โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

มติวุฒิสภาให้ ‘หัสวุฒิ’ นั่ง ปธ.ศาลปกครองสูงสุด - ท้วงโหวตรับร่างงบ 54 เหตุสอดไส้ขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.

Posted: 30 Aug 2010 02:15 PM PDT

ที่ประชุมวุฒิสภาไฟเขียว “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” นั่งประธานศาลปกครองสูงสุด ด้าน เรืองไกร ท้วง ส.ว.โหวตรับร่างงบ 54 ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เหตุสอดไส้ขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.ส่วนคำนูญ เสนอ อภิสิทธิ์ รื้อระบบกฤษฎีกา เหตุทำสังคมสับสนว่าเป็นองค์กรชี้ขาด
 
วานนี้ (30 ส.ค.53) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภามีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการให้ความเห็นชอบตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด หลังคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ได้รายงานผลการตรวจสอบ โดยใช้เวลาประชุมลับประมาณ 20 นาที 
 
ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 106 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด แทนนายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งอายุครบ 70 ปี และจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีมติ 113 ต่อ 1เสียง เห็นชอบให้นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ และ 108 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบนางมณีวรรณ พรหมน้อย ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแทนตำแหน่งที่ว่าง 
 
สำหรับนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ อายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นปี 2511 เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และดอกเตอร์ทางด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย
 
 
คำนูญ เสนอ อภิสิทธิ์ รื้อระบบกฤษฎีกา เหตุทำสังคมสับสนว่าเป็นองค์กรชี้ขาด
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด มีส.ว.จำนวนหนึ่งได้ขอหารือกับที่ประชุมวุฒิสภาและอภิปรายตำหนิการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในหลายเรื่อง โดย นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ผ่านมาโดยเฉพาะคณะที่ 2 ทำให้สังคมมีความเข้าใจผิดว่ากฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่ให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นที่สุดแล้ว ทั้งๆที่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเพราะกฤษฎีกามีหน้าที่ให้แค่ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาด
 
นายคำนูญ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่งควรหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับระบบทำงานของคณะ กรรมการกฤษฎีกา ปรับระเบียบวิธีการรับเรื่องวินิจฉัย ที่สำคัญที่สุดปรับระบบการแถลงข่าว หรือการนำปัญญาไปสู่ประชาชน และท้ายที่สุดอาจปรับที่มาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ
 
 
เรืองไกร ท้วง ส.ว.โหวตรับร่างงบ 54 ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เหตุสอดไส้ขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.
 
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะส.ว.สรรหา ได้หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภา กรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ที่มีกระแสข่าวว่ามีการซุกการขึ้นเงินเดือน ส.ส., ส.ว.ไว้ด้วยว่า เห็นว่าหาก ส.ส., ส.ว.ไปโหวตรับ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 168 เพราะขนาดรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ยังระบุว่าโหวตไม่ได้ เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 177 วรรคสอง เนื่องจากมีส่วนได้เสีย และหากเทียบเคียงเรื่องนี้กับการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส., ส.ว. ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ตอนนี้เรื่องก็อยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป. ช.) และหากย้อนไปดูกรณีกรรมการ ป.ป.ช.ชุดหนึ่ง เคยมีมติขึ้นค่าตอบแทนของตนเอง จนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่าทำผิดกฎหมาย 
 
"ดังนั้นการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 54 ส.ว.ก็ต้องเลือกเอาว่าหากโหวตรับร่างก็อาจถูกร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.ได้" นายเรืองไกร กล่าว
 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, Voice TV

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ลุ้นชิงดำไลเซ่นส์ 3G 14 ก.ย.นี้

Posted: 30 Aug 2010 01:43 PM PDT

เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ส่งตัวแทนชิงไลเซ่นส์ 3จี วางแล้วเช็คเงินสด 10% มูลค่า1,280 ล้านบาท เงินมัดจำ ด้าน กทช.ขอตรวจสอบเอกสาร ระบุ 14 ก.ย.รู้ผลรายชื่อผู้มีสิทธิประมูลใบอนุญาต 3จี ก่อนประมูลในวันที่ 20 ก.ย.53 ขณะที่ บริษัทธุรกิจรถเอ็นจีวีลูกสาว ประสิทธิ์ โพธสุธน เอกสารไม่ครบ หลังยื่นเอกสารร่วมชิงใบอนุญาต 3 จี

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการ 3.9 จี กล่าวภายหลังปิดรับการยื่นซองประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ไอเอ็มที ย่าน 2.1 กิกกะเฮิร์ตซ หรือใบอนุญาต หรือ ไลเซ่นส์ 3จี และใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ว่า วันนี้ เวลา 08.30 น. - 16.30 น. กทช. เปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ที่เป็นวันเดียวที่เปิดรับการยื่นซองประมูลใบอนุญาต 3จี มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าร่วมยื่นซองแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3 จี ทั้งหมด 4 ราย แต่มีบริษัทเอกสารครบเพียง 3 รายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัทลูกของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส มายื่นซองร่วมประมูลเวลา 09.12 น. บริษัท ดีแทค อินเทอร์เน็ต เซอร์วิส บริษัทลูกของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค มายื่นซองประมูลเวลา 13.34 น. และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด มายื่นซองประมูลเวลา 14.45 น.

ส่วนบริษัท วินวิน เอ็นจีวี จำกัด ทำธุรกิจรถเช่าเอ็นจีวี มายื่นซองเข้าร่วมประมูลเวลา 15.45 น. เป็นบริษัทของนางสาวปัทมาวดี โพธสุธน ลูกสาวนายประสิทธิ์ โพธสุธน ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยกรรมการตรวจรับเอกสารใช้เวลาประมาณ 30 นาที ตรวจรับเอกสาร แต่พบว่าบริษัทฯ ขาดเอกสาร 2 รายการ คือ เช็คเงินสดจำนวน 1,280 ล้านบาท ที่เป็นหลักประกันการประมูล 10% ของมูลค่าเริ่มต้นการประมูล 12,800 ล้านบาท ที่เป็นเงินมัดจำมาด้วย และเอกสารหลักฐานว่าเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะได้รับการสนับสนุน จากธนาคารในการปล่อยเงินกู้ ทำให้กรรมการกทช.ที่ทำหน้าที่ตรวจรับเอกสารไม่รับเอกสาร ทั้งนี้ จะทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ทราบอย่างเป็นทางการว่าไม่สามารถเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3 จีได้ ในวันที่ 31 ส.ค.2553

กรรมการ กทช. กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไป จะส่งเอกสารการขอร่วมประมูลใบอนุญาต 3จี ของทั้ง 3 บริษัท ให้กับสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรวจสอบเบื้องต้นก่อนเสนอให้คณะกรรมการกทช.พิจารณา โดยสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิและคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูลวันที่ 14 ก.ย.2553 ก่อนประมูลในวันที่ 20 ก.ย.2553 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

สำหรับ บริษัทที่ยื่นซองเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3จี จะต้องวางเงินมัดจำ 10 % ของราคาเริ่มต้นการประมูล 1,280 ล้านบาท พร้อมเงินค่าธรรมเนียมในการพิจารณาประกอบคำขอใบอนุญาตโทรคมนาคมประเภทที่ 3 อีก 5 แสนบาท และเมื่อยื่นซองเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3จี แล้ว ผู้ที่ยื่นซองประมูลต้องไม่ให้ข่าว หรือเปิดเผยข้อมูล อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการสมยอมราคา หรือ ฮั้วประมูล หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าว กทช.จะมีบทลงโทษโดยการ ยึดเงินมัดจำ 10% จำนวน1.28 พันล้านบาท และถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมประมูล อีกทั้ง ยังต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา ว่าเป็นการส่อในทางทุจริต และเข้าข่ายการกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล 2542

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ก.ย.2553 กทช.จะทดสอบระบบและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมูลใบอนุญาต 3จี ที่อาคารสำนักงานกทช. ซอยสายลม และในวันที่ 17-18 ก.ย.2553 จะพาผู้สื่อข่าวไปดูสถานที่สำหรับจัดประมูลใบอนุญาต 3จี ก่อนจัดประมูลจริงในวันที่ 20 ก.ย.2553 ที่ อ.หัวหิน

ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ของ กทช. จะให้บริการบนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ในช่วงคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 3 ใบ โดยมีราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 12,800 ล้านบาท โดยการออกใบอนุญาตจะใช้หลักจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลลบด้วยหนึ่ง หรือ สูตร เอ็น-1 ขณะนี้ มีผู้ยื่นซองเข้าร่วมประมูล 3 ราย ดังนั้นกทช.จะให้ใบอนุญาต 2 ใบอนุญาตก่อน ส่วนใบอนุญาตอีก 1 ใบอนุญาตกทช.จะเปิดประมูลภายใน 90 วันหลังจากการเปิดประมูลใบอนุญาตครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ก.ย.53 ไปแล้ว โดยจะใช้ราคาเริ่มต้นการประมูลของผู้ที่ชนะการประมูลเป็นอันดับที่สอง และไม่ใช้สูตรเอ็น-1 แต่ถ้ามีผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียวก็ได้รับเลย นอกจากนี้ ยังหวังว่าการประมูลรอบ 2 จะมีการต่างชาติเข้าร่วมด้วย

พ.อ.นที กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ไม่มีบริษัทต่างประเทศเข้าร่วมประมูลครั้งนี้นั้น เพราะไม่มั่นใจเรื่องการแปลงสัมปทาน 2จี เป็นใบอนุญาต 2จี และไม่มั่นใจว่าจะแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมได้

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.จับตาเสื้อแดงเคลื่อนไหว 17-19 ก.ย.นี้

Posted: 30 Aug 2010 01:01 PM PDT

"สุเทพ" สั่งจับตาการชุมนุม คนเสื้อแดงในวันที่ 17-19 ก.ย. ลั่นหากเคลื่อนไหวเข้าข่ายผิดกฎหมายจัดการได้ทันที สั่ง ศอฉ.ติดตามดูใกล้ชิด เสื้อแดงพิษณุโลก ร่วมเวที “ปฏิวัติแนวทางสันติวิธี” ขณะเชียงใหม่-โคราชจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เหยื่อสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ 

 
 
"สุเทพ" สั่งจับตาแดงรวมพล 
เมื่อเวลา 12.45 น.วันที่ 29 ส.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการที่กลุ่ม นปช.เริ่มนัดรวมตัวเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.นี้ โดยนัดเคลื่อนไหวจะไปผูกผ้าแดงประท้วงที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 ก.ย. ในขณะที่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ว่า ตนพยายามระมัดระวังในการพูดจาให้ข่าวเหล่านี้เพราะพูดไปจะทำให้อีกข้างออกมาโวยวายหาว่าพูดอย่างนี้ไม่ปรองดองไม่สมานฉันท์ ยืนยันว่าตนเดินตามแนวนโยบายของนายกฯ เรื่องการปรองดองสมานฉันท์ แต่เมื่อมีการสอบถาม ตนก็ต้องตอบตามข้อเท็จจริงว่ากลุ่ม นปช. กลุ่มคนเสื้อแดง เขาไม่ลด ไม่ละ ไม่เลิก ในการดำรงความมุ่งหมายในการที่จะสร้างเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง จึงต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปลุกเร้าปลุกระดมผู้คนให้ออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่เขาต้องการ ฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลรักษาสถานการณ์ต้องคอยติดตามควบคุมดูแลทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เขาจะเคลื่อนไหวอย่างไร ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็ทำได้ แต่เมื่อไหร่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายก็ต้องดำเนินคดี แล้วก็อย่าให้ใครมาโวยวายว่าอะไรก็ต้องดำเนินคดี ไม่ปรองดองไม่ใช่ การปรองดองกับการควบคุมรักษาบ้านเมืองให้อยู่ในกรอบกฎหมายเป็นคนละเรื่องกัน
 
ชี้หากเข้าข่ายผิดต้องดำเนินการ
เมื่อถามว่า นโยบายของนายกฯ ที่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ในจังหวัดภาคอีสานที่เหลือยู่ ทางศอฉ.จะสนองได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนเป็นรองนายกฯ สิ่งที่เป็นนโยบายของนายกฯเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ตนต้องพิจารณาตามหน้าที่ความรับผิดชอบด้วยความสุขุมรอบคอบ ประเมินสถานการณ์ทุกอย่างให้ชัดเจนเสียก่อน ถ้าเห็นว่าดำเนินการไปแล้วไม่เกิดความเสียหายหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดความเสียหายตนก็ดำเนินการ แต่ถ้าเห็นว่ายังจะเป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายอยู่ก็อาจต้องไปเรียนนายกฯ ว่ายังไม่สามารถจะดำเนินการได้ ต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายมากกว่านั้นก่อน
 
เมื่อถามว่า การที่คนเสื้อแดงนัดชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.เป็นต้นไป จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพิจารณายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ เราอย่าเพิ่งไปมองว่าการที่เขาจะมาชุมนุมกันนั้น จะมีอะไรที่ต้องเป็นสาหตุที่เกี่ยวข้องกับการประกาศหรือยกเลิกพ.ร.ก. แต่อยู่ที่พฤติกรรมหรือการกระทำของผู้มาชุมนุมว่าชุมนุมแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ดำเนินการ แต่ถ้าไม่เข้าข่ายก็ไม่ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเขา เมื่อถามว่า กิจกรรมที่คนเสื้อแดงจะไปวางดอกไม้หน้าเรือนจำที่คุมขังคนเสื้อแดงหรือจะไปผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์ถือว่าเข้าขั้นความผิดหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่าเป็นข้อกฎหมาย ทางศอฉ.จะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นคนพิจารณา
 
'เทพไท' เหน็บเสื้อแดงแรงตก
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่พยายามเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ภายใต้แกนนำเสื้อแดงที่เหลือ คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งตนอยากเรียนว่า ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวเชิญชวนคนเสื้อแดงให้เปลี่ยนมาใส่เสื้อสีดำ ในวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมาทำให้เสียงตอบรับของกลุ่มคนเสื้อแดงน้อยลงโดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งตนคิดว่าเป็นภาพที่อธิบายว่า กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนการเคลื่อนไหว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข
 
ติง "วัด"'ไม่ควรให้ม็อบใช้สถานที่ 
นายเทพไทกล่าวอีกว่า ส่วนที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชุมนุม ในวันที่ 19 ก.ย. โดยจะเอาผ้าแดงไปผูกที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ จำนวนแสนชิ้นนั้น ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ไม่ควรทำในลักษณะสร้างความวุ่นวายด้วยการปิดถนน เพราะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากเป็นเช่นนั้นศอฉ.ต้องเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้การที่กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวตามวัดต่างๆ นั้น ตนคิดว่าวัดต่างๆ ก็ต้องระวังไม่ให้บางกลุ่มฉวยโอกาสเอาวัดซึ่งเป็นสถานที่ที่สงบเพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างเช่น วัดปทุมวนาราม ที่ได้ปฏิเสธไม่ให้มีการจัดกิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนสงบ
 
"หากกลุ่มคนเสื้อแดงต้องการเคลื่อนไหวตามสถานที่ต่างๆ และอยู่ภายในกรอบวิชาการ ประชาชนทุกภาคส่วนก็ให้การสนับสนุน แต่หากแฝงด้วยการเมืองเพื่อมาปลุกระดม สังคมควรจะต่อต้านขัดขวาง ไม่ให้ฝันร้ายของประชาชนคนไทยกลับมาอีกครั้ง" นายเทพไทกล่าว
 
แดงพิษณุโลก ร่วมเวที “ปฏิวัติแนวทางสันติวิธี” 
วันที่ 29 ส.ค.53 คนเสื้อแดง จ.พิษณุโลก นับร้อยร่วม ฟังการพูดคุยแนวทางการต่อสู้ “ปฏิวัติแนวทางสันติวิธี” จัดโดยกลุ่มแดงสยาม ณ โรงแรมพิษณุโลกออคิด นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) กล่าวถึงระบบอำมาตย์ เครือข่ายอำมาตย์ และกลุ่มอำมาตย์คือใคร จากนั้นได้กล่าวเน้นย้ำและให้ความสำคัญในแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย คือการต่อสู้แบบสันติวิธี การปฏิวัติประชาธิปไตยเสรีนิยม การสานต่อภารกิจประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ต่อจากปี 2475 และแนวทางยุทธศาสตร์ การสะสมกำลังเพื่อลุกขึ้นสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยให้เป็นดั่งเช่นนานาอารยะสากล 
 
ทั้งนี้ ในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนซักถามวิทยากรอย่างคึกคัก อาทิ การทำความเข้าใจแนวทางและการต่อสู้ในระยะยาวของคนเสื้อแดง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก สนุกสนาน จนถึงเวลา16.30 น.ต่างก็ได้แยกย้ายเดินทางกลับ
 
แดง 'เชียงใหม่' ทำบุญใหญ่
สายวันเดียวกัน ที่กลางลานวัดคลองศิลาบ้านสันทรายคลองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่จากอำเภอฝางอำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาวและในบางส่วนของจังหวัดเชียงราย ประมาณ2,000 คน จัดพิธีทำบุญตามประเพณีไทยล้านนาส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตจากการที่รัฐบาลสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ โดยพิธีเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการเผาหุ่นสาปแช่ง และร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนคนเสื้อแดง โดยในงานมีการนำภาพเหตุการณ์วันสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์มาแสดง ท่ามกลางความสนใจของประชาชน
 
นปช.โคราช นัดรวมตัว-ทำบุญที่ จ.นครราชสีมา 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดใหม่อัมพวัน ริมถนนมุขมนตรี เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายอนุวัฒน์ ทินราช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม นปช.โคราช พร้อมแกนนำเครือข่ายคนเสื้อแดง23 องค์กร คนเสื้อแดงหลานย่าโม กว่า 100 คนนัดรวมตัวเพื่อร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงพระและถวายสังฆทาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน จากการเสียชีวิตของวีรชนผู้รักษ์ประชาธิปไตย จากการชุมนุมช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้บรรดากลุ่มคนเสื้อแดงขอร้องไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอ เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาภายหลัง ท่ามกลางการสังเกตการจากหน่วยข่าวกรองทหารตำรวจ และฝ่ายปกครองที่เข้ามาปะปน โดยมีพ.ต.อ.ผดุงเดียรติ ศิริพรวิวัฒน์ ผกก.สภ.เมืองอ.เมืองนครราชสีมา นำกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ กว่า 20 นาย มารักษาความปลอดภัย
 
จวกรัฐจ้องจับผิด-ใส่ร้าย
นายอนุวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมวันนี้ไม่ใช่สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่เป็นการนัดหมายผู้มีหัวใจประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม มาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุลให้ผู้ล่วงลับที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ยังมีการคุกคามใส่ร้ายป้ายสีจากรัฐอยู่ตลอดเวลา ขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง รายงานตรงตามข้อเท็จจริงด้วย กรุณาอย่าเบี่ยงเบนประเด็น คนเสื้อแดงในเขตโคราชมารวมตัวกัน ก็เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ มิใช่การแอบแฝงเรื่องการเมือง หรือเคลื่อนไหวใต้ดินแต่อย่างใด
 
"แนวร่วมนปช.ที่เสียชีวิต ขอให้วิญญาณจงรับรู้ไว้ด้วยว่าพวกเราคิดถึงอยู่ในใจเสมอ โดยเฉพาะกรณีวัดปทุมวนาราม ที่มีหลายคนยังคงหลอนกับภาพเบื้องหน้าที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ยังคงทำใจไม่ได้ เพราะเขาเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา ผู้เสียชีวิตทุกคนถือเป็นวีรชนที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มิใช่เป็นผู้ก่อการร้ายหรือเป็นคนชั่วคนไม่ดีตามที่ผู้นำประเทศกำลังบิดเบือนความจริง หากเป็นเช่นนี้ความปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่อาจจะล้มเหลวไม่เป็นท่า" นายอนุวัฒน์กล่าว
 
 
ที่มา: บางส่วนจากข่าวสด
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านทับสะแกไล่พนักงาน กฟผ.ออกจากพื้นที่ พร้อมจวกผู้บริหารไม่แจ้งพนักงานให้รู้

Posted: 30 Aug 2010 12:00 PM PDT

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกเผยชาวบ้านแจ้งให้พนักงานของ กฟผ.ทั้งหมดออกจากพื้นที่ทับสะแก แต่ผู้บริหารกลับไม่แจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่รู้ จวก กฟผ.ลอยแพพนักงานแล้วจะบอกว่ารักชาวบ้านแล้วใครจะเชื่อ

วานนี้ (30 ส.ค.2553) นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ซึ่งคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายมงคล สกุลแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน กฟผ.ได้ตอบคำถามในที่ประชุม“สถานการณ์และทิศทางพลังงานไทย” เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า กฟผ.ไม่มีนโยบายก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก แต่เมื่อชาวบ้านขอหนังสือยืนยันกลับให้ไม่ได้ จึงเกิดการโต้เถียงกันนำไปสู่มติของชาวบ้านที่แจ้งให้พนักงานของ กฟผ.ทั้งหมดออกจากพื้นที่ทับสะแกโดยด่วน แต่ผู้บริหาร กฟผ.กลับไม่แจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ.ในพื้นที่ทราบ
 
“เราเข้าใจได้ว่าผู้บริหาร กฟผ.พร้อมจะลอยแพพนักงาน กฟผ.ระดับปฏิบัติการตามยถากรรม ขนาดลูกน้องของตัวเองยังไม่รักแล้วจะบอกว่ารักชาวบ้าน ใครมันจะเชื่อ” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวและว่า ขณะนี้ตำรวจจากสภอ.ทับสะแกได้แจ้งให้กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ทราบว่า ผู้ปฏิบัติงานของกฟผ.ทราบเรื่อง เข้าใจสถานการณ์ดีและได้ขนของออกจากพื้นที่ทับสะแกไปหมดแล้ว
 
นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า กฟผ.อ้างว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 5เมกกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 100ไร่ เป็นโครงการพิเศษนอกแผนงานและโครงการ แต่ไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้ว่าที่ดินที่เหลืออีก 3,900 ไร่ในทับสะแก จะทำอะไร 
 
แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกกล่าวด้วยว่า ในการสำรองไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2010 ที่คณะกรรมการพลังงานชาติที่มีนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ควรมีมาตรฐาน 15 % ตามระดับสากล แต่ กฟผ.ทำเกินไปถึง 20-40%ตลอดระยะเวลา 20 ปี รวมประมาณ 10,000 เมกกะวัตต์ จึงยังมีเวลาเหลือเฟือที่จะไปหาคำตอบการใช้ประโยชน์ที่ดินของ กฟผ.ในทับสะแกทั้ง 4,000 ไร่ ไม่ต้องรีบร้อน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกได้เดินทางไปร่วมการสานเสวนา “สถานการณ์และทิศทางพลังงานไทย” ที่โรงแรมมณเฑียร ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้ยื่นจดหมายให้กับ กฟผ.โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
27 สิงหาคม 2553
 
เรื่อง แจ้งให้ทราบแผนแม่บทไฟฟ้าของชาวประจวบฯ “ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ นิวเคลียร์”ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตลอดไป
 
เรียน ผู้ว่ากฟผ.
 
ตามที่กฟผ.ได้ดำเนินการวางแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(แผนพีดีพี)ร่วมกับกระทรวงพลังงานนั้น เราขอแจ้งให้ทราบว่า....แผนพีดีพี.ฉบับดังกล่าว ว่ายังไม่ผ่านการอนุมัติจากชาวประจวบคีรีขันธ์
 
เพราะจากการตรวจสอบพบว่า..ขัดแย้งกับแผนแม่บทด้านพลังงานไฟฟ้าของชาวประจวบฯ ในหลายประเด็น อาทิเช่น
 
1.ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทั้งกฟผ.ที่ถือครองที่ดิน 4,00ไร่ที่ ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก และบริษัทลูกๆเช่น..บริษัทราชบุรีพาวเวอร์.ถือครองที่ดิน 1,500 ไร่ที่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน..บริษัทแอ๊คโค่ที่ถือครองที่ดินประมาณ 1,000ไร่ ที่บ้านบ่อนอก อ.เมือง เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดประจวบฯ จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซและนิวเคลียร์ตลอดไปในเขตพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
2.ตัวเลขต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซ และนิวเคลียร์ ในแผนพีดีพี ยังไม่รวมต้นทุนภายนอกเช่นค่าก่อสร้างสายส่ง ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสุขภาพ เป็นต้น
 
และถ่านหินจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด ต้นทุนที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงสูงกว่าราคาคุยของ กฟผ.
 
อย่ายัดเยียดให้ประเทศชาติจนแต้มแค่ ถ่านหิน นิวเคลียร์ ถ้ามีไฟฟ้าเหลือเฟือประชาชนตายหมดก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องการให้ก่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพิ่มการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ให้เต็มศักยภาพ เรียนรู้จัดการรบริหารการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ก่อนคิดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ให้ขัดแย้งกับชุมชน
 
3.ตัวเลขไฟฟ้าสำรองตามแผนพีดีพีของ กฟผ.ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง20-40% สูงเกินค่ามาตรฐานสากลและของไทยคือ 15% หาก กฟผ.ไม่มีความสามารถในการบริหารไฟฟ้าสำรองได้ในเกณฑ์มาตรฐาน ควรพิจารณาข้อบกพร่องของตัวเอง
 
เราจึงเห็นว่า การตั้งใจสำรองไฟฟ้าให้สูงเกินความจำเป็นสะท้อนถึงการไร้ประสิทธิภาพของกฟผ.ในการบริหารระบบไฟฟ้าและเกรงว่าจะถูกใช้เป็นวิธีการของพวกเหลือบที่จ้องจะแสวงหาผลประโยชน์ มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง
 
4.กฟผ.ต้องกล้ายอมรับความจริงว่า ทั้งกฟผ.และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน สวมหมวก2ใบ คือเป็นทั้งเป็นผู้วางนโยบายและแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นทั้งเจ้าของโรงไฟฟ้าและผู้บริหารบริษัทที่ได้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้า การวางนโยบายไฟฟ้าของไทยจึงขาดความโปร่งใส…
 
นี่เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่อนุมัติแผนพีดีพี.ฉบับนี้ จนกว่าจะมีการปรับปรุง และเราจะถือว่า แผนแม่บทของเรามีสถานะสูงกว่าแผนพีดีพีของกฟผ.เมื่อมาอยู่ในเขตของจังหวัดประจวบฯ
 
จึงขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วถึง
ขอแสดงความนับถือ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: โหมโรง..รัฐประหาร ๑๙ กันยา (อุบาทว์)

Posted: 30 Aug 2010 10:41 AM PDT

                            

คำตอบสุดท้าย 

หลัง ๑๙ กันยาน้ำตาไหล
หมู่อำมาตย์จัญไรเรืองอำนาจ
เลือดไพร่ เลือดไท ไหลอาบ
กำราบ  ขู่เข็ญ  ทำลาย
 
หลัง ๑๙ กันยาฟ้ามืดดับ
เดือนดาวลับมืดมนอับจนแสง
เคยรุ่งเรืองรวีอันร้อนแรง
มาสิ้นแสงมืดมนเพราะคนพาล
 
หลัง ๑๙ กันยาประชาเหมือน..หมาจนตรอก
ถูกล้อมคอก  คุกคาม  ถูกเข่นฆ่า
อ้างกฎหมาย  อ้างศาล  ผิดอาญา
ใช่หรือไม่-รัฐธรรมนูญคลอดออกมาจากปลายปืน
 
หลัง ๑๙ กันยาจึงลุกสู้
เพราะเรียนรู้คุณค่าและความหมาย
หลังชนฝามือจับมือยืนท้าทาย
แล้วกระสุนก็สาดใส่ประชาชน
 
หลัง ๑๙ กันยา เราจึงรู้
ถึงจุดยืนการต่อสู้สู่เป้าหมาย
อย่ากังวลหนทางก่อนเกิด-ตาย
เพราะคำตอบสุดท้ายนั่นคือ ปืน !
เพราะคำตอบสุดท้ายนั่นคือ ปืน!
 
                             "ปราโมทย์   แสนสวาสดิ์"
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย” ร้อง “รัฐบาล” ปล่อยตัว “นักโทษการเมือง” ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

Posted: 30 Aug 2010 10:06 AM PDT

“พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย” ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ชี้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐฯ ถูกจับกุมกว่า 400 คน โดยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 
 
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.53 พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยระบุว่า จากการที่รัฐบาลได้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ประชาชนที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อันเนื่องมาจากการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และถูกตั้งข้อหาวางเพลิง ชุมนุมทางการเมือง 5 คน ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมจำนวนกว่า 400 คน ให้เป็นนักโทษการเมือง โดยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับความยุติธรรม 
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่าผู้ถูกจับกุม ถูกเจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลหรือมีหลักฐานพร้อมมูล ไม่สามารถเข้าถึงทนาย ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว-ปล่อยตัวชั่วคราวให้ออกมาต่อสู้คดี ซึ่งกรณีเหล่านี้อาจนำไปสู่การแอบซ้อม ทรมาน บังคับให้สารภาพ หรือการขังลืม เนื่องจากไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าของคดี อีกทั้งยังผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ถูกขังเป็นนักโทษการเมืองให้ได้รับความเดือดร้อน และยังส่งผลต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศ
 
นอกจากนั้นแถลงการณ์ยังเรียกร้องไปถึง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติว่า ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป เพราะไม่สามารถผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ และละเลยต่อปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา
 
“พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบไม่ควรมีความผิดใดๆ แม้จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมที่ผ่านมา ก็ไม่ควรถูกเหมารวมว่าก่อความรุนแรงนั้น ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของรัฐเองที่จะสืบสวนสอบสวนการใช้ความรุนแรงอย่างจริงจัง โดยไม่สมควรนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมตั้งแต่แรก และหากไม่มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง จะนำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาในระบบยุติธรรมไทยในที่สุด” แถลงการณ์ระบุ
 
ทั้งนี้ ในส่วนพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.53 โดยมีนโยบายต่อสู้ให้ประชาชนมีสิทธิเสมอภาพทางการเมือง และสนับสนุนให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
 
 
 
แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
 
ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อันเนื่องมาจากการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ดังเห็นได้จากการจับกุมคุมขังผู้ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น ถูกข้อกล่าวหาวางเพลิง ชุมนุมทางการเมือง 5คน รวมจำนวนผู้ถูกจับกุมประมาณกว่า 400คน ให้เป็นนักโทษการเมือง โดยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร กล่าวคือ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล หรือมีหลักฐานพร้อมมูล ไม่สามารถเข้าถึงทนาย ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ออกมาต่อสู้คดี พิสูจน์ข้อเท็จจริงไปจนถึงกระบวนการชั้นศาล ซึ่งอาจนำไปสู่การแอบซ้อม ทรมาน บังคับให้สารภาพ หรือการขังลืม เนื่องจากไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าของคดี หรือกว่าที่คดีจะได้รับการตัดสินจากศาล ก็ถูกคุมขังเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ถูกขังเป็นนักโทษการเมืองให้ได้รับความเดือดร้อน และส่งผลต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ไร้มาตรฐาน
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ที่มองผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดโดยทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความผิดนั้น และไม่สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล อันเป็นเรื่องน่าอับอายต่อชาวโลก และไม่สมควรที่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว จะอยู่ในตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อีกต่อไป เพราะไม่สามารถผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ และละเลยต่อปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา
 
พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบไม่ควรมีความผิดใดๆ แม้จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมที่ผ่านมา ก็ไม่ควรถูกเหมารวมว่าก่อความรุนแรงนั้น ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของรัฐเองที่จะสืบสวนสอบสวนการใช้ความรุนแรงอย่างจริงจัง โดยไม่สมควรนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมตั้งแต่แรก และหากไม่มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง จะนำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาในระบบยุติธรรมไทยในที่สุด
 
พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย
แถลงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครู-นักเรียนสุดทน ร้อง สบท.เสารับ-ส่งสัญญาณมือถือติดตั้งแย่ทำอาคารร้าวน้ำรั่ว รบกวนการเรียน

Posted: 30 Aug 2010 08:51 AM PDT

ตัวแทนครูและนักเรียน รร.สารสาสน์บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร รุดร้อง สบท. เสาส่งสัญญาณมือถือตั้งบนหลังคาอาคารเรียนเด็กนักเรียนชั้นประถม สร้างปัญหาเพดานร้าว ฝนตกน้ำรั่ว เรียนหนังสือไม่ได้

 
 
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.53 ที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) นางณัฐฐิรา ชิวชาวนา ผู้อำนวยการโรงเรียนสารสาสน์บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร พร้อมคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์บ้านแพ้ว จำนวน 14 คน ได้เข้าร้องเรียนกับนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (ผอ.สบท.) กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการติดตั้งเสารับ-ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการรายหนึ่ง
 
นางณัฐฐิรา กล่าวว่า โรงเรียนได้รับโอนกิจการมาจากเจ้าของโรงเรียนเดิมและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนสารสาสน์บ้านแพ้ว” เพิ่งเปิดสอนได้เพียงเทอมเดียวก็ประสบปัญหา เนื่องจากบนดาดฟ้าอาคารโรงเรียนซึ่งมี 4 ชั้น มีเสาสัญญาณโทรคมนาคมติดตั้งอยู่ เป็นเสาที่ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเจ้าของโรงเรียนเดิมทำสัญญาให้เช่าไว้กับบริษัทผู้ให้บริการ แต่ขณะนี้ปรากฏว่าได้เกิดปัญหาเพราะเกิดน้ำรั่วซึมลงมาตามรอยแตกร้าวของเพดานชั้นบนของอาคารเรียน เป็นบริเวณกว้าง อุปกรณ์การเรียนการสอนได้รับความเสียหาย เด็กๆ ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ 
 
“ตอนนี้ถ้าฝนตกกลางคืน เช้ามาหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนของเด็กๆ ก็จะเปียกหมดใช้ไม่ได้ ถ้าฝนตกกลางวัน เด็กต้องเอาถังมารองน้ำฝน เอาผ้ามาซับน้ำกัน ระหว่างนั่งเรียนหนังสือ โดยเฉพาะชั้นเรียนของเด็ก ป.5 และ ป.6 ไม่สามารถใช้เรียนหนังสือได้” นางณัฐฐิรากล่าว
 
ผอ.โรงเรียนสารสาสน์บ้านแพ้ว กล่าวถึงความกังวลด้วยว่า เนื่องจากนักเรียนต้องอยู่ใกล้ชิดกับเสารับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งเป็นแหล่งแผ่คลื่นความถี่สูงอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนทั้งที่อยู่เป็นเด็กเล็กและเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาการสำคัญ เพราะโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา เปิดการเรียนการสอนในชั้น ป.1 – ป.6 รวมทั้งรับดูแลเด็กเล็กหรือเนอสเซอรี่ด้วย โดยเปิดรับเด็กอายุตั้งแต่ 2-12 ปี 
 
ที่ผ่านมา โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทผู้ให้บริการรื้อถอนเสาสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องออกจากอาคารดังกล่าว แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ กลับเสนอจ่ายค่าเช่าให้กับโรงเรียนแทน ดังนั้นในวันนี้ (25 สิงหาคม) จึงได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อ สบท.เพื่อขอให้บริษัทฯ รื้อถอนเสารับ-ส่งสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องออกจากอาคารของโรงเรียน
 
ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ. สบท.กล่าวว่า ในเรื่องนี้ สบท. ยินดีรับเรื่องไว้ และยินดีเป็นคนกลางในการเปิดเจรจาระหว่างทางโรงเรียนกับบริษัทผู้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเจ้าของเสาวิทยุคมนาคมดังกล่าว แต่เบื้องต้นนี้จะได้ส่งเรื่องไปยังบริษัทฯ ผู้ให้บริการเพื่อรับทราบว่ากรณีเป็นเรื่องร้องเรียนของ สบท. แล้ว รวมทั้งเพื่อให้บริษัทพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป
 
“เท่าที่สอบถามทางโรงเรียน สัญญาเช่าอาคารเพื่อติดตั้งเสาวิทยุคมนาคมนั้นจะสิ้นสุดในปี 2554 ดังนั้นจึงได้แจ้งทางโรงเรียนว่าเป็นสิทธิที่จะเลิกสัญญากับบริษัทได้ และทางบริษัทก็จะต้องรื้อถอนเสาออกไป ซึ่งในกรณีรื้อถอนเสาก็มีโจทย์ว่าจะมีผลกระทบต่อสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ย่านนั้นหรือไม่ซึ่งเป็นมุมที่ทางบริษัทอาจต้องเตรียมการด้วย ไม่ว่าจะต้องรื้อถอนเสาเมื่อสิ้นสัญญา หรือจะรื้อถอนก่อนเวลาเพื่อเห็นแก่เด็กก็ตาม” ผอ.สบท.กล่าวถึงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
 
 
ภาพถ่ายแสดงการติดตั้งเสารับ-ส่งสัญญาณ
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

DSI รับลูก กลุ่มปกป้องสถาบันบนเฟซบุ๊คจี้เอาผิด "ทอม ดันดี" พร้อมผู้เผยแพร่คลิป

Posted: 30 Aug 2010 05:28 AM PDT

เครือข่ายราษฎรอาสาป้องกันสถาบันบนเฟซบุ๊ค พบอธิบดี DSI มอบหลักฐานคลิปวิดีโอ “ทอม ดันดี” ขึ้นเวทีเสื้อแดงราชบุรี ปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน พร้อมจี้เอาผิดมือโพสต์คลิปด้วย ด้าน “ธาริต” รับลูก เตรียมสอบขยายผล

วันนี้ (30 ส.ค.53) ที่กระทรวงยุติธรรม นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาป้องกันสถาบัน ในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คเข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับนายทอม ดันดี นักร้องนักแสดง กรณีขึ้นเวทีปราศรัยต่อหน้าประชาชนที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเนื้อหาการปราศรัยมีถ้อยคำที่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาการอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้ง เนื้อหาการปราศรัย ยังแสดงถึงเจตนารมณ์ในการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามมาตรา 116 

พร้อมกันนี้เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันได้ยื่นหลักฐานภาพและเสียงการปราศรัยของนายทอม ที่ได้ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ มอบต่ออธิบดีดีเอสไอ โดยได้แจ้งการกระทำผิดและกล่าวโทษนายทอม รวมทั้งผู้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวด้วย
 
นายบวร กล่าวว่า พบมีการกระทำเผยแพร่ภาพและเสียงการกระทำผิดของนายทอมลงเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ต่อประชาชน จึงเห็นว่าผู้ที่เผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 เช่นกัน ดังนั้นเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค จึงได้แจ้งการกระทำผิดและกล่าวโทษนายทอม ดันดี และผู้เผยแพร่ข้อความในเว็บไชต์ยูทูบ
 
ด้านนายธาริต กล่าวว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบว่ามีลักษณะเป็นเครือข่ายขวนการหรือไม่ ทั้งนี้ จะนำข้อมูลไปรวมกับข้อมูลของพนักงานสอบสวนในคดีล้มเจ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอรับคดีความผิด มุ่งอาฆาตมาดหมายร้ายสถาบันเป็นคดีพิเศษ
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ชีวิตหลังลูกกรงของคนขายแมลงทอด เสื้อแดงมหาสารคาม ‘ไข่เขย-บุญเลี้ยง’

Posted: 30 Aug 2010 04:02 AM PDT

 
สภาพถนนที่มีร่องรอยการเผายาง

ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่เสียหาย

ต้นไม้ที่ถูกเผา 1 ต้น

เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม
จากการใช้กำลังทหารในการปิดล้อมและสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ ในช่วง 14-19 พฤษภาคม 2553 ได้ ทำให้เกิดการชุมนุมและมีการนำยางรถยนต์มาเผาบริเวณถนนโดยรอบศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม โดยในปัจจุบันเรายังจะสามารถเห็นรอยไหม้บริเวณพื้นถนนยางมะตอยในหลายจุด มีตู้โทรศัพท์บริเวณข้างศาลากลางถูกทุบทำลาย มีต้นมะขามบริเวณศาลากลางยืนต้นตายเนื่องจากถูกไฟเผาหนึ่งต้น

และในเหตุการณ์เดียวกันนี้เองก็ได้มีประชาชนถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลากว่าสามเดือนโดยไม่ได้สิทธิ์ในการประกันตัว!

ไข่เขย จันทร์เปล่ง ชายวัย 52 ปี ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการชุมนุมเพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้จะมีสีหน้าที่อิดโรยแต่เขายังเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็งว่า เขาได้เข้าร่วมต่อสู้กับ นปช.เพราะต้องการแก้ไขปัญหาสองมาตรฐานในสังคมไทย โดยในวันเกิดเหตุ เขาอยู่ในที่ชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากที่มีข่าวทหารได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีความรู้สึกโกรธแค้นและเริ่มทยอยเผายางรถยนต์ที่นำมากองอยู่บริเวณถนน ทางผู้กำกับการตำรวจ จ.มหาสารคาม ได้ขอร้องให้เขาช่วยห้ามปรามผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรงในการเผาทำลายสถานที่ราชการ ซึ่งเขาก็ได้ปฏิบัติตามเนื่องจากว่าเขาก็ไม่เห็นด้วยในการเผาทำลายสถานที่ราชการอยู่แล้ว

25 พฤษภาคม 2553 ไข่เขย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเชิญตัวไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ ไข่เขยโดนจับกุมตัวโดยแจ้งข้อหาเตรียมวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ สิ่งที่ใช้เป็นหลักฐานในการควบคุมตัวเขาได้แก่ ภาพของเขาระหว่างที่เขากำลังห้ามปรามผู้ชุมนุม พยานบุคคลที่ซัดทอดมาที่ตัวเขาได้แก่ผู้ต้องขังที่มีสติไม่สมบูรณ์ (ต้องกินยาเพื่อควบคุมอาการทุกวัน) ที่ถูกคุมขังในเหตุการณ์เดียวกัน ไข่เขยรู้สึกเสียใจที่ผู้กำกับการตำรวจที่เคยประสานความร่วมมือกับเขามาโดยตลอดไม่ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการออกมายืนยันในเจตนาบริสุทธิ์ของเขาแต่อย่างใด

ไข่เขย ยืนยันว่าสิ่งที่ตนได้ทำไปทั้งหมดนั้นยืนอยู่บนหลักการความถูกต้อง เขาบอกว่าโดยฐานะยากจนเป็นพ่อค้าขายอาหารรถเข็น เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อเป็น ส.ส.หรือนักการเมืองแน่ๆ เขายืนยันว่าแม้เขาจะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแต่เขาก็จะยังพยายามต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

บุญเลี้ยง จันทร์เปล่ง วัย 51 ปี คู่ชีวิตของไข่เขยเล่าให้ฟังว่า ตนและไข่เขยประกอบอาชีพขายอาหารจำพวกยำและแมลงทอด อยู่บริเวณตลาดไนท์บาซาร์ หลังจากที่ไข่เขยโดนจับกุมตัว บุญเลี้ยงต้องเดินทางนำเอาอาหารมาให้เขาที่เรือนจำทุกวัน เธอบอกว่าคู่ชีวิตของเธอมีปัญหาสุขภาพ ลำไส้ส่วนหนึ่งของไข่เขยได้ถูกตัดออกโดยใส่ลำไส้เทียมไว้แทนเมื่อปี พ.ศ.2521 ที่ รพ.พระมงกุฎ เธอจึงต้องคอยระมัดระวังคอยจัดหาอาหารมาให้คู่ชีวิตเธอกินทุกวัน นี่คือกิจวัตรที่เธอต้องทำนอกจากการทำอาหารออกไปขายเพื่อหารายได้ดำรงชีพ เธอบอกว่าบ่อยครั้งที่วันหนึ่งเธอจะได้กินอาหารเพียงมื้อเดียว เพราะมัวแต่เตรียมอาหารให้ไข่เขยและต้องรีบมาเยี่ยมให้ทันเวลาเนื่องจากบ้านอยู่ไกล

ด้านสุขภาพของบุญเลี้ยงเองก็ไม่สู้จะดีนัก เธอบอกว่าในปีที่ผ่านมาเธอได้เข้ารับการรักษาพยาบาลเนื่องจากเธอเป็นเนื้องอกในสมองบริเวณท้ายทอยทั้งสองด้าน เธอบอกว่าทุกวันนี้ในร่างกายเธอยังมีท่อพลาสติกที่ต่อจากบริเวณท้ายทอยมาที่บริเวณช่องท้องเพื่อเป็นการระบายเลือดเสียที่เกิดจากการผ่าตัด ทุกวันนี้เธอยังมีอาการปวดศีรษะอยู่เป็นประจำ

เธอบอกว่าในระดับฐานะอย่างเธอคงจะไม่มีปัญญาได้รับการรักษาจนมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันแน่ๆ เธอบอกว่าเธอใช้สิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค ที่สำคัญ เธอเรียกอดีตนายกรัฐมนตรีที่น่าจะมีข้อกล่าวหาที่ทั้งน่าหวาดกลัวและน่ารังเกียจจากฝ่ายตรงข้ามมากที่สุดในโลกว่า "พ่อทักษิณ"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 ส.ค. 2553

Posted: 30 Aug 2010 02:28 AM PDT

แจ้งจับอดีต หน.คนงานการ์ต้าต้มแรงงงานไปบาร์เรนห์

นายอภิชาต นาตรีชน อายุ 40 ปี อยู่ อ.เมือง อุดรธานี นายพรชัย จันทร์งาม อายุ 39 ปี อยู่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ บุญโชติ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ดำเนินคดีกับนายอาณัติ สุกใส อายุ 44 ปี และนายนริศธา คลองคุ้ย อายุ 41 ปี กล่าวหาว่าหลอกลวงจะจัดส่งไปทำงานที่ประเทศบาร์เรนห์ สูญเงินไปคนละ 25,000 บาท โดยมีผู้เสียหายอีกกว่า 10 คน จะไปแจ้งความที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู

นายอภิชาต และนายพรชัย เปิดเผยว่า นายพรชัยฯ เคยไปทำงานที่ประเทศการ์ต้ามาก่อน ได้รับการติดต่อจากนายนริศธาฯ คนงานที่เคยทำงานด้วยกันที่การ์ต้าว่านายอาณัติฯ หัวหน้างานที่การ์ต้า ได้รับโควตาตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานได้รับอนุญาต(เซปโก้) จัดส่งคนงานไปประเทศบาร์เรนห์จำนวนมาก โดยคิดค่าหัวเพียงแค่คนละ 35,000 บาท จ่ายเพียง 25,000 บาท ก็สามารถเดินทางไปได้แล้ว ที่เหลือไปหักกับค่าแรงที่ประเทศบาร์เรนห์ ซึ่งจะได้เงินเดือน 20,000 บาทไม่รวมค่าล่วงเวลา

“คนงานชวนกันเดินทางไปพบนายอาณัติฯ ที่สำนักงานเลขที่ 63/15 ม.4 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังจากพูดคุยและดูหลักฐาน ประกอบกับเคยเป็นหัวหน้าคนงานที่ประเทศการ์ต้า คนงานต่างให้ความเชื่อตกลงเดินทางไป ด้วยการจัดเตรียมเอกสารทั้งหมด กลับมาถึงบ้านก็โอนเงินไปให้ เวลาล่วงเลยไปนานกว่า 5 เดือนแล้วก็ใม่ได้เดินทาง ทำให้มีคนงานบางคนไปร้องเรียนที่กรมการจัดหางาน เขาก็ให้กลับมาแจ้งความท้องที่เกิดเหตุ และมาแจ้งความที่ อ.เมือง อุดรธานี เพราะโอนเงินจาก จ.อุดรธานี “ผู้เสียหาย กล่าว

พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ เปิดเผยว่า นายอาณัติ ได้ไปชักชวนอดีตลูกน้อง ที่เคยเดินทางไปทำงานด้วยกันที่การ์ต้า ให้ไปหาคนงานมาสมัครเดินทางไป ทำให้คนงานกลายเป็นสายเถื่อน และร่วมมือในการหลอกลวง ต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย โดยสายเถื่อนกระจายอยู่หลายพื้นที่ อาทิ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี , อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เฉพาะที่ จ.หนองบัวลำภู มีแรงงานถูกหลอกมากกว่า 80 คน ส่วนที่ อ.เมือง อุดรธานี จะทยอยมาแจ้งความเพิ่มอีก รวมไปถึง จ.ปทุมธานี ก็น่าจะมีคนงานไปแจ้งความ จนถึงขณะนี้ยังประมาณความเสียหายไม่ได้

(เนชั่นแชนแนล, 23-8-2553)

กต.ช่วยแรงงานไทยในอิตาลีที่ประสบอุบัติเหตุได้เงินชดเชย 23 ล้านบาท

ก.ต่างประเทศ 22 ส.ค. - นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบดราฟต์ จำนวน 3 ฉบับ ให้กับญาตินางดี บุญมีป้อม ที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการชดเชยจากกรณีนางดีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเป็นอัมพาต เมื่อปี 2548 โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ติดตามเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์ให้กับนางดี ที่เดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ประเทศอิตาลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพิธีมอบดราฟต์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากศาลแพ่งจังหวัด Reggio Emilia ได้ตัดสินให้บริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยให้นางดี เป็นเงินประมาณ 23,696,700 บาท

 (สำนักข่าวไทย, 23-8-2553)

กต.ช่วยแรงงานไทยในอิตาลีที่ประสบอุบัติเหตุได้เงินชดเชย 23 ล้านบาท

ก.ต่างประเทศ 22 ส.ค. - นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบดราฟต์ จำนวน 3 ฉบับ ให้กับญาตินางดี บุญมีป้อม ที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการชดเชยจากกรณีนางดีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเป็นอัมพาต เมื่อปี 2548 โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ติดตามเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์ให้กับนางดี ที่เดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ประเทศอิตาลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพิธีมอบดราฟต์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากศาลแพ่งจังหวัด Reggio Emilia ได้ตัดสินให้บริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยให้นางดี เป็นเงินประมาณ 23,696,700 บาท

 (สำนักข่าวไทย, 23-8-2553)

จัดหางานเชียงใหม่ระบุมีแรงงานต่างด้าวครึ่งแสน

เชียงใหม่/ นางพรรณวดี พลอยทับทิม จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านระยะทางหลายกิโลเมตร ทำให้ยากต่อการควบคุมเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ประกอบกับนายจ้างในพื้นที่ยังคงมีความต้องการแรงงานในระดับล่างอยู่ ทำให้ยังคงมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่หลบหนีเข้าเมืองและที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ได้มีวิธีการแก้ไขหลายวิธี ทั้งการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ การพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ได้ร่วมมือกันป้องกัน แก้ไขและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจำนวน 52,557 ราย ส่วนใหญ่มีสัญชาติพม่า รองลงมาคือสัญชาติลาว และสัญชาติกัมพูชา ตามลำดับ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่บัตรหมดอายุ 20 ม.ค.54 และกลุ่มที่บัตรหมดอายุ 28 ก.พ.54

 (บ้านเมือง, 24-8-2553)

เกาหลีให้โควตาคนงานก่อสร้างปีนี้ 4000 คน รับสมัครสอบถึง 27 ส.ค.นี้

ก.แรงงาน 24 ส.ค. - นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการรับสมัครแรงงานไทยเพื่อเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีว่า หลังจากกรมการจัดหางานได้เริ่มเปิดให้มีการรับสมัครสอบความสามารถทางภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) ไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) ล่าสุดมีผู้สนใจเดินทางมาสมัครเพื่อสอบคัดเลือกเฉพาะที่สำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงานแล้วกว่า 100 คน ส่วนอีก 2 แห่งที่เปิดรับสมัครคือ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง และสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่นนั้น อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล โดยกรมการจัดหางานจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ และเปิดสอบในวันที่ 10 ตุลาคม ในสถานที่รับสมัครทั้ง 3 แห่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการทดสอบจะสามารถไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศเกาหลีเป็นเวลา 1 ปี และต่อสัญญาได้อีก 3 ปี ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของแรงงานไทยอายุระหว่าง 18-39 ปี ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ เพราะปีนี้เกาหลีให้โควตาแรงงานไทยมากถึง 4,000 คน อีกทั้งยังเป็นการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ เสียค่าใช้จ่ายน้อยไม่ถึง 50,000 บาท

อย่างไรก็ตาม อยากฝากผู้สนใจที่จะไปทำงานให้เตรียมความพร้อมด้านภาษาก่อนจะมีการสอบ โดยสามารถเรียนภาษาเกาหลีเบื้องต้นได้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีการเปิดสอนคอร์สเร่งด่วนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบคัดเลือกให้มากขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมามีผู้สมัครมากถึง 7,000 คน แต่ผ่านการคัดเลือกแค่ 2,000 คนเท่านั้น.

(สำนักข่าวไทย, 24-8-2553)

"สหรัฐ" ลงพื้นที่สมุทรสาครตรวจสอบการใช้แรงงานเถื่อน

นายบุญฤทธิ์ แสนพาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า คณะเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อตรวจสอบปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจส่งออกกุ้ง ซึ่งยังเป็นข้อกังวลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ในระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2553

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสมาคมแช่เยือกแข็งไทย ที่นำคณะเข้าตรวจเยี่ยมโรงงานต่างๆ โดยให้เห็นกระบวนการผลิตในสถานที่จริง ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแบบครบวงจร เช่น ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และขั้นตอนการแปรรูปอาหารทะเล ก่อนที่จะส่งออกไปยังต่างตลาดประเทศ ซึ่งจากการลงพื้นที่ยังไม่พบอะไรที่ส่อไปในทางการใช้การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด

นายบุญฤทธิ์ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการลักลอบการใช้แรงงานผิดกฎหมายในพื้นที่ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่มากและไม่รุนแรงอย่างที่เป็นข่าว เนื่องจากการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่และการร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งคอยตรวจสอบและควบคุมกันเอง ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างแน่นอน ส่วนที่พบว่า มีการใช้แรงงานเด็กคงเป็นการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน อาจเป็นแค่ลูกที่ช่วยพ่อแม่ทำงาน ไม่ใช่เป็นการบีบบังคับหรือทารุณเด็ก และก็ไม่ใช่เป็นงานเสี่ยงอันตรายอย่างที่เข้าใจ ซึ่งเอ็นจีโอในพื้นที่ได้เข้ามาช่วยสอนหนังสือให้เด็กเหล่านี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานวิจัย "การใช้แรงงานเด็กภาคประมง ต่อเนื่องประมง เกษตรกรรมและคนรับใช้ในบ้าน จังหวัดสมุทรสาคร”ของมูลนิธิกระจกเงา อ้างถึงข้อมูลจากสำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ในจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานเด็กไทย อายุระหว่าง 15-18 ปีที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 4,715 คน และข้อมูลจากเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ในพื้นที่มีแรงงานเด็กไทยและต่างด้าวรวมกันไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ประกอบการบางรายปกปิด และหลบเลี่ยงการตรวจตราการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาต และเมื่อตรวจสอบแรงงานเด็กต่างชาติก็มักตรวจสอบอายุไม่ได้ เพราะไม่มีเอกสารประจำตัว

(แนวหน้า, 24-8-2553)

ม.นอกระบบจี้สำนักงบฯจ่ายเงินเกษียณพนักงาน

เมื่อวันที่   24  ส.ค.2553  รศ.กิตติ ตรีเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่าขณะนี้ในส่วนของม.ในกำกับของรัฐใหม่ที่เพิ่งออกนอกระบบบ ได้แก่ สจล., ม.เชียงใหม่ ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ม.ทักษิณ และม.บูรพา กำลังมีปัญหาในเรื่องของเงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากยังไม่ได้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านี้ในแต่ละพระราชบัญญัติม.นอกระบบของแต่ละแห่ง ว่าจะต้องจัดสรรเงินเกษีณยอายุแก่พนักงานมหาวิทยาลัย เช่น ในส่วนของ สจล.ได้มีการจัดทำข้อบังคับฉบับใหม่ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับพรบ.ที่บังคับใช้แก่สถาบัน และได้ผ่านความคิดเห็นจากบุคลากรสถาบันมาแล้ว ซึ่งข้อบังคับของผู้เกษียณอายุ กำหนดที่อายุ 60 ปี โดยถือเอาปีงบประมาณเป็นหลัก แต่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้รับการยกเว้นให้สามารถคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่าจะครบวาระ หรือลาออกจากตำแหน่ง

รศ.กิตติ กล่าวอีกว่า  สวัสดิการของพนักงานก็กำหนดไว้ชัดเจน ทั้งพนักงานเดิม และพนักงานที่เปลี่ยนสถานภาพ ก็คือ มีการกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งก็หมายรวมถึงการเกษียณอายุตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาด้วย โดยกำหนดให้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด นั่นหมายความว่า ทำงานครบ 120 วัน ได้ค่าชดเชยขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 30 วัน และทำงานครบ 10 ปี จะได้ค่าชดเชย ไม่ต่ำกว่า 300 วัน นับเป็นสวัสดิการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะถือเป็นหลักประกันเมื่อว่างงาน

“ปีนี้สจล.มีพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเกษียณ ประมาณ 18คน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้นำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยมาจัดงบสรรเงินเกษียณแก่พนักงานมหาวิทยาลัยไปก่อน ทำให้มหาวิทยาลัยต้องนำเงินที่จะนำไปใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัยต่างอื่นๆ มาจ่ายเรื่องนี้แทน ส่งผลให้การทำงานในบางเรื่องของมหาวิทยาลัยต้องหยุดชะงัดลง อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าสำนักงบฯ อาจมีงบประมาณจำกัด แต่เงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัยก็มีความจำเป็นสำหรับพวกเขา และหากมหาวิทยาลัยไม่มีรายได้ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเกษียณก็จะไม่ได้เงิน ซึ่งนอกจากขัดกับพรบ.ของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยเกิดความไม่มั่นใจในการเป็นม.นอกระบบ เร็วๆ นี้ คาดว่าจะขอเข้าพบสำนักงบฯ เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว” อธิการบดีสจล.กล่าว

ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) กล่าวว่า มช.มีพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเกษียณในปีนี้ประมาณ 100-200 คนซึ่งก็มีปัญหาเรื่องงบเงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากยังไม่ได้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ ดังนั้นอาจจะแก้ปัญหาโดยนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยมาจัดสรรเป็นงบเงินเกษียณให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยไปก่อนส่วนเรื่องงบเงินเกษียณของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องไปหารือกับสำนักงบฯเพื่อแก้ปัญหาและให้ได้รับงบส่วนนี้มา

(คมชัดลึก, 24-8-2553)

บริษัทจัดหางานฯ ยื่นขอความเป็นธรรมส่งแรงงานไทยไปลิเบีย ยํ้าไม่เคยทอดทิ้ง

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศกสรรค์ สุวรรณสาร ผู้บริหารบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุธรรม นทีทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กรณีที่สื่อบางฉบับได้นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีที่ นายสนมศักดิ์ เพชรสังหาร แรงงานไทย ได้ร้องเรียนถึงปัญหาที่บริษัทจัดหางานเงินและทอง พัฒนาจำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดหาแรงงานให้ไปทำงานกับนายจ้าง arsel-bena wa tasheed joint venture ที่ประเทศลิเบีย โดยกล่าวหาว่านายจ้างได้กระทำผิดสัญญาว่าจ้าง โดยมีการจ่ายเงินเดือนและค่าทำงานล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างไม่ครบตามสัญญา ไม่จัดสรรสวัสดิการด้านที่พักอาศัยอาหาร ทำให้ลูกจ้างได้รับความอยากลำบาก มีการเรียกเก็บหัวคิวเพื่อให้ได้ไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ซึ่งถือเป็นการทำผิดระเบียบของกรมจัดหางาน และมีการหลอกล่วงและรอยแพคนงาน

โดยนายเศกสรรค์ ชี้แจงว่า ปัญหาเหล่านี้ได้มีการตรวจสอบจากทางเอกอัครราชทูต ณ กรุงติโปรลี โดยเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่กงศุล มีผลสรุปชัดเจนแล้วว่า ปัญหาเกิดจากการจ่ายเงินล่าช้า เพราะสภาพคล่องจากการที่รัฐบาลลิเบียติดค้างเงินแก่นายจ้าง ไม่ใช่นายจ้างเบี้ยวเงินอย่างที่กล่าวอ้าง และแรงงานทุกคนก็ได้รับค่าจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งคนงานส่วนใหญ่ยังสมัครใจทำงานต่อ และขอยืนยันว่าทางบริษัทไม่ได้ผิดข้อตกลง ในการส่งคนงานไปทำงาน เพราะคนงานทั้งหมดที่ไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าว ได้ทำงานจนครบกำหนดตามสัญญาว่าจ้างทุกคน ไม่ใช่เป็นเรื่องถูกลอยแพตามข่าว และบริษัทได้รับแจ้งจากนายจ้างว่า แรงงานเหล่านี้ได้รับเงินครบถ้วนทุกคน โดยมีหลักฐานการรับเงินที่ตรวจสอบได้ ส่วนแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาเมืองไทย เป็นการกลับมาเพราะครบกำหนดสัญญาว่าจ้างแล้ว และได้รับตั๋วเครื่องบินจากนายจ้างให้เดินทางกลับตามสัญญา ส่วนเรื่องค่าล่วงเวลานั้น เนื่องจาก ช่วงเวลาของประเทศลิเบียต่างกับประเทศไทย คือไม่มีเวลากลางวัน 12 ชม.และกลางคืน 12 ชม. แต่จะเป็นช่วงกลางวัน 14 ชม. และกลางคืน 10 ชม. จึงอาจทำให้เกิดความเข้าผิดในการคิดคำนวณค่าล่วงเวลา ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทางอธิบดีกรมการจัดหางานก็รับทราบดี

อย่างไรก็ตาม นายเศกสรรค์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ไม่รู้จักนายสนมศักดิ์ และไม่เคยจัดส่งบุคคลนี้ไปทำงานกับนายจ้างที่ลิเบีย และการส่งแรงงานไทยไปลิเบียของบริษัทไม่ได้เป็นการส่งไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวเพียงรายเดียว และเรายังได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากรัฐบาลลิเบีย และบริษัทเอกชนจำนวนมาก เพื่อให้จัดหาแรงงานไทยไปทำงานที่ลิเบีย ซึ่งปัญหาที่สื่อหยิบยกมากล่าวอ้าง เป็นปัญหาบริษัทนายจ้างเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบ ขอยืนยันว่าเราไม่เคยหลอกลวง ว่าในการจ้างงาน ที่ผ่านมาบริษัทก็ไม่เคยนิ่งนอนใจ และเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยตลอด อีกทั้ง หน่วยงานราชการของไทยได้เข้าไปตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทย ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยืนยันที่จะให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วนเรื่องเรียกค่าหัวคิวเราได้จัดเก็บค่าบริการตามระเบียบของกรมจัดหางาน และสามารถตรวจสอบได้

ด้านนายสุธรรม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการหลอกลวงแรงงานไทยถือเป็นเรื่องที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมหลายครั้ง เพื่อให้บริษัทจัดหางานให้ความเป็นธรรมกับการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ โดยการเรียกบริษัทจัดหางานประชุม และเชิญนายกฯ ลงสัตยาบันร่วมกันว่า จะจัดส่งแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวทางกระทรวงแรงงานจะมีนโยบายให้บริษัทนายจ้างลดค่าแรงงาน ที่เคยจัดเก็บคนงานในราคาแพง อย่างน้อยหัวละ 15,000 บาท ทั้งนี้ ได้มีการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาเงินกู้ให้กับแรงงานไทยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะให้ความสำคัญ และดูแลเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นข่าวในสื่อแค่ฉบับเดียว แต่ทางกระทรวงฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้ละเลย อย่างไรก็ตาม จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ นายสุธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวต้องแยกออกเป็น 2 กรณี คือ ถ้าผิดตามกฎหมายอาญาก็ต้องดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดหางาน แต่ถ้ามีความผิดในทางแพ่งคู่กรณีต้องฟ้องกันเอง ดังนั้น ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกลั่นแกล้งกันโดยไม่อยู่บนข้อเท็จจริง แต่มีผลประโยชน์แอบแฝง คงต้องมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งตนจะรีบเสนอเรื่องนี้ต่อ รมว.แรงงาน ว่า ที่ปรึกษาแรงงานไทยที่ประจำอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาเหนือให้ตรวจสอบก่อนว่า มีลูกจ้างเดือดร้อนจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ถ้าตรวจสอบพบข้อเท็จจริงได้ไม่ชัดเจน ก็จะตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งตนอาจเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อพิจารณาด้วย โดยจะเรียนเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังปัญหาด้วย

(แนวหน้า, 25-8-2553)

มศว. เร่งสวัสดิการพนักงานเข้ากองทุนประกันสังคม

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2553  ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงกรณีของพนักงานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒส่วนหนึ่งได้เข้ารับข้อมูลที่กองการเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมพื้นที่เขต 8 จัดให้ความรู้ในหัวข้อ “สวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัยและการเข้ากองทุนประกันสังคม” โดยมีพนักงานส่วนหนึ่งได้เข้าเรียกร้องสิทธิของตัวเองต่ออธิการบดีว่าขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังหาข้อมูลที่จะจัดการเรื่องสวัสดิการของพนักงานเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วและพนักงานที่กำลังจะเข้ามาทำงานใหม่ การจะจัดการในเรื่องนี้มีต้นทุนทางมหาวิทยาลัยต้องคิดคำนวณและเราก็ไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องสวัสดิการเหล่านี้ ซึ่งเท่าที่ทราบบางมหาวิทยาลัยก็ยังอยู่ในขั้นดำเนินการหาข้อมูลเช่นกัน จึงอยากให้พนักงานมหาวิทยาลัยอย่าเพิ่งใจร้อน ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยกำลังศึกษาและจะดำเนินการในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

 นอกจากนี้ ในเรื่องของการประเมินพนักงานมหาวิทยาลัยในสายอาจารย์นั้น ถ้าเป็นอาจารย์พนักงานที่ได้รับการบรรจุใหม่นั้นต้องทดลองงาน 4 เดือน จากนั้นจะมีการทำสัญญาจ้าง 1 ปี เมื่อเสร็จสิ้นสัญญาจ้างจะมีการต่อสัญญาจ้างเป็น 3 ปี แล้วถึงจะต่อเป็นสัญญาจ้าง 5 ปี ในกรณีที่มหาวิทยาลัยจะต่อสัญญาจ้างให้นั้นจะดูว่าอาจารย์คนนั้นได้พัฒนาตัวเองทำมากน้อยแค่ไหน ทำผลงานวิจัยหรือทำผลงานทางวิชาการหรือไม่ ได้ขยับตำแหน่งจากอาจารย์มาเป็นผศ. รศ. ศ.หรือไม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) ศาสตราจารย์ (ศ.) หรือไม่ ตลอดถึงพนักงานมหาวิทยาลัยที่รับเข้ามาในตำแหน่งอาจารย์จะต้องเรียนต่อในระดับปริญญาเอกภายใน 3 ปี สิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยกำหนดเป็นข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้พัฒนาและไม่ย่ำอยู่กับที่

 "ต่อแต่นี้ไปทุกคนนต้องเร่งพัฒนาตัวเองอีกทั้งการทำงานด้านการเรียนการสอน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องได้ครูอาจารย์ที่มีความกระตือรือร้นทางวิชาการและพัฒนาตัวเองโดยไม่หยุดยั้ง อย่าลืมว่าการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเราต้องได้ครูอาจารย์ที่พัฒนาตัวเองและทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ถ้ามศวไม่ตั้งกำหนดเป็นข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ ในลักษณะนี้ขึ้นมา เราก็จะไม่สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาตัวเองได้อีกในขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันและการประเมินตัวเองตลอดเวลา การส่งอาจารย์ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกนั้นทางมหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาให้ซึ่งก็ได้ทำการระดมทุนอย่างมากเพื่อส่งอาจารย์ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกให้มากที่สุด ในเรื่องเหล่านี้ก็ได้พูดและชี้แจงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอาจารย์จำนวนมากที่เข้าใจและไม่ออกมาเรียกร้อง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจและมีอาจารย์บางคนพยายามสร้างประเด็นเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง ขอบอกว่าถ้าอาจารย์ทำหน้าที่สอน วิจัย ทำผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่องไม่ต้องกลัวการประเมินเลย อีกทั้งการประเมินจะทำให้อาจารย์มีความก้าวหน้าในชีวิตอีกต่างหากด้วย" อธิการบดีมศว กล่าว

 ศ.ดร.วิรุณ กล่าวอีกว่า พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสวัสดิการ เงินเดือนแรกเข้าตลอดถึงการขึ้นเงินเดือนได้มากกว่าข้าราชการ ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยกำหนดข้อบังคับขึ้นมาเพื่อเราต้องการประเมินผลการทำงานเพราะมิฉะนั้นแล้วการทำงานก็จะเหมือนระบบราชการ เนื่องจากแต่เดิมระบบราชการก็เป็นระบบที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม จวบกระทั่งรัฐบาลเองได้ประกาศให้ราชการหมดไปจากสังคมไทย จึงไม่มีการรับข้าราชการเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ จวบถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้หน่วยงานราชการทุกแห่งจึงมีแต่พนักงานในสังกัด โดยที่ข้าราชการค่อยๆ หมดไปและจะมีพนักงานเข้ามาแทนที่ข้าราชการ

 ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.30 น.ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร กลุ่มตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 50 คน ได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรม 3 กรณี ได้แก่1.การที่มหาวิทยาลัยระเบียบออกข้อบังคับมศว.ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 ได้บัญญัติเรื่องการจ้างงาน การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานแตกต่างไปจากเดิม โดยไม่มีการบรรจุอีกต่อไป มีแต่การจ้างงานตามสัญญาเป็นระยะๆ คราวละไม่เกิน 5 ปี และยกเลิกระเบียบพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2544 ที่กำหนดว่าพนักงานมศว ที่ทำงานครบ 5 ปี และผ่านการประเมินการปฎิบัติงาน จะได้รับการคุ้มครองความมั่นคงในการทำงาน เพราะจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ

 2.การประกาศการจ้างงานและสัญญาการจ้างงานที่บั่นทอนพนักงานมศว.สายวิชาการ (คณาจารย์) ส่งผลให้พนักงานสายอาจารย์ถูกบังคับให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากไม่ทำตำแหน่ง ผศ. ,รศ. หรือเรียนจบปริญญาเอกในระยะเวลาที่กำหนด อาจถูกเลิกสัญญาจ้างงาน และ3.ประกันสังคมตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกละเลย โดย3 ประเด็นข้างต้นได้สร้างความเดือนร้อนแก่มหาวิทยาลัยประมาณ 1,000 กว่าคน จากพนักงานมหาวิทยาลัย 2,000 คน

 นายมงคล ศริวัฒน์ กรรมการสภาคณาจารย์มศว  กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนไม่เสียผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวเนื่องจากตนเป็นข้าราชการไม่ใช่พนักงานมหาวิทยาลัย แต่ตนได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการจ้างงาน และสวัสดิการ เนื่องจากการจ้างงานคราวละ 5 ปี ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำนิติกรรมทางการเงินกับสถาบันต่างๆ หรือแม้แต่กู้สหกรณ์ของมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ ส่วนเรื่องสวัสดิการ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ให้สวัสดิการ 15,000 บาทต่อปีในการดูแลค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร และไม่มีประกันสังคมให้ แต่พอมาตอนนี้มหาวิทยาลัยกลับมาบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยเข้าหลักประกันสังคม ภายในเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากมีกฎหมายแรงงาน ออกมาให้หน่วยงานต่างๆ ทำประกันสังคม หรือหลักประกันที่ดีกว่าแก่พนักงาน เนื่องจากกลัวถูกพนักงานฟ้องร้อง และไม่มีการแจ้งพนักงานมหาวิทยาลัยล่วงหน้า ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ 10 ปี ไม่มีการทำประกันสังคม

 "เวลามหาวิทยาลัยทำอะไรไม่เคยแจ้งให้พนักงาน คณาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับทราบ มีแต่การตัดสินใจในระดับผู้บริหารและดำเนินการทันที หรือถ้ามีการทำประชาพิจารณ์ต่อให้สภาคณาจารย์ไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร มหาวิทยาลัยไม่เคยนำมาทบทวน แต่กลับไปประกาศใช้ทันที และหากใครออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมมากๆ ก็จะถูกสอบส่วนและพิจารณาความผิดเพื่อให้ออกจากราชการ เช่นเดียวกับอ.สุรภล จรรยากูล ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมศว.ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยผลิตครูที่เก่าแก่ แต่ทำอะไรทำไมไม่เคยนึกถึงครูบาอาจารย์ พนักงานของมหาวิทยาลัยบ้าง"นายมงคล กล่าว

 นางศศิธร ทิมทอง พนักงานมศวในส่วนของศูนย์การแพทย์ องค์รักษ์ กล่าวว่า  ตนยอมลาออกจากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อมาทำงานที่มศว.เนื่องจากโดยส่วนตัวมองว่าการมาทำงานในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการ จะสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัวได้ และจากระเบียบข้อบังคับพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2544 ได้มีการกำหนดไว้ว่า หากทำงานครบ 5 ปี และผ่านการประเมินจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ แต่พอทำงานครบ 6 ปี ทั้งที่ต้องได้รับการบรรจุ กลายเป็นว่าทางมหาวิทยาลัยออกระเบียบข้อบังคับใหม่ ทำให้ตนไม่ได้รับบรรจุ ตอนแรกงงมาก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยไม่ได้มีการประกาศอะไร และเพิ่งมารู้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ว่ามหาวิทยาลัยได้มีการออกระเบียบข้อบังคับฯใหม่แล้ว และเมื่อได้ดูข้อบังคับใหม่ฯ รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่อตนเองอย่างมาก

 “ตอนนี้ทำงานมา 6 ปีแล้ว ยังได้เงินเดือนประมาณกว่า  10,000  บาท แถมเงินชดเชยเมื่อทำงานนอกเวลาก็ไม่ได้ลาป่วย ลาพักร้อน ก็ถูกหักเงิน แถมสวัสดิการที่ได้รับ 15,000 บาทต่อปี ตามหลักหากไม่ได้ใช้เงิน สวัสดิการ หรือลาออก ต้องได้รับเงินสวัสดิการเหล่านั้นกลับมา แต่กลายเป็นว่า หากเราลาออกเงินส่วนนั้นก็หายไป ไมได้รับคืน ก็ไม่เข้าใจว่าหายไปไหน ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรออกมาชี้แจ้งว่าเงินหายไปไหน ไม่ใช่นิ่งเฉยหรือมีการทวงติงแล้วไม่รับฟังอย่างที่ผ่านมา ซึ่งหากผู้บริหารม.ไม่ทำการแก้ข้อบังคับฯ ทางพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์การแพทย์ประมาณ 900 -1,000 กว่าคน คงต้องทำการล่ารายชื่อและร้องขอความเป็นธรรมไปยังศาลปกครองต่อไป และหากทำอะไรไม่ได้จริงๆ เชื่อว่า ทุกคนคงลาออกไปอยู่ที่อื่น” นางศศิธร กล่าว

 ผศ.ดร.ศิริพร ปัญญาเมธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคม มศว  กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนไม่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องพนักงานสายอาจารย์ถูกบังคับให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ทำตำแหน่งผศ.,รศ.ในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะถูกยกเลิกการจ้างงาน แต่เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเพื่ออาจารย์จำนวนไม่น้อย เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากได้ตำแหน่งผศ.รศ. และจบป.เอก แต่ระบบการทำงานของมศวไม่เอื้อให้อาจารย์มีเวลามากพอในการทำตำแหน่งทางวิชาการเหล่านั้น  เนื่องจากตามสัญญาจ้างงานได้กำหนดให้อาจารย์ต้องทำการสอน ทำงานวิจัย ทำนุบำรุงมหาวิทยาลัย และภารกิจอีกมากมาย การที่จะให้อาจารย์เรียนต่อป.เอก ผศ.รศ.ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  ดังนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรมีการจัดระบบการเรียนการสอน การบริหารที่เอื้อให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเรียนต่อ หรือทำตำแหน่งทางวิชาการด้วย


(คมชัดลึก, 25-8-2553)

บุรีรัมย์ขู่ขึ้นบัญชีดำนายหน้าตุ๋นขายแรงงานนอก

นายสุวรรณ์  ดวงตา   จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์  กล่าววา  ได้ออกมาแจ้งเตือนคนหางานและผู้ว่างงาน ให้ระมัดระวังกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ หรือสาย นายหน้าเถื่อน หลอกลวงไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ผ่านกรมการจัดหางาน   ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียทรัพย์สิน  หลังตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ได้มีแรงงานถูกสาย และนายหน้าเถื่อน หลอกลวงไปทำงานยังต่างประเทศ เข้ามาร้องทุกข์ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดให้ช่วยเหลือแล้วจำนวน 102  ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 6,500,000 บาท เฉลี่ยรายละตั้งแต่ 5,000 – 80,000 บาท

นายสุรรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่สถิติปี 2552 ที่ผ่านมาได้มีแรงงานถูกหลอกเข้าร้องเรียนถึง 191 ราย สูญเงินไปกว่า 11 ล้านบาท โดยส่วนมากจะถูกหลอกไปประเทศกาตาร์  และบาห์เรน   อย่างไรก็ตามสำหรับแรงงานที่ถูกหลอกเข้ามาร้องทุกข์  ทางจัดหางานก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือติดตามนำเงินมาคืนให้กับแรงานได้แล้วบางส่วน   ที่เหลืออีกบางส่วนกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ   ติดตามจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  

ทั้งนี้ส่วนมาตรการในการป้องกันปัญหาการหลอกลวงแรงงาน   ทางจัดหางานก็ได้มีการสร้างเครือข่ายในการแจ้งเบาะแส พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำให้ความรู้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบล เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ   นอกจากนั้นยังจะมีการขึ้นบัญชีดำ บริษัท สาย และนายหน้าเถื่อน ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงแรงงานไว้ เพื่อประสานหน่วยเฉพาะกิจของกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เข้าไปติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย  ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อเหตุหลอกลวงแรงงานซ้ำอีก 

(โพสต์ทูเดย์, 25-8-2553)

 

จี้ รมว.แรงงาน เร่งออกกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน หลังโดนดอง 5 ปี

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ตนจะเข้ายื่นข้อเสนอเรื่องการพัฒนาชีวิตแรงงานคนทำงานบ้านต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการประกาศกฎกระทรวงเรื่องการคุ้มครองคนทำงานบ้าน เนื่องในโอกาสวันคนทำงานบ้านสากล 28 ส.ค. 2553 รวมทั้งขอให้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานครอบคลุมไปถึงอาชีพคนทำงานบ้านด้วย เนื่องจากปัจจุบันอาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพที่ถูกยกเว้นในกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนแรงงานประเภทอื่นๆ

“ใน 5 ปีที่ผ่านมามีการยกร่างกฎกระทรวงเรื่องการคุ้มครองคนทำงานบ้านแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีการประกาศใช้เสียที ดังนั้นในระยะสั้นเราจึงเรียกร้องให้รมว.แรงงานกำชับเจ้าหน้าที่รีบเสนอร่างฯให้รมว.เซ็นอนุมัติโดยเร็วเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีอยู่แล้ว”นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า เมื่อมีการประกาศใช้กฎกระทรวงบังคับใช้จะทำให้มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เช่น จำนวนวันหยุด การคุ้มครองความเจ็บป่วยจากการทำงานและจำนวนชั่วโมงการทำงาน ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าตัวเลขผู้ทำงานบ้านในปี 2550 มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 4 แสนคน แบ่งเป็นคนไทยที่ทำงานบ้านในไทย 2.2 แสนคน คนต่างชาติที่ทำงานบ้านในไทย 1.5 แสนคน และคนไทยที่ทำงานบ้านในต่างประเทศอีก 2.5 หมื่นคน

(แนวหน้า, 26-8-2553)

แรงงานไทยขุดทองต่างประเทศเพิ่มขึ้น 8.5%

นายสุธรรม  นทีทอง  โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงตัวเลขการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศว่า  ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึง ก.ค. 2553 พบว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.2 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 8.5% หรือ  821 คน เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกวิธีการเดินทางไปต่างประเทศแบ่งออกเป็น 5 แบบ คือ 1.เดินทางผ่านบริษัทจัดหางาน มีสัดส่วน 41% หรือ 4,343 คน 2.นายจ้างจัดส่งไป คิดเป็น 31% หรือ 3,292 คน  3.เดินทางไปเองคิดเป็น 22% จำนวน 2,345 คน 4.นายจ้างส่งไปฝึกงาน 2% จำนวน 290 คน และ 5.กรมจัดหางานจัดส่งไป 1% หรือ 206 คน 

หรือหากแบ่งตามระดับฝีมือพบว่าเป็นแรงงานฝีมือจำนวน 2,089 คน เป็นแรงงานไร้ฝีมือถึง 8,387 คน

สำหรับประเทศที่แรงงานไทยเดินทางไปมากที่สุดคือ ประเทศสวีเดน มีจำนวนถึง 3,123 คน รองลงมาเป็น ไต้หวัน 2,879 คน ประเทศฟินแลนด์ 1,402 คน  ลิเบีย 523 คน อิสราเอล 453 คน ญี่ปุ่น 282 คน สิงคโปร์ 220 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรท 219 คน เกาหลี 207 คน และบรูไน 139 คน

ทั้งนี้หากแยกประเภทตำแหน่งงานพบว่าในกลุ่มทวีปเอเชีย แรงงานไทยส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงานประเภทชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิก ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ พลาสติก เครื่องจักกล ส่วนกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและยุโรปเป็นงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม และแถบอาฟริกาเป็นงานเกี่ยวกับช่วงไม้ ช่างเหล็ก ช่างปูน ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ 

ส่วนเงินที่ส่งกลับมายังประเทศผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2553 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.13% หรือ 1,313 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนปัญหาการร้องเรียนพบว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 1,893 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 646 ราย ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือนายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง และได้งานไม่ตรงกับตำแหน่ง โดยกระทรวงแรงงานได้ทำการช่วยเหลือไปแล้ว 1,793 ราย

(โพสต์ทูเดย์, 27-8-2553)

เตือนแรงงานไทยเลี่ยงนำยาแก้ปวดลดไข้เข้าไต้หวัน (สำนักข่าวไทย, 27-8-2553)

นายสุรพงษ์ เภาอ่อน จัดหางานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานแจ้งมายังสำนักงานจัดหางานจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประกาศเตือนแรงงานไทยจะไปทำงานในไต้หวันระวังการนำยาแก้ปวดลดไข้ติดตัวไปด้วย เพราะอาจมีความผิด เนื่องจากสำนักงานอาหารและยาของไต้หวันประกาศผ่านรายการวิทยุภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุอาร์ทีไอ (Radio Taiwan International) เตือนไม่ให้นำยาแก้ปวดลดไข้บางยี่ห้อเข้าในไต้หวัน เนื่องจากยาเหล่านี้มีส่วนผสมของตัวยาพีพีเอ หรือฟีนิลโปรปาโลนามี ซึ่งเป็นยาต้องห้ามออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2

ทั้งนี้ การนำเข้ายาใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของไต้หวัน โดยให้เหตุผลว่าแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันทุกคนมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว สามารถไปรักษากับแพทย์ จึงไม่ควรซื้อยารับประทานเองหรือให้ญาติส่งยาสำเร็จรูปมาให้ เพราะอาจไม่ตรงกับโรคที่เป็น และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้อาการลุกลามยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาสำนักงานอาหารและยาของไต้หวันได้ตรวจยึดทำลายยาจากผู้ส่งมาให้แรงงานต่างชาติทางพัสดุไปรษณีย์ปีละหลายตัน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย และหากยาดังกล่าวเป็นยาต้องห้ามหรือสารเสพติดจะส่งให้อัยการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีแรงงานไทยถูกเรียกตัวไปขึ้นศาลสอบปากคำแล้วกว่า 10 ราย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาตามมาหรือทำผิดกฎหมายขอเตือนแรงงานไทยไม่ควรนำยาชนิดใด ๆ เข้าไต้หวัน หากมีข้อสงสัยรายละเอียดสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิษณุโลก โทร. 0-5524-6257 0-5524-6257 ทุกวันและเวลาราชการ

(สำนักข่าวไทย, 27-8-2553)

"เฉลิมชัย"รอคลังสรุปขึ้นค่าแรง 250 บาท

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวัน ตามที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยให้คำมั่นเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปที่กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาแล้ว ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็จะนำไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ ในเรื่องการลดหย่อนภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทภาษีรายได้ ภาษีนำเข้าเครื่องจักร หรือภาษีอื่นๆ เพื่อที่จะให้มันเกิดการสมดุลกัน

นอกจากเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ก็ต้องไปดูในส่วนของภาคการเกษตรด้วย เพราะเมื่อมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ก็จะต้องบังคับใช้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่มันจะไปกระทบก็คือภาคการเกษตร ก็ต้องแยกส่วนไปดูว่าเราจะไปช่วยเหลือภาคการเกษตรอย่างไรบ้าง เนื่องจากถ้าค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมันส่งผลกระทบในภาพรวมในแง่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปดูแลส่วนนี้

“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นแบบใด คงต้องรอให้กระทรวงการคลังตอบกลับมาก่อน ส่วนที่ท่านนายกฯบอกว่าจะปรับแบบก้าวกระโดดนั้น ผมก็ตอบไม่ได้ว่าคำว่าก้าวกระโดดมันเป็นกี่บาท แต่ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่บาทเดียวแน่นอน ” นายเฉลิมชัยกล่าวและว่า ส่วนที่เกรงว่าทางผู้ประกอบการจะไม่เอาด้วยนั้น เรื่องนี้คงต้องรอดูสรุปของทางกระทรวงการคลังออกมาก่อน ขณะที่กระทรวงแรงงานเราก็มีคณะกรรมการค่าจ้างกลางระบบไตรภาคี ที่มีทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ราชการ ที่จะต้องหารือกันอีกครั้ง
 
(เนชั่นแชนแนล, 27-8-2553)

เครือข่ายคนทำงานบ้านเข้ายื่น 4 ข้อเสนอคุ้มครองสิทธิต่อรัฐมนตรีแรงงาน

ที่สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM) เครือข่ายแรงงานทำงานบ้าน มูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า  มูลนิธิMAP  มูลนิธิเพื่อนหญิง  หน่วยพัฒนาและบรรเทาทุกข์แห่งประเทศไทย(ADRA) ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล(สสส.) ได้เข้ายื่นข้อเสนอในการคุ้มครองอาชีพคนทำงานในบ้านต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยในการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้มีตัวแทนคนทำงานบ้านทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติกว่า 50 ชีวิต

นางสุจิน รุ่งสว่างประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบในฐานะตัวแทนยื่นข้อเสนอกล่าวว่าที่ผ่านมามีแรงงานที่ทำงานในบ้านมากถึง 4 แสนคน สร้างเม็ดเงินสะพัดทั้งสิ้น 2หมื่น 7 พันล้านบาทโดยมีอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างให้กับตัวของแรงงานเอง ที่ผ่านมาแรงงานทำงานบ้านถูกมองในทางมิติเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นแรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือการคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน  รวมถึงการเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมต่างๆที่ควรได้รับ จึงส่งผลให้แรงงาน ประสบปัญหาการถูกขูดรีดค่าจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม  การเอาเปรียบการทำงานที่มีชั่วโมงยาวนาน ไม่มีวันหยุดพักผ่อนที่แน่นอน ทำงานเพียงคนเดียวแต่ต้องรับใช้คนในบ้านหลายคน บางรายถูกควบคุมการตัดเสรีภาพในการสื่อสารต่อคนภายนอก และที่ยิ่งน่าเป็นห่วงคือกรณีคนทำงานบ้านที่เป็นผู้หญิงหลายรายต้องตกอยู่ในสภาวะความไม่ปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย และบางรายต้องจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย หรือถูกฆาตกรรมโดยนายจ้างหรือโจรขโมย

ทั้งนี้ทางเครือข่ายได้ทำข้อเสนอเพื่อยื่นต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร 4 ข้อดังต่อไปนี้  1)ข้อให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ออกประกาศกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน ซึ่งมีคณะทำงานยกร่างประกาศฯฉบับนี้ที่อยู่กับกองนิติการกระทรวงแรงงาน แต่เป็นเวลา 5 ปีที่ไม่มีความคืบหน้าในการจะออกมาเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้จริง 2) ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทน ราษฎร ได้เร่งให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการยกร่าง เพื่อให้ข้อยุติและเสนอร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการประกาศใช้คุ้มครองแรงงานในภาคส่วนนี้ต่อไป 3)ในระยะยาวขอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ได้แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยบัญญัติว่าจะต้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานบ้านอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ 4)ขอให้รัฐบาลจัดทำนโยบายและแผนงบประมาณ เพื่อการส่งเสริม พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน เช่นการจัดทำหลักสูตรและการฝึกอบรม การให้บริการ การทำอาหารอย่างมืออาชีพ  อีกทั้งเปิดโอกาสให้ได้รับการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยการไปฝึกอบรมและการไปศึกษา  นายจ้างต้องอนุญาตให้ไปตามคำร้องขอของลูกจ้าง และต้องจ่ายค่าจ้างเสมือนการมาทำงานให้กับนายจ้างตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่าจะเร่งดำเนินการเรื่องประกาศกฎกระทรวงคนทำงานบ้านให้สำเร็จใน ระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่างแน่นอน และสำหรับในประเด็นเรื่องสวัสดิการต่างๆที่เรียกร้องมานั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการดูแลอยู่ จึงขอให้ทุกฝ่ายมีความสบายใจได้ และคิดว่าคงจะใช้เวลาดำเนินการไม่นานนักในการออกกฎกระทรวงฉบับนี้ความจริง  ซึ่งความจริงประเด็นที่เรียกร้องเหล่านี้แล้วล้วนเป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นนโยบายของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น การที่ตนมาทำงานก็ถือว่าเป็นการมาทำงานให้นายกรัฐมนตรี  แต่การจะออกกฎหมายอะไรนั้นจะต้องมีความรอบคอบ และต้องศึกษาให้ดีในแต่ละประเด็น จึงควรจะต้องใช้เวลาสักหน่อยเพราะเนื่องจากกฎหมายที่ออกในแต่ละฉบับย่อมส่งผลกระทบกับทุกคนและสังคม เพราะถ้าออกกฎหมายมาบางเรื่องที่คนทำงานบ้านยอมรับแต่ฝ่ายอื่นหรือส่วนอื่นๆไม่ยอมรับก็คงจะไม่ดีแน่ เพราะเนื่องจากกฎหมายคือสิ่งที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้  และสำหรับในเรื่องสวัสดิการต่างๆคิดว่าทางกรามสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพร้อมดำเนินการ ตนมั่นใจว่า 28 สิงหาคมในปีถัดไป ซึ่งตรงกับวันคนทำงานบ้านสากลจะทำให้เรื่องนี้เสร็จเรียบร้อย อะไรที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานอยู่แล้ว อย่างน้อยก็เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเพราะอะไรที่เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้

 (แนวหน้า, 27-8-2553)

คนตรังแห่เข้าสวนยาง-ปาล์มปุ้มปุ้ยใช้แรงงานกัมพูชาแทน

นางพัฒนา พันธุฟัก แรงงานจังหวัดตรังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นภายหลังเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น ปัจจุบันบริษัท หรือโรงงานต่าง ๆ ที่เคยลดการผลิตและเลิกจ้างแรงงานมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก

การวิเคราะห์ของสถาบันต่าง ๆ มองว่าการขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับล่างและแรงงานฝีมือเป็นผลมาจากการควบคุมการเกิดของประชากร ส่งผลให้ประชากรที่จะเข้าสู่วัยทำงานขยายตัวลดลง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการวัยทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น  และหน่วยผลิตกำลังคนมีการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมที่ยืดหยุ่นสูง

จากสาเหตุดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานแรงงานจังหวัดตรังได้จัดสัมมนาการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนสถานการณ์ของปัญหาความต้องการแรงงานและการขาด แคลนแรงงานในปี 2553 และแนวโน้มของปัญหาในอนาคต โดยเปิดเวทีหารือระหว่างผู้ประกอบกิจการ สภาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง สมาชิกหอการค้า จังหวัดตรังตัวแทนองค์กรหรือสมาคมด้านการท่องเที่ยวการเกษตรและประมง คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตรัง ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง บุคลากรจากภาคการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพทั้งระดับอุดมศึกษาและต่ำกว่า และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งเริ่มประสบปัญหา เนื่องจากช่วงเศรษฐกิจไม่ดีก็เลิกจ้าง พอเศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องการแรงงานเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาก็คือ ช่วงนี้ราคายางพารา ปาล์มน้ำมันดีขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม ไม่กลับมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

"ถือว่าเป็นปัญหาพอสมควร ผู้ประกอบการหลายแห่งจึงได้แก้ปัญหาโดยการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เช่น บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ปุ้มปุ้ยปลายิ้มก็ได้นำแรงงานกัมพูชาที่ทางรัฐบาลไทยไปทำ MOU กับประเทศกัมพูชาเข้ามาทำงานเนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง" นายสลิลกล่าว

ด้านนายอรุณ หมัดเหล็ม หัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดตรัง กล่าวถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศว่า พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศได้เดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศทุกคนต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานฯทุกคน

ทั้งนี้อัตราค่าสมัครจะแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มทวีปยุโรปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวันเกาหลี คนละ 500 บาท 2.กลุ่มบรูไน กาตาร์คูเวต ทวีปเอเชีย คนละ 400 บาท และ3.กลุ่มประเทศอื่น ๆ คนละ 300 บาท

(ประชาชาติธุรกิจ, 28-8-2553)

บีโอไอคลอดเกณฑ์ใช้แรงงานต่างด้าว

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว สำหรับบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบีโอไอชุดใหญ่ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 13 ก.ย.นี้ ซึ่งจะไม่ให้กับบริษัทที่ลงทุนใหม่ ต้องเป็นบริษัทที่เคยได้รับบีโอไอมาก่อนและใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอหมดแล้ว และขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยต้องเป็นบริษัทที่ลงทุนในไทยมานานกว่า 20 ปี เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท แรงงานต่างด้าวที่นำมาใช้ต้องถูกกฎหมาย และมีสัดส่วน 15% ของแรงงานที่จะจ้างใหม่

ทั้งนี้ มีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อยู่ 1 แห่งที่ขอใช้สิทธิ์แรงงานต่างด้าวกับบีโอไอมาแล้ว ซึ่งเท่าที่สำรวจพบว่ามีบริษัทที่เข้าเกณฑ์สามารถขอใช้แรงงานต่างด้าวได้มากกว่า10 แห่ง บริษัทเหล่านี้คงรอดูหลักเกณฑ์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และคงต้องรอดูข้อสรุปจากคณะกรรมการบีโอไอว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เคยหารือในคณะกรรมการบีโอไอมาแล้วแต่ส่งกลับมาให้พิจารณาใหม่

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการนโยบายส่งเสริมการลงทุนยังได้พิจารณาในเรื่องของการสนับสนุนส่งเสริมการตั้งศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและยุโรปสนใจที่จะมาตั้งศูนย์ข้อมูลในไทยมากขึ้น โดยจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีในทุกเขต พร้อมกันนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนการคัดกรองคุณภาพข้าวแบบครบวงจรตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงส่งออก เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างบ้านที่พักอาศัยในเขต 1 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมอีก 6 จังหวัด และขยายวงเงินเป็น 1.2 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาทจากที่สมาคมก่อสร้างเสนอขอให้ขยายวงเงินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท โดยเรื่องทั้งหมดจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอวันที่ 13 ก.ย.เช่นกัน

(ข่าวสด, 28-8-2553)

จัดหางานทำสงครามสาย-นายหน้าเถื่อน

กรมการจัดหางาน - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่กรมการจัดหางานรับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้นำนโยบายด้านแรงงานของนายกฯ แถลงต่อรัฐสภาแสดงความห่วงใยแรงงานไทยที่ต้องการให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม โดยให้กระทรวงแรงงานดำเนินมาตรการเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย ตลอดจนปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรม กรมการจัดหางานจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภาครัฐและเอกชน โดยเชิญผู้รับอนุญาตจัดหางานทั่วประเทศมาร่วมกำหนดมาตรการและโครงการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ข้อสรุปว่ากรมการจัดหางานและผู้รับอนุญาตจัดหางานร่วมกันทำสัตยาบัน แสดงเจตนารมณ์ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ นำไปยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกสัตยาบันนั้นว่า "ปฏิญญา 3 สิงหา เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี"

นอกจากนี้ การตั้งชุดเฉพาะกิจปราบปรามสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน โดยจะดำเนินการกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มงวดต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อกดดันให้สาย/นายหน้าเถื่อนเข้ามาอยู่ในระบบมีสังกัดที่ชัดเจนและมีบัตรลูกจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะพยายามทำสัญญาจัดส่งแรงงานไปทำงานกับประเทศคู่ค้าแบบรัฐต่อรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงคนหางาน

(ข่าวสด, 28-8-2553)

ชาวหาดเสี้ยวโวยบ.รับเหมา เบี้ยวค่าแรงโครงการไทยเข้มแข็ง

สุโขทัย:ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้าน ต.หาดเสี้ยว พร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 50 คน ได้รวมตัวกันประท้วงที่ด้านหน้าโครงการระบบส่งน้ำและอาคารประกอบโครงการชลประทานชุมชน (แม่สูง) บ้านป่างิ้ว ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อเรียกร้องขอค่าแรงและค่าเครื่องจักรในการทำงานให้โครงการไทยเข้มแข็งแล้วไม่ได้รับเงินจากเจ้าของโครงการ คือชลประทาน

นายชัยนันท์ สงค์มณี ชาว ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ผู้รับงานเครื่องจักร รถแบ็คโฮล สิบล้อ ทั้งหมด 25 คัน กล่าวว่า ตนได้ถูกว่าจ้างมาทำงานโครงการส่งน้ำของชลประทานตั้งแต่เดือน ก.พ. 2553 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินค่าแรงในการทำงานเลย ซึ่งตนทราบมาว่าทางรัฐบาลได้จ่ายเงินมาแล้วก้อนหนึ่งจำนวน 20 กว่าล้านบาท ให้บริษัทที่รับงานจากชลประทานแต่ไม่ยอมจ่ายให้คนงาน จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบ โดยกลุ่มคนงานที่มารวมตัวกันประท้วง จะให้แกนนำทำหนังสือยืนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย แรงงานจังหวัด กรมชลประทาน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อไป

นายบุณลือ ตรีพรหม นายช่างชลประทานชำนาญงาน หัวหน้าควบคุมงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการส่งน้ำดาดคอนกรีตยาว 22.304 กม. เริ่มโครงการวันที่ 10 ก.พ. 2553 สิ้นสุด 30 มี.ค. 2555 ด้วยงบประมาณไทยเข้มแข็ง 95,540,000 บาท โดยมีบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นผู้รับจ้าง แต่ชาวบ้านและคนงานที่มาร้องเรียนนั้นทราบว่าเป็นคนงานของบริษัท ทริปเปิ้ล มิลเลี่ยน คอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทเหมาช่วงจากบริษัทแรกอีกทอดหนึ่ง โดยเงินของโครงการได้จ่ายให้กับบริษัทรับเหมาไปแล้วเบื้องต้น 20 กว่าล้านบาท ส่วนจะนำไปจ่ายให้กับคนงานหรือไม่นั้นโครงการไม่ทราบ แต่การที่มีบริษัทผู้รับจ้างได้จ่ายงานให้กับบริษัทอื่นนั้น แล้วแต่จะทำสัญญากันเอง แต่บริษัทผู้รับจ้างจะกระทำการใดๆ ต้องแจ้งให้โครงการทราบ หากทำโดยพละการถือว่าผิดระเบียบอาจถูกยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิ์ได้

ด้านนายปองพล ถาวรวงศ์ ประธานบริษัท ทริปเปิ้ล มิลเลี่ยน คอนส์ กล่าวว่า ตนเป็นบริษัทซึ่งรับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งได้ทำสัญญาไว้กับบริษัทดังกล่าว โดยได้นำคนงานและเครื่องจักรเข้ามาทำงานให้โครงการทั้งหมดใช้เงินไปแล้ว 16 ล้านกว่าบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว โดยบริษัทรับเหมาโครงการอ้างว่าตนหยุดงานไป 3 เดือน จึงไม่ยอมจ่ายเงินให้ แต่ตนมีหลักฐานการทำงานซึ่งได้ถ่ายรูป ระบุเวลาวันที่ไว้ชัดเจนว่าไม่เคยหยุดงานเลย จึงอยากให้ชลประทานลงมาตรวจสอบความชัดเจน

(แนวหน้า, 29-8-2553)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: บารมี ชัยรัตน์ และมนตรี จันทวงศ์ NGO บทเรียน และบทบาทที่สวนทางภาคประชาชน

Posted: 30 Aug 2010 02:24 AM PDT

บารมี ชัยรัตน์ NGO ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการ กป.อพช.เหนือ ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 27 บารมี ชัยรัตน์ NGO ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
 
 
“เราคิดว่าภาคประชาชนแต่ก่อนมันเป็นคำที่มีพลังแล้วก็มีนัยยะของการต่อสู่ เวลาแต่ก่อน สิบกว่าปีที่ผ่านมาพูดถึงภาคประชาชนเราจะนึกถึงอะไรซักอย่างที่มันไปแสดงจุดยืน กำกับ คัดค้าน หรือว่าเห็นต่าง หรือแม้กระทั่งเห็นด้วยกับการเมืองในระบบ แต่ว่ามันไม่ใช่การเมืองในระบบ มันเป็นตัวของมันเอง” 
 
“แต่ปัจจุบัน คำว่าภาคประชาชนมันดูหลากหลาย มันมีความหมายที่... มันถูกลดทอนความหมายของมันไป ใครก็อ้างตัวเองว่าเป็นภาคประชาชนได้ เป็นภาคประชาชนเพื่อไปรับใช้อะไรบ้างก็ไม่รู้ บางที่ก็อ้างตัวว่าเป็นภาคประชาชนเพื่อที่จะไปหาผลประโยชน์มากกว่าที่จะมีจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” 
 
“จริงๆ แล้วเอ็นจีโอน่าจะเป็นบทบาทเด่นของคำว่าภาคประชาชนในอดีต เอ็นจีโอกับภาคประชาชนในอดีตมันน่าจะเป็นอะไรที่มันเป็นเนื้อเดียวกันแล้วก็แยกแยะออกจากันยาก ผมคิดว่าเป็นจีโอน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำว่าภาคประชาชน ในการนำเสนอของมูลหรือว่าในการเจรจา ในการต่อรองอะไรกับรัฐ แต่ว่าปัจจุบัน ผมคิดว่าเอ็นจีโอเองเริ่มมีอะไรที่ต่างจากความเป็นภาคประชาชนมากขึ้น เอ็นจีโอก็มีจุดยืน มีแนวคิด มีทิศทางอะไรของเอ็นจีโอ ซึ่งผมคิดว่า...ไม่รูสิ มันไปด้วยกันไม่ได้แล้ว ระหว่างเอ็นจีโอกับภาคประชาชน”
 
“เอ็นจีโอก็อาจจะประกาศว่าเป็นภาคประชาชนส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่ว่าคำว่าเอ็นจีโอไม่เท่ากับภาคประชาชนเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว”
 
“ผมคิดว่าสถานะของเอ็นจีโอมันเปลี่ยนไป จากการที่ทำงานในส่วนที่รัฐขาด หรือว่าทำงานที่คอยติดตามตรวจสอบรัฐ เข้ามาร่วมมือ เข้ามาทำงานอะไรร่วมกับรัฐมากขึ้นแล้วก็ในทิศทางที่มันค่อนข้างต่างกับชาวบ้าน กับภาคประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเห็นได้ชัดเลยว่าทิศทางของเอ็นจีโอกับทิศทางของชาวบ้านเป็นคนละเรื่องกัน” 
 
“เพราะฉะนั้นบทบาทของเอ็นจีโอในอนาคตก็... ก็คงจะเป็นบทบาท เป็นตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมากกว่า ถ้าเอ็นจีโอจะอยู่ได้ ส่วนที่บอกว่าเอ็นจีโอจะตองเป็นฝ่ายสนับสนุนชาวบ้าน ไปให้ข้อมูลชาวบ้าน อันนี้ผมคิดว่าชาวบ้านเขามีศักยภาพในการทำงานด้วยตัวเองได้” 
 
“เอ็นจีโออาจจะต้องแยกตัวจากชาวบ้านให้ชัดเจน แล้วก็ไปเป็นเครื่องมือหรือกลไกหนึ่งของรัฐ ถ้าเอ็นจีโออยากจะอยู่ต่อไป” บารมี ชัยรัตน์ NGO ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
 
 
00000
 
 
ตอนที่ 28 มนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการ กป.อพช.เหนือ
 
 
“เราคิดว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเอ็นจีโอ  มันมีบทเรียน มีประสบการณ์ แล้วก็ผมคิดว่าจำนวนมากตกผลึกว่า ไอ้การเมืองที่มันเป็นอยู่ในระบบ การที่เป็นอยู่ในระบบก็คือการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง มีผู้แทน ผู้แทนก็ไปเป็น ส.ส.ไปเป็นรัฐบาล มันไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้” 
 
“โครงสร้างทั้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ ทั้งโครงสร้างทางกฎหมาย มันแก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงจะต้องสร้างกลไก สร้างเงื่อนไข เพื่อที่จะทำให้ฝ่ายการเมืองฝ่ายราชการเข้ามาแก้ปัญหาให้เขา”
 
“คนที่ทำงานกับเครือข่ายชาวบ้านจำนวนมากจะไม่พยายาม... คือ บทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตมันทำให้การเอาขบวนของชาวบ้านที่ทำงานอยู่ด้วยไปใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะว่าในอดีตมันไม่เคย... คือ มันมีแต่จะถูกใช้ มันใช้อะไรก็ไม่ได้” 
 
“การเกิดขึ้นของเหลืองกับแดง ซึ่งทั้งเหลืองทั้งแดงมันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเสียเยอะ ดังนั้นผมคิดว่าสภาพการณ์ในอดีต มันทำให้จำนวนหนึ่งเขาจะรักษาระยะห่างไม่ให้เข้าไปใกล้ชิดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป” มนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการ กป.อพช.เหนือ
 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น