ประชาไท | Prachatai3.info |
- จ้องถอน "น้องหม่อง" พ้นทะเบียนราษฎร อ้างมี 2 สถานะ
- รายงานพิเศษ: ผุดถนนหมื่นล้านภาคใต้ ADB ชี้อนาคตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ
- มหาสารคาม:ศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดง ผู้ว่าไม่ฟังคำขอร้องญาติผู้ต้องขัง
- บทบรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน: “ราชประสงค์” ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
- สสส.-กพย.เปิดรายงานระบบยาปี 52 สะท้อนปัญหา-ความสำเร็จ
- ส.นักข่าวอัด ศอฉ.ข่มขู่สื่อ "สุเทพ" ปัดปิด "ไทยรัฐ" แค่ชี้แจง ระบุ "เรด เพาเวอร์" สร้างความแตกแยก
- พี่ชาย ‘ดา ตอร์ปิโด’ ร้องเรียนอธิบดีราชทัณฑ์ กรณีเลือกปฏิบัติในเรือนจำ
- ภาคประชาชนออกโรงค้านโผ 11 กิจการรุนแรง จวกไม่สร้างความสมานฉันท์
- ศาลนราธิวาสเตรียมไต่สวนคดี อิหม่ามยะผา กาเซ็ง 2 ก.ย. นี้
- กลุ่ม “กวีตีนแดง” เชิญชวนประกวดกวีหัวข้อ “จากราชดำเดิน ถึงราษฎร์ประสงค์”
- กองกำลังว้า-เมืองลา ห้าม กกต.พม่าจัดเลือกตั้งในพื้นที่
- ประชาสังคมชายแดนใต้ขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
- สตูลจัดคอนเสิร์ตต้านเพิกถอนอุทยาน ยกที่สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
- เอ็นจีโอใต้แถลงไม่ยอมรับ 11 โครงการรุนแรง จี้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองอุตสาหกรรม
- แมลงสาบสังคม
จ้องถอน "น้องหม่อง" พ้นทะเบียนราษฎร อ้างมี 2 สถานะ Posted: 01 Sep 2010 01:33 PM PDT
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 53 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์ได้รายงานว่า รศ.ดร.พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดเผยว่านายธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลสุเทพ ได้ทำหนังสือถึงนายยุ้น ทองดี ผู้มีสถานะแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า บิดาของ ด.ช.หม่อง ทองดี ผู้ชนะเลิศการแข่งขันร่อนเครื่องบินพับกระดาษระดับประเทศ และและชนะการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2552 โดยแจ้งให้ทราบว่า ได้สั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนของเด็กชายหม่องฯ เลขประจำตัวประชาชน 0 5001 89000 94 1 เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีรายการทางทะเบียนราษฎรมากกว่าหนึ่งรายการคือ รายการสถานะเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า และรายการสถานะเป็นเด็กนักเรียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล แต่ถ้าเห็นว่า คำสั่งนี้เป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ก็สามารถโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลสุเทพ ภายในระยะเวลา 30 วัน หากไม่มีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือการโต้แย้งและชี้แจงไม่ระบุเหตุผลหรือแสดงพยานหลักบานต่อนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลสุเทพจะดำเนินการจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรของ ด.ช.หม่อง ทองดี ต่อไป รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า การสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรคือ การล็อกข้อมูลไม่ให้มีความแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง และหากไม่โต้แย้ง นายทะเบียน ทางเทศบาลจะถอนชื่อน้องออกจากทะเบียนประวัติประเภท "นักเรียนไร้สัญชาติ" (ท.ร.38 ก) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหนึ่งในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และ ด.ช.หม่องก็จะมีสถานะเป็นคนในทะเบียนประวัติประเภทแรงงานต่างด้าว (ท.ร.38/1) ประการเดียว ซึ่งสถานะหลังนี้ไม่มีผลดีต่อ ด.ช.หม่องเลย ผลที่เกิดขึ้นในทันที ด.ช.หม่องจะถูกถอนสิทธิในหลักประกันสุขภาพและความเสื่อมสิทธิต่างๆ ก็จะตามมา โดยเฉพาะเมื่อบิดาและมารดาต้องพิสูจน์สัญชาติพม่า และอาจมีปัญหา เพราะเป็นคนจากรัฐฉานที่เป็นพื้นที่สู้รบกับทหารพม่า การผลักดันออกไปสู่ความตายก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต การที่ ด.ช.หม่องมีการบันทึกทางทะเบียน 2 รายการเพราะในครั้งแรกบันทึกใน ปีพ.ศ.2547 ในสถานะของผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็มิได้มีการพัฒนาสิทธิใดๆ สำหรับเด็กในสถานะนี้จนถึงวันที่มีกรณี ด.ช.หม่องในปีที่แล้ว แต่การให้สิทธิอาศัยที่ได.ก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แม้สิทธิที่จะไปพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางกับพ่อแม่ยังไม่มี สถานะนี้จึงไม่เป็นคุณใดๆ เลย แต่ใน พ.ศ2548 รัฐบาลในสมัยนั้นต้องการจะพัฒนาสิทธิเด็กในสถาบันการศึกษาที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติ สถานะะ ด.ช.หม่องจึงถูกบันทึกใน ท.ร.38 เป็นการรับรองสถานะ "นักเรียนไร้สัญชาติ" เป็นการทำงานบนพื้นฐานของอนุสัญญาสิทธิเด็กฯ ดังนั้น สิทธิของน้องหม่องในสถานะนี้จึงเป็นคุณกว่าสถานะแรก "ในตอนจะไปญี่ปุ่นเพื่อแข่งขันเครื่องบินกระดาษ จึงเสนอให้ใช้สถานะ "นักเรียนไร้สัญชาติ" หลังในการเดินทาง และในที่สุดก็ยอมรับใช้สถานะที่เป็นคุณต่อเด็ก ในวันนี้ ก็เลยงงว่า ทำไมจะมาย้อนถอนสถานะที่เป็นคุณแก่เด็ก ถ้าจะปรับให้เหลือสถานะเดียว ก็ควรเลือกสถานะที่เป็นคุณหรือไม่ ก็ปล่อยให้เด็กมี 2 สถานะทางทะเบียนราษฎร ซึ่งก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลเสียใดๆ ซึ่งยังมีเด็กในสถานการณ์เดียวกันกับน้องหม่องอีกมาก" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว ------------- เรื่อง ปัญหาสถานะของบุคคลไม่มีสัญชาติไทยและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย (กรณีเด็กชายหม่อง ทองดี) เรียนนายยุ้น ทองดี ด้วยอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้มีหนังสือที่ ชม.0117/1780ลงวันที่ 23 มีนาคม 2553 ปัญหาสถานะของบุคคลไม่มีสัญชาติไทยและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย (กรณีเด็กชายหม่อง ทองดี) ให้สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลสุเทพ ดำเนินการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนของเด็กชายหม่อง ทองดี เลขประจำตัวประชาชน 0 5001 89000 94 1 ตามทะเบียนประวัติ ท.ร.38 ก เลขที่ 0/89 หมู่ที่ 4 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเด็กชายหม่อง ทองดี มีรายการทะเบียนราษฎรมากกว่าหนึ่งรายการ คือ 1. รายการสถานะเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า (บุคคลประเภท 00 มีชื่อใน ท.ร. 38 ได้เลขประจำตัวประชาชน 00-5080-1004 80-2) จัดทำทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ที่อยู่ขณะจัดทำทะเบียนประวัติ เลขที่ 12 หมู่ 5 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 2. รายการสถานะเป็นเด็กนักเรียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (บุคคลประเภท 0 มีชื่อใน ท.ร. 38 ก ได้เลขประจำตัวประชาชน 0 5001 89000 94 1) จัดทำทะเบียนเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ที่อยู่ตามทะเบียนประวัติ เลขที่ 0/89 หมู่ที่ 4 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเอกสารทะเบียนราษฎรและการจัดการสถานะบุคคลของเด็กชายหม่อง ทองดี เป็นไปด้วยถูกต้อง จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 10 วรรคสี่, กฎกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. 2551, หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.1/ว 61 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เรื่องการสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎร และหนังสืออำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ ชม 0117/1780 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2553 สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบางตำบลสุเทพ จึงสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนของเด็กชายหม่องฯ เลขประจำตัวประชาชน 0 5001 89000 94 1 เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีรายการทางทะเบียนราษฎรมากกว่าหนึ่งรายการ จึงแจ้งมายังท่านเพื่อทราบ ทั้งนี้หากท่านเห็นว่าคำสั่งนี้เป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ท่านสามารถโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงแทนท่านต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลสุเทพ ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือนี้ หากท่านไม่มีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือการโต้แย้งและชี้แจงไม่ระบุเหตุผลหรือแสดงพยานหลักบานต่อนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลสุเทพจะดำเนินการจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรของเด็กชายหม่อง ทองดี ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ
ที่มาข่าว: เชียงใหม่ตามราวีไม่เลิก จ้องถอน"น้องหม่อง"พ้นทะเบียนราษฎร อ้างมี2สถานะ นัก กม.งง-เสื่อมสิทธิเพียบ (มติชนออนไลน์, 1-9-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รายงานพิเศษ: ผุดถนนหมื่นล้านภาคใต้ ADB ชี้อนาคตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ Posted: 01 Sep 2010 01:27 PM PDT เมื่อเอ่ยถึง IMT - GT หลายคนคงจะรู้ว่าคือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย แต่ก็คงไม่เคยเห็นว่า IMT - GT ทำอะไรบ้าง แต่นับจากนี้ เชื่อว่าคนไทยโดยเฉพาะคนภาคใต้จะเข้าใจมากขึ้น ด้วยเพราะจะมีโครงการอันเป็นรูปธรรมตำตาเกิดขึ้นในอีกไม่นาน นั่นคือ โทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดา มูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท โทลเวย์ หรือทางด่วนหาดใหญ่ – สะเดา เป็น 1 ใน 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ที่ ADB หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย พร้อมให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศเจ้าของโครงการ ภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle: IMT-GT ความเคลื่อนไหวสำคัญของ IMT-GT ที่ทำให้มองเห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นครั้งนี้ อยู่ที่การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT ระหว่างวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เมื่อ ADB หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ได้นำเสนอผลการทบทวนกลางทางของแผนที่นำทาง หรือ โรดแมป IMT-GT ปี 2007 – 2011 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา โดยผลการประชุมครั้งนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 5 ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามปลายปีนี้ จาก 37 โครงการ กลั่นลงมาเป็น 12 แผนงาน จนในที่สุดก็เหลือ 10 โครงการ ในจำนวน 10 โครงการดังกล่าว แบ่งเป็นโครงการในประเทศไทย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์หรือโทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดา จังหวัดสงขลา โดยมีวงเงินที่ ADB พร้อมสนับสนุนสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี IMT – GT กล่าวว่า โทลเวย์สายสะเดามายังหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่พูดกันมานานแล้ว และเป็นความต้องการร่วมกันของทั้งสามประเทศ คือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงถูกนำมาบรรจุไว้ในโครงการที่มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว พร้อมกับย้ำว่า ความเป็นไปได้ของโครงการนี้ก็คือ จะเป็นการจัดงบประมาณของฝั่งไทยเอง ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ในระหว่างทบทวนเรื่องการศึกษาออกแบบ คิดว่าทุกอย่างจะชัดเจนและตั้งงบประมาณสนับสนุนก้อนแรกได้ภายในปีงบประมาณ 2555 “โทลเวย์เส้นนี้ มีความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ใช้เงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท น่าจะเป็นโทลเวย์ที่แพงที่สุดในประเทศไทย” นายสาทิตย์ กล่าว ไม่เพียงแต่โทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดาเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางด้านการพัฒนาของพื้นที่ตามแนวเส้นทางนี้ไป แต่ยังเรื่องการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดาด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จะใช้รูปแบบเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก – เมืองเมียวดี ประเทศพม่า ปัจจุบันมีการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดออกมาแล้ว กำลังรอนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอยู่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2552 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ร่วมกับสำนักงานวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ระยะที่ 2 โครงการศึกษาดังกล่าว สภาพัฒน์ ได้ว่าจ้างบริษัท โซซิโอ – เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัดเป็นที่ปรึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 6 แห่ง โดยชี้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด คือ พื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย บ้านทับโกบ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา เนื้อที่ 990 ไร่ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะประกอบด้วยพื้นที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้า หรือ Inland Container Depot (ICD) ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมอาหารและบริการฮาลาล ที่สำคัญพื้นที่ทับโกบ ตั้งอยู่ใกล้แนวมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – สะเดา ตามที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2548 ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฝั่งเมืองบูกิตกายูฮิตัม ทางมาเลเซียได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้พัฒนาไปไกลกว่าของไทยแล้ว ขณะเดียวกัน ADB ได้บรรจุโครงการพัฒนาระบบศุลกากร หรือ ICQs มูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาไว้ใน 10 โครงการดังกล่าวด้วย อีกโครงการหนึ่งที่ฝ่ายไทยกำลังเร่งพัฒนาอยู่ คือ การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย ที่บ้านจังโหลน อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาปัจจุบันมีความแออัดมาก แม้การก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2545 แล้ว แต่โครงการมีความล่าช้ามาก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าชดเชย เพราะที่ตั้งด่านศุลกากรแห่งใหม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองล่าปัง ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเด เนื้อที่ประมาณ 765 ไร่ ถูกชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางทำสวนยางพาราและไม้ผลจำนวนมาก เฉพาะงบประมาณลงทุนก่อสร้างโทลเวย์กับด่านศุลกากรกรสะเดาแห่งใหม่มีสูงกว่า 10,000 ล้าน บาท ยังไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกที่จะทำให้เกิดการลงทุนอีกมหาศาล แต่การทุ่มงบประมาณจำนวนนี้น่าจะคุ้มค่ามาก หากเทียบกับมูลค่าการค้าชายแดนในอำเภอสะเดาที่สูงถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นได้อีก ส่วนอีก 1 ใน 10 โครงการที่อยู่ในประเทศไทย คือ โครงการพัฒนาท่าเรือในภาคใต้ของไทย ได้แก่ ท่าเรือภูเก็ตและท่าเรือบ้านนาเกลือ จังหวัดตรัง วงเงิน 28 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 900 ล้านบาท ส่วนท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูลกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่มีหลายฝ่ายออกมาผลักดันอยู่ในขณะนี้ ถูกตัดออกจากโครงการของ ADB ไปแล้ว นายบุญช่วย จังศิริวัฒนธำรง ประธานสภาธุรกิจชายแดนใต้ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนไทย ภายใต้แผนงาน IMT – GT กล่าวว่า สภาธุรกิจชายแดนใต้เสนอให้โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เข้าไปอยู่ในโครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ของ ADB ด้วย แต่ ADB ก็ตัดออก ขณะที่นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT – GT ฝ่ายไทย กล่าวว่า เหตุที่ ADB ตัดโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเป็นโครงการที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีการต่อต้านจากชาวบ้านอยู่ ส่วนโครงการอื่นๆ ในจำนวน 10 โครงการ ที่เหลือเป็นของมาเลเซีย 2 โครงการ และของอินโดนีเซียอีก 6 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมเงินมูลค่าทั้ง 10 โครงการเป็นเงิน 5.19 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เมื่อโทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดา เกิดขึ้นมาแล้ว เชื่อว่าจะพลิกโฉมหน้าการพัฒนาในภูมิภาค IMT – GT ไปอีกระดับหนึ่ง จากนั้นเมกะโปรเจกส์อื่นๆ ก็อาจผุดขึ้นมาตามๆกัน 0 0 0 แผนที่โครงการ – แผนที่แสดงที่ตั้งของ 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ที่ระบุในโรดแมป IMT – GT ปี 2007 – 2011 ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการทบทวนมาแล้ว พร้อมแสดงแนวเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridors) รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 5,193.6 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา 10 โครงการเร่งด่วนโรดแมป ADB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
มหาสารคาม:ศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดง ผู้ว่าไม่ฟังคำขอร้องญาติผู้ต้องขัง Posted: 01 Sep 2010 09:58 AM PDT ทนายพร้อมครอบครัวผู้ต้องขังเข้าพบผู้ว่าสารคามขอความกรุณาออกหนังสือไม่คัดค้านการประกันตัว ด้านผู้ว่าปัดยังไม่เห็นสำนวน ด้านศาลมหาสารคามยังไม่ยอมไม่ให้ประกันตัว 4 ผู้ต้องขัง 31 สิงหาคม พ.ศ.2553 เวลา 10.00 น. น.ส.เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความได้เดินทางมาพูดคุยเพื่อเตรียมการยื่นประกัน 10 ผู้ต้องหาคดีเตรียมการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม โดยมีญาติพี่น้องของผู้ต้องขังมาร่วมพูดคุยประมาณ20คน ในส่วนหนึ่งของการเตรียมการ น.ส.เบญจรัตน์ ได้แจ้งต่อญาติพี่น้องของผู้ต้องขังว่า ตนจะได้เดินทางไปขอเข้าพบ นายวีระพล สุพรรณไชยมาตย์ นายอำเภอเมืองมหาสารคาม เพื่อขอร้องให้นายวีระพลในฐานะที่เป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวทำหนังสือไม่คัดค้านการให้ประกันตัวต่อศาล โดยที่บรรดาญาติผู้เสียหายที่มาร่วมรับฟังได้ขอติดตามไปพบเพื่อขอความเมตตาจากนายอำเภอด้วย 13.30 น. น.ส.เบญจรัตน์ ในฐานะทนายความและญาติพี่น้องผู้ต้องขังจำนวน 20คน ได้เดินทางไปที่ ที่ทำการอำเภอเมืองมหาสารคามโดยได้แจ้งความจำนงขอเข้าพบ นายวีระพล ตามเหตุผลข้างต้น ซึ่งคณะทนายความและญาติของผู้ต้องขังได้เข้าพบนายวีระพลเมือ่เวลาประมาณ14.00 น. หลังจากที่นายวีรพล ได้ฟังนางสาวเบญจรัตน์ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การเข้าพบแล้วนายวีรพลจึงได้ชี้แจงต่อนางสาวเบญจรัตน์และบรรดาญาติของผู้ต้องขังว่าตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจและแนะนำให้ไปขอร้องต่อนายทองทวี พิมเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม น.ส.เบญจรัตน์และคณะจึงได้เดินทางไปขอพบนายทองทวี พิมเสน ผู้ว่าฯ ที่ห้องทำงานชั้น 4ของศาลากลางแห่งใหม่บริเวณศูนย์ราชการ เมื่อนายทองทวีได้ออกมาพบกับคณะก็ได้แสดงอาการไม่พอใจอย่างรุนแรงโดยที่ไม่ได้ฟังคำขอร้องของ น.ส.เบญจรัตน์ จนสิ้นสุด นายทองทวีได้อ้างว่า”ผมยังไม่ได้เห็นสำนวนของคดีและจะขอพิจารณาเป็นรายๆไป” และขณะที่ญาติผู้ต้องขังจะกล่าวให้เหตุผลเพื่อขอความเห็นใจ นายทองทวีได้กล่าวตัดบทว่า”ผมไม่ชอบวิธีการของพวกคุณพร้อมกับเดินหันหลังหนีไปพร้อมกับตำหนิเจ้าหน้าที่ว่า”ปล่อยให้พวกมันขึ้นมาได้อย่างไร” น.ส.เบญจรัตน์ได้แสดงความเห็นต่อผู้สื่อข่าวว่าตนรู้สึกสงสารและเสียใจแทนญาติพี่น้องของผู้ต้องขังที่ไม่มีโอกาสในการชี้แจงถึงสภาพปัญหาและคิดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดน่าที่จะให้เวลาในการพูดคุยกับประชาชนและควรมีท่าทีรับฟังมากกว่านี้ นางวิจิตร ดวงพรหม ภรรยาของนายอุทัย คงหาญผู้ต้องขัง กล่าวว่าพอได้เห็นท่าทีของผู้ว่าแล้วตนก็รู้สึกขาอ่อนหมดหวังต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ในขณะที่ญาติผู้ต้องขังอีกรายหนึ่งบอกว่า”รัฐบาลบอกว่าจะปรองดองแต่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นมีท่าทีอย่างนี้แล้วมันจะปรองดองกันได้อย่างไร” 1 กันยายน พ.ศ.2553 เวลา 09.30 น. ญาติของ นายคมกฤษ คำวิเศษ นายภาณุพงษ์ พลเสน นายสุชล จันปัญญา และนายสมโภชน์ สีกากุล ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดมหาสารคาม เพื่อยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวผู้ต้องขังโดยในคำร้องได้ระบุว่าผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างการศึกษา การคุมขังผู้ต้องหาจะเป็นการจำกัดโอกาสในการศึกษา แต่ศาลฯได้สั่งยกคำร้อง ทำให้ทั้งผู้ต้องขังและญาติมิตรที่มารอคอยประสบกับความผิดหวังอีกครั้ง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
บทบรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน: “ราชประสงค์” ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย Posted: 01 Sep 2010 08:50 AM PDT นับแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา เมื่อกลุ่มนิยมเจ้าสามารถหวนคืนสู่อำนาจทางการเมืองหลังสิ้นยุคคณะราษฎร ประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยก็ตกอยู่ภายใต้กรอบโครงเรื่องว่าด้วยพระอัจฉริยภาพของกษัตริย์ แม้จะถูกรบกวนบ้างจากสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความคิดความอ่านหรือวัฒนธรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอริราชศัตรูหรือมหาอำนาจต่างชาติ แต่ชาติไทยและความเป็นไทยของเราก็ดำเนินสืบเนื่องมาได้อย่างราบรื่น สงบสุข ภายใต้ร่มพระบารมี ผ่านยุคอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา กระทั่งถึงรัตนโกสินทร์ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ชาติไทยและความเป็นไทยก็สามารถปรับตัวได้อย่างสอดคล้อง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นทั้งผู้นำที่พาชาติไปสู่ความทันสมัย เป็นบิดาของประชาธิปไตย เป็นแบบอย่างทางด้านวิทยาศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ กีฬา การลงทุน แม้กระทั่งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในยุคโลกาภิวัตน์-เสรีนิยมใหม่ ขณะเดียวกัน พ่อของชาติก็เป็นศูนย์รวมจิตใจของมวลชน เป็นผู้นำทางศีลธรรมและการพัฒนาในยามที่บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสังคม และยังสามารถใช้พระราชอำนาจในการยุติความเลวร้ายทางการเมืองได้อย่างเหมาะสมตามหลักเอนกนิกรสโมสรสมมติ แน่นอนว่า กรอบโครงเรื่องประวัติศาสตร์ฉบับทางการดังที่ว่ามาก็มิได้ดำรงอยู่อย่างหยุดนิ่ง มิได้ดำรงสถานะครอบงำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทว่าต้องต่อสู้-ต่อรองเพื่อรักษาอำนาจนำอย่างไม่ขาดสาย ทั้งในรูปพิธีกรรม แบบเรียน นิทรรศการ อาคารสถานที่ อนุสาวรีย์ ดนตรี บทเพลง รูปภาพ นวนิยาย วรรณกรรม ละคร ภาพยนตร์ สื่อโฆษณา รายการบันเทิง เครือข่ายสังคมทางอินเทอร์เน็ต และอื่นๆ อย่างไรก็ดี ในอดีต การตรวจสอบ ตั้งคำถาม และท้าทายประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักก็มักจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงแคบๆ ของปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัย อาจจะมียกเว้นบ้างในช่วงกระแสสูงของการปฏิวัติสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ฝ่ายต่อต้านก็ปราชัยไปในท้ายที่สุด เหลือทิ้งไว้แต่เศษซากผลผลิตที่เข้าใจได้ยากและขำไม่ออกในขบวนการมวลชนเหลือง-แดง ทว่าความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนับจากเดือนกันยายน 2549 ได้ส่งผลให้สภาพการณ์บางอย่างเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดูเหมือนว่า กระบวนการเปลี่ยนมุมมองทางประวัติศาสตร์กำลังเคลื่อนย้ายฐานที่มั่น จากปัญญาชนกลุ่มเล็กๆ ไปสู่มวลชนเรือนแสนเรือนล้าน ผ่านปฏิบัติการทางการเมืองบนท้องถนน ผ่านวิทยุชุมชน ผ่านจานดาวเทียม ผ่านเวทีพูดคุยเสวนา ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ผ่านแผ่นซีดี ผ่านสภากาแฟ ผ่านคำบอกเล่าของญาติมิตร รวมทั้งผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารความเร็วสูงสมัยใหม่ ปรากฏการณ์ที่ภาครัฐขะมักเขม้นกับการตรวจสอบ ตรวจจับ เซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ประกอบกับการจัดตั้งขบวนการมวลชนเลี้ยวขวาเพื่อทำหน้าที่ตำรวจทางความคิด ย่อมสะท้อนสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างชัดเจน แต่ความพยายามที่จะแช่แข็งสังคมไทย โดยไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดเลย ดูจะเป็นเพียงแค่ความฝันเสียแล้ว โดยเฉพาะหลังการล้อมปราบครั้งใหญ่ ณ ใจกลางกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์จะแปรเป็นไฟการเมืองที่เผาไหม้ทำลายโครงสร้างการเมืองเก่า ความขัดแย้งและการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา ได้บ่มเพาะปีศาจสำหรับชนชั้นนำไทยที่มาพร้อมกับความเข้าใจทางสังคม ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ และความหมายทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาแล้ว เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ 2475 กรณีสวรรคต และ 6 ตุลา ซึ่งไม่มีที่ทางหรืออยู่อย่างอิหลักอิเหลื่อในกรอบโครงประวัติศาสตร์แห่งชาติ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ประวัติศาสตร์ “ราชประสงค์” จะท้าทายประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยอย่างถึงรากคู่ขนานไปกับการต่อสู้ระหว่างปีศาจเสื้อแดงกับข้อจำกัดทางการเมืองเหนือการเขียนประวัติศาสตร์ไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สสส.-กพย.เปิดรายงานระบบยาปี 52 สะท้อนปัญหา-ความสำเร็จ Posted: 01 Sep 2010 08:37 AM PDT สสส.-กพย.เปิดรายงานระบบยาปี 52 สะท้อนปัญหา-ความสำเร็จผ่าน 7 ตัวชี้วัดสำคัญ พบคนไทยจ่ายค่ายาแพง พึ่งพาต่างประเทศเกือบ 100 % ยาปฏิชีวนะมาวินยาสร้างผลกระทบสูงโดยไม่จำเป็น 42 % สำรวจผู้ป่วยปี 52 ค่าใช้จ่ายต่อเดือนละพันบาท/ต่อ กินยาอื้อ 6.7 รายการ/เดือน จ่ายเงินสูงสุด 7หมื่นบาท/คน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 ที่ลานกิจกรรม ชั้น 35 สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2552” ซึ่งสะท้อนความเป็นไปทั้งในด้านความสำเร็จ หรือปัญหาที่ยังมีอยู่ในระบบยาของไทยในรอบปี 2552 ผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญ 7 กลุ่ม ดังนี้ 1.ธรรมาภิบาล 2.การพึ่งตนเองทางด้านยาของไทย 3.ความปลอดภัย 4.ความเป็นธรรมในระบบยา 5.คุณภาพ 6.การเข้าถึงยาจำเป็น และ 7.การใช้ยาอย่างเหมาะสม นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานกพย. กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ เมื่อมองผ่าน “อุตสาหกรรมยา” จะเห็นความซับซ้อนในการผลิตและนำเข้ายาจากอุตสาหกรรมระบบยาข้ามชาติ ที่ทรงอิทธิพลทั่วโลก ทำให้คนในประเทศตะวันตกและตะวันออก ต้องบริโภคยาในราคาแพง กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศพัฒนายังต้องแบกรับภาระการใช้ยาแพง ต่างจากแคนาดาที่เน้นระบบสุขภาพเน้นประชาชนเป็นหลัก เพราะมีระบบธรรมาภิบาลในประเทศมีความเหมาะสม โดยการกระจายตัวส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย.ในแต่ละประเทศดูแลและกำกับราคา ก่อนจะมาสู่ปลายทางคือ กระทรวงสาธารณสุข และกระจายไปสู่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล ร้านขายยาต่างๆ ฉะนั้นผู้ใช้ยาก็ต้องมีความรู้ เพื่อลดภาระการใช้ยาด้วย “หลังจากเรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่า มีแนวโน้มการซื้อยาใช้เองจากร้านขายยาลดลง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สร้างพฤติกรรมการบริโภคยาที่เบี่ยงเบียน เพราะผู้ป่วยได้ยาฟรี ทำให้ผู้ป่วยไม่สนใจเรื่องรับยา ทำให้เกิดยาตกค้างจากหลายโรงพยาบาล สะท้อนถึงระบบบริการการจ่ายยาของไทยที่มีจุดอ่อน ซึ่งเภสัรกรต้องเข้ามาให้คำแนะนำต่อไป” รองปลัด สธ. กล่าว ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย. สสส. กล่าวว่า ระบบยาของไทยมีมาช้านาน แต่ในภาพรวมยังมีเรื่องการเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนแอหรือหายไป ส่งผลให้การสะท้อนข้อมูลกลับไปยังผู้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบยายังไม่ดีพอ จึงเกิดแผนงานกพย.ขึ้น เพื่อให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับประเทศ จากรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2552 นั้นจะสะท้อนปัญหาใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในระบบยาของไทยว่ามีอะไรบ้าง เช่น เรื่องการส่งเสริมการขายยา การใช้ยาราคาแพง การใช้ยาไม่เหมาะสม และเพื่อนำเสนอผลักดันให้เกิดการแก้ไขในเชิงนโยบายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่า ระบบยาของไทยยังมีอะไรดีๆบ้าง เช่น เกิดการรวมกลุ่มกันทำงานของเภสัชกรภาคกลาง เพื่อช่วยกันเป็นแรงขับเคลื่อน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นเรื่องพื้นฐาน ซึ่งหากดูข้อมูลข้อมูลจะพบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการใช้ยา จึงเป็นความจำเป็นที่ สสส. จะเข้าไปสนับสนุนแผนงาน กพย. เพื่อเน้นให้เกิดการเฝ้าระวังการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มยาบางกลุ่มที่มีการใช้มาก ใช้โดยไม่จำเป็น และเกิดผลเสียสูง ตัวอย่างการทำงานของ กพย.ในการเฝ้าระวัง เช่น ในปี 2552 ได้มีการเตือนเกี่ยวกับยากระตุ้นในอาหารเด็ก ซึ่งส่งผลให้เด็ก 4 ขวบ มีหนวดเคราเหมือนผู้ใหญ่ จนทำให้สำนักงานอาหารและยา (อย.) ประกาศยกเลิกยาดังกล่าว นอกจากนี้ กพย.ยังได้สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง เนื่องจากการจะทำให้คนไทยใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ซึ่งได้สำรวจลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยในปีล่าสุด 700 รายเพื่อสำรวจยาที่เหลือใช้ของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ พบกว่า ผู้ป่วยมีอัตราการสะสมยาประมาณ 1,000 บาท ต่อเดือน/คน เฉลี่ย 6.7 รายการ/คน บางรายมียาเหลือใช้ในครอบครองมากถึง 20 รายการ และมียอดยาสูงถึง 70,000 บาท สะท้อนถึงระบบการจ่ายยาที่ซ้ำซ้อน ทำให้ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ยา บ่อยครั้งผู้ป่วยมีพฤติกรรมการลดเพิ่มการใช้ยาเองแบบไม่สมเหตุสมผล นำมาสู่การบริโภคยาที่ไม่ถูกโรค ถูกวิธี และถูกเวลา การมีธรรมาภิบาลที่เหมาะสมก็จะทำให้อย่างน้อยผู้ป่วยมีข้อมูลรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร และช่วยให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมในการใช้ยาที่เหมาะสมต่อไป อ.ภญ.ดร.สุนทรี รองผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า การส่งเสริมการขายยาที่ยังมีอยู่เนื่องจากมีผู้ได้ผลประโยชน์เกี่ยงข้องมาก อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับยา ยังไม่มีนิยามการส่งเสริมการขาย ซึ่งในปัจจุบันจากการแข่งขันทางการค้า ทำให้หลักคุณธรรมจริยธรรมลดน้อยลง โฆษณาจึงมีรูปแบบการสื่อสารที่อาจทำให้ผู้บริโภคสับสน และซื้อยาผิดประเภทมาใช้ ทำให้ควบคุมได้ยาก นางณัชภัส ธีระเรืองไชยศรี เครือข่ายเรื่องเล่าเภสัรกร กล่าวว่า การซื้อยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกันตามความเป็นอยู่ อาชีพ และภูมิประเทศ และด้วยมูลค่ามหาศาล จึงหลีกเลี่ยงเรื่องผลประโยชน์ยาก นักขายยาเองก็มีวิธีการกระตุ้นการขายหลายรูปแบบ เช่น การกระตุ้นแพทย์ให้สั่งยามากขึ้น ในขณะที่เภสัชกรที่ซื้อยาโดยตรงก็ต้องหาวิธีการซื้อที่โปร่งใส และได้ยาคุณภาพดี ดังนั้นต้องเริ่มจากตัวเองก่อน โดยการปลุกจิตสำนึกว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และต้องรับผิดชอบความเป็นความตายของประชาชน ที่ผ่านมาระบบการซื้อยาของประเทศได้ภาพรวมดีขึ้น มีการรวมตัวเป็นเครือข่าย เน้นการสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เช่น เรื่องราคา ความรับผิดชอบของบริษัท และจัดการซื้อที่โปร่งใสมากขึ้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ส.นักข่าวอัด ศอฉ.ข่มขู่สื่อ "สุเทพ" ปัดปิด "ไทยรัฐ" แค่ชี้แจง ระบุ "เรด เพาเวอร์" สร้างความแตกแยก Posted: 01 Sep 2010 08:15 AM PDT อุปนายกฯ สมาคมนักข่าวอัด ศอฉ.อย่าทำสับสน นสพ.ฉบับไหนผิด ให้ดำเนินคดีอย่าขู่ปิด "สุเทพ" ปัดสั่งปิด "ไทยรัฐ" แค่ให้ ศอฉ. ไปชี้แจงการนำเสนอข่าว ชี้ "เรด เพาเวอร์" ยุยง-สร้างความเกลียดชัง 1 ก.ย. 53 - นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายนถึงกรณีที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีสื่อมวลชนบางฉบับเสนอข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสนอข่าวในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะแจ้งความดำเนินคดี หรือถึงขั้นสั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ว่า ในการทำแถลงข่าวของ ศอฉ.ในเรื่องดังกล่าวนั้นควรระบุให้ชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใดมีพฤติการณ์ดังกล่าวเพื่อมิให้เกิดความสับสน และถ้าหาก ศอฉ.มีความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวนำเสนอข่าวตาม ศอฉ.กล่าวอ้างจริงและเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ก็เป็นสิทธิของ ศอฉ.ที่จะดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง “แต่การที่โฆษก ศอฉ.ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อาจจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการสั่งปิดหนังสือพิมพ์นั้น ไม่น่าจะทำได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรค 3 ที่ระบุว่า การสั่งปิดหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ แต่สามารถทำได้เฉพาะการเซ็นเซอร์เนื้อหาในส่วนที่ขัดต่อกฎหมาย แต่ดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีกระบวนที่ชัดเจน” นายเสด็จกล่าว อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวอีกว่า การแถลงของโฆษก ศอฉ.ดังกล่าวอย่างคลุมเครือดังกล่าว ทำให้สาธารณชนรู้สึก ศอฉ.มุ่งใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมุ่งจำกัดเสรีภาพของสื่อหนังสือพิมพ์ และขณะที่กฎหมายต่างๆที่จำกัดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในขณะนี้ก็ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว นายเสด็จกล่าวด้วยว่า หาก ศอฉ. ยังคงมีการแถลงในลักษณะการข่มขู่ว่า ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่ทำให้เกิดความสับสน คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะได้มีการหารือถึงมาตรการในการดำเนินการร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ ต่อไป สั่งจัดการสื่อ “เรด เพาเวอร์” ยุยง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีที่พ.อ.สรรเสริฐ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ระบุว่า อาจจะมีการปิดหนังสือพิมพ์หัวสีบางฉบับเพิ่มเติม ว่า สื่อมวลชนที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพ ทำหน้าที่รายงานข่าวตรงไปตรงมานั้นให้ความเคารพและไม่แตะต้องแน่นอน แต่บางรายมันแอบแฝงเข้ามาเป็นสื่อ พยายามทำให้ตัวเองเป็นเหมือนสื่อมวลชน แต่เป็นเครื่องมือในการทำร้ายบ้านเมือง มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมือง เพื่อทำลายล้างตามที่เขาตั้งเป้าเอาไว้ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และจะกำชับตำรวจจับกุมให้ได้ “เรื่องนี้ไม่ใช่การคุกคามสื่อ ศอฉ.ได้ประชุมกันและมีสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งพยายามอ้างตัวเป็นสื่อมวลชน แต่ข้อความที่พิมพ์ออกมานั้นเป็นไม่ใช่ข่าวสารทั่วไป แต่เป็นข้อความที่ยุยงให้คนเกลียดชังกัน ให้คนรู้สึกเคียดแค้นไม่พอใจ และมุ่งหวังให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมือง ศอฉ.จึงเอาเรื่องนี้มาพิจารณาแล้วสั่งให้ดำเนินการกับสิ่งพิมพ์นี้ตามกฎหมาย ผมเข้าใจว่าชื่อเรดเพาเวอร์ หรืออะไรสักอย่าง” นายสุเทพกล่าว ปัดปิด "ไทยรัฐ" แค่ส่ง ศอฉ.ชี้แจง นายสุเทพกล่าวว่า สิ่งพิมพ์ที่จะถูกปิดนั้นไม่ใช่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ได้สั่งให้ ศอฉ.ไปชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่รายงานข่าวว่า มีการ์ดของเสื้อแดงที่เชียงใหม่ถูกยิง แล้วเขียนเรื่อยเฉื่อยไปว่ามีกลุ่มคนมีสี ไล่ล่าเสื้อแดง ซึ่งคนมีสีในประเทศไทยเพียง 2 สี คือสีเขียวกับสีกากี จึงอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นทางราชการ ก็ได้สั่งการให้ ศอฉ. ไปชี้แจงเท่านั้นไม่ถึงขั้นที่จะปิด เมื่อถามว่าอะไรไม่ถูกใจ ศอฉ.ก็จะปิดไปหมดเลยหรือ นายสุเทพ กล่าวว่า เราเคารพความแตกต่างทางความคิดอยู่แล้ว สื่อมวลชนที่สัมภาษณ์ตนอยู่ทุกวันก็มีความคิดต่างกับตนเยอะ ซึ่งก็รู้สึกเจ็บ และบางครั้งก็ได้สติ ซึ่งก็รับได้ แต่บางคนมันเจตนาร้ายต่อบ้านเมือง ซึ่งยอมไม่ได้และไม่ได้ทำงานตามอำเภอใจหรือลุแก่อำนาจ ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กล่าวว่า เมื่อถามว่ามีข่าวว่ารัฐบาลจ้องปิดสถานีโทรทัศน์ไทยเรด นิวส์ นายองอาจกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี รัฐบาลไม่มีนโยบายปิด แต่ถ้าทำไม่ถูก ก็ต้องเตือน ถ้าทำผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าจะสั่งปิด ไม่เห็นด้วย ที่มาข่าว: สมาคมนักข่าวฯอัด ศอฉ.อย่าข่มขู่ทำสับสน "สุเทพ"ปัดสั่งปิด"ไทยรัฐ"แค่ให้ชี้แจง ลุย"เรด เพาเวอร์"ยุยง (มติชนออนไลน์, 1-9-2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
พี่ชาย ‘ดา ตอร์ปิโด’ ร้องเรียนอธิบดีราชทัณฑ์ กรณีเลือกปฏิบัติในเรือนจำ Posted: 01 Sep 2010 08:02 AM PDT 1 ก.ย.53 กิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 18 ปีข้อหาหมิ่นเบื้องสูงและคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าร้องเรียนกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรณีเจ้าหน้าที่มีการต่อว่าด้วยวาจาหยาบคายกับดารณีและมีการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ โดยหากเป็นผู้ต้องขังต่างชาติทำผิดจะได้รับการผ่อนปรน ขณะที่ผู้ต้องขังชาวไทยจะถูกทำโทษอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ อธิบดีได้รับเรื่องไว้และรับปากจะให้มีการสอบสวนต่อไป ด้านดารณี กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากอาการขากรรไกรยึดติดทำให้อ้าปากไม่ได้ แต่ยังไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ และเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าโครงการบวชชีพราหมณ์เป็นเวลา 5 วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งยังแนะนำให้คนเสื้อแดงลองต่อสู้ด้วยการอโหสิกรรมแทนความเคียดแค้น ทำกิจกรรมนั่งสมาธิ สวดมนต์แผ่เมตตา อโหสิกรรมให้ศัตรูเพื่อเปลี่ยนแปลงศัตรู สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ภาคประชาชนออกโรงค้านโผ 11 กิจการรุนแรง จวกไม่สร้างความสมานฉันท์ Posted: 01 Sep 2010 05:28 AM PDT กป.อพช.ร่วมองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จี้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.เห็นชอบประกาศ 11 ประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงของ สวล.ฉะไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมเสนอนำ18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาพิจารณาแทน จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ส.ค.53 มีมติเห็นชอบให้มีประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 รายการ ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) เสนอ ซึ่งแตกต่างกับข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีถึง 18 รายการ ทำให้เกิดคำถามต่อหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งในแง่ความเป็นวิชาการ การเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ วันนี้ (1 ก.ย.53) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดแถลงข่าว คัดค้านและขอให้ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่าองค์กรที่ร่วมกันแถลงข่าววันนี้มีความเห็นร่วมกันว่ามติ ครม.และมติ สวล.ดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม และละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลหลัก 3 ข้อ คือ 1.เงื่อนไขหรือมาตรการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้น มีตามเจตนารมณ์ต้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าหากปล่อยให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายขึ้นจะเป็นการยากในการเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม ถือเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้า โดยมีมาตรการหลัก 3 มาตรการคือ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสุดท้ายให้องค์กรอิสระให้ความเห็น 2.กระบวนการได้มาซึ่งประเภทโครงการหรือกิจการ 18 รายการ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียคือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกระบวนการที่ดำเนินการมายาวนาน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ กลับส่งเรื่องนี้ไปให้ สวล.เป็นผู้พิจารณา และ สวล.ก็ได้ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ อีกทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.เมื่อพิจารณาประเภทและขนาดโครงการ ตามมติของ สวล.แล้วจะเห็นว่า มีโครงการที่เห็นชอบกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีเพียง 5 รายการ ส่วนอีก 6 รายการ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมขนาด หรือเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้หลายโครงการหลุดพ้นจากการตรวจสอบ เช่น โครงการเหมืองแร่ใต้ดิน กำหนดเพิ่มเติมว่าเฉพาะโครงการที่ไม่มีเสาค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวในประเทศไทย โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีการกำหนดประเภทที่เฉพาะขึ้น และเพิ่มขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมจาก 1,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีโครงการใดที่เข้าเกณฑ์ต้องตรวจสอบเลย “ที่สำคัญก็คือว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ถ้าไม่ประสงค์ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดำเนินการ ก็ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทำตั้งแต่ต้นเสีย ก็จะจบ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการออกมา แต่การที่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย มาเป็นผู้ดำเนินการก็เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ปัญหาการเผชิญหน้าที่ดำรงอยู่ อย่างน้อยก็ทำให้โครงการ 18 รายการนี้เป็นที่ยอมรับกันได้” ประธาน กป.อพช.กล่าว นายไพโรจน์ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอว่า 1.ครม.ต้องพิจารณายกเลิกมติที่ได้ให้ความเห็นชอบตามมติ สวล.ให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง 11 ประเภทโครงการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย 2.คณะกรรมการ 4 ฝ่ายควรแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของ สวล.และรัฐบาลในการตัดลดหรือเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการหรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งของสังคมต่อประเด็นดังกล่าว 3.คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) ควรแสดงท่าทีคัดค้านต่อมติคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่สามารถทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง 4.รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจโดยการเร่งพิจารณาออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ด้านนางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้ว่าจากการติดตาม 18 โครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนี้จะไม่ได้ครอบคลุม ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีอยู่มากมาย แต่เพื่อให้เคลื่อนตัวไปได้ เราก็เชื่อว่ามาตรการอันนี้น่าจะไปสร้างหลักประกันให้ขบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐที่เกี่ยวของกับทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตของผู้คน ตั้งอยู่บนกระบวนการที่โปร่งใส มีวิชาการอ้างอิง ช่วยลดความขัดแย้ง เคลื่อนไปข้างหน้าสู่สังคมแห่งการมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจนำกลับคืนไปให้ สวล.ซึ่งเป็นกลไกปกติทำ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อขบวนการบริหารจัดการประเทศเพื่อสร้างความสมานฉันท์หรือลดความขัดแย้งจะขับเคลื่อนต่อไปได้ “ในรูปธรรมของพื้นที่ ของเดิมที่มาบตาพุด ปัญหาที่มันมีอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และของใหม่ที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพัฒนาภาคใต้ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่มากมาย ก็จะไม่ได้รับการจัดการที่ทำให้คนเชื่อมั่นว่ามีการจัดการที่นำเอาทุกๆ เรื่องมาพิจารณา ดังนั้น ความขัดแย้งมันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น” นางเรวดีกล่าว นางเรวดี กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ 11 ข้อ หรือ 18 โครงการเหล่านี้ด้วยซ้ำไป ถ้าจะมีหลักการว่าทุกกิจกรรมที่ดำเนินการเกิดขึ้นสัมพันธ์กับชีวิตประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องเข้าสู่ขบวนการตรวจสอบและช่วยกันดูแลเพื่อที่การก้าวไปข้างหน้าจะได้ยังยืน แถลงการณ์ เรื่อง ขอคัดค้านและขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 ประเภท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) ให้ประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จำนวน 11 ประเภทโครงการ อันเป็นมติที่มิได้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่โดยตรงในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเพื่อกำหนดประเภทโครงการ ที่มีข้อเสนอสรุปว่าสมควรให้ประกาศกำหนดทั้งหมดจำนวน 18 ประเภทโครงการนั้น องค์กรดังมีรายนามข้างท้ายนี้ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองรับรองไว้ จึงขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยมีเหตุผล ดังต่อไปนี้ ประการแรก เงื่อนไขหรือมาตรการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองกำหนดให้ต้องปฏิบัตินั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า หากปล่อยให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว เป็นการยากที่จะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพดีดังเดิม มาตรการป้องกันล่วงหน้าจึงมีความสำคัญและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนยิ่งกว่าการแก้ไขฟื้นฟูในภายหลัง ประการที่สอง กระบวนการได้มาซึ่งประเภทโครงการหรือกิจการ 18 ประเภทตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เป็นการพิจารณาร่วมกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งยังผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนได้มาซึ่งประเภทโครงการและกิจการที่ประชาชนและคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเห็นว่า มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงอย่างแท้จริง และสมควรต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองให้ครบถ้วนก่อน เริ่มดำเนินการ ดังนั้นมติของคณะกรรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ได้ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการต่างๆโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน ไม่มีน้ำหนัก เพียงพอที่จะหักล้างข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ จึงถือว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่โปร่งใส และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ตลอดจนเป็นการละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ประการที่สาม ตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ให้ประกาศกำหนด 11 ประเภทโครงการลดลงจากข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เมื่อพิจารณาประเภทและขนาดโครงการโดยละเอียดแล้วสามารถจำแนกได้ดังนี้ - โครงการที่เห็นชอบกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จำนวน 5 ประเภท - โครงการที่กำหนดไว้ แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมขนาดหรือเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญ จำนวน 6 ประเภท เช่น โครงการเหมืองแร่ใต้ดิน กำหนดเพิ่มเติมว่าเฉพาะโครงการที่ไม่มีเสาค้ำยัน และไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเฉพาะที่ใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วมชนิด Combined Cycle หรือ Cogeneration และเพิ่มขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมจาก 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นไปเป็น 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป - โครงการที่ไม่เห็นชอบกำหนดให้เป็นประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จำนวน 7 ประเภท เช่น โครงการชลประทาน โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักหรือการผันน้ำระหว่างประเทศ โครงการเตาเผาขยะติดเชื้อ และโครงการสูบน้ำเกลือใต้ดิน เป็นต้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มีเพียง 5 ประเภทโครงการเท่านั้นที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในขณะที่อีก 13 ประเภทโครงการถูกตัดออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไป จนกลายเป็นการเอื้อให้โครงการจำนวนมากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้พิจารณาแล้วว่าเป็นประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและมาตรการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องและไม่บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมิได้ให้ความสำคัญและเคารพต่อการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โดยตรง และได้ดำเนินการผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง รัฐบาลจึงควรต้องยึดเอาข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูล งานวิชาการ และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งยังมีความชอบธรรมในแง่ของผู้ดำเนินการ คือ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีมาโดยเฉพาะ อันจะทำให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวองค์กรดังมีรายชื่อข้างท้ายมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมติที่ได้เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง 11 ประเภทโครงการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย 2.ขอให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลในการตัดลดหรือเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการหรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งของสังคมต่อประเด็นดังกล่าวด้วย แต่การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลพิจารณาดำเนินการเช่นนี้กลับจะทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น 3. ขอให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ชั่วคราว) แสดงท่าทีคัดค้านต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่สามารถ ทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง 4.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจโดยการเร่งพิจารณาออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้การประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการให้เป็นไปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง แถลง วันที่ 1 กันยายน 2553 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 กิจการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สาระสำคัญตามร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ศาลนราธิวาสเตรียมไต่สวนคดี อิหม่ามยะผา กาเซ็ง 2 ก.ย. นี้ Posted: 01 Sep 2010 04:10 AM PDT ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาในคดีอาญาอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัวและซ้อมทรมานจนเสียชีวิต 2 ก.ย. นี้ เนื่องจากเหตุคดีนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ว่าผู้ตายคือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งนางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ในฐานะผู้เสียหายได้เคยร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนทำหน้าที่ล่าช้า นางนิม๊ะ กาเซ็ง จึงนำคดีมาฟ้องเอง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 นายยะผา กาเซ็ง เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัวไปแถลงข่าวว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ และนำมาตัวควบคุมที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และถูกซ้อมทรมานจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2551 จึงนำมาซึ่งเหตุในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง เป็นโจทก์ ฟ้องพันตรีวิชา ภู่ทอง ที่ 1 ร้อยตรีสิริเขตต์ วาณิชบำรุง ที่ 2 จ่าสิบเอกเริงณรงค์ บัวงาม ที่ 3 สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ที่ 4 สิบเอกบัณฑิต ถิ่นสุข ที่ 5 และพันตำรวจเอกทนงศักดิ์ วังสุภา ที่ 6 ข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด กักขังหน่วงเหนี่ยว เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย โดยศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องของโจทก์หรือฟังคำพิพากษา ในวันที่ 2 กันยายน 2553 เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผู้เสียหายที่เป็นประชาชนได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเนื่องจากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อให้ได้ซึ่งคำรับสารภาพหรือข้อสนเทศจากผู้ถูกควบคุมตัว จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต อันเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา และเป็นความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และไม่อาจยอมรับได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กลุ่ม “กวีตีนแดง” เชิญชวนประกวดกวีหัวข้อ “จากราชดำเดิน ถึงราษฎร์ประสงค์” Posted: 01 Sep 2010 03:58 AM PDT กลุ่ม “กวีตีนแดง” กับภารกิจของกวีภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน FREE WRITE AWARD ครั้งที่ 1 : ประกวดบทกวีเพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ บนดินแดนที่ผู้ยากไร้ถูกเข่นฆ่า ด้วยความผิดเพียงข้อหาเดียวคือ “สะเออะลุกขึ้นมาเรียกร้องศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ที่เท่าเทียม” และความตายของพวกเขาถูกละเลยอย่างน่าตกใจ สะท้อนความไม่ปกติของเมืองแห่งศีลธรรมที่ต้นไม้รอบสนามหลวงออกผลเป็นจริยธรรมสีทอง เกร่อไปทั่วเมือง เมื่อประชาชนมือเปล่าสู้จนหลังพิงฝา เหลียวหน้าแลหลังไม่เห็นผู้ใด ในความว่างเปล่า พวกเขาบอกแก่กันและกันอย่างน่าเศร้าว่า “มีเพียงเราเท่านั้น โดดเดี่ยวในคืนวันอันยากแค้นลำเค็ญ” เมื่อพวกเขาถูกเข่นฆ่า ด้วยสองมือไร้ศัสตราวุธใดๆ ในสมรภูมิแห่งอธรรม ภายใต้กติกาโสมมที่ผู้ถูกเหยียบย่ำไม่อาจต่อกร --- มวลกวีไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอันทารุณ มีเพียงปากกาอันแหลมคมของกวีเท่านั้น ที่จักแทนหอกดาบแหลนหลาว...พุ่งเข้าประจันผู้เข่นฆ่าที่เลือดเย็น ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอันเหี้ยมโหด มีเพียงวาทะอันหนักแน่นดุจหินผาของกวีเท่านั้น ที่จักตระหง่านเป็นกำแพงเหล็กกั้นปกป้องมวลชนให้พ้นจากอาวุธร้าย ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอันเดียวดาย มีเพียงถ้อยคำอ่อนไหวจากก้นบึ้งหัวใจของกวีเท่านั้น ที่จักปลอบประโลมผู้แพ้ให้คลายเจ็บปวดทรมานจากบาดแผล...และฝันร้าย เมื่อมวลกวีแห่งรัตนโกสินทร์ต่างพร้อมใจกันถอนคำสาปของ ฌอง ปอล ซาร์ต ที่ว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ” พ้นไปจากอาณาจักร บางกวีเอาใจออกห่างจากผู้ยากไร้ ไปซบแทบเท้าฝ่ายกดขี่ โดยมินำพาต่อเลือดเนื้อและน้ำตาแห่งความยากแค้นของประชาชนที่ไหลตกต้องนองแผ่นดิน --- แล้วไยเราต้องรอคอยกวีใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เหล่านั้นลงจากวอทองมาเช็ดน้ำตาให้ประชาชน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คงมีเพียงเราเท่านั้น!!! กลุ่ม “กวีตีนแดง” ซึ่งเติบใหญ่ขึ้นมาบนบ่าเทียมแอกของประชาชนผู้ยากไร้ ขอเชิญชวนมวลกวีน้อยใหญ่มาร่วมปฏิบัติภารกิจของกวีภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยความเชื่อที่ว่า กวีมิใช่เพียงผู้นั่งจิบไวน์ภายใต้แสงจันทร์ แล้วคิดฝันถึงถ้อยคำไพเราะหวานหู และบทกวีก็มิใช่เพียงกลุ่มคำที่ถูกร้อยเรียงอย่างวิจิตรโดยช่างเทคนิคทางภาษา ทว่าปราศจากเจตจำนงเสรีและจุดยืนแห่งยุติธรรม แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย ต่อผองเหล่านวชนเกิดกร่นราย จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน บทกวีโดย หลู่ซวิ่น แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ --- และภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอันเดียวดายเช่นนี้ ใครก็ตามที่ลุกขึ้นสู้กับผู้กดขี่อย่างซื่อสัตย์ต่อเจตจำนงเสรีของตน อาวุธของคุณคือบทกวี เช่นนั้นคุณต้องเป็นกวี...และคุณต้องเขียนบทกวี!!! เพื่อลบคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์ แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้น...เพื่อมวลชน” บทกวีโดย อเวตีก อีสสากยัน (Awetik Issaakjan) กวีประชาชนแห่งอาร์มาเนีย แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา “ศรีนาคร” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กองกำลังว้า-เมืองลา ห้าม กกต.พม่าจัดเลือกตั้งในพื้นที่ Posted: 01 Sep 2010 03:46 AM PDT Khonkhurtai : 1 กันยายน 2553 - มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนไทย-พม่าว่า กองทัพสหรัฐว้า United Wa State Army -UWSA และกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา National Democratic Alliance Army -NDAA ระบุจะไม่รับคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าเข้าไปจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ประชาสังคมชายแดนใต้ขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน Posted: 01 Sep 2010 03:41 AM PDT มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน จากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศปากีสถาน นับเป็นภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ มีประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 27 ล้านคน และน้ำท่วมครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งประเทศซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนักและยังขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม เนื่องจากน้ำดื่มเป็นพิษนั้นโดยเฉพาะเดือนี้เป็นเดือนรอมฎอน องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 25 องค์กรยินดีจะเป็นตัวกลางที่จะรับความช่วยเหลือจากคนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อ นำส่งไปยังมือพี่น้องในประเทศปากีสถาน ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน เพราะท่านศาสนทูตได้กล่าวไว้ความว่า 1. มือบนย่อมดีกว่ามือล่าง หรือ ผู้ให้ย่อมประเสริฐกว่าผู้รับ (หะดีษรายงานโดยบุคอรี) 2. อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้เลิศล้ำในการให้และพระองค์ทรงชื่นชอบบ่าวที่ชอบบริจาค (หะดีษรายงานโดยบัยอะกี) 3. การบริจาคทานไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินน้อยลง อัลลอฮฺทรงสัญญาว่าพระองค์จะทดแทนทรัพยศินที่ได้บริจาคไป (หลักฐานจากอลกรฺอาน, หะดีษรายงานโดยฏ็อบรอนี, อัยฮะกี) 4. การบริจาคทานจะลบล้างบาปกรรมได้ (หะดีษรายงายโดยบุคอรี) 5. การบริจาคทานจะยับยั้งภัยพิบัติได้ (หะดีษรายงานโดยฏ็อบรอนี, บัยฮะกี) 6. การบริจาคทานจะทำให้ความกริ้วของอัลลอฮฺหายไปได้ (หะดีษรายงานโดยฏ็อบรอนี) 7. การมอบสินนำใจให้แก่ผู้อื่นจะทำให้ความเป็นศัตรูหายไป (หะดีษรายงานโดยติรฺมีซี, อะหฺมัด) เมื่อวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2553 ณ สำนักงานสมาคมยุวมุสลิม แห่งประเทศไทย (ยมท.) สาขายะลาเวลา 14.00 น.ทางเครื่อข่ายประชาสังคมได้ลงมติโดยให้สมาคมศิษย์เก่าฯ ปากีสถาน เป็นแกนนำในการขอรับบริจาคเงินช่วยเหลือ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนสังคม 25 องค์กรยินดีที่จะร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีแนวทางและแผนงานดังนี้ 1.ติดต่อแจ้งให้องค์กรเครือข่าย 25 องค์กรร่วมเป็นเจ้าภาพในการขอรับบริจาคเงินช่วยเหลือ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ยะลา ,ปัตตานี และนราธิวาส นั้นให้ส่งตัวแทนคือ นพ.อนันต์ชัย ไทยประทาน ,นายมะรูสดี อาแซ และนายสมชาย กุลคีรีรัตนา เข้าไปพบหารือกับประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อขอออกหนังสือในนามคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปยังทุกมัสยิดในแต่ละจังหวัด โดยขอให้แต่ละมัสยิดที่มีการละหมาดวันอีดช่วยอ่านในคุฏบะห์วันอีด ขอให้การบริจาคเงินช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบในปากีสถานหลังละหมาดด้วย ส่วนสถานที่ละหมาดกลางแจ้ง เช่น ที่จัดโดยอบจ.ปัตตานีให้ พล.ต.ต.จำรูญ ประสานงานกับนายกอบจ. (นายกเศษรฐ์ อัลยุฟรี) และที่ตลาดเมืองใหม่อำเภอเมืองยะลา ให้อาจารย์อับดุลการีม ประสานกับผู้อ่านคุฏบะห์ อาจารย์ซอและห์ ตาเล็บ หรือ คุณซุกรี ไมโครเน็ต หากมัสยิดใดที่ไม่สะดวกขอรับบริจาคในวันอีดิลฟิตรี ก็ขอให้มีการบริจาคหลังละหมาดวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2553 อีกวันก็ได้ และจะมีการสรุปยอดเงินบริจาค ในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2553 โดยในวันนั้นอาจจะจัดงานเลี้ยงน้ำชา ส่วนสถานที่จัดนั้นจะมีการนัดหมายอีกครั้ง 2. ที่ประชุมเห็นว่า ควรจะเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อรับบริจาคต่างหากจากบัญชีของสมาคมศิษย์เก่าฯ ปากีสถาน เพื่อไม่ให้สับสนกับยอดเงินคงเหลือในบัญชีเดิม ส่วนจะใช้ชื่อบัญชีอะไรหรือผู้มีอำนาจในการเบิกถอนคือใครนั้น ก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของสมาคมศิษย์เก่าฯ ปากีสถาน เป็นผู้พิจารณา 3. หลังจากที่ได้ข้อสรุป จากการพูดคุยกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้ง 3 ท่าน และได้ข้อมูลบัญชีเงินฝากแล้ว ให้ส่งข้อมูลแจ้งให้ทุกองค์กรเครือข่าย เพื่อช่วยกันประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันบริจาค ส่วนทาง พล.ต.ต.จำรูญ จะช่วยออกแบบพิมพ์ไวนิลเพื่อติดประชาสัมพันธ์ในแต่ละจังหวัด องค์กรเครือข่ายที่ดูแลด้านสื่อสารมวลชนจะได้ช่วยกันกระจายข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และ พล.ต.ต. จำรูญ จะช่วยร่างหนังสือขอรับบริจาคไปยังโรงเรียน,ร้านค้า, องค์กร และบุคคลในนามของศิษย์เก่าฯ ปากีสถาน , เครือข่ายองค์กรประชาชน 25 องค์กร และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 4. มติที่ประชุมเห็นด้วยที่ควรติดต่อหาองค์กรเครือข่ายเข้ามาร่วมงานนี้เพิ่ม เช่น สมาคมปัญญาชนมุสลิม เป็นต้น ส่วนองค์กรเครือข่าย 25 องค์กร ที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ก็ให้นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ส่งอีเมลสื่อสารให้เข้าร่วมกันเป็นเจ้าภาพในงานนี้ด้วย สำหรับผู้มีจิตศรัทธาจะรีบร่วมในการบริจาคก็สามารถร่วมบริจาคโดยตรงได้ที่ธนาคารอิสลาม แห่งประเทศไทย ชื่อบัญชี คณะกรรมการเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติปากีสถาน เลขที่บัญชี 008-1-07499-9 สาขาอโศก ประเภทบัญชีออมทรัพย์ หรือติดต่อสอบถามที่ 02-949-4215,02-949-4146 หากเป็นการบริจาคสิ่งของสามารถบริจาคได้ที่สถานทูตปากีสถาน หรือที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หมายเหตุ 1. พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานการประชุม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สตูลจัดคอนเสิร์ตต้านเพิกถอนอุทยาน ยกที่สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา Posted: 01 Sep 2010 03:31 AM PDT เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล แจ้งว่า ในวันที่ 18 กันยายน 2553 นี้จะมีการจัดงานคอนเสิร์ตและปราศรัย “รักษา เภตรา ตะรุเตา ทะเลบ้านเรา เพื่อลูกหลาน” ที่ลานสิบแปดล้าน ชายหาดปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูลด้วย จัดโดยเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลและชมรมศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา โดยเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายประชาชน กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดสตูลตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม ตรวจสอบ การพัฒนาโครงการและแผนพัฒนาจังหวัดสตูลเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านมาจังหวัดสตูลได้มีการวางแผนการพัฒนาไว้หลายด้านทั้ง โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ท่อและคลังขนส่งน้ำมัน บริเวณบ้านปากบาง เส้นทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าเชื่อมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การนิคมอุตสาหกรรมในเนื้อที่ 150,000 ไร่ ในพื้นที่อำเภอละงู และอำเภอมะนัง การขุดเจาะอุโมงค์ไทย-มาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการ “ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” กำลังดำเนินการขอให้มีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กว่า 4,700 ไร่ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เห็นว่า หากเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้จะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอันสวยงาม ทางทะเลอย่างประเมินค่าไม่ได้ ส่วนผลประโยชน์ที่ได้รับ เป็นของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงร่วมกับองค์กรต่างๆ จัดเวทีปราศรัยกึ่งคอนเสิร์ต “รักษา เภตรา ตะรุเตา ทะเลบ้านเรา เพื่อลูกหลาน” เพื่อรณรงค์ให้ชาวสตูลและจังหวัดใกล้เคียงได้ตระหนักถึงสถานการณ์ ทราบข้อมูลและร่วมกันรักษาผืนแผ่นดินที่สมบูรณ์ เพื่อเศรษฐกิจที่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ เอาไว้ตลอดไป สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้มีศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดังเข้าร่วมแสดง คือ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ร่วมกับศิลปินเพื่อชีวิตในภาคใต้ ได้แก่ ศิลปิน กัวลาบารา ศิลปิน ดำ สตูล, ติ๊ก ไทลากูน, สุเมธ จากวงสะพาน, กุ้งชานชาลา กวี สิรพล อักษรพันธ์ ศิลปิน แสง ธรรมดา และคณะวงธรรมดา ศิลปิน พจนาจ พจนาพิทักษ์ โดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป พร้อมกันนั้น ได้มีการตั้งโต๊ะลงรายชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เอ็นจีโอใต้แถลงไม่ยอมรับ 11 โครงการรุนแรง จี้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองอุตสาหกรรม Posted: 01 Sep 2010 03:00 AM PDT เอ็นจีโอใต้แถลงไม่ยอมรับ11 โครงการรุนแรง ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจ่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมจี้ให้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้เป็นเมืองอุตสาหกรรม นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี รองเลขาธิการ กป.อพช.ใต้ (คนกลาง) เปิดแถลงข่าวไม่ยอมรับ 11 โครงการรุนแรงฯ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 สิงหาคม 2553 ที่สมาคมผู้บริโภคสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) นำโดยนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี รองเลขาธิการ (กป.อพช.ใต้) เปิดแถลงข่าว ไม่ยอมรับโครงการรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2 ตามการนำเสนอของคณะกรมการ 4 ฝ่ายที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายมานะ ช่วยชู เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้กล่าวว่า “การประกาศโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคใต้ตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เช่นเดียวกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก จึงขอเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ทบทวนประกาศดังกล่าวและออกประกาศโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจำนวน 18 โครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย สำหรับเนื้อหาแถลงข่าว มีดังนี้ ..
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Posted: 01 Sep 2010 02:45 AM PDT 1 “...สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดคือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่า วันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จักต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่า ชีวิตของฉันและพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้ นั้นคือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์...” คำรำพัน ณ สุสานสหายผู้เสียสละในการต่อสู้ปฏิวัติ จากนวนิยายโซเวียตยอดนิยมเรื่อง เบ้าหลอมวีรชน นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ เขียน ค.ศ. 1933 เทิด ประชาธรรม(ทวีป วรดิลก) แปล พ.ศ. 2518 [1] 2 ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างสำคัญที่ถือว่าเป็น จุดเปลี่ยนที่ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่แลกมาด้วยชีวิต เลือดเนื้อ หยาดน้ำตา รวมถึงมูลค่าที่คิดเป็นตัวเลข(เงิน)ได้ และเป็นตัวเงินไม่ได้อย่างมหาศาล คือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางการเมืองของ “คนชายขอบ” ที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่”(จะมีแดงหรือไม่ก็ตาม) และไม่อาจสยบยอมต่อ “อำนาจ” ที่มากดขี่ข่มแหง เบียดขับ ดูถูกเหยียดหยามได้อีกต่อไป อันนำมาสู่เหตุการณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อาจกล่าวได้ว่า “ชีวิต เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณที่เสรี” ได้ถูกทำลาย และด้อยค่า อย่างไม่มีอะไรเทียบเทียมได้ ดั่งอาจกล่าวว่า “ชีวิต หนึ่งที่เกิดมาช่างด้อยค่ายิ่งกว่าสัตว์(เดรัจฉาน)เสียอีก” อาจกล่าวได้ว่า “มนุษย์” หนึ่งที่เกิดมาช่างด้อยค่าไร้ราคาอย่างไม่อาจเปรียบได้กับ “อะไร”? “การทำร้าย ทำลาย เข่นฆ่า ประณาม หยามเหยียด เบียดขับ” อย่างไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ “แมลงสาบสังคม”ที่เข่นฆ่าได้อย่างอำเภอใจ ไม่อาจอธิบายอะไรในสังคมไทยได้ เราจะอธิบายคำพูดเหล่านี้ได้อย่างไร เช่น “ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นเพราะไปเชื่อคำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุแหย่ให้คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ถ้านางศิณีนาถแน่จริงลองเผาบ้านตัวเองดู เป็นพวกหนักแผ่นดินไม่รู้จักแยกแยะความถูกความผิด ลงชื่อผู้ส่งมาจาก อ.เมือง จ.ลำปาง แต่ประทับตราไปรษณีย์เขตอ้อมใหญ่...ถึงศิณีนาถโดนยิงบาดเจ็บ...คงดีใจที่ได้ค่าชดเชยจากภาครัฐ ไปร่วมชุมนุมเผาศาลากลางถึงจะไม่ได้เผาก็ไปร่วมชุมนุม ก็เท่ากับเผามันบาปนะ ตอนเจ็บตอนตายขึ้นมาก็จะขอค่าชดเชยมันน่าจะตายให้พ้นจากประเทศไทย พวกหนักแผ่นดิน ขายชาติเห็นแก่เงิน ..."[2] กล่าวได้ว่าคนในสังคมไทยที่มีความคิดความเชื่อที่เห็นคนอื่นเป็น “สัตว์” ไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ได้ขยายกว้างออกอย่างน่าตกใจ ดังกรณี มาร์ค V 11 ที่ “หลังถูกกระแสกดดันจากการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นทางการเมืองในเฟสบุ๊ก ด้วยการใช้ถ้อยคำรุนแรงตำหนิการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนทำให้ "มาร์ค วี 11" หรือนายวิทวัส ท้าวคำลือ หนุ่มวัย 17 ปี จากเชียงใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติการล่าฝันถอนตัวออกจากการแข่งขัน ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 ท่ามกลางความเสียดายของแฟนคลับที่เทคะแนนโหวตให้เป็นที่ 1 มาตลอด ซึ่งแม้เจ้าตัวจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการสละสิทธิ์ถอนตัวไปแล้ว แต่เรื่องราวยังคงเป็นประเด็นให้พูดถึงทั้งด้านการเมือง และเส้นทางชีวิตหลังตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน”[3] และ “ตำรวจ สภ.เมือง จ.เชียงราย ได้เรียกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ไปให้ปากคำในคดีเดียวกันเพิ่มอีก 2 คน คือ นายเอกพันธ์ ทาบรรหาร และนายสาทิตย์ เสนสกุล อายุ 19 ปีเท่ากัน จึงทำให้คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 6 คน ขณะที่นายนิติ เมธพนฎ์ กล่าวว่าไม่ได้รู้สึกหวาดหวั่นที่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะพวกเราไม่ได้ทำความผิดทางอาญา แต่เกี่ยวกับ พ.ร.ก. ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูกันที่เจตนาว่าเราทำไปเพราะหวังจะให้เกิดความหวาดกลัวหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงคือไม่ได้หวังเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหลังถูกดำเนินคดีแล้วก็มีคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ฯลฯ แสดงความเป็นห่วงกันถ้วนหน้า ส่วนใหญ่ห่วงในอนาคตหลังการเรียนของพวกตนว่าจะไม่สดใส เพราะเป็นคนต้องคดี ซึ่งตนอธิบายว่าสังคมน่าจะเข้าใจ เพราะเราไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน...นายนิติ เมธพนฎ์ เปิดเผยด้วยว่า หลังถูกดำเนินคดีทุกคนไม่ได้ถูกข่มขู่คุกคาม ยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติ ส่วนการอยู่ในสังคมทั้งการเรียนและทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่คนคอยห่วงใยและไต่ถามด้วยความเป็นห่วง แต่ยอมรับว่าก่อนจะถูกหมายเรียกดำเนินคดี พวกเรา 1 ใน 5 คน เคยถูกคนข่มขู่ด่าว่าและถูกตำรวจเข้าไปค้นบ้านรวมทั้งตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่มีหมายค้นใดๆ แต่ไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว เพราะเกรงกลัว กระทั่งถูกดำเนินคดีด้วยกันทั้งหมด”[4] เราท่านไม่อาจให้ความเห็นต่างดำรงอยู่ในสังคมได้ ต้องประหัตประหารทำลายล้าง ให้สิ้นซาก โดยถือว่า “คน” เหล่านั้น เป็นกาฝาก กากเดน สังคม อย่างไม่ให้อภัยอย่างนั้นหรือ 3 นำมาสู่คำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ในสังคมไทย เราขาดความอนาทรร้อนใจ “นิ่งเฉย” “เฉยเมย”“ละเลย” ต่อความเป็นตายของเพื่อนมนุษย์ เราไม่ “ละอาย” ที่ออกมาร้องกู่ก้องให้ “ฆ่าๆๆๆๆๆๆๆๆและฆ่า” กระนั้นหรือ ผมพยายามหาคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม และคำตอบที่ผมครุ่นคิด กับพบว่าเราไม่อาจหาคำอธิบายอะไรที่แน่น้อยชนได้ ที่พอตอบได้ ผมว่ามี 3-4 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง เราท่านมีความเข้าใจต่อ “ประชาธิปไตย”ที่ “สัมพัทธ์”(เป็นธรรมดาที่ประชาธิปไตยมีความหลากหลายในแง่ที่บริบทของการเกิดใช้ต่างบริบทกัน แต่สิ่งที่ไม่อาจลดทอนได้ หลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ที่เป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย) คือ เราท่านตีความประชาธิปไตย ในมุมมองของตนเองอย่างอคติ โดยไม่ให้ที่ว่าง ต่อความเห็นต่าง ถ้าใครมีความเห็นต่างจากเราท่านต้องออกมาประหัตประหาร ฆ่าผลาญชีวิต และจิตวิญญาณ รวมถึงความคิด “เขา” ที่ต่างจาก “เรา” เหมือนไม่ใช่ “คน” และเขาผู้นั้นไม่อาจร่วมโลกเราได้อีกแล้ว เราท่าน “ไม่สงสัย” เลยว่าทำไม? “เขา” จึงแตกต่างจาก “เรา” หรือว่าประชาธิปไตยที่เราท่านยึดถือนี้ “ไม่ต้องสงสัย” “ไม่ต้องตั้งคำถาม” “ไม่ต้องงง” หรือในท้ายที่สุด “ไม่ต้องคิด” อะไรที่แตกต่าง ไม่ว่าเกิดอะไร ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า การไม่ตั้งคำถาม ต่ออำนาจ หรืออะไรก็ตาม เป็น “ประชาธิปไตย” ใช่หรือไม่ หรือแค่เห็นต่างไม่อาจร่วมโลก ฉะนั้น “ประชาธิปไตย” ที่เราท่านยึดถือก็คือ “การสยบยอม” “การยอมจำนน” “ผู้นำที่เป็นโอรสสวรรค์” มาช่วยนำพา แค่นั้นนะหรือ ประการที่สอง จากข้อความใน (2) เราจะเห็นว่าประเทศไทยเราช่างมี “ผีใหญ่” ที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน ทั้ง “ผีแดง” “ผีเหลือง” เราท่านต่างมีผีต้นสังกัดที่ไม่อาจให้ใครแตะต้องได้ “ผี” เหล่านี้ช่างมีฤทธานุภาพชักนำ ชี้นำให้ผู้คนไปตายแทนตนได้อย่างที่เราท่านไม่ต้องคิด ซึ่งก็น่าแปลกว่า “ผี” เหล่านั้นมีจริงหรือไม่ แต่ที่น่าแปลกแต่จริง คือ “ผีเหลือง” และเหล่าบริวาร กลับมีความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ อิทธิเดช อย่างไพศาลเสียจนไม่อาจให้ผู้ใดอาจเอื้อมแตะต้องได้ ภายใต้ผ้าคลุมของ “คนดี” ที่ดีจริงหรือไม่ดีจริง หรือจริงแบบเทาดำก็ไม่อาจทราบได้ เพราะ “คนดี” ไม่ต้องตรวจสอบ ไม่อาจตั้งคำถามได้ ในทางตรงกันข้าม “ผีแดง” ช่าง “เลว” “ทราม” “ต่ำช้า” แม้อาจจะชื่นชม หรือกล่าวถึง “คนผู้นั้น” ก็อาจกลายเป็นสมัครพรรคพวกของ “ผีแดง” หรือ “เลวทรามต่ำช้า” ไม่ต่างจาก “ผีแดง” แม้ผู้นั้นจะติชมด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตามที ดังคำกล่าวที่ว่า “... คนเหนือคือพี่น้องที่ไอ้ทักษิณพูด คนอีสานคือขี้ข้าไอ้ทักษิณพูด สงสารคนอีสานจังโง่ เห็นแก่เงินเป็นคำพูดของคนส่วนมาก แม่ไรอันทำไมไม่ให้ศิณีนาถและพวกเผาบ้านยายหอม บ้านไรอัน ไปเผาของคนอื่นทำไม เลว โง่ ชาติชั่ว ชาติหมาทั้งตระกูล...ขอให้คนชั่วตระกูลนางศิณีนาถจงตายโหงตายห่าขี้ข้าทักษิณ ทำไมไม่ไปขอมันมันหนีไปเสวยสุขเมืองนอก มันไม่ผิดมันจะหนีทำไม หลักฐานความชั่วมันเยอะแยะพวกโง่อีสาน ไม่ลืมหูลืมตาบ้าง สนับสนุนคนชั่วมันบาปทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน เมื่อสมัยก่อนคนเหนือใจง่าย ปัจจุบันคนอีสานทั้งใจง่าย โง่ ขายตัวให้เขาหลอกเห็นแก่เงิน ขายชาติ ช่วยเหลือคนผิดสมองไม่มี พวกมึงจะส่งลูกหลานเรียนสูงก็แค่สมองหมา มักติดมาจากบรรพบุรุษไม่สั่งสอนแยกแยะถูกผิดเลวทั้งตระกูล ขี้ข้าทักษิณขอให้พวกมึงจงลงนรกกันไวๆ พวกหนักแผ่นดิน เลียตูดดูดไอ้ทักษิณ เหยียบแผ่นดินอยู่ได้ไง เสียดายเกิดมาครบ 32 ยกเว้นสมองไม่มี...”[5] (การเน้นคำเป็นความตั้งใจของผู้เขียนเอง) ประการที่สาม เรา(คนชั้นกลางเมือง)มองว่าคนในชนบท ไม่ว่าเหนือ อีสาน กลาง หรือใต้ ช่าง “โง่” “จน” “เจ็บ” อย่างไม่น่าให้อภัย ถูกหลอกใช้ได้เหมือน(ควาย) ช่างน่าสงสาร โดยไม่เข้าใจว่าการที่เขาต้องร่อนเร่ พเนจร จากเหย้าจากเรือนมาแสวงหา “ความยุติธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพ” ที่มันยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของเขาเหล่านั้น มาเพรียกหา “ความเท่าเทียม”ในสังคม ที่เขาเหล่านั้นถูกเบียดขับ กีดกัน มาอย่างยาวนาน ภายใต้ความลำเอียงของรัฐไทยที่สนใจ “เมือง” มากกว่าชนบท และก็ไม่ใช่คนเมืองนั้นเองหรือที่ดูดซับส่วนเกินจากชนบทอย่างน่าละอาย เสวยสุขบนความทุกข์ยากของคนชนบท และวันใดที่คนชนบทออกมาเรียกร้องหาความ “เท่าเทียม” คุณ(คนในเมือง) ก็ตราหน้าเขาเหล่านั้นว่าถูกหลอกบ้าง โง่บ้าง รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียวบ้าง ท้ายสุดเขาเหล่านั้นก็ไม่สมควรเป็น “คน” ถูกฆ่าได้ ทำร้ายได้ ขังคุกได้ โดยผู้ที่กระทำต่อเขาเป็น “อภิ(สิทธิ์)วีรบุรุษ” ท่ามกลางซากศพของ “คน” ที่ต่างจากตน คนในเมือง(คนชั้นกลาง)เหล่านี้ไม่อาจให้อภัยได้หรอกครับ เพราะเขาเหล่านี้เป็นผู้ “ออกใบอนุญาตให้ฆ่า” แก่ผู้กุมอำนาจรัฐ มีคนตายมากมาย คนกลุ่มนี้กับยินดีปรีดา สุขใจท่ามกลางศพของพี่น้องร่วมชาติที่เขาไม่ถือว่าเป็นคน เขาเหล่านั้นดูเบาคนชนบท ที่ “สำนึกทางการเมือง” ของเขาเหล่านั้นได้แปรเปลี่ยน ผันแปร คนชนบทไม่ได้ “โง่” “จน” “เจ็บ” จนนักการเมืองจากไหนมาหลอกใช้ได้อีกแล้ว เขาเหล่านั้นที่ออกมาต่อสู้ก็เพื่อลูกหลาน คนในรุ่นถัดไป หรือรุ่นเขาเองก็ตาม จะได้สลัดแอกความเป็น “ชายขอบ” ของการพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐไทยเสียที จะว่าตามจริงคนชนบทมีปะสาทางการเมืองมากกว่า “คนเมือง/คนชั้นกลาง” ด้วยซ้ำ เขาเหล่านั้นรู้จักเลือก และใช้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเขาได้อย่างชาญฉลาดภายใต้เงื่อนไขของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือต่อรองผ่านหัวคะแนนเองก็ตามที ต่างจากคนเมืองที่เลือกผู้แทน “ตามกระแส” ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถใช้นักการเมืองได้ แล้วนี่คนในเมือง หรือคนชนบทโง่ก็น่าฉงนอยู่ ประการที่สี่ ความอัดอั้น กดดัน ต่อโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมต่อสังคมไทย ดูได้จากการถือครองทรัพย์สินของคนในประเทศนี้ที่ทรัพย์สิน(เงินฝาก เงินลงทุน ที่ดิน)เป็นของคนไม่กี่หยิบมือเดียว แม้แต่ที่เรียกว่า “หัวขบวนไพร่”เองก็ตามมีเงินเป็นแสนล้าน การกระจายตัวของทรัพยากรกระจุกตัวอยู่ในเมือง อยู่ในมือของ “อภิสิทธิ์ชน” คนเล็กคนน้อย “จนทั้งเงิน จนทั้งอำนาจ” ดังมีคำกล่าวที่เป็นเสมือนตลกร้ายว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ก็จริงอย่างน่าสมเพดในบ้านนี้เมืองนี้ เราต้องยอมรับความจริงในบ้านนี้เมืองนี้ว่าเรามีปัญหาการแย่งชิง เบียดขับทรัพยากร(ดิน น้ำ ป่า ภาษี(เงินงบประมาณ) ความเป็นธรรม เสรีภาพ สิทธิฯลฯอะไรอีกมากมาย) อย่างไพศาล คนที่มีโอกาส(โดยมากก็คือชนชั้นนำ หรือแม้แต่ลูกตาสีตาสาที่กลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำก็ทรยศต่อชนชั้นตัวเองกลายเป็นผู้ขูดรีดอย่างน่าอัศจรรย์) ได้ฉกฉวย ช่องใช้ทรัพยากรอย่างมโหฬาร คนชั้นล่างถูกกดทับเบียดขับอย่างน่าอเนจอนาถ การ “ลุก”ขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมถูกมอง(ใส่ป้าย)ว่าป่าเถื่อน ไร้อารยะ ซึ่งก็น่าคิดว่าการปิดสนามบิน การยึดทำเนียบรัฐบาลของม็อบพันธมิตรมันอารยะตรงไหน ผมพยายามใช้เท้าก่ายหน้าผากคิดก็คิดไม่ออก กรณีม็อบพันธมิตร กับม็อบ นปช. เป็นประจักษ์พยาน หรือใบเสร็จอย่างดีของความไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมของสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ต้องอธิบาย ชี้แจงอะไรให้มากความ รวมถึงคำเยาะเย้ย ถากถาง(ดู 2) ที่คนชั้นล่างได้รับจาก ผู้ที่ให้คำนิยามตนเองว่าเป็นผู้มีการศึกษา เป็นผู้มีความรู้ เป็นชนชั้นกลาง/นำ/อภิสิทธิ์ชน ถ้อยคำหยามหมิ่นนี้แหละที่เป็นพลัง/แรงขับ/แรงกดทับ/ของชนชั้นล่างในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม การแย่งชิง การสร้างความหมาย ต่อปฏิบัติการทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ สุดท้ายนำมาสู่การ “ออกใบอนุญาตให้ฆ่า” ฝ่ายตรงกันข้ามได้ไม่ว่าฝั่งพันธมิตร หรือ นปช.(ดูคำสัมภาษณ์ของจตุพร พรหมพันธุ์ ช่วงพันธมิตรชุมนุมในเหตุการณ์ 7 เมษายน 2550) ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าเราท่านยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร ประการสุดท้าย ชนบทไทยได้เปลี่ยนไปแล้วรวมถึงสังคมไทยเองด้วย เราไม่อาจหวนกลับไปสู่สังคมแห่งชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมได้อีกแล้ว นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่นโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง ก็ได้เปลี่ยนชนบทไทย ให้เป็นชนบทที่ต่างจากเดิม เช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หรือ SME (ทักษิณ ชินวัตร) เรียนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเดือน อ.ส.ม. (ท) น้ำไฟรถฟรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้ทำให้เขาเหล่านั้นได้รับทรัพยากรจากรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เขาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เขาเหล่านั้นได้สร้างสำนึกทางการเมืองใหม่(ที่ไม่ใช่พรรคการเมืองใหม่)ที่วางอยู่บนฐานของ “ความเท่าเทียม”ไม่อาจทนต่อความลำเอียงของรัฐไทย ไม่อาจยินยอมต่อ “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล” ได้อีกต่อไป แต่ในทางตรงกันข้ามคนในเมือง กับเคยชิน คุ้นเคยกับการเมือง และสำนึกทางการเมืองแบบเก่า ที่คนชนบทไม่มีสิทธิ์มีเสียง โดยใส่ป้ายให้ว่า “โง่” และไอ้โง่นี้แหละกลับมาเย้วๆๆใน “พื้นที่” กู ทำให้รถติด ห้างไม่เปิด ทำให้วิถีชีวิตกู(คน กทม.)เป็นอัมพาต มาเรียกร้องให้กูกับมึง(เรากับเขา) อยู่ในระนาบเดียวกัน ทั้งที่มึง หูนาตาเถื่อนเสียไม่มี จึงเป็นที่มาของการ “ออกใบอนุญาตให้ฆ่า” อย่างไม่อนาทรร้อนใจของคนในเมือง อย่างไม่ใช่ “คน” อย่างด้านชา เสียไม่มี 4 “คน” คนหนึ่งได้ทอดร่าง สิ้นใจตายท่ามกลางห่ากระสุนที่สาดใส่เขาเหล่านั้น “อย่างกับเป็นแมลงสาบสังคม” ที่ไร้ค่าไร้ราคา ท่ามกลางการอนุญาตให้ฆ่าได้ของคนบางกลุ่ม ชีวิตเหล่านั้นได้ทำให้สังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว คนชนบท หรือคนชั้นกลางในชนบท (คำของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์) ได้สร้างสำนึกทางการเมืองของตน เห็นค่าของ “เสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ยุติธรรมฯลฯ” อย่างที่คนชั้นกลาง/นำ/อภิสิทธิ์ชน ไม่คุ้นชินได้อีกแล้ว แม้จะ “ฆ่า” เขาเหล่านั้นสักกี่ศพก็ตาม จะมองเขาเป็นแมลงสาบสังคม หรืออะไรก็ดี เข็มนาฬิกามันได้หมุนไปข้างหน้าแล้วพี่น้อง ท้ายสุดคนชั้นกลางเมืองต้องหันมาทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างจริงจัง และเข้าใจ “เขา” เหล่านั้นอย่างเข้าใจ หรือจำใจก็ดี ไม่เพียงแต่โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เองก็ตามทีต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้สอดรับ แม้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตาม เราไม่อาจหยุดนิ่ง เพื่อรอความล่มสลายของสังคมไทยได้อีกต่อไป คนชั้นกลาง /นำ/อภิสิทธิ์ชนต้องยอมรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงกับกระแสธารการปฏิวัติของ “คนชั้นล่าง” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ต้องยอมลดทอนอภิสิทธิ์(ที่ไม่ได้หมายถึงเวชชาชีวะ) ที่เคยมีเคยได้ กระจายทรัพยากร หรือ “ความเป็นธรรม” ที่แก่คนกลุ่มอื่นอย่างเท่าเทียม ต้องปฏิวัติโครงสังคมที่ไม่เป็นธรรมของคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างจริงจัง แต่ในทางกลับกันคนชั้นล่างเองก็ต้องให้เวลา และทำความความเข้าใจ ทั้งสังคมวัฒนธรรม ทัศนคติ วิถีชีวิตของคนชั้นกลาง /นำ/อภิสิทธิ์ชน ด้วย รวมถึงดึงคนเหล่านั้นมาสร้างการปฏิวัติที่ “ไม่สังเวยชีวิตเลือดเนื้อ”(หรือภาษาฝ่ายซ้ายว่า สามัคคีชนชั้น : ผมพูดอย่างกระแดะทั้งที่ไม่รู้ทฤษฎี หรือแนวคิดฝ่ายซ้ายเลยแม้แต่กระพี้เดียว) ของใครก็ตาม เราไม่อาจยอมให้ใครทั้งล่าง กลาง สูง ตายได้อีกแล้ว ดังคำกล่าวของ อ.เกษียร เตชะพีระที่ว่า “ไม่มีหลักการนามธรรมอันใดในโลกมีค่าพอให้เราไปเอาชีวิตผู้อื่นมาสังเวย ไม่ว่าสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ หรือประชาธิปไตย”[6] ผมขอปิดท้ายด้วยโครงที่ชื่อว่า “โลก” โลกที่หลากหลายแตกต่าง และอยู่ร่วมพึงพาอาศัยกันได้ โลกที่ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ถือสิทธิ์เป็นเจ้าของแต่เพียงฝ่ายเดียว โลกที่หลากหลายจึงเป็นโลกที่น่าอยู่ครับ โลก[7] โลกนี้มิอยู่ด้วย มณีเดียว ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย เมาสมมุติจองหอง หินชาติ น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ หมายเหตุจากผู้เขียน บทความนี้ได้รับแรงบันดารใจจาก อ.ไชยันต์ รัชชกูล ที่ให้ความกรุณา แลกเปลี่ยน ซักถาม โต้แย้งอย่างเท่าเทียม กับศิษย์คนนี้เสมอมา อ.สรัสวดี อ๋องสกุล ครูผู้เมตตา และกรุณาอย่างไม่ขาดแคลน ขอบคุณ อ.มนตรา พงษ์นิล อ.ชัยณรงค์ ศรีมันตระ อ.ชาญ พนารัตน์ แห่ง ม.นเรศวรพะเยา ที่เอื้อเฟื้อในหลายโอกาส อ.ทรงศักดิ์ ปัญญา คุณสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ คุณชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน และคุณขันติชัย รวมสุข ที่คอยแลกเปลี่ยนให้ความคิดความเห็นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคุณรุ่งเกียรติ กิติวรรณ ที่ช่วยเก็บข้อมูลเบื่องต้นในเขต อ.ป่าซาง จ.ลำพูนบางส่วนให้ แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบต่อความคิดความเห็นข้างต้นย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ถ้างานชิ้นเล็กๆ นี้จะมีค่าบ้างผู้เขียนขออุทิศให้แก่พี่น้องที่ได้ล้มตายท่ามกลางห่ากระสุน ของความไร้เสรีภาพ ความไม่เท่าเทียม ความ อยุติธรรม ของสังคมไทย ขอให้ดวงวิญญาณของเขาเหล่านั้นรับรู้ว่า “เราท่านทั้งหลาย” จะเป็นผู้รับไม้อุดมการณ์ของท่านต่อไปอย่างอดทน เพื่อให้ถึงสังคมที่เป็นธรรมให้จงได้ ด้วยจิตคารวะ อ้างอิง [1] อ้างใน, เกษียร เตชะพีระ. ทางแพร่งและพงหนามทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 335. [2] ข่าวสดรายวัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7175 [3] ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2553 [4] ข่าวสดรายวัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7175 [5] ข่าวสดรายวัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7175 [6] เกษียร เตชะพีระ. ทางแพร่งและพงหนามทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 207. [7] อังคาร กัลยาณพงศ์, “โลก” ใน กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ: กินรินทร์,2548, หน้า 31 อ้างใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลอมรวมเป็นหนึ่ง สู่ผสมผสานพันทาง, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2550, หน้า 162. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น