โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กทม.ยันป้อมมหากาฬต้องจบใน 2 เดือน รองแม่ทัพภาค 1 ย้ำต้องคิดถึงความรู้สึกชาวบ้าน

Posted: 05 May 2017 09:50 AM PDT

รองแม่ทัพภาค 1 คุยป้อมมหากาฬ ย้ำต้องคิดถึงความรู้สึกชาวบ้าน ด้าน กทม.ยันต้องจบภายใน 2 เดือน นัดถกเรื่องคุณค่า 20 พ.ค.นี้ หากไม่เข้าเกณฑ์ต้องรื้อถอนทันที

 

5 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 พ.ค.60) เวลา 14.30 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการรื้อถอนบ้านเรือนและพูดคุยกับชุมชนป้อมมหากาฬถึงสถานการณ์ปัจจุบันและการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร โดยมี พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นผู้บรรยายสรุปความเป็นมาของปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีตัวแทนจาก กทม. เข้าร่วมด้วย

พ.ท.โชคดี บรรยายสรุปว่า ที่ผ่านมามีการตรวจสอบงานภายในพื้นที่ทั้งเรื่องขยะและการรื้อถอนบ้านเรือน ซึ่งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีการรื้อถอนทั้งหมด 9 หลัง และมี 1 หลังยอมย้ายออกแต่บ้านยังไม่รื้อถอนเนื่องจากอยู่ในโครงการอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ  โดยการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการประเมินและพิสูจน์คุณค่าของบ้านที่เหลืออยู่ทั้ง 33 หลัง ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีครบทั้ง 5 คุณค่า ซึ่งสิ่งที่จะทำร่วมกันในขณะนี้คือการพัฒนาพื้นที่ทิศใต้ คือ การทำความสะอาด ซ่อมแซมกำแพงที่ชำรุดรวมถึงท่าเรือและทำการคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน

ยุทธภัณฑ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ ซึ่งจะมีการประชุมสรุปกันในวันที่ 20 พ.ค. นี้

"20 พ.ค. นี้ต้องนำเสนอว่าบ้านแต่ละหลังมีคุณค่าอย่างไร โดยให้ระยะเวลา 1 เดือน และหากไม่ได้ข้อสรุปจะขยายเวลาให้อีก 1 เดือน ดังนั้นภายใน 2 เดือนนี้ต้องแล้วเสร็จ ต้องให้คำตอบต่อสาธารณะและผู้บริหารได้ว่าบ้านแต่ละหลังมีความสำคัญอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศ กับกทม. กับย่านและชุมชนอย่างไร และต้องเข้าหลักเกณฑ์ครบทั้ง 5 ด้าน หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จำเป็นต้องรื้อถอนและย้ายออกไป " ยุทธภัณฑ์ กล่าว

ในส่วนของตัวป้อมที่มีความชำรุดและได้รับความเสียหายจากต้นไม้ รวมถึงในส่วนของตัวอาคารที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นในคลองแสนแสบ กทม.ก็มีแผนในการบูรณะ โดยให้ทางสำนักงานผังเมืองประเมินงบประมาณในการซ่อมแซมเบื้องต้นและขอความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ถ้ากรมศิลป์เห็นชอบก็ใช้เวลาในการบูรณะไม่เกิน 1 เดือน จะสามารถปรับปรุงให้แล้วเสร็จได้

สมชัย ถนอมวาจามั่น นายช่างผู้ชำนาญงาน กทม.(ผู้ออกแบบสวนสาธารณะ) กล่าวว่า การออกแบบพื้นที่ด้านทิศใต้ขนาด 300 ตารางวานั้นจะจัดทำสวนสาธารณะขนาดเล็กและเปิดพื้นที่โล่งถึงริมคลอง มีการเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ และจะเน้นการปลูกต้นไม้ไทยเป็นหลัก เช่น พิกุล แก้ว ลำดวน และมีการจัดที่นั่งพักผ่อนสำหรับคนในชุมชนและประชาชนทั่วไป

โดยในส่วนพื้นที่ว่างอีกด้านของชุมชนนั้นทาง กทม. สำนักงานผังเมืองและสำนักสิ่งแวดล้อมได้มีการประชุมสรุปเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับงานพระราชพิธีต่อไป โดยจะทำความสะอาดและปูพื้นยาง

สมพร อาปะนนท์ หรือ ป้าเฮง อายุ 76 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 169 ได้นำช่อดอกไม้มามอบให้ พล.ต.ธรรมนูญ พร้อมขอร้องให้ช่วยเหลือให้ได้อยู่อาศัยต่อไป

จากนั้น พล.ต.ธรรมนูญ และคณะได้เดินชมบริเวณพื้นที่ที่จะปรับภูมิทัศน์ รวมถึงบ้านในชุมชน โดยมี ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชน นำชมและอธิบายถึงความสำคัญของบ้านแต่ละหลัง ระหว่างนั้น สมพร อาปะนนท์ หรือ ป้าเฮง อายุ 76 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 169 ได้นำช่อดอกไม้มามอบให้ พล.ต.ธรรมนูญ พร้อมขอร้องให้ช่วยเหลือให้ได้อยู่อาศัยต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านและเด็กในชุมชนได้นำของที่ระลึกมามอบให้ด้วย

พล.ต.ธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้ตนมาดูแลเรื่องนี้ ต้องหาทางออกและช่วยชาวบ้านที่มีรายได้น้อย จึงต้องมีความชัดเจนในการพูดคุยประเด็นต่างๆ ซึ่งตนก็อยากให้บ้านทั้ง 33 หลังที่เหลืออยู่นั้นอยู่ครบทุกหลัง แต่ก็ต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ หากผลการพิสูจน์คุณค่าและการเจรจาออกมาอย่างไร ก็อยากให้ทางชุมชนยอมรับ และยังย้ำกับทหารที่เข้าประสานงานในพื้นที่และตัวแทน กทม. ว่าการดำเนินการใดๆ ให้คิดเสมอว่าหากเราเป็นชาวบ้านจะรู้สึกอย่างไร

ทั้งนี้ ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้มีการรื้อถอนบ้านเรือนไปแล้ว 19 หลัง อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน (ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมอุ้มทนายประเวศ 'นักนิติศาสตร์สากล' ร้องไทย ยุติคุมขังบุคคลตามอำเภอใจ

Posted: 05 May 2017 08:22 AM PDT

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการคุมขังบุคคลตามอำเภอใจ ในสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการโดยทันที หลังทนายประเวศ ถูกขัง 5 วัน โดยไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลอื่น หรือได้รับสิทธิการเข้าถึงทนาย จนต่อมาปรากฏตัวถูกดำเนินคดี 10 กรรมในความผิด ม.112 

ประเวศ ประภานุกูล 

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) กล่าวว่าประเทศไทยควรยุติการคุมขังบุคคลตามอำเภอใจในสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการโดยทันที โดยแถลงการณ์นี้ได้ออกขึ้นภายหลังที่มีการเปิดเผยว่า ประเวศ ประภานุกูล ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ปรากฏตัวและถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญากรุงเทพเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากถูกคุมขังตามอำเภอใจเป็นเวลา 5 วัน ณ สถานที่คุมขังภายในค่ายทหารในกรุงเทพฯ 

ในช่วงเช้าของวันที่ 29 เม.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เข้าจับกุมตัว ประเวศ ประภานุกูล ตรวจค้นบ้านพักของประเวศ ในกรุงเทพฯ และยึดทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และ ฮาร์ดไดรฟ์ 

ทั้งนี้ ไม่มีใครทราบชะตากรรมและที่อยู่ของนายประเวศ ประภานุกูลจนกระทั่งบ่ายของวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อ ประเวศ ประภานุกูล ติดต่อทนายความจำนวนหนึ่งรวมถึงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีภายในมลฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ
 
"การคุมขัง ประเวศ ประภานุกูล เป็นเวลา 5 วัน โดยไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลอื่น โดยปราศจากการนำตัวไปศาล หรือได้รับสิทธิการเข้าถึงทนายความ เป็นการคุมขังบุคคลตามอำเภอใจ (Arbitrary Detention) อันเป็น การละเมิดสิทธิของเขาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าว ประเวศ ควรได้รับการเยียวยาที่ เหมาะสม" คิงสลีย์ แอ๊บบ็อต (Kingsley Abbott) ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ICJ กล่าว พร้อมกล่าวอีกว่า "เพื่อให้ เกิดการประกันการคุ้มครองบุคคลทุกคนในระหว่างการคุมขัง ประเทศไทยมีหน้าที่ในการคุมขังบุคคลเหล่านี้ในสถานที่ คุมขังที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยมีชื่อของพวกเขาและสถานที่คุมขังเปิดเผยต่อบุคคลที่สนใจ และนำตัว พวกเขาไปศาลภายใน 48 ชั่วโมงโดยไม่ล่าช้า" 
 
ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ประเวศ ประภา นุกูล ถูกดำเนินคดี 10 กรรมในความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ซึ่งมีการตีความโดยเข้มงวด 3 กรรมในความผิดในลักษณะยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา) และการละเมิดมาตรา 14(3) ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  โดยก่อนหน้านี้ ICJ ได้ แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้  ทั้งนี้ ตามมาตรา 91(3) ของประมวลกฎหมายอาญา มีความเป็นไปได้ว่า ประเวศ ประภานุกูลอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 50 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดตามข้อหาเหล่านี้
 
"เสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ต้องไม่เป็นความผิดและมีบทลงโทษทางอาญาเป็นอันขาด และไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตามการจำคุกไม่เคยเป็นการลงโทษที่ได้สัดส่วนสำหรับ การใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่ต้องกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่อาจได้รับโทษจำคุกที่สูงถึง 50 ปี ซึ่งจะเป็นการทำลายสถิติใหม่ของบทลงโทษในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่เคยถูกบันทึกไว้"  
 
วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังการทบทวนการปฏิบัติตามพันธะกรณีของประเทศไทยภายใต้กติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี คณะกรรมการสิทธิ มนุษยชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการตรวจตราการบังคับใช้ ICCPR ได้ออกข้อสังเกตเชิง สรุป (Concluding Observations) โดยได้สังเกตว่า ในประเทศไทย "มีการรายงานบ่อยครั้งว่ามีการคุมขังบุคคลโดย ปราศจากข้อหา และควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกได้ และไม่เปิดเผยสถานที่คุมขังเป็น ระยะเวลาถึง 7 วัน โดยปราศจากการกำกับดูแลโดยศาล การคุ้มครองจากการประติบัติที่โหดร้าย และปราศจากการ เข้าถึงทนายความ" คณะกรรมการสิทธิมนุษชนได้แนะนำว่าประเทศไทยควรปล่อยตัวผู้เสียหายจากการคุมขังตาม อำเภอใจทั้งหมดโดยทันที และให้การเยียวยาที่ครบถ้วนแก่บุคคลเหล่านั้น 
 
"ข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยดำเนินการคุมขังนายประเวศ ประภานุกูลตามอำเภอใจที่เรือนจำทหารหลังจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกข้อสังเกตการณ์เชิงสรุปซึ่งติติงการปฏิบัติของประเทศไทยในการคุมขังบุคคลโดยไม่อนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลอื่นในสถานที่คุมขังที่ไม่เปิดเผย เพียง 5 วัน แสดงให้เห็นถึงความละเลยที่น่ากังวลต่อพันธกรณีสิทธิมนุษยชนสากลตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เสนอแนะ" 
 

ความเป็นมา        

 
ประเวศ ประภานุกูล คือทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง และมีส่วนร่วมในคดีทางการเมืองที่เป็นที่ เป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมากลูกความของเขา ได้แก่ สมาชิกของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช) หรือเป็นที่รู้จักกันว่า "เสื้อแดง" และบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์  
       
ICCPR ได้ให้การประกันสิทธิต่าง ๆ ไว้หลายประการ รวมถึง สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการ แสดงออก เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม และข้อห้ามการจับกุมหรือคุมขังตามอำเภอใจ (มาตรา 9)  
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้กล่าวไว้ว่า "ในการประกันการคุ้มครองบุคคลที่ถูกคุมขังอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ถูกคุมขังควรถูกคุมขังในสถานที่คุมขังที่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยที่ชื่อของพวกเขา สถานที่ที่ใช้ในการคุม ขัง และชื่อของบุคคลที่รับผิดชอบการคุมขัง ต้องได้รับการบันทึกและเก็บรักษาไว้ในทะเบียนอย่างเปิดเผย โดยที่ผู้ที่ เกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมไปถึงญาติและเพื่อน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยทันที"
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังได้เน้นย้ำในข้อสังเกตของคณะกรรมการหลายต่อหลายครั้งว่า บุคคลที่ถูกคุมขังนานกว่า 48 ชั่วโมงก่อนที่จะนำตัวไปหาผู้พิพากษา คือผู้ถูกคุมขังตามอำเภอใจ ทั้งนี้ ความล่าช้าใดๆ ที่เกินกว่า 48 ชั่วโมงจะต้องเป็นกรณียกเว้นและต้องมีเหตุที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์นั้นเท่านั้น  
 
หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยหน้าที่ของทนายความ (The UN Basic Principles on the Role of Lawyers) วางหลักการไว้ว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการประกันว่าทนายความสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ โดย ปราศจากการข่มขู่ การขัดขวาง การคุกคาม หรือการแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสม
 
ในวันที่ 25 พ.ย. พ.ศ. 2558  ICJ และ ฮิวแมนไรท์วอท  ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังคณะผู้แทน ถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลที่ไม่ใช่ทหารตาม อำเภอใจในพื้นที่ของทหารซึ่งรวมไปถึงเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีในกรุงเทพฯ
 
ICJ ได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับข้อจำกัดในเสรีภาพในการแสดงออก การกักขังโดยอำเภอใจ รวมถึงคำสั่งและประกาศที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่การรัฐประหารโดยเจ้าหน้าที่ทหารในวันที่ 22 พ.ค. พ.ศ. 2557 ซึ่งไม่สอดคล้องกับพันธะกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศไทย เช่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ที่อนุญาต การคุมขังบุคคลได้นานถึง 7 วัน โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาในสถานที่คุมขังที่ไม่เป็นทางการโดยที่บุคคลดังกล่าวจะ ไม่ได้รับการปฏิบัติในฐานะ "ผู้ถูกกล่าวหา" 
  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหา’ลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 3: ตัวแทน น.ศ. ระบุ กิจกรรมการเมืองในมหา’ลัยไม่บูม คนสนใจกิจกรรมเถิดเทิง

Posted: 05 May 2017 06:25 AM PDT

เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท จัดสัมมนาสาธารณะ "บทบาทอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย การสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม" ที่ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

บทที่ 3 ของซีรีส์มหาวิทยาลัยกับการสร้างพลเมือง นำเสนอเสียงจากภาคนิสิตนักศึกษาถึงข้อกังวลต่องานกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน พลังนักศึกษาที่เคยเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ทางการเมือง นับวันค่อยๆถอยห่างจากพื้นที่ทางการเมือง และความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ตกขบวนรถไฟของกาลสมัย ยังคงเข้าใจเรื่องพลเมืองแค่ต้องแต่งตัวถูกระเบียบ เชื่อฟังกฎ กติกา

อ่าน มหา'ลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 1: เมื่อเราไม่ได้พูดถึง "พลเมือง" คนเดียวกัน

อ่าน มหา'ลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 2 : ความต้องการของโลก-ตลาด ที่เด็ก มหา'ลัยไทยไม่ตอบโจทย์

ตัวแทน น.ศ. เผย คนสนใจกิจกรรมบันเทิงมากกว่า หลายงานจัดสืบต่อกันมาแบบงงๆ พลังนักศึกษาห่างจากการเมืองออกไปเรื่อยๆ

จากซ้ายไปขวา สุทธิดา จันทร์เหม ภานุวัฒน์ มานพ ประสิทธิ์ กุลธน ทรัพย์สมบัติ ครุธาโรจน์ พัทนินทร์ วิเศษรัมย์

ในหัวข้อเสวนา "ชมรมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาโดยตัวแทนนักศึกษา" ร่วมเสวนาโดยประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภานุวัฒน์ มานพ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ กุลธน ทรัพย์สมบัติ จากมหาวิทยาลัยมหิดล พัทนินทร์ วิเศษรัมย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสุทธิดา จันทร์เหม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงสร้างการรวมกลุ่มทำกิจกรรม สรุปเป็นใจความได้ว่า มหาวิทยาลัยมีงบประมาณกิจกรรมส่วนนักศึกษาให้ มีสโมสรนิสิตนักศึกษาคอยดูแลเรื่องการจัดโครงการ การตัดงบประมาณ แต่ละมหาวิทยาลัยมีรูปแบบการหาสมาชิกกลุ่มกิจกรรมไม่เหมือนกัน บ้างก็ให้เลือกตามความสมัครใจ บ้างก็กำหนดเป็นข้อบังคับให้เลือกอยู่กลุ่มกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งไปเลย

รูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็นกิจกรรมกีฬา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา บำเพ็ญประโยชน์ และวิชาการ วิทยากรทั้งห้าที่เป็นตัวแทนจากสโมสรนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ใช่กิจกรรมบังคับก็จะมีคนทำกิจกรรมไม่เยอะ อาจเป็นเพราะว่าไม่มีสภาพบังคับและตารางเรียนไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรม นิสิตนักศึกษาที่รับทุนของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มักถูกผูกพันเข้ากับการทำกิจกรรม ในหลายมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษากลุ่มดังกล่าวมักเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกให้มาช่วยงานบ่อยครั้ง ประสิทธิ์และสุทธิดา กล่าวว่า นิสิตนักศึกษา ม.เชียงใหม่และ ม.ศิลปากร มีจำนวนการเข้าร่วมกิจกรรมเชิงบันเทิง หรือสานความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษามากกว่ากิจกรรมอื่นๆ กิจกรรมวิชาการมีจำนวนน้อยในเชิงเปรียบเทียบ บางกิจกรรมก็เป็นกิจกรรมที่ทำสืบต่อกันมาเช่นการวิ่งขึ้นดอย รับน้อง ฯลฯ ในหลายกิจกรรม แม้แต่ผู้จัดทำไม่ได้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ของกิจกรรม ในกรณีของ ม.เชียงใหม่ กิจกรรมที่คณะหลายกิจกรรมเป็นกิจกรรมปิด ไม่ปล่อยให้ตัวแทนนักศึกษาจากส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบได้

ในส่วนกิจกรรมวิชาการ ประสิทธิ์ กล่าวว่า ใน ม.เชียงใหม่มีสัดส่วนกิจกรรมวิชาการน้อย เสวนาวิชาการก็มีคนเข้าน้อยตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ภายหลังมีรัฐประหาร การจัดทำเสวนาก็ต้องขอมหาวิทยาลัย ขอทหาร แต่ถ้าขอทหารก็โดนปัดตกอยู่ดี มิหนำซ้ำ ทางมหาวิทยาลัยเองเป็นคนส่งรายชื่อนักกิจกรรมให้ทหาร ตนเห็นว่า พลังนักศึกษาน้อยกว่าในอดีตจริง กิจกรรมในมหาวิทยาลัยก็ออกห่างจากการเมืองไปเรื่อยๆ

"ทุกคนพูดว่าในมหาวิทยาลัยยังไม่มีพื้นที่ให้เรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงสร้างสังคมในมหาวิทยาลัย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ ความมั่นคงในชีวิตรวมถึงตัวนักศึกษาที่ไม่ตั้งใจจะขวนขวายเอง" สุทธิดา กล่าว

ผลวิจัย 6 สถาบัน เผย หลักสูตรสร้างพลเมืองยังไม่บัญญัติชัดเจน นักศึกษาทำกิจกรรมการเมือง/สิทธิมนุษยชนน้อย

วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอร่างผลงานวิจัย "อุดมศึกษากับการพัฒนาความเป็นพลเมือง: แนวคิดและผลการศึกษาเบื้องต้นจาก 6 มหาวิทยาลัยไทย" ภายใต้หัวข้ออภิปราย "อุดมศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง" โดยมีอรรถพล อนันตวรสกุลเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

วัชรฤทัย กล่าวว่า บริบทช่วงสิบปีของไทยที่มีความขัดแย้งการการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ นำไปสู่ข้อสงสัยว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาและหน้าที่พลเมืองคืออะไรกันแน่ จากนั้นจึงเสนอข้อค้นพบจากการศึกษาและทำวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัย (ธรรมศาสตร์,มหิดล, เชียงใหม่,ทักษิณ,ศิลปากร และศรีนครินทรวิโรฒ) โดยศึกษาจากหลักสูตรทั่วไปและกิจกรรมนอกหลักสูตร สัมภาษณ์ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาการศึกษาทั่วไป และให้นักศึกษาทำแบบสอบถามและทำการพูดคุยเป็นกลุ่ม

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ พบว่า ในขณะที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นต่างมี หรือวางแผนที่กำลังจะมีการจัดวิชาการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองผ่านวิการการศึกษาทั่วไป แต่ในระดับผู้บริหาร ยังไม่มีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการเป็นพลเมืองที่ดี ผู้บริหารจำนวนมากยังมองประชาธิปไตยว่าเป็นการดูแลนักศึกษาให้ได้รับการศึกษาเท่ากัน ได้แสดงความเห็นเสรี แต่ว่าการเรียนการสอนด้านนี้ยังไม่ได้ถูกสถาปนาชัดเจนในหลักสูตร แต่สอดแทรกไปกับตัวผู้สอนแทน

ในแง่กิจกรรมนักศึกษา บางที่ บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมภาคบังคับ ซึ่งถ้าไม่ทำก็เรียนไม่จบ ในขณะที่ชมรมของนักศึกษาที่มีจำนวนสมาชิกเยอะที่สุด ได้แก่ ชมรมกีฬา รองลงไปเป็นชมรมศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ชมรมวิชาการและกลุ่มชมรมอาสาพัฒนาสังคมลดหลั่นลงมา โดยกิจกรรมที่นักศึกษาส่วนมากทำนั้นเป็นกิจกรรมที่มีอยู่แล้วแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ ออกค่ายอาสา ส่วนการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ มหาวิทยาลัย การพูดถึงสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นทางการเมืองนั้นมีจำนวนน้อยกว่ากิจกรรมลักษณะอื่น

ภาพจากสไลด์วิทยากร: รายการกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาทำ โดยกิจกรรมอาสาไม่ว่าจะบริจาคสิ่งของ ออกค่าย นำมาเป็นอันดับต้นๆ สว่นกิจกรรมการตรวจสอบภาครัฐ มหาวิทยาลัย การพูดถึงสิทธิมนุษยชนอยู่อันดับรองสุดท้าย

ภาพจากสไลด์วิทยากร: ต่อคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เรียงตามลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ 1. การรับผิดชอบต่อสถานภาพและบทบาทของตน 2.การเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกา 3.มีความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน 4.มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย 4.มีความตื่นตัวทางการเมือง

วัชรฤทัย กล่าวว่า 3 เรื่องที่นักศึกษาเป็นห่วงที่สุด จากการให้ทำแบบสอบถามคือ คุณภาพการศึกษา การไม่มีระเบียบวินัยของนักศึกษาและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ในขณะที่การให้ความสำคัญกับการเคารพค่านิยม 12 ประการ กับการมีส่วนร่วมในการเมืองค่อนข้างจะมีความผกผันตามแต่ละมหาวิทยาลัย

ต่อวิชาการศึกษาทั่วไป มีบางความเห็นจากนักศึกษาว่า "วิชาดังกล่าวทำให้เราแกล้งทำเป็นคนดี" "ขาดการปฏิบัติจริง" นักศึกษาอยากเห็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนและบรรยากาศการถกเถียงในห้องเรียนมากขึ้น อย่าบังคับให้ไปทำจิตอาสา

ตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยเผย มีหลักสูตรสร้างพลเมือง แต่ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ เปรย รัฐ-สังคมถ่วงวิถีพลเมืองประชาธิปไตย

จากขวาไปซ้าย พิทักษ์ ศิริวงศ์ ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ดิญะพร วิสมิตนันท์

ในหัวข้ออภิปราย "กิจกรรมนอกหลักสูตรกับการสร้างความเป็นพลเมือง" เชิญ รศ.พิทักษ์ ศิริวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิญะพร วิสมิตนันท์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมเสวนาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองโดยมหาวิทยาลัย

พิทักษ์ยกตัวอย่างกิจกรรมของคณะวิทยาการจัดการ ที่ได้ส่งนักศึกษาลงไปทำวิจัยการตลาดขายปลาในชุมชนท้องถิ่น ให้นักศึกษาลงไปพบสภาพสังคม ให้มีจิตใจการเป็นพลเมืองเชิงรุก หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคมด้วยการขายเสื้อ เอารายได้ไปใช้กับชุมชน ไม่ใช่เอาแต่เงินมหาวิทยาลัยไปลงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังลงชุมชนเพื่อทำหนังสือ ถือเป็นการบูรณาการความรู้ในห้องเรียน รองอธิการบดี ม.ศิลปากร คิดเห็นว่า การสร้างความเป็นพลเมืองมีวิธีการ กระบวนการที่ต่างกันตามประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่หล่อหลอมความเป็นตัวตนของนักศึกษา แต่ก็ควรมีเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้นักศึกษาเป็นพลเมืองเชิงรุก หรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม ทั้งรัฐเองก็มีภาพความเป็นพลเมืองของรัฐในแบบที่ต่างออกไป จะต้องใช้เวลาอีกมากในการไปให้ถึงจุดหมายดังกล่าว "มหาวิทยาลัยก็สอนให้นักศึกษาเห็นความอยุติธรรม ไม่ดูดายปัญหาสังคม แต่จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยมีหลักสูตรขนาดนั้น ให้เด็กไทยเป็นแบบนั้น ก็ต้องใช้เวลา ต่อสู้กับโครงสร้างทางสังคมอีกเยอะ...ก็คาดหวังว่าในชาตินี้จะได้เห็นเยาวชนในชาติเป็นเยาวชนที่มีค่า นำประเทศนี้ให้เท่าเทียมประเทศอื่น"

ดิญะพร กล่าวว่า ม.ทักษิณได้จัดให้นักศึกษาต้องทำกิจกรรมนอกห้องเรียนให้ครบ 100 ชั่วโมง แรกเริ่มมีเสียงต่อต้านจากนักศึกษา แต่ภายหลังจากมีระบบนี้คนทำกิจกรรมอาสาเยอะขึ้นเพื่อเก็บชั่วโมงและยังมีการเสริมสร้างให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทที่ควรมีต่อชุมชน

ชาลีกล่าวว่า หลักสูตรสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีมาตั้งแต่ปี 2549 มีวิชา TU 100 เป็นกิจกรรมในหลักสูตร สอนให้รู้จักตั้งคำถาม ทักษะการยอมรับความหลากหลาย ความท้าทายต่อหลักสูตรดังกล่าวคือทำให้นักศึกษามองภาพสังคมเชิงโครงสร้างทั้งระบบ การนำนักศึกษาไปเห็นโครงสร้างใหญ่ของสังคม ตั้งคำถามกับโครงสร้างคำถามที่บิดเบี้ยวและอยุติธรรม และยังมีสิ่งที่ยังต้องเสริมคือทักษะการทำกิจกรรมในตัวนักศึกษา เช่น การเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การเปิดโอกาสให้วางแผน ดำเนินงานของบประมาณมหาวิทยาลัย อาจารย์ให้คำปรึกษา และมีการให้นักศึกษาทำบทสะท้อนการทำงานหลังกิจกรรมจบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยื่นหนังสือเรียกร้อง ผบ.ตร. ถอนคำสั่งขอเพิกถอนประกันตัวไผ่ ดาวดิน เพื่อไปรับรางวัลกวางจู

Posted: 05 May 2017 05:23 AM PDT

พ่อไผ่ ดาวดิน เรียกร้อง ผบ.ตร.  ถอนคำสั่งขอถอนประกันตัวลูกชาย ชี้ขัด รธน. 60 ด้านนักวิชาการหวังไผ่ ได้รับสิทธิประกันตัวทันเวลา เพื่อไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู ที่เกาหลีใต้วันที่ 18 พ.ค. นี้

5 พ.ค. 2560 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสต์ เดินทางมาในฐานะตัวแทนของวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ดาวดิน" ผู้ต้องหาตามความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความพระราชปะวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai ซึ่งมีผู้แชร์ราว 2,800 คน แต่มีเขาถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว

ชลิตา ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยขอให้ถอนคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัวจตุภัทร์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. อันเป็นเหตุให้ศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ซึ่งส่งผลให้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน โดยที่ยังไม่ได้มีการพิพากษาคดี

โดยหนังสือระบุถึงเหตุผลหลักการว่า คำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าว อ้างเหตุผลว่า จตุภัทร์ เย้ยหยันอำนาจรัฐจากการโพสต์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับประกันที่มีจำนวนสูง ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังแย่ เป็นเหตุผลที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้ความคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ

"การแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ามีลักษณะเป็นการเยาะเย้ยเจ้าพนักงานนั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบธรรมที่จะนำมาเป็นข้ออ้างขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา" หนังสือระบุ

ขณะที่วิบูลย์หวังว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่นี้ สิทธิดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครอง และหาก ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้ถอนคำร้องของพนักงานสอบสวน กรณีของเพิกถอนสัญญาประกันตัว จตุภัทรก็จะได้คืนมาซึ่งสิทธิในการประกันตัว ซึ่งศาลขอนแก่นได้ให้ไว้ตั้งแต่วัน 4 ธ.ค. 2559

ด้านชลิตา กล่าวว่า มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำขอนี้จะได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับฝ่ายที่จะกลับมายืนบนหลักนิติธรรม ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเสริมด้วยว่า ในวันที่ 18 พ.ค. นี้ จตุภัทร์ ได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู (Gwang Ju Prize for Human Rights) ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่และมีบุคคลสำคัญของโลกที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวเช่น อองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า หรือ ซานานา กัสเมา อดีตประธานธิบดีของติมอร์ตะวันออก ซึ่งจตุภัทร์ เป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ หากจตุภัทร์ไก้มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลนี้ด้วยตนเองก็จะเป็นภาพลักษณ์ในด้านบวกต่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้แทนยูเอ็นวิจารณ์ซาอุฯ จับกุมผู้คนตามอำเภอใจ และใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพแสดงความคิดเห็น

Posted: 05 May 2017 01:34 AM PDT

ผู้รายงานพิเศษจากสหประชาชาติวิจารณ์หลังไปเยือนซาอุฯ เผยแม้เรือนจำมีคุณภาพดี แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่โดยเฉพาะการอ้างใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อปิดปากประชาชนที่แสดงออกอย่างสันติ

เบน เอมเมอร์สัน ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการก่อการร้ายของสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์ซาอุดิอาระเบียว่า ใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายในการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี หลังจากที่เขาไปเยือนซาอุฯ เป็นเวลา 5 วัน

เจ้าหน้าที่ทางการซาอุฯ ปฏิเสธไม่ยอมให้เอมเมอร์สันเข้าถึงผู้ต้องขังที่ทางสหประชาชาติเชื่อว่าถูกคุมขังโดยอ้างสาเหตุที่ไม่เหมาะสมอย่างการอ้างใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ยังมีการจับกุมแบบผิดๆ อีกหลายกรณี มีการใช้กระบวนการศาลแบบผิดๆ รวมถึงมีกรณีการทารุณกรรมเพื่อให้รับสารภาพ รวมถึงมีกรณีประหารชีวิตด้วยการตัดศรีษะที่เป็นการลงโทษในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดจริง

เอมเมอร์สันยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชาวซาอุฯ 10 คน ที่เชื่อว่าถูกทางการจับกุมตามอำเภอใจ เพียงเพราะพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเอง

เดอะการ์เดียนระบุว่าถ้อยแถลงที่ใช้คำหนักแน่นเป็นพิเศษของเอมเมอร์สันที่ส่งถึงทางการซาอุฯ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาดูมีพลังเป็นพิเศษเนื่องจากเอมเมอร์สันได้รับอนุญาตให้สนทนากับฝ่ายตุลาการระดับสูงของซาอุฯ หลายคน ซึ่งเหล่าตุลาการระดับสูงเหล่านี้พยายามสร้างความประทับใจต่อเอมเมอร์สันว่าพวกเขากำลังปฏิรูปหรือกระทำการอย่างเหมาะสมกับสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นภัยก่อการร้าย

เอมเมอร์สันบอกว่างแม้เรือนจำที่คุณภาพดี แต่ในแง่สิทธิมนุษยชนแล้วเอมเมอร์สันก็วิพากษ์วิจารณ์ซาอุฯ เช่นเดียวกับที่แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีผู้เดินทางเยือนซาอุฯ เมื่อไม่นานมานี้วิจารณ์เอาไว้เช่นกัน เอมเมอร์สันบอกว่ากฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของซาอุฯ ขัดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ดำเนินคดีเอาผิดกับการแสดงออกอย่างสันติหลายรูปแบบเพียงเพราะการกระทำนั้นถูกทางการมองว่าเป็นภัยต่อ "ความสามัคคีปรองดองในชาติ" หรือ "ทำให้ชื่อเสียงของรัฐเสียหาย"

"ผมได้รับรายงานหลายชิ้นเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยอ้างใช้กฎหมายนี้ ไม่ว่าจะใช้กับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน นักเขียน บล็อกเกอร์ และนักข่าว เพียงเพราะพวกเขามีมุมมองที่ไม่ได้รุนแรง แม้ว่าจะพยายามเรียกร้องและใช้ความพยายามเข้าถึงแล้ว รัฐบาล (ซาอุฯ) ก็ไม่ได้ให้เขาเข้าพบบุคคลที่อยู่ในรายชื่อจะต้องสัมภาษณ์" เอมเมอร์สันกล่าว

ผู้แทนจากยูเอ็นยังแถลงประณามอย่างหนักแน่นต่อการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมและร่วมสมาคม ซึ่งเอมเมอร์สันเรียกร้องให้ซาอุฯ จัดตั้งระบบตรวจสอบอิสระว่าการสั่งดำเนินคดีเหล่านี้มีการละเมิดสิทธิด้านต่างๆที่กล่าวมาหรือไม่ ทั้งนี้ยังมีเรื่องที่ซาอุฯ ละเลยไม่มีการสืบสวนสอสวนเรื่องการทารุณกรรม รวมถึงไม่มีการเรียกทนายความให้มาว่าความแทนผู้ต้องหาภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่พวกเขาถูกคุมขังและแม้จะมีการอนุญาตจากสำนักงานสอบสวนและสำนักอัยการแล้วก็ตาม

นอกจากเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนตัวเองแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เอมเมอร์สันแถลงวิจารณ์ซาอุฯ คือกรณีเยเมนที่ซาอุฯ เป็นฝ่ายนำกองกำลังผสมต่อต้านกลุ่มกบฏฮูติที่อิหร่านหนุนหลัง โดยวิจารณ์ว่าซาอุฯ ไม่มีการสืบสวนอย่างเป็นอิสระกรณีการทิ้งระเบิดในเยเมน ซึ่งถ้าหากมีการสืบสวนในเรื่องนี้จะสามารถทราบตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนได้อย่างชัดเจน

 

เรียบเรียงจาก

UN accuses Saudi Arabia of using terror laws to suppress free speech, The Guardian, 04-05-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/may/04/un-accuses-saudi-arabia-of-using-terror-laws-to-suppress-free-speech

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ เตือนภัยไซเบอร์ อย่าคลิก Google Docs ที่ดูน่าสงสัย

Posted: 05 May 2017 01:16 AM PDT

มีการโจมตีแบบปลอมแปลง หรือ phishing เพื่อล้วงข้อมูลแพร่สะพัดไปทั่วในอีเมลของผู้สื่อข่าวและผู้ใช้รายอื่นๆ โดยแฝมาในรูปแบบของเอกสาร Google Document ปลอมที่หลอกให้คลิก จึงมีการเตือนภัยในหมู่นักข่าวสหรัฐฯ และผู้ที่มีรายชื่อติดต่อสื่อสารกับผู้คนเหล่านี้ให้ระวังอย่างคลิกเอกสารปลอมที่ดูน่าสงสัย และเข้าไปตั้งค่าความปลอดภัยในบัญชีกูเกิลของตัวเองเพิ่มเติม

มีการแจ้งเตือนกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ ในเรื่องภัยหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตที่มากับคำเชื้อเชิญให้คลิกอ่านเอกสารกูเกิลดอกคิวเมนต์ (Google Docs) ปลอม โดยกลุ่มที่ถูกโจมตีจากการหลอกลวงในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่องค์กรสื่อเท่านั้น แต่ดูจะแพร่สะพัดไปทั่วผ่านผู้อยู่ในรายชื่อการติดต่อผ่านช่องทางนั้นๆ

โดยในเว็บไซต์ "ดิแอตแลนติก" ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่กังวลว่าอาจจะถูกโจมตีแบบนี้ว่าผู้ใช้งานสามารถเข้าไปในส่วนความปลอดภัยของบัญชีกูเกิล(Google's security page) เพื่อปรับแต่งค่า "การอนุญาต" (permission) ของกูเกิลได้ ให้มองหา"การจัดการแอป" (manage apps) และกดยกเลิกการเข้าถึง "โปรแกรมแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ"

มีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีหลายคนพูดถึงการโจมตีในครั้งนี้ว่าเป็นการโจมตีแผ่ขยายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วและชวนให้สับสน อีกทั้งมีการได้รับข้อความเช่นนี้ค่อนข้างถี่ ในกระทู้ของเว็บไซต์ reddit ที่มีผู้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกว่าการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ "แทบจะตรวจจับไม่ได้" แต่มีส่วนที่น่าสังเกตอยู่ว่า อีเมลที่ส่งเอกสารปลอมเพื่อโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้มักจะใช้ชื่ออีเมลแปลกๆ อย่าง hhhhhhhhhhhhhhhh@mailinator.com รวมถึงมีการใช้ระบบทำสำเนาส่งแบบลับๆ (BCC) ถึงอีเมลของผู้ใช้งานเอง

เช่นเดียวกับกรณีการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างส่วนใหญ่ เมื่อมีผู้เห็นจุดอ่อนของระบบความปลอดภัยแล้วเจาะจุดอ่อนตรงนั้น จนกระทั่งมีการปรับแต่งเพิ่มเติมเพื่อแก้รอยรั่วด้านคามปลอดภัยนั้น แต่แฮกเกอร์ก็จะพยายามหารอยรั่วเหล่านี้อีกต่อไปเรื่อยๆ จนทำให้เป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด

ทางกูเกิลประกาศว่าพวกเขาได้ "นำเพจปลอมออก" และกำลังพยายามหาวิธีแก้ไขไม่ให้เรื่องแบบนี้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยกูเกิลยังส่งเสริมให้ผู้ใช้รายงานถ้าหากพบเจอการหลอกลวงปลอมแปลง (phishing) เช่นนี้อีก

Phishing เป็นการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการปลอมแปลงรูปแบบหน้าเว็บไซต์หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ดูคล้ายกับเว็บที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปอย่าง ชื่อบัญชี รหัสผ่าน รายละเอียดบัตรเครดิต ซึ่งมักมีผู้นำไปใช้ในทางมิจฉาชีพ

 

เรียบเรียงจาก

Did Someone Just Share a Random Google Doc With You?, The Atlantic, 03-05-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Phishing

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.มหิดล นศ.ชูป้าย 'ไทยแลนด์ ลบ 4.0' เสียดสี ประยุทธ์ ปาฐกถา 'มหาวิทยาลัย Thailand 4.0'

Posted: 05 May 2017 12:24 AM PDT

ม.มหิดล นักศึกษาชูป้าย "Welcome Thai Junta Leader #Thailand -4.0" เสียดสี พล.อ.ประยุทธ์ ปาฐกถา "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0" ด้านนายกฯ ย้ำวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป 

5 พ.ค. 2560 เมื่อเวลา 09.00 น. ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0" โดยมี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะอาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมรับฟัง

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า บริเวณทางเท้าภายนอกมหาวิทยาลัย  มีนักศึกษา ไม่ทราบชื่อ ออกมาทำกิจกรรมชูป้ายผ้าในลักษณะเสียดสีนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อความว่า "Welcome Thai Junta Leader #Thailand -4.0" ซึ่งแปลว่า "ยินดีต้อนรับผู้นำเผด็จการของไทย แฮชแท็ก ประเทศไทยติดลบสี่จุดศูนย์"  

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การชูป้ายผ้าดังกล่าว เพื่อแสดงถึงบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แม้ว่าจะเป็นภายในสถาบันการศึกษาก็ตาม

สำหรับป้ายผ้าเสียดสี Thailand 4.0 กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มาปาฐกถาพิเศษ "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ" โดยมีป้ายผ้าแขวนบริเวณสะพานลอยถนนงามวงศ์วานหน้า มหาวิทยาลัย มีข้อความว่า "Thailand 4.สูญญญ.." และ "รัฐบาลคนดี ยุคภาษีอาน" 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

การปาฐกถา เรื่อง "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยแลนด์ 4.0 เกิดจากการที่โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากโลกในศตวรรษที่ 20 เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของโครงสร้าง และเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากทั้งในด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคใหม่ อีกทั้งเป็นโลกที่มีความหลากหลายในเรื่องของมิติ ทั้งในด้านธรรมชาติ การเมืองเศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้เกิดทั้งโอกาสและภัยคุกคามขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คือ "เมื่อโลกเปลี่ยนไทยจึงต้องปรับ"

สำหรับโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนยุค 1.0 ซึ่งเป็นยุคของการทำการเกษตรและงานหัตถกรรม ไปยุค 2.0 เป็นยุคที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเบา และ 2.0 ไปยุค 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เน้นการส่งเสริมการส่งออกและสนับสนุนการลงทุน การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หลอมรวมกันเพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวคิดสำคัญคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก เปลี่ยนกระบวนการพัฒนาประเทศจากการปักชำ ไปสู่การสร้างรากแก้วโดยปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกเป็นหลักไปสู่การพึ่งพาตนเองโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเริ่มจากรากฐานที่สำคัญคือการสร้างคนสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นสังคมอุดมปัญญา และเมื่อคนไทยมีคุณภาพก็จะนำไปสู่การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยกระดับเกษตรกรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรกรสมัยใหม่  ยกระดับ SMEs แบบดั้งเดิมสู่  SMEs ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สร้างธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมสู่ธุรกิจบริการมูลค่าสูง เปลี่ยนคนที่มีความคิดสู่การเป็น start up ที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทั้งนี้ ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ประทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ข้างหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยมหิดลว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในด้านวิชาการ และในด้านอื่น ๆ พร้อมกล่าวว่าในอนาคตอยากเห็นมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญและมีบทบาทดังต่อไปนี้ คือ 1. นำการพัฒนาและเปิดโอกาสการเรียนรู้ สร้างความเท่าเทียมในการเข้ารับการศึกษา เพิ่มทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ รวมทั้งปรับเกณฑ์อายุของนักศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันกับยุคสมัยของศตวรรษที่ 21 และยุคสมัยที่มีความเจริญทางด้านดิจิทัล 3. การสร้างความสามัคคี และการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การโอนย้ายหน่วยกิตหรือการโอนเกรดระหว่างมหาวิทยาลัย การทำวิจัย สร้างนวัตกรรม สร้างเครือข่ายในการทำงาน 4. เน้นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมให้เกิดความเป็นเลิศในสาขาวิชาต่าง ๆ  5. การบริหารงานอย่างโปร่งใส ลดความซ้ำซ้อน 6. การวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ 7. สร้างสถาบันการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และ 8.พัฒนาคุณภาพส่งเสริมความรู้ด้านภาษาที่ 2 และภาษาที่ 3 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมเป็นต้นทุนมนุษย์ในทุกๆ ด้าน

ตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำถึงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ประเทศไทย 4.0 ว่า เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่จะเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล พร้อมขอให้สถาบันอุดมศึกษาได้ร่วมแรงรวมใจกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และช่วยกันสร้างหลักคิดที่ถูกต้องให้กับคนไทยต่อไป

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การคุมรัฐบาล 20 ปีและที่ทางของประชาชน บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์

Posted: 04 May 2017 10:48 PM PDT

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ระบุยุทธศาสตร์ชาติเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อเนื่องของนโยบาย วางแผนระยะยาว และลดความเป็นการเมือง ย้ำไม่ได้มีเพื่อควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งและสามารถเปลี่ยนได้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ร่างจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นจุดสำคัญ ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนตาม รธน.ม.65 ให้ได้ ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดหลักการ

20 เมษายนที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... กฎหมายที่นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ใช้ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งในสายตาของบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีมุมมองที่ต่างออกไป

ประชาไทพูดคุยกับบัณฑูรว่า กฎหมายตัวนี้สำคัญอย่างไรต่อหน้าตาของยุทธศาสตร์ชาติและมันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. หรือไม่

1

พื้นฐานความคิดของการมียุทธศาสตร์ชาติมาจากสภาพการเมืองไทยที่ผ่านมา ที่นโยบายการพัฒนามักขาดความต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยขาดทิศทางและยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งไป ไม่อาจรับมือกับเทรนด์ใหญ่ๆ ของสังคมและโลกได้ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ไม่มีสภาพบังคับ ทำให้หน่วยงานราชการและรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

"สปช. จึงเริ่มยกร่างกฎหมายว่าด้วยการวางยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่บอกว่าใครเป็นคนทำ องค์ประกอบเป็นใครบ้าง ถ้าจะมีส่วนร่วมทำอย่างไร ทำขึ้นมาแล้วต้องเสนอสภา ถ้าจะแก้กติกาคืออะไร กฎหมายจะวางแค่ตรงนั้น ส่วนเนื้อที่เป็นตุ๊กตา เริ่มร่างจากมติคณะรัฐมนตรีที่ว่า กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและกรอบการปฏิรูปที่มีนายกเป็นประธาน เป็นคนทำเนื้อหา ต่อเนื่องกับจังหวะปัจจุบัน ต้องปรับแต่งข้อมูลใหม่ เพราะมีไอเดียการกำกับทำงาน พอ สปช. ยุบ กฎหมายตกไป พอตั้ง สปท. (สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ยงยุทธ สาระสมบัติ เข้ามาจึงผลักดันเรื่องนี้ต่อ นำกฎหมายมาปรับปรุง วิพากษ์วิจารณ์ ว่าลงโทษรุนแรงเกินไปมั้ย ปรับเป็นเวอร์ชั่นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งเพื่อเดินต่อ ส่งต่อรัฐบาล มีการปรับใหญ่พอสมควร จนเป็นร่างล่าสุด ที่เข้า สนช. เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ที่มีรายละเอียด ว่าด้วยขั้นตอนกระบวนการ กติกาการทำยุทธศาสตร์ชาติ"

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเอสดีจี (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2558 มีเป้าหมาย 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ตัวชี้วัด เอสดีจีเกิดขึ้นภายหลังแนวคิดการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไม่นาน ทำให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้ผนวกรวมแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปด้วย เพื่อเป็นกรอบคิด ทิศทาง และตัวชี้วัดการพัฒนา เช่น การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น อีกทั้งบัณฑูรยังเห็นว่าจะช่วยอธิบายกับสังคมและลดความเป็นการเมืองของยุทธศาสตร์ชาติได้ดียิ่งขึ้นว่านี้ไม่ใช่เรื่องของ คสช.

กระบวนการคือภายใน 120 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะต้องออกกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็คือร่าง พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... เมื่อกฎหมายดังกล่าวออกมาแล้ว จะมีเวลาอีก 1 ปีสำหรับกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติออกมา ซึ่งในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า ในกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

2

ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ บัณฑูรยกตัวอย่างว่าถ้ายุทธศาสตร์เขียนไว้ว่าประเทศไทยจะเป็นครัวโลก รัฐบาลที่เข้ามาบอกว่าเราจะเป็นดีทรอยส์แห่งเอเชีย แบบนี้กระทบกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ถ้าหลักฐานงานศึกษาบอกว่าการทำเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์มีผลกระทบต่อการเป็นครัวโลกแบบนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหา

"ไม่ได้บอกว่า รัฐบาลทำอย่างอื่นไม่ได้ รัฐบาลอาจบอกว่าอยากทำให้ประเทศไทยเป็นภาคบริการสุขภาพ ไม่กระทบกับครัวโลกก็เดินไปคู่ด้วยกันได้ ไม่ได้บังคับไปหมด ถามว่าเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนได้ กติกาเขียนไว้ในร่างฉบับที่เข้ารัฐสภา กรรมการยุทธศาสตร์ชาติขอเปลี่ยนส่งไปที่คณะรัฐมนตรี รัฐบาลเห็นด้วย รัฐบาลอนุมัติให้เปลี่ยนก็ทำข้อเสนอเปลี่ยนแปลงมา พร้อมทำการศึกษาประกบ เสร็จแล้วจึงขอความเห็นชอบจากสภา เหตุผลคืออะไร เพราะสภาเป็นตัวแทนของประชาชน ยุทธศาสตร์ชาติทำมาจากการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนต้องไปขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งผมเคยเสนอว่าการเปลี่ยนต้องเป็นเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่เสียงเกินกึ่งหนึ่งทั่วไป เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ถ้าคุณเป็นรัฐบาลคุณได้อยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าคุณจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากประชาชน คุณต้องใช้เสียงอย่างน้อยสองในสามของรัฐสภา"

"กฎหมายที่เห็นยังไม่มีรายละเอียดของการมีส่วนร่วม มันเขียนไว้ว่า กรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่หลักประกันที่ดีนัก มันควรจะถ่ายหลักคิดหลักการของการมีส่วนร่วมอยู่ใน พ.ร.บ.เลยดีกว่า เพราะน้ำหนักของมาตรา 65 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญคือยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาลไม่ใช่ยุทธศาสตร์ คสช. แต่มาจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน"

ในความคิดของบัณฑูร ยุทธศาสตร์ชาติไม่ควรลงรายละเอียดมาก แต่ควรมองภาพใหญ่และระยะยาวของประเทศ

"ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ไม่ต้องเขียนมาก เขียนเรื่องใหญ่ๆ  ที่มองระยะยาว เป็นเทรนด์ เช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวแปรสำคัญมาก เราต้องเตรียมรับมือ วางแผนยาวๆ เราจะรับมือมันอย่างไร เรื่องเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานที่เราจะอยู่ได้บนโลกอีก 20 ปีข้างหน้า น่าจะมองที่ฐานของวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนฐานนี้เราจะออกแบบอย่างไร ทำไมเราพูดถึงเป็นเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพเพราะเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอีลีท เป็นเศรษฐกิจที่ทุกคนได้ประโยชน์และแชร์ ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ชุมชนที่อยู่กับป่า คนที่อยู่กับทะเล เศรษฐกิจแบบนี้มัน Inclusive Growth"

3

ประเด็นที่ถูกจับตามากและอาจจะมากกว่าเนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติคือ มันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. ในการควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บัณฑูรยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การคุมรัฐบาล 20 ปีและสามารถแก้ได้ทุกเมื่อ โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มให้แก้ได้ เขายกตัวอย่างว่าภายใต้โจทย์สังคมผู้สูงวัย ยุทธศาสตร์ชาติที่จะเขียนได้พยายามตอบโจทย์นี้หรือยัง ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้นหรือไม่

"ถ้ามีพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งว่าประเทศไทยไม่พร้อมที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ สังคมผู้สูงวัยมีจริง แต่วิธีแก้ไม่ใช่วิธีนี้ ก็ไปรณรงค์หาเสียงที่ไม่ใช่เรื่องรัฐสวัสดิการ ปรากฎว่าพรรคนี้เข้ามาเป็นรัฐบาลเขาก็ไปแก้และอ้างความชอบธรรมว่ามาจากกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แบบนี้สังคมต้องมาดีเบตกันว่า เราจะรับมือกับสังคมผู้สูงวัยโดยการใช้ Approach รัฐสวัสดิการหรือใช้วิธีอื่นๆ เปิดเป็นประเด็นสาธารณะ กลับไปที่กติกาเบื้องต้น ไม่ใช่ว่า 20 ปีเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนได้ตลอด เปลี่ยนโดยปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนกติกาที่ออกแบบไว้ ฉะนั้น ก็ได้เสียงจากประชาชนส่วนใหญ่มาจัดตั้งยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือตัวอย่างที่จะบอกว่ามันไม่ใช่การคุม"

การบอกว่าสามารถแก้ไขโดยผ่านกระบวนการรัฐสภา แต่สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดย่อมเท่ากับเป็นพรรคของ คสช. โดยปริยาย เช่นนี้แล้วรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไรบัณฑูร ไม่ปฏิเสธว่า 5 ปีแรกสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ แต่แต่ถ้าพ้นช่วง 5 ปีไปก็เป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว

ส่วนใครจะเป็นผู้บอกว่านโยบายของรัฐบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือไม่ บัณฑูรตอบว่าคือสภา เพราะรัฐบาลต้องไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า

"หนึ่ง-นโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สอง-การจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ฉะนั้น ตัวยุทธศาสตร์ชาติต้องเขียนอะไรเจาะจงพอสมควร ไม่อย่างนั้นกรรมาธิการงบประมาณก็พิจารณาไม่ถูก อันนี้เป็นโจทย์เนื้อหาที่ยาก เอาทางการเมืองออกไปก่อน โจทย์ในทางเนื้อหาต้องเขียนแค่ไหนเราถึงจะรู้ว่าเราจัดสรรงบประมาณสอดคล้อง ถ้าบอกว่าประเทศไทยจะเป็นครัวโลก ประเทศไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัย ชัดพอมั้ย ที่จะบอกได้ว่านโยบายรัฐบาลที่เข้ามาสอดคล้องหรือไม่สอดคล้อง ปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อที่จะออกมาว่าจะเขียนแบบใด เพื่อให้จัดสรรงบประมาณได้ วิเคราะห์ได้ และยืดหยุ่นเพียงพอกับการเดินไปของประเทศ มันปรับแก้ได้ตามกติกา ไม่ใช่เขียนแล้วอยู่ไปอีก 20 ปี"

ประชาไทถามว่า เป็นการมองแยกขาดระหว่างเรื่องทิศทางการพัฒนากับการเมืองเกินไปหรือไม่ บัณฑูรตอบว่า

"เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ คนที่ทำงานรู้และตระหนักว่าเมื่อวันที่เริ่มนับหนึ่งนั้นคือการเมืองแน่ๆ เราถึงมองยาว 20 ปี มันพ้นจากการเมืองในช่วงนี้ไปด้วย ตอนนี้มันซ้อนระหว่างเหตุการณ์เฉพาะหน้ากับสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว ไม่ปฏิเสธว่ามันเกี่ยวพันกัน ถ้ารับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ไม่ดี ความเชื่อมั่น ความไว้ใจ ความน่าเชื่อถือ กับสิ่งที่มองอนาคตข้างหน้าจะกระทบไปด้วย เช่นวันนี้ต้องทดลองและปรับตัวว่ากับสิ่งที่ซ้อนกันระหว่างสิ่งที่วางอนาคตยาวๆ กับสิ่งที่ต้องสร้างบรรยากาศ ความไว้ใจ ความยอมรับในสิทธิและเสรีภาพ ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ ยอมรับว่ายังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่นี่คือช่วงการเปลี่ยนผ่านของจริง"

แต่อีกมุมหนึ่งที่บัณฑูรเห็นว่าต้องระมัดระวังเช่นกันคือ

"ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องระวังด้วยว่าวันหนึ่งพรรคการเมืองอาจเข้ามาใช้ยุทธศาสตร์ชาติมาอ้างความชอบธรรม ทำอะไรที่ประชาชนไม่เห็นด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ เราทดลองกับของที่ไม่เคยเกิดขึ้น ผมคิดว่าปัญหาคงมีหลากหลายแง่มุม เราต้องคิดให้ครบทุก Scenario"

4

บัณฑูรดูจะห่วงประเด็นเนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติน้อยกว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ บัณฑูรแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายล่าสุดที่เพิ่งเข้า สนช. ว่า

"ผมยังไม่ค่อยพอใจนัก เพราะว่าน่าจะเขียนได้ก้าวหน้ากว่านี้ ร่างตัวนี้พูดถึงการรับฟังความเห็นอย่างเดียว การมีส่วนร่วมต้องมีมากกว่าการรับฟังความเห็น ซึ่งระบุไว้ชัดอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ ควรจะเติมระดับการมีส่วนร่วมให้ชัด กฎหมายที่เห็นยังไม่มีรายละเอียดของการมีส่วนร่วม มันเขียนไว้ว่า กรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่หลักประกันที่ดีนัก มันควรจะถ่ายหลักคิดหลักการของการมีส่วนร่วมอยู่ใน พ.ร.บ.เลยดีกว่า เพราะน้ำหนักของมาตรา 65 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญคือยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาลไม่ใช่ยุทธศาสตร์ คสช. แต่มาจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน"

การออกกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จึงถือเป็นจุดสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าประชาชนจะร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงยุทธศาสตร์ของ คสช.

"สนช. จะวางกติกาออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับตอนนี้ จะมีการถ่วงดุลอย่างไร ต้องพูดให้ชัดว่ายุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาล ถ้าพูดให้ชัดมากกว่านั้น ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ยุทธศาสตร์ คสช. เพราะจุดตั้งต้นมาจากจุดที่เราไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติ มีแต่ยุทธศาสตร์รัฐบาล แล้วก็มีปัญหาอย่างที่ว่ามา ฉะนั้นการทำยุทธศาสตร์ชาติคือการทำยุทธศาสตร์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ของประชาชน ต้องไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาล ถ้าใช่ก็ผิดเลย ดังนั้น สนช. ต้องทำกติกาตรงนี้ให้ชัด ยุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา 65 ในรัฐธรรมนูญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน มันคือสัญญาประชาคมอย่างหนึ่ง พรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เขาชนะการเลือกตั้งมา เขาแก้ได้ไหม ผมว่าไปเขียนให้ชัด เพราะมันคือยุทธศาสตร์ของประชาชน มันโยงเรื่องความปรองดองด้วย การสร้างความปรองดองที่จะมองอนาคตร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เราไม่หมุนกลับไปวงจรเดิม ฝ่ายทหารเองก็เห็นว่าเครื่องมือนี้สำคัญที่จะสร้างความปรองดองในเชิงเนื้อหา ให้ทุกภาคส่วนให้ทุกสีเข้ามาใช้กระบวนการตรงนี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น