โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เหตุระเบิด ทางเข้าคิงเพาเวอร์ ซ.รางน้ำ รปภ. เจ็บ 1

Posted: 26 Aug 2010 10:41 AM PDT

 

เว็บไซต์เนชั่นทันข่าว รายงานว่า เวลา 23.10 เกิดเหตุระเบิดบริเวณทางเข้า คิงเพาเวอร์ ด้านถนนพญาไท เยื้องราชวิถี ซอย 7 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน เจ้าหน้าที่นำส่งรพ.ราชวิถี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด กั้นพื้นที่บริเวณดังกล่าว และตรวจสอบเก็บกู้วัตถุระเบิด

พ.ต.ท.กฤษณะ สุกันทะ สว.สส.สน.พญาไท เปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณประตูทางเข้าห้างสรรพสินค้า คิงเพาเวอร์ ฝั่ง รร.เซนจูรี่ปาร์ค ซ.รางน้ำ ถนนพญาไท ทั้งนี้แรงระเบิดส่งผลให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ของห้างได้รับบาดเจ็บ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่ง รพ.แล้ว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิสัชนาเปิดผนึกถึงภัควดี ไม่มีนามสกุล

Posted: 26 Aug 2010 09:42 AM PDT

 

คุณภัควดี ไม่มีนามสกุล เขียนบทความชื่อว่า “ปุจฉาเปิดผนึกถึงพระไพศาล วิสาโล” เพื่อแสดงความเห็นตอบโต้บทสัมภาษณ์ของอาตมา ซึ่งตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม โดยมีการพาดหัวบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า "พระไพศาล วิสาโล: ปฏิรูปอัตตาธิปไตย – 'อภิสิทธิ์'ต้องกล้านำความเปลี่ยนแปลง" ซึ่งต่อมาได้มีการโพสต์ลงในเว็บไซต์ประชาไท

ในบทความดังกล่าว คุณภัควดีมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาตมาหลายประการ ควรที่จะได้รับการชี้แจงในบทความนี้ ควบคู่ไปกับการอธิบายเพิ่มเติมของอาตมาเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่คุณภัควดี ได้เอ่ยถึง

คุณภัควดีได้ออกตัวก่อนที่จะแสดงความเห็นตอบโต้อาตมาว่า “ผู้เขียนมีข้อผูกมัดในทางสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่พึงให้ความเคารพ ต่อพระไพศาลในฐานะผู้อาวุโสกว่าและในฐานะมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนก็จะให้ความเคารพตามข้อผูกมัดนี้ ไม่น้อยกว่านี้และไม่มากไปกว่านี้” อาตมาคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเอาความเป็นพระภิกษุของอาตมามาเป็นเครื่องกีดขวางการวิจารณ์ แต่จะว่าไปแล้วแม้จะมองว่าอาตมาเป็นพระภิกษุ (นอกเหนือจากการเป็นผู้อาวุโสและมนุษย์) คุณภัควดีหรือใครก็ตามย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อาตมาได้ อยู่ดี เพราะพระภิกษุนั้นไม่ควรอยู่เหนือคำวิจารณ์ และสมควรถูกวิจารณ์ด้วยหากคิด พูด หรือทำไม่ถูกต้อง (ในสังคมไทยสมัยก่อน เป็นเรื่องธรรมดามากที่พระจะตกเป็นหัวข้อของการนินทาและวิจารณ์ประชดประชัน อย่างเผ็ดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ นิทานตาเถรยายชี โดยชาวบ้านที่นับถือพระศาสนา) ดังนั้นอาตมาจึงเห็นด้วยกับคุณภัควดีว่า “หากจะมีผู้อ่านท่านใดมาวิพากษ์วิจารณ์ด่าว่าผู้เขียน โดยยกเอาบาปกรรมนรกมายัดเยียดให้ ย่อมเป็นเรื่องไร้สาระ”

คุณภัควดีได้เริ่มต้นการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของอาตมาในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว โดยกล่าวว่า “การเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก โดยละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง หรืออย่างมากก็กล่าวถึงโดยผิวเผินแต่ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงนั้น เป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดในบทสัมภาษณ์ของพระไพศาล” คุณภัควดีพูดต่อไปว่า “เริ่มต้นมาท่านก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า ความขัดแย้งทั้งหมดมีทักษิณเป็นศูนย์กลาง (ซึ่งท่านไม่ได้ขยายความว่า คำว่า "ศูนย์กลาง" นี้หมายถึง "สาเหตุ" "ต้นตอ" "ตัวการ" กินความมากน้อยแค่ไหน)”

ข้อความดังกล่าวชวนให้เข้าใจผิดว่า อาตมามองความขัดแย้งทั้งหมดในเมืองไทยขณะนี้ว่ามีคุณทักษิณอยู่เบื้องหลัง ที่จริงอาตมาพูดถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้น คือเป็นเรื่องที่มีสาเหตุในเชิงโครงสร้าง ดังอาตมาได้กล่าวว่า “แม้ปรากฏการณ์ที่มีอยู่นี้จะเป็นความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) แต่ว่าสาเหตุรากเหง้าไม่ได้อยู่ที่คุณทักษิณอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างของสังคมไทยในหลายมิติที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น ประชาชนมีความสำนึกทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นคนชั้นล่าง คนยากจน หรือ คนชั้นกลางระดับล่าง คนเหล่านี้เมื่อก่อนเขาอาจจะยอมรับความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ ยอมรับในความเป็นสองมาตรฐาน ในความเหลื่อมล้ำได้ แต่เดี๋ยวนี้เขายอมรับได้ยากแล้ว และเป็นอย่างนี้ในหลายวงการ”

สำหรับข้อความที่ว่า “ความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่า อาตมาใช้คำว่า “ความขัดแย้ง”เฉย ๆ ไม่ได้ใช้คำว่า “ความขัดแย้งทั้งหมด” อย่างที่คุณภัควดีเขียน) อาตมาไม่ได้หมายความว่าคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทั้งหมดในเมืองไทย แต่หมายความว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับแต่ปี 48 ล้วนล้อมรอบประเด็นเกี่ยวกับคุณทักษิณเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่คุณ ทักษิณในปี 48-49 ตามมาด้วยการชุมนุมเรือนหมื่นของผู้สนับสนุนคุณทักษิณในภาคอีสานและภาคเหนือ และที่สวนจตุจักร จนเกิดความหวั่นกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบอย่างนองเลือด การรัฐประหารปี 49 เกิดขึ้นก็เพราะต้องการโค่นล้มคุณทักษิณ หลังจากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งก็เพื่อสกัดกั้นคุณทักษิณ (และพวกพ้อง) จากวงการเมือง จนเกิดคดียุบพรรค ใช่แต่เท่านั้นพอถึงปี 51 พันธมิตร ฯ ก็ประท้วงยืดเยื้อจนถึงกับยึดทำเนียบและสนามบิน ทั้งนี้เพื่อต่อต้านรัฐบาลสมัครและสมชายซึ่งถูกมองว่าเป็นนอมินีของทักษิณ และเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกลัวกันว่าจะเป็นการเปิดทางให้คุณทักษิณพ้นผิดหรือกลับสู่วงการเมืองอีก จนกระทั่งมีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคุณทักษิณ(และพวกพ้อง) ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งก็ต่อต้านคนเสื้อแดงเพราะเชื่อว่าคนเสื้อแดงทำเพื่อคุณทักษิณ ในที่สุดคนเสื้อแดงก็ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลและกองทัพซึ่งมีผู้นำเป็นปฏิปักษ์ กับคุณทักษิณ

ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่พูดมาอย่างย่อ ๆ หากไม่เรียกว่าเป็น “ความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณ” อาตมาก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรถึงจะถูกต้องและกระชับกว่านี้ อย่างไรก็ตามอาตมาได้พูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็นแค่ “ปรากฏการณ์” ดังได้พูดต่อจากนั้นว่า สาเหตุรากเหง้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (ดังอาตมาจะชี้แจงต่อไปข้างหน้า)

เป็นความจริงที่ว่าอาตมาได้ “ยกบุคคลดัง ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ” แต่บุคคลเหล่านั้นอาตมาไม่ได้ยกเหมามากองต่อท้ายข้อความในย่อหน้าที่แล้วอย่างที่คุณภัควดีเขียนชวนให้เข้าใจเช่นนั้น อาตมาพูดถึงแต่ละคน (หรือแต่ละคู่) ในบริบทที่ต่างกัน

คุณภัควดีต้องไม่ลืมว่าอาตมาแสดงความเห็นดังกล่าวในฐานะบทสัมภาษณ์ ซึ่งถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง เงื่อนไขอย่างหนึ่งคือคำถามของผู้สัมภาษณ์ อาตมาจะพูดอะไรก็ขึ้นอยู่กับคำถามเป็นสำคัญ อาตมาพูดถึงแมนเดลาและเดอเคลิร์กก็เพราะผู้สัมภาษณ์ถามอาตมาถึงเรื่องการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งไม่ประสบผล ผู้สัมภาษณ์ถามว่า “จำเป็นต้องมีตัวเชื่อมไหม” อาตมาตอบว่า “จำเป็น แต่ถึงที่สุดต้องเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสพูดคุยกับเหมือนแมนเดลากับเดอเคลิร์ก”

ถัดมาผู้สัมภาษณ์ถามว่า “ปัญหาของไทยตอนนี้คือแต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยึดตัวกูเอาไว้?” อาตมาก็ตอบว่า “ต้องมีการ break the ice ซึ่งเป็นหน้าที่ของตัวกลาง” จากนั้นอาตมาจึงพูดถึงคาร์เตอร์ ว่าเป็นตัวอย่างของการ break the ice ระหว่าง เบกินกับซาดัต

คุณภัควดีย่อมทราบดีว่าการเจรจานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้นำสองฝ่าย(หรือหลายฝ่ายสุดแท้แต่กรณี) จะเอาประชาชนของสองฝ่ายมาเจรจากันย่อมเป็นไปไม่ได้ การที่อาตมาพูดถึงการเจรจาระหว่างผู้นำ ก็ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธบทบาทของประชาชนของสองฝ่าย จะว่าไปแล้วไม่มีตอนไหนที่อาตมาปฏิเสธบทบาทของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือบ้านเมืองเลย มีตอนเดียวที่ใกล้เคียงคือพูดถึงรัชกาลที่ 5 และพลเอกเปรม ที่พูดเช่นนั้นก็เพื่อบอกว่า “สมัยก่อน(การแก้ปัญหาประเทศ)ขึ้นอยู่กับผู้นำมาก” แต่อาตมาได้พูดถึงยุคปัจจุบันว่า “ผู้นำอย่างเดียวไม่พอ สังคมต้องช่วยด้วย” คุณภัควดีถามว่า “ผู้เขียนอ่านแล้วสงสัยว่า แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน?” อาตมาก็ขอตอบว่า ประชาชนอยู่ในบทสัมภาษณ์ของอาตมาแล้ว เพราะ “สังคม”ที่อาตมาพูดถึงนั้นหมายถึงประชาชน

ควรกล่าวด้วยว่าการสัมภาษณ์ครั้งนั้น(วันที่ 17 สิงหาคม) ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม มีเนื้อความหลายตอนถูกตัดไป เช่น อาตมาได้พูดถึงการปฏิรูปประเทศว่า “เรื่องการเปลี่ยนแปลงเราอย่าไปหวังรัฐบาล ต้องเสนอต่อสังคมให้ขับเคลื่อน ซึ่งคุณอานันท์ (ปันยารชุน ประธานกรรมการปฏิรูป) บอกเราจะเสนอข้อเสนอต่อประชาชน แต่สำเนาถึงรัฐบาล”

คุณภัควดีเขียนว่า อาตมา “ใช้วาทกรรมที่มุ่งเป้าเกี่ยวกับตัวบุคคลเป็นหลัก เช่น ความรัก ความเข้าใจ การไว้วางใจกัน การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัวกูของกู อัตตาธิปไตย ฯลฯ” คำกล่าวนี้ก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ขอให้ดูคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ถามอาตมาก่อนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร หากกลับไปอ่านดูก็น่าจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดอาตมาจึงพูดถึงประเด็นดังกล่าวค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอาตมาไม่ได้พูดแต่เรื่องตัวบุคคลอย่างเดียว หากยังพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองที่นำไปสู่ปัญหาในปัจจุบัน ดังอาตมาให้สัมภาษณ์ (แต่ถูกตัดออกไป) ว่า “ต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือความขัดแย้งเชิงบุคคล แต่มันเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การดูถูกเหยียดหยาม เพราะยากจนเพราะเป็นคนบ้านนอก ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

สิ่งที่ไม่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ ไม่ได้แปลว่าอาตมาไม่ได้พูดในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น มีคำให้สัมภาษณ์ของอาตมาหลายประเด็นที่ถูกตัดออกไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน (รวมทั้งเรื่องที่พูดถึงกรอบการทำงานคณะกรรมการปฏิรูปว่า มุ่งสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ ด้านที่ดินและทรัพยากร ด้านโอกาส ด้านสิทธิ และด้านอำนาจต่อรอง) นอกจากเป็นเพราะข้อจำกัดทางเนื้อที่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเพราะกองบรรณาธิการเห็นว่ามีบางประเด็นที่ “ล่อแหลม”

เป็นธรรมดาของการให้สัมภาษณ์ที่ใครก็ตามย่อมไม่สามารถพูดทุกเรื่องได้ และหลายเรื่องที่พูดก็ไม่สามารถอธิบายแจกแจงให้ละเอียดได้ ไม่เหมือนบทความหรืองานวิชาการที่เราสามารถเขียนแจกแจงประเด็นใดประเด็น หนึ่งเป็นหน้า ๆ หรือหลายหน้าได้ อาตมายอมรับว่าพูดเรื่องกระจายอำนาจน้อย (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์ว่า “จะใช้หลักธรรมะข้อไหนมาช่วยเยียวยา”) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาตมาไม่เห็นความสำคัญ ประเด็นเหล่านี้อาตมาได้เขียนไว้ในที่อื่นแล้ว ล่าสุดได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “สร้างสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี” ดังมีข้อเสนอตอนหนึ่งว่า “กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับ ชุมชนไปถึงระดับชาติ รวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่น มีกลไกที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น” http://www.visalo.org/article/budTumKwamdee999.htm

ในประเด็นเรื่องกระจายอำนาจ คุณภัควดีอ้างว่า อาตมา “ยังตั้งเงื่อนไขแฝงไว้หลายอย่าง เช่น ไม่ควรใช้แนวทางประชานิยม” ไม่มีตอนไหนที่อาตมาพูดเช่นนั้นเลย ที่จริงอาตมากล่าวว่า การ “ยื่นเงินไปให้ ให้แค่ประชานิยม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง” คนที่อ่านอย่างตั้งใจย่อมเข้าใจได้เองว่า อาตมากำลังพูดว่า ลำพังประชานิยมอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

สำหรับประเด็นเรื่อง “กระจายความรัก” ซึ่งคุณภัควดีดูจะไม่พอใจกับแนวความคิดนี้เอามาก ๆ ถ้าอ่านให้ดีจะพบว่า สำนวนนี้ไม่ใช่เป็นของอาตมา แต่เป็นของอดัม คาเฮน (นักสันติวิธีที่มาบรรยายเมื่อวันที่ 16 และ 17 สิงหาคม ดังเป็นข่าวในสื่อมวลชนหลายแห่ง) โดยอาตมาได้กล่าวถึงเขาว่า “อดัม คาเฮน พูดเมื่อสองสามวันก่อนว่า การกระจายความรักไปให้คนอื่นมากขึ้น จะช่วยลดความขัดแย้งได้”

อาตมาเห็นด้วยกับความเห็นของคาเฮน แต่ก็พูดเพิ่มเติมว่า “แต่การกระจายความรักอย่างเดียวก็ไม่พอ จะต้องกระจายอำนาจด้วย ถ้ารักแล้วไม่ทำอะไรก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารักแล้วแค่ยื่นเงินไปให้ ให้แค่ประชานิยม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง”

อาตมาไม่ได้เรียกร้องให้คนรักกันหรือมีเมตตาอย่างเดียว ในการให้สัมภาษณ์และข้อเขียนหลายชิ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อาตมาได้ย้ำว่าจะต้องมีอะไรมากกว่านั้น จึงจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ได้ ในบทความเรื่อง “สังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี” (มติชน 25 ตุลาคม 2552) อาตมาได้ย้ำว่า “การเรียกหาความสามัคคีหรือสมานฉันท์ของคนในชาติ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากบ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำกันมากมายขนาดนี้ ในทำนองเดียวกันการหวังให้คนมีความเมตตากรุณาหรือมีศีลธรรมต่อกันจะเกิดขึ้น ได้อย่างไรหากสภาพสังคมที่เป็นอยู่มีแนวโน้มที่จะดึงเอาด้านลบของผู้คนออกมา สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากไม่เพียงบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเท่านั้น หากยังกัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้คนด้วย มิพักต้องเอ่ยถึงการบั่นทอนสุขภาพ (การวิจัยของวิลคินสันชี้ว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีอัตราการตายของทารก โรคอ้วน การใช้ยาเสพติด และมีความเครียดสูงตามไปด้วย)” http://www.visalo.org/article/matichon255210_2.htm

คุณภัควดี ยังให้ความเห็นอีกว่า “การ "กระจายความรัก" แบบนั้นยังมีข้ออันตรายอยู่ในตัวเองด้วย เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น แทนที่จะเรียกร้องให้มีการรับผิด กลับเรียกร้องให้ลืมและให้อภัยกัน นี่ไม่เท่ากับเป็นการให้ท้ายอาชญากรรมหรอกหรือ? หากมีคนมาฆ่าบิดามารดาของท่านตาย ถึงแม้ท่านให้อภัยได้ กระจายความรักได้ แต่ฆาตกรผู้นั้นย่อมต้องมีความผิดตามกฎหมายกระบิลเมืองอยู่ดี (ยกเว้นกฎหมาย กระบิลเมืองไม่มีต่อไปแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่ไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกบุคคลจะมาตัดสินเอาตามความพอใจของตน แต่เป็นเรื่องกฎกติกาของสังคมที่ต้องรักษาไว้”

ที่จริงอาตมาไม่ได้มีความเห็นแตกต่างจากคุณภัควดีแม้แต่น้อยในประเด็นหลัง เพราะอาตมาเห็นว่า การมีความรักความเมตตาต่อกันและกันนั้น มิได้หมายถึงการ “ให้ท้ายอาชญากรรม” ในบทความเรื่อง “คนผิดก็มีสิทธิได้รับความเมตตา” ซึ่งเพิ่งลงมติชนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา อาตมาได้ย้ำว่า “เมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณนั้นมิได้หมายความว่า ไม่ต้องแยกแยะระหว่างคนถูกกับคนผิด หรือระหว่างความถูกกับความผิด ทั้งคนถูกและคนผิดสมควรได้รับความเมตตาจากเราในฐานะชาวพุทธผู้เจริญรอยตาม บาทพระศาสดาก็จริง แต่หากใครจะได้รับโทษโดยสมควรแก่ความผิดของเขา ก็เป็นเรื่องที่เราพึงวางใจเป็นอุเบกขา ไม่ควรขวางกั้นกระบวนการดังกล่าว แต่หากมีอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ในระหว่างที่รับโทษทัณฑ์ก็สมควรทำ ในฐานะเพื่อนมนุษย์

“สำนึกในความถูกต้องไม่ควรถูกเบี่ยงเบนโดยเมตตากรุณาที่เจืออคติ (เช่นฉันทาคติ) จนกลายเป็นการช่วยเหลือคนผิดในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่ต้องระวังไม่น้อยกว่ากันก็คือความยึดมั่นในความถูกต้องจนขาดเมตตากรุณา เช่น ยึดติดกับความถูกความผิดจนเห็นคนผิดมิใช่มนุษย์ ดังนั้นจึงไม่สมควรได้รับความเมตตากรุณาจากเรา” http://www.visalo.org/article/matichon255308.html

อาตมาเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าควรนำคนผิดมาลงโทษ เพื่อรักษากฎหมายและหลักเกณฑ์ของสังคม (นี้เป็นความหมายส่วนหนึ่งของคำว่า “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งไม่ได้หมายถึงระบอบการปกครอง) อันที่จริงอาตมาได้พูดถึงประเด็นนี้หลายครั้งมาก หนึ่งวันหลังจากเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคมยุติ อาตมาได้ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า

“วิธีหนึ่งที่จะเยียวยาความเจ็บปวดและลดทอนความเคียดแค้นก็คือการใช้กระบวนการยุติธรรม การทำความจริงให้ปรากฏ ในทุกสังคมเวลามีความขัดแย้งจนทำร้ายล้างกันระหว่างกลุ่มชน เราพบว่าความจริงและความยุติธรรมสามารถช่วยได้ มีการสอบสวนหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นใครผิดใครถูก ไม่ใช่ว่าตามข่าวลือ แล้วเอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐ นปช. นักธุรกิจ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ถ้าตกเป็นผู้ต้องหาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์ตัวเอง ถ้ากระบวนการยุติธรรมเที่ยงธรรม สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ มันจะช่วยเยียวยาผู้ที่สูญเสีย ผู้ที่เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นคนสีแดงหรือไม่ก็ตาม เราอย่ามองข้ามกระบวนการยุติธรรม จริงอยู่เมตตาธรรมก็ต้องมี อย่างที่พูดมาข้างต้น คืออย่าโกรธเกลียดตอบโต้กัน แต่ว่าก็ต้องใช้ยุติธรรมเข้ามา เพราะยุติธรรมเป็นธรรมะที่ทำให้ยุติได้ในระดับหนึ่ง อยากให้ใช้กระบวนการนี้ในการเยียวยาความเจ็บปวด ลดทอนความเคียดแค้น”

ข้อความข้างต้นได้ตอบคำถามหลายข้อของคุณภัควดีแล้ว โดยเฉพาะที่ถามอาตมาว่า “เมื่อความผิดเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก้ไขและมีการรับผิด จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วบอกให้สังคมไทยเดินหน้าโดยยึดมั่นในหลักแห่งศาสนา ผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านเห็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องตลกหรือ?”

คุณภัควดียังถามอาตมาอีกว่า “ท่านจะให้คุณพ่อของน้องสมาพันธ์ ศรีเทพ คุณแม่ของคุณกมลเกด อัคฮาด พี่ชายของคุณมงคล เข็มทอง ภรรยาของคุณลุงบุญมี เริ่มสุข และคนอื่น ๆ อีกเกือบร้อยคนมา "กระจายความรัก" ให้ฆาตกรที่ฆ่าบุคคลอันเป็นที่รักของเขา มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ให้อภัยย่อมเป็นไปได้ แต่จะให้ลืมแล้วมากอดกันหน้าชื่น ย่อมสุดวิสัยของมนุษย์”

อาตมาขอตอบว่าตอนที่อาตมาพูดถึง “กระจายความรัก” อาตมานึกถึงสังคมไทยที่กำลังแตกแยกอย่างรุนแรง จนพ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน และผู้คนทั้งประเทศต่างบาดหมางกัน ถึงขั้นโกรธเกลียดกัน แบ่งเป็นฝักฝ่าย กล่าวประณามหรือถึงขั้นห้ำหั่นกัน อาตมาเห็นว่าเราจะต้องมีเมตตากรุณากันให้มากกว่านี้ ไม่ต้องถึงขั้นกอดกันหน้าชื่นก็ได้ แต่ขอให้มีเจตนาดีหรือเห็นเจตนาดีของกันและกัน อย่างไรก็ตามอาตมาไม่สามารถเรียกร้องให้บุคคลที่คุณภัควดีกล่าวถึงนั้น ให้อภัยหรือลืมเหตุร้ายได้ นั่นเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไป อาตมาไม่เคยแนะนำผู้ที่ทุกข์โศกเพราะสูญเสียคนรักจากเหตุร้ายให้ทำเช่นนั้น (รวมทั้งไม่เคยบอกเขาว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า) เว้นแต่เขาจะมาปรึกษาอาตมาว่าจิตใจเขารุ่มร้อนเพราะความโกรธเกลียด กรณีอย่างนั้นอาตมาจึงจะแนะนำเขาให้อภัย เพราะอาตมาเชื่อว่าการให้อภัยนั้นสามารถเยียวยาจิตใจได้ และเมื่อจะให้อภัย อาตมาก็ไม่เคยแนะนำให้เขาลืมเรื่องนั้นเสีย เพราะอาตมาเชื่อว่า “forgive not forget” นั้นเป็นไปได้”

ประเด็นต่อมาที่อาตมาขอขยายความคือ ตอนที่อาตมาพูดถึงคนเสื้อแดงว่า “สิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า อาตมาไม่แน่ใจ” ข้อความเพียงเท่านี้ไม่มีอะไรที่บ่งบอกเลยว่า อาตมา “ไม่ยอมรับใน "การกำหนดชะตากรรมตัวเอง" ของประชาชน”อย่างที่คุณภัควดีสรุป อาตมาเพียงแต่ต้องการแสดงความเห็นว่า การยุบสภาตามที่คนเสื้อแดงเรียกร้องเมื่อเดือนมี.ค-พ.ค.ที่ผ่านมานั้น อาตมาไม่แน่ใจว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย เพราะแม้จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีหลักประกันว่าบ้านเมืองจะสงบสุข ลดความขัดแย้ง หรือลดความเหลื่อมล้ำ หรือก่อให้เกิดสังคมสองมาตรฐานได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีรัฐบาลสมัครและสมชายมาแล้ว คุณภัควดีมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของอาตมาในเรื่องนี้ แต่หากจะสรุปจากความเห็นข้างต้นว่าอาตมาไม่ยอมรับ “การกำหนดชะตากรรมตัวเอง” ของประชาชนก็นับว่าเป็นการตีความที่เกินเลยไป

อาตมาไม่เคยคัดค้านการยุบสภา ในการให้สัมภาษณ์สื่อบางแห่ง ก็ยังแสดงความเห็นสนับสนุนการยุบสภาเพื่อให้การชุมนุมของคนเสื้อแดงยุติจะได้ไม่มีการปะทะจนนองเลือด ในทำนองเดียวกันอาตมาก็ไม่เคยคัดค้านผลการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกับที่ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มคุณทักษิณ เป็นแต่ว่าอาตมาไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการยุบสภานั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คุณภัควดีย่อมทราบดีว่าบ่อยครั้งที่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง (ไม่จำเพาะประเทศไทยแต่รวมถึงประเทศต่าง ๆ) ไม่เพียงทำให้บ้านเมืองย่ำอยู่กับที่ หากยังเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงได้หรือถึงกับทำให้บ้านเมืองถอยหลัง เราต้องแยกระหว่างการปฏิเสธผลการเลือกตั้ง (ซึ่งเท่ากับปฏิเสธการกำหนดชะตากรรมของประชาชน) กับการวิจารณ์หรือไม่มี ศรัทธาในผู้นำคนใดคนหนึ่งหรือคณะหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นคนละเรื่องกัน คุณภัควดีก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีบุช แต่หากมีใครบอกว่าการทำเช่นนั้นแสดงว่าคุณภัควดีไม่ยอมรับการกำหนดชะตากรรมของประชาชนชาวอเมริกัน คุณภัควดีก็คงปฏิเสธหัวชนฝาว่าไม่จริง

คุณภัควดียังได้พูดถึงผู้ที่ตายในเหตุการณ์นองเลือด 91 คนและบาดเจ็บอีกกว่าพันว่า เราไม่ควรปล่อยให้ความเกลียดหรือความไม่เห็นกับคุณทักษิณ เป็นเหตุอันควรให้ “ลดบรรทัดฐานทางจริยธรรม ของตัวเองจนยอมรับการฆ่าเพื่อนมนุษย์ตายอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้” อาตมาเห็นด้วยกับข้อความดักล่าวอย่างเต็มที่ การที่อาตมาไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าวในบทสัมภาษณ์ ไม่ได้แปลว่าอาตมายอมรับการฆ่าคนเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อาตมาได้แสดงความเห็นเรื่องนี้หลายที่ ล่าสุดก็ในมติชนเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเรื่อง “คนผิดก็มีสิทธิได้รับความเมตตา” ดังความตอนหนึ่งอาตมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับทัศนคติที่แพร่หลายในหมู่คนจำนวนมากขณะนี้ว่า

“การมองว่าคนเสื้อแดงทำผิดกฎหมาย รับจ้างมาปกป้องคนผิดที่โกงบ้านโกงเมือง รวมทั้งมีกองกำลังติดอาวุธ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องการล้มเจ้าฯลฯ ทำให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมทั้งผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง) พิพากษาในใจว่าคนเสื้อแดงสมควรตาย และดังนั้นจึงไม่รู้สึกอะไรเมื่อเห็นทหารใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมจนมีคนล้มตายกว่า 80 คน ไม่นับบาดเจ็บอีกนับพันคน จริงอยู่มีผู้ชุมนุมบางคนที่ขว้างประทัดและระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่สมควรที่ถูกตอบโต้ด้วยอาวุธสงครามจนถึงแก่ความตาย และถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมถูกยิงตายขณะใช้อาวุธปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ความตายของบุคคลเหล่านั้นก็มิใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมญาติมิตรของผู้สูญเสียแล้ว มันยังกัดกร่อนจิตวิญญาณหรือมโนธรรมสำนึกของเราอีกด้วย

“ถึงจะทำผิดศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย เขาก็มีสิทธิในชีวิตของเขา มีสิทธิได้รับความยุติธรรมและการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิได้รับความเมตตาจากเรา เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิทำอะไรกับเขาตามอำเภอใจ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็จำต้องถามตัวเองด้วยว่า แน่ใจอย่างไรว่าเราถูกและเขาผิด ผู้ที่รุมฆ่าและทำร้ายนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ล้วนทำไปด้วยความเข้าใจว่าตนกำลังปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่บัดนี้ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นฆาตกรโหดเหี้ยมที่สร้างความอัปยศให้แก่ประเทศชาติ ในทางตรงข้ามผู้ที่ถูกทำร้ายเหล่านั้นล้วนเป็นคนบริสุทธิ์ หาใช่ผู้คิดร้ายต่อชาติและราชบัลลังก์ไม่”
http://www.visalo.org/article/matichon255308.html

ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของคุณอภิสิทธิ์ คุณภัควดี ถามว่า “เหตุใดพระไพศาลจึงออกมารับรองความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะอย่างออกหน้าออกตาขนาดนั้น?” อาตมาไม่ได้รับรองความชอบธรรมของเขา อีกทั้งไม่มีอำนาจรับรองด้วย นั่นเป็นอำนาจของรัฐสภาและองค์กรอิสระที่ตรวจสอบนักการเมือง อาตมาเพียงแต่เห็นว่าเขายังมีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ อย่างน้อยเขาก็มีความชอบธรรมในฐานะที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้วได้รับ คะแนนเสียงเกินครึ่งให้เป็นนายกรัฐมนตรี พูดถึงมาตรฐานขั้นต่ำ เขาย่อมมีความชอบธรรมโดยนิตินัยที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ แต่หากพูดถึงมาตรฐานที่สูงกว่านั้น อันได้แก่ความชอบธรรมทางการเมืองและทางจริยธรรม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันได้

อาตมาเห็นด้วยว่าประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองและจริยธรรมของคุณอภิสิทธิ์อย่างสำคัญ ก็คือการสั่งให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารในวันที่ 14-19 พฤษภาคม (อาตมายอมรับว่าการไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าว รวมทั้งการมีคนตายนับร้อยเป็นจุดบกพร่องของการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงคุณอภิสิทธิ์) ในฐานะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่พ้นที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก ส่วนจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่จะออกมา ไม่ว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีหากมีคนตายมากมายเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความ ชอบธรรมของเขาอย่างแน่นอน (อย่างน้อยก็ในฐานะผู้มีหน้าที่สร้างความสงบและ สันติสุขในบ้านเมือง) ในทัศนะของคนเสื้อแดงและคนจำนวน กรณีดังกล่าวได้ทำให้ความชอบธรรมของเขาลดน้อยลงจนไม่สามารถปกครองประเทศได้ แล้ว แต่อาตมาเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ทำให้ความชอบธรรมของเขาลดลงมาก แต่ก็ยังเพียงพอที่จะปกครองประเทศต่อไปได้ เว้นเสียแต่ว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงมีผลออกมาอย่างชัดเจนว่าคุณอภิสิทธิ์มีความผิดในการสั่งการดังกล่าวหรือมีผลระบุว่าปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้นเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ นั่นหมายความว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้อีกแล้ว

คุณภักควดีพูดถึงลูกสาวของตนซึ่งตั้งถามคุณภัควดีว่า “ทำไมพระไพศาลสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นนี้ได้โดยไม่มีความผิด แล้วทำไมเมื่อพระชาวบ้านบางรูปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเพียงแค่อยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำไมพระเหล่านั้นจึงมีความผิด?” คุณภัควดีไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ จึงนำมาถามอาตมาอีกต่อหนึ่ง อาตมาตอบได้แต่เพียงว่าคุณภัควดีถามผิดคน อาตมาไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้เนื่องจากไม่เคยพูดหรือเขียนที่ไหนว่า พระที่แสดงความเห็นทางการเมืองหรือพระที่อยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงมีความผิด (เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) คนที่น่าจะตอบได้ดีคือคนที่ตัดสินว่าพระเหล่านั้นมีความผิดต่างหาก

ประเด็นสุดท้ายที่อาตมาอยากกล่าวถึงก็คือ ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา อาตมาพยายามชี้ให้คนไทยตระหนักว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงต่อเนื่องมาหลายปีนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าปัญหาตัวบุคคล คุณทักษิณเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงรากเหง้าทางโครงสร้างที่ลึกกว่านั้น ดังนั้นเราจึงควรมองให้เลยคุณทักษิณออกไป มีบทความหลายชิ้นที่ตอกย้ำประเด็นนี้โดยเฉพาะในมติชน ดังอาตมาได้พูดในบทความเรื่อง “จากดีทรอยท์ถึงเมืองไทย”ว่า

“คนชั้นล่างที่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงปัญหานี้เลย และไม่รับรู้ด้วยว่าคนชั้นล่างมีความคับข้องใจเพียงใดบ้าง เพราะอยู่ในกลุ่มก้อนหรือชนชั้นของตัว ดังนั้นจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนชนบทหรือคนยากจนในเมืองจึงชื่นชมคน อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบาย (และภาพลักษณ์) ที่ใส่ใจคนจนมากกว่าหัวหน้ารัฐบาลคนอื่น ๆ อย่างน้อยพรรคการเมืองของเขาก็ทำให้ชาวบ้านที่เป็นหัวคะแนนได้รับความเกรงใจ จากข้าราชการ ซึ่งเคยอวดเบ่งใส่พวกเขามาตลอด........การที่คนชนบทพร้อมใจหย่อนบัตรเลือกพรรคของพ.ต.ท.ทักษิณ (ไม่ว่าชื่อใดก็ตาม) อย่างล้นหลามหลังรัฐประหารปี 2549 (รวมทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดง) มองในแง่หนึ่งก็คือการแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองการบริหารที่มองข้ามคนจน”

ข้อเขียนดังกล่าวก็คงจะยืนยันว่าอาตมาไม่ได้เกลียดชังคุณทักษิณ นอกจากนั้นอาตมาไม่เคยคิดว่าปัญหาความขัดแย้งจะต้องแก้ที่จิตใจของผู้คนอย่างเดียว ดังได้เขียนในบทความเรื่อง “ปัญหาท้าทายและทางออกของสังคมไทย” (19 เมษายน 2552) ว่า “คนไทยจำเป็นต้องมีความเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้าง สามารถมองเห็นถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เหนือระดับบุคคล ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเหตุปัจจัยที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ (เช่น การยึดติดอัตตา หรือตัณหา มานะ ทิฐิ) ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เราไม่คิดถึงแต่การเทศนาสั่งสอน ขณะเดียวกันก็จะตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงนั้น อย่างมากก็แก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราว แต่สร้างปัญหาในระยะยาว ดังรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นตัวอย่างชัดเจน” http://www.peacefuldeath.info/article/?p=173

อาตมาเรียกร้องในข้อเขียนหลายชิ้นว่า จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความรุนแรงไม่รู้จักจบสิ้น ดังเขียนใน “ทางหลุดพ้นจากกับดักแห่งความรุนแรง” (มติชน 16 พฤษภาคม 2553) ตอนหนึ่งว่า “กล่าวโดยสรุป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีมานี้ ไม่ว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือส่วนที่เหลือของประเทศ ล้วนมีรากเหง้ามาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมในสังคมซึ่งแยกไม่ออกจากการใช้อำนาจอย่างล้นเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อสืบสาวไปก็จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับโครงสร้างการเมืองไทยที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งเอื้อให้คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการทรัพยากร โครงสร้างดังกล่าวไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจก็จะก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความ ขัดแย้งในสังคมจนลุกลามเป็นความรุนแรง ใช่หรือไม่ว่านี้แหละคือโครงสร้างแห่งความรุนแรง ที่ครอบสังคมไทยเอาไว้จนไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความรุนแรงได้” http://www.visalo.org/article/matichon255305.htm

ที่ยกข้อความมายืดยาวนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าอาตมาไม่ได้ “ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง หรืออย่างมากก็กล่าวถึงโดยผิวเผิน” อย่างที่คุณภัควดีว่า ส่วนที่คุณภัควดีพูดว่าอาตมา “ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง(เกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง)” นั้น อาตมาขอให้คุณอ่านงานเขียนของอาตมาตามที่ได้อ้างอิงมาก่อนแล้วจึงค่อยสรุป (แต่ถึงอย่างไรอาตมาก็ยอมรับว่าอาตมามีความรู้น้อยกว่าคุณภัควดีในเรื่องนี้)

จริงอยู่อาตมาพูดประเด็นนี้ (ปัญหาเชิงโครงสร้าง) ไม่มากในบทสัมภาษณ์ แต่การที่คุณภัควดีจะสรุปหรือตัดสินความคิดของอาตมาทั้งหมดโดยดูจากบทสัมภาษณ์เพียงชิ้นเดียว ย่อมไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังมีการตีความที่เกินเลยจากอาตมาพูด นอกจากนั้นการสรุปว่า ประเด็นใดก็ตามที่อาตมาไม่ได้พูดในบทสัมภาษณ์นั้น (เช่น การกำหนดชะตากรรมตัวเอง ความยุติธรรม) แสดงว่าอาตมาละเลย ไม่เห็นด้วย ย่อมเป็นการด่วนสรุปเกินไป

ขอบคุณคุณภัควดีที่อ่านมาถึงตรงนี้ อันที่จริงมีอีกหลายประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนกับคุณภัควดี แต่นี่ก็ยืดยาวเกินไปแล้ว จึงขอยุติเพียงเท่านี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานสัมมนา: ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ สำรวจแนวคิดจนถึงนโยบาย แล้วไทยจะไปทางไหน

Posted: 26 Aug 2010 06:57 AM PDT

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 53 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดสัมมนาทางวิชาการ ปอกเปลือก “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ประจำวัน ณ ห้องประชุม 207 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยในช่วงเช้า มีสัมมนาในหัวข้อ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม: จากแนวคิดถึงนโยบายวัฒนธรรม” นำเสนอโดย ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิริยะ สว่างโชติ นักวิจัยอิสระ ดำเนินรายการและให้ความเห็นโดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ


อุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry)

ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นำเสนอในหัวข้อ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม: อดอร์โนและหลังจากนั้น” โดยเริ่มต้นจากการทบทวนแนวคิด “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” อันมีฐานคิดมาจากนักคิดคนสำคัญสองคนคือธีโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno) กับแม็กซ์ ฮอร์ไคเมอร์ (Max Horkheimer) โดยที่ฐานคิดหลักๆ มาจากอดอร์โน ในหนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อ Dialectic of Enlightenment หนังสือซึ่งตีแผ่ “มายาคติของการรู้แจ้ง” และ “การรู้แจ้งที่กลับกลายเป็นมายาคติ” กล่าวคือ การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง “มายาคติ” (myth) กับ “การรู้แจ้ง” (enlightenment) อันมีความสัมพันธ์คือ มนุษย์เคลื่อนย้ายการอธิบายโลกจากที่เคยเชื่อเรื่องของตำนาน เทพนิยายปรัมปรา อำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ มาสู่การที่มนุษย์สามารถ “รู้แจ้ง” ด้วยการใช้เหตุผล แต่ต่อมา ปรากฏว่าการรู้แจ้งของมนุษย์กลับกลายเป็นมายาคติซึ่งกลับมาควบคุมมนุษย์เอง ในศตวรรษที่ยี่สิบพบว่ามนุษย์เคลื่อนไปสู่ความป่าเถื่อนครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี นักคิดทั้งคู่จึงเริ่มกลับมาดูประวัติศาสตร์มนุษยชาติใหม่ โดยมุ่งพิจารณาไปที่การควบคุมธรรมชาติและการจัดการกับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งพบว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์กลับมาสู่ความป่าเถื่อนอีกครั้งหนึ่งคือชุดของระบบเหตุผล ในแง่ที่เหตุผลกลายไปเป็นเครื่องมือ (instrumental reason) ปรากฏการณ์สำคัญสองอันที่นักคิดทั้งสองท่านวิเคราะห์การที่เหตุผลถูกลดทอนเป็นเครื่องมือ อย่างแรกคือ การขึ้นมาของลัทธิฟาสซิสม์ (fascism) และ สอง ความคิดเรื่องอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry)

ผู้นำเสนอกล่าวถึงนิยามของ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ว่าหมายความถึง กระบวนการผลิตอย่างเป็นอุตสาหกรรมของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สินค้าไปจนถึงความเคยชินในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการล่อลวงมวลชนที่ทำให้เป็นลักษณะทางวัฒนธรรม โดยกล่าวเสริมว่า สำหรับอดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงการทำวัฒนธรรมให้เป็นอุตสาหกรรม แต่หมายถึงวิธีคิดหรือวิธีจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมดมีลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตที่ไม่ได้ผลิตแค่ของแต่ละชิ้น ทีละชิ้นๆ แต่เป็นกระบวนการผลิตแบบจำนวนมาก (mass) ทำให้สินค้าแพร่กระจายไปในตลาดในสังคม แล้วทุกคนก็ต่างบริโภค ซึ่งการบริโภคหรือการใช้สินค้าที่มีลักษณะมวลชนเหล่านี้มันหล่อหลอมให้ทุกคนคิดว่ามีลักษณะของการใช้สินค้าที่คล้ายหรือเหมือนกัน มีลักษณะการใช้ชีวิตที่เหมือนกัน และทุกคนสามารถจะเหมือนกันหรือคล้ายกันได้ กล่าวคือ “เป็นการหล่อหลอมความเป็นวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมในแง่นี้หมายถึงสิ่งที่ผูกโยงเข้ากับลักษณะของการใช้ชีวิต”

ไม่เพียงแต่การบริโภคในตัวเองอย่างเดียวที่ทำให้ลักษณะทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ แต่ต้องพิจารณารวมถึงอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะอิทธิพลของสื่อด้วย ซึ่ง ดร.เกษม กล่าวถึงอดอร์โนว่าได้พูดถึงสื่อไว้อยู่มาก เป็นต้นว่า “ชีวิตของผู้คน รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เห็นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้สำหรับอดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ คือ การล่อลวงมวลชน (mass deception) นี่คือการล่อลวงที่ผู้คนใช้ชีวิตไม่ได้แตกต่างกัน”

“แนวคิดอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เป็นประเด็นที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของระบบทุนนิยม แต่ต้องการตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์ และอธิบายการแปรสภาพของสังคมในระบบทุนนิยม พูดง่ายๆ ว่าต้องการกระแทกหรือวิพากษ์สิ่งที่เป็นพลวัตในสังคมทุนนิยมเอง ซึ่งนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่าความถดถอยของมนุษยชาติ” ดร.เกษม กล่าว

อุตสาหกรรมวัฒนธรรมหลังอดอร์โนและอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (cultural industries)
ดร.เกษม กล่าวต่อมาถึงประเด็นหลักที่พบในงานจำนวนมากที่นำงานของอดอร์โนมาใช้ว่าประกอบไปด้วย กรณีแรก ความเข้าใจต่อแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์เรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างนำไปสู่การตีความใหม่เกี่ยวกับเนื้อหาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะกระบวนการลอกเลียนแบบหรือแบบแผนต่างๆ ที่พยายามจะสร้าง กรณีที่สอง การเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นให้เกิดขึ้นและสัมพันธ์กันจนปฏิเสธความสำคัญของสินค้าอีกอันหนึ่งไม่ได้ เช่น อาหารบางชนิดต้องทานคู่กับเครื่องดื่มบางชนิดจึงจะอร่อยขึ้น เป็นต้น กรณีที่สาม การสร้างภาพลักษณ์และสามัญสำนึกของผู้คนต่อสิ่งที่รับรู้ เพื่อให้ยอมรับความน่าเชื่อถือหรือเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเช่นนั้นจริงๆ เช่น กรณีของเจ้าหญิงไดอาน่า และสี่ การวิพากษ์บทบาทของสื่อผ่านการเผยข้อเท็จจริงที่สื่อทำ เพราะด้านหนึ่ง สิ่งที่สื่อทำนั้นเป็นดราม่าอย่างมากเพื่อที่จะขายได้

หลังจากแนวคิดของอดอร์โนแพร่หลายไป เบอร์นาร์ด มีแอจ (Bernard Miège) นักทฤษฎีสำคัญทางด้านสื่อศึกษา (media studies) เสนอการกลับมาคิดถึงด้านบวกของแนวคิด “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ของอดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ โดยเสนอแนวคิดเรื่อง “อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม” (cultural industries) ซึ่งเปลี่ยนจากมุมมองเชิงวิพากษ์ไปสู่แง่มุมเชิงสร้างสรรค์ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทรรศนะต่อวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยจากความถดถอยหรือความผุกร่อนของคุณค่าอันดีงามของวัฒนธรรมที่เป็นมรดกทางความคิดในยุคการรู้แจ้ง มาสู่การสร้างสรรค์เชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นผ่านการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ ในทำนองเดียวกัน ดร.เกษม กล่าวสรุปแนวคิด อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม ว่าหมายถึง “การนำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาผนวกเข้ากับมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเติบโตผ่านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือสินค้าที่แฝงลักษณะทางวัฒนธรรมเข้าไป”

เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy)
ดร.เกษม กล่าวว่าความคิดเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เป็นความคิดซึ่งต่อยอดมาจากพลวัตของการผสมกลมกลืนระหว่างความคิดเรื่อง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity), อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม, และมรดกโลก (world heritage) โดยที่ความคิดเรื่องมรดกโลกยังอยู่ ขณะที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมนั้นผสมผสานกันจนนำมาสู่ความคิดเรื่อง “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมในเชิงนโยบาย โดยวิธีการคือมุ่งไปที่การสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในสังคมนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ส่วน “อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” ดร.เกษม กล่าวว่า (ในความหมายที่ยูเนสโกใช้ด้วยนั้น) หมายถึง การจัดวางนโยบายที่เน้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นอุตสาหกรรม มีเป้าหมายคือเพื่อตอบโจทย์เรื่องความมั่งคั่งของประเทศ เรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเชื่อว่าความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดังกล่าวจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น เพราะจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางสังคมและเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้

ในตอนท้าย ดร.เกษม กล่าวสรุปถึงลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สามประการ ประกอบไปด้วย ประการแรก เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่โยงกับการดำเนินชีวิต เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่กับตัวมนุษย์ ถ้ามีการผลิตสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาได้จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประการที่สอง องค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์เป็นเรื่องขององค์กร เรื่องคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ และยังเป็นการสร้างอัตลักษณ์ สร้างบุคลิกลักษณะบางอย่างด้วย และ ประการที่สาม การสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของสังคมและองค์กรที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นมิติเชิงนโยบาย โดยที่รัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ได้มีแต่รัฐที่เป็นผู้เริ่มต้นผลักดันแต่อย่างใด

บทสำรวจนโยบายอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม
วิริยะ สว่างโชติ เท้าความถึงช่วงที่เริ่มทำวิจัยชิ้นนี้ว่าตอนแรกเมื่อไปค้นเอกสารนั้นไม่พบคำว่า “นโยบายอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม” (cultural industries policy) ตรงๆ จึงย้อนกลับไปดูที่คนผลิตนโยบาย ซึ่งก็คือรัฐและ/หรือรัฐบาล จากการสำรวจเอกสาร วิริยะ พบว่าประเทศที่พูดถึงเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมประเทศแรกๆ คืออังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ใช้คำว่านโยบายสาธารณะ แต่ใช้คำว่านโยบายศิลปะ โดยประกาศใช้ครั้งแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เขากล่าวต่อมาว่า ในปี 1945 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่สองยุติ กิจกรรมทางศิลปะ-วัฒนธรรมที่อังกฤษสนใจมีเพียงห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์ พอหลังสงครามโลกครั้งที่สองรัฐเข้ามาในส่วนนี้มากขึ้น โดยมีเหตุผลสำคัญคือการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูสภาพโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปจากสงคราม ซึ่งรัฐบอกว่าฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเข้ามาบริหารจัดการกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในอังกฤษมีสภาศิลปะ (Arts council) ซึ่งถูกตั้งขึ้น (ก่อนกระทรวงศิลปะ) โดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่ผลักดันให้รัฐสนับสนุนศิลปะ แต่สภาศิลปะมุ่งสนับสนุนแต่ศิลปะชั้นสูง ในแง่นี้เงินที่รัฐสนับสนุนก็ไปสนับสนุนเพียงศิลปะชั้นสูง หลังจากสภาศิลปะมีบทบาทอยู่ราว 10 ปีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งบทบาทของรัฐบาลควรจะดูแลคนข้างล่างในส่วนของกิจกรรมศิลปะด้วย จึงเป็นผลให้พรรคแรงงานไม่ค่อยพอใจสภาศิลปะและตั้งกระทรวงศิลปวัฒนธรรมขึ้นมาคานอำนาจในที่สุด นอกจากนั้น พรรคแรงงานซึ่งมุ่งดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคมก็มองการสนับสนุนกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในมุมมองแบบเดียวกับการพัฒนาการให้บริการสาธารณะพื้นฐาน

วิริยะ กล่าวถึงพัฒนาการต่อมาว่า ในช่วงยุค 1960-1970 พร้อมๆ ไปกับปรากฏการณ์การเติบโตของวงดนตรี เดอะ บีทเทิ่ลส์ (The Beatles) พรรคแรงงานเริ่มให้เงินสนับสนุนส่วนอื่นๆ เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันด้านการบันทึกเสียง สถาบันด้านสื่อภาพยนตร์ จนอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องนโยบายศิลปะได้เปลี่ยนไปสู่แนวคิดเรื่องนโยบายวัฒนธรรม อันมีกลุ่มองค์กรแรกๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนโยบายวัฒนธรรมคือ ยูเนสโก ในช่วงประมาณตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา ยูเนสโกให้ทุนสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไปทั่วโลก โดยมีนักวิชาการชาวอังกฤษคนสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องคือ ริชาร์ด ฮอกการ์ต (Richard Hoggart) ผู้ซึ่งมีมุมมองในการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) เพราะเป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน

อย่างไรก็ดี วิริยะ กล่าวว่า ในขณะนั้นก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก เป็นต้นว่า การกล่าวว่างานของยูเนสโกไปวางบทบาทให้รัฐเข้ามาบริหารจัดการอย่างสำคัญมาก มองรัฐดีเกินไปในการจัดการทางวัฒนธรรม รวมถึงมีงานของคนอย่าง เบอร์นาร์ด มีแอจ ที่ทั้งวิจารณ์ยูเนสโกและวิจารณ์ความคิดของธีโอดอร์ อดอร์โนด้วย ถึงกระนั้น วิริยะ ยังเห็นว่าบทบาทของยูเนสโกมีอยู่ค่อนข้างมากในเรื่องนโยบายวัฒนธรรม เช่น การเกิดขึ้นของหอภาพยนตร์ การเกิดขึ้นของศูนย์วัฒนธรรมหรือคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในหลายๆ ประเทศ เป็นต้น

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
“ในช่วงทศวรรษที่ 1970-80 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐสวัสดิการล่มสลายในยุโรป แต่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมไม่ได้ตก อุตสาหกรรมดนตรี อุตสาหกรรมภาพยนตร์โตมาก กลายเป็นว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมซึ่งแม้จะอยู่ในตลาดนั้นไม่ได้รับผลกระทบ มันไม่ตกแถมยังโตขึ้น การจ้างแรงงานมากขึ้นด้วย ส่วนในช่วงทศวรรษที่ 80-90 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐจึงเริ่มมองว่าจะเข้าไปจัดการอย่างไรดี จะดึงความสำคัญขึ้นมาอย่างไร โดยเริ่มพูดถึงในเชิงนโยบาย รัฐจึงมีบทบาทมากขึ้น หรือโดยสรุปก็คือ บทบาทของรัฐบาลเปลี่ยน จากรุ่นแรกที่มองว่าอยู่ในแนวคิดนโยบายสาธารณะ (public policy) ไปสู่นโยบายเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic development policy) การจ้างงาน การสร้างอัตราการเจริญเติบโต ส่วนบทบาทของรัฐในช่วง 20 ปีหลัง นโยบายทางด้านวัฒนธรรมหรือนโยบายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมหรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์กลายเป็นนโยบายที่ถูกชูขึ้นเป็นหลัก .. ซึ่งพบเห็นมากมายทั้งในอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย จนมาถึงเกาหลีใต้” วิริยะ กล่าวสรุปพัฒนาการแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม

“ตัวแบบ (model) เหล่านี้กระจายตัวไปทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่อังกฤษยันจาไมก้า ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ศึกษาเร็กเก้ในจาไมก้า เขาบอกว่าในปีหนึ่งๆ มีการแสดงดนตรีเร็กเก้ที่เก็บค่าตั๋วเป็นหมื่นกว่าครั้ง” ก่อนที่จะกล่าวจบโดยสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้จากผู้ชมผู้ฟังด้วยว่า “ถ้าคุณคิดว่าเร็กเก้เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของรัฐบาล คุณต้องให้เงินสนับสนุนในการทำไร่กัญชาด้วย”


นโยบายวัฒนธรรม นโยบายหาเงินเข้าประเทศ? วัฒนธรรมใคร? วัฒนธรรมจะไปทางไหน?

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงนโยบายวัฒนธรรม พูดแล้วอาจแสลงใจเพราะว่านโยบายวัฒนธรรมในทางหนึ่งก็คือนโยบายหาสตางค์เข้าประเทศ ถึงกระนั้น รศ.ดร.ไชยันต์ เสนอให้คิดถึงว่านโนบายวัฒนธรรมควรจะไปในทิศทางไหน โดยมีประเด็นให้พิจารณาสองประเด็น ประกอบด้วย หนึ่ง วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจกับความสำคัญของวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับด้านจิตใจ และสอง เมื่อทบทวนพิจารณานโยบายวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ พบว่าเป็นการปะทะถกเถียงกันของแนวคิด

ประเด็นแรก ในส่วนของวัฒนธรรมที่โยงเรื่องปากเรื่องท้องหรือเศรษฐกิจ รศ.ดร. ไชยันต์ กล่าวว่า จากสิ่งที่ผู้เสนอทั้งสองท่านกล่าวไปแล้วว่ายูเนสโกที่ชอบพูดเรื่องการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่มีคนวิจารณ์อยู่มากว่าการผลักดันให้เอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือวัฒนธรรมต่างๆ มาสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจนั้น โดยเฉพาะการผลักดันในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ค่อยนำไปสู่ผลงอกเงยทางเศรษฐกิจอะไรเลย ซึ่งประเทศไทยก็เคยรับความคิดนี้และยังมีอยู่ แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร และรวมไปถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มันก็ไม่สามารถผลักดันได้ดังที่ยูเนสโกตั้งไว้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นเรื่องการพยายามโยงเรื่องวัฒนธรรมไปกับความเจริญรุ่งเรืองทางจิตใจ ประเด็นนี้คุณวิริยะได้แสดงให้เห็นแล้วว่าก็มีความไม่ลงรอย มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องวัฒนธรรมอยู่ ดังกรณีของสภาศิลปะ (ในอังกฤษ) ที่มุ่งไปสู่ศิลปะชั้นสูง หรือวัฒนธรรมของคนชั้นสูง

รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การถกเถียงว่าจะดึงจะพาวัฒนธรรมไปทางไหน ในบทความของคุณวิริยะแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ในกรณีของแคนาดาที่ใช้อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมในแง่ที่ต่อต้านหรือพยายามหลีกหนีวัฒนธรรมอเมริกัน กรณีของออสเตรเลียภายใต้ความรู้สึกอ่อนด้อยทางวัฒนธรรมต่ออังกฤษ ก็มีการสร้างโอเปราเฮาส์ หรือประเด็นการส่งเสริมความหลากหลายของชนพื้นเมืองในระยะหลัง เป็นต้น รวมไปถึงกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งมีการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากดังที่ทราบกันในปัจจุบัน “การที่ฮุนไดจะไปแข่งกับโตโยต้าก็แข่งกันไป จะซัมซุงอะไรก็แข่งกันไป แต่สำหรับอันนี้ (อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม) นี่เหนือกว่าญี่ปุ่นไปแล้ว”

รศ.ดร. ไชยันต์ เสนอให้คิดต่อไปว่า ไม่เพียงแต่จะคิดเรื่องการหาเงินหาทองเข้าประเทศจากเรื่องวัฒนธรรม แต่ควรต้องถามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมไทย” คืออะไร? การผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความหมายอย่างไรต่อประเทศไทย? จะสร้างความเจริญงอกงามทางจิตใจจากอะไร?

“ผมอยู่เชียงใหม่ คนสารภีในอำเภอที่ผมอยู่ ไม่เคยดูโขนเลย ไม่รู้จักเลย ยิ่งไปแม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง เขาไม่รู้จัก ไม่สนใจ และผมคิดว่าภาคอีสานก็เหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน การที่เขาไม่รู้จักโขนก็มากเท่าๆ กับที่เขาไม่รู้จักมโนราห์ และในทำนองกลับกัน .. ทีนี้ จะทำอย่างไรต่อลักษณะจำเพาะของวัฒนธรรม ในแต่ละเขต ในแต่ละถิ่น แล้วเราจะให้มาร่วมวงทางจิตใจกันได้อย่างไร?”

“ไม่ว่าเราจะคิดอะไร นโยบายทางวัฒนธรรมจะไปทางไหน มันมีตัวอย่างให้เราสามารถเรียนรู้ได้ ทั้งความขัดแย้ง ข้อถกเถียง และทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว” รศ.ดร. ไชยันต์ ให้ข้อคิดเห็นส่งท้าย


อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมไทยจะไปถึงไหนกัน?

ในช่วงท้ายสุด ดร.เกษม วิจารณ์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมของไทยว่า “กรณีของไทยมีปัญหามากกว่า เพราะ หนึ่ง คุณคิดอะไรไม่ได้นอกจากขายของเก่ากิน (ผู้ฟังหัวเราะ) อย่างน้อย จินตนาการทางวัฒนธรรมที่จะบอกว่าอะไรเป็นอะไรคุณก็ไม่มีแล้ว อันที่สอง ซึ่งอาจกระทบต่อนโยบายของคุณทักษิณโดยตรง เวลาพูดถึงครัวไทยเป็นครัวโลก หรือกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น พื้นฐานในแง่ที่จะไปส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจมันไม่มี เราคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเหมือนปารีสหรือมิลาน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่”

ขณะที่ วิริยะ กล่าวถึงแนวโน้มที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องแฟชั่นว่าน่าจะไปส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “สตรีทแฟชั่น” (street fashion; แฟชั่นที่มาจากผู้คนทั่วๆ ไปที่เดินถนน ไม่ได้ถูกกำหนดอย่างเบ็ดเสร็จมาจากนิตยสารแฟชั่นหรือสตูดิโอเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียง-ประชาไท) “เรามีสตรีทแฟชั่นอยู่ทุกหัวระแหงในกรุงเทพฯ .. เรามีแรงงานทางด้านสิ่งทอที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน .. เรามีตลาดส่งออกสำคัญอย่างจตุจักร .. แล้วสตรีทแฟชั่นในกรุงเทพฯ แฟชั่นตามข้างถนนในกรุงเทพฯ คือโอท็อป ไม่ต้องคิดไปปั้นหม้อปั้นอะไร .. พอดีผมทำงานวิจัยกับนักสังคมวิทยาวัฒนธรรมจากมิลาน เขามาศึกษาเรื่องแฟชั่นในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องโมเดลจากมิลานหรอกครับ มิลานเอาโมเดลเราไปแล้ว”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยวัดปทุมฯ ไม่อนุญาตจัดงานบุญ 100 วันเสื้อแดง เสาร์นี้ - ย้ายจัดวัดหัวลำโพง

Posted: 26 Aug 2010 05:44 AM PDT

กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงในเว็บบอร์ดรวมตัวกันเตรียมจัดงานทำบุญ "100 วันวีรชนคนเสื้อแดง" เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับคนเสื้อแดงทั้งหมดที่เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่วัดปทุมวนาราม ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ล่าสุด ผู้จัดแจ้งว่า ทางวัดได้ยกเลิกการจอง โดยทางกลุ่มจะเปลี่ยนไปจัดที่วัดหัวลำโพงแทน

ผู้เล่นเว็บบอร์ดซึ่งใช้ชื่อ "อหิงสา" หนึ่งในผู้จัดงานฯ ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มของตนได้จองจะจัดงานดังกล่าวที่วัดปทุมวนารามตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.แล้ว โดยมีการเขียนใบจองชัดเจน และก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 จนถึงช่วงเช้า 25 ส.ค.ก็ได้คุยรายละเอียดกับทางวัดเรื่องการเตรียมงานมาตลอด จนกระทั่งเย็นวันที่ 25 ส.ค. ทางวัดได้โทรมาบอกว่าจัดงานให้ไม่ได้ เพราะมีภารกิจอื่น

"อหิงสา" เล่าว่า วันนี้ ทางกลุ่มได้เดินทางไปที่วัดปทุมฯ เพื่อสอบถามเรื่องราว ปรากฎว่าเจ้าอาวาสได้ร้องขอพวกตนและเล่าว่าที่ผ่านมาโดนบีบเยอะมาก ตอนนี้โดนด่าไปทั่วประเทศแล้วว่าเลว ว่าชั่วและเข้าข้างคนเสื้อแดง

ล่าสุด ทางกลุ่มผู้จัดจะย้ายไปจัดงานที่วัดหัวลำโพง ศาลา 1 แทน ในวันและเวลาเดิม คือ เลี้ยงเพลวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม

"อหิงสา" มองว่า วัดเป็นที่สาธารณะ และกิจกรรมที่จะทำก็คือการทำบุญ จึงไม่น่าจะมีปัญหา และตั้งคำถามด้วยว่าวัดสามารถปฎิเสธคนทำบุญได้ด้วยหรือ อีกทั้ง ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ก็เพิ่งจะมีการจัดงานทำบุญที่วัดปทุมฯ เช่นกัน

"ลุงจุก" ผู้เล่นเว็บบอร์ดและหนึ่งในกลุ่มผู้จัดงาน ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมนี้จัดโดยกลุ่มผู้เล่นเว็บบอร์ดการเมืองต่างๆ มีทั้งผู้เล่นบอร์ดประชาไทเดิม อินเตอร์เน็ตฟรีดอม ไทยฟรีนิวส์ เว็บราชดำเนิน ประชาเทียม ฯลฯ โดยที่ผ่านมา ก็ติดต่อประสานงานอย่างเปิดเผย ได้ใบจองมาเรียบร้อย แต่พอใกล้วันงานก็กลับถูกยกเลิก ซึ่งเขาสงสัยว่ารัฐบาลน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่างานครบรอบ 7 วัน 50 วันก็จัดงานที่วัดนี้ตลอดในฐานะวัดที่เป็นจุดเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ "ลุงจุก" กล่าวเสริมด้วยว่า หลังจากต้องย้ายที่จัด ได้โทรศัพท์ไปขออนุญาตติดป้ายแจ้งย้ายสถานที่หน้าวัดปทุมฯ ก็ปรากฎว่าไม่ได้รับอนุญาต จึงค่อนข้างกังวลกับการประชาสัมพันธ์เพราะได้แจ้งกำหนดการล่วงหน้าร่วมเดือนแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พธม. มอบตัวคดีปิดสนามบิน เตรียมฟ้องกลับ ผช.ผบ.ตร

Posted: 26 Aug 2010 02:14 AM PDT

แกนนำ พธม. แห่มอบตัวคดีปิดสนามบิน, ก่อการร้าย ฯลฯ 'สนธิ' บอกปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เตรียมฟ้องกลับ 'สมยศ' หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ผู้ช่วย ผบ.ตร.

26 ส.ค. 2553 - เว็บไซต์คม ชัด ลึก รายงานว่าแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ รวมทั้งแกนนำพันธมิตรรุ่น 2 อาทิ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายศรัณยู หรือนรัณยู หรือ “ตั้ว” วงษ์กระจ่าง น.ส.อัญชลี ไพรีรักษ์ เดินทางเข้ามอบตัวรับทราบข้อหากับคณะพนักงานสอบสวนที่นำโดย พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และพล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. โดยมีผู้ชุมนุมกว่า 100 คนมาให้กำลังใจ

นายสนธิ กล่าวว่า มารับทราบข้อกล่าวหาซึ่งมีคดีก่อการร้ายและคดีอื่นๆอีกมากมายมองว่าเรื่อง นี้คงอีกยาวแต่เชื่อว่าด้วยพยานหลักฐานจะพิสูจน์ว่าข้อหาก่อการร้ายที่ พนักงานสอบสวนตั้งไว้นั้นเป็นการจงใจกลั่นแกล้งจึงอยากเตือนตำรวจที่ทำสำนวน คดีนี้ว่าภาคประชาชนไม่ยอมแน่ และอยากฝากไปถึงตำรวจที่รับใช้นักการเมืองบางกลุ่มเพื่อหวังตำแหน่งว่า เตรียมตัวโดนภาคประชาชนเอาคืนได้ถึงแม้จะเกษียณแล้วก็ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล อีกนาน

นายสนธิ กล่าวว่า ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมาให้ พนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน คดีนี้ไม่ได้รู้สึกหนักใจที่ถูกแจ้งข้อหาก่อการร้ายเพราะมั่นใจในพยานหลัก ฐานว่าสามารถหักล้างได้ทั้งหมด เรื่องอาวุธที่มีเพียงมือตบ ไม้กระบอง ซึ่งไม่เข้าข่ายคดีก่อการร้ายแต่อย่างใด

เมื่อถามถึงการฟ้องกลับ พนักงานสอบสวนในคดี นายสนธิ กล่าวว่า จะฟ้องกลับพล.ต.ท.สมยศ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนอย่างแน่นอน และจะไม่รอให้คดีสิ้นสุดก็ขอให้ พล.ต.ท.สมยศ เตรียมตัวว่าภาคประชาชนจะติดตามและดำเนินการทุกกรณีโดยจะใช้ทุกช่องทางไม่ ว่าจะร้องต่อ ป.ป.ช. ฟ้องคดีแพ่ง ร้องศาลปกครอง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีทั้งหมด 79 คนก็จะฟ้อง 79 คดี

 “ผมเข้าใจดีที่พล.ต.ท.สมยศ อ้างว่าทำตามหน้าที่แต่ก็เป็นเพราะทำตามคำสั่งนักการเมือง ซึ่งผมก็จะต่อสู้คดีตามกฎหมายทุกอย่างที่ทำได้ ตำรวจจะรับใช้นักการเมืองไม่ได้ และขอฝากสั้นๆว่าพวกนักการเมืองไม่เคยจำบทเรียนในประวัติศาสตร์ คนมีอำนาจก็หมดอำนาจได้ คนที่เป็นใหญ่วันหนึ่งก็ต้องหมดอำนาจไป ผมอยากฝากว่าสักวันหนึ่งเวรกรรมจะต้องมาถึงพวกคุณเร็วๆนี้” นายสนธิ กล่าว

ที่มา : เว็บไซต์ คม ชัด ลึก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: “อิฐบูรณ์” ผู้พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และ “วิภา” แรงงานผู้พิทักษ์สิทธิตนเอง

Posted: 26 Aug 2010 01:49 AM PDT

ภาคประชาชนแท้ต้องไม่ใช่กลุ่มการเมือง ในมุมมองอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แต่สำหรับวิภา มัจฉาชาติ แรงงานกลุ่ม Try arm การที่ภาคประชาชนได้พูดถึงเรื่องการเมืองเป็นเรื่องดีแม้จะมีพื้นที่น้อย ซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 23 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 
 
"คงเป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ที่พยายามเรียกร้องในเรื่องของประโยชน์ของตนเองที่จะทำให้ระดับนโยบายหรือกลุ่มการเมืองนำไปผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป แต่ภาคประชาชนต้องไม่ใช่กลุ่มการเมือง"
 
"บทบาทของเอ็นจีโอคงเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นภาคประชาชนคงต้องมีองค์ประกอบหลายหลายรูปแบบ ซึ่งถ้าจะจำกัดความส่วนที่สำคัญที่สุดคือคุณจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองโดยตรง และคุณจะต้องมีความเป็นอิสระทั้งจากกลุ่มผลประโยชน์ทางทุน กลุ่มการเมือง และกลุ่มข้าราชการ ที่เราจะเรียกว่าภาคประชาชนโดยแท้"
 
อนาคต... "บทบาทของเอ็นจีโอก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสังคมเรื่องในการตรวจสอบ ผลักดันแนวคิดต่างๆ ในเชิงนโยบายที่จะทำให้ย้อนกลับมาสู่การกำหนดกรอบนโยบายต่างๆ ที่จะทำให้สังคมตรงนี้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น" อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 
 
00000
 
 
ตอนที่ 24 วิภา มัจฉาชาติ แรงงาน กลุ่ม Try Arm อดีตกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
 
 
"ภาคประชาชนคือ พวกเรา... คิดว่าทีมีภาคประชาชนที่มาพูดถึงเรื่องการเมือง เรื่องอะไรอย่างนี้ คิดว่าเป็นดีที่เราได้มีพื้นที่ในการพูดบ้างแม้จะน้อยนิดก็ตาม"
 
"เอ็นจีโอ แต่ก่อนไม่เคยรู้จักเอ็นจีโอนะ แต่พอมาม็อบกับไทรอัมพ์ (สหภาพแรงงานไทรอัมพ์)  ก็มีเอ็นจีโอเข้ามา ก็... มันเหมือนเขามาทำงานของเขาแล้วเขาก็ไปอะไรอย่างนี้ บางคน บางองค์กรก็เข้ามาสร้างความแตกแยกให้เราด้วย"
 
"เอ็นจีโอ คนที่ทำงานเพื่อแรงงาน อยากให้ทำงานเพื่อแรงงานจริงๆ ไม่ใช่เอาแรงงานมาเป็นงานของตนเอง เพื่อที่จะหาผลประโยชน์เข้าตัว... ส่วนภาคประชาชนอื่นๆ อยากให้มีจุดยืนเพื่อแรงงาน เพื่อพวกเรา แบบรากหญ้ากันจริงๆ ด้วย วิภา มัจฉาชาติ แรงงาน กลุ่ม Try arm อดีตกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แดงเชียงใหม่ออกแถลงการณ์ "วันสองมาตรฐานแห่งชาติ"

Posted: 26 Aug 2010 01:21 AM PDT

"นปช.แดงเชียงใหม่" ชุมนุมศาลากลาง พร้อมออกแถลงการณ์ "วันที่ 26 ส.ค. เป็นวันสองมาตรฐานแห่งชาติ" อ้างพันธมิตรฯ บุกยึดเอ็นบีทีและทำเนียบรัฐบาลคดีไม่คืบ ส่วนเสื้อแดงแกนนำถูกจับ

วันนี้ (26 ส.ค.) คนเสื้อแดงกลุ่ม "นปช. แดงเชียงใหม่" เดินทางไปชุมนุมที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์ “วันที่ 26 ส.ค. เป็นวันสองมาตรฐานแห่งชาติ ” โดยระบุว่า เมื่อ 26 ส.ค. ปี 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้บุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการหลายแห่ง แต่การดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่มีความคืบหน้า ถูกปกปิด รวมถึงกรณีวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ไปชุมนุมที่หน้ากองทัพภาค 1 กดดันให้รัฐบาลผลักดันชาวกัมพูชาตลอดแนวชายแดนไทยและเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็ม โอยู 43 ทั้งที่รัฐบาลยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่

ต่างจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ที่ต่อมามีการจับกุมดำเนินคดีแกนนำ โดยแถลงการณ์ระบุว่า จึงเห็นว่าเป็นพฤติกรรมเลือกข้าง มีอคติ และรับใช้ทางการเมืองมากกว่าการดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทางกลุ่มนปช. แดงเชียงใหม่จึงถือว่าวันที่ 26 ส.ค. เป็นวันสองมาตรฐานแห่งชาติ โดยผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันหน้าศาลากลางระยะหนึ่งจึงเดินทางกลับ สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์มีดังแนบ

 

000

แถลงการณ์
ศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่
“วันที่ 26 ส.ค. เป็นวันสองมาตรฐานแห่งชาติ”

วันที่ 26 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวันนี้เมื่อสองปีที่แล้ว วันที่ 26 ส.ค. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้บุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการหลายแห่ง สร้างความเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ ความเสียหายที่ร้ายแรงเหล่านี้ นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรง จนนำมาสู่ปัญหาสองมาตรฐานของสังคมไทย และเป็นเหตุนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดง จนในที่สุดจบที่โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ ที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 19 พ.ค. 2553

จนถึงทุกวันนี้การดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีความคืบหน้า แต่กลับถูกปกปิด ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ และยังมีการเตะถ่วงคดีต่างๆ โดยการโอนเข้าไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่เห็นแล้วว่ามีพฤติกรรมเลือกข้าง มีอคติ และรับใช้ทางการเมืองมากกว่าการดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม บรรดาแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ยังแสดงบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรฯไปชุมนุมหน้ากองทัพภาค 1 กดดันให้รัฐบาลผลักดันชาวกัมพูชาตลอดแนวชายแดนไทยและเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 43 ทั้งที่รัฐบาลยังประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่

แตกต่างจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าและราชประสงค์ ที่ต่อมามีการจับกุมดำเนินคดีแกนนำ นปช. 25 คน และไล่จับแกนนำอื่นๆกว่า 400 คน ทั้งที่หลายคนเป็นความผิดเล็กน้อย เช่น ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลสั่งลงโทษสถานหนักให้จำคุกทันที ส่วนความผิดของกลุ่มพันธมิตรฯ ในข้อหาพยายามฆ่าตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ ศาลลงโทษสถานเบารอลงอาญา ถือว่าสองมาตรฐาน กลายเป็นความอัปยศในแผ่นดินไทย นำมาซึ่งความรุนแรงในสังคมไทยและสร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนคนไทย ทั่วทั้งประเทศ

ดังนั้นจึงถือได้ว่า “ วันที่ 26 ส.ค. เป็นวันสองมาตรฐานแห่งชาติ ” เพราะเป็นวันแห่งต้นกำเนิดความขัดแย้งของสังคมไทย จนนำมาสู่ความยุติธรรมอำมหิตในสังคมไทยตอนนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ประกาศจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่การกระทำที่ผ่านมานอกจากโวหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ การกระทำและสั่งการบางเรื่องยังขัดกับคำพูด อย่างเช่นการไล่ล่าจับกุมแกนนำ นปช. แต่กลับไปขึ้นเวทีของกลุ่มพันธมิตรในการชุมนุมที่ขัดกับ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็คือการไปเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั่นเอง

เราจึงเห็นพ้องต้องกันว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่แท้จริง ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง จะต้องใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสนับสนุนสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ขจัดการใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐานให้หมดไปจากสังคมไทย นำผู้กระทำความผิดทุกคนเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและพิพากษาอย่างยุติธรรมเท่า เทียมกัน ไม่ใช้อารมณ์แค้นเคืองส่วนตัวตั้งข้อหาต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ยุติธรรม หากจะปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรที่กระทำความผิดมีโอกาสต่อสู้ข้อกล่าวหาอยู่ภาย นอกที่กุม​ขัง ก็ต้องให้โอกาสต่อกลุ่ม นปช.โดยปล่อยตัวออกไปต่อสู่ข้างนอก และหากยังจะกุมขังกลุ่ม นปช.อยู่ในคุกตะราง ก็ต้องเร่งดำเนินการกับคดีของกลุ่มพันธมิตรให้พวกเขาไปต่อสู้กับข้อกล่าวหา อยู่ในคุก​ตะรางเฉกเช่นกัน

การจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรืองสงบสุข เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีโดยตรง การสร้างความยุติธรรมที่เท่าเทียมจะนำไปสู่ความรุ่งเรืองสงบสุขนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นเพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่า หากจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อกลุ่มพันธมิตรเท่านั้น ประชาชนคนไทยเรา ขอให้ท่านลาออกไปจากตำแหน่งที่ทรงคุณค่า ที่ต้องมีวุฒิภาวะ มีคุณธรรมนี้ อย่าได้สร้างเวรสร้างกรรมให้ประชาชนและประเทศชาติต่อไปอีกเลย

ชาวเชียงใหม่ผู้รักความเป็นธรรม และรักประชาธิปไตย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มหยุดยิงว้า–เมืองลา ยัน “ไม่ตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน”

Posted: 25 Aug 2010 10:06 PM PDT

กลุ่มหยุดยิงว้า UWSA - เมืองลา NDAA ยืนยันชัดเจนไม่ตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดนตามที่ถูกกดดัน เผยเป็นแผนการรัฐบาลพม่าฝ่ายเดียว ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มตนและไม่ให้สิทธิชนชาติพันธุ์...

แหล่งข่าวชายแดนรัฐฉาน–จีน รายงานว่า กองทัพสหรัฐว้า United Wa State Army-UWSA และกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมือลา National Democratic Alliance Army–NDAA ซึ่งเป็นกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ทำหนังสือปฏิเสธตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF อย่างเป็นทางการถึงพล.ท.เยมิ้นต์ ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า (MAS) เมื่อวันอังคาร (24 ส.ค.)

คำปฏิเสธของกลุ่มหยุดยิงว้า UWSA และเมืองลา NDAA ดังกล่าว มีขึ้นหลังทั้งสองกลุ่มส่งตัวแทนไปพบพล.ท.เยมิ้นต์ ผู้อำนวยการความมั่นคงกองทัพพม่า MAS เมื่อวันที่ 20 ส.ค. และมีขึ้นหลังการประชุมที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 21-24 ส.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพสหรัฐว้า UWSA ในเมืองปางซาง

ทั้งนี้ กลุ่มหยุดยิงทั้งสองกลุ่มใ้ห้เหตุผลว่า การตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน Border Guard Force – BGF เป็นแผนการของรัฐบาลทหารพม่าเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มตนแต่ประการใด อีกทั้งยังเป็นการตัดสิทธิกลุ่มชนชาติพันธุ์ด้วย

หนึ่งในผู้นำระดับสูงของว้าคนหนึ่งเปิดเผยกับแหล่งข่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าไม่เคยขอความคิดเห็นหรือหารือก่อนจะมีการเสนอเกี่ยวกับหน่วยพิทักษ์ชายแดน ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มจึงจำต้องปฏิเสธและจะปฏิเสธตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ผู้นำว้าคนดังกล่าว กล่าวว่า ทางกลุ่มจะยึดมั่นข้อตกลงหยุดยิงและจะทำอย่างถึงที่สุดเพื่ออยู่ร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าอย่างสันติ แต่กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทหารพม่าเองว่าจะเลือกสันติวิธีหรือสงคราม

ก่อนหน้านี้ พล.ท.เยมิ้นต์ ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า ได้มีหนังสือเชิญผู้นำ UWSA และ NDAA เข้าพบเพื่อหารือการตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน และเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา เขาได้พบตัวแทนของ UWSA ที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือในช่วงเช้า และช่วงบ่ายพบกับตัวแทนของ NDAA ที่บก.กองทัพภาคสามเหลี่ยมเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก โดยเขาได้ยื่นเสนอให้ทั้งสองกลุ่มแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดนก่อนการเลือกตั้ง และให้ยื่นคำตอบกลับภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งกล่าวว่า หากไม่รับข้อเสนอ หลังการเลือกตั้งจะถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย

ขณะที่มีรายงานล่าสุดจากแหล่งข่าวอีกรายซึ่งพำนักอยู่ชายแดนรัฐฉาน - จีน ว่า เส้นตายภายในเดือนกันยายนที่พล.ท.เยมิ้นต์ กำหนดให้กลุ่มหยุดยิง UWSA และ NDAA นั้น อาจไม่ได้หมายถึงการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF หากมีความหมายให้วางอาวุธมากกว่า เนื่องจากพล.ท.เยมิ้นต์ ได้กล่าวว่า เส้นตายตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดนได้ผ่านพ้นมาแล้ว

สำหรับกองทัพสหรัฐว้า UWSA และกลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ถือเป็นกลุ่มหยุดยิงที่มีความสำคัญและมีอุปสรรคต่อรัฐบาลทหารพม่า เนื่องจากเป็นกลุ่มติดอาวุธมีกำลังพลมากและมีพื้นที่เคลื่อนไหวติดชายแดนจีน ขณะที่ทั้งสองกลุ่มเป็นสมาชิกกลุ่มสัมพันธมิตรกองกำลังหยุดยิงที่มีกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA และกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ “เหนือ” SSA-N ร่วมอยู่ด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับ (คำทวงถาม) ความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน

Posted: 25 Aug 2010 04:05 PM PDT

นักวิชาการชี้เป้ากฎหมายไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ พูดไปยิ่งสร้างความเข้าใจผิด แนะประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน หากอยากอยู่ยาว ด้านตัวแทนเศรษฐกิจการคลังยันรายได้ อปท.จากภาษีที่ดินฯ ต้องไม่ต่ำว่ารายได้เดิม ส่วนเงินสมทบธนาคารที่ดินให้เก็บเพิ่มอีกต่างหาก ตัวแทน คปท.จวกเหมือนเอาเงินคนจนมาช่วยคนจน

 
หลังจากสร้างกระแสข่าวครึกโครมอีกครั้งเมื่อ นาย กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังคนปัจจุบันประกาศเดินหน้าผลักดันครั้งใหญ่ แล้วก็ต้องชะลอลงเมื่อนักการเมืองร่วมพรรคหลายคนออกมาส่งเสียงปราม วันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผลักดันกันมานานกว่า 10 ปี ได้เข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ก่อนที่จะส่งกลับไปให้ ครม.เพื่อนำเข้าสู่สภาต่อไป 
 
ทำเอาหลายคนลุ้นจนตัวโก่งไปกับร่างกฎหมายนี้เพราะคาดหวังว่าภาษีที่ดินฯ จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แต่ดูเหมือนจะไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ยากเต็มที ไม่ว่าจะด้วยสถานะรัฐบาลในปัจจุบันว่าจะอยู่รอดปลอดภัยจนกระทั่งผ่านร่างกฎมายได้หรือไม่ และแม้ว่าร่างกฎหมายจะนำมาใช้บังคับได้ ก็ไม่แน่ว่าจุดมุ่งหมายนั้นจะเป็นจริง เพราะเหตุผลสำคัญคือท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจนต่อแนวทางดังกล่าว
 
เพื่อผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เป็นเครื่องมือและมาตรการทางกฎหมายดังที่สร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน วันนี้ (25 ส.ค.53) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนา "พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน" เพื่อระดมความเห็นและมุมมองของนักวิชาการ ภาคประชาชน และสาธารณะชน ต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 
 
นักวิชาการชี้เป้ากฎหมายไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ พูดไปยิ่งสร้างความเข้าใจผิด 
 
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า เป้าหมายหลักไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำหรือกระจายที่ดิน และการไปพูดแบบนี้มันก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แม้มันอาจจะช่วยได้บ้าง แต่น้อย และใช้เวลานาน แต่มันไม่ใช่เหตุผลหลัก เป็นไปตามแนวคิดของอดัมส์ สมิทธ์ ที่บอกว่าที่ดินมันอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ การซื้อขายที่ดินจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ ดังนั้นการซื้อที่ดินแล้วย้ายไม่ได้ต้องเสียภาษีที่ดิน โดยหลักการเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตามผลประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของกฎหมายนี้คือ เป็นการบังคับให้เจ้าของที่ดินต้องทำประโยชน์ ในกรณีญี่ปุ่น เกษตรกรญี่ปุ่น ต้องเสียภาษี 30% ทำให้เกษตรกรต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร รัฐบาลก็เอามาช่วยพัฒนาสวัสดิภาพและสวัสดิการ 
 
ที่ฮ่องกงมีการจัดเก็บภาษีจนลดงบประมาณของประเทศร้อยละ 35 ทั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งบอกว่า ถ้าไม่เก็บภาษีอะไรเลย เก็บเฉพาะภาษีที่ดิน ประเทศก็จะอยู่ได้ เพราะการไปเก็บภาษีด้านอื่นจะเกิดผลกระทบให้การผลิตลดลง มีแรงจูงใจลดลง ในส่วนของอัตราการจัดเก็บจะต้องเป็นอัตราที่ยอมรับกันได้ ดังนั้น ทุกๆ ประเทศจะต้องมีภาษีที่ดินแบบนี้ ซึ่งมีประโยชน์ทำให้ไม่เกิดระบบเสือนอนกิน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
 
นอกจากนั้น ศ.ดร.ผาสุก ยังยกตัวอย่างอัตราการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งในฝรั่งเศสว่า ในฝรั่งเศสทุกคนต้องส่งข้อมูลทรัพย์สินที่มีทั้งหมดให้กับภาครัฐและนำไปลบด้วยหนี้สิน เหลือเท่าไหร่ก็จะมีอัตราการจัดเก็บตั้งแต่ 0 -1.8% โดยมูลค่าที่รัฐบาลจัดเก็บได้คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมดของภาษีทั้งประเทศ ในส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ในบางมลรัฐ มีการจัดเก็บภาษีที่ดินในเมืองใหญ่ๆ เก็บภาษีสูงๆ ซึ่งมีผลให้คนที่ไม่ทำอะไรในที่ดินของตนเอง ต้องหารายได้ พัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ เพื่อเอาเงินมาเสียภาษี ดังนั้นกระบวนการนี้จึงผลักดันให้คนที่เอาที่ดินตรงนี้มาใช้ประโยชน์ กรณีที่เพนซิลวาเนีย มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ 8,000 กว่าแห่ง ลดเหลือ 100 กว่าแห่ง ทำให้เกิดกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ 
 
ส่วนการกระจายการถือครองที่ดิน ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า หัวใจ คือ การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งต้องทำเป็นนโยบาย ซึ่งคนจะกลัวกันมากกว่าจะมีการเวนคืน หรือยึดที่ดิน แต่การปฏิรูปที่ดินมีหลายรูปแบบ ประเทศที่มีการปฏิรูปที่ดินได้ผล คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ โดยรัฐบาลจะไม่ได้ยึดมาจากคนรวย แต่ตั้งเกณฑ์ว่ามีได้ 5 ไร่ ใครมีเกินรัฐบาลจะขอซื้อ จ่ายเป็นพันธบัตรและดอกเบี้ย และเอาที่ดินที่รัฐบาลมีอยู่ในมือในรูปแบบต่างๆ ไปกระจายการถือครองที่ดิน และมีธนาคารที่ดินเป็นมาตรการเสริมอักอันหนึ่ง ในส่วนของช่องโหว่เรื่องการเก็บภาษีจากราคาค่าเช่า มีการสมยอมกันเพื่อบอกราคาค่าเช่าต่ำ ทำให้เจ้าของไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากค่าเช่า ดังนั้นควรจะมีคณะกรรมการเพื่อดูแลตรงนี้ให้โปร่งใสมากขึ้น
 
“การกระจายที่ดินต้องผลักดันการปฏิรูปที่ดินที่เหมาะสมกับประเทศไทย” ศ.ดร.ผาสุก แสดงความเห็น
 
 
ชี้ประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน หากอยากอยู่ยาว
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวสนับสนุนกฎหมายภาษีที่ดินฉบับนี้ แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงอยู่ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกำกับการใช้ที่ดิน นอกจากนั้นในร่างกฎหมายได้ระบุให้มีคณะกรรมการประเมินและกำกับอัตราภาษี ที่สามารถปรับแก้ไข ปรับเปลี่ยนอัตราภาษีได้ โดยภาคประชาชนสามารถเข้าไปร่วมพูดคุยเสนอแนะ และในอนาคตประเทศไทยควรมีการผลักดัน ภาษีความมั่งคั่ง ทั้งภาษีมรดก ภาษีของขวัญ ซึ่งเป็นตัวสืบทอดความมั่งคั่งได้ เพราะที่ดินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการการสะสมความมั่งคั่ง และคนสามารถไปสะสมทรัพย์สินอย่างอื่นที่ไม่มีการเก็บภาษีได้ อย่างไรก็ตามต้องเป็นการเก็บภาษีที่เป็นธรรม ไม่ควรมากเกินไปจนจ่ายไม่ได้ 
 
“ภาษีทรัพย์สิน ภาษีความมั่งคั่ง ต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประเทศ ไม่ใช่เรื่องคนจนไปเอาจากคนรวย” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว และว่าการที่คนรวยต้องเสียภาษีมากกว่า เพราะได้ประโยชน์มากกว่าจะระบบสาธารณูปโภคของรัฐ 
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวต่อมาว่า ผลประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีคือจะทำให้เกิดการทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตอนนี้เราพูดถึงว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเอาเงินมาจากไหน ในบางประเทศที่เขามีรัฐสวัสดิการเขาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กัน 17-20% ในขณะที่ประเทศไทยเก็บแค่ 7 % ส่วนภาษีรายได้มีคนเสียภาษีเพียง 1ล้านคน อีกทั้งมีปัญหาในการจัดเก็บอยู่มาก สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน เหมือนเป็นเรื่องลึกลับ เป็นความลับสุดยอด ไม่มีใครรู้ว่าการกระจายการถือครองที่ดินในประเทศเป็นอย่างไรจริงๆ ทั้งที่ตรงนี้เป็นข้อมูลหลักเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินได้จริง 
 
ต่อคำถามที่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถที่จะผ่านในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า รัฐบาลต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนมาก และหากสามารถผ่านร่างกฎหมายได้ก็จะได้ใจประชาชนมาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกัดฟันหนุนกฎหมายนี้แม้ว่าจะมีคนในพรรคต่อต้าน ประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน อย่าไปฟังเสียงของคนส่วนน้อยที่จะไม่มีผลอะไรต่อคะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ หากต้องการจะอยู่ยืนยาว
 
“ประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงประชาชน หากต้องการเสียงคนที่จะเลือกประชาธิปัตย์กลับมา” ศ.ดร.ผาสุก
 
 
แจงภาษีที่ดินฯ ประโยชน์เข้าท้องถิ่น ใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่เดิม หวังผลลดตุนที่ดินเก็งกำไร 
 
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างเพราะปัญหาการถือครองที่ดินเป็นปัญหาที่ทับซ้อน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ โดยตัวเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะนำมาใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่เดิม 
 
ผศ.ดร.ดวงมณี วิเคราะห์ภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบันว่า มีการจัดเก็บจาก 3 ฐานด้วยกัน คือ จากฐานรายได้ เก็บจากฐานการบริโภค และเก็บจากฐานทรัพย์สินหรือความมั่งคั่ง ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บในเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งที่ใกล้เคียงคือภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างแต่ก็ยังมีข้อบกพร่องในการจัดเก็บ โดยที่ผ่านมาเป็นการจัดเก็บจากฐานรายได้ คือ ค่าเช่า จึงไม่ใช่เก็บจากฐานทรัพย์สิน มีช่องโหว่คือ อาคารที่เป็นที่อยู่อาศัย ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่โตแต่ไม่ต้องเสียภาษี โรงเรือนที่ปล่อยทิ้งว่างก็ไม่ต้องเสีย และรัฐเองไม่มีมาตรการในการบังคับตรวจสอบหาคนที่เก็บภาษีอย่างแท้จริง การทุจริตทำได้ง่าย นอกจากนี้โครงสร้างภาษีเป็นแบบถดถอย ยังคงใช้ราคาปานกลางตั้งแต่ปี 2521-2524 ทำให้ราคาไม่เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามหลักการต้องมีการประเมินทุกๆ 4 ปี 
 
สำหรับฐานภาษีของภาษีที่ดินใหม่นั้นจะเก็บจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และองค์กรที่ทำหน้าที่จัดเก็บ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดการรับผิดรับชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ โดยอัตราภาษีจะจำแนกตามประโยชน์และการใช้งาน เกษตรไม่เกินร้อยละ 0.05 ที่อยู่อาศัยไมเกินร้อยละ 0.1 พาณิชย์ ไม่เกินร้อยละ 0.5 ส่วนที่ดินที่ไม่มีการทำประโยชน์จะเก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 0.5 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 3 ปี แต่ไมเกินร้อยละ 2 ตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัย 1 ล้าน จ่ายภาษีไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี แต่จะมีข้อยกเว้นให้กับผู้ที่พึ่งมีบ้านใหม่และผู้มีรายได้น้อยจะไม่ต้องเสียภาษี เช่น มูลค่าที่ดินไม่เกิน 500,000 บาท อย่างไรก็ตามการยกเว้นลดหย่อนมากไม่ควรมี เพราะจะเป็นช่องโหว่กับกฎหมาย เพราะรายได้ภาษีที่จัดเก็บจะตกกับคนในท้องถิ่น โดยอัตราภาษีก็ไม่ได้สูงมากจนเกินไป
  
ทั้งนี้ ในแง่การเก็บภาษีจากฐานมูลค่าที่ดิน โดยหลักการคือถ้าเรามีที่ดินราคาสูง เราก็จะมีความสามารถในการจ่ายภาษีได้สูงกว่าคนที่มีมูลค่าที่ดินน้อย ขณะที่ถ้าดูจากขนาดการถือครองที่ดิน ต้องดูหลายปัจจัยว่า ขนาดที่ดินที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรจะมีขนาดกี่ไร่ แต่ถ้าจะเก็บจากขนาดการถือครองที่ดินจะต้องมีฐานการถือครองที่ดินของทั้งประเทศก่อนเพื่อเป็นฐาน ในส่วนของอัตราภาษีจากร่างนี้ยังไม่ก้าวหน้า เช่น ถ้ามี 100 ไร่ เสีย 1% ถ้ามี 200 ไร่ เสีย 2% ถ้ามี 300 ไร่ เสีย 3%
 
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อมาว่า เป้าหมายหลักของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ คือเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน แต่อาจจะไม่ได้ประโยชน์เรื่องการกระจายการถือครองที่ดินมากนัก แต่จะเป็นประโยชน์เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้น และต้องคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ กำกับดูแล เพื่ออุดช่องโหว่คนที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้จะมีผลต่อคนที่ถือครองที่ดินมาก คนที่ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร โดยจะทำให้มีต้นทุนขึ้นมาเพราะปัจจุบันไม่มีต้นทุน ซึ่งในอนาคตจะมีผลต่อการตัดสินใจของคนพวกนี้มากขึ้น 
 
 
ตัวแทนคลังยันรายได้ อปท.จากภาษีที่ดินต้องไม่ต่ำว่ารายได้เดิม ส่วนเงินสมทบ ธ.ที่ดิน ให้เก็บเพิ่มต่างหาก 
 
จรูญศรี ชายหาด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าปัจจุบันได้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษี จัดเก็บรายได้ แต่ถ้าจัดเก็บไม่เพียงพอรัฐจากอุดหนุนลงไป แต่ฐานการจัดเก็บภาษีที่ดินเดิมอัตราถดถอย ราคาไม่เป็นปัจจุบัน ตัวอย่างปัญหาที่ผ่านมา เช่น ยกเว้นการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยในเทศบาลที่พื้นที่ 35 ตารางวา กฎหมายเก็บจากภาษีจากค่าเช่าใช้ประโยชน์ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เช่าซึ่งหลายหลายถูกผลักภาระให้ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายนั้นเพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เลี้ยงตนเองได้ ตามหลักที่ว่าเงินภาษีจัดเก็บที่ไหนก็ใช้เลี้ยงคนตรงนั้น 
 
ในส่วนการหักภาษี 2% เข้ากองทุนธนาคารที่ดิน มีการปรับเปลี่ยนเป็นให้มีการเก็บเซอร์ชาร์จ (surcharge) หรือค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่ม 2 % จากรายได้ภาษี เพื่อส่งให้รัฐ แยกต่างหากจากรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำมาบริหารจัดการในพื้นที่ โดยหลักของภาษีที่ดินฯ คือ มีเกณฑ์ลดหย่อน กลุ่มที่เสียภาษีสูง เช่นผู้เช่าบ้าน ผู้รับภาระสินค้าและบริการ ทั้งนี้การที่จะได้เงินมาบริหารเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับอัตราลดหย่อนที่จะออกมา แต่อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่ารายได้ที่เคยจัดเก็บได้เดิม ทั้งนี้ ภาษีบำรุงท้องถิ่นปัจจุบันที่จัดเก็บได้คือราว 18,000 ล้านบาท ดังนั้นภาษีที่ดินฯ ควรต้องได้ไม่น้อยกว่านี้ 
 
จรูญศรี ต่อกล่าวต่อมาถึงขั้นตอนของร่างกฎหมายว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นกฤษฎีกา ชุด 12 โดยจะมีการพิจารณาประมาณต้นเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การประชาพิจารณ์เต็มรูปแบบ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการรับฟังความเห็นเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณากฎหมายจนออกได้ ในปี 2553 ต่อไปปี 2554-2555 จะเป็นการเตรียมการเพื่อทำฐานข้อมูลและสำรวจข้อเท็จจริง โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปี 2556
 
 
คปท.เสนอปลดล็อคเพดานภาษีที่ดินรกร้าง พร้อมให้เกษตรรายใหญ่จ่ายภาษีแบบขั้นบันได 
 
ประทิน เวคะวากยานนท์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดินที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีที่ดิน 321 ล้านไร่ มีคน 95% มีที่ดินเฉลี่ยคนละไม่ถึง 1 ไร่ มีเกษตรกร 10 ล้านคนที่ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอในขณะที่นักการเมืองอย่างคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีที่ดินรวมกันถึง 5,000 ไร่ แต่ สส. สว. และนายทุนรวมกันยังไม่มีข้อมูลว่ามีที่ดินเท่าไหร่ เรื่องนี้ยังเป็นความลับที่เข้าถึงข้อมูลได้ยาก ทั้งนี้ จากการผลักดันของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ให้มีการแก้ปัญหาที่ดิน 3 อย่างคือ 1.โฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนรักษาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีกฎกติการ่วมกัน 2.กองทุนธนาคารที่ดิน ที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน 3.การเก็บภาษีที่ดิน ซึ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่รัฐพยายามเอามาใช้แก้ปัญหาที่ดิน
 
“ถ้าหากเฉพาะเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่ต้องมาแถลงว่าจะออกกฎหมายมาแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน” ประทินกล่าว และว่าในขณะนี้เรื่องกองทุนธนาคารที่ดินยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินงานกองทุนซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ตอบสนองเฉพาะคนกรุงเทพฯ ก็น่าจะมีการจัดสรรงบให้ได้สัก 3 หมื่นล้านเทียบเท่าการทำรถไฟฟ้าแค่สายหนึ่ง มาเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อนำมาจัดหาที่ดิน ช่วยเหลือคนในชนบทให้ได้ใช้ประโยชน์  
 
ในส่วนข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ประทินกล่าวว่า ในส่วนอัตราภาษีสำหรับที่ดินรกร้าง ที่เก็บภาษีเพียง 0.5 ซึ่งเท่ากับที่ดินประเภทอื่น คิดว่าจะไม่ส่งผลให้คนที่เก็งกำไรที่ดินเอาไว้ เพราะอัตราภาษีต่ำเกินไป ดังนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ขอเสนอว่า ไม่ควรมีเพดานภาษี 2% ควรจะเก็บอัตรา 2 เท่าในทุก 3 ปี จนเขาคายที่ดินออกมา และควรมีอัตราภาษีที่แตกต่างกับการทำเกษตรรายใหญ่กับเกษตรกรรายย่อย ถ้าเก็บอัตราเดียวกันจะไม่เป็นธรรม โดยเกษตรกรรายใหญ่ควรเสียภาษีเป็นขั้นบันไดตามขนาดเนื้อที่การถือครอง เช่น 1,000 ไร่ 2,000 ไร่ นอกจากนี้ในส่วนของภาษีที่จัดเก็บได้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหักภาษี 2% เข้ากองทุนธนาคารที่ดินส่วนกลาง 
 
 
จวกเก็บเงินเพิ่มสมทบเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน เหมือนเอาเงินคนจนมาช่วยคนจน
 
สุรพล สงฆ์รักษ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนข้อเสนอที่ว่าไม่ควรมีการกำหนดเพดานภาษี 2 % และให้ยกเลิก เพราะไม่ล้อกับอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในระดับภูมิภาค และรัฐควรใช้มาตรการทางภาษีที่มีอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่วนกรณีข้อเสนอให้มีการหักภาษีที่ดินฯ เข้ากองทุนธนาคารที่ดิน ที่อ้างว่าไม่สามารถทำได้เนื่องรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงท้องถิ่นได้นั้นไม่จริง เพราะมีกรณีที่รัฐบาลมีการสั่งการให้ตั้งงบเรื่องประเพณีวัฒนธรรมโดยใช้งบท้องถิ่นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และท้องถิ่นก็ยอมให้แทรกแซง อีกทั้งความจริงคือท้องถิ่นไม่ได้เป็นเขตปกครองตนเองที่มีความเป็นเอกเทศ แต่เป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการ
 
สุรพล กล่าวอีกว่า การเสนอให้เก็บเซอร์ชาร์จ (surcharge) หรือค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเพื่อนำเงินเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน แทนที่จะหักเปอร์เซ็นต์จากภาษีฯ จะกลายเป็นการเอาเงินมาจากเกษตรกรรายย่อย เอาเงินคนจนมาช่วยคนจน ในขณะที่คนรวยอยู่สบายเหมือนเดิม อีกทั้งกฎหมายภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ออกแบบการเก็บภาษีจากขนาดการถือครองที่ดินในอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามหากคำนวณเงินได้การจัดเก็บจากเซอร์ชาร์จจริงๆ แล้วจะได้เงินสมทบเข้ากองทุนธนาคารที่ดินเพียง 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากอยู่ดี
 
สุรพลให้ข้อมูลกรณีปัญหาการเสียภาษีที่ดินของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ด้วยว่า มีนายทุนสวนปาล์มขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้หลายราย เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหลายหมื่นไร่ มีทั้งที่เป็นที่ดิน สปก. ที่สวนป่า และป่าสงวนฯ โดยทำเสมือนว่าเป็นที่ดินของตนเอง ซึ่งที่ดินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบ นายทุนจึงไม่ต้องเสียภาษีที่ดินให้ท้องถิ่น เวลาจะเสียภาษีก็แจ้งแค่ที่ตัวเองมีเอกสารสิทธิ์แต่ไม่ครบถ้วนทั้งหมด กลายเป็นปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินไม่คบถ้วน และคนที่จะหลุดรอดได้ก็จะเป็นนายทุนขนาดใหญ่ที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ช่องโหว่นี้กฎหมายใหม่จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง 
 
อัพยุทธ์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่าขณะนี้ต้องตอบให้ชัดเจนว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจริง หรือเป็นเพียงนโยบายหาเสียง ส่วนตัวถ้าดูจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วมองว่าจะเป็นการหาเสียงมากกว่าจะมีความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะยังไม่เห็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาให้กับคนจนที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย 
 
“ภาษีที่ดินฯ ของรัฐบาล ยังไม่ได้เป็นการกระจายความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน” ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาคให้ความเห็น
 
อัพยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนที่จะสนับสนุนเรื่องธนาคารที่ดิน ในเรื่องเงินประเดิมเพื่อการขับเคลื่อน ถ้ามีการพูดว่าเป็นแหล่งรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับเครือข่ายฯ ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้หวังอะไรจากรัฐบาลมากนัก และทางเครือข่ายฯ เห็นว่าเป็นภาระของการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหา
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น