำให้แอลบีที ซึ่งหมายถึงบุคลิกภาพของผู้หญิงหายไปในบริบทนี้ แทนที่ด้วยการตีตราคนที่หลากหลายทางเพศไปบวกรวมกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การแพร่ระบาดของเอดส์ และถูกลดระดับลงแค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งบริบทของชีวิตทางเพศเรามีมากกว่านั้น"

สิ่งที่ขาดหายไปทำให้คนในสังคมไทยมองความหลากหลายทางเพศมีแค่เกย์กับกระเทยเท่านั้น แต่ในบริบทความรุนแรงต่อผู้หญิงยังมีเลสเบี้ยน ทรานส์เจนเดอร์ที่เป็นชายและหญิงข้ามเพศ รวมถึงอินเตอร์เซ็กที่ยังไม่ถูกพูดถึง สิ่งเหล่านี้หายไปจากรายงานและบริบทความคิดเรื่องความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศในสังคมไทย การถูกมองไม่เห็นทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง ถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียนในโรงเรียน ในครอบครัวถูกเบียดขับ ถูกบังคับให้แต่งงานกับเพศตรงข้าม กล่าวคือถูกข่มขืนโดยครอบครัวของตัวเอง

"ในส่วนพนักงานบริการทางเพศ กลุ่มที่ถูกตีตรามากที่สุดคือกลุ่มทรานส์เจนเดอร์หรือกลุ่มกระเทย ในบริบทของความเป็นเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ เราไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ทั้ง 24 ชั่วโมง มันเป็นอาชีพและการบริการอย่างหนึ่ง ใน 24 ชั่วโมงอาจมีเรื่องทางเพศแค่เพียงครึ่งชั่วโมง แต่เราถูกเหมารวมว่านั่นคือบริการที่ขัดต่อศีลธรรม ถูกผลักอยู่ในพื้นที่สีเทา จาก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งมีคนบอกว่ามีการยกเลิกข้อหานี้ไปนานแล้ว แต่ไม่มีการยืนยันว่ายกเลิกจริงหรือไม่ ความคลุมเครือด้านการบังคับใช้กฎหมายทำให้พนักงานบริการทางเพศเผชิญการถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจากนายจ้างหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย และยังถูกกระทำซ้ำในสื่อท้องถิ่นและแปะป้ายการเป็นเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุด ถ้าเป็นไปได้คือการยกเลิก พ.ร.บ.การปราบปรามการค้าประเวณี"

อยู่กับป่า แต่ใช้ป่าไม่ได้ เมื่อชุมชนไม่มีสิทธิจัดการทรัพยากร

ขณะที่ คะติมะ หลี่จ๊ะ จากเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย ในประเด็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบัน กฎหมาย กฎระเบียบ และคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาทำให้คนไม่สามารถอยู่กับป่าได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชนเผ่ามาก

"คำสั่งที่ 66/2557 ทำให้เราถูดยึดที่ทำกินคืน มันไม่ได้กระทบแค่ผู้หญิง แต่กระทบทั้งครอบครัว ยึดทั้งที่ดิน ยึดไม้ที่เราสร้างบ้าน เราอยู่กับป่า แต่เราใช้ป่าไม่ได้ แล้วจะส่งลูกเรียนยังไง พ่อแม่จะอยู่ยังไง แล้วยังมีคดีตามมาอีก กฎหมายไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราเลย"

คะติมะ กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนไม่มีสิทธิในการการจัดการทรัพยากรเลย จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการออกโฉนดชุมชน เนื่องจากเอื้อให้ชุมชนสามารถจัดการได้ตามวิถีชีวิตของตนจริง อีกทั้งในการออกกฎหมายควรมีตัวแทนเจ้าของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาร่วมกัน

กม.มุ่งคุ้มครองสถาบันครอบครัวมากกว่าปกป้องเหยื่อ

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ มูลนิธิสุวรรณนิมิต กับประเด็นความรุนแรงในครอบครัว สิทธิของผู้หญิงแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย กล่าวว่า พื้นที่การทำงานอยู่บริเวณแม่สอด ชายแดนไทย-พม่า กรณีความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิงกว่าร้อยละ 90 ไม่ว่าจะเป็นคนไทย แรงงานข้ามชาติ หรือผู้ลี้ภัย โดยแต่ละกลุ่มจะมีความละเอียดอ่อนต่างกัน เธอกล่าวว่า

"การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะผ่านไปสู่กระบวนการยุติธรรมหรือออกมาพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเรื่องเศรษฐกิจ ความอับอาย สังคมไม่สนับสนุน และยังถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องยากลำบาก"

บุษยาภายังกล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีมาแล้ว 10 ปี เธอตั้งข้อสังเกตว่าการที่กฎหมายฉบับนี้พูดถึงการคุ้มครองสถาบันครอบครัวและการปกป้องเหยื่อในฉบับเดียวกันเป็นการสับสนของการใช้กฎหมายหรือไม่ และแม้ว่ามีการอบรมผู้ใช้กฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไกล่เกลี่ยโดยมุ่งรักษาคุ้มครองสถาบันครอบครัว แล้วร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการครอบครัวที่กำลังมีการผลักดันก็ยิ่งมุ่งเน้นการไกล่เกลี่ย ถึงกับมีมาตราหนึ่งระบุว่า ถ้ามีการฟ้องหย่า ให้เจ้าหน้าที่นัดให้มีการไกล่เกลี่ยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ตัดสินใจจะก้าวออกจากกรอบมายาคติของสังคม แต่พอก้าวสู่กระบวนการยุติธรรมกลับถูกให้ไกล่เกลี่ย

นอกจากนี้ บุษยาภายังมองว่า ผู้กระทำผิดคือเหยื่อรายแรก เนื่องจากไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้กระทำผิด แต่ต้องเจออะไรบางอย่างมาก่อนจนทำให้ผู้กระทำผิดใช้ความรุนแรง มาตรการเยียวยาและบำบัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ค่อยมีการใช้มาตรการบำบัดกับผู้ถูกกระทำผิด โดยไม่มองย้อนกลับไปในอดีตของผู้กระทำผิดแต่อย่างใด

"ในส่วนแรงงานผู้ลี้ภัยก็อยากเน้นแรงงานในบ้าน กฎหมายคุ้มครองการกระทำความรุนแรงในครอบครัวควรคุ้มครองแรงงานในบ้านด้วยหรือเปล่า แรงงานข้ามชาติในบ้านเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะถูกทำร้าย ในคำนิยามบุคคลในครอบครัว ยังไม่มีการเน้นชัดว่าจะเน้นการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในบ้านด้วย อีกทั้งแรงงานที่ทำงานในบ้านก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน"

ผู้ต้องขังหญิงเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ฟันแตก 6 เดือนไม่เจอหมอ

ทิพย์รชยา สุภนิชศิริสกุล จากกลุ่มแฟรี่เทล กล่าวถึงสิทธิของผู้ต้องขังว่าค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การวัดระดับสิทธิของผุ้ถูกคุมขังก็ค่อนข้างลำบาก ทั้งการนำเสนอสู่ภายนอกเองก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าสามารถเผยแพร่สิ่งที่ประสบได้มากน้อยแค่ไหน เพราะช่วงที่อยู่ในที่คุมขังก็มีกฎระเบียบของราชการที่ห้ามเผยแพร่เรื่องภายใน เธอจึงขอพูดจากประสบการณ์ที่ทางกลุ่มของเธอเคยนำเสนอ

"การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะผ่านไปสู่กระบวนการยุติธรรมหรือออกมาพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเรื่องเศรษฐกิจ ความอับอาย สังคมไม่สนับสนุน และยังถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องยากลำบาก"

"เรื่องการคัดกรองสุขภาพและร่างกายของผู้ต้องขัง ไม่ได้ถูกดำเนินการอย่างชัดเจน แรกที่เข้าไปจะมีการตรวจร่างกายภายนอกมากกว่า ก่อนรับตัวเข้าสู่เรือนจำเพื่อบันทึกเป็นประวัติ โดยยังไม่ขอกล่าวถึงการตรวจภายใน เพราะเหมือนการตรวจค้นหาสิ่งที่อาจซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามเข้าไป ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ"

ผู้ต้องขังยังต้องเผชิญกับสภาพแออัดภายในเรือนจำ ทิพย์รชยา กล่าวว่า ในอาคารสำหรับผู้ต้องขังหนึ่งชั้นมี 6 ห้อง มีผู้ต้องขังห้องละประมาณ 60-70 คน ทำให้ต้องนอนแบบสลับฟันปลา ไม่สามารถนอนหงายได้ ต้องนอนตะแคงไปในทางเดียวกัน

การแยกผู้ต้องขังป่วยก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะมีอาการเหมือนคนปกติทั่วไป จะถูกแยกออกไปก็ต่อเมื่อมีอาการชัดเจนเท่านั้น ส่วนการได้พบแพทย์ ง่ายที่สุดคือกรณีฉุกเฉินหรือปางตายจึงจะมีโอกาสพบแพทย์มากที่สุด ถ้าเป็นช่วงเวลาราชการต้องเป็นช่วงที่มีแพทย์อยู่ตามตารางเวลา ถ้าไม่ได้พบก็จะมียาให้ตามอาการ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่พาราเซตตามอล แก้ปวด แก้อักเสบ กรณีถ้าเป็นตอนกลางคืนก็ต้องไปอาคารพยาบาลก่อนเพื่อคัดกรองส่งโรงพยาบาล

"ในเคสของตัวเอง ฟันแตกหกเดือนไม่ได้พบแพทย์ ได้แต่ยาแก้ปวด แต่ก็กิน เพราะจ่ายมาแล้วต้องกิน ออกมาแล้วต้องรักษาต่อ แล้วก็มีอาการนิ้วล็อก เป็นอยู่สามสัปดาห์กว่าจะได้พบแพทย์ พอได้พบก็ฉีดยาเลยเพราะไม่ไหวแล้ว"

ทิพย์รชยาเรียกร้องไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลชีวิตและสวัสดิการของผู้ต้องขัง 5 ประเด็น คือการเข้าถึงบริการสุขภาพ, อนามัยเจริญพันธุ์ของแม่และเด็กในการเข้าถึงโภชนาการที่ได้มาตรฐาน, การเข้าถึงทรัพยากรและการใช้แรงงานของนักโทษ ควรเพิ่มค่าจ้างโดยขึ้นกับประเภทของงาน, ยกเลิกการเลือกปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ระหว่างผู้คุมกับผู้ต้องขัง และแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ต้องขังทำงานหลังจากพ้นโทษ

ร้องเจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้ผู้หญิงเป็นโล่มนุษย์ในการเข้าตรวจค้น

นูรอัยนี อุมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวปัญหาที่ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญจากกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ก็มีที่เป็นผู้หญิงอยู่บ้าง โดยที่การควบคุมตัวไม่ได้มีการแยกสถานที่หญิง-ชายแต่อย่างใด หลายครั้งการคุมตัวผู้หญิงก็ไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยม เธอบอกว่าตอนนี้มีผู้หญิงถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธมาแล้ว 4 วัน โดยอนุญาตให้ญาติยื่นของให้เท่านั้น แต่ไม่ให้พูดคุยกัน

อีกทั้งการปิดล้ออมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ หลายครั้งมีการใช้ผู้หญิงเป็นโล่มนุษย์ โดยให้ผู้หญิงเดินนำ มีเจ้าหน้าที่เดินตาม และยังมีการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือต่อรองให้ฝ่ายชายเข้ามอบตัว

"การปฏิบัตงานของเจ้าหน้าที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้หญิงและเด็ก ทั้งควรทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษว่ามีประสิทธิภาพในการแก้ไขหรือไม่"

รัฐ-เอกชนใช้กฎหมายคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ด้าน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ว่า ปัจจุบัน ผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามจากรัฐหรือเอกชน โดยรูปแบบการคุกคามวิธีหนึ่งคือการใช้กฎหมายฟ้องดำเนินคดี เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือมาตรา 116 ในกฎหมายอาญา ซึ่งถูกใช้มากขึ้นหลังรัฐประหาร

อีกส่วนหนึ่งคือการใช้คำสั่งพิเศษที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ประกาศใช้ ก็ถูกนำมาคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น คำสั่งห้ามชุมนุมที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายและตีความกว้างมาก จนชุมชนไม่สามารถออกมารวมตัวได้ การจัดเสวนาทางวิชาการถูกจำกัดโดยคำสั่งที่ 3/2558 ทั้งยังมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะที่ถูกใช้จำกัดการเคลื่อนไหว

"มีการฆาตกรรมผู้หญิงซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า นี่สะท้อนว่ารัฐไทยล้มเหลว และแสดงให้เห็นว่ามีความจริงใจแค่ไหนในการสอบสวนและนำคนผิดมาลงโทษ ภาพรวมในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน รัฐไทยยังขาดกลไกในการปกป้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวก หรือการเข้าถึงความยุติธรรมกรณีทนายสมชาย กรณีบิลลี่ จะเห็นว่าคนในครอบครัวหรือผู้หญิงมีบทบาทมากในการเรียกร้องสิทธิ และเราก็พบว่ากรณีการบังคับสูญหายยากมากที่เหยื่อจะได้รับความเป็นธรรม อยากให้พิจารณาด้วยว่า ผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวและก้าวออกมาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นสิบปีแล้วก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม มันเป็นความรุนแรงระดับโครงสร้างและกฎหมาย"

'จรัล' ยันมีการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ในการถ่ายทอดสดการพิจารณารายงานซีดอว์ช่วงหนึ่งมีการตั้งคำถามต่อมาตรา 27 วรรค 3 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจะกระทำมิได้ว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมคืออะไรในเมื่อการเลือกปฏิบัติย่อมไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มาตรา 27 การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาจฟังดูแปลก เพราะไม่มีการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม แต่เหตุผลที่มีการคุยในศาลรัฐธรรมนูญมาจากข้อคิดว่าการเลือกปฏิบัติ มีข้อยกเว้น เรียกว่าการเลือกปฏิบัติแบบวัตถุวิสัย เป็นสิ่งที่ทำด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเป็นธรรม จึงถือเป็นข้อยกเว้นในกฎปฏิบัติ ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 ก็มีการใช้คำนี้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่า การปฏิบัติที่แตกต่างกันต่อเรื่องเดียวกันอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยาง-ปาล์มตก 'ถาวร' ขอ รบ.แลกกับซื้อเรือดำน้ำ กระบี่เผาหุ่นรองอธิบดีค้าภายในประท้วง

Posted: 05 Jul 2017 10:03 AM PDT

สถานการณ์ราคายาง-ปาล์มดึ่ง 'สภาอุตฯใต้' แนะใช้ ก.ม.พิเศษแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มตกต่ำ 'ถาวร' ขอให้รัฐบาลแลกกับซื้อเรือดำน้ำ กระบี่ เผาหุ่นรองอธิบดีค้าภายใน ประท้วง หลังราคาปาล์มดิ่งเหว ยื่น 4 ข้อเสนอให้รัฐช่วย

ภาพจากยูทูบ MGR Online VDO

5 ก.ค. 2560 จากสถานการณ์ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำ นับตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมาโดยยางพาราที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 40 บาท ขณะที่ปาล์มน้ำมันล่าสุด มีราคาร่วงลงไปเหลือ กก.ละ 3 บาทเศษๆ เท่านั้น 

'สภาอุตฯใต้' แนะใช้ ก.ม.พิเศษแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มตกต่ำ

กระทั่งวานนี้ (4 ก.ค.60) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า  วิถี สุพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทวู้ดเวอร์ค ผู้ประกอบการธุรกิจยางพารารายใหญ่ของจังหวัดตรัง และประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดตรัง และของภาคใต้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560) ยังคงต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะเติบโตได้น้อยกว่าปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากปัญหาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำ นับตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นรูปธรรมเด่นชัด เช่น การสนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศเพื่อทำถนน หรือทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับยังคงมีการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด หรือติดขัดในเรื่องระบบราชการแบบเดิมๆ ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจพิเศษที่จะเข้าไปดำเนินการให้ทุกอย่างเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และขณะนี้ก็กำลังมีปัญหาเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่มีความจำเป็นต้องนำแรงงานต่างด้าวมาใช้งานต่างๆ เช่น การกรีดยาง การตัดปาล์ม หรือการจับสัตว์น้ำ เพราะหาแรงงานคนไทยได้ยาก
       
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นปี 2560 ภาคการเกษตรของภาคใต้กำลังมีทิศทางที่สดใส รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว และส่งผลดีมาถึงภาคอุตสาหกรรม แต่เมื่อถึงช่วงปลายไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) พืชผลทางการเกษตรกรกลับมีราคาตกต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตร ต้องประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากมีรายได้ลดลง แต่มีรายจ่าย หรือค่าครองชีพต่างๆ ที่สูงขึ้น และยังมองไม่เห็นว่าในอนาคตจะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร
       
โดยเฉพาะยางพาราที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 40 บาท ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ ลูกจ้าง หรือคนกรีดยาง เนื่องจากเมื่อแบ่งรายได้กับนายจ้าง หรือเจ้าของสวนในอัตรา 50-50 เปอร์เซ็นแล้ว ลูกจ้างจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาทต่อครอบครัว ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน ประกอบกับยังเจอปัญหาฝนตกชุก จนทำให้มีวันกรีดน้อยกว่าทุกปีด้วย ดังนั้น จึงควรหามาตรการทำให้ราคายางพาราขยับตัวขึ้นไปอยู่ที่ กก.ละ 50 บาท เป็นอย่างน้อย และสนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศอย่างจริงจัง
       
สำหรับปัญหาของปาล์มน้ำมันก็คล้ายๆ กับยางพารา เพราะล่าสุด มีราคาร่วงลงไปเหลือ กก.ละ 3 บาทเศษๆ เท่านั้น ซึ่งในส่วนของลูกจ้าง หรือคนตัดปาล์มอาจจะไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก เพราะยังคงได้รับค่าแรงเท่าเดิมคือ กก.ละ 80 สตางค์ ถึง 1 บาท แต่ในส่วนของนายจ้างเมื่อหักลบทั้งค่าจ้าง และต้นทุนแล้ว จะเหลือเงินค่อนข้างน้อยจนอยู่ได้อย่างยากลำบาก ภาครัฐจึงเห็นควรหามาตรการทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับตัวขึ้นไปอยู่ที่ กก.ละ 4 บาทเป็นอย่างน้อย และสนับสนุนวิชาการเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต

'ถาวร' แนะแก้ราคายางขอให้รัฐบาลแลกกับซื้อเรือดำน้ำ

ขณะที่วันนี้ วันนี้ (5 ก.ค.60) Voce TV รายงานว่า ถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส.และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดสงขลา เสนอทางออกในการแก้ไขปํญหาราคายางพาราตกต่ำเพื่อนำเสนอไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. โดยเรียกร้องตลาดใหม่ในประเทศจีน และวิธีการเสนอขายแบบใหม่

ถาวร กล่าวว่าอยากให้มีการแลกเปลี่ยนการค้าขายกับจีน เช่น รัฐบาลไทยซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ก็อยากให้ทางจีนซื้อยางพาราของประเทศไทยบ้าง ราคายางนั้นไม่ควรต่ำกว่า 70 บาท กระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆใช้ยางพาราเพิ่ม ชวนอินโดนีเซียและมาเลเซียมาร่วมกันกำหนดราคายางพารา ปรับลดดอกเบี้ยให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี และยื่นเสนอให้ปลดพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกาตรและสหกรณ์ออกจากตำแหน่งให้นำคนมีความสามารถมาดำรงตำแหน่งแทน

เผาหุ่นรองอธิบดีค้าภายใน ประท้วง หลังราคาปาล์มดิ่งเหว ยื่น 4 ข้อเสนอให้รัฐช่วย

วันเดียวกัน (5 ก.ค.60) ผู้จัดการออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์ รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งประกอบด้วย นครศรีธรรมราช ตรัง พังงา ชุมพร ระรอง และสุราษฎร์ธานี กว่า 100 คน นำโดย ชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมารวมตัวกันชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่ พร้อมนำรถกระบะบรรทุกผลปาล์มเต็มคันรถมาจอดที่หน้าอาคารศาลากลางจังหวัดกระบี่ 

โดยมีการนำพวงหรีด และหุ่นจำลอง สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ขึ้นบนรถ ซึ่งมีป้ายระบุถึงคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตร กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแกนนำผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยโจมตีการบริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่บริการปาล์มน้ำมันล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำได้
       
ปัจจุบันราคาต่ำกว่าต้นทุน กก.ละ 3.50 บาท ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 3.80บาท ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาอย่างหนัก ท่ามกลางการดูแลความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อส.กว่า 30 นาย 

ชโยดม กล่าวว่า เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ราคาผลปาล์มน้ำมันของไทยตกต่ำลงมาตลอด ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ แถมยังมีนายทุนร่วมกับภาครัฐบางคนที่คอยกดขี่เกษตรกรมาโดยตลอด ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ไปด้วย

ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องรวมตัวยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.กระทรวงพาณิชย์ จัดให้มีการซื้อขายในรูปแบบสากล โดยเอาประเทศมาเลเซียเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม 

2.ให้กระทรวงเกษตร ออกมาตรการบังคับสินค้าเกษตรจากมาตรฐานทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับ 3.ให้กระทรวงเกษตร ออกมาตรการบังคับซื้อผลปาล์มที่ 20 เปอร์เซ็นต์ และซื้อเฉพาะปาล์มทะลาย และ 4.ให้กระทรวงพลังงาน ปรับใช้เป็น B10 เพื่อเป็นช่องทางการระบายน้ำมันปาล์มที่เกินสต๊อก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ ทางกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันจะยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง

รายงานขาวระบุอีกว่า ต่อมา นอบ คงพูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้ออกมารับหนังสือเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์ม พร้อมกล่าวว่า ทางจังหวัดรับทราบเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันเป็นอย่างดี และได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาล และหน่วย เกี่ยวข้องทุกครั้ง และในวันนี้ก็จะนำข้อเรียกเรียกร้องจากกลุ่มเกษตรกร ไปยังนายกรัฐมนตรีให้รับทราบเพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป 

ต่อมา ชโยดม พร้อมด้วย สมาชิก ได้ขึ้นไปบนรถกระบะที่บรรทุกผลปาล์มเต็มคัน พร้อมนำน้ำมันถั่วเหลืองไปราดบนหุ่นจำลองของรองอธิบดีกรมการค้าภายใน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ได้จุดไฟเผา ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง และเสียงปรบมือของผู้ร่วมชุมนุม ที่ต้องประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำมานาน

       

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จ้างงานเกษตร จ.สระแก้วซบเซา-หลังกัมพูชาปิด 43 จุดผ่านแดนชั่วคราว

Posted: 05 Jul 2017 09:37 AM PDT

ติดตามสถานการณ์ล่าสุดหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว โดยที่ชายแดนด้าน จ.สระแก้ว เริ่มมีผลกระทบหลังกัมพูชาสั่งปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวด้าน จ.บันเตียเมียนเจย 43 จุด ทำให้ขาดแรงงานเช้าไป-เย็นกลับข้ามมารับจ้างภาคเกษตรในพื้นที่ 3 อำเภอ จ.สระแก้ว "โคกสูง-อรัญประเทศ-ตาพระยา" ส่วนจุดผ่านแดนคลองลึก-ตลาดโรงเกลือ ยังเดินทางข้ามแดน-ค้าขายปกติ

ขณะที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก แรงงานพม่ายังคงเดินทางกลับแต่จำนวนเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับวันก่อน ขณะเดียวกัน ผบ.ตำรวจภูธรภาค 6 สั่งยกเลิกจุดตรวจ 2 แห่งบนถนนตาก-แม่สอด หลังก่อนหน้านี้โซเชียลแชร์คลิปด่านเรียกเก็บเงินแรงงานข้ามชาติ เรื่องร้อนจนผู้ว่าเมืองเมียวดีทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการชายแดนว่าเก็บเงินค่าอะไร

5 ก.ค. 60 ผู้สื่อข่าวติดตามสถานการณ์ล่าสุด ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน และมีรายงานการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนหลายหมื่นคนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมีมาตรการเลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราในพระราชกำหนดฉบับใหม่ไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2561 (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

สระแก้วขาดแรงงานภาคเกษตรเช้าไป-เย็นกลับ
หลังกัมพูชาปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว 43 จุด

ชาวกัมพูชาและชาวไทยบริเวณทางเดินก่อนเข้าสู่จุดตรวจหนังสือเดินทางของ ตม.ฝั่งขาออก ที่ด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตรงข้ามกับปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา โดยพบว่าบรรยากาศการขนส่งสินค้าเข้ากัมพูชาผ่านช่องทางนี้ยังคงเป็นไปอย่างปกติ และยังคงมีชาวกัมพูชาข้ามมาทำงานแบบเช้าไป-เย็นกลับที่ตลาดโรงเกลือผ่านช่องทางนี้

แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่รอบๆ ด่านคลองลึกเริ่มเกิดผลกระทบ หลังจากที่ซอเค็ง รมว.มหาดไทย ของกัมพูชามีคำสั่งปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวตามแนวชายแดน จ.บันเตียเมียนเจยทั้งหมด 43 จุด ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันชาวกัมพูชาที่ไม่มีเอกสาร ลักลอบไปทำงาน หลังไทยออก พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฉบับใหม่ และป้องกันการค้าหนีภาษี ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ

ล่าสุดจากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว พบว่าผลจากการปิดช่องทางผ่านแดนชั่วคราว 43 จุด ได้ส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรฝั่งไทย ด้าน จ.สระแก้ว 3 อำเภอ คืออรัญประเทศ โคกสูง ตาพระยา เพราะเดิมแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางผ่านช่องทางชั่วคราวเหล่านี้เพื่อมารับจ้างแบบเช้าไป-เย็นกลับ โดยฝั่งไทยจะมีจุดที่เรียกว่า "จุดอนุโลมแรงงานไปเช้า-เย็นกลับ" หรือ "จต.อ." กำกับอยู่ตามช่องทางดังกล่าว แต่หลังจากมีคำสั่งของ รมว.มหาดไทยกัมพูชาดังกล่าว ก็ไม่มีการข้ามแดนของแรงงานกัมพูชาในช่องทางอนุโลมนี้เลย

นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานการปิดช่องทางผ่านแดนชั่วคราวในจังหวัดอื่นๆ ที่มีแดนติดต่อกับกัมพูชา ทั้งจันทบุรี ตราด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีแต่อย่างใด

ส่วนบรรยากาศที่ด่านถาวรคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตรงข้ามปอยเปตของกัมพูชา ที่ฝั่งขาออก มีชาวไทยและชาวกัมพูชาที่มีเอกสารเดินทางข้ามแดน นอกจากนี้ ตามทางหลวงหมายเลข 33 ที่มุ่งสู่ด่านชายแดน มีจุดตรวจของตำรวจและทหารเป็นระยะ คอยเรียกชาวกัมพูชาที่ไม่มีเอกสารลงจากรถโดยสาร

ส่วนฝั่งขาเข้า ที่ด่านคลองลึก พอมีชาวไทยและกัมพูชาข้ามแดนมาบ้าง และนักเรียนชาวกัมพูชายังคงใช้ช่องทางนี้ มาเรียนฝั่งไทยแบบเช้าไป-เย็นกลับ

 

ชายแดนแม่สอด แรงงานพม่ายังเดินทางกลับหลักพัน
แต่เริ่มน้อยลงเมื่อเทียบกับหลายวันก่อน

แรงงานจากพม่าเดินทางข้ามชายแดนไทย-พม่า มาถึงฝั่งเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ก่อนที่จะเปลี่ยนพาหนะซึ่งเจ้าหน้าที่พม่าจัดเตรียมไว้ แบ่งกลุ่มตามภูมิลำเนาสำหรับเดินทางกลับบ้านต่อไป (ที่มา: รวีพร ดอกไม้/เอื้อเฟื้อภาพ)

 

ส่วนที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ตรงข้ามเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เจ้าหน้าที่ทั้งฝั่งพม่าและไทยยังคงอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานจากพม่าที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาซึ่งในวันนี้ยังคงมีผู้เดินทางกลับนับพันคน แต่จำนวนผู้เดินทางกลับเริ่มลดจำนวนลงเมื่อเทียบกับวันก่อนๆ

นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. มีการปิดท่าข้ามแดนธรรมชาติฝั่งแม่น้ำเมยทุกจุด และให้แรงงานจากพม่าผ่านแดนตรงสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเท่านั้น

 

ผบ.ตำรวจภูธรภาค 6 สั่งยกเลิกจุดตรวจ 2 แห่งบนถนนตาก-แม่สอด
หลังถูกร้องเรียนเรียกเก็บเงินแรงงานข้ามชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะเดียวกันมีการเผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าเป็น "วิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ที่ 0021.131/266 ของ พล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผบช.ภ.6 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ได้สั่งการให้ยกเลิกการตั้งจุดตรวจห้วยยะอุ สภ.พะวอ และจุดตรวจท่าเลย์ สภ.แม่ท้อ และจุดตรวจอื่นๆ ใน ภ.จว.ตาก ยกเว้นจุดตรวจ/ด่านตรวจ ตามมติ ครม. กอ.รมน. กองทัพภาคที่ 3 หรือจุดตรวจตามกฎหมายอื่นๆ

นอกจากนี้ยังกำชับว่า "การตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจ ร่วมกับฝ่ายทหารหรือฝ่ายปกรอง ให้คำนึงถึงขอบเขตการดำเนินการระมัดระวังการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้วาจาที่ก้าวร้าว/หยาบคาย พูดจาส่อเสียด/ดูถูกเหยียดหยาม การใช้คำพูดที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรง เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน"

ในคำสั่งยังห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจกระทำการอย่างใด โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อให้ได้มาเพื่อทรัพย์สินหรือประโยชน์อันใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยเด็ดขาด

โดยก่อนหน้านี้ มีการร้องเรียนว่ามีด่านตรวจบางแห่ง บนทางหลวงระหว่างตาก-แม่สอด เรียกเก็บเงินจากแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับประเทศ จน ทุนวิน ผู้ว่าราชการเมืองเมียวดี ต้องทำหนังสือผ่านประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า หรือทีบีซี มายังเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อขอความชัดเจนว่าเก็บเงินเป็นค่าอะไร

ขณะเดียวกันในการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ท.ทวิชชาติ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ได้ให้เหตุผลของการยกเลิกจุดตรวจว่า เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ได้มีคำสั่งตั้งด่านตรวจ 2 ด่านที่อยู่ในอำนาจด้แก่ ด่านห้วยยะอุ และด่านแม่ท้อ และยังคงเหลือด่านเพื่อความมั่นคงด่านเดียว โดยยกเลิกไปจนกว่าจะมีความจำเป็นตั้งใหม่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับบ้าน และเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาด้านอาชญากรรม เพราะมีด่านความมั่นคงอยู่หนึ่งด่าน และเพิ่มความเข้มในการสืบสวนหาข่าวทั้งยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย การลักลอบของหนีภาษี ใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน ส่วนผลการสอบสวนหากพบมีตำรวจผิดจริงจะลงโทษทั้งทางวินัย และดำเนินคดีอาญา

 

กระทรวงแรงงานตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกแรงงานข้ามชาติ

ขณะเดียวกันสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการในที่ประชุมซูเปอร์บอร์ด ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่ออำนวยการอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งจะประกอบด้วย ส่วนบัญชาการ ส่วนติดตามและรายงานผล ส่วนวิเคราะห์ข่าวสาร ส่วนรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนประชาสัมพันธ์ และส่วนปฏิบัติการระดับจังหวัด

โดย พล.อ.ศิริชัย ยังได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานกำหนดแนวทางเพื่อออกประกาศให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 โดยให้ดำเนินการดังนี้ 1) เร่งออกมาตรการดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด 2) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกระทรวงแรงงานทุกคนจะต้องปฏิบัติด้วยความโปร่งใสไร้ทุจริต 3) เร่งออกอนุบัญญัติ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และ 4) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดติดตามและรายงานสถานการณ์เป็นรายวัน

ส่วนกรณีที่แรงงานที่นายจ้างไม่ตรงตามบัตรหรือไม่มาขอใบอนุญาตทำงานทันภายในกำหนด ขอให้ไปติดต่อขอเปลี่ยนนายจ้างและขอใบอนุญาตทำงานได้ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 และสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (สบต.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สำหรับกลุ่มนายจ้างที่แรงงานไม่มีเอกสาร โปรดรอฟังแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างแรงงานที่ชัดเจนในลำดับต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ไปยื่นเรื่องเปลี่ยน “วันชาติ” เป็นวันที่ 24 มิ.ย.

Posted: 05 Jul 2017 07:39 AM PDT

สรุปเหตุผล และเหตุการณ์ เมื่อเอกชัย หงส์กังวาน ต้องการไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ขอเปลี่ยนวันชาติกลับไปเป็นวันที่ 24 มิถุนายน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาไปกักตัวไว้ที่สำนักงานเขตบางกะปิ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารขู่ทนายความว่าถ้าเรื่องนี้เป็นข่าว จะพาตัวเอกชัย ไป มทบ. 11

ย้อนกลับไปช่วงหลังจากวันครบรอบ 85 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีแคมเปญรณรงค์เรื่องหนึ่งผุดขึ้นมาที่เว็บไซต์ Chang.org เป็นเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทย โดยผู้ที่เป็นผู้ริเริ่มแคมเปญดังกล่าวมีชื่อว่า เอกชัย หงส์กังวาน

เขาให้รายละเอียดในแคมเปญดังกล่าว โดยสรุปใจความได้ว่า วันชาติถือเป็นวันสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นชาติ เกือบทุกประเทศในโลกกำหนดให้วันสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น วันประกาศเอกราช และวันก่อตั้งรัฐเป็นวันชาติ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้ผ่านเหตุการณ์ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของชาติ ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นนำมาซึ่ง พรบ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ การกำหนดให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นราษฎร

เพลงวันชาติ 24 มิถุนายน เวอร์เรียบเรียงเสียงประสานและขับร้องใหม่
จัดทำโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คำร้อง - ทำนอง : มนตรี ตราโมท
ประพันธ์เมื่อ พ.ศ.2483

ด้วยเหตุดังนั้น รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ส่งผลให้ไทยมีวันชาติเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ และมีการเริ่มเฉลิมฉลองวันชาติตั้งแต่ปี 2482 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามรัฐบาลเผด็จการภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีความพยายามรื้อถอนทำลายมรดกต่างๆ ของคณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนการปกครอง เช่นการถอนหมุดคณะราษฎร(ครั้งแรก)ออกจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในปี พ.ศ. 2503 และในปีเดียวกัน รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ได้ให้เหตุผลกับการเปลี่ยนแปลงวันชาติในครั้งนั้นว่า เพื่อให้เป็นไปตามประเทศอื่นๆ ที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีการกำหนดให้วันชาติตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ของแต่ละประเทศ

ทำไมเอกชัย จึงเสนอให้เปลี่ยนวันชาติ

ข้อมูลในแคมเปญของเอกชัย ระบุว่า การกล่าวอ้างของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ เป็นการบิดเบื้อนความจริง เพราะ ในประเทศอังกฤษได้แบ่ง วันชาติออกเป็น 2 วันคือ วันชาติอังกฤษ และวันสหราชอาณาจักร (อังกฤษ-ประเทศที่เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร) อังกฤษไม่มีการกำหนดวันชาติแบบตายตัว ส่วนใหญ่อังกฤษจะใช้วันนักบุญเซนต์จอร์จซึ่งตรงกับวันที่ 23 เมษายนของทุกปีเป็นวันชาติ ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2469
เนื่องจากวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2-วันนักบุญเซนต์จอร์จใกล้เคียงกัน อังกฤษจึงรวมวันเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อฉลองเป็นงานเดียว ขณะที่วันแห่งสหราชอาณาจักรคือ วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี หากปีใดมีเหตุการณ์สำคัญของราชวงศ์อังกฤษ วันสหราชอาณาจักรอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ. 2554 มีเหตุการณ์สำคัญของราชวงศ์อังกฤษคือ การแต่งงานของเจ้าชายวิลเลียมกับ แคเธอริน มิดเดิลตัน สหราชอาณาจักรจึงกำหนดให้วันฉลองการแต่งงานคือ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 เป็นวันสหราชอาณาจักรในปีนั้น

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ แบ่งวันชาติออกเป็น 3 วันคือ วันราชอาณาจักร (เนเธอร์แลนด์-ประเทศที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์), วันแห่งเสรีภาพ และวันกษัตริย์ (ราชินี) วันประกาศใช้ข้อตกลงแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Charter for the Kingdom of the Netherlands) คือ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ดังนั้นเนเธอร์แลนด์จึงกำหนดให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามเนเธอร์แลนด์ได้รับการปลดปล่อยจากนาซีเยอรมัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ดังนั้นเนเธอร์แลนด์จึงกำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแห่งเสรีภาพ ส่วนวันกษัตริย์ (ราชินี) ขึ้นอยู่กับกษัตริย์ (ราชินี) จะเป็นผู้กำหนด บางพระองค์ใช้วันเกิดของพระองค์ บางพระองค์ใช้วันขึ้นครองราชย์ของพระองค์

สำหรับเดนมาร์ก ไม่มีวันชาติ แต่มีการปรับให้วันรัฐธรรมนูญคือ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันชาติ ขณะที่สวีเดน พระเจ้ากุสตาฟที่ 1 ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2066 ดังนั้นสวีเดนจึงกำหนดให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันชาติ ส่วนญี่ปุ่นจักรพรรดิจิมมุเป็นจักรพรรดิ์พระองค์แรกของญี่ปุ่น พระองค์เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 660 ปีก่อนคริสตศักราช ดังนั้นญี่ปุ่นจึงกำหนดให้วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันชาติ

มีเพียงประเทศไทย กับโอมานเท่านั้นที่กำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของกษัตริย์เป็นวันชาติแทนการใช้วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

โดยเอกชัยระบุในตอนท้ายของแคมเปญว่า หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลให้วันชาติว่างลง ด้วยเหตุนี้ไทยจึงควรกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก ขณะที่วันสำคัญของราชวงศ์ควรกำหนดให้เป็นวันสำคัญอื่นแทน

เอกชัยตั้งแคมเปญดังกล่าวขึ้น พร้อมแชร์ลิ๊งค์ไปที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา เพื่อชวนผู้ที่เห็นด้วย หรือเห็นเช่นเดียวกันกับมาร่วมลงชื่อ โดยล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญของเขา 235 รายชื่อ

เกิดอะไรเมื่อ "เอกชัย" เตรียมนำรายชื่อ พร้อมข้อเสนอเปลี่ยนวันชาติไปยื่นที่สำนักนายกรัฐมนตรี

เอกชัย โพสต์เฟซบุ๊กเมือวันที่ 1 กรกฎาคม เวลา 19.40 น. ระบุว่า ในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม เขาจะเดินทางไปยื่นหนังสือกรณีดังกล่าว 2 แห่ง โดยเวลา 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อของผู้สนับสนุนให้กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น 11.00 น. จะไปยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติเพื่อกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันคณะราษฎรเพื่อร่วมรำลึกวีรกรรมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 85 ปีที่ผ่านมา

3 กรกฎาคม เวลา 15.15 น. เอกชัย ระบุว่า รถตู้จากสำนักงานเขตบางกะปิ 1 คันมาจอดที่หน้าบ้านของเขา มีทหาร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตบางกะปิอีก 4 คนเดินทางมาหาเขาที่บ้าน

"พวกเขาอ่านเจอโพสท์ที่ผมต้องการจะยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติจึงแจ้งจะรับหนังสือของผมโดยตรงอย่างไรก็ตามผมปฏิเสธความหวังดีของพวกเขา เนื่องจากผมต้องการไปยื่นหนังสือนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยตนเองในวันพรุ่งนี้ ตอนนี้พวกเขายังคงนั่งอยู่ในรถตู้เฝ้าหน้าบ้านของผม ไม่รู้พวกเขาจะอยู่อีกนานแค่ไหน" เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

4 กรกฎาคม วันที่เอกชัยระบุว่า จะเดินไปยื่นหนังสือพร้อมกับรายชื่อที่ทำเนียบรัฐบาล และที่องค์การสหประชาชาติ แต่เวลา 04.00 น. เขาพบว่ามีรถกระบะสีเทามาดักรอเขาที่บริเวณหน้าบ้าน 05.10 น. เขาเดินทางออกจากบ้านเพื่อขะไปยื่นหนังสือตามกำหนดเวลา แต่กลุ่มชาย 4 คนที่อยู่ในรถกระบะก็ปรากฎตัวออกมา วิ่งมาหาเขา และไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นใคร เขาพยามขัดขืนชาย 4 คนนั้น ซึ่งตอนหลังทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามแย่งโทรศัพท์มือถือไปจากมือของเขา จนทำให้จนนิ้วมือของเขาเป็นแผล และเจ้าหน้าที่ขับรถกระบะคนดังกล่าวมาเทียบถนน จากนั้นก็ลากตัวเอกชัยขึ้นรถกระบะอย่างรวดเร็ว
เวลา 5.30 น. เอกชัยถูกพาตัวมาที่ สน.ลาดพร้าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเขาไปควบคุมไว้ในห้องประชุมด้านหลังสถานีตำรวจ เอกชัยระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 คนเดินเข้า-ออกห้องประชุมนี้ตลอดเวลา พร้อมกับพยายามโน้มน้าวให้เขายื่นหนังสือนี้ที่สำนักงานเขตบางกะปิแทน แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เวลา 6.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คนพาเอกชัย ขึ้นรถกระบะสีดำเพื่อไปยังสำนักงานเขตบางกะปิ

"แม้จะเป็นเวลาเช้ามืด แต่เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนเข้ามาทำงานในนี้ แม่บ้านเสริฟท์น้ำดื่มให้ ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ ตำรวจ 4 คนเดินเข้า-ออกห้องประชุมนี้ตลอดเวลา ผมไม่ได้อนุญาตให้โทรศัพท์หาผู้ใด พวกเขารอการมาของทหาร" เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

เวลาเกือบ 8.00 น. เอกชัยระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินเข้ามาให้ห้องประชุม และพยายามสัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ผมต้องการยื่นนหนังสือนี้ เอกชัยเล่าถึงประวัติศาสตร์วันชาติหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ทหารแสดงสีหน้าถึงความไม่รู้ในประวัติศาสตร์นี้ เอกชัยชี้แจงให้เห็นถึงการยกเลิกวันชาติในปีนี้หลังการสิ้นพระชนม์ของ รัชกาลที่ 9 แต่เจ้าหน้าที่ทหารเสนอให้ใช้วันคล้ายวันพระราชสมภพของ รัชกาลที่ 10 เป็นวันชาติแทน เอกชัยพยามที่จะอธิบายเหตุผลของตนเองอีกครั้ง โดยยกรายละเอียกมาจากข้อมูลที่เขาเขียนลงในเว็บ Chang.org

"ไทยไม่เคยให้ความสำคัญต่อวันชาติ แม้วันที่ 5 ธันวาคมจะเป็นวันชาติ แต่คุณค่าของวันนี้ถูกกลบทับด้วยวันเฉลิมพระชนมพรรษา" เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

เอกชัย ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารพยายามสัมภาษณ์ถึงความคิดเห็นทางการเมือง เขาจึงชี้แจ้งความคิดของเจขาให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจฟังว่าเหตุใดเขาจึงไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร โดยยกตัวอย่างกรณีการเร่งรัดโครงการรถไฟไทยจีน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจดูเหมือนจะเข้าใจสิ่งที่เข้าอธิบาย แต่ก็ยังคงพยายามเกลี่ยกล่อมให้เขายื่นหนังสือที่สำนักงานเขต ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งขู่ว่า จะส่งตัวเขาไปที่ มทบ.11

เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารเดินออกจากห้องประชุม แต่ตำรวจยังคงเฝ้าเอกชัยอยู่ เขายังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับผู้ใด เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเกลี้ยกล่อมเขาเช่นเดิม แต่เขายังยืนยันคำตอบเดิม

เวลา 12.30 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ห้องประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้สึกแปลกใจที่ทนายความทราบสถานที่กักตัวเอกชัย

เวลา 14.00 น. การเจรจาเริ่มผ่อนคลาย เอกชัยตัดสินใจที่จะมอบหนังสือนี้ให้กับสำนักงานเขตบางกะปิผ่านทหาร ขณะที่หนังสือร้องขอ UN ให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันคณะราษฎร จะยื่นที่ UN ในภายหลัง และเอกชัยได้รับการปล่อยตัวออกจากสำนักงานเขตบางกะปิในเวลา 14.30 น.

วันเดียวกันนั้น อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้เดินทางไปพบกับเอกชัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเขาขู่ว่าถ้าเรื่อง เอกชัย เป็นข่าว หรือมีคนมาที่สำนักงานเขตบางกะปิจำนวนมาก ทหารจะนำตัวเอกชัยไป มทบ 11 ทันที

5 กรกฎาคม เอกชัยเดินทางออกจากบ้านไปที่องค์การสหประชาชาติ โดยไปถึงบริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติในเวลา 09.30 น. เขาเดินมาถึงด้านหน้าของประตู จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 คนเดินเข้ามาหาเขา ขณะที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอีก 5 คนยืนมองเขาอยู่ที่ริมกำแพงองค์การสหประชาชาติ

"ตำรวจที่รู้จักผมเดินเข้ามาทักทายผม ผมจึงถามถึงเหตุผลที่ตำรวจจำนวนมากต้องมารอผมที่นี่ พวกเขาแจ้งถึงความต้องการดูแลความปลอดภัยให้กับผม ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผมมีความสำคัญถึงขั้นตำรวจ 10 คนต้องการอารักขาผมที่ด้านหน้าของประตู UN หากที่นี่เป็นหน่วยงานรัฐ ผมคงถูกหิ้วไปปรับทัศนคติตามเคย" เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

อย่างก็ตามเอกชัยได้ เข้าไปยื่นเรื่องกับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติตามที่เขาต้องการ และได้กลับออกมา และเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. ถอย ยกร่างกำกับ OTT ใหม่ เลื่อนเดดไลน์ สุภิญญาหวั่นกำกับสื่อออนไลน์แบบนี้ยุ่งยาก

Posted: 05 Jul 2017 07:22 AM PDT

เพราะมองสื่อออนไลน์เป็นสื่อโทรทัศน์ เสี่ยงขัด พ.ร.บ. กิจการโทรทัศน์ เปิดช่องต่างชาติทำกิจการโทรทัศน์ในไทย กสทช. ถอย เลื่อนเดดไลน์จากเดิม 22 ก.ค. ยกร่างใหม่ ทำประชาพิจารณ์ก่อนอนุมัติภายใน 90 วัน กูเกิล ประเทศไทยระบุ ต้องการความชัดเจนของกฎหมาย

 5 ก.ค. 2560  สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุม กสทช. ยังเห็นควรที่จะเดินหน้าการกำกับกิจการ OTT (Over The Top) เนื่องจากเป็นการให้บริการในประเทศไทย จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย  

แต่เพื่อความสมบูรณ์ในการกำกับดูแลที่จะไม่มีข้อโต้แย้งในอนาคต จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนนำออกประชาพิจารณ์รับความฟังความเห็นสาธารณะ ก่อนที่จะปรับปรุงและเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ภายใต้กรอบเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน จึงเลื่อนกำหนดวันสุดท้ายของการลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT ที่ระบุไว้ว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 22 ก.ค. นี้ จนกว่าหลักเกณฑ์กำกับดูแลจะประกาศใช้

เว็บไซต์ blognone รายงานว่า วันนี้ (5 ก.ค. 2560) กูเกิล ประเทศไทยให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่กูเกิลยังไม่ลงทะเบียนการให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตกับ กสทช. ภายในวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งได้เลื่อนออกไปแล้วนั้นว่า ยังไม่สามารถบอกอะไรชัดเจนได้ เนื่องจากต้องการข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า หากลงทะเบียนแล้ว กระบวนการต่อไปคืออะไร การดำเนินงานจะเป็นไปในรูปแบบไหน ซึ่งทางกูเกิลกำลังศึกษาเรื่องกฎหมายเพิ่มเติมอย่างเต็มที่

ในขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทวีตลงแอคเคาท์ส่วนตัวในประเด็นการลงทะเบียนกูเกิลและเฟซบุ๊กเป็นบริการแบบ OTT ว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบุชัดเจนว่าห้ามบริษัทต่างชาติทำธุรกิจโทรทัศน์ในไทย แต่กสทช. อ้าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเรียกร้องให้กูเกิลและเฟซบุ๊กลงทะเบียน อาจขัดกับ พ.ร.บ. ข้างต้น เป็นการเปิดทางให้บริษัทต่างชาติทำกิจการโทรทัศน์ในไทยได้ด้วย ทั้งยังกล่าวว่า การตีความว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อโทรทัศน์นั้นจะก่อให้เกิดความยุ่งยากด้านกฎหมาย เพราะไม่เข้ากับตัวบทกฎหมายที่มีอยู่

 

 

 

 

 

 

ooooooooooo

เหตุการณ์วันนี้สืบเนื่องจากกรณีกสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT- Over The Top) มาลงทะเบียน เพื่อสามารถให้บริการ OTT ในประเทศไทยต่อไปได้ ทั้งนี้ กูเกิลและเฟซบุ๊ก เป็น 2 บริษัทที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่ง กสทช. ประกาศว่าบริษัทโฆษณา (และรวมถึงบริษัทอื่นๆ) ที่โฆษณาผ่านผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่มาลงทะเบียน เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ตามความผิดที่เกิด ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  เป็นผลให้ Asia Internet Coalition หรือ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT โดยระบุถึงปัญหาด้านความโปร่งใสของระเบียบ ข้อกังวลด้านปัญหาเศรษฐกิจและการลงทุน อุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมและฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเป็น Thailand 4.0 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก จนกระทั่ง นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. ออกมาแถลงว่า ไม่ให้ค่ากับแถลงการณ์ดังกล่าว หากกูเกิลและเฟซบุ๊กมีข้อสงสัยอะไรให้เข้ามาถามตน

AIC แถลงโต้ข้อบังคับ OTT ของ กสทช. ชี้ สวนทาง Thailand 4.0

นทีอัดไม่ให้ค่าคำแถลง AIC ระบุ กูเกิล เฟซบุ๊กอยากรู้อะไรมาถามเอง

OTT คืออะไร

OTT (Over-the-top ) คือ บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง การให้บริการโทรทัศน์ผ่านระบบ OTT หรือ OTT TV (Over-the-top TV) จะหมายรวมถึงบริการสื่อวีดิโอและโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้ให้บริการเหล่านั้นไม่ได้ลงทุนในโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเอง แต่ส่งเนื้อหาที่ผลิต เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ผ่านโครงข่ายระบบตัวกลางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Line TV, Facebook หรือ Netflix แล้วตัวกลางจะส่งต่อเนื้อหาให้กับผู้รับบริการอีกทีหนึ่ง

OTT TV สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มากด้วยคุณสมบัติที่สามารถรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต และมีราคาน้อยกว่าการรับชมวิดีโอ โทรทัศน์แบบทั่วไป ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลวิจัยพฤติกรรมการรับชมสื่อโทรทัศน์ของบริษัท Ericsson ในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2558 พบว่า ผู้บริโภกว่าร้อยละ 50  รับชมวิดีโอผ่านบริการ OTT วันละครั้ง และเวลาการรับชมโทรทัศน์ วิดีโอผ่านบริการ OTT แบบ on-demand ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงสองเท่า (2.9 ชั่วโมง/วัน) อย่างไรก็ดี ธุรกิจโทรทัศน์ดั้งเดิมยังคงได้รับความนิยมสูง เพราะยังเป็นผู้ให้บริการที่ให้เนื้อหาสด เช่น การถ่ายทอดกีฬา เนื้อหาที่มีความพิเศษเฉพาะ และยังเป็นรูปแบบการการเผยแพร่เนื้อหาที่สังคมยังคงให้คุณค่า

ภัสรา ปิตยานนท์ เขียนไว้ใน ไทม์ คอนซัลติงว่า ธุรกิจ OTT-TV ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื้อหาที่พบส่วนมากเป็นซีรีส์และภาพยนตร์จากต่างประเทศซึ่งยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผนวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ยังมีปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และยังไม่มีโครงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตพื้นฐานครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้บริการ OTT-TV ในไทยยังรอสักระยะให้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหลายได้รับการแก้ไขเสียก่อนจึงจะเริ่มแข่งขันกับผู้บริการที่มีอยู่เดิมได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, blognone,Brandinside, ไทม์ คอนซัลติง, it24hrs, Ericsson ConsumerLab

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อยตัว 'หมอเลี๊ยบ' แล้ว หลังเข้าเกณฑ์พักโทษ

Posted: 05 Jul 2017 06:43 AM PDT

ราชทัณฑ์เผย 'นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี' เข้าเกณฑ์พักโทษหลังได้รับการลดวันต้องโทษ 2 เดือน แต่ต้องรายงานตัวจนกว่าจะครบกำหนดโทษ หลัง 25 ส.ค.59 ฎีกาสั่งคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา คดีแก้สัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป

ภาพจาก Hfocus.org

5 ก.ค. 2560 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และ Voice TV รายงานตรงกันว่า กฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯได้รับเอกสารการปล่อยตัว นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ 'หมอเลี๊ยบ' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศเนื่องจากได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ ตามเงื่อนไข นักโทษชั้นเยี่ยม ที่จะได้รับการพิจารณาลดวันต้องโทษและพักการลงโทษตามระเบีบบกรมราชทัณฑ์ เมื่อเอกสารมาถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจเอกสารตามขั้นตอน และปล่อยตัว น.พ.สุรพงษ์ออกไปจากเรือนจำเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา 

กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะพิจารณาพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาพักโทษผู้ต้องขัง ที่เข้าหลักเกณฑ์การพักโทษ โดยในจำนวนดังกล่าวมี นพ.สุรพงษ์ ได้รับการพิจารณาพักโทษด้วย เนื่องถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี และประพฤติตัวดี จนถูกจัดอยู่ในผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม โดยคณะกรรมให้สิทธิลดวันต้องโทษ 1 ใน 5 ซึ่งกรณีของ นพ.สุรพงษ์ได้รับการลดวันต้องโทษไป 2 เดือน แต่หลังจากได้รับการปล่อยตัว ตามเงื่อนไขได้รับการพักโทษของกรมราชทัณฑ์แล้ว นพ.สุรพงษ์ จะต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ และปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขที่กำหนด จนกว่าจะครบกำหนดโทษที่ศาลสั่งจำคุก ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 ส.ค.นี้ 

สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาใน คดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อมาต่อมาศาลฎีกาฯ ได้พิพากษา จำคุก นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปีไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยหลังศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว นพ.สุรพงษ์ เข้าไปคุมขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.59

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติงบฯ 1.7 พันล้าน ทำบัตรคนจน-บัตรรักษาข้าราชการ

Posted: 05 Jul 2017 06:07 AM PDT

ครม. อนุมัติงบ 1,581 ล้าน ออกบัตรประจำตัวผู้ที่มีรายได้น้อย พร้อมบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการ 124 ล้าน เริ่มใช้ 1 ต.ค. นี้ พร้อมอนุมัติ 2.2 หมื่นล้าน พัฒนาอาชีพเกษตรกร ผ่านโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ  

 

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำปี 2560 จำนวน 14 ล้านใบ ใช้งบประมาณ 1,581 ล้านบาท จากยอดผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 14.12 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผลิตบัตรสวัสดิการเสร็จเตรียมเปิดให้ประชาชนรับบัตรได้ตามสถาบันการเงินที่ลงทะเบียน  สำหรับลักษณะของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีชิพฝัง 2 อัน ชิพแรก เป็นข้อมูลสำหรับค่าโดยสารสาธารณะและบริการอื่น ๆ 

ชิพอันที่ 2 เป็นข้อมูลประวัติประชาชน มีรูปถ่ายจากบัตรประชาชน เพื่อใช้สำหรับจ่ายเงินตามเครื่องรูดบัตร EDC และใช้งานทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ และยังใช้ร่วมกับระบบตั๋วร่วมแมงมุมของกระทรวงคมนาคม สำหรับชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. รถไฟ บขส. ทุกระบบขนส่ง และยังเติมเงินเพิ่มสำหรับใช้บริการประเภทอื่นได้  นอกจากนี้ ยังใช้นอกภาคบริการขนส่ง สำหรับชำระค่าไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม และใช้เป็นส่วนลดร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการ  หรือเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเติมเงินเพื่อใช้จ่ายด้านต่าง ๆ  รวมถึงใช้บัตรสำหรับการรองรับการโอนเงินของภาครัฐให้กับประชาชน เช่น เบี้ยคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสวัสดิการอื่น ๆ 

นอจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้จัดทำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อใช้กับข้าราชการ ลูกจ้าง และบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลประมาณ 4.5 ล้านคน ใช้งบประมาณผลิตบัตร 124 ล้านบาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของราชการ เนื่องจากปัญหาการเวียนเทียนเบิกยา การรับยาซ้ำซ้อน เกิดปัญหารั่วไหล รัฐบาลจ่ายเงินรักษาเพิ่ม 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ยอดรวมประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี  กระทรวงการคลังจึงต้องการปฏิรูประบบเบิกจ่าย เพื่อพิสูจน์ตัวตน ด้วยการแสดงบัตร ณ จุดบริการเบิกจ่ายตรง เพื่อตรวจสอบว่าส่วนราชการมีสิทธิ์การเบิกหรือไม่ ตรวจสอบจำนวนครั้ง จำนวนเงินเบิกจ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินรักษาพยาบาล บัตรสวัสดิการ 2ประเภททั้งรักษาพยาบาลและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้

นอกจากนี้ที่ประชุมอนุมัติการให้ประชาชนสามารถชำระค่าต่อใบอนุญาตของรัฐ ผ่านช่องทางการจ่ายเงินทางในช่องทางที่รัฐกำหนดโดยไม่ต้องเดินทางมาต่ออายุใบอนุญาตที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา และเป็นการปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 

อนุมัติ 2.2 หมื่นล้าน พัฒนาอาชีพเกษตรกร ผ่านโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ  

ขณะที่ ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน อนุมัติงบกลางประมาณ 22,895 ล้านบาท จัดสรรให้ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท ทั้งหมด 9,101 ชุมชน ครอบคลุมเกษตรกร 4.5 ล้านราย ผ่านการตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาภาคเกษตรของชุมชนการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ 

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมเกษตรกร 9 ด้าน ได้แก่  1.ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช  2.ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์  3. ด้านการจัดการศัตรูพืช  4. ด้านฟาร์มชุมชน  5. ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 6.ด้านปศุสัตว์  7. ด้านประมง  8. ด้านการปรับปรุงดิน   9. การเกษตรอื่นๆ   โดยเปิดให้ชุมชนดำเนินการได้เองหรือเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการเดิม โครงการต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน มีผู้รับประโยชน์จากโครงการไม่ต่ำกว่า 500 คน หรือให้ครอบคลุมเกษตรกรมากที่สุด เป็นโครงการที่มีความครบถ้วนทั้งการผลิต การตลาด การนำไปใช้ประโยชน์ เน้นการจ้างงานในชุมชน เพื่อเสนอให้กระทรวงเกษตรฯพิจารณาโครงการ  ดำเนินการตั้งเดือนเดืนพฤษภาคม- ธันวาคม 60 

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับปรุงแผนจัดทำตลาดข้าวแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ การผลิตสินค้าเกษตรภายใต้ใบรับรองระบบเกษตรกรที่ดี GAP และการปลูพืชอินทรีย์ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ กำหนดให้ลงนามร่วมกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนา โดยขอกู้ดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลชดเชยร้อยละ 3 ธนาคารชดเชยร้อยละ 1 เอกชนเข้าร่วมโครงการรับซื้อในราคานำตลาดร้อยละ 4 และหากเป็นสินค้าเกษตรแบบออร์กานิกไทยแลนด์ รับซื้อนำตลาดร้อยละ 15 เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ยังเตรียมนำสินค้าออร์กานิกส่งออกไปยุโรป 2,000 ตันต่อปี ด้วยงบประมาณอุดหนุนโครงการทั้งหมด 2,873 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการในปี 60-64 

ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

20 ปี ต้มยำกุ้ง : คุยกับ ‘เก่งกิจ’ ว่าด้วย ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในฐานะโวหาร ‘เสรีนิยมใหม่’

Posted: 05 Jul 2017 05:42 AM PDT

บทสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ต่อวาระ 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งกับการเกิดขึ้นของทางเลือกการพัฒนาอย่าง 'เศรษฐกิจพอเพียง' และ 3 ปัจจัยที่ผลักดันผ่านบทบาทรัฐ องค์กรระหว่างประเทศและการเมืองภาคประชาชน รวมถึงความสอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่

เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย หรือที่เรียกกันว่า วิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2540 ของรัฐบาลไทย ซึ่งมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี การลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างทันทีทันใด จากเดิมประมาณ 25.60 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 28.75 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และค่าเงินบาทอ่อนลงตามลำดับ ในช่วงต่ำสุดเคยตกลงถึง 55 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ธุรกิจเอกชน หลายแห่งต้องปิดกิจการ มีหนี้ท่วมตัว คนงานจำนวนมากถูกปลดออกจากงาน และรัฐบาลถูกกดดันให้ลาออก รวมทั้งขยายวงกระทบทั่วเอเชีย จากนั้นเกิดความพยายามแก้ไขในฐานะเป็นวาระร่วมของชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือประชาสังคม เช่น ความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพยุงค่าเงินบาท ทำให้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศหมดคลังจนต้องขอกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงฐานะทางการเงินของประเทศ และรัฐบาลไทยจำต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดขึ้น เช่น งบประมาณแผ่นดินจะต้องตั้งเกินดุล 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น [1]

อีกด้านหนึ่งก็มีการพูดถึงทางเลือกการพัฒานาอื่นๆ เช่น การเกิดขึ้นของ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" หลังจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2540 ว่า "..การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง..." แนวคิดดังกล่าวถูกนำไปผลักดันเป็นโครงการ นโยบายต่างๆ ของรัฐ หรือแม้กระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิชาเรียนในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีการสรุปภายใต้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ พอประมาณ มีเหตุผล และ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ประกอบกับ 2 เงื่อนไขคือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม นอกจากนี้ภาคประชาสังคมก็นำหลักการนี้ไปใช้ในหลายมิติ ทั้งการเสนอเป็นทางเลือกของการพัฒนาเศรษฐกิจ การใช้เป็นหลักการเพื่อตอบโต้กับแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองอื่นๆ เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" จึงมีบทบาทในหลายแบบ

ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ 'การเมืองว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นในประเทศไทยจาก พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2549' ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจการก่อเกิดและบทบาทของ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ใน 20 ปีที่ผ่านมา

00000

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

ประชาไท : การขึ้นมาของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งมันขึ้นมาได้อย่างไร?

เก่งกิจ : คิดว่ามีอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกเลยคือว่าบทบาทของรัฐโดยเฉพาะบทบาทของในหลวงที่เสนอเรื่องนี้ อันที่ 2 บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะพวก IMF ธนาคารโลก ซึ่งเราจะเห็นเลยว่านโยบายเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องใหม่ มันมีการพูดถึงความคิดแบบชุมชนการเศรษฐกิจทางเลือกวิถียังชีพที่เป็นทางเลือก ซึ่งพวกธนาคารโลกและ IMF ก็มีการโฆษณาเรื่องนี้ในทศวรรษ 1990 เพราะว่าประเด็นพวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่เอาต่อสู้กับขบวนการฝ่ายซ้าย ขบวนการอื่นๆ เราจะเห็นบทบาทของสหรัฐอเมริกา พวก IMF และธนาคารโลกที่เข้าไปในละตินอเมริกาและในหลายๆ ที่ รวมถึงในเกาหลีใต้ ที่เข้าไปสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นอะไรพวกนี้ทั้งหลาย

ส่วนที่ 3 เราจะเห็นบทบาทของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งการเมืองภาคประชาชนของไทยมีบทบาทอย่างมากในการ พยายามที่จะต่อต้านความคิดซึ่งตอนนั้นก็จะเรียกว่าต่อต้านเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ คำว่าเสรีนิยมใหม่ อะไรพวกนี้ยังไม่เป็นที่นิยม ในยุคนั้นก็จะเรียกว่าโลกาภิวัตน์ เราก็จะเห็นกระแสชุมชนนิยมที่นำเสนอความคิดเรื่องชุมชนเพื่อมาต่อสู้กับเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นมันจึงมีการสร้างขั้วตรงข้ามในภาคประชาชน และหากดูการเมืองเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนจะเห็นพวกโวหารเกี่ยวกับการใช้คำว่า ทุนข้ามชาติ ทุนโลกาภิวัตน์ อะไรพวกนี้ และเศรษฐกิจชุมนุมก็มีนัยะของการพูดถึงความคิดของท้องถิ่นนิยม ความคิดแบบชาตินิยม ซึ่งเราจะเห็นว่าทั้ง 3 ส่วนนี้ เอาจริงๆ การเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2540 ของในหลวงไม่ใช่เรื่องใหม่ ในแง่ของบริบทระหว่างประเทศก็มีการพูดเรื่องนี้อยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นส่วนในการโต้ความคิดแบบขบวนการฝ่ายซ้าย หรือขบวนการสังคมนิยม

ความจริงในยุคหลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น อันนี้เราจะเห็นตัวอย่างชัดเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าไปตั้งในเงินสนับสนุนเอ็นจีโอในประเทศโลที่ 3 ทั้งหลายให้ทำงานแนวสังคมสงเคราะห์ แนวให้ความช่วยเหลือ การพึ่งพาตัวเองเพราะว่าในการพึ่งพาตัวเองเหล่านี้มันเป็นกลไกที่จะทำให้ลดการพึงพารัฐ เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องการลดการพึ่งพารัฐ การพึ่งพาตัวเองหรือความพอเพียงในตัวเองนี้ มันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่เป็นโครงการทางการเมืองของการทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เพราะฉะนั้น 3 ส่วนนี้มันมาบรรจบกัน ทั้งในระดับของการเมืองภาคประชาชนในระดับของรัฐไทย ชนชั้นนำไทยแล้วก็ในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนก็คือว่าสิ่งที่มาภายหลังสุดก็คือการที่ชนชั้นนำไทยออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจริงๆ แล้วมาภายหลังจาก 2 ส่วนนั้น

ทำไมแนวคิดด้านหนึ่งต่อต้านโลกาภิวัตน์แต่ทำไมอีกด้านไปสอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ได้อย่างไร?

เพราะว่าการต่อต้านโลกาภิวัตน์มันสามารถที่จะพูดได้จากหลายจุดยืน แต่จุดยืนที่การเมืองภาคประชาชน และปัญญาชนที่เป็นชนชั้นนำทั้งหลายในประเทศที่ใช้ก็คือจุดยืนแบบชาตินิยม เราจะเห็นในช่วง 2540 มันจะมีกระแสความคิดชาตินิยมที่เข้มข้นขึ้นมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปัญญาชนภูมิปัญญาท้องถิ่น เอ็นจีโอหรือแม้กระทั่งขบวนการแรงงาน เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็เป็นองค์กรที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ยังจำได้ว่ามีการประณามทุนข้ามชาติ ประณามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นการประณามบนฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของชาติไม่ใช่เรื่องมิติทางชนชั้น เพราะฉะนั้นประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์เสรีนิยมใหม่หรือโลกาภิวัตน์มันไม่ได้วางอยู่บนประเด็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ แต่มันวางอยู่บนฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งโวหารนี้เป็นโวหารทางการเมืองที่สุดท้ายมันไปรับใช้กับความคิดแบบชาตินิยม

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาใช้กับประชานิยม มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้าเรามองอย่างถึงที่สุดจะพบว่านโยบายของรัฐไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตามไม่ได้มีความแตกต่างกันมากในการสนับสนุนเสรีนิยมใหม่หรือโลกาภิวัตน์ ทุกๆ รัฐบาลสนับสนุนเสรีนิยมใหม่หมด สิ่งที่ต่างก็คือโวหารในการสนับสนุนเสรีนิยมใหม่ เราจะเห็นว่าชนชั้นนำฝั่งที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็จะใช้โวหารแบบชาตินิยมหรือท้องถิ่นหรือชุมชนนิยม แต่ฝั่งนักการเมืองอย่าพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย เขาไม่ได้มองเสรีนิยมในฐานะที่เป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะส่วนบนของนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มองว่าโครงการทางการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่จะบรรลุได้มันจะต้องมีการจัดการปรับเปลี่ยนความคิด รูปแบบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้มันรับใช้กับเสรีนิยมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มองการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังทางการผลิต ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเรื่องสวัสดิการ การมีวิถีชีวิตที่มันดีขึ้น มีทักษะที่เพิ่มขึ้น การกลายเป็นผู้ประกอบการในชุมชนในหมู่บ้าน ทั้งหมดมันเป็นเสรีนิยมใหม่อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลทักษิณคือการเอาเสรีนิยมให้เข้าไปทำงานในระดับรากหญ้า มันต่างจากกรณีของโวหารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของชนชั้นนำของสถาบันกษัตริย์หรือทหารในปัจจุบันที่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติเชิงนโยบาย เพราะจริงๆ แล้วนโยบายทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเห็นว่ารัฐบาลทหารของประยุทธ์ก็ทำนโยบายเดียวกันกับที่ทักษิณทำ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีความต่าง ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ประชานิยมโดยยกเอาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาจึงเป็นเรื่องของการใช้โวหารทางการเมือง มากกว่าเป็นการต่อสู้ในเชิงนโยบาย

สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงไปสอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ อย่างไรบ้าง ?

ในช่วงทศวรรษ 1990 ตัวอย่างในโลกวิชาการจะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาสังคม ความเป็นอิสระของชุมชน นักวิชาการแนวประชาสังคมก็จะพูดถึงการที่รัฐควรจะถอยตัวออกไปจากการจัดการทางสังคมและให้ประชาสังคมจัดการกันเอง ซึ่งเหล่านี้จะเป็นความคิดของนักวิชาการสายเสรีนิยมในประเทศไทย เช่น อ.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือแม้กระทั่งหมอประเวศ เอ็นจีโอแนวชุมชนบางส่วนก็รับความคิดเรื่องนี้ โดยตีความคำว่า "ประชาสังคม" ก็คือ "ชุมชนท้องถิ่น" แล้วพวกชุมชนท้องถิ่นหรือกระแสการเมืองภาคประชาชนมันก็พูดถึงการเป็นอิสระจากรัฐ พูดถึงการจัดการทรัพยากรที่เป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตีความว่าเป็นความคิดแบบสังคมนิยมก็ได้ ตีความว่าเป็นความคิดแบบเสรีนิยมก็ได้ แต่เราจะพบว่าการที่การเมืองภาคประชาชน ไม่ได้มีจุดยืนแบบสังคมนิยมมันเลยทำให้โวหารทางเมืองหรือการต่อสู้เหล่านี้ในที่สุดมันก็จะถูกผลักไปต่อต้านรัฐกับทุน ซึ่งความจริงแล้วรัฐกับทุนไม่ได้ถูกนิยามอย่างเป็นระบบในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นเลยว่าการศึกษารัฐทำไมคนถึงได้สนใจสิ่งที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอ หรือคนเพิ่งมาสนใจบทบาทของกองทัพเพราะเวลาเราพูดถึงรัฐเพราะไม่รวมกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์เข้าไปด้วยอย่างเป็นระบบ เราพูดถึงรัฐเฉพาะนักการเมือง เพราะฉะนั้นการต่อต้านรัฐกับทุน ซึ่งหมายถึงการต่อต้านโลกาภิวัตน์มันจึงมุ่งไปที่การสนับสนุนความคิดแบบชาตินิยม มันจึงสนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะรัฐบาลหรือกลุ่มทุนบางกลุ่ม แต่มันไม่ได้ทำความเข้าใจจริงๆ ว่าทั้งหมดนี้มันคือโครงการทางการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่

เราจะเห็นว่าไอเดียเรื่องการถอยห่างออกจากรัฐ การเป็นอิสระการลดบทบาทของรัฐ ซึ่งแพร่หลายทั้งในระดับปัญญาชนและขบวนการภาคประชาชนมันคือส่วนสำคัญที่เปิดทางให้กับความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งเฉพาะชนชั้นนำไทยคิดเท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ WTO ฯลฯ มันคิดสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเพราะมันเป็นโวหารหรือม้าไม้เมืองทรอยที่ใช้คำพูดที่มันดูก้าวหน้าอิสระเพื่อที่จะกลับเข้าไปตีหรือทำลายระบบสวัสดิการ แต่สิ่งที่ทักษิณทำหรือรัฐบาลทหารทำ หรือชนชั้นนำที่เป็นอนุรักษ์นิยมอย่างรัฐบาลอานันท์ ปัญญารชุน หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์ทำมันก็ต่างจากรัฐบาลของทักษิณในแง่ที่มันตรงที่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังทางการผลิต ซึ่งทักษิณกลับมองว่าการที่จะเป็นเสรีนิยมใหม่ได้มันเน้นที่การแข่งขันเพราะฉะนั้นส่วนสำคัญก็คือการเข้าไปพัฒนาพลังในการผลิตในระดับรากหญ้านี่คือสิ่งที่ไม่ปรากฏในวิสัยทัศน์ของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย

มันมีการหยิบใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเข้าถึงทรัพยากรของรัฐบ้างหรือไม่?

จริงๆ แล้วรัฐกับภาคประชาชนหรือพวกนักวิชาการเองก็หยิบใช้ แบ่งปันแนวคิด โวหารทางการเมืองหรือแนวคิดต่างๆ กันอยู่แล้วเป็นปกติ ตัวอย่างเมื่อหลายปีก่อนหลังรัฐประหาร 2549 มีบทความชิ้นหนึ่งของอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียนลงประชาไทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วข้อเสนอของงานนี้คือว่าการเมืองของขบวนการประชาชนควรจะต้องหยิบฉวยการตีความและการให้ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงใหม่ ให้มันสอดคล้องหรือรับใช้ความคิดเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรม ไม่ใช่การปฏิเสธความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในคอมเม้นท์ของบทความ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้มาวิจารณ์บทความชิ้นนี้ โดยหากพูดอย่างสรุปก็คือ ฝ่ายขบวนการประชาชนไม่สามารถที่จะหยิบฉวยวาทกรรมหรือโวหารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของชนชั้นนำได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้วมันจะไปสนับสนุนอำนาจนำของชนชั้นนำที่เสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีด้วย ในแง่ที่ว่ามันเป็นไปได้ไหมที่การเมืองภาคประชาชนหรือประชาชนที่หยิบฉวยเอาวาทกรรม โวหารหรือแนวคิดของชนชั้นนำทุกๆ แนวคิดมาตีความใหม่ เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าไอเดียแบบนี้มันวางอยู่กับความคิดแบบกรัมชี่ที่มองว่ามันย่อมมีการช่วงชิงอำนาจนำในการตีความวาทกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งไอเดียแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหยิบฉวยทุกอันมาใช้ จะเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนที่เติบโตมาในทศวรรษ 1990 ที่นำมาสู่การรัฐประหาร 49 มีแนวคิดแตกหักกันจนถึงทุกวันนี้มันคือผลผลิตสำคัญของการที่การเมืองภาคประชาชนไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่ก้าวหน้าของตัวเอง ไม่มีภาษาของตัวเอง การเมืองภาคประชาชนในทศวรรษ 1990 คือการอยู่ภายใต้วาทกรรมหรือโวหารของชนชั้นนำแบบเสรีนิยม ตัวอย่างเช่น คำว่า "ชุมชน" มันถูกผลักให้เป็นการสนับสนุนตลาดได้อย่างไร ในเมื่อถ้าคำว่าชุมชนมันมีพลัง หรือการต่อสู้ไอเดียเรื่องชุมชนมันวางอยู่บนจุดยืนที่มันมีความก้าวหน้าที่มันมั่นคงมันจะถูกช่วงชิงโดยชนชั้นนำได้อย่างไร นั่นแสดงว่าการต่อสู้อันนี้และหลายๆ ครั้ง ที่ผ่านมาเราไม่สามารถช่วงชิงการนิยามความคิดต่างๆ ที่ผลักไปสู่การพูดเรื่องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำหรือความยุติธรรมได้จริงๆ เราจะเห็นว่าทุกคนช่วงชิงไอเดียเรื่องชุมชนหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นทักษิณก็พูด การให้อำนาจกับรากหญ้าทุกคนช่วงชิงคำพูดที่การเมืองภาคประชาชนเคยสู้มาหมด

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า คำถามก็คือมันมาถึงจุดที่ว่า "อะไรล่ะที่ควรจะเป็นจุดยืน และนอกเหนือจากที่เป็นจุดยืน อะไรจะเป็นโวหารที่เราจะใช้เป็นมอตโต้ในการผลักดันจุดยืนของเราที่มันเป็นเรื่องของความยุติธรรมจริงๆ" เพราะในท้ายที่สุดแล้วทุกวันนี้มันเป็นเรื่องที่ตลกมากที่นักวิชาการบางคนที่พูดเรื่องชุมชน เรื่องสิทธิชุมชนทั้งหลาย ออกมาปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในโลกของการเมืองภาคประชาชนและมันสิ้นสุดไปแล้ว คำถามก็คือว่า "แล้วคุณพูดเรื่องชุมชนมา 20 ปี 30 ปี สิ่งเหล่านั้นไม่มีพลังเลยหรือ ไม่มีสิ่งที่หลงเหลืออยู่เลยหรือ ที่เราจะเอามาใช้ในการพูดถึงความยุติธรรมในการจัดการทรัพยากรหรือปัจจัยในการผลิตในสังคม" นั่นมันสะท้อนว่าคนที่เสนอเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหรือแนวชุมชน การจัดการทรัพยากรทั้งหลายในที่สุดเขาก็ตระหนักชัดว่าแนวคิดเรื่องชุมชนไม่สามารถผลักไปถึงที่สุดที่จะสนับสนุนขบวนการประชาชน เราจะเห็นเลยว่าทำไมนักวิชาการหลายคนให้การสนับสนุนขบวนการเสื้อแดง  แต่ไม่มีวาทกรรมหรือโวหารเรื่องชุมชนอยู่ในนั้นเลย ไม่มีวาทกรรมเรื่องการพึ่งตนเอง การจัดการทรัพยากร สิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฎในขบวนการเสื้อแดงเลย คำถามคือ ทำไม? นั่นแสดงว่าวาทกรรมแบบนี้มันไม่ได้ลงหลักปักฐานในฐานะที่เป็นสิ่งที่มันก้าวหน้าจริงๆ ซึ่งอันนี้เป็นข้อจำกัดของขบวนการภาคประชาชนในทศวรรษ 1990

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนว่าถูกชูเป็นคู่ขัดแย้งหรือข้อตรงข้ามกับเสรีนิยมใหม่ ภาพเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เอาเข้าจริงเราก็ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนที่พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วไม่โปรเสรีนิยมใหม่ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นโวหารจริงๆ เป็นเหมือนม้าไม้เมืองทรอยที่เข้ามาสนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ความคิดแบบเสรีนิยมมีความชอบธรรมมากขึ้นในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างง่ายๆ ทำไมตอนนี้การคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจถึงไม่มีเลย และอะไรคือรูปธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์เสรีนิยมใหม่ เราจะพบเลยว่ามีหลายคนหลายกลุ่มที่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องการจัดสวัสดิการที่ก้าวหน้า แต่ทุกวันนี้วาทกรรมว่าด้วยรัฐสวัสดิการกับสวัสดิการที่ก้าวหน้าไม่ปรากฏเลยในการเมืองของการต่อสู้ของประชาชนตอนนี้ ทุกวันนี้เราไม่เคยมีแนวคิดจุดยืนทางการเมืองที่เป็นองค์รวมขึ้นเป็นทางเลือกนอกจากนอกเหนือไปจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ขบวนการเสื้อแดง พวกที่เป็นบุคคลสาธารณะ ปัญญาชนสาธารณะของขบวนการเสื้อแดงเกือบทั้งหมดเลยไม่มีใครคัดค้านเสรีนิยมใหม่ แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยส่วนใหญ่พูดหมดว่ากลไกตลาดเป็นสิ่งที่ดีแต่ถูกบิดเบือนโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร

จริงๆ แล้วเราสามารถฟันธงได้เลยว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้เราไม่ได้มีจุดยืนหรืออุดมการณ์ใดๆ ที่คัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างเป็นระบบจริงๆ ในประเทศไทย ถ้าเทียบในเรื่องนี้กับกรณีในต่างประเทศจุดยืนเดียวที่จะคัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยที่ไม่สนับสนุนบทบาทของชนชั้นนำนั่นคือจุดยืนแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์การพูดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตลกหรือดอกแมททิค(dogmatic) แต่ว่านี่คือสิ่งที่อิทธิพลของขบวนการฝ่ายซ้าย หรือนักคิดฝ่ายซ้ายในโลกตะวันตกมันกำลังก้าวหน้า นักคิดดังๆ เป็นฝ่ายซ้ายหมดเพราะขบวนการฝ่ายซ้ายหรือความคิดแบบสังคมนิยมเป็นจุดยืนเดียวที่คัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ถ้าย้อนกลับมาในประเทศไทยตอนนี้คือภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีขบวนการฝ่ายซ้ายหรือปัญญาชนฝ่ายซ้ายในขบวนการประชาชน หรือพูดอีกก็คือเราไม่มีปัญญาชนฝ่ายซ้ายหรือขบวนการฝ่ายซ้ายในเสื้อแดง ขบวนการเสื้อแดงจึงเป็นขบวนการที่ปกป้องประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมซึ่งสอดคล้องกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การทำลายลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นคำถามคือการต่อสู้อันนี้มันจะพัฒนาไปอย่างไร ตอนนี้เรามองไม่ออกเลยเพราะว่าเราไม่เคยมีเสาหลักของความคิดสังคมนิยมอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

เขาอาจจะแย้งว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ปะทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการดึงอำนาจเข้าสู่ระบบราชการหรือระบบอำมาตย์?

พูดง่ายๆ ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการที่เป็นเรื่องหลัก เราจะเห็นได้ว่าการขึ้นมาของรัฐบาลรัฐประหารหลังปี 2549 เราจะเห็นว่าเช่น รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลของประยุทธ์ ใช้นโยบายที่มีความเป็นประชานิยมเหมือนกัน แต่เป็นประชานิยมในแง่สังคมสงเคราะห์ไม่ใช่ประชานิยมในแง่การสร้างระบบสวัสดิการ เราจะเห็นว่าทุกวันนี้รัฐบาลประยุทธ์พยายามทำลายสวัสดิการในประเทศไทยทุกวิถีทาง การพยายามจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม พยายามทำโน่นนี่เพื่อเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพ แต่สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ทำไม่ใช่การสร้างระบอบเผด็จการ อย่าลืมว่าความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้เป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้ประชาชนมีเสียงกับฝั่งที่ต้องการให้ประชาชนมีเสียงหรือมีส่วนในการเมืองระบอบรัฐสภา ประเด็นที่เกิดขึ้นก็คือรัฐบาลเผด็จการทหารรู้ดีว่าการทำลายฐาน แม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การตัดอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนคือวิธีการที่จะทำลายขบวนการประชาชนให้อ่อนแอ คือการไม่มีสวัสดิการ การมีชีวิตที่ยากลำบากมันคือการทำลายฐานตรงนี้ เพราะเขาไม่ได้พึ่งพาฐานอันนี้ในการเข้าสู่อำนาจ

เพราฉะนั้นเราจะบอกได้อย่างไรว่าเราไม่ได้กำลังสู้กับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ในเมื่อที่ผ่านมามีการประท้วงกระทั่งประยุทธ์ต้องยอมถอย คำถามก็คือก่อนหน้านี้ประยุทธ์มียอมถอยเรื่องอะไรบ้างที่ประยุทธ์เป็นคนพูดเองนอกจากเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ประยุทธ์ยอมถอยเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ถ้าประยุทธ์ล้ม 30 บาท กับประยุทธ์ปกครองอยู่และจับผู้ต้องหาคดี ม.112 อะไรที่จะทำให้คนออกมาประท้วงได้มากกว่ากัน คำตอบก็คือว่าถ้าล้ม 30 บาท คนไม่ยอมแน่นอน ถ้าล้มกองทุนประกันสังคมคนไม่ยอมแน่นอน ต่อให้ทำรัฐประหารอีกรอบคนก็อาจไม่มาประท้วงได้ อาจไม่มีการเคลื่อนไหว หรือสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขบวนการเสื้อแดงไม่พูดถึงและไม่สร้างทางเลือกที่พูดถึงองค์รวมของความขัดแย้ง ทางเลือกที่พูดถึงองค์รวมของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้ง แน่นอนว่าเราต้องการการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหารทำคือการทำลายระบบสวัสดิการผ่านแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ นั่นควรจะเป็นจุดที่ฝ่ายขบวนการทั้งหลายหรือฝ่ายนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายควรจะกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะเรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการสู้ในเรื่องของระบอบการเมือง แต่เราไม่ได้พูดถึงความหมายของประชาธิปไตยที่เป็นองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการเรื่องความเท่าเทียมในรอบหลายปีที่ผ่านมามันไปจำกัดตัวเองอยู่ที่การมีสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่การเข้าถึงสวัสดิการก็เป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ว่ามันกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ไม่น้อยกว่าสิทธิเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกมองเป็นองค์รวม นั่นคือรากฐานความคิดแบบเสรีนิยมที่แยกส่วนระหว่างเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจออกจากกัน มันมีจุดยืนเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจกับการเมืองมันเป็นเรื่องเดียวกันก็คือจุดยืนแบบสังคมนิยม

สำหรับแนวนโยบายหลักของรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร[2]  เขียนสรุปไว้คร่าวๆ ว่าประกอบด้วย การแปรรูปบริการของรัฐเป็นเอกชน (Privatisation) การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน (Trade and Financial liberalization) และการผ่อนคลายและลดกฎระเบียบ (Deregulation) เพราะหลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นคือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ) ดังนั้น โครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี

เอกสารอ้างอิง :

[1] รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต, วิกฤตต้มยำกุ้ง, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=วิกฤตต้มยำกุ้ง

[2] Kriangsak Teera, เสรีนิยมใหม่ พัฒนาการและอิทธิพล: บทนำ http://kriangsakt.blogspot.com/2008/07/blog-post_04.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: ประชาธิปไตยมิใช่แค่การเลือกตั้ง

Posted: 05 Jul 2017 04:55 AM PDT

 

ข้อถกเถียงที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันประเด็นหนึ่งก็คือ "การเลือกตั้ง"ซึ่งมีแนวคิดแตกต่างกันออกไปเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ คือ แนวคิดแรกเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญจึงจำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีการเลือกตั้งให้ได้เพื่อให้เห็นว่าบ้านเมืองนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่แนวคิดที่สองเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้ได้กลุ่มการเมืองที่เข้ามาทุจริตคอร์รัปชันหรือเผด็จการรัฐสภาจึงจำเป็นต้องควบคุมการเจริญเติบโตของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองให้มากที่สุด โดยเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งจำเป็นสูงสุด จะมีเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งทั้งสองแนวคิดนั้นผมเห็นว่าต่างก็ผิดและถูกทั้งคู่ ซึ่งจะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง


องค์ประกอบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

1.การเลือกตั้ง (election) แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy)การเลือกตั้งย่อมเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลเพื่อไปทำหน้าที่แทนประชาชนในสถาบันนิติบัญญัติและบริหารรวมถึงตุลาการด้วยในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลักการดังต่อไปนี้

1.1 เป็นการทั่วไป (in general)

บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องเป็นบุคคลที่อายุเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดด้วยเหตุผลทาง วุฒิภาวะ เช่น 16,18 หรือ 20 ปี เป็นต้น โดยต้องไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนชนชั้นใด ไพร่หรือผู้ดี ไม่ว่าจะจบการศึกษาในระดับใด เพศใด หรือมีฐานะทางการเงินหรือไม่

1.2 เป็นอิสระ (free voting)

ในการเลือกตั้งนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกตัวแทนของตนโดยไม่ได้ถูกบังคับ  ขู่เข็ญ กดดัน ชักจูงหรือได้รับอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น

1.3 มีระยะเวลา (periodic election)

การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะกำหนดระยะเวลาไว้เท่าใด โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเป็นการแน่นอน เช่น ส.ส. 4 ปี(อเมริกา 2 ปี,อังกฤษ 5 ปี) ส.ว. 6 ปี เป็นต้น หรือเลือกตั้งเมื่อมีการยุบสภาในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา(parliamentary system)(ในระบบประธานาธิบดี(presidential system)ไม่มีการยุบสภาฯ)

1.4 การลงคะแนนลับ (secret voting)

เพื่อให้ผู้ที่เลือกตั้งสามารถเลือกบุคคลที่ต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนของตนได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องเกรงใจใครหรือไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร ในการเลือกตั้งทุกครั้งจึงกำหนดให้แต่ละคนสามารถเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้เพียงครั้งละ 1 คน ยกเว้นบางประเทศที่กฎหมายอนุญาตไว้เป็นข้อยกเว้นเช่น คนพิการหรือคนแก่ เป็นต้น และไม่จำเป็นจะต้องบอกให้คนอื่นทราบว่าตัวเองเลือกใคร หลักการลงคะแนนลับนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะแม้แต่ศาลเองก็ไม่สามารถจะสั่งให้เราให้การว่าในการเลือกตั้งนั้นเราลงคะแนนให้แก่ผู้ใด

1.5 หนึ่งคนหนึ่งเสียง (one man one vote)

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงได้เพียง 1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีฐานะอะไร หรือมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างไร ก็มีสิทธิได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น

1.6 บริสุทธิ์ยุติธรรม (fair election)

หลักการนี้อาจถือได้ว่าเป็นหลักที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะในหลัก 5 ข้อข้างต้นอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในบริบทของแต่ละประเทศ แต่ถึงแม้ว่าจะมีครบทั้ง 5 หลักข้างต้นแล้วหากขาดเสียซึ่งหลักแห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้วการเลือกตั้งนั้นก็จะเสียไป

อย่าลืมว่าในประเทศเผด็จการทั้งหลายแม้จะใช้ชื่อว่าประชาธิปไตยก็ตาม เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี(เกาหลีเหนือ) ฯลฯ ต่างก็มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่การเลือกตั้งในประเทศเผด็จการทั้งหลายนั้นเป็น "การบังคับเลือก" (จะเอาหรือไม่เอา) ที่เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น

2.การตรวจสอบ (monitor) การตรวจสอบเป็นวิธีการที่พลเมืองจะติดตามการประพฤติปฏิบัติของตัวแทนที่ตนเองเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตนว่าเป็นไปตามที่ได้ให้นโยบายหรือหาเสียงไว้หรือไม่ เป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ของตนหรือไม่ ซึ่งในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่มีสิ่งนี้แต่จะมีสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย 4 วินาที" ซึ่งหมายถึงการหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็แล้วกันไป

3.การถอดถอน (recall) เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่เมื่อตรวจสอบตามข้อ 2 แล้วยังสามารถมีสิทธิออกเสียงหรือถอดถอนบุคคลต่างๆบนหลักการพื้นฐานที่ว่า "เมื่อเลือกตั้งเข้ามาได้ก็ย่อมที่จะสามารถถอดถอนได้" เช่นกันนั่นเอง

4.การออกเสียงประชามติ (referendum and plebiscite) การออกเสียงประชามตินั้นถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy)อย่างหนึ่ง โดยแบ่งการออกเสียงประชามติออกเป็น 2 ประเภท คือ referendum ซึ่งหมายถึงอำนาจที่ประชาชนมีเพื่อใช้ตัดสินปัญหาต่างๆของรัฐตามความต้องการหรือเจตจำนงของตน ส่วนใหญ่ในทางปฏิบัติมักเกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมในตอนใดตอนหนึ่งหรือการตัดสินใจที่สำคัญๆที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น การแยกประเทศ เป็นต้น ส่วน plebiscite ในทางปฏิบัติเมื่อรัฐบาลมีปัญหาในระดับนโยบายที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ เนื่องจากเมื่อตัดสินใจไปแล้วอาจเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสังคม เช่น การเปิดบ่อนการพนันโดยเสรี การที่จะให้กัญชาหรือการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายอาญา(decriminalization) เป็นต้น แต่ในระยะหลังๆนี้สื่อและคนทั่วไปมักใช้รวมกันเป็น referendum ไปเสียเกือบหมด

5.ประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย (initiative) หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทำตามหรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560ตามมาตรา 133 กำหนดว่า ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คนขึ้นไป สามารถเสนอ ร่างพ.ร.บ.ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยกับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐได้

จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่จะขาดเสียมิได้ แต่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องเป็นการทั่วไป เป็นอิสระ มีระยะเวลา เป็นการลงคะแนนลับ หนึ่งคนหนึ่งเสียง และที่สำคัญที่สุดคือบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งมิได้หมายความว่าเมื่อมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่จะต้องประกอบไปด้วย การตรวจสอบ การถอดถอน การออกเสียงประชามติ และประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายได้ด้วย จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

เข้าใจตรงกันนะครับ

----------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: เทียบ 3 ชาติดีลรถไฟกับจีน พบไทยดีลได้แย่สุด

Posted: 05 Jul 2017 04:50 AM PDT

รายงานพิเศษ วงเสวนา อนาคตประเทศไทย ภายใต้รถไฟจีน ม.44 สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation เปรียบเทียบดีลรถไฟจีน 3 ชาติในอาเซียน พบไทยได้ดีลแย่กว่า ลาว และอินโดนีเซีย ไร้อำนาจต่อรอง และอาจสร้างเงื่อนไขต่อรองที่ตกต่ำต่อไปในอนาคตกับโครงการระหว่างประเทศอื่นๆ

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "อนาคตประเทศไทย ภายใต้รถไฟจีน ม.44" ที่ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation, รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สมาชิก Start Up People, รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: รถไฟไทย-จีน สร้างข้อตกลงแย่กว่าลาว และอินโดนีเชีย

สุภลักษณ์ เริ่มต้นด้วยการระบุว่า โครงการรถไฟเป็นเรื่องที่พูดถึงในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกมามากกว่า 20 ปี เนื่องจากประเทศในภูมินี้ต้องการที่จะเชื่อมการคมนาคม การขนส่งทางบกระหว่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมีต้นแบบความคิดมาจากประเทศแถบยุโรปที่สามารถเดินทางไปมาหากันได้อย่างไร้พรมแดน และไร้ขีดจำกัด โครงการรถไฟก็เป็นหนึ่งในช่องทางการคมนาคมที่มีการพูดถึงกัน โดยโครงการแรกๆ คือ โครงการรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้น

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงมีการพูดถึงกันในหลายประเทศ ภายใต้บริบทของการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยประเทศที่เป็นตัวตั้งตัวตี และพยายามที่จะศึกษาความเป็นไปได้คือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งระหว่างนั้นประเทศไทยเองก็มีความฝันเหมือนกันว่าตัวเองอยากจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนาคมในภูมิภาค และไทยเองก็มีรางรถไฟอยู่แล้ว แต่เป็นรางขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถวิ่งเร็วได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้เปลี่ยนเป็นรางขนาด 1.4 เมตร แต่ของไทยยังคงใช้รางที่ขนาดกว้างเพียง 1 เมตร ซึ่งหากจะทำให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมก็จะต้องมีการรื้อ และทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งประเด็นที่ว่า เราจะสร้างรางที่มีมาตราฐานเดียวกันเพื่อให้การสัญจรไปมาเชื่อมต่อกัน ก็เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการคมนาคมที่เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอซียตะวันออก โดยตามประวัติศาสตร์แล้วในปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศไทยกับประเทศจีน เริ่มมีรถไฟในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันจีนสามารถรถไฟที่มีความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ โดยเป็นระยะทางทั้งหมด 20,000 กิโลเมตร ในขณะที่ไทยมีระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร แต่วิ่งได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเทียบกับยานพาหนะอื่นๆ เช่นพัฒนาการของรถยนต์ พบว่า รถไฟไทยไม่ได้มีความก้าวหน้าเลย

เขาเห็นว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกฉียงใต้ต่างก็คล้ายกับไทย คือยังไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ขณะที่จีนขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้ขึ้นเป็นผู้ที่จะเสนอว่า ในเมื่อพวกคุณพูดเรื่องรถไฟกันมากว่า 20 ปี แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ให้จีนเป็นคนทำแล้วกันรับรองว่าใช้เวลาเพียง 4-5 ปี เมื่อเป็นเช่นนั้นในหลายประเทศต่างก็เริ่มยอมรับว่ามันมีความเป็นไปได้ หากจีนเป็นคนสร้างรถไฟให้

"ทีนี้มันก็เกิดจินตนาการอันเลอะเทอะว่า จีนจะสร้างให้เปล่าๆ ฟรีๆ แต่ในของความเป็นจริงมันไม่มีอะไรที่ได้ฟรี ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาทุกๆ ประเทศต่างก็ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาจากจีน ลาวก็ทำอย่างนั้น ไทยก็ทำอย่างนั้น เพราะวิธีทำให้ทางรถไฟเชื่อมกันเป็นจริงมากที่สุดก็ต้องไปหาจีน เพราะฉะนั้นปัจจุบันจีนก็เสนอโครงการรถไฟให้กับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้"

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้มี 3 ประเทศที่ได้ทำข้อตกลงเรื่องการสร้างรถไฟคือ ประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศลาวเริ่มตกลงเรื่องรถไฟกับจีน โดยมีข้อตกลงจะมีการสร้างรถไฟจากหลวงพระบาง ไปถึงเวียงจันทร์ มีระยะทางประมาณ 427 กิโลเมตร มีงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลาคืนทุน 35 ปี เงื่อนไขทางเทคนิคคือ รถไฟของลาวยังไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง รถไฟของลาวจะมีสองสเปค โดยที่ใช้สำหรับขนผู้โดยสารจะมีความเร็วประมาณ 160-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ว่ารางจะเป็นรางชนิดเดียวกัน ส่วนขบวนรถสำหรับขนสินค้าจะวิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี

"สิ่งที่สำคัญ และมีการถกเถียงกันมากในลาวคือ เรื่องที่ดินสองข้างทางรถไฟ โดยมีการพูดกันว่า จีนได้ขอเยอะมาก และขอไปถึงขั้นสัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานป่าไม้ เพื่อแลกกันการก่อสร้างทางรถไฟ อันนั้นอาจจะมีอยู่จริงแต่ไม่ได้มีเขียนไว้ในแผนโครงการรถไฟ อาจจะเป็นข้อตกลงข้างนอก เนื่องจากว่า ลาวไม่มีเงินสดมากพอ แต่สิ่งที่อยู่กันภายข้อตกลงรถไฟก็คือ สองข้างทางรถไฟจะมีการเวนคืนข้างละ 5 เมตร ยกเว้นบริเวณปากทางเข้าสถานีข้างละ 50 เมตร สถานีใหญ่ก็อาจจะใช้พื้นที่มากหน่อย เช่นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ รวมๆ แล้วลาวจะต้องเวนคืนที่ดินสำหรับโครงการนี้ประมาณ 19,112.5 ไร่ และพื้นที่สำหรับใช้ในก่อสร้าง เช่นกองอิฐ กองทราย ขุดดินขึ้นมาทำทางรถไฟอีกประมาณ 5,000 ไร่" สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เงื่อนไขในการก่อสร้างโครงการรถไฟในลาวก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากประเทศลาวไม่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ฉะนั้นบริษัทในการรับเหมาก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษาจัดระบบ จะเป็นบริษัทจากจีนทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขว่า งานซับคอนแทรคเตอร์ อย่างน้อยงานโยธา จะต้องให้บริษัทของลาวเข้าไปทำงานร่วมด้วย เงื่อนไขการลงทุนอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องมีการตั้งบริษัทร่วมลงทุน โดยลาวจะใส่เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นในสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้าง ส่วนที่เหลืออีก 60 เปอร์เซ็นต์เงินจะมาจากสถาบันการเงินของจีน โดยเริ่มต้นรัฐบาลลาวจะต้องลงทุนทั้ง 730 ล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากรัฐบาลลาวไม่มีเงินก้อนมากเพียงพอ จึงได้มีการเสนอให้เป็นการผ่อนชำระ 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี รวมเป็น 250 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อีก 450 ล้านดอลลาร์ลาวจะกู้จากจีน ในอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สุภลักษณ์ กล่าวว่า ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวสิ่งที่ลาวจะต้องให้กับจีนคือ การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับวิศวกร คนงาน ใครก็ตามแต่ที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้ ลาวจะต้องยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมๆ แล้วนักวิเคราะห์ต่างก็มองว่า ลาวให้จีนค่อนข้ามาก โดยลาวต้องกู้เงินจีนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลาวให้พื้นที่กับจีนอีกมาก อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ เห็นว่า ดีลดังกล่าวเป็นดีลที่ดีที่เท่าทีลาวสามารถทำได้ เนื่องจากลาวไม่มีข้อต่อรองอะไรในการทำข้อตกลงกับจีนในครั้งนี้ ไม่มีทั้งเทคโนโลยี ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่เพียงพอที่จะต่อรองกับจีนได้ และบนข้อต่อรองที่ไม่อะไรเลย ลาวก็ยังสามารถขอให้มีซับคอนแทรคเตอร์ที่เป็นบริษัทของลาวได้ ซึ่งถือว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลลาวทำได้

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปถึงประเทศอินโดนีเซียว่า เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ทำข้อตกลงโครงการสร้างรถไฟกับประเทศจีน ซึ่งเป็นข้อตกลงในบริบทที่ใกล้เคียงกับไทย โดยเขามองว่าอินโดนีเซียมีทักษะในการทำข้อตกลงกับจีนที่ดีกว่าประเทศลาว โครงการที่อินโดนีเซียกำลังทำร่วมกับจีนคือ โครงการรถไฟ ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง โดยมีความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่รถไฟของจีนวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรุ่นใหม่ล่าสุดวิ่งที่ความเร็ว 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับเส้นทางในอินโดนีเซียที่กำลังก่อสร้างอยู่คือ จาการ์ตา-บันดุง ระยะทางทั้งหมด 142 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งหมด 5,9000 ล้านดอลลาร์ รวมระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสาย จาการ์ตา-บันดุง นั้น สุภลักษณ์ให้ข้อมูลว่า ทั้งสองประเทศจะมีการตั้งบริษัทร่วมลงทุน เช่นเดียวกันกับกรณีของลาว แต่ว่าบริษัทร่วมทุนของอินโดนีเซีย ทางอินโดนีเซียจะเป็นฝ่ายถือหุ้นข้างมากคือ 60 เปอร์เช็นต์ ฝ่ายจีนถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับแหล่งทุนนั้นมาจากจีนเช่นกัน โดยที่จีนจะต้องใส่เม็ดเงิน 75 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ดีลกับรัฐบาลจีนด้วยเงื่อนไขที่มีการดีลกับ 2 ชาติพร้อมกัน หนึ่งคือประเทศญี่ปุ่น และสองคือประเทศจีน โดยในช่วงแรกๆ ทั้งสองฝ่ายดูจะเสนอราคาที่แพงด้วยกันทั้งคู่ จนกระทั่ง โจโควี ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นว่า หากราคาแพงมากเกินไป ก็คงต้องปรับลดสเปคจากรถไฟความเร็วสูง มาเป็นรถไฟความเร็วปานกลางแทน จากนั้นจีนจึงมาพร้อมกับข้อเสนอใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับข้อเสนอเงื่อนไขการเงินที่รัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธไม่ได้คือ อินโดนีเซียไม่ต้องจ่าย และนอกจากไม่ต้องจ่ายก็ยังไม่ต้องกู้อีกด้วย ญี่ปุ่นจึงแพ้โครงการนี้ไป

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะเสนอว่าตัวเองมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่า ทั้งในแง่ของเทคนิค และความปลอดภัย และมีประสบการณ์ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงมากแล้ว 50 ปี ในขณะที่จีนเพิ่งเริ่มสร้างเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากว่าญี่ปุ่นอยู่ในโลกทุนนิยมจึงไม่สามารถสนับโครงการนี้ได้มาก แม้อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะตระหนักถึงการก้าวขึ้นมามีอำนาจในทะเลจีนใต้ที่กำลังแข่งขันกันระหว่างจีน กับญี่ปุ่น ซึ่งก็พยายามปลุกปั่นโครงการนี้ขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้นรัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอที่ทางอินโดนีเชียปฎิเสธไม่ได้ และท้ายที่สุดอินโดนีเชียก็เลือกจีน

สุภลักษณ์ กล่าวต่อมาถึงกรณีของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เพิ่งมีการคิดถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูง หากแต่มีการพูดถึงกันมาก่อนแล้วในสมัยก่อนหน้า เช่นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เคยมีการพูดถึงกันเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ได้คืบหน้ามากเพราะสถานการณ์ระหว่างประเทศในเวลานั้นไทยกำลังมีเรื่องกับกัมพูชา และมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ จึงไม่สามารถที่จะก่อรูปก่อร่างโครงการขึ้นมาได้ มีเพียงแต่การพูดกันไว้เฉยๆ ยังไม่ได้มีการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่าโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว เนื่องจากจีนมีความต้องการหาทางออกสู่ทะเล ด้วยเหตุที่ว่าทะเลจีนใต้เองก็มีปัญหามาก ฉะนั้นจีนก็จำเป็นต้องหาทางเลือกในการออกทะเลเผื่อไว้ ในกรณีที่ถูกบล็อคจากอีกฝั่งหนึ่ง จีนจะได้สามารถขนส่งสินค้าลงใต้มาทางท่าเรือของไทยได้ แต่ข้อด้อยก็คือว่า ท่าเรือของไทยก็แน่นแล้ว อย่างก็ตามไทยก็ได้ทำท่าเรือใหม่ที่ทวายเพื่อที่จะระบายสินค้าออกทางมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายขึ้น จีนเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่โอเค แต่ระหว่างนี้จีนเป็นประเทศที่ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก อย่างที่ทราบคือจีนเองก็เป็นประเทศที่เตรียมจะขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ฉะนั้นจีนไม่ได้แสดงอาการง้อไทยมากนัก ขณะที่ไทยยังสำคัญตัวเองผิดว่า ในทางภูมิศาสตร์ของไทยนั้นเป็นช่องทางเดียวที่จีนจะมาออกทะเลได้ แต่ในขณะที่จีนเจรจากับไทย เขาทำโครงการท่อแก๊สกับพม่า และส่งเข้าประเทศจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเปิดใช้งานแล้ว อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟความเร็วธรรมดาสายจากคุนหมิงไปถึงชายแดนพม่าก็เปิดใช้งานแล้ว ฉะนั้นเท่ากับว่าจีนมีทางเลือกที่จะออกสู่มหาสมุทรอินเดียแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ข้อต่อรองของไทยด้อยลง

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปถึงประเด็นที่สองในเรื่องการต่อรองโครงการรถไฟไทยจีนว่า สถานการณ์การทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรียกได้ว่า เลวมาก โดยหลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เขวี้ยงโครงการรถไฟของรัฐบาลที่แล้วลงไป พร้อมกับเหตุผลที่ว่าถนนลูกรังยังไม่หมดไป โครงการรถไฟก็ยังไม่จำเป็นต้องมี สิ่งนี้เองที่ทำให้จีนรู้ว่า ไทยกำลังมีปัญหามา

"หลังจากที่รัฐบาลนี้ขึ้นมาใหม่ๆ ก็พูดว่ารถไฟของเราต้องความเร็วไม่สูงนัก ทำไมรถความเร็วสูงไม่ได้ ก็เพราะในทางการเมืองแล้ว เราด่ารัฐบาลก่อนเรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้จะทำรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ ฉะนั้นทำรถไฟความเร็วที่เท่ากับรถปิคอัพดีกว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาก็ไม่สามารถพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูงได้ในระยะแรกๆ" สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางรถไฟของรัฐบาลนี้จึงออกมาเป็นเส้นทางจาก หนองคาย-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อระบายสินค้าออกทางท่าเรือแหลมฉบัง แต่อย่างไรก็ตามท่าเรื่อฝั่งอ่าวไทยไม่ใช่จุดที่จีนต้องการจะออก เพราะต้องอ้อมไปเข้ามหาสมุทรอินเดีย อย่างก็ตามความคิดที่ว่าจะใช้เส้นทางรถไฟดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าเป็นหลัก ก็ถูกตั้งคำถามว่าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อภาคอีสานเองก็ไม่ได้สินค้ามากนัก ฉะนั้นเส้นทางรถไฟของไทยเองก็ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก

"ระหว่างนั้นการรัฐประหารทำให้เกิดขีดจำกัดในการระหว่างประเทศของไทยค่อนข้างมาก และตอนที่ขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ ไม่น่าเชื่อว่า คนที่วิจารณ์รัฐบาลไทยด้วยคือ รัฐบาลญี่ปุ่น คงจำได้เคยมีผู้แทนไทยไปโตเกียว และกลับมาแถลงข่าวบอกว่า ญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยอย่างมาก แต่ทางญี่ปุนออกแถลงการณ์มาว่า อยากให้ประเทศไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เท่านั้นแหละก็รู้สึกว่าญี่ปุ่นคบไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นในดีลเรื่องรถไฟนี้ก็จึงไม่มีญี่ปุ่น สุดท้ายจึงไปเลือกว่าให้ญี่ปุ่นทำเส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ ด้วยความคิดที่ว่าเส้นทางนี้คนเดินทางมาก กรุงเทพ-หนองคายจะใช้ขนส่งสินค้าให้จีนทำไปแล้วกัน แต่ผมคิดว่านี่คือข้อผิดพลาดอย่างยิ่งในการทำดีล" สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ ให้ข้อมูลต่อว่า หลังจากการรัฐประหารใหม่ๆ ได้มีการประกาศว่าโครงการรถไฟไทย-จีน จะเป็นโมเดลตัวอย่างในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเองก็รู้สึกว่า ดีใจมากที่โครงการของไทยเป็นส่วนหนึ่งของจีนได้ และก็มีการเซ็น MOU กัน และมีการเริ่มเจรจากันเรื่องรถไฟตลอดมา แต่การเจรจาทั้งหมดที่ผ่าน 18 ครั้ง ดูเหมือนว่าไทยจะยังไม่ได้อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย นอกจากจีนจะสร้างรถไฟ ใช้เทคโนโลยีของจีน ใช้เทคนิคของจีน ทุกอย่างมาจากจีนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการทำดีลแบบนี้จึงต่างจากกรณีของอินโดนีเซีย คือไทยเลือกที่จะให้ญี่ปุ่นไปทำอีกสายหนึ่ง แทนที่จะให้มาร่วมประมูล เพื่อที่เราจะได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด

"ทำไมผมพูดแบบนี้ ในความเห็นว่าคิดว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เจรจาต่อรองได้ แม้ผมไม่ใช่นักการธนาคารแต่เท่าที่นายแบงค์พูด เราน่าจะมีพอที่จะลงทุน หรือหากมีไม่พอเราก็สามารถหาแหล่งเงินกู้ในตลาดโลกได้ ไทยอยู่ฐานะที่จะหาได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินกู้จากจีน สองเทคโนโลยี โอเคผมไม่เคยถามวิศวกรรมสถานว่า เรามีเอ็นจิเนียกี่คน มีความรู้มากพอที่จะทำรถไฟความเร็วสูงได้หรือไม่ เข้าใจว่าถ้าดูจากความเร็วของรถไฟไทย เราน่าจะไม่มี เพราะเราไม่เคยให้ความสำคัญกับรถไฟมาตลอดประวัติศาสตร์ที่มีรถไฟ ในขณะที่จีนให้ความสำคัญมากในการพัฒนารถไฟ แต่เราให้ความสำคัญมากกับการพัฒนารถยนต์ ฉะนั้นในแง่เทคนิคเราก็อาจจะไม่มี แต่ว่าประเทศไทยก็ไม่ได้แย่จนถึงขนาดว่าจะอ่านเรื่องนี้ไม่ออก เราไม่มีเทคนิคของตัวเองก็จริงอยู่ แต่ผมเชื่อว่าวิศวกรไทยสามารถเรียนรู้ได้หากมีการศึกษาเรื่องนี้จริงๆ จังๆ "สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในการเจรจาระหว่างไทยกับจีน ไทยไม่แผนอยู่ในมือว่า รถไฟที่ว่าจะเป็นรถไฟแบบไหน ความเร็วเท่าไหร่ สเปคเป็นอย่างไร เทคโนโลยีเป็นอย่างไร คิดแต่เพียงว่าจะให้จีนเข้ามาทำให้หมดทุกอย่าง ซึ่งมันผิดไปจากการทำโครงการขนาดใหญ่ตามแบบที่ประเทศไทยเคยทำในอดีต สิ่งที่เราเคยทำคือ การทำไปตามผลการศึกษา และมีการเปิดประมูลให้คอนแทรคเตอร์ที่ทำเรื่องนั้นๆ เก่งๆ เข้ามาเสนอ เช่นเราต้องการสร้างรถไฟความเร็วประมาณนี้ มีสเปคประมาณ และเรามีมีเงินอยู่ประมาณนี้ คุณจะมาเสนออะไรที่ดีที่สุดให้เรา ถ้าคุณทำตามได้เราก็เลือกคุณ แต่ถ้าทำตามไม่ได้เราก็อาจจะไม่เลือกคุณ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ และที่ผ่านเราก็ทำแบบนี้มาตลอด แต่พอเป็นรถไฟไทยจีนแล้ว ไทยกำหนดอะไรไม่ได้เลย

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า ไทยใช้เวลาเจรจา 18 รอบที่ผ่านมา โดยมีสภาพในลักษณะที่ว่า จีนเสนออะไรมา ไทยนำมาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะให้อะไรกับจีนได้หรือไม่ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ออกคำสั่งตาม ม.44  ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจต่อรองของไทยในการเจรจาเรื่องนี้ลดลงมาก และน้อยกว่าอินโดนีเซีย แม้ประเทศอินโดนีเซียจะใหญ่กว่า แต่ขนาดในทางเศรษฐกิจของไทยใหญ่กว่า ซึ่งดูเหมือนว่าควรจะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าอินโดนีเชีย แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในทางการเมืองไทยมีปัญหาทั้งกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศในสภาพยุโรป ซึ่งก็ทำให้ไทยเสียอำนาจในการต่อรอง

"การใช้อำนาจพิเศษยกเลิกอะไรที่เป็น International deal แบบนี้สร้างปัญหามาก สำหรับโครงการต่อๆ ไป ถ้าผมเป็นญี่ปุนและผมต้องทำเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ผมก็จะขอแบบจีนเช่นกัน เพราะไม่งั้นผมก็ไม่ทำ ผมกลายเป็นมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และหลักสากลในการทำการค้าระหว่างประเทศก็คือว่า ถ้าคุณให้ favour กับชาติหนึ่ง คุณก็ต้องให้กับชาติอื่นด้วย เงื่อนไขอะไรก็ตามที่คุณให้จีนคุณต้องให้ผมด้วย นี่คือการทำให้มาตราฐานของเราลดลงไปอย่างยิ่ง ซึ่งนี่เป็นข้อเสียหายอย่างรุนแรง และหากยังมีเวลาทบทวนได้ก็ควรจะทบทวนดีกว่า แล้วตั้งหลักใหม่" สุภลักษณ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระแสโซเชียลต่อรองคะแนนขั้นต่ำ TOEIC โครงการครูคืนถิ่น จาก 400 เหลือ 250

Posted: 05 Jul 2017 04:06 AM PDT

ต่อรองเกณฑ์ทักษะภาษาอังกฤษ อ้าง สอบไปก็ไม่ได้ใช้ ค่าสมัครสอบ ค่าเดินทางสูง เกรดกับผลสอบข้อเขียนน่าจะชี้วัดได้พอแล้ว เสนอลดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำหรือจัดอบรมก็ได้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ฮือฮา อัด จะให้คนอื่นเคารพวิชาชีพก็ต้องทำตามกติกาตัวเองให้ได้ก่อน ทำแบบฝึกหัดพัฒนาตัวเองได้

5 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีสมาชิกในโลกโซเชียลจำนวนหนึ่งขอให้ทางโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น(ครูคืนถิ่น) ลดเกณฑ์คะแนนการทดสอบภาษาอังกฤษ TOEIC จากไม่ต่ำกว่า 400 ให้เหลือ 250 จากคะแนนเต็ม 990 หรือให้เปลี่ยนเป็นการจัดอบรมภาษาอังกฤษแทน ด้วยสาเหตุว่าค่าสมัครสอบและค่าเดินทางสูง บ้างก็ว่าสอบไปแล้วจะไม่ได้นำไปใช้ในอนาคต โดยแนะนำให้ลดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำลง หรือไม่ก็จัดอบรมภาษาอังกฤษแทน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลจำนวนมากทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สามารถดูการวิพากษ์วิจารณ์ได้ผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #ครูคืนถิ่น

โครงการครูคืนถิ่น เป็นการผลิตครูระบบจำกัดรับ ด้วยการให้ทุนการศึกษาหรือประกันการมีงานทำ ในสาขาวิชาและพื้นที่ที่มีความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ครู ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติและความสามารถที่เหมาะสม เข้ามาศึกษาวิชาชีพครู และเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นครูที่มีความรู้ทางวิชาการแล้วจะได้บรรจุเป็นข้าราชการครูในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและลดปัญหาเรื่องการย้ายออกต่างถิ่น (ที่มา: Siamzone)

(ดูเอกสารรายละเอียดการสอบคัดเลือกโครงการผลิครุเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2560)

TOEIC คืออะไร

TOEIC (Test of English for International Communication) จัดทำขึ้นโดยสถาบัน Educational Testing Service (ETS) จากสหรัฐฯ เป็นแบบทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ สำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เป็นข้อสอบภาษาอังกฤษสากลที่มีสถิติของการใช้ในการสมัครงานมากที่สุดแบบหนึ่งของโลก (ที่มา:adviceforyou.co.th) มีการทดสอบแบ่งเป็น 2 ส่วน ครอบคลุมทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน โดยคะแนนสอบที่จะบ่งชี้ถึงทักษะทางภาษาอังกฤษของผู้สอบตามเกณฑ์ โดยเกณฑ์คะแนนมากกว่า 400 และ 250 บ่งชี้ถึงทักษะทางภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน ดังนี้

ระดับคะแนน TOEIC

905-990   Professional Proficiency

785-900   Advanced Working Proficiency

605-780   Basic Working Proficiency

405-600   Intermediate

255-400   Elementary

10-250     Novice

(ที่มา: chulatutor)

ภาพความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล (ที่มาภาพ: siamzone.com)

เสียงวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น