ประชาไท | Prachatai3.info |
- กานดา นาคน้อย: ปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือความผิดพลาดของทุนนิยมหรือสังคมนิยม?
- AHRC ออกรายงานประจำปีจวกไทยรื้อฟื้นรัฐทหาร
- นิติราษฎร์ : อัปลักษณะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ กรณี Insects in the backyard
- ไม้หนึ่ง ก.กุนที: ไกสอน พมวิหาน
- ผู้ประสบภัยไซโคลน ‘กิริ’ นับพันยังคงไร้บ้าน
- กวีตีนแดง: ผู้ตรากตรำทำงานหนักคือประชาชน
- ฌาปนกิจหนัง Insects in the backyard นักวิชาการชี้เรทห้ามฉายอาจขัด รธน.
- ภูมิใจไทยคว้า 2 เก้าอี้ หลังเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 5 เขต
กานดา นาคน้อย: ปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือความผิดพลาดของทุนนิยมหรือสังคมนิยม? Posted: 12 Dec 2010 01:01 PM PST ปัญหาเงินฝืดและความตกต่ำของเศรษฐกิจญี่ปุ่นใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้กลายเป็นกรณีศึกษาในวงกว้าง เนื่องจากระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นระบบผสมระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม ผู้สนับสนุนระบบสังคมนิยมจึงมักชี้ถึงข้อบกพร่องด้านทุนนิยม ส่วนผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมมักชี้ถึงข้อบกพร่องด้านสังคมนิยม ดังนั้นประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจปัญหาด้านต่างๆของญี่ปุ่นที่มาจากทั้งทุนนิยมและสังคมนิยม ปัญหาด้านสังคมนิยมของญี่ปุ่น 1. ตลาดแรงงานญี่ปุ่นมีลักษณะรวมศูนย์คล้ายระบบราชการ ตลาดแรงงานญี่ปุ่นวิวัฒนาการมาจากระบบซามุไรที่มีต้นสังกัดเดียวจนตาย พนักงานบริษัทและข้าราชการทำงานในองค์กรเดียวตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยจนถึงเกษียณ ตลาดงานญี่ปุนจึงคล้ายระบบข้าราชการ บริษัทและหน่วยราชการไม่คาดหวังให้มหาวิทยาลัยสร้างทักษะอาชีพ เพราะทุกบริษัทและหน่วยราชการมีการฝึกทักษะวิชาชีพคล้ายกับซามุไรในอดีตที่ได้รับการฝึกฝนโดยต้นสังกัด มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเป็นศูนย์รวมแรงงานมากกว่าเป็นที่ฝีกทักษะอาชีพ กล่าวคือ บริษัทและหน่วยราชการจ้างงานผ่านเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องตามสถาบันการศึกษา เมื่อนักศึกษาเรียนจบก็เข้าระบบบริษัทและสร้างอัตลักษณ์จากต้นสังกัดเหมือนซามุไรในอดีต นักศึกษาญี่ปุ่นจึงขยันเรียนจนเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้น เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยนักศึกษาใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อสร้างเครือข่ายผ่านรุ่นพี่เพื่อเข้าทำงานในบริษัทที่ต้องการ นักศึกษาสายวิทย์สร้างเครือข่ายผ่านทั้งระบบชมรมและรุ่นพี่ในแล็บ ส่วนนักศึกษาสายศิลป์สร้างเครือข่ายผ่านทั้งระบบชมรมและรุ่นพี่ในกลุ่มสัมมนา ส่วนซามุไรไม่มีสังกัดที่เรียกว่าโรนินก็วิวัฒนาการเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย เช่น คนขับรถบรรทุก แรงงานก่อสร้าง ชาวประมง ฯลฯ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นใช้นโยบายผู้อพยพแบบปิดและไม่นำเข้าแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานไร้ฝีมือจึงมีรายได้ดี ก่อนที่เศรษฐกิจจะตกต่ำแรงงานไร้ฝีมือมีรายได้เทียบเท่าแรงงานมีฝืมือที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร ในแง่บวกนโยบายผู้อพยพแบบปิดทำให้ญี่ปุ่นมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันพอๆกับประเทศสแกนดิเนเวีย ในแง่ลบนโยบายนี้ส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมซึ่งเป็นจุดอ่อนของญี่ปุ่นในปัจจุบัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำบริษัทก็ปลดพนักงานออก พนักงานที่โดนปลดส่วนมากหางานบริษัทใหม่ได้ยากและกลายเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำให้เกิดปัญหาด้านอัตลักษณ์ รู้สึกอับอายที่กลายเป็นแรงงานไร้สังกัดจนฆ่าตัวตาย ปัญหานี้สาหัสกว่าประเทศตะวันตกเพราะคนตะวันตกไม่ทำงานองค์กรเดียวตลอดชีวิตและไม่ผูกอัตลักษณ์ของตนไว้กับต้นสังกัดหรือสถาบันการศึกษาเท่าคนตะวันออก แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯก็ย้ายต้นสังกัดกันเป็นปกติ มหาเศรษฐีชาวตะวันตกหลายคนตั้งบริษัทตั้งแต่ยังไม่จบปริญญาตรี นอกจากนี้การฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน ซามุไรที่ฆ่าตัวตายในอดีตได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติยศกว่ามีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้ในอนาคต นักบินคามิกาเซ่ที่ดับเครื่องชนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คือฮีโร่ ปัจจัยด้านวัฒนธรรมส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเห็นความตายโรแมนติกกว่าคนตะวันตกซึ่งมีแนวคิดด้านปัจเจกชนมากกว่า 2. แรงงานญี่ปุ่นแลกนวัตกรรมและเวลาสำหรับครอบครัวกับสวัสดิการ ผลตอบแทนจากนวัตกรรมในญี่ปุ่นเป็นขององค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนกันบริษัทตอบแทนพนักงานด้วยสวัสดิการทั้งก่อนเกษียณและหลังเกษียณ แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีสวัสดิการด้านสุขภาพและบำนาญ บริษัทก็มีสวัสดิการต่างหาก สวัสดิการเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้แรงงานญี่ปุ่นสละเวลาสำหรับครอบครัวเพื่ออุทิศตนให้บริษัท บริษัทญี่ปุ่นให้เงินบำเหน็จตอนเกษียณและให้สวัสดิการหลังเกษียณอายุคล้ายระบบราชการไทย เช่น พนักงานบริษัทรถไฟได้ใช้รถไฟฟรีหรือได้ลดราคาตลอดชีพ สวัสดิการก่อนเกษียณก็มีต่างๆนานา เช่น สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยในรูปบ้านพักของบริษัท เงินสนับสนุนค่าเช่าบ้าน เงินช่วยผ่อนชำระสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัย สวัสดิการด้านคมนาคมในรูปเงินสนับสนุนค่าเดินทาง สวัสดิการด้านการศึกษาในรูปทุนศึกษาต่อต่างประเทศ สวัสดิการด้านการศึกษาของบุตรธิดา สวัสดิการบ้านพักต่างอากาศในรีสอร์ททั่วประเทศ ฯลฯ ในด้านบวก สวัสดิการบริษัทร่วมกับสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐทำให้ญี่ปุ่นมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมพอๆกับประเทศสแกนดิเนเวีย ในด้านลบทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะผลตอบแทนจากนวัตกรรมโดนจัดสรรเป็นสวัสดิการทั้งองค์กร เนื่องจากตลาดแรงงานญี่ปุ่นคล้ายระบบราชการ พนักงานบริษัทญี่ปุ่นจึงไม่มีทางเลือกนอกองค์กร กว่าจะได้เป็นผู้บริหารก็ต้องทำงานล่วงเวลา เลิกงานก็ต้องไปสังสรรค์ตามร้านอาหารและผับ ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์กันเองหรือสังสรรค์กับลูกค้า ดังนั้นพนักงานบริษัทอายุต่ำกว่า 35 ปีจึงพักผ่อนไม่พอ ต้องกลับบ้านดึกและตื่นเช้า วันหยุดก็อาจต้องทำงานหรือเดินทางเพื่อธุรกิจ ปัญหานี้ทำให้ประชากรในวัยเจริญพันธุ์ไม่สามารถสร้างครอบครัวได้สะดวก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเติบโตของประชากรลดลง ในทางกลับกัน แรงงานมีฝีมือในระบบทุนนิยมถือว่านวัตกรรมเป็นทรัพย์สินทางปัญญา มีการแบ่งกำไรกันระหว่างผู้สร้างนวัตกรรมและองค์กร ทั้งในมหาวิทยาลัยและในภาคเอกชน ไม่ว่าจะแบ่งด้วยการแบ่งลิขสิทธิ์ แบ่งหุ้น หรือต่อรองด้านเงื่อนไขและชั่วโมงทำงานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยให้อัตราการเติบโตของประชากรไม่ตกต่ำ แม้ว่าอัตราการหย่าร้างของคนอเมริกันจะสูงขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตของประชากรสูงที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก 3. รัฐราชการและระบบอาวุโสไม่สนับสนุนการแข่งขันภายในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นพัฒนาประเทศด้วยการแทรกแซงกลไกตลาดด้วยนโยบายอุตสาหกรรม กล่าวคือ รัฐบาลใช้ระบบภาษีสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทใหญ่เพื่อแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกในตลาดโลก แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ผ่านการปฏิรูปที่ดินและระบบภาษี กลุ่มธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่นยังมีอำนาจตลาดผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า“เคเรตซึ” เคเรตซึต่างๆกำหนดเงื่อนไขตลาดร่วมกับข้าราชการซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก มีหน่วยราชการที่วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ และมีธนาคารของรัฐที่ส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยรัฐข้าราชการ ในด้านการบริหารองค์กร องค์กรญี่ปุ่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนใช้ระบบอาวุโสโดยให้ผลตอบแทนตามอายุ ระบบนี้มีรากฐานจากการจ้างงานผ่านเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันการศึกษา และเป็นระบบที่ไม่สนับสนุนทักษะด้านการแข่งขัน การแข่งขันข้ามรุ่นเสมือนเป็นอาชญากรรมในองค์กร ระบบอาวุโสดังกล่าวส่งเสริมเพียงการแข่งขันระหว่างองค์กรและการแข่งขันระหว่างประเทศเท่านั้น ปัจจัยนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นที่มีทักษะด้านการแข่งขันเลือกที่จะใช้ชีวิตในประเทศตะวันตกและไม่กลับไปทำงานที่ญี่ปุ่น ปัญหาด้านทุนนิยมของญี่ปุ่น 1. การเคลื่อนย้ายทุนของบริษัทญี่ปุ่นและภาวะฟองสบู่หลังการปรับค่าเงินเยนในปี 2528 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมาตลอด แม้ญี่ปุ่นโดนสหรัฐฯทำหมันอุตสาหกรรมอาวุธด้วยรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจทหาร สงครามเกาหลีทำให้ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็เป็นมหาอำนาจในเอเชียที่มีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอยู่แล้ว หลังสงครามเกาหลีญี่ปุ่นก็พัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อตีตลาดตะวันตกมากขึ้น จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่นคือการปรับค่าเงินเยนในปี 2528 การปรับค่าเงินเยนครั้งนั้นเป็นข้อตกลงกับประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า ญี่ปุ่นยอมปรับค่าเงินเยนให้แข็งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปกป้องตลาดในประเทศ โดยเฉพาะตลาดสินค้าเกษตร การขายปลีกและบริการด้านการเงิน (การตัดสินใจของญี่ปุ่นต่างกับจีนในปัจจุบัน จีนไม่ยอมปรับค่าเงินหยวนอย่างรวดเร็วแต่ยอมเปิดตลาดในประเทศมากขึ้น) เมื่อเงินเยนแข็งขึ้นผู้ส่งออกก็ขยายฐานการผลิตไปประเทศที่ค่าแรงต่ำเพื่อชดเชยการเสียเปรียบจากค่าเงินเยน แนวโน้มดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่ครึ่งหลังของสงครามเวียดนามซึ่งเป็นยุคที่เงินเยนปรับค่าให้แข็งขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการเคลื่อนย้ายทุนดังกล่าวผ่านธนาคารของรัฐ และด้วยการต่อรองกับรัฐบาลต่างชาติเพื่อสิทธิพิเศษด้านการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษี ฯลฯ การขยายฐานการผลิตในต่างประเทศขยายตัวเป็นวงกว้างหลังการปรับค่าเงินเยนในปี 2528 ส่วนผู้บริโภคญี่ปุ่นก็เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกและนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย คนตะวันตกเริ่มสะพรึงกลัวว่าคนญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจ กรุงโตเกียวกลายเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงติดอันดับโลกเพราะเงินเยนแข็งขึ้นและเพราะภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับที่ญี่ปุ่นเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่สำคัญคือการแปรรูปกิจการรถไฟ และการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ การเอาหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหุ้นในยุคนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมภาวะฟองสบู่ ภาวะฟองสบู่ได้ก่อปัญหาหนี้เสียจนเกิดวิกฤตการเงินในปี 2534 ในที่สุด ตอนที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเงินเยนให้แข็งขึ้นอีกในปี 2528 และสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตในต่างประเทศนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าประเทศปลายทางจะกลายเป็นตลาดทดแทนตลาดสหรัฐฯ และไม่ได้พยายามพัฒนาฐานผู้บริโภคในประเทศอย่างจริงจัง เพราะการพัฒนาฐานผู้บริโภคในประเทศจะทำให้สถานะ”ประเทศเจ้าหนี้”สั่นคลอน ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้เพราะคนญี่ปุ่นมีอัตราการออมสูง เงินออมเป็นแหล่งทุนญี่ปุ่นผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ และทำให้ญี่ปุ่นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในมูลค่ามหาศาล ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากที่สุดในโลกจนถึงเมื่อ 2 ปีนี้ที่แล้วที่จีนเพิ่งแซงญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นบรรเทาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยมาตรการกระตุ้นทางการคลังและใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ มาตรการกระตุ้นทางการคลังทำให้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะต่อผลผลิตประชาชาติมากที่สุดในโลก แต่หนี้สาธารณะญี่ปุ่นเป็นหนี้ในประเทศ กล่าวคือผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีสัญชาติญี่ปุ่น เมื่อรวมทรัพย์สินในภาคเอกชนแล้วญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจีนหรือเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีหนี้สาธารณะแค่ไหนญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟแบบไอร์แลนด์ที่หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะมีผลกระทบต่อพลเมืองตรงที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต่อต้านความพยายามของธนาคารกลางที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล ทั้งๆที่การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้ผู้บริโภคมีรายได้จากเงินออมมากขึ้นและจะช่วยกระตุ้นฐานการบริโภคในประเทศ นอกจากรัฐบาลญี่ปุ่นผู้ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำคือกลุ่มทุนและธนาคารญี่ปุ่น เพราะดอกเบี้ยต่ำทำให้ธนาคารญี่ปุ่นและกลุ่มทุนญี่ปุ่นขยายกิจการในต่างประเทศได้สะดวก 2. รัฐบาลญี่ปุ่นไม่พยายามปฎิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างจริงจัง จนถึงไม่กี่ปีก่อนวิกฤตการเงิน บริษัทและหน่วยราชการญี่ปุ่นยังใช้ระบบ “สัปดาห์ละ 6 วัน” กล่าวคือ วันเสาร์ยังเป็นวันทำงาน แม้ว่าสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นมีการต่อรองค่าจ้างกับผู้บริหารทุกปี มีการเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานและให้วันเสาร์เป็นวันหยุดซึ่งได้รับการตอบสนองในที่สุด แต่สหภาพแรงงานไม่ต้องการปฎิรูปตลาดแรงงานให้มีความคล่องตัวในการย้ายงาน สหภาพแรงงานพึงพอใจกับโครงสร้างตลาดงานแบบรวมศูนย์ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมศูนย์ของแรงงานใหม่และสหภาพแรงงานเป็นแหล่งรวมศูนย์ของแรงงานเก่า ในทางการเมือง แม้ว่าญี่ปุ่นใช้ระบบประชาธิปไตยรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ แต่ญี่ปุ่นต่างกับอังกฤษตรงที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาเกือบ 50 ปี นักการเมืองระดับสูงในพรรคดังกล่าวสืบเชื้อสายมาจากข้าราชการระดับสูงในอดีต กฏหมายแรงงานในญี่ปุ่นจึงสะท้อนให้เห็นแนวคิดด้านอนุรักษ์นิยมที่จัดวางให้ข้าราชการเป็นผู้นำนโยบายพัฒนาประเทศมากกว่าแรงจูงใจในตลาดแรงงาน 3. แรงงานญี่ปุ่นมีความชาตินิยมสูงและส่วนใหญ่พูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจญี่ปุ่นผ่านตลาดหุ้นในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าจะพัฒนากรุงโตเกียวให้เป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชียตะวันออกแทนฮ่องกง และหวังว่าญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้นำในด้านวัฒนธรรมและด้านการศึกษาด้วย จุดอ่อนของวิสัยทัศน์ด้านนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นคือแนวคิดชาตินิยม กล่าวคือญี่ปุ่นต้องการให้ภาษาญี่ปุ่นกลายเป็นภาษาสากล รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนการศึกษากับนักเรียนทั่วโลกทั้งจากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเงื่อนไขนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อศึกษาในระบบการศึกษาเดียวกับคนญี่ปุ่น นโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหลายทั้งเพื่อสร้างแรงงานให้บริษัทญี่ปุ่น และเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่เป็นมิตรกับญี่ปุ่นในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและด้านการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่านโยบายทุนการศึกษาจะช่วยขยายฐานแรงงานที่พูดภาษาญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่สามารถเอาชนะกระแสตลาดโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้า การบริการ ธุรกิจการซื้อขายทรัพย์สินและธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่แรงงานญี่ปุ่นส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องแคล่วจึงกลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อการพัฒนากรุงโตเกียวให้เป็นศูนย์กลางการเงิน แม้ว่าตลาดหุ้นที่กรุงโตเกียวจะมีมูลค่ามาก บทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินของเอเชียตะวันออกมีแต่จะสำคัญมากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน จีนเข้าใจความสำคัญของฮ่องกงจึงใช้ระบบตลาดเสรีในฮ่องกงหลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้ กล่าวคือ จีนคงอำนาจธนาคารกลางที่ฮ่องกงเอาไว้ และแยกเงินฮ่องกงออกจากเงินหยวนของจีนแผ่นดินใหญ่ และเปิดกว้างให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าออกฮ่องกงอย่างเสรี ญี่ปุ่นในปัจจุบัน แม้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ปัญหาความยากจนในญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็น“สวิสเซอร์แลนด์ของเอเชีย” ในสายตาคนตะวันตกญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่สำคัญ มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดี และอัตราอาชญากรรมต่ำกว่ามาตรฐานสากล นโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีความสำคัญต่อตลาดทุนโลกทัดเทียมกับธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางยุโรป แม้จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นก็ยังเป็นอันดับ 3 ซึ่งไม่ใช่อันดับต่ำ รายได้ต่อหัวประชากรญี่ปุ่นก็สูงกว่าจีนหลายเท่าตัว ปัญหาการกระจายรายได้ในจีนก็สาหัสกว่าญี่ปุ่นมากมาย ปัญหาความยากจนในญีปุ่นก็คนละเกรดกับปัญหาความยากจนในไทย สถานบริการทางเพศและอุตสาหกรรมหนังโป๊ในญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าความยากจนทำให้คนญี่ปุ่นหันมายึดอาชีพบริการทางเพศหรือดาวโป๊ รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้ประชากรลดลง แต่การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะแรงต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งในระบบการเมืองและในระบบราชการ การสนับสนุนให้ประชากรมีบุตรมากขึ้นเป็นนโยบายระยะยาวและต้องใช้เวลา อาทิ ต้องปฎิรูปกฎหมายแรงงาน ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงสร้างสมดุลในการทำงานและชีวิตครอบครัว ฯลฯ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการลดแนวคิดด้านชาตินิยม ปัจจุบันสถาบันการศึกษาในญี่ปุ่นแม้กระทั่งสถาบันอนุรักษ์นิยมเก่าแก่อย่างมหาวิทยาลัยโตเกียวเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษและว่าจ้างอาจารย์จากต่างประเทศ รัฐบาลปฎิรูปกฎหมายผู้อพยพเพื่อให้สัญชาติญี่ปุ่นแก่แรงงานมีฝีมือ พยายามสร้างแรงจูงใจให้แรงงานมีฝีมืออพยพไปญี่ปุ่น นำเข้าพยาบาลจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเพื่อเตรียมรับมือกับภาระการดูแลคนชรา แต่นโยบายผู้อพยพของญี่ปุ่นยังมีข้อจำกัดตรงทีว่าญี่ปุ่นไม่ให้สิทธิผู้อพยพพาบุพการีและพี่น้องอพยพไปญี่ปุ่น ซึ่งต่างกับนโยบายผู้อพยพของสหรัฐฯและแคนาดา คนญี่ปุ่นรุ่นเก่ามักกังวลว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีอุดมการณ์ชาตินิยม และกลัวว่าคนรุ่นใหม่จะรับภาระดูแลคนชราไม่ได้ ทั้งๆที่อุดมการณ์ชาตินิยมเป็นอุปสรรคต่อการปฎิรูปประเทศให้เข้ากับผู้อพยพที่รัฐบาลญี่ปุ่นชักชวนให้เข้ามาทดแทนแรงงานในประเทศ ถ้าญี่ปุ่นก้าวไม่พ้นความชาตินิยม ก็ยากที่จะดึงดูดแรงงานมีฝีมือให้อพยพไปญี่ปุ่นในระดับเดียวกันกับประเทศตะวันตก แม้ว่าการปฏิรูปกฎหมายผู้อพยพท้าท้ายอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งรัฐราชการใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างชาติ การปฎิรูปกฎหมายผู้อพยพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้ ----------------- กานดา นาคน้อย จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาสแตนฟอร์ด ด้วยทุนของมหาวิทยาสแตนฟอร์ดและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi ในญี่ปุ่น ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวโดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาช่วงสั้นๆให้กับธนาคารโลกและIMF ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Purdue ในสหรัฐอเมริกา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
AHRC ออกรายงานประจำปีจวกไทยรื้อฟื้นรัฐทหาร Posted: 12 Dec 2010 12:38 PM PST
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย Asian Human Rights Commission (AHRC) เผยแพร่รายงานประจำปี 2553 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีเนื้อหาในรายงานประมาณ 20 หน้า สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ อ่านฉบัยเต็มภาษาอังกฤษที่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
นิติราษฎร์ : อัปลักษณะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ กรณี Insects in the backyard Posted: 12 Dec 2010 12:14 PM PST ชื่อบทความเดิม: นิติราษฎร์ฉบับที่ 9 สาวตรี สุขศรี อัปลักษณะของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 : กรณี Insects in the backyard
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนไทยไว้ 2 ประเภท คือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งควรต้องทราบด้วยว่าสิทธิสองประเภทนี้จำเป็นต้องมาด้วยกันเสมอ เพราะหากรัฐยอมให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ แต่ไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้น การรับรู้นั้นย่อมเป็นอันไร้ความหมาย "ผู้ส่งสาร" จะกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือและทรงอิทธิพลทันที เพราะเมื่อสารถูกส่งออกไปแล้วประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หรือหากจะฝืนวิพากษ์วิจารณ์ก็อาจได้รับผลร้ายบางประการ และในประเทศไทยนี้การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบางเรื่อง มีบทลงโทษจำคุกได้หลายปีอย่างเหลือเชื่อ หรือมิเช่นนั้น ก็อาจเกิดปรากฎการณ์เหมารวมโดยรัฐว่าประชาชนทุกคนเชื่อถือหรือจงรักศรัทธา "สิ่งนั้น สิ่งนี้" เหมือน ๆ กันไปหมด ทำนองเดียวกัน หากรัฐรับรองให้แสดงความคิดเห็นได้ แต่ปิดกั้นไม่ให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะประชาชนขาดข้อมูลหรือกระทั่งไม่รู้ว่าจะแสดงความคิดเห็นต่อ "อะไร" ฉะนั้น ประเทศใดในโลกนี้ที่รับรองสิทธิไว้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ อ้างใช้ตามสถานกาณณ์และความสะดวกของพวกพ้อง จึงไม่ควรบอกว่าตนเป็นประชาธิปไตย เหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับงานเสวนาภาพยนตร์นี้ รัฐให้จัดงานเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นได้ แต่ห้ามไม่ให้รับรู้ข้อมูล หรือตัววัตถุแห่งการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง หรืออย่างมีประสิทธิภาพ มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ มีข้อยกเว้นสิทธิเสรีภาพไว้เช่นกัน ซึ่งแม้ในประเทศประชาธิปไตยเอง ก็อาจยอมรับได้หากข้อจำกัดดังกล่าววางอยู่บนหลักการที่ว่า การใช้สิทธิเสรีภาพต้องทำอย่างมีขอบเขต อย่างน้อย ๆ คือไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งประกอบด้วยเหตุ 1. เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ 2. เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 3. เพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และ 4. เพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน แต่การจำกัดโดยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้นรัฐจะทำลอย ๆ ไม่ได้ ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจชัดเจนเพียงเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกับสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในเรื่องนั้น ๆ (มาตรา 29 รัฐธรรมนูญ) ที่สำคัญก็คือ กฎหมายไม่ควรใช้ถ้อยคำกว้างขวาง อย่างเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเอง เพราะโดยเป้าหมายของกฎหมายรัฐธรรมนูญกับกฎหมายอื่น ๆ แตกต่างกัน รัฐธรรมนูญเป็นธรรมนูญในการปกครองประเทศ มีไว้เพื่อวางกรอบการปกครอง กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ของประเทศโดยรวม จึงคงบัญญัติได้แต่เพียงหลักการกว้าง ๆ เท่านั้น ในขณะที่รายละเอียดของการปกครอง ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายเฉพาะเรื่อง ฉะนั้น จึงควรถือเป็นหน้าที่โดยปริยายว่า กฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีโทษลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องบัญญัติให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย ปัจจุบัน มีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหาในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ฯ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ฯ รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่ง หรือประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น แต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ถูกกฎหมายใช้บังคับ ต้องแยกแยะระหว่างโทษของผู้กระทำ กับการใช้มาตรการจำกัดเสรีภาพโดยรัฐออกจากกันให้ดี ๆ ทั้งนี้เพราะหากในที่สุดแล้ว เนื้อหาที่เผยแพร่เหล่านั้นเป็นความผิด ผู้เผยแพร่หรือผลิตย่อมต้องเกิดความรับผิดตามกฎหมาย แต่รัฐจะยังไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาใด ๆ ได้โดยอัตโนมัติ เว้นแต่มีกฎหมายเขียนระบุมาตรการเช่นว่านั้นไว้ด้วยอย่างชัดเจน ซึ่ง ณ วันนี้หากประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติคงมีเพียง พระราชบัญญัติว่าด้วยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 เท่านั้น ที่เขียนให้อำนาจรัฐในการปิดกั้น หรือห้ามเผยแพร่เนื้อหาบางประเภท ได้ทันทีโดยที่ยังไม่ต้องมีการดำเนินคดีกับบุคคลใดก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่น่าสนใจระหว่างกฎหมายสองฉบับนี้ ก็คือ การเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (มาตรา 20) เป็นการ "เซ็นเซอร์ภายหลัง" (การเผยแพร่แล้ว) ในขณะที่ การเซ็นเซอร์ตามพ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เป็นการ "เซ็นเซอร์ก่อน" (การเผยแพร่) ซึ่งในทางกฎหมายแล้วให้ผลรุนแรงกว่ามาก สิ่งที่น่าตระหนกยิ่งกว่า ก็คือ แม้วัตถุประสงค์แรกเริ่มในการแก้ไข พ.ร.บ. ภาพยนตร์ 2473 คือ ความพยายามของคนในแวดวงภาพยนตร์ที่จะทำให้กฎหมายสอดคล้องกับยุคสมัย ด้วยการเสนอให้รัฐนำ "ระบบการจัดระดับความเหมาะสม" (Rating) มาใช้กับภาพยนตร์แทนระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้อยู่เดิม ในขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็พยายามโหมประชาสัมพันธ์ว่าเราทันสมัยใช้ระบบจัดเรตภาพยนตร์แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า ระบบเซ็นเซอร์ยังคงเป็นระบบหลักที่ใช้กับภาพยนตร์อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปโฉมโนมพรรณให้ออกมา "เนียน" กว่าในนามเรต "ภาพยนตร์ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร" (มาตรา 26 (7) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์) เท่านั้น ทั้งนี้ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ถ้าพูดถึงประเทศที่อ้างว่าตนใช้ระบบให้เรตภาพยนตร์แทนระบบการเซ็นเซอร์แล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี เรตหนังระดับ 7 หรือ "ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร" เหตุผลของการไม่อนุญาตให้ฉาย ก็คือ มีเนื้อหาที่บ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 29 พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กล่าวสำหรับกรณีของการห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard มีเรื่องที่สมควรพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1) ถ้าคนไทยยอมรับว่าการจัดเรตตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 เป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมแล้ว เท่ากับคนไทยยอมรับว่า หากภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งมีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (ซึ่งเป็นเหตุผลของการห้ามฉาย Insects in the backyard) คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ฯ ย่อมสามารถห้ามฉายในราชอาณาจักรได้ตามกฎหมาย ปัญหาที่ต้องพิจารณาในข้อนี้ ก็คือ ถ้าเช่นนั้น Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์ที่ "ขัดต่อศีลธรรม" จริงหรือไม่ ? (น่าเสียดาย ที่ท้ายที่สุดมีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้ดู และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานี้ได้) เนื่องจากผู้เขียนมีโอกาสได้ดู พบว่า Insects in the backyard เกือบทั้งเรื่อง นำเสนอฉาก และเรื่องราวที่อาจมิได้สอดคล้องกับศีลธรรมอันดี (ในสายตาของรัฐหรือของคณะกรรมการฯ) ไม่ว่าจะเป็นฉากนักเรียนกินเหล้า สูบบุหรี่ ฉากการร่วมเพศของต่างเพศและเพศเดียวกัน การขายบริการทางเพศ ฯลฯ แต่คำถามก็คือ การนำเสนอฉากเหล่านี้ในลักษณะจำลองภาพ หรือสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมาถือว่า "ขัดต่อศีลธรรม" ได้กระนั้นหรือ ? ภาพยนตร์ ถือเป็น สื่อ ประเภทหนึ่ง ดังนั้นย่อมได้รับความคุ้มครอง หรือถูกจำกัดการนำเสนอได้ตามมาตรา 45 รัฐธรรมนูญอย่างมิต้องสงสัย แต่ต้องไม่ลืมว่า ภาพยนตร์ (รวมทั้งศิลปะแขนงอื่น) มีความแตกต่างจากการสื่อสารมวลชน อย่างสำคัญข้อหนึ่ง คือ ในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อสารมวลชน คือการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามลักษณะวิชาชีพ การบิดเบือนหรือกระทั่งทำให้มีการตีความได้จนเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น หรือต่อสังคมโดยรวม จึงไม่ควรเกิดขึ้นได้เลยในความคาดหวังของผู้รับสื่อ ภาพยตร์หรือศิลปะแขนงอื่น จะมีลักษณะการนำเสนอเชิงจินตนาการเพื่อให้ผู้ชมตีความได้เองมากกว่า สื่อ "ภาพยนตร์" ไม่ได้หรือไม่จำเป็นต้องถูกคาดหมายจากคนดูหรือแม้แต่สังคมโดยรวมว่า ต้องนำเสนอเรื่องจริงเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงมักเป็นการเสนอภาพต่าง ๆ ด้วยวิธีการ มุมมอง และอารมณ์ความรู้สึกของตัวผู้ผลิต หรือผู้สร้างเอง นอกจากนี้ ยังไม่เคยหรือไม่ควรมีกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่กำหนดว่า ภาพยนตร์ต้องเสนอเรื่องราวที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเพลิดเพลิน จำเริญใจ สุขสม หรือส่งเสริมคุณธรรมเพียงแต่อย่างเดียว แต่สามารถเสนอแง่มุมที่โหดร้ายของสังคม ตีแผ่ความจริง หรือเรื่องราวที่หลากหลายมีทั้งดีและไม่ดี มันจึงเป็นสื่อที่ทำได้หลากหลายหน้าที่ อนึ่ง แม้ศีลธรรมจริยธรรมจะยังเป็นเรื่องจำเป็น และถือเป็นอุดมคติในทุก ๆ สังคม แต่ ทุก ๆ สังคมนั้น ก็ควรต้องยอมรับด้วยว่า การอบรม บ่มนิสัย หรือขัดเกลาคนให้เป็นคนดีมีจริยธรรมศีลธรรมไม่ใช่ภาระหน้าที่ของ "ภาพยนตร์" แต่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาร์อาจารย์ที่จะให้คำแนะนำกับผู้อยู่ในการปกครอง หรือบุตรผู้เยาว์ ต่างหาก แน่นอนที่ว่า ภาพยนตร์เรื่องใดมีลักษณะเชิญชวนให้คนทำสิ่งผิดกฎหมาย ทำลายจารีตของสังคม ภาพยนตร์นั้นอาจเข้าข่ายมีปัญหา แต่หากภาพยนตร์นั้นเพียงชี้หรือแสดงให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ (ดีหรือไม่ดีนั่นอีกเรื่อง แล้วแต่คนดูจะตัดสิน) อย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การ "มองเห็น" ปัญหาแล้วหันหน้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ภาพยนตร์ลักษณะนี้จะ "ขัดต่อศีลธรรม" ได้อย่างไร ? คนดู Insects in the backyard ไม่อาจรู้ได้ด้วยตัวเองหรือว่า ตัวเอกสามตัวล้วนมีปัญหากับชีวิตบางอย่าง มีทุกข์ มีสุข กับสิ่งที่เขาเลือกทำ ผู้สร้างอาจไม่ได้ทำหนังออกมาในเชิงตำหนิติเตียนพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ทำออกมาเพื่อบอกกล่าวคนดูว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งดี หรือควรทำ เป็นเรื่องถูกต้องหากจะกล่าวว่า ความสามารถในการรับสาร ความสามารถในการตีความศิลปะ ไม่ได้มีเท่ากันทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่ขึ้นอยู่กับระดับประสบการณ์ และวุฒิภาวะ ฉะนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องช่วยกำกับดูแลภาพยนตร์บางเรื่องเพื่อ "คุ้มครอง" คนในวัยที่ควรได้รับความคุ้มครองเพราะเหตุ "หย่อนความสามารถ" บางอย่าง เช่น เด็กและเยาวชน ซึ่งยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่เขายังไม่มีสามารถแยกแยะเรื่องที่ควรทำกับไม่ควรทำออกจากกันได้ และนี่เองที่นำไปสู่ระบบการจัดเรตภาพยนตร์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เป็นระบบ "ให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง" เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะยอมให้บุตรหลานของตนดูภาพยนตร์ได้หรือไม่ ไม่ใช่ระบบบังคับควบคุมแบบเหมารวม กล่าวสำหรับกรณีของประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนฝ่ายรัฐผู้ใช้อำนาจในเรื่องนี้ยัง "หย่อนความสามารถ" หรือขาด "วุฒิภาวะ" อยู่มาก จึงไม่สามารถหรือไม่กล้าพอที่จะนำระบบที่ว่านี้มาใช้อย่างแท้จริง และควรต้องสังเกตด้วยว่า รัฐกลับมีความสามารถพิเศษอย่างยิ่งยวดและสม่ำเสมอในการดูถูกวิจารณาญาณ และวุฒิภาวะของประชาชนทั้งมวล 2) ถ้าคนไทยไม่ (หรือไม่ควร) ยอมรับว่า วิธีการกำหนดเรตตามพ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสม นั่นย่อมแสดงว่า ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเรื่องใด แม้มีฉากหรือเรื่องราวที่ไม่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ภาพยนตร์เรื่องนั้น ก็ไม่อาจถูกห้ามฉายในราชอาณาจักรได้เลย กล่าวให้ง่าย ก็คือ หากยึดถือหลักการของระบบการให้เรตติ้งอย่างจริงจังแล้ว การแบนหนัง หรือการไม่อนุญาตให้ฉายทั้งเรื่อง จีงเป็นเรื่องไม่ควรเกิดขึ้นได้เลย การปรากฎตัวของ "ระดับความเหมาะสม" (Rating) ประเภท "ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร" ตามมาตรา 26 (7) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ควรถือเป็นสิ่งแปลกปลอมและพิลึกพิลั่นที่สุดในระบบของการจัดเรตติ้ง และการแบน Insects in the backyard ไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับสังคมไทยมากไปกว่ายืนยันว่าแท้จริงแล้ว พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ที่อ้างว่าปรับปรุงแก้ไขแล้ว ยังคงใช้การ "เซ็นเซอร์" โดยปล่อยให้เป็นอำนาจของคนเพียงไม่กี่คนอยู่เช่นเดิม ซึ่งหากคนไทยมองเห็นปัญหาร่วมกัน และคิดได้แบบนี้ สิ่งที่ต้องช่วยกันหาคำตอบในงานเสวนาเรื่อง พ.ร.บ.ภาพยนตร์กับรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ปัญหาว่า Insects in the backyard "ขัดศีลธรรม" หรือไม่ ? หรือการตัดสินใจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ? แต่ต้องช่วยการขบปัญหาว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ควรถูกแก้ไขอย่างไร ? ปัญหาว่าในที่สุดแล้วเรตห้ามฉายควรยังมีอยู่ในกฎหมายหรือไม่ ? กระทั่งปัญหาที่ว่าเอาเข้าจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ? เพราะต่อให้ Insects in the backyard มีฉากหนึ่งฉากใด หรือทั้งเรื่องมีฉากโป๊ะเปลือย การร่วมเพศ ใช้ยาเสพติด ความรุนแรง ฯลฯ หนังเรื่องนี้ก็ยังต้อง "ได้เผยแพร่" หรือฉายในราชอาณาจักรอยู่ดี เพียงแต่ถูกจัดให้อยู่ในเรตที่คนอายุที่เหมาะสมเท่านั้นที่ดูได้ ภายหลังได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เมื่อนำมาประกอบกับอัปลักษณะของ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ฯ ประสานกับข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวโน้มของการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมาภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งมักอ่อนไหวอย่างมากกับประเด็น "เพศที่สาม" ยังได้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า หากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่า การนำเสนอเรื่องราวของหรือเกี่ยวกับคนเพศที่สาม คือ ปัญหาที่ขัดต่อศีลธรรม หรือมองว่าคนที่มีลักษณะ "สับสนทางเพศ" เป็นปัญหาหรือนำปัญหาต่าง ๆ มาสู่สังคมไทย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ฯ ก็ควรต้องทราบเสียด้วยว่า ถ้าเราสามารถสมมติ "เพศ" ให้กับสิ่งของได้ ในที่นี้คือ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ฯ (ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน ก็กำหนดเพศให้สิ่งของทุกอย่าง) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของ "ปัญหาสังคม" ที่คณะกรรมการฯ คิด เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความ "สับสนทางเพศ" มากที่สุดฉบับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีความชัดเจนเลยว่า ตกลงแล้วจะใช้ระบบเรตติ้งหรือเซ็นเซอร์ แต่ที่แย่ยิ่งกว่ากรณีของคนเพศที่สาม ก็คือ กฎหมายฉบับที่แสนสับสนอลหม่านนี้ ดันมีบทลงโทษทางอาญาที่สามารถคุกคาม หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนอื่น ๆ ได้ด้วย บทสรุปต่อกรณีนี้ อาจมีประชาชนบางหมู่เหล่าชี้หน้านักวิชาการ คนดูหนัง หรือแวดวงศิลปะที่ประท้วงการแบนภาพยนตร์ว่า เป็นพวกเสรีนิยมจ๋า เรียกร้องเสรีภาพโดยไม่สนใจหน้าที่ แต่หากพิจารณาให้ดี คำกล่าวหาเหล่านี้มักตั้งอยู่บน อคติ ออกจะเลื่อนลอย และหลายมาตรฐาน สาเหตุมาจากหลากหลายประการ อาทิ ประการแรก อาจเป็นเพราะคนเหล่านี้มิใช่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐเสียเอง จึงมิได้รู้สึกร้อนหนาวกับการจำกัดเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่น ทำนองเดียวกับการไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ในช่วงปีที่ผ่านมา ประการที่สอง คนเหล่านี้มักไม่ทราบว่า มีภาพยนตร์ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณา ฯ จำนวนไม่น้อย ที่ได้รับอนุญาตให้ฉายได้ด้วยเรต ที่สมควรถูกตั้งคำถาม ทั้งที่มีฉากและภาพความรุนแรงไม่ยิ่งหย่อน หรือเผลอ ๆ อาจมากกว่า Insects in the backyard ที่ถูกแบน นี่ยังไม่ได้กล่าวถึง การที่คนกลุ่มนี้อีกนั่นแหละที่ไม่เคยอินังขังขอบกับ "ละครหลังข่าว" จำนวนมากที่สามารถโลดแล่นนำเสนอฉากตบตีระหว่างหญิงสาวเพื่อแย่งชิงชายหนุ่มสู่สายตาเด็กและเยาวชนได้อย่างหน้าตาเฉย ประการที่สาม คนเหล่านี้ชอบทำหูทวนลมว่า กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่ ก็ยังตระหนักทราบในหน้าที่เช่นเดียวกัน อย่างน้อย ๆ คือการใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ต่อกรณีนี้ ดังกล่าวไปแล้วว่า ตามมาตรา 45 รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพในเรื่องเหล่านี้อาจถูกจำกัดลงได้ด้วยกรอบต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ แต่ปัญหาที่คนไทยควรต้องสังเกตและหมั่นพูดถึง ก็คือ กฎหมายลูกฉบับใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในที่นี้คือ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อจำกัดตัดทอนสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ใช้วิธีการบัญญัติด้วยการล้อเอาถ้อยคำซึ่งเป็นเพียง "กรอบกว้างๆ" มาจากรัฐธรรมนูญ จึงก่อให้เกิดความ "คลุมเคลือ" ไม่ชัดเจนของกฎหมาย ยังผลให้อำนาจในการพิจารณาตัดสินใจชี้ถูกผิดตกอยู่ที่คนเพียงกลุ่มเดียว และเหตุผลที่ตัดสินล้วนเป็นเรื่อง "อัตวิสัย" ส่วนบุคคลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ข้อหาเป็นภัยต่อรัฐ หรือขัดต่อศีลธรรม (การใช้อัตวิสัยเป็นปัญหาอย่างไร อ่านบทความ "ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย" ของ วันรัก สุวรรณวัฒนา) ประการสุดท้าย ก็คือ คนเหล่านั้นเคยทราบหรือไม่ว่า แม้สิทธิเสรีภาพในแง่มุมต่าง ๆ ของประชาชนอาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมาย แต่กฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นไปเพียง "เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้" ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 29 รัฐธรรมนูญ คนเหล่านั้นเคยตั้งคำถามหรือฉุกคิดบ้างหรือไม่ว่า การห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ทั้งเรื่อง โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 29 พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ทั้งที่ในความเป็นจริง (1) ภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อที่เผยแพร่เป็นการทั่วไป หรือทุกคนเข้าถึงได้ทุกเมื่อ กล่าวคือ ประชาชนสามารถเลือกที่จะดูหรือไม่ดูภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลข่าวสารในลักษณะอื่น ๆ กับ (2) มีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐจำแนก หรือกำหนดให้ภาพยนตร์ในลักษณะใด ช่วงวัยใดสามารถดูได้ หรือดูไม่ได้ อันเป็นการ "จำกัด" เสรีภาพลงเท่าที่จำเป็น เอาไว้แล้ว แต่รัฐก็ยังเลือกที่จะออกกฎหมายเปิดช่อง หรือกระทั่งเลือกใช้วิธีการ "ห้ามฉาย" ซึ่งเป็นการ "กำจัด" สิทธิของประชาชนทุกคนไปเลยโดยเด็ดขาด อยู่ดี ซึ่งแท้ที่จริงการใช้อำนาจแบบนี้มันได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 แล้ว เพราะกระทบต่อสาระสำคัญของตัวสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน สุดท้าย พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในยุครัฐบาลคมช. ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ควรต้องถูกสังฆยนาใหม่อีกครั้ง และเรื่องที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องผลักดันให้ระบบการให้เรตภาพยนตร์ที่แท้จริงใช้ได้ในประเทศไทยเสียที ไม่มีการ "สอดไส้" บทห้ามฉายไว้ได้อีก อย่างไรก็ตาม หากสังคมไทยต้องการเล่นบทประนีประนอม และเห็นว่าควรมีมาตรการดังกล่าวไว้บ้างเพื่อใช้กำกับภาพยนตร์ที่มี "เนื้อหา" เป็นความผิดจริง ๆ หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไทย ก็คือ ต้องพยายามกำหนดไว้ในตัวกฎหมาย (ไม่ใช่ในคู่มือการพิจารณาภาพยนตร์) ให้ชัดเจนว่า เนื้อหาหรือฉากในลักษณะใดบ้างที่เมื่อมีแล้วผู้สร้างต้องตัดออก หรือดำเนินการแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ดำเนินการก็ไม่สามารถให้ฉายได้ อาทิ ภาพลามกอนาจารเด็กและเยาวชน ฉากมนุษย์ร่วมเพศกับสัตว์ ฉากสอนการทำระเบิดหรือวิธีการทำผิดกฎหมาย ฯลฯ เป็นต้น มิใช่เลือกใช้ถ้อยคำกว้างขวาง คลุมเครือ ปล่อยให้เป็นดุลพินิจของฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย อย่างที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นจุดอัปลักษณ์ที่สุดของกฎหมายฉบับนี้. -------------------------------------------------------- มาตรา 45 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น ตามวรรคสอง เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้" มาตรา 29 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม" มาตรา 26 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 "ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้ (1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู (2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป (3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป (4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป (5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป (6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ใน ภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" มาตรา 29 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 "ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพ ยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิ ทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอ นุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ ภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาต รา ๒๕ มิให้ถือว่าภาพยนตร์นั้นมีลักษณะที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ไม้หนึ่ง ก.กุนที: ไกสอน พมวิหาน Posted: 12 Dec 2010 11:33 AM PST พู้นเสียงไผ เป่าแคน แดนสะหวัน แม่น ไกสอน พมวิหาน ลุงคนกล้า ผู้เต้าโฮม ต้านฝรั่ง ศักดินา ตีอเมริกา ขวาฟาสซิสม์ เพลงแคนลาย ขับลำ คอนสะหวัน ย้ำยืนยัน ประชาชาติ ประชาสิทธิ์ ในดินดอนต้อนเหย้าทุกถิ่นทิศ เพื่อชีวิตอิสระลาวร่วมแนว คนสามัญปั้นเข้าเหนียวจ้ำลาบก้อย กินกุ้งเล็กปลาน้อยแช่น้ำแจ่ว เลี้ยงสำนึกทางการเมืองรุ่งเรืองแวว ประชาชนคือคำแก้ว คือแก่นใจ หลอมกันเป็นฝาทองแดงกำแพงเหล็ก ทั้งแข็งเป็กและแน่นเหนียว เหยียดขยาย "สาทาละนะลัดปะชาชนปะชาทิปะไต" เดินทางยากลำบากไกลจึงได้มา กำมั่นแน่น ในแนวทาง มารกซ์,เลนิน ประกอบส่วนดินดูจีน รุกก้าวหน้า สืบโคตรเหง้าขุนบูลมญาติกา พัฒนา ไปคอยถ้า ประเทศไทย....... บทกวีนี้เขียนในวาระรำลึกชาตะกาลปีที่ 90 ของ ลุงไกสอน พมวิหาน (13 ธันวา 1920 - 21 พฤศจิกา 1992) และวาระครบรอบการสร้างตั้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 35 ปี ไม้หนึ่ง ก.กุนที / กวีราษฎร 11 DECEMBER 2010 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ผู้ประสบภัยไซโคลน ‘กิริ’ นับพันยังคงไร้บ้าน Posted: 12 Dec 2010 10:25 AM PST 12 ธ.ค.53 จำนวนนับพันยังคงไร้บ้านในพื้นที่ประสบภัยกิริ รัฐอาระกัน เนื่องจากบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์พายุไซโคลนกิริ ที่พัดถล่มชายฝั่งรัฐอาระกัน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมจนถึงขณะนี้ เป็นเพราะราคาวัสดุก่อสร้างบ้านในพื้นที่ประสบภัยมีราคาแพงขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนไม่สามารถซื้อได้ ชาวบ้านเป็นจำนวนมากยังต้องอาศัยและหลับนอนในกระต๊อบที่ชาวบ้านสร้างขึ้นชั่วคราว ครูคนหนึ่งจากเมืองมะเรโบ่น เปิดเผยว่า เหตุที่ชาวบ้านยังไม่สามารถซ่อมแซมบ้านเรือนของตัวเองได้ เนื่องจากตอนนี้ วัสดุก่อสร้างบ้านอย่าง ไม้ไผ่ และไม้ที่มาจากต้นปาล์ม มีราคาแพงขึ้น นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนกิริ และเป็นเพราะบ้านเรือนแบบชาวอาระกันมักจะมุงหลังคาบ้านด้วยใบปาล์มและนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่และจากต้นปาล์ม จึงทำให้ราคาไม้ไผ่ 1 ต้น และต้นปาล์ม 1 ท่อน ราคาสูงถึง 3 หมื่นจั๊ต(1,034 บาท) มีรายงานเช่นกันว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเริ่มแย่ลง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยังไม่มีบ้านอยู่ โดยยังไม่มีวี่แววว่า ทางรัฐและหน่วยงานเอ็นจีโอจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายแต่อย่างใด มีรายงานอีกว่า ชาวบ้านกว่า 40 หมู่บ้าน ในเขตเมืองมะเร โบ่น ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือแม้แต่ ผ้าคลุมพลาสติก ผ้าใบ หรือเต็นท์ ทั้งนี้ ยังมีการแสดงความเป็นห่วงในด้านสุขภาพของผู้ประสบภัยกิริ เนื่องจากขณะนี้ เริ่มเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว ซึ่งถ้าหากชาวบ้านยังต้องอาศัยอยู่ในกระต๊อบที่ไม่มีทั้งหลังคาและฝาบ้าน อาจทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาในด้านสุขภาพได้ -------------------------------- แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
กวีตีนแดง: ผู้ตรากตรำทำงานหนักคือประชาชน Posted: 12 Dec 2010 10:04 AM PST เหงื่อที่หลั่งถั่งไหลจนดินชุ่ม มือที่อุ้มโอบทั้งโลกอย่างโศกเศร้า แรงกายที่ถ่ายเทสร้างสังคมเรา มีใครเล่า...นอกจาก...ประชาชน บ่าที่แบกปูนดินแลหินทราย ทอดร่างไว้บนทิวทางถนน ย้ายภูเขาเปลี่ยนทางน้ำลำธารวน ประชาชนเท่านั้น...ใช่อื่นใคร สร้างถนนหนทางสร้างปราสาท สะพานพาดผ่านแผ่นฟ้าสูงสุดสาย ตึกเวียงวังกำแพงเลื่อมสลักลาย สำเร็จได้...ก็ด้วยมือประชาชน ใครเล่าหรือคือผู้ทำงานหนัก ใครเล่าเพียงตวงตักแต่ปลายผล ใครคือผู้ตรากตรำอยู่อย่างทุกข์ทน ประชาชน...ประชาชน...ใช่อื่นใคร ใครคือรากฐานชั้นล่างผู้สร้างชาติ จับไถคราดอยู่แรมร้างกลางนาไร่ แบกจอบเสียมเกรียมกร้านแดดแผดเผาใจ ดื่มกินความยากไร้ทุกค่ำคืน ใครกันเล่าแบกใครไว้บนบ่า ใครสละหลั่งเลือดทาดินทั้งผืน ใครแท้จริงคือผู้...สู้หยัดยืน ใช่ใครอื่น...ประชาชน...ประชาชน...ประชาชน!!!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ฌาปนกิจหนัง Insects in the backyard นักวิชาการชี้เรทห้ามฉายอาจขัด รธน. Posted: 12 Dec 2010 09:38 AM PST เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ มูลนิธิหนังไทย โครงการสถาบันหนังไทยของหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) สมาคมผู้กำกับแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนดูหนังแห่งประเทศไทย บริษัท ป็อบพิกเจอร์ และนิตยสารไปโอสโคป ร่วมกันจัดงานเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ กับรัฐธรรมนูญไทย”เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ ตามกำหนดเดิมผู้จัดงานจะฉายภาพยนตร์เรื่อง “Insects in the backyard” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกจัดว่าอยู่ในเรต “ห” หรือห้ามฉายในประเทศ ในกิจกรรมฉายหนังและเสวนาเรื่องกฎหมายภาพยนตร์กับรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนการจัดงานหนึ่งวัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีจดหมายถึงผู้จัดงานเสวนาว่า หากฉายภาพยนตร์ที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์มีคำสั่งไม่อนุญาตจะมีโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้ Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และมีประเด็นเกี่ยวกับเพศที่สาม ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์สั่งห้ามเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ธัญญ์วารินเศร้า ฌาปนกิจศพ “Insects in the backyard”หนังที่เปรียบเหมือนลูก จากจดหมายของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รูปแบบกิจกรรมจึงปรับขึ้นใหม่ เริ่มต้นขึ้นด้วยงานฌาปนกิจภาพยนตร์เรื่อง “Insectsin the backyard” โดย นายทรงยศ สุขมากอนันต์ นายกสมาคมผู้กำกับไทย เป็นผู้นำวางดอกไม้จันทน์ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและนักแสดงนำ กล่าวไว้อาลัยเปรียบภาพยนตร์ดังกล่าวว่า “เหมือนลูกที่ใช้เวลาฟูมฟักมาถึงสองปีด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อคลอดออกมากลับต้องถูกกระทืบตายต่อหน้าต่อตา”ธัญญ์วารินกล่าวและฝากถึงกระทรวงวัฒนธรรมให้กลับไปทำความเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม” ใหม่ พร้อมยืนยันจะเดินหน้าทำหนังต่อไป นอกจากนี้ ในงานนำภาพยนตร์มาฉายแทนสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวชวนเชื่อที่จัดทำโดยรัฐบาลสมัยนั้น และเรื่องที่สอง “ทองปาน” ภาพยนตร์ต้องห้ามที่มีเนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 นักวิชาการท้วง มีเรตห้ามฉาย อาจขัดรัฐธรรมนูญ จากนั้น ในงานเสวนาเรื่องพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราต้องพิจารณาว่าพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีเรตห้ามฉายอันขัดกับสาระสำคัญของมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งประกอบไปสองสิทธิที่ควบคู่กันเสมอ คือ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร ประชาชนมีสิทธิเลือกที่จะดูหรือไม่ซึ่งเป็นสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร รัฐมีหน้าที่เพียงจำแนกแยกแยะว่าควรอยู่ในเรตใดเท่านั้นไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นประชาชน ทั้งนี้ หากจะยอมรับให้มีเรตห้ามฉายได้ จะต้องพิจารณาว่าอะไรคือศีลธรรมอันดีของประชาชน และภาพยนตร์นั้นต้องบ่มเพาะศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากภาพยนตร์ต่างจากสื่ออื่น โดยเป็นการสะท้อนมุมมองของคนสร้าง ไม่จำเป็นต้องพูดถึงข้อเท็จจริงเสมอไป รวมทั้งคนดูก็มีเสรีภาพสูงที่เลือกดูหรือไม่ดูหนังเรื่องใด สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาในพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551มีความสับสนเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นกฎหมายที่สอดไส้คำสั่งห้ามฉายเอาไว้ในระบบการจัดเรตติ้ง และเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ แนะ Insectsฟ้องศาลปกครองต่อหลังอุทธรณ์คำสั่ง ด้านเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงานสภาทนายความ กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงประชาชนต้องสามารถกำหนดเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนได้ ไม่ใช่เพียงมีรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า กรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyardหากผู้จัดเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องเดินหน้าฟ้องร้องศาลปกครองต่อไปหลังการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ นักกฎหมายจากสภาทนายความเห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ตัวคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่างจากหลายประเทศที่คณะกรรรมการจะเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า คำว่าศีลธรรมที่กำหนดไว้ในกฎหมายมีความหมายว่าอะไร ทั้งนี้ศีลธรรมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน นายเจษฎาได้กล่าวถึงกรณีที่คนเก็บขยะถูกจับเนื่องจากเอาซีดีที่ตนเองเก็บได้ไปขายและ กรณีที่พ่อเอาซีดีเก่าของลูกไปขายจนถูกจับเช่นกัน ว่าเกิดจากการที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ฝ่าฝืนได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ยังมีโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษทางอาญาด้วย ในขณะที่เดิมเป็นเพียงความผิดต่อเอกชนเท่านั้น ทั้งนี้กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่กลับเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมให้สูงขึ้น นายเจษฎากล่าวว่า แม้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 จะเป็นกฎหมายที่ออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งว่ากันว่า แต่ละฉบับใช้เวลาพิจารณาในสภาไม่เกิน 5 นาที แต่เขาก็เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งห้ามฉายตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากหากมีกรณีที่รุนแรงมากๆ แล้วรัฐควรมีสิทธิที่จะเซ็นเซอร์ก่อนที่หนังนั้นจะฉายออกไป เพราะหากปล่อยให้หนังฉายออกไปแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหาย และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะระงับความเสียหายนั้นได้ รัฐต้องทบทวน ยิ่งปิดคนยิ่งอยากรู้ ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้นเกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน เพราะหากผู้คนไม่มีปากมีเสียงแล้วก็ไม่อาจเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองได้ นี้เป็นเหตุผลที่หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ถูกแบนจะต้องออกมาเรียกร้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย นั้นดีในระดับหนึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้ง สื่อภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีเสรีมากที่สุด และรัฐมีวิธีเลือกปิด ซึ่งอาจกระทบต่อคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจึงไม่รับรู้ แต่การเลือกปิดก็สร้างความเกรงกลัวให้ขยายออกไป ทั้งนี้การปิดกั้นนั้นภาครัฐต้องพิจารณาให้ดีว่า ผลลัพธ์ที่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่อยากจะปิดหูปิดตาประชาชนหรือไม่ เพราะยิ่งปิดยิ่งทำให้คนอยากรู้ สุภิญญาเห็นว่า การที่รัฐจะต้องควบคุมสื่อภาพยนตร์เป็นพิเศษก็เพราะว่าภาพยนตร์นั้นเป็นสื่อที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับที่มูลนิธิหนังไทยกล่าวไว้ว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” เพราะเป็นสื่อที่รวมให้คนมาอยู่ในที่เดียวกัน สามารถดึงสมาธิของคนดูได้ดี และภาพยนตร์เรื่องหนึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจและอาจเปลี่ยนชีวิตของบางคนไปได้โดยสิ้นเชิง ทางออกของพ.ร.บ.ภาพยนตร์? สาวตรี สุขศรี กล่าวถึงทางออกของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551ว่า ควรยกเลิกเรตห้ามฉาย แต่ถ้ายังมีเรตห้ามฉายอยู่ต้องมีการนิยามความหมายของคำว่าศีลธรรมอันดีให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิตามกฎหมาย ด้านสุภิญญาเห็นเช่นกันว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ต้องเน้นใช้ระบบแบบเรตติ้งจริงๆ ไม่มีการสอดไส้ รวมทั้งการพิจารณาเรตติ้งนั้นต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระ และมีคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ร่วมอยู่ในคณะกรรมการนั้นด้วย ด้านเจษฎาแนะว่าการแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้โดยประชาชนร่วมกันลงชื่อหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป และหากกฎหมายลูกฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยื่นฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา การแก้กฎหมายกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นการแก้ให้ตนมีอำนาจมากขึ้นและยิ่งผลักภาระไปให้ประชาชน ที่มา: http://ilaw.or.th/node/636 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ภูมิใจไทยคว้า 2 เก้าอี้ หลังเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 5 เขต Posted: 12 Dec 2010 07:39 AM PST สรุปผลการเลือกตั้งซ่อม 5 เขต ภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ได้พรรคละ 1 ที่นั่ง โดย "อภิรักษ์" ชนะการเลือกตั้งเขต 2 กทม. และ "บุญจง" ชนะการเลือกตั้งเขต 6 นครราชสีมา วันนี้ (12 ธ.ค.) มีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 5 เขต ประกอบด้วยเขตเลือกตั้งที่ 2 กทม., เขต 1 พระนครศรีอยุธยา, เขต 6 นครราชสีมา, เขต 3 สุรินทร์ และเขต 2 ขอนแก่น โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่เดิม สามารถครองที่นั่งไว้ได้ โดยผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับเลือกในพื้นที่เดิมเขต 2 กทม. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ชนะการเลือกตั้งเขต 6 นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่เดิม และ ชนะในเขตเลือกตั้งที่ 3 สุรินทร์ พื้นที่เดิมของพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) ที่ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชนะการเลือกตั้งในเขต 1 พระนครศรีอยุธยา ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะการเลือกตั้งในเขต 2 ขอนแก่น โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏดังนี้ เขต 2 กทม. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 71,092 คะแนน นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย 30,506 คะแนน เขต 6 นครราชสีมา นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ หมายเลข 3 พรรคภูมิใจไทย 82,978 คะแนน นายอภิชา เลิศพชรกมล หมายเลข 2 พรรคเพื่อไทย 63,487 คะแนน ผู้มาใช้สิทธิ 232,656 คน หรือประมาณ 62% เขต 1 พระนครศรีอยุธยา นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร หมายเลข 2 พรรคชาติไทยพัฒนา 84,518 คะแนน นายองอาจ วชิรพงศ์ หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย 78,497 คะแนน ใช้สิทธิ 179,016 คน คิดเป็น 56% เขต 2 ขอนแก่น ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช หมายเลข 2 พรรคเพื่อไทย 144,799 คะแนน นายอธิปปรัชญ์ ทัดพิชญางกูร หมายเลข 1 พรรคประชาธิปัตย์ 36,338 คะแนน เขต 3 สุรินทร์ นายศุภรักษ์ ควรหา หมายเลข 2 พรรคภูมิใจไทย 103,968 คะแนน นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย ได้ 75,048 คะแนน ผู้มาใช้สิทธิ 179,016 คน คิดเป็น 54.47% สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น