โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ไทยพรีเมียร์ลีกเตรียมพิจารณาโทษ “นครปฐมเอฟซี” วันนี้ ส่วนพันจ่าเอกชักปืนขู่กลางสนามเข้ามอบตัวแล้ว

Posted: 27 Dec 2010 01:14 PM PST

 
จากกรณี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา แฟนบอลสโมสรนครปฐม เอฟซี เจ้าบ้าน รุมทำร้ายผู้ตัดสินและแฟนบอลทีมศรีสะเกษ เมืองไทย เอฟซี หลังการแข่งขันฟุตบอลเพลย์ออฟ ไทยพรีเมียร์ลีก ที่สนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งการแข่งขันจบลงที่สกอร์ 0-0 โดยระหว่างเกมการแข่งขันผู้ตัดสินต้องแจก 3 ใบแดง จนทำให้นครปฐมเหลือเพียง 9 คน
 
 
ภาพจากรายการข่าว 3 มิติ ที่ถูกนำไปเผยแพร่ใน youtube






ภาพจาก FBSTV: Thai Premier League 2010 รอบ Playoff ทีมนครปฐม เอฟซี-ศรีสะเกษ เมืองไทย เอฟซี
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2553 ใน youtube
 
วานนี้ (27 ธ.ค.53) พ.ต.อ.ประเสริฐ ศิริพรรณาภิรัตน์ ผกก.สภ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน แต่ไม่ถึงกับสาหัสเพราะแพทย์ระบุแล้วว่าสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7 วัน ซึ่งสาเหตุของการใช้กำลังในครั้งนี้น่าจะแฟนบอลนครปฐม เอฟซี ไม่พอใจการตัดสินของกรรมการ
 
"ช่วงบ่ายวันนี้พันจ่าเอก นพพร ศิริรังษี จะมามอบตัวกับทางตำรวจจากกรณีที่ชักปืนขึ้นมาในขณะที่เหตุการณ์กำลังจะชุลมุน พร้อมทั้งพนักงานสอบสวนได้ออกกหมายเรียกอีก 3 คนข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกาย ได้แก่ นายพีระ หรือเอก พิจิตร นายภาคิน หรือจุ๋ม เลิศวิรัตน์ และ นายเปิ้ล ไม่ทราบนามสกุล นอกจากนี้ทางตำรวจกำลังเร่งตรวจสอบภาพวันเกิดเหตุคาดว่าไม่น้อยกว่า10 คนที่ร่วมก่อเหตุ" พ.ต.อ.ประเสริฐ กล่าว
ด้าน ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธาน บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการฟุตบอลไทยเสื่อมลง ส่วนการพิจารณาลงโทษทั้งหมดจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 28 ธ.ค.เวลา 13.00 น. ที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดยนำภาพถ่ายวีดีโอ และภาพนิ่งจากสื่อมวลชนที่บันทึกได้ในวันเกิดเหตุ มาประกอบพิจารณา เบื้องต้นนครปฐมเอฟซี จะต้องโดนปรับเงิน และห้ามแฟนบอลเข้าชมในเกมเหย้าของฤดูกาลหน้า ส่วนจะห้ามกี่นัดจะต้องพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะส่งผลรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณามารยาทของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในวันที่ 4 หรือ 5 มกราคมปีหน้า 
 
ส่วนการแข่งขันฤดูกาลหน้า บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก เตรียมมาตรการให้ทุกสโมสรได้ทำแนวป้องกันไม่ให้แฟนบอลเข้าไปสนามได้ และต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเพิ่มมาตรการบทลงโทษที่หนักขึ้น 
 
ขณะที่นายชูชัย บัวบูชา นายกสมาคมผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทบต่อขวัญกำลังใจของสมาชิกผู้ตัดสินเป็นอย่างมาก และในการประชุมสมาชิก จึงมีมติว่าจะไม่ทำหน้าที่ในทัวร์นาเมนท์ใดๆ ทั้งสิ้นนับแต่บัดนี้ เพราะถือว่าไม่มีความปลอดภัย และหากไม่มีการลงโทษหรือหาคนผิด ผู้ตัดสินจะไม่ลงทำหน้าที่เด็ดขาด
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“องอาจ” เผยทูตญี่ปุ่น ได้ข้อมูล “จตุพร” แต่ยังไม่ปักใจ พร้อมยันรัฐบาลไม่ได้ดึงเรื่องช้า

Posted: 27 Dec 2010 12:36 PM PST

“ทูตญี่ปุ่น” บุกทำเนียบหารือความคืบหน้า คดีนักข่าวญี่ปุ่นเสียชีวิต “องอาจ” แจงคดีนี้ไม่เหมือนคดีปกติ ชี้ความล่าช้าอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมไม่รับปากคดีเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ 

 
วานนี้ (27 ธ.ค.) นายโนบูกิ อิโตะ อัครราชทูตที่ปรึกษาญี่ปุ่นฝ่ายการเมืองประจำประเทศไทย เดินทางเข้าพบนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่นสำนักข่าวรอยเตอร์ ในระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
ภายหลังการเข้าพบ นายองอาจ กล่าวว่า นายอิโตะมาถามความคืบหน้าคดีของคดี นายฮิโระ มูราโมโต้ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นสังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง และยังได้มีการพูดคุยรายละเอียดหลายเรื่อง โดยขอให้เจ้าหน้าที่และส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งรัดติดตามคดีนี้ แต่ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพียงแต่ต้องการอยากให้การดำเนินการในเรื่องนี้ความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น 
 
รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้นายอิโตะฟังถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการชันสูตรศพ และรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งเรื่องข้อมูลต่างๆ ในเรื่องนี้อยู่ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หากต้องการข้อมูลเพิ่มก็ต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็เข้าสู่ศาลและขั้นตอนอื่นๆ ขณะนี้ขั้นตอนต่างๆ ยังอยู่ในกระบวนการ 
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเจ้าหน้าที่มาสอบถามความคืบหน้าในเรื่องคดี ทำไมยังไม่มีความคืบหน้า มีการบอกแต่เพียงว่าคดียังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน นายองอาจ กล่าวว่า ฝ่ายเขาเองก็มีความเข้าใจถึงสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มีความรุนแรงถึงขั้นเผาบ้านเผาเมือง เกิดการโกลาหลอย่างมาก ฉะนั้นโอกาสที่จะรวบรวมข้อมูล จึงไม่เหมือนคดีความตามปกติ ประเด็นนี้เขาก็มีความเข้าใจ แต่ก็แน่นอนที่เขาก็อยากเห็นกระบวนการสืบสวนสอบสวน มีความคืบหน้าและมีการเร่งรัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนก็ได้ยืนยันกับเขาว่ารัฐบาลไม่ได้มีความประสงค์ที่จะไปทำให้เรื่องนี้ล่าช้า เราเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้สูญเสียดีว่า คงไม่อยากให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้น เราก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางญี่ปุ่นพยายามจี้เรื่องนี้มาตลอด เขาถามหรือไม่ว่าคดีนี้เสร็จได้เมื่อไหร่ รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า เขาไม่ได้ขีดเส้นตาย เขาเพียงแต่พยายามย้ำให้เราเข้าใจเขาด้วย
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่การที่คำตอบที่เขาได้รับ แสดงว่าฝ่ายเขายังไม่พอใจ จึงได้มาติดตามจี้ตลอดเวลา นายองอาจ กล่าวยอมรับว่า ก็แน่นอน ตราบใดที่รายละเอียดที่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ปรากฏ ก็จำเป็นต้องหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้ เขาก็คงจะต้องพยายามหาข้อเท็จจริงให้ได้และเร็วมากที่สุด นั่นคือความเห็นของเขา
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ กลุ่ม คนเสื้อแดง นำผลการสอบสวนของดีเอสไอมาเปิดเผย ทำให้ทางญี่ปุ่นออกมาเร่งรัดไทยเรื่องนี้หรือไม่ รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ทางเขาก็ได้พูดกับตนชัดเจนว่า เขาได้รับข้อมูลเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารก็อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่เขามีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้เรียนให้เขาทราบว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานนี้ได้ออกมายืนยันต่อสาธารณชนไปแล้วว่า ข้อมูลที่ทางสถานทูตได้รับจากกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะเขาไม่สามารถไปพิสูจน์เองได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เพราะไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องไปพิสูจน์ตรงนั้น
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำงานของดีเอสไอ มีความคืบหน้าบ้างหรือไม่ หรือมีอุปสรรคอย่างไร นายองอาจ กล่าวว่า ทุกคดีที่เกิดขึ้นจากเหตุวิกฤติทางการเมือง คงไม่ใช่เฉพาะช่างภาพญี่ปุ่นหรือช่างภาพอิตาลี ก็ยังมีคนไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจก็ตาม ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคดีต้องทำข้อเท็จจริง ให้ปรากฏเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีการสั่งห้ามพวกอาสาสมัครที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บ จึงทำให้เรื่องดังกล่าวมีความกำกวมอยู่ในขณะนี้ รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ตนอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรงขณะนั้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะระมัดระวังเรื่องการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียเจ้าหน้าที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายหนึ่งก็ตาม ฉะนั้นการติดตามข่าวสารจะเห็นว่า เจ้าหน้าที่จะต้องประกาศแจ้งให้ทราบ ว่าพื้นที่นั้นๆ ไม่ควรมีบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการก็ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าในสถานการณ์ที่โกลาหล เราไม่สามารถที่จะไประบุชัดเจนได้ว่ากระสุนหรือการทำร้ายซึ่งกันและกันมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทางที่ดี จึงต้องให้กระบวนการในการค้นหาความจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นอย่างไร
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายเราจะไปดำเนินการเร่งรัดคดีที่เขามาถามหรือไม่ เพราะคดีความในบ้านเรายิ่งนานวัน ผู้เสียหายก็ยิ่งเสียประโยชน์ นายองอาจ กล่าวว่า เรื่องนี้ถึงแม้ว่าท่านอัครราชทูตฯ ไม่มาพบตนก็ได้มีการติดตามเรื่องนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา เพราะก็เคยทำงานกับเพื่อนผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นที่ผ่านมาหลายคน เคยทำข่าวภาคสนามกับเขามาก่อน ก็เห็นเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย และยอมรับว่านักข่าวญี่ปุ่น ทำงานในแนวหน้าและเป็นคนที่มีวินัยและตั้งใจในการทำงาน โดยจิตสำนึกของคนที่ทำงานอาชีพนี้มาก่อนและรวมทั้งจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ ก็อยากให้ความจริงในเรื่องนี้ปรากฏเช่นเดียวกัน ก็ได้พยายามอธิบายให้เขาฟัง เขาก็เข้าใจว่าเราได้ติดตามเรื่องมาโดยตลอด
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่กระตือรือร้น เท่าที่ควร แม้แต่ผู้สื่อข่าวของไทยเองก็ไม่ได้รับการเหลียวแล หรือมีคำชี้แจงอะไรที่ชัดเจนว่าใครจะรับผิดชอบ รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าทางญี่ปุ่นไม่ได้เร่งรัด แต่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นว่าคดีดังกล่าว จะเสร็จสิ้นในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า เราคงจะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงตรงนั้นเป็นอย่างไร หรือการดำเนินการสืบสวนสอบสวนติดขัดหรือมีปัญหาอะไร จึงต้องให้เวลากับเจ้าหน้าที่ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลเสียตามมาทีหลังได้ อย่างไรก็ตามบรรยากาศในวันที่พบปะกับที่ปรึกษาอัครราชทูตฯ ในวันนี้เป็นไปด้วยดี และท่านก็ยังยืนยันว่าพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยและรัฐบาลไทยในเรื่องอื่นๆ เช่นเดิม เพราะท่านก็ยืนยันว่าไทยกับญี่ปุ่น เป็นมิตรด้วยกันมาตลอด และยังต้องทำงานร่วมกันต่อไป ซึ่งท่านก็ไม่ได้บอกว่ามีความสงสัยหรือข้องใจอะไร
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้อง "กองทุนยุติธรรม" ช่วยเหลือ "ชาวเล" บ้านราไวย์ ถูกจับข้อหาล่าสัตว์น้ำในเขตอุทยาน

Posted: 27 Dec 2010 11:45 AM PST

 
วานนี้ (27 ธ.ค.53) มูลนิธิชุมชนไท ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ขอให้มีการสนับสนุนช่วยเหลือชาวเลที่ถูกดำเนินคดี จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ชาวเล บ้านราไวย์ และบ้านสิเหร่ จ.ภูเก็ต ได้เข้าทำการประมงบริเวณทะเลหน้านอก เขตจังหวัดสตูล และถูกเจ้าหน้าที่อุทยานหาดเจ้าไหม แจ้งจับดำเนินคดี ข้อหานำเครื่องมือล่าสัตว์/อาวุธ เข้าไปในเขตอุทยานและนำสัตว์น้ำออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 17 คน
 
หนังสือดังกล่าวระบุข้อโต้แย้งต่อการจับกุมดังกล่าวว่า ชาวเลได้ทำการจับสัตว์น้ำนอกเขตอุทยาน โดยสัตว์น้ำที่ยึดได้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั่วไปไม่ใช่ประเภทที่ประกาศหวงห้าม และได้มีการนำสัตว์น้ำขึ้นบริเวณท่าเรือชั่วคราวบ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้กันอยู่เป็นประจำแต่อุทยานมาประกาศทับพื้นที่ภายหลัง อีกทั้งยังระบุว่ามีการข่มขู่เรียกเก็บเงินจากชาวเล
 
นอกจากนี้ยังได้ อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามข้อเสนอกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่เสนอให้ผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมงที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์อื่นๆ และกันพื้นที่จอด ซ่อมเรือ เส้นทางเข้า-ออกเรือ เนื่องจากส่วนมากทับซ้อนพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวมีความขัดแย้งกันเป็นระยะ
 
“การดำเนินคดีต่อชาวเล ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่มีวิถีหาอยู่หากินในทะเลอันดามัน มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์/เขตอุทยาน ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิม รวมทั้งมีความละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน เพราะชาวเลเป็นกลุ่มคนยากจน เปราะบาง ไม่มีความรู้เรื่องในข้อกฎหมาย ระเบียบ สิทธิพึ่งมี และมีข้ออ่อนด้านการสื่อสารภาษา ฯลฯ จึงเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเข้าทำการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน” หนังสือระบุ
  
ทั้งนี้ รายชื่อชาวเลที่ถูกจับดำเนินคดี ประกอบด้วย 1.นายสุจิน ประมงกิจ 2.นายวิลาบ ประมงกิจ 3.นายจ้อน ประมงกิจ 4.นายสุวิน ประมงกิจ 5.นายบุญน้อย ประมงกิจ 6.นายกันต์ ประมงกิจ 7.นายกัมพล ประมงกิจ 8.นายชาญชัย ประมงกิจ 9.นายอาจินต์ ประมงกิจ 10.นายศรี ประมงกิจ 11.นายบุญดีประมงกิจ 12.นายบุญเทิดประมงกิจ 13.นายวิโรจน์ ประมงกิจ 14.นายหมัดหลีประมงกิจ 15.นายวิรัตน์ประมงกิจ 16.นายอนุสรณ์ประมงกิจ 17.นายสุริยะ สุทธิพันธ์
 
หนังสือดังกล่าวระบุรายละอียดดังนี้
 
 
ที่ มชท. 533 / 2553
 
                                                                         วันที่ 27 ธันวาคม 2553
 
เรื่อง ขอสนับสนุนช่วยเหลือชาวเลถูกดำเนินคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
 
เรียน  ประธานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
 
สิ่งที่แนบมาด้วย  มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามข้อเสนอกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน 2553
 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2553 ชาวเล บ้านราไวย์ และ บ้านสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต เข้าทำการประมงบริเวณทะเลหน้านอก เขตจังหวัดสตูล และถูกเจ้าหน้าที่อุทยานหาดเจ้าไหม แจ้งจับดำเนินคดี ข้อหานำเครื่องมือล่าสัตว์ / อาวุธ เข้าไปในเขตอุทยานและนำสัตว์น้ำออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 17 คน (รายชื่อตามแนบท้าย)
 
ซึ่งในข้อเท็จจริงชาวเลกลุ่มดังกล่าว มีข้อโต้แย้งดังนี้ 1).ได้ทำการจับสัตว์น้ำนอกเขตอุทยาน 2).สัตว์น้ำที่ยึดได้ 2 ชนิด คือ หอยหน้ายักษ์หรือหอยสังข์หนาม และหอยสังข์แดง หรือหอมปูหนำ หรือ หอยหอม เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั่วไปไม่ใช่ประเภทที่ประกาศหวงห้าม 3).ชาวเลนำสัตว์น้ำขึ้นบริเวณท่าเรือชั่วคราวบ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้กันอยู่เป็นประจำแต่อุทยานมาประกาศทับพื้นที่ภายหลัง 4). มีการข่มขู่เรียกเก็บเงินจากชาวเล  
 
รวมทั้ง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติ โดยมีสาระสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการประกอบอาชีพชาวเล ดังนี้ (รายละเอียดตามแนบ )
 
“มติ ครม.ข้อ 1.2 การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ ได้ และเสนอ ผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมงที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์อื่นๆ และกันพื้นที่จอด ซ่อมเรือ เส้นทางเข้า-ออกเรือ เนื่องจากส่วนมากทับซ้อนพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวมีความขัดแย้งกันเป็นระยะ รวมถึงการควบคุมเขตการทำประมงอวนลากและอวนรุนให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างแท้จริง (รุกล้ำเขตประมงชายฝั่ง) – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)”
 
อนึ่ง การดำเนินคดีต่อชาวเล ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่มีวิถีหาอยู่หากินในทะเลอันดามัน มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ / เขตอุทยาน ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิม (สถาบันวิจัยจุฬา ฯ ระบุชาวเลอาศัยมากกว่า 300 ปี) รวมทั้งมีความละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน เพราะชาวเลเป็นกลุ่มคนยากจน เปราะบาง ไม่มีความรู้เรื่องในข้อกฎหมาย ระเบียบ สิทธิพึ่งมี และมีข้ออ่อนด้านการสื่อสารภาษา ฯลฯ จึงเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเข้าทำการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


ขอแสดงความนับถือ


นางปรีดา คงแป้น
คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป
                                        ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท                                      
 
รายชื่อชาวเลถูกจับดำเนินคดี
1.นายสุจิน ประมงกิจ   2.นายวิลาบ ประมงกิจ 3.นายจ้อน ประมงกิจ  
4.นายสุวิน ประมงกิจ    5.นายบุญน้อย ประมงกิจ 6.นายกันต์ ประมงกิจ
7.นายกัมพล ประมงกิจ  8.นายชาญชัย ประมงกิจ  9.นายอาจินต์ ประมงกิจ  
10.นายศรี ประมงกิจ   11.นายบุญดีประมงกิจ 12.นายบุญเทิดประมงกิจ
13.นายวิโรจน์ ประมงกิจ 14.นายหมัดหลีประมงกิจ  15.นายวิรัตน์ประมงกิจ 
16.นายอนุสรณ์ประมงกิจ 17.นายสุริยะ สุทธิพันธ์
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เที่ยวนอกช่วงปีใหม่ ระวัง! หมดสนุกเพราะค่าโรมมิ่ง

Posted: 27 Dec 2010 11:09 AM PST

สบท.เตือน พกมือถือเที่ยวเมืองนอก-เมืองชายแดนช่วงปีใหม่ ระวังการใช้บริการโรมมิ่ง มิเช่นนั้นอาจต้องจ่ายเงินอาน แนะควรเลือกเปิดบริการเท่าที่จำเป็น รู้เท่าทันเครื่องที่ใช้ ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

 
สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เผยแพร่ข้อมูล เตือนคนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือบริเวณจังหวัดชายแดนต่างๆ หากเคยสมัครใช้บริการโรมมิ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างประเทศไว้ ควรสอบถามและตรวจสอบกับเครือข่ายที่ใช้บริการก่อนว่า บริการโรมมิ่งที่เปิดไว้ครอบคลุมด้านใดบ้าง เช่น การโรมมิ่งเสียง โรมมิ่งดาต้า โรมมิ่งเอสเอ็มเอส และควรกำหนดการใช้ตามความจำเป็น โดยสามารถเลือกปิดบริการที่ไม่จำเป็น เช่น ขอโรมมิ่งเฉพาะเสียง แต่ปิดเอสเอ็มเอสและดาต้าหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
 
ข้อมูลของ สบท.ระบุด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการถูกเรียกเก็บค่าบริการการใช้บริการโรมมิ่งในอัตราที่สูงมาก ทั้งที่ไม่มีการใช้งาน หรือใช้งานเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะในส่วนของการโรมมิ่งดาต้า หรือการเปิดบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ให้บริการจะเปิดให้เลย ขณะที่โทรศัพท์รุ่นใหม่จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอัตโนมัติ และบางกรณีเลือกเชื่อมสัญญาณที่ดีที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่เครือข่ายที่มีการทำข้อตกลงกับเครือข่ายผู้ให้บริการทางเมืองไทย 
 
“ใครที่เปิดโรมมิ่งเที่ยวต่างประเทศ ให้ระบุว่าจะเปิดบริการ GPRS ด้วยหรือไม่ ส่วนใครที่ต้องการใช้โรมมิ่งจริงๆ ให้เลือกแพ็คเกจราคาพิเศษ ทั้งการโทรและการต่อเน็ต เพราะหากไม่เลือกแพ็คเกจพิเศษ ค่าบริการจะแพงมาก และให้ตรวจสอบการจำกัดวงเงินการใช้งานด้วย เพราะบางเครือข่ายจำกัดวงเงินการใช้ในต่างประเทศได้ บางเครือข่ายจำกัดไม่ได้ ทำให้บางรายโดนเรียกเก็บค่าใช้อินเตอร์เน็ตในต่างประเทศนับแสนบาท” นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท.กล่าว
 
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ สบท.เพิ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศและได้สมัครใช้บริการโรมมิ่งในแพคเก็จการใช้งานแบบไม่จำกัด แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อกลับมาและได้รับบิลเรียกชำระค่าบริการเป็นเงินมากกว่า 300,000 บาท นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้ใช้บริการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และได้รับเอสเอ็มเอสรบกวน ซึ่งถูกเรียกเก็บค่ารับเอสเอ็มเอสในภายหลังด้วย
 
ปัญหาการโรมมิ่งยังเกิดขึ้นในกรณีของผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุระบริเวณชายแดนภายในประเทศ หากมีการสมัครบริการโรมมิ่งไว้ก่อนและตัวเครื่องตั้งระบบเชื่อมต่อสัญญาณอัตโนมัติ ทำให้เครื่องโทรศัพท์จับสัญญาณของประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นต้องเสียค่าโทรในอัตราต่างประเทศโดยไม่รู้ตัว
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่างๆ เหล่านี้ สบท. จึงแนะนำว่า หากไม่จำเป็นต้องใช้บริการใดในระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรแจ้งระงับกับเครือข่ายผู้ให้บริการก่อนออกเดินทาง และที่สำคัญต้องเข้าใจระบบการทำงานของเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ตัวเองใช้อยู่ รวมถึงต้องตรวจสอบเกี่ยวกับบริการโรมมิ่งของเครือข่ายที่ใช้บริการ เพราะในปัจจุบัน สำหรับเครือข่ายดีแทคจะคิดค่าบริการทันทีเมื่อมีสายเรียกเข้า แม้จะไม่มีการรับสายก็ตาม หรือหากมีการโทรออกแม้จะไม่มีผู้รับสาย ผู้ใช้บริการก็ต้องเสียค่าโทรศัพท์ขั้นต่ำ 1 นาที แต่สำหรับเครือข่ายอื่น เช่น เอไอเอสและทรูมูฟ จะไม่คิดค่าบริการหากไม่มีการรับสาย ยกเว้นถูกตัดสัญญาณเข้าบริการรับฝากข้อความ ดังนั้นผู้ใช้บริการเอไอเอสและทรูมูฟจึงควรยกเลิกการใช้บริการรับฝากข้อความก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น
 
ส่วนผู้เดินทางไปใกล้ชายแดน ให้ตรวจสอบด้วยว่า สัญญาณโทรที่ใช้อยู่ตอนนั้นเป็นสัญญาณของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ หรืออาจป้องกันปัญหาด้วยการปิดระบบการเชื่อมต่ออัตโนมัติ เลือกตั้งเป็นระบบการเลือกเครือข่ายด้วยตัวเอง หรือโทรไประงับบริการโรมมิ่งในขณะที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ
 
“ขณะนี้อยู่ในช่วงเทศกาลของการพักผ่อนวันหยุดและการเดินทาง จึงอยากให้ผู้ใช้บริการมือถือระมัดระวังในการใช้บริการโรมมิ่งและการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะอาจทำให้เราหมดสนุก เมื่อกลับมาแล้วพบว่า ถูกคิดค่าโทรแพงมากแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว” ผอ.สบท.กล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผย 10 รายชื่อ ยื่นซื้อซอง 3จี ทีโอที

Posted: 27 Dec 2010 07:50 AM PST

ปิดซื้อซอง 3จี ทีโอทีคึกคัก ยอดจ่อประมูล 10 ราย วางกรอบยื่นซองพร้อมกันทุกรายวันที่ 10 ม.ค.54 ตั้งแต่ 9.00 น.-12.00 น.เคาะราคาการประมูลด้วยวิธีอิเลคทรอนิกส์ วันที่ 28 ม.ค.54 คาดทำสัญญาวันที่ 15-18 ก.พ.54

 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันปิดขายซองประมูลโครงการจัดสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิร์ตซ หลังจากเปิดขายซองมาตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 14 วัน ปิดซื้อซองในเวลา 16.30 น.
 
ทั้งนี้ มีบริษัทเอกชนมาซื้อซองเทคนิคมูลค่า 5 แสนบาท เพื่อเข้าร่วมประกวดราคาโครงการจัดสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ทีโอที ทั้งหมด 10 ราย ได้แก่ 1.บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท แซดทีอี (ประเทศไทย) จำกัด 3.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท อิริคสัน ประเทศไทย จำกัด 5.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟรเมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอที 6.บริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด 7.บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด 8.บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท ยูคอม และ 10.บริษัท จัสมิน อินเตอร์เน็ต จำกัด
 
ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมประมูลโครงการ 3 จีทีโอที ต้องซื้อซองประกวดราคา 5 แสนบาท และต้องมีการค้ำประกันซอง 3 % ของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 572 ล้านบาท ของมูลค่าโครงการ 17,440 ล้านบาท โดยทีโอทีได้กำหนดให้ยื่นซองพร้อมกันทุกรายในวันที่ 10 ม.ค.2554 ตั้งแต่ 9.00 น.-12.00 น. โดยจะเคาะราคาการประมูลด้วยวิธีอิเลคทรอนิกส์ หรือ อี-อ๊อคชั่น ในวันที่ 28 ม.ค. 2554 โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถทำสัญญาได้ประมาณวันที่ 15-18 ก.พ.54 โดยโครงการขยายโครงข่าย 3จีดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบจำนวน 19,980 ล้านบาท แบ่งเป็นการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง 17,440 ล้านบาท อัพเกรดโครงข่ายเดิมของบริษัท เอซีที โมบาย จากระบบ 2จี เป็น 3จี ประมาณ 2,000 ล้านบาท และงบสำรอง 540 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ รายละเอียดของทีโออาร์สำคัญของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าประกวดราคา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.บริษัทที่จดทะเบียนในไทยสามารถเข้ายื่นซองได้เลยเป็นบริษัทเดียว หรือ ร่วมกับกิจการร่วมค้าคอนเซ้าส์เตียมกับบริษัทต่างชาติ แต่ตั้งมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทขึ้นไป 2.หากเป็นบริษัทต่างชาติประสงค์เข้ายื่นซองประกวดราคา ไม่สามารถเข้ายื่นซองลำพังได้ ต้องมีพันธมิตรหรือกิจการร่วมค้าบริษัทไทยอย่างน้อย 1 บริษัท โดยบริษัทได้ต้องมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทขึ้นไปด้วย 
 
สำหรับขอบเขตงานโครงการ 3จี ทั่วประเทศ แบ่งการเปิดบริการ 3จี ออกเป็น 3 ระยะ โดยการติดตั้งระยะแรกในพื้นที่ปริมณฑล 4 จังหวัด และระยะสอง 13 จังหวัดเศรษฐกิจ เช่น ชลบุรี ระยอง สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และหนองคาย จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายใน 180 วันนับจากวันที่เซ็นสัญญา ขณะที่ระยะสุดท้ายจะขยายอีก 59 จังหวัด ภายใน 360 วัน
 
ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ ทีโอที กล่าวว่า มั่นใจว่าการดำเนินการน่าจะแล้วเสร็จตามกรอบที่วางไว้ โดยขณะนี้มีผู้สนใจร่วมเข้าซื้อซองประกวดราคาเป็นจำนวนหลายราย ในขณะเดียวกัน จากการที่ประกาศร่างเงื่อนไขการประมูล หรือ ทีโออาร์ ออกไป การหาแหล่งเงินกู้นั้นได้มีหลายธนาคารได้ให้ความสนใจและยื่นข้อเสนอเข้ามาด้วยเช่นกัน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'แม่น้องเกด'นำทีมบุก สตช.จี้เร่งคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ตามสำนวนดีเอสไอภายใน 15 วัน

Posted: 27 Dec 2010 07:25 AM PST

27 ธ.ค.53  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด จะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในวันพรุ่งนี้ (28 ธ.ค.)เวลา 10.00 น.เพื่อยื่นหนังสือให้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกร้องให้ สตช.เร่งรัดในการดำเนินการคดีสังหารประชาชนภายในวัดปทุมฯ เมื่อ 19 พ.ค. ภายใน 15 วัน เนื่องจากได้เห็นเอกสารสำนวนคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว และดีเอสไอก็ได้เสนอความเห็นให้ส่งให้ทาง สตช.ดำเนินการตามป.วิอาญา มาตรา 150 เช่นกัน ในฐานะญาติของผู้เสียชีวิตจึงต้องการเร่งรัดให้ สตช.ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 15 วัน

รายงานข่าวแจ้งว่าหลังเสร็จสิ้นจากการยื่นหนังสือ นางพะเยาว์และญาติผู้เสียชีวิต จะเดินทางไปให้กำลังใจนายจตุพร พรหมพันธ์ ที่ศาลอาญา ตามที่ดีเอสไอมีกำหนดจะไปยื่นถอนประกันตัวนายจตุพร

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงาน สอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวง สาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกราย ละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ แจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงาน ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการ ชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปตาม มาตรา 156

ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการ ชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบ สวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความ ควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้ พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัด อำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิก ศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำ บทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวันแต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้ง ไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำ คำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่ สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็น ผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ สำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และ วรรคห้า ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ

ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่ จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาล หรือญาติของ ผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัด ไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐาน ทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ

เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่น คำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และ นำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิ แต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับ การแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้น เพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย

เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะ เรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความ เห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้ นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

คำสั่งของศาลตาม มาตรานี้ ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึง สิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงาน อัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้อง หรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น

เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยัง พนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

แพทย์ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตาม มาตรานี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความ เห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรนี้ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้ง ตาม มาตรา 173

 

หมายเหตุมาตรา 150 วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปวิอ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2542
มาตรา 150 วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปวิอ. (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2551

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีจับตากองทุนสื่อฯ เสนอ 4 ประเด็นผลักดันกองทุนสื่อสร้างสรรค์

Posted: 27 Dec 2010 07:16 AM PST

 

 
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในการระดมความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนสื่อจากภาคประชาชน โดยในเวทีสาธารณะ “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาได้ข้อสรุปร่วมกัน 4 ประเด็น คือ 
 
ประเด็นแรก การเข้าถึงเจตนารมณ์และฐานะของกองทุนสื่อฯ เห็นตรงกันว่า กองทุนสื่อฯ จะไม่ใช่กองทุนในความหมายแบบเดิมที่เข้าใจกันว่าทำหน้าที่เพียงแจกเงินหรือแจกทุน แต่กองทุนสื่อฯ คือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม นำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ในสังคมหรือการนำพาสังคมไปสู่ช่องทางใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับรู้ สร้างสื่อทางปัญญาที่ดี 
 
“สถานะกองทุนสื่อฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน่วยงานที่คัดเลือกหรือจัดสรรสื่ออีกต่อไป ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ทำงานเชิงรุก ในลักษณะหลายอย่าง เช่น สำรวจสื่อทุกประเภท การบริโภคสื่อ การรับสื่อต่างๆ และสร้างสรรค์ให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและแม้แต่ในเชิงของการพัฒนานโยบาย ไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสื่อสร้างสรรค์”
 
ประเด็นที่สอง กองทุนสื่อฯ ทำให้เกิดอะไร ทุกกลุ่มมองร่วมกันว่า ทำให้เกิดกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ยั่งยืนและต่อเนื่อง อาทิ สร้างชุมชนเข้มแข็ง เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เกิดความภาคภูมิใจ อัตลักษณ์ ตัวตน และทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เกิดการจัดการโดยชุมชน ซึ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของกองทุนสื่อ นอกจากนี้กองทุนสื่อฯ ทำให้ เกิดความรู้ นวัตกรรม ไม่ว่าในฐานะที่ตัวเองเป็นศูนย์รวบรวมความรู้ งานวิจัย สร้างนวัตกรรม จัดการความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ ฯลฯ ทำให้ เกิดสื่อสร้างสรรค์ เกิดขึ้นและ เกิดการกระจายสื่อในราคาถูก สร้างโอกาสการเข้าถึงสื่อประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสื่อพื้นบ้านหรือสื่อทางเลือก และ เกิดการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เช่น ผู้ผลิตสื่อสามารถอบรมร่วมกับเยาวชน ร่วมเรียนรู้การทำงานและสุดท้ายกองทุนนี้จะทำให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง 
 
ประเด็นที่สาม การเข้าถึงและการมีส่วนร่วม หากเกิดกองทุนสื่อฯ อยากให้เกิดการกระจายการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ กำหนดสัดส่วนให้พอเหมาะ โดยเฉพาะให้กับกลุ่มที่อาจไม่เคยมีโอกาสและเข้าไม่ถึง รวมไปถึงการออกแบบเงื่อนไขการเข้าถึงเอกสารสัญญาต่างๆ เช่น ออกแบบเอกสารสัญญาตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงความหลากหลายของทุกกลุ่ม แม้แต่เราพูดถึงเด็กพิการเองก็มีหลายประเภท กองทุนสื่อฯจะคำนึงถึงความหลากหลายและการเป็นตัวแทนของทุกกลุ่ม และต้องให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข กำหนดหลักเกณฑ์ของกองทุนและที่ขาดไม่ได้คือ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย รวมทั้งการทำงานต่างๆ ต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรู้ทั่วถึงว่ามีกองทุนสื่อฯ และจะเข้าถึงกองทุนสื่อได้อย่างไรบ้าง 
 
ประเด็นสุดท้าย มีการตั้งข้อสังเกตในร่างพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ที่มีส่วนแก้ไขในชั้นของกฤษฎีกาขณะนี้ ประเด็นหลักๆ ที่กล่าวถึงคือ จะทำให้กองทุนนี้มีอิสระได้อย่างไร “ถ้าโครงสร้างกรรมการแค่มีนายกฯ เป็นประธานก็อาจไม่อิสระแล้ว จึงปรับโครงสร้างกรรมการและตัวกลไกล พ.ร.บ.ให้คล่องตัว และที่สำคัญให้มีตัวแทนสื่อเข้าไปมีส่วนในโครงสร้างกรรมการได้อย่างไร ไม่ใช่ให้ภาคราชการและนักวิชาการเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก อันนี้เป็นข้อสังเกต ส่วนเรื่องแหล่งทุน ขยายเพิ่มเติมว่าไม่ใช่ให้ผูกแค่แหล่งทุนใดแหล่งทุนหนึ่งแต่อาจเขียนให้ชัดเรื่องการบริจาคและการหักลดภาษี เป็นต้น
 
ด้าน ศ.เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาโครงการจับตากองทุนสื่อฯ และ อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวว่า สำหรับพ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ ขั้นตอนที่จะไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ชะงักงันนาน เกินไป ต้องทำสองอย่างคือ เร่งรัดให้ร่างกฎหมายนี้ไปออกจากคณะกรรมาการกฤษฎีกากลับมาที่คณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และให้ครม.นำเสนอต่อสภาผู้แทนฯ รับหลักการไว้เลย กับอีกอย่าง คือ มีการนำเสนอ ร่างกฎหมายใหม่เข้าสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป 
 
การบริหารจัดการกองทุนฯ ยังมีประเด็นแก้ไขพอสมควร ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์ การบริหารจัดการกองทุน แหล่งที่มาของกองทุน วิธีจัดสรรกองทุนให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากที่สุดเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันต่อไปและไม่หยุดอยู่แค่นี้ รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนฯ ถูกหลักการมากที่สุด คือ เสนอวิธีที่จะให้กองทุนอยู่ได้ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ อาจให้มีการรับบริจาคและสามารถนำมาหักภาษีได้ เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาสนับสนุน และต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสื่ออินเทอร์เน็ตหรือโทรคมนาคมอื่นๆ ต้องคิดว่ากองทุนสื่อฯจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น 
 
ศ.เศรษฐพร กล่าวด้วยว่า การทำรายการเพื่อเด็กและเยาวชนสามารถคู่ไปกับการพาณิชย์ได้ โดยสามารถทำโฆษณาดีๆ สำหรับเด็กซึ่งก็น่าจะไปกันได้ และสื่อกระแสหลักทีวีบางช่องก็เริ่มมีให้เห็น นอกจากนี้อยากให้มองไปที่เคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศและถูกมองว่ามีแต่รายการ “เน่า” นั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะเขาไม่มีรายการดีๆ ไปออก นี่จึงเป็นโอกาสหากกองทุนทำให้เกิดรายการดีๆก็สามารถไปเผยแพร่ในช่องทางเหล่านี้ได้
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฉนดชุมชนกับวังวน... ชีวิตไทยพลัดถิ่น

Posted: 27 Dec 2010 06:47 AM PST

ทันทีที่อ่านข้อความที่ส่งมาจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชนเสร็จสรรพ นางทม สินสุวรรณ หรือมะทม หญิงชราอายุ ๕๖ ปี ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความผิดหวังหลังจากที่รู้ว่า ชุมชนบ้านยางคต ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของสำนักงานโฉนดชุมชนด้วยเหตุผลของข้อมูลบางอย่างไม่สมบูรณ์ตามเกณฑ์ และมีชาวบ้านออกมาค้าน แม้จะรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าโอกาสที่ชุมชนดังกล่าวจะผ่านนั้นมีน้อย เพราะเงื่อนไขหลายอย่างของการพิจารณาปิดโอกาสของคนไทยพลัดถิ่นไปแล้ว แต่นางก็ยังหวังลึกๆ ว่าคณะกรรมการที่เคยลงมาเมื่อหลายเดือนก่อนจะเข้าใจข้อจำกัดของชุมชนคนไทยพลัดถิ่น จะเข้าใจบริบทของการดำรงอยู่ในพื้นที่การถูกดูเหยียดหยามที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของคนในชุมชนเดียว จึงไม่แปลกที่น้ำตาอันต่ำต้อยจึงพร่างพรูออกมาอย่างไม่อายคนรอบข้าง
 
ถนนแคบๆ โปรยด้วยหินหยาบซึ่งข้างทางมีต้นกาหยูและต้นปาล์มเป็นฉากประดับพาเราไปท้ายสุดของชุมชนอันเป็นบริเวณที่ตั้งที่ท่าเรือ ซึ่งชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่าบริเวณท่าเรือของชุมชนยางคต ที่ดิน ๑ ไร่ ๒งาน บ้านที่ไม่รู้จะเรียกว่าบ้านได้หรือเปล่าเพราะสภาพมันดูเพิงมากกว่าซึ่งคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ ๑๖ หลังคาเรือน เป็นพื้นที่ๆ ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวยื่นเพื่อขอเป็นโฉนดชุมชน
 
“ฉันว่าหวังมันจะเป็นผืนดินที่ฝังหน้าและอยู่ได้จนชั่วลูกชั่วหลาน” มะทมกล่าวประโยคแรกด้วยเสียงสะอื้น
 
นางเล่าย้อนให้ฟังว่า เมื่อ ๕๐ ปีก่อนชุมชนบ้านยางคต ที่บริเวณนี้เป็นป่ารกร้าง มีนายหมาดเส็น นายโต๊ะดลและนายยาย่า ชาวประมงได้เข้ามาจับจองที่ทำกินและตั้งบ้านเรือนเป็นครอบครัวแรกๆ โดยยึดอาชีพประมงชายฝั่ง ประเภท ลอบปูดำ อวนปลาทราย อวนถ่วง อวนปลากระบอก หากุ้งเคยทำกะปิ หาเก็บหอยตามป่าชายเลนและเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน
 
ต่อมาที่บริเวณท่าเรือยางคต ครอบครัวนางติ่ง รขันโท ได้เข้ามาตั้งบ้านเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยได้ขออนุญาตผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้สะดวกต่อการประกอบอาชีพประมง บริเวณท่าเรือยางคต ประมาณ ๒๐ ปีก่อน ซึ่งเดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่รกร้างใช้เป็นท่าเรือ ต่อมาเมื่อทางหน่วยงานราชการมาปรับพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยได้และประกาศว่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ไม่มีสิทธิ์ซื้อขาย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ นายผาด นาวาลอย คนไทยพลัดถิ่นสามีของนางได้เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อตั้งบ้านเรือน ก่อนชาวบ้านได้ทยอยมาสร้างบ้านอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นท่าเรือที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนชื่อเรียกว่าท่าเรือยางคตนั้นนางบอกว่าเรียกชื่อตามลักษณะตนยางในพื้นที่ เมื่อสมัยก่อนต้นยางที่มีลักษณะคดโค้งชาวบ้านเลยเรียกชื่อตามลักษณะของต้นยาง
 
“เมื่อก่อนที่ตรงนี้อยู่กันไม่มากมีไม่กี่หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นญาติๆ กัน เป็นลูกเป็นหลาน พอมีลูกก็แยกครอบครัวปลูกป่าอยู่ใกล้ๆ กัน พอได้ทำมาหากินไปวันๆ ตามประสาคนจน” นางเล่าต่อก่อนจะลงรายละเอียดถึงการต่อสู้เรื่องของที่ดิน
 
หากพิจารณาแล้วรอบๆ พื้นที่นำเสนอโฉนดชุมชนนั้นรอบด้านเป็นสวนปาล์มของนายทุน และด้านหน้าเป็นท่าเรือ ส่วนบ้านนั้นก็แอดอัดกันแนวซึ่งเมื่อวัดผืนที่แต่ละครัวแล้วมีคนละไม่กี่ตารางวาเท่านั้น
 
“ที่ตรงนี้มีทั้งหมด ๑๖ หลัง แต่เข้าร่วมโฉนดชุมชน ๑๑ หลัง รวมคนแล้ว ๔๒ คน เมื่อก่อนที่จะมีนโยบายโฉนดชุมชนออกมานั้น ทางกลุ่มก็ต่อสู้เรื่องที่ดินมาตลอด มีการรวมตัวกันทำผังชุมชน ทำข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการที่จะยืนยันถึงสิทธิที่อยู่อาศัย เดินทางไปประชุมตามเวทีต่างๆ มากมายเพื่อไปสร้างความเข้าใจและทำให้สังคมเห็นว่า เราอยู่มานาน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะยึดโยงในอนาคตได้เลยว่า เราจะไม่ถูกไล่ที่หรือทางการจะย้ายเราไปไหน” มะทมเล่าต่อ
 
“ฉันและครอบครัวฉันเป็นสมาชิกในเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ประจวบฯ มาตั้งแต่ปี ๔๕ รวมตัวกันเรียกร้องเรื่องสัญชาติและทำเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยควบคู่กันไปด้วย เพราะเราคิดว่าเมื่อได้สัญชาติไทยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะสุขสบายไปด้วย” มะทมกล่าวด้วยสีหน้าอิดโรย
 
ขณะเดียวกันหลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายโฉนดชุมชนออกมาเพื่อไขปัญหาที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ทับซ้อนในที่รัฐแล้ว ชุมชนยางคตก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ยื่นขอโฉนดชุมชน และเป็นพื้นที่นำร่องในจังหวัดระนอง แต่เนื่องด้วยโฉนดชุมชนเป็นเรื่องใหม่และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวมีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่จึงทำให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายทุนรอบพื้นที่ และชาวบ้านบางส่วนได้ออกคัดค้านการที่จะออกเป็นโฉนดชุมชน
 
“เพราะเรามันคนไทยพลัดถิ่น คิดจะทำอะไรกับเราก็ได้ แค่เพียงผืนดินเล็กๆ ที่ได้อาศัยอยู่กับครอบครัวก่อนตาย เขายังออกมาคัดค้าน ทั้งๆ ที่ฉันพยามอธิบายกับผู้ใหญ่บ้านหลายครั้งแล้วว่า โฉนดชุมชนเป็นแค่การรับรองสิทธิให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยได้ชั่วลูกชั่วหลาน ไม่สามารถซื้อขายหรือเอาเข้าธนาคารได้ เขายังไม่เชื่อ พยามปลุกชาวบ้านว่าเราจะมายึดที่ดังกล่าวแล้วชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปในท่าเรือได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลย แล้ววันที่คณะกรรมการลงมาในพื้นจริง ทางคณะกรรมการก็ได้อธิบายหลักการของโฉนดชุมชนไปแล้ว แต่ยังมีการข่มขู่ว่าถ้าที่ตรงนี้ออกโฉนดชุมชนจะพาชาวบ้านออกมาคัดค้าน จะไล่พวกฉันคนไทยพลัดถิ่นออกจากชุมชน ทั้งๆ ที่ตรงนี้เป็นที่รัฐไม่สามารถซื้อขายได้อยู่แล้ว” มะทมลากยาวระบายความรู้สึก
 
ยังมีอีกหลายพื้นที่ในเครือข่ายที่อยู่ในลักษณะเดียวกันกับชุมชนบ้านยางคตที่พอรู้ว่าจะทำโฉนดชุมชนก็มีทั้งผู้ใหญ่บ้านหรือนายทุนที่หวังจะฮุบที่รัฐ ออกมาคัดค้านและข่มขู่ชาวบ้านทำให้บางที่ไม่สามารถจะดำเนินการทำโฉนดชุมชนได้ 
 
“มีหลายพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์จะดำเนินการโฉนดชุมชนได้แต่พอเกิดเหตุการณ์การข่มขู่ ชาวบ้านก็ถอดใจ” 
 
“ขนาดข้าวสารพระราชทาน ที่ลงมาแจกให้ชาวบ้านเจ้าหน้าที่ยังเลือกปฏิบัติให้เฉพาะคนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น ถามว่าพวกผมก็เป็นคนไทยเหมือนกันไหม ถามว่าคนไทยพลัดถิ่นหิวไม่เป็นหรืออย่างไร นับประสาอะไรกับโฉนดชุมชนที่หลักเกณฑ์จำกัดสิทธิของคนไทยพลัดถิ่นอยู่แล้ว แค่เราอยู่ในพื้นที่ก็ยากลำบากแล้วโดนกีดกัน โดนรังเกียจเหยียดหยามตลอดเวลา เรื่องไหนที่พอคนไทยพลัดถิ่นลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเองก็จะถูกตั้งแง่อยู่ตลอดเวลา” ใครคนหนึ่งโพล่งกลางวงด้วยอารมณ์ขุ่นมัว 
 
ขณะเดียวกับนายอนันทชัย วงศ์พฆัคร หนึ่งในคณะทำงานโฉนดชุมชนภาคใต้ ได้ออกความเห็นว่า “กรณีพื้นที่คนไทยพลัดถิ่นคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนควรที่จะเข้าใจบริบทการดำรงอยู่ให้ชัดเจนในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งต้องยอมรับว่าชุมชนที่คนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่นั้นมักถูกมองไปในด้านลบ การที่มีบางส่วนที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านนั้นเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจและทัศนคติด้านลบ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ฉะนั้นหลักเกณฑ์ควรที่จะมีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะบรรลุในการแก้ปัญหาเรื่องนี้” 
 
“ถึงแผ่นดินตรงนี้ไม่สามารถเป็นโฉนดชุมชนได้ ฉันและลูกหลานฉันจะขออยู่ที่นี่ จะไม่ไปไหน เพราะไม่รู้จะไปอยู่ไหนแล้ว พม่าไล่เราให้กลับเมืองไทย คนไทยยังจะไล่เราไปไหนอีก” มะทมกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแม้ว่าตอนนี้น้ำตาจะไหลอาบสองแก้มแล้วก็ตาม
 
บทสรุปชีวิตของคนไทยพลัดถิ่นวันนี้ยังมืดมน มืดมนท่ามกลางความมืดบอดทางประวัติศาสตร์และอคตินิยมที่ฝังรากลึกในสังคมมาช้านาน ในกระแสของการปฏิรูปหวังว่าคนเล็กๆ อย่างคนไทยพลัดถิ่นจะถูกเหลียวบ้างอย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวไทใหญ่ร่วมมุทิตาฉลองสมณศักดิ์ “พระมหาสมชาย”

Posted: 27 Dec 2010 05:47 AM PST

ชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ร่วมจัดพิธีมุทิตาจิตฉลองการรับเลื่อนสมณศักดิ์พระครูชั้นเอก “พระมหาสมชาย” พระชาวไทยเชื้อสายไทใหญ่ แห่งวัดพุทธาราม กรุงลอนดอน

 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.53 พระมหาสมชาย จิตฺตคุตฺโต อายุ 42 ปี พระชาวไทยเชื้อสายไทใหญ่ เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนาม "พระครูสุตพุทธิวิเทศ" โดยพิธีแต่งตั้งและมอบพัดยศจัดขึ้นที่วัดไร่ขิง อ.เมือง จ.นครปฐม มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบ
 
ในโอกาสนี้ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหลายสาขาอาชีพ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ต่างแสดงมุทิตาจิตโดยร่วมกันจัดพิธีฉลองการรับพัดยศของ พระมหาสมชาย ด้วยความยินดี ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกถึงการเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาและสร้างชื่อเสียงให้กับชาวไทใหญ่
 
โดยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา พี่น้องชาวไทใหญ่ ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดพิธีมุทิตาจิตฉลองขึ้นที่วัดเวียงหวาย ต.ม่อนปิ่น มีพิธีสืบชะตาหลวง มีเจ้าคณะอำเภอฝางเป็นประธานในพิธี ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค. พี่น้องชาวไทใหญ่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ นำโดยพระภิกษุสงฆ์ไทใหญ่วัดฟ้าเวียงอินทร์ ร่วมจัดพิธีมุทิตาจิตฉลองที่วัดฟ้าเวียงอินทร์ ต.เปียงหลวง มีผู้เข้าร่วมอย่างเนืองแน่น
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. พี่น้องชาวไทใหญ่ในตัวเมืองเชียงใหม่ นำโดยชมรมการศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ ได้จัดพิธีฉลองขึ้นที่วัดกู่เต้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีตัวแทนกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้าร่วม และเมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) พิธีฉลองได้จัดขึ้นอีกที่สถานปฏิบัติธรรม (วัดใหม่) สาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ นำโดยคณะสงฆ์ไทใหญ่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
 
ด้านพระครูสุตพุทธิวิเทศ (พระมหาสมชาย) กล่าวและให้ข้อคิดว่า การที่ตนได้รับแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงนี้นั้น เนื่องด้วยตนเป็นหนึ่งในพระธรรมฑูตสายต่างประเทศ ทำหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา และเป็นประธานในการจัดสร้างวัดพุทธาราม ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทั้งหมดนี้เกิดจากความเพียรด้วยแรงบันดาลใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ศรัทธา ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งการกระทำอันใดหากคำนึงยึดเอาหลักคำสอนนี้ย่อมส่งผลให้ถึงความสำเร็จได้
 
พระมหาสมชาย วิรวัฒน์ (จิตตฺคุตฺโต) เกิดเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ.2511 บิดามารดาเป็นชาวไทใหญ่ ปี พ.ศ.2536 จบประกาศวิชาชีพครู (ป.ว.ค.) มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2537 จบพุทธศาสตร์บัณฑิต (พธ.บ.) มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2542 จบปริญญาโท (M.A.) สาขาวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยโปณา ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2544 มหาเถรสมาคมอนุมัติให้ไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูต ณ วัดพุทธวิหารพลาสโตว์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และเมื่อปี พ.ศ. 2547 เป็นประธานดำเนินการสร้างและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธาราม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
 
----------------------------------------------------------
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
    
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัพพม่าเสริมกำลังประชิดพื้นที่กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่

Posted: 27 Dec 2010 05:37 AM PST

กองทัพพม่าส่งกำลัง 5 กองพันพร้อมอาวุธเข้าพื้นที่กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N เชื่อเตรียมกวาดล้าง

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้จัดส่งกำลังพล 5 กองพัน เข้าไปประชิดพื้นที่กองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉานเหนือ หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N (Shan State Army-North) ซึ่งเป็นกองกำลังปฏิเสธรับข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าในการจัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน มีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉานภาคเหนือ
 
กำลังทหารพม่าที่ถูกส่งเข้าไปเสริมใกล้พื้นที่ SSA-N ครั้งนี้ ประกอบด้วย กองพันทหารราบเบาที่ 325 ฐานประจำเมืองไหย๋, กองพันทหารราบที่ 67 ฐานประจำเมืองไหย๋-หัวย่า, กองพันทหารราบที่ 147 ฐานประจำเมืองน้ำตู้, กองพันทหารราบที่ 23 ฐานประจำเมืองสี่ป้อ และกองพันทหารราบที่ 22 ฐานประจำเมืองต้างยาน โดยถูกส่งเข้าไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา
 
แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้กำลังทหารพม่าชุดดังกล่าวได้กระจายเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ระหว่างเมืองไหย๋-เมืองแสงแก้ว และตามเส้นทางบ้านไฮ – แสงแก้ว นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งได้ปักหลักอยู่ห่างจากเมืองไหย๋ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 7-8 ไมล์ โดยในพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่เคลื่อนไหวทหารพม่าและกองพลน้อยที่ 1 SSA-N ด้านเมืองเกซี มีกำลังทหารพม่าราว 300 นาย ทั้งนี้เชื่อว่ากองทัพพม่าเตรียมปฏิบัติการปราบกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่SSA-N เร็วๆ นี้ 
 
ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. มีผู้พบเห็นรถบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารพม่า เป็นรถบรรทุก 10 ล้อ จำนวน 2 คัน มีทหารพม่าคุ้มกันอย่างแน่นหนา จากเมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ ติดชายแดนจีน มุ่งหน้าไปทางเมืองก๊ดขาย ซึ่งระหว่างทางรถบรรทุกคันหนึ่งเกิดเสียจอดอยู่ข้างทาง ผู้เดินทางสัญจรผ่านไปมาได้สังเกตภายในรถพบเห็นอาวุธเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าอาวุธดังกล่าวเตรียมส่งไปให้ทหารพม่าที่ประจำอยู่ใกล้พื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N 
 
กองพลน้อยที่ 1 กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N (Shan State Army - North) มีกำลังพลราว 2,500 นาย มีพล.ต.ป่างฟ้า เป็นผู้นำ โดยกองพลน้อยที่ 1 เป็นหนึ่งในกองกำลังที่ปฏิเสธข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าในการแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) และได้ถูกรัฐบาลทหารพม่ากำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย โดยตลอดช่วง 3- 4 เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดการปะทะกับทหารพม่าแล้วรวม 5 ครั้ง
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
________________________________________
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกย์ กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง นัดแต่งดำประท้วงรัฐบาลไทย

Posted: 27 Dec 2010 05:21 AM PST

วันอังคารที่ 28 ธันวานี้ กลุ่มเกย์ กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิงนัดแต่งดำไปหานายกที่ทำเนียบฯ เพื่อขอทราบคำตอบว่าทำไมตัวแทนประเทศไทยถึงได้งดออกเสียงในมติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่สุดนี้ 
 
จากกรณีที่ตัวแทนประเทศไทยงดออกเสียงในการประชุมสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในมติเกี่ยวกับห้ามไม่ให้สังหารคนที่เป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิงนอกกระบวนการยุติธรรม โดยเร่งรัด หรือตามอำเภอใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ได้เข้ายื่นหนังสือฯ กับนายกฯ เพื่อให้ออกเสียงสนับสนุนการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีคุณอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับจดหมายแทน 
 
แต่สุดท้ายประเทศไทยกลับงดออกเสียง!!
 
ทั้งที่ปีนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติด้วย อีกทั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในมาตรา 30 ก็มีบันทึกเจตนารมณ์ให้ความความคุ้มครองและห้ามเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ด้วย
 
ไม่นับรวมตราสารระหว่างประเทศต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น
 
แต่ถ้ามองย้อนกลับไป ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไรนักที่ตัวแทนประเทศไทยมีท่าทีเช่นนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยออกเสียงสนับสนุนประเด็นความหลากหลายทางเพศในเวทีสหประชาชาติแม้แต่ครั้งเดียว 
 
เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศก็เคยไปยื่นหนังสือกับนายนัฐวัฒน์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศเพื่อให้รัฐบาลไทยลงชื่อร่วมสนับสนุนในแถลงการณ์ของฝรั่งเศสว่าด้วยประเด็นความหลากหลายทางเพศนี้เช่นกัน ซึ่งปีดังกล่าวนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้ทำแถลงการณ์ยืนยันหลักการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคน จากเหตุเพราะวิถีทางเพศ และ/หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งคราวนั้นทางตัวแทนเครือข่ายฯ ได้คำตอบอย่างไม่เป็นทางการจากผู้แทนกระทรวงฯ ที่มารับมอบหนังสือในทำนองว่า “เพราะเกรงใจประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม” 
 
เหตุผลดังกล่าว แม้ไม่อาจยอมรับได้ แต่อย่างน้อยคราวนั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการสังหารบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด 
 
ผิดกันอย่างสิ้นเชิงกับคราวนี้ ซึ่งการงดออกเสียง ก็คล้ายกับการยอมรับให้มี "ปฏิบัติการ" สังหารคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้และตามอำเภอใจ มี 27ประเทศที่งดออกเสียง และอีก 55 ประเทศที่ยินดีที่จะให้มีการฆ่าหรือสังหารคนเหล่านี้ได้ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอัฟริกาและมุสลิม)
 
ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ (อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว) ไม่เห็นด้วยกับมติอันแสนโหดร้ายป่าเถื่อนนี้ ส่วนในแถบเอเชีย ประเทศที่ไม่เห็นมีเพียง 4-5 ประเทศเท่านั้น คือญี่ปุ่น เนปาล เกาหลี แต่ที่น่าประหลาดใจมากๆ เลยก็คือประเทศน้องใหม่อย่างติมอร์นั่นเอง
 
การงดออกเสียงของประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลหรือเล่ห์กลทางการเมืองใดๆ ก็ควรที่จะต้องมีคำอธิบาย
 
นั่นเพราะว่าการสังหารคนเพราะพวกเขาเป็นเกย์ ไม่ใช่การปกป้องทางวัฒนธรรม แต่เป็นอาชญากรรมต่างหาก!!
 
0000
 
รายชื่อประเทศต่างๆ ที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย-งดออกเสียง-ไม่เข้าร่วมประชุม
 
เห็นด้วยกับการคุ้มครองIn favor of amendment restoring sexual orientation to UNGA resolution on executions (93)
 
:Albania, Andorra, Angola, Antigua-Barbuda, Argentina, Armenia, Australia, Austria, Bahamas, Barbados, Belgium, Belize, Bolivia, Bosnia-Herzegovina, Brazil, Bulgaria, Canada, Cape Verde, Chile, Colombia, Costa Rica, Croatia, Cyprus, Czech Republic, Denmark, Dominica, Dominican Republic, Ecuador, El Salvador, Estonia, Fiji, Finland, France, Georgia, Germany, Greece, Grenada, Guatemala, Honduras, Hungary, Iceland, India, Ireland, Israel, Italy, Japan, Latvia, Liechtenstein, Lithuania, Luxembourg, Malta, Mauritius, Marshall Island, Mexico, Micronesia, Monaco, Montenegro, Nauru, Nepal, Netherlands, New Zealand, Nicaragua, Norway, Palau, Panama, Papua New Guinea, Paraguay, Peru, Poland, Portugal, Republic of Korea, Republic of Moldova, Romania, Rwanda, Saint Kitts and Nevis, Samoa, San Marino, Serbia, Slovakia, Slovenia, South Africa, Spain, Sweden, Switzerland, The Former Yugoslav Republic of Macedonia, Timor-Leste, Tonga, Ukraine, United Kingdom, United States, Uruguay, Vanuatu, Venezuela
 
ไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองLGBT Opposed to amendment (55)
 
:Afghanistan, Algeria, Azerbaijan, Bahrain, Bangladesh, Benin, Botswana, Brunei Dar-Sala, Burkina Faso, Burundi, China, Comoros, Congo, Democratic People’s Republic of Korea, Democratic Republic of Congo, Djibouti, Egypt, Gambia, Ghana, Indonesia, Iran, Iraq, Jordan, Kazakhstan, Kuwait, Lebanon, Libya, Malawi, Malaysia, Mauritania, Morocco, Namibia, Niger, Nigeria, Oman, Pakistan, Qatar, Russia, Saint Lucia, Saudi Arabia, Senegal, Sierra Leone, Solomon Islands, Somalia, Sudan, Syria, Swaziland, Tajikistan, Tunisia, Uganda, United Arab Emirates, Tanzania, Yemen, Zambia, Zimbabwe
 
ของดออกเสียง Abstained (27)
 
:Belarus, Bhutan, Cambodia, Eritrea, Guinea, Guinea-Bissau, Guyana, Haiti, Jamaica, Kenya, Lao, Lesotho, Liberia, Maldives, Mali, Mongolia, Mozambique, Philippines, Saint Vincent and the Grenadines, Sao Tome Principe, Singapore, Sri Lanka, Suriname, Thailand, Togo, Trinidad and Tobago, Vietnam
 
ไม่ได้เข้าประชุม Did not vote/Absent (17)
 
:Cameroon, Central African Republic, Chad, Cote D’Ivoire, Cuba, Equatorial Guinea, Ethiopia, Gabon, Kiribati, Kyrgyzstan, Madagascar, Myanmar, Seychelles, Turkey, Turkmenistan, Tuvalu, Uzbekistan
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลนัดฟังคำสั่งถอนประกัน “จตุพร” พรุ่งนี้ ด้าน “ธาริต” ย้ำดีเอสไอไม่เคยสรุปว่าทหารฆ่าประชาชน

Posted: 27 Dec 2010 04:22 AM PST

“ธาริต” ยก 3 เหตุผลถอนประกัน “จตุพร” ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ทำความผิดเพิ่มในการก่อเหตุร้าย และขัดขวางการทำงาน กรณีออกมาเปิดเผยสำนวนสอบสวนของดีเอสไอ ชี้บิดเบือนผลการชันสูตรฯ ศพวัดปทุมฯ ด้าน “จตุพร” ระบุ “ธาริต” ยื่นถอนประกันผิดคดี ลั่นเตรียมดำเนินคดีกลับแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

 
ศาลนัดฟังคำสั่งถอนประกัน “จตุพร” 28 ธ.ค. เวลา 11.00 น.
มติชนออนไลน์ วันนี้ (27 ธ.ค.53) เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลอาญา เปิดห้องพิจารณาคดี 809 ไต่สวนคำร้อง กรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอถอนประกันตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยอนุญาตให้ นายธาริต ขึ้นเบิกความเพียงปากเดียว เนื่องจากศาลเห็นว่าการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับศาล แต่ก็อนุญาตให้นายคารม พลทะกลาง ทนายความนายจตุพร เข้าร่วมรับฟังการไต่สวน และเปิดโอกาสให้ถามค้านนายธาริตได้ แต่กำชับให้ถามในประเด็นที่คัดค้านการขอถอนประกันเท่านั้น และไม่อนุญาตให้นำพยานขึ้นไต่สวน
 
ภายหลังนายธาริตเบิกความต่อศาล และตอบคำถามซักค้านทนายจำเลยเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพรหรือไม่ในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ เวลา 11.00 น.

 
“ธาริต” ยื่นถอนประกัน “จตุพร” อีกรอบ - เสื้อแดงโห่ไล่
เนชั่นทันข่าว รายงานวันเดียวกันนี้ว่า นายธาริต ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนการปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร หนึ่งในจำเลยร่วม 19 แกนนำ นปช. คดีร่วมกัน หรือใช้ หรือสนับสนุน ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานก่อการร้าย โดย นายธาริต กล่าวว่า วันนี้ตนในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบดีเอสไอ นำคำร้องมายื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวนายจตุพร เนื่องจากเห็นว่า นายจตุพรมีพฤติการณ์กระทำผิดสัญญาประกันใน 3 เรื่อง คือ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน กระทำความผิดเพิ่มเติมในการก่อเหตุร้าย และ เป็นกระทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จากกรณีออกมาเปิดเผยสำนวนการสอบสวนของ ดีเอสไอ โดยบิดเบือนผลการชันสูตรพลิกศพกลุ่มคนเสื้อแดงที่วัดปทุมวนาราม ทั้งที่ ดีเอสไอไม่เคยสรุปว่าทหารฆ่าประชาชน
 
นายธาริต กล่าวอีกว่า การยื่นขอเพิกถอนการประกันตัว จตุพรนั้น ไม่มีใบสั่งทางการเมือง ตามที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ ตนเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนต้องทำหน้าที่ หากตนไม่ทำแล้วใครจะทำ อย่างไรก็ดีต้องรอฟังว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร หากศาลจะเปิดให้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงตนก็จะขึ้นเบิกความเป็นพยานด้วยตนเอง 
 
ด้าน นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช.ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ โดยอ้างเหตุผลว่าคดีนี้อัยการคดีพิเศษได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาแล้ว คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ปรากฏว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดง ประมาณ 20 คน มารอโห่ไล่นายธาริต ที่บริเวณหน้าศาลอาญาด้วย โดยและมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ดูแลความเรียบร้อยจึงไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น
 
 
“จตุพร” ระบุ “ธาริต” ยื่นถอนประกันผิดคดี ลั่นเตรียมดำเนินคดีกลับแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 ธันวาคม ที่พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช. พร้อมนางพะเยาว์ ฮักฮาค และนายณัทพัช ฮักฮาค แม่และน้องของ น.ส.กมลเกด ฮักฮาด 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ร่วมแถลงข่าวกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยื่นถอนประกัน โดยอ้างว่าไปยุ่งกับพยานและสร้างเอกสารหลักฐานเท็จ ว่าคดีที่ได้รับการประกันตัวเป็นคดีก่อการร้าย ซึ่งศาลให้ประกันเพราะเชื่อว่าจะไม่หลบหนี เพราะมีตำแหน่งเป็น ส.ส.
 
“สำนวนของดีเอสไอที่นำมาเปิดเผย เป็นคดีที่นางพะเยาว์ ร้องต่อกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชน ในเหตุการณ์วัดปทุมวนาราม ซึ่ง พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. ส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการเพราะเป็นคดีพิเศษ จากนั้นนายธาริต ทำหนังสือถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) 2 ครั้ง เพื่อขอข้อมูลการปฏิบัติการทางทหารที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ จนสำเร็จเรียบร้อยออกมาเป็นสำนวนดังกล่าว เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับข้อหาก่อการร้ายใดๆ พยานหลักฐานก็คนละคดี ต่อจากนี้ผมจะดำเนินคดีกับนายธาริตแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน” นายจตุพร กล่าว
 
 
ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐาน "19 แกนนำแดง" คดีก่อการร้าย-ฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เนชั่นทันข่าว รายงานด้วยว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย, น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กับพวกซึ่งเป็นแนวร่วม นปช. รวม 19 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้น กระทำการเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อย่างไรก็ดีศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐานออกไปก่อน เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาติดภารกิจ จึงนัดคู่ความตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง 17 ม.ค.54 เวลา 09.00 น.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัยการยื่นฟ้องคดี เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยซึ่งเป็น ส.ส.ประกอบด้วยนายจตุพร และนายการุณ ที่ผ่านมาได้เลื่อนนัดสอบคำให้การและตรวจหลักฐาน เพราะติดสมัยประชุมสภาขณะที่นัดวันนี้ คงมีเพียงทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยมาศาล
 
ด้านนายคารม พลทะกลาง ทนายความ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เบิกตัวจำเลยมาร่วมพิจารณาคดี เพราะเป็นคดีร้ายแรง มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ศาลยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยทั้ง 19 คนมีทนายความทำหน้าที่แทนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาศาลด้วยตนเอง โดยเตรียมแถลงขอให้ศาลจำหน่ายคดีนี้ออกไปชั่วคราว เนื่องจากเป็นคดีพิเศษ และการชันสูตรพลิกศพยังไม่แล้วเสร็จ การที่อัยการยื่นฟ้อง เป็นการยื่นฟ้องโดยมิชอบ 
 
ขณะที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ซึ่งเดินทางมาร่วมการพิจารณาคดี กล่าวถึงการยื่นประกันตัวแกนนำ นปช. 7 คนว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นประกันตัวตามที่เป็นข่าว และยังไม่ทราบว่าจะยื่นประกันตัวเมื่อใด เพราะต้องรอหนังสือรับรองจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อแนบประกอบการพิจารณาของศาล 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ. ตำรวจชายแดนใต้ไฟเขียวแก้ปัญหาอายัดตัวซ้ำซากผู้ต้องหาคดีความมั่นคง

Posted: 27 Dec 2010 03:24 AM PST

ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัตการตำรวจชายแดนใต้ ออกบันทึกข้อความกำชับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ปฎิบัติเคร่งครัดแก้ปัญหาอายัดตัวซ้ำซากกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง หลังเกิดปัญหาซ้ำซากยาวนานในพื้นที่ชายแดนใต้ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าหารือแก้ปัญหา

 
รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ท ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัตการตำรวจชายแดนใต้ (ศชต.) ได้ออกบันทึกข้อความ ลงวันที่ 20 พ.ย.53 เรื่องข้อกำชับการอายัดตัวผู้ต้องหาโดยกำชับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ ศชต. ให้ถือปฎิบัติโดยเคร่งครัดเพื่อแก้ปัญหาอายัดตัวซ้ำซากกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ ศชต.
ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นผลมาจากที่ผ่านมาการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในเรือนจำยาวนานกว่าสามปี แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับโดนอายัดตัวในคดีความมั่นคงอีกคดี ซึ่งเป็นสภาพปัญหาที่พบบ่อยในพื้นที่ จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้เข้าพบผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัตการตำรวจชายแดนใต้เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว
ข้อกำหนดดังกล่าวระบุให้หน่วยงานถือปฏิบัติ ดังนี้ ให้ภูธรจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นศูนย์กลางในการรับข้อมูลหากมีการจับบุคคลตามหมายจับจากสถานีใด ให้หัวหน้าสถานีแจ้งมาทาง ภูธรจังหวัด และภูธรจังหวัดมีหน้าที่แจ้งรายชื่อบุคคลตามหมายจับดังกล่าวไปยังสถานีตำรวจต่างๆทั่วพื้นที่ ศชต. เพื่อสอบถามเกี่ยวกับหมายจับอื่นๆ หากมี เพื่อให้รีบดำเนินการสอบสวนและดำเนินการ โดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษคดีอื่นก่อน กรณีผู้ต้องหาอยู่คนละเขตอำนาจศาลหรือถูกคุมขังอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น การจะส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการนั้นต้องมีตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานอัยการเพื่อส่งฟ้อง  เช่น ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพื้นที่หนึ่งแต่มีคดีอยู่อีกเขตอำนาจศาล โดยหลัก มีระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ว่าให้ทำการสอบสวนทันที แล้วส่งสำนวนให้อัยการพื้นที่ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังอยู่ เพื่อดำเนินการต่อไป
 
0000000
 
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ    ศชต                       โทร ๐ ๗๓๒๒ ๐๒๖๔
ที่ ๐๐๒๕.๒๒ / ๖๗๗๔                    วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
เรื่อง ข้อกำชับการอายัดตัวผู้ต้องหา
เรียน ผบก.ภ.จว.ยะลา,ปัตตานี และนราธิวาส
ด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เข้าพบเพื่อปรึกษากรณีการอายัดตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ ศชต. กรณีผู้ต้องหาคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในหลายคดี ต่างท้องที่ ต่างกรรม ต่างวาระ เมื่อถูกจับดำเนินคดีในคดีหนึ่งแล้ว ขณะที่ถูกควบคุมตัวหรือขังระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องหาได้ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำเป็นเวลานานนับปี พนักงานสอบสวนที่ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าวไว้ในคดีหลังไม่ได้สอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาสรุปสำนวนการสอบสวนส่งอัยการ ต่อมาเมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีแรกไปแล้ว พนักงานสอบสวนถึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและขออายัดตัว ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกขังเพื่อรอการพิจารณาคดีในคดีที่ถูกอายัดตัวใหม่อีกหลายปี
ดังนี้ จึงขอกำชับ พงส.ในพื้นที่ ศชต.ให้ถือปฏิบัติดังนี้
. ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จโดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว โดยให้ถือปฎิบัติตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๐๔.๖/๙๖๑๐ ลง ๑๖ ก.ย.๒๕๔๖ เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาโดยเคร่งครัด
๒. ให้ หน.สภ.ฯที่ทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ดำเนินคดี รายงานการจับกุมให้ ภ.จว รับทราบแล้วให้ ภ.จว.สั่งการแจ้งให้ทุก สภ.ฯ ในพื้นที่ ศชต.ตรวจสอบว่าท้องที่ใดต้องการตัวผู้ต้องหาไว้ดำเนินคดีบ้างหรือไม่ หากท้องที่ใดต้องการตัวให้รีบแจ้งอายัดตัวผู้ต้องหา แล้วรีบทำการสอบสวนปากคำผู้ต้องหาพร้อมรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมส่งสำนวนให้อัยการโดยเร็ว
๓. การส่งสำนวนคดีที่ผู้ต้องหาบางคนถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอื่น ให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๐๔.๖/๑๐๖๑๕ ลง ๒๗ ส.ค.๒๕๔๕ และการส่งสำนวนคดีที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นที่เรือนจำซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น ให้ถือปฎิบัติตามหนังสือที่ ๐๐๐๔.๖/๖๑๖๗ ลง ๒๐ พ.ค ๒๕๔๕ พร้อมบันทึกนี้ ได้แนบหนังสือ ตร.ทั้ง ๓ ฉบับ รวมเอกสารจำนวน ๘ แผ่น มาด้วยแล้ว
เพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
                                    พล.ต.ท.    ไพฑูรย์ ชูชัยยะ
                                                      ผบช.ศชต
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์(1): พลเอกสนธิบอกทูตอเมริกันเรื่องเข้าเฝ้าคืนรัฐประหาร

Posted: 27 Dec 2010 02:42 AM PST

 
ชื่อบทความเดิม: บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์ (1): พลเอกสนธิ บอกทูตสหรัฐ “ในหลวงทรงผ่อนคลายและมีความสุข ทรงยิ้มตลอดเวลาการเข้าเฝ้า” ในคืนรัฐประหาร และการประเมินผลสะเทือนการเข้าเฝ้าของทูตสหรัฐ
 
 
คำชี้แจง: โทรเลขที่ทูตสหรัฐประจำไทยส่งรายงานยังวอชิงตัน ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549, 1 ตุลาคม 2551, 6 พฤศจิกายน 2551 และ 25 มกราคม 2553 ที่วิกิลีกส์นำออกเผยแพร่ ผ่านทาง นสพ.เดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษ มีเนื้อหาที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งเกียวกับการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา โดยเฉพาะในประเด็นสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม เชนเดียวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกประเภท โทรเลขดังกล่าวยังต้องผ่านการวิเคราะห์ตีความและนำเข้าสู่การเรียบเรียงเป็นการนำเสนอในรูปงานเขียนหรือการพูดอภิปรายจึงจะมีความหมายสมบูรณ์โดยแท้จริง แต่ภายใต้กฎหมายที่เกียวกับสถาบันกษัตริย์ของไทย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 8, ประมวลอาญา มาตรา 112) การจะกระทำดังกล่าวมีข้อจำกัดอย่างรุนแรง กระนั้นก็ตาม ผมเห็นว่าโทรเลขเหล่านี้ มีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้ตกอยู่ภายใต้ความเงียบเกือบจะโดยสิ้นเชิงอย่างที่เป็นอยู่ในสื่อสาธารณะที่เปิดเผยในขณะนี้
 
ในบันทึกสั้นๆ ข้างล่างนี้ และในบันทึกฉบับอื่นที่หวังว่าจะตามมาในอนาคตอันใกล้ ผมจะได้พยายามนำเสนอข้อความหรือเนื้อหาในโทรเลขวิกิลีกส์ทั้ง 4 ฉบับเท่าที่จะทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายที่เป็นอยู่ เริ่มต้นด้วยโทรเลขฉบับแรกที่กล่าวถึงการเข้าเฝ้าในคืนวันรัฐประหาร
 
 
ในโทรเลขฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549 ทูตสหรัฐได้รายงานการพบปะพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยา เมื่อบ่ายวันที่ 20 กันยายน 2549 การสนทนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ตามที่ทูตสหรัฐบันทึกไว้ มีเพียงสั้นๆ 5-6 บรรทัด ดังนี้
 
 
ผมได้เริ่มต้นด้วยการถามสนธิเกี่ยวกับการเข้าเฝ้าในหลวงเมื่อคืนนี้ มีใครเข้าเฝ้าบ้าง? สนธิกล่าวว่าประธานองคมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ได้นำเขา, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรืองโรจน์ และผู้บัญชาการทหารเรือ สถิรพันธุ์ เข้าเฝ้า. สนธิเน้นว่า พวกเขาเป็นฝ่ายถูกเรียกเข้าไปในวัง; เขาไม่ได้เป็นฝ่ายพยายามขอเข้าเฝ้า. เขากล่าวว่าในหลวงทรงผ่อนคลายและมีความสุข ทรงยิ้มตลอดเวลาการเข้าเฝ้า เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม.
 
ถ้าพระอากัปกริยาของในหลวงเป็นไปตามที่สนธิบอกทูตสหรัฐจริง เราสามารถ “อ่าน” (ตีความ) อะไรได้หรือไม่? ดูเหมือน เดอะการ์เดี้ยน คิดว่าได้ ถ้าดูจากการพาดหัวและสรุปเนื้อหาโทรเลขที่ นสพ.จัดให้ (ผมได้ลบพาดหัวและสรุปเนื้อหาดังกล่าวออกจากภาพประกอบข้างบน) ทูตสหรัฐเองได้ประเมินความสำคัญของการเข้าเฝ้าค่อนข้างสูง ใน “ความเห็น” ตอนท้ายของโทรเลข เขากล่าวว่า
 
สนธิมีท่าทีผ่อนคลายและสงบ เห็นได้ชัดว่าการเข้าเฝ้าเป็นจุดหักเลี้ยวเมื่อคืนนี้ (โทรเลขอีกฉบับหนึ่ง [Septel = separate telegram] รายงานเรื่องท่าทีไม่ยอมแพ้ จะสู้ต่อของทักษิณสูญสลายไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเขาได้รู้ข่าวการเข้าเฝ้า)
 
ขณะนี้เรายังไม่มี “โทรเลขอีกฉบับหนึ่ง” ของสถานทูตสหรัฐที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนท่าทีของทักษิณหลังทราบข่าวการเข้าเฝ้า จึงไม่อาจทราบว่าทางสถานทูตสหรัฐมีข้อมูลอะไรเป็นพิเศษในเรื่องนี้หรือไม่ หรือเพียงแต่ใช้การสังเกตแล้วตีความเอา อย่างไรก็ตาม ใครที่ติดตามการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารโดยใกล้ชิดอาจจะพอจำได้ว่า เคยมีการหยิบยกมาอภิปรายในที่สาธารณะเรื่องการเปลี่ยนท่าทีของทักษิณ จาก “ทำท่าจะสู้-ตอบโต้” มาเป็น “ยอมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีประเด็นเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ด้วย เพียงแต่ไมใช่เรื่องการได้เข้าเฝ้าของคณะรัฐประหาร แบบเดียวกับความเห็นของทูตสหรัฐ
 
กล่าวคือ ในปี 2550 นักการเมืองและนักเขียนในค่ายทักษิณบางคนได้อ้างว่า เดิมทักษิณซึ่งอยู่ที่นิวยอร์คขณะเกิดรัฐประหาร มีความคิดจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและประกาศสู้การรัฐประหาร แต่ล้มเลิกความคิด หลังจากสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งอยู่ที่นิวยอร์คด้วย โทรศัพท์มากรุงเทพ แล้วอ้างข้อมูลบางอย่างจากแวดวงราชสำนัก (สุรเกียรติ์ เป็นหลานเขยของพระราชินี) มาแจ้งกับทักษิณ ตามคำของ “ประดาบ” นักเขียนค่ายทักษิณในขณะนั้นคือ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นคนที่แนะนำให้นายกฯทักษิณ ยอมจำนนต่อการรัฐประหาร โดยอ้างว่าได้รับข้อมูลจาก ‘ฟ้าเบื้องบน’ . . .” สุรเกียรติ์เองไม่เคยชี้แจงเรื่องนี้ แต่ได้ตอบโต้ด้วยการกล่าวหาเป็นนัยว่า “บางคนในพรรคไทยรักไทย” พูดให้เขา “ได้ยินกับหูตัวเอง” ในลักษณะที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของเขาที่ “ทำงานเพื่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์” ในขณะที่สุรเกียรติ์พูดเป็นนัย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ระบุออกมาตรงๆ โดยอ้างว่าสุรเกียรติ์เป็นคนบอกเขาเอง ว่าในระหว่างที่อยู่นิวยอร์คช่วงรัฐประหาร ทักษิณได้ “พูดจาจาบจ้วงดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัว” ต่อหน้าสุรเกียรติ์ (ดูตัวบททอดเทปการพูดของสนธิ ที่นี่ ข้อความดังกล่าวอยู่ในย่อหน้าที่ 6 ของหัวข้อ “ยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2”) ทักษิณจึงฟ้องสนธิหมิ่นประมาท และศาลเพิ่งพิพากษาให้สนธิผิดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
 
ทักษิณเองไม่เคยพูดถึงไอเดียเรื่องการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเมื่อเกิดรัฐประหารหรือเรื่องผลกระทบของการเข้าเฝ้าของคณะรัฐประหาร แต่ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ของสหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 (ที่นี่) เมื่อถูกถามว่าถ้ารัฐบาลของเขาเป็นที่นิยมของประชาชนมาก ทำไมแทบไม่มีประชาชนออกมาโวยวายประท้วงเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งทักษิณตอบว่า “มันก็เหมือนกับการรัฐประหาร 17 ครั้งก่อนหน้านี้ในประเทศไทย แรกทีเดียว ประชาชนจะช็อค แล้วพวกเขาก็เริ่มแสดงความไม่เห็นด้วย และแล้วพวกเขาก็เริ่มจะยอมรับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐประหารนั้นได้รับการรับรองจากพระเจ้าอยู่หัว” (It was the same with Thailand’s 17 other coups. First, the people are shocked. Then they start to voice their concerns. And then they start to accept it, especially after it’s endorsed by His Majesty the King.) ผมคิดว่า เราคงยังไม่ถึงกับสามารถใช้คำสัมภาษณ์นี้เป็นหลักฐานยืนยันโดยตรง ต่อรายงานของทูตสหรัฐที่ว่าทักษิณเปลี่ยนท่าทีต่อการรัฐประหาร 19 กันยา หลังการได้เข้าเฝ้าของคณะรัฐประหาร แม้ว่าการที่ทักษิณให้ความสำคัญกับประเด็น “ได้รับการรับรองจากพระพระเจ้าอยู่หัว” และยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเหตุผลอธิบายปฏิกิริยาต่อรัฐประหารของประชาชนทั่วไป นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง
 
 
 
 
 
 
โปรดติดตามตอนต่อไป “บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์ (2) : กรณี พระราชินี กับ พันธมิตร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์เผย หลังรัฐบาลแถลงผลงาน ประชาชนพอใจ 46%

Posted: 26 Dec 2010 03:26 PM PST

           
26 ธ.ค.53 กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจพบว่า หลังฟังนายกฯ อภิสิทธิ์แถลงผลงาน 2 ปีรัฐบาล ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจผลงานรัฐบาล 4.61 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนแถลงผลงาน 0.79 คะแนน หรือร้อยละ 7.9 การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของนายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ 5.17 คะแนน โดยเพิ่มขึ้น 0.73 คะแนน หรือร้อยละ 7.3 สำหรับคะแนนการแถลงผลงานได้ 6.27 คะแนน
 
จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 2 ปี ให้ประชาชนได้รับทราบ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกภาคของประเทศที่ติดตามข่าวการแถลงผลงาน จำนวนทั้งสิ้น 1,298 คน เมื่อวันที่ 24-25 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า
 
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.8 ติดตามการแถลงผลงาน 2 ปีรัฐบาลจากข่าวที่สื่อต่างๆ นำมาเสนอ มีเพียงร้อยละ 7.2 ที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ร้อยละ 37.0 ติดตามการถ่ายทอดสดเป็นช่วงๆ โดยผู้ที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดให้คะแนนการแถลงผลงาน 2 ปีรัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ 6.27 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยให้คะแนนด้านประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมได้รับมากที่สุด รองลงมาคือด้านความน่าสนใจชวนให้ติดตาม และด้านความน่าเชื่อถือ ตามลำดับ
 
 
สำหรับความพึงพอใจต่อผลงาน 2 ปีของรัฐบาลได้คะแนนเฉลี่ย 4.61 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจก่อนแถลงผลงาน (สำรวจเมื่อ 10-14 ธ.ค. 53)  0.79 คะแนน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นในทุกด้าน        สำหรับผลงานและโครงการของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา และ โครงการลดค่าครองชีพให้ประชาชน ตามลำดับ
 
 
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ 5.00 คะแนน (เพิ่มขึ้นกว่าก่อนแถลงผลงาน 0.89 คะแนน) พรรคร่วมรัฐบาลได้ 3.89 คะแนน (เพิ่มขึ้น 0.47 คะแนน) พรรคฝ่ายค้านได้ 3.75 คะแนน (ลดลง 0.10 คะแนน)
 
 
สำหรับคะแนนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 5.17 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยก่อนแถลงผลงาน พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.73 คะแนน โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นทุกด้าน
 
 
 
 
 ผลงาน หรือ โครงการ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
 
 
ก่อนแถลงผลงาน
(ร้อยละ)
หลังแถลงผลงาน
(ร้อยละ)
เพิ่มขึ้น / ลดลง
(ร้อยละ)
โครงการเรียนฟรี 15 ปี  
23.5
23.4
-0.1
โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา
13.9
18.5
+4.6
โครงการลดค่าครองชีพให้ประชาชน
(ค่าไฟฟ้า ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ฟรี)    
17.7
17.6
-0.1
โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร
(เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ)
9.9
9.6
-0.3
การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
2.2
8.0
+5.8

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น