โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาเวซ ให้ประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วม เข้าพักในทำเนียบ ปธน. ได้

Posted: 02 Dec 2010 12:13 PM PST

 

 

ประชาชนออกมานั่งเล่นเกมโดมิโน ทั้งที่ยังคงมีน้ำท่วมในเมืองฮิเกอโรต์ เวเนซุเอลลา
[ภาพโดย Ariana Cubillos/AP]

2 ธ.ค. 2553 - ปธน. ฮิวโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลลา บอกว่าประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเวเนซุเอลล่า สามารถเข้าไปหลบภัยในทำเนียบประธานาธิบดีได้

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน ของอังกฤษรายงานว่า กระแสน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในเวเนซุเอลลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งจากน้ำท่วมและเหตุดินถล่มรวม 25 ราย ฮิวโก ชาเวซ จึงประกาศให้ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยจากเหตุน้ำท่วมสามารถเข้าพักที่ทำเนียบประธานาธิบดีได้ชั่วคราวจนกว่าทางรัฐบาลจะจัดสรรหาบ้านใหม่ให้

ชาเวซ ยังได้ไปเยี่ยมเยียนสลัมในเขตแอนติมาโน กรุงคาราคัส และขอให้ประชาชนออกจากที่พักเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่ออุบัติภัยจากฝนตกหนัก ขณะที่ทางรัฐบาลรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยและเหตุดินโคลนถล่มแล้วรวม 25 รายในวันนี้ และมีผู้ที่สูญเสียที่พักอาศัย 5,000 ราย ทำให้ชาเวซต้องออกเตือนประชาชนในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย

นอกจากนี้ชาเวซ ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการทหารมาก่อนยังได้บอกให้ชาวเวเนซุเอลลาซึ่งกระจุกอยู่ที่พักชั่วคราวแห่งหนึ่งให้ย้ายไปพักชั่วคราวที่ ทิวนา ฟอร์ด ซึ่งเป็นหน่วยราชการของทหารได้ชั่วคราวหากจำเป็น ด้านรัฐมนตรีกลาโหมของเวเนซุเอลลาระบุว่ามีการเคลื่อนย้ายประชาชน 33,000 ราย ไปยังที่พักพิงชั่วคราวหมายเลข 259 เพื่อระวังภัยล่วงหน้า

ทั้งนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลลายังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภัยธรรมชาติในเขตเมืองหลวงกรุงคาราคัส รัฐมิรานดา, วาร์กัส และ ฟาลคอน เจ้าหน้าที่กล่าวอีกว่าฝนตกหนักในคราวนี้มีติดต่อกันมานานจนเลยช่วงระยะฤดูฝนของแถบนั้นมาแล้ว

 

ที่มา

Venezuelan flood victims can stay at presidential palace, says Hugo Chávez, 02-12-2010, The Guardian
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศธ. คลอดเกณฑ์เปิดรับเด็กมัธยมฯ ปีหน้า หวังสกัดเด็กฝาก

Posted: 02 Dec 2010 08:04 AM PST

ศธ.คลอดเกณฑ์รับนักเรียนมัธยม 1 และ มัธยม 4 ประจำปีการศึกษา 2554 กำหนดให้โรงเรียนรับได้รอบเดียว สกัดการรับฝากเด็ก พร้อมขีดเพดานจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 50 คน

2 ธ.ค. 2553 - โพสท์ทูเดย์ รายงานว่า นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ  รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)  เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้หารือผู้บริหารโรงเรียนมัธยมชื่อดังของรัฐทั้งในเขตกทม.และ ต่างจังหวัด 21แห่ง เพื่อกำหนดแผนการรับนักเรียน เข้าเรียนชั้นม. 1 และม.4  ประจำปีการศึกษา 2554  ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะประกาศแผนการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในปีหน้า โดยมีแนวปฏิบัติที่ต่างจากทุกปี

ทั้งนี้ ในปีหน้าทุกโรงเรียนจะต้องเปิดรับนักเรียนเข้าเรียนเพียงรอบเดียว ไม่มีการรับรอบสอง รอบสามเพิ่มเติม เช่นที่ผ่านมา  และจะรับเด็กเข้าเรียนได้ไม่เกินห้องละ 50 คน โดยโรงเรียนทุกแห่งจะต้องเสนอแผนจำนวนการรับของแต่ละโรงเรียน แก่เขตพื้นที่การศึกษาให้ชัดเจน เพื่อประกาศต่อสาธารณชนให้รู้ถึงจำนวนการรับ  ทั้งนี้ เมื่อประกาศจำนวนไปแล้ว  ต้องรับตามที่ประกาศ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนหรือรับเพิ่มภายหลังได้

นายชินวรณ์กล่าวว่า วิธีดังกล่าวจะสามารถสกัดกั้นปัญหาเด็กเส้นเด็กฝาก ที่มักจะมีขึ้นภายหลังการคัดเลือกเสร็จสิ้นไปแล้วได้ และจะเป็นการกระจายเด็กให้สนใจสมัครเข้าเรียนในโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล ประจำอำเภอที่ ศธ.กำลังรณรงค์  และเร่งทำความเข้าใจให้ ผู้ปกครองคำนึงว่า หากตัดสินใจให้บุตรหลาน มาสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงดังๆ แล้วพลาดการคัดเลือก จะไม่มีโอกาสไปหาช่องทางฝากลูกเข้าเรียน ผ่านการเพิ่มจำนวนรับของโรงเรียนในภายหลังได้อีก  และสพฐ.จะเกลี่ยเด็กที่พลาดโอกาสให้ไปเรียน ร.ร. คู่พัฒนาของโรงเรียนมีชื่อ หรือให้เรียนในเขตพื้นที่บริการ

สำหรับสัดส่วนการคัดเลือกว่าแต่ละแห่งจะคัดนักเรียน ด้วยวิธีจับสลาก หรือสอบแข่งขันในจำนวนเท่าใด  ต้องทำแผนให้เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม  

ทั้งนี้ในส่วนการรับชั้นม.4 ก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยให้ยกเลิกแนวทางการรับเด็กม.3 เข้าเรียนต่อที่เดิมโดยอัตโนมัติ ซึ่งเพิ่งดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้วลง  แล้วให้กลับมาใช้วิธีการคัดเลือกโดยพิจารณาจากผลการเรียน จากศักยภาพความเหมาะสมของเด็ก หรือหากจะมีวิธีอื่นคัด โรงเรียนนั้นๆ ต้องหารือกับเขตพื้นที่การศึกษาให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส    นอกจากนี้ จะต้องเปิดโอกาสให้เด็กจากต่าที่ มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกเรียนต่อ ม.4 ด้วย ในสัดส่วน 20 % ของการรับเข้าเรียนม.4 ในแต่ละแห่ง วิธีการคัดเลือกเด็กต่างโรงเรียน และให้ใช้วิธีสอบด้วยแบบทดสอบที่แต่ละแห่งจัดทำขึ้น  หรือพิจารณาจากคะแนนการสอบ O-net ชั้นม. 3

 

ที่มา - โพสท์ทูเดย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฤษณะ ฉายากุล : จะเข้มแข็ง-ยั่งยืน ทางคมนาคมต้องได้มาตรฐาน

Posted: 02 Dec 2010 07:46 AM PST

เส้นทางคมนาคมทางบกในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง นับเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญของประชาชน ที่เชื่อมต่อวิถีการดำรงชีวิตให้เติบโตเข้มแข็ง สร้างความมั่งคั่งยั่งยืน และความปลอดภัยในการใช้ทาง ซึ่งกรมทางหลวงจะต้องบริหารงานให้เส้นทางคมนาคมเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน  มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการใช้ทางอย่างสากล  ควบคุมงานก่อสร้างเส้นทางให้ได้มาตรฐานงานวิศวกรรม และมีมาตรฐานความปลอดภัยโดยเห็นคุณค่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นตัวตั้ง
       
ทุกๆ วินาทีของการใช้ทางหลวง หากมาตรฐานเส้นทางคมนาคมที่กรมทางหลวงรับผิดชอบเป็นไปตามหลักการสากล ไม่มีหลุมบ่อบนถนน ไม่มีน้ำขังที่อาจทำให้รถเสียหลักได้  มีเครื่องหมายบอกทาง นับตั้งแต่ป้ายต่างๆ ที่ติดตั้งให้เห็นได้อย่างชัดเจน หรือเครื่องหมายสี หรือหมุดบนถนนที่สามารถเห็นได้ชัดทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน  ในเวลาที่สภาวะของอากาศในยามปกติ  หรือแม้แต่ในเวลาที่ทัศนวิสัยเลวร้าย เช่นฝนตก และมีการกำกับดูแลทางอย่างเคร่งครัดให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้มีการเชื่อมต่อทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ประสานงานตำรวจทางหลวงจับปรับและปราบปรามการละเมิดกฎจราจรอย่างจริงจัง  รวมทั้งจัดการดูแลมิให้มีการจัดตั้งตลาดริมทางหลวงที่ละเมิดกฎหมาย ดังนี้ ก็สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้ทางซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของกรมทางหลวง
       
ทุกๆ ปี ในช่วงเทศกาลสำคัญที่รัฐจัดรณรงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้ทาง ซึ่งต้องสูญเสียเงินงบประมาณภาษีอากรของประชาชนปีละไม่น้อย แต่การดำเนินการดังกล่าวก็มักสรุปได้ว่ายังไม่ได้เกิดความปลอดภัยเนื่องจากประชาชนมีความประมาทในการใช้ทาง แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทบทวนถึงสาเหตุแห่งความเสียหายว่ามีต้นเหตุมาจากเรื่องอื่นๆ หรือไม่ แม้ในช่วงระยะเวลาสองถึงสามเดือนที่ผ่านมานี้ รัฐบาลได้มุ่งมั่นในการซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมสายหลักอย่างมากมายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความตั้งใจดี แต่การกำกับดูแลให้มีการก่อสร้างเส้นทางให้ได้มาตรฐานสากลตามหลักการวิศวกรรมทาง ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงนั้น ได้กระทำเต็มความสามารถแล้วหรือไม่ ในระหว่างการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ  ได้จัดให้มีเครื่องหมายเตือนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ทางหรือไม่ 
       
ความจริงที่ปรากฏ และประชาชนรู้กันทั่วไปว่า  การกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ทางในระหว่างการซ่อมแซมถนนทางหลวงสายหลักของกรมทางหลวงในช่วงนี้ช่างหย่อนยานเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะในยามค่ำคืนเส้นหมายสีในถนนที่หายไป และไม่มีเครื่องหมายอื่นใดมาทดแทน คิดเห็นได้เลยว่าเขาไม่ได้ใส่ใจใยดีถึงความปลอดภัยของประชาชนเลย และสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุหลักให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน  ยิ่งถ้าหากมีฝนตกด้วยแล้ว ถนนที่ไม่มีเครื่องหมายสีใดๆ บนทางนั้นอันตรายที่สุด 
 
การบอกกล่าวเรื่องนี้ไปถึงผู้รับผิดชอบในบทความนี้ มิได้มุ่งหมายตำหนิติเตียน  แต่ตั้งใจบอกข้อมูลให้รับรู้ว่า กรมทางหลวงจะต้องใส่ใจในการบริหารเส้นทางคมนาคมสายหลักทั่วประเทศให้เป็นแบบอย่างกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเห็นชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมีค่ายิ่งกว่างานใดๆ ของกรมทางหลวง
       
ข้อสุดท้าย หากกรมทางหลวงไม่ก่อสร้างเส้นทางให้ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมทาง ก็ต้องกลับมาซ่อมแซม ซ่อมแล้วซ่อมอีกหรือปล่อยทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรม ย่อมทำให้ประชาชนต้องเสียเงินภาษีอากรในการบำรุงทางมากขึ้น เสียเงินซ่อมแซมส่วนสึกหรอของยานพาหนะมากขึ้น และมีอุบัติเหตุมากขึ้น ซึ่งไม่ทำให้ไทยเข้มแข็งอย่างแน่นอน...

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯ จี้รัฐบาลปล่อยเสื้อแดง เผยฝ่ายรัฐละเมิดสิทธิฯ

Posted: 02 Dec 2010 06:46 AM PST

2 ธ.ค. 2553 - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงาน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม.กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ในเรื่องนี้รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาการคุมขังที่ผ่านมาใช้เวลาเนิ่นนานเกินและถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังและยังไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาเห็นว่า ควรเป็นดุลยพินิจของศาลในเรื่องของการประกันตัว อย่างไรก็ตามในการศึกษาหาข้อเท็จจริงที่กสม.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา ศึกษาในกรณีการชุมนุมช่วงตั้งแต่งวันที่ 12 มี.ค.- 20 พ.ค. และในช่วงหลังวันที่ 20 พ.ค.ที่มีการคุมขังแกนนำและผู้ชุมนุม พบว่า มีการละเมิดสิทธิทั้งสองช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ชุมนุม

นางอมรา กล่าวว่า ในการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่กสม.ที่ตั้งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเก็บข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงจำนวน 201 คน จากที่เชิญไปกว่าพันคน และหลังจากนี้จะเชิญเจ้าหน้าที่รัฐมาชี้แจงในช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งในส่วนนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มั่นใจว่านายกฯ จะให้ความร่วมมือมาชี้แจงหรือไม่ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบ เพื่อทำเป็นรายงานสรุปเสนอรัฐบาลได้ภายในเดือนม.ค.ปี พ.ศ. 2554

นางอมรา กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯพบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายด้าน ประกอบด้วย

1.สิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขัง เพื่อออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติและต่อสู้คดี ซึ่งผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีสภาพที่ไม่คิดหลบหนีหรือออกไปก่อความรุนแรง เพราะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 10 คน และมีบางส่วนเป็นผู้เจ็บป่วยและมีโรคประจำตัว บางรายอยู่ในขั้นแพร่ไวรัสตับอักเสบอย่างรุนแรง นอกจากนี้มีหญิงรายหนึ่งเป็นเนื้องอกในมดลูกที่ต้องได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เข้าร่วมดูเหตุการณ์หรือร่วมชุมนุมโดยมิได้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุรุนแรง

2.การได้รับการช่วยเหลือทางคดีจากทนายความ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาที่ยากไร้ไม่สามารถจัดจ้างทนายความได้ บางส่วนเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ไม่ร้ายแรง แต่รัฐกลับไม่จัดหาทนายให้ ส่วนผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษร้ายแรง ทนายความที่รัฐจัดหาให้มักจะร่วมกับพนักงานสอบสวนเกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องหารับสารภาพ โดยอ้างว่า เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย หากรับสารภาพจะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นหรือมีโทษรอลงอาญาเช่นเดียวกับคดีเมาแล้วขับ นอกจากนี้การควบคุมจะไม่อนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสาร ทำให้ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความ

3.การทรมานและการทารุณกรรม เบื้องต้นพบว่ามีผู้ต้องหาจำนวน 16 คน โดยหนึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีด้วยกระบองจนหมอบและถูก จับคุมขังในรถขนผู้ต้องขังเป็นเวลา 2 วัน โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล แม้แต่ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบ

4.การใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมตัว ควบคุมตามอำเภอใจและตั้งข้อหาร้ายแรง ตรวจสอบพบว่า บางครั้งเป็นการจับกุมตามภาพถ่ายและเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหไม่แยกแยะ ระหว่างผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เข้าร่วมดูเหตุการณ์หรือผู้ร่วม ชุมนุมโดยมิได้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุรุนแรง และ 5.สภาพความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำบางแห่ง ตรวจสอบพบว่า ไม่มีการแยกผู้ต้องขังทางการเมืองกับผู้ต้องขังคดีอาญา รวมทั้งผู้ต้องขังต้องทำงานหนัก โดยให้ปั้นถ้วย ทำกรวยกระดาษ และประกอบไฟแช็คจำนวนมาก
 

ที่มา - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'รสนา-ไพบูลย์' ฟ้อง 'เรืองไกร' พ่วง 4 นสพ.

Posted: 02 Dec 2010 06:30 AM PST

ส.ว. “รสนา-ไพบูลย์” พร้อมพวก ยื่นฟ้อง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” พ่วง "ไทยรัฐ เดลินิวส์ แนวหน้า อิวโฟเควส" ฐานหมิ่นประมาท หลังกล่าวหาใช้ตำแหน่งกรรมาธิการในวุฒิสภาแทรกแซงข้าราชการ สื่อ หลังให้กรมธนารักษ์ทบทวนแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ชี้ทำให้โจทย์เสียหาย ถูกดูหมิ่น

2 ธ.ค. 2553 - ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา พร้อมพวก ได้ยื่นฟ้องนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กับพวก กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ และรองประธานกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการประจำ แทรกแซงสื่อ ล่วงล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร หลังจากที่คณะกรรมาธิการมีมติมอบหมายให้กรมธนารักษ์ทบทวนการดำเนินการแบ่ง แยกทรัพย์สินบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดให้ถูกต้องตามกระบวนขั้นตอนของมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ภายในเวลา 1เดือนนับแต่วันที่ 6 พ.ค.53 ที่ผู้แทนจากกรมธนารักษ์ได้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการ ซึ่งการกล่าวพาดพิงดังกล่าวทำให้โจทก์กับพวกได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้บุคคลที่สามหลงเชื่อว่าโจทก์กับพวกทำผิดต่อหน้าที่ทางราชการแทรกแซงการ ทำงานของข้าราชการ ใช้อำนาจไปในทางทุจริต ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งหมดซึ่งรวมถึงสื่อมวลชน คือ นสพ.ไทยรัฐ นสพ.เดลินิวส์ นสพ.แนวหน้า และสื่ออินเทอร์เน็ต คือบริษัท อินโฟวเควสท์ จำกัด กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร

 

ที่มา - ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กบง. ประกาศปรับลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 - อี 20

Posted: 02 Dec 2010 06:22 AM PST

กบง.มีมติปรับลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ ส่งผลวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) สถานีบริการน้ำมันลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 อัตรา 1 บาท และอี 20 อัตรา 1.10 บาท  และปรับสูตรราคาไบโอดีเซลบี 100 ตามต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนแผนการลดค่าครองชีพตามนโยบายรัฐ คาดค่าไฟฟ้ามีทิศทางปรับลดลง

2 ธ.ค. 2553 – สำนักข่าวไทย รายงานว่า กบง.มีมติปรับลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ ส่งผลวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) สถานีบริการน้ำมันลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 อัตรา 1 บาท และอี 20 อัตรา 1.10 บาท  และปรับสูตรราคาไบโอดีเซลบี 100 ตามต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนแผนการลดค่าครองชีพตามนโยบายรัฐ คาดค่าไฟฟ้ามีทิศทางปรับลดลง

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า การปรับลดราคาน้ำมัน 2 ประเภทดังกล่าวเป็นไปตามแผนการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มค่าการตลาดให้ผู้ค้าแก๊สโซฮอล์ ซึ่งจะทำให้มีผู้ใช้และผู้จำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องผลปาล์มดิบที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ที่ 6.90 บาทต่อกิโลกรัม และทำให้บี 100  มีต้นทุนสูงขึ้นมาก ทาง กบง.จึงมีมติปรับสูตรราคาบี 100 ใหม่ ประกาศใช้เป็นการชั่วคราวจากเดือนธันวาคม 2553 - กุมภาพันธ์ 2554 ปรับจากการอ้างอิงราคาน้ำมันปาล์มดิบ มาเลเซีย บวก 3 บาทต่อลิตร เป็นการคำนวณจากราคาผลปาล์มดิบของไทยบวกค่าสกัดคงที่ 2.25 บาทต่อลิตร  ซึ่งหากอัตราผลปาล์มดิบ อยู่ที่ 6.90 บาทต่อลิตร ราคาบี 100 จะไม่เกิน 43 บาทต่อลิตร ด้วยวิธีการนี้ก็จะไม่เป็นการแย่งการผลิตน้ำมันเพื่อการบริโภคแต่อย่างใด และไม่ทำให้บี 100 ขาดแคลน

ส่วนการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อยู่ระหว่างการหารือ ไม่ว่าจะเป็นแอลพีจี เอ็นจีวี  ค่าไฟฟ้า เบื้องต้นเท่าที่พิจารณาคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะปรับลดลงได้ เพราะหากดูราคาก๊าซธรรมชาติย้อนหลังจะลดลงตามราคาน้ำมัน และเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าในส่วนที่ประชาชนติดค้างค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,000 ล้านบาทนั้น ก็เห็นว่า กฟผ.ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็น่าจะนำส่วนนี้มาลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนก่อน

สำหรับมติ กบง.ที่เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 91 ยอดจำหน่ายคงที่อยู่ระดับ 4 – 4.3 ล้านลิตรต่อเดือน  จึงปรับราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 ให้ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 จากเดิม 1.50 บาทต่อลิตร เป็น 2.50 บาทต่อลิตร และให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 ในระดับ 0.90 บาทต่อลิตร  โดยปรับเงินกองทุนฯ 4 ชนิด ได้แก่

        ชนิด                 อัตราเดิม       ลด         อัตราใหม่
แก๊สโซฮอล์ 95 E10    2.80          -0.40          2.40
แก๊สโซฮอล์ 91            1.40            -1.30         0.10
แก๊สโซฮอล์ E20        -0.40           -0.90        -1.30
แก๊สโซฮอล์ E 85     -11.00           -2.50       -13.50

ส่วนราคาแก๊สโซฮอล์อี 95 และอี 85 ซึ่งไม่มีการปรับราคาหน้าสถานีบริการ  เนื่องจากเพิ่มค่าการตลาดของผู้ค้าให้สูงขึ้น และหลังปรับเงินกองทุนฯ แล้ว กองทุนฯ จะมีเงินไหลเข้า 569 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิม 816 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีสภาพคล่องลดลง 247 ล้านบาทต่อเดือน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทสรุปการเจรจาข้อเรียกร้อง “สหภาพคนทำยาง-บ.กู๊ดเยียร์” ปี 2553

Posted: 02 Dec 2010 01:27 AM PST

ได้บทสรุปแล้ว การเจรจาระหว่าง สร.คนทำยางแห่งประเทศไทย และ สร.ผู้บังคับบัญชาพนักงานฯ กับบริษัทกู๊ดเยียร์สามารถบรรลุข้อตกลงในสัญญาร่วมกันที่จะมีอายุ 2 ปี

2 ธ.ค. 53 - หลังจากที่สหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชา พนักงานกู๊ดเยียร์ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง (ประจำปี 2553) กับ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (13 ก.ค. 53) โดยมีการเจรจากันมา 5 เดือนแต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้  

 

ข้อตกลงของสหภาพฯ ที่ยื่นให้กับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 53

จากนั้นในวันที่ 22 พ.ย. 53 บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้ง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศเริ่มปิดงานตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. เวลา 07.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าบริษัทฯ และสหภาพแรงงานจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลง สภาพการจ้างได้

โดยบริษัทฯ ระบุว่าเนื่องจากสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งใช้มาตรการนัดหยุดงานดังกล่าวเมื่อ วันที่ 18 พ.ย. 53 ทางบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้สิทธิปิดงานต่อสมาชิกของสหภาพแรงงานทั้งสอง ทั้งนี้บริษัทฯจะเริ่มปิดงานตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 53 เวลา 07.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าบริษัทฯและสหภาพแรงงานทั้งสองจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันใน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างได้

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 53 เวลา 10.00 น ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เปิดประชุมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานตามข้อ เรียกร้อง ของสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาพนักงาน กู๊ดเยียร์ประเทศไทย กับ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยตัวแทนฝั่งสหภาพแรงงานฯ ได้แก่นายอรรคพล ทองดีเลิศ ผู้แทนสหภาพแรงงานคนทำยางฯ และนายมนัส อินกลัด ผู้แทนสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาฯ ส่วนตัวแทนบริษัทกู๊ดเยียร์ คือ Ms. Wendy Radtke (Asia Pacific HR Director ของบริษัทกู๊ดเยียร์) ซึ่งได้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระยะเวลา 2 ปี ผลมีตั้งแต่ปี 2553 จนถึง 2554 โดยได้ผลสรุปข้อยุติดังนี้

 

 

นอกจากนี้ตัวแทนสหภาพทั้งสองและ บริษัทได้ตกลงทำบันทึกช่วยจำ ภายใต้อายุข้อตกลงสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 30 พ.ย. 2553 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับ บ.กู๊ดเยียร์

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีค่าสถิติสำคัญ (ณ วันที่ 01 ธ.ค. 2553) ดังนี้

P/E 4.55 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 7.58 %
P/BV 0.93 เท่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 2,930.40 ล้านบาท

ดูงบการเงินล่าสุด งบไตรมาส 3/2553

อนึ่งปัจจุบัน บ.กู๊ดเยียร์เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีพนักงานประมาณ 69,000 คน และมีการผลิตในโรงงานกว่า 57 แห่งใน 23 ประเทศทั่วโลก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลหนุนเด็กต่ำกว่า 18 ปีตรวจเลือดเอดส์ได้เอง ไม่ต้องขอผู้ปกครอง

Posted: 02 Dec 2010 12:27 AM PST

เนื่องในโอกาสวันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ร่วมกับเครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ในประเทศไทย 16 เครือข่ายและองค์กรภาคี สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ “คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปีสามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) โดยไม่ต้องรับการยินยอมจากพ่อแม่ผู้ปกครอง” จำนวน 1,639 คนทั่วประเทศ ในวันที่ 21 – 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77 เห็นด้วยกับการให้ผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปีสามารถตรวจหาการติดเชื้อฯ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง โดยร้อยละ 22.42 ให้ความเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป คนในสังคมมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยไม่กล้าบอกพ่อแม่ในเรื่องเพศ และไม่ได้ป้องกันตัวเองให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อฯ ดังนั้นจึงควรให้เด็กตรวจหาเชื้อฯ ได้ และร้อยละ 15.94 เห็นว่า ควรให้เด็กตรวจหาเชื้อฯ เพื่อที่จะได้ป้องกันตัวเองและมีความปลอดภัยมากขึ้น

ขณะที่ประชาชนร้อยละ 23 ไม่เห็นด้วยที่จะให้เยาวชนสามารถตรวจหาเชื้อฯ ได้ด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงอาจตัดสินใจเองไม่ได้ ถ้ารู้ผลอาจทำอันตรายต่อชีวิตของตัวเอง ร้อยละ 40.78 และร้อยละ 33.33 เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ผู้ปกครองยินยอมและรับทราบ เพื่อจะได้ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไป เด็กสามารถประเมินความเสี่ยงได้ว่าตัวเองอาจได้รับเชื้อฯ เช่น จากการรับข้อมูลมาจากการเรียนการสอนเพศศึกษา แต่การตัดสินใจของคนที่จะเข้ารับบริการ ถ้าบริการนั้นไม่เอื้ออำนวยความสะดวก เช่น ต้องไปขออนุญาตพ่อแม่ ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะจะถูกตำหนิ ตีตราว่าไปมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร ซึ่งสิ่งนี้เป็นกำแพงใหญ่ที่ทำให้เยาวชนไม่สามารถเข้าสู่ระบบบริการได้

“ที่รณรงค์เรื่องตรวจเลือดไม่ใช่แค่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อาจไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเรื่องเอชไอวีเท่านั้น แต่อยากให้สังคมเข้าใจเรื่องสิทธิด้วย เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ในการตัดสินใจของตัวเอง และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เยาวชนควรรับรู้จากพฤติกรรมของเขา ที่เขาต้องรับผิดชอบในเชิงพฤติกรรม หรือการรับรู้ข้อมูล และการเข้าถึงบริการ พร้อมหาทางออก” นายอภิวัฒน์กล่าว

ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า ความกังวลใจของเขาคือ ถ้าระบบการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (VCCT) ของระบบสาธารณสุขยังไม่แข็งแรงพอ เช่น การให้คำปรึกษาก่อนและหลังตรวจ หากเยาวชนทราบผลเลือดว่าเป็นบวก จะมีใครอยู่เคียงข้างเยาวชน หรือการบอกพ่อแม่จะเป็นหลักประกันหรือไม่ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเขาอย่างไร แต่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะระบบบริการที่ต้องแข็งแรงเท่านั้น แต่หมายถึงอะไรก็ตามที่จะคอยเป็นที่ปรึกษา คอยพยุงให้เยาวชนได้รับคำปรึกษาตลอดการรักษาของเขา เช่น ระบบการให้คำปรึกษาต้องแข็งแรงพอ อย่างสายด่วนที่สามารถขอคำปรึกษาเรื่องเพศ/เอดส์ได้ตลอดเวลา และเชื่อมโยงสู่ระบบบริการได้ เป็นต้น

ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ให้สัมภาษณ์ว่า น่าสนใจที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งจากเหตุผลก็สะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจ และสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงบริการ ซึ่งคนทำงานเอดส์เองก็พยายามผลักดันอยู่ ส่วนร้อยละ 23 ที่ไม่เห็นด้วย จากเหตุผลก็เป็นความห่วงใย ซึ่งก็ดี อย่างไรก็ตามการที่จะให้เด็กเข้าถึงบริการ โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครองนั้น ต้องมีมาตรการมารองรับไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบกับเด็กด้วย

“มันไม่ใช่อยู่ๆ ก็ไปตรวจได้เลย แต่ต้องมีการให้คำปรึกษา และประเมินความพร้อมก่อน เพราะนี่คือเด็กเดินมาหาเราโดยสมัครใจ ซึ่งเราเชื่อว่าเขาได้คิด ได้ประเมินความเสี่ยงของตัวเองแล้ว และเราก็ต้องทำความเข้าใจกับคนในสังคมที่อาจยังไม่เข้าใจกระบวนการว่ามันมี การให้คำปรึกษา การประเมินความพร้อมก่อน และผลก็ต้องเป็นความลับด้วย ซึ่งคนอาจจะเข้าใจได้มากขึ้น” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องไปพูดคุยกับแพทยสภาว่าอะไรเป็นอุปสรรค และจะลดอุปสรรคเหล่านั้นลงได้อย่างไร ซึ่งถ้าแพทยสภาประกาศให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถตรวจหาเชื้อฯ เองได้ จะช่วยทำให้เด็กเข้าถึงบริการ รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ของสังคมไทย โดยให้เยาวชนสามารถวางแผนป้องกันตัวเองได้ ไม่ว่าผลเลือดนั้นจะเป็นบวกหรือลบ หากเป็นลบก็ให้เป็นลบตลอดไป หรือหากเป็นบวกก็ต้องให้เข้ารับบริการได้อย่างทันท่วงที และลดการเจ็บป่วยได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นางสาวสุภัทรา กล่าวถึงที่มาที่ไปของการพยายามผลักดันให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถตรวจหาเชื้อฯ ได้ด้วยตัวเองว่า สถานการณ์เอดส์ในสังคมไทยมีแนวโน้มของตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา และมีผู้ป่วยเอดส์อายุต่ำสุด 20 ปี รวมถึงสถานการณ์ของสังคมเอื้ออำนวยให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งการรับรู้เรื่องเอดส์จากการรณรงค์ หรือการเรียนเพศศึกษาในโรงเรียนช่วยผลักดันให้เขาเกิดการตระหนักและตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเขาก็ประเมินได้ในระดับหนึ่งว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ หรือไม่ แต่พอเยาวชนไปเข้ารับบริการก็เกิดการติดขัด เพราะผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากติดข้อบังคับของแพทยสภา

 

ที่มา: โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลเชียงใหม่สั่งปล่อยตัว "เสื้อแดง" ฝ่าพรก.ฉุกเฉิน หลังจำคุกมา 5 เดือน

Posted: 02 Dec 2010 12:19 AM PST

2 ธ.ค. 2553 - มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายณัฐวุฒิ  ธรรมชาติ  แกนนำเสื้อแดง กลุ่มสันติธรรมผู้ประสานงานประกันตัวเสื้อแดงที่ถูกจำคุกในเรือนจำกลาง เชียงใหม่ ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 ธ.ค. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิพากษาคดีนายนิกร  ศรีคำมา อายุ 29 ปี ชาว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ผู้ต้องหาคดีดังกล่าว ซึ่งตัดสินจำคุก 2 ปี ผู้ต้องหารับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 ปี ระหว่างถูกจำคุกมีความประพฤติดี เรือนจำลดโทษอีก 6 เดือน จึงเหลือจำคุก 6 เดือน แต่ผู้ต้องขังถูกคุมขังมา 5 เดือนกว่าแล้ว ศาลจึงสั่งปล่อยตัว โดยไม่ต้องรับโทษอีก แต่สั่งคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี  และให้รายงานตัว 4 ครั้งพร้อมทำประโยชน์สังคมอีก 20 ชั่วโมง

"ระหว่างตัดสิน มีญาตินายนิกร และคนเสื้อแดง มาให้กำลังใจกว่า 20 คน และแสดงความดีใจ หลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัว โดยไม่ต้องถูกจำคุกอีก ซึ่งนายนิกร ได้ยกมือไหว้ขอบคุณศาลที่เมตตา และผู้ที่มาให้กำลังใจ ก่อนไปทำเรื่องปล่อยตัว และเดินทางกลับในวันเดียวกัน" นายณัฐวุฒิ กล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์ : ความพร้อมของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

Posted: 01 Dec 2010 10:59 PM PST

 

 
ด้วยวันที่ 4 ธันวาคมที่จะถึงนี้ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมไทย ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)
จึงได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความพร้อมของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ”  โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  จำนวนทั้งสิ้น 1,272 คน
เมื่อวันที่ 26-28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
 
                มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,272 คน เป็นชายร้อยละ 49.7 และหญิงร้อยละ 50.3

               โดยสรุปผลได้ดังนี้

               
                ประชาชนร้อยละ 68.2 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเห็นว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับประเทศไทยในอนาคต อันดับแรกได้แก่ ภัยน้ำท่วม (ร้อยละ 44.4) รองลงมาคือ ภัยแล้ง / อุณหภูมิสูงเกินกว่า 40 องศา (ร้อยละ 29.0)  แผ่นดินไหว (ร้อยละ 9.0) และ สึนามิ (ร้อยละ7.1) นอกจากนี้เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นจะเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่าใกล้จะถึงวันสิ้นโลกปรากฎว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.9 ระบุว่ากลัว ขณะที่ร้อยละ 46.1 ไม่กลัว
 
สำหรับความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของระบบการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศไทยพบว่า ประชาชนร้อยละ 51.1 ไม่เชื่อมั่น โดยด้านการเตรียมพร้อมในการอพยพโยกย้ายคนไปยังที่ปลอดภัยเป็นด้านที่ประชาชนเชื่อมั่นน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 37.8
               
                เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับภาระการเสียภาษีพบว่า ประชาชนร้อยละ 74.5 เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 25.5 ที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้เมื่อถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมากที่สุดพบว่า อันดับแรกได้แก่ ตัวเอง (ร้อยละ 44.0) รองลงมาคือ รัฐบาล (ร้อยละ 25.0) และโรงงานอุตสาหกรรม (ร้อยละ 15.0) ตามลำดับ ขณะที่หน่วยงานหรือองค์กรที่มีบทบาทในด้านการอนุรักษ์และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าชื่นชมยกย่องมากที่สุดอันดับแรกได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ (ร้อยละ 58.3) รองลงมาคือ กลุ่มกรีนพีซ (ร้อยละ 12.8) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ร้อยละ 5.6)
 
ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 




1. ความกังวลต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า
 
 
- กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
ร้อยละ
68.2
(โดยแบ่งเป็น กังวลค่อนข้างมากร้อยละ 47.0 และกังวลมากที่สุดร้อยละ 21.2)
- กังวลค่อนข้างน้อยถึงไม่กังวลเลย
ร้อยละ
31.8
(โดยแบ่งเป็น กังวลค่อนข้างน้อยร้อยละ 23.3 และไม่กังวลเลยร้อยละ 8.5)
 
2. ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับประเทศไทยในอนาคต (5 อันดับแรก) คือ
 
 
- ภัยน้ำท่วม
ร้อยละ
44.4
- ภัยแล้ง / อุณหภูมิสูงเกินกว่า 40 องศา
ร้อยละ
29.0
- แผ่นดินไหว
ร้อยละ
9.0
- สึนามิ
ร้อยละ
7.1
- พายุที่รุนแรง  
ร้อยละ
4.2
- อื่นๆ อาทิเช่น คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ดินและโคลนถล่ม ไฟป่า
ร้อยละ
6.3
 
3. จากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยและในต่างประเทศ เช่น ปรากฎการ
เอลนินโญ่ แผ่นดินไหวในเฮติ สึนามิในอินโดนีเซีย ท่านกลัวหรือไม่ว่าเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่าใกล้จะถึงวันสิ้นโลก

 

ร้อยละ
53.9
- ไม่กลัว
ร้อยละ
46.1
 
4. ความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของระบบการป้องกัน และรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศไทย ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ พบว่า
 
 
 
ด้าน
เชื่อมั่น
ไม่เชื่อมั่น
รวม
(ร้อยละ)
(ร้อยละ)
(ร้อยละ)
- การพยากรณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
50.6
49.4
100.0
- การเตือนภัยล่วงหน้า เช่น การแจ้งรายละเอียดของภัย ความรุนแรงของภัย
   และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
58.1
41.9
100.0
- การเตรียมพร้อมในการอพยพ โยกย้ายคน ไปยังที่ปลอดภัยได้เหมาะสมทันเวลา
37.8
   62.2
100.0
เฉลี่ยรวม
48.9
51.1
100.0
 



5. ความคิดเห็นต่อการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้รับภาระการเสียภาษี เช่น นักช้อปปิ้งทั้งหลายต้องจ่ายเพิ่มสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะให้ต้องกำจัด หรือ โรงงานต้องเสียภาษีการปล่อยมลพิษทางน้ำ โดยจ่ายตามจำนวนมลพิษที่ปล่อย พบว่า
 
 
 
- เห็นด้วย
ร้อยละ
74.5
(โดยให้เหตุผลว่า ผู้ก่อมลพิษจะได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยภาษีที่เก็บได้ควรนำมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น)
 
 
 
- ไม่เห็นด้วย
ร้อยละ
25.5
(โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนเสียภาษีอยู่แล้ว ไม่ควรเก็บเพิ่มอีก เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้บริโภค จะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น)
 
 
 
6. ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมากที่สุด (5 อันดับแรก) คือ
 
 
- ตัวเอง
ร้อยละ
44.0
- รัฐบาล
ร้อยละ
25.0
- โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
ร้อยละ
15.0
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร้อยละ
9.8
- ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน อเมริกา 
ร้อยละ
2.8
- อื่นๆ อาทิเช่น นักการเมือง นักธุรกิจ นักโฆษณา นักการตลาด
ร้อยละ
3.4
 
7. หน่วยงานหรือองค์กร ที่มีบทบาทในด้านการอนุรักษ์และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าชื่นชมยกย่องมากที่สุด
    (5 อันดับแรก) คือ
   (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
 
 
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้
ร้อยละ
58.3
(โดยแบ่งเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติร้อยละ 50.0 และกรมป่าไม้ร้อยละ 8.3)
 
 
- กลุ่มกรีนพีซ
ร้อยละ
12.8
- บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ร้อยละ
5.6
- กรุงเทพมหานคร (กทม.)
ร้อยละ
4.9
- กระทรวงพลังงาน
ร้อยละ
3.8
- บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ร้อยละ
3.8
- อื่นๆ อาทิเช่น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ร้อยละ
   10.8

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สนธิ" ยันพันธมิตรฯ ไม่ได้ปิดสนามบิน เตรียมแถลงท่าทีชุมนุมต่อหรือไม่ 3 ธ.ค. นี้

Posted: 01 Dec 2010 10:20 PM PST

ทอท. ฟ้องพันธมิตรฯ ละเมิดระหว่างชุมนุมสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง เรียกค่าเสียหาย 245 ล้าน "สนธิ" เบิกความปิดท้ายคดี ยันพันธมิตรฯ เข้าไปชุมนุมเพราะต้องการกดดันรัฐบาลที่ทุจริตและต้องการถามรัฐบาลเรื่อง M79 ไม่ได้ปิดสนามบิน แต่ "เสรีรัตน์" สั่งปิด ลั่นได้เจรจาช่วยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ซาอุฯ ด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์  รายงานเมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) ว่า เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานจำเลยปากสุดท้ายในคดีหมายเลขดำ 6453/2551 ที่ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวก ซึ่งเป็นแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ รวม 13 คน เรื่อง ละเมิด เรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 245 ล้านบาทเศษ จากการฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่กรณีชุมนุมบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง เมื่อเดือน พ.ย.51

โดยวันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 2 ในคดี ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย สรุปว่า ก่อนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าไปชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการหารือ และถกเถียงกันใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ โดยสุดท้าย พล.ต.จำลอง ซึ่งมีความอาวุโสที่สุดเป็นผู้ตัดสินใจพากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ท่า อากาศยาน ทั้ง 2 แห่ง เพื่อเรียกร้องและกดดันรัฐบาลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งขณะนั้น ครม.อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการรถเมล์เอ็นจีวี นอกจากนี้ ยังทวงถามรัฐบาลถึงความคืบหน้าคดียิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย

นายสนธิกล่าวอีกว่า ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ เห็นตรงกันว่า การชุมนุมที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ไม่ได้สร้างเสียหายให้กับธุรกิจการบินทั้งในและนอกประเทศ เพราะไม่ใช่เป็นการปิดสนามบิน โดยเครื่องบินสามารถขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่บริเวณ “แลนด์ไซด์” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของเครื่องบิน และแกนนำเองก็กำชับไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่บริเวณ “แอร์ไซด์” เพราะทราบดีว่า หากล่วงล้ำเข้าไปยังพื้นที่การบินจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทันที

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังเปิดให้บุคคลทั่วไปเดินทางเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ได้โดยสะดวก อีกทั้งยังช่วยเจรจาให้ชาวมุสลิมได้เดินทางไปร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย

นายสนธิยังเบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า กลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เป็นนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ที่เป็นผู้สั่งการ แต่คำสั่งของนายเสรีรัตน์จะเป็นไปตามอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไม่ตนไม่ทราบ ซึ่งทราบเพียงว่าคณะกรรมการ ทอท.ตำหนินายเสรีรัตน์ที่สั่งปิดสนามบินโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า

ส่วนเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น ไม่มีความเสียหายที่เป็นรูปธรรมถึงขั้นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการ ซ่อมแซม ซึ่งมีเพียงห้องน้ำเท่านั้นที่มีความสกปรก ซึ่งในการส่งมอบพื้นที่คืนคณะกรรมการ ทอท.ก็ยืนยันว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

 

ที่มา - ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: สำรวจทรัพยากรสตูล แหล่งหินดินทรายน้ำสังเวยท่าเรือยักษ์

Posted: 01 Dec 2010 09:11 AM PST

สำรวจทรัพยากรสตูล แหล่งหิน ดิน ทราย น้ำ ใช้สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา พบเขา 10 ลูกจะถูกระเบิดถมทะเลกับแหล่งทรายอีก 2 แห่ง พ่วง 1 อ่างเก็บน้ำ

น้ำท่วมใหญ่ครั้งต่อไป คงไม่มีใครโทษภัยธรรมชาติอย่างเดียวอีกแล้ว เพราะสาเหตุส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น ก็คือ การกระทำของมนุษย์เอง ตัวอย่างของภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงที่มาจากสาเหตุนี้ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ น้ำท่วมและดินถล่ม

ในขณะที่ปริมาณฝนที่ตกหนักมากขึ้นและพายุที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ก็เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์อีกที่ทอดหนึ่ง เช่นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมและดินถล่มรุนแรงขึ้น มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างป่าไม้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการชะลอน้ำและเป็นพื้นที่ซับน้ำตามธรรมชาติ และมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น การถมที่ขวางทางน้ำหรือพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ 

นับวันแนวโน้มในการทำลายทรัพยากรป่าไม้และการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์มีมากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของชุมชนเมือง

ตัวอย่างเช่น ในจังหวัดสงขลา ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดสงขลา ระบุว่า ในปี 2552 จังหวัดสงขลามีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 1,440,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นการปลูกยางพาราในเขตหวงห้าม เช่น เขตป่าสงวนแห่งชาติเกือบ 200,000 ไร่ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความต้องการใช้ที่ดิน ในการถมที่ปลูกสร้างอาคารต่างๆที่เพิ่มขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เพราะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเช่นกัน เช่น การขุดดิน การขุดทราย การถมที่ การระเบิดหิน การทำลายป่าไม้เพื่อนำทรัพยากรในดินมาใช้ ไปจนถึงผลกระทบที่ตามมาจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจรุนแรงมากหรือน้อยตามมาตรการและความเข้มงวดในการควบคุมดูแล

โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล น่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่อาจส่งผลเกิดความรุนแรงของภัยพิบัติตามมา เพราะจะมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลมาสร้างท่าเรือทั้ง ดิน หิน ทรายและน้ำจืด

ทรัพยากรเหล่านี้จะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากการขุดดิน ขุดทราย ระเบิดหิน และสร้างเขื่อนกันน้ำ เพื่อมาถมทะเลและสร้างท่าเรือ ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติตามมา

ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและการถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ระบุว่า โครงการนี้ต้องใช้หินทั้งในการถมทะเลและก่อสร้างท่าเรือรวมทั้งหมดปริมาณ 1,188,439 ลูกบาศก์เมตร

หินเหล่านี้จะมาจากการระเบิดภูเขาในจังหวัดสตูลทั้งหมด 8 แห่ง ในอำเภอละงู ทุ่งหว้า และควนกาหลง รวม 10 ลูก โดยมีปริมาณสำรอง 112 ล้านตัน บนเนื้อที่รวม 1,276 ไร่

ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ทรายและดินลูกรังด้วย ในอีไอเอฉบับนี้ ระบุปริมาณความต้องการทรายบกทั้งสิ้น 7.15 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแหล่งทรายถมที่มีความเป็นไปได้มี 2 แหล่ง คือ บริเวณบ้านบ่อเจ็ดลูกกับบ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ส่วนแหล่งทรายก่อสร้างและลูกรัง อยู่ในพื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

ส่วนแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในจังหวัดสตูลมี 2 แห่ง คือ คลองละงูและคลองดุสน คลองทั้งสองสายเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาป้อนหลายพื้นที่ของจังหวัด อาจถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ ในจังหวัดสตูลยังมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ซึ่งอาจมีการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไปใช้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย

จะเห็นได้ว่า แค่โครงการเดียว อาจไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในเขตที่ตั้งโครงการเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงแหล่งทรัพยากรอื่นๆ ที่จะถูกนำมาใช้ในโครงการนี้ด้วย

แหล่งดิน หิน ทรายและน้ำ คือฐานทรัพยากรที่สำคัญของคนในชุมชนที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะดินเป็นแหล่งทำมาหากิน แหล่งน้ำก็เป็นที่หาอาหาร ขณะเดียวกันทรัพยากรพวกนี้ก็ยังช่วยปกป้องจากภัยพิบัติธรรมชาติด้วย หากมันไม่ถูกรวบกวนมากนัก

 

.........

แหล่งหินอุตสาหกรรม และปริมาณสำรองในจังหวัดสตูล

ชื่อแหล่งหิน

ที่ตั้ง

พื้นที่ (ไร่)

ปริมาณสำรอง

ล้านตัน

เปอร์เซ็นต์

เขาจำปา-เขาเณร-เขาโต๊ะชั่ง

อำเภอควนกาหลง

141

3.41

3.04%

เขาจุหนุงนิ้ย(มีปัญหาสิทธิในที่ดิน)

อำเภอละงู

288

0

0.00%

เขาพลู

อำเภอควนกาหลง

100

5.14

4.59%

เขาละใบดำ

อำเภอควนกาหลง

100

13.6

12.14%

เขาละมุ

อำเภอควนกาหลง

30

2.72

2.43%

เขาลูกช้าง

อำเภอควนกาหลง

75

7.5

6.70%

เขาลูกเล็กลูกใหญ่

อำเภอทุ่งหว้า

312

31.1

27.77%

เขาวังบุมาก

อำเภอควนกาหลง

230

48.54

43.34%

รวม

1,276

112.01

100%

ที่มา : กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

โรงโม่หินหลักใน จังหวัดสตูล มี 2 แห่ง คือ โรงโม่หินทุ่งนุ้ยศิลาทอง ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล อยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราประมาณ 60 กิโลเมตร และโรงโม่หินพุธผา อำเภอละงู จังหวัดสตูล อยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราประมาณ 20 กิโลเมตร แหล่งหินทั้งสองมีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งมีความต้องการใช้หินในเบื้องต้นเท่ากับ 1.19 ล้านลูกบาศก์เมตร

หมายเหตุ : คัดลอกจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและการถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

 

 

เขาจูหนุงนุ้ย

 

เขาโต๊ะกุ้ง

เขาจูหนุงนุ้ย

เขาจูหนุงนุ้ย ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตั้งอยู่ริมถนนสายละงู – ทุ่งหว้า ตั้งอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ควนทัง – เขาขาว ด้านหน้าเขามีสวนยางพาราของชาวบ้านและมีบ้านพักอาศัยปลูกอยู่ 2 หลัง ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนมีบ้านเรือนชาวบ้านปลูกอยู่ค่อนข้างหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม ตามพิกัดในแผนที่แหล่งหินที่ปรากฏในภาคผนวก ค หน้า ค1 - 2 น่าจะเป็นเขาโต๊ะกุ้งตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเขาจูหนุงนุ้ยประมาณ 500 เมตร มีลักษณะเป็นภูเขาหินโดดๆ แทรกอยู่ในกลุ่มเขาหินหลายลูก

เมื่อปี 2538 นายเกตุชาติ เกศา นายทุนจากอำเภอละงู ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในบริเวณเขาโต๊ะกุ้ง 300 ไร่ เพื่อทำเหมืองหิน แต่เปิดเหมืองได้ไม่นานก็ถูกชาวบ้านประท้วงคัดค้าน จนต้องล้มเลิกกิจการกลายเป็นเหมืองร้าง ปัจจุบันยังปรากฏอาคารที่พักและสำนักงานอยู่

โดยในรัศมี 3 กิโลเมตร จากเขาโต๊ะกุ้ง มีสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านป่าฝาง ห่างประมาณ 900 เมตร โรงเรียนบ้านควนฟ้าแลบ ตั้งอยู่ข้างโรงพยาบาลละงู 3,000 เมตร โรงเรียนบ้านทุ่งเสม็ด 1,500 เมตร โรงพยาบาลละงู 2,500 เมตร มัสยิดบ้านป่าฝาง 1,000 เมตร ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดบ้านป่าฝาง 1,000 เมตร

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ตำบลกำแพง อำเภอละงู 800 เมตร มัสยิดอิมามฮูเซ็น(อ.) ซึ่งเป็นมัสยิดของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ 600 เมตร ส่วนกูโบร์ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับมัสยิด มัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ในจุดที่มองเห็นเขาจูหนุงนุ้ยได้จัดเจน เนื่องจากเป็นที่โล่ง

 

 

 

 

 

เขาลูกเล็กลูกใหญ่

เขาลูกเล็กลูกใหญ่

 

ในแผนที่แสดงที่ตั้งเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อยู่ในพื้นที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล แต่จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ไม่พบว่ามีเขาหินชื่อนี้ เมื่อสังเกตจากที่ตั้งในแผนที่ คาดว่าภูเขาลูกนี้คือ ภูเขาหล้อน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านป่าแก่บ่อหิน ตำบลป่าแก่บ่อหิน

ภูเขาหล้อน มีลักษณะเป็นภูเขาหิน 2 ลูกตั้งอยู่ใกล้กัน โดยลูกหนึ่งเล็กอีกลูกหนึ่งใหญ่ พื้นที่รอบเขาทั้งสองลูก ด้านหน้าเป็นพื้นที่ชุมชนบ้านป่าแก่บ่อหิน มีบ้านเรือนประชาชนปลูกอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ที่เหลือเป็นสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากภูเขาหล้อน มีสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนป่าแก่บ่อหิน ห่างจากเขาหล้อนประมาณ 1 กิโลเมตร สำนักสงฆ์ป่าแก่บ่อหิน สถานีอนามัยตำบลป่าแก่บ่อหิน โรงเรียนบ้านทุ่งดินลุ่ม ห่างจากเขาหล้อนประมาณ 2 กิโลเมตร

 

 

 

 

เขาพลู

เขาพลู

เขาพลู ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 บ้านวังผาสามัคคี(กะทูน – พิปูนล้นเกล้า) ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ห่างจากทางหลวงชนบทสายซอย 10 – เขาใคร (สต.4004) ประมาณ 400 เมตร อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาพลูมีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย วัดวังผาสามัคคี ห่างประมาณ 300 เมตร สถานีอนามัยกะทูน – พิปูนล้นเกล้า 300 เมตร โบสถ์คริสตจักรควนกาหลง ในมูลนิธิคริสเตียนสัมพันธ์ประเทศไทย และศูนย์คริสเตียนอาสา 500 เมตร ศูนย์ธรรมวาตะ 400 เมตร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกะทูน – พิปูนล้นเกล้า 400 เมตร โรงเรียนบ้านกลุ่ม 5 ประชารักษ์ 400 เมตร วัดกุมภีลบรรพต 1 กิโลเมตร

 

 

 

 

เขาผึ้ง

เขาละใบดำ

ในแผนที่ที่แสดงที่ตั้งแหล่งหินเขาละใบดำ ระบุว่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล แต่จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าไม่มีเขาชื่อนี้ แต่น่าจะเป็นเขาผึ้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 บ้านห้วยน้ำดำใน ตำบลควนกาหลง ซึ่งแยกออกมาจากหมู่ที่ 1 เมื่อปี 2543

เขาผึ้งเป็นกลุ่มเขาหินขนาดใหญ่ 2 ลูก โดยบริเวณที่ถูกกำหนดเป็นแหล่งหินโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นส่วนที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณนี้เคยมีการซื้อขอสัมปทานทำเหมืองหินมาแล้ว เคยมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ควนกาหลงเมื่อปี 2548

เขาผึ้งตั้งอยู่ใกล้ถนนประชาสงเคราะห์(ทางหลวงหมายเลข 4137 ทุ้งนุ้ย – นิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ อำเภอควนกาหลง) ประมาณ 500 เมตร และมีทางหลวงชนบทสายสต.3012 ตัดผ่านต้านทิศตะวันตก และทางหลวงชนบทสาย สต.4013 ตัดอ้อมทางด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอควนกาหลงกับอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

ด้านทิศใต้มีคลองสระเกด หรือคลองการะเกด ตัดผ่านบริเวณเชิงเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 45 กองบัญชาการทหารสูงสุด

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาผึ้งมีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย ที่ว่าการอำเภอควนกาหลงหลังใหม่ ห่างประมาณ 700 เมตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล 1 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ 1.5 กิโลเมตร วัด มัสยิดธรรมประทีปและศูนย์เด็กเล็กบ้านห้วยน้ำดำ 2 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านถ้ำทะลุ 1.5 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล 1 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำหรับอุโภค บริโภคของชาวบ้าน หมู่ที่ 10 บ้านห้วนน้ำดำใน , หมู่ที่ 2 บ้านซอย 10 และหมู่ที่ 3 บ้านควนล่อน ตำบลควนกาหลง ปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายโครงการครอบคลุมหมู่ที่ 4 บ้านซอยสี่-เจ็ด และหมู่ที่ 7 ตำบลควนกาหลง

 

 

 

 

เขาจำปา

เขาโต๊ะชั่ง

เขาเณร

เขาละมุ

 

เขาจำปา – เขาโต๊ะชั่ง – เขาเณร – เขาละมุ

ทั้ง 4 เขา ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งตำเสา ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยเขาจำปา เขาโต๊ะชั่งและเขาเณร ตั้งเรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีเขาละมุตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแนวเขาจำปา เขาโต๊ะชั่งและเขาเณร ห่างประมาณ 500 เมตร

ปัจจุบัน บริเวณเขาโต๊ะชั่ง มีการระเบิดหินแล้ว โดยมีรถบรรทุกหินวิ่งเข้าออกทุกวัน ห่างออกไปทางทิศใต้มีโรงโม่หินตั้งอยู่ บริเวณรอบๆ มีป้ายสีน้ำเงินติดตั้งอยู่ โดยมีข้อความว่า “นายชยุตพงศ์ เรืองกูลการได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่แห่งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยกรมป่าไม้แล้ว เมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ 2542”

ที่ตั้งของเขาทั้ง 4 ลูก ค่อนข้างห่างจากพื้นที่ชุมชนหนาแน่น สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นสวนยางพาราสลับกับสวนปาล์มน้ำมัน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากภูเขามีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ ห่างประมาณ1.5 กิโลเมตร มัสยิดอัลอาติก 1 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านน้ำหรา 1.5 กิโลเมตร สถานีตำรวจภูธรควนกาหลง 2 กิโลเมตร ศูนย์ราชการอำเภอควนกาหลง 2 .5กิโลเมตร สถานีอานามัยควนบ่อทอง 3 กิโลเมตร

 

 

 

 เขานาบาหมัน

เขาวังบุมาก

เขาวังบุมาก ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย หมู่ที่ 3 บ้านหัวกาหมิง และหมู่ที่ 7 บ้านเกาะใหญ่ ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ชาวบ้านเรียกว่า “เขานาบาหมัน”

ลักษณะภูเขาเป็นแนวยาวแนวเหนือ – ใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของถนนยนตรการกำธร หรือทางหลวงหมายเลข 406 (สตูล – หาดใหญ่) เป็นเขาหินที่มีปริมาณสำรองในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามากที่สุด คือ 48,054 ล้านตัน คิดเป็น 43.34% ของปริมาณหินที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด

ปัจจุบันเขาวังบุมากหรือเขานาบาหมัน เป็นพื้นที่สัมปทานทำเหมืองหินของ โรงโม่หินทุ่งนุ้ยศิลาทอง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงโม่หินรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดสตูล โดยพื้นที่เขาส่วนหนึ่งทางด้านทิศเหนือของเขาลูกนี้ได้ถูกระเบิดไปหมดแล้ว

รอบๆ เขาลูกนี้ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหลายแห่ง ได้แก่บ้านทุ่งนุ้ย บ้านน้ำร้อน บ้านหัวกาหมิง บ้านโตน และบ้านโคกโดน

นอกจากนี้ ยังมีคลองธรรมชาติที่สำคัญไหลผ่านในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ คลองกาหมิง คลองโตนและคลองน้ำร้อน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของคลองดุสน

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาลูกนี้ มีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ย กุโบร์บ้านทุ่งนุ้ย ห่างประมาณ 1 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านน้ำร้อน มัสยิดบ้านน้ำร้อน โรงเรียนตาดีกาบ้านน้ำร้อน กุโบร์บ้านน้ำร้อน 1.5 กิโลเมตร

โรงเรียนบ้านหัวกาหมิง มัสยิดดารุลอามาน โรงเรียนตาดีกาดารุลอามาน 500 เมตร มัสยิดดารุลวุสตอ 1 กิโลเมตร ระบบประปาหมู่บ้านหัวกาหมิง 1 กิโลเมตร โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา 1 กิโลเมตร

 

 

 

 

เขาลูกช้าง

เขาโต๊ะกลั้ง

เขาลูกช้าง

ตามแผนที่ที่ตั้งเขาลูกช้าง ระบุว่า อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง แต่จากการสอบถามชาวบ้าน ระบุว่า เขาที่ระบุในแผนที่คือเขาโต๊ะกลั้ง ส่วนเขาลูกช้าง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านดุสน ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน ห่างจากเขาโต๊ะตรังประมาณ 500 เมตร

เขาโต๊ะกลั้งตั้งอยู่ห่างจากถนนยนตรการกำธร ประมาณ 500 เมตร

ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากเขาโต๊ะกลั้ง มีสถานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย โรงเรียนอรูณศาสน์วิทยามูลนิธิ ห่างประมาณ 700 เมตร สถานีอนามัยควนบ่อทอง โรงเรียนบ้านดุสน 1 กิโลเมตร ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ตำบลควนโดน 1.5 กิโลเมตร กุโบร์บ้านดุสน 1.5 กิโลเมตร และฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 (ฝายดุสน) 2 กิโลเมตร

สำหรับ ฝายดุสน กั้นลำคลองดุสน ซึ่งบางช่วงไหลผ่านใกล้เขาโต๊ะตรัง เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาที่สำคัญของจังหวัดสตูล

รายงานประจำเดือนตุลาคม 2553 ของฝายดุสน ระบุว่า สำนักงานประปาสตูลได้ใช้น้ำดิบจากฝายดุสนผลิตน้ำประปาได้ปริมาณ 356,982 ลูกบาศก์เมตร ส่งไปยังผู้ใช้น้ำทั่วจังหวัดสตูล ยกเว้นอำเภอละงู ประมาณ 13,311 ราย เฉพาะเขตเทศบาลเมืองสตูล มีประมาณ 5,800 ราย

ต้นน้ำของคลองดุสนมาจากเทือกเขาบรรทัด มีคลองสาขา ได้แก่ คลองโตน คลองน้ำร้อน คลองหัวกาหมิง ไหลผ่านตำบลทุ่งนุ้ย คลองหัก คลองเลี้ยว ไหลผ่านอุทยานแห่งชาติทะเลบัน มารวมกันเป็นคลองดุสนที่บ้านบูเก็ตยามู หมู่ที่ 7 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

 

 

 

แหล่งทรายบ่อเจ็ดลูก

แหล่งทรายบ้านหัวหิน

แหล่งทรายและลูกรัง

ทรายที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มี 2 ส่วน คือ ทรายถม และทรายก่อสร้าง ปริมาณทั้งสิ้น 7.15 ล้านลูกบาศก์เมตร 

สำหรับแหล่งทรายถมที่มีความเป็นไปได้มี 2 แหล่ง คือ พื้นที่บริเวณบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตร ชั้นทรายหนา 7 เมตร ปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกแหล่งคือบริเวณปากละงู บ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ชั้นทรายหนา 3.5 – 5 เมตร ปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแหล่งทรายก่อสร้างและลูกรัง พบปริมาณมากเพียงพอในพื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล 2548 พบว่า มีผู้ประกอบการทรายก่อสร้างและดินลูกรัง 4 บ่อ ได้แก่ บ่อทรายทนาย บ่อทรายเขาพระ บ่อทรายหลังสวนลำไย และบ่อทรายทวีทรัพย์ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ส่วนแหล่งวัสดุทรายและลูกรังในจังหวัดสตูล มี 12 แห่ง

 

 

 

 

 คลองช้าง

อ่างเก็บน้ำคลองช้าง(ทุ่งนุ้ย)

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีพื้นที่เก็บน้ำ 1,700 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 89.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กั้นห้วยคลองช้าง ซึ่งเป็นต้นลำน้ำสาขาของคลองท่าแพรอยู่ในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ที่ตั้งหัวงานอยู่บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ห่างจากทางหลวงหมายเลข 406 ประมาณ 1 กิโลเมตร ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงเขื่อนดินประมาณ 12 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำลงอ่าง 44.04 ตารางกิโลเมตร งบประมาณ 510 ล้านบาท

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมชลประทานจึงว่าจ้างบริษัท พรีดีเวลอปเมนท์ บริษัท เอกรุ๊ป คอนซัลแตนท์ และบริษัท ร้อจแอนด์แอสโซซิเอทส์ จำกัด ในวงเงิน 18 ล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 27กันยายน 2553 – 21 ธันวาคม 2554

จากการสำรวจ พบว่า บริเวณที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งสันเขื่อนอยู่ระหว่างภูเขาสองลูกในแนวตะวันออก – ตะวันตก ห่างกันประมาณ 300 – 400 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้แบบผสมผสานและสวนยางพาราตลอดตามแนวคลอง สภาพพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น