โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นอม ชอมสกี้ และเหล่านักข่าว นักวิชาการ ศิลปิน ออกแถลงการณ์สนับสนุนวิกิลิกส์

Posted: 20 Dec 2010 01:40 PM PST

 
กลุ่มนักข่าว, ศิลปิน, นักกิจกรรม, นักวิชาการ ฯลฯ ออกแถลงการณ์ล่ารายชื่อสนับสนุนวิกิลีกส์ โดยมีหัวหอกคนดังอย่าง แดเนียล เอสเบิร์ก, บาร์บาร่า เออเรนริช, อรุณธาตี รอย, นอม ชอมสกี้ ฯลฯ โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้
 
ในฐานะของประชาชน, นักข่าว, ศิลปิน, นักกิจกรรม, นักวิชาการ พวกเราขอประณามการคุกคามและโจมตีองค์กรผู้สื่อข่าวอย่างวิกิลีกส์ หลังจากที่เว็บไซต์นี้ได้ร่วมกับหน่วยงานสื่อจากหลายประเทศในการเผยแพร่ข้อมูลปิดลับของหน่วยงานการต่างประเทศของรัฐบาล จนทำให้นักการเมืองดังๆ ของสหรัฐฯ นักวิชาการ และนักวิจารณ์จำนวนมาก เรียกร้องให้มีปฏิบัติการเด็ดขาดในการปิดองค์กรวิกิลีกส์
 
บรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon.com, PayPal, MasterCard และ Visa ต่างสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลขององค์กรนี้ หน่วยงานด้านกฎหมายของสหรัฐฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ต่างก็อ้างอย่างไม่มีหลักฐานว่าการเผยแพร่ข้อมูลของวิกิลีกส์นั้นดำเนินการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็ถือเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นที่ รมต.ยุติธรรม ของสหรัฐฯ อิริก โฮลเดอร์ บอกว่า "เป็นการขยายช่องโหว่ทางกฎหมายในกฎหมายของเรา" และ "เราจะดำเนินการปิดช่องโหว่นั้น" (29 พ.ย. 2010)
 
จนถึงในเวลานี้ ผู้สื่อข่าว และสื่อใหญ่หลายค่ายก็เลิกช่วยปกป้องสิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลที่มีคุณค่าและอยู่ในความสนใจของประชาชนไปเสียแล้ว ดูเหมือนว่าสื่อเหล่านี้จะรั้งรอในการลุกขึ้นปกป้องสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าอาจจะมีเบื้องหลังเป็นแรงจูงใจทางการเมืองอันไม่พึงประสงค์สำหรับการเปิดโปงของวิกิลีกส์ก็เป็นได้
 
แต่บททดสอบสำหรับผู้ที่มีพันธกิจในการปกป้องเสรีภาพสื่อนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราจะเห็นด้วยกับสิ่งที่สื่อนั้นเผยแพร่หรือวิธีการเผยแพร่ของพวกเขาหรือไม่ วิกิลีกส์ไม่ได้อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน แต่สิ่งที่ควรมาก่อนคือเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสารในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการนำเสนอสิ่งที่รัฐบาลส่วนหนึ่งเห็นว่าควรปิดลับ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสื่อกลุ่มหนึ่งมีความชอบธรรมในการโจมตีสื่อองค์กรสื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันได้ส่งสัญญาณอันน่าสะพรึงในเรื่องสิทธิแก่ใครก็ตามที่เผยแพร่ข้อมูลซึ่งอาจจะสั่นคลอนหรือต่อต้านอำนาจสถาปนา
 
พวกเราในที่นี้ขอแสดงจุดยืนสนับสนุนองค์กรสื่อวิกิลีกส์ และประณามการคุกคามเสรีภาพของพวกเขา เทียบเท่ากับการคุกคามเสรีภาพสื่อทั้งมวล
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลพิพากษา บ.ตะกั่วฯ ชดใช้กะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ 36 ล้าน

Posted: 20 Dec 2010 01:28 PM PST

คดีชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ จำกัด ศาลตัดสินบริษัทชดใช้ 36 ล้าน พร้อมให้ฟื้นฟูลำห้วยที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนให้กลับมาใสสะอาดดังเดิม 

 
วานนี้ ( 20 ธ.ค.53) เวลา 10.00 น. ศาลชั้นต้นจังหวัดกาญจนบุรีได้นัดฟังคำพิพากษาคดีแพ่ง กรณีชาวบ้านบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ จำกัด กับพวกรวม 7 คน เป็นจำนวนเงินรวมกันทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา พร้อมด้วย นายสุรสีห์ พลไชยวงศ์ ทนายความ นำชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 8 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยงจากทั้งหมด 151 คน ประกอบด้วย นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ นายกิตติ นาสวนกิตติ นายสนชัย ทองผาภูมิปฐวี นายประชา อรุณศรีสุวรรณ นายนิคม นาสวนกิตติ นางมะขิ้ว นาสวนสุวรรณ และนางวาสนา อรุณศรีสุวรรณ เข้าฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจังหวัดกาญจนบุรี
 
นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อประมาณ 30-40 ปี เหมืองแร่ตะกั่วได้เปิดดำเนินกิจการ ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อปี 2541 ชาวบ้านทนสภาพปัญหาดังกล่าวไม่ไหว แต่เจ้าของเหมืองแร่ก็ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชน แต่ก็ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐน้อยมาก จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง ซึ่งคดีนี้มีชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องเมื่อปี 2550 ซึ่งวันนี้เป็นการตัดสินของศาล ปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ยังคงมีสภาพเหมือนเช่นที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าเหมืองแร่จะเลิกกิจการไปแล้วก็ตาม แต่สารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ก็ยังกองอยู่ใต้ท้องน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้สารตะกั่วปะปนอยู่กับสัตว์น้ำและพืชผักที่ชาวบ้านเก็บมาบริโภค เพื่อการดำรงชีวิต และปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านที่เจ็บป่วยล้มตายอย่างต่อเนื่องเพราะว่าได้รับ สารตะกั่วสะสมตั้งแต่บริษัทเริ่มเปิดกิจการ ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้มีชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบราย แต่ก็ยังไม่มีการวินิจฉัยยืนยันว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเกิดจากสารตะกั่ว
 
นาย สุรพงษ์ กล่าวต่อมาว่า อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านคลิตี้ไม่คิดที่จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากได้อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว หากยังไม่มีพื้นที่ที่ดีและเหมาะสมกว่านี้ ชาวบ้านก็ยังคงจะอาศัยทำกินในพื้นที่นี้ต่อไป ส่วนผลเสียจากการแต่งแร่ตะกั่วของเหมืองแร่คลิตี้ และเหมืองเค็มโกยังไม่มีการกำจัดสารตะกั่วออกจากพื้นที่ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวเลย สำหรับคดีนี้คาดว่าจะยืดเยื้อต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ ส่วนกระบวนการทางศาลถึงแม้จะช้า แต่อีกไม่นานเชื่อว่าจะชัดเจนขึ้น ส่วนการฟื้นฟูลำห้วยขณะนี้ชาวบ้านได้ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งศาลปกครองได้ตัดสินไปแล้วว่าให้กรมควบคุมมลพิษเข้าไปฟื้นฟูลำห้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนในเรื่องของการรักษาชาวบ้านก็ต้องรอกระทรวงสาธารณสุขที่จะเข้ามา วินิจฉัยว่า ยังมีชาวบ้านได้รับพิษสารตะกั่วอยู่ในร่างกายหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่
 
ต่อมาเวลา 11.00 น. ภายหลังศาลชั้นต้นจังหวัดกาญจนบุรีอ่านคำพิพากษา นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้อ่านคำพิพากษา สรุปคร่าวๆ ว่า ชาวบ้านมีอำนาจในการฟ้องเพื่อปกป้องลูกหลานของตนเอง และเรื่องประเด็นอายุความ การฟ้องเป็นการฟ้องในเรื่อง พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในมาตรา 96 วรรค 1 ซึ่งจะมีอายุความทั่วไป 10 ปี เพราะฉะนั้นการที่บริษัทเหมืองแร่ยังไม่ทำการฟื้นฟูลำห้วย ก็ถือยังต้องมีความรับผิดชอบตลอดไป ส่วนเรื่องการปล่อยศาลพิษ หรือสารตะกั่วพบว่ามีการปล่อยสารพิษลงลำห้วยคลิตี้จริง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านจริง ซึ่งการที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ไม่จำเป็นจะต้องมีปริมาณของสาร ตะกั่วในเลือดและร่างกายเกินมาตรฐานเท่านั้น ซึ่งผลกระทบที่ได้รับถือว่าได้รับผลกระทบจากสารพิษโดยตรง และเป็นผลกระทำโดยตรงของบริษัทเหมืองแร่ที่ต้องมีความรับผิด
 
นายสุรพงษ์ เปิดเผยต่อว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ กับพวกรวม 7 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 35,800,000 บาท โดยแต่ละรายจะได้รับค่าชดเชยไม่เท่ากัน ซึ่งมีผู้ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 1 แสนบาท จำนวน 4 ราย, 1.5 แสนบาท จำนวน 91 ราย, 2 แสนบาท จำนวน 5 ราย, 3แสนบาท จำนวน 4 ราย, 3.5 แสนบาท จำนวน 9 ราย, 4 แสนบาท จำนวน 29 ราย, และ 6 แสนบาท จำนวน 8 ราย รวม 150 ราย โดยศาลไม่ได้ตัดสินจำนวน 1 ราย คือนาย จีซ่า นาสวนสุวรรณ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากบุคคลดังกล่าวได้เสียชีวิตลงในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และศาลชั้นต้นจังหวัดกาญจนบุรียังได้อ่านคำพิพากษาตัดสินให้ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ จำกัด กับพวกรวม 7 คน ให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนให้กลับมาใสสะอาดดังเดิม แต่ถ้าหากบริษัทไม่ยอมดำเนินการ ชาวบ้านสามารถดำเนินการเองได้โดยสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทในการดำเนินการได้อีก
 
อย่างไรก็ตาม จากในคำพิพากษาที่ศาลอ่าน ระบุยอดรวมค่าเสียหายผิดพลาดเป็น 35,800,000 บาท ซึ่งได้มีการตรวจสอบและแก้ไขในภายหลังแล้ว ยอดรวมที่ถูกต้องคือ 36,050,000 บาท
 
ด้านนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ แกนนำชาวบ้าน กล่าวหลังจากฟังคำพิพากษาว่า ตนรู้สึกพอใจในการอ่านคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าชาวบ้านทั้งหมดได้รับความเป็นธรรม โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ใสใจเรื่องเงินทองมากนัก แต่ทุกคนต้องการให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิน จากนี้ไปตนจะไปปรึกษากับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาศาลจังหวัดกาญจนบุรีในคดีนี้ ได้มี นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ และนายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี รองประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ มาร่วมฟังคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ด้วย ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ได้ส่งทนายหรือตัวแทนมาร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาญจนบุรีแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ กับพวกรวม 7 คน สามารถยื่นเรื่องเพื่อขออุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน 
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจากข่าวสดออนไลน์ 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าบุกโจมตีกองกำลังหยุดยิงไทใหญ่อีกรอบ

Posted: 20 Dec 2010 01:02 PM PST

ทหารพม่าบุกโจมตีฐานที่มั่นของกองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N ที่ปัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน อีกรอบ ขณะผู้นำระดับสูง SSA-N กำลังรวมตัวจัดประชุมอยู่ที่กองบัญชาการใหญ่ 

 
(Khonkhurtai: 20 ธันวาคม 2553) มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทหารพม่าจำนวนกว่า 50 นาย จากกองพันทหารราบเบาที่ 516 สังกัดกองบัญชาการยุทธการที่ 2 ประจำเมืองหนอง รัฐฉานภาคใต้ ได้บุกโจมตีฐานที่มั่นส่วนหน้าของกองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน"เหนือ" หรือ กองกำลังหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ใกล้กับบ้านกุ๋นแกงบ้านหลวย อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านไฮ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองพลน้อยที่ 1 ของ SSA-N อยู่ในพื้นที่เมืองเกซี
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์โจมตีเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของพม่า โดยฝ่ายทหารพม่าได้เข้าทำการโอบล้อมฐานของ SSA-N ก่อนระดมยิงเข้าใส่ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือดนานกว่า 30 นาที หลังจากทาง SSA-N เรียกกำลังจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไปเสริมจึงทำให้เสียงปืนจากฝ่ายทหารพม่ายุติลง และทหารพม่าได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ช่วงเช้าตรู่ของวันต่อมา 
 
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การโจมตีฐานที่มั่นของ SSA-N ครั้งนี้ เป็นการจงใจของทหารพม่าอย่างชัดเจน เนื่องจากก่อนหน้านี้ 1 วัน มีผู้พบเห็นทหารพม่าชุดดังกล่าว เดินเท้าลัดเลาะไปตามป่าเขาไปยังจุดหมายโดยที่ไม่ยอมผ่านเข้าหมู่บ้านใดๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะหวั่นข่าวการเคลื่อนไหวจะรั่วไหล จากนั้นในวันต่อมาก็เกิดการโจมตีขึ้น
 
สำหรับฐานของ SSA-N แห่งนี้เคยถูกทหารพม่าโจมตีแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ฝ่าย SSA-N ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย แต่อย่างไรก็ตาม การปะทะกันของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ยังไม่มีรายงานการสูญเสียอย่างชัดเจน ขณะที่แหล่งข่าวชาวบ้านคนหนึ่งเผยว่า พบเห็นทหารพม่าได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
 
มีรายงานด้วยว่า เหตุการโจมตีของทหารพม่าครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้นำระดับสูงของ SSA-N กำลังมีการประชุมใหญ่ประจำปีอยู่ที่กองบัญชาการใหญ่บ้านไฮ โดยหลังจากทราบเรื่องได้บัญชาสั่งการด่วนให้กำลังพลรับมือการโจมตีของทหารพม่าอย่างแข็งขัน พร้อมกับสั่งให้ยิงทหารพม่าที่ลุกล้ำเข้าพื้นที่ได้ทันที
 
กองพลน้อยที่ 1 กองกำลังหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N (Shan State Army – North) เป็นหนึ่งในกองกำลังที่ปฏิเสธข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าในการแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) โดยตลอดช่วง 3- 4 เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดการปะทะกับทหารพม่าแล้วรวม 5 ครั้ง
 
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
________________________________________
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“กาลวิบัติ”: ข้อยกเว้นของกฎแห่งกรรม !!!

Posted: 20 Dec 2010 12:53 PM PST

คำสอนที่กล่าวว่า “ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นคำสอนที่ชาวพุทธได้ยินกันมา ตั้งแต่เริ่มจำความได้ ต่อมา เราได้ยินคำว่า “ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว – หรือทำดีกลับได้ชั่ว หรือทำชั่วกลับได้ดี” ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
 
 
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เพราะเหตุนั้น เหมือนล้อหมุนไป ตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ฉันนั้น

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมติดตามเขาไป
เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัวฉันนั้น”
(ขุ. ธมม. 25/11)
 
พุทธศาสนาเป็นปรัชญาอเทวนิยม ที่ปฏิเสธความมีอยู่ของพระเจ้า ในฐานะผู้สร้างโลก และจักรวาล พุทธปรัชญาไม่เชื่อว่า จะมีผู้ใดกำหนดชะตากรรมของชีวิตมนุษย์ และสัตว์โลก, หรือที่เรียกว่าพรหมลิขิต พระเจ้าลิขิต - พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย” หรือทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตาม “กรรม”
 
สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น – เมื่อตั้งอยู่ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้ตั้งอยู่ เมื่อเปลี่ยนแปร เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เปลี่ยนแปร – เมื่อแตกดับ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้แตกดับ ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปโดยปราศจากเหตุปัจจัย
 
กฎแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ คือกฎแห่งเหตุ และผล – ฉะนั้น “กฎแห่งกรรม” ในฐานะที่เป็นกฎแห่งเหตุผลก็คือกฎธรรมชาติ “เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น ก็ย่อมมีความเป็นไปอย่างนั้น” ซึ่งทุกสิ่งในธรรมชาติ ย่อมดำเนินไปตามกฎนี้
 
คำสอนเรื่องกรรม ในพระพุทธศาสนา มีอะไรบ้าง?
 
คำว่า “กรรม” แปลว่า การกระทำ – จำแนกตามมูลเหตุ มีทั้งกรรมดี (บุญ-กุศลกรรม) และกรรมชั่ว (บาป-อกุศลกรรม) ซึ่งบุคคลกระทำได้ (ผ่านทวาร) 3 ทาง (กายกรรม – วจีกรรม – มโนกรรม) - - “มโนกรรม” เป็นการกระทำที่สำคัญที่สุด เพราะมโนกรรม คือ ความเชื่อ, ความเห็น, ทฤษฏี, แนวความคิด และค่านิยมต่างๆ - ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าสิ่งนี้ “ทิฏฐิ” เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของบุคคล - เป็นตัวกำหนดคติของสังคม ถ้าเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” (ความเห็นผิด) การคิด, การพูด, การกระทำ ก็จะดำเนินไปในทางที่ผิด ดังพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า “...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด, ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไปฯ” [1]
 
การกระทำที่เป็นกรรมดี-ชั่วได้ จะต้องมีเจตนาประกอบ (มีความจงใจ) – ดังพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า 
“…เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ” [2]
 
เจตนาของการกระทำ แบ่งเป็น 3 อย่าง คือ 1) บุพเจตนา - เจตนาก่อนทำ, 2) มุญจนเจตนา - เจตนาในขณะที่กระทำ 3) อปราปรเจตนา – เจตนาเมื่อได้กระทำไปแล้ว [3] - การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่ง ถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น การกระทำที่ไม่มีเจตนา (อัพยากฤตกรรม-การกระทำที่เป็นกลาง) เช่น การยกเก้าอี้จากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่ง - ไม่ถือเป็นกรรม
 
สิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ในฐานะที่เป็นกฎทางศีลธรรมครอบคลุมไปถึงก็เฉพาะ สิ่งมีชีวิตที่สามารถมี “เจตจำนงเสรี” ได้เท่านั้น ส่วนสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีพโดยอาศัย “สัญชาตญาณ” การกระทำของสิ่งมีชีวิต (พวกสัตว์เดรัจฉาน) ประเภทนี้ ไม่สามารถกำหนดด้วยคุณค่าทางศีลธรรมได้ คือไม่อาจกำหนดว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี หรือชั่ว ตามมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมมนุษย์!!!
 
ผลของการกระทำกรรม (วิบากกรรม) คืออะไร???
 
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น – ผู้กระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว” พระพุทธพจน์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงหลักการทั่วไปของกฎแห่งกรรม (กฎนิยาม 5)[4] – เหตุเป็นอย่างไร ผลย่อมเป็นเช่นนั้น เปรียบเทียบว่า เมื่อปลูกมะม่วง ผลที่ได้รับก็ต้องเป็นมะม่วง – ถ้ากระทำกรรมดี ผลที่ได้รับก็จะต้องเป็นผลดี
 
กรรมทั้งหลาย ทั้งกรรมดี-กรรมชั่ว เมื่อบุคคลทำไปแล้ว “ย่อมก่อให้เกิดผล” – กรรมบางชนิดให้ผลเร็ว บางชนิดให้ผลช้าความสัมพันธ์ระหว่างกรรม กับผลของกรรม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล – ผล, จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับเหตุแห่งกรรมนั้น ๆ เพราะมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการแสดงออกผ่านการกระทำของตน ทางกาย, ทางวาจา, ทางใจ - - มันคือกฎธรรมชาติ!!!
 
“กาลวิบัติ” – ข้อยกเว้นของกฎแห่งกรรม !!!
 
คำสอนที่กล่าวว่า “ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นคำสอนที่ชาวพุทธได้ยินกันมา ตั้งแต่เริ่มจำความได้ ต่อมา เราได้ยินคำว่า “ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว – หรือทำดีกลับได้ชั่ว หรือทำชั่วกลับได้ดี” ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
 
เพราะผลของกรรมมี 2 แบบ – แบบแรก คือ “ผลกรรมเกิดขึ้นทันที” ที่บุคคลได้กระทำกรรมนั้นลงไป หมายความว่า ถ้าเป็นการทำชั่ว (กรรมชั่ว) ก็เป็นการเพิ่มเชื้อชั่ว (อาสวะ) ให้กับตัวเอง – ทำให้คุณธรรมในตัวเองตกต่ำลง, ทำให้จิตใจถูกความชั่วครอบงำ, ทำให้นิสัย-สันดานต่ำทรามลง, ทำให้วิถีชีวิตอยู่ในท่ามกลางความเสื่อม และทำให้สังคมที่ผู้กระทำกรรมชั่วอาศัยอยู่ต้องเดือดร้อน - - แต่ถ้าเป็นการทำความดี (กรรมดี) จะเป็นการเพิ่มคุณค่า (บารมี) ให้กับตัวเอง ทำให้คุณธรรมในตัวเองสูงส่งยิ่งขึ้น
 
ผลของกรรมแบบที่สอง คือ “ผลกรรมเกิดที่ขึ้นภายหลัง” ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเหตุปัจจัยอื่นๆ ผลกรรมเกิดที่ขึ้นภายหลังนี้ – พุทธปรัชญามีหลักคำสอนว่า กรรมดีหรือกรรมชั่วที่บุคคลได้กระทำลงไปนั้น “อาจมีผล หรืออาจไม่มีผลก็ได้???” – เพราะว่าเมื่อกรรมจะให้ผลได้นั้น อิทธิพลของกรรม ไม่ใช่อิทธิพลแต่เพียงสิ่งเดียว หากต้องมีอิทธิพลภายนอกอื่นๆ ที่อาจสนับสนุน หรือขัดขวางอิทธิพลของผลกรรมก็ได้ อิทธิพลภายนอกนั้น เช่น กฎหมาย, ขนบธรรมเนียมประเพณี, ค่านิยม และอิทธิพลที่เนื่องด้วยกาลเทศะ อิทธิพลของสิ่งที่สนับสนุน และขัดขวางในการให้ผลของกรรมที่เกิดขึ้นภายหลังนี้ พุทธปรัชญาได้แสดงไว้ปรากฏอยู่ใน วิภังคปกรณ์-ทสกนิเทศ (35/840) แห่งพระอภิธรรมปิฎก เรื่อง “สมบัติ 4 - วิบัติ 4” [5] 
 
“ญาณที่รู้วิบากของกัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ตามความเป็นจริง โดยฐานะ โดยเหตุ ของพระตถาคต เป็นไฉน?
 
พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “คติสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “อุปธิสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “กาลสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “ปโยคสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี 
 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “คติวิบัติ” จึงได้ผลก็มี 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “อุปธิวิบัติ” จึงให้ผลก็มี 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “กาลวิบัติ” จึงให้ผลก็มี 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “ปโยควิบัติ” จึงให้ผลก็มี
 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “คติสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “อุปธิสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “กาลสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “ปโยคสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
 
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “คติวิบัติ” จึงได้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “อุปธิวิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “กาลวิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “ปโยควิบัติ” จึงให้ผลก็มี”
 
คำว่า “กัมมสมาทาน อันเป็นบาป” ก็คือ “กรรมชั่ว” และ “กัมมสมาทาน อันเป็นบุญ” ก็คือ “กรรมดี” จากข้อความในวิภังคปกรณ์นี้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลภายนอก 8 อย่าง ที่มีผลต่อการให้ผลกรรมเกิดที่ขึ้นภายหลังแบ่งออกเป็น “สมบัติ 4 - วิบัติ 4“ ซึ่งในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้บรรยายไว้อย่างละเอียด ดังนี้
 
สมบัติ 4 [6] คือ ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี - accomplishment; factors favorable to the ripening of good Karma)
 
1. คติสมบัติ (สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในที่กำเนิดอันอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career)
 
2. อุปธิสมบัติ (สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions)
 
3. กาลสมบัติ (สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time)
 
4. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจัง ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking)
 
วิบัติ 4 [7] คือ ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว - failure; defect; unfavorable factors affecting the ripening 
of Karma.)
 
1. คติวิบัติ (วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึงที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย - failure as regards place of birth; unfavorable environment, circumstances or career)
 
2. อุปธิวิบัติ (วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงร่างกายวิกล วิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึงสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก - failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavorable personality, health or physical conditions.)
 
3. กาลวิบัติ (วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึงทำผิดกาลผิดเวลา - failure as regards time; unfavorable or unfortunate time)
 
4. ปโยควิบัติ (วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่ว หักล้างเสียในระหว่าง - failure as regards undertaking; unfavorable, unfortunate or inadequate undertaking)
 
เหตุที่ “ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว – หรือทำดีกลับได้ชั่ว หรือทำชั่วกลับได้ดี” จึงเป็นไปด้วยประการฉะนี้!!!

ท่านพุทธศาสนิกชน, วิญญูชน และมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย พึ่งพิจารณาใคร่ครวญว่า “กฎกรรมนิยาม” 
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ กับปรากฏการณ์ “กฎแห่งกรรม” ของบ้านเมืองนี้ แท้ที่จริงแล้วเรื่องราวทั้งหมด มันเกิดขึ้นมาจากเหตุอะไร? !!!
 
ขอจบด้วยพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า
 
“เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม 
เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่ง
ทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับทุกข์ฯ” [8]
 
อ้างอิง:
[1] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=884&Z=949&pagebreak=0
[2] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=9611&Z=9753&pagebreak=0 
[3] http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=706&p=1
[4] http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=223
[5] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=35&A=11405&Z=11721&pagebreak=0
[6] http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=177
[7] http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=176
[8] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=๙._นิพเพธิกสูตร&book=9&bookZ=33
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง (1): คำถามต่อพุทธศาสนาในความเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม

Posted: 20 Dec 2010 12:22 PM PST

 
 
 
จากการเสวนา "พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง" โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ
 
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ผมขอเริ่มด้วยการเปิดประเด็นชวนคุยไปเรื่อยๆ ก่อนละกันนะครับ ในฐานะของคนที่ไม่ได้รู้เรื่องพุทธศาสนามากนัก เรื่องนึงที่ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนทำกันมาเยอะมากๆอยู่แล้วนะครับ ทำมาตั้งแต่รุ่น อ.สุลักษณ์ พระไพศาล ตั้งแต่ก่อนเป็นพระท่านก็ทำ อ.นิธิก็มีงานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาเยอะแยะ ดังนั้นประเด็นพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ปัญญาชนให้ความสนใจ ล่าสุดคุณคำ ผกาก็มีการวิจารณ์ศาสนา และประเด็นเรื่องการปฏิรูปซึ่งค่อนข้างรุนแรง ทำให้คนไม่พอใจจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้ก่อนนะครับ
 
ผมคิดว่าส่วนใหญ่เวลาพวกปัญญาชน คนชั้นกลาง หรือสื่อมวลชนวิจารณ์พุทธศาสนาในบ้านเรา วิธีที่ใช้ในการวิจารณ์จะวนอยู่สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ ดูพฤติกรรมของพระว่ามีความเหมาะสม มีความอยู่ในร่องในรอยตามคำสอนพุทธศาสนาหรือเปล่า พูดง่ายๆก็คือเป็น วิธีการจับผิดพระ พระมีกิ๊ก พระมีสีกา พระแต่งตัวเป็นเกย์ อะไรแบบนี้ แล้วก็ใช้ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างมาสรุปว่า เห็นไหม... สิ่งที่พระทำก็ไม่ได้ดีอะไรนัก แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนากำลังมีปัญหา ส่วนบางคนที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะวิจารณ์ในประเด็นที่ว่า พุทธศาสนาอาจจะมีคำสอนหลายๆ อันที่ไม่สอดคล้องกับสังคม เช่น วิธีคิดที่พุทธศาสนามองผู้หญิง คนที่สนใจศึกษาเรื่องสิทธิสตรี หรือพวกเฟมินิสต์ก็จะบอกว่า ศาสนาพุทธมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การเชื่อว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ด้อยกว่าผู้ชาย ประเด็นที่เห็นชัดๆ ง่ายๆ คือการไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระ
 
ผมเพิ่งเข้าไปคุยกับท่านพระครูธรรมาธรครรชิตมา ซึ่งท่านอยู่วัดของเจ้าคุณประยุทธ์ เราก็คุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ และมีประเด็นหนึ่งที่ทำให้เราเถียงกันค่อนข้างเยอะ คือ เรื่องการมองว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ในการบวชได้หรือเปล่า ท่านก็เถียงหลายๆ เรื่องนะครับ ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ พอเถียงกันไปเถียงกันมา ท่านพูดว่า เหตุผลชี้ขาดจริงๆ ที่ผู้หญิงบวชเป็นพระไม่ได้ คือ แน่นอนว่าศาสนจักรอาจจะอ้างเรื่องพระไตรปิฎกใช่ไหมครับ อ้างว่ามันไม่มีภิกษุณี แต่ในที่สุดแล้ว ท่านพระครูธรรมาธรครรชิตก็อ้างว่า จริงๆ แล้วสำหรับท่าน เรื่องที่มันสำคัญที่สุดคือว่า ผู้หญิงเนี่ยไม่มีเหตุผล เพราะว่าผู้หญิงมีประจำเดือน พอผู้หญิงมีประจำเดือน ผู้หญิงก็จะอารมณ์แปรปรวน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่มัน beyond เหตุผลของมนุษย์ในปัจจุบันไปแล้ว ว่าการมีประจำเดือนทำให้มนุษย์บางเผ่าพันธุ์ในโลกมีอารมณ์แปรปรวน เพราะฉะนั้นเลยเข้าสู่ศาสนจักรไม่ได้ แล้วพอผมถามท่านว่า แล้วเวลาที่ผู้หญิงบริจาคเงิน เงินซึ่งมาจากอารมณ์แปรปรวนนี่มันได้ไหม? ท่านก็ฉุนๆนะครับ ในที่สุดเมื่อคุยกันไปเรื่อยกลายเป็นว่า ในโลกนี้มีสัตว์บางประเภทที่ไม่มีเหตุผลเท่าผู้ชาย เพราะเหตุผลง่ายๆ คือสัตว์ประเภทนั้นมีประจำเดือน อันนี้ก็คือตัวอย่างหนึ่งว่า ถ้าในระดับผิวเผิน คนจำนวนหนึ่งก็จะวิจารณ์พระสงฆ์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ท่านทำ ซึ่งก็อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือระดับที่ลึกซึ้งขึ้นมาก็คือ ดูคำสอนว่ามันมีความสอดคล้อง เท่าทันต่อสังคมปัจจุบันแค่ไหน 
 
แต่ผมคิดว่า เรื่องที่ผมอยากจะพูดคงไม่ได้มาจากในมุมนี้ แต่ผมจะพูดผ่านปรากฏการณ์สองสามเรื่องด้วยกันครับ 
 
เรื่องที่หนึ่งก็คือ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้พระสงฆ์กลายเป็นสินค้ามากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่าช่วง ๑๐-๒๐ ปีมานี้ บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นสินค้าแบบหนึ่ง มันชัดเจนมาก เราอาจจะเรียกว่าเป็น สินค้าในตลาดเชิงจิตวิญญาณอะไรก็แล้วแต่ เราลองนึกถึงพระอย่าง ว.วชิรเมธี พระมหาสมปอง แบบนี้ ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่ หากย้อนไปไกลสุดก็อาจเป็นสมัยพระพยอมหรือเปล่า ผมไม่รู้นะครับ มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า สภาพของพระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมนี่มันชัดเจนมากในปัจจุบัน คำถามที่สองก็คือว่า พระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าเนี่ยขายอะไร คำตอบก็คือขายตัวเองผ่านโทรทัศน์ใช่ไหมครับ ขายตัวเองผ่านซีดี ขายตัวเองผ่านดีวีดี หรือ หนังสือคำสอนแบบง่ายๆ ต่างๆ ที่นี้ถามต่อไปอีกว่า แล้วคำสอนที่พระที่ทำตัวเองให้เป็นสินค้าในระบบทุนนิยมขายคืออะไร พูดตรงๆ ผมคิดว่าไม่ใช่คำสอนที่มีความลึกซึ้งอะไร คำสอนพวกนี้มักจะเป็นคำสอนประเภท “คนเราต้องขยัน” “คนเราต้องรักพ่อแม่” “คนเราต้องทำความดี” นี่คือสินค้าที่พระกลุ่มหนึ่งใช้ขายผ่านระบบทุนนิยม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคำสอนแบบนี้มันมีประโยชน์กับคนในสังคมปัจจุบันจริงๆ หรือว่ามันเป็นคำสอนที่คนในสังคมปัจจุบันพร้อมรับมัน เพราะว่าเค้าพร้อมจะบริโภคอะไรบางอย่างที่เป็นการผลิตซ้ำคำอธิบายที่เขาเชื่อของเขาเองอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่นเวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมก็จะมีพระกลุ่มหนึ่งทำบทบาทในแบบที่ พูดง่ายๆ คือเหมือนพวกครีเอทีฟในวิชาโฆษณาทำกัน คือ ผลิตคำคมออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยคำตอบง่ายๆ เช่น ช่วงเมษา-พฤษภา ท่าน ว.ก็ทวิตประโยคหนึ่งซึ่งเป็นที่ฮือฮาว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” แล้วกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ฆ่าคนบาปน้อยกว่าฆ่าเวลา อันนี้เป็นศาสนาเวอร์ชั่นไหน หรือเป็นศาสนาของอุตสาหกรรมนาฬิกา ที่การฆ่าคนบาปน้อยกว่าการฆ่าเวลา แต่ตอนหลังท่านก็ลบเรื่องนี้ทิ้งไปนะครับ 
 
ผมว่าอันนี้มันน่าสนใจคือ คำสอนที่มันถูกผลิตซ้ำโดยพระกลุ่มนี้เนี่ย ในที่สุดแล้วมันเป็นความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาของพุทธจริงๆ หรือมันเป็นแค่การเอาคำอธิบายที่คนเชื่อกันอยู่แล้วในสังคมมาผลิตซ้ำในแบบง่ายๆ แล้วใช้สถานภาพของความเป็นพระ ซึ่งคนไทยพร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว เพราะคนไทยมักจะเชื่อเจ้า เชื่อพระ เชื่ออาจารย์ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นที่มาของภูมิปัญญา แล้วก็ผลิตซ้ำคำเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหา แต่มันใช้ได้กับคนในสังคม เพราะมันพูดเรื่องที่คนคิดกันอยู่แล้ว เวลามีความขัดแย้งทางการเมือง ก็บอกว่า ทางออกคือคนไทยต้องรักกัน พูดจริงๆ ก็คือ คำตอบแบบนี้เด็กประถมก็ตอบได้ คนเราต้องรักกัน คนเราต้องสามัคคีกัน ที่นี้คำถามคือแล้วสินค้าหรือสิ่งที่พุทธศาสนาผ่านพระกลุ่มที่ทำให้ตัวเองเป็นสินค้ามีให้กับสังคม มันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อันนี้อาจมองเป็นปัญหาของพระเอง แต่ก็เป็นปัญหาของสังคมเองด้วย ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้แล้ว สิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่คำตอบที่ลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบที่ง่ายๆ หรืออธิบายอะไรก็ตามในแบบที่คนพร้อมจะเชื่อ 
 
อันที่สอง ที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ผมพยายามลองนึกดูว่า ในสมัยก่อน พระที่เล่นบทบาทซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคม ท่านเล่นบทแบบนี้มากน้อยขนาดไหน อย่างบทบาทที่ให้พระเป็นภูมิปัญญา เรานึกถึงพระอย่างท่านพุทธทาส ท่านปัญญา หรือท่านประยุทธ์ ท่านก็ไม่ได้เล่นบทแบบนี้ แต่ท่านมีบทบาทที่ทำให้คนคิดเรื่องพุทธปรัชญา คิดถึงเรื่องความหมายในการดำรงชีวิตในแบบที่ลึกซึ้งขึ้น เวลามีปัญหาสังคม คนเหล่านี้ไม่ได้ให้คำตอบแบบผิวเผินว่า เราต้องรักกัน หรือว่า ประหยัดไว้ดีกว่าไม่ประหยัด แต่ท่านทำให้คนกลับมาตรวจสอบตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามิติตรงนี้ในพระที่เข้ามาเล่นกับปัญหาสังคม มันหายไปเลย บทบาทของพระ บทบาทของศาสนา ในการนำเสนอคำตอบที่มันลึกกับสังคม มันไม่มี ศาสนากลายเป็นอะไรไม่รู้ที่ให้คำตอบง่ายๆ ในเรื่องที่คนในสังคมรู้กันอยู่แล้วว่ามันต้องตอบแบบนี้แหละ มีความขัดแย้งทางการเมือง คำตอบคือคนไทยต้องรักกัน เศรษฐกิจไม่ดีทางแก้คือคนไทยประหยัดให้มากขึ้น สังคมมีโสเภณีมากขึ้น ทางแก้คือ ก็อย่าฟุ่มเฟือยสิจะได้ไม่ต้องไปเป็นโสเภณี คำตอบแบบนี้แสดงภูมิปัญญาอะไรในทางศาสนาหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้แสดง เป็นคำตอบที่ทุกคนก็คิดได้ หมายความว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเราเลย เป็นเหมือนกับหมอนรองทางจิตวิญญาณที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ... ศาสนามันยังมีอยู่นะ คำสอนมันยังมีอยู่ แต่จริงๆ มันไม่ได้ช่วยอะไร 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้" นัดรวมตัวร้องปัญหาสิทธิใน "ที่ดินทำกิน" ของเกษตร

Posted: 20 Dec 2010 11:48 AM PST

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ นัดรวมพลเกษตรกรผู้ประสบปัญหาในที่ดินทำกินกว่า 200 คน ค้างคืนหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังพบปัญหากรณีคดีนายทุนสวนปาล์ม ฟ้องร้องเกษตรกร 27 ราย 5 คดี พร้อมฟ้องแพ่งขับไล่ เรียกค่าเสียหายกว่า 10 ล้าน 

 
วันนี้ (21 ธ.ค.53) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) นัดรวมพลเกษตรกรที่ประสบปัญหาในที่ดินทำกินจาก 4 ชุมชนประกอบด้วย ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนน้ำแดง ชุมชนคลองไทร และชุมชนไทรงาม กว่า 200 คน ในระหว่างวันที่ 21- 24 ธันวาคม 2553 นี้ บริเวณศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้องปัญหาเรื่องที่ดิน
 
จากกรณีที่ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้รวมตัวกันและขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งบริษัทเอกชนได้ใช้พื้นที่เหล่านี้ทำสวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่มาเป็นเวลานานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต่อมาบริษัทเอกชนได้นำเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งออกโดยมิชอบมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 27 รายใน 5 คดี ทั้งคดีอาญาข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และฟ้องดำเนินคดีแพ่งเพื่อขับไล่ โดยเรียกค่าเสียหายมูลค่ากว่า 10 ล้าน 
 
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 21- 24 ธันวาคม 2553 นี้ เวลา 09.00 เป็นต้นไป ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้นัดสืบพยานฝ่ายจำเลยในจำนวน 2 คดี ซึ่งเป็นชาวบ้านที่จะต้องขึ้นศาลจำนวน 19 ราย ทำให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดถึงความเป็นมาของคดีความ และกระบวนการยุติธรรม ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตร
 
จากข้อมูลของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ระบุด้วยว่า บริษัทเอกชนในพื้นที่ซึ่งมีกรณีพิพาทกับชาวบ้าน ประกอบด้วย 1.บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ที่ดินพิพาทกับชาวบ้าน จำนวน 1,468 ไร่ เป็นที่ดินป่าไม้ถาวรและที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) 2.บริษัท สากลทรัพยากร จำกัด เป็นที่ดินทิ้งร้างไม่มีการทำประโยชน์มาเป็นเวลากว่า 20 ปีเศษ ชาวบ้านเข้าไปตั้งชุมชนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2552 
 
3.บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินได้ฟ้องขับไล่บริษัทฯที่ศาลจังหวัดกระบี่ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯออกไปจากที่ดิน แต่ทางบริษัทฯ ได้อุทธรณ์ คำพิพากษา คดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลิปวิดีโอ: เอบีซี รายงานข่าวแรงงานข้ามชาติถูกผลักดันกลับที่แม่สอด

Posted: 20 Dec 2010 11:20 AM PST

โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ เผยแพร่วิดีโอข่าวกรณีแรงงานข้ามชาติถูกผลักดันกลับที่แม่สอด ของสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลีย พร้อมระบุ แม้ด่านปิดแต่การทุจริตคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานที่ถูกผลักดันกลับยังคงมีอยู่

 
โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติเผยแพร่วิดีโอข่าวของสำนักข่าวเอบีซี ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถ่ายทำเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 โดยได้จัดทำคำบรรยายภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำความเข้าใจ
 
 
ทั้งนี้ โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติระบุด้วยว่า มีการแจ้งจากแหล่งข้อมูลของโครงการฯ ว่า แม้ด่านชายแดนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่แม่สอดจะปิดและแรงงานไม่สามารถข้ามไปพิสูจน์สัญชาติได้ แต่การทุจริตคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานที่ถูกผลักดันกลับที่แม่สอดโดยเจ้าหน้าที่ไทยและกองกำลังติดอาวุธ ดังที่มีการรายงานในวิดีโอข่าวดังกล่าว ก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์: บทวิเคราะห์ “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” กรณียกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์

Posted: 20 Dec 2010 09:57 AM PST

ชื่อบทความเดิม: บทวิเคราะห์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๓ กรณีศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
 
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๓ เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และต่อมาได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์คณะเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร (www.enlightened-jurists.com) ได้ศึกษาคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและประโยชน์สำหรับการตรวจสอบกระบวนการทำงานตลอดจนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สมควรจะได้แสดงทัศนะทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
 
๑. คดีนี้นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้อง เนื่องจากปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มูลของคดีสืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษซึ่งเมื่อได้พิจารณาคำร้องทุกข์กล่าวโทษประกอบกับพยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วพบว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนเกี่ยวข้อง ๒ ข้อกล่าวหา คือ กรณีพรรคประชาธิปัตย์ได้รับบริจาคเงินและทรัพย์สินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด โดยทำสัญญาว่าจ้างทำสื่อประชาสัมพันธ์ตามโครงการต่างๆ เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงินตามที่กฎหมายกำหนด กรณีหนึ่ง และกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อีกกรณีหนึ่ง นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบและดำเนินการกับพรรคประชาธิปัตย์ในข้อกล่าวหาทั้งสองข้อกล่าวหาทำนองเดียวกัน
 
๒. วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนและมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ ทั้งสองข้อกล่าวหา หลังจากนั้นในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายทะเบียนพรรคการเมืองได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบสำนวนการสอบสวน คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ตรวจสอบและเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) มีความเห็นเสนอต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งก็คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ คนเดียวกัน) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ว่าอาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เห็นควรนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมพิจารณาแล้ว เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดทั้งสองข้อกล่าวหา โดยข้อกล่าวหาที่สองซึ่งเป็นมูลในคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ (มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๕ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ หรือ มาตรา ๘๒ และมาตรา ๙๓ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐) จึงให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๔ (๓) (๔) และมาตรา ๙๕ 
 
๓. ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ สั่งห้ามมิให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในห้าปีนับแต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ และขอให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำชี้แจงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในแง่ของบทกฎหมายที่ศาลจะนำใช้ปรับแก่คดีว่าต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อเท็จจริงระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ –๒๕๔๘ และทั้งในแง่ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำการดังที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกล่าวอ้าง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้อง 
 
๔. ก่อนการไต่สวนข้อเท็จจริง พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่าผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรยุบพรรคการเมืองหรือไม่ คือ นายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว มีแต่หน้าที่ให้ความเห็นชอบแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการดำเนินการข้ามขั้นตอน ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมส่งผลให้การทำความเห็นและการลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ นอกจากนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เพราะไม่ได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพิจารณาสอบสวนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามหลักการร้องคัดค้านเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๐
 
๕. นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าเมื่อมีการแจ้งเหตุต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาที่รอบคอบและเป็นธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณารายงานสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่านายประพันธ์ นัยโกวิท (กรรมการการเลือกตั้ง) ผู้สั่งให้นำความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่นายทะเบียนพรรคการเมือง ประกอบกับนายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ยังมิได้ให้ความเห็น จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาก่อน หลังจากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อได้ความเห็นดังกล่าวแล้ว จึงนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากมีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ แต่คณะกรรมการเสียงข้างน้อย ๒ เสียง ซึ่งหนึ่งในสองเสียงดังกล่าว คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ (ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมือง) เห็นว่าต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่านายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่ากรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงต้องด้วยมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จึงได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ (ประธานกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการให้ความเห็นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๓ วรรคสอง แล้ว เพื่อให้การดำเนินการครบถ้วนตามมูลกรณีและตามกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีจึงถือว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้กระทำการครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติแล้ว สำหรับประเด็นที่ว่าไม่ได้มีการยกเรื่องดังกล่าวขึ้นสอบสวนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองคัดค้านว่ากรณีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีคัดค้านค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แต่เป็นกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไม่ถูกต้องและการจัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงอันเป็นเหตุยุบพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีอายุความ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพบเหตุ ก็สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้
 
๖. ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยเป็น ๕ ประเด็น คือ ๑. กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ๒. การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ ๓. พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง (พ.ศ.๒๕๔๘) ตามที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ ๔. พรรคประชาธิปัตย์จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง (พ.ศ.๒๕๔๘) ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ และ ๕. หากเป็นกรณีมีเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารจะต้องถูกตัดสิทธิ หรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร
 
๗. ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่สองเป็นลำดับแรก และเห็นว่าการกระทำตามมูลกล่าวหาแห่งคดีนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ขณะยื่นคำร้องได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ แทนแล้ว ในส่วนของกฎหมายสารบัญญัติ (คือบทบัญญัติที่กำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือกำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติ) จะต้องใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะเกิดเหตุ แต่ในส่วนของกฎหมายวิธีสบัญญัติ จะต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
 
๘. สำหรับประเด็นแรกที่ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง มี ๒ กรณีแยกต่างหากจากกัน คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๙๔ นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งต่ออัยการสูงสุด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตามมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง และกรณีที่สอง เป็นกรณีที่พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง คดีนี้ต้องด้วยกรณีที่สอง ซึ่งมาตรา ๙๓ วรรคสองบัญญัติขั้นตอนไว้ว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะทราบเองหรือบุคคลใดแจ้งให้ทราบ นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าการกระทำตามที่ทราบมานั้น เป็นเหตุให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบหรือไม่ อำนาจดังกล่าว เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียน หากนายทะเบียนเห็นว่าพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ย่อมเป็นกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ และที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงก็เพราะนายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองให้ถูกต้อง รวมทั้งการปฏิบัติงานทางเอกสาร การจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง การทำรายงานให้ถูกต้อง อันเป็นงานประจำตามปรกติ ซึ่งนายทะเบียนต้องตรวจสอบเป็นประจำอยู่แล้ว โดยในการพิจารณาของนายทะเบียนในเรื่องดังกล่าว นายทะเบียนมีอำนาจแต่งตั้งหรือขอความเห็นจากผู้ใดก็ได้ รวมทั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย แต่การตัดสินใจในขั้นตอนนี้ยังคงเป็นอำนาจของนายทะเบียนเท่านั้น
 
๙. ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังเป็นยุติ คือ เมื่อได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยมีความเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มิได้กระทำความผิด ต่อมาวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมพิจารณารายงานดังกล่าว และมีมติด้วยเสียงข้างมาก ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งสองกรณี เฉพาะกรณีที่สองซึ่งเป็นมูลคดีนี้ นายอภิชาต สุขขัคคานนท์ (ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย) เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์จริง จึงเห็นควรให้ยกคำร้อง หลังจากนั้น นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เสนอความเห็นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง วันเดียวกันนั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ได้บันทึกความเห็นไว้ท้ายหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จึงเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาด่วน และได้มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันเดียวกันนั้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์สำหรับคำร้องตามกรณีนี้ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์โดยให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๕ แต่นายอภิชาตมีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่าให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๓ วรรคสอง ต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่งโดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ไม่ได้เข้าประชุมด้วย และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยถือว่าความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ที่ลงมติไว้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ ความเห็นของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ที่ลงมติไว้เป็นความเห็นส่วนตนในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) หรือไม่
 
๑๐. ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จะบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ก็แยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ต่างหากจากกัน โดยศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกบทบัญญัติในกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองมาแสดงให้เห็น และศาลรัฐธรรมนูญเห็นต่อไปว่า ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้ทำความเห็นไว้ ๒ ความเห็น คือ ความเห็นตามที่เกษียนสั่งให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยระบุชัดเจนว่าเป็นความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และความเห็นในการลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นความเห็นในฐานะประธานกรรมการเลือกตั้ง ความเห็นในการลงมติของนายอภิชาต สุขัคคานนท์เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะถ้าหากจะถือเช่นนั้นก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอภิชาต สุขัคคานนท์ได้เคยลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นก็ไม่ได้ถือว่าความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่ประการใด นอกจากนี้ความเห็นในหนังสือเกษียนสั่งของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ก็มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคหรือไม่ แต่เป็นเพียงการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่าอาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ หรือไม่ก็ได้เท่านั้น และการกระทำตามมาตรา ๙๔ ก็มิได้เกี่ยวกับการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองผิดกฎหมาย หรือการรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ และเป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา ๙๓ อันเป็นกรณีของคดีนี้แต่อย่างใด เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองฯ การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้
 
๑๑. นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังให้เหตุผลอีกทางหนึ่งด้วยว่ากรณีข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง คือ ข้อกล่าวหาในมูลคดีนี้นั้น มาตรา ๙๓ วรรคสองมิได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอความเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะเสนอความเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเหตุตามมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทั้งสองข้อกล่าวหาแล้ว มีมติเสียงข้างมากให้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กรณีถือได้ว่าคดีนี้ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคประชาธิปัตย์มีกรณีตามมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่งแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน จึงต้องเริ่มนับตั้งวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา ตลอดจนการประชุมและการลงมติในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ และวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการตรวจสอบภายในองค์กรและเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎหมายให้ชัดเจนเท่านั้น เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
๑๒. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก ๔ ต่อ ๒ ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยฝ่ายข้างมาก ๑ เสียงใน ๔ เสียง ให้เหตุผลว่าการยื่นคำร้องตามข้อกล่าวหาคดีนี้พ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด และฝ่ายข้างมาก ๓ ใน ๔ เสียง ให้เหตุผลว่าความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นว่ามีเหตุให้ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง และยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด โดยความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ มิใช่การทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง
 
๑๓. คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ได้พิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว เห็นว่าประเด็นหลักที่เป็นปัญหาในคำวินิจฉัยนี้ก็คือ คำวินิจฉัยนี้ได้เกิดขึ้นโดยเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์คณะหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นได้ว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก ๔ ต่อ ๒ ว่า กระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากแตกต่างกัน คือ มีตุลาการเพียง ๑ คน ที่เห็นว่าการยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นการยื่นคำร้องพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนตุลาการอีก ๓ คน เห็นว่าการยื่นคำร้องไม่ได้กระทำการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ มีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทั้งๆที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ได้มีความเห็นและยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด เหตุผลที่แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ เป็นเหตุผลที่แตกต่างกันในแง่ประเด็นของการยกคำร้อง ปัญหาก็คือ ในแง่ของการดำเนินกระบวนพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตั้งประเด็นและวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่
 
๑๔. ในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น การวินิจฉัยเงื่อนไขที่ทำให้ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา กับการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี จะต้องวินิจฉัยแยกต่างหากจากกัน เงื่อนไขที่ทำให้ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา ย่อมได้แก่ เขตอำนาจของศาลเหนือคดี อำนาจฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ร้อง ความสามารถของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ร้อง ความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณา วัตถุแห่งคดี กระบวนการขั้นตอนที่ต้องดำเนินการก่อนการฟ้องคดี ความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ระยะเวลาในการฟ้องคดี ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการตรวจสอบเสียก่อน หากเงื่อนไขเหล่านี้ดำรงอยู่ครบถ้วน ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะสามารถวินิจฉัยเนื้อหาของคดีได้ ในกรณีที่มีประเด็นโต้แย้งกันว่าเงื่อนไขเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างครบถ้วนหรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่โต้แย้งกันนั้นทีละประเด็น เช่น หากโต้แย้งกันว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เสียก่อน โดยตุลาการทุกคนที่เป็นองค์คณะจะต้องออกเสียงวินิจฉัย หากผ่านประเด็นนี้ไปแล้ว มีข้อโต้แย้งกันอีกว่า คำร้องดังกล่าวได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตุลาการทุกคนก็จะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เช่นกัน การกำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดเช่นนี้ จะทำให้ในที่สุดแล้วคำวินิจฉัยเกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะ และจะปรากฏเหตุผลในคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนว่าคดีนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเหตุผลในทางกฎหมายเรื่องใด หากไม่กำหนดประเด็นวินิจฉัยเช่นนี้ แต่กำหนดประเด็นรวมๆกันไป สุดท้าย ย่อมจะหาเสียงข้างมากขององค์คณะไม่ได้ เช่น หากมีตุลาการในองค์คณะ ๖ คน ตุลาการสองคนอาจยกคำร้องเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ตุลาการอีกสองคนเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจ แต่ยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง ตุลาการอีกสองคนเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน แต่ยกคำร้องเพราะเห็นว่าฟ้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่นนี้จะถือว่าเหตุผลที่ยกคำร้องคืออะไร เพราะการยกคำร้องโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งนั้น จะมีผลต่อการนำคดีมาฟ้องใหม่ไม่เหมือนกัน
 
๑๕. ในคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องเพราะเหตุที่การยื่นคำร้องกระทำการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดทำให้นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง มี ๓ คน จากตุลาการที่เป็นองค์คณะจำนวน ๖ คน ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าเป็นเสียงข้างมากขององค์คณะ ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องเพราะเห็นว่าการยื่นคำร้องได้กระทำเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้วมีเพียง ๑ คน จากตุลาการที่เป็นองค์คณะจำนวน ๖ คน ซึ่งก็จะถือว่าเป็นเสียงข้างมากขององค์คณะไม่ได้เช่นกัน การลงมติเพื่อให้ได้เสียงข้างมากในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดประเด็นเสียก่อนว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ และตุลาการทุกคนต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ ในกรณีที่ลงมติไปแล้วยังหาเสียงข้างมากไม่ได้ จะต้องลงมติใหม่อีก และหากจำเป็นก็จะต้องกำหนดประเด็นย่อยลงไปอีก และให้ตุลาการที่เป็นองค์คณะวินิจฉัยทีละประเด็นในลักษณะที่ตุลาการที่มีสิทธิออกเสียงวินิจฉัย หากได้วินิจฉัยอย่างใดไปแล้วในประเด็นก่อนในฝ่ายข้างน้อย ตุลาการผู้นั้นจะต้องรับเอาผลของการวินิจฉัยในประเด็นถัดไปและต้องออกเสียงวินิจฉัยด้วย เพื่อจะได้ผลการวินิจฉัยที่เกิดจากเสียงข้างมาก เมื่อผ่านประเด็นเรื่องอำนาจในการยื่นคำร้องแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะสามารถวินิจฉัยในประเด็นเรื่องของระยะเวลาในการยื่นคำร้องเป็นลำดับถัดไป มีข้อสังเกตว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น และเขียนเหตุผลในคำวินิจฉัยทั้งสองกรณีลงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมทำให้เกิดความสับสนต่อไปว่าตกลงแล้ว เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการยกคำร้องคือเหตุผลใดกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังขัดแย้งกันเองในบางส่วนอีกด้วย คือ ฝ่ายที่ถูกนับว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ๓ คน เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องมีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เสียก่อน จึงจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบได้ ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกนับว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ๑ คน เห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะเสนอความเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเหตุตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง (ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ 
 
ด้วยเหตุที่ได้แสดงให้เห็นดังกล่าวนี้ คณาจารย์คณะนิติราษฎร์จึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเสียงข้างมากขององค์คณะ ไม่ชอบด้วยหลักการทำคำวินิจฉัยในทางตุลาการ และเกิดปัญหาขึ้นตามมาว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
 
๑๖. อนึ่ง มีประเด็นที่สมควรแสดงทัศนะไปในคราวเดียวกันเกี่ยวกับการตีความ “กระบวนการและขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญ” ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสอดคล้องกับหลักการใช้และการตีความกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชนหรือไม่ คดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกนับว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ๓ คน เห็นว่า การที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ใช่เป็นการให้ความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่เป็นความเห็นในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง จึงถือว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณาจารย์คณะนิติราษฎร์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ในที่สุดแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เท่ากับนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นโดยปริยายว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำการอันต้องด้วยเหตุที่กฎหมายกำหนด สมควรถูกยุบพรรค ถึงแม้เรื่องนี้อาจมีข้อทักท้วงว่าในการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ให้ความเห็นไว้จนเป็นที่ประจักษ์ชัดก็ตาม แต่การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการในเวลาต่อมาก็มีผลเป็นการเยียวยาความบกพร่องอันไม่ใช่เรื่องสาระสำคัญไปแล้ว กรณีเทียบเคียงได้กับบทบัญญัติในมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่หากเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองซึ่งจะออกคำสั่งทางปกครองได้ จะต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อน ได้ออกคำสั่งทางปกครองไปโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อื่นเสียก่อน หากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจให้ความเห็นชอบนั้น ได้ให้ความเห็นชอบในภายหลัง คำสั่งทางปกครองนั้นก็ย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย หาได้เสียเปล่าไป หรือมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายไม่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแยกกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวออกจากกันเป็นส่วนๆ อีกทั้งขั้นตอนดังกล่าวนั้นในเวลาต่อมาก็ถูกเยียวยาแล้วโดยการกระทำขององค์กรผู้ทรงอำนาจ และแยกการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองกับการกระทำของประธานกรรมการการเลือกตั้งออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยมิได้พิเคราะห์เจตนาที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจในเรื่องดังกล่าว คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ มาเป็นเหตุวินิจฉัยยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้ 
 
๑๗. โดยที่คดีนี้มีปัญหาในแง่ของการทำคำวินิจฉัยว่าเกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะหรือไม่ และปัญหาในแง่ของเหตุผลในทางข้อกฎหมายที่ใช้ในการยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง คณาจารย์คณะนิติราษฎร์เห็นว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ สมควรจะต้องกระทำเรื่องนี้ให้กระจ่างต่อไป การดำเนินการในเรื่องนี้ย่อมรวมถึงการตรวจสอบกฎเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบการรักษากฎเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ไปจนกระทั่งถึงการตรวจสอบว่าคำวินิจฉัยในคดีนี้ซึ่งมีปัญหาว่าไม่ได้เกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อนึ่ง ในทางปฏิบัติ โดยเหตุที่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดี แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๖ วรรคห้าจะบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ก็ตาม แต่เมื่อเหตุผลในคำวินิจฉัยบางส่วนขัดแย้งกันเอง โดยเหตุผลของตุลาการฝ่ายที่ถูกนับเป็นเสียงข้างมาก ๓ คน เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวเสียให้ชัดเจน เพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดีต่อไป 
 
 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอียมมยุรา
ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓.
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เปิด “ศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน” สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน

Posted: 20 Dec 2010 09:24 AM PST

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ร่วมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เปิดศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน (บางกะปิ) เพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้กับสมาชิก-เครือข่าย เน้นย้ำแนวความคิด “สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน”

 
 
วานนี้ (19 ธ.ค 53) เวลา 11.00 น. โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign: TLC) ร่วมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้ร่วมกันจัดงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน (บางกะปิ) (Labour Culture Center) ที่ ซอยนวมินทร์ 14 เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ กิจกรรมภายในงานเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เริ่มจากการเยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแรงงานของแขกที่มาร่วมงาน จากนั้นมีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ โดยตัวแทนศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน และผู้แทนองค์กรต่างๆ ภายใต้หัวข้อ "สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน" 
 
ตัวแทนจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติปะโอ กล่าวถึงการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมแรงงานบางกะปิ ว่า ศูนย์วัฒนธรรมแรงงานนี้ เกิดจากแนวคิดร่วมกันระหว่างโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้กับสมาชิก อาสาสมัคร และเครือข่าย โดยศูนย์วัฒนธรรมแรงงานจะเป็นพื้นที่ในการฝึกอบรมเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในประเทศไทยให้กับแรงงานข้ามชาติ เช่น การเปิดสอนภาษาไทย การเปิดสอนคอมพิวเตอร์ การอบรมกฎหมายแรงงาน การเปิดอบรมการป้องกันการค้ามนุษย์ การฝึกดนตรีและงานศิลปะ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังทำหน้าที่ที่สำคัญอื่นอีก คือ การเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ในกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ในด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยจะทำหน้าที่รวบรวมหนังสือ บทเพลง ภาพยนตร์ และงานศิลปะ เพื่อให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจใคร่รู้ ได้มีแหล่งค้นหาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น 
 
หลังจากนั้น สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และจิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm กล่าวกับศูนย์วัฒนธรรมแรงงาน ภายใต้หัวข้อ "สมานฉันท์ข้ามพรมแดน เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน" 
 
 
กฎหมายที่อยู่ในบ้านเราต้องคุ้มครองคนงานที่มาทำงานในบ้านเราไม่ว่าเชื้อชาติไหนศาสนาใด
 
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแรงงานนี้ว่า “ศูนย์ฯ นี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายปะโอกับโครงการรณรงค์ (เพื่อแรงงานไทย) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ทางด้านวัฒนธรรม ภาษา กฎหมาย พูดถึงการค้ามนุษย์ พูดถึงศิลปะ อยากจะเห็นแบบนั้น ถ้ามันยังทำอะไรไม่ได้เยอะ ก็ให้เราได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันไปก่อนเรื่อยๆเพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง”
 
สุธาสินี กล่าวถึงภาระกิจของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำงานกับทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติว่า “เราอยากเห็นความเป็นมนุษย์อยู่ร่วมกัน ไม่ต้องมามองว่าคนนั้นเป็นชาติโน้น คนนี้นับถือศาสนาโน้น เราอยากให้เรามองเห็นว่าคนๆนี้ก็คือคน ที่จะอยู่ร่วมกันแบบมีศักดิ์ศรี อยู่ร่วมกันแบบมีความเท่าเทียม” 
 
นอกจากนี้ สุธาสินี ยังได้ตั้งคำถามถึงแรงงานที่อยู่ในระบบในโรงงานและนักสหภาพแรงงานว่า “นักสหภาพแรงงานจะเปลี่ยนแปลงทัศนะคติอย่างไร ให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้อยู่บนความเท่าเทียมกันได้อย่างไร” ซึ่งเธอเสนอว่า “นักสหภาพจะต้องมีนโยบายระดับสหภาพแรงงาน และระดับชาติที่จะขับเคลื่อนกับภาครัฐในเชิงนโยบาย ที่คนงานจะต้องอยู่กับเราอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน นักสหภาพก็ต้องไปเปลี่ยนทัศนคติ ไปเปลี่ยนข้อบังคับ เพื่อที่จะให้คนงานได้เป็นสมาชิกสหภาพหรือเป็นกรรมการสหภาพเพื่อที่จะได้เรียกร้อง นี่คือสิ่งที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เราอยู่ร่วมกัน”
 
“กฎหมายฉบับไหนก็ตามที่อยู่ในไทยมันควรที่จะคุ้มครองกับคนที่มาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ นักสหภาพก็ต้องไปแก้เพราะมีจุดอ่อนอยู่ว่าต้องเป็นเฉพาะเชื้อชาติไทยหรือสัญชาติไทยก็ต้องไปแก้ตรงนี้ กฎหมายประกันสังคม เรื่องสุขภาพ จะเข้าถึงประกันสังคมหรือกองทุนทอดแทนได้อย่างไร เราอยากเห็นกฎหมายที่อยู่ในบ้านเราคุ้มครองคนงานที่มาทำงานในบ้านเราไม่ว่าเชื่อชาติไหนศาสนาใด ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการรณรงค์ตระหนักและให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เราอยากเห็นความสวยงามของมนุษย์” สุธาสินี กล่าวทิ้งท้าย 
 
 
การไม่มีตัวตนทางสังคม เป็นคนผิดกฎหมาย ปิดกั้นการรวมกลุ่ม ทำให้กดขี่และควบคุมเราได้มากขึ้นไม่ว่าแรงงานข้ามชาติหรือไทย
 
จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm ได้เริ่มต้นด้วยการแนะนำตนเองว่า “จริงๆ แล้วนอกจากเป็นคนงานแล้ว ยังไม่รู้ว่าตนเองเรียกตนเองว่าเป็นคนไทยได้หรือเปล่าเพราะดั้งเดิมแล้วครอบครัวเป็นคนโซ่ง ซึ่งมาจากเดียนเบียนฟู เวียดนาม ซึ่งอาจจะเข้ามานาน แล้วก็กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าคนไทย ในอนาคตอีก 20-30 ปี พวกเราถ้าไม่กลับประเทศเราก็จะกลายเป็นคนไทย เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนไทยที่นิยามนี้ก็มาจากหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ คำว่าคนไทยก็มีไว้เพื่อที่จะแบ่งแยก พยายามที่จะสร้างคำนิยามขึ้นมาเพื่อที่จะกดขี่”
 
เหตุที่เกิดแรงงานผิดหรือถูกกฎหมาย จิตรามองว่า “เป็นเรื่องของระบบทุน เมื่อไหร่ที่เราไม่มีตัวตนทางสังคม เมื่อไหร่ที่เราเป็นคนผิดกฎหมาย เขาก็จะกดขี่พวกเราได้มากขึ้น เขาก็จะจ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ เดินทางออกนอกเขตก็ถูกหาว่าผิดกฎหมายเขาก็จะสามารถที่จะควบคมเราได้ เขาต้องการแรงงานที่ถูกควบคุม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนงานข้ามชาติ คนงานไทยก็ถูกทำให้รู้สึกไม่มีตัวตน ก็คือพยายามปิดกันการรวมตัวรวมกลุ่ม”
 
จิตรามองได้กล่าถึงข้อดีของการมีศูนย์วัฒนธรรมแรงงานและการรวมตัวว่า “มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนข่าวสาร แลกเปลี่ยนปัญหา นำไปสู่การปรึกษาหารือ ซึ่งถ้าเราอยู่คนเดียวจัดการปัญหาก็เป็นเรื่องของคนๆเดียว ถ้าเมื่อไหร่ปัญหามันเข้ามาเป็นเรื่องของกลุ่ม เป็นเรื่องของส่วนร่วมเราก็จะได้ร่วมแก้ปัญหากันได้
 
“ถ้ามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นเทศไทยเยอะ อีกมุมหนึ่งรัฐก็พยายามบอกว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาก็เพื่อแย่งงาน มาก่ออาชญากรรม การสร้างค่านิยมแบบนี้ทำให้คนมองแรงงานข้ามชาติเป็นฝ่ายตรงข้าม สร้างความรังเกียจระหว่างกันไม่สามัคคีกัน แม้กระทั้งหยิบยกเรื่องประวัติศาสตร์ที่ พวกเราก็ไม่ใช่คนเขียน รัฐเป็นคนเขียนปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาว่า เมื่อสมัยอยุธยาพม่าเข้ามาเผาเมือง ทำให้ความเชื่อของคนไทยมองพม่าเป็นศตรู แต่จริงๆแล้วมันเป็นกระบวนการของระบบทุนที่ทำให้พวกเรารู้สึกแบบนั้นต่อกันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ทั้งๆ ที่เรามีความเป็นคนเหมือนๆกัน ถูกกดขี่เหมือนกัน นายทุนก็เมื่อมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเขาก็จะมาต่อรองกับคนงานไทยว่าถ้ารวมตัวต่อรองเยอะก็จะไม่จ้างคนไทยก็จะจ้างแรงงานข้ามชาติ มันก็ต่อรองทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่ต่อรองแรงงานข้ามชาติว่า จะจ่ายค่าจ้างน้อยๆเพราะเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย จริงๆ แล้วคนที่ได้กำไรทั้ง 2 ซีกเลยก็คือพวกนายทุน” จิตรา กล่าว
 
จิตรายังได้ยำถึงความจำเป็นในการรวมตัวรวมถึงบทบาทของสหภาพแรงงานว่า “เราร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันสร้างขบวนการร่วมกันก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สหภาพแรงงานเองก็ต้องเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติเองก็ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิและขวนขวายที่จะเข้าไปสู่สหภาพแรงงาน”
 
“สำหรับอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งมีเงื่อนไขหนึ่งที่ใช้ต่อรองที่เรียกว่าจริยธรรมของนักลงทุนแบรนเนมต่างๆ เสื้อผ้าที่มียี่ห้อชื่อดัง ถ้าเราหรือเพื่อเราทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้ามันก็มีวิธีการต่อรองอีกแบบก็คือไม่ใช่แค่ต่อรองแค่รัฐบาลไทยเท่านั้น แต่มันมีการต่อรองทางสากลด้วยก็คือต่อรองที่แบรน เครื่องมือที่ดีที่สุดคือการรวมตัว เมื่อเรารวมตัวแล้วก็นำไปสู่การเจรจาต่อรอง แน่นอนประเด็นพวกนี้เกี่ยวเนื่องกัน เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจระบบการกดขี่” จิตรากล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดโครงการ “ลูกเสือบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์” เฝ้าระวังเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน

Posted: 20 Dec 2010 07:04 AM PST

รมว.ยุติธรรม เปิดโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Cyber Scout) คัดเลือกเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม 300 คน เผยมีการอบรมภาคทฤษฎี-ปฏิบัติใน 4 กลุ่มวิชา ทั้งด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณ ด้านคอมพิวเตอร์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 
วันนี้ (20 ธ.ค.53) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Cyber Scout) ซึ่งคัดเลือกเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม 300 คน เข้าอบรมสร้างเป็นเครือข่ายบนคอมพิวเตอร์ให้เป็นเครือข่ายที่มีจิตสำนึกด้านจริยธรรม ช่วยการสอดส่องดูแลอันตรายที่มากับโลกออนไลน์ 
 
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การกระทำทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่กำลังเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวังเรื่องนี้มีไม่กี่คน ขณะที่เว็บไซต์มีเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นไปใช้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันความมั่นคงของไทย การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงถือว่าเป็นการทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร 
 
สำหรับเครือข่ายนี้จะผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติใน 4 กลุ่มวิชา คือ กลุ่มวิชาด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณ ด้านคอมพิวเตอร์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ มีเป้าหมายจะขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังอันตรายหรือเว็บไซต์หมิ่นสถาบันในโลกออนไลน์ด้วย
 
ทั้งนี้ การอบรมตามโครงการดังกล่าว จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ในวันที่ 20 ธ.ค.53 และรุ่นที่ 2 ในวันที่ 21 ธ.ค.53 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw: นักสิทธิฯ ค้านแก้กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ทำละเมิดไม่ต้องขึ้นศาลปกครอง

Posted: 20 Dec 2010 06:38 AM PST

ที่มา: http://ilaw.or.th/node/648
 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เวลาประมาณ 9.30 น. ตัวแทนเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เทเวศน์ เพื่อยื่นหนังสือแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น

ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บังคับใช้อยู่ ซึ่งกำหนดว่าในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ประชาชนเสียหาย ประชาชนสามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้จ่ายค่าชดเชยได้ที่ศาลปกครอง แต่พบปัญหาการบังคับคดีในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้รัฐได้รับความเสียหายเพราะศาลปกครองยังไม่มีระบบบังคับคดีที่ชัดเจน และปัญหาในทางเทคนิคอื่นๆ อีกหลายประการ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงดำเนินการร่างกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ขึ้นมาใหม่ โดยประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองคือร่างฉบับใหม่กำหนดให้การพิจารณาคดีเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลแพ่งแทนที่อำนาจศาลปกครอง ดูรายละเอียด คลิกที่นี่

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจึงได้ทำความเห็นคัดค้านยื่นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนอำนาจพิจารณาคดีให้เป็นของศาลยุติธรรม เพราะกรณีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องทางปกครอง ไม่ใช่เรื่องทางแพ่ง การกำหนดเช่นนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความสับสน ทั้งยังทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากลำบากขึ้น

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การโอนอำนาจในการพิจารณาคดีจากศาลปกครองไปยังศาลยุติธรรมเป็นระบบกล่าวหาจะทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้ยากลำบากมาก เนื่องจากคู่ความมีสถานะไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ความสามารถในการหยิบยกประเด็นขึ้นมาต่อสู้และโอกาสในการเข้าถึงพยานหลักฐานน้อยลง ขณะที่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองเป็นระบบไต่สวนเปิดโอกาสให้ศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้กว้างขวางกว่า หากถูกโอนไปยังศาลยุติธรรมจริงจะทำให้หลายคดีไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

นางสาวพูนสุข ยังกล่าวอีกว่า หน่วยงานรัฐมีปัญหาในการเรียกชำระเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำความผิด แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยโอนคดีมายังศาลยุติธรมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุดและจะทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

นายโกมล จิรชัยสุทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมารับหนังสือ พร้อมแสดงความเห็นว่า ประเด็นนี้มีเสียงคัดค้านมาจากหลายฝ่าย ขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการร่างกฎหมายจะรวบรวมและนำไปพิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า (2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพล์เผย 2 ปี “รัฐบาลปชป.” ปชช.พอใจการทำงานลด ให้ 3.82 เต็ม10

Posted: 20 Dec 2010 05:35 AM PST

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจการประเมินผลการทำงาน ครบรอบ 2 ปี “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจการทำงาน 3.82 จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนคะแนนการทำหน้าที่นายกฯ “อภิสิทธิ์” ได้ 4.44 จาก 10 คะแนน ลดลงจากผลการประเมินผลงานครบ 1 ปี

 
วันนี้ (20 ธ.ค.53) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยแพร่ข้อมูลผลสำรวจเรื่อง “ประเมินผลงาน 2 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์” เนื่องจากวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เป็นวันครบรอบ 2 ปี การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,448 คน เมื่อวันที่ 10-14 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า
 
ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจการทำงานของรัฐบาล 3.82 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน  ซึ่งลดลงจากผลสำรวจเมื่อตอนที่รัฐบาลทำงานครบ 1 ปี 0.05 คะแนน โดยให้คะแนนความพึงพอใจผลงานด้านสังคมและคุณภาพชีวิตมากที่สุด แต่พึงพอใจผลงานด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายน้อยที่สุด 
 
สำหรับผลงานและโครงการของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา และ โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร ตามลำดับ
 
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ 4.11 คะแนน พรรคร่วมรัฐบาลได้ 3.42 คะแนน และพรรคฝ่ายค้าน ได้ 3.85 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน 
 
สำหรับคะแนนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.44 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากผลการประเมินเมื่อตอนที่ทำงานครบ 1 ปี 0.26 คะแนน โดยได้คะแนนความขยันทุ่มเทในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศมากที่สุด แต่ได้คะแนนด้านความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจน้อยที่สุด 
 
ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลทำอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคือ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเพื่อจะได้ให้คนมีงานทำ มีรายได้ ร้อยละ 19.9 รองลงมาคือ ทำให้บ้านเมืองสงบ มีความสามัคคี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนในชาติ ร้อยละ 12.8 และให้ยุบสภาแล้วลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 11.6
 
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
1.คะแนนความพึงพอใจผลงานของรัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อทำงานครบ 2 ปี ได้คะแนนเฉลี่ย 3.82 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
 
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยจากการสำรวจเมื่อตอนที่รัฐบาลทำงานครบ 1 ปี พบว่ามีคะแนน เพิ่มขึ้น ดังตารางต่อไปนี้
 
1 ปี
(คะแนนที่ได้)
2 ปี
(คะแนนที่ได้)
เพิ่มขึ้น / ลดลง
ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต 
3.76
4.12
+ 3.36
ด้านการต่างประเทศ         
3.75
3.90
+ 0.15
ด้านเศรษฐกิจ                                         
4.41
3.78
- 0.63
ด้านความมั่นคงของประเทศ                       
3.73
3.74
+ 0.01
ด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย          
3.71
3.53
- 0.18
เฉลี่ยรวม
3.87
3.82
- 0.05
           
หมายเหตุ การสุ่มตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้งใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ด้วยข้อคำถามแบบเดียวกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกัน
 
 
2.ผลงาน หรือ โครงการ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
 (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
            - โครงการเรียนฟรี 15 ปี                                     ร้อยละ 23.5
            - โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา                                     ร้อยละ 13.9
            - โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร                          ร้อยละ 9.9
             (เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ)
            - การต่ออายุโครงการค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ฟรี                       ร้อยละ 9.5
            - การต่ออายุโครงการรถเมล์ รถไฟ ฟรี                                  ร้อยละ 8.2
 
 
3.คะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน
(จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน)
 
ครบ 1 ปี
(คะแนนที่ได้)
ครบ 2 ปี
(คะแนนที่ได้)
เพิ่มขึ้น / ลดลง
พรรคแกนนำรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์)
4.23
4.11
- 0.12
พรรคร่วมรัฐบาล (พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเผื่อแผ่นดิน ฯลฯ)
3.44
3.42
- 0.02
พรรคฝ่ายค้าน (พรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช ฯลฯ)
3.37
3.85
+ 0.48
 
หมายเหตุ การสุ่มตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้งใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ด้วยข้อคำถามแบบเดียวกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกัน
 
 
4. คะแนนความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.44 จากคะแนนเต็ม 10 โดยมีคะแนนความพึงพอใจในด้านต่างๆ ดังนี้
 
 
ครบ1 ปี
(คะแนน)
ครบ 2 ปี
(คะแนน)
เพิ่มขึ้น / ลดลง
ความขยันทุ่มเทในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ
5.35
5.02
- 0.33
5.44
4.86
- 0.58
การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
4.83
4.53
- 0.30
ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ
4.62
4.30
- 0.32
ความสามารถในการบริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ ที่มี
4.25
4.18
- 0.07
ความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ
3.72
3.75
+ 0.03
คะแนนเฉลี่ย
4.70
4.44
- 0.26
 
หมายเหตุ การสุ่มตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้งใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ด้วยข้อคำถามแบบเดียวกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกัน
 
 
5. เมื่อเปรียบเทียบความคาดหวังระหว่างตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับผลการทำงานในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่า
- ดีกว่าที่คาดหวังไว้                                               ร้อยละ 11.3
- พอๆ กับที่คาดหวังไว้                                        ร้อยละ 34.3
- แย่กว่าที่คาดหวังไว้                                             ร้อยละ 25.1
- ไม่ได้คาดหวังไว้                                                ร้อยละ 29.3
 
 
6. เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ ทำอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
     - ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเพื่อจะได้ให้คนมีงานทำ มีรายได้ ไม่ว่างงาน                ร้อยละ 19.9
     - ทำให้บ้านเมืองสงบ มีความสามัคคี และสร้างความเชื่อมั่นให้คนในชาติ        ร้อยละ 12.8
     - ให้ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่                                                                    ร้อยละ 11.6
     - ให้ควบคุมราคาสินค้า อุปโภค บริโภค และราคาน้ำมัน                                ร้อยละ 7.8
     - ให้เร่งแก้ปัญหา ยาเสพติด อบายมุข และโจรผู้ร้าย                                     ร้อยละ 5.8
    
 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ญาติผู้ต้องขังมุกดาหารพบ 'ธิดา' หารือประกันตัวเสื้อแดงต่างจังหวัด

Posted: 19 Dec 2010 11:22 PM PST

ญาติผู้ต้องขังเสื้อแดงและไม่แดง ที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุเผาศาลากลางจังหวัดเดินทางเข้าพบ ธิดา ถาวรเศรษฐ หารือแนวทางประกันตัวญาติ ขอบคุณเงินเยียวยา ระบุผู้ถูกจับเป็นเสาหลักของบ้าน บางส่วนไม่เกี่ยวข้องการชุมนุมแต่ถูกจับด้วยยังนอนคุกถึงวันนี้  เตรียมยื่นกรมคุ้มครองสิทธิอีกแห่ง หลังยื่นคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วหายเงียบ

19 ธ.ค.53 ญาติผู้ต้องขังเสื้อแดงจากจังหวัดมุกดาหารเดินทางมาที่ศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสลายการชุมนุม เพื่อพบกับ นาง ธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช.และคณะ เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางการประกันตัวผู้ที่ยังถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวรวมถึงผลกระทบที่ครอบครัวได้รับ และมาขอขอบคุณสำหรับเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นที่ได้จากทางศูนย์เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังด้วย
 
ทางญาติผู้ต้องขังได้บอกกล่าวต่อนางธิดาและคณะถึงผลกระทบที่ได้รับและความยากลำบากในการเป็นอยู่เพราะผู้ที่ถูกจับล้วนแล้วแต่เป็นหัวหน้าครอบครัวเสาหลักของบ้าน บางรายยังมีโรคประจำตัวที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง และไม่ได้รับยามาทานรักษาอาการนานแล้ว บางรายยังคงเป็นนักศึกษาก็ไม่ได้ออกมาเรียนแม้จะยื่นขอประกันตัวไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถประกันได้

นางธิดา กล่าวว่า การที่ผู้ต้องหาเสื้อแดงยังคงติดอยู่ในเรือนจำและไม่ได้รับการประกันตัวยังคงน่าเป็นห่วงอยู่มากเพราะไม่ได้เพียงแต่คนที่ถูกจับเท่านั้นที่ลำบาก แต่ยังรวมถึงครอบครัวของผู้ที่ถูกจับด้วยเช่นกัน เราจึงควรที่จะช่วยเหลือและร่วมกันเรียกร้องให้ได้รับสิทธิ์ในการประกันออกมาต่อสู้คดีข้างนอก ตอนนี้คนที่อยู่ข้างนอกต้องช่วยกันต่อสู้เรียกร้องให้คนที่ถูกจับได้ออกมาโดยเร็วไม่เพียงแต่เฉพาะแกนนำเท่านั้น แต่หมายถึงคนเสื้อแดงทั้งหมดด้วยและขอเป็นกำลังใจให้คนที่อยู่ข้างในเรือนจำให้อดทนคนที่อยู่ข้างนอกยังคงต่อสู้เพื่อให้พวกเขาได้ออกมาโดยเร็วที่สุด  พร้อมทั้งยังได้เขียนจดหมายให้กำลังใจมอบให้แก่ญาติไปยังผู้ที่อยู่ในเรือนจำด้วย
 
นายชานนท์ คนยืน อายุ 16 ปี ถูกจับตั้งแต่วันที่19 พฤษภาคม 2553 ถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่และส่งตัวไปที่สถานพินิจ จังหวัดนครพนม เป็นเวลากว่า 70 วัน กล่าวว่า ตนไปยืนดูการชุมนุมที่บริเวณเหตุการณ์กับพ่อจนเมื่อมีเหตุสลายผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตนตกใจกลัวและได้วิ่งหนีแต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองทุบตีและคอยดักจับทำให้ตนต้องไปอยู่สถานพินิจทั้งที่ไม่ได้ร่วมกระทำผิดใดใด
 
นางบรรเทา เมืองโคตร มารดาของนายทินวัฒน์ เมืองโคตร ผู้ต้องขังอายุ 24 ปี กล่าวว่า วันเกิดเหตุลูกชายไปเรียนปกติแต่พอตอนโรงเรียนเลิกจะกลับบ้านได้ข่าวว่ามีการมาชุมนุมกันที่ศาลากลางจึงขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูเหตุการณ์และกลับบ้านก่อนที่จะมีการสลายแต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาตามจับที่บ้าน ทำให้ไม่ได้ไปโรงเรียนและหมดสิทธิ์สอบ ตนอยากให้ลูกได้รับการประกันตัวเพราะว่าอยากให้ออกมาเรียนหนังสือต่อไป
 
ในวันที่20 ธันวาคม 2553 ญาติผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดมุกดาหารจะไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์เพื่อให้ช่วยเหลือในเรื่องของการได้รับสิทธิ รวมถึงเงินที่จะใช้ในการประกันตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้เคยยื่นไปกับกรรมการสิทธิ์มาแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับหรือมีการช่วยเหลือแต่อย่างใด  จึงต้องการมายื่นจดหมายกับกรมคุ้มครองสิทธิ์กระทรวงยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น