โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รอมา 4 ปี-คนไทยเก็บเบอร์รีขึ้นศาลฟินแลนด์ฟ้องบริษัทในคดีค้ามนุษย์

Posted: 31 May 2017 02:06 PM PDT

หลังจากต้องรอคอยเป็นเวลากว่า 4 ปี ล่าสุด ศาลฟินแลนด์ นัดไต่สวนวันแรก คดีที่กลุ่มคนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย 50 คน เป็นโจกท์ฟ้องบริษัท Ber-ex ในคดีค้ามนุษย์ โดยเรียกร้องค่าเสียหายและเงินชดเชยรวม 12 ล้านบาท โดยหนึ่งในแรงงานไทยระบุต้องการฟ้องคดีเพื่อให้กิจการส่งคนงานไปเก็บเบอร์รีต่างประเทศมีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน ขอให้คนที่ไปต่างประเทศได้ทำงานและได้เงินส่งกลับบ้านจริงๆ

ตัวแทนคนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย 5 คน จากทั้งหมดที่ยื่นฟ้อง 50 คน เดินทางมาที่เมือง Kajaani จังหวัด Kainuu ประเทศฟินแลนด์ เพื่อขึ้นศาลจังหวัด Kainuu ในคดีที่พวกเขาเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท Ber-ex ในคดีค้ามนุษย์ หลังจากพวกเขาฟ้องคดีนี้ไว้เมื่อ 4 ปีก่อน (ที่มา: Facebook/Junya Yimprasert)

ตัวแทนคนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย 5 คน รวมทั้งทีมทนายความ ขึ้นศาลจังหวัด Kainuu ประเทศฟินแลนด์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ในคดีที่พวกเขาเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท Ber-ex ในคดีค้ามนุษย์ โดยเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยรวม 12 ล้านบาท (ที่มา: Facebook/Junya Yimprasert)

 

หลังจากต้องรอคอยเป็นเวลากว่า 4 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัด Kainuu ประเทศฟินแลนด์ นัดไต่สวนวันแรก คดีที่กลุ่มคนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย 50 คน เป็นโจกท์ฟ้องบริษัท Ber-ex ในคดีค้ามนุษย์ โดยเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยรวม 12 ล้านบาท หรือราว 3.1 แสนยูโร ประกอบด้วยค่าจ้างค้างจ่าย และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างไปทำงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์

ทั้งนี้ศาลฟินแลนด์จะไต่สวนคดีนี้เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน โดยทนายความของคนงานคือ Ville Hoikkala ซึ่งเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนของฟินแลนด์

โดยกลุ่มคนงานเก็บเบอร์รีที่ฟ้องร้องคดีดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายนปี 2556 สัปดาห์นี้พวกเขาเดินทางไปให้การต่อศาลฟินแลนด์ 5 คน นอกจากนี้กลุ่มคนงานที่เหลืออีก 40 กว่าคนยังไปรวมตัวกันที่บ้านของคนงานเก็บเบอร์รีที่ อ.พระยืน จ.ขอนแก่น เพื่อรอฟังข่าวการพิจารณาคดีที่พวกเขาเป็นโจกท์ฟ้องบริษัทเก็บเบอร์รีอีกด้วย

วสันต์ หมั่นบ่อแก ชาว จ.ขอนแก่น ให้ปากคำต่อศาลในวันดังกล่าว ระบุว่า ในปี 2556 หลังจากที่มีคนจากบริษัทนายหน้าของบริษัทเก็บเบอร์รี สอบถามเพื่อให้เขาหาคนงานไปเก็บเบอร์รี ทำให้เขาชักชวนคนรู้จักจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดินทางไปฟินแลนด์เพื่อเก็บเบอร์รีกับบริษัท Ber-ex โดยเขาใช้เอกสารที่ทำสัญญากับบริษัทนายหน้าไปเป็นหลักฐานยื่นต่อ ธกส. เพื่อขอกู้เงินด้วย

ทั้งนี้เขายังให้การถึงเรื่องการระบุว่าจะรับซื้อเบอร์รี 1.8 ยูโร ต่อกิโลกรัม แต่เมื่อมาทำงานจริงราคารับซื้อลดเหลือ 1.4 ยูโรต่อกิโลกรัม โดยอ้างข้อความในสัญญาว่าจะรับซื้อตามราคากลไกตลาด ความเสียหายอันเป็นผลจากการบริหารจัดการของบริษัท โดยเขายกเรื่องที่บริษัทย้ายพื้นที่เก็บเบอร์รีจากพื้นที่ซึ่งมีผลเก็บเกี่ยวดี ไปอยู่ในพื้นที่ๆ มีเบอร์รีน้อย ทำให้คนงานเก็บเบอร์รีได้ค่าตอบแทนจากการขายเบอร์รีไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ทั้งนี้เมื่อคนงานประท้วงและเรียกร้องให้บริษัทนำพวกเขากลับไปในพื้นที่ซึ่งมีเบอร์รี บริษัทก็เปลี่ยนเวลาเดินทางกลับประเทศไทยให้เร็วกว่ากำหนด หรือนำรถบัสมาจอดเพื่อรับกลับเมืองไทย หรือให้ตำรวจมาไล่คนงานจากแคมป์ที่พักอาศัย ทำให้คนงานเก็บเบอร์รีซึ่งไม่มีหนทางไปที่ไหน ตัดสินใจฟ้องคดีที่สถานีตำรวจเมือง Saarijarvi ประเทศฟินแลนด์

ส่วน กรรณิการ์ หมื่นสุข ชาว จ.สกลนคร เป็นอีกรายที่ให้การต่อศาลในวันดังกล่าว ระบุว่า เมื่อปี 2556 เดินทางมาเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์พร้อมด้วยสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีทั้งแฟน ป้า ลุง และพี่ชายอีก 2 คน รวมทั้งหมด 6 คน โดยเฉพาะตัวเธอกับแฟนมีหนี้สินรวมกัน 300,000 บาท โดยระหว่างที่รอขึ้นศาลฟินแลนด์ ก็ทำงานรับจ้างอยู่ที่กรุงเทพฯ พอช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่บ้าน และนำเงินที่ได้ไปจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากการไปทำงานเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ ทั้งนี้ ครอบครัวของกรรณิการ์ที่เมืองไทย ได้ฝากกำลังใจมาให้ตัวเธอและทีมคนงานที่มาขึ้นศาลที่ฟินแลนด์ด้วย

ด้าน ไพรสันติ จุ้มอังวะ ชาว จ.ชัยภูมิ หนึ่งในห้าคนงานเก็บเบอร์รีที่เดินทางไปขึ้นศาลที่ฟินแลนด์ โดยมีกำหนดให้การในศาลในวันถัดไป กล่าวว่าทางบ้านฝากความหวังไว้กับคนงานที่เดินทางมาขึ้นศาลที่ฟินแลนด์ โดยตั้งใจทำอย่างเต็มที่ หวังให้ได้รับความยุติธรรมกลับมาไม่มากก็น้อย โดยผลจากคดีนี้ เขาหวังให้กิจการส่งคนงานไปเก็บเบอร์รีต่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสภาพการจ้างงาน คนที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในอนาคต เมื่อทำงานแล้วได้เงินส่งกลับบ้านจริงๆ หรือได้มาทำงานอย่างถูกต้อง

โดยในระหว่างที่รอขึ้นศาล ไพรสันติได้ปลูกมันสำปะหลังและอ้อยอยู่กับญาติที่ จ.ชัยภูมิ โดยนำรายได้จากผลผลิตไปชำระดอกเบี้ยของเงินกู้เท่านั้น โดยยังไม่สามารถตัดเงินต้นที่เกิดขึ้นระหว่างไปทำงานที่ฟินแลนด์ได้

 

ภาพเมื่อเดือนกันยายนปี 2556 บริษัทเก็บเบอร์รีแจ้งตำรวจให้มาไล่คนงานออกจากแคมป์ที่พัก แต่เมื่อตำรวจมาถึงได้แจ้งคนงานเก็บเบอร์รีว่าไม่สามารถบังคับให้คนงานออกจากแคมป์ได้ คนงานต้องออกด้วยความสมัครใจ โดยหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนงานเก็บเบอร์รีกลุ่มนี้ตัดสินใจฟ้องร้องคดีต่อบริษัท Ber-ex (แฟ้มภาพ)

50 คนงานเก็บเบอร์รีชาวไทยที่แคมป์ Saarijarvi ประเทศฟินแลนด์เมื่อเดือนกันยายนปี 2556 ตัดสินใจฟ้องบริษัทเก็บเบอร์รี Ber-ex หลังประสบสภาพการจ้างงานย่ำแย่และถูกบริษัทกดดันให้เดินทางกลับประเทศก่อนกำหนด (แฟ้มภาพ)

 

โดยคนงานเก็บเบอร์รี 50 คน ฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัท Ber-Ex มาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2556 โดยในปีดังกล่าวพวกเขาจ่ายเงินค่านายหน้าให้กับบริษัทตัวแทนในประเทศไทย รายละ 68,000 บาท และเมื่อมาถึงฟินแลนด์ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว พวกเขายังจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งอาหาร ยา อุปกรณ์ทำงาน รวมทั้งที่พักและค่ารถที่ต้องจ่ายเองตลอดการทำงาน ซึ่งหลายคนใช้วิธีกู้เงินทั้งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบ รวมทั้งกู้จากบริษัทตัวแทน ทำให้หลายคนมีภาระหนี้รวมเป็นเงินสูงกว่า 160,000 บาท

โดยรูปแบบการทำงานกับบริษัทเก็บเบอร์รีไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างประจำ แต่เป็นการใช้แรงงานตัวเองเก็บเบอร์รีให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน แล้วนำมาชั่งน้ำหนักขายกับบริษัท โดยผลไม้ป่าประเภทเบอร์รีในฟินแลนด์ที่นิยมเก็บมี 2 ชนิดหลักคือ ลิงงอนเบอร์รี (lingonberry) หรือที่คนเก็บเบอร์รีนิยมเรียกว่า "หมากแดง" และบลูเบอร์รี (blueberry) ที่คนเก็บเบอร์รีเรียกว่า "หมากดำ" โดยพืชทั้ง 2 ชนิดจะขึ้นเป็นพุ่มเรี่ยดิน คนงานจะต้องก้มตัวอยู่ตลอดเวลาในการเก็บผลไม้ และแบกน้ำหนักผลไม้ที่เก็บได้หลายกิโลกรัมเดินเข้าไปในป่า เนินเขา หรือพื้นที่ๆ คาดว่าจะมีผลไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่ วันหนึ่งกินเวลา 12-15 ชั่วโมง จากนั้นรวบรวมผลผลิตมาชั่งน้ำหนักขายให้กับบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ โดยจะนำยอดขายมาหักหนี้ที่เกิดขึ้นจากการมาทำงาน

อย่างไรก็ตามในปีที่มีการฟ้องร้องคดีดังกล่าว ราคารับซื้อเบอร์รีต่ำกว่าที่ระบุก่อนเดินทางมาทำงาน เช่น บลูเบอร์รีก่อนเดินทางมีการให้ข้อมูลกับคนงานว่ารับซื้อกิโลกรัมละ 1.8 ยูโร แต่เมื่อมาถึงราคารับซื้อจริงลดเหลือกิโลกรัมละ 1.4 ยูโร ทำให้คนงานเก็บเบอร์รีได้จำนวนเงินไม่พอที่จะหักหนี้สิน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อนึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเตือนผู้ที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ในช่วงเดือนกรกฎาคมและกันยายนว่า การไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์มักมีผู้ไม่หวังดีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายก่อนไปทำงาน ในอัตราที่สูงกว่ากำหนด นอกจากนี้ยังเป็นงานที่หนักและเสี่ยงอันตรายเนื่องจากผลไม้ป่าจะขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ลาดชันเป็นภูเขา บางครั้งต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลในท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด และบางครั้งมีปัญหาอากาศแปรปรวนทำให้ผลไม้มีจำนวนน้อย ไม่สามารถเก็บมาขายได้ตามจำนวนที่ต้องการ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน อีกทั้งยังต้องถูกหักค่าใช้จ่ายจากรายได้ที่ได้จากการทำงาน และต้องเก็บผลเบอร์รี่ให้ได้มากกว่า 50 กิโลกรัมต่อวันจึงจะคุ้มค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่ในสวีเดนและฟินแลนด์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการเก็บผลไม้และมีร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น นอกจากนี้ อำนาจในการพิจารณาวีซ่าเป็นของทางการสวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้ยื่นขอวีซ่าจะผ่านการพิจารณาทุกคนหากมีการสมัครไปทำงานกันเป็นจำนวนมาก โดยขอให้คนหางานศึกษาข้อมูลการทำงานให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเดินทาง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรับแอลกอฮอล์ในเลือดเหลือ 20 มก. ให้ถือว่าเมาแล้วขับ เฉพาะอายุไม่ถึง 20 - ไม่มีใบขับขี่

Posted: 31 May 2017 12:40 PM PDT

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงปรับแอลกอฮอล์ในเลือดจากเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นหากผู้ขับขี่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา รวมถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขณะที่ 1 มิ.ย.นี้ เมาเกิน 50 มก.ประกันไม่ต้องจ่าย 

 

31 พ.ค. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 16 ของ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน ในเรื่องเมาและขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ โดยมีการปรับปรุงเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ให้ถือว่าเมาสุรา จากเดิมกำหนดว่าปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา แต่การปรับแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว คือ ผู้ขับขี่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา รวมถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา สำหรับบุคคลอื่นๆยังใช้กฎหมายเดิมคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ล่าสุดวันนี้ (31 พ.ค.60) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมให้เหตุผลในหมายเหตุประกอบประกาศนี้ด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทําให้ ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยหรือมีประสบการณ์ในการขับขี่ ไม่เพียงพอ แม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงเล็กน้อยก็มีผลทําให้ความสามารถในการควบคุมยานพาหนะ ลดลงได้ สมควรกําหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้เหมาะสําหรับผู้ขับขี่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ ทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เมาเกิน 50 มก.ประกันไม่ต้องจ่าย เริ่ม 1 มิ.ย.นี้

กรุงเพทธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้ เป็นต้นไป คำสั่งนายทะเบียนเกี่ยวกับแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งส่งผลให้บุคคลที่ขับขี่รถยนต์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากทำประกันและเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถึงจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันดังกล่าว ยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ โดยบริษัทที่รับทำประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิดจะยังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะหลังจากนั้นบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนกับผู้ขับขี่ที่เมาต่อแทน ส่วนประกันภัยภาคบังคับยังคงให้ความคุ้มครองในกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นเดิม

"การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้ต่ำกว่าเดิมนั้น ได้มีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลายฝ่ายเห็นว่า ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้น ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งบัญญัติว่าต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตรวจวัดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา"

สุทธิพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่ดื่มสุรา เมื่อขับขี่รถยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุบริษัทประกันภัยก็ยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขกฎหมายจะทำให้เสมือนเป็นการจูงใจให้คนที่ดื่มสุรานิ่งนอนใจว่าถึงแม้เมาแล้วขับรถยนต์ชนเกิดความสูญเสีย ก็ยังมีประกันภัยจ่ายแทน แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขกติกาในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงาน เตรียมไปเจนีวาลงสัตยาบันอนุสัญญา ILO ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ

Posted: 31 May 2017 12:09 PM PDT

พล.อ.ศิริชัยกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือต่อหลักการแนวปฏิบัติแรงงานที่ดี GLP โดยกระทรวงแรงงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศผลักดัน พร้อมยกระดับคุณภาพแรงงานอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลไทย

31 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันที่ 11 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ มีกำหนดการเดินทางไปเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นตอนหนึ่งของรัฐบาล และกระทรวงแรงงานในการลงสัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ที่จะเกี่ยวโยงกับแก้ไขการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ ที่ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล

นอกจากนี้ พล.อ.ศิริชัย กล่าวสุนทรพจน์เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือต่อหลักการแนวปฏิบัติแรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) อนาคตของอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลของไทย โดยมี Mr. Mauurizio Bussi ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และลาว และ Mrs. Luisa Ragher อุปทูตของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรีว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานในภาคประมง ภาครัฐ ผู้ประกอบการ แรงงาน และนักวิชาการจะได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมประมงทะเลของประเทศไทย อุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเจริญโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแปรรูปที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย

อย่างไรก็ตามจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตในการทำงานในภาคประมงทะเลไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้เกิดความเสี่ยงที่แรงงานจะถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในภาคประมงของไทย จึงได้มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจนถึงเรื่องของการทำงาน และตัวแรงงาน อีกทั้งรัฐบาลไทยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่มีภารกิจหลังในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้ดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้นโยบาย Zero Tolerance ที่มุ่งที่จะขจัดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาแรงงานต่างชาติ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงาน การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ซึ่งแนวการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานหรือ Good Labour Practices : GLP จะเป็นเครื่องมือและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปอาหารทะเล ที่มีลักษณะเฉพาะของการทำงานและสภาพการจ้าง ซึ่ง GLP เป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในการที่จะกำหนดหลังการและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเหมาะสมกับสภาพของอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ปัจจุบันด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งหรือ Ship to Shore Rights ได้จัดทำ GLP สำหรับอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำขึ้น เพื่อที่จะเป็นแนวทางให้สถานประกอบการนำไปใช้ในการยกระดับแนวปฏิบัติด้านแรงงานของตน ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 88 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ 150 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ขยายผลไปยังอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 3,435 แห่ง รวม 3,523 แห่ง ครอบคลุมการจ้างงานมากกว่า 30,000 อัตรา พร้อมเร่งรัดอีก 500 สถานประกอบการที่เหลือภายในปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีแผนที่จะขยายผลไปยังกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัตว์อื่นๆ อ้อย สิ่งทอ โดยจัดทำ GLP สำหรับกิจการทั่วไป เพื่อให้สถานประกอบการนำไปใช้เป็นแนวทางก้าวไปสู่การบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน คำนึงถึงสิทธิผู้ทำงาน ความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำเรื่องของทิศทางเรื่องการค้าและค่านิยมของผู้บริโภคในศตวรรษที่ ๒๑ ความได้เปรียบเรื่องของต้นทุนหรือคุณภาพสินค้าไม่ใช่เป็นปัจจัยที่จะชี้วัดถึงความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว แต่เรื่องการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่ความมีมาตรฐานและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ทำงาน และต่อสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน และทำให้ธุรกิจสามารถที่จะเติบโตมีการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วาง 14 ประเด็น จัด เวทีประชาพิจารณ์ แก้ 'กม.บัตรทอง'

Posted: 31 May 2017 11:09 AM PDT

พลเดช เผยเตรียมจัด เวทีประชาพิจารณ์ แก้ กม.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วาง 4 ประเด็นหลัก เช่น กรอบการใช้เงิน การเหมาจ่ายรายหัว การจัดระบบครอบคลุมทุกคน ฯลฯ ด้านอดีต กก.หลักประกันสุขภาพ หวั่นไม่เปิดรับฟังอย่างแพร่หลาย

31 พ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (30 พ.ค. 60) มี การประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ครั้งที่ 3/2560 โดยมี พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน ณ ห้องประชุมสานใจ 2 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ

พลเดช เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมในการจัด เวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเสนอแนะความคิดเห็นในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพและการให้บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย จำนวน 14 ประเด็นหลัก อาทิ กรอบการใช้เงิน การเหมาจ่ายรายหัว การจัดระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การรับฟังความเห็นผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Online) การจัดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อสรุปเผยแพร่สู่สาธารณะ ควบคู่ไปกับการนำเสนอต่อ คณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ต่อไป 

ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นผ่านเทคโนโลโยสารสนเทศ (Online) จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และ เว็บไซต์กลางสำหรับการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th) โดยจะมีการเผยแพร่เอกสารใน ๓ ส่วนหลัก คือ ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ที่มีการปรับปรุงแก้ไข เอกสารแนวคิดการแก้ไข (Concept Paper) 14 ประเด็น และตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตรา พร้อมกับคำแนะนำในการอ่านเอกสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2-18 มิ.ย. นี้ 

สำหรับ เวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ระดับภูมิภาค เปิดให้ประชาชนที่สนใจทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 4 ครั้ง เริ่มจากเวทีภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 10 มิ.ย., เวทีภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 11 มิ.ย., เวทีภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 17 มิ.ย., เวทีภาคกลางที่กรุงเทพฯ วันที่ 18 มิ.ย. และการจัด เวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) โดยเชิญตัวแทนของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางสร้างประโยชน์ที่ดีให้กับประชาชน ระหว่างวันที่ 20–21 มิ.ย.นี้

"เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันมากมาย จึงต้องพิถีพิถันในการออกแบบการดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ครอบคลุม ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การจัดพิธีกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนจะได้เรียนรู้ ปรับตัว เป็นสันติวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างของการดำเนินการให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่ในอนาคตอาจจะต้องมีการออกหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างในลักษณะเช่นเดียวกันนี้" พลเดช กล่าว

พลเดช กล่าวต่อไปว่า การประชาพิจารณ์เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุให้การออกกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนรับทราบ และร่วมแสดงความคิดเห็น สำหรับ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ... นี้ ปรับปรุงแก้ไขจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งประกาศบังคับใช้มาแล้ว 15 ปี จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอดีตถึงปัจจุบัน ส่งให้การปฏิบัติมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีของประชาชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนมากขึ้น

การประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...)  พ.ศ... จำนวน 14 ประเด็นหลัก

            1. การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

            2. กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

            3. การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด

            4. เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้

            5. นิยาม "บริการสาธารณสุข" คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล

            6. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ

            7. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย

            8. การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย

            9. การร่วมจ่ายค่าบริการ

            10. การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์

            11. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

            12. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

            13. แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ

            14. การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.  

 

อดีต กก.หลักประกันสุขภาพ หวั่นไม่เปิดรับฟังอย่างแพร่หลาย

ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ) รวม 5 เวที ที่จะดำเนินการภายในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับประชาพิจารณ์ คือ ประชาชนที่มีสิทธิ์พูดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนก่อนเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นแต่ไม่อยากลงทะเบียนกลับต้องรอ ทั้งนี้ การจัดการหรือเตรียมการก่อนทำประชาพิจารณ์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ควรเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้แสดงความเห็นด้วย

"เท่าที่ทราบมา คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจะรับฟังและบันทึกเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขเท่านั้น ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความกังวลของภาคประชาชนจะไม่มีการบันทึกไว้ ซึ่งหากกรณีนี้เป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นเวทีประชาพิจารณ์ที่น่าผิดหวัง" นิมิตร์ กล่าว 

นิมิตร์ กล่าวอีกว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพในประเด็นการเปิดรับฟังอย่างแพร่หลายยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ประชาชนต้องการให้เกิดการแก้ไข แต่ขณะเดียวกันหากคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่รับฟัง ก็ถือว่าเป็นความคับแคบอย่างมาก ทั้งๆ ที่การแก้ไขกฎหมายควรจะมาจากการที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะเป็นการแก้ไขเพื่อส่วนรวมอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหยื่อคดีแพะถูก ตร.ปราจีนฯซ้อมให้รับสารภาพ วิ่งราว ปี 52 ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ สตช.

Posted: 31 May 2017 10:56 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผย ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อคดีแพะที่ถูกตำรวจซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ยื่นฟ้องพยานเท็จในคดี ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

 

31 พ.ค. 2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ฤทธิรงค์  ชื่นจิตร โดยทนายความของมูลนิธิเพื่อผสานวัฒนธรรม เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ พ.949/2560 ในข้อหา ละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติควบคุมตัวโดยมิชอบและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดในคดีเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 20,800,000 บาท อันเป็นค่าความเสียหายต่อร่างกายจากการถูกทำร้ายร่างกาย ค่าเสียหายจากชื่อเสียงเกียรติยศและ ค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกาย พร้อมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบล้างหรือถอนประวัติอาชญากรรมของนายฤทธิรงค์ฯ โดยในคดีนี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เวลา 13:00 น.     

รายละเอียดเพิ่มเติม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 ขณะที่ ฤทธิรงค์ อายุ 17  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองจังหวัดปราจีนบุรีจับกุมในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แล้วส่งตัวฤทธิรงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนนำไปควบคุมและได้ร่วมกันซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวทรัพย์ทั้ง ๆ ที่ฤทธิรงค์ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องฤทธิรงค์และคดีถึงที่สุด   

เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ ฤทธิรงค์ ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.)  เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมานตน แต่ไม่เป็นผล โดยต่อมาป.ป.ท. ได้มีคำสั่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความผิด ต่อมาเมื่อปี 2558 ฤทธิรงค์ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีด้วยตนเอง ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 7 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองจังหวัดปราจีนบุรี 2 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดปราจีน 5 คน ในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งรับฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี 4 คน เป็นจำเลย ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 คนที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง นายฤทธิรงค์ฯ โจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อไป คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์  ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 ใน 4 คนที่ตกเป็นจำเลย ได้แก่ยศพันตำรวจเอก 1 คน และดาบตำรวจ 1 คน ยอมรับสารภาพผิดว่าตำรวจทั้ง 4 คนที่ศาลรับฟ้องนั้นได้ร่วมกันซ้อมทรมานนายฤทธิรงค์จริงและขอโทษต่อครอบครัวนายฤทธิรงค์ฯ นายฤทธิรงค์จึงถอนฟ้องคดีให้แก่ตำรวจทั้งสองคนดังกล่าว ยังคงเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 คน ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรีรับฟ้องไว้แล้วยังคงปฏิเสธ ศาลจึงนัดสืบพยานในส่วนจำเลยทั้งสองคนนี้ในวันที่ 13 ถึง 16 และ 20 ถึง 21 เดือนกุมภาพันธ์ 2561

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 เวลา 13.00 น. ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ในฐานะโจทก์ที่ 1 และ สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาโจทก์ที่ 2  พร้อมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยื่นฟ้องบุคคลระดับผู้บริหารหน่วยงานปกครองท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งเป็นพยานให้การเท็จเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมาน ทำให้ ฤทธิรงค์ได้รับความเสียหาย ในคดีที่ฤทธิรงค์ร้องเรียนต่อ ป.ป.ท. กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนฯ 5 คนที่ซ้อมทรมานตน โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นจำเลย คดีหมายเลขดำที่ 1009/2560 ในข้อหา ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร   โดยกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2556 พยานคนดังกล่าวได้เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ท.  ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือตำรวจทั้ง 5 ราย ให้พ้นข้อกล่าวหา เป็นผลทำให้ ป.ป.ท. มีคำสั่ง ที่ 40/2556 ชี้มูลว่าจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความผิดตามคำร้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลจังหวัดปราจีนบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ในวันที่ 31 ก.ค. 2560 เวลา 13:00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ ยันแนวทางพรรคใครที่รวมเสียงข้างมากในสภาได้ ก็สมควรจัดตั้งรัฐบาล

Posted: 31 May 2017 09:51 AM PDT

อภิสิทธิ์ ย้ำอดีตแกนนำ กปปส. กลับมาอยู่กับพรรคต้องยึดอุดมการณ์-หลักการของพรรค คือ การปฏิรูปประเทศ และการต่อสู้กับระบอบทักษิณ  แจ้งไม่ต้องการเห็น ส.ว.ฝืนเจตนารมณ์ประชาชน อัดโมเดลพิชัยให้ 4 พรรคจับมือกันเพื่อสกัดทหารนั้น ไม่ได้เหตุอุดมการณ์และนโยบายไม่ตรงกัน 

ภาพ พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva

31 พ.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (30 พ.ค.60) ถาวร เสนเสียม แกนนำ กปปส. พร้อมด้วยอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกลุ่ม กปปส. ได้เข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที จากนั้น เปิดเผยว่า กปปส. ทุกคนที่ไปทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีใครลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะยังคงร่วมมือกันเหมือนเดิม คือ ลงสมัครรับเลือกตั้งตามโรดแมป และผลักดันให้การปฏิรูปประเทศสำเร็จตามที่เคยเรียกร้อง (อ่านรายละเอียด)

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า อภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังการหรือร่วมกับอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปทำงานกับกลุ่ม กปปส.ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็ขาดคุณสมบัติเพราะไปบวช จึงไม่มีประเด็นว่าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ มีการยืนยันกับตนมานานแล้วว่ายังมีความคิดทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่มาพรรคในเวลานี้ก็เพราะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้งกำลังจะออกมาแล้ว จึงคิดว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับมา โดยตนได้บอกว่าการมาอยู่กับพรรคต้องยึดอุดมการณ์และหลักการของพรรคซึ่งเป้าหมายของคนเหล่านี้ คือ การปฏิรูปประเทศ และการต่อสู้กับระบอบทักษิณ เป็นแนวทางที่พรรคยึดถือและเดินหน้าปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำได้ก็อยากให้ทำ แต่ถ้าทำไม่ได้พรรคพร้อมที่จะเดินหน้า เช่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปสื่อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองบนวิถีทางประชาธิปไตยซึ่งตามโรปแมป ที่อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง ก็ต้องพร้อมเสนอบุคลากรและแนวทางให้แก่ประชาชน โดยทุกคนที่มาวันนี้ก็สนับสนุนแนวทางของพรรค

ส่วนแนวคิดของสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 5 ปีนั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้คุยกับเกี่ยวกับความเห็นของสุเทพซึ่งอยู่ในส่วนการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่ในระบบพรรคการเมือง เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาต้องอยู่ในระบบพรรค ซึ่งถาวร เสนเนียม ก็ยืนยันที่จะชูธงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปฏิรูปประเทศ ส่วนที่ถาวรระบุว่าหากหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้พูดชัดเจนว่าจะสนับสนุนคนอื่นหรือไม่นั้น เป็นเพราะเรื่องของอนาคต ไม่มีใครตอบได้ แต่เมื่อเราเป็นพรรคการเมืองต้องเสนอตัวเป็นทางเลือกให้ประชาชน เคารพการตัดสินใจของประชาชน
 
"วันนี้ยังไม่ได้เลือกตั้ง ยังไม่รู้ว่าใครจะอาสาลงสมัครรับเลือกตั้งบ้าง จะพูดว่ารัฐบาลต้องเป็นอย่างนั้น นายกฯ ต้องเป็นอย่างนี้คงไม่ได้ หลังจากประชาชนตัดสินแล้วค่อยมาดูว่าเป็นอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนชัดว่านายกฯ ต้องเริ่มจากรายชื่อบัญชีพรรคการเมือง พรรคยืนยันว่าใครที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็สมควรจัดตั้งรัฐบาล เพราะผู้ที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เท่านั้นจึงจะดำรงความเป็นรัฐบาลได้ และไม่ต้องการเห็น ส.ว.ฝืนเจตนารมณ์ประชาชน เพราะจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต แต่ถ้าไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีได้ก็ต้องไปสู่ขั้นตอนการยกเว้นหลักเกณฑ์ แต่ไม่ควรสรุปล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นก็เป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน ผมอยากให้คนที่ให้คำตอบสุดท้ายคือประชาชนหลังจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าไปพูดกันล่วงหน้าว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล พรรคไหนเป็นฝ่ายค้าน หรือใครจะเป็นนายกฯ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะเป็นแค่พิธีกรรม เพราะกำหนดกันไปล่วงหน้าแล้ว"
 
อภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรค สายแกนนำ กปปส.ระบุว่าคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกระสันอยากเลือกตั้งว่า ตนเห็นทุกคนก็บอกว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าอย่างนี้จะเรียกว่ากระสันหรือไม่ เพราะที่กลับมาอยู่พรรคการเมืองก็เพื่อกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ถือเป็นหน้าที่ของนักการเมือง และไม่มีใครในพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องว่าต้องเลือกตั้งพรุ่งนี้ แต่ คสช.เป็นผู้วางโรดแมปก็ อยากให้เดินตามนี้ ส่วนการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเป็นคนละประเด็น ตนอยู่ในการเมืองนานกว่า 20 ปี เคยตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งสองครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องว่าจะกระสันเลือกตั้งหรือไม่ แต่เป็นเรื่องการทำหน้าที่ แต่ก็เข้าใจว่าเวลามีการพาดพิงอาจจะมีอารมณ์ตอบโต้ไปมา เมื่อมีโอกาสคุยกันก็เห็นว่ามีการยอมรับแนวคิดและอุดมการณ์พรรค และหลังจากนี้หากสุเทพมีความเห็นที่ไม่ตรงกับพรรคคนกลุ่มนี้ก็ต้องยึดถือแนวทางของพรรค ไม่ควรมีความเห็นที่สวนทางกับแนวทางของพรรค เพราะพรรคต้องมีเอกภาพ และมีจุดยืนที่ชัดเจนกับประชาชน
 
เมื่อถามว่ามีข่าวมาตลอดว่าสุเทพส่งอดีต ส.ส.กลุ่มนี้กลับมาเพื่อยึดพรรคและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรค  อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกคนที่มายืนยันว่าไม่ใช่ และสุเทพก็ยืนยันกับตนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะออกไปทำงานภาคประชาชนแล้วจะไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงานพรรคทั้งสิ้น ส่วนที่เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ ระบุว่ายังไม่สามารถพูดได้ว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคในการเลือกผู้บริหารพรรคครั้งหน้านั้น ตนก็ไม่มีสิทธิ์บังคับให้ใครมาสนับสนุน เพราะพรรคเป็นประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรค แต่สิ่งสำคัญคือใครก็ตามที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต้องยึดอุดมการณ์พรรค ตอนนี้คนกลุ่มนี้ก็บอกแล้วว่าสนับสนุนคนที่มีรายชื่ออยู่ในพรรคเป็นนายกฯ สิ่งนี้สำคัญกว่าอภิสิทธิ์ ตนจึงไม่กังวลว่าจะมีใครมาแข่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาได้เพราะความเป็นประชาธิปไตย แต่ตนมั่นใจว่าสมาชิกพรรคทุกคนจะตระหนักว่าพรรคอยู่มาได้เพราะอุดมการณ์ และทุกคนที่มีวันนี้ได้ก็เพราะรักษาอุดมการณ์พรรคจนเติบโตทางการเมือง จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ พรรคเราเป็นสถาบันไม่เคยเป็นพรรคเฉพาะกิจ จะทำตัวเหมือนพรรคเฉพาะกิจไม่ได้
 
สำหรับกรณีที่พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวคิดให้พรรคการเมือง 4 พรรคจับมือกันเพื่อสกัดทหารนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคการเมืองจะจับมือก็ได้ก็ต่อเมื่อมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน จะบอกว่าให้ 4 พรรคจับมือกันโดยไม่ดูเลยว่าอุดมการณ์และนโยบายของแต่ละพรรคเป็นอย่างไรไม่ได้
 
อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงคำถาม 4 ข้อที่นายกรัฐมนตรีขอคำตอบจากประชาชนว่า นายกฯ ไม่อยากฟังจากนักการเมือง แต่ตนเห็นว่าถ้าเป็นการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่คำถามนี้มาในจังหวะที่แปลก เพราะคำถามหลายข้อคนที่จะต้องตอบคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้จัดทำกติกา โดยเฉพาะช่วงที่มีการทำประชามติก็มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงป้องกันคนเลวได้ เมื่อนายกฯ ตั้งคำถามแบบนี้ก็อาจสะท้อนว่าไม่มั่นใจ ดังนั้นก็ต้องช่วยกันกระตุ้นสังคมให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลกลัวการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ ก็ปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับการขยับโรดแมป จึงไม่ควรทำให้เป็นประเด็นการเมือง ตนพูดมาตลอดว่าวิกฤตการเมืองเกิดจากรัฐธรรมนูญน้อยมาก เมื่อวันนี้ คสช.ตระหนักแล้วว่าลำพังสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่พอก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นในการปฏิรูป
 
"ผมไม่กดดันกับคำถามของนายกฯ เพราะบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอยู่แล้ว แต่คิดว่าคำถามของนายกฯจะย้อนกลับไปกดดัน คสช.เอง เพราะถ้าไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็จะกลายเป็นว่าสิ่งที่คสช.ทำมาก็ไม่สำเร็จ ส่วนคำถามที่บอกว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น การได้มาซึ่งผู้มีอำนาจไม่มีหลักประกันว่าจะได้ธรรมาภิบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง สรรหา หรือปฏิวัติรัฐประหาร แต่โอกาสที่จะได้ถ้ามีประชาธิปไตยต่อเนื่องมีมากกว่าการผูกขาดอำนาจ จึงไม่ควรสับสน เพราะถ้าไปตั้งเป้าว่าไม่แน่ใจว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่ แล้วบอกว่าไม่ต้องเลือกตั้งเป็นข้อสรุปที่ผิดเพราะจะไม่มีประเทศไหนได้เลือกตั้งเลย" อภิสิทธิ์ กล่าว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ฟ้องคดีโพสต์ทุจริตราชภักดิ์ เหตุติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ-ไม่กระทบความมั่นคง

Posted: 31 May 2017 09:30 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เผยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แจ่ม (นามสมมติ) คดีโพสต์ทุจริตราชภักดิ์ ระบุเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

31 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (30พ.ค.60) อัยการศาลจังหวัดพระโขนง มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แจ่ม (นามสมมติ) ในข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยน่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 14(2) และ (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550

ความเห็นของอัยการ ระบุว่าข้อความในสเตตัสเฟซบุ๊กของ แจ่ม เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก แจ่ม ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ถึงความขัดแย้งภายใน คสช. จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาลทหาร ภายหลังอัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการศาลจังหวัดพระโขนงในข้อหาเดิมอีก จนในที่สุดอัยการได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้

นอกจากคดีนี้แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า ยังมีคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตแล้วถูกดำเนินด้วยข้อหาตามมาตรา 116 อีก 3 คดี ได้แก่ คดีของ รินดา พรศิริพิทักษ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการนำข้อความในไลน์เรื่องที่ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานที่ศาลอาญารัชดาภิกเษก ว่าการกระทำของนางรินดาเป็นความผิดในข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 หรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลทหารจะไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาล ส่วนอีกสองคดีเกิดจากการแชร์แผนผังการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ คือ คดีของ ฐนกร (สงวนนามสกุล) และ ธเนตร อนันตวงศ์ ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสูงสุดไอร์แลนด์ตัดสินให้การห้ามผู้ลี้ภัยทำงานขัดหลักรัฐธรรมนูญ

Posted: 31 May 2017 07:31 AM PDT

ผู้ลี้ภัยชาวพม่าถูกห้ามทำงานเป็นเวลา 8 ปี ระหว่างรอสถานะผู้ลี้ภัยของไอร์แลนด์ โดยเขาอยู่ด้วยเงินยังชีพจากรัฐ และส่งผลทำให้เขาซึมเศร้า เพราะรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ล่าสุดศาลสูงสุดตัดสินว่าการห้ามไม่ให้เขาทำงาน ขัดต่อสิทธิการหางานทำตามหลักรัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ โดยผลคำตัดสินของคดีนี้จะส่งผลต่อกฎหมายผู้ลี้ภัยของไอร์แลนด์ในอนาคต

องค์คณะของตุลาการศาลสูงสุดไอร์แลนด์ (ที่มาของภาพประกอบ: The Irishtimes)

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 ผู้ลี้ภัยชาวพม่าชนะคดีที่เขาฟ้องร้อง เรื่องถูกห้ามไม่ให้ทำงานเพราะยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเต็มตัว โดยที่ศาลสูงสุดของไอร์แลนด์ตัดสินว่า "ในเชิงหลักการแล้ว" คำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ขอลี้ภัยที่ยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการทำงานเป็นสิ่งที่ขัดกับสิทธิในการหางานทำตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ โดยคำตัดสินนี้ยังจะส่งผลถึงผู้ขอลี้ภัยคนอื่นๆ ด้วย

ไอร์ริชไทม์รายงานว่าชายชาวพม่าที่อยู่ในไอร์แลนด์ต้องรอถึง 8 ปี จึงจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย แต่ในช่วงเวลาที่รออยู่นั้นเขาได้รับแต่ค่าเลี้ยงชีพโดยตรง (direct provision) จากระบบผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไอร์แลนด์ โดยถูกห้ามสมัครงานเนื่องจากมีมาตรา 9.4 ของกฎหมายผู้ลี้ภัยห้ามไว้

ผู้พิพากษา 7 คนของศาลสูงสุดไอร์แลนด์ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ให้การสั่งห้ามไม่ให้ผู้กำลังรอสถานะผู้ลี้ภัยห้ามทำงานผิดหลักการรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิในการหางาน แต่ก็มีการประกาศเลื่อนพิจารณาในกรณีนี้อีก 6 เดือนถัดไปเพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาว่าจะจัดการประเด็นนี้อย่างไร

ผู้พิพากษา โดนาล โอ ดอนเนลล์ บอกว่าในขณะที่มาตรา 9.4 ของกฎหมายผู้ลี้ภัยจะมีความชอบธรรมในการจำกัดการจ้างงานคนที่ยังอยู่ในระหว่างขอลี้ภัย แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แค่การจำกัดเท่านั้นแต่ยังเป็นการระงับสิทธิในการสมัครงานของพวกเขาทั้งหมด เนื่องด้วยกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยไม่มีการจำกัดเวลา ทำให้คนๆ หนึ่งที่ขอสถานะอาจจะถูกจำกัดไม่ให้ทำงานไปตลอด ทำให้ดอนเนลลืบอกว่าเขาไม่ยอมรับหลักการกฎหมายข้อนี้แม้จะอ้างว่าเป็นการจัดประเภทให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างคนที่เป็นพลเมืองของรัฐและคนที่ไม่ใช่พลเมืองของรัฐก็ตาม

แต่ทำไมผู้ขอลี้ภัยถึงไม่เลือกรับเงินจำนวนเล็กน้อยอยู่เปล่าๆ ทำไมเขาถึงอยากหางานทำ ดอนเนลล์ให้เห็นเหตุผลในเรื่องนี้ว่ากฎหมายไอร์แลนด์ในปัจจุบันไม่เพียงปิดโอกาสการทำงานหารายได้ แต่ยังส่งผผลต่อความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของบุคคลด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ให้การคุ้มครองไว้ โดยที่ผู้พิพากษาเปิดเผยว่ามีหลักฐานที่ชายชาวพม่ามีอาการซึมเศร้า ว้าวุ่นใจ และขาดความเชื่อมันในตนเอง จากการที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน

ชาวพม่าโต้แย้งว่าถึงแม้ว่าเขาจะได้รับเงินเลี้ยงชีพสัปดาห์ละ 19 ยูโร (ราว 700-750 บาท) แต่เขาก็ประสบภาวะซึมเศร้า รู้สึกแทบจะสูญเสียอิสระในตนเอง การได้รับอนุญาตให้ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อศักดิ์ศรี การพัฒนาตัวเขา และความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง

หลังจากที่ชาวพม่าผู้นี้เดินทางถึงไอร์แลนด์ในปี 2551 ได้ไม่นานเขาก็ถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัย แต่เขาก็ยื่นอุทธรณ์จนกระทั่งศาลสูงมองเห็นว่ามีการตัดสินผิดพลาดในกระบวนการยื่นคำร้อง จึงมีการนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้งจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ผู้ลี้ภัยตัดสินเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วให้เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในที่สุด

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไอร์แลนด์จะโต้แย้งว่าสถานะปัจจุบันของชาวพม่ารายนี้จะสามารถหางานทำได้แล้วทำให้คำสั่งศาลเปล่าประโยชน์ แต่ทางศาลก็ชี้แจงว่าพวกเขาตัดสินใจในกรณีนี้เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นทางกฎหมายในระดับสาธารณะ

เรียบเรียงจาก

Asylum seekers' work ban unconstitutional, says Supreme Court, The Irish Times, 31-05-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลวิจัยชี้ปัญหาการสอน 'เพศวิถีศึกษา' ในสถานศึกษายังไม่คลอบคลุมถึงการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

Posted: 31 May 2017 06:39 AM PDT

ทีมนักวิจัยชี้ปัญหาเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาของไทย พบว่าระบบการสอนไม่สามารถใช้ได้จริง เผยประเด็นสิทธิ อำนาจ และเพศสภาพ หลายที่ยังไม่เข้าถึง แนะอบรม-พัฒนาการสอนของครู เน้นกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น

ภาพบอร์ดจัดแสดงผลการวิจัย

31 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 พ.ค.60) เวลา 8.00-11.00 น. ห้องประชุม มล.ปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ มีเผยแพร่ผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย จากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและองค์การยูนิเซฟหรือองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พร้อมทั้งแคมเปญ #Fightunfair ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อต่อสู้ความไม่เท่าเทียมสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เพศวิถีศึกษา เป็นการเรียนรู้กระบวนการเกี่ยวกับเพศ สรีระร่างกาย รวมถึงมิติอื่นๆ อาทิ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และการใช้ชีวิตโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนการเรียนในสถานศึกษาของไทย พร้อมทั้งศึกษาทัศนคติของผู้เรียน และครูผู้สอน โดยมุ่งหวังสิ่งไหนที่ควรทำให้สำเร็จ ประกอบกับการศึกษานโยบายรัฐที่เกี่ยวข้อง

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาจากงานวิจัยพบว่า สัดส่วนหัวข้อที่สอนครอบคลุมในทุกประเด็นเป็นร้อยละ 70-80 แต่มีเรื่องสิทธิ อำนาจ เพศสภาพ ยังไม่ถึงร้อยละดังกล่าว โดยในการศึกษาผ่านวาดภาพเปิดประเด็นเรื่องเพศศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างนึกถึงอวัยวะเพศชายหญิง คู่รักชายหญิง ความรัก ขณะที่แง่มุมสิทธิ อำนาจความหลากหลายทางเพศ แม้แต่สื่อโป๊ การค้าประเวณี  กลับพบว่ามีจำนวนไม่มาก และความรู้หลายๆคนในกลุ่มตัวอย่างกลับไม่เข้าถึง ยกตัวอย่าง เรื่องประจำเดือน และแบบสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ไม่สวมใส่ถุงยางอนามัยในครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์

มนชนก เดชคำแหง ผู้แทนนักเรียน กล่าวว่า ระบบการศึกษาไม่ส่งเสริมให้การสอนเพศศึกษาสามารถใช้ได้ในชีวิตจริง เช่น การปฏิเสธผู้ชายไม่ให้เกิกการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น และปัญหาเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่ได้เรียนต่อ ทำให้เกิดปัญหาสังคม จึงอยากให้ปรับทัศนคติของผู้สอน เริ่มจากสอนข้อดี และผลกระทบ วิธีป้องกันและการการแก้ไข โดนเน้นถึงรูปแบบการสอนเชิงกิจกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ทีมนักวิจัยกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า วิธีการสอน ใช้การบรรยายมากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่กิจกรรมร่วมกันมีเป็นหลักมีส่วนน้อย โดยให้อาจารย์ที่สอนเพศวิถีศึกษาไปอบรมการสอนเพศวิถีศึกษา โดยมีค่ากลางในการอบรมแบ่งเป็นครูสายสามัญ 16 ชั่วโมงและครูอาชีวะ 23 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าเมื่อผ่านอบรมมีการใช้กิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผลวิจัยระบุต่อไปว่า สถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งมีการสอนเพศวิถีศึกษาที่ยังไม่รอบด้าน โดยมักเน้นย้ำเพียงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสรีระ พัฒนาการทางเพศ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ยังพบว่าครูเกินครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมในการสอนเพศวิถีศึกษา  ทำให้การสอนมักใช้การบรรยายแทนการจัดกิจกรรมที่จะเอื้อให้เด็กได้คิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก

ทีมผู้วิจัยกล่าวถึงในแง่ความสำเร็จของกระทรวงศึกษาธิการพัฒนาการเรียนการสอนเพศศึกษาตั้งแต่ปี 2521 โดยออกนโยบายเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเพศวิถีศึกษา การป้องกันโรคเอดส์ การป้องกันตั้งครรภ์ จนกระทั่ง พรบ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 แต่การรับความรู้เกี่ยวกับเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน สิทธิเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ยังไปไม่ถึง อำนาจ เพศสภาพ ยังไม่คลอบคลุมเช่นกัน

คำแนะนำของงานวิจัยได้รายงานกล่าวว่า ในเรื่องของเพศวิถีศึกษา ควรสร้างทักษะนักเรียน อาทิ การใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และคลอบคลุมเนื้อหาที่กว้างขึ้น เช่น สิทธิ อำนาจ เพศสภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ควรพัฒนาการสอนของครู และสุดท้ายควรสนับสนุนสถานศึกษาในการสอนเพศวิถีศึกษา อาจออกแบบกลไกและตัวชี้วัดในการติดตามประเมินผล

การวิจัยครั้งนี้เสนอให้สถานศึกษาต่างๆ มีการสอนเพศวิถีศึกษาที่รอบด้านอย่างแท้จริง โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น และเสนอให้สถานศึกษาจัดสรรเวลาในการสอนวิชานี้เพิ่มขึ้น และจัดการอบรมครูในการสอนประเด็นเหล่านี้ในชั้นเรียน

ขณะที่ เจตน์ ศิรธรานนท์สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ปรับแก้ไขกฎหมายจาก อนามัยเจริญพันธุ์ ไปพัฒนาสู่ พรบ.การป้องกันแลแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนนิยามของคำว่า "วัยรุ่น" จากช่วงอายุ 13-19 ปี เป็นอายุ 10-20ปี ทำให้มีความคลอบคลุมมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งนี้ ให้ปรับการเรียนการสอนไปสู่การสื่อสารสองทางจากการสื่อสารทางเดียวหรือการสอนแบบบรรยาย โดยจับลำดับความสำคัญว่า เรื่องเพศวิถีศึกษาเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันไม่แตกต่างกับเรื่องอื่นๆ 

สำหรับการวิจัยครั้งนี้จัดทำโดยศูนย์นโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟและความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ และยูเนสโก โดยได้สำรวจข้อมูลจากนักเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาจำนวน 8,837 คน และครู 692 คนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 398 แห่งในช่วงเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 เพื่อทบทวนความสำเร็จและความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา พร้อมสำรวจทัศนคติของครูและนักเรียน
ภาพบอร์ดจัดแสดงผลการวิจัย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือกได้ไหม | กรงในกะลา #2

Posted: 31 May 2017 04:33 AM PDT

"เลือกได้ไหม" ผลงานของ ศิริลักษณ์ แสวงผล บอกเล่าเรื่องราวที่คุณอาจไม่ได้เลือกด้วยตัวเอง เพราะทุกการตัดสินใจและการกระทำของคุณจะถูกเฝ้ามอง ถูกตักเตือน ติเตียน และตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งชีวิตคงไม่มีความสุขและหงุดหงิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่คุณไม่ได้เลือกกำลังจะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไป

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

20 องค์กรประชาสังคมร้อง รบ.ไทย-ภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลัก UN ว่าด้วยการดำเนินธุรกิจ-สิทธิมนุษยชน

Posted: 31 May 2017 02:53 AM PDT

31 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ​(​31 พ.ค.60​)​ องค์กรภาคประชาสังคม 20 องค์กร นำโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย แพร่แถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

โดยองค์กรภาคประชาสังคมดังกล่าว ระบุว่า มีความกังวลยิ่งว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในบริบทดังกล่าวตกเป็นเป้าโจมตีและไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการตัดสินใจการดำเนินโครงการหรือธุรกิจ และบางกรณีนำไปสู่การละเมิดสิทธิโดยรัฐและการปฏิบัติมิชอบโดยกลุ่มธุรกิจโดยนักปกป้องสิทธิไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ 

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ร่วม : รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจควรประกันให้มีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

(กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2560) พวกเราซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ลงชื่อด้านท้าย เรียกร้องให้ทางการไทยและภาคธุรกิจในประเทศ ให้ยึดมั่นตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

ในวันนี้ หน่วยงานของรัฐบาล ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคธุรกิจและตัวแทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้าร่วมการสัมมนาเพื่ออภิปรายถึงการดำเนินงานตามและการส่งเสริมหลักปฏิบัตินี้ในประเทศไทย ผู้เข้าร่วมต่างเห็นชอบที่จะต้องรณรงค์สร้างความรับรู้และความเข้าใจ ต่อบทบาทของสาธารณะและภาคเอกชนตามกรอบของหลักปฏิบัตินี้

หลักปฏิบัตินี้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2554 ประกอบด้วยหลักการพื้นฐานและหลักการเชิงปฏิบัติ 31 ข้อ อธิบายถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐและวิสาหกิจต่าง ๆ ที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทของการดำเนินธุรกิจ

เราชื่นชมกับความพยามของรัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจของไทย ในการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปฏิบัตินี้ อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลกับข้อกล่าวหาเรื่องการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการกระทำของหน่วยงานธุรกิจและการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลในไทย โดยที่ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำละเมิด

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงต้องเผชิญกับการตอบโต้โดยไม่มีการตรวจสอบ อันเป็นผลมาจากการที่พวกเขาดำเนินกิจกรรมที่ชอบธรรม เพื่อแก้ปัญหาข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานธุรกิจและตัวแทนของรัฐ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ต้องเผชิญกับการโจมตี การข่มขู่ และการคุกคามประการต่าง ๆ โดยมักไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากทางการไทย หน่วยงานธุรกิจและทางการไทยยังได้แจ้งข้อหาที่กุขึ้นมาอย่างปราศจากความจริง เพื่อเอาผิดกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานธุรกิจ ทางการไทยและหน่วยงานธุรกิจใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ข้อบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะซึ่งจำกัดสิทธิในการรวมตัว รวมถึงใช้อำนาจอย่างกว้างขวางของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื้อหาของกฎหมายเหล่านี้และบทลงโทษที่รุนแรงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น การดำเนินธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน มักเดินหน้าต่อไปโดยปราศจากการปรึกษาหารืออย่างจริงจังหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งนี้ ยังพบประเด็นเรื่องการขาดความโปร่งใสในการกำกับดูแลกิจการและการลงทุนของหน่วยงานธุรกิจในประเทศไทย

ในบรรดาภาระหน้าที่ต่าง ๆ หลักปฏิบัตินี้ยังกำหนดให้รัฐควร "คุ้มครองไม่ให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในดินแดนและ/หรือเขตอำนาจของตน โดยเป็นการกระทำของบุคคลที่สามรวมทั้งหน่วยงานทางธุรกิจ" ประกัน "ไม่ให้มีการขัดขวางการดำเนินงานที่ชอบธรรมและสันติของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" และประกันว่าหน่วยงานด้านธุรกิจจะเข้าร่วม "กับการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับขนาดของหน่วยงานธุรกิจและธรรมชาติและลักษณะการดำเนินงานธุรกิจนั้น"

ตามหลักปฏิบัตินี้ เราเรียกร้องรัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจให้

·      ประกันให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสุขภาพ อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของภาครัฐและธุรกิจ หรือมาจากผลความสัมพันธ์ทางธุรกิจของรัฐบาล

·      คุ้มครองการดำเนินงานอย่างชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจควรป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีโดยไม่จำเป็นต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการดำเนินธุรกิจ

·      ลดการเอาผิดทางอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทใด ๆ และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในประเทศ รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

·      รับรองสิทธิการเข้าถึงการเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล ในกรณีที่เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้การเยียวยาต่อการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางการไทยต้องรับรองว่าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะสามารถเข้าถึงกลไกต่าง ๆ ของกระทรวงยุติธรรม เช่น กองทุนยุติธรรม และประโยชน์จากพระราชบัญญัติการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีตัวแทนทางกฎหมายและการคุ้มครองอย่างเป็นทางการจากความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้

·      คุ้มครองไม่ให้เกิดการตอบโต้ ทั้งการโจมตีทำร้าย การข่มขู่และการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยควรดำเนินการให้มีการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงและอย่างเป็นอิสระ กรณีที่มีรายงานการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและประกันให้มีการเยียวยาอย่างเป็นผลต่อผู้เสียหาย

·      ตอบรับคำขอของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคณะทำงานของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน บรรษัทข้ามชาติ และกลุ่มธุรกิจ เพื่อมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการดำเนินงานของกลไกดังกล่าว

 

องค์กรที่ร่วมลงนาม:

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม—เอเชีย)

สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กลุ่มด้วยใจ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ฟอร์ติฟายไรท์

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดหกหมู่บ้าน จ.เลย

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

องค์กรโพรเทคชัน อินเตอร์เนชันแนล

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

โรงน้ำชา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัยระบุร่างกติกาดีแล้ว แต่ตัวหนังสืออย่างเดียวเปลี่ยนสังคมไม่ได้ ชี้คำถามประยุทธ์ช่วยกระตุ้น ปชช.

Posted: 31 May 2017 02:21 AM PDT

ประธาน กรธ. ตอบเสียงวิจารณ์กรณี 4 คำถาม คสช. ระบุร่างรัฐธรรมนูญมาดีแล้ว แต่สังคมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนต้องตื่นตัว ชี้ 4 คำถามช่วยกระตุ้นให้ประชาชนให้ตื่นตัว หากตระหนักกันมากขึ้น การปฎิรูปจะเกิดผล

ภาพจากสำนักข่าวไทย

31 พ.ค. 2560 ที่รัฐสภา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ตอบโจทย์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงตั้งคำถาม 4 ขัอ และกรณีที่นักการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นว่า คนที่ควรตอบคำถามทั้ง 4 ข้อดังกล่าวนั้นควรเป็นผู้ร่างกติกาเอง

โดยมีชัย ระบุว่า กรธ.พยายามร่างกติกาอย่างดีที่สุด เพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลง แต่สังคมจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยการรับรู้ ตระหนักรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำผิดกติกา และจะได้ช่วยกันระมัดระวัง โดยเฉพาะเวลาที่ประชาชนตัดสินใจหรือไปใช้สิทธิ จะได้พิจารณาด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง

"กติกาปราบโกง กรธ. เขียนไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญ มันก็เหมือนกับกีฬาที่มีกติกากำหนดไว้ แต่ก็ยังมีผู้เล่นทำฟาล์ว เหมือนคดีอาญาที่กำหนดโทษว่า หากฆ่าคนก็ต้องติดคุก แต่ก็ยังมีคนทำผิดอยู่ มันจึงไม่ได้หมายความว่า มีกติกาแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย" มีชัยกล่าว

มีชัยระบุด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้สทุกอย่างจะจบ ป่านนี้บ้านเมืองสงบไปนานแล้ว 4 คำถามของนายกฯ จึงเป็นการกระตุกให้คนช่วยกันคิด ยิ่งทุกวันนี้ประชาชนตื่นตัวกันมากขึ้น หากร่วมกันตระหนักมากขึ้น การปฏิรูปก็จะเกิดผล

สำหรับกรณีที่นักวิชาการระบุว่าคำถามของนายกรัฐมนตรีเป็นการชี้นำ ทั้งที่มีกติกาที่รัดกุมแล้ว ประธานกรธ. กล่าวว่า แม้มีกติกา แต่สิ่งสำคัญคือบุคคล หากทุกคนไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีผลอะไร

เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ , สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"คุณต้องฆ่าฉันก่อน" หญิงชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ ปกป้องชาวคริสต์จากกลุ่มก่อการร้าย

Posted: 31 May 2017 01:37 AM PDT

หนึ่งในเรื่องราวเล็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์ก่อการร้ายจากกลุ่มเมาเต (Maute) ในฟิลิปปินส์ เมื่อหญิงมาราเนามุสลิม 2 คนเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือปกป้องชาวคริสต์จากกลุ่มก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 คริส เป็น "บิซายา" (คำที่ชาวมุสลิมและชนพื้นเมืองใช้เรียกคนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม) ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายบุกเข้ามาในร้านอาวุธปืนที่เขาทำงานอยู่ แต่คนที่ชื่อฟาริดาก็ช่วยปกป้องเขาไว้โดยการเผชิญหน้ากับผู้ก่อการร้ายแบบตาต่อตา ดูจริงจัง ซึ่งคริสบอกว่าเขาชื่นชมความแน่วแน่ของฟาริดา

จากคำบอกเล่าของคริส เรื่องนี้ทำให้ผู้นำกลุ่มที่เข้ามาขออาวุธปืนกับกระสุนพาตัวฟาริดาออกไปและถามเธอเกี่ยวกับลูกน้องของเธอที่มีอยู่ 13 คนรวมตัวกันอยู่มุมหนึ่งของห้อง เธอบอกกับผู้ก่อการร้ายว่า "คุณต้องฆ่าฉันก่อนถึงจะแตะต้องพวกเขาได้"

ร้านค้าอาวุธปืนของครอบครัวฟาริดาทั้งสองร้านต่างก็ถูกกลุ่มก่อการร้ายปล้น คริสบอกว่าถ้าหากผู้ก่อการร้ายจับตัวฟาริดาไว้ได้ครอบครัวของเธอก็คงจะถูกจับไปด้วย หลังจากเหตุการณ์สงบลงเมื่อผู้ก่อการร้ายออกไปจากร้าน ฟาริดาและครอบครัวก็พากันหลบหนีไปอยู่ที่เมืองอิลลิแกน คริสลงความเห็นว่าการที่ผู้ก่อการร้ายไม่ทำอะไรกับลูกจ้างในร้านอาวุธอาจจะเพราะสนใจในทักษะวิชาชีพของพวกเขา

จากสถิติของทางการระบุว่าในมาราวีมีคนที่ไม่ใช่มุสลิมอยู่เพียงร้อยละ 1 แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีจำนวนประชากรที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมอยู่มากกว่าตัวเลขนี้ กลุ่มที่เรียกว่าบิซายามักจะทำงานอยู่ในย่านการค้าหรือในบ้านของคนที่มีฐานะดี พวกเขาเรียนรู้ที่จะพูดภาษามาราเนาและหลอมรวมตัวเองเข้ากับชุมชนได้เป็นอย่างดี มีบิซายากลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนาที่ถูกจัดวางให้เป็นศูนย์วิจัยการปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมในหมู่ประชากรชาวมินดาเนา ซูลู และปาลาวาน

ถึงแม้ว่ากลุ่มติดอาวุธโมโรจะเคยสร้างความตึงเครียดระหว่างศาสนาคริสต์และอิสลามมาก่อน แต่ความพยายามจัดการเจรจาหารือระหว่างศาสนาก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่กลุ่มก่อการร้ายศาสนาอิสลามแบบสุดโต่งมาสั่นคลอนความสัมพันธ์ทางศาสนาที่ยังคลอนแคลนอยู่อีกครั้ง จากการที่มีเหตุผู้ก่อการร้ายเมาเตก่อเหตุฆ่าตัดคอคนงานโรงเลื่อยชาวคริสต์ 2 ราย สร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนชาวคริสต์และทำให้เหล่านายจ้างชาวมุสลิมไม่สบายใจ

มีเรื่องของหญิงมุสลิมอีกคนหนึ่งที่ชื่อไซนับ เป็นคนทำงานด้านการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ผู้สร้างศูนย์ที่พักพิงแก่ชาวคริสต์ เธอเป็นคนที่ช่วยส่งชาวคริสต์หลบหนีไปยังเมืองอิลิแกนในช่วงที่กลุ่มก่อการร้ายเข้ายึดครองย่านใจกลางเมืองมาราวี ไซนับเดินทางพร้อมกับชาวคริสต์เป็นเวลา 15 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่มีการพักทานอาหารซึ่งเสี่ยงมากกับคนเป็นโรคเบาหวานอย่างเธอ แต่ไซนับก็บอกว่าเธอไม่สนใจว่าจะเป็นอันตราย เธอเตรียมพร้อมจะตายก่อนอยู่แล้วถ้าหากผู้ก่อการร้ายจะทำร้ายชาวคริสต์

 

เรียบเรียงจาก

2 Muslim women defend Christians, Inquirer, 30-05-2017

http://newsinfo.inquirer.net/900748/2-muslim-women-defend-christians

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ชี้ธุรกิจเคารพสิทธิ-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำประเทศสู่ 'ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน'

Posted: 31 May 2017 01:17 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ปาฐกถาชี้ประกอบธุรกิจโดยเคารพในสิทธิ-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องถูกต้องทางศีลธรรม-เป็นโอกาสนำประเทศสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ย้ำภาคธุรกิจที่ดีต้องเคารพสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขอนามัยตามมาตรฐาน-ความตกลงในระดับสากล เสนอ 3 เสาหลัก ด้านการคุ้มครอง ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา 

ที่มาภาพ เพจ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

31 พ.ค.2560 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม" ในการเปิดสัมมนาวิชาการเพื่อเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน  โดยเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม และเป็นโอกาสนำประเทศสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสิทธิมนุษยชนคือ การดูแลคนทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ดังนั้น ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนก็คือการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการทำให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจได้จริงนั้น  ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่ต้องตระหนักและเข้าใจบทบาทของตนตาม 3 เสาหลักของหลักการชี้แนะ เพื่อให้เป็นที่รับรู้และมีการนำไปปฏิบัติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงได้มีมติจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจอื่นๆ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะดังกล่าว สนับสนุนการดำเนินการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติ ตลอดจนให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐบาล บริษัทธุรกิจทุกประเภท สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเทศต่าง ๆ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิ และซึ่งในวันนี้ สมาชิกของคณะทำงานฯ 2 ท่านคือ มิสเตอร์ไมเคิล อัดโด (Mr. Michael Addo) ประธานคณะทำงานฯ และมิสเตอร์ดานเต้ เปชเช (Mr. Dante Pesce) สมาชิกคณะทำงานฯ เข้าร่วมการสัมมนาและเป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง "สหประชาชาติกับการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ตามเสาหลักของหลักการชี้แนะฯ" ด้วย 
 
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่ผลักดันให้ประเทศไทยมีการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการชี้แนะฯ ทั้งเสาหลัก 3 ประการ คือ เสาหลักด้านการคุ้มครอง  ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา   เสาหลักด้านการคุ้มครอง เป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐโดยตรงในการดูแลมิให้บุคคลได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของภาคธุรกิจตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่หลายฉบับนั้น รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบ นโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุม กำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเคารพสิทธิมนุษยชน จัดทำแนวทางหรือข้อเสนอแนะแก่ภาคธุรกิจว่าควรมีการปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจการของตน นอกจากนี้ รัฐยังต้องดูแลให้นโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนกำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจ เช่น ปตท. การบินไทย บขส. กสท. และ TOT ตลอดจนรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนด้วย เพื่อเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ภาคเอกชนในการดำเนินการเรื่องนี้ 
 
สำหรับหน้าที่ของรัฐด้านการคุ้มครองนี้ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการแล้วในหลายส่วน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้คนทำงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่มีการบังคับใช้แรงงาน ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม กฎหมายที่ให้หลักประกันทางสังคมแก่คนที่ทำงานทั้งที่เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนและผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว กฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็ก กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ซึ่งรัฐบาลยังต้องพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรฐานระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงในจุดที่เป็นปัญหา อาทิ การแก้ไขเรื่องการค้ามนุษย์ เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะคุ้มครองบุคคลจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกเอารัดเอาเปรียบโดยถูกบังคับให้ทำงานในสภาพที่เลวร้ายเช่นในเรือประมง จึงได้ประกาศนโยบาย "ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้น" ให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557 และสั่งการให้หน่วยงานมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจเรือประมงและแรงงานบนเรือ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดโดยได้มีการแก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และมีการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
 
ระดับนโยบาย ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ว่าจะดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของเอกชนในทุกๆ ด้าน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้แนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนแก่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักว่า แผนที่จะจัดทำขึ้นควรมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือที่อาจจะเกิดขึ้น โดยควรเป็นมาตรการที่ตอบสนองปัญหาได้ตรงจุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในวงกว้าง เป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง
 
เสาหลักที่สองด้านการเคารพ เกี่ยวกับภาคธุรกิจโดยตรง เนื่องจากหลักการชี้แนะฯ ระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเสนอว่าภาคธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อันเกิดจากหุ้นส่วนทางธุรกิจ และ/หรือ ห่วงโซ่การผลิต โดยควรพยายามแสวงหาหนทางที่จะป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบทางลบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ การผลิตผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการ   สิทธิมนุษยชนที่ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญในลำดับแรก คือ สิทธิของแรงงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ภาคธุรกิจพึ่งพิงในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน หากภาคธุรกิจปฏิบัติต่อแรงงานอย่างดี ดูแลสวัสดิการและให้ความเป็นธรรม ก็เชื่อได้ว่า แรงงานเหล่านี้ก็จะตั้งใจทำงาน สร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพแก่ภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น การคุ้มครองแรงงานในเรื่องของค่าจ้าง วันหยุด และการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและเป็นไปตามหลักสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
 
นอกจากการดูแลสวัสดิการของแรงงานแล้ว คนอีกกลุ่มที่ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญ คือ ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งภาคธุรกิจพึงระมัดระวังมิให้การดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การประกอบอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยสารพิษหรือของเสียที่เป็นพิษ ควรใช้ความระมัดระวังและมีกระบวนการกำจัดสารพิษอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ หากประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนและมีการประท้วงการประกอบธุรกิจของท่าน ธุรกิจของท่านก็อาจต้องสะดุดหยุดลงและเกิดความเสียหายได้ในที่สุด   ภาคเอกชนควรผนวกเอาหลักการชี้แนะฯ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ รวมถึงการจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สามารถทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และหาวิธีในการป้องกันหรือบรรเทาปัญหา รวมถึงเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
 
เสาหลักที่สาม คือการเข้าถึงการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กลไกหลักที่สำคัญในการเยียวยา คือ กลไกของรัฐ ซึ่งได้แก่ระบบศาลในกระบวนการยุติธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยรองรับสิทธิของบุคคลในการเรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดในกรณีต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ หลักการชี้แนะฯ ยังได้เสนอให้มีการพิจารณาประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนและหาแนวทางแก้ไข เช่น ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีและกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ขอให้หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่เข้าร่วมการสัมมนาช่วยพิจารณาทบทวนดูว่ากระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายที่เป็นอยู่สามารถให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรมแล้วหรือไม่อย่างไร เพื่อปรับปรุงพัฒนากระบวนการเพื่อสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม   การแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรมมักต้องใช้เวลา บางครั้งอาจไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น จึงต้องมีกลไกอื่นๆ เข้ามาเสริม โดยเฉพาะช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ อีกทั้ง รัฐบาลมีศูนย์ดำรงธรรมในทุกหมู่บ้าน ตำบลและจังหวัด ที่จะช่วยรับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องปัญหาการถูกละเมิดด้านสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบได้
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังเสนอให้บริษัทหรือผู้ประกอบการจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนในสถานประกอบการของตนเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยตรง เพื่อให้ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขและเกิดความยุติธรรมในระดับสถานประกอบการซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและแรงงานเอง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนนั้นมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่นครนิวยอร์ก นายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้นำของประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 193 ประเทศรวมทั้งได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเปรียบเสมือนแผนแม่บทระดับโลกที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะ 15 ปีข้างหน้า โดยการกำหนดเป้าหมายเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและการไม่ทิ้งบุคคลใดไว้เบื้องหลัง
 
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังได้ระบุถึงบทบาทของภาคเอกชนในการประกอบกิจกรรมธุรกิจ การลงทุน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถือเป็นตัวผลักดันที่สำคัญต่อการสร้างผลผลิต การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม และการสร้างงาน ภาคธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะต้องให้ความเคารพสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานทางด้านสุขอนามัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานและความตกลงในระดับสากล ดังเช่นหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
 
พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของตลาด และช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมุมธุรกิจ การมีกระบวนการภายในเพื่อประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน จะทำให้ผู้ประกอบการต้องคิดหาวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา หรือหาแนวทางแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายและมีผลกระทบต่อธุรกิจเอง เป็นการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้บริโภคในประเทศตะวันตก ไม่ได้คำนึงถึงเพียงคุณภาพของสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังดูว่ากระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการมีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือทำให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ หากบริษัทใดมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต ผู้บริโภคก็อาจไม่สนับสนุนสินค้านั้นแม้ว่าจะมีคุณภาพดีก็ตาม ดังนั้น การเคารพสิทธิมนุษยชนจึงเป็นผลดีแก่ธุรกิจในระยะยาว
 
รัฐบาลเห็นว่า การประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะช่วยลดปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของปัญหาแรงงาน ช่วยลดข้อพิพาท ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ คนในสังคมก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม หลักการชี้แนะฯ จึงเป็นการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิทธิมนุษยชนจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการค้าระหว่างประเทศต่อไปในอนาคตและอาจมีความเข้มข้นมากขึ้น  ขณะนี้ หลักการชี้แนะฯ ยังไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมายเช่นความตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจเอกชนของไทยไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด จะได้มีเวลาในการปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางของหลักการชี้แนะฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย ทั้งนี้ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐก็ได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการประกอบกิจการที่เคารพสิทธิมนุษยชนอยู่บ้างแล้ว เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยมีแนวทางปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของบริษัทครอบคลุมตั้งแต่การจัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล การบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการมีกลไกคุ้มครองและเยียวยา นอกจากนี้ บริษัทจะต้องมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อเปิดเผยผลกระทบและผลลัพธ์ทั้งเชิงบวกและลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการด้วย   ทั้งนี้ การทำให้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม การจัดสัมมนาวิชาการในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มารับรู้ร่วมกันว่าการทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่อะไรในการส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ และหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้เสียหายจะไปร้องเรียนได้ที่ใดและจะได้รับการเยียวยาอย่างไร
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจซึ่งมีบทบาทที่สำคัญทั้งในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การที่องค์กรภาคธุรกิจหลักของประเทศ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งเครือข่าย โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายในระดับประเทศของโกลบอลคอมแพ็กของสหประชาชาติที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบริษัทชั้นนำของไทย 15 บริษัท ซึ่งได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนานับเป็นหลักประกันว่าจะมีการเผยแพร่หลักการชี้แนะฯ ให้แก่ผู้ประกอบการของไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจแนะนำช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตนในการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะฯ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมจะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
 
ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวยินดีที่จะมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน สำหรับการประชุมสัมมนาวิชาการในวันนี้ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะรักษาพันธสัญญาในการทำหน้าที่เพื่อให้ความเคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุ้มครองปัจเจกบุคคลและชุมชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบุคคลที่สาม ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบกิจการของตนเองมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนจะช่วยส่งเสริมปัจจัยในการกระตุ้นการผลิต ขวัญและกำลังใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ลูกค้า ผู้บริโภค เสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีและความมั่นคงในการประกอบกิจการ รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และที่สำคัญสร้างชื่อเสียงและผลประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนโดยรวมเพื่อ "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผ่นดินจึงดาล: เกษียร เตชะพีระ การเมืองและพื้นที่สุดท้ายที่ต้องรักษาเอาไว้

Posted: 30 May 2017 08:44 PM PDT

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด 'แผ่นดินจึงดาล' นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ' เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

มุมมองการวิเคราะห์ของเกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ นำพาเราออกมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในภาพเล็กไปสู่ภาพที่ใหญ่ของการปะทะต่อสู้ระหว่าง Deep State กับ Deep Society เมื่อฝ่ายแรกพยายามเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย การพยายามสร้างอำนาจนำหรืออนุญาโตตุลาการสุดท้ายขึ้นใหม่ที่ไม่ได้มาจากประชาชน อันเป็นความพยายามที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน

ภายใต้กติกาปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนถึงการวางกลไกจำนวนมากเอาไว้เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ และแทบจะปิดช่องสำหรับการแก้ไข เหล่านี้ทำให้เกิดแนวโน้มที่พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกดปรามจากรัฐธรรมนูญจนไม่มีช่องทางให้เล่นภายใต้กติกาจะก้าวลงสู่ท้องถนน และแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงตามที่มีการวิเคราะห์กันไว้พอสมควร

พินิจจากถ้อยคำของเกษียร เขาเองก็พอจะเห็นเค้าลางนี้และมองว่านี่คือสงครามยืดเยื้อ การชนะในศึกใดศึกหนึ่งหรือสมรภูมิใดสมรภูมิหนึ่ง มิได้หมายถึงการชนะสงคราม การต่อสู้ครั้งนี้ไม่จบง่ายๆ และท่ามกลางการสู้รบ (หากเราจะเรียกเช่นนั้น) การบาดเจ็บล้มตายอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่เกษียรยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ว่าการสู้รบระหว่าง Deep State กับ Deep Society รอบนี้จะดุเดือดแหลมคมเพียงใด ที่มั่นหรือพื้นที่สุดท้ายที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องรักษาไว้ให้ได้คือพื้นที่สันติวิธีและสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถปล่อยปละละเลยให้ต้นทุนแพงไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

ความระส่ำในยุคขาด 'อำนาจนำ' และ 'รัฐพันลึก'

ช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นชัดเจนถึงความหลากหลายผันแปรอยู่ ที่ว่าเครือข่ายหรือกลุ่มที่เข้าไปกุมการร่างรัฐธรรมนูญมีความไว้ใจหรือศรัทธาต่อสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสถาบันไหน คุณบวรศักดิ์ อุ วรรณโณ มอบอำนาจให้กับตัวแทนเครือข่ายเอ็นจีโอ หรือพูดแรงๆ ก็ได้ว่า ขุนนางเอ็นจีโอ ส่วนคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ฝากไว้กับตุลาการภิวัตน์ กับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน คสช. ก็ฝากไว้กับวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง เป็นทางเลือกแบบ ความมั่นคงสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบยุคป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)

ทั้งหมดนี้คืออะไร มันคือการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ (Hegemony) ไม่มีพลังทางการเมืองที่จะชักจูงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศได้โดยที่ไม่ต้องบังคับให้ยอมรับ พอขาดพร่องอันนี้ไปก็วิ่งหาการทดแทน เพราะไม่ไว้ วางใจว่าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจะยอมรับระเบียบการเมืองเดิมที่เป็นอยู่ได้ แต่ก่อนนี้ยังมีอำนาจนำที่กล่อมเกลา ที่ชักจูง ที่เชื่อมโยงเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งให้ยอมรับระเบียบอำนาจบางอย่างได้ ในภาวะที่อำนาจนำเสื่อมถอยก็มองหากติกาใหม่ขึ้นมา ทางออกก็คือสร้างระเบียบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง มันก็เป็นอย่างนี้

มีนักวิชาการยืมแนวคิดเรื่อง 'รัฐพันลึก' หรือ Deep State มาใช้ คำแปลนี้มาจากอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งคิดว่าแปลได้ลงตัวดีมาก ไอเดียเรื่อง Deep State มาจากตุรกี แล้วพวกนักวิเคราะห์เอาไปใช้กับลาติ นอเมริกา พูดง่ายๆ ว่ามันคือกลไกรัฐทั้งหลาย อาจเป็นระบบราชการ อาจเป็นตุลาการ อาจเป็นกองทัพ อาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่พอไปอยู่ใต้ระบอบการเลือกตั้งประชาธิปไตย โครงสร้างส่วนลึกเหล่านี้มีความยึดมั่น ถือมั่นในเรื่องความมั่นคง หรือระเบียบการเมือง หรือผลประโยชน์ที่ไม่ไปกันกับระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง มันจึงกลายเป็นว่าเวลาคุณมองดูประเทศเหล่านี้ มองดูตุรกี มองดูประเทศในลาตินอเมริกาบางประเทศ ข้างบนจะเป็นการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่ข้างล่างจะมีโครงสร้างส่วนลึกซึ่งไม่ค่อยยอมรับระเบียบนี้เท่าไร ดังนั้น จะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังเหล่านี้โดยตำแหน่งฐานะในโครงสร้างรัฐที่มีอยู่ เคลื่อนไหวในทิศทางที่ท้ายที่สุดนำมาซึ่งการสั่นคลอนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

Deep State vs. Deep Society

ในแง่กลับกัน อยากเสนอว่าเรามี 'สังคมพันลึก' ด้วย นี่เป็นการพูดในแง่ดี เราไม่เพียงมี Deep State แต่เรามี Deep Society อยากชวนเข้าใจด้วยตัวอย่างเหตุการณ์นี้ว่า เมื่อหลายวันก่อนมีคนเอารูปของอาจารย์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมัยหนุ่มฟ้อหลังจบจากฮาวายใหม่ๆ นั่งอยู่ในเวทีเสวนา คาดว่าเป็นหอประชุมใหญ่ คนนั่งขนาบสองสามคน คนหนึ่งคือมารุต บุนนาค เป็นผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานรัฐสภา คนถัดมาคือสุวัฒน์ วรดิลก หรือรพีพร นักเขียนนิยายชื่อดัง อีกข้างคือสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นี่คือพลังประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้าในธรรมศาสตร์และสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นคือการอภิปรายหลังจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิตเมื่อปี 2526 เป็นงานรำลึกอาจารย์ปรีดี

ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ยาวนานนัก อย่าคิดว่า Deep State ชนะแล้วโดยง่าย สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเราจะยืนยาวไปอีกหลายปี มันเป็นการต่อสู้ระหว่าง Deep State กับ Deep Society ไม่จบเร็ว ไม่จบง่าย บรรยากาศที่ผ่านมาบางทีก็ทำให้เราหดหู่หมดกำลังใจ สิบปีก็อยู่กันตรงนี้ เป็นระลอกๆ ไม่จบ แต่น่าสนใจว่าทำตั้งหลายรอบไม่ยักจบสักทีใช่ไหม พวกเขาเองก็คงรู้สึกอยู่ว่ามันน่าอึดอัด อยากให้จบเร็วๆ ไม่อย่างนั้นคุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาคงไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ดุเดือดยาวเหยียด ไม่อย่างนั้นหม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) ก็คงไม่มาให้สัมภาษณ์เปิดเผยยาวเหยียด ทำไมมันยุ่งยากอย่างนี้ ไม่จบและชนะเบ็ดเสร็จสักที ก็เพราะมันมี Deep Society ไง

รักษาพื้นที่สิทธิมนุษยชนเอาไว้ให้ได้

หลายคนมักบอกว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ อาจต้องมีการสูญเสีย ถ้าเราคิดว่าแบบนั้นต้นทุนมันแพง ถ้าทางเลือกแบบที่คนทำนายไว้นี้ มันน่ากลัว คุณก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำอย่างไรจะรักษาพื้นที่ต่อสู้แบบสันติวิธีระหว่างสังคมพันลึกกับรัฐพันลึกให้เป็นไปได้

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ เราต้องรักษาสิทธิมนุษยชนให้ได้ ไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่พูดถึงอะไรที่เบสิกกว่านั้นเยอะ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในความเชื่อทางการเมืองแบบไหน อยู่ค่ายอะไร ต้องมีหลักสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยว่าพลังที่มีโอกาสจะใช้ความรุนแรงได้มากกว่าคือพลังที่มีเครื่องมือเครื่องไม้ในมือ ซึ่งก็คืออำนาจรัฐ ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจึงยิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะจำกัดอำนาจรัฐไว้ หัวใจสำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชนคือการจำกัดอำนาจรัฐ หยุดแค่นี้ สิทธิมนุษยชนเริ่มตรงนี้ เส้นอยู่ตรงนี้ แล้วเปิดพื้นที่โล่งให้คนสู้กันอย่างสันติ เพราะ Deep State vs. Deep Society มัน Long Term! หน้าที่เราระหว่างที่จะต้องมีศึกย่อยอีกหลายครั้งที่สังคมไทยต้องลุกขึ้นมาทะเลาะกันอีกหลายยกก็คือ การรักษาพื้นที่สันติ รักษาสิทธิมนุษยชนไว้ ถ้าผมเข้าใจถูกว่าเราจะต้องฟัดกันอีกยาวนาน จนกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่า อะไรคือระเบียบการเมืองที่ Deep State และ Deep Society จะอยู่ร่วมกันได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai