โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จับตาภาคประชาชน: กันยา ปันกิติ ความเห็นชาวบ้านต่อ‘ขบวนการภาคประชาชน’และ‘NGO’

Posted: 04 Aug 2010 01:28 PM PDT

"เอ็นจีโอควรปรับตัวในเรื่องของการครอบงำ... การครอบงำภาคประชาชน...” กันยา ปันกิติ ชาวบ้านผู้เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปที่ดินให้คนจนมีสิทธิทำอยู่ ทำกิน สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

 
 
ความเห็นของ กันยา ปันกิติ ชาวบ้านเครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อ.รัษดา จ.ตรัง ต่อ “ขบวนการภาคประชาชน” และ “NGO” ใน ซีรี่ส์สั้นๆ “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” กิจกรรมตีปี๊บ “เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” โดย Thai Social Movement Watch: TSMW หรือในชื่อภาษาไทยว่า “กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย”
 
เมื่อภาคประชาชน คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ คือภาคประชาชน คนยากคนจน และเอ็นจีโอ ถือเป็น ส่วนหนึ่งของภาคประชาชน ที่ช่วยในการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆ และถึงวันนี้ภาคประชาชนก็ยังต้องการเอ็นจีโออยู่
 
“เอ็นจีโอควรปรับตัวในเรื่องของการครอบงำ... การครอบงำภาคประชาชน... อยากให้มีส่วนหนุน ส่วนเสริม ไม่ใช่มาครอบงำพี่น้องชาวบ้าน..” นี่คือมุมมองของกันยา และสำหรับเธอเอ็นจีโอควรเป็นผู้ประคับประคอง เพื่อให้เขาได้ยืนด้วยตนเอง  
 
กันยา ปันกิติ เธอคือชาวบ้านผู้ประสบปัญหาการประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกิน ในพื้นที่ จ.ตรัง และได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ก้าวสู่การเป็นตัวแทนเจรจากับภาครัฐ ขณะนี้เธอคือหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาล ในวันที่กระแสการปฏิรูปเป็นที่แพร่หลายในสังคม
 
 
(สัมภาษณ์เมื่อ 3 ส.ค.53 ที่สำนักงานกลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นสากล)
 
..............................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นจีโอผิดหวังสมาพันธ์แพทย์ถอนตัว กก.ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

Posted: 04 Aug 2010 01:08 PM PDT

 
4 ส.ค.53 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ประกาศนำสมาพันธ์แพทย์ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข หรือคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขว่า ขอยืนยันว่ายังมีผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ร่วมเป็นกรรมการ 3 ฝ่าย โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อให้ฝ่ายแพทย์กับภาคประชาชนมาพูดคุยเพื่อหาทางออกและหาข้อสรุปที่เป็นกลาง
 
"คิดว่าที่ประชุม 3 ฝ่ายจะมีส่วนคลี่คลายความเห็นที่ไม่ตรงกันได้ ขอเวลาให้คณะทำงานได้ทำงานก่อน" นายจุรินทร์กล่าว
 
กก.3 ฝ่ายนัดถกวันแรก7ส.ค.
นพ.สุพรรณในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ โดยได้เตรียมเอกสารข้อมูลในร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อจัดส่งให้คณะกรรมการศึกษาก่อนอย่างน้อย 2 วัน และจะนัดประชุมนัดแรกวันที่ 7 สิงหาคมนี้ นัดต่อไปคือ วันที่ 9 สิงหาคม และจะนัดหารือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติภายในเวลาที่กำหนด จากนั้นจะนำมติร่วมมาทำประชาพิจารณ์ในภูมิภาคต่างๆ ก่อนจะนำเข้าสภา  ส่วนกรณีที่มีกรรมการบางคนถอนตัวออกจากคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย นพ.สุพรรณกล่าวว่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ถือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายวิชาชีพ แต่หากสมาพันธ์จะถอนตัว และรวมกลุ่มใหม่ ขอให้นำประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกันมาพูดคุยกันในเวทีนี้
 
เอ็นจีโอผิดหวัง สมาพันธ์แพทย์ถอนตัวคณะทำงาน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในคณะทำงานสามฝ่าย ผิดหวังอย่างยิ่งที่สมาพันธ์แพทย์ถอนตัวจากคณะทำงาน เพราะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังเหตุฝังผลกันจนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองและสังคมที่เลวร้ายที่สุดในประเทศไทย
 
ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อคือ 1.มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหาย 2.ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง 3.มีระบบพัฒนา ป้องกัน ความเสียหาย ดังนั้น ความเห็นต่างในรายละเอียดของ ร่าง พรบ. กำลังจะสร้างวัฒนธรรมที่ดีของการสร้างความสมานฉันท์ด้วยการรับฟังกัน-เข้าใจกันด้วยเหตุและผลด้วยกลไกคณะทำงานที่ประกอบด้วยบุคคลฝ่ายต่างๆจะได้มาร่วมหารือกัน แต่กลับถูกปฏิเสธจากสมาพันธ์แพทย์ฯเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่ง

สังคมไทยบอบช้ำมามากพอแล้วกับการเอาชนะคะคานอย่างไร้สติ จึงอยากขอให้สมาพันธ์แพทย์ทบทวนการเข้าร่วมคณะทำงานอีกครั้ง หรือขอให้นำความเห็นต่างทั้งหมดไปพิจารณาในสภาฯ หลังจากที่ร่าง พรบ.ผ่านที่ประชุมวาระแรก พร้อมขอบคุณกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่เข้าใจหลักการของกฎหมายเป็นอย่างดี และสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายในการรับบริการสาธารณสุข
 
ส่วนกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬากังวลนั้น สารีระบุว่า เป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อนและเป็นรายละเอียดของกฎหมายที่สามารถปรับปรุงและแก้ไขได้ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ความกังวลว่าโรงพยาบาลจุฬา ฯ จะต้องจ่ายสมทบปีละ 10 ล้าน ซึ่งในความเป็นจริง โรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการประชาชน รัฐจะเป็นผู้จ่ายสมทบ หากพิจารณาจากรายละเอียดจากทั้งมาตรา 20 และมาตรา 22 จะเห็นว่าจะมีการโอนเงินมาตรา 41 จากกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือหากโรงพยาบาลจุฬาฯ จะมีส่วนช่วยสมทบเงินจำนวนเพียง 10 ล้านบาท ต่อปี เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นร่วมกัน ก็เป็นเงินจำนวนไม่มาก แทนที่จะให้โรงพยาบาลต้องรับภาระและแพทย์ต้องมีความทุกข์จากการถูกฟ้อง ทั้งนี้ กรณีการฟ้องในปัจจุบันที่ไม่มีคงไม่มีใครกล้ารับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้จะมีการจ่ายชดเชยให้กับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนที่มีความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข
 
นอกจากนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน  ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และเพื่อดูแลช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ อยากให้รัฐสภารีบเดินหน้าพิจารณากฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว และออกมาอธิบายว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับแพทย์ และผู้ป่วยอย่างไร และรัฐสภาควรเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยหยิบข้อกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ มาปรับปรับปรุงให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมให้มากที่สุด เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายได้เห็นด้วยในเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายฉบับนี้แล้ว ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำกฎหมายให้ดีมี่สุด และทุกฝ่ายต้องยอมรับในภารกิจนี้ของรัฐสภา
 
สมาพันธ์แพทย์ผุด "คบส."สู้
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเครือข่ายคุ้มครองการบริการสาธารณสุข (คบส.) แถลงว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ได้มีการหารือเรื่องร่างกฎหมาย และมีมติจัดตั้ง คบส.ขึ้น เพื่อคุ้มครองบริการสาธารณสุข ให้มีคุณภาพ คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการ โดยสมาพันธ์แพทย์ฯ สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งมีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งในและนอกราชการ บุคลากรสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรอาสาคุ้มครองประชาชนด้านการรับบริการทางยา ชมรมเทคนิคการแพทย์ชนบท ชมรมนักกายภาพบำบัด กลุ่มหัวหน้าสถานีอนามัยและนักวิชาการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีมติเข้าร่วมเครือข่ายคุ้มครองประชาชนฯ
 
พญ.เชิดชูกล่าวว่า คบส.ไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย โดยในการประชุมร่วม 2 ฝ่ายได้ให้บันทึกถึงความเห็นของฝ่ายแพทย์ผู้ให้บริการแล้วว่าไม่เห็นด้วยในวิธีการตั้งคณะทำงานแบบรวบรัด แต่เห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อ และเห็นด้วยกับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ที่ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ จึงนำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนอีกครั้งในกลุ่มสมาพันธ์ ประกอบกับมีการให้ข่าวใส่ร้าย โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และนพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้เครือข่ายมีมติถอนตัวออกจากกรรมการ 3 ฝ่ายที่ สธ.ตั้งขึ้น
 
เพื่อไทยซัดรัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัตินัดแรก ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือก่อนเข้าสู่วาระ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย หารือกรณีแพทย์แต่งชุดดำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข โดยระบุว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเรื่องนี้จะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขรุนแรง เพราะแพทย์คิดว่าโดนรังแก ขอเสนอว่า ควรทำเวิร์กช็อปของทั้งสองฝ่าย แล้วนายกรัฐมนตรีและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องกล้าฟันธงนำไปปฏิบัติ
 
ด้านนายจุรินทร์ชี้แจงว่า สธ.ได้ดำเนินการไม่ต่างกับที่ นพ.ประสิทธิ์ ส.ส.ชัยภูมิ แนะนำ กรรมการร่วมสองฝ่ายก็มาจากการหารือระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
 
พจนา อ้างถูกด่าถอนชื่อกก.3ฝ่าย
พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์ กล่าวว่า ได้ทำตามมติสมาพันธ์แพทย์ฯ ที่ขอให้ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว โดยจะแจ้งให้กับปลัด สธ.ทราบต่อไป และคงไม่สามารถเข้าประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เนื่องจากติดภารกิจ สาเหตุที่ต้องถอนตัว เนื่องจาก นพ.วิชัย และ นพ.อำพล แสดงความคิดเห็นโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ตามสื่อวิทยุโทรทัศน์
 
" แพทย์ในสังกัด สธ.มีเพียง 12,000 ราย ยังมีแพทย์ที่อยู่ในสังกัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งกระทรวง ทบวง กรม กทม. โรงเรียนแพทย์ เสียงจากแพทย์ใน สธ.ถือเป็นกลุ่มน้อย สมาพันธ์ต่างๆ จึงประกาศถอนตัว " พญ.เชิดชูกล่าว และว่า ข้อเสนอที่เครือข่ายเสนอเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการในระบบสาธารณสุข คือ 1.ขยายความคุ้มครองการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการราชการ 2.เพิ่มเพดานการชดเชยในทุกกรณีให้สูงกว่าเดิมเพื่อความเหมาะสม 3.การจัดตั้งคณะทำงานควรมีครบทุกภาคส่วนเพื่อ รับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบ
 
อสม.-แพทย์สมาคม ปัดถอนตัว
นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลที่เครือข่ายระบุว่ามี อสม.เข้าร่วมด้วย แต่เชื่อว่าไม่มีแน่นอน เพราะหาก อสม.จังหวัดใดจะเข้าร่วมกิจกรรมใด จะต้องแจ้งชมรมทุกครั้ง
พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าแพทยสมาคมเห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้รับบริการ และฝ่ายผู้ให้บริการ และไม่เห็นด้วยกับการล้มโต๊ะเจรจา แต่หากเห็นว่าสัดส่วนของคณะทำงานที่จะเจรจาร่วมกันไม่เหมาะสมหรือไม่ครอบคลุม ก็ต้องปรับเปลี่ยน ต้องคุยกันเพื่อให้ได้ทางออกของปัญหานี้
 
 
 
 

 
 
 

 
รายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์พิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ 3 ฝ่าย
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรี สธ. ได้ลงนามคำสั่ง สธ.ที่ 1356/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จำนวน 26 คน ประกอบด้วย 1.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นที่ปรึกษา 2.นายวรรณชัย บุญบำรุง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นที่ปรึกษา 3.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธานกรรมการ 4.นายวิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 5.เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ/ผู้แทน 6.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข/ผู้แทน 7.นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ 8.นายโชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ แพทยสภา 9.รศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ สภาการพยาบาล 10.นายธรณินทร์ จรุงเกียรติ ทันตแพทยสภา 11.นายกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สภาเภสัชกรรม

12.พ.ท.ประพนธ์ อยู่ปาน สภากายภาพบำบัด 13.นางพจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์ รพท./รพศ. 14.พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 15.นายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ สภาเทคนิคการแพทย์ 16.น.ส.อารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 17.นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 18.ผศ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 19.น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคตะวันตก 20.นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 21.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 22.น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานร่วมแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 23.นายสัมภาษณ์ กูลศรีโรจน์ กรรมการเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 24.นายธเนตร บัวแย้ม นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ) กรมสนับสนุนบริการการสุขภาพ เป็นเลขานุการ 25.นายชาตรี พินใย นิติกรชำนาญการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และ 26.นางอารีวรรณ ปั่นแก้ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลุยปฏิรูปประเทศ เปิด 14 เวทีฟังความเห็น มุ่ง ‘สหภาพแรงงาน’ อันดับแรก

Posted: 04 Aug 2010 12:33 PM PDT

 
4 ส.ค.53 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนพี่น้องคนไทยทั้งประเทศร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย และได้จัดโครงการ “6 วัน 63 ล้านความคิด” ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ผ่านช่องงานโทรศัพท์หมายเลข 023049999 เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและปัญหาที่แต่ละคนประสบผ่านช่องทางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยปัญหาหลักที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด 7 ประเด็นกล่าวคือ 1.เศรษฐกิจในครัวเรือนปากท้องของประชาชน 2. การเมืองและกระบวนการยุติธรรม 3.สวัสดิการสังคม 4.การศึกษา 5.สาธารณูปโภค 6.สิ่งแวดล้อมและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ และ 7. สื่อและสื่อสารมวลชนนั่น ซึ่งประเด็นต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้แต่ละกระทรวงไปศึกษาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

นายสาทิตย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมในหลายมิติ และวิชาชีพ ทางคณะทำงานเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นประธานเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่พื้นที่ในการสื่อสารต่อสาธารณะชน และต่อภาครัฐโดยตรงด้วยการเชื้อเชิญบุคคลเหล่าได้มาเสนอแนะความคิดเห็นและสะท้อนแนวทางแก้ไขเพื่อให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ตนเองประสบอย่างเป็นระบบ จึงเห็นชอบให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อเดินหน้าปฏิรูประเทศไม่น้อยกว่า 13 เวที นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม - 30 กันยายน 2553

โดยจะเริ่มจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายสหภาพแรงงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. ณ ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาลหลังใน  รมต.ประสำนักนายกฯ กล่าวว่า จากนั้นในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายจิตอาสา/อาสาสมัคร คน ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน นอกจากยังได้เตรียมเชิญ กลุ่มคนบันเทิง,กลุ่มผู้หญิง,กลุ่มเด็ก และเยาวชน,กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน,กลุ่มเครือข่ายธุรกิจรับผิดชอบสังคม (CSR) ,กลุ่มผู้แทนศาสนา,กลุ่มคนทำงานกลางคืน,กลุ่มธุรกิจภาคกลางคืน เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการยังจะจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นไปยังภาคทั้งนี้สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมต่อไปและแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ สำนักงานร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน โทร.0-2214-6576 - 8

 
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัยการเลื่อนสั่งคดีพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบฯ ไป 7 ต.ค.

Posted: 04 Aug 2010 12:25 PM PDT

4 ส.ค.53 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา มีคำสั่งเลื่อนสั่งคดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 9 คน เป็นผู้ต้องหาในคดีมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก กรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกเข้าไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลาถึง 193 วัน เมื่อปี 51 เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอ ความเป็นธรรมไว้ไม่แล้วเสร็จ พร้อมนัดสั่งคดีอีกครั้งวันที่ 7 ต.ค.53 เวลา 10.00 น.

ด้าน นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา กล่าวว่า เหตุที่ต้องเลื่อนการสั่งคดีไปก่อน เนื่องจากได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมไม่ครบถ้วน ซึ่งยังขาดประเด็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการอธิบายภาพที่ปรากฏใน วีซีดีที่บันทึกภาพและเสียงเกี่ยวกับการชุมนุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามหาบุคคลรับรองความถูกต้องวีซีดี ที่เป็นวัตถุพยานอีกด้วย ส่วนพยานบุคคลที่ทีมทนายความผู้ต้องหา ร้องขอให้สอบเพิ่มเติมนั้น อัยการได้พิจารณาสอบสวนในส่วนที่สำคัญและมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด โดยอัยการพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกส่วน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ มติชนออนไลน์ 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บัวแก้วเตรียมแจงจม.ที่ปรึกษากษัตริย์กัมพูชา-สุขุมพันธุ์ยันMOU ปี43 ปกป้องไทยไม่เสียดินแดน

Posted: 04 Aug 2010 12:06 PM PDT

4 ส.ค.53 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีเจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วง และอยากให้เกิดความปรองดองเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ในปัญหาปราสาทพระวิหารว่า นายกรัฐมนตรีได้รับจดหมายดังกล่าวแล้ว เข้าใจว่าเป็นจดหมายในนามส่วนตัว คาดว่า ภายใน 1-2 วันกระทรวงต่างประเทศจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในจดหมายนี้ได้

โดยรวมเนื้อหาในจดหมายเป็นการยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมแสดงความเป็นกังวลเรื่องผลกระทบของการปักปันเขตแดนที่ไม่ชัดเจนในอดีต และแสดงความเป็นกังวลและไม่สบายใจในช่วงที่กัมพูชาถูกปกครองโดยรัฐอาณานิคม ทำให้เกิดปัญหาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาตามมา โดยเห็นว่า จะเกิดประโยชน์หากไทย-กัมพูชาจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เนื้อหาในจดหมายยังตั้งข้อสังเกตถึงสนธิสัญญา แผนที่บางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนของทั้งสองประเทศต้องไปพูดคุยกัน ซึ่งหวังว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทย-กัมพูชา จะช่วยพาให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ส่วนกังวลหรือไม่ว่า จดหมายดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมืองการเมือง นายปณิธานตอบว่า ไม่กังวล เพราะเนื้อหาในจดหมายมีความปรารถนาดี

 
สุขุมพันธุ์ย้ำMOU ปี 43 ป้องไทยไม่เสียดินแดน
วันที่ 4 ส.ค. 2553 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ในฐานะอดีต รมช.ต่างประเทศ ได้ส่งแถลงการณ์เรื่องบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 14 มิ.ย.2543 ผ่านส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ถึงสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาพอสรุปได้ว่า หลายวันที่ผ่านมาได้เกิดความสับสนเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก จึงต้องชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนจะเกิดความเสียหายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยที่มาของเอ็มโอยูดังกล่าว รัฐบาลทั้งสองประเทศมีเจตนาตรงกันที่จะส่งเสริมความสัมพันธไมตรีอันดี จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกให้ถูกต้อง หลังจากสูญหายไปกว่า 100 ปี

หลังคณะปักปันเขตแดนร่วมกรุงสยามและประเทศฝรั่งเศสจัดทำขึ้นมา โดยเฉพาะได้ถูกทำลายในช่วงเกิดสงครามในกัมพูชา ซึ่งการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนเป็นเรื่องสลับซับซ้อนวิธีดำเนินการดีที่สุด คือ การจัดทำหนังสือสัญญา เพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิง ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นข้อผูกมัดในเรื่องวิธีการดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดถึงผลของการดำเนินการ และ ไทย ได้ทำกับมาเลเซียและลาวมาแล้วก่อนหน้านี้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า เอ็มโอยูดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) เพื่อรับผิดชอบการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยมีข้อตกลงจากทั้ง 2 ฝ่ายว่า ระหว่างการสำรวจจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดในสภาพแวดล้อมของบริเวณพื้นที่เขตแดน ส่วนใครได้ใครเสียจากเอ็มโอยูดังกล่าวนั้น คิดว่าทั้งสองเป็นฝ่ายได้ เพราะการยอมรับอนุสัญญาปี ค.ศ1904 และสนธิสัญญาปีค.ศ.1907 เป็นเอกสารพื้นฐานสำหรับดำเนินงานเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ มิได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย การยอมรับแผนที่ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปักปันเขตแดน โดยคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมอินโดจีน-สยาม เป็นเพียงองค์ประกอบของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตเท่านั้น

หากแผนที่ฉบับใดฉบับหนึ่ง ไม่เป็นที่ยอมรับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในการวินิจฉัยกรณีปราสาทพระวิหารปี 2005 ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ หรือหากสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ สามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้ เพราะไม่สามารถไปบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมตามที่ตนต้องการได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวต่อว่า อาจกล่าวได้ว่าในมาตรา 5 ของเอ็มโอยู เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเป็นกรอบสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เห็นได้จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยนั้นได้จัดประชุมเจบีซี ถึง 3 ครั้ง มี นายประชา คุณเกษม เป็นหัวหน้าคณะ ช่วงที่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้เอ็มโอยูฉบับนี้ เป็นเอกสารอ้างอิงในการทักท้วงทุกครั้ง ซึ่งเอ็มโอยูดังกล่าว ยังไม่มีรัฐบาลของฝ่ายใดมองว่าทำให้ประเทศตนเองเสียเปรียบ หากสร้างความเสียหายจริง คงมีการวิพากษ์วิจารณ์ หรืออาจมีการแก้ไขเนื้อหาไปแล้ว และ ผลสรุปของเจบีซีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะต้องได้รับความเห็นชอบโดยครม.และรัฐสภาอีก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เป็นเครื่องประกันไม่ให้ไทยสูญเสียดินแดนในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน

 
"มาร์ค"เผยกัมพูชายังไม่ส่งสัญญาณเจรจาแก้ปมประสาทพระวิหาร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณจากทางกัมพูชาที่จะให้มีการเจรจาในกรอบความร่วมมือหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในกรณีปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร รวมทั้งยังไม่ได้รับหนังสือจากที่ปรึกษาของกษัตริย์กัมพูชาที่จะพยายามคลี่คลายความขัดแย้งทั้งเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทอื่นๆ ตลอดแนวชายแดนตามที่มีกระแสข่าวว่าได้ส่งมาถึงไทย
อย่างไรก็ตาม หากทางไทยและกัมพูชาสามารถเจรจากันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ  ได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามที่จะแสดงออกให้เห็นว่าอยากให้การดำเนินการเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของสันติภาพและความปรองดองอยู่แล้วและยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปเจรจากับทางการกัมพูชา เพราะคณะกรรมการชุดที่เพิ่มจัดตั้งขึ้น มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานทำหน้าที่อยู่แล้ว

"ทางกัมพูชาควรจะยอมรับที่จะไม่มีการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว เพราะยังถือว่าเป็นการสร้างความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น แต่หากทางกัมพูชาให้การยอมรับหรือมีการพูดคุยกับฝ่ายไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"
 
"สุเทพ"ไม่รู้เรื่องจม."เจ้าชายกัมพูชา"ส่งถึง"มาร์ค"ร่วมมือแก้ปมพระวิหาร
 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ถึงกรณีเจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อโน้มน้าวให้ไทยกับกัมพูชา ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ว่า ไม่ทราบเรื่องจดหมาย แต่ในหลักการประเทศไทยยึดหลักการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยความเข้าใจ ด้วยสันติ ไม่ต้องการให้มีความขัดแย้ง กรณีเขาพระวิหารเราไม่ได้โต้แย้งเรื่องตัวเขาพระวิหาร เราทำตามที่ศาลโลกได้ตัดสินเอาไว้

"แต่พื้นที่รอบเขาพระวิหาร ซึ่งยังเป็นพื้นที่กรณีพิพาท ก็ต้องหาวิธีการในการตกลงให้ได้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหกันแน่ หากทั้ง 2 ฝ่าย เร่งรัดทำงานเสร็จเร็วเท่าไรเขตแดนชัดเจนก็ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องขัดใจกัน แต่ระหว่างที่เขตแดนยังไม่เรียบร้อยมีหนทางไหนที่พูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งก็สมควรที่จะทำ" นายสุเทพ กล่าว
 
เจ้าชายเขมรร่อนจม.ถึง"อภิสิทธิ์"เรียกร้องยุติขัดแย้งร่วมมือพัฒนา
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชารายงานเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมว่า เจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เพื่อพยายามแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากันในเรื่องสถานะของปราสาทพระวิหารและข้อขัดแย้งอื่นๆ บริเวณชายแดน

พนมเปญโพสต์รายงานว่า ในจดหมายที่ส่งมาจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เจ้าชายสีโสวัฒน์ ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการยุติเรื่องดินแดนไว้ชั่วคราวเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในภูมิภาค

จดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า "การยกเรื่องการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์ในการขุดคุ้ยหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นการทำร้ายประชาชนของเราโดยการขัดขวางการเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่"

"ท่านนายกรัฐมนตรี ความปรารถนาสูงสุดของข้าพเจ้าคือการได้เห็นปราสาทพระวิหารคงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของการปรองดองกันระหว่างทั้ง 2 ชาติ ในฐานะความราบรื่น กลมกลืนในความสัมพันธ์ของเรา และในฐานะของรูปแบบความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้านที่ออกดอกผลอุดมสมบูรณ์" จดหมายระบุ

ขณะที่รายงานข่าวอีกชิ้นของพนมเปญโพสต์รายงานถึงคำกล่าวของซู วิลเลียมส์ โฆษกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่กล่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมถึงเรื่องนี้ว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่มีอำนาจที่จะรับรองสิ่งใดๆ ก็ตามและทำได้เพียงบันทึกถึงการได้รับแผนการบริหารจัดการของกัมพูชาเท่านั้น
 
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไต่สวนคุ้มครองชั่วคราว ตัวแทนโรงไฟฟ้าหนองแซงแจงศาล ยุติโครงการฯ กระทบ คมค.พลังงานชาติ

Posted: 04 Aug 2010 11:24 AM PDT

ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำขอคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราว คดีชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ฟ้องเร่งการพิจารณาประกาศใช้ผังเมืองรวม จ.สระบุรี ตัวแทนบริษัทฯ ชี้หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ กฟผ.ต้องจ่ายค่าชดเชยตามสัญญา

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 เวลา 11.00 น.ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ โดยการคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราว ก่อนมีการพิพากษาคดี กรณีชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง ฟ้องให้เร่งการพิจารณาประกาศใช้ผังเมืองรวม จ.สระบุรี ณ ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลปกครองกลาง

 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 มี.ค.53 เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นคดีปกครองฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการประกาศใช้ผังเมืองรวม จ.สระบุรี และไม่ประกาศกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จ.สระบุรีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
จากรณี การอาศัยช่องว่างของกฎหมายในขณะที่ผังเมืองยังไม่ประกาศใช้บังคับ อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ คือกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า (โรงไฟฟ้าหนองแซง) ขนาด 1,650 เมกะวัตต์ ของบริษัท เพาเวอร์ เจนเนอร์ชั่น จำกัด ในพื้นที่ ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งตามร่างผังเมืองรวมจะถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ที่มีข้อห้ามไม่ให้มีการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การดำเนินการจัดทำผังเมืองรวม จ.สระบุรีเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันรวมเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ
 
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ และเจ้าหน้าที่โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่าขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ส่วนการนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้นั้นเป็นผลเนื่องมาจากทาง บริษัท เพาเวอร์ เจนเนอร์ชั่น จำกัด ได้ร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ดังนั้นจึงต้องมีการไต่สวนเพิ่มเติมถึงความเสียหายที่ทางบริษัทอาจได้รับหากมีการคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่
 
สงกรานต์ให้ข้อมูลด้วยว่า ศาลได้ตั้งคำถามต่อตัวแทนบริษัทเอกชนถึงความรับรู้เรื่องการประกาศผังเมือง ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ตอบว่ารู้ว่าจะมีการประกาศฝังเมืองตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 และได้ขออนุญาตจัดทำโครงการในพื้นที่เนื่องจากคิดว่าจะสามารถทำได้ทันก่อนที่ฝังเมืองจะประกาศใช้
 
ทั้งนี้ ระหว่างการใช้สิทธิทางศาลของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.53 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ (กกพ.) ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า ในพื้นที่ ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ให้กับ บริษัท เพาเวอร์ เจนเนอร์ชั่น จำกัด แต่ท้ายใบอนุญาตดังกล่าวระบุไว้ว่า หากมีมติ ครม.ยกเลิก 67 โครงการ (จาก 76 โครงการที่ถูกระงับคราวแรก)
 
สงกรานต์ เผยว่าต่อประเด็นดังกล่าวศาลได้ตั้งคำถามกับตัวแทนบริษัทเอกชนว่า ไม่ว่าศาลจะสั่งคุ้มครองพื้นที่ชั่วคราวหรือไม่คุ้มครอง เอกชนก็มีความเสียงที่จะไม่สามารถดำเนินกิจการในพื้นที่ได้ ใช่หรือไม่ ตัวแทนบริษัทฯ ตอบว่า มีความแตกต่างกัน โดยหากต้องยุติโครงการอันเนื่องมาจาก มติ ครม.ถือว่าเป็นความเสียงทางธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ รับได้ แต่หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ทางบริษัทยอมรับไม่ได้ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับ กฟผ. ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ทราบว่าสัญญาดังที่กล่าวอ้างถึงได้ระบุข้อความไว้ว่าอย่างไร
 
สงกรานต์ กล่าวด้วยว่า ในการไต่สวนครั้งนี้ทำให้ทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวว่า มีแผนจะเข้าปรับปรุงพื้นที่ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยตามแผนจะใช้เวลาในการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ 1 ปี และมีกำหนดในการก่อสร้างเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2014 (พ.ศ.2557) นอกจากนั้น ทางตัวแทนบริษัทฯ ยังระบุด้วยว่าหากโครงการดังกล่าวไม่สามารถก่อสร้างได้จะส่งผลกระทบถึงขั้นเป็นวิกฤติพลังงานของประเทศ
 
ส่วนชาวบ้านได้เบิกความให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายและการถูกละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งการละเมิดสิทธิชุมชนอันเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ ซึ่งชาวบ้านหวั่นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในพื้นที่
 
สำหรับผลการพิจารณา สงกรานต์กล่าวว่าหากข้อมูลไม่เพียงพอ ศาลสามารถนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีกได้ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าศาลเข้าใจในประเด็น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ หากจะมีการคุ้มครองครองชั่วคราว คงต้องมีการทำข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด เพราะเรื่องนี้อาถูกหยิบยกไปเป็นฐานให้พื้นที่อื่นๆ นำมาเป็นตัวอย่างในการฟ้องร้องอีกมาก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาความล้าช้าในการประกาศผังเมืองรวม
 
อย่างไรก็ตาม การไต่สวนครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 นับจากที่ศาลได้ไต่สวนคำฟ้องเมื่อวันที่ 23 เม.ย.53 และรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.53 จากนั้นได้มีการนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 17 มิ.ย.53 และลงเดินเผชิญสืบในพื้นที่วันที่ 9 ก.ค. 53 ซึ่งหากนับรวมการลงเดินเผชิญสืบก็ถือว่า กรณีดังกล่าวมีการไต่สวนแล้วรวม 4 ครั้ง
 
 
 
 
 
คดีผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
(คดีหมายเลขดำที่ 495/2553 ศาลปกครองกลาง)
 
ระหว่าง นายบุญชู วงษ์อนุ และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีชีวิตเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรีรวม จำนวน 56 คน ผู้ฟ้องคดี
(ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โดย นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นายสุรชัย ตรงงาม และ นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ดำเนินการฟ้องคดี)
 
กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1, กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ 2, เจ้าพนักงานการผัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ที่ 3, คณะกรรมการผังเมือง ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี
 
ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี และไม่ประกาศกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม
 
สรุปคำฟ้อง
 
ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดสระบุรีอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด โดยกระบวนการจัดทำได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 มีการดำเนินการผ่านขั้นตอนที่สำคัญจนได้ร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองแล้วตั้งแต่ปี 2549 และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณารับหลักการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เหลือเพียงขั้นตอนภายในหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองมาแล้วได้ รวมเวลาตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว แต่การจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีก็ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการจัดทำผังเมืองรวมและระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ระบุว่าระยะเวลาการจัดทำผังเมืองรวมตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น จนสิ้นสุดกระบวนการจะใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้นเพียง 24 เดือน หรือประมาณ 2 ปีเท่านั้น
 
ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมโยธาธิการและผังเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ไม่ดำเนินการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ทั้งที่ใช้เวลาจัดทำมานานกว่า 7 ปี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
 
การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ดังกล่าว เป็นเหตุให้ยังคงมีการใช้ประโยชน์ที่ดินขัดต่อร่างกฎกระทรวงฯ เรื่อยมา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ซึ่งตามร่างกฎกระทรวงฯ ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ที่มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ที่ขัดต่อร่างกฎกระทรวงฯ เรื่อยมา และกำลังมีการขออนุมัติอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ อำเภอหนองแซงด้วย ซึ่งหากปล่อยให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยขัดต่อร่างกฎกระทรวงฯได้ต่อไป ย่อมทำให้ผังเมืองรวมที่จัดทำขึ้นมาโดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วเป็นอันไร้ผล ไร้ความหมาย อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการผังเมือง ที่มุ่งคุ้มครองป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ตาม“หลักการระวังไว้ก่อน” (Precautionary Principle) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพกว่าการแก้ไขเยียวยาภายหลัง ทั้งยังเป็นการขัดต่อความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีและชุมชนที่ตั้งอยู่ในอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่ต้องการอนุรักษ์จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา อันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ด้วย
 
ทั้งนี้ นอกจากจะไม่ดำเนินการประกาศผังเมืองรวมแล้ว การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ), ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่3) และคณะกรรมการผังเมือง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ก็ไม่ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินในระหว่างที่กระบวนการจัดทำผังเมืองรวมยังไม่แล้วเสร็จ โดยโดยเฉพาะการห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงฯ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวขัดกับร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมที่กำลังจะประกาศใช้บังคับ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน
 
คำขอของผู้ฟ้องคดี
1.ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีภายใน 30 วันนับแต่ศาลพิพากษาหรือตามที่ศาลเห็นสมควร
 
2. ในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี โดยกำหนดห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการประเภทโรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานขนาดเล็กตามบัญชี แนบท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ในพื้นที่ถูกกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมในพื้นที่ จังหวัดสระบุรี ตามร่างกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมธรรมศาสตร์

Posted: 04 Aug 2010 11:19 AM PDT

ถึงประชาคมธรรมศาสตร์...

เราเขียนจดหมายฉบับนี้หาพวกคุณด้วยเหตุผลเริ่มแรกง่ายๆ ว่า สถานการณ์บ้านเมืองในยามนี้ ชวนให้เรานึกถึงคำขวัญอันโด่งดังของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว”
 
เอาเป็นว่าเราจะไม่ถกเถียงว่าทุกวันนี้มันมีหรือไม่มีในความเป็นจริงอย่างไร แต่เราเลือกจะมองโลกในแง่ดี ว่าคำขวัญดังกล่าวนี้คงเป็นจริงอยู่บ้าง และสิทธิเสรีภาพคงจำหลักอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ระดับหนึ่ง
 
แต่ให้ตายเถอะ ถ้าเป็นอย่างนั้น...พวกคุณทำอะไรกันอยู่หรือในเวลาแบบนี้ เวลาที่สังคมทั้งสังคมอยู่ในสภาพถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพไปมากมาย เราได้ยินแต่เพียงความเงียบกริบดังจนน่าตกใจ
 
หรือพวกคุณสนใจแต่เสรีภาพกันในรั้วมหาลัยอันสูงส่งของพวกคุณ สนใจแต่เฉพาะในตารางนิ้วของมหาวิทยาลัย โดยไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของสังคมทั้งสังคมแล้วกระนั้นหรือ? เราอยากถามว่า การไม่มีสิทธิเสรีภาพของคนอื่นไม่เกี่ยวอะไรกับพวกคุณเลยหรือครับ? หรือคิดแค่ว่าพวกคุณไม่โดนทำอะไรก็ดีแล้วนี่? พวกคุณไม่ได้เป็น “แดง” “เป็นผู้ก่อการ” ก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อน?
 
ดีแล้วหรือครับที่คิดจะแลก “ความสงบเรียบร้อย” ด้วยสิทธิเสรีภาพ ที่คนหลายรุ่นต่อสู้กันมา จนอย่างน้อยมันก็ลงหลักในประชาธิปไตยไทยระดับหนึ่ง
 
แน่ละ มันก็มีเส้นของมันอยู่ สิทธิเสรีภาพก็ควรมีขีดจำกัดของมัน ถ้ากระทบ รุนแรงกับคนอื่นมากไปก็ไม่ควร  แต่คุณไม่เห็นหรือในนามของ “ความสงบเรียบร้อย” “ความมั่นคง” “ปรองดอง” เส้นของสิทธิเสรีภาพเองก็กำลังถูกรุกล้ำทำลาย
 
เวลานี้ คนหลายกลุ่มในสังคมไทยยังไม่มีแม้แต่เสรีภาพในการที่จะถกเถียงและหารือถึงกรอบของเสรีภาพทางการเมืองเลย ไม่ต้องพูดถึงสิทธิเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ สิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพที่จะบอกว่าเราไม่เห็นด้วย สิทธิเสรีภาพที่จะตะโกนบอกว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยที่ตรงไหน กำลังมลายสูญไปในหลายเดือนที่ผ่านมา คุณตาบอดหรือแกล้งทำเป็นไม่เห็นกระบวนการละเมิดสิ่งเหล่านี้ครับ
 
คุณไม่เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมาถือป้าย แสดงความคิดเห็นอย่างสงบ แล้วถูกเรียกตัวไปสอบสวน ส่งเข้าสถานพินิจ แล้วยังต้องเข้ารับการบำบัดจิตอีก คุณไม่เห็นการที่ส่งทหารไปค้นตามบ้านช่องของพลเมือง คุณไม่เห็นการกวาดจับคนไม่เลือกหน้าเข้าห้องขัง คุณไม่เห็นการเที่ยวไล่ปิดสื่อไม่เลือกหน้า ขอให้ดูเป็น “แดง” หน่อยก็พอ  มีด้วยเหรอครับ กระบวนการเหล่านี้ในระบอบ “ประชาธิปไตย” (แม้จะไทยๆ แบบไหนก็ตาม) รัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเลยไม่ใช่หรือครับภายใต้พรก.ฉุกเฉินที่เป็นอยู่
 
คุณจำประโยคของวอลแตร์ไม่ได้เหรอครับ"(แม้น) ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูด แต่ (ข้าพเจ้า) ขอปกป้องสิทธิในการพูดของท่านด้วยชีวิต" ไม่ใช่หรอกหรือครับว่าการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ก็เท่ากับสิทธิเสรีภาพของเราถูกละเมิด การรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ก็เท่ากับรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของเราด้วย ไม่ว่าคนอื่นคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม สีไหน ชาติพันธุ์ไหน ศาสนาไหน ความคิดความเชื่อแบบไหน การหายไปของสิทธิเสรีภาพของเขา ก็เท่ากับของเราหายไปด้วยไม่ใช่หรือครับ? พวกคุณสอนเราเองไม่ใช่หรือ?
 
หรือสำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ สิทธิเสรีภาพของสังคมไม่มีความหมายอีกแล้วหรือครับ
 
ถ้าเช่นนั้นเลิกกล่าวอ้างหรือจัดงานรำลึก 14 ตุลา เถอะครับ จัดไปก็อาจแค่เปลือกนอก และกระพี้เปล่าๆ ขณะแก่นแกนของพวกคุณหลุดร่วงไปหมดแล้ว...
 
 
ขอแสดงความไม่เคารพ
อดีตนักศึกษารหัส 4703680183 และ 4704611898
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่ทัพภาค 4 คนใหม่ ดับไฟใต้...หรือ...ยิ่งเติมเชื้อ??

Posted: 04 Aug 2010 11:02 AM PDT

ถึงตอนนี้ บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ประจำปี 2553 ระดับหัวขบวนนั้นค่อนข้างนิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งสำคัญๆ เช่นผบ.ทบก็เป็นไปตามคาดหมาย ‘พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา’และเพื่อน ตท.12 สาย‘บูรพาพยัคฆ์’ผงาดคุมกองทัพยกแผง

แต่ที่อุณหภูมิร้อนฉ่า และน่าจับตาเป็นพิเศษคือตำแหน่ง แม่ทัพภาค 4บุคคลที่จะมากุมบังเหียนกองทัพภาคที่มีภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ และดับไฟที่กำลังลุกโชนหนักอยู่ในขณะนี้!!
ก่อนหน้านี้ ตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่4’ คนใหม่ เป็นการขับเคี่ยวกันของตัวเต็งซึ่งเป็น ‘คนใน’ กองทัพภาค4 ระหว่างพล..กสิกรคีรีศรี’(ตท.11) ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจทหาร(ผบ.พตท.) ‘พล..อุดมชัยธรรมสาโรรัชต์’(ตท.13) รองแม่ทัพภาคที่4 คนที่หนึ่ง และ ‘พล..จำลองคุณสงค์’(ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่4 คนที่สาม
ซึ่งไม่ว่าคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นแม่ทัพคนใหม่ สำหรับกำลังพลของกองทัพภาค 4 และคนทำงานในพื้นที่แล้ว ถือว่า ‘ยอมรับได้’  เพราะบุคคลจากรายชื่อดังกล่าวคือ คนใน’ เป็นนายทหารที่เข้าใจพื้นที่ และปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจริงๆ
แต่ล่าสุดอย่างไม่มีที่ไปที่มา ปรากฏชื่อพล..อกนิษฐ์หมื่นสวัสดิ์’(ตท.12) หัวหน้าประสานงานไทย-มาเลเซียเป็นแคนดิเดตคนสำคัญเพิ่มขึ้นมาอีก1 คน!!
จึงมีคำถามว่า นอกจากการเป็นอดีตนักเรียนเตรียมทหาร ‘รุ่น12’ รุ่นเดียวกับพล..ประยุทธ์จันทร์โอชา’ ว่าที่ ผบ.ทบ.แล้ว จุดแข็งของพล..อกนิษฐ์ในการจะก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพภาค4 คนใหม่คืออะไร??
เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์เฉพาะหน้าของกองทัพภาค 4 ในวันนี้ไม่มีภารกิจใดที่สำคัญมากไปกว่าการดับ ‘ไฟใต้’ อีกแล้ว ขณะเดียวกันรากเหง้าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ปลายด้ามขวานก็มี ‘บริบทเฉพาะ’ และ ‘พิเศษ’ เสียจนยากที่คนนอกพื้นที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ
ดังนั้น แม่ทัพภาค 4 คนใหม่จึงจำเป็นต้องเป็น ‘คนใน’ ที่เข้าใจปัญหา และมีคุณสมบัติรอบด้าน!!
ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ เข้าใจบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างลึกซึ้งแล้ว ก็ต้องเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับจากกำลังพลในกองทัพภาค 4 อีกทั้งต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาในพื้นที่ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และภาคประชาสังคม
ประการสำคัญ แม่ทัพคนใหม่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจงานด้าน ‘มวลชน’ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความหวาดระแวงในพื้นที่ อันจะเป็นกุญแจถอดรหัสดับไฟใต้ เพราะการแก้ปัญหาความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน ไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยงานด้านการทหารเพียงด้านเดียว และหากกองทัพขาดความเข้าใจในการทำงานการเมืองในพื้นที่ ก็ยากที่จะชนะและได้ใจชาวบ้าน!!
กล่าวสำหรับ พล..อกนิษฐ์หมื่นสวัสดิ์’เคยรับราชการในกองทัพภาคที่4 มานานพอสมควรถือว่ามีบทบาทในพื้นที่ภาคใต้ไม่น้อยก่อนที่จะถูกโยกเข้าไปในส่วนกลาง ห่างหายจากพื้นที่ไปนานหลายปี สาเหตุเพราะเคยเป็นตัวแทนของกองทัพภาคที่ 4 ไปร่วมเจรจากับขบวนการโจรก่อการร้ายภาคใต้ หรือ พูโล ในยุคที่ พูโล ยังเรืองอำนาจ ที่ ประเทศซีเรีย และอียิปต์ แต่การเจรจาในครั้งนั้นต้องล้มเหลว
ถ้าว่ากันตามหลักการ ก็ถือว่า ถูกย้ายออกจากพื้นที่เพราะมีความผิด!!
แน่นอนว่า การห่างพื้นที่ไปนาน ย่อมส่งผลในการประสานงานกับดุลอำนาจต่างๆ ไม่ว่าสายสัมพันธ์กับเอ็นจีโอ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หรือแม้กระทั่งกำลังพลในกองทัพภาค 4 ก็ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ หากได้ ‘คัมแบ็ก’ อีกครั้ง
อันที่จริง พล..อกนิษฐ์ ในอดีตเคยมีบทบาทโดดเด่นในฐานะนายทหารหนึ่งที่เคยเป็นผู้เจรจากับอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาก่อนที่จะมีการเจรจาสลายการจับอาวุธและเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กระนั้น เรื่องราวแต่เก่าก่อนถ้าจะให้ถึงขนาด ‘ฟันธง’ ว่า พล..อกนิษฐ์ เข้าใจปัญหาชายแดนในวันนี้อย่างลึกซึ้งจนเหมาะสมที่จะขึ้นแท่น ก็คงจะเป็นการมองอย่าง ‘ผิวเผิน’ และง่ายเกินไป!!
เพราะบริบทของปัญหาในวันนั้นกับวันนี้กลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การสู้รบเพื่อเอาชนะกองกำลังติดอาวุธของขบวนการฯ เป็นเพียงเรื่องปลายเหตุ ด้วยอุปสรรค ‘สำคัญ’ ที่ถึงตอนนี้ก็ยังดับไฟใต้ไม่ได้ ประเด็นหลักอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐยังเข้าไม่ถึงจิตใจคนในพื้นที่ ยังเอาชนะจิตใจชาวบ้านไม่ได้ต่างหาก
ว่าไปแล้ว เป็นเรื่อง ‘มวลชน’ ล้วนๆ!!
ขณะเดียวกัน แนวทางการทำงานของ พล..อกนิษฐ์ ที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะใช้บริการผู้มีอำนาจหรืออิทธิพลในพื้นที่เสียมากกว่า หากได้มานั่งแท่นแม่ทัพภาค4 จริงๆ จึงน่าวิตกว่า ผู้นำชุมชน โดยเฉพาะผู้นำศาสนา บาบอตามปอเนาะต่างๆ จะหมดโอกาสที่จะมีบทบาทร่วมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างมวลชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐ และยิ่งส่งผลต่อการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งการที่ พล..อกนิษฐ์ ถือเป็นคนนอกกองทัพภาค 4 การข้ามห้วยมานั่งแท่นผู้บังคับบัญชา ก็จะเกิดปัญหาการยอมรับจากนายทหารและกำลังพลเพราะทหารในพื้นที่นั้นต้องการให้คนในกองทัพภาค 4 ขึ้นมาเป็นผู้นำ เนื่องจากการคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานจะทำให้เข้าใจสภาพปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การแก้ไขอย่างถูกต้องและเป็นระบบ
และที่ถือเป็น ‘จุดด้อย’ สำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคที่สุดของ พล..อกนิษฐ์ ในการขึ้นแท่นแม่ทัพภาค 4 ก็คือ นโยบายของกองทัพที่ระบุว่า บุคคลที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพต้องผ่านตำแหน่งหลักเป็นผู้บังคับหน่วยหรือคุมกำลังในระดับผู้บังคับการกรมหรือผู้บัญชาการกองพล แต่ พล..อกนิษฐ์  ‘ไม่เคย’ ดำรงตำแหน่งหลักดังกล่าวมาก่อน
การดันทุรังหนุน พล..อกนิษฐ์เป็นแม่ทัพภาค 4 จึงเท่ากับว่าเป็นการทำลายระบบของกองทัพเสียเอง!!
ปัจจุบันการทำงานที่เป็นอยู่ในพื้นที่ ขาดทั้งเอกภาพ และวิสัยทัศน์ ต่างคนต่างทำ ต่างกันต่างเดิน แล้วเมื่อการเมืองที่มาเล่นในกองทัพภาค 4 ทำให้นายทหารดีๆ ที่มีความสามารถไม่สามารถอยู่ทำงานอยู่ได้ ส่วนนายทหารที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ขาดทั้งความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ แต่มีเส้นสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในกองทัพกลับได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบงานในตำแหน่งที่สำคัญ ก็เสมือนยิ่งเติมเชื้อแห่งความขัดแย้งเข้าไปอีก
ที่สุดแล้ว หาก  ‘พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา’ และกองทัพ ต้องการดับไฟใต้อย่างจริงจังและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่ปลายด้ามขวาน การเลือกบุคคลมาเป็นแม่ทัพภาค 4 ‘คนใหม่’ ก็จะต้องใคร่ครวญให้หลายตลบ เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมที่สุดมารับผิดชอบงานสำคัญ
แต่หากเพียงเพื่อผลักดันให้ ‘ตท.12’ และเพื่อน ‘บูรพาพยัคฆ์’ ยกแผงขึ้นกุมอำนาจกองทัพ โดยไม่ยี่หระว่าจะเป็นการเติมเชื้อไฟและเพิ่มปัญหาให้จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ก็ไม่เป็นปัญหาที่จะลองส่ง พล..อกนิษฐ์หมื่นสวัสดิ์’ ลงไปเป็นแม่ทัพคุมภาคใต้
ส่วนจะเผาหลอกหรือเผาจริง ไม่นานเดี๋ยวก็รู้!!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรด้านอาหารเผยมีเนื้อสัตว์โคลนนิ่งเข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมอาหารอังกฤษ

Posted: 04 Aug 2010 10:50 AM PDT

ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเนื้อสัตว์จากการโคลนนิ่งหรือมีเชื้อมจากสัตว์โคลนนิ่งจะส่งผลกระทบใด ๆ ต่อผู้บริโภคหรือไม่ แต่ในอังกฤษองค์กรด้านอาหารเปิดเผยว่ามีเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อมาจากสัตว์โคลนนิ่งในวงจรอุตสาหกรรมอาหาร องค์กรคุ้มครองการกระทำทารุณสัตว์ออกมาต้านเนื้อโคลนนิ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปบอกอาจมีเนื้อที่มีเชื้อสายจากสัตว์โคลนนิ่งไหลเวียนอยู่ทั่วแล้ว

องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ (FSA) กล่าวเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ว่า มีการนำเนื้อวัวที่ถูกโคลนเข้าสู่กระบวนการอาหารของอังกฤษ โดยเป็นเนื้อวัวตัวผู้อายุ 3 ปี ถูกฆ่า ส่งขาย และบริโภคเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าเนื้อวัวตัวนี้จะกลายเป็นพายหรือเบอร์เกอร์ในสก็อตแลนด์

ทางการอังกฤษการยอมรับในเรื่องนี้ แม้ว่าทางองค์กรมาตรฐานอาหารและกลุ่มอุตสาหกรรมด้านอาหารปฏิเสธเมื่อ 2 วันก่อนหน้านี้ว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เนื้อหรือนมที่มาจากสัตว์โคลนนิ่งหรือเป็นลูกหลานของสัตว์โคลนนิ่งที่เข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมอาหาร

องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษระบุว่าตามกฏหมายของอังกฤษแล้ว อาหารที่มาจากสัตว์โคลนนิ่ง หรือสัตว์ที่เป็นลูกหลานของสัตว์โคลนนิ่งถือว่าผิดกฏหมาย ขณะที่วานนี้ (2 ส.ค.) ก็เกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องการตีความของกฏหมายระหว่างองค์กรมาตรฐานอาหารและสหภาพยุโรปโดยเจ้าหน้าที่ยุโรปที่ดำเนินการเรื่องกฏหมายความปลอดภัยทางอาหารของอังกฤษระบุว่ามี "ความเป็นไปได้" ที่ผลิตภัณฑ์ชีสและเนื้อนับพันชิ้นที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษมาจากสัตว์ที่ได้รับการโคลนนิ่ง

ทางเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรประบุว่า เรื่องจากกฏหมายไม่ได้ห้ามการนำเข้าน้ำเชื้อจากสัตว์ที่ได้รับการโคลนนิ่ง จึงมีความเป็นไปได้ที่หมูและวัวหลายพันตัวในยุโรปจะมาจากสัตว์ที่ได้รับการโคลนนิ่ง มีการนำเข้าน้ำเชื้อล้านช็อตเข้ามาในอังกฤษทุก ๆ ปี และทางกระทรวงเกษตรของอังกฤษก็ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจตราว่าพวกมันมาจากสัตว์ที่ได้รับการโคลนนิ่งหรือไม่

ยังไม่มีหลักฐานชัดว่าการบริโภคเนื้อหรือนมจากสัตว์ที่ได้รับการโคลนนิ่งนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพของคน แต่ทางกลุ่มสวัสดิการสัตว์ก็ต่อต้านโดยระบุว่ากระบวนการโคลนนิ่งเป็นอันตรายมากต่อตัวสัตว์และทำให้เกิดแกะและวัวที่มีอายุสั้นกว่าปรกติ

เดวิด โบว์เลส โฆษกองค์กรคุ้มครองการกระทำทารุณต่อสัตว์ (RSPCA) ที่ต่อต้านการโคลนนิ่งกล่าวว่า "ผมรู้สึกหวาดหวั่นที่มีเนื้อจากการโคลนนิ่งเข้าสู่ระบบอุตสหกรรมอาหารแล้ว โดยที่พวกเราไม่ได้ทราบถึงมันเลย"

"มีบางคนที่ไม่รู้คงกินเนื้อนี้เข้าไปแล้ว แล้วพวกเราก็ยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนหรือไม่ แต่พวกเรารู้ว่ามันมีประเด็นเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ซึ่งเป็นเรื่องจริงจัง เนื้อที่มาจากการโคลนนิ่งไม่ควรนำมาขาย" เดวิดกล่าว

เรื่องราวของการโคลนนิ่งกับอาหารเริ่มมาจากการที่ชาวนาคนหนึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์สหรัฐฯ ว่า เขาได้ขายนมจากลูกหลานของวัวที่ถูกโคลน ซึ่งถือว่าผิดกฏหมาย

เรื่องนี้ยังต้องได้รับการพิสูจน์ แต่องค์กรโฮลสไดน์ของอังกฤษที่รับผิดชอบเรื่องการจดทะเบียนพันธุ์วัวในฟาร์ม ก็ออกมายืนยันว่ามีลูกวัว 97 ตัวในฟาร์มปศุสัตว์ของสก็อตแลนด์ที่มีเชื้อสายมาจากวัวที่รับการโคลนนิ่ง

หากระบุอย่างชัดเจนคือ ทุกตัวมาจากวัวโคลนนิ่งในสหรัฐฯ ที่ชื่อ Vandyk-K Integ Paradise 2 ซึ่งเป็นแม่วัวที่ถูกโคลนจากเซลล์ใบหูของโคนมพันธุ์โฮสสไตน์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปกล่าวว่า อาจมีวัวจำนวนมากกว่านั้นที่มาจากการโคลนนิ่ง

"พวกเรานำเข้าน้ำเชื้อจากสหรัฐฯ และแคนาดา และมีความเป็นไปได้ว่าในจำนวนเหล่านั้นอาจมีเชื้อของสัตว์โคลนนิ่งอยู่ด้วย หากมีสัตว์จำนวนที่โคลนนิ่งอยู่ร้อยละ 1 หรือร้อยละ 0.1 ดังนั้นจะมีลูกหลานรุ่นแรกอยู่ราว 100,000 หรือ 1,000 ตัว ส่วนรุ่นที่สองก็จะมีมากกว่านี้ เรื่องหมูก็เช่นเดียวกัน"

"ดังนั้นหากองค์กรมาตรฐานอาหารสำรวจพบว่ามีวัวอังกฤษจำนวน 100 หรือ 1000 ตัวที่เป็นลูกหลานของสัตว์โคลนนิ่ง พวกเขาจะทำอย่างไรกับมัน จะทำลายนมหรือกำจัดสัตว์พวกนี้ทิ้งหรือ?" เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปกล่าว เขายังบอกอีกว่าแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเ่ช่น ซาลามีจากฝรั่งเศส หรือชีสจากอิตาลี ก็อาจมาจากสัตว์ที่ถูกโคลนนิ่ง โดยไม่มีป้ายกำกับหรือข้อห้ามใด ๆ จะยับยั้งเส้นทางการค้านี้ได้


ที่มา

Meat produced from cloned animal entered food chain, Telegraph, 03-08-2010
http://www.telegraph.co.uk/foodanddrink/foodanddrinknews/7924887/Meat-produced-from-cloned-animal-entered-food-chain.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงจากครอบครัวชาวกัมพูชา เหยื่อกระสุนทหารไทย

Posted: 04 Aug 2010 10:43 AM PDT

เมื่อปีที่แล้ว (2552) ชายชาวกัมพูชาคนหนึ่ง ถูกทหารไทยยิงเสียชีวิตขณะเข้าไปหาของป่า ทางภาคประชาชนกัมพูชาจัดงานรำลึกที่อุดรมีชัย แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐไม่อนุญาตให้คนไทยร่วม ด้านครอบครัวผู้เสียชีวิตร้องขอความเป็นธรรม บอกไม่ได้โกรธเกลียดคนไทยและไม่อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน

เมื่อวันที่ 2-3 ส.ค. ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาชนของกัมพูชาได้จัดงานนำเสนอผลจากโครงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนไทย-กัมพูชา ของเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ) ในวันที่ 2

และตามกำหนดการในวันที่ 3 ส.ค. จะมีการทำพิธีให้คนในชุมชนแสดงความเห็นใจญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงพิธีกรรมทางพุทธศาสนาพิธีทอดผ้าบังสุกุล ที่วัดสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย (อุดอร์เมียนเจ็ย) ประเทศกัมพูชา

ทางผู้สื่อข่าวและภาคประชาชนบางส่วนจากประเทศไทยได้รับการติดต่อจากองค์กรของกัมพูชาให้สามารถเดินทางมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ในพิธีได้ แต่พอเมื่อถึงพิธีการจริง ทางเจ้าหน้าที่ราชการของทางฝั่งกัมพูชาไม่อนุญาตให้คนไทยเข้าร่วมในพิธีการ เนื่องจากความไม่ไว้ใจและกลัวว่าสื่อไทยจะนำเสนอภาพของกัมพูชาในทางไม่ดี ขณะที่ทางชาวบ้านให้การต้อนรับคนไทยและไม่ได้แสดงท่าทีหวาดระแวงแต่อย่างใด

พิธีกรรมในวันที่ 3 ส.ค. มีที่มาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2552 ที่มีชายชาวกัมพูชารายหนึ่งเข้าไปหาเก็บของป่าในเขตชายแดนแล้วถูกทหารฝั่งไทยยิงเสียชีวิต โดยที่ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบหรือการดำเนินการสืบสวนจากฝ่ายใด

 

ทางผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้สัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยผู้เสียชีวิตเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวชื่อ ซังรึด อายุ 16 ปี ขณะเสียชีวิต อาศัยอยู่กับครอบครัวคือนายซังยอน-ผู้เป็นพ่อ นางเนนครอม-ผู้เป็นแม่ และซังมยาน น้องสาวอายุ 14 ปี  โดยก่อนหน้านี้ ครอบครัวพวกเขาอาศัยอยู่ในสำโรงโดยไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ก่อนย้ายไปอยู่ที่ภูมิกรอยสะคอน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจัดสรรพื้นที่ในส่วนดังกล่าวไว้ให้

ครอบครัวของซังรึด มีอาชีพเกษตรกรรมและหาของป่า นางเนนครอม แม่ของนายซังรึดบอกว่าพวกเขามีพื้นที่ทำกินไว้ปลูกพวกฟักแฟงแตงกวาไว้กินเองไม่ได้ขายให้ใคร ขณะเดียวกันก็ไปขุดมัน ขุดหน่อไม้ หาไข่มดแดงในป่า ทางครอบครัวยังบอกอีกว่าหลังจากย้ายออกจากสำโรงลูกทั้ง 2 คนก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ โดยซังรึดที่เสียชีวิตมีโอกาสได้ศึกษาถึงชั้นปีที่ 3 (ป.3) เท่านั้น

ครอบครัวพวกเขาทราบเหตุร้ายของลูกชายจากผู้เห็นเหตุการณ์ที่เข้าไปเก็บของป่าด้วยกันอีก 4-5 คน โดยพวกเขาเล่าว่า ซังรึดถูกทหารไทยยิงขณะที่กำลังจะเปิดห่อข้าวกิน หลังจากเขาถูกยิงแล้วยังไม่เสียชีวิต กลุ่มคนที่ไปด้วยกันก็พากันวิ่งหนีออกมา จนกระทั่งในวันต่อมาก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปพบศพของซังรึดถูกมัดมือไพล่หลังและถูกเผา ซึ่งคาดว่าเขาถูกทหารไทยเผาในขณะที่ยังไม่เสียชีวิต เนื่องจากหากเขาเสียชีวิตแล้วคงไม่จำเป็นต้องมัดมือมัดเท้า ซึ่งผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็บอกว่าพวกเขาไม่ทราบแน่ชัดว่าตอนนั้นพวกเขากำลังอยู่ในพรมแดนของไทยหรือกัมพูชา

ปกติซังรึด จะคอยช่วยพ่อแม่ทำงานทุกอย่าง ทั้งทำไร่ทำนาและคอยช่วยถางป่าด้วยจอบ-เสียม ซังมยาน ผู้เป็นน้องสาว กล่าวด้วยใบหน้าที่มีน้ำตาคลอขณะที่พูดถึงพี่ชาย เธอบอกว่ารู้สึกอยากให้พี่ชายกลับมาอยู่ด้วยกัน เนื่องจากเธอมีพี่ชายอยู่คนเดียว ขณะที่พ่อแม่เรียกร้องให้รัฐบาลของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา หาความยุติธรรมให้กับลูกชายที่เสียไป เนื่องจากพวกเขายังไม่ได้รับอะไรจากรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายเลย


ภาพถ่ายเมื่อปี 2008 จากการที่ครอบครัวนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ยากไร้จากองค์กรภาคประชาชนกัมพูชา ซ้ายมือสุดคือภาพของซังรึด ขณะที่ยังมีชีวิต

"ก็ไม่อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน ฆ่าฟันกัน อยากจะให้อะลุ่มอะล่วย แล้วก็ปฏิบัติตามกฏที่ตกลงร่วมกัน" นายซังยอน พ่อของซังรึดกล่าว เมื่อมีการถามความเห็นเรื่องความสัมพันธ์ปัจจุบันระหว่างไทยกับกัมพูชา ขณะเดียวกันครอบครัวชาวกัมพูชาก็บอกว่าไม่ได้รู้สึกเกลียดชังคนไทย พวกเขาก็รักคนไทยเหมือนกัน เพราะมีญาติพี่น้องที่อยู่ฝั่งไทย

ทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็คิดว่าจะยังเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม โดยอาจมีการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวต่างชาติในโอกาสต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก "พราหมณ์เสื้อแดง" 8 เดือน ละเมิด พรก.

Posted: 04 Aug 2010 12:42 AM PDT

ศาลสกลนครตัดสินจำคุกพราหมณ์ศักระพี พรหมชาติ ในข้อหากีดขวางทางจราจรและชุมนุมหรือมั่วสุมหรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

แฟ้มภาพ นายศักระพี พรหมชาติ พราหมณ์ นปช. ถ่ายเมื่อ 11 มี.ค. 53 ขณะประกอบพิธีที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ ล่าสุดถูกศาลอาญา จ.สกลนคร สั่งจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา ข้อหากีดขวางทางจราจรและชุมนุมหรือมั่วสุมหรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ระหว่างการชุมนุมที่ จ.สกลนคร เมื่อ 16 มี.ค. 53

 

2 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.00 น. ณ สถานีตำรวจภูธร อ.พังโคน สกลนคร นายศักระพี พรหมชาติ พราหมณ์กลุ่ม นปช. ที่ได้เคยทำพิธีเทเลือดและเขียนอักขระสาปแช่งคณะรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.)เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2553 ได้เข้ามอบตัวต่อ พตอ.ปัญญา ปุยนุเคราะห์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.พังโคน จ.สกลนคร หลังจากที่ พราหมณ์ศักดิระพีได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจออกหมายเรียกและหมายจับในข้อหา กีดขวางทางจราจรและชุมนุมหรือมั่วสุมหรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2553 เวลาประมาณ 19.00-22.00 น. ในกรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่ อ.พังโคน จ.สกลนคร โดยผู้ต้องหาได้สารภาพตลอดการสอบสวนจนถึงชั้นตัดสินคดี

เวลา 18.30น. ศาลจังหวัดสกลนครได้พิพากษา พราหมณ์ศักดิ์ระพี พรหมณ์ชาติ ว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาโดยตัดสินให้จำคุกเป็นระยะเวลา 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา โดยปัจจุบันพราหมณ์ศักดิ์ระพีได้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสกลนคร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผุดโรงไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ จ.ชัยภูมิ มูลค่า 6,000 ล้าน

Posted: 03 Aug 2010 11:04 PM PDT

จีอีจับมือบริษัทพันธมิตรทุ่ม 6,000 ล้านบาท ผุดโรงไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ จ.ชัยภูมิ ตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปี กำหนดเป้าหมายมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม 800  เมกะวัตต์

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู)  ระหว่างบริษัทจีอี เอ็นเนอรยี่ กับบริษัท โปร เวนทุม อินเตอร์เนชั่นแนล จากเยอรมัน เพื่อร่วมมลงทุน ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม ขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ ว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้งบลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ. ชัยภูมิ ใช้ชื่อโครงการ “เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม” ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้วยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับจังหวัดอีกด้วย

ทั้งนี้ตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปี กำหนดเป้าหมายมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม 800  เมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจยื่นเสนอโครงการมาแล้วคิดเป็นจำนวน  1,400  เมกะวัตต์ โดยในจำนวนดังกล่าวทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ตอบรับข้อเสนอการซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 3 ราย กำลังการผลิตรวม 190  เมกะวัตต์  ซึ่งอยู่ระหว่างการลงนามซื้อขายไฟฟ้า(พีพีเอ) อย่างเป็นทางการ

สำหรับอัตราส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์) ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมกำหนดไว้ที่ 3.50 บาท/หน่วย ซึ่งยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกรณีของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทีได้ปรับลดแอดเดอร์ลงไป  โดยยังคงใช้แอดเดอร์เดิม เพียงแต่การพิจารณาอนุมัติจะประเมินถึงความเป็นไปได้ของโครงการให้มากขึ้น

“เอกชนยื่นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้  แต่ก็ต้องคำนึงถึงการผลิตไฟฟ้าได้จริงด้วย เพราะพลังงานลมไม่ได้มีตลอดทั้งปีเฉลี่ยแล้วจะผลิตได้ในสัดส่วน25% ของกำลังการผลิตจริงดังนั้น แม้จะยื่นมาเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะผลิตได้ตลอดปีในจำนวนดังกล่าว   อย่างไรก็ตามการกำหนดแอดเดอร์ให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ต้องไม่ให้กระทบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น”น.พ.วรรณรัตน์ กล่าว

นายโกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานภูมิภาคบริษัทจีอี เอ็นเนอร์ยี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จีอีเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำของโลก ที่ผ่านมาได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นตัวทั่วโลก รวมชม.การใช้งานกว่า218 ล้านชม.และผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 1.27 แสน กิกะวัตต์ชม.ซึ่งเทคโนโลยีกังหันลมที่จะนำมาใช้ในไทย เป็นกังหันขนาดกำลังการผลิต 2.5 เมกะวัตต์   จำนวน 36 ตัว  ซึ่งเป็นกังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดของ่จีอีที่มีการใช้บนบกในขณะนี้ และเป็นกังหันลมเชิงพาณิชย์

นายไรเนอร์ โซลเลอร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โปร เวนทุม อินเตอร์เนชั่นแนะล บริษัทผู้พัฒนาพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานลม จากประเทศ เยอรามันนี  กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับบริษัท ที่จะร่วมลงทุนพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย   เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านกังหันลมในระดับโลก  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน

 

ที่มาข่าว:
ทุ่ม 6 พันล.ผุดโรงไฟฟ้าพลังงานลม (โพสต์ทูเดย์, 3-8-2553)
http://bit.ly/997V5n

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น