โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ม.อ.ปัตตานีทุ่มกำลังภายใน ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน ดึงโลกมุสลิมร่วมประชุม

Posted: 18 Dec 2010 10:18 AM PST

ม.อ.จัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติที่ปัตตานี วอศ. ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนดึงนักวิชาการ/อธิการบดีทั่วโลกร่วมงาน 20 ประเทศ 34 มหาวิทยาลัย 38 ผลงานวิชาการ ปัดรัฐยืมมือมหาวิทยาลัยเชื่อมโลกมุสลิม เหตุแคร์ซาอุฯ

 

มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เตรียมจัดประชุมวิชาการอิสลามนานาชาติ ในหัวข้อ“Role of Islamic Studies in Post Globalized Society” ในวันที่ 21-23 ธันวาคม 2553 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีสถาบันการศึกษาด้านอิสลามศึกษาทั่วโลกเข้าร่วม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างคณาจารย์และนักวิชาการต่างๆ ในเรื่องหลักสูตรที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม

โดน รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้จะมีระยะเวลาการเตรียมการจำกัด แต่วิทยาลัยอิสลามศึกษาได้ใช้จุดแข็งของหน่วยงาน ที่มีบุคลากรเป็นบัณฑิตที่จบจากหลายสถาบันและหลายประเทศในโลก เป็นผู้ร่วมประสานงาน

รศ.ดร.บุญสม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักวิชาการจากสถาบันที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ตอบรับเข้าร่วมสัมมนา ประมาณ 200 คน เช่น จาก Al-Azhar University ประเทศอียิปต์ Al-albayt University Mutah University และ Yarmouk University จากจอร์แดน Al-Neelain University ประเทศซูดาน มหาวิทยาลัย Madinah ในซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งสถาบันที่มีการเรียนการสอนทางด้านอิสลามศึกษา ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย และนักวิชาการในประเทศไทย อีกประมาณ 150 คน

นอกจากนั้นยังมีผู้บริหารในระดับรัฐมนตรีจากหลายประเทศได้แสดงความจำนงขอร่วมการสัมมนา เช่น รัฐมนตรีกิจการศาสนาของซาอุดีอาระเบีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมของอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศกัมพูชา

การสัมมนา ประกอบด้วยการนำเสนอเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยทางด้านอิสลามศึกษา และการประชุมโต๊ะกลมระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางและความร่วมมือกันในการพัฒนาวิทยาลัยอิสลามศึกษา ของวิทยาเขตปัตตานี เพื่อขับเคลื่อนอิสลามศึกษาของไทย ในการบูรณาการศาสตร์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่

นอกจากนั้นยังได้ประสานกับสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อเชิญมุฟตีย์ หรือผู้นำศาสนาในประเทศอาเซียนเข้าร่วมด้วย โดยจะมีการประชุมนอกรอบเพื่อกำหนดกิจกรรมหรือการประชุมใหญ่ ระหว่างจุฬาราชมนตรี หรือมุฟตีย์ของอาเซียน

คาดว่า หลังการสัมมนาครั้งนี้ จะได้แนวคิดโครงการและแนวคิดการจัดกิจกรรมที่เป็นระดับนานาชาติอีกมากกว่า 10 โครงการ” รศ.ดร.บุญสม กล่าว

นายยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา (วอศ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. เป็นผู้ริเริ่ม โดยต้องการที่จะพัฒนาอิสลามศึกษาของ ม.อ.ให้มีมาตรฐานระดับโลก ส่วนรัฐบาลไทยเองก็มีนโยบายที่จะร่วมมือกับประเทศในทวีปแอฟริกาทุกเรื่อง รวมถึงด้านศึกษาด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.จึงใช้โอกาสนี้ ในการดึงจุดร่วมระหว่างนโยบายของรัฐบาลกับความต้องการของวิทยาลัยมาเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาอิสลามศึกษา

นายยูโซะ กล่าวว่า การเตรียมการจัดสัมมนาครั้งนี้ถือว่าน้อยมาก คือใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากปกติการจัดสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติแบบนี้ต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นปี โดยเฉพาะในเรื่องการการเตรียมนำเสนอผลงานทางวิชาการ จนเป็นที่ตั้งของสังเกตของหลายฝ่ายถึงความรีบเร่งในเตรียมการจัดงานครั้งนี้

นายยูโซะ อธิบายเรื่องนี้ว่า เดิมวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.กำหนดจะจัดงานนี้ในเดือนเมษายน 2554 แต่หลังจากประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศในทวีปแอฟริกา ปรากฏว่าเป็นช่วงสอบของหลายมหาวิทยาลัย พร้อมกับได้รับคำแนะนำว่า ควรจัดงานในช่วงเดือนพฤษภาคม พฤศจิกายนหรือธันวาคมจะดีที่สุด

“ทางวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. จึงคิดจะเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2554 แต่เนื่องจากหลังจากสัมมนาครั้งนี้ มี 14 โครงการที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันสนับสนุนตามมา ภายใต้งบประมาณ 400 ล้านบาท ในการพัฒนาอิสลามศึกษา ในระยะ 10 ปี และที่ผ่านมาก็มีโครงการที่รัฐบาลได้สนับสนุนมาแล้ว เช่น โครงการส่งนักศึกษาเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศทุนละ 15 ล้านบาท”

“ดังนั้น เราจึงเกรงว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันอาจจะอายุสั้น จึงไม่แน่ใจว่าจะได้รับงบประมาณสนับสนุนหรือไม่ จึงจำเป็นต้องจัดในวันที่ 21- 23 ธันวาคม 2553 นี้”

นายยูโซะ กล่าวว่า ดังนั้น ก่อนการจัดสัมมนาครั้งนี้ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. ซึ่งมีเครือข่ายซึ่งเป็นศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิมจำนวนมากพอสมควร จึงใช้ความสัมพันธ์ในฐานะศิษย์เก่าตรงนี้ เป็นผู้เชื้อเชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมงานนี้อย่างเต็มกำลัง เป็นการสานสัมพันธ์โดยส่วนตัว ขณะเดียวกันอาจารย์ที่เคยสอนบางท่านก็อยากมาติดตามดูลูกศิษย์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนตนเองก็รู้จักกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยปละบุคคลสำคัญของประเทศเหล่านั้นอย่างดีหลายคน ถือว่าเป็นการติดต่อโดยตรงของวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล

นายยูโซะ เปิดเผยว่า ล่าสุดวันที่ 18 ธันวาคม 2553 ได้รับการยืนยันว่าจะมาร่วมงานแล้ว 20 ประเทศ จำนวน 34 มหาวิทยาลัย ส่วนผลงานทางวิชาการที่จะมีการนำเสนอในงานนี้มี 32 ชิ้น ซึ่งเป็นงานทางวิชาการที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีอยู่แล้ว

“การสัมมนาครั้งนี้ เราไม่เน้นเปเปอร์(ผลงานทางวิชาการ) แต่ตั้งใจจะให้เป็นการประชุมโต๊ะกลมของอธิการบดีหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วโลก เพื่อกำหนดเป็นปฏิญญาปัตตานี ในเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาอิสลามศึกษา กำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาด้านวิชาการอิสลามศึกษาร่วมกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในระดับนานาชาติ เป็นการเปิดโอกาสนักศึกษาจากต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้และมีการแลกเปลี่ยนทางอิสลามศึกษา” นายยูโซะ กล่าว

นายยูโซะ กล่าวอีกว่า งานนี้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณมา 15 ล้านบาทง แต่ไม่ใช่งานของรัฐบาล ส่วนที่นายกรัฐมนตรีมากล่าวเปิดสัมมนาด้วย ก็เพราะต้องการดึงความสนใจของสื่อ และมีอีก 14 โครงการที่รัฐบาลสนับสนุน จะต้องดำเนินการต่อในอนาคต หลังการสัมมนา

นายยูโซะ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้จริงๆ อาจเป็นของรัฐบาล แต่เหตุใดจึงให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ อาจเป็นเพราะการหวังผลทางการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศในโลกมุสลิม เนื่องจากเนื่องจากตัวแทนที่เข้ามาร่วมสัมมนาของแต่ละประเทศ ล้วนเป็นบุคคลสำคัญ ในจำนวนยังเป็นรัฐมนตรีของบางประเทศด้วย ขอตอบว่า งานนี้เป็นงานวิชาการไม่ใช่เวทีทางการเมือง ก่อนหน้านี้รัฐบาลเองก็ไม่มั่นใจว่า ทางวิทยาลัยจะเตรียมจัดงานได้ในเวลาอันสั้น แต่ตอนนี้รัฐบาลมั่นใจแล้ว

นายยูโซะ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังติดใจกับคำว่า Post globalized ซึ่งมีอยู่ในชื่อการสัมมนาครั้งนี้ด้วย จนทำให้นักวิชาการมาตีความว่าหมายถึงอะไร ซึ่งคำนี้ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.เป็นผู้ตังชื่อเอง โดยได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย Al-Azhar ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ในทางวิชาการ โดยต้องการสื่อไปถึงอนาคต เพราะคำว่า Post globalized แปลว่า หลังยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งยุคโลกาภิวัตน์เริ่มต้นเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างรวดเร็ว ซึ่งคิดว่าอนาคต ยุคสมัยต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขึ้น จะทำอย่างไรที่จะให้อิสลามศึกษาอยู่ได้ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

นายยูโซะ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับผลงานทางวิชาการของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ. ที่จะเสนอ เรื่อง อิสลามศึกษาอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต โดยวิทยาลัยมีเป้าหมายเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ความสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยจะเน้นการศึกษาอิสลามอย่างลึกซึ้ง และมีความรู้ในสาขาอื่นๆ ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า รัฐบาลไทยใส่ใจกับความรู้สึกของประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรที่ประชุมประเทศมุสลิม หรือ โอไอซี มาก จึงไม่อยากเป็นเจ้าภาพเอง เพราะอาจไม่ได้รับการตอบรับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่เมื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นจะภาพ ภาพที่ออกมาจะเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย จึงทำให้มีตัวแทนจากซาอุดิอาระเบียตอบรับที่จะมาร่วมงานครั้งนี้ด้วย

ประเด็นต่อมา เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดยุทศาสตร์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 เรื่อง ตามคำประกาศปัตตานี ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 คือ การจัดตั้งองค์กรหลักในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันพระราชบัญญัติอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เรื่องที่สอง คือ สถาปนาศูนย์กลางอิสลามศึกษานานาชาติ ทั้งที่ ม.อ.ปัตตานี และที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งที่ผ่านมาผลงานยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม จึงต้องเร่งให้มีงานนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อรัฐบาลชุดนี้อาจอยู่ไม่นาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชาคนจนเปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ พร้อมเร่งเจรจารัฐบาล

Posted: 18 Dec 2010 10:11 AM PST

สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนา เปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล เปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาล ได้แก่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ วีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน ชาญนะ เอี่ยมแสง รองผู้ว่าราชการศรีสะเกษ เพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา 2 เขื่อนใหญ่

กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2553 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล” สันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนาจัดพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล-ทอดผ้าป่า และการเปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาล นำโดย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน , นายชาญนะ เอี่ยมแสง รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ เพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา 2 เขื่อนใหญ่ภายใต้ โครงการโขง ชี มูล หลังมีมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล”และ “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา” เมื่อ 16 พ.ย. 2553 พร้อมเร่งให้เกิดการประชุมคณะกรรมการทั้งสองชุดโดยด่วน

ทั้งนี้ สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนาเป็นองค์กรเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 2 เขื่อนในโครงการโขง ชี มูล เริ่มเคลื่อนไหวโดยการเรียกร้องสิทธิ์ชดเชยที่ดินทำกินโดยการเคลื่อนไหวมวลชน มีการเผชิญหน้าและและความขัดแย้งแตกแยกทั้งระหว่างชุมชนกับรัฐและในชุมชนกันเองอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันในระหว่างเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ชาวสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนาก็มีการจัดตั้งภายใน มีการสร้างทางเลือกการพัฒนาในสถานการณ์ใหม่ขึ้นมามากมาย ทั้งการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ทามประมาณ 10 ป่า การตั้งกลุ่มอาชีพหัตถกรรมกก-ผือทาม การเกษตรนิเวศทาม การตั้งกองทุนสวัสดิการ การพัฒนาระบบชลประทานชุมชน และมีการทำวิจัยไทบ้าน 10 กว่าเรื่อง การทำศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ป่าทามชุมชนหลายแห่ง และปัจจุบันกำลังสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง-พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

และระหว่างวันที่ 9- 16 ธ.ค. 2553 สมัชชาคนจนราษีไศลและหัวนาได้จัดการชุมนุมใหญ่ประจำปีสมาชิกจากลุ่มน้ำมูน 3 จังหวัด(สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ) จำนวน 2,800 คน ณ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล” สันเขื่อนราษีไศล เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายในรอบ 17 ปี สรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ในการต่อสู้ที่ผ่านมา ฝึกอบรมแกนนำและสมาชิก ในเรื่องแนวคิด ประสบการณ์การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมทั้งแนวทางการดำเนินการเพื่อการพึ่งตนเองด้านเกษตรและพลังงาน

ในวันที่15 ธ.ค. 2553 ได้ทำจัดพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้-ทอดผ้าป่า และการเปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา โดยมีองค์กรเครือข่ายต่างเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิเช่น สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล, ฝายห้วยละห้า, เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี, กลุ่มชาวบ้านคัดค้านการสร้างเขื่อนปากชม จ.เลย, เครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ดและจ.ยโสธร, โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ หรือ นักศึกษาซีไออีอี (CIEE) ม.ขอนแก่น, มูลนิธิพัฒนาอีสาน, นักวิชาการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการต่างๆ

เวลาประมาณ 10.00 น. นายประดิษฐ์ โกศล ประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล กล่าวว่า “ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วน โดยเฉพาะท่านประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นผู้มีบทบาทให้ริเริ่มสร้างขึ้น โดยมอบให้สมัชชาคนจนหัวนา – ราษีไศลเป็นผู้ดำเนินการ และด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจัง ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ประกอบกับการทุ่มเทกายใจของทั้งแกนนำ และสมาชิกสมัชชาคนจน วันนี้เราจึงเห็นความสำเร็จของการตั้งศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้”

“สำหรับสมัชชาคนจนแล้ว ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญ เพราะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ เราได้เรียนรู้และสะสมความรู้ไว้มากมาย ขณะเดียวกันเราได้ทำงานพัฒนาภายในควบคู่กันไปด้วย ทั้งการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การทำเกษตรยั่งยืน หัตถกรรม การอนุรักษ์โดยจัดตั้งป่าชุมชน ชลประทานชุมชน การวิจัยไทบ้าน จนความรู้เรื่องป่าทามเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และบัดนี้เราพร้อมเต็มที่ในการจัดทำศูนย์เรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิก ที่มีอยู่เกือบ 3,000 ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นโดยส่วนรวม” นายประดิษฐ์ กล่าว

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ฯ กล่าวว่า “ภูมิใจและชื่นชมมากที่ประชาชนดำเนินการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ฯขึ้นมาได้ ซึ่งประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ใครก็กำหนดไม่ได้ ศูนย์แห่งนี้พี่น้องเป็นคนสร้างขึ้นมา ผมเป็นคนเสนอ และพี่น้องต้องการมัน ศูนย์แห่งนี้จึงเป็นของพี่น้องอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้หัวใจของศูนย์เรียนรู้คือการพึ่งตนเองจนสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ ซึ่งการไปดูงานและศึกษาเรียนรู้ตามที่ต่างๆเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสามารถทำความเข้าใจก็สามารถกำหนดอนาคตของมันได้ ที่จะให้เข้มแข็งอย่างไรและต้องการอะไร ขอยืนยันว่าพี่น้องต้องการและใช้ประโยชน์ให้ได้จริง คิดว่าในปี 2554 จะจัดงบเพิ่มเติมให้ศูนย์แห่งนี้ เพื่อจะได้งบเพิ่มเติมมาจัดการสิ่งที่พี่น้องอยากได้”

นายประพัฒน์ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาว่า ตอนนี้ก็มีความคืบหน้า มีการผลักดันผลการศึกษาผลกระทบทางสังคม กรณีเขื่อนราษีไศล เป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว และแต่งตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการฟื้นฟูต่อไป ซึ่งหลังปีใหม่จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการชุดนี้แน่นอน ซึ่งก็อยากให้กระบวนการฟื้นฟูประสบความสำเร็จ แสวงหาทางออกและกำหนดอนาคตของตัวเอง

ต่อมา คณะนายประพัฒน์ และสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ฯ ปลูกต้นไม้ร่วมกันเป็นสัตยาบรรณในความร่วมมือของการสร้างศูนย์แห่งนี้ และได้ลงดำนาทาม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามธรรมชาติของชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำมูน ที่จะทำนาทาม หลังน้ำในแม่น้ำมูนลดลง ทำให้น้ำในพื้นที่รอบๆลดลงด้วย ทำให้สามารถทำนาได้ โดยใช้พันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่น แต่ปัจจุบันหลังมีการสร้างเขื่อนราษีไศลเก็บกักน้ำ วิถีของการทำนาทามได้หายไปหมด เพราะน้ำท่วมพื้นที่เหล่านี้ ดังนั้นศูนย์แห่งนี้จึงได้มีการใช้พื้นที่ทำนาทามเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านด้วย

หลังจากนั้น ได้มีการการเปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา 2 เขื่อนใหญ่ภายใต้ โครงการโขง ชี มูล ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสมัชชาคนจน

ในเวลาประมาณ 14.00 น. – 16.00 น. ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการศูนย์เรียนรู้ฯ” และมีการบันทึกเทปรายการโทรทัศน์ โดยทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ซึ่งมีวิทยากร-องค์เสวนาจากภาคการเมือง หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถาบันศึกษาในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน สนับสนุนการจัดโดย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง

โดยมีประเด็นการเสวนาดังนี้ 1. ความร่วมมือในการดำเนินการศูนย์เรียนรู้-พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยเน้นถึงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และการร่วมออกแบบสร้างความร่วมมือของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ หลักการและประสบการณ์ในการทำศูนย์เรียนรู้เป็นอย่างไรและทำไมต้องมีศูนย์เรียนรู้

2.บทเรียนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ์ของสมัชชาคนจน ในหัวข้อ“สมัชชาคนจน สู้เพื่อสิทธิ์และฟื้นฟูชีวิตชุมชนและธรรมชาติ” การเคลื่อนไหวของชาวราษี-หัวนา มีทั้ง 2 ด้าน 2 มิติ ผสมผสานกันไป ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่ามีทั้ง “งานร้อน” และ “งานเย็น” คือทั้งต่อสู้ต่อรองกับภายนอกและการสร้างความเข้มแข็งภายในไปพร้อมกัน ซึ่งจะเกิดสิทธิอำนาจ เกิดการเรียนรู้ด้านการเมืองภาคพลเมือง และขณะเดียวกันก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนาในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ดี ก็ได้เกิดบทเรียนการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับภาครัฐที่เริ่มต้นด้วยการทะเลาะขัดแย้ง แต่สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างความร่วมมือและอยู่ร่วมกัน แต่ไม่ใช่ความ สัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์

ซึ่งประเด็นในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันคือ 1.ทำไม? มีเงื่อนไขอะไรให้องค์กรประชาชนเกิดการดำเนินการเช่นนั้นได้ แต่ละท่านมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร 2.เราจะส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรประชาชนสามารถมีอำนาจต่อรองภายนอก เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ์ และการสร้างความเข้มแข็ง สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

ในช่วงค่ำ ได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม หมอลำ การแสดงดนตรีจากวง“สเลเต” จ.อุบลราชธานี วงศิลปินคนทามซึ่งเป็นวงดนตรีของสมาชิกสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและหัวนา เพื่อสมโภชน์องค์ผ้าป่า และในวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ได้มีการทอดผ้าป่าสมทบทุนสร้างศูนย์เรียนรู้ ซึ่งมียอดเงินรวมเบื้องต้นประมาณ 147,773 บาท

นายพุฒ บุญเต็ม แกนนำสมัชชาคนจน กล่าวสรุปการจัดงานครั้งนี้และผลการเจรจาว่า “ในเบื้องต้นเราได้รับทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ว่ามีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว ทั้งกรณีเขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา นี่คือพัฒนาการของการเรียกร้องสิทธิของเราที่ได้ยืนหยัดมา หลังจากเราสู้ร่วมกันมา สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือการชุมนุม 189 วัน ในปีที่แล้ว ซึ่งได้มาทั้งการกำหนดค่าชดเชยที่ดินเต็มราคาและเต็มพื้นที่ มีกรอบกติกา นอกจากนี้ เราก็ได้ตั้งกองทุนสวัสดิการขึ้นมา แต่มีเรื่องยังค้างอยู่คือการดำเนินการตามผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมของเขื่อนราษีไศล และผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนหัวนา แต่หลังจากนั้นก็มีความคืบหน้าตามมาให้เราได้มาสรุปงานร่วมกันอยู่โดยตลอด”

นายพุฒ กล่าวต่อว่า “วันนี้ผลการเจรจาของทั้ง 2 กรณี มีความคืบหน้าว่า กรณีเขื่อนหัวนา คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนาแล้ว ในวันที่ 16 พ.ย. 2553 และจะประชุมคณะกรรมการชุดนี้ให้ได้ภายในเดือนมกราคม ส่วนเรื่องการปักขอบเขตน้ำท่วมถึงของเขื่อนหัวนาจะดำเนินการให้ครบถ้วนต่อไป”

“ส่วนกรณีราษีไศล มีการแจ้งว่าระดับน้ำในปีนี้จะเก็บกักที่ 118.5 ม.รทก. ซึ่งไม่เป็นไปตามผลการศึกษาฯ แต่ต่อไปกรมชลประทานจะเปลี่ยนคำสั่งให้มีทุกกลุ่มเข้าไปเป็นคณะกรรมการ โดยเฉพาะคนที่มีผลกระทบ ด้านประเด็นปัญหานานอกเขตอ่างเก็บน้ำถูกน้ำท่วมขังและกรณีพื้นที่ทับซ้อนก็มีความคืบหน้า โดยเฉพาะประเด็นการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ในการแก้ปัญหา ที่จะให้ทุกกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ และหลังจากผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมของเขื่อนราษีไศลผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ ตอนนี้คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล เรียบร้อยแล้วในวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมาเช่นกัน และจะประชุมคณะกรรมการชุดนี้ครั้งแรกหลังปีใหม่ ช่วงเดือนมกราคมนี้”นายพุฒ กล่าว

นายพุฒ กล่าวสรุปว่า “งานที่เราวางไว้มันจะไปเป็นขั้นตอนอย่างนี้ หลังจากนั้นก็ต้องไปเร่งรัฐบาล ซึ่งอยากให้พี่น้องภูมิใจในตัวเอง ทุกอย่างมาด้วยเท้าของพี่น้อง ที่ออกไปเผชิญหน้ากับปัญหา และเปิดการเจรจาโดยเสมอหน้า ไม่ได้มาด้วยการร้องขอแต่อย่างใด”

ด้านนางผา กองธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามาสร้างศูนย์ตรงนี้เป็นงานของกลุ่ม สร้างองค์กรของเราเพื่อการฟื้นฟูในอนาคต ออกมาทำงานศูนย์คือการเคลื่อนไหว เราไม่หยุด เราไปเรื่อยๆ เหมือนปลวก ซึ่งก็ต้องอยู่ตรงนี้ให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ต้องกระตุ้น เราต้องยืนหยัดในสิทธิของภาคประชาชน

ทั้งนี้ เขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนในโครงการโขงชีมูล ที่ก่อสร้างและกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ปี 2536 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ทำให้พื้นป่าทามและที่ดินทำกินของชาวบ้านกลายเป็นอ่างเก็บน้ำประมาณ 100,000 ไร่ และชาวบ้านประมาณ 7,700 ครอบครัวคือผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการดำเนินการบริหารโครงการ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา มูลล่าง ปัจจุบันชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล กรณีสมัชชาคนจน ชุมนุมเรียกร้องให้มีดำเนินการแก้ไขปัญหาคือ การจ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา การตรวจสอบกรณีชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่นอกอ่างเก็บน้ำระดับ 119 ม.รทก. เนื่องจากได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และการเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการฟื้นฟูวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนระยะยาวต่อไป ซึ่งในวันที่ 16 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอแล้ว

เขื่อนหัวนา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ สร้างกั้นแม่น้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย 2535 ปัจจุบันเหลือเพียงการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านเขื่อน โครงการก็จะเสร็จสมบูรณ์ ตัวเขื่อน มีความกว้าง 207.5 เมตร มีประตูเหล็กควบคุมน้ำจำนวน 14 บาน ขนาด 12.5 x 7.5 เมตร เพื่อเก็บกักน้ำ 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 115 ม.รทก .ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ขนาด 18.11 ตร.กม. โดยปลายน้ำจะจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล ระยะทางตามลำน้ำมูน ประมาณ 90 กิโลเมตร

สำหรับความคืบหน้ากรณีเขื่อนหัวนา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 สาระสำคัญ คือ คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการเขื่อนหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนหัวนา โดยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวนาต่อไปจนแล้วเสร็จ ตลอดจนสำรวจข้อมูลและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมชลประทานถือปฏิบัติอยู่ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการแก้ไขผลกระทบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของโครงการต่อไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้มีความคืบหน้าทางการปฏิบัติ ได้มีแผนงานดังนี้1.การตั้งคณะทำงานปักเขตอ่างเก็บน้ำ ระดับ 114 ม.รทก. โดยให้มีส่วนร่วมระหว่างกรมชลประทานและราษฎร เนื่องจาก 1.1การปักหลักเขตเดิมของหัวนา หลักเดิมมีปัญหาเรื่องการปักระดับไม่ชัดเจน ปี 2553 ได้รับงบประมาณในการจัดทำหลักเขตใหม่ 60 กม. โดยการสำรวจทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ยังไม่ชัดเจนว่าเริ่มต้นที่บริเวณไหน โดยจะมีการของบประมาณจัดทำการสำรวจหลักระดับน้ำให้แล้วเสร็จ 1.2. มีคณะทำงานติดตามการปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำ ของราษฎร โดยสัดส่วนของคณะทำงานชุดนี้ มีฝ่ายละ 5 คนทั้งส่วนราชการและส่วนของราษฎร โดยมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการตรวจสอบระดับพื้นที่ ยกเว้นมีปัญหาทางเทคนิคที่ให้หน่วยงานส่วนกลางลงมาช่วยแก้ไขปัญหา และมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ได้ โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดศรีสะเกษเป็นหัวหน้าคณะทำงาน

2.การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร มีชุดเดิมอยู่แล้ว ใช้ชุดเดิม และทำงานต่อเนื่องจากที่ดำเนินการไว้แล้ว, การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สิน, การแต่งตั้งคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชย ตามมติครม.วันที่ 27 เมษายน 2553 นั้น คณะกรรมการเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินเดิมนั้น ถือว่าหมดวาระไปตามหลักการของมติครม. ในส่วนคณะกรรมการที่จะต้องแต่งตั้งใหม่ จะเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 เป็นไปตามมติที่ให้อำนาจกรมชลประทานดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบได้ และสามารถแต่งตั้งให้มีผู้แทนราษฎรเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการได้ หรือคณะทำงานได้ ทั้งนี้ให้มีการแต่งตั้ง1.คณะกรรมการจ่ายค่าทดแทนเพื่อการชลประทาน ซึ่งมีผู้ว่าราชการ เป็นประธาน ตามมติครม. 11 ก.ค. 2532 2.คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีนายอำเภอเป็นประธาน โดยอำเภอละ 1 ชุด 3. คณะอนุกรรมการจ่ายเงิน มีปลัดอำเภอเป็นประธาน หากการดำเนินงานมีปัญหา หรือข้อขัดข้อง คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการสามารถแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและพิจารณารายละเอียดนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา

3.การแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบตามข้อเสนอในผลการศึกษา ซึ่งผลการศึกษาของรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ได้ระบุว่า ให้มีการแต่งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบ ทั้งนี้รายงานการศึกษา แม้ครม.จะเห็นชอบแล้วตามรายงานดังกล่าว แต่ยังไม่มีเอกสารจากครม. /อำนาจการฟื้นฟูเป็นอำนาจของกระทรวง ซึ่งรมต.กระทรวงอาจจะตั้งเองได้ หรือเรียกว่า คณะกรรมการติดตามการฟื้นฟูผลกระทบหรือกำกับการฟื้นฟูผลกระทบ มีรมต.เป็นประธานและตัวแทนส่วนต่างๆ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงเกษตร ฯ แล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอแล้ว

อนึ่ง เว็บไซต์รัฐบาลไทย (www.thaigov.go.th) รายงานข่าวว่ามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 ข้อที่ 44 เรื่อง 3. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการฝายราศีไศล

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 แล้ว โดยใช้ชื่อคณะกรรมการชุดนี้ว่า “คณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล” คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 25 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมาย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานกรรมการ รองอธิบดีกรมชลประทานที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีกรรมการประกอบด้วย 1) อธิบดีกรมชลประทาน 2) ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หรือ ผู้แทน 3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ หรือผู้แทน 4) ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หรือผู้แทน 5) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน 6) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทน 7) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือผู้แทน 8) อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน หรือผู้แทน 9) ผู้แทนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 10) ผู้แทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 11) ดร.ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ 12) นายบัณฑร อ่อนคำ 13) นางสุภา ใยเมือง 14) นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ 15) นางผา กองธรรม 16) นายไพฑูรย์ โถทอง 17) นายประดิษฐ์ โกศล 18) นายบุญมี โสภังค์ มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองแนวทางตามแผนในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบตามผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมโครงการฝายราษีไศลและการแก้ไขผลกระทบอย่างยั่งยืน ที่คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการศึกษาไว้แล้ว ให้นำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งพิจารณาและเสนอการขับเคลื่อนแผนงานในการป้องกันแก้ไข และฟื้นฟู ซึ่งได้รับการเห็นชอบร่วมกันที่มีขั้นตอนปฏิบัติ ระยะเวลา งบประมาณ หน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนแล้ว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำแผนการขับเคลื่อนที่ได้พิจารณาแล้วเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

4. แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอ และที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเพิ่มเติมว่า เห็นควรแต่งตั้งให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ร่วมเป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า เพื่อแก้ไขปัญหาและให้การดำเนินงานโครงการที่มีผลกระทบกับราษฎรเป็นจำนวนมากเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์การศึกษาผลกระทบทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังกล่าว กษ. พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่กรมชลประทานเสนอ โดยเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา มีองค์ประกอบดังนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 13 อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้แทนกลุ่มราษฎรที่คณะกรรมการแต่งตั้ง โดยมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน และผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนทรัพย์สินทุกประเภท และให้ความเห็นชอบผลการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทน กำกับ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ให้กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะเดินทาง อนุโลมตามระเบียบราชการโดยให้เบิกจ่ายจากกรมชลประทาน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลไกสิทธิ เป็นลูกแกะมากกว่าราชสีห์

Posted: 18 Dec 2010 09:34 AM PST

 
แปลและเรียบเรียงจาก: http://www.bangkokpost.com/news/politics/210916/rights-body-more-a-lamb-than-a-lion  ( 12 ธันวาคม 2553)

 

 
 
ท่าทีระวังตัวเกินเหตุของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันทำให้นักสิทธิมนุษยชนบางส่วนมองว่าคณะกรรมการฯ ที่ควรจะเป็นองค์กรอิสระนี้ได้กลายสภาพเป็นพรรคพวกของรัฐบาลไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงกลางเมืองกรุงเทพฯ ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และการใช้พรก.ฉุกเฉินจัดการกับฝ่ายตรงข้ามที่รัฐบาลมักติดป้ายให้เป็นผู้ก่อการร้าย
 
รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิฯ ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิได้ แต่อำนาจอันใหม่นี้ยังต้องรอให้มีกฎหมายลูกเสียก่อน
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติการทางทหารที่ถนนราชปรารภเมื่อเดือนพฤษภาคม บอกว่า การที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ไม่ค่อยให้ค่ากับชะตากรรมของเหยื่อในเหตุการณ์เมย.-พค.นั้น เป็นที่เข้าใจได้ ถึงจะรับไม่ได้ก็ตาม แต่มันน่าสังเวชและน่าทุเรศที่องค์กรที่ควรจะเป็นอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิฯ ที่เคยถูกถือว่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนประชาธิปไตยระดับภูมิภาค กลับปิดปากเงียบเฉยมาตลอดหกเดือนที่ผ่านมา
 
พันธ์ศักดิ์แสดงความเห็นนี้หลายสัปดาห์ก่อนที่ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อมรา พงศาพิชจะออกมาพูดเมื่อต้นเดือนนี้ว่ารายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ เกี่ยวกับการชุมนุมคนเสื้อแดงจะเสร็จสิ้นในเดือนหน้า
 
นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่าท่าทีระวังตัวของคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันนี้ (ซึ่งมาจากกระบวนการสรรหาปีที่แล้วที่เป็นปัญหาแต่เริ่มต้น) เป็นผลมาจากบรรยากาศการปิดปากเงียบในทุกๆ ส่วนของสังคมไทย กรรมการสิทธิฯ หลายรายบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการให้คณะกรรมการสิทธิฯ “ถูกใช้” ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมือง
 
“การทำหรือไม่ทำอะไร และคำพูดที่สื่อต่อสาธารณะอะไรต่างๆ ล้วนมุ่งที่จะบรรเทาและไม่ตอกย้ำบาดแผลในสังคมที่เกิดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง” เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าว
 
นั่นอาจเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมคณะกรรมการสิทธิฯ จึงไม่มีการเปิดเผยถึงเหตุการณ์อย่างการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมเสื้อแดงราว 16 คนในรถคุมขังกลางแจ้งถึงสามวันสองคืนที่มุกดาหารหลังการสลายการชุมนุม 19 พค. ที่กรุงเทพฯ แหล่งข่าวหลายรายบอกว่า ผู้ชุมนุมเหล่านั้น ซึ่งมีเยาวชนรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน ถูกขังอยู่ในรถคุมขังของตำรวจคันเดียวและไม่ได้รับอนุญาตแม้กระทั่งจะออกไปเข้าห้องน้ำ
 
“กระทั่งกรรมการสิทธิฯ ที่แข็งขันและมีความเห็นอกเห็นใจมากที่สุดอย่างเช่น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ก็ยังตกอยู่ในภาวะเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็ไม่ต้องพูดถึงคนอื่น” เจ้าหน้าที่รายเดิมกล่าว
 
ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่กลายมาเป็นกรรมการสิทธิฯ เคยกล่าวผ่านสื่อว่า การที่ตำรวจจับกุมแม่ค้ารองเท้าแตะที่มีหน้าของนายกรัฐมนตรีที่อยุธยาเมื่อเดือนตุลาคมนั้นเป็นการเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของนายกฯ ในขณะที่นายอภิสิทธิ์เองกลับมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์การจับกุมดังกล่าว
 
ขณะเดียวกัน กรรมการสิทธิฯ อีกรายหนึ่ง คือ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ก็กล่าวว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนคนใดก็ตามที่ต้องการฟ้องร้องผู้ชุมนุมเสื้อแดงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
 
คณะกรรมการสิทธิฯ มักเงียบเฉยไม่เพียงแต่กรณีการชุมนุมประท้วงเมย.-พค.เท่านั้น ยังนิ่งเงียบต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมถึงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ลุกลามกว้างขวางด้วย ทั้งที่ในเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์เองก็เคยรับปากว่าจะดูแลให้มีการใช้กฎหมายนี้อย่างเหมาะสม
 
ที่ยิ่งช่วยเติมเชื้อไฟให้แก่บรรดาผู้ที่วิจารณ์คณะกรรมการสิทธิฯ ก็คือการซื้อรถเมอร์ซีเดสเบนซ์(แทนที่จะเป็นรถแคมรีเหมือนคณะกรรมการชุดก่อน)เป็นรถประจำตำแหน่งสำหรับกรรมการแต่ละคนก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2552
อนุกรรมการบางรายของคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า การเล่นการเมืองภายในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ ส่งผลบั่นทอนการทำงานของคณะกรรมการฯ แต่ก็บอกว่าเป็นการไม่เป็นธรรมที่จะมาโทษคณะกรรมการสิทธิฯ มากเกินไปในเรื่องการจัดการกับประเด็นสิทธิการเมืองในประเทศ
 
“เราทำงานอย่างทุ่มเทใจในประเด็นอื่นๆ หลายประเด็น อย่างเช่น ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย” อนุกรรมการรายหนึ่งกล่าว
จรัญ กล่อมขุนทด นักเคลื่อนไหวจากสหพันธ์สหภาพแรงงานรถยนต์กล่าวว่า “คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ดูไม่ค่อยกระตือรือล้นทำงานด้วยใจเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับชุดก่อน”
 
แม้ว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานจะจัดตั้งดีขึ้นกว่าเดิม ประเด็นของผู้ใช้แรงงานก็ยังไม่ได้รับความสนใจหรือไม่ก็จมหายไปในระบบราชการหรือหน่วยงานอื่นๆ เขากล่าว
 
“เราพยายามผลักดันข้อเรียกร้องของเรากับเจ้าหน้าที่แรงงานระดับจังหวัด องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนถึงคณะกรรมการปฏิรูปที่เพิ่งตั้งขึ้นมา การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเราเป็นไปอย่างเชื่องช้าแทบขาดใจ หรือไม่ก็ไม่มีการตอบสนองเลย” จรัญกล่าว
 
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ มีอย่างเช่นเรื่องการจ้างแรงงานเหมาช่วง (contractual labour) ที่นำมาใช้อย่างกว้างขวางกับแรงงานในสายพานการผลิตในโรงงาน การปลดคนงาน การข่มขู่ หรือกระทั่งการสังหารผู้นำแรงงาน และปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมหลายๆ ส่วน เขากล่าว
 
ธงชัย วินิจกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินในสหรัฐฯ วิจารณ์สิ่งที่เขาเรียกว่า วิถีทางประชาธิปไตยแบบเฉื่อยเนือยของไทย กับความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
 
“องค์ประกอบสำคัญคือระบบยุติธรรม ที่กำลังสูญเสียความชอบธรรมลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสังคมกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่ความเชื่อถือไว้วางใจจะหดหายไปหมด” อดีตผู้นำนักศึกษาปี 2519 กล่าว
 
เขายกวิกฤตที่ยืดเยื้อในภาคใต้เป็นตัวอย่างถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในสังคมไทยที่เหลือ
 
“ในภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือที่ค่อยๆ เกิดขึ้นนี้ ประเด็นสิทธิมนุษยชนและนักสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้ ความล้มเหลวของพวกเขาไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาล้มเหลวที่จะปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชน แต่จริงๆ แล้ว พวกเขามีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกิดภาวะล้มละลายดังกล่าว” ธงชัยกล่าว
 
อมรา พงศาพิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยอมรับว่า คณะกรรมการฯ มีความระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เธอบอกว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมการสามชุดเพื่อจัดทำรายงานที่จะมีการเผยแพร่เดือนหน้า ชุดหนึ่งมีเธอเป็นประธาน อีกสองชุดมีนายไพบูลย์และนพ.นิรันดร์เป็นประธาน รายงานหลักจะมีการเผยแพร่ในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งจะมีข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทั้งกระทำโดยกองทัพ “คนชุดดำ” และคนเสื้อแดงในช่วงการชุมนุม
 
“สิ่งที่เราพบนั้นไม่ต่างจากสิ่งที่สื่อมวลชนได้รายงานไปแล้ว แต่เราคงจะไม่ชี้นิ้วกล่าวหาว่าใครผิดในแต่ละกรณี” อมรากล่าว “เราทำงานมาตลอดและยังทำงานอยู่ แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคมากมายก็ตาม”
อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งสำหรับคณะกรรมการสิทธิฯ ก็คือ การที่ยังไม่มีกฎหมายลูกที่จะให้อำนาจคณะกรรมการฯ ในการฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายดังกล่าวยังไม่ผ่านรัฐสภา
 
บทบาทการทำงานที่น่าผิดหวังของคณะกรรมการสิทธิฯ น่าจะเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับทุกคนว่า การปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่อาจสำเร็จได้ด้วยความเมตตาของชนชั้นผู้ปกครอง หากแต่ต้องด้วยการต่อสู้ดิ้นรนของผู้ที่ตกเป็นเบี้ยล่างและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเองเท่านั้น
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรแรงงานเสนอปฏิญญาร่วมคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

Posted: 18 Dec 2010 02:12 AM PST

18 .. 53 – เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (18 ธ.ค.) ปีนี้ องค์กรแรงงาน, สหภาพแรงงาน และองค์กรภาคประชาชนได้เสนอ “ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ” เพื่อเป็นการวางกรอบและแนวทางการปฏิบัติต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ตลอดทั้งปีหน้า (พ.. 2554) องค์กรที่ผลักดันปฏิญญฉบับนี้จะรณรงค์ให้องค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการรับปฏิญญา รวมทั้งผลักดันให้องค์กรที่รับปฏิญญาปฏิบัติตามกรอบที่ได้วางไว้ โดยรายละเอียดของปฏิญญามีดังนี้
 
 

ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ยุคสมัยปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน การติดต่อสื่อสาร อุดมการณ์และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายด้าน รูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบการจ้างแรงงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่การละเลยต่อชีวิตและสิทธิของแรงงานก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ใช้แรงงานยังต้องต่อสู้และเผชิญกับปัญหาสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาคุณภาพชีวิตของตนอย่างต่อเนื่อง

การย้ายถิ่นจากประเทศตนเองเพื่อไปทำงานในประเทศอื่น ของผู้ใช้แรงงาน เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน และส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เช่น ถูกกีดกันการเข้าถึงบริการทางสังคม ไม่สามารถเข้าถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ได้ เนื่องจากการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนต่างชาติ  นอกจากนี้การลักลอบเข้าประเทศในรูปแบบต่าง ๆ หลายครั้งผู้คนเหล่านั้นต้องเสียชีวิตอย่างทารุณระหว่างการเดินทาง

ในสังคมไทยปรากฏการณ์นี้ไม่ได้แตกต่างกับประเทศอื่น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน หากนับเฉพาะที่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งทำงานแบบได้รับใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีจำนวนประมาณ ๑ ถึง ๒ ล้านคน พวกเขาเหล่านั้นคือคนจนผู้ยากไร้ที่ต้องแสวงหาหนทางเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่า และอีกจำนวนไม่น้อย คือ ผู้หลบหนีภัยจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่คุกคามชีวิตประชาชนระดับล่างจากรัฐบาลของตน 

การเข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงเป็นหนทางที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตและดำรงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเองไว้ได้ แต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางสังคมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดีนัก เช่น การเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ การเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติจำนวนมากได้รับค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด การทำงานหนักและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมาย การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ การถูกรีดไถโดยกลุ่มมิจฉาชีพและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ การเดินทางข้ามเขตจังหวัดเพื่อทำธุระ พักผ่อน หรือเยี่ยมญาติพี่น้องเป็นสิ่งต้องห้าม

นอกจากนั้นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

ขณะเดียวกันก็มีการสร้างภาพลบรวมทั้งการมีอคติต่อแรงงานข้ามชาติ ของเจ้าหน้าที่รัฐไทย และสื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่แพร่กระจายไปในสังคมไทย ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานถูกแบ่งแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ อันเป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงานโดยรวม

ในฐานะองค์กรของผู้ใช้แรงงาน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน ซึ่งประสบและติดตามปัญหาเหล่านี้ เห็นว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อผู้ใดเป็นการเฉพาะ แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ทุกคนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ความสมานฉันท์ของผู้ใช้แรงงาน ผู้ยากไร้ และภาคประชาชนทั้งหมดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างสังคมที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นได้

ต่อแนวทางความสมานฉันท์ขององค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน และแรงงานข้ามชาติ เรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

1.สิทธิแรงงานเป็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ อายุ ศาสนา แรงงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานและกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

 

2.รัฐต้องสร้างกลไกที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้

3.สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน พวกเราจะร่วมกันผลักดันให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าเป็นสมาชิกและสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

4.รัฐจะต้องดำเนินการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมต่อผู้ใช้แรงงานและครอบครัว โดยวางบนพื้นฐานของการเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

5.การเลือกปฏิบัติ การสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อกลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ ผู้ติดเชื้อ คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และส่งผลต่อการกีดกันไม่ให้พวกเขาได้พัฒนาคุณภาพชีวิต พวกเราจะร่วมผลักดันให้ยุติการเลือกปฏิบัติ และการสร้างทัศคติที่เลวร้ายต่อคนกลุ่มต่างๆ รัฐจะต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ และมีแนวทางที่จะส่งเสริมความเข้าใจกันของคนกลุ่มต่าง ๆ

 แนวปฏิบัติการ

- เครือข่ายหรือองค์กรของแรงงานไทยที่ไม่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จะเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกและมีการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน

- ในระดับสหภาพแรงงาน จะแก้ไขข้อบังคับของสหภาพในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิก โดยให้ยกเลิกคุณสมบัติที่สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย และเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิก

- ในระดับชาติ ขบวนการแรงงานไทย จะต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐสภา ประกาศใช้ พ..บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานที่มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงานที่ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทย

 

กรรมกรทั้งผองเป็นพี่น้องกัน

ด้วยความสมานฉันท์ของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

 
 
 

รายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ (ณ วันที่ 18 .. 53)

องค์กร

1.สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก

2.สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาไอทีเอฟ

3.กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

4.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย(TWFT)  

5.กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า(LUBG)

6.สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์(TLU)

7.สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล

8.สหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลแคร์

9.กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง(SNLG)

10.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

11.สหภาพแรงงานไทยเรยอน

12.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง

13.สหภาพแรงงานรอยัลปอร์ซเลน 

14.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

15.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา

16.กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

17.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

18.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน

19. Asia Monitor Resource Centre (AMRC), Hong Kong

20. ATNC Monitoring Network

21. Labour Action China, Hong Kong

บุคคล

1.ประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า

2.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

3.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

4.เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ

5.ปิยนันท์ บุญประสม

6.สุวิทย์  กุหลาบวงษ์

7.ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี เครือข่ายลุ่มน้ำยม คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกฏหมายสิทธิเตือนสังคม-ตำรวจระวังเกินเส้น กรณี ‘โจ๊ก ไผ่เขียว’

Posted: 17 Dec 2010 11:54 PM PST

 
18 ธ.ค.53 เครือข่ายนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายออกแถลงการณ์กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม โจ๊ก ไผ่เขียว แสดงความเสียใจกับครอบครัวน้องโตมี่ ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าบาดแผลที่ศีรษะ 4 นัด และคลิปวีดิโอที่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเข้าไปยิงซ้ำอาจเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ควรชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันสังคมและสื่อมวลชนก็ควรหลุดพ้นจากอคติที่ว่าผู้กระทำความผิดหรือโจรไม่ควรได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ความรุนแรงไม่แก้ปัญหาระยะยาว
 
 0000000
 
แถลงการณ์กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมโจ๊ก ไผ่เขียว
18 ธันวาคม 2553
 
            จากกรณีนายชาญชัย ประสงค์ศิล หรือ โจ๊ก ไผ่เขียว อายุ 29 ปี ถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธปืนยิงรถยนต์ เป็นเหตุให้กระสุนปืนถูกเด็กชายโภคินดีผิว หรือ น้องโตมี่ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2553 โดยมีนายนพพล ประสงค์ศิล หรือจิ๊บ ไผ่เขียว น้องชายเป็นผู้ขี่รถจักรยานยนต์ให้นายโจ๊ก ต่อมาวันที่ 11ธันวาคม 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมนายชาญชัย ประสงค์ศิล ที่สมายด์แมนชั่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล่าสุดได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์การวิสามัญดังกล่าวทางอินเตอร์เนต (เวบไซต์ ยูทูป)
 
            การเข้าจับกุมโจ๊ก ไผ่เขียว ตามคลิปวิดีโอดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยนายโจ๊กถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิง และได้ยิงซ้ำเพื่อไม่ให้นายโจ๊กสามารถยิงตอบโต้ได้ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นไม่มีเสียงปืนยิงตอบโต้จากนายโจ๊กอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ และได้ยิงซ้ำอีก 3 นัด ทั้งนี้ ข่าวรายงานว่านายโจ๊กถูกกระสุนปืนยิงที่ศีรษะรวม 4 นัด ส่วนบาดแผลบริเวณอื่นไม่ปรากฏรายงาน และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อ้างว่าคลิปดังกล่าวมีการตัดต่อ เพราะตนเองไปยังที่เกิดเหตุหลังจากนายโจ๊กเสียชีวิตแล้ว แต่กลับปรากฏภาพของตนก่อนเกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นการปฏิเสธเฉพาะในส่วนของตนเอง ไม่ได้ปฏิเสธในรายละเอียดว่าภาพการยิงซ้ำเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ อย่างไร
            เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีข้อสังเกต ข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อภาคส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
 
1)    ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวดีผิว ที่ต้องสูญเสียน้องโตมี่ และขอให้มีการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจนถึงที่สุดตามกระบวนการยุติธรรม
 
2)    เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงแก่ร่างกายและชีวิต กฎหมายจึงได้คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรณีที่มีความจำเป็นต้องป้องกันตนเองหรือประชาชนอื่นให้พ้นจากภยันตราย แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หากการป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยเกินสมควรแก่เหตุ เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้น จากรายงานข่าวพบว่าบาดแผลจากอาวุธปืนบริเวณศีรษะของนายโจ๊กรวม 4 จุด หากไม่ปรากฏบาดแผลบริเวณอื่นของร่างกาย แสดงว่านายโจ๊กถูกยิงที่ศีรษะ ซึ่งไม่สามารถยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ได้อีก แต่ภาพในคลิปวิดีโอปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปถึงตัวนายโจ๊ก ได้ยิงซ้ำอีก 3 นัด เมื่อนายโจ๊กไม่สามารถยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ได้แล้ว การยิงซ้ำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ไร้มนุษยธรรม และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเรื่องการป้องกันตัว
 
 
3)    การชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายควรได้รับการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามหลักการไต่สวนการตายกรณีที่ผู้ตายเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ความจริงปรากฏ โดยเบื้องต้น ต้องมีการสอบสวนผู้ทำให้ตายเพื่อเป็นข้อมูลในการทำสำนวนคดีวิสามัญฆาตรกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์และนำไปสู่การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกันในกรณีที่ความกงานเจ้าหน้าที่
 
4)    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552 ในการมอบนโยบายของรัฐบาล ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด มีใจความว่าการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามปัญหาใดปัญหาหนึ่งอาจจะดูเหมือนได้ผลในระยะเวลาสั้นๆ แต่สุดท้ายทำให้ปัญหาซับซ้อนและยากต่อการแก้ปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่าการปราบปรามยาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเด็ดขาด แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย
 
 
ดังนั้น เครือข่ายและองค์กรมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดภายใต้กรอบแห่งกฎหมายและการเคารพสิทธิมนุษยชนตามแนวทางของรัฐบาล และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามแนวนโยบายที่เคยให้ไว้ ไม่ควรชื่นชมหรือให้การสนับสนุนการใช้วิธีการรุนแรงและละเมิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ และควรมีการสอบสวนดำเนินดคีกับเจ้าหน้าที่ในกรณีดังกล่าว เพื่อรักษามาตฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความระมัดระวังต่อไป 
 
5) สังคมและสื่อมวลชนควรร่วมกันตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และควรหลุดพ้นจากอคติที่ว่าผู้กระทำความผิดหรือโจรไม่ควรได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมหรือควรถูกปราบปรามด้วยวิธีที่รุนแรงเท่าๆ กับพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะบทบาทของสื่อที่ไม่ควรนำเสนอข่าวไปในทางที่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะอคติดังกล่าวจะทำให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนทั้งสังคมมีมาตรฐานที่ต่ำลงตามไปด้วย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หากสังคมไทยยินยอมหรือสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง
 
การฆ่าไม่อาจยุติการฆ่าและอาชญากรรมในสังคม
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โชว์รถแข่ง "ฟอร์มูล่า วัน" บ่ายนี้ที่ ถ.ราชดำเนิน

Posted: 17 Dec 2010 10:30 PM PST

นครบาลเริ่มปิดการจราจรถนนราชดำเนินจากสะพานผ่านฟ้าถึงแยกคอกวัวแล้ว ตั้งแต่บ่ายโมงครึ่งถึงบ่ายสามครึ่ง เพื่อให้นักแข่งแชมป์โลกรถสูตร 1 ทีมกระทิงแดงขับโชว์ในงาน 'ถนนแห่งประวัติศาสตร์ Street of Kings Ratchadamnoen RedBull Bangkok 2010'

โปสเตอร์งาน (ที่มา: http://www.facebook.com/KratingDaengLive)

แผนผังการจัดงาน (ที่มา: http://www.facebook.com/KratingDaengLive)

วันนี้ (18 ธ.ค.) บริษัท กระทิงแดง จำกัด ในฐานะบริษัทแม่ของผลิตภัณฑ์เรดบูลล์ (กระทิงแดง) ทั่วโลก ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสิงห์ คอร์ปอเรชัน เตรียมจัดโครงการ "Ratchadamnoen Red bull street of Bangkok 2010" นำรถแข่งฟอร์มูล่า วัน (Formula 1) ในสังกัดทีม Red Bull Racing ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกรถสูตรหนึ่งฤดูกาล 2010 มาลงวิ่งบนถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

ในเว็บ eventpro เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนายสราวุฒิ อยู่วิทยา ผู้บริหารกระทิงแดง ว่าโครงการนี้ถือเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ในปี 2554 รวมถึงยังเป็นการนำทีมแข่งระดับโลกที่มีต้นกำเนิดของสินค้าจากประเทศไทยอย่างเรดบูลล์ เรซซิง มาให้คนไทยได้ชื่นชมในความสำเร็จในตำแหน่งแชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน

นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังเพื่อเป็นการรำลึกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์พีระ นักแข่งรถชาวไทยคนแรกที่ได้ลงแข่งรถฟอร์มูล่า วัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ในวันนี้ ทีมงานเรด บูลล์ จะ ติดตั้งโรงรถเหมือนกับพิตในสนามแข่งบริเวณภูเขาทอง มีมาร์ค เว็บเบอร์ นักขับชาวออสเตรเลีย จะนำรุ่นอาร์บี 6 ออกจากจุดเริ่มต้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำความเร็วไปตามถนนราชดำเนินใน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยนายมาร์ก เว็บเบอร์ และคณะ จะขับรถไป-กลับบนถนนราชดำเนิน จำนวน 4 รอบ เพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ 2 รอบ

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จฯ ไปที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน เพื่อทรงเป็นประธานในงานด้วย

หลังจากนั้นมาร์ค เว็บเบอร์ จะเดินทางไปทำกิจกรรม meet and greet ที่ลานมรกต ห้างเซ็นทรัลชิดลมในช่วงเย็นของวันเดียวกัน จากนั้นเวลา 23.00 น. แชมป์ ฟอร์มูล่าวันจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่ประเทศออสเตรเลีย

ขณะที่ในเวลานี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ติดป้ายประกาศขนาดใหญ่ ปิดถนนราชดำเนิน และถนนสายรองที่ตัดผ่านทั้งหมด ในเวลา 13.30-15.30 น. แล้ว

สำหรับรายละเอียดของงานติดตามที่แฟนเพจของกระทิงแดง

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานวันนี้ว่า เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 17 ธ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์ชุดสูทสีดำ สวมทับเชิ้ตสีขาว เนกไทสีแดงเลือดหมู พระสนับเพลาสีดำ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถเข็น พระที่นั่ง ลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โดยมี รศ.น.พ.ประดิษฐ์ ปัญจวีนิน หัวหน้าสำนักงานศูนย์โรคหัวใจในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ถวายการเข็น เพื่อทอดพระเนตรรถฟอร์มูล่าวัน รุ่นอาร์บี 6 เครื่องยนต์ 2400 ซีซี ที่บริษัท เรดบูลล์ คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน จัดถวายบริเวณหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยมีนายเฉลิม อยู่วิทยา ประธานกรรมการบริษัท เรดบูลล์ คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน นายสราวุฒิ อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัทกระทิงแดง นางดารณี อยู่วิทยา ภรรยานายเฉลิม ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี และนายมาร์ก เว็บเบอร์ แชมป์ฟอร์มูล่าวัน และสมาชิกร่วมทีมอีก 4 คน เฝ้าฯ รับเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้นายมาร์ก เว็บเบอร์ เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด ทรงมีพระราชปฏิสันถารสอบถามรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ของรถฟอร์มูล่าวัน โดยเฉพาะรถโชว์รันคันที่ใช้ขับราคา 15 ล้านบาท ซึ่งแชมป์ฟอร์มูล่าวันชาวออสเตรเลีย กราบทูลตอบข้อซักถามต่างๆ และถวายพวงมาลัยรถ ตลอดจนชิ้นอะไหล่สำคัญบางส่วนถวายให้พระองค์ทรงสัมผัสอย่างใกล้ชิด รวมเวลานานเกือบ 1 ชั่ว โมง ขณะที่นายเฉลิมในฐานะหัวหน้าคณะเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายรถฟอร์มูล่าวันจำลอง พร้อมกับทูลเกล้าฯถวายเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย ก่อนกราบบังคมทูลลา จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับยังชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ

นายเฉลิม กล่าวภายหลังเสด็จฯ กลับว่า ทราบมาโดยตลอดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยรถฟอร์มูล่าวัน ทรงติดตามการแข่งขันมาโดยตลอด วันนี้จึงอยากนำรถฟอร์มูล่าวันที่ชนะการแข่งขันในปีนี้มาให้พระองค์ทอดพระเนตร นายเฉลิม กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับนายมาร์ก เว็บเบอร์ เป็นภาษาอังกฤษว่า การแข่งขันมีประเทศใดบ้าง รถรุ่นอะไร ขนาดเครื่องยนต์เท่าไหร่ เป็นของประเทศไหน

"พระองค์สนพระราชหฤทัยในเรื่องชุดของนักแข่งขัน ซึ่งมาร์ก เว็บเบอร์นำชุดนักแข่งมาให้ทอดพระเนตรพร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับชุดว่ามี คุณสมบัติอย่างไร ซึ่งชุดนี้เป็นชุดที่สามารถกันไฟ กันความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการทำงานของพวงมาลัยรถ ซึ่งมาร์ก เว็บเบอร์ ได้ถอดพวงมาลัยรถออกมาให้พระองค์ทอดพระเนตรอย่างใกล้ชิด และในช่วงท้ายทรงมีพระมหากรุณา ธิคุณอวยพรการแข่งขันปีหน้าแก่ทีมนักแข่งด้วย ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้" ประธานกรรมการบริษัท เรดบูลล์ คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน กล่าว

ประธานกรรมการบริษัท เรดบูลล์ คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน กล่าวอีกว่า บริษัท กระทิง แดง ทูลเกล้าฯถวายเงิน 10 ล้านบาท เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย และนายมาร์ก เว็บเบอร์ ทูลเกล้าฯ ถวายโมเดลรถเรดบลู เรซซิ่ง อาร์บี 6 ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้แชมป์โลกปีนี้ด้วย พระ องค์พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ช่างภาพส่วนพระองค์ฉายพระรูปพระองค์ร่วมกับ ทีมนักแข่งและผู้บริหารบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง

นายมาร์ก เว็บเบอร์ กล่าวว่าตนยินดีที่จะได้ขับรถแข่งฟอร์มูล่าวันให้คนไทยได้ชม พร้อมทั้งร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ในปี 2554 เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกังวลหรือไม่หากมีฝนตกลงมาในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากระยะนี้กรุงเทพฯ มีฝนฟ้าคะนองกระจายทั่วไป แชมป์ฟอร์มูล่าวันชาวออสเตรเลีย ตอบว่า ทีมงานเตรียมความพร้อมทุกสถานการณ์อยู่แล้ว ส่วนตนเองก็เป็นนักแข่งมืออาชีพ ดังนั้นตนและทีมงานเรดบูลล์ ยืนยันว่าแม้ฝนจะตกลงมาก็ยังขับได้ไม่มีปัญหา ขอฝากไปยังแฟนๆ ชาวไทยให้มาชมกันมากๆ

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น. ฝ่ายจราจร เปิดเผยว่า วันเสาร์ที่ 18 ธ.ค.นี้ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง จัดงาน 'ถนนประวัติศาสตร์ สตรีท ออฟ คิงส์ ราชดำเนิน เรดบูล แบงค็อก 2010' ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธาน คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมชมงานจำนวนมาก เพื่อความสะดวกปลอดภัย ของประชาชน จึงจำเป็นต้องปิดการจราจร ดังนี้ 1.ถนนราชดำเนินกลาง จากแยกผ่านพิภพ ถึงแยกผ่านฟ้า 2.ถนนราชดำเนินนอก จากแยกผ่านฟ้า ถึงแยกจปร. 3.ถนนหลานหลวง จากแยกหลานหลวง ถึงแยกผ่านฟ้า 4.ถนนนคร สวรรค์ จากแยกจักรพรรดิพงษ์ ถึงแยกผ่านฟ้า ระหว่างเวลา 13.30-15.30 น. รวมถึงถนนสายรองเส้นต่างๆ ที่ตัดผ่านถนนที่ประกาศปิดการจราจรครั้งนี้ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่จราจรต่อเนื่องบางส่วนได้รับผลกระทบ และแนะนำใช้รถบริการสาธารณะจะสะดวกที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น