โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักข่าวพลเมือง: ภาคปชช. สับเละ มติที่ประชุมคกก.สิ่งแวดล้อมเหยียบย่ำซ้ำเติมชาวบ้าน

Posted: 27 Aug 2010 02:43 PM PDT

ชาวบ้านอุดรฯ นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ฯลฯ ตั้งข้อสังเกตคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหาโครงการส่งผลกระทบสวล. รุนแรง ระบุ โครงการรุนแรงบางประเภท เช่น การสูบน้ำเกลือใต้ดิน และโครงการผันน้ำนั้น ส่งผลกระทบมหาศาล แต่กลับไม่ถูกพิจารณาให้เป็นประเภทโครงการรุนแรง

ผลการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ดำเนินการร่วมกันพิจารณาร่างโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 มีมติให้ตัดประเภทของโครงการรุนแรงที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา จาก 18 ประเภทโครงการรุนแรง เหลือเพียง 11 โครงการ

ผลการประชุมดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาชน นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ฯลฯ ว่า โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงบางประเภท เช่น การสูบน้ำเกลือใต้ดิน โครงการด้านการชลประทาน และโครงการผันน้ำนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่และส่งผลกระทบมหาศาลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กลับไม่ถูกพิจารณาให้เป็นประเภทโครงการรุนแรง อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาประเภทโครงการรุนแรงว่าเป็นธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการรุนแรงหรือไม่

“อันที่จริงน่าจะมีหลายโครงการ เข้าข่ายประเภทโครงการที่ส่งผลกระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง เช่น กรณีเหมืองใต้ดินที่มีเสาค้ำยัน และเกณฑ์การพิจารณาโครงการเหมืองแร่ที่ไม่มีเสาค้ำยันเป็นโครงการรุนแรงนั้นในปัจจุบันเหมืองแร่แบบนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกันแล้ว และการมองความรุนแรงของโครงการที่การยุบตัวของแผ่นดินใต้ดินเป็นเกณฑ์พิจารณาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงผลกระทบบนดินด้วยว่ากระบวนการแต่งแร่นั้นมีผลกระทบอย่างไร จะจัดการกับหางแร่ กากแร่อย่างไร โดยเฉพาะแร่โปแตซที่ขุดขึ้นมาแล้วเป็นการนำเกลือขึ้นมาบนดินด้วย”

นายสันติภาพ สิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีให้ความเห็นพร้อมระบุว่า “อยากจะแสดงความเสียใจต่อพี่น้องชาวอีสานทุกคน ที่พยายามเสนอเรื่องการพิจารณาผลกระทบของโครงการที่เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างรุนแรงมาตลอด แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจ ถือได้ว่ามติในครั้งนี้เป้นมติที่มีความอัปยศเป็นอย่างมาก เพราะโครงการสูบน้ำเกลือ โครงการผันน้ำ ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นโครงการส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงถือได้ว่าเป็นมติที่ซ้ำเติมชาวอีสานเป็นอย่างมาก”

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ว่า ไม่ยอมรับมติที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเป็นอันขาด และมีความคลางแคลงใจต่อการดำเนินการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมว่าเป็นธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่หรือไม่ ทั้งระบุว่าในฐานะที่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ผลักดันโครงการเหมืองโปแตซจังหวัดอุดรฯ ซึ่งเป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมาก หากการดำเนินการยังเป็นแบบนี้อีกคงจะต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านมติที่ประชุมของกรรมการสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.) อีสาน กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอาศัยเกณฑ์ทางวิศวกรรมมาประกอบการพิจารณา แต่ไม่เคยลงไปเห็นพื้นที่จริง ไม่รู้จักกับระบบนิเวศวัฒนธรรม และไม่เคยเข้าใจในความเป็นชุมชน และในความเป็นจริงนั้น ชุมชนน่าจะเป็นผู้ตัดสินว่าโครงการประเภทไหนส่งผลกระทบรุนแรงหรือไม่รุนแรงกับชุมชน

สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในนามขององค์กรภาคประชาชนตนจึงขอคัดค้านมติในที่ประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และทำการตั้งข้อสังเกตว่ามติที่ประชุมของคณะกรรมการผิดหลักกฎหมายหรือไม่ ถ้าหากผิดหลักกฎหมายคงต้องมีการดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: สหภาพแรงงานกิจการอาหารค้านบริษัทจ้างคนงานเหมาค่าแรง

Posted: 27 Aug 2010 02:40 PM PDT

สหภาพแรงงานกิจการอาหาร ที่สมุทรปราการชุมนุมคัดค้านผู้บริหารจ้างพนักงานเหมาช่วง หวั่นทำลายสหภาพแรงงาน ขณะเจรจามาแล้ว 4 รอบแต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติ

ภาพการชุมนุมของสหภาพแรงงานกิจการอาหารบริเวณหน้าบริษัท บริษัท กริฟฟิทท์แลบอราทอรี่ส์ จำกัด

 

แถลงการณ์สหภาพแรงงานกิจการอาหาร วันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา

 

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกสหภาพแรงงานกิจการอาหาร จำนวน 30 คน ได้ชุมนุมกันบริเวณหน้า บริษัท กริฟฟิทท์แลบอราทอรี่ส์ จำกัด (Griffith Laboratories)ตั้งอยู่ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซอย 5/3 ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัทที่คนงานเหล่านี้ทำงานอยู่

สำหรับบริษัทดังกล่าว เป็นผู้ผลิตส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหารที่ให้รสชาติ ส่วนผสมแห้ง สารให้กลิ่น ซอส และส่วนประกอบอาหารอื่นๆ ให้กับผู้แปรรูปอาหาร ภัตตาคาร และร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังหลายแห่ง

โดยตัวแทนผู้ชุมนุมเปิดเผยว่า “ในทุกเย็นหลังเลิกงานเวลา 4 โมงครึ่งจนถึง 6 โมงเย็นก็จะมีสมาชิกสหภาพมาชุมนุมกันในบริเวณดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายกเว้นวันฝนตก ส่วนกิจกรรมก็จะมีการร้องรำทำเพลง ถือป้ายประท้วงสลับกับการปราศรัย”

ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ชุมนุมและแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานกิจการอาหาร ฉบับวันที่ 23 ส.ค. 53 ระบุว่า บริษัทมีนโยบายลดจำนวนพนักงานโดยมีการเปิดโครงการสมัครใจลาออก รวมถึงมีการลดจำนวนพนักงานประจำฝ่ายผลิตในแต่ละห้องจาก 4 เหลือ 3 คน ซึ่งทางสหภาพแรงงานมองว่าเป็นการกดดันพนักงานให้ทำงานหนักขึ้น

และที่สำคัญจากการลดจำนวนพนักงานประจำ ได้มีการรับพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงาน ทำให้ทางสหภาพแรงงานฯ มองว่าการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานได้มีการทำหนังสือคัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯเป็นการกระทำที่ผิดต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ว่าด้วยการกระทำอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างสามารถทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะลูกจ้างนั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวเริ่มต้นจากเมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้ประกาศเปิดโครงการสมัครใจลาออกสำหรับพนักงานประจำ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการลดต้นทุนการผลิต หลังจากนั้นได้มีการโยกย้ายพนักงาน พร้อมทั้งมีการลดพนักงานแต่ละห้องจาก 4 คนเหลือ 3 คน จนกระทั่งวันที่ 4 ส.ค. คณะกรรมการสหภาพแรงงาน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการโยกย้ายพนักงานออกจากห้องผลิต โดยมีผู้จัดการฝ่ายบุคคล มารับหนังสือ จึงได้นัดเจรจาในวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ผลการเจรจา ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ยังคงยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้กดดันแต่เป็นการโยกย้ายเพื่อให้ได้งานเพิ่มได้ใช้สกรูแทนแรง งานที่ขาดหายมีงานผลิตเพิ่มขึ้น และไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน ได้ยกตัวอย่างโรงงานลูกค้าและโรงงานที่ต่าง ประเทศ อ้างว่างานที่ทำอยู่เป็นงานที่ทำไม่ตลอดมีการหยุดเป็นระยะสามารถทำได้ในจำนวนพนักงาน 3 คน ส่งผลทำให้การเจรจาไม่มีการยอมความกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ วันที่ 6 ส.ค. ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นหนังสือถึงแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ในเรื่องการกระทำที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว และวันที่ 10 ส.ค. ได้มีการเจรจากันแต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ จนกระทั่งวันที่ 16 ส.ค. เวลา 16.30 - 18.00 น. ได้มีสมาชิกสหภาพแรงงานรวมตัวกันชุมนุมบริเวณหน้าบริษัทและได้มีการชุมนุมเป็นประจำทุกเย็นจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ในวันที่วันที่ 19 ส.ค. แรงงานจังหวัดได้นัด คณะกรรมการสหภาพแรงงานกับผู้แทนนายจ้างไปไกล่เกลี่ยที่แรงงานจังหวัด โดยทางสหภาพแรงงานได้ชี้แจงจากการเข้าไกล่เกลี่ยว่า "นายจ้างได้พูดถึงการลดพนักงาน ในห้องผลิต อ้างเป็นนโยบายของผู้บริหารต่างประเทศไม่มีอำนาจตัดสินใจ แม้ทางกรรมการสหภาพแรงงาน จะได้ชี้แจงว่าการทำงานแต่ละวัน 4 คน ต่อห้องก็เหนื่อยอยู่แล้วกลับลดจำนวนให้เหลือ 3 คน ต่อห้องเป็นการกดดันบีบบังคับพนักงานให้ทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ทนทำงานต่อไปไม่ได้" สรุปผลในวันนั้นไม่มีการยอมความแรงงานจังหวัดนัดไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปในวันที่ 26 ส.ค. 2553 เวลา 10.00 น. ที่แรงงานจังหวัด

โดยผลการเจรจาเมื่อ 26 ส.ค. ฝ่ายนายจ้างยังคงไม่ยอมตามข้อเีรียกร้องและได้ชี้แจ้งกับพนักงานว่าเป็นเพราะพนักงานไม่ยอมทำโอทีจึงเป็นเหตุให้ต้องรับพนักงานเหมาช่วงมาทำงานแทน ส่วนเรื่องการปรับลดพนักงาน ให้เหตุผลว่าสาขาที่ต่างประเทศทำห้องละ 2-3 คนเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อ 27 ส.ค. ช่วงเช้า ผู้บริหารจะได้เรียกคณะกรรมการสหภาพแรงงานขึ้นคุยกับผู้บริหารต่างประเทศ

ขณะที่ทางสหภาพแรงงานจะงดการชุมนุมประท้วงหน้าโรงงานที่ทำมา 2 อาทิตย์แล้ว โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายนายจ้างได้ทำทุกทางที่จะดึงพนักงานไม่ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสหภาพแรงงานฯ ทำให้จำนวนผู้ร่วมชุมนุมลดลง

สำหรับสหภาพแรงงานกิจการอาหารก่อตั้งมาได้ 5 ปี มีสมาชิกสหภาพฯ 94 คน จากจำนวนพนักงานประจำทั้งหมด 185 คน และปัจจุบันบริษัทมีลูกจ้างเหมาค่าแรง 36 คน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: รบเถิด!!!

Posted: 27 Aug 2010 02:31 PM PDT

เพื่อนของเราเขียนบทกวี
เพื่อนเราเป็นกวี
เพื่อนของเราต่อสู้กู้ชาติ
เพื่อนเราเป็นนักต่อสู้
เพื่อนของเรายืนหยัดปกป้องศัตรูเก่าแก่ของพวกเรา
เพื่อนเราเป็นอย่างที่เขาเป็นในที่สุด
มองชีวิตด้วยสายตาแหลมคมดั่งศรอรชุน
ทะลุทะลวงความเลวทรามอย่างทันท่วงที

“คืนก่อนการรบพุ่ง”
บทกวีอันเปี่ยมพลังของเพื่อน
นำเรามายืนอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำอย่างแท้จริง
เราได้แต่กู่ร้อง
เพื่อนเราเดินลับหายเข้าป่าดงพงไพรลึก
เพื่อนของเราเป็นกวีนักรบโบราณ
ผู้เดินทวนวิถีประชาธิปไตยไปบนกองกระดูกประชาชน
เมฆทะมึนกลืนกินความดีงามในอดีตหมดสิ้น

เพื่อนของเราเขียนบทกวี
บทกวีของเพื่อนแหลมคมดั่งศรอรชุน
ทะลุทะลวงดวงใจแห่งเราแหลกยับ
จนมิกล้าจดจำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: “ประเทศไทยกำลังถอยหลังด้วยสปีดที่เร็วมาก”

Posted: 27 Aug 2010 02:12 PM PDT

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก (17 ก.ค.) ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า “การปฏิรูปคือความพยายามชิงมวลชนที่รัฐบาลล้มเหลวจนต้องอาศัยเครือข่ายฝ่ายที่จัดเจนกว่า แต่ถ้ามองข้ามบุคคลสามสี่ราย ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ยากจะสำเร็จ ข้อแรกเพราะไปคิดตื้นๆ ว่าจะหยุดมวลชนด้วยวิธีให้ข้าวให้น้ำ ซึ่งต่อให้ทำได้ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เป็นแรงผลักให้คนสู้บนท้องถนน ข้อสองคือเพราะให้ผู้ใหญ่พันธมิตรมีอิทธิพลเลือกกรรมการจนไม่มีตัวแทนคนส่วนใหญ่ ข้อสามคือไม่มีการปฏิรูปไหนสำเร็จภายใต้การปิดปากเสียงประชาชน”

ประชาไทสัมภาษณ์เขาเพิ่มเติมเพื่อขยายคำอธิบายเบื้องต้น โดยเขาฟันธงว่า ภายใต้บรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งชนชั้นกลางเป็นอนุรักษ์นิยม และชนชั้นนำปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงอย่างดื้อรั้นดึงดัน พื้นที่สำหรับความแตกต่างจึงไม่มีเหลือสำหรับคนอีกจำนวนมากซึ่งเขาเห็นว่าเป็นขบวนการที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ของประเทศ แต่กลับถูกปราบลงเสียก่อน

เขาเปิดประเด็นขยายความจากข้อความในเฟซบุ๊กของเขาว่า “คณะกรรมการชุดหมอประเวศ และคุณอานันท์รวมกัน 40 คนพูดจริงๆ แล้วมีความหมายกับสังคมเพราะมีชื่อสามคนนี่แหละ คือ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคุณเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คุณเพิ่มศักดิ์อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแต่ในการทำสันติวิธีเขาก็ได้เครดิตเยอะ เพราะเขาเป็นคนทำงานจริง ไม่ฉาบฉวยเขาทำงานกับชาวบ้านค่อนข้างเยอะ” เราเริ่มต้นสนทนาจากประเด็นตัวแทนแห่งความหวัง 3 รายชื่อดังกล่าว

คนสามคนที่คุณพูดถึง จะทำให้กรรมการที่มีอยู่ 40 คนจะทำอะไรออกมาให้เป็นทางออกให้สังคมได้อย่างนั้นหรือ

ทั้งสามคนอาจจะเชื่อว่าการทำงานกับคุณอานันท์จะทำให้เขาสามารถผลักดันวาระที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์กับสังคม เป็นความเชื่อที่วางอยู่ความศรัทธาว่าคุณอานันท์จะทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ คือตัวคนที่มีบทบาทที่สุดคืออานันท์ คุณอานันท์เป็นคนดึงคนมา ซึ่งก็น่าสนใจเพราะในอีกแง่หนึ่ง กรรมการชุดนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่รัฐบาลชุดนี้ หรือว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่รัฐบาลแต่มันคือรัฐไทยคิดแล้วว่าจะปฏิสัมพันธ์กับประชาชนจำนวนมากที่ยอมต่อต้านรัฐจนยอมตายได้ยังไง ซึ่งที่ผ่านมามีสามแบบ แบบหนึ่งก็คือใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมซึ่งการดำเนินการแบบนั้นก็จบไปแล้ว แบบที่สองคือใช้วิธีการเอาพวกนักวิชาการที่ค่อนข้างอิงกับพวกชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเข้าไปทำงานปฏิรูปการเมือง ซึ่งก็เห็นว่าคนไม่ให้ความเชื่อถือ ซึ่งอย่างที่สามก็คือตอนนี้พยายามเอาคนที่มีความสามารถในการทำงานภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยงาน

ทีนี้เรื่องที่น่าสนใจก็คือหลังจากการปราบเดือนเมษาพฤษภา รัฐบาลพยายามใช้กลไกที่เป็นอิสระจากราชการและกองทัพมากขึ้น ในแง่หนึ่งเพื่อให้รัฐทำงานได้ อีกแง่หนึ่งก็คือ กลไกทำงานในระบบราชการของรัฐนี้ล้มเหลว ในการทำสิ่งที่รัฐบาลต้องการและเป็นสิ่งที่รัฐไทยคิดว่ามีความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน

การปฏิรูปเหล่านี้ก็อาศัยเครือข่ายของคนในพื้นที่จำนวนมาก ตรงนี้อาจจะช่วยให้รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้นหรือเปล่า

ใช่ ทีนี้ประเด็นก็คือ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนพวกนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลทางการเมืองของรัฐบาล เช่น การต้องการให้มีเรื่องของการสร้างความปรองดองขึ้นมา อันที่สองที่สำคัญก็คืออย่างไรก็ตามต้องดึงมวลชนฝ่ายที่เชียร์ทักษิณให้เป็นฝ่ายของตนให้ได้ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำก็เหมือนที่ทำกับภาคใต้ คือแยกปลาออกจากน้ำ เชื่อว่ามวลชนเข้ามาร่วมการเคลื่อนไหวโดยมีแกนนำ แกนนำชี้นำและปลุกปั่น และหากให้สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มวลชนจริงๆ เขาก็จะออกจากขบวนการ

ทีนี้สิ่งที่คนพวกนี้ไม่เข้าใจจริงๆ ก็คือมวลชนที่เข้ามาร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใหญ่ขนาดนี้เขาไม่ได้มาเพราะปัญหาปากท้อง อันที่สองก็คือเหมือนคราวที่แล้วปัญหาเมษาพฤษภานี่ไม่ได้เกิดจากปัญหาความยากจนแบบขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่มันมีปัญหาที่รู้สึกว่ามันมีความไม่เท่าเทียมอยู่ ไม่ใช่ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรจะกิน จึงมา แต่คนที่ยากจนกว่าคนชั้นกลางหรือคนชั้นสูงมีอยู่มาก คือเป็นความยากจนที่ไปเปรียบเทียบว่า เมื่อคนกลุ่มนี้มองไปที่คนที่อยู่สูงกว่าตัวเอง เขามองว่าคนกลุ่มนั้นได้อะไรบางอย่างมากกว่าที่ควรจะได้ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้พยายามจะทำ ผ่านการเอาคนหลายคนที่ทำงานภาคประชาสังคมมาก็วางอยู่บนสมมติฐานที่ว่าถ้าให้สิ่งที่คนจนต้องการในเรื่องที่ดิน เรื่องน้ำ เรื่องโฉนดที่ดิน เรื่องป่า คนจนก็จะออกจากขบวนการของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิด

คนเสื้อแดงพูดเรื่องความไม่เท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ก็ตีโจทย์เรื่องความไม่เท่าเทียมเหมือนกัน

ใช่ แต่ว่าเป็นความไม่เท่าเทียมในแง่ของความยากจน ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ทำให้คนเสื้อแดงจำนวนมากมาร่วมชุมนุม ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นความรู้สึกไม่เท่าเทียมทางการเมือง ไม่ใช่ความยากจนแบบเพียวๆ คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่ใช่คนจนแบบไม่มีอันจะกินแต่เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง เขามีฐานะพออยู่พอกิน แต่เขารู้สึกว่าทำไมสิทธิทางการเมืองของเขาไม่เท่ากับคนชั้นกลางคนชั้นสูง ดังนั้นจึงไม่ใช่ความยากจนมากๆ แบบที่รัฐบาลหรือหมอประเวศเข้าใจ

พูดง่ายๆ คือการเคลื่อนไหวไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ

ถ้าใช่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำหรือคณะปฏิรูปทำคือลดทอนปัจจัยทางการเมือง ลดทอนความรู้สึกทางการเมืองของคนชั้นล่างออกไป ทำเหมือนคนชั้นล่างไม่มีความรู้สึกทางการเมือง ซึ่งอันนี้มันเป็นมุมมองแบบชนชั้นสูงมากๆ เลยคือว่าสิ่งที่คนจนต้องการคือปากท้องเท่านั้น เขาไม่เข้าใจเลยว่าคนจนต้องการศักดิ์ศรีหรืออะไรที่มากกว่าปากท้อง ในบางสังคมก็เป็นอย่างนั้นได้ แล้วในเมืองไทยก็เป็นอย่างนั้น

 

แต่ว่าเรามองไปในระดับกลไกของเขา การลงไปในพื้นที่ เขาสามารถลงไปในระดับ อบต.ได้ คุณไม่มองว่าการลงลึกในระดับนี้จะเป็นวิธีสื่อสารที่เขาสามารถใช้เปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านได้ประสบความสำเร็จหรอกหรือ เช่น ทำให้เกิดความเข้าใจรัฐบาลมากขึ้น

ไม่หรอก เพราะว่าถ้าคณะกรรมการชุดนี้ทำอย่างที่หลายๆ คนคิด คือหนึ่งแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมได้ ซึ่งปัญหาความไม่เท่าเทียมในเมืองไทยมันก็มีอยู่ไม่กี่เรื่องเช่นเรื่องที่ดิน เรื่องป่าไม้ เรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ เรื่องภาษีไม่เป็นธรรม เป็นต้น คือต่อให้ทำเรื่องเหล่านี้สำเร็จ ก็ไม่แน่ว่าความรู้สึกทางการเมืองของคนมันจะเปลี่ยนนะ และโดยพื้นฐาน โอกาสที่จะทำเรื่องเหล่านี้สำเร็จมันก็ยาก เพราะว่าหากทำเรื่องเหล่านี้สำเร็จก็จะขัดแย้งกับชนชั้นสูงซึ่งเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลหรือสนับสนุนการเมืองปัจจุบัน ใช่ไหม เช่น เราดูรัฐบาลชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นคนตระกูลเก่าแก่ เป็นคนที่เป็นเจ้าที่ดินจำนวนมากในกรุงเทพฯ หรือเป็นกลุ่มธนาคาร เราจะปฏิรูปโดยที่ไม่ขัดแย้งกับคนเหล่านี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทีนี้ คำถามอยู่ที่ว่าคนเหล่านี้จะยอมให้คณะของหมอประเวศปฏิรูปได้จริงๆ หรือ คือไม่มีทางอย่าไปเพ้อฝันว่า เอาคนดีๆ คนเก่ง คนที่มีจุดยืนรักชาวบ้านมารวมกันแล้วจะทำให้เกิดการปฏิรูปได้ ไม่จริง ถ้าโชคดีก็จะทำให้เกิดงานวิจัย ทำให้เกิดมาสเตอร์แพลนในการปฏิรูปประเทศไทย แต่ว่าถ้าจะวางให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ จะมีหลายเงื่อนไข เช่นหลักประกันสถานะของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้จะไม่มีนะ คือถ้ารัฐบาลชุดนี้ไป คณะกรรมการชุดนี้ก็ถูกลอยแพ ไม่มี ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าแนวทางต่างๆ ที่คณะกรรมการชุดนี้ได้จะถูกนำไปปฏิบัติเป็นนโยบายทางการเมือง

ประการที่สองก็คือว่าในกรณีที่ขัดแย้งกับคนกลุ่มอื่นที่สำคัญกับรัฐบาลชุดนี้เหมือนๆ กัน หรือสำคัญกับระบอบการเมืองตอนนี้เหมือนๆ กัน การปฏิรูปมันไม่เกิดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่การปฏิรูปจะสำเร็จนั้นยากมาก

มองในแง่การลดแรงเสียดทาน คิดว่าจะช่วยได้ไหม

น่าจะได้กับคนกลุ่มที่ไม่ได้รู้สึกต่อต้านรัฐบาลมากนัก แต่สิ่งที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาลชุดนี้คือไม่มีตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในคณะกรรมการปรองดองเลย ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ซึ่งหากมองในแง่ที่ว่าต้องการทำให้กระบวนการทางการเมืองชุดนี้อยู่กับคนส่วนใหญ่ได้ จะต้องดึงฝ่ายเสื้อแดงเข้ามาบ้างใช่ไหม แต่กรรมการชุดนี้ไม่เอา ซึ่งก็เห็นปัญหาอยู่แล้วว่าต้องเกิดเรื่องขึ้นมาในอนาคตว่าเสียงฝ่ายเสื้อแดงจะไม่มีตัวตนอยู่ในกรรมการปฏิรูป ดังนั้นการจะปฏิรูปหรือจะปรองดองกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นไม่มีทาง

เมื่อเขาตั้งคณะกรรมการมาแล้ว คุณคิดว่าเขาจะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้เกิดความปรองดอง กรรมการชุดนี้ควรจะทำอะไร

สิ่งที่เข้าใจว่าเขาจะทำกันก็คือเขาจะตั้งอนุกรรมการย่อยๆ ขึ้นมาหลายชุดมาก ที่จะลงพื้นที่ไปตามจุดต่างๆ เพื่อระดมความเห็นชาวบ้าน แล้วก็มีกระบวนการระดมความเห็นเพื่อสรุปเป็นนโยบายใหญ่จากเบื้องล่างขึ้นมา ว่าสังคมไทยต้องการการปฏิรูปแบบไหน อันนี้คือที่เขาต้องการ แล้วทีนี้ในด้านปริมาณก็คือว่าต่อให้ได้นโยบายจะทำให้เกิดผลได้อย่างไร ก็คือจริงๆ แล้วมันไม่พลังทางสังคมอะไรที่ช่วยผลักดันคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ไง นี่เป็นการปฏิรูปซึ่งเริ่มโดยรัฐบาล และได้รับความร่วมมือจากชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง ที่รู้สึกว่าต้องการให้การเมืองแบบนี้ยังคงอยู่ต่อไป บางพวกรู้สึกว่าต้องการใช้โอกาสนี้เข้าไปเปลี่ยนรัฐบาล หรือไม่ก็เข้าไปเปลี่ยนกลไกรัฐ มองว่าตอนนี้กลไกรัฐอ่อนแอ ซึ่งถือเป็นช่วงที่ฝ่ายของตัวเองจะมาผลักดันอะไรได้เยอะ

แต่ว่า เรื่องความไม่เท่าเทียมมันมีเหตุผลที่ทำให้เกิดขึ้นหลายๆ เหตุผล แล้วรัฐบาลชุดนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นเพราะคนมันยากจน แต่จริงๆ ความไม่เท่าเทียมในบ้านเรามันเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย อย่างเช่นการกดขี่ขูดรีด ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างชนชั้นมากๆ การปฏิรูปนี้แก้ไขเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เช่นถ้าเราไปดูช่องว่างระหว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศไทยในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จะพบว่าแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นในช่วงปี พ.ศ.2470 ข้าราชการะดับล่างมีเงินเดือนประมาณ 15 บาท แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีมหาดไทยเงินเดือน 3,700 บาท รัชกาลที่แปดใช้จ่ายปีละแสน ในปัจจุบันนี้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมันยิ่งทวีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ หากไปดูตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เงินฝากในประเทศไทยทั้งหมด 70% อยู่กับคนที่รวยที่สุด 10% แรก ส่วนเงินอีก 30% ที่เหลืออยู่กับคนอีก 80% ของประเทศ นี่เป็นช่องว่างที่เป็นปัญหา ถ้าไม่เข้าใจบริบทหรือความเป็นมาแบบนี้ก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ

และการปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องมีกระบวนทางการเมืองที่ใหญ่มากมารองรับ แต่เราไม่มีขบวนการแบบนี้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ ขบวนการเสื้อแดงมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นขบวนการแบบนี้ได้ แต่ขบวนการเสื้อแดงก็ถูกทำลายไปโดยการสลายการชุมนุม เพราะฉะนั้นการปฏิรูปที่วางอยู่บนขบวนการทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศเคยมีมานั้นมันไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะสำเร็จ เลยกลายเป็นเรื่องของเล่นของคนแก่อายุ 80 เล่นกับคนแก่อายุ 70 กับ 60 ซึ่งก็เป็นความตั้งใจดีแต่โอกาสสำเร็จมันยาก

ข้อดีล่ะ ประโยชน์ที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้น

ประโยชน์ก็คือ คนจนอาจจะมองเห็นปัญหาของตัวเองมากขึ้นผ่านคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งถ้าคณะกรรมการชุดนี้เข้าใจเรื่องนี้ก็จะดี คืออย่าใช้คณะกรรมการเป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดผลของการปฏิรูป แต่ต้องใช้โอกาสนี้เพื่อขับเคลื่อนสังคมที่อยู่นอกคณะกรรมการ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้จะทำให้กรรมการชุดนี้ทำงานให้เกิดประโยชน์กับสังคมบ้าง

นั่นเป็นเงื่อนไขที่ว่าถ้าเขาเข้าใจ แต่ว่าถ้ามองสิ่งที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ คุณว่าใครจะได้ประโยชน์จากการตั้งคณะกรรมการชุดนี้บ้าง

คณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองเฉพาะหน้า ไม่ใช่ของรัฐบาล แต่เป็นของระบบการเมืองทั้งหมดตอนนี้อยู่แล้ว

คุณมองระยะยาวไหมว่าการตั้งคณะกรรมการโดยใช้บุคลากรที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมากจะช่วยสร้างประโยชน์ให้ทางรัฐบาลมากขึ้น เข้าถึงมวลชนที่เคยเข้าไม่ถึงมากขึ้น

รัฐบาลโดยตรงจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากเท่าไหร่จากกรรมการชุดนี้ แต่คนที่ได้คือระบบการเมืองทั้งหมด เพราะรัฐบาลชุดนี้มันอยู่ไม่ครบเทอมใช่ไหม อยู่ไปอีกแป๊บเดียวก็หมดวาระแล้วแต่กรรมการชุดนี้จะอยู่ไปอีกสามปี ในวันที่คณะกรรมการชุดนี้ทำงานสำเร็จ รัฐบาลชุดนี้ก็คงจะไม่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตัวรัฐบาลอาจจะได้ความรู้สึกทางการเมืองนิดๆ หน่อยๆ ผลที่จะได้จริงๆ หากปฏิรูปสำเร็จคือระบบการเมืองแบบในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนส่วนใหญ่ได้เลย

แต่ที่แน่ๆ ก็คือถึงจะมีก็ไม่สามารถปรองดองกับคนเสื้อแดงได้

ไม่น่าจะได้ เพราะว่าปัญหาหลักคือปัญหาทางการเมืองไม่ได้ถูกแก้ อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คุณอานันท์แกพลาดหรือแกไม่เข้าใจ คือตอนแรกแกพูดว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อปรองดองแต่เกิดขึ้นเพื่อปฏิรูป

การมุ่งปฏิรูปเป็นการยอมรับหรือเปล่าว่าไม่สามารถปรองดองได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้

มันอาจจะแยกกันก็ได้เพราะว่าเขาอาจจะเชื่อว่าการปรองดองไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะมีบางกลุ่มในเสื้อแดงเป็นพวกหัวรุนแรงจริง เขาอาจจะเชื่อแบบนี้จริงๆ เราไม่อาจรู้ได้ แต่ว่าโอกาสที่จะปรองดองหรือการปฏิรูปสำเร็จได้นั้นไม่มี เพราะมีคนจำนวนมากถูกจับ ถูกขังหรือถูกฆ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้รอยร้าวทางการเมืองใหญ่ขึ้น หรือแม้แต่การมี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งทำให้คนพูดเรื่องที่ตัวเองต้องการจริงๆ ไม่ได้ เป็นสภาวะที่การปฏิรูปซึ่งมวลชนส่วนใหญ่พูดได้แต่เรื่องที่รัฐบาลต้องการให้เขาพูดแค่นั้นเอง คนส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดเรื่องที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เขาพูดได้เลยในปัจจุบัน

ที่คุณพูดเรื่องการปฏิรูปว่าคือเสื้อแดงมีเชื้อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปได้นี่ แต่ว่ามันถูกทำลายไปแล้ว คุณมองว่าตอนนี้สังคมไทยมีอะไรที่พอจะปูทางไปสู่การปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสำนึกทางการเมืองของคนไทยได้ไหม เพราะคนเสื้อแดงก็พ่ายแพ้ไปแล้วอย่างค่อนข้างจะสะบักสะบอม

ไม่มี

ไม่มีเลยหรอ

ใช่ คือประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังเดินถอยหลังในสปีดที่เร็วมาก ชนชั้นกลางเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น คือคลุ้มคลั่งมากขึ้น ชนชั้นนำปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง รุนแรงขึ้นและดื้อรั้นมากขึ้น เพราะฉะนั้นการปฏิรูปที่จะทำให้ระบบเดินได้จริงๆ ตอนนี้มันไม่มี เป็นสังคมที่อันตรายมาก พวกเสื้อแดงชอบพูดกันเยอะว่าอีกหน่อยจะอยู่ไม่ได้ แต่ว่าสภาพตอนนี้รุนแรงกว่าที่พวกเสื้อแดงคิดเยอะอีก คือเหมือนเป็นสองประเทศที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มก็มีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันมาก แล้วก็ไม่มีใครคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันเลย

พูดกันตรงๆ การปฏิรูปนี่ไม่นับรวมเสื้อแดงใช่ไหม

ไม่รวม ถ้าเสื้อแดงอยากปฏิรูปก็ต้องสลายความเป็นเสื้อแดงทิ้งไป

เหมือนไม่มีเสื้อแดงอยู่ในประเทศนี้แล้วใช่ไหม

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปรองดอง เพราะการปรองดองคือการปรองดองกับเสื้อแดง แต่เราไม่ต้องการปรองดอง ถ้าเสื้อแดงต้องการเข้าสู่การปรองดองก็ต้องถอดสีเสื้อทิ้งไปก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกก็พูด คุณอานันท์ก็พูดว่าเราจะไม่คำนึงถึงสีเสื้อ ความหมายคือคนที่มีสีเสื้อต้องถอดสีเสื้อออกไปซะ แต่มันก็หมายถึงแค่เสื้อแดงเท่านั้นใช่ไหม อย่างพวกเสื้อเหลืองไม่ต้องถอด แต่ได้ไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปกันเยอะแยะเลย

ถ้าไม่สามารถปรองดองได้แล้ว ความร้าวลึกนี่มันไม่ยิ่งตอกย้ำหรือ

มันไม่ถึงกับตอกย้ำ เพราะมีหลายปัจจัย ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของเสื้อแดงเองที่จะสามารถผลิตความทรงจำเหตุการณ์ที่ผ่านมา กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ผลิตคำอธิบายในเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยมาก แต่ที่พูดได้คือตัวคณะกรรมการเองอาจจะไม่สามารถช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้เท่าไหร่ สิ่งที่คณะกรรมการจะทำได้ก็คือการใช้สถานะของคณะกรรมการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการคิดในสังคม ให้คนจนเข้าใจความไม่เท่าเทียม นอกจากนั้นแล้วก็ทำอะไรลำบาก แล้วอย่าลืมว่าองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้มาจากตระกูลซึ่ง ในด้านหนึ่งมันจะเป็นตระกูลเก่าแก่ใช่ไหม แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นตระกูลที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยแค่สามสี่ชั่วคนแค่นั้นเอง แล้วก็ถ้าพูดในแง่ประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมดนั้นก็เป็นคนที่พยายามจะกลืนตัวเองเข้าสู่ระบบชนชั้นนำของไทยแบบเก่าค่อนข้างมาก ฉะนั้นนี่สิ่งที่คนพวกนี้ต้องการคือการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำมากกว่า สิ่งที่พวกนี้ต้องการจึงไม่ใช่การเข้าใจชนชั้นล่าง หรือการทำเพื่อให้คนชั้นล่างได้ประโยชน์

ประเด็นสุดท้ายแล้ว คุณโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าไม่สามารถปฏิรูปได้ด้วยการปิดปากประชาชน

การปิดปากนี่ประชาชนนี่มันมีความหมายสองอย่าง ประการแรกคือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปัจจุบัน ซึ่งทำให้คนเสื้อแดงพูดไม่ได้ อันนี้คนส่วนใหญ่ก็คงเห็นเหมือนๆ กัน ประการที่สองที่ก็คือว่าการที่สังคมส่วนซึ่งมีความคิดทางการเมืองกับทางเศรษฐกิจแตกต่างจากชนชั้นนำปัจจุบันนี้ไม่มีโอกาสเข้าไปสู่การปฏิรูปได้เลย อันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่มากกว่า เช่น ปัญหาหลักข้อหนึ่งของคนจนไทยซึ่งมันเป็นปัญหามาเป็นร้อยๆ ปี (ซึ่งถ้ามันเป็นปัญหามาร้อยๆ ปีนี่ก็แปลว่ามันแก้ไม่ได้แล้ว) คือการมีชาวนาไร้ที่ดิน คนจนที่สุดในประเทศไทยคือชาวนาไร้ที่ดิน คำถามก็คือเขาจะมีที่ดินได้อย่างไร คำตอบก็คือหาที่ดินให้เขา ซึ่งก็มีอยู่วิธีเดียวก็คือการปฏิรูปที่ดินอย่างกว้างขวาง แต่ว่าภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้มันจะปฏิรูปที่ดินอย่างกว้างขวางได้อย่างไร หากไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ หลัง 14 ตุลา ประชาชนตื่นตัวสามปี มีสิทธิเสรีภาพในการเดินขบวนสองปี กฎหมายปฏิรูปที่ดินนี่ใช้เวลาเรียกร้องสองปีกว่าจะออกกฎหมายได้ พอเกิดกฎหมายขึ้นมาในปี 2518 กระบวนการปฏิรูปที่ดินจริงๆ ก็ไม่เคยมี มาเริ่มมีตอนปี 22-23 นั่นคือขนาดมีการเดินขบวนสามปีนะ แต่ปัจจุบันนี้เรากำลังพูดถึงการการมีขบวนสองเดือนแล้วถูกปราบอย่างรวดเร็ว

ติดใจอยู่นิดหนึ่งที่คุณบอกว่าเสื้อแดงเป็นขบวนที่สามารถปฏิรูปได้ แต่เมื่อเทียบกับเสื้อเหลืองแล้วนี่ เสื้อแดงมีประเด็นจำกัดมากกว่าอีก เสื้อแดงไม่ได้พูดเรื่องการปฏิรูปนะ ไม่ได้พูดเรื่องปฏิรูปที่ดิน ไม่ได้พูดเรื่องปัญหาในท้องถิ่น แต่ว่าพูดเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งมากกว่า

คือเวลาสังคมแต่ละสังคมจะปฏิรูปนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีขบวนการปฏิรูปอยู่ในสังคมนั้นอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับว่ามีขบวนการที่ใหญ่จนชนชั้นนำเขารู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรหรือเปล่า ซึ่งเสื้อแดงมีสภาพแบบนั้น นี่เราพูดถึงว่าเสื้อแดงชุมนุมแล้วถูกฆ่าไปแล้วนี่นะ รัฐยังต้องปฏิรูปอะไรบางอย่างเพื่อเอาใจคนพวกนี้เลย ลองคิดดูถ้ามันจบอีกแบบหากคนเสื้อแดงชนะดูสิ ตัวเลือกที่รัฐไทยให้กับคนเสื้อแดงมันจะเยอะมหาศาล ขนาดว่าเสื้อแดงปัจจุบันคือขบวนการที่ถูกฆ่าไปแล้ว รัฐยังรู้สึกว่าต้องให้อะไรบางอย่าง คือให้จริงไม่จริงไม่รู้แต่ว่าต้องมีการปฏิบัติให้เห็นว่าจะให้ นี่สิ่งที่เกิดขึ้น

ขณะที่ขบวนการเสื้อเหลืองเรียกร้องให้ปฏิรูปนู่นนี่ แต่จริงๆ แล้วขบวนการเสื้อเหลืองไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นนำเขาจะกลัว ขบวนการเสื้อเหลืองโดยธรรมชาติแล้วคือต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำแล้วก็อาศัยชนชั้นนำมาปกป้องตัวเอง เพราะฉะนั้นชนชั้นนำไม่เคยกลัวเสื้อเหลืองอยู่แล้ว เสื้อเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำตลอดเวลา แต่เสื้อแดงนี่น่ากลัวเพราะพลังของเสื้อแดงคาดหมายอะไรไม่ได้ มีความรุนแรงในตัวเองสูง มีการนำที่กระจัดกระจายสูง ต่างจากเสื้อเหลืองเกือบทุกเรื่องเลย เสื้อแดงจึงเป็นกระบวนการที่น่ากลัว อย่างเช่น นักคิดกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าโพสต์มาร์กซิสต์ พูดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงหลังยุคสมัยใหม่ นี่ก็คือกระบวนการแบบนี้ ขบวนการซึ่งมันไม่มีศูนย์กลางการนำ ในแง่หนึ่งคือก็เป็นอนาคิสต์มากๆ มันมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้สังคมรู้ว่า ถ้าไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้แล้ว เสื้อแดงมีลักษณะอย่างนี้เยอะในช่วงที่ผ่านมา

แต่ไปไม่สุดถูกปราบเสียก่อน

ใช่ อีกอย่างหนึ่งในความเป็นเสื้อแดงก็มีกั๊กๆ อยู่อย่างเช่น บทบาทของทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยซึ่งไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าคนพวกนี้เป็นชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มชนชั้นนำเดิมและที่ต้องการคือเข้าไปแชร์อำนาจกันเฉยๆ แต่เมื่อแชร์ไม่ได้ก็เลยออกมาขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นหลังการสลายการชุมนุมเป็นต้นมา กลไกของพรรคเพื่อไทยทั้งหมดก็ไม่ได้ปกป้องคนเสื้อแดงอย่างเต็มที่เลย เสื้อแดงตอนนี้ก็เลยเหมือนถูกลอยแพมากๆ ทั้งจากฝ่ายเพื่อไทยและจากรัฐบาล ตอนนี้เรายังไม่เห็นพรรคเพื่อไทยรณรงค์เลยว่าให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศหรือรณรงค์ว่าให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด เพื่อไทยยังไม่เคยพูดเรื่องเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ

จริงๆ แล้ว อุปสรรคของคนเสื้อแดงก็คือพรรคเพื่อไทยด้วยหรือเปล่า

ไม่ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นอุปสรรค พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแปรที่มีประโยชน์ที่จะทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเติบโตได้มากกว่านี้ ถ้าเขาคิดว่าเขาเป็นพรรคการเมืองไม่ใช่แค่กลุ่มการเมืองที่ต้องการเข้าไปแชร์ประโยชน์กับกลุ่มการเมืองเดิม พรรคเพื่อไทยไม่ใช่อุปสรรคของคนเสื้อแดง แต่พรรคเพื่อไทยเป็นกลไกเดียวที่จะปกป้องคนเสื้อแดงตอนนี้ได้ เขาถึงสำคัญไงเพราะว่าพอเขาไม่ปกป้อง คนเสื้อแดงก็ไม่มีความสำคัญในระบบการเมืองปัจจุบันเลย

พรรคเขายังลำบากอยู่นะ

ใช่ แต่มันเป็นกลไกเดียวที่เป็นที่พึ่งของเสื้อแดงได้ไง คือถ้าเขาไม่ทำหน้าที่นี้ เสื้อแดงไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวกับระบบการเมืองตอนนี้เลยนะ หมายถึงสิบสี่ล้านคนนะที่ยึดโยงกับระบบตอนนี้ไม่ได้ อันนี้มันคือวิกฤตมากๆ แล้ว

แต่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็อาจจะเชื่อว่าเขามีฐานอยู่สิบสองล้าน เกือบครึ่งๆ น่ะ ไม่จำเป็นต้องแคร์เสื้อแดงที่เหลือ ตัดออกไป

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาเชื่ออย่างนั้นจริงเปล่า เพราะว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในช่วงสองเดือนมานี่มันร้ายแรงมากนะ ขบวนการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมถูกยิงตายทุกวันแต่ก็ยังชุมนุมไม่เลิกนี่ นี่มันยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ของประเทศเราอีกนะ ปัญหาการเมืองตอนนี้มันไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะหยุดไม่หยุด แต่ระบบการเมืองตอนนี้มันหยุดคนส่วนใหญ่ไม่ได้แล้วไง นั้นถ้าชนชั้นนำไทยเข้าใจสถานการณ์ตอนนี้นี่ มันก็จะช่วยให้สถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายน้อยลงกว่านี้ได้

แต่ก็ไม่มีสัญญาณว่าเขาเข้าใจ

ตอนนี้ไม่มีสัญญาณ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw: นักสิทธิคนไข้ย้ำ ร่างคุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยลดคดีฟ้องหมอ

Posted: 27 Aug 2010 12:43 PM PDT

ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคฯ ยัน ควรมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ระบุระบบสาธารณสุขไทยมีหลายมาตรฐาน เลขาธิการ สปสช.เผยสถิติ หลังช่วยเหลือเบื้องต้นผู้เสียหาย การฟ้องหมอลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.53 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดเสวนาเรื่อง สภาปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข กรณี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ที่โรงแรม ที เค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อทำความเข้าใจและหาฉันทามติเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยมีหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภูมิภาคต่างๆ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายมะเร็ง ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายจิตเวช เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์

 

ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา เรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ: สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยกตัวอย่างสังคมอเมริกันว่า ในกฎหมายของสหรัฐอเมริการะบุไว้ถึงสิทธิของคนไข้ที่จะได้รับคำอธิบายจากแพทย์ผู้รักษา ถ้าคนไข้ยินยอมตามที่แพทย์บอกก็รักษาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาว่าจะอธิบายได้ขนาดไหน ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการฟ้องร้อง ตัวอย่างเช่น เคยมีแพทย์ไทยโดนฟ้องที่สหรัฐอเมริกา และถูกศาลตัดสินให้ใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากตัดมดลูกโดยไม่ได้บอก

ทั้งนี้ ระบบกฎหมายเรื่องการละเมิดของสหรัฐอเมริกาจะคิดค่าเสียหายในเชิงลงโทษ ทนายความในสหรัฐอเมริกามักจะมีความสามารถทางด้านศัพท์ทางแพทย์ ใครจ้างฟ้องหมด ในบางครั้งทนายความยังหากินกับผู้ป่วยโดยตกลงกันว่า หากแพ้คดีจะว่าความให้ฟรี แต่ถ้าชนะคดีให้แบ่งเงินค่าเสียหายที่ได้รับครึ่งหนึ่ง ด้านหมอนั้นก็จะมีระบบประกันภัยที่รับผิดแทนแพทย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะรับผิดไม่เกินร้อยละ 50 ของความเสียหาย ส่วนที่เหลือ แพทย์ต้องจ่ายเอง

บางประเทศ เช่น ในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ต้องการให้เกิดการฟ้องร้อง จึงมีระบบประกันความรับผิดโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ระบบนี้จะมีกองทุน ถ้าผู้เสียหายได้รับความเสียหายก็นำเงินจากกองทุนนี้ใช้ไป เงินในกองทุนนี้จะเก็บสะสมจากผู้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีข้อยกเว้น

ศ.นพ.วิฑูรย์ ชี้ว่า ประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีแนวคิดนี้ โดยระบุในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ให้กันเงินเพื่อชดเชยความบกพร่องจากการใช้บริการ และประสบการณ์ของการใช้มาตรานี้เห็นได้ชัดว่า ใช้ได้ผล สามารถคุ้มครองผู้เสียหาย และเมื่อเยียวยาความเสียหายแล้วก็ทำให้ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องต่อศาล

“มาตรา 41 ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”

จากสถิติการใช้มาตรา 41 เห็นว่าส่วนใหญ่ไม่มีการฟ้องศาล เพราะเมื่อมีกฎหมายนี้ออกมาจะคุ้มครองผู้เสียหาย โดยมีกองทุนที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการรักษาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายได้

ศ.นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ วงการสาธารณสุขมีความเป็นธุรกิจสูง เรื่องยาก็เป็นธุรกิจ โรงพยาบาลก็เป็นธุรกิจ

“คนจนไม่มีที่พึ่งถ้ายาแพง ถ้าไม่มีบัตรทองคนจนก็เดือดร้อน ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้จะเป็นตัวลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้คนจน” ศ.นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ทางด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง ประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองเสียหายฯ โดยกล่าวถึงผลจากการใช้มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า แม้เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แต่สามารถลดการฟ้องร้องได้ สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดคือ กรณีขอนแก่นโมเดล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 53 ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น มีผู้เข้ารับการรักษาผ่าตัดต้อกระจอ แต่เกิดติดเชื้อจนเป็นเหตุให้ตาบอด โดยทันทีที่เกิดปัญหา คณะแพทย์ได้ออกมาขอโทษและรับผิด พยายามอธิบายและเอาใจใส่ดูแลอาการของผู้ป่วย กรณีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ปัญหาทางการแพทย์ไม่ว่าเรื่องใด จะเป็นกรณีที่แพทย์เป็นผู้ทำผิดพลาดหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเหตุเกิดที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะต้องรับผิดชอบ

นพ.วินัยกล่าวถึงสถิติของผู้เสียหายที่ใช้มาตรา 41 ว่า เมื่อมีการคุ้มครองผู้เสียหายแล้ว การฟ้องร้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงปี 2547 – 2553 มีความเสียหายที่เข้าข่ายมาตรา 41 จำนวน 2,719 ครั้ง แต่ฟ้องเพียงแค่ 26 ครั้ง

ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฎหมายเอื้อต่อการฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยฟ้องเพราะไม่ค่อยมีใครอยากเป็นความกับศาล เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหลืออดจริงๆ กรณีขอนแก่นโมเดล เห็นได้ชัดว่าเป็นการลดอุณหภูมิครุกรุ่น เพราะมีการเอาใจใส่ดูแลต่อผู้ป่วย มีการยอมรับผิดและรับต่อความเป็นจริง ผิดกับกรณีที่หากสถานพยาบาลไม่ยอมรับผิดหรือรับฟัง เช่นนี้ย่อมเป็นการผลักดันให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาล

ดร.นนทวัชร์ เห็นว่า ถ้าสร้างกระบวนการพูดคุยและเยียวยาอย่างทันท่วงทีแล้ว ตามปกติวัฒนธรรมของไทยมักไม่ฟ้องร้อง ขอเพียงคุยและฟังเราพูด จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นตัวสร้างสัมพันธภาพที่ดี ทำให้เกิดกระบวนการเยียวยาเกิดขึ้นรวดเร็วและเป็นธรรม โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่าใครถูกหรือผิด และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เข้าเกณฑ์รักษา แต่จะมีระบบกลั่นกรองอีกทีว่าความเสียหายอย่างไรเข้าเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งทั้งหมด และทำให้กระบวนคลี่คลายก่อนไปถึงศาล

บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กลัวคือการฟ้องศาล แต่แม้ไม่มีร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็ฟ้องศาลได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารทำให้มีแนวโน้มของการฟ้องร้องมากขึ้น

บุญยืนอธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการขยายผลของมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการเยียวยาทั้งทางร่างกาย และเยียวยาความทุกข์ใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บุญยืนเสริมเพิ่มเติมว่า ถึงอย่างไรก็ควรจะมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะระบบสาธารณสุขของไทยมีหลายมาตรฐาน เช่น ในด้านหนึ่งบอกว่า ระบบการแพทย์ยังไม่มีเครื่องมือเพียงพอที่จะรักษาคนไข้ภายในประเทศ แต่อีกมุมหนึ่งกลับโหมโฆษณาออกสื่อต่างชาติว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พร้อม

ในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ที่มาของกองทุนนั้นควรมาจากไหน โดยได้ข้อสรุปว่า ควรมาจาก 3 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพ หักมาไม่เกินร้อยละ 1 หากไม่เพียงพอก็สามารถเพิ่มได้ และมีเพดานขั้นต่ำ

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอว่า สถานบริการของโรงพยาบาลควรจะต้องเปิดดูแลทั้ง 24 ชั่วโมง และบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเห็นว่าปกติแล้ว เมื่อเป็นวันหยุด โรงพยาบาลมักจะไม่มีแพทย์ประจำรักษา ซึ่งจะกระทบกับผู้ใช้บริการได้

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/545

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่เชียงใหม่ พร้อมแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิคนทำงานบ้าน

Posted: 27 Aug 2010 11:55 AM PDT

“มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์” จัดประชุมเนื่องใน “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่เชียงใหม่ “กลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย” ย้ำสิทธิแรงงานทำงานที่บ้านคือสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน

 
คลิปรายงานข่าว “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่ จ.เชียงใหม่ โดยสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (ดีวีบี)


กิจกรรม “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "อะไรๆ ก็แจ๋ว แล้วสิทธิของแจ๋วอยู่ไหน?"

“ลูกจ้างทำงานบ้าน” หรือ “แรงงานทำงานบ้าน” คือ บุคคลไม่ว่าหญิงหรือชายที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ที่ตกลงทำงานบ้านเป็นงานประจำ และได้รับค่าจ้างโดยตรงจากเจ้าของบ้านหรือนายจ้าง เพื่อทำงานที่ระบุไว้ว่าเป็นงานบ้านในครัวเรือน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า ทำอาหาร เลี้ยงเด็ก ดูแลคนชรา ดูแลคนในครอบครัวนายจ้าง เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ทำสวน ตลอดจนงานอื่นที่นายจ้างสั่งให้ทำ รวมถึงลูกจ้างที่พักอาศัยอยู่ในบ้านนายจ้าง และลูกจ้างทำงานบ้านที่เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งเป็นแรงงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากการประชุมเมื่อวันที่ 26-28 สิงหาคม 2545 ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาค ซึ่งในการประชุมมีประเด็นข้อห่วงกังวลถึงเรื่องการคุ้มครอง และการตระหนักในสิทธิของแรงงานทำงานบ้าน ส่งผลให้เกิดการลงมติยอมรับคำประกาศ ณ กรุงโคลัมโบในการสนับสนุนการทำงานและส่งเสริมสิทธิแรงงานที่ทำงานในบ้าน โดยที่ประชุมได้ลงมติและบัญญัติให้ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันแรงงานทำงานบ้านสากล”

ด้านมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ มูลนิธิแมพ ซึ่งทำงานกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้าน ในการสร้างความตระหนักในเรื่องการทำงานที่ปลอดภัย สิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย หน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในบ้าน โดยผ่านกิจกรรมการอบรม สัมมนา จัดทำสื่อเอกสารการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจัดการสัมมนาเนื่องใน “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน จ.เชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ "อะไรๆ ก็แจ๋ว แล้วสิทธิของแจ๋วอยู่ไหน?"

ในการประชุม มีการเสวนาแลกเปลี่ยนปัญหาของแรงงานที่ทำงานในบ้าน โดยนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน นางเบญจวรรณ วิทยชำนาญกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.เชียงใหม่ และผู้แทนแรงงานทำงานบ้าน เป็นวิทยากร โดยจากการเสวนายังพบว่า แรงงานทำงานในบ้านขณะนี้ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิ มีความไม่แน่นอนทั้งเรื่องค่าจ้าง เวลาทำงาน สิทธิการลา ประกันสังคม รวมทั้งสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย การขาดกฎหมายคุ้มครองประกอบกับความโดดเดี่ยวในบ้านนายจ้าง นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสในการได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วย โดยในการประชุมยังมีตัวแทนแรงงานทำงานบ้าน ออกมาเปิดเผยว่า ทำงานบ้านในบ้านนายจ้างมานานหลายปี แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้เต็มจำนวน

น.ส.สาธิดา หน่อโพ ผู้ประสานงานมูลนิธิแมพ เปิดเผยว่า นอกจากการทำงานด้านสิทธิแรงงานชาติข้ามชาติแล้ว มูลนิธิก็ทำงานด้านสิทธิแรงงานทำงานบ้านด้วยเช่นกัน โดยในรอบปีนี้ เคยมีแรงงานทำงานบ้านร้องเรียนว่าทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง และมีกรณีที่ร้องเรียนว่าทำงานในบ้านนายจ้าง แล้วถูกนายจ้างข่มขืน จนตั้งครรภ์ ปัจจุบันต้องออกจากงานแล้วมาเลี้ยงลูก

ผู้ประสานงานมูลนิธิแมพ ยังเปิดเผยว่า ทางมูลนิธิแมพมีการประชุมกับเครือข่ายแรงงานทำงานบ้านทุกๆ เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาการทำงานของแรงงานทำงานบ้านเพื่อหาทางออก และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน การทำงานบ้านอย่างไรให้มีความปลอดภัย มีการถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพทำงานบ้านด้วย เช่น สอนวิธีทำน้ำยาล้างจาน หรืออบรมเรื่องการทำงานบ้านให้ปลอดภัย ทั้งนี้ แม่บ้านที่เข้ามาประชุมกับมูลนิธิแมพ เป็นแม่บ้านที่มีวันหยุด และนายจ้างมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ตาม แม่บ้านที่ทำงานอยู่ในบ้านและนายจ้างเข้มงวด ทางมูลนิธิยังเข้าถึงยากมาก

นอกจากนี้ มูลนิธิร่วมกับแรงงานทำงานบ้าน ยังมีการจัดรายการวิทยุร่วมกันด้วย โดยจัดรายการผ่านวิทยุชุมชนของมูลนิธิ FM 99.00 MHz ซึ่งรับฟังได้ในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยแม่บ้านจะจัดรายการทุกวันศุกร์ เวลา 11.00 – 13.00 น. โดยในแต่ละครั้ง มีเพื่อนแรงงานโทรศัพท์เข้ามาในรายการไม่ต่ำกว่า 30 สาย และกินเวลาหลายชั่วโมง “จะเรียกว่า รายการแม่บ้านถึงบ้าน” ก็ได้ น.ส.สาธิดา กล่าว

ทั้งนี้หลังการเสวนา นางแสงเงิน ตัวแทนแรงงานทำงานในบ้าน ในนาม “กลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย” ได้อ่านข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานทำงานบ้านสากล มีรายละเอียดดังนี้

----------------------------------------------------

แถลงการณ์เรียกร้องสิทธิแรงงานทำงานที่บ้าน

แรงงานทำงานบ้านมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในบ้านและในสังคม ในประเทศไทยเองจำนวนแรงงานทำงานบ้านทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติและที่เป็นชาวไทยนั้นมีจำนวนไม่น้อย สถิติอย่างเป็นทางการล่าสุดจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือ IOM พบว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนบัตรอนุญาตทำงานอาชีพทำงานบ้านในปี พ.ศ. 2552 มีถึง 129,901 คน แต่เนื่องจากประมาณการจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียนมีอีกเป็นเท่าตัว* จึงประมาณว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติทำงานบ้านประมาณ 250,000 คน หากรวมกับจำนวนแรงงานบ้านที่เป็นชาวไทยอีก คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 500,000 คน เมื่อเทียบกับสถิติโดยธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่ามีจำนวนแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยประมาณ 400,000 คน จะเห็นได้ว่าความต้องการแรงงานทำงานบ้านมีเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกวัยแรงงานของครอบครัวส่วนใหญ่ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถดูแลงานภายในบ้านด้วยตนเองได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นแงงานทำงานบ้านจึงนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น

แต่สำหรับสภาพการทำงานรวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ชองแรงงานทำงานบ้านเองกลับไม่มีความราบรื่นอย่างที่แรงงานพึงได้รับ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ให้การยอมรับว่างานบ้านก็คืองาน เช่นเดียวกับอาชีพอื่นที่ถูกจัดประเภทเป็นแรงงานนอกระบบ จึงยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของแรงงานทำงานบ้านไม่ต่างกับการเสี่ยงโชค ไม่รู้ว่าตนจะเจอนายจ้างแบบไหน ค่าจ้างจะได้เท่าไหร่ สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ในบ้านนายจ้างจะเป็นเช่นไร คนทำงานบ้านจึงขาดกลไกคุ้มครองสิทธิในวันหยุด เวลาทำงานที่แน่นอน ค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย การขาดกฎหมายคุ้มครองประกอบกับความโดดเดี่ยวในบ้านนายจ้าง นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสในการได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วย จึงนับว่าแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิเป็นอย่างมากซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นกลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยร่วมกับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติจึงร่วมกันรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานทำงานบ้านมาโดยตลอด เนื่องในโอกาสวันแรงงานทำงานบ้านสากลปี พ.ศ. 2553 นี้ เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยกำหนดมาตรฐานในการจ้างแรงงานทำงานบ้านด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานบ้านและมีกลไกการคุ้มครองสิทธิอย่างรอบด้าน รวมทั้งจะต้องให้การคุ้มครองวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง การกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอน การมีวันหยุดตามประเพณี การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการมีสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย

สิทธิแรงงานทำงานที่บ้าน คือสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน

โดยกลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย

22 สิงหาคม 2553, เชียงใหม่

หมายเหตุ: *การประมาณโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ชองแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พบโปสเตอร์ปริศนา ชวนนิสิตจุฬาฯ พบนายกฯ แต่ไม่ปรากฎชื่อผู้จัด

Posted: 27 Aug 2010 11:19 AM PDT

พบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานเสวนา "นิสิตนักศึกษาพบนายกรัฐมนตรี" ชวนพบ "มาร์ค-ปณิธาน" ติดอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ ป้ายไม่ระบุชื่อผู้จัดงาน ขณะที่ในเว็บบอร์ดนิสิตแพทย์จุฬาฯ ระบุว่าจัดโดยสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ฯ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 
 

27 ส.ค.53 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า มีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานเสวนา "นิสิตนักศึกษาพบนายกรัฐมนตรี" ติดอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื้อหาในโปสเตอร์ มีข้อความเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการเสวนา โดยระบุว่านักศึกษาที่ประสงค์เข้าร่วมการเสวนาต้องส่งรายชื่อและคณะที่ศึกษาอยู่ รวมถึงเหตุผลของการเข้าร่วมเสวนามาทางอีเมลแอดเดรสที่ระบุไว้ภายในวันที่ 31 ส.ค.2553 ทั้งนี้ โปสเตอร์ดังกล่าวระบุเพียงวันที่และสถานที่จัดงาน แต่ไม่มีรายละเอียดช่วงเวลาของการเสวนา
และไม่ระบุองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดงาน

ข้อความในประกาศมีดังนี้

ขอเชิญร่วมเสวนา "นิสิตนักศึกษาพบนายกรัฐมนตรี" ร่วมกันหาคำตอบ
สู่บ้านเมืองแบบที่คุณอยากให้เป็น วันที่ 10 กันยายน 2553 ณ ห้อง 107 อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด่วน ! รับจำนวนจำกัด สนใจเข้าร่วมงาน ส่งชื่อ-คณะ เหตุผลที่อยากเข้าร่วม มาที่ (ชื่ออีเมล์) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553

จากการสอบถามนิสิตคณะรัฐศาสตร์ที่อยู่บริเวณชั้นล่างอาคารสำราญราษฏร์บริรักษ์ ระบุว่าโปสเตอร์ดังกล่าวถูกนำมาติดไว้ที่ทางเข้าด้านหน้าอาคารตั้งแต่เมื่อสองวันก่อน และไม่ทราบว่าหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นผู้จัดงาน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินทางมาปาฐกถาในงานครบรอบ 60 ปีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ชูป้ายประท้วงจนถูกอาจารย์เข้ายึดป้ายดังกล่าวตามที่รายงานข่าวไปแล้ว

ขณะที่จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว พบว่านอกจากป้ายโปสเตอร์ที่ไม่ระบุผู้จัดงานที่ติดที่อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์แล้ว ในกระดานสนทนาของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีผู้ตั้งกระทู้หัวข้อ "!!!ขอเชิญนิสิตนักศึกษา ร่วมเสวนากับท่านนายกฯ!!! 10 ก.ย. 53 12.00-16.00 น." โดยระบุว่าสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เป็นผู้จัดงาน โดยข้อความโพสต์ไว้ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

"สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ขอเชิญนิสิตนักศึกษาทุนท่านร่วมเสวนา "นิสิตนักศึกษา พบนายกรัฐมนตรี" เพื่อการแสดงความคิดเห็น ระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์แก้ปัญหากับผู้บริหารระดับสูง ของประเทศ ทั้งนายกฯอภิสิทธิ์ และ ดร.ปณิธาน ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. 53 12.00-16.00 น. ห้อง 107 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

สนใจ!!! ส่งชื่อ-เบอร์โทร.-คณะ-เหตุผลที่อยากเข้าร่วม ที่ (ชื่ออีเมล์) ภายในวันที่ 31 ส.ค. 53 เท่านั้น!!!! (ที่นั่งมีจำกัดนะจ๊ะ)

โดยในประกาศในกระดานสนทนาดังกล่าว มีการระบุหมายเลขโทรศัพท์สำหรับสอบถามด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธรรม: ภัควดี ไม่มีนามสกุล มองการเมืองภาคประชาชนกับการปฏิรูปฯ ฝันหรือลวง?

Posted: 27 Aug 2010 10:38 AM PDT

อีกเพียงไม่สัปดาห์ข้างหน้าก็จะครบรอบวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แทบไม่น่าเชื่อว่าจากประเทศที่เคยมีประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ จากคนที่เคยรังเกียจทหาร รังเกียจความเป็นเผด็จการกลับสามารถอยู่ภายใต้บรรยากาศดังกล่าวมานานถึงเกือบ 5 ปี และยังไม่มีใครตอบได้ว่าการดำรงอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนี้จะดำเนินไปอีกยาวนานเท่าไหร่ การตอบคำถามง่ายๆ เพียงว่าถ้ามี "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย" แล้วอะไรๆ จะดีขึ้นเอง ทุกอย่างจะช่วยคลี่คลายในท้ายที่สุด ข้อเท็จจริงจะแฮปปี้เอนดิ้งเช่นนั้นหรือไม่ เพราะนับตั้งแต่เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ เป็นต้นมา แม้ว่าจะมีคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ จำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ทำให้สังคมเงียบและยอมรับการใช้ไพ่ใบสุดท้ายโดยฝ่ายชนชั้นนำนี้อยู่เลย เพราะคนจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่าการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นเพียงแค่การซื้อเวลา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงประเด็น และเป็นการเบียดขับกลุ่มคนเสื้อแดงที่คิดเห็นแตกต่างออกจากเวทีการเมืองไป 

ประชาธรรมได้สัมภาษณ์ความเห็นของ "ภัควดี ไม่มีนามสกุล" นักแปลอิสระ ที่มีผลงานแปลอาทิ บรรษัท รายงานลูกาโน และมีผลงานในนิตยสารฟ้าเดียวกัน นอกจากนี้ภัควดียังติดตามประเด็นการเมือง -สังคมทั้งในระดับโลกและประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เธอมีความเห็นชวนท้าทายต่อการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่นี้รวมไปถึงท่าที และบทบาทของภาคประชาชนด้วย

ประชาธรรม: ภายหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ใต้กระแสที่รัฐบาลพยายามจะปรองดอง และตั้งคณะกรรมการมาปฏิรูปประเทศไทยนั้น มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลพยายามใช้อำนาจนิยมเต็มรูปแบบ มีกองทัพหนุนหลัง กลไกอะไรต่างๆ ในสังคมก็ขนเอามาใช้ การปฏิรูปฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามทำให้ทุกอย่างมันหยุด เพราะรัฐบาลเป็นคนริเริ่ม ทุกสรรพกำลังที่รัฐบาลมีในมือก็เอามาใช้หมด เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวในประเทศมันหยุด แต่ก็ปรากฏว่ามันไม่หยุด การปฏิรูปฯ ก็เหมือนการตบหัวแล้วลูบหลัง คือคุณฆ่าเขาไปแล้ว ยังมาบอกอีกว่าเขาควรต้องการอะไร จะปฏิรูปประเทศอย่างไร รัฐบาลบอกอยู่ฝ่ายเดียวว่าจะทำอะไร ไม่รู้ว่าฟังปัญหาของคนที่เขามาเรียกร้องรึเปล่า และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมองปัญหาอย่างเดียวกับคนที่มาเรียกร้องหรือไม่ ในเมื่อประชาชนออกมาประเภทที่ "ตายก็ไม่ว่า" แล้วได้ถามเขาหรือเปล่าว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ลงท้ายแล้ว ชนชั้นนำก็เป็นคนกำหนดวาระตลอด อย่างนี้ปัญหามันก็ไม่จบ อันนี้เป็นอันแรก

อันที่สองคือ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันอะไรเลย ไม่มีเงื่อนไขอะไรในการบังคับใช้ เราก็เคยมีบทเรียนมาแล้วในภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์มาแล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันก็ลักษณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาต่างๆ นานา ทำอย่างนั้นอย่างนี้ทุกวิถีทาง แต่ไม่เคยฟังคนที่ภาคใต้ว่าเขามีปัญหาอะไร สิ่งที่เขาเรียกร้องมาก็ไม่ฟัง เช่น การที่ชาวบ้านภาคใต้พูดถึงเขตปกครองพิเศษ รัฐบาลก็ไม่ยอมรับ ใช้วิธีการของตัวเองลงไป ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ไม่แก้ปัญหา ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทำให้จำนวนคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ มันยังกลายเป็นความชาชินของสังคมไทยในเรื่องความรุนแรง สื่อเองก็ไม่เล่นข่าวแล้ว เพราะไม่มีประเด็นจะเล่น นี่ก็เหมือนกันคือ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ แล้ว แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ ไม่มีข้อผูกพันอะไรเลย คือตั้งมาแล้วก็ไม่มีประโยชน์

สิ่งที่รัฐบาลพยายามเอามาอ้างคือ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัญหาของคนเสื้อแดง และยังดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นคิดอย่างไร
สังคมนี้มีปัญหาในการนิยามคำว่า "ภาคประชาชน" มีการนิยาม 2 แบบ ภาคประชาชนที่อยู่ในอุดมคติของชนชั้นนำของรัฐบาล ของเอ็นจีโอบางกลุ่มกับภาคประชาชนที่เป็นภาคประชาชนจริงๆ ความต่างคือ ภาคประชาชนที่อยู่ในอุดมคติของชนชั้นนำนั้น ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เช่น ภาคประชาชนต้องรักษาสิ่งแวดล้อม พออยู่พอกิน ไม่บริโภคนิยม มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย รักษาวัฒนธรรม เป็นภาคประชาชนอันดีงาม ซึ่งเป็นอุดมคติแบบเดียวกับของเอ็นจีโอ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเอ็นจีโอจำนวนมากจึงเอียงไปเข้าข้างสายอนุรักษ์นิยมใหม่ แล้วยังกึ่งเผด็จการด้วย

ภาคประชาชนจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่เอ็นจีโออยากให้เป็น ประชาชนจริงๆ ดันต้องการทุนนิยม เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาของประชาชนไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือชนบท ปัญหาของเขาคือเรื่องปากท้อง ระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยมันไปผูกพันกับทุนนิยมแล้ว ทุกอย่างที่ประชาชนอยากได้มา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 ปัจจัยที่ 5 เรื่องการศึกษา ปัจจัยที่ 6 เรื่องคมนาคมขนส่ง คือทุกปัจจัยที่ประชาชนต้องใช้ในการดำรงชีวิต มันต้องใช้เงินหมดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้องใช้เงิน เขาจึงต้องการระบบทุนนิยมเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่จะไปใช้ในสิ่งที่เขาต้องการ แต่ในขณะที่เอ็นจีโอ และชนชั้นนำไทยยังมองประชาชนเหมือน 50 ปีก่อนคือไม่ต้องใช้เงิน คือการแช่แข็งชนบท อันเป็นภาคประชาชนที่มีอยู่แต่ในอุดมคติที่ไม่มีจริง ในเมื่อเขาต้องการใช้เงิน แล้วประชานิยมที่ทักษิณทำอยู่มันตอบสนองเขาได้ เราไปด่าว่าเขาว่าเขาได้เงินกองทุนหมู่บ้านมา แล้วเขาไปซื้อมอเตอร์ไซค์ ไปซื้อมือถือ ถามว่าคนในเมืองจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้มั้ย เพราะว่าเมืองไทยไม่ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้เขาเลย เขาต้องหาด้วยตัวเอง เมื่อเขาต้องหาด้วยตัวเอง เขาก็ต้องใช้เงิน ระบอบประชานิยมของทักษิณมันไปตอบสนองจุดนั้น เขาจึงพอใจ

หมายความว่าความคิดของฝ่ายชนชั้นนำ หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงประเทศตอนนี้มีความคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม แล้วพยายามจะแช่แข็งประเทศ เลยทำให้เกิดปัญหาใช่ไหม
ความเป็นอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนำไทยนั้น อยากเรียกว่าอนุรักษ์นิยมใหม่ ไม่ใช่ว่าชนชั้นนำไม่ทุนนิยมนะ ก็ทุนนิยมสุดขั้วเหมือนกัน ชนชั้นนำที่ประกอบด้วยรัฐบาล คนในกองทัพ สถาบันเก่าแก่ กลุ่มทุนต่าง ๆ กลุ่มนี้มองประชาชนอีกแบบ อาจจะไม่ได้มองปัญหาเรื่องทุนนิยม แต่กลุ่มนี้มองในแง่การปกครอง ไม่ต้องการความกระด้างกระเดื่อง แต่มีชนชั้นนำทางอุดมการณ์อีกกลุ่ม ที่เข้าไปร่วมปฏิรูปฯ และรวมเอ็นจีโอด้วยนั้น กลุ่มนี้ไม่ต้องการให้ประชาชนเป็นทุนนิยม ส่วนถ้าตัวเองจะเป็นทุนนิยมนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะอะไรเอ็นจีโอถึงคิดแบบนั้น
เพราะไม่ใช่อุดมคติของเขา ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าเอ็นจีโอส่วนใหญ่จึงเข้าไปอยู่ข้างพันธมิตรฯ ทำไมเอ็นจีโอจึงไม่เข้าข้างคนเสื้อแดง ก็เพราะว่าประชาชนเสื้อแดงไม่ใช่ประชาชนที่เขาต้องการ เมื่อไม่ต้องการ เขาก็ผลักประชาชนพวกนี้ออกไป โดยไม่เรียกว่าเป็นประชาชน แต่เรียกว่าเป็นคนเสื้อแดง เป็นเหยื่อที่รับเงินทักษิณ ทั้งที่จริง กลุ่มคนพวกนี้ก็คือประชาชนเหมือนกัน แต่เอ็นจีโอจงใจมองข้าม เพราะประชาชนพวกนี้ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่เขากำหนดไว้ ก็เลยทำให้เอ็นจีโอเหล่านี้ ไม่ยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นประชาชนจริงๆ ทั้งที่จำนวนประชาชนเหล่านี้ อาจมีจำนวนมากกว่าประชาชนที่อยู่ข้างกลุ่มเอ็นจีโอด้วยซ้ำ

คิดอย่างไรกับเอ็นจีโอบางส่วนมักพูดว่าเขาไม่เข้าข้างเหลืองหรือแดง แต่เขาคือภาคประชาชนจริง ๆ และพยายามสร้างทิศทางการทำงานแบบภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการอยู่เหลืองหรือแดงมันเกี่ยวข้องกับการเมือง
เอ็นจีโอกลุ่มนี้ เขาพยายามสร้างชุมชนเข้มแข็งพึ่งตัวเองขึ้นมา โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งแนวคิดหรือวิธีคิดแบบนี้อาจจะดีแง่หนึ่ง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันเป็นวิธีคิดที่ไปรับใช้ลัทธิเสรีนิยมใหม่แบบสุดขั้ว เพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่ ต้องการลดบทบาทของรัฐในด้านหนึ่ง และขยายบทบาทของรัฐในอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ ลดบทบาทของรัฐในด้านการบริการสังคม และขยายบทบาทของรัฐในการเข้าไปแทรกแซงบังคับให้ทุกอย่างอยู่ในระบบตลาด อย่างเช่นสิ่งที่รัฐบาลทักษิณเคยดำเนินการ เช่น เรื่องการสัมปทานทะเล หรือแนวคิดที่พยายามจะแปรรูปทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบตลาด โดยให้รัฐเข้าไปบังคับให้เกิดการแปรรูป พยายามแปรรูปทรัพยากรทุกอย่างให้อยู่ในระบบตลาดทั้งหมด กระบวนการนี้ก็มีอยู่ในทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลทักษิณ มันเป็นกระแสของลัทธิเสรีนิยมใหม่

หากเอ็นจีโอบอกว่า เราไม่ต้องการพึ่งพิงรัฐ เราอยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถสร้างชุมชนเข้มแข็งได้ นั่นเท่ากับเปิดทางให้รัฐลดบทบาทลงในเรื่องการบริการประชาชน ประชาชนจะจัดการช่วยเหลือตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องจากรัฐ ทั้งนี้แนวคิดแบบนี้ ทำให้มีคนวิจารณ์ว่า ถึงที่สุดแล้ว เอ็นจีโอก็คือการแปรรูปสวัสดิการสังคมนั่นเอง มันคือการปล่อยให้องค์กรเอกชนเข้ามาจัดการปัญหาสวัสดิการสังคมแทน รัฐไม่ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชนอีกต่อไป เอ็นจีโอเข้ามาจัดการแทน แต่หากว่าเราไม่เรียกร้องอะไรจากรัฐเลย รัฐก็สบาย อย่างเรื่องงบประมาณ รัฐก็สามารถนำไปใช้กับกองทัพหรืออื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณมาใช้แก้ปัญหาให้กับชุมชน แต่หากเรามองว่ารัฐบาลยังมีหน้าที่บริการประชาชน มีหน้าที่แก้ปัญหาให้ชุมชน เอ็นจีโอก็ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แนวทางการทำงานของเอ็นจีโอที่ผ่านมาพยายามสร้างตัวอย่างทางเลือกให้กับสังคมขึ้นมา และเห็นว่าการเมืองระดับชาติเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำ
ทางเลือกของเอ็นจีโอมีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนล่ะ ทางเลือกนี้อาจประสบความสำเร็จในบางชุมชน แต่มันสามารถจัดการระบบที่ใหญ่กว่านี้ได้หรือไม่ เช่น เกษตรกรบางกลุ่มอาจประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกันภายใต้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ผูกพันกับระบบทุนนิยมอย่างแนบแน่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ การที่จะเอาตัวอย่างเล็ก ๆ ไปขยายในระดับใหญ่ ความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหน หากไม่ไปปะทะกับรัฐ คนที่เสนอทางเลือกจะแก้ไขปัญหาอย่างไร อย่างเรื่องการจัดการตัวเอง หากมองอีกมุมหนึ่ง มันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองอยู่ดี เช่น การจัดการเมืองเชียงใหม่ ก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่คุณทำจะขยายไปในระบบที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร

ทั้งนี้ ระบบทุนนิยมมีลักษณะเด่นชัดที่สุด คือทุนนิยมจะแยกระบบการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน คือการเมืองจะไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจ ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ส่วนใหญ่ พอพูดเรื่องเศรษฐกิจ ก็ไม่ยอมแตะเรื่องการเมือง พอพูดเรื่องการเมือง ก็ไม่แตะเรื่องเศรษฐกิจ มันก็ลักลั่นกันอยู่ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษี ค่าแรงคนงานขั้นต่ำ มันไม่เกี่ยวข้องกับกลไกตลาดเลย มันเป็นเรื่องของการเมือง ความสามารถในการต่อรองของขบวนการแรงงานมีมากน้อยแค่ไหน ความเข้มแข็งของขบวนการประชาชนที่จะมาต่อรองผลประโยชน์มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ไม่มีพลังประชาชนหนุนหลัง ก็ไม่มีทางที่นโยบายไหน ๆ จะประสบความสำเร็จได้ แต่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง ไม่ต้องการให้มีขบวนการประชาชน ไม่ต้องการให้ประชาชนมีพลัง มันก็ลักลั่นขัดแย้งในตัวเอง

ตอนนี้เห็นมีข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่เสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปพยายามเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการมาแทนประชานิยมที่เขามองว่าล้มเหลวและมีปัญหา คิดอย่างไร
ทุกคนอยากได้รัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการในยุโรปประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากขบวนการแรงงานในยุโรปมีความเข้มแข็ง อีกอย่างยุโรปก็กอบโกยความมั่งคั่งจากอาณานิคมไปมาก จนมีพื้นฐานความมั่งคั่งในการจัดทำรัฐสวัสดิการ ฉะนั้น เราจึงต้องกลับไปมองการเมืองที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขบวนการแรงงานมีอำนาจต่อรองทางการเมือง การประนีประนอมระหว่างชนชั้นจึงทำให้สามารถสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ เพราะชนชั้นนำก็เกรงจะเกิดการปฏิวัติอย่างรัสเซีย จึงสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาเพื่อบรรเทาความไม่พอใจของชนชั้นแรงงาน ฉะนั้น ยุโรปจึงเป็นพื้นที่เดียวที่ประสบความสำเร็จในเรื่องรัฐสวัสดิการ แม้ตอนนี้จะเริ่มประสบปัญหาบ้างแล้วก็ตาม

ในรัฐสวัสดิการนั้น รัฐจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งหลาย ๆ ประเทศพยายามลดสวัสดิการลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ได้ขยายตัวในภาคการผลิตที่แท้จริงอีกต่อไป แต่ความมั่งคั่งไปกองรวมอยู่ที่ภาคการเงิน การเก็งกำไรทางการเงิน อย่างตลาดหุ้นซึ่งมีการขยายตัวสูง ส่วนภาคการผลิตมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา

ดังนั้น การที่ทีดีอาร์ไอเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการนั้น เป็นการสวนทางกับระบบเสรีนิยมใหม่ คงต้องตั้งคำถามว่า ทีดีอาร์ไอจะสวนกระแสอย่างไร จะเอาภาษีจากไหน เมื่อเงินภาษีส่วนใหญ่ยังต้องเก็บจากภาคการผลิตจริง แต่ภาคการผลิตจริงในไทยมีภาวะหดตัวตามกระแสโลก ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ข้อเสนอเรื่องภาษีของทีดีอาร์ไอ ไม่กล่าวถึงการเก็บภาษีจากภาคการเงินและการเก็งกำไรทางการเงิน แต่ไปขยายฐานภาษีในกลุ่มคนทำมาหากินหรือกลุ่มคนทั่วไปมากกว่า
ประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยพูดเลยก็คือ ในขณะที่พวกเขาเอาแต่ด่าทักษิณเรื่องขายหุ้นไม่เสียภาษี ทำไมไม่คิดว่านั่นคือช่องโหว่ของกฎหมาย เราต้องแก้กฎหมายสิ เช่น กำหนดไปว่าถ้าคุณขายหุ้นเกิน 50 ล้านขึ้นไป คุณต้องเสียภาษี 0.05% อะไรก็ว่ากันไป กฎหมายเดิมที่ทักษิณฉวยใช้ประโยชน์นั้น ตราขึ้นมาในสมัยที่ตลาดหุ้นยังเล็กและเราต้องการส่งเสริมตลาดหุ้น แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นโตแล้ว เราก็ควรแก้ไขกฎหมายใหม่ให้เหมาะสม ไม่ใช่ทักษิณคนเดียวที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ เจ้าของบริษัทโทรคมนาคมอื่นก็ได้เช่นกัน ในเมื่อเขาได้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย ก็ต้องถือว่ายกประโยชน์ไป แต่เราสามารถแก้ไขกฎหมายให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นได้ รวมทั้งขยายรายได้ของรัฐและลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรไปในตัว แต่เรื่องนี้ทีดีอาร์ไอไม่เคยพูดถึงเลย

รัฐสวัสดิการแตกต่างจากประชานิยมอย่างไร
รัฐสวัสดิการกับประชานิยมต่างกันคือ รัฐสวัสดิการส่วนใหญ่เป็นการให้สวัสดิการอย่างเท่าเทียมกันถ้วนหน้า ไม่แบ่งชนชั้น ไม่แบ่งฐานะ ส่วนประชานิยมจะเน้นการให้คนที่มีความลำบากก่อนและจัดสรรให้ในรูปแบบให้ความช่วยเหลือ สังคมสงเคราะห์ และบางเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่นเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อย่างคนไม่มีที่อยู่อาศัย ก็ต้องเข้าไปช่วยเชิงสังคมสงเคราะห์ ซึ่งตนเองเห็นว่าในประเทศไทยนั้น คณะกรรมการปฏิรูปฯ อาจจะต้องทบทวนในเรื่องนี้ให้มากๆ ก่อนที่จะเดินหน้า เพราะประเทศเรานั้นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยต่างกันมาก บางทีประชานิยมก็อาจมีความจำเป็นในขณะที่คนบางกลุ่มยังมีความต้องการการสนับสนุนในเรื่องพื้นฐาน และไม่ควรมองประชานิยมในด้านเลวร้ายไปทั้งหมด

หลังจากนี้มองทิศทางการเมืองในประเทศไทยอย่างไร เราจะอยู่กันอย่างไร?
ที่ผ่านมาเราคิดเสมอว่าเขาไม่กล้าฆ่าคนที่ราชประสงค์ แต่เขาก็ทำมาแล้ว ทำได้โดยมีใบอนุญาตฆ่าด้วย ฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่ากลไก เครื่องมือของรัฐบาล ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เราก็ไม่ควรประเมินรัฐบาลต่ำเกินไป
รัฐบาลหรือชนชั้นนำเองน่าจะถูกแรงกดดันจากต่างประเทศเยอะ เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นนำเรื่องนักข่าวเสียชีวิตเข้าไปคุยในรัฐสภา มีการพูดถึงเรื่องการตัดเงินช่วยเหลือต่อประเทศไทย มันก็น่าจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านศักดิ์ศรีหน้าตาของชนชั้นนำ ปัญหาก็คือ เราไม่สามารถประเมินได้ถึงแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลไทยว่าจะนำไปสู่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจในสถาบันสูงสุดด้วย ปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือประชาชน ซึ่งยังมีความเคลื่อนไหว ยังไม่กลัวเหมือนที่รัฐบาลคิดว่าประชาชนจะกลัว บอกตามตรงก็คือ เราก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยังใช้อำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ประชาชนที่อยู่ตรงกลางมีความคิดเห็นเอียงมาทางคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน และรัฐบาลก็พยายามปรับเปลี่ยนท่าทีหลายเรื่อง เช่น กรณีเอ็นบีทีพยายามปรับโครงสร้างผังรายการ โดยเปิดให้มีพื้นที่ของเสื้อแดงมากขึ้น

กระแสต่างประเทศต่อรัฐบาลไทย
รัฐบาลไทยขาดความชอบธรรม ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศไม่ได้ชอบรัฐบาลทักษิณ และขณะเดียวกันก็ไม่ชอบรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มีความชอบธรรมในสื่อต่างประเทศมากนัก

ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น เขาค่อนข้างพอใจโครงสร้างชนชั้นนำปัจจุบันของไทย เพราะเขาได้ประโยชน์ เขาไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้นำ หรือเป็นประมุขประเทศ เขาต้องการเพียงว่าขอให้ไทยยึดมั่นอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ แต่หากไทยปิดประเทศอย่างประเทศพม่าจริง ๆ เขาคงไม่พอใจ สหรัฐฯ ต้องการเสถียรภาพทางการเมืองด้วย เพราะหากรัฐไทยเป็นเผด็จการเต็มตัวแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเกิดแรงต้านและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ระบบทุนนิยมต้องการความมีเสถียรภาพ เพื่อมั่นใจว่าเขาสามารถนำผลตอบแทนจากการลงทุนกลับไปได้

เราควรเริ่มต้นอย่างไร หรือมีแนวทางที่ต่างออกไปจากปัจจุบันอย่างไร
ลองย้อนกลับไปสมัยพันธมิตรฯ มีหลายคนมองว่า หากไม่รีบเอาทักษิณออกจากตำแหน่ง เขาจะสร้างความพินาศต่อประเทศเหมือนอาร์เจนตินา แต่เราลองมองดูประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีจอร์จ บุช สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมหาศาล ทั้งนโยบายที่ลดข้อบังคับทางการเงินจนกระทั่งเกิดปัญหาการเงิน การเก็งกำไรทางการเงิน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมา ภาพพจน์ของสหรัฐฯ ก็ตกต่ำในการทำสงครามกับอิรัก เป็นต้น แต่ก็ไม่เห็นว่าประชาชนอเมริกันจะออกมาเรียกเพนตากอนให้ไล่บุชออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าอย่างไร เขารักษากติกาไว้ แม้ประชาชนครึ่งประเทศจะไม่ชอบตัวบุคคลที่เข้ามาบริหารประเทศก็ตาม การรักษากติกาเช่นนี้เป็นผลทำให้ประเทศเกิดเสถียรภาพในระดับหนึ่ง และสามารถค่อย ๆ แก้ไขปัญหาของประเทศไปได้อย่างไม่แตกแยก ในการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันหลายครั้ง ประมาณร้อยละ 50 ชอบบุช และอีกร้อยละ 50 ไม่ชอบบุช ครึ่งต่อครึ่ง แต่เขาไม่ได้แยกเหลืองกับแดง เพราะเขายึดถือกติกา ฉะนั้น หากเรายึดในกติกา ประเทศก็จะไปได้รอด ถ้าภายใต้กติกาที่ตกลงร่วมกัน มันได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราไม่ชอบ เราก็ต้องปกป้องผลลัพธ์นั้นเอาไว้ เพื่อรักษากติกาไว้ก่อน

วันนี้เราเห็นใจการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่หากในอนาคต คนเสื้อแดงเลือกในสิ่งที่เราไม่ชอบ เราไม่เห็นด้วย ตัวเราจะเปลี่ยนไปและต้องการทำลายเขาหรือไม่ เหมือนอย่างที่พวกเอ็นจีโอที่เป็นฝ่ายพันธมิตรฯ ได้ทำไปแล้ว เมื่อประชาชนไม่เป็นอย่างที่เขาต้องการ เขาก็ตัดสินว่ากลุ่มคนพวกนี้ไม่ใช่ประชาชน แล้วก็ออกใบอนุญาตฆ่า เรียกกองทัพออกมาฆ่าทิ้ง พอกองทัพออกมา มันก็เกิดปัญหาขึ้นแน่นอน เพราะมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งระบบเผด็จการ ระบบอำนาจนิยมที่ปลุกกันขึ้นมา เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วย ต่อไปข้างหน้า เราจะรักษากติกา เราจะปกป้องผลลัพธ์ที่เราไม่ชอบ เราจะรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกง่าย ๆ อีกต่อไป เราจะทำได้หรือเปล่า

เอ็นจีโอพยายามอธิบายว่าต้องทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง เพราะการเมืองในระบบเป็นเรื่องของนักการเมืองที่ล้วนแล้วแต่มีปัญหา
ปัญหาของประชาชนที่เอ็นจีโอทำงานอยู่นั้น อย่างไรเสียก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐและนักการเมือง หากไม่นำไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาระดับชาติได้ เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาสาธารณสุข ภาคประชาชนไม่สามารถจัดการปัญหาที่ใหญ่เกินตัวพวกนี้ ถึงอย่างไรเราก็ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดให้ สมมติเช่น คุณทำชุมชนเข้มแข็ง พอเพียง รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่บริโภคนิยม แต่ลูกหลานของคนในชุมชนก็ต้องไปเรียนหนังสือในโรงเรียนอยู่ดี แล้วถ้าโรงเรียนมันสอนแต่การเตรียมคนให้ออกไปเป็นแรงงานในระบบทุนนิยมล่ะ? เรื่องบางเรื่องก็ต้องแก้กันด้วยการเมืองระดับชาติ แก้กันที่ชุมชนอย่างเดียวไม่ได้

นักการเมืองจะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่ว่าประชาชนเลือกมาแล้ว กดดันคนที่เลือกมาได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว ประชาชนสามารถกดดันนักการเมืองเหล่านี้ให้ทำตามเจตจำนงของประชาชนได้หรือไม่ การกระจายอำนาจที่แท้จริงนั้นต้องเปิดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้งในทุกระดับ อย่างในระดับจังหวัด อำเภอ ควรจะมีได้แล้วก็ยังไม่มี นักการเมืองดีหรือเลวไม่สำคัญ ที่สำคัญคือประชาชนต้องมีอำนาจในการกดดัน ในการตรวจสอบ การสร้างขบวนการประชาชน การสร้างองค์กรประชาชนในทุกระดับนั้น เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ เพื่อให้สามารถมีอำนาจต่อรองและกดดันรัฐได้

ขณะนี้มีความเห็นของภาคประชาชนจำนวนมากพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยบอกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจรัฐที่ก่อปัญหาอยู่ในทุกวันนี้
ก็เห็นด้วย แต่ก็ยังเห็นว่าต้องพูดถึงการเลือกตั้งในทุกระดับอยู่ดี ไม่ใช่การแยกตัวออกทำเฉพาะท้องถิ่นไม่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ถ้าจะให้ประชาชนสามารถกำหนดนโยบายท้องถิ่น เขาก็ต้องมีสิทธิการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดก่อน การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง การเลือกตั้งในทุกระดับสามารถช่วยการเลือกตั้งในระดับชาติได้อีกด้วย เช่น ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีในประเทศสหรัฐฯ มักจะมาจากนักการเมืองท้องถิ่น คือเป็นผู้ว่าการรัฐก่อน ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการบริหารนั่นเอง ไม่เหมือนอย่างอภิสิทธิ์ที่เกิดมาไม่เคยทำงานบริหารอะไรเลย อยู่ดี ๆ ก็มาเป็นนายกฯ การเลือกตั้งระดับจังหวัดจะเป็นสนามฝึกนักการเมืองในการบริหารงานได้เป็นอย่างดี

 

....................................
หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกที่สำนักข่าวประชาธรรม http://www.prachatham.com/detail.htm?code=i1_25082010_01

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมียวิคเตอร์ บูต แถลงบทสนทนาศิริโชคคุยสามี ถามวิธีดักจับเครื่องบินส่วนตัว (มีไฟล์เสียง)

Posted: 27 Aug 2010 10:23 AM PDT

นางเอลลา บูต ภรรยาของนายวิคเตอร์ บูต ผู้ถูกจับกุมในคดีค้าอาวุธและเพิ่งถูกศาลอุทธรณ์ไทยพิพากษาให้ส่งตัวให้กับทางการสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แถลงชี้แจงบทสนทนาระหว่างนายศิริโชคกับสามี ระบุถูกถามวิธีดักจับเครื่องบินส่วนตัวและถามทักษิณป่วยจริงไหม

เวลา 16.30 น. 27 ส.ค. 2553 นางเอลลา บูต ภรรยาของนายวิคเตอร์ บูต ผู้ถูกจับกุมในคดีค้าอาวุธและเพิ่งถูกศาลอุทธรณ์ไทยพิพากษาให้ส่งตัวให้กับทางการสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย อาคารมณียา เพลินจิตถึงบทสนทนาระหว่างสามี และนายศิริโชค โสภา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าไปพบที่เรือนจำ

โดยเธออ่านแถลงการณ์ของสามีซึ่งเขียนชี้แจงถึงบทสนทนาระหว่างสามีของเธอกับนายศิริโชค โสภา ว่า นายศิริโชคเข้าพบเขาเพื่อสอบถามในฐานะผู้เชี่ยวชาญ โดยระบุถึงกรณีเครื่องบินขนอาวุธของเกาหลีเหนือถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยขอข้อมูลถึงความเป็นไปได้ว่าเครื่องบินลำดังกล่าวอาจเป็นเครื่องบินที่อดีตนายกรัฐมนตรีใช้ในการขนอาวุธให้กับคนเสื้อแดง

นายวิคเตอร์ บูตระบุว่าเขาตอบไปว่าเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนั้นและเขาก็ไม่มีเจตจำนงที่จะให้น้ำหนักกับข้อสมมติฐานใดๆ

นายวิคเตอร์อ้างว่า นายศิริโชคยังโชว์รูปเครื่องบินส่วนตัวของ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และถามว่าจะดักจับเครื่องบินชนิดนี้ได้อย่างไร และจะจับทักษิณ ชินวัตรได้อย่างไร ซึ่งนายวิคเตอร์ บูต ตอบว่าเขาตอบไม่ได้ และแนะนำนายศิริโชคว่าควรถามจากสายการบินสหรัฐดีกว่า เพราะทะเบียนเครื่องบินลำดังกล่าวมาจากอเมริกา

“นายศิริโชคยังถามด้วยว่า มีเคจีบีอยู่กี่คนในกรุงเทพฯ และพวกเขาทำอะไรอยู่ ซึ่งผมตอบว่าไม่มีวิธีติดต่อกับพวกเขา”

นอกจากนี้ นายวิคเตอร์ยังระบุด้วยว่า นายศิริโชคถามเขาว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณนั้นป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งเขาได้แต่ตอบว่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสุขภาพของทักษิณ

สำหรับบรรยากาศในการแถลงข่าววันนี้ มีสื่อไทยและต่างประเทศเข้าฟังจำนวนมาก โดยภรรยาของนายวิคเตอร์ บูต แถลงเป็นภาษารัสเซียผ่านล่ามภาษาอังกฤษและแถลงการณ์ดังกล่าวเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังเป็นระยะๆ (ดาวน์โหลดไฟล์เสียงด้านล่าง)

ดาวน์โหลดไฟล์เสียงประกอบ: 2010-08-28-Bout.mp3

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคฝ่ายนิยมประชาธิปไตยในพม่า เลี่ยงส่งผู้สมัครซ้ำเขตกัน

Posted: 26 Aug 2010 02:58 PM PDT

"เว็บไซต์อิระวดี" รายงานว่า หลายพรรคการเมืองฝ่าย "นิยมประชาธิปไตย" ในพม่า ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะหลีกเลี่ยงการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเขตเดียวกัน ในการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า 7 พ.ย. นี้

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา "เว็บไซต์อิระวดี" ซึ่งเป็นสำนักข่าวพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย ได้รายงานว่า นางชอชอจ่อนิ้น (Cho Cho Kyaw Nyein) แกนนำพรรคประชาธิปไตย (พม่า) (Democratic Party (Myanmar) ) หรือ DP ให้สัมภาษณ์ว่าได้เจรจากับพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force) หรือ NDF ว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงเขตเดียวกัน โดยระบุว่ามีข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ พรรค DP จะส่งผู้สมัครลง 80 เขต ส่วนหัวหน้าพรรคคือตูเว (Thu Wai) จะลงในเขตมิงกะละ ตอง ยุ้นต์ (Mingalar Taung Nyunt) ในย่างกุ้ง

นางชอชอจ่อนิ้น ยังกล่าวด้วยว่า "พรรคการเมืองที่นิยมประชาธิปไตยที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นพี่ชายและน้องสาวกัน พวกเราต่างมีเป้าหมายร่วมกัน และพยายามที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่เราไม่มีเวลาพอที่จะจัดการประชมในเวลานี้ พวกเรายุ่งยากมากในการเตรียมรายชื่อผู้สมัคร"

สำหรับพรรค DP เคยได้รับการเลือกตั้ง 1 ที่ ในการเลือกตั้งปี 1990 เป็นที่ทราบในพม่าว่าพรรคนี้เป็นที่รวมของผู้ได้รับฉายา "สามเจ้าหญิง" คือนาง ถั่นถั่นนุ (Than Than) ชอชอจ่อนิ้น (Cho Cho Kyaw Nyein) และ เนยีบ่าส่วย (Nay Yi Ba Swe) ทั้งสามเป็นบุตรีของผู้นำขบวนการสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People’s Freedom League) หรือ "AFPFL" หรือ "ซะซะปะละ" โดยขบวนการนี้ก่อตั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนโยบายขับไล่ญี่ปุ่นและเรียกร้องเอกราชให้พม่า หลังได้รับเอกราชกลุ่มนี้ได้บริหารประเทศหลังจากพม่าได้รับเอกราช จนถึง พ.ศ. 2505 จึงถูกนายพลเนวินทำรัฐประหาร

ล่าสุด มีพรรคการเมืองทั้งหมด 47 พรรคลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมี 42 พรรคที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ขาดงบประมาณและกำลังคนในการดำเนินงาน โดยนักการเมืองจำนวนมากกล่าวว่าวางแผนจะใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้การรณรงค์การเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าให้เวลาส่งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่าง 16 - 30 ส.ค. นี้

ด้านผู้นำพรรค NDF นายขิ่นหม่องส่วย (Khin Maung Swe) กล่าวว่า ในช่วงเวลาส่งรายชื่อผู้สมัคร 2 สัปดาห์นี้ พรรคยังจะต้องวางแผนไปเจรจากับพรรคการเมืองอื่นด้วย

นายเถ่ง ติน อ่อง (Thein Tin Aung) เลขาธิการพรรคสหภาพประชาธิปไตย (Union Democratic Party) หรือ "UDP" ให้สัมภาษณ์กับ "อิระวดี" เมื่อ 26 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า พรรค NDF จะไม่ลงแข่งใน 3 เขต ที่พรรค UDP ลงแข่ง ซึ่งทางพรรคตกลงกับผู้นำพรรค NDF ไว้แล้ว ส่วนประธานพรรค UDP รองประธาน และเลขาธิการกลาง จะลงในเขตพะโค ภาคพะโค และเขตเหล่ง ทะยาร์ และ ทะมะเว ในย่างกุ้ง ตามลำดับ

เลขาธิการพรรค UDP กล่าวว่า วางแผนที่จะส่งผู้สมัครราว 10 - 50 คน แต่สภาพทางการเมืองน่าจะทำให้ส่งผู้สมัครได้แค่ 3 คน

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ เป็นการเลือกตั้ง 3 ระดับ ได้แก่ สภาประชาชน (สภาผู้แทนราษฎร) 330 ที่นั่ง จากทั้งหมด 440 ที่นั่ง โดยอีก 110 ที่นั่งมาจากแต่งตั้งของทหาร สภาแห่งชาติ (วุฒิสภา) มีการเลือกตั้ง 168 ที่นั่ง จาก 224 ที่นั่ง โดยอีก 56 ที่นั่ง มาจากการแต่งตั้งของทหาร และการเลือกตั้งระดับสภาท้องถิ่น 7 รัฐ และ 7 ภาคทั่วพม่า รวม 689 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party) หรือ USDP ของนายกรัฐมนตรีเตงเส่ง (Thein Sein) และ 26 รัฐมนตรีที่เป็นนายทหาร จะลงแข่งในทุกเขตเลือกตั้ง

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Pro-democracy Parties to Avoid Clash, By KO HTWE, Irrawaddy, Thursday, August 26, 2010
http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=19315

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น