ประชาไท | Prachatai3.info |
- เสวนาที่เชียงใหม่: “โฉมหน้าใหม่ของสังคมชนบทภาคเหนือ”
- แรงงานจีนกินนิ้วประท้วง หลังถูกเลิกจ้าง
- 'เทพเทือก' เตือนพันธมิตรฯ ปิดทำเนียบ ระวังเจอ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
- จับตาภาคประชาชน: “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน?”
- รวมพลังจับมือต้านแท่นขุดเจาะน้ำมันเกาะสมุย หวั่นกระทบแหล่งท่องเที่ยว
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : บทเรียนจากการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 (2)
- จาตุรนต์ ฉายแสง : ซีดีศอฉ.กับการปรองดอง
- แถลงการณ์ญาติวีรชนพฤษภา' 35 เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีพฤษภา' 53
- พม่าย้ายที่ขังนักโทษการเมืองไทใหญ่ / กองกำลังว้า-เมืองลาห้ามหาเสียงในพื้นที่
- ลือ ตานฉ่วยถูกนำส่งโรงพยาบาล / พบ HIV ในรัฐคะฉิ่นมีอัตรา 16 เท่า ของทั้งประเทศ
- บันทึกจากใจผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล “ถ้าได้รับการช่วยเหลือ ยังไงก็ไม่ฟ้อง”
- อธิการบดีคนใหม่ ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ใบตองแห้ง...ออนไลน์: อภิสิทธัตถ..ถ..ถ..... อุ๋ย!
- กรุงเทพโพลล์ : เยาวชนกทม. ร้อยละ 78.7 มองการบังคับใช้กฏหมายไม่เป็นธรรม
เสวนาที่เชียงใหม่: “โฉมหน้าใหม่ของสังคมชนบทภาคเหนือ” Posted: 05 Aug 2010 01:22 PM PDT เสวนาที่ ม.เชียงใหม่ “ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี” ชวนทบทวนงานศึกษาชนบท “อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” เสนอความเปลี่ยนแปลง 4 ประการในชนบทที่ “มีคนทำนา” แต่ “ไม่มีสังคมชาวนา” ด้าน “คำ ผกา” ชี้คนในชนบทเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ที่น่าห่วงกลับเป็นชนชั้นกลางที่ไม่เปลี่ยนแปลง ด้าน “นปช.แดงเชียงใหม่” ชวนนักวิชาการลงพื้นที่สัมผัสชาวบ้าน ช่วงบ่ายของวันที่ 4 ส.ค. ที่อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “โฉมหน้าใหม่ของสังคมชนบทภาคเหนือ” มีวิทยากรอภิปรายประกอบด้วย ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และ ศรีวรรณ จันทน์ผง โฆษกกลุ่ม “นปช.แดงเชียงใหม่” โดยรายละเอียดของการเสวนามีดังนี้
000 ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เริ่มต้นอภิปรายโดยกล่าวถึง ข่าวที่ได้อ่านในเว็บไซต์ประชาไทตอนเช้าก่อนมาสัมมนา ที่ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายไปยังสถาบันอุดมศึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาความบกพร่องในทักษะในการคิดและสังเคราะห์ข้อมูลของชาวบ้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าเป็นบ่อเกิดวิกฤต ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ซึ่งตนคิดว่าสัมมนาในวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาอย่าง ม.เชียงใหม่ จะช่วยในการแก้ทักษะในการคิดและสังเคราะห์ข้อมูลของผู้ร่วมสัมมนาได้หรือไม่ เพราะตนอาจมีทักษะไม่พอ แต่อย่างไรก็ตามน่าตกใจที่นายกรัฐมนตรีมองประชาชนแบบนี้ เมื่อกลับไปดูงานวิจัยเรื่องชนบทกับการเมืองในสังคมไทยพบว่าไม่ค่อยมีงานที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีหนังสือชื่อ รัฐกับหมู่บ้านในไทยศึกษา (2533) เป็นการทำความเข้าใจชนบทในทศวรรษที่ 2530 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ก็พบว่ามีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการคือ ชนบทไม่ได้เป็นเอกเทศจากรัฐและทุนนิยม โดยมีความพยายามที่จะผนึกชนบทเข้ากับรัฐราชการสมัยใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมมานานแล้วแต่มีกระบวนการที่ไม่สม่ำเสมอและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หัวข้อใหญ่ของการศึกษาชนบทกับการเมืองในยุคนั้นมัน เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชนบทไม่ว่าจะบริบทใดก็แล้วแต่ ปฏิกิริยาของชาวชนบทก็มีหลายรูปแบบ บริบทในยุคนั้นคือยุคของรัฐราชการ มีความเป็นทุนนิยมแล้วในชนบทแต่ไม่ซับซ้อน หมายความว่ามีการพยายามให้ชาวบ้านปลูกพืชพาณิชย์จำนวนมาก ชาวนายังคงผูกติดกับที่ดิน ที่เรียกว่า “Peasant” นักมาร์กซิสต์จำนวนมากบอกว่าเป็นจิตสำนึกทางชนชั้นนั่นก็คือชาวนามีฐานะเป็นผู้ผลิตที่ผูกติดตัวเองกับที่ดิน นอกจากนี้แล้วยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับชนชั้นว่ามีการแตกตัวของชนชั้นใหม่ ๆ ในสังคมชาวนา เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีผูกติดกับที่ดินแล้ว เพราะนั้นจิตสำนึกทางชนชั้นของชาวนาที่เกิดการแตกตัวหลากหลายรูปแบบก็ไม่สามารถสรุปได้ว่านี่คือจิตสำนึกของชาวนา ข้อสังเกตที่มีก็คือขั้วความสัมพันธ์ระหว่ารัฐกับชนบทมันจะถูกนำเสนอออกมาด้วยลักษณะที่เป็นคู่ของความขัดแย้ง ซึ่งต่างจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่อธิบายว่าชนบทไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองหรือเฉื่อยชาทางการเมือง ซึ่งจะพบว่ากรณีศึกษาจำนวนไม่น้อยในภาคเหนือตั้งแต่ 2510 เป็นต้นมาได้เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติชาวนาได้แย้งข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้นจะพบว่างานวิจัยดังกล่าวให้คำอธิบายเรื่องชนบทที่มีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนและมีคู่ตรงข้ามในความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างชนบทกับรัฐ ปิ่นกล่าว ยังกล่าวถึง งานวิชาการอีกเล่มที่ได้อธิบายเรื่องการเมืองของคนชนบทคือ หนังสือของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เสนอทวิลักษณ์ทางวัฒนธรรมประชาธิปไตย พูดถึงเรื่องการเมืองและชนชั้นของชนบทหลังยุครัฐราชการ เกิดรอยแยกทางประชาธิปไตยสองแบบ ได้แก่ ประชาธิปไตยแบบเมืองที่ชนชั้นกลางดำเนินไปตามลักษณะการเมืองแบบตะวันตก ได้แก่ การยึดมั่นเรื่องนโยบายหรืออุดมการณ์ ไม่สำนึกเรื่องบุญคุณหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และตัดสินใจทางการเมืองแบบปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพทางการเมือง ตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบชนบทที่มีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ยึดตัวบุคคลมากกว่านโยบาย โดยปิ่นแก้ว อภิปรายว่า งานเขียนทั้งสองชิ้นมีความแตกต่างทางสำนักคิดโดยสิ้นเชิงแต่มีจุดร่วมกันคือการมีปัจจัยหรือเงื่อนไขบางประการที่ใช้ในการขีดแบ่งเมืองกับชนบทหรือเส้นแบ่งระหว่างชนชั้น ลักษณะคู่ตรงข่ามที่รัฐเป็นตัวแทนของความเป็นเมืองหมู่บ้านจะอยู่ตรงข้าม ในงานของอเนกจะบอกว่าชนบทมีวัฒนธรรมทางการเมืองต่างจากเมืองโดยสิ้นเชิง การมองชาวนาในยุค 2530 นั้นมองชาวนาอยู่ในฐานะของผู้ผลิตหรือพลังขับเคลื่อนทางการผลิตในสังคมไทยเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถอธิบายหรือทำความเข้าใจได้ว่าชาวนาไทยทำไมมีความตื่นตัวทางการเมืองในปัจจุบัน เสนอว่ามโนทัศน์ที่จะช่วยลบเส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทคือการบริโภคซึ่งยังไม่ค่อยมีงานวิจัยในหัวข้อนี้ มีเพียงปรากฏการณ์หรือตัวอย่างการสัมภาษณ์ของชาวบ้านบางกลุ่ม การมองว่าชนบทเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเพราะปี 2530 กับ 2550 มีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล ประการหนึ่งคือ แม้ชาวนาจะมีขาหนึ่งที่ติดกับที่ดินแต่อีกขาหนึ่งก็อยู่ในการผลิตนอกภาคชนบทและการผลิตนอกระบบ ขาที่ไม่ได้อยู่ติดกับที่ดินเป็นขาที่เปิดโลกของการบริโภคของชาวบ้านคือการพาตัวเองเข้าไปดูโลกสมัยใหม่แล้วสมาทานความคิด วิถีชีวิต คุณค่า ของคนในเมือง ของชนชั้นกลาง หรืออาจเรียกว่าของสังคมไทย ชาวนาในฐานะผู้บริโภคเป็นผู้เรียนรู้การปะทะกันทางวัฒนธรรมของตัวเองและของผู้อื่นที่ชาวนาเหล่านี้พาตัวเองไปสู่พื้นที่ใหม่ การบริโภคแบบใหม่ ข่าวสารแบบใหม่ ทำให้หาเส้นแบ่งระหว่างชนบทกับเมืองได้ยาก ต่างจากชาวนาที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นจากการผูกติดกับที่ดินเพียงอย่างเดียว สิ่งที่น่าสนใจของชาวนาเสื้อแดงหรือชาวนาที่เข้ามาประท้วงเรื่อง “สองมาตรฐาน” คือ เพราะอะไรที่คิดว่าเรื่องสองมาตรฐานกลายเป็นปัญหาในชนบทไทยแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ทั้งที่ความเชื่อของสังคมไทยว่าสังคมที่มีลักษณะสูง-ต่ำและรัฐไทยไม่เคยมีมาตรฐานเดียวในการบริหารประเทศแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว แนวคิดเรื่องการเรียกร้องในประเด็นเรื่อง “สองมาตรฐาน” ต่างจากเรียกร้องของชาวนาก่อนหน้านี้ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการการคุ้มครองหรือเรื่องการปกครอง ชาวนาในเมื่อก่อนไม่ได้มีปัญหาว่าทำไมคนกรุงเทพ ฯ ถึงสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้แต่คนในชนบททำไม่ได้ การไม่ยอมรับความไม่เท่าเทียมกันหรือความไม่เสมอภาคทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาในเรื่องสองมาตรฐานกำลังบอกว่าคนในเมืองเกิดอาการอาการตามไม่ทันของศีลธรรมแบบประชาธิปไตย คิดไม่ได้หรือคิดไม่ทันว่าคนในชนบทก็มีความคิดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว นอกเหนือจากการเดินทางไปอยู่ในที่ต่างๆ มากมายของคนชนบทหลังรัฐราชการที่เกิดการคลี่คลายโครงสร้างทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชนบทด้วยคือสถาบันการเมืองในชนบทที่ช่วยเปลี่ยนจินตนาการของชนบทในการมองความสัมพันธ์ของตัวเองกับอำนาจใหม่ๆ รวมถึงการรับข้อมูลข่าวสารที่พบว่าขณะนี้ในชนบทมีบ้านที่ติดจานดำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก บางหมู่บ้านแทบจะเรียกว่าไม่มีบ้านไหนไม่ติดจานดำ ซึ่งตรงข้ามกับที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่าบกพร่องทางการวิเคราะห์ ชนบทกลายเป็นชุมทางของสื่อหลากหลายชนิด จากจะเอาความถี่ของของการรับสื่อของสักหมู่บ้านหนึ่งมาเทียบกับหมู่บ้านจัดสรรในเมืองเราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
000 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เริ่มต้นกล่าวว่า ผมคงพูดสองประเด็นหลักๆ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในชนบท สอง เราจะเรียกสังคมชนบทว่าอย่างไร ทันทีที่เราใช้คำว่าชนบท มันก็มีความหมายแบบหนึ่ง ข้อมูลทั้งหลายที่ผมได้มา ผมมีสองแหล่ง แหล่งหนึ่งคือ ผมไปช่วยอาจารย์ ผศ.เรณู อรรฐาเมศร์ ทำงานยุววิจัยประวัติศาสตร์ภาคเหนือ ได้ฟังชาวบ้าน ได้ฟังครู ฟังนักเรียนมหาศาล อ่านงานวิชาการร้อยกว่าเรื่อง พวกมานุษยวิทยาที่ว่าผมไม่มีข้อมูลกรุณารับรู้ด้วยว่าผมมี สอง อีกคนหนึ่งที่ต้องเครดิตคือนักศึกษาปริญญาโทประวัติศาสตร์ คุณฐิติยา ทำเรื่อง จุดจบของสังคมชาวนา ที่ ต.กู่กาสิงห์ (อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด) ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงในชนบทอยากพูดสี่เรื่อง หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต สอง ความเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง สาม ความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิด สี่ ความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์กับเมือง เรื่องแรก ความเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต จากข้อมูลทั้งหลาย ผมคิดว่าสังคมชาวนาจบแล้วในประเทศไทย ฝรั่งเขียนมานานแล้วหลายปีแล้วผมจำปีไม่ได้ หลังปี 2530 มันมีกระแสความคิดบางอย่าง ตัวสังคมชาวนาจบแล้วเมื่อรถดำนาที่ออกทีวี มีคนทำนาแต่ไม่ได้ทำนาแบบสังคมชาวนาอีกแล้ว ในกระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ และใช้แรงงานจ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง หรือภาคอีสาน ถ้าบอกว่าเรามีสังคมชาวนาอยู่ อาจจะมีแต่ไกลมากๆ ซึ่งคงจะน้อยมาก โดยภาพรวมสังคมชาวนาจบแล้ว ไม่มีอีกแล้ว รายได้จากภาคเกษตรเป็นรายได้เสริม นอกจากคนที่ขยายพื้นที่ ต.กู่กาสิงห์ เอารถเกี่ยวข้าวไปถึงลาว ในพื้นที่มีรถเกี่ยวข้าว 54-57 คัน ดังนั้นเราพบว่ามันไม่ใช่แล้ว พื้นที่นาจากคันนาเล็ก กลายเป็นคันนาใหญ่ สังคมชาวนาจบไปแล้วเกิดอะไร สิ่งที่น่าสนใจคือการผลิตของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ หรือ Informal sector ตัวเลขล่าสุดคิดเป็น 50% ของ GDP ซึ่งไม่น้อย และภาคการผลิตไม่เป็นทางการคิดเป็น 67% ของกำลังแรงงานในไทย น้อยกว่าญี่ปุ่นนิดหน่อย ญี่ปุ่นอยู่ที่ 69% ของกำลังแรงงาน ภาคการผลิตไม่เป็นทางการค้าขายอะไรค้าขายกับใคร เขาค้าขายในกลุ่มของเขาเอง ในเชียงใหม่ มี “กาดก้อม” (ตลาดนัด) แต่ “กาดโก้งโค้ง” (ชื่อตลาดนัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คงไม่ใช่เพราะเขาเจาะคนในมหาวิทยาลัย จะเห็นว่า เส้นรอบนอก (รอบถนนวงแหวนใน จ.เชียงใหม่) มีตลาดนัด เขาค้าขายในกลุ่มเขาเองมาก เขาค้าขายกับชนชั้นกลาง ภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้น่าศึกษา แต่มีคนศึกษาน้อยมาก วิชาพัฒนาสังคม พัฒนาชุมชนต้องศึกษา ที่ผ่านมาเราไม่ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนา สอง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง งานของนักศึกษาปริญญาโทดังกล่าวพบว่า การเลือกตั้ง อบต. เปลี่ยนไป สมาชิก อบต.เปลี่ยนจากผู้นำชาวบ้านในรุ่นแรก ช่วงหลัง อบต. รุ่นที่ 4 กลายเป็นคนที่ทำการผลิตแบบ Sub-contract (รับเหมาช่วง) มากขึ้นๆ ตัว อบต. เปลี่ยนไม่พอ มันเปลี่ยนความสัมพันธ์ในชุมชนด้วย ระบบอุปถัมภ์เดิมยาวนาน รอบด้าน ตอนนี้สั้นลง ตัว อบต. เปลี่ยน ความสัมพันธ์กับตัว อบต. และตัวพื้นที่ในการเมืองเปลี่ยน จากการคุยนักศึกษา ฐานเสียงของคนเลือกตั้ง กลุ่มหัวคะแนน เป็นคนละกลุ่มเลย อย่าง ยุทธ ตู้เย็น (นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน และประธานรัฐสภา) เคยถือกระเป๋าตามหลังฉัฐวัสส์ (มุตตามระ อดีต ส.ส.เชียงราย) ทั้งยุทธ ตู้เย็น กับ ฉัฐวัสส์ มีหัวคะแนนคนละกลุ่มเลย มีลักษณะการดำเนินชีวิตคนละเรื่องกัน ฉัฐวัสส์ถึงหลุดจากการเป็น ส.ส.เชียงราย เนื่องจากโครงสร้างสังคมเปลี่ยน คุณต้องเจาะคนกลุ่มใหม่ ความสัมพันธ์ทั้งหลายเปลี่ยนหมดเลย สาม ดังนั้นในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเปลี่ยนแล้ว ตัวระบบการเมืองเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน "ระบบอารมณ์" เปลี่ยนไหม? เปลี่ยน จากการขยายตัวของห้างต่างชาติ ถ้าใครเดินแมคโคร โลตัส ดูหน้าชาวบ้านที่ซื้อของ เราจะพบว่าที่มิวสิคเซ็นเตอร์ หน้าตาคือปู่เฒ่านี่เอง เป็นคนกลุ่มใหม่ที่ฐานในชนบท การเปิดแมคโครสมัยก่อนกับสมัยนี้หน้าตาชาวบ้านจึงคนละเรื่อง มีความผึ่งผายวีระอาจหาญในการบริโภคแบบชนชั้นกลางเลย ความสามารถในการบริโภค มันเปลี่ยนสำนึกของปัจเจกชน ทั้งนี้ ก่อน 2475 ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงสามารถบริโภคของสามัญชนก่อนปี 2475 ในหลวงรัชกาลที่ 6 สร้างเสมาอันหนึ่ง ถัดมาก็มีคนสร้างเสมาตาม สำนึกแบบในเมืองของศิลปินเพลงลูกทุ่งก็มีมากขึ้น เช่น เพลงอีสานสมัยใหม่ที่ท่อนฮุคจะเป็นหมอลำ และสั่งสอนจริยธรรมแบบเมืองขึ้นมา และมีเป้าหมายในชีวิตที่ไม่ใช่แบบเดิมเป็นต้น เริ่มเน้นสำนึกจิตสำนึกแบบปัจเจกที่สามารถสร้างสรรค์ ความเป็นตัวของตัวเองได้ ข้อสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับเมือง พบว่าตัวชนบทเองเป็นผู้รับเหมาช่วงของการผลิตในเมืองสูงขึ้น ถ้าหากใครอยู่ในพื้นที่ชายขอบที่ใช้เวลาเดินทางเข้าเมืองไม่เกิน 1 วันไปกลับ จะพบว่ามีผู้รับเหมาจำนวนมากอยู่แถวนั้น ผู้รับเหมาเหล่านี้สามารถ ใช้ฝีมือตัวเองในการก่อสร้างในหมู่บ้านใหญ่ๆ อย่างกุลพันธ์วิลล์ ได้อย่างสบาย คือผู้รับเหมาช่วงเองก็กล่าวได้ว่า ฉันก็มีฝีมือเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นแรงงานรับจ้างภายใต้หัวหน้างานที่เป็นคนในเมืองแบบเมื่อก่อน มันเปลี่ยนไปแล้ว นอกจากนั้นเองความสัมพันธ์ทางอำนาจกับเมืองที่เกิดบนฐานทางเศรษฐกิจทั้งหลายเหล่านี้ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่สูงมาก ก็คือว่า เราพบว่า เดิม “ชุมชน, ชุมชน, ชุมชน” สร้างระบบร่วมกันเป็นชุดท้องถิ่นขึ้นมา แต่ “ชุมชน, ชุมชน, ชุมชน” ดังกล่าว มันเริ่มผลิตในความหมายใหม่ที่เรียกร้องความเป็นอิสระมากขึ้น ถ้าหากเราไปดูที่ อบต. สัดส่วนของการคิดนโยบายเพื่อพื้นที่ของตัวเองของ อบต.สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกันตรงนี้ สี่ประเด็นนี้คือความเปลี่ยนแปลงประเด็นหลักๆ ในชนบท จึงมีคำถามว่า “แล้วจะเรียกสังคมตรงนี้ว่าสังคมอะไร” เพราะถ้าเรียก “สังคมชนบท” เราจะจินตนาการว่าสังคมชาวนาอยู่ เพราะคำว่าสังคมชนบทเกิดตอนนั้น ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนคำๆ นี้ด้วยซ้ำไป แล้วจะเปลี่ยนว่าอย่างไร ก่อนจะถึงว่า เราจะเปลี่ยนว่าอะไร ในความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2530 น่าสนใจที่ว่าได้ดำเนินมาพร้อมกับการขยายตัวของ “สำนักคิดวัฒนธรรมชุมชน” ปี 2529 อาจารย์ฉลาดชาย (รมิตานนท์) เริ่มพูดถึงป่าชุมชน ปี 2530 เริ่มเกิดขึ้นมา และมีการขยายตัวของ “สำนักคิดวัฒนธรรมชุมชน” ผมเองก็เคยสมาทานตรงนั้น และคิดว่ามันน่าจะมีความหมายอะไรมากขึ้น ต่อมา ช่วงหนึ่งพบว่าสำนักวัฒนธรรมชุมชนตอบปัญหาไม่ได้ ผมพยายามเข้าไปคุยกับเพื่อนๆ เอ็นจีโอที่ทำงานร่วมกัน แต่ไม่มีใครรับแนวคิดผมสักคน ตัว “สำนักวัฒนธรรมชุมชน” เคลื่อนชาวบ้านเป็นครั้งแรก เคลื่อนในอีกรูปแบบหนึ่ง และการเคลื่อนในวัฒนธรรมชุมชนมันจะไปกระตุกเอาพี่น้องอีกกลุ่มที่อยู่ตรงนี้เคลื่อนตาม เผอิญพี่น้องกลุ่มข้างหลังเคลื่อนได้สูงกว่า กลุ่มตรงนี้เองท้ายสุดครึ่งหนึ่งไปอยู่กับฝั่งสีแดง แต่อีกด้านหนึ่ง สำนักวัฒนธรรมชุมชน ทำให้ความเข้าใจชนบทหยุดชะงักลง ทำให้เราไปหาบางอย่างที่เป็นสังคมชาวนา แล้วมาเชิดชูกลบภาพความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ด่าเขาเพราะผมด้วย ผมก็มีส่วนในนั้นด้วยอย่างมากด้วยซ้ำไป สิ่งที่ทำให้สังคมเมืองเข้าใจชนบทได้น้อย นอกจากภาพการรับรู้ชนบทแบบ ส.ค.ส. ที่ถูกสร้างมาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีบ้านชาวนาสมัยสมบูรณ์ และส่วนสำคัญคือจากสำนักวัฒนธรรมชุมชน คือพยายามสร้างภาพชนบทที่น่ารัก และฝังไว้ให้ชนชั้นกลาง จึงทำให้ชนชั้นกลางและสังคมไทยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นได้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความหมาย เขามีความหมายและมีค่าอย่างยิ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถึงวันนี้ เราต้องสลัดออกไป เราต้องคิดกันใหม่ โดยส่วนตัวผมกับอาจารย์ฉัตรทิพย์ (นาถสุภา) เคารพกันมาก เพราะท่านเชื่ออย่างนั้นจริงๆ อย่างน้อยคนที่เชื่อและคิดอย่างนั้นจริงๆ เราก็ต้องเคารพกัน ท่าจะมาพูดที่เชียงใหม่ แต่หลังจากที่รัฐฆ่าประชาชนที่กรุงเทพฯ ท่านเศร้ามาก ท่านไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ เราต้องเคารพท่านในความจริงใจที่ท่านมี แต่ต้องบอกก่อนว่า ภาพนี้มันไปฝังชนชั้นกลาง ดังนั้น เราต้องนิยามสังคมชนบทกันใหม่ เพื่อที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ตรงนี้ และการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ถ้าหากเราไม่นิยามกันใหม่ เราจะมะงุมมะงาหรากันต่อไป เหมือนกับความเหลื่อมล้ำ ครั้งหนึ่งพี่น้องเราทนกับความเหลื่อมล้ำได้ แต่วันนี้ทนไม่ได้อย่างที่อาจารย์ปิ่นแก้วเสนอ ดังนั้น การเข้าใจสังคมอันนี้ จะทำให้เรามองเห็นว่าเราจะแก้ปัญหาอะไร เช่น ปรองดองก็ต้องปรองดองในมิติอื่นๆ นะ ไม่ใช่ปรองดองแบบรัฐบาลทำ ผมเสนอว่า อยากเรียกว่าเป็น “สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ ที่ยังมีการผลิตภาคเกษตรอยู่” แม้จะมีกระเปาะของระบบทุนนิยม เช่น มีคนไปทำงานในโรงงานอยู่ในหมู่บ้าน มันมีกระเปาะหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กระเปาะนั้นทำให้คนทั้งหมดกลายเป็นชายขอบของกระเปาะนั้น ถ้าหากเราเข้าใจตรงนี้ จะเห็นความแตกต่างกับละตินอเมริกา ที่นั่นเป็นสลัมในชนบท รอเวลาเคาะแล้ววิ่งเข้ามา ไม่เหมือนฟิลิปปินส์ที่เป็นสลัมต่อๆ กันไปเลย ไม่มีภาคเกษตรเลย เป็นสังคมอีกแบบที่ต้องเรียกใหม่ ถ้าหากเราเข้าใจตรงนี้ได้ ก็สามารถผลักดันนโยบายรัฐแก้ปัญหาได้ ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ถามว่าทำไมเขาต้องไปเป็นเสื้อแดง ในความเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ สิ่งที่เขาเขาเผชิญคือความเสี่ยงที่เขาเผชิญด้วยตัวเขาเองทั้งหมด อะไรที่ช่วยให้เขาลดความเสี่ยงได้เป็นเรื่องที่เขาฉวยเสมอ การขยายตัวของรัฐในช่วงทักษิณหรือที่คนเรียกว่า “ประชานิยม” เป็นขยายตัวบนฐานของการมองภาคการผลิตไม่เป็นทางการเป็นเป้าหมาย อย่าลืมว่า พันธุ์ศักดิ์ (วิญญรัตน์) ใช้หนังสือ “The Other Path” ของเดอโซโต้ (หมายถึง The Other Path: The Invisible Revolution in the Third World (1989) เขียนโดย Hernando de Soto Polar) ของเปรูเป็นหลัก ประชานิยมที่เจาะภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ไมใช่ไอเดียทักษิณ แต่เป็นไอเดียพันธุ์ศักดิ์ พันธุ์ศักดิ์เป็นคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้ แล้วทำให้คนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ สามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐมากขึ้น สามารถมีความมั่นคงมากขึ้น เขาจะเจาะเลย ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ Housing สำหรับ Informal Sector Trading สำหรับ Informal Sector และ Communication สำหรับ Informal Sector ทั้งสามตัวของภาคการผลิตไม่เป็นทางการถือเป็น 67% ของกำลังแรงงาน มันสวมกันพอดี ภาคการผลิตไม่เป็นทางการจึงสนใจทักษิณอย่างยิ่ง ทำให้เขาลดความเสี่ยงลงไป การเปลี่ยนเป็นเสื้อแดง ถามว่าพ้นทักษิณได้ไหม คำตอบวันนี้ไม่พ้น แต่ถ้าอภิสิทธิ์ฉลาดกว่านี้สัก 200 เท่า คุณสามารถจะเจาะกลุ่มให้มันถูกได้ แต่คุณทำไม่เป็น คุณไปเล่นเรื่องที่ตลก เช่น หนี้นอกระบบ หนี้นอกระบบเป็นสัดส่วนเพียง 12% ของหนี้ที่ชาวบ้านหรือชาวนา หรือที่คนชนบทเป็น มันจิ๊บจ๊อย คุณเล่นแบบซื้อบื้อ ดังนั้น ถ้าคุณอภิสิทธิ์ฉลาด รู้ว่าสังคมไทยเปลี่ยน ถ้าเดินนโยบายแบบนี้ได้ พลังเสื้อแดงจะเปลี่ยนก็จะไม่เอาทักษิณ และไม่เอาอภิสิทธิ์ จะเปิดโอกาสให้อันใหม่ๆ ขึ้นมา ดังนั้น ในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ จึงไม่ใช่รักไม่รักทักษิณ ทักษิณซื้อ ไม่ใช่ ผมว่ามันสลับซับซ้อนลึกซ้ำกว่านั้น และความรู้ทั้งหมดนี้ เพิ่งพูดหลังปีเร็วๆ นี้เองคือพูดในปี 2551-2553 เพิ่งพูดกัน ทั้งที่มีการเตือนตั้งแต่ปี 2547-2548 แล้วว่าชนบทเปลี่ยน แต่ไม่มีคนเชื่อ เราพูดตั้งแต่วง “ระบอบทักษิณ” (วงสัมมนาที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดเมื่อปี 2547) ว่าชนบทเปลี่ยน แต่ตอนนั้นไม่มีใครฟังเลย จนกระทั่งต้องฆ่ากันตายก่อน ความผิดพลาดของความไม่เข้าใจชนบทจนทำให้มีคนตายนี้เป็นความผิดพลาดของนักวิชาการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ทั้งประเทศไทย ที่ควรจะต้องลุกขึ้นยกมือไหว้ศพคนตาย และยกมือไหว้อื่นๆ เยอะแยะ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ไทย ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่วิกฤตอย่างที่เราเห็นตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา จะเขยื้อนคุณหมอก่อน ดังนั้น การฆ่ากันตายที่ผ่านมา จึงต้องมีคนรับผิดชอบมากมาย อภิสิทธิ์ รับผิดชอบคนแรก ทักษิณด้วย รับผิดชอบคนที่สอง แต่คนที่รับผิดชอบด้วยคือนักวิชาการทั้งหลายที่มองไม่เห็น แล้ววันนี้เอง อาจารย์ปิ่นแก้วอาจจะอึดอัดกับที่อภิสิทธิ์พูด ผมไม่เคยอึดอัดกับอภิสิทธิ์เลย เห็นหน้าเมื่อไหร่ก็ปิดเลย เวลาที่เขาพูดอะไรมันดีกว่าตดนิดหนึ่งตรงที่ไม่มีกลิ่น ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือเด็กที่เชียงรายถูกส่งไปบำบัดจิต ผมส่งบทความไปวันนี้ (กรุงเทพธุรกิจ) คือ “ใครกันแน่ที่ควรจะเข้ารับการบำบัดจิต” คนที่ควรจะเข้าคืออภิสิทธิ์ ขอบคุณครับ
000 ลักขณา ปันวิชัย
ลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา” กล่าวว่า แม้จะถูกเชิญมาในฐานะนักเขียนที่เป็นคนชนบทที่ถูกคาดหวังว่าจะพุดถึงคนในชนบทกับชาวบ้านได้ดีแต่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกลับเกิดขึ้นใน Cyber Space มากกว่า เช่น การเล่น Facebook MSN และโปรแกรม Chat ต่างๆ ดังนั้นดิฉันไม่ควรจะเป็นผู้ศึกษาชนบทแต่ควรจะเป็นวัตถุในชนบทที่นักวิชาการควรศึกษา หากจะให้พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในชนบทก็จะเป็นการมองของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ไกลมากๆ การเรียนประวัติศาสตร์ฝึกทักษะให้ดิฉันเป็นคนที่อ่านหนังสือที่ไม่ได้ถูกเขียน ฝึกให้ได้ยินเสียงที่ไม่ถูกพูดออกมา หากใช้ทักษะดังกล่าวในการพูดหัวข้อเสวนาในวันนี้จะสามารถอ่านได้อีกความหมายหนึ่งว่า “ทำไมคนบ้านนอกด้อยการศึกษาในชนบทถึงได้เข้าใจประชาธิปไตยดีกว่าคนในเมืองที่มีการศึกษา” หรือได้อีกความหมายหนึ่งว่า “ถ้าคนชนบท เท่ากับ คนเสื้อแดง เท่ากับ คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่สนับสนุนประชาธิปไตย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” หรือจะเป็นอีกความหมายหนึ่งคือ “เราน่าจะสงสัยว่าทำไมคนที่มีการศึกษาในระบบของสังคมไทยไม่เชื่อในประชาธิปไตย” ดิฉันคิดว่าแทนที่จะสงสัยคนชนบทอาจจะต้องสงสัยคนในเมืองแทน แม้จะนิยามเฉพาะเจาะจงไปไม่ได้ว่าใครเป็นคนชนบท ใครเป็นชนชั้นกลาง ใครเป็นผู้มีการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย เจ้าของนามปากกา “คำ ผกา” ได้ตัวอย่างการแสดงภาพศิลปะของ “วสันต์ สิทธิเขต” ล่าสุดที่แสดงในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยอภิปรายว่า มีการจัดแสดงสองภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพที่คนถูกฆ่าตายในเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬแล้วบอกว่า คนตายเพื่อประชาธิปไตย อีกภาพหนึ่งเป็นภาพคนเสื้อแดงที่ใส่เสื้อที่มีรูปหน้าของทักษิณ เขียน I Love แล้วเป็นหน้าทักษิณ และพาดหัวว่า “19 พ.ค.คนไทยตายเพื่อไอ้คนโกง” ข้อความในภาพของวสันต์ สิทธิเขตบอกว่าเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม คนไทยยอมตายเพื่อทักษิณ ถ้าจะถามว่าคนมีการศึกษาที่ดิฉันหมายความในที่นี้คือใครก็คือคนลักษณะนี้ คนที่เป็นศิลปินแนวหน้าของประเทศไทยจำนวนมาก อย่างเช่น วสันต์ สิทธิเขต เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือคุณนภัส ณ ป้อมเพ็ชร์ที่เขียนจดหมายไปถึงสำนักข่าว CNN ว่า CNN ไม่เข้าใจการเมืองไทย บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย คุณนาตยา แวววีรคุปต์ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยที่พยายามจะเป็นกลางทางการเมืองแต่ก็ยังเข้าใจว่าคนในชนบทยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย และอีกหลายๆ คน เช่น คนที่ออกมากวาดถนนไล่เสนียดจัญไรของกรุงเทพฯ หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐฆ่าประชาชน คนที่ออกมาคร่ำครวญว่าทำไมคนไทยไม่รักกัน คนที่ทำโฆษณาให้รัฐแล้วบอกว่าขอให้มีพื้นที่ยืนสำหรับคนไทยที่คิดต่าง ดิฉันคิดว่าคนที่ควรจะออกมาร้องไห้ว่าทำไมคนไทยไม่รักกันไม่ใช่พวกคุณที่ออกมากวาดถนนหรืออยู่ในโทรทัศน์ แต่น่าจะเป็นคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และเป็นคนเสื้อแดงนั่นแหละที่ชอบธรรมที่สุดที่จะบอกว่าทำไมวันนี้ในสังคมถึงไม่มีที่ยืนให้กับคนที่คิดต่างออกไป ทีนี้กลายเป็นว่าโลกกลับตาลปัตรไปหมดเลย คนที่ถูกกระทำกลายเป็นอาชญากร กลายเป็นอันธพาล กลายเป็นคนทำลายความสันติสุขในบ้านเมือง ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง กลายเป็นคนที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของพวกอื่น เป็นคนที่ไม่ฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พวกโรคจิตแห่ศพ อะไรแบบนี้ไปหมดเลย ดิฉันจึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมถึงเกิดความไม่ปกติในสามัญสำนึกของคนเหล่านี้และของเรา อย่างน้อยของดิฉันเองที่ทึกทักเอาว่าคนที่มีความรู้ คนที่มีการศึกษา หรือคนชนชั้นกลาง คือพลังบวกของประชาธิปไตย แต่คนบ้านนอก เกษตรกร คนแรงงานนั้น คือกลุ่มคนที่คิดแต่เรื่องทำมาหากิน เสียจนไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากพอที่จะคิดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความยากจนของพวกเขาก็ยิ่งทำให้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของนักการเมือง หมายเหตุต่อไปด้วยอีกว่า ในสามัญสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป ขั้นชื่อว่านักการเมืองย่อมเลว หาดีไม่ได้ ไม่มีใครเข้ามาเป็นนักการเมืองเพื่อทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองจริงๆ ขึ้นชื่อว่านักการเมือง พวกเขาอยากเข้ามาหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง ครอบครัว พวกค้ายาบ้า พวกค้าน้ำมันเถื่อน อัปรีย์จัญไร หมายเหตุให้คิดต่อไปอีกว่า แล้วใครที่พวกเราคิดว่าหวังดีต่อประเทศอย่างแท้จริง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง จริงใจ ขอเสนอ 1 ชื่อ ในที่นี้ คนชั้นกลาง จะเชื่อว่าคนแบบหมอประเวศ วะสี เป็นต้น ที่ไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคยอยากเป็นนักการเมือง เราจึงมั่นใจในความดีของพวกเขา เป็นตรรกะแบบไทยๆ ที่ดิฉันเรียนรู้และเติบโตมาในฐานะที่เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นด้วยตรรกะแบบนี้ มันจึงทำให้เราไม่คิดว่าคนที่เล่นการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง และด้วยอุดมการณ์เช่นนี้เองในสังคมไทย มันจึงเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่นักการเมืองลงมาเล่นการเมืองมากกว่านักการเมืองเสียอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องย้อนกลับไปถึงหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ ปี 2535 ที่เราปลื้มปิติกับชนชั้นกลางที่รักและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ที่เราชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นพลังต่อต้านเผด็จการ 20 ปีผ่านไปกลับกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สนับสนุนเผด็จการซ่อนรูป อย่างที่เราเผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้ เหตุผลที่ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ ถูกรัฐประหาร คือเป็น Buffet Cabinet เป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น ดังนั้น แนวทางอธิบายเรื่องการเลือกตั้งที่มาพร้อมกับการซื้อเสียง มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่าชาวบ้านโง่ ละโมบ หวังผลทางเศรษฐกิจในระยะสั้น มาจบที่นักการเมืองคอรัปชั่น วาทกรรมนี้เริ่มชัดและมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ ขอยอมรับว่าดิฉันเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความทรงจำเลย จำไม่ได้ว่าปฏิกิริยาของคนในสังคมที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในขณะนั้นเป็นอย่างไร แต่เข้าใจว่าไม่มีการต่อต้านอย่างรุนแรงสมัยที่คุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งจะสามารถตีความได้ว่าเราสามารถยอมรับคุณอานันท์ได้ แต่พอกรณี “สุไม่เอาก็ให้เต้” จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภา ฯ ทมิฬขึ้น เกิดการต่อสู้ของม็อบมือถือ พวกเราตื่นเต้นกันใหญ่ว่าไม่เคยเห็นชนชั้นกลางตื่นตัวทางการเมืองเท่านี้มาก่อน เหมือนตอนนี้ที่เราตื่นเต้นว่าไม่เคยเห็นคนชนบทตื่นตัวทางการเมืองเท่านี้มาก่อนเช่นกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ต่อสู้กับเด็จการไม่ว่าครั้งนั้นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด คนในสลัม และถ้ากลับไปสัมภาษณ์คนที่ต่อสู้กับขบวนการเสื้อแดง ซึ่งคนเสื้อแดงจำนวนมากถือตัวว่าเข้าร่วมต่อสู้กับเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬด้วย ในรายการวิทยุชุมชนที่เชียงใหม่มีแม่ค้าในตลาดเมืองใหม่โทรศัพท์เข้ามาเล่าย้อนประสบการณ์ของตัวเองว่าร่วมในเหตุการณ์นั้นและมีความเป็นเจ้าของเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในปี 2535 จึงมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย แต่ความเป็นจริงคนเหล่านี้ไม่ได้รับการจดจำในฐานะที่เป็นตัวละครที่สำคัญ เพราะพระเอกของงานนี้คือพวกยัปปี้ มือถือ และไม่ต้องแปลกใจว่าหนังสือพิมพ์ขวัญใจคนกลุ่มนี้ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์พฤษภา ฯ ทมิฬ จนเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับในเวลานั้นก็คือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่นอกจากจะนำเสนอ Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ คอลัมน์แบบ “พลอย จริยะเวช” ก็เกิดครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิมพ์เริ่มนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ ข่าวหุ้น ข่าวธุรกิจ ความทันสมัยแบบคนเมือง บวกเซ็คชั่นที่โยงศิลปวัฒนธรรมเข้ากับการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน นิตยสารที่เกิดขึ้นในรุ่นนั้นอย่างเช่น GM Decade สารคดีกลับเป็นนิตยสารที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน ก็ขยายตัวในวงกว้างขึ้น Hi Class, Trendy Man คือเริ่มมีการนำเสนออีกมิติหนึ่งของการนำเสนอข่าว และโยงเอามิติทางการเมือง วัฒนธรรม รสนิยมในการใช้ชีวิตกับจุดยืนทางการเมือง มันเริ่ม Merge (รวม) เข้าหากันแล้ว ยุคนั้นสื่อสารมวลชนที่นำโดยหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเริ่มนำเสนอบรรยากาศแบบหนังสือพิมพ์ปัญญาชน และเริ่มมีนักวิชาการที่เข้ามาเป็นคอลัมน์นิสต์ ไม่ว่าจะเป็น สุวินัย เกษียร ก็เขียนลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหลังปี 2535 เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในยุคนั้นมันมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ในฐานะของความเป็นปัญญาชนและความเป็นสมัยใหม่ มีสิ่งหนึ่งที่มีความผิดปกติอย่างยิ่ง ในชัยชนะของพฤษภาทมิฬฯ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเราจงใจมองข้าม หรือมองข้ามจริงๆ หรือลืมที่จะตั้งคำถามคือ ภาพที่จำลอง ศรีเมือง พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกเรียกให้เข้าเฝ้าฯ เมื่อในหลวงทรงให้โอวาทแล้วทุกคนก็น้อมลงกราบสุดท้ายบ้านเมืองก็เข้าสู่สภาวะปกติสุข ในสมัยที่ดิฉันเรียนและอาจารย์นำรูปนี้มาให้ดู มีเพื่อนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่าไม่ควรรบกวนให้ในหลวงลงมาในเรื่องนี้ พระองค์ท่านควรมีสถานะที่ศักดิ์สิทธิ์กว่านั้นดั่งเช่นพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชา โดยภาพรวมของสังคมทั้งสังคมไม่มีใครตั้งคำถาม แต่บอกว่าเป็นบุญเหลือเกินที่พวกเรามีท่านไม่เช่นนั้นคนไทยฆ่ากันตายยิ่งกว่านี้ นอกจากรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ที่ครองอำนาจ 8 ปีก็ไม่มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบรัฐบาลไหนที่เป็นที่ชื่นชมของคนไทย เหมือนอยู่กันมาจนหมดยุคป๋าเปรม เราได้ลิ้มรสสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยเต็มใบ คือมีนายกรัฐมนตรีผ่านระบบการเลือกตั้ง เราเริ่มเห็นเชื้อของการรังเกียจชาวบ้านเริ่มแพร่ลาม จนเราไม่คิดว่ามันเป็นเชื้อโรค แต่กลับมองเห็นมันเป็นเรื่องปกติ จำได้ว่าสังคมไทยมีการรังเกียจบรรหาร ศิลปะอาชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง ตั้งแต่จิกว่าเตี้ย เป็นอาเสี่ยบ้านนอก นุ่งเสื้อฮาวายประชุมเอเปกน่าอายมาก พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ควีนอลิธซาเบธมาเมืองไทยก็บอกเป็นอลิธซาเบธ เทเลอร์ ภาพของบรรหารคือเป็นพ่อค้าภูธร ดิฉันคิดว่าคนชั้นกลางที่รังเกียจบรรหารนั้นไม่ได้รังเกียจบทบาททางการเมืองหรือการคอรัปชั่นของบรรหาร มากเท่ากับรังเกียจอาการเร่อร่าบ้านนอกของบรรหาร เมื่อเราเปรียบเทียบ Reputation (ชื่อเสียง) ระหว่างอานันท์ ปันยารชุน กับบรรหาร ต้องบอกว่าคนไทยชื่นชมนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่าง อานันท์ ปันยารชุน มากกว่าบรรหาร ศิลปอาชา ถ้าเปรียบเทียบนายกฯ คนก่อนหน้านั้นคือ ชวน หลีกภัยซึ่งไม่ใช่ผู้ลากมากดีที่ไหน หากว่าภาพพจน์ของคุณชวน นอกจากไม่ถูกดูถูกเหมือนบรรหารแล้ว กลับได้รับการยกย่องเชิดชูในฐานะที่เป็นลูกชาวบ้านที่วิริยะ อุตสาหะ กตัญญู จะเห็นว่าภาพแม่ถ้วน อยู่ในสื่อเยอะมาก คุณชวนจะเป็นไอดอลของคนไทย เป็นต้นแบบของคนบ้านนอก ใช้ความซื้อสัตย์สุจริต อ่อนน้อมถ่อมตน น่ารักน่าเอ็นดู ขยันหมั่นเพียร สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉะนั้นบทบาทสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคุณชวน ถ้าเคยอ่านนิยายของศรีบูรพา จะคล้ายกับ “มานะ รักสมาคม” พระเอกของศรีบูรพาเรื่อง “ลูกผู้ชาย” และถ้าเป็นคนรุ่นใหม่นิดหนึ่งจะเหมือนพวก “มานะ” พวก “ปิติ” (หมายเหตุ – หมายถึง ตัวละครในชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาชั้นประถมปีที่ 1-6 ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนระหว่างปี พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2537 โดยรัชนี ศรีไพรวรรณ) มีความเป็นไทยแท้ มีจริยธรรม เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย มีความเป็นไทยแท้ที่พื้นเพกำเนิดในชนบท แต่มีคุณสมบัติ กริยาอย่างชนชั้นกลางที่ถือว่า Respectable ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการไต่เต้า แถมมีมุมกุ๊กกิ๊กด้วย น่าเอ็นดู เป็นศิลปินชอบสเก็ตรูปเล่น มีความ Sophisticate งานอดิเรกที่สเก็ตรูปก็บอกถึงความ Sophisticate ตรงข้ามบรรหารที่มีรหัสทางวัฒนธรรมผิดหมดทุกข้อ เป็นเจ๊กบ้านนอก ไม่ใช่บ้านนอกธรรมดา แต่บ้านนอกสุพรรณ ซึ่งแค่ไม่มีความเป็นไทยความเป็นสุพรรณ ก็ถูกดูถูกแล้ว เอาเข้าจริงๆ ชนชั้นกลางไทยนั้นเพียงแต่สวมเสื้อผ้ายี่ห้อประชาธิปไตยเป็นแฟชั่น แต่ไม่ได้รัก และไม่เคยเชื่อมั่นในประชาธิปไตย หรือเอาเข้าจริงๆ ไม่เคยศึกษาเลยว่าความเป็นประชาธิปไตยหรือความหมายของประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่ เหมือนคนไทยจำนวนมากที่ทำผมเด๊ดร็อค แต่งตัวเป็นเรกเก้ แต่ไม่รู้เลยว่าเรกเก้มาจากไหน จะต่อต้านอะไร จะกบฏอะไร ทำไมต้องทำผม แต่ว่ารับแฟชั่นนั้นมา หรือนักร้องฮิปฮอปเมืองไทยที่ทำได้มากที่สุดก็แค่เอาคำหยาบมาแต่งเพลงแต่เนื้อหาไม่ได้ขบถต่ออะไรเลย ไม่มีที่มาที่ไปว่ามีข้อคับข้องใจต่ออำนาจสถาปนาในสังคมอะไรบ้าง ถึงต้องกลายเป็นฮิปฮอป จึงไม่แปลกใจว่าทำไมศิลปินฮิปฮอป เรกเก้ในบ้านเราถึงได้ร้องเพลงโฆษณา Propaganda ให้รัฐบาลได้หน้าตาเฉย หรือว่าใส่ริสแบนด์โฆษณาอะไรก็ได้ ถึงที่สุดแล้ว คำว่าพลังของชนชั้นกลาง คำว่า "ม็อบมือถือ" นั้น ส่งผลลัพธ์มาถึงทุกวันนี้ ทำให้ชนชั้นกลางเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของประชาธิปไตย ชนชั้นกลางเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่มีอยู่ทุกวันนี้เป็นผลของการต่อสู้ของพวกเขา จนเราได้มาซึ่งสิ่งนั้น ส่วนชาวบ้านกลุ่มคนที่รอรับการศึกษาที่ดีขึ้น รอการช่วยเหลืออย่างเต็มอิ่ม ชนชั้นกลางเชื่อว่าหากชีวิตของคนบ้านนอก พวกคนชนบทดีขึ้น ถ้าการศึกษาของเขาสูงขึ้น พวกเขาจะไม่ถูกนักการเมืองซื้ออีกต่อไป แล้วเมื่อไหร่ที่คนจน ชาวบ้าน ไม่ถูกซื้อ เมื่อนั้นแหละ ที่ถึงเวลาที่เมืองไทยจะมีประชาธิปไตยเสียที แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา อย่าเพิ่งมี คนพวกนี้ยังไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นคำอธิบายชุดเดียวกับที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้อธิบายการปฏิวัติ 2475 ในภายหลังว่ามันเกิดขึ้นในขณะที่สังคมไทยยังไม่พร้อม ตัวละครที่เข้ามามีบทบาทที่ทำให้วาทกรรมนี้อยู่กับชนชั้นกลางได้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ตัวละครนั้นมีชื่อว่าเอ็นจีโอ ซึ่งอาจารย์อรรถจักร์ได้พูดถึงไปก่อนหน้าแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีเอ็นจีโอ ย้อนกลับไปมีกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เริ่มมีความคิดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” มีเอ็นจีโอสายวัฒนธรรมชุมชน “อภิชาต ทองอยู่” แล้วมี “ศัพท์” เข้ามาในภูมิศาสตร์ทางบรรยากาศในแวดวงปัญญาชนไทยเช่นคำว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” “ปราชญ์ชาวบ้าน” และกระบวนการสร้างวัฒนธรรมชุมชน ในกระบวนการที่จะกลับไปรื้อฟื้นภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็มีกระบวนการสร้างเซเลบของคนชนบทขึ้นมา เช่น พ่อใหญ่วิบูลย์ พ่อนั่นพ่อนี่ พะตีนู้น พะตีนี้ คำว่ากะเหรี่ยงก็พูดไม่ได้ ยางก็พูดไม่ได้ ต้อง “ปกาเกอะญอ” อย่างนี้เป็นต้น แล้วมีการผลิตงานงานวรรณกรรมที่เชิดชูวิถีชาวบ้านออกมามหาศาล ทั้งเพื่อผลในการต่อต้านการครอบงำของรัฐ การต่อต้านแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่เห็นคุณค่า “คนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลาย” ซึ่งเป็นศัพท์ของคนกลุ่มนี้ พระเอกของเราตอนนั้นคือ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นต้น ที่เอาปัญหาของชาวบ้านมาชูประเด็น ปัญหาของชาวบ้านผ่านรายการมองต่างมุม ชาวบ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน ที่ต่อสู้เรื่องป่าชุมชนก็ได้ออกรายการของ ดร.เจิมศักดิ์ ผลของกระบวนการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ มันทำให้เกิดชาวบ้าน 2 แบบขึ้นมาคือคือ ชาวบ้านที่อยู่กับเอ็นจีโอหรือที่ดิฉันเรียกว่าชาวบ้าน “Enlightened” แล้ว “บรรลุ” แล้ว กับ “ชาวบ้านที่ยังโง่อยู่” จึงเป็นเหตุผลว่าเอ็นจีโอสายที่ไปปฏิรูปกับหมอประเวศ กับอานันท์ ถึงยังคิดว่าตัวเองต้องไปให้การศึกษากับชาวบ้านที่กำลังโง่อยู่ให้ “Enlightened” แล้วกลายเป็นมีแบบอย่างการดำเนินชีวิตเหมือนเซเลบชาวบ้าน พะตีอะไรทั้งหลาย หรือพ่อนู่นพ่อนี่ ปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลาย เพราะฉะนั้นบทบาทของเอ็นจีโอก็น่าสนใจ ในแง่ของการเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลแต่กลับลืมตรวจสอบตัวเองสุดท้ายก็กลายเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลที่องค์กรเริ่มสั่งสมวัฒนธรรมลำดับชั้นต่ำสูง มีเรื่องงบประมาณ มีการบริหารจัดการองค์กรที่คล่องตัวน้อยลง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการคอรัปชั่น และในยุคที่แหล่งทุนต่างประเทศหดหายก็ต้องหาแหล่งทุนจากภาครัฐ ในขณะที่รัฐก็ดูดบุคลากรของเอ็นจีโอเข้าไปอยู่ในนั้น เอ็นจีโอนึกว่าตัวเองได้ร่วมมือกับรัฐจะผลักดันได้มากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดพลังการตรวจสอบอำนาจรัฐกลับอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ในขณะที่ทัศนะคติ การ Romanticize ชาวบ้าน ยังคงอยู่ ยังทรงพลังเหมือนเดิม โดยที่ไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านชนบทเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร พลังที่ Romanticize ชาวบ้านไม่เปลี่ยน พลังที่ Dramatize ทุน นักการเมือง และโลกาภิวันต์ ยังไม่เปลี่ยน เพราะมองว่าเป็นผู้ร้ายตลอดกาลยังคงเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่าจึงมีเอ็นจีโอเข้าไปปั้นจิ้มปั้นเจ๋อกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้แบบไม่ได้คิดว่าตัวเองทำอะไรผิด ไอ้พวกไปช่วยเสื้อแดงสิ โง่ บ้า ไม่รู้หรือไงว่าทักษิณมันเลวแค่ไหน ข้อพิสูจน์อันหนึ่งที่บอกว่าปัญญาชนและชนชั้นกลางไม่ได้รู้สึกรู้สากับหลักการประชาธิปไตย นอกจากเห็นมันเป็นแฟชั่นผิวเผิน ก็คือในรัฐธรรมนูญปี 2540 พูดหนักหนาว่าดีมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งบอกว่าผู้สมัคร ส.ส. ต้องจบ ป.ตรี เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย แต่ชนชั้นกลางพบว่ามันธรรมดามาก สอดคล้องกับสามัญสำนึกของตัวเองมากที่ เออก็ให้นักการเมืองมีการศึกษานะ จะได้ไม่มีนักการเมืองเร่อร่าแบบบรรหาร เราจะได้ไม่มีบุคลิกเป็นเจ้าพ่อบ้านนอก เป็นกำนันเป๊าะอะไรแบบนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มีคนแบบ “ซู่โม้ตู้” “ว.วชิรเมธี” ออกมาสนับสนุนแนวคิดว่าสิทธิการมีสิทธิเลือกตั้งควรเป็นไปตามระดับการศึกษาของผู้มีสิทธิในการออกเสียง ว.วชิรเมธี นอกจากใช้การศึกษาแล้วยังไม่พอ ยังขึ้นอยู่กับระดับความดีของคนที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งด้วย คงจะมีอะไรไปจิ้มแบบเทอร์โมมิเตอร์วัดระดับความดีของคน ทุกคนแถวนี้ยังเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าการเมืองไทยล่มสลาย ไม่ก้าวหน้า เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไร้การศึกษาจึงไม่มีวิจารณญาณเลือกคนดีๆ ไปบริหารบ้านเมือง และแนวคิดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตยมากๆ เหมือนกับที่เราเชื่อว่าการต่อสู้ของชนชั้นกลางในเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นอะไรที่ประชาธิปไตยมากที่สุดเลย เพราะฉะนั้นแทนที่จะมองการเปลี่ยนแปลงของชนบท เลยมองตรงข้ามว่า ในขณะที่ชนบทอาจจะเปลี่ยนอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งดิฉันไม่มีความรู้ แต่ดิฉันมองว่าสิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยหรือมันถอยหลังกลับไป คือพลังของชนชั้นกลางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดประชาธิปไตยมาโดยตลอดต่างหาก นี่ยังไม่นับ ชนชั้นกลางสายมนุษย์นิยม พวกที่ไม่เลือกข้าง มองว่าใครก็เลวไปหมด มองชาวบ้านว่าจะเป็นเหยื่อทั้งสองฝ่าย ใครจะแพ้ ชนะ ชาวบ้านแพ้อยู่ดี นี่หนักกว่าพวกเหลืองกว่าแดงอีกนะ มองชาวบ้านเลว ยังดีกว่ามองชาวบ้านเป็นเหยื่อของทั้งสองฝ่าย คือมองว่าเลว ยังมีความคิดน่ะ แต่มองว่าเลวทั้งสองฝ่ายนี่ไม่มีความคิดเลย พวกนี้น่าเหนื่อยกว่า คือพวกสายรักมนุษย์ สายเห็นใจทั้งสองฝ่าย สายที่ต้องเห็นความซับซ้อนของการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย “ชลิดาพร ส่งสัมพันธ์” “พระไพศาล วิศาโล” เหนื่อยมากพวกสันติวิธี ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน จากการสังเกตการแบบนั่งเล่น Facebook แล้วมองชาวบ้านจากไกลๆ ถ้ามองจากเขตชนบทที่กลายเป็นเขตชานเมืองไปแล้ว อย่างบ้านสันคะยอมของตัวดิฉันเอง เศรษฐกิจขยายตัว ชาวบ้านขายที่ดินหมดแล้ว แล้วไม่ได้ขายแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ขายแล้วยิ่งจนลงเรื่อยๆ ชาวบ้านลงทุน ชาวบ้านทำตึกแถว ชาวบ้านทำหอพัก ชาวบ้านเริ่มทำมินิมาร์ท ชาวบ้านลงทุนกับการศึกษาของลูก ลูกชาวบ้านกลับมาตั้งโรงเรียนสอนพิเศษ โรงเรียนติว และมีเพื่อนบ้านดิฉันเป็นคนในเมืองไปเปิดโรงเรียนสอนดนตรี สอนเปียโน ทำค่ายศิลปะ เข้าใจว่าไม่น่าจะมีลูกค้า แต่ปรากฏว่าลูกชาวบ้าน ไม่ใช่ลูกคนมาซื้อบ้านจัดสรร คนบ้านสันคะยอมเอาลูกมาเรียนเปียโน เต้นบัลเลย์แล้ว เรียนดนตรีไทยด้วย ชาวบ้านเปลี่ยนทั้งเศรษฐกิจ และเปลี่ยนทั้งรสนิยมแล้ว การขยายตัวของเขตเมือง สิ่งที่จะเห็นคือ การผสมกลืนของวิถีชีวิต ของคนในเมืองกับชาวบ้าน ผ่านองค์กรอย่างชมรมผู้สูงอายุ คนในเมืองที่เกษียณแล้วมาซื้อบ้านจัดสรรชานเมือง ไม่มีอะไรทำ ขณะที่เทศบาลจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เล่นเปตอง การรำมวยจีนตอนเช้า ปรากฏว่าคนแก่สองกลุ่มมาเจอกัน คือคนแก่แบบป้าทอง ป้าอุ้ย อุ้ยชุ่ม ไปเล่นเปตอง และมีครูเกษียณ ข้าราชการเกษียณ ได้เข้ามาปฏิสังสรรค์กัน ทำกิจกรรมด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การขยายตัวของเทคโนโลยี คนขับรถแดงเข้าอินเทอร์เน็ตได้หมดแล้วเพราะลูกสอน หรือลูกเข้าแล้วปริ้นให้ดู การเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน วิทยุชุมชน ซึ่งอาจารย์อรรถจักร์ อาจารย์ปิ่นแก้ว พูดแล้ว ชาวบ้านมีจานเทียม ดูทีวีมากช่องกว่าพวกเรา อุดมการณ์ในชีวิตของพวกเขาใกล้กับคนชั้นกลางมากขึ้น มีความทะเยอทะยาน ใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าคล้ายชนชั้นกลาง ซึ่งในแง่นี้มักจะถูกชนชั้นกลาง และนักวัฒนธรรมชุมชนทั้งหลายประณามว่าคนเหล่านี้ฟุ้งเฟ้อ ตกเป็นเหยื่อของทุนนิยม เป็นเหยื่อวัฒนธรรมตะวันตก บริโภคเกินฐานะ ไม่รักรากเหง้า ไม่รักท้องถิ่น ไม่หวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม มึงจะไปเรียนเปียโนทำไม มึงไปตีกลองหลวงสิ ทำไมไม่ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนสืบสานล้านนาของอาจารย์ชัชวาลย์ การกระจายอำนาจ การเกิดขึ้นของ อบต. ของเทศบาล ทำให้ชาวบ้านเข้าใจการเมืองมากขึ้น และการเมืองผ่านการเลือกตั้งใกล้กับเขามากขึ้น การปรับตัวของระบบราชการที่เป็นเจ้าเป็นนายคนไม่ได้มากขึ้นเหมือนเมื่อก่อน ชาวบ้านที่ลูกหลานตัวเองมีการศึกษามากขึ้น ลูกหลานของชาวบ้านก็ทำงานในอำเภอ ทำงานใน ธกส. เพราะฉะนั้นการดีลกับระบบราชการมันเป็นการดีลแบบที่มีเสมอภาคมากขึ้น เพราะฉะนั้นการ Exploit ทางอุดมการณ์โดยรัฐทำได้ยากขึ้น ผลก็คือชาวบ้านเข้าใจประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เร็วและมากขึ้น และผลที่เขาไม่ได้รับการศึกษาในระบบ ไม่ได้อ่านมานี มานะ มากอย่างพวกเรา มันทำให้เขาก้าวข้ามวาทกรรมที่รัฐพยายามปลูกฝังลงมาทางสังคม ได้ง่ายกว่าชนชั้นกลางในเมืองที่รับสื่อที่มีอุดมการณ์ของรัฐพ่วงมาด้วยโดยตลอด เพราะฉะนั้นคนที่น่าห่วงไม่ใช่ชาวบ้าน คนบ้านนอก แต่เป็นชนชั้นกลางที่ยึดติดกับเรื่องความดี ศีลธรรมผู้ปกครอง ไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง ไม่ไว้ใจนักการเมือง หวังพึ่งอำนาจนอกระบบเลือกตั้ง หวังพึ่งคนดี และยังเชื่อเหมือนเดิมว่าชาวบ้านไม่ฉลาดพอที่จะมีประชาธิปไตย ดิฉันคิดว่า ถ้าเราจะศึกษา เราควรจะเปลี่ยนหัวข้อ ไม่ใช่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชนบท แต่ศึกษาความไม่เปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางไทย
000 ศรีวรรณ จันทน์ผง
ศรีวรรณ จันทน์ผง กล่าวว่า ผมเป็นลูกชาวนา พ่อจบ ป.2 แม่จบ ป.3 โทษพ่อโทษแม่ไม่ได้ว่าไม่มีปัญญาส่งเรียน มันเป็นแบบนั้นจริงๆ เป็นหนทางหนึ่งของเด็กบ้านนอก ว่าเราจะมีวิถีชีวิตที่ดี ได้รับการบริการ สวัสดิการจากรัฐ เหมือนชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงอย่างไร ถ้าเราอยู่ในวังวนของชาวนาชาวไร่ คงลำบาก ก็คิดแบบนี้ตลอด ถ้าใครผ่านชีวิตแบบนี้มาคงไม่ลืมกำพืดตัวเองว่าพี่น้องร่วมชาติเราอีกหลายล้านชีวิตต้องการแสงสว่างและองค์ความรู้ในการจัดการชีวิตของเขาด้วย เพราะฉะนั้นผมก็ดิ้นรน แม้เป็นข้ารับใช้ใครเรียนหนังสือบ้าง ก็เอา ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไปอยู่วัดบ้าง ทำงานรับจ้างช่วงเรียน เรียนจนจบ เราในฐานะมาจากคนจน ชีวิตลำบากมาก บางมื้อกับข้าวไม่มีจะกิน มันลำบากมากไม่รู้จะอธิบายยังไง ถ้าใครผ่านชีวิตช่วงนี้มาผมเชื่อว่าคงเข้าใจความรู้สึกนี้ ก็คิดว่าจะพ้นจุดนี้ได้อย่างไร ก็พยายามเรียนหนังสือให้ได้มากที่สุด ช่วงหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัย 3-4 ปี ขอย้อนก่อนนะ ผมไม่ใช่แกนนำเสื้อแดง ประเทศนี้ไม่ควรแยกสีด้วยซ้ำ ด้วยเงื่อนไขหลายอย่างและคนที่กระทำซึ่งทำให้คนแยกสี เพราะฉะนั้นด้วยความยากลำบากก็ฝังอยู่ จบมาแล้วก็อยากใช้ชีวิตให้มีคุณค่ากับสังคมและโลก จบมาปุ๊บเป็นครูดอย 5 ปี ไม่มีถนนรถยนต์เข้า ไม่มีไฟฟ้า เทียนไม่มี ยุคนั้นค่อนข้างลำบาก พาหนะไปหมู่บ้านคือเท้าสองเท้าเท่านั้น เป้ใบหนึ่ง ข้างหน้าไปหาเอาเอง อาคารก็ต้องไปคุยกับชาวบ้านให้สร้างให้ สื่อการสอนก็ให้ชาวบ้านแบกเข้าไป ใช้ชีวิตเป็นครูที่อยู่ในป่าในเขา 5 ปี พอเราไม่อยู่ในสถานะที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและระบบราชการไทยได้ เพราะฉะนั้นอีกช่วงหนึ่งมาสัมผัสกับเอ็นจีโอ รู้สึกว่า มันได้ใช้ความคิดสมอง อุดมการณ์เต็มที่ ไม่มีขอบเขตจำกัด มีอิสรภาพเสรีภาพ ทำงานเพื่อสังคมค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่ครูไม่ได้เป็นแบบนี้ 100% นะ ทำงานให้ชาวเขารู้หนังสือ ทันสถานการณ์ในเมืองที่เอาเปรียบเขาตลอด ก็ลาออกจากครู ทำเอ็นจีโอ 4-5 ปี ทำประเด็นเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง กองทุนชุมชน จัดงานออกาไนซ์เกือบทุกเรื่อง เกาะติดประเด็นปัญหาทุกเรื่อง ดีใจที่เจอพี่ๆ น้องๆ เอ็นจีโอ ณ วันนี้ ในแวดวงเอ็นจีโอ ดีใจที่ได้เจอ ทำได้ 4-5 ปี อย่าคิดว่าหลายใจนะ แต่ความมุ่งมั่น ไม่เป็นทาสรับใช้ใคร เราใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่อิสระ เสรีภาพเต็มที่ อยู่ไปก็ คิดไปคิดมาก็ไม่ต่างจากครูดอยอีก ทำได้ 4-5 ปีก็พอแล้วนะ หยุด ก็มาทำธุรกิจ ได้ 8 ปีแล้วครับ ทีนี้ ก็มีคนถามว่าทำไมจากเรียนหนังสือ ทำงานทั้งครูทั้งเอ็นจีโอ ผมให้คำตอบชีวิตตัวเองนะ ว่าอยากพ้นจากความยากจน สังคมไทยยอมรับด็อกเตอร์หมด ไม่เห็นมีใครยอมรับชาวนา มีบ้าน มีรถ มีวิถีชีวิตที่ดีบ้าง ก็คิดแบบนี้ตลอด มนุษย์เจอปัญหาอีกเรื่องคือต่อสู้ภายในตัวเอง เรื่องจิตใจ ต่อสู้ได้มาซึ่งทุกอย่างแล้ว ภาวะจิตใจตัวเอง หาความสุข ความสงบ ผมไม่ปิดกั้นตัวเองในการเรียนรู้โลกใบนี้ที่น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไปอีก ก็ไปเรียนศึกษาทางธรรมะ ไปอยู่สันติอโศกปีหนึ่ง ราชาโยคะ มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก โยเร เจ้าแม่กวนอิม เจ้าทรง สุดท้ายผมมาจบที่พระพุทธศาสนา รายละเอียดมันคงเยอะ เป็นชีวิตที่ทุกท่านคิดไม่ต่างจากผมว่าการดิ้นรนในสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข ไม่พลาดพลั้งต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ ถือว่าเป็นทุนหนึ่งที่ออกมาต่อสู้จนถึงทุกวันนี้ เข้ามาในเรื่องของการเมือง ผมไม่ได้เป็นแกนนำ บนเวทีไม่มีใครถือไมค์ ผมเลยถือบ่อย ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกท่านทราบดีว่า ประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่แปลกประหลาด มีการปฏิวัติ 18 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ทำไมต้องต่อสู้ ทำไมต้องอยู่ข้างประชาชนคนเสื้อแดง เพราะนโยบาย สิ่งหนึ่งที่รับไม่ได้เลย คือการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกท่านถ้าเรียนสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์การเมืองการปกครอง ถ้าท่านเข้าใจประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกัน ก็ย่อมเข้าใจว่าการรัฐประหารนั้นน่ารังเกียจ เงื่อนไขหนึ่งที่ออกมาต่อสู้คือ ผมไม่เห็นด้วยกับ 19 ก.ย. 49 ออกมาเคลื่อนไหวตอนนั้น ช่วงแรกๆ กลัวครับ ทุกคนกลัวตาย ผมก็กลัวตาย คนช่วงแรกๆ ที่สนามหลวง จุดประกายให้เกิดคนที่อยากเรียนรู้ จนถึง 19 พ.ค. 53 มันเป็นการเรียนรู้ที่ทวีคูณเพิ่มมากขึ้น 1 ในนั้นที่ได้เรียนรู้ การต่อสู้ทางการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะถ้าผมวิพากษ์ โดยหมายเรียก 1 หมาย 8 ส.ค. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณียื่นหนังสือเมื่อ 16 พ.ค. ที่สถานทูต 3 แห่ง และศูนย์ราชการ ใน จ.เชียงใหม่ เงื่อนไขที่สอง ไม่เห็นด้วยกับสองมาตรฐานของรัฐ ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมกับคนในประเทศ คนเสื้อเหลืองปิดสนามบิน ยึดทำเนียบ ยิงคนที่สถานีวิทยุ (คนเสื้อแดง) ของชินวัฒน์ หาบุญพาด โดยไม่ถูกจับแม้แต่คนเดียว กลับตาลปัตรกลับข้าง ชวน หลีกภัย มาลำปาง ลำพูน เจอคนเอาไข่ขว้าง ชาวบ้านถูกจับติดคุก แกนนำชาวนา 6 คนที่เชียงราย ปิดถนนเรียกร้องให้ขึ้นราคาข้าว ถูกจับติดคุก 6 เดือน ทำไมรัฐบาลใช้กฎหมาย สองมาตรฐาน มีกรณีการยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเปิดพจนานุกรมตีความแล้วให้ยุบพรรค มันใช้ไม่ได้ นักการเมืองใช้ไม่ได้จริงหรือ ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจน ชัดหมด พรรคประชาธิปัตย์ผิด แต่วันนี้ก็ยังไม่ยุบ มีการยื้อคดี นี่คือสองมาตรฐานหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ประชาชนเจ็บปวดคือพี่น้องที่ถูกฆ่า เสธ.แดงที่ถูกฆ่า ไม่ได้ขึ้นหน้าสื่อรัฐว่าจะเยียวยาชีวิตและจิตใจเขาอย่างไร คนไทยในสังคมแตกแยกมากขึ้น ผลักเสื้อแดงให้เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพคนเสื้อแดง สุดท้าย สองมาตรฐาน หลังการสลายการชุมนุม สื่อเสื้อแดงถูกปิดหมด สถานีวิทยุ 4 สถานีวิทยุรื้อทั้งเสาทั้งเครื่องส่งเอาไปหมด สื่อสิ่งพิมพ์ถูกสั่งปิด ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย นี่อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องต่อสู้ เสียดายในชีวิตคือรัฐธรรมนูญ 2540 ทุกท่านทราบว่ากว่าจะได้รัฐธรรมนูญ 2540 มีความเป็นมาอย่างไร พอนำมาใช้กับประชาชนกับประเทศ มันเป็นจังหวะของทักษิณ ชินวัตรเข้ามา ซึ่งทักษิณเองก็ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อใช้แล้วปรากฏว่าขอโทษ ประชาชนกินได้ มันแดกได้ ในชนบทบ้านนอก บอกทุกท่านได้เลย วันนี้ถ้าใครจะมาเป็นผู้นำ ถ้าทำให้ หนึ่ง เขาลดค่าครองชีพได้ สอง กระจายโอกาสทางการศึกษา ให้เขาเต็มที่ สาม ความเป็นธรรมทางกฎหมายหรือทุกเรื่อง ผมคิดว่าวันนี้ไม่ต้องพูดเรื่องชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ ศักดินา หรือชาวไร่ ชาวนาในชนบท วันนี้ถ้าคุณเป็นคนไทยด้วยกันรักกันนี้ โอกาสที่รัฐจะจัดสวัสดิการให้คนในชนบทได้รับบ้าง มันเสียหายตรงไหน เพราะฉะนั้นเงื่อนไขเช่นนี้เลยนำมาต่อสู้ทางการเมือง ผมไม่สังกัดพรรคการเมือง อยู่กับประชาชน ภาคประชาชนมาตลอด เพราะการเมืองบ้านเรานี้หลายท่านวิพากษ์ไปแล้วว่า มีคนกล่าวหาว่าพรรคการเมืองเลว นักการเมืองซื้อเสียง ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเรื่องโครงสร้างการปกครองทั้งหมด แต่ประเทศไทยพูดไม่ได้ ขืนพูดก็ติดคุก ผมก็พูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทย สังคมไทย ถ้าอาจารย์นักศึกษาจะศึกษาวิจัย ในสลัม สี่ล้อแดง สามล้อ ตุ๊กตุ๊ก คนรับจ้าง แรงงาน ท่านจะได้คำตอบว่าสิ่งที่เขาออกมาต่อสู้เรียกร้อง เขาต้องการอะไร และด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ผมตัดสินใจออกมาต่อสู้ ช่วงหลังมีนักข่าวต่างประเทศมาสัมภาษณ์คนเสื้อแดงเยอะมากๆ คำถามส่วนใหญ่คือเสื้อแดงจะทำอะไรต่อ แต่ตอบยากเพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุม ชนบทหลีกไม่พ้นต่อกลไกตลาด และการเชื่อมโยงกับโลก วันนี้ถ้าผู้ปกครองบอกว่าเราไม่สัมพันธ์กับตลาด ธุรกิจ กับโลก แบบนี้ต้องอยู่แบบพม่าหรือ สันติอโศกหรือ ที่จริงไม่ใช่ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแบบนั้น คนส่วนน้อยต้องการแบบนั้น แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ผู้ปกครองคิดแทนประชาชน แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐหลายเรื่องวันนี้ที่เป็นสิ่งที่เสียหาย แต่สังคมไทยต้องบอกว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองแทบไม่มี เพราะฉะนั้นพื้นที่ต่อสู้ของประชาชนที่เกิดขึ้นต้องถือเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยนอกครัวเรือน นอกชุมชนตัวเอง นี่ถือเป็นเงื่อนไขและสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ตัวเองเข้ามาเรียนรู้ และเห็นว่าสังคมไทยคนที่เป็นคนชั้นนำ คนรวย คนชั้นกลาง หรือครูบาอาจารย์ ถ้าท่านอยากเห็นพี่น้องประชาชนคนยากคนจนอยู่ดีกินดีเหมือนท่าน ท่านลองไปสัมผัสดูว่าเขาคิดแบบท่านไหม ทำอย่างไรให้โอกาสปัจจัยเงื่อนไขเขา ได้ดิ้นรนต่อสู้และเรียนรู้มาเป็นเหมือนท่าน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แรงงานจีนกินนิ้วประท้วง หลังถูกเลิกจ้าง Posted: 05 Aug 2010 11:28 AM PDT อดีตคนงานโรงไฟฟ้าในจีนประท้วงด้วยการตัดนิ้วแล้วกลืนลงท้องต่อหน้าปัญญาชนที่มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง เพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงความทุกยากของคนงานคอปกน้ำเงินที่ถูกเลิกจ้าง 5 ส.ค. 53 - หนังสือพิมพ์ Global Times รายงานว่า Li Bo, Zhang Yongsheng, Huang Qunyue และ Zhang Shen อดีตคนงานโรงไฟฟ้าในเขตหนิงหยวน มณฑลหูหนาน ได้เดินทางเข้าเมืองหลวงประท้วงหน้ามหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงปักกิ่ง ด้วยวิธีการที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้ที่ได้พบเห็น ชายทั้งสี่คนเดินทางออกจากภูมิลำเนามาตั้งแต่วันพุธมาประท้วงที่มหาวิทยาลัยจิงหัวในปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยได้ตัดนิ้วก้อยแล้ววางไว้บนหนังสือก่อนกลืนมันลงไปเพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ให้เหล่าปัญญาชนที่สัญจรไปมารับทราบถึงความทุกข์ยากของพวกเขา Li Bo หนึ่งในผู้ประท้วงได้โทรไปแจ้งข่าวการประท้วงของพวกเขาแก่หนังสือพิมพ์ Global Times โดยกล่าวให้เหตุผลที่พวกเขาเลือกมาประท้วงที่มหาวิทยาลัยจิงหัว เพราะว่าต้องการเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มคนคุณภาพสูงที่มักจะตระหนักถึงความเป็นธรรม ทั้งนี้หลังจากการร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานท้องถิ่นแต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาพวกเขาจึงได้ฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลมณฑลหูหนาน แต่ผลออกมาก็ไม่สามารถส่งพวกเขากลับเข้าไปทำงานได้อีกเช่นกัน โดยทางการท้องถิ่นได้ระบุว่าพวกเขามีสิทธิ์ได้เงินชดเชยเพียง 50,000 หยวน (ประมาณ 7,382 ดอลลาร์ - 250,000 บาท) สำหรับการเลิกจ้าง พวกเขาถูกไล่ออกจากงานในเดือนธันวาคม ปี 2008 โดยที่ทำงานแจ้งเหตุผลว่าเป็นสาเหตุมาจากการขาดงาน “พวกเราตัดสินใจออกจากบ้านมาโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวกับครอบครัว และซื้อมีดทำครัวในปักกิ่ง” Li กล่าวกับผู้สื่อข่าว ทั้งนี้หลังการประท้วง พวกเขาทั้ง 4 คนถูกตำรวจและคนจากรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลหูหนานจับกุมตัวไปยังสถานีรถไฟปักกิ่งสายตะวันตก เพื่อส่งพวกเขากลับไปยังบ้านเกิด ที่มา: Men cut off fingertips (Global Times, 5-8-2010) http://www.globaltimes.cn/www/english/metro-beijing/update/society/2010-08/560115.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'เทพเทือก' เตือนพันธมิตรฯ ปิดทำเนียบ ระวังเจอ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน Posted: 05 Aug 2010 10:35 AM PDT สุเทพ เทิอกสุบรรณ บอกคนไทยรักสงบ ขณะเรื่องการเจรจาปราสาทเขาพระวิหารยังไม่มีอะไรคืบหน้า เตือนพํนธมิตรฯ หากปิดทำเนียบ ระวังโดน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. เวลา 09.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และยังต้องรอดูกันอยู่ สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารนั้น ขอเรียนไปถึงประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปนั้น เป็นการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างดีที่สุดแล้ว การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งนายสุวิทย์ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ได้ชี้แจงบอกเหตุผลกับคณะกรรมการมรดกโลกว่าสิ่งที่กัมพูชาดำเนินการนั้น ฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยอย่างไร จนกระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนพิจารณาเรื่องนี้ออกไปเป็นในปี 2554 จึงอยากให้ผู้ที่ออกมาพูดจาเรื่องนี้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องกับประชาชน และตนไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับข้อมูลผิดและเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเรียนไปยังกลุ่มที่คิดว่าจะมาทำเนียบรัฐบาลว่าขณะนี้เรายังมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่บังคับใช้ ดังนั้นการชุมนุมใดๆ ก็ต้องระวัง ถ้าเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย วิธีการที่จะแสดงออกได้ดีที่สุด คือพวกท่านก็มากันแค่ 3-4 คนนำหนังสือมายื่นกับตนหรือนายกรัฐมนตรีก็ได้ เพื่อให้รัฐบาลได้รับรู้ว่าพวกท่านคิดกันอย่างไร และขอความกรุณาให้คิดถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้มาก และเราต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้บ้านเมืองเกิดปัญหา ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนว่าทั้งไทยและกัมพูชากำลังรอดูท่าทีของกันและกัน ทำให้ไม่มีการเริ่มต้นในการหารือ ดังนั้นจำเป็นต้องมีคนกลางมาเชื่อมหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราอย่าไปคาดการณ์เอาเอง ส่วนเรื่องพูดคุยกันนั้นคงมีช่วงจังหวะเวลาที่สมควรในการเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยไม่ได้สงวนท่าทีอะไรมากนัก แต่ได้ทำอย่างจริงใจตรงไปตรงมา สิ่งที่เราได้รับการยอมรับจากสังคมโลก คือประเทศไทยไม่ใช่ประเทศชาติที่ก้าวร้าวแต่รักสงบและพร้อมที่จะอยู่กับ ประเทศเพื่อนบ้านฉันท์มิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนการเจรจานั้นตนเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องมีการเจรจากัน แต่ต้องดูจังหวะเวลาขณะนี้ยังร้อนกันอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีคนบางกลุ่มหยิบยกกรณีปราสาทพระวิหารไปเป็นประเด็นหาเสียงทางการ เมือง อย่างกรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปประท้วงกลางถนนก็ไม่เห็นตำรวจทำอะไร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องดูตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป ตนถึงบอกว่าถ้ามีอะไรที่ทำผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินคดี ต่อข้อถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศว่าจะมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล 1 คืน สามารถทำได้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ามาปิดทำเนียบรัฐบาล 1 คืน ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน อย่างนั้นต้องดำเนินคดี ตนพูดเพื่อเป็นการขอร้องว่าอย่าไปคิดว่าตนท้าทาย เกรงว่าจะไปแปลความหมายผิด อย่าทำอย่างนั้นเลย ตนถึงได้ขอร้องว่าอย่ามา อย่าทำเลย มันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา
ที่มา : กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จับตาภาคประชาชน: “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน?” Posted: 05 Aug 2010 09:50 AM PDT ความเห็นจาก 2 ชาวบ้านนักเคลื่อนไหว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ต่อ “ขบวนการภาคประชาชน” และ “NGO” ใน ซีรี่ส์สั้นๆ “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” กิจกรรมตีปี๊บ “เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ตอนที่ 3: เรวัติ อินช่วย ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง "ภาคประชาชนของเราเพื่อรวมกระบวนการการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน" "NGO ต้องปรับตัวแบบให้มันชัดเจน อย่าทำให้เห็นแบบลูกครึ่ง แบบครึ่งราชการ-ชาวบ้าน เพราะบางคนมันออกมาไม่ชัดเจน เราก็เชื่อไม่ได้ว่ามันอยู่ฝ่ายไหน ...ชาวบ้านเองเดือดร้อนมาจาก NGO เหมือนกัน เพราะมันเป็นตัวสืบนำทางเรา ถ้าเขาไม่ชัดเจน เราก็เชื่อไม่ได้..." ความเห็นจาก เรวัติ อินช่วย ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 00000 ตอนที่ 4: เฉลิมชัย คงเหมือน ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง "ปัจจุบันประชาชนถ้าไม่รู้จักปัญหาของตัวเอง และคิดจะแก้ปัญหาของตัวเอง ผมคิดว่าคงจะหาคน... จะพึงคนอื่นไม่ได้แล้วแหละ" "NGO ถ้าจะปรับตัว... ส่วนหนึ่งต้องเอาปัญหาชาวบ้านเป็นที่ตั้ง อย่าคิดถึงเรื่องอื่นเกินไป ผมคิดว่ายังมีช่องทางอีกเยอะที่จะทำงานร่วมกับชาวบ้าน สำหรับ NGO นะ..." ความเห็นจาก เฉลิมชัย คงเหมือน ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง 00000 "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย" กับการต่อสู้ของ "ภาคประชาชน" แนวความคิดจากอดีต "ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ" คือเจตนารมย์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2517 และถือเป็นขบวนการชาวนากลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินของตนเอง อันสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่ว่า "ที่ดินคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เกษตรกรหรือผู้ทำการผลิตอาหารต้องมีอยู่ในมือของตนเอง เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของครอบครัวและชุมชนชาวนาชาวไร่ และเชื่อมโยงถึงความมั่นคงทางอาหารของสังคมโดยรวม" สิ่งที่พวกเขาตระหนัก คือ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินของผู้ทำการผลิต ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรรายย่อย และคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ดำเนินมายาวนานและคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการที่มีที่ดินไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ หากแต่เป็นเพราะนโยบายและกฎหมายที่มีปัญหา ทำให้ที่ดินกระจุกตัวอยู่กับคนรวยเพียงไม่กี่คน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดิน การถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม และวิกฤตินโยบายที่ดินในประเทศไทย ได้ทำให้เกิดพัฒนาการต่อสู้และผลสืบเนื่องทางอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อที่ดิน ของคนจนมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ส่งผลสืบเนื่องสู่การต่อสู้เพื่อที่ดิน การพัฒนากลุ่มคนไร้ที่ดิน และองค์กรชาวนาไร้ที่ดินขยายออกไปมากมายในหลายจังหวัดในภาคต่างๆ ของประเทศ เป็นขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ที่มีการปฏิบัติการจริง ต่อมาในปี 2544 กลุ่มคนไร้ที่ดินรายย่อยจากภูมิภาคต่างๆ พยายามที่จะเรียนรู้ระหว่างกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของ "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย" ด้วยการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ของคนไร้ที่ดิน โดยมีข้อตกลงร่วมในการบริหารจัดการองค์กรคนไร้ที่ดินในภูมิภาคต่างๆ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินในสังคมไทย และปฏิรูปกฎหมายที่ดินเพื่อกระจายที่ดินสู่คนจนอย่างเป็นธรรม ถึงวันนี้ พวกเขาได้เริ่มกระบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จากการผลักดันแนวทางโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นแนวนโยบายของภาคการเมืองในการจัดการเรื่องที่ดิน เพื่อเกษตรกรจะสามารถผลิตอาหารหล่อเลี้ยงสังคมได้ต่อไป .............................................................. หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รวมพลังจับมือต้านแท่นขุดเจาะน้ำมันเกาะสมุย หวั่นกระทบแหล่งท่องเที่ยว Posted: 05 Aug 2010 09:49 AM PDT คนเกาะสมุย เกาะเตา เกาะพะงัน ผนึกกำลัง กว่า 35,000 คน จับยืนมือรอบเกาะสมุยแสดงพลังต้านสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมอ่าวไทย หวั่นผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง จี้รัฐทบทวนจะเอารายได้จากท่องเที่ยวระยะยาวหรือขุดปิโตรเลียมขายจนหมด วันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เป็นวันที่ผู้คนในแวดวงขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ต่างลุ้นระทึก เนื่องเพราะเป็นวันที่คนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นัดหมายกับคนจังหวัดเดียวกันจากเกาะพะงัน เกาะเต่า คนบนฝั่งจากตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจากอำเภอขนอม อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันแสดงพลังต้านสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมชายฝั่งในอ่าวไทย ที่จริงปฏิกิริยาปฏิเสธสัมปทานขุดเจาะใกล้ชายฝั่งของชาวอำเภอเกาะสมุย ก่อตัวกันอย่างเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2551 ถึงบัดนี้ก็ร่วม 2 ปีแล้ว แต่ทว่า ที่เพิ่งออกมาปะทุชัดเจน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 เมื่อนายอานนท์ วาทยานนท์ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ร่อนจดหมายชวนประชาชนและเจ้าของกิจการมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และบริเวณหมู่เกาะใกล้เคียง พร้อมกับส่งจดหมายคัดค้าน ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกต่างหาก เวลา 9.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ขณะที่บริษัท โปรเอ็นเทคโนโลยี จำกัด ผู้ศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลหมายเลข G5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ต่อร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ห้องประชุมเพชรสมุย เทศบาลเมืองเกาะสมุย ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งจากเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ต่างเดินทางมารวมตัวกันที่หน้าอาคารเทศบาล พร้อมตั้งโต๊ะลงรายชื่อคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ด้วยเกรงว่าการขุดเจาะปิโตรเลียมใกล้ชายฝั่งในอ่าวไทย จะส่งผลคุกคามต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้าน จากนั้นผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนเข้าไปถึงตัวแทนเข้าไปแสดงความเห็นต่อที่ประชุม พร้อมกับชักชวนผู้เข้าประชุมทั้งหมดออกไปชุมนุมหน้าเทศบาล ส่งผลให้การประชุมระดมความคิดเห็นล้มกลางคัน อันไม่แตกต่างจากการเดินสายจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ที่เกาะพะงันในวันถัดมา ซึ่งถูกชาวเกาะพะงันปฏิเสธเช่นกัน ขณะที่นายประยุทธ ทองนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน ที่ออกมายืนยันว่า ชาวเกาะเต่าก็คัดค้านโครงการนี้เช่นกัน “จุดขายของเกาะเต่าคือธรรมชาติสวยงาม และเป็นแหล่งดำน้ำชั้นนำของโลก ถ้านักท่องเที่ยวไม่เข้ามา ชาวเกาะจะไปทำอาชีพอะไร” เป็นคำถามจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า ส่วนนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเกาะสมุย ในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ย้ำว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องพิจารณาแล้วว่า ระหว่างการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 20,000 ล้านบาท จากเกาะทั้ง 3 แห่งนี้ กับพลังงานว่าจะเลือกอะไร “พลังงานมีวันหมดสิ้นไป แต่การท่องเที่ยวสามารถทำรายได้เข้าประเทศได้ตลอดระยะยาว” นายรามเนตร กล่าว สำหรับโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังเดินสายรับฟังความคิดเห็นและถูกคัดค้านอยู่ในขณะนี้ มีผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้อนุมัติแปลงสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย ปี 2550 ให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันหลายแห่ง เช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตโตรเลียม จำกัด เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีแปลงสัมปทานบริเวณรอบเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ อันเห็นได้ชัดจากบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลหมายเลข G/50 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเกาะสมุย ขอบแปลงสัมปทานอยู่ห่างจากเกาะสมุยไม่ถึง 5 กิโลเมตร หลุมสำรวจขุดเจาะอยู่ห่างจากเกาะพงันและเกาะสมุยประมาณ 65 และ 74 กิโลเมตรตามลำดับ หลุมที่อยู่ใกล้เกาะพงันและเกาะสมุยที่สุดห่างประมาณ 115 และ 110 กิโลเมตรตามลำดับ การขุดเจาะแต่ละหลุมใช้เวลาประมาณ 11 วัน มีหลุมที่ต้องการขุดเจาะ 12 หลุม เงื่อนไขสัมปทานระบุว่า จะต้องขุดเจาะหลุมสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ในปี 2552 และต้องขุดเจาะสำรวจ 3 หลุม ภายในปี 2553 ส่วนแปลงสัมปทานของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลหมายเลข G6/48 มีพื้นที่ 2,280 ตารางกิโลเมตร ขอบแปลงห่างจากเกาะสมุยประมาณ 82 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเกาะพะงัน และเกาะสมุย 113 กิโลเมตร และ 110 กิโลเมตรตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแปลงสัมปทานที่ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจใหม่ ปี 2553 ที่อยู่ในขั้นตอนศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยมีหลุมเจาะใกล้เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า อีกสองบริษัทคือ แปลงสัมปทาน B8/38 ของบริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด อยู่ห่างจากเกาะเต่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 65 กิโลเมตร และแปลงสัมปทาน G5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 42 กิโลเมตร ข้อมูลที่หลุดออกจากปากนายวีรศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย 4 บริษัท และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มีโครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณอ่าวไทย 10 โครงการ โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข บี 12/27, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข บี 8/38, โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 1/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 2/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 3/48, โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 10/48 โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 11/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 5/50, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 8/50 และจี 9/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 12/48 สำหรับโครงการที่ขุดไม่พบแหล่งปิโตรเลียม และปิดแปลงสัมปทานหยุดขุดเจาะไปแล้วคือ แปลงสำรวจหมายเลข จี 4/50 (A) และ (B) ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แปลงสำรวจหมายเลข จี 6/48 ของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด จึงไม่แปลกที่การรับฟังความคิดเห็นประชาชนของบริษัทที่ปรึกษา ที่ได้รับการว่าจ้างมาจากผู้ได้รับสัมปทาน จึงถูกคัดค้านจากประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยชาวบ้านและผู้ประกอบการในพื้นที่ ต่างเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย ที่ทำรายได้ให้กับเกาะสมุยกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี นี่คือที่มาของการจัดตั้งเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ของคนเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่มีนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย เป็นประธาน กำหนดออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยครั้งใหญ่ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 พร้อมกับมีมติเชิญผู้ที่จะได้รับผลกระทบลักษณะเดียวกันจากอำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มาร่วมเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย เพื่อจะได้กำหนดท่าทีเคลื่อนไหวร่วมกัน ภาพที่จะได้เห็นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ก็คือ การระดมประชาชนประมาณ 35,000 – 40,000 คน ทั้งชาวบ้าน พนักงานโรงแรม นักศึกษา นักเรียนออกมายืนบนถนนสายรอบเกาะ จับมือต่อกันในระยะทาง 52 กิโลเมตร เพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ นี่คือ การประกาศเปิดศึกกับบรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติของคนท้องถิ่นประเทศนี้ ที่คาดได้ไม่ยากว่า จะเป็นศึกที่ยืดเยื้อยาวนาน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : บทเรียนจากการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 (2) Posted: 05 Aug 2010 09:18 AM PDT
4. การสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงเครื่องมือของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ไม่มีอำนาจและความเป็นเอกเทศที่จะตัดสินใจยุบสภาได้ด้วยตนเอง ความจริงคือ ฝ่ายเผด็จการไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตของพวกเขาที่ยอมให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 ทั้งแกนนำและมวลชนต่างรู้ว่า “แผนปรองดอง” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการหลอกลวง และจะต้องถูกฝ่ายเผด็จการบิดพลิ้วไม่ช้าก็เร็ว แต่ถ้าแกนนำนปช.ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลในทันที ฝ่ายเผด็จการก็จะฉวยใช้เป็นข้ออ้างทางการเมืองเพื่อใช้กำลังปราบปรามประชาชน ฉะนั้น หนทางที่สอดคล้องในขณะนั้นคือ การรับข้อเสนอของรัฐบาล ยุติการชุมนุม เพื่อรักษากำลัง ฐานมวลชนและเครือข่ายสื่อสารของตนไว้ให้พร้อม เพื่อรณรงค์เปิดโปงและเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณี 10 เมษายน 2553 ต่อไป รอเวลากลับมาเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งเมื่อฝ่ายเผด็จการบิดพริ้วไม่ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดในวันข้างหน้า แต่แกนนำก็ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ เพราะหากตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลโดยทันที พวกเขาก็จะเผชิญความขัดแย้งกับมวลชนที่ไม่ต้องการ “ปรองดอง” กับเผด็จการ แกนนำพื้นที่และมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้สั่งสมความโกรธแค้นมาหลายปีอันเกิดจากการข่มเหงและความอยุติธรรม นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การยุบพรรคไทยรักไทย การปฏิเสธผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ด้วยการอุ้มชูอันธพาลการเมืองเสื้อเหลืองให้ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน ยุบพรรคพลังประชาชน ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และการปราบปรามประชาชนเมื่อ 12-14 เมษายน 2552 มวลชนเหล่านี้จึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยจิตใจที่พร้อมจะเผชิญกับความยากลำบากและอันตราย กรณีนองเลือด 10 เมษายน 2553 ที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายรวมเกือบหนึ่งพันคนยิ่งสร้างความโกรธให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น พวกเขามิได้เพียงต้องการยุบสภาอีกต่อไป แต่ต้องการท้าทายระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยโดยตรง แกนนำพื้นที่และมวลชนจึงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล และปฏิเสธแกนนำนปช.ในประเด็นดังกล่าว ผลที่อาจเกิดขึ้นคือ แกนนำบางส่วนและมวลชนจะยังคงชุมนุมยืดเยื้อต่อไปโดยลำพัง นำมาซึ่งการเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่อยู่ดี ในขณะเดียวกัน แรงกดดันจากมวลชนยังส่งผลให้ความแตกต่างทางความคิดที่มีอยู่เดิมภายในหมู่แกนนำนปช. ขยายตัวเป็นความแตกแยกทางความคิดและยุทธวิธี แกนนำส่วนหนึ่งมี “ความโน้มเอียงทางการทหาร” ประเมินดุลกำลังของตนอย่างเพ้อฝันเกินจริง และประเมินฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป โดยเชื่อว่า จะยังคงไม่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน หรือหากมีการใช้กำลัง ก็จะล้มเหลวดังเช่นกรณี 10 เมษายน และการยืนหยัดชุมนุมต่อไปจะทำให้รัฐบาลไม่มีทางอื่นใดอีกนอกจากต้องยอมยุบสภาโดยทันทีหรือลาออก ในที่สุด ได้มีการเพิ่มข้อเรียกร้องของการชุมนุมจาก “ยุบสภา” เป็น “เอาผิดผู้รับผิดชอบกรณี 10 เมษายน” แต่การยกระดับข้อเรียกร้องดังกล่าวได้กลายเป็นสัญญาณว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้มิอาจมีผลเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากการเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่เนื่องจากฝ่ายเผด็จการนั้นได้เตรียมแผนการมายาวนานและมีกำลังมาพร้อมสรรพ ในขณะที่ฝ่ายมวลชนประชาธิปไตยก็เต็มไปด้วยความโกรธที่สั่งสมมายาวนาน และพร้อมจะเผชิญหน้ากับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ผู้วิจารณ์บางคนมีข้อแย้งว่า แกนนำนปช.ยังอาจยุติการชุมนุมได้ทันท่วงทีหากไม่มีการแตกแยกกัน และสามัคคีกันลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับแกนนำพื้นที่และมวลชน ข้อแย้งดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า แกนนำยังคงสามารถกุมสภาพมวลชนได้ทั้งหมดตราบจนช่วงสุดท้ายของการชุมนุม แต่ความจริงคือ แกนนำนปช.ได้ค่อย ๆ สูญเสียการกุมสภาพมวลชนไปตั้งแต่เหตุการณ์ 10 เมษายน จนกระทั่งแทบจะกุมสภาพไม่ได้เลยในช่วงสุดท้าย กลายเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกเทศของแกนนำพื้นที่และแกนนำจากภายนอก รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่เป็นไปเองของมวลชน นัยหนึ่ง การชุมนุมของประชาชนในนาม “คนเสื้อแดง” ที่เรียกร้องการยุบสภาในช่วงเดือนมีนาคมนั้น หลังจากการปราบปรามในวันที่ 10 เมษายน ก็ได้พัฒนาไปเป็นการชุมนุมเพื่อท้าทายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย และท้ายสุดเมื่อฝ่ายเผด็จการทำการปิดล้อมทางทหารเพื่อเตรียมการล้อมปราบครั้งที่สองในต้นเดือนพฤษภาคม การชุมนุมก็ขยายตัวกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ของมวลชนครั้งใหญ่ โดยที่แกนนำนปช. แดงทั้งแผ่นดินไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด แกนนำนปช. จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการยกระดับการชุมนุม และได้ตัดสินใจ “ยุติบทบาท” ไปก่อน แกนนำส่วนนี้แม้จะมองเห็นอย่างถูกต้องถึงอันตรายข้างหน้า แต่การที่พวกเขาตัดสินใจ “หยุด” ในขณะที่การเคลื่อนไหวของมวลชนยังคงดำเนินต่อไปนั้น มิได้เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของมวลชนแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเข่นฆ่าประชาชนอย่างขนานใหญ่อยู่ดี ความรับผิดชอบของพวกเขาในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวจะต้องได้รับการประเมินอย่างเข้มงวดโดยมวลชนประชาธิปไตยต่อไป แกนนำนปช. อีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ควรรับข้อเสนอของรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อออกไป แต่ด้วยความรับผิดชอบของการเป็นแกนนำ จึงยังคงยืนหยัดอยู่กับมวลชนไปจนถึงที่สุดแม้จะรู้ว่า บั้นปลายเป็นอย่างไร พวกเขาเหล่านี้สมควรได้รับการสดุดีอย่างสูง
การคลี่คลายของมวลชนจากการชุมนุมไปเป็นการลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้ มีลักษณะเป็นไปเองและหลีกเลี่ยงได้ยาก ในประวัติศาสตร์ มีกรณีที่ประชาชนลุกขึ้นสู้ต่อต้านการกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่ต้องประสบความพ่ายแพ้เนื่องจากเป็นการเข้าต่อสู้ก่อนเวลาอันควรในยามที่ประชาชนยังอ่อนเล็ก ขาดการนำและการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม แม้เราอาจวิจารณ์ว่า การต่อสู้เหล่านี้มีความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ แต่เราก็ต้องมีความเข้าใจในสัญชาตญาณและจิตใจของมวลชนว่า การลุกขึ้นสู้ที่พ่ายแพ้เหล่านี้ จำนวนมากเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากประชาชนได้ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างสาหัสมาเป็นเวลานาน จนถึงกาลที่พวกเขาไม่อาจทนต่อไปได้ และระเบิดขึ้นเป็นความโกรธ แม้พวกเขาจะรู้ว่า ในท้ายสุดจะยุติลงเป็นความสูญเสียและพ่ายแพ้ก็ตาม ท่าทีที่ถูกต้องของนักประชาธิปไตยต่อการต่อสู้ที่พ่ายแพ้เหล่านี้ รวมทั้งต่อการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 คือ ต้องเข้าใจและสดุดีความกล้าหาญของพวกเขา คารวะจิตใจต่อสู้ที่กล้าเสียสละไม่กลัวตาย สนับสนุนและร่วมกับพวกเขาให้เรียนรู้จากความผิดพลาดและพ่ายแพ้เหล่านี้ นำมากลับมาถ่ายทอด เพื่อยกระดับการต่อสู้ในครั้งต่อไป การโจมตีแกนนำนปช.อย่างสาดเสียเทเสียว่า เป็นสาเหตุหลักของการเสียหายจำนวนมากของมวลชน ไม่ใช่ท่าทีของนักประชาธิปไตย แม้ว่าแกนนำที่มีความโน้มเอียงทางการทหารจะกระทำผิดพลาดและมีส่วนสำคัญต่อผลลัพธ์ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยที่ยืนหยัดอยู่กับมวลชน การโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้แกนนำนปช.ยังเป็นการปฏิเสธความจริงสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประชาชนหลายแสนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั่วประเทศและชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพนั้น มาโดยสมัครใจ ด้วยความรับรู้ทางการเมืองในระดับสูงและการตัดสินใจที่ชัดเจนว่า พร้อมจะเผชิญหน้ากับความยากลำบาก อันตราย และการเสียสละ เพื่อให้สังคมไทยและชนชั้นปกครองไทยได้รู้สักครั้งว่า พวกเขาโกรธแค้นและจะไม่ยอมทนต่อการกดขี่และความอยุติธรรมอีกต่อไป ประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่มวลชนว่านอนสอนง่ายที่แกนนำจะนำพาไปทางไหนก็ได้ พวกเขามีความมุ่งมั่นและความรับรู้สูงพอที่จะตัดสินใจสนับสนุนหรือปฏิเสธทิศทางการตัดสินใจของแกนนำของพวกเขาด้วยตัวเอง 6. ฝ่ายเผด็จการชนะทางทหาร แต่แพ้ทางการเมือง จุดอ่อนสำคัญคือ แกนนำนปช. แดงทั้งแผ่นดินยังขาดเอกภาพในแนวทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี เนื่องจากพื้นภูมิหลังที่แตกต่าง มีประสบการณ์ร่วมและเวลาไม่มากพอที่จะหล่อหลอมขึ้นเป็นแกนนำที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพ จึงไม่อาจประสานสามัคคีกันเพื่อแก้ปัญหาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้ในยามวิกฤต อีกทั้งไม่สามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกับแกนนำพื้นที่ ไม่อาจสื่อสารและเรียนรู้จากกันและกัน เป็นผลให้แกนนำนปช.ไม่สามารถกุมสภาพมวลชนได้ กระทั่งสูญเสียการกุมสภาพของการเคลื่อนไหวไปในขั้นตอนวิกฤต การทำงานทางความคิดของแกนนำในหมู่มวลชนยังไม่เพียงพอ แม้แต่การทำความเข้าใจกับมวลชนในประเด็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรมก็ยังสับสน ก่อให้เกิดการคาดหวังที่ไม่เป็นจริง เช่น การประเมินกำลังของตนสูงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง การกระพือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เรื่องสหประชาชาติ เรื่องกองกำลังในประเทศหรือจากต่างประเทศ เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ เรื่องการแทรกแซงของมหาอำนาจ ซึ่งล้วนเป็นความเพ้อเจ้อที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ละเลยที่จะเน้นย้ำบทเรียนจากการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลก คือต้องพึ่งตนเองเท่านั้น มวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 แม้จะพัฒนายกระดับความรับรู้ทางการเมือง มีการจัดตั้งรวมตัวในระดับหนึ่ง ก็ยังอ่อนแอ กระจัดกระจาย และขาดวินัยที่จำเป็น แต่พวกเขาก็จะเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เช่นเดียวกับที่ได้เรียนรู้บทเรียนจากการต่อสู้ตลอดหลายปีมานี้ ประสบการณ์นองเลือดครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับครั้งใหญ่ในทางจิตสำนึก ความเรียกร้องต้องการ การรวมตัวจัดตั้งและวินัยของขบวนการประชาธิปไตย ในครั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ชัยชนะในทางทหารเท่านั้น แต่กำลังพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างสำคัญ การบดขยี้ขบวนการประชาธิปไตยด้วยการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่และคุกคามจับกุมคุมขังไปทั่วประเทศคราวนี้ แลกมาด้วยการฉีกหน้ากากนักบุญผู้ทรงคุณธรรมและความเมตตาของฝ่ายเผด็จการจนหมดสิ้น ในวันนี้ พวกเขาไม่สามารถปกครองด้วยศรัทธาและการครอบงำทางจิตใจเป็นด้านหลักได้อีกต่อไป และจำต้องหันมาใช้การกดขี่ ปราบปรามและกำลังรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจไว้ ระบอบการเมืองใดก็ตามที่สูญเสียการครอบงำทางจิตใจและอุดมการณ์ แล้วหันมาใช้กำลังรุนแรงอย่างเปิดเผยเพื่อปกครองประชาชน ระบอบนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จาตุรนต์ ฉายแสง : ซีดีศอฉ.กับการปรองดอง Posted: 05 Aug 2010 05:45 AM PDT
ผมมีโอกาสดู CD ที่ ศอฉ.ผลิตขึ้นเพื่อจะใช้เผยแพร่ชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาและการดำเนินงานของ ศอฉ.แล้ว รู้สึกน่าเศร้าใจและน่าเป็นห่วงเพราะเมื่อดู CD ชิ้นนี้แล้ว เนื้อหาที่ปรากฏในCD นี้บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายกาจแบบสุดๆ เลยทีเดียว CD นี้ พยายามอธิบายว่าสิ่งที่รัฐบาลและศอฉ.ได้ทำไปนั้นดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใด ส่วนการเคลื่อนไหวชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นชั่วช้าสามานย์ สมควรที่จะถูกทำลายล้างให้สิ้นซากไป ภายใต้การใช้พรก.ฉุกเฉินที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ศอฉ.สามารถใช้อำนาจตามพรก. ปิดสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซด์ต่างๆและสื่ออื่นทุกชนิด ทั้งยังสามารถจับกุมคุมขัง ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาอันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของศอฉ. ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อเท็จจริงหรือการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ด้วยข้ออ้างว่า เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นการบิดเบือนความเป็นจริง... สร้างความแตกแยกให้กับผู้คนในสังคม รวมทั้งการโกหก ใส่ร้าย และจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางปฏิบัติ ศอฉ. ปิดสื่อต่างๆ โดยพลการและไม่ได้ดำเนินคดีใดๆ ซึ่งสะท้อนความจริงว่าสื่อเหล่านั้นอาจไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ที่ถูกปิดก็เพราะเป็นสื่อของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้น จากการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินดังกล่าว จึงอาจพูดได้ว่าในเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนนั้น คนเสื้อแดงและประชาชนผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ถูกรัฐบาลและศอฉ.มัดมือชกอยู่ฝ่ายเดียว รัฐบาลและศอฉ.ได้ใช้สื่อของรัฐเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร บิดเบือนข้อเท็จจริงปลุกระดมให้สังคมเกลียดชังประชาชนผู้ชุมนุม สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังทหารเข้าปราบประชาชนอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือน จนกระทั่งหลายฝ่ายต่างเห็นว่าการใช้สื่อของรัฐบาลปลุกระดมอยู่ฝ่ายเดียวอย่างนี้ มีแต่จะสร้างความแตกแยกในสังคมให้ลึกซึ้งรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ในขณะที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เดินสายพบผู้บริหารหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ พร้อมทั้งอวดอ้างว่ารัฐบาลกำลังเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่แตกต่างมาใช้สื่อของรัฐได้บ้างศอฉ.กลับกำลังจะเผยแพร่ CD ที่บิดเบือน ปลุกระดมอย่างเลวร้ายที่สุดจนทำให้ต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีความจริงใจแค่ไหนที่จะทำให้สื่อของรัฐเป็นกลางมากขึ้น รัฐบาลมีความจริงใจแค่ไหนที่จะปรองดอง หรือรัฐบาลกำลังพูดอย่างทำอย่างในเรื่องนี้เหมือนกับที่พูดอย่างทำอย่างในอีกหลายๆเรื่อง อยากเสนอให้รัฐบาลล้มเลิกความคิดที่จะเผยแพร่ CD บิดเบือน ปลุกระดม ชุดนี้เสีย การสั่งปราบปรามประชาชน การทำให้คนบาดเจ็บ ล้มตายอย่างที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นเป็นอาชญากรรม การใช้สื่อรูปแบบต่างๆ บิดเบือนความจริงเพื่อปลุกระดม สร้างความชอบธรรมให้กับการปราบประชาชน เพียงหวังเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากการเป็นอาชญากรผู้เข่นฆ่าประชาชนนั้น นอกจากจะไม่อาจช่วยให้พ้นความผิดได้แล้ว ยังจะเพิ่มความผิดร้ายแรงขึ้นอีกข้อหนึ่งคือ การปลุกปั่นให้คนในชาติเกลียดชังกัน ฆ่าฟันกัน ซึ่งก็คือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่นานาประเทศเขาไม่ยอมรับด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แถลงการณ์ญาติวีรชนพฤษภา' 35 เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีพฤษภา' 53 Posted: 05 Aug 2010 05:15 AM PDT แถลงการณ์จากคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา' 35 เรียกร้องนำทหารกลับกรมกอง ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เลิกกล่าวหาว่าก่อการร้าย
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2553 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้เปิดแถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอต่อรัฐบาลและกองทัพ รวมถึงบทบาท ศอฉ. ในการสลายการชุมนุมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยมีประเด็นเรื่องการคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต ในคดีก่อการร้าย และข้อเสนออื่นๆ ต่อรัฐบาลในการยกเลิก พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ บทบาทของ ศอฉ. ในการใช้อำนาจตาม พรก. เพื่อรวบอำนาจและจัดโผทหารของตนเอง ฯลฯ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และญาติวีรชนพฤษภา’35 เป็นผู้นำแถลงข่าวเรียกร้องรัฐบาลและกองทัพ กรณีการแก้ปัญหาปรองดอง และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
เรื่อง ขอความเป็นธรรมคืนให้กับผู้เสียชีวิต ให้แก้ไขวิกฤติความแตกแยกด้วยเมตตาธรรม และการอโหสิกรรม
โดยเฉพาะ การแก้วิกฤติที่เลวร้ายที่สุดเพื่อนำชาติกลับสู่ความสงบสันติโดยเร็ว ต่อกรณีการสูญเสียของประชาชนจำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะทหาร อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีหน้าที่ปกป้องประเทศ ซึ่งได้รับความบาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์วิกฤติกลางเมือง คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 เข้าใจความรู้สึกของการสูญเสียอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าบางส่วนจะมีการประกอบพิธีศพ ได้รับการเชิดชูเกียรติตามความเชื่อของแต่ละศาสนาอย่างสมเกียรติชายชาติทหาร แต่ความเจ็บปวดจะติดตรึงตราบนานเท่านาน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพ รวมถึงศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อให้มีการแก้ไขวิกฤติดังกล่าวอย่างเป็นธรรม เพื่อเยียวยาบาดแผลของสังคมที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในที่ผ่านมา ดังนี้ 1. ขอให้ยกเลิกพระราชกำหนดในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในทันที เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่งผลถึงความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลและกองทัพซึ่งใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งทำให้บาดแผลและรอยร้าวของสังคมไทยขยายออกไปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่า การใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่อ้างสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งได้ส่งคนลงพื้นที่และใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก มีการคุกคาม ข่มขู่ ละเมิด สิทธิมนุษยชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ โดยที่ยังมีกฎหมายไทยอีกหลายฉบับที่ใช้บริหารประเทศได้ดีอยู่แล้ว เป็นที่ยอมรับต่ออารยประเทศ อีกทั้งยังไม่ถูกตำหนิจากประชาคมโลกด้วย และการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยใช้อำนาจตาม พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ อย่างยาวนาน จะทำให้กองทัพเสพติดอำนาจและมีบทบาทที่ก้าวก่ายการเมืองซึ่งเป็นกิจการของพลเรือนมากขึ้น จนถึงสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ นอกจากนี้ การใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในกรณีนี้ จะต้องได้รับการเปิดเผยหรือตรวจสอบจากสังคมด้วย 2. กรณีผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยใช้สถานการณ์และกฎหมายดังกล่าว การปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นซึ่งเป็นข่าวปรากฏต่อสื่อมวลชลทั้งในและต่างประเทศ ว่าขาดหลักมนุษยธรรม จึงขอให้รัฐบาลและกองทัพ รวมถึงศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นบนพื้นฐานแห่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยกเลิกลัทธิทรมาน ทรกรรม แก้แค้น พยาบาท จองเวรกัน ซึ่งจะไม่มีการจบสิ้น อย่าลืมว่าวันนี้ท่านเป็นผู้ล่า แต่วันหน้าท่านอาจเป็นผู้หนี ดังนั้น ควรยึดหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา คือ การให้อภัย อโหสิกรรม เป็นหนทางแก้ไขปัญหา การปรองดองสมานฉันท์ก็จะได้เกิดขึ้นได้จริง 3. กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ขอให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ยกเลิกการกล่าวหาว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้าย โดยยึดหลักเมตตาธรรมแห่งพระพุทธศาสนา และเป็นหลักที่คนไทยยึดถือและตกทอดมาเป็นจิตวิญญาณของคนไทย จึงขอให้แก้ไข เยียวยา และคืนเกียรติยศและศักดิ์ศรีแก่คนที่เสียชีวิตเหล่านั้นโดยเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีการใช้เหตุผลต่างๆ มาอธิบายเพื่อความชอบธรรมให้ตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของคนจำนวนมาก ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐ รัฐและผู้ใช้อำนาจนั้นมิอาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ หากรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและเที่ยงธรรม ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะถูกยกมาในรัฐบาลต่อๆ ไปอย่างไม่รู้จบ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 เห็นว่า วิกฤติของประเทศต้องปฏิรูปด้วยการใช้เมตตาธรรม และการอโหสิกรรมเท่านั้น เพราะผู้เสียชีวิตเหล่านั้น ไม่ว่าทางกฎหมายอาญาใดๆ ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อได้เสียชีวิตไปแล้ว และโดยประเพณี วัฒนธรรม ตามหลักพุทธศาสนาของสังคมไทยที่ถือปฏิบัติ ย่อมมีแต่ความเมตตา และการอภัยให้กันและกันเท่านั้น จึงจะสร้างสันติสุขให้กับสังคมได้อยู่ร่วมกันต่อไป ดังนั้น บุคคลที่สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านั้น จึงควรได้รับเมตตาธรรม และการอโหสิกรรม ไม่ใช่การกล่าวหาผู้ตายว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และจะต้องได้รับการเชิดชูยอมรับโดยรัฐบาล ในฐานะประชาชนของประเทศ 5 สิงหาคม 2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พม่าย้ายที่ขังนักโทษการเมืองไทใหญ่ / กองกำลังว้า-เมืองลาห้ามหาเสียงในพื้นที่ Posted: 05 Aug 2010 04:45 AM PDT ทางการพม่าย้ายที่คุมขัง 'เจ้าเสือแท่น' ผู้นำกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ (SSA-N) ที่ถูกจับเมื่อปี 2548 อย่างเงียบๆ ญาติเผยอาจเกี่ยวปัญหาสุขภาพ ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อเป็นการล่อใจหวังให้ (SSA-N) รับตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน... มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า พล.ต.เสือแท่น วัย 74 ปี หนึ่งในผู้นำกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ (SSA-N) ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าจับกุมเมื่อปี 2548 ด้วยข้อหาสมคบพรรคการเมืองนอกกฎหมายและคิดก่อการกบฎ ถูกทางการพม่าย้ายที่คุมขังจากเรือนจำคำตี่ ในภาคสะกายมายังมัณฑะเลย์ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งการย้ายที่คุมขังพล.ต.เสือแท่น ทำให้หลายฝ่ายต่างเกิดข้อสงสัย เนื่องจากเป็นไปอย่างเงียบๆ และไม่ถูกเปิดเผยสาเหตุจากทางการ ด้านนางคำเปา บุตรสาวของพล.ต.เสือแท่น เปิดเผยว่า ได้ทราบเรื่องที่ทางการพม่าย้ายที่คุมขังพล.ต.เสือแท่น มายังเมืองมัณฑะเลย์แล้วเช่นกัน แต่ครอบครัวยังไม่ได้ไปพบและยังไม่ทราบถึงสาเหตุการย้ายที่แน่ชัด ซึ่งคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับปัญหาด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จะเป็นสิ่งที่ดียิ่งหากพล.ต.เสือแท่นได้รับอนุญาตเข้าถึงการดูแลรักษาอาการป่วยที่เป็นอยู่ ขณะที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อ การย้ายที่คุมขังพล.ต.เสือแท่นของรัฐบาลทหารพม่า อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเตรียมปล่อยตัว เพื่อหวังให้กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ (SSA-N) ที่ยังไม่รับเปลี่ยนสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้ตัดสินใจใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้พล.ท.เยมิ้น ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า เคยยื่นข้อเสนอว่า หาก (SSA-N) ยอมรับข้อเสนอเป็น (BGF) พล.ต.เสือแท่น อาจได้รับการปล่อยตัวเป็นการแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม มีรายงานอ้างคำเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เรือนจำซึ่งยังไม่ยืนยันว่า พล.ต.เสือแท่น อาจไม่ถูกนำตัวมาคุมขังที่เมืองมัณฑะเลย์ แต่อาจจะถูกย้ายไปคุมขังต่อที่เรือนจำเมืองชิตตวย ของรัฐอาระกัน พล.ต.เสือแท่น ถูกทางการพม่าจับกุมพร้อมด้วยผู้นำการเมืองคนสำคัญของไทใหญ่ 8 คน เมื่อต้นปี 2548 ด้วยข้อหาสมคบพรรคการเมืองนอกกฎหมาย บ่อนทำลายชื่อเสียงประเทศ และคิดก่อการกบฏ หนึ่งในนั้น คือเจ้าขุนทุนอู ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ทั้งหมดถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 75 – 106 ปี และถูกแยกตัวคุมขังต่างเรือนจำ โดยพล.ต.เสือแท่น ถูกตัดสินจำคุก 106 ปี ส่วนเจ้าขุนทุนอู ถูกตัดสินจำคุก 93 ปี มีรายงานว่า ทั้งพล.ต.เสือแท่น และเจ้าขุนทุนอู ต่างป่วยเป็นโรคประจำตัวหลายอย่าง โดยพล.ต.เสือแท่น ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคตาอักเสบรุนแรง และเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่า พล.ต.เสือแท่น มีอาการปวดแขนอย่างหนัก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุหกล้มในห้องน้ำภายในเรือนจำ โดยอาการป่วยของพล.ต.เสือแท่น ไม่ได้รับความสะดวกให้เข้าถึงการเยียวยารักษาที่เพียงพอ อีกทั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่อนุญาตแพทย์ภายนอกเข้าไปช่วยตรวจรักษา (ที่มา www.khonkhurtai.org) กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ห้ามพรรคการเมืองเข้าหาเสียงในพื้นที่ครอบครอง ระบุชัดไม่สนับสนุนพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ... มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนว่า กองทัพสหรัฐว้า United Wa State Army (UWSA) และกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย National Democratic Alliance Army (NDAA) กองกำลังหยุดยิงในพม่าซึ่งยังไม่ยอมรับข้อเสนอจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน (BGF) ระบุ จะไม่สนับสนุนให้พรรคการเมืองใดเข้าไปเคลื่อนไหวหาเสียงในพื้นที่ครอบครอง เจ้าหน้าที่อาวุโสของว้า UWSA รายหนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในเมืองปางซาง เมืองหลวงเขตปกครองว้า กล่าวว่า กองทัพสหรัฐว้า UWSA ไม่สนับสนุนทุกพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปไตยว้า Wa Democratic Party (WDP) หรือ พรรคเอกภาพแห่งชาติว้า Wa National Unity Party (WNUP) พรรคประชาธิปไตยว้า (WDP) มีขุนทุนหลู่ วัย 60 ปี อดีตสมาชิกสังคมนิยมพม่า Burma Socialist Program Party (BSPP) เป็นประธาน ส่วนพรรคเอกภาพแห่งชาติว้า (WNUP) เปลี่ยนถ่ายมาจากพรรคพัฒนาชาติว้า Wa National Development Party (WNDP) ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบพรรคที่ก่อตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 โดยรัฐบาลทหารพม่า หรือ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ State Peace and Development Council (SPDC) ก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองดังกล่าวได้คาดหวังว่าจะทำการรณรงค์หาเสียงในรัฐฉาน โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่เมืองล่าเสี้ยว เมืองต้างยาน และเมืองหัวป่าง เนื่องจากมีประชากรว้าอาศัยอยู่มาก แต่ยังไม่เปิดเผยว่าจะรวมเขตพื้นที่ครอบครองของกองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ด้วยหรือไม่ นายอ่องจ่อซอ นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองพม่า กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ทางการพม่าจะจัดขึ้น เชื่อว่า พื้นที่เลือกตั้งจะรวมเขตครอบครองกองทัพสหรัฐว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ด้วย แต่หาก UWSA และ NDAA ไม่อนุญาตให้สมาชิกพรรคการเมืองเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ เท่ากับว่าการเลือกตั้งก็จะปราศจากผู้ลงคะแนน และผลการเลือกตั้งก็จะไม่สามารถรายงานได้ นายอ่องจ่อซอ ระบุว่า ปัจจุบันเขตพื้นที่ครอบครองของกองกำลังว้า UWSA มีประชากรอยู่ราว 5 แสนคน และในเขตครอบครองของกองกำลังเมืองลา NDAA มีประชากรราว 86,000 คน ทั้งสองพื้นที่มีผู้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญพม่ากำหนดราว 3 แสนคน ว้า เป็นหนึ่งในชนชาติกลุ่มใหญ่ของรัฐฉาน โดยได้รับสิทธิมีพื้นที่ครอบครองตนเองจากรัฐบาลทหารพม่าในการประชุมสมัชชาแห่งชาติ โดยมีพื้นที่ครอบครอง 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโหป่าง, เมืองใหม่, ป๋างหวาย, นาพาน, ปางซาง, เมืองป้อก และหมากหมาง นอกจากนี้ ว้ายังได้รับสิทธิครอบครองพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยทางภาคเหนือ ด้านตรงข้ามจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนด้วย (ที่มา www.khonkhurtai.org) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ลือ ตานฉ่วยถูกนำส่งโรงพยาบาล / พบ HIV ในรัฐคะฉิ่นมีอัตรา 16 เท่า ของทั้งประเทศ Posted: 05 Aug 2010 04:21 AM PDT ลือ ตานฉ่วยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้นำพม่าวัย 77 รายนี้พบว่ามีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนานาชาติ พันหล่าย ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงย่างกุ้งเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่แหล่งข่าวรายงานว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วยเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลแห่งนี้เพียงช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น และคาดว่าน่าจะออกจากโรงพยาบาลแล้วในเช้าวันนี้ ด้านพระสงฆ์ชาวพม่าในอินเดียระบุว่า จากที่ได้พบปะกับนายพลอาวุโสตานฉ่วยที่เยือนอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคาดว่า ตานฉ่วยกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพ เดือนธันวาคม ปี 2550 ที่ผ่านมา นายพลอาวุโสตานฉ่วยเคยเดินทางไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลในสิงคโปร์นาน 2 อาทิตย์ โดยแหล่งข่าวรายงานว่า ผู้นำรัฐบาลพม่าได้เข้ารักษามะเร็งลำไส้เล็ก แต่มีรายงานในครั้งนั้นว่า ตานฉ่วยปฏิเสธที่จะเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์ ซึ่งแหล่งข่าวเชื่อว่า ตานฉ่วยจะเดินทางไปรักษาตัวที่สิงคโปร์อีก หากอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น (ที่มา Irrawaddy 4 ส.ค.53) กลุ่ม NGO เปิดเผยว่า การแพร่เชื้อ HIV มีอัตราเพิ่มขึ้นในเขตควบคุมของกลุ่มหยุดยิงในตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น โดยมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า 16 เท่าจากค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลถึงการระบาดของโรคเอดส์ในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 รัฐบาลทหารพม่าได้ปฏิเสธหน่วยงานด้านสุขภาพเข้ามาในเขตพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ป้องกันการเพิ่มขึ้นโรคเอดส์ และในปีนี้แผนการช่วยเหลือดังกล่าวก็ถูกระงับ ขณะที่กลุ่ม NGO ในพื้นที่ได้ทำการสำรวจอัตราการติดเชื้อไวรัส HIV ในสองพื้นที่เขตปกครองพิเศษในรัฐคะฉิ่นเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน พบว่า 11 % ของประชากรในพื้นที่ทั้งหมดติดเชื้อเอชไอวี จากรายงาน สำรวจขององค์การอนามัยโลก ในปีพ.ศ.2550 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการติดเชื้อเอชไอวีทั้งประเทศ อยู่ในอัตรา 0.67% หรือ 240,000 คน ของจำนวนประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การสำรวจในเขตปกครองพิเศษแห่งที่หนึ่ง อย่างในเมืองปั่งหว่า ก่ำไปตี และ ซีปวย (Panwa, Kanpitete, Chibway) ซึ่งควบคุมโดย กองทัพประชาธิปไตยก้าวหน้าคะฉิ่น และเขตปกครองพิเศษแห่งที่สองในเมือง ไลส่า และไมจายัง (Laiza, Maijayan) ในเขตควบคุมขององค์กรคะฉิ่นอิสระ (KIO - Kachin Independence Organization) กลับพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KIO ที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า “ผลการสำรวจระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานระบบสุขภาพในพื้นที่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 15-35 ปี เฉพาะในพื้นที่ของเรามีคนเป็นโรคเอดส์แล้วกว่า 500 คน” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวว่า หลังแผนการช่วยเหลือโดยตรงจากภาคNGO เพื่อหยุดการแพร่เชื้อถูกสั่งระงับในปีนี้ ในขณะที่องค์กรด้านสุขภาพกลุ่มต่างๆ ถูกรัฐบาลพม่าเข้มงวดไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่อีกคนของ KIO กล่าวอีกว่า “KIO เป็นองค์กรด้านการปฏิวัติ ดังนั้นเราจึงไม่มีงบประมาณพอที่จะจัดการกับปัญหาโรคเอดส์ มันจะดีถ้าหากองค์กร AZG (Artsen Zonder Grenzen องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนจากประเทศเนเธอร์แลนด์) สามารถช่วยคนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ความช่วยเหลือก็ยังไม่เพียงพอ มากไปกว่านั้นรัฐบาลทหารก็ไม่อนุญาตให้ NGO กลุ่มไหนเข้าไปพื้นที่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ก็กำลังประสบกับปัญหายาเสพติด” เจ้าหน้าที่อีกคนกล่าว ในปี พ.ศ.2551 องค์กร AZG ได้พยายามจะเข้าไปในเมืองไลซา ซึ่งอยู่ในเขตของ KIO เพื่อดำเนินการโครงการป้องกันการแพร่ของโรคเอดส์ แต่กลับถูกปฏิเสธและห้ามดำเนินการจากนายพลอูมิ้น อดีตผู้บังคับบัญชาภาคเหนือ ด้านเจ้าหน้าที่ NGO ในพื้นที่กล่าวว่า “ถ้าหากเราลดความพยายามลง สถานการณ์ของโรคก็จะกลายเป็นว่าเลวร้ายมากขึ้น และสถานการณ์ในขณะนี้เรียกร้องให้เราต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่” อดีตประธาน KIO นาย บลัน เซียง (Bran Saing) ได้ออกมาประกาศว่า หนึ่งในเหตุผลที่ KIO ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่ส่งผลกระทบหนักในพื้นที่ “เราไม่มีหมอและผู้ที่มีความรู้เรื่องสุขอนามัยเพียงพอ แม้กระทั่งการต่อสู้กับโรคเอดส์ เราก็ทำไม่สำเร็จ” เจ้าหน้าที่ KIO กล่าว (ที่มา : Mizzima by Phanida 4 สิงหาคม 2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บันทึกจากใจผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล “ถ้าได้รับการช่วยเหลือ ยังไงก็ไม่ฟ้อง” Posted: 05 Aug 2010 04:00 AM PDT นาง เย็นจิตร ไสยรัตน์ คือหนึ่งในผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ตัดสินใจฟ้องร้อง หลังต้องทุกข์ทรมานกว่า 2 ปี จากอาการปัสสาวะไหลตลอดเวลาเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะทะลุ เพราะเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก เคยร้องขอความช่วยเหลือจากทางโรงพยาบาล ก็ได้คำตอบว่าจะรักษาให้ฟรี ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้จากประกันสังคมอยู่แล้ว ร้องเรียนไปที่แพทยสภาก็ไม่มีคำตอบ แต่มาได้คำตอบก่อนนัดสืบพยานไม่ถึงหนึ่งเดือน ฝากวอนผู้เกี่ยวข้องดูแลความทุกข์ของคนไข้ ยอมรับถ้ามี พ.ร.บ. ผู้เสียหายฯ มาช่วยดูแลค่าชดเชย ไม่มีคนไข้คนไหนอยากฟ้องหมอฟ้องโรงพยาบาล นาง เย็นจิตร ไสยรัตน์ ได้ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า ได้เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน หลังการผ่าตัดได้พักฟื้นที่ รพ. ต่ออีกสองวัน หลังแพทย์เอาสายปัสสาวะออก พบว่า มีปัสสาวะไหลออกมาจากตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัวและปวดปัสสาวะตลอดเวลา มาทราบในภายหลังพบความผิดพลาดในการผ่าตัด โดยขณะผ่าตัดทำการเลาะไหมฝีเย็บ ได้พลาดไปถูกกระเพาะปัสสาวะของนางเย็นจิตรเป็นรูรั่วจำนวน 2 รู แพทย์จึงให้นางเย็นจิตรพักดูอาการ แพทย์ให้กลับไปบ้านและยังต้องใส่สายสวนปัสสาวะและถุงใส่ปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา ก่อนมีการนัดเย็บรูรั่วที่กระเพาะปัสสาวะอีกครั้ง ในวันที่ 23 มิถุนายน 2549 แต่พอวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 อากาศปัสสาวะไหลก็กลับมาเป็นอีก จึงได้ไปตรวจร่างกายที่ รพ.อีกแห่งพบว่า กระเพาะปัสสาวะที่เคยเย็บปิดรูไปนั้น ปัจจุบันได้มีปัญหารูรั่วทั้งสองรู นางเย็นจิตร ได้เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยตั้งใจขอแค่ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปเท่านั้น เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้สอบข้อเท็จจริง มีความเห็นว่ามีความเสียหายจากการรักษา ก็ได้ช่วยเหลือฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 เหตุผลที่ทำให้ นาง เย็นจิตร จำเป็นต้องฟ้องร้อง เพราะความเจ็บป่วยที่ตัวเองได้รับจากการรักษาพยาบาลสร้างความทุกข์ทรมานให้ กับตัวเองอย่างมาก ทั้งทำงานไม่ได้และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาซึ่งความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่เกิดเรื้อรัง ซึ่งได้เคยติดต่อขอรับความช่วยเหลือจาก รพ.และทางแพทย์สภาไปแล้ว แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือเพียงแค่เรื่องการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่พึงได้อยู่แล้ว “ไปขอความช่วยเหลือจาก รพ. เพราะเราเป็นแบบนี้แล้วทำงานไม่ได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้า รพ.เทียวไปเทียวมาเพราะสายสวนที่ใส่ไว้มันจะหลุดและเราใส่เองไม่ได้ต้องกลับ ไปให้ รพ.ใส่ การเดินทางก็ลำบาก เจ็บปวดทรมาน ทาง รพ.ก็รับผิดชอบโดยการรักษาให้ตามสิทธิประกันสังคม เคยขอเรื่องค่าใช้จ่าย ทาง รพ.ก็ไม่ได้ตอบรับใดๆ กลับมา เคยเขียนจดหมายไปขอความช่วยเหลือกับทางแพทย์สภา ก็ได้เข้าไปพูดคุย เขาก็ตอบกลับมาว่าแพทย์รักษาไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถือเป็นอุบัติเหตุ ก่อนนัดสืบพยานประมาณ 20 วัน ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ” นาง เย็นจิตร กล่าว แม้สุดท้ายทาง รพ.จะยินยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับ นาง เย็นจิตร เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยในศาล นับตั้งแต่การฟ้องร้องก็ใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งความเสียหายแบบนี้ในระบบบัตรทองตามมาตรา 41 ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 22 วัน นางเย็นจิตร ก็ยังยืนยันว่าไม่อยากจะฟ้อง แต่เมื่อเกิดความเดือดร้อน ก็ควรได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากทาง รพ. และเห็นว่าถ้าหากมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ผู้ป่วยก็จะได้รับความช่วยเหลือทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้อง “คนไข้ทุกคนไม่มีใครอยากฟ้องหมอหรอก อยากให้เห็นใจคนไข้ เราไม่ได้โทษว่าใครผิด แต่ควรมีการเยียวยาช่วยเหลือ อยากให้ รพ.ยื่นมือช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ การฟ้องร้องสำหรับคนไข้ถือเป็นความทุกข์ ลำบากใจ ยุ่งยาก อยากฝากถึงหมอและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นใจคนไข้ที่ได้รับความเดือดร้อนอยากให้ช่วยเหลือเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถือบัตรทอง ประกันสังคม บัตรข้าราชการ” นางเย็นจิตรกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อธิการบดีคนใหม่ ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Posted: 05 Aug 2010 01:49 AM PDT เดือนกันยายน พ.ศ.2553 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีอธิการบดีคนใหม่ เวลานี้จึงเป็นช่วงของการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยคนใหม่ ผู้เข้ารับการสรรหาล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเป็นอย่างดี เพราะต่างผ่านการศึกษาในระดับสูง มีผลงานด้านการวิจัย มีประสบการณ์การสอน และเคยมีตำแหน่งบริหารทั้งในระดับคณะหรือในระดับมหาวิทยาลัยมาไม่มากก็น้อย คุณสมบัติตามที่กล่าวมาคงมีไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งสำคัญคือ ภาพลักษณ์ของอธิการบดีคนใหม่กับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากรากเหง้าที่มาและตัวตนของมหาวิทยาลัยที่ครั้งหนึ่งเคยชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำเนิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเพียง 2 ปี นอกจากนี้ผู้ก่อตั้งหรือผู้ประศาสน์การคือนายปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ที่เป็นมันสมองของคณะราษฎร มีความมุ่งหมายในการก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร์ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมี ควรได้รับตามหลักเสรีภาพในการศึกษา" ดังนั้นแรกเริ่มเดิมที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ที่ใครๆ ก็สามารถทำงานด้วยเรียนไปด้วยได้ ลูกคนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้กำเนิดขึ้นก็สามารถพลิกผันชีวิตตนเองจนได้เป็นธรรมศาสตรบัณฑิต กลายเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ได้กลับมาช่วยเหลือคนยากคนจนก็มีให้เห็น มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผลิตนักคิดนักเขียน นักการเมืองที่กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการ นักต่อสู้เพื่อคนยากคนจำนวนไม่น้อย หลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเสรีไทย กบฏวังหลวง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอมา ดังคำขวัญที่คุ้นๆ กันอยู่เสมอว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" (กุหลาบ สายประดิษฐ์) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่เคียงคู่และต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับประชาชน ดังคำขวัญที่ว่า "หากขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์" (เปลื้อง วรรณศรี) ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ทุกครั้งเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในอดีตมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่เคยนิ่งดูดาย วาระที่ พ.ศ.2553 เป็นวาระครบรอบ 110 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ มีคำขวัญที่คุ้นหูว่า "110 ปี ความดีไม่สูญหาย" เวลาที่ผ่านไปพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ต้องพบรักมรสุมทางการเมืองด้วยการถูกใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา จนไม่อาจอยู่บนผืนแผ่นดินไทยที่รักของท่านได้ก็ตาม แต่เวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า "110 ปี ความดีไม่สูญหาย" จริงๆ มีคนจำนวนไม่น้อยตระหนักและเห็นความสำคัญของท่าน ที่ต้องการให้ประเทศชาติเกิดความเจริญก้าวหน้า สามารถธำรงปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับประชาชน นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลากว่า 70 ปี เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมเสมอมา ตลอดจนการต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการแม้แต่คราวที่มหาวิทยาลัยถูกทหารยึดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตาม แต่ในที่สุดด้วยพลังของความสามัคคี นักศึกษาก็สามารถยึดมหาวิทยาลัยกลับคืนมาได้ ด้วยที่มาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยของคนทุกชนชั้น และมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน ดังนั้น เพื่อรักษาภาพลักษณ์และภาระหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้พึงมี การสรรหาจนกระทั่งได้ตัวอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงไม่อาจได้เพียงผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว หรือเพียงบริหารมหาวิทยาลัยได้เก่ง ได้ดีเท่านั้น นั่นคืออธิการบดีต้องทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นเหมือนบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายของราษฎรเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งด้วยการมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย มุ่งรับใช้ประชาชน แม้ท่ามกลางความเปลี่ยนไปของสังคมในวันนี้ ที่กระแสทุนนิยมเข้าครอบงำวิถีชีวิตผู้คนที่ทำให้เห็นเงินเป็นใหญ่ แต่ภาระของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การสร้างจิตวิญญาณให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ให้ได้ ดังนั้น คนเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงต้องมีสัญญาประชาคม ที่ต้องนำพามหาวิทยาลัยให้เป็นบ่อบำบัดความกระหายของราษฎร และเป็นสถาบันทางการศึกษาที่มีหน้าที่ปลูกปั้นปัญญาให้แก่ผู้คนในสังคม รวมทั้งการปกป้องธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหมือนดั่งเจตนารมณ์ของผู้ประศาสน์การ และอยู่เคียงข้างประชาชนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง แต่บทบาทท่าทีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทั้งการใช้ความรุนแรงกับประชาชน การที่ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน อธิการบดีไม่ได้แสดงท่าทีของการอยู่เคียงข้างประชาชน หรือปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้สมกับที่เป็นผู้นำสถาบันการศึกษาที่ควรเป็นเสาหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันแทบไม่มีบทบาทของมหาวิทยาลัยของคนทุกชนชั้น และเป็นที่พึ่งของประชาชน ทั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นผลผลิตของคณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ภาพลักษณ์ดังกล่าวของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน จึงเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการกำเนิดและบทบาทของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในอดีต ดังนั้น ในวาระที่จะมีอธิการบดีคนใหม่ หากการสรรหาแล้วได้บุคคลที่มีทั้งความรู้ความสามารถด้านวิชาการ การบริหาร และมีภาพลักษณ์ของความเป็นนักประชาธิปไตย และมีความรักต่อประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจนแล้ว อธิการบดีคนใหม่คงเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนธรรมศาสตร์ และคนในสังคมได้อย่างไม่อายใคร
----------------------------------- สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ใบตองแห้ง...ออนไลน์: อภิสิทธัตถ..ถ..ถ..... อุ๋ย! Posted: 04 Aug 2010 11:05 PM PDT อุ๋ย! โดนพระออกมาเทศน์ขรมตั้งแต่มหาเถรสมาคมยันมหาระแบบ ผมนะไม่รู้สึกอะไรกับอภิสิทธิ์หรอก ที่ได้ของขวัญวันเกิดเป็นพรประเสริฐเลิศล้ำอย่างนี้ เพราะเชื่อว่าอภิสิทธิ์เองก็คงเกาเหาอยู่แกรกๆ เหมือนกัน แต่รู้สึกอึดอัดอิดเอียนมากเลยกับคนพูด บอกก่อนว่าไม่ได้ซีเรียสในเชิงลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา เพราะที่คุณไพบูลย์บอกว่า “สิทธัตถะ” แปลว่าผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว ก็พอฟังขึ้น ถ้าสมมติว่ามีความพอเหมาะพอสมหรือใกล้เคียงหน่อย แต่ถามว่านี่มันใกล้เคียงซักกระผีกหรือเปล่า ต่อให้พูดเป็น If Clause ก็เหอะ คุณไพบูลย์บอกว่าอภิสิทธิ์ฉลาดเหมือนสัตบุรุษ ถ้าสร้างความปรองดองได้สำเร็จ ก็สำเร็จความมุ่งหมาย เป็น “อภิสิทธัตถะ” ปรองดองกะผีที่ไหนละครับ ก็เพิ่งสั่ง “กระชับพื้นที่” มีคนตายเห็นหลัดๆ แล้วยังใช้อำนาจ พรก.ฉุกเฉินปราบปรามจับกุมลงโทษอย่างรุนแรงทั่วประเทศ นี่หรือ “อภิสิทธัตถะ” ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อคุณไพบูลย์จะยกย่องเชิดชู “อภิสิทธัตถะ” ก็น่าจะชื่นชมยินดีปรีดาปราโมทย์ให้หมด ทั้ง “เทือกคัลลาน์” “สาธิตรีบุตร” “กรณ์กัสสป” “วอลเปเปอร์อานนท์” และ “เนคุลีมาล” อ้อ แถม “ทักษิณทัต” ด้วย จะได้สนุกกันไปใหญ่ คือถ้าเทพไทหรือเทพท็อปเป็นคนพูด เหมือนหลวงวิจิตรฯ ก้มกราบจอมพล ป.อ้างว่าเห็นแสงเฮ้ากวงแผ่ออกมา ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่คนพูดคือ NGO ตัวพ่อ ผู้สืบทอดงานมูลนิธิบูรณะชนบทของอาจารย์ป๋วย มันทำใจรับได้ยากนะครับ เพราะคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ไม่ได้พูดแทนตัวคนเดียว แต่แบกศักดิ์ศรีขององค์กรพัฒนาเอกชน แบกเกียรติภูมิของภาคประชาสังคม ไปใช้ในสิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปเขาจะมองได้ว่า “ส.พล.” เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ใบตองแห้งก็จะขอชี้แจงแทน (ฮา) ว่าคุณไพบูลย์ไม่ใช่คน ส.พล.แต่นี่คือวิธีการทำงานตามทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งคุณไพบูลย์และหมอประเวศ สถาปนาตนเป็นเสมือน “ล็อบบี้ยิสต์” ของภาคประชาสังคม ต่อรองกับทุกรัฐบาลให้รับข้อเสนอที่มีผลเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนคนรากหญ้า โดยเอาเกียรติภูมิของตัวเองและพลังของภาคประชาสังคมเข้าไปค้ำจุนรัฐบาล เป็นการแลกเปลี่ยน ไม่ว่ารัฐบาลไหน ตั้งแต่ ปชป.ทักษิณ คมช.จนกลับมา ปชป.อีกครั้ง คุณไพบูลย์เป็น NGO ตัวพ่อ เพราะทำงานมูลนิธิบูรณะชนบท องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย น่าจะตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2510 ซึ่งอาจารย์ป๋วยเอาคนแบงก์ชาติมาช่วยงาน มูลนิธิบูรณะชนบทเป็นฐานรากร่มเงาให้องค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นภายหลัง และยังเป็นแหล่งกำเนิดของ NGO ตัวพ่อตัวแม่หลายๆ ราย เช่นคุณบำรุง บุญปัญญา คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข เพียงแต่คุณไพบูลย์น่ะแกไม่ใช่ NGO เดินดินกินข้าวเหนียวปลาร้ากะชาวบ้าน อย่าง “มด วนิดา” เพราะคุณไพบูลย์แกเป็น NGO ไปด้วยกับเป็นพนักงานแบงก์ชาติไปด้วย แถมเคยเป็น NGO ไปด้วยกับเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไปด้วย นอกจากนี้ยังเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ออมสิน เรียกว่าแกสลับชีวิตไปมาระหว่างการเป็นผู้บริหารการเงินระดับสูงกับขุนนาง NGO กระทั่งเมียแกยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ ไม่ยักเคยมีใครถามคุณไพบูลย์ซักคำว่า ไอ้ตอนที่แบงก์ไทยพาณิชย์ทำดีลขายชินคอร์ป “ขายชิน ขายชาติ” น่ะแกรู้สึกยังไงกับคนข้างๆ NGO สายคุณไพบูลย์จึงไม่ใช่สายที่ลงไปชนกับอำนาจรัฐกลไกรัฐ แบบพวกต่อต้านเขื่อน โรงไฟฟ้า นาเกลือ หรือว่ามาบตาพิษ แม้จะสนับสนุนคนเหล่านั้นแต่ก็ยังทำงานร่วมกับภาครัฐ ประนีประนอมกับระดับบน ทำโครงการจำพวกพัฒนาชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เชิดชูวิถีชีวิตดั้งเดิม ต่อต้านวัฒนธรรมบริโภค เพื่อนำคนไทยกลับไปมีชีวิตอย่างสุขสงบเหมือนสมัยกึ่งพุทธกาล ส่วน NGO สายหมอประเวศ เริ่มต้นมาจากสายสาธารณสุข จุดกำเนิดคือชมรมแพทย์ชนบท แพทย์หัวก้าวหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมหลัง 14 ตุลา หมอประเวศเป็นผู้นำทางความคิด ช่วยชี้แนะผลักดันให้แพทย์เหล่านี้รวมตัวกัน คิดค้นแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ โดยมักจะไปประชุมกันที่สวนสามพราน จึงเรียกกันว่า “กลุ่มสามพราน” สมาชิกคนสำคัญๆ ของ “กลุ่มสามพราน” ก็อาทิเช่น หมอวิชัย โชควิวัฒน์, หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, หมอชูชัย ศุภวงศ์, หมอสุภกร บัวสาย, หมออำพล จินดาวัฒนะ, หมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ “บิดาแห่ง 30 บาท” ผู้ล่วงลับ ซึ่งต้องจารึกไว้ด้วยความคารวะอย่างสูงว่า หมอประเวศและกลุ่มสามพราน ชมรมแพทย์ชนบท ได้สร้างคุณูปการไว้มากมาย ตั้งแต่ต่อต้านการทุจริตยา รณรงค์ลดเหล้าบุหรี่ ไปจนโครงการ 30 บาท (ที่เทียบแล้วหมอประเวศก็เหมือน “กงกงแห่ง 30 บาท” ในขณะที่ทักษิณและพรรคไทยรักไทยเป็น “มารดาแห่ง 30 บาท” ฮิฮิ) หรือการทำ CL ยาในรัฐบาลขิงแก่ ที่หมอมงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข คุณูปการเหล่านี้ (ซึ่งผมคงจาระไนไม่หมด) ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หมอประเวศและกลุ่มสามพราน “ล็อบบี้” ต่อรองกับรัฐบาลมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่อานันท์ ชวน ทักษิณ คมช.จนกลับมา ปชป.อีกครั้งหนึ่ง โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่แตกต่างจากภาคประชาสังคมยุคก่อนก็คือ หมอประเวศล็อบบี้ผลักดันให้ตั้งองค์กรมหาชนขึ้นมาดูแลเรื่องต่างๆ โดยมีกฎหมายรองรับ มีความเป็นอิสระ มีงบประมาณแน่นอนของตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันผลประโยชน์ประชาชน ซึ่งในด้านสาธารณสุข ได้ก่อเกิดฟันเฟืองที่รวมกันเป็นเครื่องจักรอันทรงพลังคือ 4 ส. ได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตั้งขึ้นตาม พรบ.ปี 2535 สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ตั้งขึ้นตาม พรบ.ปี 2543 ต่อมาแปลงร่างเป็น เป็นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่รับเป็นเจ้าภาพให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ตอนนี้ ถัดมาก็คือ สสส.ตั้งขึ้นตาม พรบ.ปี 2544 และสุดท้ายก็คือ สปสช.ผู้ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาท ทั้งหมดนี้บริหารโดยแพทย์ชนบท “กลุ่มสามพราน” คือ สวรส.ที่ตั้งขึ้นองค์กรแรก มีหมอสมศักดิ์เป็นผู้อำนวยการ หมอสุภกรเป็นรอง พอตั้ง สสส.ขึ้นก็เอาหมอสุภกรมาเป็นผู้จัดการ 2 สมัย เป็นอีกไม่ได้ก็สืบทอดให้หมอโนบิตะ (โทษที ลืมชื่อจริง) โดยมีหมอบรรลุ ศิริพานิช ปั๊มโลโก้ “เปาบุ้นจิ้น” ให้ว่ามีการสรรหาอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรมแล้ว สปรส.มีหมออำพลเป็นเลขาธิการ ต่อเนื่องมาจนเป็นเลขา สช.ส่วน สปสช.ก็หมอหงวนเป็นเลขาธิการ หมอหงวนตาย ก็สู้กันน่าดูเหมือนกันตอนตั้งคนใหม่ เพราะดันเป็นรัฐบาลสมัครพอดี แต่ด้วยกลไกที่วางไว้ในบอร์ด สุดท้ายก็ยังได้หมอวินัย สวัสดิวร ลูกหม้อในเครือข่าย นอกจากนี้ กลุ่มสามพรานบางท่านเช่น คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ก็เป็นบอร์ดอยู่ 3 ใน 4 ส.นี้ หมอวิชัยเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชฯ แล้วก็เป็นบอร์ดอยู่อีก 2 หรือ 3 ส.นี่แหละ ที่พูดเรื่องนี้ต้องย้ำว่าตัวบุคคลทั้งหมดเป็นคนดีนะครับ ดีมาก ดีกว่า “สัตบุรุษ” ด้วยซ้ำ อย่างหมอหงวน รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แกก็ยังทำงานจนวันตาย ผมเคยไปสัมภาษณ์ นั่งกินข้าวด้วยกัน แกต้องกินข้าวกล้องชามโตๆ ฝืนกินอย่างไม่มีรสชาติ เพื่อจะมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่ใช่อยู่กับลูกเมีย แต่ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อทำงานต่อ ชีวิตหมอหงวนเป็นชีวิตที่เสียสละ คนที่เอาชีวิตแกมาทำละครทาง TPBS ถึงไม่รู้จะทำยังไงให้มันมีสีสัน มีดรามา เพราะชีวิตแกราบเรียบเป็นเส้นตรงอย่างนั้นจริงๆ แต่ขณะเดียวกัน หมอประเวศและกลุ่มสามพรานก็ถลำลงไปใน “ลัทธิลูกหม้อ” เมื่อต้องการวางคนของตัวเองที่เชื่อมั่นว่าเป็นคนดีๆ เท่านั้น ไว้ควบคุมองค์กรเหล่านี้ ป้องกันแน่นหนาไม่ให้พวก “เลือดสีโคลน” เข้ามาแทรกได้ ซึ่งถ้าพูดถึงตำแหน่งบริหาร บางครั้งผมก็เห็นด้วย เช่นตอนตั้งเลขา สปสช.ผมก็ช่วยลุ้นจนตัวโก่ง ไม่อยากให้สมุนนักการเมืองเข้ามางาบ แต่นานๆ เข้า มันก็กลายเป็น “ลัทธิลูกหม้อ” ทั้งแนวคิดและวิธีการทำงาน อย่างที่ สตง.วิจารณ์การทำงานของ สสส.ว่ามักจะมีแต่องค์กรหน้าเก่าคนหน้าเดิมในเครือข่ายเท่านั้นที่ได้งบ หมอในกลุ่มสามพรานเคยอธิบายกับคนวงในว่า เขาเชื่อว่าวิธีการแบบนี้ได้ผล อย่างเช่นการคัดเลือกคนให้ได้รับทุนวิจัย ถ้าใช้การสอบ ปรากฏว่าเกินครึ่งออกไปทำงานให้เอกชน ถ้าใช้การแนะนำรับรองกันมาว่านี่ “คนดี” ปรากฏว่าพลาดแค่ 30% แต่นานเข้ามันก็เป็นปัญหา เพราะมันทำให้การทำงานย่ำเท้าอยู่กับที่ มีแต่คนคิดเหมือนกัน ไม่มีความคิดหลากหลาย โยกซ้ายโยกขวาก็มีแต่เครือข่ายลัทธิประเวศ เหมือนผลการประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 2 ที่เพิ่งออกมา ตั้งกรรมการ 14 ชุด ระดมความคิดเห็นองค์กรเครือข่าย ปรากฏว่าคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป มีคุณวิลาสินี อดุลยานนท์ เป็นประธาน เอ๊ะ โผล่มาจากไหนหว่า ไม่เห็นชื่อใน คปร.ตอนแรก อ้าว ปรากฏว่าเป็นผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.ภริยาของ ผศ.ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. (เธอดูแลมีเดียมอนิเตอร์ ผู้วินิจฉัยว่า “ประชาไท” ไม่ได้เสนอข่าวภาคประชาสังคมเพียงพอ) อ้อ ยังมีคุณเดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการ คปร. อีกตำแหน่งหนึ่งเป็น ผอ.ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สช.เดิมแกเป็นอาจารย์ ม.เกษตร ต่อสู้เรื่องมลภาวะอุตสาหกรรม ลัทธิลูกหม้อ นานไปก็มีความเชื่อว่ามีแต่พวกตนเท่านั้นเป็นคนดี เหมือนหมอสุภกรเดินเข้าทำเนียบ ควักเงินบริจาคให้พันธมิตร แล้วก็คิดว่าไอ้พวกที่วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรเป็นคนไม่ดี ล่าสุดก็มาเกิดเรื่อง พรบ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ ที่กลายเป็นเรื่องทะเลาะกันระหว่างหมอกับหมอ คือตัว พรบ.ในเนื้อหาหลักๆ ผมเห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ทัศนะต่อคนคัดค้านก็ไม่ควรมองว่าเขาเป็นหมอที่หวังผลประโยชน์หรือเห็นแก่ตัวเสียหมด ต้องเข้าใจหัวอกคนทำงานบ้าง ไม่ใช่อย่างที่หมออำพลประณามว่าหมอแต่งดำคัดค้านก็คือหมอใจดำ! เราควรจะยกย่องเชิดชูกลุ่มสามพราน แพทย์ชนบท ที่เสียสละทำงานเหนื่อยยาก แต่คนดีไม่ได้มีระดับเดียว คนบางคนเขาก็อยากทำความดีพร้อมกับขอมีประโยชน์สุขส่วนตัวบ้าง หมอบางคนเขาก็ยังอยู่ในระบบราชการ รับเงินเดือนน้อยกว่าที่จะได้จากเอกชนหลายเท่าตัว ตรวจคนไข้มือระวิงวันละหลายสิบ แต่ตอนบ่ายตอนเย็นหรือวันหยุดเขาไปทำคลินิกทำเอกชนสร้างฐานะให้ครอบครัวบ้าง เขายังเป็นคนดีอยู่ไหม ถึงวันนี้ พรบ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ ก็เลยกลายเป็นชนวนให้หมอทั้งประเทศรุมถล่มหมอประเวศและกลุ่มสามพราน ซึ่งถ้ามองทางการเมืองแล้วตลกดีครับ เพราะหมอจำนวนมากก็เป็นพันธมิตรไล่ทักษิณ เพราะไม่พอใจมาตั้งแต่โครงการ 30 บาท (ผลงานกลุ่มสามพรานนั่นแหละ) มาตอนนี้กลับซัดกันเอง ที่ตลกมากๆ คือรายการเจิมศักดิ์กับวันชัยออกมาเชียร์ พรบ.ทำให้พวกหมอ พธม.ที่เคยเป็นสาวกเจิมด่ากันขรม (กระทู้ของหมอบางกระทู้ขู่ว่าถ้า พรบ.ผ่านจะเป็นเสื้อแดง-ฮา) นี่ถ้าผมมีบทบาทอะไรซักอย่างก็คงลำบากใจน่าดูเหมือนกัน ว่าจะเลือกสนับสนุน พรบ.ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือเลือกถล่มลัทธิประเวศดี เพราะได้อย่างเสียอย่าง แต่โชคดีที่ผมไม่มีบทบาท ไม่ต้องไปสัมภาษณ์ใครเหมือนเมื่อก่อน (เมื่อก่อนผมเนี่ยกองเชียร์แพทย์ชนบทและ 30 บาทอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู) ก็ปล่อยให้’จารย์เจิมแกช่วยเชียร์ไปแล้วกัน ฮิฮิ ถ้าจะให้ดีนะครับ ผมอยากให้ พรบ.ผ่าน แต่ให้เครือข่ายลัทธิประเวศโดนเล่นงานซะให้อ่วมก่อน ล็อบบี้ไม่เลือกระบอบ หมอประเวศกับคุณไพบูลย์เป็นจอยท์เวนเจอร์กันตั้งแต่เมื่อไหร่ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ที่เห็นๆ คือตั้งแต่มี สสส.กับงบมหาศาล ลัทธิประเวศก็กวาด NGO เข้าไปอยู่ใต้ร่มธง อาจพูดได้ว่าหลังจากพฤษภา 35 เป็นต้นมา ที่ภาคประชาสังคมมีอำนาจต่อรองมากขึ้น “ล็อบบี้ยิสต์” จอยท์เวนเจอร์หมอประเวศแอนด์ไพบูลย์ ก็ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์มาหลายอย่าง เช่นองค์กร 4 ส.ที่ว่าไปแล้ว และ พอช.ซึ่งได้มาในสมัยรัฐบาลชวน พอเกิดรัฐประหารก็เข้าร่วมรัฐบาลขิงแก่ หมอมงคลเป็น รมว.สาธารณสุขทำ CL คุณไพบูลย์เป็นรองนายกฯ และรมว.พัฒนาสังคมก็พยายามจะออกกฎหมายตั้งสภาองค์กรชุมชน แต่โดนมหาดไทยขวาง สุดท้ายได้มาแต่โครงไก่ เอ๊ย โครงร่าง (คุณไพบูลย์ขู่จะลาออกแต่สุดท้ายก็ไม่ออก) แนวทางของภาคประชาสังคมอย่างคุณไพบูลย์ หมอประเวศ ต้องยืมคำกล่าวของหมอพลเดช ปิ่นประทีป ที่ว่า “เราไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐ แต่จะใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ข้ามรัฐ/ลอดรัฐ” ซึ่งผมฟังเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ (ฮา) รู้แต่ว่าคุณไพบูลย์กับหมอประเวศยึดหลักว่าต่อรองกับรัฐบาลไหนได้ก็เข้าข้างนั้น ไม่สนใจว่าจะเป็นประชาธิปไตย เผด็จการ หรือแมลงสาบ ขอเพียงเป็นตัวบุคคลที่เราสามารถพูดคุยได้ ถ้าคุณเป็นล็อบบี้ยิสต์ของกลุ่มทุน มันก็ไม่แปลกหรอก แต่ถ้าคุณเป็นผู้นำภาคประชาสังคม ซึ่งพูดทุกวันว่าต้องการให้ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง การสนับสนุนเผด็จการหรืออำมาตยาธิปไตย มันสวนทางกันสิ้นเชิงกับสิ่งที่พูด คุณหมอศิริวัฒน์ เทพธราดล อดีตเลขา อ.ย. ผู้ถูกไชยี้ สะสมทรัพย์ สั่งเด้งในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงทำ CL เคยให้สัมภาษณ์ผู้จัดการไว้ว่า ท่านเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ผลักดันให้มีกฎหมายควบคุม แล้วก็เกิด รสช.พอดี รัฐบาลอานันท์เข้ามา จึงทำให้ออกกฎหมาย 2 ฉบับได้สำเร็จ “ผมคิดว่าถ้าเป็นสมัยประชาธิปไตยจ๋า กฎหมายอย่างนี้ไม่มีทางได้ออก เหมือนกับกฎหมายเหล้า เพราะเมื่อกฎหมายดีเข้าสู่รัฐสภาก็จะถูกล็อบบี้จากบริษัทต่างชาติ ไม่ให้คลอด หรือถ้าออกก็จะอ่อนจนควบคุมอะไรไม่ได้ ผมเคยพูดกับฝรั่งว่า ประชาธิปไตยไทยไม่เหมือนบ้านคุณนะ กฎหมายดีๆ มักออกในสมัยเผด็จการ บ้านเราเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบอุดมคติ” ถ้ามองเฉพาะส่วนท่านก็พูดถูกนะครับ CL ยาไม่มีทางทำได้ ถ้าไม่ใช่ยุคขิงแก่ (ขนาดนั้นหมอมงคลยังถูกกระทรวงพาณิชย์โวย แม้แต่รัฐบาล ปชป.ตอนนี้ก็มีปัญหา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์กำลังสอดมือเข้ามาวอแว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ NGO สายสาธารณสุขกับอลงกรณ์ พลบุตร ก็เย้วๆ ไล่ทักษิณมาด้วยกัน) แต่ถามว่าเราจะเอาแค่เนียะ โดยละเลยชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยเข้มแข็ง งั้นหรือครับ CL ยาแลกมากับการค้ำจุนรัฐประหาร ได้ยาราคาถูกขณะที่งบประมาณกองทัพเพิ่มพรวดสองเท่า ซื้อฝูงบินกริพเพ่น ซื้อรถถังยูเครน ซื้อเรือเหาะ และ GT200 โดยยังไม่พูดถึงอำนาจครอบงำการเมืองและสังคม เหมือนหมอชูชัยเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิเสรีภาพ แล้วออกมาคุยว่าดีที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่หมวดการเข้าสู่อำนาจ กลับกลายเป็นว่าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกรัฐบาล เพราะเลือกมาแล้วไม่ถูกใจชนชั้นนำ ก็ถูกตุลาการภิวัตน์สอยเรียบกระทั่งยุบพรรค ตรงกันข้าม ถ้าหมอศิริวัฒน์มองมุมกลับ นโยบายที่ผลักดันในยุคประชาธิปไตย แม้ยากก็จริงนะครับ แต่ถ้าทำสำเร็จมันก็มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาให้ประชาชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยเข้มแข็ง อย่างนโยบาย 30 บาทของแพทย์ชนบทนั่นไง เป็นปัจจัยสำคัญเลยละ ที่ทำให้คนชนบทตื่นตัว ตระหนักในสิทธิเสียงของตัวเอง เรียนรู้ “ประชาธิปไตยกินได้” จนทำให้เกิดมวลชนเข้มแข็ง ซึ่งก็คือมวลชนเสื้อแดงในวันนี้ เพียงแต่หมอประเวศ คุณไพบูลย์ ไม่ยอมรับ แกล้งทำเป็นตาบอดสีมองไม่เห็น ยอมพลีตัวเข้ามาปฏิรูปประเทศไทยแลกกับ 91 ศพ พรก.ฉุกเฉิน และการปราบปรามแยกสลายมวลชน ให้กลับไปว่านอนสอนง่ายยอมสยบต่ออำนาจเหมือนเดิม แนวคิดปฏิรูปแลก 91 ศพนี่ไม่ใช่เพิ่งมีนะครับ หมอพลเดชพูดไว้ในการประชุมสมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่เดือนมกราคมว่า “หากกลุ่มสีแดงยึดอำนาจได้สำเร็จ โอกาสกลับไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิมสูง...เราไม่หนุน แต่ถ้านำไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ...เราจะหนุน หากรัฐบาลปราบได้ กลุ่มสีแดงแพ้ อาจนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สังคมมีบทบาท...เราจะหนุน แต่ถ้านำไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิม...เราไม่หนุน” พูดง่ายๆ คือประเมินสถานการณ์รอไว้แล้ว ถ้ามีการปราบ ก็รู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลจะเผชิญปัญหาความชอบธรรมอย่างรุนแรง และต้องหันมาพึ่งภาคประชาสังคม พึ่งหมอประเวศ คุณไพบูลย์ เป็นโอกาสทองที่ล็อบบี้ยิสต์จะได้เข้าไปมีบทบาท เหมือนรัฐประหารต้องเอาหมอมงคล คุณไพบูลย์ หมอพลเดช เข้าไปเป็นรัฐมนตรี วันหน้า ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์เจอมรสุมมากกว่านี้ ไม่แน่นะครับ เผลอๆ อภิสิทธิ์อาจต้องตั้งคนนอก เช่นคุณไพบูลย์ เข้าไปเป็นรองนายกฯ หรือ รมว.พัฒนาสังคม ถ้ามีวันนั้นจริงต้องเข้าใจกันนะ ว่าคุณไพบูลย์แกไม่ใช่ได้มาเพราะ ส.พล.(ฮิฮิ)
ใบตองแห้ง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กรุงเทพโพลล์ : เยาวชนกทม. ร้อยละ 78.7 มองการบังคับใช้กฏหมายไม่เป็นธรรม Posted: 04 Aug 2010 10:08 PM PDT ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์เนื่องใน 'วันรพี' เผยเยาวชนร้อยละ 78.7 ในกรุงเทพฯ มองการบังคับใช้กฏหมายปัจจุบันไม่เป็นธรรม ร้อยละ 61.0 มองการชุมนุมนปช. ไม่เคารพกฏหมาย ร้อยละ 47.4 บอกไม่แน่ใจว่าหากลดบทบาทการออกกฏหมายของนักการเมืองจะช่วยแก้ปัญหา
ด้วยวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ตรงกับ วันรพี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินโครงการสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของเยาวชนต่อการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทย” โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนอายุ 18 – 25 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,284 คน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า เยาวชนไทยร้อยละ 78.7 เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยในปัจจุบันยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม โดยในจำนวนนี้เห็นว่าสาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจาก ผู้รักษากฎหมายละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติ (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือ ประชาชนหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย (ร้อยละ 17.3) และตัวบทกฎหมายไม่เหมาะสม มีช่องโหว่ ล้าสมัย (ร้อยละ 14.0) สำหรับการกระทำผิดกฎหมายในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในสายตาเยาวชนอันดับแรกคือ เรื่องยาเสพติด (ร้อยละ 18.8) รองลงมาคือ เรื่องการชุมนุมประท้วงเกินขอบเขตของกฎหมาย (ร้อยละ 18.2) และเรื่องการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ (ร้อยละ 17.3) เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวหรือเหตุการณ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึงการไม่เคารพกฎหมายในสังคมไทยมากที่สุดพบว่าอันดับแรกคือ การชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่เกินขอบเขตของกฎหมายของกลุ่ม นปช. (ร้อยละ 61.0) รองลงมาคือ การค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า (ร้อยละ 7.4) และการล่วงละเมิดทางเพศ / ข่มขืน (ร้อยละ 5.9) ส่วนความเห็นต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่สมควรจะต้องปรับปรุงตัวเองมากที่สุดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสม และเป็นธรรม พบว่าอันดับแรกคือ ประชาชนคนไทยทุกคนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย (ร้อยละ 54.2) รองลงมา คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รักษากฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ / ศาล (ร้อยละ 23.4) และนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย (ร้อยละ 21.4) ส่วนความเห็นต่อการลดบทบาทในการออกกฎหมายของนักการเมือง ว่าจะช่วยแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายของไทยได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 28.7 เชื่อว่าได้ ขณะที่ร้อยละ 23.9 เชื่อว่าไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีถึง ร้อยละ 47.4 ที่ตอบว่าไม่แน่ใจ อนึ่ง การสำรวจนี้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนจากกลุ่มตัวอย่างเยาวชนอายุ 18-25 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจดังต่อไปนี้
1. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พบว่า - เห็นว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ร้อยละ 78.7 2. การกระทำผิดกฎหมายในสังคมไทย ที่พบเห็นบ่อยครั้งที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า - เรื่องการชุมนุมประท้วงเกินขอบเขตกฎหมาย ร้อยละ 16.7 3. ความคิดเห็นต่อเรื่องการกระทำผิดกฎหมายในสังคมไทย ที่เป็นปัญหาน่าห่วงมากที่สุด พบว่า - เรื่องยาเสพติด ร้อยละ 18.8 4. ความคิดเห็นต่อข่าวหรือเหตุการณ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึงการไม่เคารพกฎหมายในสังคมไทยมากที่สุด พบว่า - การชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่เกินขอบเขตของกฎหมายของกลุ่ม นปช. ร้อยละ 61.0 5.ความคิดเห็นต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่สมควรจะต้องปรับปรุงตัวเองมากที่สุดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสม และเป็นธรรม พบว่า - ประชาชนคนไทยทุกคน ร้อยละ 54.2
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น