โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จับตาภาคประชาชน: นันทพร เตชะประเสริฐกุล และ นปช.เชียงใหม่่ ต่อการเป็นตัวแทนภาคประชาชนของ NGO

Posted: 14 Aug 2010 04:40 AM PDT

นันทพร เตชะประเสริฐกุล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และศรีวรรณ จันทร์ผง นปช.เชียงใหม่ กับการแสดงทัศนะ ในซีรี่ส์ “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอน 13 นันทพร เตชะประเสริฐกุล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
 
 
"ภาคประชาชนคือพวกเราทุกคนที่... คือ เราเกิดขึ้นมาก็มีสถานะเป็นภาคประชาชนอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราอาจจะมีบทบาทที่มันแตกต่างกัน"
 
"เอ็นจีโอ เหมือนว่าเป็นกลไกล... เป็นกันชนกันกระแทกในการช่วยหนุนเสริมศักยภาพการทำงานของภาคประชาชน ไม่ได้บอกว่าเอ็นจีโอไม่ทำอะไร หรือไม่ได้บอกว่าเอ็นจีโอเก่งกว่าภาคประชาชน เพียงแต่ว่าเราอาจจะมีมีความถนัดคนละด้าน แล้วภาคประชาชนและเอ็นจีโอใช้ความถนัดของตนเองไปทำงานที่สนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน เดินไปด้วยกัน"
 
"สิ่งที่เอ็นจีโอเราทำอยู่ในวันนี้ มันอาจไม่จำเป็นแล้วในวันข้างหน้า สิ่งที่เราต้องทำตลอดคือการประเมินตัวเอง ประเมินสถานการณ์รอบข้างเพื่อที่จะกำหนดบทบาทของเราในอนาคต" นันทพร เตชะประเสริฐกุล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
 
000
 
 
ตอน 14 ศรีวรรณ จันทร์ผง นปช.เชียงใหม่
 
 
"ที่ผ่านมาขบวนการภาคประชาชนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อปากท้อง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็คือประชาธิปไตย ฉะนั้นขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ผ่านมามันไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝง เราต่อสู้เพื่อคนทุกคน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อใคร"
 
"เอ็นจีโอที่ออกมาผม... ผมไม่ถือว่าเป็นตัวแทนภาคประชาชนทุกภาคส่วน... ก็ลองบอกมาว่าคุณเป็นตัวแทนภาคประชาชนส่วนไหน ภาคประชาชนที่แท้จริงมันต้องเอาตัวประชาชนไปสิ"
 
"คุณไปคิดแทน ไปทำแทนเขาได้อย่างไร"
 
"มันต้องขึ้นอยู่กันคนทำงานด้วย ขึ้นอยู่กับประเด็นทำงานด้วย ว่าสิ่งที่คุณทำมันเพื่อคนเพื่อสังคมจริงไหม ถ้ามันเป็นเพื่อคนและสังคมจริงผมก็เห็นด้วย แต่ถ้ามันเป็นการทำงานเพื่อผลประโยชน์ตน หรือขององค์กร หรือของใครคนใดคนหนึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย หรือเป็นการวางแผนอะไรเพื่อไปเปลี่ยนระยะยาวที่จะไปกดขี่ประชาชน ผมก็ไม่เห็นด้วย" ศรีวรรณ จันทร์ผง แกนนำกลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหากระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกับคนเสื้อแดงออกมาถือป้ายเดินขบวนประท้วงรัฐบาลขณะที่เชียงใหม่เป็นพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายจาก ‘อาศรมอนิจจังชีวัง’ ว่าด้วย 2 มาตรฐานในสังคมไทย

Posted: 14 Aug 2010 04:20 AM PDT

จดหมายจาก “อาศรมอนิจจังชีวัง ณ เมืองเทวดา” อันเป็นความเห็นทางวิชาการ ต่อการใช้มติเสียงข้างมาก ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องรัฐศาสตร์ แต่การตัดสินคดีเป็น นิติศาสตร์ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก แล้ว 4 เสียง กับ 103 เสียงในคดี อุทธรณ์ยึดทรัพย์ มีข้อน่าคิดไหม

 

 
อาศรมอนิจจังชีวัง
เมืองเทวดา
 
14 สิงหาคม 2553
 
เรื่อง ความเห็นทางวิชาการ การใช้มติเสียงข้างมาก ส่วนมากเป็นเรื่องรัฐศาสตร์ แต่การตัดสินคดีเป็น นิติศาสตร์ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก แล้ว 4 เสียง กับ 103 เสียงในคดี อุทธรณ์ยึดทรัพย์ มีข้อน่าคิดไหม
 
ความเห็นทางวิชาการ การใช้มติเสียงข้างมาก ส่วนมากเป็นเรื่องรัฐศาสตร์ แต่การตัดสินคดีเป็นนิติศาสตร์ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก ถ้าในกรณีมีข้อสงสัย แม้ 0.00000001% ก็ยกผลประโยชน์ให้จำเลย
 
1. สองมาตรฐานหรือไม่ นักการเมือง ใช้กฎหมายอีกแบบ เพราะสำคัญ
 
2. การออกนโยบาย หรือกฎหมาย แล้วทำให้นักธรกิจ ได้ประโยชน์ ไม่เห็นมีใครติดคุกเลย
 
3. กิจกรรมทีผิดทั้งกฎหมายและผิดศีลธรรม ได้รับการยกเว้น และคุ้มครอง จากกฎหมาย เช่น
3.1 การพนัน สลากกินแบ่ง ไม่ติดคุก พนันบอล พนันไพ่ ติดคุก
3.2 ของเมา ของเสพติด เช่น กัญชา ใบกะท่อม ติดคุก แต่ สุรา บุหรี่ เบียร์ ฯลฯ ไม่ติดคุก
 
4. จากข้างต้น อยากเห็นบ้านเมือง สงบ ต้องฟัง ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง การมีเมตตา การให้อภัย
4.1 การนิรโทษกรรม แดง-เหลิอง
4.2 การนิรโทษกรรม คมช.ได้ ทำไม นิรโทษกรรมทักษิณฯไม่ได้
 
5. รัฐมีทัง
5.1 งบประมาณ
5.2 กองทัพ
5.3 ข้าราชการ
5.4 ครุภัณฑ์ อุปกรณ์
5.5 อำนาจ บริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งสามารถออกกฎให้ ตุลาการทำตามได้ ยังไม่สามารถกำจัดทักษิณได้ แสดงว่า คุณทักษิณเป็นคนเก่ง น่าจะเอามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ทำศัตรูให้เป็นมิตร
 
6. รัฐบาลในฝัน (แห่งชาติ)
6.1 อภิสิทธิ์ นายกฯ
6.2 ทักษิณฯ ที่ปรึกษา
6.3 สนธิ ลิ้มทองกุลเป็นรองนายกฯ
 
รับรองบ้านเมือง เจริญ และสงบ ความฝันก็เป็นความฝัน ไม่เป็นจริงซะที
 
7. ปัญหาทะเลาะมาจาก ทักษิณและ สนธิ ลิ้มฯ ทะเลาะกัน
 
8. การยึดทรัพย์ที่งอกเงยมาจากการทำหากิน ฟ้อง ศาลโลก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยโลกหรือไม่
 
9. ความขัดแย้งไม่จบ
9.1 สงครามครูเสดยังเป็น 100 ปี
9.2 นักเรียนตีกัน ก็มีเรื่อยๆ
9.3 ยิว-อาหรับขัดแย้งเป็นพันปี
9.4 คอมมิวนิสต์ในไทยสลาย ไม่ใช่กำจัด แต่นิรโทษกรรม มาพัฒนาชาติไทย
 
สรุป
 
1.อย่า 2 มาตรฐาน
 
2. เมตตา และอภัย นิรโทษกรรม ทักษิณฯ ไม่งั้น ความขัดแย้งจะถ่ายไปรุ่นลูกหลานเหลน อาหรับ- ยิวขัดแย้งเป็น พันปี เพราะไม่ใช้ พรหมวิหารธรรม เมตตา-อภัย
 
3. ตุลาการ 9 คน 100 คน ไม่ใช่คนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่พระเจ้า ตัดสินได้อย่างไรหรือไม่ ทำไม่ถืออุเบกขา ใครถูกผิด พระเจ้า และมติมหาชนเท่านั้น คน 9 คนตัดสินยุบพรรคสมาชิกเป็นล้าน ไม่มีความผิด คน 100 คน ไปยึดทรัพย์ คตส. แค้นต้องสะสางเอาไปหาประโยชน์ข่มท่านอื่นหรือไม่
 
4. ทำหากิน ซื่อสัตย์ ซื้อ 100 ก็ต้องขาย100 รับรองไม่นักธุรกิจในโลกเขาทำ ลงทุนน้ำมัน 5 บาท ขาด 50 บาท ไม่เห็นติดคุก ฝรั่งยังลอยนวล ธุรกิจกับทุจริต นโยบายคนละเรื่อง โง่หรือ ซื่อสัตย์
 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ชาตินิยมสยามและชาตินิยมไทย กับกรณีปราสาทพระวิหาร และมรดกโลก

Posted: 14 Aug 2010 03:45 AM PDT

ณ ตอนนี้ กำลังงงๆๆ งวยๆๆ (แกมขำขัน)

กับ "มรดกโลก และ ปราสาทพระวิหาร"

(ซึ่งกลายเป็นความเมืองระหว่างประเทศหลังจากประชุมที่บราซิเลียของ นรม.และกับ รมต. ของรัฐบาลไทย versus รอง นรม. และ ครม.กัมพูชา Who speaks the truth to each and their own peoples, or none at all? หรือไม่มีใครพูด "ความจริง" ทั้งหมดกับประชาชนเลย)

"ต้นตอ" ของปัญหานี้

ขอสรุปเป็นเบื้องต้นว่า

สมัยเมื่อเรายังเป็น "สยาม" กับสมัยที่เปลี่ยนเป็น "ไทย" แล้ว

ความคิดความอ่านหรือ "ลัทธิชาตินิยม" และ "ความรักชาติ"

ของทั้ง 2 ยุคสมัย-ต่างกันมาก

ซึ่งก็จะเลยเถิดไปถึงการ "รับ" หรือ "ไม่รับ" แผนที่ "เจ้าปัญหา" แผ่นนั้น

แผนที่แผ่นนี้

มักเรียกกันด้วยชื่อผิดๆ และประหลาดๆ

โดยนักวิชาการ-นักการทหาร-และสื่อมวลชนฯ ว่า

"แผนที่ 1 ต่อ 200,000" (หนึ่งต่อสองแสน!!!???)

ซึ่งสร้างความงุนงง-มึนให้กับประชาชนทั่วๆ ไป

ความจริงชื่อที่แท้จริงของมันก็มี คือ แผนที่ Dangrek

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่าแผนที่ "ดงรัก" หรือ "ดงเร็ก" นั่นเอง

(คลิกดูได้ที่ http://wms.cfcambodge.org/mambo/images/stories/CartePreahvihear.jpg)

 

 

"แผนที่ดงรัก" ดังกล่าวนี้ รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ ร.5

ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (ต้นสกุลดิศกุล) เป็นมหาดไทย

กับมีสมเด็จกรมฯเทววงศ์ (ต้นสกุลเทวกุล) เป็นการต่างประเทศ

ได้ "รับรอง" แผนที่แผ่นนั้น และนำมาใช้ในประเทศของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

(เพราะต้องการรักษา "อธิปไตย" ของสยาม (ส่วนใหญ่) เอาไว้)

ไม่รับก็ไม่ได้ เพราะสมัยนั้น

คือ gunboat diplomacy/politics

และนี่ก็เป็นหลักฐานหรือเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ "ศาลโลก" ที่กรุงเฮก

ในปี พ.ศ.2505 ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ว่า

"ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา"

แล้วลูกระเบิดทางการเมืองสำหรับสังคมไทย ก็ถูกวางไว้ตั้งแต่สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ครั้งกระนั้น

ย้อนกลับไปให้ไกลในประวัติศาสตร์-ปวศ. อีก คือ

ครั้งเมื่อ "รัฐบาลปีกขวา" ของ "คณะราษฎร"

นำโดย "พิบูลสงคราม-วิจิตรวาทการ"

เปลี่ยน "สยาม" เป็น "ไทย"

เปลี่ยน Siam เป็น Thailand นั่นแหละ

ก็ได้เริ่มกระบวนการที่จะไม่รับ "แผนที่ดงรัก" แผ่นนั้น

(รวมทั้งไม่รับสนธิสัญญาสมัยสยามกับฝรั่งเศส (ร.ศ.112) อีกด้วย

นี่ก็นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 หรือสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

สรุป จะเห็นได้ว่าเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว

รัฐบาลของรัชกาลที่ 5 ในยุคของ "ลัทธิชาตินิยมสยาม"

ได้ยอมรับทั้งสนธิสัญญาและแผนที่กับฝรั่งเศส

แต่ต่อมาเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ที่ส่งทอดมายังจอมพลสฤษดิ์)

ในยุคของ "ลัทธิชาตินิยมไทย" ไม่ยอมรับ

พอมายุคสมัยนี้ ที่เราๆ ท่านๆ อาจถูกชี้หน้าถามว่า

"เป็นคนไทยหรือเปล่า" สังคมของเราจึงยังย่ำอยู่กับ "ลัทธิชาตินิยมไทย"

(ไม่ใช่ "ลัทธิชาตินิยมสยาม")

ดังนั้น ทั้งรัฐบาลปัจจุบันและพันธมิตรร่วมอุดมการณ์

(รวมทั้งนักวิชาการที่ขังตนเองอยู่ใน "เขตแดนรัฐชาติ" อย่าง ดร.อดุล-อ.ศรีศักร) ก็รับช่วงต่อๆ กันมาจาก

 

"ลัทธิผู้นำของพิบูลสงคราม-วิจิตรวาทการ-สฤษดิ์-เสนีย์"

(จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม)

ตกทอดกันมา

ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ลัทธิชาตินิยมไทย"

ซึ่งถือได้ว่าเป็น "เวอร์ชั่นแปลง" ของ Thailand

มิใช่ "ลัทธิชาตินิยมสยาม" ซึ่งเป็น "เวอร์ชั่นดั้งเดิม" ของ Siam

บุคคลระดับ "ผู้นำ" เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็น

จอมพล-นายกฯ-รมต.

นักการเมือง

นักการทหาร

นักวิชาการ (ที่จำกัดอยู่ในเขตแดนของรัฐ)

นักเคลื่อนไหวมวลชน

หรือสื่อมวลชนกระแสหลัก

ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาค (ที่อ้างว่าเป็น) ประชาชน

ไม่ยอม "รับรู้" หรือ "ประสงค์" ที่จะรับรู้ว่า

"เสด็จพ่อ ร.5 กับสมเด็จกรมเทววงศ์ (กต.) และสมเด็จกรมดำรงฯ" (มท.)

ได้ทรงทำอะไรไว้

ได้ทรงกำหนดเขตแดน-ขอบเขต-และเส้นทางเดินของรัฐ "สยาม" กับประเทศข้างเคียงไว้อย่างไร

ที่ในช่วง "หน้าสิ่วหน้าขวาน" เมื่อประมาณระหว่าง พ.ศ.2436-2450 (1893-1907)

อันเป็นจุดสูงสุดของลัทธิอาณานิคมล่าเมืองขึ้น Height of colonialism หรือ 100 ปีมาแล้วนั้น

ในห้วงเวลาที่ไม่มี "มหามิตร" ที่สยามคิด (ฝัน) ว่าจะพึ่งพาได้เข้ามาช่วย

ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษของพระนางวิกตอเรีย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียของพระเจ้าซาร์

ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศอย่าง "สันนิบาตชาติ" หรือ "สหประชาชาติ"

หรือ Unesco ฯลฯ ที่จะเข้ามาแทรกแซง ดังนั้น จึงต้อง "จำยอม" และ "เลยตามเลย"

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึง พ.ศ.2482 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่กล่าวข้างต้น

รัฐบาลใหม่ (ปีกขวาของคณะราษฎร)

และ/หรือ "ผู้นำใหม่" อย่าง "พิบูลสงคราม-หลวงวิจิตรวาทการ"

ก็เปลี่ยน "สยาม" เป็น "ไทย" เปลี่ยน Siam เป็น Thailand

แล้วก็เปลี่ยนจินตนาการใหม่ และก็เริ่มสร้างปัญหาใหม่ๆ ส่งทอดต่อๆ มา

ผ่านนักการทหารบ้าง (อย่างสฤษดิ์) ผ่านนักการเมืองบ้าง (อย่าง ม.ร.ว.เสนีย์)

ให้มาเป็นปัญหาอยู่กับเราๆ ท่านๆ จนถึงทุกวันนี้

และเราประชาชนไม่ว่าจะชนชั้นบน-กลาง-ล่าง

ก็ต้องรับมรดกอันเลวร้ายทาง ปวศ. (บาดแผล-บกพร่อง)

ที่ถูกนำมา "ปลุกผี" และ "ปัดฝุ่น" ทำให้กลายเป็นปัญหาของ "มรดกโลก"

นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 จากควิเบก ไปเซวีญา ไปบราซิเลีย และก็จะไปบาห์เรน ในปีหน้า 2554

นี่เป็น "โศกนาฏกรรมระดับชาติ"

ในยุคสมัยที่เราน่าจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า

เพื่อคนรุ่นใหม่

ไปให้พ้น "อดีตเก่าๆ"

ที่ "ล้าหลังและคลุ้มคลั่ง"

ไปให้พ้น "ปวศ.บกพร่อง"-"ปวศ.บาดแผล"

เดินไปข้างหน้า

ตั้งฝันไปให้ไกล ไปให้ถึง

"โลกาภิวัตน์-โลกไร้พรมแดน-และประชาคมอาเซียน"

เราไม่เพียงจะต้อง "ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี" กันกับผู้คนในชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น

แต่ยังต้อง "ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี" กับเพื่อนร่วมภูมิภาค และมนุษยชาติร่วมโลกอีกด้วย

ป.ล.

รัฐธรรมนูญใหม่ของบ้านนี้เมืองนี้

ถ้าไม่เป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม-สยาม"

ก็ "ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี" กันไม่ได้

 

.........................................
เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนออนไลน์ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1281691648&grpid=&catid=02

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา?" หน้าที่ใหม่ ท้าทายกวีนิพนธ์

Posted: 14 Aug 2010 03:16 AM PDT

ในเวลานี้เราต้องการกวีนิพนธ์ที่่ก้าวข้ามการแบ่งฝ่ายเพื่อโน้มนำให้เกิดความเข้าใจคนอื่น ฝ่ายอื่น ความคิดอื่น ที่แตกต่างจากเรา และกวีนิพนธ์ต้องคิดค้นวิธีการ องค์ความรู้แบบกวีนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้สร้างสรรค์ตัวบท "ตัวบทที่ไปไกลกว่าการอธิบายความจริงเชิงประจักษ์ บอกลาการฟูมฟายอยู่แต่กับความสูญเสียหรือมุ่งแต่ก่นประณาม ตัวบทที่ไม่มัวเมากับการฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไว้กับผู้อื่น"

 

ประมวลภาพการอ่านบทกวีในงาน "มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา?"

เมื่อ วันที่ 13 ส.ค. 2553 ที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่ม Poet Live และเว็บไซต์ Thaipoetsociety.com จัดงานอ่านฟังบทกวีครั้งที่ 8 ในชื่อมนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา ซึ่งมีที่มาจากความต้องการเรียนรู้ ทำความเข้าใจและสะท้อนสังคมไทยหลังเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดินพฤษภาคมที่ผ่านมา จากสายตาของกวีและผู้เชื่อมั่นในพลังแห่งกวีนิพนธ์

ในการอ่านคำประกาศงานอ่านฟังบทกวี กฤช เหลือสมัย กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเข่นฆ่ากันเองของมนุษย์ มันน่าแปลกประหลาดที่นักโบราณคดีบอกเราว่าเมื่อย้อนไปก่อนหน้านั้น 100,000 ปี มนุษย์ที่มีอาวุธเพียงหอกไม้ เครืองมือกินกระเทาะหน้าเดียวอันเทอะทะและด้อยประสิทธิภาพ กลับรวมตัวกันล่าสัตว์ขนาดใหญ่เช่นม้า ความป่า ช้างป่า หรือกระทั่งเสือ ได้อย่างไม่ยากเย็น

"หรือว่าเมื่อปลอดจากภัยคุกคามที่เหนือกว่า เราต่างก็ละทิ้งมิตรไมตรี แล้วหันมาเป็นศัตรูกัน" กฤช กล่าว

โดยกฤช ยังได้พูดถึงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งมนุษย์แต่ละฝ่ายต่างประหัดประหารกัน โดยที่ไม่มีแนวคิด ปรัชญา หรือศาสตร์สาขาใดยับยั้งได้ จากนั้นก็พูดถึงกรณีเหตุรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา

"ทุกครั้งที่ช่วงเวลาอันมือมนได้ผ่านพ้นไป จะปรากฏปัญหาใหม่ ๆ ยาก ๆ ท้าทายผู้ที่อยู่ร่วมกันให้ขบคิดใคร่ครวญอยู่เสมอ ตั้งแต่ว่าสิ่งที่เรียกว่าความเป็นกลางมีอยู่จริงหรือไม่ ปัญหาทางชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นจะคลี่คลายไปในทิศทางใด วัฒนธรรมการสยบยอมต่ออำนาจเบื้องบนโดยปราศจากความเชื่อมั่นในตนเองจะหมดไปหรือน้อยลงไปได้อย่างไร หรือกระทั่งคำถามสำคัญที่ว่าสันติวิธีมีน้ำยาแค่ไหนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ความรุนแรงและความเป็นศัตรูมาจากข้างนอกหรือข้างในตัวมนุษย์กันแน่"

ช่วงที่ผ่านมานักคิดนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ก็พยายามค้นหาคำอธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

"คำถามสำคัญที่ควรถกถามในที่นี้ คือกวีทำอะไรบ้าง" กฤชกล่าว "เท่าที่ผ่านมาและจนกระทั่งปัจจุบัน เรากลับพบเห็นกวีไทยจำนวนไม่น้อยกลับเป็นผู้เรียกหาและสนับสนุนความรุนแรงเสียเองไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม"

ผู้กล่าวเปิดบอกอีกว่า ในเวลานี้เราต้องการกวีนิพนธ์ที่ก้าวข้ามการแบ่งฝ่ายเพื่อโน้มนำให้เกิดความเข้าใจคนอื่น ฝ่ายอื่น ความคิดอื่น ที่แตกต่างจากเรา และกวีนิพนธ์ต้องคิดค้นวิธีการ องค์ความรู้แบบกวีนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้สร้างสรรค์ตัวบท "ตัวบทที่ไปไกลกว่าการอธิบายความจริงเชิงประจักษ์ บอกลาการฟูมฟายอยู่แต่กับความสูญเสียหรือมุ่งแต่ก่นประณาม ตัวบทที่ไม่มัวเมากับการฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมไว้กับผู้อื่น"

โดยในงานยังมีการอ่านบทกวีจากผู้เข้าร่วม 16 คน อาทิเช่น แก้วตา ธัมอิน, กฤช เหลือลมัย, ซะการีย์ยา อมตยา , หทัยสินธุ สินธุหทัย, โกสินทร์ ขาวงาม, ธิติ มีแต้ม, สมพงษ์ ทวี ฯลฯ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยกระแสคุกคามทางเพศในที่ทำงานเพิ่มขึ้น อินเดียแชมป์ ‘นายจ้าง-ผู้บังคับบัญชา’ หื่นสุด

Posted: 14 Aug 2010 03:00 AM PDT

การคุกคามทางเพศต่อคนงานหญิงเพิ่มขึ้น อินเดียแชมป์เจ้านายหื่นกามชอบลวนลามพนักงาน ด้านเพื่อนหญิงชี้ในไทยน่าเป็นห่วง เพราะลามถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนแล้วเจ้าตัวถูกลงโทษพักงาน 1 ปี แต่ชิงลาออกก่อนไม่ยอมรับโทษ

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา Reuters/Ipsos โพลล์ได้เผยผลสำรวจคนทำงาน 12,000 คนจาก 24 ประเทศ พบว่าคนทำงาน 1 ใน 10 คน เป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการคุกคามทางเพศสูงที่สุดคือ 26% ตามมาด้วยจีน 18% ซาอุดีอาระเบีย 16% เม็กซิโก 13% แอฟริกาใต้ 10% อิตาลี 9% ส่วนในบราซิล รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐ 8% ตามลำดับ
ส่วนประเทศที่มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานน้อยที่สุดคือ ประเทศสวีเดนและฝรั่งเศส ซึ่งมีเพียง 3% โดยจากผลการสำรวจยังพบว่าพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด
สำหรับข่าวครึกโครมของกรณีชู้สาว-คุกคามทางเพศ ในวงการธุรกิจที่ผ่านมาก็คือการลาออกของ CEO ของบริษัท Hewlett-Packard บริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง และ CEO ของบริษัท David Jones บริษัทค้าปลีกชื่อดังของออสเตรเลีย
John Wright รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยตลาดของ Ipsos กล่าวว่าการที่นายจ้างผู้บังคับบัญชาพยายามจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับพนักงานแต่ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงยืนยาวนั้น นอกจากจะเป็นการคุกคามทางเพศแล้ว ก็ยังถือเป็นการหาประโยชน์ส่วนตนจากตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบอีกด้วย
เพื่อนหญิงชี้ในไทยลามถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนแล้ว
ด้านไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา “การคุกคามทางเพศ อาชญากรรมร้ายรายวันของสังคม”
โดย น.ส.พัชรี จุลหิรัญ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการเก็บสถิติความรุนแรงทางเพศ ที่ผู้ถูกกระทำมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 775 ราย ในจำนวนนี้พบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมากถึง 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 แยกเป็น 1.ข่มขืนกระทำชำเรา 45 ราย โดยมีผู้หญิงรายหนึ่งต้องการเลิกกับผู้ใหญ่บ้าน จ.กาญจนบุรี เพราะต้องมีเพศสัมพันธ์เช้ากลางวันเย็น ฝ่ายหญิงขอเลิกแต่ฝ่ายชายไม่ยอม จนต้องแจ้งความดำเนินคดีฐานข่มขืน 2.พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 8 ราย 3.พรากผู้เยาว์โดยการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ 9 ราย 4.รุมโทรม 7 ราย โดยรายหนึ่งถูกรุมโทรมมากสุดถึง 9 ราย 5.อนาจาร 7 ราย 6.คุกคามทางเพศ 3 ราย
นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรณี 7.พยายามข่มขืน ค้ามนุษย์ แอบถ่าย โชว์อนาจาร 4 ราย รายหนึ่งเป็นพี่เขยแอบถ่ายน้องเมีย โดยกลัวว่าจะถูกนำมาเผยแพร่ที่สาธารณะ ที่น่าตกใจ คือ ผู้กระทำ 33 ราย หรือร้อยละ 40 เป็นคนใกล้ชิดกับผู้เสียหาย เช่น เป็นเพื่อน หรือเพื่อนบ้าน โดยผู้เสียหายอายุน้อยสุดแค่ 3 ขวบ โดยถูกญาติใช้นิ้วล่วงละเมิดเด็ก ส่วนผู้กระทำมีอายุมากที่สุด 78 ปี ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการอนาจารลูกตัวเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนอายุ 24 ปีก็ยังขอหลับนอนกับลูกอยู่ อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว ส่วนใหญ่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากถึง 24% และมีสถิติเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2551
น.ส.พัชรี กล่าวถึงเหยื่อสาวรายหนึ่งที่ถูกละเมิดทางเพศว่า สำหรับกรณีนี้น่าตกใจมาก เป็นเจ้าหน้าที่หญิงรัฐสภาระดับ 5 จบปริญญาโทจากเมืองนอก เป็นคนสวยเพราะเคยเป็นถึงเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกอดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่ง พยายามใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้ามาตีสนิท ทั้งยังเคยให้ร่วมเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน กระทั่งเหตุการณ์วันหนึ่งถูกอดีตประธานรัฐสภาที่ว่า บังคับให้เดินด้วยส้นสูง 3 นิ้ว จากชั้น 1 ถึงชั้น 8 ของคอนโด เพื่อนำเอกสารไปส่งถึงตัว และพยายามชักชวนให้ดูบอลแล้วลวนลามจนถึงขั้นละเมิดทางเพศ
“จากเหตุครั้งนั้นทำให้ตัวผู้เสียหายต้องหยุดงานไป 15 วัน เป็นผลให้หัวหน้างานไล่ออกจากงาน ทำให้เจ้าตัวเกิดความเครียด สภาพจิตใจย่ำแย่ ครอบครัวก็ไม่เข้าใจ ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนกระทั่งอดีตประธานรัฐสภาพ้นจากตำแหน่ง จึงได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง คดีได้ยืดเยื้อมานานถึง 2-3 ปี เจ้าหน้าที่หญิงรายนี้จึงเข้ามาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อนหญิงเมื่อปีที่แล้ว และต้องมาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจอยู่หลายเดือน เนื่องจากศาลปกครองชั้นต้นตัดสินเจ้าหน้าที่หญิงรายนี้ มีความผิดที่หยุดงาน จึงได้อุทธรณ์ต่อศาลจนศาลตัดสินว่าให้กลับเข้ามาทำงานที่รัฐสภาได้อีกครั้ง” นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าว
น.ส.พัชรี กล่าวอีกว่า น่าเป็นห่วงว่าเรื่องการแจ้งความดำเนินคดี กรณีถูกข่มขืนอาจจะทำไม่ได้เนื่อง จากติดข้อกฎหมายขาดความอายุความ เพราะคดีดังกล่าวตามกฎหมายเป็นคดีที่ยอมความกันได้ และมีอายุความแค่ 3 เดือน เนื่องจากผู้ถูกกระทำอายุเกิน 18 ปีแล้ว ตนคิดว่าน่าจะมีการแก้กฎหมายขยายอายุความเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายมีเวลา ฟื้นฟูจิตใจก่อนดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามที่ผู้เสียหายไม่แจ้งความข้อหาข่มขืนตั้งแต่แรก เพราะผู้กระทำอยู่ในอำนาจเป็นถึงประธานรัฐสภาขณะนั้น และผู้เสียหายเป็นถึงลูกข้าราชการระดับสูง จึงเป็นห่วงชื่อเสียงหน้าตาของครอบครัว อีกทั้งถูกเพื่อนร่วมงานมองว่าเป็นการสมยอมจึงไม่กล้าดำเนินการใดๆ
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงพฤติกรรมคุกคามทางเพศที่น่าวิตกอีกรายว่า เมื่อปี 52 มีผู้ชายระดับหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนกระทำคุกคามทางเพศกับผู้ ใต้บังคับบัญชาผู้หญิงทั้งการพูดจาแทะโลม การลวนลามเนื้อตัวร่างกายทั้งขณะอยู่ในที่ทำงาน และออกไปทำงานนอกสถานที่ โดยคณะกรรมการสอบสวนเรื่องราวการคุกคามทางเพศที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาสอบสวน มีการเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการกระทำผิดจริง จึงสั่งลงโทษพักงาน 1 ปี แต่ผู้ชายได้ลาออกไม่ยอมรับโทษ จากการตรวจสอบผู้ชายคนนี้ยังกระทำคุกคามทางเพศกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศที่ มาทำงานแลกเปลี่ยน
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า ที่น่าห่วง คือ หัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนรายนี้อายุประมาณ 30 กว่าปี เป็นผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ ยังได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หากคนทำงานด้านสิทธิแต่กลับไปละเมิดคนอื่นเสียเองแล้วจะไปช่วยผู้ถูกละเมิด สิทธิได้อย่างไร ขณะที่กรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานพบมากที่สุดในหน่วยราชการโดยเฉพาะหน่วยงาน ทหารและตำรวจ ระดับ พล.อ. , พ.อ. ที่คุกคามทางเพศถึงขั้นข่มขืนกระทำชำเราผู้ใต้บังคับบัญชาในที่ทำงาน รองลงมาเป็นหน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยมักใช้วิธีเอางานมาบังหน้า ชักชวนให้ออกไปทำงานนอกสถานที่ แล้วบังคับให้ กินเหล้า โดยผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องยินยอม รวมทั้งการจับมือถือแขนในที่ทำงาน ทั้งนี้พฤติกรรมดังกล่าวคนภายนอกอาจมองว่า เป็นความสนิทสนมคุ้นเคย ทั้งที่ผู้กระทำจงใจคุกคามทางเพศ ดังนั้นหน่วยงานต้องดูความเสี่ยงในการร่วมงานระหว่างหญิงชายด้วย
ส่วน น.ส.นิภาพร แหล่พั่ว ฝ่ายข้อมูลและเผยแพร่ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับในปี 2552 พบข่าวการละเมิดทางเพศมีถึง 271 ข่าว มีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 331 ราย ช่วงอายุของผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุด 11-15 ปีมีจำนวน 132 ราย ในจำนวนนี้อายุน้อยที่สุดเพียง 2 ปี 7 เดือน โดยถูกชายในสถานรับเลี้ยงเด็กข่มขืน อายุมากที่สุด 79 ปี ส่วนผู้กระทำมีจำนวน 485 ราย ช่วงอายุ 16-20 ปีมีมากที่สุด 112 ราย โดยผู้กระทำอายุมากที่สุด 73 ปี อายุน้อยที่สุด 4 ขวบ เป็นเด็กอนุบาลที่ถูกครูสั่งให้เอานิ้ว และอวัยวะเพศสอดใส่อวัยเพศนักเรียนหญิง สำหรับประเภทการละเมิดทางเพศมากที่สุด คือ การข่มขืน รองลงมา คือ การรุมโทรม อนาจาร ตามลำดับ โดยสถิติละเมิดทางเพศปี 2552 มากกว่าปี 2551 ที่มี 220 ราย
 
ที่มาข่าว:
Indians most likely to report sexual harassment at work - poll (Reuters, 12-8-2010)
http://news.yahoo.com/s/nm/20100812/india_nm/india508031
Sexual Harassment Rife In Workplace Worldwide (allvoices.com, 12-8-2010)
http://www.allvoices.com/contributed-news/6504555-sexual-harassment-rife-in-workplace-worldwide?r=1
องค์กรฯสตรีเผย ขรก.สาวไทยเสี่ยง ผู้ใหญ่จ้องขยี้กาม (ไทยรัฐ, 9-8-2553)
http://www.thairath.co.th/content/edu/102448
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน:สถานการณ์ผู้ต้องหากรณีเสื้อแดงมุกดาหาร

Posted: 14 Aug 2010 02:57 AM PDT

มุกดาหาร มีผู้ถูกจับกุมข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดทั้งสิ้น 28 คน 24 คน ฝากขังอยู่ในเรือนจำมุกดาหาร 3 คน ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากเข้ารายงานตัว เยาวชนอายุ 15 ปี 1 คน อยู่ในสถานพินิจ จ.นครพนม 

ญาติและผู้ต้องหาหวังจะได้ประกันตัวหลังยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน  แต่ฝันค้าง  ล่าสุด รอลุ้นปล่อยตัวชั่วคราวหาก ตร.ทำสำนวนฟ้องไม่ทัน หลังฝากขังครบ 84 วัน  ก็ต้องผิดหวังอีกเนื่องจากอัยการสั่งฟ้องแล้ว เช่นเดียวกับแกนนำ นปช.

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 ( ศปช.) สรุปข้อมูลผู้ถูกจับกุมในจังหวัดมุกดาหาร พบมีผู้ต้องหาถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามหมายจับคดีอาญาที่ 548/2553 ซึ่งโอนเป็นคดีพิเศษทั้งสิ้น 28 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 1 ราย เยาวชนชายอายุ 15 ปี 1 ราย

ผู้ต้องหา 16 ราย ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ บริเวณรอบศาลากลาง ออกมาถึงบริเวณนอกรั้วโดยรอบ ซึ่งเป็นศาลจังหวัด ตลาดราตรี และห้างสรรพสินค้า   จากนั้น มีการทยอยจับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดย จนท.ตร.ใช้ภาพถ่ายในวันเกิดเหตุเป็นหลักฐานสำคัญในการตามจับผู้ต้องหา  ซึ่งพบว่าบางรายถูกจับกุมเนื่องจากมีรูปถ่ายขณะนั่งอยู่บนกองยางรถยนต์  บางรายถูกจับเพราะมีรูปถ่ายขณะกำลังกลิ้งยาง  บางรายมีรูปถ่ายขณะกำลังยืนดูเหตุการณ์ในบริเวณรั้วศาลากลางก็ถูกจับกุม  รายล่าสุด ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาชื่อนายแจ่ม หนองพฤกษา มีอาชีพเก็บขยะขาย  ในวันเกิดเหตุเข้าไปเก็บขยะบริเวณศาลากลาง เนื่องจากเห็นว่ามีการชุมนุม  จึงปรากฏมีรูปถ่ายในบริเวณศาลากลาง และถูกตำรวจตามจับกุมตัวในที่สุด

นอกจากนี้ยังพบว่า การจับกุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งมีการสนธิกำลังกันระหว่างตำรวจ สภ.เมืองมุกดาหาร ทหารจากค่ายพระยอดเมืองขวาง จ.สกลนคร  ตชด. และอาสาป้องกันภัย  จนท.ได้ทำการสลายการชุมนุมโดยใช้กระบองทุบตีทำร้ายและเตะถีบ โดยไม่มีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมก่อน   ผู้ต้องหาเกือบทุกคนถูกการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บขณะถูกจับกุม  ก่อนถูกคุมขังอยู่ในรถขนผู้ต้องหาบริเวณกลางแจ้งหน้าศาลากลาง จำนวน 1 คันในวันที่ 19 พ.ค.  และมีรถมาเพิ่มอีก 1 คัน เพื่อลดความแออัดในวันที่ 20 พ.ค. ทั้งนี้ สามารถเข้าห้องน้ำได้เฉพาะเวลาถ่ายหนัก หากถ่ายเบาต้องทำธุระบนรถที่คุมขัง  และถูกย้ายมาเรือนจำในวันที่ 21 พ.ค.53  รวมเวลาที่ถูกขังอยู่ในรถคุมขังที่จอดอยู่กลางแจ้ง 2 คืนกับ 1 วัน  โดยที่ไม่มีการนำตัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด  

จากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในเรือนจำจังหวัดมุกดาหารพบว่า มีผู้ต้องหาที่ถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ 24 ราย  เยาวชนชายถูกนำไปฝากขังที่สถานพินิจจังหวัดนครพนม  ส่วนอีก 3 ราย จนท.ตร.ให้ข้อมูลว่า เข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานก่อนที่จะออกหมายจับ จึงได้รับการปล่อยตัว

ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อหา ส่วนหนึ่งยอมรับเข้าร่วมการชุมนุมจริง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเผาศาลากลาง  ส่วนใหญ่ยืนดูเหตุการณ์ขณะไฟไหม้ศาลากลางอยู่ทั้งในและนอกรั้วศาลากลาง  บางคนโดยเฉพาะสามล้อรับจ้างมีส่วนในการลำเลียงยาง ไปกองที่ถนนข้าง และบริเวณรอบศาลากลางจริง  แต่เป็นเพราะได้รับการว่าจ้าง ไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายถึงขั้นเผาศาลากลาง  บางคนมีส่วนในการห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมเผายางที่กองอยู่หน้าศาลากลาง  บางคนปีนขึ้นไปนำพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดอยู่หน้าอาคารศาลากลางลงมาขณะไฟกำลังลุกไหม้  อีกส่วนหนึ่งเป็นเพียงผู้ที่เดินทางมาดูเหตุการณ์ เนื่องจากได้ทราบข่าวว่าเกิดเพลิงไหม้ศาลากลาง รวมทั้งมีหนึ่งรายเป็นเพียงคนที่เข้าไปเก็บขยะเท่านั้น   มีเพียงรายเดียวให้การรับสารภาพว่า ได้ขายยางให้ผู้ชุมนุมจริง โดยเข้าใจว่าผู้ชุมนุมจะนำไปขู่ทางราชการ  ในขณะที่ผู้ที่ลงมือจุดไฟเผาอาคารศาลากลางจริง  จนท.ตร.ยังไม่สามารถตามจับกุมตัวได้
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ผู้ต้องหามีอาชีพเกษตรกร ขับรถสามล้อรับจ้าง รับจ้างทั่วไป พ่อค้าเร่ พนักงานบริษัท เก็บขยะขาย  เปิดร้านขายของชำ และปะยางรถ  นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง  มีเพียง 6 ราย ที่อยู่ในอำเภอดอนตาล

ในเรื่องการขอประกันตัว  หลังการจับกุม ผู้ต้องหาบางรายที่พอหาหลักทรัพย์ในวงเงิน 5 แสนบาทได้  ทนายความก็ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวหลายต่อหลายครั้ง เพื่อออกมาดูแลครอบครัว  อีกทั้งบางรายมีโรคประจำตัว เช่น ไวรัสตับ โรคไต ลำไส้อักเสบ โรคประสาท ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์  แต่ยังไม่เคยได้รับการอนุมัติจากศาล  บางรายยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัวกับศาลอุทธรณ์จังหวัดขอนแก่น แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน  ล่าสุด หลังการประกาศยกเลิก พรก.ฉุกเฉินในเขตจังหวัดมุกดาหารเมื่อ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยหวังจะได้รับความเมตตาจากศาล  แต่ปรากฏว่าศาลจังหวัดมุกดาหารก็ยังไม่อนุมัติให้ประกันตัวอีกเช่นเคย  มีเพียงเยาวชนชายที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจ จ.นครพนม  เพียงคนเดียวที่ได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

และในวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา  ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุเผาศาลากลางวันที่ 19 พ.ค. ครบกำหนดฝากขัง 84 วัน ครอบครัวและ ญาติพี่น้อง ที่มีความหวังว่าผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อ จนท.ตร.สรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการ  และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว  ทั้งนี้ ญาติผู้ต้องหามีความสงสัยว่ามีการเรียกพยานฝ่ายจำเลยไปให้ปากคำน้อยมาก ทำไมตำรวจถึงสรุปสำนวนส่งฟ้องได้  อีกทั้งอัยการก็มีความเห็นให้สั่งฟ้องอีกด้วย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2 – 8 ส.ค. 2553

Posted: 14 Aug 2010 01:28 AM PDT

 

กรมการจัดหางานเชิญ 80 บริษัทจัดหางาน ลงสัตยาบัน

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ กระทรวง แรงงานได้เชิญบริษัทผู้รับใบอนุญาตทำงานจำนวน 80 แห่ง จากทั้งหมด 200 แห่งเพื่อมาร่วมในพิธีลงนามสัตยาบัน 3 เรื่อง คือ 1.ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 2.ต่อต้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และ 3.ร่วมทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  (ธรรมภิบาล) ซึ่งการลงสัตยาบันครั้งนี้ถือ  เป็นครั้งแรกของวงการธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศเพื่อสร้างพลังต่อรองกับโบรก เกอร์ในต่างประเทศที่มีการซื้อขายตำแหน่งงานสูงทำให้คนงานที่ไปทำงานต่างประเทศต้องเสียค่าหัวสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลนั้นมีการเสียค่าหัวสูงถึง 2 แสนบาท ทั้งที่ความจริงแล้วควรจัดเก็บไม่เกิน 76,000 บาทต่อคน
       
“เมื่อมีการเก็บค่าหัวแพง ทำให้ปัญหาที่เกิดคือประเทศไทยต้องถูกขึ้นบัญชีดำว่า ธุรกิจการจัดส่งแรงงานไปเมืองนอกมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกระบวนการค้ามนุษย์ตามมา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเอาจริงกับการปราบปรามการค้ามนุษย์และลดค่าหัวไปทำงานต่างประเทศ” นายสุภัท กล่าวและว่า พิธีลงนามสัตยาบันดังกล่าวในวันที่ 3 ส.ค. จะมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับมอบสัตยาบันด้วยตัวเอง

(เดลินิวส์, 2-8-2553)

 

ส่งออกแรงงานไทยลด 15% เจอฟิลิปปินส์-อินโดฯ ตีตลาดแรงงาน

นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขผู้เดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือน มิ.ย. 2553ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น8,881 คน โดยหากเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552พบว่าตัวเลขลดลง 15.91% โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกและประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีการส่งออกแรงงานมากขึ้น ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยควบคู่กับการฝึกอบรมด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถสื่อสารกับนายจ้างชาวต่างชาติได้ดีขึ้น

สำหรับประเทศที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ไต้หวัน ลิเบีย อิสราเอล เกาหลีและญี่ปุ่น จำแนกตามวิธีการเดินทางพบว่า 72.06% เดินทางไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน แจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง 9.69% กรมการจัดหางานจัดส่งไปร้อยละ 8.63 %นายจ้างส่งไปฝึกงาน 4.97% และนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในสำนักงานใหญ่หรือสาขาของตนในต่างประเทศ4.65%

หากจำแนกตามระดับฝีมือแรงงานพบว่าเป็นแรงงานมีฝีมือ31.08% ส่วนอีก68.92 %เป็นแรงงานไร้ฝีมือโดยใน 6 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานแล้วกว่า 3.6 หมื่นคน และคาดว่าจะมีรายได้กลับประเทศกว่า 2.7หมื่นล้านบาท แต่มีเงินที่ส่งกลับประเทศผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยและตรวจสอบได้เพียง 3,5 พันล้านบาท

(โพสต์ทูเดย์, 2-8-2553)

รัฐบาลเตรียมเปิดรับฟังปัญหา 14 กลุ่มอาชีพ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากรัฐบาลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนระดับชาติ ในเรื่องของความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนใน “โครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด” เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว หลังจากนี้รัฐบาลจะทยอยเปิดเวทีรับฟังปัญหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 14 กลุ่มอาชีพ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นแผนปรองดองแห่งชาติเป็นของขวัญปีใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.2554 สำหรับ 14 กลุ่มอาชีพที่รัฐบาลจะเข้าไปรับฟังความเห็น อาทิ ศิลปิน คนทำงานกลางคืน แท็กซี่มิเตอร์ วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ประมงพื้นบ้าน หาบเร่งแผงลอย วันพุธที่ 5 ส.ค.นี้ จะรับฟังปัญหากลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน เชิญสหภาพแรงงานทั่วประเทศ มาร่วมระดมความเห็น ข้อเสนอแนะ และ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา จากนั้นรัฐบาลก็จะทยอยรับฟังความเห็นกลุ่มอาชีพอื่นๆตามลำดับ แต่ในส่วนของมอเตอร์ไซด์รับจ้างเป็นกลุ่มอาชีพใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันมีวินมอเตอร์ไซด์ในกทม. 1.8 แสนคัน และ
ในต่างจังหวัดอีกหลายแสนคน รวมทั่วประเทศจะมีคนที่ประกอบอาชีพมอร์เตอร์ไซด์รับจ้างประมาณ 6-7 แสนคน จึงจะมีการจัดการรับฟังความเห็นที่ใหญ่กว่ากลุ่มอื่น

นายสาทิตย์ กล่าวว่า หลังจากได้ข้อมูลจากทุกกลุ่มอาชีพแล้ว จะให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ไปสรุปข้อมูลทุกอย่างให้เสร็จภายในเดือน ก.ย. เพื่อนำข้อมูลดังกล่าว ไปรวมกับผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆที่รัฐบาลตั้งขึ้น เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือน ธ.ค. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีประกาศในวันที่ 1 ม.ค.นี้ ส่วนการดำเนินการ หลังจากนี้รัฐบาลจะทยอยเปิดเวทีรับฟังปัญหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 14 กลุ่มอาชีพ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

(เนชั่นทันข่าว, 3-8-2553)

กรรมการปฏิรูปเสนอตั้งคณะทำงานปฏิรูปค่าจ้างแรงงาน ยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ-ส่งเสริมการรวมตัวสหภาพ

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ (กปร.) และกรรมการสมัชชาการปฏิรูป ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ตนได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบค่าจ้างของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้างอยู่ 17 ล้านคน และเป็นแรงงานภาคการเกษตร 12 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ถือว่าเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดภายในประเทศ ขณะเดียวกันตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป กำลังตกอยู่ในสภาพที่ถดถอย ดังนั้น จึงควรเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศด้วยการยกระดับรายได้ของผู้ใช้แรงงาน

ส่วนการเปิดโอกาสให้นายจ้างรับลูกจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามานั้น นายณรงค์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความมักง่ายเกินไปของราชการและนายจ้างที่ต้องการแรงงานราคาถูกและสามารถข่มขู่ได้ ซึ่งหากมีการจ่ายค่าจ้างให้แรงงานต่างด้าวในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมทั้งให้หลักประกันด้านประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะทำให้นายจ้างหันกลับมาจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น แต่ทุกวันนี้ นายจ้างไม่อยากจ่ายเงินสมทบ ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย

นายณรงค์ กล่าวว่า ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมสมัชชาปฏิรูปได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในประเด็นแรงงาน ทั้งนี้ การเริ่มต้นปฏิรูปค่าจ้างอาจทำโดยการยกระดับทางตรงให้รัฐบาลดำเนินการ เช่น การยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดให้มีกองทุนพัฒนาฝีมือ เป็นต้น ส่วนทางอ้อมนั้น รัฐบาลต้องใจกว้างในการส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน เพื่อให้มีพลังในการต่อรองที่เข้มแข็ง เพราะแม้ปัจจุบันกฎหมายจะเปิดโอกาสให้คนงานรวมตัวกันจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานแล้วก็ตาม แต่ยังมีเพียง 4 แสนคน จากทั้งหมด 14 ล้านคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

(แนวหน้า, 3-8-2553)

นายกฯ รับมอบสัตยาบัน ลดค่าใช้จ่ายคนงานไปทำงานต่างประเทศ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบสัตยาบัน ผู้รับอนุญาตจัดหางานตามโครงการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ พร้อมให้โอวาทคนงานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง โดยมีตัวแทนคนงานและบริษัทจัดหางานรวม 87 บริษัท ร่วมให้สัตยาบันที่เรียกว่า “ปฏิญญา 3 สิงหา เพื่อการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี” ต่อหน้านายกรัฐมนตรี

นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ปัจจุบันแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมแรงงานที่มีฝีมือและคุณสมบัติที่เหมาะสมในการไปทำงานต่างประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแรงงานไทย พร้อมวางแนวทางป้องกันไม่ให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนงานได้ไม่ต่ำกว่ารายละ 10,000-30,000 บาท และร่วมมือกันต่อต้านการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ นอกจากนี้จะดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยหวังว่าโครงการนี้จะส่งผลให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น และจะช่วยคลี่คลายปัญหาของผู้ใช้แรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศให้หมดไป

(สำนักข่าวไทย, 3-8-2553)

เครือข่ายปชช.แรงงาน บุกสภา หนุนผ่านร่าง พรบ.ความปลอดภัยฯ

ที่รัฐสภา กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนผลักดันสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นำโดย นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานเครือข่ายฯ พร้อมคณะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือสนับสนุนการผ่านร่าง พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ....ต่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม นางสมบุญ กล่าวว่า เครือข่ายขอความสนับสนุนของ ส.ส.ทั้งหมด เพื่อให้ผ่านร่าง พรบ.ความปลอดภัย เนื่องจากทางเครือข่ายฯ ได้เฝ้ารอ พรบ.นี้มานานกว่า15 ปีแล้ว จึงหวังว่า ส.ส.จะเห็นความสำคัญความปลอดภัยของคนที่ใช้แรงงานด้วย

ทั้งนี้ด้าน นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กมธ.แรงงาน กล่าวว่า ยืนยันว่า ส.ส.จะให้ความสำคัญ และจะผ่านร่าง พรบ.นี้อย่างแน่นอน

(แนวหน้า, 4-8-2553)

พม.ออกนโยบายช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์หนุนนักสังคมฯใช้ระบบคัดแยกเหยื่อ ยันพร้อมช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ

นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีนโยบายให้การช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ที่เร่ร่อน ขอทาน และแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่จะต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ โดยยึดหลักการเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเหยื่อและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ ได้รับแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน ๑๓๐๐ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือเทศกิจ ลงพื้นที่ช่วยเหลือ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีนักสงคมสงเคราะห์ร่วมสอบข้อเท็จจริงและคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ เมื่อมีการร้องขอ หรือเมื่อมีการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในการคัดแยกเหยื่อฯ นี้ จะใช้แบบสอบถาม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดทำขึ้น เป็นเครื่องมือในการ คัดแยก และหากพบว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ก็จะส่งตัวเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในหน่วยงานสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพชาย-หญิง ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ หรือจังหวัดใกล้เคียง และขณะที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงาน จะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต้นทาง เพื่อดำเนินการตามกระบวนการส่งกลับและคืนสู่สังคม

นายอิสสระ กล่าวว่า รายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Reports 2010 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับการดำเนินงานของประเทศไทยเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ไว้ในอันดับ Tier 2 watch list คือ ยังไม่สามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ และเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ สาเหตุมาจากประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการคัดแยกเหยื่อฯ ในหลายกรณี พม.จึงมีความห่วงใย และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป

“การปรับกระบวนการทำงานและการร่วมมือร่วมใจกันดังกล่าว คาดว่าจะช่วยยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของประเทศไทยให้มีมาตรฐานตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ และช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ” นายอิสสระ กล่าว

(ThaiPR.net, 5-8-2553)

ตร.นครปฐม บุกรวบแรงงานข้ามชาติกว่า 20 คน

พ.ต.ต.อิทธิพล เทวบัญชา สว.สส.สภ.โพธิ์แก้ว รับแจ้งจากสายลับว่ามีการลักลอบจ้างแรงงานเถื่อนอย่างผิดกฎหมาย ภายในบริเวณแคมป์คนงานก่อสร้างตลาด 100 ปี ข้างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีอ้อมใหญ่ หมู่ 8 ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม จึงรุดไปตรวจสอบพร้อม พ.ต.อ.ภาสกร กล

(เนชั่นทันข่าว, 5-8-2553)

เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หวั่นสหรัฐเพิ่มระดับไทยใช้แรงงานเด็ก

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริม คุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีการลักลอบใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายในธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารแช่เยื่อแข็งที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งจะมีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ปะปนอยู่แทบจะทุกแห่ง แม้ว่ากฎหมายไทยจะอนุญาตให้แรงงานเด็กอายุตั้งแต่ 15-18 ปี สามารถทำงานได้ก็ตาม แต่ว่าก็ยังมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนมาก

ถามว่าหากปล่อยให้สถานการณ์คงเป็นแบบนี้ต่อไปจะไม่ส่งผลดีให้กับประเทศไทยแน่นอนโดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบางสหรัฐห้ามใช้สินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กและแรงงานบังคับจำนวนทั้งสิ้น 29 รายการสินค้า จากทั้งหมด 21 ประเทศ ซึ่งล่าสุดสหรัฐได้ประกาศบัญชีสินค้าดังกล่าวออกมาแล้ว โดยมีสินค้ากุ้งและเครื่องนุ่งห่มของไทยติดอยู่ในแบล็กลิสด้วย

นายสมพงค์ กล่าวว่า สาเหตุที่สหรัฐยังคงระดับการจับตาเป็นพิเศษในการใช้แรงงานเด็กของไทย เนื่องจากทางรัฐบาลสหรัฐยังไม่มั่นใจต่อท่าทีของไทย ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และการดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมาตรการต่างๆของรัฐบาลไทยที่แสดงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

“ ต้องบอกว่าขณะนี้ไทยเรายังลูกผีลูกคน สหรัฐเขายังจัดระดับเราอยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งเป็นระดับที่ต้องจับจ้องเป็นพิเศษ ซึ่งสุ่มเสี่ยงถ้าเรายังไม้แก้ปัญหาโอกาสที่เราจะถูกเลื่อนระดับความรุนแรงไปเป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่เลวร้ายที่สุดก็มีสูง ตอนนั้นธุรกิจส่งออกกุ้งปีละ 7-8 หมื่นล้านกระทบแน่นอน และภาพลักษณ์ของไทยก็จะเสียไปด้วย ” นายสมพงค์กล่าว

นายสมพงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานเด็กขึ้นมา ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย มีการประชุมครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภารกิจแรกคือ การกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา รวมทั้งเตรียมต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐสภาสหรัฐที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในเดือนนี้ ซึ่งอนุกรรมการชุดนี้ก็จะคอยให้ข้อมูล ตอบคำถาม และพาเยี่ยมชมโรงงานในพื้นที่ที่พบว่ามีการใช้แรงงานเด็ก

(เนชั่นทันข่าว, 5-8-2553)

 

แรงงานไทยจี้รัฐดูแลระบบค่าจ้างให้เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย เรื่อง "ปฏิรูปแรงงานไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย : มุมมองสหภาพแรงงาน" เพื่อนำไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม มีผู้นำแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่เสนอแนะให้รัฐบาลหันมาดูแลเรื่องระบบค่าจ้าง ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ กล่าวว่า ขอให้ศึกษาและฟื้นฟูระบบค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยนับชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงตามกฎหมายจริง ๆเพราะปัจจุบันผู้ใช้แรงงานทำงานจนแทบไม่มีวันหยุด ขอให้บังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างตรงไปตรงมา มีความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่เกรงใจกลุ่มทุนมากกว่าลูกจ้าง และควรตั้งกองทุนสำรองความเสี่ยงกรณีถูกเลิกจ้าง รัฐต้องสำรองเงินจ่ายให้ก่อน ไม่ใช่รอให้ลูกจ้างไปฟ้องร้องเอง

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน เพราะจากสถิติปี 2552 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่องเกิน 3 วันถึง 149,000 กว่าราย จึงควรเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยให้มีผลบังคับใช้ใน 1ปี นอกจากนี้อยากให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระ กรรมการมาจากการเลือกตั้งของผู้ใช้แรงงาน.

(ไทยรัฐ, 5-8-2553)

สปส.เผยยอดจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ประจำเดือนพฤษภาคม 2553 กว่า 480 ล้านบาท

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีบุตรอยู่ในช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปี โดยผู้ประกันตนจะต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยเวลา 36 เดือน ทั้งนี้การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าวผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้คราวละไม่เกิน 2 คน ซึ่งในเดือนเมษายน 2553 มีผู้ประกันตนทั่วประเทศ ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าวจำนวนมากถึง 1,129,232 ราย โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงิน 480,933,750 บาท สำหรับผู้ประกันตน ที่ประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร สามารถยื่นหลักฐานได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ  ซึ่งหากเป็นการใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิง จะต้องยื่น สปส.2-01 พร้อมแนบหลักฐานประกอบ ได้แก่ สูติบัตรตัวจริงของบุตรพร้อมสำเนา (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตนของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารไทยธนาคารเดิม) หากใช้สิทธิของผู้ประกันตนชาย จะต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยจะต้องแนบหลักฐานข้างต้นเหมือนกับการใช้สิทธิ ของผู้ประกันตนหญิงแต่จะต้องมีหลักฐานเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ สำเนาทะเบียนสมรสหรือหนังสือรับรองบุตร/กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส)

และเพื่อความสะดวกในการรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน  ทางสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ของผู้ประกันตน มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวกเจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-19.00 น.ระบบโทรศัพท์ ตอบรับอัตโนมัติให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

(บ้านเมือง, 5-8-2553)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น