โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รำลึกเหตุการณ์ "8.8.88" ที่เชียงใหม่

Posted: 08 Aug 2010 01:29 PM PDT

นักกิจกรรมและนักศึกษาพม่ารุ่น 1988 จัดรำลึก 22 ปี เหตุการณ์ทหารปราบปรามประชาชนพม่าในปี 1988 พร้อมออกแถลงการณ์ระบุแผนการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลพม่าเป็นไปเพื่อรองรับอำนาจรัฐบาลทหารและรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดเท่านั้น ขณะที่ออง ซาน ซูจีและนักโทษการเมืองยังถูกคุมตัว และชนกลุ่มน้อยต้องอพยพหลังทหารพม่ากดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยให้เปลี่ยนเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน

เมื่อช่วงค่ำ วานนี้ (8 ส.ค.) นักกิจกรรมที่ทำงานด้านประเด็นพม่า และนักศึกษาพม่ารุ่นปี 1988 ใน จ.เชียงใหม่หลายร้อยคน ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกการต่อสู้ของประชาชนพม่าในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 (พ.ศ.2531) หรือเหตุการณ์ 8.8.88 ครบรอบ 22 ปี

โดยปีนี้ผู้จัดงานใช้คำขวัญแปลเป็นภาษาไทยได้ใจความว่า "จิตวิญญาณปี 88 มุ่งหมายสู่ความเสมอภาค ยุติธรรม และประชาธิปไตยแท้จริง"  โดยกิจกรรมมีการกล่าวสุนพจน์เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ พิธีแสดงความเคารพต่อนักต่อสู้เพื่อเอกราชที่ถูกลอบสังหารวันที่ 19 ก.ค. ปี 1947 (พ.ศ. 2490) ต่อนักศึกษาและประชาชนผู้เสียสละในการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่าในปี 1988 และทุกยุคทุกสมัย

ในงานยังมีการออกแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 22 ปี เหตุการณ์ 8.8.88 ทั้งภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

แถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 22 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า (8888)

วันที่ 8 สิงหาคม 2553

วันนี้ เป็นวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 22 ปี วันแห่งประวัติศาสตร์ที่นักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนพม่า ออกมาร่วมกันต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารในพม่า จิตวิญญาณของวีรชน 8888 ยังคงอยู่ในจิตใจของประชาชน หลายคนยังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเสมอภาค และเฝ้ารอจุดสิ้นสุดของระบอบเผด็จการ

แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่า จะเตรียมการเลือกตั้งในปี 2010 ตามรัฐธรรมนูญปี 2008 ในขณะเดียวกัน นางออง ซาน ซูจี ยังคงถูกกักบริเวณในบ้านพัก เช่นเดียวกับผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ พระสงฆ์ ผู้นำนักศึกษา 8888

รัฐบาลทหารพม่าเลือกใช้วิธีกดดันให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยให้แปรสภาพเป็นกองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) และเพิ่มกำลังทหารในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อกดดัน แทนที่จะใช้วิธีแก้ไขทางการเมือง ส่งผลให้พลเรือนที่อาศัยในพื้นที่ต้องทิ้งบ้านเรือนหลบหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัยบริเวณชายแดน

นอกจากนี้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอ้างกับประชาชนและนานาชาติว่าการเลือกตั้งปี 2010 จะยุติธรรมและโปร่งใส แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ประกาศวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน

แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งปี 2010 เป็นเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองที่จะรับรอง SPDC และรัฐธรรมนูญปี 2008 เท่านั้น พวกเราต้องการใช้โอกาสนี้ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะคัดค้านการเลือกตั้งร่วมกับชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ ประชาชนพม่า และผู้รักประชาธิปไตยที่สืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชน 8888

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รำลึก 8888: จับตาเลือกตั้งครั้งใหม่ในพม่า

Posted: 08 Aug 2010 01:27 PM PDT

ไกรศักดิ์ ระบุกติกาเลือกตั้งพม่าสุดเผด็จการ เจอประท้วงเงียบ ขึ้นป้ายไทยไม่ต่างจากพม่า นักข่าวมองการเลือกตั้งในพม่าเป็นตรายางของทหารสวมชุดพลเรือน อดีต ส.ส.เอ็นแอลดีระบุ พรรคถูกยุบ แต่ยังไม่ถูกทำลาย ด้านอดีตนักโทษการเมืองเผยถูกจำคุกเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาลทหาร หวั่นไทยส่งกลับชาวพม่าหลังเลือกตั้ง ชี้จะเกิดการละเมิดสิทธิตามมา

(8 ส.ค.53) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.), มูลนิธิส่งเสริมสันติวิธี, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย, องค์กรเพื่อนพม่า, Altsean, และ B with Us องค์การเอกชนที่ทำงานประเด็นพม่าในประเทศไทย ร่วมจัดงานรำลึก 22 ปี เหตุการณ์ 8888 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในพม่าขึ้น ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันทน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ไกรศักดิ์เจอประท้วงเงียบ! ไทยไม่ต่างจากพม่า

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า กล่าวถึงกฎหมายการเลือกตั้งในพม่า ซึ่งมีความเป็นเผด็จการชนิดที่ไม่มีที่ไหนในโลก อาทิ กีดกันไม่ให้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งลงเลือกตั้ง อนุญาตว่าใครจะมีสิทธิเลือกตั้งบ้าง โดยกำหนดด้วยว่าชนชาติไหนจะเลือกได้เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่และมีสิทธิเลือกตั้งให้คนอื่นได้ด้วย ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า เช่นนี้แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ไกรศักดิ์กล่าวว่า หากมีนักการเมืองกลุ่มใดที่ไปร่วมลงเลือกตั้ง ก็ขอให้อย่าไปต่อว่าเขา เพราะเขาเหล่านั้นอาจหวังว่าการสู้ในระบบจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้บ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ เขาย้ำด้วยว่า จะต้องทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ใช่กลุ่มอำมาตย์หรือทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนายไกรศักดิ์กล่าวถึงสถานการณ์ในพม่านั้น มีนักกิจกรรม 2 คนในห้องประชุม ชูป้ายซึ่งมีข้อความ "Thailand as well" ขึ้นประท้วงเงียบๆ ด้วย

การเลือกตั้ง: ตรายางของทหารสวมชุดพลเรือน
ด้านสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น กล่าวในการเสวนา หัวข้อ "การเลือกตั้งของพม่านำไปสู่อะไร" ว่า รัฐธรรมนูญของพม่าซึ่งผ่านการประชามติในช่วงที่มีภัยพิบัตินาร์กีสนั้น เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการอยู่ในการเมืองของทหาร มากกว่าจะเป็นบทบัญญัติ ของประชาชน และขณะที่ในประเทศอื่น กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการสถาปนาอำนาจรัฐ แต่พม่ากลับมีกองทัพเป็นแกนกลางของรัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าทำคือรักษาบทบาทของทหารให้เป็นแกนกลาง โดยสร้างให้ชนกลุ่มน้อยและชาวพม่าที่ท้าทายอำนาจเป็นศัตรูของชาติ และให้กองทัพทำหน้าที่เป็นผู้ขจัดศัตรูของชาตินี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนจำนวนมากต่อต้านว่ากองทัพไม่ควรมีบทบาทปกครองประเทศ พม่าจึงต้องปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ดำเนินงานโดยกองทัพ มาปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน แต่ปัญหาคือ กองทัพไม่ได้ยอมถอยไปง่ายๆ โดยปัจจุบัน มีทหารจำนวนหนึ่งถอดเครื่องแบบแล้วไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งการจัดตั้งพรรคนี้มีการเตรียมการกันมานานร่วม 10 ปีแล้ว

สุภลักษณ์มองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นตรายางประทับรับรองของรัฐบาลใหม่ที่มาจากทหารที่ใส่ชุดพลเรือนเท่านั้น ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม เพราะกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ไม่เสรี มีเพียงบางกลุ่มได้รับอนุญาตให้หาเสียงได้ และเพียงบางคนมีสิทธิเล่นการเมือง กติกาเหล่านี้ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ดึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ประชาชนมีหน้าที่รับรองบทบาทของกองทัพทางการเมืองเท่านั้น

สุภลักษณ์ ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ทหารพม่าไม่ได้ถอยออกไปจากการเมือง เป็นเพียงการเปลี่ยนเครื่องแบบเท่านั้น ทหารจะเล่นบทบาทควบคุมทางการเมืองที่มากขึ้นกว่าเดิม โดยมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ยิ่งกว่านั้น กองทัพจะมีบทบาทการบริหารงานทางเศรษฐกิจด้วย โดยมีธุรกิจขนาดใหญ่คือการขายแก๊สให้ไทยอยู่ในมือ

ขณะที่ประชาสังคมของพม่าจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เพราะระบบเศรษฐกิจของพม่าขึ้นอยู่กับการขายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกระจุกที่กองทัพและผู้ใกล้ชิด เมื่อคนไม่มีเงิน โครงสร้างของสังคมพม่าจึงหดแคบลง คนไม่มีพลังที่จะใช้ต่อรองกับรัฐบาล

ทั้งนี้ สุภลักษณ์ทิ้งท้ายไว้ว่า การที่เศรษฐกิจจะสร้างประชาสังคมในพม่าเพื่อสร้างประชาธิปไตยคงจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นนี้ แต่หากมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ก็อยากให้ศึกษาโมเดลการเมือง-เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้จะมีการตื่นตัวทางเศรษฐกิจมาก มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าทหารจะถอยจากการเมืองไปง่ายๆ ในประเทศอื่นๆ ชนชั้นกลางเหล่านั้นเองที่เรียกร้องให้ทหารกลับเข้ามาอีกครั้ง


อดีต ส.ส.เอ็นแอลดีระบุ พรรคถูกยุบ แต่ยังไม่ถูกทำลาย

ด้านโกวินเลียง อดีต ส.ส.จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี กล่าวถึงความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาทิ มีการห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขณะที่มีทหารลาออกมาเข้าร่วมพรรคการเมืองได้ พรรคการเมืองอื่นไม่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากรัฐบาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งพรรคสูง โดยพรรค USDP ของรัฐบาลทหารได้รับเงินจาก USDA ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนโดยรัฐบาล นอกจากนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคอยู่ระหว่างรอการอนุญาตให้รณรงค์หาเสียง ขณะที่ USDP ได้เริ่มหาเสียงแล้ว

อดีต ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี ระบุด้วยว่า แม้พรรคเอ็นแอลดีนั้นจะถูกยุบโดยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่ยังไม่ได้ถูกทำลายไป ทั้งนี้ เขาได้เรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี โดยไม่มีเงื่อนไข และให้รัฐบาลทหารเลิกคุกคามชนกลุ่มน้อยและผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย


อดีตนักโทษการเมืองเผยถูกจำคุกเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาลทหาร

ขณะที่โกเมเม อดีตนักศึกษากิจกรรมและนักโทษการเมืองในพม่า เล่าว่า เขาถูกจับกุม เนื่องจากขณะที่เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สองได้พยายามก่อตั้งองค์กรนักศึกษาขึ้น ในขณะนั้น เขาเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย ครอบครัวก็ไม่ทราบว่าเขาหายไปไหนและนึกว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว โดยเขาถูกทรมานมาตลอดเวลากว่าสองเดือนที่ถูกควบคุมตัว ถูกปฎิบัติเหมือนเป็นสัตว์ เป็นทาส

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวถึงนักโทษการเมืองในพม่าว่าขณะนี้มีถึง 2,000 กว่ารายแล้ว โดยต่างถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลานาน บางคนก็ตลอดชีวิต เพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาลทหาร และขณะที่มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 8888 ในประเทศไทยได้นั้น ในพม่าไม่สามารถทำได้ ในโอกาส 22 ปีเหตุการณ์ 8888 เขาจึงร้องขอต่อผู้เข้าร่วมเสวนาให้ใช้เสรีภาพของตัวเองเพื่อสนับสนุนเสรีภาพของชาวพม่าด้วย


หวั่นไทยส่งกลับชาวพม่าหลังเลือกตั้ง ชี้จะเกิดการละเมิดสิทธิตามมา

อดิศร เกิดมงคล กรรมการเครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เปรียบเทียบว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในพม่าเป็นเหมือนปลั๊กอินของระบบคอมพิวเตอร์ คือเป็นส่วนเสริมให้หน้าตาของโปรแกรมดูดีขึ้น ระบบบางตัวทำงานดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ระบบเปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้การเมืองในชีวิตประจำวันดีขึ้น และอาจจะแย่ลงไปอีก

เขาย้ำด้วยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ลี้ภัยลดลง โดยเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชายแดนว่า รัฐบาลพม่าพยายามสลายกองกำลังชนกลุ่มน้อย ให้เปลี่ยนเป็นหน่วยดูแลชายแดน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่มีใครเชื่อว่าทหารพม่าจะรักษาคำพูด เมื่อชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มไม่มั่นใจ อาจเกิดการปะทะกันและมีคนที่ได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมา รัฐกระเหรี่ยงเริ่มยิงกับทหารพม่า ทำให้มีคนไหลทะลักเข้ามาในไทยแล้ว

อดิศรกล่าวว่า การเลือกตั้งจะทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับข้ออ้างของรัฐบาลประเทศแถบนี้ โดยเฉพาะไทย ที่ต้องดูแลผู้ลี้ภัย โดยที่ผ่านมา การพิสูจน์สัญชาติพม่าซึ่งทำที่ชายแดนนั้น พบว่ามีหลายกรณีที่มีผู้ที่ไม่มีเอกสารไปพิสูจน์ แต่กลับได้รับสัญชาติ ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า ระบบแบบนี้อาจเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ลงคะแนนในการเลือกตั้งให้รัฐบาลทหารพม่า

นอกจากนี้ ไทยยังพยายามใช้ความชอบธรรมเรื่องเลือกตั้ง เพื่อจัดการกับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) บอกว่าจะส่งผู้ลี้ภัย แสนกว่าคนกลับประเทศ สิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำคือยอมรับความชอบธรรมของการเลือกตั้ง และทำให้เกิดการผลักดันและส่งกลับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างว่าการเมืองในพม่าดีขึ้นแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในพม่าดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าผู้ที่เข้ามาในประเทศนั้น ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มาเพราะปัจจัยทางการเมืองด้วย ซึ่งหากรัฐบาลไทยยังมีนโยบายส่งกลับหลังการเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษชนในชายแดนเพิ่มมากขึ้น ชุมชนในพื้นที่และสังคมไทยจะได้รับผลกระทบ จากการจ้างงานแบบผิดกฎหมายและการเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า อดิศร ระบุว่า มีความหวังกับคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ชนชั้นกลางระดับล่างรุ่นใหม่ในพม่า ซึ่งอาจเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 8888 แต่ทันเหตุการณ์ปฎิวัติชายจีวร คนกลุ่มนี้เข้าถึงเครื่องมือการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ได้ โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นแบบแนบเนียนและค่อยๆ เซาะฐานอำนาจของรัฐบาลทหาร

ส่วนกลุ่มที่สอง คือแรงงานข้ามชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ โดยในขณะที่นักกิจกรรมรุ่นเก่าถูกตัดขาดจากบ้านที่เคยอยู่ โดยคนกลุ่มนี้ยังกลับบ้านได้ สามารถเชื่อมโยงเคลื่อนไหวบางอย่างได้ โดยจากประสบการณ์ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ พบว่า ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีกลุ่มที่สนใจการเมือง แต่ไม่ได้แสดงตัว ซึ่งจะเห็นได้จากการให้ความช่วยเหลือกรณีไซโคลนนาร์กีส ที่กลุ่มเหล่านี้จะเข้าไปช่วยเหลือคนที่รัฐบาลไม่สนใจ หรือเมื่อเกิดปฎิวัติชายจีวร คนกลุ่มนี้ก็ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวด้วย

ทั้งนี้ อดิศรกล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในพม่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งสองกลุ่มโดยตรง จะมีก็เพียงนโยบายของไทยที่อาจมีขึ้นตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้น ทั้งสองกลุ่มนี้จะยังคงเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีสีสันได้

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 8888 ในไทยนั้น ทุกปีจะมีการประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากปีนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ ทางกลุ่มผู้จัดจึงไม่จัดการชุมนุม เพราะเกรงจะเกิดปัญหาตามมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มาร์ค"ดันรัฐสวัสดิการ บรรจุแผนพัฒนาศก.ฉบับ11

Posted: 08 Aug 2010 01:20 PM PDT

นายกฯ แนะสภาพัฒนฯ บรรจุแผนจัดระบบ "รัฐสวัสดิการ" ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชน พร้อมบรรจุโครงการเมกะโปรเจกท์ ทั้งรถไฟฟ้า-ไอที ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองกับคนชนบท

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการเปิดประชุม และแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2553 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องทิศทางแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ว่า สศช.ควรมีการตั้งเป้าหมายเรื่องการจัดระบบรัฐสวัสดิการภาย ใน 5 ปี เพื่อดูแลเรื่องหลักประกันให้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเกิดไปจนตายอย่างเป็นระบบ โดยไม่กระทบต่อฐานะการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการเรียนฟรี , เบี้ยคนชรา โดยเฉพาะกองทุนเงินออมในยามชราถือว่ารองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรผู้สูงอายุ หรือเพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุมีเงินไว้ใช้ในยามชรา
อย่างไรก็ดีในการพัฒนาประเทศใน 5 ปีข้างหน้านั้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่แผนการปรองดอง และการปฏิรูปประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งเรื่องการพัฒนาคน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะมีการประกาศในเดือนตุลาคม 2554 และ ในแผนพัฒนาฯฉบับนี้ สิ่งที่เน้นเป็นสิ่งสำคัญคือการพัฒนามนุษย์ นอกจากนั้น การพัฒนาระบบน้ำ ก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ รวมถึงระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจากนี้ไป จะต้องเร่งในเรื่องการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกท์)เช่นการขนส่งระบบรางทั่วประเทศให้มีการใช้งานระบบรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการสร้างถนนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค อีกทั้งเน้นในเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ในตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา
"และขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติแผนพัฒนาระบบรถไฟในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ในการทำรถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟรางมาตรฐานจากหนองคายถึงภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ให้แข่งขันกับต่างชาติได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้รัฐบาลจะพัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารระบบ 3.9จี ให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)นำไปสู่ การลดช่องว่างของคนในเมืองกับคนชนบท ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการใช้ระบบโทรคมนาคม อีกทั้งปรับปรุงกฎระเบียบกติกาที่เป็นอุปสรรคกับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคจำนวนมาก แต่การยกเลิกต้องใช้เวลานาน จุดนี้จึงจะต้องมีการรวบรวมกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อหาแนวทางลดขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา
ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.กล่าว ทิศทางของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้คือยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเป็นธรรมในสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความสมดุล และมั่นคงของอาหารและพลังงาน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และสร้างปัจจัยแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยุทธศาสตร์ที่ 6 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องคำนึงในอนาคตที่อาจจะกระทบแผนพัฒนาประเทศ ได้แก่ 1. การบริหารของรัฐบาลเริ่มมีความอ่อนแอ ซึ่งปัญหาเกิดจากการความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา 2. ประเทศไทยอาศัยปัจจัยการส่งออกมากเกินไป 3. โครงสร้างประชากรไม่สมดุล 4. วัฒนธรรมถูกละเลย 5. ฐานทรัพยากรธรรมชาติถดถอย โดยจุดเสี่ยงเหล่านี้ล้วนจะต้องศึกษาและหาทางแก้ไข
"แนวทางที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปได้ คือ ต้องเน้นภาคการเกษตรเป็นโครงสร้างหลัก สร้างฐานความรู้ทางเทคโนโลยีให้กับประชาชน สร้างวัฒนธรรมให้เป็นที่นิยม เพื่อคาดหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนและสามารถเชื่อมโยงกับประเทศทั่ว โลกได้"นายอำพน กล่าว
 
 
        
ที่มา: http://www.naewna.com
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลูกสาวเสธ.แดง ประกาศดัน‘พรรคขัตติยะธรรม’ หวังเปลี่ยนระบบกฎหมาย2มาตรฐาน

Posted: 08 Aug 2010 01:07 PM PDT

 
8 ส.ค.53 น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และหัวหน้าพรรค"ขัตติยะธรรม" กล่าวว่า มีความรู้สึกดีใจที่ได้สานต่อเจตนารมณ์ในการ จัดตั้งพรรคการเมืองจากพ่อ เพราะตอนนี้ตนเองได้เป็นคนเสื้อแดงอย่างเต็มตัวแล้ว นอกจากจะพบปะกับพี่น้องที่เป็นแฟนคลับคุณพ่อแล้ว ก็ต้องการที่จะเชิญชวนพี่น้องทุกคนสมัคร เป็นสมาชิกพรรคขัตติยะธรรม เพื่อที่จะได้สานต่อเจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองของพ่อ

น.ส.ขัตติยาเปิดเผยว่า ถ้าพรรคขัตติยะธรรมมีสมาชิกพรรคครบตามจำนวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดไว้และ ส.ส.ที่ลงสมัครได้รับการเลือกตั้ง ตนและพรรคก็พร้อมที่จะอยู่ฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ตนก็ไม่เกี่ยง

บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคขัตติยะธรรมได้มีการจัดตั้งศูนย์ขึ้นมา 4 ศูนย์ คือ จ.เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ชลบุรี และ จ.พังงา สำหรับภาคใต้ตอนล่างก็ได้คิดว่าจะจัดตั้งที่ จ.ยะลา แต่หากมีการจัดกิจกรรมก็จะดำเนินการใน จ.สงขลา เพื่อความสะดวก

น.ส.ขัตติยาเปิดเผยว่า สำหรับด้านนโยบายเด่นจะนำเสนอก็คือ การเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายการเมืองไทย คือ ต้องการให้เป็นอย่างสหรัฐอเมริกา การมีคณะลูกขุน ซึ่งคัดเลือกมาจากชาวบ้าน ไม่ใช่กฎหมายไทยในขณะนี้ ที่ระบบตุลาการมีการตัดสินคดีแต่ละคดีตามใบสั่ง ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทางพรรคขัตติยธรรมจะมองแล้วว่า เป็นเรื่องที่ยากในการจะเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายไทยใหม่ แต่ตนก็อยากที่จะทำ

"ถ้าหากเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็อยากทำให้ระบบกฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐานในขณะนี้ลดน้อยลง และขอให้คำมั่นสัญญาในการที่จะนำพาพรรคขัตติยธรรม ให้เดินทางเดินหน้าต่อไปอย่างขาวสะอาด" บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ก.ม.ม.ห่วงอัยการฟ้องนปช.ไม่ทัน-เสื้อแดงเชียงใหม่ฝืนพ.ร.ก.มอบตัว ขู่ฟ้องมาร์คไม่จัดการม็อบเหลือง

Posted: 08 Aug 2010 12:58 PM PDT

 
8 ส.ค.53 นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวแสดงความเป็นห่วง กรณีที่อัยการสูงสุด อาจไม่สามารถ ดำเนินการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ในคดีก่อการร้ายได้ทันครบกำหนดฝากขัง โดยอ้างว่าสำนวนมี จำนวนมาก และอาจต้องปล่อยผู้ต้องหาไปก่อน และค่อยจับกุมภายหลัง ว่า อาจทำได้ยาก เพราะจะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนี จนอาจกระทบกับรูปคดี ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก ความไม่เป็นเอกภาพ ในการทำงานระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ หรืออาจมีกระบวนการถ่วงเวลา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องหา ซึ่งทางอัยการจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับประชาชน หากไม่สามารถสั่งฟ้อง ได้ทันเวลาฝากขัง นอกจากนี้ทางพรรคการเมืองใหม่ ยังแสดงความกังวลต่อนโยบายและความจริงใจของรัฐบาล ในการดำเนินคดีกับกลุ่มก่อความรุนแรง จากกรณีที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพยาน ในการพิจารณาการให้ประกันตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งรัฐบาลควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้
พีระพันธุ์ปัดกดดันอสส.เร่งคดีนปช. อัยการชี้ฟ้องไม่ทันต้องปล่อยตัวโอดเร่งทำงานแทบตาย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่
7 ส.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้เร่งพิจารณาสั่งคดีกับแกนนำและแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ในคดีก่อการร้ายให้ทันก่อนที่ครบกำหนดฝากขังนัดสุดท้ายของผู้ต้องหาบางรายในวันที่ 11 สิงหาคม ว่า การทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ไม่ใช่การเร่งรัดหรือกดดันอัยการในการสั่งคดี แต่เป็นการทำงานเพื่อความรอบคอบ และทำงานทันเวลาที่กำหนดการสั่งฟ้องคดีดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอัยการสั่งฟ้องไม่ทันครบกำหนดฝากขังจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ใช่ ทางกระทรวงยุติธรรมจึงต้องทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุด เพื่อความรอบคอบในการทำงานคดี และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของอัยการ แต่ทำไปเพื่อความรอบคอบทางคดีเท่านั้น

"ผมคิดว่าผมไม่ได้แทรกแซงอัยการ แต่เป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อความรอบคอบ ทันเวลาก่อนครบกำหนดฝากขัง ผมอยากถามว่าผมผิดตรงไหน" นายพีระพันธุ์กล่าว

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า หนังสือที่ทำถึงอัยการสูงสุด เพื่อแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอไม่ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดอัยการแต่อย่างใด ตนในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เชื่อว่านายพีระพันธุ์ไม่ได้มีเจตนาแทรกแซง หรือกดดันอัยการ แต่เป็นแนวคิดเรื่องการทำงานที่ต้องประสานงานกัน และเพื่อขอความอนุเคราะห์ทางคดีมากกว่า เพราะคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ บางครั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องประสานงานใกล้ชิด การกระทำอาจจะไม่ปกติบ้าง แต่ยืนยันไม่ใช่การแทรกแซงการทำงานของอัยการแน่นอน 

นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด กล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าพบนายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุดเพื่อรายงานความคืบหน้าคดีก่อการร้าย กรณีนายพีระพันธุ์ทำหนังสือให้อัยการสูงสุดเร่งรัดการสั่งฟ้องคดีก่อนครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาบางราย ยืนยันว่าคณะทำงานอัยการกำลังเร่งพิจารณาสำนวน ข้ามวันข้ามคืน ตนเห็นว่าคดีนี้ดีเอสไอทำสำนวนสั่งฟ้องทั้ง 25 คน เป็นคดีเดียวดัน ดังนั้นจะแยกสำนวนให้สั่งฟ้องผู้ต้องหาบางคนที่ครบกำหนด คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเกิดความเสียหาย เนื่องจากหากอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาไป 1 คน แล้วมีการสั่งให้สอบเพิ่มเติมผู้ต้องหารายอื่นตามความจำเป็น แต่ภายหลังปรากฏว่าผู้ต้องหาที่อัยการฟ้องไปแล้วไม่มีความผิด จะเกิดความเสียหายตามมา 

นายวัยวุฒิกล่าวว่า ประเด็นการสั่งฟ้องไม่ทันและต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา ตนมองว่าจะเกิดความยุ่งยากแน่นอน ถ้าจับตัวไม่ได้ยิ่งเกิดความเสียหาย แต่หน้าที่จับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ อัยการมีเวลาการพิจารณาสำนวนก่อการร้ายไม่ถึง 12 วัน แต่ไม่อยากให้มองว่าดีเอสไอส่งสำนวนล่าช้า แต่เหลือเวลาเพียงเท่านี้อัยการก็ทำงานกันแทบตาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมทำหนังสือเร่งรัดอัยการสั่งคดีเป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายวัยวุฒิกล่าวว่า แทรกแซงหรือไม่ ตอบไม่ได้ แต่กรณีแบบนี้อัยการก็ไม่เคยพบมาก่อน

เมื่อถามว่า ดีเอสไอต้องการให้อัยการสั่งสำนวนตามความเห็นดีเอสไอหรือไม่ นายวัยวุฒิ กล่าวว่า คงเป็นอย่างนั้น 

ทั้งนี้คงต้องรอให้คณะทำงานที่มีนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สรุปความเห็นก่อนเสนออัยการสูงสุดพิจารณาครั้งสุดท้าย ซึ่งอัยการยืนยันว่า ไม่สามารถแยกพิจารณาสำนวนเป็นรายบุคคลได้    

แดงเชียงใหม่มอบตัว ขู่ฟ้อง"มาร์ค-สุเทพ"เมินจัดการเหลืองชุมนุม
8 ส.ค.เมื่อเวลา 09.30 น. นายศรีวรรณ จันทร์ผง อายุ 43 ปี นายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ อายุ 41 ปี นายสาธิน สุกันธา  อายุ 47 ปี นางสุธีรา รักษาภักดี อายุ 47 ปี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ของ พ.ต.ท.ทรงธรรม จันกัน พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือกเชียงใหม่ ในข้อหาชุมนมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ทั้ง 4 คนมาสอบปากคำเพิ่มเติม จากนั้นก็ได้ให้กลับบ้านไปก่อนและจะได้มีการเรียกสอบและแจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้งต่อไป

นายศรีวรรณ กล่าวว่า เหตุเกิดที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมาเวลาประมาณ 12.30 น. ถึง 13.50 น. วันนั้นตนและพวกประมาณ 500 คน เดินทางไปอ่านคำแถลงการณ์และยื่นหนังสือ เพื่อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กรณีที่พวกเราไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉินที่เชียงใหม่

นายศรีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมาพวกตนถูกแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งพวกตนก็ไม่เข้าใจว่าทาง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายวีระ สมความคิด แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปชุมนุมเรื่องเรื่องเขาพระวิหาร ในกรุงเทพฯ ทั้งที่ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ กลับไม่เป็นไร แถมยังมีการท้าทายอีก พวกตนไม่เข้าใจพวกสีเหลืองไม่โดน แต่พวกตนโดน
 
"กลุ่มแดงเชียงใหม่จึงหารือกันว่าจะเดินหน้าเข้าแจ้งความเอาผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย พรก.ฉุกเฉิน" นายศรีวรรณ กล่าว
 
 
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ , เว็บไซต์มติชน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกฯเตรียมระดมสมองปมพระวิหาร ม็อบยอมสลาย–นักวิชาการสับแค่เกม แนะร่วมมือวัฒนธรรม

Posted: 08 Aug 2010 12:45 PM PDT

8 ส.ค.53 นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายศิริโชค โสมา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดการเจรจาร่วมกับกลุ่มเครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ ซึ่งมีนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายเทพมนตรี ลิมปพยอม และ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตทนายผู้ประสานงานคดีเขาพระวิหารฝ่ายไทย ระหว่าง พ.ศ.2503-2505 โดยได้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นเวลา 3 ชั่วโมงตั้งแต่ 10.00 น. - 13.00 น.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการเจรจาตกลงกันเห็นว่ามีหลายเรื่องเห็นตรงกัน โดยบางเรื่องจะต้องนำไปดำเนินการต่อ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว มองว่ามีความความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม และยืนยันประเทศไทยไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเอ็มโอยู 43 ที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ยอมรับ และเห็นว่าเอ็มโอยู 43 มีประโยชน์กับไทยเราเป็นอย่างมาก ในเรื่องที่สกัดกั้นไม่ให้กัมพูชายื่นแผนที่กับคณะกรรมการมรดกโลก และถ้าหากไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังในการผลักดัน ก็ถือว่าเป็นไปตามข้อตกลงในเอ็มโอยู ทั้งนี้ก่อนที่รัฐบาลจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการเปิดเวทีภาคประชาชนให้ทุกคน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ว่าจะมีวิธีเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรในเมื่อทุกคนมีเจตนาที่ตรงกัน ส่วนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ก็จะมีการเปิดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมเช่นกัน
ขณะที่เครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ ได้แสดงความเป็นห่วง โดยได้มีการสอบถามเหตุผลที่นายสุวิทย์ ได้ลงนามรับร่างมติมรดกโลก 5 ข้อ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 34 ที่ประเทศบราซิล ว่าจะทำให้ไทยเสียดินแดนให้กับทางกัมพูชาไป โดยนายสุวิทย์ได้เน้นย้ำว่า การลงนามดังกล้าวไม่ได้มีข้อผูกพันใดๆ กับประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีความวิตกอีกว่า หากรัฐบาลชุดหน้าเดินทางเข้ามาบริหารประเทศ แล้วจะไม่ใช้แนวสันปันน้ำ แต่กลับไปยึดเขตแดนตามแผนที่ฝรั่งเศส ในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ตรงนี้จะเป็นอันตรายเป็นในการเสียพื้นที่อธิปไตยไทยเป็นอย่างมาก
ด้านนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ใช้หลักทางการทูตและการเจรจากับประเทศกัมพูชา เพื่อผลักดันให้ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ที่มีปัญหา ที่ผ่านมาเห็นว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด และที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยจะใช้วิธีทางการทหารเลย ทั้งนี้จึงอยากเสนอให้รัฐบาลหาวิธีที่จะผลักดันชาวกัมพูชาออกไปจากอธิปไตยของไทยให้ได้ พร้อมเรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิกเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นจุดที่ทำให้ชาวกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเพิ่มขึ้นหลังจากที่เซ็นเอ็มโอยู 43 ไปแล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวชี้แจงว่า ตนเห็นว่าเอ็มโอยู 43 ยังมีประโยชน์เป็นอย่างมากกับประเทศไทย และยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกในขณะนี้ แต่ระบุว่าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็มีโอกาสที่จะยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว พร้อมย้ำว่าปัญหาเรื่องการรุกล้ำดินแดน จะมีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูตและการทหารผสมผสานกัน ทั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามยืนยันจะไม่มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพราะไม่ต้องการให้เกิดสงครามขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายกฯ ยืนยันว่า เอ็มโอยู 43 ไม่ได้เป็นการยอมรับแผนที่ 1:200,000 ที่ทางกัมพูชาใช้อ้างในเวทีศาลโลก ขณะเดียวกันเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว ก็ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้เช่นกัน เพราะการกำหนดเขตแดนจะต้องผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าไทยเคยใช้คำว่าพื้นที่ซับซ้อน ในพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร ที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่ามีสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว

ม็อบหน้ากองทัพภาค
1สลายทันที หลังการประชุมยุติ
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ประกาศสลายการชุมนุมที่หน้ากองทัพภาคที่1 เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาเนื่องจากมีมวลชนสนับสนุนไม่เพียงพอ ประกอบกับถูกรัฐบาลเจาะยาง เนื่องจากมีการแยกชุมนุมออกเป็นสองกลุ่มคือที่หน้ากองทัพภาคที่1 กับอาคารกีฬาเวศน์ ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง อย่างไรก็ตาม จะนัดหารือกับกลุ่มต่างๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ต่อไป
"การชุมนุมครั้งนี้ ถือเป็นการพักรบชั่วคราวเท่านั้น เมื่อมีความพร้อมจะมาพบกันใหม่ การดีเบตผ่านทีวีถือเป็นความสำเร็จเนื่องจากถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนได้นำเสนอปัญหาต่างๆ อย่างบริสุทธิ์ไม่ใช่ทำเพื่อใคร" นายไชยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้หลังการประกาศยุติชุมนุมของนายไชยวัฒน์ กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งรวมตัวกันที่หน้ากองทัพภาคที่1 ได้พากันเก็บข้าวของและสลายตัวไปทันที
 
นักวิชาการสับ กรณีพระวิหารแค่"เกม" แนะร่วมมือข้ามวัฒนธรรมดีกว่า
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาเรื่องมรดกโลกกับปัญหาเขตแดน โดยนางสาวมรกต เจวจินดา ไมยเออร์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า การนำเรื่องเขาพระวิหารมาใช้ปลุกกระแสชาตินิยมในขณะนี้ เป็นการเล่นเกมการเมืองมากกว่า มัวแต่เถียงกันแทนที่จะหาทางแก้ปัญหา ซึ่งควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในเชิงมูลค่าเพิ่มมากกว่ามองว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนของใคร

นางสาวมรกตกล่าวว่า เรื่องนี้ควรมองไปข้างหน้า เพื่อผลักดันให้เป็นมรดกข้ามเขตแดน และสร้างประโยชน์จากที่มีอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือ ไทยต้องจริงใจต่อเพื่อนบ้าน ต้องยอมรับว่าไม่ได้โดดเดี่ยว ขณะนี้ไทยกำลังปฏิเสธกระแสของอาเซียน เรื่องดังกล่าวกำลังสะท้อนว่าประเทศไทยต้องการอยู่คนเดียวใช่หรือไม่ ในกรณีของเยอรมนีและโปแลนด์ที่มีพื้นที่ทับซ้อนเหมือนเขาพระวิหาร แต่สามารถสร้างประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้ โดยการพัฒนาเป็นแหล่งมรดกโลกที่สำคัญ โดยไม่อิงเรื่องเขตแดน เนื่องจากมีสหภาพยุโรปที่ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ขณะที่ไทยเองกำลังผลักดันความเป็นอาเซียน แต่กลับปฏิเสธเสียเอง

นางสาวมรกตกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ไทยควรจะร่วมมือกับกัมพูชาในการรักษามรดกโลก ต้องถามตัวเองว่าจะไปขัดแย้งเพื่ออะไร เราจะผลักดันให้นำไปสู่ความร่วมมือข้ามวัฒนธรรมได้หรือไม่

"รัฐบาลคงจะยื้อต่อไป เพื่อประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งประเมินว่าไทยยังไม่มีความแข็งแกร่งทางกองทัพเพียงพอที่จะสู้รบกับใคร คงจะอยู่กันไปอย่างนี้ โอกาสที่จะหาทางออกมีน้อยมาก แต่โอกาสที่จะสร้างประโยชน์จากจุดนี้มีมากกว่า ซึ่งไทยยังผลักดันแหล่งท่องเที่ยวของไทยเองเป็นมรดกโลกน้อยกว่ากัมพูชา เมื่อเทียบกับรายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่กัมพูชาขอยื่นเป็นมรดกโลกไปแล้วหลายแห่ง" นางสาวมรกตกล่าว

นายอัครพงษ์ ค้ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การหารือระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มรักชาตินั้น เป็นเหมือนตาบอดคลำช้าง ไม่มีใครได้อะไร หาประโยชน์อะไรไม่เจอ อยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ตีความเรื่องที่เกิดขึ้นให้ถ่องแท้ ส่วนเรื่องบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับกัมพูชาเมื่อปี 2543 ที่มีข้อถกเถียงว่าจะรับหรือไม่รับนั้น ต้องพิจารณาว่า หากไม่รับแล้วจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร

นายอัครพงษ์กล่าวว่า เอ็มโอยูดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ในเขตแดนของไทยหลายส่วน หากยกเลิกเอ็มโอยู อาจได้รับผลกระทบหลายด้าน เช่น พื้นที่ในเขตหมู่บ้านร่มเกล้า ที่ประเทศลาวอาจยื่นขอให้ตีความเพื่อดึงกลับไปเป็นเขตแดนของลาวด้วย โดยสิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่ ต้องดูว่ากำลังแลกกับอะไร แลกกับการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหรือแลกกับการเสียศักดิ์ศรีที่ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร

"ขอประณามว่า สิ่งที่กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติกำลังทำอยู่ เหมือนกำลังทำลายชาติ ซึ่งผมเองก็รักชาติเหมือนกัน การเรียกร้องในระยะแรกเป็นสิ่งดีที่ทำให้ต่างประเทศตระหนักว่าไทยไม่ยอมรับในคำตัดสิน แต่ระยะหลังเหมือนเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ทางที่ดีควรหาทางขึ้นทะเบียนเขาใหญ่ก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการส่งแผนจัดการกรณีเขาใหญ่ รวมถึงเขาพนมรุ้ง หรือปราสาทหินพิมายเลย ขณะที่กัมพูชาส่งรายชื่อขึ้นทะเบียนไปแล้วหลายแห่ง" นายอัครพงษ์กล่าว

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตากกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือ ใช้ช่องทางของเอ็มโอยูปี 2543 เป็นเครื่องมือ ต้องปักหลักเขตแดนให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ไทยคงหนีไม่พ้นการปะทะกับกัมพูชาบ้าง ซึ่งทางออกมีสองทางคือ ถ้าไม่รบกันไปเลย ก็ต้องยื่นให้ศาลโลกตัดสินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย คงต้องหาทางทำให้เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นของไทยได้หรือไม่ โดยแยกส่วนที่เป็นของไทยและกัมพูชาชัดเจน
 
 
"ฮุนเซน"เดือดไทยส่งหนังสือฟ้องยูเอ็นเรื่องปราสาทพระวิหาร โวยไทยละเมิดกฎบัตรยูเอ็น
นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้ส่งหนังสือถึงนายอาลี อับดุสซาลัม ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และนายวิทาลี เชอร์กิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคนละฉบับ เพื่อชี้แจงท่าทีของกัมพูชาต่อประเด็นปราสาทพระวิหาร
ฮุนเซนระบุว่า ประเทศไทยละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2.3 และ 2.4 อย่างชัดเจน ด้วยการขู่ที่จะใช้กำลังทหารกับกัมพูชาเพื่อยุติปัญหาชายแดน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ถ้อยแถลงของนายกฯกัมพูชามีขึ้น หลังจากที่มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีของไทยขู่ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ระหว่างสองประเทศ และอาจใช้วิธีทางการทหารเพื่อแก้ปัญหาชายแดนกับกัมพูชา
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการจัดรายการพิเศษเรื่องปราสาทพระวิหาร เมื่อช่วงสายถึงบ่ายวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยจะไม่ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 เหตุยังเป็นประโยชน์ต่อไทย
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังวลที่ว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือเอ็มโอยู 2543 ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาและจะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า เอ็มโอยูปี 2543 ไม่ได้ไปยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่ทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยระหว่างนั้นยังห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปครอบครองหรือทำอะไรในพื้นที่พิพาทเพิ่มเติม และเมื่อจัดทำหลักเขตแดนแล้ว ยังต้องมาดูอีกทีว่า เราจะยอมรับเขตแดนดังกล่าวหรือไม่ เพราะต้องรายงานต่อรัฐสภาด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เอ็มโอยู 2543 มีข้อดีตรงที่ห้ามฝ่ายไหนรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่พิพาท หากใครเข้าไปก็สามารถประท้วงได้ นอกจากนี้ เอ็มโอยูปี 2543 ยังสามารถระงับไม่ให้กัมพูชาส่งแผนที่ต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะยังปักปันเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกก็ยอมรับว่า กัมพูชายังไม่สามารถส่งแผนที่ได้
"ผมไม่ยกเลิก เพราะมีประโยชน์ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนที่บอกว่าจะถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์" นายอภิสิทธิ์ กล่าวระหว่างเจรจากับเครือข่ายภาคีฯ ผ่านช่อง 11

 
พรรคการเมืองใหม่หนุนทุกกลุ่มร่วมทวงพระวิหาร
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ว่า พรรคการเมืองใหม่ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะการยกเลิกบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น หรือ MOU 2543
นายสุริยะใส ยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อยกระดับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และไม่ควรมองการเคลื่อนไหวของประชาชนว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยควรสำนึกบาปที่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการจัดทำ TOR 2546 ที่ใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน เป็นเอกสารที่ใช้ในการกำหนดเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกัมพูชาเป็นอย่างมาก
 
ค้านม็อบชุมนุมปมพระวิหาร
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,059 คน เมื่อ7-8ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ กรณี ปราสาทเขาพระวิหาร และขอให้ชี้แจงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำบันทึกความร่วมมือMOU 2000 หรือ เอ็มโอยูปี43 ดังนี้
          1. ประชาชนคิดอย่างไร? ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง คัดค้าน กรณี เขาพระวิหาร
          อันดับ 1กลัวว่าจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่บานปลายมากขึ้น41.09%
          อันดับ 2เป็นการแสดงออกซึ่งความห่วงใย เกรงว่าจะต้องเสียดินแดนไป23.60%
          อันดับ 3ยังไม่ควรออกมาตอนนี้ เพราะยังมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ / ถือเป็นการกระทำที่ผิด กฎหมาย15.72%
          อันดับ 4ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและภายนอก /ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหา11.31%
         อันดับ 5ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นของประเทศ 8.28%
          2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่? ที่กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้
          อันดับ 1ไม่เห็นด้วย46.77% เพราะ กลัวว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ,ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ , ทำให้รัฐบาลต้องหันมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจนไม่มีเวลาแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ ฯลฯ
          อันดับ 2เห็นด้วย27.42% เพราะ เป็นการแสดงออกของคนไทยที่มีความรักและหวงแหนประเทศไทย ,ต้องการให้รัฐบาลรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ยิ่งขึ้น ฯลฯ
          อันดับ 3ไม่แน่ใจ25.81% เพราะ ขึ้นอยู่กับผู้นำการชุมนุมในครั้งนี้ว่าจะควบคุมดูแลได้ดีมากน้อยเพียงใด , รัฐบาลจะมีวิธีดำเนินการกับกลุ่ม ผู้ชุมนุมอย่างไร? ,กลัวว่าจะมีเรื่องการเมืองมาแอบแฝง ฯลฯ
          3. การออกมาชุมนุมครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลดี - ผลเสียมากกว่ากัน
          อันดับ 1ผลเสียมากกว่า37.10% เพราะทำให้สถานการณ์ในตอนนี้กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ,ประชาชนวิตกกังวลมากขึ้น กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก ฯลฯ
          อันดับ 2พอๆกัน24.19% เพราะ ประเด็นที่นำมาสู่การชุมนุมในตอนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ /ไม่รู้ว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ฯลฯ
          อันดับ 3ไม่แน่ใจ20.97% เพราะ ยังไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ,ไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฯลฯ
          อันดับ 4ผลดีมากกว่า17.74% เพราะ จากการออกมาชุมนุมครั้งนี้อาจส่งผลให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หันมาทบทวนอีกครั้ง ฯลฯ
          4. รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไร? กับกลุ่มผู้ชุมนุม
          อันดับ 1ใช้การเจรจา ขอความร่วมมือกับผู้ชุมนุม /ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆให้รับทราบ64.16%
          อันดับ 2ปฏิบัติตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อมีการทำผิด เพื่อป้องกันการกล่าวหาว่าปฏิบัติ 2 มาตรฐาน18.31%
          อันดับ 3ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจลงไปยังพื้นที่ที่มีการชุมนุมเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย17.53%
          5. ในฐานะคนไทย กรณี เขาพระวิหารควรทำอย่างไร?
          อันดับ 1เป็นกำลังใจให้กับรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องให้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี30.24%
          อันดับ 2ไม่อยากให้เรื่องนี้ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติและสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศให้มากขึ้น22.27%
          อันดับ 3รัฐบาลต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งด้านหลักฐาน ข้อมูลและทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ21.53%
          อันดับ 4อยากให้เรื่องนี้ยุติลงโดยเร็ว มีผลต่อความเป็นอยู่และการค้าขายของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น /รัฐบาลต้องอดทน ใช้วิธีการเจรจาในการแก้ปัญหา15.04%
          อันดับ 5อยู่เฉยๆ / จะคอยติดตามข่าวสารต่อไป10.92%
 
พท.สับรัฐ2มาตรฐาน เล่นละครลิง
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีเขาพระวิหารว่า จากการชุมนุมพันธมิตรฯและเครือข่ายคนไทยรักชาติ แม้เป็นช่วงรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ยังมีเครือข่ายคนไทยรักชาติ นำโดยนายวีระ ที่ไปละเมิด แต่ก็ไม่มีการจับกุมใดๆ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานของ นายอภิสิทธิ์ว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินบังคับใช้ได้เฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่กับพวกเดียวกัน ม็อบมีเส้นนั้น ไม่เป็นอะไร ประเด็นนี้สะท้อนถึงการขาดวุฒิภาวะ เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน
เมื่อเป็นแบบนี้ก็ขอเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 10 จังหวัด เพราะถ้ามีไว้ต่อไปลักษณะอย่างนี้เป็นการทำลายกฎหมาย ทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม เลือกปฏิบัติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เชื่อไม่เคารพ ถ้ายังเลือกข้างเลือกฝ่าย ถ้าเป็นพวกรัฐบาลไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามจัดการหมด ถามว่าเมื่อเลือกอย่างนี้ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่กิดขึ้นในประเด็นเขาพระวิหารถือเป็นการเล่นละครทางการเมือง ตบตาประชาชนระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งตามหมายเรียก 79 รายชื่อ ที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้ายสากล กรณียึดสนามบิน ปรากฏตัวละครทั้งหมด การดีเบตกันเรื่องเขาพระวิหารถือเป็นการจุดกระแสคลั่งชาติ เพื่อผลประโยชน์การเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งส.ก. ส.ข.หรือไม่ เพราะไม่มีประเทศไหน ที่มีข้อพิพาทแล้วเอาข้อเท็จจริงไปดีเบตปรากฏเป็นข่าวไปทั่วประเทศ ทั่วโลก วันนี้เขาคงนั่งขำกลิ้งกับการขาดวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เรื่องความสัมพันธ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
หากนายอภิสิทธิ์ พันธมิตรฯจริงใจ ควรนำข้อเสนอทำเป็นวาระแห่งชาติของเรา ระดมความคิดทุกฝ่าย หน่วยงานรัฐ ทหาร ต่างประเทศ พันธมิตรฯ นปช. มาปิดห้องหารือกันเงียบๆ แล้วจึงค่อยแถลงข่าว ไม่ใช่มาดีเบตเป็นตลกร้ายทางการเมือง ยิ่งพูดไปความขัดแย้งก็ยิ่งเพิ่มขึ้น อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามได้ นายอภิสิทธิ์ตอนเป็นฝ่ายค้านพูดอย่าง พอเป็นรัฐบาลพูดอีกอย่าง ขาดความรู้ความเข้าใจ บิดเบือนข้อเท็จจริง เอาแต่ซื้อเวลาอยู่บนอำนาจ เรื่องนี้จะมีวาระการประชุมในอีก 1 ปีข้างหน้า สุดท้ายรัฐบาลนี้ก็จะโยนให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า สำหรับบทบาทการทำหน้าที่ของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ถือว่า ล้มเหลวมากที่สุด ไร้ผลงาน ขาดวิสัยทัศน์ ขาดการยอมรับจากสังคมโลก ทำหน้าที่อย่างเดียวคือล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างอื่นทำไม่เป็น การเจรจาเรื่องเขาพระวิหารต้องให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแทน พอจะมีการเจรจาทวิภาคีกับกัมพูชาก็จะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไปแทน ส่วนทางด้านปัญหาการปิดด่านกับพม่าก็ต้องให้นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ไปพูดคุยแทน ถามว่านายกษิตกำลังทำอะไรอยู่ นายอภิสิทธิ์ ตั้งโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้น ไปเอาผู้ก่อการร้าย วลีเด็ด อาหารดี ดนตรีไพเราะมานั่งเก้าอี้รมว.ต่างประเทศ หากจะปรับผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศคนใหม่ ก็ควรหารัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เพราะมีแต่นโยบายเพิ่มศัตรู ควรปรับเป็นแสวงหามิตร ลดศัตรู ยังมีหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเหมาะสมเป็นรมว.ต่างประเทศ ที่จะเป็นตัวหลักในการเจรจาแก้ปัญหาระหว่างประเทศ
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ, มติชน, สยามรัฐ, โพสต์ทูเดย์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปส.ชงนายกฯตั้งสมัชชาถก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-โพลล์ชี้ประชาชนหนุนมี พ.ร.บ.

Posted: 08 Aug 2010 12:06 PM PDT

เครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข เตรียมเข้าพบนายกฯ เสนอตั้งเวทีสมัชชาผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข/ภาคประชาชนปฏิญาณตนทำเพื่อส่วนรวม ด้านผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบไม่เห็นด้วยหมอค้านพ.ร.บ.

8 ส.ค.53 8 ส.ค.53 นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ หัวหน้าหน่วยประสานงานสื่อมวลชน เครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข (คปส.) กล่าวว่า คปส.ได้นัดหารือร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรว่า ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ควรพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกภาคส่วน
"ขอเสนอทางออกให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการจัดเวที สมัชชาผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขไทยทุกสาขาทุกสังกัด โดยมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ เป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลจะมอบให้หน่วยงานใดหรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดก็ได้"นพ.ฐาปนวงศ์กล่าว
ทั้งนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับทางสำนักนายกรัฐมนตรี ในการขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าว โดยหากเป็นไปได้อาจเข้าพบในอีก 1-2 วันนี้ เพื่อให้จัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยข้อเสนอของทาง คปส.จะแตกต่างจากทาง สธ. เนื่องจากสธ. ออกมาระบุว่าจะเพิ่มสัดส่วนกรรมการ โดยดึงแพทย์จากสังกัดต่างๆเข้ามาร่วม แต่ คปส.มองว่า ควรดำเนินการในระดับวงกว้างทั้งประเทศ
นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับการล่ารายชื่อบุคลากรสาธารณสุข 10,000 ชื่อเพื่อถอดถอน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข (สวรส.)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่มีการพูดถึง คปส.เกี่ยวกับข้อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวในทางลบ และเมื่อทุกอย่างครบถ้วนจะเสนอต่อรัฐบาล และจะดำเนินการควบคู่กับข้อเสนอตั้งสมัชชา
 
โพลชี้ ปชช.ไม่เห็นด้วยหมอ-บุคคลากรแพทย์ค้านพรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย
รศ. ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจ"หาดใหญ่โพล " ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลา เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน
1,198 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2553 สรุปผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 82.5 เห็นด้วยให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข   มีเพียงร้อยละ 17.5 ที่ไม่เห็นด้วยให้มี พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 61.4 เห็นว่าหากมีการใช้พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข ประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด รองลงมา คือ ผู้เสียหายและเครือญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ คิดเป็น  ร้อยละ 32.4 และ 6.1 ตามลำดับ
ส่วนความคิดเห็นต่อความขัดแย้งของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ หากมีการใช้พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.4  เห็นว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ประชาชนร้อยละ 51.6 เห็นว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ระดับมาก และร้อยละ 27.8 เกิดความขัดแย้งระดับน้อย มีเพียงร้อยละ 20.6 เห็นว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
 
ประชาชนร้อยละ 51.6 ไม่เห็นด้วยที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เรียกร้องไม่ให้มีการฟ้องคดีอาญาอันเนื่องจากการประกอบวิชาชีพ และร้อยละ 48.4 เห็นด้วยไม่ให้มีการฟ้องคดีอาญากับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 64.4 ไม่เชื่อว่าจะเกิดสถานการณ์ผู้ป่วยหนักมาเข้ารับการรักษาเพื่อขอรับเงินชดเชย มีเพียงร้อยละ 35.6 ที่คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหากมีการใช้ พรบ.ฉบับนี้
 
ส่วนแนวโน้มหากมีการใช้ พรบ. คุ้มครองความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข พบว่า ประชาชน คิดว่าคุณภาพในการรักษาผู้ป่วย มีแนวโน้มจะดีขึ้น มากที่สุด รองลงมา ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองและชดเชย  รวดรวดขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ มีแนวโน้มจะดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนคิดว่าการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มลดลงแต่ไม่เด่นชัดมากนัก ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน พบว่า ประชาชนมีความวิตกกังวล คาดว่ามีแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น
 

ภาคประชาสังคมปฏิญาณตน ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 ส.ค.เวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนภาคประชาสังคมในคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข พร้อมกันไปสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย พร้อมประกาศเจตนารมณ์การผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ก่อนการร่วมประชุมคณะกรรมการฯ
    

คำประกาศเจตนารมณ์
การผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข
 
พวกเราในนามของกลุ่มองค์กรผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ได้ร่วมมือกันในการเข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ขอประกาศเจตนารมณ์ ต่อพระราชบิดา ดังนี้
โดยที่ปัจจุบันพบว่า การให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขธรรมดา และยังจำกัดเฉพาะผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)เท่านั้น ไม่รวมถึงระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และ ประชาชนผู้รับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลด้วยตัวเอง ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่มีทางเลือกในการดำเนินการที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย นอกจากต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นภาระในการดำเนินการและมีอุปสรรคมากมาย ที่สำคัญส่งผลทางลบต่อความสัมพันธ์ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขกับผู้ป่วย
ดังนั้นการมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ครอบคลุมทุกคนโดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ลดคดีความในการฟ้องร้องและลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ สนับสนุนการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยและยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
        พวกเรา ขอปฏิญาณต่อหน้าพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทยว่า การทำหน้าที่ของพวกเรา กลุ่มองค์กรผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ได้ร่วมมือกันในการเข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... จะเป็นไปเพื่อหลักการสำคัญ 3 ประการของของกฎหมายที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา คือ

1.    มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและและมีความเสียหาย
2.   มีระบบพัฒนาป้องกันความเสียหาย
3.   ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง

ไม่มีการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนอย่างเด็ดขาด
และในโอกาสที่พวกเราได้มาประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง ขอให้การประชุมที่จะมีขึ้นเป็นการถกแถลงด้วยเหตุด้วยผลและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนากฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนสมดั่งคำสอนของพระราชบิดาที่ว่า
"อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรประกอบอาชีพอื่น ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์"
ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2553 ณ กระทรวงสาธารณสุข
 
“ร่วมพิทักษ์คุณธรรมความเป็นแพทย์
ร่วมระแวด ระวังภัยได้รักษา
ร่วมให้คนป่วยไข้ได้พึ่งพา
ร่วมสนองพระเจตนาการุณยธรรม       

โดย อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
 

 
 
ที่มาบางส่วน: www.posttoday.com, www.matichon.co.th
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงวิ่งรอบสวนสันติภาพ–บก.ลายจุดหนุน พธม.ชุมนุม ครั้งหน้าขอใช้สนามกีฬาบ้าง

Posted: 08 Aug 2010 10:55 AM PDT

 
 
 

 

 
 

 
 
8 ส.ค.53  เวลา 17.00 น. มีการจัดกิจกรรม ‘วันอาทิตย์สีแดง’ วิ่งออกกำลังกายที่สวนสันติภาพ โดยมีประชาชนสวมเสื้อแดงเข้าร่วมกิจกรรมราว 300 คน
 
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ริเริ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงกล่าวว่า การวิ่งออกกำลังกายครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “แดงเข้มแข็ง” โดยการวิ่งรอบสวนสันติภาพ 1 รอบ ระยะทางประมาณ 700 เมตร เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการต่อสู้ในระยะยาว
 
เขากล่าวว่า การเลือกใช้สวนสันติภาพ เนื่องจากระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในบริเวณดินแดง ราชปรารภ ซอยรางน้ำ เป็นจำนวนมาก และมีเรื่องราวการซุ่มยิงหรือสไนเปอร์จากอาคารสูงโดยรอบ รวมทั้งมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตในห้องพักของตนเองบนคอนโดมิเนียม ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีการติดตามตัวผู้กระทำผิด หรือมีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว กิจกรรมในวันนี้จึงเป็นการย้ำเตือนถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
 

 
 
 
ก่อนเริ่มกิจกรรม มีการผูกผ้าแดงตามเสาที่อยู่บริเวณริมสระน้ำ จากนั้นมีการแจกกระดาษเปล่าให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนข้อความที่ต้องการสื่อสารต่อสาธารณะ โดยผู้จัดกิจกรรมขอร้องไม่ให้เขียนถ้อยคำหยาบคาย ขณะเดียวกันผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนเปล่งเสียง “ที่นี่มีคนตาย” พร้อมชี้นิ้วไปทางยังที่ตั้งของตึกชีวาทัย และตลอดการวิ่ง 700 เมตร มีการเปล่งเสียง “ที่นี่มีคนตาย” ไปตลอดทาง
 
นายสมบัติกล่าวถึงกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ส.ค.ที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร ว่า จะเป็นรูปแบบกิจกรรมครอบครัวชื่อ “ปิคนิคข้าวแดง” โดยเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมพาครอบครัวมาปูเสื่อทานอาหาร และพูดคุยปรับทุกข์ และจะให้กิจกรรมของคนเสื้อแดงยังคงเป็นกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่มีความผ่อนคลาย
 
 
 
 
 
นอกจากนี้ นายสมบัติยังกล่าวว่า กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจะจัดกิจกรรมสัญจรอย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 โดยเดินทางไปที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในจ.เชียงใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ การจัดกิจกรรมสัญจรจึงเป็นการเชิญชวนพี่น้องให้มาช่วยกันท่องเที่ยวและอุดหนุนสินค้าของคนเชียงใหม่ โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “แดงท่องเหนือ ช็อปหมู่เฮา” ในวันอาทิตย์ที่ 22 ส.ค. ที่บริเวณถนนคนเดิน ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงเรียบร้อยเพียงไม่กี่นาย และกิจกรรมเสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ 18.00 น.
 
 
 
บก.ลายจุด หนุนพันธมิตรฯ ชุมนุม แต่สงสัยเสื้อแดงทำบ้าง อภิสิทธิ์จะขึ้นเวทีไหม ?
นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการทำกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง โดยแสดงความเห็นต่อการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกรณีเขาพระวิหารว่า ตนอยากสนับสนุนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในกรณีเขาพระวิหาร แม้จะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา แต่เนื่องจากเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย และเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบ
 
นายสมบัติกล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปขึ้นเวทีชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง โดยมองว่าเมื่อประชาชนมีคำถาม ผู้นำประเทศก็ควรตอบ พร้อมตั้งคำถามหากคนเสื้อแดงขอใช้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นชุมนุมบ้างได้หรือไม่ และนายกฯ จะไปตอบคำถามตนเหมือนที่เดินทางไปตอบคำถามกลุ่มพันธมิตรฯ หรือไม่
 
“คนที่เป็นผู้นำประเทศ เมื่อประชาชนมีคำถาม นายกฯ ก็ควรตอบ แต่อยากให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถ้าคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมลักษณะนี้ หรือมีข้อเรียกร้องจำนวนมาก คำถามคือ ถ้าผมขอใช้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นในครั้งหน้าเหมือนพันธมิตรฯ รัฐบาลจะอนุญาตหรือไม่ และอภิสิทธิ์จะแวะไปตอบคำถามผมได้ไหม หรือเชิญผมไปออกทีวี” นายสมบัติกล่าว
 
นายสมบัติกล่าวในตอนท้ายว่า หากรัฐบาลยืนยันว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นสิ่งที่ทำได้ ตนก็คิดว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็น่าจะทำได้เช่นกัน และตนรู้สึกอิจฉากลุ่มพันธมิตรฯ อยากมีโอกาสพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกคิดถึงบรรยากาศและอยากกลับไปชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานอีกครั้ง
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: จริง-ไม่จริง ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

Posted: 08 Aug 2010 09:50 AM PDT

 
·      เมื่อมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นมาก

ไม่จริง
ความจริงก็คือ พ.ร.บ.นี้ใช้หลักการเดียวกับมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพซึ่งพิสูจน์มาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วว่าสามารถลดการฟ้องร้องแพทย์และบุคคลากรการแพทย์ และช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย เพียงแต่ว่ามาตรา 41 เยียวยาเฉพาะผู้เสียหายที่ใช้บัตรทองที่มีอยู่ประมาณ 47 ล้านคน ฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงจะขยายการคุ้มครองเยียวยาไปให้ครบ 65 ล้านคนที่เหลือที่ใช้สิทธิประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ และคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาด้วยตัวเอง

·     แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากพึงพอใจกับขบวนการเยียวยาตามมาตรา 41 ที่ให้กับผู้ป่วยที่ใช้บัตรทอง

จริง
หลังจากที่มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพประกาศใช้มากว่า 6 ปี แพทย์ที่ทำการรักษาคนไข้บัตรทอง สามารถวางใจได้ว่า หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย คนป่วยจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างทันท่วงที ในขณะที่ตัวแพทย์และบุคคลากรการแพทย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขบวนการหาคนผิดมาลงโทษ หรือเสี่ยงต่อการถูกสอบสวนดำเนินคดี แต่ที่ผ่านมา เป็นเฉพาะกรณีผู้ป่วยที่ใช้บัตรทองเท่านั้น หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่มีกลไกเยียวยาใดๆอย่างเป็นระบบ
·     พ.ร.บ.นี้จะทำให้มีผู้ฉวยโอกาสมาขอเงินชดเชยเยียวยามากมาย ขณะที่สถานบริการสาธารณสุขต้องหาเงินมาเข้ากองทุน

ไม่จริง ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้เสียหายต้องเอาชีวิตของตนเอง ความพิการ และการเป็นโรคที่ไม่ต้องการมาแลกกับเงินชดเชย การฉวยโอกาสนั้นเป็นไปไม่ได้ แม้ประสบการณ์ในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ที่มีการนำ No Fault Liability law มาใช้ จะพบว่า มีผู้มาขอรับการเยียวยาชดใช้จริง แต่ก็เป็นกรณีที่มีความเสียหายจริงๆ การชดเชยเยียวยาจึงเป็นสิ่งที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเอาที่ศาล ไม่สร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ส่วนประสบการณ์ของไทยเอง การใช้มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพพบว่า มีผู้ได้รับเยียวยาชดเชยเพียง ประมาณ 2,719 คน และกองทุนนี้นอกจากจะไม่ล้มละลายแล้วยังมีเงินเหลือสะสมมากกว่าที่คาดไว้

·     ผู้ป่วยที่เกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการฟ้องแพทย์หากมีกระบวนการเยียวยาที่น่าพึงพอใจ

จริง
กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า กระบวนการเยียวยาชดเชยต่อความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์สร้างความพีงพอใจให้แก่ผู้เสียหาย คือเหตุการณ์ที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกจำนวน 10 ราย ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นจากการติดเชื้อในการรับบริการครั้งนั้น แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับการเยียวยาทันท่วงที จึงไม่มีผู้เสียหายรายใดคิดที่จะฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาล และท้ายที่สุดก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำการรักษา

·     กองทุนนี้สร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้น
จริงเพราะอุบัติการณ์ความผิดพลาดทางการแพทย์ เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่าเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะพยายามรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถก็ตาม และเมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ใช้วิธีเพ่งโทษ เพราะไม่ใช่ความตั้งใจของผู้รักษาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ที่ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทุกคนก็ได้รับการเยียวยาด้วยการชดเชย เพราะกองทุนนี้จะดูแลประชาชนทั้ง 65 ล้านคน แต่หากไม่มีกองทุนจาก พ.ร.บ.นี้ จะมีคนกว่า 17 ล้านคนไม่ได้รับการดูแลเพราะไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทอง

·     ไม่มีความจำเป็นที่จะออก พ.ร.บ.นี้ เพราะกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์

ไม่จริง
  การเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้เกิดจากความล้มเหลวในระบบการให้ความเป็นธรรมในการให้บริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายแพ่ง หรือการใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้เสียหายต้องประสบกับอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิสูจน์ความผิดพลาดในการบริการสาธารณสุข ทำให้คดีที่ผู้เสียหายฟ้องร้องในศาล แทบไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเลย ถึงแม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2550 ช่วยให้การฟ้องคดีได้ง่ายขึ้น เช่น ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์เอง แต่ก็มีผลต่อความสัมพันธ์แพทย์กับผู้ป่วย  

ดังที่กล่าวไปแล้ว ทั้งจากประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า หากผู้เสียหายได้รับการเยียวยา จะทำให้การฟ้องร้องลดน้อยลง หาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขโดนคว่ำ วงการแพทย์และสาธารณสุขจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาฟ้องร้อง ที่สร้างความทุกข์ต่อผู้ปฏิบัติงาน แล้วยังมีการเรียกร้องมูลค่าเงินชดเชยที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องทนทุกข์ทั้งกายและใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือ การมีกลไกเยียวยาที่สร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย มารองรับอย่างเป็นระบบ ตามหลักการที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.

·     พ.ร.บ.นี้จะไปเบียดบังงบประมาณตามสถานพยาบาลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานพยาบาลสำหรับประชาชน ทำให้ยาในโรงพยาบาลขาดแคลนหรือไม่มีคุณภาพ

ไม่จริง ความจริงคืองบประมาณกองทุนที่ได้มานั้น มาจากกองทุนในมาตรา 41 และเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชนเป็นเบี้ยสมทบ เป็นหลักการเดียวกับการประกันความเสี่ยง ดีกว่าการจ่ายความเสียหายเป็นรายกรณี ส่วนโรงพยาบาลรัฐ กองทุนจะขอสมทบปีต่อปีจากรัฐบาล ดังนั้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะไม่ต้องเสียซ้ำเสียซ้อน
 
·     มีตัวแทน NGO มากกว่าตัวแทนแพทย์ในคณะกรรมการพิจารณาเยียวยาช่วยเหลือ
ไม่จริงในมาตรา 7 กำหนดว่ามีตัวแทนภาคประชาชนเพียง 3 คน กรรมการที่เหลือ ส่วนมากมีอาชีพเดิมและอาชีพปัจจุบันเป็นแพทย์ประมาณ 5 คน คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งเป็นแพทย์มาตลอด) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข (ซึ่งก็เป็นแพทย์) ตัวแทนสถานพยาบาล (ซึ่งน่าจะเป็นแพทย์ที่จะมาเป็นตัวแทน) จึงเห็นได้ว่าผู้มีความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขมีจำนวนมากกว่ากลุ่มประชาชนในทุกคณะกรรมการและอนุกรรมการ หากต้องการให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพในคณะกรรมการก็สามารถเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมธิการในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยไม่จำเป็นต้องล้ม พ.ร.บ.ทั้งฉบับ ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
 
·     คนไข้ได้เงินสองต่อ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากความเสียหายทางการแพทย์หรือเนื่องมาจากโรคที่เป็นอยู่
 
ไม่จริงคนไข้ที่จะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ต้องเป็นคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์เท่านั้น การช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความขัดแย้งโดยเร็วที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งการชดเชยเพิ่มเติมจะมีได้ต่อเมื่อมีการพิจารณาเห็นถึงความเสียหายและความจำเป็นที่เกิดขึ้นเท่านั้น
 
·     ได้เงินแล้ว คนไข้ยังมีสิทธิฟ้องหมอได้อีก
 
จริงและไม่จริง
 
จริง ในประเด็นที่ว่าสิทธิการฟ้องร้องเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนที่ไม่มีกฎหมายไหนรอนสิทธินี้ได้

ไม่จริงทางปฎิบัติ
ในประเด็นที่ว่าผู้เสียหายน่าจะนำเรื่องไปสู่ศาลอีก ประการแรก มีโอกาสน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเพราะหลังจากรับเงินชดเชยจะต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 ประการที่สอง ในมาตรา 34 กำหนดไว้ว่า หากผู้เสียหายนำเรื่องไปฟ้องศาลก็ไม่สามารถกลับมารับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.นี้อีก ซึ่งทำให้ผู้เสียหายต้องเลือกระหว่างกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย กับกระบวนการศาลที่อาจใช้เวลาหลายๆ ปี กับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
 
·     หมอที่ทำงานหนักเพื่อรักษาประชาชน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก พ.ร.บ.นี้

ไม่จริง
พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่ไม่มีการหาคนผิด หรือ การกล่าวโทษ แต่เป็นพ.ร.บ.ที่ยอมรับว่า ความผิดพลาดทางการบริการทางการแพทย์เกิดขึ้นได้โดยไม่มีเจตนา แต่เมื่อมีความผิดพลาดก็ควรมีการเยียวยาต่อผู้เสียหายโดยให้รัฐกับสถานพยาบาลมาช่วยกันเฉลี่ยความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แพทย์และบุคลากรที่ทำการรักษาไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย หรือต่อวิชาชีพ จึงสามารถดูแลคนไข้อื่นๆ ต่อไปอย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้องกังวลต่อกรณีฟ้องร้อง หรือกรณีหาเงินมาชดเชยต่อผู้เสียหาย
 
ที่สำคัญก็คือในมาตรา  45 มีการกำหนดให้อำนาจศาลพิจารณาละเว้นโทษให้แก่แพทย์หรือบุคคลากรการแพทย์หากมีการนำเรื่องไปฟ้องอาญา ซึ่งการละเว้นโทษขนาดนี้ ไม่ค่อยมีปรากฏในกฎหมายอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นการปกป้องและให้ประโยชน์แก่แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเพื่อประชาชน
 
·     ผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นผู้ที่เคยฟ้องร้องหมอมาก่อน ฉะนั้น พ.ร.บ.นี้ทำเพื่อการฟ้องร้องหมอ
 
จริงและไม่จริง
 
จริงที่ผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่เป็นร่างของประชาชน ร่างโดยผู้ที่เคยฟ้องร้องหมอ แต่ร่าง พ.ร.บ.ของประชาชน ไม่ใช่ร่างหลักที่กำลังจะเข้าสู่สภา เพราะร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าเป็นร่างของ ครม. ที่ผ่านกฤษฏีกา ที่กลุ่มประชาชนได้ร่วมออกความเห็น พร้อมๆ กับตัวแทนแพทยสภา และตัวแทนองค์กรอื่นๆ
 
ไม่จริง ตรงที่ว่าที่บุคคลที่เคยฟ้องแพทย์มาร่าง พ.ร.บ.นี้เพื่อเพิ่มการฟ้องร้องแพทย์ ตรงกันข้าม การร่าง พ.ร.บ.นี้ ทำไปเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์และหาทางออกที่เป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหาย โดยผ่านการศึกษาและวิจัย ทั้งประสบการณ์ในต่างประเทศและของไทย
 
ในอดีตขบวนการขึ้นสู่ศาลต่างๆ สร้างความทุกข์และมีค่าใช้จ่ายให้แก่แพทย์และผู้เสียหายอย่างมากมาย โดยแทบไม่มีใครได้ประโยชน์กับการฟ้องร้อง จึงเห็นว่า พ.ร.บ.นี้น่าจะเป็นกลไกแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด
 
·     กองทุนนี้ท้ายที่สุดจะทำให้ประเทศล่มจมเพราะจะมีคนเรียกร้องค่าชดเชยจนไม่มีงบเพียงพอที่จะดูแลกองทุน
 
ไม่จริงการกำหนดให้มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสีย ต้องกำหนดการจ่ายเงินให้เหมาะสมกับกองทุนที่มี เช่น การกำหนดเพดานการจ่ายชดเชยเยียวยาที่จะช่วยทำให้ควบคุมการใช้จ่ายของกองทุนได้ โดยมีกรณีประสบการณ์จาก ม.๔๑ ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารได้มีประสิทธิภาพ
 
·     สถานพยาบาลที่ดีมีคุณภาพไม่ควรต้องนำเงินไปช่วยสถานพยาบาลที่ด้อยคุณภาพที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหาย
 
จริงและไม่จริง 
 
จริงแต่หลักการการเฉลี่ยความเสี่ยงทำให้ทุกสถานพยาบาลมีความมั่นใจว่า หากมีความเสียหายที่เป็นเหตุสุดวิสัย ก็ยังมีกองทุนที่มาเยียวยาช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องควักเงินตนเองออกมาโดยไม่จำเป็น
 
ไม่จริงการจ่ายเงินสมทบของสถานพยาบาลคำนึงถึงความถี่หรือความรุนแรงของการเกิดความเสียหาย ดังนั้นหากเกิดความเสียหายน้อยก็จะถูกสมทบน้อยลง
 
·     แพทย์ พยาบาล และบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์โดยตรงจาก พ.ร.บ.นี้
 
จริงเนื่องจาก พ.ร.บ.นี้ชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ใดก็ตามที่อยู่ในกระบวนการการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งรวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากร ด้วย เช่น หากมีป่วยจากการติดเชื้อโรคเพราะให้การรักษาพยาบาลกับผู้ป่วย หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ก็สามารถเรียกร้องการเยียวยาจากกองทุนได้
 
·     แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะค่อยๆ ทยอยลาออกจากงานเพราะแรงกดดันของ พ.ร.บ.
 
ไม่จริง ผลของ พ.ร.บ.จะทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานอย่างสบายใจขึ้น เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้ป่วยได้รับการเยียวยาทันที ไม่มาร้องเรียนกดดันแพทย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เมื่อไม่จำเป็นต้องหาคนผิดหรือหาคนจ่ายค่าชดเชย จะทำให้แพทย์และคนไข้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ไม่ต้องมาเผชิญหน้า หรือหนีหน้ากัน อย่างที่เคยเกิดขึ้น จะทำให้แพทย์และบุคลากรมีเกราะป้องกัน ในขณะที่ผู้ป่วยมีกองทุนรองรับบรรเทาความเดือดร้อน
 
·     แพทย์สภาจะหมดความหมาย
 
จริงและไม่จริง
 
จริงในประเด็นการรับเรื่องร้องเรียน เพราะประชาชนจะร้องเรียนกับแพทยสภาน้อยลง แต่ไม่ได้หมดความหมาย
 
ไม่จริง แพทยสภาจะไม่หมดความหมาย เพราะแพทยสภาคือสภาวิชาชีพ ที่มีหน้าที่หลักในการทำให้วิชาชีพมีจริยธรรม และควบคุมกำกับจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ เหล่านี้ยังเป็นหน้าที่หลักของแพทยสภา และแพทยสภายังมีภารกิจอีกมาก เช่น ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาแพทย์เป็นต้น
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"บก.ลายจุด" นุ่งชุดนักเรียนผูกผ้าแดงเชียงราย

Posted: 07 Aug 2010 09:48 AM PDT

"สมบัติ บุญงามอนงค์" สัญจรผูกผ้าแดงที่หอนาฬิกาเชียงราย พร้อมแต่งชุดนักเรียน ล้อตำรวจดำเนินคดีเด็กนักเรียนนักศึกษาเชียงรายที่ชูป้ายต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนหน้านี้ ชี้เยือนเชียงรายเพื่อยืนยันว่ากิจกรรมนักศึกษาชอบธรรม เผยเศร้าใจที่มีการส่งเยาวชนที่ชูป้ายต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปบำบัดจิต ชี้ถ้าเข้าข่ายป่วยทางจิต คงมีคนป่วยเป็นล้านๆ คน และต้องส่งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ไปบำบัดจิตด้วยเพราะไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน

000

 

 

เวลา 10.00 น. วานนี้ (7 ส.ค.) ที่ จ.เชียงราย คนเสื้อแดงประมาณ 50 คนและนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ริเริ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมผูกผ้าแดงรอบห้าแยกหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือหอนาฬิกาใหม่ ที่ตั้งอยู่บนถนนบรรพปราการ อ.เมือง จ.เชียงราย

โดยนายสมบัติ แต่งชุดเครื่องแบบนักเรียนมัธยม เพื่อแสดงล้อเลียนกรณีตำรวจดำเนินคดีกลุ่มนักเรียนนักศึกษา จ.เชียงราย และเจ้าหน้าที่สถานพินิจได้นำนักเรียนไปตรวจสุขภาพจิต หลังจากนักศึกษากลุ่มนี้ได้จัดกิจกรรมร่วมชูป้ายประท้วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานที่เดียวกันเมื่อ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นร่วมกันผูกผ้าแดงที่เสาไฟส่องสว่าง และรอบเกาะกลางถนนหอนาฬิกา และมีการมอบผ้าแดงให้ตัวแทนเยาวชนเชียงรายเพื่อให้กำลังใจ ท่ามกลางความสนใจของประชาชนชาวเชียงรายจำนวนมาก โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที

จากนั้นนายสมบัติได้บอกให้กลุ่มคนเสื้อแดงเก็บผ้าแดงทั้งหมดและมีการแสดงละครใบ้ ด้วยการนอนเสียชีวิตล้อเลียนเหตุการณ์ที่เวทีราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยกิจกรรมเป็นไปอย่างสนุกสนาน โดยมีรายงานว่าทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นาย ยืนรักษาความปลอดภัยและสังเกตการณ์โดยรอบ

หลังสิ้นสุดกิจกรรม กลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมดจะพากันไปยังศูนย์อาหารของห้างบิ๊กซี สาขาเชียงราย เพื่อรับประทานข้าวแดง โดยนายสมบัติระบุว่าต้องการให้ข้าวแดงเป็นสัญญาณส่งไปยังคนเสื้อแดงทุกจังหวัดให้ออกมาทำกิจกรรมเหมือนกันอีก

นายสมบัติ กล่าวว่า ที่มาทำกิจกรรมที่เชียงราย เพื่อมาให้กำลังใจนักศึกษาเชียงราย การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อปิดกั้นคนปกติที่มีความคิดอ่านทางการเมืองไม่ให้แสดงออก ผมเศร้าใจมากที่มีการส่งเด็กที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาไปบำบัดทางจิต ผมคิดว่าถ้าการกระทำของเด็กเข้าข่ายว่าป่วยทางจิต คนในประเทศนี้คงมีคนที่ป่วยทางจิตเหตุเพราะคิดอ่านเหมือนเด็กคนนี้เป็นล้านๆ คน การเดินทางมาที่นี่เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่นักศึกษาทำนั้นมีความชอบธรรม ผู้ใหญ่ไม่ควรรังแกเด็ก

นายสมบัติยังกล่าวถึงวิธีการที่เจ้าหน้าที่สถานพินิจนำเด็กไปบำบัดทางจิตว่า เป็นมาตรการที่เหลวไหล เพราะความคิดของเด็กเป็นความคิดเห็นทางการเมือง เพราะแม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปก็เสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าคิดว่าข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอาการป่วยทางจิต ต้องเอาคณะกรรมการปฏิรูปฯ ของนายอานันท์ทั้งคณะไปบำบัดทางจิตด้วยเช่นกัน

โดยนายสมบัติเตรียมจัดกิจกรรมออกกำลังกายที่มีชื่อว่า "เรด รันเนอร์" ภายใต้แนวคิด "แดงเข้มแข็ง" ที่สวนสันติภาพ ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันนี้ (8 ส.ค.) โดยพื้นที่ดังกล่าวใกล้กับ ซ.รางน้ำ และ ถ.ราชปรารภ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในช่วงที่ ศอฉ. ส่งทหารมาสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค. ที่่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: “NGO” ในมุมมอง “ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี” และ “อุบล อยู่หว้า”

Posted: 07 Aug 2010 09:28 AM PDT

ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ในฐานะนักวิชาการ และอุบล อยู่หว้า เอ็นจีโอในแวดวงเกษตร กับการแสดงทัศนะต่อ "ภาคประชาชน" ในกิจกรรมตีปี๊บ “เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
ตอนที่ 5: ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการที่ทำงานในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์
 
 
"เอ็นจีโอในยุคเริ่มแรกในการก่อตั้ง เคยเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจอันไม่ชอบธรรม ทำหน้าที่ในการติดอาวุธทางความคิดให้กับสังคมไทย ทำหน้าที่ในการชี้ให้เห็นข้อบกพร่องหรือว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม หรือสิ่งซึ่งมันซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ หรือให้ทางเลือกการคิดวิเคราะห์ใหม่ๆ ในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา เอ็นจีโอไทยได้ยุติบทบาทอันนี้ไปแล้วโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง"
 
"โดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เอ็นจีโอทำ หรือสิ่งที่ภาคประชาชนทำคล้ายกับเป็นภาคขยายของรัฐชาติ... การมีหรือไม่มีเอ็นจีโอจึงเป็นคำถามใหญ่ว่า ในเมื่อเอ็นจีโอทำหน้าที่เป็นเพียงส่วนขยายของภาครัฐ ในทางความคิด ยังจำเป็นต้องมีเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนอยู่ต่อไปหรือเปล่า..." ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการที่ทำงานในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์
 
000
 
 
ตอนที่ 6: อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน
 
 
“ภาคประชาชนในความหมายของผม ผมหมายถึงประชาชนทั่วๆ ไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
 
“บทบาทของเอ็นจีโอ คือ เติมช่องว่างที่รัฐเข้าไม่ถึง ผมคิดว่าบทบาทของเอ็นจีโอทั่วโลกเป็นแบบนั้น และบทบาทแบบนี้ในอนาคตก็น่าจะยังเป็นต่อไปในการพัฒนาสังคมที่รัฐเข้าไมถึง หรือเกิดช่องว่างที่จะละเลยส่วนใดส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าเอ็นจีโอจะต้องอยู่ในส่วนที่ของการทำความเข้าใจ และวิพากษ์วิจารณ์ หรือให้ข้อเสนอแนะตรงส่วนนี้” ความเห็นของ อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน 
 
ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2539 โดยทำงานรวบรวมความรู้ เทคนิค รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลการพัฒนารูปธรรมเกษตรยั่งยืน และเชื่อมประสาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน ด้านพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ใน 6 เครือข่าย และเครือข่าย 4 ภาค 
 
 
.............................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำไมต้อง “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย”

Posted: 07 Aug 2010 06:14 AM PDT

กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทยกับการสรุปแนวคิดการทำสื่อเพื่อการสื่อสาร 2 ทางในซีรี่ส์ชุด "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" และคำถามถึงการมีอยู่ของ “เอ็นจีโอ-ภาคประชาชน-ภาคประชาสังคม” ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

แนวคิดการทำงาน กับคำถาม "NGO เป็นไง ในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน"

ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความขัดแย้งที่ยังคงครอบคลุมอยู่ การปรองดองและปฏิรูปประเทศหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ที่มีคนตาย 91 ศพ และคนที่ได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ไม่นับรวมการไล่ล่า และการคงอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นภาวการณ์ฉุกเฉินถาวรไปแล้วสำหรับรัฐบาลนั้น ทำให้กลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ทำงานสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัญหาของชาวบ้าน รู้สึกอีหลักอีเหลื่อ อึดอัดขัดใจ จนกระทั่งไปถึงขั้นไม่เอาด้วย ไม่ยอมรับกับบทบาทของเอ็นจีโอในปัจจุบัน

“กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย” (Thai Social Movement Watch: TSMW) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับคำถามสำคัญว่า “เอ็นจีโอ” “ขบวนการภาคประชาชน” และ “ภาคประชาสังคมไทย” นั้น คืออะไร ทำอะไร และจะเป็นไปในทิศทางไหนกันแน่

“กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย” เป็นกลุ่มนักวิชาการ อดีต NGO และ NGO กลุ่มน้อย ที่เคยออกจดหมายเวียนเพื่อระดมผู้ร่วมลงชื่อใน “จดหมายเปิดผนึกคัดค้านวาทกรรมอำพราง “ปฏิรูปประเทศไทย” “ประชาสังคม” “ภาคประชาชน” ต่อต้านกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอำมหิต” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่าน และกำลังกิจกรรมเพื่อหาคำตอบ ต่อคำถามคาใจของพวกเขา

ซีรี่คลิปวีดีโอขนาดสั้น (ถึงสั้นมาก) ที่ชื่อว่า "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" ที่ถูกนำเสนอผ่านสายตาผู้คนในโลกออนไลน์มาแล้วในระยะหนึ่งนั่นคือส่วนหนึ่งของผลงานจาก TSMW ที่จะถูกนำเสนอต่อเนื่องไปจนถึง เวทีเสวนาทางวิชาการ “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” ในวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2553 โดยมุ่งหวังให้เกิดการรับรู้ ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ก่อนงานเวทีเสวนาวิชาการที่จะจัดขึ้น

เนื้อหาของคลิปแต่ละตอนนั้นได้นำเสนอผลการสำรวจความเห็นของชาวบ้าน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ปรากฏต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับรากฐาน โดยเจาะจงคำถามใน 3 ประเด็นหลักที่สังคมมักได้ยินได้ฟังเมื่อมีการเคลื่อนไหว คือ 1.นิยาม ความหมายว่า ภาคประชาชน คืออะไร 2.เอ็นจีโอ เป็นใคร และมีบทบาทอย่างไรในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และ 3.อนาคตเอ็นจีโอควรจะมีบทบาทอย่างไร หรือควรจะมีอยู่อีกไหมและอยู่อย่างไร

อีกทั้ง เพื่อให้คลิปดังกล่าวเป็นสื่อเพื่อการสื่อสาร 2 ทาง (ระหว่างคณะทำงานและผู้สนใจ) TSMW ได้เปิดช่องทางให้ผู้รับสารสามารถสะท้อนความเห็นกลับจากคลิปสั้นๆ นั้นได้ โดยผ่านทาง Face Book ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทยเว็บไซต์ประชาธรรม  และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท โดยสามารถเข้าดูรายละเอียดเวทีเสวนาและคลิปบทสัมภาษณ์ที่จะปล่อยออกมาวันละชิ้น จนถึงวันงาน

ในส่วนเวทีเสวนาทางวิชาการ “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” นั้น ถือเป็นงานเสวนาและการเสนอผลการศึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนถึงช่วงระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยว่า ... “เอ็นจีโอ” “ภาคประชาชน” และ “ภาคประชาสังคม” ได้ทำหน้าที่ในการเป็นพลังแห่งการตั้งคำถามและการเปลี่ยนแปลงสังคมจริงหรือไม่

จากภาพการแสดงออกที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการให้ท้ายหรือเพิกเฉยต่อรัฐประหาร การไม่นำพาหรือปฏิเสธการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของคนจำนวนมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้มีบทบาทสำคัญใน “ภาคประชาสังคม” และองค์กรกึ่งรัฐจำนวนมากเข้าร่วมในคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น โดยละเลยการตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งภาวะความเงียบงันของกลุ่มและองค์กรต่างๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ด้วยความหวั่นวิตกว่า สภาวะถดถอยของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยฉบับ “ภาคประชาสังคม” ดังที่เป็นอยู่นี้ จะกลายสภาพมาเป็นเครื่องมือของการกดทับและการธำรงสถานะเดิมของสถาบันสังคมและการเมืองจารีตไปอย่างสมบูรณ์...

000

 

โครงการงานเสวนาทางวิชาการ “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย”

ความสำคัญของปัญหา

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีลักษณะยอกย้อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะที่ในช่วงระยะแรกหลังกึ่งทศวรรษ 2530 ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยดูเหมือนจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและการเมืองไทยในทิศทางที่เอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการส่งเสริมให้คนธรรมดาสามัญได้เจรจาต่อรองภายในระบบการเมืองรัฐสภาอย่างเสมอหน้า การขยายพื้นที่การต่อสู้เรียกร้องให้กว้างขวางกว่าระเบียบและวิธีปฏิบัติของระบบราชการ หรือว่าการเสนอประเด็นปัญหาที่กว้างไกลกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าเฉพาะกลุ่ม ทว่านับจากปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของบุคคล กลุ่ม และองค์กรจำนวนหนึ่งกลับมีแนวโน้มที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าร่วมทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้น้อยลง ขณะเดียวกันก็หนุนให้สถาบันสังคมและการเมืองจารีตมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นทว่าคับแคบลง ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้เป้าหมายเฉพาะของตนบรรลุได้ ทั้งด้วยการสนับสนุนการเคลื่อนไหวกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการก่อรัฐประหาร การไม่นำพา ปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งต่อต้านการเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งอ้างตนเป็นตัวแทน “ภาคประชาชน” หรือ “ภาคประชาสังคม” เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองโดยปราศจากการตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงในทิศทางและท่าทีของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของขบวนการภายใต้บริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “ขบวนการประชาชน” ซึ่งมีกลุ่มหรือองค์กรประชาชนซึ่งก่อตัวจากสภาพปัญหาของตนโดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์ประกอบหลัก มาเป็น “ภาคประชาสังคม” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายใหม่ๆ จำนวนมาก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรกึ่งรัฐซึ่งตั้งขึ้นใหม่ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พ.อ.ช.) เป็นต้น ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนหากไม่ปิดตัวลงด้วยข้อจำกัดด้านแหล่งทุนก็ปรับตัวด้วยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรกึ่งรัฐดังกล่าวนี้ด้วย ทั้งนี้ “ภาคประชาสังคม” ที่ว่านี้เน้นยุทธศาสตร์การประสานความร่วมมือเชิงพิธีการมากกว่าการตั้งคำถามหรือการท้าทายระดับรากฐาน การประท้วงและการเดินขบวนกดดันรัฐบาลของกลุ่มและองค์กรต่างๆ จึงถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมจำพวก “สมัชชา” ระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล ไปจนถึงระดับประเทศ เป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าปัญหาต่างๆ จะสามารถแก้ไขเยียวยาได้ด้วยความรักและสมานฉันท์ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ชำนาญการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวเองมาเป็นวิศวกรทางสังคม

อย่างไรก็ดี แม้การเคลื่อนไหวของ “ภาคประชาสังคม” จะส่งผลให้กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะยุทธศาสตร์ของ “ภาคประชาสังคม” เน้นการลดบทบาทและความสำคัญของการเมืองระบบรัฐสภา ซึ่งนอกจากจะไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการเมืองระบบรัฐสภา ยังส่งผลให้ระบบการเมืองดังกล่าวถูกแทรกแซงและครอบงำจากอำนาจนอกระบบอย่างมาก การที่รัฐประหารครั้งล่าสุดสามารถเกิดขึ้นอย่างสะดวกและง่ายดาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของ “ภาคประชาสังคม” ที่ว่านี้ ขณะที่การเมืองระบบรัฐสภาหลังรัฐประหารก็ไม่ได้ตอบคำถามของประชาชนเป็นหลัก หากแต่มุ่งทำหน้าที่ปกป้องสถาบันสังคมและการเมืองจารีตอย่างแข็งขัน ในทำนองเดียวกับองค์กรกึ่งรัฐภายใต้การกุมบังเหียนของวิศวกรทางสังคมซึ่งไม่ขึ้นต่อการเมืองระบบรัฐสภาและประชาชนมาตั้งแต่ต้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยฉบับ “ภาคประชาสังคม” จึงไม่ได้มีสถานะเป็นพลังแห่งการตั้งคำถามและการเปลี่ยนแปลง หากแต่มีสภาพเป็นเครื่องมือของการธำรงสถานะเดิมของสถาบันสังคมและการเมืองจารีต การให้ท้ายหรือเพิกเฉยต่อรัฐประหารก็ดี การไม่นำพาหรือปฏิเสธการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของคนจำนวนมากก็ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่ผู้มีบทบาทสำคัญใน “ภาคประชาสังคม” และองค์กรกึ่งรัฐจำนวนมากเข้าร่วมในคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นโดยละเลยการตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ผนวกกับความเงียบงันของกลุ่มและองค์กรต่างๆ ซึ่งนอกจากอาจจะเป็นเพราะเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปดังกล่าว ยังเป็นเพราะสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับองค์กรกึ่งรัฐ ซึ่งสนับสนุนการธำรงสถานะเดิมของสถาบันสังคมและการเมืองจารีต ยิ่งตอกย้ำสภาวะถดถอยของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยฉบับ “ภาคประชาสังคม” ยิ่งขึ้น

เพราะเหตุนี้ การทบทวนสถานะและบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยฉบับ “ภาคประชาสังคม”ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใย ได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรจะมีท่าทีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันอย่างไร จะทำอย่างไรให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยฉบับ “ภาคประชาสังคม” ตอบคำถามต่อประชาชนมากกว่าสถาบันสังคมและการเมืองจารีต จะทำอย่างไรกลุ่มและองค์กรต่างๆ จึงจะสามารถเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอิสระภายใต้เงื่อนไขและข้อผูกมัดของแหล่งทุนเช่นองค์กรกึ่งรัฐที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่กลายสภาพเป็นเพียงเครื่องมือของการกดทับและการธำรงสถานะเดิมของสถาบันสังคมและการเมืองจารีตอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นปัญหา

1. จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกับสถาบันอำนาจประเภทต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไร กล่าวคือ จะมีท่าทีต่ออำนาจและการเมืองระบบรัฐสภาในฐานะที่เป็นสถาบันอำนาจทางการที่มีส่วนในการกำหนดชีวิตและความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่อย่างไร วิธีปฏิบัติเช่นการหว่านล้อมหรือการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะหน้าเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ทั้งการเมืองระบบรัฐสภาและองค์กรกึ่งรัฐตอบคำถามต่อประชาชนมากกว่าสถาบันทางสังคมและการเมืองจารีตอย่างเช่นที่เป็นอยู่ และจะทำอย่างไรให้สถาบันทางสังคมและการเมืองจารีตอยู่ภายใต้การกำกับของประชาชนโดยเฉพาะที่ผ่านการเมืองระบบรัฐสภา

2. จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งขับเคลื่อนและผลักดันโดยผู้ปวารณาตัวเป็น “ภาคประชาสังคม” และองค์กรกึ่งรัฐภายใต้การประสานความร่วมมือกับนักพัฒนาเอกชนและผู้นำชุมชนอย่างไร โดยเฉพาะภายใต้ข้อพิจารณาที่ว่ากระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรวมทั้งมีรูปแบบและวิธีการดำเนินงานไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การเจรจาต่อรองหรือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด ขณะเดียวกันเงื่อนไขและสภาวะทางการเมืองปัจจุบันภายใต้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ ก็ไม่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปในระดับรากฐานได้

3. จะจินตนาการถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองซึ่งแตกต่างจากรูปแบบที่วิศวกรทางสังคมใน “ภาคประชาสังคม” และองค์กรกึ่งรัฐรณรงค์ส่งเสริมได้อย่างไร จะทำอย่างไรไม่ให้รูปแบบการเคลื่อนไหวถูกผูกขาดอยู่เฉพาะบางรูปแบบ เช่น “กระบวนการสมัชชา” แต่เปิดกว้างกับรูปแบบการเคลื่อนไหวที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งรวมแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจะทำอย่างไรขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยจึงจะสามารถตอบคำถามต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง

ที่มา: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย 

 

 

 
(ร่าง) กำหนดการ
งานเสวนาทางวิชาการ “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย”
วันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2553 เวลา 9:00-17:00น.
ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ผู้จัด: ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
สำนักข่าวประชาธรรม (PNN) -Local Talk
ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์
“กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย” (Thai Social Movement Watch-TSMW)
 
9.00 – 9.15        กล่าวต้อนรับและเปิดงาน
โดย ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง (หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ)
 
9:20-9:45          ปาฐกถาช่วงที่ 1: “ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคมไทยกับข้อท้าทายในปัจจุบัน” (25 นาที) 
โดย ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ (คณะกรรมการปฏิรูป)
9:50-10:15        ปาฐกถาช่วงที่ 2: “หนึ่งทศวรรษ ‘วิถีชีวิต วิธีสู้: ขบวนการประชาชนร่วมสมัย’” (25 นาที) 
โดย ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ)
10:15-10:35      ช่วงถาม-ตอบ (20 นาที)
 
10:35-10:50      พัก (15 นาที)
 
10:50-12:45      การเสวนาโต๊ะกลม “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย”
ช่วงที่ 1: นำเสนอประเด็นการเสวนา (1 ชั่วโมง 25 นาที)
“ ‘ภาคประชาสังคม’ ‘ภาคประชาชน’ กับกับดักจินตนาการ ‘ไม่เลือกเพื่อสร้างทางเลือก’ ”
นำเสนอโดย                    อ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม (15 นาที)
  ‘ภาคประชาชน’ กับก้าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนไปของสังคมชนบท”
นำเสนอโดย                     อ.พฤกษ์ เถาถวิล (15 นาที)
  ‘ภาคประชาชน’ กับท่าทีต่อการเมืองในระบบรัฐสภา
นำเสนอโดย                    อ.ดร.เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ (15 นาที)
ให้ความเห็นโดย              
อ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (20 นาที)
อ.ดร. นฤมล ทับจุมพล (20 นาที)
ช่วงที่สอง: การแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วม (30นาที)
(ดำเนินรายการโดย คุณสืบสกุล กิจนุกร)
 
12:45-13:45      พักเที่ยง
 
13:45-14:00      ชมวีดิทัศน์ เรื่อง “ขบวนการภาคประชาชนและเอ็นจีโอจากหลากหลายมุมมอง”
 
14:00-16:15      การอภิปราย:  “ขบวนการประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน”
-            คุณจอน อึ้งภากรณ์ (15 นาที) (คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย)
-            คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข (15 นาที) (อดีตผู้นำแรงงาน บรรณาธิการนิตยสาร Red Power และผู้ประสานงานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน)
-            คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา (15 นาที) (มูลนิธิชีววิถี)
-            คุณใบตองแห้ง (15 นาที) (คอลัมนิสต์)
-            คุณสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป)  (15 นาที)
-            คุณขวัญระวี วังอุดม (15 นาที) นักสิทธิมนุษยชน
แลกเปลี่ยนซักถาม ( 45 นาที)
(ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษฎา บุญชัย)
 
16:15-16:40      สังเคราะห์ภาพรวมผลการเสวนา
โดย อ.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
16:40-17:00      พิธีปิด (แถลงข่าว/อ่านบทกวี/การแสดง)
 
*** พิธีกรตลอดวัน รจเรข วัฒนพานิช (ชุมชนคนรักป่า)
 
หมายเหตุ: รายชื่อวิทยากรอาจมีการเปลี่ยนแปลง
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพงษ์ ชัยนาม: “พม่า” ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิม คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

Posted: 07 Aug 2010 04:11 AM PDT

สุรพงษ์ ชัยนาม” บรรยาย ที่ ม.เชียงใหม่ อธิบายเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่าว่าไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของระบอบ ทั้งยังสมประโยชน์กับนานาประเทศที่แบนเผด็จการพม่าจะไม่เสียหน้า และจะได้วางมือถ้าพม่าจัดการเลือกตั้ง ด้วยตรรกะ “มี ดีกว่าไม่มี” ย้ำพม่ายิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิมคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างอภิปรายที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาหัวข้อ “การเลือกตั้งในพม่า และประชาคมASEAN: มุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์” โดย นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการตางประเทศ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับรายละเอียดของการอภิปราย มีนี้ [หมายเหตุ: ตัวเน้นและโปรยหัวข้อ เป็นการเน้นโดย “ประชาไท”]

000

“ประเทศเหล่านี้” อาจคิดว่า “การเลือกตั้งในปีนี้อาจจะไม่โปร่งใสนะ ไม่ชัดเจนนะ แต่เมื่อเราคำนึงว่าการรัฐประหารมาในปี 2505 พม่าไม่มีการเลือกตั้งเลย และการเลือกตั้งปี 1990 โดนคว่ำกระดานไป 10 กว่าปี ก็ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ที่ดีกว่าไม่มีน่ะ ถึงจะมีข้อบกพร้องเยอะแยะก็ยังดีกว่าไม่มี เราต้องให้โอกาสเขา และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เขาจะปรับตัวเอง เปิดตัวเองมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้งนี้เป็น Exist Strategy ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกา และหลายชาติไม่เสียหน้า”

 

การเลือกตั้งในพม่า
ที่ไม่ได้เกิดในสุญญากาศ

นายสุรพงษ์ เริ่มอภิปรายว่า การเลือกตั้งในพม่าไม่ได้เกิดในสุญญากาศ ความว่างเปล่า หรือความประสงค์ของรัฐบาลทหารพม่าที่จู่ๆ นึกสนุกจัดการเลือกตั้งขึ้นมา ในเรื่องการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้แต่ชีวิต ส่วนตัว การงาน การจะทำความเข้าใจได้นั้นต่อเมื่อเรายอมรับบริบท (Context) ของมัน ทุกอย่างมีบริบท แม้แต่การเมืองพม่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีต่อพม่า ท่าทีที่พม่ามีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะในระดับภูมิภาคก็ดี ระดับโลกก็ดี ต่างมีบริบทและเงื่อนไข ถ้าทำความเข้าใจเรื่องนี้ จะช่วยทำความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้งปี 2010 ในพม่า ที่จะกล่าวในตอนท้าย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับความร่วมมือหรือความขัดแย้ง”หมายความว่า ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวกับข้องกับความร่วมมืออย่างเดียวหรือความขัดแย้งอย่างเดียว เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็เป็นเรื่องความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง เมื่อผลประโยชน์ขัดแย้งก็เป็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ ยกตัวอย่างในอาเซียน สำหรับ 9 ประเทศเป็นเรื่องความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง อีก 1 ประเทศเป็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือนั่นคือกัมพูชา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน หากตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง และการมีความสัมพันธ์ที่ปกติ ในแง่ต่างคนต่างอยู่ ติดต่อกันบ้าง ปฏิสัมพันธ์กันบ้าง มีความร่วมมือในระดับหนึ่ง คือ “สัมพันธ์แบบปกติเฉยๆ” ไม่ได้นำไปสู่ความร่วมมือรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ไทยพม่าในภาพรวมเป็นเรื่องความสัมพันธ์ปกติ สลับด้วยความขัดแย้ง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความใกล้ชิด สนิทสนม ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ถือว่าไม่มี เคยจะมีบ้าง แต่ก็สะดุดไป

สาเหตุเป็นเพราะอะไร ในความเห็นผมคิดว่ามีหลายปัจจัยมาก ทั้งความแตกต่างเรื่องระบอบการเมืองการปกครอง เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง จะเห็นได้ว่าถ้าดูช่วง 65 ปีที่ผ่านมา เมื่อโลกถูกแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็อยู่ในอิทธิพลของสงครามเย็น มีลัทธิอุดมการณ์เป็นปัจจัยอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ไทยและพม่าก็หนีไม่พ้นอิทธิพลของสงครามเย็น

 

พม่าภายใต้บริบทสงครามเย็น
และการรัฐประหารปี 1962
 

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ไทยกับพม่าในยุคสงครามเย็น เกือบจะเป็นศูนย์ไม่มีความร่วมมืออะไรกัน ถามว่ามีความขัดแย้งกันไหม ก็มี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมองปัญหาระหว่างประเทศที่แตกต่างกันด้วยอิทธิพลของลัทธิอุดมการณ์ คือพม่าถือว่าอยู่ใน “กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” “Non-alignment” การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดไม่ได้หมายถึงความเป็นกลาง “Neutrality” นะ เพียงแต่ว่ากลุ่มที่ร่วมกันก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ พม่าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งรวมทั้งยูโกสลาเวีย อียิปต์ อินเดีย และอีกหลายประเทศ เขาเพียงแต่มองว่า ในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน เขาไม่ต้องการที่จะฝักใฝ่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาวางตัวเป็นกลางระหว่างความขัดแย้งสองกลุ่มนี้ คือ ไม่ได้แปลว่าเมื่อ A โลกเสรี กับ B โลกคอมมิวนิสต์ ขัดแย้ง กลุ่ม C จะวางตัวเป็นกลางไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความขัดแย้ง เพียงแต่เขาเห็นว่าถ้าไปถือหางกลุ่มใดโดยเฉพาะเขาจะเปลืองตัว ไม่สามารถรักษานโยบายต่างประเทศของเขา ในทางที่จะสามารถดูแลผลประโยชน์ประเทศเขาได้ดีกว่า

นี่คือสาระสำคัญของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พม่าอยู่ในกลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้จะฝักใฝ่กลุ่ม A บางช่วง และ กลุ่ม B บางช่วง ถ้าได้ประโยชน์ ถามว่าในช่วง 60 กว่าปีของสงครามเย็น การสังกัดในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของพม่า สามารถทำให้พม่าสามารถรักษาความอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของพม่าได้อย่างที่คาดหวังหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ แม้ว่าผู้นำอาจคิดว่าเขาได้ประโยชน์ในการอยู่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ พม่าเป็นประเทศที่ถ้าเราดูในแผนที่ พม่าถูกขนาบโดยยักษ์ใหญ่สองประเทศ อินเดีย จีน มีพรมแดนติดต่อกับบังกลาเทศ ลาว ไทย ดังนั้น ถึงจะอยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การดำเนินนโยบายต่างประเทศของพม่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์อยู่ดี จะบอกว่าทำอะไรโดยไม่คำนึงผลประโยชน์ ข้อคำนึง และทัศนะ ท่าที พฤติกรรม นโยบายของจีน อินเดีย และไทย และอื่นๆ คงไม่ได้ นี่ระดับภูมิภาคนะ ในระดับโลกเขาก็ต้องคำนึงภาพใหญ่ของโลกด้วย ดังนั้นก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าถึงคุณไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ต้องคำนึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย คุณจะดำเนินนโยบายตามอำเภอใจไม่ได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ไทยพม่ายุคสงครามเย็น ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ติดต่อกันเชิงสัญลักษณ์ การทูต แต่ความร่วมมือไม่มีอะไรเลย เป็นสองประเทศที่ดำรงอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อะไรไม่มีเลย ในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองของพม่าเอง ที่เขาอยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และนโยบายของพม่าเองหลังเนวินทำการรัฐประหารรัฐบาลของอูนุในปี 1962 (พ.ศ. 2505) แล้ว หลังจากนั้น นโยบายต่างประเทศและนโยบายภายในของพม่าเป็นการปิดประเทศมากขึ้น นโยบายวิถีสังคมนิยมแบบพม่า ทำให้เศรษฐกิจปิดมากขึ้น พม่าปฏิสัมพันธ์กับประเทศในค่ายสังคมนิยม ในแง่บริบทของสงครามเย็น จึงมีผลกับพม่าด้วย

 

การเปิดประเทศหลังสงครามเย็น
เพื่อความอยู่รอดของระบอบ

หลังสงครามเย็นปี 1989 (พ.ศ. 2532) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยเองพยายามปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศภายใต้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคสงครามเย็นจากสองขั้วกลายเป็นหลายขั้ว โดยหลังสงครามเย็นในที่สุดขั้ว B หายไป เหลือแต่ A น่าจะเป็นแค่ขั้วเดียว แต่ไม่ เพราะว่าแม้ว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ลัทธิคอมมิวนิสต์หายไป ไม่มีตัวตนที่จะท้าทาย B หายไปแล้ว เหลือแต่ B A ตลอด 60 กว่าปีของสงครามเย็น แต่ในโลกมนุษย์ ในโลกการเมืองทุกสิ่งทุกอย่าง ใน A ด้วยกันเอง เมื่อ A จะร่วมกันแต่ B ไม่มีแล้ว A จะทำอะไร ภายใน A ซึ่งอาจมีความขัดแย้งอยู่ แต่ตอนนั้นมี B ความขัดแย้งกันเองจึงระงับไว้ เมื่อ B หายไป สิ่งขัดแย้งในตัว A จึงผุดขึ้นมา แต่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ A กลายสภาพเป็นอะไรล่ะ จากโลกขั้วเดียว ก็กลายเป็น สหรัฐอเมริกา A1 ญี่ปุ่น A2 อาเซียน A3 จีน A4 อินเดีย A5 สหภาพยุโรป A6

คือแต่ละประเทศหลังยุคสงครามเย็น มันเกิดยุคความร่วมมือส่วนภูมิภาค (Regionalism) มันเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด องค์การเพื่อความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่เก่าแก่ที่สุดก็คือสหภาพยุโรปหรืออียู รองมาคืออาเซียน และมีความร่วมมือส่วนภูมิภาครวมกันหลายส่วนในภูมิภาคทุกทวีปเต็มไปหมด นี่คือปรากฏการณ์หลังสงครามเย็นคือ Regionalism

เรื่องที่สองคือสถาบันนิยม (Institutionalism) คือทุกประเทศพยายามสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคงระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ว่าเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นแล้วไม่มีเรื่องของความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์แล้ว เพราะว่าสิ่งที่เราเรียกว่ายุคหลังสงครามเย็น อะไรที่ครองความเป็นใหญ่ (Hegemony) ทางการเมืองหลังสงครามเย็น มันคือ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ในทางเศรษฐกิจ “เศรษฐกิจเสรีนิยม” ครองความเป็นใหญ่ นี่คือภาพใหญ่หลังยุคสงครามเย็น

มันมีบางประเทศ อย่าง จีน เวียดนาม ลาว มี 3-4 ประเทศ ในทางการเมืองอาจจะไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีนิยม ยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจ แต่ส่วนใหญ่ในอดีตโลกคอมมิวนิสต์นั้น ได้ถูกอิทธิพลทางอำนาจนำของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางอำนาจนำของเสรีนิยมประชาธิปไตยครอบงำหมดแล้ว ประเทศจีนมีอะไรที่เป็นสังคมนิยมหลงเหลืออยู่ไหม ไม่มีอีกแล้ว จะเหลือเพียงประเทศเดียวในโลกคือเกาหลีเหนือ ส่วนคิวบาก็เปิดมากขึ้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า การแข่งขันกันของประเทศในโลกอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และการเมืองในกรอบเสรีประชาธิปไตย

ในที่สุด หมายความว่า โลกปัจจุบันนี้เป็นโลกของการพึ่งพา “Inter-dependent” หมายถึงว่า ทุกประเทศที่ยอมรับว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกของการพึ่งพาคือ ประเทศในโลกยอมรับว่าไม่มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนในยุคสงครามเย็น ช่วงนั้นเรื่องโลกร้อน สิ่งแวดล้อม มันถูกซุกไว้ ตอนนี้เราพูดเรื่องประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล นิติรัฐ ตอนสงครามเย็นไม่มีใครพูดถึง หลังสงครามเย็นมันผุดมาหมด

คือทุกคนยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีประเทศใดสามารถแก้ได้โดยลำพัง นี่คือระบบการพึ่งพาระหว่างประเทศ แม้แต่มหาอำนาจหรืออภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่าใหญ่แค่ไหนก็ไม่อาจแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงยุคนี้คือ การก่อการร้าย ก็ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศแน่นอน

พม่าในยุคหลังสงครามเย็น พม่าพยายามปรับกรอบความคิดของตนมากน้อยแค่ไหน เราจะเห็นว่า โดยถ้อยแถลงของรัฐบาลพม่าระบุว่าตระหนัก แต่ทางพฤตินัย กรอบความคิดเดิมๆ ยังฝังอยู่มาก อิทธิพลสงครามเย็นยังมีอยู่มากในท่าทีของผู้นำพม่า มีผลต่อท่าทีของเขาต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และต่อประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทยด้วย ถามว่าเขาพยายามเปลี่ยนไหม เขาก็พยายามเปลี่ยน ไม่เช่นนั้น คงไม่เสนอตัวมาเป็นสมาชิกอาเซียน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในโลกนี้

มีระดับหนึ่ง ที่เขาพยายามปรับท่าทีของเขา แต่ที่แน่นอนที่ไม่เปลี่ยนเลยในความคิดของระบอบการปกครองพม่า หรือรัฐบาลทหารพม่า ก็คือเรื่อง “ความมั่นคง” เขายังมองเรื่องความมั่นคงว่า มันเป็นความมั่นคงของระบอบทหารพม่าที่จะต้องอยู่รอด ทำให้ทหารที่ผูกขาดอำนาจอยู่รอด นี่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ทุกวันนี้การมองปัญหาต่อต่างประเทศ การปรับตัวต่อปัญหาระหว่างประเทศ การปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจของพม่าให้มีความเจริญเติบโต ให้ประโยชน์สังคมส่วนรวม หรือการพัฒนาส่วนอื่นๆ ของตน แต่การปรับตัวของเขา จุดประสงค์สำคัญที่สุดคือเพื่อการอยู่รอดของระบอบ

การเปิดประเทศของพม่าหลังสงครามเย็น ไม่ใช่เพราะจู่ๆ อยากมีเศรษฐกิจทุนนิยม มีการลงทุนของต่างชาติ สร้างงาน สร้างความเจริญให้พม่าในด้านต่างๆ ไม่ ... แต่เปิดเพราะตระหนักว่าถ้าไม่เปิด ระบอบการปกครองที่ทหารผูกขาดอำนาจในพม่าจะอยู่ไม่ได้ เป็นเรื่อง Survival (ความอยู่รอด) ของทหารมากกว่าจะส่งผลให้เกิดความคืบหน้าหรือพัฒนาการด้านอื่นๆ

เทียบกับตอนเวียดนามเปิดประเทศปี 1986 (2529) ก็เป็นแบบนี้ แต่ตอนหลังก็เปิดหมด แต่พม่านั้น หากการเปิดประเทศเริ่มส่งสัญญาณให้รัฐบาลทหารพม่ารู้ว่าความอยู่รอดและความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงของภายนอก เขาจะยุติ จะระงับ จะไม่เปิดมากกว่านี้ หรือหาทางออกด้วยการใช้กฎหมายควบคุม เราก็รู้ว่าสิ่งที่จะเข้าไปแรกๆ คือการค้า จากนั้นจะเป็นวัฒนธรรม ค่านิยม เขารู้ว่าถ้าเปิดแล้วจะมีผลต่อความคิด ยิ่งในยุตเทคโนโลยีสารสนเทศ เขารู้ว่าจะบ่อนทำลายเขาได้

สรุปนิดหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ไทยพม่ายุคหลังสงครามเย็น เริ่มเปลี่ยน เริ่มมีความร่วมมือ อย่างน้อยที่สุดในแง่ไทยเข้าไปค้าขายลงทุน ปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆ มีโครงการร่วมมือไทยพม่า มีโครงการช่วยเหลือที่ไทยให้พม่า มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเพราะบริบทหลังสงครามเย็นที่เปลี่ยนไป พม่าก็เปิดประเทศมากขึ้นก็เพื่อความอยู่รอดของระบอบ ไม่ได้นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีบทบาท มีการเลือกตั้ง ไม่ใช่ แต่เป็นการเปิดเพื่อซื้อเวลาให้กับระบอบทหาร ระบอบการปกครองของพม่า ได้อยู่นานยิ่งขึ้นได้

 

ความสัมพันธ์ไทย – พม่า
และผลประโยชน์กลุ่มบุคคล

ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประเทศอาเซียนด้วยกัน เรามีพรมแดนยาวที่สุด 2,401 กิโลเมตร พม่าเป็นประเทศเดียวที่ไทยมีปัญหาด้วยมากที่สุด ปัญหานี้จะบอกว่า เป็นปัญหาที่ฝ่ายพม่าเป็นคนสร้างเองทั้งหมดก็ไม่ใช่ แต่ปัญหาที่เราประสบกับพม่าส่วนใหญ่เราไม่ได้ก่อขึ้นมา แต่โดยเนื้อหาแล้วถ้าจะวิเคราะห์กันถึงที่สุดเกิดจากระบอบการเมืองการปกครองของพม่าเองที่ไม่มีความเอื้ออาทรต่อคนของเขา

ตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน ปี 1962 (2505) ที่โค่นอูนุ ความสัมพันธ์ไทย-พม่าก็เสื่อมเรื่อยๆ ล้มลุกคลุกคลาน ขัดแย้งมากกว่าร่วมมือ ที่ดีที่สุดคือความสัมพันธ์แบบปกติ มาถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยปรากฏว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่า มีความสนิทชิดเชื้อ แนบแน่น ใกล้ชิด ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทุกด้าน ก่อดอกก่อผล มีรูปธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่เคยปรากฏ อยากมากที่สุดถ้าความสัมพันธ์แบบปกติถือว่าเยี่ยมแล้ว เยี่ยมมากๆ แล้ว ถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ มากกว่านี้ไม่ได้หรือ ก็อะไรล่ะที่เป็นเป้าประสงค์ของเขา ก็คือระบอบการเมืองการปกครองที่มีทหารผูกขาดอำนาจ เพราะถ้าเปิดมากกว่านี้ก็จะกัดกร่อนฐานอำนาจที่ทหารผูกขาดอำนาจ ดังนั้นคงต้องใช้เวลา

ถามว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดเคยมีไหม เราเคยได้ประโยชน์อะไร มันก็มีนะครับ แต่มันไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชน เพราะความใกล้ชิดในอดีตเป็นเรื่องกลุ่มบุคคล พรรคพวก นักการเมืองไทย นักธุรกิจไทย ข้าราชการไทย บางคนบางกลุ่มบางพวกที่ปฏิสัมพันธ์กับทหารพม่า ได้ประโยชน์แก่พรรคพวก ผลประโยชน์แก่ไทยไม่มี มันเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ในไทย

พม่าเองรู้ดีว่า ในสังคมการเมืองไทย เป็นสังคมการเมืองที่ไร้เอกภาพมากๆ พม่ารู้ว่าระบอบการเมืองไทยไร้เอกภาพมากเขารู้ว่าต้องเข้าเจาะกลุ่มผลประโยชน์อะไร เอาผลประโยชน์ให้แค่นั้นพอแล้ว เพราะนักการเมือง นักธุรกิจไทยที่ฉ้อฉลก็คว้า แล้วพม่าจะได้รับการตอบสนองที่ดีจากกลุ่มที่มีอิทธิพลในการเมืองการปกครองไทยในช่วงนั้น

ปัญหาชนกลุ่มน้อยเกิดขึ้นเพราะตราบใดที่รัฐบาลทหารพม่ามีนโยบายเหมือน 50 ปีที่ผ่านมา แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าโดยยึดการทหารแก้ปัญหาเป็นคำตอบ ตราบนั้นประเทศไทยจะเจอปัญหานั้นอย่างเดียว ที่ผ่านมาพม่าใช้การทหารแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยอย่างเดียว ไม่คิดจะใช้การเมืองหรือหาทางเจรจาหรือหาข้อสรุป เคยมีการเจรจาในอดีต ทุกวันนี้ก็มีอยู่ ที่เขาพยายามเจรจาพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย มีการระงับการสู้รบระหว่างกัน แต่ไม่ใช่ข้อสรุปหรือข้อยุติทางการเมือง ไม่ใช่ความตกลงทางการเมือง ไม่ใช่สันติภาพระหว่างชนกลุ่มน้อย มันเป็นการ หยุดยิง Ceasefire พูดภาษาชาวบ้านคือพักรบชั่วคราว หยุดยิงกันแค่นั้น มันไม่มี Political Agreement ความตกลงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย

เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้มีเป้าประสงค์ หาความตกลงทางการเมือง แต่คิดจะใช้การทหารแก้ปัญหา ตราบใดที่ยึดนโยบายนี้อยู่ เพราะพม่าก็ไม่มีอธิปไตยเหนือดินแดนของตนทั้งหมดได้ เป็นเรื่องรัฐซ้อนรัฐเต็มไปหมด การใช้นโยบายทางการทหารแก้ปัญหา ไม่มีข้อตกลงทางการเมือง มากสุดคือข้อตกลงหยุดยิง มันก็สร้างปัญหาให้ประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีปัญหาต้องรับผู้พลัดถิ่นเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม ไล่ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของชายแดน มีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม บางพื้นที่บางหมู่บ้าน คนไทยเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ตัวเอง นำไปสู่ความขัดแย้ง ความระแวง มีปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมอีกมาก มีปัญหายาเสพย์ติด แรงงานเป็นจำนวนล้าน จริงอยู่รัฐบาลอยากแก้ปัญหา เรารับคนพวกนี้เข้ามาเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรม ไม่ได้รับมาเพื่อติดอาวุธเพื่อกลับสู้กับพม่า การรับผู้อพยพเป็นภาระสำหรับเรา เพราะเราแก้ปัญหารับคนอพยพ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากพม่า

ตัวอย่างเช่น มีแรงงานพม่าแบบผิดกฎหมายเป็นล้าน รัฐบาลไทยต้องการให้มีการจดทะเบียน รัฐบาลพม่าบอกว่าต้องมีการพิสูจน์สัญชาติก่อน เพราะรัฐบาลพม่าไม่ได้ออกบัตรประชาชนให้ การพิสูจน์สัญชาติก็เป็นทางเลี่ยงที่รัฐบาลพม่าจะไม่ให้ความร่วมมือ เลี่ยงกันเป็นปีๆ เลย ปัญหาชาวโรฮิงยาก็เช่นกัน เขาถือว่าไม่ใช่คนของเขา

ถามว่ารัฐบาลที่มีอยู่ในพม่าที่เป็นเผด็จการทหารพม่า เราเห็นด้วยไหมกับระบอบอย่างนี้ คำตอบคือเราไม่เห็นด้วย แต่ถามว่าแล้วทำอย่างไร เป็นเรื่องที่คนพม่าต้องแก้ไขเอง ไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของพม่า แต่ถ้าถามว่าการมีรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในสายตาของเราและสายตาชาวโลก มันทำให้เราไม่สามารถติดต่อหรือเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือได้หรือไม่ มันไม่เกี่ยวหรอก คุณจะเป็นเผด็จการ คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ นาซี ประชานิยม เรื่องของคุณ แต่คุณอย่าสร้างปัญหาให้ผม

รัฐบาลทหารพม่าเป็นอย่างไรก็ตาม แน่นอนเราไม่เห็นด้วยกับระบอบแบบนี้ ถ้าเราเห็นด้วย 14 ตุลาคงไม่มีแล้วในประเทศไทย พฤษภาทมิฬก็คงไม่มีแล้วในประเทศไทย เราไม่เห็นด้วย แต่เป็นเรื่องภายในของเขา ถามว่าระบอบการเมืองที่เป็นอำนาจนิยมอย่างนี้ มันจะเป็นอุปสรรคต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไหม ไม่มี แต่ที่มีอุปสรรคเพราะ รัฐบาลที่ไม่เอื้ออาทรต่อคนของเขาเอง มันสร้างปัญหาให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยได้ คนที่หนีมาไทย ถ้าไม่ใช่เหตุผลทางการเมืองที่ถูกปราบปราม เช่น ชนกลุ่มน้อย ก็หนีมาเพราะเหตุผลเศรษฐกิจ เศรษฐกิจล้มละลายในพม่า ก็ต้องหนีมาฝั่งไทย มาหางานทำ หนีร้อนมาพึ่งเย็น

ทุกวันนี้ตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน (ในปี พ.ศ. 2505) จนถึงตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าก็ยังอยู่ได้ ถามว่า ทำไมยังอยู่ได้ ก็อย่างที่ผมบอก ก็เพราะไม่ใช่แค่ความแข็งแกร่งของระบอบทหารพม่า และกองทัพพม่าเท่านั้น แต่อยู่ได้เพราะบริบทในภูมิภาค ระดับโลก

ในแต่ละห้วงเวลา เคยมีความพยายามที่ประชาชนลุกขึ้นต้านระบอบทหารพม่าหลายช่วง ระยะหลังคือสิงหาคม 1988 หลังจากนั้นเมื่อปี 2550 ก็เกิด “Saffron Revolution” ที่รัฐบาลขึ้นราคาแก๊ส ก็นำไปสู่ประเด็นทางการเมืองมีพระลุกขึ้นมา ในที่สุดก็โดนปราบปราม รัฐบาลทหารพม่าสามารถปราบปรามได้ทุกครั้ง ตอนปี 1988 ปราบรุนแรง นักศึกษาทะลักมา ตอนนั้นพม่าโดดเดี่ยวมาก มีแต่ไทยกับจีนเท่านั้นที่ทำให้ทหารพม่าหลุดจากการโดดเดี่ยว

ซึ่งไทยพลาดโอกาสที่จะต่อรอง โน้มน้าว กดดัน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปรับตัว เปลี่ยนแปลง ให้มีระบอบการปกครองที่เอื้ออาทรต่อคนของเขามากๆ สมัยรัฐบาลชาติชาย ก็ส่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีกลาโหม ไปเจรจา พร้อมได้สัมปทานป่าไม้ ประมง ไม่ได้ให้ไทยนะ ให้กับนักการเมืองไทย ทำให้พม่ามีความรู้สึกว่า ในโลกนี้เขายังมีไทย มีจีน

จีนนั้นพอเข้าใจได้ ระบอบการปกครองนั้นเข้ากับพม่าได้และเรื่องผลประโยชน์ด้วย แต่ไทยระบบการเมืองการปกครองของไทย มันขัดแย้งมากๆ กับระบบประชาธิปไตยของไทยในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้นเราสามารถที่จะกดดัน ประชาคมโลกทั้งหมดเขาประณามอยู่แล้ว เรามีประชาคมโลกที่จะกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพม่าได้แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า เฉพาะพรรคพวก ที่เข้ามามีอิทธิพล และประชาสังคมไทยในยุคนั้นก็อ่อนแอมาก นโยบายต่างประเทศของไทยจะดีขึ้นหรือไม่ บทบาทของประชาสังคมก็สำคัญมาก ในที่สุดเราก็ต้องโทษตัวเอง ที่เหตุการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามที่ประชาชนคิดหรือหวัง

และรัฐบาลทหารพม่าก็อยู่มาได้ ถึงตอนที่เขาปราบปรามพระสงฆ์ ปี 2550 ตอนนั้นผมเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ท่านไปพูดที่สหประชาชาติ ช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ที่นิวยอร์ก เราเสนอและท่านก็เห็นด้วย ท่านพูดว่าประเทศพุทธไม่สามารถยอมรับการกระทำและพฤติกรรมของรัฐบาลทหารพม่าในการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนในครั้งนั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย กล้าพูดในเวทีระหว่างประเทศ ท่าทีของไทยนั้น นำไปสู่การที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียน ตอนนั้น สิงคโปร์ออกแถลงการณ์ของอาเซียนตำหนิอย่างรุนแรงต่อการกระทำของรัฐบาลทหารพม่า

 

“ไพ่” หลายสำรับ
ในมือรัฐบาลพม่า

แล้วมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก ที่หลายๆ ประเทศไม่กดดันพม่าต่อก็เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ พม่าก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ตอนปี 1988 (พ.ศ. 2531) ทั่วโลกประณาม แต่ไทยไปช่วยให้เขาพ้นจากโดดเดี่ยว ในปี 2550 ปราบปรามพระสงฆ์ ไทยออกมาตำหนิเลย สิงคโปร์ประธานอาเซียนออกแถลงการณ์ พม่ารับทราบ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนบัดนี้ ถามว่าทำไม ตอบว่า บริบทสำคัญ

เพราะ Post Cold war เป็นยุคที่ไม่เน้นการเมืองและความมั่นคงเท่ากับเรื่องเศรษฐกิจ ทุกประเทศต้องการพัฒนา ผลประโยชน์มหาศาล ประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากคือจีน อินเดีย หิวโหยทรัพยากรพลังงาน ในพม่า น้ำมันยังไม่เจอ แต่แก๊สมีเยอะแล้ว จีนและอินเดียก็เข้าไปเพื่อพลังงาน พม่าใช้ไพ่ด้านพลังงาน ต่อรอง รักษาผลประโยชน์ของทหารพม่าได้

แม้ในปี 2550 เขาถูกตำหนิ แต่เขาไม่เปลี่ยนเพราะ บริบทมันเปลี่ยนไป ทุกประเทศหน้าฉากก็ประณาม แต่หลังฉาก “Business as usual” พม่าถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงก็อยู่ได้ เพราะบริบทเปลี่ยน พม่ามีไพ่หลายสำรับที่เล่นได้ ทั้งสำรับจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา อียู อาเซียน อย่างน้อยมีไพ่ 5 สำรับที่จะสับเล่นได้ ไม่ใช่มีแต่จีน และพม่าก็เชื้อเชิญให้ประเทศต่างๆ เข้ามาค้าขายในพม่า ให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาคานกันเอง โดยพม่าเป็นผู้บริหารจัดการ ผู้นำเขาชาญฉลาดสร้างความสมดุลได้ และลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง

อย่างที่บอกทุกอย่างสีเทามากๆ อย่าลืมว่าครอบครัวของอองซาน ซูจีใกล้ชิดครอบครัวผู้นำอินเดียมากๆ อดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ ใกล้ชิดเนห์รู (ยาวาหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย) มาก ตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เมื่อนายกรัฐมนตรีอูนุถูกรัฐประหารในปี 2505 นโยบายต่างประเทศของนโยบายอินเดียเดิมคือยึดปัจจัยประชาธิปไตยเป็นอันดับหนึ่ง ในการตัดสินใจท่าทีต่อพม่า ดังนั้น อินเดียในอดีตจึงสนับสนุนตั้งแต่พรรคเอ็นแอลดีเกิด ผู้ลี้ภัยทางการเมืองของพม่าอยู่ในอินเดียมาก อินเดียไม่เห็นด้วยกับระบอบทหารพม่า เรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบ

แต่บริบทของอินเดียก็เปลี่ยนเหมือนกัน อย่าลืมว่าอินเดียยุคสงครามเย็นอินเดียใกล้ชิดสหภาพโซเวียต ใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมอย่างมาก หลังสงครามเย็นสิ้นสุดอินเดียเปลี่ยน ต้องการพัฒนาประเทศ เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทุนนิยมเข้ามา เศรษฐกิจแข่งกับจีน และจะทำอย่างไร อินเดียเห็นแล้วว่า เอาเรื่องประชาธิปไตยมาอันดับหนึ่งมันไม่เวิร์คแล้ว หนึ่ง อินเดียต้องการทรัพยากร พลังงาน แหล่งหนึ่งคือพม่า สอง ความมั่นคง อินเดียมีปัญหาเหมือนพม่าคือเรื่องชนกลุ่มน้อยพยายามแบ่งแยกดินแดน นี่ก็สอดคล้องกับปัญหาของพม่า ที่มีปัญหาชนกลุ่มน้อยด้านรอยตะเข็บชายแดนอินเดียพม่า สาม ในแง่เศรษฐกิจ พลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิยุทธศาสตร์ พม่าก็ไม่ต้องการพึ่งพาจีนอย่างเดียว พม่าก็ได้อินเดียมาด้วย ประชาธิปไตยมันไม่ Relevant (เป็นประเด็นสำคัญ) ต่ออินเดียแล้ว คือ ปัจจัยประชาธิปไตยตกไปจากอันดับ 1 กลายเป็นปัจจัยอันดับท้ายๆ แล้วอินเดียไปลงทุนในพม่ามาก พม่าก็ให้ประโยชน์อินเดีย แน่นอนจีนยังได้รับผลประโยชน์มากกว่า

คือถ้าเรามองการเมืองเป็นเรื่องขาวกับดำ ก็จะประณามอินเดียว่า ไอ้นี่มัน Hypocrisy (เจ้าเล่ห์) มากๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ Hypocrisy หรอกครับ นี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น พม่าจึงมีไพ่หลายสำรับเล่นได้

ผมขอสรุปภาพรวมไทยพม่า โดยสรุป นโยบายต่างประเทศของไทยต่อปัญหาพม่า ต้องไม่มอง และไม่พิจารณาแค่ว่าเป็นเรื่องของปัญหาทวิภาคีไทยพม่า เวลามองความสัมพันธ์ไทยพม่า เราจะกำหนดนโยบายของไทยต่อพม่า เรื่องนี้ไทยต้องการแบบนี้ พม่าต้องการแบบนี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่แค่ไทยกับพม่า เรากำหนดท่าทีของไทยต่อพม่า เราจะกำหนดนโยบายไม่ใช่มองแค่เรื่องไทยพม่าเท่านั้น คุณต้องมองบริบทใหญ่

Regional Context คืออะไร ขณะนี้พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนใช่ไหม มีผลประโยชน์ในอาเซียนอย่างไร พม่ามีท่าทีต่อจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย พม่ามีปัญหากับประเทศในภูมิภาคนี้ มหาอำนาจ ไทยอย่างไร มันเป็นปัจจัยที่จะใช้ประกอบนโยบายต่างประเทศ

 

ฟันธง ไทยพม่าคนละระบอบ
“อภิสิทธิ์” เป็น “ตานฉ่วย”ไม่ได้

ระบอบการเมืองที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อท่าทีการกำหนดนโยบาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศไทยขณะนี้ ประชาธิปไตยเสรีนิยม ประชาธิปไตยรัฐสภา ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พม่าอำนาจนิยมทหารผูกขาด เลือกตั้งไม่มี เสรีภาพขั้นพื้นฐานไม่มี คิดว่าผู้นำอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอยากเป็นอย่างตานฉ่วย (พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ ผู้นำสูงสุดของพม่า) เป็นได้ไหม อยากเป็นฮุนเซ็นเป็นได้ไหม ไม่ได้ เป็นแล้วตกจากเวทีการเมืองทันที แต่พม่าเขาทำได้

เพราะฉะนั้นเวลา (รัฐบาลไทย) เจรจากับพม่า คุณต้องรู้ว่าตัวแทนของเขาตัดสินไม่ได้ เขามาตามที่นายเขาสั่ง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจอันนี้ ในการเจรจานั่งโต๊ะเจรจากับพม่า อย่าลืมเลยว่าเวลาของเขา เวลามัน Non-existent มัน Eternal “ชั่วนิจนิรันดร์” แต่นักการเมืองระบอบประชาธิปไตยเวลามัน “กูจะอยู่ได้นานแค่ไหนวะ 3 เดือน 6 เดือน” ดังนั้น ประเทศที่เวลาไม่มีความหมายสำหรับเขา เขาก็พูดไปเรื่อยๆ เขาจะไม่มีวันเปิดท่าทีของเขา แต่นักการเมืองมาจากระบอบประชาธิปไตยที่แข่งขันตลอดเวลา แน่นอน นั่งอยู่แป๊บเดียวเดี๋ยวก็คายให้เขาหมดแล้ว ระบบมันกำหนดพฤติกรรมคน

จุดอ่อนของเราอีกอันหนึ่ง ด้านนโยบายต่างประเทศในหลายรัฐบาล ก็คือ เราชอบเหมาว่าคนอื่นคิดเหมือนเรา นี่เป็นผลประโยชน์เรา เขาน่าจะเห็นด้วยกับเรา นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนมากว่าชอบเหมา โดยที่เราเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองไทยก็คิดแต่ผลประโยชน์พรรคพวกมากกว่าส่วนรวม ชอบทำงานแข่งกับเวลา ถ้าคู่ต่อสู้รู้ว่าเวลาคุณจำกัดเสร็จ คุณเสียเปรียบเขาอยู่แล้ว และในประเด็นอีกอันหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องความขัดแย้ง ร่วมมือ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และไม่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ อย่างกัมพูชา ถ้าตกลงเรื่องปราสาทพระวิหารกันได้ จะจูบปากกันชั่วนิจนิรันดร์หรือ ก็ไม่ใช่ เดี๋ยวก็มีอีก

มากที่สุดที่หวังได้คือ ความสัมพันธ์ปกติแล้วกันอย่าให้ถึงกับต้องขัดแย้งกันรุนแรง พูดง่ายๆ คือว่าในทางการเมืองมันคือสีเทา ดีที่สุดมันไม่มี มีแต่เลวน้อยที่สุด เมื่อเราพูดถึงนโยบายต่างประเทศ มันเกี่ยวข้องกับทางเลือก เลือกอะไร เลือกสิ่งที่เลวน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์ที่เราพูด ไม่มีดีที่สุด ช่วงใดที่มีความขัดแย้ง สิ่งที่เลวน้อยที่สุดคือ อย่าทำให้ความขัดแย้งนั้นเลวไปกว่าที่เป็นอยู่ และรอจังหวัดให้ปรับปรุงสู่ภาวะปกติได้ และถ้ามันปกติได้สามารถพูดคุยกันได้ ก็นำไปสู่ความร่วมมือ แต่นี่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่ไม่ชอบความสลับซับซ้อน มัน Intangible (ซึ่งจับต้องไม่ได้) ไม่เหมือนค้าขาย ขายเท่านี้ตัน เอามาอวดประชาชน แต่ในทางนโยบายต่างประเทศ มันจับต้องไม่ได้ ถ้ามันบรรลุผลขึ้นมา มันจะปูพื้นฐานให้ส่วนอื่นๆ รับประโยชน์อย่างมาก

ในประเด็นสุดท้าย ในความสัมพันธ์ไทย-พม่า ที่อยากฝากไว้คือว่า เราตระหนักไว้ตลอดเวลา ว่าความสัมพันธ์มีหลายมิติ ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในยุคที่เราเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ ยุคที่ทุกคนพูดเรื่องประชาธิปไตย นโยบายต่างประเทศถ้าเราถือตัวว่าเป็นประชาธิปไตย นโยบายต่างประเทศมันต้องเป็นส่วนขยายของประชาธิปไตยภายใน ผลประโยชน์ภายในประเทศ คือต้องตอบสนองความต้องการของภายใน ถึงจะเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพ นโยบายต่างประเทศของประเทศประชาธิปไตยต้องเป็นเช่นนี้

การเมืองพม่าเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบ เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะว่าการเมืองแบบนี้เป็นอุปสรรคในการสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่หรอก ไม่อย่างนั้นเราไม่มีความสัมพันธ์กับจีน สหภาพโซเวียต เราไม่ชอบเผด็จการทหารแน่นอน แต่ปัญหาคือระบอบอย่างนั้นไม่เอื้ออาทรกับคนของมัน มันลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนของมัน สร้างความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เราได้รับผลกระทบ ถ้าคนเรามีงานทำในประเทศ ไม่มีใครอยากทิ้งประเทศ คนส่วนน้อยหนีมา เพราะนโยบายของรัฐบาลต้องการใช้การทหารแก้ปัญหาใช่ไหม เรื่องยาเสพย์ติด สิ่งแวดล้อม เหล่านี้สร้างปัญหาให้ไทย ถ้าเขาเป็นเผด็จการแต่ถ้าเขาไม่สร้างปัญหา เราก็ Co-exist กับเขาอยู่ได้ แต่นี่เป็นรากเหง้าปัญหา

ดังนั้นอย่าไปหลงทางว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ไม่มี ไม่เคยมี และจะไม่มี สหรัฐอเมริกาเอง อังกฤษเองทุกวันนี้ ฝรั่งเศสเองก็มีหลายด้านที่ Non-democracy ความหมายของประชาธิปไตยที่เอเธนส์ แต่ในปีนี้มันต่างกันแยะ แค่ประชาธิปไตยสมัยกรุงเอเธนส์ เราบอกว่ามันไม่เป็น เพราะในเอเธนส์ทาสมีสิทธิเลือกตั้งไหม ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งไหม คนอายุเกิน 18 มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ไม่เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิไหม สำหรับเรากับอังกฤษ แน่นอน เขามีกระบวนการที่ต่อเนื่อง บางช่วงสะดุดอีก ถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยไหม ถ้าเปรียบเทียบกับเรา เขาเป็น เรามีเนื้อหาประชาธิปไตยน้อยกว่าเขา ก็ต้องปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายนู้น กฎหมายนี้

 

ความพลาดของอาเซียน

เรื่องอาเซียนกับพม่า ขอพูดสั้นๆ ว่า เหตุผลที่อาเซียนรับพม่าเข้ามา ถามว่าอาเซียนขัดแย้งไหมที่รับพม่าเข้ามา มันมีครับ ผมสรุปสั้นๆ ว่า อาเซียนไม่ใช่ทุกประเทศเห็นด้วยในการรับในปี 1997 (2540) แต่ประเทศที่มีบทบาทสำคัญคือมาเลเซีย มหาเธย์ กับอินโดนีเซียคือ ซูฮาร์โต้ เราต้องขยาย 6 ประเทศไม่พอ ในโลกโลกาภิวัตน์ไม่พอ ถ้าเรามีสมาชิกมากขึ้นเราจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น นี่คือ Argument (ข้อถกเถียง) อันแรก

องค์กรความร่วมมือ องค์กรอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่ปริมาณจริงหรือ มันอยู่ที่ Reputation (ความน่านับถือ) Credibility (ความน่าเชื่อถือ) ต่างหากประเทศสมาชิกทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ เอาพม่าเข้ามาแล้ว ASEAN ได้รับผลกระทบมากไหม ทุกวันนี้ ล่าสุดการประชุมที่ฮานอย ผู้นำอาเซียนบอกให้พม่าจัดการเลือกตั้งโปร่งใสนะ ทำไมผู้นำอาเซียนพูดแบบนี้ แสดงว่ายอมรับว่ามีสมาชิกปลาเน่าตัวหนึ่งอยู่ในอ่าง

ข้อถกเถียงในการรับพม่าเป็นสมาชิก อันที่สอง ต้องดึงพม่าเข้ามาในอาเซียน เพื่อลดการพึ่งพาจีน แต่จากปี 1997 ถึง 2010 ตั้งแต่พม่าเป็นสมาชิกในอาเซียน อิทธิพลของจีนในพม่าเพิ่มขึ้นมหาศาลไม่ใช่ลดลง ไม่เกี่ยวเลยที่บอกว่าจะทำให้ลดลง เพราะมันเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิยุทธศาสตร์ สิ่งที่จีนสามารถช่วยพม่าได้เป็นเรื่องผลประโยชน์

ประการที่สาม อาเซียนเคยประกอบด้วยสมาชิกของสุภาพบุรุษแบบอังกฤษ คนดี ไม่ใช่คนกักขฬะ มีวินัย คนเรียบร้อย ศิวิไลซ์ คิดว่าการเป็นสมาชิกขององค์กรมันจะหล่อหลอมนิสัยสันดานของเขาไม่ดี เป็นองคุลีมาลได้ แต่ทำมาแล้ว 13 ปี

ประการที่สี่ อาเซียนบอกว่า เราจะต้องต่อต้านฝรั่ง เพราะฝรั่งบีบว่าอย่าเพิ่ง Delay-admission (เลื่อนการรับพม่า) ก่อน มหาเธย์กับซูฮาร์โต้บอกว่า ไม่ได้ อย่าให้ฝรั่งมาบีบ เราต้องเป็นตัวของตัวเอง ยิ่งบีบเรา เรายิ่งต้องรับเร็วๆ

และเหตุผลเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลแท้จริง เหตุผลแท้จริงเขาไม่พูด แต่ผมจะวิเคราะห์ให้ หนึ่ง ทุกวันนี้ สิ่งที่ผมพูดตั้งแต่ปี 1995 (2538) อินโดนีเซีย มาเลเซียต้องการรับพม่า เพราะในอาเซียนตอนนั้นที่เป็นประชาธิปไตย ก็มีไทยกับฟิลิปปินส์ นี่พูดถึงปี 1997 นะ นอกนั้นอินโดนีเซียภายใต้ซูฮาร์โต้ก็อำนาจนิยมมาก ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยตรง ครึ่งใบ เสี้ยวใบแค่นั้น มาเลเซียก็พรรคอัมโนถูกขาด ฝ่ายค้านเป็นส่วนประดับ สิงคโปร์ก็เหมือนกัน บรูไน ก็สุลต่าน แต่ทำไมต้องเอาเวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชาเข้ามา ก็เพื่อเป็นพลังถ่วง อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลัว “Democracy fall out” กลัว “เชื้อประชาธิปไตย” จากไทยและฟิลิปปินส์ เลยเอาประเทศ อำนาจนิยมเหล่านี้เข้ามาเป็น 8 ต่อ 2 แม้ตอนนี้ ในอาเซียน อินโดนีเซียกลับมามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากัน ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป แต่ที่เรามีปัญหานี้ ทำให้อาเซียนไม่สามารถคืบหน้าในการต่อรองกับสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เพราะการดำเนินการมีอุปสรรค มันก็หยุดชะงักไปหลายด้าน

นอกจากนี้ สอง ผลกระทบที่ชาติในอาเซียนได้รับจากพม่าก็แตกต่างกัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ผู้อพยพชาวไทใหญ่หนีไปไหม คุณเห็นไหมครับ ผลประโยชน์แตกต่างกัน ผลกระทบที่ได้รับก็แตกต่างกัน ขณะนี้อาเซียนมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่ง 40 ปีก่อนหน้านี้ไม่มี เดิมอยู่กันแบบพี่น้อง สุภาพบุรุษ แต่ปัจจุบันความร่วมมือมีมากมายหลายด้าน ไม่มีใครอยากทำความตกลงกับอาเซียนถ้าคุณไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ถามว่าการมีกฎบัตรจะทำให้อาเซียนรุดหน้า โชติช่วงชัชวาลไหม ไม่ ตัวกฎบัตรมีข้อบกพร่องไม่น้อยทีเดียว คือไม่ทำโทษสมาชิกที่ไม่อยู่ในร่องในรอย ทุกวันนี้ ชาติทำให้อาเซียนมีอุปสรรค กลับไม่สามารถขับไล่ออกจากอาเซียนได้ ไม่มีมาตราไหนที่กำหนดหลักเกณฑ์ หรือ Criteria ในการรับสมาชิก ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ยินดีรับ แต่สหภาพยุโรปมี Criteria ในการรับ ต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย ทุนนิยม สหภาพยุโรปมี Criteria ใหญ่ 2 อัน และมีข้อย่อยอีก 30 กว่าข้อ ตอนโปรตุเกส สเปน กรีซ เป็นรัฐบาลทหาร เคยขอเป็นสมาชิกเขาไม่รับ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจไม่เป็นทุนนิยม

สาม จุดอ่อนที่สามของอาเซียน เรื่องของการใช้ ฉันทามติ ไม่ใช้ระบบลงมติ

สี่ กฎบัตรอาเซียน ไม่ผูกมัด ไม่ลงโทษขับไล่สมาชิก โดยหวังว่าอยู่กันด้วยใจ เป็นสุภาพบุรุษ ไม่มี (กฎบัตร) ดีกว่ามีหรือเปล่า ผมว่ามีก็ยังดี ในแง่ที่ว่า การมีถ้าสมาชิกหน้าด้านบ่อยๆ ดูสิว่าจะหน้าด้านนานแค่ไหน

ในปี 2015 อาเซียนหวังจะเป็นประชาคมด้านความมั่นคง ประชาคมด้านเศรษฐกิจ และประชาคมด้านสังคมวัฒนธรรม ประชาชนจะได้มีสิทธิอ้างใช้กฎบัตรควบคุมติดตามรัฐบาลอาเซียนของประเทศตน ว่าเคารพกฎบัตรแค่ไหน และในที่สุดต้องมองระยะยาวว่าทุกอย่างมีวิวัฒนาการของมัน และอาเซียนจะพัฒนาไปสู่การที่สามารถบังคับได้

เหมือนในยุคใกล้สิ้นสุดสงครามเย็น ประเทศยุโรปและโลกตะวันตกกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ลงนามในเอกสาร เฮลซิงกิ ไฟนอล แอค (Helsinki Accords หรือ Helsinki Final Act) พิธีสารกรุงเฮลซิงกิ 1975 มีความร่วมมือเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม กลุ่มประชาชนในสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกมักจจะอ้างพิธีสารนี้เพื่อส่งเสริมให้ไปมาหาสู่ ซึ่งในที่สุดใช้เวลา 20 กว่าปี เฮลซิงกิ ไฟนอล แอค ทำให้กำแพงเบอร์ลินพังทลายลงมาได้ ในอาเซียนเองทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยการไม่มีอะไรขับไล่กันออกได้ ก็ต้องพยายามที่จะหวังในระยะยาวที่จะร่วมอยู่ด้วยกัน

 

การเลือกตั้งในพม่า วิธีคิดแบบ “มี ดีกว่าไม่มี”
โอกาสวางมือและรักษาหน้าของนานาประเทศ

เรื่องของการเลือกตั้ง มีแยะมาก ถามว่าทำไมรัฐบาลพม่ายุคนี้คิดกลับมามีการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกคือปี 1990 (พ.ศ. 2530) รัฐบาลทหารพม่า กลุ่มผู้นำรัฐบาลที่เป็นทายาทสืบทอดอำนาจมาจากนายพลเนวิน มั่นใจว่าจะสามารถชนะเลือกตั้งได้ จึงจัดการเลือกตั้งเอง เพื่อลดแรงกดดัน ให้พม่าแปรสภาพเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ลดกระแสกดดันทั้งในประเทศและที่มาจากภายนอก อย่างน้อยที่สุดสามัญสำนึกบอกเราได้ว่า การจัดการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้ง มันให้ความชอบธรรมกับรัฐบาล แต่ตอนนั้นพรรคเอ็นแอลดีชนะ รัฐบาลทหารก็คว่ำกระดาน บอกว่าไม่ได้จัดการเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาล แต่เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าก็ถูกดดันมาตลอด จีนเองคงบอกว่ายังไงว่าเธอมีปัญหา ฉันก็ต้องช่วยเธอ เวลาวีโต้ (การใช้สิทธิคัดค้านในฐานะ 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อระงับวาระต่างๆ) ก็เสียภาพพจน์ ให้จัดการเลือกตั้งเสีย จะได้ดูดี ดูเนียนหน่อย ถ้าชนะแล้วจะได้มีความชอบธรรม ตอนนี้สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน ยังไม่มีใครบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง อย่าจัดดีกว่า แต่จะพูดว่าต้องพยายามแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายเลือกตั้งให้แฟร์กว่านี้ เพราะกีดกันฝ่ายค้าน

อย่างมาตราที่ให้เจ้าหน้าที่ในกองทัพมีที่นั่งในสภา ส.ส. และ ส.ว. มาจากกองทัพ ถึงร้อยละ 25 อีกมาตราระบุว่าสมาชิกสภาระดับรัฐมาจากหน่วยงานที่กองทัพจัด กฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงเลือกตั้ง ให้เวลาแก่พรรคการเมืองเสียงเลือกตั้ง 2 อาทิตย์ ถ้าหาเสียงนอกที่ทำการพรรคต้องแจ้งล่วงหน้า 2 อาทิตย์ ส่วนการหาเสียงในที่ทำการพรรคไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งว่าเมื่อไหร่จะทำ กฎหมายเลือกตั้งแบบนี้ทำให้ฝ่ายที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลอยู่ในฐานะที่จะแข่งได้

ตอนนี้มีการลงทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว 37 พรรค แต่มีองค์กร USDA (สมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา) มาตั้งพรรคเป็น USDP (พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา) ซึ่งเดิม USDA คือกลุ่มอันธพาลการเมืองที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ไปทุบตี กดดัน รังแก กลุ่มที่มีทัศนะต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้น รัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งเพื่ออะไร ไม่ใช่เพราะจู่ๆ เขารักประชาธิปไตย แต่เขาต้องการอยู่รอด ความการต้องการอยู่รอดเป็นหัวใจ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลทหารพม่า เขาต้องการหาทางออกจึงจัดการเลือกตั้ง เขามั่นใจว่าเขาจะชนะ อะไรที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกมองว่ามีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่รู้จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ คาดว่าจะมีในสิ้นปีนี้ เดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม ไม่แน่ และอาจจะเลื่อนไปอีก นี่คือการลดแรงกดดัน และเพื่อความอยู่รอดของทหารพม่า

แต่การที่พลเอกอาวุโสตานฉ่วยและพวกคิดจัดการเลือกตั้ง เพราะเขาคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะจัดการเลือกตั้ง หน้าต่างเปิด ประตูเปิดให้พม่าใช้โอกาสนี้จัดการเลือกตั้ง เพราะเขาคิดว่าท่าทีสหรัฐอเมริกา โอบาม่าอยากปรับความสัมพันธ์ อยากเสวนา ทำความเข้าใจโน้มน้าวให้พม่าเปิดทางการเมืองมากกว่านี้ อันนี้เป็นผมคิดว่าพม่าอ่านเกมถูก เพราะโอบาม่าตอนหาเสียงก็ต้านแนวนโยบายแบบบุชที่กระทำโดยพลการ “Unitarianism” แต่หันมาใช้นโยบายพึ่งพาชาติอื่นๆ เมื่อพม่ารู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่บีบพม่า เพราะสหรัฐอเมริกามีปัญหาอิรัก อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา อิหร่าน เกาหลีเหนือ เป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า “เต็มกลืน ในหลายด้าน” จึงไม่สามารถเอาปัญหาพม่ามากดดันสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม จึงเป็นโอกาสที่ตานฉ่วยและพวกเตรียมการเลือกตั้ง

ในส่วนที่สองสหรัฐเอง อาเซียนเองก็เหมือนกัน และสหภาพยุโรป รู้แล้วว่าใช้นโยบายพม่าที่เรียกว่า “Carrot exist” หรือ “เอาขนมมาล่อ” ตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ.2543) คือเอาผลประโยชน์มาล่อ แต่ไม่ได้ผล เพราะอะไรพม่ามีหลายสำรับที่จะเล่นไพ่ เพราะฉะนั้นก็ต่างคนก็รู้ว่าไม่ได้ผล และนโยบายแซงชั่นก็มีจุดอ่อนอยู่ ถ้าคุณใช้วิธีคว่ำบาตรต่อประเทศเผด็จการคนที่เดือดร้อนคือประชาชน ถ้าประเทศประชาธิปไตยถ้าโดนแซงชั่นทางเศรษฐกิจทุกด้าน เช่น ปิดตายไทยเลย รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้แน่ คนไทยลุกฮือเอามันลงได้ แซงชั่นมันจะทำงานได้ทั้งโลกต้องร่วมมือ แต่ไม่ได้ผลถ้าประเทศนั้นมีอะไรจะให้ มีขนมให้หลายประเทศได้ประโยชน์ อย่างพม่ามีพลังงาน มีทรัพยากรล่อมันก็เล่นได้

ผมเลยคิดว่า ถ้าจะวิเคราะห์ว่า การที่อาเซียน ไม่ตำหนิพม่าในการจัดการเลือกตั้ง แต่บอกพม่าให้มีการปรับปรุงแก้ไขและแสดงความหวังว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม โปร่งใส ให้โอกาสทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม แสดงความหวัง แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเลือกตั้งไม่สะอาดหรอก ก็เพื่อเป็นยุทธศาสตร์หาทางออกโดยตัวเองไม่เสียหน้า สหรัฐอเมริกาไม่เสียหน้า อาเซียนไม่เสียหน้า ไทยก็ไม่เสียหน้า เพราะรู้ว่าการเลือกตั้งจัดแล้วจะไม่เป็นไปอย่างที่คนคาดหวังหรอก แต่ก็ต้องพูดหน้าฉากว่าผมตำหนิแล้ว ทำได้แค่นี้ ผมได้ทำหน้าที่แล้ว “I done my duty” แล้ว อาเซียนก็วิจารณ์หน้าฉากก็แบบนี้ ส่วนหลังฉากจะเป็น “Business as usual” แล้ว คอยดูนะประเทศเหล่านี้จะไปทำธุรกิจ ลงทุนกันเต็มที่

ประเทศเหล่านี้” อาจคิดว่า “การเลือกตั้งในปีนี้อาจจะไม่โปร่งใสนะ ไม่ชัดเจนนะ แต่เมื่อเราคำนึงว่าการรัฐประหารมาในปี 2505 พม่าไม่มีการเลือกตั้งเลย และการเลือกตั้งปี 1990 (พ.ศ.2531) โดนคว่ำกระดานไป 10 กว่าปี ก็ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ที่ดีกว่าไม่มีน่ะ ถึงจะมีข้อบกพร้องเยอะแยะก็ยังดีกว่าไม่มี เราต้องให้โอกาสเขา และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เขาจะปรับตัวเอง เปิดตัวเองมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้งนี้เป็น Exist Strategy ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกา และหลายชาติไม่เสียหน้า”

และอย่าลืมนะครับ ในยุคสงครามเย็น ที่เรียกว่า “โลกเสรี” และ “โลกคอมมิวนิสต์” ถามจริงๆ เถอะประเทศที่สังกัดในโลกเสรี 80 กว่าประเทศ 90 กว่าประเทศ เสรีแค่ไหน ตอนนั้นประเทศที่สังกัดในโลกเสรีไม่ต่ำกว่า 70% เป็นประเทศที่มีการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตยเลย แต่พิจารณาตัวเองว่าเสรี เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเพราะต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาบัดนี้คอมมิวนิสต์ไม่มีแล้ว โลกเสรีไม่มีแล้ว ประเทศตะวันตกไม่ต้องการได้รับผลกระทบแบบลัทธิคอมมิวนิสต์มาท้าทายทุนนิยม มีระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมมาท้าทายประชาธิปไตยเสรีนิยม วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีอะไรขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ต้องทำให้แน่ใจว่าทุนนิยมเสรี ประชาธิปไตยเสรีนิยม ต้องมี “Hegemonic Power” (อำนาจนำ) อยู่ได้นานที่สุด ให้มันมีประชาธิปไตยเสรีนิยม เศรษฐกิจทุนนิยมเป็น “Washington Consensus” (ฉันทามติวอชิงตัน) หมด

นี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศในโลกนี้ต้องอยู่ในกรอบนี้ และวิธีการอันหนึ่งที่ดีที่สุดคือส่งเสริมให้ทุกประเทศมีการเลือกตั้ง ให้มันเนียนก็แล้วกัน แล้วรัฐบาลนั้นยึด “Washington Consensus” อย่าลืมว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เขาเอามาใช้กับประเทศกำลังพัฒนา มันคนละอย่างกับที่ใช้ในประเทศพัฒนาแล้วนะ อย่างประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลกนี้ที่เขาให้เราคือ “เลือกตั้ง” ก็พอแล้ว อะไรที่มาจากเลือกตั้งนั่น Qualify (ผ่านเกณฑ์) ให้คุณเป็นประชาธิปไตย มีความชอบธรรม ถึงจะโกงเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร ถ้าทำได้แนบเนียนและผู้ชนะต้องเป็น Candidate (ผู้สมัคร) ของประเทศตะวันตกเท่านั้นนะ อย่าง ชาเวซก็ชนะเลือกตั้ง อะมาดิเนจาดก็ชนะเลือกตั้ง ฮามาสถือว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ชนะการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ แต่สหรัฐและอียูประณาม เพราะ “You wasn’t the right candidate.” (คุณไม่ใช่ผู้สมัครที่แท้จริงของเรา) อย่างประเทศไทย คนที่ไม่ได้มาจากเครื่องแบบ ก็ถือว่าประชาธิปไตย และถ้าคุณ Corrupt ก็ Corrupt ประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ละเมิดแบบประชาธิปไตย

จะเห็นได้ว่ามัน Corrupt มากๆ ในพม่าเขาขอให้แค่มีการเลือกตั้งก็แล้วกัน แล้วทำให้เนียน ถ้าทำแล้วทหารพม่าชนะ พม่าเขาไม่ได้ปิดบัง เขาบอกว่าจะเป็น Discipline democracy (ประชาธิปไตยที่มีวินัย) เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ต่างจาก Guided democracy (ประชาธิปไตยชี้นำ) ของซูฮาร์โต้หรอก แต่อาเซียนและตะวันตกก็อยากล้างมือเรื่องพม่าจะได้หมดภาระ โอเคมีเลือกตั้งให้โอกาสเขาก่อน เพราะเราเองก็เคยเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบมาแล้วมันมี Evolution Process (มีขั้นตอนวิวัฒนาการ) เป็นเรื่องผลประโยชน์ และขี้เกียจแล้ว เรื่องนี้เป็นการรักษาหน้าด้วย เพราะถ้าพม่าไม่เปลี่ยนจะยิ่งเสียหน้าด้วย

สำหรับประเทศไทยกับพม่าอย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยกัน หนีไปไหนไม่ได้ ไทยก็บกพร่อง พม่าก็บกพร่อง ดังที่อธิบายไปแล้ว แต่เราก็อยู่ด้วยกัน โดยหวังว่าจะพัฒนาความสัมพันธ์ปกติ แต่อยากให้พัฒนาจากความเป็นปกติ นำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง แต่ขณะนี้อาจจะเริ่มไม่ปกติแล้ว เราไปสร้างทำนบกั้นน้ำ (ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก) พม่าเขาก็ถูก เพราะการก่อสร้างหน่วยงานไทยต้องแจ้ง เพราะการก่อสร้างจะมีผลทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้พม่าเสียดินแดน เพราะฉะนั้นที่เขาปิดชายแดน อีกหน่อยเขาก็รู้ว่า ใครจะร้อง ก็พ่อค้าแถวนั้น นักการเมืองที่มีผลประโยชน์ชายแดน ก็ร้องลั่นเลยว่าวันๆ หนึ่งเสียหายกี่พันกี่ล้านบาท ก็ต้องมาบีบรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลจะดูไม่ดี ถ้าเรารู้ว่ามันผิดก็ปรึกษาเขา หาทางแก้ไขเสีย จะได้หาทางย้ายไปจาก State of Normalcy ไปสู่ความร่วมมือระดับชาติ

แต่แน่นอนประเทศไทยอย่าไปหวังอะไรกับไทยมาก ตราบใดที่ระบอบการเมืองการปกครองพม่ายังไม่สามารถ Democratize ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และมีความเป็นอำนาจนิยมน้อยกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการเลือกตั้ง จะผิดหรือจะถูก เราจะชอบไม่ชอบ ผมคิดว่าอย่างไรมันชวยปลดล็อค ให้โอกาสกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและฝ่ายลงแข่งขันซึมเข้าไปบ้าง แต่อย่าลืมว่ารัฐบาลทหารอาจถูกคว่ำกระดานเมื่อไหร่ก็ได้ หากปีสองปีกลุ่มฝ่ายค้านที่อยู่ในสภา แล้วทหารเห็นว่าอยู่ให้นานไม่ได้ เพราะพวกนี้จะบั่นทอนความมั่นคงกองทัพ เขาก็จะทำรัฐประหารอีกแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เรื่องนี้ก็ต้องดูกันไป แต่อย่าถึงกับผิดหวังว่า มีการเลือกตั้งอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อย่ามีดีกว่า ไม่มีการเลือกตั้ง กับเลือกตั้งแล้วเหมือนเดิม มันไม่มีทำให้อะไรเสียหาย เพราะฉะนั้นประเทศพม่า 50 กว่าปีที่ผ่านมาในพม่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิม ก็คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาร์คลั่นอยากได้ "ปราสาทพระวิหาร"

Posted: 07 Aug 2010 12:46 AM PDT

"มาร์ค" รุดพบพันธมิตรฯ ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ยันไม่ได้คิดต่างกัน ท้าถ้าเอาแผ่นดินไทยไปแลกผลประโยชน์ ก็ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ควรอยู่แผ่นดินนี้ ลั่นจะใช้การทูต-การทหารจัดการทหาร-ประชาชนกัมพูชา ผู้ชุมนุมถามจะลุยเมื่อไหร่ มาร์คบอกพูดบนเวทีไม่ได้ เผยมีความอยากได้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไม่ต่างจากผู้ชุมนุม เพื่อนบ้านในอนาคตก็ยังเป็นเพื่อนบ้านแต่ถ้าถึงเวลาก็ไม่ลังเล

"วีระ สมความคิด" มาหน้าทำเนียบ ลั่นไม่ได้มา "ชุมนุม" แต่มา "รวมตัว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลเวลา 08.00 น. วันที่ 7 ส.ค.  ได้มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ" นำโดยนายวีระ สมความคิด และนายไชยวัฒน์ สินธุวงศ์ แกนนำสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ประมาณ 350 คน ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อทวงถามความคืบหน้า แนวทางการแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารและยกเลิกข้อตกลง “เอ็มโอยู2543” ต่อมา พล.ต.ต.บุญส่ง พานิชอัตรา รอง ผบช.น. ได้เข้าเจรจากับนายไชยวัฒน์ เพื่อชี้แจงให้ทราบว่า ไม่สามารถชุมนุมบริเวณนี้ได้ เนื่องจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ และขอให้ย้ายไปชุมนุมยังบริเวณอื่น แต่ผู้ชุมนุมได้มีการนำรถติดเครื่องขยายเสียงมาจอด มีการปราศรัยสลับกับร้องเพลง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องนำกองกำลังปฏิบัติการจิตวิทยา และ ตชด. ประมาณ 2 กองร้อยมาตรึงกำลังรอบบริเวณ

นายวีระ กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้ ไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มแนวร่วมที่มีความคิดเห็นทางเดียวกัน โดยไม่มีแกนนำแต่อย่างไร ซึ่งวันนี้ที่เดินทางมาเพื่อต้องการเรียกร้องนายกฯ ให้คำตอบความคืบหน้าเรื่องเขาพระวิหาร และยกเลิกข้อตกลงเอ็มโอยู

ต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ในนาม "เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ" ได้ทยอยเดินทางมารวมตัวกันบริเวณรอบแยกมิสกวันเพิ่มอีก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธที่จะให้ผ่านเข้าไป โดยมีนายวีระ สมความคิด แกนนำเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ย้ายไปชุมนุมหน้าทัพภาค 1 หลัง "พ.อ.อภิรัชต์" เจรจา
อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมบางส่วนได้ผ่านเข้าไปอยู่บริเวณหน้าสำนักงานป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับได้มีการตั้งเวทีปราศรัยและจัดกิจกรรมปักหลักจับจองพื้นที่ ทั้งนี้ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อหามติในการเลือกสถานที่ชุมนุม ภายหลังประชุมหารือกับเครือข่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร

โดยเจ้าหน้าที่เสนอให้ผู้ชุมนุมย้ายไปชุมนุมที่หน้ากองทัพภาคที่ 1 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามม้านางเลิ้ง และสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ทั้งนี้ภายหลังจากที่นายไชยวัฒน์ และนายวีระ ได้เข้าหารือกับ พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จากนั้นได้เคลื่อนไปรวมตัวกันบริเวณหน้ากองทัพภาคที่ 1 เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาลในการแก้เอ็มโอยู หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน จะไปรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเหมือนเดิม

จำลองชวนให้มาชุมนุมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดีกว่าทำเนียบ
ส่วนที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ว่าหลังจากที่ตัวแทนเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติได้หารือกับนายกฯเมื่อวานนี้ โดยนายกฯ ตอบรับที่จะทำตามข้อเสนอของทางเครือข่ายในการจัดให้มีการพูดคุยชี้ แจงถึงประเด็นกรณีเขาพระวิหารระหว่างทางภาครัฐและประชาชน ถ่ายทอดผ่านทางรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ในวันพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) ทั้งยังตอบรับที่จะมารับฟังข้อซักถามของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในวันนี้ใน ช่วงบ่ายของวันนี้ ทำให้เรายอมรับข้อเสนอที่ให้ทางเครือข่ายย้ายสถานที่ชุมนุม ซึ่งเราก็ยอมรับและเห็นด้วย เนื่องจากสนามกีฬาเวสน์สะดวกสบายกว่าการต้องไปนั่งอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตามอยากฝากไปถึงพี่น้องประชาชนที่มีหัวใจรักชาติขอให้เดินทางมา ร่วมชุมนุมกันที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดีกว่าจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.ต.จำลอง กล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ ว่า จะเรียกว่าการชุมนุมคงไม่ได้แล้วหลังจากที่เราได้พูดคุยกับทางฝ่ายรัฐ ซึ่งวันนี้กิจกรรมของเราจะเน้นในการให้ความรู้ เชิงการสัมมนา และเตรียมที่จะซักถามนายกฯ ในช่วงบ่ายวันนี้ ทั้งนี้ คงยังไม่มีข้อสรุปหรือมติอะไร เพราะคงต้องให้ฝ่ายวิชาการของทางเครือข่ายได้ถกกับนายกฯในวันพรุ่งนี้ ถึงแนวทางทั้งหมดที่เราเรียกร้องต่อรัฐบาล ว่าสองฝ่ายเห็นตรงกันอย่างไร เพื่อให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้เห็น

ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ยังชี้แจงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีผลประโยชน์เอื้อ ฝ่ายการเมือง ว่า ที่มีการกล่าวหาว่าเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติเคลื่อนไหวเพื่อช่วยหาเสียง ให้พรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งสก.สข. เราขอยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประเทศ เป็นเรื่องของดินแดนไทย หากเราในฐานะคนไทยนิ่งเฉยและรัฐบาลก็นิ่งเฉยเราก็จะเสียดินแดนให้เขมร การเคลื่อนไหวไม่ได้เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ แต่พันธมิตรฯให้การสนับสนุน ซึ่งเราจะไม่ยอมให้พรรคการเมืองไหนใช้เวทีของทางเครือข่ายหาเสียงเพื่อผล ประโยชน์ของตัวเองแน่นอน

ผู้การวิชัยประเมินผู้ชุมนุม 2 พัน
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในเช้าวันนี้เบื้องต้น ได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดปราบจลาจลชาย จำนวน 3 กองร้อย และหญิงอีก 1 กองร้อย นอกจากนี้ ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารอีกจำนวนหนึ่ง คอยดูแลรักษาความปลอดภัย คาดว่าจะมีผู้มาชุมนุม ไม่เกิน 2 พันคน และจะสลายการชุมนุม ในเวลา 18.00 น.

เสกนเหิมจะเผากัมพูชา พร้อมขับไล่ขอทาน
ขณะที่บรรยากาศการชุมนุม มีการปราศรัยสลับกับการร้องเพลง มีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปราศรัยว่าถูกโจมตีจากในอาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งหาว่าพวกตนคลั่งชาติ แต่ขอถามว่าถ้าไม่คลังชาติจะมีชาติหรือไม่ พร้อมไล่ให้อาจารย์ไปอ่านประวัติศาสตร์ ถ้าไม่มีคนคลั่งชาติ ก็คงไม่มีชาวบ้านบางระจัน

นายเสกน สุทธิวงศ์ได้ร้องเพลงผู้ชนะ แต่ได้แปลงเนื้อร้องท่อนหนึ่งเป็น "เจ็บใจคนรักโดยรักแก ข้าจะเผาเมืองขะแมร์ให้มันวอดวาย" และปราศรัยด้วยว่า "ไอ้เขมรมึงเอาขอทานออกไปหมื่นกว่าคน ออกไป เขมรที่เขาพระวิหารออกไป ออกไป"

"วิชัย" เคลียร์พื้นที่ให้นายกรัฐมนตรีมาพบ
เวลาประมาณ 13.40 น. พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ ได้ขึ้นมาชี้แจงว่า นายอภิสิทธิ์จะมาเจรจาที่นี่ และจะมาตอบปัญหา 4 ข้อ ขอให้ผู้ชุมนุมให้เกียรติ เพราะเป็นตัวอย่างอันดีของนักการเมือง ผู้ที่รักชาติรักแผ่นดินได้มาพบกับปัญหา มารับทราบปัญหาจากประชาชน ถือว่าเป็นสายตรง สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อเตรียมการเป็นหน้าที่ของฝ่ายรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาดู เขาจะมาดูแลตรงนี้ ขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในอาการที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ต่อมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ปราศรัยว่า เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่นายกรัฐมนตรีมาพบประชาชน จึงเชิญ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ มาพูดกับประชาชนว่าจะขอร้องให้ทำอะไรบ้าง โดย พล.ต.วิชัย กล่าวว่า ขอให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปอยู่บนอัฒจรรย์ ให้พื้นที่ตรงนี้โล่ง เดี๋ยวนายกรัฐมนตรีจะมาพบที่นี่ ขอให้รีบด้วย นายกรัฐมนตรีจะได้มาตอบคำถามไวๆ

จากนั้นผู้ชุมนุมพันธมิตรได้ออกจากพื้นสนามกีฬา ไปนั่งบนอัฒจรรย์อย่างว่าง่ายโดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที โดย พล.ต.จำลองกล่าวต่อจาก พล.ต.ต.วิชัย ว่านึกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถก็แล้วกัน ขึ้นไปจองข้างบนให้เต็มเลย ขอบคุณครับ พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวว่า มีวินัยสมกับที่พวกเราสันติ อหิงสา เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ที่โลกจะได้รับรู้รับทราบว่าเรามีแนวทางแก้ปัญหาประเทศอย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่การรู้รักสามัคคี แก้ไขปัญหาของชาติได้อย่างแท้จริง

โฆษกบนเวที แจ้งว่าขณะนี้กำลังประสานผู้ชุมนุมที่ทำเนียบซึ่งขยับไปอยู่กองทัพภาคที่ 1 แล้ว และยืนยันว่าพวกเราเป็นพี่น้องกัน น้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ยุทธวิธีเพื่อให้ได้สิทธิเหนือดินแดนประเทศไทย เราก็มียุทธศาสตร์ของเรา แต่ถ้าหน้ากองทัพภาคที่ 1 มีอะไรเกิดขึ้นจะไปช่วย ดังนั้นเราสัญญาร่วมกันมีอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ปลอดภัยจะไปช่วยกัน

มาร์ครุดเจรจา ลั่นถ้าเอาแผ่นดินไปแลกผลประโยน์ ก็ไม่ควรเป็นนายกฯ ไม่ควรอยู่บนแผ่นดินนี้
จากนั้นในเวลา 13.49 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาพบผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมได้ยืนขึ้นโห่ร้อง ส่วนนายอภิสิทธิ์ได้โบกมือทักทาย โดยตัวแทนผู้ชุมนุมได้ตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรี

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่หวงแหนแผ่นดินของไทย ขอบคุณที่แสดงออกซึ่งการหวงแหนอธิปไตย และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการมาชุมนุมที่นี่ ขอบคุณ ร.ต.แซมดิน ที่ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าเราไม่ได้คิดต่างกัน รัฐบาลไม่มีผลประโยชน์อื่นใดนอกจากผลประโยชน์ของชาติ และไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะเอาแผ่นดินไทยไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์อื่น ถ้าทำเช่นนั้นไม่ใช่แค่ว่าผมไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่ควรจะอยู่แผ่นดินนี้ด้วยซ้ำ

ลั่นเป็นฝ่ายค้านอภิปรายอย่างไร เป็นนายกรัฐมนตรีก็จุดยืนเดิม
ตัวแทนผู้ชุมนุมได้ตั้งคำถาม และนายอภิสิทธิ์ตอบคำถามว่า ในสมัยที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา อภิปรายไว้อย่างไร จุดยืนตอนเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิมทุกประการ เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ต้องขอร้องพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม เราต้องมีความสมัครสมานสามัคคี มีเอกภาพ ในการเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของเรา เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็มาสู่คำถาม

คำถามถามว่านายกฯ ชวน หลีกภัย หรือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ไปเซ็นเอ็นโอยู 43 เอาแผนที่ 1: 200,000 มากำหนดเขตแดนหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เอ็มโอยู 43 เป็นหลักวิธีการจัดทำเขตแดน ไม่ผูกมัดประเทศไทยในการจัดทำหลักเขตแดน แต่มีหลักสำคัญว่าพื้นที่ปี 2543 เป็นอย่างไร อย่าให้มีการเปลี่ยนแปลง คืออย่าให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าไปรุกล้ำเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ แล้วจะมีคณะกรรมการมาทำหลักเขตแดน เอาสนธิสัญญามายึด คือ หลักสันปันน้ำ คือข้อหนึ่ง ข้อสองใช้ว่าบรรดาแผนที่ที่เป็นงานของคณะกรรมาธิการที่ทำหลักเขตแดนตามสัญญา ผมยืนยันมาตลอดว่า จุดยืนของไทยเหมือนเดิม ไทยไปต่อสู้ในศาลโลกว่าแผนที่กัมพูชาไปอ้างแนบท้ายคำฟ้องไม่ใช่ของคณะกรรมาธิการทำหลักเขตแดน ศาลโลกก็ยอมรับตรงนี้

แต่นับตั้งแต่ที่กัมพูชาจะนำแผนที่นี้ไปอ้างสิทธิ ปี 2551 ไปทำแถลงการณ์ร่วมโดยรัฐบาลสมัยนั้น พวกผมก็คัดค้าน ศาลก็บอกว่าแถลงการณ์ร่วมที่มีแผนที่แนบท้ายเป็นโมฆะ ก็ได้แจ้งรัฐบาลกัมพูชาแล้ว ถัดมาปลายปี 2551 มีการเอากรอบการเจรจา ในการจัดวางกำลังทหารเข้าสู่สภา มีการเอาแผนที่แนบท้ายไปด้วย ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่าเราจะไม่ยอมรับกรอบการเจรจา จนกว่าจะมีการเอาแผนที่ออกไป ในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลขณะนั้นยอมเอาแผนที่ออกไป กรอบการเจรจาปี 2551 จึงไม่มีแผนที่ที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเข้าไป

ลั่นถ้าเลิกเอ็มโอยู 43 แล้วมีผลดีก็เลิก ถ้ามีประโยชน์ก็คงไว้
ล่าสุดกัมพูชาพยายามเอาแผนที่แนบท้ายเข้าไปในกรรมการมรดกโลก รัฐบาลก็เข้าไปคัดค้าน จนมติของกรรมการมรดกโลกให้ไปพิจารณาปีหน้า เรียนกับพี่น้อง ผมเคารพ หลายคนตีความเอ็มโอยูว่าไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่กัมพูชาเสนอในแผนจัดการมรดกโลกล่าสุดว่าเขายังไม่สามารถใช้แผนที่ 1: 200,000 ได้ เพราะกรรมการทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยู 43 ยังทำงานไม่เสร็จ หมายความว่าการมีเอ็มโอยูทำให้กัมพูชายังใช้แผนที่ไม่ได้ เพราะต้องจัดทำหลักเขตแดน เรื่องจึงค้างคาขณะนี้ ผมจึงเห็นว่าเราเห็นต่างกันเท่านั้นเอง ฝ่ายหนึ่งว่าเลิกเอ็มโอยู 43 ดี บางฝ่ายว่าถ้าเลิกเขาจะไปอ้างแผนที่ เพราะไม่มีสนธิสัญญาค้ำอยู่

เราเห็นต่างกัน กับเจตนาเราตรงกัน ก็มาคุยกัน ทางไหนดีกว่ากันผมยินดี ผมไม่มีปัญหา ถ้าเลิกแล้วดีกับประเทศไทยผมก็เลิก แต่ถ้าเราถกกันแล้ว ดูกันด้วยเหตุด้วยผลแล้วถ้ามีประโยชน์ก็คงไว้ ทั้งหมดคือผลประโยชน์ของประเทศไทยครับ รัฐบาลจะพิจารณาเอ็มโอยู 43 โดยยึดผลประโยชน์ประเทศ ไม่ยอมให้มีการใช้แผนที่ 1: 200,000 เพราะเรายึดสนธิสัญญาและสันปันน้ำ

มาร์คลั่นจะใช้ทั้งการทูตการทหารจัดการทหาร-ประชาชนกัมพูชา
ผู้ชุมนุมถามว่ามีทหารและประชาชนกัมพูชาเข้ามาสร้างหมู่บ้าน สร้างวัด ตัดถนน ในเขตไทย ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรและเมื่อไหร่ ซึ่งเรียกเสียงโห่ร้องยินดีจากผู้ชุมนุม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นปัญหาที่เกิดมา 6-7 ปีแล้ว มีการละเมิดเอ็มโอยู 43 แน่นอน เพราะมีการเข้ามา ทีนี้สิ่งที่เราต้องทำต่อไป ผมอยากจะกราบเรียนพี่น้องด้วยความเคารพ เราต้องใช้มาตรการทั้ง 2 ด้าน ทั้งการทูตและการทหาร เหตุผลที่ต้องใช้การทูต เราเห็นอย่างชัดเจนว่าในเวทีระหว่างประเทศ มรดกโลกเป็นตัวอย่างว่ามีหลายประเทศไม่เข้าใจ

ดังนั้น เพื่อให้มีการเคารพข้อตกลงตามที่ว่า ขอเรียนครับว่าประเด็นลักษณะอย่างนี้คงไม่มีการประกาศว่าวันนี้จะทำอย่างนี้ พรุ่งนี้จะทำอย่างนั้น แต่จะปรึกษากับทุกหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการเรื่องนี้สอดคล้องกัน และไม่ยอมรับการกระทำที่ละเมิดดินแดน จะดำเนินการทั้งการทูต และการทหารต่อไป


ผู้ชุมนุมถามย้ำจะลุยเมื่อไหร่ มาร์คบอกพูดบนเวทีไม่ได้

ผู้ชุมนุมถามว่า รัฐบาล พอหรือยังในการใช้การทูต ถึงเวลาหรือยังที่จะใช้มาตรการรักษาศักดิ์ศรีของประเทศชาติ และรักษาสิ่งที่เป็นของเรา นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ถ้าถามพี่น้องก็ได้คำตอบไปแล้ว ส่วนผมยืนยันว่าไม่มีการปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ จังหวะเวลาวิธีการต้องใช้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กับกองทัพ ผมประชุมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ยืนยันว่ากองทัพให้ความร่วมมือ 100% และประสานกับกระทรวงการต่างประเทศต่อไป ขอไม่ลงรายละเอียด

ผู้ชุมนุมถามว่า ก็ได้ยินมาว่ากองทัพบอกว่าพร้อมแล้ว เหลือรัฐบาลจะพร้อมไหม นายกรัฐมนตรีสามารถรับปากได้หรือไม่ ว่าจะใช้กระบวนการทางทหารรับมือกับสิ่งที่เขาลุกล้ำมา

นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า พล.อ.ปฐมพงษ์ ก็อยู่ตรงนี้ เมื่อถามว่าปกป้องอธิปไตยไหม รัฐบาลบอกว่า จะให้มาพูดกันบนเวทีคงไม่ใช่หรอกครับ

ปรามเพื่อนบ้านในอนาคตก็ยังเป็นเพื่อนบ้าน แต่ถ้าถึงเวลาก็ไม่ลังเล
ผู้ชุมนุมถามว่า อยากเห็นท่าทีนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่ารักษาน้ำใจเพื่อน นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ผมก็ดีใจว่า คุณใช้คำว่าเพื่อน เราต้องรักษาสิทธิของเรา แต่อย่าลืมนะครับ เพื่อนบ้านของเรายังไงในอนาคตข้างหน้าก็เป็นเพื่อนบ้าน เราไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นผมว่าเราทำงานด้วยความรับผิดชอบ เมื่อใดก็ตามผมไม่ทำหน้าที่ในการปกป้อง ผมก็ไม่สามารถตอบคำถามประชาชนอยู่แล้ว คนทำงานผู้ปฏิบัติกำลังดำเนินการตามแนวทาง ถ้าถึงเวลาผมไม่ลังเล ผมพูดได้เท่านี้ ไม่สามารถลงรายละเอียดได้

ผู้ชุมนุมถามว่า พวกเราแสดงท่าทีรักษาชาติ ท่านนายกฯ เข้าใจไหม นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ผมเข้าใจ และได้แสดงความขอบคุณทุกครั้ง แต่ไม่สบายใจว่ามีพี่น้องบางส่วนมากล่าวหาว่าผมไม่รักชาติ ขายชาติ ผมก็บอกว่า ยืนยันว่า ไม่มีผลประโยชน์อื่น ผมก็รักชาติ และผมจะปกป้อง เราอาจจะเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง แต่เราอย่าตั้งคำถามเจตนาซึ่งกันและกัน ไม่กล่าวหาพี่น้อง ประชาชน ผมขอบคุณ ผมต้องตัดสินใจว่าการทำงานรักษาประโยชน์ประเทศชาติ ความหมายมีเท่านั้นเอง

มาร์คลั่นมีความอยากได้ปราสาทเขาพระวิหารไม่ต่างจากผู้ชุมนุม
ผู้ชุมนุมถามว่า พวกเราในขณะนี้ต้องการปราสาทพระวิหารคืน เราอยากเห็นท่าทีตั้งแต่รัฐบาลที่ 2505 สงวนสิทธิการทวงปราสาทไว้ แต่ตั้งแต่ 2505 ถึง 2553 ยังไม่เห็นรัฐบาลใช้สิทธิทวงปราสาทพระวิหารคืนเลย ดังนั้น เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีมาถึงแล้ว ท่านเข้าใจไหมว่าเราอยากได้ปราสาทพระวิหารกลับคืนแผ่นดินแม่

นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ถ้าถามความอยาก อยากไม่ต่างกัน แต่ศาลโลกตัดสินเมื่อปี 2505 นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ จอมพลสฤษฎิ์บอกว่าสงวนสิทธิในการทวงคืน ซึ่งต้องหาหลักฐานใหม่ ซึ่งผมไม่ได้นิ่งนอนใจ รัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ให้ข้าราชการไปสืบค้นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการทวงคืนตลอดเวลา แต่เราจำเป็นต้องได้ข้อมูลหลักฐานมาก่อน ซึ่งต้องทำงานต่อเนื่อง ถ้าไม่มีข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมก็จะมีปัญหาในการต่อสู้ทวงคืน

เราจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ สมัยก่อนทำแผนที่ว่าเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาอยู่ตรงไหน เราสามารถบอกได้ว่าสันปันน้ำอยู่ตรงไหน ตรงนี้เราดำเนินการอยู่

อภิสิทธิ์ลั่นจะไม่ให้ประเทศที่สามแทรกแซง
ผู้ชุมนุมถามย้ำว่า ท่านนายกรัฐมนตรีก็มีความอยากทวงคืนเขาพระวิหารเหมือนคนไทย นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ผมยินดีที่จะให้นักวิชาการทั้งหลายที่ต้องการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จมาช่วยรัฐบาล ต้องช่วยกันถึงจะสำเร็จได้

ผู้ชุมนุมถามว่าไหนๆ มันมีปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องวิชาการที่ไม่ชัดเจน ประชาชนห่วงการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่จะมีการบริหารจัดการ รัฐบาลจะทำอย่างไรไม่ให้เสียสิทธิคนไทย เวลานี้เพื่อนบ้านบุกรุกในชายแดนไทย ทั้งกองกำลัง ประชาชน และสัญลักษณ์ศาสนา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องมรดกโลกเราเอาจริงเอาจัง ผมและรัฐมนตรีกษิต และรัฐมนตรีสุวิทย์พยายามทัดทานการรุกคืบของกัมพูชา ต่างชาติอีกหลายชาติไม่เข้าใจเรา คณะรัฐมนตรีมีมติที่แรงมากว่า ถ้าไม่ฟังเรา เราพร้อมถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ทำให้เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนมติทั้งหมด เราก็ต้องทำความเข้าใจต่อเนื่อง กัมพูชาก็ต้องรอปีหน้า 1 ปี เราก็มีเวลาเตรียมตัว เมื่อใดก็ถามที่ทำแล้วมีผลต่ออธิปไตยไทย ไม่ใช่หน้าที่มรดกโลก ไม่ใช่หน้าที่ยูเนสโก ผมพูดกับเลขาธิการยูเอ็นเลยว่า ยูเนสโกมีหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพ ก่อนผลักดันมรดกโลก พี่น้องสองฝั่งยังไปเที่ยวได้ ต่อไปมีการปะทะกัน แสดงว่ายูเนสโกเดินผิดทาง เรามีหน้าที่คัดค้านต่อไป

หลายท่านไม่เห็นด้วยผมเข้าใจ ผมเป็นนักประชาธิปไตยต้องเคารพความเห็นต่าง แต่ผมเพียงแต่ให้ข้อคิด วิธีการบรรลุเป้าหมายมีหลายวิธี เราเลือกใช้วิธีไหนเวลาใด ต้องเลือกดูสถานการณ์ความเหมาะสม ไม่ใช่ว่ามีวิธีเดียว หรือแก้ด้วยวิธีนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ดีที่สุดทั้งสองประเทศเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนบ้านแล้ว พี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งสามารถอยู่และสงบสุขพร้อมกัน เราไม่ต้องการให้พี่น้องประชาชนอยู่ในภาวะต้องสู้รบกันไม่จบไม่สิ้น เราไม่ต้องการให้ประเทศที่สามหรือประเทศอื่นมาแทรกแซงบนแผ่นดินของเรา เห็นด้วยไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร มาทำงานร่วมกัน พรุ่งนี้จัดรายการโทรทัศน์ และต่อไปมาทำงานร่วมกัน นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้ชุมนุมลั่นนายกรับมนตรีตอบไม่ชัด ก่อนปราศรัยต่อ
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับ โดยผู้ชุมนุมได้มาหารือกัน โฆษกการชุมนุมถามว่านายกรัฐมนตรีตอบคำถามชัดหรือไม่ ผู้ชุมนุมตอบว่า นายกรัฐมนตรีตอบคำถามไม่ชัด จากนั้นโฆษกการชุมนุมได้เชิญชวนผู้ชุมนุมลงมาชุมนุมกันที่อัฒจรรย์ต่อ โดยนายเสกน สิทธิ์วงศ์ ได้นำคำกล่าวของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มากล่าว และว่าเขมรมาปล้นบ้านเมืองแล้ว

ล่าสุด เวลา 14.38 น. ชมรมรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยิ่งชีวิต จาก จ.กาญจนบุรี ได้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ "สู้ไม่ถอย" สำหรับสถานการณ์ชุมนุม ประชาไทจะรายงานมาเป็นระยะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: เรียลลิตี้คลั่งชาติ...ทราบแล้วเปลี่ยน

Posted: 06 Aug 2010 11:40 PM PDT

ศอฉ.ออกประกาศซะขึงขัง ห้ามเข้าพื้นที่รอบทำเนียบ ทำเอาคนกรุงขี้ตื่นตกใจกันยกใหญ่ นึกว่า “โจรแดง” บุก

ที่ไหนได้ พันธมิตรฯ ในคราบเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ เจรจากับมาร์คเรียบร้อยแล้ว จะย้ายไป “กระชับพื้นที่” กันที่อาคารกีฬาเวสน์ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

อ้าว! ต้มคนดูนี่หว่า ไหนลุงจำลองนัดมวลชนซะมั่นเหมาะว่าหน้าประตู 4 กลับจะไปดูคอนเสิร์ตซะยังงั้น เหลือแต่กลุ่ม วีระ สมความคิด ไปตั้งกล่อง-เอ๊ย ตั้งกองอยูหน้าทำเนียบ

แต่เชื่อเฮอะ ไม่มีอะไรในกอไผ่ นอกจาก ปชป.กับพรรคการเมืองใหม่แก่งแย่งแข่งขันกันว่าใครจะ “ขวาได้ใจ” กว่าใคร (ขณะที่พวกวีระ-ไชยวัฒน์ ชิงขวา 90 องศา)

ผมมองดูการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในคราบเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติแบบขำๆ ตั้งแต่ไปประท้วงหน้ายูเนสโก รถติดยาวครึ่งค่อนวัน โดยไม่ต้องหวั่น พรก.ฉุกเฉิน ตั้งข้อสังเกตไว้กับตัวเองแล้วว่า พธม.ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปราสาทพระวิหารครั้งนี้ ชูประเด็นต่างจากครั้งก่อน

ข้อแรกคือ พันธมิตรฯ อ้างว่าจะเสียดินแดนถึง 1.8 ล้านไร่ สาวกบางคนยังงง ไม่รู้เอามาจากไหน ที่แท้เป็นจินตนาการข้ามช็อตว่าถ้าเขมรได้พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็จะไม่ยอมรับการแบ่งเขตแดนตามสันปันน้ำ แต่จะอ้างสิทธิตามแผนที่ฝรั่งเศสกินไปลงถึงหลุมก๊าซในทะเล

พันธมิตรฯ ไม่ได้ชูประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหวครั้งแรกนะครับ แต่ครั้งนี้คงกลัวจะชูชาตินิยมเพียวๆ ไม่ไหว เลยยกเอาผลประโยชน์มาล่อคนไทยให้ตาโต (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กรรมการสภาปฏิรูปประเทศไทย เขียนกลอนพรรณนาว่าไม่ใช่เรื่องคลั่งชาตินะ เป็นเรื่องขุมทรัพย์ใต้ทะเลนะ)

จากนั้น พันธมิตรฯ จึงเรียกร้องให้ยกเลิก MOU ปี 43 ที่ทำไว้สมัยรัฐบาลชวน แถมลุงจำลองยังเรียกร้องให้ส่งทหารเข้าไป “กระชับพื้นที่” ชาวบ้านเขมรในพื้นที่ทับซ้อน

ชักเอะใจว่าเป้าหมายคราวนี้ไม่ใช่แค่ทักษิณ หรือ “ไอ้เหล่” นพดล ซะแล้ว

อย่างไรก็ดี ยกแรก พันธมิตรฯ ถูกมาร์คตีกิน แสดงท่าทีแข็งกร้าวไม่ยอมให้เขมรยื่นแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ขู่ถอนตัวจากมรดกโลก ซ้ำยังพาดพิงยูเนสโกว่า เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมและสันติสุข ไม่ควรสร้างความแตกแยกระหว่าง 2 ประเทศ (โห หน้าไม่ร้อนสักนิด ใครกันแน่ที่สร้างความแตกแยก ยูเนสโกเขาคงไม่คาดคิดว่านักเรียนอังกฤษศิษย์เก่าอีตัน-ออกซ์ฟอร์ด จะพูดเอาดื้อๆว่า ต่อให้ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร แต่ที่ดินข้างใต้ก็ยังเป็นของไทย)

พูดได้ว่า มาร์คชิงบทพระเอก ฉวยเหยี่ยวจากมือลุงจำลองไปพับ โกยคะแนนชาตินิยมไปเต็มๆ โดยเฉพาะเมื่อสามารถคุยได้ว่า ส่งสุวิทย์ คุณกิตติ ไปเบรกจนยูเนสโกไม่ยอมรับแผนบริหารจัดการปราสาทของเขมร ต้องเลื่อนไปเสนอปีหน้า แล้วก็โหมประโคมกันใหญ่ว่าเป็น “ชัยชนะ” (ผมยังกังขาอยู่นะว่าที่กรรมการมรดกโลกไม่รับ เป็นเพราะเขมรยื่นช้าหรือเป็นเพราะไทยค้านกันแน่ เพราะมติกรรมการมรดกโลกไม่ได้บอกว่าต้องให้ไทยเห็นชอบ เพียงแต่เขาอาจจะมีมารยาทพอ ไม่อยากขยายความแตกแยกที่เกิดเพราะพวกคลั่งชาติ)

แต่พันธมิตรฯ ไม่ยอมแพ้ ยังมีก๊อกสอง ขุดซากปรักหักพังจนได้ตัวอดุลย์ วิเชียรเจริญ, ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์, เทพมนตรี ลิมปพยอม,ศรีศักร วัลลิโภดม เรียงหน้ากันเรียกร้องให้ยกเลิก MOU ปี 43 พร้อมกับส่งทหารเข้าไปตัดหัวพระยาละแวก เอ๊ย เข้าไปขับไล่คนเขมรในพื้นที่ทับซ้อน แถมยังอ้างว่าสุวิทย์ไปลงชื่อรับทราบมติการจัดตั้งกรรมการไอซีซีทำให้ไทยเสียเปรียบ

“ผมว่ามันบ้ากันไปใหญ่” อาจารย์อดุลย์กล่าวว่าได้แนะนำให้สุวิทย์ต่อต้านไม่ไปร่วม และให้ลาออกจากภาคีสมาชิก แต่สุวิทย์กลับไปรับมติ และรัฐบาลจะชิงเป็นเจ้าภาพมรดกโลกในสองปีข้างหน้า

อาจารย์พูดอีกก็ถูกอีก “ผมว่ามันบ้ากันไปใหญ่”

ตลอดหลายวันที่ผ่านมา จึงเป็นมหกรรมชิงความเป็นขวา แข่งว่าใครจะรักชาติมากกว่ากัน ให้ชาวเราเฝ้าดูอย่างสนุกสนาน ไม่รู้จะแข่งกันไปจนถึงวันเลือก สก.หรือเปล่า

ถ้าถามว่าใครพูดแล้ว “ได้ใจ” มากที่สุด ขออภัยที่ต้องบอกพวกคลั่งชาติทั้งสองฝ่ายว่า ท่านคือเจ้าศรีสวัสดิ์ โธมิโก ที่ปรึกษาในองค์กษัตริย์กัมพูชา ซึ่งส่งจดหมายถึงอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้มองปราสาทพระวิหารเป็น “สัญลักษณ์แห่งความปรองดอง”

ได้ใจและเจ็บด้วย เพราะท่านย้อนให้เห็นว่า ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็ตกเป็นเหยื่อเจ้าอาณานิคม การขีดเส้นแบ่งดินแดนอย่างไม่เป็นธรรมทำให้คนเขมรเป็นเรือนล้านต้องถูกแยกมาอยู่กับไทย ถ้าจะฟื้นฝอยหาตะเข็บกันตั้งแต่อดีต กัมพูชาก็ได้รับความไม่เป็นธรรมกว่า ถ้าเอาความเป็นชาตินิยมสุดโต่งมาใช้ กัมพูชาก็คงจะเรียกร้องดินแดนคืนมากกว่านี้ แต่หลังจากได้รับเอกราช กัมพูชาก็ไม่เคยเรียกร้องเกินกว่าเขตแดนที่ถูกกำหนดไว้ (แลกกันมั้ย เอาเนวินคืนไป เอาเกาะกงคืนมา)

ท่านเขียนอย่างนุ่มนวลว่า ทั้งสองชาติมีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกัน ไฉนเลยจึงปล่อยให้พวกคลั่งชาติจำนวนน้อยปลุกปั่นประชาชนทั้ง 2 ประเทศ (ท่านอ้อมถึงพวกเขมรคลั่งชาติด้วย ไม่ได้ว่าฝ่ายเดียว) ทำไมจึงไม่มองปราสาทพระวิหารเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดอง ความสมานฉันท์ และความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อทั้งสองประเทศ

จดหมายนี้ไม่ได้เป็นการอ่อนข้อ งอนง้อ แต่เป็นการ “เตือนสติ” พวกคลั่งชาติที่โหมประโคมว่าได้ “ชัยชนะ” ชัยชนะคืออะไร คือการเป็นก้างขวางคอเขมร โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์โภชน์ผล แต่ปลุกผีกันว่าจะเสียผลประโยชน์

มติคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อ 2 ปีก่อน ชัดเจนนะครับว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เขาขึ้นเฉพาะพื้นที่ปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาศาลโลกเท่านั้น ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าผนวกเอาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรเข้าไปด้วย ตามข้อ 9 ซึ่งบอกว่า “ที่ประชุมบันทึกไว้ว่า ทรัพย์สินซึ่งนำเสนอเพื่อการขึ้นทะเบียน ถูกปรับลดและมีองค์ประกอบเพียงจำเพาะตัวปราสาทพระวิหารและมิได้รวมถึงส่วนเพิ่มเติมอื่นอันประกอบด้วยผาและถ้ำต่างๆ”

ขณะที่ข้อ 8,10,11 เขาแสดงเจตนาชัดเจนว่าอยากให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมกัน บริหารจัดการร่วมกัน โดยหวังจะให้ใช้เวลา 2 ปีนี้เจรจา “ปรองดอง” กัน เพื่อขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมและนำเอาพื้นที่ทับซ้อนส่วนหนึ่งมาใช้เป็นพื้นที่บริหารจัดการ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองชาติ

แต่ทำไมถึงยอมไม่ได้ล่ะ ก็เพราะทัศนะของพวกคลั่งชาติ ถ้าเปรียบไปแล้วเหมือนบ้านโบราณหลังหนึ่ง อยู่บนที่ดินพิพาทที่ศาลพิพากษาให้นาย ข.ได้ตัวบ้านไป ส่วนนาย ก.เหลือแค่ตีนกระไดพญานาค กับบริเวณแวดล้อม กรมศิลปากรเขาจะมาขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว นาย ก.มีเหตุผลอะไรจะไปคัดค้านเขา นอกจากความรู้สึกที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมรับคำพิพากษา ยืนยันว่ายังเป็นของกู ถึงศาลให้มึงเอาตัวบ้านไป ที่ดินใต้บ้านก็ยังเป็นของกู

ยิ่งไปกว่านั้น นาย ก.ยังรู้สึกว่ากูเป็นพี่เบิ้มมาตลอด ตระกูลกูใหญ่กว่านาย ข.มาตั้งแต่บรรพบุรุษ พ่อมันปู่มันทวดมัน ล้วนต้องศิโรราบ เอาที่มาจำนองกู้ยืม อยู่ๆ มันฟ้องศาลได้ที่ดินคืนไป แหม เจ็บใจ๊เจ็บใจ

นาย ก.ก็เลยไม่ยอม ไม่ให้ทางเข้าออก ไม่ให้ที่จอดรถ ต่อรองว่าต้องขึ้นทะเบียนพร้อมกัน เท่าเทียมกัน .....ทั้งที่ตัวเองมีแค่ตีนกระไดเนี่ยนะ

สรุปแล้ว “ชัยชนะ” คือ กูไม่ได้มึงก็ต้องไม่ได้ ยอมไม่ได้แม้จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (แต่อาจจะยอมถ้าหมอบราบคาบแก้วส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาขอร้อง) ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็มีแต่พวกหวังผลทางการเมือง กับพวกจัดซื้ออาวุธ กริพเพน รถถังยูเครน เรือเหาะ (เอาไว้ยึดปราสาทพระวิหารแบบในหนัง) นี่อยู่ดีๆ ก็ประเคนเงิน 240 ล้านให้กองทัพภาคที่ 2 ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเอาไปใช้อะไร ให้ง่ายดายแต่ไม่มีใครว่า

ก็ขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องผู้รักชาติ เปิดทีวีดูเรียลลิตี้ประชันฝีปากระหว่าง พธม.กับรัฐบาล แล้วช่วยกันกดโหวตว่าใครจะ “ขวาได้ใจ” กว่ากัน ระหว่างมาร์ค V1 กับลุงจำลอง V2 วีระ สมความคิด V3 แต่ส่วนตัวผมอยากมอบ “ตุ๊กตาภูมิคุ้มกัน” ให้ พธม.ในฐานะม็อบมีเส้น (แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเส้นพลิกหรือยัง) เปล่า ไม่ใช่หรอก แต่เพราะเถ้าแก่เปลว สีเงิน ของผมพูดถูกแล้ว ที่ว่าเสื้อแดงกับ พธม.มีจุดร่วมกันอยู่อย่างคือไม่ยอมให้ “บ้านเมืองเป็นปรกติสุข”

เสื้อแดงไม่ยอมให้บ้านเมืองเป็นปรกติสุขอยู่แล้ว ตราบใดที่ไม่ได้รับความยุติธรรม และประชาธิปไตยสมบูรณ์ปลอดการแทรกแซงของอำนาจพิเศษ ขณะที่เสื้อเหลืองน่ะหรือ ถ้ายอมให้บ้านเมืองเป็นปรกติสุข ภายใต้ลัทธิมาร์ค-เนวิน การเมืองเก่าซะไม่มี (ปอง อัญชลี เพิ่งออกมาด่าว่าพรรคร่วมโกงยิ่งกว่ายุคทักษิณ) พวกเขาก็ต้องไปผูกคอตายในฐานะที่ปลุกมวลชนไว้ว่าจะนำไปสู่การเมืองใหม่ใสสะอาดปราศจากคอรัปชั่น

พันธมิตรฯ จึงต้องเป็น I for Icarus ดิ้นรนหาจุดต่างเพื่อการดำรงบทบาท แม้จะต้องเผาผลาญตัวเองไปเรื่อยๆ ถูกขวัญใจจริตนิยมแย่งคนชั้นกลางไปทุกวัน แต่พันธมิตรฯ ก็หยุดไม่ได้ และจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่กระหนาบรัฐอภิสิทธิ์ชนอยู่อีกข้างหนึ่งคู่ขนานกับเสื้อแดง รวมทั้งเป็นพลังปฏิภาคผลักกันและกัน

โห ถ้าไม่มี พธม.ที่ไหนเลยเราจะได้เห็นความเป็น 2 มาตรฐานละครับ พธม.ม็อบได้ ถึงไม่ปิดถนนก็ล้นลงถนนจนรถติดยาวเหยียดครึ่งค่อนวัน ทั้งๆ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่เด็กอายุ 16 ถือป้าย “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” กลับถูกตำรวจจับส่งสถานพินิจ

ฉะนั้นชาวเราก็ต้องเอาไม้แยงก้น พธม.เข้าไว้ ให้เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ เนื่องจาก พธม.ไม่สามารถต่อสู้เรื่องหลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เพราะจะเข้าเนื้อ เนื่องจาก พธม.ไม่กล้าต่อสู้เรื่องทุจริตคอรัปชั่น เพราะกลัวจะเข้าทางทักษิณ (รถเมล์ 4 พันคันก็คล่องคอไปแล้ว รัฐสภาใหม่ก็จะวางศิลาฤกษ์ไม่กี่วันนี้) เลยต้องไปหาอะไรที่สุดขั้วสุดโต่งมาสู้ ซึ่งก็ยิ่งตกกระแสไปเรื่อยๆ

แต่ต้องเลี้ยงไว้ให้มีบทบาทครับ สมมติเช่นเลือก สก.จะไปเลือกมันทำไม้ พรรคเพื่อไทย เลือกไปก็เท่านั้น แค่ สก.ทำไรได้ หรือถ้ายังอยากเลือกก็เลือกบางเขต แต่เขตไหนเห็นแล้วว่าเพื่อไทยสู้ไม่ได้ก็เทคะแนนให้พรรคการเมืองใหม่ดีกว่า

สมมติเช่น อยู่เขตพระนคร สก.เดิมเป็น ปชป. เราก็หันมาเลือกรัชต์ยุตม์ อมรเทพรัตนานนท์ –เอ๊ะ ไม่ใช่นี่หว่า หรือว่า อมรเทพ ศิรโยธินภักดี – เอ๊า ก็ไม่ใช่อีก แก่แล้วชักสับสน เอาเหอะ เอาเป็นว่าเลือกการเมืองใหม่นั่นแหละ

ทราบแล้วเปลี่ยน! (เพื่อนฝูงฝากบอกว่าเปลี่ยนชื่อจัดตั้งกี่ครั้งก็ไม่เป็นไร คราวหน้าอย่าผ่าตัดเปลี่ยนหน้าก็แล้วกัน)
 

                                                                                                  ใบตองแห้ง
                                                                                                   7 ส.ค.53

    

ป.ล.ขอแจมเรื่อง “นางเอก”ซักนี้ด ข่าวที่ทำให้ผมเซอร์ไพรส์มากในหลายวันที่ผ่านมาคือข่าวคุณหญิงเป็ด “นางเอก” ของพลังศีลธรรมใสสะอาด ถูกอัดก๊อปปี้ทั้งข้างหน้าและข้างหลังโดย 2 ศิษย์ก้นกุฎี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ถามใครใครก็เง็ง ไม่รู้ว่าเค้าผิดใจกันเรื่องอะไร

เป็นห่วงเป็นใยน่ะครับ ฮิฮิ เพราะผมเนี่ย ดูเหมือนจะเป็นสื่อรายแรกที่สัมภาษณ์คุณหญิงเป็ด เขียนลงแทบลอยด์ไทยโพสต์ อ่านแล้วใครๆ ก็ชื่นชม ฉะนั้นถือว่าผมมีส่วนปลุกปั้น “นางเอก” หลังจากนั้นเคยสัมภาษณ์กันอีกหลายครั้ง คุยกันทีไรท่านก็จะเอ่ยถึงแต่ “พิศิษฐ์ๆ” เสมือนลูกบุญธรรม

เฮ้อ ก็ไม่คาดคิดว่า “นางเอก” จะเจอวิบากกรรมเร็วขนาดนี้ ข้อกล่าวหาทั้งหลายไม่อยากพูดถึง ใครอ่านข่าวก็ใช้วิจารณญาณได้เอง นี่แหละผลของประกาศ คปค.ที่ปลด คตง.โดยไม่ตั้งใหม่ ให้ผู้ว่า สตง.ใช้อำนาจแทน คตง.แต่ผู้เดียว มีอย่างที่ไหนครับ คนเดียวใช้อำนาจแทนคณะกรรมการทั้งชุด ไม่มีใครมากลั่นกรอง ทักท้วง หรือสมมติทำถูก คณะกรรมการก็เป็นเครื่องการันตี ว่าพิจารณากันหลายคนถี่ถ้วนแล้ว แต่นี่...วันเกิร์ลโชว์ ถูกผิดก็รับเละคนเดียว

เรื่องคุณหญิงพ้นตำแหน่งหรือไม่ ผมมีความเห็นเหมือน อ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แต่ขออธิบายความเสริมสักนิดว่า การเกษียณอายุน่าจะถือเป็นเรื่องคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป จะเอาประกาศ คปค.ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ ให้ทำหน้าที่ต่อไปเมื่อครบวาระ มาใช้บังคับไม่ได้

อธิบายแบบบ้านๆ ก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่งจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไป เช่นที่มักกำหนดไว้ว่าพ้นตำแหน่งเมื่อ ตาย, ลาออก, ทุพพลภาพ, วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน, เกษียณอายุ  นอกจากนี้กติกาสมัยใหม่ ยังมีการถูกถอดถอนอีก

ฉะนั้นประกาศ คปค.จะเอามาใช้บังคับกับคุณสมบัติทั่วไปไม่ได้ สมมติเช่น ...กราบขออภัยไม่ได้แช่งนะครับ แค่ยกตัวอย่างเพื่อศึกษากฎหมาย ...สมมติคุณหญิงหางเปียชี้ เรายังจะเอาประกาศ คปค.มาบังคับว่า วิญญาณคุณหญิงต้องทำงานต่อไปก่อน อย่างนั้นหรือ

หรือสมมติคุณหญิงเบื่อหน่ายเต็มที อยากกลับไปอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ว่างๆ ก็พาครอบครัวซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวเมืองนอก ถ้าเราเอาประกาศ คปค.มาบังคับ คุณหญิงก็ลาออกไม่ได้

หรือสมมติคุณหญิงท่านทำงานเพื่อชาติจนเครียดจัด วันดีคืนดีตั้งศาลเพียงตานุ่งขาวห่มขาวเรียกเจ้าหน้าที่ สตง.ไปเจิมหน้าผากรดน้ำมนต์ ใครไม่ไปสั่งย้าย ต้องฟ้องศาลปกครองเป็นร้อยๆ คดี อย่างนี้ยังจะเอาประกาศ คปค.มาบังคับอยู่หรือ (สมมตินะครับสมมติ)

เอาละ สมมติอีก คปค.มองการณ์ไกลเห็นทะลุอนาคตว่า ไม่สามารถสรรหาผู้ว่าฯใหม่ได้ซักที คปค.ก็อาจจะเขียนไว้ว่า ให้คุณหญิงทำหน้าที่ต่อไปไม่ต้องเกษียณอายุ อย่างนี้ได้ครับ ไม่มีปัญหาเลย

แต่ถ้าอย่างนั้น คปค.ก็อาจจะต้องเขียนด้วยว่า ให้คุณหญิงทำหน้าที่ต่อไป ห้ามตาย ห้ามลาออก ห้ามเกษียณอายุ ห้ามถอดถอน ห้ามดำเนินคดีที่เสี่ยงต่อการถูกตัดสินพิพากษา ฯลฯ เป็นหางว่าวเลย

เจ็บปวดกว่านั้นคือ คุณหญิงพ้นตำแหน่งไปแล้วตามหลักกฎหมาย แต่คำสั่งที่คุณหญิงตั้ง “พิศิษฐ์ๆ” รักษาการนั้น เป็นคำสั่งถูกต้องตามกฎหมาย จะเอา 100 นิติตะวัน มาง้างก็ไม่สำเร็จ แถมพิศิษฐ์ยังจะใช้อำนาจ คตง.แทนคุณหญิงต่อไปด้วย

โธ่ น่าเสียดาย ร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ตกไปซะแล้ว ในนั้นนอกจากจะเพิ่มอำนาจให้ คตง.มีอำนาจฟ้องเหมือนอัยการและ ปปช.แล้ว ยังมีบทเฉพาะกาลมาตรา 111 ยกเว้นบทบัญญัติที่ให้ คตง.ดำรงตำแหน่งวาระเดียว ไม่ให้ใช้บังคับกับกรรมการ คตง.ที่ได้รับการสรรหาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งดำรงตำแหน่ง 3 ปี กรรมการชุดนี้ยังกลับมาเป็นได้อีก จนฝ่ายค้านโวยว่า ตรากฎหมายเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น