โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงาน: “ทามาดะ โยชิฟูมิ” อภิปรายการเมืองไทยร่วมสมัยที่ ม.เชียงใหม่

Posted: 28 Aug 2010 11:46 AM PDT

ทามาดะ โยชิฟูมิ” อภิปรายเรื่องประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” ที่ไม่มีวันเหมือนเดิมหลังจากมีการเลือกตั้ง ผ่่านพฤษภา 35 กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2540 ชี้การปกครองแบบประชาธิปไตยถ้าปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของประชาชนและการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย และฝ่ายที่สู้กับประชาชนไม่มีวันชนะ

 หมายเหตุ: เชิงอรรถและคำอธิบายเป็นการเพิ่มเติมโดย “ประชาไท”


เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญ ศาสตราจารย์ทามาดะ โยชิฟูมิ (TAMADA Yoshifumi) อาจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเมืองร่วมสมัยของไทย ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ โดยการอภิปรายของอาจารย์ทามาดะ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

โดยอาจารย์ทามาดะ เริ่มอภิปรายด้วยคำถามว่า การเมืองไทยและความเป็นประชาธิปไตยของไทยสมัยปัจจุบันนี้มีสถานะอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำผลการสำรวจขององค์กรเอกชนที่ชื่อว่า "Freedom House" ซึ่งใช้ตัวชี้วัด 2 ประการ ในการสำรวจ คือ สิทธิทางการเมือง (Political Rights) กับเสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties) โดยตัวเลขน้อยแสดงว่ามีสิทธินั้น ๆ มากในอันดับต้นๆ

ผลสำรวจในประเทศไทยปี 2546 มีสิทธิทางการเมือง อยู่ในระดับที่ 2 เสรีภาพพลเมืองอยู่ในระดับที่ 3 แต่ตกต่ำลงหลังรัฐประหาร โดยในปี 2550 สิทธิทางการเมืองตกไปอยู่ระดับที่ 7 ส่วนเสรีภาพพลเมืองอยู่ระดับที่ 4 ในปีล่าสุดนี้สิทธิทางการเมืองของไทยดีขึ้นเล็กน้อยคืออยู่ในระดับที่ 5 ส่วนเสรีภาพพลเมืองยังอยู่ในระดับที่ 4

ขณะนี้เปรียบเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเรียงลำดับแล้ว สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองอันดับต้นๆ คืออินโดนีเซีย ซึ่งเดิมเคยเป็นรัฐบาลทหารแต่เปลี่ยนเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รองลงมาได้แก่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยไทยมีสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองเท่ากับสิงคโปร์ โดยที่สิงคโปร์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอำนาจนิยม อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยในไทยตกต่ำลงเพราะการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

จากนั้น อาจารย์ทามาดะ ได้อภิปรายเหตุการณ์ทางการเมืองไทย ผ่านการฉายภาพการ์ตูนล้อการเมืองของ "ขวด" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ "เซีย" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งตีพิมพ์ระหว่างปี 2549-2553 ซึ่งสร้างความสนใจให้กับผู้ร่วมประชุม

อาจารย์ทามาดะ ได้อภิปรายต่อไปว่า คำถามที่ว่ามีสงครามระหว่างใคร มีอะไรเกิดขึ้นในสามปีที่ผ่านมา พอจะนึกออกแล้วใช่หรือไม่ ประเทศไทยกำลังมีสงครามระหว่างใครกับใคร มีคนอธิบายแบบง่ายๆ ว่าเป็นสงครามระหว่าง "สาวกคนดี" กับ "สาวกทักษิณ" ซึ่งตนว่าไม่จริง โดยขออธิบายว่า เป็นการต่อสู้ทางการเมือง มันเป็นสงครามที่ไม่เท่าเทียมกันเพราะมีฝ่ายเดียวที่เป็นฝ่ายรุกโดยส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งจะต้อง "มีกฎที่แน่นอน แต่ไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร" (Certain rule with uncertain result) แต่ถ้าการเลือกตั้ง "มีกฎที่ไม่แน่นอน แต่ผลแน่นอน" (Uncertain Rule with certain result) แบบนี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

ธงชัย วินิจจะกูล ได้อธิบายว่า คนที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (Anti democratic forces) ได้แก่ คนสามกลุ่ม คือ 1.ชนชั้นกลาง (Urban elite) 2.พลังข้าราชการ (Bureaucratic power) 3.ฝ่ายนิยมเจ้า (Monarchist) โดยคนสามกลุ่มเป็นคนละส่วนแต่ได้จับมือกันเพื่อต่อสู้กับทักษิณ ชินวัตร โดยพวกนิยมเจ้าเริ่มสู้กับทักษิณ เพราะเขาไม่ชอบทักษิณ และกังวลเรื่อง Successor (ผู้สืบสันตติวงศ์) ส่วนคนในเมืองที่เป็นชนชั้นกลางนั้นสู้กับคนจนในชนบทและคนจนในเมือง ในขณะที่พวกข้าราชการก็สู้กับ ส.ส.

พวกนิยมเจ้าไม่ชอบทักษิณ เพราะรัฐในอุดมการณ์ของเขาเข้ากับทักษิณได้ยาก เขาต้องการปกครองในรูปแบบ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" หรือ "ราชประชาสมาศัย" ซึ่งสองอย่างนี้เหมือนกันหรือคล้ายกันมาก

ปิยะบุตร แสงกนกกุล เคยอธิบายว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" มีลักษณะดังนี้ คือ หนึ่ง องคมนตรีมีอำนาจแทรกแซงการเมือง สอง ประชาชนเป็นข้าแผ่นดิน ไม่ใช่พลเมือง สาม รัฐบาลเสียงข้างมากต้องประนีประนอมกับอภิชน สี่ เชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ตัวบงชี้ ห้า กองทัพเป็นผู้อนุบาล หก ปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด (accountability)

ระบบการปกครองต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นระบอบประชาธิปไตย มีสามรูปแบบ หนึ่ง ระบบประธานาธิบดี (Presidency System) ผู้นำเป็นประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้

สอง ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ภูฏาน สิงคโปร์ ส่วนมากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องเป็นรูปแบบที่ 1 หรือที่ 2 นี้

สาม เรียกว่ากึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi-Presidential System) โดยนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีมีอำนาจเท่าๆ กัน ประเทศที่ใช้การปกครองรูปแบบนี้เช่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน รัสเซีย

แบบที่สี่ “แบบไทยๆ” นี่เป็นลักษณะพิเศษ เป็นแบบที่แบ่งอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ Monarch (สถาบันพระมหากษัตริย์)

และแบบที่ห้า Monarchial system หรือ แบบกษัตริย์ เช่น บรูไน

โดยระบบประธานาธิบดีเป็นประมุข กับระบบกษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้น

ทั้งนี้ในรูปแบบสามกับสี่ มีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดี และระหว่างนายกรัฐมนตรีกับกษัตริย์ อาจเป็นแบบ Zero-sum game คนหนึ่งได้หมด คนหนึ่งจะเสียหมด ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันได้นี่ยากหน่อย โดยทั่วไปแล้วอีกฝ่ายชนะ อีกฝ่ายแพ้ มักจะเป็นอย่างนั้น

ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะใช้รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแบบนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจแบบนี้ ยึดกันตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่กำหนดอย่างชัดแจ้งจะเกิดปัญหาแบบที่เมืองไทยที่แย่งชิงอำนาจกัน ใครมีอำนาจมากกว่ากัน

แบบไทยๆ” นั้นมีปัญหาอย่างไร ถ้าหากว่านายกรัฐมนตรี มีความชอบธรรมสูงมาก สำหรับพวกนิยมเจ้าถือว่าเป็นปัญหา พวกเขาสนใจมากและห่วงมากหากนายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรมสูงมากไป แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ซึ่งมีกษัตริย์เหมือนกัน แต่นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจมากหรือน้อยนั้นพวกนิยมเจ้าเขาไม่สนใจ ส่วนเมืองไทยไม่เป็นอย่างนั้น

จึงถือว่าแบบญี่ปุ่นและอังกฤษทั้ง Popularity (ความนิยมของประชาชน) กับ Ability (ความสามารถ) ของ Monarch นั้น ไม่สำคัญกับระบอบ แต่สำคัญสำหรับแบบที่ 4 กับแบบที่ 5 ในญี่ปุ่น และอังกฤษไม่มีปัญหา โดยอำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญ ผมพูดในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งปัญหาก็จะเกิด

กล่าวคือความสูงต่ำของเพดานอำนาจ Monarch จึงเปลี่ยนง่าย ขึ้นอยู่กับความสามารถของ Monarch และความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นพวกนิยมเจ้าจึงพยายามเพิ่มอำนาจของ Monarch

ปัญหาจึงเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายนิยมเจ้า กับ ทักษิณ ทะเลาะกัน เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรี กับ กษัตริย์ เริ่มเปลี่ยน เพราะประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการเลือกตั้งอย่างน้อยหลังปี 2522 สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ แล้วอีกอย่างที่สำคัญ หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 มีการแก้รัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. แปลว่าคนที่เลือกนายกรัฐมนตรีคือประชาชน นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ ต่อมามีรัฐธรรมนูญปี 2540 และในช่วงเดียวกันมีการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งบ่อยขึ้น หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นมีการเลือกตั้งมากขึ้น ประชาชนเรียนรู้ว่าจะใช้คะแนนเสียงของตนอย่างไร

สุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งปี 2544 ทักษิณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นปัจจัย เงื่อนไข ให้พวกนิยมกษัตริย์ ตกใจ เป็นห่วง ไม่พอใจ พวกนิยมเจ้าคิดอย่างไร นี่เป็นคำพูดที่มีชื่อเสียง ทุกคนเคยเห็นเคยได้ยินมาแล้ว เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนนท์ (ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) พูดที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ก่อนมีรัฐประหารประมาณ 2 เดือน เขาอธิบายว่า “รัฐบาลก็เหมือนกับ jockey คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” [1] แต่คำว่า ชาติ ของ พล.อ.เปรม หมายถึงอะไร ก็คงไม่มีใครอธิบาย เมื่อวานผมผ่าน “ค่ายตากสิน (กองพันสัตว์ต่าง กรมการขนส่งทหารบก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่) เขาเขียนว่า “เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน” แต่ในตะวันตก ชาติ หมายถึง ประชาชน เป็นอันเดียวกัน แต่ที่นี่ ที่ประเทศไทยชาติไม่ใช่ประชาชน ชาติหมายถึงอะไร ไม่รู้ ที่นี่ชาติอาจไม่มีความหมาย ทหารจึงเป็นของกษัตริย์ในสายตาของ พล.อ.เปรม

นอกจากนี้มีหนังสือจากประธานศาลฎีกา ถึงประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2549 อธิบายทำนองว่าในภาวะที่ประเทศว่างเว้นรัฐสภา และรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้ารัฐสภาว่างเปล่า ครม.ว่างเปล่า เหลือแต่อำนาจศาล กษัตริย์จะใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านศาลได้ [2] เพราะช่วงนั้น สภาว่างเปล่าจริงๆ ไม่มี ส.ส. ส่วน ส.ว. ก็ว่าง เหลือแต่ คณะรัฐมนตรีรักษาการ ถ้าหากทักษิณลาออก หรือถูกทำให้ออกในสมัยนั้น ทักษิณไป คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีเหลือ จะเหลือแต่อำนาจศาลเท่านั้น ผมเข้าใจว่ามีการพยายามสร้างสถานการณ์หรือทำให้มีสภาวะของอำนาจแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะสามารถใช้อำนาจอธิปไตยโดยใช้ศาลได้ แต่พอดีเกิดรัฐประหารขึ้น

ต่อมา อาจารย์ทามาดะ เปรียบเทียบความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนสองกลุ่ม คือกลุ่มเสื้อแดง กับ กลุ่มเสื้อเหลือง ตามตัวชี้วัดต่างๆ ดังนี้

ประเด็นแรก “การเลือกตั้ง” เสื้อเหลือง ไม่ชอบ และ ด่า ส.ส. ส่วน เสื้อแดง ถือว่าเขาได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งขาดไม่ได้ต้องมี ประเด็นที่สอง ในเรื่อง “การรัฐประหาร” เสื้อเหลือง ยอมได้ เสื้อแดง ไม่ยอม ประเด็นที่สาม ในเรื่อง “ด่าใคร” ในกรณีการสลายการชุมนุมที่ผ่านมา เสื้อเหลือง ด่าคนที่ถูกฆ่า ส่วนเสื้อแดง ด่าคนที่สั่งฆ่าหรือคนที่ฆ่า

จากนั้น อาจารย์ทามาดะ ได้นำข้อมูลจากงานวิจัยของอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอภิปราย โดยคำถามในงานวิจัย เมื่อถามเกี่ยวกับอาชีพของคนสองกลุ่ม  ในการสำรวจพบว่าอาชีพเกษตรกร คนเสื้อเหลืองมีอาชีพนี้ 35% ส่วนคนเสื้อแดง 53% เป็นเกษตรกร

ในอาชีพงานนอกระบบ คนเสื้อเหลืองทำงานนอกระบบ 4% คนเสื้อแดง 9% ส่วนอาชีพในระบบที่เป็นทางการ พบว่าเป็นคนเสื้อเหลือง 35% คนเสื้อแดง 22% ส่วนอาชีพค้าขาย พบว่าเป็นคนเสื้อเหลือง 27% คนเสื้อแดง 6%

ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษา คนเสื้อเหลืองจบระดับปริญญาตรีขึ้นไป 38% คนเสื้อแดง 18.7%

ในเรื่องรายได้ต่อเดือน คนเสื้อเหลืองมีรายได้ 31,427 บาทต่อเดือน คนเสื้อแดงมีรายได้ 17,034 บาทต่อเดือน ส่วนคนที่เป็นกลางมีรายได้ 11,995 บาทต่อเดือน ในด้านจิตสำนึก เป็นอย่างไร คนเสื้อเหลืองกลับรู้สึกว่าตัวเอง ยากจน 23% คนเสื้อแดง รู้สึกว่าตัวเองยากจนเพียง 18% คือคนเสื้อเหลืองรวยกว่าแต่รู้สึกว่ายากจนกว่า ส่วนคนที่เป็นกลางรู้สึกว่ายากจน 14.6%

ส่วนคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีฐานะปานกลาง พบว่า คนเสื้อเหลือง 61.5% คิดว่าตัวเองมีฐานะปานกลาง คนเสื้อแดง 50% คิดว่าตนมีฐานะปานกลาง ส่วนคนที่เป็นกลาง 78.1% คิดว่าตัวเองมีฐานะปานกลาง ส่วนทัศนคติเกี่ยวกันความเหลื่อมล้ำทางรายได้แล้ว พบว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองนั้นรู้สึกว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นไม่ห่างมาก หมายถึงยังพอรับได้ 57.7% ส่วนคนเสื้อแดง 75.0% และคนที่เป็นกลาง 87.8% คิดเช่นนั้น

เรื่องการยอมรับการรับประหาร คนเสื้อแดง ไม่ยอมรับการรัฐประหาร 81% ยอมรับการรัฐประหาร 19.2% ส่วนคนเสื้อเหลือง ไม่ยอมรับการรัฐประหาร 12.5% ยอมรับการรัฐประหาร 50% และเมื่อถามว่าจะยอมรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ คนเสื้อเหลืองร้อยละ 73.1 ตอบว่ายอมรับการรัฐประหารหากเป็นไปเพื่อการปกป้องสถาบัน และ 57.7% ยอมรับการรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาจลาจล

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง ฝ่ายที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง กับฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง พวก Monarchist ต้องโจมตีทั้ง “Principal” “Agent” และ “Election” โดยโจมตีว่าประชาชน ซึ่งเป็น “Principal” นั้น โง่ ยากจน การศึกษาต่ำ จึงขายเสียง โจมผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “Agent” ว่าคอร์รัปชั่น ซื้อเสียง จึงไม่ชอบธรรม และโจมตีขั้นตอนมอบอำนาจคือ “Election” หรือการเลือกตั้ง ว่ามีการซื้อเสียง ขายเสียง

โดยอาจารย์ทามาดะ ได้เปรียบเทียบวิธีคิดนี้กับคำพูดของนายจรัญ ภักดีธนากุล ขณะนั้นเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2549 ที่นายจรัญกล่าวว่า “เราขอถามที่มาของผู้ทรงอำนาจรัฐ 16 ล้านเสียง แค่คูณด้วยเสียงละพัน มันก็เป็นเงินแค่ 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้นเอง...” [3] ซึ่งถ้าเป็นผู้พิพากษาในญี่ปุ่นพูดแบบนี้ถูกปลดทันที แต่ในไทยตอนนี้คนนี้ก็ยังเป็นผู้พิพากษาอีก

จากนั้น อาจารย์ทามาดะ อภิปรายต่อไปว่า เกี่ยวกับความไม่พอใจของคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง โดยอาจารย์ทามาดะกล่าวว่า ขอเดาว่า หนึ่ง คนเสื้อแดงไม่พอใจกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สอง คนเสื้อแดงไม่พอใจ Injustice หรือสองมาตรฐาน ว่าเป็นประชาชนด้วยกัน เป็นคนไทยด้วยกัน แต่มีการปฏิบัติด้วยมาตรฐานหลายอย่าง สาม คนเสื้อแดงไม่พอใจที่มาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่เกิดภายในค่ายทหาร เพราะฉะนั้นเขาไม่ชอบ

ส่วนคนเสื้อเหลือง เขาไม่พอใจ เพราะเขากลัว การเมืองแบบเสียงข้างมาก แต่เขาเป็นเสียงข้างน้อย เขาไมชอบแบบนี้

ตามคำอธิบายของอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ คนเสื้อเหลือง หรือชนชั้นกลางเดิมนั้นเขาได้เปรียบหลายอย่าง แต่สิบปีที่ผ่านมาไม่ค่อยได้เปรียบ ฐานะเริ่มเท่ากับคนชั้นล่าง เขาจึงไม่พอใจ ส่วนแง่มุมทางวัฒนธรรม คนเสื้อเหลือง ชนชั้นกลาง เขาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เขาไม่ชอบ ไม่ต้องการให้เปลี่ยน

อาจารย์ทามาดะ กล่าวว่า ดังนั้นการทะเลาะกันนี้ยังไม่จบและจบยาก เพราะการต่อสู้นี้ ถ้าเลียนแบบคำพูดของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่พูดกับ ส.ส. เมื่อเดือนธันวาคมปี 2551 ที่พูดว่า “รู้ไหม สู้กับใคร” เพราะฉะนั้น ส.ส. หลายคนจึงกลายเป็นงูเห่า

ดังนั้น ถ้าเลียนแบบเขาเอาคำพูดนี้มาใช้แล้วเอามาถามว่า “เขาสู้กับใคร?” หลายคนคิดว่ากำลังสู้กับทักษิณ? แต่ว่าจริงๆ แล้ว โจมตีทักษิณมา 5 ปีแล้วยังชนะไม่ได้ ทำไม? ยังโจมตีไม่พอ? ทำลายไม่พอ? หรือเปล่า? ก็ไม่ใช่ เขาสู้กับประชาชน เพราะสู้กับประชาชน ดังนั้นจึงไม่มีทางเอาชนะได้

และการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐสองแบบ รัฐของฝ่ายกษัตริย์นิยม กับ รัฐของประชาชน ถ้าเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบธรรมดาๆ โดยทั่วไปแล้ว ประชาชนเป็น Principal โดยตัวของเขา และเลือก Agent และ Agent ผู้ถูกเลือกตั้งเขาจะทำการปกครอง โดยเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือประธานาธิบดี นี่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ภายใต้โครงสร้างนี้จะปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของประชาชนและปฏิเสธการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะถ้าปฏิเสธสิ่งเหล่านี้เราไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว หนทางของฝ่ายที่กำลังสู้กับประชาชนนี้ไม่มีวันที่จะชนะได้

 

 

หมายเหตุโดยประชาไท

[1] หมายถึงคำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ระหว่างบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทหารอาชีพ กับทหารมืออาชีพ” ให้กับนักเรียนนายร้อย จปร. ชั้นปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) อ.เขาชะโงก จ.นครนายก เมื่อ 14 ก.ค. 2549

[2] หมายถึงหนังสือศาลฎีกา ด่วนที่สุด เลขที่ ศย.100/10666 ลงชื่อนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ถึงนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เรื่อง การพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง โดยเป็นการชี้แจงเหตุผลถึงมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ไม่สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งแทน 2 ตำแหน่งที่ว่างลง ข้อความตอนหนึ่งของหนังสือระบุว่า “... ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมา จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

[3] หมายถึงคำพูดของนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกาในขณะนั้น กล่าวระหว่างการเสวนาหัวข้อ "สิทธิชุมชน: เส้นทางกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรของชุมชน” เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2549 ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: พนม บาลี และ ชิ สุวิชาน เมื่อชาวบ้านควรมีสิทธิ มีเสียง และเป็นตัวเอกในการนำ

Posted: 28 Aug 2010 09:31 AM PDT

พนม บาลี  แรงงานกลุ่มสตรีสู่เสรีภาพ และชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย
 
ตอน 25 พนม บาลี  แรงงานกลุ่มสตรีสู่เสรีภาพ
 
 
“ภาคประชานที่ออกมาเคลื่อนไหว มันเป็นสิทธิของเขาที่เขาควรจะทำได้ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ”
 
“เท่าที่สัมผัสมากรณีของเอ็นจีโอ ถ้ามีเอ็นจีโอมันก็ดี เพราะว่าจะทำให้ภาคประชาชนได้รับสิทธิ ความที่อาจจะ ภาคประชาชนอาจไม่รู้เรื่องสิทธิ เอ็นจีโอก็เป็นตัวจุดประการให้มีภาคประชาชนขึ้นมา ให้มีการรวมตัว ให้มีการเรียกร้อง” 
 
“ภาพที่มองเอ็นจีโอก็ตอบสนองภาคประชาชนได้ค่อนข้างมากเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีการตัดสินใจร่วมกับขบวนการ หรือคนที่ทำงานด้านเอ็นจีโอมากขึ้น”
 
ในอนาคต เอ็นจีโอ... “ก็ควรจะทำงานร่วมกับภาคประชาชน ทำให้ภาคประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีการตัดสินใจร่วมกัน เป็นความต้องการของภาคประชาชนจริงๆ” พนม  บาลี แรงงานกลุ่มสตรีสู่เสรีภาพ
 
 
00000
 
ตอน 26 ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินเตหน่า
 
  
“ในภาคประชาชน ภาคประชาชนสังคมในบางพื้นที่ มันไม่ได้มีเฉพาะภาคประชาชน ราษฎรธรรมดา มันจะมีภาครัฐ ภาคท้องที่ ท้องถิ่นเข้ามาร่วมขบวนภาคประชาชน แต่บางพื้นที่มันต้องมีเฉพาะภาคประชาชนเท่านั้น ถ้าเอารัฐ เอาท้องถิ่นพวกนี้เข้ามาเกี่ยวมันจะครอบชาวบ้านทันที เพราะฉะนั้นแต่ละพื้นที่มันจะต้องดู มันไม่สามารถใช้หลักการเดียวกันได้ทุกเมื่อ ผมคิดว่านี่คือโจทย์ใหม่ของการทำงานภาคประชาสังคมใหม่” 
 
“ในความเป็นเอ็นจีโอ ในภาพของผม มันมีภาพของภาคประชาชนอยู่ในนั้น มีภาพของคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไป ผมคิดว่าหนึ่งถ้าเราเข้าไปสู่พื้นที่ปุ๊บต้องถอดหมวกของความเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนออกมา ถ้าเราจะขับเคลื่อนกับชุมชน เราต้องถอดหมวกตรงนั้นออกมา เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่ว่าการหนุนเสริมเราเอาองค์กรเป็นฐานของเรา เป็นแรงขับช่วยเรา”
 
“แต่ที่ผ่านมา นี่ไม่ได้ว่านะ... บางองค์กรก็ทำดี บางองค์กรก็ยังยึดติดกับองค์กรของตนเอง พอเข้าไปในพื้นที่เหมือนกับว่าอยากจะให้องค์กรพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอเข้าไปนำพื้นที่ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ มันจะทำให้พื้นที่ไม่เติบโต มันจะทำให้พื้นที่ติดยึดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ถ้าองค์กรนั้นถอย ชุมชนก็จบ”
 
“เราเหมือนกับว่าพยายามชูเขาให้เป็นคนนำให้ได้ ถ้าเขานำได้สุดท้ายภาคประชาสังคมก็จะได้เป็นพี่เลี่ยง แล้วงานมันจะเบาลง แต่ถ้าอยากทำงานหนักก็เอาเหมือนเดิม”
 
“ผู้อำนวย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาครัฐผมคิดว่าต้องถอยกลับมา แต่ว่าการถอยนั้นเป็นการถอยมาสังเกตการณ์ เพื่อให้ชาวบ้านเขายืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ ให้ภาคประชาสังคมมันโต ไม่อย่างนั้นหลายปีที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาเอกชนบางองค์กรก็โตเอาๆ แต่ชุมชนไม่โตสักที ภาครัฐ บางกรมบางหน่วยก็โตเอาๆ คนที่เข้ามาเป็นหัวหน้าหน่วยก็ขึ้นไปเป็นหัวหน้า เป็นอธิบดี... แต่ว่าชาวบ้านก็อยู่ที่เดิม คนจนก็จนเหมือนเดิม”
 
“เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ชาวบ้านจะเป็นพระเอก เป็นคนจัดการตัวเอง เป็นคนจัดการ เอ็นจีโอก็ดี รัฐก็ดีเป็นผู้อำนวยการ แต่ว่าชาวบ้านเป็นผู้จัดการให้มากที่สุด” ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินเตหน่า นักดนตรีชาติพันธุ์
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาสนาของผู้ปกครอง : จริยธรรมที่ถูกทำลาย

Posted: 28 Aug 2010 03:34 AM PDT

                                                                    “คนดี ย่อมเอาสิ่งที่ดีงาม มาจากขุมทรัพย์แห่งดวงใจ ที่ดีงามของเขา
                                                                        และคนชั่ว ย่อมเอาสิ่งที่ชั่วร้าย มาจากขุมทรัพย์ ที่ชั่วร้ายของเขา”
                                                 “A good man out of the good treasure of his heart brings forth good things,
                                                                 And an evil man out of the evil treasure brings forth evil things”.
                                                                          

                                                                                      (The gospel according to Matthew, - ลก.6:43-45)


นับเนื่องจากเหตุการณ์ “สังหารโหดพฤษภาทมิฬ”

ที่คร่าชีวิตประชาชนไปร่วม 100 ศพ, บาดเจ็บกว่า 2,000 คน จากพฤติกรรมที่เหี้ยมโหด การสังหารด้วยอาวุธสงคราม, ใช้ปืนติดกล้องเล็งเป้าหมาย ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนา “จงใจฆ่า” มันไม่ใช่เป็นการใช้อาวุธ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง ตามคำแก้ตัวของผู้สั่งการ!!!

มันเป็นการ “จงใจฆ่า” ที่ผิดวิสัยของอารยะชน ที่จะพึ่งกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซ้ำร้ายเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นยังเป็นเพื่อนร่วมชาติ พวกเขาเป็นญาติพี่น้องกัน, ทั้งผู้ลงมือฆ่า และผู้ถูกฆ่า มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสะเทือนใจอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีความเป็นธรรมอยู่ในหัวใจ. ด้วย “เหตุผลของการฆ่า” เพียงเพื่อต้องการสลายการชุมนุมของประชาชน ที่มาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง, เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามกฎเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตย.!!!

ถ้าหากประเทศนี้ยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิของตน เว้นเสียแต่ว่าประเทศนี้ เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น.!!!

และถ้าหากประเทศนี้ยังมีศาสนา ที่พร่ำสอนให้ผู้คนอยู่ในศีลธรรม, สอนให้คนรู้จักกฎแห่งกรรม, และสอนให้คนกลัวที่จะตกนรก มากกว่าเกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง, แล้วใครจะคาดคิดว่าผู้ปกครองประเทศนี้ กลับเป็นฝ่ายที่ไม่อาจจะแยกแยะได้ว่าอะไรคือ กรรมดี – กรรมชั่ว, อะไรคือ ศีลธรรม-จริยธรรม - - ถึงได้กล้าสั่งฆ่าประชาชนเพื่อนร่วมชาติ ได้อย่างเช่น การฆ่ามดแมลง.

หรือคำว่า “บาปบุญคุณโทษ” ที่ได้สั่งสอนต่อ ๆ กันมา มันเป็นเพียงมนต์คาถา หรือนิทานหลอกเด็ก

คำถามที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ ก็คือ ประเทศนี้ยังมีศาสนาที่เป็นรากเหง้าของความเป็นชาติอยู่หรือไม่, ประเทศนี้ยังมีศาสนาของปัจเจกชนอยู่หรือไม่, ประเทศนี้ยังมีศาสนาของชุมชนอยู่หรือไม่ และประเทศนี้ยังมีศาสนาของรัฐชาติอยู่หรือไม่?

และ “ผู้ปกครองประเทศนี้” ยังมี “สำนึกแห่งจริยธรรม” อยู่หรือไม่???
เพราะสังคมที่ไร้ซึ่งสำนึกแห่งจริยธรรม - - ศาสนาจะดำรงอยู่ได้อย่างไร???

หรือว่าประเทศนี้ – ประชาชนก็มีจริยธรรมของตัวเองแบบหนึ่ง มีศาสนาของตัวเองแบบหนึ่ง, ผู้ปกครองก็มีศาสนา มีความเชื่อของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง - - กรณีหลังสุดที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พูดสอพลอว่า นายอภิสิทธ์ฯ จะเป็น "อภิสิทธัตถะ" (ซึ่งแปลว่า “ยิ่งใหญ่กว่า-เหนือกว่าพระพุทธเจ้า)”!!! มันสะท้อนถึงวิธีคิด และความเชื่อแบบวิปลาสขาดสติ ของชนชั้น(ผู้รับใช้) ผู้ปกครอง - มันจึงถูกพิสูจน์แล้วว่า แม้แต่จริยธรรมทางศาสนาของปัจเจกชนก็ยังถูกปรับเปลี่ยน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย?

หลายครั้งที่ จริยธรรมของศาสนาถูกปรับเปลี่ยนบทบาท มารับใช้ผู้ปกครอง ตั้งแต่ครั้งที่ พระกิตติวุฑโฒ พูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” - กระทั่งเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519.!!!

ตราบใดที่จริยธรรมของศาสนายัง “ถูกผู้ปกครอง” ปรับเปลี่ยนมาตรฐานกลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครอง เพื่อรับรองความชอบธรรม เพื่อที่ผู้ปกครองจะทำอะไรก็ได้ แม้แต่การ “ออกใบสั่งฆ่า” ผู้บริสุทธิ์กลางเมืองหลวง ซ้ำร้ายเมื่อ “ฆ่าเสร็จ”
ก็เอาศาสนา (พระสงฆ์) รวมทั้ง “นักจริยประดิษฐิ์” มาช่วยกันอธิบายความ ว่าพวกจะเราปรองดองกันได้อย่างไร?

อะไรคือ ศาสนาของประเทศนี้ – อะไรคือ ตัวเชื่อมโยงประชาชนเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นอุดมคติขึ้นในสังคมแห่งนี้ว่า ชีวิตนี้มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร, เราจะร่วมกันทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมนี้ เพื่อทำให้สังคมของเราจะได้มีวิวัฒนาการไปสู่สังคมที่มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมที่งดงาม, สังคมที่ผู้คนจะปฏิบัติต่อกัน ด้วยการให้เกียรติกัน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน.!!!

ปฐมเทศนากัณฑ์แรก ของพระพุทธเจ้า คือ “ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร” อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา - - เนื้อหาทรงแสดงถึงการปฏิเสธ “ปรัชญาสุดโต่งสองอย่าง” (ปลายสุดขั้วด้านหนึ่งคือ ”การละทิ้งกามสุข” ถึงปลายสุดขั้วอีกด้านหนึ่งคือ “การแสวงหากามสุข”) โดยปฐมเทศนา, พระพุทธองค์ได้เสนอแนวทางการดำเนินชีวิตบน “ปรัชญาทางสายกลาง” ซึ่งมีหลักการสั้น ๆ ว่า ชีวิตจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เพื่อให้ถึงการดับทุกข์ และการบรรลุนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา.

ยุคแห่งปรัชญาอินเดียในสมัยพุทธกาล ปรัชญาแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม “อาสติกะ” (Orthodox systems) เป็นกลุ่มที่นำเสนอ และอธิบายความ โดยอ้างอิงถึงคำสอนจากคัมภีร์พระเวท, กลุ่ม “นาสติกะ” (Unorthodox systems) เป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่จารึกไว้ในคัมภีร์พระเวท, ปรัชญาในกลุ่มนี้ได้แก่ ปรัชญาพุทธ ปรัชญาเชน และปรัชญาจารวาก, ปรัชญาพุทธ ใช้การวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ และได้เสนอทางสายกลาง - มรรค 8 เป็นวิธีในการหลุดพ้นจากความทุกข์, ปรัชญาเชน อธิบายวิธีที่ทำให้ชีวะไม่บริสุทธิ์ ถูกแยกออกไป และกำจัดเสียเพื่อทำให้ชีวะบริสุทธิ์, หนทางหลุดพ้นจากพันธะแห่งกรรม และหลักอหิงสาภาวนา 5 ประการ. แต่ “จารวาก” เป็นปรัชญาเดียว ที่มีความแตกต่างไปจาก ปรัชญาทุกสำนักในอินเดีย.

ปรัชญา “จารวาก” หรือ “โลกายัต”
คำว่า “จารวาก” (Carvaka –จาร-วา-กะ) แปลว่า พูดเพราะ (จารุ-เพราะ, ไพเราะ, วาก-พูด)
คำว่า “โลกายัต” แปลว่า ดำเนินไปตามโลก หรือเป็นไปตามแนวแห่งโลก, ความหมายของปรัชญาจารวาก หรือ โลกายัต จึงเข้าใจได้ว่า ปรัชญานี้ย่อมยึดถือเอาตามโลก (วัตถุ) เป็นแก่นสำคัญ และเนื่องจากปรัชญานี้กล่าวถึงโลก โดยสำนวนโวหารอย่างไพเราะจับใจ จึงเป็นที่ถูกใจของโลกีย์ชนยิ่งนัก.

ต่อไปนี้เป็นปรัชญาคำสอนของ “จารวาก - โลกายัต”

“…ศาสนาเป็นเพียงความรู้ความคิดของพวกที่ชอบล่อลวงผู้คนทั่วไป ให้หลงใหลด้วยการใช้คำพูด เป็นเครื่องมือ แต่กลับเป็นคำสอนที่ค้านกันเองอยู่ในตัว – - ถ้ามีใครถามว่า ‘ถ้าหลักฐานของศาสนา ไม่มีความจริงแม้แต่น้อย แล้วเหตุไฉนศาสนาจึงเกิด และดำรงอยู่ได้เล่า’ – - ปัญหานี้ตอบได้ทันทีว่า‘เพื่อจะทำมาหากินโดยการล่อลวงคนอื่น ผู้ที่ไม่มีหนทางที่จะแสวงหาอาชีพอื่นได้ดี และทั้งเกียจคร้านในการงาน จึงได้ประดิษฐ์ศาสนาขึ้น เป็นอาชีพอย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำงานหนัก’ - - เพราะคนธรรมดาไม่มีความรู้เพียงพอ ที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงในคำพูดของคนอื่น ๆ ได้ – - เมื่อพวกเขาได้ยิน คำเยินยอถึงความสุขสำราญบนสวรรค์ และความทุกข์ทรมานในขุมนรก จิตใจของผู้ฟังก็ย่อมมุ่งไปสู่วิธีที่จะพาพวกเขา ไปยังสรวงสวรรค์ ซึ่งก็คือ “การทำบุญ” นั้นเอง – การทำบุญก็คือ การถวายอาหาร และสิ่งของให้แก่นักบวช - - นี่แหละเป็นอาชีพของพวกเขา ซึ่งตั้งตัวเป็นศาสนาจารย์”

“พวกศาสนาจารย์จะหลอกลวงพวกคนโง่ ด้วยสำนวนโวหารว่าถ้าไม่ทำบุญ จะตกนรกหมกไหม้ด้วยความทุกข์ทรมาน
แต่ถ้าใครทำบุญ แม้เบื้องหน้าร่างกายแตกสลายไปแล้ว เขาก็จะได้ขึ้นสู่สวรรค์ซึ่งจะมีแต่ความสุขสำราญ มีนางฟ้าคอยบำเรอ คนโง่ ๆ ย่อมหลงเชื่อถ้อยคำอันไพเราะเหล่านี้ และหลงดำเนินชีวิตไปตามคำสอนเหล่านั้น”.

“เหตุนี้ ผู้ที่มีสติปัญญา จึงไม่ควรเชื่อถือคำสอนของศาสนาใด ๆ ไม่ต้องกลัวตกนรก และไม่ควรกระหายอยากต่อการขึ้นสวรรค์ เพราะเมื่อมนุษย์ตายแล้วจะไม่มีการเกิดอีก ชีวิตจะดับสูญไปพร้อม ๆ กับความตาย, ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น ไม่มีโมกษะ ไม่มีนิพพาน”.

“ชีวิตเป็นเพียงแต่กำลังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการประมวลเข้าแห่ง ดิน น้ำ ลม และไฟ เหมือนดั่งรสมึนเมาของสุราเมรัย ซึ่งเกิดขึ้นจากข้าว เมื่อได้ผ่านหมักดองแล้ว เมื่อธาตุ ทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ผสมกันเข้าโดยบังเอิญ ด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม ย่อมเกิดมีกำลังชนิดหนึ่งขึ้น ซึ่งเราเรียกกันว่า “ชีวิต” และเมื่อ ดิน น้ำ ลม และไฟ พรากออกจากกัน ชีวิตก็ย่อมดับสูญไป ซึ่งเราเรียกกันว่า “ความตาย”.

“ไม่มีอาตมัน หรือวิญญาณใด ๆ ที่จะเลื่อนลอยออกจากร่าง และไปสู่ความเกิดใหม่อีก เมื่อเป็นดั่งนี้ความสุขสบายคือจุดหมายสูงสุดของชีวิต สวรรค์ที่แท้จริงอยู่บนโลกนี้ จงหาความบันเทิงเริงรมย์ จงกินจงดื่ม และรื่นเริงด้วยทรัพย์สมบัติที่แสวงหามาได้ ความสุขในชีวิตต้องเกิดจากการแสวงหาด้วยตนเอง ไม่ใช่เกิดการอ้อนวอนจากพระเจ้า ความสุขกับความทุกข์นั้นเป็นของคู่กัน ที่ใดมีสุขที่นั้นมีทุกข์ จะมีอะไรมากกว่าหรือน้อยกว่าเท่านั้น, ไม่มีใครจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด, คนฉลาดต้องรู้จักหาวิธีลดความทุกข์ และเพิ่มความสุข ในบรรดาความสุขที่เกิดขึ้นจากร่างกาย ‘สุขในการบริโภคเพศตรงข้าม’ นับว่าเป็นสุขสุดยอด ที่พึงเสพเสวย และลิ้มลองที่สุด”.

“ถึงแม้การบริโภคเพศตรงข้าม จะมีความยากลำบากอยู่บ้างก็ตาม แต่เราไม่ควรหันหน้าเบือนหนี เป็นธรรมดา เหมือนเมื่อเรารับประทานปลา เราต้องเลือกเฟ้นเอาแต่เนื้อ และปล้อนเอาก้างปลาออกฉันใด การบริโภคเพศตรงข้ามก็ฉันนั้น - - เราควรเลือกเฟ้นเอาเฉพาะแต่ความยั่วยวนบันเทิงรื่นเริงใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการบริโภคนั้น แล้วปล้อนความลำบากเท่าที่มีอยู่ ในการบริโภคนั้น ออกทิ้งเสีย ก็แล้วกัน ฉะนี้”.

“สิ่งที่บุคคลควรจำไว้ ก็คือ ไม่มีพระเจ้าที่ไหนจะมาลงโทษเรา แต่ถ้าจะมีพระเจ้าที่สามารถลงโทษเรา พระเจ้านั้นก็คือ ‘รัฐบาล’ นั้นเอง อำนาจของรัฐบาล เรามองเห็นอยู่แล้วชัดเจน ถ้าใครทำผิดกฎหมาย รัฐบาลย่อมจับกุม และถูกลงโทษ, อำนาจของพระเจ้าหาได้ปรากฏอยู่อย่างประจักษ์แจ้งไม่ - - - ตรงกันข้าม หลายครั้งที่เราได้เห็นว่า ผู้ที่ทำความชั่ว ทำบาป แต่กลับกลายเป็นคนที่มีความสุขกายสบายใจมากกว่าผู้ที่ทำบุญนี่แหละ แสดงให้เห็นว่าไม่มีพระเจ้าที่ไหน ที่จะลงโทษใครได้”.

“และเนื่องจากเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ดังนั้นในการแสวงหาความสุขสบายทางโลก เราควรมีความปรองดองกัน
และดำเนินชีวิตตามกฎเกณฑ์ ดั่งที่รัฐบาลได้บัญญัติไว้ พวกเราจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ อย่างสุขสบาย”.

“พวกเราจึงไม่ควรละเมิดต่อรัฐบาล ซึ่งนับว่าเป็น ‘พระเจ้าที่แท้จริง’ ของพวกเรา”!!!

สองพันกว่าปี - โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คือ “จิตใจมนุษย์”
จิตใจที่จมดิ่งอยู่ในตัณหาราคะ จิตใจที่ชุ่มไปด้วยกิเลส จิตใจที่ลุ่มหลงอยู่ในอำนาจ.

“โอ้! สวรรค์ - โอ้! ความสุข - เจ้าอยู่บนโลกนี้นี่เอง - - เจ้าอยู่ในประเทศนี้นี่เอง”!!!

....................................................................................................................................................
อ้างอิงข้อมูล “ปรัชญาจารวาก”
จากหนังสือ “ปรัชญาบูรพทิศ”, “ความบัญญัติ – อาธฺยากฺษิกวาท – สฺยาทฺวาท” : ศ. สวามี สัตยานันท ปุรี
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรือนร่างและความงาม พิจารณาความงามผ่านร่างกายและอุดมการณ์

Posted: 28 Aug 2010 01:32 AM PDT

                                     “เพ่งพินิจ พิศพักตร์ ลักษณะ งามจังหวะ มารยาท สะอาดสิ้น
                                    นวลละออง สองปราง อย่างลูกอิน โอษฐ์ดังลิ้น จี่จิ้ม ยิ้มยวนใจ
                                       กรรณเกศ เนตรขนง นาสิกศอ ดังเหลาหล่อ ล่อจิต พิสมัย
                                          ถันเคร่ง เต่งตั้ง บังสะไบ แลวิไล สวยสะพรั่ง ทั้งกายา”

 

                                                                                                                  บทชมโฉมในเรื่อง ราชาธิราช
 

! มนุษย์ตามล่าความงามมาตั้งแต่ยุคใดไม่ปรากฎแน่ชัด แต่การสรรค์สร้างสิ่งที่เป็นความ
สวยงามผ่านการดำเนินชีวิตมีปรากฎอยู่ในทุกสังคม การผลิตสิ่งของวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มักจะมีการ
สอดแทรกความงดงามลงไปด้วยเสมอ


จากสิ่งของที่ไม่มีชีวิตเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ปริมณฑลของเรือนร่างที่มีชีวิต

 

ความงามของเรือนร่างมนุษย์หลายสังคมสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความ
เชื่อ และค่านิยม การเจาะหู เจาะจมูก การสัก การใช้ของแข็งหรือของมีคมกรีดร่างกายให้เป็นริ้วรอย
แผลเป็น หรือการรัดเท้าให้มีขนาดเล็กนั้นนอกจากการให้ความหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กล่าว
มาแล้ว ล้วนมีคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามอยู่ด้วยเสมอเช่นเดียวกัน
 

! สิ่งที่น่าสนใจสังเกตคือ ความงามในสังคมต่าง ๆ นั้น มีความแตกต่างกันไป อาจมีความ
ละม้ายคล้ายคลึงกันบ้าง แต่มักแตกต่างในรายละเอียด ในทวีฟอาฟริกากลุ่มชนหลายกลุ่มวัดความ
สำเร็จของการอยู่รอดและความเข้มแข็งจากจำนวนสมาชิกของกลุ่ม ความงามของผู้หญิงจึงเชื่อมโยง
อยู่กับความสามารถในการให้กำเนิดสมาชิก ผู้หญิงจะงามหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับว่าเธอมีเรือนร่างเหมาะ
สมสำหรับการให้กำเนิดและการเลี้ยงดูบุตรจำนวนมากได้หรือไม่ ร่างกายที่ทำอย่างนั้นได้ต้องมีหน้า
อกใหญ่ซึ่งการันตีได้ว่าเธอสามารถผลิตน้ำนมได้มากพอ สะโพกต้องผายและก้นต้องใหญ่ดุจเดียวกัน
ซึ่งการันตีได้ว่าเธอสามารถคลอดบุตรได้ง่าย และสามารถผลิตสมาชิกได้มากในช่วงชีวิตของเธอ นั่น
ละคือผู้หญิงงาม
 

! ผู้หญิงชนเผ่าเซอร์มาในเอธิโอเปีย ใช้แผ่นประดับปากทำด้วยดินเผา ยิ่งแผ่นใหญ่มากเท่า
ไหร่พ่อแม่ผู้หญิงก็สามารถเรียกค่าสินสอดได้มากขึ้นเท่านั้น1 นั่นละคือผู้หญิงงาม
เมื่อพิจารณาจากปรากฎการณ์เหล่านี้ ความงามจึงไม่มีลักษณะของความเป็นสากล ยังไม่มี
ใครบังอาจผูกขาดคำนิยามลักษณะของความงามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 

ความจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือความงามนั้นมีลักษณะที่ไม่คงเส้นคงวา เพราะมนุษย์ทุกคนไม่
ได้เกิดมามีหน้าตาหรือร่างกายเหมือนกัน การนิยามความงามให้มีความหลากหลายครอบคลุมคนทุก
กลุ่มจึงเกิดขึ้น ด้วยการนำความงามไปเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ทั้งมิติด้านสุขภาพ สุนทรีย ภาพลักษณ์
หรือรสนิยม และปลุกกระแสให้ทุกคนเชื่อว่ามีโอกาสเข้าใกล้ความงามในลักษณะอื่นๆซึ่งหน้าตาไม่
สามารถเข้าถึงได้ และส่วนใหญ่ก็มักมีผลิตภัณฑ์ซุ่มรอไว้แล้วเช่นกัน ดังนั้นความงามจากที่เหมือนมี
ความหลากหลายตามแต่บุคลิกปัจเจก จริง ๆ แล้วก็กลับกลายเป็นความงามที่มีเป้าหมายไปใน
ทิศทางเดียว
 

! ความงาม ความสวยที่มีความหลากหลาย เริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ
ความงามตามแบบอย่างการนิยามของกลุ่มอุตสาหกรรมความงามต่าง ๆ โดยมีกระบวนการผลิตซ้ำ
ความงามและวิธีการเข้าถึงความงามที่พึงปราถนาออกมาสู่สาธารณะเพื่อให้มวลชนได้มีโอกาส
จัดการตนเอง พร้อมกับสร้างให้เชื่อว่าเขาเหล่านั้นมีอำนาจการตัดสินใจโดยปราศจากการครอบงำ
และนี่คือกระบวนที่ทำให้ปัจเจกรับอุดมการณ์บังคับจากภายนอก เข้ามาจัดการจากภายในตนเอง
ด้วยตนเอง โดยไม่รู้สึกถึงอำนาจครอบงำนั้น ๆ
 

! กลไกการจัดการความสัมพันธ์และการใช้อำนาจระหว่างกันของกลุ่มคน ถ้าย้อนมองดูจาก
อดีตจะเห็นว่ามีการคลี่คลายจากการใช้กำลังบังคับ มาเป็นการให้คนในสังคมบังคับกันเองโดยใช้สื่อ
เป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มทุนทะลุทะลวงเข้าไปจัดระบบคิดของปัจเจกให้เห็นคล้อยตามด้วย
ตนเอง ซึ่งเป็นการบังคับจากภายใน อำนาจของมันจึงถูกสร้างขึ้นมาโดยมีค่านิยมของคนในสังคม
เป็นสิ่งค้ำจุนความถูกต้องของมัน เมื่อพิจารณาจากมุมนี้แล้วจึงเท่ากับว่าเรากำลังหยิบยื่นอำนาจให้
กับทุนและสร้างความชอบธรรมในการปล่อยให้มันเข้ามาจัดการกับร่างกายเราให้งามในลักษณะ
สมยอมทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว คล้ายกับหลักการของศาสนาที่ใช้คำสอนเป็นหลักการให้มนุษย์
ดำเนินชีวิต จากนั้นมนุษย์จึงสมาทานเข้าไปควบคุมตนเอง ใครใช้สิ่งเหล่านี้ควบคุมตนเองได้มากกว่า
ก็จะกลายเป็นมนุษย์ผู้มีศีลธรรมที่สังคมต้องการมากกว่า และทุกคนก็แข่งขันกันเป็น ผิดกันตรงที่
ว่าการแข่งขันกันปฏิบัติตามคำสอนของศาสนามีนัยของการ “แอบล้วงกระเป๋า” น้อยกว่ากลุ่มทุน
และลัทธิบริโภคนิยมซึ่งทำได้ทุกอย่าง

เมื่อความงามคือค่านิยมของสังคม มันจะถูกผลิตซ้ำเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอุดมการณ์ของ
สังคมที่ทุกคนสามารถสร้างจินตนาการร่วมกันได้ เมื่อเอ่ยถึงความงาม เราก็จะเข้าใจตรงกันว่าคือ
แบบใด ความงามจึงเป็นสิ่งสร้างทางสังคม นั่นคือความเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่ง แต่ในระดับ
ปัจเจกความงามมีเงื่อนไขที่เลื่อนไหลไม่ตายตัว และเป็นเหตุผลสำหรับคำอธิบายว่าทำไมเราจึงเลือก
คนที่แต่งงานแตกต่างไปจากจินตนาการหรืออุดมคติเรื่องความงาม

ผู้หญิงสวยหรืองามทางสังคมจึงมีคุณค่าเป็นสาธารณะมากกว่าคุณค่าปัจเจก คุณค่า
สาธารณะเป็นคุณค่าที่ยึดโยงกับบุคคลอื่น ความงามจึงถูกจับจ้องสอดส่องจากคนอื่นมากขึ้นเช่น
เดียวกัน และการถูกจับจ้องความงามอีกนัยหนึ่งคือการจับผิด คนที่สวยหรืองามจึงต้องจัดการ
ร่างกายตนเองให้งามอยู่ตลอดเวลา ! ความงามแบบนี้จึงเป็นความงามที่ทำให้เจ้าของร่างต้อง
เหน็ดเหนื่อย และต้องอดทนด้วยความวิริยะอุตสาหะในการจัดการเรือนร่างให้มีความงามตามความ
ต้องการของคนอื่น และไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์แบบ ต้องดูแลเอาใจใส่ ปรนนิบัติและบำรุงอย่างเต็มที่
ร่างกายจึงเป็นสิ่งที่นักสังคมวิทยาเรียกว่า the body project2
 

! เมื่อความงามเป็นสาธารณะ คำถามก็คือ ใครคือตัวแทนของสาธารณะผู้มีอำนาจในการ
กำหนดความงาม ไม่งาม
 

! คำถามนี้คงไม่ยากนักสำหรับการหาคำตอบ เพราะหากเราย้อนกลับมามองให้ดีแล้ว ก็จะพบ
ว่าเราเองก็เป็นคำตอบส่วนหนึ่งของคำถามนี้เหมือนกัน
 

! เมื่อการณ์กลับเป็นเช่นนี้แล้ว ผมจึงคิดว่าเราควรเลิกกระทำความรุนแรงต่อเพศตรงข้าม
ด้วยการเพิกถอนความเห็นพ้องกับความงามตามแบบที่กลุ่มอุตสาหกรรมความงามสร้างขึ้น เราจะ
ได้ไม่ต้องวิ่งไล่ล่าความงามกันจนเกินความจำเป็น และแอบเปิดกระเป๋าให้เขาล้วงไปเรื่อย ๆ ด้วย
ความเต็มใจ
 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามผมก็ยังจำภาษิตบทหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางสังคมที่
หยั่งรากไว้ในสังคมไทยได้ดี ภาษิตบทนั้นบอกเล่าไว้ว่า “คนจะงาม งามที่ใจ ใช่ใบหน้า” แต่ที่จำได้
แน่นหนากว่าก็คือ “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”
 

หรือความงามจะไม่เคยปราศจากการครอบงำ “ครอบงำทั้งจิตใจ และร่างกาย”

 

####################################################################################

1 อ่านเพิ่มเติมได้จาก “เผยร่าง-พรางกาย การทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ
และมานุษยวิทยา” กรุงเทพฯ: คบไฟ. 2541 น.11

2 เรื่องเดียวกัน อ้างแล้ว น.3

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ‘มะยาเต็ง มะรานอ’ คนหาย ไม่เคยห่างหายจากชายแดนใต้

Posted: 28 Aug 2010 01:10 AM PDT

 
นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยานายมะยาเต็ง และลูกน้อย

เรื่องราวของคนสูญหายในชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องเก่า แต่ยังคงมีคนสูญหายเกิดขึ้นอยู่อีก รายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2553 คือ การหายตัวไปของนายดอรอแม เจะและ อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ้านลาดอ ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 
 
แต่กรณีการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพียงกรณีเดียวในชายแดนใต้ที่เป็นคดีขึ้นสู่ศาล จนกระทั่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 61 ด้วย
 
แต่นั่นก็เป็นเพียงคำสั่งที่ไม่ได้สั่งเอาผิดใคร ในขณะที่การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งดังกล่าว สามารถดำเนินการได้หลังการหายตัวไปแล้ว 2 ปี
 
ในช่วงเวลานั้นความทนทุกข์ต่างๆ จึงตกอยู่กับคนที่อยู่ข้างหลัง เพราะนอกจากไม่อาจดำเนินการทางนิติกรรมใดๆ ได้แล้ว ยังต้องแบกรับภาระและความลำบากที่เกิดขึ้นตามมา
 
ครั้งสุดท้ายที่คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันกับนายมะยาเต็ง คือ ตอนเที่ยงของวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งนำตัวไป จากบ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พร้อมกับรถกระบะ 1 คัน อาวุธปืน 1 กระบอก และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ในขณะที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าในบ้าน
 
จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครได้เห็นนายมะยาเต็งอีกเลย ในขณะที่หน่วยทหารในพื้นที่ก็ยืนยันว่าได้ปล่อยตัวนายมะยาเต็งไปแล้ว จนกระทั่งศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ เรื่องราวทั้งหมดจึงถูกเบนไปที่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจนได้
 
“หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ดิฉันก็เอาคำสั่งศาลนี้ไปให้นายกฤษฎา บุญราช ตอนนั้นยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านก็บอกว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเสียชีวิต จะได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท” นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยานายมะยาเต็ง กล่าว
 
เธอหวังว่า จะเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ที่สามีทิ้งไว้รวมกว่า 780,000 บาท กับลูกชายอีก 2 คน  
 
แต่ความพยายามของเธอก็สูญเปล่า เพราะเธอและลูกๆ ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตากหลักเกณฑ์ของรัฐ แม้จะพยายามเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้ในฐานะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม
 
เพราะหลังจากนั้นนายกฤษฎา ได้ส่งเรื่องไปให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้พิจารณากรณีการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง ว่าเป็นผลกระทบจากความไม่สงบหรือไม่
 
สุดท้ายคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แจ้งผลการพิจารณามายังเธอว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งไม่มีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง การช่อวยเหลือเยียวยาใดๆ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
 
เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ความพยายามของเธอ เพื่อวิ่งเต้นให้ได้สิทธิในเรื่องนี้ ก็ค่อยๆ หดหายลงไปด้วย ล่าสุดมีข่าวว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เดือนละ 4,500 บาท ที่เธอได้รับอยู่ด้วยว่า จะมีการยกเลิกโครงการ ก็ยิ่งทำให้เธอท้อใจ
 
ยังดีที่พอจะมีน้ำใจจากเพื่อนบ้าน ญาติมิตร และเพื่อนผู้ที่สามีสูญหายไปเหมือนเธอหยิบยื่นให้บ้างเท่านั้น รวมกับน้ำใจจากนายทหารบางคน อย่างพล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท.
 
พล.ท.กสิกร ได้ที่มอบเงินช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำสั่งให้สามีเธอเป็นคนสาบหายไปไม่กี่วัน เป็นเงิน 50,000 บาท จากนั้นนายอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มอบเงินช่วยเหลือให้อีก 50,000 บาท เป็นทุนการศึกษาให้ลูก แต่เงินส่วนนี้ถูกเจียดไปสวนหนึ่ง จำนวน 27,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินครึ่งไร่ ซึ่งเธอบอกว่า จะเอาไปปลูกยางพาราไว้ให้ลูก
 
เธอบอกว่า เธอเคยขอเงินจาก พล.ท.กสิกร 30,000 บาท จะสร้างห้องน้ำ ท่านก็ให้ ท่านยังให้เงินมาอีก 10,000 บาท ให้ซื้อจักรยานให้ลูกทั้ง 2 คน ไว้ปั่นไปโรงเรียน แต่เราก็เจียดส่วนหนึ่งเอาไว้กิน นอกจากนี้ยังมีพวกเอ็นจีโอมาให้เงินช่วยเหลือด้วย 10,000 บาท แล้วก็แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 สงขลา ที่มาเยี่ยมและให้เงินบ่อย ครั้ง 3,000 บาทบ้าง
 
“เวลาเดือดร้อนหรือลำบากจริงๆก็จะโทรศัพท์ไปขอจากคนนั้นคนนี้เอาดื้อๆ เพราะเราคิดอะไรไม่ออกแล้ว มันกังวนไปหมด กลัวคนจะมายึดบ้านยึดทรัพย์สิน”
 
ทุกครั้งที่เธอจะไปหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ๆ ก็มักจะไปเอง เพราะไม่กล้าขอช่วยคนอื่น ซึ่งบางครั้งเธอก็ไม่รู้เรื่องว่า การพบผู้ใหญ่ต้องทำอะไรบ้าง แต่เธอไม่สนใจอย่างอื่นแล้ว ไปให้เจอตัวก่อนแล้วค่อยว่ากัน
 
เรื่องโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ที่มีข่าวว่าจะมีการยกเลิกในเดือนกันยายน 2553 นี้นั้น ทำให้เธอถึงกับต้องไปขอให้พล.ท.กสิกร ช่วยดำเนินต่อให้เธออีก แต่ก็พล.ท.กสิกรทำได้เพียงสั่งการลูกน้องไว้ เนื่องจากมีข่าวอาจจะย้ายไปอยู่กรุงเทพมหานคร
 
“ท่านยังบอกให้หาที่ดินซัก 3 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งท่านจะซื้อและปลูกยางพาราให้ด้วย แต่ตอนนี้ก็ยังหาที่ดินไม่ได้เลย”
 
วันนี้ หลังจากมามีเธอหายตัวไป เธอไม่ได้กลับไปอาศัยที่บ้านเดิมอีกเลย อาจจะมีบ้างที่ไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ได้นอนพักที่บ้านในสวนโดดเดี่ยวหลังนั้น ยกเว้นเพียงคืนเดียวที่ยกโขยงกันไปนอนทั้งญาติสนิทมิตรสหาย
 
ปัจจุบัน เธอมาอยู่อาศัยกับพ่อที่บ้านกาลอ ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเดิม โดยปลูกบ้านหลังใหม่ขึ้นมา ใกล้กับบ้านพ่อใช้พักอาศัยอยู่กับลูกชาย 2 คน
 
แต่บ้านหลังใหม่ก็ร้อนเหลือเกิน เธอจึงไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ชอบไปโน่นมานี้ เรื่อยเปื่อย
 
“บางครั้งเครียดมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร คิดถึงเขา ก็คิดถึงอยู่ตลอด บางครั้งถึงกับต้องวิ่งไปมา ไปที่นั่นที ไปที่นี่ที อยากอยู่ตามในป่า ทุ่งนา ไม่อยากไปบ้านคนอื่นเลย”
 
เธอเล่าต่อว่า ตอนนี้สภาพจิตใจไม่ 100% เครียดมาก นอนไม่หลับ ต้องกินยาแก้เครียดตลอด ต้องไปหาหมอจิตเวชที่โรงพยาบาลรามันทุกเดือน ซึ่งหมอกำชับว่า ต้องกินยาตลอด เพื่อให้คลายความเครียดลง
 
ขณะที่พวกครูที่โรงเรียนก็ชอบโทรศัพท์มากดดัน ให้ขายบ้าน ขายที่ดิน เพื่อเอาไปจ่ายหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในฐานะที่เป็นคู่สมรสของสามีซึ่งเป็นลูกหนี้
 
 “เขาโทรศัพท์มาทุกทีก็เครียดทุกที แล้วก็โทรศัพท์มาบ่อยมาก ที่เขามากดดันเรา ตอนนี้หนี้ยังอยู่ครบ ไม่ได้จ่ายเลยซักบาท”
 
จากนั้นเธอได้แจกแจงรายการหนี้ที่สามีเธอทิ้งไว้รวมทั้งหมดประมาณ 780,000 บาท โดยเป็นหนี้สหกรณ์ครู 500,000 บาท หนี้ธนาคารออมสิน 100,000 บาท หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.อีก 20,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยอีก 10,000 กว่าบาท ที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบที่ก็ของชาวบ้านมา
 
ในขณะที่เธอเล่าว่า เธอมีรายได้จากการรับจ้างกรีดยางพาราแค่วันละ 100 กว่าบาท ซึ่งแน่นอนไม่พอกินแน่ ซึ่งเงินจำนวนนี้ ต้องแบ่งให้ลูกคนโตไปโรงเรียนวันละ 50 บาท ส่วนคนเล็กแม้เพิ่งเรียนอยู่ชั้นอนุบาล แต่ก็ต้องให้เงินค่าขนมอีกวันละ 20 – 30 บาท
 
ส่วนตัวเองบางวันถ้ามีกินก็กิน ถ้าไม่มีก็อด บางครั้งพ่อหรือพี่สาวให้กับข้าวมาบ้าง ซึ่งความอยู่รอดส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือของเพื่อนบ้านหรือญาติๆ
 
“เรื่องงานก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะทำงานอะไร ไม่ใช่ไม่คิด เคยคิดที่จะเปิดร้านขายของ แต่เท่าที่สังเกตก็มีร้านค้าอยู่เยอะแล้ว ที่คิดเรื่องขายของ เพราะตอนสามีอยู่ ได้เปิดร้านขายอาหารกับขนมในโรงเรียน จึงคิดว่าพอจะมีความสามารถขายของอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ยังเครียดอยู่ แล้วก็ต้องใช้เงินทุนด้วย”
 
ผลกระทบนี้ไม่ได้มีแค่เธอเท่านั้น ลูกอีก 2 คนก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงขาดความอบอุ่นอันเนื่องมาจากพ่อหายตัวไปเท่านั้น
 
แต่ภาพที่พ่อถูกทหารควบคุมตัวไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังคงอยู่ในสายตาของลูกทั้ง 2 คนนี้ด้วย เพราะอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน
 
ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอ คนโตชื่อรุสลัน อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนศรีฟารีดาบารู ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับการสอนวิชาสามัญ ส่วนคนเล็กชื่ออิมรอนอายุ 5 ขวบเรียนอยู่ชั้นอนุบาล
 
“ตั้งแต่สามีหายตัวไป ลูกชายทั้ง 2 คน ไม่สบายบ่อย ส่วนคนโตถึงกับมีอาการซึมเศร้า ไม่มีชีวิตชีวาเลย จนบางครั้งก็ไม่ได้ไปโรงเรียนหลายวัน ดิฉันเคยถามลูกชายคนโตว่า เป็นอะไรถึงป่วย เขาก็บอกว่า คิดถึงพ่อ”
 
เธอเล่าต่อว่า มีครั้งหนึ่งก่อนถึงวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติ ดิฉันเห็นลูกชายคนเล็กวิ่งหนีกลับบ้าน แล้วก็มาร้องไห้ต่อหน้าเรา ถามว่าทำไมถึงร้อง เขาก็เล่าว่าครูที่โรงเรียนถามนักเรียนว่า ใครไม่มีพ่อให้ยกมือขึ้น แต่ลูกไม่ยอมยกมือ แต่วิ่งหนีกลับบ้าน
 
“ครูก็ไม่น่าถามอย่างนั้นเลย แต่เขาก็คงไม่รู้หรอก คนที่ไม่มีพ่อเขาจะรู้สึกอย่างไร ถ้าถูกถามอย่างนั้น”
 
เธอย้ำว่า “เขาไม่เข้าใจครอบครัวคนหายเลย”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้าม! “เป็นกลาง”

Posted: 27 Aug 2010 09:50 PM PDT

แด่... “ปิยมิตรผู้มีกึ๋นจะเป็นกลาง”

ในบทความชื่อ “สื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง” อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนว่า

“ในสถานการณ์ความขัดแย้งซึ่งหลายคนมองเห็นว่า สื่อไทยไม่ "เป็นกลาง" นั้น ไม่จำเป็นต้องตีโวหารอะไรให้มากหรอก คุณไม่มีกึ๋นจะ "เป็นกลาง" ได้ ก็เท่านั้นเอง” (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274177091&grpid=&catid=02)

แต่ที่จริงปัญหาความเป็นกลางไม่ได้เกิดเฉพาะกับสื่อเท่านั้น ทว่าหากเกิดแก่ทุกคนที่พยายามแสดงว่าตนเองมีจุดยืนทางการเมือง “เป็นกลาง”

ปี 2548 ผมใส่เสื้อเหลืองไปชุมนุมกับพันธมิตร และเขียนบทความสนับสนุนหลายชิ้น ปี 2549 ผมเบลอ (หมายถึงยังโง่) ปี 2552 ดูเหมือนผมพยายามที่จะเป็นกลาง ปี 2553 ผมเลือกสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง และหลังจากนั้นไม่นานนักผมก็ได้อ่านข้อความ “...คุณไม่มีกึ๋นจะเป็นกลางได้” ดังกล่าวแล้ว

ทำให้ผมต้องมาตั้งคำถามกับ “ความเป็นกลาง” (ไม่ว่าจะของสื่อ หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์นักสันติวิธี ฯลฯ) อย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วในปริมณฑลของความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 4-5 ปีมานี้มันมีสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นกลาง” อยู่จริง หรือมันสามารถจะมีได้หรือไม่?

ความเป็นกลางคืออะไร? ผมไม่แน่ใจ แต่ขอนิยามอย่างนี้ว่า ใครก็ตามที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางทางการเมือง จะต้อง 1) ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นทางออกของความขัดแย้ง ถ้าจะตัดสินถูก-ผิดของฝ่ายใดๆ ต้องตัดสินบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย และ 2) ต้องวิจารณ์คู่ขัดแย้ง และ/หรือเรียกร้องความรับผิดชอบทางศีลธรรม ทางการเมือง และทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม

โดยความหมายของความเป็นกลางดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปใช้กับความขัดแย้งที่ฝ่ายหนึ่งออกมาเดินขบวนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน เมื่อไล่ไม่สำเร็จจึงเพิ่มข้อกล่าวหาวางแผนล้มเจ้า และเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร พร้อมกับหาเหตุผลมาสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหารและกระบวนการต่อเนื่องของรัฐประหาร เป็นต้น แล้วก็มีอีกฝ่ายหนึ่งออกมาต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2540 และเรียกร้องให้ทักษิณคืนสู่อำนาจโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เป็นต้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ มีข้อที่ควรพิจารณาในทาง “หลักการ” คือ

1. การคอร์รัปชัน (สมมติว่าจริงตามข้อกล่าวหา) กับรัฐประหาร อย่างไหนผิดมากกว่า คำตอบคือรัฐประหารผิดมากกว่า คำถามที่ตามมาคือจะสามารถมี “ความเป็นกลาง” ระหว่าง “ผิดกับผิดมากกว่า” ได้หรือไม่?

2.ในแนวทางการต่อสู้สองแนวทาง หนึ่งสนับสนุนรัฐประหาร เรียกร้องอำนาจ
นอกระบบการเลือกตั้ง สองต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องการเลือกตั้ง หรือยืนยันอำนาจของประชาชน หากยึด “ประชาธิปไตย” เป็นเกณฑ์ จะสามารถมีความเป็นกลางระหว่างสองแนวทางนี้ได้หรือ?

อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างว่าเรื่องหลักการมันอาจตีความต่างกันได้ และสมมติว่าสามารถตีความให้มีความเป็นกลางได้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับ “ความเป็นจริง” ที่ชัดแจ้งที่ไม่ต้องตีความเลย นั่นคือความจริงที่ว่า “สังคมนี้ไม่อนุญาตให้มีความเป็นกลาง” ในปริมณฑลความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

กล่าวคือ สังคมนี้เป็นสังคมที่ไม่อนุญาตให้วิจารณ์ และ/หรือเรียกร้องความรับผิดชอบต่อคู่ขัดแย้งโดยอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยได้ “อย่างเท่าเทียม”

เพราะโดยหลักการประชาธิปไตยที่เรามีอยู่จริงนั้น เราสามารถวิจารณ์และเรียกร้องความรับผิดชอบทางการเมือง ทางกฎหมาย และทางศีลธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเต็มที่ (อาจจะเกิน 100 % ด้วยซ้ำ) แต่เราไม่สามารถทำอย่างเดียวกันได้กับอีกฝ่าย เช่น เราไม่สามารถวิจารณ์ และ/หรือเรียกร้องความรับผิดชอบทางการเมือง ทางกฎหมาย และทางศีลธรรมต่ออำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร หรือที่อยู่เบื้องหลังการสลายการชุมนุมที่มีประชาชนเสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บว่า 2,000 คน ฉะนั้น “ความเป็นกลางที่แท้จริง” จึงไม่อาจมีได้

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งนานวันเรายิ่งได้เห็นความ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ของบุคคล หรือฝ่ายที่พยายามแสดงบทบาท “เป็นกลาง” ทั้งนี้เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่สามารถที่จะมี “ร่องรอย” ให้อยู่

หรือไม่สามารถที่จะมี “จุดยืน” ของความเป็นกลางได้จริง ในปริมณฑลของความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ในสังคมที่ไม่อนุญาตให้มีความเป็นกลางได้!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น