โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงาน iLaw: เสวนา 'ทะเบียนสมรส' ทางเลือกในกฎหมายของคนรักเพศเดียวกัน

Posted: 04 Dec 2010 09:38 AM PST

ในงานเสวนาเรื่อง “การจดทะเบียนสมรสของคนรักเพศเดียวกัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ที่หอประชุมอนุสรณ์สถานสิบสี่ตุลา มีตัวแทนของนักกิจกรรมสังคมด้านต่างๆ ร่วมให้ความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ ที่จะให้กฎหมายไทยยอมรับการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน

 

ยืนยันกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันยังจำเป็น

ฉันทลักษณ์  รักษาอยู่ นักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากทำงานผลักดันกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกัน เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการยอมรับจากครอบครัว สังคม เพราะวันนี้มีหลายคู่อยู่ด้วยกันได้อยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ผู้ใหญ่จะมองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง เบาๆ หวิวๆ ง่ายๆ เดี๋ยวก็เลิกกัน ถ้ามีกฎหมายมารับรอง น่าจะทำให้ความสัมพันธ์นี้มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ แต่กฎหมายอย่างเดียวคงไม่พอ ยังต้องทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

“หลายคนบอกว่า ทำไมเราต้องมาจดทะเบียน ทุกวันก็อยู่ด้วยกันได้อยู่แล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไร การยกทรัพย์สินให้กันก็สามารถทำได้ด้วยการเขียนพินัยกรรม แต่เราไม่น่าจะต้องเขียนพินัยกรรม เราน่าจะสามารถจดทะเบียนให้การรับรองคู่ของเราได้” ฉันทลักษณ์กล่าว

สำหรับความจำเป็นของกฎหมายการสมรสนั้น ฉันทลักษณ์มองว่า คู่หญิงรักหญิงซึ่งมักมีแนวโน้มว่าจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันนาน จะต้องการกฎหมายฉบับนี้มาช่วยสนับสนุนคุ้มครองชีวิตคู่ให้มีความมั่นคงมาก ขึ้น ขณะที่ชายรักชายอาจจะรู้สึกว่าจำเป็นบ้างไม่จำเป็นบ้าง

 

เครือข่ายเตรียมเดินหน้าผลักดัน แต่ไม่รีบร้อน

ฉันทลักษณ์ กล่าวต่อว่า มีความพยายามเรียกร้องมานานมากแล้ว แต่ยังไม่มีคนที่จะมาร่วมทำด้วยอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ประมาณปีสองปี มีข่าวว่า เกย์นทีล่าลายเซ็นต์สำหรับผลักดันกฎหมายจดทะเบียนสมรส แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากไปกว่านั้น ซึ่งในส่วนของเครือข่าย เพิ่งคุยกันว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนน่าจะทำงานเคลื่อนไหวร่วม กันได้ในปีหน้า ส่วนจะสำเร็จอีกสัก ยี่สิบหรือสามสิบปีก็ไม่เป็นไร

นอกจากนี้ ฉันทลักษณ์ยังแสดงความกังวลว่า ในปัจจุบันกฎหมายการแต่งงานระหว่างหญิงชาย ก็ยังไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องคุยในแวดวงคนรักเพศเดียวกันด้วยว่า เราต้องการกฎหมายการจดทะเบียนที่คล้ายๆ แบบที่มีอยู่ หรือเราต้องการกฎหมายใหม่ ที่มีความเท่าเทียมมากกว่านี้

 

โอด! เพื่อนกะเทยเคลื่อนไหวน้อย เน้นชัด! กฎหมายต้องมีไว้เป็นทางเลือก

ฐิติญานันท์ หนักป้อ นักกิจกรรมอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนข้ามเพศ(Transgender) หรือกลุ่มกะเทยเองยังไม่ค่อยเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากนัก กฎหมายนี้อาจเป็นทางเลือก แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคน บางคู่ต้องการแต่บางคู่ไม่ต้องการ แต่กฎหมายปัจจุบันมันไม่มีทางให้เราเลือก ไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับสำหรับคู่ที่ต้องการจริงๆ ซึ่งวัตถุประสงค์จริงๆ ของการจดทะเบียน เช่น เรื่องมรดก หรือการใช้สวัสดิการโรงพยาบาลต่างๆ ส่วนนี้น่าจะสำคัญมากกว่าจดทะเบียนหรือไม่จด

ฐิติญานันท์เห็นว่า เนื่องจากวัฒนธรรมไทยสามารถภาคภูมิใจได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ที่เห็นตามข่าวหนังสือพิมพ์ มีการสู่ขอ มีพิธีกรรม มีงานแต่งงาน ก็เหมือนได้ประกาศให้คนรู้แล้ว อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตคู่ได้ ไม่ค่อยรู้สึกว่าต้องออกมาเรียกร้องเท่าไร


นักกฎหมาย ระบุมาตราที่เป็นอุปสรรค พร้อมเสนอแก้คำนำหน้านามด้วย 

ด้าน อ.วราภรณ์ อินทนนท์ โครงการจัดตั้งคณะนิติธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ให้มุมมองในแง่กฎหมายว่า ปัจจุบัน ข้อจำกัดของกฎหมายไทย อยู่ในกฎหมายครอบครัว บรรพ5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 1448 ที่กำหนดไว้ว่า การสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ชายและหญิง” อายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์

อ.วราภรณ์เล่าต่อว่า มีอีกหลายมาตราที่เป็นอุปสรรค เช่น  มาตรา 1457 กำหนดว่า การสมรสตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะ

เมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ “ชายหญิง” ยินยอมเป็นสามีภรรยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ และมาตรา152 เรื่องต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด

อ.วราภรณ์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายไว้ด้วยว่า ต้องเริ่มจากมีมุมมองความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่คนรักเพศเดียวกัน แต่ยังมีเรื่องคนข้ามเพศ(TG) ดังนั้น การจะแก้ไขกฎหมายทางเพศ ต้องเริ่มจาก การแก้ไขสถานะทางเพศของบุคคลที่แปลงเพศแล้ว ควบคู่ไปกับกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกันด้วย

 

ศาสนายังเป็นอุปสรรค ต้องนำสังคมไม่ใช่ตาม

อ.เค็นเน็ต ด็อบสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา กล่าวว่า ศาสนาพูดง่ายๆ ก็คืออุปสรรค ที่แท้จริง บทบาทของศาสนาจะต้องเป็นฝ่ายนำวัฒนธรรม ปัญหาคือส่วนมากศาสนาจะตามวัฒนธรรม สังคมจะเคลื่อนที่หรือว่าเปลี่ยนความคิด ศาสนาก็จะตามไป ไม่เหมือนกับสมัยของพระเยซู หรือพระพุทธเจ้า ทั้งสองพระองค์ยอมที่จะนำเพื่อให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง ในประเทศไทย เราจะต้องรอให้สังคมยอมรับเราก่อน เพราะศาสนาจะไม่นำ

อ.เค็นเน็ตมองว่า ศาสนาจะอนุรักษ์นิยมมากที่สุด เราได้เห็นในโลกของเราโดยไม่ต้องยกตัวอย่าง จึงมีช่องว่างระหว่างความคิดของสังคม การยอมรับของสังคม และการยอมรับของศาสนา ขอเรียกว่า religious gap

“ปัญหาของศาสนา คือ จะต้องแบ่งเป็น ชายและหญิง ถ้าเป็นประเภทที่สามที่ลำบาก ซึ่งนั่นไม่ใช่หลากหลาย ยังเป็นสอง นี่คือข้อที่เราต้องสู้ ความหลากหลายจะต้องเกิดขึ้นในโลกของเรา” อ.เค็นเน็ตกล่าว

 

สี่ศาสนายังให้ค่าการสมรสไม่เหมือนกัน

เรื่องการแต่งงาน อ.เค็นเน็ตอธิบายถึงมุมมองของแต่ละศาสนาว่า สำหรับคาทอลิกถือเป็นหนึ่งในเจ็ดศาสนพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ คริสตจักร จึงจะควบคุม ดูแล ป้องกันไม่ให้หลุดจากมือ คาทอลิกจึงเป็นเหมือนตำรวจคอยป้องกันการแต่งงาน แต่โปรแตสแต๊นท์ เข้าใจว่าการแต่งงานเป็นสัญญาระหว่างคู่สมรส (social contract) บทบาทของศาสนาจึงเป็นที่ปรึกษา เป็นครูสอน ไม่ป้องกัน

ศาสนาอิสลามเข้าใจว่าการแต่งงานเป็นการตกลงภายในสังคม (social arrangement) ส่วนศาสนาเป็นฝ่ายป้องกันสังคมอิสลาม ไม่นำ แต่ป้องกัน มีโอกาสที่จะห้าม แต่สังคมอิสลามเองก็หลากหลาย แต่ละที่เป็นอิสลามแต่ไม่เหมือนกันเลย ส่วนพุทธศาสนา ถือเป็น การตกลงภายในสังคมเช่นกัน และอยู่ภายใต้ธรรมะ เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ระหว่างเพื่อนภายในสังคม และไม่มีธรรมะเฉพาะสำหรับชีวิตสมรสชาวเกย์ จะอยู่ภายใต้ธรรมะของสังคม

อ.เค็นเน็ต หนึ่งในผู้ที่จดทะเบียนสมรสกับคนเพศเดียวกันจากรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา เล่าถึงชีวิตหลังการจดทะเบียนให้ฟังว่า แต่งงานแล้วมันไม่มีอะไรเปลี่ยนไป พ่อแม่ของเค้า สังคมของเรา ยอมรับเราแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กระดาษที่เราได้จากไอโอวามันไม่เกี่ยวเลย ผมทำเพราะอยากให้เข้าใจว่า มันมีตัวอย่างที่หนึ่งในโลกที่ทำได้

 

บทเรียนเนเธอร์แลนด์ 40 ปี ค่อยเป็นค่อยไป

ด้าน ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าประสบการณ์จากการไปศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีกฎหมายยอมรับการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ว่า ต้องย้อนไปดูบริบททางสังคมของเนเธอร์แลนด์ในปี 1960 ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ครอบครัวเดี่ยว ที่มี พ่อ-แม่-ลูก ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานหลักของสังคมอีกต่อไป มีรูปแบบที่หลากหลายเกิดขึ้น เช่น หญิงกับชายที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแบบแต่งงาน อยู่คนละบ้านก็มี มีรูปแบบพ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียว และมีรูปแบบหญิงรักหญิง ชายรักชาย

ดร.ปณิธีเล่าว่า ในช่วงนั้น ศาสนากับการควบคุมวิถีชีวิตคนในสังคมเริ่มเสื่อมอำนาจลง เนเธอร์แลนด์เป็นโปรเตสแตนท์การควบคุมจึงน้อย และขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ในประเด็นอื่นๆ ด้วยเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ดร.ปณิธีเล่าต่อว่า ในปี 1985 กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเกย์ (Gay Rights Movement) เรียกร้องให้รัฐสภาออกกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ จนกระทั่งปี 1995 รัฐสภาถึงตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของการร่างกฎหมาย ใช้เวลาไปสิบปี จนปี 2001 กฎหมายถึงมีผลบังคับใช้ ให้ได้รับสิทธิเหมือนหญิงชายที่สมรสกัน

“ในแง่กฎหมายเรียกว่า the law of small change คือไม่ได้เปลี่ยนในทันทีทันใด แต่เป็นกฎหมายที่ค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิดในสังคมดัชต์ พร้อมกับการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ที่มองเรื่องครอบครัวที่หลากหลายและมองความหลากหลายทางเพศประกอบกันไปด้วย” อ.ปณิธี กล่าว

อ.ปณิธียังได้อธิบายด้วยว่า การที่คู่สมรสในเนเธอร์แลนด์จดทะเบียนสมรสกันได้ จะนำไปสู่สิทธิตามกฎหมายอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สิทธิของคู่หญิงรักหญิงในการเป็นผู้ปกครองของเด็กที่เกิดจากสเปิร์มบริจาค สิทธิของคู่ชายรักชายในการรับเด็กมาเลี้ยง สิทธิในการรับบำนาญของคู่สมรส สิทธิการตัดสินใจกรณีตัดสินใจตายอย่างสงบ สิทธิรับค่าเลี้ยงดูหลังการหย่าร้าง สิทธิในการลดหย่อนภาษี

 

เน้นความหลากหลายทางครอบครัว ควบคู่ความหลากหลายทางเพศ

ดร.ปณิธี กล่าวถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศไทยว่า เนเธอร์แลนด์ใช้เวลา 40 ปีในการเปลี่ยน สำหรับในไทย การเคลื่อนไหวทางกฎหมายต้องควบคู่ไปกับเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย การเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศก็จำเป็น แต่ยังไม่พอ ต้องไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความหลากหลายของครอบครัว ด้วย

ดร.ปณิธีกล่าวอีกว่า สังคมไทยยังมีวิธีคิดแคบๆ ว่า ครอบครัว คือ ชายหญิงที่สมรสกันตามกฎหมาย แม้กระทั่งชายกับหญิงที่อยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนยังถูกผลักให้เป็นคนชาย ขอบเหมือนกัน พื้นที่ของครอบครัวที่หลากหลายจึงยังไม่มีเสียงออกมา แต่เชื่อว่าในอนาคต รูปแบบครอบครัวที่หลากหลายจะมีเยอะ เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องปรับตัว คงจะต้องมีกฎหมายออกมารองรับ

“ถ้ามองเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว จะว่าไปก็เป็นแนวคิดตะวันตกที่มองแบบปัจเจก ถ้ามองแบบนั้นอาจจะได้รับสิทธิในแง่พื้นที่ที่จะรักเพศเดียวกันใช้ชีวิตกับ คนเพศเดียวกันได้ แต่ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าครอบครัวมีหลากหลาย คุณก็จะยังไม่มีพื้นที่ในการสร้างครอบครัว และในการจดทะเบียนสมรสด้วย” ดร.ปณิธีฝากไปยังนักกิจกรรมที่จะเดินหน้าเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว

Posted: 04 Dec 2010 08:29 AM PST

คนจนนำแผ่นซีดีเก่าสิบ-ยี่สิบแผ่นมาวางขายหาเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ ถูกจับและเรียกปรับเป็นแสน ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไทยช่างเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเหลือเกิน

คนจนนำแผ่นซีดีเก่าสิบ-ยี่สิบแผ่นมาวางขายหาเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ ถูกจับและเรียกปรับเป็นแสน ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไทยช่างเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเหลือเกิน และเมื่อปรากฏภาพข่าวนายตำรวจขวัญใจประชาชนควักเงินส่วนตัวจ่ายค่าปรับแทนคนจน เราต่างตื้นตันใจว่าสังคมนี้ช่างมีตำรวจที่เปี่ยมเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้ยากไร้หาเช้ากินค่ำเหลือเกิน แต่เป็นภาพที่ขัดแย้งกับภาพตำรวจตามด่านตรวจบางแห่ง ที่ก้มลงหยิบเศษเงินข้างๆ เท้าของคนขับรถบรรทุก

ภาพที่ขัดแย้งกันสองภาพดังกล่าว ภาพแรกเป็นภาพจงใจถ่ายทำ แต่ภาพหลังเป็นภาพแอบถ่าย หรือภาพแรกเป็นภาพจงใจนำเสนอเพื่อต้องการบอกสังคมว่า ตำรวจไทยเอาจริงเอาจังและเที่ยงตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย และตำรวจไทยก็มีเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้ยากไร้ ส่วนภาพหลังเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้จงใจนำเสนอ แต่เป็นข้อเท็จจริงของวิถีชีวิตประชาชนที่หาเช้ากินค่ำถูกรีดไถจนชาชิน

คลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ภาพที่จงใจนำเสนอ แต่ภาพที่จงใจนำเสนอคือภาพการฟ้องร้องสื่อและมือที่มองไม่เห็นที่เผยแพร่คลิป เป็นความจงใจนำเสนอว่าข้อเท็จจริงในคลิปจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือคนเผยแพร่คลิปและสื่อที่นำเสนอข่าวจะต้องรับผิดทางกฎหมาย เพราะจงใจทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” ของศาลรัฐธรรมนูญ

(ภายในประเทศนี้ ความน่าเชื่อถือของสถาบันใดๆ ช่างเปราะบางและถูทำลายได้ง่ายดายเหลือเกิน โดยบุคคลอื่น หรือขบวนการของผู้ไม่หวังดี ฉะนั้น เราต้องปกป้องความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันด้วยการใช้อำนาจ ด้วยกองทัพ พยายามปิดกั้นการตรวจสอบ การใช้เสรีภาพในการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนผู้ “เป็นนายตัวจริง” ของเรา [แต่ไม่มีอำนาจจริง] ให้มากที่สุด)

และอีกภาพที่ศาลรัฐธรรมนูญจงใจนำเสนอคือ ภาพการตัดสิน “ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์” ด้วยมติ 4 ต่อ 2 เพราะ “กระบวนการยื่นค้ำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในประเด็นอื่นๆ อีกต่อไป จึงให้ยกคำร้อง”

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ของ “การจงใจนำเสนอ” ในกรณีดังกล่าวนี้คือ การนำเสนอว่า ตามข้อเท็จจริงพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำผิดหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับความต้องการท้าทายสังคมว่า “ก็เห็นว่าคดีหมดอายุความแล้ว แต่รับไว้พิจารณาเพื่อจะตัดสินแบบนี้ใครจะทำไม?”
 
เป็นการท้าทายที่ไม่สนใจว่า สังคมนี้จะคิดอย่างไรกับความเป็นจริงที่ว่าในการดำเนินคดีกับอีกฝ่าย กระบวนการยุติธรรมของรัฐมุ่งไปที่ข้อเท็จจริง หรือการเอาผิดให้ได้โดยแทบไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมาย เช่น ทำรัฐประหารแล้วเป็นโจทย์เอง ตั้งคณะบุคคลมาดำเนินการสืบสวนสอบสวนเอง ฟ้องศาลเอง หรือเวลาศาลตัดสินก็อ้างนิยามในพจนานุกรมกรณีทำกับข้าวออกทีวี อ้างการไม่เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมกรณีเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน อ้างงานวิจัยของนักวิชาการกรณีคดียึดทรัพย์ ฯลฯ

หลายๆ กรณีที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้เสมือนดำเนินการโดยยึดหลักเกณฑ์ว่า “คนชั่วต้องได้รับกรรมชั่ว คนดีต้องได้รับกรรมดี” แต่หลักความยุติธรรมตามกฎหมายต้องยึดตัวบทกฎหมาย กระบวนการดำเนินการที่ชอบธรรม และข้อเท็จจริงของพยานหลักฐาน

ส่วนความเป็นคนดีคนชั่วจะเอามาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะการเป็นคนดีคนชั่วอาจเป็นเพียงภาพที่ถูกสร้างและขยายจนเกินความเป็นจริง เพราะถ้ายึดเกณฑ์เช่นนี้ฝ่ายที่ถูกมอง/ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนชั่วไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิด ฝ่ายที่ถูกมอง/ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนดีไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ผิด

ยิ่งบังเอิญว่าประเทศนี้ภาพของคนดี-คนชั่วถูกนำไปผูกโยง “อย่างเหนียวแน่น” กับ “ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี” แต่ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี มักเป็น “ภาพที่จงใจสร้างขึ้น” ใครก็ตามที่ประกาศตัวเป็นผู้จงรักภักดีก็จะกลายเป็นคนดีขึ้นมาทันที และใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีก็จะกลายเป็นคนชั่วขึ้นมาทันที

และการกลายเป็นคนดีคนชั่วในทำนองนี้ส่งผลให้ฝ่ายที่มี “ภาพคนดี” ละเมิดหลักการ กติกาประชาธิปไตยได้โดยไม่ผิด เช่น เรียกร้องรัฐประหาร ทำรัฐประหาร ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง สลายการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้คนตายจำนวนมาก ฯลฯ ก็ไม่ผิด

แต่อีกฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกล้อมปราบด้วยวิธีรุนแรง กลายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นขบวนการล้มเจ้า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังลืม ฯลฯ

แน่นอนว่าในฝ่ายหลังอาจมีคนทำผิดกฎหมาย ใช้วิธีรุนแรงต่างๆ แต่การดำเนินการของรัฐบาลต้องจำเพาะเจาะจงตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดเช่นนั้น ไม่ใช่กวาดล้างแบบเหมาเข่ง เหวี่ยงแห มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายแล้วก็ไม่รับผิดชอบ หรือพยายามสร้างภาพคนเสื้อแดงให้เป็นฝ่ายบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นภัยต่อความสงบสุขของบ้านเมือง

นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ทัศนคติเช่นนั้นได้กลายเป็นทัศนคติของชนชั้นนำไทยตลอดมา และกำลังเป็นทัศนคติที่ทำให้รัฐไทยกลายสภาพเป็น “รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว” ภาพกระบวนการยุติธรรมไทยแต่ก่อนคนไม่เชื่อถือตำรวจ แต่ขณะนี้ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แทบจะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

ต่อให้ดำเนินคดีกับสื่อและมือเผยแพร่คลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้ร้องขอให้สังคมยอมรับคำตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ (ที่จริงสังคมต้องยอมรับอยู่แล้ว) จะบังคับหรือร้องขอให้สังคม “เชื่อถือ” ในความสุจริตยุติธรรมของศาลได้หรือครับ?

ผู้พิพากษาซึ่งมีบทบาทรักษาระบบนิติรัฐ ปกป้องความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชน หากสังคมไม่เชื่อถือในเรื่องความสุจริต และการอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่ายในมาตรฐานเดียวกัน จะมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไปได้อย่างไร?

และใน “รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว” และ/หรือ “รัฐที่ความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันล่มสลาย” การเล่นละครปฏิรูปประเทศ ปรองดอง จงรักภักดี สมานฉันท์ สามัคคี คือหนทางนำพาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เสรีภาพ ประชาธิปไตยไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมสมดุล มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างที่พยายามกล่าวอ้างกันจริงๆ หรือ?

การพยายามรักษาอำนาจที่ขาดความน่าเชื่อถือ กับยอมคืนอำนาจให้ประชาชนได้แสดงความเชื่อถือในตัวเขาเองผ่านการเลือกตั้ง แล้วเดินหน้าต่อในการฟื้นฟูรัฐให้มีความยุติธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยจริงๆ อย่างไหนที่ผู้ซึ่งยังมี “ความเป็นมนุษย์” พอเพียงที่จะเคารพเหตุผลของประชาชนส่วนใหญ่พึงกระทำ!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท:พ่อกำสรวล

Posted: 04 Dec 2010 05:19 AM PST


พ่อต้องพรากจากลูกแก้วแล้วเมียขวัญ

มิรู้วันผันหวนมาร่วมหอ

เมื่อสิ้นเสียงสั่งลาน้ำตาคลอ

โซ่ตรวนรอตระหวัดร่างเข้าขังกรง

 

อย่ากวนใจแม่เจ้าให้เศร้าจิต

เป็นมิ่งมิตรขวัญแม่อย่ามัวหลง

ทุกคืนนอนวอนจันทร์ค่อยบรรจง

ก้มจูบลงตรงแก้มเจ้าคราวนิทรา

 

อย่าอายเพื่อนเขาล้อพ่อขี้คุก

ขอแบกทุกข์มวลชนบนสองบ่า

เป็นตัวแทนคนแสนล้านสานศรัทธา

แม้นสังคมไม่เทิดค่ามิคร่ำครวญ

 

คิดถึงพ่อจงมองภาพประชาไพร่

คนยากไร้ถูกเหยียบย่ำพ่อกำสรวล

คนรากหญ้ากล้ายืนหยัดสลัดตรวน

คือกระบวนไพร่กบฏล้างกฎเกณฑ์

 

อย่าน้อยเนื้อต่ำใจในวันพ่อ

อย่าแงงอร่ำไห้เดี๋ยวใครเห็น

บอกคุณครูพ่ออยู่ไกลในหลืบเร้น

ออกมาเล่นยื่นดอกไม้ให้เงาแทน

 

จงภูมิใจในตัวพ่อผู้อาภัพ

ร่วมน้อมรับชะตากรรมไร้อ้อมแขน

ถึงหากพ่อมิพลัดพรากก็ยากแค้น

ด้วยดินแดนระอุเดือดเผด็จการ

 

ยังมีพ่ออีกหลายคนต้องทนทุกข์

เคยคลานคลุกเคียงข้างบนทางผ่าน

บ้างดับดิ้นสิ้นใจไร้วิญญาณ

บ้างถูกจับโจษประจานอย่างใจจง

 

สหายพ่อทุกคนคือพ่อเจ้า

ผองเพื่อนชาวผ่านฟ้าราษฎร์ประสงค์

ยิ้มให้เขาเหล่านั้นเถิดขวัญอนงค์

รอยยิ้มพ่อยังอยู่คงผ่านมวลมิตร

 

ช่วยดูแลลูกกำพร้ายิ่งกว่าเจ้า

พ่อของเขาถูกเข่นคร่ำอำมหิต

หากรักพ่อจงรักไพร่หทัยอุทิศ

ชื่นชีวิตขวัญพ่อ...ขอแค่นี้

 

........................

 หมายเหตุ:ภาพประกอบจาก Ratanasaka Vibhavaris

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มุกดาหาร:ศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดง เมินความเห็น คอป.คำวินิจฉัยแพทย์

Posted: 03 Dec 2010 07:15 PM PST

ทีมทนายอาสายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษแดงคดีเผาศาลากลางมุกดาหารที่เหลือ ด้านศาลไม่สนความเห็น คอป.-กรรมการสิทธิฯ ไม่อนุญาตให้ประกันทั้งหมด แม้กระทั่งคนป่วย-นักศึกษา ใช้เหตุผลเดิม “ข้อหาร้ายแรง อัตราโทษสูงเกรงหลบหนี” 

3 ธ.ค. 53 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดมุกดาหารนัดพร้อมผู้ต้องหาคดีบุกรุกและเผาศาลากลาง  เพื่อเลื่อนวันสืบพยานของทั้งสองฝ่ายให้เร็วขึ้น โดยนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก 31 ม.ค.54 ในโอกาสนี้ ทีมทนายอาสา นำโดย ทนายอานนท์ นำภา ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดีนี้ที่ยังเหลืออยู่ในเรือนจำทั้งหมดรวม 19 คน ด้วยหลักทรัพย์รวม 2.4 ล้านบาท

 
ทั้งนี้ เหตุผลในการขอประกันตัวทั้งหมดเนื่องจาก ผู้ต้องขังหลายรายมีปัญหาสุขภาพ เช่น นายวิชิต อินตะ ซึ่งมีอาการปวดบริเวณแผ่นหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ  นายสมคิด บางทราย เป็นไวรัสตับอักเสบบี นางบุญเทียน รูปสะอาด ติดเชื้อในช่องคลอด นายแก่น หนองพุดสา นายทองดี ชาธิพา และนายดวง คนยืนมีอาการทางประสาท
 
โดยเฉพาะนายทองมาก คนยืน ซึ่งถูกหามส่งโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอาการเจ็บหลังอย่างรุนแรง ขาซ้ายมีอาการมึนชา และปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งครั้งนี้แพทย์ลงความเห็นว่า กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
 
นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่มีภาระครอบครัวต้องรับผิดชอบ มีฐานะยากจน พ่อแม่อยู่ในวัยชรา เจ็บป่วย และขาดคนดูแล และมี 1 รายเป็นนักศึกษา ชั้น ปวส.2 ซึ่งได้รับผลกระทบทางการศึกษา
 
ก่อนหน้านี้ นายอานนท์ นำภา ทนายความได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีศาลอนุญาตให้ประกันตัววินัย ปิ่นศิลปชัย ผู้ต้องหาคดีเดียวกันนี้ที่ดื่มน้ำยาปรับผ้านุ่มว่า “...ตอนนี้ของจังหวัดมุกดาหารยังเหลือผู้ต้องหาในเรือนจำอีก 19 คน หรือถ้าจะนับทั่วประเทศก็ยังเหลืออีกนับร้อยคน ผมว่า พวกเขาก็ไม่ต่างไปจากวินัยเท่าใดนัก ถูกจองจำมาเป็นเวลานานโดยที่หลายๆ คนไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา บางคนอาจยังไม่ได้เข้าถึงทนาย ทำให้มีความเครียดสูง และก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นอีก พวกเขาทั้งหมดกำลังรอความเมตตาจากศาลอยู่” (ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง)
 
นอกจากเหตุผลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่เป็นเหตุผลในทางมนุษยธรรมแล้ว ทางทีมทนายยังได้ยื่นเอกสารและแผ่นซีดีที่เป็นความเห็นของ คอป. ตลอดจนคณะกรรมการสิทธิฯ ที่เสนอให้รัฐปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาเสื้อแดง ไปด้วยเพื่อให้ศาลนำไปประกอบในการใช้ดุลพินิจ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทองมากไม่สามารถมาขึ้นศาลตามที่ศาลนัดได้ เนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่มีอยู่
 
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเวลาประมาณ 17.00 น. ศาลจังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมด ด้วยเหตุผลเหมือนที่ผ่านมาว่า เป็นคดีร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ถ้าหากปล่อยไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
 
ทั้งนี้ ศาลจังหวัดมุกดาหารได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางไปแล้ว 2 ราย ด้วยเหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพได้แก่นายพรพจน์ พันธ์สุวรรณและนายวินัย ปิ่นศิลปชัย
 
หลังจากรับทราบคำสั่งจากศาลแล้ว ทางทีมทนายอาสาเปิดเผยว่า จะยื่นอุทธรณ์ขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อไปภายใน 15 วันนี้
 
ในส่วนของญาติผู้ต้องขัง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเห็นของนางอ้อยทิพย์ แคล่วคล่อง ภรรยาผู้ต้องขังรายหนึ่ง ซึ่งเธอตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด อ้อยทิพย์กล่าวว่า เธอผิดหวังมาก เธอและสามีตั้งความหวังว่าศาลจะเมตตาเช่นเดียวกับที่เมตตาวินัยมาแล้ว เพื่อสามีจะได้ออกมามาดูแลเธอและลูกๆ รวมทั้งพ่อแม่ ในยามที่เธอคลอด แต่เธอก็ทำใจเผื่อไว้แล้ว คำสั่งศาลที่ออกมาไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้อ้อยทิพย์ยังได้เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกรณีผู้ต้องขังกินน้ำยาปรับผ้านุ่มในเรือนจำ ทางเรือนจำได้เข้มงวดกับผู้ต้องขังเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น โดยจำกัดสิทธิในการซื้อผงซักผ้า และอื่นๆ รวมทั้งจำกัดสิทธิไม่ให้ออกจากแดน หากมีการละเมิดก็จะถูกทำโทษ ซึ่งเธอและญาติคนอื่นๆ จะทำหนังสือร้องเรียนถึงกรรมการสิทธิต่อไป
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถึงชนชั้นกลาง ชาวกรุง

Posted: 03 Dec 2010 06:27 PM PST

 

ชนชั้นกลาง  ชาวกรุ...ง
ฟังชั้นล่าง  ชาวทุ่ง  สักหน่อยไหม
เราเพียง ต้องการ  ประชาธิปไตย
แค่อยากให้  คนไทย  เท่าเทียมกัน

ที่ต่อสู้เพราะรู้ทันว่ากดขี่
แต่ที่ตาย  นี่ไม่คิด  ไม่คาดฝัน
ว่าทหาร  ลูกหลานไทย  ไพร่เหมือนกัน
สไนเปอร์  ประจัญบาน  จะไล่ยิง

แล้วชี้หน้า  ว่าไอ้ ผู้ก่อการร้าย
นอนตาย  มือเปล่า  ทั้งชายหญิง
หรือหากใคร  ผิดแนวทาง  อย่างว่าจริง
ต้องหลักฐาน  ชัดทุกสิ่ง  หรือยิงเลย?

ว่าเผาบ้าน  เผาเมือง  เป็นถ่านเถ้า
ข้อเท็จจริง  ชัดหรือเปล่า  ช่วยเฉลย
ที่จับชัวร์  หรือมั่ว  อย่างเคย
จะอ้างเอ่ย  ยุติธรรม  ด้ามหอกอะไร

ว่าชั้นต่ำ รับจ๊อบ  ม๊อบรับจ้าง
ข้าห่อข้าว  แล้วเดินทาง  เอ็งรู้ไหม
หยุดงานหนัก  พักงานนา  มาด้วยใจ
จ้างเท่าไร? ถึงตาย  ไม่เลิกรา

มาเรียกร้อง  ประชาธิปไตย  ให้ดูถูก
แค่คนจน  รักสนุก  ไร้การศึกษา
แล้วเอ็งเล่า  เขาสอน  อะไรมา
เพื่อปลูกสร้าง  ปัญญา  หรือครอบงำ

รู้จักไหม  ปรีดี  พระยาพหลฯ
อภิวัฒน์  เพื่อผองชน  ชาวสยาม
จิตร,กุหลาบ,เปลื้อง,นายผีช่วยตีความ
รู้ไหมนาม  คณะราษฎร์  เสรีไทย

หรือให้เอ็ง  ซาบซึ้ง  ถึงรัฐชาติ
ที่เขาวาด  ให้กราบ  ตามถามไม่ได้
เอ็งเย่อหยิ่ง  ปริญญา  ก็ว่าไป
ข้าจะสร้าง  รัฐไทยใหม่  ให้รู้ทัน

เอ็งมีคน  บ้านนอก  ไว้ดูเล่น
เขาเก้อเขิน  เปิ่นให้เห็น  เป็นน่าขัน
ชนบท  ไว้พักผ่อน  ตอนว่างงาน
ไปเที่ยววัน  สองวัน  เพื่อชาร์จไฟ

ได้หยิบยื่น  อะไร  ให้นิดหน่อย
ก็ตัวลอย ไ ปเล่า  ใครต่อใครได้
ว่าความสุข  จากแบ่งปัน  นั้นปานใด
สร้างอนุสาวรีย์ใหญ่   ให้ตัวเอง

แต่ไม่เคย   มองเห็น   ความเป็นเขา
ไม่เคยเข้า  ใจอกขม  ถูกข่มเหง
พอเข้ากรุง  สู้เยี่ยงไพร่  ใจนักเลง
ก็ถูกเอ็ง  ไล่ซ้ำ  เพราะรำคาญ

ไปบ้านทุ่ง  ลื่นคันนา  เหยียบกล้าหัก
เอ็งก็มัก  พูดนิ่มๆ  ยิ้มหวานๆ
ข้ามากรุง  ปิดแยกอยู่  เพราะสู้นาน
เอ็งไม่แคร์  แม้ทหาร  จะฆ่าเรา

แล้วสละ  เวลา  มาล้างถนน
ชีวิตคน  มองข้าม  ไม่ถามข่าว
พูดจนเฝือ  เหลือขนาด  ว่าชาติเรา
มารักกัน  อย่างเก่า  ก็แล้วกัน

ต้องเข้าใจ  เรื่องราว  ให้เข้าจุด
เรื่องใหญ่สุด  ยุติธรรม  ไร้มาตราฐาน
ประชาธิปไตย  ที่บอกเขา  หลอกมานาน
เห็นชาวบ้าน  เป็นควายปลัก  ต้องลากเดิน

เชื่อเถอะ  คนไทย ไม่เกลียดกัน
แต่อย่าแบ่ง  ชนชั้น  ให้ห่างเหิน
ถึงสูงต่ำ  ก็ต้องย่ำ  ผืนดินเดิน
ถ้าก้าวเกิน  ศักดิ์ศรีมนุษย์  ก็สุดทาง

เขียนมาหา  ใช่ต่อว่า  ให้โกรธขึ้ง
ใช่จะดึง  สองฝ่าย  ให้บาดหมาง
แค่อยากให้  เข้าใจ ในแนวทาง
ฟังเราบ้าง  ดูให้ชัด แล้วตัดสินใจ
จะประณาม  หยามเหยียด  และเหยียบย่ำ
หรือก้าวข้ามจารีตมาอยู่ใกล้
จะร่วมสู้ ร่วมสร้าง ประชาธิปไตย
หรือซาบซึ้ง ตื้นตันใจ โอ้ว...ไทยแลนด์

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

 

หมายเหตุ:ภาพประกอบจาก เดลินิวส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น