ประชาไท | Prachatai3.info |
- สำนักข่าวฉานยุติการผลิตนิตยสาร "กอนขอ"
- พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง (4): เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก
- นักข่าวพลเมือง: กลุ่มปกป้องที่ดินฯ จะนะ โวยถูกราชการปลดป้าย
- อัยการยื่นฟ้อง 10 เอ็นจีโอปีนสภา สมัย "สนช." - ศาลยอมให้ประกันตัว
- อุบัติเหตุรถตู้เก้าศพ ปรากฎการณ์นางสาวเอ และสังคมไทย
- จำคุก "85 นักรบศรีวิชัย" คดีบุกเอ็นบีที
- จำคุก 7 เสื้อแดงสารคามฐานวางเพลิง-ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ปี 8 เดือน
สำนักข่าวฉานยุติการผลิตนิตยสาร "กอนขอ" Posted: 30 Dec 2010 09:24 AM PST นิตยสาร "กอนขอ" สื่อหลักของไทใหญ่ที่นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับรัฐฉานและสหภาพพม่าโดยสำนักข่าวฉาน ได้ยุติการผลิต เหตุประสบปัญหาด้านงบประมาณ แต่จะดำเนินการในส่วนของนิตยสาร "ออนไลน์" ต่อไป สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N. - Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นสำนักข่าวอิสระก่อตั้งโดยชาวไทใหญ่พลัดถิ่น ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์เผยแพร่นิตยสารข่าว "กอนขอ" อันเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายเดือนฉบับเดียวของไทใหญ่ที่ดำเนินการผลิตเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับรัฐฉานและสหภาพพม่ามานับสิบปี เหตุเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการตีพิมพ์ นิตยสารข่าว "กอนขอ" มีความหมายว่า "อิสรภาพ" ตามภาษาไทใหญ่ และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Independence ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 ภายใต้การดำเนินงานของสำนักข้อมูลข่าวสารกองทัพสหปฏิวัติฉาน SURA (Shan United Revolution Army) ที่นายพลกอนเจิง เป็นผู้นำ โดยผลิตเผยแพร่ในรูปแบบเป็นแผ่นกระดาษติดปะตามฝาผนัง ต่อมาในปี 2527 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากแผ่นกระดาษมาเป็นรูปแบบหนังสือพิมพ์ โดยตีพิมพ์ 3 ภาษา คือ ภาษาไทใหญ่ พม่า และอังกฤษ มีสำนักงานอยู่ที่บ้านปางก้ำก่อ ฝั่งรัฐฉาน ตรงข้ามบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ในปี 2534 หนังสือพิมพ์กอนขอ ได้ย้ายสำนักพิมพ์ไปตั้งที่บ้านหัวเมือง บก.กองทัพเมืองไตย MTA (Mong Tai Army) หลังจากกองทัพ SURA และกองทัพ SUA (Shan United Army) ภายใต้การนำของขุนส่า รวมตัวกันตั้งเป็นกองทัพเมืองไตย MTA ซึ่งต่อมาสำนักพิมพ์กอนขอ ได้แยกตัวเป็นสำนักงานสื่ออิสระและตั้งชื่อเป็นสำนักข่าวฉาน SHAN (Shan Herald Agency for News) ก่อนหน้า MTA จะเจรจาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่า สำนักข่าวฉาน SHAN ได้ย้ายสำนักงานเข้าตั้งฝั่งไทย มีเจ้าคืนใส ใจเย็น เป็นบรรณาธิการ โดยที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากชาวไทใหญ่พลัดถิ่นและองค์กรต่างประเทศ ดำเนินการผลิตเผยแพร่ข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและสหภาพพม่าในรูปแบบนิตยสารรายเดือน มี 4 ภาษาคือ ไทใหญ่ ไทย พม่า และอังกฤษ ต่อมาได้ลดเหลือ 2 ภาษา คือ ไทใหญ่ และพม่า จนถึงปัจจุบัน นับเวลาได้รวม 15 ปี ที่สำนักข่าวฉาน SHAN ได้ผลิตเผยแพร่นิตยาสารรายเดือนชื่อ "กอนขอ" ต่อเนื่องกันมา โดยได้ตีพิพม์ไปแล้วรวม 271 ฉบับ ฉบับล่าสุดตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละฉบับได้รับความสนใจจากผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับไทใหญ่ รัฐฉาน และสหภาพพม่าเป็นอย่างดี ในที่สุด สำนักข่าวฉานมีความจำเป็นต้องยุติผลิตในฉบับต่อไป เนื่องด้วยเหตุผลขาดแคลนด้านเงินทุนสนับสนุน ซึ่งหลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าได้ประสบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวฉานจะยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่สื่อโดยใช้วิธีนำเสนอข่าวสารทางระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซท์ที่มีอยู่ 4 ภาษาแทน คือ ภาษาอังกฤษ www.shanland.org ภาษาไทใหญ่ www.mongloi.org ภาษาพม่า www.mongloi.ort/burmese และภาษาไทย www.khonkhurtai.org ทั้งนี้ เพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข่าวจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการเมือง การสู้รบ ยาเสพติด การละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเพณีวัฒนธรรม และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉานและสหภาพพม่าให้แก่ประชาคมโลกต่อไป
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง (4): เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก Posted: 30 Dec 2010 09:15 AM PST จากการเสวนา "พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง" โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ
(๔) เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก วิจักขณ์ พานิช: คุณศิโรตม์ได้ช่วยตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนขององค์กรทางศาสนจักร บทบาทของนักบวช หรือตัวคำสอนเอง ซึ่งหลายๆคำถามได้แสดงถึงแนวโน้มที่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมากๆเลยนะครับ ซึ่งอย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้แปรจากความเป็นเถรวาทไปสู่รูปแบบพุทธศาสนาแบบอื่นไปแล้วในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง จนเราอาจเรียกพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ว่า พุทธศาสนาแบบราชสำนัก พุทธศาสนาแบบราชสำนักนี้จริงๆมันก็มีอยู่แต่ไหนแต่ไรนะครับ เพียงแต่อำนาจรัฐในอดีตไม่สามารถครอบงำจนพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจนเป็นพิมพ์เดียวกันได้ขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ผมมองว่ามีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ อย่างที่ทุกคนคงรู้นะครับว่า ก่อนขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๔ นั้นบวชเป็นพระอยู่หลายปี และได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมา ด้วยความต้องการที่จะปฏิรูปพุทธศาสนาให้ “ถูกต้อง” ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในขณะนั้นพุทธศาสนาเถรวาทที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ถือว่ามีความหลากหลายสูงมาก แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คือ มีการรวมศูนย์อำนาจทางศาสนจักร มีรูปแบบการสร้างวัด อุโบสถเป็นแบบมาตรฐาน มีการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้กับคณะสงฆ์ มีการนำความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาผนวกเข้ากับการอธิบายทางพุทธปรัชญา ทำให้เป็นตรรกะและพิสูจน์ได้ แล้วตัดมิติในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งบางอย่างออกไป ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ เช่น เทพปกรณัม ภพภูมิ นรกสวรรค์ เทวดา บุคลาธิษฐาน พิธีกรรม สิ่งเหล่านี้เคยมีในพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านและได้ถูกลดทอนคุณค่าไปในยุคนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันมีผลอย่างมากต่อบรรยากาศและทิศทางของพุทธศาสนาเถรวาทที่เคยงอกงามอย่างหลากหลายในท้องถิ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางที่พุทธศาสนาได้ถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐก็ได้ จนศาสนามีความใกล้ชิดและยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐอย่างแนบแน่น และได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางสังคม ซึ่งก็หมายถึงการมีสถานะทางสังคมที่สูง และมีอำนาจทางสังคมและการเมืองอย่างจะปฏิเสธไม่ได้เลย อำนาจและสถานะที่พุทธศาสนาได้รับมาตรงนี้ ถ้าลำพังอยู่แต่ในเมืองหลวงมันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากหรอกนะครับ อย่างที่เคยเป็นมาก่อนรัชกาลที่ ๔ แต่พอมันไปผนวกกับรูปแบบรัฐชาติสมัยใหม่มันก็ได้พัฒนารูปแบบของมันกว้างขวางออกไป จนบทบาทของพระสงฆ์ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป ตัวคำสอนเปลี่ยนไป แนวโน้มของการมองมนุษย์ไม่เท่ากัน ศาสนาไม่เท่ากับคน และอื่นๆ ที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามไว้ก็เริ่มแพร่หลายกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป อันนี้ก็ลองสังเกตกันดูครับว่าพุทธศาสนาแบบนี้มันยังมีรากฐานอะไรของพุทธศาสนาเถรวาทเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ความอ่อนน้อมหายไปไหน และที่สำคัญมิติของการสละสิทธิ์ และไม่ถือครองอำนาจนั้นมันหายไปไหน อำนาจนี่มันอันตรายนะครับ หวงไว้ไม่กระจายออกไปให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นมันก็ทำลายตัวเอง และการมีอำนาจมากๆก็มักทำให้เกิดความประมาท และภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญา สังคมไทยได้ตัดขาดจากรากของพุทธศาสนาเถรวาทที่เราเคยมีในอดีต และหลุดลอยไปสู่รูปแบบอำนาจทางศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือถูกครอบงำโดยอำนาจทางโลก เราจึงกำลังเป็นสังคมพุทธที่ไม่มีรากฐานทางปัญญา แต่พร้อมจะศรัทธาและเชื่อคนที่มีสถานะสูง ซึ่งรวมถึงสถานะทางศาสนา ความเป็นคนดีมีศีลธรรม และการเป็นที่ยอมรับทางสังคม ซึ่งผนวกกับเรื่องความเชื่อและชนชั้นทางสังคมโดยตรงนะครับ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาได้ถูกตัดขาดจากรากหรือต้นธารใน “ป่า” ไปแล้ว แต่คนทั่วไปกลับไม่เห็นว่าเป็นปัญหา กลับมองว่า ก็ดีเสียอีกที่พุทธศาสนามีอำนาจ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีสมณศักดิ์ มีสถานะทางสังคมมากขึ้น สามารถสอนสั่ง ชี้แนะ ชี้ถูกชี้ผิดแก่สังคมได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นความประมาทอย่างมาก และผลของความประมาทนี้กำลังส่งผลถึงบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคม และตัวคำสอนของพุทธศาสนาเองในปัจจุบัน คนที่ท้าทายพุทธศาสนาแบบราชสำนัก และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ท่านอ.พุทธทาส ท่านพุทธทาสถือได้ว่าเป็นพระรูปแรกเลย ที่กล้าท้าทายรูปแบบพุทธศาสนาแบบราชสำนัก แม้จะไม่ได้เป็นโดยการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงออกที่รุนแรงอย่างสันติอโศก แต่ผมมองว่ามันได้ส่งผลสะเทือนให้คนได้สติและย้อนกลับไปหารากเหง้าของเราไม่น้อยเลยนะครับ ในประวัติของท่านอ.พุทธทาส อย่างที่เรารู้กันดี สมัยหนุ่ม ท่านมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ที่วัดแห่งนี้ (วัดปทุมคงคา) แล้วก็ได้มาเห็นรูปแบบของพุทธศาสนาแบบราชสำนักในเมืองหลวง การศึกษาสมัยใหม่ของคณะสงฆ์ การแก่งแย่งแข่งขัน อำนาจ สถานะ สมณศักด์ต่างๆ พอท่านเห็น ท่านก็บอกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว นี่มันไม่ใช่พุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ มันไม่ใช่วิถีของสมณะ วิถีของการสละละวาง จิตวิญญาณที่ไปพ้นอำนาจหรือการปรุงแต่งทางโลก มันได้กลายเป็นอะไรไม่รู้นะครับ ท่านไม่เอาเลย พอกันที เลิกเรียน กลับไปบ้านเกิดที่พุมเรียง ร่วมกับน้องชายและสหายห้าหกคน กับเงินส่วนตัว ซื้อที่ ตั้งสวนโมกข์ขึ้นมา เพื่อกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท ตีความพระไตรปิฎกใหม่ อยู่กันอย่างเรียบง่าย ตั้งวัดในป่า อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วย้อนกลับไปหารากเหง้าของพุทธศาสนาที่เคยเป็นรากฐานทางจิตใจของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา ดังนั้นถ้าเราพูดกันถึงพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมและการเมือง จิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมีความลึกซึ้งไม่น้อยนะครับ แม้จะไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนาจต่อรองทางการเมือง แต่โดยมิติทางสังคมแล้ว พุทธศาสนาเถรวาทนั้นถือว่า เป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณที่สามารถปรับเข้าหาวัฒนธรรม และผู้คนที่หลากหลายได้ดีมาก ด้วยความที่มันตั้งอยู่บนฐานของการ “สละสิทธิ์” นี่แหละครับ มันเลยเปี่ยมด้วยศักยภาพในการเข้าไปกับผู้คนทุกชนชั้นวรรณะได้ดีมาก คือ เข้าไปเปล่าๆ เปิดใจเรียนรู้เอา โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร จะเรียกว่าเป็นอำนาจของความกรุณาก็ได้ ที่ทำให้พุทธศาสนาแบบนี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี พิธีกรรม ได้อย่างกลมกลืน สำคัญคือการปรับเข้าหาไม่ได้เป็นไปการปรับอย่างหลับหูหลับตา แล้วไปรับใช้อำนาจทางโลกเพื่อสถานะของศาสนาเอง แต่ปัจจุบันจิตวิญญาณแบบนี้มันเลือนหายไปหมดเลยครับ เพราะอำนาจทางโลกที่พุทธศาสนาได้รับมา แล้วยึดถือมันไว้จนพอกพูนทับถม รวมถึงความใกล้ชิดต่อราชสำนักที่มีมากเกินไป มันได้ส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่าง ที่เราอาจจะเข้าใจไม่ได้เลยหากมองจากจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท เช่น การสอนสั่งหรือสื่อสารทางเดียว การมองคนว่าด้อยหรือต่ำกว่าศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ สถานะที่สูงส่งเหนือมนุษย์ราวกับสมมติเทพ การดูถูกผู้หญิง ฯลฯ ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นผลจากอำนาจที่พุทธศาสนาได้รับมาจากรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในฐานะสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ยึดโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ออกในสังคมปัจจุบัน ผมจึงอยากจะตั้งคำถามตรงนี้นะครับ เวลาที่เราพูดถึงพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง เรากำลังพูดถึงพุทธศาสนาแบบไหน เป็นอำนาจของสถาบันศาสนาที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐอย่างแยกจากกันไม่ได้ หรือเป็นคุณค่าของพุทธศาสนาเถรวาทที่เรามีเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมจริงๆ เพราะถ้าเราฟันธงแล้วว่าพุทธศาสนาที่เรามีอยู่มันเสื่อมสมรรถภาพแล้วจริงๆ เราก็จะได้พูดคุยถึงพุทธศาสนาแบบอื่นไปเลย หรือไม่ต้องมีศาสนากันไปเลยก็ยังได้ การมีอยู่ของสถาบันศาสนาในฐานะสถาบันหลักทางสังคมนั้นมีอำนาจและต้นทุนไม่น้อยทั้งทางการเมือง ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ซึ่งเราอาจต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อบทบาทของศาสนา โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณของศาสนาที่มีต่อสามัญชนให้มากขึ้น แต่โดยส่วนตัวผมยังมองว่าหากเราย้อนกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาแบบเถรวาทจริงๆ มันยังมีอะไรที่ดี ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ อีกทั้งยังจะเป็นรากฐานให้กับการต่อยอดของพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ที่จะเสริมให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางการเมือง และเกื้อกูลสังคมประชาธิปไตยในทางที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: กลุ่มปกป้องที่ดินฯ จะนะ โวยถูกราชการปลดป้าย Posted: 30 Dec 2010 08:52 AM PST เจ้าหน้าที่รื้อถอนป้ายเรียกร้องให้จุฬาราชมนตรีแก้ปัญหาบริษัทวางท่อก๊าซสร้างรั้วปิดเส้นทางที่ดินวะกัฟฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้านสมาชิกกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ โวยราชการขโมยป้ายเพื่ออะไร เพราะป้ายสร้างจากเงินสะสมของกลุ่ม โดยล่าสุดสมาชิกกลุ่มฯ ได้นำป้ายที่ทำใหม่มาติดอีกรอบ แผ่นป้ายใหม่ที่กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ นำมาติดเมื่อ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา จากการที่เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำการติดตั้งแผ่นป้าย ซึ่งมีข้อความว่า “ท่านจุฬาฯ ขอรับ อย่าเอาอารมณ์ไว้ข้างหน้า อย่าเอาอัลกุรอ่านไว้ข้างหลัง” บริเวณ สี่แยกตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้นายอาศีส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนใหม่แก้ไขปัญหาการบุกรุกยึดครองที่ดินวะกัฟ และเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามกฎหมาย อันเกิดจาก บริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางวะกัฟ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจร ใช้ประโยชน์ในเส้นทางดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของผู้วะกัฟตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น นายเจะปิ อนันทบริพงศ์ สมาชิกกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟ ให้สัมภาษณ์ว่า “หลังจากติดตั้งแผ่นป้ายที่มีข้อความนี้ เพียงวันเดียว เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนก็มาพบกับเจ้าของที่ดินที่ติดตั้งแผ่นป้าย แล้วแจ้งว่าให้เอาป้ายข้อความดังกล่าวออกไปซะ เพราะเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม หากท่านจุฬาราชมนตรีเอง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านใด เดินทางผ่านเส้นทางนี้และพบเห็นเข้าอาจจจะไม่พอใจได้” “ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ก็มาบอกให้รื้อถอนแผ่นป้ายดังกล่าว ส่วนโต๊ะอิหม่ามนั้นถึงขั้นมีข้อแลกเปลี่ยนให้โดยบอกว่าหากเรารื้อถอนออกได้ จะสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จได้ตำแหน่งเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นอย่างแน่นอน แต่ทางกลุ่มฯ ปฏิเสธไปแล้วอย่างชัดเจน เพราะพวกเราในกลุ่มไม่มีใครสนใจข้อเสนอแบบนี้หรอก” หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิการยน 2553 ก็มีผู้ไม่หวังดีรื้อทำลายป้ายดังกล่าว นายเจะปิ จึงดำเนินการซ่อมแซมป้ายให้เหมือนเดิม จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม 2553 มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการทำการรื้อถอนทำลายป้ายดังกล่าวรวมทั้งนำเอาแผ่นป้ายและวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดไปด้วย โดยนางจันทิมา ชัยบุตรดี หนึ่งในผู้ดำเนินการติดตั้งแผ่นป้ายดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า “เจ้าของที่ดินเขาเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ มารื้อถอน โดยใช้รถของทางราชการ บรรทุกเอาแผ่นป้ายไปด้วย ทางกลุ่มฯ อยากรู้ว่าหน่วยงานราชการที่มาทำลายทรัพย์สิน รวมทั้งขโมยแผ่นป้ายไปนั้น ทำไปเพื่ออะไร ป้ายนี้พวกเราใช้เงินที่ทางกลุ่มฯ สะสม และสมาชิกร่วมกันบริจาคจัดทำขึ้นมา ทำไมทางราชการต้องใช้วิธีนี้ด้วย” กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ จึงติดตั้งแผ่นป้ายข้อความเดิมขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลา 14:00 น. วันที่ พุธที่ 29 ธันวาคม 2553 (เมื่อวานนี้) โดยนายเจะหมัด สังข์แก้ว ชี้แจงว่า “เราจำเป็นต้องติดตั้งป้ายนี้ขึ้นอีก เป็น สาส์นเตือนใจท่านจุฬาฯ จากพี่น้องมุสลิมจะนะ เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ท่านอาศีส ได้รับเลือกตั้งให้เป็นจุฬาฯ คนใหม่ พวกเราอุตส่าห์รวบรวมเงินเป็นค่าเดินทางไปแสดงความยินดีกับท่าน และเตรียมหนังสือเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่ดินวะกัฟ ไปยื่นด้วย” “เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ท่านอาศีสเอง ซึ่งเดิมในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เป็นผู้เสนอข้อมูลเรื่องที่ดินวะกัฟนี้ให้กับจุฬาราชมนตรีคนก่อนและคณะกรรมการร่วมกันวินิจฉัย ท่านอาศีสเองจึงทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อตัวท่านเองได้รับเลือกเป็นจุฬาฯ จึงน่าจะเริ่มต้นกระบวนการวินิจฉัยใหม่อีกครั้ง แต่ในวันนั้นพวกเรากลับถูกคนของท่านอาศีสข่มขู่ คุกคาม จะทำร้าย และตัวท่านอาศีสเองก็ไม่ยอมรับหนังสือร้องเรียนที่พวกเราเตรียมไป ดังนั้นเพื่อให้มีการกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องที่ดินวะกัฟ มีการสอบสวนทายาท พยาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินวะกัฟโดยตรง และดำเนินการวินิจฉัยให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือเหตุการณ์รุนแรง พวกเราจึงจำเป็นต้องเลือกวิธีทำป้ายขนาดใหญ่เขียนข้อความสื่อสารถึงท่านจุฬาราชมนตรีแทนวิธีอื่น” “ที่สำคัญที่สุด ก็คือเป็นหน้าที่ของพี่น้องมุสลิมด้วยกันที่จะต้องตักเตือน หากเห็นว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดละเมิด หรือถลำลึกลงไปในเส้นทางที่ออกห่างจากหลักการศาสนา พวกเราจึงนำข้อความซึ่งเป็นหลักคำสอนในศาสนาอิสลามมาเขียนลงในแผ่นป้ายเพื่อให้ท่านอาศีส พิทักษ์คุมพล และผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขการกระทำไปในทางที่ถูกที่ควร โดยเฉพาะตัวท่านอาศีสเองซึ่งทราบดีที่สุดว่าก่อนที่จะได้เป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่นั้นได้รับปากกับกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯไว้ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง” นายเจะหมัดกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อัยการยื่นฟ้อง 10 เอ็นจีโอปีนสภา สมัย "สนช." - ศาลยอมให้ประกันตัว Posted: 30 Dec 2010 07:26 AM PST อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 10 เอ็นจีโอ ปีนสภาคัดค้านการออกกฎหมายสมัย สนช.เมื่อปี 50 จำเลยนัดยื่นขอประกันตัวในวันเดียวกัน ศาลอนุญาตให้ประกัน-นัดตรวจพยานหลักฐาน 28 ก.พ.ปีหน้า วันนี้ (30 ธ.ค.53) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.นายธงชัย รุ่งเจริญวิวัฒนา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น และร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2550 กลุ่มภาคประชาชนได้ร่วมกันปิดล้อมรัฐสภา และบุกเข้ามาภายในเพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณากฎหมาย จนต้องงดการประชุม โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ จำเลยทั้ง 10 คน ได้นัดหมายมาพร้อมกันที่ศาลอาญาตั้งแต่เมื่อเวลา 9.00 น.เพื่อยื่นขอประกันตัวต่อศาล โดยมีญาติ และผู้มาให้กำลังใจกว่า 30 คน โดยในจำนวนนี้มีนางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจและเตรียมพร้อมมาเป็นนายประกันด้วย ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเลื่อนนัดจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 เพราะมีปัญหาเรื่องการใช้บุคคลเป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัว เนื่องจากหากผู้ใช้ตำแหน่งประกันไม่ได้เป็นญาติกับจำเลย ศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัว และคดีนี้จำเลยจำนวน 6 คนใช้ตำแหน่งนักวิชาการ สส. และ สว.ซึ่งไม่ใช่ญาติเป็นหลักประกัน จึงมีประเด็นว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ ส่วนกรณีการใช้หลักประกันอิสรภาพ จำเลยจะต้องใช้หลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาท จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.) หนึ่งในทีมทนายฝ่ายจำเลย กล่าวให้ข้อมูลว่า หลังจากที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การจำเลยแล้ว จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ก.พ.54 เวลา 09.00 น.โดยจำเลยทุกคนต้องมาศาลอีกครั้ง ก่อนจะมีการนัดสืบพยานในครั้งต่อไป อนึ่ง จำเลยทั้ง 10 คน ประกอบด้วย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายศิริชัย ไม้งาม ปี ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อุบัติเหตุรถตู้เก้าศพ ปรากฎการณ์นางสาวเอ และสังคมไทย Posted: 30 Dec 2010 06:59 AM PST หมายเหตุ: *ผู้เขียนเลือกที่จะใช้ชื่อนางสาวเอ แทนการใช้ชื่อจริงเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาในฐานะเป็นผู้เยาว์
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อุบัติเหตุรถตู้เก้าศพสร้างความโกรธ โมโห และความรู้สึกสงสารครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่มากก็น้อยจากคนไทยจำนวนมาก (โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้) อุบัติเหตุนี้ได้เกิดปรากฎการณ์ความโกรธแค้น โมโห และความรู้สึกที่รุนแรงต่อนางสาวเอ เช่น การตั้งกลุ่มแสดงความโมโหและการใช้คำหยาบประนามนางสาวเอใน Facebook ขึ้นและตามเว็ปบอร์ดต่างๆ หลังจากที่มีผู้ใช้ Facebook ตั้งกลุ่ม เรา “มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านไม่พอใจนางสาวเอ” ขึ้นตอนนี้มีสมาชิกมากกว่า 204,982 คนภายในระยะเวลา 2-3 วัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าภายในระยะเวลา 18 ชั่วโมง กลุ่มนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 150,000 คน ในขณะเดียวกันนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการตั้งกลุ่ม “มั่นใจว่าเด็ก มธ.ทั้งมหาลัยเกลียด นางสาวเอ” ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 15,298 คน นอกจากนี้ยังมีการเขียนแฮชแท็กใน Twitter ว่า #ihate (ชื่อของคนขับ) และมีความพยายามค้นหา Twitter ของนางสาวเอเพื่อที่ผู้ใช้ Twitter จะสามารถเขียนประณามเธอได้ รวมถึงการเกิดการตั้งกระทู้ที่หยาบคายประณามการกระทำของนางสาวเอคล้ายกับว่าผู้เขียนข้อความเหล่านั้นได้เชื่ออย่างแน่แท้ว่าว่า การขับรถชนรถตู้โดยสารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ถึงหมอชิตเป็นสิ่งเธอได้วางแผนไว้อย่างไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อที่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตแปดคน หาใช่อุบัติเหตุที่เธอไม่ได้คาดคิดหรือตั้งใจไม่ ตลกร้ายก็คือ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกลายเป็น “แพะ” หลังจากเขียนข้อความแซวประหนึ่งว่าเป็นคนที่เพิ่งขับรถชนคนแล้วมาทวีต ข้อความแซวดังกล่าวถูกขยายซ้ำ เขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ที่ขับรถชนเสียเอง สังคมโซเชียลมีเดียจึงกลายร่างเป็นศาลเตี้ยแบบไทยๆ ลุกขึ้นมาเชือดแพะทันที บทความนี้มีความมุ่งหมายในการตั้งคำถามกับสังคมไทย (โดยเฉพาะผู้ใช้อินเตอร์เน็ต) และพยายามจะอธิบายว่าปรากฎการณ์ “นางสาวเอ” นี้จะสามารถนำมาอธิบายสังคมไทยได้อย่างไร (1) การตัดสินใจหลายๆ กรณีในสังคมไทยเกิดขึ้นผ่านการใช้ข่าวลือ การพูดต่อๆ กัน มากกว่าการใช้เหตุผล กรณีนี้มีการสร้างข่าวลือจำนวนมากที่ไม่สามารถตรวจสอบได้หรือไม่มีหลักฐานสนับสนุน เช่น การสร้างข่าวลือว่านางสาวเอหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ข่าวลือว่ามีความพยายามเปลี่ยนอายุของเธอจาก 16 ปีเป็น 18 ปี ข่าวลือว่าเธอขับรถชนเพราะกำลังเล่นบีบีอยู่ ข่าวลือการพูดคุยระหว่างเธอกับเพื่อนในบีบีที่ไม่ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ ข่าวลือว่าเธอขับรถชนเสร็จแล้วลงมาเล่นบีบี (ซึ่งในกรณีนี้หลังนี้ได้มี Netizen ท่านหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าภาพที่นางสาวเอกำลังกดบีบีนี้ เหมือนกับว่าเธอกำลังกดโทรศัพท์มากกว่า เพราะภาพต่อมาที่วิดีโอแสดงคือภาพที่เธอกำลังเอาโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหูและเช่นเดียวกันการให้ข่าวของพี่ชายต่างมารดาของเธอว่ากำลังติดต่อบิดาของเธอ)
(2) สังคมไทยขาดวุฒิภาวะในการพูดคุยกัน ถกเถียง แลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล และการแลกเปลี่ยนอย่างไม่สนับสนุนความรุนแรง ในกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสดงความเกลียดแค้นต่อเธอ มีการใช้คำหยาบอย่างเช่น “สัตว์หนักแผ่นดิน” “อยากเอาบีบีตบหน้ามันจัง อีกระหรี่ซีวิค” “อีฆาตกร” และอีกหลายคำกล่าวรวมถึงการโพสต์เบอร์โทรศัพท์ของเธอและของบิดาของเธอเพื่อเรียกร้องให้มีการโทรไปด่า แทนการพูดคุย ถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงและอธิบายสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลที่ตรวจสอบได้ ผู้เขียนโดยส่วนตัวเชื่อว่าผู้ที่ทำผิดในกรณีนี้ควรจะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม การจะติดตามและตรวจสอบให้ที่มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสเป็นสิ่งที่สามารถทำได้และควรกระทำ แต่การตรวจสอบกับการเรียกร้องให้มีการรุมทำร้ายหรือประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
(3) ปรากฎการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ ตัวอย่าง) ที่แสดงปัญหาของระบบการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ที่ไร้ซึ่งความปลอดภัยและไม่มีมาตรฐาน ระบบรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถตู้ปรับอากาศ ที่คนเดินทางส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางในเมืองไม่มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยเลย การเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารเหล่านี้แทบทุกอาทิตย์ แต่ยังคงไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เวลาเกิดอุบัติเหตุทีไรก็จะมีการเรียกร้องจากฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตว่า “ขอให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย” เหตุการณ์กรณีนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หากรถตู้โดยสารจะมีบังคับที่ชัดเจนตามกฎหมายว่ารถตู้ทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยและผู้โดยสารต้องใส่เข็มขัดนิรภัยด้วย เนื่องจากเหยื่อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเหวียงของรถทำให้เหยือกระเด็นออกมานอกตัวรถ
(4) สังคมไทยให้ความสำคัญของชีวิตคนที่แตกต่างกัน ตามชนชั้นทางสังคม ตามกลุ่มทางสังคม ตามองค์กรทางสังคมที่ตน เป็นสมาชิก ในกลุ่ม เรา “มั่นใจว่าเด็ก มธ. ทั้งมหาลัยเกลียดนางสาวเอ” มีคำถามที่น่าสนใจว่าหากคนที่เสียชีวิตไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหรือศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย) จะให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตครั้งนี้ไหม? เช่นเดียวกันที่มีการตั้งคำถามว่าถ้าหากผู้เสียชีวิตเหล่านี้เป็นตาสีตาสา แรงงานพม่า ขอทาน แต่ไม่ใช่นักศึกษา-อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ นักเรียนนอก นักวิจัย สังคมไทยจะให้ความสำคัญเช่นนี้หรือไหม เราคงจำได้ถึงการเสียชีวิตของแรงงานพม่า 54 ศพที่หาเป็นวาระแห่งชาติในหมู่ชนชั้นกลางไม่ การเสียชีวิตของคนจำนวนเก้าคนเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ในกรณีเดียวกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย (เช่น ในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีคนเสียชีวิตแทบทุกวัน ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มากกว่า 4 พันคน) แต่การที่เหยื่อเป็นชนชั้นกลางในเมืองอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงจากชนชั้นกลางด้วยกัน ตัวอย่างที่สามารถอธิบายได้กับกรณีนี้ คือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยอธิบายว่าโสเภณีในกรุงเทพฯ ที่เป็นคนจนเป็นปรากฎการณ์ที่ปกติและเกิดขึ้นมานานแล้วและเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางยอมรับได้ แต่เมือเกิดปรากฏการณ์โสเภณีนักศึกษาไซด์ไลน์ ชนชั้นกลางไม่สามารถรับได้เพราะเป็นชนชั้นเดียวกัน
(5) สังคมไทยเคารพสิทธิผู้ต้องหาต่ำมาก สังคมไทยขาดความเข้าใจว่าไม่รู้ว่าผู้ต้องหาไม่ว่าจะกระทำผิดรุนแรงแค่ไหนก็ต้องมีสิทธิ มีความเป็นมนุษย์เหมือนประชาชนทุกคนตามหลักรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมือเราเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ เช่น กรณีผู้ต้องหายาเสพติด สังคมไทยส่วนใหญ่ (ไม่ว่าคุณจะอยู่สีเหลืองหรือสีแดง) จะให้ความยอมรับวิธีการวิสามัญฆาตกรรม แทนการนำผู้ต้องหามาขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรม อีกกรณีหนึ่ง คือ ในฐานะที่ผู้ต้องหาเป็นผู้เยาว์ควรจะได้รับการปกป้องชื่อเสียงและสิทธิโดยไม่มีการเปิดเผยชื่อจริง แต่สื่อมวลชนไทยจำนวนมากได้เปิดชื่อจริง นามสกุลจริงของเธอไปแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่ครอบครัวนางสาวเอได้ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ครอบครัว ไม่ได้นอนในหลายวันที่ผ่านมา เพราะต้องพานางสาวเอย้ายโรงพยาบาลสามแห่งหลังจากถูกขู่ฆ่าและมีการพยายามบุกเข้ามาในห้องของเธอ รวมถึงการโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อประณามทั้งคืน
(6) หลายๆ ครั้งมีความเชื่อว่า หากผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพล เช่น คนมีนามสกุลดัง มีพ่อเป็นนักการเมือง เป็นคนรวยหรือลูกคนรวย ความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยาก ประสบการณ์ที่ลูกของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลจะได้รับโทษเบาๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ การเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมาอาจจะเป็นความไม่มั่นใจของสังคมว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยือได้จริงหรือเปล่า
(7) แต่ในขณะเดียวกันสังคมไทยมีการมองปัญหาแบบฉาบฉวยและมีการใช้ค่านิยมแบบฉาบฉวย เช่น มองว่าลูกคนรวย คนที่มีนามสกุลใหญ่จะเลวหมด เป็นอภิสิทธิ์ชนหมด คล้ายกับแนวคิดที่เชื่อว่าข้าราชการและนักการเมืองจะเลวหมด สังคมไทยพร้อมที่จะออกมาก่นด่าคนจนทำให้ผู้วิจารณ์รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีมีศิลธรรม และมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญ ซึ่งค่านิยมที่เหมารวมเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์เพราะผู้วิจารณ์ก็จะสามารถติด่าแต่ไม่สนใจรายละเอียดหรือโครงสร้างของปัญหา และที่สำคัญที่สุด ปรากฎการณ์นี้อาจแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยในตอนนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ที่เราต้องมีกลุ่มคนที่เราเกลียดแค้นตลอดเวลา เช่น การเกลียดแค้นกลุ่มคนเสื้อแดงโดยคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองโดยคนเสื้อแดง การเกลียดแค้นโจ๊ก ไผ่เขียว จนมาถึงการเกลียดแค้นนางสาวเอในตอนนี้ อาจเพราะคนจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้พูดว่า "เธอนั่นล่ะ ผิด"
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จำคุก "85 นักรบศรีวิชัย" คดีบุกเอ็นบีที Posted: 30 Dec 2010 01:18 AM PST คดี 85 นักรบศรีวิชัย บุกเอ็นบีที ศาลสั่งจำคุกโทษสูงสุด 2 ปี 6 เดือน ต่ำสุด 6 เดือน ขณะเยาวชน 6 คนรอลงอาญา 2 ปี ล่าสุดทนายจำเลยยื่นขอประกันตัว สู้คดีชั้นอุทธรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ธ.ค.53) เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศาลอาญาห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 กรณีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) หน่วยงานสื่อมวลชนของภาครัฐในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 โดยมีพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธเนศ คำชุม กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยในวันนี้มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมาฟังคำพิพากษา และให้กำลังใจจำเลยทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดถูกยื่นฟ้องในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535 คำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.51 จำเลย 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนนัดแนะระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น ตกลงกันไปเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2551 จำเลยทั้งหมดได้พกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันไปทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท โดยเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดการกระทำจำเลยทั้งหมดก็ไม่หยุด อีกทั้งจำเลยยังร่วมข่มขืนใจ นางสาวตวงพร อัศววิไล และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ซึ่งเป็นพนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่ทำการ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับพวกเกินกว่า 5 คน บุกรุกเข้าไปที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที พร้อมกับพกพาอาวุธเข้าไป อันเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจร แม้ว่าโจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานแต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดดังกล่าว และมีความผิดฐานมีวิทยุสื่อสารในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และ 2 ยังกระทำผิดฐานมีอาวุธปืน และพกพาปืนไปในที่สาธารณะ ส่วนจำเลยอื่นนั้นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดพกพาอาวุธชนิดไหน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงลงโทษจำเลยอื่นไม่ได้ ส่วนความผิดฐานมั่วสุม บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์นั้น รวมทั้งร่วมกันข่มขืนใจ เห็นว่าการวินิจฉัยว่าจำเลยคนใดกระทำความผิดนั้น ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ศาลลงความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเพียงการที่จำเลยร่วมกันบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดกระทำผิดในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผิดฐานยาเสพติดใบกระท่อมในครอบครอง นอกจากนี้ ในความผิดฐานกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นว่าจากการนำสืบของพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ระบุว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศชักชวนอาสาสมัครที่จะไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีให้ไปรวมกลุ่มที่ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 ซึ่งเกิดหลังจากที่กลุ่มจำเลยกระทำการดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดจะมีเจตนาร่วมกันกับแกนนำได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีก็ตาม พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 วรรคแรก มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 83 ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 30, 47, 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดโทษมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 ส่วนจำเลยที่ 83-85 อายุต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรละโทษให้กึ่งหนึ่ง ความผิดฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1-29 ที่ 31-41 ที่ 43-46 ที่ 48-80 ที่ 82 จำคุกคนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 คนละ 8 เดือน สั่งจำคุกจำเลยที่ 83-85คนละ 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุกจำเลยที่ 1-29, 31-41, 43-46, 48-80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30, 47, 81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83-85 คนละ 6 เดือน จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี และความผิด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 และ 23 สั่งจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 7 และ 72 วรรคสอง สั่งปรับ 1 พันบาท ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผอดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง 76 วรรคสอง สั่งปรับคนละ 1 พันบาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 1ใน3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 รวมเป็นจำคุกกระทงละ 1ปี 4 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยรับข้อเท็จจริงว่าได้ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพ ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำเลยที่ 39 และ 80 ให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 18 เดือน และจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และสั่งปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3-29, 31-38, 40, 41, 43-46, 48-79 และ 82 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 39 และ 80 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30, 47 และ 81 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 83-85 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 24 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 30, 47, 81, 83-85 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30, 47 และ 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี จำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยดังกล่าวไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ข้อหาและคำร้องอื่นให้ยก ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายความของจำเลยได้ยื่นคำประกันตัวจำเลยทั้งสิ้น 79 คน เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จำคุก 7 เสื้อแดงสารคามฐานวางเพลิง-ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 ปี 8 เดือน Posted: 29 Dec 2010 11:20 PM PST ศาลจังหวัดมหาสารคามตัดสินจำคุกจำเลยคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 5 ปี 8 เดือน รวม 7 คน ส่วนส่วนจำเลยที่ 4 รอลงอาญา ด้านทนายเตรียมทำเรื่องขอประกันตัวจำเลยที่เหลือเพื่อสู้คดี วันนี้ (30 ธ.ค.53) เวลา 09.30 ศาลจังหวัดมหาสารคามนัดฟังคำพิพากษาตัดสินคดีร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือน อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน และร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุม 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนข้อกำหนดพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 บริเวณอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม โดยมีจำเลยในคดีทั้งสิ้น 8 คน ได้แก่ นายสมโภชน์ สีกากุล อายุ 23 ปี อาชีพรับจ้าง นายสุชล จันปัญญา อายุ 19 ปี นักศึกษา นายเดชอดุลย์ เดชบุรัมย์ อายุ 20 ปี อาชีพรับจ้าง นายไข่เขย จันทร์เปล่ง อายุ 52 ปี อาชีพค้าขาย นายชรัณย์ เอกศิริ 26 ปี อาชีพรับจ้าง นายอุทัย คงหา อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้าง นายมนัส วรรณวงษ์ อายุ 34 ปี อาชีพรับจ้าง นายไพรัช จอมพรรษา อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง โดยทั้งหมดถูกจำคุกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 เดือน ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 2 ช.ม. โดยตัดสินจำคุก จำเลยที่ 1-3 และ จำเลยที่ 5-8 เป็นระยะเวลา 5 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในขณะที่จำเลยที่ 4 ได้แก่ นายไข่เขย จันทร์เปล่ง ตัดสินให้รอลงอาญา สำหรับบรรยากาศหลังทราบคำพิพากษา ญาติและครอบครัวของผู้ต้องขังต่างร้องไห้เสียใจ สำหรับมูลค่าความเสียหายที่ระบุในคำฟ้อง ซึ่งอ้างถึงความเสียหายของตัวอาคารอำเภอ และพาหนะ เครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงสาธารณะสมบัติรวมแล้ว มีมูลค่า 352,000 บาท ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย ทนายและคณะจะทำเรื่องขอประกันตัวผู้ต้องขังทั้งเจ็ดคนต่อศาลต่อไป ด้าน นางบุญเลี้ยง จันทร์เปล่ง ภรรยาวัย 51 ปีของนายไข่เขย กล่าวว่า จะต้องเสียค่าปรับหนึ่งหมื่นบาท แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ ขณะนี้ยังรอความช่วยเหลือภายนอก และว่า อยากให้พี่น้องร่วมคดีออกมาพร้อมกันทั้งแปดคน ไม่อยากให้นายไข่เขยออกมาคนเดียว นางบุญเลี้ยง แสดงความกังวลด้วยว่า สามีอาจจะเป็นอันตรายเพราะสามีก็เป็นแกนนำ ทำให้รู้สึกกลัวว่าจะถูกฆ่าเหมือนกรณีแดง คชสารที่เชียงใหม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น