โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ญาติผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางมุกดาหารร้องกรรมการสิทธิช่วยเรื่องประกันตัว

Posted: 11 Dec 2010 10:29 AM PST

“วันสิทธิมนุษยชนสากล” ญาติผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางมุกดาหารยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิฯ เรียกร้องให้ช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว พร้อมขอข้อมูลเพื่อใช้ต่อสู้คดี

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.53 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน “วันสิทธิมนุษยชนสากล” โดยมี อาจารย์ทองใบ ทองเปาด์ และ นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวเปิดงาน มีรายการอภิปรายและกิจกรรมสำหรับนักเรียน-นักศึกษาตลอดวัน

โดยในระหว่างรายการอภิปรายเรื่อง “เสียงเรียกร้องเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในภาคอีสาน” ผู้จัดงานได้เชิญครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เป็นวิทยากร หลังจบการอภิปรายได้มีตัวแทนญาติผู้ต้องขังจากมุกดาหารยื่นหนังสือถึงนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่าน นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิฯเรียกร้องให้ช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว พร้อมขอข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดี

ทั้งนี้ในหนังสือร้องเรียนซึ่งเขียนมาจากผู้ต้องขังในเรือนจำ 18 ราย ระบุว่า พวกเขาถูกควบคุมตัวมา 5-6 เดือนแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่พึงจะได้รับ ทั้งๆ ที่เคยยื่นขอประกันตัวมาแล้วหลายครั้ง ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และเหตุผลทางด้านครอบครัวที่ขาดคนดูแล อีกทั้งเพื่อให้มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

หนังสือยังได้ระบุรายละเอียดถึงความจำเป็นของแต่ละราย โดยเฉพาะรายที่มีอาการป่วยมาก เช่น นายทองมาก คนยืน ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เดิน นั่งลำบาก และต้องได้รับการทำกายภาพบำบัด นายสมคิด บางทราย ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบีขั้นรุนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ หนังสือยังระบุว่า หลังการจับกุมซึ่งมีการทำร้ายร่างกายด้วย ทางคณะกรรมการสิทธิฯ เข้าไปสอบสวน, บันทึกข้อมูล และถ่ายภาพเอาไว้ จึงขอข้อมูลดังกล่าวเพื่อมอบให้กับทนายความนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี และเรียกร้องความเป็นธรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย

Posted: 11 Dec 2010 09:59 AM PST

กรณีการให้เรต ห (ไม่อนุญาติให้ฉายในราชอาณาจักร) แก่ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard ของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุผล “มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องและประท้วงมากมายจากทั้งกลุ่มผู้กำกับ ศิลปิน สื่อมวลชนและเครือข่ายภาคประชาชน (ดังเช่น “เครือข่ายคนดูหนัง” ได้รณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อในจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมออกมาชี้แจงเหตุผลในการแบนหนังดังกล่าว) และแม้ว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์จากผู้กำกับให้คณะกรรมการฯ ทบทวนการจัดเรตของตนอีกครั้ง คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวยังคงยืนยันคำตัดสินเช่นเดิม เพียงแต่แก้ไขเหตุผลใหม่ด้วยการตัดคำว่า “ความสงบเรียบร้อย” ออก ให้เหลือเพียง “เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตกเป็นเหยื่อสังเวยการจัดเรตของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และ วีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 “อย่างเป็นทางการ” (หากไม่นับเรื่อง “บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน” ของธัญสก พันสิทธิวรกุลก่อนหน้านี้ที่ถูก “แบน” อย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลความสับสนของขั้นตอนการดำเนินการยื่นขอจัดเรตภายในหน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้ไม่สามารถเข้าฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพมหานคร” ระหว่างวันที่ 6-15 พฤศจิกายน ได้) แม้จะมีความพยายามชี้แจงจากตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถนำเสนอเหตุผล “ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล” เพื่อสร้างความน่าเชื่อถ่ือให้แก่การ “แจก” เรต ห ครั้งนี้ได้ นอกเสียจากเหตุผลกว้างๆและตีขลุมอย่างเรื่อง “ศีลธรรมอันดี” และมาตรฐานการตัดสินที่ “ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย”

กรณีการ “แบน” ภาพยนตร์โดยหน่วยงานภาครัฐผ่าน “อำนาจ” แห่งกฎหมายนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ปลุกเราทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะในฐานะผู้ “ผลิต” หรือผู้ “เสพ” ให้ตื่นขึ้นมาจากสภาพหลับใหลทางมโนสำนึก และร่วมตั้งคำถามดังๆอย่างจริงจังเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “เสรีภาพของการแสดงออก” ผ่านงานศิลปะ ไม่แต่เฉพาะในแวดวงภาพยนตร์เท่านั้น หากต้องรวมไปถึงวงการศิลปะทุกแขนง เพราะในทางสุนทรียศาสตร์ ภาพยนตร์ถือเป็น “ศิลปะแขนงที่ 7” ในระดับเดียวกับงานวิจิตรศิลป์ (Fine arts) และมโนทัศนศิลป์ (Conceptual arts) อื่นๆอีก 6 แขนง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี นาฏศิลป์และวรรณคดี

ทำไมพื้นที่ทางศิลปะจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรยินยอมให้มีการเซ็นเซอร์ควบคุมและตัดสินคุณค่าดี/ชั่วจากอำนาจรัฐ ?

เพราะ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม “ศิลปะคือพื้นที่แห่งอิสรภาพ par excellence” (โดยสารัตถะและโดยสมบูรณ์) ปริมณฑลของศิลปะครอบคลุมทั้งทางกายภาพและทางมโนทัศน์ ศิลปะคือพื้นที่เดียวในสังคมที่เปิดกว้างให้กับการปะทะของความคิด ข้อเสนอและมุมมองที่ “แตกต่าง” และ “ขัดแย้ง” อย่างแท้จริง  ศิลปะคือพื้นที่ของอาหารทางจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงสังคมและปูทางไปสู่ความเข้าใจโลกที่ต่างไปจากมุมมองปกติ และที่สำคัญที่สุด ศิลปะคือพื้นที่ของการจุดประกายความคิดที่จะนำไปสู่การถกเถียง วิพากษ์ วิจารณ์และบ่มเพาะ “การยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย” (tolerance of the diversity) ในทุกๆวัฒนธรรม

ในแง่นี้ พื้นที่ทางศิลปะคือพื้นที่แม่แบบของปฏิบัติการทางประชาธิปไตยอย่างไม่มีพื้นที่ใดเทียบเคียงได้ในทางสังคม และในแง่นี้ พื้นที่ทางศิลปะจึงเปรียบได้เป็นป้อมปราการสุดท้ายซึ่งหากถูกทำลายลงเสียแล้ว “เสรีภาพในทางสุนทรียะ” หรือเสรีภาพของอารมณ์ความรู้สึกซึ่งนับว่าเป็นสมบัติสุดท้ายของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามและเป็นสมบัติพื้นฐานหนึ่งเดียวที่มนุษย์ มีร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะเกิดมาจนหรือรวย สวยหรือขี้เหร่ ฉลาดหรือโง่ ก็จะพังทลายลงตามไปด้วย โดยยังไม่ต้องกล่าวถึง “เสรีภาพทางความคิด” ที่ได้ถูกบดขยี้ลงไปเสียก่อนแล้ว

ดังนั้น เพื่อให้เสรีภาพ “ภายใน” ศิลปะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เสรีภาพ “ของ” ศิลปะในโลกภายนอกจำเป็นต้องมี เพราะเสรีภาพของศิลปะคือหลักประกันคุณค่าพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง

ในแง่นี้ “เรต ห” ในพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ใช้ “กำกับและควบคุม” ภาพยนตร์จึงไม่ใช่การกระทำอันเป็นธรรมดาสามัญที่เราควรมองผ่านเลยไปโดยอาศัยหลักอนิจจังและอุเบกขา  การประทับ “เรต ห” ลงบนแผ่นฟิล์มคือการตัดสินลงโทษงานศิลปะด้วยโทษสูงสุด นั่นคือ “โทษประหารชีวิต” โดยมีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งประกอบไปด้วยคนเพียง 7 คนเป็นคณะผู้พิพากษาที่ได้รับอำนาจในการชี้เป็นชี้ตาย ในคดีที่มีผู้ได้รับผลได้ผลเสียถึง 60 กว่าล้านคน โดยไม่จำเป็นต้องมีการเรียกพยานและผู้ได้รับผลกระทบเข้าให้ปากคำ

หากนี่ไม่เรียกว่า “เผด็จการทางวัฒนธรรม” แล้วเราจะเรียกการผูกขาดอำนาจเช่นนี้ว่าอย่างไรได้ ?

แท้จริงแล้ว คณะกรรมการฯ นั้นไม่เข้าใจในธรรมชาติ หน้าที่และการทำงานของงานศิลปะ แต่สถาปนาตัวเองว่าเป็นผู้รู้/ผู้ตัดสิน หามิเช่นนั้นแล้วคณะกรรมการฯ คงจะไม่มีทางประทับตา “เรต ห” ให้สังคมต้องตราหน้าอย่างที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน

เนื่องจาก “เรต ห” ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 สะท้อน “การตัดสินคุณค่า” ที่สับสนและผิดฝาผิดตัวของผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” เพราะนี่คือการยัดเยียดของแปลกปลอมซึ่งคือตรรกะทางศีลธรรม (ซึ่งเป็นตรรกะภายนอก) เข้าไปในงานศิลปะซึ่งควรจะถูกตัดสินคุณค่าและความชอบธรรมด้วยตรรกะทางสุนทรียะอันเป็นตรรกะภายในของตัวชิ้นงานเองเป็นอันดับแรกและเหนือสิ่งอื่นใด

ในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินคุณค่าเช่นนี้ไม่ได้ผิดในตัวมันเอง (เพราะเราก็ทำการตัดสินคุณค่างานศิลปะด้วยปัจจัยภายนอกเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว) แต่การตัดสินคุณค่าด้วย “เรต ห” ของผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือนี้นำไปสู่ “คำพิพากษา” อันไม่สมควรที่ใครจะยอมรับได้ นั่นคือ การห้ามฉาย/เผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ​โดยเด็ดขาด ยิ่งคำพิพากษานี้ออกมาจากหน่วยงานซึ่งมีพันธกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมในการที่จะส่งเสริมงานศิลปะและความคิดแปลกใหม่สร้างสรรค์ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องนำออกมาอภิปรายและเผยแพร่ในวงกว้างที่สุด

ในสังคมไทยและสังคมโลก ฉันทามติหนึ่งที่มีร่วมกันเกี่ยวกับผลงานทางภาพยนตร์คือ “การปกป้อง” (ไม่ใช่ “การควบคุม”) เยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะและความเข้าใจดีพอที่จะเข้าถึงความซับซ้อนและลึกซึ้งของงานศิลปะที่มีเนื้อหาเฉพาะบางประเภทได้ จึงได้เกิดแนวความคิดใน “การจัดเรตติ้ง” แบ่งภาพยนตร์เป็นประเภทต่างๆไล่ขึ้นเป็นขั้นบรรไดตามความเข้มข้นและความอ่อนไหวของเนื้อหาและภาพที่ปรากฎในภาพยนตร์ เพื่อทำการ “สกรีน” ผู้ชมตามวุฒิภาวะโดยใช้ “อายุ” เป็นเกณฑ์แบ่ง

การร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ในประเทศไทยนี้จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจของทุกภาคส่วน (คนทำ/คนดูภาพยนตร์ ภาครัฐและภาคเอกชน) ในการที่จะทำให้การจัดเรตติ้งมีความเป็นระบบและเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้นเพื่อสนองต่อ ฉันทามตินี้ที่สังคมมีร่วมกัน  จากการแบ่งประเภทภาพยนตร์เป็น 6 ประเภท (ตัวเลขนี้นับเฉพาะประเภทที่ควร ถือว่าเป็นเรตติ้งจริงๆ ไม่นับ “เรต ห” ซึ่งเราไม่ควรถือว่าเป็นเรตติ้ง แต่เป็นการ “แบน” ซึ่งนับเป็นประเภทที่ 7) เรตติ้งอันดับที่ 6 ที่มีการกำหนดไว้คือภาพยนตร์ “ประเภทที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู”

คำถามที่เราในฐานะพลเมืองของประเทศที่เรียกตนเองว่าปกครองภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ควรจะถามทั้งต่อตนเองและต่อสังคมคือ ในขณะที่เยาวชนไทยอายุ 20 ปีบริบูรณ์มีสิทธิ “เลือก” สมาชิกผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่แทนพวกเขาในสภาในการตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับประเทศ รวมไปจนถึงเพื่อไปเลือกนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ และพวกเขามีสิทธิ์ “เลือก” เข้าสถานที่เริงรมย์ (ที่ผู้ใหญ่มักจะเรียกในแง่ลบว่า “แหล่งอบายมุข”) แล้ว  ด้วยเหตุผลกลลวงอันใดเล่า พวกเขาจึงถูกปฏิเสธ “สิทธิ์” ในการใช้วิจารณญาณ ในฐานะ “พลเมือง” ที่มีเจตจำนงเป็นของ/เหนือตนเองในการ “เลือก” ที่จะรับชมภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือไม่ ?

ข้ออ้างเรื่องการดำรงอยู่ของ “เรต ห” เพื่อเป็นการปกป้องผู้ชม ประชาชนและศีลธรรมอันดีนั้นจึงขัดแย้งในตัวมันเอง สำหรับสังคมที่ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะภายใต้การปกครองระบอบนี้ “พลเมือง” ควรจะมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกเสพงานศิลปะชิ้นหนึึ่งหรือไม่โดยตนเอง

ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนของสังคมโอดครวญเรื่อง “วิกฤติการศึกษา”, “วิกฤติเยาวชน” และ “ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของเยาวชน” ฯลฯ และเรียกร้องให้เยาวชนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ นอกกรอบ มีความเป็นผู้ใหญ่ มีภาวะผู้นำ มีวุฒิภาวะ มีภูมิปัญญา ฯลฯ โดยการเสริมสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์และความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่สังคมทำอยู่คือการผลักภาระและความรับผิดทั้งหมดไปให้กับเยาวชน โดยไม่เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าทำไมเยาวชนจึงมีสภาพไร้วุฒิภาวะเช่นนั้นและสังคมมีส่วนอย่างไรบ้างในการทำให้เยาวชนไทยไม่รู้จักโตเสียที

เมื่อมองในแง่นี้ “เรต ห” จึงเป็นการดูถูกไม่เพียงแต่เยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงพลเมืองผู้ใหญ่ของประเทศนี้ เพราะเป็นปฏิบัติการทำลายล้างความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมการวิจารณ์และจิตสำนึกเรื่องการยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย ซึ่งสวนทางอย่างมีนัยสำคัญต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ฉบับนี้ และฉันทามติโดยรวมของสังคมที่ต้องการมาตรการใน “การปกป้อง” แต่ไม่ใช่การเซ็นเซอร์หรือ “การควบคุม”

“เรต ห” คือการต่อต้านและปฏิเสธงานศิลปะ ศิลปินและผู้เสพงานศิลปะอย่างไม่ไว้หน้า อันเนื่องมาจากความเข้าใจอันอ่อนด้อยในเรื่องตรรกะเชิงสุนทรียะของงานศิลปะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ 7 คน  ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำจึงไม่ใช่การทำนุบำรุงหรือส่งเสริมศิลปะแต่อย่างใด แต่เป็นการทำลายทั้งศิลปะและทั้งศิลปิน และรวมไปถึงชีวิตทางจิตวิญญาณของพลเมืองไทยทั้งประเทศ

“เรต ห” คือเสื้อคลุมอำพรางการผูกขาดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมของคนเพียงกลุ่มเดียวที่อยู่ใน “อำนาจ” ภายใต้ข้ออ้างลวงเรื่อง “ศีลธรรมอันดีงาม” (ดีงามอันไหน อย่างไร ของใคร ยังคงเป็นคำถามที่รอการถกเถียงอย่างกว้างขวางและเปิดกว้างที่สุด) นี่คือปฏิบัติการเผด็จการทางวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ควรเปิดกว้างให้มากที่สุดในสังคม และควรเป็นพื้นที่สุดท้ายที่รัฐจะสามารถเข้ามาควบคุมและเซ็นเซอร์

ท้ายที่สุด “เรต ห” คือการรุกล้ำ ล่วง ละเมิด และกระทำชำเราคุณค่าพื้นฐานทางประชาธิปไตยที่มีศิลปะเป็นแม่แบบที่เปิดกว้างที่สุด  โดยปราศจากเสรีภาพ “ภายใน” และ “ของ” ศิลปะแล้ว ก็ไม่อาจจะมีประชาธิปไตยได้ และหากชนใดปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกและเสพสุนทรียะ ชนนั้นไม่ได้แค่ถูกปิดตา ปิดหู ปิดปาก แต่ยังถูกปิดหัวใจและจิตวิญญาณอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเสรีภาพของงานศิลปะโดยหยิบยื่น “อภิสิทธิ์” บางอย่างให้กับ “พื้นที่ทางศิลปะ” นี้หาใช่เป็นความพยายามในการสถาปนาให้ศิลปะกลายเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แต่อย่างใดไม่  เพราะการเรียกร้องพื้นที่แห่งเสรีภาพนี้ก็คือการเรียกร้องพื้นที่แห่งการวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วยในเวลาเดียวกันและอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้  โดยธรรมชาติทางสังคมและวัฒนธรรม กลไกในการจัดการและมีส่วนร่วมของมติมหาชน (public opinion) คือหลักประกันว่าศิลปะนั้นไม่ใช่และไม่มีทางกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลอยอยู่เหนือสังคมและผู้คนไปได้

หากคณะกรรมการฯและกระทรวงวัฒนธรรมยังไม่เข้าใจเรื่อง “เสรีภาพของการแสดงออก” ผ่านงานศิลปะแล้ว ก็จะไม่เห็นว่าการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังนำสังคมเราไปสู่หายนะทางวัฒนธรรม ไปสู่สังคมที่ไม่จำเป็นต้องมี “ศิลปิน” อีกต่อไป มีเพียงแค่ “ช่างฝีมือทางวัฒนธรรม” ที่ผ่านการฝึกฝนทางเทคนิคอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจนสามารถลอกเลียน “งานโบราณ” ได้อย่างไม่มีที่ติ หากแต่ไร้ซึ่งความสามารถสร้างสรรค์และจิตวิญญาณการวิพากษ์วิจารณ์ และเรา ในฐานะผู้เสพงานศิลปะก็จะได้ชื่มชมงานที่ “ย่ำอยู่กับที่” ตอกย้ำอุดมการณ์ทางสุนทรียะและทางสังคมชุดเดิมซ้ำซากไปมาตราบชั่วฟ้าดินสลาย นี่หรือคือชีวิตทางวัฒนธรรมที่เราคนไทยต้องการจะเห็น ?

ด้วยเหตุนี้เอง องค์กร สถาบัน ภาคส่วนต่างๆที่ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับศิลปะในทุกแขนงนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม การให้การศึกษา งานด้านแหล่งข้อมูลหรือการให้รางวัลยกย่องเชิดชูทั้งหลาย) ยิ่งไม่ควรเพิกเฉยต่อปฏิบัติการ “เผด็จการทางวัฒนธรรม” นี้ เพราะการเพิกเฉยปล่อยเลยตามเลยนั้นเท่ากับเป็นการสนับสนุนไปโดยปริยาย เราคงไม่ต้องการจะให้ประวัติศาสตร์ตราหน้าว่าพวกเรามีส่วนในการส่งเสริมความถดถอยทางวัฒนธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทย ?

แท้ที่จริงแล้ว การตั้งคำถามต่อ “เรต ห” นี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามต่อ “หน้าที่”, “บทบาท” และ “ขอบเขต” การแทรกแซงของรัฐในพื้นที่ทางศิลปะทั้งหมด รัฐควรมีหน้าที่แค่ไหน ? อย่างไร ? หรือแม้กระทั่ง ควรจะมีไหม ? เราจะมีเกณฑ์ใดมาจัดระดับระหว่างการปกป้องและการควบคุมของหน่วยงานรัฐ ? บทบาทของภาคประชาชนและกลุ่ม “ผู้เสพ” งานควรจะมีมากน้อยเพียงใด อย่างไร ​? ฯลฯ

ณ ปัจฉิมบทของบทความนี้ อดไม่ได้ที่จะรู้สึกสมเพชเคล้าน้ำตาที่ในรุ่งอรุณแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ แทนที่เราน่าจะได้อภิปรายถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสุนทรียศาสตร์ร่วมสมัยอันลึกซึ้งซับ ซ้อนและซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความหยาบโลนในงานศิลปะ, สิ่งต้องห้ามและการล่วงละเมิด, ความไร้รสนิยมแบบ kirsch, ภาพโป๊เปลือยของเด็ก ฯลฯ เรากลับต้องมาพูดพล่ามถึงประเด็นพื้นฐานทางสามัญสำนึกและเรื่องการประเมินคุณค่าดี/เลวซึ่งเป็นวิวาทะที่ล้าหลังโบราณของศตวรรษที่ 18/19 หรือตรงกับปลายสมัยอยุธยาต้นรัตนโกสินทร์ และต้องมาตั้งชื่อบทความด้วยชุดคำอันสุดแสนเชย ว่าด้วยเรื่อง “ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถอดบทเรียนเพื่อสร้างขบวนการภาคประชาชนที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง

Posted: 11 Dec 2010 09:11 AM PST

หมายเหตุ: 1. เอกสารฉบับนี้เขียนขึ้นจากการศึกษาของกลุ่มศึกษาประชาธิปไตยประชาชน (กปป.) ในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนพฤศจิกายน 2553

2. กปป.เป็นกลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักวิชาการที่เข้าร่วมการศึกษาแนวคิดทฤษฎีทางสังคม เพื่อค้นคว้าแลกเปลี่ยนถกเถียงในประเด็นการสร้างขบวนประชาชนที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง กปป. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553 จากการประชุมนักกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤศจิกายน 2553

 

การเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2549 จนถึงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2553 ได้ทำให้กลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิชาการ และปัญญาชนรุ่นใหม่ แตกแยกออกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน เราเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ และได้รับบทเรียนสำคัญมาแล้ว เมื่อติดตามการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือขบวนการเสื้อแดงก็ได้เห็นบทเรียนเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน บทเรียนนั้นก็คือ การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองโดยขาดความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ดอกผลที่ได้ไม่เกื้อกูลต่อการสร้างความเข้มแข็ง ให้กับขบวนการภาคประชาชนที่เป็นอิสระ และเคลื่อนไหวบนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เราต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักกิจกรรม นักวิชาการ และปัญญาชน ถึงท่าทีทางการเมืองต่อกรณีต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การหวังพึ่งพิงมาตรา 7 กรณีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ กรณีการปราบปรามการชุมนุมของขบวนการเสื้อแดง กรณีการปฏิรูปประเทศ และการปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ยังนำไปสู่ความขัดแย้งทางแนวความคิดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย ทว่าความเห็นที่แตกต่างกันนี้ยังไม่ได้รับการเรียนรู้ให้ชัดเจนและลึกซึ้งทั้งจากการถอดบทเรียนของแต่ละฝักฝ่าย และการเรียนรู้จากกันและกัน

ในการเผชิญกับความแตกต่างทางความคิดนั้น เราพบว่า พวกเราเองยังขาดความชัดเจนในท่าทีทางการเมือง ทำให้เมื่อเผชิญกับคำถามหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เช่น กรณีหลังรัฐประหาร 19 กันยายนฯ ในหมู่พวกเราไม่ได้ออกมาวิจารณ์ถึงบทบาททหารกับการเมืองไทยบ้างเลย ในกรณีเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เราเกิดความรู้สึกระคนกันระหว่างด้านการมีผู้บริสุทธิ์ถูกยิงจนบาดเจ็บ ล้มตาย กับอีกด้านหนึ่งก็เกิดเป็นคำถามในใจว่า การชุมนุมที่ถูกแกนนำผลักไปถึงขั้นเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ และมีกลุ่มติดอาวุธแทรกตัวอยู่ด้วย การมีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ชัดเจนจึงกระทบต่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของพวกเรา และการร่วมสร้างขบวนการภาคประชาชนในอนาคต

ในขณะที่ภาวะภายในความคิดของแต่ละคนของกลุ่มเรายังไม่สรุปให้ถูกต้อง เมื่อถูกเร่งเร้าให้ชัดเจน ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืน และถูกวิจารณ์ ประณามหยามหมิ่น เราก็โต้แย้ง และปะทะคารมกันเป็นรายบุคคล ผลก็คือ ยิ่งไปตอกย้ำความแตกแยกเพิ่มขึ้น ซึ่งบีบคั้นให้พวกเราต้องเลือกข้าง ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะความแตกต่างและแตกแยกได้แทรกซึมลงไปถึงองค์กรชาวบ้าน องค์กรนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ จนทำให้เกิดการเลือกข้างเป็นฝักฝ่าย คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการความชัดเจนในตนเองเช่นเดียวกับเรา ดังนั้นการสรุปบทเรียนและแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน จึงมีความสำคัญต่อขบวนการภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็ง โดยก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาบนความเข้าใจบทเรียนร่วมกันอย่างเป็นตัวของตัวเอง

 

บทเรียนการเข้าร่วมพันธมิตรฯ

เป้าหมายที่เราไปร่วม เพราะคิดว่าปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการนำเสนอต่อสาธารณะ เช่น ปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปัญหา FTA ปัญหาประชาชนในเครือข่ายต่างๆ เป็นต้น โดยเราได้เข้าไปร่วมควบคุมให้เกิดโอกาสการนำเสนอปัญหาชาวบ้านบนเวทีปราศรัย และเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง ASTV ขณะเดียวกันก็เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณด้วย เพราะจะส่งผลให้ปัญหาชาวบ้านได้รับการแก้ไข เช่น กรณีเหมืองแร่โปแตชที่อุดรธานี ตั้งแต่ปี 2547-2548 กลุ่มทุนของรัฐบาลทักษิณเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้อดีตสหายเข้ามาทำงานมวลชนสัมพันธ์ให้กับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัทอื่นที่อยู่ในฝ่ายทักษิณ ดังนั้นการโค่นรัฐบาลจะช่วยให้โครงการนี้ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆยุติลงไป นอกจากนี้ การที่รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชน ก็ทำให้พวกเราเห็นว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมในการดำรงอยู่ เช่น กรณีการสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ต่อต้านโครงการท่อก๊าซ หาดใหญ่ ในปี 2545 กรณีกรือเซะ และตากใบ ในปี 2547 เป็นต้น

ที่สำคัญ เราสามารถที่จะกุมความเคลื่อนไหวของพันธมิตรได้ โดยมีบทบาทดูแลความปลอดภัยของมวลชน ต่อรองมิให้กลุ่มการเมืองที่พยายามเข้ามาช่วงชิงการนำและอาจนำมวลชนไปสู่ความรุนแรงเข้ามามีบทบาทนำการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และต่อรองมิให้นำการเคลื่อนไหวไปพึ่งพิงพระราชอำนาจ หรือนายกฯพระราชทาน โดยตกลงที่จะไม่นำเรื่องนี้มาเป็นข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่สำคัญก็คือ เมื่อมีความพยายามผลักดันเรื่องมาตรา 7 เราพบว่า แม้จะมีความเห็นที่แตกต่าง ทว่ากลุ่มผู้นำของเราไม่มีอำนาจต่อรองในการนำ และหันไปยอมรับเรื่องนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น นักกิจกรรมบางส่วนได้ถอนตัวออกจากการเคลื่อนไหว บางส่วนอยู่ต่อด้วยเหตุผลที่ว่า แม้ไม่เห็นด้วยแต่ต้องอยู่รับผิดชอบมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมในเรื่องความปลอดภัย ด้วยเกรงว่าจะมีกลุ่มอื่นฉวยโอกาสนำพามวลชนไปกดดันให้เกิดการล้อมปราบจากรัฐบาลทักษิณ แล้วเป็นเหตุชอบธรรมให้เกิดการรัฐประหาร ขณะเดียวกันพวกเราหลายคนรู้สึกวางเฉยต่อเป้าหมายการโค่นรัฐบาลทักษิณ สรุปว่าเราพ่ายแพ้การนำร่วมในพันธมิตรฯ แล้วเมื่อเกิดรัฐประหารก็เท่ากับเป้าหมายการโค่นทักษิณโดนช่วงชิงไปโดยการกระทำแทนของกองทัพ

บทเรียนต่อมาคือ พวกเรายอมรับการกระทำแทนนี้ พวกเราจึงไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร ด้วยเหตุผลว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีลักษณะพิเศษคือ มุ่งโค่นอำนาจของรัฐบาลทักษิณเท่านั้น โดยที่ไม่มุ่งการใช้อำนาจเผด็จการกับประชาชนโดยทั่วไป บางส่วนของพวกเราจึงถูกผู้คัดค้านการรัฐประหารผลักหรือผูกโยงให้เข้ากับการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม มีพวกเราบางส่วนไม่ยอมรับแต่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว

จากบทเรียนนี้ หากพวกเราไม่ยอมรับการกระทำแทนนี้ แม้มีกำลังน้อยและต้องพึ่งพิงอำนาจของกองทัพในการโค่นรัฐบาลทักษิณ เราก็ยังคงเสนอความคิดที่ก้าวหน้าออกไปได้ว่า กองทัพควรสนับสนุนการโค่นรัฐบาลทักษิณโดยอยู่ภายใต้การนำของพันธมิตร และเปิดทางไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนแทนที่รัฐบาลทักษิณ จึงจะทำให้ภารกิจในการแก้ปัญหาการครอบงำการเมืองของกลุ่มทุนทักษิณและพวกบรรลุผลได้อย่างถึงที่สุด ทว่าพวกเราไม่ได้คิดถึงข้อเสนอเช่นนี้เลย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร พวกเราบางส่วนตระหนักถึงการถูกช่วงชิงการนำ จึงมีความพยายามเก็บเกี่ยวดอกผลของการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ เพื่อจัดตั้งประชาชนให้เข้มแข็งขึ้น และมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยผลักดันให้เกิดกิจกรรมของ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) โดยการดึงแกนนำ และมวลชนที่เข้าร่วมพันธมิตรฯ จากหัวเมืองหลักๆ มาร่วมอยู่ในเวทีเพื่อจัดทำข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นตัวของตัวเอง ทว่าในหมู่พวกเรายังให้ความสำคัญกับภารกิจนี้น้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงต่อมาได้หันเหการสร้างองค์กรอย่าง สปป. ให้เป็นอิสระ ไปเป็นองค์กรที่หลอมรวมตัวอยู่กับพันธมิตรฯ ที่เน้นอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังนั้น การเก็บเกี่ยวดอกผลเพื่อสร้างองค์กรที่เป็นตัวของตัวเองนี้จึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ต่อมาเมื่อเกิดรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 โจทย์ทางการเมืองคือ การกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งของรัฐบาลทักษิณในรูปการณ์ของนอมินี ดังนั้นภารกิจคือการโค่นรัฐบาลนอมินีทักษิณ พวกเรามีความเห็นที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับการเข้าร่วมกับพันธมิตร เหตุผลที่เข้าร่วม มาจากเรื่องภารกิจโค่นรัฐบาลนอมินีทักษิณ และยอมรับการทำงานแนวร่วมว่า เราไม่อาจควบคุมให้เป็นไปตามที่เราคิดได้ทั้งหมด หากต้องร่วมสู้กันไปบนเป้าหมายเดียวกันนี้

ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ที่ยอมรับมาตรา 7 มีส่วนพัวพันกับการรัฐประหาร ไม่ได้เน้นการเคลื่อนไหวบนปัญหาของชาวบ้านอย่างหลากหลาย และการนำของพันธมิตรฯ ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนธิ ลิ้มทองกุล และ ASTV และเคลื่อนไหวโดยใช้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อการดึงมวลชนเข้าร่วม ดังนั้นจึงมีการถกเถียงและคัดค้านการเข้าร่วมในที่ประชุมจนเกิดความขัดแย้งแตกแยกกันในหมู่พวกเรา ด้วยเหตุนี้การเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ในรอบที่สองนี้จึงเป็นไปตามเจตจำนงของแต่ละบุคคล มากกว่าตามความเห็นร่วมขององค์กรหรือเครือข่าย มีบางส่วนเท่านั้นที่เข้าร่วมด้วยมติขององค์กร

การนำเสนอบนเวทีของพันธมิตรฯ และยุทธวิธีต่างๆ ก็ใช้อุดมการณ์เดียวกันนี้เช่นกัน นอกจากนี้มีการห้ามร้องเพลงปฏิวัติบนเวที การห้ามใส่เสื้อมีรูปหน้าเชเกวาร่าหรือมีดาวแดงขึ้นเวทีฯ และมีแต่การเคลื่อนไหวประเด็นเดี่ยว เช่น กรณีเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นการตรวจสอบรัฐบาลและสร้างกระแสชาตินิยมรุนแรง เป็นต้น

ในกรณีพรรคการเมืองใหม่ แม้ว่าจะเป็นความพยายามในการเก็บเกี่ยวดอกผลการเคลื่อนไหวไปสู่การจัดตั้งที่มีคุณภาพ แต่ทว่าก็มีการตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ร่วม ภาวะการนำรวมหมู่และความเป็นตัวของตัวเอง แม้จะพยายามผลักดันให้เกิดหลักนโยบายของพรรคที่เน้นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ทว่าสิ่งนี้ก็เป็นเพียงตัวอักษรที่อยู่ในกระดาษ เพราะขาดความพร้อมของผู้ปฏิบัติงานในการนำสิ่งเหล่านี้สู่การเคลื่อนไหวของพรรคอย่างจริงจัง

บทเรียนสำคัญที่พิสูจน์บรรดานักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่คิดว่า การเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ นั้น เป็นยุทธวิธีในการใช้ฐานของ “อำมาตย์” และกองทัพ เพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณและพรรคพวก ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างขบวนการภาคประชาชนให้เข้มแข็งนั้น กลับกลายเป็นการคิดเชิงยุทธวิธีที่ขาดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่มีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง จึงทำให้ไม่เกิดภาวะการนำที่เป็นความหวังได้

 

บทเรียนของขบวนการเสื้อแดง

ขบวนการเสื้อแดงที่เป็นกำลังหลักมีฐานมวลชนคือ แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเกิดขึ้นโดยทักษิณและพรรคเพื่อไทยของตนที่ใช้ระบบจัดตั้งหัวคะแนนในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆด้วยเงินทุนมหาศาล กลุ่มนี้เกิดขึ้นและพัฒนาการจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และกลุ่ม “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการโค่นรัฐบาลทักษิณ และบั่นทอนอำนาจทางการเมืองของพรรคของทักษิณ ในช่วงที่พันธมิตรฯ ต่อต้านรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย กลุ่มนี้แสดงบทบาทเป็นอันธพาลการเมืองก่อกวนการชุมนุม และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เช่น กรณีการก่อกวนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ถนนราชดำเนิน กรณีการโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อุดรธานี และเชียงใหม่ เป็นต้น

ทว่าหลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาแทนที่ กลุ่มนี้กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการต่อต้านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ และทหารที่แทรกแซงการเมืองและล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งมีการจัดตั้งมวลชนด้วยระบบโรงเรียนการเมือง หรือศูนย์การเรียนรู้ที่มีหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ทั้งวิทยุชุมชน สื่อวิดีทัศน์ต่างๆ ที่เข้าถึงฐานมวลชนโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นทั้งระบบเครือญาติมวลชนคนจนรากหญ้า และชนชั้นกลาง ประสานเข้ากับกลุ่มทุนท้องถิ่น เช่น เจ้าของกิจการขายวัสดุก่อสร้าง กิจการขายหวยบนดิน ผู้รับเหมาก่อสร้าง และหัวคะแนนของพรรค

กลุ่มนิยมเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และบรรดานักวิชาการ ต่างเคลื่อนไหวจากจุดยืนของประชาธิปไตยเสรีนิยม โดยต่อต้าน “อำมาตย์” และทหารที่แทรกแซงการเมือง ซึ่งในที่สุดได้นำพากลุ่มตนไปอิงฐานมวลชนจัดตั้งของพรรคของทักษิณ และไม่สามารถมีบทบาทนำหรือร่วมกำหนดการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงได้เลย เพราะการนำหลักมาจากทักษิณ และแกนนำใกล้ชิดทักษิณ สิ่งนี้สะท้อนถึงบทเรียนเช่นเดียวกับที่พวกเราประสบเมื่อเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ กล่าวคือ เป็นการเข้าร่วมโดยขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ที่สุดก็ยอมรับการนำของทักษิณและแกนนำไปโดยปริยาย

ในกรณีการชุมนุมของขบวนการเสื้อแดงล่าสุด ที่นำไปสู่ความรุนแรงและการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน และวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บทเรียนที่ชัดเจนคือ แกนนำการชุมนุมนำพาผู้ชุมนุมไปเผชิญกับความรุนแรง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคตน ยกตัวอย่าง การตั้งข้อเรียกร้องยุบสภาภายใน 7 วันหรือ 10 วัน แล้วยืนยันโดยไม่ยอมรับการต่อรองใดๆ ในที่สุด แม้ว่าข้อเสนอจากรัฐบาลจะยอมรับให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว การปลุกระดมชาวบ้านให้เข้าร่วมต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวและใช้อาวุธ ดังเช่นการปลุกระดมของขวัญชัย ไพรพนา ที่อุดรธานี การปล่อยให้มวลชนเผชิญกับการล้อมปราบเพื่อปลุกให้เกิดความเคียดแค้น การหวังให้เกิดการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมเพื่อเป็นเหตุทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล โดยอาศัยกองกำลังติดอาวุธจู่โจมทำร้ายทหาร สิ่งเหล่านี้สมควรได้รับการประณามที่ใช้ประชาชนเป็นเบี้ยทางการเมือง

เรื่องเช่นนี้แม้แต่นักวิชาการผู้สนับสนุนเสื้อแดงได้เขียนระบุในเว็บบอร์ดว่า เขารับรู้จากผู้นำการชุมนุมที่ใกล้ชิดกับแกนนำ ทราบว่าจะมีการนำการเคลื่อนไหวไปสู่ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในหมู่แกนนำและผู้นำอื่นๆ บทเรียนสำคัญคือ เมื่อรู้แล้วว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ใช้มวลชนเป็นเบี้ยทางการเมืองสังเวยชีวิตกับความรุนแรงทางทหารของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องศีลธรรมที่สำคัญยิ่ง ผู้นำการชุมนุมบางส่วนจึงถอนตัวออกจากการชุมนุม นักวิชาการผู้สนับสนุนเสื้อแดงได้พยายามเขียนวิจารณ์ในเว็บบอร์ด เครือข่ายสันติประชาธรรมของนักวิชาการที่เห็นใจในกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ออกแถลงการณ์วิจารณ์แกนนำด้วย

น่าเสียดายที่การกระทำเหล่านี้แม้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาทำได้ ทว่ามันยังไม่ดีเพียงพอกับความทุกข์ยาก บาดเจ็บ ล้มตายของผู้ร่วมชุมนุม พวกเขาไม่มีการกล่าวประณามภายในหมู่แกนนำด้วยกันเองภายหลังรับทราบผลที่เกิดกับผู้ชุมนุม เพื่อให้มวลชนเกิดการเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญนี้ว่า การที่แกนนำเสื้อแดงผลักดันมวลชนไปสู่ความรุนแรงซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้รัฐบาลลงมือเข่นฆ่าประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่อาจรับได้ และจะได้นำไปสู่การแยกตัวออกมาสู้โดยจัดตั้งองค์กรของตน ด้วยหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมบนผลประโยชน์ของประชาชน

ตรงกันข้าม พวกเขายังคงกลับมาร่วมคิดร่วมขับเคลื่อนบนฐานขบวนการคนเสื้อแดงของทักษิณและพวกต่อไปอีก ที่มุ่งแต่โจมตีรัฐบาลว่าเป็นผู้สร้างความรุนแรงแต่เพียงฝ่ายเดียว นับเป็นเรื่องน่าละอายแก่ใจอย่างยิ่ง ในกรณีการเคลื่อนไหวของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 ก็มีท่าทีเช่นเดียวกัน โดยไม่เคยประณามนักการเมืองและหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย ที่ไม่รับผิดชอบติดตามดูแลทุกข์สุขของคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนที่พวกตนนำพามาร่วมชุมนุม รวมไปถึงแกนนำที่ควรรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุม

ในกรณีการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ยังมีบทเรียนที่พวกเราได้เรียนรู้คือ การใช้การลอบสังหาร เสธ.แดง ซึ่งที่ผ่านมาพวกเรามีท่าทีวางเฉยต่อเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะเราคิดอยู่ในใจว่า มันเป็นเรื่องสมควรด้วยความเข้าใจไปเองว่า เสธ.แดงเป็นส่วนหนึ่งการผู้ก่อตั้งและร่วมฝึกกองกำลังต่างๆ ทั้งที่เป็นการ์ด และอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธ M79 เป็นเหตุให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต อย่างไรก็ตามความเข้าใจไปเองเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้กระจ่างชัด ยิ่งในทางการเมืองแล้ว การใช้วิธีการต่อสู้ด้วยความรุนแรง เช่น การลอบสังหาร นับเป็นวิธีการที่สมควรได้รับการประณาม แม้เราไม่ทราบว่าใครกระทำ แต่เราควรเรียกร้องและตรวจสอบรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลความสงบสุขของประชาชน ให้มีการสืบสวนสอบสวนทำความจริงให้ปรากฏ

ท่าทีเช่นนี้ควรใช้อย่างยิ่งกับกรณีการสลายการชุมนุม ทั้งกรณีวันที่ 10 เม.ย. และวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยเราควรประณามวิธีการที่รัฐบาลใช้การเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมมาทำลายความชอบธรรมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเหมารวมเป็นพวกที่ต้องได้รับการสลายการชุมนุมในคราวเดียวกัน ทั้งที่ควรแยกแยะผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมทางการเมืองโดยสันติออกจากกลุ่มติดอาวุธ และใช้เวลาโน้มน้าว ต่อรอง และช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่มาชุมนุมเหล่านั้นให้เป็นที่เข้าใจ นอกจากนี้เรายังควรเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการใช้อำนาจและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อป้องกันมิให้มีการกลบเกลื่อนการกระทำที่ลุแก่อำนาจใดๆ

การที่เราวางเฉยไม่แสดงท่าทีเหล่านี้ออกไป ในทางการเมืองแล้ว นอกจากอาจถูกเข้าใจผิดจากนักกิจกรรมและปัญญาชนว่า เรายังคงเป็นพวกนิยมเสื้อเหลือง ที่สำคัญ เรายังขาดความรับผิดชอบต่อการร่วมสร้างหลักการที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่มวลชน และจัดตั้งพวกเขาให้เข้มแข็ง พวกเราได้แต่ยืนนิ่งเฉยขณะที่นักกิจกรรม และคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวเลือกข้างกันเป็นฝักฝ่ายอย่างน่าเป็นห่วง

เช่นเดียวกับในกรณีที่มีการต่อสู้ทางการเมือง ด้วยวิธีการก่อวินาศกรรม และส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา เราไม่ทราบชัดเจนในท้ายสุดว่า คนเสื้อแดงมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยหรือไม่อย่างไร ทว่าผลของการกระทำสิ่งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการโจมตีรัฐบาลว่า ไม่มีความสามารถในการควบคุมให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ และพยายามคง พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เพื่อใช้เป็นอำนาจเผด็จการของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและหรือกลุ่มพวกอำมาตย์ก็ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความรุนแรง ในการกวาดล้างปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า การนิ่งเฉยของบรรดานักวิชาการ นักกิจกรรม ปัญญาชน และคนรุ่นใหม่ที่นิยมเสื้อแดง สะท้อนให้เห็นแนวโน้มทางการเมืองชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อสติปัญญาของทุกคนนั่นคือ ลัทธินิยมพรรคพวก (Sectarianism) กล่าวคือ ตราบใดที่พวกเขายังคงหวังพึ่งขบวนการเสื้อแดงเป็นฐานการเคลื่อนไหว ตราบนั้นพวกเขาจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งประณามพวกเดียวกันเองได้อย่างถึงที่สุด ด้วยกลัวสูญเสียแนวร่วมนี้ไป ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายอย่างหนักหน่วงก็คือ หลักการที่ถูกต้องชอบธรรมของการต่อสู้ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง

อันที่จริงพวกเขาส่วนใหญ่ก็เคยเป็นฝ่ายซ้ายที่นิยมมาร์กซมาก่อน พวกเขาควรระลึกถึงคำเตือนของมาร์กซที่เขียนไว้อย่างชัดเจน ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ถึงปัญญาชนว่า ให้ยึดถือผลประโยชน์ของมวลชนเป็นที่ตั้ง และกระทำตนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของมวลชน ยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวก ยิ่งกว่าการยึดมั่นถือมั่นในหลักการของพรรคพวก ข้อเตือนใจนี้ใช้ได้เสมอ เมื่อปัญญาชนเผชิญและตีความความเป็นจริงตรงหน้าอย่างไม่ครบถ้วน เป็นเสี้ยวส่วน และยึดถือเพียงด้านเดียว โดยเพียงเพื่อสนองตอบผลประโยชน์ของพรรคพวก หาใช่ผลประโยชน์ของประชาชนไม่

 

บทเรียนต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง

ขบวนการเสื้อแดงนั้น ไปไม่พ้นประชาธิปไตยตัวแทนของระบบเสรีนิยม ซึ่งยืนยันสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง “หนึ่งเสียงของประชาชน” โดยไม่สนใจฐานเงินทุนของกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ไม่สนใจถึงการขยายประชาธิปไตยให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง เช่น การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ ผู้พิพากษา หรือประชาธิปไตยทางตรงของคนงาน ชาวนาชาวไร่ต่อการควบคุมการผลิตเป็นต้น สิ่งนี้นับเป็นบทเรียนที่น่าเรียนรู้ของเราอย่างยิ่ง

ระยะเวลา 37 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบันที่สังคมไทยมีประสบการณ์กับประชาธิปไตยตัวแทนแบบเสรีนิยมนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า การยอมรับว่าประชาธิปไตยคือ สิทธิเสรีภาพของการเลือกตั้งของประชาชนเพียงอย่างเดียว นับเป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้อีกต่อไป เมื่อเราพบว่า รัฐบาลที่มาจากระบบประชาธิปไตยนั้น สามารถครอบงำอำนาจทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยทุนเป็นใหญ่ โดยทุนสามารถทำให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งของประชาชน กลายเป็นสินค้าที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ด้วยการอาศัยการอุปถัมภ์ค้ำชู และการโปรยหว่านผลประโยชน์กับประชาชน ดังนั้นสิทธิเสรีภาพนี้มิอาจแก้ปัญหารัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมได้ เพราะในเกมการเลือกตั้ง กลุ่มทุนใหญ่มีโอกาสกลับเข้ามาผูกขาดอำนาจได้เสมอ

การจำกัดบทบาทของประชาชนเป็นเพียงผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น หรือเป็นเพียงกลุ่มกดดันทางการเมือง เท่ากับเป็นการผลักให้อำนาจการเมืองอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มทุนตลอดไป เพราะในสถานการณ์ปกติ ประชาชนมักอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไร้พลัง ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับการทำงาน และเป็นไปตามอารมณ์ และความคิดที่ตกอยู่ใต้การครอบงำโดยอุดมการณ์ของรัฐ ดังนั้นการที่ผู้นิยมเสื้อแดงระบุแต่เพียงว่า หากเห็นว่ารัฐบาลไร้ความชอบธรรม ก็อย่าเลือกในสมัยหน้า เป็นการจำกัดอำนาจของประชาชนเพียงด้านเดียว

การใช้อำนาจของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยนั้น ยังมีการแสดงออกในอีกด้านหนึ่ง คือ สิทธิในการปฏิวัติ (Right of revolution) อีกด้วย ประชาชนที่เข้าร่วมใช้สิทธิในการปฏิวัติ จะแสดงออกซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างมีจิตสำนึกที่มีคุณภาพสูงกว่ามากมายมหาศาล เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากข้อจำกัดของชีวิตการทำงาน และการครอบงำทางอุดมการณ์ของรัฐ แล้วรวมตัวจัดตั้งตนเองอย่างเป็นประชาธิปไตยที่มีตัวแทนทางตรงเข้าร่วมใช้อำนาจ

สิทธิการปฏิวัติหรือสิทธิของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ ที่สะท้อนถึงการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในการโค่นอำนาจรัฐที่กดขี่ขูดรีด และปราบปรามทำร้ายประชาชน สิทธินี้ได้รับการรับรองจากประสบการณ์การปฏิวัติอเมริกาปี ค.ศ.1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 ในแถลงการณ์ประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริการะบุว่า

“มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม และได้รับสิทธิที่แน่นอนที่ไม่อาจแย่งชิงเอาไปได้ สิทธิเหล่านี้มีสิทธิการมีชีวิต มีเสรีภาพ และสิทธิในการใฝ่หาความสุขดำรงอยู่ด้วย เพื่อที่จะรับประกันสิทธิเหล่านี้ ผู้คนจึงได้ตั้งรัฐบาลขึ้นมา อำนาจอันชอบธรรมของรัฐบาลเหล่านี้มาจากความเห็นชอบด้วยของผู้อยู่ใต้การปกครอง ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลประเภทใด หากรัฐบาลสูญเสียเป้าหมายข้างต้นนี้ไปแล้ว การที่จะยกเลิกรัฐบาลเหล่านั้นเมื่อไรก็ได้ แล้วทำการสถาปนารัฐบาลใหม่ ที่ตั้งอยู่บนหลักการที่ให้ความสุข ความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นอย่างดีที่สุด การจัดตั้งอำนาจของรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงเป็นสิทธิของประชาชน ในกรณีที่รัฐบาลใดได้แสดงเจตนา บีบบังคับให้ประชาชนจำนนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่มีจุดหมาย กดขี่ ขูดรีด และทำร้ายประชาชนอย่างยาวนาน จึงย่อมเป็นหน้าที่ และสิทธิของประชาชนในการที่จะโค่นรัฐบาลนั้น และสถาปนาองค์กรใหม่ที่จะปกป้องและรับใช้ประชาชนเพื่อความปลอดภัยแก่อนาคตของพวกเขาเอง”

 

สิทธิในการปฏิวัติเกิดขึ้นในสถานการณ์ปฏิวัติที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการได้แก่

1. รัฐสูญเสียความชอบธรรมในด้านอุดมการณ์และการเมืองถึงขั้นวิกฤต ในสายตาของมวลชน

2. กลไกปราบปรามของอำนาจรัฐเกิดความแตกแยก ทำให้ชนชั้นปกครองไม่อาจใช้กลไกนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และบางส่วนเห็นอกเห็นใจประชาชนที่ทำการต่อสู้อย่างเสียสละ

3. เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนเรือนแสนเรือนล้านอย่างเข้มแข็ง โดยรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของตนเอง (Self organization) เกิดเป็นอำนาจคู่ (Dual power) ที่ท้าทายกับอำนาจรัฐเดิม

ในกรณีสังคมไทย ได้เกิดสถานการณ์ปฏิวัติของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้งแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์โค่นรัฐบาลทักษิณปี 2549 บทเรียนของทุกครั้งคือ ปัญญาชนล้มเหลวที่จะนำพาประชาชนจัดตั้งองค์กรของตนเองในรูปแบบของสภาประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง และขาดการตระเตรียมข้อเสนอหรือเค้าโครงการเพื่อเข้าแทนที่อำนาจรัฐเดิม ตรงกันข้ามกลับหวังพึ่งพิงอำนาจอื่นๆ เรื่อยมา ซึ่งที่สุดก็กลายเป็นการกระทำแทนประชาชน โดยอำนาจหลุดมือไปจากประชาชนไปสู่กลุ่มทุนครั้งแล้วครั้งเล่า

สภาประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ และเค้าโครงการ คือ การใช้ประชาธิปไตยทางตรงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนจัดตั้งตนเองเป็นกลุ่มอย่างกว้างขวาง และเลือกตั้งผู้แทนของกลุ่มตนมาร่วมใช้อำนาจ และสามารถถอดถอนได้ทุกเมื่อหากผู้แทนนั้นไม่อาจทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การใช้อำนาจในการพัฒนาสังคมย่อมเป็นการร่วมกันพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการใช้ทรัพยากรในการผลิต และการบริโภคโดยพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและสังคมอย่างเป็นธรรม

หากนี่คือยุทธศาสตร์การต่อสู้ ในหนทางระยะผ่านที่ไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว ขบวนการภาคประชาชนจำเป็นที่จะต้องสะสมชัยชนะจากการต่อสู้ในกรณีต่างๆ และในหลายกรณีที่การเคลื่อนไหวต่อสู้นั้นย่อมมีโอกาสที่จะต้องพึ่งพาอาศัยแนวร่วม มาช่วยให้เกิดชัยชนะ บทเรียนสำคัญคือ เราควรกระทำสิ่งนี้โดยสามารถรักษาความเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองของเราไว้ให้ได้ โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน และยุทธศาสตร์การต่อสู้ไว้ให้มั่นคง เพื่ออาศัยสิ่งเหล่านี้มายกระดับและจัดตั้งมวลชนให้เข้มแข็ง กล่าวคือ ให้มวลชนได้เห็นข้อจำกัดของแนวร่วมเหล่านี้ และเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยแตกหักกับมายาคติที่หวังพึ่งพิงนักการเมือง การเลือกตั้ง กองทัพ การปฏิรูปประเทศ หรือการประนีประนอมทางชนชั้น เพื่อตัดตรงไปสู่การต่อสู้เพื่อสะสมชัยชนะและยกระดับจิตสำนึกของมวลชนที่แตกต่างหลากหลายให้เป็นเอกภาพ และทำการต่อสู้เพื่ออำนาจของพวกเขาอย่างแท้จริง

การถอดบทเรียนครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อความคิดตกผลึกอย่างชัดเจนและหนักแน่น พวกเราจะสามารถเชิดหน้ายืดอก ก้าวเดินสู่สนามการต่อสู้ได้อย่างองอาจ เชื่อมโยงการทำงานเคลื่อนไหว งานจัดตั้ง และงานกลุ่มศึกษาได้อย่างมียุทธศาสตร์เพื่อสร้างขบวนการภาคประชาชนที่เป็นอิสระ ที่สำคัญยิ่งคือ เราจะได้ไม่ทำผิดซ้ำสองอีกในภายภาคหน้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเสวนา: “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ตอนที่ 1

Posted: 11 Dec 2010 06:38 AM PST

ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาอภิปรายการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์จาก สมบูรณาญาสิทธิ์สู่ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้โครงเรื่องนิทานแจ๊คกับยักษ์ และเทพปกรณัมว่าด้วยกล่องแพนโดร่า

กลุ่มนิติราษฏร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฏร) จัดอภิปรายเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 – ๑16.00 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้อง แอลที 1 และ แอลที 2

วิทยากรผู้เข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ณัฐพล ใจจริง และวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินการอภิปรายโดย ธีระ สุธีวรางกูร

ผู้อ่านสามารถติดตามการรายงานโดยละเอียด ซึ่งประชาไทจะทยอยนำเสนออย่างต่อเนื่อง

วันนี้ผมจะมาพูดในหัวข้อที่ทางคณะผู้จัดได้นำเสนอ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนออาจจะเป็นเรื่องนิทานแล้วก็เทพปกรณัม

หัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้คือเรื่อง แจ๊คกับยักษ์ แล้วก็กล่องแพนโดร่าในรัฐธรรมนูญของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในช่วง 2475 จนถึง 2490

อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย สวัสดีครับพลเมือง นิสิตนักศึกษาทุกท่าน ผู้แสวงหาความรู้และมีความตื่นตัวในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยทุกท่าน การอภิปรายในวันนี้ของพวกเราก็คือการยืนยันและเชิดชูระบอบประชาธิปไตยที่กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ 2475 วันนี้เป็นโอกาสดีและเหมาะสมด้วยกาละเทศะที่พวกเรามาประชุมกันในวันนี้คือวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และในสถานที่ก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นผลผลิตโดยตรงจากการปฏิวัติ 2475

การอภิปรายวันนี้ของผมจะวางอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และกฎหมาย 6 ฉบับก็คือ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475, 10 ธันวาคม 2475, รัฐธรรมนูญฉบับ 2489, รัฐธรรมนูญฉบับ 2490, รัฐธรรมนูญฉบับ 2492, รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไข 2495  

สิ่งที่ผมอภิปรายวันนี้จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญภายหลังการปฏิวัติ 2475 ส่วนที่ 2 ก็คือการอภิปรายถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลัง 2490 และรัฐธรรมนูญ 2492

เนื้อหาและช่วงเวลาที่จะอภิปรายของผมคือ เป็นการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ องค์กร และระบอบการปกครองของไทยที่อยู่ระหว่าง 2475 จนถึง 2490 เป็นเวลาประมาณ 15 ปีของการเมืองไทย ในเวลาดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรก 2475 จนถึง 2478 เป็นเวลากว่า 3 ปีที่อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ส่วนที่ 2 จะเป็นช่วง 2479 จนถึง 2490 เป็นเวลาประมาณ 11 ปีที่อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

 

Episode 1

แจ๊คจับยักษ์ใส่กล่อง: จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

เรื่องราวที่ผมจะอภิปรายจะดำเนินไปบนเทพปกรณัมของกรีก ก็คือเรื่องของกล่องแพนโดร่า และนิทานที่พวกเรารู้จักดีก็คือ แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ หรือว่า Jack and the Beast จากหนังสือ English Fairly Tale ซึ่งเป็นเทพนิยายที่เล่าขานกันในอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 พวกเราคงทราบดีว่าเทพปกรณัมของกรีกเรื่องกล่องแพนโดร่านั้น ก็คือการพูดถึงเรื่องกำเนิดของมนุษย์ ปัญหาก็คือ เมื่อบรรดาเทพของกรีก ตามตำนานแต่งโดยกวีที่ชื่อ เฮซิออด (Hesiod) บอกว่าเมื่อสร้างมนุษย์โลกขึ้นมาแล้ว ก็มีมนุษย์ผู้ชายอยู่เต็มไปหมดเลย ต่อมาก็มีเทพคนหนึ่งชื่อ  Prometheus ได้ขโมยไฟจากสรวงสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความกล้าหาญและมีความไม่ยอมรับเทพเจ้า ซูส (Zeus) ก็เลยโมโหสร้างเทพีขึ้นมาคนหนึ่งชื่อ แพนโดร่า ก่อนจะส่งเทพีแพนโดร่ามาจุติบนโลกก็สั่งให้ถือกล่องมาด้วยกล่องหนึ่ง แล้วก็สั่งว่าอย่าเปิดกล่องๆ นี้  แต่ปรากฏว่าพอเทพีแพนโดร่าลงมากำเนิดบนพื้นมนุษย์ ก็ได้อยู่อาศัยกับมนุษย์ผู้ชายแล้วก็แตกลูกแตกหลานเป็นมนษย์เต็มไปหมดเลย

วันหนึ่งด้วยความอยากรู้อยากเห็น เทพีแพนโดร่าอยากรู้มากว่ากล่องที่มหาเทพซูสฝากให้มาแล้วห้ามเปิดมันคืออะไร นางแพนโดร่าก็เดินไปเปิด ทันทีที่สลักของกล่องแพนโดร่าเปิดออก ความชั่วร้ายทั้งมวลที่อยู่ในกล่องก็พุ่งพวยออกมาสู่โลกมนุษย์ นางแพนโดร่าตกใจแล้วก็รีบปิดกล่อง สิ่งเดียวที่ขังเอาไว้ในกล่องของแพนโดร่าก็คือ ความหวังของมนุษยชาติเท่านั้น นอกนั้นสิ่งที่ออกมาเป็นความชั่วร้ายทั้งหมด

อีกเรื่องหนึ่งที่จะเปรียบเปรยก็คือ เรื่องแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ เรื่องก็คือกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ มีแม่และลูก ค่อนข้างยากจน แม่ก็ให้ลูกจูงวัวไปขายที่ตลาด ระหว่างลูกชายจูงวัวไปขายที่ตลาดก็พบชายแก่ถือเมล็ดถั่วมากำหนึ่ง แล้วก็ขอแลกกับวัว แจ๊คก็ยอมแลกกับวัวแล้วก็เอาถั่วกลับบ้านไป ปรากฏว่าแม่โมโห บอกว่าให้เอาวัวไปขายไปเอาตังค์มา ปรากฏว่าแจ๊คเอาวัวไปแลกถั่วบ้าๆ บอๆ แม่ก็เลยเขวี้ยงถั่วออกไปนอกหน้าต่าง วันรุ่งขึ้นแจ๊คมาดูปรากฏว่าถั่วมันงอกสูงไปจนถึงท้องฟ้า แจ็คก็สงสัยก็ไต่ขึ้นไป ไต่ขึ้นไปบนสวรรค์ พอขึ้นถึงสวรรค์ก็พบปราสาทที่วิจิตรอลังการ แจ๊คก็เข้าไปแล้วก็พบว่าในนั้นมียักษ์อยู่ แจ๊คก็ไปหลบอยู่ ปรากฏว่าท้ายที่สุดแล้วแจ๊คจะเห็นถึงความหรูหราของยักษ์ แล้วก็พบว่ายักษ์นั้นพอกินอาหารเสร็จก็มีการนำของดีๆ มาให้ยักษ์ดู เช่น ไก่ออกเป็นทอง แจ๊คก็อยากได้เอากลับลงมา ปรากฏว่าแจ็คก็เตรียมขโมยเอาของเหล่านั้นกลับมา นางยักษ์ที่อยู่บนสวรรค์บอกว่าของพวกนี้มันเป็นของที่อยู่บนโลกมนุษย์มาก่อน แต่ว่ายักษ์ขโมยไป แจ๊คก็เอาของพวกนี้ไต่กลับลงมา ยักษ์พอรู้ก็เลยไต่ตามลงมาด้วย พอแจ็คถึงพื้นก็รีบเอาขวานฟันต้นถั่วให้โค่นลงมา ยักษ์ก็ตกลงมาตาย นี่ก็คือส่วนแรกที่เป็นส่วนนำ

ส่วนที่หนึ่งที่ผมจะพูดหลังจากได้นำเรื่องในการเปรียบเปรยในเชิงเทพปกรณัมก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475 ในภาคที่ 1 หรือ Episode 1 ก็คือ แจ๊คจับยักษ์ใส่กล่อง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัยพระปกเกล้า 2475 จนถึง 2478 อย่างที่กล่าวแล้วคือ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว การปฏิวัติ 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏประโยคที่ไพเราะเพราะพริ้งที่สุดในความเห็นของผม ก็คือประโยคที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน จะพยายามแก้ปัญหาความคลางแคลงใจของผู้ปกครองในระบอบเก่าด้วยการบัญญัติในมาตราที่ 4 ว่า ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศก็คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 5 ถ้ากษัตริย์มีความจำเป็นชั่วคราวที่ทำหน้าที่ไม่ได้ ให้คณะราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทน มาตราที่ 6 กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องตามคดีอาชญาตามโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะวินิจฉัย และมาตราที่ 7 การกระทำใดๆ ของกษัตริย์จะต้องคณะกรรมการราษฎรผู้ใดผู้หนึ่งลงนาม มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ดังนั้นสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุด ก็คือคณะราษฎรประกาศก้องว่า นับจากนี้ไปอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ดังนั้นการกระทำของกษัตริย์จะกระทำโดยพละการไม่ได้ หากกษัตริย์ทำหน้าที่ไม่ได้คณะรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้สิทธิของกษัตริย์นั้นแทน และหากกษัตริย์กระทำความผิดย่อมต้องถูกวินิจฉัย

ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ก็คือแจ็คหรือคณะราษฎรได้ทำการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นก็คือการจับยักษ์ใส่กล่อง ก็คือเพื่อจำกัดอำนาจของกษัตริย์ แม้ว่าพระปกเกล้าจะทรงวางพระทัยว่ายังทรงเป็นกษัตริย์อยู่เช่นเดิม แต่อำนาจได้ถูกจำกัดไปเสมือนกับยักษ์ไม่มีตะบอง นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรงไม่ยอมรับและตัดสินใจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ชั่วคราว จากนั้นเหล่ายักษ์ก็ได้เริ่มต้นต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองโดยแจ๊ค เป็นของแจ๊ค และเพื่อแจ๊ค

ในหัวข้อต่อไปผมจะพูดถึงความล้มเหลวของการปรับตัวอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัชสมัยพระปกเกล้า นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ที่มุ่งสถาปนารัฐประชาชาติขึ้น หรือรัฐที่หมายถึงประชาชนที่มีความเท่าเทียมกันประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐ การสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยด้วยการทำให้กษัตริย์มีอำนาจจำกัด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ราชาธิปไตยแบบจำกัดอำนาจ หรือ Limited Monarchy เพื่อไม่ให้พระองค์ใช้อำนาจทางการเมืองได้ตามเดิมอีก ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 คือการถ่ายโอนอำนาจในการปกครองที่เคยอยู่กับกษัตริย์กลับคืนสู่เจ้าของเดิมคือประชาชน ด้วยการบัญญัติในมาตราที่ 1 ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่ความพยายามในการจำกัดอำนาจกษัตริย์และการสร้างความเสมอภาคของพลเมืองโดยคณะแจ๊คหรือคณะราษฎร กลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากปรปักษ์ของการปฏิวัติอย่างรุนแรง เพื่อทำให้พวกเขาจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองไทยใหม่ แม้ว่าความพยายามของพวกเขาช่วงแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ การรัฐประหารเงียบด้วยการออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภาผู้แทนในปี 2476 การลอบสังหารคณะราษฎรในปี 2476 และการพ่ายแพ้ของกบฎบวรเดช 2476 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปี 2476 จึงเป็นปีที่พระปกเกล้าทรงพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องในการกอบกู้สถานการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัติที่จะเกิดประโยชน์กับพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงอาจจะประเมินถึงสถานการณ์ที่เป็นสัญญาณที่ไม่เป็นคุณ จึงทรงเดินทางออกนอกประเทศ จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบในการแต่งตั้งให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระองค์แรกและเป็นผู้สำเร็จราชการของกษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยสภาผู้แทนกำหนดให้พระองค์ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 12 มกราคม 2477 ก็คือวันที่พระปกเกล้าเดินทางออกนอกประเทศ

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึงผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารแผ่นดินในพระปรมาภิไธยหรือพระนามาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ขณะนั้นจะไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือทรงประชวร หรือไม่สามารถบริหารราชการได้ หรือไม่อยู่ในประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ก็ได้อนุญาตให้ตั้งขึ้นได้ ความว่า “ในมาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารราชภารกิจไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งหรือไม่สามารถทรงแต่งตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว”

หัวข้อต่อไปก็คือ สถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ เมื่อสภาผู้แทนได้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระปกเกล้าแล้ว เนื่องจากพระปกเกล้าทรงเสด็จออกนอกประเทศหลังความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงต้องการรักษาอาการประชวร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติจะมีความราบรื่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระหว่างที่พระปกเกล้าจะไม่อยู่ในประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทรงยินยอมร่วมมือหรือเห็นชอบกับรัฐบาลรัฐประชาชาติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตกค้างจากระบบเก่า เพื่อสร้างความเป็นสมัยใหม่และสร้างความเสมอภาคให้กับพลเมืองของรัฐประชาชาติ เช่นการที่คณะราษฎรพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ การไม่ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติหลายฉบับที่ลิดรอนอำนาจ ความเป็นเจ้าชีวิต และพระราชทรัพย์ไปจากพระองค์ เช่น รัฐบาลต้องการผลักดันการแก้ไขกฎหมายประมวลอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาที่เคยกำหนดโทษประหารชีวิตด้วยการฟันคอเป็นการยิงเสียให้ตายนั้น พระองค์ไม่เห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าวของรัฐบาล แต่ทรงต้องการเป็นผู้วินิจฉัยเหนือคำพิพากษาของศาลในการปลิดชีวิตนักโทษ เพื่อรักษาสถานะของการเป็นเจ้าชีวิตเอาไว้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงคนของกษัตริย์ไปเป็นคนในรัฐนั่นเอง ตลอดจนคณะราษฎรได้พยายามผลักดันการเก็บภาษีมรดกแต่ก็ได้รับการต่อต้านจากพระองค์มากเช่นเดียวกัน

เมื่อความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ในระบอบเก่ากับรัฐบาลระบอบใหม่หรือรัฐประชาชาติดำเนินต่อไป พระองค์ได้ยื่นข้อเรียกร้องมากขึ้นตามลำดับ และท้ายสุดแล้วพระองค์ก็โจมตีว่าคณะราษฎรนั้นเป็นเผด็จการในการรวบอำนาจไว้เพื่อแต่งตั้งสมาชิกประเภท 2 แต่ข้อเท็จจริงแล้วสิ่งนี้ได้รับการเปิดเผยอีกครั้งในการแถลงของรัฐบาลจอมพล ป.ต่อรัฐสภา บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ ฉบับ 10 ธันวาคมร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และพระยามโนปกรณ์ พวกเราคณะราษฎรนั้น นานๆ พระยามโนปกรณ์ก็เรียกประชุมถามความเห็น หรือเรียกประชุมแจ้งพระประสงค์ของพระปกเกล้าให้ฟังเป็นบางคราว ในที่ประชุมนั้นถ้าเราไม่ยอมทำตามก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่ และเราก็ต้องยอม นอกจากนี้จอมพล ป.ยังแถลงกับสภาผู้แทนว่า ความต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่งตั้งด้วยอำนาจพระมหากษัตริย์มาถึง 10 ปีนั้น ไม่ได้มาจากคณะราษฎรแต่มาจากความต้องการของพระปกเกล้า ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมที่เรามาพูดกันในวันนี้นั้น คณะนักกฎหมายที่ร่างทั้งหมดเป็นนักกฎหมายรอยัลลิสต์ มีนายปรีดี พนมยงค์ คนเดียวที่เป็นตัวแทนของคณะราษฎร ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่สิ่งที่จอมพล ป.บอกกับสภาผู้แทนในวันนั้นเป็นความจริง

ดังนั้น ขบวนการต่อต้านการปฏิวัติที่พระปกเกล้าทรงให้การสนับสนุน รวมทั้งข้อเรียกร้องของกษัตริย์ข้างต้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ เหมือนที่พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยแถลงต่อสภาผู้แทนว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ยื่นต่อรัฐบาลและสภานั้นเป็นการขัดต่อระบอบรัฐธรรมนูญ สุดท้ายแล้วพระปกเกล้าก็ทรงสละราชย์ในปี 2477 ย่อมหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศราฯ ที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการได้สิ้นสุดลงเช่นกัน แม้ว่าพระยาหพลฯ ได้ทาบทามให้ทรงดำรงตำแหน่งต่อก็ตาม แต่ก็ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลก็คือชรา ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองจากระบอบเก่ากับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติก็ได้จบสิ้นลง รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นองค์กรผู้ถืออำนาจอธิปไตยแทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ก็หมายความว่าความขัดแย้งอันนั้นสภาผู้แทนเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของพระปกเกล้า

 

Episode2:

ยักษ์ในกล่องของแจ๊ค

บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2478 จนถึง 2489 คณะผู้สำเร็จราชการในสมัยรัชกาลที่ 8 กับการวางแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญกับรัฐบาล

เมื่อพระปกเกล้าสละราชย์แล้ว รัฐบาลและสภาผู้แทนได้พิจารณาทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้นยังทรงพระเยาว์ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ สภาผู้แทนจึงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนขึ้น ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธานผู้สำเร็จราชการ คนที่สองก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา คนที่สามก็คือ เจ้าพระยายมราช

หลังจากที่สภาผู้แทนมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จขึ้นแล้ว คณะผู้สำเร็จได้เข้าปฏิญาณต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2477 ว่า “ข้าพเจ้าได้รับมติการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนครั้งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติยศอย่างสูงและสำคัญมาก ข้าพเจ้าจะได้ตั้งใจเพียรพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ในหน้าที่นี้จนสุดกำลังและสติปัญญาที่พึงจะกระทำได้ให้ถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญจงทุกประการ เพื่อความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญสืบไป”

ในช่วงเวลาดังกล่าว บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านคณะผู้สำเร็จราชการของรัฐบาลดำเนินไปด้วยดี เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2477 โดยคณะผู้สำเร็จยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมายนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยอมให้รัฐบาลของรัฐประชาชาติเข้ามาจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ แต่การที่คณะผู้สำเร็จตัดสินใจให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้นั้น พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศซึ่งทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จได้รับการกดดันมากจากพระราชวงศ์ชั้นสูง จึงทำให้พระองค์นั้นปลงพระชนม์ตัวเอง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2478 พระยาพหลฯ ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า พระองค์ปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการด้วยความเรียบร้อย แต่พระองค์ลำบากใจในการปฏิบัติงานในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของพระปกเกล้า ได้ทรงถูกเจ้านายบางพระองค์กล่าวเสียดสีและการปฏิบัติงานของพระองค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการ จึงได้ทรงปลงพระชนม์เอง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้นยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่มีพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์จำนวนหนึ่งปฏิเสธการยอมรับระบอบใหม่ และกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของประธานผู้สำเร็จราชการจนพระองค์ต้องปลงพระชนม์ตัวเอง จากพวกฝ่ายเจ้านายและฝ่ายที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้เราต้องสูญเสียประธานคณะผู้สำเร็จราชการที่ยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมา สภาได้มีการเลือกตั้งซ่อมคณะตัวแทนที่ว่างไป ก็คือได้ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) แทนพระองค์เจ้าออศคาร์ ต่อมาสภามีมติให้แต่งตั้งพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นประธานผู้สำเร็จ พระองค์เจ้าอาทิตย์เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ให้การสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลและสภาผู้แทนเริ่มเกิดแบบแผนขึ้น ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาเรื่องการขายที่ดินของพระคลังข้างที่ปี 2480 ทำให้คณะผู้สำเร็จราชการต้องลาออก แต่สภาผู้แทนได้เลือกคณะผู้สำเร็จชุดเดิมกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก จากเหตุปัญหาการขายที่ดังกล่าว ทำให้พระยาหลฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน แต่สภาผู้แทนก็เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของรัฐบาลและผู้สำเร็จราชการก็เห็นด้วยกับสภาผู้แทน จึงแต่งตั้งพระยบาพหลฯ กลับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลานี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่จะเห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่วางอยู่บน และให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นตัวแทนประชาชนอย่างมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ในช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงปลายทศวรรษ 2480 ราวกว่า 11 ปีภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นช่วงที่รัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติเดินหน้าสร้างความก้าวหน้าเป็นสมัยใหม่ ความเสมอภาค และรัฐบาลได้ผลักดันกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมอย่างสำคัญ เช่น การออก พรบ.การใช้ประมวลรัษฎากร เพื่อการยกเลิกเงินรัชชูปการ ภาษีสมพัดสร และอากรค่านา การสร้างความเป็นสมัยใหม่ในทางวัฒนธรรม การประกาศรัฐนิยม การเปลี่ยนชื่อประเทศโดยประธานผู้สำเร็จราชการให้การสนับสนุนการเดินหน้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เห็นได้จากการที่พระองค์ยอมรับทรงแต่งกายเป็นสากล

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตามภายหลังที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและไทยยอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ เมื่อสถานการณ์สงครามในยุโรปเริ่มแปรเปลี่ยนไป ฝ่ายอักษะเริ่มตกเป็นฝ่ายรับจากฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ได้เริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อจอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่งแล้ว นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการได้เชิญประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นก็คือ พระยามานวราชเสวี ปรึกษาถึงสถานการณ์และสนับสนุนให้นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยผู้สำเร็จราชการขณะนั้นก็คือนายปรีดีได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล ป.เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ในช่วงปลายที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะจะจบสิ้นลง นายปรีดีและสมาชิกคณะราษฎรในฐานะผู้สำเร็จราชการพยายามปรองดองกับพระราชวงศ์ชั้นสูงและพวกรอยัลลิสต์ ด้วยการผลักดันให้การอภัยโทษและคืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่นักโทษทางการเมืองที่เป็นเจ้านายชั้นสูง เช่น นายรังสิต ประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา กลับคืนเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพวกรอยัลลิสต์ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติเมื่อปี 2475 ในหลายกรณี โดยนายปรีดีหวังว่าจะเกิดความร่วมมือกันในการทำงานเพื่อชาติและลบล้างความขัดแย้งเมื่อครั้งเก่า แต่ความหวังของนายปรีดีนี้ ได้รับการตอบรับน้อยมากจากผู้มีอำนาจเก่าและเหล่าผู้สนับสนุน แล้วอะไรล่ะคือรางวัลที่พระราชวงศ์ชั้นสูงและพวกรอยัลลิสต์มอบให้นายปรีดีผู้ที่ปลดปล่อยพวกเขา

ไม่นานหลังจากสงครามสิ้นสุดลง พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงแต่งตั้งนายปรีดีเป็นรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ให้คำปรึกษากิจการราชการแผ่นดิน และทรงได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่สะท้อนให้เห็นถึงทรงยืนยันแบบธรรมเนียมที่กำเนิดขึ้นในการที่ทรงยินยอมเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นหลังการปฏิวัติต่อไป ดังนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในการสืบราชสมบัติเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลปี 2467 และการให้ความสำคัญกับรัฐสภาทั้งพฤฒิสภาและ สส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างเต็มที่

หลังสิ้นสุดรัชกาลด้วยโศกนาฏกรรมที่น่าฉงนและเริ่มต้นรัชกาลใหม่ สิ่งที่นายปรีดีรับรางวัลจากกลุ่มนักโทษกบฎต่อประชาธิปไตยที่นายปรีดีเคยปลดปล่อยคนเหล่านั้นก็คือ การถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในเวลาต่อมา

หัวข้อต่อไป ย้อนเวลากลับอดีต การรัฐประหาร 2490 กับการเปิดกล่องแพนโดร่า เมื่อยักษ์ออกจากกล่อง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ผู้ยอมรับแบบธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองที่คณะผู้สำเร็จราชการเป็นตัวแทนของพระองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ได้ทรงสวรรคตลงเมื่อ 9 มิถุนายน 2489 โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้บัญญัติให้สมาชิกพฤฒิสภาซึ่งมีอายุสูงสุด 3 คนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการชั่วคราว ประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย พระยานลราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์ คณะผู้สำเร็จราชการดังกล่าวเป็นคณะผู้สำเร็จเพียงประมาณสัปดาห์กว่าเท่านั้น คือ 9 ถึง 16 มิถุนายน 2489 คณะดังกล่าวก็ได้พ้นอำนาจไปเนื่องฝ่ายราชสำนักและกลุ่มรอยัลลิสต์ต้องการเข้าควบคุมทิศทางสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการต่อไป

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ปล่อยอดีตกบฎต่อต้านประชาธิปไตยให้มีอิสระ ดังนั้นไม่แต่เพียงในพื้นที่ทางการเมืองไทยหลังสงครามที่มากด้วยปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากสถานการณ์สงครามเท่านั้นที่ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญปัญหา แต่พื้นที่ทางการเมืองไทยขณะนั้นก็พลุกพล่านไปด้วยอดีตกบฎที่ชิงชังประชาธิปไตย ความเคลื่อนไหวของพวกเขามีส่วนในการสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองหลังสงครามให้ทวีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก แต่ขณะนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทรอดีตแกนนำในการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยได้ทรงพ้นโทษจากนักโทษเด็ดขาดฐานกบฎ อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดล ทรงได้เป็นแกนนำและมีอิทธิพลเหนือกลุ่มรอยัลลิสต์ในขณะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระราชินีของพระปกเกล้าทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่งที่เสด็จกลับจากอังกฤษมาไทย รายงานจากสถานทูตสหรัฐรายงานว่า ทรงมีความต้องการสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่การช่วงชิงการนำภายในการเมืองของราชสำนัก ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลงอย่างฉับพลัน ยิ่งมีส่วนเร่งการต่อสู้ทางการเมืองในราชสำนักให้แหลมคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติให้ผู้อาวุโสจากพฤฒิสภาเข้าดำรงตำแหน่งคณะผู้สำเร็จ ทำให้กลุ่มการเมืองในราชสำนักไม่พอใจ และเร่งให้เกิดการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการชุดใหม่แทนคณะชั่วคราวที่มาจากพฤฒิสภา ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในราชสำนักนั้น ดูเหมือนว่าเขาไม่สนใจความเป็นไปของชาติหลังสงคราม มากไปกว่าการจัดการเรื่องผลประโยชน์ของพวกเขาให้เสร็จสิ้น ด้วยการผลักดันฝ่ายตนเข้าคุมคณะผู้สำเร็จ

จากรายงานทางการทูต ได้รายงานการต่อสู้ในราชสำนักขณะนั้นว่าแบ่งออกเป็น 2 ปีก ปีกที่ 1 คือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงมีความต้องการเป็นผู้สำเร็จราชการเพื่อทบทวนสิทธิที่ควรจะเป็น ในขณะที่อีกปีกหนึ่งมีแรงผลักดันให้กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นตัวแทนในการปกป้องสิทธิที่มีอยู่ให้สืบเนื่องต่อไป สุดท้ายแล้วการประลองกำลังภายในราชสำนักก็จบสิ้นลง ด้วยราชสำนักเสนอกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธานคณะผู้สำเร็จ เป็นตัวแทนแต่เพียงพระนามเดียว ส่วนรัฐบาลขณะนั้นได้เสนอพระยามานวราชเสวีเป็นผู้สำเร็จ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวคณะผู้สำเร็จขณะนั้นรัฐบาลยังคงมีตัวแทนดูแลความเป็นไปของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้วางอยู่บนอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้

ไม่นานจากนั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตขึ้น การสอบสวนมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนอาจระบุผู้ต้องสงสัยได้ หลังจากคดีมีความคืบหน้าจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ของรัฐและพระราชวงศ์ชั้นสูงที่มีพระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าจุมภฏบริพัตร และพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลเป็นกรรมการ ไม่นานจากนั้นก็เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 การรัฐประหารดังกล่าวได้สำเร็จลงด้วยความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทรที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และทรงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ด้วยพระองค์เองโดยปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล

การกระทำของกรมขุนชัยนาทนเรนทรที่เป็นผู้สำเร็จราชการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ได้ถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงที่สุดด้วยการสนับสนุนให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 บทบาทดังกล่าวของผู้สำเร็จราชการที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นในการสนับสนุนรัฐประหาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองจำนวนมากที่ตามมา กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการหรือกรมขุนชัยนาทนเรนทรนั้น ได้ทำลายรากฐานความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลภายใต้ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อรูปขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงเสีย อันนำไปสู่ระบอบการปกครองอันแปลกประหลาดที่มีระบอบชื่อแจ๊ค แต่ไม่ใช่การปกครองของแจ๊ค โดยแจ๊ค และเพื่อแจ๊คอีกต่อไป กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กล่องแพนโดร่าถูกเปิดออกแล้ว

ส่วนที่สอง จากระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลังรัฐประหาร 2490 และการสถาปนารัฐธรรมนูญ 2492

 

Episode 3:

เมื่อยักษ์จับแจ๊คใส่กล่อง

หลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงลงพระนามยอมรับการอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในเช้าวันรุ่งขึ้นก็คือ 9 พฤศจิกายน 2490 รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่กรมขุนชัยนาทผู้สำเร็จพระองค์เดียวที่ลงนามยอมรับ ได้มีการแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้น ประกอบด้วยพระองค์เอง พระองค์เจ้าธานี พระองค์เจ้าอลงกต พระยามานวราชเสวี และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นคณะผู้สำเร็จราชการ เราอาจวิเคราะห์ได้ว่านี่เป็นความพยายามของพวกเขาที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนรัฐประหาร 2490 พวกเขาได้เข้ามาทำหน้าที่สถาปนิกทางการเมือง ด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขา เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 พวกเขาได้ประดิษฐ์ระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการขึ้น และเรียกประดิษฐกรรมทางการเมืองนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข

กล่าวอีกอย่างก็คือ เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ก็คือการ hijack อำนาจของแจ๊ค หรือการจี้อำนาจของแจ๊คไป หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ แจ๊คถูกจับใส่กล่องเสียแล้ว เมื่อพวกเขายึดอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เป็นระบอบของแจ๊ค เพื่อแจ๊ค และโดยแจ๊ค หรือการจำกัดสิทธิของประชาชนจนสำเร็จ พวกเขาได้สร้างคำปฏิญาณในการปกป้องรัฐธรรมนูญ 2492 นี้จนสุดชีวิตว่า

“มาตราที่ 22 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ ข้าพเจ้า ชื่อผู้ปฏิญาณ ขอปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนุญแห่งราขอาณาจักรไทยทุกประการ”

อาจวิเคราะห์ได้ว่า ยิ่งรัฐบาลสูญเสียการเหนี่ยวรั้งให้สถาบันกษัตริย์ยึดโยงกับแนวคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมากเท่าไร ก็อาจจะเกิดการเป็นปรปักษ์ต่อกันมากเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลังรัฐประหาร 2490 เกิดปัญหาอย่างมาก ปัญหาการสวรรคตอย่างฉับพลันของรัชกาลที่ 8 สร้างความวิตกให้กับราชสำนักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์เดินหน้าการสืบสวนหาสาเหตุอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความคิดของพระราชวงศ์ชั้นสูงและกลุ่มรอยัลลิสต์มีความต้องการยุติการเดินหน้าของรัฐบาลที่จะไขปัญหาปริศนา และพวกเขาได้เข้าร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความมั่นคงในการสืบราชสมบัติให้มากขึ้น จากเดิมที่บทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์มีอยู่เพียงไม่กี่มาตรา แต่หลังจากการสวรรคตและการรัฐประหาร 2490 แล้ว กลับมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มมาตราในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสืบราชสมบัติให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกบัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่ถูกร่างโดยกลุ่มรอยัลลิสต์จะมีบทบัญญัติการเสนอพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล การแต่งตั้งผู้สำเร็จได้มีการบัญญัติให้รัฐสภาให้ความเห็นก่อน เช่น การบัญญัติให้หลายกิจกรรมให้สภาเห็นชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีความศรัทธานะครับ แต่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาควบคุมรัฐสภาได้ต่างหากเล่า เพราะขณะนั้นสภาบนหรือพฤฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ในขณะนั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จ ส่วนสภาผู้แทนมีพรรคประชาธิปัตย์คุมเสียงข้างมาก พูดง่ายๆ ก็คือสภาบนก็แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์โดยผ่านคณะผู้สำเร็จ ส่วนสภาล่างก็มีพรรคประฃาธิปัตย์คุมเสียงข้างมาก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ถูกประกาศใช้ กรมขุนชัยนาทได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นเราอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าสถาบันกษัตริย์ขณะนั้นมีความมั่นใจมั่นการสนับสนุนจากสภาที่มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงให้กับการเปลี่ยนผ่าน และการเข้าสู่ระบอบที่อ้างชื่อแจ๊ค แต่ไม่ใช่เป็นการปกครองของแจ๊ค โดยแจ๊ค และเพื่อแจ๊คอีกต่อไป ไม่น่าประหลาดใจแต่ประการใดที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ได้มีบทบัญญัติให้คณะผู้สำเร็จต้องปฏิญาณต่อหน้ารัฐสภารอยัลลิสต์ว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ชั่วฟ้าดินสลาย

การเข้าเคลียร์พื้นที่ทางการเมืองและการเข้าแทรกแซงทางการเมืองสมัยรัฐบาลจอมพล ป.ของกรมขุนชัยนาท เพื่อปูทางทางการเมืองที่ราบลื่นให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ได้สร้างปัญหาความสัมพันธ์

ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหาร 2492 ดังเห็นได้จาก Bangkok Post ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ได้รายงานข่าวว่าผู้สำเร็จราชการขณะนั้นได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานการประชุมเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช การก้าวก่ายดังกล่าวของผู้สำเร็จราชการสร้างความไม่พอใจให้กับจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นอย่างมาก จนทำไปสู่การรัฐประหารในปลายปี 2494 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ลง การรัฐประหารดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงเสด็จนิวัติพระนครเพียงไม่กี่วัน เหตุผลของการรัฐประหารดังล่าวคือการลดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกไปจากการเมือง หลังจากนั้นจอมพล ป.ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้ใหม่ในช่วงสั้นๆ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธํนวาคม 2475 ได้จำกัดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์มากไปกว่าฉบับที่ถูกล้มไป ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่การรัฐประหาร 2494 ได้สร้างความไม่พอใจมาก เนื่องจากเป็นการยุติระบอบการเมืองที่พวกเขาได้พยายามสถาปนาขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น