โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ปาฐกถาวันสันติภาพ: สันติภาพแห่งเสรีไทย สู่สันติภาพในสังคมไทย

Posted: 17 Aug 2010 11:21 AM PDT

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์

 

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

 

ปาฐกถาวันสันติภาพ ประจำปี 2553
สันติภาพแห่งเสรีไทย
สู่สันติภาพในสังคมไทย
โดย ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2553
ณ อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ สวนเสรีไทย

 

The peace movement will not be killed.
It lives as naturally as the Sun, rising each day over the world.
Nikolai Tikhonov

 

ข้อความเบื้องต้น

1. ปัญหาเฉพาะหน้า : สังคมไทยกำลังถูกรัฐบาลบังคับให้มีสันติภาพ (หรือไม่)

จากที่เราได้เห็นโดยทั่วกันแล้วว่า รัฐบาลกำลังรณรงค์ ขะมักเขม้นประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางการสื่อสาร อีกทั้งพยายามเรียกร้องให้ได้มาซึ่งความปรองดอง ความสมานฉันท์และน้ำใจไมตรีที่คนไทยเคยมีต่อกันเฉกเช่นในอดีต โดยอ้างเสมอว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้วนั้น เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่นิยมและสนับสนุนความรุนแรง รัฐบาลเองจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายและวิธีการรุนแรงเข้าตอบโต้และปราบ ปรามให้ราบคาบสิ้นเชิง และในที่สุด รัฐบาลก็ประสบผลสำเร็จในการนั้น โดยกลับมาเรียกร้องและเชิญชวนให้สังคมไทยหันมาคืนดีและปรองดองกันใหม่ โดยมิได้พิจารณาถึงต้นเหตุหรือมูลรากที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น การกระทำของรัฐบาลเช่นนี้ดูเสมือนว่า กำลังจงใจที่จะมองข้ามและอย่างน้อยปฏิเสธอยู่ในที (คือนิ่งเงียบและเพิกเฉยกับต้นเหตุแห่งปัญหา) ว่าแท้จริงแล้ว “ไม่มีอะไรในกอไผ่”

สถานการณ์ขณะนี้ และในเวลานี้ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” จริงหรือ

ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นและที่ผ่านมาแล้วราว 2 เดือน ได้แก่ คนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาว่า มีต้นเหตุซึ่งเป็นเหตุที่จะก่อปัญหาติดตามมาอีกสารพันปัญหา ถ้ายังละเลยไม่แก้ปัญหาหรือต้นเหตุแรกนี้เสียก่อน กล่าวคือ ปัญหาความไม่ชอบธรรมหรืออย่างน้อยมีความเคลือบแคลงสงสัยในความชอบธรรมทางการ เมืองของผู้บริหารบ้านเมืองในขณะนั้น จึงเห็นควรนำปัญหานี้กลับมาสู่กระบวนการการตัดสินใจใหม่ในทางการเมืองของ ประชาชนอีกครั้ง แต่รัฐบาลที่อ้างตนว่า เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยกลับเพิกเฉย ทั้ง ๆ ที่โดยเหตุผลที่ถูกต้องตามระบอบการปกครองแล้ว ประชาชนมีสิทธิที่จะให้การรับรองหรือปฏิเสธผู้ปกครองในขณะนั้นได้โดยผ่านการ ตัดสินใจใหม่ทางการเมืองเสมอ (ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบของระบอบการ ปกครองของไทยนั่นเอง) และการเลือกที่จะใช้กำลังเข้าจัดการกับปัญหานี้แทนการกลับมาสู่วิถีทางแก้ ปัญหาตามระบบที่ควรจะเป็น จึงกลายเป็นว่า รัฐบาลยิ่งมัดปมขัดแย้งทางความคิดให้เขม็งเกลียว และบีบคั้นให้ข้อเสนอดังกล่าวแล่นไปสู่การตัดสินกันด้วยการใช้กำลังเข้า ประหัตประหาร ซึ่งในประเทศอารยะทั้งหลายล้วนเป็นวิธีการที่รัฐบาลที่มีคุณธรรมมักจะไม่ กระทำกัน

ด้วยเหตุนี้ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้คนไทยและสังคมไทยหันหน้ากลับมาหากันนั้น น่าสงสัยอยู่มากว่า รัฐบาลกำลัง “บังคับ” ให้คนไทยและสังคมไทยกลับมามีสันติภาพดังเดิมใช่หรือไม่ เพราะจากแนวทางการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ที่ปรากฏดูเสมือนว่า รัฐบาลเข้าใจไปแล้วว่าการมีสันติภาพแบบเดิม ๆ นั้นเป็นสาเหตุที่จะก่อผลคือความสมานฉันท์ของคนในสังคม และมีนัยไปในทำนองที่ว่า การมีสันติภาพเป็นสาเหตุที่โดดเดี่ยว ตัดขาดและไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นอื่นใดทั้งสิ้น แทนที่จะตระหนักให้ถ่องแท้ว่า สันติภาพนั้นมิใช่ “สาเหตุ” แต่สันติภาพนั้นเป็น “ผลโดยตรง” จากเหตุหลายประการ ก็ถ้ารัฐบาลเข้าใจกลับหัวเป็นหางเช่นนี้แล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตัดสินใจนำมาใช้และประกาศเป็นการทั่วไปแก่สาธารณชน นั้น จะนับได้หรือว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว

 

2.สันติภาพแห่งเสรีไทย : คุณค่าที่อนุชนรุ่นหลังพึงสืบสาน

ในโอกาสวันสำคัญซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ กล่าวคือ วันที่ 16 สิงหาคม 2553 ซึ่งถ้านับจากวันประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 เป็นต้นมา ก็นับเป็นเวลา 65 ปีมาแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า เราอาจจะต้องมาพิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า สันติภาพที่ได้มาในทางเอกราชและอธิปไตยของชาติโดยขบวนการเสรีไทยในเวลานั้น มีคุณค่าที่พึงตระหนักและที่อนุชนพึงสืบสานได้ในลักษณะใดบ้าง

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี การปฏิบัติงานเสี่ยงภัยในระดับเอาชีวิตเข้าแลกของพลพรรคในขบวนการเสรีไทยที่มี “รู้ธ” เป็นผู้นำนั้น นับได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ต้องอาศัยระยะเวลา การวางแผนทางยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน ความอดกลั้นอดทน วินัยของสมาชิกที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งความลับแม้บางครั้งจะต้องแลกด้วยชีวิต ฯลฯ  ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การผลักดันและขจัดอิทธิพลทั้งหลายทั้งปวงของผู้รุกรานออกไปจาก แผ่นดินไทย อีกทั้งเพื่อประสานและบูรณะสัมพันธภาพที่เคยมีก่อนการประกาศสงครามของรัฐบาล ไทยในขณะนั้นกับฝ่ายสัมพันธมิตร การทั้งปวงนี้จึงเป็นการวมสมาชิกเสรีไทยทุกคนและทุกสายเข้าเป็นน้ำหนึ่งใจ เดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวยิ่ง ผลสำเร็จในการปฏิบัติงานสำคัญของชาตินี้ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้แถลงอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะแล้ว ว่า เป็นงานเพื่อการรับใช้ชาติด้วยกันทั้งสิ้นทุกฝ่าย มีข้อที่น่าสังเกตด้วยว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเช่นนี้ย่อมเป็นพลังในตัวมันเอง ขบวนการเสรีไทยหาใช่เกิดจากการนำโดยใช้อำนาจ กลยุทธ์ หรือกุศโลบายใด ๆ แต่เกิดจากแรงขับภายในอันเกิดจากความสมัครใจและเจตจำนงของสมาชิกทั้งหลายที่ มีความมุ่งประสงค์เป็นหนึ่งเดียวที่จะรับใช้ชาติ ภายใต้การนำที่มีภารกิจในอันที่จะประสานทุกฝ่ายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และในความเห็นผู้เขียนแล้ว คงหาไม่ได้ง่ายเท่าใดนักในประวัติศาสตร์ของไทยที่ดวงใจของคนไทยทั้งหลายจะ หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อปฏิบัติการกู้ชาติครั้งสำคัญนี้

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลสำเร็จและคุณูปการของขบวนการเสรีไทยในเรื่องนี้คือ การนำสันติภาพกลับคืนสู่ประเทศ แน่นอนว่า สิ่งนี้คือความมุ่งประสงค์สุดท้ายแห่งการปฏิบัติหน้าที่ของเสรีไทย นี่คือภาวะสันติภาพที่จำเป็นเร่งด่วนและเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น หากกล่าวโดยรวบรัดก็คือ ภารกิจของขบวนการเสรีไทยที่ก่อตัว ดำเนินไปและปิดฉากลงแล้วได้กลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ หากเราพิจารณาความหมายของสันติภาพดังเช่นที่สาธารณะเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไป ก็ย่อมหมายความว่า สันติภาพกลับคืนสู่แผ่นดินไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วพร้อม ๆ กับการออกประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หากเป็นเช่นนี้ หน้าที่ของอนุชนรุ่นหลังก็คงจะมีเพียงการจัดงานย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง อาจจะเป็นการจัดงานเพื่อยกย่องเชิดชูตัวบุคคลบ้าง กลุ่มบุคคลบ้าง งานเหล่านี้เองในแง่หนึ่ง เราคงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญในตัวของงานได้ แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว เจตจำนงสันติภาพแห่งเสรีไทยเป็นสันติภาพที่เสร็จสิ้นในตัวของมันเอง แล้วกระนั้นหรือ เป็นเจตจำนงที่ปิดฉากตนเองลงพร้อม ๆ กับการประกาศสันติภาพจริงหรือ หากคำตอบคือ ใช่ ผู้เขียนก็เห็นว่า ถ้าเช่นนั้นวันสันติภาพก็เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์โบราณแห่งหนึ่งที่มุ่งเก็บและ สงวนเอาไว้เพียงความทรงจำในอดีตเท่านั้น

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเทียบเคียงกับวาระการจัดรัฐพิธีงานหนึ่งในทวีปยุโรปที่มี วัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันกับวันสันติภาพของไทย กล่าวคือ งานที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.2004  (พ.ศ. 2547) ในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการยกพลขึ้นบกของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ชายหาดนอร์มองดี [1] กล่าวได้ว่า งานนี้เป็นรัฐพิธีขนาดใหญ่ที่มีผู้นำของสหรัฐอเมริกา ผู้นำและประมุขของประเทศยุโรปที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าร่วม งานอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งขณะนั้น ผู้เขียนยังศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและได้ติดตามการจัดรัฐพิธีนี้อย่าง ใกล้ชิด อนึ่ง แม้การจัดงานและความประสงค์ของทุกฝ่ายนั้น จะมุ่งย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตและยังเป็นโอกาสพิเศษในการมาร่วมพบปะ สังสรรค์ของบรรดาทหารผ่านศึกบางนายที่ยังมีชีวิตอยู่และได้ร่วมในเหตุการณ์ จริงด้วยก็ตาม (ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับนายทหารบางนายที่เข้าร่วมการจัดงานครั้งนี้อาจจะไม่ เป็นวาระพิเศษแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจเป็นโอกาสสุดท้ายในชีวิตของนายทหารท่านเหล่านั้นก็เป็นได้) แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ต่างปรารถนาตรง กัน ได้แก่ การนำเหตุการณ์สำคัญในอดีตนี้มาพินิจพิจารณา เพื่อเน้นย้ำและมองไปยังอนาคตของอนุชนรุ่นใหม่และพยายามให้ภาพที่พึงประสงค์ โดยต่างคาดหมายถึงเส้นทางในอนาคตที่มนุษย์ไม่ว่ากลุ่มชนหรือเชื้อชาติใดบน โลกควรจะก้าวเดินไปอย่างมั่นคงบนเส้นทางแห่งสันติภาพ [2] 

ในทำนองเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาวันสันติภาพของไทย เจตจำนงสันติภาพแห่งเสรีไทยก็พึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาสำรวจตรวจสอบและสืบ สานโดยอนุชนรุ่นต่อไปเช่นกัน หากไม่ต้องการให้คุณค่าแห่งสันติภาพกลายเป็นเพียงสิ่งเก่าเก็บ ทั้งนี้ เรายังจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุว่าในปัจจุบัน สถานการณ์สงครามในดินแดนต่าง ๆ และที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยต่างค่อย ๆ ลดความเข้มข้นและความถี่ลงทุกขณะ และที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็ดูจะมีโอกาสไม่มากนัก ดังนั้น คำว่า “สันติภาพ” ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงอาจต้องเข้าใจในมิติที่แตกต่างออ
 

 

[1] การปฏิบัติภารกิจยกพลขึ้นบกในครั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ยุโรปถือกันว่า เป็นการเริ่มปลดปล่อยดินแดนในทวีปยุโรปให้พ้นจากอำนาจของกองทัพนาซีเยอรมัน และยังเป็นจุดเริ่มแห่งการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมาด้วย.

[2] ในพิธีเปิดงาน เมื่อประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ในขณะนั้นคือ ฯพณฯ นายจ๊าคส์ ชีรัค) กล่าวสุนทรพจน์ช่วงต้นเพื่อเป็นการระลึกถึงทหารทั้งหลายที่มาจากประเทศต่าง ๆ และเข้าร่วมการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้แล้ว ได้กล่าวต่อด้วยว่า “แต่ทว่า จะมิได้มีสิ่งใด – อีกทั้งจะไม่มีความบ้าคลั่งใดอันยิ่งไปกว่านี้ ที่จะหยุดย่างก้าวอันมุ่งไปสู่เสรีภาพได้อีก บัดนี้ จะเป็นย่างก้าวที่มุ่งสู่สันติภาพ และจะไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดระเบียบใหม่ระหว่างประเทศในการอยู่ร่วมกัน อันเป็นระเบียบที่ก่อร่างขึ้นบนความเคารพต่อมนุษยชาติและความเคารพต่อกฎหมาย เป็นระเบียบที่เป็นฐานรองรับแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรมและประชาธิปไตย นี่คือระเบียบซึ่งยังคงเป็นจิตวิญญาณและได้รับการประกันไว้ด้วยกฎบัตรแห่งสห ประชาชาติในเวลานี้ ... เมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายอันติดตามมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบน โลก ขอให้พวกเราทั้งหลายคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นศรัทธาในมรดกชิ้นนี้ กล่าวคือ การอุทิศชีวิตเลือดเนื้อและสารที่ชนรุ่นบิดาของพวกเราได้มอบไว้ให้ ขอให้พวกเรามุ่งมั่นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสาระสำคัญแห่งคุณค่าในความเป็น มนุษย์ที่พึงเคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งเคารพซึ่งความยุติธรรม การแลกเปลี่ยนทัศนะและความเห็นระหว่างกัน อีกทั้งการยอมรับความแตกต่างของกันและกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดหมายปลายทางที่ชนรุ่นบิดาของพวกเราได้อุทิศแล้วซึ่ง ชีวิตเลือดเนื้อเพื่อให้ได้มา ขอให้พวกเรามุ่งมั่นต่อสู้ร่วมกันในอันที่จะสร้างโลกแห่งเสรีภาพและความก้าว หน้าของลูกหลานแห่งเรา โลกซึ่งเคารพความหลากหลายของปัจเจกและความคิด ของวัฒนธรรมต่าง ๆ และของประชาชาติทั้งปวง และด้วยมรดกชิ้นสำคัญนี้ หน้าที่อันสำคัญนี้นี่เองที่เราได้มาร่วมกันรำลึกถึงในวันนี้ เนื่องจากพวกเราคืออนุชนผู้พิทักษ์และสืบทอดมรดกเหล่านี้ ...”    แปล จาก สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสรัฐพิธีรำลึกครบรอบ 60 ปีแห่งการปฏิบัติการทางทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ณ เมืองอาร์โรมงช์ แคว้นนอร์มองดี (6 มิถุนายน 2004) ใน http://www.ambafrance-nl.org/france_paysbas/spip.php?article4602

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม้ความยุติธรรมจะมาสาย แต่ก็มาถึง

Posted: 17 Aug 2010 11:06 AM PDT

การดำเนินคดีต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดของโลกที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ส่งผลให้เกิดการขุดคุ้ยยุคผู้ก่อการร้าย ฆาตกรรม และการทรมาน คดีนี้เป็นคดีที่มีผลสะท้อนไปทั่วโลก

กลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย (the Mother of Plaza de Mayo) ในระหว่างการเดินขบวนรอบพลาซา เดอ มาโย ณ เมืองบัวโนส ไอเรส เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (ภาพโดย แอนโทนิโอ คาสทิโย)

 

มันคือการสิ้นสุดแห่งอภิสิทธิ์และกระบวนการปกป้องผู้กระทำผิด ในวันที่ 22 เมษายนปีนี้ นายพลเรนาลโด บิกโนเน (General Reynaldo Bignone) ประธานาธิบดีเผด็จการคนสุดท้ายของประเทศอาร์เจนตินาถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดี ลักพาตัว ทรมาน และฆาตกรรม ผู้ต่อต้านทางการเมืองจำนวน 56 ราย และจากจำนวนทั้งหมดนี้มีเหยื่อที่เป็นหญิงมีครรภ์อย่างน้อยสิบราย

การตัดสินครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นสิ่งที่เรียกว่า เมกาคอสซา (megacausa) —การดำเนินคดีครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกกันว่า สงครามสกปรก (Dirty War) บงการโดยเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาในยุค 2510 เมกาคอสซา นั้นมีความยิ่งใหญ่ตามชื่อเรียก เพราะประกอบด้วยการฟ้องร้องมากกว่าหนึ่งพันกรณี ต่อผู้ที่มีส่วนร่วมในการสังหารกลุ่มผู้ต่อต้านกว่า 30,000 ราย นับตั้งแต่การเริ่มต้นคดีนี้ในช่วงต้นปี 2552 มีการเบิกพยานจำนวนหลายพันรายไปให้การ

การดำเนินคดีมุ่งเน้นไปที่ศูนย์กักกันหลักที่เป็นที่รู้จักกันดีถึงชื่อเสียงความน่าสะพรึงกลัว ศูนย์กักกันถูกจัดตั้งโดยกลุ่มเผด็จการเพื่อใช้ในการสังหารผู้ต่อต้านทางการเมือง คดีที่ใหญ่ที่สุดใน เมกาคอสซา คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในที่สองแห่ง ได้แก่ โรงเรียนช่างกลทหารเรือ (The Navy Mechanic School) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของเอสมา (ESMA) และที่ แคมโป เดอ มาโย (Campo de Mayo) โดยสถานที่กักกันทั้งสองแห่งนั้นได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการก่อการร้ายโดยรัฐ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไปแล้ว

นายพลบิกโนเน—ผู้ซึ่งจะต้องใช้ชีวิตในอีก 25 ปีข้างหน้า ในห้องขังธรรมดาๆ ของคุกธรรมดาๆ - ถูกพิพากษาใน เมกาคอสซา ของแคมโป เดอ มาโย ในปี 2519 อดีตเผด็จการผู้นี้คือผู้บัญชาการค่ายแคมโป เดอ มาโย ในระหว่างช่วง สงครามสกปรก ค่ายแห่งนี้ได้แปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางการคุมขัง กักกัน ทรมาน และแดนประหาร ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

แคมโป เดอ มาโย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เอ็ล แคมปิโต (el campito) หรือ ค่ายน้อย ค่ายนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงบัวโนส ไอเรส ซึ่งเป็นเมืองหลวงออกไปประมาณ 26 กิโลเมตร แคมโป เดอ มาโย นับเป็นหนึ่งในค่ายกักกันจำนวน 339 ค่ายทั่วประเทศ ที่มีการปฏิบัติการโดยไม่มีต้องรับผิด ผู้ต่อต้านรัฐกว่า 5,000 คนเคยผ่านเข้าประตูค่ายนี้ น้อยคนนักที่จะได้กลับออกมาอีกหนึ่งในจำนวนนี้คือ ฟลอรีล อาวียาเนดา (Floreal Avellaneda) ผู้มีอายุ 15 ปี เขาเป็นที่รู้จักกันในนามของ เอ็ล เนกริโต (el negrito) หรือ ดำน้อย

ฟลอรีล อาวียาเนดา

การสังหารฟลอรีล อาวียาเนดา เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนมากมาย แต่กรณีของเขาก่อให้เกิดสั่นสะเทือนอารมณ์กับเพื่อนร่วมชาวอาร์เจนตินา หนุ่มน้อยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อาร์เจนตินา (Argentine Communist Party) ผู้นี้ ได้ถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 และถูกนำตัวไปยังแคมโป เดอ มาโย ที่ซึ่งเขาได้รับการทรมานจนถึงแก่ชีวิต ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ร่างไร้ชีวิตที่ถูกทำทารุณกรรมของเขาปรากฏอยู่แถบชายฝั่งอุรุกวัย ประเทศเพื่อนบ้าน อาชญากรรมในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก 40 กรณีที่เกิดขึ้นที่ แคมโป เดอ มาโย กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการส่งฟ้อง

ในวันที่ 20 กันยายน จะมีการเปิดการพิจารณาคดีใหม่เมื่อ เมกาคอสซา ต้องตรวจสอบเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามสกปรก—นั่นคือกรณีที่เด็กอ่อนที่มาเกิดในค่ายกักกันนั้นถูกรับไปเลี้ยงโดยครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจในการปกครอง ซึ่งเท่ากับว่า เด็ก ได้กลายเป็นสินค้าจากสงคราม

นายพล ราฟาเอล วิเดลา

ผู้ที่จะถูกดำเนินคดีเป็นรายแรกคือ อดีตนายพลเผด็จการ ราฟาเอล วิเดลา (General Rafael Videla) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าลักพาเด็กอ่อน 30 รายที่เป็นลูกของหญิงนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเอสมา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความคุ้มครองที่นายพลวิเดลา ได้รับจากอดีตประธานาธิบดีทุจริตคาร์ลอส เมเน็ม (Carlos Menem) ได้ถูกประกาศให้เป็นความคุ้มครองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

เอสมา ก็คล้ายกับค่ายกักกันอื่นๆ ที่มีแผนกทำคลอด ซึ่งเป็นที่คลอดลูกของหญิงนักโทษการเมือง โดยทั่วไปหญิงเหล่านี้จะถูกเก็บไว้แค่พอมีลมหายใจ – ขณะที่ต้องเผชิญกับการทรมานที่มีแพทย์ดูแล - จนกระทั่งคลอดลูก จากนั้นจะถูกประหาร และเด็กอ่อนจะถูกส่งมอบให้กับครอบครัวเพื่อนำไปเลี้ยง ครอบครัวเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของทหาร หรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารที่มีอำนาจในการปกครอง

ความคิดในการพรากลูกของนักโทษการเมืองที่ถูกสังหารนั้นดูเหมือนจะมีที่มาจากนายพลเผด็จการ ฟรังโก (General Franco) ของประเทศสเปน ช่วงระหว่างการครองอำนาจของที่นายพลผู้นี้เด็กแรกเกิดจำนวนนับพันถูกพรากจากมารดาซึ่งเป็นผู้ต่อต้านทางการเมือง เพื่อนำไปฝึกฝนและสร้างสังคมใหม่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างสงครามสกปรกของอาร์เจนตินา เด็กแรกเกิดจำนวนกว่า 500 คนถูกพรากจากมารดาไปในลักษณะเช่นนี้ กลุ่มคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย (Grandmother of Plaza de Mayo) ได้ติดตามเด็ก 240 คนและเด็ก100 คนจากจำนวนนี้ได้ค้นพบชาติกำเนิดที่แท้จริงของตน โดยในปัจจุบันเด็กเหล่านี้มีอายุอยู่ในวัยยี่สิบ จนถึงสามสิบกลางๆ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้คนเหล่านี้ค้นพบที่มาของตนก็คือ ธนาคารข้อมูลพันธุกรรมแห่งชาติ (National Genetic Data Bank) ที่สร้างขึ้นมาในปี 2520 เพื่อสร้างฐานข้อมูล ดีเอ็นเอ ให้กับครอบครัวที่ถูกพรากลูกไป ธนาคารข้อมูลแห่งนี้มีตัวอย่างเลือดที่ได้มาจากครอบครัวของผู้คนที่ถูกทรมานและสังหาร

ไม่นานมานี้ การค้นหาเด็กอ่อนที่ถูกพรากไปได้รับการสนับสนุนครั้งใหญ่เมื่อมีการผ่านร่างกฏหมายซึ่งอนุญาตให้ดำเนินการตรวจตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ที่อาจเป็นลูกของผู้สูญหาย บรรดาคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย—ผู้ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้มีการใช้กฏหมายนี้ - มีพันธมิตรสำคัญคือประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นานเดซ (Cristina Fernández) ผู้กล่าวว่า “การหาลูกหลานจนพบ ถือเป็นชัยชนะสำหรับหลักนิติรัฐ”

คดีเหล่านี้โยงใยไปถึงกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอาร์เจนตินาด้วยเช่นกัน เออร์เนสตินา เฮอเรอรา เดอ โนเบิล (Ernestina Herrera de Noble) ซึ่งเป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทคลาแรง (Clarin) บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสื่อนานาชนิด ถูกกล่าวหาว่าได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้วยความกรุณาจากนายพลวิเดลา ทั้งยังถูกกล่าวหาจากกลุ่มนักสิทธิมุษยชนและคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย ว่า เออร์เนสตินา เฮอเรอรา เดอ โนเบิลได้ลูกบุญธรรมทั้งสองของเธอมาอย่างไม่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยกลุ่มคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย เชื่อว่าเด็กทั้งสองที่กล่าวมานี้เกิดในค่ายกักกันเมื่อสามสิบสี่ปีที่แล้ว

นายพลเรนาลโด บิกโนเน

เมกาคอสซา ของอาร์เจนตินาแผ่ไปสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากศาลยุติธรรมอันใหญ่โตน่าเกรงขามในกรุงบัวโนส ไอเรส ไปจนถึงสถานที่อันสมถะอย่างศาลท้องถิ่น ในหลายกรณี การดำเนินคดีได้ถูกจัดขึ้นในสนามกีฬาเทศบาลที่เปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นศาล โดยสถานที่ที่ใช้เป็นศาลเพื่อดำเนินคดีกับนายพลเรนาลโด บิกโนเน ก็คือ สนามกีฬาโพลิเดอพอร์ติโว ของ เทศบาล ฟลอริดา โอเอสเต (Polideportivo Municipal Florida Oeste) —และที่นั่นคือสถานที่ที่คณะผู้พิพากษาศาลอาญาแห่งชาติ หมายเลขหนึ่ง แห่ง ซานมาร์ติน (Federal Criminal Oral Tribunal No 1 of San Martin) อ่านคำพิพากษาตัดสินนายพลเรนาลโด บิกโนเน

เมื่อพฤศจิกายนที่แล้ว ผมได้ไปอยู่ในที่ที่บิกโนเนและเจ้าหน้าที่อีกหกคนเดินทางมาถึงในวันแรกของการดำเนินคดี ผมจำเขาได้ดี—ความรู้สึกตึงเครียด ตาคู่เล็กๆ และกลิ่นไอแห่งความไม่สะทกสะท้าน หรืออาจจะเป็นความรู้สึกว่าเขาเหนือกว่าผู้อื่นที่นายพลบิกโนเนมี ช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยความไม่แน่ใจของเหล่าญาติมิตรคคของเหยื่อ ที่ในแต่ละวันต่างตั้งอกตั้งใจมารวมตัวกันในมุมหนึ่งของสนามกีฬาโพลิเดอพอร์ติโว คดีนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหกเดือนจนกระทั่งมีการพิพากษาตัดสินนายพลบิกโนเน เวลานั้นเป็นเป็นเวลาที่ครอบครัวตระหนักว่าสุดท้ายแล้วความยุติธรรมก็เกิดขึ้น ดังที่เอสเตลา เดอ คาร์ลอตโต (Estela de Carlotto) คุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย ผู้ต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกล่าวว่า “แม้ความยุติธรรมจะมาสาย แต่ก็มาถึง”

เผด็จการทหารมักชอบใช้คำกล่าวสวยหรู ซึ่งเผด็จการอาร์เจนตินาก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มยกเว้นจากลักษณะที่กล่าวมา พวกเขาเรียกระบอบเผด็จการอันโหดร้ายนี้ว่า กระบวนการปฏิรูปประเทศ” (National Reorganisation Process) ซึ่งแท้จริงแล้วคือการสังหารหมู่อย่างทารุณ คือ“กระบวนการ”เปลี่ยนอาร์เจนตินาให้เป็นรัฐก่อการร้าย ที่ฝังภาพฝันร้ายของ เอล เดสแอปาเรซิโด (el desaparecido) หรือ บุคคลสูญหาย ลึกลงไปในจินตนาการของชาวอาร์เจนตินา ผู้ละเมิดมักกล่าวอ้างว่า บุคคลสูญหายไม่มีปรากฏ ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในปัจจุบัน การทำให้คนหายไปเป็นวิธีการในการหลบเลี่ยงการถูกลงโทษ เพราะเชื่อกันว่าญาติจะไม่สามารถดำเนินคดีตามกฏหมายได้หากไม่พบศพของผู้สูญหาย เมื่อหาศพไม่พบ ก็เหมือนไม่มีการก่ออาชญากรรม

แต่ในที่สุดวิธีการแบบนี้ก็ยังล้มเหลว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบร่างของผู้เสียชีวิต และมีการดำเนินการค้นหาว่าเขาเหล่านั้นคือใคร ผู้มีส่วนสำคัญในการนี้คือกลุ่มนักมานุษยวิทยานิติเวชของอาร์เจนตินาที่ขุดค้นเหยื่อนิรนามเหล่านี้จากที่ศพถูกฝังไว้อย่างลับๆ และดำเนินการหาตัวตนของเหยื่อความบ้าคลั่งของทหาร ซึ่งมีจำนวนนับพันอย่างยากลำบาก

ตั้งแต่ เมกาคอสซา ได้เริ่มขึ้น ทหารจำนวน 114 นาย ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของระบบยุติธรรม การดำเนินคดีต่อผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการตัดสินใจสำคัญที่ประกาศยกเลิก "Law of Due Obedience" และ "Law of Full Stop" ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตัว [กฏหมายนี้มีสาระสำคัญคือการยับยั้งมิให้ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาได้--ผู้แปล]

กฏหมายเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ในปี 2530 โดยประธานาธิบดีราอูล อัลฟอนซิน (Raúl Alfonsín) ผู้นำคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังยุคเผด็จการทหารครองอำนาจ ประธานาธิบดีผู้นี้ต้องดำเนินนโยบายเพื่อนำอาร์เจนตินาไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างระมัดระวัง เพราะยังเกรงว่าประเทศจะถดถอยไปสู่สภาวะของการปกครองโดยทหารอีก การบังคับใช้ Law of Full Stop นั้นหมายถึงว่าจะมีผู้ละเมิดจำนวนนับร้อยที่ได้รับการละเว้นจากการถูกลงโทษ ในจำนวนนี้ หลายคนยังได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ว่าหลายคนกลายเป็นผู้วิกลจริต และจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ และทั้งพยานและผู้รอดชีวิตก็ได้เสียชีวิตไปในขณะที่รอให้มีการดำเนินคดี

ประธานาธิบดีคริสติน่า เฟอร์นานเด็ซ

นับตั้งแต่กระบวนการปกป้องผู้กระทำผิดสิ้นสุดลงในปี 2546 ได้มีการสอบสวนคนจำนวน 1500 คน รวมถึง พลเรือนผู้ร่วมมือกับเผด็จการทหาร ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทำให้ศาลพิจารณาคดี เมกาคอสซา ต้องทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน มีบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการพิจารณาคดีนี้—เช่นพระระดับสูงจากโบสถ์แคธอลิก เป็นต้น อ้างว่าการดำเนินคดีเหล่านี้ไม่เป็นผลดีกับบรรยากาศการปรองดอง—แต่ต้องยกความดีให้ประธานาธิบดีเฟอร์นานเด็ซ ที่ยังผลักดันให้มีการดำเนินการต่อไป

ความตั้งใจประธานาธิบดีเฟอร์นานเด็ซ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของเธอกับผู้นำประเทศละตินอเมริกาอื่นๆที่เลือกการนิรโทษกรรมแทนการลงโทษ เช่นในกรณีของประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา เดอ ซิลวา(Luiz Inácio Lula de Silva) แห่งประเทศบราซิลที่ยืนตามคำตัดสินของศาลฎีกาที่กฏหมายนิรโทษกรรมงดเว้นการเอาผิดกับผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารระหว่างปี 2507-2528สำหรับญาติของเหยื่อผู้รับเคราะห์แล้ว การพิจารณาคดีดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า กอนซาโล คอนเต (Gonzalo Conte) แห่ง Organisation Memoria Abirerta (Open Memory) ให้ความเห็นว่า “หากไม่มีการพิจารณาให้เร็วขึ้น กระบวนการยุติธรรมที่จะเอาผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาตัดสิน คงใช้เวลาสักสามทศวรรษ” ซึ่งก็เป็นจริงเพราะการพิจารณาคดีจะจบลงในปี 2573 หากยังดำเนินไปด้วยอัตราความเร็วเท่าที่เป็นอยู่

ข้อมูลของศูนย์สังคมและนิติศึกษา (Centre for Legal and Social Studies) ที่ตั้งอยู่ในกรุงบัวโนส ไอเรส ระบุว่า ผู้ละเมิดหลายสิบราย—ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายสูงวัย—เสียชีวิตลงไปก่อนถูกพิจารณาคดีในศาล และผู้ต้องสงสัยอีกประมาณ 230 รายเสียชีวิตลงขณะอยู่ในระหว่างการสืบสวนและการการดำเนินการที่เชื่องช้า ทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักสิทธิมนุษยชนของอาร์เจนตินา และญาติของเหยื่อ ที่ให้คณะผู้พิพากษาดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างรวดเร็ว

มีการชี้นิ้วกล่าวหาระบบตุลาการ ว่าผู้พิพากษาขาดเชี่ยวชาญ—หรือมีสัญญานที่คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า เป็นการสมรู้รวมคิดของระบบศาลยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น—ซึ่งเห็นได้จากความไม่เต็มใจในการสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หนังสือพิมพ์ชื่อดัง พาจินา โดเซ (P`agina/12) ลงข่าวว่าผู้พิพากษาหลายคนกำลังถูกสอบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นช่วงรัฐบาลเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม การสงวนท่าทีที่เกิดขึ้นในระบบกระบวนการยุติธรรม ต้องจำนนต่อเสียงเรียกร้องอยากอึกทึกครึกโครมที่มาจากเหล่าบรรดาหญิงชราที่เป็นสมาชิกของกลุ่มคุณยายแห่ง พลาซา เดอ มาโย และภาคีของกลุ่ม คือกลุ่มแม่แห่ง พลาซา เดอ มาโย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมกาคอสซา นั้นเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพวกเธอ

จากสวนอันร่วงโรยของพลาซา เดอ มาโย—จตุรัสซึ่งอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ในกรุง บัวโนส ไอเรส—แม่และยายที่ไม่เคยให้การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาถูกลืม หรือได้รับการให้อภัย หญิงเหล่านี้คือผู้โพกผ้าสีขาวที่ปักชื่อของบุคคลอันเป็นที่รักของตนไว้บนศรีษะเป็นดังเช่นสัญญลักษณ์สากลของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน กว่าสามสิบปีที่พวกเธอได้ถือป้ายทำมือที่มีรูปขาว-ดำคร่ำคร่าของลูกชาย ลูกสาว สามี ภรรยา ผู้สูญหาย แต่ไม่เคยถูกลืม

เสียงเรียกร้องของเหล่าแม่และยาย ที่ผลักดันเรียกร้องอย่างไม่ท้อถอย ว่า Los desaparecidos, que digan donde est`an! ผู้สูญหาย บอกเราว่าเจ้าอยู่ที่ใด! –เสียงเรียกนี้ดังไปทุกห้องพิจารณาคดีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เมกาคอสซา ค่อยๆปรากฏขึ้นมา

เมื่อปีที่ผ่านมา ในวันที่อากาศอบอุ่นของเดือนธันวาคม ผมเห็นภาพหญิงกลุ่มนี้เดินเข้ามาในศาลพร้อมป้ายทำมือของพวกเธอ ในวันแรกของการพิจารณาคดี เมกาคอสซา ที่เกิดขึ้นในเอสมา ที่ซึ่งบุคลากรจากกองทัพจำนวนสิบเก้านายถูกไต่สวนคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การไต่สวนเริ่มขึ้นในเวลาเที่ยงวัน ช้ากว่ากำหนดการถึงสองชั่วโมง จำเลยสิบเก้าคนที่ถูกใส่กุญแจมือ เดินเข้ามาในศาลเพื่อรับฟังข้อหา การมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การทำทารุณกรรม สูญหาย และสังหารประชาชนจำนวนแปดสิบเก้าคน ในการนี้พยานกว่า 300 คนถูกเบิกตัวเพื่อมาให้การ

มีการประมาณการว่าผู้คนกว่า 5,000 คนถูกส่งเข้ามายังเอสมา มีไม่ถึง 200 คนรอดชีวิตออกไป ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งคือ เอ็นริเก ฟุกมาน (Enrique Fukman) ผู้เป็นสมาชิกของสมาคมอดีตผู้ถูกคุมขังและสูญหาย (the Association of Former Detainees and Missing People) “ผมถูกจับไปตอนเที่ยงวันเสาร์” เขาระลึกถึงเหตุการณ์ที่ถูกจับ การทรมานและการสอบสวนก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีที่เขาถูกโยนเข้าไปในรถ “ผมทำเป็นไม่รู้เรื่อง และเขาก็เริ่มใช้บุหรี่จี้ผม”ฟุกมานกล่าวด้วยเสียงที่สงบและหนักแน่น เขาถูกนำตัวไปยังเอสมา มีการปิดตาและใส่กุญแจมือเขาในขณะที่ถูกนำตัวลงไปที่ชั้นใต้ดิน เขาถูกเปลื้องผ้าออกและตรึงเข้ากับที่นอนโลหะ ที่ซึ่งเขาถูกทิ่มแทงและทรมานด้วยปฏักไฟฟ้า “นั่นเป็นวิธีการที่เอสมา ต้อนรับผม” เขากล่าว

 เอสมา เป็นหนึ่งในห้าสถานควบคุมที่ใหญ่ที่สุด ที่กลายเป็นแกนหลักของปฏิบัติการก่อการร้ายโดยรัฐ แต่ละที่มีชื่อที่ฟังดูไม่มีพิษภัย แต่ซ่อนความน่าสะพรึงกลัวเอาไว้ อย่างเช่น กรีฑาสโมสร ของเมือง บัวโนส ไอเรส (the Athletic Club) แคมโป เดอ มาโย (Campo de Mayo) เดอะ เพิร์ลา (the Perla) หรือ ไข่มุก ที่อยู่ในคอร์โดบา (Córdoba) และ เวซูบิโอ (Vesubio) โดยที่เวซูบิโอ จะมีป้ายแขวนไว้หน้าทางเข้าห้องทัณฑกรรมว่า si lo sabe cante, si no aguante ซึ่งมีความหมายว่า หากรู้จัก จงร้องออกมา ถ้าไม่อย่างนั้นก็จงทนรับความเจ็บปวด!

เอสมา ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงบัวโนส ไอเรส ในปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ผมเดินผ่านโถงทางเดิน ผ่านห้องอาหาร ไปยังชั้นใต้ดิน และที่นั่น สุดปลายทางคือ ห้องหมายเลข 12 13 และ14 ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่ง วัน อาทิตย์ และเดือนแห่งความโหดร้ายทารุณในนรก

คดีเมกาคอสซา ของเอสมา บางคดีเป็นที่รู้จักกันดี หนึ่งในนั้นคือกรณีของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ โรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) เขาถูกลักพาตัวหลังจากที่เขียนจดหมายวิพากษ์ถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร ครั้งสุดท้ายที่มีผู้เห็นวอลช์ขณะมีชีวิต คือตอนที่เขาอยู่ในเอสมา กรณีอื่นๆประกอบด้วยการหายตัวไปของหญิงผู้ก่อตั้งขบานการแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย สามคน—ได้แก่ อซูเซนา วิลลาโฟลร์ (Azucena Villaflor) มาริอา พอนเช (María Ponce) และเอสเธอ บาลเลสทริโน (Esther Ballestrino) —และการฆาตกรรมแม่ชีแคธอลิกชาวฝรั่งเศสชื่อ เอลิซ โดมง (Alice Domon) และเลโอนี ดูเกต์ (Leonie Douquet) ร่างของแม่ชีทั้งสองถูกพบในหลุมศพนิรนามที่มีป้าย “เอ็น เอ็น” (no name) ในสุสาน

เอสมามีผู้บัญชาการคือจอมพลเอ็ดดูอาร์โด มาซเซรา (Admiral Eduardo Massera) ผู้ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของสงครามสกปรก มาซเซราเป็นสมาชิกรัฐบาลทหารเผด็จการทหารชุดแรกที่ปกครองอาร์เจนตินาหลังการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองในปี 2519/1976 จากประธานาธิบดี มาเรีย เอสเตลา เดอ เปรอง (María Estela de Perón) มาซเซราถูกตั้งข้อหาทำทารุณกรรม ฆาตกรรม และลักพาตัวเด็กแรกเกิด ขณะที่มารดาอยู่ในระหว่างการถูกคุมขัง แม้ว่าข้อหาที่มาซเซราได้รับจะมีความรุนแรงมาก แต่เขาก็จะไม่ถูกดำเนินคดี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แพทย์หกคนวินิจฉัยว่าเขาไม่อยู่ในสภาพที่จะถูกดำเนินคดีหรือถูกไต่สวนได้เนื่องจากมีปัญหาสมองเสื่อมจากความชราภาพ—ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่นายพลเผด็จการชาวชิลี ออกุสตุส พิโนเช (General Augusto Pinochet) ผู้เสียชีวิตด้วยโรคชราในบ้านพักของตนเอง ใช้เป็นข้ออ้าง

แม้ว่ามาซเซราจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็มีความคืบหน้าในกรณีของเอสมา นาวาเอกจอร์จ ไทเกอร์” อคอสตา (Captain Jorge “Tiger” Acosta) ผู้เป็นหนึ่งในนายทหารสำคัญที่เป็นผู้บริหารค่าย ที่ยอมรับว่า “ผู้คนถูกคุมขัง” และมีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นที่นั่น อคอสตายังยอมรับว่า “ความผิดพลาด” ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่เอสมา คือการที่—“นักโทษไม่ควรจะได้ออกไปทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่” เขากล่าว ทหารระดับสูงในสายการบัญชาที่เอสมาอีกผู้หนึ่งคือนาวาเอกอัลเฟรโด แอสทิสซ์ (Captain Alfredo Astiz) ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ฑูตมรณะผมสีบลอนด์” ภาพลักษณ์แบบอารยันของเขาทำให้แอสทิสซ์ดูเหมือนนาซีจากค่ายกักกันชาวยิว เขาทรมานผู้คนนับร้อย

ในช่วงทศวรรษ 2510 ขณะที่แอสทิสซ์ยังอยู่ในช่วงอายุยี่สิบ เขาแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย ซึ่งเป็นการกระทำที่นำไปสู่การการหายตัวไปของของหญิงสามคนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งขบานการแม่แห่งพลาซา เดอ มาโย และแม่ชีแคธอลิกสองคน เขายังเป็นผู้รับผิดชอบในลักพาตัว ทรมาน ที่นำไปสู่การสังหารวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปีชาวสวีเดนชื่อ แดกมาร์ ฮาเกลิน (Dagmar Hagelin)

ในการให้สัมภาษณ์ของเขา แอสทิสซ์ผู้ซึ่งมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม โอ้อวดว่าตนเองเป็น บุคคลที่มีความพร้อมที่สุดด้านเทคนิคในการฆ่านักการเมืองและสื่อมวลชน”—แอสทิสซ์เป็นคนขลาด ในเดือนเมษายน 2525/1982 ช่วงสงครามเกาะฟอล์คแลนด์ (Falklands) เขายอมยกธงขาวให้กับกองกำลังขนาดเล็กของอังกฤษโดยมิได้ยิงปืนต่อสู้ออกไปแม้สักนัดเดียว ภาพเดียวที่แสดงให้เห็นว่าเขาประจันหน้ากับกองทัพนั้น คือภาพที่แอสทิสซ์ลงนามยอมแพ้อังกฤษ อย่างไม่มีเงื่อนไข อยู่บนเรือหลวงพลิมัธ (HMS Plymouth)

การกระทำทารุณกรรมที่เอสมาเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเหยื่อนับร้อย หากไม่ใช่นับพัน บรรทุกใส่เครื่องบินและนำไปทิ้งทะเลหรือที่แม่น้ำ ริโอ เดอ ลา พลาตา (Río de la Plata) อันกว้างใหญ่ ในขณะที่ถูกนำไปทิ้งนั้นเหยื่อส่วนใหญ่ยังมมีชีวิตอยู่ แต่ถูกมอมยา และมัดมือเอาไว้

อดีตนักบินทหารเรือ ฮูลิโอ อัลแบร์โต พ็อค (Julio Alberto Poch) เป็นหนึ่งในจำนวนที่ถูกชี้ตัวและตั้งข้อหามีความเกี่ยวข้องกับเที่ยวบินมรณะ หลังจากที่ถูกจับในสเปน ก็ถูกเนรเทศและส่งตัวกลับอาร์เจนตินาเมื่อปีที่แล้ว ก่อนถูกจับกุม พ็อคเป็นนักบินให้กับสายการบินพาณิชย์ดัทช์ชื่อทรานซาเวีย (Transavia) หลังจากถูกจับผู้ร่วมงานจากสายการบินเดียวกันกับเขาให้การว่าพ็อคเคยอวดอ้างถึงการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการเที่ยวบินมรณะ ขณะนี้พ็อคอยู่ในระหว่างการไต่สวนคดีเอสมา

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามคลื่นแห่งความยุติธรรมที่เคลื่อนตัวผ่านอาร์เจนตินาให้ทัน เมื่อเดือนที่ผ่านมาคณะตุลาการเริ่มต้นไต่สวนคดีเกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ออโตโมโตเรส ออร์เล็ตติ (Automotores Orletti) ที่เคยเป็นอู่ซ่อมรถและถูกปรับให้เป็นฐานในการปฏิบัติการคอนดอร์ (Operation Condor) ในช่วงสงครามสกปรก โดยปฏิบัติการนี้เป็นปฏิบัติการร่วมนานาชาติเพื่อปราบปรามทางการเมืองและปฏิบัติการด้านข่าวกรองที่จัดตั้งโดยกลุ่มเผด็จการทหารที่ปกครองในส่วนใต้ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

อดีตอู่ซ่อมรถแห่งนี้มีชื่อที่เรียกกันเล่นๆว่า “สวน” สถานที่แห่งนี้ได้ถูกแปลงให้เป็นศูนย์กลางการทรมาน และสังหารอย่างเป็นระบบ เชื่อกันว่ามีนักโทษการเมืองประมาณกว่า 200 คนที่เคยผ่านเข้ามายังที่แห่งนี้ และก็ไม่ใช่แค่นักโทษจากอาร์เจนตินาเท่านั้น แต่ยังมีชาวชิลี อุรุกวัย ปารากวัย โบลิเวีย คิวบา อดีตนายทหารและเจ้าหน้าหน่วยราชการลับหกนายถูกแจ้งข้อหาลักพาตัว ทำทารุณกรรม และฆาตกรรม จำนวน 65 ราย

เมกาคอสซา ไม่ใช่เพียงแค่การดำเนินคดีเพื่อนำตัวคนผิดมารับโทษ แต่ยังเป็นการหาความจริงอย่างเป็นทางการให้กับประเทศอีกด้วย ในทางสัญญลักษณ์ มันคือเครื่องเตือนใจถึง คำปฏิญาณของชาวอาร์เจนตินาว่า นันคา ฮามาส (nunca jamás) – ซึ่งหมายถึงว่า ไม่มีวันอีกแล้ว ที่ประเทศนี้จะต้องมาไว้อาลัยและโศกเศร้าถึงอาชญากรรมต่อผู้ไม่มีทางสู้ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเด็ก

คำปฏิญาณนี้เป็นสิ่งเตือนใจถึงคำของสื่อมวลชนชาวอเมริกัน ซิดนีย์ เอช ชานเบิร์ก (Sydney H. Schanberg) ซึ่งกล่าวถึงสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาว่า “แม้ว่าจะเป็นเรื่องทรมานใจที่เราจะต้องมาคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิตอายุน้อยเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมีการบอกเล่าต่อกันไป ให้ตรงกับความจริงให้มากที่สุด และส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ในการรับรู้เรื่องราวเช่นนั้นจะทำให้พวกเราที่เหลือไม่สามารถแกล้งฝืนว่า ความชั่วร้ายนั้นเป็นสิ่งยากที่จะหาพบบได้ในโลกใบนี้ หรือที่ร้ายยิ่งกว่า คือมันเป็นเพียงแค่การจินตนาการ

ปีนี้ครบรอบ 200 ปีที่อาร์เจนตินามีอิสรภาพจากสเปน กระนั้นเงามืดที่เป็นผลจากความทารุณโหดร้ายของสงครามสกปรกยังคงปกคลุมเหนือการเฉลิมฉลองครบ 200 ปีนี้ ปีนี้เป็นปีแห่ง เมกาคอสซา ปีที่ผู้มีส่วนในอาชญากรรมที่จัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อ สังหารหมู่ ต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคล กับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เขาเหล่านั้นได้ก่อไว้ เวลาได้ผ่านเลยไปกว่าสามสิบปีหลังยุคเผด็จการเรืองอำนาจ เป็นยุคที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์เจนตินา และ เมกาคอสซา ซึ่งเป็นการดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดในโลก คือความพยามที่จะปิดฉากยุคนั้นลง เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย

 

ที่มา: แปลจาก Antonio Castillo, “Justice came late, but it came”, http://inside.org.au/justice-came-late-but-it-came/, 5 July 2010

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ: แอนโทนิโอ คาสทิโย เป็นสื่อมวลชนและอาจารย์ผู้สอนวิชาสื่อสารมวลชน ณ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่ผ่านมาคือ Journalism in the Chilean Transition to Democracy

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อนุพงษ์-ประยุทธ์" ลงใต้เยี่ยมชาวบ้านปัตตานี

Posted: 17 Aug 2010 09:13 AM PDT

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. และคณะ ลงสามจังหวัดใต้ เยี่ยมชาวบ้านปัตตานี มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องกีฬาแก่โรงเรียนในพื้นที่ เผยร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านสภาแล้ว จะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ และกองทัพจะเตรียมดำเนินงานให้สอดคล้อง

 

ที่มาของภาพ: ศปชส.กอ.รมน.ภาค 4 สน.

วันนี้ (17 ส.ค. 53) เวลา 10.00 น. น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการเสริมสร้างชุมชน 2 วิถี ณ บ้านคลองต่ำ ต.ปะนาเระ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ในความสนับสนุนของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 22 ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 22 แล้ว ได้เยี่ยมชมกิจกรรมของศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง, กลุ่มอาชีพต่างๆ และพบปะทักทายกับประชาชนที่มาคอยต้อนรับ  โดยผู้บัญชาการทหารบกได้มอบเงินสนับสนุนแก่กลุ่มแม่บ้าน, มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์กีฬาแก่โรงเรียนในพื้นที่

เวลา 12.00 น. ได้เดินทางมายังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เพื่อมาประชุมและติดตามการปฏิบัติงานของหน่วย โดยมี พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4, พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร และคณะกองฝ่ายเสนาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมทั้งผู้บังคับหน่วย ถึงระดับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม โดย ผบ.ทบ.ได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานตลอดจนข้อห่วงใยแก่กำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการที่ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ในส่วนของการพัฒนาจึงต้องมาพิจารณาว่า การปฏิบัติภายใต้กฎหมายใหม่จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ส่วนงานด้านความมั่นคงก็จะต้องปรับโครงการเช่นกัน และเตรียมการประสานยุทธศาสตร์ความมั่นคงและยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สอดคล้องกัน คาดว่ากลางเดือนหน้าคงจะเรียบร้อย การเดินทางมาพื้นที่วันนี้ ได้มอบแนวทางให้กำลังพล ในช่วงเดือนรอมฎอน โดยขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง และให้ความปลอดภัยกับประชาชนอย่างสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังตัวเองในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวถึงการเดินทางไปเยี่ยมเยียนชุมชน 2 วิถี ว่า การอยู่ด้วยกันโดยสันติไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เป็นแนวทางที่ต้องการให้เกิดขึ้นในพื้นที่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาหน่วยทหารได้มีการดำเนินการร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม และพื้นที่ดังกล่าวอยู่ร่วมกันมาด้วยความสมานฉันท์และสันติสุขอยู่แล้ว ส่วนการนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ การที่เยาวชนซึ่งขาดโอกาส ได้มีกิจกรรมทำก็ย่อมเป็นประโยชน์ ทุกฝ่ายจึงต้องทุ่มเท ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ที่มา: เรียบเรียงจาก ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศปชส.กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้หนึ่ง ก.กุนที: ประกอบส่วนสำคัญ

Posted: 17 Aug 2010 03:04 AM PDT

ประกอบส่วนสำคัญ

1.หมดเวลาเดินแนวทางซ้ายสุ่มเสี่ยง
หลีกเลี่ยงพวกฉวยโอกาสชอบเอียงขวา
เมื่อสรุปบทเรียนที่ผ่านมา
แล้วก้าวย่าง เพื่อเดินหน้าอย่างมั่นคง

2.ถึงเวลาจัดตั้งเข็มมุ่งใหม่
ปักรากฐานรัฐไทยตามประสงค์
วางระบบ ระบอบ แบบ บรรจง
ขึ้นเสาธงต่อสู้ รู้การเมือง

3.อีกภาคส่วน ต้องจริงจังเศรษฐกิจ
เรียนชีวิต เข้าใจ"ทุน" โดยต่อเนื่อง
รู้วัฏฏะ การสะสม และสิ้นเปลือง
ไม่ฝืดเคือง ให้น้ำเลี้ยง เวียนหมุนวน

4.วิภาษวิธี ทิศทางการทหาร ?
ผ่านปัจจัยที่เป็นจริงตามเหตุผล
ผู้ปฏิบัติ มีทฤษฎีประจำตน
ไร้ท่าทีรอจำนน..หวังพึ่งพา

5.แนวรบทางศิลปวัฒนธรรม
มีองค์กรชี้นำการศึกษา
รบแนวคิดกับปฏิกิริยา
สนับสนุนยุทธนาทุกแนวทาง

6.กับบางส่วนที่ต้องเป็นไม้ขีดไฟ
พรึ่บ ! ลุกไหม้..เชือดเฉือนฟ้าเช่นดาวหาง
สืบเชื้อติด ลามขับไล่คืนอำพราง
ปลุกปะทุ ! แล้วสามารถ สร้างกองเพลิง !

ไม้หนึ่ง ก.กุนที

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เอสเอสเอ-เหนือ" เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นกองกำลังรักษาดินแดนของกองทัพพม่า

Posted: 17 Aug 2010 02:17 AM PDT

กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "SSA-N" ที่ยอมรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ (HGF) ทยอยเปลี่ยนเครื่องแบบที่กองทัพพม่ามอบให้อย่างเป็นทางการ ด้าน "ครูพม่าท่าขี้เหล็ก" ขอผู้ปกครองนักเรียนลงชื่อไม่เอาผิดหากเรียกเงิน

"เอสเอสเอ-เหนือ" 2 กองพลน้อยเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นกองกำลังรักษาดินแดนของทหารพม่าแล้ว
แหล่งข่าวรายงานว่า กำลังพลสังกัดกองพลน้อยที่ 3 ของกองทัพรัฐฉานเหนือ หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่  "เหนือ" ราว 300 – 400 นาย ภายใต้การนำของ พ.ท.ละมิ้น ที่เคลื่อนไหวบริเวณดอยเครือ รัฐฉานภาคเหนือ ได้ทำการเปลี่ยนชุดเครื่องแบบจากชุดกองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-N ไปเป็นเครื่องแบบของหน่วยพิทักษ์พื้นที่ "Home Guard Force" หรือ HGF แล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันกำลังพลหน่วยอื่นๆ ของกองพลน้อยที่ 3 ที่ยอมเปลี่ยนสถานะกองกำลังตามผู้นำ คือ พล.ต.เจ้าหลอยมาว และพล.ต.เจ้าก่ายฟ้า ซึ่งรวมถึงกองพลน้อยที่ 7 ที่มีบก.อยู่ที่เมืองกาลิ กุ๋นฮิง ต่างก็เตรียมที่จะเปลี่ยนชุดเครื่องแบบในเร็วๆ นี้ เช่นกัน

ด้านนักวิเคราะห์การเมืองไทใหญ่ท่านหนึ่งมองว่า การที่กองพลน้อยที่ 3 และ 7 ของ SSA-N เปลี่ยนชุดเครื่องแบบหน่วยพิทักษ์พื้นที่ แสดงให้เห็นว่าพวกเขายอมรับเงื่อนไขรัฐบาลทหารพม่าแล้วจริงๆ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N ขณะนี้ได้แตกแยกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ระหว่างฝ่ายที่ยอมจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ กับฝ่ายที่คัดค้านคือ กองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การนำของ พล.ต.ป่างฟ้า

กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ก่อตั้งเมื่อปี 2507 (1964) โดยการนำของเจ้าแม่นางเฮือนคำ อดีตชายาเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วย ภายหลังที่กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" เจรจาหยุดยิงเมื่อปี 2532 มีกำลังพลราว 3,500 – 4,000 นาย แบ่งกำลังพลเป็น 3 กองพลน้อย คือ กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7

วันที่ 22 เม.ย. พล.ต.หลอยมาว ผู้นำสูงสุด SSA-N ตัดสินใจรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า นำกำลังพลในกองพลน้อยที่ 3 และ 7 กว่า 1 พันนาย เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ HGF ขณะที่กองพลน้อยที่ 1 ยังคงปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าการเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า เป็นการทำลายอุดมการณ์และเป็นการหักหลังชาติ

มีรายงานจากแหล่งข่าวภาคกลางรัฐฉานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพพม่าจัดส่งกำลังพลจากกรุงเนปิดอว์ มาถึงเมืองกะลอ – อ่องปาน ในรัฐฉานจำนวน 2 กองพล โดยมีการลือกันว่า กำลังพลดังกล่าวจะถูกส่งไปเสริมในพื้นที่เมืองเชียงตุง และเมืองยาง รัฐฉานภาคตะวันออก ขณะที่กองกำลังหยุดยิงทั้งกองทัพสหรัฐว้า UWSA และกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเมืองลา NDAA ที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคตะวันออกรัฐฉานต่างเฝ้าจับตาอยู่อย่างใกล้ชิด

แปลก!! "ครูพม่าท่าขี้เหล็ก" ขอผู้ปกครองนักเรียนลงชื่อไม่เอาผิดหากเรียกเงิน
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนรัฐบาลพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีการออกเอกสารให้ผู้ปกครองนักเรียนเซ็นต์ชื่อยอมรับเงื่อนไขข้อสัญญาไม่กล่าวโทษหรือตำหนิครู กรณีหากมีการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน

แม่ของนักเรียนชั้นมัธยมคนหนึ่งกล่าวว่า เอกสารดังกล่าวออกโดยโรงเรียนมัธยมสองแห่ง คือ โรงเรียนมัธยมหมายเลข 1 และหมายเลข 2 โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า ผู้ปกครองจะต้องไม่ใส่ร้ายครู หรือแจ้งความหรือร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ หากครูมีการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านเข้าใจภาษาพม่าจึงพากันลงนามเอกสารดังกล่าว แต่ผู้สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อหาของเอกสารก็ปฏิเสธลงนาม

เธอกล่าวด้วยว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงเหตุผลว่า ด้วยเหตุใดทางโรงเรียนจึงต้องออกกฎเช่นนั้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งให้ผู้ปกครองไปพร้อมกับนักเรียนมเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนต่างเข้าใจกันว่า อาจเป็นการป้องกันเหตุไม่ให้ครูถูกทำลายชื่อเสียงเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ได้มีครูจากโรงเรียนมัธยมหลายเลข 1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก เรียกเก็บเงินนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงระดับชั้นมัธยมแลกกับการสอบผ่าน ทำให้ผู้ปกครองบางคนไม่พอใจจึงมีการร้องเรียน ขณะที่บางส่วนได้ส่งข้อมูลให้สื่อในต่างประเทศรายงาน ทำให้ครูโรงเรียนดังกล่าวได้รับความอับอาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองนักเรียนอีกรายเปิดเผยว่า นักเรียนยังถูกครูบังคับให้เรียนพิเศษโดยเรียกเก็บค่าเรียนสูงกว่ามาตรฐาน คือ นักเรียนระดับมัธยมต้องจ่ายคนละ 200 บาท (ราว 7,000 จ๊าต) ต่อหนึ่งวิชา ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาต้องจ่ายคนละ 100 บาท (ราว 3,500 จ๊าต) ต่อหนึ่งวิชา ซึ่งในภาคเรียนแต่ละปีมี 6 วิชาเรียน ซึ่งนักเรียนที่ไม่ยอมเรียนพิเศษได้ถูกข่มขู่ตัดคะแนนจากผลสอบด้วย

"ในฐานะเป็นพ่อแม่ก็กลัวเด็กจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ จึงต้องยอมปฏิบัติตามความต้องการของครู ถึงแม้ว่าจะยากจนก็ตาม" แม่ของนักเรียนคนหนึ่งกล่าว พร้อมเสริมว่า "จากเหตุที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงทำให้เด็กบางคนถึงกับอยากออกจากโรงเรียน"

เธอเผยอีกว่า แม้ทางการจะอ้างว่าการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมัธยมเป็นการศึกษาฟรี แต่นักเรียนยังต้องจ่ายค่าลงทะเบียนในทุกเดือนมิถุนายนเป็นจำนวนเงิน 2,700 จ๊าต (ราว 100 บาท) จากนั้นต้องจ่ายอีกคนละ 1 พันบาท สำหรับเงินกองทุนโรงเรียน ซึ่งนักเรียนแต่ละคนต่างได้รับใบเสร็จค่าลงทะเบียนเรียนเป็นหลักฐาน

ตามข้อมูลสื่อของรัฐบาลทหารพม่าระบุ จังหวัดท่าขี้เหล็กมีประชากรราว 72,000 คน และโรงเรียนมัธยมหมายเลข 1 และ 2 ในจังหวัด มีนักเรียนราว 2 พันคน

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชีวิต-แนวคิด-ความสัมพันธ์ ของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จากงานศึกษาของนักวิจัยต่างชาติ

Posted: 17 Aug 2010 01:21 AM PDT

"คลาวดิโอ โซปรานเซตติ" นักศึกษาปริญญาเอกจาก ม.ฮาร์วาร์ด ผู้คลุกคลีอยู่กับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สารถีตามตรอกซอกซอยของเมืองกรุง เปิดเผยถึงวิถีชีวิต แนวคิด และความสัมพันธ์ในฐานะผู้เป็น 'ตัวเชื่อม' ทางสังคมและวัฒนธรรม พบวินมอเตอร์ไซต์พูดถึงประชาธิปไตยในความหมายของ ‘ความยุติธรรมทางสังคม’ มากกว่าเป็นการพูดถึงประชาธิปไตยในความหมายทั่วไป

000

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาบัณฑิตศึกษาเรื่อง “เจ้าของแผนที่: มานุษยวิทยาของมอเตอร์ไซต์รับจ้างในกรุงเทพฯ” นำเสนอโดย Claudio Sopranzetti (คลาวดิโอ โซปรานเซตติ) นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้ลงไปคลุกคลีกับวินมอเตอร์ไซค์จนได้เสื้อกั๊กของวิน ทั้งยังเคยมีประสบการณ์รับส่งผู้โดยสาร

ในช่วงแรกโซปรานเซตติ ได้อธิบายถึงการขยายตัวของท้องถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาของสหรัฐฯ ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์ในแถบภูมิภาคนี้

โซปรานเซตติ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ปัญหาการจราจรก็เป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนในซอยที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวหรือรถเมล์ไปไม่ถึงสามารถโดยสารออกจากซอยได้

ผู้นำเสนอกล่าวว่าในประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจนอกระบบอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีส่วนสำคัญ ในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนอยู่ในกทม.ที่ตกงานหลายคนก็หันไปทำงานนอกระบบอย่างการเป็นมอเตอร์ไซต์รับจ้างหรือเป็นพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งในขณะเดียวกันการเป็นเศรษฐกิจ นอกระบบของ 'วินมอเตอร์ไซค์' ก็ควบคุมไม่ได้ ไม่มีการเสียภาษี ทำให้รัฐไม่ได้ประโยชน์ และทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลขึ้น จนในช่วงปี 2546 รัฐบาลทักษิณก็มีนโยบายปรบปรามอิทธิพลมืด มีความพยายามทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ โดยมีการลงทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และมีการจัดการตัวเองโดยมีหัวหน้าวิน

โซปรานเซตติ กล่าวว่า เจ้าของวินจะมีอำนาจโดยการเป็นเจ้าของเสื้อกั๊ก เนื่องจากเสื้อกั๊กซึ่งแสดงถึงความเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นมีราคาสูงและเจ้าของวินจะเป็นคนสั่งมา คนที่จะได้เสื้อกั๊กต้องมีเส้นสายหรือมีคุณสมบัติที่ดีบางคนได้เสื้อกั๊กผ่านเพื่อนหรือคนจังหวัดเดียวกัน ขณะเดียวกันการไม่มีระบบควบคุมบริเวณก็ทำให้ผู้มีอิทธิพลสามารถกลับมาได้ อย่างไรก็ตามมีสมาคมมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งเป็นเสมือนสหภาพแรงงานของคนเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องผู้มีอิทธิพล

จากงานวิจัยของ โซปรานเซตติ ทำให้ทราบข้อมูลว่า ผู้มีอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่เป็นชาย อายุราว 20-40 ปี เป็นคนต่างจังหวัดที่ทำงานส่งเสียครอบครัวที่ต่างจังหวัด หลายคนให้เหตุผลที่ทำอาชีพนี้ว่า เพราะมีความอิสระ หมายถึงอิสระจากคำสั่งต่าง ๆ และอิสระที่จะไป-มา ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดได้ รวมถึงความรู้สึกว่าตนมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม

อย่างไรก็ตาม โซปรานเซตติ กล่าวว่า บางคนก็ดูถูกมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะรู้สึกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นพวกขี้เกียจ เป็นคนสกปรก ไม่มีการศึกษา แต่ โซปรานเซตติ บอกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างบางคนมาจากต่างจังหวัดแต่มีความรู้เรื่องถนนหนทางมากกว่าในคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ เสียอีก ขณะเดียวกันมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่งเคยทำงานในบริษัทที่ย่านสีลมมาก่อน ในช่วงนั้นเขาไม่มีเวลาหาความรู้เลย แต่พอได้มาเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเขาก็มีเวลาหาความรู้มากขึ้น โซปรานเซตติ บอกว่ามอเตอร์ไซต์รับจ้างทั่วไปเวลาว่างจะเห็นอ่านหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ และเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในการเมืองดีจากการที่ได้พูดคุยถกเถียงกับพวกเขามา

โซปรานเซตติ ได้พูดถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างในฐานะเป็น "Mediator" หรือตัวกลาง-ตัวเชื่อม ในหลายๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่จากการที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างความความสัมพันธ์แน่นแฟ้นแบบเชื่อใจกันกับคนที่พื้นที่ ทำให้พวกเขาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงหรือ “ผู้ใหญ่” ในพื้นที่นั้นๆ เช่นมีคนที่ลูกเรียนเก่งแต่ไม่มีเงินศึกษาต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะเป็นตัวกลางคอยช่วยหยิบยืมจากคนที่มีเงิน แม้มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะเป็นชนชั้นล่างในเมืองแต่ก็มีความสัมพันธ์กับชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูง ทำให้ถึงพวกเขาจะไม่มีอำนาจสาธารณะ แต่ก็มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากชนชั้นคืออำนาจของเครือข่าย (Network)

โซปรานเซตติ บอกอีกว่า นอกจากนี้เนื่องจากมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับบ้านบ่อยกว่าคนทำงานบริการอื่น ๆ ทำให้พวกเขาเป็นตัวเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมสมัยใหม่ในเมืองกับท้องถิ่นของพวกเขา โดยเอาสินค้า แนวคิด วิถีชีวิต จากในกรุงเทพฯ กลับบ้านที่ชนบท เช่น มีบางคนพอกลับบ้านไปก็เอา พิซซ่า กับ ไก่ทอดเคเอฟซี กลับไปให้ลูก หรือบางคนก็นำข้อมูลเรื่องการเมืองที่รับรู้จากในกรุงเทพฯ ไปเล่ากับคนแถวบ้าน ขณะที่บางคนก็มีชีวิต 2 แบบ คือทำงานเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองในเวลาหนึ่ง ในอีกช่วงหนึ่งก็กลับไปทำนาที่บ้าน

ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมือง โซปรานเซตติ เล่าว่าช่วงปี 2535 ซึ่งเป็นการประท้วงของชนชั้นกลางกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็มีบทบาทอยู่ส่วนหนึ่งในตอนนั้น แต่จากการพูดคุยมีคนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างคนหนึ่งเล่าว่าพวกเขาไปเพราะรับจ้างไป ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรในตอนนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม โซปรานเซตติ เล่าต่อว่าพอหลังจากยุคของรัฐบาลทักษิณ 2 ก็มีนโยบายที่เอื้อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จนทำให้พวกเขาเกิดแนวคิดที่ว่าการเมืองมีประโยชน์ มีความสัมพันธ์กับชีวิตของพวกเขา รวมถึงในการชุมนุมเสื้อแดงครั้งที่ผ่านมา มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้เรียนรู้และพัฒนาความคิดทางการเมืองอย่างเช่นเรื่อง 2 มาตรฐาน จากการที่เห็นว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมีโอกาสที่ดีกว่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ขณะที่พวกเขาซึ่งทำงาน 14 ชั่วโมงมีชีวิตที่ไม่ดีเท่า

ขณะเดียวกันเมื่อผู้วิจัยได้ถามถึงแนวคิดประชาธิปไตยของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พวกเขาก็ให้ความหมายต่อประชาธิปไตยว่า หมายถึง ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางการศึกษา และความยุติธรรมทางการเมือง ซึ่งโซปรานเซตติ สรุปว่า ประชาธิปไตยในความหมายของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เขาไปสำรวจดูจะเป็นการให้ความสำคัญต่อ “ความยุติธรรมทางสังคม” (Social Justice) มากกว่าจะเป็นการพูดถึงประชาธิปไตยแบบทั่วๆ ไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"กรุงเทพโพล์" ระบุนักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐบาลตั้งงบ 54 แบบขาดดุลน้อยลง พร้อมเก็บภาษีที่ดิน-มรดก

Posted: 17 Aug 2010 12:01 AM PDT

"กรุงเทพโพล์" สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 52.7 เห็นว่างบประมาณปี 54 ควรขาดดุลน้อยกว่านี้  พร้อมหนุนรัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม

วันนี้ (17 ส.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 24 แห่ง เรื่อง “พรบ.งบประมาณปี 54 : หนี้สิน VS รัฐสวัสดิการ” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5-9 ส.ค. ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มตัวอย่างที่กรุงเทพโพลล์สำรวจ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก  อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปี)

กลุ่มตัวอย่างที่กรุงเทพโพลล์สำรวจ ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 24  แห่ง  ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บริษัททริสเรทติ้ง จำกัด ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร  บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ   

โดยผลสำรวจพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 85.1 เห็นด้วยที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล  แต่ในจำนวนนี้ร้อยละ 52.7 เห็นว่าระดับการขาดดุลต่อ GDP ควรน้อยกว่าร้อยละ 4.1 ต่อ GDP (ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลเสนอให้สภาฯ พิจารณา)  ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 50 เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่วางไว้  ขณะที่อีกร้อยละ  21.6  เชื่อว่าจะจัดเก็บได้น้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนประเด็นเรื่องระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ  42.6 ของ GDP นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.1 เชื่อว่ายังเป็นระดับไม่น่าเป็นห่วงและสามารถบริหารจัดการได้  และเมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบายงบประมาณของรัฐบาล  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ  35.1 เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินนโยบายงบประมาณแบบสมดุลได้ภายใน 5 ปี (ภายในปี 2558) ขณะที่ร้อยละ  33.8  เชื่อว่าจะสามารถดำเนินนโยบายงบประมาณแบบสมดุลได้ภายใน 5-10  ปี (ช่วงปี 2559-2563) 

สำหรับประเด็น การวางแผนจัดหารายได้เพื่อรองรับกับสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นสังคมที่รัฐบาลจะต้องมีรายจ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ สำหรับคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นั้น  นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 71.6  มองว่ารัฐบาลยังขาดการเตรียมพร้อมในเรื่องดังกล่าว  นอกจากนี้   ยังได้เสนอแนะแนวทางในการปรับเพิ่มการจัดเก็บรายได้เพื่อรองรับการนำแนวทางรัฐสวัสดิการมาใช้  โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 38.1  สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ภาษีมรดก  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม  ร้อยละ 20.5 เสนอให้ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมทุกคน โดยเฉพาะเกษตรกร  คนใช้แรงงาน  โดยเสนอให้รัฐนำสวัสดิการที่ประชาชนจะได้รับมาเป็นสิ่งจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น  ร้อยละ  18.2  เสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี  ระบบการจัดเก็บภาษี  รวมไปถึงการใช้จ่ายเงินภาษีที่รัฐบาลควรดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลไปพร้อมๆ กัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มุกดาหาร:7 ผู้ต้องหาเสื้อแดงได้ประกัน อีก 19 คนไม่ได้ประกัน หนีอีกร่วม 70

Posted: 16 Aug 2010 11:45 PM PDT

ศาลมุกดาหารให้ประกัน 7 ผู้ต้องหาเสื้อแดงบุกศาลากลางหัวละแสนหลังถูกฝากขังกว่า 2 เดือน ลูกเมียอีก 19 ผู้ต้องหาเศร้า ไม่ได้ประกันคดีเผา นัดตรวจพยาน 30 สิงหาคม นี้

 

16 สิงหาคม 2553 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดมุกดาหาร ศาลได้สอบคำให้การจำเลย คดีดำที่ 1459/2553 ที่พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจันที แสนลา กับพวกรวม 26 คนเป็นจำเลย  ในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสถานและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น อันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุข ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา
 

เหตุเกิดเมื่อเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยทั้งหมดกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้บังอาจร่วมกันกระทำความ ผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ผู้เสียหาย แล้วส่งเสียงร้องปลุกระดมทางการเมืองในบริเวณศาลากลางจังหวัด อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข และโดยไม่มีเหตุอันสมควร

อีกทั้งภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ถึง 4 ที่ 6,7,10,12,15 ถึง 19 ที่ 21 ถึง 26 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันวางเพลิงเผาอาคารศาลากลางจังหวัดมุกดาหารจำนวน 2 หลัง ซึ่งเป็นโรงเรือนอันเป็นสาธารณสถานและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จนศาลากลางดังกล่าวเสียหาย เสื่อมค่า และไร้ประโยชน์ คิดเป็นเงินจำนวน 85,000,000 บาท (แปดสิบห้าล้านบาท) แล้วได้บังอาจร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งรถยนต์ดับเพลิงจำนวน 4 คัน ของเทศบาลเมืองมุกดาหาร ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จนทรัพย์ดังกล่าวเสียหาย รวมเป็นราคา 74,490 บาท

ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1 ถึง 15 ได้ ส่วนจำเลยที่ 16 ถึง 18 และที่ 21 ถึง 26 จับกุมได้เมื่อวันที่ 21,23,24 พฤษภาคม วันที่ 9,14,17,26 มิถุนายน และวันที่ 2,29 กรกฎาคม 2553 พร้อมกันนี้ได้ยึดรถสามล้อรับจ้าง (สกายแล็ป) จำนวน 1 คัน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยกับพวกใช้บรรทุกยางรถยนต์มาเป็นเชื้อเพลิงเผาศาลากลางดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 19 และ 20 เข้ามอบตัวต่อ พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว  ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ คดีมีมูล

ระหว่างการสอบสวน จำเลยที่ 1 ถึง 18 และจำเลยที่ 21 ถึง 26 ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมุกดาหารตลอดมา และได้รับการเบิกตัวมาสอบคำให้การ พร้อมกันกับจำเลยที่ 19 และ 20 ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 26 คนฟังจนเข้าใจ แล้วสอบถาม ปรากฎว่าจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 30 สิงหาคม นี้ เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยที่ 5,8,9,11,13,14 และ 20 ซึ่งมีความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพียงกรรมเดียว โดยใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว 1 แสนบาท

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ต้องหา 1 คน ที่ให้การสารภาพในชั้นสอบสวน ไม่ปรากฎมีรายชื่อเป็นจำเลยในการยื่นฟ้องของอัยการ คาดว่าถูกกันตัวไว้เป็นพยานทั้งนี้ ในคดีดังกล่าวเจ้าพนักงานได้ออกหมายจับรวมทั้งสิ้น 97 คน ยังเหลือผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกราว 70 คน

ในขณะที่บรรดาญาติของจำเลยที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังถูกควบคุมตัวนาน 3 เดือนต่างพากันดีใจ ขณะที่ รายที่ไม่ได้รับการประกันตัวต่างก็ผิดหวัง และเดินทางออกจากศาลด้วยอาการหงอยเหงา เศร้าซึม

ญาติรายหนึ่งกล่าวว่า สงสัยว่าตำรวจใช้หลักฐานอะไรในการตั้งข้อหา เนื่องจากผู้ต้องหาที่ถูกจับในวันเกิดเหตุบางคนถูกตั้งข้อหาบุกรุก บางคนถูกตั้งข้อหาวางเพลิง ทั้งๆ ที่ถูกจับอยู่นอกรั้วศาลากลางเหมือนๆ กัน

ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับภรรยาของจำเลยคนหนึ่งที่ไม่ได้รับการปล่อย ตัว เธอกล่าวว่า ขณะนี้ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน เธอตั้งความหวังไว้ว่าสามีจะได้รับการปล่อยตัวก่อนที่เธอจะคลอดลูก ไม่เช่นนั้นเธอก็จะลำบากมาก แม้ในขณะนี้ก็ลำบากมากอยู่แล้ว เนื่องจากเธอและแม่สามีต้องรับภาระในการหารายได้และเลี้ยงดูลูก 2 คน รวมทั้งพ่อสามีซึ่งป่วย อีกทั้งยังมีงวดรถสามล้ออีก 2 คัน ซ้ำตอนนี้รายได้จากการขายลูกชิ้นหน้าโรงเรียนอนุบาลมุกดาหารก็ลดลง เนื่องจากนโยบายจัดระเบียบแม่ค้าของทางผู้บริหารโรงเรียน ทำให้เธอต้องคอยหลบเทศกิจ ลูกค้าประจำจึงหดหายไป จะเปลี่ยนทำเลไปขายที่อื่นก็มีแม่ค้าลูกชิ้นอยู่เต็มไปหมดแล้ว หรือจะเปลี่ยนไปขายอย่างอื่นเธอก็ไม่มีความชำนาญ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น