โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

พระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2554

Posted: 31 Dec 2010 10:34 AM PST

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2554 ดังนี้

ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา

ความปรารถนาของทุกคน คงไม่แตกต่างกันนัก คือต้องการให้ตนเอง มีความสุขความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ ทุกคนทุกฝ่าย จะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญ​มั่นคง ให้แก่ตนแก่ประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการให้สำเร็จผลได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน

นอกจากนี้ ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช 2554 นี้เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีครีมผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนคไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้าง มีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลายสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้ว ขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือคุณทองแดง ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย

ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็น ผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบ และดอกไฮเดรนเยีย หลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกันด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้าน มีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่

มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษร สีเหลืองข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011

ด้าน ล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 121923 ธค. 53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร , ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Buramaputra, Publisher

กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้า มีแต่รอยยิ้ม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยอีนิวส์สัมภาษณ์ "อานนท์ นำภา" ทนายคนเสื้อแดง

Posted: 31 Dec 2010 05:08 AM PST

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 ไทยอีนิวส์ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์อานนท์ นำภา ทนายความที่ช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาคดีการเมืองกรณี 19 พฤษภาคม และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในทุกแง่มุมที่ผู้รักคววามเป็นธรรมอยากจะรู้ เช่น เข้ามาเกี่ยวข้องคดีต้องห้ามในวงการทนายนี้ได้อย่างไร ใครให้เงินมาว่าความ ทักษิณให้เงินไหม? ความหนักเบายากง่ายในคดีประเภทนี้ และอนาคตลูกความของเขา..พวกเขาที่อุทิศตัวต่อสู้และไปติดคุกแทนพวกเราๆ ที่ยังเป็นอิสรชนอยู่นอกกำแพงคุก และกำลังเพลิดเพลินฉลองปีใหม่อยู่ในเวลานี้

 


อานนท์ นำภา

Q : อยากให้ทนายอานนท์ นำภา เล่าให้ฟังความเป็นไปเป็นมาที่ได้มาเกี่ยวข้องกับคดีการเมืองด้วยว่า มีจุดเริ่มต้นจากไหน

A : เรื่องนี้ต้องเริ่มจากตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ จริงๆ ตอนที่ผมสอบเอ็นทรานซ์ ผมเลือกลงคณะนิติศาสตร์เป็นอันดับแรก แต่มันคะแนนสอบไม่ถึง เลยจับพลัดจับผลู ไปเรียนสังคมวิทยาฯที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรียนได้แค่เทอมเดียวก็ต้องออก เพราะรู้ว่าตนเองชอบเรียนกฎหมายมากกว่า จึงออกมาเรียนกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ช่วงที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียน และเข้าไปทำกิจกรรมกับเพื่อนที่ธรรมศาสตร์นี่แหละ ที่ได้มีโอกาสได้รู้จักกับคนในวงการกิจกรรมนักศึกษา เช่น พี่โชติศักดิ์ (ที่ถูกดำเนินคดีไม่ยืนในโรงหนัง) พี่สงกรานต์ และรู้จักเพื่อนๆอีกหลายคน

ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่ สมัยเรียนมหาลัย เราเป็นน้องใหม่ก็ได้ซึมซับมาด้วย และตอนเรียนที่รามฯก็มีโอกาสได้ออกค่ายบ่อยๆ ทำให้เห็นปัญหาสังคมมากขึ้น รวมทั้งก็ได้ร่วมขบวนชุมนุมของชาวบ้านหลายๆที่

กระทั่งเรียนจบที่ รามฯสามปี ก็ฝึกงานที่ออฟฟิศกฎหมายที่ทำคดีทางสังคม เช่น คดีชาวบ้านที่จ.ประจวบฯ ,จ.สระบุรี , คดีท่อแก๊ซไทย – มาเลเซีย และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคดี

เหตุการณ์มาพลิกผันเข้าสู่การทำคดีการเมืองอย่างจริงจังก็ตอน ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก ยังเป็นน้องเล็ก(นักกิจกรรมรุ่นเล็ก) ก็ได้ไปประชุมกับพี่ๆ และเริ่มจัดตั้งกลุ่ม “ เครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมหลายๆรุ่น

เช่น พี่หนูหริ่ง(สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด) พี่อุเชนทร์ เชียงแสน (อดีตเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย-สนนท.) พี่โฉด (โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีไม่ยืนในโรงหนัง) รวมทั้งพี่ๆนักกิจกรรมเก่าๆอีกหลายคน

เดิมเราตั้งเวทีปราศัยในธรรมศาสตร์ และภายหลังก็มีการชุมนุมทุกวันอาทิตย์ และย้ายมาชุมนุมต้านการรัฐประหารที่สนามหลวงในเวลาต่อมา

ตอนนั้นผมมีหน้าที่เขียนบทกวีขึ้นไปอ่านครับ อันนี้ก็เป็นกวีจำเป็นทำนองนั้น ( เรื่องประกอบ:อ่านบทกวีชื่อ เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้ามาสุดทาง )

ส่วนคนที่ขึ้นพูดบนเวทีก็จะเป็นรุ่นใหญ่บ้าง กลางบ้าง เล็กบ้าน เช่น หมอเหวง โตจิราการ ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม-ฮาตะ พี่หนูหริ่ง และอีกหลายคน และหลังจากนั้น คดีการเมืองก็คืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตผมอย่างเป็นทางการ

Q : ได้ทำคดีการเมืองไปกี่คดีก่อนจะมีเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม มีคดีอะไรบ้าง ลองเล่าตัวคดีให้ฟังคร่าวๆ

A : ก่อน ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คดีส่วนใหญ่ที่ทำเป็นคดีชาวบ้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นหลัก

จริงๆ ต้องบอกว่าหัวหน้าออฟฟิศเป็นนักกฎหมายทางสังคม (พี่ทอม สุรชัย ตรงงาม) คดีเหล่านี้จึงได้รับการไว้วางใจให้ออฟฟิศผมทำเช่น คดีชาวบ้านที่ จ.ประจวบฯที่ค้านโรงถลุงเหล็ก ,ชาวบ้านที่สระบุรี ที่ต้านโรงไฟฟ้า และที่ จ.สงขลา ที่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐกลับในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตาม ม.๑๑๒ ที่ทำก็เช่น คดีนายสุวิชา ท่าค้อ , คดีเวบไซต์ประชาไท และเป็นคนช่วยดูคดีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง(กรณีไม่ยืนในโรงหนัง) และคดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ซึ่งแน่นอนว่าเรายังเป็นวัยรุ่นก็ช่วยเป็นตัวประสาน ที่ทำเป็นตัวหลัก็คดีนายสุวิชา ท่าค้อ และคดีประชาไท ส่วนคดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก็เป็นการร่วมงานกับทีมทนายอาวุโสของสภา ทนายความ

ส่วนคดี นายโชติศักดิ์ ต้องบออกว่าเป็นคดีรุ่นพี่ที่รู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่เรียนมหาลัย คร่าวๆ น่าจะประมาณนี้

อ้อ ยังมีคดีของสหภาพแรงงานไทรอั้มพ์ของ พี่หนิง (จิตรา คชเดช) อีกคดี ซึ่งเป็นคดีที่สหภาพไปชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่โดนข้อหา ชุมนุมมั่วสุม และถูกสลายการชุมนุมโดยเครื่องแอลแลต (เครื่องทำลายประสาทหู) อันนี้รับผิดชอบหลัก แต่ก็ยังไม่ได้ขึ้นศาล ขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการ

Q : คดีการเมืองที่มาทำในกรณี19พฤษภาคม ทำกี่คดี ที่ไหนบ้าง หากสะดวกช่วยเล่าทีละกรณีให้ฟังด้วยก็ดีว่า แต่ละคดีเป็นอย่างไร ตั้งแต่ตัวความ โดนคดีแบบไหน เจอเหตุการณ์อะไรบ้าง

A : ต้องเริ่มจากตอนที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ และมีการปิดเว็ปไซท์ประชาไทในวันรุ่งขึ้น ผมกับพี่ที่ออฟฟิศก็งานเข้า เราได้ฟ้อง นายกรัฐมนตรีกับ ศอฉ. ต่อศาลแพ่งให้เปิดเว็ปประชาไท ซึ่งคดีอยู่ศาลอุทธรณ์ในขณะนี้

ต่อมาภายหลังจากมีการสลายการชุมนุม รัฐบาลได้ดำเนินการจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และคนเสื้อแดง ประเภทที่เรียกว่ากวาดจับก็ว่าได้ ซึ่งหลังเหตุการณื ๑๙ พฤษภาคม ใหม่ๆ ศอฉ. ได้จับและควบคุมตัวนักกิจกรรมคือ พี่หนูหริ่งไปควบคุมตัวที่ค่ายตชด. คลอง ๕ จังหวัดปทุทธานี

ซึ่งตอนนั้นเองพี่หนูหริ่งก็มิ ได้เป็นที่รู้จักของคนเสื้อแดงเลย ผมกับพี่ๆ อดีตนักกิจกรรมได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นทนายความให้พี่แก ๒ คดี คือคดีชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย

อันนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำคดีแกนนำเลย ที่เราเข้าไปตอนแรกๆ ก็เพราะพี่หนูหริ่งเป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกัน แต่ภายหลังแกมีบทบาทนำมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่าผมกับพี่ๆ เพื่อน ๆ ทำคดีแกนนำไปโดยปริยาย

อีกคดีอันนี้ตลก แบบเศร้า ๆ เป็นคดีลุงบัง ลุงบังถูกควบคุมตัวเข้ามาที่ค่ายเดียวกับพี่หนูหริ่งไล่เลี่ยกัน แกไม่มีคนรู้จักและมมีคนไปเยี่ยมเลย

พี่หนูหริ่งอีกนั่นแหละที่ขอให้เราช่วยเหลือแก คือแกน่าสงสารมาก เราเลยให้ความช่วยเหลือโดยยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัว แต่พระเจ้า ต่อมาภายหลังแกถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๑๙ ในคดีก่อการร้าย คดีเดียวกับแกนนำเสื้อแดง ก็เลยทำให้เราต้องเข้าไปทำคดีเดียวกับแกนนำโดยปริยาย

ซึ่งสองคดีนี้แหละที่เป็นเหมือนประตูของการเข้ามาทำคดีของคนเสื้อแดงอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นที่รู้จักโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ประการใด

แต่ต้องบอกว่าที่มาทำไม่ได้ในฐานะทนายอะไรหรอกครับ แต่ผมเห็นด้วยกับพี่หนูหริ่งต่างหาก และเห็นด้วยกับการชุมนุมและการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงด้วย

ต่อมาก็ลงพื้นที่ไปจ.อุบลฯ โดยไปเก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้น ซึ่งภายหลังทนายความในพื้นที่ก็รับไปทำต่อ

แล้วเราก็ได้รับการประสานให้ลงพื้นที่ที่ จ.มุกดาหาร เพราะได้ข่าวว่าทนายความเดิมที่นั่นไม่เวิร์ค ก็เป็นไปตามที่คาด ภายหลังจากทนายความคนเดิมที่มุกดาหารถอนตัวออก เราก็เลยเข้าไปทำอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ไปสอบข้อเท็จจริงเรียงคดี ซึ่งมีจำเลยกว่า ยี่สิบคน

คดีก็ยุ่งยากมากเพราะต้องทำงานประสานกับหลายฝ่าย และนอกจากงานคดีแล้ว เรายังได้ลงปูเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของจำเลยแต่ละคนด้วย เรียกว่าลงไปคลุกคลีกับเขาเลยทีเดียว

ที่มุกดาหารนี้มีความน่าสนใจตรงที่ชาวบ้านที่นี่เป็นเสื้อแดงแท้ครับ ประเภท “ไม่ได้จ้าง กูมาเอง” เลยทีเดียว แต่ที่เป็นปัญหาคือ ชาวบ้านที่นี่มีฐานะยากจน หลักประกันไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลยครับ เราในฐานะทนายความก็ต้องหาเงินไปเช่าหลักประกันให้ ก็หยิบยืมกันมาเป้นส่วนตัวหละครับ

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนเสื้อแดงเป็นอย่างดีอีกเช่นเคย จนเราสามารถประกันตัวจำเลยคดีเผาศาลากลางออกมาได้ถึง ๓ คน ซึ่งจังหวัดอื่นไม่สามารถประกันได้

และที่เรารู้สึก ผูกพันกับชาวบ้านเสื้อแดงที่นี่คือ เราได้เข้ามาสัมผัสถึงความยากลำบากแบบ “ดราม่า” ของที่นี่ ประเภทตามไปดูบ้านของจำเลยทั้ง ๒๐ คนเลยทีเดียว ซึ่งมีน้องทนายคนนึงถึงกับบอกว่า “เหลือแค่กวาดบ้านให้เท่านั้นหละพี่”

อันนี้มีเรื่องจะเล่าให้ฟังนิดนึงครับ คือเคสของนายวินัย เรื่องมันมีอยู่ว่า ทางทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยที่ป่วยไปทำการรักษาที่โรง พยาบาล แต่ศาลก็ไม่ได้อนุญาต จนเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องทำการส่งไปเสียเอง ผมกับน้องทนายความอีกสองคนก็ตามไปดูที่เรือนจำ ปรากฎว่า พอไปถึงเรือนจำ ได้มีจำเลยอีกคนนึง “กินน้ำยาปรับผ้านุ่ม” เพื่อฆ่าตัวตาย คือนายวินัยนี่เองครับ ประเภทพอเราไปถึงก็นอนกองที่พื้นแล้ว เลยพากันนำตัวขึ้นรถพยายบาลไปที่โรงพยาบาล ดีที่แพทย์ช่วยชีวิตไว้ทัน

ขณะอยู่ที่โรงบาลได้มีโอกาสพูดคุย จึงรู้ว่า แกตั้งใจฆ่าตัวตายในวันเกิดของลูกสาวแก คือเรื่องนี้มันดราม่ามากๆ ก็อีกนั่นแหละครับ เราก็เลยพากันซื้อเค้กวันเกิดไปให้ลูกสาวแกเป่าในโรงพยาบาล รายละเอียดของเรื่องนี้ผมขอเล่าให้ฟังในครั้งหน้านะครับ

คดีต่อมาที่ผมรับผิดชอบอยู่ คือ คดีขัดพรก. ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คดีรองเท้าแตะ อันนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไปตีความเรื่องวัตุถุที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไปถึงขนาดห้ามไม่ให้ขายรองเท้าแตะที่มีภาพใบหน้าของนายกฯและนายสุเทพ คดีนี้อยู่ระหว่างชั้นพนักงานอัยการ

ที่จังหวัดเชีบงใหม่และเชียงรายเราก็ได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือเหมือนกัน เช่น ที่เชียงใหม่ได้เข้าเยี่ยมจำเลยและให้ความช่วยเหลือครอบครัวจำเลย

โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย เราได้ให้ความช่วยเหลืออยู่ ๓ คดี คือคดีที่นักเรียน นักศึกษา ชูป้าย ๕ คน ตามที่เป็นข่าว ซึ่งคดีจบไปแล้วโดยตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคดีที่มีนักเรียนไปขายรองเท้าแตะหน้านายกฯกับสุเทพ ซึ่งคดีอยู่ในชั้นสอบสวนของพนักงานตำรวจ และสุดท้ายคดี เผายางรถยนต์ที่เกาะกลางถนน อีกหนึ่งคดี

ส่วนในกรุงเทพฯ นอกจากคดีพี่หนูหริ่ง และคดีลุงบังแล้ว ภายหลังจากที่เราเข้าเยี่ยมจำเลยในเรือนจำปรากฎว่า มีจำเลยคดีต้องหาว่าเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และปล้นทรัพย์แจ้งความประสงค์มายังเราให้เราไปช่วยคดีอีกเป็นจำนวน ๙ คน ในคดีนี้

Q : นอกจากคดีการเมือง 19 พฤษภาคมแล้ว ได้ทราบว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ทะลักมาหา?

A : คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็มีอยู่หลายคดีที่ผมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น คดี ประชาไท ( ทำเป็นคณะทำงานใหญ่), คดีพี่หนุ่ม เมืองนนท์ ( ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดม )ที่ ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน และเป็นผู้ดูแลเว็บ นปช.ยูเอสเอ คดีนี้สืบพยานในเดือนกุมภาพันธ์หน้า , คดีพี่หมี สุริยันต์ กกเปือย ที่โทรศัพท์ไปขู่วางระเบิดศิริราช คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกัน , คดีพี่ คธา จำเลยคดีที่โพสข้อความเกี่ยวกับพระอาการประชวร แล้วถูกกล่าวหาว่าทำให้หุ้นตก คดีนี้อยู่ชั้นอัยการ ,คดีลุง อากง ที่ส่งเอสเอ็มเอสเข้ามือถือนายกฯ อันเป็นข้อความหมิ่นฯ คดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัว และอยู่ชั้นพนักงานอัยการ

คดีของคนเสื้อแดงนับวันก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีเสื้อแดงนะครับ ถ้าถามว่าทิศทางของคดีเป็นยังไง ผมต้องขอบอกว่าเป็นคดีการเมืองแทบทั้งสิ้น การทำคดีก็ต้องทำแบบคดีการเมืองด้วย และเราก็คงต้องสู้กันต่อไป

Q : มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้างในการช่วยว่าความ

A : ปัญหาแรกและเป็นปัญหาหลักคือ คดีมันเยอะ และเราต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นทนาย และทำหน้าที่คอยดูแลครอบครัวเขาด้วย กล่าวคือ นอกจากต้องเข้าเยี่ยม สอบข้อเท็จจริงจำเลยในเรือนจำแล้ว เรายังต้องดู และ หรืออย่างน้อยก็ดูแลครอบครัวของจำเลยด้วย

แรกๆตอนลง พื้นที่มักมีปัญหาจุดนี้ครับ คือ ครอบครัวของคนเลื้อแดงส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัดเป็นคนยากจน พอคนที่ถูกจับเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็เลยไปกันใหญ่

บางครอบครัวแทบไม่มีจะกิน จำนวนทนายความอาสาก็มีน้อย ก็ต้องช่วยๆกันไปเท่าที่ทำได้

ที่ผมทำเป็นหลักก็คือเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเขา คนเสื้อแดงต่างจังหวัดเวลาพูดมันเสียงไม่ดังครับ แต่ถ้าพูดผ่านปากทนายความมันก็จะดังขึ้น ( ดูfacebookทนายอานนท์ )

เวลาลงพื้นที่เสร็จ เราก็นำเอาความเดือดร้อนเหล่านั้นมาตีแผ่ และเป็นเหมือนคนส่งสาร ระหว่างคนเสื้อแดงต่างจังหวัดกับเสื้อแดงในเมือง

อย่างที่มุกดาหาร ก่อนที่เราลงไปก็ไม่ค่อยมีคนรู้ว่ามีคดีอะไรที่นั่น จนกระทั่งทีมทนายความ( อันประกอบด้วยผม น้องทนายอีกสองคน และเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของ ศปช.-ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 ) ลงไปในพื้นที่ จึงได้มีการนำเสนอสู่สังคมมากขึ้น

และถ้าพูดถึงเรื่องความยากลำบากของพี่น้องเสื้อแดงแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัวด้วย ชาวบ้านเข้าไม่มีหรอกครับหลักทรัพย์ประกันเป็นล้านเป็นแสนขนาดนั้น แค่ข้าวจะกรอกหม้อยังไม่มีเลย

ปัญหาประการที่สอง คือทนายในพื้นที่มีปัญหาในแนวสู้คดี และมีบางที่ไม่ได้ใส่ใจคดีชาวบ้านเสื้อแดงเท่าที่ควร มีกระทั่งเข้าไปแนะนำจำเลยในเรือนจำให้รับสารภาพ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันจะกระทบการสู้คดีของคนเสื้อแดงทั้งระบบ

แน่นอนว่าแม้แต่ส่วนกลางเอกก็มิได้เป็นเอกภาพเท่าที่ควร ยิ่งตอนหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ยังมั่วมากๆ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าร่องเข้ารอยแล้ว

อย่างที่ผมเรียนข้างต้น เราทำงานทางการเมืองกับสื่อกับชาวบ้านด้วย อันนี้เป็นงานที่เพิ่มขึ้นแต่ก็สำคัญและจำเป็น

และเมื่อทำมันอย่างจริงจัง มันก็ชักเริ่มจะสนุกกับมันมากกว่างานคดีเสียอีก เพราะมันถึงเนื้อถึงหนังดี แต่ก็ต้องถือว่าหนัก หากเราแบกรับทั้งสองบ่า แต่ยังยืนยันครับว่ามันมีความสุขจริงๆ

ปัญหาประการสุดท้ายเห็นจะอยู่ที่ตัวทนายความเองนั่นแหละ คือ ทนายอาสาทุกคนก็จะมีงานประจำของตัวเอง การทำงานจึงมักจะเป็นการใช้เวลาว่าง หรือเจียดเวลามาทำงานอาสากันเสียส่วนใหญ่ อันนี้ยกเว้นผมกับน้องอีกสองคนที่เข้ามาช่วยงานนะครับ เพราะผมเทเวลามาทำคดีของชาวบ้านเสื้อแดง และน้องสองคก็เพิ่งจบเนติฯ ยังไม่ได้บรรจุ หรือสอบที่ไหน

และนี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกออกจากงานเดิม เพื่อมาทำคดีชาวบ้านเสื้อแดงโดยเฉพาะ

Q : เรียนถามตรงๆว่าได้ค่าทนายความในการว่าความนจากใคร ตัวความ,ญาติ,พรรคเพื่อไทย,ส.ส.พื้นที่ หรือจากคุณทักษิณ

A : 555 พูดเรื่องค่าทนายเราไม่มีครับ เวลาลงพื้นที่ถ้าเป็นในกรุงเทพฯได้ค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยง ๕๐๐ บาท ถ้าออกต่างจังหวัดได้ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ๓ มื้อ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งตอนหลังมันต้องไปถี่และมีน้องทนายมาช่วยงานเพิ่ม จึงต้องลดลงเหลือ ๕๐๐ บาท/วัน

แต่อย่าไปคำนวนว่า วันละ ๕๐๐ เดือนนึงได้ ๑๕,๐๐๐ บาทนะครับ เพราะเราไม่ได้ทำงานกันทุกวัน มันก็ได้แต่วันที่ทำเท่านั้น บางที่ก็เดือนละ ๕- ๖ วัน ไอ้นั่งทำเอกสารที่ออฟฟิศนั้นไม่ได้นะครับ 555 แต่ก็เข้าใจได้ เพราะว่าต้องถือว่ามันเป็นงานอาสา

และอีกอย่าง ทนายอาสาทุกคนก็มิได้หวังจะมาร่ำรวยกับงานพวกนี้หรอก แต่อยากทำในเนื้องานจริงๆ ถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็คือ ถือว่าเราโชคดีที่เรียนมาทางกฎหมาย และได้นำสิ่งที่เราเรียนมามารับใช้ชาวบ้าน ( อารมณ์มันเป็นแบบ ฮีโร่ ของชาวบ้านนะครับ) ซึ่งนี่แหละที่เป็นเหมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเรามาโดยตลอด อันนี้พูดเผื่อไปถึงอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็นทนายแต่อาสามาช่วยงานนะครับ ต้องขอกราบหัวใจคนเหล่านี้เลยทีเดียว

ส่วนที่มาของเงินนั้น มาจาก ศปช. ครับ ซึ่ง ศปช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล และเผยแพร่ข่าวสารของคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฯ แต่อันนี้ก็ยังเกิดความไม่ค่อยแน่นอนในเรื่องการทำคดีเท่าไหร่ เพราะศูนย์ฯเองก้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ว่าจะทำคดีเป็นหลัก

ถ้าจะพูดกันจริงๆก้คือ งานคดีเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากความจำเป็นเฉพาะหน้าที่ต้องช่วยเหลือเท่านั้น งาน หลักของศูนย์ฯคืองานข้อมูลครับ โดยเฉพาะการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนที่มาของเงินมาจากการบริจาคของพี่น้องเสื้อแดงครับ เคยจัดคอนเสิร์ตที่ธรรมศาสตร์หาทุนหนนึง ได้มาหลักแสนมังครับ เทียบกับคณะกรรมการปฏิรุปที่รัฐบาลตั้งงบเป็นพันล้าน คนละเรื่องกันเลย

Q : มีทีมทนายอื่นๆอีกไหมนอกจากทนายอานนท์ที่ทำคดีพวกนี้ อย่างทนายคารม พลทะกลาง หรือทนายพวกเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

A : ทนายความเสื้อแดงผมขอแยกออกเป็น ๓ ส่วนครับ ส่วนแรกคือ ส่วนกลาง คือทนาย นปช.ซึ่งก็น่าจะเป็นทีมทนายของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละครับ อันนี้รับผิดชอบคดีส่วนกลาง

ส่วนที่สองคือ ทนายในพื้นที่ต่างจังหวัด อันนี้จะเป็นทนายความที่ ส.ส.ในพื้นที่จัดหา ซึ่งก็ได้รับเงินสนับสนุนจากส่วนกลาง ส่วนจำนวนผมไม่ทราบที่แน่นอน

และส่วนที่สามส่วนสุดท้ายคือ ทนายความอาสา ซึ่งก็น่าจะได้แก่ ศปช. คือพวกผมสามคน เป็นต้น

Q : ปัญหาอุปสรรคที่เจอในการทำคดีพวกนี้มีอะไรบ้าง

A : สำหรับผมไม่ค่อยมีครับ คงเพราะเราทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนอยู่แล้ว และมีทนายความที่ไม่สะดวกมาช่วยคดีเสื้อแดงเป็นที่ปรึกษาอีกทาง อีกอย่างก็ได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องเสื้อแดงเป็นอย่างดี

Q : มีโครงการหรือแผนการจะดำเนินการอย่างไรต่อไปข้างหน้า ในกรณีนักโทษการเมืองติดยาว หรือยังมีนักโทษทางความคิดอย่างคดีหมิ่นฯ หรือคดีทางการเมืองทะลักเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

A : ใจผม ผมอยากทำสำนักงานที่เป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เป็นชิ้นเป็นอัน จัด ระบบคดีให้สามารถเช็ค และให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และทั่วถึง โดยใช้ระบบทนายเครือข่าย และมีทนายความประจำ ๓ คน ทำหน้าที่ประสานงาน และเป็นเหมือนผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลา เพราะผมคิดว่าคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีเสื้อแดงยาวแน่ และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีหมิ่น ม.๑๑๒ ซึ่งจะว่าไปแล้วตอนนี้เองก็ถือว่าเยอะมาก

ที่สำคัญ แต่ละคดีก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทนายความเองก็ต้องหาตรงนั้นทีตรงนี้ที และคดีพวกนี้ก็ไม่ค่อยมีทนายความที่รับทำสักเท่าไหร่

หลังปีใหม่ผมตัดสินใจออกจากออฟฟิศเดิม เพื่อออกมาทำคดีให้เต็มที่ โดยที่ยังไม่ได้มีสำนักงานอะไรรองรับเป็นกิจลักษณะ คือได้เทหน้าตักแล้วก็ต้องทำให้ให้มันสุดๆ อะไรจะเกิดข้างหน้าก็ต้องยอมรับเพราะเราเลือกแล้ว แต่คงไม่ต้องบอกว่ามันเป็นอุดมกงอุดมการณ์อะไรหรอก ผมว่ามันก็เป็นเรื่องการสนุกในการทำงาน และเห็นว่างานที่ทำมันให้อะไรกับสังคม อีกอย่างก็อาจเป็นเพราะการโลดโผนของทนายความหนุ่มอายุแค่ ๒๖ ปีด้วยกระมัง 555

อย่างไรก็ตาม ผมก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่างานที่ทำมันมีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็เงินที่ซื้อข้าวใส่ปากนี่แหละ ผมคิดไว้ว่า ถ้ามีออฟฟิศ และมีทนายความประจำโดยมีเงินเดือนจำนวนนึง ก็น่าจะพอไปได้

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็คือ ออฟฟิศกับค่าตอบแทนทนายความ ออฟฟิศนั้นผมอาจพอหาได้แล้ว แต่ต้องใช้เงินปรับปรุงอีกสักเล็กน้อย ติดกระจกด้านหน้า ซื้อแอร์ และอุปกรณ์สำนักงานจำพวกโต๊ะทำงาน ตู้ เครื่องปริ๊นต์ถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่น่าจะเกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท

ค่าจัดการออฟฟิศต่อเดือนประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าตอบแทนทนายความ ๓ คน คือผม ๑๕,๐๐๐ บาท และน้องอีกสองคน คนละ ๑๒,๐๐๐ บาท รวม ๓๙,๐๐๐ บาท และค่าเดิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในคดีเช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเบี้ยเลี้ยงทนายความเครือข่ายที่เข้ามาทำคดี ทั้งปีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท

รวมจากเค้าโครงงานทั้งงานคดี และงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน่าจะอยู่ประมาณ ล้านเศษๆ

Q : ทางศปช.ก็ไม่น่ามีงบให้ จะไปหาแหล่งทุนยังไงมาทำศูนย์ช่วยเหลือคดีการเมือง คดีหมิ่นฯ

A : 555 อันนี้ก็ขำๆ นะครับ ในวงการนักกิจกรรมมักแซวกันว่า เราชอบคิดชอบทำชอบไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เขาไม่มีที่พึ่ง ครั้นพอจะมาพูดเรื่องว่าจะให้ใครมาช่วยให้เราได้ทำงานนี่ ไปไม่เป็น พูดไม่ออก คือมันเขินครับ พูดว่าจะไปขอทุนใครมาทำงานนี่จริงๆ เขิน

แน่นอนว่าเรื่องหาทำศูนย์ช่วยคดีฯนี่ผมไม่ได้คิดเรื่องเงินมาเป็นอันดับแรกครับ คิดว่าอยากช่วยคนที่เขาเดือดร้อนไร้ที่พึ่ง ทนายความโดยทั่วไปไม่มีใครอยากรับงานนี้ ต้องหาคนมีใจจริงๆ แต่ก็มีพี่สื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยหลายที่ รวมทั้งจากไทยอีนิวส์ก็ให้ความเห็นว่า ลองระดมทุนจากคนที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมที่พอมีกำลังจะช่วยดีไหม? ...ผมก็ว่าหากพวกพี่ๆ จะช่วยได้ก็ดี ก็จะทำให้งานที่เราอยากทำนั้น มันสะดวกขึ้น พอเลี้ยงตัวได้ ก็น่าจะดี

ซึ่งอันนี้ผมไม่ซีเรียสนะครับ เงินเดือนที่ตั้งไว้ผมหมื่นห้า น้องอีกสองคน คนละหมื่นสอง ก็สามารถปรับลดได้หากเห็นว่ามันสูงไป อย่าว่าแต่ลดเลย ขนาดไม่มีให้ก็ยังจะทำเลยครับ อันนี้เป็นคำสัญญาครับ คือผมก็ไม่แน่ใจเรื่องการระดมทุนสักเท่าไหร่ และเข้าใจว่าแต่ละท่านก็ช่วยเสื้อแดงมาพอสมควรแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้าเราเห็นถึงความจำเป็นเหมือนกัน ก็เป็นอันว่า ท่านลงตังค์ ผมกับน้องลงแรง ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

Q : อยากพูดถึงคดีการเมืองยังไงบ้าง เท่าที่ทำคดีมาพอสมควร และคดีนักโทษการเมืองเสื้อแดงก็ปาเข้าไป7-8เดือน อะไรคือสิ่งที่ต้องตระหนักที่สุด

A : อันนี้ก็ต้องพูดกันตรงๆ อีกนั่นแหละครับ คือ ตัวแกนนำเองคงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่จำเลยที่เป็นชาวบ้าน สิครับหนัก ไหนจะขาดรายได้ ไหนต้องเสียเวลามาสู้คดี ซึ่งแนวโนมก็จะมีการตามจับกุมเพิ่มอีก กล่าวคือ ที่เห็นๆ เป็นคดีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ถึงหนึ่งในสามของคนที่ออกถูกออกหมายจับนะครับ นั่นหมายความว่าที่เหลือก็อยู่ในระหว่างหลบหนี ซึ่งก็จะเป็นปัญหาระยะยาวอีกส่วน และอีกส่วนที่ผมเป็นห่วงคือ คนเสื้อแดงเองก็มีแนวโน้มที่จะถูกดำเนินคดีมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์เมื่อร้อนระอุแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีหมิ่น ฯ ซึ่งรัฐเองก็มีการกวาดจับเพิ่มเป็นรายวัน

สำคัญคืองานทางกฎหมายเอง นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นหลัก หรือเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่ผมเห็นก็มีแต่พี่น้องเสื้อแดงเราที่บางคนเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นคนที่พอจะช่วยเหลือกันได้ตามฐานะ ก็คอยช่วยเหลือกันไป แต่ผมไม่อยากเห็นว่า มันเป็นการช่วยเหลือกันแบบตามมีตามเกิด

Q : พอจะเรียกว่าเป็นทนายเสื้อแดงได้ไหม

อันนี้แล้วแต่จะเรียกครับ แต่สำหรับผม ผมกับน้องทนายอีกสองคนก็เป็นแค่คนอยากทำงานช่วยชาวบ้านเท่านั้น ที่เหลือก็ ... ใจล้วนๆ ครับ ! 555

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: 2553 ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น

Posted: 30 Dec 2010 07:32 PM PST

ปีที่แล้วจัดอันดับข่าวฮา แต่ปีนี้ที่เกิดเหตุการณ์นองเลือด เข่นฆ่า จับกุมคุมขัง ละเมิดสิทธิเสรีภาพมวลชนอย่างร้ายแรง จึงไม่มีอารมณ์จัดอันดับข่าวฮา ขอสรุปภาพเหตุการณ์ตามใจฉัน (ผม) ก็แล้วกัน

ก่อนอื่นขอชมนักข่าวทำเนียบ นักข่าวสภา ที่ตั้งฉายารัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างตรงไปตรงมา แสดงออกซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระ ของนักข่าวพื้นที่ ไม่แสดงอคติเลือกข้างเหมือนข่าวที่ผ่านการเรียบเรียงและพาดหัวโดยหัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว

ฉายาที่สะใจนอกจาก ‘ซีมาร์คโลชั่น’ ก็คือ ‘กริ๊ง...สิงสื่อ’ ซึ่งแฉหมดเปลือกว่า สาทิตย์โทรศัพท์สายตรงไปถึงกองบรรณาธิการสื่อของรัฐ ชี้นำกำหนดประเด็นการเสนอข่าว

นี่หรือรัฐบาล ปชป.ที่เคยตีฆ้องร้องป่าวว่า ทักษิณแทรกแซงสื่อ ซื้อสื่อ แต่เปิดหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้เราจะเห็นแต่โฆษณาหน่วยงานของรัฐเต็มไปหมดทุกฉบับ พร้อมกับใบหน้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ (โฆษณาฟรีจากเงินภาษีประชาชน)

ส่วนนักข่าวสภาก็สะใจที่ให้ 40 สว.เป็น ‘ดาวดับ’ ไม่ไว้หน้า สมชาย แสวงการ กับคำนูณ สิทธิสมาน และที่ขำกลิ้งโดยอาจไม่ได้ตั้งใจคือ คนดีศรีสภาได้แก่ ทิวา เงินยวง (ตายแล้ว)

1.ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น
ทำไมจะไม่ใช่ล่ะ ก็ในเมื่อ CNN ยังยกให้เหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นอันดับ 1 ใน 20 ข่าวเปลี่ยนแปลงโลกของภูมิภาคเอเชีย

สังคมไทยมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมุม ตามทัศนะชนชั้น ไม่เฉพาะการชุมนุมและการใช้กำลัง ‘กระชับพื้นที่’ น้ำท่วมใหญ่ปลายปี ก็เจือปน ‘ทัศนะชนชั้น’ เพราะที่ผ่านมาน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาทุกปี คนกรุงไม่เคยสนใจ คนอยุธยา คนปทุม ‘ชนชั้นแก้มลิง’ อ่วมอรทัยทุกปี คนกรุงไม่เคยสนใจ แต่ปีนี้ คนกรุงเห็นภาพสดๆ ทางทีวี น้ำหลากเข้าท่วมเมือง โรงพยาบาล บ้านจัดสรรที่โคราช ท่วมตลาดหาดใหญ่ แหม! มันเข้าถึงหัวอกคนชั้นกลางด้วยกัน

นอกจากนี้ยังรวมกระแส ‘กอดต้นไม้’ คัดค้านถนนขึ้นเขาใหญ่ ปลุกคนชั้นกลางให้กอดภูเขา กอดทะเล กอดแม่น้ำ (อนุรักษ์ไว้เพื่อห้กรูไปเที่ยวนอนรีสอร์ท) แต่ไม่ยักอยากกอดเพื่อนมนุษย์

สิ่งที่สะท้อนว่านี่เป็นปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น คือเราสามารถจัดอันดับเรื่องต่างๆ ได้เป็น 2 มุมที่ต่างกันสุดขั้ว เช่น

บุคคลแห่งปี ‘ไพร่’ หรือ ‘คนชั้นกลางเฟซบุค’
อาจพูดได้อีกอย่างว่า พระ(นาง)เอกแห่งปี หรือพระ(นาง)ร้ายแห่งปี

‘ไพร่แดง’ กรีธาทัพเข้าเมืองหลวง ยกขบวนไปทั่วกรุงท่ามกลางการโบกธงต้อนรับของแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน คนงานก่อสร้าง ทำให้คนชั้นกลางวิตกอกสั่น เพราะเพิ่งรู้ว่าคนสวน คนขับรถ แม่บ้านที่ชงกาแฟให้กินทุกวัน ล้วนเป็นเสื้อแดง 

‘ไพร่แดง’ ยึดราชดำเนิน ยึดราชประสงค์ ยึดสถานีไทยคม ใช้กำลังคนที่มีแต่สองมือเปล่าปิดล้อมปลดอาวุธทหาร เหตุการณ์ 10 เมษายน แม้ถูกยิงล้มตายราวใบไม้ร่วง แต่มวลชนที่โกรธแค้นก็ลุกฮือไล่ ‘ทหารเสือ’ หนีกระเจิง ทิ้งอาวุธ ทิ้งรถหุ้มเกราะ กระทั่งถอดเครื่องแบบเอาตัวรอด

แม้ต่อมา มวลชนเสื้อแดงถูกปราบด้วยปฏิบัติการกระชับพื้นที่ พร้อม ‘สไนเปอร์’ ใน ‘เขตใช้กระสุนจริง’ พวกเขาก็ยืนหยัดต้านทานอยู่ในวงล้อมจนวาระสุดท้ายอย่างองอาจกล้าหาญไม่กลัวความตาย

แน่นอน ในนั้นมีความมุทะลุ มีความคิดรุนแรง เลยธง บ้าระห่ำ การนำที่สะเปะสะปะ ขาดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี แต่สำหรับมวลชน ‘คนชั้นต่ำของแผ่นดิน’ นี่คือวีรกรรมและความเคียดแค้นเจ็บช้ำที่จะจดจำไปตลอดกาล

ขณะเดียวกัน เมื่อ ‘แดงถ่อย’ ยึดราชประสงค์ แหล่งชอปกระหน่ำซัมเมอร์เซล ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ทั้งยังอาละวาดบุกที่นั่นที่นี่ ทำลาย ‘ความสงบสุข’ ของคนกรุง ก็เกิดกระแส ‘มวลชนเฟซบุค’ ล่า 1 ล้านชื่อสนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ ให้ใช้กำลังทหารปราบม็อบ หรืออีกนัยหนึ่ง ‘ออกใบอนุญาตฆ่า’ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องเกิดบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนกลาด แต่ต้องทำ เพื่อ ‘เอาความสุขของกรูคืนมา’

หลังเหตุการณ์ คนชั้นกลางชาวกรุงยังสร้างอารมณ์ร่วมทางชนชั้น หลั่งน้ำตาอาลัยตึกเวิลด์เทรด หวนหาความผูกพันอันโรแมนติกที่มีต่อโรงหนังสยามและโรงเรียนกวดวิชา (ตลอดจนไปเข้าคิวซื้อโดนัทที่สยามพารากอน) พวกเขาและเธอช่วยกันปกป้องอภิสิทธิ์และกองทัพ กระทั่งเขียนไปตอบโต้แดน ริเวอร์ แห่ง CNN อย่าง ‘องอาจกล้าหาญ’ กรี๊ดสนั่น ‘ไก่อู’ เป็นหนุ่มเนื้อหอมแห่งปี

นี่คือ ‘วีรกรรม’ ในทัศนะของคนกรุงเช่นกัน

วีรบุรุษแห่งปี เสธ.แดง หรือร่มเกล้า
วีรบุรุษในภาพรวมทุกชนชั้นเห็นพ้องว่าได้แก่ ‘จ่าเพียร’ ตำรวจดีไม่มีเส้น ผู้ตรากตรำทำหน้าที่จนวาระสุดท้าย 

แต่วีรบุรุษทางการเมือง มีช้อยส์ให้เลือก 2 ข้อเช่นกัน คือ เสธ.แดง หรือ พ.อ.ร่มเกล้า

ผมเคยเปรียบเทียบไว้แล้วว่า เสธ.แดงจะเป็น ‘ตำนาน’ ส่วน พ.อ.ร่มเกล้าจะเป็น ‘อนุสาวรีย์’ แม้บ้าระห่ำไร้ทิศทาง มุทะลุไร้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างไร เสธ.แดงก็ ‘ได้ใจ’ เข้าถึงหัวจิตหัวใจมวลชน งานศพเสธ.แดงมีคนมาไว้อาลัยล้นหลาม เรื่องราวของนายพลขวัญใจคนชั้นล่างคงเล่าขานกันไปอีกนาน ...แต่ไม่ทราบว่ากองทัพสร้างรูปปั้นให้ พ.อ.ร่มเกล้า หรือยัง

ตัวตลกแห่งปี หมอเหวง หรือหมอประเวศ
หมอเหวงออกทีวีกับอภิสิทธิ์ แต่กลับออกทะเลจนคำว่า ‘เหวง’ กลายเป็นศัพท์แสลงใหม่ฮิตในหมู่คนกรุง ขณะที่คนเสื้อแดงเองก็บ่นเซ็งอุบอิบ 

หมอประเวศกับอานันท์ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ใช้งบประมาณ 600 ล้าน กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่ นอกจากทฤษฎีชุมชนนิยมที่พูดไว้ซ้ำซาก จนถูกคนรุ่นหลังถอนหงอกสนุกสนาน ไม่ใช่แค่ ‘คำ ผกา’ แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์หรือผู้สนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ก็ออกอาการเซ็งและอดแซวไม่ได้เช่นกัน

ป.ล.ถ้าเลือกหมอประเวศ ก็รวมอานันท์และกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุด

Idol แห่งปี อภิชาติพงศ์ หรือแทนคุณ
แทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้มีภาพลักษณ์ ‘ลูกกตัญญู’ เป็นจุดขาย ทำหน้าที่พิธีกร NBT ตอบโต้ ‘ไพร่แดง’ อย่างแข็งขัน เป็นขวัญใจคนชั้นกลางเฟซบุค ปกป้องระบอบอภิสิทธิ์ และกองทัพ 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก้าวขึ้นรับรางวัลปาล์มทองที่เมืองคานส์ โดยไม่กล่าวขอบคุณใครให้ยืดยาวแบบไทยๆ แต่กลับขอบคุณ ‘ภูติผีปีศาจ’ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า การต่อสู้ของเสื้อแดงคือการต่อสู้ทางชนชั้น นอกจากนี้ เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคัดค้านกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้งบ 100 ล้านกับหนัง ‘นเรศวร’ เรื่องเดียว


2.สิ่งต่างๆ แห่งปี
ข่าวฮาแห่งปี : น้ำท่วมให้รีบตัก ทันทีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ก็มีคนบอกว่านี่คือ ‘นาทีทอง’ ของรัฐบาล ที่จะเก็บเกี่ยวเยียวยากลบปัญหาความขัดแย้ง แต่ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นนาทีทองของสรยุทธ์ กับครอบครัวข่าว 3 แม้จะมีคำถามถึงการทำเกินหน้าที่สื่อ (คือตีปี๊บเฉพาะพื้นที่ที่ตนลงไปช่วย) แต่ก็ทำให้รัฐบาลหน้าแหกเสียรังวัด พิสูจน์ความไร้กึ๋นไร้ประสิทธิภาพ 

หัวข่าวฮาแห่งปี : เนวินทอดกฐินโจร ที่จริงต้องยกเป็นข่าวยอดเยี่ยม ด้านให้การศึกษาเด็กและเยาวชนรู้จักประเพณีสำคัญทางศาสนา เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักว่า ‘กฐินโจร’ คือการทอดกฐินตกค้างให้กับวัดที่ไม่มีเจ้าภาพ เมื่อเห็นหัวข่าว ‘เนวินทอดกฐินโจร’ จึงฮือฮา พลิกอ่านแล้วค่อยร้องอ๋อ ที่แท้ทอดกฐินตกค้างให้ 239 วัดในบุรีรัมย์ ถ้าเป็นคนอื่นทอดกฐินโจร ก็คงไม่เรียกความสนใจได้เช่นนี้ 

หัวข่าวเฮ(โล)แห่งปี : ทักษิณ 1 ใน 5 ผู้นำยอดแย่ แพร่มาจากข้อเขียนของโจชัว คีทติ้ง ในเว็บไซต์นิตยสาร Foreign Policy ในเครือวอชิงตันโพสต์ กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่แทบทุกฉบับ ขณะที่ข่าวนายกฯ อังกฤษไม่มาเที่ยวเมืองไทยเพราะเกรงจะส่งสัญญาณหนุนอภิสิทธิ์ ตกหายจากหัวข่าวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ มีมติชนพาดหัวใหญ่ฉบับเดียว

ที่จริงทั้งสองข่าวต้องเสนอแก่ผู้อ่านแต่ไม่จำเป็นต้องเน้นมากนัก เพราะข่าวแรกแค่ทัศนะฝรั่งคนเดียว ข่าวหลังก็อ้างแหล่งข่าวไม่เป็นทางการ เรื่องตลกคือ ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ Foreign Policy จะพบว่าข้อเขียนเรื่องอื่นๆ ของคีทติ้งมีคนโหวตพอใจ 20-30 หรืออย่างเก่งก็ 100-200 ราย แต่ข้อเขียนเรื่องนี้มีคนโหวตถล่มทลาย 4 พันกว่าราย คาดว่าเป็นข้อเขียนที่มีคนอ่านมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้มาเลยทีเดียว (คนชาติไหนคงเดาได้) 

ไร้สาระแห่งปี : กฎเหล็กของมาร์ค กฎเหล็ก รธน. ขวัญใจจริตนิยมให้เทพเทือกลาออกก่อนลงเลือกตั้ง ชนะแล้วกลับมาเป็นรองนายกฯ ใหม่ จากนั้นก็ใช้กฎเดียวกันบีบให้บุญจง-เกื้อกูล ทำตาม ชนะแล้วกลับมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ ถามว่ามีประโยชน์อะไร เพราะข้าราชการหัวคะแนนกำนันผู้ใหญ่บ้านรับรู้ทั่วกัน มี-ตรงที่ทำให้มาร์คได้คะแนนนิยม 

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับการแต่งตั้งปลัดมหาดไทย ที่ถูกตีกลับ แต่ก็เพียงเปลี่ยนจากศิษย์ ‘โรงเรียนเนฯ’ เบอร์ 1 มาเป็นเบอร์ 2 กลบเกลื่อน

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ 6 ส.ส.พ้นสภาพ เนื่องจากถือหุ้นบริษัทสัมปทานรัฐ ทั้งที่เป็นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีจำนวนน้อยนิด ไม่ส่งผลให้มีสิทธิเสียงในการบริหาร นี่คือกฎเกณฑ์หยุมหยิมจับยายฉิมเก็บเห็ดในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทำให้ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินจัดการเลือกตั้งใหม่ 5 เขต โดยยังคล้ายคดีสมัครชิมไปบ่นไป พ้นนายกฯ เพราะพจนานุกรม วันรุ่งขึ้นก็ยังมีสิทธิเป็นนายกฯ อีก ในกรณีนี้ 5 ส.ส.เขตยังกลับมาลงเลือกตั้งได้อีก ถามว่าถ้าขาดคุณสมบัติ ผิดจริยธรรมร้ายแรง จนถูกถอดถอนแล้ว ยังให้กลับมาได้อย่างไร คำตอบคือ พวกเขาไม่ได้ขาดคุณสมบัติ และไม่ควรถูกถอดถอนตั้งแต่แรก ถ้าจะวินิจฉัยว่าผิด อย่างเก่งก็คือมี ‘ลักษณะต้องห้าม’ ให้จำหน่ายจ่ายหุ้นเสียแล้วเป็น ส.ส.ต่อไป

บุคคลตัวอย่าง : ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถ้าธาริตเป็นผู้ใกล้ชิด ปชป.ก็คงไม่นับเป็นบุคคลตัวอย่าง แต่ธาริตเป็นผู้ใกล้ชิด ทรท.มาก่อน เริ่มจากเป็นอัยการ หน้าห้องคณิต ณ นคร หมอมิ้งดึงไปช่วยราชการสำนักนายกฯ เป็นที่ปรึกษาพันศักดิ์ วิญญรัตน์ แล้วก็ย้ายจากอัยการมาเป็นรองอธิบดี DSI ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งคงจะหวังให้เป็นมือเป็นไม้ แต่กลับได้ขึ้นเป็นอธิบดีในยุคพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค สร้างชื่อเป็นมือปราบ ‘ผู้ก่อการร้ายเสื้อแดง’ ด้วยการสืบสวนสอบสวนแบบ ‘กันไว้เป็นพยาน’ และตีปี๊บข่าวฝึกอาวุธในเขมร กระทั่งได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

นี่คือ ‘บุคคลตัวอย่าง’ ที่เยาวชนคนรุ่นหลังต้องจดจำและเลียนแบบ ถ้าอยากจะได้ดิบได้ดีในสังคมนี้

สถาบันตัวอย่าง : ม.รังสิต รักพี่เสียดายน้อง เลือกยากจริงๆ ธรรมศาสตร์เลือกอธิการบดีได้สมคิด เลิศไพฑูรย์ สืบทอดเก้าอี้สุรพล นิติไกรพจน์ จุฬาฯ ยึดป้ายนักศึกษาประท้วงอภิสิทธิ์ ขณะที่นิด้าของสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ต้องยกให้เป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ บทบาทไม่ตกฟาก 

อย่างไรก็ดี สุดท้ายขอเลือก ม.รังสิต เพราะออกแถลงการณ์ 3 ฉบับในนามมหาวิทยาลัย คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชา เปล่า ไม่ติดใจเนื้อหาหรอก แต่แถลงการณ์ลงชื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับ ดร.สมปอง สุจริตกุล แค่ 2 คน! รู้สึกประทับใจที่ 2 คนลงชื่อแทนทั้งมหาวิทยาลัยได้ (ถ้าใช้คำว่าบริษัทมหาวิทยาลัยรังสิต จำกัด จะไม่แปลกใจเลย) 

คดีส่งผลสะเทือนแห่งปี : 3G คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดที่ทำแท้งการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคดีที่ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง รุนแรง ลึกซึ้ง ยาวนาน ผลการตีความของศาลทำให้การแข่งขันเสรีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีก้าวสำคัญต้องชะงักงันไปเป็นปีๆ ขณะที่ ทศท.กสท. (ภายใต้กำกับของจุติ ไกรฤกษ์) สามารถนำคลื่น 3G ที่มีอยู่แล้วมาเปิดสัมปทานได้ กลายเป็น tiger eat sleep สบายใจเฉิบต่อไป (ก่อนหน้านี้ก็ได้ค่าสัมปทานคืนมาเพราะยกเลิก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต) หนำซ้ำ กสท.ยังแบะท่าจะยกคลื่นให้ True ของเจ้าสัวซีพี ชิงความได้เปรียบอีก 2 บริษัทอย่างมหาศาล ทั้งที่ถ้าเข้าประมูลใบอนุญาตกับ กทช.True คือผู้ที่มีความพร้อมน้อยที่สุด 

คดีนี้วินิจฉัยโดยองค์คณะที่ท่านหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ‘ศิษย์เอกโกเอ็นก้า’ เป็นตุลาการหัวหน้าคณะ ก่อนขึ้นเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดแทน อ.อักขราทร จุฬารัตน์ ในอีก 7 วันต่อมา

คดีกังขาแห่งปี : 29 ล้านกับ 258 ล้าน คดี 29 ล้าน ปชป.ชนะฟาวล์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า ปชป.ไม่ผิด 4-2 คดี 258 ล้าน ปชป.ชนะฟาวล์ โดยศาลยังไม่ทันไต่สวนข้อเท็จจริง ถ้าเอาตรรกมาเรียบเรียงใหม่ สมมติศาลเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยุบพรรค คดีแรก ยังไงๆ ปชป.ก็ไม่ผิด แต่คดีหลังล่ะ ฉะนั้น การชนะฟาวล์จริงๆ แล้วไม่มีประโยชน์ต่อคดีแรก แต่อาจสำคัญมากๆๆ กับคดีหลัง

คดีแรกชนะฟาวล์ด้วยมติ 3-1-2 แต่กลับรวบรัดเป็น 4-2 และเอาความเห็นของ 1 เสียงมาใช้ในคำวินิจฉัยชั่วคราว แต่แก้ไขใหม่ในคำวินิจฉัยค้างคืน คดีหลังถ้ามีตุลาการ 6 คนเท่าเดิม มติก็จะออกมาเป็น 3-3 แต่ ปชป.โชคดีตามเคยที่องค์คณะกลับมาเป็น 7 คน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจแห่งปี: ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอภิปรายทักษิณ ฐานทางกฎหมายของคดีนี้คือมาตรา 4 กฎหมาย ปปช.ซึ่งระบุว่า ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ หมายถึง ‘ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง’ คำวินิจฉัยพยายามเชื่อมโยงองค์ประกอบ 3 ส่วนเข้าด้วยกันคือ หนึ่ง หุ้นเป็นของทักษิณ สอง มีการแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาที่เกิดประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมกับชินคอร์ป และสาม เกิดในขณะที่ทักษิณเป็นนายกฯ แต่องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไป คือการพิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปสั่งการให้เอื้อประโยชน์ ซึ่งจะเข้าข่ายทุจริตประพฤติมิชอบตามมาตรา 157

คำวินิจฉัยมุ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ไปยังประเด็นที่สอง ว่ามีการแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาให้ได้ประโยชน์โดย ‘ไม่สมควร’ ซึ่งคำว่า ‘ไม่สมควร’ ฟ้องในตัวว่าเป็นเพียงทัศนะหรือความเห็น ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ทางกฎหมาย ไม่ชัดเจนเหมือนคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ถามว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือไหม-มี เพราะสังคม (แม้แต่ผม) ก็เชื่ออยู่แล้วว่าทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่เมื่อเป็นทัศนะหรือความเห็น ก็เป็นสิ่งที่โต้แย้งเห็นต่างได้ ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยว่า ‘ไม่สมควร’ ทั้ง 5 ประเด็น บางคนอาจเห็นด้วยบางประเด็น ไม่เห็นด้วยบางประเด็น หรือไม่เห็นด้วยเลย การแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาในทุกรัฐบาล ก็มีบ่อยครั้งที่เอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์ โดยรัฐอาจมองถึงประโยชน์ส่วนรวม เช่น เพื่อให้โครงการลุล่วง รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง หรือเพื่อให้รัฐได้ส่วนแบ่งค่าสัมปทานมากขึ้น กรณีนี้ ประเด็นที่โต้เถียงกันเยอะมากคือ พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งทำให้คลังได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องเข้าปาก tiger eat sleep แต่ศาลเห็นตาม คตส.ว่าเป็นการกีดกันคู่แข่ง

เมื่อไม่ได้พิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงสั่งการ เพียงอนุมานว่า ‘ทักษิณเป็นเจ้าของ ทักษิณเป็นนายกฯ ทักษิณได้ประโยชน์ ซ.ต.พ.’ คำวินิจฉัยจึงไม่ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ต่างจากที่ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พูดไว้ หรือที่พรรคประชาธิปัตย์เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งทำให้สังคมเชื่อ ทำให้สังคมเคลือบแคลงกังขาว่าทักษิณไม่โปร่งใส แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่

ศาลตีความมาตรา 4 ว่าต้องการข้อสรุปเพียง ‘ไม่สมควร’ ไม่ต้องพิสูจน์ว่า ‘ทุจริต’ การวินิจฉัยคดีนี้จึงกลายเป็นเรื่องของความเห็น ไม่ใช่เรื่องของการพิสูจน์ข้อเท็จจริง คำวินิจฉัยทั้งหมดเป็นความเห็นที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เราๆ ท่านๆ เคยเคลือบแคลงสงสัยกันมาก่อน เพียงนำมาจัดเรียงใหม่ให้หนักแน่นและเข้าองค์ประกอบของกฎหมายตามที่ศาลตีความ

ให้สังเกตด้วยว่าเมื่อคำวินิจฉัยขาดคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ก็ทำให้รัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาที่ทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์โดย ‘ไม่สมควร’ แต่ถ้ามีคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ พิสูจน์ได้ว่าทักษิณแทรกแซงสั่งการ สัญญาเหล่านั้นจะเป็นโมฆะทันที

ช้อยส์แห่งปี : สนธิ ลิ้ม กับวีระ สมความคิด จะเลือกบริจาคกล่องไหน

ช้อยส์แห่งปี (สำหรับตุลาการภิวัตน์) : ชัช ชลวร หรืออภิชาติ สุขัคคานนท์ ใครจะไปก่อน 

วาทะแห่งปี : ‘ล้มเจ้า’ ข้อกล่าวหาที่ครอบกะลาหัวมวลชนเสื้อแดง กระทั่งมีแผนผัง ศอฉ.โยงใครต่อใครมั่วไปหมด สาเหตุที่เลือกวาทะนี้ เป็นเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ เพราะคนที่เอามาจุดชนวน เป็นคนเดือนตุลาที่เคยถูกข้อกล่าวหาแบบเดียวกันเมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519 จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่า 

ผู้แพ้แห่งปี : ‘หญิงเป็ด จากนางเอ๊กนางเอกที่มีแค่คนแซ่ซ้องสดุดี ว่านี่แหละมือปราบทุจริต ไม่ทราบว่าเกิดความพลิกผันอย่างไร คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้พยายามจะกลับมาทวงเก้าอี้ผู้ว่า สตง.จึงถูกรุมแซนด์วิชโดยศิษย์ก้นกุฎีอย่าง พิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กับเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นอกจากนี้ยังโดนกระหนาบโดยมีชัย ฤชุพันธ์ และกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจำใจยุติบทบาทตามคำสั่งศาลปกครอง ที่น่าประหลาดใจคือไม่ยักมีใครช่วย’หญิงเป็ด แม้แต่สื่อต่างๆ ที่เคยแซ่ซ้องก็ยังกลับมาตำหนิติติง 

ดาวดับแห่งปี : ................ อิอิ อ้าปากก็คงเดาได้ อุตส่าห์เก็บไว้ตอนท้าย ไม่ใช่แค่ 40 สว. แต่ใครเอ่ย แพ้เลือกตั้ง สก.สข.จู๋น-จู๋น ยกพลไปประท้วง MOU ปี 43 ม็อบหน้าสภาค้านแก้รัฐธรรมนูญ ก็นับหัวแล้วใจหาย ศิษย์เก่ามัฆวาฬ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ไปไหนหมด ไม่กลับมารำลึกความหลังกันมั่งเลย 

ขนาดสื่อพวกกันเองยังเผลอซ้ำเติม บอกว่าคนกรุงไม่เลือกม็อบ ไม่เลือกความรุนแรง จึงไม่เลือกทั้งเพื่อไทยและการเมืองใหม่ พูดอีกก็ถูกอีก แน่นอนคนกรุงคนชั้นกลางปฏิเสธทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่เสื้อแดงไม่ตายเพราะมีฐานมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลในชนบท ขณะที่ พธม.หากินกับการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่งของคนชั้นกลาง ทั้งกระแสเกลียดทักษิณ ทั้งอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แต่ตอนนี้ อภิสิทธิ์ขโมยซีนไปหมด ทั้งยังขายโปรโมชั่น ‘ไทยนี้รักสงบ’ ถูกอกถูกใจคนชั้นกลางผู้เบื่อหน่าย ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ

พันธมิตรจึงเสียมวลชนให้อภิสิทธิ์ อีกด้านหนึ่ง มวลชน ปชป.ที่แฝงตัวเข้าพันธมิตรก็ถอยกลับ แกนนำพันธมิตรเริ่มเอ่ยปากทำนองว่า ‘เหลืองแดงรวมกันได้’ แต่ไม่มีทาง ภารกิจที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องในปีหน้าคือการเย้ยหยันพันธมิตร แม้โดยส่วนตัวจะเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง แต่ต้อง ‘ทำลายล้าง’ ในเชิงหลักการ เพราะพันธมิตรบิดเบือนหลักการจนเลอะไปหมด ต้อง ‘กระชับพื้นที่’ ยึดพื้นที่ทางหลักการคืนมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สำนักข่าวฉานยุติการผลิตนิตยสาร "กอนขอ"

Posted: 30 Dec 2010 09:24 AM PST

นิตยสาร "กอนขอ" สื่อหลักของไทใหญ่ที่นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับรัฐฉานและสหภาพพม่าโดยสำนักข่าวฉาน ได้ยุติการผลิต เหตุประสบปัญหาด้านงบประมาณ แต่จะดำเนินการในส่วนของนิตยสาร "ออนไลน์" ต่อไป

สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N. - Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นสำนักข่าวอิสระก่อตั้งโดยชาวไทใหญ่พลัดถิ่น ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์เผยแพร่นิตยสารข่าว "กอนขอ" อันเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายเดือนฉบับเดียวของไทใหญ่ที่ดำเนินการผลิตเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับรัฐฉานและสหภาพพม่ามานับสิบปี เหตุเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการตีพิมพ์

นิตยสารข่าว "กอนขอ" มีความหมายว่า "อิสรภาพ" ตามภาษาไทใหญ่ และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Independence ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 ภายใต้การดำเนินงานของสำนักข้อมูลข่าวสารกองทัพสหปฏิวัติฉาน SURA (Shan United Revolution Army) ที่นายพลกอนเจิง เป็นผู้นำ โดยผลิตเผยแพร่ในรูปแบบเป็นแผ่นกระดาษติดปะตามฝาผนัง ต่อมาในปี 2527 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากแผ่นกระดาษมาเป็นรูปแบบหนังสือพิมพ์ โดยตีพิมพ์ 3 ภาษา คือ ภาษาไทใหญ่ พม่า และอังกฤษ มีสำนักงานอยู่ที่บ้านปางก้ำก่อ ฝั่งรัฐฉาน ตรงข้ามบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

ในปี 2534 หนังสือพิมพ์กอนขอ ได้ย้ายสำนักพิมพ์ไปตั้งที่บ้านหัวเมือง บก.กองทัพเมืองไตย MTA (Mong Tai Army) หลังจากกองทัพ SURA และกองทัพ SUA (Shan United Army) ภายใต้การนำของขุนส่า รวมตัวกันตั้งเป็นกองทัพเมืองไตย MTA ซึ่งต่อมาสำนักพิมพ์กอนขอ ได้แยกตัวเป็นสำนักงานสื่ออิสระและตั้งชื่อเป็นสำนักข่าวฉาน SHAN (Shan Herald Agency for News)

ก่อนหน้า MTA จะเจรจาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่า สำนักข่าวฉาน SHAN ได้ย้ายสำนักงานเข้าตั้งฝั่งไทย มีเจ้าคืนใส ใจเย็น เป็นบรรณาธิการ โดยที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากชาวไทใหญ่พลัดถิ่นและองค์กรต่างประเทศ ดำเนินการผลิตเผยแพร่ข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและสหภาพพม่าในรูปแบบนิตยสารรายเดือน มี 4 ภาษาคือ ไทใหญ่ ไทย พม่า และอังกฤษ ต่อมาได้ลดเหลือ 2 ภาษา คือ ไทใหญ่ และพม่า

จนถึงปัจจุบัน นับเวลาได้รวม 15 ปี ที่สำนักข่าวฉาน SHAN ได้ผลิตเผยแพร่นิตยาสารรายเดือนชื่อ "กอนขอ" ต่อเนื่องกันมา โดยได้ตีพิพม์ไปแล้วรวม 271 ฉบับ ฉบับล่าสุดตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละฉบับได้รับความสนใจจากผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับไทใหญ่ รัฐฉาน และสหภาพพม่าเป็นอย่างดี ในที่สุด สำนักข่าวฉานมีความจำเป็นต้องยุติผลิตในฉบับต่อไป เนื่องด้วยเหตุผลขาดแคลนด้านเงินทุนสนับสนุน ซึ่งหลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าได้ประสบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวฉานจะยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่สื่อโดยใช้วิธีนำเสนอข่าวสารทางระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซท์ที่มีอยู่ 4 ภาษาแทน คือ ภาษาอังกฤษ www.shanland.org ภาษาไทใหญ่ www.mongloi.org ภาษาพม่า www.mongloi.ort/burmese และภาษาไทย www.khonkhurtai.org ทั้งนี้ เพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข่าวจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการเมือง การสู้รบ ยาเสพติด การละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเพณีวัฒนธรรม และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและสหภาพพม่าให้แก่ประชาคมโลกต่อไป

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง (4): เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก

Posted: 30 Dec 2010 09:15 AM PST

จากการเสวนา "พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง" โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ 

 

(๔) เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก

วิจักขณ์ พานิช: คุณศิโรตม์ได้ช่วยตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนขององค์กรทางศาสนจักร บทบาทของนักบวช หรือตัวคำสอนเอง ซึ่งหลายๆคำถามได้แสดงถึงแนวโน้มที่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมากๆเลยนะครับ ซึ่งอย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้แปรจากความเป็นเถรวาทไปสู่รูปแบบพุทธศาสนาแบบอื่นไปแล้วในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง จนเราอาจเรียกพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ว่า พุทธศาสนาแบบราชสำนัก

พุทธศาสนาแบบราชสำนักนี้จริงๆมันก็มีอยู่แต่ไหนแต่ไรนะครับ เพียงแต่อำนาจรัฐในอดีตไม่สามารถครอบงำจนพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจนเป็นพิมพ์เดียวกันได้ขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ผมมองว่ามีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ อย่างที่ทุกคนคงรู้นะครับว่า ก่อนขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๔ นั้นบวชเป็นพระอยู่หลายปี และได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมา ด้วยความต้องการที่จะปฏิรูปพุทธศาสนาให้ “ถูกต้อง” ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในขณะนั้นพุทธศาสนาเถรวาทที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ถือว่ามีความหลากหลายสูงมาก แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คือ มีการรวมศูนย์อำนาจทางศาสนจักร มีรูปแบบการสร้างวัด อุโบสถเป็นแบบมาตรฐาน มีการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้กับคณะสงฆ์ มีการนำความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาผนวกเข้ากับการอธิบายทางพุทธปรัชญา ทำให้เป็นตรรกะและพิสูจน์ได้ แล้วตัดมิติในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งบางอย่างออกไป ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ เช่น เทพปกรณัม ภพภูมิ นรกสวรรค์ เทวดา บุคลาธิษฐาน พิธีกรรม สิ่งเหล่านี้เคยมีในพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านและได้ถูกลดทอนคุณค่าไปในยุคนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันมีผลอย่างมากต่อบรรยากาศและทิศทางของพุทธศาสนาเถรวาทที่เคยงอกงามอย่างหลากหลายในท้องถิ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางที่พุทธศาสนาได้ถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐก็ได้ จนศาสนามีความใกล้ชิดและยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐอย่างแนบแน่น และได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางสังคม ซึ่งก็หมายถึงการมีสถานะทางสังคมที่สูง และมีอำนาจทางสังคมและการเมืองอย่างจะปฏิเสธไม่ได้เลย

อำนาจและสถานะที่พุทธศาสนาได้รับมาตรงนี้ ถ้าลำพังอยู่แต่ในเมืองหลวงมันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากหรอกนะครับ อย่างที่เคยเป็นมาก่อนรัชกาลที่ ๔ แต่พอมันไปผนวกกับรูปแบบรัฐชาติสมัยใหม่มันก็ได้พัฒนารูปแบบของมันกว้างขวางออกไป จนบทบาทของพระสงฆ์ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป ตัวคำสอนเปลี่ยนไป แนวโน้มของการมองมนุษย์ไม่เท่ากัน ศาสนาไม่เท่ากับคน และอื่นๆ ที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามไว้ก็เริ่มแพร่หลายกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป อันนี้ก็ลองสังเกตกันดูครับว่าพุทธศาสนาแบบนี้มันยังมีรากฐานอะไรของพุทธศาสนาเถรวาทเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ความอ่อนน้อมหายไปไหน และที่สำคัญมิติของการสละสิทธิ์ และไม่ถือครองอำนาจนั้นมันหายไปไหน อำนาจนี่มันอันตรายนะครับ หวงไว้ไม่กระจายออกไปให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นมันก็ทำลายตัวเอง และการมีอำนาจมากๆก็มักทำให้เกิดความประมาท และภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญา

สังคมไทยได้ตัดขาดจากรากของพุทธศาสนาเถรวาทที่เราเคยมีในอดีต และหลุดลอยไปสู่รูปแบบอำนาจทางศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือถูกครอบงำโดยอำนาจทางโลก เราจึงกำลังเป็นสังคมพุทธที่ไม่มีรากฐานทางปัญญา แต่พร้อมจะศรัทธาและเชื่อคนที่มีสถานะสูง ซึ่งรวมถึงสถานะทางศาสนา ความเป็นคนดีมีศีลธรรม และการเป็นที่ยอมรับทางสังคม ซึ่งผนวกกับเรื่องความเชื่อและชนชั้นทางสังคมโดยตรงนะครับ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาได้ถูกตัดขาดจากรากหรือต้นธารใน “ป่า” ไปแล้ว แต่คนทั่วไปกลับไม่เห็นว่าเป็นปัญหา กลับมองว่า ก็ดีเสียอีกที่พุทธศาสนามีอำนาจ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีสมณศักดิ์ มีสถานะทางสังคมมากขึ้น สามารถสอนสั่ง ชี้แนะ ชี้ถูกชี้ผิดแก่สังคมได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นความประมาทอย่างมาก และผลของความประมาทนี้กำลังส่งผลถึงบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคม และตัวคำสอนของพุทธศาสนาเองในปัจจุบัน

คนที่ท้าทายพุทธศาสนาแบบราชสำนัก และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ท่านอ.พุทธทาส ท่านพุทธทาสถือได้ว่าเป็นพระรูปแรกเลย ที่กล้าท้าทายรูปแบบพุทธศาสนาแบบราชสำนัก แม้จะไม่ได้เป็นโดยการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงออกที่รุนแรงอย่างสันติอโศก แต่ผมมองว่ามันได้ส่งผลสะเทือนให้คนได้สติและย้อนกลับไปหารากเหง้าของเราไม่น้อยเลยนะครับ ในประวัติของท่านอ.พุทธทาส อย่างที่เรารู้กันดี สมัยหนุ่ม ท่านมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ที่วัดแห่งนี้ (วัดปทุมคงคา) แล้วก็ได้มาเห็นรูปแบบของพุทธศาสนาแบบราชสำนักในเมืองหลวง การศึกษาสมัยใหม่ของคณะสงฆ์ การแก่งแย่งแข่งขัน อำนาจ สถานะ สมณศักด์ต่างๆ พอท่านเห็น ท่านก็บอกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว นี่มันไม่ใช่พุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ มันไม่ใช่วิถีของสมณะ วิถีของการสละละวาง จิตวิญญาณที่ไปพ้นอำนาจหรือการปรุงแต่งทางโลก มันได้กลายเป็นอะไรไม่รู้นะครับ ท่านไม่เอาเลย พอกันที เลิกเรียน กลับไปบ้านเกิดที่พุมเรียง ร่วมกับน้องชายและสหายห้าหกคน กับเงินส่วนตัว ซื้อที่ ตั้งสวนโมกข์ขึ้นมา เพื่อกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท ตีความพระไตรปิฎกใหม่ อยู่กันอย่างเรียบง่าย ตั้งวัดในป่า อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วย้อนกลับไปหารากเหง้าของพุทธศาสนาที่เคยเป็นรากฐานทางจิตใจของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา

ดังนั้นถ้าเราพูดกันถึงพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมและการเมือง จิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมีความลึกซึ้งไม่น้อยนะครับ แม้จะไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนาจต่อรองทางการเมือง แต่โดยมิติทางสังคมแล้ว พุทธศาสนาเถรวาทนั้นถือว่า เป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณที่สามารถปรับเข้าหาวัฒนธรรม และผู้คนที่หลากหลายได้ดีมาก ด้วยความที่มันตั้งอยู่บนฐานของการ “สละสิทธิ์” นี่แหละครับ มันเลยเปี่ยมด้วยศักยภาพในการเข้าไปกับผู้คนทุกชนชั้นวรรณะได้ดีมาก คือ เข้าไปเปล่าๆ เปิดใจเรียนรู้เอา โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร จะเรียกว่าเป็นอำนาจของความกรุณาก็ได้ ที่ทำให้พุทธศาสนาแบบนี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี พิธีกรรม ได้อย่างกลมกลืน สำคัญคือการปรับเข้าหาไม่ได้เป็นไปการปรับอย่างหลับหูหลับตา แล้วไปรับใช้อำนาจทางโลกเพื่อสถานะของศาสนาเอง แต่ปัจจุบันจิตวิญญาณแบบนี้มันเลือนหายไปหมดเลยครับ เพราะอำนาจทางโลกที่พุทธศาสนาได้รับมา แล้วยึดถือมันไว้จนพอกพูนทับถม รวมถึงความใกล้ชิดต่อราชสำนักที่มีมากเกินไป มันได้ส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่าง ที่เราอาจจะเข้าใจไม่ได้เลยหากมองจากจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท เช่น การสอนสั่งหรือสื่อสารทางเดียว การมองคนว่าด้อยหรือต่ำกว่าศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ สถานะที่สูงส่งเหนือมนุษย์ราวกับสมมติเทพ การดูถูกผู้หญิง ฯลฯ ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นผลจากอำนาจที่พุทธศาสนาได้รับมาจากรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในฐานะสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ยึดโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ออกในสังคมปัจจุบัน

ผมจึงอยากจะตั้งคำถามตรงนี้นะครับ เวลาที่เราพูดถึงพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง เรากำลังพูดถึงพุทธศาสนาแบบไหน เป็นอำนาจของสถาบันศาสนาที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐอย่างแยกจากกันไม่ได้ หรือเป็นคุณค่าของพุทธศาสนาเถรวาทที่เรามีเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมจริงๆ เพราะถ้าเราฟันธงแล้วว่าพุทธศาสนาที่เรามีอยู่มันเสื่อมสมรรถภาพแล้วจริงๆ เราก็จะได้พูดคุยถึงพุทธศาสนาแบบอื่นไปเลย หรือไม่ต้องมีศาสนากันไปเลยก็ยังได้ การมีอยู่ของสถาบันศาสนาในฐานะสถาบันหลักทางสังคมนั้นมีอำนาจและต้นทุนไม่น้อยทั้งทางการเมือง ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ซึ่งเราอาจต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อบทบาทของศาสนา โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณของศาสนาที่มีต่อสามัญชนให้มากขึ้น แต่โดยส่วนตัวผมยังมองว่าหากเราย้อนกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาแบบเถรวาทจริงๆ มันยังมีอะไรที่ดี ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ อีกทั้งยังจะเป็นรากฐานให้กับการต่อยอดของพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ที่จะเสริมให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางการเมือง และเกื้อกูลสังคมประชาธิปไตยในทางที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: กลุ่มปกป้องที่ดินฯ จะนะ โวยถูกราชการปลดป้าย

Posted: 30 Dec 2010 08:52 AM PST

เจ้าหน้าที่รื้อถอนป้ายเรียกร้องให้จุฬาราชมนตรีแก้ปัญหาบริษัทวางท่อก๊าซสร้างรั้วปิดเส้นทางที่ดินวะกัฟฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้านสมาชิกกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ โวยราชการขโมยป้ายเพื่ออะไร เพราะป้ายสร้างจากเงินสะสมของกลุ่ม โดยล่าสุดสมาชิกกลุ่มฯ ได้นำป้ายที่ทำใหม่มาติดอีกรอบ

แผ่นป้ายใหม่ที่กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ นำมาติดเมื่อ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา

จากการที่เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำการติดตั้งแผ่นป้าย ซึ่งมีข้อความว่า “ท่านจุฬาฯ ขอรับ อย่าเอาอารมณ์ไว้ข้างหน้า อย่าเอาอัลกุรอ่านไว้ข้างหลัง” บริเวณ สี่แยกตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้นายอาศีส  พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนใหม่แก้ไขปัญหาการบุกรุกยึดครองที่ดินวะกัฟ และเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามกฎหมาย อันเกิดจาก บริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางวะกัฟ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจร ใช้ประโยชน์ในเส้นทางดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของผู้วะกัฟตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

นายเจะปิ  อนันทบริพงศ์ สมาชิกกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟ ให้สัมภาษณ์ว่า “หลังจากติดตั้งแผ่นป้ายที่มีข้อความนี้ เพียงวันเดียว เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนก็มาพบกับเจ้าของที่ดินที่ติดตั้งแผ่นป้าย แล้วแจ้งว่าให้เอาป้ายข้อความดังกล่าวออกไปซะ  เพราะเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม  หากท่านจุฬาราชมนตรีเอง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านใด  เดินทางผ่านเส้นทางนี้และพบเห็นเข้าอาจจจะไม่พอใจได้”

“ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ก็มาบอกให้รื้อถอนแผ่นป้ายดังกล่าว  ส่วนโต๊ะอิหม่ามนั้นถึงขั้นมีข้อแลกเปลี่ยนให้โดยบอกว่าหากเรารื้อถอนออกได้ จะสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จได้ตำแหน่งเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นอย่างแน่นอน แต่ทางกลุ่มฯ ปฏิเสธไปแล้วอย่างชัดเจน เพราะพวกเราในกลุ่มไม่มีใครสนใจข้อเสนอแบบนี้หรอก”

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิการยน 2553 ก็มีผู้ไม่หวังดีรื้อทำลายป้ายดังกล่าว นายเจะปิ จึงดำเนินการซ่อมแซมป้ายให้เหมือนเดิม จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม 2553 มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการทำการรื้อถอนทำลายป้ายดังกล่าวรวมทั้งนำเอาแผ่นป้ายและวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดไปด้วย โดยนางจันทิมา  ชัยบุตรดี หนึ่งในผู้ดำเนินการติดตั้งแผ่นป้ายดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า “เจ้าของที่ดินเขาเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ มารื้อถอน โดยใช้รถของทางราชการ บรรทุกเอาแผ่นป้ายไปด้วย ทางกลุ่มฯ อยากรู้ว่าหน่วยงานราชการที่มาทำลายทรัพย์สิน รวมทั้งขโมยแผ่นป้ายไปนั้น ทำไปเพื่ออะไร ป้ายนี้พวกเราใช้เงินที่ทางกลุ่มฯ สะสม และสมาชิกร่วมกันบริจาคจัดทำขึ้นมา  ทำไมทางราชการต้องใช้วิธีนี้ด้วย”

กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ จึงติดตั้งแผ่นป้ายข้อความเดิมขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลา 14:00 น. วันที่ พุธที่ 29 ธันวาคม 2553  (เมื่อวานนี้) โดยนายเจะหมัด  สังข์แก้ว ชี้แจงว่า “เราจำเป็นต้องติดตั้งป้ายนี้ขึ้นอีก เป็น สาส์นเตือนใจท่านจุฬาฯ จากพี่น้องมุสลิมจะนะ เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ท่านอาศีส ได้รับเลือกตั้งให้เป็นจุฬาฯ คนใหม่ พวกเราอุตส่าห์รวบรวมเงินเป็นค่าเดินทางไปแสดงความยินดีกับท่าน และเตรียมหนังสือเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่ดินวะกัฟ ไปยื่นด้วย”

“เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ท่านอาศีสเอง ซึ่งเดิมในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เป็นผู้เสนอข้อมูลเรื่องที่ดินวะกัฟนี้ให้กับจุฬาราชมนตรีคนก่อนและคณะกรรมการร่วมกันวินิจฉัย ท่านอาศีสเองจึงทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  เมื่อตัวท่านเองได้รับเลือกเป็นจุฬาฯ  จึงน่าจะเริ่มต้นกระบวนการวินิจฉัยใหม่อีกครั้ง  แต่ในวันนั้นพวกเรากลับถูกคนของท่านอาศีสข่มขู่ คุกคาม จะทำร้าย และตัวท่านอาศีสเองก็ไม่ยอมรับหนังสือร้องเรียนที่พวกเราเตรียมไป   ดังนั้นเพื่อให้มีการกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องที่ดินวะกัฟ   มีการสอบสวนทายาท พยาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินวะกัฟโดยตรง และดำเนินการวินิจฉัยให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือเหตุการณ์รุนแรง พวกเราจึงจำเป็นต้องเลือกวิธีทำป้ายขนาดใหญ่เขียนข้อความสื่อสารถึงท่านจุฬาราชมนตรีแทนวิธีอื่น”

“ที่สำคัญที่สุด ก็คือเป็นหน้าที่ของพี่น้องมุสลิมด้วยกันที่จะต้องตักเตือน หากเห็นว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดละเมิด หรือถลำลึกลงไปในเส้นทางที่ออกห่างจากหลักการศาสนา พวกเราจึงนำข้อความซึ่งเป็นหลักคำสอนในศาสนาอิสลามมาเขียนลงในแผ่นป้ายเพื่อให้ท่านอาศีส  พิทักษ์คุมพล และผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขการกระทำไปในทางที่ถูกที่ควร โดยเฉพาะตัวท่านอาศีสเองซึ่งทราบดีที่สุดว่าก่อนที่จะได้เป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่นั้นได้รับปากกับกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯไว้ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง” นายเจะหมัดกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัยการยื่นฟ้อง 10 เอ็นจีโอปีนสภา สมัย "สนช." - ศาลยอมให้ประกันตัว

Posted: 30 Dec 2010 07:26 AM PST

อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 10 เอ็นจีโอ ปีนสภาคัดค้านการออกกฎหมายสมัย สนช.เมื่อปี 50 จำเลยนัดยื่นขอประกันตัวในวันเดียวกัน ศาลอนุญาตให้ประกัน-นัดตรวจพยานหลักฐาน 28 ก.พ.ปีหน้า

วันนี้ (30 ธ.ค.53) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.นายธงชัย รุ่งเจริญวิวัฒนา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น และร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย

จากกรณี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2550 กลุ่มภาคประชาชนได้ร่วมกันปิดล้อมรัฐสภา และบุกเข้ามาภายในเพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณากฎหมาย จนต้องงดการประชุม โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ จำเลยทั้ง 10 คน ได้นัดหมายมาพร้อมกันที่ศาลอาญาตั้งแต่เมื่อเวลา 9.00 น.เพื่อยื่นขอประกันตัวต่อศาล โดยมีญาติ และผู้มาให้กำลังใจกว่า 30 คน โดยในจำนวนนี้มีนางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจและเตรียมพร้อมมาเป็นนายประกันด้วย

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเลื่อนนัดจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 เพราะมีปัญหาเรื่องการใช้บุคคลเป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัว เนื่องจากหากผู้ใช้ตำแหน่งประกันไม่ได้เป็นญาติกับจำเลย ศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัว และคดีนี้จำเลยจำนวน 6 คนใช้ตำแหน่งนักวิชาการ สส. และ สว.ซึ่งไม่ใช่ญาติเป็นหลักประกัน จึงมีประเด็นว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ ส่วนกรณีการใช้หลักประกันอิสรภาพ จำเลยจะต้องใช้หลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาท

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.) หนึ่งในทีมทนายฝ่ายจำเลย กล่าวให้ข้อมูลว่า หลังจากที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การจำเลยแล้ว จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ก.พ.54 เวลา 09.00 น.โดยจำเลยทุกคนต้องมาศาลอีกครั้ง ก่อนจะมีการนัดสืบพยานในครั้งต่อไป

อนึ่ง จำเลยทั้ง 10 คน ประกอบด้วย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายศิริชัย ไม้งาม ปี ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อุบัติเหตุรถตู้เก้าศพ ปรากฎการณ์นางสาวเอ และสังคมไทย

Posted: 30 Dec 2010 06:59 AM PST

หมายเหตุ: *ผู้เขียนเลือกที่จะใช้ชื่อนางสาวเอ แทนการใช้ชื่อจริงเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาในฐานะเป็นผู้เยาว์

 

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อุบัติเหตุรถตู้เก้าศพสร้างความโกรธ โมโห และความรู้สึกสงสารครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่มากก็น้อยจากคนไทยจำนวนมาก (โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้) อุบัติเหตุนี้ได้เกิดปรากฎการณ์ความโกรธแค้น โมโห และความรู้สึกที่รุนแรงต่อนางสาวเอ เช่น การตั้งกลุ่มแสดงความโมโหและการใช้คำหยาบประนามนางสาวเอใน Facebook ขึ้นและตามเว็ปบอร์ดต่างๆ

หลังจากที่มีผู้ใช้ Facebook ตั้งกลุ่ม เรา “มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านไม่พอใจนางสาวเอ” ขึ้นตอนนี้มีสมาชิกมากกว่า 204,982 คนภายในระยะเวลา 2-3 วัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าภายในระยะเวลา 18 ชั่วโมง กลุ่มนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 150,000 คน ในขณะเดียวกันนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการตั้งกลุ่ม “มั่นใจว่าเด็ก มธ.ทั้งมหาลัยเกลียด นางสาวเอ” ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 15,298 คน

นอกจากนี้ยังมีการเขียนแฮชแท็กใน Twitter ว่า #ihate (ชื่อของคนขับ) และมีความพยายามค้นหา Twitter ของนางสาวเอเพื่อที่ผู้ใช้ Twitter จะสามารถเขียนประณามเธอได้ รวมถึงการเกิดการตั้งกระทู้ที่หยาบคายประณามการกระทำของนางสาวเอคล้ายกับว่าผู้เขียนข้อความเหล่านั้นได้เชื่ออย่างแน่แท้ว่าว่า การขับรถชนรถตู้โดยสารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ถึงหมอชิตเป็นสิ่งเธอได้วางแผนไว้อย่างไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อที่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตแปดคน หาใช่อุบัติเหตุที่เธอไม่ได้คาดคิดหรือตั้งใจไม่

ตลกร้ายก็คือ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกลายเป็น “แพะ” หลังจากเขียนข้อความแซวประหนึ่งว่าเป็นคนที่เพิ่งขับรถชนคนแล้วมาทวีต ข้อความแซวดังกล่าวถูกขยายซ้ำ เขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ที่ขับรถชนเสียเอง สังคมโซเชียลมีเดียจึงกลายร่างเป็นศาลเตี้ยแบบไทยๆ ลุกขึ้นมาเชือดแพะทันที

บทความนี้มีความมุ่งหมายในการตั้งคำถามกับสังคมไทย (โดยเฉพาะผู้ใช้อินเตอร์เน็ต) และพยายามจะอธิบายว่าปรากฎการณ์ “นางสาวเอ” นี้จะสามารถนำมาอธิบายสังคมไทยได้อย่างไร

(1)

การตัดสินใจหลายๆ กรณีในสังคมไทยเกิดขึ้นผ่านการใช้ข่าวลือ การพูดต่อๆ กัน มากกว่าการใช้เหตุผล

กรณีนี้มีการสร้างข่าวลือจำนวนมากที่ไม่สามารถตรวจสอบได้หรือไม่มีหลักฐานสนับสนุน เช่น การสร้างข่าวลือว่านางสาวเอหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ข่าวลือว่ามีความพยายามเปลี่ยนอายุของเธอจาก 16 ปีเป็น 18 ปี ข่าวลือว่าเธอขับรถชนเพราะกำลังเล่นบีบีอยู่ ข่าวลือการพูดคุยระหว่างเธอกับเพื่อนในบีบีที่ไม่ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ ข่าวลือว่าเธอขับรถชนเสร็จแล้วลงมาเล่นบีบี (ซึ่งในกรณีนี้หลังนี้ได้มี Netizen ท่านหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าภาพที่นางสาวเอกำลังกดบีบีนี้ เหมือนกับว่าเธอกำลังกดโทรศัพท์มากกว่า เพราะภาพต่อมาที่วิดีโอแสดงคือภาพที่เธอกำลังเอาโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหูและเช่นเดียวกันการให้ข่าวของพี่ชายต่างมารดาของเธอว่ากำลังติดต่อบิดาของเธอ)

 

(2)

สังคมไทยขาดวุฒิภาวะในการพูดคุยกัน ถกเถียง แลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล และการแลกเปลี่ยนอย่างไม่สนับสนุนความรุนแรง

ในกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสดงความเกลียดแค้นต่อเธอ มีการใช้คำหยาบอย่างเช่น “สัตว์หนักแผ่นดิน” “อยากเอาบีบีตบหน้ามันจัง อีกระหรี่ซีวิค” “อีฆาตกร” และอีกหลายคำกล่าวรวมถึงการโพสต์เบอร์โทรศัพท์ของเธอและของบิดาของเธอเพื่อเรียกร้องให้มีการโทรไปด่า แทนการพูดคุย ถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงและอธิบายสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลที่ตรวจสอบได้

ผู้เขียนโดยส่วนตัวเชื่อว่าผู้ที่ทำผิดในกรณีนี้ควรจะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม การจะติดตามและตรวจสอบให้ที่มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสเป็นสิ่งที่สามารถทำได้และควรกระทำ แต่การตรวจสอบกับการเรียกร้องให้มีการรุมทำร้ายหรือประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

(3)

ปรากฎการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ ตัวอย่าง) ที่แสดงปัญหาของระบบการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ที่ไร้ซึ่งความปลอดภัยและไม่มีมาตรฐาน

ระบบรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถตู้ปรับอากาศ ที่คนเดินทางส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางในเมืองไม่มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยเลย การเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารเหล่านี้แทบทุกอาทิตย์ แต่ยังคงไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เวลาเกิดอุบัติเหตุทีไรก็จะมีการเรียกร้องจากฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตว่า “ขอให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย”

เหตุการณ์กรณีนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หากรถตู้โดยสารจะมีบังคับที่ชัดเจนตามกฎหมายว่ารถตู้ทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยและผู้โดยสารต้องใส่เข็มขัดนิรภัยด้วย เนื่องจากเหยื่อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเหวียงของรถทำให้เหยือกระเด็นออกมานอกตัวรถ

 

(4)

สังคมไทยให้ความสำคัญของชีวิตคนที่แตกต่างกัน ตามชนชั้นทางสังคม ตามกลุ่มทางสังคม ตามองค์กรทางสังคมที่ตน เป็นสมาชิก

ในกลุ่ม  เรา “มั่นใจว่าเด็ก มธ. ทั้งมหาลัยเกลียดนางสาวเอ” มีคำถามที่น่าสนใจว่าหากคนที่เสียชีวิตไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหรือศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย) จะให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตครั้งนี้ไหม?

เช่นเดียวกันที่มีการตั้งคำถามว่าถ้าหากผู้เสียชีวิตเหล่านี้เป็นตาสีตาสา แรงงานพม่า ขอทาน แต่ไม่ใช่นักศึกษา-อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ นักเรียนนอก นักวิจัย สังคมไทยจะให้ความสำคัญเช่นนี้หรือไหม

เราคงจำได้ถึงการเสียชีวิตของแรงงานพม่า 54 ศพที่หาเป็นวาระแห่งชาติในหมู่ชนชั้นกลางไม่

การเสียชีวิตของคนจำนวนเก้าคนเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ในกรณีเดียวกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย (เช่น ในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีคนเสียชีวิตแทบทุกวัน ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มากกว่า 4 พันคน)

แต่การที่เหยื่อเป็นชนชั้นกลางในเมืองอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงจากชนชั้นกลางด้วยกัน ตัวอย่างที่สามารถอธิบายได้กับกรณีนี้ คือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยอธิบายว่าโสเภณีในกรุงเทพฯ ที่เป็นคนจนเป็นปรากฎการณ์ที่ปกติและเกิดขึ้นมานานแล้วและเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางยอมรับได้ แต่เมือเกิดปรากฏการณ์โสเภณีนักศึกษาไซด์ไลน์ ชนชั้นกลางไม่สามารถรับได้เพราะเป็นชนชั้นเดียวกัน

 

(5)

สังคมไทยเคารพสิทธิผู้ต้องหาต่ำมาก

สังคมไทยขาดความเข้าใจว่าไม่รู้ว่าผู้ต้องหาไม่ว่าจะกระทำผิดรุนแรงแค่ไหนก็ต้องมีสิทธิ มีความเป็นมนุษย์เหมือนประชาชนทุกคนตามหลักรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นเมือเราเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ เช่น กรณีผู้ต้องหายาเสพติด สังคมไทยส่วนใหญ่ (ไม่ว่าคุณจะอยู่สีเหลืองหรือสีแดง) จะให้ความยอมรับวิธีการวิสามัญฆาตกรรม แทนการนำผู้ต้องหามาขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรม อีกกรณีหนึ่ง คือ ในฐานะที่ผู้ต้องหาเป็นผู้เยาว์ควรจะได้รับการปกป้องชื่อเสียงและสิทธิโดยไม่มีการเปิดเผยชื่อจริง แต่สื่อมวลชนไทยจำนวนมากได้เปิดชื่อจริง นามสกุลจริงของเธอไปแล้ว

เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่ครอบครัวนางสาวเอได้ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ครอบครัว ไม่ได้นอนในหลายวันที่ผ่านมา เพราะต้องพานางสาวเอย้ายโรงพยาบาลสามแห่งหลังจากถูกขู่ฆ่าและมีการพยายามบุกเข้ามาในห้องของเธอ รวมถึงการโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อประณามทั้งคืน

 

(6)
การเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ครั้งนี้อาจจะมีส่วนสำคัญ คือ สังคมไทยมีความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของตำรวจต่ำมาก และในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีค่านิยมที่ตายตัว เช่น คนรวยมักทำผิด นักการเมืองเลว

หลายๆ ครั้งมีความเชื่อว่า หากผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพล เช่น คนมีนามสกุลดัง มีพ่อเป็นนักการเมือง เป็นคนรวยหรือลูกคนรวย ความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยาก ประสบการณ์ที่ลูกของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลจะได้รับโทษเบาๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์

การเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมาอาจจะเป็นความไม่มั่นใจของสังคมว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยือได้จริงหรือเปล่า

 

(7)

แต่ในขณะเดียวกันสังคมไทยมีการมองปัญหาแบบฉาบฉวยและมีการใช้ค่านิยมแบบฉาบฉวย เช่น มองว่าลูกคนรวย คนที่มีนามสกุลใหญ่จะเลวหมด เป็นอภิสิทธิ์ชนหมด คล้ายกับแนวคิดที่เชื่อว่าข้าราชการและนักการเมืองจะเลวหมด

สังคมไทยพร้อมที่จะออกมาก่นด่าคนจนทำให้ผู้วิจารณ์รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีมีศิลธรรม และมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญ ซึ่งค่านิยมที่เหมารวมเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์เพราะผู้วิจารณ์ก็จะสามารถติด่าแต่ไม่สนใจรายละเอียดหรือโครงสร้างของปัญหา

และที่สำคัญที่สุด ปรากฎการณ์นี้อาจแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยในตอนนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ที่เราต้องมีกลุ่มคนที่เราเกลียดแค้นตลอดเวลา เช่น การเกลียดแค้นกลุ่มคนเสื้อแดงโดยคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองโดยคนเสื้อแดง การเกลียดแค้นโจ๊ก ไผ่เขียว จนมาถึงการเกลียดแค้นนางสาวเอในตอนนี้ อาจเพราะคนจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้พูดว่า "เธอนั่นล่ะ ผิด"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก "85 นักรบศรีวิชัย" คดีบุกเอ็นบีที

Posted: 30 Dec 2010 01:18 AM PST

คดี 85 นักรบศรีวิชัย บุกเอ็นบีที ศาลสั่งจำคุกโทษสูงสุด 2 ปี 6 เดือน ต่ำสุด 6 เดือน ขณะเยาวชน 6 คนรอลงอาญา 2 ปี ล่าสุดทนายจำเลยยื่นขอประกันตัว สู้คดีชั้นอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ธ.ค.53) เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศาลอาญาห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 กรณีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) หน่วยงานสื่อมวลชนของภาครัฐในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 โดยมีพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธเนศ คำชุม กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

โดยในวันนี้มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมาฟังคำพิพากษา และให้กำลังใจจำเลยทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดถูกยื่นฟ้องในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535

คำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.51 จำเลย 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนนัดแนะระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น ตกลงกันไปเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2551 จำเลยทั้งหมดได้พกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันไปทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท โดยเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดการกระทำจำเลยทั้งหมดก็ไม่หยุด อีกทั้งจำเลยยังร่วมข่มขืนใจ นางสาวตวงพร อัศววิไล และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ซึ่งเป็นพนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่ทำการ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับพวกเกินกว่า 5 คน บุกรุกเข้าไปที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที พร้อมกับพกพาอาวุธเข้าไป อันเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจร แม้ว่าโจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานแต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดดังกล่าว และมีความผิดฐานมีวิทยุสื่อสารในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และ 2 ยังกระทำผิดฐานมีอาวุธปืน และพกพาปืนไปในที่สาธารณะ

ส่วนจำเลยอื่นนั้นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดพกพาอาวุธชนิดไหน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงลงโทษจำเลยอื่นไม่ได้ ส่วนความผิดฐานมั่วสุม บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์นั้น รวมทั้งร่วมกันข่มขืนใจ เห็นว่าการวินิจฉัยว่าจำเลยคนใดกระทำความผิดนั้น ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ศาลลงความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเพียงการที่จำเลยร่วมกันบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดกระทำผิดในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผิดฐานยาเสพติดใบกระท่อมในครอบครอง

นอกจากนี้ ในความผิดฐานกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นว่าจากการนำสืบของพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ระบุว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศชักชวนอาสาสมัครที่จะไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีให้ไปรวมกลุ่มที่ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 ซึ่งเกิดหลังจากที่กลุ่มจำเลยกระทำการดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดจะมีเจตนาร่วมกันกับแกนนำได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีก็ตาม

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 วรรคแรก มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 83 ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 30, 47, 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดโทษมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 ส่วนจำเลยที่ 83-85 อายุต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรละโทษให้กึ่งหนึ่ง ความผิดฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1-29 ที่ 31-41 ที่ 43-46 ที่ 48-80 ที่ 82 จำคุกคนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 คนละ 8 เดือน สั่งจำคุกจำเลยที่ 83-85คนละ 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุกจำเลยที่ 1-29, 31-41, 43-46, 48-80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30, 47, 81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83-85 คนละ 6 เดือน

จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี และความผิด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 และ 23 สั่งจำคุก 1 ปี

จำเลยที่ 2 มีความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 7 และ 72 วรรคสอง สั่งปรับ 1 พันบาท ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผอดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง 76 วรรคสอง สั่งปรับคนละ 1 พันบาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 1ใน3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 รวมเป็นจำคุกกระทงละ 1ปี 4 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยรับข้อเท็จจริงว่าได้ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน

จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพ ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำเลยที่ 39 และ 80 ให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 18 เดือน และจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และสั่งปรับ 500 บาท

ส่วนจำเลยที่ 3-29, 31-38, 40, 41, 43-46, 48-79 และ 82 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 39 และ 80 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30, 47 และ 81 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 83-85 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 24 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน

ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 30, 47, 81, 83-85 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30, 47 และ 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี จำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยดังกล่าวไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ข้อหาและคำร้องอื่นให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายความของจำเลยได้ยื่นคำประกันตัวจำเลยทั้งสิ้น 79 คน เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก 7 เสื้อแดงสารคามฐานวางเพลิง-ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ปี 8 เดือน

Posted: 29 Dec 2010 11:20 PM PST

ศาลจังหวัดมหาสารคามตัดสินจำคุกจำเลยคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 5 ปี 8 เดือน รวม 7 คน ส่วนส่วนจำเลยที่ 4 รอลงอาญา ด้านทนายเตรียมทำเรื่องขอประกันตัวจำเลยที่เหลือเพื่อสู้คดี

วันนี้ (30 ธ.ค.53) เวลา 09.30 ศาลจังหวัดมหาสารคามนัดฟังคำพิพากษาตัดสินคดีร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือน อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน และร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุม 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนข้อกำหนดพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 บริเวณอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม โดยมีจำเลยในคดีทั้งสิ้น 8 คน ได้แก่ นายสมโภชน์ สีกากุล อายุ 23 ปี อาชีพรับจ้าง นายสุชล จันปัญญา อายุ 19 ปี นักศึกษา นายเดชอดุลย์ เดชบุรัมย์ อายุ 20 ปี อาชีพรับจ้าง นายไข่เขย จันทร์เปล่ง อายุ 52 ปี อาชีพค้าขาย นายชรัณย์ เอกศิริ 26 ปี อาชีพรับจ้าง นายอุทัย คงหา อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้าง นายมนัส วรรณวงษ์ อายุ 34 ปี อาชีพรับจ้าง นายไพรัช จอมพรรษา อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง โดยทั้งหมดถูกจำคุกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 เดือน

ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 2 ช.ม. โดยตัดสินจำคุก จำเลยที่ 1-3 และ จำเลยที่ 5-8 เป็นระยะเวลา 5 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในขณะที่จำเลยที่ 4 ได้แก่ นายไข่เขย จันทร์เปล่ง ตัดสินให้รอลงอาญา

สำหรับบรรยากาศหลังทราบคำพิพากษา ญาติและครอบครัวของผู้ต้องขังต่างร้องไห้เสียใจ

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่ระบุในคำฟ้อง ซึ่งอ้างถึงความเสียหายของตัวอาคารอำเภอ และพาหนะ เครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงสาธารณะสมบัติรวมแล้ว มีมูลค่า 352,000 บาท

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย ทนายและคณะจะทำเรื่องขอประกันตัวผู้ต้องขังทั้งเจ็ดคนต่อศาลต่อไป

ด้าน นางบุญเลี้ยง จันทร์เปล่ง ภรรยาวัย 51 ปีของนายไข่เขย กล่าวว่า จะต้องเสียค่าปรับหนึ่งหมื่นบาท แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ ขณะนี้ยังรอความช่วยเหลือภายนอก และว่า อยากให้พี่น้องร่วมคดีออกมาพร้อมกันทั้งแปดคน ไม่อยากให้นายไข่เขยออกมาคนเดียว

นางบุญเลี้ยง แสดงความกังวลด้วยว่า สามีอาจจะเป็นอันตรายเพราะสามีก็เป็นแกนนำ ทำให้รู้สึกกลัวว่าจะถูกฆ่าเหมือนกรณีแดง คชสารที่เชียงใหม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวแฟลตมาเลเซียร้อง ถูกรัฐบาลท้องถิ่นบังคับโยกย้ายซ้ำซาก

Posted: 29 Dec 2010 08:05 AM PST

ชาวมาเลเซียซึ่งถูก จนท. ไล่รื้อชุมชนและต้องย้ายมาเช่าแฟลตของรัฐบาล ร้องเรียนสื่อท้องถิ่นว่ากำลังจะถูกขับออกจากแฟลตอีกรอบเหตุเพราะค้างค่าเช่าหลายเดือน

ที่มาของคลิป: มาเลเซียกินี

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. เว็บไซต์มาเลเซียกินี ซึ่งมีสำนักงานในมาเลเซีย รายงานว่า ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นผู้พักอาศัยในแฟลตของโครงการเคหะแห่งชาติ มาเลเซีย (Projek Perumahan Rakyat - PPR) ที่วายุ (Wahyu) เขตเซลายัง (Selayang) ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ทางตอนเหนือ ร้องเรียนว่าไม่สามารถทนกับค่าเช่ารายเดือนที่กำหนดโดยสภาเมืองกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ เนื่องจากมีรายได้น้อย และมีค่าเช่าค้างอยู่หลายเดือน

ผู้พักอาศัยจำนวนมาก ก่อนหน้านี้เคยตั้งชุมชนอยู่ในที่ดินบุกรุกในเขตลัมบา ปันไต (Lembah Pantai ) และ เขตอัมปัง จายา (Ampang Jaya) ใกล้กับกัวลาลัมเปอร์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่รื้อถอนชุมชน และต้องย้ายมาอาศัยและจ่ายค่าเช่าในแฟลตดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการของ สภาเมืองกัวลาลัมเปอร์ (Dewan Bandaraya Kuala Lumpur - DBKL) อย่างไรก็ตามพวกเขาจำนวนมากประสบปัญหาทางการเมือง เนื่องจากมีรายได้น้อย และบางครอบครัวยังว่างงาน ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าให้กับโครงการได้ หลายครอบครัวมีสมาชิกที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยและทุพลภาพ

ทั้งนี้ สภาเมืองกัวลาลัมเปอร์ ให้เส้นตายผู้พักอาศัยให้จ่ายค่าเช่าที่ค้างชำระภายในสิ้นเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทำให้ผู้พักอาศัยในโครงการออกมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนในมาเลเซียดังกล่าว

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก PPR Wahyu residents: Who'll protect poor people like us?, Arvind Raj, Malaysiakini.tv, 28 Dec 2010 http://www.malaysiakini.tv/video/20756/ppr-wahyu-residents-wholl-protect-poor-people-like-us.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: Political Marketing - การตลาดการเมือง

Posted: 29 Dec 2010 04:53 AM PST

ท่ามกลางกระแสประชานิยมอันเชี่ยวกรากที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างก็ช่วงชิงขายสินค้าทางการเมืองของตนเองโดยใช้การตลาดนำ มีการงัดเทคนิคต่างๆ ทั้งที่เป็นการใช้งบส่วนตนและงบประมาณของทางราชการโหมกระหน่ำทุ่มลงไปในตลาดการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชื่อใดก็ตาม อาทิ ประชานิยม อภิมหาประชานิยม ซุปเปอร์ประชานิยม ประชาวิวัฒน์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่แตกต่างกันมากนักเพราะต่างก็เป็น Political Marketing นั่นเอง

Political Marketing นั้นมีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย เช่น Harrop (1990) บอกว่า Political Marketing นั้นมิใช่เป็นเพียงการโฆษณาทางการเมือง หรือการกระจายเสียงของพรรคการเมือง หรือการกล่าวสุนทรพจน์หาเสียงของนักการเมือง แต่ครอบคลุมทุกส่วนในตลาดของการเลือกตั้ง (political marketing as being not just about political advertising, party political broadcasts and electoral speeches but covering the whole area of party positioning in the electoral market).

Kavanagh (1995, 1996) เห็นว่า Political Marketing นั้น คือวิศวกรรมการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดยุทธศาสตร์และเครืองมือ เพื่อที่จะแกะรอยและศึกษาความเห็นสาธารณะ (มติมหาชน) ก่อนและระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อพัฒนาการสื่อสารการรณรงค์และประเมินผลกระทบ (political marketing as electioneering, i.e. as a set of strategies and tools to trace and study public opinion before and during an election campaign, to develop campaign communications and to assess their impact. )

กล่าวอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุด Political Marketing ก็คือ “การเมืองที่ใช้การตลาดนำ” (Marketing Orientation in Politics) นั่นเอง ซึ่งก็เหมือนกับการยึดแนวทางการตลาดนำ (Marketing Oriented) ของภาคธุรกิจ เพียงแต่ต่างกันที่เป้าหมาย เพราะการเมืองมิได้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างผลกำไรหรือความมั่งคั่งสูงสุดดังเช่นภาคธุรกิจ เพราะกลุ่มเป้าหมายของการเมืองคือผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Voter) โดยผู้เลือกตั้งจ่ายเป็นคะแนนเสียงแทนเงินเพื่อซื้อ “ความเชื่อในแนวนโยบายและสัญญาต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้นๆ” เช่น นโยบายประชานิยมที่ว่าดังกล่าวข้างต้น นั่นเอง

ในส่วนในเรื่องของวิธีปฏิบัติ เครื่องมือ และกลยุทธของ Political Marketing นั้น ก็ไม่แตกต่างจากการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น Research, Segmentation, Targeting, Positioning, Marketing Strategies, Marketing Program, Implementation and Control ฯลฯ โดยผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็คือ ผู้บริโภค (Consumer) ที่เราสามารถใช้ความรู้ทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer Behavior) มาประยุกต์ใช้ได้

ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าทั้งภาคธุรกิจและพรรคการเมืองต่างก็ต้องอาศัยบุคลากรและเครื่องมือทางการตลาดเพื่อให้ได้ชัยชนะทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งในฐานะที่เป็นผู้ซื้อ “ความเชื่อในแนวนโยบายและสัญญาต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้นๆ” โดยการไปหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น จะได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้านี้มากน้อยเพียงไร และจะมีความมั่นใจขนาดไหนว่านักการเมืองและพรรคการเมืองจะส่งมอบสินค้าหรือบริการทางการเมืองให้แก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้ เพราะในตลาดการเมืองนั้นผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องจ่าย “เงิน” ซึ่งในที่นี้ คือ “คะแนนเสียง” ไปก่อน และหวังว่าจะได้รับสินค้าหรือบริการการเมืองในภายหลัง

ในสภาวการณ์เช่นนี้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ บอกว่า ผู้ซื้อจะต้องเผชิญภาวะความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3 ระดับ คือ

ระดับแรก คือ นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ หากนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกตั้งพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ผู้ซื้อย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับการส่งมอบสินค้า “บริการการเมือง”

ระดับที่สอง ถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกจะชนะ แต่จะมีโอกาสในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงเข้าสู่การปฏิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ ผู้ซื้อก็ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับสินค้า “บริการการเมือง” เป็นผลต่างตอบแทน

ระดับที่สาม ถึงแม้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเลือกได้รับเลือกตั้งและได้ร่วมรัฐบาล ประชาชนก็อาจจะต้องเสี่ยงต่อการ “เบี้ยว” สัญญา โดยการไม่ดำเนินตามนโยบายตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน

ในทัศนะของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เห็นว่า ตลาดการเมืองไทย เป็นตลาดที่มิได้มีการแข่งขันสมบูรณ์ (Imperfect Competition) ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ในตลาดการเมืองไทยยังมีทำนบกีดขวางสินค้าที่ดีมีคุณภาพเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้ที่มิได้อยู่ในชนชั้นนำทางอำนาจ (Power Elite) และผู้ที่ไม่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองและมิได้จัดระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทำนบกีดขวางดังกล่าว จะเห็นได้จากตลาดการเมืองไทยต้องมีรายจ่ายในการรณรงค์หาเสียงมาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะการรณรงค์ในการหาเสียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงรายจ่ายในการซื้อเสียงอีกด้วย การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง รวมทั้งอิทธิพลของหลักความเชื่อที่ว่า “พรรคใหญ่ดีกว่าพรรคเล็ก”

ประการที่สอง ตลาดการเมืองไทยยังมีการกระจุกตัวของอำนาจการเมือง (Power Concentration) กล่าวคือ อำนาจการเมืองในสังคมไทยมีการกระจุกตัวในฐานะเป็นแหล่งที่มาของทรัพย์สินศฤงคาร ที่สามารถใช้เป็นฐานขยายอำนาจ การสร้างเครือข่ายทางการเมือง รวมตลอดจนการขยายระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่มีความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและทางการเมืองย่อมสามารถใช้ฐานะของตนทางการเมืองผลักดันนโยบายในทางที่เกื้อผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไม่นับรวมการใช้อำนาจในทางฉ้อฉล คอรัปชั่น ซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นในตลาดการเมืองไทยในปัจจุบันอีกด้วย

ประการที่สาม ตลาดการเมืองไทยยังขาดความสมบูรณ์ของสารสนเทศทางการเมือง (Political Information Imperfection) กล่าวคือ ประชาชนในฐานะผู้ซื้อโดยการเลือกตั้ง ยังไม่มีหรือยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมือง พรรคการเมือง นโยบายทางการเมืองและพฤติกรรมทางการเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสินค้า “บริการการเมือง” นอกจากจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนยังต้องเผชิญหน้ากับการโฆษณาชวนเชื่อหรือการโกหกทางการเมืองอีกด้วย นักการเมืองจึงเป็น ”สินค้าที่ผู้บริโภคหาข้อมูลจากประสบการณ์การบริโภค” กล่าวคือ ประชาชนในฐานะผู้ซื้อหรือบริโภค จะตัดสินใจซื้อสินค้านี้จากการมีข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ในการบริโภค มิได้แสวงหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ หากแต่รับทราบว่า สินค้าหรือบริการนั้นดีหรือเลวอย่างไรจากประสบการณ์บริโภคนั่นเอง ดังนั้น กว่าจะรู้ว่า สินค้ามีคุณภาพมากน้อย ก็ต่อเมื่อได้ชิมหรือลิ้มรสแล้ว

ประการสุดท้าย ตลาดการเมืองไทย ยังขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (People Participation) อย่างแท้จริง รัฐบาลและนักการเมืองยังขาดความจริงใจในการให้ประชาชนได้เข้ามาสู่ตลาดการเมืองแห่งนี้

กล่าวโดยสรุปแม้ว่าการที่ตลาดการเมืองไทยจะมิใช่ตลาดการแข่งขันที่สมบูรณ์ดังกล่าวมาก็ตาม เราก็คงต้องซื้อสินค้านี้อยู่ดี ไม่ว่าสินค้านี้จะมีคุณภาพมาก คุณภาพน้อยหรือไม่มีคุณภาพก็ตาม สำคัญที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งเองในฐานะผู้ซื้อ ต้องใช้วิจารณญาณให้มากขึ้น ศึกษาตัวอย่างให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากเรามัวแต่หลงเชื่อในนโยบายประชานิยมหรือในชื่ออื่นใดก็ตาม เราก็คงไม่พ้นที่จะเป็นดั่งประเทศแถบอเมริกาใต้ที่ล่มสลายเพราะนโยบายประชานิยมที่ใช้ในการทำ Political Marketing นั่นเอง

---------------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 ธันวาคม 2553
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: บทกวี ปีเก่า-ปีใหม่/ ฉลาด รู้ สู้ให้เป็น

Posted: 29 Dec 2010 04:25 AM PST

 

ปีเก่า.. เศร้าที่สุดในโลก โศกสลด
ปีเก่า.. รันทด อนาถา
ปีเก่า.. เลือดนองท่วมน้ำตา
ปีเก่า.. ทหารฆ่าประชาชน

ปีใหม่.. ไม่เลิก การไล่ล่า
ปีใหม่.. การฆ่า ยังเข้มข้น
ปีใหม่.. ยังได้เห็น เกมเล่นกล
ปีใหม่.. มืดมนอนธกาล

ปีใหม่.. ไทยนี้ ไม่รักสงบ
ปีใหม่.. ไทยรบกันร้าวฉาน
ปีใหม่.. วิกฤติ ยังพิสดาร
ปีใหม่.. อีกนาน ยังทระนง

ปีใหม่.. ให้รักสามัคคี
ปีใหม่.. เดินให้ดี อย่าพลัดหลง
ปีใหม่.. บากบั่น มั่นคง
ปีใหม่.. ชูธง สู้ต่อไป

ปีใหม่.. จิตใจ ไม่เปลี่ยน
ปีเก่า.. บทเรียน ยิ่งใหญ่
ปีเก่า.. ฝังแค้น แน่นใน
ปีใหม่.. ฉลาดรู้ สู้ให้เป็น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาวิวัฒน์: ไม่ใช่ประชานิยมและไม่ใช่ระบบสวัสดิการสังคม

Posted: 29 Dec 2010 03:47 AM PST

หลังจากรอคอยกันนานพอควร ในที่สุดรัฐบาลก็ ‘เคาะ’ ชุดนโยบายที่ประกาศว่ามีเจตนารมณ์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูปสังคม แม้ท่านนายกรัฐมนตรีจะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่จากข่าวคราวที่รายงานเป็นระยะดูเหมือนว่าชุดนโยบายนี้น่าจะประกอบด้วยการลดค่าครองชีพประชาชน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีอยู่แล้ว การให้สินเชื่อใหม่ผู้ประกอบการรายย่อยและอิสระนอกระบบเช่นหาบเร่ แผงลอย แท๊กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ การเพิ่มวงเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นที่ประกาศพร้อมกันก็เช่นการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ดินทำกิน

เกือบทันทีหลังการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งสื่อและนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าประชาวิวัฒน์คือประชานิยม และประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดอะไรใหม่ เพียงลอกนโยบายของรัฐบาลทักษิณเท่านั้น หลายคนเตือนเรื่องการใช้เงินและวินัยการคลังเหมือนที่เคยทักท้วงรัฐบาลทักษิณมาแล้ว

ผมเองไม่คิดว่าประชาวิวัฒน์คือประชานิยม อย่างน้อยไม่ใช่ประชานิยมแบบสมัยคุณทักษิณ ซึ่งผมคิดว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญคือ (ก) เป็นการโอนเงินจากคนชั้นกลางและคนรวยมาสู่คนจนและผู้มีรายได้น้อยผ่านการใช้เงินภาษีอากร โดย (ข) โอนเม็ดเงินจำนวนมาก เพราะ (ค) ต้องการหวังคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นหลัก (ง) ไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้เงิน จนน่าจะทำให้ (จ) เกิดผลเสียทางการคลังในระยะยาว

ผมคิดว่าประชาวิวัฒน์พ้องกับคุณสมบัติข้อ (ค) และ (ง) เป็นหลัก ส่วนอีกสามข้อไม่ตรงเสียทีเดียว เหตุผลสำคัญคือเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มมีไม่มากเลย จำนวนเงินที่รายงานกันว่าสูงนั้นเป็นยอดสินเชื่อมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อใหม่ที่จะให้กับผู้ประกอบการนอกระบบซึ่งมีวงเงินประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทหรือการเพิ่มวงเงินให้กับบัญชีกองทุนหมู่บ้านแปดหมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้รัฐบาลไม่ได้ควักกระเป๋าเองแม้แต่บาทเดียว (ไม่เหมือนกองทุนหมู่บ้านรอบแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ) แต่ไปสั่งให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ปล่อยกู้แทน ภาระภาษีจะมีก็ต่อเมื่อสินเชื่อเหล่านี้กลายเป็นหนี้เสียจนรัฐบาลต้องไปชดเชยให้ ซึ่งผมเดาว่ารัฐบาลก็คงไม่ชดเชยเต็มจำนวน คงชดเชยเฉพาะหนี้เสียส่วนที่ ‘มากกว่าปกติ’ อันต้องมาถกเถียงกันว่าเป็นเท่าไรกันแน่ (เรื่องความเหมาะควรของการชดเชยเป็นอีกเรื่องที่สำคัญแต่ไม่ขอพูดในขณะนี้)

ส่วนการลดค่าครองชีพนั้นเป็นภาระภาษีโดยตรง แต่หากรัฐบาลไม่ต่ออายุหลังเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็จะไม่ใช้เงินมากเช่นกัน ยกเว้นว่าจะทำให้เป็นมาตรการถาวร ซึ่งหลายคนรวมทั้งผมด้วยไม่เห็นด้วย

เมื่อไม่ได้ใช้เงินมากผลเสียต่อวินัยการคลังก็ไม่น่าสูง ดังนั้นหากดูตามที่ประกาศอย่างไม่เป็นทางการมาชุดนโยบายประชาวิวัฒน์จึงไม่ใช่ประชานิยม

คำถามที่สื่อและนักวิชาการน่าจะถามมากกว่า แต่ไม่ได้ถามคือประชาวิวัฒน์ถือเป็นระบบสวัสดิการสังคมตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าจะให้มีระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี 2560 หรือไม่

สำหรับผมคำตอบคือไม่เช่นกัน ประชาวิวัฒน์ขาดคุณสมบัติของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแน่นอน เพราะนโยบายที่นำเสนอไม่ได้มีหลักคิดเรื่องความถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทุกคนอยู่เลย มีการกำหนดกลุ่มผู้รับประโยชน์เป็นกลุ่ม ๆ กองทุนหมู่บ้านแม้จะครอบคลุมทุกชุมชนในเมืองไทยแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเงินกู้นี้ (โดยเฉพาะคนจน) มาตรการลดค่าครองชีพบางประการก็ให้ประโยชน์เฉพาะผู้ที่ใช้เท่านั้น เช่นคนชนบทไม่ได้ใช้รถเมล์ฟรี

นอกจากนี้ประชาวิวัฒน์ก็ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ระบบสวัสดิการสังคมดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เช่นไม่มีมาตรการดูแลเด็กเล็ก การเรียนฟรีของนักเรียนยากจน คุณภาพการศึกษา การให้สวัสดิการของแรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ การฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน การดูแลคนแก่อย่างเพียงพอ เป็นต้น แม้รัฐบาลจะได้ออกนโยบายก่อนหน้าในเรื่องเรืยนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพคนชราถ้วนหน้าและคนพิการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องดีที่น่าชมเชย แต่ก็ยังไม่ได้ถือโอกาสปรับปรุงให้ดีขึ้นในชุดนโยบายประชาวิวัฒน์ น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงไม่น่าแปลกใจว่าประชาวิวัฒน์ไม่ถูกออกแบบให้เป็นฐานรากของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะเท่าที่ทราบกระบวนการร่างชุดนโยบายนี้ขาดมุมมองจากภาคประชาชนและไม่ได้มีวิธีการศึกษาอย่างที่ควรเป็น ที่ได้ยินมาคือมีการเชิญผู้คน ‘จำนวนหนึ่ง’ ประชุมร่วมกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือธนาคารรัฐ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่รัฐบาลสั่งมาเท่านั้น ดังนั้นแม้จะมีข้อดีในเรื่องความเป็นไปได้และรายละเอียดของการดำเนินการ แต่ขาดมุมมองภาคประชาชนอย่างแน่นอน

ดังนั้นแม้ประชาวิวัฒน์จะไม่ใช่ประชานิยม แต่ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบบสวัสดิการสังคมที่ควรเป็นเช่นกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"พนิช-วีระ" และคณะถูกทหารกัมพูชาจับตัว ขณะเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ชายแดนสระแก้ว

Posted: 29 Dec 2010 03:26 AM PST

 
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ธันวาคม นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ พร้อม ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายวีระ สมความคิด และคณะ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกัมพูชาจับตัวไป พร้อมกับอุปกรณ์ในการถ่ายทำรายการ ที่บริเวณถนนศรีเพ็ญ บ้านหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว
 
ขณะที่นายพนิชได้ให้คนขับรถโทรศัพท์บอกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ทราบเรื่องแล้ว
       
ทั้งนี้ นายพนิชเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนที่จะลาออกมาลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังจากนายทิวา เงินยวง เสียชีวิตไป
 
สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมตัวไปประกอบด้วย นายวีระ สมความคิด นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.เขต 6 นายกิจพลธร ชุณณะเสวี ร้อยตรีแซนดิล เลิศบุตร และนายตายแน่ มุ่งมาจน ส่วนอีก 2 คน เป็นผู้หญิงทราบแต่เพียงว่าชื่อ หมวย กับ อ้วน โดยทั้งหมดได้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร มาที่บริเวณหลักเขตที่มีปัญหาระหว่างไทย -กัมพูชา บริเวณบ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยรถยนต์ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์สีขาว หมายเลขทะเบียน ชณ 456 กรุงเทพ และรถยนต์โตโยต้า แวน สีบอร์นเงิน หมายเลขทะเบียน ฎจ 463 กรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 10 คน 
 
ขณะที่กำลังดูหลักเขต ทางด้านทิศตะวันออกถนนศรีเพ็ญ ใกล้กับ จุดตรวจที่ 48  ได้มีทหารกัมพูชาตรงเข้ามาจับกุมตัวไป โดยในจำนวนนี้มี 3 คนหลบหนีออกมาได้ ส่วนอีก 7 คน ได้ถูกทหารนำตัวเข้าไปในฝั่งกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ทาง พ.ต.อ.ณัฐ สิงห์อุดม ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 อรัญประเทศ กำลังประสานงานเจรจากับทางการกัมพูชาเพื่อขอให้ส่งตัวกลับไทย 
       
ด้านนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าฯสระแก้ว เปิดเผยผ่านสถานีทีวีไทย เมื่อเวลา 14.00 น. ว่า ตอนนี้ฝ่ายไทยมีผู้กำกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ปลัดอาวุโส และกองกำลังบูรพา อยู่ระหว่างการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเป็นไปในแนวทางที่ดีเพราะไม่มีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ บริเวณที่ถูกคุมตัวไปอยู่ในเขตหมู่บ้านชมรมบ้านหนองจาน ห่างจากบริเวณชายแดนประมาณ 500 เมตร
 
"คงเป็นการเข้าใจผิดกัน เพราะว่าพื้นที่จุดแดงเป็นพื้นที่นาธรรมดา และอยู่ระหว่างการปักปันเขตแดน แต่ในหลักการก็กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนรายละเอียดคงต้องรอนายพนิช ออกมาก่อนถึงจะทราบถึงสาเหตุที่เข้าไป นอกจากนี้ ทางกองกำลังบูรพา ซึ่งดูแลชายแดนอยู่ ได้มอบหมายให้ ตชด. เข้าไปดูแล นโยบายคือขอให้ปล่อยตัวให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจผิด"
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อานนท์ นำภา:เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้า มาสุดทาง

Posted: 28 Dec 2010 05:15 PM PST

 

เอ้กอีเอ้ก สว่างแล้ว แก้วไก่ขัน

ดวงตะวัน ยิ้มแฉ่ง สีแดงฉาน

หมู่หมอกเหม่อ เออออ ล้อลำธาร

หยาดน้ำค้าง ค้างบ้าน จนลืมไพร

  

ควักข้าวเหนียว ใส่ห่อ ไปรอรับ

หวังลูกกลับ สู่บ้าน มาอยู่ไกล้

เจ็ดเดือนย่าง ต่างรู้ ต้องอยู่ไกล

แต่เทียวไป เยี่ยมเล่น ไม่เว้นวัน

  

เมื่อใดความ ขัดแย้ง ไม่แยกแยะ

เมื่อนั้นแพะ ก็พา กันขาสั่น

เมื่อใดช้าง ต่างชน ชิงประชัน

แลเมื่อนั้น หญ้าแพรก ก็แหลกราน

  

ร่างผอมโซ โซ่ตรวน ล่ามส่วนขา

เดินออกจาก รถมา ศาลาศาล

ผู้คุมสวม บทบาท ราชการ

ตะโกนไล่ ชาวบ้าน อย่าจอแจ !

 

 ปาดน้ำตา ต่างยิ้ม ให้ลูกชาย

ลูกโบกมือ บ๋ายบาย ยิ้มให้แม่

ชะเง้อตาม สองตา เจ้าต่างแล

เชื่อมรักแท้ แม่ลูก ที่ผูกพัน

  

ผิดใดหนอ บักหำน้อย แม่คอยถาม

จึงถูกล่าม โซ่ขึง ตรึงไว้นั่น

ขาก็ขา น้อยน้อย เพียงแค่นั้น

จะทนดั้น เดินย่าง ได้อย่างไร

  

เสียงตะโกน “ลุกขึ้น” ทะมึนสั่ง

ศาลออกนั่ง บัลลังก์ ฟังปราศรัย

อัยการ อ่านเกมส์ เค็มน้ำใจ

ทนายให้ สารภาพ อย่าสู้เลย

  

เสียงตะโกน แต่ไกล “ผมไม่ผิด”

ศาลสั่ง “เงียบสักนิด ฟังเฉยเฉย ! ”

แล้วยิ้มเยาะ เคาะไม้ สะบายสะเบย

บอกเปรยเปรย มีคำสั่ง ถูกขังลืม

 

ชนชั้นนำ กำหนด กฎอุบาทว์

เหยียบหัวราษฎร์ ปรองดอง กันดูดดื่ม

ชนชั้นต่ำ เงินสิบ ต้องหยิบยืม

รอ “นาย” ปลื้ม เมื่อไหร่ ให้ประกัน

 

โรงละคร เล่นครบ เหมือนจบข่าว

กำหมัดชื้น ขื่นคาว คนขบขัน

“พวกเผาบ้าน เผาเมือง ประหารมัน"

คนดีลั่น พวกใจสัตว์ ต้องจัดการ !

  

เสียงระโยง ระยาง ครางกับพื้น

กลบเสียงปืน ราชประสงค์ ไว้ตรงศาล

คนเสื้อแดง ถูกตราหน้า ว่าสามานย์

คนสั่งด้าน หัวร่อ บนหอทอง

  

เกาะลูกกรง คงยืน มองลูกชาย

เป็นภาพชิน ชาคล้าย ไม่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ คนชนะ จะปรองดอง

ชาวบ้านต้อง ร้องไห้ อยู่ฮือฮือ

 

ภาพของหญิง ชรา ตำตาศาล

เหมือนกฎหมาย ตายด้าน แต่หนังสือ

ผู้มักใหญ่ ใช้เชื่อง เป็นเครื่องมือ

เพื่อแย้งยื้อ ชอบธรรม เถื่อนอำพราง

  

จึงกฎหมาย กลายหมด แล้วกฎหมาย

เกิดกฎหมา มักง่าย มาสะสาง

เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้า มาสุดทาง

เลือกระหว่าง ก้มค้อม หรือยอมตาย

 

ประวัติศาสตร์ ต้องใช้ ชีวิตเขียน

หมุนกงเกวียน แห่งสมัย ไม่ขาดสาย

ชักธงแดง แกร่งกล้า ขึ้นท้าทาย

เถิดสหาย ปฏิวัติ โค่นรัฐโจร !

 

 

 

: ผมรู้สึกเจ็บร้าวทุกครั้งที่เห็นชาวบ้านแก่ๆ มายืนคอยทาง

ดูลูกชายขึ้นศาล และยิ่งเขามาถามว่า "ลูกแม่สิได้ออกมื้อได๋"

มันยิ่งจุกจนพูดไม่ออกทุกที หรือนี้เราเดินมาสุดทางแล้วจริงๆ

 

อานนท์ นำภา 23 ธันวาคม 2553

 

ที่มา:อานนท์ นำภา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สายพิน แก้วงามประเสริฐ:เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนผงาด ตำราเรียน "ประวัติศาสตร์ไทย" จะ "ปรับเปลี่ยน" อย่างไร?

Posted: 28 Dec 2010 04:51 PM PST

เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วยื่นพระหัตถ์มาฝั่งไทย แสดงนัยยะของการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำต่อพระองค์แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำจะไม่รู้สึกอย่างไรบ้างเชียว? เมื่อรู้สึกแล้ว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความบาดหมางกับประเทศ เพื่อนบ้าน จะไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้างเลย?

เนื้อหาตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่เคยสอนให้รักใคร นอกจากตัวเอง โดยเฉพาะความรักชาติของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยความที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้รองรับอุดมการณ์ของรัฐ ไม่ว่าในยุคก่อนหรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้วก็ตาม

วิชาประวัติศาสตร์ยังคงเป็นวิชาที่ให้ความสำคัญกับการรักตนเอง จนแทบไม่เคยสอนให้รู้จักรักผู้อื่น หรือเห็นอกเห็นใจผู้ที่ด้อยกว่าตนเลย

ด้วยเหตุดังนี้เนื้อหาสาระวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน จึงเต็มไปด้วยการสู้รบ การศึกสงครามทุกยุคสมัย โดยมีพล็อตเรื่องที่แสดงความยิ่งใหญ่ กล้าหาญ ของบรรดาวีรบุรุษวีรสตรีทั้งหลาย เมื่อไทยเป็นฝ่ายชนะตำราเรียนประวัติศาสตร์จะแต่งแต้มเติมสีสันให้ยิ่งใหญ่ ขณะที่หากไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือดูเหมือนว่าจะด้อยกว่า ตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนก็จะมีเหตุผลแห่งความพ่ายแพ้นั้น หรือมีสิ่งแสดงความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้พ่ายแพ้

เนื้อหาในตำราเรียน ประวัติศาสตร์ไทย ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำตามอุดมการณ์ชาตินิยมมาเนิ่นนานจนกระทั่งในความรับรู้ ของผู้คนที่ผ่านกระบวนการการเรียนการสอนในโรงเรียนมองพม่าเหมือนเป็นศัตรู มองกัมพูชา และมองลาวอีกรูปแบบหนึ่ง

ตำราเรียนประวัติศาสตร์ใน โรงเรียนจึงถูกวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความล้าหลังคลั่งชาติ เพราะสอนให้รักชาติของตนเองจนไม่สนใจไยดีเพื่อนบ้าน แม้บางประเทศเรามักจะพูดอยู่เสมอว่าเป็น "บ้านพี่เมืองน้อง" แต่เรื่องราวที่ถูกเขียนไว้ในตำราเรียน หรือเรื่องที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ผ่านนวัตกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นพี่น้องแต่อย่างใด จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นพี่น้องกันประสาอะไร?

เรื่องราวที่บาดหมางเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีเหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์ ที่ตำราเรียนหรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะอยู่เสมอ และมักมองด้วยสายตา มุมมองของตนเอง โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "กบฏ" ทั้งที่หากมองด้วยสายตาอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการกอบกู้เอกราช

ดังนั้นเจ้าอนุวงศ์ย่อมอยู่ในฐานะที่มิใช่ "กบฏ"

ด้วยความที่เหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์มีความชัดเจนว่าไทยเป็นฝ่ายชนะสงคราม อีกทั้งวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่บอกเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่ารบชนะลาว จนกลายเป็นเรื่องราวในตำราเรียน ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำทั้งในตำราเรียน บทเพลง บทละคร และอนุสาวรีย์ ในสมัยรัฐชาตินิยม และยังไม่จืดจางจนสมัยปัจจุบัน

การรับรู้ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้คนรอบบ้าน ยังคงสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ และควรจะเป็นเช่นนี้ต่อไป? ในเมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป การอยู่ร่วมกับผู้คนไม่ใช่แค่ในประเทศเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องอยู่ร่วมกับนานาชาติ โดยเฉพาะขณะนี้เราไม่ได้เป็นแค่พลเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในฐานะสมาชิกของอาเซียนด้วย แต่เนื้อหาตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ที่ก่อให้เกิดความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะอยู่ในสังคมแห่งอาเซียนอย่างไร?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลประเทศลาวได้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ วีรกษัตริย์ของลาว ซึ่งรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์หล่อด้วยทองแดงมีน้ำหนักถึง 8 ตัน อนุสาวรีย์นี้มีความสูงถึง 15 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 5.5 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ทั้งสูงและใหญ่มาก

อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หันพระพักตร์มาทางไทย สิ่งที่น่าสนใจมากคือพระหัตถ์ขวายื่นออกไปด้านหน้า ลักษณะผายออกผ่านแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ซึ่งรัฐมนตรีลาวกล่าวถึงรูปลักษณ์ของรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์ว่า พระหัตถ์ที่ยื่นออกมาเป็นการแสดงถึงการให้อภัยแก่ "ผู้รุกราน" และผู้ที่เคยกระทำต่อพระองค์แล้ว

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลรายละเอียด ที่แสดงถึงการรับรู้ของฝ่ายลาว ถึงการศึกษาสงครามครั้งนี้ ไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งการรับรู้เรื่องนี้สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารของไทยที่บันทึกไว้ในฐานะ ผู้ชนะสงคราม จึงเขียนด้วยความสะใจ โดยหลงลืมนึกถึงจิตใจของผู้อื่น รวมทั้งการสร้างความรับรู้เรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่ไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย เป็นสิ่งที่แสดงว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่เคยสอนให้เด็กรู้จัก เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

แม้พระหัตถ์ที่ยื่นออกมาของเจ้าอนุวงศ์จะได้รับ การให้ความหมายโดยฝ่ายลาวว่า เป็นการยื่นออกมาเพื่อแสดงถึงการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำกับพระองค์ แต่อีกนัยหนึ่งคือการตอกย้ำความมีอยู่จริงของโศกนาฏกรรมของความเป็นพี่เป็น น้องในครั้งนั้น

เป็นการใช้ประวัติศาสตร์ต่อสู้กันอีกครั้งหนึ่ง และเป็นประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่ามีอยู่จริง

ความ น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ เหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์หากนับถึงวันนี้ ผ่านมาเกือบ 200 ปี แต่เพราะเหตุใดอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์จึงพึ่งปรากฏตัว ณ พ.ศ.นี้ แสดงนัยยะอะไรหรือไม่ ทั้งที่ประเทศลาวไม่ได้มีอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นแห่งแรก

อนุสาวรีย์ เจ้าอนุวงศ์แสดงความสัมพันธ์ หรือเป็นสัญญาอะไรบางอย่างหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อลาวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มีการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม และตั้งชื่อสนามกีฬาแห่งนี้ว่า "สนามกีฬาเจ้าอนุวงศ์"

ทั้งอนุสาวรีย์และสนามกีฬาล้วนแสดงทัศนคติ และนัยยะที่มีต่อไทย อย่างน้อยก็แสดงความรับรู้ต่อเรื่องราวที่ปรากฏแก่เจ้าอนุวงศ์ วีรกษัตริย์ของลาว

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ย่อมมิอาจ เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเป็นความจริงที่รับรู้กันทั้งสองฝ่ายแต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ปัจจุบัน และอนาคตสามารถอยู่ร่วมกันฉันมิตรที่ดีได้อย่างจริงใจ

ถึงที่สุดแล้ว ลาวเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีประเพณีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต และภาษาพูด หรืออาจหมายถึงที่มาของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ที่ทำให้คำกล่าวที่ว่า ไทยกับลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้องไม่ไกลไปจากความจริงเท่าไร แล้วไยเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ไม่เคยแสดงความรู้สึกห่วงใยพี่น้องของตนเองเลย โดยเฉพาะคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่ควรมีความเอื้ออาทรต่อคนเป็นน้อง

เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วยื่นพระหัตถ์มาฝั่งไทย แสดงนัยยะของการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำต่อพระองค์แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำจะไม่รู้สึกอย่างไรบ้างเชียว? เมื่อรู้สึกแล้ว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความบาดหมางกับประเทศ เพื่อนบ้าน จะไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้างเลย?

อย่างน้อยๆ การเหลือพี่น้องไว้คบค้าสมาคมบ้างก็ยังดี ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เหินห่างกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมาเนิ่นนาน เพราะอย่างน้อยการมีพี่น้องย่อมดีกว่าการไม่มีใครคบ

เมื่อเป็นดังนี้ จึงควรหวนกลับมาพิจารณาตนเอง สร้างนิสัยการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการชำระสะสางตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความล้าหลังคลั่งชาติ และประวัติศาสตร์บาดหมางกันเสียที

 

ที่มา:มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์:กองทัพกับการเมืองไทย 1

Posted: 28 Dec 2010 04:33 PM PST

เวลานี้มีการอภิปรายถกเถียงในเว็บไซต์ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งสนใจศึกษาประเทศไทยโดยเฉพาะว่า กองทัพไทยเป็นปัจจัยสำคัญสุดทางการเมืองใช่หรือไม่ หรือกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจนอกระบบในการแทรกแซงจัดการทางการ เมืองเท่านั้น

คิดอีกทีข้อถกเถียงนี้ก็ประหลาดนะครับ กองทัพในประเทศอุษาคเนย์ทุกประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งทั้งนั้น จนกลายเป็นหัวข้อศึกษาที่นักวิชาการเฝ้าศึกษาวิเคราะห์มานาน และมักจะวิเคราะห์กันเหมือนว่ากองทัพเป็นตัวละครอิสระ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมเลย

ครั้นมาถึงตอนนี้ การเมืองไทยมักถูกวิเคราะห์ในแนวว่ามีอำนาจนอกระบบ, มือที่มองไม่เห็น, หรือเครือข่ายทางเศรษฐกิจที่ชักใยอยู่เบื้องหลังเป็นปัจจัยชี้ขาด จนกระทั่งบางทีก็ลืมกองทัพไปเลย

ผมคิดว่า ความจริงคงอยู่ระหว่างสุดโต่งสองด้านนี้ กล่าวคือกองทัพเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์, ความต้องการ, ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ที่เป็นของตัวเอง แต่ตัวละครตัวเดียวนี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางการเมืองแต่ลำพังได้ ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในระบบ, นอกระบบ, และปริ่มๆ ระบบ อีกทั้งที่เข้าไปเชื่อมโยงก็ไม่ใช่เพราะกองทัพตัดสินใจได้เองเพียงอย่าง เดียว หากเชื่อมโยงเพราะสถานการณ์ชักจูงไปก็ไม่น้อย เหมือนตัวละครในการเมืองไทยอื่นๆ แหละครับ

แต่ก่อนจะพูดถึงพันธมิตร หรือเครือข่ายของกองทัพ ผมคิดว่ามาเริ่มต้นกับผลประโยชน์ของกองทัพในการเข้าไปมีบทบาทและอำนาจกำกับ (ระดับหนึ่ง) ในการเมืองไทยกันเสียก่อน

ผลประโยชน์ในที่นี้ ผมจะไม่รวมผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ เช่น ทหารถูกทำให้เชื่อว่าตนมีหน้าที่ปกป้องราชบัลลังก์ และผดุงความเป็นชาติไทยเอาไว้ และผมไม่นับการที่นายพลได้กินสินบนในการสั่งซื้ออาวุธและอื่นๆ ว่าเป็นผลประโยชน์ของกองทัพ

เท่าที่ผมนึกออก   ผมคิดว่ากองทัพได้รับผลประโยชน์จากการเข้าไปมีอำนาจและบทบาททางการเมืองไทยดังนี้

อันแรกคืองบประมาณ เป็นหลักประกันว่ากองทัพจะได้งบประมาณจำนวนมาก ในช่วงสี่ปีหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน งบประมาณกองทัพพุ่งขึ้นตลอดมา จนกระทั่งในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบงบประมาณทหารต่อจีดีพีแล้ว งบประมาณทหารไทยดูเหมือนจะอยู่สูงสุดในประเทศอาเซียนด้วยกัน (และแน่นอนว่าสูงกว่าประเทศอียูทั้งมวล)

แน่นอน ส่วนหนึ่งของงบฯนี้ถูกแบ่งไปซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้อคติเป็นพลังงาน รถถังที่ไม่มีเครื่อง ฯลฯ แต่ที่ผมอยากพูดถึงมากกว่าก็คือ ทหารก็เหมือนข้าราชการอื่นๆ กล่าวคืออยากจะพิสูจน์ความชอบธรรมของหน่วยตนเอง ด้วยการแสดงสมรรถนะให้สังคมยอมรับ กองทัพเลือกการมีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นเครื่องหมายแห่งสมรรถนะ (จะถูกหรือผิดคงเถียงกันได้)

ยิ่งกว่าหน่วยราชการทั่วไปด้วย กองทัพจะพิสูจน์ความชอบธรรมของการมีอยู่ของตนได้น้อยลง เพราะโลกข้างหน้าเท่าที่จะพอมองเห็นได้ คงไม่มีสงครามใหญ่กระทบมาถึงไทย นับวันภารกิจของกองทัพต้องหันมาสู่กิจการภายในมากขึ้น นับตั้งแต่ปราบยาเสพติด, ปราบจลาจล, ช่วยน้ำท่วม และสวนสนาม ฉะนั้นการป้องกันงบประมาณกลาโหมจะยิ่งยากขึ้น อย่าพูดถึงของบฯเพิ่มเลย แม้แต่จะรักษางบฯเก่าให้คงเดิมก็ยากแล้ว

การแผ่รังสีอำมหิตเข้าครอบงำการเมืองจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะประกันว่างบประมาณทหารจะเพิ่มขึ้นตามลำดับตลอดไป

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการประกอบภารกิจภายในบางอย่าง ต้องการอำนาจทั้งในกฎหมายและเหนือกฎหมาย เพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงได้ง่ายด้วย เช่น ผลักดันชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านกลับ, ปราบยาเสพติด, ปราบจลาจล และแหะๆ ยึดอำนาจ

ผลประโยชน์อย่างที่สองคือทรัพยากร อย่านึกว่ากองทัพไทยมีแต่ปืนและเครื่องแบบ ที่จริงแล้วกองทัพครอบครองทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญสองอย่างคือที่ดินและคลื่นความถี่ ทรัพยากรเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองที่กองทัพมีอยู่ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ หากทหารไม่มีอำนาจทางการเมืองอยู่เลย ระเบียบอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่รัฐเพิ่งเสนอ ก็คงริบเอาคลื่นความถี่ด้าน "ความมั่นคง" ทั้งหมด กลับมาให้คณะกรรมการพิจารณา ไม่ใช่สงวนไว้นอกอำนาจของ กสทช.หน้าตาเฉยอย่างนี้

ที่ดินซึ่งหวงห้ามไว้ในราชอาณาจักรอีกจำนวน มหึมา สมัยที่หวงห้ามยังเป็นป่าเขาที่ห่างไกล แต่บัดนี้กลายเป็นพื้นที่ใกล้หรือในเมือง เพราะการขยายตัวของพื้นที่เมืองในประเทศไทย ย่อมเป็นแหล่งรายได้ทางธุรกิจมหาศาล ไม่พูดถึงการหาประโยชน์เข้ากระเป๋าของนายทหาร หากกองทัพนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ กองทัพก็จะมีเงินรายได้นอกงบประมาณไว้ใช้สอยอีกจำนวนมหึมา (มากกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียอีก)

แม้ทรัพยากรเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนายพลคนใด แต่เป็นสมบัติของกองทัพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้องรักษาเอาไว้ จะรักษาไว้ได้ก็ต้องควบคุมการเมืองในระดับหนึ่ง เช่น อย่าให้มีใครกล้าออกกฎหมายที่ดินซึ่งจะทำให้กองทัพสูญเสียทรัพยากรที่ดินใน ครอบครองไป

ผลประโยชน์อย่างที่สามคือโอกาสทางธุรกิจของนายทหาร เพราะอำนาจของกองทัพในการเมืองนี่เอง ธุรกิจจึงนิยมใช้ประโยชน์จากเส้นสายของนายทหารนอกราชการ ทหารเกษียณหลายคนได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือที่ปรึกษาบริษัทเอกชน ยังไม่พูดถึงรัฐวิสาหกิจ อย่ามองเรื่องนี้เพียงผลประโยชน์ของนายทหารบางคนเท่านั้น นั่นก็ใช่แน่

แต่หากมองว่าระบบบำนาญของกองทัพนั้น มีหลักประกันด้านสวัสดิการที่เหนือกว่าข้าราชการทั่วไป เป็นระบบสวัสดิการของกองทัพซึ่งจะรักษาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องมีอำนาจในการเมือง

อีกเรื่องที่ผมอยากพูดถึงไว้ด้วยก็คือเรื่องของ redistribution หรือการกระจายทรัพย์สมบัติกลับสู่บุคลากรในกองทัพ

ทหาร ไทยมีประเพณีของ redistribution สูง นับตั้งแต่เลี้ยงเหล้าไอ้เณร ไปจนถึงแบ่งทรัพยากรของกองทัพให้ลูกน้องที่อยู่ในสังกัดของตนได้ดูแล (และบริโภค) เพราะเราจัดความสัมพันธ์ภายในกองทัพในลักษณะนาย-ไพร่ของกองทัพโบราณ เมื่อยึดทรัพย์จับเชลยมาได้ ก็แบ่งปันกันในหมู่ไพร่ในสังกัด ฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าผลประโยชน์ที่กองทัพมี หรือที่นายทหารเม้มใส่กระเป๋าของตนนั้น อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปในกองทัพ-ในรูปต่างๆ-อยู่พอสมควร

ภารกิจที่จะต้องมีอำนาจเหนือการเมืองจึงเป็นภารกิจที่บุคลากรในกองทัพยอมรับได้ว่าเป็นภารกิจร่วมกันของกองทัพ

จะมีอำนาจเหนือการเมืองได้ ก็ต้องเป็นตัวละครอิสระทางการเมือง กล่าวคือมีความต้องการและทิศทางของตนเอง จะเป็นอย่างนั้นก็ต้องรักษาอิสรภาพของตนไว้ให้ได้ นี่คือเหตุผลที่กองทัพไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเผลอเมื่อไรก็มักจะแทรกเข้ามาลดอิสรภาพของกองทัพเสมอ ผบ.กองทัพนั้น กองทัพอยากเป็นคนเลือกเอง เพราะ ผบ.ที่เป็นอิสระเท่านั้น ที่จะไม่นำกองทัพไปเป็นเครื่องมือของใคร (อย่างไม่มีข้อแลกเปลี่ยนเลย)

แต่อำนาจของกองทัพเหนือการเมืองนั้น ไม่ได้มาจากรถถัง, ทหารป่าหวาย, หรือปืนยิงเร็ว ฯลฯ นั่นก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ กองทัพจะยึดอำนาจหรือรักษาอำนาจของตนในการเมืองไว้ได้ ก็เพราะกองทัพได้รับความเห็นชอบจากส่วนอื่นๆที่มีพลังในสังคม

เมื่อตอนที่กองทัพทำรัฐประหารสำเร็จ นายแบงก์และนายทุนธุรกิจพากันหิ้วกระเช้าไปแสดงความยินดีกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่จริงแล้วเขาพากันไปแสดงความยินดีกับตนเองไปพร้อมกันด้วย

เพราะการยึดอำนาจครั้งนั้นเขาเห็นชอบ และบางครั้งถึงกับเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลังบางส่วนด้วยซ้ำ

ฉะนั้นเราจึงจะเข้าใจบทบาททางการเมืองของกองทัพได้ ก็โดยการดูความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกองทัพกับ "พันธมิตร" เหล่านี้ และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้อยู่คงที่ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพราะ "พันธมิตร" ก็ต้องการเป็นตัวละครอิสระในทางการเมืองเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนข้างเปลี่ยนสี เปลี่ยนจุดเน้นแห่งพันธะ และเปลี่ยนการดำเนินการทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลกระทบไปถึงการเมืองภายในของกองทัพเองด้วย และแน่นอนย่อมมีผลให้เกิดพลวัตที่แฝงอยู่ในการเมืองไทย

กลุ่มที่เข้ามามีบทบาทบนพื้นที่ทางการเมืองไทย นับจาก 14 ตุลาเป็นต้นมา มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รวมทั้งเพิ่มเข้ามาใหม่อย่างไม่หยุดหย่อนด้วย) ทำให้อำนาจดิบของกองทัพยิ่งไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น การล่มสลายของคณะ รสช.ในเดือนพฤษภาคม 2535 พิสูจน์ว่าอำนาจดิบอย่างเดียวใช้คุมการเมืองไม่ได้ กองทัพเหลียวมองข้างหลังแล้วพบว่า "พันธมิตร" ของตนส่วนใหญ่เผ่นป่าราบไปแล้ว บางส่วนถึงไม่ได้เผ่น ก็เริ่มแทงกั๊ก คือผลักภาระให้กองทัพรับผิดชอบไปแต่ผู้เดียว

ยิ่งย้อนกลับไปถึง 14 ตุลา ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า บางส่วนของ "พันธมิตร" ลอบแทงข้างหลังกองทัพมาแต่ต้น เป็นผลให้เกิดความแตกแยกภายในกองทัพอย่างหนัก แต่พัฒนาการทางการเมืองหลังจากนั้น กลับดึงให้ "พันธมิตร" บางกลุ่มต้องหันกลับมาร่วมมือกับบางส่วนของกองทัพ เพื่อผดุงอำนาจต่อรองของตนในการเมืองเอาไว้

ฉะนั้น ที่ผมเรียกว่า "พันธมิตร" ของกองทัพนั้น ไม่สู้จะถูกต้องนัก เพราะกลุ่มเหล่านี้อาจจับมือกับกองทัพในบางสถานการณ์ และหันหลังให้กองทัพในอีกสถานการณ์หนึ่งได้ ที่ถูกต้องกว่าก็คือกลุ่มคนเหล่านี้เป็น "หุ้นส่วน" ในการเมืองไทย ร่วมหุ้นกันบ้าง ถอนหุ้นกันบ้าง แล้วแต่จังหวะไหนจะทำกำไรได้มากกว่า

ในตอนหน้า ผมจะพูดถึงเรื่องนี้

ที่มา:มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper