ประชาไท | Prachatai3.info |
- ผู้ต้องขังเสื้อแดงเครียดแก้ผ้าในเรือนจำ
- รายงานเสวนา: “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ตอนที่ 3
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "อายมั่งมั้ย"
- วารสารศาสตร์ข้อมูล: เราควรจะขอบคุณวิกิลีกส์ #wikileaks #opendata
- สภาทนายความร่อนหนังสือถึง รมว.แรงงาน ติงนโยบายใหม่ของรัฐ
- "มาร์ค" ยันไม่ย้าย "ธาริต" ดีเอสไอเตรียมออกหมายจับ 11 แกนนำเสื้อแดง
- ใบตองแห้งออนไลน์: ก้าวข้ามเลือกตั้ง
- รับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่-พายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข (1)
- TDRI เผยไทยกำลังขาดแคลนนักวิจัยข้าว
- สัมภาษณ์ “ชนาธิป สุกใส” เจาะอนาคตพลังงานชีวมวลอาเซียน
- โฉนดบนที่ดินสาธารณะ? ชะตากรรมคนจนบ้านบานา
- ชำนาญ จันทร์เรือง: นักโทษทางความคิด (Prisoner of Conscience)
- สบท.สำรวจคุณภาพบริการมือถือทั่วกรุงฯ
- นักข่าวพลเมือง: สนองนโยบายของรัฐชาวบ้านกว่า 700 คน ลงพื้นที่รังวัดที่ดินทำโฉนดชุมชน
- ตั้งสภาแรงงานแห่งที่ 13 สร้างคนทำงานรุ่นใหม่-ยกระดับชีวิตคนทำงาน
ผู้ต้องขังเสื้อแดงเครียดแก้ผ้าในเรือนจำ Posted: 15 Dec 2010 07:54 AM PST ทีมทนาย ศปช.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังเสื้อแดงมุกดาหารแล้ว ด้านผู้ต้องขังมีอาการทางประสาทเพิ่มอีกราย เรือนจำเตรียมส่งเข้าจิตเวช อีกรายคลุ้มคลั่งแก้ผ้าเดินรอบเรือนจำ 13 ธันวาคม 2553 ทีมทนาย ศปช.(ศูนย์ข้อมูลประชาชนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษายน – พฤษภาคม 53) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2553 ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางมุกดาหารที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำทั้ง 18 ราย โดยเห็นว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงจำเลยจะหลบหนี (ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง) ทั้งนี้ ในการยื่นอุทธรณ์ได้ระบุเหตุผลว่า ศาลมิอาจใช้ดุลพินิจโดยอาศัยอัตราโทษสูง และพฤติการณ์แห่งคดี( ตามที่โจทก์ฟ้อง) มาสันฐานว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าคดีที่มีอัตราโทษสูง ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และกลายเป็นบรรทัดฐานว่า คดีที่อัตราโทษสูงให้สันฐานว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด อันเป็นการวินิจฉัยที่กลับหลักการแห่งกฎหมาย อันเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกด้วย นอกจากนี้ ทนายยังได้ให้เหตุผลว่า จำเลยทั้ง ๑๘ คนมีภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว และมีบางคนมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งโดยความเห็นของแพทย์นั้นต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด และไม่สะดวกหากยังคงควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ อีกทั้งคดีนี้มีจำเลยอื่นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วถึง ๒ คน และมิได้หลบหนีแต่อย่างใด ทนายอานนท์ นำภา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นการต่อสู้ตามขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงจำเลยจะหลบหนี เราเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็ยื่นอุทธรณ์ไป จากนี้ก็ต้องรอการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ คงต้องใช้เวลาอีกซัก 3-4 วัน ส่วนญาติเขาก็สู้ไปตามช่องทางทางสังคม วันก่อนเขาก็ไปยื่นหนังสือกับกรรมการสิทธิ ก็หวังว่าที่สุดแล้วจำเลยจะได้รับการประกันตัว พร้อมกันนี้ ทีมทนายยังได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อขอให้ส่งตัวผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยไปทำการรักษา ซึ่งได้แก่ นายทองมาก คนยืน (กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท) นายทองดี ชาธิพา(ประสาท) นายแก่น หนองพุดสา(ประสาท) และนายประครอง ทองน้อย(มีเนื้องอก) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 15 ธ.ค. ญาติที่เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร ได้รับแจ้งจากผู้ต้องหาว่าเวลาประมาณเที่ยงนายแก่น หนองพุดสาได้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง และแก้ผ้าเดินรอบเรือนจำ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนางอารมณ์ ภรรยา ได้เปิดเผยว่าช่วงสัปดาห์นี้ที่เธอไปเยี่ยม สามีพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ด่าไปหัวเราะไป เธอเองก็กลุ้มใจไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่เมื่อสอบถามไปยังนายสำราญ เมืองโคตร พยาบาลวิชาชีพที่ดูแลผู้ต้องหาในเรือนจำอยู่ นายสำราญให้ความเห็นว่าอาการของนายแก่น ยังไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพียงแต่กินยาระงับประสาทก็พอแล้ว แต่มีผู้ต้องหาอีก 1 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ในวันพรุ่งนี้(16 ธ.ค.) คือนายณัฐพล พันธุ์คูณ ทั้งนี้เนื่องจากนายณัฐพลมีอาการทางประสาท เครียดจัด และอาจมีการเตรียมการทำร้ายตัวเอง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงานเสวนา: “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ตอนที่ 3 Posted: 15 Dec 2010 02:25 AM PST สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: “มีแต่การอภิปรายปัญหาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น เราถึงจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ในที่สุดแล้วจะลงเอยด้วยความรุนแรง ด้วยการนองเลือด เราต้องพูดกันตรงๆ ว่า สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในอำนาจและสถานะแบบปัจจุบันนี้ไม่ได้...ต้องเปลี่ยน”
ก่อนเริ่มงาน ผมส่งข้อความไปบอกเพื่อนสองสามคนว่า ผมตื่นเต้นมาก จริงๆ แล้ว วันนี้ที่ผมจะพูดไม่มีอะไรใหม่นะครับ ในแง่ที่ว่า ถ้าใครอ่านงานที่ผมเขียนมาตลอดจะรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผมเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีก ศอฉ. ถ้าคิดจะหาข้อมูลใหม่มาฟ้องผมก็ไม่ต้องนะครับ ของเก่ามีอยู่เยอะ
เดิมผมไม่คิดจะเริ่มต้นอย่างนี้ แต่พอดีคิดอะไรขึ้นมาได้ คือประมาณช่วงกลางๆ เดือนมีนาคม หลังจากเริ่มมีการชุมนุมเดือนมีนาคมสักประมาณ 1 สัปดาห์ ตอนนั้นผมยุ่งมากเพราะมีญาติป่วย วันแรกที่ผมได้ไปเดินในม็อบประมาณช่วงหกโมงถึงราวๆ หนึ่งทุ่ม เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงผ่านฝ้า เดินสำรวจรอบๆ อยู่ๆ ผมก็คิดขึ้นมาในใจขึ้นมาทันทีเลยว่า นี่เป็นความผิดพลาดของสถาบันกษัตริย์ไทย ผมคิดจริงๆ เลยนะครับไม่ได้อำ คือถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์มากๆ อย่างผมสอนหนังสือประวัติศาสตร์ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีความสามารถ หรืออย่างน้อยแสดงออกถึงความสามารถว่า มีความเซนซิทีฟหรือมีความไวต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของกระแสการเมือง อันนี้เราต้องยอมรับ อย่างถนอม-ประภาสในช่วงสุดท้าย เมื่อเห็นว่าไปไม่รอด สถาบันกษัตริย์ก็ปรับตัวทันที ทั้งที่แต่ก่อนสถาบันกษัตริย์มีความสัมพันธ์แน่นสนิทกับระบอบถนอม-ประภาสมาก แต่เมื่อเห็นว่าไปไม่รอด ในยุค 14 ตุลา ก็หันมายืนอยู่ข้างนักศึกษา บรรยากาศตอนนี้เป็นบรรยากาศที่เหมือน 6 ตุลา ใครไปอ่านบันทึกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่บันทึกว่า มองไปทางไหนก็มืดมนไปหมด จะไปทางไหนใครจะบอกได้ คือคุณต้องเข้าใจว่า พื้นฐานอาจารย์ป๋วยมีความเป็นเสรีนิยม และเคารพรักต่อสถาบันกษัตริย์มากๆ หลัง 6 ตุลา ความรู้สึกที่คนแปลกแยกต่อสถาบันมันแพร่หลายมาก และไม่เท่ากับปัจจุบันด้วยซ้ำ ตอนนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ปรับตัว ผมกับสุธรรม (แสงประทุม) และเพื่อน ถูกจับแล้วเอาขึ้นศาลทหาร เราก็คิดว่า เราต้องอยู่ยาวเป็น 10 ปี รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาก็บอกว่า มันร้ายแรงมาก ความผิดถึงขั้นประหาร จากนั้นคุณเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็พยายามบอกกับทางราชสำนักว่า ปล่อยพวกนี้จะดีสำหรับสถาบันฯมากกว่า จริงๆ แล้วก็ยืดเยื้อมาหลายเดือน และก็มีการกระซิบๆ ว่า เมื่อออกไปแล้ว ก็ให้สัมภาษณ์หน่อยว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ นี่เป็นเบื้องหลัง ซึ่งถ้าใครไปดูหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น ก็ลงว่า สุธรรมบอกว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณ นี่เป็นตัวอย่างที่สถาบันกษัตริย์ปรับเปลี่ยนตัวเอง เมื่อเห็นว่าคนจำนวนมากเริ่มแปลกแยก เริ่มไม่พอใจ ก็สามารถปรับเปลี่ยนตัว อย่างกรณีสุจินดา คราประยูร ก็สามารถปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสุจินดากับทหาร เมื่อถึงช่วง 17 พฤษภาคม ก็มีการปรับเปลี่ยนตัว นี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า สถาบันกษัตริย์ไทยแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนต่อความเปลี่ยนแปลง แต่ตอนที่ผมเดินอยู่ในม็อบเดือนมีนาคม ตอนนั้นยังไม่เกิดการปะทะอะไรเลยนะครับ ผมรู้สึกเลยว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การตัดสินใจที่ผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้นยิ่งรุนแรงลงไปอีก เกิดการปะทะวันที่ 10 เมษา และการปะทะเดือนพฤษภา คือถ้ามีใครบอกผมว่า วันดีคืนดีจะมีคนหมื่นๆ ไปตะโกนที่ราชประสงค์อย่างที่ไปตะโกนกันเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว ผมก็จะคิดว่าคนพวกนี้มันเพ้อฝัน มันคงเกิดได้ชาติหน้าตอนบ่ายๆ สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารไปยังคนที่จงรักภักดี สื่อสารไปถึงบุคลากรทุกคนในสถาบันมหากษัตริย์ว่า อย่าประเมินความรู้สึกแปลกแยกของคนต่ำเกินไป อย่าประเมินความไม่พอใจของคนต่ำเกินไป พูดตรงๆ วันนี้ (วันจัดเสวนา-10 ธันวาคม 2553) ผมเซอร์ไพรส์นะที่คนมามากขนาดนี้ ผมนึกว่าจะมีแต่นักศึกษา ผมยังคิดว่ามาจัดตรงนี้ น่าเสียดายน่าจะไปจัดที่ใกล้ๆ ม็อบ เผื่อคนจะได้เยอะขึ้น นี่ขนาดผมยังประเมินต่ำเลยนะครับ แล้วอย่างที่ผมบอก ผมเองผ่าน 6 ตุลา เห็นความไม่พอใจมาแล้วก็นึกว่ามันสุดแล้ว แต่นึกไม่ถึงว่า ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ระดับความไม่พอใจสูงมาก เป็นคลื่นใต้น้ำที่แรงมาก สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ พวกคุณ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่าประเมินความไม่พอใจของคนต่ำเกินไป และอย่าประเมินความสามารถของตัวเองในการจัดการเรื่องนี้สูงเกินไป คือคุณอย่าคิดว่าคุณปราบ จับฆ่าคน เอาคนเข้าคุก ขู่เอาไว้ มึงหมิ่นเจ้า ล้มสถาบันจะเอาเข้าคุก มันไม่เวิร์กหรอก หรือกรณีสองมาตรฐานซ้ำแล้ว สองมาตรฐานซ้อนสองมาตรฐานซ้อนมาตรฐาน ตอนที่เขาตัดสินคดีพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดจริงๆ นะครับว่า เขาจะตัดสินยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญเสียเครดิตเยอะมาก แล้วถ้าเป็นผม ถ้าผมอยู่ฝ่ายเขา ผมจะยอมเสียประชาธิปัตย์ชั่วคราว เอาศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นเครื่องมือ ผมไม่อยากจะบอกว่าหน้าด้าน แต่มันชัดมาก จนกระทั่ง...และที่สำคัญคือ มันไม่ฉลาด นึกออกไหมครับ คือการรักษาอำนาจที่ฉลาดไม่ใช่ว่ารักษาลูกเดียว ใช้วิธีการเดียวอย่างชนิดที่หวังว่าจะใช้วิธีการนี้ตลอดเวลาแล้วคิดว่าคนเขาจะทนอยู่แบบนี้ตลอดเวลา แล้วเมื่อวานก็มาตัดสินแบบนี้ซ้ำอีก เรื่องนี้มันเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ ผมถึงบอกว่าอย่าประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินไปในการจัดการกับปัญหาพวกนี้ด้วยความรุนแรง ด้วยการจับติดคุก ด้วยกฎหมาย ด้วยวิธีการสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก มันไม่เวิร์กในระยะยาว และมันจะกลับไปหาพวกคุณเองอย่างรุนแรงมาก และสุดท้าย นี่เกริ่นนะครับยังไม่เข้าเรื่อง สุดท้าย วีธีการจัดงาน วิธีการเชียร์กันอย่างนี้ก็ไม่เวิร์กเหมือนกันเชื่อผมเถอะ ปีที่แล้วฉายหนังเข้าไปที่พระที่นั่งอนันตฯ ปีนี้ฉายหนังไปที่จอน้ำ ปีหน้าต่อให้ฉายไปที่จักรวาลหรือแกแลกซี่ก็ไม่เวิร์ก อันนี้พูดอย่างซีเรียสนะครับ คือหลังจากผ่านการเมืองแบบนี้ ผมนึกไม่ถึงว่า คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะตัดสินใจอะไรที่ฉลาดน้อยแบบนี้ สิ่งที่ผมพยายามจะทำ ก็คือการเปลี่ยนความรุนแรงซึ่งรัฐบาลก็เห็น เราจะเปลี่ยนจากการตะโกน การแลกคลิปกันได้ก็ด้วยการเปิดให้เป็นการอภิปรายเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่ามีแต่การอภิปรายปัญหาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น เราถึงจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ในที่สุดแล้ว จะลงเอยด้วยความรุนแรง ด้วยการนองเลือด เราต้องพูดกันตรงๆ ว่า สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในอำนาจและสถานะแบบปัจจุบันนี้ไม่ได้...ต้องเปลี่ยน ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ ผมเสนอสั้นๆ ว่า แทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถานะและอำนาจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ‘ผิด’ หนึ่งคือ ผิดหลักการประชาธิปไตย คือ หลักการเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค เรื่องอำนาจสาธารณะต่างๆ ต้องสามารถควบคุมและเอาผิดได้โดยสาธารณะ ผิดหลักการใช้เหตุใช้ผล ผิดหลักการพื้นฐานของความเป็นคน ข้อเสนอของผมที่ต้องทำความเข้าใจว่า การเสนอยกเลิกสถานะนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย คือไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้ไม่ได้บอกให้เลิกสถาบันกษัตริย์เลย แต่ให้เลิกสถานะและอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ผิด ม.112 ด้วย ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ ว่า ม. 112 คือการออกกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทตัวบุคคล 4 กรณี คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่ององค์กรหรือโครงสร้าง ข้อเสนอผมทั้งหมด ในที่สุดแล้วก็โยงกลับมาที่ประเด็นการแก้ไขโครงสร้างอำนาจเสมอ ผมว่าเป็นเรื่องต้องทำ เพราะคุณคิดว่าจะอยู่ได้แค่ไหนแบบนี้ เหมือนเป็นเฮาส์ออฟคาร์ด คือการตั้งปีระมิดไพ่ แล้วมันก็พังลงมา ทีนี้ ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไป ที่ผมต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่ง เรื่องที่คนมักพูดกันโดยเฉพาะคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ที่มักจะพูดกันถึงว่า นักการเมืองเลวอะไรทั้งหลายแหล่ ความเห็นผมจริงๆ เลยนะครับ ปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย อะไรทั้งหลายแหล่ เรื่องสองมาตรฐาน กับเรื่องนักการเมืองไม่มีคุณภาพ ต้องแก้ที่ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ เพราะอะไร เพราะตราบเท่าที่คุณสองมาตรฐานเรื่องสถาบันกษัตริย์ คุณจะพูดสองมาตรฐานในเรื่องอื่นไม่ได้ มีแต่คุณทำให้เรื่องสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกับคนทุกคนในประเทศไทยเท่านั้น คุณถึงจะใช้มาตรฐานเดียวกับคนทุกคนได้ หัวใจของข้อเสนอของผมง่ายมาก คือประยุกต์หลักการที่ใช้กับคนทุกคนเข้ากับสถาบันกษัตริย์อย่างเท่าเทียมกัน แค่นั้นเอง ง่ายๆ แล้วปัญหาเรื่องนักการเมืองเลว ลองคิดดีๆ นะครับ พอรัฐประหารคนไปเชียร์ เพราะอะไร เพราะคุณไปสร้างภาพเพอร์เฟ็กต์ที่มันไม่เป็นจริง คุณไปสร้างภาพเพอร์เฟ็คต์ว่า คุณสามารถมีสถาบันกษัตริย์ที่วิเศษทุกประการ ไม่มีข้อติเลย คุณก็จะเกิดข้อเปรียบเทียบเสมอว่า นักการเมืองมันอย่างโน้นอย่างนี้ คุณทำไมไม่ตั้งคำถามว่า ภาพที่คุณสร้างไว้มันผิดหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องภาพที่สร้างอย่างนี้ไว้แต่ต้นก็ไม่มีปัญหาเรื่องนักการเมืองอะไร คนทุกประเทศเขาไม่พอใจนักการเมือง เขาหมั่นไส้ เขาก็จัดการอย่างประสามนุษย์มนาเพราะประเทศเขาไม่ต้องมีการสร้างภาพเทวดาไว้เปรียบเทียบกับคน ข้อเสนอของผมเสนอไปแล้ว 8 ข้อ แต่เคยมีนักวิชาการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ก็พอ บางคนบอกไม่ยกเลิกด้วยซ้ำ บางคนบอก ผมเสนอเยอะเกินไป นี่ผมเสนอแบบขั้นต่ำแล้วนะครับ พูดซีเรียสนะครับ ในบริบทประเทศไทย ยกเลิกเฉพาะมาตรา 112 แล้วไม่ยกเลิกมาตรา 8 ไม่ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว เช้าจดเย็นๆ พูดเรื่องนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะยกเลิก 112 คุณต้องยกเลิกพร้อมกันทั้งชุด ข้อเสนอ 8 ข้อของผม ไปอ่านรายละเอียดได้ที่ผู้จัดการฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2553 คอลัมน์คุณคำนูณ สิทธิสมาน คือมันไม่ใช่ข้อเสนอที่ผิดกกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายคุณคำนูณเขาไม่เสนอไปแล้วละครับ วันนี้ผมดีใจอย่างหนึ่ง ผมดีใจที่คนส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงมา แต่ใจผม คราวหน้าผมอยากให้คนอย่างคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) หรือบรรดาพันธมิตรฯ หรือบรรดาคนที่ใช้นามสกุลรักในหลวงตามเว็บไซต์ ผมยินดีนั่งคนเดียวให้ซักเลย ในที่สุดแล้ว เราต้องอยู่ร่วมประเทศกันทั้งนั้น กับคนเหล่านี้ ผมยินดีที่จะดีเบตเลยนะครับ ประเด็นที่คุณชูเรื่องสถาบันตลอดเวลา เรื่องรักในหลวงเพราะทรงงานหนัก ผมเคยเขียนในเว็บไซต์มาสักระยะแล้วว่า ในหลวงทรงเหน็ดเหนื่อย ทรงทำดี ประเด็นที่ผมถามไปยังคุณสนธิ และคนที่จงรักภักดีคือ เรารู้ได้อย่างไร เราพิสูจน์ได้อย่างไร ถามจริงๆ นะครับ ผมไม่ได้บอกว่าในหลวงไม่ได้ทรงงานหนักนะครับ เพราะผมไม่รู้ แต่หัวใจที่ผมพยายามเสนอให้ปฏิรูป สมมติว่า นักการเมืองคนหนึ่งทำงานหนัก โดยความเข้าใจของคนทั่วไป เราต้องถามว่าเขาสร้างภาพหรือเปล่า เราต้องตรวจสอบว่าจริงไหม จนกระทั่งผ่านกระบวนการเหล่านี้แล้ว จึงจะพิสูจน์ได้ว่า อ๋อ! คนนี้ทำงานหนัก แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมคนถึงเชื่อ เพราะว่ามันไม่เคยถูกพิสูจน์จริงๆ การพูดอย่างนี้มันไม่เคยผ่านการพิสูจน์จริงๆ แล้วผมให้ดูตัวอย่าง อันนี้เป็นเว็บบอร์ดเสรีไทย เขาเอา 8 ข้อเสนอของผมไป แล้วไปเขียนด่าผม ผมยกเป็นตัวอย่างให้ดูหลายคนคงเคยอ่าน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ความจริงพวกนี้ไม่รู้เรื่อง บอกว่า “นายสมศักดิ์มีสิทธิอะไรไปยุ่งทรัพย์สินส่วนตัวพระองค์ท่าน” ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผมเคยตั้งข้อสมมติในเว็บบอร์ดว่า ถ้าสมมติมีวันดีคืนดี เราออก พ.ร.บ.อันหนึ่งบอกว่า อำนาจในการจำหน่ายจับจ่ายทรัพย์สินของรัฐ ให้อยู่ในดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีล้วนๆ โดยคนอื่นไม่สามารถแตะต้องได้ในอำนาจนั้น มีใครยอมบ้างไหม ถามจริงๆ แล้วก็มีคนพวกเสื้อเหลืองเขามาอ่านเข้า ก็เถียงไม่ได้เหมือนกัน เขาบอก เออ มันจริง คือเราคิดกันง่ายๆ นะ ต่อให้นักการเมืองในประวัติศาสตร์ที่คนยกย่องกัน 2 คนอย่างอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วยบอกว่า ซื่อสัตย์มาก เป็นนายก ผมก็เชื่อว่าไม่มีใครยอมรับให้ออก พ.ร.บ.นี้แน่ เอาทรัพย์สินของรัฐ 7 หมื่น 8 หมื่นล้านให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วย ซึ่งเป็นนายกฯ เพราะมันผิดหลักการใช่ไหม แต่ปัญหาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 7 หมื่น 8 หมื่นล้านอยู่ภายใต้อำนาจโดยสิ้นเชิงของพระมหากษัตริย์ อันนี้มันสมเหตุผล (make sense) ตรงไหน ผมถามจริงๆ มันเป็นเหตุเป็นผลตรงไหน เอาแค่นี้นะ ดูประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องในหลวงทำงานหนัก “นายสมศักดิ์ให้ยกเลิกพระราชอำนาจในโครงการหลวงทั้งหมด เหลือเชื่อในความคิดอันอัปยศและคับแคบนี้ พระองค์ท่านเสด็จไปทั่วทุกแคว้นแดนถิ่นเพื่ออะไร เพื่อพบประชาชนแล้วนำปัญหามาขบคิดเพื่อหาทางช่วยเหลือ ภาคกลางน้ำท่วมอะไรก็ว่าไปจนเกิดโครงการแก้มลิง” เราจะเจอประจำเวลาผมไปเขียน คำถามผมก็เหมือนเดิม คือ คุณรู้และพิสูจน์ได้ยังไง เกิดมีนักการเมืองคนหนึ่งเดินทางไปจังหวัดต่างๆ แล้วก็ทำงานหนัก คุณจะเชื่อไหม ถามจริงๆ นี่เป็นหลักเหตุผลธรรมดาง่ายๆ มากเลย จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของผมพบว่า นักการเมือง ไม่ต้องคุณทักษิณ คุณอภิสิทธิ์ก็ได้เอ้า เดินทางไปต่างจังหวัดเหนื่อยยาก ลงทุนลงแรงมากกว่าราชวงศ์ทุกคนเคยทำในเวลาเท่าๆ กันอีก คุณจะเชื่อผมไหมล่ะ ปัญหาคือ คุณจะพิสูจน์ยังไง ถ้าคุณไม่เปิดเสรีภาพให้วิพากษ์วิจารณ์จริงๆ ไม่เปิดเสรีภาพให้ประเมินกันจริงๆ ว่า สิ่งที่ทำของราชวงศ์มันจริงไหม แต่เป็นเรื่องที่แปลกมากๆ เลย พอเราดูการประชาสัมพันธ์ ดูอะไรทั้งหมด เออ! จริงนะ ในหลวงทำงานหนัก ผมถามจริงๆ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เรารู้ได้ยังไง ในที่สุดแล้ว มันรู้ไม่ได้หรอก เพราะตราบใดไม่มีเสรีภาพให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ แล้วต่อให้สมมติสมาชิกในราชวงศ์ตั้งแต่ในหลวงจนกระทั่งสมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์ทำงานต่างๆ ได้ผล ก็คือมีผลงาน สมมติมีโครงการต่างๆ ได้ผล foot note ไว้นิดหนึ่ง วันก่อนหนัง 7 เรื่องที่ผู้กำกับดังๆ เขาทำกัน อันนี้เป็นตัวอย่างของความไม่มีเหตุผล ผู้กำกับคนหนึ่งบอกว่า โครงการหลวงทั้งหมดนี้ท่านออกเงินส่วนพระองค์ ไปดูคำสัมภาษณ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ผมอ่านแล้วแล้วผมส่ายหัวเลย แค่เบสิคง่ายๆ คือ เรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันเปลี่ยนคนไทยให้กลายเป็นอะไรก็ไม่ทราบ คือกลายเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลจนกระทั่งเหลือเชื่อ ประเด็นคืออย่างนี้ สมมติต่อให้ราชวงศ์ทำงานบางโครงการแล้วได้ผลจริง โดย common sense เราก็ต้องตรวจสอบเช่น ลงทุนเท่าไหร่ ได้ผลเท่าไหร่ สมมติคุณจ้างงานผม ทุกวันนี้ผมได้เงินเดือนสองหมื่นกว่า สมมติตีว่า บังเอิญได้เงินเดือนสองล้าน แล้วผมไปทำโปรเจ็คท์อะไรสักโปรเจ็คท์หนึ่งได้ผลสำเร็จ โปรเจ็คนั้นสำเร็จ มีผลกระทบตีมาเป็นเงินได้ประมาณเดือนละหมื่น แสนสองแสน แล้วผมได้เงินเดือนสองล้าน ต่อให้ผมทำจริงๆ แล้วผมไม่ทุจริตไม่อะไร อย่างนี้คุณเชื่อว่า ยังควรยกย่องผมอยู่ไหม ในทางปฏิบัติในระบบราชการ ถ้าผมทำอย่างนี้ผมถูกลงโทษนะครับ ผมถูกตักเตือนเพราะเป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง เท่าที่ผมพูดนี้ไม่มีอะไรผิดปรกติเลย ถ้าเรา apply (ปรับใช้) กับราชการ apply กับคนธรรมดา apply กับนักการเมืองทั้งหมด แต่ทำไมเราไม่ apply หลักการอันนี้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมถามหน่อย พอพูดถึงเรื่องนี้ ผมนึกถึงประเด็นหนึ่ง ในหลายปีนี้มันมีคำพูดเยอะมากเลย โดยเฉพาะในคนที่เรียกว่าจงรักภักดี จะบอกว่า ปัญหาคือนักการเมืองนี่แย่ ไม่มีคุณภาพ แล้วที่ตามคือว่า เพราะคนชนบท คนต่างจังหวัดเลือกนักการเมืองที่แย่ขึ้นมา อันนี้เลยนำไปสู่ไอเดียของพันธมิตรฯ เรื่อง 30:70 คนชนบทโง่ อะไรก็ว่าไป เวลานึกถึงเรื่องนี้ผมนึกยังไงรู้ไหม คนต่างจังหวัดเวลาเขาเลือก นักวิชาการบอกว่า เลือกเพราะผลประโยชน์ เพราะประชานิยม บอกมันเป็นความไม่ฉลาด เป็นความโง่อะไรก็ว่าไป แต่คนในเมืองซึ่งหลายปีนี้เชื่อเรื่องแบบนี้ เชื่อเรื่องว่า ในหลวงทรงงานหนักโดยที่ไม่สามารถพิสูจน์และไม่สามารถรู้ได้จริงๆ ไม่แต่เท่านั้น ที่วันก่อนคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ไปพูดอย่างภูมิอกภูมิใจมากเลยว่านี่เป็นบ้านพ่อ แล้วใครไม่อยากอยู่ก็ให้ออกไป แล้วในที่ประชุมนั้น ซึ่งประกอบด้วยระดับไฮโซ ดารา ทั้งรายได้ทั้งการศึกษา ต้องถือว่าไฮโซมากๆ ดีกว่าพวกเราที่นั่งอยู่ส่วนใหญ่ ก็ตบมือกันเกรียวกราวเลย ก็ไปต่อกันทางอินเตอร์เน็ต น้ำหูน้ำตาไหลกันใหญ่เลย คือประการแรกคุณพงษ์พัฒน์อาจจะไม่รู้ว่า กฎอัยการที่นา ที่กำหนดสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ที่บอกให้ที่ดินเป็นของกษัตริย์ เขาเลิกไปหลายร้อยปีแล้ว เขาอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเอกชนกันหมดแล้ว ที่ดินทั้งหมดไม่ใช่ของกษัตริย์อีกต่อไปเป็นร้อยกว่าปีสองร้อยปีแล้ว หรือจะพูดในความหมายเรื่องประเทศทั้งหมด เขาก็ไม่ถือว่าประเทศเป็นของกษัตริย์อีกต่อไปเป็นศตวรรษแล้ว คุณลองนึกภาพคนที่มีการศึกษา คนที่ไฮโซสามารถพูดจนน้ำหูน้ำตาไหลกับคำพูดซึ่งมันไร้เหตุผลขนาดนี้ แล้วคนก็เชียร์กันใหญ่ เปรียบเทียบหาว่าคนชนบทโง่ ผมถามหน่อยเถอะ ใครโง่กว่าใครเนี่ย คือภาวะความเป็นจริงของสถานะอำนาจสถาบันกษัตริย์กลับทุกอย่างที่สมเหตุสมผลให้กลับตาลปัตรไปหมด ความไม่มีเหตุผล ความเชื่อโดยพิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อโดยไม่อยู่บนบรรทัดฐานของการพิสูจน์ กลับกลายเป็นอะไรบางอย่างที่น้ำหูน้ำตาไหล แล้วก็เชื่ออย่างผิดๆ ด้วย อย่างกรณีเรื่อง ‘บ้านพ่อ’ ‘ประเทศของพ่อ’ เรื่องพื้นๆ ธรรมดา การที่เขาเลือกนักการเมือง เพราะเห็นว่านักการเมืองทำประโยชน์ให้เขาได้ กลับกลายเป็นเรื่องโง่ไปเนี่ย มันมีเหตุผลตรงไหน บอกผมหน่อย ประเทศมันกลับตาลปัตรขนาดนี้ แล้วมันไม่เปลี่ยนยังไง ผมถามหน่อย เพราะฉะนั้น ประเด็นที่เสนอ 8 ข้อ ก็ง่ายๆ คือ apply หลักการทุกอย่างที่ใช้กับทุกคนเข้ากับสถาบันกษัตริย์เท่านั้นเอง ทีนี้มันมีประเด็นเฉพาะรูปธรรมอยู่ การพูดอย่างนี้ ข้อเสนอเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็เสนออย่างนี้ได้ 10 ปีที่แล้วก็เสนออย่างนี้ได้ เพราะประเด็นมันเป็นมานาน แต่เฉพาะหน้า อันนี้ต้องสารภาพนิดหนึ่ง ผมคิดเป็นอาทิตย์เลยนะว่า จะพูดส่วนนี้ดีหรือเปล่า ถามเพื่อนหลายคนว่า จะพูดดีไหม หรือจบแค่นี้เอง ไหนๆ พูดก็พูดนะครับ ในหลายปีที่ผ่านมามันมีความจริงอย่างนี้ นี่เป็น speech ของคุณเปรม (ติณสูลานนท์) ที่ผมยกมา 3-4 อัน หลายคนคงรู้ speech อันแรกคือ speech เรื่องจ๊อกกี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 นี่คือคุณเปรมไปแคมเปญให้ล้มรัฐบาล ถ้าพูดกันตรงๆ คุณเปรมเเคมเปญให้ล้มรัฐบาล อันที่สองคือ ตอนคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมา คุณเปรมเชียร์คุณอภิสิทธิ์ต่อหน้าสาธารณชน 3 หน หนแรก “บ้านเมืองเราโชคดีที่ได้ท่านอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ” นี่คือ 28 ธันวา 2551 ครั้งที่สองบอกว่า “รัฐบาลนี้ดี ผมเคยพูดว่ารัฐบาลนี้ดี” แล้วก็ลงท้ายสั้นๆ ว่า “ผมเชียร์” 25 มีนา 2552 อีกครั้งหนึ่ง 25 สิงหา “นายกฯคนนี้ยังอยู่ เชื่อว่าแก้ปัญหาประเทศชาติได้” ทีนี้ 3 อันนี้มันผิดยังไง ไม่ต้องไปถึงเรื่องจ๊อกกี้ก็ได้ เอา 3 อันที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร คุณเปรมรู้นะครับว่าการพูดอย่างนี้มันผิดรัฐธรรมนูญ เพราะว่าตามรัฐธรรมนูญบอกว่า องคมนตรีจะแสดงความฝักใฝ่ในพรรคการเมืองไม่ได้ ดู speech คุณเปรมเองวันที่ 3 พฤศจิกา 2550 ไปเชียร์คุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นเชอร์ชิลด์ ผมเป็นองคมนตรี คุณสุรยุทธ์เป็นองคมนตรี รัฐมนตรีได้บัญญัติองคมนตรีห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อไปพูดอะไรก็ถูกตำหนิว่า องคมนตรีไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไว้ ก็บอกเขาว่า ที่พูดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง ลองดู 3 อันที่เชียร์อภิสิทธิ์ เชียร์หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเรื่องชาติบ้านเมือง อันนี้ใช้บรรทัดฐานอะไรไม่ทราบ เห็นชัดๆ ว่า นี่เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญเลยนะ แล้วเจ้าตัวก็รู้ ก็พูดด้วย ทีนี้ถ้าเป็นกรณีคนอื่นๆ เป็นนักการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ คนนี้ต้องโดนปลดแล้วปลดอีก ปลดซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้งแล้ว และเป็นรัฐธรรมนูญที่ตัวเองมีส่วนในการเขียนด้วยนะ รัฐธรรมนูญ 50 แต่ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะโดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจในการปลดทุกอย่างอยู่ที่พระมหากษัตริย์ทั้งหมด ประเด็นนี้สำคัญนะ โดยองคมนตรีจริงๆ แล้วโดยรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ องคมนตรีโดยในทางองค์กรหรือทางโครงสร้าง ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือโครงสร้างพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้นการที่องคมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขนาดนี้ นี่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจและสถานะของสถาบันกษัตริย์แล้ว ไม่ใช่ปัญหาเรื่ององคมนตรี ผมอยากจะสื่อสารไปถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง สื่อสารไปถึงอาจารย์ธิดา (ถาวรเศรษฐ์) สื่อสารถึงคุณทักษิณด้วยก็ดี สื่อสารถึงแกนนำ นปช.ทั้งหลาย นี่พูดอย่างซีเรียสนะ ผมพยายามพูดมาหลายเดือนแล้ว คือผมเข้าใจอยู่ อาจารย์ธิดาพยายามพูดว่า นปช.ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วก็พยายามย้ำว่า เราไม่ล้มเจ้า ไม่อะไรก็แล้วแต่ คือสมัยนี้พูดอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ ผมก็ไม่ได้เสนอให้ล้มเจ้านะ เห็นไหม ผมเสนอให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่แท้ๆ เลย แต่ประเด็นคือ ถ้าโจมตีองคมนตรีซ้ำแล้วซ้ำอีก แทนที่จะโจมตีคุณเปรมเรื่องประตูหน้าประตูหลัง อย่าไปโจมตี ไม่มีประโยชน์ สู้เสนอให้ปรับแก้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในเรื่ององคมนตรีนี้ดีกว่า ผมถึงบอกว่า ไปพูดย้ำอย่างนั้นจริงๆ มันไม่เวิร์ค มันเวิร์คเหรอ คุณทักษิณโดนโจมตีน้อยเหรอ ก็เห็นโดนโจมตีอย่างนี้ โดนโจมตีว่าอยากเป็นประธานาธิบดี มันไม่เวิร์คนะครับ เพราะฉะนั้น ผมว่าแทนที่จะพูดอย่างนั้น แกนนำ นปช.น่าจะเริ่ม raise ปัญหาในลักษณะนี้ได้แล้ว ปัญหาคือ ถ้ามีเฉพาะกรณีองคมนตรีมันไม่เท่าไหร่ จริงๆ มีองคมนตรีคนอื่นๆ ที่พูดอีก แต่ผมไม่ได้ยกมา ที่ผมพยายามจะบอกว่า อันนี้เป็นปัญหาเรื่องสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์ แต่มันก็ไม่จบเท่านี้ถ้าหลายปีผ่านมามีแค่คุณเปรม นี่คือพระราชดำรัสในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา พระราชดำรัสอันแรก คือพระราชดำรัสต่อศาลรัฐธรรมนูญ 25 เมษาที่เรียกกันว่า เป็นพระราชดำรัสตุลาการภิวัฒน์ ในหลวงทรงแสดงความเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกพรรคเดียวคนเดียว การยุบสภาแล้วเลือกตั้งภายใน 30 วัน ท่านก็ตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัยว่า ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึงไม่พูดถึงเลย ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรืออย่างไร นี่เป็นข้อเสนอ ถามว่าข้อเสนอนี้เป็นการเมืองหรือเปล่า ข้อสอง นี่คือพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวา 2549 ไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร ตอนนั้นเริ่มมีคนต่อต้านการรัฐประหารแล้ว ต่อต้านการตั้งรัฐบาลสุรยุทธ์ ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ตอนที่ตั้งรัฐบาลก็ตั้งมาด้วยดี คนแก่ที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่ แก่แล้วก็ขอให้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชมเชย แต่คนที่ว่า หมายถึงคนที่วิจารณ์ตอนนั้น แต่คนที่ว่า อาจจะเป็นมาจากความอิจฉาก็ได้ อิจฉาก็ช่างเขา นี่คือการวิจารณ์โดยตรงต่อคนที่กำลังประท้วงรัฐบาล ประท้วงการรัฐประหาร Speech ที่ 3 วันที่ 4 ธันวา 2550 ตอนนั้นมีปัญหาว่า หลังจากรัฐประหาร กองทัพพยายามกดดันให้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น ในหลวงก็ทรงพูดอันนี้ กองทัพชวนซื้อเครื่องบิน ทำนองนี้ ไหนๆ เรารวยแล้ว เดี๋ยวนี้เรารวย เงินบาทมีค่าสูง สูงเกินไปก็ใช้สิ เงินบาทสูงเกินไป รัฐบาลหรือเมืองไทย ประชาชน มีเงินเยอะ มีเงินเกิน ก็ใช้สิ ถ้ามีเงินก็ต้องใช้ไม่ต้องขี้เหนียว ถ้ามีเงินก็ไม่ต้องขี้เหนียว ซื้อไปเถอะ อะไรก็ตาม เครื่องบิน เรือรบ รถถัง เรามีเงินเยอะใช่ไหม ก็คือทรงสนับสนุนทหารที่กำลังต้องการจะเอางบประมาณเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร อันสุดท้ายที่ผมยกมา อันนี้สำคัญ เพราะถ้าใครจำได้ พันธมิตรฯ อ้างอันนี้ไปเป็นนกหวีดเข้ายึดทำเนียบ ผมไม่ได้บอกว่า การยึดทำเนียบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยตรงนะ แต่เกี่ยวใน sense ที่ว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สามารถทรงพูดสดๆ ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกเขาอนุญาตกัน มันกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ คือตอนนั้นทวนความจำนิดหนึ่ง เพื่อนผม หมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เป็นรัฐมนตรีคลัง แล้วต้องการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือรัฐบาลของคุณสมัคร คุณธาริษา (วัฒนเกษ) ผู้ว่าแบ๊งค์ชาติก็ไม่เห็นด้วย ก็มีการขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าแบ๊งค์ชาติ เป็นข่าวในหน้าธุรกิจอย่างรุนแรง ในหลวงก็ให้ผู้ว่าแบ๊งค์ชาตินำคณะเข้าเฝ้า ความจริงแล้ว ถ้าในประเทศตะวันตกหรือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่กำลังขัดแย้งกันอย่างหนัก เจ้าหน้าที่รัฐสองคน คนหนึ่งผู้ว่าแบ๊งค์ชาติ คนหนึ่งรัฐมนตรีคลังขัดแย้งเรื่องการใช้จ่ายเงิน พระมหากษัตริย์กลับให้ผู้ว่าแบ๊งค์ชาติเข้าเฝ้า ทรงมีพระราชดำรัสอันนี้ “ขอบใจที่เหน็ดเหนื่อยเรื่องการเงินซึ่งเป็นงานหนัก และสามารถปฏิบัติงานหน้าที่การเงินเป็นที่เรียบร้อยไม่ให้บ้านเมืองล่มจม แม้ตอนนี้ใกล้ล่มจมแล้วซึ่งอาจใช้เงินไม่ระวัง เพราะใช้เงินไปไม่ระวัง” นี่คือการวิจารณ์โดยตรงต่อการใช้เงินของรัฐบาลสมัครขณะนั้น ผมมีเกร็ดนิดหนึ่ง ญาติๆ ผมที่อยู่ต่างจังหวัดแถวชลบุรี แถวๆ นั้น ผมโทรศัพท์ไปช่วงนั้นพอดี เขาบอกว่า โอ้โห ต้องล้มรัฐบาลสมัคร ดูสิทำบ้านเมืองล่มจมแล้ว ในหลวงยังมีพระราชดำรัสดังนั้นเลย ประเด็นของผมคือว่า นี่เป็นตัวอย่าง speech 4 อันนี้เป็น speech ที่เกี่ยวกับการเมืองไหม อันต่อไป วันที่ 15 กันยายน 2549 คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) กับพันธมิตรฯ สวมผ้าพันคอสีฟ้า มีพระปรมาภิไธยย่อของพระราชินี มิหนำซ้ำ คุณสนธิกับคุณคำนูญ ยังพูดถึงเรื่องเงินของสตรีสูงศักดิ์ แต่อันนี้เราไม่พูดถึง เราไม่ทราบว่าเขาหมายถึงใคร แต่ผ้าพันคอสีฟ้า อันนี้เขายืนยันว่า เป็นผ้าพันคอพระราชทานจากสมเด็จฯ แล้วอันนี้ไม่เคยมีข้อปฏิเสธเลยจากราชสำนักแม้สักครั้งเดียว วันที่ 17 กรกฎาคม 2547 ช่วงวันอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา คุณสนธินำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จไปเปิดในที่ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่กำลังล้อมทำเนียบรัฐบาลอยู่ ตอนนั้นคนก็ไม่รู้ว่ามาได้ยังไง เป็นพระราชเสาวนีย์ส่วนพระองค์ เรื่องนี้ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ที่คนรู้จักดีคือกรณีนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่แปลกมาก จริงๆ เป็นกรณีที่สำคัญ แบ่งยุคแบ่งสมัยการเมืองไทยเลยนะ ใครที่มาหาว่าเสื้อแดงล้มเจ้า ลองย้อนกลับไปก่อนช่วงเหตุการณ์ 13 ตุลา 2551 จริงๆ เสื้อแดงตอนนั้นใส่เสื้อเหลืองทั้งนั้นแหละ ผมร่วมชุมนุมตั้งหลายปีก่อน คำว่า ‘ตาสว่าง’ มันเกิดมาจากอะไร ก็เกิดจากความรู้สึกว่า เหตุการณ์อันนี้ แล้วไม่เพียงแต่ทรงเสด็จ ทรงมีพระราชดำรัสอันนี้ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณอังคณา (ระดับปัญญาวุฒิ) ในหลวงทรงรับทราบเรื่องราวมาโดยตลอด รวมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วยเหลือมาด้วย” คม ชัด ลึก พาดหัว ทรงเผยในหลวงพระราชทานค่ารักษาผู้บาดเจ็บมาด้วย แล้วก็บอกว่าคุณอังคณาเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะคุณอังคณาทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระองค์ ก็คือสมเด็จพระนางเจ้า เป็นห่วงพันธมิตรฯ จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตรฯ ทีนี้แปลกไหมที่เหตุการณ์สำคัญมากๆ อย่างนี้ ผมไม่เคยเห็นการอภิปรายเรื่องนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์เลยนะ ไม่มีการอภิปรายทางทีวี นักวิชาการทั้งหลายแหล่ มีใครอภิปรายบ้าง มีนายสมศักดิ์มา raise ประเด็นอภิปราย เรื่องนี้ควรอภิปรายตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ทั้งหมดจากเรื่ององคมนตรีมากระทั่งถึงพระราชดำรัสต่างๆ จนถึงกรณีนี้ เพื่อจะบอกว่าอะไร ผมว่าข้อสรุปของคนที่มีเหตุมีผลทุกคน มีตัวอย่างอันอื่น ช่วงที่พันธมิตรฯ ชุมนุม นี่คืองานศพของสารวัตรจ๊าบ วันถัดมา ก่อนหน้านั้น พระเทพฯทรงบอกว่า ห่วงใยการชุมนุมของพันธมิตรฯ ให้คนไปช่วยเหลือ ตำรวจนครบาลก็บอกว่า จะไม่ใช้ความรุนแรงตามที่พระเทพฯทรงเป็นห่วง ความจริงมีกรณีอื่นอีก แต่โดยรวม ทั้งหมดนี้มันสะท้อนอะไร ข้อเสนอของผมคิดว่า สะท้อนสองประเด็นนี้อย่างชัดเจน หรือนี่ผมเป็นคนไม่มีเหตุผล เป็นคนเสียสติ นี่เป็นคอมมอนเซ้นส์มากๆ ว่า ข้อสรุปต้องเป็นแบบนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยที่ประเด็นที่สอง การเข้ามาเกี่ยวข้องนี้มีลักษณะสนับสนุนหรือเอื้อให้อีกฝ่ายหนึ่ง และให้ผลเสียกับอีกฝ่ายหนึ่ง คนที่ไม่ต้องมีการศึกษาเลยก็ได้ มาดูทั้งหมดที่ประมวลมานี้และที่ยังไม่ได้พูดมาอีก ผมอยากท้าทายคนที่จงรักภักดี ลองเถียงซิว่าข้อสรุปสองข้อนี้มันหลีกเลี่ยงได้ยังไง ใครมองก็ต้องสรุปอย่างสองข้อนี้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ตลกคือ มันกลายเป็นเรื่องที่อภิปรายไม่ได้ ผมถามหน่อยว่า ถ้าข้อสรุปเป็นอย่างนี้จริง แล้วฝ่ายซึ่งเขาไม่ได้รับการเอื้อประโยชน์ ฝ่ายที่เขาเหมือนกับไม่แฟร์ในการปฏิบัติเรื่องนี้จากสถาบัน มันไม่ใช่คนสองคน 10 คน 20 คน มันเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน จนกระทั่งเป็นล้าน คุณจะให้เขาทำยังไง จะให้เขาทำเป็นวัวเป็นควายยอมรับอย่างเดียวเหรอ เขาก็มีปฏิกิริยาแสดงออกต่างๆ มันไม่ใช่ปฏิกิริยาจากข้อเท็จจริงสองประเด็นนี้หรือ แล้วคุณทำยังไง ก็ใช้ข้ออ้างเรื่องล้มเจ้ามาขู่เขา มาโยนใส่เขา มันมีที่ไหนในโลกเป็นแบบนี้บ้าง ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ มีที่ไหนที่ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้แต่พวกเอ็งห้าม ห้าม รับลูกเดียว มันไม่ make sense แล้วคุณก็ใช้ข้ออ้างแบบนี้ แทนที่คุณจะใช้ข้ออ้างแบบนี้ แล้วก็ใช้เรื่องกฎหมาย ใช้เรื่องคุกมาขู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมไม่ปล่อยให้อภิปรายกันอย่างแฟร์ๆ ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วมันถูกต้องตามหลักการเหตุผลหรือเปล่า ถ้าในกรณีที่คนไม่เชื่อ หรือเป็นกรณีเฉพาะเหตุการณ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมานะ ผมสอนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ แล้วพูดตรงๆ บางครั้งผมตลกนะ เวลาสอนในห้องเรียนอย่างหนึ่ง เวลาออกมาดูโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ดูงานช่วง 5 ธันวา แล้วผมอยากถามจริงๆ แม้กระทั่งคนที่จงรักภักดีมากๆ คุณห้อย ใครต่อใครที่น้ำหูน้ำตาไหล อย่างผมสอนหนังสือเรื่องนี้แล้วผมสอนเด็กปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก คุณอยากให้ผมสอนอย่างที่พวกคุณพูดๆ กันว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งเลยเหรอ จะสอนให้ลูกหลานของพวกคุณโตขึ้นมาเป็นซื่อบื้อไปตลอดอย่างนี้เหรอ หรือว่าจะไม่ให้พูดความจริงอย่างที่พูดมาเมื่อกี้ แล้วถ้าคิดว่าเรื่องนี้มันไม่พอ เราดูประวัติศาสตร์ไทยในอดีต ยกตัวอย่างกรณีง่ายๆ นี่คือประกาศที่ผมขุดขึ้นมาในไม่กี่ปีก่อน นี่คือที่ในหลวงแต่งตั้งสฤษดิ์ (ธนะรัชต์)คือสฤษดิ์ทำรัฐประหารจอมพล ป.เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ในหลวงทรงมีพระราชโองการให้สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยขอให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ในความสงบ และให้ฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ทีนี้ประกาศนี้สำคัญตรงไหน มันไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2495 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ อันนี้สำคัญ ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับบอกว่า พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เวลาผมดูอันนี้ทีไร ผมนึกถึงตอนที่ท่านพูดเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ท่านพูดอยู่อันหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็ทำมาหลายสิบปี ก็ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำอะไรตามใจชอบแล้วก็เข้าใจว่าบ้านเมืองต้องล่มจมไปนานแล้ว กรณี 6 ตุลา ภาพซ้ายมือ คือภาพที่สมเด็จพระบรมฯ เข้าไปให้กำลังใจกับพวกลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งกำลังชุมนุมกันเพื่อไล่รัฐบาล ให้กำลังใจและทรงไปแสดงความห่วงใยลูกเสือชาวบ้านที่กำลังชุมนุมไล่รัฐบาลของหม่อมเสนีย์ (ปราโมช) ส่วนภาพขวาเป็นภาพสมเด็จเจ้าฟ้าสองพระองค์เสด็จไปงานศพของลูกเสือชาวบ้านที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ และทรงกล่าวสดุดีว่า ลูกเสือชาวบ้านที่บุกเข้ามาเป็นแบบอย่าง หรือกรณีคุณเปรมเมื่อประมาณปี 2527 กำลังทะเลาะกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกอย่างหนัก คุณเปรมก็ใช้วิธีบินไปภูพานราชนิเวศน์ แล้วในหลวงก็ทรงให้คุณเปรมพักอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ตอนกลับ เมื่อลงมาถึงดอนเมือง พระบรมฯ ก็ทรงขับรถด้วยพระองค์เองจากดอนเมืองไปส่งที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ นี่คือภาพที่คุณเปรมก้มลงกราบพระบรม ประเด็นทั้งหมด ผมไปเร็วๆ เพื่อจะบอกว่า เราจะทำตัวเป็นเด็กหรือทำตัวเป็นคนที่ผมบอกว่า ผิดหลักการความเป็นคนง่ายๆ ก็คือว่าในยุคปัจจุบัน ความเป็นคน ถ้าเราเห็นอะไรเกิดขึ้น เราก็พูดออกไปไม่ใช่หรือ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสาธารณะ แล้วเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ต่อการเมืองในอดีตที่ผมยกมา ต่อการเมืองเรื่องปัจจุบัน ความขัดแย้ง 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องสาธารณะมากๆ เลย แต่คุณบอกว่าห้ามพูด มัน make sense ตรงไหน คุณต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศของเด็กอมมือไปตลอดหรือยังไง ถ้าไม่อย่างนั้นผมว่า นี่คือข้อเสนอ จบทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่ง มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมอยากจะฝาก ผมอยากจะขอฝากเรื่องนี้ไปถึงบรรดานักวิชาการ พวกอาจารย์ หรือว่าอาจารย์ที่ออกมารณรงค์ทั้งหลายแหล่เรื่องประชาธิปไตย ที่เคยลงชื่อไล่นายกฯคนนั้นคนนี้ นี่ผมพูดจริงๆ นะ คนเขาหมั่นไส้ผมมาก เพราะผมด่า แต่ผมไม่ด่าเขา ผมขอร้องแบบเพื่อนฝูงพี่น้องกันธรรมดาเลยนะ คือที่ผมขอร้องให้คุณ raise ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาง่ายๆ เลย มันขัดต่อความเป็นตัวตนของคุณของเรา เราเป็นปัญญาชนเป็นนักวิชาการ พอเราเห็นอะไรที่ไม่ถูก ก็พูดออกมาไม่ใช่เหรอ เวลาคุณเห็นนักการเมืองหรือใครทำไม่ถูกก็พูดออกมา แล้วพวกคุณรู้แน่ๆ ว่าสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ถูกแน่ๆ รู้ว่างานที่ประโคมกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมันไม่ถูกแน่ๆ แต่พวกคุณเงียบอยู่ ด้วยเหตุผลอะไร คนเราเกิดมาหนเดียวตายหนเดียว แล้วทุกคนก็ไม่อยากลำบาก ผมก็ไม่อยากลำบาก ปีหน้า ศอฉ.อาจจะเอาแผนผังล้มเจ้ามาเล่นงานผม คือมันเดือดร้อนน่ะ ใช่ ผมเห็นด้วย แต่ว่าคนที่ตาย คนที่เขาอะไร เขาก็เดือดร้อนทั้งนั้น ผมอยากจะเล่าเกร็ดอีกนิดหนึ่ง ผมไม่อยากจะยกราชประสงค์ ยก 6 ตุลาขึ้นมาแล้ว ผมเล่านิดหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ผมเขียนบทความอันหนึ่ง เป็นช่วงครบรอบ 50 ปีของกรณีที่คุณชิต (สิงหเสนี) คุณบุศย์ (ปัทมศริน) ถูกประหารชีวิต คือปี 2498 ตอนผมเขียนบทความ ผมโกรธมาก โกรธจนตัวสั่น ใครอ่านบทความนั้นจะมองไม่ออกเลย บทความนั้นเต็มไปด้วยข้อมูล อ่านแล้วน่าเบื่อ ง่วงนอนด้วยซ้ำ แต่ผมสารภาพ ตอนเขียนผมโกรธจริงๆ เลยนะ พิมพ์ไปตัวสั่นมาก ผมโกรธ เพราะอะไรรู้ไหม คุณยกเรื่อง 6 ตุลา เรื่องราชประสงค์ อาจจะมีปัญหาว่า พวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ มีปัญหาต่อเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบัน อะไรก็ว่าไป แต่คุณชิต คุณบุศย์ ผมลอง imagine ถ้าเขามีชีวิตอยู่มาถึงปัจจุบัน ผมว่าเขาต้องเป็นเสื้อเหลืองแน่ๆ เลย นี่ไม่ใช่เล่นๆ นะ ลูกหลานคุณชิตคนหนึ่งที่เป็นนักเขียน เป็นพวกพันธมิตรฯ ด่าทักษิณ ที่ผมตามเรื่องคุณชิต คุณบุศย์ มาหลายปี เพราะอะไรรู้ไหม ผมสะเทือนใจเรื่องนี้ คือคนซึ่ง โอ้โห จงรักภักดีสุดๆ เลยนะ ถ้าเป็นทางการเมืองก็คงถือว่า คงออกมาช่วยด่านักการเมือง ถือว่าจงรักภักดีมากๆ แล้วตายไปโดยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย คุณบุศย์ซึ่งเป็นคนที่สมองช้า ต้องยิงถึง 2 ชุดถึงจะตาย กระสุน 20 กว่านัด ตอนประหารชุดแรก ยิงแล้วไม่ตาย ต้องยิงชุดที่สอง จนกระทั่งมือแทบจะขาด ห้อยร่องแร่งเลย ผมอ่านพวกนี้ ผมโกรธมากเลยนะ สองคนนี้มันอะไร มันรอยัลลิสต์แท้ๆ เลย แล้วไม่รู้อิโหน่อิเหน่แท้ๆ เลย คือใครก็ตาม ทำให้ในหลวงอานันท์สวรรคต แล้วไม่มีความกล้าที่จะรับผิดชอบ เรื่องมันง่ายๆ แค่นี้ ที่ผมอยากบอกไปถึงนักวิชาการว่า ถ้าเวลาคุณเห็นเรื่องแบบนี้ แล้วคุณไม่รู้สึกว่าคุณต้องพูด คุณเห็นอะไรที่มันไม่ถูก แล้วไม่พูด ผมก็ไม่รู้จะพูดว่ายังไง นี่พูดจริงๆ นะครับ ไม่รู้จะเป็นไปทำไมนักวิชาการ เป็นไปทำไมปัญญาชน ตำแหน่งศาสตราจารย์ ตำแหน่งดอกเตอร์ ไม่รู้มีไปทำไม ถ้าไม่ใช้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "อายมั่งมั้ย" Posted: 15 Dec 2010 01:04 AM PST | |
วารสารศาสตร์ข้อมูล: เราควรจะขอบคุณวิกิลีกส์ #wikileaks #opendata Posted: 15 Dec 2010 01:03 AM PST (CNN) 30 ก.ค. 2553 – การโพสต์เอกสาร 92,000 ฉบับบนวิกิลีกส์ (WikiLeaks) เกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถาน เป็นตัวแทนของการฉลองชัยของสิ่งที่ผมเรียกว่า “วารสารศาสตร์ข้อมูล” (data journalism) แน่นอนว่ามันต้องมีแหล่งข่าวที่เป็นบุคคล ใครสักคนในที่ไหนสักแห่ง ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ไปยังเว็บไซต์วิกิลีกส์ แต่ไม่ว่าผู้แจ้งความไม่ชอบมาพากลคนนี้จะเป็นใคร มันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า เนื้อหาของเอกสารเหล่านี้มันบอกอะไรกับเรา ข้อมูลดิบดังกล่าว เป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่สำหรับนักหนังสือพิมพ์ในสามสำนักข่าว – นิวยอร์กไทมส์ (New York Times สหัรฐอเมริกา), เดอะการ์เดียน (The Guardian สหราชอาณาจักร), และ แดร์ สปีเกล (Der Spiegel เยอรมนี) – ที่จะขุดค้นหาข่าวจากมัน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเฉพาะนักข่าวเหล่านั้นเท่านั้น บันทึกประจำวันจากสงครามอัฟกานิสถานนั้นอยู่บนอินเทอร์เน็ต ที่ใครก็เข้าไปขุดค้นสมบัติหาข้อมูลได้ เรื่องเหล่านี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร นักหนังสือพิมพ์ทำเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว พวกเขาอ่านกองเอกสารทีละหน้าทีละหน้า เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติ ข้อเท็จจริงเพียงหนึ่งหรือสองชิ้น ซึ่งจะนำไปสู่สกู๊ปสำคัญ แต่ก็นั่นล่ะ เราต้องยอมรับว่า นักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานดังที่กล่าวมา แทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว มันทั้งใช้เวลาและแรงงาน แล้วก็ไม่มีสีสันตื่นตาตื่นใจ มันไม่มีสเน่ห์ดึงดูด ด้วยแรงกดดันในองค์กรข่าวสมัยใหม่ ที่จำเป็นต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพคุ้มราคา มันเป็นเรื่องยากที่บรรณาธิการข่าวจะอนุญาตให้นักข่าวใช้เวลามาก ๆ ไปกับกองเอกสารท่วมหัว ความสำเร็จของ “วารสารศาสตร์ข้อมูล” หรือการทำข่าวจากข้อมูลดิบนั้นมักจะถูกลืม ตัวอย่างหนึ่งโดดเด่นก็คือ กรณีข่าวสืบสวนโดยหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ (Sunday Times) ที่ตามติดกรณียาระงับประสาทของบริษัทยาเยอรมันที่ถูกถอนออกจากตลาดในปี 1961 หลังจากพบว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อทารก ระหว่างการสืบสวนดังกล่าว ซันเดย์ไทมส์จ่ายเงินเพื่อซื้อเอกสารภายในจำนวนมากของบริษัทดังกล่าว และต้องแปลมันทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่ง ฟิลลิป ไนท์ลีย์ (Phillip Knightley) หนึ่งในทีมข่าวกล่าวว่าพวกเขาใช้เวลาเกือบหนึ่งปี ทำงานอย่างหนัก เพื่อทำความเข้าใจเอกสารเหล่านั้น ถึงในปี 1968 จะยังเป็นสมัยที่ซันเดย์ไทมส์มีกำลังคนพร้อมเพรียง และยินดีที่จะจัดสรรทรัพยากรให้กับทีมนักข่าวสืบสวน ไนท์ลีย์ก็ยังบอกกับเราว่า คนก็ยังสงสัยอยู่ดี ว่ามันจะคุ้มค่าหรือ ที่จะทำข่าวที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลายาวนานขนาดนี้ แม้ในที่สุดข่าวสืบสวนชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การจ่ายเงินชดเชยที่ดีขึ้นแก่ผู้เสียหาย แต่ดูเหมือนว่า ความสงสัยต่อความคุ้มค่าในการลงทุนทำ “วารสารศาสตร์ข้อมูล” ก็ยังคงฝังแน่นอยู่ในองค์กรข่าวส่วนใหญ่ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่กำลังจะตัดงบประมาณของกองบรรณาธิการ แน่นอนว่า ข่าวสืบสวนคดีวอเตอร์เกต (Watergate) ในต้นทศวรรษ 1970 โดย Bob Woodward และ Carl Bernstein ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสกู๊ปข่าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นั้นมีความสำคัญ รายงานชิ้นดังกล่าวอาศัยแหล่งข่าวที่ปิดเป็นความลับ ที่รู้จักกันในชื่อ “Deep Throat” และตั้งแต่นั้นมา นักหนังสือพิมพ์ก็ตกเป็นทาสของแหล่งข่าวที่เปิดเผยไม่ได้เหล่านี้เสียเอง แต่ข่าวแบบนี้แหละที่มีสเน่ห์ดึงดูด แหล่งข่าวที่เปิดเผยไม่ได้ ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของวารสารศาสตร์สมัยใหม่ ผมเคยบอกกับนักศึกษาวารสารศาสตร์ของผมอย่างนั้นเสมอ ๆ แต่ตอนนี้ผมยอมรับแล้วว่า ผมให้ความสำคัญกับมันมากเกินไป จนให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับการค้นหา อ่าน และวิเคราะห์ข้อมูลดิบ ถ้าหนังสือพิมพ์นั้น เป็นร่างแรกของประวัติศาสตร์ อย่างที่เรานักหนังสือพิมพ์มักอ้างกัน เราก็ควรจะต้องทำงานให้ใกล้เคียงกับนักประวัติศาสตร์เสียหน่อย บรรดานักประวัติศาสตร์พยายามมองหาแหล่งข้อมูลชั้นต้น เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นกับเหตุการณ์ในอดีต สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ของข้อมูลต่างๆ ในวิกิลีกส์นั้นคือ มันเป็นข้อมูลที่ทันสมัย มันทำให้นักหนังสือพิมพ์และสาธารณะเข้าใจชัดเจนขึ้น ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในอัฟกานิสถาน ในแง่นี้ ข้อมูลเหล่านี้ที่ทุกคนเข้าไปอ่านได้ ช่วยมอบความเข้าใจที่มีค่ามหาศาลให้กับเรา อย่างไรก็ตาม การโพสต์เอกสารขึ้นอินเทอร์เน็ตโดยตัวมันเองไม่ใช่การทำข่าว มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการข่าว มันยังต้องการการวิเคราะห์ วางบริบท และในบางกรณี การเซ็นเซอร์ที่จำเป็นเพื่อที่จะปกป้องปัจเจกบุคคลที่ถูกระบุในเอกสารดัง กล่าว ผมทราบว่า นักข่าวอาชีพไม่ได้เป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถทำงานนี้ได้ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ มีทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ดังกล่าว และมีความรู้ที่จะทำให้พวกเขาทำงานดังกล่าวได้ดี การรายงานโดย เดอะการ์เดียน และ นิวยอร์กไทมส์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน มันอาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรโดยทันที ไม่มีประธานาธิบดีต้องออกจากตำแหน่ง เหมือนกรณีวอเตอร์เกต แต่สิ่งที่ถูกทำให้ปรากฏจากเอกสาร คือการยืนยันสิ่งที่สื่อในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาสงสัยมาโดยตลอด เกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ว่ามันเลวร้ายและมีแต่จะแย่ลง ๆ นับตั้งแต่ปี 2004 มันตบหน้ารายงานประเมินอย่างเป็นทางการที่แสนสวยงาม ข้อมูลดิบทั้งหมดดังกล่าวมานั้น เชื่อถือได้มากกว่า เพราะมันเป็นรายงานโดยทหารในสนามรบจริง ๆ ว่าพวกเขาพบเห็นและประสบอะไรบ้าง มันไม่มีการปั่นข่าว ตัวรายงานนั้นอาจไม่ได้เป็นวัตถุวิสัย – ซึ่งก็ไม่เคยมีอะไรที่เป็นเช่นนั้น – แต่รายงานเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทาง การเมือง ใช่ เราอาจพูดได้ว่า การที่วิกิลีกส์โพสต์ข้อมูลอ่อนไหวดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะ ในตัวมันเองนั้นก็ไม่ได้เป็นวัตถุวิสัยอยู่แล้ว แต่ผมขอสนับสนุนสิ่งที่ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) หัวหน้าบรรณาธิการของวิกิลีกส์ เรียกร้องต่อองค์กรข่าวต่าง ๆ ให้เปิดเผยข้อมูลดิบออกสู่สาธารณะให้มากขึ้น เขาเชื่อว่าการกระทำดังกล่าว จะทำให้กิจกรรมของงานข่าวโปร่งใสมากขึ้น ในการสัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ เขายืนกรานว่า “วารสารศาสตร์ควรจะเป็นเหมือนวิทยาศาสตร์มากขึ้น” และเสริมว่า: “มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ จะต้องถูกตรวจสอบยืนยันได้ ถ้านักหนังสือพิมพ์ต้องการที่จะให้อาชีพของพวกเขามีความน่าเชื่อถือไว้วางใจ ได้มากขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องเดินไปในทิศทางนั้น เคารพคนอ่านให้มากขึ้น” โดยธรรมชาติของตัวมันเอง การทำข่าวจากแหล่งข่าวบุคคล (source journalism) ย่อมถูกปิดบังไม่ให้สาธารณะได้เห็น การทำข่าวจากข้อมูลดิบ (data journalism) นั้นเปิดเผยมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลดิบนั้นถูกโพสต์ขึ้นอินเทอร์เน็ต เพราะในกรณีที่มีการวิเคราห์ข้อมูลชุดเดียวกันในแนวทางที่ต่างกัน ข้อมูลดิบเหล่านั้นมันอนุญาตให้สาธารณะตัดสินได้ว่าการวิเคราะห์อันไหนที่ น่าเชื่อถือกว่า เรานักหนังสือพิมพ์ ควรจะต้องดีใจที่มีเว็บไซต์อย่างวิกิลีกส์อยู่ นั่นเพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราก็คือการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ สาธารณะ ที่คนที่มีความเชื่อเป็นอย่างอื่นต้องการจะเก็บมันเป็นความลับ เว็บไซต์ดังกล่าวสมควรจะได้รับการสรรเสริญชื่นชมจากพวกเรา และมันจำเป็นจะต้องได้รับการปกป้องจากพลังฝ่ายขวา ที่หาทางจะหลีกเลี่ยงจากการถูกเปิดโปง
Roy Greenslade เป็นศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยซิตี้ยูนิเวอร์ซิตี้ ลอนดอน เขาเขียนบล็อกรายวันเกี่ยวกับสื่อให้กับเว็บไซต์ The Guardian และเขียนคอลัมน์รายสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์ London Evening Standard เขาเป็นนักวิจารณ์สื่อมา 18 ปี โดยก่อนหน้านั้นเขาเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ของสหราชอาณาจักร บรรณาธิการบริหารของ Sunday Times และผู้ช่วยบรรณาธิการของ The Sun เรียบเรียงจาก “We should be thankful for WikiLeaks” โดย Roy Greenslade ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ CNN.com 30 ก.ค. 2553 (ลิงก์ต่าง ๆ ที่แทรกในเอกสารนี้โดยผู้แปลเอง) เข้าถึงเนื้อหาของ WikiLeaks จากเมืองไทย ได้ที่เว็บไซต์ ThaiLeaks.info สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สภาทนายความร่อนหนังสือถึง รมว.แรงงาน ติงนโยบายใหม่ของรัฐ Posted: 15 Dec 2010 12:55 AM PST สืบเนื่องจากวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานออกนโยบายในหลายส่วนเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงแนวทางในการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นสตรีมีครรภ์โดยจะให้มีการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่มีครรภ์โดยทันทีนั้นได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลากหลายส่วนว่าเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ในการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ ที่ประชุมด้มีความเห็นตรงกันว่านโยบายดังกล่าวของกระทรวงแรงงานนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นรุนแรงโดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความกล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเรื่องการเตรียมการในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวด้วยการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งท้องโดยให้เหตุผลว่าเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยนั้นจะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์นั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานดำเนินการผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะการประกาศส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งท้องกลับประเทศนั้นจะทำให้เกิดปัญหาการทำแท้งของแรงงานต่างด้าวที่นำไปสู่การเจ็บป่วยของแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้นเราพบปัญหาแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วยจากการทำแท้งเป็นจำนวนมาก “การเตรียมการในการผลักดันแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์กลับประเทศ ยิ่งเหมือนเป็นการเร่งให้ปัญหาการทำแท้งในแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น มีเด็กหลายคนที่แม่ทำแท้งไม่สำเร็จก็ต้องกลายเป็นเด็กพิการ การเตรียมการในการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ท้องนั้นจึงไม่ใช่เป็นกระบวนการในการป้องกันการค้ามนุษย์ในเด็ก แต่จะกลายเป็นกระบวนการฆ่ามนุษย์เสียมากกว่า ประเทศไทยเราเป็นเมืองพุทธผมคิดว่าเราคงรับไม่ได้ถ้าจะมีเด็กลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ต้องตายเพิ่มมากขึ้นเหมือนกรณีของซากศพเด็กทารก 2,002 ศพที่วัดไผ่เงิน การเตรียมการในปฏิบัติตามนโยบายนี้ของกระทรวงแรงงานถือเป็นการส่งเสริมการทำแท้งซึ่งหากรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้จริงก็จะเป็นการขัดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศเราถูกมองในแง่ลบของสายตาชาวโลกมากยิ่งขึ้น”นายสุรพงษ์กล่าว ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความกล่าวอีกว่า ในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากลตนอยากให้หลายฝ่ายตระหนักถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์ของแรงงานเหล่านี้ซึ่งกระบวนการในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เราสามารถทำได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติในด้านสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิด และสร้างความเข้าใจให้แรงงานต่างด้าวเรื่องการคุมกำเนิดและการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง เพื่อที่จะให้เขาทำงานและมีสุขภาพที่ดีในประเทศเราได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ ได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ให้ทบทวนนโยบายการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์โดยมีใจความสำคัญบางส่วนดังนี้ ในประเด็นที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึงประเด็นเรื่องการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ ว่าหากแรงงานต่างด้าว ไม่คุมกำเนิดและตั้งครรภ์ จะต้องถูกส่งตัวกลับ เนื่องจาก เกรงว่าบุตรแรงงานต่างด้าวที่เกิดมาจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทางคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ มีความเห็นว่า แนวความคิดนี้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และทางการเมือง พ.ศ.๒๕๐๙ ข้อ ๑๓. ที่บัญญัติว่า คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยคำวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น ... เมื่อหญิงแรงงานต่างด้าวไม่คุมกำเนิดและตั้งครรภ์ ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายไทยแล้ว แนวความคิดของกระทรวงแรงงานที่จะส่งตัวกลับจึงขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศข้างต้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"มาร์ค" ยันไม่ย้าย "ธาริต" ดีเอสไอเตรียมออกหมายจับ 11 แกนนำเสื้อแดง Posted: 15 Dec 2010 12:45 AM PST นายกรัฐมนตรี โต้พรรคเพื่อไทย การันตี ไม่ย้าย "ธาริต"พ้นเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอ ลั่นขออย่าหวั่นไหว ด้านดีเอสไอเตรียมออกหมายจับ 11 แกนนำแดงพรุ่งนี้ 15 ธ.ค. 53 - เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 11.30 น.ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุว่าขณะนี้มีนายทหารระดับสูงและคนระดับผู้นำรัฐบาลบางคน ไม่พอใจผลการสอบสวนของดีเอสไอคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและได้ เสนอให้ย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ออกจากตำแหน่งว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไปแล้วยังไม่มีประเด็นอะไร นายธาริตยังทำงานดี ตนไม่ทราบว่าเข้านี้ออกมาจากไหนอย่างไร ส่วนที่ผ่านมา พอใจการทำงานของนายธาริต หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าาว่า นายธาริตรับภาระหนักและข้อจำกัดหลักของเขาเรื่องกำลังพลซึ่งคณะ รัฐมนตรี(ครม.)ก็เพิ่งอนุมัติไปล่าช้าพอสมควร ตนเคยสอบถามถึงข้อจำกัดต่างๆจะเป็นปัญหาค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้คงจะทำให้งานเดินได้เร็วขึ้น เมื่อถามว่า นายพร้อมพงศ์ เป็นผู้ออกมาให้ข่าวว่ามีบิ๊กทหารและรัฐบาลไม่พอใจผลสอบคดียิงคนเสื้อแดงใน วัดปทุมวนารามฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีหรอก เรามีแต่บอกว่าการดำเนินการทุกอย่างให้ดำเนินการตรงไปตรงมาเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อดีเอสไอ บอกว่าหลายกรณีอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ดำเนินการตามกระบวนการ เข้าสู่การไต่สวนของศาล ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลบอกแต่ต้นว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนที่มีการระบุว่า เกิดความไม่พอใจเพราะข้อมูลรั่วออกมาจากดีเอสไอ จะมีการตรวจสอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี คือจริงๆแล้วปัญหาการเก็บความลับการรักษาเอกสารต่างๆหรือการไปให้ข้อมูลผิดๆ มันเป็นปัญหาในระบบของเรามาเรื้อรังแล้ว และไม่ได้มีการเจาะจงว่ามันมาจากหน่วยงานนี้หรือหน่วยงานไหน ที่ผ่านมาสำคัญคือเราสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้มากกว่า ขณะที่ต่อไปนี้ จะให้ความมั่นใจกับนายธาริตได้หรือไม่ว่าให้ทำงานตรงไปตรงมา นายอภิสิทธิ์ กล่าาว่า "ได้ครับ ผมยืนยันเมื่อพบท่านทุกครั้งก็บอกว่าขอให้เดินตามสิ่งที่ควรจะเดิน ไม่ต้องหวั่นไหว ผมยืนยัน และรองนายกฯสุเทพและรัฐบาลยืนยันว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด" ดีเอสไอเตรียมออกหมายจับ 11 แกนนำแดงพรุ่งนี้ ด้านเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) มอบหมายให้ พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่งพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย ไปยื่นต่อศาลอาญา เพื่อขอหมายจับผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย 11 คน ที่เคยมีหมายจับในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เนื่องจาก พ.ร.ก.ดังกล่าว จะยกเลิกในอีกไม่กี่วัน อาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องหา 11 คนไม่มีหมายจับ จึงให้ดำเนินการขอหมายจับในข้อหาก่อการร้าย สำหรับ 11 คน อยู่ในกลุ่มแกนนำเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์ และเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการหลบหนี เช่น นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายอดิศร เพียงเกษ และนายพายัพ ปั้นเกตุ ซึ่งมีบางส่วน อัยการสั่งฟ้องคดีข้อหาก่อการร้ายแล้ว นายกรัฐมนตรี การันตีไม่ย้าย"ธาริต" (ไทยรัฐออนไลน์, 15-12-2553) ดีเอสไอเตรียมออกหมายจับ11แกนนำแดงพรุ่งนี้ (เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, 15-12-2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ใบตองแห้งออนไลน์: ก้าวข้ามเลือกตั้ง Posted: 15 Dec 2010 12:16 AM PST ผลการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมบอกอะไร “ทักษิณสิ้นมนต์” อย่างที่สื่อพาดหัวซ้ำเติมหรือ โธ่เอ๋ย พวกเมริงดีใจที่ “ภูมิใจห้อย” ชนะ “เพื่อแม้ว” ไหนล่ะ จุดยืนของสื่อ ที่อ้างว่าต้องการเห็นการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ใช้กลโกงหรืออำนาจรัฐ แต่วันนี้ สื่อกลับตีปีกดีอกดีใจกับชัยชนะของ “ยี้ห้อยร้อยสี่ยิบ” ฉายาที่สื่อตั้งไว้เอง สื่อก็น่าจะรู้ว่าชนะมาอย่างไร การพาดหัวข่าวแบบนี้จึงไม่ต่างจากการเอา teen จุ่มน้ำลายลูบหน้าตัวเองแล้วยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้ โดยไม่อายรอย teen ที่สองแก้ม แน่นอน ไม่อาจปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยและทักษิณ “แพ้” แต่สื่อและรัฐบาลจงใจตีปี๊บให้เกินเลยเพื่อสร้างกระแสทางจิตวิทยา วิทยุ จส.100 รายงานข่าวหน้าตาเฉยว่าพรรคเพื่อไทยเสียที่นั่ง (คงเทียบว่าปี 50 พรรคพลังประชาชนได้ 3 ที่นั่ง) ปชป.คุยฟุ้งว่าขอนแก่นได้คะแนนตั้ง 3.6 หมื่น เป็น 5 เท่าของเดิมที่ได้ 7 พัน มันคงเห็นคนฟังเป็นฟาย ก็รัฐบาลส่งลงพรรคเดียว ภูมิใจไทย ชาติไทย ไม่ส่งสมัครก็เปิดทางให้หาเสียงเต็มที่สิครับ ขนาดนั้น ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ยังได้ 144,799 คะแนน มากกว่าเลือกตั้งปี 50 ได้ 135,158 คะแนน เขตที่ดวลกันจริงๆ ระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทยและกล่าวได้ว่าเพื่อไทย “แพ้” ก็คือ สุรินทร์ เขต 3 ซึ่งพรรคเพื่อแผ่นดินเจ้าของพื้นที่เดิมไม่ลง ศุภรักษ์ ควรหา พรรคภูมิใจไทยได้ 103,968 คะแนน ปทิดา ตันติรัตนานนท์ พรรคเพื่อไทย ได้ 75,048 คะแนน กระนั้นถ้าเทียบกับการเลือกตั้ง 50 พบว่าปทิดายังได้คะแนนมากกว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชน 3 คน ซึ่งได้ 74,850 68,909 และ 63,534 ตามลำดับ เพียงแต่นายศุภรักษ์ได้คะแนนเพิ่มร่วม 4 หมื่นจากปี 50 ที่ลงพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ 60,655 คะแนน เขตนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 179,016 คน คิดเป็น 54.47% และคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเกือบ 2 หมื่นคะแนนก็เป็นของภูมิใจไทยเกือบหมด เขต 6 โคราช บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ได้ไป 82,978 คะแนน อภิชา เลิศพชรกมล พรรคเพื่อไทย 63,487 คะแนน การเลือกตั้งปี 50 บุญจงซึ่งลงพรรคพลังประชาชนได้ 59,596 คะแนน เป็นที่สาม (ตอนนั้นอภิชาลงพรรคเพื่อแผ่นดินชนะบุญจงแต่โดนใบเหลืองต้องเลือกใหม่) กล่าวได้ว่า อภิชา เพื่อไทย ได้คะแนนมากกว่าบุญจง ณ พลังประชาชน แต่อาจเป็นเพราะคะแนนส่วนตัวหรือเพื่อแผ่นดินแอบช่วย ขณะที่บุญจงได้คะแนนเพิ่มอีก 2.4 หมื่น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับอดีตรัฐมนตรีและว่าที่รัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวพัวพันการย้ายนายอำเภอในพื้นที่มาหมาดๆ เขต 1 อยุธยา เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีตรัฐมนตรีและว่าที่รัฐมนตรีพรรคชาติไทยพัฒนาได้ 84,518 คะแนน องอาจ วชิรพงศ์ พรรคเพื่อไทย 78,497 คะแนน ต่ำกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งพรรคพลังประชาชนได้ที่ 1 และ 2 ได้ 82,841 และ 81,578 คะแนน ขณะที่เกื้อกูลครั้งที่แล้วได้ 71,702 คะแนน แต่ไม่น่าแปลกใจที่เกื้อกูลได้คะแนนเพิ่มเพราะอันดับ 4 ครั้งที่แล้วคือ กุมพล สภาวสุ ประชาธิปัตย์ 67,478 คะแนน เมื่อดูคะแนนเปรียบเทียบทั้งหมด ถามว่าพรรคเพื่อไทยแพ้หรือไม่ ก็แพ้ แต่ไม่ใช่ “สิ้นมนต์” เพราะคะแนนของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยยังไล่เรี่ยกับปี 50 (ยกเว้น กทม.ที่จะกล่าวต่อไป) ผมยังรู้สึกผิดคาดด้วยซ้ำที่คะแนนลดลงน้อย เพราะเป็นการเลือกตั้งในสภาพที่เสียเปรียบแทบทุกด้าน ทั้งรัฐราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าฯ ทั้งเป็นที่รู้กัน “นายใหญ่” ไม่แจกกระสุน ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามยิงถล่มครึกโครม ขณะที่กระแสโจมตีโหมกระหน่ำ “ล้มเจ้า” “เผาบ้านเผาเมือง” ฐานของพรรคยังเข้มแข็งได้ขนาดนี้ คะแนนบางส่วนที่พรรครัฐบาลได้เพิ่ม มาจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งลงขัดขากันเอง ซึ่งเมื่อถึงการเลือกตั้งทั่วไป พรรคร่วมคงไม่สามารถฮั้วกันได้ทุกพื้นที่ ฉะนั้นในขณะที่ประโคมข่าว “ชนะ” เพื่อผลทางจิตวิทยา จริงๆ แล้ววอร์รูมของรัฐบาลคงประเมินผลกันคร่ำเครียด ว่าจะยุบสภาเร็วดีหรือไม่ แต่กล่าวโดยสรุป ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าคงออกมาตามที่ผมคาดไว้ คือพรรคร่วมรัฐบาลชนะ และจะจับมือกันเป็นรัฐบาลต่อไป โดยพรรคเพื่อไทยอาจเสียที่นั่งไปบางส่วน จะมีการงัดแทคติคกลเม็ดเคล็ดลับมาสู้กันสุดฤทธิ์ เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด และ 2 มาตรฐานมัดมือชกอย่างร้ายกาจที่สุด ไม่มีทางออก มีข้อสังเกตว่าแทบทุกพื้นที่ พรรคเพื่อไทยแพ้ลุ่ยในเขตเทศบาล ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเป็น ปชป. ชาติไทย หรือภูมิใจห้อย อนุมานได้ว่านี่คือผลต่อเนื่องของ “สงครามชนชั้น” ชนชั้นกลาง ลูกจีนรักชาติในตลาด ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เกลียดกลัวทักษิณและเสื้อแดง มีคนบอกว่าเป็นเพราะพวกเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ไปช่วยหาเสียงแล้วสำเนียงภาษากิริยามารยาทขัดหูขัดตาชนชั้นกลางผู้เกลียด “ไพร่” เขาฝากเตือนคนเสื้อแดงว่าต้องรู้จักทำแนวร่วม แต่ผมเห็นต่าง คือต้องปรับท่าที แต่อย่าหวังดึงคะแนนคนชั้นกลาง ปล่อยเขาไปเถอะ ให้เขาเลือก “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” ตามที่สื่อชักนำ ผมเชื่อว่ามีคนชั้นกลางจำนวนมากเลยที่เกลียดเนวิน แต่ต้องเลือกภูมิใจไทยให้เอาชนะพรรคเพื่อไทย หลายคนก็ไม่ชอบ ปชป.แต่เลือกเพราะเกลียดทักษิณ คนเหล่านี้ไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง มีแต่จะผิดหวังซ้ำซาก แล้วก็จะเคว้งคว้างไม่ต่างจาก พธม.และพรรคการเมืองใหม่ ผลการเลือกตั้งที่น่าสนใจที่สุดคือ กทม.ซึ่งอภิรักษ์ขับรถดับเพลิงเข้าป้ายอย่างสบายๆ 71,072 คะแนน ขณะที่พงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ พรรคเพื่อไทยได้ 30,506 คะแนน แต่เมื่อเทียบกับคะแนนเลือกตั้งปี 50 พบว่า กรณ์ จาติกวณิช ได้ 126,566 คะแนน อภิรักษ์ได้แค่ 56% ของกรณ์เท่านั้น คะแนนหายไปราว 53,000 กว่าคะแนน พงษ์พิสุทธิ์ลงพลังประชาชนครั้งที่แล้วได้ 63,857 คะแนน คราวนี้ได้แค่ราว 48% ของเดิม หรือหายไปตั้ง 33,000 กว่าคะแนน บางคนบอกว่าเป็นวันหยุดยาวคนกรุงออกไปเที่ยวกันมาก แต่ไม่น่าใช่ วันหยุดที่ผ่านมาคนไม่ออกไปเที่ยวมากนัก เพราะรอเที่ยวปีใหม่ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้อยู่แล้วว่าใครชนะใครแพ้ ไม่มีอะไรให้ลุ้น ต่างจากปี 50 กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายลุ้นเต็มที่ อย่างน้อยก็ต้องออกไปลงบัตรปาร์ตี้ลิสต์ คนมาลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ และแยกข้างชัดเจน แต่ครั้งนี้ดูเหมือนคนครึ่งหนึ่งของแต่ละฝ่ายต่างก็ “เซ็ง” เบื่อ จนไม่ไปเลือกตั้ง และคงไม่ใช่แค่รู้ผลแล้ว แต่ผมมองว่าคะแนนนิยมทั้งสองพรรคลดลงด้วย ปชป.อยู่มา 2 ปีก็ “เสื่อม” ตามสูตรปลัดประเทศไร้ฝีมือในการบริหารราชการแผ่นดิน หนำซ้ำ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้ลดลง กระทั่งประธานหอการค้าที่มาจากฝ่ายอำมาตย์ด้วยกันยังระบุว่ามีการกินหัวคิว 25% และเร่งให้ทำงานได้แล้ว ปชป.ได้คะแนนครั้งที่แล้วจากคนชั้นกลางที่เกลียดทักษิณ กลัวทักษิณกลับมา คนจำนวนไม่น้อยไปเลือกตั้งทั้งที่เกิดมาไม่เคยเลือกตั้ง แม้กระทั่งวันนี้ ปชป.ก็อยู่ได้ด้วยความเกลียดและกลัวทักษิณกับเสื้อแดง อยู่ได้ด้วยการปราบเสื้อแดง ถ้าไม่มีเมษา 52 พฤษภา 53 ปชป.อาจจะพังไปแล้วเพราะไม่มีผลงานอะไรเลย คนชั้นกลางในกรุงเทพฯเองก็เบื่อหน่าย หมดศรัทธา กลับไปทำมาหากินดีกว่าเพราะรู้สึกว่าไม่มีทางออก แม้ไม่สวิงเปลี่ยนขั้ว แต่จำนวนไม่น้อยก็จะกลับไปเป็นพลังเงียบ นอนหลับทับสิทธิ ขณะเดียวกัน เพื่อไทยกลับ “เสื่อม” เพราะพฤษภาอำมหิต เปล่า ไม่ใช่คนที่เคยเลือกพลังประชาชนเกลียดเสื้อแดง แต่คนกรุงเทพฯ ที่เคยเห็นใจทักษิณและพรรคพลังประชาชน มีความรู้สึกลึกๆ ว่าทักษิณและแกนนำเสื้อแดงไม่ห่วงใยชีวิตมวลชนของตน คิดแต่จะเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ หลังพฤษภาอำมหิตใหม่ๆ ผมเคยเจอคนชั้นกลางเสื้อแดงที่เป็นหมอ แดงจริงๆ ไม่ใช่สองไม่เอา เขา hurt มากกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น กระทั่งสาปส่งทักษิณและนักการเมือง ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนที่เคยเป็นกองเชียร์พ้นธมิตร เกลียดทักษิณเข้าไส้ ก็ร่ายยาวด่า ปชป.ให้ฟัง ไม่ใช่เรื่อง MOU ปี 43 แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องไร้ฝีมือในการบริหารซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าจะไม่เปลี่ยนสภาพไปจากนี้ และจะไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีทางออก นอกจาก ปชป.และพรรคร่วมรัฐบาลจะอวดอ้างว่าคราวนี้พวกเขาชนะการเลือกตั้ง มาตามระบอบประชาธิปไตย การเมืองที่แบ่งข้างเป็นสองขั้วชัดเจน แม้จะมีคนเริ่มเบื่อหน่าย เซ็ง ต้องการหาทางออกใหม่ๆ แต่ก็ไม่มีทางออก ปลดล็อกไม่ได้ ต้องถูกข่มขืนฝืนใจให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไป ถ้าเจาะเวลาหาอดีตมาเปรียบเทียบ มาร์คก็เหมือนชวนปี 40 ที่อยู่ได้ไม่นานก็เสื่อม แล้วคนก็หันไปหาทางเลือกใหม่ คือทักษิณและไทยรักไทย จากเดิมที่มี 2 ขั้วคือ ปชป.กับความหวังใหม่ (แม้ทักษิณจะทั้งดูด ส.ส.และควบกิจการในภายหลัง แต่ตอนเปิดตัว ต้องถือว่าทักษิณเป็นทางเลือกใหม่) แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ที่สังคมแบ่งขั้วขัดแย้งเกลียดชังกันอย่างรุนแรง ไม่สามารถเกิดทางเลือกใหม่ได้ ปชป.อยู่ภายใต้การหนุนหลังของอำมาตย์ที่ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐราชการ กองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ พยายามจะลากถูข่มขืนใจให้ครองอำนาจต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับ “จุดเปลี่ยน” สำคัญของประเทศ ที่จะมาถึงเมื่อไหร่ไม่ทราบ ขณะที่เพื่อไทยก็หากินกับมรดกของความนิยมทักษิณและความคับแค้นของมวลชนเสื้อแดง สะสมพลังเพื่อรอวันนั้นจะมาถึงเช่นกัน สถานการณ์เช่นนี้ไม่มีที่ว่างให้เกิดทางเลือกใหม่ ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังไม่มีที่ว่างให้เกิดตัวบุคคลใหม่ๆ คนดี คนเก่ง คนมีฝีมือ “ดรีมทีม” นอกจากเงื่อนไขงี่เง่าในรัฐธรรมนูญ 50 ที่ปิดกั้นคนจากภาคธุรกิจแล้ว ถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ใครจะอยากรับเชิญเข้าไปเป็น “ดรีมทีม” พรรคประชาธิปัตย์ ให้คนเสื้อแดงเกลียด ใครจะอยากโดดเข้าไปเป็นทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกทักษิณ นี่คือการเมืองที่ไม่มีทางออก ปลดล็อกไม่ได้ ตลอดไปกระทั่งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า กระนั้นรัฐบาลผสม ปชป.ก็จะอยู่ไม่ครบ 4 ปี เพราะความเสื่อมสะสมถึงขีดสุดก่อน แต่ตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้นมองไม่ออก ยิ่งถ้าจุดระเบิดมาถึงในช่วง “จุดเปลี่ยน” ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน พรรคกับขบวนการ แกนนำพรรคเพื่อไทยพูดถูกแล้วที่ว่าพรรคจะหวังรอพึ่งกระแสคนเสื้อแดงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ไม่ใช่อย่างที่สื่อยุแยงว่าเสื้อแดงทำให้แพ้ เพราะถ้าไม่มีเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยจะเอาคะแนนมาจากไหน เพียงแต่พรรคกับขบวนการประชาชน จะต้องแยกบทบาทกัน มีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี คนละชุด แม้จะเป็น subset ของกันและกัน เคลื่อนไหวคู่ขนานกันไปคนละด้าน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นภาพ 2 ด้านที่ขัดแย้งกัน นั่นคือความตกต่ำย่ำแย่ของพรรคเพื่อไทย กับความเข้มแข็งของขบวนเสื้อแดง คะแนนเลือกตั้งที่ไม่ได้ลดต่ำลงจากปี 50 ส่วนใหญ่เป็นคะแนนพรรค ซึ่งก็คือฐานมวลชนเสื้อแดง ขี้หมูขี้หมาคิดเสียว่าในแต่ละเขตมีฐานมวลชนเสื้อแดงสักครึ่งหนึ่งของคะแนนเลือกตั้ง ที่เหลือยกให้เป็นคะแนนบุคคล หรือคะแนนที่ได้จากแทคติกกลเม็ดเคล็ดลับ ยกตัวอย่างอยุธยาเขต 1 ก็มีมวลชนเสื้อแดงร่วม 3 หมื่นคน แล้วทั้งจังหวัดล่ะเท่าไหร่ ขอนแก่นเท่าไหร่ สุรินทร์เท่าไหร่ ทั้งประเทศมีกี่ล้าน นี่คือขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย ไม่เคยมีขบวนการไหนเปรียบเทียบได้ พันธมิตรแม้ยามรุ่งเรืองที่สุดยังชิดซ้าย ขบวนเสื้อแดงมีมวลชนมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตไม่ต่ำกว่า 100 เท่า เพียงแต่ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ชัดเจน เท่านั้นเอง นี่คือพลังแห่งความคับแค้นที่พร้อมจะแปรเป็นพลังประชาธิปไตยอันกว้างใหญ่ไพศาล เหมือนอย่างที่เราขึ้นแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คุยกันไม่กี่คำก็รู้หัวอกพี่น้อง อยู่ที่จะรวบรวมพลังพวกเขาขึ้นมาอย่างไร ที่ไม่ใช่เพียงการไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง มองข้ามการเลือกตั้งไปได้เลย หลังจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต ชัยชนะของประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งอีกแล้ว แต่อยู่ที่การจัดตั้งมวลชน และสร้างขบวนการของมวลชนขึ้นมาต่างหาก ถ้าคุณมีมวลชนที่เข้มแข็งพร้อมลุกขึ้นสู้สักแค่ 2-3 ล้าน อะไรก็เกิดขึ้นได้ จริงไหม อย่าว่าฝันไป การชุมนุมเมื่อเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา เคยมีเพื่อนพ้องประเมินว่ามีคนเสื้อแดงหมุนเวียนเข้าร่วมเป็นล้าน ผมบอกว่าเว่อร์ไปหน่อย แต่อย่างน้อยก็หลายแสน ที่เดินทางเข้าออกม็อบจากต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ปริมณฑล แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่จะยุให้เอาคนมาเป็นล้าน มาต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงชีวิตมวลชนอีกนะครับ เพราะต้องมียุทธศาสตร์ยุทธวิธี จังหวะก้าวที่จะไปถึงเป้าหมาย โดยยึดสันติวิธีให้ถึงที่สุด กระนั้นหันไปมองด้านกลับกันก็น่าอนาถ พรรคเพื่อไทยปัจจุบันเป็นเพียง “ซาก” ของพรรคไทยรักไทย ได้แต่กินบุญเก่ามรดกประชานิยมของทักษิณ โดยไม่มีสติปัญญาสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ พรรคเพื่อไทยอยู่ได้เพียงเพราะความอยุติธรรมและลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของฝ่ายอำมาตย์ ลำพังพรรคและบุคลากรของพรรคเอง แม้แต่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็ยังร้องยี้ พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยมีอะไร ไม่ใช่แค่นโยบายที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า “ประชาธิปไตยกินได้” แต่พรรคไทยรักไทยยังเป็นพรรคเดียวที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีทีมงาน มีการศึกษาวิจัย อย่างที่เคยคุยว่ามี ดร.อยู่เป็นร้อย นอกจากนี้ พรรคไทยรักไทยยังนำวิธีการบริหารงานแบบองค์กรธุรกิจสมัยใหม่เข้ามาใช้ รัฐบาลทักษิณทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ที่รู้จักกันทั่วประเทศ อย่าง “บูรณาการ” “เวิร์คช็อป” แทนที่จะมีแต่คำว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน” ของชวน เชื่องช้า รัฐบาลทักษิณในช่วงต้นจึงได้รับความนิยมจากคนทุกชั้น รวมทั้งคนชั้นกลาง ซึ่งต้องการเห็นการบริหารประเทศอย่างฉับไว กล้าคิด กล้าตัดสินใจ นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจนบัดนี้ นี่ก็ยังเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปลี่ยนจาก “ยังไม่ได้รับรายงาน” ไปยืนคุยฟุ้งบนโพเดียมแต่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยวันนี้จะทำได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไหม จะทำได้สัก 1 ใน 10 ของพรรคไทยรักไทยไหม ต้องบันทึกไว้ด้วยว่าการทำงานอย่างเป็นระบบของพรรคไทยรักไทยถูกทำลายไปในยุคทักษิณเอง เมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จ กวาดต้อน ส.ส.ได้แล้ว มีคะแนนนิยมล้นหลาม ปลายยุคทักษิณ 1 พรรคไทยรักไทยก็กลายสภาพเป็นพรรคการเมืองเก่าแหล่งรวมนักการเมืองน้ำเน่าสัมภเวสี ไม่ต่างจากพรรคการเมืองในอดีต พรรคเพื่อไทยจะต้องสืบทอดมรดกของทักษิณ ในแง่ผลงานที่สร้างไว้ ทั้งนโยบายและวิธีบริหาร แต่ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ต้องก้าวข้ามทักษิณ ไม่ใช่แค่กินบุญเก่าทักษิณ และไม่ใช่เป็นแค่พรรคของทักษิณ หรือพรรคของตระกูลชินวัตร (ซึ่งญาติพี่น้องยั้วเยี้ยไม่มีใคร “เป็น” การเมืองสักคน มีแต่หูเบาใจเร็วใช้เงินชี้ขาด) เพราะตราบใดที่เป็นพรรคของทักษิณหรือพรรคของชินวัตร ก็จะไม่มีทางดึงดูดคนใหม่ๆ คนดีมีฝีมือเข้ามาร่วม ก็ต้องอยู่กับพ่อไอ้ปื๊ดหรือยายเจ๊อยู่แค่นี้ ถามว่าทำได้ไหม ที่พรรคเพื่อไทยจะพัฒนาขึ้นไปจากมรดกของทักษิณ แต่ก้าวพ้นทักษิณ เป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ กลุ่มทุนใหม่ นักบริหารสมัยใหม่ โดยวางฐานอยู่บนนโยบายรากหญ้า คงทำได้หรอกนะ แต่ไม่ใช่สมัยนี้ ไม่ใช่ระยะอันใกล้นี้ ไม่ใช่บุคลากรชุดนี้ ฉะนั้น การวางน้ำหนักจึงไม่ใช่อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่อยู่ที่งานสร้างขบวนมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ยิ่งใหญ่กว่าผีบุญ บวกกบฎเงี้ยว บวกพรรคคอมมิวนิสต์ สร้างความเข้มแข็งเชิงอุดมการณ์ เป้าหมาย นโยบาย มีแกนมวลชนที่มีวินัย พร้อมจะก้าวเดินตามยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีความคิดแหลมคม ก้าวพ้นทักษิณ ก้าวข้ามพรรคเพื่อไทย เป้าหมายนี้ใหญ่กว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งจะเป็นแค่การประลองกำลังครั้งใหญ่กับอำนาจรัฐ อำนาจยี้ และความยุติธรรมสองมาตรฐาน ใบตองแห้ง 15 ธ.ค.53 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่-พายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข (1) Posted: 15 Dec 2010 12:16 AM PST หมายเหตุ: นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา รวบรวมเรื่องราวการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่และการเผชิญหน้ากับพายุดีเปร สชั่นของ 4 โรงพยาบาลในสงขลาเล่าสู่กันฟัง "ประชาไท" นำเสนอโดยแบ่งเป็นสามตอน ชื่อชุดบทความเดิม เรียบเรียงโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ปี 2553 บทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า โลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกแล้ว น้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ที่เกิดขึ้นไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง มาภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ ได้สร้างความสูญเสียอย่างมาก โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยในหลายพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ 2010 ของ 3 โรงพยาบาลในจังหวัดสงขลาคือโรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี และโรงพยาบาลจนะ รวมถึงประสบการณ์การเผชิญหน้ากับพายุดีเปรสชั่นของโรงพยาบาลสทิงพระ ที่โรงพยาบาลเหล่านั้นได้เขียนมาเล่าสู่กันฟัง เป็นบทเรียนที่เห็นภาพของความโกลาหลและการจัดการที่เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่น่าสนใจยิ่ง ภาค 1: เมื่อน้ำท่วมโรงพยาบาลนาทวี บทเรียนที่ควรแบ่งปัน อำเภอนาทวี เป็นอำเภอเศรษฐกิจดีอีกอำเภอของจังหวัดสงขลา เต็มไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ มีโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ขนาด 120 เตียงตั้งอยู่ เป็นโรงพยาบาลระดับ 2.2 ของกระทรวงสาธารณสุข คือมีแพทย์เฉพาะทาง ในช่วงที่ประสบเหตุน้ำท่วมในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2553 นี้ คุณหมอสุวัฒน์ วิริยพงษ์สกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาทวี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ มุ่งสู่นาทวี ระหว่างทางฝนยังคงตกหนักตลอด ที่ปัดน้ำฝนเร่งเต็มสตรีมแล้วก็ยังต้องค่อยๆ ขับรถไปได้อย่างช้าๆ สายฝนที่เย็นฉ่ำ แต่ใจมันร้อนรุ่ม ความเร็วสัก 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดูมันช่างชักช้าเหมือนเต่าคลานเลยทีเดียว ผมเพิ่งทราบข้อมูลเมื่อมาทบทวนเหตุการณ์ว่า “ฟ้ารั่ว” ในช่วง 2 วันนี้เป็นอย่างไร เช่นที่อำเภอนาทวี ปกติฝนจะตกเฉลี่ยทั้งปีที่ 1200-1500 มิลลิเมตร มาปีนี้ แค่ 2 วัน 31ต.ค-1พ.ย. ตกไป 504 มิลลิเมตร เรียกว่าเป็น 1/3 ของฝนทั้งปี ระหว่างทางผมผ่านอำเภอจะนะก่อน ดูปริมาณน้ำสองข้างทางแล้วมีลุ้นว่า น้ำไม่มากกระมัง หารู้ไม่ว่า จะนะเป็นส่วนปลายน้ำ น้ำยังเดินทางมาไม่ถึง เวลาผ่านไปสัก 1 ชั่วโมง พอเริ่มเข้าเขตอำเภอนาทวี ต้องเปลี่ยนใจครับ เริ่มเห็นชาวบ้านย้าย วัว ควาย และข้าวของมายังท้องถนน ฝนเริ่มซาเม็ดลง เหยียบคันเร่งเร็วขึ้นหน่อย ใจเตลิดคิดไปถึงเรื่องอื่น คิดถึงการซ้อมแผนอุทกภัยที่เตรียมซ้อมกันในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 2 พ.ย. หรือเราจะได้เจอของจริงเลย พอเข้าเขตตลาดนาทวี ลงจากสะพานข้ามคลองนาทวี มองลงไป สามแยกวังโต้ยาวไปสุดลูกตา ตลอดทางไปอำเภอเทพา ผมไม่เห็นพื้นผิวถนนแล้ว เห็นมีรถกระบะวิ่งสวนมาได้ แสดงว่ารถยังพอฝ่ากระแสน้ำได้ เลี้ยวขวาที่สามแยกวังโต้ มุ่งหน้าสู่ รพ.ระยะทางราว 1 กิโลเมตรถึงหน้าสนามกีฬาเทศบาล สองข้างทาง มีรถจอดซ้อนกัน 3 แถว ตรงนี้เป็นเนินสูงหน่อย ผู้คนต่างนำยานพาหนะจอดหนีน้ำกัน ผมขับรถ Volvo คู่ใจเกือบถึงหน้า รพ. ลำบากเสียแล้วล่ะ น้ำมากจริงๆ ต้องหันหัวรถกลับมาจอดหน้าสนามกีฬาเหมือนคนอื่นๆ บ้าง ผมเดินเท้าสัก 200 เมตร จนถึงแนวรั้ว รพ. หน้ารั้วโรงพยาบาลเห็นสมาชิกชาวโรงพยาบาลสัก 5-6 คน รวมตัวกันอยู่หลังแนวเขื่อนกระสอบทรายหน้า รพ. ถนนทางเข้า รพ.กระแสน้ำเชี่ยวมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถกระบะคันหนึ่งจอดบนถนนใหญ่ ใช้เชือกผูกกับรถยึดโยงกับเสาภายใน รพ. เพื่อไว้เกาะเดินเข้าไปได้ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ผมตัดสินใจเดินเกาะเชือกฝ่ากระแสน้ำโดยมีพนักงานขับรถคอยเดินขนาบเข้าไปได้ สิ่งแรกผมที่ทำคือ ขี่จักรยานตระเวนดูรอบ รพ. น้ำขึ้นเร็วมากจริงๆ ครับ รอบ รพ.เรามีเขื่อนกั้นน้ำสูงประมาณ 2 เมตร จุดต่ำสุดของเขื่อนอยู่บริเวณฝั่งที่ติดกับสำนักงานขนส่งจังหวัด เราประชาสัมพันธ์เสียงตามสายระดมคนที่มีอยู่ในบ้านพักทั้งชายหญิงและญาติผู้ป่วย ช่วยกันบรรจุทรายใส่กระสอบ ผมอาจจะใช้คำผิดครับ ใส่ถุงดำมากกว่า เพราะกระสอบตามแผนเดิม จะเอาเข้ามาเตรียมในช่วงสายของวันนี้ เพื่อจะซ้อมแผนในวันรุ่งขึ้น น้อง รปภ.ประยุกต์โดยใช้ถุงดำซ้อนกัน 3 ชั้นเพื่อป้องกันการแตก ก็พอบรรเทาไปได้บ้าง เราช่วยกันลำเลียงขนกระสอบถุงดำไปเสริมแนวเขื่อนฝั่งขนส่ง แต่ดูแล้วยังไม่เพียงพอแน่ ผมร้องขอกระสอบไปยังท่านนายอำเภอและพี่ๆ ที่ สสจ.สงขลา เผื่อว่าจะยื้อกันลองดูสักตั้ง ปฏิบัติการย้ายผู้ป่วยก่อนน้ำเข้าโรงพยาบาล ผมตัดสินใจใช้แผนขั้นสุดท้ายคือย้ายคนไข้ออกจากโรงพยาบาลทั้งหมด ถึงแม้ในขณะนั้นภายในโรงพยาบาลยังแห้ง แต่ภายนอกโรงพยาบาลเราถูกรายล้อมด้วยน้ำหมดแล้ว อยู่ได้เพราะเขื่อนกั้นน้ำและเครื่องสูบน้ำทำงานอยู่ตลอดเวลา ผมสั่งการให้หัวหน้าพยาบาลและหัวหน้าตึกเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดย set priority case เป็นประเภทตามความเร่งด่วนไว้ ประมาณ 11 โมง ของวันที่ 1 พฤศจิกายน รถยีเอ็มซี 3 คันจากค่ายทหาร ร5 พัน3 โดยการประสานงานของท่านนายอำเภอ พร้อมกำลังเกือบ 20 นาย เริ่มมาลำเลียงย้ายผู้ป่วย คนแรกที่ผมคิดถึงคือกัลยาณมิตรคนสำคัญ คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ที่โรงพยาบาลจะนะ ซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตร จัดการรับคนไข้ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อ 35 คนที่เหลือไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลนาหม่อม รวมส่งผู้ป่วยไปทั้งหมด 44 คน ชุดแรกที่ส่งต่อคือกลุ่มเด็กที่ต้องใช้ incubator โชคดีมากครับ ที่เพิ่งซื้อตัวใหม่มา 2 ตัว ราคาตัวละ 5 แสน รู้เลยครับว่าคุ้มกับการรักษาชีวิตเด็กตัวน้อยๆ ได้อีก 2 คน การขนย้ายผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทุลักทุเล เพราะไม่ใช่ย้ายแต่ผู้ป่วย แต่หมายถึงญาติและข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วยด้วย ผู้ป่วยเที่ยวสุดท้ายถูกส่งต่อไปประมาณ 6 โมงเย็น พลทหารขับรถบอกผมขากลับเที่ยวสุดท้ายว่า ขับไปก็นั่งภาวนาสวดมนต์ไป ให้ปลอดภัยทุกๆ คน ชื่นชมน้องพยาบาลมาก เขาให้กำลังใจพลขับ พร้อมดูแลคนไข้ระหว่างทางไปด้วย ท่านที่นึกภาพไม่ออก ลองคิดดูว่า ระยะทาง 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงเป็นอย่างไร ปฏิบัติการสู้สักตั้ง อุปกรณ์ส่วนที่ย้ายไม่ได้เป็นอุปกรณ์ตัวใหญ่ เช่น ยูนิตฟัน เครื่องนึ่ง เครื่องอบผ้า เครื่องซักผ้า ก็พยายามถอดมอเตอร์ออก พนักงานช่างมือสั่นพลางถอดอุปกรณ์พลาง พอสัก 4 โมงเย็น น้ำสูงมากจนพ้นแนวเขื่อนรอบโรงพยาบาล ถึงแม้เราจะเร่งบรรจุกระสอบทรายกลางสายฝน อุดรูรั่ว เสริมคันดินให้สูงขึ้น ยื้อเวลา เพราะคาดว่ามันไม่น่าจะสูงกว่านี้ แต่ผิดคาด น้ำมามากทั้งเร็วและแรง คราวนี้เครื่องสูบน้ำทั้ง 2 เครื่องเอาไม่อยู่ จนต้องยอมแพ้ น้ำจึงเข้าท่วมโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำบริเวณตึกอุบัติเหตุ ราว 1 เมตร บ้านพัก 1.5-2 เมตรต้องอพยพอยู่ตึกใหม่ทั้งหมด ในวันนั้นไฟดับทั้งอำเภอ ทีมงานยังช่วยกันสร้างเขื่อนป้องกันโรงไฟฟ้าสำรองซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดต่อไป ช่วยกันวิดน้ำ สูบน้ำ ผลัดเวรเฝ้ากันทุกชั่วโมง จนถึงรุ่งเช้า เพราะถ้าไม่มีไฟ คนที่บนตึกในโรงพยาบาล 80 ชีวิตก็คงลำบาก ในจำนวนนี้มีคนไข้ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่เขากลับไม่ได้ เพราะน้ำท่วมเมืองไปหมดแล้ว หลังจากนั้นเราก็ลุ้นกันว่า น้ำจะเข้าตึกใหม่ 2 ชั้นที่เรากำลังอยู่หรือไม่ โล่งใจเอาตอนเที่ยงคืน น้ำเริ่มทรงตัว อีกแค่คืบหน้า เราอาจต้องอพยพขึ้นชั้น 2 คืนนี้ชาวโรงพยาบาลนอนกันบนตึกใหม่กันอย่างอบอุ่น แต่ทุกคนก็หลับๆ ตื่นๆ พะวงกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เนื่องจากการสื่อสารถูกตัดขาดหมด น้ำลดกับภารกิจที่ยังรอคอย สำหรับการบริการ ทีมงานโรงพยาบาลปรับแผนโดยแบ่งกำลังไปออกหน่วยตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยขอรถทหารลุยเข้ามารับคุณหมอกัมปนาท จันทนะ และคณะไปออกหน่วยให้บริการชาวบ้านบริเวณชั้นสองธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอยู่ในเขตชุมชน อีกส่วนหนึ่งเริ่มมีคนไข้อาศัยรถยีเอ็มซีทหารเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล เราปรับรูปแบบที่ตึกใหม่ให้เป็นทั้ง ER LR และOPD ห้องยาแบบย่อส่วน เป็น 2 จุดใหญ่ที่ให้บริการประชาชน ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่เริ่มลงไปสำรวจความเสียหายที่บ้านพักกัน โดนกันไปเต็มๆ ทุกบ้าน ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่นอน โซฟา จมน้ำจมโคลนกันเห็นๆ วันนี้ระบบสื่อสารบางส่วนเริ่มฟื้น สื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ ทีวี วิทยุหลายช่องมาสัมภาษณ์ ถึงแม้ข่าวจะไม่ค่อยออก เพราะความสนใจไปอยู่ที่หาดใหญ่เป็นหลัก แต่พวกเราก็มีความสุขที่ฝ่าวิกฤติมาได้ คืนนี้นอนกันบนตึกใหม่อีกเช่นเคย เช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน เป็นวันแห่งการขัดล้างโรงพยาบาล ระดมคนลงล้างตามจุดสำคัญ โชคดีว่าระบบประปาของโรงพยาบาลช่างเราซ่อมได้แล้ว เริ่มมีน้ำใช้บ้าง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ติดน้ำอยู่ภายนอกเริ่มทยอยเข้ามาช่วยขัดล้าง โชคดีที่สองคือ ได้น้ำมันสำรองมาจากสงขลา โดยการประสานจากสสจ. รถทหารบรรทุกมาให้อุ่นใจไปอีกมาก ช่วงเย็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลามาเยี่ยมให้กำลังใจ หลังจากนั้นเราสรุปงานประจำวัน เราตั้งเป้าว่าพรุ่งนี้ต้องเปิดบริการในส่วนหน้า คือ OPD และ ER ให้ได้ ในวันนั้นแม้โรงพยาบาลจะยังไม่เปิด แต่เราไม่ได้ปิดโรงพยาบาล คนไข้ที่หาทางมาจนได้ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเกือบทั้งนั้น ในช่วงวิกฤตินี้มีคนไข้ในสะสมเพิ่มขึ้นจนเกือบ 20 คน ถึงแม้ระบบออกซิเจนไม่ทำงาน X’ray ยังจมน้ำ ห้อง lab ก็จม แต่ทีมเจ้าหน้าที่ก็สามารถดูแลได้ตามสมควร 4 พฤศจิกายน สามารถเปิด OPD ได้ 3 ห้อง ช่วงสายๆ ทีม IT จัดการระบบให้ใช้งานได้บางส่วน ทหารจาก ร.5 พัน 3 ทีมเทศบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลล้างโรงพยาบาลรอบที่ 3 ซึ่งยังมีโคลนติดอยู่โดยรอบอีกครั้ง ต้องขอรถน้ำและรถดับเพลิงจากเทศบาลระดมมาช่วยกัน อีกส่วนก็เปิดบริการไปด้วย ถึงแม้ระบบยังไม่พร้อม เลยต้องมาใช้ระบบมือ (manaul) ทั้งหมด ทีมจากศูนย์ช่างคือศูนย์วิศวกรรมจากสงขลาได้เข้ามากินอยู่พักค้างคืนตั้งแต่เมื่อวาน มาดูเครื่องซักผ้า อบผ้าให้ ช่วงเย็นสามารถงานอย่างละ 1 เครื่อง ทางทีมซักฟอกจัดเวรเป็นกะทำงานกัน 24 ชั่วโมง ทยอยซักผ้าที่จมน้ำกองเป็นภูเขาน้อยๆ คาดว่าใช้เวลาสัก 3 วัน น่าจะบรรเทาไปได้บ้าง ทีม IT ก็ทำงานกันโต้รุ่ง ระบบบริการ HOSxp เริ่มใช้การได้บริเวณ OPD ห้องยา ER จนใช้ได้สัก 60 % วันที่ 5 ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ได้ผ่านวิกฤตและเปิดบริการเต็มรูปแบบแล้ว ภาค 2: ประสบการณ์วุ่นๆ ของโรงพยาบาลจะนะที่น้ำเกือบท่วม เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดสงขลาจากพายุดีเปรสชั่นที่ขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ลุ่มน้ำนาทวี เป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่มีเรื่องราวน้ำท่วมใหญ่มาเล่าสู่กันฟัง อำเภอนาทวีอยู่บนเชิงเขา มีทางน้ำและคลองที่ไหลลงสู่อำเภอจะนะ ดังนั้นหากน้ำท่วมอำเภอนาทวี น้ำก็จะท่วมจะนะในอีกไม่นาน ความวุ่นวายก่อนน้ำเข้าเมือง โชคดีที่จะนะน้ำขึ้นตอนค่ำ และส่วนใหญ่รู้ตัวล่วงหน้าว่าน้ำจากนาทวีซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตรมาแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งก็รีบสมัครใจกลับบ้าน ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านในสถานการณ์วิกฤต คนไข้คนเฝ้าคงอยากกลับไปขนของหนีน้ำกัน ก็ถือว่าโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงมีคนไข้ไม่แน่นเกินไป ตอนนั้นหมอเภสัชพยาบาลจะนะก็ปั่นป่วนกับคนไข้ที่ทะลักเข้ามาเหมือนน้ำป่า พอตกค่ำเรื่องคนไข้ก็เข้าที่เข้าทาง ช่วงเช้าวันนั้น เมื่อคาดเดาได้ว่าน้ำท่วมใหญ่แน่ ทางโรงพยาบาลก็มีการประสานรถเติมออกซิเจนเหลวให้เข้ามาเติมออกซิเจนเหลวให้เต็มเป็นกรณีพิเศษโดยที่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเติม ซึ่งบริษัทเขาอยู่ที่หาดใหญ่ก็ยินดีมาเติมให้ ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปตลาดตุนอาหารสดเพิ่มขึ้นอีก เผื่อว่าจะท่วมหลายวัน ตุนน้ำมันสำหรับรถทุกคันให้เต็มถัง สั่งก๊าซหุงต้มถังใหญ่มาเพิ่มอีก 2 ถัง น้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟพร้อมแล้ว ข้าวสารอาหารแห้งพร้อมนานแล้ว เงินสดในมือก็พร้อมมีเงินอยู่เกือบ 50,000 บาท เพราะช่วงน้ำท่วมไฟดับ ธนาคารปิด ATM ไม่ทำงาน เงินสดเท่านั้นที่จะจับจ่ายได้ ข่าวน้ำจะท่วมจะนะ ในบ่ายวันนั้น ญาติคนไข้ก็พาคนไข้ขาประจำ 3-4 คน เช่นคนไข้ถุงลมโป่งพอง คนไข้สูงอายุที่บ้านชั้นเดียว พามาฝากนอนที่โรงพยาบาล แบบนี้เรียกว่า ชาวบ้านเขาทีการเตรียมตัว ตอนเย็นเลิกงาน เป็นช่วงวัดใจ น้ำกำลังเข้าจะนะ ใครจะกลับบ้านเพราะห่วงบ้านก็คงเดาได้ว่า คงกลับมาไม่ได้แล้วในวันพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่รีบกลับก็คงไม่ได้กลับ ผมเองก็ตัดสินใจแล้วว่า ปีนี้ดูท่าน้ำสูงกว่าทุกครั้ง หมอที่อยู่เวรก็เป็นน้องๆ ใช้ทุน ภรรยากลับบ้านแล้ว คงไปขนของที่ร้านขายยา ขออยู่เป็นกำลังใจและอำนวยการตามหน้าที่ให้โรงพยาบาลแล้วกัน ก็เลยนอนที่โรงพยาบาล โกลาหลเมื่อน้ำเริ่มเข้าโรงพยาบาล ตกค่ำนั้นเองไฟฟ้าก็ดับลงทั้งอำเภอ เครื่องปั่นไฟของโรงพยาบาลดังกระหึ่มในท่ามกลางความเงียบสงัด แสงไฟทั้งอำเภอมีแต่โรงพยาบาลเท่านั้นที่สว่าง มองไปจากชั้น 4 ของอาคารผู้ป่วยในเห็นแต่โรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะ ที่มีท้องฟ้าสีสว่าง ซึ่งแปลว่าทั้งอำเภอน่าจะมีเพียง 3 แห่งที่มีไฟฟ้า เรียกว่า โคตรน่าอิจฉาที่สุดในอำเภอ ส่วนโรงพักและที่ว่าอำเภอที่ควรเป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนนั้นมืดสนิท การสื่อสารถูกตัดขาดหลังไฟฟ้าดับไม่นาน เข้าใจว่าเสารับส่งสัญญาณมือถือคงแบตตารี่หมด โทรศัพท์พื้นฐานใช้ไม่ได้ เป็นคืนที่เงียบสงบ ดึกน้ำทรงตัว ไม่ท่วมสูงจนเข้ารถที่จอดไว้ ท่าทางจะไม่วิกฤตกว่านี้แล้ว มื้อเช้าทุกคนไปกินข้าวต้มไก่ได้ที่โรงครัว โรงครัวเลี้ยงอาหารทุกมื้อกับทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนไข้ ญาติและเจ้าหน้าที่ ถนนไม่มีรถวิ่ง มีแต่คนเดินลุยน้ำระดับเอวเดินชมเมืองในอีกบบรรยากาศ หมอในโรงพยาบาลวันนี้มีตั้ง 4 คน ช่วยกันไป round ward 2 คน อีก 2 คนก็อยู่เฝ้าห้องฉุกเฉิน เป็นวันที่มีคนไข้มาโรงพยาบาลน้อยที่สุด คือประมาณ 30 คน และไม่น่าเชื่อว่ายังมีคนเดินลุยน้ำมาโรงพยาบาลตั้ง 30 คน เกือบครึ่งหนึ่งคือคนไข้กลุ่มสำคัญที่โรงพยาบาลจะนะให้บริการเขามายาวนาน คือคนไข้กลุ่มที่ติดเฮโรอีน แล้วมารับยาเมธาโดนทดแทนทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ไม่น่าเชื่อคนกลุ่มนี้แม้น้ำจะท่วม แต่เขาก็บากบั่นลุยน้ำมากินยา แสดงว่าโรคสมองติดยานี้ทรมานจริงๆ น้ำท่วมหากพอมาได้ก็ยังมาดีกว่าขาดยา ฟอร์มาลีนกับเรื่องราวที่นึกไม่ถึง นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรรกิจ เล่าว่า ผู้ป่วยอาการแย่ลง ซึม หายใจติดๆ คุยกับญาติว่าคงไม่ไหว ญาติเข้าใจลงความเห็นร่วมกับหมอว่าไม่ส่งต่อ สภาพของผู้ป่วยชัดเจนแล้วว่าไม่นานคงสิ้นลมแน่ ผมเลยถามหาฟอร์มาลีนจากห้องยา ปรากฏว่าไม่มี ไม่ได้เตรียมไว้ ไปได้จากห้อง lab ที่เขาไว้ดองชิ้นเนื้อมาแค่ 400 ซีซี ก็ยังดี โรงพยาบาลชุมชนไม่มีตู้เย็นเก็บศพ หากเสียชีวิตอีกวันเดียวก็เน่าเหม็นแล้ว พอเที่ยงผู้ป่วยก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ พยาบาลก็เริ่มหยดฟอร์มาลีนทางน้ำเกลือ เพื่อรักษาศพไว้ ไม่รู้เมื่อไรจะกลับบ้านได้ในสภาวะที่น้ำท่วมสูงเช่นนี้ ช่วงบ่าย 3 โมง รถทหารคันใหญ่มาส่งยาน้ำท่วม แล้วเขาจะไปส่งยาต่อที่โรงพยาบาลนาทวีต่อพอดี มีคนไข้และญาติขอติดรถเสี่ยงไปลงกลางทางหลายคน ผมเลยขอฝากศพนี้ไปกับญาติฝากไปให้ถึงตลาดนาทวีด้วย ปรากฏว่าคนอื่นที่จะพลอยไปกลับรถขอลงหมดทั้งคัน ไม่มีใครยอมไปด้วยเลย โวยวายกันบ้าง ผมก็บอกว่า คนเป็นไม่เน่ารอได้ คนตายรอไม่ได้ กลับไปที่ตึกคนไข้ไปพักและหาข้าวกินก่อนแล้วกัน แล้วรถทหารที่ขนยาและศพก็ออกไปจากโรงพยาบาล คุณหมอที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาก็มีคนไข้เสียชีวิตในโรงพยาบาลตอนน้ำท่วมอำเภอเช่นกัน แต่โรงพยาบาลรัตภูมิแก้ปัญหาด้วยการให้คนลุยน้ำไปยืมโลงเย็นมาจากวัดมาเสียบไฟฟ้าที่โรงพยาบาล รอจนน้ำลดจึงส่งมอบศพให้ญาติไปทำพิธีกรรมต่อไป น้ำเริ่มลด ชีวิตแห่งความวุ่นวายก็เริ่มต้น คืนที่ 2 น้ำเริ่มลดลงในช่วงค่ำ ฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำท่วมลดลงคนไข้ก็เพิ่มขึ้นทันที น้ำลดแล้ว การส่งต่อผู้ป่วยก็เริ่มขึ้น แต่การสื่อสารยังแย่มาก ทำให้การตรวจสอบเส้นทางการส่งต่อยากลำบาก ว่าเส้นทางไหนไปได้ไปไม่ได้ หลักๆ ก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลสงขลา เพราะหาดใหญ่ยังจมน้ำอยู่ ตกดึกการไฟฟ้าเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า แต่การสื่อสารยังยากลำบาก ภาพรวมโรงพยาบาลก็มีอาคารซักฟอกจ่ายกลาง อาคารกายภาพบำบัด ศาลาละหมาด ซึ่งเป็นอาคารแนวเดียวกันที่ตั้งในที่ลุ่มที่สุดของโรงพยาบาลท่วมระดับเกือบหัวเข่า ความเสียหายมีเล็กน้อยคือ เครื่องซักผ้าเสีย เครื่องสูบน้ำ และเครื่อง compressor เป่าลมของยูนิตทำฟัน แต่ทั้งหมดนี้ซ่อมได้ วันที่ 3 น้ำในโรงพยาบาลแห้งสนิทแล้ว ถนนเส้นหลักเดินทางได้ มีแต่บ้านที่อยู่ในที่ลุ่มที่ยังมีน้ำท่วม คนไข้เริ่มมาโรงพยาบาลมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนไข้เรื้อรังเบาหวานความดันที่ยาลอยไปกับสายน้ำแล้ว หมอที่ติดน้ำอยู่หาดใหญ่ก็มาโรงพยาบาลได้แล้ว เจ้าหน้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นพอรับมือกับผู้ป่วยไหว คนที่อยู่เวรสลับกันเฝ้าโรงพยาบาลมาตลอด 2 วันก็ไปพัก คนใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน เพราะหมอในโรงพยาบาลจะนะมีน้อย และชาวบ้านต้องการยาพื้นฐานมากกว่าต้องการหมอ ทางโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอเลยจัดหน่วยพยาบาลออกไปกับรถพยาบาลฉุกเฉินไปแจกจ่ายยา ออกไปเป็น 3 สาย แวะเป็นจุดจุดละสัก 1 ชั่วโมง แล้วก็ไปต่อจุดอื่น บางส่วนก็ฝากยาสามัญประจำบ้านไว้ที่บ้าน อสม.ให้เป็นจุดกระจายยา จัดบริการแบบนี้สัก 3 วันก็หยุดลงเพราะน้ำลด ชาวบ้านส่วนใหญ่พึ่งตนเองและเดินทางสะดวกแล้ว สภาพหลังน้ำท่วม พบแต่ขยะทั้งอำเภอ บ้านชาวบ้านกว่าครึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว น้ำท่วมครั้งนี้สูงกว่าทุกครั้ง ทำให้บ้านชั้นเดียวนั้นน้ำท่วมสูงจนข้าวของเสียหายหมด โดยเฉพาะรถเครื่องและเครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำหมด เสื้อผ้าที่นอนหมอนฟูกเปียกน้ำจนแทบจะใช้ไม่ได้ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้มีความน่าเป็นห่วงด้านสุขภาพจิตมากเป็นพิเศษ แต่แต่ละชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป คุณหมอสุภัทรบอกว่า “ผมคิดเอาเองว่า ชาวบ้านเขาเผชิญความทุกข์ยากมาทั้งชีวิต ความคิดฆ่าตัวตายหรือเครียดจัดจนต้องมาหาหมอจึงไม่มากเหมือนคนเมือง” สุดท้ายต้องขอบคุณบรรพบุรุษที่เลือกทำเลในการตั้งโรงพยาบาลจะนะได้เหมาะสมแล้ว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
TDRI เผยไทยกำลังขาดแคลนนักวิจัยข้าว Posted: 14 Dec 2010 11:59 PM PST 15 ธ.ค. 53 - ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนเพื่องานวิจัยข้าวไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันไทยกำลังขาดแคลนนักวิจัยข้าว เนื่องจากที่ผ่านมานับแต่อดีตมีการสร้างนักวิชาการด้านข้าวน้อยมาก ราว 200-300 คนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2510-2540 มีการสร้างนักวิจัยข้าวเพียง 50 คน จากโครงการความร่วมมือระหวางกรมข้าว กรมวิชาการเกษตร กับ IRRI สถานการณ์การสร้างกำลังคนในปัจจุบัน คือ ในระดับอุดมศึกษาสาขาเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีการพัฒนาระบบบัณฑิตศึกษาเพื่อวิจัยไม่ทัน เนื่องจากใส่ความพยายามไม่เต็มที่ ทรัพยากรไม่เพียงพอ ในแต่ละปีมีความสามารถในการสร้างบัณฑิตระดับเชี่ยวชาญหรือปริญญาเอกเพียงปีละไม่เกิน 80 คน ในจำนวนนี้เป็นบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเรื่องข้าวไม่ถึงปีละ 10 คน ขณะที่ความต้องการนักวิจัยข้าวในสาขาวิชาการต่าง ๆ ในปัจจุบัน- 10 ปีข้างหน้า ประมาณการได้ว่ามีความต้องการราว 1,030 คน จากความต้องการจากภาครัฐ (กรมการข้าวและศูนย์วิจัยต่าง ๆ ) 810 คน ความต้องการนักวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐ คณะวิชาเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 15 สถาบัน 150 คน ความต้องการจากภาคเอกชน ประมาณ 50 คน ความต้องการจากหน่วยงานอิสระอื่น ๆ 20 คน โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนระหว่าง ปริญญาโท กับ ปริญญาเอก คือ 3 ต่อ 1 ดร.พงศ์เทพ เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ต้องทำให้เกิดความตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ให้มีการลงทุนด้านทรัพยากรให้พอเพียง ยกเครื่องทั้งระบบ คือ มีการพัฒนาแผนงานวิจัยข้าว (program approach) ผนวกระบบบัณฑิตผู้ช่วยวิจัยกับการวิจัยกับ โครงการวิจัย (integration of gradate assistantship with research project) พัฒนาเครือข่ายบัณฑิตศึกษากับการวิจัยระดับชาติ สร้างเครือข่ายร่วมมือระหว่างหน่วยวิชาการภายในและภายนอกประเทศ การทำอย่างจริงจังจึงจะทำให้เราสามารถสร้างกำลังคนเพื่องานวิจัยข่าวได้อย่างเพียงพอ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สัมภาษณ์ “ชนาธิป สุกใส” เจาะอนาคตพลังงานชีวมวลอาเซียน Posted: 14 Dec 2010 11:52 PM PST “ชนาธิป สุกใส” นักวิชาการจากศูนย์พลังงานอาเซียน หรือ ASEAN Centre for Energy (ACE) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะเป็นผู้ศึกษาเรื่องการพัฒนาพลังงานชีวมวล ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของนโยบายพลังงานชีวมวลของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังต่อไปนี้ ชนาธิป สุกใส ศูนย์พลังงานอาเซียน เป็นหน่วยประสานความร่วมมือทางด้านพลังงานระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีพลังงานแห่งอาเซียน หรือ AMEN ศูนย์พลังงานอาเซียน เน้นศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวมวล หรือพลังงานชีวภาพ ใน 2 ส่วนคือ ในส่วนนโยบายเกี่ยวกับพลังงานชีวมวลของกลุ่มประเทศอาเซียน และสถานการณ์ทั่วไปของพลังงานชีวมวล ภาพรวมของนโยบายทางด้านพลังงานชีวมวล กลุ่มประเทศอาเซียนมีแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางด้านพลังงาน (APAEC) ปี 2010 – 2015 ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานชีวมวลเข้าสู่ระบบให้ได้ 15% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ภายใต้แผนนี้ อาเซียนได้ส่งเสริมการพัฒนาด้านการค้า และการใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวมวล โดยสร้างเครือข่ายวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน มีประเทศมาเลเซียกับประเทศไทย เป็นผู้ประสานงาน ส่วนด้านการส่งเสริมทางการค้า มีประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นผู้ประสานงาน นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงนโยบายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศอาเซียน ด้านการใช้พลังงานชีวมวลใหม่ มีประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศไทย เป็นผู้ประสานงาน พร้อมกับร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตและการใช้พลังงานชีวมวล มีประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ประสานงาน หลายประเทศในอาเซียน ต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวภาพเป็นของตัวเอง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สำหรับนโยบายและสถานการณ์ทั่วไปของพลังงานชีวมวลในแต่ละประเทศ มีดังนี้ เริ่มจากประเทศบรูไน ซึ่งมีและใช้น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะนี้ยังไม่เน้นที่จะหันมาใช้พลังงานทางเลือก แต่ก็มองถึงการพัฒนาพลังงานชีวมวลในระยะยาว ปัญหาของประเทศเล็กๆ เนื้อที่ไม่มากอย่างบรูไนก็คือ หากหันมาส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงาน ก็จะไปทับซ้อนกับพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร ประเทศกัมพูชา มีนโยบายลดความยากจนของประชาชน โดยพยายามให้ประชาชนเข้าถึงการเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานได้ ประเทศกัมพูชาจึงให้ความสำคัญกับพลังงานชีวมวลมาก เห็นได้จากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง แต่ยังมีศักยภาพไม่มาก ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ ยังขาดทั้งเทคโนโลยีและข้อมูล ช่วงนี้ รัฐบาลกัมพูชาจึงเน้นการวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก โดยเริ่มจากการทำโครงการขนาดเล็ก เช่น โครงการรับซื้อถั่วจากชาวบ้าน นำมาผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น ประเทศอินโดนีเซีย นโยบายพัฒนาพลังงานชีวมวลมีความชัดเจนมาก นอกจากจะตรากฎหมายออกมารองรับแล้ว ประธานาธิบดีศุสีโล บัมบัง ยุทโธโดโน ยังมีคำสั่งให้ปรับเป้าหมายการพัฒนาพลังงานชีวมวล โดยกำหนดไว้ในร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2016–2025 ให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล 5% จากปริมาณการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด 17% ประเทศอินโดนีเซียมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานชีวมวลสูงมาก แข่งกันมากับประเทศมาเลเซีย ที่มีนโยบายพัฒนาพลังงานชีวมวลชัดเจน โดยกำหนดไว้ในนโยบายพลังงานแห่งชาติปี 2006 ให้ใช้พลังงานชีวมวลในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวมวล ตั้งเป้าพัฒนาพลังงานชีวมวลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบายนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐใช้ไบโอดีเซล B5 มาตั้งแต่ปี 2009 โดยในปี 2010 กระจายการใช้ไบโอดีเซล บี 5 ในหน่วยงานของรัฐครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดมาตรการสนับสนุนการส่งออกพลังงานชีวภาพ และการลงทุน มียุโรปเป็นตลาดหลัก โดยเตรียมจะส่งออกไปยังยุโรปในปี 2011 ประเทศลาว มีนโยบายลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของครัวเรือนลง ให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานมากขึ้น กำหนดให้ประชาชน 90% มีไฟฟ้าใช้ แต่การปลูกพืชพลังงานรัฐบาลกลัวว่า จะไปแย่งพื้นที่ผลิตอาหาร รัฐบาลกำลังยกร่างแผนพัฒนาพลังงาน ปี 2025 จะเพิ่มแหล่งพลังงานอีก 30% ในจำนวนนี้เป็นพลังงานชีวมวล 10% ประเทศพม่า ข้อมูลทางด้านพลังงานของประเทศพม่ามีไม่มาก มีเพียงข้อมูลเมื่อปี 2005 เพียงข้อมูลเดียว นั่นคือพล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย กำหนดพื้นที่ 500,000 ไร่ เพื่อปลูกมันสำปะหลังใน 14 รัฐของพม่า และในปี 2009 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB วางแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตไบโอเอทานอลขนาดเล็กในพม่า ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเริ่มตั้งโรงงานแล้วหรือยัง ประเทศฟิลิปปินส์ มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพมาตั้งแต่ปี 2007 โดยมองเรื่องการใช้พลังงานทดแทน และมุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศเล็กหาพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานยาก แต่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องพลังงานของประเทศอยู่ ประเทศสิงคโปร์จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการวิจัยและพัฒนาเป็นด้านหลัก ประเทศไทย ในแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกปี 2008 – 2022 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทางเลือกเป็น 20% ของความต้องการใช้พลังงานสูงสุดของประเทศให้ได้ภายในปี 2022 ในแผนนี้กำหนดเป้าหมายการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลในภาคการขนส่ง ดังนี้ หนึ่ง แผนพัฒนาเอทานอล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเอทานอลในภาคการขนส่ง จากผลิตภัณฑ์กากน้ำตาล มันสำปะหลังและอ้อย โดยส่งเสริมให้มีการใช้ E20, E85 ในรถยนต์ให้ได้ 390,000 คัน ในปี 2014 และ 1,070,000 คัน ในปี 2018 สอง แผนพัฒนาไบโอดีเซล มีเป้าหมายให้มีการใช้ B5 ทั่วประเทศ และ B10 เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในปี 2010 จากนั้นบังคับใช้ B5 ในปี 2011 พร้อมกับวิจัยและพัฒนามาตรฐานไบโอดีเซล ประเทศเวียดนาม มีเป้าหมายที่จะผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลให้ได้ 1.8 ล้านตัน ในปี 2025 คิดเป็น 5% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซล แต่ในแผนนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก เมื่อดูภาพรวมนโยบายด้านพลังงานชีวมวลของกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวลชัดเจนคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นสูงมาก มีนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกชัดเจน มีการจัดระบบให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามแผนร่วมกัน ส่วนประเทศอินโดนีเซีย มีความได้เปรียบตรงที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ตอนนี้ประเทศอินโดนีเซียต้องการก้าวขึ้นเทียบชั้นกับประเทศมาเลเซีย แต่ยังทำไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวมวล และผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่ของประเทศยังต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน ยังคงคิดแค่นำพลังงานชีวมวลมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิล ประเทศมาเลเซียเป็นเพียงประเทศเดียวที่วางแผนผลิตพลังงานชีวมวลจากผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศยุโรป ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่เตรียมโครงสร้างทางด้านกฎหมายไว้รองรับการพัฒนาพลังงานชีวมวลไว้ค่อนข้างพร้อมกว่าทุกประเทศ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
โฉนดบนที่ดินสาธารณะ? ชะตากรรมคนจนบ้านบานา Posted: 14 Dec 2010 11:41 PM PST ชีวิตคนจนบ้านบานา ปัตตานี ยึดที่สาธารณะใช้อาศัยทำกิน แต่ฉะไหนกลายเป็นที่ดินมีโฉนด จนถูกจับกุมดำเนินคดี กำนันยืนยันเป็นที่สาธารณะชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน เจ้าสู้ร้องขอความเป็นธรรม
บุกรุก? - นายรอฮิง ราเดง อายุ 61 ปี กับขนำหลังเล็กบนที่ดินสาธารณะบ้านบานา ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่บัดนี้มีการออกโฉนดทับที่ดินแปลงนี้แล้ว ทำให้นายราฮิง ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ชายแดนใต้วันนี้ ไม่ได้มีแค่ปัญหาความมั่นคงเท่านั้น ความทุกข์ยากลำบากของคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ยังมีอีกมากมาย เช่น ปัญหาเรื่องความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย อย่างกรณี ของนายรอฮิง ราเดง อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 3 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี คนจนดักดานที่มีอาชีพรับจ้างเข็นรถเข็นขนของตามตลาดนัด ที่ยอมทำผิดกฎหมาย โดยเข้าไปบุกรุกที่สาธารณะใกล้ทะเลบ้านบานาสร้างขนำหลังเล็กใช้อยู่อาศัยหลับนอนกับลูกชายหนึ่งคน บริเวณที่นายรอฮิงสร้างขนำตั้งอยู่บนคันนากุ้งร้าง พร้อมกับปลูกมะพร้าวสิบกว่าต้นตามขอบนากุ้งร้าง อายุ 4 – 5 ปี ใกล้กันมีการขึ้นโครงขนำอีกหลัง แต่ยังสร้างไม่เสร็จ นอกจากนี้ยังมีบ้านอีกหลายหลังในบริเวณเดียวกันที่ปลูกสร้างบนที่ดินสาธารณะ นายรอฮิงเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณนี้มา 15 ปีแล้ว หลังจากนากุ้งในบริเวณนั้นถูกทิ้งร้างได้ไม่นาน โดยเริ่มจากการปลูกพืชผักสวนครัว จากนั้น 7 ปีให้หลัง จึงเริ่มสร้างขนำแล้วย้ายเข้ามาใช้เป็นที่หลับนอน แต่แล้วจู่ๆ ที่ดินสาธารณะที่เขาอาศัยอยู่นั้น กลายเป็นที่ดินมีโฉนด มีคนถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของมาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยที่นายรอฮิงไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน วันที่ 14 ตุลาคม 2553 ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธร(สภ.) เมืองปัตตานีเข้าจับกุมนายรอฮิง ตามหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานี ที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2552 ข้อหา บุกรุกที่ดิน ของ ร.ต.ต.หญิง บุญใจ บุตรดี อดีตข้าราชการตำรวจเกษียณอายุราชการ เป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 44118 ซึ่งมีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน ออก ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2544 หลังจากนั้น ตำรวจพานายรอฮิงไปที่สอบปากคำที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี โดยนายรอฮิงยอมรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงส่งฟ้องศาลทันที วันรุ่งขึ้น ศาลจังหวัดปัตตานีได้พิจารณาคดีนี้ โดยพิเคราะห์ว่า จำเลยคือนายรอฮิงมีความผิดฐานบุกรุกจริง พิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี นอกจากนี้ ศาลจังหวัดปัตตานี ยังมีคำสั่งให้รื้อถอนขนำภายใน 10 วัน เมื่อจ่ายค่าปรับเสร็จ จึงเดินทางกลับขนำหลังเดิมทันที เมื่อนายรอฮิงถูกจับกุมดำเนินคดี เพื่อนบ้านอีกคนที่กำลังขึ้นโครงสร้างขนำหลังใหม่ใกล้ๆกัน ก็หายหน้าไป ไม่กล้าที่จะเข้ามาสร้างต่อให้เสร็จ นายรอฮิง เล่าว่า ตนได้ปลูกสร้างขนำหลังนี้มากว่า 7 ปีแล้ว เพราะคิดว่ายังเป็นที่ดินสาธารณะอยู่ ตั้งแต่สมัยก่อน ที่ดินบริเวณนี้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินบริเวณนี้มีการออกโฉนดแล้ว และออกตั้งแต่เมื่อไหร่ “ผมทราบเพียงแต่ว่า ก่อนหน้านี้มีนายทุนมาเช่าที่ดินบริเวณนี้ทำนากุ้ง ทำได้ 5 – 6 ปีก็เจ๊ง นากุ้งก็เลยถูกทิ้งร้าง และไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรต่อ ผมจึงเข้าไปสร้างขนำ ทำสวนผสมผสาน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่” นายรอฮิง กล่าว แม้ก่อนที่นายรอฮิงจะถูกตำรวจจับกุม เคยถูก ร.ต.ต.หญิงบุญใจ ผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนด เคยมาแจ้งเตือนให้รื้อขนำออกไปจากที่ดินแปลงนี้ พร้อมแสดงโฉนดที่ดินให้เห็นแล้ว แต่นายรอฮิงก็ยังไม่ยอมย้ายออกไป “ผมไม่มีทางเลือก ผมต้องอาศัยและทำมาหากินบนที่ดินแปลง เพราะผมยากจน ผมมีลูก 8 คน ไม่รู้จะไปทำมาหากินที่ไหน จึงต้องอยู่ต่อไป ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าผิดกฎหมาย” แม้นายรอฮิงยังยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ไปไหนทั้งที่เคยถูกจับมาแล้ว แต่นายรอฮิงก็ยังอดสงสัยไมได้ว่า ทำไมที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันจึงตกไปอยู่ในกำมือของอดีตข้าราชการได้ ก่อนหน้านี้ นายรอฮิง ได้ล่ารายชื่อชาวบ้านในหมู่บ้านได้ 77 คน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินสาธารณะในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านบานา ตำบลบานาแห่งนี้ แต่ยังไม่ทันได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานใด เกิดความขัดแย้งระหว่างนายรอฮิงกับชาวบ้านที่ลงชื่อด้วยแต่ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับนายรอฮิง นายรอฮิงจึงหยุดดำเนินการต่อ แต่นายรอฮิงก็ยังไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้น เพราะเขาได้ร้องเรียนไปยังเครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือกด้วยวาจา ให้ตรวจสอบการออกโฉนดทับที่ดินสาธารณะที่นายรอฮิงปลูกขนำอยู่ได้อย่างไร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 สำหรับเครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก มีสำนักงานอยู่ที่เดียวกับมูลนิธิฮิลาลอะฮ์มัรจังหวัดปัตตานี ใกล้กับโรงแรมซีเอสปัตตานี นายลายิ ดอเลาะ อายุ 59 ปี กำนันตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บอกว่า ที่ดินสาธารณะบ้านบานาแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งเป็นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน “ที่ผ่านมา ผมเคยได้รับการร้องขอจากนายเซ็ง การีนา อดีตคนดูแลนากุ้งของ ร.ต.ต.หญิงบุญใจ และนายอาแซ เจ๊ะเอาะ อดีตผู้ใหญ่ หมู่ที่ 3 ตำบลบานา ให้เซ็นรับรอง เพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับร.ต.ต.หญิง บุญใจ แต่เมื่อพิจารณาจากเดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินสาธารณะ ประกอบกับหลักฐานการขอออกโฉนดก็ไม่ชัดเจน ผมจึงไม่เซ็นรับรอง เพราะกลัวจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง” นายลายิ กล่าว ทั้งนายเซ็ง และนายอาแซ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว นายลายิ บอกต่ออีกว่า ที่ดินบริเวณนี้ชาวบ้านเคยใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ดั้งอดีต ใครจะปลูกพืชอะไรก็ปลูกไป ใครจะเลี้ยงสัตว์ก็ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ “ส่วนคนที่เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินบริเวณนี้ เพราะต่างก็ยากจน บ้านที่ใช้อาศัยอยู่เดิมก็แออัด บางคนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง” นายลายิอธิบายถึงสาเหตุของการบุกรุกที่สาธารณะบริเวณนี้ พร้อมกับยืนยันว่า ที่ผ่านมาพบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินสาธารณะบริเวณนี้โดยมิชอบตามกฎหมายยังมีอีกหลายแปลง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ชำนาญ จันทร์เรือง: นักโทษทางความคิด (Prisoner of Conscience) Posted: 14 Dec 2010 11:28 PM PST ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ที่ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐจะเข่นฆ่าทำร้ายและคุมขังมนุษย์ด้วยกันแต่ว่ามีความคิดเห็นแตกต่างจากตัวเองและไม่มีความเศร้าใจใดๆที่จะเทียบเท่ากับการได้เห็นภาพหรือทราบข่าวของการจับกุมคุมขังผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้ครองอำนาจรัฐไม่ว่าจะเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินใดในโลกนี้ซึ่งเราเรียกเขาเหล่านี้ว่านักโทษทางความคิดหรือ Prisoner of Conscience คำว่านักโทษทางความคิดนั้นในคู่มือสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย(Amnesty International Thailand)ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ บุคคลที่ถูกคุมขัง หรืออาจกล่าวได้ว่าถูกกักขัง ทางร่างกายเนื่องจากความคิดเห็นทางการเมือง เพราะศาสนา หรือความเชื่ออย่างแท้จริงของเขา เพราะเผ่าพันธุ์ เพศ สีผิว ภาษา ถิ่นกำเนิดหรือสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจ การเกิด แนวโน้มทางเพศ หรือสถานภาพอื่นๆ ทั้งนี้ โดยที่เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง หรือความเกลียดชัง ไม่มีใครรู้ถึงจำนวนที่แน่นอนของนักโทษทางความคิดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วโลก พวกเขาถูกจับกุมโดยรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองติดอาวุธ บางคนเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน หลายคนเป็นศิลปิน นักกฎหมาย นักการเมือง หรือนักต่อสู้ของสหภาพแรงงาน โดยเขาเหล่านั้นได้ท้าทายความคิดเห็นของรัฐ อย่างไรก็ตามปรากฏว่านักโทษทางความคิดส่วนใหญ่กลับเป็นชายและหญิงธรรมดาๆ แม้กระทั่งเด็กๆจากผู้คนทุกชนชั้นโดยถูกคุมขังเพียงเพราะสิ่งที่พวกเขาเป็น(เช่น เป็นเหลือง หรือเป็นแดง เป็นต้น) มากกว่ากิจกรรมทางการเมืองของพวกเขา นักโทษทางความคิดบางคนได้กระทำการต่อต้านระบบทั้งหมดของรัฐ ในขณะที่บางคนได้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายของระบบการเมืองภายในประเทศ แต่พวกเขาก็ยังคงถูกจับกุมอยู่ดี ประชาชนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆอาจกลายเป็นนักโทษทางความคิดได้ เนื่องจากเหตุผลหลายประการที่อาจถูกหยิบยกขึ้นมา ได้ ทั้งๆที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่อใดควรได้รับสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 2 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า ”โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าในรูปแบบใด เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา การเมืองหรือความคิดเห็นอื่น สัญชาติหรือกำนิดทางสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานภาพอื่น”
ตัวอย่างของการกล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุผลที่จะจับกุมคุมขังนักโทษทางความคิดที่พบเห็นอยู่เสมอ เช่น - การเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่ปราศจากความรุนแรง เช่น กิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง หรือการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพันธมิตรฯ เป็นต้น - การเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเอง - การยืนยันที่จะปฏิบัติพิธีการทางศาสนาที่รัฐไม่ให้ความเห็นชอบ - การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน เช่น การนัดหยุดงาน หรือการเดินขบวนประท้วงของคนงาน เป็นต้น - การตั้งข้อหาว่าพวกเขาก่ออาชญากรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงการวิจารณ์ทางการหรือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น เช่น การตั้งข้อหาก่อการร้าย หรือการป้ายสีว่าอยู่ในขบวนการล้มเจ้าทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่ก็แจ้งความดำเนินคดีไว้ก่อนเพื่อกลั่นแกล้งกัน เป็นต้น - การเขียนบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ที่กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศของตน ก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้ายแยกดินแดนได้ เป็นต้น - การปฏิเสธการเข้ารับราชการทหาร สืบเนื่องมาจากความคิดเห็นของตนที่เป็นการปฏิเสธอย่างจริงใจ ( Conscientious Objection) - การต่อต้านการใช้ภาษาราชการของประเทศ เช่น ในประเทศที่มีภาษาหลักอยู่หลากหลาย หรืออาจจะด้วยเพราะเหตุผลทางการเมือง เช่น อินเดีย แคนาดา ฯลฯ จนต้องมีภาษาราชการมากกว่า 1 ภาษา - เนื่องจากเขาบังเอิญอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น หมู่บ้านในเขตสีแดงหรือสีชมพูในอดีต หรือ หมู่บ้านในในเขตภาคเหนือหรือภาคอีสานในปัจจุบัน เป็นต้น - เนื่องจากคนในครอบครัวเป็นศัตรูของรัฐอย่างเปิดเผยเปรียบดังกรณีหมาป่ากับลูกแกะ เป็นต้น - การอยู่ในสถานที่ที่ถูกจำกัดทางเพศเพราะเหตุเป็นสตรีเพศ เช่น ในอาฟกานิสถานภายใต้ระบอบการปกครองของตาลีบัน - เนื่องจากอัตตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงหรือที่แสดงออกหรือการข้องแวะในความสัมพันธ์หรือกิจกรรมของเพศเดียวกัน เช่น กรณีผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซีย เป็นต้น
ตัวอย่างของนักโทษทางความคิดที่มีชื่อเสียงที่เรารู้จักกันดีก็คือ อองซาน ซู จี ของพม่าที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากการกักขังไว้ในบ้านของตนเอง(House Arrested) หรือกรณีของนาย Idriss Boufayed นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวลิเบียซึ่งถูกจับกุมภายหลังเขากลับจากการลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์ไปลิเบียในเดือน ก.ย.2549 ทั้งๆที่เขาได้รับหนังสือเดินทางและคำยืนยันจากสถานทูตลิเบียประจำกรุงเบิร์นว่าเขาจะไม่ได้รับอันตรายใดๆในการกลับเข้าประเทศ แต่ปรากฏว่าเขากลับถูกจับในวันที่ 5 พ.ย. 2549 และ ถูกขังเดี่ยวจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 29 ธ.ค.2549 แต่ต่อมาเขาก็ยังถูกจับกุมอยู่ดีในเดือน ก.พ.2550 ขณะที่กำลังวางแผนการชุมนุมอย่างสงบในเมืองเดียวกัน จากตัวอย่างทั้งหมดที่ได้ที่ได้กล่าวมานี้ ผมเห็นว่านักโทษทางความคิดทุกคนควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและโดยปราศจากเงื่อนไข เพราะภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างๆไม่มีสิทธิที่จะกักขังบุคคลเหล่านั้น พวกเขาถูกปล้นอิสรภาพเพราะความเชื่อของตน หรือเพราะ อัตตลักษณ์ความเป็นตัวตน มิใช่การเป็นผู้ร้ายโดยกมลสันดาน เรามารณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดกันเถอะครับ
----------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2553 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สบท.สำรวจคุณภาพบริการมือถือทั่วกรุงฯ Posted: 14 Dec 2010 11:19 PM PST สบท.จับมือสองหน่วยงาน ตั้งทีมสำรวจตรวจสอบคุณภาพบริการ โทรศัพท์มือถือ 4 เครือข่าย พิสูจน์ปัญหาสายหลุด อับสัญญาณ โทรข้ามเครือข่ายยาก ทั่วกรุงฯ หวังเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่ตรงใจ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ( TRIDI) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว โครงการทดสอบคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากมิติการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อศึกษาคุณภาพการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหาตครโดยการสะท้อนประสบการณ์ในการใช้งานของผู้บริโภค นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้บริการโทรศัพท์มือถือยังพบปัญหาเช่น ในรอบ 3 ปี ยังมีปัญหาการโทรข้ามเครือข่ายยาก หรือแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร แต่ละเครือข่ายก็ยังมีบางจุดที่อับสัญญาณ อีกทั้งในขณะนี้มีการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือการย้ายเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม การให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงทำให้เกิดการประสานงานเกิดโครงการนี้ “เป้าหมายของโครงการคือ เพื่อทดสอบคุณภาพบริการโทรศัพท์มือถือ ในแง่การติดต่อไปยังโทรศัพท์มือถือภายในเครือข่ายและนอกเครือข่าย ความถูกต้องของหมายเลขโทรศัพท์ที่แสดงในจอผู้รับ โดยเป็นการทดสอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกใช้บริการโดยเครือข่ายที่จะถูกทดสอบครั้งนี้คือ เอไอเอส ดีแทค ทรูและฮัทช์ และมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ธันวาคมปีนี้ถึงเดือนมีนาคม 2554 โดยเรามีการทดสอบ 2 รอบเพื่อพิสูจน์ว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ” ผอ.สบท.กล่าว ด้านผศ.ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการนั้น ทีมสำรวจจะทำหน้าที่เป็นผู้บริโภค ออกสำรวจคุณภาพของบริการจากโทรศัพท์มือถือ ไปยังโทรศัพท์มือถือ เกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจวัด คือ อัตราสายหลุด อัตราการโทรไม่ติดหรือเจอฝากข้อความ อัตราการโทรสำเร็จ เวลาที่ใช้ตั้งแต่กดโทรจนถึงคู่สนทนารับสาย อัตราที่ผู้รับสายไม่สามารถโทรกลับได้ เนื่องจากหน้าจอแสดงเบอร์ผิด หรือไม่แสดงเบอร์ โดยเกณฑ์ทั้งหมดจะสำรวจทั้งจากเครือข่ายเดียวกันและต่างเครือข่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงพื้นที่ไหนสายหลุดบ่อย โทรติดยากด้วย “ทีมสำรวจจะออกทดสอบให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในกรุงเทพมหานครตามเส้นทาง 49 เส้นทาง เช่น ถนนสาธร ถนนพระราม 4 ถนนวรจักร ถนนลาดพร้าว ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง และมีการทำซ้ำบนถนนเส้นเดียวกันไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง รวมการทดสอบ 30,000-40,000 ครั้ง เป็นระยะเวลารวม 20 วันจากนั้นจึงนำผลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้บริโภครับทราบต่อไป “ผศ.ดร.เชาวน์ดิศ กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักข่าวพลเมือง: สนองนโยบายของรัฐชาวบ้านกว่า 700 คน ลงพื้นที่รังวัดที่ดินทำโฉนดชุมชน Posted: 14 Dec 2010 11:06 PM PST
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมา หัวหน้าชุมชนไทรงามพัฒนา นายสมศัก เพชรจุ้ย ตำแหน่งอนุกรรมการแก้ใขปัญหาที่ดิน สปก.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย นำพี่น้องเกษตรกรกว่า 700 คน ลงพื้นที่รังวัดที่ดินเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ในเขตพื้นที่ชัยบุรีปาล์มทอง ตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบจำนวนพื้นที่ที่แท้จริงโดยนำพี่น้องชุมชนไทรงามพัฒนา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ทำการปักป้ายและหลักเขตแสดงอาณาเขตของพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนการจัดสรรที่ทำกินตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ตั้งสภาแรงงานแห่งที่ 13 สร้างคนทำงานรุ่นใหม่-ยกระดับชีวิตคนทำงาน Posted: 14 Dec 2010 10:34 PM PST กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 21 สหภาพแรงงานร่วมกันก่อตั้ง “สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นสภาองค์การลูกจ้างแห่งที่ 13 ระบุเป็นองค์กรสร้างนักสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน
15 ธ.ค. 53 - เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ห้องประชุมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คณะผู้ก่อการสภาองค์การลูกจ้างแรงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (สภ.รส.) นำโดยนายทศพร คุ้มตะโก ประธานผู้ก่อการสภาองค์การลูกจ้างแรงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ได้เข้ารับมอบทะเบียนสภาฯ จากนายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายสุวิทย์ สุมาลา ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ โดยนายทศพร คุ้มตะโก กล่าวว่าการก่อตั้งสภาองค์การลูกจ้างแรงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย แห่งนี้เพื่อเป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิของแรงงาน รวมถึงเป็นการสนับสนุนนักสหภาพแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อคนงาน นายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวกับคณะผู้ก่อการว่าเรื่องแรงงานสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง การดำเนินการด้านแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างจะช่วยประคองให้รอดพ้นสถานการณ์วิกฤตมาได้ รวมทั้งภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญ โดยเมื่อวานนี้ (14 ธ.ค. 53) กระทรวงแรงงานก็ได้เสนอเรื่องอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ต่อคณะรัฐมนตรีและก็ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือแค่การผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ทั้งนี้สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทยถือว่าเป็นสภาองค์กรลูกจ้างแห่งที่ 13 ของประเทศไทย สำหรับสหภาพแรงงานที่ร่วมก่อตั้งสภาฯแห่งนี้มี จำนวน 21 องค์กร ประกอบไปด้วย 1.สหภาพแรงงาน พนักงานไดดอง แห่งประเทศไทย ทะเบียน ชบ.142/2552 มีมติเมื่อ 11 ต.ค.52 2.สหภาพแรงงาน โอวายที ทะเบียน รย. 54/2551 มีมติเมื่อ 28 พ.ย.52 3.สหภาพแรงงาน ฟูรูกาวายูนิค ไทยแลนด์ ทะเบียน รย. 63/2552 มีมติเมื่อ 28 พ.ย.52 4.สหภาพแรงงาน ผู้บังคับบัญชาไอทีเอฟ ทะเบียน รย.11/2547 มีมติเมื่อ 5 ธ.ค.52 5.สหภาพแรงงาน พนักงานไอทีเอฟ ทะเบียน รย.12/2547 มีมติเมื่อ 5 ธ.ค.52 6.สหภาพแรงงาน ซี.เค.ดี.ไทย ทะเบียน ชบ.117/2550 มีมติเมื่อ 20 ธ.ค.52 7.สหภาพแรงงาน ไฮคอม ประเทศไทย ทะเบียน รย. 73/2552 มีมติเมื่อ 5 ม.ค.53 8.สหภาพแรงงาน อาหารสยาม ทะเบียน ชบ.12/2522 มีมติเมื่อ 30 ม.ค.53 9.สหภาพแรงงาน รากแก้วสัมพันธ์ ทะเบียน รย. 41/2550 มีมติเมื่อ 20 ก.พ.53 10.สหภาพแรงงานนิชชิน เอสทีซี ทะเบียน สป. 948 มีมติเมื่อ 14 มี.ค.53 11.สหภาพแรงงาน ที.พี.พี ทะเบียน รย. 48/2550 มีมติเมื่อ 21 มี.ค.53 12.สหภาพแรงงาน ลัคกี้ ยูเนียน ทะเบียน รย. 56/2551 มีมติเมื่อ 28 มี.ค.53 13.สหภาพแรงงาน เมตัลฟา ประเทศไทย ทะเบียน รย.19/2548 มีมติเมื่อ 22 พ.ค.53 14.สหภาพแรงงาน โซนี่ ประเทศไทย ทะเบียน ชบ.113/2550 มีมติเมื่อ 1 ส.ค.53 15.สหภาพแรงงาน ฟิชเชอร์แอนด์พายเคิล ไทยแลนด์ ทะเบียน รย. 85/2553 มีมติเมื่อ 8 ส.ค.53 16.สหภาพแรงงาน เอเวอรี่ ทะเบียน รย. 53/2551 มีมติเมื่อ 12 ส.ค.53 17. สหภาพแรงงาน ไทยยาชิโร่ ทะเบียน ชบ.107/2549 มีมติเมื่อ 15 ส.ค.53 18. สหภาพแรงงาน อิเนอร์ยี ประเทศไทย ทะเบียน รย. 55/2551 มีมติเมื่อ 29 ส.ค.53 19.สหภาพแรงงาน อาซาคาวา ประเทศไทย ทะเบียน รย. 25/2548 มีมติเมื่อ 12 ก.ย.53 20.สหภาพแรงงาน พลังแรงงานไทยวายพีซี ทะเบียน ชบ.173/2553 มีมติเมื่อ 15 ก.ย.53 21.สหภาพแรงงาน เจเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย ทะเบียน ชบ. 99/2549 มีมติเมื่อ 1 ต.ค.53
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น