โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นิธิ เอียวศรีวงศ์:ข้อคิดจาก Insects

Posted: 25 Dec 2010 12:39 PM PST

นี่จะเป็นอีกบทความหนึ่งของผมที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่อย่านึกว่าเพราะมันยากนะครับ เป็นเพราะผมเองคิดไม่กระจ่างพอต่างหาก

ผมอ่านปฏิกิริยาของผู้คนหลากหลายที่มีต่อการ "ห้ามฉาย" ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard แล้ว ก็คิดอะไรต่อไปอีกหลายเรื่อง แต่ไม่แตกสักเรื่องเดียว นอกจากการตั้งคำถามกับข้อสรุปที่อยู่เบื้องหลังการ "กลั่นกรอง" ข่าวสารข้อมูลที่สังคมพึงได้รับ อันเป็นข้อสรุปที่ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทย แต่มีในเกือบทุกสังคมทั้งโลกกระมัง

ผมไม่เคยดูหนังเรื่องนี้แต่ก็จับความจากข่าวในทีวีและคำสัมภาษณ์ของคุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้สร้างได้ว่า เรื่องนี้คงเกี่ยวกับเพศที่สาม เพราะคุณธัญญ์วารินกล่าวว่า "คนเรามักถูกกำหนดให้รับบทบาททางสังคม ตามเพศ [ที่] เราถือกำเนิดมาแต่แรก โดยที่ไม่มีสิทธิเลือกในสิ่งที่เราต้องการ"

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากแก่ผม ขอยกคำพูดของคุณธัญญ์วารินอีกว่า "คนเราในสังคม ต่างก็เป็น ′แมลงในสวนหลังบ้าน′ ของกันและกัน เราต่างไม่รู้ถึงการมีอยู่ของอีกฝ่าย แม้ว่าเขาจะอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม"

ผมก็เห็นด้วยกับผู้คนจำนวนมากที่คัดค้านมติ "ห้ามฉาย" ภาพยนตร์เรื่องนี้ของคณะกรรมการจัดเรตติ้ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะประณามกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่ เพราะถ้าให้กระทรวงเข้าไปแทรกแซงสั่งคณะกรรมการให้อนุญาตได้ ก็ไม่รู้จะมีกรรมการไปทำไม ความเป็นอิสระของกรรมการน่าจะมีความสำคัญในการใช้วิจารณญาณโดยไม่ต้องเกรงใจ รัฐมนตรี หากกระทรวงจะต้องรับผิดชอบต่อกรณีนี้ ก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่าไปเลือก 7 มหากาฬนี้มานั่งเป็นกรรมการทำไม

เราจึงน่าจะกลับมาคิดทบทวนเรื่อง ที่มาของกรรมการ (ถ้าเรายังเชื่อในการจัดเรตติ้งอยู่) รวมทั้งคิดถึงเรตติ้งทั้ง 7 ว่า ควรจะมี "ห" หรือห้ามฉายในที่สาธารณะเอาไว้หรือไม่

และถ้าคิดก็ต้องกล้า คิดไปถึงหนังโป๊ และหนังอนาจารเด็กด้วยเลยนะครับว่า การมีเรตติ้ง "ห" ช่วยทำให้ไม่มีใครสร้างและฉายหนังโป๊หรือหนังอนาจารเด็กได้จริงหรือไม่

และ ถ้าจะทบทวนที่มาของกรรมการกันใหม่ ผมก็อยากให้ทบทวนหลักการพื้นฐานว่า กรรมการต้องเป็นผู้ "เชี่ยวชาญ" ด้วยเลย กฎหมายควรให้อำนาจแก่ความ "เชี่ยวชาญ" แค่ไหน? อย่าลืมว่า แม้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจอะไรไว้เลย ความ "เชี่ยวชาญ" ก็เป็นอำนาจในตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็เป็นอำนาจที่มีการถ่วงดุลในตัวเองด้วย เช่นผู้ "เชี่ยวชาญ" วิจารณ์หนังในสื่อ ก็มีคนที่อ้างว่าเชี่ยวชาญเหมือนกันออกมาคัดค้าน และถึงที่สุดแล้วสังคมเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อใคร คือจะดูหรือไม่ดูหนังเรื่องนั้น

ที่ผมห่วงก็เพราะจะเกิดประเพณีแบบ รัฐธรรมนูญ คือสงวนที่นั่งเอาไว้ให้แก่ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่ไม่ต้องพิสูจน์ เช่น อธิการบดี, ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์, ผู้พิพากษา, ผู้เคยดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง ฯลฯ คราวนี้ก็จะสงวนที่นั่งไว้ให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านภาพยนตร์อีก ผมเป็นห่วงลุงท้วมที่ชอบดูทีวีทั้งวัน แกจะได้ดูหนังที่ถูกรสนิยมของแกเมื่อไรล่ะครับ

 
เราจะปล่อยให้อำนาจของความ "เชี่ยวชาญ" รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นแค่ไหน?

ถ้าไหนๆ จะทบทวนกันแล้ว ผมคิดว่าน่าจะคิดทบทวนระบบเรตติ้งซึ่งเราลอกมาจากสังคมอื่นด้วย ระบบเรตติ้งนั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า สื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อายุยังไม่ถึง 18 แต่ก็รวมไปถึงตัวโตๆ ที่อายุ 70 อย่างผมด้วย สื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์แน่ ถ้าไม่เชื่อเรื่องนี้ก็ไม่ต้องเชื่อเรื่องการศึกษาทุกชนิด (ครูก็เป็นสื่อชนิดหนึ่ง) แต่ความรู้เพียงเท่านี้ไม่พอที่เราจะไปกำกับควบคุมสื่อได้ เพราะอันที่จริงเราไม่รู้ดีว่าอิทธิพลของสื่อนั้นทำงานอย่างไร ในเงื่อนไขอะไร มากน้อยเพียงใด การรับสารจากสื่อนานาชนิดของมนุษย์นั้นผ่านกระบวนการที่สลับซับซ้อนอย่างไร กว่าจะมีผลต่อพฤติกรรม ฯลฯ ตัวพฤติกรรมมนุษย์เองก็มีที่มาสลับซับซ้อนด้วยปัจจัยหลากหลายชนิด เกินกว่าความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันจะหยั่งได้ทั่วถึง จะมาสรุปกันง่ายๆ ว่า เห็นเขาปล้ำผู้หญิงในหนัง ออกจากโรงหนังคนมีแรงทุกคนก็จะปล้ำผู้หญิงบ้าง ไม่ง่ายและมักง่ายไปหน่อยหรือครับ

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรสำเหนียกไว้ด้วยก็คือ ระบบเรตติ้งในหลายสังคม เช่น สหรัฐนั้น ไม่มีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลังเลยนะครับ เป็นเรื่องตกลงพร้อมใจกันของแขนงต่างๆ ในธุรกิจภาพยนตร์ อย่างน้อยก็เพื่อสร้างมโนภาพว่ากูรับผิดชอบต่อสังคมนะเฟ้ย ในขณะที่ระบบเรตติ้งของไทยนั้นตั้งอยู่บนอำนาจรัฐเต็มๆ เลย

และเมื่อตั้งอยู่บนอำนาจรัฐ ก็ต้องมาดูการกระทำของคณะกรรมการว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐหรือไม่ รัฐเพิ่งโอ่ไม่นานมานี้ว่า มีนโยบายจะทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นแขนงใหม่ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย น่าประหลาดที่การสร้างสรรค์นั้น ไม่มีเทวดามาคอยชี้ว่าอย่างไหนคือสร้างสรรค์ และอย่างไหนไม่ใช่

 
ฉะนั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นได้จากการทดลอง และการทดลองที่จะเกิดมรรคผลได้ ก็อยู่ที่เสรีภาพในการทดลอง ถ้ารัฐถืออำนาจคอยชี้ว่าอันนี้สร้างสรรค์ได้ อันนี้สร้างสรรค์ไม่ได้ ก็ไม่มีใครอยากทดลองสร้างสรรค์อะไร เพราะเสี่ยงที่จะหมดเนื้อหมดตัวได้ง่ายๆ

คณะกรรมการจัดเรตติ้งกำลังส่งสัญญาณแก่สังคมว่า อย่าทะลึ่งสร้างสรรค์อะไรที่กูไม่ชอบ ใช่ไหม?

คณะกรรมการให้เหตุผลในการ "แบน" หนังเรื่องนี้ว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี ผมจึงนึกเลยไปถึงเรื่องของ "ศีลธรรม" ซึ่งถูกใช้เป็นความชอบธรรมของอำนาจทุกชนิดในสังคมไทยอย่างหน้าด้านๆ มากขึ้นในเวลานี้

ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมนั้นมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคือด้านที่มุ่งจะผดุงสังคมให้ดำรงอยู่สืบไปได้ เช่น ละเว้นจากการฆ่า, ขโมย, ผิดลูกผิดเมีย, โกหก เป็นต้น อีกด้านหนึ่งเพื่อผดุงบุคคลให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายสูงสุดทางศาสนา เช่น ละเว้นจากการเสพของมึนเมา

 
แม้ว่าการเสพอาจทำให้ง่วงแล้วเข้านอน (จึงได้ละเว้นจากการฆ่า, ขโมย, ผิดลูกผิดเมีย และโกหก ไปโดยปริยาย) แต่การเสพของมึนเมาทำให้ขาดสติ ถึงไม่ไปทำร้ายใครเลย ก็ทำร้ายตนเอง เพราะไม่ได้ละเว้นความชั่วเพราะใช้ปัญญาไตร่ตรองจริง หากเป็นเพราะเมาจนพับไปเลยทำชั่วไม่ได้ต่างหาก รวมทั้งขาดสติที่จะคอยเตือนตนเองถึงพระไตรลักษณ์ อันจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ยิ่งห่างไกลพระนิพพานเข้าไปอีก

ศีลธรรมด้านที่สองนี้มีในทุกศาสนานะ ครับ เดินทางลำบากลำบนเพื่อไปทำฮัจญ์ ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคม แต่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้าครบถ้วน จึงทำให้มั่นใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งอื่นๆ อย่างเคร่งครัดต่อไป เช่นเดียวกับผู้นับถือคาทอลิค ไม่กินเนื้อในวันศุกร์ ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการผดุงสังคม

 
แต่เป็นการผดุงตนเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดทางศาสนา

ผมไม่ปฏิเสธว่าสองด้านของศีลธรรมนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่มาก เช่น โกหกบ่อยๆ ก็ทำให้ต้องใช้สติไปในทางจำคำโกหกของตนให้ได้มากกว่าใช้ไปในทางที่เกิดปัญญา แต่สองด้านของศีลธรรมนี้มีอยู่จริง นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ด้วย

เรามักเอาสองด้านนี้มาปะปน กันอยู่เสมอ โดยลืมไปว่ารัฐและสังคมปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่กำกับศีลธรรมด้านที่หนึ่งแทน ศาสนามากแล้ว เช่น มีตำรวจไล่จับผู้ร้ายเป็นต้น (ตำรวจโบราณคือผู้ผดุงอำนาจรัฐหรือผู้ปกครอง ตำรวจสมัยปัจจุบันคือผู้ผดุงสังคม) แต่ในรัฐและสังคมที่อ่อนแอ เมื่อกลไกของรัฐก็ตาม ระบบการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ก็ตาม ทำงานอย่างห่วยแตก ก็มักจะยกเอาศีลธรรมเข้ามาพร่ำบ่นแทน (และมักไม่ได้ผลมากไปกว่าทำให้ผู้พูดกลายเป็นคนมีศีลธรรมขึ้นมา)

รัฐและสังคมไทยเป็นหนึ่งในรัฐและสังคมที่อ่อนแอในเรื่องนี้ กลไกรัฐอ่อนแอนั้น ผมขอไม่พูดถึง เพราะพูดกันมามากแล้ว แต่ผมอยากพูดถึงกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมที่อ่อนแอมากกว่า

นอกจากเรามีโรงเรียนที่ไม่มีพลังพอจะกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามาสู่สังคมอย่างที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมแล้ว หน่วยอื่นๆ ของการกล่อมเกลาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, ชุมชน, วัด, สื่อ, สังคมโดยรวม ฯลฯ ก็อ่อนแอพอๆ กันด้วย ผลคือเราต้องหันไปใช้รัฐที่มีกลไกอ่อนแอและสับปะรังเคของเรา ในการกำกับควบคุมพฤติกรรมพลเมืองอยู่เสมอ

การที่รัฐใช้อำนาจ "แบน" หนังที่รัฐเชื่อว่า ขืนปล่อยให้ดู เราจะเสียผู้เสียคนกันไปหมด ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับควบคุมพลเมือง กูจะบังคับให้มึงมีศีลธรรมด้วยการปิดตา

อำนาจอันล้นเกินของรัฐซึ่งสังคมไทยก็มักยินดียกให้นี้ เมื่อเป็นรัฐที่อ่อนแอด้วยกลไกสับปะรังเค ย่อมไม่บังเกิดผลอะไรแน่นอนอยู่แล้ว แต่ที่เป็นอันตรายมากกว่าก็คือ ทำให้เราละเลยที่จะหันกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการกล่อมเกลาทาง สังคม จะโดยการฟื้นฟูบทบาทหน้าที่ของสถาบันและองค์กรเดิมๆ หรือคิดสร้างองค์กรและกระบวนการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยขึ้นมาทำหน้าที่ก็ตาม ทั้งหมดนี้เราไม่ทำเลย แต่ยกอำนาจให้รัฐไปทำแบบห่วยแตกไปเรื่อยๆ

อำนาจที่รัฐมีนี้ รัฐนำไปใช้เพื่อ "ขโมย" ก็มากทีเดียว เช่น หากกรรมการจัดเรตติ้งมีอำนาจมากอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะรับสินบนผู้สร้างหนัง เพราะผลประโยชน์รออยู่มหาศาลพอที่จะจ่ายได้ หรือเจ้าหน้าที่ปราบยาเสพติด รับสินบนเพื่อเอาชื่อออกจากบัญชีดำ หรือปล่อยให้คาราวานเล็ดลอดเข้ามา เพราะผลประโยชน์ก็รออยู่มหาศาลเหมือนกัน

เราไม่เคยคิดถึงการทำให้ ด้านความต้องการยาเสพติดลดลง หรือความต้องการทำอนาจารเด็กลดลง หรืออย่างน้อยก็ถูกตนเองและสังคมรอบข้างกำกับมากขึ้น รัฐอย่างเดียว - แม้แต่รัฐที่เข้มแข็ง - ก็ไม่สามารถกำกับศีลธรรมด้านที่สองคือผดุงบุคคลให้บรรลุจุดหมายสูงสุดทาง ศาสนาได้

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับสองด้านของศีลธรรมก็คือ ถ้าเราคิดว่าหัวนมผู้หญิงเป็นอันตรายต่อศีลธรรมอันดี (หัวนมผู้หญิงหรือท่าทีต่อหัวนมผู้หญิงกันแน่?) เราก็จะปิดหัวนมผู้หญิงเอาไว้ให้แน่นหนา แต่เพื่อการนี้เราต้องแลกกับอะไรบ้าง?

ผมคิดว่ามีอย่างน้อยก็ สองอย่าง หนึ่งคือเสรีภาพ และสองคือความสามารถในการจัดการตนเองเบื้องหน้าหัวนมผู้หญิง ยิ่งไปกว่านี้เราจะไว้ใจได้อย่างไรว่า อำนาจปิดหัวนมนี้จะถูกใช้เพื่อปิดหัวนมอย่างเดียว ไม่ได้ไปปิดอย่างอื่นๆ ซึ่งเป็นสิทธิที่เราพึงเห็นด้วย

มันคุ้มแน่หรือครับ?

 

หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง(3):พุทธศาสนาเป็นวิถีที่ตรงกันข้ามกับอำนาจนิยม

Posted: 25 Dec 2010 12:06 PM PST

ากการเสวนา "พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง" โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ

วิจักขณ์พานิช: ผมจะพูดหัวข้อนี้ในแง่มุมที่ต่างออกไปนะครับ คือ จะเข้ามาในแง่ของคุณค่าทางจิตวิญญาณ และประวัติศาสตร์ศาสนา แต่โดยรวมแล้ว คิดเห็นไม่ต่างจากคุณศิโรตม์ คือ หากเราจะคุยกันถึงพุทธศาสนากับสังคมและการเมือง เราอาจแยกออกได้เป็นสองประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่ง พุทธศาสนาในตอนนี้กำลังมีปัญหาในตัวของมันเองหรือไม่ อย่างที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามถึง ตัวคำสอนที่ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นสินค้า การเฝ้าแต่ผลิตคำซ้ำๆหรือสิ่งที่คนในสังคมเชื่อหรือรู้กันอยู่แล้ว ตัวคำสอนที่ไม่สามารถมองมนุษย์กับตัวศาสนาเท่ากันได้ ฯลฯ และประเด็นที่สอง คือ เรื่องบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในฐานะสถาบันหลักทางสังคม ที่เราอาจมองเห็นถึงแนวโน้มที่พุทธศาสนาไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น อย่างเช่น เรื่องบทบาทของผู้หญิง การเหยียดเรื่องเพศ การปฏิเสธความหลากหลายของคน และการเพิกเฉยต่อการฆ่าหรือความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น

เราอาจลองดูกันที่ประเด็นหลังก่อนนะครับ อย่างที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีที่เพิกเฉยของศาสนจักรต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรเอง ที่ไม่เคยมีความพยายามในการออกมาปกป้อง ให้ความชัดเจน หรือคลี่คลายความขัดแย้ง อย่างกรณีธรรมกาย กรณีสันติอโศก กรณีการบวชภิกษุณี หรือศีลวินัยของสงฆ์ในบางข้อที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ปัญหาทั้งหมดเต็มไปด้วยความคลุมเครือในท่าทีของศาสนาจักรเอง และมักจบลงด้วยการเพิกเฉย ไม่พูดถึง หรือปล่อยให้ข่าวซาๆไป ซึ่งผมมองว่ามีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือที่สถาบันศาสนามีต่อเรื่องอื่นๆ   

แบบอย่างความเพิกเฉยของศาสนาจักรทำให้คนตั้งคำถามกันมากนะครับ ว่าจริงๆแล้ว พุทธศาสนาเนี่ยมีมิติทางสังคมหรือเปล่า (ไม่นับเชิงสังคมสงเคราะห์) มีคนเยอะนะครับที่ปักใจเชื่อไปแล้วว่าไม่มี คือ พุทธศาสนาใช้ได้เฉพาะมิติของการเปลี่ยนแปลงภายในของปัจเจกเท่านั้น มันทำให้ผมคิดถึงคำพูดหนึ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆในแวดวงคนที่สนใจพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรม คือ ขอแค่เรากลับมาดูแลจิตใจตัวเอง ภาวนาไป แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ไม่ต้องไปสนใจเรื่องนอกตัว ไม่ต้องไปมัววิพากษ์วิจารณ์สังคม ขอแค่ดูใจเราเอง แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง เคยได้ยินมั๊ยครับ แต่คำถามก็คือถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว การมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยจะอยู่ที่ตรงไหน การช่วยกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆที่มาจากอำนาจรัฐจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คือ พูดง่ายๆพอมาสนใจศาสนาแล้ว มิติทางสังคมมันหายไปเลย  

ผลที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของบทบาทศาสนจักร และความไร้ศักยภาพของพุทธศาสนาในการเผชิญปัญหา ความขัดแย้ง และความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ มันก็ทำให้หลายๆคนเริ่มรู้สึกท้อแท้กับพุทธศาสนานะครับ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามกันมากในหมู่คนรุ่นใหม่ บ้างก็ว่าพุทธศาสนาเถรวาทแคบและเก่า พระเดี๋ยวนี้ไม่บริสุทธิ์ คำสอนใช้ไม่ได้ หรือไม่ก็เลือกจะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่มีศาสนาไปเลยก็มีนะครับ อันนี้ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น ผมอยากจะชวนให้ลองกลับมาดูในประเด็นแรก ว่าตัวพุทธศาสนาที่เป็นอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร และเรากำลังมีปัญหาในการทำความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่าของตัวพุทธศาสนาเองมากน้อยแค่ไหน  

ทุกคนคงรู้กันดีนะครับว่าพุทธศาสนาที่เรานับถือกับในประเทศไทยนั้นเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผมชักไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถเรียกพุทธศาสนาที่เรานับถือกันอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เต็มปากนัก ซึ่งเดี๋ยวเราจะกลับมาดูกันนะครับว่าถ้าไม่ใช่เถรวาทแล้วเป็นอะไร แต่ตอนนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทในความเข้าใจของผมเสียก่อน  

พุทธศาสนาเถรวาทถือเป็นนิกายของพุทธศาสนาที่มีความเก่าแก่ที่สุดนะครับ ประเทศไทยภูมิใจกับความเป็นเถรวาทของเรามาก บางคนถึงกับเรียกพุทธศาสนาของเราว่าเป็นของแท้ ของ original จากพระพุทธเจ้า เถรวาทเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสายอาวุโส (senior order) จุดเด่นของเถรวาทก็คือ การพยายามรักษาคุณค่าที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล อีกทั้งยังพยายามคงรูปแบบดั้งเดิมที่สะท้อนถึงคุณค่านั้นไว้ อย่างที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด  

แบบอย่างอันเป็นอุดมคติของเถรวาท ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเองนะครับ และวิถีชีวิตที่พระพุทธเจ้าใช้ในการแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณในเบื้องต้น ก็คือ “การออกจากสังคม” การออกบวช พูดง่ายๆ คือ การตายไปจากสังคม เป็นการทิ้งสิทธิทั้งหมดที่ตัวเองมี สละสิทธิ์ แล้วกลายเป็นคนไม่มีสิทธิ์ใดๆในสังคมเลย  

ในวัฒนธรรมอินเดีย การออกบวช หมายถึง คุณกลายเป็น nobody จริงๆ ไม่ใช่บวชแล้วกลายเป็นอะไรที่ดูโก้เก๋ สูงส่ง นักบวชนั้นไม่ใช่พราหมณ์ คือเป็นคนที่ไม่มีสิทธิอะไรเลย เวลามีใครตัดสินใจออกบวช คนในครอบครัวมีการเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ หรือถึงขั้นทำงานศพให้เลยก็มีนะครับ เพราะในสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น การไม่มีสถานะทางสังคมถือว่าคุณไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า และไม่ข้องเกี่ยวกับสังคมอีกต่อไป   

วิถีของนักบวชในอินเดียนั้น เรียกกันว่า วิถีของสมณะ คำว่า “สมณะ” แปลว่า “ผู้เดินท่องไป” เป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสถานะ ไม่มีบทบาท ไม่มีที่พักพิงใดๆ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการเดินท่องไปเรื่อยๆ  

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ของสมณโคดม สิ่งที่เขาได้รับก็คือ “เสรีภาพ” นะครับ เรียกได้ว่า เขายอมแลกสิทธิ์ทั้งหมดที่เคยมีในฐานะคนคนหนึ่ง เพื่อจะได้มีเสรีภาพจริงๆ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้นนะครับ ว่าทำไมพุทธศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ค่อยเน้นในเรื่องสิทธิ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจากสังคมมากนัก วิถีชีวิตอุดมคติทางศาสนาของภิกษุ/ภิกษุณี เรียกได้ว่าเป็นผู้ขอ หรือเป็นผู้ที่ไม่เรียกร้องสิทธิ์ใดๆทางสังคมเลย ขอเศษอาหาร นอนตามโคนไม้ หรือเรือนว่าง นัยของความไม่มีสิทธิ์ทางสังคม นำมาซึ่งคำว่า “อะไรก็ได้” ที่ติดปากคนไทยกันมานานนม วิถีสมณะ คือ รับอะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ ใครจะดูถูกดูแคลนยังไงก็ได้ ถูกปฏิเสธไม่เป็นไร ไม่พูดถึงสิทธิ์ของตัวเองเลย ขอให้มีเสรีภาพในการแสวงหาคุณค่าบางอย่างในแบบของตัวเองเป็นพอ  

และสถานที่เดียวครับ ที่เหล่าสมณะจะมีเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ก็คือ สถานที่ที่สังคมยังไม่ได้แผ่อำนาจไปผูกคุณค่าไว้กับมัน สถานที่นั้น คือ “ป่า” ป่าเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ คือพื้นที่ หรืออาณาเขตที่ปลอดจากอำนาจ การกำหนดกฎเกณฑ์ หรือคุณค่าที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้วโดยผู้อื่นหรือโดยสังคม ป่าถือเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการแสวงหาคุณค่าใหม่ ซึ่งอันนี้ก็ไปพ้องกับความหมายของ “สมณะ” หรือ “ผู้เดินท่องไป” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ผละจากบ้านไปสู่ความไร้บ้าน สมณะเลือกที่จะตายไปจากสังคม เพื่อออกแสวงหาคุณค่าบางอย่างที่ในสังคมตอนนั้นไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่มีอยู่ สิทธัตถะเลือกวิถีชีวิตแบบนี้ในการแสวงหาคุณค่า และแม้หลังจากที่รู้แจ้งเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังคงวิถีสมณะไว้เป็นหลัก  

คำว่า “ไม่มีสิทธิ์” นี่เป็นคำที่น่าสนใจนะครับ แม้หลังจากที่พระพุทธเจ้าค้นพบคุณค่าที่ท่านได้แสวงหาแล้ว โดยสถานะทางสังคม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน ยังคงเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์เช่นเดิม คือในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า ท่านถือว่าท่านไม่มีสถานะใดๆทั้งสิ้น ไม่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆให้เป็นอย่างที่อยากให้เป็นเลย ตรงนี้ผมแปลคำว่าสิทธิ์เท่ากับคำว่าอำนาจนะครับ คือ วิถีพุทธจริงๆแล้วมันตรงกันข้ามกับอำนาจนิยมโดยสิ้นเชิง เพราะวิถีพุทธนั้น หัวใจของมันนั้นคือศักยภาพบางอย่างที่ปรากฏขึ้นจากภาวะไร้อำนาจ ไม่มีนัยของการควบคุม จำกัด หรือบังคับ แต่มันคือการศิโรราบ ยอมรับความจริง และอยู่อย่างสอดคล้องกับสิ่งที่เป็น พระพุทธเจ้าแสดงแบบอย่างของคนที่สละอำนาจ ไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้น ในการเดินท่องไปของพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก เรียกได้ว่า เป็นคนที่ต่ำยิ่งกว่าต่ำ เพราะฉะนั้นท่านจะถูกดูแคลน ถูกเหยียดหยามยังไง คำสอนมันจะไม่เข้าหูใครยังไง สมณะเหล่านั้นไม่ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลหรือไม่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปต่อว่า หรือไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะไปสอนหรือแก้ไขเขานะครับ  

พระพุทธองค์ยังบอกอีกนะครับ ว่าแม้แต่สาวกที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วเนี่ย ก็ขอให้รักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบนี้ คือ วิถีของการเดินท่องไป ผมว่ามันมีนัยอะไรบางอย่างของการวางรากฐานจิตวิญญาณของพุทธศาสนาในแบบนี้ แม้ว่าในช่วงหลังคำสอนของพระพุทธองค์จะเริ่มเป็นที่ยอมรับกันในคนจำนวนไม่น้อยในสังคมแล้วก็ตาม พระพุทธองค์ก็ยังเดินท่องไปเรื่อยๆจนวันตายเลยนะครับ คือ เดินจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง สิ่งที่เจอก็คือสถานการณ์ต่างๆของสังคมที่ต่างกันออกไป วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ภาษาที่ไม่เหมือนกัน คุณค่าทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน โรคภัยไข้เจ็บที่ไม่เหมือนกัน เรียกได้ว่าวิถีการเดินท่องไปแบบนั้น ไม่มีหลักยึดอะไรได้เลย ต้องปล่อยสิ่งที่ตนคิดไว้อยู่ตลอดเวลา ต้องตื่น และเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา มันทำให้คนที่เดินบนวิถีนี้ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้ที่เกิดขึ้นมันถูกสังเคราะห์ใหม่อยู่ตลอดเวลา คือต้องเปิดรับและอยู่กับความไม่รู้ อย่างที่ไม่สามารถจะเอาความรู้เดิมที่คิดว่ารู้แล้วมาใช้แบบสำเร็จรูปได้ กลุ่มคนเหล่านี้แม้จะไม่มีสิทธิ์อะไรในทางสังคมเลย เดินจากบ้านสู่ความไร้บ้านตลอดชีวิต แต่กลับเป็นเหมือนเอเย่นต์ของการเปลี่ยนแปลง หรือเอเย่นต์ของการเรียนรู้ใหม่ การทำความเข้าใจใหม่อยู่ตลอดเวลา และนี่คือวิถีของพุทธะ หรือวิถีของความตื่น    

จะสังเกตเห็นนะครับว่าการประกาศพุทธธรรมของพระพุทธเจ้า มันไม่ได้เป็นประกาศความเชื่อ หรือหลักคิดใหม่ทางสังคมและการเมือง ธรรมวินัยไม่ได้แสดงถึงอำนาจที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่เราคิดว่าดี แต่เป็นการประกาศถึงการวางตัววางใจอันแสดงออกในวิถีชีวิตที่ลงไปเรียนรู้และสัมผัสกับความทุกข์ ปัญหา และผู้คน โดยยังรักษาต้นธารในป่า คือ พร้อมที่จะสละสิทธิ์ ปล่อยวางจากอำนาจ ผละจากบ้านหรือความยึดถือในตัวตน แล้วใช้ศักยภาพของความตื่น สติปัญญาในการเข้าหาผู้คน เรียนรู้สังคม วัฒนธรรม และเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปอย่างสอดคล้อง  

ตรงนี้ผมมองว่าเป็นหัวใจหรือต้นธารของพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะถ้าเราจะเรียกพุทธศาสนาในประเทศไทยว่าพุทธศาสนาเถรวาทเนี่ย ยิ่งจะต้องทำความเข้าใจคุณค่าของวิถีชีวิตอันเป็นต้นธารจิตวิญญาณพุทธศาสนานี้ หล่อเลี้ยงและรักษามันไว้ให้ได้  

เราอาจจะสงสัยว่าเมื่อไม่มีสิทธิ์แล้ว จะมีอำนาจอะไรไปเปลี่ยนแปลงสังคม ก็เล่นอยู่ในป่า หาที่หลีกเร้นไปภาวนา อยู่ตามชายขอบของสังคม อาจจะเรียนรู้ผู้คนในสังคมและวัฒนธรรมนึง แต่สักพักก็จากออกมา แล้วเดินทางต่อ แต่ในทางปฏิบัติ วิถีของคนไม่มีสิทธิ์ หรือคนชายขอบเหล่านี้กลับมีผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอินเดียสูงมาก เพราะมันทำให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดกัน และแม้จะออกจากสังคมไปแล้ว แต่วิถีสมณะนั้นก็ยังต้องสัมพันธ์กับสังคมจากการขอนะครับ โดยเฉพาะในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ากำหนดไว้เลยว่าการบิณฑบาตถือเป็นกิจอย่างหนึ่งที่จะยกเว้นไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณค่าใดที่ถูกค้นพบ ฝึกฝน และปฏิบัติ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมอยู่ตลอด การบิณฑบาตถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงให้พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสังคม ไม่หลุดลอยออกมากลายเป็นการตัดขาดจากผู้คนหรือความทุกข์ร่วมกับคนอื่น อีกทั้งวิถีของการเดินท่องไปก็ไม่ได้ให้นัยของการตัดขาดตัวเองจากคนอื่นอยู่แล้ว มันทำให้มีการปฏิสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นมีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้มาจากสถานะที่อยู่สูงกว่า คือตรงกันข้าม มันต้องมาจากสถานะที่เท่ากันหรือต่ำกว่าเสียด้วย  

และอีกประเด็นที่น่าสนใจมากของ ความไม่มีสิทธิ์ ซึ่งมันอาจดูไม่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเลย แต่ผมกลับมองว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มากๆ ก็คือว่า คนที่ไม่มีสิทธิ์เนี่ย เนื่องจากว่าเค้าไม่ได้ต้องการการรับรองหรือการยืนยันในเชิงคุณค่าใดๆจากสังคม คุณค่าของเขาได้ถูกพบแล้วด้วยตัวเอง และเป็นสิ่งที่เขานำมาฝึกฝนและปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเขาด้วย ขณะเดียวกันเขาก็เจียมตัว และพร้อมที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกเตะออกไปจากสังคมอยู่ตลอดเวลา ตรงนั้นทำให้คนเหล่านี้ แม้จะไม่มีสิทธิ์ แต่ด้วยความตื่นและความเข้าใจในความเป็นไปต่างๆที่ได้ไปพบเห็น ทำให้เขามีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ “ความกล้า” คนพวกนี้เรียกได้ว่าไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่มีอะไรต้องกลัวเสีย ไม่ต้องเกรงว่าคนจะไม่ยอมรับ หรือคนจะไม่รัก เพราะวิถีของสมณะไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิ์หรืออำนาจถูกมั๊ยครับ สิ่งที่เขาสนใจมีแค่ความจริง และหนทางที่จะคลี่คลายความทุกข์ ความขัดแย้งในตนเองและผู้อื่นเท่านั้น อันนี้ผมว่ามันน่าสนใจ และมันอาจเปิดมุมมองให้เราเห็นถึงอิทธิพลที่พุทธศาสนามีผลต่อสังคมในหนทางที่ต่างออกไป โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความกล้า” และ “ความตื่น” ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อรับใช้อำนาจทางสังคมที่ถูกกำหนดไว้   

ความกล้าหาญทางจริยธรรมมันเกิดขึ้นมากนะครับในสมัยพุทธกาล มันมีความตื่นอยู่ในนั้น มีใจที่เปิดกว้างอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันก็ยังรักษาต้นธารหรืออุดมคติที่มีรากอยู่ใน “ป่า” ซึ่งคือพื้นที่ของอิสรภาพ พื้นที่ที่ไม่ถูกอำนาจของสังคมในการควบคุม พื้นที่ที่ไม่ถูกปรุงแต่งหรือกำหนด หรือเจือปนด้วยอคติ ซึ่งพื้นที่นั้นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากเราจะพูดถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนา   สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดเป็นมุมมองในทางประวัติศาสตร์ศาสนา ที่อธิบายถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณที่พุทธศาสนาเถรวาทให้ความสำคัญนะครับ ถ้าพุทธศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นพุทธศาสนาเถรวาท เป็นพุทธศาสนาสายที่เก่าแก่ที่สุด และซื่อตรงต่อธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ที่สุด รากฐานเหล่านั้นมันอยู่ตรงไหน และเรายังมองเห็นอะไรที่ตั้งอยู่บนรากฐานนั้นอยู่บ้างหรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ข้าพเจ้าต้องการงานเฉลิมฉลองของประชาชน!

Posted: 25 Dec 2010 10:07 AM PST

ข้าพเจ้าต้องการงานเฉลิมฉลอง
ของพวกเราเหล่าพลเมือง
บรรณาการแด่เสรีภาพ ความเท่าเทียม
หาใช่การเซ่นสังเวยแด่เทพดาและผีห่าตนใด

ข้าพเจ้าปรารถนา รอยยิ้ม เริงรื่น เบิกบาน
เยี่ยงนกป่าเสรีที่โผบินไปในจินตนาการ
มิใช่เพียงประจักษ์พยานประดับฉาก
แห่งนาฎรัฐมหานครอันยิ่งใหญ่

ข้าพเจ้าฝันถึงรุ่งอรุณ
แห่งการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่
อหังการ์ของความเป็นคน
มิใช่เป็นฝุ่นใต้ฝ่าตีนใคร

ข้าพเจ้าต้องการงานเฉลิมฉลอง
ของพวกเรา- มนุษย์ผู้มีเสรีและเจตจำนง
มีรัก โลภ โกรธ หลง โง่งม อย่างแสนสามัญ
มิต้องการใบประกาศยืนยัน “คุณความดี”
ที่มิมีใครเสมอเหมือน

มากไปหรือเพื่อนผู้ร่วมโลกทั้งหลาย
หากชีวิตหนึ่งของเราเกิดขึ้นมา
จะยืนหยัดทะนงด้วยฝ่าตีนตนเอง
มากไปหรือเพื่อน
หากชีวิตหนึ่งเกิดมา
จะเรียกร้องแสวงหาเสรีภาพความเท่าเทียมของความเป็นคน

เพื่อนเอ๋ย ....
หากเธอเห็นว่าการเปล่งเสียงเรียกร้องนี้แสนธรรมดา
ฉัน เธอ พวกเราจงลุกขึ้นมา
ยืนยันว่าเรา “คนเหมือนกัน”
เมื่อนั่น เราจะร่วมดื่มอย่างหรรษา
ภายใต้ท้องฟ้าครามไร้หมู่เมฆทะมึน.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดเอกสาร DSI (?) : กรณี 6 ศพวัดปทุมฯ

Posted: 24 Dec 2010 07:56 PM PST

หมายเหตุ: ประชาไทได้รับเอกสารชิ้นนี้จากแหล่งข่าวที่ไม่อาจเปิดเผย เป็นบันทึกการสอบปากคำพยานและผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สังหารประชาชน 6 ศพภายในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 โดยหัวกระดาษระบุว่าเป็นเอกสารของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเอกสารฉบับเดียวกันหรือไม่กับที่นายจตุพร พรหมพันธ์ กล่าวอ้าง และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้ออกมาปฏิเสธอย่างชัดเจน ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ด้วยตระหนักว่า กรณีนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมของผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นชะตากรรมร่วมของสังคมประชาธิปไตยไทย ทั้งนี้เพื่อให้สังคม ผู้อ่าน และหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้วิจารณญาณ ร่วมกันตรวจสอบ รวมถึงชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

 

บทคัดย่อ

เอกสารดังกล่าวมีการสอบปากคำพยาน จำนวน 41 ปาก แบ่งเป็น ญาติผู้ตาย ประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ อาสาสมัครพยาบาลในเต๊นท์พยาบาล เจ้าหน้าที่ของวัดปทุมฯ ผู้สื่อข่าวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถ่ายภาพไฟไหม้เซ็นทรัลเวิร์ล รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส

พยานเจ้าหน้าที่ทหารระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการให้ปากคำว่า ประจำที่กองพันรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษที่ 2 ลพบุรี เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นำกำลังเข้ามารับผิดชอบที่ปทุมวัน (ฉก.ปทุมวัน) จำนวน 4 ชุด ปฏิบัติการโดยรับผิดชอบที่บนรางรถไฟฟ้า ตั้งแต่สถานีสนามกีฬา บนรางรถไฟฟ้าชั้น 2 (บนสุด) บนรางรถไฟฟ้าชั้น 1 ฝั่งวัดปทุมวนาราม ฝั่งขวาทางด้านโรงหนังสยาม โดยจะมี ร.31 พัน 2 รอ.รับผิดชอบบนด้านล่างที่บนถนนพระราม 1 ในเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 พยานพร้อมกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย พยานได้ยินเสียงในแนวราบแจ้งให้คุ้มกันให้ พยานจึงได้สั่งให้กำลังอีกชุดหนึ่งเข้าคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่ของแนวราบตามที่ร้องขอ โดยมีกำลังปฏิบัติหน้าที่รางรถไฟฟ้าชั้น 1 ฝั่งวัดปทุมวนารามจำนวน 7 นาย อีก 2 นาย อยู่ประจำสถานีรถไฟฟ้าสยาม ส่วนพยานไม่สามารถลงมาจากชั้น 2 ได้ เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ พยานทราบว่าชุดปฏิบัติการของพยานได้มีการยิงตอบโต้กับกำลังติดอาวุธที่อยู่ภายในวัดปทุมวนาราม และถนนพระราม 1 บริเวณตอม่อ พยานไม่ทราบว่ามีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ พยานทราบว่าไม่มีการยิงต่อสู้กันที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสแต่อย่างใด มีการยิงต่อสู้กันประมาณ 10 นาที ในเวลาประมาณ 18.10 น. พยานสั่งให้ชุดปฏิบัติการดังกล่าวถอนกำลังไปอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม พยานทราบว่าชุดปฏิบัติการดังกล่าวกลับมาที่สถานีรถไฟฟ้าสยามในเวลาประมาณ 19.45 น. และอยู่ที่สถานีดังกล่าวจนถึงเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 พยานให้การว่าพยานใช้อาวุธปืน เอ็ม 16เอ4 (M16A4) ส่วนชุดปฏิบัติการฝั่งวัดปทุมวนารามใช้อาวุธปืน เอ็ม 16เอ2 (M16A2) พยานให้การว่าพยานพร้อมชุดปฏิบัติการนี้ใช้กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิด เอ็ม855 (M855) ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างคือหัวกระสุนชนิดดังกล่าวนี้จะเป็นหัวสีเขียว

เจ้าหน้าที่ทหารอีกรายหนึ่งให้การว่าประจำที่กองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่เป็นรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 18.00 น. พยานซึ่งรับผิดชอบบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสฝั่งวัดปทุมวนาราม พยานให้การว่าเห็นชายชุดดำที่ตอม่อบนถนนพระราม 1 พยานจึงได้ยิงใส่กลุ่มชายดังกล่าวไป 7 นัด เวลาประมาณ 18.10 น. เห็นชายที่บริเวณมุมกุฏิมีอาวุธปืนจึงยิงใส่ไป 1 นัด เวลา 18.20 น. ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังจากบนรางรถไฟฟ้า วันที่ 20 – 21 พฤษภาคม 2553 ทำหน้าที่คุ้มกันชุดเก็บกู้ระเบิด และวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ได้ถอนกำลังกลับไปที่กระทรวงพลังงาน พยานให้การว่าใช้อาวุธปืนประจำกายที่ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นปืน เอ็ม16เอ2 (M16A2)ใช้กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิด เอ็ม855 (M855)

เจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่ง ให้การว่าประจำที่กองรบพิเศษที่ 3 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 พยานร่วมปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อคุ้มกันชุดในแนวราบตามคำสั่งทีได้รับมอบหมายพยานใช้อาวุธปืน เอ็ม16เอ2 (M16A2)ใช้กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิด เอ็ม855 (M855) พยานได้ใช้อาวุธปืนยิงขู่ไปที่กำแพงวัดปทุมวนาราม

ส่วนอีกรายหนึ่งประจำการบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อคุ้มกันชุดในแนวราบตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายพยานใช้อาวุธปืน เอ็ม16เอ2 (M16A2)ใช้กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. เป็นชนิด เอ็ม855 (M855) และได้ใช้อาวุธปืนยิงไปจำนวน 4 นัด เพื่อขู่ชายชุดดำที่อยู่ใต้สะพานลอยคนข้าม ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารอีกคนหนึ่งใช้อาวุธปืน เอ็ม16 ยิงไปจำนวน 4 นัดขึ้นฟ้า เพื่อให้คนที่อยู่ใต้ท้องรถออกมา โดยพยานตะโกนให้ออกมาจากใต้ท้องรถและถอดเสื้อ

อย่างไรก็ตาม มีพยานเจ้าหน้าที่ทหารหลายรายระบุว่าได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการร่วมกันกับคนอื่นๆ แต่ไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงใครแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในเอกสารดังกล่าวยังระบุถึงพยานเอกสาร ได้แก่ รายงานการชันสูตรพลิกศพ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ คำสั่งศูนย์ปฏิบัติการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ สำเนาบัญชีเบิกจ่ายอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ฯลฯ แผ่นซีดีจากพยาน รวมถึงพยานวัตถุ ได้แก่ ปลอกกระสุนจำนวน 2 ปลอก กระสุนปืนจำนวน 1 นัดฯ

 
 0000

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น