โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

น.ร.เชียงรายพบ 'กก.สิทธิฯ' แฉโดนทั้งคุกคาม-โทร.ขู่ ด้านวุฒิฯ เตรียมลงพื้นที่สอบเหตุ

Posted: 09 Aug 2010 01:59 PM PDT

หนึ่งใน นศ.เชียงรายผู้ถูกคดี ขอรัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อ ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกจังหวัด-เร่งเยียวยาผู้สูญเสีย-ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำ-บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ส่วนวุฒิฯ ถก-สงสัยยอดผู้บาดเจ็บ เผยเล็งลงพื้นที่สอบเหตุจับ 5 น.ร.-นศ.

 
วานนี้ (9 ส.ค.53) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายธนิต บุญญนสินีเกษม แกนนำกลุ่มพลังมวลชน จ.เชียงราย พร้อมด้วย นายกิตติพงษ์ นาตะเกศ อายุ 24 ปี นายนิติเมธพนฎ์ เมืองมูลกุลดี อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และนักเรียนชาย อายุ 16 ปี ชั้นม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย เดินทางเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตามหมายเชิญเพื่อให้ข้อมูลกรณีถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับในข้อหาชุมนุม หรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศ พ.ร.ก., ร่วมกันเสนอข่าวทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จากกรณีที่กลุ่มนักศึกษาและนักเรียน ชูป้ายเห็นคนตายที่กรุงเทพฯ
 
นักเรียนอายุ 16 ปี กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ขอรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการที่เดินทางไปจัดกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับพี่ๆ นักศึกษา ว่าในแต่ละครั้งที่ไปร่วมนั้น ทำอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน ก็ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงไปหมดแล้ว นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงกรณีที่ถูกคุกคามข่มขู่ด้วย ก็ให้ข้อมูลไปว่าก่อนหน้านี้ถูกคุกคามอย่างหนัก และถูกโทรศัพท์ข่มขู่ให้เลิกออกมาร่วมชุมนุม เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายรวมทั้งบุกไปข่มขู่ถึงโรงเรียน ทำให้ต้องหลบหนียืนยันว่าการออกมาร่วมชุมนุม เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย หากไม่สร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมือง
 
นอกจากนี้ นายกิตติพงษ์ หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ถูกจับกุม ได้เรียกร้องผ่านสื่อมวลชนขอให้รัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1.ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกจังหวัด เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน 2.เร่งเยียวยาผู้บาดเจ็บ และช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กระชับพื้นที่ 3.เร่งดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้ และ 4.ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เป็นแบบ 2 มาตรฐาน อย่างกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมเรื่องปราสาทพระวิหารที่ทำเนียบรัฐบาล แต่กลับไม่ถูกจับกุม ทั้งที่ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
นายกิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า การออกมาจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษานั้น ไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมือง เพียงแค่ออกมาทำกิจกรรมเล็กๆ ด้านสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่น่าจะผิดตรงไหน ดังนั้น การจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มเราก็จะยังคงดำเนินการต่อไป แต่ช่วงนี้ขอรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับพวกเรา
 
นายธนิต กล่าวว่า จะชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วย กรณีที่ถูกกล่าวว่าจ้างเด็กยืนชูป้าย ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไปจ้างให้เด็กดำเนินการ เพราะเคารพในสิทธิของนักศึกษาและเด็กทั้ง5 คน ที่ถูกจับเพราะละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งกระทำด้วยความตั้งใจภายใต้สิทธิรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้จ้างวานเด็กให้ชูป้าย
 
ส่วนแกนนำกลุ่มพลังมวลชน จ.เชียงราย กล่าวต่อว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมาขณะที่กำลังจะไปทำธุระ และเดินผ่านจุดที่นักศึกษาชุมนุม และได้ยินว่ามีเด็กมาชูป้ายประท้วงรัฐบาล ด้วยความสนใจจึงเดินเข้าไปดู พร้อมทั้งชื่นชมในความกล้าหาญของนักศึกษากลุ่มนี้ พอเด็กทำกิจกรรมเสร็จ ก็เดินเข้าไปพูดคุยด้วย ช่วงนั้นก็มีคนเสื้อแดงมาขอถ่ายรูปด้วย ก่อนแยกย้ายกันไป ต่อมามีการนำภาพที่ยืนถ่ายกับเด็กกลุ่มนี้ไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพื่อให้สังคมออนไลน์ของคนเสื้อแดงได้ทราบว่ามีเด็กนักศึกษาใจกล้า มีหัวใจประชาธิปไตย กล้าแสดงออก หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งข้อกล่าวหาแก่เด็กทั้ง 5 คน ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งตนด้วย
 
"การแจ้งข้อกล่าวหานี้ ต้องการที่จะนำมาเชื่อมโยงให้ถึงผม เพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีน้ำหนักมากขึ้น โดยหลักฐานที่ตำรวจนำมาชี้แจง ก็นำมาจากเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นข้อความที่เกิดภายหลังจากที่เด็กทั้ง 5 คนไปทำกิจกรรม เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นผมจึงนำข้อมูลข้อเท็จจริงนี้ มาแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิฯ ทราบในวันนี้" นายธนิต กล่าว
 
นายธนิต กล่าวด้วยว่า การออกมาทำกิจกรรมร่วมกับคนเสื้อแดง ไม่รู้สึกเกรงกลัว เพราะทำอยู่บนดิน ไม่ได้ลงใต้ดิน แต่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ต้องดำเนินการนั้น ก็เข้าใจว่าเขาคงอึดอัดไม่อยากทำ แต่เนื่องจากเป็นคำสั่งจากข้างบน ขอยืนยันว่ากิจกรรมที่จัดไม่ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้ก่อความวุ่นวายให้บ้านเมืองและก็จะทำกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไปเมื่อมีโอกาส จนกว่าจะได้ประชาธิปไตยคืนมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
 
 
 
วุฒิฯ ถก-สงสัยยอดผู้บาดเจ็บ เผยเล็งสอบเหตุจับ 5 น.ร.เชียงราย
 
ส่วนที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานที่ประชุม โดยเชิญตัวแทนจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และตัวแทนจาก ร.พ.กลาง มาชี้แจงความชัดเจนกรณีตัวเลขผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดง
 
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหากล่าวว่า ผู้บาดเจ็บอาจมีมากกว่า 2,000 คน เหตุที่สงสัยเนื่องจากรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บจากศูนย์เอราวัณ เมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.2553 ถือเป็นวันสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บเพียง 134 รายขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บช่วงวันที่ 10 เม.ย.ที่สี่แยกคอกวัว มีผู้บาดเจ็บมากถึง 889 คน สวนทางจากความเป็นจริง ที่ช่วงสุดท้ายของการชุมนุมช่วงเดือนพ.ค.น่าจะมากกว่า
 
แฉใช้กระสุนยางยิงใบหน้า ส.ว.สรรหา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอให้ชี้แจงถึงชนิดกระสุนที่ยิง ว่าส่วนใหญ่เป็นกระสุนชนิดใด ส่วนใหญ่ถูกยิงที่ส่วนไหนจึงบาดเจ็บหากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อ้างว่าส่วนใหญ่ใช้กระสุนยางจริง ทำไมถึงมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และจากการไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ร.พ. มีผู้บาดเจ็บบางคนถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ใบหน้า โดนเข้าที่ลูกตาจนตาบอด เพราะหลักตามสากลจะไม่ยิงที่ใบหน้า
 
ส่วน นางรสสุคนธ์ ภูริเดช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ในข้อเท็จจริงมีกี่คน บาดเจ็บเพราะเกิดจากการไปร่วมชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยใช่หรือไม่ และกรณีนี้ได้ไปหารือกับฝ่ายความมั่งคงหรือไม่ เพราะทราบว่าบุคคลที่ร่วมชุมนุมบางคนไม่ใช่สัญชาติไทย
 
ขณะที่ น.พ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผอ.ศูนย์เอราวัณ ชี้แจงว่า จำนวนผู้บาดเจ็บ เป็นข้อมูลที่ร.พ.แต่ละแห่งแจ้งมา แต่ยอมรับว่าผู้บาดเจ็บที่มารักษาตาม ร.พ.มากที่สุด ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ชุมชนบ่อนไก่ และถนนพระราม 4 ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บจะมาจากอะไรนั้น ร.พ.แต่ละแห่งจะเน้นเฉพาะการรักษาผู้บาดเจ็บเท่านั้น ส่วนจะเจาะลึกลงไป ต้องปรึกษาและขอความชัดเจนจากคณะกรรมการ ที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งขึ้นเสียก่อน ส่วนผู้บาดเจ็บที่เป็นชาวต่างชาติ มีทั้งชาวยุโรปและเอเชีย 26 คนส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
 
ด้านนายวิชาญ เปิดเผยด้วยว่า กรณีนักศึกษาที่ จ.เชียงราย ชูป้ายว่าเห็นคนตายที่กรุงเทพฯและถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ภายในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการจะลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงสาเหตุว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้จึงถือป้ายว่าเห็นคนตาย และเด็กกลุ่มนี้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ การที่รัฐบาลไปจับเด็กกลุ่มนี้ ที่แสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ การจะอ้างว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงไม่ใช่ เพราะการแสดงออกเช่นนี้ ไม่ถือเป็นภัยต่อบ้านเมือง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น
 
 
 
ศอฉ.ยังไม่เสนอจังหวัดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แถมสั่งเฝ้าระวังช่วงหยุดยาว
 
วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจาก ศอฉ.แจ้งว่าในการประชุม ครม.วันที่ 10 ส.ค.นี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขานุการ ศอฉ.จะยังไม่เสนอเรื่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่10 จังหวัดที่เหลือเข้าสู่การพิจารณาของครม.เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงเห็นตรงกันว่า ต้องคง พ.ร.ก.เอาไว้ก่อนในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. อีกทั้งยังเป็นช่วงหยุดราชการยาว 4 วัน ในวันที่ 12-15 ส.ค.จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เน้นดูแลสถานที่ราชการที่เป็นสัญลักษณ์บ้านพักบุคคลสำคัญ และย่านธุรกิจใจกลางเมือง
 
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก.ใน 10 จังหวัด เป็นไปได้ที่จะทยอยดำเนินการ 2-3 ขยัก รอบแรกคาดว่าจะเสนอที่ประชุมครม.ในวันที่ 17 ส.ค.เน้นจังหวัดรอบนอกที่ไม่พบความเคลื่อนไหวทางการเมือง จากนั้นพิจารณารอบ 2 ในส่วนของกรุงเทพฯ คาดว่าจะคง พ.ร.ก.ไปถึงเดือน ต.ค.ซึ่งครบกำหนด 3 เดือนในการประกาศใช้ เนื่องจากหน่วยงานด้านการข่าว ประเมินว่ามีการเคลื่อนไหวของคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาล เพราะการจะโค่นล้มรัฐบาลได้ต้องทำในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ต่างจังหวัด อีกทั้งมีการประเมินว่า กลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เพื่อสร้างฐานเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ โดยยกปมประเด็นปราสาทพระวิหารขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เชื่อว่าจะเป็นปมปัญหาไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า
 
 
 
อาจเลิก พ.ร.ก.อีก 2-3 จังหวัด
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าในวันนี้บอกนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช.ในฐานะเลขาธิการ ศอฉ.จะพิจารณากันในที่ประชุม ศอฉ.วันที่ 10 ส.ค.ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีกี่จังหวัดที่จะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนายกฯ กล่าวว่า มีบางจังหวัด ซึ่งในการพูดคุยในที่ประชุมระดับหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ก็หารือกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการหารือระหว่างนายกฯ และนายถวิล เมื่อช่วงกลางวันในการประชุมปลัดกระทรวง มีการพูดถึงการยกเลิกพื้นที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งแรกจะยังคงไว้เท่าเดิม คือ 10 จังหวัด ล่าสุด นายถวิล เปิดเผยว่าหลังพูดคุยกับนายกฯ และบางฝ่าย การประชุม ศอฉ.วันที่ 10 ส.ค. จะพิจารณายกเลิกเพิ่ม 2-3 จังหวัด ส่วนจะเป็นพื้นที่ใดนั้น ทุกหน่วยงานต้องหารือกันอีกครั้ง
 
รายงานข่าวแจ้งว่า จังหวัดที่เตรียมขอยกเลิกได้แก่ นครปฐม ซึ่งทางจังหวัดเตรียมจัดงานกาชาด และงาน 114 ปีบางเลน นอกจากนี้ มีอีกหลายจังหวัดที่ต้องการยกเลิก เช่น พระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากเป็นพื้นที่นัดพบของกลุ่มคนเสื้อแดง
          
 
ที่มา: เรียบเรียงจากข่าวสด
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอส่งสำนวนสั่งฟ้อง 17 แกนนำนปช.'ยุยง-ปลุกปั่น'

Posted: 09 Aug 2010 01:14 PM PDT

อัยการมั่นใจสั่งฟ้อง 25 คนคดีก่อการร้าย ทัน 11 ส.ค. "หมอเหวง" เบิกความยื่นประกันตัวรอศาลอุทธรณ์พิจารณาปล่อยตัว ขณะ 3 แนวร่วม นปช.ปฏิเสธครอบครองอาวุธสงคราม–ระเบิด บ่นน้อยใจ แกนนำ-พท.ไม่คิดช่วยเหลือ ส่วนศาลอาญารับฟ้องคดี "แท็กซี่เสื้อแดง" พกระเบิด 

 
อัยการยันส่งฟัน 25 คนทัน 11 ส.ค.นี้ 
 
มติชนออนไลน์ วานนี้ (9 ส.ค.53) ที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำสำนวนการสอบสวน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายสถาพร มณีรัตน์ นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายขวัญชัย ไพรพนา สาระคำ นายนิสิต สินธุไพร นายวีระ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายสมชาย ไพบูลย์ นางศิริวรรณ นิมิตรศิลป์ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายพายัพ ปั้นเกตุ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นายวิสา คัญทัพ และนางไพจิตร อักษรณรงค์ ภรรยา เป็นผู้ต้องหาที่ 1-17 ในความผิดฐาน พูดจายุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ชักจูงหรือใช้ผู้ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายจนเกิดความวุ่นวายปั่นป่วน ตามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 215 มาตรา 216 และฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 8 ลัง หรือ 42 แฟ้ม จำนวน 15,8000 หน้า ส่งมอบให้แก่ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ รับสำนวนไว้พิจารณา โดยมี นายวีระ และนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย สองผู้ต้องหาเดินทางเข้ารายงานตัวกับอัยการพร้อม นายคารม พลทะกลาง ทนายความ
 
ภายหลัง นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า นายธาริต ได้นำสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา และนำตัวนายวีระ และนายสถาพร กับพวกซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดียุยง ปลุกปั่นฯ รวม 3 คนส่งมอบให้กับอัยการ โดยอัยการนัดให้นายวีระ นายจตุพร และนายสถาพร มาฟังการสั่งคดีในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เนื่องจาก นายจตุพร และนายสถาพร เป็น ส.ส. อยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนฯ ส่วนผู้ต้องหารายอื่นนัดจะสั่งคดีไปตามระบบของอัยการ โดยอัยการต้องเร่งพิจารณาในส่วนของ นายสมชาย ไพบูลย์ หนึ่งในผู้ต้องหาที่จะครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 ส.ค.นี้ อัยการเหลือเวลาพิจารณาสำนวนอีก 3 วันทำงาน ซึ่งจะต้องพิจารณามีคำสั่งให้ทันก่อนครบกำหนดฝากขัง
 
นายธนพิชญ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาสำนวนคดีก่อการร้ายที่ดีเอสไอมีความเห็นสมควรฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ แกนนำและแนวร่วม นปช. เป็นผู้ต้องหารวม 25 คน ว่า ขณะนี้อัยการสั่งไม่มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาคนหนึ่งคนใดหรือทั้งหมด โดยอัยการกำลังพิจารณาอยู่ยังมีเวลาอีก 3 วัน ก่อนจะครบกำหนดฝากขังนายเสกสรร พลตื้อ หนึ่งในผู้ต้องหา ในวันที่ 11 ส.ค. นี้ โดยอัยการจะพยายามเร่งพิจารณาสั่งคดีให้ทันเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาในภาพรวมการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 25 คน ไม่ใช่พิจารณาสั่งคดีเฉพาะผู้ต้องหาที่จะครบกำหนดฝากขัง โดยขณะนี้คณะทำงานอัยการกำลังพิจารณาสำนวนหากเสร็จสิ้นแล้วต้องส่งมอบให้ตนพิจารณา ก่อนส่งไปยังนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด กลั่นกรองก่อนส่งให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดพิจารณาครั้งสุดท้าย โดยยังไม่ทราบว่าคณะทำงานมีความเห็นอย่างไร ส่วนที่ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่มอีก 200 กว่าปากนั้น อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะมีคำสั่งให้คณะทำงานอัยการสอบเพิ่มเติมหรือไม่
 
“วันนี้คณะทำงานซึ่งมีนายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กำลังพิจารณาอยู่ ยังไม่มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาคนใด และยังไม่ได้รายงานความเห็นในคดีให้อัยการสูงสุดทราบ ยังมีเวลา จะพยายามพิจารณาสั่งคดีให้ทัน ที่ต้องทำให้ทันไม่ใช่เพราะว่ากดดัน แต่เป็นไปตามระบบกฎหมาย เมื่อครบฝากขังก็ต้องสั่งคดีให้ทันภายในกำหนดเวลา” อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าว
 
นายธนพิชญ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดให้เร่งพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายให้ทันก่อนครบกำหนดฝากขังว่า ท่านรัฐมนตรีส่งได้ เป็นเรื่องของความร่วมมือที่อยากจะชี้แจงให้อัยการทราบว่าคดีมีพยานหลักฐานอย่างไรบ้าง เป็นความประสงค์ที่อยากจะให้ความร่วมมือกับอัยการ แต่ในมุมมองของอัยการนั้นจะต้องพิจารณาสั่งคดีไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเป็นหลัก ถ้าจะมีคำสั่งก็ต้องสั่ง สิ่งที่ปรากฏในสำนวนเป็นพยานหลักฐานถ้าฟังว่าฟ้องได้ อัยการก็ต้องฟ้อง ต้องยึดถือพยานหลักฐานเป็นหลัก
 
ด้านนายคารม กล่าวว่า ทั้งนายวีระ และนายสถาพร ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการสอบสวนพยานเพิ่มเติมจำนวน 124 ปาก ในสองประเด็น คือ 1.ผู้ต้องหาทั้งสองเห็นว่า การชุนนุมกระทำไปด้วยความสงบ และ 2.ในส่วนของ นายสถาพร นั้นพฤติการณ์เป็นการพยายามประสานให้ประชาชนที่มาจากจังหวัดลำพูน เดินทางกลับภูมิลำเนา ไม่ได้มีส่วนกับการยุยง ปลุกปั่นฯประชาชน
 
นายคารม กล่าวถึงคดีก่อการร้ายว่า ได้รับการประสานจาก นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ว่า อัยการสูงสุดได้มีความเห็นให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม ในคดีก่อการร้ายแล้ว ทำให้รู้สึกว่าข่าวที่ออกมาว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาแล้ว เป็นการกดดันอัยการให้เร่งฟ้องก่อนครบกำหนดฝากขังผู้ต้อง ซึ่งหากอัยการต้องเร่งฟ้องผู้ต้องหาตามนั้นจริง ตนจะยื่นต่อศาลขอให้มีการไต่สวนมูลฟ้อง แม้ว่าอัยการจะเป็นโจทก์ก็ตาม เพราะเห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงควรต้องได้รับความเป็นธรรมบ้าง โดยมองว่าการที่กลุ่มพันธมิตรฯไปชุมนุมเกินกว่า 5 คน ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง นั้น เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด โดยพล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น.บอกว่าไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.นั้น ถือเป็นเรื่องสองมาตรฐานที่ประเจิดประเจ่อเกินไป 
 
ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายการุณ โหสกุล แกนนำ นปช. และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลอาญา ภายหลังครบกำหนดฝากขัง ในคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาก่อการร้าย
 
ภายหลัง นายจตุพร กล่าวว่า เข้ารายงานตัวต่อศาลอาญาตามข้อกำหนดของศาล คดีนี้มีประเด็นที่ต้องพูดถึงคือการที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ทำหนังสือเร่งรัดให้อัยการพิจารณาสั่งคดีก่อนครบกำหนดฝากขัง ทั้งที่ในอดีตไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน ถือเป็นเรื่องที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำดังกล่าวมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่า ต้องการให้ขัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับพวกในเรือนจำต่อไปอีก อาจจะยาวนาน 1- 10 ปี โดยเตรียมยื่นกระทู้ถามนายพีระพันธุ์ ในการประชุมสภาว่าการกระทำดังกล่าวมีเป้าประสงค์อย่างไร และเป็นอำนาจหน้าที่ของ รมว.ยุติธรรมหรือไม่ ที่ผ่านมานายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยมี รมว.ยุติธรรม รายใดกระทำเช่นนี้มาก่อน นอกจากนี้ตนยังได้รับข้อมูลมาว่า หนึ่งในคณะทำงานอัยการพิจารณาคดีก่อการร้าย ในอดีตเป็นหน้าห้องให้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาก่อน จึงรู้สึกเป็นห่วงต่อชะตากรรมของนายณัฐวุฒิ และแนวร่วมคนอื่นที่อยู่ในเรือนจำ ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมชุนุนมกับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ถือเป็นการทำลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศออกมาใช้เองไปแล้ว 
 
 
"หมอเหวง" เบิกความยื่นประกันตัวรอศาลอุทธรณ์พิจารณา 
 
ส่วนที่ห้องพิจารณาคดี 614 ศาลอาญา ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ยื่นคำร้องอุทธรณ์ขอปล่อยชั่วคราว หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ไต่สวน ซึ่งทนายความผู้ร้องนำพยานเข้าสืบจำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย นพ.เหวง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา และนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ พนักงานสอบสวนพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ
 
นพ.เหวง เดินทางจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาเบิกความสรุปว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ต้องการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมอย่างสันติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง หลังถูกสลายการชุมนุมได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง ทั้งที่ทราบดีว่าคดีมีอัตราโทษสูง แต่ไม่คิดหลบหนี แต่หากยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ จะทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานการต่อสู้คดีเป็นไปได้ยาก อีกทั้งป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย
 
ด้าน พล.อ. เลิศรัตน์ เบิกความสรุปว่า ตลอดการชุมนุมได้ติดต่อกับผู้ต้องหาเพื่อเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันที่บ้านพักของตน แต่ไม่ได้ข้อสรุปในการเจรจาครั้งนั้น
 
ขณะที่นายธานินทร์ เบิกความสรุปว่า ไม่ได้คัดค้านการประกันตัวของ นพ.เหวง ตั้งแต่การฝากขังครั้งแรก เชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรูปคดีและพยานหลักฐานได้
 
ภายหลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลอาญามีคำสั่งรวบรวมการไต่สวนส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
 
 
3 แนวร่วม นปช.ปฏิเสธครอบครองอาวุธสงคราม-ระเบิด บ่นน้อยใจ "แกนนำ" ไม่เหลียวแล
 
มติชนออนไลน์ เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกันนี้ ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธ ศาลนัดสอบคำให้การคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ อายุ 50 ปี , นายชาตรี ศรีจินดา อายุ 33 ปี และนายสุรชัย นิลโสภา อายุ 28 ปี ซึ่งเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในความผิดฐานร่วมกันครอบครองอาวุธปืนสงคราม เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และปลอมเอกสาราชการและใช้เอกสารปลอม
 
โดยศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสามฟังแล้วสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ในวันที่ 10 มิ.ย.2554
 
ต่อมาญาติของจำเลย ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์ขอประกันตัว ทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง และพฤติการณ์เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
 
นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้ กล่าวว่า พวกตนทั้งสามรู้สึกน้อยใจที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจาก นปช.และพรรคเพื่อไทย ทั้งที่พวกตนมาร่วมสู้เรียกร้องประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ อยู่แนวหน้าให้กับ นปช.และคนเสื้อแดงมาตลอด ตั้งแต่ปี 2549 ขณะที่แนวร่วมคนอื่นที่ถูกจับในข้อหาแบบเดียวกัน ต่างได้รับการประกันตัวปล่อยตัวชั่วคราวหมดแล้ว ทุกวันนี้บ้านตนก็กำลังจะถูกยึด แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะยังติดอยู่ในเรือนจำ ชีวิตแทบไม่เหลืออะไรแล้วตั้งแต่เข้าร่วมต่อสู้กับ นปช. 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยดังกล่าว ถูกตำรวจชุดปฏิบัติการ กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (191) ตำรวจ สน.คลองตัน และกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เข้าทำการจับกุมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ทาวน์เฮ้าส์ เลขที่ 231 หมู่บ้านฮอลริวู๊ด ซอยอ่อนนุช 17 แยก 9 แขวงและเขตสวนหลวง กทม. พร้อมของกลาง ระเบิดเพลิงบรรจุขวดน้ำมัน จำนวน 107 ขวด อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนอาร์ก้า จำนวน 5 กระบอก อาวุธปืนคาร์บิน จำนวน 1 กระบอก เครื่องกระสุนใช้กับอาวุธปืนชนิดต่างๆจำนวนมาก แม็กกาซีน พร้อมซองใส่ ระเบิดลูกเกลี้ยง จำนวน 10 ลูก ระเบิดควัน และระเบิดแก๊สน้ำตา โดยการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มบุคคลลักลอบนำอาวุธปืนสงคราม และระเบิดเพลิงจำนวนมากมาเก็บซุกซ่อนไว้เพื่อก่อเหตุ และสร้างสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 
 
 
ศาลรับฟ้องคดีดำ "แท็กซี่เสื้อแดง" พกระเบิดโดนจับหลังม็อบสลายกลาง พ.ค.
 
มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอำนวย ชำนาญแก้ว อายุ 35 ปี ชาว กทม.อาชีพขับรถแท็กซี่ เป็นจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุน (ลูกระเบิดมือ เอ็ม 26) ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกพาอาวุธไปในเมืองที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
 
ตามคำฟ้องระบุพฤติการณ์จำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2553 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ กทม.จำเลยได้พกพาวัตถุระเบิดเอ็ม 26 หรือ ระเบิดมือขว้างสังหารแบบ 88 บ.26 จำนวน 1 ลูก ไปยังแยกพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม.ซึ่งเป็นในเมือง หมู่บ้าน และสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ต่อมาจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหลังจากตรวจค้นพาหนะรถแท็กซี่ของจำเลย พบระเบิดดังกล่าว พร้อมของกลางหลายรายการอธิเช่น บัตรสมาชิก นปช.1 ใบ, หมวกไหมพรมคลุมศีรษะสีดำ 1 ใบ, กางเกงยาวลายพรางทหาร 2 ตัว ฯลฯ ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
 
โดยศาลประทับรับฟ้องคดีไว้เป็นคดีดำที่ อ.2490/2553 และจะเบิกตัวจำเลยซึ่งถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาสอบคำให้การในวันที่ 10 ส.ค.นี้
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อภิสิทธิ์” ชี้ข้อมูลกัมพูชาส่ง "ยูเอ็น" คลาดเคลื่อน เผยมอบบัวแก้วแจง ข้อหาเป็นพวกหัวรุนแรง

Posted: 09 Aug 2010 12:32 PM PDT

เผยกรณีกัมพูชาส่งหนังสือถึงยูเอ็นจีเอและยูเอ็นเอสซี เป็นการเวียนหนังสือกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาที่คลาดเคลื่อน วาดภาพไทย "รุนแรง-รุกราน" ชี้ถึงไม่มีเอ็มโอยู 2543 ก็ต้องเจรจาเพราะเป็นหลักของชาติภาคี

 
วันนี้ (9 ส.ค.53) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งหนังสือถึงประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ประท้วงท่าทีของไทยที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ไทย-กัมพูชา ปี 2543 รวมถึงจะใช้วิธีทางการทูตและการทหารในการแก้ปัญหาชายแดน ซึ่งจดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่ได้รับการพิจารณาชี้ขาดให้ได้รับการดูแลจากกัมพูชาโดยศาลโลกเมื่อปี 2505 และองค์กรอื่นๆ ในปี 2477 ซึ่งไทยละเมิดคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ
 
นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า ความจริงเป็นการเวียนหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานที่คิดว่าคลาดเคลื่อนทั้งคำพูดและการรายงานอะไรต่างๆ แต่ก็คงไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็คงจะได้ทำความเข้าใจต่อไป แต่เรื่องนี้ก็เป็นตัวบ่งบอกเหมือนกันว่าการที่หลายคนบอกว่าถ้าเรายกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 แล้วเขาจะต้องกลับมายึดสนธิสัญญายาม-ฝรั่งเศสนั้นมันไม่ใช่ เป็นอย่างที่ตนพูดว่าเขาจะต้องย้อนกลับไปหาทางเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเหมือนกัน ส่วนหลักของการแก้ปัญหาตามเอ็มโอยูปี 2543 ถึงไม่มีเอ็มโอยูเรื่องการเจรจาก็ต้องทำเพราะเป็นหลักของสหประชาชาติที่เราเป็นภาคีอยู่แล้ว
 
เมื่อถามว่า ความพยายามที่กัมพูชาจะนำประเทศที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นคิดว่าจะสำเร็จหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ไม่ควรจะสำเร็จ เพราะเรามีเอ็มโอยูดังกล่าวอยู่ เมื่อถามต่อว่ากัมพูชาอ้างว่าถ้ามีการยกเลิกเอ็มโอยูนี้ เท่ากับไทยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังคงไปไม่ถึงตรงนั้น แต่อย่างที่เรียนว่าขณะนี้ตนมองว่าเอ็มโอยูเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาอยู่ ทั้งในเรื่องที่ได้พูดไปแล้วเกี่ยวกับมรดกโลก ทั้งในเรื่องของการเป็นฐานของการที่เราจะดำเนินการอะไรในกรณีที่มีเห็นว่าการรุกล้ำเข้ามา อีกทั้งตนคิดว่าก็จะทำให้เป็นหลักประกันที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นว่าเรายึดมั่นตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะตนคิดว่าค่อนข้างชัดเจนว่ากัมพูชาพยายามที่จะทำให้ภาพของเราในสายตาของชาวโลกเป็นฝ่ายที่รุนแรงหรือเข้าไปรุกราน ซึ่งตรงกันข้ามเพราะสิ่งที่ตนพูดทั้งหมดคือการที่เราต้องตอบโต้ถ้ามีการรุกล้ำเข้ามาในส่วนของเรา ส่วนการชี้แจงต่อกับต่างประเทศนั้น ไม่ได้มีปัญหา เพราะจุดยืนของเราชัดเจนอยู่แล้ว
 
ต่อคำถามถึงแรงกดดันต่อเรื่องการทูตและการทหารที่จะไปดูแลพื้นที่ตรงนั้นยากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เพราะคิดว่าเป็นตัวที่บ่งบอกว่าสภาพปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลประเมินอยู่และได้อธิบายมานั้นก็เป็นจริง เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เมื่อถามต่อว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้น ดูเหมือนกัมพูชานำความขัดแย้งภายในประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์ของตัวเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนถึงได้เรียนว่าดีที่สุดสำหรับเราก็คือมีอะไรภายในก็พูดคุยกัน อย่าไปทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าเรามีปัญหากันเอง ทะเลาะเบาะแว้ง มีความรุนแรง หรืออะไร
 
เมื่อถามว่า หนังสือที่ไทยจะทำเพื่อชี้แจงต่อยูเอ็นนั้นจะเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ เป็นเรื่องของระดับกระทรวง เพราะหนังสือของกัมพูชาก็ออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศของเขา ส่วนการที่กัมพูชาออกมาบอกว่าไทยละเมิดการตัดสินของศาลโลก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คืออย่างนี้ครับ เขายังใช้คำว่า "ถ้า" สิ่งที่เขาอ้างว่าหนังสือพิมพ์บอกว่าตนพูดนั้นเป็นจริงหรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันไม่จริงอยู่แล้ว ซึ่งตรงนั้นเราก็ชี้แจงได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา
 
ต่อข้อถามว่า การที่เราไม่มีเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชา ทำให้เราเสียเปรียบในแง่ของการติดตามความเคลื่อนไหวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่หรอกครับ" เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ยังไม่มีการส่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชากลับไป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องรอทางกัมพูชา เพราะเขาเป็นฝ่ายที่สร้างปัญหาขึ้นในเรื่องของการที่จะมาละเมิดระบบของเรา
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“พื้นที่ป่าถูกทำลาย” ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนในสายตาคนไทย

Posted: 09 Aug 2010 11:50 AM PDT

“โพลล์สิ่งแวดล้อม” ฉบับทีดีอาร์ไอ ระบุคนไทยมองปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและปัญหามลพิษอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ป่า ส่วนคนอีสานชี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤติที่สุด จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข พร้อมทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

 
แต่ละปีรัฐบาลได้ใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้เกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ดังนั้นการสำรวจความคิดเห็น ความรู้ ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า การทำโพลล์สิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายและแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความเป็นจริงและความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบกับปัญหา
 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้ทำการสำรวจทัศคติของประชาชนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ในปี 2552 เพื่อตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติของประชาชนที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ และการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อมในทัศนะของประชาชน ทำการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,058 ราย อายุ 18 ปีขึ้นไป หลากหลายอาชีพ ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน 
 
ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติหรือปัญหามลพิษน้อยกว่าเรื่องปากท้องคือปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง การว่างงาน ยาเสพติด และอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้น ๆ สำหรับปัญหาวิกฤติของสังคมไทยที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ประชาชนกว่าครึ่ง (ร้อยละ 64.7) ก็เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญของประเทศและไม่ควรถูกทำลายโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ในการพัฒนาประเทศก็ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
 
 
นางสาวพรเพ็ญ วิจักษณ์ประเสริฐ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลการสำรวจดังกล่าว โดยระบุว่า เมื่อถามถึงความรุนแรงของปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและปัญหามลพิษ รวมทั้งความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.5) เห็นว่าทั้งสองปัญหามีความรุนแรงเท่าๆ กัน แม้จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 
 
โดยข้อมูลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้แก้ไขห้าอันดับแรกคือ การสูญเสียพื้นที่ป่า การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย อุทกภัย และภาวะโลกร้อน ประชาชนทุกภาคเห็นว่าการสูญเสียพื้นป่าเป็นปัญหาที่วิกฤติที่สุด ให้เหตุผลว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ยกเว้นภาคอีสานที่เห็นว่าปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นปัญหาที่วิกฤติที่สุดของประเทศ (ในภาคอีสานมีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 66 ของหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ) ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ประชาชนประสบในพื้นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คนที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลแม้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศแต่ก็ได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ที่มีการรณรงค์เรื่องนี้ค่อนข้างมากก็เห็นด้วยว่าปัญหานี้วิกฤติที่สุด 
 
แนวทางแก้ไขเสนอให้ภาครัฐรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกป่า ห้ามตัดไม้ทำลายป่าหรือเผาป่า บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้มีการจัดหาแหล่งน้ำ เสนอให้มีการทำฝนเทียม การแก้ไขปัญหาการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่าให้ภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงาน หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ เป็นต้น
 
การสำรวจความรู้ ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ยังมีประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลายๆ เรื่องที่ประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เช่น ความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุของการที่ป่าไม้ทางภาคเหนือถูกทำลาย โดยมีสัดส่วนของประชากรตัวอย่างถึงร้อยละ 89.1 ที่เข้าใจว่าการลักลอบตัดไม้ไปขายเป็นสาเหตุของการที่ป่าไม้ทางภาคเหนือถูกทำลาย ซึ่งในความเป็นจริงการสูญเสียป่าไม้ทางภาคเหนือมีสาเหตุมาจากไฟป่า ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดน้ำเสีย โดยประชาชนเข้าใจว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำรายใหญ่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วแหล่งกำเนิดน้ำเสียขนาดใหญ่ คือ ชุมชน โดยผู้ที่เข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้ มีเพียงร้อยละ 15.6 ของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้อาจส่งผลให้ประชาชนขาดจิตสำนึกในการควบคุมพฤติกรรมของตนและสมาชิกในชุมชน อันจะนำมาซึ่งพฤติกรรมการใช้น้ำที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น
 
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.0) มีทัศนคติว่าการจัดการ ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของชุมชนและประชาชนทุกคน โดยให้เหตุผลว่าประชาชนเป็นผู้ใช้ทรัพยากร รู้ความต้องการใช้ทรัพยากร รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ได้ดี และสามารถดูแลชุมชนได้อย่างทั่วถึง การที่ทุกคนในสังคมร่วมกันเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้เร็วขึ้น หากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในพื้นที่ชุมชนของตนส่วนใหญ่ร้อยละ 63.4 บอกว่าจะไปแจ้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและรู้ถึงปัญหาในท้องถิ่นเป็นอย่างดี
 
ส่วนความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติเพื่อบรรเทาปัญหา มีข้อสังเกตว่า หากเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายของตนเองก็จะร่วมมือสูง เช่น การรวบรวมของเหลือใช้ไปขาย การประหยัดไฟฟ้า การประหยัดน้ำมัน ส่วนโครงการที่ให้ประโยชน์แก่สังคมโดยรวมแต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในปัจจุบันประชาชนจะไม่ให้ความสนใจมากนัก เช่น โครงการปลูกป่า โครงการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง
 
ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้เสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การกำหนดนโยบายในทุกระดับและการจัดทำแผนในระดับพื้นที่จะต้องสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแก่ผู้บริหารในท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แจงประเด็นเงื่อนไข “เปลี่ยนเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม”ยังต้องปรับปรุง

Posted: 09 Aug 2010 11:32 AM PDT

ผอ.สบท.ระบุผู้ให้บริการไม่มีสิทธิบังคับผู้บริโภคต้องใช้บริการรายเก่า 3 เดือนก่อนย้าย ยกเว้นให้บริการฟรี ชี้ต้องดูแลการถ่ายโอนเงินคงเหลือ บริการเสริม ย้ำชัดอ้างหนี้ค้างชำระไม่ให้ย้ายเครือข่ายไม่ได้

 
ในวาระครบรอบ 1 ปี ที่ประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้ เนื่องจากความไม่พร้อมของผู้ให้บริการ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติในการโอนย้ายเครือข่ายใหม่โดยใช้เบอร์เดิม นั้น
 
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยถึง เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า มีหลายประเด็นที่เห็นว่าควรมีการพิจารณา เช่น การที่ผู้ให้บริการกำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะมีสิทธิใช้บริการ “เปลี่ยนเครือข่ายใหม่ ใช้เบอร์เดิม” ได้นั้นจะต้องใช้บริการกับรายเดิมมาอย่างน้อย 90 วัน ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากผู้ใช้บริการเพิ่งเปิดใช้บริการโทรศัพท์หรือเพิ่งย้ายเครือข่ายถ้าไม่เกิน 90 วัน ก็ไม่สามารถย้ายเครือข่ายได้ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่สมเหตุสมผล เพราะมีการกำหนดอยู่แล้วว่าการให้บริการคงสิทธิเลขหมายมีการคิดค่าธรรมเนียม ดังนั้นการโอนย้ายย่อมเหมือนการขอเปิดเบอร์ใหม่ ซึ่งเราจะเปิดวันไหนก็ได้ บริษัทไม่มีสิทธิกำหนดว่าคุณต้องอยู่ 90 วัน ในเมื่อผู้บริโภคเป็นฝ่ายรับผิดชอบต้นทุนของตัวเองอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าบริษัทจะเปิดให้ขอใช้บริการได้ฟรีโดยปลอดค่าธรรมเนียม
 
“การกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการรายเดิมอยู่ 90 วันห้ามเปลี่ยน น่าจะเป็นกรณีที่ให้บริการฟรี เช่น มาตกลงเงื่อนไขกันว่า คุณต้องอยู่กับเครือข่ายผม 60 วัน ถ้าคุณย้ายก่อน 60 วันคุณต้องเสียเงิน เพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิพร่ำเพรื่อ แต่ถ้าคุณใช้เกิน 60 วันจะสามารถใช้สิทธิขอโอนย้ายฟรีได้ ก็ดูสมเหตุสมผลต่อทั้งสองฝ่ายมากขึ้น” ผอ.สบท.กล่าว
ส่วนเรื่องค่าบริการคงสิทธิเลขหมาย 99 บาทนั้น การคิดค่าบริการต้องขึ้นกับต้นทุนโดยถือว่าเป็นบริการที่ไม่แสวงหากำไร เหมือนกับการตั้งบริษัทกลาง ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทุกบริษัท ซึ่งจากการสำรวจของ สบท.มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 10 ที่ต้องการใช้บริการเปลี่ยนเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม จำนวนผู้ต้องการใช้บริการที่มากต้นทุนจึงถูกลงได้อีกมาก จากเดิมที่ผู้ให้บริการคิดบนฐานว่า มีผู้ต้องการใช้บริการเพียงร้อยละ 1 ดังนั้นการคิดค่าบริการที่ 99 บาท ถือว่าแพงเกินไป 
 
ประเด็นต่อมาคือ การเตรียมความพร้อมเรื่องการถ่ายโอนเงินคงเหลือ เพราะเมื่อมีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายแล้ว ผู้ใช้บริการในระบบจ่ายเงินล่วงหน้า (เติมเงิน) จะต้องจดทะเบียนกับรายเดิมก่อน และเมื่อโอนย้ายสำเร็จหากมีเงินคงเหลือ ไม่ควรที่ผู้ใช้บริการต้องย้อนกลับไปขอเงินคืนจากรายเดิมอีก แต่ควรมีระบบที่อำนวยความสะดวกเช่น เมื่อโอนย้ายเครือข่ายใหม่สำเร็จแล้ว ผู้ให้บริการรายเดิมอาจส่งเป็นเช็ค หรือโอนย้ายเข้าบัญชีธนาคารให้ได้เลย ไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการต้องกลับไปขอเงินคงเหลือคืนอีกรอบ 
 
ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า ในกรณีนี้รวมถึงบริการเสริมต่างๆ ด้วย ถ้าเราโอนย้ายเครือข่าย บริการเสริมต่างๆ ก็สิ้นสุดไปด้วย แต่ในกรณีที่เป็นประเภทจ่ายเงินล่วงหน้า เช่น ตัดเงินไปก่อนแล้วสำหรับบริการ 1 เดือน แต่เราเพิ่งใช้บริการครึ่งเดือนแล้วโอนย้าย แปลว่า สิทธิในการรับบริการเสริมอีกครึ่งเดือนหายไป ซึ่งผู้ให้บริการต้องคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการ หรืออาจมีการถ่ายโอนกันระหว่างผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่เสียสิทธิที่เหลืออยู่
 
ประการต่อมาคือระยะเวลาในการโอนย้าย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาในการโอนย้าย 3 วันตามที่กฎหมายระบุ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเลขหมายเดียวหรือมากกว่า 25 เลขหมายก็ตาม เพราะการอ้างว่า จำนวนเลขหมายที่มากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารมากนั้น ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากปกติการตรวจสอบเอกสารจะตรวจสอบเจ้าของ คือ บัตรประชาชนและทะเบียนนิติบุคคล เท่านั้น 
 
“การขอโอนย้ายครั้งละหลายเลขหมาย ไม่ว่าจะเป็น 25 เลขหมายหรือ 100 เลขหมาย เท่ากับตรวจสอบหลักฐานครั้งเดียวใช้ได้เลย เวลาที่ใช้น่าจะสั้นกว่า ขณะที่ผู้บริโภค 100 คน 100 เลขหมาย เขาต้องตรวจสอบเอกสาร 100 ชุด ตรวจสอบเสร็จภายใน 3 วันได้ แต่ตรวจสอบเอกสารชุดเดียว 100 เบอร์ต้องใช้เวลา 20 วัน ดูไม่สมเหตุสมผล” ผอ.สบท.กล่าว 
 
ประเด็นสุดท้ายคือ การระบุว่า ผู้ใช้บริการต้องชำระหนี้ค้างชำระให้หมดก่อนนั้น เป็นจริงไม่ได้ เพราะถ้าใช้ระบบจดทะเบียน หนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะตัดเครือข่ายเดิมแล้วต่อเครือข่ายใหม่สำเร็จ เนื่องจากแม้จะมีการตัดยอดบิลหลังสุด แต่ผู้บริโภคก็มีสิทธิใช้มือถือในช่วงก่อนโอนย้ายสำเร็จ ดังนั้นระบบที่สมเหตุสมผลคือ การที่บริษัทแจ้งยอดหนี้ให้ผู้บริโภคทราบทีเดียวหลังการโอนย้าย เพื่อให้ชำระคืนเป็นยอดเดียว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้นำกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ ถูกส่งตัวถึงคุกซิตต่วยแล้ว

Posted: 09 Aug 2010 11:07 AM PDT

พลตรีเสือแท่นวัย 74 ปี ผู้นำคนสำคัญของกลุ่มหยุดยิง SSA – N (Shan State Army-North) ถูกส่งตัวจากย่างกุ้งมาถึงเรือนจำชิตต่วย ในเมืองชิตต่วย รัฐอาระกันแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

 
Narinjara: 8 สิงหาคม 2553: มีรายงานว่า พลตรีเสือแท่นวัย 74 ปี ผู้นำคนสำคัญของกลุ่มหยุดยิง SSA – N (Shan State Army-North) ถูกส่งตัวจากย่างกุ้งมาถึงเรือนจำชิตต่วย ในเมืองชิตต่วย รัฐอาระกันแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา
 
แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุว่า “พลตรีเสือแท่นมาถึงสนามบินเมืองซิตต่วย เมืองหลวงรัฐอาระกัน ตอน 13.50 น. เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับผู้คุมที่จะพาไปยังเรือนจำเมืองซิตต่วยหลังจากที่เขาลงจากเครื่องบิน” 
 
ทั้งนี้มีรายงานว่าเขาถูกย้ายมาจากเมืองคามิต ภาคสกายในตอนเหนือของพม่า พลตรีเสือแท่น ผู้นำ SSA-N ถูกรัฐบาลทหารพม่าพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 106 ปี ตั้งแต่ถูกจับเมื่อปี 2548 ในข้อหาสมคบพรรคการเมืองนอกกฎหมายและคิดการกบฏ
 
“เขาถูกตัดสินที่เมืองเนปีดอว์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 2548 พร้อมด้วยนักการเมืองชาวไทใหญ่อีก 8 คน” แหล่งข่าวชาวไทใหญ่ระบุ
 
สำนักข่าวฉาน(Shan Herald Agency for News)รายงานว่า พลตรีเสือแท่น กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพทั้งโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคตาอักเสบรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2550 และมีรายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า พลตรีเสือแท่นประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ จนทำให้แขนหัก และจนถึงตอนนี้ แม้พลตรีเสือแท่นจะประสบกับปัญหาสุขภาพมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์
 
ขณะที่เรือนจำชิตต่วยเป็นเรือนจำใหญ่ที่สุดทางฝั่งตะวันตกของพม่า โดยเคยเป็นที่กักขังผู้นำนักศึกษาปี 88 คนสำคัญอย่างเช่น นายมินโกนาย ซึ่งถูกขังระหว่างปี 2532-2547 
 
......................................................................................................
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าสั่งหยุดสร้างทางรถไฟเชียงตุง–เมืองนายชั่วคราว เหตุฝนตกหนัก

Posted: 09 Aug 2010 10:56 AM PDT

ทางการพม่าสั่งหยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สายเมืองเชียงตุง (รัฐฉานภาคตะวันออก) และเมืองนาย (รัฐฉานภาคใต้) ไว้ชั่วคราวตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม เหตุมีฝนตกหนัก ขณะกองทัพพม่ากดดันจี้ผู้นำกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ดึงกองพล 1 ร่วมตั้งหน่วยรักษาพื้นที่

Khonkhurtai: 9 สิงหาคม 2553: มีรายงานว่า ทางการพม่าได้สั่งหยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สายระหว่างเมืองเชียงตุง (รัฐฉานภาคตะวันออก) และเมืองนาย (รัฐฉานภาคใต้) ไว้ชั่วคราวตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกหนัก ขณะที่กองทัพพม่าได้สั่งการให้หน่วยอาสาสมัครในพื้นที่จัดเวรยามไปเฝ้าดูแลอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมง
 
เจ้าหน้าที่หน่วยอาสาสมัครคนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาได้รับคำสั่งให้สับเปลี่ยนกันไปเฝ้าดูแลตู้รถไฟและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างโดยที่ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนใดๆ แม้กระทั่งค่าอาหารก็ไม่ได้รับ มีเพียงบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ให้อาหารแก่พวกเขาอยู่บ้าง
 
แหล่งข่าวเผยว่า หลังโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในเมืองเชียงตุงเริ่มขึ้น ทางการได้นำตู้รถไฟมาไว้จำนวน 3 ตู้ และจนถึงขณะนี้ มีอาคารและเส้นทางรถไฟได้รับการก่อสร้างแล้วส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เส้นทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จได้เกิดทรุดตัวพังบางส่วน
 
สำหรับบริษัทที่ได้รับประมูลจากทางการพม่าในการก่อสร้างสถานีและเส้นทางรถไฟในเมืองเชียงตุง เป็นบริษัทของ จายติ๊บอ่อน นักธุรกิจในท้องที่ โดยสถานที่ก่อสร้างสถานีตั้งอยู่ระหว่างบ้านเก็งพองและบ้านนาคำ ใกล้กับมหาวิทยาลัยเชียงตุง
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างเชียงตุง – เมืองนาย เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้น สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่า ทางการมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟในรัฐฉาน เชื่อมจากเส้นทางเดิมเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่เส้นทางเมืองน้ำจ๋าง – เมืองสี่ป้อ (ภาคใต้สู่ภาคเหนือ) ระยะทางประมาณ 250 กม./เมืองน้ำจ๋าง – เมืองเชียงตุง (ภาคใต้สู่ภาคตะวันออก) ระยะทางประมาณ 330 กม.และเมืองล่าเสี้ยว – เมืองหมู่แจ้ (รัฐฉานภาคเหนือ) รวมระยะทางราว 170 กม.ทั้งนี้ ทางการอ้างว่าสร้างเพื่อใช้ขนส่งมวลชนและการพาณิชย์
 
สำหรับโครงการ เส้นทางรถไฟระหว่างเมืองนาย – เชียงตุง มีกำหนดผ่าน เมืองลางเคอ, เมืองปั่น, (รัฐฉานภาคใต้) เมืองโต๋น, เมืองสาด, เมืองโก๊ก และเมืองพยาก (รัฐฉานภาคตะวันออก)
 
อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองเชียงตุงคนหนึ่งเปิดเผยว่า มีที่ดินทั้งของสาธารณะและไร่นาชาวบ้านจำนวนมากถูกทางการพม่ายึดใช้เป็นพื้นที่โครงการสร้างเส้นทางรถไฟ โดยพื้นที่ที่ถูกยึดส่วนใหญ่อยู่ในตำบลเก็งพอง, นาคำ, และเชียงคำ ซึ่งทางการไม่ได้มีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เป็นเจ้าของใดๆ
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในรัฐฉานของทางการพม่า ถูกนักวิเคราะห์มองว่า มีเป้าหมายเพื่อใช้ในด้านการทหารมากกว่าการพาณิชย์ โดยให้สังเกตจากรถไฟในรัฐฉานปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ในด้านการทหารมากกว่าการขนส่งมวลชนและการค้า
 
 
 
พม่าจี้ผู้นำกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ ดึงกองพล 1 ร่วมตั้งหน่วยรักษาพื้นที่
 
Khonkhurtai : 6 สิงหาคม 2553: แหล่งข่าวรายงานว่า กองทัพพม่ากำลังใช้ความพยายามกดดันกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ที่ยอมรับข้อเสนอจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ Home Guard Force – FGH ไปแล้ว ให้เจรจากองพลน้อยที่ 1 ที่ยังไม่ยอมรับข้อเสนอหันมาตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ร่วมกัน
 
โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ่องตานทุต ผบ.กองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ได้มีคำสั่งตรงไปยัง พล.ต.หลอยมาว ผู้นำกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ให้ทาบทามกองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การนำของ พล.ต.ป่างฟ้า ซึ่งเป็นกองพลคุมกำลังหลักของ SSA-N และปฏิเสธร่วมจัดตั้งหน่วยพิทักษ์พื้นที่ ให้เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ภายใน 2 อาทิตย์
 
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า ทางพล.ต.หลอยมาว ยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งของแม่ทัพภาคพม่าดังกล่าว ขณะที่มีรายงานว่า พล.ต.ป่างฟ้า ผบ.กองพลน้อยที่ 1 เองยังคงแสดงจุดยืนเดิม คือ จะไม่ยอมรับเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ตามผู้นำ
 
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ปางฟ้า ได้รับคำเชิญจากแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าให้เดินทางไปพบที่เมืองล่าเสี้ยวหลายครั้ง แต่เขาได้ปฏิเสธ และเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังพลพ้นจากเส้นทางสายหลัก รวมถึงให้ถอนกำลังพลที่ตั้งฐานอยู่ต่อหน้าฐานทหารพม่าในเมืองสู้ รัฐฉานภาคเหนือด้วย
 
กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ก่อตั้งเมื่อปี 2421 (1964) โดยการนำของเจ้าแม่นางเฮือนคำ อดีตชายาเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วย กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หลังเจรจาหยุดยิงเมื่อปี 2532 มีกำลังพลราว 3,500 – 4,000 นาย แบ่งกำลังพลเป็น 3 กองพลน้อย ได้แก่ กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7
 
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. พล.ต.หลอยมาว ผู้นำสูงสุด SSA-N ตัดสินใจรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า นำกำลังพลในกองพลน้อยที่ 3 และ 7 รวมกว่า 1 พันนาย เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์พื้นที่ Home Guard Force – HGF ขณะที่กองพลน้อยที่ 1 ยังคงปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าการเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า เป็นการทำลายอุดมการณ์และเป็นการหักหลังชาติ
 
รัฐบาลทหารพม่าเริ่มยื่นข้อเสนอให้กองกำลังหยุดยิงที่มีอยู่ทั้งหมด 13 กลุ่ม เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF หรือ หน่วยพิทักษ์พื้นที่HGF ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา เพื่อหวังจัดระเบียบกลุ่มติดอาวุธก่อนการเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้มีกลุ่มหยุดยิงหลายกลุ่มยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่กลุ่มหยุดยิงกลุ่มใหญ่ เช่น กองทัพสหรัฐว้า UWSA, กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมือลา NDAA, กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA, พรรครัฐมอญใหม่ NMSP และกำลังพลในกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA บางส่วน ต่างยังคงปฏิเสธ
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
________________________________________
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?

Posted: 09 Aug 2010 09:18 AM PDT

ชื่อบทความเดิม:
ครบรอบ 5 ปี วิกฤติประเทศไทยปัจจุบัน ประเด็นใจกลางตั้งแต่ต้นจนทุกวันนี้ ไม่เคยเปลี่ยน : จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?

 

               แด่ B.E.

             "If from the distance that separated us, am I still recognizable to you, the past, O you sharer of my sufferings?" 
             "Those were beautiful days, but they were followed by a sorrowful twilight . . ."
               
Friedrich Holderlin

ต้นเดือนกันยายน 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ "เปิดตัว" หนังสือ "พระราชอำนาจ" โดย ประมวล รุจนเสรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่มีบท "อาเศียรวาท" (เพิ่มขึ้นมาจากการพิมพ์ครั้งแรก) ที่อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ (ที่ทรงรับสั่งให้ ปีย์ มาลากุล นำมาให้ประมวล) ว่า "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก" - ผมเสนอว่า เราอาจถือเอาเหตุการณ์นี้ เป็น "จุดเริ่มต้น" ของวิกฤตประเทศไทยปัจจุบัน [1]  นี่เป็นวิกฤต ที่มีความเข้มข้นแหลมคม รุนแรง และยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องไม่หยุด (และยังไม่ยุติ) ชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ปัญหาใจกลางของวิกฤตินี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นนี้ และไม่เคยเปลี่ยนเลยมาจนขณะนี้ อาจสรุปได้เป็นประโยคเดียวคือ

"จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?"

พูดอีกอย่างคือ จะให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะและอำนาจอย่างไร ตั้งแต่ประเด็นทางกฎหมาย-การเมือง ระดับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายย่อย ไปถึงประเด็นเชิงวัฒนธรรม จิตสำนึก ตั้งแต่เรื่ององคมนตรี ไปถึงตุลาการภิวัฒน์ (ที่มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสสาธารณะของกษัตริย์) ตั้งแต่ปัญหากองทัพ "ของพระราชา" ไปถึงประเด็น องค์กรรัฐใด ควรเป็นผู้ที่ set agenda (กำหนดวาระ) ของสังคมและทิศทางประเทศ (คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ พระมหากษัตริย์)

สิ่งที่เป็น irony ที่สุดของวิกฤตินี้ คือ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (อาจจะเรียกสั้นๆว่า "พวกเสื้อเหลือง" หรือ "พวกอำมาตย์" หรือคำที่หรูกว่าเช่น "ชนชั้นนำ" "ชนชั้นสูง" ฯลฯ แต่ควรเข้าใจว่า ฝ่ายดังกล่าวมีมากกว่า "ชนชั้นสูง" หรือ "ชนชั้นนำ" หรือกระทั่ง "อำมาตย์" เพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่มีฐานกำลังใหญ่โตที่รวม "ชนชั้นกลาง" และ "ชนชั้นล่าง" จำนวนมากด้วย) - ในขณะที่ฝ่ายนี้เข้าใจ "โดยสัญชาติญาณ" (instinctively, intuitively) ตั้งแต่ต้นว่า นี่คือปัญหาใหญ่ใจกลางที่สุดของวิกฤตินี้ และได้อภิปราย โฆษณา โดยเอาเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ใจกลางมาตลอด - ดูตั้งแต่การ "เปิดตัว" หนังสือประมวลที่เป็นจุดเริ่มต้น จนถึงคำขวัญ "สู้เพื่อในหลวง" และการโปรโมต "เสื้อเหลือง" ของสนธิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบ "สู้ตามสีเสื้อ" มาถึงปัจจุบัน) การเรียกร้อง "นายกฯมาตรา 7" ของพันธมิตร, ข้ออ้างเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" จนถึง "แผนผัง ล้มเจ้า" ของ ศอฉ., ไม่นับการรณรงค์อีกนับไม่ถ้วนของบรรดา "เสื้อหลากสี", กลุ่มที่ชู "คุณธรรม" ต่างๆ ในจุฬา ไปถึงในวงการแพทย์ ฯลฯ

แต่ในทางตรงข้าม ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" ซึ่งย่อมหมายถึงการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (องคมนตรี ถึง ตุลาการ ถีง "ทหารของพระราชา" และอื่นๆ) ตั้งแต่ ตัวทักษิณ ถึง แกนนำ นปช. ถึงบรรดานักวิชาการ นักเขียน นัก นสพ. และแอ๊คติวิสต์ ต่างๆ (ถ้าจะเรียกด้วยคำรวมๆ ปัจจุบันว่า ฝ่าย "เสื้อแดง" ก็ได้ แต่ควรเข้าใจว่า แม้แต่การปรากฏของ "จิตสำนึก" แบบ "เสื้อแดง" - การเมืองวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณะของการเลือกสี ที่ไมใช่สีเหลือง - ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤติดำเนินไปแล้วกว่า 3 ปี คือหลังกรณี 7 ตุลาคม 2551) - ฝ่ายนี้ กลับเป็นฝ่ายที่ช้า ตั้งแต่ในการทำความเข้าใจว่าประเด็นนี้แหละคือประเด็นใจกลางของความขัดแย้ง (คนจำนวนมากในฝ่ายนี้ ใช้เวลา 2-3 ปีของช่วงวิกฤติ กว่าจะ "ตาสว่าง" - คำนี้ สะท้อนลักษณะการเข้าใจที่้้ช้าดังกล่าวได้ชัดเจน)

และที่สำคัญที่สุด จนถึงวินาทีนี้ ฝ่ายนี้ (เรียกได้ว่า) ทั้งหมด ยังไม่เห็นความจำเป็นทีจะ นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างตรงๆ เป็นระบบ นี่เป็นความจริงของฝ่ายนี้ ตั้งแต่ส่วนที่เป็น "ปีกขวา" เช่น ทักษิณ-จตุพร-แกนนำ นปช. ("ปีกขวา" นี้ รวม "อดีตซ้าย" ไว้หลายคน ตั้งแต่จรัล, เหวง, ธิดา คนเหล่านี้ โดยส่วนตัวอาจจะถือเป็น "ปีกซ้าย" หรืออย่างน้อย "ปีกกลาง" ของขบวน แต่ในแง่เป็นองค์รวม ต้องจัดว่า อยู่ใน "ปีกขวา" ของขบวน) ไปถึง "ปีกกลาง" เช่น นักการเมืองอย่างจาตุรนต์ ไปถึง "ปีกซ้าย" อย่าง จักรภพ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน ถึงนักวิชาการซ้ายอย่าง พิชิต สุธาชัย (กรณีหลังมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง) ไม่ต้องพูดถึงบรรดานัก นสพ. (มติชน ฯลฯ) และนักวิชาการที่ในระยะหลังหันมาให้ความเห็นอกเห็นใจสนับสนุนเสื้อแดง อย่างกลุ่ม "สันติประชาธรรม" ฯลฯ

เรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นว่า เป็นความผิดพลาดสำคัญ ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อจำกัดเชิงกฎหมายเท่านั้น (เช่นการมี ม.112 ในประมวลอาญา) เพราะอันที่จริง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ข้ออ้างหรือเหตุผลของการไม่ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับประเด็นสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ของฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนใหญ่จริงๆ ไมใช่เรื่องทางกฎหมาย (ทางกฎหมาย แม้จะมีข้อจำกัดอย่างไร ก็ยังทำได้แน่นอน - ดูบทความที่กำลังอ่านนี้เป็นตัวอย่าง ถ้านึกไม่ออก) แต่เป็นเรื่องที่อาจจะเรียกว่าในทาง "วัฒนธรรม" นั่นคือข้ออ้างหรือเหตุผลประเภท "คนส่วนใหญ่ยังรับไม่ได้" "เดี๋ยวจะถูกโจมตีว่าล้มเจ้า" ฯลฯ อะไรทำนองนี้

นี่เป็นเรื่อง"ตลก" ที่หัวเราะไม่ออก เพราะความจริงคือ ขณะที่ไม่มีการ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" อย่างเป็น"ทางการ" ในหมู่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ก็มีลักษณะของการ "อภิปราย" หรือ "แสดงออก" ในเชิงสัญลักษณ์ ในเชิงภาษาแบบ metaphors (อุปลักษณ์) และอื่นๆ อย่างแพร่หลายนับไม่ถ้วน (และยิ่งนานยิ่งขยายออกไป) ตั้งแต่เรื่อง "คุณซาบซึ้ง" ไปถึงเรื่อง "เพชร" เรื่อง "รูปๆ บ้านๆ" ไปถึงเรื่อง "นิยาย ยายไฮ" ถึงเรื่องอีกสารพัดอย่าง (ล่าสุดเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ "การทำธุรกรรม" บางอย่าง)

และนี่เป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง (คือพวก "เสื้อเหลือง" ที่เอ่ยถึงก่อนหน้านี้) จะรู้ดี แต่แม้แต่สังคมวงกว้าง ก็รู้กันดีหมดแล้ว ว่ามีการแสดงออก ในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ในหมู่ "ชุมชน" ของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ มีใครที่ใช้อินเตอร์เน็ต แล้วไม่เคยเห็น ไม่เคยผ่านตา บรรดา metaphors ต่างๆ ที่ผมเอ่ยถึงในย่อหน้าก่อนบ้าง? หรือต่อให้ไม่เคยเห็น ป่านนี้ มีใคร ไม่รู้ข่าวกรณี "สาว DHL" "ก้านธูป" หรือ "มาร์ค วี11" บ้าง?

ส่วนข้อที่อ้างว่า "ถ้าพูดจะทำให้ถูกกล่าวหาว่าคิดล้มเจ้า" - ขอถามว่า แล้วที่ผ่านมา การไม่ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ไม่ถูกกลาวหาหรือ? ตั้งแต่กรณีสุเทพโจมตีทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี (ซึ่งศาลโอเคว่า ทำได้) ไปถึงกรณี แผนผัง ศอฉ. ถึงกรณีรายการ "เจาะข่าวร้อน" และบรรดาหนังสือ "เปิดโปงขบวนการล้มเจ้า" ต่างๆ

มีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่บางคนในหมู่ "เสื้อแดง" เสนออกมา คือ (ถ้ายืมคำที่มีการใช้กันตามเว็บบอร์ด) "ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกับปัญหานี้ดีกว่า" ข้อโต้แย้งของผมคือ ลำพัง "ธรรมชาติ" ไม่ว่าจะเข้า "แทรกแซง" อย่างไร ก็ไม่สามารถจัดการกับเรื่องทางโครงสร้างการเมือง- กฎหมาย และเรื่องทางวัฒนธรรม รูปการจิตสำนึกต่างๆ ได้ "ธรรมชาติ" อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จริง แต่ผมขอเสนอว่า ไม่สามารถทำให้เกิดผลกระทบในแง่ของความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง และระบอบจิตสำนึก (ideology) ได้ หากไม่มีการอภิปราย นำเสนอ ทางเลือกอื่น เข้ามาต่อสู้แข่งขันทางความคิดด้วยตั้งแต่บัดนี้

เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่าผมกำลังพยายามเสนออะไร ผมขอยกตัวอย่าง รูปแบบการนำเสนอ-อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบหนึ่ง ที่ผมขอเรียกรวมๆว่า "โมเดล นปช.USA" (ผมไม่ได้หมายความว่า มีแต่ที่เว็บไซต์ นปช.USA ที่ใช้รูปแบบนี้ ต้องขออภัยต่อเว็บดังกล่าวที่ "ยืม" ชื่อมาตั้งเป็นแบบอย่างอภิปรายเพื่อให้เห็นง่ายๆ ชัดเจน) "โมเดล" นี้ ความจริงเป็นคนละแบบกับเรื่องการใช้ metaphors ต่างๆ ที่เพิ่งพูดไป แต่ในหลายกรณี ก็มีลักษณะ "ซ้อนทับ" หรือ "เหลื่อม" กันอยู่ ชนิดที่แทบจะแยกกันไม่ออก (กรณี "นิยาย ยายไฮ" อาจจะเป็นตัวอย่างได้ดี) ผมไม่เคยเสนอ หรือสนับสนุน หรือทำเอง การอภิปรายตาม "โมเดล" นี้ ด้วยเหตุผลดังนี้

ในขณะที่ผมเห็นว่า ตามหลักการประชาธิปไตย การอภิปรายในลักษณะนี้ ควรจะไม่ผิด (เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาก็ย่อมเป็นสิทธิของคนฟัง) แต่ความจริงคือ นี่เป็นการอภิปรายที่เกินขอบเขตของกฎหมายในขณะนี้ และดังนั้น จึงมีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถทำให้เป็นเรื่อง "กระแสหลัก" (mainstream) ของชีวิตสาธารณะของสังคมได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ เกี่ยวพันถึงอนาคตของประเทศที่มีพลเมืองหลายสิบล้านคน ว่าเราต้องการการเมือง และสังคม หรือวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตแบบใด (เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่มีเพลงสรรเสริญฯก่อนฉายหนัง หรือ "ข่าวสองทุ่ม" ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างไร? เป็นต้น - นี่ยกตัวอย่างรูปธรรมสุดๆ ให้ดู) ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาได้ จะต้องผ่านการทำความเข้าใจ หรือกระทั่งยอมรับ-รับได้ของคนจำนวนมหาศาล ซึ่งคงไมใช่ด้วยการใช้โมเดล ที่ว่าเป็นแน่ แต่จะต้องด้วยการทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายที่สุดว่า หลักการและการปฏิบัติที่เป็นอยู่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งไม่ถูกต้องอย่างไร โดยทีการอภิปรายนี้ จะต้องทำให้เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องเปิดเผยให้มากที่สุดได้ ภายใต้ข้อจำกัดแน่นหนาของกฎหมายปัจจุบัน

ถึงเวลาหรือยัง? - ความจริง ผมเห็นว่า เกินเวลาไปนานแล้ว แต่เริ่มช้า ดีกว่าไม่เริ่ม - ที่จะมีการ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับประเด็นใจกลางของวิกฤติครั้งนี้ คือ "จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?" หรือ สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ควรเป็นเช่นไร ตามหลักการประชาธิปไตย จากในหมู่ "คนเสื้อแดง" หรือคนที่เห็นใจ "คนเสื้อแดง" ตั้งแต่ตัวทักษิณลงมา ถึงบรรดานักวิชาการ นัก นสพ. นักการเมือง ที่เห็นอกเห็นใจเสื้อแดงทั้งหลาย (พูดอย่าง realistic ผมคิดว่า ต้องเริ่มจาก 3 กลุ่มนี้ ในเวลาใกล้เคียงกัน หรือตามลำดับกัน คือ นักวิชาการ, สื่อมวลชน, นักการเมือง)

ผมขอเสนอว่า การทำให้การ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตามหลักการประชาธิปไตย ให้เป็นเรื่อง "กระแสหลัก" (mainstream) ของสังคมให้ได้ คือ ให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ตรงๆ ในวงวิชาการ ในที่สัมมนา ในทางสื่อมวลชน นสพ. ทีวี และในวงการนักการเมือง เป็นภาระสำคัญที่สุดของฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยต้องการการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

หากยังไม่มีการอภิปรายปัญหานี้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และจริงจัง และไม่หาทางแก้ปัญหานี้อย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ก็มีโอกาสอย่างยิ่งที่ . . .

ประเทศไทยจะมุ่งหน้าไปสู่การปะทะครั้งใหม่ ที่จะมีความรุนแรง ชนิดที่ทำให้เหตุการณ์ทีราชประสงค์เมื่อเร็วๆนี้ กลายเป็นเรื่อง "งานเลี้ยงปิคนิค" ไปได้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับตาภาคประชาชน: ดร.ทิพวัลย์ สีจันนทร์ และสยาม หยองเอิน กับข้อเสนอที่ NGO ควรเป็นและควรทำ

Posted: 09 Aug 2010 07:12 AM PDT

ดร.ทิพวัลย์ สีจันนทร์ และสยาม หยองเอิน กับความเห็นต่อ"ขบวนการภาคประชาชน และ NGO" ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
ตอน7 ดร.ทิพวัลย์ สีจันนทร์
 
 
"ภาคประชาชน... ส่วนใหญ่ที่เราเอามาใช้ในความหมายในการทำงานก็คือว่า เป็นคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หรือคนที่ยังอยู่ในสภาวะที่อาจจะเรียกว่าถูกกระทำจากอดีตที่ผ่านมา แต่ว่าในความหมายของคำว่าประชาชนจริงๆ โดยส่วนตัวคิดว่ามันน่าจะคลุมไปถึงกลุ่มคนหลากหลายในสังคม"
 
"จากการที่ได้สัมผัสมา ตนเองยังคิดกว่าชื่นชม ต่อกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาประกาศตนเองว่าขอเป็นนักทำงานอิสระที่ไม่มีสังกัด และตั้งใจ โดยมีเป้าหมายที่จะทำงานเพื่อคนมีโอกาสน้อยในสังคม"
 
"เอ็นจีโออาจต้องลองทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าต่อไปยังยึดจิตวิญญาณอุดมการณ์เอ็นจีโอเหมือนเดิม แต่ว่ารูปแบบการทำงานอาจจะสร้างความเข้าใจโดยการประสานงานร่วมกับภาคีอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม” ความเห็นของ ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศ คณะเกษตร ม.เกษตรฯ
 
 
000
 
ตอนที่ 8 สยาม หยองเอิน
 
 
"ภาคประชาชนคือกลุ่มคนในสังคม คือกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของภาครัฐ มีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่ว่า... นโยบายหลายนโยบายของภาครัฐกลับมาทำร้ายประชาชน คนชั้นล่าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม"
 
"เอ็นจีโอน่าจะมีการให้ข้อมูล ต้องทำงานกับประชาชน ยืนเคียงข้างเรื่องข้อมูล ชวนคิดชวนวิเคราะห์ เอาข้อมูลใหม่ๆ มาเติมให้ ไม่ว่าเรื่องผลกระทบเชิงนโยบายหรือรายละเอียดของนโยบายภาครัฐ"
 
"ในอนาคตเอ็นจีโอต้องทำงานเชิงลึกและกว้างในสังคม คือตอนนี้ลึกก็จริง แต่ลึกแค่เหมือนบ่อน้ำ แต่ในอนาคตต้องทำให้เป็นวงกว้างออกไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเกิดการยอมรับ ถ้าประชาชนยอมรับเอ็นจีโอจะทำงานได้ง่ายขึ้น ได้ดีขึ้น" ความเห็นของ สยาม หยองเอิน NGO เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยโสธร
 
.............................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บก.ลายจุดลั่นพร้อมสู้ทุกคดี - ส่งทนายเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยคดีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ปลุกระดมเผายาง

Posted: 09 Aug 2010 06:44 AM PDT

ทนายเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยคดี บก.ลายจุดถูกฟ้องฐานละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญาซึ่งถูกกล่าวหาว่าปลุกระดมโดยปราศรัยให้เผายางใต้ทางด่วนลาดพร้าว 71 เจ้าตัวลั่นคดีการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม พร้อมท้าฟ้องอีกกี่คดีก็ได้

(9 ส.ค.53) นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดไกล่เกลี่ย ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ในความผิดฐานละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญา มาตรา 83, 215 และ 216 จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองบริเวณใต้ทางด่วนลาดพร้าว 71 และระบุว่าปลุกระดมโดยการปราศรัยให้เกิดการเผายาง มั่วสุมกันโดยไม่ชอบทำให้เกิดความวุ่นวาย

โดยนายอานนท์ระบุในคำขอเลื่อนนัดว่าเนื่องจากติดธุระ และเพิ่งได้รับคดี ยังไม่ได้จัดทำเอกสาร อัยการไม่ได้คัดค้าน จึงนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย. เวลา 9.00น. ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ

ด้านสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวว่า ระหว่างนี้อยู่ในขั้นเตรียมเอกสารแถลงสู้คดี โดยเบื้องต้นยอมรับว่าไปปรากฎตัวในสถานที่ดังกล่าวจริง ตามสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการใช้เพราะเหตุผลทางการเมือง ส่วนเรื่องการปราศรัยจนทำให้มีการเผายางนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิดตามที่กล่าวหา ซึ่งรัฐต้องเป็นฝ่ายแสดงหลักฐาน

เมื่อถามว่ากังวลว่าจะถูกฟ้องอีกหรือไม่ เพราะจากนี้เขาจะยังจัดกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงต่อไปอีก สมบัติ กล่าวว่า เขาไม่กังวลแล้ว อยากทำอะไรก็ให้ทำ กี่กระทงก็ได้ จะนับตั้งแต่ผูกผ้าแดงเลยก็ได้ พร้อมทุกคดี เพราะคดีทางการเมืองไม่ใช่การประกอบอาชญากรรม ซึ่งรัฐก็คงพยายามตั้งข้อหาตนต่อไปเพื่อดิสเครดิตและทำให้ยุติการเคลื่อนไหว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบพยานผู้ออกแบบเว็บ นปช.USA ก.พ.ปีหน้า–ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องประกันตัว ‘ดา ตอร์ปิโด’

Posted: 09 Aug 2010 06:19 AM PDT

ศาลนัดพร้อม สืบพยาน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีผู้ออกแบบเว็บนปช.ยูเอสเอ เป็นเดือน ก.พ.54 ด้านคดี ‘ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล’ ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอประกันตัว ชี้ข้อหาร้ายแรงเกรงจะหลบหนี

9 ส.ค.53 ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถนนรัชดา ผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์เพื่อนัดพร้อม ตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อายุ 37 ปี เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นผู้ให้บริการจงใจ สนับสนุน ยินยอมให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ตามมาตรา 3, 14, 15 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
รายงานข่าวระบุว่า จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นศาล และพนักงานอัยการได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลจำนวน 12 ปาก ขณะที่ทนายจำเลยยื่นบัญชีพยานบุคคลจำนวน 6 ปาก ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ 3 นัด และพยานจำเลย 2 นัด หลังจากที่จำเลยได้ร้องขอให้มีการเพิ่มการนัดสืบพยานจำเลย เนื่องจากมีพยานหลายคนที่ไม่พร้อมให้การ เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่าอาจถูกรัฐบาลเพ่งเล็งท่ามกลางการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในขณะนี้ อีกทั้งจำเลยยังเพิ่งได้พบทนายเป็นครั้งแรกในวันนี้ ศาลจึงอนุญาตให้สืบพยานจำเลยเพิ่มเติมจาก 1 นัด เป็น 2 นัด โดยกำหนดวันสืบพยานโจทก์ในวันที่ 4, 8, 9 ก.พ.2554 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 10, 11 ก.พ.2554
ทั้งนี้ นายธันย์ฐวุฒิ หรือนามแฝง “เรดอีเกิ้ล” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ www.norporchorusa.com และ www.norporchorusa2.com และถูก พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พล.ต.ต.เกรียงศักดิ์ อรุณศรีโสภณ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) นำกำลังเข้าจับกุม เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องพักในเขตบางกะปิ กทม.พร้อมยึดคอมพิวเตอร์และของกลางหลายรายการ จากนั้นถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน
ด้านความคืบหน้าคดีนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปี เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2552 และทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 27 ต.ค.2552 ต่อมาทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ก.ค.53 โดยระบุถึงสาเหตุขากรรไกรอักเสบรุนแรง ทำให้อ้าปากได้เพียงเล็กน้อยและต้องเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือ ขีดความสามารถเพียงพอ ทั้งยังต้องพักฟื้นอีก 1-2 ปี นอกจากนี้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีความผิดฐานเดียวกันก็ได้รับการปล่อยชั่วคราวเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำของจำเลย กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและสักการะ และส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนผู้จงรักภักดีอย่างกว้างขวาง จึงถือเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยรวม ๑๘ ปี หากไดรับการปล่ออยชั่วคราวแล้วไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี ส่วนเหตุที่อ้างว่าจำเลยเจ็บป่วยนั้น จำเลยอาจร้องขอต่อราชทัณฑ์เพื่อไปรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่มีขีดความสามารถรักษาพยาบาลอาการป่วยของจำเลยได้อยู่แล้ว จึงยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายดารณี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่น้องสาวซึ่งเจ็บป่วยไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ตนเองซึ่งอยู่จังหวัดภูเก็ตต้องเดินทางมาเยี่ยมแทบทุกอาทิตย์มาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว พร้อมทั้งต้องฝากเงินให้ดารณีเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อนมและอาหารอ่อนด้วย เนื่องจากดารณีอ้าปากได้น้อยมากและไม่สามารถทานอาหารที่เรือนจำจัดให้ได้ ขณะเดียวกันตนเองก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ช่วยเหลือน้องสาวได้น้อยลงด้วย ดังนั้น หากผู้ใดประสงค์จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สามารถโอนเงินเข้ามาได้ที่บัญชีออมทรัพย์ ชื่อ นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาถนนพูนผล เลขที่ 297-1-25805-5
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุมเข้ม"ละครเวทีนักศึกษา" สกอ.ส่งหนังสือแจ้ง "อธิการบดีทุกแห่ง"

Posted: 09 Aug 2010 04:56 AM PDT

คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาฯ ส่งหนังสือเวียนแจ้งอธิการบดีทุกแห่งคุมเข้ม!! "ละครเวที นศ." จี้ดูแลการแสดงอิงการเมือง อ้างหวั่นบิดเบือน ปลุกระดมยั่วยุสร้างความแตกแยกในสังคม

มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ส่งหนังสือเวียนไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เรื่องขอความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษา 

หนังสือเวียนดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีเกี่ยวกับการพิจารณาควบคุมการจัดแสดงละครเวทีทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากปัจจุบันมีแกนนำนักศึกษา จัดแสดงละครเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นด้านการเมือง ในลักษณะบิดเบือนสถานการณ์ทางการเมืองอันเป็นการปลุกระดมยั่วยุสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุความไม่สงบภายในประเทศได้นั้น
 
สกอ.พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา จึงใครขอความร่วมมือในการควบคุมสอดส่องดูแลการจัดแสดงละครเวทีให้มีความเป็นกลางทางการเมือง หลีกเลี่ยงการปลุกระดมยั่วยุหรือสร้างความแตกแยกในสังคมและสร้างความเข้าใจกับนักศึกษาทุกระดับ เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดความสามัคคีในสังคมและความสงบสุขภายในประเทศต่อไป
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มติ ก.ตช.เอกฉันท์ เลือก ผบ.ตร.ตาม “อภิสิทธิ์”เสนอ

Posted: 09 Aug 2010 04:37 AM PDT

ที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติ 8 ใน 11 เลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.คนที่ 7 หลังใช้เวลาพิจารณาสั้นแค่ 15 นาที ส่วนข่าวประโคม “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ขึ้นแทนแล้ว 

 
วันนี้ (9 ส.ค.53) เมื่อเวลา 13.20 น.ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตช.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีวาระพิเศษพิจารณาคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แทน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการในปลายเดือนกันยายนนี้ โดยการประชุมคณะกรรมการ ก.ตช.เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ขาดเพียงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ติดภารกิจ
 
ผลการประชุม ก.ตช.ได้มีมติ 8 ต่อ 0 เห็นชอบการพิจารณาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ ก.ตช.พิจารณาจากนายตำรวจยศ พล.ต.อ.เพียงรายชื่อเดียว จากการโหวตของ ก.ตช.ทั้งหมด 11 คน โดยนายอภิสิทธิ์ในฐานะประธาน ก.ตช. และเป็นผู้เสนอรายชื่อ และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผบ.ตร.ไม่ได้ร่วมโหวตลงคะแนนเสียง ส่วนอีก 1 เสียงที่หายไปคือ นายพีระพันธุ์
 
ภายหลังการประชุม พล.ต.ท.เอก อัศนานนท์ เลขานุการ ก.ตช. ได้เปิดเผยถึงผลการประชุม และกระบวนการหลังจากนี้ว่า นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อ ผบ.ตร. คนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังนั้น จึงยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยรายชื่อได้
 
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวได้มีการระบุถึงผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.คือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับหนึ่ง ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร มีผลงานในเรื่องการควบคุมสถานการณ์ในวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.50 ต่อมาได้รับคำสั่งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งลาพักราชการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ส.ค.52 
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ที่ประชุม ก.ตช.ได้ใช้เวลาในช่วงต้นพิจารณาระเบียบวาระอื่นๆ ไปตามลำดับ โดยได้จัดระเบียบวาระเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร เอาไว้เป็นวาระพิเศษเป็นเรื่องสุดท้าย โดยหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเมื่อเวลา 15.00 น. และใช้เวลาพิจารณาเพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น