โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เล็งเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินจังหวัดใหญ่-ดีเอสไอส่งคนขับรถเสธ.แดงเค้นค่ายทหาร

Posted: 15 Aug 2010 02:46 PM PDT

 

ชงกม.นิรโทษขโมยปืนทหาร
15 ส.ค.53 มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 สิงหาคมนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะเสนอ ร่างพ.ร.บ.ยกเว้นความผิดทางแพ่งและทางอาญาให้แก่ ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ…. ภายหลังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปทำการศึกษาข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดจากแนวคิดที่ต้องการให้บุคคลที่ขโมยอาวุธปืนของทหารในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้นำอาวุธปืนมาส่งคืนโดยไม่มีความผิด รวมทั้งต้องการให้ประชาชนที่ครอบครองอาวุธปืนที่กฎหมายมาคืนด้วย
 
โฆษกยันเดินหน้าเลิกฉุกเฉิน จว.ใหญ่
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทบทวนยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน 10 จังหวัดที่เหลือหลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดที่จ.เชียงใหม่ ว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะประเมินสถานการณ์เป็นรายจังหวัดเพื่อรายงานต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ส่วนจะยกเลิกพื้นที่ไหน อย่างไร ศอฉ.จะเป็นผู้ตัดสินแล้วเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีพิจารณา แต่แนวทางในการตัดสินใจเรื่องนี้ เป็นไปตามที่นายกฯเคยให้ไว้ โดยสัปดาห์หน้าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลประเมินว่าเหตุวางระเบิดที่ จ.เชียงใหม่เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อลองของฝ่ายรัฐหรือเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายปณิธานกล่าวว่า นายกฯมีนโยบายชัดเจนว่าจะทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนครบ แต่ปัญหาที่ทำให้ยกเลิกไม่ได้ เป็นเพราะฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลพื้นที่ได้ ยังต้องการให้ทหารช่วยดูแลพื้นที่อยู่ ซึ่งนายกฯได้กำชับไปแล้วว่าตำรวจและฝ่ายปกครองต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ทหารสามารถถอนตัวไปปฏิบัติภารกิจอื่น
 
ส.ส.พะเยาโวยทหารยังคุกคามชาวบ้าน
"แม้ขณะนี้จะยังมีความเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่ แต่กฎหมายปกติก็สามารถดูแลได้ สิ่งที่กฎหมายปกติดูแลไม่ได้มี 2 เรื่อง คือ เรื่องเส้นทางทางการเงิน และเรื่องการปลุกปั่นประชาชนผ่านสื่อสารมวลชน แต่ขณะนี้ 2 เรื่องเริ่มเบาบางลงแล้ว จึงถึงเวลาที่จะกลับไปใช้กฎหมายปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความไม่พอใจของฝ่ายตรงข้ามยังมีอยู่ ไม่ว่าจะมาจากการเมืองท้องถิ่นหรือคดีความต่างๆ ที่อาจออกมาในทางลบต่อฝ่ายเขา ดังนั้น อาจจะมีการแสดงศักยภาพในหลายพื้นที่ ซึ่งไม่ว่าจะมีหรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขาก็ทำได้อยู่แล้ว" นายปณิธานกล่าว
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่า ขณะนี้ในการประชุมของบางหมู่บ้านจะมีทหารพรานเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งทางราชการ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้เข้ามารับฟังข้อมูลการประชุม ตนเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องส่งทหารเข้ามาสังเกตการณ์ เพราะไม่ใช่หน้าที่ที่จะทำตัวเป็นเครื่องมือทางการเมือง นอกจากทำให้ประชาชนอึดอัดแล้ว อาจทำให้เกิดความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น
 
จับเสื้อแดงขอนแก่นลักเสื้อเกราะทหาร
เวลา 13.30 น.  พ.ต.อ.ดิเรก  ยศนันท์  ผกก.สส.2 บก.สส.ภ.4 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม นายชัยพร หรือ ชัย  คำทองทิพย์ อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 153  หมู่ 10 ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1632/2553 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ในข้อหา มีเครื่องยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ภายหลังก่อเหตุจากการชุมนุมร่วมกับกลุ่ม นปช. ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และลักทรัพย์เสื้อเกราะของเจ้าหน้าที่ทหาร และ หลบหนี

พ.ต.อ.ดิเรก กล่าวว่า หลังจากได้รับหมายจับนายชัยพร จากศาลอาญาก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมออกติดตามสืบสวน จนทราบว่านายชัยพร หลบหนีการจับกุมมาพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 208/682 หมู่ที่8 ต.บ้านเป็ด อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  ซึ่งเป็นบ้านญาติ จึงได้เดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าว พบ ชายลักษณะคล้ายกับผู้ต้องหาตามหมายจับนั่งอยู่ภายในบ้านจึงได้เชิญตัวมาที่ถนนหน้าบ้านและแสดงหมายจับให้ดู พร้อมกับควบคุมตัวมาสอบสวนที่ บก.สส.ภ.4เพื่อบันทึกการจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับให้ทราบว่า "มีเครื่องยุทธภัณฑ์ (เสื้อเกราะ) ซึ่งใช้ในราชการไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามความในมาตรา 9,11 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548"                                 

ส่วนนายชัยพรยอมรับสารภาพ ว่า ตนได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ในขณะที่เกิดเหตุการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและทหาร ซึ่งตนได้ลักทรัพย์เสื้อเกราะทหารมาจริง และหลังจากเหตุการณ์สงบตนก็ได้กับมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านญาติใน จ.ขอนแก่น จนกระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลมาจับกุม                                                                        

หลังจากสอบสวนเจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกการจับกุมและควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสน.นครบาลดอนเมือง  กรุงเทพมหานคร  ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทหารเค้นคนขับรถ"เสธ.แดง"

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ถึงการจับกุมนายจักรชลัช หรือพล คงสุวรรณ อดีตคนขับรถ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ผู้ต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า เบื้องต้นดีเอสไอได้ส่งพนักงานสอบสวนเข้าไปดูแล และร่วมรับฟังคำให้การตั้งแต่วันแรกที่นายจักรชลัชถูกควบคุมตัว ทั้งนี้ รายละเอียดการให้ปากคำของนายจักรชลัชจะไม่มีผลกระทบกับการสอบสวนในคดีก่อการร้าย โดยทหารมีการอัดเทปเสียงและบันทึกภาพรายละเอียดการสอบปากคำไว้อย่างครบถ้วน

นายธาริตยังกล่าวถึงกระแสข่าวการจะกันตัวนายจักรชลัชเป็นพยานในคดีก่อการร้ายว่า การจะกันตัวผู้ต้องหารายใดเป็นพยาน ดีเอสไอต้องหารือและเห็นชอบร่วมกับพนักงานอัยการ ซึ่งเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การได้รับความคุ้มครองในฐานะพยานคือ นายจักรชลัชต้องให้การที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก
 
"เดียร์"รับรู้จัก-ระบุอย่าเชื่อข่าวปล่อย
แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า สำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้นายจักรชลัชได้รับการคุ้มครองจากดีเอสไอในฐานะพยานคดีก่อการร้ายนั้น ขึ้นอยู่กับคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งนอกจากจะต้องให้การที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังต้องมีการให้การเชื่อมโยงถึงพยานแวดล้อมประกอบที่มีน้ำหนักสอดรับกับคำให้การด้วยทางด้าน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล หรือเดียร์ ลูกสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก กล่าวถึงกรณีตำรวจจับกุมนายจักรชลัช คงสุวรรณ หรือพล ว่ารู้จักว่าเป็นคนขับรถของพ่อ แต่ไม่ได้เป็นเลขาฯที่คุมบัญชีการเงินของพ่อ ขอบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อในคำพูดที่ออกมาเป็นข่าวในขณะนี้ ขอให้ฟังจากปากของนายจักรชลัชเองจะดีกว่า
 
รวบการ์ดแดงเชียงใหม่ผู้ต้องหาฆ่าพ่อทหารเสือพระราชาซ่อนในป่าละเมาะ
เมื่อเวลา 00.30 น.วันที่ 15 สิงหาคม พ.ต.ท.ยุทธพงษ์ หอมจรรยา สว.สส.สภ.เมือง จ.เชียงใหม่ พร้อมกับพวกร่วมกันจับกุมตัว นายแดง ปวนมูล อายุ 39 ปี บ้านเลขที่ 38 หมู่ 1 ต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ขณะซ่อนตัวอยู่ในป่าละเมาะ หมู่ 8 ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านของภรรยา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงวางแผนเข้าจับกุมตัวตามหมายจับของศาล จ.เชียงใหม่ เลขที่ 29/2553 ลงวันที่ 28 มกราคม 2553 ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว โดยไม่มีเหตุอันควร และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมืองหมู่บ้านหรือที่ชุมชน คุมตัวส่ง พ.ต.ท.อธิพงศ์ ทองแดง พนักงานสอบสวน สภ.เมือง เจ้าของคดี

ทั้งนี้นายแดง ปวนเมือง เป็นการ์ดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พกพาอาวุธปืนบุกเข้าไปก่อเหตุยิงใส่กลุ่มทหารเสือพระราชา หรือกลุ่มพันธมิตรเชียงใหม่จนเป็นเหตุให้นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา อายุ 60 ปี บิดานายเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา หรือโต้งแกนนำกลุ่มทหารเสือเสียชีวิตที่กลางซอยทางเข้าหมู่บ้านระมิงค์ ถ.ทิพย์เนตร ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เหตุเกิดเวลา 17.00 น.วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งต่อมานายแดงพร้อมพวกรวม 4 คน ถูกจับกุมแต่หลบหนีคดีในระหว่างประกันตัวหลังถูกอัยการสรุปสำนวนส่งฟ้องศาล ขณะที่ผู้ต้องหาคนอื่นๆ ถูกตัดสินจำคุกคนละ 20 ปี
     
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: การเลือกตั้งในพม่า ผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย

Posted: 15 Aug 2010 02:14 PM PDT

แม้จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งในพม่าอย่างแน่นอนแล้วในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 หรืออีก 3 เดือนข้างหน้า ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี แต่สำหรับแรงงานอพยพข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ทำงานหรือลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปีเช่นกัน กล่าวได้ว่านี้เป็นประเด็นที่ทั้งสำคัญและไม่สำคัญในคราเดียวกันสำหรับคนที่มิถูกเรียกว่า “ประชาชนพม่า” การเลือกตั้งมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของพม่า แต่กรณีของแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยก็ตาม พวกเขาและเธอต่างอยู่ในสถานะของ “ศัตรู/ความเป็นอื่นของรัฐบาลพม่า” ซึ่งรัฐบาลมิได้สนใจหรือให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่ก็คงมิสามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่าการเลือกในพม่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากพม่าในไทยอย่างมิสามารถแยกขาดจากกันได้  แน่นอนเวลากล่าวถึงประเด็นนี้พบว่ามีตัวแสดงอย่างน้อย 7 กลุ่มที่ต่างมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 
(1) กองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะไทใหญ่ (SSA) ปะโอ (PNO) และคะฉิ่น (KIA)
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราทราบดีว่าบรรดากองกำลังของชนกลุ่มน้อยทั้งหลายตามแนวชายแดนจีนและไทย ได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าที่ขอให้วางอาวุธและเข้ามาร่วมในกระบวนการทางการเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด ชนกลุ่มน้อยมองว่านี้เป็นเพียงลูกไม้ของกองทัพพม่าที่จะยึดครองประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จมากกว่า นอกจากนั้นแล้วการสนับสนุนการเลือกตั้งหรือยอมรับรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้กับความไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลพม่ามากยิ่งขึ้น ฉะนั้นทั้ง SSA, PNO หรือ KIA ต่างเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งพม่า ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน ได้เสนอวิธีการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง 3 วิธีได้แก่ หนึ่ง ไม่ออกไปใช้สิทธิ สอง หากถูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน บีบบังคับให้ไปหย่อนบัตรลงคะแนน ก็ให้เขียนหรือ กาในช่องไม่ใช้สิทธิหรือไม่เลือกบุคคลใด สาม ทำการประท้วงคัดค้านการเลือกตั้ง
 
อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ยิ่งนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยมากยิ่งขึ้น โอกาสที่กองทัพพม่าจะเปิดศึกกับชนกลุ่มน้อยเป็นไปได้สูงมาก และนั่นหมายถึงผลกระทบต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ที่ในที่สุดแล้วจะได้รับผลกระทบจากการสู้รบมากยิ่งขึ้น กรณีนี้ดูได้จากสถิติของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ที่ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2552 พบว่ามี IDPs ในพม่ากว่า 470,000 คน (อยู่ในเขต free fire zone กว่า 230,000 คน) โดยอยู่ในรัฐฉานกว่า 135,400 คน และรัฐกะเหรี่ยง 125,100 คน ตัวเลขคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะผันตนเองไปเป็นผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตที่ยิงได้เสรี ความช่วยเหลือการคุ้มครองดูแลจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง
 
(2) ประชาชนพม่าที่ออกมาประท้วงตอนขึ้นราคาน้ำมัน ปี 2550
ในเวลานี้ประชาชนในพม่าส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาประท้วงทางการเมืองตอนปี 2550 ก็ยังคงไม่เชื่อถือในความจริงใจของรัฐบาลทหารพม่าที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี แต่ก็คงไม่มีใครกล้าออกมาวิจารณ์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเพราะหวั่นเกรงที่จะถูกจับขังคุก ความไม่จริงใจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาอาจดูได้จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องน้ำมันแพง ภาวะราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น หรือปัญหาเงินเฟ้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ในรูปการณ์หนึ่งว่านักศึกษา/ปัญญาชนจะกลายเป็นผู้นำในการออกมาประท้วงอีกครั้งหนึ่ง ดังที่มีข่าวว่าเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมามีกลุ่มนักศึกษาในเมืองย่างกุ้งจำนวน 7 คน ได้ออกมาเดินแจกใบปลิวให้กับประชาชนตามสถานที่ต่างๆในเมืองย่างกุ้ง โดยในใบปลิวดังกล่าวได้มีการเรียกร้องให้ประชาชนชาวพม่าคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ข้อความในใบปลิวระบุว่า กำหนดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้เป็นเพียงการสร้างภาพและเป็นเรื่องโกหกเท่านั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้บรรดานักศึกษาออกมารวมตัวกันจัดตั้งสหภาพนักศึกษาเพื่อรณรงค์และต่อต้านการเลือกตั้ง
 
สำหรับในส่วนของบรรยากาศและสภาวการณ์ทางการเมืองในเวลานี้เอง ก็สามารถมองได้เช่นกันว่ายังไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดเหตุการณ์แบบพลิกผันสมัยปีพ.ศ.2533 ที่นางอองซานซูจี ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ในขณะนี้แม้จะมีกฎหมายพรรคการเมือง มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองมากมายแล้ว แต่พรรคการเมืองในพม่าก็ไม่สามารถหาเสียงได้ เพราะยังคงมีกฎห้ามการชุมนุมทางการเมืองบังคับใช้อยู่ เช่นเดียวกันกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งถูกจำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง จนแทบไม่เหลือหนทางที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดจะสามารถสื่อสารกับผู้มีสิทธิออกเสียงได้อย่างเต็มที่ถึงแนวนโยบายของตนเอง
 
ในขณะเดียวกันการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลทหารในพม่าก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ไม่ควรคาดหวังการเปลี่ยนแปลงใดๆจากการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หลายคนตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงหากจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องค่อยเป็นค่อยไปคืบคลานไปจากสภาพย่ำแย่อย่างที่เป็นอยู่ไปทีละด้าน ในส่วนที่ส่งผลสะเทือนต่อพรรคการเมืองของทหารและกองทัพน้อยที่สุด ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันขึ้น กองทัพที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงก็จะตอบโต้กลับทันทีแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้ง และโอกาสที่ประชาชนจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงก็จะเป็นไปได้เร็วขึ้น และนั่นหมายถึงการอพยพลี้ภัยมายังประเทศเพื่อนบ้านก็มิใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้
 
(3) นักศึกษา/นักการเมืองพม่าพลัดถิ่นในประเทศต่างๆ
นับตั้งแต่ที่พม่าได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ พบว่า กลุ่มนักศึกษา/นักการเมืองที่ลี้ภัยทางการเมืองพม่าที่ลี้ภัยมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย–พม่าหรือในประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ , ญี่ปุ่น ได้จัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่าบ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลทหารจะจัดการการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 โดยในที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในประเทศพม่า รวมทั้งการโจมตีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่คนกลุ่มนี้ดำเนินการ
 
คือการรณรงค์ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง รวมถึงรณรงค์ให้นานาประเทศไม่รับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าว มีการส่งผ่านข้อมูลจากโลกภายนอกกลับไปยังประชาชนพม่าหรือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่สามารถเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตได้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเพื่อสร้างแนวร่วมประชาชนพม่ามากยิ่งขึ้น นี้ยังมิรวมถึงกรณีของนักเคลื่อนไหวจากพม่าในประเทศต่างๆได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการเลือกตั้งในพม่ากล่าวประณามรัฐบาลทหารพม่า พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ แสดงจุดยืนต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าด้วยเช่นกัน
 
(4) รัฐบาลไทย
สำหรับรัฐบาลไทยแล้ว การเลือกตั้งในพม่าถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงถึงความเป็นประเทศประชาธิปไตย ฉะนั้นรัฐบาลไทยก็จะใช้ประโยชน์ในการเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดัน/ส่งกลับ/จัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติและโดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี และประเทศพม่าไม่ยอมรับ ดังที่มีข่าวออกมาเมื่อตอนปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีการหารือกับรัฐบาลพม่าว่า หากสถานการณ์ในพม่าเรียบร้อยก็จะมีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวพม่าอยู่ตามค่ายต่างๆ ประมาณ 1.4 แสนคนกลับไปยังประเทศพม่า เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเวลาที่แน่นอน ซึ่งคิดว่าภายหลังการเลือกตั้งน่าจะดีขึ้นและน่าจะมีการพูดคุยกันได้มากขึ้น
 
(5) อาเซียน
อาเซียนเป็นอีกตัวแสดงหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งในพม่าได้กลายเป็นกลไกที่มีความชอบธรรมมากขึ้นโดยมิรู้ตัว และนั่นจะยิ่งทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าดำรงอยู่ต่อไป และการอพยพโยกย้ายถิ่นของประชาชนในพม่าก็จะยังคงดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูได้จากกรณีการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 16 เมื่อเมษายน 2553 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ส่วนใหญ่ชาติสมาชิกอาเซียนต่างเห็นพ้องว่า แม้พม่าจะยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การที่ประเทศพม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องเรียกร้องหรือไม่เห็นด้วยกันอีก หน้าที่ของอาเซียนน่าจะทำเพียงการจับตาดูการเลือกตั้งพม่าให้เป็นประชาธิปไตยแทนมากกว่า นอกจากนั้นแล้วแม้ว่าอาเซียนจะมีการจัดตั้งกลไกอาเซียนทางสิทธิมนุษยชนขึ้นมาก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่าคือ ทุกประเทศในอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร กล่าวกันตามจริงแล้วอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ทำหน้าที่เพียง promotion คือ ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ส่งเสริมให้อาเซียนไปลงนามปฏิญญาต่างๆ แต่ในเรื่อง protection ยังไม่เด่นชัด คือเมื่อเกิดการละเมิดขึ้นมา คณะกรรมาธิการก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่รายงาน จะรับเรื่องร้องเรียนก็ไม่ได้ ไต่สวนก็ไม่ได้ ออกมาตรการอะไรก็ไม่ได้ โอกาสที่จะทำ protection ได้ น้อยมากและจำกัดมาก อีกประการหนึ่งแน่นอนเราคงมิสามารถปฏิเสธได้ว่าอุปสรรคจำกัดบทบาทของอาเซียนคือ เรื่องผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอาเซียนกับพม่า เช่น ประเทศไทยซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า ไฟฟ้าที่ไทยใช้อยู่ก็มาจากพม่า การค้าทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างก็มีผลประโยชน์กับพม่า ฉะนั้นการใช้ท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลพม่าจึงเป็นใช่เรื่องที่ดีแต่อย่างใด
 
(6) สื่อมวลชนพลัดถิ่น
การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์แบบ facebook , twitter , blog หรือแม้กระทั่ง website ข่าวต่างๆ ในยุคนี้ ช่วยทำให้ประชาชนในพม่ารวมทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น แรงงานข้ามชาติ มีโอกาสรับรู้ข้อมูลการสื่อสารที่รวดเร็ว เข้าใจสถานการณ์ในพม่าที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันสื่อมวลชนในพม่าไม่มีเอกชนรายใดเป็นเจ้าของ ทุกอย่างบริหารโดยรัฐบาลทหารพม่าหมด ไม่มีสื่อโทรทัศน์เป็นของเอกชน สื่อกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกรณีที่ในพม่ามีแม็กกาซีนมากกว่า 200 หัว แต่บทความทุกเรื่องก็ยังต้องส่งไปให้คณะกรรมการสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ ฉะนั้นการเข้ามาของสื่อออนไลน์จึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในพม่าเป็นอย่างยิ่ง
 
(7) ชาติมหาอำนาจต่างๆที่เข้ามาลงทุนธุรกิจในพม่า
สถานการณ์การเมืองโลกขณะนี้ เป็นไปได้ว่าทุกชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ฯลฯ ดูจะต้องการให้เกิดการเลือกตั้งในพม่าในเร็ววัน เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าพม่ามีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา โอกาสที่ชาติมหาอำนาจจะเข้าไปทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่าก็จะเป็นไปได้อย่างสะดวกเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องถูกประชาคมโลกกล่าวหาว่าทำธุรกิจกับรัฐบาลมือเปื้อนเลือด เพราะถือว่าพม่ามีการเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นกระบวนการเลือกตั้งจึงเป็นวิธีการ/เครื่องมือที่ทำให้การทำธุรกิจมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงการกดขี่ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็จะเกิดเร็วขึ้นง่ายขึ้น ด้วยข้ออ้างของ “การพัฒนา” เช่น การให้สัมปทานป่าไม้ที่อยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ดังนั้นแล้วโอกาสที่ประชาชนจะถูกละเมิดสิทธิ ถูกกดขี่ ยึดที่ดิน บีบบังคับเป็นแรงงาน ก็จะดำเนินต่อไป และเป็นปัจจัยที่จะเร่งให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น
 
แน่นอนที่กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการมองการเลือกตั้งในพม่าผ่านมุมมองผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ แต่สำหรับประชาชนในพม่าแล้ว เราคงมิสามารถปฏิเสธได้ว่านี้คือการสร้างสังคมแห่งความกลัวรูปแบบใหม่ที่ชอบธรรมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นสังคมที่ยิ่งจะทำให้ผู้คนเลือกที่จะยอมจำนนกับระบอบที่เป็นอยู่เป็นไป แม้ว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ก็เลือกที่จะนิ่งเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้ต่อไป สำหรับกรณีของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยแล้วในประเทศไทยแล้ว การเลือกตั้งในพม่าแม้เป็นประเด็นที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นชัดได้ว่าจะช่วยทำให้ชีวิตแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยดีขึ้นอย่างไร เมื่อเทียบกับเรื่องการพิสูจน์สัญชาติหรือเรื่องอื่นๆที่ทำให้พวกเขาและเธอมองเห็นอนาคตที่โยงใยอ้างอิงมีสายสัมพันธ์กับบ้านเกิดได้ชัดเจนกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า อนาคตของพวกเขาและเธอนั้นเรื่องของการเลือกตั้งในพม่าเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญยิ่งนัก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทเรียนสงครามอ้างอธิปไตยเหนือดินแดน สงครามอิรัก-อิหร่าน

Posted: 15 Aug 2010 01:44 PM PDT

 
 
จากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่กล่าวว่า "เราต้องการใช้การทูตผสมกับทางทหาร...การใช้กำลังจะเป็นทางเลือกสุดท้าย" ที่สืบเนื่องการเรียกร้องให้ทวงคืนเขาพระวิหารได้ขยายไปสู่กระแสการใช้กำลังทหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรตระหนักยิ่ง จึงต้องทบทวนผ่านสงครามที่เกิดขึ้นจากการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดน หนึ่งในนั้นคือ สงครามอิรัก-อิหร่าน
 
สงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านกินเวลายาวนาน 8 ปี ตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2531 สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับทั้งสองประเทศ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างไม่คาดคิดในเวลาต่อมา
 
จุดเริ่มต้นของสงคราม
จุดเริ่มของสงครามมาจากการโค่นล้มพระเจ้าชาห์ ปาฮ์เลวี โดยกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มเสรีนิยม และกลุ่มศาสนานำโดย อยาโตเลาะ โคไมนิ ทำให้สหรัฐต้องสูญเสียพันธมิตรทางทหารและดุลทางทหารในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ชาติอาหรับซุนหนี่มีความหวาดกลัวต่อการขยายของการปฏิวัติอิสลาม โดยเฉพาะอิรัก เพื่อนบ้านที่มีชาวชีอะเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศถึงร้อยละ 60 แต่มีรัฐบาลเป็นชาวซุนนี่ ภายใต้การปกครองของพรรคบาธ (Ba'ath) ที่มี ซัดดัม ฮุสเซนเป็นประธานาธิบดี ประกอบกับอิรักมีความขัดแย้งด้านพรมแดนมาก่อนหน้านี้จึงนำไปสู่การทำสงครามระหว่างสองประเทศ
 
ในครั้งนั้น เป้าหมายของการทำสงครามของอิรัก คือ
1.     การควบคุมแม่น้ำชัต อัล อาหรับ (Shatt al-Arab)
2.     เกาะอบู มูซา (Abu Musa) เกาะเกรทเตอร์ และเลเซอร์ ตับส์ (Greater and Lesser Tunbs) ของสหรัฐ อาหรับ อิมิเรต
3.     การผนวกคูเซสถาน (Khuzestan)
4.     การต่อต้านการปฏิวัติอิหร่าน
 
โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์มุ่งเน้นไปที่การต่อต้านปฏิวัติอิหร่าน โดยการสนับสนุนชาติอาหรับซุนหนี่และสหรัฐ โดยให้อิรักเป็นแนวหน้าก็ตาม แต่ผลประโยชน์ของอิรักเป็นจุดสำคัญต่อการตัดสินใจของอิรัก โดยเฉพาะปัญหาบูรณภาพเหนือดินแดน
 
แม่น้ำชัท อัล อาหรับ ที่เป็นจุดสำคัญของความขัดแย้ง เกิดจากแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสรวมกันก่อนไหลออกสู่อ่าวเปอร์เซีย ความขัดแย้งของการอ้างสิทธิเหนือแม่น้ำสายนี้สืบกลับไปถึงสัญญาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2193 ระหว่างอาณาจักร อ๊อตโตมันกับเปอร์เซีย ในยุคอาณาอาณานิคม มีความพยายามแก้ไขพิพาทนี้โดยอังกฤษเสนอให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นแนวเขตแดน แต่ฝ่ายอิรักไม่ยอม โดยมีต้องการให้เส้นพรมแดนอยู่ที่ฝั่งของอิหร่าน แต่ในที่สุดอิรักยอมลงนามในสัญญาอัลเจียร์ (Algiers Accord) ยอมใช้ร่องน้ำลึกเป็นแนวเขตแดน ภายใต้ความกดดันของสหรัฐที่หนุนหลังพระเจ้าชาร์ ปาฮ์เลวี และอิหร่าน
 
คูเซสถาน เป็นจังหวัดของอิหร่านติดกับจังหวัดบาสรา ของอิรัก และอ่าวเปอร์เซีย จังหวัดนี้อุดมไปด้วยน้ำมัน เมืองอบาดานมีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ อังกฤษผนวกดินแดนให้กับอิหร่านในยุคอาณานิคม ทำให้อิรักใช้เป็นข้ออ้างถึงอธิปไตย
 
เกาะอบู มูซา เกาะเกรทเตอร์ และเลเซอร์ ตับส์ อยู่ในอ่าวเปอร์เซียใกล้แหลมฮอร์มูซ มีการอ้างสิทธิระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอาหรับอิมิเรต พระเจ้าชาร์ ปาฮ์เลวี แห่งอิหร่านได้อ้างสิทธิครอบครองในปี พ.ศ.2514 แต่ส่งผลให้อิรักตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านเพื่อประท้วงการครอบครองของอิหร่าน
 
จนถึงปี 2522 เกิดปฏิวัติอิหร่านที่นำโดยแนวร่วมต่อต้านพระเจ้าชาร์ ในที่สุด อยาโตลา โคไมนิ ได้เข้าเป็นผู้นำของประเทศ จุดนี้อาจจะทำให้ซัดดัม ฮุสเซน เห็นโอกาสในการโจมตีอิหร่าน จึงส่งกำลังรุกรานอิหร่านที่นำไปสู่สงครามอันยาวนาน
 
22 กันยายน 2523 อิรักส่งทหาร 21 กองพลรุกรานโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนอิหร่าน เปิดแนวรบยาว 644 กิโลเมตร เมืองสำคัญของอิหร่านใกล้กับปากแม่น้ำชัท อัล อาหรับ ได้ความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม เมืองอบาดาน เมืองสำคัญด้านอุตสาหกรรมน้ำมันถูกอิรักยึดครอง แต่กองกำลังทหารอิหร่านต้านทานอย่างเข้มแข็ง จนอิรักไม่สามารถรุกคืบเข้าไป
 
ระหว่างสงคราม สหรัฐสนับสนุนด้านยุทธปัจจัยและการส่งกำลังบำรุงให้กับอิรัก เมื่ออิหร่านโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันของอิรัก ชาติอาหรับอื่นปิดทางเให้อิรักส่งออกน้ำมันที่เกาะคาร์ก (Khark)
 
ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนกับฝ่ายอิรัก เกาหลีเหนือและอิสราเอลให้การสนับสนุนอิหร่าน สหรัฐนอกจากจะให้การสนับสนุนอิรักอย่างเปิดเผยแล้ว ยังให้การสนับสนุนฝ่ายอิหร่านอย่างลับๆด้วย รัสเซียให้ความสนับสนุนทั้งสองฝ่าย
 
ด้านอิหร่าน ฝ่ายศาสนาใช้โอกาสนี้ สร้างด้วยกระแสคลั่งชาติ กวาดล้างหุ้นส่วนการปฏิวัติ คือ ผู้นำเสรีนิยมหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ พลพรรคจำนวนมากของพรรคมาร์กซิส ทูเดย์ ถูกสังหาร กองกำลังฝ่ายซ้ายอะบอฮาสซาน บานิซาดี  (Abolhassan Banisadr) ถูกกวาดล้าง พรรคแนวหน้าประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Front) นำโดยอยาโตเลาะคาเซม ชาเรียมาดาริ (Kazem Shariatmadari) ถูกยุบ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติที่ขึ้นต่อผู้นำศาสนาได้รับเสริมและขยายความเข้มแข็ง
 
จนถึงปี 2530 จึงเริ่มเปิดการเจรจา จนกระทั่งลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อ 26 สิงหาคม 2531 ฝ่ายอิรักต้องกลับไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากความเสียหาย
 
ต้นทุนของสงคราม
สงครามอิรัก-อิหร่านสร้างความสูญหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล อิหร่านมีความสูญเสีย 1 ล้านคน จากการถูกฆ่า หรือบาดเจ็บ รวมถึงชาวอิหร่านที่เจ็บป่วยและตายจากผลของอาวุธเคมี อิรักมีความสูญเสีย 250,000 – 500,000 คน พลเรือนหลายหมื่นคนทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธ
 
การสูญเสียทางการเงินมีมูลค่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (18.6 ล้านล้านบาท) สำหรับแต่ละฝ่าย ในระยะสั้น หลังจากสงครามเกิดขึ้น ต้นทุนทางเศรษฐกิจมีผลมาก การพัฒนาเศรษฐกิจชะงักงันเนื่องจากการส่งออกน้ำมันถูกขัดขวาง ภาวะทางเศรษฐกิจสร้างความเสียหายให้อิรักมากที่หนี้สินมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับอิหร่าน โดยอิหร่านใช้ชีวิตที่ปลุกเร้าด้วยความรักชาติ แต่เป็นยุทธวิธีที่มีต้นทุนทางการเงินถูกกว่าระหว่างสงคราม จึงใช้ชีวิตของทหารแทนที่สำหรับการขาดแคลนแหล่งเงินทุน เรื่องนี้ทำให้ซัดดัมเข้าสู่ตำแหน่งยากลำบากด้วยหนี้สินระหว่างประเทศ 130,000 ล้านเหรียญ (4 ล้านล้านบาท) จำนวนมากเป็นของชาติพันธมิตรอาหรับ 67,000 ล้านเหรียญ (268,000 ล้านบาท) ปารีสคลับ 21,000 ล้านเหรียญ (380,000 ล้านบาท) ทำให้อัตราหนี้ต่อจีดีพี (ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ) ของอิรักสูงถึง 1,000 % หรือ 10 เท่าของจีดีพี จากจุดนี้นำไปสู่สงครามรุกรานคูเวตของซัดดัม
 
ต้องไม่มีสงคราม
สงครามครั้งนี้มีข้อสังเกตประการแรกคือ อิรักสามารถยึดครองดินแดนที่ต้องการไว้ได้ แต่ฝ่ายอิหร่านมิได้พ่ายแพ้ การยึดครองจึงไม่มีความหมาย และกลับไปมือเปล่า ถึงแม้ว่าอิหร่านจะเป็นศัตรูกับสหรัฐและอิรักเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ แต่การเปลี่ยนแปลงพรมแดนมิได้เกิดขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพรมแดนจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ อาจจะมีเพียงกรณีเดียว คือ การแยกประเทศในค่ายโซเวียตหลังยุคล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเรื่องมีความซับซ้อนด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติตะวันตก แต่ไม่อาจจะเกิดขึ้นกับส่วนอื่นของโลก อย่างไรก็ตามอาจจะเกิดกับดาร์ฟูที่อุดมไปด้วยน้ำมันภายใต้ความเห็นชอบของชาติตะวันตก การใช้กำลังเข้ายึดครองเขาพระวิหารจะสำเร็จจริงหรือ นี่เป็นคำถาม
 
สงครามสร้างต้นทุนด้านชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งอิหร่านและอิรักเคยเป็นประเทศร่ำรวย แต่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเสื่อมโทรมลงหลังสงคราม ในขณะที่ผู้บาดเจ็บนับล้านคนสร้างความทุกขเวทนาให้กับญาติพี่น้อง สังคมมีต้นทุนในการเยียวยาสูงมาก แน่นอนพวกเขาถูกทอดทิ้ง
 
ในขณะที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุกคาม ในกรณีของอิหร่านเห็นได้อย่างชัดเจนจากฝ่ายศาสนาใช้โอกาสกวาดล้างฝ่ายอื่น ทั้งที่ไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง เพียงแต่ความเห็นทางการเมืองต่างกันเท่านั้น
 
ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยพร้อมกับสงครามหรือไม่ ถ้าดูจากการปราบปรามกองกำลังอาร์เคเค ที่มีไม่มากนัก กองทัพไทยต้องใช้กำลังถึง 50,000 คน ถ้าต้องเผชิญกับทหารหนึ่ง 100,000 คนของกัมพูชา ฝ่ายไทยต้องใช้ทหารเท่าไร
 
ดังนั้น ข้อเสนอสงครามจึงไม่ใช่ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาพรมแดนอย่างเด็ดขาด เพราะมีต้นทุนมากเกินไปจากบทเรียนของสงครามอิรัก-อิหร่าน
 
ดังนั้น คำพูดของนายอภิสิทธิ์ “...การใช้กำลังจะเป็นทางเลือกสุดท้าย” จึงไม่ถูกต้องแม้แต่น้อย
 
เพราะต้องไม่มีสงคราม
 
เพราะสงครามคืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เพราะสงครามทำร้ายพี่น้องร่วมชาติ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบางปะกงต้านอิสต์วอเตอร์สร้างโรงสูบน้ำแห่ง4 หวั่นกระทบปลากระชัง ระบบนิเวศ

Posted: 15 Aug 2010 01:25 PM PDT

 
15 ส.ค.53 ที่ศาลาการเปรียญวัดกลางบางปะกง อำเภอบางปะกง มีชาวบ้านในเขตอำเภอบางปะกง และเจ้าของกระชังปลาที่เลี้ยงอยู่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 200 ราย รวมตัวกันเพื่อคัดค้าน การที่บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด มหาชน หรือ อีสต์วอเตอร์ สร้างโรงสูบน้ำบริเวณริมแม่น้ำบางปะกง พื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง เพื่อส่งน้ำไปขายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศริมแม่น้ำและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยเฉพาะอาชีพเลี้ยงปลากระพงในกระชัง บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีมากกว่า 4,000 กระชัง
 
นายประเสริฐ คงคาลัย นายกเทศมนตรีตำบลบางปะกง เปิดเผยว่า โรงสูบน้ำของบริษัทอีสต์วอเตอร์แห่งนี้ สร้างมาได้ 4 ปีแล้ว และเป็นแห่งที่ 4 ที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้ง 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงสูบน้ำที่สูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ที่อำเภอคลองเขื่อน หรือโรงสูบน้ำจากคลองท่าไข่ หรือ โรงสูบน้ำที่คลองพระองค์ไชยานุชิต ในเขตอำเภอเมือง ถูกต่อต้านร้องเรียนจากชาวบ้านตลอดมา
 
สำหรับจุดที่ 4 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง หมู่ที่ 1 ตำบลเขาดิน สร้างมาแล้ว 4 ปี โดยมีการวางท่อรับน้ำจากโรงสูบน้ำในเขตอำเภอคลองเขื่อน มากักเก็บไว้ที่บ่อก่อนที่จะส่งไปขายให้พื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ตามลำดับ เมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โรงสูบน้ำแห่งนี้ ได้เดินเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงโดยตรง ชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดผลกระทบและปัญหาเหมือนกับโรงสูบน้ำที่คลองเขื่อน และกระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง จึงคัดค้านและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว
 
ขณะที่ นายธาตุทอง บุญรอด อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 7 ตำบลบางปะกง ได้นำผู้สื่อข่าวตรวจสอบพื้นที่ตั้งโรงสูบน้ำ โดยพบว่า อยู่ห่างจากถนนสายมอเตอร์เวย์ประมาณ 200 เมตร ขณะที่อีกด้านหนึ่งอยู่ติดแม่น้ำบางปะกง มีรั้วรอบขอบชิด มียามรักษาความปลอดภัย 2 คนและไม่อนุญาตให้เข้าไปภายใน จากการสังเกตภายใน พื้นที่โรงสูบน้ำ พบท่อ ระบายน้ำ ขนาดความยาวประมาณ 2 เมตรกว้าง 1 เมตรเศษ วางอยู่จำนวนมาก และจากการสอบถามยามรักษาความปลอดภัย บอกว่า ไม่มีผู้บริหารอยู่ มีเพียงเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบสูบน้ำเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งโรงสูบน้ำแห่งนี้เดินเครื่องมาได้แล้วประมาณ 1 สัปดาห์ วันละ 70,000 – 100,000 ลบ.เมตรหรือแล้วแต่ผู้บริหารจะสั่งลงมา
 
นายธาตุทอง บุญรอด เปิดเผยว่า หากบริษัท อีสต์วอเตอร์ จำกัดตั้งเครื่องสูบน้ำ จะส่งผลกระทบมากมายเป็นวงกว้าง ซึ่งจะขึ้นไปถึงเขตอำเภอบ้านโพธิ์และอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ที่มีอาชีพเกษตรกรรม ประมง รวมทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิตชาวบ้าน กุ้งหอยปูปลา สัตว์น้ำเล็กๆน้อย ๆจะสูญพันธุ์ไป โดยเฉพาะบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง มีผู้เลี้ยงปลากะพงในกระชังมากที่สุดในประเทศไทย คือมากกว่า 4,000 กระชัง ปริมาณน้ำจะลดระดับลง รวมทั้งการพังทลายของดินริมตลิ่ง น้ำเค็มหนุนสูงเร็ว น้ำจืดจะน้อยลง เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขปัญหาโดยด่วน
 
ด้านนางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด มหาชน ยื่นเอกสารต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา ขออนุญาตต่อท่อสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลเขาดิน โดยอ้างว่า จะสูบน้ำส่งไปกักเก็บเอาไว้ที่บ่อพักน้ำในเขตอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ก่อนที่จะส่งย้อนกลับมาใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาให้แก่พื้นที่ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธาน ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการดำเนินการอาจจะเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือกับชุมชนหรือไม่ จึงส่งเรื่องคืนไปให้บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อน ขณะนี้ยังไม่มีการนำเสนอผลการศึกษามายังคณะกรรมการแต่อย่างใด
 

 

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตึกกำลังสร้าง ม.บูรพาถล่ม 2 คนงานก่อสร้างดับ เร่งกู้ชีพติดใต้ซากตึก30 ราย

Posted: 15 Aug 2010 01:08 PM PDT

 
15 ส.ค.53 เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. เกิดเหตุอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใหม่ ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ได้ถล่มลงมาขณะที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างชั้นที่
 
ข่าวแจ้งว่า อาคารสร้างใหม่ดังกล่าว จะสร้างเป็นตึก 8 ชั้น ของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับหอสมุดของมหาวิทยาลัยบูรพา โดยก่อนช่วงตึกถล่ม คนงานที่รอดชีวิตบอกว่า อยู่ระหว่างการเทปูนซีเมนต์เพื่อทำชั้นที่ 3 โดยให้คนงานก่อสร้างทำการเกลี่ยปูนฯ ให้เสมอกัน แต่คานรับน้ำหนักไม่ไหวจึงถล่มลงมาทั้งหมด ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างอาคารดังกล่าว ระบุว่า เคยเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัย เมื่อมีการอนุมัติสร้างตึกดังกล่าวจึงมีการถมดินเพื่อทำการก่อสร้าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ตึกทรุดและถล่มลงมาระหว่างการก่อสร้างก็ได้
  
ดร.บรรพต วิรุณราช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า ยันยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาอยู่ในบริเวณก่อสร้างแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเขตก่อสร้าง ได้ล้อมรั้วป้องกันเหตุร้ายไว้แล้ว สำหรับตัวอาคารที่ถล่มลงมานั้น เป็นอาคารหอประชุมของคณะศึกษาศาสตร์  ที่ถล่มลงมาเป็นคานในชั้นที่ 2 โดยหน่วยกู้ภัยอยู่ระหว่างยกวัตถุที่พังลงมา เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ในซากตึกออกมา
 
คนงานก่อสร้างอาคารภายในมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี คนหนึ่งซึ่งรอดตายจากเหตุตึกถล่มเปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุตึกถล่มดังกล่าว ในช่วงเย็นมีการเทปูนซีเมนต์ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 500 ตัน เพื่อปูพื้นบริเวณชั้น 2 ของอาคารที่กำลังก่อสร้าง คาดว่า การเทปูนดังกล่าวที่มีน้ำหนักมาก ทำให้คานที่สร้างไว้แบกรับน้ำหนักไม่ไหว จึงพังถล่มลงมา
 
 
ที่มา: เว็บไซต์มติชน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: บุญยืน วงศ์สงวน และเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ เมื่อถึงเวลาที่ NGO ต้องเปลี่ยน

Posted: 15 Aug 2010 12:33 PM PDT

บุญยืน วงศ์สงวน  NGO โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท ผู้ประสานงาน กป.อพช.และเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ อดีต NGO ภาคเหนือ ความต่างของทัศนะต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองของ NGO ในซีรี่ส์ “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
ตอน 15 บุญยืน วงศ์สงวน NGO โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท 
 
 
"ในฐานะของคนทำงานนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน คือมองว่าเป็นประชาชนธรรมดาทั่วๆ ไปมากกว่า คือคนไม่มีสังกัด ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ แต่เป็นภาคประชาชนที่เป็นคนทำมาหากิน คือเป็นคน... อาจเรียกว่าคนรากหญ้า หรือว่าคนที่เป็นชาวบ้าน คิดว่าตัวเองให้นำหนักตรงนี้มากกว่า คำว่าภาคประชาชนในความหมายของตนเอง นี่มองจากพื้นฐานการทำงานในแง่ของตัวเอง"
 
"ช่วงแรกๆ ที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ก็รู้สึกว่าบทบาทนักพัฒนาคืออาจลงไปศึกษาข้อมูล ไปขยายแนวคิด ไปแลกเปลี่ยน ไปหาประสบการณ์ พัฒนาตัวเองด้วย พัฒนาเขา เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในยุคหลังคิดว่าในช่วงสถานการณ์ของข้อมูลข่าวสาร กระแสโลกาภิวัตน์ คิดว่าบทบาทของนักพัฒนาเปลี่ยนไป อาจต้องมีข้อมูล ทำงานในลักษณะงานวิชาการมากขึ้น หรือการเชื่อมต่อระหว่างงานในระดับพื้นที่กับความเป็นวิชาการ ความเป็นกระแสโลกาภิวัตน์จากข้างนอก เป็นตัวเชื่อมต่อตรงนี้มากขึ้น 
 
“ในแง่หนึ่งภาคประชาชนเองก็มีการยกระดับพัฒนาการทำงาน เพราะว่ามีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ไม่ว่ารัฐหรือภาคประชาสังคมอื่นๆ ลงไปทำงานกับภาคประชาชนมากขึ้น ดังนั้นคิดว่าในส่วนบทบาทของนักพัฒนาที่ลงไปทำงานแบบเก่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยน" บุญยืน วงศ์สงวน NGO โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท ผู้ประสานงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.)
 
 
000
 
 
ตอน 16 เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ อดีต NGO ภาคเหนือ
 
 
"ผมคิดว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย เขาก็เป็นภาคประชาชน บางกลุ่มไม่ได้ขึ้นตรงกับพรรคเพื่อไทย บางกลุ่มอาศัยที่ตัวเองรักประชาธิปไตยก็มาร่วมเคลื่อนไหวให้มีการยุบสภาหรือเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการการคำว่าภาคประชาชนควรต้องมาทบทวนกันใหม่ และไม่สามารถผูกขาดโดยคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเฉพาะเอ็นจีโอได้ฝ่ายเดียว"
 
"ภาคประชาชนของเอ็นจีโอนี้ การเคลื่อนไหว 4-5 ปีที่ผ่านมาก่อนรัฐประหาร 19 กันยา ถึงปัจจุบันนี้ก็ว่าได้ โดยกระแสใหญ่ก็คือเป็นวิธีคิดแบบอำมาตยาธิปไตย เป็นวิธีคิดที่ไม่เคารพ ไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน คือยังไม่นิยมเรื่องระบบหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง ยังมองว่าชาวบ้านโง่อยู่ โดยตรรกะมันเป็นอย่างนั้น และบางทีก็เตลิดถึงขั้นไปนิยมความคลั่งชาติ ตรงนี้ผมมองว่าเป็นความล้าหลังของภาคประชาชนในนามของเอ็นจีโอโดยภาพรวมของเอ็นจีโอ โดยกระแสหลักคือไม่เอาประชาธิปไตยไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน นี่คือสิ่งที่สำคัญ"
 
"เราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ถามว่าเอ็นจีโอส่วนใหญ่ 91 ศพคุณคิดอย่างไร ทำไมคุณถึงเข้าไปปฏิรูปกับสิ่งที่เรียกว่าอำนาจอำมหิตของรัฐบาล... เท่ากับว่าถ้าอย่างนั้นคุณมีอำมหิตอยู่ในใจหรือเปล่า ผมอยากจะถามเหมือนกัน คุณมีใบอนุญาตสั่งฆ่ากับเขาด้วยหรือเปล่า เพราะคุณไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจน ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องราวเหล่านี้เลย  
    
"การทบทวนบทบาทภาคประชาชน หนึ่งเอ็นจีโอต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ว่าวิธีคิดในการพัฒนาประเทศไทย มันไม่ได้มีวิธีคิดแบบวัฒนธรรมชุมชนอย่างเดียว เพราะวิธีคิดแบบวัฒนธรรมชุมชนมันก้ำกึ่งหรือคล้ายกับระบบอาวุฒโส หรือระบบอำมาตย์ เวลาพูดถึงวัฒนธรรมชุมชนเหมือนกับว่าสมัยก่อนไม่มีไพร่เลย ซึ่งมันไม่จริง มันมีไพร่โดนสักเหล็ก โดนเอาเปรียบอะไรต่างๆ มากมาย โดยขูดรีด เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมชุมชนมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง"
 
"มีชาวบ้านเพียงกระหยิบเดียวเท่านั้นเองที่เอ็นจีโอใช้วิธีครอบงำผ่านระบบอุปถัมภ์ แต่ถามว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่ได้เชื่อเอ็นจีโอ เขาชอบระบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเพราะเขาต่อรองกับพรรคการเมืองได้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากจน ไม่เชื่อลองไปสำรวจดูนะครับ เพราะฉะนั้นเราอาจหลงตัวเอง เพียงเพราะมีสื่อ มีนักวิชาการบางส่วนที่ทำให้ภาพของภาคประชาชนเท่ากับเอ็นจีโอซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ แม้แต่คนที่ทำงานกับเอ็นจีโอก็ไม่ได้เอาเอ็นจีโอเวลาพูดถึงเรื่องการเมือง นอกจากเรื่องที่เขาได้ประโยชน์เท่านั้นเอง" เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ อดีต NGO ภาคเหนือ
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงนับพัน ‘ปิกนิกข้าวแดง’ สวนรถไฟ เล็งจัดงานใหญ่ 19 ก.ย. ที่ราชประสงค์

Posted: 15 Aug 2010 12:09 PM PDT

 
 
 
 
15 ส.ค.53 กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดกิจกรรม “ปิกนิกข้าวแดง” ที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร มีประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน
 
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ริเริ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า เป็นการจัดปิกนิกเพื่อให้ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนเม.ย.และพ.ค.ได้มาพูดคุยปรับทุกข์ และเป็นการรับฟังความคิดเห็นและบทเรียนของคนเสื้อแดง
 
นายสมบัติกล่าวว่าคนเสื้อแดงต้องตอบให้ได้ว่าการชุมนุมใหญ่ในเดือน มี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมาผิดพลาดอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมเนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนราคาแพง การถอดบทเรียนและประสบการณ์ทั้งด้านบวกและลบจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการก้าวต่อไปของคนเสื้อแดง โดยตนต้องการรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของคนเสื้อแดง เพื่อนำไปวิเคราะห์และใช้ในการออกแบบกิจกรรมต่อๆ ไป
 
ระหว่างนั้นมีผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่านายสมบัติเป็นนอมินีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือไม่ ซึ่งนายสมบัติตอบว่าตนไม่ได้เป็นนอมินีของใคร สามารถตรวจสอบประวัติย้อนหลังได้ และที่ผ่านมานายจุตพรก็ไม่เคยโทรศัพท์มาหา รูปแบบของกิจกรรมที่ตนทำก็แตกต่างจากแนวทางหลักของกิจกรรมที่คนเสื้อแดงเคยทำกันมา และตนไม่ต้องการเป็นแกนนำ ความสำเร็จของตนไม่ได้อยู่ที่การช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่อยู่ที่มวลชนเสื้อแดงสามารถแสดงออกว่าพวกเขาคิดอ่านและรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญมากที่สุด และอยากระดมความเห็นเหล่านี้ขึ้นมา
 
“ผมเชื่อว่าถ้ามวลชนแนวนอนมีการจัดโครงสร้างที่ดี จะสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวจริงๆ เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวมองเฉพาะกลุ่มที่เป็นคนนำหรือคนที่มีชื่อเสียงมากๆ ซึ่งผมมองว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น” นายสมบัติกล่าว
 
 
 
 
 
 
กิจกรรมเริ่มขึ้นในเวลา 17.00 น.เศษ โดยนายสมบัติและผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่งร่วมกันขี่จักรยานรอบสวนรถไฟ 1 รอบ จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพูดคุยในหัวข้อต่างๆ เช่น เสื้อแดงมาชุมนุมทำไม คนเสื้อแดงรักชาติแบบไหน เสื้อแดงถูกโจมตีอย่างไร ทำอย่างไรทุกวันอาทิตย์คนจะใส่เสื้อแดง ซึ่งความคิดเห็นต่างๆ ทางกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงได้เก็บรวบรวมเอาไว้ หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันล้มตัวลงนอนบนสนามหญ้า พร้อมส่งเสียง “ที่นี่มีคนตาย”
 
ภายหลังกิจกรรมสิ้นสุดลง นายสมบัติกล่าวกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกราชประสงค์ว่า ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่ในบริเวณนั้น และตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้วางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นเตอร์วัน แต่โดยส่วนตัวตนรักห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ก็รักพี่น้องประชาชนด้วย จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่รักห้างเซ็นทรัลเวิลด์ช่วยดูแลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมด้วย
 
นายสมบัติกล่าวอีกว่าอยากพบผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อแสดงความขอบคุณ และแสดงความเสียใจต่อเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระหว่างการชุมนุม เซ็นทรัลเวิลด์ได้ให้การดูแลคนเสื้อแดงเป็นอย่างดี นอกจากนี้ นายสมบัติยังเชิญชวนให้คนเสื้อแดงไปช่วยกันชอปปิ้งที่ห้างเซ็นเตอร์วันซึ่งมีแผนจะเปิดให้ทันภายในปลายปีนี้ด้วย
 
นอกจากนี้ นายสมบัติกล่าวถึงกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงในวันที่ 19 ก.ย.ซึ่งจะตรงกับวันครบ 4 ปีการยึดอำนาจของ คมช.ว่า อยากจะจัดกิจกรรมที่ราชประสงค์และคาดว่าจะมีผู้มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก แต่ถ้ารัฐบาลต่อรองขอให้ไปใช้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงในการจัดกิจกรรมแทนตนก็ยินดี และหากรัฐบาลมีความกังวลต่อกิจกรรมของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงก็ขอให้ส่งสัญญาณมา ซึ่งตนก็พร้อมจะรับฟัง และพยายามจะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นกิจกรรมที่ทุกคนพอจะยอมรับกันได้
 
ส่วนกิจกรรมครั้งต่อไป นายสมบัติกล่าวว่าจะจัดในวันที่ 22 ส.ค.ที่บริเวณถนนคนเดิน ลานประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ในเวลา 17.00 น. และสัปดาห์ต่อไปจะเป็นกิจกรรมชอปปิ้งใช้ชื่อว่า “แดงเที่ยวห้าง” โดยเชิญชวนคนเสื้อแดงมาร่วมกันจับจ่ายสินค้าที่ห้างบิ๊กซี ลาดพร้าวในวันอาทิตย์ที่ 29 ส.ค.เวลา 17.00 น.
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยโพสต์แท็บลอยด์ สัมภาษณ์'ขวัญระวี วังอุดม': ค้นความจริง หาย-ตาย-เจ็บ

Posted: 15 Aug 2010 11:37 AM PDT

 
 
ปัญหาใหญ่ตอนนี้ไม่ว่ารัฐจะตั้งกรรมการมากี่ชุด เสื้อแดงเขาก็มีกำแพงที่ไม่ไว้ใจ
ทางเดียวที่จะสลายทางความรู้สึกนี้คือต้องเปิดพื้นที่ให้เขา ต้องจัดการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก่อน
ทุกคนพร้อมที่จะปรองดองพร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะกลับมาหันหน้าคุยกัน
ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทันที แต่ถ้ามันมีพื้นที่ให้เขา
นำความจริง พูดเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ใครผิดก็ว่ากันไป...
ตอนนี้เวลาคนที่เสียเขาสูญเสียเขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมก็จะถูกสังคมบอกว่าออกมาทำไม
ไม่ต้องการความสงบเหรอ ไม่ต้องการปรองดองเหรอ ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้เสียหายเป็นผู้เดือดร้อน

ตอนนี้รัฐสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ตัวคนที่ถูกหมายจับเองบางทีไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากมามอบตัวนะ
แต่เพราะเขาก็ไม่มีหลักประกันที่จะเชื่อใจอะไรได้เลย ว่าเขาจะประกันได้ไหม
เขาต้องคำนึงถึงครอบครัวเขาว่าแล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาต่อไป บางคนที่ป่วยหนัก ถูกออกหมายจับอยู่
เขาอยากออกมามอบตัว แต่เขาไม่รู้ว่าถ้าออกมาเขาจะได้ประกันหรือเปล่า
เพราะถ้าไม่ได้ประกันเขาจะได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่เพียงพอหรือเปล่า
   
เกือบหนึ่งเดือนแล้วที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ทำหน้าที่รวบรวมหลักฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยมีนักวิชาการในนามเครือข่ายสันติประชาธรรมเป็นคณะที่ปรึกษา นอกจากจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับผู้สูญเสียแล้ว ภารกิจสำคัญอีกอย่างก็คือการค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม โดยจะทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และหน่วยงานอื่นๆ
 
หลังรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. จนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน แต่นักสิทธิมนุษยชนและผู้ปฏิบัติงานใน ศปช. อย่าง ขวัญระวี วังอุดม กำลังชี้ให้เห็นว่ายังมีผู้สูญหาย ถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกคุกคาม โดยไม่มีพื้นที่ให้เรียกร้องความยุติธรรมแต่อย่างใด

ปรองดองในความหวาดกลัว
"พอสลายการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. เราก็มาคุยกัน เราเห็นว่ามันไม่มีพื้นที่ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง เพราะว่าถ้าคนที่มีแนวคิดมีอุดมการณ์อีกแบบหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเป็นเสื้อสีอื่น เขาก็จะไปหารัฐได้สะดวกใจ มีหน่วยงานของรัฐที่จะไปเยียวยาให้ หรือว่าอย่างองค์กรสิทธิฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับเรื่องร้องเรียน เสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบบางคนเขาก็ไม่ไว้วางใจ คือเราก็เห็นว่าถ้าเราต้องการทำความจริงให้ปรากฏ เสียงของพวกเขาควรจะมีคนได้ยินด้วย เราก็เลยพยายามที่จะเปิดพื้นที่ตรงนี้
   
“เริ่มต้นก็คือคุยกับนักวิชาการสันติประชาธรรม ก็จะมีอาจารย์จากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล ซึ่งทุกคนก็สนใจ เพราะตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจ มันไม่ใช่เฉพาะประชาชนกับรัฐ แต่มันมีความไม่ไว้วางใจในภาคประชาชนด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นตอนแรกที่เราประชาชนตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมามันติดปัญหาเรื่องความร่วมมือกัน แม้แต่การที่จะใช้ทรัพยากรบุคคล บางทีพอเขามีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันมากจนบางทีเขาก็ไม่ให้ความร่วมมือ ฉะนั้นกว่าศูนย์ฯ จะเป็นรูปเป็นร่างมันใช้เวลามาก เราเพิ่งได้แถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 19 เดือนที่แล้วนี่เอง แต่ว่าก่อนหน้านั้นด้วยความที่ได้คุยกันก่อนกับนักวิชาการก็มีการจัดเสวนา ผลิตงานวิชาการออกมาชุดหนึ่งที่จัดสัมนาที่ธรรมศาสตร์ เมื่อ 19-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา"
  
ความไม่ไว้ใจกันเองในภาคประชาชนเป็นอุปสรรคในการหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การชุมนุม
"จริงๆ มันมาจากตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเขาไม่ไว้วางใจที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากภาคประชาชนกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆ เวลาองค์กรสิทธิฯ ทำงานมันอาจจะต้องมีการมาทำงานร่วมกัน หรือว่าจะไปเรียกร้องแนวทางในรูปแบบไหน อย่างไร แต่ว่าทางผู้เสียหายเขาก็ปฏิเสธทางกลุ่มนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องมาคุยกันใหม่แล้วว่าในทรัพยากรจำกัดเท่าที่เรามีมันจะทำได้อย่างไร"
   
กรณีคนหายมูลนิธิกระจกเงามีข้อมูลอยู่
"กระจกเงาเขาทำเรื่องคนหายมาอยู่แล้ว ด้วยตัวสถานการณ์คนก็เลยติดต่อไปที่กระจกเงา ศอฉ.ก็เป็นคนให้เบอร์กระจกเงาไปกับประชาชนด้วยว่าถ้ามีคนหายก็ให้ลองไปเช็กที่กระจกเงา แต่ว่าตอนแรกกระจกเงาเขาก็อาจจะไม่ได้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่เขาก็มีจำกัด เรามีอาสาสมัครอยู่จำนวนหนึ่ง เราก็เลยส่งอาสาสมัครไปช่วยทางกระจกเงาด้วย ศูนย์ฯ เราดูทั้งกรณีหาย ตาย เจ็บ ถูกคุกคาม และก็ถูกจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างผู้เสียหายเขาเข้ามาขอความช่วยเหลือเรื่องคดี เราจะมีทีมทนายอาสาของเราเอง ส่วนถ้าเป็นเรื่องเยียวยาเราก็อาจจะลองติดต่อก่อนว่าเขาต้องการในลักษณะไหนบ้าง อย่างมีเคสหนึ่งของคุณสินีนาถ ชมพูษาเพศ ที่อุบลฯ ถูกจับ ยายก็เลยต้องเลี้ยงหลานให้ คุณยายอายุก็ 82 ปีแล้ว มีปัญหาสุขภาพด้วย กรณีนี้เราก็ไปเยี่ยมที่อุบลฯ มาด้วย ก็พยายามประสานความร่วมมือที่จะช่วยเหลืออย่างน้อยให้สร้างบ้าน เพราะว่าสภาพบ้านจะพังอยู่แล้ว ส่วนลูกสาวที่ถูกจับตอนนี้ทนายเราจะรับฟ้องให้ ต้องไปศาลวันที่ 16 ส.ค.นี้ เป็นคดีเผาศาลากลางจังหวัด ที่อีสาน 5 จังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นคดีเผาศาลากลาง ยกเว้นมหาสารคาม"
   
ญาติติดใจเรื่องผลการชันสูตร
"เท่าที่เราคุยกับญาติ 10 เม.ย. คือเขาก็ชันสูตรหมดแล้ว แต่ว่าเขาอาจจะติดใจกับผลชันสูตรที่ทำไมบางทีเขาก็เห็นชัดๆ ว่าถูกยิง แต่ก็ไปลงว่าถูกของแข็ง คือจะไม่ระบุรายละเอียด ญาติเขาก็รู้ว่าทำไมไม่ระบุว่าเป็นกระสุน บางคนเขาก็ยังไม่เผาศพนะ ยังเก็บไว้อยู่เพื่อจะต่อสู้ทางคดี"
 
"จุดประสงค์ของศูนย์ฯ อันแรกเลยก็คือทำความจริงให้ปรากฏ โดยการ fact finding เราก็จะเปิดรับเรื่องร้องเรียนให้เสื้อแดงเขาได้มีพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อแดงก็ได้ คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. เราก็เปิดพื้นที่ให้เขาทำความจริงให้ปรากฏ และจะมีการนำข้อมูลที่เราได้มาผลิตเป็นองค์ความรู้โดยนักวิชาการของศูนย์ฯ เพื่อที่จะตอบโต้กับวาทกรรมต่างๆ เช่น กระชับวงล้อม หรือว่าก่อการร้าย ในที่สุดแล้วเราก็จะนำผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบ โดยที่เราจะทำเป็นรายงานที่จะยื่นเป็นรายงานเงาให้กับทางสหประชาชาติ"
  
เป็นชุดคู่ขนานกับคณะกรรม ดร.คณิต
"เป็นคู่ขนานตรวจทานกันมากกว่า เพราะว่าคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา คนที่เขาเสียหายก็ไม่ไว้ใจ คือที่เราเห็นองค์กรที่เปิดให้ความช่วยเหลือส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถึงได้เป็นที่มาว่าทำไมเราจึงต้องมีศูนย์ฯ นี้ องค์ความรู้ที่เราจะทำขึ้นจะเป็นงานวิชาการมากกว่า นอกจากนั้นมันจะมีบางส่วน แม้ไม่ใช่งานของศูนย์โดยตรง แต่ด้วยความที่เราได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากผู้เสียหายก็พยายามที่จะคุยกับพวกเขาว่าอยากให้เขาลองตั้งเป็นกลุ่มผู้เสียหายเหมือนอย่างญาติวีรชนพฤษภา ซึ่งถ้าเขามีการรวมตัวกันเอง ข้อเรียกร้องหรือแม้แต่เขาจะไปติดตามเรื่องคดี กดดันให้เจ้าหน้าที่ทำคดีอย่างมีประสิทธิภาพ มันก็จะมีน้ำหนักมากกว่า ก็พยายามผลักดันตรงนี้อยู่เหมือนกัน ทั้งญาติ 10 เม.ย. ญาติ 14-19 พ.ค. ได้มารวมตัวกัน"
 
เริ่มมองเห็นศักยภาพของผู้เสียหาย
"ตอนนี้แทนที่เขาจะเป็นเหยื่อ เขาลุกขึ้นมาไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อตัวเขาคนเดียว เขาก็เรียกร้องให้คนอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างแม่ของน้องเกด แกก็พยายามที่จะออกมาต่อสู้ในภาพใหญ่ ซึ่งน้องเกดเขาก็ไม่ใช่เสื้อแดง แต่แม่เขารับไม่ได้กับการบิดเบือนข้อเท็จจริงในที่เกิดเหตุ ซึ่งถ้าใครได้คุยกับคุณแม่น้องเกด น้องเกดกับครอบครัวนี่เขาชื่นชมคุณหมอพรทิพย์มาก เขาถึงอยากมาทำงานเป็นพยาบาลอาสา แต่พอผลชันสูตรออกมา คุณแม่เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่บอกว่ามีกระสุนที่ท้อง นอกจากนี้คลิปของ ศอฉ.ที่ออกมา ญาติบางคนเขาก็ได้ดูแล้ว และรู้สึกว่ามันไม่จริงเลย อย่างน้องชายของคุณวสันต์ สายรัศมี ที่ถูกยิงที่ศีรษะ ในคลิป ศอฉ.บอกว่าเป็นการยิงแนวราบ ซึ่งจริงๆ ยิงมาจากข้างบน สมองหายไปซีกหนึ่งเลย"
 
ในจำนวนผู้เสียหายมีหลายคนที่ไม่ต้องการรอการทำงานของคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้น เช่น กรณีของพ่อน้องเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ) ที่เห็นว่าการหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตไม่เคยปรากฏด้วยฝีมือคณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐ
 
"พ่อน้องเฌอถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะว่าแกก็พยายามที่จะไม่ให้ญาติผู้เสียหายใช้อารมณ์ ถึงแม้ว่าตัวแกเองก็สูญเสียลูกชาย ก็พยายามที่จะให้หันหน้ามาคุยกัน แต่ว่าไม่ใช่หันหน้าคุยโดยที่ไม่ดูต้นตอของที่มา และก็ไม่ใช่เหมือนกับว่าให้ลืมๆ ไปซะ แต่ต้องให้รับผิดชอบ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม"
 
"ตอนแรกที่เราลงไปมันมีปัญหาเรื่องทนายไม่พอ เพราะว่าเคสเยอะมาก แค่อุบลฯ ที่เดียวก็ประมาณ 400 กว่าเคสแล้ว มันมีเผามีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ละเมิดตอนเคอร์ฟิวที่ออกมายามวิกาล มีเผา NBT ปลุกปั่นยั่วยุ ทนายเราที่ลงไปตอนแรกเข้าไปที่เรือนจำด้วย ได้ไปคุยปรากฏว่าชาวบ้านบางคนก็ไม่รู้สถานะทางคดีของตัวเอง คือคิดว่าถูกฝากขังไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วอีก 2 วันกำลังจะถูกสั่งฟ้อง เราก็คุยกับทนายในพื้นที่เหมือนกันจะได้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ก็ประสานความร่วมมือกัน เดิมชาวบ้านเขาใช้ทนายของพรรคเพื่อไทย หรือถ้าบางคนที่เขามีฐานะเขาก็จ้างทนายของเขาเอง แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านยากจน ก็อย่างที่เราลงไปทนายของเราก็ลองยื่นประกันดู เป็นเคสแรกก็สำเร็จ ตอนแรกมี 7 รายที่เข้ามาหาเรา เราก็ลองยื่นประกันดู ได้ประกัน 5 ราย คือตัวผู้เสียหายเข้าใจว่าเขามีแค่คดีเดียว เราก็ช่วยเขาได้คดีหนึ่งให้ประกัน แต่ว่าพอมาดูแล้วกลายเป็นว่าติดอยู่ 2 คดี วันนั้นก็เลยประกันได้ 5 คน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้นในการที่ช่วยชาวบ้าน
 
ในอีสานเวลานี้มีจับเพิ่มทุกวัน บางทีประกาศหมายจับไปเขายังไม่มามอบตัว การออกหมายจับมันไม่ชัดเจนเลย บางทีคุณไปเอารูปสมัยที่เขาอาจจะแค่เดินผ่านที่ชุมนุม หรือว่าเขาร่วมชุมนุม แต่ว่าเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เผา ถ้าเข้าไปในเว็บไซต์ของสถานีตำรวจอุบลฯ เขาจะเอารูปภาพคนที่ถูกออกหมายเข้าไปโพสต์ ซึ่งภาพแต่ละอันก็เลือนลางมาก บางคนก็ไม่รู้ว่าเป็นตัวเขา เขาไม่ได้ตั้งใจจะหนี แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นตัวเขา ที่จริงรัฐควรจะต้องประกาศรายชื่อเลยว่าใครถูกออกหมายบ้าง ใครที่ถูกจับกุมตัวแล้วบ้าง เพราะเราไม่สามารถเข้าไปในเรือนจำได้ เราไม่รู้ ตอนนี้เราก็ยังไม่สามารถมีรายชื่อครบถ้วนทั้งหมด ขอไปทาง ศอฉ.ก็ไม่ได้ เราไม่รู้ว่ารัฐเขาทำตรงนี้เป็นระบบกันแค่ไหน และตอนหลังก็ไปโยนให้ดีเอสไอไปดูแลในเรื่องคดีเผาและก่อการร้าย"
 
โดยหลักสากลแล้วต้องประกาศรายชื่อผู้ถูกจับทั้งหมด
"มันจะได้เชื่อมโยงกับเรื่องคนหายด้วย ถ้าไม่ประกาศชื่อเราก็ไม่รู้ว่าเขาหายหรือเปล่า หรือเขาถูกจับไปแล้ว คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือญาติ เพราะเขาไม่รู้ว่าลูกเขาตายหรือยัง หรือหายไปไหน แต่กรณีคนหายตัวเลขตอนนี้จะนิ่ง เพราะเคสคนหายจะเป็นช่วงเดือนสองเดือนแรก ช่วงนี้จะมาหนักในเรื่องผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกคุกคาม เพราะตอนนี้รัฐสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ตัวคนที่ถูกหมายเองบางทีไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากมามอบตัวนะ แต่เพราะเขาก็ไม่มีหลักประกันที่จะเชื่อใจอะไรได้เลย ว่าเขาจะประกันได้ไหม เขาต้องคำนึงถึงครอบครัวเขาว่าแล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาต่อไปล่ะ อย่างบางคนที่เข้ามาหาเราป่วยหนักถูกออกหมายจับอยู่ เขาอยากออกมามอบตัว แต่เขาไม่รู้ว่าถ้าออกมาเขาจะได้ประกันหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ได้ประกันเขาก็จะได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่ดีเพียงพอหรือเปล่า และยังมีเคสที่เป็นการคุกคามที่ชัดเจน มันมีหลายกรณี ทั้งเด็กมัธยมที่เชียงรายถือป้ายแล้วถูกจับ คือตอนนี้เจ้าหน้าที่เขาก็อ้างว่าทำตามหน้าที่ เพราะมันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันก็อยู่ที่รัฐบาลนั่นแหละ ถ้าคุณบอกว่าอยากปรองดองก็อย่าใช้วิธีแบบนี้ ถ้าไปคุกคามแล้วความจริงไม่ปรากฏแน่ๆ"
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้นหาความจริงในชุด อ.คณิตด้วยซ้ำ
"มันเป็นอุปสรรคทั้งในส่วนการทำงานของสมัชชาปฏิรูปในชุดหมอประเวศด้วย เพราะการลงไปในพื้นที่ที่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชาวบ้านเขาก็มีกิจกรรมเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ จะไปรับฟังความคิดเห็นคนเสื้อแดงในพื้นที่เขาก็ไม่ไว้ใจที่จะออกมาร่วม รัฐบาลเองก็พูดแย้งในตัวเองตลอด ประชาสัมพันธ์ว่าตอนนี้เหตุการณ์ปกติแล้ว ให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวได้แล้ว ถ้าปกติแล้วทำไมคุณยังต้อคงง พ.ร.ก.ไว้ มันขัดแย้งในตัวเอง คือทุกอาทิตย์มีข่าวตลอดว่าจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ แต่ก็ยังคงไว้ มันควรจะยกเลิกได้แล้ว ให้คนเขาได้มีพื้นที่แสดงออก รัฐเองอยากผลักคนลงไปใต้ดินเหรอ ไม่มีใครอยากลงใต้ดินหรอกถ้ามีความยุติธรรมให้เขา แต่รัฐเป็นคนผลักเขาลงไปเอง คนเขาไม่มีพื้นที่ ความเห็นเขาความรู้สึกเขาไม่มีใครรับฟัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปลิดรอนสิทธิเขาอีก ความจริงมันไม่จำเป็นต้องมีในประเทศเลยด้วยซ้ำกฎหมายฉบับนี้ เพราะ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็เพียงพออยู่แล้ว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากพอแล้ว ถ้าถามความเห็นส่วนตัว คิดว่ากฎหมายอาญาก็เพียงพอแล้ว ยิ่งมาตรา 17 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันให้อำนาจที่เกินขอบเขต คนทำผิดไม่ต้องรับโทษเลย มันตีความได้กว้าง เพราะเขียนว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งมันตีความอย่างไรก็ได้" 
 
"ในคดีก่อการร้ายที่สั่งฟ้อง 19 คน มีคนหนึ่งเขามาหาเรา เขาไม่ได้เป็นแกนนำ แต่ถูกพ่วงไปด้วย สั่งฟ้องพร้อมกันที่จะขึ้นศาลวันที่ 16 นี้ คือรัฐเหวี่ยงแห หลักฐานไม่ชัดเจน ข้อหาก่อการร้ายก็คล้ายกับคดีหมิ่นฯ เพราะคุณไปตีตราเขาไปแล้วว่าผิด ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการไต่สวน ที่สำคัญจำเลยต้องหาข้อแก้ต่างให้ตัวเอง แทนที่ทางรัฐหรือคนที่กล่าวต้องหาหลักฐานมามัดเขาให้แน่น แต่กลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องมาพิสูจน์ว่าเขาไม่ผิด"
   
คณะกรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์เสนอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่มีผลสะเทือนอะไร
"มันก็สะท้อนออกมาเรื่อยๆ ว่าไปสร้างเครดิตให้กับรัฐบาลเท่านั้นเอง ส่วนตัวคุณอภิสิทธิ์เองก็พยายามจะพูดเรื่องปรองดอง แต่กลไกรอบข้างไม่ไปในทางเดียวกัน มันก็ชัดว่าอำนาจก็ไม่ได้อยู่ที่คุณอภิสิทธิ์เลย เพราะคนที่เอาไปปฏิบัติก็ไม่สอดคล้องกับนโยบายปรองดองปฏิรูป"
หลักการสิทธิฯ ผิดเพี้ยน
 
สิทธิในการมีชีวิตเป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ การใช้กำลังและอาวุธจัดการความขัดแย้งทางการเมืองจึงผิดหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งแม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ถือเป็นบรรทัดฐานของนานาอารยประเทศ
 
"ตามที่เราสัมภาษณ์ญาติเขามา อย่าง ศอฉ.เขาประกาศว่าเขาได้ทำตามหลักสากล การใช้อาวุธของเขาจะเป็นขั้นตอนตั้งแต่เบาไปหาหนัก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้สามารถทำได้ตามหลักสากล แต่ในสถานการณ์ตอนนั้นผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้มีอาวุธ การเริ่มตั้งแต่เบาไปหาหนัก รัฐบาลบอกว่าวันที่ 10 เม.ย.ไม่มีการใช้อาวุธจริงเลย เขาเพิ่งมาเห็นว่ามีไอ้โม่งมาตอนกลางคืน แต่ว่าเคสที่เราสัมภาษณ์มันก็มีที่ถูกกระสุนจริงยิงตั้งแต่ตอนบ่ายของวันที่ 10 เม.ย. ตอนนี้กระสุนก็ยังฝังอยู่ในตัวเขา ผ่าออกไม่ได้มันอันตราย ถ้าตามหลักสิทธิฯ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และก็มีบางรายที่ถูกสไนเปอร์ที่ศีรษะ เฉพาะบางรายเท่าที่เราได้สัมภาษณ์จริงๆ และบางรายที่เขาได้ถามจากหมอที่เก็บกระสุนไว้ก็จะบอกว่าอาวุธจะเป็นเอ็ม 16"
 
"คือหลักการดี แต่ปฏิบัติล้มเหลวก็เพราะว่าตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เขาบอกว่าไม่ใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม หรือแม้แต่การใช้แค่กระสุนยางต้องเป็นไปเพื่อสกัดกั้นอย่างเดียว สกัดกั้นฉะนั้นต้องยิงต่ำกว่าเอว แต่ความจริงมียิงทั้งศีรษะ ลำคอ พ.อ.สรรเสริญบอกว่าห้ามยิงรัว แต่ช่วง 14-15 พ.ค. ก็มีการยิงรัวกับนักข่าวเนลสัน ของ FRANCE 24 ซึ่งเราก็ไปสัมภาษณ์มาคือเวลาใกล้กันเขาโดน 3 จุด ที่ลำตัว แขน ขา ท้อง แม้พอเขาล้มลงแล้วการ์ดเสื้อแดงคนหนึ่งมาช่วยเขาไว้ลากเขาขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์ก็ยังถูกยิงตามอีก 2 นัด มันก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น และคุณเนลสันก็ระบุว่ามันเป็นกระสุนที่มาจากวิถีของทางเจ้าหน้าที่ เป็นการยิงรัว ไม่ใช่การยิงทีละนัด ไม่เลือกเป้า หรือถ้าจะอ้างว่าเป็นการกระทำของไอ้โม่งของผู้ก่อการร้าย ตามหลักก็ต้องระบุได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายจริง มีอาวุธที่จะคุกคามชีวิตเจ้าหน้าที่"
 
แต่ก็ถือเป็นกิจการภายในที่กลไกสิทธิมนุษยนชนระหว่างประเทศไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้
"มันต้องเริ่มจากในประเทศของเรา อย่างรัฐไทยก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมโลก อีกอย่างหนึ่งรัฐไทยก็เป็นภาคีอนุสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมือง การเมือง อันนี้มันมีพันธะทางกฎหมายด้วย แปลว่ารัฐเองจะต้องปฏิบัติตามหลักสากลอันนี้ และก็ต้องมาปรับกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกัน ในกลไกตรงนี้รัฐเองก็ต้องรายงานการละเมิดสิทธิฯ สถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศให้กับสหประชาชาติทุก 4 ปี ซึ่งรัฐไทยตั้งแต่ภาคีมา 30 ปี เพิ่งจะส่งรายงานไปแค่ครั้งเดียว ที่จริงต้องรู้หน้าที่ เพราะถือว่าเป็นภาคสมาชิก โดยเฉพาะตอนนี้คุณสีหศักดิ์เข้ามาเป็นประธานของสมัชชาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนก็ควรจะต้องผลักดันให้กลไกตรงนี้เป็นจริง เอื้อให้มันเป็นจริงให้ได้ กลไกของสิทธิฯ ระหว่างประเทศเองจริงๆ ภาคประชาสังคมก็สามารถร้องเรียนไปได้ เขาจะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในเรื่องการสังหารนอกกฎหมาย เราสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะกรอกแบบฟอร์มส่งไปได้โดยตรง การที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ จะเข้ามาตรวจสอบรัฐบาลไทยจะต้องยินยอมให้เขาเข้ามา อย่างพม่าเกิดการละเมิดสิทธิมากมาย แต่ว่าผู้แทนของยูเอ็นไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะรัฐบาลพม่าไม่ให้เข้า รัฐไทยเองพูดว่าเป็นประชาธิปไตย คุณอยากจะเป็นเหมือนพม่าหรือเปล่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วคุณเคารพสิทธิหรือเปล่า รัฐบาลพูดมาตลอดว่าเป็นรัฐบาลที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณพร้อมที่จะให้เขาเข้ามาหรือเปล่า"       
 
ตำแหน่งของคุณสีหศักดิ์ในทางสากลมีนัยแค่ไหน
"ตอนมีข่าวนี้เหมือนว่าสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศไทยดี จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าคนที่เข้าใจกลไกตำแหน่งมันเป็น routine เป็นการเวียน ตอนนี้ทวีปมันไปหมดแล้วเหลือเอเชีย ประเทศที่เหลือก็จะมีอย่างมัลดีฟ อัฟกานิสถาน ศรีลังกา ซึ่งภาคประชาสังคมเขากดดันให้ถอนตัว ภาคประชาชนเขาเข้มแข็ง เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิเยอะมาก ศรีลังกาก็ถอนตัวไป เหลือไทยกับมัลดีฟ แต่ถึงกระนั้นคุณสีหศักดิ์ก็ควรจะผลักดันกลไกตรงนี้ เอื้อกลไกเหล่านี้ให้ใช้งานได้จริง"
 
"แต่หากกลไกนี้ใช้งานไม่ได้ นอกจากรัฐส่งรายงานทุก 4 ปี ภาคประชาชนเองก็สามารถทำรายงานเงาเป็นรายงานคู่ขนานไปได้ เขาก็จะมีเวทีสมัชชาตรงนั้นที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปตั้งคำถามกับรัฐตรงนั้นได้เลย สมัยคุณทักษิณที่ถูกตั้งคำถามเรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด รัฐบาลไทยตอนนั้นก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ตอนนี้ก็เหมือนกันมันเป็นช่องทางที่อย่างน้อยเราก็ใช้กลไกตรงนี้ได้ ตอนนี้ต่างประเทศเขาก็เริ่มเข้าใจเรื่องราวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะบางทีรูปแบบอาจจะไม่ใช่เผด็จการชัดเจนเหมือนพม่า แต่ไทยมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่า ต่างชาติเขาก็พอจะมองเห็นจุดนี้ว่ามันมีการละเมิด แม้ว่าเราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เขาก็ตั้งคำถามหลายอย่าง อย่างเรื่องไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ เพราะในต่างประเทศเขาสามารถพูดได้ ตราบใดที่ไม่ได้ไปพูดใส่ร้าย ไม่ได้ไปทำให้เขาลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้น มันก็น่าจะสามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นกลไกเหล่านี้ต้องตรวจสอบได้ ยิ่งเวลานี้มันมีความเป็น 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม ขนาดคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงเขาก็รู้สึกอย่างนั้น"
 
ในสถานการณ์ที่ประชาชนถูกละเมิด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะมีบทบาท แต่กลับเป็นฝ่ายที่ถูกสังคมตั้งคำถามเสียเอง
"ตั้งแต่ที่มาก็เป็นปัญหาแล้ว ไม่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งคนที่มีมุมมองมีมิติทางด้านสังคมก็อาจจะถูกตั้งคำถาม และการทำงานที่เกิดขึ้นเองก็ถูกวิจารณ์มากว่าค่อนข้างทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลมากเกินไป รวมทั้งปัญหาในตัวบุคคล ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเขาก็ไม่สะดวกใจจะเข้าไปหา ต้องถามว่าตั้งแต่เหตุการณ์ เม.ย.เมื่อปีที่แล้วจนถึงปีนี้ผลการตรวจสอบก็ยังไม่ออกมา หลังจาก 10 เม.ย. กรรมการสิทธิฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก็ไม่ได้ทำงานอะไรเป็นเรื่องเป็นราวจนสมาชิก 4 คนก็ลาออก เพราะเขาเห็นว่าไม่ได้ทำอะไร ส่วนตัวก็อยากตั้งคำถามด้วยว่าการแต่งตั้งกรรมการชุดนี้เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ว่าคนนี้ๆ เพียงแต่บอกว่าอย่างน้อยก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง แต่การตรวจสอบความจริงมันไม่ใช่การโต้วาทีที่จะต้องมีตัวแทน 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน มันต้องมีหลักเกณฑ์คัดเลือกบุคลากรที่ชัดเจน การหาความจริงมันควรจะต้องมีคู่กรณีมีผู้เสียหายอยู่ในชุดนั้นด้วย แต่มันไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้เลย"
 
ตามหลักการแล้วกรรมการสิทธิฯ ต้องโฟกัสไปที่การละเมิดของรัฐ
"และก็ฟ้องร้องแทนผู้เสียหายถ้าผู้เสียหายต้องการ แต่เทียบกับกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งตอนนั้นกรรมการสิทธิฯ อำนาจน้อยกว่าตอนนี้อีก ชุดนั้นเขายังฟ้องไม่ได้ด้วย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวบ้านผู้เสียหายไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ รวมทั้งแถลงการณ์ของกรรมการสิทธิฯ หลายกรณีก็ถูกตั้งคำถามในเรื่องหลักการของเขาเอง โดยเฉพาะหลักการการไม่เลือกข้างมันก็เป็นปัญหา เรื่องวงการสิทธิฯ บ้านเรามันเป็นระบบอุปถัมภ์ อีกอย่างเป็นข้อจำกัดของมุมมองด้านสิทธิฯ ด้วยที่บิดเบือนหลักการ"
 
แม้ตอนนี้กรรมการสิทธิฯ จะกลับลำทัน เข้าไปเยี่ยมเสื้อแดงในเรือนจำก็ไม่ช่วยอะไร
"แต่ก็มีผู้ต้องหาบางคนก็ไม่สะดวกใจที่จะมาเจอ เขาไม่ไว้ใจ อันนี้มันคือปัญหาใหญ่ ตอนนี้ไม่ว่ารัฐจะตั้งกรรมการมากี่ชุด เสื้อแดงเขาก็มีกำแพงที่ไม่ไว้ใจ ทางเดียวที่จะสลายทางความรู้สึกนี้คือต้องเปิดพื้นที่ให้เขา ต้องจัดการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก่อน ทุกคนพร้อมที่จะปรองดอง พร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะกลับมาหันหน้าคุยกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทันที แต่ถ้ามันมีพื้นที่ให้เขา นำความจริง พูดเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ใครผิดก็ว่ากันไป รัฐบาลไทยพยายามจะเปรียบเทียบกับ ATRC ของแอฟริกาใต้ ซึ่งมันไม่เหมือนกัน แอฟริกาใต้กระบวนการเขากว่าจะนำความจริงมาปรากฏประมาณ 15 ปีมั้ง และที่สำคัญรัฐคู่กรณีพ้นอำนาจไปแล้ว เป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ตราบใดที่รัฐที่เป็นคู่กรณียังอยู่มันยาก
 
อย่างการทำงานของ คอป.ที่ตั้งขึ้นมาก็ใช้เงินภาษีของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เงินของประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างน้อยก็ควรจะจัดเวทีให้เสื้อแดงดำเนินการเองเลย ไม่ต้องว่าจะต้องอยู่ภายใต้ คอป. แต่ คอป.กันพื้นที่ให้เขาก็ว่าจัดงบประมาณมาให้องค์กรที่เขาอยากจะทำการตรวจสอบคู่ขนาน มันไม่มีอะไรเสียหาย นี่ถ้า คอป.ต้องการที่จะเป็นกลางจริงๆ ตั้งชุดคู่ขนานเองได้เลย อาจจะมาจัดเวทีว่าเออสุดท้ายแล้วข้อมูลมันตรงกันไหม ถ้าจะมาแสวงหาความจริง ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะไม่จบ ความยุติธรรมถ้ามันล่าช้ามันก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้เวลาคนที่เสียเขาสูญเสีย เขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมก็จะถูกสังคมบอกว่าออกมาทำไม ไม่ต้องการความสงบเหรอ ไม่ต้องการปรองดองเหรอ ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้เดือดร้อน ลูกเขาตาย สามีเขาตาย"
 
////////////////////
 

 
ความจริงที่เจ็บปวด
 
ถึงใครจะบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นล่าง ไร้การศึกษาและยากจน แต่ก็น่าแปลกที่หลังจากศูนย์ข้อมูลประชาชนเปิดรับเรื่องราวความเดือดร้อน ทุกสายที่เข้ามาไม่เคยโทร.มาเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องเงินเลยแม้แต่รายเดียว
 
"นอกจากเขาจะโทร.มาให้ข้อมูล มาให้ช่วยเรื่องคดี ก็มีไม่น้อยที่โทร.มาระบาย เขาบอกไม่รู้จะไประบายกับใคร อึดอัดมากโทร.มาคุยเป็นครึ่งชั่วโมง เพราะว่ารัฐก็ไม่เปิดพื้นที่แบบนี้ให้เขา และตลอดเกือบเดือนที่ผู้เสียหายโทร.มานี่ไม่เคยมาขอให้ช่วยเรื่องเงินเลยนะ เพราะเขาเข้าใจว่าองค์กรเราเป็นอย่างไร เขาจะขอให้เร่งในเรื่องคดีมากกว่า อันดับแรกคือคดีทางแพ่ง เพราะอายุความแค่ปีเดียว เรื่องกระบวนการยุติธรรมสำคัญกับเขามากที่สุด และเราอยากให้ประชาชนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่รัฐให้ ทางศูนย์ฯ จึงจะจัดแถลงข่าวทุกวันที่ 19 ของเดือน รายงานความคืบหน้าการติดตามคดี การละเมิดสิทธิ วันที่ 19 ส.ค.นี้จะพูดเรื่องภาพรวมการจับกุมคดีในพื้นที่ รวมถึงการคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่"
 
การทำงานของศูนย์ฯ ไม่ได้นั่งรอรับโทรศัพท์อย่างเดียว แต่พยายามหาข้อมูลเอง โดยมีอาสาสมัครลงพื้นที่ทางภาคอีสาน เนื่องจากมีคนแจ้งเข้ามาว่าคนที่ถูกจับและควบคุมตัวโดยหน่วยงานรัฐไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ด้านหนึ่งก็ได้กลุ่มทนายความด้านสิทธิฯ (ที่ปลดแอกแล้ว) รวมตัวเข้ามาช่วยเหลือคนที่ถูกจับกุมและผู้ที่คุกคาม
 
นี่คือตัวอย่างของความจริงที่เจ็บปวด
 
นับตั้งแต่น้องเกด (น.ส.กมนเกด) ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมฯ ผู้เป็นแม่พยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกสาวมาโดยตลอด ทั้งไปแจ้งความที่กองปราบปราม และ สน.ปทุมวัน เพื่อให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. เพื่อนร่วมงานน้องเกดได้ถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สภาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าไปชันสูตรศพ โดยพบว่ามีหัวกระสุนคาอยู่ที่ปากแผลที่หน้าท้อง ซึ่งหมอพรทิพย์ยังบอกให้เจ้าหน้าที่นำพลาสเตอร์มาปิดทับหัวกระสุนไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีหน่วยงานราชการออกมาแถลงถึงผลตรวจพิสูจน์หัวกระสุนดังกล่าวเลย ทำให้สงสัยว่ามีการตรวจพิสูจน์จริงหรือไม่ หัวกระสุนหลักฐานยังอยู่หรือเปล่า
 
ศิณีนาถ ชมพูษาเพศ ชาวนาวัย 29 ปี ไปร่วมชุมนุมและพยายามห้ามไม่ให้คนเสื้อแดงก่อเหตุเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี แต่กลับถูกตำรวจยิงขาบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ต่อมาตำรวจตามจับกุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทิ้งลูก 3 คนให้ยายเลี้ยง
 
กรณีตำรวจ สภ.เมือง จ.เชียงราย ดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาและนักเรียน รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดง 4 คน ได้แก่ นายกิตติพงษ์ นาตะเกศ อายุ 24 ปี และนายนิติ เมธพนฎ์ อายุ 23 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) นักเรียนอายุ 16 ปี จากโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง และนายธนิต บุญญนสินีเกษม แกนนำกลุ่มพลังมวลชน
 
////////////
 
หมายเหตุ : ศปช.ฮอตไลน์ 0-86060-5433 0-86060-5433 หรือเว็บไซต์ www.peaceandjusticenetwork.org บัญชีรับบริจาค เลขที่ 645-2-02766-4 ธนาคารกสิกรไทย สาขา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชื่อบัญชี 'น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล และนายอภิชาต สถิตนิรมัย-น.ส.ขวัญระวี วังอุดม และนายชัยธวัช ตุลาธน'
 

 
 ที่มา: ไทยโพสต์ แท็ลอยด์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสหรัฐไม่อนุญาตให้รัฐบาลตามรอยด้วยจีพีเอส หากไม่มีหมายศาล

Posted: 15 Aug 2010 09:58 AM PDT

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา กรุงวอชงตัน ดีซี ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางแห่งดีซี ปฏิเสธเหตุผลของรัฐบาลสหรัฐที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางมีสิทธิโดยปราศจากเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งด้วยระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (จีพีเอส) บนยานยนต์ใด ๆ โดยไม่ต้องมีหมายค้น

ในคดี สหรัฐอเมริกา v. เมย์นาร์ด (United States v. Maynard) - เจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้ติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสกับรถยนต์คันหนึ่งขณะมันจอดในสถานที่ส่วนบุคคล และใช้มันในการติดตามตำแหน่งของรถคันดังกล่าวทุกสิบวินาทีเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ทั้งหมดนี้โดยไม่มีหมายค้น มูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (EFF) และสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU)  แห่งเขตเมืองหลวง ได้เสนอคำอธิบายเหตุผลต่อศาล เพื่อแย้งว่าการใช้วิธีดังกล่าวโดยไม่มีการตรวจตราดูแล จะเปิดโอกาสให้ตำรวจลุแก่อำนาจและติดตามตำแหน่งทางกายภาพของใครก็ตามอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ศาลพิจารณาตรวจสอบก่อนว่าการจับตาสอดส่องดังกล่าวนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือไม่

ศาลรัฐบาลกลางเห็นด้วยกับเหตุผลของ EFF และ ACLU ว่าการสอดส่อง 24 ชั่วโมงเช่นนี้ จำเป็นต้องมีหมายค้นบนฐานของเหตุอันควรจึงจะทำได้ ศาลรัฐบาลกลางได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อเหตุผลของรัฐบาลที่ว่าการสอดส่องวันละ 24 ชั่วโมงในขอบเขตขยายโดยไม่มีหมายค้นนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลอ้างคำตัดสินในอดีตเกี่ยวกับการสอดส่องกิจกรรมในที่สาธารณะจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในขอบเขตจำกัดโดยใช้วิทยุติดตามตัวที่ใช้คลื่นวิทยุ ศาลรัฐบาลกลางแสดงให้เห็นว่าในคำตัดสินเหล่านั้นศาลฎีกาไม่ได้พิจารณาไปถึงการติดตามตำแหน่งในระยะเวลาและขอบเขตอย่างที่เกิดขึ้นในคดีนี้ และตั้งข้อสังเกตว่า "ในเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว การรู้ร่องรอยทั้งหมดอย่างต่อเนื่องอาจเปิดเผยอะไร ๆ ไปได้เยอะกว่าการรู้เป็นส่วนๆ ประกอบกัน"

ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางยังได้กล่าวต่อว่า "การที่คนที่ผ่านไปมาสังเกตการณ์หรือกระทั่งติดตามใครก็ตามระหว่างการเดินทางหนึ่งครั้งไปตลาดหรือกลับบ้านจากที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการที่คนแปลกหน้าคนนั้นจะตามรอยใครคนนั้นอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น อีกวันต่อไป สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ตามติดเหยื่อจนกระทั่งเขาสามารถระบุสถานที่ ผู้คน กิจกรรมหย่อนใจ และสิ่งละอันพันละน้อย ที่เป็นกิจวัตรส่วนตัวของคนคนนั้น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง"

"ศาลรัฐบาลกลางได้ยอมรับอย่างถูกต้องแล้วถึงข้อแตกต่างสำคัญ ระหว่างการจับตาสอดส่องอย่างมีขอบเขตถึงกิจกรรมสาธารณะด้วยการใช้สายตาหรืออุปกรณ์ติดตามรถยนต์แบบดั้งเดิม กับการจับตาสอดส่องที่กว้างขวางบุกรุกทั่วทุกแห่งหนทั้งวันทั้งคืนที่อุปกรณ์จีพีเอสทำได้" Jennifer Granick ผู้อำนวยการฝ่ายเสรีภาพพลเมืองของ EFF กล่าว และว่า "ตรรกะเดียวกันนี้ใช้ได้กับกรณีของการติดตามโทรศัพท์มือถือ และเราหวังว่าศาลอื่น ๆ ที่กำลังพิจารณาถึงคำถามว่ารัฐบาลควรจะมีหมายศาลก่อนหรือไม่ก่อนจะใช้โทรศัพท์มือถือของคุณเป็นอุปกรณ์ติดตาม จะตัดสินใจตามการตัดสินของศาลรัฐบาลกลางในครั้งนี้"

"การติดตามด้วยจีพีเอสทำให้ตำรวจรู้ว่าคุณไปหาหมอของคุณ ไปหาทนาย ไปโบสถ์ หรือไปหาคนรักตอนไหน" Arthur Spitzer ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ ACLU-NCA กล่าว "และถ้าคนจำนวนมากถูกติดตาม ข้อมูลจีพีเอสจะแสดงได้ว่าที่ไหนและเมื่อใดที่คนเหล่านี้พบกัน กฎหมายเพื่อตรวจตราควบคุมการใช้เทคโนโลยีที่ทรงพลังนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวด ถ้าเราต้องการจะปกป้องเสรีภาพของบุคคลแต่ละคน การตัดสินในวันนี้ได้ช่วยนำ Fourth Amendment (บทแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องจากการถูกยึดค้นโดยไม่มีเหตุผล) มาสู่ศตวรรษที่ 21"

 

ข้อมูลเพิ่มเติมของคดี (เดิมชื่อ U.S. v. Jones)

แปลจาก Court Rejects Warrantless GPS Tracking, 6 สิงหาคม 2553

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9 - 15 ส.ค. 2553

Posted: 15 Aug 2010 06:25 AM PDT

 

ออกกฎเว้นค่าต๋ง 5 ปี-เพิ่มค่าแรงลดขาดแรงงาน

ก.อุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นเวลา 5 ปี หนุนโรงงานใช้ประโยชน์จากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ จูงใจโรงงานพัฒนากระบวนการผลิต

ก.อุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นเวลา 5 ปี หนุนโรงงานใช้ประโยชน์จากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ จูงใจโรงงานพัฒนากระบวนการผลิต หวังระยะยาวช่วยสร้างเศรษฐกิจ มุ่งรักษาสภาพแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ด้านโรงงานอุตฯ หัวหมุนขาดแรงงานซับคอนแทรค 1 ล้านคน สศอ.แนะต้องปรับเพิ่มค่าแรงอีก 100 บาทต่อวันเพื่อจูงใจ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการโรงงานมาใช้ประโยชน์ พ.ศ.2553 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเป็นระยะเวลา 5 ปี แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานในส่วนของโรงงานซึ่งนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และโรงงานซึ่งนำเอาของเสียจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตทั้งหมดกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งมีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ก่อนวันที่ประกาศกฎกระทรวงฯ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ส่วนผู้ประกอบการซึ่งนำของเสียมาใช้ประโยชน์หลังจากที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ และก่อนวันที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีนับแต่ปีที่ได้นำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาใช้ประโยชน์

“การออกกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กฎกระทรวงฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบกิจการที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานพัฒนากระบวนการผลิตอันเป็นประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งขณะนี้โรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งได้นำของเสียจากการผลิตมาใช้งานแล้ว แต่โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กอาจมีการดำเนินการในเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลายนัก และเชื่อว่ากฎกระทรวงดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระยะยาว เพราะช่วยลดปริมาณกากขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งการปล่อยของเสียที่อาจเป็นประเด็นให้ชุมชนเป็นห่วง ซึ่งเป็นกฎหมายหนึ่งที่ออกมาเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านนายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องการแรงงานแบบเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) มากถึง 1 ล้านคน ในการรองรับการผลิตสินค้าในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ส่งผลให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงต่างเร่งประกาศหาแรงงานป้อนให้โรงงานผลิตสินค้า ทั้งนี้กลุ่มที่ต้องการแรงงานซับคอนแทรคในปริมาณมาก เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, อาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตส่งออกกุ้งและไก่ เป็นต้น เนื่องจากก่อนที่จะตกลงทำสัญญาออร์เดอร์ ลูกค้าต่างประเทศต้องการให้ผู้ผลิตไทยส่งสินค้าให้ทันตามกำหนด เพราะหากไม่มั่นใจว่าจะส่งได้ผู้ซื้อก็จะไปติดต่อผู้ผลิตรายอื่นแทน ซึ่งยอมรับว่าโรงงานหลายแห่งต้องปฏิเสธออร์เดอร์จำนวนมากเพราะมีแรงงานไม่เพียงพอ

“ช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากมี 3 ช่วง ประกอบด้วย เดือน ม.ค.-กพ., เดือน พ.ค.-มิ.ย. และ ก.ย.-ต.ค. โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานประจำที่ 8-9 ล้านคน ที่เหลือก็จะจ้างซับคอนแทรค 1-2 ล้านคน แต่ปีนี้มีปัญหาการขาดแคลนทั้งแรงงานประจำที่เป็นระดับช่างฝีมือ และซับคอนแทรคที่ส่วนใหญ่กลับไปทำงานในภาคเกษตร หรือไม่ก็ทำธุรกิจส่วนตัว ดังนั้นจึงไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในโรงงาน เพราะนายจ้างไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร โดยเฉพาะช่วงที่มีออร์เดอร์น้อย”

นอกจากนี้ สศอ.เตรียมจะหารือกับภาคเอกชนในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างซับคอนแทรคเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนช่วงไม่มีงานทำ เช่น ร่วมกันช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพลักดันให้เป็นแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จนสามารถเข้าไปทำงานเป็นพนักงานประจำในโรงงานได้ เป็นต้น

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 1 แสนรายที่ไม่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เป็นต้น เพราะแม้ว่านายจ้างจะขาดแคลนแรงงานแต่ก็ไม่อยากจ่ายค่าตอบแทนในระดับที่สูงตามวุฒิการศึกษา เนื่องจากใช้งานไม่คุ้มค่า ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสาขา ปวช. และ ปวส.นั้น ส่วนหนึ่งนายจ้างให้ค่าตอบแทนในระดับที่ต่ำ ทำให้แรงงานจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับอุตสาหกรรมที่แรงงานให้ความสนใจมากสุดคือกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะให้ค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท ทำให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับขึ้นค่าจ้างตาม ไม่เช่นนั้นแรงงานก็จะย้ายไปอยู่ในภาคอื่นหมด ขณะเดียวกันค่ายรถยนต์หลายประเทศที่มีฐานการผลิตในไทยเริ่มกังวลปัญหาแรงงานในอนาคตที่จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่นเตรียมที่จะนำงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเข้ามาทำงานให้กลุ่มยานยนต์ต่อไป

(บ้านเมือง, 9-8-2553)

ธนาคารกสิกรไทยให้บริการ ATM ภาษาพม่า

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าไปใช้บริการตู้เอทีเอ็มในตัวเมือง สมุทรสาครแล้วรู้สึกแปลกใจ ที่หน้าจอทำรายการมีภาษาพม่ากำกับอยู่ด้วย ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  โดยตระเวนสำรวจตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารทั่วเมืองสมุทรสาคร ปรากฏว่าตู้ เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าเพิ่มขึ้นมาอีกภาษา  ส่วนตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่นไม่มีภาษาพม่าให้บริการแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวนำนายแดง อายุ 44 ปี แรงงานชาวพม่ามาทำรายการให้ดู เพื่อตรวจสอบข้อความขั้นตอนการทำรายการของตู้เอทีเอ็ม พบว่าหลังสอดบัตรเอทีเอ็มเข้าไปในเครื่องแล้วจะมีข้อความว่า  ยินดีต้อนรับขึ้นเป็นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ  ตามด้วยข้อความให้ใส่รหัสของบัตร จากนั้นจะมีข้อความเป็นภาษาไทยตีคู่กับภาษาพม่า และตามด้วยภาษาอังกฤษทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการกดเงินสด โอนเงิน จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งสอบถามยอดเงินด้วย

ด้านผู้นำชุมชนคนหนึ่ง ในตำบลท่าจีน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลเปิดให้ทำบัตร ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ มีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่แฝงตัวหลบหนีเข้ามาก็มีบ้าง คนที่มีบัตรส่วนใหญ่จะอยู่แบบสบายใจ แต่ก็มีบางคนที่ไม่มีบัตรแต่อยากจะทำบัตร ซึ่งรัฐบาลยังไม่เปิดโอกาสให้ทำ ทำให้แรงงานต่างด้าวคนใหม่ที่หลบหนีเข้ามาต้องอยู่กันแบบหลบๆซ่อนๆดังนั้น จึงอยากให้ทางการเปิดทำบัตรให้แรงงานต่างด้าวเพื่อนำเงินเข้ารัฐดีกว่า

ส่วน พ.ต.ต.สมชาย ขอค้า สวป.สภ.เมืองสมุทรสาคร เผยว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครที่ต่อใบอนุญาตทำงานมีทั้งสิ้น 124,454 คน กับแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติ (MOU) อีก 9,001 คน รวมทั้งสิ้น 133,455 คน และแรงงานไม่ขึ้นทะเบียนอีกนับหมื่นคน ตามที่รัฐบาลและจังหวัดสมุทรสาคร ได้ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวให้มีการจดทะเบียน และสามารถประกอบอาชีพในประเภทต่างๆ ได้ 11 กิจการนั่นคือ ประมง เกษตรกรรม โรงอิฐ เหมืองแร่ โรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง การขนถ่ายสินค้าทางน้ำ การก่อสร้าง รับใช้ในบ้าน กิจการต่อเนื่องประมงและอื่นๆแต่ต้องระบุ ตำรวจได้กวดขันจับกุมผู้ที่ทำงานนอกเหนือจากนี้อย่างต่อเนื่องแต่ก็กวาดล้าง ไม่หมด เพราะมีแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดชายทะเลตั้งอยู่ตอนล่างของภาคกลางมีเนื้อที่ประมาณ 872 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 30 กม. ประชากรส่วนใหญ่ประกอบกิจการประมง และการเกษตร อุตสาหกรรมหลักได้แก่อุตสาหกรรมด้านการผลิต โดยเฉพาะการผลิตแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออก มีสถานประกอบการประมาณ 6,320 แห่ง ทำให้มีแรงงานต่างด้าวตามชุมชนต่างๆถึง 26 ชุมชน อาทิ ชุมชนเกาะสมุทร ชุมชนบ้านท่าจีน ชุมชนท่าทราย ชุมชนท่าฉลอม ชุมชนวัดโกรกกราก และชุมชนวิลล่า แต่ละชุมชนมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ตั้งแต่ 1,000-10,000 คน

(ไทยรัฐ, 9-8-2553)

แรงงานนอกระบบจี้เร่งดัน กอช.เข้าสภา

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. เปิดเผยว่า มีความกังวลร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะพิจารณาล่าช้าและไม่ทันให้รัฐบาลเสนอเข้ารัฐสภาทันสมัยการประชุมนี้ เครือข่ายบำนาญประชาชน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มแรงงานนอกระบบ เกษตรพันธสัญญา แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หาบเร่แผงลอย กลุ่มคุ้ยขยะ และเครือข่ายชุมชนภาคประชาสังคม กทม. จึงเตรียมออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กระทรวงการคลังชี้แจงข้อติดขัดต่างๆ

 นอกจากนี้ยังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ได้เตรียมการมานานแล้ว และเป็นนโยบายของ รมว.คลัง ที่ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเรื่องนี้ทุกฝ่ายก็ได้ติดตามรอคอยมาอย่างยาวนาน

 “ถ้าพวกเราอายุ 60 ปีแล้วไม่มีบำนาญอาจจะลำบาก เราเห็นด้วยกับระบบบำนาญที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออม ประชาชนจะได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสามารถที่จะอยู่ได้เมื่อยามแก่ชรา การสร้างหลักประกันให้แก่แรงงานนอกระบบปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่กำลังให้ความสำคัญ แต่ประชาชนยังขาดความเข้าใจ เกิดความสับสน สิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกับภาคประชาชน รัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมอย่างแท้จริงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน” นางสุจินกล่าว

 รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมงบประมาณปี 2554 ไว้เป็นทุนประเดิมสำหรับกองทุน กอช. แล้ว แต่ไม่ทราบเหตุผลที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ส่งคืนจากกฤษฎีกา ซึ่งหากไม่ทันก็คาดได้ว่าคงต้องถูกดองไปอีกนาน เครือข่ายบำนาญประชาชนจึงได้ออกมากระตุ้นให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนอันสอดคล้องกับวาระการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งนี้ เครือข่ายพร้อมให้ข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ และเสนอความต้องการจากภาคประชาชน พร้อมทั้งจะเข้าพบ รมว.คลัง และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงถึงความล่าช้าในสัปดาห์หน้า พร้อมจัดให้มีเวทีเสวนาในกลางเดือนสิงหาคมนี้

(คมชัดลึก, 9-8-2553)

สศอ.ชี้แรงงานเหมาช่วงขาดหนัก

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการแรงงานแบบเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) อีก 1 ล้านคน ในการรองรับการผลิตสินค้าในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) จำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงต่างเร่งประกาศหาแรงงานป้อนให้โรงงาน เพราะหลายแห่งต้องเดินเครื่องจักรตลอด 24 ชม.ต่อวัน
   
ทั้งนี้กลุ่มที่ต้องการแรงงานซับคอนแทรคในปริมาณมาก เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอ นิกส์, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, อาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตส่งออกกุ้งและไก่ เป็นต้น เนื่องจากก่อนที่จะตกลงทำสัญญาออร์เดอร์ ลูกค้าต่างประเทศต้องการให้ผู้ผลิตไทยส่งสินค้าให้ทันตามกำหนด เพราะหากไม่มั่นใจว่าจะส่งได้ ผู้ซื้อก็จะไปติดต่อผู้ผลิตรายอื่นแทน
   
“ช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากมี 3 ช่วง ประกอบ ด้วย เดือน ม.ค.-ก.พ., ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. และ ก.ย.-ต.ค. โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานประจำที่ 8-9 ล้านคน ที่เหลือก็จะจ้างซับคอนแทรค 1-2 ล้านคน แต่ปีนี้มีปัญหาการขาดแคลนทั้งแรงงานประจำที่เป็นระดับช่างฝีมือ และซับคอนแทรคที่ส่วนใหญ่กลับไปทำงานในภาคเกษตรหรือไม่ก็ทำธุรกิจส่วนตัว ดังนั้น   จึงไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในโรงงาน เพราะนายจ้างไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรโดยเฉพาะช่วงที่มีออร์เดอร์น้อย”
   
นอกจากนี้สศอ.เตรียมหารือกับภาคเอกชนในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างซับคอนแทรคเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนช่วงไม่มีงานทำ เช่น ร่วมกันช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อผลักดันให้เป็นแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จนเข้าไปเป็นพนักงานประจำในโรงงานได้
   
ปัจจุบันยังมีนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 1 แสนราย ที่ไม่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ เป็นต้น เพราะแม้ว่านายจ้างจะขาดแคลนแรงงานแต่ ไม่อยากจ่ายค่าตอบแทนในระดับที่สูงตาม  วุฒิการศึกษา เนื่องจากใช้งานไม่คุ้มค่า ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสาขา ปวช.และ ปวส.นั้น ส่วนหนึ่งนายจ้างให้ค่าตอบแทนที่ระดับต่ำทำให้แรงงานจำเป็นต้องเลือกบริษัท ที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ.

(เดลินิวส์, 9-8-2553)

อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์-เสื้อผ้า-รองเท้าต้องการแรงงานจำนวนมาก

นายสมมาตร ขุนเศรษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มวิตกว่าจะผลิตสินค้าส่งออกได้ไม่ทันคำสั่งซื้อ เพราะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตอย่างรุนแรง

นายสมมาตร กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า แรงงานในภาคการผลิตกำลังขาดแคลนถึงประมาณ 1 ล้านคน ว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ส่งออกมีสตอกสินค้าค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้สตอกดังกล่าวหมดลงแล้ว ขณะที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 17 อย่างแน่นอน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีแรงงานผลิตเพียงพอ ส่วนเรื่องเครื่องจักรอุปกรณ์นั้นไม่มีปัญหา

สำหรับแนวทางแก้ไขเบื้องต้น นอกจากการเปิดรับสมัครคนงานแล้ว ผู้ประกอบการหลายรายยังให้พนักงานของตัวเองช่วยชักชวนเพื่อนมาทำงานเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีการให้ค่านายหน้าสำหรับจัดหาแรงงานรายละกว่า 1,000 บาท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือ เพราะทักษะการทำงานสามารถฝึกฝนได้ และผู้ประกอบการพร้อมจ่ายค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแน่นอน

เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคการผลิตที่กำลังต้องการแรงงานอย่างมาก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และรองเท้า เป็นต้น ส่วนลูกจ้างประเภทสัญญาจ้าง หรือซับคอนแทรค ที่มีปัญหามักจะถูกเลิกจ้างเป็นอันดับแรกเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในโรงงานนั้น ยอมรับว่า ผู้ประกอบการไม่มีใครอยากเลิกจ้างคนงาน เพราะกว่าจะกลับมาเปิดรับสมัคร และเริ่มฝึกทักษะใหม่ได้ เป็นเรื่องยุ่งยาก หากคนไทยร่วมมือกันช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องวุ่นวายต่าง ๆ จบลง คนงานก็จะมีงานทำอย่างมั่นคง ไม่มีปัญหาถูกเลิกจ้างอีกต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 9-8-2553)

เร่งนายจ้างพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว

นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล จัดหางานจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลา มีผู้ใช้แรงงานที่เป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เดินทางมาทำงานในพื้นที่อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหาหางานจังหวัดยะลา จึงได้จัดให้มีการประชุมนายจ้างขึ้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการจัดประชุม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ทั้ง 3 สัญชาติ การนำเข้าแรงงานต่างด้าว และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งนายจ้าง จะต้องถือปฏิบัติให้ถูกต้อง ตลอดจนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีดำเนินการด้านทะเบียนราษฎร์ และการใช้สิทธิพยาบาล โดยกำหนดจัดประชุมนายจ้าง และเจ้าของสถานประกอบการ ที่ใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ในวันพุธที่ 11 สิงหาคม 2553 นี้

(ไอเอ็นเอ็น, 10-8-2553)

รัฐเต้นแรงงานขาดล้านคน 2 กระทรวงนัดถก-ย้ำไม่พึ่งต่างด้าว

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม กระทรวงแรงงาน ได้จัดประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สถาบันยานยนต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หลังทั้ง 4 กลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานกว่า 80,000 คน โดยมีนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานประเภทรับเหมาช่วงผลิต หรือซับคอนแทค ประมาณ 1 ล้านคน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ สศอ.แสดงตัวเลขอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำมาเป็นประเด็นในการหาคำตอบ และจะประสานขอข้อมูล พร้อมเชิญตัวแทนจาก สศอ.มาร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

"สาเหตุที่มีความต้องการจ้างแรงงานซับคอนแทคเป็นจำนวนมาก เพราะขั้นตอนการจัดหาไม่ยุ่งยาก นายจ้างไม่ต้องแบกรับภาระการจัดสวัสดิการต่างๆ เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัทรับจัดหาคนงานซับคอนแทค ส่วนที่จะให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาชดเชยนั้น กระทรวงแรงงานยังให้ความสำคัญที่การจ้างงานคนไทยก่อน เพราะยังมีคนไทยที่ว่างงานอีกมาก โดยกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่สำรวจตามชุมชน เพื่อดึงคนกลุ่มนี้ออกมาสู่ระบบการจ้างงาน" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการแรงงานระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ของกระทรวงแรงงาน แบ่งตามภาคอุตสาหกรรม พบว่า ทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมประชุมมีความต้องการแรงงานทั้งสิ้น 17,614 คน ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานที่มาขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 230,431 คน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ กระทรวงแรงงานจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ และเก็บข้อมูลความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการตามข้อเรียกร้อง เนื่องจากตัวเลขของทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ระบุว่าขาดแคลนแรงงานกว่า 80,000 คน ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดตำแหน่งงาน และคุณสมบัติของแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรม โดยคณะทำงานชุดนี้จะรวบรวมความต้องการแรงงานในแต่ละภาคอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ เพื่อวางรูปแบบการรับสมัครงานได้ตรงตามความต้องการต่อไป

(แนวหน้า, 10-8-2553)

เผยการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ลามถึงองค์กรสิทธิ์

แฉอดีตประธานรัฐสภาหื่น ลวง ขรก.ซี 5 เดินขึ้นคอนโดฯ ชั้น 8 แล้วหลอกล่อขืนใจ สุดสลดลงท้ายเหยื่อถูกไล่ออกหลังต้องหยุดงานยาวเพราะไม่กล้าเจอหน้า จนถึงขั้นเครียดพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ล่าสุดตัดสินใจอุทธรณ์ต่อศาลจนศาล ตัดสินให้สามารถกลับเข้ามาทำงานที่รัฐสภาได้อีกครั้ง หลังจากเคยร้องศาลปกครองชั้นต้นแต่คดียืดเยื้อ และตัดสินเจ้าหน้าที่หญิงรายนี้มีความผิดที่หยุดงาน ส่วนอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติยังลอยนวลไม่ถูกแจ้งความ ขณะที่อีกรายเป“นถึง หน.องค์กรสิทธิมนุษยชนลวนลามลูกน้อง แต่ยังมีหน้าย้ายไปทำงานถึงองค์กรสิทธิระดับชาติ เผยหน่วยงานราชการครองแชมป์คุกคามทางเพศมากสุด

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา "การคุกคามทางเพศ อาชญากรรมร้ายรายวันของสังคม" โดย น.ส.พัชรี จุลหิรัญ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยว่า จากการเก็บสถิติความรุนแรงทางเพศ ที่ผู้ถูกกระทำมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 775 ราย ในจำนวนนี้พบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมากถึง 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 แยกเป็น 1. ข่มขืนกระทำชำเรา 45 ราย โดยมีผู้หญิงรายหนึ่งต้องการเลิกกับผู้ใหญ่บ้าน จ.กาญจนบุรี เพราะต้องมีเพศสัมพันธ์เช้ากลางวันเย็น ฝ่ายหญิงขอเลิกแต่ฝ่ายชายไม่ยอม จนต้องแจ้งความดำเนินคดีฐานข่มขืน 2. พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 8 ราย 3. พรากผู้เยาว์โดยการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ 9 ราย 4. รุมโทรม 7 ราย โดยรายหนึ่งถูกรุมโทรมมากสุดถึง 9 ราย 5. อนาจาร 7 ราย 6. คุกคามทางเพศ 3 ราย และ 7. พยายามข่มขืน ค้ามนุษย์ แอบถ่าย โชว์อนาจาร 4 ราย รายหนึ่งเป็นพี่เขยแอบถ่ายน้องเมียซึ่งกลัวว่าจะถูกนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ ที่น่าตกใจคือ ผู้กระทำ 33 ราย หรือร้อยละ 40 เป็นคนใกล้ชิดกับผู้เสียหาย เช่น เป็นเพื่อน หรือเพื่อนบ้าน โดยผู้เสียหายอายุน้อยสุดแค่ 3 ขวบ ซึ่งถูกญาติใช้นิ้วล่วงละเมิดเด็ก ส่วนผู้กระทำมีอายุมากที่สุด 78 ปี ล่วง ละเมิดทางเพศด้วยการอนาจารลูกตัวเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนอายุ 24 ปี ก็ยังขอหลับนอนกับลูกอยู่ อย่างไรก็ตามการล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว ส่วนใหญ่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากถึงร้อยละ 24 และมีสถิติเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2551

น.ส.พัชรีกล่าวด้วยว่า รายหนึ่งน่าตกใจมากเป็นเจ้าหน้าที่หญิงรัฐสภา ระดับ 5 จบปริญญาโทจากเมืองนอก เป็นคนสวยเพราะเคยเป็นถึงเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ถูกอดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่งพยายามใช้ ตำแหน่งหน้าที่เข้ามาตีสนิท ทั้งยังเคยให้ร่วมเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน กระทั่งเหตุการณ์วันหนึ่งถูกอดีตประธานรัฐสภาที่ว่าบังคับให้เดินด้วยส้นสูง 3 นิ้ว จากชั้น 1 ถึงชั้น 8 ของคอนโดฯเพื่อนำเอกสารไปส่งถึงตัว และพยายามชักชวนให้ดูบอลแล้วลวนลามจนถึงขั้นละเมิดทางเพศ ทำให้เจ้าตัวต้องหยุดงานไป 15 วัน เป็นผลให้หัวหน้างานไล่ออกจากงาน ทำให้เจ้าตัวเกิดความเครียด สภาพจิตใจย่ำแย่ ครอบครัวก็ไม่เข้าใจ ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนกระทั่งอดีตประธานรัฐสภาพ้นจากตำแหน่ง จึงได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง คดีได้ยืดเยื้อมานาน เจ้าหน้าที่หญิงรายนี้ จึงเข้ามาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อนหญิง ซึ่งต้องมาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจอยู่หลายเดือน เนื่องจากศาลปกครองชั้นต้นตัดสินเจ้าหน้าที่หญิงรายนี้มีความผิดที่หยุดงาน จึงได้อุทธรณ์ต่อศาลจนศาลตัดสินว่าให้สามารถกลับเข้ามาทำงานที่รัฐสภาได้อีกครั้ง

นักสังคมสงเคราะห์มูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวอีกว่า น่าเป็นห่วงว่าเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีกรณีถูกข่มขืนอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากติดข้อกฎหมายขาดอายุความ เพราะคดีดังกล่าวตามกฎหมายเป็นคดีที่ยอมความกันได้ และมีอายุความแค่ 3 เดือน เนื่องจากผู้ถูกกระทำอายุเกิน 18 ปีแล้ว ตนคิดว่าน่าจะมีการแก้กฎหมายขยายอายุความเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายมีเวลาฟื้นฟูจิตใจก่อนดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ที่ผู้เสียหายไม่แจ้งความข้อหาข่มขืนตั้งแต่แรกเพราะผู้กระทำอยู่ในอำนาจเป็นถึงประธานรัฐสภาขณะนั้น และผู้เสียหายเป็นถึงลูกข้าราชการระดับสูง จึงเป็นห่วงชื่อเสียงหน้าตาของครอบครัว  อีกทั้งถูกเพื่อนร่วมงานมองว่าเป็นการสมยอมจึงไม่กล้าดำเนินการใดๆ

ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยถึงพฤติกรรมคุกคามทางเพศที่น่าวิตกอีกรายว่า เมื่อปี 2552 มีผู้ชายระดับหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชน กระทำคุกคามทางเพศกับผู้ใต้บังคับบัญชาผู้หญิง ทั้งการพูดจาแทะโลม การลวนลามเนื้อตัวร่างกาย ทั้งขณะอยู่ในที่ทำงานและออกไปทำงานนอกสถานที่ โดยคณะกรรมการสอบสวนเรื่องราวการคุกคามทางเพศที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาสอบสวน มีการเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการกระทำผิดจริง จึงสั่งลงโทษพักงาน 1 ปี แต่ผู้ชายได้ลาออกไม่ยอมรับโทษ จากการตรวจสอบผู้ชายคนนี้ยังกระทำคุกคามทางเพศกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศที่มาทำงานแลกเปลี่ยน ที่น่าห่วงคือหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนรายนี้อายุประมาณ 30 กว่าปี เป็นผู้มีชื่อ เสียงระดับชาติ ยังได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หากคนทำงานด้านสิทธิแต่กลับไปละเมิดคนอื่นเสียเองแล้วจะไปช่วยผู้ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างไร

น.ส.สุเพ็ญศรีกล่าวว่า กรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานพบมากที่สุดในหน่วยราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานทหารและตำรวจ ระดับ พล.อ., พ.อ. ที่คุกคาม ทางเพศถึงขั้นข่มขืนกระทำชำเราผู้ใต้บังคับบัญชาในที่ทำงาน รองลงมาเป็นหน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยมักใช้วิธีเอางานมาบังหน้าชักชวนให้ออกไปทำงานนอกสถานที่แล้วบังคับให้กินเหล้า ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องยินยอม  รวมทั้งการจับมือถือแขนในที่ทำงาน คน ภายนอกอาจมองว่าเป็นความสนิทสนมคุ้นเคย ทั้งที่ผู้ กระทำจงใจคุกคามทางเพศ ดังนั้นหน่วยงานต้องดูความเสี่ยงในการร่วมงานระหว่างหญิงชายด้วย

ด้าน น.ส.นิภาพร แหล่พั่ว ฝ่ายข้อมูลและเผยแพร่ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับในปี 2552 พบข่าวการละเมิดทางเพศมีถึง 271 ข่าว มีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 331 ราย ช่วงอายุของผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุด 11-15 ปี มีจำนวน 132 ราย ในจำนวนนี้อายุน้อยที่สุดเพียง 2 ปี 7 เดือน ซึ่งถูกชายในสถานรับเลี้ยงเด็กข่มขืน อายุมากที่สุด 79 ปี ส่วนผู้กระทำมีจำนวน 485 ราย ช่วงอายุ 16-20 ปีมีมากที่สุด 112 ราย โดยผู้กระทำอายุมากที่สุด 73 ปี อายุน้อยที่สุด 4 ขวบ เป็นเด็กอนุบาลที่ถูกครูสั่งให้เอานิ้วและอวัยวะเพศสอดใส่อวัยวะเพศนักเรียนหญิง สำหรับประเภทการละเมิดทางเพศมากที่สุดคือ การข่มขืน รองลงมา คือ การรุมโทรม อนาจาร ตามลำดับ โดยสถิติละเมิดทางเพศปี 2552 มากกว่าปี 2551 ที่มี 220 ราย

(ไทยรัฐ, 10-8-2553)

นักวิชาการชี้ “ตู้เอทีเอ็มบริการภาษาพม่า” เรื่องปกติทางการตลาด

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.53 - นายองค์ บรรจุน นักวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวมอญจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวให้สัมภาษณ์กรณีรายงานข่าวเรื่องตู้เอทีเอ็มให้บริการภาษาพม่าในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาครว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าวเป็นการแสดงถึงอคติของสื่อที่เลือกเล่นประเด็นนี้ โดยเอาไปผูกพันกับประวัติศาสตร์ว่าเขาเคยเผาบ้านเผาเมือง วันนี้ก็จะมีการมา “ยึดเมืองมหาชัย” อีกแล้ว ทั้งที่ความจริงกรณีแรงงานพม่าในมหาชัยมีการนำเสนอข่าวกันมาค่อนข้างมากแล้ว และหากไปดูในย่านเยาวราช พัฒน์พงศ์ก็จะเห็นว่าจะมีภาษาจีน ภาษาเกาหลีอยู่ทั่วไป ซึ่งหากไม่มีอคติเราก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

การปฏิรูปสื่อที่พูดกันในปัจจุบันควรพูดถึงเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะการทำร้ายคนไม่มีอำนาจ ถือเป็นการเปิดใจกว้าง ดีกว่าปิดกั้นเขาโดยอคติ 

นายองค์กล่าวด้วยว่า ความจริงการอยู่ในมหาชัยของแรงงานพม่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่อาจดูน่าหมั่นไส้สำหรับคนบางคนมากกว่า เพราะอาจมีคนเห็นว่าไม่ใช้บ้านเมืองคุณ แต่กลับมีการแต่ตัวแบบพม่า ใช้ภาษาพม่าในพื้นที่นี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาแรงงานพม่าที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มีความหวาดกลัวทั้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าของกิจการผู้มีอิทธิพลที่มาข่มขู่และข่มเหงรังแก กรณีของการกดขี่แรงงาน ยึดบัตรเพื่อไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งในปัจจุบันแม้เรื่องเหล่านี้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

ส่วนเรื่องตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาพม่านั้นเขาแสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ตลาดเป็นอย่างไรก็มีการตอบสนองอย่างนั้น เมื่อพื้นที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทั้งพ่อค้าและแรงงานต่างไม่มีใครผิด กลับกับเรื่องนี้เป็นการลดอุปสรรค์ด้านภาษา แก้บัญหาการป้อนข้อมูลผิดพลาดทำให้บัตรเอทีเอ็มถูกยึดซึ่งจะนำไปสู่ความยุ่งยากในกระบวนการของตำรวจและเจ้าหน้าที่ธนาคาร นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์กับทกฝ่าย

“เป็นปกติของการทำธุรกิจ มีตลาดก็ต้องลงมาเก็บตลาด” นายองค์กล่าว 

นอกจากนี้ ในส่วนการรักษาพยาบาลจากอดีตที่แรงงานข้ามชาติจะประสบปัญหาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากอุปสรรค์เรื่องการสื่อสาร ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้มีการจ้างล่ามทั้งภาษาพม่า มอญ ไทยใหญ่ และอังกฤษมาช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ ทำให้สามารถสร้างรายได้มหาศาล ในปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐก็มีการปรับตัวโดยมีการจ้างล่าม ติดตัวอักษรภาษาพม่าบนเคาน์เตอร์ มีคู่มือภาษาพม่า อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงชุมชนเพื่อให้ข้อมูลการรักษาพยาบาล ทำให้การรักษาดีขึ้นแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด

นายองค์ยกตัวอย่างต่อมาถึงการให้บริการโหลดเพลงรอสายและริงโทนเพลงภาษาพม่าของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ต่างๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ในตลาดใหม่ซึ่งผู่ให้บริการต่างต้องการเก็บส่วนแบ่งทางการตลาด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถือเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆของกลุ่มแรงงาน อีกทั้งการเพิ่มภาษาตรงนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้นด้วย

 

(ประชาไท, 11-8-2553)

คนงานเก็บผลไม้ป่าชาวเวียดนามประท้วงในสวีเดน

สต็อกโฮล์ม  11 ส.ค. - เจ้าหน้าที่สวีเดน กล่าวว่า คนงานชาวเวียดนามราว 120 คนที่มาประกอบอาชีพเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนชุมนุมประท้วงสภาพการทำงาน หลังจากแรงงานชาวจีนเพิ่งประท้วงด้วยเหตุผลเดียวกันไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

การประท้วง 2 แห่งดังกล่าวพบว่ามีคนงานเก็บลูกเบอร์รีราว 70 คน ขังหัวหน้ากลุ่มไว้ 6 คน ภายในห้องที่เคยใช้เป็นโรงเรียนซึ่งกลายเป็นที่พักอาศัยของพวกเขา  หัวหน้าคนงานทั้ง 6 คนเป็นชาวเวียดนามถูกทุบตีและมี 2 คนในจำนวนนี้ที่โดนมัดเอาไว้  ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้วและตำรวจกำลังติดตามหาตัวผู้กระทำผิด  ขณะที่แรงงานชาวเวียดนามราว 50 คน เดินขบวนประท้วงจากที่พักและปักหลักนั่งประท้วงตามถนนในเมืองนอร์มาลิง โดยตัวแทนบริษัทเบอร์รี และบริษัทจ้างงานในเวียดนามพยายามหาทางเจรจาคลี่คลายความขัดแย้ง
   
ก่อนหน้านี้คนงานเก็บลูกเบอร์รีชาวจีนราว 120 คนทางเหนือของสวีเดนเดินขบวนประท้วงกลางคืนเพื่อขอขึ้นค่าแรง   ทั้งนี้แรงงานเอเชียหลายพันคนส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เดินทางมาสวีเดนทุกช่วงฤดูร้อนเพื่อทำงานรับจ้างเก็บผลไม้ป่าทางเหนือ และบางครั้งต้องประสบกับการใช้ชีวิตและสภาพการจ้างงานที่ยากลำบาก

 (สำนักข่าวไทย, 11-8-2553)

ลูกจ้างโรงแรมหนี้ท่วมวอนรัฐงดเก็บภาษี

นายอภิรัตน์ นุตะมาน ประธานสหภาพแรงงานรอยัล ออคิด เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และอื่นๆ ทำให้กระทบต่อการทำงาน และรายได้ของลูกจ้างในส่วนนี้อย่างมาก หลายคนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว จึงทำให้เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นทางออกในภาวะวิกฤติของแต่ละคนเพื่อความอยู่รอดในช่วงดังกล่าว

ขณะนี้ผู้เดือดร้อนทั้งหมดต้องแบกภาระดอกเบี้ย หนี้สิน จึงได้มีการหารือร่วมกันและเห็นว่าการนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาปลดหนี้ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ คนงานในหลายสถานประกอบการได้มีการเสนอกับนายจ้าง ผู้ประกอบการ จนเป็นที่เข้าใจและตกลงกัน โดยให้พนักงานที่เดือดร้อนลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพชั่วคราว แต่เรื่องนี้ทางสรรพากรกลับนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปคำนวณเป็นรายได้ ที่ต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากร จึงเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง เพราะเป็นเงินออมของลูกจ้าง และเงินสมทบร่วมของนายจ้าง

“แม้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ตอนนี้หลายคนเครียดกับปัญหาหนี้สินบีบรัดลูกจ้างมาก ที่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย” นายอภิรัตน์กล่าวและว่า เราไม่ต้องการยุบ หรือยกเลิกกองทุนฯ เพราะลูกจ้างทุกคนรู้ดีว่าเงินสำรองเลี้ยงชีพมีความหมายและความสำคัญที่เป็นเงินออมไว้ใช้ยามออกจากงาน หรือเกษียณ จึงเชื่อว่าคนที่ลาออกเป็นการตัดสินใจด้วยความจำเป็น และจะกลับเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปีหน้า เห็นว่ายังจะเป็นการผ่อนคลายภาระของนายจ้าง ผู้ประกอบการในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วย

 (กรุงเทพธุรกิจ, 12-8-2553)

สนร.มาเลย์เตือนพบใบอนุญาตทำงานปลอม

สนร.มาเลเซีย ได้ประสานงานกับฝ่ายแรงงานต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานใหญ่ปุตราจายา ขอให้ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของคนงานดังกล่าว รวมทั้งเพื่อนคนงานอีก3 คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ปรากฏว่าใบอนุญาตทำงานซึ่งประทับอยู่ในหนังสือเดินทางของคนงานทั้ง4 คน เป็นของปลอม

ในกรณีนี้ คนงานไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ อาจจะมีความผิดหลายข้อหา ได้แก่การใช้เอกสารปลอม และพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซียเกินกำหนด และอาจจะรวมถึงการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย สำหรับรายอื่นๆ ในขณะนี้ยังไม่ได้ถูกจับกุม ทั้งหมดยืนยันว่านายจ้างได้มอบให้ตัวแทนเป็นผู้ดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน โดยหักค่าใช้จ่ายจากคนงานเป็นเงินคนละประมาณ 4,000 ริงกิต (40,000 บาท) โดยทั้งนายจ้างและคนงานก็เชื่อว่าเป็นใบอนุญาตทำงานจริงซึ่งขณะนี้ทางนายจ้างได้พยายามติดต่อกับตัวแทนแต่ยังไม่ทราบผล

จากการประชาสัมพันธ์ไปยังคนงานไทยทำให้มีคนงานรายอื่นอีก 3 ราย ซึ่งทำงานเป็นพนักงานนวดอยู่กับนายจ้างที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ Jalan Abdullah, 84000 Muar, Johor ได้ติดต่อขอให้ช่วยตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากนายจ้างใช้เวลาดำเนินการนานกว่า 8 เดือนขณะนี้ได้ใบอนุญาตทำงานติดในหนังสือเดินทางแล้วแต่ยังมีข้อสงสัย  สนร. มาเลเซียได้ประสานงานกับฝ่ายคนงานต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ทราบในเบื้องต้นว่าทั้งหมดไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบของการอนุมัติใบอนุญาตทำงาน

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวสนร.มาเลเซีย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้กับคนงานไทยให้ระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่นายจ้างมอบให้นายหน้าตัวแทนเป็นผู้ไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน  สำหรับขั้นตอนที่ถูกต้องของการขอใบอนุญาตทำงานนั้น คนงานจะต้องได้รับCalling Visa (ระบุชื่อของคนงาน) จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย และจะต้องผ่านการตรวจโรคกับคลินิกที่อยู่ในสังกัดของ Fomema (หน่วยงานตรวจสอบสุขภาพคนงานต่างชาติ) ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานติดลงในหนังสือเดินทางได้  สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานแล้ว มีข้อสังเกตเบื้องต้นในการตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือไม่ โดย (1) ชื่อนายจ้างและสถานที่ทำงานที่ระบุในใบอนุญาตทำงานต้องตรงกับการทำงานจริง (2) ในส่วนของค่าธรรมเนียมของคนไทยต้องระบุว่า Gratis (ยกเว้น) และ (3)คนงานต้องได้ไปรับการตรวจโรคที่คลินิกในประเทศมาเลเซีย และหากมีข้อสงสัยประการใดสนร.มาเลเซีย ยินดีประสานงานให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบต่อไป

ด้าน นายสิงหเดช ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)  ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เดินทางเยี่ยมคนไทยที่สถานกักกัน Lenggeng รัฐเนเกอรี เซมบิลัน เพื่อตรวจสอบเอกสารเดินทางของคนไทย ก่อนที่จะส่งกลับประเทศไทยภายใต้กิจกรรมคืนสู่เหย้า เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถโดยประเทศมาเลเซีย จะดำเนินการจัดส่งคนไทยที่ถูกขังอยู่ในสถานกักกันทั่วประเทศมาเลเซีย จำนวนประมาณ 200 คน

สำหรับการตรวจเยี่ยมในวันดังกล่าว พบว่า มีคนไทยที่รอการส่งกลับจำนวน 34 คน แยกเป็นชาย 14 คน หญิง 20 คน (ในจำนวนนี้มีผู้เยาว์2 คน) ส่วนใหญ่ถูกจับกุมในข้อหาเข้าประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีใบอนุญาตทำงาน(ร้านต้มยำ พนักงานนวด และงานประมง) ทั้งหมดจะถูกส่งตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 8 สิงหาคม 2553 ซึ่ง สนร. มาเลเซีย ได้ประสานความช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้จากหน่วยงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เดินทางกลับในแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นการหางานให้ทำและการประกอบอาชีพตามความเหมาะสมต่อไป

(พิมพ์ไทย, 12-8-2553)

อุตฯชิ้นส่วนพลิกเกมแก้แรงงานขาด ทุ่มหมื่นล้านชูโรบอตแทนคนรับผลิตรถพุ่ง1.8ล.คัน

แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ยานยนต์แห่งประเทศไทย หรือ "TAPPA" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ปัญหาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนนั้นเกี่ยวกับภาวะขาดแรงงานฝีมือยังมีอย่าง ต่อเนื่อง เหตุผลเพราะแรงงานที่ถูกปลดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงวันนี้ยังไม่กลับมาครบตามจำนวน ทำให้วันนี้กลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์มีแรงงานขาดหายไปมากกว่า 15%

"ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเรามีการเก็บตัวเลข ว่าได้ปลดแรงงานออกจากอุตสาหกรรมสูงถึง 40% แต่วันนี้เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย แรงงานกลับเข้ามาทำงานแต่เฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์ ในขณะที่โรงงานชิ้นส่วนกลับคืนมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมจึงได้หาวิธีแก้ไขปัญหาและได้ข้อสรุปด้วยการหันไปใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปแทน ควบคู่ไปกับการเลือกใช้แรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่มชาวไทยภูเขาเข้ามาแทนที่แรงงานที่หายไป ซึ่งคิดเป็นจำนวน 5-6% ของแรงงานในอุตสาหกรรมทั้งหมด 300,000 คน

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกภายในสมาคม พบว่าตัวเลขของการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรที่จะนำเข้าใช้ทดทนแรงงานที่หายไปนั้น น่าจะมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 400-500 ชุด โดยจากการคำนวณขีดความสามารถของเครื่องจักรที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานที่หายไปนั้น พบว่าเครื่องจักร 1 เครื่อง สามารถทดแทนแรงงานคนได้    3-4 คน และคาดว่าจะมีการลงทุนของสมาชิกภายในกลุ่ม สำหรับปีนี้ทั้งปีไม่น้อยกว่า 5,000-10,000 ล้านบาททีเดียว

นอกจากนี้สมาคมยังได้มีการหารือร่วมกับ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" ถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการสร้างคนให้เข้ามายังอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมงานปั๊มขึ้นรูป และงานเชื่อม ด้วยการร่วมมือกันสร้างหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มสามารถนำไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาแรงงานของแต่บริษัท ซึ่งตอนนี้มีความคืบหน้าไปมาก

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อไปว่า แรงงานฝีมือยังเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์อยู่ในระดับ 1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ 700,000-750,000 คัน และการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกอีกประมาณ 800,000 คัน ส่วนปีหน้าคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 1.8 ล้านคันอย่างแน่นอน

และที่สำคัญปีหน้าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่มีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดน้ำมัน (อีโคคาร์) ซึ่งจะมีอย่างน้อย 2 ค่าย คือ ฮอนด้า และซูซูกิ ที่พร้อมทำตลาดแน่นอน

(ประชาชาติธุรกิจ, 12-8-2553)

 

ผู้นำแรงงาน-นักวิชาการ หวังปลัดคนใหม่ผ่าตัด สปส. 
 
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย (สธง.) และอดีตกรรมการประกันสังคม กล่าวถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่.ว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้นำแรงงานและอยู่ในวงการแรงงานมานาน คิดว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งปลัดคนใหม่ควรจะเป็นคนที่ทำงานตรงไปตรงมา กล้าตัดสินใจ ไม่เป็นคนของการเมือง วางตัวเป็นกลาง มีความเป็นธรรม ไม่ดูถูกผู้ใช้แรงงาน และที่สำคัญควรมีความรู้และวิสัยทัศน์ด้านแรงงานในระดับสากล หากเป็นคนที่มาจากกระทรวงแรงงานก็จะสามารถเข้าใจปัญหาแรงงานเป็นอย่างดี และควรมีอายุราชการมากกว่า 1 ปี

นายชัยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากฝากให้ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ดำเนินการในเรื่องระบบแรงงานสัมพันธ์ให้มีความเป็นกลาง ยึดกฎหมายเป็นสำคัญในการแก้ไขข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งข้าราชต้องมีจริยธรรมข้าราชให้มาก นอกจากนี้ ควรมีการปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ใหม่ หากสามารถเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับหน่วยงานราชการก็จะทำให้การบริหารงานด้านการเงินได้คล่องตัวยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน สปส.ควรเปิดกว้างในการให้ประชาชนหรือผู้ประกันตนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือรับทราบข้อมูลที่เปิดกว่างยิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบได้

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากฝากถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ด้านแรงงาน เข้าใจปัญหาแรงงาน กล้าตัดสินใจ ไม่ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจทางการเมือง และที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีประโยชน์แอบแฝง เนื่องจากปัจจุบันปัญหาแรงงานมีจำนวนมาก ทั้งการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ การละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ รวมทั้งการปัญหาของสำนักงานประกันสังคม จนส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานต้องออกมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์จำนวนมาก

ขณะที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจแรงงาน มีความเฉียบคม เข้าใจนโยบายค่าจ้าง เพราะรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายชัดเจนในการผลักดันรัฐสวัสดิการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพิ่มสวัสดิการแรงงานโดยตรง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คาดหวังในตัวปลัดคนใหม่เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นอดีตปลัดแรงงานคนไหนที่มีระบบความคิดที่สนับสนุนให้แรงงานมีความเข้มแข็ง ทั้งในเชิงอำนาจต่อรอง และสวัสดิการต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับพวกนายทุน

“สิ่งแรกที่ปลัดคนใหม่ต้องทำคือ ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือปรับดุลอำนาจ ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นมา ต้องสนับสนุนให้คนงานตั้งสหภาพฯ มีอำนาจต่อรองนายจ้างมากขึ้น”นายณรงค์กล่าวและว่า ในส่วนการคัดเลือกบอร์ดประกันสังคม ที่เป็นระบบไตรภาคี โดยรูปแบบการเลือกกรรมการฝ่ายลูกจ้างไม่ได้มาจากเสียงของตัวแทนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงแรงงานที่เป็นประธานบอร์ดไม่เคยสนใจ ซึ่งบอร์ดประกันสังคมดูแลเม็ดเงินของผู้ประกันตนกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ที่เป็นสมาชิกสหภาพแค่ 4 แสนคนเท่านั้น ซึ่งปลัดคนใหม่ให้ความสำคัญและควรเปลี่ยนกฎเกณฑ์การคัดเลือกบอร์ดได้แล้ว

นายณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ที่ทำงานได้มีอยู่ 38 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 67 ล้าน ใน 38 ล้านคนเป็นลูกจ้าง 17 ล้าน โดย 14 ล้านคนเป็นลูกจ้างเอกชน และอีก 3 ล้านเป็นลูกจ้างรัฐ ขณะที่เกษตรกรมีแค่ 12 ล้านคน เพราะฉะนั้นโครงสร้างสังคมจะมีกลุ่มลูกจ้างเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด และเมื่อลูกจ้างถูกกดสถานนะด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ที่ส่งผลต่อสภาพการทำงานให้ต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ ดังนั้นเมื่อต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถามว่าคนที่อยู่ต่ำกว่าก็คือแรงงาน คนที่อยู่ข้างบนจะแก้ยังไง โดยทั่วไปการทำให้คนข้างบนเฉลี่ยกลับลงมาได้มี 2 อย่าง คือเรื่องภาษี และการควบคุมระบบการผูกขาด นั้นคือการทำให้ประชาชนเข้มแข็ง มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ปลัดคนใหม่ต้องเข้าใจว่าการขึ้นค่าจ้างมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน จะเสนอรายชื่อปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยผู้ที่อยู่ในข่ายน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน มีด้วยกัน 4 คน ได้แก่ นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน

(แนวหน้า, 12-8-2553)

สสช.เผยผู้ว่างงานลดลง 8.8 หมื่นคน

วันนี้ ( 13 ส.ค.) นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในเดือนมิ.ย.53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.59 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 88,000 คน หรืออัตราว่างงานลดลง 0.2% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีผู้ว่างงานลดลง 1.27 แสนคน หรือลดจาก 5.86 แสนคน เป็น 4.59 แสนคน

ส่วนจำนวนผู้มีงานทำในเดือนมิ.ย.นี้ มีทั้งสิ้น 38.10 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 2.6 แสนคน คือลดลงจาก 38.36 ล้านคน เป็น 38.10 ล้านคน หรือลดลง 0.7% โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 1.43 ล้านคน หรือลดลงจาก 15.98 ล้านคน เป็น 14.55 ล้านคน เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตรกรรมกันมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอีก 1.17 ล้านคน โดยเพิ่มจาก 22.38 ล้านคน เป็น 23.55 ล้านคน

สำหรับแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากส่วนใหญ่อยู่ในสาขาขายส่งและขายปลีก 4.5 แสนคน รองลงมาคือสาขาก่อสร้าง 3.4 แสนคน สาขาบริหารราชการแผ่นดิน 1.8 แสนคน สาขาการผลิต 1.6 แสนคน สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 1.3 แสนคน กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ 40,000 คน สาขาบริการชุมชน 20,000 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น

(เดลินิวส์, 13-8-2553)

ก.ศึกษาเร่งผลิตคนป้อนอุตฯยานยนต์-แม่พิมพ์-แฟชั่น

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ว่าตนได้รายงานถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการผลิตกำลังคนสายอาชีพ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมแฟชั่น ตามแนวทางที่ตนได้เคยหารือกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้ทั้ง 2 กระทรวงร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคน ตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการ และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดังกล่าวของภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยแม้จะมีฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่ก็ยังขาดแคลนบุคลากรทั้ง 3 สาขาอาชีพมาก โดน สอศ.ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยสำรวจความต้องการของสถานประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้านว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อที่จะวางแผนผลิตนักศึกษาเข้าสู่สถานประกอบการ โดยให้สถานศึกษาการจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี หรือจัดให้มีโรงเรียนในโรงงาน ประการสำคัญของให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จ่ายตอบแทนที่เหมาะสมแก่นักศึกษาด้วย

(ไซต์ไทยรัฐ, 13-8-2553)

นักวิชาการ-ผู้นำแรงงาน เสนอเปิดพื้นที่ให้คนงานร่วมปฏิรูปประเทศ 
 
นักวิชาการ-ผู้นำแรงงาน เสนอเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานร่วมปฏิรูปประเทศ เผยผู้ใช้แรงงานถูกปฏิเสธเป็นคณะกรรมการฯ ชี้ต้องเร่งรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับ 87-98 ให้สิทธิคนงานรวมตัวเจรจาต่อรอง แนะเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีเลือกตั้งในสถานประกอบการ

ในงานเสวนาเรื่อง “อนาคตผู้ใช้แรงงานกับการปฏิรูปประเทศไทย” ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กลุ่มเพื่อนประชาชน และโครงการติดตามประชาธิปไตยในประเทศไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดขึ้น โดยมีการนำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานต่อการปฏิรูปประเทศไทย รวม 10 ข้อ ให้ผู้ร่วมเสวนาได้คัดเลือกเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงานอิสระ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของแรงงานไทยในขณะนี้คือ รัฐไม่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน ทำให้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งหากรัฐยังไม่ยอมรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับ 87-98 การปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ ก็ยากที่จะคาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์ พร้อมเสนอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ หรือสถานที่ที่คนงานพักอาศัยอยู่ เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะมาแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานโดยตรง  โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก จังหวัดละ 300,000-400,000 คน เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร จึงขอเสนอให้แก้ไขโดยทำเป็นทะเบียนบ้านกลาง หรือใช้ฐานข้อมูลจากระบบประกันสังคมที่มีอยู่เดิม

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท.กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาของผู้ใช้แรงงานยังคงเป็นปัญหาเดิม ๆ ทั้งปัญหาค่าจ้างไม่เป็นธรรม ปัญหาสิทธิการรวมตัว ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกฝ่าย ไม่มีตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน หรือคนจน เข้าไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูป ทั้งที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  แต่กลับมีตัวแทนฝ่ายนายจ้างเข้าไปเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเพื่อให้การปฏิรูปครั้งนี้เกิดประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม

สำหรับข้อเรียกร้องที่ได้รับการคัดเลือกมากที่สุดจากงานเสวนา 3 อันดับแรก คือ การแก้ไขให้คนงานมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ รองลงมาคือ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับ 87-98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงาน และการแก้ไขค่าจ้างให้เป็นธรรม

(สำนักข่าวไทย, 14-8-2553)

ลำปางเตือนลวงทำงานที่ลาว

น.ส.ลักษณา สิริเวชประเสริฐ จัดหางานจังหวัดฯ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานว่ามีกลุ่มบุคคลที่เป็นนายหน้าจัด หางาน ได้ชักชวนให้คนงานใน อ.เถิน และ อ.แม่พริก สมัครงานเพื่อไปทำงานกับบริษัท ภูเบี้ย ไมนิ่ง จำกัด สาธารณรัฐประชาชนลาว โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวอ้างว่าบริษัท ภูเบี้ยฯ ต้องการรับสมัครคนงานไปทำงานเหมืองแร่ในประเทศลาว โดยจะจัดส่งคนงานให้กับบริษัท PAN AUST ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่จากทางการลาว และได้เรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางาน เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าตรวจโรค และค่าประวัติตรวจสอบอาชญากรรมหรือ CID รายละ 15,000-20,000 บาท ปัจจุบันมีคนหางานหลงเชื่อสมัครงานดังกล่าวและจ่ายเงินให้สายนายหน้าจัดหางานแล้วคนละ 15,000 บาท แต่ไม่สามารถพาเดินทางไปทำงานได้ตามตกลง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ขอให้คนหางานโปรดระวัง อย่าหลงเชื่อสายนายหน้า ซึ่งสำนักงานได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ากรมการจัดหางานยังไม่เคยอนุญาตให้บริษัทจัดหางานใดรับสมัครหรือจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศลาว หากพบเห็นหรือทราบเบาะแส ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางทราบ สอบ ถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-5426-5049

(ข่าวสด, 14-8-2553)

ขบวนการแรงงานเสนอ 10 ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานต่อการปฏิรูปประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 53 -  ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเวทีสัมมนาเรื่อง "อนาคตผู้ใช้แรงงานกับการปฏิรูปประเทศไทย" โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เสนอ 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปประเทศไทย

1. สิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ : ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านของตน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีคนทำงานจำนวนมากที่อพยพจากภูมิลำเนาเดิมเพื่อเข้ามาทำงานประกอบอาชีพทั้งในระบบราชการ ภาคเอกชน และภาคเศรษฐกิจนอกระบบ โดยที่พวกเขาไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามายังพื้นที่ซึ่งตนมาทำงานได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น เจ้าของบ้านเช่าไม่ยอมให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา บางคนพักอยู่ในหอพักที่สถานประกอบการจัดให้ซึ่งก็ไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาได้ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาคือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งตนทำงานจะเรียกว่าถาวรเลยก็ได้ แต่พอมีการเลือกตั้งพวกเขากลับต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาในเขตที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่จริง สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพื้นที่อย่างแท้จริงและทำให้การแก้ปัญหา การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

การให้คนทำงานมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนในพื้นที่ซึ่งเขาทำงานและอาศัยอยู่จริงจะทำให้ผู้แทนต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับคนที่เลือกตนเข้าไปทำหน้าที่แทน

2. การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน : เพื่อให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย เนื่องจากหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่สถานประกอบการปิดตัวลงอย่างกะทันหันและคนงานไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องดำเนินคดีกับนายจ้าง ซึ่งใช้เวลานาน ในขณะที่คนงานตกงานขาดรายได้ กลับต้องรอเงินชดเชยดังกล่าวที่ล่าช้ากว่าจะได้รับ ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัวในการดำรงชีพ

จึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณ ในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการโดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 : ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard)ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้น ก็ควรปฏิบัติให้สมฐานะที่เป็น

ประเทศภาคีสมาชิก โดยการประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

4. พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) :ด้วยปัจจุบันระบบวินิจฉัยทางการแพทย์มีการบิดเบือน เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อแก้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ

ปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน)

5. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ : โดยให้รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน

กระทรวงการคลังต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจและส่งเสริมให้มีผู้แทนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในคณะกรรมการกำกับนโยบายในรัฐวิสาหกิจ (ระดับชาติ) และให้มีผู้แทนของสหภาพแรงงานในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

ด้วยเหตุที่ว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงของชาติถือเป็นภารกิจของรัฐ รัฐต้องบำรุงรักษาและส่งเสริมกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม กิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำไปขายเพื่อการแสวงหากำไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด

6. การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม : ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้มีความโปร่งใสมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 นับเป็นระยะเวลา20 ปี ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึงกว่าเก้าล้านคน ในขณะเดียวกันเงินกองทุนประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นถึงห้าแสนล้านบาท แต่การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมยังมิได้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพื่อรองรับการเติบโตแต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานในรูปแบบขององค์การมหาชนเพื่อความเป็นอิสระภายใต้กำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

7.กรณีค่าจ้างที่เป็นธรรม : "ค่าจ้าง" ไม่ได้เป็นเพียงตัวชี้วัดค่าตอบแทนสำหรับคนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดสินค้าและบริการที่เข้าออกในระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกลไกการผลิตด้วยเช่นกันเศรษฐกิจจะมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะค่าจ้างของคนงานที่ส่งผลต่อเนื่องถึงสมาชิกในสังคมกลุ่มอื่นๆ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน โดยขบวนการแรงงานไทยได้พยายามผลักดันให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนงานและครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐแต่อย่างใด

รัฐบาลควรกำหนดมาตรฐานค่าจ้างที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน สำหรับงานประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมิให้เกิดการย้ายฐานการผลิตภายในภูมิภาคไปสู่ประเทศที่มีมาตรฐานค่าแรงต่ำกว่า อันจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างหากมีการย้ายฐานการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด "งานที่มีคุณค่า" (Decent Work) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมแก่ทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work Deficits) ในแต่ละประเทศ

8. การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ : ในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากการค้าเสรีและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจต้องมีการปรับตัว ผู้ประกอบการจำนวนมากเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลด ต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานในลักษณะเหมาค่าแรง การจ้างเหมาช่วง การกระจายหน่วยการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวขยายตัวไปทุกมุมโลก และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานแรงงาน สิทธิแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ แรงงานนอกระบบมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเจริญเติบโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากรัฐ อยู่กับเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และต้องขยายการคุ้มครองการบริการทางด้านสาธารณสุข ในรูปแบบของประกันสังคมให้คุ้มครองถึงแรงงานทุกระบบอย่างทั่วถึง โดยได้รับมาตรฐานเดียวกันกับแรงงานในระบบและจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม

9. การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ : แม้จะมีการลงนามรับรองในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวไปแล้วสภาพการจ้างงานและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและแรงงานทั่วไปยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลต้องบังคับให้มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิแรงงานในประเทศนั้นในสายอาชีพเดียวกัน ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิในการรวมตัวการร่วมเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย ทั้งนี้เพื่อรองรับการย้ายถิ่นในการทำงาน หรือการอพยพแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้

10. การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม : การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ในการพัฒนาให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ผู้เลี้ยงดูต้องมีปัจจัยที่สำคัญ คือ รายได้เวลา และความรู้ ซึ่งครอบครัวของผู้ใช้แรงงานมีปัจจัยเหล่านี้จำกัด รัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาสนับสนุน และในสถานการณ์ปัจจุบันศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานและการบริการก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ดังนั้น รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยอย่างน้อยที่สุดต้องมีศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมแต่ละแห่งไม่น้อยกว่าหนึ่งศูนย์ และศูนย์เลี้ยงเด็กเหล่านั้นต้องมีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเวลาเปิดทำการและปิดทำการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

(มติชน, 14-8-2553)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขบวนการแรงงานเสนอ 10 ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานต่อการปฏิรูปประเทศไทย

Posted: 15 Aug 2010 12:17 AM PDT

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เสนอ 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปประเทศไทยในประเด็นแรงงาน

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 53 -  ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเวทีสัมมนาเรื่อง "อนาคตผู้ใช้แรงงานกับการปฏิรูปประเทศไทย" โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เสนอ 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปประเทศไทย

1. สิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่สถานประกอบการ :

ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านของตน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีคนทำงานจำนวนมากที่อพยพจากภูมิลำเนาเดิมเพื่อเข้ามาทำงานประกอบอาชีพทั้งในระบบราชการ ภาคเอกชน และภาคเศรษฐกิจนอกระบบ โดยที่พวกเขาไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามายังพื้นที่ซึ่งตนมาทำงานได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น เจ้าของบ้านเช่าไม่ยอมให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา บางคนพักอยู่ในหอพักที่สถานประกอบการจัดให้ซึ่งก็ไม่สามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาได้ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาคือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งตนทำงานจะเรียกว่าถาวรเลยก็ได้ แต่พอมีการเลือกตั้งพวกเขากลับต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาในเขตที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่จริง สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพื้นที่อย่างแท้จริงและทำให้การแก้ปัญหา การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

การให้คนทำงานมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนในพื้นที่ซึ่งเขาทำงานและอาศัยอยู่จริงจะทำให้ผู้แทนต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับคนที่เลือกตนเข้าไปทำหน้าที่แทน

2. การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน :

เพื่อให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย เนื่องจากหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ที่สถานประกอบการปิดตัวลงอย่างกะทันหันและคนงานไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องดำเนินคดีกับนายจ้าง ซึ่งใช้เวลานาน ในขณะที่คนงานตกงานขาดรายได้ กลับต้องรอเงินชดเชยดังกล่าวที่ล่าช้ากว่าจะได้รับ ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัวในการดำรงชีพ

จึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณ ในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการโดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 :

ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันร่วมเจรจาต่อรอง เป็นอนุสัญญาแรงงานหลัก (Core Labour Standard)ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนั้น ก็ควรปฏิบัติให้สมฐานะที่เป็น

ประเทศภาคีสมาชิก โดยการประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีนโยบายด้านแรงงานในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

4. พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) :

ด้วยปัจจุบันระบบวินิจฉัยทางการแพทย์มีการบิดเบือน เอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียและผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อแก้กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ

ปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน)

5. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ :

โดยให้รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน

กระทรวงการคลังต้องจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจและส่งเสริมให้มีผู้แทนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในคณะกรรมการกำกับนโยบายในรัฐวิสาหกิจ (ระดับชาติ) และให้มีผู้แทนของสหภาพแรงงานในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

ด้วยเหตุที่ว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงของชาติถือเป็นภารกิจของรัฐ รัฐต้องบำรุงรักษาและส่งเสริมกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม กิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำไปขายเพื่อการแสวงหากำไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด

6. การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม :

ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้มีความโปร่งใสมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 นับเป็นระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึงกว่าเก้าล้านคน ในขณะเดียวกันเงินกองทุนประกันสังคมก็เพิ่มขึ้นถึงห้าแสนล้านบาท แต่การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมยังมิได้มีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพื่อรองรับการเติบโตแต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานในรูปแบบขององค์การมหาชนเพื่อความเป็นอิสระภายใต้กำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัว โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

7.กรณีค่าจ้างที่เป็นธรรม :

"ค่าจ้าง" ไม่ได้เป็นเพียงตัวชี้วัดค่าตอบแทนสำหรับคนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดสินค้าและบริการที่เข้าออกในระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกลไกการผลิตด้วยเช่นกันเศรษฐกิจจะมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะค่าจ้างของคนงานที่ส่งผลต่อเนื่องถึงสมาชิกในสังคมกลุ่มอื่นๆ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพของคนงานในแต่ละวัน โดยขบวนการแรงงานไทยได้พยายามผลักดันให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนงานและครอบครัวดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐแต่อย่างใด

รัฐบาลควรกำหนดมาตรฐานค่าจ้างที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน สำหรับงานประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมิให้เกิดการย้ายฐานการผลิตภายในภูมิภาคไปสู่ประเทศที่มีมาตรฐานค่าแรงต่ำกว่า อันจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างหากมีการย้ายฐานการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด "งานที่มีคุณค่า" (Decent Work) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการให้มีการส่งเสริมแก่ทุกรัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในการเสริมสร้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work Deficits) ในแต่ละประเทศ

8. การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ :

ในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากการค้าเสรีและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจต้องมีการปรับตัว ผู้ประกอบการจำนวนมากเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลด ต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานในลักษณะเหมาค่าแรง การจ้างเหมาช่วง การกระจายหน่วยการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวขยายตัวไปทุกมุมโลก และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานแรงงาน สิทธิแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ แรงงานนอกระบบมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเจริญเติบโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากรัฐ อยู่กับเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และต้องขยายการคุ้มครองการบริการทางด้านสาธารณสุข ในรูปแบบของประกันสังคมให้คุ้มครองถึงแรงงานทุกระบบอย่างทั่วถึง โดยได้รับมาตรฐานเดียวกันกับแรงงานในระบบและจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม

9. การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ :

แม้จะมีการลงนามรับรองในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวไปแล้วสภาพการจ้างงานและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและแรงงานทั่วไปยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลต้องบังคับให้มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิแรงงานในประเทศนั้นในสายอาชีพเดียวกัน ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิในการรวมตัวการร่วมเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย ทั้งนี้เพื่อรองรับการย้ายถิ่นในการทำงาน หรือการอพยพแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้

10. การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม :

การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ในการพัฒนาให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ผู้เลี้ยงดูต้องมีปัจจัยที่สำคัญ คือ รายได้เวลา และความรู้ ซึ่งครอบครัวของผู้ใช้แรงงานมีปัจจัยเหล่านี้จำกัด รัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาสนับสนุน และในสถานการณ์ปัจจุบันศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานและการบริการก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ดังนั้น รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน โดยอย่างน้อยที่สุดต้องมีศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมแต่ละแห่งไม่น้อยกว่าหนึ่งศูนย์ และศูนย์เลี้ยงเด็กเหล่านั้นต้องมีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเวลาเปิดทำการและปิดทำการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ที่มาข่าว: มติชน ฉบับวันที่ 16 ส.ค. 2553

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น