โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวนางาซากิเผยประสบการณ์จากระเบิดปรมาณู

Posted: 12 Aug 2010 12:57 PM PDT

รายงานวงเสวนา "ประสบการณ์ด้านปรมาณูในนางาซากิ" ที่เชียงใหม่ โดยฮะคะริยะ มิชิโอะ สมาชิกชมรมสนับสนุนสันติภาพในนางาซากิ ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณูเมื่อ 65 ปีที่แล้ว “ผมอยากจะให้ท่านศึกษาสันติภาพโดยผ่านวิกฤตจากระเบิดปรมาณู”

“ก่อนวันที่จะมีการทิ้งระเบิดปรมาณูลงมา ผมได้นัดหมายกับเพื่อนว่าพรุ่งนี้เราไปตกปลาฮะเซะที่แม่น้ำอุระคะมิกันเถอะ’ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2488 ผมถูกพ่อแม่ตะคอกว่าทำการบ้านแล้วค่อยไป’  ในขณะที่ทำการบ้านอยู่อย่างไม่มีทางเลือกนั้นก็เกิดเสียงระเบิดดังขึ้น และมีแสงสว่างเจิดจ้าห่างออกไปประมาณ 3,800 เมตร จากนั้นมีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากที่แม่น้ำอุระคะมิ เพื่อนผมดังกล่าวสูญหายไป เป็นการนัดหมายกับนักเรียนชั้น ป.2 ที่แม้แต่ปัจจุบันก็ยังรู้สึกเศร้าอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของมนุษย์ยังมีวิกฤตที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่ก็มนุษย์มีปัญญาที่จะทำให้วิกฤตดังกล่าวลดน้อยลงได้ ผมอยากจะให้ท่านศึกษาสันติภาพโดยผ่านวิกฤตจากระเบิดปรมาณู”

(ข้อความจากป้ายประชาสัมพันธ์หน้างานเสวนา)

 

 

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ห้อง 4210 อาคาร 4 สาขาวิชาสังคมศึกษาและสิ่งแวดล้อม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดบรรยายในหัวข้อ "ประสบการณ์ด้านปรมาณูในนางาซากิ" โดยคุณฮะคะริยะ มิชิโอะ สมาชิกของชมรมสนับสนุนสันติภาพในนางาซากิ ดำเนินรายการโดย เชษฐภูมิ วรรณไพศาล อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า วันที่ 14 ก็เป็นวันครบรอบอีกวันหนึ่งที่พวกเราในฐานะที่เป็นครูสังคมศึกษาทุกคนจะต้องจดจำว่าเป็นวันยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเราก็คิดว่าเดือนสิงหาคมน่าจะเป็นเดือนหนึ่งที่เราจะมาคุยกันเรื่องสันติภาพ เพราะว่า หนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเดือนแห่งความรักนั่นก็คือวันแม่ ในอีกแง่หนึ่งคือ แม่เป็นผู้พิทักษ์สันติภาพให้แก่พวกเราทุกคน ก็เลยคิดว่าวันที่ 14 สิงหาคมที่จะถึงนี้ก็เป็นวันสำคัญเช่นเดียวกัน และพวกเราก็คิดว่าในวันนี้เราต้องการสันติที่เกิดขึ้นในสังคมโลก เหตุการณ์ในนางาซากิก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ใช้เป็นแบบเรียน ใช้ในการศึกษา ทุกคนก็จะจำได้ว่าที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเป็นมูลเหตุของการยุติสงครามโลก โดยกำหนดการรำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวันที่ 15 ประเด็นวันนี้คือเหตุการณ์ที่ผ่านมาเขาได้รับผลกระทบเป็นกรณีศึกษาเวลาพูดถึงเรื่องการเรียนการสอนเรื่องสันติภาพหรือสันติศึกษา ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2 การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และครั้ง 2 เราก็ล้วนแต่ต้องการให้เกิดสันติภาพขึ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นบทเรียนที่ได้จากความขัดแย้ง

ต่อมา นายมิชิโอะ เริ่มบรรยายประกอบภาพ มีรายละเอียดดังนี้ (หมายเหตุจากประชาไท: ภาพที่ใช้นำเสนอบางภาพมีลักษณะไม่เหมาะสม)

ผมชื่อฮะคะริยะ มิชิโอะ หรืออาจจะเรียกผมว่า มิชิ ก็ได้ ผมเกิดเมื่อ 73 ปีที่ผ่านมา อาจจะยังดูหนุ่มอยู่ วันนี้จะขออนุญาตมาพูดคุยในหัวข้อเรื่องสันติภาพ ซึ่งประเทศไทยตอนที่เกิดสงครามโลกก็อาจจะมีส่วนร่วมอยู่บ้างเล็กน้อย แต่อาจจะไม่โดดเด่นเท่าประเทศญี่ปุ่น ถ้าพูดถึงสงครามโลกทุกท่านสามารถจินตนาการไปได้ถึงคุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยายของเราที่ท่านยังเป็นเด็ก เพราะว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว หากเทียบกับการพูดถึงสงครามที่ประเทศเวียดนามกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งสิ้นสุดเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นวันนี้หัวข้อก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดสงครามโลก เราจะย้อนไปดูกัน

นี่คือรูปภาพปัจจุบันของเมืองนางาซากิ ซึ่งมีประชากรเยอะมาก ซึ่งมีประมาณ 20-30 ล้านคน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ ฉะนั้นในแต่ละเกาะก็จะมีผู้คนอาศัยอยู่เยอะมาก ๆ ถ้าเทียบกับประเทศไทยแล้วเป็นเกือบ 2 เท่าตัวเลย

เมื่อ 65 ปีก่อน เมืองแห่งนี้เป็นท้องทุ่งที่ถูกเผาไหม้จนไม่เหลืออะไรเลยจากระเบิดปรมาณู จุดนี้คือจุดศูนย์กลางที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงมาในตอนนั้น และ บรรยากาศโดยรอบ

นี่เป็นภาพที่ถ่ายโดยทหารอเมริกันก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิดปรมาณู 2 วัน โดยที่ทหารอเมริกันได้วางแผนและถ่ายรูปนี้ไว้

หลังจากที่ปรมาณูถูกทิ้งลง ทุกสิ่งทุกอย่างก็หายไปหมดเลย นางาซากิจริงๆ แล้วเป็นเมืองท่า หลังจากที่ระเบิดปรมาณูลงทุกสิ่งทุกอย่างก็สูญสิ้น

นี่คือสภาพของเมืองนางาซากิ เป็นจุดศูนย์กลางที่ระเบิดทิ้งลงมา จะเห็นได้ว่ามีคนถูกเผาไหม้ทั้งเป็น สังเกตได้ว่าในภาพจะมีญาติๆ กำลังตามหาอยู่โดยรอบ

เมื่อปี 1941 ในภาพที่มีเส้นวงล้อมรอบ นั่นคือประเทศที่ถูกประเทศญี่ปุ่นรุกราน ได้ทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้กลายเป็นประเทศของตัวเอง ญี่ปุ่นได้ยึดประเทศเกาหลี ไต้หวัน และจีน ในประเทศเวียดนามเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ประเทศพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นของฮอลแลนด์

สมัยนั้น ประเทศต่างๆ ในเอเชียตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก ยกเว้นประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยไม่เหมือนญี่ปุ่นตรงที่รักษาเอกราชและไม่ก่อสงคราม (หมายเหตุจากประชาไท: รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นำประเทศเข้าร่วมสงครามโลกกับญี่ปุ่นในฝ่ายอักษะ ขณะที่ปรีดี พนมยงค์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 8 ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างลับๆ และร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงคราม หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ในสมัยปู่ย่าถือว่าโชคดีมากที่ไม่ถูกทหารยุโรปรุกราน

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 150 ปีก่อน ประเทศที่มีอำนาจกว่ายึดประเทศที่ด้อยกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายึดได้แล้วก็จะยึดเอาทรัพยากรดีๆ กลับไป ญี่ปุ่นเมื่อเห็นข้อดีของการทำสงครามของประเทศมหาอำนาจก็เลยอยากรุกรานประเทศอื่นในเอเชียมากขึ้น ทำให้ขัดแย้งกับอเมริกาและประเทศยุโรปต่างๆ จึงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น

นี่คือรูปครอบครัวของผม ขณะนั้นผมอายุได้ 3 ขวบ อีก 5 ปีต่อมา พี่ชายคนโตหายไปเพราะไปทำสงคราม ผมมีน้องสาวเพิ่มขึ้นมา ในตอนนั้นญี่ปุ่นเองต้องการให้มีลูกเยอะมากๆ แต่เป็นเรื่องลำบากที่ต้องเลี้ยงลูกจำนวนมาก แต่ต้องการเพิ่มศักยภาพทางการทหาร จึงสนับสนุนให้มีลูกมาเพื่อทำสงคราม ต่างจากปัจจุบันที่สนับสนุนให้มีลูกครอบครัวละหนึ่งคน ตอนผมอายุ 7 ปี ผมอยู่ชั้น ป.1 พอผมขึ้น ป.2 สงครามโลกก็สิ้นสุดลง

ตัวอย่างระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงที่นางาซากิ เมื่อเทียบกับคนแล้วคนตัวเล็กมาก ทำลายล้าง เท่ากับระเบิด TNT 2,000 ตัน สิ่งที่น่ากลัวขณะที่เกิดระเบิดคือ แสง แรงลม และกัมมันตภาพรังสี แรงระเบิดมีฤทธิ์ทำลายล้างสูง ในระยะ 1.5 กิโลเมตรจากศูนย์กลางจะตายหมด

เป็นภาพตรงจุดศูนย์กลาง ทุกอย่างจะถูกเผาไหม้ทั้งหมด หลังจากที่ระเบิดลงคนก็จะมาคนหาย มาหาศพ คนที่เสียชีวิตทันที 70,000 คน นางาซากิมีคน 200,000 คน 1 ใน 3 ของประชากรตายในการระเบิด นี่ภาพผู้หญิงกับลูกเสียชีวิตห่างจากจุดเกิดเหตุกิโลเมตรกว่าๆ ลักษณะศพมอดไหม้เป็นตอตะโก

เด็กบางคนอาจรอดชีวิตแต่ก็ร้องไห้ระงม

มีผู้คนรอรักษาแต่ก็เหมือนกับรอความตายเพราะไม่รู้ว่าจะรอดไหม

พี่ชายกำลังแบกน้องชายไปรักษา ภาพนี้จะเห็นเยอะมากจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในตอนนั้น

เป็นภาพโรงเรียนประถม ผู้บาดเจ็บมีเยอะมากจนต้องใช้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว

ภาพที่เป็นห้องเรียนกลายเป็นห้องรักษาผู้ป่วย ในความเป็นจริงแล้วผู้บาดเจ็บจะทยอยเสียชีวิตเรื่อยๆ ตลอดจนใช้เป็นที่อาศัยของผู้คนด้วยเช่นกัน

ผู้คนที่รอรักษามีเส้นผมกระจัดกระจายเพราะกัมมันตภาพรังสี

ภาพผู้หญิงที่ถูกรังสีทำให้ลวดลายกิโมโนติดแผ่นหลัง ถ้าคนที่ไม่มีเสื้อผ้าจะไหม้เกรียมไปหมดเลย

ช่วงเดือนสิงหาคมอากาศจะร้อนที่สุด ศพจะเหม็นมาก ลานต่างๆ ในนางาซากิก็จะมีการเผาศพ ในกัมพูชา พอลพตฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนมีคนเสียชีวิตล้านคน ในญี่ปุ่นคนเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน ในประเทศจีนตัวเลขไม่ชัดเจนแต่ในสมัยที่ญี่ปุ่นมีปัญหากับจีน ทำให้มีคนเสียชีวิต 35 ล้านคน ปัญหาที่ทำให้คนตายเยอะอย่างนี้เกิดมาจากปัญหาทางศาสนา เชื้อชาติ ชนชั้น

ภาพพี่ชายไม่ใส่รองเท้ายืนตรงอย่างตื่นตระหนกเพราะกำลังรอต่อแถวเพื่อเผาน้องชายตัวเอง

บ่อยครั้งที่ต้องเผาศพในที่โล่งแจ้งเวลากลางคืน บางครั้งต้องเอาศพกองรวมกันแล้วเผาทีละหลายๆ ศพ สนามกีฬาในโรงเรียนก็กลายเป็นที่เผาศพชั่วคราว

ภาพเหยื่อของระเบิด เด็กที่ถูกกัมมันตภาพรังสีไม่เหลือเส้นผมเลย ภาพผู้ชายอยู่ในสภาพครึ่งเป็นครึ่งตาย เขามีอากาศเลือดตกใน ไม่ต่างจากศพ

ชายในภาพปาฏิหาริย์มากที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 1.5 กิโลเมตรแต่รอดมาได้ แต่ว่าแผ่นหลังของเขามีบาดแผลฉกรรจ์ ตลอดชีวิตของเขาไม่สามารถนอนหงายได้ ต้องนอนคว่ำตลอด

รูปแสดงจำนวนระเบิดนิวเคลียร์ เป็นข้อมูลปี 2009 ล่าสุดมีข้อมูลว่าประเทศพม่ามีอุปกรณ์บางส่วนที่สามารผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้นำเข้ามาจากเกาหลีเหนือ สรุปว่าทั่วโลกมีประมาณ 20,000 ลูก บางประเทศไม่ได้ถูกนำมาใส่ไว้ในนี้

ผมเป็นหนึ่งในคนที่เป็นเหยื่อของปรมาณู เลยมีการรณรงค์เรื่องสันติภาพ และให้คนทั่วโลกรู้ว่าระเบิดนิวเคลียร์น่ากลัวอย่างไร ซึ่งผมกับเพื่อนกำลังทำกันอยู่ ตอนนี้ประธานาธิบดีโอบามาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะพยายามลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์แล้ว

กลุ่มผมมีเพื่อน 10 คน ไปมาแล้ว 20 ประเทศทั่วโลก เพื่อบอกความร้ายแรงของระเบิดนิวเคลียร์และเรื่องสันติภาพ เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกร้องเรื่องสันติภาพไปทั่วโลก ผมเคยไปบรรยายที่เวียดนาม

จากนี้ไปอาวุธนิวเคลียร์จะร้ายแรงไปอีก 10 เท่าตัว ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

ตอนผมไปบรรยายที่อียิปต์ ที่นั่นมีกับระเบิด ผมตกใจมากเพราะคิดว่ามีกับระเบิดแต่ในเวียดนามและกัมพูชา แต่คนที่นั่นบอกว่าที่อียิปต์มีเยอะที่สุดในโลก ฝังไว้ในทะเลทราย เวลาฝังกับระเบิดในทะเลทราย บางครั้งลมแรงพัดจนไม่ทราบว่าฝังระเบิดอยู่ที่ไหน ทำให้ยากต่อการทำลายและอยู่ดีๆ ก็เกิดระเบิดขึ้นเอง

ที่เอกวาดอร์ผมได้รับการรับรองจากประธานาธิบดีและในรัฐธรรมนูญของเขาก็เขียนไว้ว่าห้ามทำระเบิดนิวเคลียร์ ในโลกมี ประเทศที่ห้ามครอบครองและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ ญี่ปุ่น เอกวาดอร์ อีกประเทศผมไม่แน่ใจ

ก่อนที่ระเบิดจะลงผมนัดกับเพื่อนว่าจะไปว่ายน้ำด้วยกัน ใกล้ๆ กับจุดที่ระเบิดจะลง ในวันนั้นตอนเช้า ผมกำลังจะออกไปตามนัด แต่แม่ของผมดุไม่ให้ผมไป บอกว่าต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน วันนั้นผมทำการบ้านทั้งน้ำตา แต่ตอน 11.02 น. ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นตรงแม่น้ำที่นัดกันไว้ ที่บ้านเศษกระจกกระจัดกระจาย แรงลมจากลูกระเบิดสูงมาก ถ้าเทียบกับการคว้างลูกเบสบอลจะเร็วเป็น 4 เท่าซึ่งแรงมากๆ

ภาพสุดท้ายนี้เป็นภาพนางาซากิในปัจจุบัน ผมรู้สึกดีใจที่ได้พูดถึงความน่ากลัวของระเบิดนิวเคลียร์ในวันนี้ นางาซากิเป็นเมืองสุดท้ายที่ถูกระเบิดและยังไม่มีประเทศไหนโดนระเบิดอีก ผมอยากขอความร่วมมือจากท่านฝากบอกคนอื่นๆ ว่าระเบิดนิวเคลียร์น่ากลัวอย่างไร บอกกับคนที่ไม่ได้มาฟังในวันนี้

ในช่วงท้ายของการบรรยาย รศ.ดร.สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ได้กล่าวปิดท้ายการบรรยาย โดยได้แนะนนำหนังสือที่มีชื่อว่า “นางาซากิ เสียงครวญแห่งสันติ The Bells of NAGASAKI” หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ “NAGASAKI NO KANE” เขียนโดย ดร.ทะคะชิ นะกะอิ แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย William Johnston และแปลเป็นภาษาไทยโดยฉัตรนคร องคสิงห์ ได้นำภาพบางส่วนจากหนังสือแสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แก่

“ลูกรักพ่อยังอยู่ ช่วยตามหาพ่อด้วย”

เป็นข้อความที่พบทั่วไปตามผนังต่างๆ ของเมืองตามโรงพยาบาล

นอกจากนี้แล้วยังมีภาพถ่ายฟิล์มเอ็กซเรย์ที่หลงเหลือเงาของเหยื่อที่ถูกระเบิดปรมาณูแต่ร่างกายของเขาไม่เหลือแล้ว รูปกองทัพทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย รูปวัดในเชียงใหม่ที่ทหารญี่ปุ่นมาพักอาศัยอยู่

ความรุนแรงจากสงครามโลกทำให้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เรียกร้องว่าอย่าก่อสงครามขึ้นอีกเลย

“เรื่องสงครามเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเรา คุณมิชิโอะอายุได้ 2 ขวบได้ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง เราเองก็ได้ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยเช่นกัน ในเดือนพฤษภาคม 53 ที่ผ่านมา ตอนเราอายุ 20 ขวบ (หมายถึงนักศึกษาที่มาฟังบรรยาย) ณ วันนี้ความพยายามไม่ให้เกิดสงครามก็อาจจะถูกทำให้เกิดสงครามในกรณีเขาพระวิหาร เป็นภารกิจของคนหนุ่มสาวที่ต้องคิดต้องช่วยกัน” สมโชติกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงตายในเรือนจำยะลา

Posted: 12 Aug 2010 11:25 AM PDT

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้รับรายงานจากนายอำเภอยะหา จังหวัดยะลาว่า ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ชื่อ นายมะกอเซ็ง เปาะแต อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 137 บ้านอูเบง หมู่ที่ 4 ตำบลปะแต อำเภอยะหา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำกลางยะลา กว่า 1 ปี ได้เสียชีวิตลง

“ขณะนี้ได้ให้ทางนายอำเภอยะหา ประสานกับทางเรือนจำกลางยะลา และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ที่เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไร” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา เปิดเผยต่อว่า ในเบื้องต้นจากการสอบถามนายแพทย์ กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลาว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้ามาหาหมอตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา มีอาการอาเจียน ผ่านไป 2 ชั่วโมง หัวใจก็ได้หยุดทำงาน จากการสอบถามเบื้องต้น ไม่ปรากฏบาดแผลหรือรอยฟกซ้ำต่างๆ ตามร่างกาย

นายกฤษฎา เปิดเผยอีกว่า ส่วนสาเหตุการตายที่แท้จริงอยู่ระหว่างการชันสูตรของทางโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ส่วนเรื่องการเยียวยาหรือดูแลครอบครัวเนื่องจากครอบครัวของนายมะกอเซ็งมีฐานะยากจน และต้องขังในคดีความมั่นคง ทางนายอำเภอยะหาและปลัดอำเภอยะหา ได้เข้าไปเยี่ยมและร่วมในพิธีฝั่งศพแล้ว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ดังนั้น หากทางครอบครัวมีความเดือดร้อน ทางด้านอาชีพ หรือความต้องการให้ทางราชการช่วยเหลือในด้านใดนั้น ก็สามารถแจ้งมาได้ ทางอำเภอยะหา และ ทางจังหวัด จะเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลต่อไป

สำหรับนายมะกอเซ็ง ถูกคุมขังในเรือนจำกลาง จ.ยะลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ได้เกิดอาการอาเจียนอย่างหนัก และ ได้เสียชีวิตลง ภายในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 11 สิงหาคม 2553

 

 

ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลี่ปมเยียวยา (ตอนที่2) สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง

Posted: 12 Aug 2010 11:20 AM PDT

 



รับเงินเยียวยา
– บรรดาลูกๆ ของข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าแถวรับทุนการศึกษาที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

 

ถึงหลักการการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะดีเพียงใด แต่บางครั้งก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ที่แทนจะมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้ กลับต้องปวดหัวกับปัญหาที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึงด้วย เพราะขึ้นชื่อด้วยเงินแล้ว ใครๆ ก็ต้องการ ปมปัญหานี้อาจนำพาไปถึงขั้นสร้างความแตกแยกกันเองได้

ปัญหาน่าปวดหัวใครคือทายาท

แม้ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของรัฐระบุชัดในบางส่วนว่า เงินเยียวยาประเภทไหนใครเป็นผู้ได้รับ เช่น ทุนการศึกษา แต่ในส่วนของเงินช่วยเหลือก้อนโตที่สุด มักมีปัญหาในการจัดการ โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิต เนื่องจากมีปัญหาในการตีความว่า เงินก้อนนี้ใครสมควรได้รับ ทายาทคือใคร

นายแพทย์สุภัทร ยกตัวอย่างว่า หญิงวัยกลางคนถูกยิงเสียชีวิต ขณะที่เธอเป็นคนหาเลี้ยงคนในบ้านที่ประกอบด้วย ป้าที่พิการกับหลานอีก 2 คน ถ้าเป็นเช่นนี้ เงินช่วยเหลือเยียวยาควรจ่ายให้ใคร

“หากจ่ายให้พ่อแม่และลูกๆ ของเธอ ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน ก็ย่อมขัดกับหลักการเยียวยาที่มุ่งบรรเทาความเดือนร้อนของคนที่อยู่ข้างหลังของเธอ คือ ป้ากับหลานอีก 2 คน”

อีกตัวอย่างหนึ่ง มาจากข้อมูลผู้ขอรับทุนจากมูลนิธิฯ คือ นางนูรวาตี ทุยเลาะ อายุ  32  ปี ซึ่งสามีเธอที่เป็นผู้ใหญ่บ้านถูกยิงเสียชีวิตที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา แต่เงินช่วยเหลือจากรัฐไม่ตกมาถึงมือเธอ เนื่องจากเธอเป็นภรรยานอกสมรส

หลังจากสามีตาย เธอจึงพาลูกอายุ 2 ขวบ กลับไปอยู่อาศัยอยู่กับแม่ที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เธอยังต้องช่วยเลี้ยงดูลูกอีก 3 คน ที่เกิดจากสามีคนแรกที่อาศัยอยู่กับแม่เธอด้วย ถามว่าเงินช่วยเหลือควรจะให้ใคร

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะชายมุสลิมใน 3 จังหวัดหลายคนมีภรรยามากกว่า 1 และมีลูกอีกเป็นขบวน

อีกกรณีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ คือ การเสียชีวิตของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ที่มีปัญหากันระหว่างภรรยากับแม่สามีในเรื่องเงินช่วยเหลือจากรัฐ 500,000 บาท

“เรื่องเมียกับแม่สามีแย่งเงินกันมีเยอะ จนทำให้ทางจังหวัดต้องเข้าไปแก้ปัญหา” นายภาณุ กล่าว

นายภาณุ ได้ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาที่จังหวัดนราธิวาสว่า นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสร่วมมือกับผู้นำศาสนาอิสลาม เข้าไปไกล่เกลี่ยจนทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ถือเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปฏิบัติ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีสิทธิ์รับเงิน ตามลำดับความสำคัญ

นั่นคือ ผู้ที่ผู้เสียชีวิตรับผิดชอบดูแลอยู่ หรือเป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้เสียชีวิต โดยให้ตกลงกันว่าใครจะได้รับเท่าไหร่ ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด

ส่วนคู่สมรสมุสลิมหากตกลงกันไม่ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้ตัดสิน

เข้าไม่ถึงการเยียวยา

หลังจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ บวกมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯประจำอำเภอแล้ว ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบที่ตกสำรวจค่อยๆ หมดไป เนื่องจากหลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายจะเข้าตรวจสอบเพื่อดำเนินการรับรอง 3 ฝ่ายทันที่

รวมทั้งยังให้ผู้ที่ต้องได้รับการเยียวยา ยื่นเอกสารขอรับการช่วยเหลือได้ที่ศูนย์เยียวยาฯ ประจำอำเภอ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอได้ทันทีด้วยเช่นกัน

นายแพทย์สุภัทร กล่าวว่า ปัญหาในปัจจุบันอยู่ที่การรับรองกับไม่รับรองเท่านั้น ไม่น่าจะมีผู้ตกสำรวจอีกแล้ว ดังนั้น ผู้ที่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ มีเพียงกลุ่มเดียว คือผู้ที่ไม่ได้รับการรับรองจากทั้ง 3 ฝ่ายหรือรับรองเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแต่ไม่ครบ 100% ตามหลักเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาของภาครัฐอยู่อีกหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ก่อเหตุหรือผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มนี้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐแน่นอน และมีจำนวนมากพอสมควร

นายแพทย์สุภัทร กล่าวว่า ในกลุ่มนี้ ทางมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้มีแผนที่จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการประกอบอาชีพในปี 2554 หากพบว่า เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน เช่นเดียวกับการช่วยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่มีฐานะยากจนรายอื่นๆ


พวกปฏิเสธการช่วยเหลือจากรัฐ

นอกจากนี้ยังมีผู้ปฏิเสธการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐอยู่ด้วย ซึ่งนายภาณุ ระบุว่า พวกที่ปฏิเสธเพราะเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง ทั้งๆ ที่มีหลายครั้งที่กลุ่มอาร์เคเค หรือ กองกำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบแต่งเครื่องแบบคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วไปก่อเหตุฆ่าตัดตอนพวกเดียวกันเองที่หันมาร่วมมือกับรัฐ

แต่นายแพทย์สุภัทร มองว่า ไม่เสมอไป ซึ่งนั่นเป็นสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบเองที่จะปฏิเสธการเยียวยาจากรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นฝ่ายที่เชื่อว่าอยู่ตรงข้ามหรือเป็นคู่ต่อสู้กับรัฐไทย บางส่วนรัฐยังเลือกที่จะให้การช่วยเหลือเยียวยาด้วย เช่น ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ได้แก่ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุสังหารทีมฟุตบอลสะบ้าย้อย เป็นต้น

การช่วยเหลือดังกล่าว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีผู้ได้รับการช่วยเหลือในกรณีนี้รวมกว่า 200 คน โดยการเยียวยามี 2 รูปแบบคือ 1.ให้การศึกษา ให้เครื่องอุปโภคบริโภค การทำบุญ 2.การส่งเสริมอาชีพ เช่น อาชีพเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ฝ่ายที่รัฐไม่อยากเยียวยา

นายฮัมดี แวสะมะแอ หนุ่มวัย 25 ปี ชาวบ้านคลองช้าง ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คือคนที่ยิง ร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 24 เสียชีวิตขณะปะทะกันในหมู่บ้านของตัวเอง ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้จนเสียชีวิตในตอนเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2552

นายฮัมดีเสียชีวิตก่อนถึงวันจัดงานเลี้ยงแต่งงานของตัวเองเพียง 10 วัน ในขณะที่ร.ท.สุรชัยในวัย 29 ปี ก็กำลังจะเข้าสู่ประตูวิวาห์ที่บ้านเกิดตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์เช่นกัน แต่ทั้งคู่ต้องมาเสียชีวิตในบ้านเกิดเหตุหลังเดียวกัน

แม้ครอบครัวของร.ท.สุรชัยยากจนข้นแค้นเพียงใด แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ตามสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับจากรัฐ รวมทั้งจากหน่วยงานต้นสังกัดอีกมากมาย

ที่ผ่านมา ร.ท.สุรชัยเป็นกำลังหลักของครอบครัวและยังต้องส่งเสียน้องๆ น้องอีก 3 คน ได้เรียนหนังสือด้วย ส่วนสาวเจ้าก็ได้แต่รอเก้อ

ส่วนครอบครัวของนายฮัมดีแม้จะมีฐานะดีกว่า แต่แน่นอนไม่รับการเยียวยาใดๆ จากรัฐเลย นอกจากเยียวยากันเองเท่านั้น

ในขณะที่ว่าทีภรรยาของฮัมดี ซึ่งเป็นชาวบ้านกาเดาะ ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีก็ได้ตั้งครรภ์แล้ว เนื่องจากได้อยู่กินกันมาเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากทำพิธีนิกะห์ตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว

วันนี้ลูกสาวของฮัมดีกำลังโตวันโตคืนแม่กับแม่สามีช่วยกันเลี้ยงดู

พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 กล่าวว่า สุดยอดของการเป็นทหารคือการได้รับเหรียญบางระจันกับได้รับพระราชทานเพลิงศพ อย่างที่ร.ท.สุรชัยผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับ

“แต่คงเป็นไปไม่ได้ ที่รัฐจะเข้าไปเยียวยาครอบครัวของฮัมดี เพราะชัดเจนว่าฮัมดีเป็นคนยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต อย่างมากที่สุดก็แค่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวเท่านั้น” คือคำยืนยันของพ.ท.หาญพล

เด็กกำพร้าและสตรีหม้ายชายแดนใต้
                                                           
สถิติเด็กกำพร้าและสตรีหม้ายที่ได้รับการเยียวยาจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547-30 เมษายน 2553
จังหวัด
เด็กกำพร้า
(ราย)
สตรีหม้าย
(ราย)
นราธิวาส
1437
640
ยะลา
953
595
ปัตตานี
1355
730
สงขลา
135
70
รวม
3880
2035
 
ที่มา : สำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง : เจอกลุ่มคนอ้างเป็นนักวิชาการจุฬาฯ ลงพื้นที่หยั่งเสียงชาวบ้านต้านท่าเรือปากบารา

Posted: 12 Aug 2010 11:07 AM PDT

นักข่าวพลเมือง รายงาน เจอกลุ่มคนอ้างเป็นนักวิชาการจุฬาฯ ลงพื้นที่หยั่งเสียงชาวบ้านต้านท่าเรือปากบารา คาดเป็นทีมประชาสัมพันธ์โครงการ

 

ชาวบ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูลรายหนึ่ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ได้มีกลุ่มคนที่อ้างว่า เป็นนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาขอพบโดยได้ติดต่อผ่านอดีตผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาคนหนึ่ง เพื่อขอพบกลุ่มผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา และขอให้เล่าข้อมูลจากชาวบ้าน
 
จากนั้นตนจึงได้ชวนเพื่อนบ้านอีกหนึ่งคนไปพบนักวิชาการกลุ่มนั้นที่รีสอร์ทริมหาดปากบารา โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวมาด้วยกัน 4 คน พร้อมรถตู้ปรับอากาศสีขาว ป้ายทะเบียน อธ 53กรุงเทพมหานคร โดยชวนเชิญรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน และสอบถามความคิดเห็นและการต่อต้านในพื้นที่

ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ตนได้ตอบไปว่า วันนี้ชาวบ้านต่อต้านอย่างเต็มพื้นที่ และได้ขยายวงกว้างออกไป เพราะความไม่จริงใจของรัฐ ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกเอือมระอาต่อการกระทำของภาครัฐ ดังนั้นไม่ว่าใครจะลงมาพูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะไม่รับฟังหรือให้ความร่วมมืออีกแล้ว นอกจากระดับรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเท่านั้น

จากนั้นกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้กล่าวกับชาวบ้านบ้านปากบาราว่า พวกตนมาด้วยวัตถุประสงค์สำรวจแนวคิดว่า เป็นไปในทิศทางไหน

การเดินทางมาของกลุ่มบุคคลดังกล่าว สร้างความสงสัยให้กับชาวบ้านมาก จึงได้ติดต่อประสานงานกับเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ซึ่งส่วนใหญ่เห็น อาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวคือ เจ้าหน้าที่ด้านมวลชนสัมพันธ์ ที่ได้รับงบประมาณ 15 ล้านบาทเพื่อดำเนินการเรื่องการศึกษา ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่อีกหลายวัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใครฆ่าฟาบีโอ โปเลนกิ นักข่าวชาวอิตาลี

Posted: 12 Aug 2010 11:00 AM PDT

ความตายของนายฟาบีโอ โปเลนกิ ช่างภาพอิสระจะนับเป็นกรณีหนึ่งหรือไม่ในบรรดาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ปัจจุบันของประเทศไทยที่ไม่มีข้ออธิบาย ฟาบีโอ โปเลนกิถูกยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ก่อนเวลา 11 นาฬิกาตรงเพียงครู่เดียว ทั้ง ๆ ที่เขาก็วิ่งกับนักข่าวคนอื่น ๆ และคนเสื้อแดง (ผู้ประท้วงต้านรัฐบาล) เพื่อหลบกระสุนจริง วันนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งให้ทหาร “เก็บกวาด” ย่านธุรกิจการค้ากรุงเทพฯ ที่ถูกคนเสื้อแดงใช้พื้นที่อยู่นานสองเดือน ทหารกระชับวงล้อมเข้ามาทีละน้อยด้วยการยิงกระสุนใส่ผู้ชุมนุมติดอาวุธหินและขวดระเบิดมือ ขณะที่ฟาบีโอกำลังวิ่ง ก็ถูกกระสุนเข้าลูกหนึ่ง แล้วล้มลง มีเพื่อน ๆ นักข่าวและคนเสื้อแดงหามและพาเขาไปโรงพยาบาล เขาเสียชีวิตจากการบาดเจ็บ

สองวันหลังจากการตายของชาวอิตาลีผู้นี้ สถาบันนิติเวชก็ทำการชันสูตรศพ วันรุ่งขึ้น ร่างของฟาบีโอก็ถูกเผาโดยมีพี่สาวอิซาแบล เพื่อนพ้องและเพื่อนนักข่าวมาร่วมงาน จากนั้นสามเดือนผ่านไป ตำรวจยังคงปฏิเสธที่จะเปิดเผยผลการชันสูตรศพ « การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น » พล.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เอฟบีไอแบบไทยก็ยังไม่สามารถให้คำตอบต่อคำถามโหดๆ อย่าง ประเภทของกระสุนที่พบในศพของฟาบีโอ วิถีกระสุน คำถามอื่น ๆ นั้นเกี่ยวกับตำแหน่งของนักแม่นปืนของกองกำลังที่ฆ่าผู้ชุมนุมไปหลายคนในวันเดียวกัน รวมถึงตำแหน่งของคนเสื้อดำผู้เป็นแขนติดอาวุธให้กับคนเสื้อแดง แต่นั้นก็อีก ไม่มีคำตอบใด ๆ หรือเป็นคำตอบเบลอ ๆ ไม่ชัด

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือ เอฟบีไอไทยนั้นผู้มีความรับผิดชอบต่อคดีกลับเงียบกริบ ทำไมกรมการนี้ผู้ที่ถูกมองจากคนเสื้อแดงและสื่อบางหน่วยว่ามีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจึงดึงดูดความสนใจจากสื่อต่างประเทศและองค์กรพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของนักข่าว บางที อาจเป็นเพราะความจริงที่ปรากฏอาจสร้างความเสื่อมเสียแก่รัฐบาลและทหารที่คุมประเทศอยู่ในมือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ-ร.21 รอ.) เป็นหัวหน้ากองทัพทหารราบตั้งแต่ปี 2550 ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ที่ขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นที่นิยมและเป็นประชานิยม (และทุจริต)  กล่าวถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนกองทัพของพลเอกอนุพงษ์ และเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการของทหารเมื่อวันที่ 10 เมษายน และระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมที่ผ่านมายังให้มีผู้เสียชีวิต 90 คนโดยมีนักข่าวฮิโรยูกิ มุระโมโต  นายฟาบีโอ โปเลนกิ และทหารอย่างน้อยจำนวน 5 นาย เขาจะได้รับช่วงต่อจากหัวหน้าโป้ปดกรมทหารราบของตนในวันที่ ๑ ตุลาคมที่จะถึงนี้ นับไปอีก 7 ปีที่ยอดทหารรักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถผู้นี้ จะได้คุมตำแหน่งอำนาจสูงสุดของกองกำลังทหารไทย เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ทหารราชอาณาจักรไทย และยังสร้างความอิจฉาริษยาร้ายท่ามกลางเหล่าข้าราชการ

แล้วใครฆ่านายฟาบีโอ โปเลนกิ เพื่อนนักข่าวและเพื่อน ๆ ของเขาได้คำตอบบางประการจากการสืบเสาะ ฟาบีโอถูกยิงด้วยกระสุนในย่านที่คนเสื้อดำใช้อาวุธโดยเฉพาะเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 16 ลูกระเบิดเอ็ม 79 ซึ่งระเบิดชนิดหลังได้ฆ่านาย ทหารไปหนึ่งนาย และทำให้นักข่าวชาวแคนาดา นายชองด์แลร์ วานแดร์กริฟท์ บาดเจ็บสาหัส วันที่ 19 พฤษภาคม คนเสื้อดำใช้พื้นที่สถานีรถไฟฟ้าราชดำริ ซึ่งห่างจากสถานที่ ๆ ฟาบีโอถูกฆ่า 425 เมตร  ส่วนเวลาประมาณ 11 โมงเช้า ในวันที่ 19 พฤษภาคม มีกำลังทหารบางกลุ่มกระจายอยู่เพื่อปฏิบัติการกวาดล้างได้ก็รุกเรื่อยมายังด้านใต้ของถนนราชดำริ (ด้านที่จรดกับถนนพระราม 4 -  ผู้แปล) และฝ่าสวนสาธารณะลุมพินี ซึ่งครอบคลุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของถนน

ในเวลาเดียวกัน นักแม่นปืนจำนวนหนึ่งของกองกำลังประจำอยู่บนอาคารย่านราชดำริยิงออกมาใส่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง และนักข่าวที่อยู่บนถนน "เป็นไปได้ว่าฟาบีโอถูกกระสุนที่ยิงมาจากทหารราบที่อยู่ที่บนถนนราชดำริ ผมมองไม่ออกว่าทำไมนักแม่นปืนจะจำเพาะเจาะจงยิงเขา" นักข่าวผู้หนึ่งประเมินเหตุการณ์  หน่วยทหารรบพิเศษประจำพื้นที่ที่มีกลุ่มทหารราบซึ่งหันย้อนศรไปทางเหนือของถนนราชดำริอยู่แล้ว อาจเป็นที่ทราบกันในวันใดวันหนึ่งเกี่ยวกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระสุนที่สังหารนายฟาบีโอ โปเลนกิ แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัจจัยสุดท้ายที่ให้คำตอบ เพราะคนเสื้อดำและทหารสามารถใช้อาวุธเดียวกัน  สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ จุดที่กระสุนถูกยิงมา ลักษณะที่เกิดของบาดแผลและวิถีกระสุน คือสิ่งที่ให้ความกระจ่างว่ากระสุนมาจากที่ใด ในเมื่อไม่มีรายละเอียดดังกล่าว ย่อมจะไม่อาจแน่ใจถึงที่มาที่ไปของผู้ที่ฆ่านักข่าวอิตาลี

หลังจากที่นายฟาบีโอถูกกระสุนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมนั้น ชายชาวเอเชียผู้หนึ่ง รีบรุดเข้าไปเอากล้องถ่ายรูป Canon 5D จากมือของเขา แล้วร่วมกับคนอื่น ๆ พากันนำเขาออกไปจากจุดที่มีการยิง สิ่งหนึ่งที่สืบทราบโดยนักข่าวหลายคน และจากการสัมภาษณ์หน่วยทหารรบพิเศษบ่งชี้ว่า บุคคลดังกล่าวไม่ใช่นักข่าว และไม่ใช่เพียงผู้ที่ต้องการฉวยโอกาสจากสถานการณ์เพื่อขโมยกล้องที่มีราคาหลายพันยูโร
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท : มารดา..ประชาชน

Posted: 12 Aug 2010 03:49 AM PDT

ริ้วรอยปูดโปนเหี่ยวย่น
ตรากตรำทำทนแต่หนไหน
หญิงคนนั้นคือมารดาของผู้ใด
ถ้าไม่ใช่มารดาประชาชน!

เป็นมารดาของคนที่ทุกข์ยาก
มือกร้านหยาบน้ำตาอาบแก้มไหล
เหล่าหมู่มารครองเมือง, เมืองจัญไร
พายุร้ายครืนโครมทมึนดำ

เป็นตัวแทนมารดาแห่งยุคสมัย
เป็นตัวแทนผู้ยากไร้หมดคุณค่า
ตามโรงงาน ไร่สวนและเทือกนา
มีบ้างไหมใครมาใครเข้าใจ
            
อยู่กับแดดอยู่กับลมอยู่กับฝน
อยู่กับความยากจนหม่นหมองไหม้
อยู่บนผืนแผ่นดินของผู้ใด
อยู่ใต้ร่มเงาใคร,ใครปกครอง?
             
จำไว้นะ..เจ้าคือลูกของประชาชน
ไม่มีหรอกสวรรค์เบื้องบนมายาภาพ
เลือดเดือนพฤษภายังไหลอาบ
กำแพงทาสรอวันเจ้าทำลาย
กำแพงทาสรอวันเจ้าทำลาย!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: ปัจฉิมลิขิต บทความ “พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร”

Posted: 12 Aug 2010 03:39 AM PDT


for B.E.
if the years take away every memory that I have
I would still know the way . . . .
James Schamus, “A Love Before Time” (2000)
 
 
 
วันที่ 12 สิงหาคม 2551 ผมได้เผยแพร่บทความเรื่อง "พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร" ที่ประชาไทและที่อื่นๆ<1> ขณะนั้น นัยยะความสำคัญของสิ่งที่บทความกล่าวถึง ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันอย่างเต็มที่ ในบทความดังกล่าว ผมได้เล่าถึงการปรากฏของเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถบนเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงวันเข้าพรรษา-อาสาฬหบูชา กลางเดือนกรกฎาคมปีนั้น โดยที่เทปบันทึกพระสุรเสียงนั้นเป็นเทปส่วนพระองค์ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน แต่สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำกลุ่มพันธมิตร กลับสามารถนำมาเปิดให้ผู้ร่วมชุมนุมฟังได้อย่างประหลาด ยิ่งกว่านั้น สนฺธิยังได้เสนอการตีความเทปบันทึกพระสุรเสียงในลักษณะที่สอดคล้องสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรในขณะนั้น ที่กำลังจัดชุมนุมยืดเยื้อเพื่อโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน
 
บทความของผมยังเสนอด้วยว่า ลำพังเทปพระสุรเสียงส่วนพระองค์บนเวทีพันธมิตรก็นับว่าสำคัญอย่างมากแล้ว บันทึกและคำบอกเล่าของผู้นำพันธมิตรในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับการต่อสู้ของพันธมิตรในปี 2549 ที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้น ได้แก่ บันทึกของคำนูญ สิทธิสมาน (ตุลาคม 2549) ที่กล่าวถึง “ผ้าพันคอสีฟ้า” ที่มีข้อความ “902...74...12 สิงหาคม 2549...แม่ของแผ่นดิน” ซึ่งคำนูญเล่าว่า มี “ท่านผู้ปรารถนาดี” มอบให้ผู้นำพันธมิตรในช่วงการชุมนุมไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร และเงินจำนวน 2.5 แสนบาท ที่ “สุภาพสตรีสูงศักดิ์” และ “ผู้ใหญ่ที่ท่าน[สุภาพสตรีสูงศักดิ์]เคารพ” มอบให้ในช่วงเดียวกัน ซึ่งได้ทำให้ผู้นำพันธมิตร “มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน”  และ “ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง” ซึ่งต่อมา สนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวในระหว่างการอภิปรายในสหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ว่า “มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี....ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา” และอีกครั้งบนเวทีพันธมิตรในเดือนมิถุนายน ปีต่อมาว่า “ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน
 
ดังที่ผมกล่าวข้างต้นแล้วว่า ขณะที่บทความของผมได้รับการเผยแพร่เมื่อ 2 ปีก่อน นัยยะความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันดี แม้แต่ในหมู่ผู้อ่านที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร หลายคนยังมองว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้นำพันธมิตร (ผมไม่คิดว่า เรื่องใหญ่และสำคัญเช่นนี้ พวกเขาจะกล้ากล่าวอ้าง) แต่ไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้ารัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีพันธมิตรเสียชีวิต 2 คน คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ”
 
สิ่งแรกที่น่าจะสร้างความรู้สึกตกใจคาดไม่ถึง ให้กับผู้ติดตามเหตุการณ์ในวันนั้น คือ ภายในชั่วโมงแรกๆของการปะทะ บนเวทีและทางสื่อพันธมิตร ได้ประกาศว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงพระราชทานเงิน 1 แสนบาท รักษาพันธมิตรที่บาดเจ็บ ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาล<2> แม้ว่าในตอนเย็นวันนั้น จะมีรายงานข่าวจากโรงพยายาลรามาธิบดีทางสื่อพันธมิตรเองว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เข้ารับการรักษาที่นั่น “อย่างเท่าเทียมกัน” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้หมายถึงว่า รักษาผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นพันธมิตรและเจ้าหน้าที่ เพราะดูเหมือนจะไม่มีเจ้าที่บาดเจ็บอยู่ที่นั่น<3> และใน 2 วันต่อมา ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีฆะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้แถลงว่า พระราชินีทรงติดตามข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาล ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า "การพระราชทานความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกคน โดยไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายใด เพราะประชาชนทุกคนนั้นคือพสกนิกรของพระองค์ทุกคน"<4> แต่ความจริง “ประชาชน” ในครั้งนั้นมีเฉพาะฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น เพราะไม่ใช่การปะทะระหว่างประชาชนฝ่ายพันธมิตรกับประชาชนฝ่ายอื่น ที่เหลือที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คือเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆด้วย ถึงกระนั้น ผมคิดว่าการพระราชทานเงินช่วยเหลือครั้งแรกสุดในชั่วโมงแรกๆของเหตุการณ์ที่มีแต่ฝ่ายพันธมิตรบาดเจ็บ ก็ยังเป็นการกระทำที่มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมาก<5>
 
ถ้าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง เกี่ยวกับเรื่องเงินพระราชทานรักษาผู้บาดเจ็บในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สิ่งที่เป็นเรื่อง “ช็อค” อย่างแท้จริงยังกำลังจะตามมา
 
วันที่ 9 ตุลาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพวงมาลามาร่วมเคารพศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” แต่ที่สำคัญที่สุดคือ วันที่ 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพให้ “น้องโบว์” ด้วยพระองค์เอง (โดยมีองคมนตรีหลายคน ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ร่วมตามเสด็จ) ในระหว่างงาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครอบครัวระดับปัญญาวุฒิเข้าเฝ้า มีพระราชปฏิสันถารด้วยโดยใกล้ชิด ทั้งยังทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์กับสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตรในที่นั้นด้วย นายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดา “น้องโบว์” ได้เปิดเผยว่าทรงมีรับสั่งกับครอบครัวเขาว่า
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวอังคณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้เรื่องราวโดยตลอด รวมทั้งกรณีพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือมาด้วย..... [อังคณา] เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์....ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะ [อังคณา] ทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ [สมเด็จพระนางเจ้าฯ] ด้วย....เป็นห่วงพันธมิตรทุกคน ไว้จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตร<6>
 
แทบไม่จำเป็นต้องย้ำว่า น.ส.อังคณา ผู้ตาย (และสนธิ ลิ้มทองกุลเอง) เป็นส่วนหนึ่ง (และเป็นผู้นำ) ของกลุ่มการเมืองที่กำลังชุมนุมยืดเยื้อโดยมีเป้าหมายที่ประกาศเปิดเผยว่า เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ทั้งยังได้กำลังยึดครองทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน (คือไม่นับวังหรือวัด) ต้องถือเป็นสถานที่ราชการที่มีความสำคัญสูงสุด เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว
 
การเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” และพระราชดำรัสที่บิดา “น้องโบว์” นำมาเปิดเผย เป็น “สันปันน้ำ” (watershed) สำคัญของวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้ ซึ่งได้ส่ง “คลื่นแห่งความตกใจ” (shock wave) ทางการเมือง อย่างกว้างขวางใหญ่โต
 
ในความเห็นของผม นี่คือปัจจัยผลักดัน (contributing factor) ที่สำคัญที่สุดที่แท้จริงให้เกิด “จิตสำนึก” หรือ “อัตลักษณ์” ของ “ความเป็นเสื้อแดง” การชุมนุมมวลชนนับหมื่นที่พร้อมใจกันใส่เสื้อแดงเป็นครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2551 (ที่เมืองทองธานี) ในท่ามกลางกระแสคลื่น shock wave เช่นนี้เอง แม้การชุมนุมครั้งแรกจะมีก่อนการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” แต่ข่าวเรื่องเงินพระราชทานช่วยพันธมิตรที่บาดเจ็บในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม และพวงมาลาพระราชทานหน้าศพ “น้องโบว์” เป็นที่ทราบกันดีแล้ว และเมื่อถึงการชุมนุมมวลชน “เสื้อแดง” ครั้งที่สอง ที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 (ที่สนามกีฬาราชมังคลา) “จิตสำนึก” เช่นนี้ก็ได้รับการทำให้เข้มข้น (solidified) อย่างสูง จากเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งถึงตอนนั้นได้รับการ “ขนานนาม” กันในหมู่ “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่งเกิดใหม่ว่าเป็น “วันตาสว่าง” (แห่งชาติ)
 
ผมตระหนักดีว่า ไอเดียของการใส่ “เสื้อแดง” เพื่อรณรงค์ทางการเมืองในหมู่ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 โดยเฉพาะในกลุ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์ (“บ.ก. ลายจุด”) แต่การใส่ “เสื้อแดง” ในช่วงนั้น เป็นเพียงการกระทำในลักษณะ “ชั่วคราว” สั้นๆ ในคนกลุ่มเล็กๆ และก็ยังมีการ “เปลี่ยนสีเสื้อ” ไปตามกรณี (เช่น สีดำ ในระหว่างรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.) อันที่จริง ถ้าจะกล่าวว่า มี “สี” อะไรที่เป็นสีเสื้อซึ่งประชาชนที่คัดด้านรัฐประหารในปี 2550 ใส่กันมากที่สุด สีนั้นคือ “สีเหลือง” (แบบเดียวกับพันธมิตร)! ประเด็นที่ผมพยายามเสนอในที่นี้คือ เราต้องแยกพิจารณาระหว่าง “กำเนิด” (ในทาง “เทคนิค”) ของไอเดียนี้ กับสิ่งที่ต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมด้วยหลายหมื่นหรือกระทั่งนับแสนคนทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกัน “นิยาม” (identify) ตัวเอง (self-indentification) ว่าเป็นพวกที่ไมใช่สีเหลือง (ซึ่งในหมู่พวกเขาจำนวนมากเคยนิยามตัวเอง) ปรากฏการณ์ทาง “การเมืองวัฒนธรรม” ขนาดมหึมาเช่นนี้ จะต้องมองบริบทที่มากกว่าการ “คิดค้น” ทางเทคนิคเรื่องการใส่สีเสื้อ (ที่มีมาก่อนเป็นปี) ดังกล่าว
 
ไม่เพียงแต่เรื่องการแสดงออกของ “อัตลักษณ์” ทางสีเสื้อที่ไม่ใช่สีเหลืองนี้ การแสดงออกในด้านอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างสำคัญอย่างเห็นได้ชัดหลัง 13 ตุลาคม 2551 ใครที่ติดตามการแสดงความเห็นทางเว็บบอร์ดการเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เรียกได้ว่า “พวกเชียร์ทักษิณ” ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ความคิดหรือการแสดงออกที่ภายหลังถูกศัตรูทางการเมืองของพวกเขากล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” หรือ “ล้มเจ้า” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด อารมณ์ความรู้สึกทั้งในแง่ “ช็อค”, ผิดหวังรุนแรง, “น้อยเนื้อต่ำใจ”, ขณะเดียวกันก็มีด้านที่ “ฮึดสู้” อย่างท้าทาย (defiance) ผสมผสานกันไปในการแสดงออกของกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่ง “เกิดใหม่” นี้ บางส่วนถึงกับ “กระฉอก” (spilling over) เข้าไปในแวดวงสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของพรรคพลังประชาชน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กล่าวต่อสภาฯ เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามเรื่องการยึดครองทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตร “ผมต้องพูดเปิดอกกับท่านทั้งหลายว่า ทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ทราบดีว่า ม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น ถ้าเป็นม็อบธรรมดาจบไปแล้วครับ จบไปนานแล้ว<7> หรือเมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย คนหนึ่งอ้างว่า สส.กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” (กลุ่มที่ถอนตัวจากพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย ไปสนับสนุนประชาธิปัตย์ ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้) 2 คน บอกกับเขาว่า "รู้ไหม ขณะนี้กำลังสู้อยู่กับใคร สู้อยู่กับสถาบันไม่มีทางชนะหรอก"<8>
 
แต่ที่สะท้อน อารมณ์ความรู้สึกของ “คนเสื้อแดง” หลัง 13 ตุลาคม 2551 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจนเป็นที่กล่าวขวัญกันคือ คำปราศรัยสด (“ไฮด์ปาร์ค”) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่พูดด้วยอารมณ์สะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง “เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า ... ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า ฟ้าอยู่ไกล .... คนเสื้อแดง จะบอกดินบอกฟ้าว่า คนอย่างข้าฯก็มีหัวใจ ... คนเสื้อแดง จะถามดินถามฟ้าว่า ถ้าไม่มีที่ยืนให้สมคุณค่า..จะให้ข้าฯหาที่ยืนเองหรืออย่างไร...<9>
 

 

 
 
เชิงอรรถ
 
 
<2> ดุรายงานข่าวทางเว็บไซต์ผู้จัดการ เมื่อเวลา 9.12 น. http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9510000118787
 
<3> ดุรายงานข่าวทางเว็บไซต์ผู้จัดการ เมื่อเวลา 16.21 น. http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9510000119118 น่าสังเกตว่า ตามรายงานข่าว ผู้บาดเจ็บล้วนแต่เป็นพันธมิตร ไม่มีตำรวจ และผู้อำนวยการโรงพยาบาล “กล่าวอย่างหนักแน่นว่า รพ.ดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่เลือกศาสนา หรือจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะพวกเราคือหมอ จึงต้องมีจริยธรรมและให้สิทธิ์รักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน” นั่นคือไม่ได้หมายถึง “เท่าเทียมกัน” ทั้งฝ่ายพันธมิตรและเจ้าหน้าที่ (ซึ่งไม่มีรายงานว่ารักษาที่นั่นอยู่แล้ว) ทำให้เข้าใจว่า เงินพระราชทานดังกล่าวยังคงสำหรับผู้บาดเจ็บพันธมิตรเท่านั้น
 
<4> มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2551 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1223559758&grpid=00&catid=42
 
<5> มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2551 (เว็บไซต์เดียวกับเชิงอรรถที่ 4) ผมเห็นว่า สามารถมองได้ว่า การพระราชทานเงินครั้งแรกสุด เป็นสิ่งที่ฝ่ายราชสำนักตระหนักในเวลาต่อมาว่า เป็นความผิดพลาด ในวันต่อๆมา จึงมีความพยายามที่จะแสดงออกในลักษณะ “ช่วยเหลือทุกฝ่าย” มากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงในเหตุการณ์ปะทะในระยะ 2 ปีต่อมา (ครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2553) แต่ความพิเศษเฉพาะของ “ความช่วยเหลือ” ต่อพันธมิตร เป็นสิ่งที่ชัดเจนเกินกว่าจะปฏิเสธได้ กรณี น.ส.อังคณา “น้องโบว์” ของพันธมิตร ทีกำลังจะกล่าวถึง มีผู้นำมาเปรีบบเทียบกับกรณี “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด ทีเป็นพยาบาลในการชุมนุมของ “เสื้อแดง” ที่เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2553

<6> รวบรวมตรวจสอบจากรายงานข่าวหนังสือพิมพ์วันที่ 14 ตุลาคม 2551 หลายฉบับคือ มติชน, ผู้จัดการ, โพสต์ทูเดย์, แนวหน้า, กรุงเทพธุรกิจ และ The Nation.
 
<7> รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 29 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ), วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551, หน้า 127. ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_meetings_count.php?doc_id=979
 
<8> มติชนออนไลน์ 13 ธันวาคม 2551 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1229087232&grpid=00&catid=01
 
<9>ดูคลิป “ไฮด์ปาร์ค” ที่มีชื่อเสียงส่วนนี้ ได้ที่ YouTube หลายหน้าเว็บ เช่น http://www.youtube.com/watch?v=LDLIqdc4yro
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารหน่วยรบพิเศษแยกตัวออกจากกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ

Posted: 12 Aug 2010 03:34 AM PDT

ทหารหน่วยรบพิเศษ กองร้อยที่ 3 กองพลน้อย 999 ของกะเหรี่ยงดีเคบีเอ แยกตัวมาเข้าร่วมกับทหารดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 ที่เพิ่งแยกตัวจากดีเคบีเอเมื่อต้นเดือนนี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแผนเปลี่ยนสถานะกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า โดยทหารที่แยกตัวมาระบุว่ามีทหารดีเคบีเอจำนวนมากกำลังพิจาณาว่าจะแยกตัวหรือไม่

สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานเมื่อ 11 ส.ค. ว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ทหารกว่า 20 นาย สังกัดกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) หน่วยรบพิเศษกองร้อยที่ 3 กองพลน้อย 999 นำโดยซอว์ พโล พร้อมสมาชิกครอบครัวอีก 14 ราย แปรพักตร์มาเข้าร่วมกับ กองกำลังของ พ.อ.ซอว์ ลา บเว ซึ่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่งนำกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 แยกออกจากดีเคบีเอ

เหตุผลในการนำกำลังมาเข้าร่วมกับเคเอ็นแอลเอ ของซอว์ โพ มาจากการที่ผู้บัญชาการกะเหรี่ยงดีเคบีเอ ซอว์ ชิต ตู่ (Saw Chit Thu) ตกลงนำกองกำลังไปเข้าร่วมกับ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของรัฐบาลทหารพม่า

ซอว์ พโล กล่าวว่า "ผมไม่เคยสนใจในการเปลี่ยนสถานภาพเป็น BGF ก่อนหน้านี้ ผมเคยลงนามเป็น BGF เพราะมีการบอกว่าพระอุซุซะนะ (พระสงฆ์ที่ได้รับความนับถือในดีเคบีเอ) แนะนำมาแบบนี้ แต่ต่อมาผมทราบว่าพระไม่เคยแนะนำอะไรแบบนี้ ผมจึงเดินตามเส้นทางของผมเอง ผมไม่ต้องการรับใช้ในหน่วย BGF"

ซอว์ พโล ยังกล่าวด้วยว่าครอบครัว และประชาชนไม่ต้องการเห็นทหารเปลี่ยนไปเป็น BGF จึงได้มาร่วมกับ พ.อ.ซอว์ ละ บเว ดีเคบีเออ้างว่าทำเพื่อประชาชนกะเหรี่ยงแต่ในความเป็นจริงเป็นหุ่นเชิดของทหารพม่า ผมไม่ต้องการรับคำสั่งให้ปลดธงชาติกะเหรี่ยงและชักธงชาติพม่า ดังนั้นเราจำเป็นต้องชักธงชาติกะเหรี่ยงอีกครั้ง

แผนการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของรัฐบาลทหารพม่าเพื่อปรับเปลี่ยนกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ทำข้อตกลงหยุดยิงให้เข้ามาอยู่ในกองกำลังที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารพม่าควบคุมในระดับผู้บังคับการกองพลน้อย ซึ่งรูปแบบการบังคับบัญชานี้แตกต่างจากข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการที่กองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอทำไว้กับรัฐบาลทหารพม่า หลังจากแยกตัวออกมาจาก เคเอ็นยูในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งสัญญาเดิมนั้นกะเหรี่ยงดีเคบีเอมีอำนาจปกครองตนเองเหนือรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกำหนดหากดีเคบีเออยู่ภายใต้สถานะของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน

ทั้งนี้การแยกตัวของดีเคบีเอในครั้งนั้น ได้รับการสนับสนุนจากพระอุซุซะนะ ซึ่งเป็นความพยายามแยกชาวกะเหรี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยเส้นแบ่งทางศาสนา โดยคู่อริอย่าง เคเอ็นยูและปีกทางทหารอย่างกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ถูกกล่าวหาว่าถูกครอบงำโดยชาวกะเหรี่ยงที่เป็นคริสเตียน ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

โดยกลุ่มของซอว์ พโล ได้นำอาวุธและเครื่องกระสุนมาด้วย และบอกว่ามีทหารดีเคบีเอจำนวนมากกำลังพิจารณาว่าจะมาเข้าร่วมกับ พ.อ.ซอว์ ลา บเว ในอนาคตอันใกล้หรือไม่

เขากล่าวด้วยว่า กองกำลังดีเคบีเอบางส่วน นำโดยผู้บัญชาการทางทหารของดีเคบีเอ นายพลจ่อถั่น (Kyaw Than) ซึ่งเริ่มเปลี่ยนสถานภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน จำนวน 3 หน่วย ในเดือนนี้นั้น ยังไม่สามารถส่งยอดกำลังพลให้กับทหารพม่าได้

"พวกเขาลงนามว่าจะเปลี่ยนสถานภาพแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งรายชื่อทหารได้ เนื่องจากมีทหารหนีออกจากค่ายทุกวัน" เขากล่าว

ซอว์ พโล กล่าววา บ้านและทรัพย์สินของเขาที่ หมู่บ้านทีวาปลอ ใกล้เมืองเมียวดี ถูกหน่วยรบพิเศษของดีเคบีเอยึดไปแล้

"ผมเคยเป็นทหารดีเคบีเอมาก่อน และเคยคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในนั้น แต่พวกเขาเห็นผมเหมือนศัตรู พวกเขายึดบ้านและทรัพย์สินของผม รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ 3 คัน และรถแทรกเตอร์ พวกเขายังยิงและฆ่าหมูที่กำลังท้องในบ้านผมด้วย หมูมันไม่เกี่ยวอะไรด้วย" เขากล่าว

ซอว์ พโล กล่าวด้วยวา เขาทราบมาว่า ผู้บัญชาการกองพลน้อย 999 ซอว์ ชิด ตู่ หลังจากลงนามในสัญญาเปลี่ยนสถานะกองกำลังพิทักษ์ชายแดนแล้ว ผลของการลงนามจะเป็นการถอดยศของเขาโดยอัตโนมัติ และจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการด้านการค้า ทำหน้าที่ในการหางบประมาณให้กับกองกำลัง อย่างไรก็ตาม "ดีวีบี" ไม่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้

ส่วนสถานการณ์ล่าสุดอาทิตย์นี้ มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ในเมียวดีได้ทำพิธีเปลี่ยนสถานะกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ให้กับกองกำลังดีเคบีเอ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานยืนยันแน่ชัดว่าพิธีการนี้ถูกจัดขึ้นหรือไม่

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
DKBA special forces defect to renegade brigade, By NAW NOREEN, DVB, 11 August 2010

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฮอว์กกิงเตือน มนุษย์ควรบุกเบิกอวกาศเพื่ออยู่รอด

Posted: 12 Aug 2010 03:23 AM PDT

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สตีเฟน ฮอว์กกิง นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ผู้เขียนเรื่อง "จักรวาลในเปลือกนัท" ให้สัมภาษณ์กับรายการ Big Think ว่า มนุษยชาติอาจพบกับหายนะในอีกร้อยปีข้างหน้า หากพวกเขาไม่ยอมค้นหาดาวดวงใหม่เพื่ออยู่อาศัย

โดยสตีเฟน ฮอว์กกิง บอกว่าพวกเรากำลังเข้าสู่ยุคอันตรายของประวัติศาสตร์ ในอดีตที่ผ่านมาหลายครั้งมนุษย์เอาตัวรอดจากวิกฤติความเสี่ยงสูงมาหลายครั้ง เช่นวิกฤติจรวดมิสไซล์ของคิวบาในปี 1963 และในอนาคตความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะมีความถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ เขาเชื่ออีกว่าหากมนุษย์จะรอดพ้นจากวิกฤติในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้าได้ หากพวกเขากระจายตัวกันไปอาศัยในอวกาศ

ฮอว์กกิง บอกอีกว่า หากมนุษย์เราเป็นสอ่งมีชีวิตที่ฉลาดกลุ่มเดียวในกาแล็กซี่ พวกเราจะสามารถอยู่รอดและดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ในตอนนี้พวกเรากำลังสู่ยุคทางประวัติศาสตร์ที่มีความอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ อัตราของประชากรและทรัพยากรที่มีจำกัดเริ่มสวนทางกัน รวมถึงการมีความสามารถทางเทคโนโลยีที่จะสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้ แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีรหัสพันธุกรรมที่แฝงด้วยความเห็นแก่ตัวและสัญชาตญาณความก้าวร้าว

หนทางที่เราะจอยู่รอดจึงไม่ใช่การมองเข้าไปภายในดาวเคราะห์โลก แต่กระจายออกไปในอวกาศ ฮอว์กกิงกล่าว และเป้นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงสนับสนุนให้มีการเดินทางไปสู่อวกาศของมนุษย์

 

ที่มา : BigThink
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรื่องเล่าและความหวังของ'ปรวยฯ': เมื่อการเมืองเป็นของประชาชน คุณจะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น

Posted: 12 Aug 2010 03:15 AM PDT

 
 
ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา "ปรวย salty head" ผู้เล่นเว็บบอร์ดการเมือง ซึ่งมีจุดยืนต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน ได้โพสต์บันทึกของเขาในโลกไซเบอร์ เล่าเรื่องที่เขาถูกบุกจับจากการแสดงความเห็นในเว็บบอร์ด
 
แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวลือว่าผู้เล่นเว็บบอร์ดจำนวนหนึ่งถูกเข้าถึงตัว แต่ก็ไม่บ่อยนักที่เจ้าตัวจะมาโพสต์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง กรณีของ "ปรวยฯ" เขาบอกกับ "ประชาไท" ว่า เขาพยายามถ่ายทอดออกมาอย่างละเอียดเท่าที่เขาจะเล่าได้ บันทึก "เขาจับผมยังไง" และ "เขาสอบสวนผมยังไง" ของเขาแพร่สะพัดไปทั่วเว็บบอร์ดประชาไท (ก่อนปิด) เว็บบอร์ดคนเหมือนกัน รวมถึงเว็บบอร์ดการเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ยังถูกแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย
 
ในบันทึก "ปรวยฯ" เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากดีเอสไอเข้าถึงตัวเขา ขณะกำลังออกนอกบ้าน พร้อมด้วยหมายค้นในปลายเดือนพฤษภาคม โดยนำโน้ตบุ๊ค หนังสือและซีดีบนโต๊ะทำงานของเขาไปตรวจสอบ พร้อมสอบสวนเขาที่ดีเอสไอ โดยไม่มีทนายเข้าร่วมตามกระบวนการปกติ
 
"ปรวยฯ" ถูกสอบถามถึงแนวคิดทางการเมืองและให้เซ็นยอมรับเอกสารสองชิ้นว่าเขาเป็นผู้โพสต์หรือไม่ นั่นคือ ภาพขณะคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมข้อความ ซึ่งเขาได้เซ็นรับว่าเป็นของตัวเองจริง และข้อความที่ระบุว่าโพสต์เมื่อปี 2551 ซึ่งเขาระบุว่าจำไม่ได้ว่าเป็นผู้โพสต์หรือไม่
 
ตลอดการสอบถาม "ปรวยฯ" เล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยเตือนเขาว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก่อนจะให้เขากลับบ้านและให้รอรับหมายเรียก อย่างไรก็ตาม จนถึงวันที่สัมภาษณ์ (3 ส.ค.) "ปรวยฯ" ระบุว่ายังไม่ได้รับหมายเรียก ขณะที่โน้ตบุ๊คและหนังสือนั้นทยอยได้กลับมาแล้ว
 
"ปรวยฯ" เล่าว่า ตอนที่ตำรวจถือหมายค้นมา เท่าที่เขาจำได้ -เพราะถูกปฎิเสธที่จะถ่ายสำเนาเอกสาร- ในหมายค้นซึ่งออกในวันอาทิตย์ (ตำรวจไปพบเขาในวันจันทร์) ไม่ได้ระบุถึง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และบอกเพียงว่าเป็นหมายค้นเพื่อหาพยานหลักฐาน เมื่อถามถึงรายละเอียดของข้อกล่าวหา "ปรวยฯ" บอกว่าเขาเองก็ยังไม่ทราบเป็นทางการ เพียงแต่ได้รับการบอกปากเปล่า ในจังหวะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเคาะกระจกรถว่า เขาไปโพสต์รูปบางรูปซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคง และเมื่อแม่ของเขาสอบถามตำรวจเมื่อพวกเขามากันที่บ้าน ก็ได้คำตอบว่าเป็นคดีหมิ่นเบื้องสูง
 
"ปรวยฯ" บอกว่า ตำรวจมองว่าเขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการโพสต์ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแล้วไปเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
 
"ปรวยฯ" เล่าว่า สำหรับเขา เล่นอยู่ที่เว็บบอร์ดประชาไท (ปัจจุบันปิดให้บริการแล้ว) และบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบอร์ด "คนเหมือนกัน" โดยโพสต์ความเห็นทางการเมือง ในเรื่องที่คิดว่าพอทราบ บางครั้งเอาข้อมูลมาจากหนังสือพิมพ์ นำมาประมวล และส่วนตัวอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองมาพอสมควร
 
"ปรวยฯ" เล่าว่า จากคำถามที่เจ้าหน้าที่ถามเขา เหมือนจะคิดว่าเขาอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการล้มเจ้า แต่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เช่น ถามว่า ชื่อล็อกอินที่เขาใช้นั้นใช้กันกี่คน เขามีหน้าที่อะไรในเว็บบอร์ด ลบกระทู้ของคนอื่นได้หรือไม่ หรือรู้จักใครในบอร์ดไหม ซึ่ง "ปรวยฯ" บอกว่าก่อนหน้านี้เขาไม่เคยรู้จักใครเลย แต่หลังจากตำรวจจับกลายเป็นว่ามีคนติดต่อมาว่ายินดีช่วยเหลือ
 
เขายืนยันว่า เวลาเขาไปชุมนุมตั้งแต่หลังรัฐประหาร สมัยที่สุชาติ นาคบางไทร ปราศรัยบนเก้าอี้พลาสติก เขาก็ไปคนเดียวตลอด แม้แต่ล่าสุดที่ นปช. มีการชุมนุม เขาก็ไปถ่ายรูป นั่งฟังปราศรัยคนเดียว งานสังสรรค์ที่คนในเว็บบอร์ดประชาไทจัดก็ไม่เคยไป
 
เมื่อถามว่า คิดว่าโดนจับตามานานแค่ไหน เขาตอบว่า ถ้าดูจากเอกสารที่เอามาให้ดูตั้งแต่ 2551 ก็น่าจะ 3 ปีขึ้นไป เหมือนตำรวจรู้มานานแล้วว่า "ปรวยฯ" เป็นใคร ทั้งยังทราบด้วยว่า รหัสผ่านของเขามีกี่หลัก
 
หลังเกิดเรื่อง "ปรวยฯ" เล่าว่า เขาไม่กล้าเล่นเว็บบอร์ด เรื่องเกี่ยวกับการเมืองก็ไม่ได้เข้าไปดู เพราะเชื่อว่า ไม่ว่าเข้าเว็บอะไร จะถูกเช็คได้วันต่อวัน เพราะในวันที่ไปดีเอสไอ เขาเห็นเอกสารที่มีหัวจดหมายของบริษัททรูในแฟ้มที่ตำรวจเปิดให้ดูด้วย ซึ่งนั่นแปลว่าตำรวจติดต่อทรูได้ และไม่ใช่ยากที่ทรูจะรู้ว่าวันหนึ่งๆ เขาเข้าเว็บอะไรบ้าง ทำให้หลังจากโดน ก็ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตเลย ไม่กล้าเข้าเว็บอะไรในบ้าน ถ้าอยากจะอ่านข่าวประชาไทก็จะไปที่ร้านกาแฟ
 
"ปรวยฯ" บอกว่า แต่หลังจากนั้นแม้รัฐบาลบอกว่าจะปรองดอง แต่เมื่อเห็นการปฎิบัติต่อคนที่เห็นต่างแล้วทำให้ทนไม่ได้ แม้ตอนแรกเขาตัดสินใจจะอยู่เงียบๆ แต่ภาพที่จับสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ในวันที่ไปผูกผ้าที่ราชประสงค์ มันกระแทกใจ จนเกิดคำถามว่า นี่มันยุคบ้านเมืองเป็นอะไร และรู้สึกหมดความอดทน
 
กับเรื่องผลกระทบต่อหน้าที่การงาน "ปรวยฯ" บอกว่า ยังไม่มีผลกระทบ แต่หากยังไม่เปิดเผยตัวตนออกไป พร้อมยกตัวอย่างกรณีมาร์ค วี11 ที่เพียงแสดงความเห็นลงในเฟซบุ๊ค แต่คนรู้จัก ก็มีผลต่อชีวิตของเขา จะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่ทราบ แต่ก็ได้เห็นแล้วว่า คนๆ หนึ่ง เมื่อแสดงความเห็นทางการเมือง ใครรับรู้ก็อาจจะถูกบีบได้ รวมถึงตัวเขาเอง ถ้าเขาเปิดเผยตัวเองก็จะกระทบต่อการงาน 100%
 
อย่างไรก็ตาม "ปรวยฯ" มองว่า การที่ตัวเองไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ถือเป็นหลักใหญ่ใจความของความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมา จะเห็นความพยายามปิดปากฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ให้อีกฝ่ายพูดได้เยอะกว่า ทำให้เห็นว่าไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ที่มีปัญหาที่สุดคือ เวลาแสดงความเห็นทางการเมืองต้องพูดถึงคนที่เกี่ยวข้องทุกคน แต่ก็มีกฎหมายที่ปิดปากคือ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชน
 
เขาบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าการที่ประชาชนคนธรรมดาจะโพสต์ความเห็นในเว็บบอร์ด เฟซบุ๊ค กลับเป็นที่จับจ้องของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งก็มีอำนาจมากมายอยู่แล้ว โดยรวมแล้ว เขาจึงมองว่า รัฐพยายามปิดปากคนที่เห็นต่างที่จะเอาความจริงลึกๆ มาพูด ตั้งแต่ปิดข่าวฟรีทีวี เว็บไซต์ทีวีของอีกฝ่าย จนหน่วยเล็กที่สุดอย่างกรณีล่าสุดที่ลามไปถึงเอสเอ็มเอส (กรณีจับชายเสื้อแดงที่สมุทรปราการ โดยอ้างว่าเป็นผู้ส่งเอมเอ็มเอมหมิ่นพระบรมเดชานุาภาพให้นายกฯ - ประชาไท) ต่อไปอาจเดินมาปิดปากคนที่บ้านก็ได้
 
เมื่อถามถึงคำแนะนำต่อผู้ใช้เว็บบอร์ดคนอื่นๆ เขาบอกว่า ก็ใช้ความรู้พื้นฐานนั่นคือเวลาจะสมัครอีเมลเพื่อใช้สมัครสมาชิกเว็บบอร์ดก็ซ่อนไอพี ใช้เว็บผ่านพร็อกซี่ พอจะสมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ก็ซ่อนอีก สำหรับเขาเอง ตอนสมัครตอนแรกๆ ไม่ได้คิดว่าจะมีใครมาตามจับ และบริสุทธิ์ใจ ก็โพสต์ตรงๆ มาในช่วงหลังเริ่มใช้พร็อกซี่บ้างในช่วงเมษา-พฤษภาที่เหตุการณ์แรงๆ
 
อย่างไรก็ตาม พอตอบมาถึงตรงนี้ "ปรวยฯ" พูดขึ้นว่า จริงๆ แล้ว ไม่ค่อยชอบใจการต้องใช้พร็อกซี่เท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องการเอาตัวรอด ซึ่งนี่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จะแก้ที่ต้นเหตุต้องทำให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนจริงๆ เมื่อนั้น ประชาชนก็จะมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โพสต์อย่างสบายใจ ไม่ต้องใช้พร็อกซี่
 
"ปรวยฯ" บอกว่า จากการไปที่ดีเอสไอ ทำให้ได้ข้อคิดว่าเมื่อตำรวจมักอ้างว่ามีกฎหมายห้ามไว้ ดังนั้น ต้องกลับไปที่ ส.ส. ผู้ทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ โดย ส.ส. ต้องกล้าแก้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่เช่นนั้นก็เปล่าประโยชน์ที่ประชาชนจะเลือก ส.ส. เข้าไปทำงาน ถ้าแก้ไขกฎหมายได้ ต่อไป ตำรวจจะไม่มีข้ออ้างใช้กฎหมายจับประชาชน
 
ถ้า ส.ส.ไม่กล้าแก้ เพราะมีอะไรที่นอกเหนือการเมืองมาขัดขวาง ประชาชนและ ส.ส.จะต้องช่วยกัน ส.ส.ก็ต้องมาบอกว่ามีมือข้างบน มีทหารมากด ส.ส. และประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เกื้อหนุนและช่วยกันเปิดโปง
 
"ปรวยฯ" ได้ขอร้องต่อผู้มีอำนาจอยู่นอกการเมืองด้วยว่า นอกจากตอนนี้จะต้องเลิกยุ่งเรื่องการเมืองแล้ว ผลที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร ก็ควรต้องให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมด้วย ผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพราะประเทศใดไม่มีเสรีภาพ ประเทศนั้นก็หาความสงบไม่ได้ และย้ำด้วยว่า ประชาชนที่ต้องซ่อนไอพีควรลุกขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายลุ่มน้ำ ยื่น 16 ข้อ ให้ รบ. ต้านการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากร

Posted: 12 Aug 2010 02:20 AM PDT

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแนะ รัฐบาลต้องฟังเสียงชาวบ้านเพื่อการพัฒนาที่ไม่กระทบวิถีชีวิตดั่งเดิม ชี้งานวิจัยไทบ้านช่วยให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของชุมชน ขณะที่เครือข่ายลุ่มน้ำ พร้อมยื่นข้อเสนอ 16 ข้อให้รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา
 

 

เมื่อวันที่ 6 – 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีงานเสวนาเรื่อง ถอดบทเรียนงานวิจัยไทบ้าน สิทธิชุมชนในการจัดงานลุ่มน้ำ สู่ข้อเสนอจากภาคประชาชน ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจัดโดยเครือข่ายลุ่มน้ำที่ทำวิจัยไทบ้าน 6 พื้นที่ ได้แก่ ปากมูน ราศีไศล แก่เสือเต้น สาละวิน เชียงของ แม่น้ำสงคราม เข้าร่วมอภิปรายและร่วมกันหาแนวทางในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวหลายร้อยคน
 
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ  กล่าวว่า งานวิจัยไทบ้านเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2544 จากกรณี จากปัญหาการสร้างเขื่อนปากมูลที่ชาวบ้านได้รับปัญหาความเดือดร้อน และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังถึงแม้จะมีการทำการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนก็ตาม แต่ผลการศึกษาที่ออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน จึงทำให้เกิดการทำวิจัยคู่ขนานขึ้นมา โดยมีชาวบ้านเป็นนักวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นความจริง แล้วออกตีแผ่ต่อสาธารณชนให้รับรู้ถึงความทุกข์ที่ชาวบ้านได้รับจากการสร้างเขื่อนปากมูลอย่างแท้จริง
 
รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่าผลดีของการทำวิจัยไทบ้านว่า จะช่วยให้ชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยที่เราเป็นเสมือนพี่เลี้ยง ให้ชาวบ้านค่อยๆเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่ง ๙ ปีที่ผ่านมาในการทำวิจัยไทบ้าน อาจยังไม่สมบูรณ์แน่ เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่มีใครสอนและไม่มีตำรา และการวิจัยนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นให้มีความรู้ในการโต้ตอบ และเป็นการนำเข้าไปสู่ระบบประชาธิปไตย เพื่อป้องกันสิทธิประโยชน์ที่ชาวบ้านควรจะได้รับ คนภายนอกจะมาละเมิดสิทธิของชาวบ้านที่อาศัยมาก่อนไม่ได้
 
รศ.ศรีศักร กล่าวอีกว่า หัวใจของการวิจัยไทบ้านคือการที่ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรธรรมชาติเอง ภายใต้ระบบนิเวศวัฒนธรรม เพราะการจัดการที่เกิดจากคนที่มองแผนที่ลงมา ไม่รู้อย่างถ่องแท้ว่าพื้นที่นั้นมีอะไรอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านที่ได้สำรวจพื้นที่ จะเห็นถึงความเป็นไปของบริเวณที่ตนอาศัยหรือใช้ประโยชน์อย่างรู้แจ้ง
 
“การพัฒนาพื้นชุมชนโดยดูจากแผนที่ก็ไม่ต่างจาก ฝูงแล้งที่มองเหยื่อ หรือที่เรียกว่า การมองแบบท็อปดาวน์ เช่น วิศวกรเห็นว่าตรงนี้เหมาะทำเขื่อนก็ทำเลย อย่างงี้ก็เกิดความฉิบหายของชุมชนนั้น เพราะไปทำลายวิถีชีวิตเค้า”
 
อย่างไรก็ดี จากการเสวนา เครือข่ายลุ่มน้ำมีการเสนอข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาล 16 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาจากภาครัฐ ซึ่งทำลายฐานทรัพยากร และนิเวศวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชุมชน ดังนี้

1.ยกเลิกโครงการเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำสายหลัก และสาขา ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทำลายฐานทรัพยากรของชุมชน และส่งเสริมพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง

2.ทบทวนและจัดทำแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำขึ้นใหม่ โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เช่น ปรับปรุงโครงสร้างกรรมการลุ่มน้ำ และรับแผนพัฒนาจากภาคประชาชนเข้าไปบรรจุ


3.ผลักดันให้เกิดการเจรจากับจีน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบท้ายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนอย่างเป็นรูปธรรม และยกเลิกโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนที่เหลือทั้งหมด
 
4.ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของบริษัท ช.การช่าง และยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะบนแม่น้ำโขงและสาละวิน ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนสู่ประชาชนไทย

5.เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามข้อตกลง และฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน

6.เปิดเผยข้อมูลโครงการผันน้ำทั้งในภาคเหนือและอีสานแก่สาธารณะ รวมทั้งชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ

7.สนับสนุนการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ  

8.ส่งเสริมการจัดการน้ำตามภูมินิเวศของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

9.กรณีปัญหาที่ทำกิน รัฐควรแก้ปัญหาที่ทำกินของชุมชนจากแผนพัฒนาของรัฐ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ

10.รัฐควรรับรองสถานะของชนเผ่า และแก้ไขปัญหาสัญชาติอย่างเป็นระบบ

 
11.แก้ไขประวัติศาสตร์ และหลักสูตรการศึกษา ให้ชุมชนรู้จักและภูมิใจในนิเวศวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตนเอง

12.ผลักดันการก่อตั้งสำนักวัฒนธรรมท้องถิ่น

13.พัฒนาประเทศโดยใช้ประวัติศาสตร์ นิเวศวัฒนธรรมเป็นตัวนำ และทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

14.ส่งเสริมการใช้ความรู้ท้องถิ่น งานวิจัยไทบ้าน เพื่อเป็นฐานประกอบการตัดสินใจในโครงการพัฒนา

15.ทบทวนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดขึ้นจริง และควรรับฟังเสียงของประชาชน

16.จัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

 
ทั้งนี้ เครือข่ายลุ่มน้ำที่ทำวิจัยไทบ้าน 6 พื้นที่ ยังร่วมกันวางแผนงานในการดูแลพื้นที่แต่ละพื้นที่อีกด้วย ซึ่งมีแผนทั้งหมด 8 แผน ประกอบด้วย 1.แลกเปลี่ยนข้อมูลและหนุนช่วยในกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่าย 2.ร่วมกันผลักดันสภาประชาชนลุ่มน้ำ จากเครือข่ายลุ่มน้ำ 3.ร่วมลงชื่อจดหมายคัดค้านโครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง 4.ติดตามการแก้ไขปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขงในจีน 5.เตรียมการเพื่อเปิดเวทีเจรจากับรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูป และเครือข่ายลุ่มน้ำ 6.จัดประชุมเครือข่ายอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์และสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย 7.พัฒนาเครือข่ายไปยังภาคประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขง 8.พัฒนาแผนการอบรมวิจัยไทบ้าน และสร้างคู่มือการทำวิจัยไทบ้าน และสนับสนุนการทำวิจัยไทบ้านในลุ่มน้ำต่างๆ ในเครือข่าย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ : จิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน”

Posted: 12 Aug 2010 12:07 AM PDT

 

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 4-5 ปี มานี้ เราอาจกล่าวได้ว่า เป็นความขัดแย้งระหว่าง “ชนชั้นปกครอง” กลุ่มอำนาจตามจารีตที่พยายามรักษา และหรือกระชับอำนาจของตัวเอง กับ “ชนชั้นผู้ถูกปกครอง” ที่พยายามเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง

อำนาจที่ฝ่ายแรกพยายามกระชับ คือ อำนาจในการชี้นำกำกับรัฐบาล (ทักษิณถูกชี้นำกำกับไม่ได้จึงถูกข้อกล่าวหา “ไม่จงรักภักดี ล้มล้างสถาบัน”) กำกับกองทัพ (วาทกรรม “ทหารของพระราชา”) กำกับศาล (วาทกรรม “ตุลาการภิวัตน์”) กำกับระบบราชการ (วาทกรรม “ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”) กำกับพสกนิกร ด้วยการสร้างกระแสนิยมกษัตริย์ และการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ข้อกล่าวหา “ผู้ก่อการร้าย” “ขบวนการล้มเจ้า” ฯลฯ

ส่วนฝ่ายหลังพยายามทวงอำนาจของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางการเมืองผ่าน “การเลือกตั้ง”

ซึ่งเราอาจกล่าวอย่างรวมๆ ได้ว่า สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายแรก (ซึ่งหมายถึงสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหารโดยปริยายด้วย) อาจเรียกได้ว่า เป็นฝ่ายที่มีจิตสำนึกในความเป็น “พสกนิกร” สูงกว่าจิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายหลัง (ซึ่งหมายถึงปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐประหารโดยปริยายาด้วย) อาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายที่มีจิตสำนึกในความเป็น“ประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตยสูงกว่าจิตสำนึกในความเป็น “พสกนิกร”

“พสกนิกร” หมายถึง ผู้อยู่ภายใต้อำนาจ หรือผู้ถูกปกครอง “ประชาชน” หมายถึงเสรีชนที่มีอำนาจปกครองตนเอง ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) พรรคการเมืองคือสถาบันที่สะท้อนถึงจิตสำนึกในความเป็นประชาชน หรือเจตจำนงทั่วไปของประชาชนผู้มีอำนาจปกครองตนเอง

แต่ทว่าในสภาพการณ์ดังกล่าวนั้น เราแทบไม่ได้เห็นบทบาทที่ทำให้สังคมมั่นใจได้ของ “พรรคการเมืองของประชาชน” หรือพรรคการเมืองที่ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชนในการเรียกร้องอำนาจปกครองตนเองอย่างตรงไปตรงมา และอย่างเข้มแข็ง

พรรคเพื่อไทยนั้นอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ แทบไม่อาจเป็นที่พึ่งในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้ ต่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป (ถ้ามี) พรรคเพื่อไทยชนะ ก็คงเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนขั้วของฝ่ายที่มายึดกุมอำนาจรัฐเท่านั้น เพราะจนบัดนี้ไม่ว่าคุณทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทยล้วนแต่ไม่มีแนวคิดหรือนโยบายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามข้อเรียกร้องของประชาชนฝ่ายที่ออกมา “พลีชีพ” เพื่อปกป้องประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง เพราะสำหรับพรรคเหล่านั้น สังคมนี้จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ คนจะตาย ระบอบประชาธิปไตยจะถูกทำให้พิกลพิการอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาจะได้ยึดครองอำนาจรัฐและได้กอบโกยผลประโยชน์หรือไม่

ในสภาพที่พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนอ่อนแอเช่นนี้ พรรคการเมืองที่น่าจะเป็น “เสาหลัก” ของประชาธิปไตยได้มากกว่า ควรจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด มีความเป็นสถาบันทางการเมืองสูงที่สุด แต่พรรคการเมืองเช่นนี้กลับจับมือกับอำมาตย์ กองทัพที่ยึดวาทกรรม “ทหารของพระราชา” รับใช้อำนาจตามจารีต เพื่อกระชับอำนาจตามจารีตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับสังคมไทยที่เรามีพรรคการเมืองเก่าแก่แต่ยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในอดีตพรรคนี้เคยใช้ข้ออ้างปกป้องสถาบันเพื่อทำลายผู้นำประชาธิปไตย คือ “ปรีดี พนมยงค์” ปัจจุบันพรรคนี้ทำลายความชอบธรรมของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยข้อกล่าวหาเรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า”

เมื่อพรรคการเมืองเก่าแก่จับมือกับ “ทหารของพระราชา” เพื่อยึดกุมอำนาจรัฐภายใต้การสนับสนุนของ พันธมิตร มวลชนเสื้อเหลือง สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ ที่มีจิตสำนึกในความเป็น “พสกนิกร” เหนือกว่าจิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน” ตามระบอบประชาธิปไตย การกระชับอำนาจของชนชั้นปกครองตามจารีตเดิมจึงนำมาสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งจิตสำนึกในความเป็น “ประชาชน” ที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งกว้างขวางแล้ว หากฝ่ายชนชั้นปกครองยังเดินหน้ากระชับอำนาจอย่างหน้ามืดตามัวต่อไป ด้วยการใช้สรรพกำลังภายใต้การปลุกกระแสจิตสำนึกความเป็น “พสกนิกร” ความรุนแรงที่ยิ่งกว่า “เมษา-พฤษภาอำมหิต” คงไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น

คำถามคือ ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้ “พรรคการเมืองของประชาชน” ไม่มีเลยหรือ?

พรรคเพื่อไทยสามารถที่จะพัฒนาเป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่มีศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชน เปลี่ยนศาลให้เป็นศาลของประชาชน (เป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายรัฐบาลและอำนาจนอกระบบ) เปลี่ยนระบบราชการให้เป็นระบบราชการของประชาชนจริงๆ (ที่ไม่ใช่ระบบเจ้านายของประชาชน) เป็นต้น ได้หรือไม่?

แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยถูกทำลายจนอ่อนแอ แต่คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็พยายามใช้ประโยชน์จากมวลชนเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตยอยู่ตลอดมา ฉะนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ที่คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะต้องพัฒนาพรรคการเมืองของตนให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ที่แสดงให้เห็นแนวคิดและนโยบายในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจให้ประเทศนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

หรือเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนทางแนวคิดที่สามารถเป็นที่หวังของประชาชนได้ในการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตย มากกว่าเป็นพรรคการเมืองที่รอจังหวะเข้ามาฉกชิงอำนาจรัฐเท่านั้น

หากทำไม่ได้เช่นนี้ พรรคเพื่อไทยก็เป็นได้เพียงพรรคการเมืองที่หวังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมือง จากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชนเสื้อแดง และ/หรือเป็น “แนวร่วมด้านกลับ” ให้พรรคการเมืองเก่าแก่จับมือกับทหารของพระราชากระชับอำนาจตามจารีตเดิม เพื่อเดินหน้าสู่ความรุนแรงครั้งต่อไป!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผด็จการหรือไม่ ดูตรงไหน

Posted: 11 Aug 2010 11:12 PM PDT

การเมืองไทยภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯมีปรากฏการณ์ประหลาดๆเกิดขึ้นมากมาย ผู้ที่ไม่ชอบก็บอกว่านี่เป็นการปกครองในระบอบเผด็จการชัดๆ ผู้ที่ชื่นชอบก็บอกว่าถูกต้องแล้วประเทศไทยต้องใช้มาตรการแบบนี้แหละถึงจะเหมาะสม ไม่ใช่เผด็จการสักหน่อย ก็เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่ออินเตอร์เน็ต
การปกครองในระบอบเผด็จการ(dictatorship)นั้นเป็นระบอบการปกครองที่มีมาอย่างยาวนานแทบจะเรียกใด้ว่าเป็นรูปแบบการปกครองแรกเริ่มของมนุษย์ ซึ่งผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมทุกอย่างในสังคม แต่ในสมัยโรมันการปกครองแบบเผด็จการจะถูกนำมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ในช่วงวิกฤติการณ์สังคมโรมันจะเปิดโอกาสให้ผู้นำที่มีความเข้มแข็งเข้ามาทำงานรับใช้ชาวโรมันเป็นระยะเวลา ๖ เดือน เพื่อสร้างกฎระเบียบและรับประกันความมีเสถียรภาพของบ้านเมืองในช่วงคับขัน เช่นภาวะสงคราม โรคระบาด ฯลฯ เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้นำคนนั้นก็ต้องคืนอำนาจเบ็ดเสร็จนั้นให้แก่ประชาชน
เราสามารถแบ่งการปกครองแบบเผด็จการได้เป็นสองระดับ คือ แบบอำนาจนิยม(authoritarianism) กับ แบบเบ็ดเสร็จ(totalitarianism)
เผด็จการแบบอำนาจนิยม(authoritarianism)มาจากคำว่า อำนาจหน้าที่ หรือ authority ซึ่งเป็นการสร้างอำนาจอย่างเป็นทางการ(formal) โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
๑)ปกครองโดยคนกลุ่มน้อย
การตัดสินใจทุกอย่างทางการเมืองมาจากผู้ปกครองกลุ่มเดียวที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก ผู้ปกครองกลุ่มนี้ไม่ยอมให้ให้อำนาจของตนเองต้องถูกลดลง หรือไม่ยินยอมให้กลุ่มการเมืองอื่นเข้ามาท้าทายอำนาจของตนเอง จึงทำให้ฝ่ายค้านถูกจำกัดบทบาทหรือแทบจะไม่มีฝ่ายค้านในสภาเลย
๒)ไม่ต้องการผู้ที่ไม่เห็นด้วย
ฝ่ายค้านหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือคนนอกกลุ่มจะถูกกีดกันออกจากการเมือง โดยอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการจับกุม ปิดสถานที่ทำการ ปิดสื่อสารมวลชน รายการวิทยุโทรทัศน์หรือนิตยสารใดๆที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง ทำลายการต่อต้านอย่างสันติและจับกุมผู้ที่ต่อต้าน
๓)ใช้กำลังเข้าข่มขู่
นักการเมืองที่เป็นเผด็จการจะแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงพลังอำนาจผ่านทาง”กองทัพ”หรือ”ตำรวจลับ”หรือหน่วยพิเศษต่างๆซึ่งถือได้ว่าเป็นมือขวามือซ้ายของตนเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพื่อเข้ากดดันโดยใช้มาตรการรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การทรมาน การกดดันทางเศรษฐกิจ และการใช้มาตรการทางจิตวิทยา โดยมักจะอ้างกับประชาชนว่ากระทำไปเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคง
๔)ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ประชาชนสนันสนุน
มีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ(propaganda)อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองมากกว่าที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชน
๕)สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน
ผู้นำเผด็จการเชื่อว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะจะทำให้ไม่มีความสามัคคี และยังทำให้กระทบต่อระเบียบและความสงบเรียบร้อยของรัฐ ประชาชนอาจจะมีเสรีภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่บ้างแต่อยู่ในขอบเขตจำกัด
ส่วนเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ(totalitarianism)นั้น เป็นเผด็จการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะนำสังคมไปสู่สังคมที่สมบูรณ์แบบ(perfect society) โดยมีหลักการทั้งหมดของเผด็จการแบบอำนาจนิยมผนวกรวมเข้ากับหลักการดังต่อไปนี้
๑)ควบคุมอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบความคิด
ผู้ปกครองจะจะควบคุมประชาชนทุกด้านของชีวิต ผู้นำจะสร้างรูปแบบของอุดมการณ์แบบเบ็ดเสร็จและบังคับให้ประชาชนต้องยึดมั่น เช่น อุดมการณ์คอมมิวนิสม์ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ฯลฯ
๒)มีพรรคการเมืองพรรคเดียว
พรรคอื่นนอกจากพรรคของผู้นำเองไม่สามารถก่อตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมายได้ เช่น ในสหภาพโซเวียตในอดีตหรือจีนและเกาหลีเหนือ เป็นต้น
๓)มีการใช้ความรุนแรงและการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ
มีการใช้ตำรวจลับเพื่อควบคุมกิจกรรมทั้งปวงของฝ่ายตรงกันข้ามอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเผด็จการแบบอำนาจนิยม
๔)มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการควบคุมรัฐ
ในรัฐเผด็จการยุคใหม่ต่างๆเหล่านี้จะใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อการควบคุมโดยกำลังทหารและมีการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจและควบคุมสื่อสารมวลชนอย่างเด็ดขาด
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้อ่านคงพอที่จะเปรียบเทียบได้ว่าการปกครองของไทยเราในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบใดระหว่างประชาธิปไตย เผด็จการแบบอำนาจนิยม หรือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ หรือว่าคละเคล้าปะปนกันไป โดยที่ผมคงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างให้เห็นในแต่ละกรณีๆไป
ไม่ได้กลัวว่าจะถูกจับกุมคุมขังอะไรหรอกครับเพราะผมเชื่อว่ายังมีสายตาจับจ้องจากหลายฝ่ายอยู่ทั้งในและนอกประเทศ แต่กลัวต้องถูกส่งเข้าบำบัดจิตน่ะครับ เพราะแม้แต่เด็กนักเรียนท่านยังไม่เว้นเลย
 
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น